INTERVIEW

หากสารคดียังไร้กติกา ก็ไม่ต้องหาขอบเขตใน ‘ร่างทรง’

ภาพ: ธนกฤต เพ็ชรประดับ

ในรอบ Q&A ของ ‘ร่างทรง’ ที่ Doc Club & Pub. เมื่อวันที่ 30 ต.ค. มีผู้ชมคนหนึ่งเผยความรู้สึกกับผู้กำกับ บรรจง ปิสัญธนะกูล ว่าเขาอยู่ในฝั่งไม่ชอบวิธีการใช้ Mockumentary กับหนังเรื่องนี้นัก…ซึ่งเราเพิ่งคุยกันเรื่องนี้ไม่กี่นาทีก่อนเข้าไปพบปะผู้ชม เนื่องจากกำลังเป็นประเด็นถกเถียงบนโลกออนไลน์ระดับดุเดือด

บรรจงรับฟังและยอมรับความคิดเห็นเหล่านี้โดยดี เพราะเขารู้อยู่แล้วว่านี่เป็นผลลัพธ์ซึ่งไม่อาจเลี่ยงได้กับทางที่เขาเลือกใช้กับ ‘ร่างทรง’ เพื่อแลกมาซึ่งความสนุกในการทำหนังที่เขาไม่ได้ปลุกปั้นมาตั้งแต่ต้นเช่นนี้

คุณเจอกับ นาฮงจิน ได้ยังไง 

ก็เจอที่เมืองไทยก่อน มันเป็นงาน Cinema Diverse ที่ให้ผู้กำกับเลือกหนังนานาชาติมาฉาย ผมเลือก The Chaser และเขามาก็เลยได้คุยกัน ปกติไม่มีใครมา สามปีต่อมาเขาก็ติดต่อมา จริงๆ ‘ชัตเตอร์’ กับ ‘แฝด’ ก็เป็นที่รู้จักในเกาหลี แต่ไม่รู้ว่าตอนนั้นเขาได้ดูมันรึยัง

Mockumentary ไอเดียมาจากอะไร 

มันมาตั้งแต่บทเขาเลย ตั้งแต่เป็นทรีตเมนต์ อันนี้มันเป็นเรื่องที่เขาเขียนเป็นเวอร์ชั่นเกาหลีเสร็จแล้วนะ แต่ตอนนั้นเขาคิดว่ามันมีอะไรหลายอย่างที่ถ้าทำเป็นหนังเกาหลีจะทำให้หนีเงา The Wailing ไม่พ้น เขาก็เลยคิดว่าถ้าเป็นหนังประเทศอื่นไปเลยแล้วเขาโปรดิวซ์จะเป็นยังไง เขาก็เลยติดต่อมา ตอนอ่านทรีตเมนต์รอบแรกโคตรชอบเลย แต่ก็มีคำถามเหมือนกันว่าจะเป็น Mockumentary จริงหรือ? เพราะเอาจริงเรื่องมันโคตรเว่อร์และสุดโต่งมาก และส่วนตัวเราเองก็เบื่อแล้ว เพราะหนัง Found footage กับ Mockumentary มันทำออกมาเยอะมาก ยิ่งเราเป็นคนดูหนังผีก็ได้ดูมาไม่รู้กี่เรื่องแล้ว มันพรุนมาก มันถูกสำรวจไปหมดเกลี้ยงแล้วยังจะเหลืออะไรอีกวะ เราก็เลยหาจุดตรงนี้นานมากๆ ว่าจะต้องเป็นอะไรเราถึงจะยังอยากทำอยู่ เราก็เลยตัดสินใจทำในสิ่งที่เราอยากดู สุดท้ายก็เลยช่างแม่ง (หัวเราะ) เราทรีตมันเป็นแค่สไตล์หนึ่งของการเล่าเรื่องเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะยังคงวิธีการเล่าเรื่องให้มันดูจริงอยู่ แต่ถ้ามัวพะวงว่าอันนั้นไม่ได้ อันนี้ไม่ได้ มันไม่สนุกสำหรับผม ข้อแรกคือเราอยากทำหนังเรื่องนี้ให้ซีนีมาติกมากๆ Found footage ส่วนใหญ่ ไม่มีเลยที่จะมาประณีตในการถ่ายทำ ซึ่งเราว่าซับเจกต์นี้ถ้าไม่ประณีตจะไม่มันเลย ไม่ได้เลย โดยเฉพาะช่วงท้ายที่ตัดสลับหลายเหตุการณ์มากๆ ถ้าเราติดรูปแบบของ Found footage มันจะไม่สนุกเลย ตอนแรกก็มีคิดเหมือนกันว่าคนดูจะติดมั้ย แต่มันเห็นเลยเหมือนกันว่าถ้ามันไปถึงทาร์เก็ตที่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่นฉายในอเมริกามันฉายที่ Shudder ใช่มั้ย ซึ่งคนเหล่านี้ดูหนังแบบนี้มาหมดแล้ว มันบวก 90% อัพเลย แต่ถ้าไปถึงคนดู Found footage มาน้อยมาก ผลตอบรับก็จะแตกกันเอง ก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างทำนายไว้พอสมควร 

สารคดีบางเรื่องเราก็ตั้งคำถามนะว่าภาพที่เห็นมันจะเกิดขึ้นจริงได้ไงวะ เช่น ตัวละครเดินไปข้างหน้าซึ่งไม่มีกล้องอยู่ แต่ดันมีภาพรับอีกมุมนึง แสดงว่ามันต้องเล่นอีกเทคนึงแน่นอน และนั่นมันคือสารคดีแท้ๆ เลยด้วยนะ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้วะ

Found Footage มันเหมือนเป็นกับดักของคนทำเหมือนกัน ว่าจะทำอย่างไรให้มันดูจริงที่สุด แต่ ‘ร่างทรง’ เหมือนจะโยนตรรกะหรือกติกาของมันออกไปเลย 

มันเริ่มจากที่เราอยากทำให้มันซีนีมาติกก่อน คือทุกวันนี้เส้นแบ่งของสารคดีก็น้อยลงเรื่อยๆ สารคดีมันมีความเป็นฟิกชั่นสูงมาก สารคดีบางเรื่องเราก็ตั้งคำถามนะว่าภาพที่เห็นมันจะเกิดขึ้นจริงได้ไงวะ เช่น ตัวละครเดินไปข้างหน้าซึ่งไม่มีกล้องอยู่ แต่ดันมีภาพรับอีกมุมนึง แสดงว่ามันต้องเล่นอีกเทคนึงแน่นอน และนั่นมันคือสารคดีแท้ๆ เลยด้วยนะ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้วะ คือเราหาบาลานซ์กันเยอะ มันต้องทำได้สิ กระทั่งหนังคนคุยกันหรือว่าหนังคนโคม่าในโรงพยาบาล บางทีก็เกิดคำถามว่ามีกี่กล้องวะ เพราะสมัยนี้กล้องตัวเล็กนิดเดียวมันถ่ายได้เยอะเลย หรือบางทีก็กล้องเดียวแต่โกงเอาก็มี เราก็รู้สึกว่าอยากสนุกที่สุดในแบบของเรา ก็เลยมีการละตรรกะพวกนี้ออกไปบ้างเพื่อให้เราได้ถ่ายทอดในแบบที่เราสนุกที่สุดในแบบของเรา จริงๆ ทุกวันนี้สารคดีมันก็มีหลากหลายแบบ กระทั่ง Mockumentary หรือ Found footage ซึ่งสองอย่างนี้ก็ไม่เหมือนกันแล้ว ทำไมเราจะทำมั่งไม่ได้ เราก็เลยลองส่งไอเดียให้ที่เกาหลีดู ส่งสคริปต์ไปก็ไม่เห็นเขาแย้งอะไรกลับมา เขาก็คงคิดเหมือนเรา

การก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านั้นต้องเด็ดเดี่ยวพอสมควร เพราะไม่รู้ว่าจะได้เจออะไรบ้าง 

จริง แต่เออ ทำไมเราไม่กลัววะ อาจจะเป็นเพราะว่าเราทำโดยที่เช็คกับเขาตลอด ประมาณว่าถ้าเป็นเราเองเพียงลำพังเราอาจจะกลัวกว่านี้มั้ง แต่อันนี้ไม่เห็นเขาติดอะไรเลยนี่ เขาน่าจะเห็นดีเห็นงามมั้ง อาจจะมีบ้างว่าบางอย่างไม่อยากให้มันรู้สึกจัดวางจนเกินไป แต่ถ้าเป็นในมุมว่าทำไมมุมนี้ถึงถ่าย ตากล้องทำอะไรอยู่ อะไรพวกนี้เขาไม่ติดเลย ซึ่งมันก็พูดยากเพราะเราเองก็ไม่ได้แคร์มากในบางจุด 

หนัง Found footage มันมักกำหนดสถานะของคนดู

มันเป็นไปตามเรื่องมากกว่า คือบางอย่างมันเป็นเหมือนการทดลอง มันเหมือนว่าตัวตนของตากล้องจะมีมากน้อยแค่ไหน บางร่างก็จะมีมากกว่านี้แต่รู้สึกว่ามันไม่สนุกตัดออกไปบ้างดีกว่า เอาไว้ไปท้ายๆ ที่มันต้องเล่าว่าตากล้องต้องมีหลายๆ คน ตัวตนตากล้องถึงเพิ่งออกมา เป็นอารมณ์ว่ามีเท่าที่จำเป็น 

เรากำหนดมุมมองเอาไว้ตั้งแต่ตอนไหน ในบทหรือว่าหน้ากอง

หน้ากองเยอะเลยครับ ในบทมันจะเขียนแค่เหตุการณ์คร่าวๆ แต่ว่าหน้ากองจะคิดเยอะมากเลย มันจะมีหลายซีนที่เป็นดรามาติกมากๆ เช่นในซีนที่ป้านิ่มคุยกับป้าน้อยหน้าบ้าน คุยกันเรื่องว่าทุกอย่างถูกกำหนดมาแล้ว มันแฟร์เหรอวะ ย่าบาหยันมีจริงมั้ย อันนั้น Fictional มากเลยถูกมั้ย แต่มันเป็นซีนที่เราอยากทำว่ะ และมันเป็นสิ่งที่หนังอยากจะพูด ตรงนั้นก็เป็นอีกซีนนึงนะที่เราไม่แคร์เรื่องว่ามันจะต้องแบบ เอ้ย ถ่ายมาได้ยังไงวะ ไม่งั้นตรงนี้มันมีไม่ได้เลย

บทบาทของผู้กำกับภาพ (นฤพล โชคคณาพิทักษ์ – ผู้กำกับภาพ) มีแค่ไหน 

เราก็จะคุยกันตรงนั้นเลยว่าซีนนั้นจะถ่ายยังไง จะไม่ค่อยให้เขาเห็นบล็อกกิ้ง หมายถึงว่าจะไม่ค่อยให้เขาเห็นว่านักแสดงต้องเล่นยังไง อย่าให้เขาได้รู้ว่าตัวละครจะเดินไปไหนมาไหน เขาจะได้มีความสนุกสนานในการติดตามตัวละคร

แล้วจะออกมาซีนีมาติกอย่างที่ต้องการได้ยังไง

อย่างที่บอกว่าสารคดีทุกวันนี้มันไม่เหลือเส้นแบ่งแล้ว ซึ่งเราไปเจอ Honeyland (สารคดีมาเซโดเนีย ว่าด้วยการเก็บน้ำผึ้งป่า) ที่มันได้เข้าชิงออสการ์ และมันถ่ายแบบบ้าไปแล้ว เราก็รู้สึกว่า เออว่ะ นี่แหละเราถึงอยากทำเรื่องของป้าคนนึงในอีสาน เป็นร่างทรงในหุบเขา เราจะถ่ายให้ซี้ดได้ยังไง ทำไมจะออกมาไม่ได้ เพราะงั้น reference มันคืออะไรวะ? แม่งไม่มี (หัวเราะ) หนังที่เปิดเรื่องมาถ่ายแบบ Honeyland แล้วป่าช้าแตก มันไม่มี และเรื่องนี้มันเป็นอย่างนั้น เราก็มองว่าอันนี้เป็นสิ่งใหม่ของเรานะ โดยยังไม่คิดว่าคนจะชอบหรือไม่ชอบแต่คิดแค่ว่าอันนี้มันตื่นเต้นดี คือถ้าเป็น found footage แบบ traditional ไปเลย ผมคงไม่ทำ ประมาณว่าเอาวัยรุ่นเข้ามาถ่าย คุยกัน เล่นๆ มีการผสมที่ค่อนข้างเซอร์นิดหน่อย เป็น hybrid หน่อย ผมว่ารสชาติมันก็ใหม่อยู่นะ คนเก็ตก็เก็ตไม่เก็ตก็ถกเถียงกันได้   

การทำเรื่องนี้ต้องใช้วิธีคิดแบบสารคดีเข้ามาแค่ไหน เช่น วิธีมองซับเจกต์ เรื่องบริบทแวดล้อม

มันก็มีแหละ แต่ก็บาลานซ์กับความสยองขวัญด้วย เพราะว่ามันจะมีเรื่องศีลธรรมนิดหน่อย แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะได้รับชะตากรรม มันก็ต้องเป็นคนเหี้ยนิดนึง มันต้องอยากรู้อยากเห็นมากๆ เจอเรื่องที่มันผิดมนุษย์มนาด้วย 

สะท้อนภาพความกระหายข้อมูลของคนทุกวันนี้หรือ? 

เราก็ไม่ได้คิดอะไรขนาดนั้น แต่มันก็มีการคุยกันด้วย reference เหตุการณ์นึงเลย คือคลิปคนที่ขับรถอยู่ในเหตุการณ์ไฟป่าแอลเอ จนจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ก็ยังถ่าย อันนี้เป็นเรื่องที่เราคุยกัน ไอ้คนถ่ายตายไปรึยังวะ ทำไมมันยังถ่ายอยู่วะ ซึ่งทุกวันนี้มันเป็นแบบนี้จริงๆ สมมติถ้าไฟไหม้อยู่ตรงหน้า สิ่งที่เราทำคือหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาแน่นอน ถ้าเรารอดออกไปก็ได้โพส

ทุกวันนี้เราดูหนังถ้าเจอหนังที่มันอยู่ในที่ในทางที่โอเคเทียบกับหนังที่อยู่ในที่ในทางแล้วจู่ๆ มีอะไรบางอย่างที่ทำให้หลุดออกจากเซฟโซน จนรู้สึก ‘เฮ้ย เอางี้เลยเหรอวะ’ ทุกวันนี้เราจะชอบแบบหลัง มันเหมือนหนังให้รางวัลเรา

ขยายความที่ว่าทำนายไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะเกิดการถกเถียงขึ้นในเรื่องนี้ 

ตอนแรกเราเห็นแต่หน้าคนดูในไทย เพราะเราไม่รู้จักคนดูต่างประเทศเลย แต่เราเชื่อว่าฝรั่งจะชอบมาก ซึ่งถูกด้วย อาจเพราะว่ามันลง Shudder ด้วยมั้ง เหมือนคอหนังสยองขวัญก็ต้องการความใหม่ ทุกวันนี้เราดูหนังถ้าเจอหนังที่มันอยู่ในที่ในทางที่โอเคเทียบกับหนังที่อยู่ในที่ในทางแล้วจู่ๆ มีอะไรบางอย่างที่ทำให้หลุดออกจากเซฟโซน จนรู้สึก  ‘เฮ้ย เอางี้เลยเหรอวะ’ ทุกวันนี้เราจะชอบแบบหลัง มันเหมือนหนังให้รางวัลเรา มีอะไรให้เราตื่นเต้น สดใหม่ มันอาจจะบ้าบอรึเปล่าไม่รู้นะ แต่อย่างน้อยต้อง ‘เฮ้ย มันต้องอย่างนี้สิวะ ไม่งั้นกูหลับแล้วนะ’ เพราะเราดูมาเยอะ

สำหรับคนดูในไทยอาจไม่ใช่แบบนั้นมั้ย 

แต่อาจเพราะคนดูหลักของเราเป็นเกาหลีด้วยมั้ง และอาจเป็นเพราะค่าย Showbox (ผู้สร้าง) เขามั่นใจคุณนาฮงจินด้วย เขาคือพระเจ้า เขามีอำนาจต่อรองมาก มหาศาล เพราะสำคัญมากที่ The Wailing มันทำเงินแบบตื่นตะลึงไปเลย ทั้งที่หนังมันโคตรยากเลยนะ ผมว่า The Wailing มันก็แบบนี้แหละ ตอนเป็นสคริปต์มันบ้ามากเลยนะ มันกล้ามาก ผมเชื่อเสมอว่าถ้าหนังไม่มีความบ้าบิ่นอะไรบางอย่าง มันไม่มาถึงจุดนี้หรอก ไม่งั้นมันก็อาจจะดีแค่ในระดับหนึ่งแต่ถ้าบ้าๆ บอๆ แล้วออกมาดีชิบหายมันก็จะทะลุออกมาเลย 

คิดว่าบางทีอาจต้องทำความเข้าใจมั้ยว่าเราพยายามทำอะไรอยู่ 

ก็เคยคิดนะว่าต้องทำความเข้าใจ จนกระทั่งเรามาทบทวนตัวเองว่าเราไม่อยากทำเหมือนเขา แล้วเมื่อกี๊ที่บอกว่าเราอยากจะถ่ายแบบซีนีมาติกชิบหาย สวยชิบหาย จู่ๆ ก็นรกแตก แม่งไม่มีเลยแม้แต่เรื่องเดียว เราก็คงต้องมั่วๆ ไปแล้วแหละ จะเป็นยังไงเราก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่เรารู้สึกว่าเราอยากทำแบบนี้

เหมือนพี่กำกับคนดูได้ จะเห็นเป็นเส้นกราฟทางอารมณ์ที่ชัดเจนมาก 

ใช่ๆ มันเหมือนมีการ Manipulate อันนี้มันอาจเป็นตัวตนเราแหละ ขนาดนาฮงจินโยนให้เรามันก็ออกมาแบบนี้แหละ แต่เราก็จะเห็นซีเควนซ์ที่ค่อนข้าง Fictional ฉากที่ป้านิ่มไปเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับรูปปั้น พอเห็นโลเคชั่น เราก็เห็นเป็นภาพเลยว่าเราต้องตามป้านิ่มไปสักพัก แล้วป้าก็กรี๊ดลั่น นาทีนั้นเราเห็นเลยว่าช็อตนั้นต้องเป็นหนังตัวอย่าง เราเป็นคนแบบนี้ เราเห็นภาษาหนังแบบนี้ เราอาจไม่เหมาะกับ Found footage แบบนั้นแน่ๆ แบบที่ตั้งหน้าตั้งตาจะคอนวินซ์ เอออีกแบบนึงคือยุคนี้ไม่ต้องคอนวินซ์แล้ว ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเป็นหนัง ตอนที่ทำคิดแบบนี้นะ แต่ก็กลายเป็นว่าคนก็ยังติดอยู่อันนี้ก็เซอร์ไพรซ์เหมือนกัน ซึ่งมันก็ต้องยอมรับแหละเมื่อหนังมันเป็นแบบนี้ คนก็มีสิทธิที่จะติดสูงมาก มันไม่ใช่ข้อแก้ตัวนะที่พูดมาทั้งหมด เพราะเราต้องยอมรับความคิดเห็นในทางที่เราเลือก แต่อย่างน้อยแค่คนดูถกเถียงกันเราก็แฮปปี้แล้ว 

ซึ่งโอเคใช่มั้ย

ฟินมาก ผมว่ามันใช่ มันคือเป้าหมายของหนังเรื่องนี้นะ เพราะว่าด้วยความที่เรื่องมันแรง และเหมือนมันจะไม่เข้ากัน ผมชอบคำที่เกาหลีเขาโปรโมทว่า The Most Debated Film of the Year มันใช่จริงๆ ซึ่งขนาดที่ไทยยังเถียงกันชิบหาย ที่เกาหลีเขาจะเถียงกันเรื่องความรุนแรง เพราะที่นั่นเขามีปัญหาเรื่องนี้เยอะมาก ในสังคมที่เพศชายเป็นใหญ่มากกว่าเราเสียอีกก็จะถกเถียงกันเยอะ 

ผลตอบรับทั้งในแง่คำวิจารณ์และรายได้ สร้างคุณค่าในฐานะคนทำหนังและวงการอย่างไรบ้าง 

ได้คุยกับคนใน GDH หลายคน พอเราทำไปเรื่อยๆ ผ่านโควิดผ่านอะไรมา ได้กลับมาเช็คไฟล์ก็ยังคิดว่า นี่มันหนัง GDH เหรอวะ ค่ายเราทำหนังแบบนี้ได้ด้วยเหรอ แล้วเรากลับรู้สึกดีเพราะว่าการร่วมมือครั้งนี้มันได้ทำอะไรโดยที่อาจไม่รู้ตัวด้วยมั้งว่าเขาคุ้มกะลาหัวอยู่ เราก็เลยกล้าทำทุกอย่างเลย 

ถ้าไม่มีนาฮงจินจะกล้าทำมั้ย

นั่นสิ แต่ถ้าเรื่องการใช้นักแสดง GDH เขาเห็นทางของผมเสมอมานะ และเขาซัพพอร์ตมาตลอด ไม่เคยมีปัญหาแบบสตูดิโอจัดๆ เลย เช่น เรื่องนี้ต้องดาราเท่านั้นนะ ยกเว้นถ้ามันเหมาะ เพราะบางโปรเจกต์อาจต้องการ อย่างเรื่องนี้ 70% ของบอร์ดเห็นตรงกับผม แต่ก็ต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีนาฮงจินหนังแบบนี้คงเกิดขึ้นได้ไม่ง่าย เช่นวิธีการถ่ายแบบ Found footage ที่คนจะตั้งคำถามเยอะมาก 

ผมเองก็ไม่กล้าพูดว่าตัวเองจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรอกนะ แต่ผมมองว่ามันเป็นวิธีการที่เหมาะแต่ละโปรเจกต์ อะไรก็ตามที่มันเหมาะและมันส่งเสริมกัน มันได้หมดแหละ เช่นในหนังมันต้องการให้คนเชื่อไง และมันเป็นร่างทรงอายุ 50-60 ไง แต่ว่ามันเป็น horror ไง สำหรับผมไม่ห่วงมาร์เก็ตติ้งเลยเพราะว่าบิ๊กไอเดียมันแข็งแรงมาก เราเองคิดว่ามันตื่นเต้นมากๆ หากเราไม่ใช่คนทำแล้วมีคนมาเสนอว่าจะไปถ่ายร่างทรงที่อีสาน และเห็นศาสตร์ของมัน เห็นโลกของมัน เห็นว่ามันกำลังสืบทอด แค่นี้เราก็รู้สึกว่า ‘เชี่ยแม่งน่าดูสัส’!  

LATEST