INTERVIEW

ทำไมเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศจึงให้ความสนใจภาพยนตร์ฟอร์มเล็กจากประเทศโลกที่สามอย่างภาพยนตร์ไทย?

เป็นดังที่หลายคนรู้กันว่าเทศกาลภาพยนตร์หลายๆ แห่งถูกจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือฉายภาพยนตร์เพื่อโชว์คุณค่าศิลปะวัฒนธรรมตามศักยภาพที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นพึงมี ซึ่งในงานเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศหลายงานก็มักจัดกิจกรรมการประกวดและมอบรางวัลด้านต่างๆ ให้คนทำหนัง นักแสดง ทีมงานควบคู่ไปด้วยเสมอ

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 นักทำหนังไทยหลายคนมีโอกาสพาหนังของตนออกไปโลดแล่นที่เทศกาลหนังต่างแดนแล้วคว้ารางวัลกลับบ้านเกิดให้ชื่นมื่นอยู่ไม่น้อย ข่าวดีเหล่านี้สร้างความคึกคักให้แก่วงการภาพยนตร์ไทย ทว่าเมื่อพิจารณาให้ดีข่าวการคว้ารางวัลเทศกาลหนังในต่างประเทศมิได้เพิ่งเกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์ไทย จากอดีตจวบจนปัจจุบันมีนักทำหนังไทยทั้งคนทำหนังสั้น คนหนังยาว ที่พาหนังของตนเข้าสู่เวทีการประกวดในระดับโลกและได้รับคำชื่นชมกลับมา

ดรสะรณ โกวิทวณิชชา

เรานำหัวข้อคำถามตามชื่อเรื่องไปถาม ดรสะรณ โกวิทวณิชชา นักวิจารณ์และโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระหลายเรื่องในไทย ดรสะรณตอบข้อสงสัยของผู้เขียนด้วยการถามกลับว่า

“แล้วถามกลับได้ไหมว่าทำไมต้องเป็นหนังฟอร์มใหญ่อย่างเดียว?” 

เขาพยายามอธิบายกลไกว่าเหตุใดนักทำหนังพยายามนำหนังของตนเข้าสู่เทศกาลภาพยนตร์ในประเทศอื่น

“ถ้าจะมองว่าเทศกาลหนังเป็นจุดเหมือน ‘ต้นน้ำ’ จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ กว่าหนังเรื่องหนึ่งมันจะมาเข้าโรงในประเทศอย่างเมืองไทย หนังที่เราดูมันเริ่มมาจากไหน? 

จริงๆ ส่วนหนึ่งมันต้องเริ่มมาจากพื้นที่อย่างเทศกาลภาพยนตร์ การฉายหนังมันไม่ได้แปลว่าอยู่ดีๆ เรานึกจะฉายก็ฉาย แต่การจะฉายหนังเรื่องนี้มันก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์ เทศกาลภาพยนตร์ก็เป็นกลไกหนึ่งในนั้น

ยกตัวอย่างเทศกาลคานส์ก็อาจจะเป็นต้นธารของหนังหลายๆ เรื่องที่เราดูกันในท้องตลาดทุกวันนี้แม้ว่าจะไม่ใช่ทั้งหมดก็ตาม และเทศกาลภาพยนตร์อย่างคานส์เป็นสิ่งที่เริ่มต้นจัดพร้อมกับตัวตลาด (ภาพยนตร์) มันจัดด้วยกัน สิ่งที่เราเห็นก็คือว่าจริงๆ แล้วมันทำงานด้วยกัน มันมีส่วนส่งเสริมกันบางส่วนให้เด่นขึ้นมา นั่นคือหน้าที่ของเทศกาลภาพยนตร์”

ทำไมหนังอาร์ตถึงได้มีโอกาสไปฉายยังเทศกาลหนังต่างประเทศบ่อยกว่าหนังประเภทอื่น สังเกตจากกรณีหนังอาร์ตหลายๆ เรื่องของอภิชาติพงศ์?

“ถ้าเราไปดู Selection (หนังรอบคัดเลือก) ของคานส์จริงๆ เราก็จะเห็นว่าคานส์มีหนังทุกแบบมีแม้กระทั่งหนังตลกก็มี แต่ก็อาจจะไม่ใช่หนังตลกในแบบที่เราเข้าใจ มีหนังแอคชั่นไหม? บางครั้งคานส์ก็สามารถฉายหนังแอคชั่นได้ อย่างหนัง PIXAR ได้ คานส์สามารถฉายหนังหลายๆ อย่างที่เขาคิดว่าดีที่สุดในความคิดของเขา

เพราะฉะนั้นถึงจุดหนึ่ง เขาก็ต้องมีมุมมองว่าภาพยนตร์เป็นยังไง มันควรจะมีแต่หนังที่ใหญ่ๆ รึเปล่า ในเมื่อภาพยนตร์มันมีหลากหลายรูปแบบในโลก มีทั้งภาพยนตร์ที่อาจจะสร้างแบบใช้เงินมหาศาล หรือภาพยนตร์อีกแบบที่อาจจะไม่ได้ใช้เงินมากแต่ก็มีคุณค่าในมุมมองทางศิลปะที่เรามองเกี่ยวกับงานชิ้นนั้นได้แตกต่างออกไป

“เราคิดว่าในมุมมองของการเลือก เทศกาลภาพยนตร์มันก็เหมือนแฟชั่นจะมองว่าคนที่มีหน้าที่เลือกตรงนี้เป็นคนกำหนดแฟชั่น กำหนดทิศทางของภาพยนตร์ก็ว่าได้” 

ดังเช่นที่ดรสะรณกล่าว นอกเหนือจากการโชว์ศักยภาพนักทำหนังที่เป็นผู้รังสรรค์ศิลปะแล้วนั้น เทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศระดับใหญ่หลายๆ แห่งยังวางตัวเป็นตลาดซื้อขายหนังและพื้นที่พบปะทางธุรกิจระหว่างนักทำหนัง ผู้จัดจำหน่าย กับนักลงทุนเพื่อมาพบหน้ากัน แต่ฟังก์ชันทางธุรกิจของเทศกาลภาพยนตร์ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นตลาดซื้อขายหนังเท่านั้น การได้รับรางวัลและการคัดเลือกจากกรรมการก็นับเป็น ‘ตราประทับ’ ที่ช่วยการันตีคุณภาพและเพิ่มความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ได้อีกด้วย

ก้อง ฤทธิ์ดี

แม้ประเด็นการให้ความสำคัญต่อภาพยนตร์ที่มีคุณค่าทางศิลปะจะเป็นเรื่องถกเถียงมานานภายในประเทศ นักวิจารณ์รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ก้อง ฤทธิ์ดี และนักวิจารณ์ กล่าวว่าความนิยมของคนดูในต่างประเทศนั้นก็ไม่ได้แตกต่างจากเมืองไทย

“มันเป็นเรื่องปกติทุกที่ในโลก หนังหลากหลายมันอยู่ได้เพราะมีคนดูทุกประเภท แต่โอเคบางประเภทมันมีคนดูมากกว่าอยู่แล้ว คนดูหนังแอคชั่น ดูหนังรัก มันก็จะมีมากกว่าคนดูหนังศิลปะหน่อย เรื่องนี้ทุกที่ในโลกมันเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าประเทศไทยผิดปกติหรืออะไร เพียงแต่ว่าในที่อื่นฐานมันกว้างพอ จนแม้แต่หนังที่เล็กมันก็มีคนดูที่ยังพออยู่ได้บ้าง ในเชิงตลาด ในเชิงธุรกิจ คนดูมันก็เป็นตัวที่ทำให้ธุรกิจนั้นมันหล่อเลี้ยงไปได้”

คิดว่าปรากฏการณ์ Thai New Wave Cinema1อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับปรากฏการณ์ Thai New Wave Cinema ที่นี่ แบบช่วงปี 2540 จะมีโอกาสเกิดขึ้นอีกครั้งไหม

“คือส่วนหนึ่งตอนนั้นหนังเอเชียเป็นกระแสในตลาดโลกด้วย มันมาเป็นแพ็ค มาเป็นแผง มันไม่ใช่แค่ทีมไทยหรือทีมเกาหลี ทีมญี่ปุ่นหรือฮ่องกง แต่พอทุกทีมรวมกันแล้วมันก็ดูสนุก ดูน่าตื่นเต้น 

เพราะฉะนั้นไอ้สิ่งที่มันเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อนมันจะเกิดตอนนี้ได้ไหม อย่างที่เราเห็นมันก็ไม่น่าจะได้ เพราะทีมเกาหลีเขาก็ชี้นำไปคนเดียว ฮ่องกงก็เงียบเหงามาก มันไม่มีบรรยากาศของความตื่นเต้น มันไม่ได้มีบรรยากาศการค้นพบเหมือนตอนนั้น 

เราอาจจะไม่จำเป็นต้องบอกเราอยากกลับไปเหมือนตอนนั้น คืออย่าไปยึดติดกับมัน มันผ่านไปแล้วก็ผ่านไป แต่เราต้องมองว่าไอ้ที่เรามีอยู่เนี่ยเราจะทำยังไงกับมันให้ดีที่สุด แล้วจะทำยังไงให้มั่นใจว่ามันไม่ได้มีแค่เจ้ยคนเดียว” 

นอกจากนี้ก้องยังได้แสดงความเห็นว่าที่ผ่านมาบรรดานักทำหนังไทยที่เคยไปคว้ารางวัลเทศกาลต่างประเทศต่างก็ต้องดิ้นรนด้วยตนเอง แม้มีภาคเอกชนสนับสนุนแต่ก็ยังไม่เพียงพอ สิ่งนี้เองที่ทำให้คนในวงการหนังอิสระของไทยพยายามเรียกร้องให้รัฐเข้ามามีบทบาทมอบความช่วยเหลือมากขึ้น

“เราจะทำอย่างไร… หนึ่ง – คือไอ้คนที่มีความสามารถ (talent) ที่เรามีอยู่เราสนับสนุนเขาให้ได้มากที่สุด สอง – ก็คืออย่าให้เราจมอยู่กับเจ้ยคนเดียว ไม่ได้ไปบูชาตัวบุคคลคนเดียวจนลืมไปว่ามันควรจะมีคนอื่นที่ได้รับการสนับสนุน ไม่ต้องเป็นเจ้ยสอง เจ้ยสาม เจ้ยคนเดียวพอแล้ว

มันควรจะมีระบบที่ทำให้เรามีคนที่จะไปได้ไกลแบบนี้อีก ‘จะทำยังไงให้มันเกิดขึ้นได้’ อันนี้ต่างหากที่จะเป็นคลื่นลูกใหม่ได้ เราต้องแปลงสิ่งที่เรามีอยู่ตอนนี้ให้มันไปได้มากที่สุด ทำยังไงให้คนใหม่ๆ ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองให้ได้ไปไกลเหมือนอย่างเจ้ย อย่างเต๋อ อย่างบาส โต้ง ไทกิ คงเดช ทำยังไงให้มีคนมาทดแทนอยู่ตลอดเวลาโดยที่เขาไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่ท้อแท้ สูญหายตายไประหว่างทางก่อน บางคนอาจจะดังกว่าเจ้ยก็ได้ในอีก 10 ปี (หน้า) แต่ถ้าตอนนี้ตัวเขาทำไม่ได้หรือไม่มีอะไรสนับสนุนเลยเขาอาจจะถอดใจ ก็เป็นปกติในประเทศที่มี infrastructure (ปัญหาโครงสร้างสังคม) ฉันต้องทำอย่างอื่นเพราะฉันต้องเลี้ยงตัวเลี้ยงครอบครัว มันน่าเสียดาย”

LATEST