Cinema of Czechoslovak New Wave : ไม่ตอกตรึงอัตลักษณ์ชาติ แต่สร้างขึ้นมาใหม่

15 ปีที่แล้ว ฉันซื้อดีวีดีในซองกระดาษจากร้านขายของชำในซอยข้างโรงเรียนมัธยมฯ ประจำเมืองเล็กๆ ทางเหนือของสาธารณรัฐเชค เก็บสะสมไว้เรื่อยมา แม้จะดูบ้างไม่ดูบ้าง แต่ก็ซื้อไว้ก่อนเพราะเพราะแผ่นละไม่ถึงร้อย ในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน ครอบครัวที่ฉันไปอยู่ด้วยสนับสนุนให้เรียนภาษาเชคและดูหนังเชคหลังมื้อเย็นด้วยกันบ่อยๆ ฉันจึงได้ดูทั้งหนังเชคยุคหลังปี 2000 ทางโทรทัศน์ และหนังเก่ายุค 1960-1980 จากดีวีดีที่มีอยู่แล้วและที่ซื้อมาใหม่

คืนหนึ่งในห้องนั่งเล่น ฉันนอนเอนบนโซฟากับโฮสต์แม่ ส่วนโฮสต์พ่อนั่งเก้าอี้โยกที่อยู่ข้างๆ เราปิดไฟทุกดวง มีเพียงแสงวูบวาบจากหน้าจอทีวี มันคือหนังเรื่อง Cutting it Short (1980, Jiří Menzel) หนึ่งในหนังเชคที่ฉันชอบที่สุดตลอดกาล เล่าเรื่องพฤติกรรมเพี้ยนๆ ของภรรยาสาวผมบลอนด์ทรงเสน่ห์ของผู้จัดการโรงหมักเบียร์ ทำมาจากชีวิตวัยเด็กในเขตชานเมืองของ Bohumil Hrabal นักประพันธ์ชาวเชคที่เมนเซลและเพื่อนร่วมรุ่นมักจะนำนิยายและเรื่องสั้นมาทำเป็นหนัง นอกจากนั้นยังได้ดู The Party and the Guests (1968, Jan Němec) หนังขาวดำตลกเสียดสีเกี่ยวกับกลุ่มชนชั้นกลางที่ไปปิคนิคกลางป่าเขา แล้วเจอตำรวจลับที่สั่งให้พวกเขาทำตามคำสั่งไปเรื่อยๆ และ Daisies (1966, Věra Chytilová) หนังวิพากษ์ระบอบคอมมิวนิสม์ในคราบหนังเฟมินิสต์งานสร้างแสบทรวง เล่าเรื่องผ่านสองตัวละครหญิงที่ใช้ชีวิตแบบปราศจากกฎเกณฑ์และสร้างแต่เรื่องวายป่วงไม่เว้นแต่ละวัน

ฉันไม่รู้มาก่อนว่าคนทำหนังเหล่านี้เป็นตัวละครสำคัญของ Czechoslovak New Wave ที่มีบทบาทสำคัญในการประกอบสร้างตัวตนใหม่ให้วงการศิลปะวัฒนธรรมของเชคโกสโลวาเกียในช่วงปี 1963-1970 และช่วงเวลาเพียง 7 ปีนี้ก็ได้เปลี่ยนท่าทีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐของศิลปินชาวเชคยุคหลังไปตลอดกาล


1

ภาพยนตร์เชคโกสโลวักเกี่ยวรัดกับอัตลักษณ์ของชาติอย่างแยกไม่ขาด และการเกิดขึ้นของ Czechoslovak New Wave ก็เป็นการทำให้อัตลักษณ์เหล่านั้นเป็นที่ปรากฏชัด เชคโกสโลวาเกียมีชะตาพันผูกกับการจำต้องเป็นผู้สยบยอมและอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอื่นมาอย่างยาวนาน อาจมีช่วงเวลาแห่งอิสรภาพบ้าง แต่มันก็สั้นเกินกว่าประชาชนจะได้รู้ว่าสิทธิเสรีภาพมีรสชาติเป็นอย่างไร

กล่าวโดยสรุป ตลอดช่วงศตวรรษที่ 16-19 ดินแดนโบฮีเมีย โมราเวีย และซิเลเซียเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรียภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮับสบูร์ก ต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และหลังออสเตรีย-ฮังการีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็กำเนิดเป็นประเทศเชคโกสโลวาเกียในปี 1918 

อย่างไรก็ดี เชคโกสโลวาเกียถืออำนาจอธิปไตยของตนได้เพียง 20 ปี การสร้างชาติก็ถูกแช่แข็งด้วยการเข้ามามีอำนาจของนาซีในปี 1938 แต่เมื่อเยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และหมดสิ้นอำนาจในยุโรป เชคโกสโลวาเกียก็หลุดพ้นจากเงื้อมมือของฮิตเลอร์ หากแต่พรรคคอมมิวนิสต์กลับเริ่มมีอิทธิพลในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ และได้รับคะแนนเสียงถึง 38% ในการเลือกตั้งปี 1946 ความขัดแย้งในสภาและการเมืองระหว่างประเทศในตอนนั้นทำให้สหภาพโซเวียตเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทางเดินของประเทศอย่างมาก และการรัฐประหารปี 1948 ก็เป็นเหมือนการตรึงอำนาจ ทำให้เชคโกสโลวาเกียกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสม์ไปอีก 40 ปีเต็ม

ถึงอย่างนั้น ชาวเชคโกสโลวักก็ยังมีช่วงเวลาสั้นๆ ที่เข้าใกล้อิสระและประชาธิปไตยเสรีแบบชาติตะวันตกอยู่บ้าง นั่นคือช่วงเวลาก่อนที่กระแสปฏิรูปปี 1968 ที่เรียกว่า Prague Spring ในช่วงเวลาดังกล่าว ภาคการเมืองของเชคโกสโลวาเกียได้ถูกปฏิรูปแบบกลายๆ ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและเป็นเผด็จการน้อยลงโดยสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์รุ่นใหม่ ที่ไม่พอใจสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างหนักจากการบริหารของสมาชิกพรรครุ่นใหญ่ในขณะนั้น พวกเขาและพันธมิตรจึงสนับสนุนให้ Alexander Dubček ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน

แม้ดุบเช็คจะเริ่มกระบวนการ de-Stalinization ที่เปิดให้ประชาชน สื่อมวลชน นักเขียน และศิลปินมี freedom of speech มากขึ้น โดยที่ประเทศยังคงความเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การบริหารของพรรค แต่ Prague Spring นี่เองกลับเป็นห้วงเวลาสุดท้ายที่ประชาชนจะได้หายใจเอาอิสรภาพเข้าไป ก่อนที่รถถังโซเวียตจะบุกกรุงปราก และสหภาพโซเวียตจะใช้อำนาจที่เข้มข้นกว่าเดิมในการปกครองรัฐบริวาร 

แต่นอกจากนโยบาย de-Stalinization ที่สนับสนุนอิสระในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ก็ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่ทำให้ Czechoslovak New Wave ถือกำเนิด ได้แก่ การเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เชคโกสโลวักในฐานะเครื่องมือสร้างชาติ การก่อตั้ง FAMU ในปี 1947 อิทธิพลจากวรรณกรรมเชคโกสโลวักในศตวรรษที่ 20 และอัตลักษณ์ของชาติที่ถูกบ่มเพาะมาอย่างยาวนานจนถึงจุดที่พร้อมจะปะทุออกมา


2

หนังเชคโกสโลวักเริ่มมีที่ยืนในอุตสาหกรรมหนังโลกในแง่หนึ่งก็เพราะการเติบโตของ Studio Barrandov และเป็นที่รู้จักในอเมริกาจากการเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมของ Loves of a Blonde (1965, Miloš Forman) เกี่ยวกับโรงงานในชนบทที่มีแต่ผู้หญิงวัยรุ่น เพราะพวกผู้ชายโดนส่งไปรบ และ The Fireman’s Ball (1967, Miloš Forman) เรื่องราวสุดกระอักกระอ่วนป่วงแตกในงานเลี้ยงวันเกิดสุดอลังการที่กลุ่มนักดับเพลิงจัดให้อดีตเจ้านายวัยเกษียณ ทั้งสองเป็นหนังเรื่องสำคัญของฟอร์มาน ผู้เป็นที่รู้จักจาก One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975, Miloš Forman) ที่เขาสร้างหลังจากย้ายไปอยู่อเมริกาถาวรหลังปี 1968 และถูกนับว่าเป็นผู้กำกับชาวอเมริกันนับแต่นั้น

ในเชคโกสโลวาเกีย Studio Barrandov ซึ่งก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1933 กลายเป็นของรัฐในปี 1945 และเริ่มผลิตภาพยนตร์ภายใต้การเมืองภาคประชาชนที่ถูกกดทับ โดยในช่วงหลายทศวรรษก่อนนโยบาย de-Stalinization ภาพยนตร์เชคโกสโลวักมักถูกสร้างขึ้นในรูปแบบของสัจนิยมสังคมนิยม (Socialist Realism) เพื่อนำเสนอ ‘ความจริง’ ในแบบของโซเวียต นั่นคือภาพในอุดมคติที่โซเวียตพยายามวาดให้คนเชื่อตามว่าการปกครองแบบที่ทุกคนหน้าตาเหมือนกันและทำสิ่งเดียวกันจะนำไปสู่สังคมที่ถึงพร้อม

ศิลปะแนวนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือเพิ่มพูนอำนาจของรัฐเรื่อยมา หนังเชคโกสโลวาเกียในยุคก่อนหน้าจึงมักจะเป็นโฆษณาชวนเชื่อที่หลากหลายตัวละครถูกนับเป็นหน่วยเดียว หรือเรื่องราวแนวเทพนิยาย ตำนาน นิทานปรัมปรา หรือโลกแฟนตาซี มากกว่าจะเป็นหนังที่ให้อิสระตัวละครในฐานะปัจเจกชนได้คิดและตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์ในโลกเสรีทำ เมื่อมาถึงช่วงที่นโยบายทางการเมืองยืดหยุ่นขึ้น คนทำหนังชาวเชคโกสโลวักที่มีทรัพยากรและต้นทุนจึงพร้อมสร้างโลกแบบของตัวเองในหนังและถ่ายทำมันออกมาได้จริงๆ

Jiří Menzel, Jan Němec, Věra Chytilová, Miloš Forman, Ivan Passer, Evald Schorm, Jaromil Jireš, Juraj Herz คนทำหนังแถวหน้าในยุคนี้ต่างเป็นเพื่อนพ้องที่ฝึกลับคมมีดมาด้วยกันจาก FAMU (Film and Television School of the Academy of the Performing Arts) โรงเรียนหนังและศิลปะในกรุงปรากที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1947 โดยมี Ján Kadár ผู้กำกับ The Shop on Main Street (1965, Ján Kadár) เป็นหนึ่งในอาจารย์ ก่อนจะเข้าสู่อุตสาหกรรมหนังผ่าน Studio Barrandov ในช่วงต้นของทศวรรษ 1960


3

ถึงจะมีเสรีภาพมากขึ้นและไม่ต้องทำหนังโฆษณาชวนเชื่อป้อนรัฐแบบตรงๆ แต่ก็ยังมีหน่วยงานที่คอยสอดส่องและจัดการหนังนอกรีตอยู่ ผ่านการแก้ไข ตัดทอน ปฏิเสธไม่ให้บทหนังเรื่องนั้นได้ไปต่อ ไปจนถึงตักเตือน ข่มขู่ เลื่อนฉาย หรือสั่งห้ามฉายหนังเรื่องนั้น ทำให้คนทำหนังในยุค Czechoslovak New Wave ต้องมีลูกล่อลูกชน หาทางหนีทีไล่ และเล่าเรื่องด้วยท่าทีที่แปลกออกไป

อย่างไรก็ดี พวกเขายังคงไว้ซึ่งสิ่งที่เป็นหัวใจของเรื่องเล่าเหล่านั้น นั่นคือ ‘ปัจเจกชนคนธรรมดา’ ที่ไม่เคยอยู่ในสมการทางการเมืองของชาติมาก่อน อย่างชายหนุ่มสองคนที่กระโดดหนีลงมาจากรถไฟขณะโดนส่งตัวไปยังค่ายกักกันใน Diamonds of the Night (1964, Jan Němec), คนแล่หนังสัตว์ในเขตชานเมือง พนักงานขายประกัน พนักงานเสิร์ฟในผับ และชายขอบของชายขอบอย่างสาวยิปซียากจนใน Pearls of the Deep (1965, Jiří Menzel, Jan Němec, Evald Schorm, Věra Chytilová และ Jaromil Jireš, รวมหนังสั้น), เหล่านักดับเพลิงใน The Fireman’s Ball และแม่บ้านที่อยู่บ้านทำกับข้าวดูแลสามีกับนักยิมนาสติกสาวใน Something Different (1963, Věra Chytilová)

ควบคู่ไปกับตัวละครที่เป็นปุถุชน หนังกลุ่มนี้ยังมีจุดร่วมที่แข็งแรง นั่นคือเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องตลกร้ายแบบ satire ตัวละครพูดจาแปลกๆ ทำสิ่งที่ absurd ไม่มีประโยชน์ และหลุดออกจากตรรกะของโลกที่เราคุ้นเคย (ซึ่งในที่นี้หมายถึงโลกคอมมิวนิสม์ที่ไม่มีพื้นที่ให้ความแตกต่างหรือคนที่หลุดกรอบ) คนทำหนังกลุ่มนี้เลือกทำหนังที่ไม่สยบยอม หันมาวิพากษ์รัฐผ่านหลากสัญญะ และไม่ใช้ตัวละครที่อ่อนปวกเปียกมาสะท้อนอำนาจรัฐที่ต้านทานไม่ได้ แต่วาดภาพโครงสร้างสังคมที่ไม่ยืดหยุ่นและใกล้ล้มเหลวขึ้นมาในหนัง เพื่อสะท้อนว่าตัวละครเองก็มีอำนาจ เป็นอำนาจที่รัฐไม่ได้มอบให้ แต่เพราะพวกเขาเป็นเจ้าของมันอยู่แล้ว [*]

แม้คนเชครุ่นใหม่ที่เรารู้จักจะมีอัธยาศัยดี สบายๆ เป็นกันเอง และมั่นใจในสิ่งที่ทำ แต่เมื่อพูดถึงอัตลักษณ์ร่วมในบริบทของความเป็นชาติหรือการเมืองการปกครอง พวกเขากลับมองตัวเองและชาติของตนในแบบที่่ต่างไป พวกเขารู้สึกว่าประเทศของตนเป็นดินแดนเล็กๆ ที่ธรรมดา ไม่น่าสนใจ และไม่มีบทบาทอะไรในเวทีโลก นักเขียนนักวิจารณ์บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่าคนเชคในยุคหลังโซเวียตล่มสลายมีเสรีภาพมากขึ้นก็จริง แต่ก็มักจะรู้สึกว่าตนถูกทอดทิ้งและไม่มีอำนาจ สนธิสัญญามิวนิคที่เกี่ยวกับพวกเขาก็เป็นการตัดสินใจของคนอื่น เมื่อโดนโซเวียตกดขี่ก็ไม่มีชาติเสรีประชาธิปไตยชาติใดยื่นมือเข้ามาช่วย และชาติตะวันตกก็นับเชคโกสโลวาเกียเป็นสุดขอบฝั่งตะวันตกของโซเวียต แทนที่จะรู้สึกว่าประเทศนี้เป็นสุดขอบฝั่งตะวันออกของโลกใหม่ พวกเขาจึงใช้ชีวิตแต่ละวันแบบไม่ทะเยอทะยาน เพราะรู้สึกตัวเล็กจ้อย ไม่คิดว่าจะมีวันที่ตัวใหญ่ขึ้นมา และมีความหวังเพียงน้อยนิดว่าจะกำหนดอนาคตของตนเองได้

Czechoslovak New Wave จึงควรค่าแก่การพูดถึง เพราะหนังกลุ่มนี้ไม่ได้ทำเลียนแบบสภาวะจริงของผู้ถูกกดขี่ที่มีแต่เจ็บปวด หวาดกลัว ทุกข์เศร้า แต่กลับนำเสนอสิ่งที่ตรงกันข้ามและพูดสิ่งที่ไม่เคยมีคนอยากพูด มันคือการเตือนให้คนดูรู้ว่ายังมีความจริงอื่นนอกเหนือจากมโนภาพของพวกเขา ความจริงอื่นที่พวกเขาไม่กล้าแม้แต่จะจินตนาการ ความจริงอื่นที่เกิดขึ้นได้หากพวกเขายังมีแสดงพริบพรายของความหวังหลงเหลือ และแม้หนังกลุ่มนี้จะเล่าเรื่องตลกร้ายที่ทำให้คนดูคิดว่าจะเกิดความฉิบหายขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่ตอนจบส่วนใหญ่กลับให้ความรู้สึกอบอุ่น เบาสบายแบบไม่ฝันหวาน และมีแสงแห่งความหวังพาดผ่านเสมอ ซึ่งนั่นอาจเป็นหนึ่งในวิธีหลุดพ้นจากการกดขี่ของคนทำหนังเหล่านี้ก็เป็นได้


3 เรื่องจากยุคนี้ที่เราอยากแนะนำ

ที่มา https://www.criterion.com/current/posts/6286-diamonds-of-the-night-into-the-woods

Diamonds of the Night (1964, Jan Němec)

นี่คือหนังเรื่องแรกของยาน เนียเม็ซ ผู้กำกับ The Party and the Guests (หนึ่งในหนังเชคที่คนไทยมักจะนึกถึงมากที่สุด และถูกนำมาจัดฉายในไทยอยู่บ่อยครั้ง เพื่อแสดงสภาวะที่ชนชั้นกลางกำลังถูกชนชั้นปกครองเล่นตลกด้วย) Diamonds of the Night ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของ Arnošt Lustig นักเขียนชาวยิว เป็นเรื่องของคนธรรมดาสองคนที่ถูกจับไปรวมกลุ่มกับคนธรรมดาอีกนับล้าน เพื่อจะส่งไปยังค่ายกักกันนาซีหลายต่อหลายแห่งในยุโรปกลาง เรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อชายสองคนกระโดดลงมาจากรถไฟแล้ววิ่งกระเสือกกระสนหนีกระสุนปืนเข้าป่า กว่า 3 ใน 4 ของเรื่องคือการติดตามพวกเขาเข้าไปในป่ารก ในความทรงจำ ในความฝัน และในความไม่ฝัน ผ่านงานภาพที่สำรวจภายนอกของตัวละครอย่างเฉียบคมและการตัดเอาคัทสั้นๆ มาต่อกัน เลือนเส้นแบ่งว่าอะไรเกิดขึ้นจริงและอะไรเป็นสิ่งที่พวกเขาอยากให้เกิด

ในช่วงครึ่งหลังของเรื่อง กลุ่มชายแก่ที่ถือปืนยาวล่าสัตว์พยายามออกล่าพวกเขา เมื่อถูกจับได้ กลุ่มชายแก่พาพวกเขามาที่บ้านกลางป่า ให้ยกมือหันหน้าเข้าหาผนัง และหันไปดื่มเบียร์ร้องเพลงเฉลิมฉลอง ในตอนท้าย พวกเขาทั้งสองถูกสั่งให้ออกไปข้างนอกแล้วเดินไปเรื่อยๆ ทางเสียง เราได้ยินเสียงปืน ทางภาพ เราเห็นพวกเขาวางความกลัวลงแล้วเดินดุ่มเข้าป่า จนภาพในตอนท้ายซ้อนเข้ากับตอนเริ่มเรื่อง การมีอยู่ของคนธรรมดาสองคนนี้จึงอาจไม่ได้สะท้อนชะตากรรมร่วมของชาวยิวในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สะท้อนชะตากรรมร่วมของชาวเชคในยุค 1960 ที่เมื่อดำเนินไปจนถึงจุดหนึ่งก็ต้องวนกลับมาที่จุดเริ่มต้นอยู่อย่างนั้น แต่เพราะเรามิอาจรู้ได้ว่าส่วนใดของหนังถูกนับว่าจริงบ้าง จึงอาจเป็นได้ว่า พวกเขาทั้งสองย่อมเลือกมันได้เอง

ที่มา https://www.cineaste.com/winter2015/valerie-and-her-week-of-wonders

Valerie and Her Week of Wonders (1970, Jaromil Jireš)

เป็นหนังที่ให้ความรู้สึกประหลาดตั้งแต่เริ่มเรื่องไปจนถึงตอนจบ สุนทรียะไม่เหมือนกับหนังในยุคเดียวกันเรื่องไหน และไม่สนอกสนใจจะมอบคำอธิบายใดให้กับคนดู หนังเรื่องสุดท้ายของ Czechoslovak New Wave เรื่องนี้ เล่าเรื่องของเด็กสาวอายุ 13 ปีในสัปดาห์ที่ประจำเดือนเพิ่งมาครั้งแรก และประสบการณ์ประหลาดโลกที่พานพบในคฤหาสน์โบราณของคุณย่าและเมืองเล็กแห่งหนึ่งในยุคกลาง ทุกคนคนรอบตัวเธอมีท่าทีแปลกๆ และเธอก็มองพวกเขาด้วยสายตาสงสัยใคร่รู้ ทั้งบาทหลวงที่มาเยี่ยมเยือน พ่อมดร้ายที่มีอดีตกับคุณย่า ชายหนุ่มที่อยู่ใต้อาณัติของพ่อมด และหนุ่มสาวชาวบ้านที่เล่นเพื่อนและพลอดรักกันในป่าโปร่งตลอดเรื่อง นำไปสู่การทำความเข้าใจและอยู่กับ ‘โลกของผู้ใหญ่’ ให้ได้ในแบบของเธอเอง

แม้จะไม่โด่งดังและเข้าถึงง่ายเท่าหนังของฟอร์มานหรือเมนเซล แต่นี่ก็เป็นหนังเชคที่คนพูดถึงไม่น้อย ในแวบแรก หนังดำเนินไปตามพล็อตแบบเทพนิยายที่เราคุ้นเคย นั่นคือเด็กหญิงกำพร้าเติบโตมากับญาติผู้ใหญ่ ถูกตัวละครชายข่มเหง และสุดท้ายได้เรียนรู้ว่าใครสักคนอาจเป็นพ่อของอีกคน และใครหลายคนอาจเป็นพี่น้องคลานตามกันมา แต่เหนือไปกว่านั้น มันเป็นเทพนิยายแหวกขนบที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายกอธิคผสมเซอร์เรียลลิสม์และเนื้อหาสุดอีโรติก อย่างการดูดเลือดที่คอในหลายครั้งซึ่งถูกทำให้ดูเหมือนการขโมยจูบ ทั้งหมดโดดเด่นด้วยองค์ประกอบศิลป์และเครื่องแต่งกายที่ดูแลโดย Ester Krumbachová (คนออกแบบศิลป์คู่ใจของคิทีโลว่าที่สร้างโลกอันฉูดฉาดใน Daisies) และบทที่ครุมบาโคว่าดัดแปลงอย่างตรงไปตรงมาจากนิยายเซอร์เรียลลิสม์ของ Vítězslav Nezval ที่ตีพิมพ์ในช่วงพีคของกลุ่ม Devětsil หรือ Czech Surrealism ในยุค 1930 ซึ่งเนซวาลเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตี

ที่มา https://czechfilmreview.com/2020/08/14/intimate-lighting-intimni-osvetleni-ivan-passer-1965/

Intimate Lighting (1965, Ivan Passer)

หนังเชคเรื่องแรกและเรื่องเดียวของอีวาน พาสเซอร์ ที่ในเวลาต่อมาย้ายออกจากประเทศตามฟอร์มานไปยังอเมริกา เขาคือหนึ่งในคนเขียนบทยุคแรกของฟอร์มานที่พา Loves of a Blonde และ The Fireman’s Ball ข้ามทวีปไปเข้าชิงออสการ์ ในสองเรื่องที่ว่าเขาทำงานร่วมกับ Jaroslav Papoušek และ Václav Sasek โดยสองคนนี้ก็ร่วมเขียนบท Intimate Lighting กับพาสเซอร์ด้วย (หนังของพาโพวเช็คที่เรารักคนเชครู้จักดีก็เช่นหนังไตรภาคครอบครัววายป่วงที่ผสมความตลกตีหัวกับตลกร้าย Ecce Homo Homolka (1970), Hogo Fogo Homolka (1971) และ Homolka a Tobolka (1972) ส่วนซาเซ็คนั้นยังทำงานเขียนบทอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน)

Intimate Lighting โดนแบนตลอดมาจนจบยุคคอมมิวนิสม์ เล่าถึงช่วงเวลาวันครึ่งของเปเตอร์และแบมบาส สองเพื่อนรักในวัยเด็กที่กลับมาพบกันอีกครั้ง เปเตอร์เป็นนักดนตรีในวงออเคสตราที่เดินทางจากเมืองใหญ่มายังเมืองที่แบมบาสเป็นเป็นครูใหญ่ประจำโรงเรียนดนตรีท้องถิ่น ครอบครัวของแบมบาสพาเปเตอร์และชเตพาแฟนสาว (แสดงโดยภรรยาของฟอร์มานในตอนนั้น) ไปดูพวกเขาเล่นดนตรีให้งานศพของคนในหมู่บ้านเพื่อแลกอิฐดีๆ มาต่อเติมบ้าน ต่อมาเราจึงค่อยๆ รู้ว่า เปเตอร์มาที่เมืองนี้เพื่อบรรเลงดนตรีในคอนเสิร์ตร่วมกับแบมบาสและคนอื่นในหมู่บ้านนั่นเอง

หากดูรายชื่อหนังในยุคนั้นที่คนเชคนึกถึงมากที่สุด นอกจากชื่อที่กล่าวไปข้างต้นก็มักจะมีเรื่องนี้ เคียงข้างมาด้วย มันเป็นเรื่องเล่าที่ทั้งอุ่นหัวใจ หม่นเศร้า และทำเอาเราน้ำตาไหล ทั้งจากบรรยากาศในหมู่บ้านนอกเมืองแบบที่เราเคยอยู่ จากการมองเข้าไปในโลกของเปเตอร์และแบมบาสจากสายตาคนเมืองแบบชเตพา การพูดถึงความโดดเดี่ยวและความตายอย่างสุขุม นิ่งสงบ และเข้าอกเข้าใจ รวมถึงเพลงคลาสสิกของยานาเช็ค สเมทานา ดวอชาร์ค และโมซาร์ต ที่คลออยู่ตลอดเรื่อง เปเตอร์และแบมบาสใช้เวลาวันครึ่งทานข้าวพร้อมหน้ากับครอบครัว ซ้อมดนตรี พูดคุยถึงอดีต และดื่มเหล้าที่หมักไว้ในระหว่างฤดูใบไม้ร่วงร่วมกันในยามค่ำคืน เรารู้สึกโศกซึ้งตามตลอดเรื่อง และมันอาจเหมือนกับที่ตัวละครหนึ่งกล่าวไว้

“คนทั่วโลกมีความสุขกับสิ่งที่ต่างกัน แต่หน้าตาของความเศร้ามันเหมือนกันทุกที่นั่นแหละ”

[*] นี่เองอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมคนทำหนังกลุ่มนี้มักอ้างอิงหรือหยิบจับวรรณกรรมเชคโกสโลวักในทศวรรษก่อนหน้ามาดัดแปลง นั่นก็เพราะพวกเขากำลังพูดเรื่องที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ ‘สภาวะของมนุษย์ระหว่างที่ถูกกดขี่’ และ ‘วิธีหลุดพ้นจากการกดขี่นั้น’ โดยอาจไม่ได้หมายความเพียงการกดขี่โดยพรรคคอมมิวนิสต์หรือโซเวียต แต่หมายรวมถึงความสิ้นหวังที่กดหัวพวกเขาเองมาตลอด

ตัวอย่างเช่น Diamonds of the Night ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของอาร์นอชท์ ลุสติก, Pearls of the Deep, The Junk Shop (1965, Juraj Herz, หนังสั้น), Closely Watched Trains (1966, Jiří Menzel) และ Larks on a String (1969, Jiří Menzel) ดัดแปลงจากงานของโบฮุมิล ฮราบาล, The Joke (1969, Jaromil Jireš) ดัดแปลงจากนิยายของมิลาน คุนเดอรา และ Valerie and Her Week of Wonders (1970, Jaromil Jireš) ที่ดัดแปลงจากนิยายของวีเทียชสลาฟ เนซวาล


อ้างอิง

  • Bates, R. (1977) “The Ideological Foundations of the Czech New Wave.” Journal of the University Film Association 29, no. 3: 37-42. Accessed August 20, 2021. http://www.jstor.org/stable/20687379.
  • Brodsky, J. (2001) The Czech Experience of Identity. In: Drulák, P. (ed.) National and European Identities in EU Enlargement. Prague: Institute of International Relations, pp. 21-38
  • Kopeček, M. (2002) Politics, Antipolitics, and Czechs in Central Europe: The Idea of “Visegrád Cooperation” and Its Reflection in Czech Politics in the 1990s. In: Questionable Returns, ed. A. Bove, Vienna: IWM Junior Visiting Fellows Conferences, Vol. 12
  • https://www.popmatters.com/czech-new-wave-cinema-2496099972.html
  • https://openjournals.uwaterloo.ca/index.php/kinema/article/view/1232/1554
วรรษชล ศิริจันทนันท์
ชอบเขียนถึงภาพยนตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม เรียนจบด้านประวัติศาสตร์ยุโรป ความฝันในวัยเกือบ 30 คือการได้ย้ายออกจากประเทศ

RELATED ARTICLES