Good Boys: วัยอลวนคนอยากแมน

(2019, Gene Stupnitsky)

ในหมวดหนังคอมิดีสำหรับวัยรุ่น จะมีหนังประเภทหนึ่งที่เล่นกับมุกตลกหยาบโลน เซ็กซ์ การสบถ และความแก่แดดเกินวัย หนังประเภทนี้ที่หลายคนจำได้ดีคงจะเป็นเรื่อง American Pie ซึ่งตัวละครส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม สำหรับหนังเรื่อง Good Boys ที่เป็นหนังประเภทเดียวกันนั้น ดูเหมือนการลดอายุตัวละครลงมาอยู่ในช่วง 12 ปี จะทำให้หนังสื่อสารกับคนในช่วงอายุที่เยอะกว่า แต่ไม่ว่าอย่างไรมันก็ไม่ใช่หนังสำหรับเด็กแน่ๆ 

กลุ่มเป้าหมายจริงๆ ของ Good Boys น่าจะเป็นวัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่อยากดูเรื่องราวย้อนวัยเปิ่นๆ สมัยตนเองเป็นเด็ก ซึ่ง Good Boys ก็ตอบสนองความต้องการนั้นอย่างเหนือความคาดหมาย ด้วยการตบมุก 18+ เข้ามาแบบไม่ยั้ง ทำให้เราหัวเราะไปกับความไร้เดียงสาของตัวละครที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว (เป็นต้นว่า ตัวละครที่เป็นเด็กอายุ 12 คิดว่าตุ๊กตายางของพ่อเป็นตุ๊กตาฝึกผายปอด หรือคิดว่าเซ็กซ์ทอยเป็นสร้อยคอและอาวุธ)

Good Boys เล่าเรื่องราวของเด็กอายุ 12 สามคนที่เป็นเพื่อนสนิทกัน คือ แม็กซ์ ลูคัส และธอร์ แห่งแก๊ง Bean Bag Boys เรื่องราววุ่นๆ เกิดขึ้นเมื่อแม็กซ์ตั้งใจจะไปปาร์ตี้แลกจูบ ด้วยความหวังว่าจะได้จูบบริกซ์ลี สาวในดวงใจ แต่เขาไม่รู้วิธีการจูบเอาเสียเลย เขาจึงขโมยโดรนสุดแพงของพ่อไปสอดแนมเพื่อนบ้านวัยรุ่นข้างบ้านว่าพวกเธอจะจู๋จี๋กับแฟนอย่างไร ผลกลับกลายเป็นว่าโดรนไปตกในบ้านของเพื่อนบ้าน และพวกเธอก็โกรธเอามากๆ แม็กซ์และเพื่อนๆ จึงต้องหาวิธีนำโดรนกลับมา แต่พวกเขาก็ได้ขโมยยาเสพติดที่วัยรุ่นกำลังฮิตมาจากกระเป๋าพวกเธอด้วย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ การแลกเปลี่ยนระหว่างพวกเขาและสองสาววัยรุ่นที่แค้นเคืองจึงเกิดขึ้น โดยเส้นเรื่องคู่ขนานก็คือเรื่องราวของลูคัส ผู้ชอบทำตามกฎและไม่อยากยุ่งกับยาเสพติด และธอร์ ผู้พยายามปฏิเสธว่าตัวเองไม่อยากเล่นละครเพลง เพราะจะดูไม่แมน

ในแง่หนึ่ง หนังแสดงภาพของวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่อยากรู้อยากลองไปหมด และพยายามทำตัวเองให้เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน เช่นเรื่องของธอร์ ที่ถูกล้อว่าไม่แมนเพราะเขาไม่กล้าจิบเบียร์ เขาจึงพยายามพิสูจน์ตนเองในเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ หรือแม็กซ์ ที่มีความฝันอยากมีแฟนสาวไว้เดินควงแขน ส่วนลูคัสนั้นเป็นเนิร์ดที่ชอบเล่นการ์ดเกมและอยากเป็นผู้พิทักษ์กฎ เคมีของตัวละครทั้งสามที่มีเจตจำนงต่างกันทำให้เรื่องค่อนข้างจะกลมกล่อม ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้แก่นักแสดงเด็กของเรื่องนี้ หนังค่อยๆ แสดงให้เห็นพัฒนาการของตัวละครที่ก้าวข้ามอุปสรรคไปด้วยกัน ทะเลาะกัน เลิกคบกัน และหาวิธีดูแลความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในวันที่แต่ละคนไม่เหมือนเดิม กล่าวโดยย่อ มันคือหนังที่มีธีมเกี่ยวกับการยอมรับความเปลี่ยนแปลง และการรักษามิตรภาพ

น่าสนใจว่า ตัวละครทั้งสามที่เป็นเด็กผู้ชายมีอิสรภาพในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้มาก พวกเขาสามารถปั่นจักรยานรวมกันเป็นแก๊งไปที่ไหนก็ได้โดยไม่มีใครเหนี่ยวรั้งไว้ ทำเรื่องเปิ่นๆ เสี่ยงอันตรายโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง แต่ก็รอดตัวมาได้ และมีเจตจำนงอันแรงกล้าเป็นของตนเอง ที่แม้กระทั่งความสัมพันธ์อันแนบแน่นในกลุ่มเพื่อนก็ขัดขวางเจตจำนงนั้นไม่ได้ การถูกขับเคลื่อนด้วยเจตจำนงนี้เองที่แสดงภาพของชายอเมริกันผิวขาวที่กำลังเติบโตไปสู่ความเป็น Modern Man อันเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ผู้ชายเป็นผู้ตัดสินใจด้วยแรงผลักอันเกิดจากตนเองโดยไม่สนใจสิ่งรอบตัว เช่น ความสัมพันธ์ หรือในบางครั้งก็คือจารีต ศีลธรรม คำสั่งจากเบื้องบนหรือคนนอก เพราะการทำตามแรงผลักภายนอกคือขั้วของความไม่เป็นชาย

ในทางกลับกัน เด็กผู้หญิงในหนังอเมริกันกลับให้ความสำคัญกับแรงผลักนอกตัว เช่น ความสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์แบบโรแมนติก มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด และเป็นผู้ทำตามกฎเกณฑ์ที่สังคมวางเอาไว้ สิ่งที่พวกเธอคิดและรู้สึกจะถูกเขียนทับโดยปัจจัยภายนอกเสมอ พวกเธอจึงต้องทำตามคำสั่งเพื่อให้สังคมสงบและกลมกลืน กล่าวได้ว่าสังคมกำลังอ้างว่าตัวมันเองสงบก็ต่อเมื่อมันควบคุมผู้หญิงเอาไว้ได้ ขณะที่เด็กผู้ชายจะ “เบียว” แค่ไหนก็ได้ ในฐานะที่เป็นผู้หญิง เมื่อดูหนังเรื่องนี้แล้วก็ชวนให้ขบคิดว่า ถ้าหากวัยเด็กของเรามีอิสระมากพอจะทำเรื่องต่างๆ แบบเด็กชายในเรื่อง มันจะเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นและน่าจดจำแค่ไหน และมีความหมายต่อการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ด้วยตนเองแค่ไหน

ไม่เพียงเท่านั้น หนังยังสะท้อนให้เห็นมิตรภาพระหว่างลูกผู้ชาย ซึ่งเป็นมิตรภาพที่ไม่ค่อยพบในเด็กผู้หญิงในหนังอเมริกันมากนัก มิตรภาพรูปแบบนี้คือการที่เหล่าเด็กชายสนับสนุนเป้าหมาย (cause) ของกันและกัน โดยที่ให้อิสระแก่เพื่อนของตนเองไปด้วย เป็นการ “นับถือ” ความเป็นปัจเจกของเพื่อนผู้ชาย โดยไม่แทรกแซง ในขณะที่มิตรภาพของเพื่อนผู้หญิงในหนังอเมริกันมักเป็นลักษณะของการแข่งขันแก่งแย่งกัน หรือยุ่งเรื่องของกันจนเกินขอบเขต นอกจากนั้นยังเป็นการบังคับใช้จารีตทางสังคมกับผู้หญิงด้วยกันเอง เช่นให้ความเห็นว่า เธอ “ไม่ควร” ทำแบบนั้นแบบนี้

เด็กผู้ชายในเรื่องไม่ใช่ใช้ชีวิตด้วยภาษาของคำว่า “ควร” แต่พวกเขา “เป็น” เช่นตอนที่แม็กซ์อยู่ในปาร์ตี้หมุนขวด แล้วเขาไม่ได้จูบบริกซ์ลี เขาก็กล้าลุกขึ้นและขอให้บริกซ์ลีจูบเขาโดยไม่สนใจกฎของเกม หรือแม้แต่การไปทลายรังยาเสพติดของวัยรุ่นเพื่อหายามาแลกกับโดรน เขาก็ทำโดยไม่ได้นึกถึงคำว่า “ควรหรือไม่ควร” ทางด้านธอร์เองก็แสบไม่น้อย เพราะเขาขโมยเบียร์จากร้านสะดวกซื้อต่อหน้าตำรวจ น่าสนใจที่คนที่ทำตามกฎ อันเป็นขั้วของความเป็นหญิงในเรื่องนี้คือลูคัสที่เป็นเด็กผิวสี เขาไม่เห็นด้วยกับแผนซื้อยาเสพติดของแม็กซ์ และยังเรียกชมรมต่อต้านการบูลลี่ในโรงเรียนมาช่วยเมื่อมีปัญหา ในแง่หนึ่ง ความเป็นคนชายขอบ เช่นที่ลูคัสเป็นคนผิวสี มักจะถูกกีดกันให้อยู่ในขั้วของความด้อยพัฒนามากกว่า ซึ่งนั้นคือขั้วของความเป็นหญิง จึงน่าสนใจว่าการที่ตัวละครลูคัสแตกต่างจากเพื่อนทั้งสองเป็นความบังเอิญหรือไม่ เพราะเขาเป็นตัวละครที่แทบไม่มีความเบียวอยู่เลย

ในเรื่องการสำรวจประเด็นทางเพศ เห็นได้ชัดว่าเด็กผู้ชายได้รับอภิสิทธิ์ค่อนข้างมาก และยังถูกมองว่ามันเป็นเรื่องที่ทำให้พวกเขาแมนขึ้นอีกด้วย ตอนเปิดเรื่อง แม็กซ์กำลังเปิดภาพตัวละครในเกม เพื่อที่เขาจะได้ช่วยตัวเอง แต่พ่อของเขามาเห็นก่อน ปฏิกิริยาของพ่อของเขาคือภูมิใจในตัวลูกชายที่กำลัง “ถึงวัย” แล้ว หรือแม้กระทั่งการที่เขาเดินหน้าทำตามแผนเพื่อให้ได้จูบบริกซ์ลี เพื่อนๆ ของเขาก็ต่างสนับสนุน มุกตลกหยาบโลนเกี่ยวกับเซ็กซ์ทอย ถ้ามันไปอยู่ในตัวละครผู้หญิง มันอาจไม่ได้ออกมาดิบห่ามเท่านี้ เพราะตัวละครผู้หญิงถูกสอนให้รับรู้ขอบเขตของเรื่องเหล่านี้ และระวังตัวไม่ให้เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ เช่นที่น้องสาวของธอร์เป็นคนเตือนว่าของเล่นที่พวกเขาถือเป็นของเล่นของผู้ใหญ่ น่าคิดว่าตัวละครที่เป็นเด็กกว่าเข้าใจขอบเขตอันพึงระวังของเรื่องเพศและไม่เห็นว่ามันเป็นเรื่องตลก อาจเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง

ในภาพรวม หนังให้ความบันเทิงได้ค่อนข้างดี แต่เสียงหัวเราะของเราอาจมาจากการรับรู้กรอบความเป็นเพศแบบที่สังคมกำหนดมาให้ชายและหญิงแบ่งแยกกัน โดยที่ผู้ชายมีโอกาสสำรวจประเด็นต่างๆ ในสังคมมากกว่าผู้หญิงที่เป็นผู้ตาม ในแง่หนึ่ง หนังยังคงผลิตซ้ำค่านิยมชายเป็นใหญ่ผ่านการแสดงค่านิยมของเด็กผู้ชายที่พยายามทำทุกอย่างให้ตัวเอง “ดูเป็นแมน” โดยที่เด็กผู้หญิงหรือตัวละครผู้หญิงมีเพื่อนสนับสนุนความแมนของพวกเขาเพียงเท่านั้น ซึ่งก็ไม่แปลกเมื่อรู้ว่าทีมเขียนบทและผู้กำกับเป็นผู้ชายทั้งหมด


ดู Good Boys ได้ที่ Netflix

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS