Blog Page 9

A Question of Silence เสียงหัวเราะของเมดูซ่า

0

เช้าวันนั้น ผู้หญิงสามคนที่ไม่รู้จักกัน คนแรกเป็นแม่บ้านมีลูกเล็ก คนที่สองเป็นเจ้าของร้านกาแฟร่างท้วมที่โดดเดี่ยว คนที่สามเป็นเลขานุการิณีคนสวยที่อาจจะมีคนรักมากหน้า พวกเธอบังเอิญอยู่ในร้านขายเสื้อผ้าในเวลาเดียวกัน เจ้าของร้านเป็นชายวัยกลางคนท่าทางสุภาพคนหนึ่ง เขาเห็นแม่บ้านหยิบเสื้อใส่กระเป๋าจึงเข้าไปห้าม ท่ามกลางความเงียบ ชายเจ้าของร้าน ถูกผู้หญิงสามคนที่ไม่รู้จักกันรุมทำร้าย ทุบตี กระทืบ ฟาดด้วยหุ่นลองเสื้อและกระจก โดยมีผู้หญิงอีกจำนวนหนึ่งที่บังเอิญอยู่ในร้าน เฝ้ามองเหตุการณ์ทั้งหมดโดยไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ จากนั้นทุกคนก็แยกกันไป 

ไม่นานจากนั้นตำรวจก็ไปจับพวกเธอ ไม่มีใครปฏิเสธข้อหา ยอมให้จับแต่โดยดี คุณหมอจานีน จิตแพทย์สาวที่มีสามีเป็นทนายถูกขอให้มาดูแลเคสนี้เพื่อประเมินว่าพวกเธอเป็นบ้าหรือไม่บ้า คริสตีน หญิงแม่บ้านไม่พูดอะไรเลย เธอเลิกสื่อสารโดยการพูด แต่เลือกจะวาดรูปแทน ขณะที่แอนนี่ หญิงเจ้าของคาเฟ่เอาแต่พูดไม่หยุดหย่อน พูดไปเรื่อยเปื่อย คนสุดท้าย แอนเดรีย เลขาณุการิณีสาวอาจจะพูดรู้เรื่องที่สุด แต่ก็ดูเหมือนเธอไม่ได้พูดอะไรที่จะช่วยให้ตัวเองพ้นผิด หรือเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีเลย

จิตแพทย์หญิงค่อยๆ ถูกกลืนกินด้วยสามฆาตกรสาวและความเงียบในแบบต่างๆ ของพวกหล่อน เธอไม่สามารถหาแรงจูงใจในการฆ่า ไม่อาจประเมินว่าผู้ต้องหาวิกลจริต ทุกอย่างไม่มีเหตุมีผลมากจนเกินไป ขณะเดียวกันมันกลับดึงดูดเธออย่างยิ่ง ความเงียบของคริสตีน ความเสียสติของแอนนี่ และความไม่ใยดีต่อโลกของแอนเดรีย ปลุกเร้า ท้าทายและทำลายล้างบางอย่างในตัวเธอ จนในวันขึ้นพิจารณา ในโลกของอัยการ ทนายผู้พิพากษา ตำรวจ นักข่าวที่เกือบทั้งหมดเป็นผู้ชาย พวกเขาพยายามจะให้เธอพูดออกมาว่าผู้หญิงสามคนนี้เป็นบ้า เพราะป็นคนบ้านั้นเข้าใจได้กว่าเป็นอาชญากร

ภาพยนตร์โดย Marlene Gorris ผู้กำกับและนักเขียนหญิงชาวเนเธอร์แลนด์ หนึ่งในแนวหน้าของคนทำหนังที่สนับสนุนแนวทางเฟมินิสต์ ว่ากันว่าเธอเคยเป็นคนเขียนบทมาก่อน และเคยเอาบทของเธอไปเสนอให้กับ Chantal Akerman ผู้กำกับหญิงชาวเบลเยียมคนสำคัญ แต่ Akerman กลับสนับสนุนให้เธอเป็นคนทำหนังออกมาด้วยตัวเอง และมันคือหนังเรื่องนี้ที่ทรงพลัง ท้าทายไม่ต่างจากภาพยนตร์อย่าง Jeanne Dielman, 23 quai du Commerce, 1080 Bruxelles (1975) ของ Akerman เลยแม้แต่น้อย

ใน Jeanne Dielman เราใช้เวลาเกือบสามชั่วโมงในการจ้องแม่บ้านหญิงวัยกลางคน ปอกมันฝรั่ง ไปตลาด ทำกับข้าว เก็บบ้าน ดูแลลูกชาย และขายตัว ซ้ำไปซ้ำมา แล้วจู่ๆ เธอลุกขึ้นมาฆ่าลูกค้าคนหนึ่งด้วยกรรไกรในตอนจบ 

จะว่าไปเราอาจบอกได้ว่าว่า Question of Silence ที่พูดถึงเหตุการณ์หลังจากที่ผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาฆ่าผู้ชาย ราวกับเป็นภาคต่อซึ่งกันและกัน 

แน่นอนว่าการที่หนังเล่าเรื่องของผู้หญิงแปลกหน้าสามคน ฆ่าผู้ชายตายอย่างไร้สาเหตุเป็นการเสนอนิทานสาธกข้อถกเถียงที่อันตรายด้วยการพาสถานการณ์ไปสุดทางเสียจนอาจทำลายตัวแกนหลักของข้อถกเถียงเอง โดยทำให้ลดรูปลงเหลือเพียงแค่เรื่องของพวกผู้หญิงบ้าสามคนที่ไม่เกี่ยวอะไรกับกระบวนการกดขี่หรือชายเป็นใหญ่ หรืออาจเลยเถิดไปเป็นตัวอย่างหัวกลับว่าพวกเฟมินิสต์ที่เกลียดผู้ชายเข้าไส้สุดท้ายก็จะกลายเป็นอาชญากรแบบนี้/เป็นบ้าแบบนี้ (ซึ่งนั่นคือใจความของหนังโดยตัวมันเอง)

หากนั่นเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่งไปพร้อมกัน เพราะในขณะที่หนังเรื่องอื่นพยายามจะทำให้ผู้ชมเข้าใจจิตใจภายในของปัจเจกชนคนใดคนหนึ่ง ให้เหตุผลกับการกระทำของเธอหรือเขา หนังเรื่องนี้กลับทำตรงกันข้าม การไม่ให้เหตุผล หรือการไม่มีเหตุผล ทำให้หนังกลายเป็นภาพแทนสุดโต่งแบบ worst case scenario คล้ายๆ กับหนังดิสโทเปียที่ว่าด้วยสภาวะหลังสิ้นโลกที่คุณค่าแบบเก่าๆ ถูกผลักไปยังขอบของมัน ไม่ว่าจะเป็นศีลธรรม หรือมนุษยธรรม วิธีทำความเข้าใจหนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่การทำความเข้าใจแบบหนัง อะไรทำให้หล่อนเป็นแบบนี้ แต่คือคำถามที่ว่า มันจะเป็นอย่างไรถ้าหล่อนลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้ ปัจเจกจะกลายเป็นเพียงตุ๊กตาสำหรับอธิบายโครงสร้างทั้งหมดที่ครอบเราเอาไว้

และหากข้อถกเถียงในหนังเรื่องนี้คือ มันจะเป็นยังไงถ้าผู้หญิงลุกขึ้นมาฆ่าผู้ชายอย่างไม่มีเหตุผล โดยคำถามไม่ใช่เรื่องว่าเธอทำได้หรือไม่ แต่คำถามคือแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นกับเธอ พวกหล่อนจะถูกปฏิบัติต่างกันกับอาชญากรชายหรือไม่ ถ้าใช่ ทำไมมันจึงเป็นแบบนั้น กระบวนการที่เกิดขึ้นหลังการฆ่าสำคัญกว่าก่อนการฆ่า และการขยายข้อถกเถียงสุดทางผ่านนิทานสาธกนี้ได้ทำให้เรามองเห็นมุมมองที่กว้างไกลไปกว่าแค่ชะตากรรมจำเพาะของใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งในสายตาแบบนั้น เราอาจจะต้องอาศัย ชุดคิดทางศีลธรรม กฎหมาย และความสัมพันธ์กับผู้คนอื่นๆ มาอธิบายเพิ่มเติม และมองมันในฐานะเรื่องที่ ‘พิเศษ’ จำเพาะเจาะจงกับคนใดคนหนึ่ง

และหากข้อถกเถียงในหนังเรื่องนี้คือ มันจะเป็นยังไงถ้าผู้หญิงลุกขึ้นมาฆ่าผู้ชายอย่างไม่มีเหตุผล โดยคำถามไม่ใช่เรื่องว่าเธอทำได้หรือไม่ แต่คำถามคือแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นกับเธอ พวกหล่อนจะถูกปฏิบัติต่างกันกับอาชญากรชายหรือไม่ ถ้าใช่ ทำไมมันจึงเป็นแบบนั้น

หนังเล่าเรื่องย้อนกลับไปยังชีวิตก่อนหน้าของพวกเธอ ไปแสดงให้เห็นความไร้เสียงของเธอในรูปแบบต่างๆ ในโลกชายเป็นใหญ่ คริสตีนเป็นแม่บ้านลูกสามที่ต้องคอยอยู่กับเด็กๆ ที่ส่งเสียงดังในบ้านที่สามีต้องการความสงบ ท่ามกลางเสียงที่ดังกลบเสียงของเธอตลอดเวลา เธอกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่แทบไม่พูด เพราะพูดไปก็ไม่มีใครฟัง ในขณะที่แอนนี่นั้นพูดตลอดเวลา พูดเรื่อยเจื้อยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่การพูดของเธอ เป็นเพียงการพูดเพื่อปกป้องตัวเองจากความเงียบลึกซึ้งภายใน เมื่อเธอกลับบ้านเธอมีชีวิตกับแมว เพียงลำพัง ในบ้านที่ไม่มีใครให้พูดด้วย บ้านจึงท่วมไปด้วยความเงียบ ในขณะที่แอนเดรียกลายเป็นภาพแทนของผู้หญิงที่มีความสามารถที่จะพูด เธอเป็นผู้หญิงที่ทำงานในบริษัทที่เต็มไปด้วยผู้ชาย เป็นเลขานุการิณีที่ดีเยี่ยม แต่เมื่อจะพูด จะเสนอความเห็นเดี่ยวกับงาน เธอต้องผ่านการชงกาแฟให้คนในสำนักงานเสียก่อน และคำพูดของเธอเป็นสิ่งที่ถูกปัดตก ถูกขอให้รวบรัด ถูกทำให้ไม่มีความหมาย ไม่ได้ยิน 

เราจึงเห็นชีวิตที่ความเงียบกดทับลงมาหลากหลายรูปแบบ แต่ความเงียบไม่ได้ทำได้เพียงทำลายล้างอย่างเดียวแต่ยังเป็นอาวุธของพวกเธอได้ด้วย ในที่สุดพวกเธอได้รับเอาความเงียบมาในใช้ในฐานะของการต่อต้าน เมื่อพวกเธอเป็นฝ่ายเลือกที่จะเงียบเสียเอง ความเงียบกลายเป็นการปฏิเสธทุกสิ่งอย่าง ความเงียบคือการต่อสู้

ผู้หญิงคนเดียวที่พูดได้ในเรื่อง คือจานีนเอง หากเธอพูดได้ ไม่ใช่เพราะเธอเป็นผู้หญิงที่เก่งกว่าใคร เธอพูดได้เพราะเธอพูดด้วยภาษาของพวกผู้ชายผ่านทางสถานะทางสังคมของความเป็นแพทย์ ความเป็นเมีย เป็นแม่ เป็นชนชั้นกลาง ด้วยการพูดในสิ่งที่ผู้ชายอยากฟัง การพูดของเธอเป็นข้ออ้างสำหรับพวกผู้ชายในเรื่องการให้พื้นที่แก่ผู้หญิง เธอได้รับการรับรองให้พูด ในฐานะแขนขาที่รับรองความถูกต้องของโลกชายเป็นใหญ่ จนเมื่อเธอตระหนักรู้ว่าความเงียบต่างหากที่กำลังพูดสิ่งที่สำคัญ เธอก็เพิ่งเข้าใจว่า เธอเองก็เป็นแค่เครื่องขยายเสียงของการพูดของพวกผู้ชายซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่เข้าใจเสียงพูดของตัวเอง เมื่อสามีบอกว่าเธอคิดมากไปเอง บอกให้เธอตระหนักถึงสถานะของครอบครัว (หรือความมีหน้ามีตาของเขา) หรือศาลบอกให้เธอพูดสิ่งที่ศาลอยากได้ยิน เช่นว่าผู้หญิงสามคนนี้เป็นคนบ้า 

ผู้หญิงคนเดียวที่พูดได้ในเรื่อง คือจานีนเอง หากเธอพูดได้ ไม่ใช่เพราะเธอเป็นผู้หญิงที่เก่งกว่าใคร เธอพูดได้เพราะเธอพูดด้วยภาษาของพวกผู้ชายผ่านทางสถานะทางสังคมของความเป็นแพทย์ ความเป็นเมีย เป็นแม่ เป็นชนชั้นกลาง ด้วยการพูดในสิ่งที่ผู้ชายอยากฟัง 

การเป็นคนบ้าคือหัวใจทั้งหมดของเรื่อง สิ่งที่ศาลต้องการได้ยินจากคุณหมอจานีนคือการวินัจฉัยว่าผู้หญิงเหล่านี้คือคนบ้า เพราะในโลกของผู้ชาย กระทั่งการเป็นฆาตกรของผู้หญิงยังเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ คนบ้าเป็นข้อยกเว้น เป็นสิ่งชายขอบ เป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจ ถ้าการกระทำของพวกเธอเป็นอาชญากรรม ก็เท่ากับรับรองความเป็นไปได้ที่เธอจะเป็นแบบเดียวกับผู้ชาย ผู้ชายไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงเพราะผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ หากมันคือด้านกลับของการไม่ยอมรับว่าผู้หญิงทัดเทียมผู้ชาย ผู้หญิงรุนแรงได้ และสามารถก่ออาชญากรรมที่รุนแรงได้อย่างมีสติครบถ้วน 

สิ่งที่น่าสนใจคือพวกเธอเลือกที่จะเป็นอาชญากรมากกว่าจะยอมเป็นคนบ้า เพราะการเป็นคนบ้าคือการถูกทำให้เงียบ การโยกย้ายปัญหาจากโครงสร้างสังคมแบบชายเป็นใหญ่ไปสู่เรื่องปัจเจกของคนด้วยวิธีคิดแบบจะเอาอะไรกับคนบ้า เมื่อปัญหาอยู่ที่คนไม่ใช่ระบบ ระบบก็ไม่มีปัญหา การเป็นเป็นบ้าคือการทำให้เงียบ ความเงียบที่กดทับลงมา แทนที่ความเงียบของการปฏิเสธ พวกเธอต่อต้านด้วยความเงียบที่เปล่งเสียงและนั่นจำเป็นต้องถูกทำให้เงียบ

อาวุธชิ้นสุดท้ายที่พวกเธอเหลือมีจึงคือเสียงหัวเราะ เมื่อศาลพยายามเปรียบเปรยว่ามันจะต่างกันไหมถ้าเป็นผู้ชายที่เป็นฝ่ายฆ่าเจ้าของร้านบ้าง การเปลี่ยนเพศเพื่อเปรียบเปรยกลายเป็นการแฉอำนาจของพวกผู้ชายเอง ว่าสำหรับพวกเขา ผู้หญิงคือสิ่งที่อยู่ในระดับต่ำกว่า เป็นสิ่งที่ไม่มีอำนาจ ความสามารถ หรือกำลังขวัญแข็งกล้าแบบเดียวกันกับพวกเขา สำหรับ ‘พวกผู้ชาย’ ผู้หญิงเหล่านี้เป็นได้มากที่สุดแค่คนบ้า ไม่สามารถเป็นได้มากกว่านั้นไม่สามารถเป็น นักบุญแบบเดียวกับ Joan of Arc และไม่สามารถเป็นอาชญากรได้

เสียงหัวเราะจากความเงียบของหญิงทั้งสามและบรรดาผู้หญิงคนอื่นๆ ที่อยู่ในศาล ทำให้นึกถึงบทความ เสียงหัวเราะของเมดูซ่า (The Laugh of Medusa) บทความชิ้นสำคัญของ Helene Cisoux นักเขียน นักวิชาการและนักสตรีนิยมชาวฝรั่งเศสที่เขียนขึ้นในปี 1976 บทความที่เป็นเสมือนการท้าทายต่อแนวคิดจิตวิเคราะห์แบบชายเป็นใหญ่ของ ฟรอยด์ และลากองนี้ ได้เปรียบเทียบผู้หญิงเข้ากับเมดูซ่า นางปีศาจในตำนานที่มีเส้นผมเป็นงู และหากใครสบตานางจะกลายเป็นหิน (ซึ่งก็นั่นเท่ากับไม่มีใครเห็นเธอจริงๆ และเธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของความตาย ผู้หญิงคือสิ่งอันตราย ผู้หญิงคือความลึกลับและความตาย) เมดูซ่าเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ถูกปลดปล่อยจากความเป็นชาย จากประวัติศาสตร์แนวคิดบูชาลึงค์ทำให้ผู้หญิงเป็นสิ่งลึกลับดำมืด เป็นสิ่งที่ต้องหลบซ่อน เป็นเพียงขั้วตรงข้ามที่ทำให้ความเป็นชายมีความหมาย Cisoux เขียนถึงเมดูซ่าสั้นๆ ว่า

‘ที่คุณต้องทำคือจ้องเมดูซ่าตรงหน้าเพื่อที่จะมองเห็นเธอ และเธอจะยังไม่ตาย เธอช่างสวยงาม และเธอกำลังหัวเราะ’https://www.mun.ca/philosophy/Cixous_The_Laugh_of_the_Medusa.pdf

อ.วันรัก สุวรรณวัฒนา ได้พูดถึงการอ่าน The Laugh of Medusa ไว้อย่างน่าสนใจว่า 

คำถามแรกเมื่อเราอ่านงาน The Laugh of the Medusa คือทำไมต้องเมดูซ่า เนื่องจากเมดูซ่าเป็นตัวแทนของผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ได้เป็นอย่างดี เพราะผู้หญิงเป็นสิ่งที่ผู้ชายหวาดกลัว เนื่องจากพวกเธอลึกลับ และไม่สามารถควบคุมได้ แต่อาวุธของเมดูซ่าก็คือดวงตาของเธอที่คนที่จ้องต้องกลายเป็นหิน ซึ่งผู้ชายผู้ที่หลงใหล และได้ยินในความงามของดวงตาของเธอก็จะต้องตกเป็นเหยื่อของเธอทุกคน ผู้หญิงก็เช่นกัน พวกเธอถูกทำให้เป็นเพศที่ผู้ชายหวาดกลัว แต่ก็น่าหลงใหลในเวลาเดียวกัน เมดูซ่าจึงควรจะหัวเราะทุกครั้งที่ผู้ชายวิ่งหนีเธอ เพราะพวกเขากำลังวิ่งหนีสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง ผู้หญิงจึงควรจะหัวเราะเยาะเมื่อผู้ชายเบือนหน้าหนีจากพวกเธอ

ซิซูเสนอว่าการหัวเราะเป็นการท้าทายสังคมชายเป็นใหญ่ที่ประหยัดที่สุด ง่ายที่สุดและเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และวิธีการหัวเราะที่ง่ายที่สุดก็คือการเขียน การเขียนที่ผู้ชายจะเบือนหน้าหนีก็คือ “การเขียนแบบผู้หญิง” การเขียนแบบผู้หญิงต้องมีความกระจัดกระจายไม่เป็นทิศทาง หรือในบางครั้งก็อ่านไม่รู้เรื่องเลย การทำเช่นนี้เป็นการท้าทายภาษาและวิธีการเขียนแบบตะวันตกและสังคมชายเป็นใหญ่ที่การเขียนต้องเป็นเส้นตรง มีประเด็นชัดเจนและมีเอกภาพhttps://prachatai.com/journal/2014/06/54330

การหัวเราะคือการปฏิเสธต่ออำนาจ เสียงหัวเราะไม่มีความหมายเฉพาะ มันตีความได้หลากหลายทั้งเป็นมิตรและไม่เป็น มันเป็นได้ทั้งเสียงของความไร้สำนึก เสียงร้องของสัตว์ เสียงหัวเราะโดยเฉพาะเมื่อผิดที่ผิดทาง เป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ เสียงหัวเราะเป็นทั้งการยอมรับและเยาะเย้ย เสียงหัวเราะเป็นการต่อต้านและการกดให้ต่ำ การหัวร่อต่ออำนาจคือการปฏิเสธอำนาจของอำนาจนั้น ราวกับว่ามันเป็นเรื่องน่าขัน ไร้สาระ เพราะพวกเธอคือเมดูซ่า เธอฆ่าผู้ชายที่จ้องมองเธอ แต่ไม่มีใครเคยเห็นเธอจริงๆ หลังการฆ่า เราได้เห็นฉากสั้นๆ ที่ทรงพลัง หลังออกจากร้านบูติค คริสตีน พาลูกชายไปสวนสนุก นั่งชิงช้าสวรรค์ แอนนี่ไปกินอาหารมื้อใหญ่ และเอเดรียนไปขายตัว (โดยเธอเป็นผู้กำหนดกิจกรรมเองทั้งหมด) ราวกับเธอถูกปลดปล่อยจากการมองโลกแบบเดิม เป็นอิสระอย่างแท้จริง 

หนังจบลงที่เสียงหัวเราะตรงนี้จบลงที่พวกเธอถูกขจัดออกไป เพื่อให้กระบวนการของศาลดำเนินต่อไปโดยไม่มีพวกเธอ การต่อต้านของพวกเธอไร้ความหมาย พวกเธอถูกตัดสินโดยไม่มีสิทธิ์แก้ต่าง แต่การหัวร่อต่ออำนาจของพวกเธอคือเสียงหัวเราะแห่งเมดูซ่าที่ทำให้อำนาจถึงกับต้องเปิดเผยความบ้าอำนาจออกมา พวกผู้หญิงออกไปข้างนอก จานีนมองสบตาพวกเธอหันไปทางพวกเธอไม่ได้หันไปทางสามี เธอไม่ได้พูด แต่ความเงียบของเธอกำลังเปล่งเสียง 

นี่จึงเป็นหนังที่ท้าทายอย่างยิ่ง และผลักข้อถกเถียงของตนออกไปสุดทางอย่างยิ่ง ไม่แปลกเลยที่มันยังคงเป็นหนังที่รบกวนจิตใจและสร้างข้อถกเถียงของผู้คนทั้งในขณะที่มันออกฉายมาจนถึงปัจจุบัน

อ่านบทความเกี่ยวกับหนัง และดูหนัง (เวลาจำกัด) ได้ที่นี่ 

การกลับไม่ได้ ไปไม่ถึงของ Girl From Nowhere Season 2

การกลับมาของ แนนโน๊ะ (ชิชา อมาตยกุล) เด็กสาวผู้เป็น ‘เด็กใหม่’ ของทุกโรงเรียนและทุกสังคมเสมอ ภายหลังจากปรากฏตัวในซีซั่นแรกเมื่อปี 2018 ที่ได้รับความนิยมล้นหลาม แนนโน๊ะก็หวนกลับโลกอันดำมืดและเลวทรามในฐานะออริจินัลซีรีส์ด้วยความยาวแปดตอนจบ พร้อมตัวละครหน้าใหม่และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนปริศนาซึ่งด้านหนึ่งเป็นสัญญะสะท้อนบทบาทและโครงสร้างของสังคมใหญ่ด้านนอก

สิ่งหนึ่งที่ Girl From Nowhere ประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ซีซั่นแรกคือการตั้งคำถามและเสียดสีสังคมอันดำมืดที่ฉาบหน้าด้วยความดีงาม หรือกระทั่งถูกทำให้กลายเป็นปกติในสังคมอย่างคุณครูที่ฉวยโอกาสล่วงละเมิดเด็กนักเรียน, ชนชั้นในรั้วการศึกษาหรือความดิบเถื่อนสุดขีดคลั่งของมนุษย์ แต่ละตอนในซีรีส์มีลักษณะเป็น anthology หรือจบในตอน แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดซึ่งชวนให้นึกถึงมังงะ Gakko no Kaidan หรือซีรีส์ธริลเลอร์รูปแบบเดียวกันอย่าง Black Mirror, American Horror Story และทั้งหมดนี้มีตัวละครแนนโน๊ะเป็นผู้เร่งปฏิกิริยาหรือโยนก้อนหินลงไปในน้ำเพียงเพื่อจะเฝ้าดูฝูงปลากระจัดกระจายภายใต้น้ำสงบนิ่ง เธอเป็นผู้เฝ้ามองและวางตัวเองเป็นอื่นอยู่เสมอจากสถานการณ์หายนะเหล่านั้น

อย่างไรก็ดี การหวนกลับมาของแนนโน๊ะในซีซั่นที่สองนั้นมีหลายจุดที่น่าจับตามากทีเดียว หนึ่งในนั้นคือสถานะของตัวแนนโน๊ะเองที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ ‘คนโยนก้อนหิน’ เพื่อความบันเทิงของตัวเองอีกต่อไปแล้ว แต่เธอทำหน้าที่เป็นผู้ตั้งคำถามต่อสังคมและตัวมนุษย์ ท่าทีรื่นเริงหรือยั่วล้อแบบเก่าจึงหายไปและแทนที่ด้วยความจริงจัง เอาเป็นเอาตายเพื่อให้ได้คำตอบมากขึ้น พร้อมกันนั้นมันก็ชัดเจนในตัวเองมากๆ ว่าจะแตะโครงสร้างความบิดเบี้ยวต่างๆ ที่ปรากฏในสังคมมากกว่าที่เคย ทั้งเหล่านักเรียนผู้ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้กฎคร่ำครึล้าสมัย, ระบบยุติธรรมที่เอนเอียงตามจำนวนเงินของจำเลยหรือความเหลื่อมล้ำที่กลายเป็นเสาหลักของโครงสร้างทางสังคม -ในที่นี้คือโรงเรียน- ไปแล้วในที่สุด

และการที่มันพยายามพาคนดูไปสำรวจโครงสร้างอันบิดเบี้ยวเหล่านี้นี่เองที่กลับทำให้ความสนุกของ Girl From Nowhere ซีซั่นนี้หดน้อยถอยลงอย่างน่าใจหาย อาจเพราะว่ามันพยายามจะแสดงให้เห็นว่าได้ ‘แตะ’ และได้ ‘ตั้งคำถาม’ ต่ออำนาจที่กดทับคนตัวเล็กตัวน้อยแล้วด้วยการหาทางมอบคำตอบที่ชัดถ้อยชัดคำ เป็นกลุ่มเป็นก้อนให้แก่คนดูเพื่อยืนยันถึงสิ่งนั้น อย่างเช่นตอนแรก ‘นักล่าแต้ม’ (กำกับโดย ไพรัช คุ้มวัน) ว่าด้วยเรื่องของหนุ่มหล่อประจำโรงเรียนที่มักทำหญิงสาวท้องแล้วไม่รับผิดชอบ ปล่อยให้อีกฝ่ายต้องหาทางออกเพียงลำพังหรือรับเคราะห์กรรมจากการถูกเพื่อนทั้งโรงเรียนตราหน้าอยู่ฝ่ายเดียว (ในทางกลับกัน ตัวผู้ชายเองก็ได้รับฉายาที่ดูเหมือนเจ้าตัวจะภูมิใจอยู่ไม่น้อยอย่างการเป็นนักล่าประจำโรงเรียน) แนนโน๊ะจึงเข้ามาเพื่อสั่งสอนให้เขาได้รู้ถึงความลำบากของการต้องอุ้มท้อง ต้องอับอาย ต้องตกเป็นข้อครหาของเพื่อนร่วมชั้นหรือกระทั่งความเจ็บปวดของการพยายามเอาเด็กออกจนเลือดกระจายเปรอะพื้นห้องน้ำ ทั้งหมดนี้เพื่อจะส่งสารให้คนดูเข้าใจถึงสิ่งที่เด็กสาวที่ตั้งท้องในวัยเรียนนั้นต้องรับมือ หรือตอน ‘ห้องสำนึกตน’ (กำกับโดย ปวีณ ภูริจิตปัญญา, สุวุฒิ ตุงคะรักษ์) เมื่อแนนโน๊ะเข้าไปอยู่ในโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งที่มีกฎเข้มงวด เป็นเสมือนโลกอีกใบที่ตัดขาดจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง การต่อต้านของเธอจึงเป็นที่ชิงชังของทั้งครูประจำชั้นและครูฝ่ายปกครอง นำมาสู่การลงทัณฑ์ทรมานเพื่อ ‘ปรับทัศนคติ’ ครั้งใหญ่

น่าเศร้าที่การพยายามจะให้บทเรียนตอนท้ายเพื่อเน้นย้ำประเด็นที่ซีรีส์ต้องการจะสื่อนั้นกลับทำให้ตัวสารจริงๆ จืดจางลงอย่างน่าใจหาย เพราะแทนที่มันจะปล่อยให้แนนโน๊ะเล่นสนุกกับความดำมืดของมนุษย์แล้วปล่อยให้หน้าที่ตกตะกอนเป็นของคนดู มันกลับพยายามอธิบายและสรุปสิ่งที่ต้องการบอกจนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ได้จินตนาการหรือทำความเข้าใจในแบบของเราเอง ตลอดจนการมุ่งมั่นจะลงโทษให้เกิดความสาแก่ใจ (ไม่รู้ของใคร อาจจะของแนนโน๊ะ ของเหยื่อ หรืออาจจะพยายามให้เป็นความสะใจของคนดูด้วย) ทั้งการถ่ายทอดความเจ็บช้ำของตัวละครชายที่แทบคลั่งเพราะความเจ็บปวดจากการตั้งท้อง, ฉากข่มขืนอันทารุณ, การลงโทษไฮโซสาวที่ขับรถประมาทด้วยการทำร้ายร่างกายเธออย่างรุนแรง ตลอดจนการให้รุ่นพี่คลั่งรับน้องต้องมารับบทเป็นเหยื่อเสียเองในท้ายที่สุด ก็ทำให้อรรถรสบางอย่างที่เคยมีในซีซั่นที่แล้วจางหายไปอย่างน่าเศร้า ขณะที่ในซีซั่นแรกนั้น เรายังพบว่ามีตอนที่แนนโน๊ะมอบพื้นที่ให้ทั้งตัวละครและคนดูได้ทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเด็กสาวที่ใช้ทางลัดและกลโกงต่างๆ เพื่อไต่อันดับไปสู่การเป็นที่หนึ่งใน ‘อัจฉริยะ’ (กำกับโดย อภิวัฒน์ สุภธีระพงษ์) ที่ในฉากสุดท้าย แม้ตัวละครจะได้ในสิ่งที่เธอปรารถนา แต่แววตาแตกสลายและเจ็บปวดนั้นก็ชวนให้ครุ่นคิดถึงสิ่งที่เธอต้องแบกรับต่อจากนี้ โดยไม่จำเป็นต้องขมวดข้อสรุปเลยแม้แต่นิดเดียว

แน่นอนว่าซีรีส์พยายามแตะโครงสร้างทางสังคมและตั้งคำถามกับมันอย่างระมัดระวัง อันจะเห็นได้จาก ‘มินนี่ 4 ศพ’ (กำกับโดย ไพรัช คุ้มวัน) ที่ว่าด้วยเรื่องของเด็กสาวบ้านรวย (แพทริเซีย กู๊ด ผู้มอบการแสดงอันน่าจดจำให้) ที่ครอบครัวของเธอใช้เส้นสายและเงินทองไปกับการทำให้เด็กสาวรอดพ้นจากคดีตั้งแต่ลอกข้อสอบเพื่อนจนการขับรถโดยประมาท หรือ ‘ห้องสำนึกตน’ ซึ่งมีเค้าลางของโลกดิสโทเปียแบบที่ชวนนึกถึง Nineteen Eighty-Four ของ จอร์จ ออร์เวลล์ เมื่อบรรดานักเรียนในโลกของกฎเกณฑ์และสีขาวดำพยายามตั้งคำถามจนถูกนำไปลงโทษด้วยการใช้เสียงกรอกหูหรือเปิดไฟสว่างจ้าอัดหน้า ตามด้วยการลุกฮือที่ทำให้คุณครูผู้ถือครองกฎต้องเป็นฝ่ายสั่นสะท้านและหนีเอาตัวรอด ขณะที่บรรยากาศในกลุ่มนักเรียนนั้นเริ่มบิดเบี้ยวและชวนขนหัวลุก

ไม่ว่าจะเป็น ‘มินนี่ 4 ศพ’ หรือกระทั่ง ‘ห้องสำนึกตน’ (ซึ่งมีท่าทีพูดถึงเรื่องการเมืองอย่างจริงจังมากที่สุด) ก็ตามที กลับไม่มีตอนไหนในซีรีส์ซีซั่นนี้ที่พูดถึงปัญหาที่มาจากเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง สิ่งที่ทำให้มินนี่หลุดรอดจากข้อหาลอกข้อสอบในเบื้องต้นนั้นมาจากระบบรับเงินใต้โต๊ะและระบบอุปถัมภ์ของโรงเรียน หรือสิ่งที่ทำให้การรับน้องดำเนินอยู่ต่อไปได้ในรั้วโรงเรียนมันคือเรื่องของระบบอาวุโสและการกดหัวให้เชื่อง แต่สิ่งที่ซีรีส์ดึงออกมาเพื่อสั่งสอนตัวละครบ้าอำนาจคือการใช้ความรุนแรงโต้กลับ โดยการลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างถึงเลือดถึงเนื้อ ตลอดจนการมีท่าทีจะตั้งคำถามต่อระบบเผด็จการ ทั้งการเผาหนังสือกฎเกณฑ์ของโรงเรียนทิ้ง, การวิพากษ์ผู้ใหญ่ (หรือคือผู้คุมอำนาจ) ที่ไม่ยอมถูกตั้งคำถาม และการทวงเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่นักเรียนพึงมีอย่างการปฏิเสธไม่ยอมถูกสุ่มค้นกระเป๋า แต่ทุกอย่างกลับเบาบางและโดยเฉพาะเมื่อมันเคลื่อนเข้าช่วงท้ายของเรื่องที่ซีรีส์พยายามวางตัวเป็นกลาง (หลังจากพยายามโค่นล้มผู้คุมอำนาจมาแล้ว) ด้วยการตั้งคำถามที่เบาบางและไม่นำไปสู่อะไรว่า “ใครจะถูก ใครจะผิด หรือใครจะดีกว่าใคร เราตัดสินได้จริงหรือ ในโลกสีเทาใบนี้” 

อย่างไรก็ดี มีการเปลี่ยนแปลงหลายจุดที่น่าจับตามากทีเดียว หนึ่งในนั้นคือโครงสร้างของซีรีส์ที่แต่ละตอนนั้นเชื่อมโยงกันหลวมๆ ด้วยการขับเคี่ยวกันระหว่างแนนโน๊ะกับ ยูริ (ชัญญา แม็คคลอรี่ย์) เด็กสาวที่กลายมาเป็นอีกขั้วหนึ่งของแนนโน๊ะ กล่าวคือ หากว่าแนนโน๊ะชื่นชอบการตั้งคำถามต่อความเป็นมนุษย์และปรารถนาจะโยนหินเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในบ่อน้ำอันนิ่งเงียบ ยูริคือตัวละครที่มุ่งมั่นในการทำลายล้าง คำพูดติดปากของเธอคือ “วิธีการของแนนโน๊ะนั้นมันช้าเกินไป” อันขัดกับการพิพากษาที่รวดเร็วและรุนแรงของเธอ ทั้งยังปิดโอกาสในการให้มนุษย์ที่ตกเป็นเป้านิ่งนั้นได้เรียนรู้หรือได้พิสูจน์ตัวตนใหม่อีกหน ต่างจากแนนโน๊ะที่อย่างน้อยที่สุด -หากเราย้อนกลับไปยังซีซั่นแรก- เธอมักเปิดโอกาสทิ้งไว้และเฝ้ามองหากว่าจะมีมนุษย์หวนกลับมาเพื่อแก้ตัวอีกครั้ง

เราอาจจะพูดได้ว่า Girl From Nowhere มีความทะเยอทะยานในการเล่าเรื่อง ทั้งยังพยายามจะตั้งคำถามต่อโครงสร้าง ความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม เพียงแต่น่าเสียดายที่มันมีลักษณะ ‘กลับไม่ได้ไปไม่ถึง’ ของทั้งตัวละครและเส้นเรื่อง ในขณะที่โลกแห่งความจริงนั้น เพดานซึ่งกดทับประชาชนมาอย่างเนิ่นนานถูกเขย่าและตั้งคำถามครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และแม้จะไม่อาจเทียบกันได้โดยตรง หรือกระทั่งมองข้อจำกัดต่างๆ ที่ซีรีส์และคนทำงานต้องเผชิญด้วยสายตาเข้าอกเข้าใจมากเพียงไร แต่ก็ยากปฏิเสธว่า การดันเพดานในโลกแห่งความจริงที่ล้ำหน้าไปกว่าการตั้งคำถามและการพิพากษาของแนนโน๊ะ -ที่ก็ยังครึ่งๆ กลางๆ- นั้นทำให้เราไม่อาจกำซาบความสนุกหรือกระทั่งความสาแก่ใจจากมันได้เต็มที่นัก


ดูได้ที่ Netflix

Get Me Away from Here, I’m Dying : หนีไปเสียจากที่นี่

มีคำกล่าวที่เอาไว้ใช้ตอบโต้กับผู้ที่มองเห็นด้านลบในประเทศอยู่เสมอว่า ”ประเทศไทยนั้นยังคงเป็นประเทศที่ดี” เพื่อเอาไว้ใช้บอกกับทุกคนว่า ประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองยังมีความงาม ความน่าภาคภูมิใจที่ยังคงอยู่อย่างยาวนาน มันอาจเป็นคำพูดปลอบใจให้หันกลับไปมองถึงข้อดีที่ประเทศของตัวเองที่มีอยู่ แต่นั่นก็ไม่สามารถกลบสิ่งที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ได้ และสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นนั้นก็ไม่ใช่เพราะเพียงแค่กลุ่มคนที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ แต่อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งของการปิดหูปิดตามองข้ามจุดประสงค์ของกลุ่มคนที่ต้องการออกจากประเทศเพื่อไปใช้ชีวิต คนที่ถูกซ่อนเร้นอยู่ใต้เงาของตึกสูง ไม่ว่าจะเป็นทั้งคนที่ไม่ได้รับสวัสดิการของรัฐ หรือคนที่เขาบอกว่าทำงานไม่มากพอที่จะก้าวหน้าจนมาถึงจุดที่พวกเขาประสบความสำเร็จ คนที่มีตำแหน่งหรือสายงานที่ไม่ได้ถูกเหลียวแลหรือไม่ได้รับความสำคัญ คนจากตำแหน่งชายขอบของประเทศ และบาดแผลของความไม่ใส่ใจมันกำลังปริออกมาเรื่อยๆ ผ่านผู้คนที่กำลังเรียกร้องมากขึ้น และมากขึ้น จนเริ่มมีความคิดที่ว่าเมื่อไม่มีใครเหลียวแล ถ้าไม่ต่อสู้เพื่อให้ได้รับชัยชนะ เราจึงต้องหนีไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

เมื่อสถานการณ์ในประเทศดูน่าสิ้นหวัง หดหู่ และไม่มีทางที่จะดีขึ้นกว่านี้ได้ การต่อสู้เพื่อความถูกต้องนั้นอาจกินเวลามากกว่าที่คิด ในชีวิตคนหนึ่งคนมันอาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิต อาจเกิดความท้อแท้เหนื่อยล้ามากขึ้นจนทำให้ใครบางคนเริ่มหมดหวังที่จะเปลี่ยนแปลง หรือสิ่งที่ต้องจ่ายนั้นดูเกินกำลังของตัวเอง ความคิดของการหนีออกไปจากที่นี่จึงเกิดขึ้น การไปใช้ชีวิตที่เปิดหูเปิดตาและมีชีวิตที่ดีกว่านี้มันอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกลับมาที่นี่อีก หรือเพื่อมีชีวิตรอดกลับมาที่นี่อีกครั้งในความหวังที่ว่ามันอาจจะเจริญขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาอยากหลบหนีและทอดทิ้งสิ่งที่พวกเขาเห็นอยู่ตรงหน้าและไปแสวงหาโอกาสที่ดี และไม่ใช่แค่การออกไปใช้ชีวิตอยู่เฉยๆ แต่ในอีกนัยหนึ่งมันคือการวางแผนและการต่อสู้ระยะยาว หากเป็นคนที่มองเห็นความหวังหรืออนาคตของตัวเอง มักจะหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองอยู่เสมอ นั่นจึงอาจกลายเป็นจุดกำเนิดของความคิดที่ว่า “เรามาย้ายกันประเทศกันเถอะ” และกลายเป็นกรุ๊ปในเฟซบุ๊คที่มาแรงที่สุดในช่วงนี้

กลุ่มเฟซบุ๊ค “ย้ายประเทศกันเถอะ” หรือในปัจจุบันมีชื่อกรุ๊ปว่า “โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย” มีสมาชิกอยู่ถึง 9 แสนกว่าคนในเวลาประมาณหนึ่งอาทิตย์ มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากคนที่ได้อาศัยอยู่ในประเทศนั้นมาเป็นระยะเวลานาน วิธีการเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายต่างๆ การสอบถามถึงข้อมูลเกี่ยวกับประเทศนั้นๆ การหาโอกาสในการทำงาน พวกเขาเริ่มต้นทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างโอกาสให้กับตัวเองสามารถไปอาศัยที่ต่างประเทศได้อย่างยาวนานยิ่งขึ้น บางทีมันอาจมอบความหวังให้กับผู้คนในกลุ่มมากกว่าที่จะหันไปมองความจริงว่าเกิดสิ่งที่โหดร้ายและมันถูกปล่อยปละละเลยให้เป็นอยู่อย่างนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันอาจสะท้อนถึงอะไรบางอย่างที่ไม่มีอยู่ในประเทศนี้ และฝากความหวังไว้กับการเห็นความหวังในประเทศอื่นเสียมากกว่า

Film Club ขอเสนอหนังทั้ง 11 เรื่องที่เล่าชีวิตของคนที่หนีออกไปจากที่นี่ ด้วยต่างวาระ ต่างจุดประสงค์ หนทางที่พวกเขาเลือกเดินอาจไม่ได้สุขสมหวังอย่างที่หวังไว้ อนาคตอาจจะดีกว่าหรือแย่กว่านี้ ไม่มีใครสามารถตัดสินได้ แต่ก็ยังจะดีกว่าการตายอย่างเดียวดายในรัฐที่ทอดทิ้งพวกเขา หรือต่อต้านความคิดของพวกเขาเองที่ต้องการจะทำให้ที่นี่เป็นที่ที่พวกเขาสามารถอยู่ไปได้ตลอดชีวิต


Bashing (2005, Masahiro Kobayashi)

หญิงสาวชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งรอดตายจากการถูกจับเป็นตัวประกันในตะวันออกกลาง แต่แล้วเมื่อเดินทางกลับถึงบ้านเกิด เธอกลับได้พบประสบการณ์ที่เลวร้ายเสียยิ่งกว่า เมื่อเพื่อนร่วมชาติของเธอต่างประณามว่า เธอเป็นตัวการทำให้ญี่ปุ่นต้องอับอายขายหน้า เนื่องจากรัฐบาลต้องยอมเจรจากับผู้ก่อการร้ายเพื่อช่วยเหลือเธอ พวกเขาไม่เข้าใจว่าเธอจะไปที่นั่นทำไม ทั้งที่รัฐบาลประกาศอยู่แล้วว่ามันเป็นสถานที่เสี่ยงอันตรายแท้ๆ

Bashing กำกับโดย มาซาฮิโระ โคบายาชิ เป็นภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นเพียงเรื่องเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในสายการประกวดหลัก (เพื่อชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม หรือ ปาล์มทองคำ) ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2005 ซึ่งสร้างมาจากเหตุการณ์จริงในเดือนเมษายนปี 2004 เมื่อ นาโฮโกะ ทาคาโตะ พร้อมกับชาวญี่ปุ่นอีกสองคน ถูกจับเป็นตัวประกันในอิรัก โดยมีข้อเสนอว่า ญี่ปุ่นต้องถอนกำลังออกจากอิรัก แม้สุดท้ายทั้งสามจะได้กลับสู่บ้านที่ญี่ปุ่น แต่ก็กลายเป็นที่เกลียดชังของคนในชาติ


Cambodia, After Farewell (2012, Iv Charbonneau-Ching + Jeremy Knittel)

เป็นเวลากว่า 35 ปีที่แม่และน้าของผู้กำกับได้ออกจากกัมพูชาลี้ภัยสงครามกลางเมืองไปอยู่ฝรั่งเศส หลายปีผ่านไปเมื่อทุกอย่างเงียบพวกเขาตัดสินใจกลับไปยังแผ่นดินที่พ่อแม่ของเขาได้เติบโตมา กลับไปเผชิญหน้ากับความทรงจำและเหตุการณ์จริงอันโหดร้ายที่พ่อแม่เขาเคยประสบในช่วงการปกครองของเขมรแดง

การกลับมาครั้งนี้ไม่ได้ต้องการย้อนรอยประวัติศาสตร์อันโหดเหี้ยม แต่เป็นการเดินทางกลับเพื่อทำความเข้าใจกับสาเหตุที่ทำให้สมาชิกครอบครัว ต้องตายจาก และเพื่อเป็นการบันทึกความทรงจำส่วนตัวและครอบครัว


Barbara (2012, Christian Petzold)

ผลงานการร่วมมือกันที่ 5 ของผู้กำกับ Christian Petzold และนางเอกสาว Nina Hoss การันตีด้วยรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากงานเทศกาล Berlin Film Festival 2012 และยังเป็นตัวแทนภาพยนตร์เยอรมันที่ได้เข้าร่วมชิงออสการ์ในสาขา Best Foreign Language Film ในปีนั้น

Barbara แพทย์สาวชาวเบอร์ลินที่ถูกลงโทษให้ต้องประจำการอยู่ที่โรงพยาบาลในแถบชานเมืองเยอรมันตะวันออก หลังจากที่เธอได้ยื่นเรื่องขอเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อวางแผนหลบหนีไปพร้อมกับคนรักชาวเยอรมันตะวันตกของเธอ หลังจากถูกลงโทษ Barbara ได้แต่เก็บตัวเงียบ ตัดขาดจากสังคม และอุทิศตัวให้กับการรักษาพร้อมกับแอบวางแผนหลบหนีอีกครั้ง มีเพียง Andre ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเท่านั้นที่ยังคงเป็นมิตรกับเธอ ซึ่งนั้นทำให้ Barbara เกิดความสับสนว่าแท้ที่จริงแล้วนั้น Andre อาจจะแอบมีใจให้กับเธอหรือเพียงแกล้งทำดีเพื่อคอยจับผิดแผนการหลบหนีของเธอ และกว่าที่ Brababa จะรู้ตัว กำแพงที่เธอเคยสร้างไว้ในจิตใจก็ได้พังทลายลงเมื่อเธอกลับเป็นฝ่ายตลกหลงรัก Andre จนทำให้เธอต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้ง


Lost Lost Lost (1976, Jonas Mekas)

“ผมอยู่ที่นั่น และบันทึกภาพทั้งหมดด้วยกล้องของผม” เส้นทางของการเล่าเรื่องส่วนตัวและสังคมรอบตัวของ Jonas Mekas ถูกนำมาผสานกันกับภาพฟุตเตจตั้งแต่ปี 1949 ถึงปี 1963 ให้กลายเป็นไดอารี่ฟิล์มชิ้นเอกของโลก Lost Lost Lost เริ่มต้นตั้งแต่การเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองของ Mekas ที่ทำให้เขาได้เริ่มบันทึกภาพของวัฒนธรรมในนิวยอร์กด้วยตัวคนเดียว ช่วงเวลาตั้งแต่การใช้ชีวิตแบบชาวลิทัวเนียในเมือง Williamsburg การประท้วงต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ การเริ่มทำนิตยสารภาพยนตร์อเมริกัน “Film Culture” หรือการเข้าร่วมบริษัทโรงละคร The Living Theatre

ด้วยการฉายภาพความจริงแบบสัจนิยมสังคม ผสมกับการลำดับภาพแบบสลับซับซ้อน และเทคนิคการถ่ายทำที่ชวนให้นึกถึงคนทำหนังรุ่นต้นกำเนิดอย่าง Georges Méliès การทดลองถ่าย Lost Lost Lost ที่เดินทางถ่ายไปเรื่อยๆ จาก Brooklyn ถึง Manhattan ผ่านกล้อง Bolex ที่ Jonas และน้องชายของเขา Adolfas ได้ร่วมกันทดลอง ทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นผลงานการทดลองที่ได้ผลมาก่อนกาล

(ดูได้ที่ MUBI หรือ Vimeo)


Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (2019, คงเดช จาตุรันต์รัศมี)

ผลงานการร่วมงานระหว่างผู้กำกับที่แฝงนัยการเมืองได้ร้ายกาจที่สุดคนหนึ่งอย่าง “คงเดช จาตุรันต์รัศมี” กับ 2 สมาชิกวงไอดอลที่มีชื่อเสียงที่สุดในไทยอย่าง BNK48 ร่วมกันถ่ายทอดโมงยามของความอ้างว้างของคนวัยหนุ่มสาวที่อยู่ในดินแดนที่ไม่สามารถทำให้ตัวเองใช้ชีวิตอย่างมีความสุขสักที กับบทพูดที่ครองใจคนในยุคปัจจุบันอย่าง “การไปจากที่นี่นับว่าเป็นความฝันได้หรือเปล่าคะ”

เรื่องราวของผู้หญิงสองคน คือ “ซู” (เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ) และ “เบลล์” (แพรวา สุธรรมพงษ์) เพื่อนรักที่สนิทกันยิ่งกว่าเพื่อนสนิท แต่ก็ไม่เคยเป็นมากกว่านั้น ในวัยที่ถึงเวลาเปลี่ยนผ่าน ซูผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองเกิดผิดที่มาตลอด เกลียดบ้านเกิด เกลียดที่แม่เสียชีวิต จนไปถึงเกลียดที่ต้องสืบทอดกิจการก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงที่ต้องตื่นมาขายทุกวัน และโอกาสก็มาถึงเมื่อซูได้ทุนไปเรียนต่อเมืองนอก การเดินทางครั้งนี้อาจเป็นตั๋วเที่ยวเดียวที่เธอจะไม่กลับมาอีก ความรักของเพื่อนอย่างเบลล์จะรั้งให้ซูให้ไม่ไปได้หรือไม่ หรือสุดท้ายความรักคือการปล่อยไป ที่เบลล์ทำได้คือการช่วยซูจัดกระเป๋าครั้งสุดท้ายเท่านั้น

(ดูได้ที่ Netflix)


Shinjuku Incident (2008, Derek Yee)

หัวเหล็ก (เฉินหลง) ช่างซ่อมรถแทร็คเตอร์ที่แอบลักลอบเข้าประเทศญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมาย เพื่อตามหาซิวซิว (ซู จิงเล่ย) แฟนสาวของเขาที่ย้ายมาทำงานเสี่ยงดวงที่ญี่ปุ่น เขาได้เจอกับอาเจี๋ย (แดเนียล วู) พร้อมกับกลุ่มคนจีนที่อพยพอย่างผิดกฎหมายอาศัยอยู่ใต้เงาของสังคมญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก และด้วยสถานการณ์บังคับ ทำให้หัวเหล็กได้เป็นหัวหน้ากลุ่มคนใหม่ในเขตชินจุกุ ด้วยความช่วยเหลือของหัวหน้ายากูซ่าเองุจิ (มาซายะ คาโต้) และพบว่าซิวซิวที่เขาตามหาได้แต่งงานกับเองุจิและกลายเป็นคนญี่ปุ่นไปแล้ว

หลังจากที่หัวเหล็กได้สถานะการเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายในญี่ปุ่น เขาจึงตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างสงบกับแฟนสาวคนใหม่ ลิลลี่ (ฟาน ปิงปิง) แต่ความสงบสุขของพวกเขาก็อยู่ได้ไม่นานเมื่อคิตาโน่ (นาโอโตะ ทาเคนากะ) ตำรวจที่เขารู้จักแจ้งข่าวว่าอาเจี๋ยถูก เองุจิ ใช้ทำงานเพื่อทำธุรกิจการค้าขายยาเสพติด หัวเหล็กจึงต้องเดินทางเข้าไปในเมืองเพื่อช่วยเหลือเพื่อนๆ ของเขาและแก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ความตั้งใจดีของเขากลับถูกเข้าใจผิดทำให้ตกอยู่ในภัยอันตรายจากกลุ่มยากูซ่าที่เขาเคยทำงานด้วย ในขณะเดียวกัน เองุจิก็ตั้งใจใช้โอกาสนี้เพื่อกำจัดหัวเหล็กและคิตาโน่ที่เป็นเสี้ยนหนามออกไป


Heartbound (2018, Janus Metz + Sine Plambech)

จากหมู่บ้านในโคราช สู่พัทยา สมหมายได้พบ “นีลส์” ชายวัยกลางคนชาวเดนมาร์กผู้ยอมรับว่า เขามาเพื่อเก็บเกี่ยวความสุขจากการท่องเที่ยว แต่สิ่งที่เขาไม่เคยคาดเดาได้ล่วงหน้าก็เกิดขึ้น เขาตกหลุมรักผู้หญิงคนนี้ ที่กลายมาเป็นภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของเขาในที่สุด จากพัทยาสู่เดนมาร์ก ตลอด 25 ปีต่อมา สมหมายช่วยนำพาผู้หญิงไทยอีกมากมายไปสู่เส้นทางชีวิตสายใหม่ที่นั่น

เรื่องราวของเขากับเธอกลายมาเป็นหัวใจของ Heartbound สารคดีสุดจับใจที่คนทำหนัง เยนูส เม็ตซ์ (Janus Metz) และนักมานุษยวิทยา ซิน่า พลามเป็ก (Sine Plambech) ใช้เวลากว่า 10 ปี ตามติดชีวิตคู่รักหญิงอีสาน-ชายเดนมาร์กหลายต่อหลายคู่

(ดูได้ที่ Doc Club on Demand)


China Behind (1974, Tang Shu Shuen)

ท่ามกลางหนังกำลังภายในที่กำลังเป็นที่นิยมในฮ่องกง Tang Shu Shuen หรือ Cecile Tang ทำเรื่อง China Behind ขึ้นมาจนเป็นหนังที่โดดเด่นและน่าค้นหามากในซีนหนังฮ่องกงยุค 70’s หนังถูกแบนในช่วงนั้นเนื่องจากถูกกล่าวว่า “หนังอาจทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศอื่นๆ” และได้กลับมาฉายอีกครั้งในปี 1980

หนังเล่าเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวและปัญญาชนจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ต้องการจะหนีออกจากประเทศจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในประเทศช่วงเหมาเจ๋อตง พวกเขาเดินทางลัดเลาะไปตามชายแดนของประเทศอย่างผิดกฎหมาย และว่ายน้ำข้ามประเทศอย่างยากลำบาก จนได้มาขึ้นฝั่งฮ่องกงที่ปกครองโดยสหราชอาณาจักร แต่สิ่งที่พวกเขาพบเจอในแผ่นดินนี้ยังห่างไกลกับคำว่า “เสรีภาพ” ที่พวกเขาเฝ้าใฝ่หามากนัก นี่เป็นหนึ่งในหนังที่พูดถึงการปะทะกันระหว่างแนวคิดของคอมมิวนิสต์กับแนวคิดทุนนิยมที่จะแสดงผลให้เราเห็นเมื่อตอนปี 1997 ที่ฮ่องกงนั้นถูกคืนเกาะให้กับจีน


Barbie (2012, Lee Sang-Woo)

Soon-Young ต้องกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวเมื่อเธอต้องคอยดูแลพ่อที่มีอาการป่วยทางจิตใจ ลุงที่ใช้ชีวิตสำมะเลเทเมาไปวันๆ และน้องสาว Soon-Ja ที่ร่างกายไม่แข็งแรง วันหนึ่งตัวลุงได้รับการติดต่อมาจากชายอเมริกันปริศนาคนหนึ่งที่สนใจจะรับเด็กเกาหลีสุขภาพดีเพื่อไปเลี้ยงดูที่บ้านเกิดของตน ซึ่งทำให้เขาตัดสินใจเลือก Soon-Young แต่ตัวเธอไม่อยากไปเพราะต้องคอยเลี้ยงดูพ่อที่ป่วยไข้ของเธอ ในขณะเดียวกัน Soon-Ja ที่ได้ยินแผนการนี้ขึ้นก็เกิดความอิจฉา เพราะการไปอเมริกามันคือความฝัน เธอจึงทำทุกทางเพื่อให้เธอได้ไปที่อเมริกาแม้กระทั่งโกหกหลอกลวงเพื่อทำให้พี่สาวของเธอไม่ได้ไป

เมื่อชายอเมริกันและลูกสาวของเขาเดินทางมาถึงที่เกาหลีเพื่อมาทำความรู้จักกับ Soon-Young แต่สุดท้ายแล้วนั้นเองใครกันแน่ที่จะเป็นคนได้ไปอเมริการะหว่างเธอหรือน้องสาว โดยไม่มีใครรู้ว่าจุดประสงค์ของการไปอเมริกานั้นมันคืออะไร


Absent Without Leave (2016, Lau Kek Huat)

สารคดีจากประเทศมาเลเซียของ Lau Kek Huat ที่เล่าเรื่องราวความเจ็บปวดของครอบครัวตัวเอง ขยายไปถึงการแตะประวัติศาสตร์ที่เป็นบาดแผลของชาติ และชุมชนชาวคอมมิวนิสต์ที่อพยพออกมาจากประเทศที่ถูกลืมว่าไม่เคยมีตัวตนอยู่ หนังได้รับรางวัลขวัญใจมหาชน จากงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ เมื่อปี 2016 และรางวัลสารคดียอดเยี่ยมอาเซียน จาก Salaya Doc เมื่อปี 2017 แต่กลับถูกแบนในประเทศบ้านเกิด

สารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวผู้กำกับเอง ซึ่งเริ่มต้นจากรูปภาพที่แขวนอยู่ที่บ้านของครอบครัวในมาเลเซีย สิ่งที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในภาพนั้นเป็นเรื่องต้องห้ามของครอบครัว จนกระทั่งผู้กำกับภาพยนตร์ได้ค้นพบว่าเขาคือปู่ของตน ตัวตนของปู่ถูกเก็บงำเพราะว่าเขาเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมาเลเซีย ผู้กำกับจึงออกเดินทางเพื่อเปิดเผยความลับในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศ ผ่านสายตาของปู่ของเขาเอง

(ดูได้ที่ Vimeo)


Last Year in Refugee Camp (2016, ดาโพ มรดกพนา)

ผลงานจากกลุ่มนักเรียนปกาเกอะญอจากโรงเรียน เด็กข้ามชาติช่าทูเหล่ ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเจ็บปวดของคนจากชนกลุ่มน้อยที่ไม่เคยถูกรัฐเหลียวมอง ชีวิตในวัยเรียนที่ถูกพลัดพราก ความทรงจำถึงวันวานในค่ายผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง ณ ชายแดนไทย กับพี่น้องหญิงชายและเพื่อนผอง เมื่อบางชีวิตกำลังจะก้าวออกนอกรั้วไปสู่เส้นทางใหม่ แต่อีกบางชีวิตยังคงยืนรอคอยอยู่ที่เดิม หนังได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลช้างเผือกพิเศษจาก เทศกาลภาพยนตร์ครั้งที่ 20 ในปีนั้นเอง

เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ : บทบาทของการถูกกดขี่ที่มีอยู่ในเราทุกคน

ในสภาพนุ่งกางเกงชั้นในตัวเดียว เด็กหนุ่มคลานเข่าคาบกระดูกปลอมจากพื้น ไปวางไว้ตรงหน้าเด็กสาวผู้ออกคำสั่ง ยื่นมือให้อย่างว่าง่ายเมื่อเธอ ‘ขอมือ’ แล้วส่งเสียงเห่าหอนที่ทั้งเจ็บปวด โกรธเกรี้ยวและแตกสลายไม่ต่างจากหมาตัวหนึ่ง ก่อนจะถูกพาไปขังในกรงสี่เหลี่ยมแคบๆ มองดูผู้คนโยนเศษอาหารลงมาให้ประทังชีวิต

‘รับน้อง’ คือตอนหนึ่งของซีรีส์ ‘เด็กใหม่ 2’ (2021) -ซีรีส์ธริลเลอร์ภาคต่อที่ว่าด้วยเด็กสาวปริศนาผู้ย่างกรายเข้าไปปั่นกระชากเอาความอำมหิตในตัวมนุษย์ออกมาตีแผ่- กำกับโดย คมกฤษ ตรีวิมล จับจ้องไปยังเหตุการณ์รับน้องในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง เค เด็กหนุ่มที่สวมบทบาทเป็นพี่ว้าก ใช้อำนาจที่มีออกคำสั่งรุ่นน้องซึ่งค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมในที่สุด เพื่อจะหลบหลีกการต้องรับผิดชอบ เด็กหนุ่มย้ายไปเรียนยังสถานที่แห่งใหม่และเข้ารับการรับน้องใหม่อีกครั้งในฐานะ ‘รุ่นน้อง’ ที่ไม่เพียงแต่ต้องเจอกับกฎอันเดือดดาลเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการลดทอนความเป็นมนุษย์ ทุบทำลายศักดิ์ศรีและเลยเถิดไปจนถึงขั้นมุ่งเอาชีวิต

สิ่งที่ทำให้ตอน ‘รับน้อง’ ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงอย่างหนาหูไม่ใช่แค่ประเด็นความฉาวหรือความรุนแรงของมันเท่านั้น แต่มันยังรวมถึงการแสดงของ เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ ที่ผลักตัวละครของเคให้ไปสู่ขอบเขตของความคลุ้มคลั่งในท้ายที่สุด

ภายหลังเรียนจบกราฟิกดีไซน์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภูมิภัทรวนเวียนเป็นนักแสดงและทีมงานให้นักศึกษาเอกฟิล์มเรื่อยมา และด้านหนึ่งมันก็กลายเป็นประตูบานสำคัญสู่การเป็นนักแสดงนำเรื่องแรกใน ‘นคร-สวรรค์’ (2018, พวงสร้อย อักษรสว่าง) ในฐานะเณรผู้บวชให้ครอบครัวของคนรักเก่า ตลอดจนหนังสั้นและมิวสิกวิดีโอจำนวนมากกว่าสองมือนับไหว

เคเป็นตัวละครที่เปลี่ยนจากผู้กระทำกลายเป็นผู้ถูกกระทำอย่างรุนแรงมากๆ คุณตีความตัวละครนี้ยังไงบ้าง

ผมสนใจตัวละครนี้ตั้งแต่อ่านบทแล้ว มันน่าสนุก อาจเพราะตอนนั้นรู้สึกอยากเล่นบทบาทในเชิง physical ด้วยละมั้ง

ทำไมอยากเล่นอะไรที่ physical

ผมมักรับบทเป็นคนนั่งเศร้า สูบบุหรี่อยู่บ้านแล้วร้องไห้ ไม่ค่อยได้ทำอะไรมาก ไปยืนริมทะเลแล้วลมพัด ผมปลิวเห็นหัวเถิกตัวเอง (หัวเราะ) เลยไม่ค่อยได้ใช้ร่างกายอะไรมาก

ปีที่แล้วได้มีโอกาสไปทำ performance theater แล้วรู้สึกว่า นี่แหละคือสิ่งที่สนุก มันได้ใช้ร่างกาย เลยคิดว่าอยากสำรวจประเด็นนี้ อย่างปีที่แล้วก็พยายามรับงานที่ได้สำรวจร่างกายตัวเองบ้าง ได้ใช้อะไรที่มันไม่ใช่ร่างกายท่อนบนบ้าง และงานจาก ‘เด็กใหม่’ ก็สนุกเพราะว่าได้ใช้ร่างกายมากขึ้น

แล้วการมารับบทเป็นเคต้องทำการบ้านเยอะไหม

ไม่ได้รู้สึกว่าต้องทำการบ้านเพิ่มมากมาย ยิ่งสภาวะในตอนนั้นคือเราถ่ายทำกันเดือนตุลาคม 2020 มันเลยเต็มไปด้วยพลังงานหลายๆ อย่างที่มันคุกรุ่นอยู่ในร่างกายเราทุกเช้าเย็นอยู่แล้ว ผมรู้สึกว่าในบทบาทของการเป็นผู้ถูกกระทำ เราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งในภูมิภาคนี้ มันย่อม related กับสิ่งนี้ได้มากอยู่แล้ว มันก็เต็มไปด้วยวัตถุดิบที่รอวันปะทุออกมาจากรูขุมขนเราอยู่แล้ว มันไม่ได้ต้องเตรียมตัวอะไร

แล้วพอสั่งคัต กลับมาดูก็ยังคิดเลยว่า ที่กูทำแบบนี้ได้เพราะว่าเราอยู่กันแบบนี้แหละ เพราะเราทุกคนมัน related กับสิ่งนี้ มันจึงไม่ยากเลยที่เราจะดึงสิ่งนี้ออกมา มันมีความเก็บกด ข้นแค้นอยู่ในหัวใจทุกคนอยู่แล้ว

แต่สิ่งที่ยากคือการที่เราต้องเป็นคนที่ไปกระทำคนอื่น แล้วการเรียงลำดับการถ่ายคือเขาถ่ายผมเป็นหมาก่อน เขาวางตารางการถ่ายทำให้มันถูกต้องตามหลักของ economic เลยกลายเป็นอีกอย่างที่น่าสนใจมาก เพราะผมจะต้องเป็นหมาก่อนแล้วค่อยไปเป็นคนที่ไปกดขี่คนอื่น ซึ่งผมว่าการต้องไปทรมานคนอื่นมันเป็นเรื่องยากมาก

ทำไมการรับบทเป็นคนไปกระทำคนอื่นจึงเป็นเรื่องยากล่ะ

ไม่รู้เหมือนกัน สำหรับคนอื่นมันอาจง่ายกว่าก็ได้ แต่สำหรับผมมันยากกว่าในแง่ที่ว่า มันไม่ใช่สิ่งที่เราทำทุกวัน ไม่ใช่สิ่งที่เราโดน ไม่ใช่สิ่งที่เราคุ้นชิน มันค่อนข้างไกลจากชีวิตเรา

ตอนที่ถ่ายมันมีโมเมนต์หนึ่งที่ผมคลำไปเจอ มันก็เป็นความน่ากลัวว่าการเป็นคนคุมอำนาจ มันน่ากลัวมาก ผมไม่คิดว่ามันจะมีในร่างกายผมด้วย ไอ้การที่เรารู้สึกอยากให้คนคนนี้ตายจริงๆ มันมีอยู่จริงว่ะ ซึ่งผมเกิดมาจนตอนนี้ก็เพิ่งรู้ว่ามันมีสิ่งนี้ในร่างกายผมด้วย ประหลาดดี

พอมันไม่ถ่ายเรียงตามลำดับเวลาในเรื่อง มันทำให้เราทำงานยากขึ้นไหม

ฉากแรกที่เราถ่ายทำในเรื่องนี้คือช็อตรับน้องตอนตัวละครเคกลายเป็นน้องใหม่ ที่มีการผูกสายสิญจน์กัน ซึ่งในบทก็เขียนว่าตัวละครมันเคยเจออะไรมาก่อน เราอ่านบทเราเข้าใจว่าสิ่งที่ตัวละครนี้มันเจอมาก่อนหน้านี้คืออะไร มันเคยเป็นใคร

ตอนที่ถ่ายทำฉากเป็นหมาผมไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าการเอาชีวิตรอดนะ คิดแค่ว่ากูจะเอาชีวิตรอดจากสิ่งนี้ยังไง แล้วจริงๆ มันเต็มไปด้วยการอิมโพรไวซ์เยอะมากๆ การด้นสดของทั้งกองถ่าย เพราะว่าเรามีเวลาสามคิวซึ่งฝนตกทั้งสามคิวเลย เวลาในการทำงานมันจึงเหลือน้อยมาก ทุกอย่างเลยต้องถูกรวบ ถูกอิมโพรไวซ์โดยทุกภาคส่วน ต้องทำงานกับทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดทุกอย่าง นักแสดงสมทบทุกคนเขาก็มืออาชีพกันมากๆ

แต่พอเป็นหมาแล้ว ตอนที่แนนโน๊ะโยนกระดูกมาให้ ผมก็วิ่งออกไปเลย เทคแรกผมเล่นด้วยการกระโจนออกไปอย่างรวดเร็วเลย แต่พี่เอส ผู้กำกับเขาบอกว่าขออีกแบบหนึ่ง คือให้ตัวละครมันค่อยๆ คิด ค่อยๆ ไปดีกว่า มันเลยมีการปั้นขึ้นมาเหมือนกัน

ในมุมกลับ ตอนที่เป็นพี่เค คุณจินตนาการอะไร

ในพาร์ตที่ตัวละครต้องใช้อำนาจ ผมมีตัวช่วยนิดหนึ่งคือฟังเพลง (หัวเราะ) Immigrant Song ของวง Led Zeppelin ไถๆ ไปเรื่อยแล้วมันขึ้นมาเจอพอดีเลยนั่งฟัง แล้วมันก็เข้ากันดีนะ

ผมไม่ได้รู้จักคนที่มีความเป็น ‘พี่เค’ ในชีวิตจริง ตัวละครเคมันคือคนที่ไม่ได้เชื่อในระบบนี้ขนาดนั้น แต่มันทำเพราะมันไม่มีทางเลือก

ภาพจาก IG: aelmsleep

ที่เล่าว่าบรรยากาศตอนเดือนตุลาคมปีที่แล้วมันส่งผลกระทบ อยากรู้ว่ามันกระทบในแง่ไหน ยังไงบ้าง

เราทุกคนล้วนได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ต่อให้คนบอกว่าอยู่เฉยๆ ก็ไม่โดนผลกระทบ แต่เราไม่ได้อยู่ของเราเฉยๆ หรอกมันไม่มีคำนั้น

เอาจริงๆ ผมไม่มีความสุขตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ก่อนหน้าการลงประชามติอีก ผมมีความสุขครั้งสุดท้ายก็น่าจะ… (คิดนาน)

2014 ไหม ที่เกิดรัฐประหาร

ไกลกว่านั้น (เน้นเสียง)

ถามว่ามันส่งผลต่อผมยังไง (คิดนานมาก) มันยากเหลือเกิน แล้วทุกวันนี้มันก็ยิ่งยาก ผมจะพูดแบบนี้ว่า มันไม่สำคัญว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่เราทำได้ดีที่สุดในช่วงเวลาของเราหรือยัง อันนี้ผมคิดแบบนี้มากกว่า มันไม่สำคัญแล้วว่าเราจะได้ชื่นชม ‘มัน’ หรือเปล่า แต่หน้าที่ของเราคือเราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดในช่วงเวลาของตัวเอง

นคร-สวรรค์ กำกับโดย พวงสร้อย อักษรสว่าง

ขณะที่การแสดงใน ‘เด็กใหม่’ มันชวนคลั่งมาก กลับมาที่ ‘นคร-สวรรค์’ ที่ตัวละครมันใช้เวลาอยู่ด้วยกันในห้องเล็กๆ กับบทสนทนา ตีความตัวละครยังไง

ผมชอบวิธีการกำกับของพี่โรส (พวงสร้อย) มากๆ รู้สึกอบอุ่นเวลาทำงานกับเขา แล้วตอนนั้นมันเป็นงานแสดงแรกของผม ไม่เคยทำอะไรแบบนั้นเหมือนกัน แต่จำได้ว่าตัวเองอยู่ในห้องนั้นกับเอย (ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์ -นักแสดงนำหญิง) แล้วก็ค่อยๆ รีแอ็คกับอากาศในห้อง ค่อยๆ เล่นกับทุกอย่างในห้อง เล่นกับเอย เล่นกับถั่วลิสง เล่นกับทิชชู่ แก้ว มันก็ไปเรื่อยๆ ได้ของมัน แล้วแบ็คกราวน์ตัวละครที่พี่โรสเขาเขียนไว้ก็บอกชัดเจนว่ามันเกิดอะไรขึ้น คือตัวละครของเราดีใจที่เขากลับมา บ้านเขาไม่มีผู้ชายเราเลยบวชให้ บวชไม่กี่วันมันไม่ใช่เรื่องใหญ่ แล้วก็หวังว่าเราจะเป็นบ้านให้เขาได้มั้ง แต่เมื่อมันไม่ใช่ เราก็เสียใจที่เราไม่สามารถให้ความรักเขาได้ หรือไม่รู้เหมือนกันว่าที่เสียใจนั้นเพราะเขาไม่ยอมให้อะไรเข้าไปในใจเขาเลย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันก็อิมโพรไวซ์เยอะมาก หลายๆ อย่างที่ตัวละครพูดก็เป็นเรื่องราวของผมเองที่พี่โรสเขาหยิบไปเขียน เช่นการประสบอุบัติเหตุ ตอนนอน ICU ตอนไม่อยากตาย เป็นเรื่องที่พี่โรสหยิบจากเราไปเขียนต่อ มันเลยยิ่งทำให้เส้นแบ่งระหว่างสารคดีกับเรื่องแต่งมันบางลงเรื่อยๆ

หลายๆ อย่างในเรื่อง ‘นคร-สวรรค์’ ก็เป็น material ที่ผสมกันระหว่างความจริงกับเรื่องแต่ง เช่น รูปที่ผมถ่ายเอยตอนลอยอังคาร ก็เป็นรูปที่ผมถ่ายจริงๆ หรือฉากที่ต้องออกจากห้องไป มันก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าต้องทำแบบนั้น แต่ตอนนั้นพี่โรสเขากำกับแล้วบอกว่าให้ทำอะไรก็ได้ ลองเล่นดู ในบทเขียนแค่ปาถั่วเฉยๆ แต่พอแสดงจริงผมก็หยิบของปาออกไปแทน แล้วเอยก็ร้องไห้

มันมีการพัฒนาขึ้นมาระหว่างทางตลอดเวลา สนุกมากเลย

ดูสนุกกับการได้สำรวจตัวเองผ่านการแสดงนะ

ผมว่าทุกงาน ทุกกระบวนการในการสร้างงานศิลปะมันคือการสำรวจตัวเอง มันคือความกล้าหาญว่าเราจะเข้าใจตัวเองได้มากแค่ไหน และผมว่า การแสดงมันยังซ่อนสิ่งเหล่านี้ได้มากกว่างานศิลปะแขนงอื่นๆ อีก ถ้าเป็นคนทำงานเขียน เป็นผู้กำกับ มันต้องเปลือยตัวเอง สำหรับงานแสดงในบางสื่อ บางงานเราเป็นภาชนะในการเล่าเรื่อง แต่ถ้าเป็นผู้กำกับหรือเป็นศิลปินแขนงอื่นที่งานพูดออกมาจากตัวตนคนทำ มันจะต้องเปลือย จะต้องกล้าหาญในการสำรวจตัวเองมากๆ

คุณเล่นหนังสั้นนักศึกษาเยอะมาก เห็นทิศทางหรือสารที่คนทำหนังรุ่นใหม่พยายามสื่อบ้างไหม

(คิดนาน) ผมว่าค่อนข้างชัดเจนมากๆ เลย ไม่ใช่แค่หนังสั้นด้วย แต่เป็นทุกงานที่ออกมาจากทุกศิลปินซึ่งไม่ใช่แค่นักศึกษาด้วย มันอยู่ในโซนนั้นหมด เพราะมันคือสิ่งที่กำลังทรมานพวกเราอยู่แล้ว มันชัดเจนมากๆ ผมเลยค่อนข้างอุ่นใจว่ามันคงมีประเด็นเหล่านี้ขึ้นมามากขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ก็อยากฝากไปถึงนักศึกษาที่สนใจประเด็นว่า ไม่ต้องกดดัน เราไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องเดียวกับทุกคนก็ได้ เราพูดเรื่องที่เราเชื่อแหละ เพราะผมว่ามันต้องมีคนที่กดดันแน่ๆ ว่ากูต้องพูดเรื่องการเมืองตลอดเวลา ซึ่งมันไม่จำเป็น คุณแค่ทำสิ่งที่คุณเชื่อ ธีสิสคือการทำสิ่งที่เราอยากเห็น ไม่รู้เหมือนกันนะ คือผมก็ไม่ใช่อาจารย์และถ้าเป็นอาจารย์ก็ต้องเป็นอาจารย์ที่เ-ี้ยคนหนึ่ง (หัวเราะ) เลยอยากบอกน้องๆ ว่าทำสิ่งที่ตัวเองอยากเห็นที่สุด เชื่อที่สุด แล้วเดี๋ยวงานมันจะเชพเราเองว่า สิ่งที่กูทำไปมันถูกหรือผิด เรียนรู้จากมัน คือต่อให้มันเป็นตัวเลือกที่ผิด ยังไงมันก็ถูกอยู่ดีเพราะเราจะได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น เวลาไปออกกองกับน้องๆ มันก็มีความทุลักทุเล ไม่ลื่นไหลเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ผมได้อะไรหลายอย่างมากๆ จากการออกกองกับนิสิตนักศึกษา ซึ่งก็จะรับเล่นไปเรื่อยๆ ทุกปีเพราะชอบ

ทำไปเถอะครับ ทำสิ่งที่เชื่อและสิ่งที่อยากเห็นไป

เวลานี้เพดานการพูด ความแหลมคมต่างๆ ในสังคมไทยมันไปไกลมากขึ้น คิดว่าสิ่งนี้มันส่งผลต่อคนทำหนังไหม ในเชิงว่าอาจถูกเรียกร้องให้ขยับเพดานการเล่าเรื่องของตัวเองมากขึ้น

(คิดนาน) ผมคิดเหมือนกันว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่มันช่วยให้โลกนี้มันดีขึ้นยังไงบ้าง คิดมาเรื่อยๆ เลยว่าสิ่งที่กูทำอยู่มันช่วยให้สภาพแวดล้อมหรือสังคมที่อยู่มันดีขึ้นอย่างไร มันให้อะไรคนอื่นบ้าง ก็ถามตัวเองทุกวันเหมือนกัน

ผมว่านั่นคือหน้าที่ของศิลปะ คือหน้าที่ของงานงานหนึ่งที่มันสั่นคลอนความคิดคน และสร้างความเปลี่ยนแปลง ผมรู้สึกว่าถึงอย่างไรก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น

เท่าที่ดูในไอจี คุณดูเป็นคนดูหนังเยอะมาก (เขาโพสต์ถึงหนัง Three Colors: Blue ของ คริสซ์ตอฟ เคียสลอฟสกี และ The Piano Teacher ของ มิคาเอล ฮานาเกอ) มีหนังที่อยากแนะนำหรือที่รู้สึกว่ามัน represent ตัวตนคุณไหม

ยากมากเลย (เขาคิดนานมาก มากจนเราชวนเขาคุยเรื่องคนทำหนังยุโรปต่างๆ)

อันที่จริงผมไม่ได้ดูหนังยุโรปเยอะขนาดนั้น ผมดูไปเรื่อยมากกว่า อย่างฮานาเกอนี่ก็ไม่ได้ชอบทุกเรื่องของเขานะ แต่แค่รู้สึกว่าเวลาเราดูหนังจากประเทศโซนนั้นแล้วมันมีความเป็นวรรณกรรมค่อนข้างเยอะ แต่เวลาดูก็จะเหนื่อยหน่อย ไม่ใช่หนังที่เราจะเลือกดูในวันที่พลังงานเราเหลือน้อย บางทีผมก็ดู SpongeBob (หัวเราะ)

แต่ผมชอบการแสดงในหนังรสชาตินั้นมากๆ เราอยากจะอยู่ในหนังแบบนั้น อยากลองเล่นด้วยวิธีเหล่านั้น ภาษาทางภาพยนตร์บางทีมันกำหนดวิธีการแสดงด้วย หรือขนาดของเลนส์ หรือเรื่องภูมิภาคต่างๆ ที่หนังเหล่านั้นไปถ่ายทำมันก็กำหนดวิธีการแสดง ผมอยากเล่นอะไรแบบนี้

ผมชอบประสบการณ์ที่ได้ดูเรื่อง ‘สาวสะเมิน’ (2020, เป็นเอก รัตนเรือง) คือผมไม่ชอบดูงานตัวเองขนาดนั้น แต่พอดูเรื่องสาวสะเมินที่เป็นหนังใบ้ เลยรู้สึกว่ามันก็น่าสนใจดีถ้าจะได้เล่นอะไรแบบนั้นต่อ

(ถัดจากนั้นอีกราวสิบนาที เขาโทรศัพท์กลับมาหาเราพร้อมบอกว่า นึกชื่อหนังที่อยากบอกออกแล้ว)

ผมเอ็นจอยกับหนังทุกแบบ แต่ถ้าเรื่องการแสดงชอบ Persona (1966, อิงมาร์ เบิร์กแมน) มากๆ ตอนที่ดูแม่ง What the Fuck? มากๆ ผมอยากอยู่ในหนังที่ได้สำรวจตัวเองในแง่งานแสดง ส่วนอีกเรื่องคือ The Lighthouse (2019, โรเบิร์ต เอ็กเกอร์ส) เพราะรู้สึกว่าหนังทั้งสองเรื่องมันใช้วิธีการต่างกันมาก มีภาษาหนังคนละแบบ ซึ่งภาษาหนังมันจะเรียกร้องการแสดงที่ต่างกันมากเช่นกัน แล้วเป็นสองรูปแบบที่ผมรู้สึกว่ามันน่าสนุกทั้งคู่

แต่ก็ยังเอ็นจอยกับบทคนสูบบุหรี่ร้องไห้ เอ็นจอยกับการเป็นหมา ถูกล่ามต้องวิ่งไปเก็บกระดูกอยู่นะครับ


ชม Girl from Nowhere (เด็กใหม่) ได้ที่ Netflix



( ดูชื่อหนังแห่งปี 2020 ของภูมิภัทรได้ที่ FILM CLUB YEAR LIST 2020 (PART 8) + อ่านเรื่อง ‘สาวสะเมิน’ ได้ที่ FILM CLUB YEAR LIST 2020 (PART 2) )

OnlyFans เส้นแบ่งที่พร่าเลือน / แพลตฟอร์มใหม่ – Sex Workers

สิ่งที่เราได้เห็นในยุคโควิดคือการเติบโตของแพลตฟอร์มสำหรับผู้ใหญ่อย่าง PornHub และที่มาแรงเคียงคู่กันมาคือ OnlyFans เจ้าแรกคือแพลตฟอร์มวิดีโอเท่านั้น ส่วนเจ้าหลังให้บริการทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ ทำให้ผู้ผลิตอิสระหลายคนเริ่มมอง OnlyFans เป็นอีกหนึ่งช่องทางเพื่อการจัดจำหน่ายและเผยแพร่หนังตัวเองด้วยเช่นกัน

มาดอนน่า นักร้อง นักแสดง และคนทำหนัง ระดับซูเปอร์สตาร์ เผยว่าเธอได้ลงทุนลงแรงเพื่อทำสารคดี Madame X ซึ่งบันทึกการเดินทางอันผาดโผนของเธอ และแน่นอนว่ามันเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีฟุตเตจเรตเอ็กซ์ยุค Like A Virgin อยู่ในนั้นด้วย เนื้อหาส่วนนี้เองที่ทำให้หนังขายแพลตฟอร์สตรีมมิ่งเจ้าไหนไม่ได้เลย จนมาดอนน่าเผยผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวว่า “หากไม่มีใครต้องการมันจริงๆ บางทีฉันอาจต้องมองแพลตฟอร์มสำหรับผู้ใหญ่อย่าง OnlyFans ไว้บ้างก็น่าจะดี”

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก OnlyFans กันก่อน

OnlyFans เป็นแพลตฟอร์มภาพและวิดีโอแบบ pay-per-view โดยเว็บไซต์ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่าง ‘ครีเอเตอร์’ กับแฟนๆ หากเราสนใจครีเอเตอร์คนไหนก็กดติดตามเพื่อเข้าถึงคอนเทนต์ภาพและวิดีโอแบบเอ็กซ์คลูซีฟ รูปแบบจะคล้ายเราติดตามอินสตาแกรมคนดังที่มีค่าผ่านประตูแบบรายเดือนเพื่อเข้าถึงเนื้อหาสุดพิเศษแบบไม่มีอะไรมากั้น ค่าสมาชิกจะแตกต่างกันไปในแต่ละผู้สร้างงาน โดยรายได้ทุกการติดตามและซื้อขายเนื้อหาเฉพาะกิจภายในนั้น จะแบ่ง 20% ให้ OnlyFans

ทิม สโตกลีย์ ผู้ก่อตั้งเล่าว่าจุดเริ่มต้นไอเดีย OnlyFans คือการทำธุรกิจกับ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ โดยตรง กล่าวคือในทุกวันนี้ตลาดออนไลน์คือการค้าขายชื่อเสียงและอิทธิพลของคนคนนั้นต่อผู้ติดตาม ก็ถ้าคุณมีผู้ติดตามมากมายก่ายกองอยู่ในมือมากพอจนโฆษณาเข้า รีวิวสินค้าเข้า งั้นเรามาเปิดร้านเพื่อผลิตเนื้อหาสุดพิเศษที่ทำเพื่อแฟนตัวจริงเท่านั้นขึ้นมาขายกันดีกว่า ดังนั้นสถานะของผู้ติดตามคนดังใน OnlyFans ก็จะมีสถานะเหนือกว่าผู้ติดตามในไอจีเพราะจะได้ใกล้ชิดคนดังมากขึ้น

สโตกลีย์กล่าวว่า “ความคิดของเราคือ ‘ถ้าคุณสามารถสร้างแพลตฟอร์มที่มันเหมือนหรือคล้ายกับที่คุณมีอยู่แล้วบนโซเชียลมีเดีย งั้นเรามาสร้างอะไรที่พิเศษขึ้นผ่านปุ่มชำระเงินในนั้นกันดีกว่า

“จุดขายเวลาที่เราไปคุยกับอินฟลูเอนเซอร์คือ ‘สมมติคุณมีฟอลโลเวอร์ คิดดูว่าถ้า 1% ในนั้นเขายอมจ่ายให้คุณทุกเดือนเพื่อเข้าถึงคอนเทนต์พิเศษกว่าใคร คุณจะมีรายได้เข้าเดือนนึงเท่าไหร่?” สโตกลีย์เสริม

ไอเดียตั้งต้นของ OnlyFans ไม่ได้จำเพาะเจาะจงไปที่การขายภาพลับ ภาพนู้ด แต่อย่างใด แต่สามารถเป็นได้ทั้งการเปิดคอร์สเรียนออนไลน์ ขายเพลง ขายหนัง สอนออกกำลังกาย สอนทำอาหาร และรายการต่างๆ จนกระทั่งการระบาดของโควิดเป็นต้นมา บทบาทของ OnlyFans ก็ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่ามันเป็นพื้นที่ที่ใช่สำหรับการขายเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่

จากมาตรการรักษาระยะห่างทั่วโลก ทำให้ OnlyFans กลายเป็นช่องทางหารายได้สำคัญสำหรับกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ ในขณะเดียวกัน มันก็ถูกใช้เพื่อชดเชยรายได้และหน้าที่ของ นางแบบ นายแบบ และกลุ่ม Sex Workers ด้วยเช่นกัน จึงนำมาสู่ประเด็นถกเถียงที่น่าสนใจของ เบลลา ธอร์น

ภาพจาก IG : Bella Thorne

ธอร์นคือดาราวัยรุ่นอดีตเด็กปั้นดิสนีย์ที่แจ้งเกิดมากับ เซนดานา แต่พอเริ่มเป็นสาวสะพรั่งเธอหันมาขายภาพลักษณ์เซ็กซี่แทน เช่นการรับบทในหนัง The Babysitter ทั้ง 2 ภาค และเมื่อเดือนสิงหาคม 2020 เธอก็เปิดบัญชี OnlyFans ของตัวเอง ผลคือธอร์นทุบสถิติเป็นครีเอเตอร์ที่ทำเงินสูงสุดของ OnlyFans โดยธอร์นทำเงินได้ทันที 1 ล้านดอลลาร์ฯ ในสัปดาห์แรกของการเปิดบัญชี

ผลตอบรับถล่มทลายที่ธอร์นสร้างไว้ ทำให้ OnlyFans วางกติกาใหม่เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและปลอดภัยต่อผู้ใช้งานมากขึ้น โดยในแต่ละโพสต์ของ OnlyFans นั้น จะมีปุ่ม ‘ทิปส์’ หากผู้ติดตามเกิดถูกใจในเนื้อหาก็สามารถจ่ายเพิ่มได้ OnlyFans จึงกำหนดเพดานการจ่ายเงินเพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานกระเป๋าแหกหรือนำไปสู่อาชญากรรมใดได้ ซึ่งนั่นส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่ม Sex Workers ที่ใช้ OnlyFans เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปกับโควิดอย่างแท้จริง

เอริกา ไฮเดอวัลด์ หนึ่งในครีเอเตอร์ OnlyFans ที่เป็น sex workers ได้โจมตีธอร์นว่า “เธอไม่ได้ตระหนักว่าพวกเรามีตัวตนจริงๆ และไม่ได้รู้สึกว่า sex workers คืออาชีพหนึ่งด้วยซ้ำ” เมื่อประกอบกับเนื้อหาในช่องของธอร์นที่เป็นภาพเซ็กซี่ ชุดชั้นใน รวมถึงงานมิวสิควิดีโอของเธอเอง ไม่ได้มากไปกว่าอินสตาแกรมเท่าไหร่นัก ยิ่งทำให้ไฮเดอวัลด์มองว่าจะยิ่งมีผลกระทบต่ออาชีพของเธอ “ผลที่เธออาจจะคาดไม่ถึงคือมันทำให้พวกเราถูกเหมารวมหนักกว่าเดิมว่า sex workers คือพวกต้มตุ๋น”

วาเลอรี ออกัสต์ sex worker อีกคนที่มี OnlyFans พูดไว้ในสารคดี OnlyFans: $elling Sexy ว่า “ปัจจุบันคนดังๆ ที่ค้าขายเสน่ห์ทางเพศนั้นได้รับความ ‘นับถือ’ มากกว่า sex workers อย่างพวกเรา ความแตกต่างไม่ใช่เนื้อหาในนั้น แต่เป็นความจริงที่สังคมมีต่ออาชีพ sex workers”

ปัจจุบัน OnlyFans เป็นแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จอย่างพุ่งทะยาน โดยในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว รายงานว่า OnlyFans มีผู้ใช้งานมากถึง 85 ล้านคน และทำรายได้ไปแล้วกว่า 2 พันล้านดอลลาร์

หมายเหตุ: เนื้อหาใน OnlyFans ไม่ได้มีแต่งานเซ็กซี่โป๊เปลือย อย่าง คาร์ดี บี ก็เปิด OnlyFans ให้ไปดูนางด่าน้ำไหลไฟดับ ด้วยค่าติดตามลดราคาจาก 9.99 เป็น 4.99 ดอลลาร์ และแถมทำรายได้ติด Top 5 ของ OnlyFans ด้วย


ข้อมูลประกอบ

https://www.dazeddigital.com/life-culture/article/51967/1/bella-thorne-onlyfans-controversy-explored-in-new-documentary-about-the-platform

https://www.oleantimesherald.com/lifestyle/entertainment/madonna-suggest-madame-x-tour-doc-should-go-on-onlyfans/article_428f6ecc-63c6-517f-b66e-0598ddda189c.html

Hillbilly Elegy : ความหลังของคนหลังเขา

“คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกได้ว่าจะเป็นอะไร” คำพูดของมามอว์ (ยาย) ที่บอกกับ เจ.ดี. วันนั้น เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เขาขึ้นจากหุบเหวแห่งความไร้จุดหมาย การไม่รู้จักตนเอง และการจมดิ่งลงกับต้นกำเนิดอันแสนอับโชค เขาเป็นเด็กชายชนชั้นกลางค่อนล่างที่เติบโตขึ้นในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว มีพี่สาวหนึ่งคน และมีแม่ที่อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เบเวอร์ลี แม่ของเขาก็เป็นผลผลิตจากความไม่พร้อมของมามอว์ และจากครอบครัวที่แตกร้าว จนถึงจุดหนึ่ง เธอหันไปใช้ยาเสพติด ไปกับพวกผู้ชายขี้ยา และครอบครัวของเขาก็ไม่เคยเหมือนเดิมอีก

ในตอนต้นเรื่อง เราเห็นเจ.ดี. ไปพักผ่อนวันหยุดฤดูร้อนกับครอบครัวที่ต่างรัฐ เราได้เห็นความอ่อนโยนและการเป็นคนมองโลกในแง่ดีจากการที่เขาช่วยเต่าที่กระดองแตก แต่เขาก็ถูกรังแกโดยเด็กๆ แถวนั้นระหว่างที่ลงไปเล่นน้ำในสระ เสียงพากย์ของ เจ.ดี. ในตอนหนุ่มบอกว่า ท้ายที่สุดแล้ว คนที่จะช่วยเขาขึ้นมาได้ก็คือครอบครัว

อะไรคือนิยามของคำว่าครอบครัว? มันอาจไม่ใช่แค่สายเลือด แต่เป็นความพยายามเกาะติดกันไว้แม้ในคราวที่เราเหม็นหน้ากันมากที่สุด เป็นความพยายามปกป้องคนในครอบครัวจากสิ่งภายนอกและจากตัวพวกเขาเอง ทั้งด้วยวิธีมองดูอยู่ห่างๆ เข้าไปแทรกแซง หรือทำชีวิตตัวเองให้ดี ซึ่ง เจ.ดี. ได้เรียนรู้จากทั้งมามอว์ ปาปอว์ แม่ และพี่สาว แม้แม่จะตวาดใส่เขาตอนที่เขาทำซุ่มซ่าม แต่เธอก็มาง้อด้วยการพา เจ.ดี. ไปร้านโปรด สำหรับเขา ภาพแม่ที่เขาจำได้เป็นภาพที่สวยงามและเต็มไปด้วยความอบอุ่น แม้ในช่วงที่เขาโตขึ้นมา แม่เริ่มใช้ยาและทำตัวเหลวแหลก แต่ความสัมพันธ์ของเขากับแม่ไม่อาจตัดกันได้ขาด

มามอว์บอกว่า “ครอบครัวคือสิ่งเดียวที่มีความหมาย” และเขาไม่ได้เข้าใจคำนั้นจนกระทั่งเขาโตขึ้น ในวัยเด็ก ครอบครัวเปรียบเสมือนสิ่งฉุดรั้งเขาไว้จากความก้าวหน้า และมันก็เกือบทำเช่นนั้นได้เมื่อเขาเริ่มไปกับแก๊งอันธพาลที่เป็นพรรคพวกของลูกแฟนใหม่แม่ มามอว์เป็นคนช่วยเขาไว้ด้วยการพาเขามาอยู่ด้วย และตบเขากลับเข้าที่เข้าทาง ทำให้เขามีสมาธิและความมุ่งมั่นมากขึ้น ตั้งใจเรียนจนได้คะแนนสูงที่สุดของห้อง และภาพก็ตัดมาตอนเขากลายเป็นชายหนุ่มที่ได้เข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ของเยล แต่แค่อนาคตที่ดูสดใสขึ้นก็ยังไม่ได้ทำให้เขาเชื่อมต่อกับรากของตนเอง แม่ของเขากลับมาใช้ยาอีกครั้ง และพี่สาวขอร้องให้เขากลับบ้านในช่วงเวลาที่เขามีสัมภาษณ์งานครั้งสำคัญที่จะตัดสินว่าเขาจะมีเงินมาจ่ายค่าเรียนต่อหรือไม่ เจ.ดี. กลับไปบ้านเพื่อจะพบว่าเขาเข้าหน้ากับแม่ไม่ติด เขาหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงแฟนสาวอนาคตดีของตนเอง และพยายามทำทุกอย่างในเชิงปฏิบัติให้แม่ได้เข้าโปรแกรมบำบัด แต่แม่เขาก็ดื้อไม่ยอมทำตาม นั่นทำให้เขาคิดจะยอมแพ้และไม่สนใจอีกต่อไปแล้วว่าแม่จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร

ความสัมพันธ์ของ เจ.ดี. กับแม่ อาจเรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียด (Love-Hate Relationship) ณ จุดหนึ่ง เขาเห็นใจแม่และพยายามอยากช่วยแม่ทุกทางที่เขาจะทำได้ และรู้ว่าแม่ก็รักเขา แต่อีกใจหนึ่ง เขาคิดว่าตนเองไม่น่าต้องมาแบกรับภาระอะไรขนาดนี้ ถ้ายายเขามีความเด็ดขาดและจัดการแม่ตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่เธอทำผิด เธอก็คงจะไม่ทำผิดซ้ำอีก เจ.ดี. ที่เป็นแค่เด็กผู้ชายคนหนึ่งคิดว่าเขาต้องรับผิดชอบทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับแม่ทั้งที่เขาไม่ได้ผิดอะไรเลย เพราะยายเคยบอกเขาว่าหากยายไม่อยู่ คนที่จะต้องดูแลครอบครัวนี้ต่อไปก็คือเขา และแม่ก็ให้สัญญาครั้งแล้วครั้งเล่ากับเขา เป็นสัญญาที่เธอไม่เคยทำได้ นั่นทำให้จิตใจของเด็กชายถดถอยลงทุกที 

ฉากที่เขาถูกแม่ไล่ตีลงมาจากรถ จนเขาต้องไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจ เป็นภาพสะท้อนความทั้งรักทั้งเกลียดนี้ได้ดี เจ.ดี. อยากให้ใครสักคนเข้ามาแทรกกลางความรุนแรงระหว่างแม่และตัวเขา แต่ในท้ายสุด เขากลับบอกว่าแม่ไม่ได้ทำผิดอะไร และเป็นเขาที่งี่เง่าเอง เมื่อตำรวจจะจับแม่ของเขาไป ในแง่หนึ่ง มันสะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ปกครองและเด็กอยู่เหมือนกัน เด็กที่โดนทำร้ายอยากให้ผู้ปกครองไปจากเขาเสีย แต่เขาก็ยังต้องพึ่งพาผู้ปกครอง เรื่องมันเลยจบที่การเคลียร์กันในครอบครัว แบบ “ไฟในอย่านำออก” เพราะเห็นได้ชัดว่าคนแรกที่เขาโทรหาคือมามอว์และปาปอว์

เจ.ดี. เป็นตัวอย่างหนึ่งของเด็กที่ถูกสภาพแวดล้อมบังคับให้โตก่อนวัย นั่นอาจฟังดูเศร้า แต่มันก็เป็นบทพิสูจน์ความอดทน (resilience) ของเขาไปด้วย ไม่น่าแปลกที่ เจ.ดี. ในวัยหนุ่มเลือกเข้าร่วมกองทัพสหรัฐ ในแง่หนึ่งอาจเป็นด้วยเหตุผลเรื่องฐานะทางครอบครัว แต่อีกมุมหนึ่ง การที่เขาอดทนในครอบครัวที่แตกร้าวมาได้ขนาดนี้มันเป็นบทพิสูจน์ว่าชายหนุ่มก็พร้อมสำหรับการฝึกในกองทัพอยู่เหมือนกัน และผลการเรียนของเขาก็ทำให้เขาได้เข้าเรียนในสถาบันดีๆ อย่างที่คนในงานเลี้ยงสัมภาษณ์งานบอกเขาว่า ชีวิตเขาเหมือน “ความฝันแบบอเมริกัน (American Dream)” ตอนที่ยังไม่ได้รู้จักพื้นเพของเขาเท่าไรนัก

ในวัยหนุ่ม เจ.ดี. ยังคงค้นหาอะไรบางอย่าง และไม่มั่นใจในตนเองอยู่เสมอ ในใจเขาคิดว่าตนเองมีอะไรที่ขาดหายไป และเขาก็คิดว่าตนเองยังไม่คู่ควรกับอุชา แฟนสาวจากไอวี่ลีกส์ นอกจากนั้นเขายังไม่รู้ธรรมเนียมปฏิบัติแบบที่คนในไอวี่ลีกส์ทำกัน ดังจะเห็นได้ถึงความหงุดหงิดเรื่องการใช้ช้อนส้อมในงานเลี้ยงสัมภาษณ์งาน ที่เขาต้องโทรหาอุชาเพื่อถามเกี่ยวกับมารยาทบนโต๊ะอาหาร

เขาไม่คาดคิดว่าเขาจะพบตนเองเมื่อกลับบ้านอีกครั้งหลังจากบ้านมาแสนนาน ในสถานการณ์ที่น่าอึดอัด ที่คนดูอาจจะอึดอัดแทนเมื่อเห็นชายหนุ่มอนาคตดีคนหนึ่งต้องมาจมปลักกับปัญหาในบ้านหลังเขาของเขา เขากลับได้ทบทวนเกี่ยวกับอดีตของตนเอง และมองเห็นแม่ของตนเองในจุดที่อ่อนแอที่สุด เจ.ดี. ได้ “เห็น” และไม่ใช่แค่ “มอง” แม่ในแบบที่แม่เป็นจริงๆ หลังจากที่ไม่มีใครเห็นความต้องการที่แท้จริงของแม่เขาเลย แม่ที่ต้องอยู่กับครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงและไม่เคยสงบสุขตั้งแต่เด็ก แม่ที่ต้องตั้งท้องเขาตั้งแต่อายุยังน้อย และไม่เคยได้ใช้ชีวิตในแบบที่เธอต้องการจริงๆ เพราะทั้งชีวิตเธอต้องอุทิศให้ลูกมีอนาคตดีกว่าที่เธอเป็น ในจุดที่ความรู้สึกของเขาพลิกผัน เขาบอกว่าเขารับรู้ความพยายามของแม่ และจะช่วยแม่ทุกทาง และในการสัมภาษณ์งานครั้งนั้น เขาก็เลือกที่จะเล่าเรื่องของครอบครัวตนเอง รวมทั้งเปิดเผยเรื่องเกี่ยวกับแม่ให้อุชารับรู้ด้วย

มามอว์เล่าให้ฟังว่า คนในหมู่บ้านที่พวกเขาอยู่ล้วนเคารพคนตาย เพราะพวกเขาเป็นคนหลังเขา และเจ.ดี.ก็ได้เห็นพวกเขายืนเรียงแถวเมื่อขบวนรถแห่ศพของปาปอว์เคลื่อนผ่าน เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะคนเหล่านี้เห็นคุณค่าของการเชื่อมโยงกับอดีต การที่คนคนหนึ่งตายไปไม่ใช่จุดจบของเขา เพราะสิ่งที่เขาทำในระหว่างที่ยังมีชีวิตได้ถักทอเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้วายชนม์ และมันยังคงสืบเนื่องอยู่ในวิถีชีวิตของคนในชุมชน เหมือนที่เรื่องของมามอว์และปาปอว์ยังเด่นชัดอยู่ในความทรงจำของ เจ.ดี. และความยากลำบากทั้งมวลที่แม่และครอบครัวเขาเผชิญได้ทำให้เขากลายเป็นคนแข็งแกร่งเช่นทุกวันนี้ เจ.ดี. เลือกที่จะเล่าว่า ครอบครัวทำให้เขาเป็นเขา และเลิกปฏิเสธรากเหง้าของตนเอง กล่าวโดยย่อ หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับการค้นหาตนเอง และประณีประนอมกับความจริงที่ว่าเราเป็นใครและมาจากไหน


ชม Hillbilly Elegy ได้ที่ Netflix

เบื้องหลังภาพขาว-ดำคือความโหดหิน: อีริค เมสเซอร์ชมิดต์ ชายผู้คว้าออสการ์สาขากำกับภาพจาก Mank (2020)

Mank (2020) หนังลำดับล่าสุดของ เดวิด ฟินเชอร์ เข้าชิงออสการ์สิบสาขา และคว้ากลับบ้านมาได้สองคือสาขาโปรดักชั่นดีไซน์ยอดเยี่ยม และกำกับภาพยอดเยี่ยมโดย อีริค เมสเซอร์ชมิดต์ ช่างภาพหนุ่มที่เคยร่วมงานกับฟินเชอร์มาแล้วตอนถ่ายทำซีรีส์ Mindhunter (2017)

“มันมีอยู่วันนึง ที่เดวิดติดต่อผมมา ถามว่าอยากมาร่วมทำหนังสักเรื่องด้วยกันไหม” เมสเซอร์ชมิดต์ระลึกความหลัง “ผมเลยบอก ก็เอาสิ”

นั่นคือปฐมบทการเดินทางไปสู่การสลักเสลางานหินชิ้นใหญ่ Mank เป็นหนังที่ฟินเชอร์คนพ่อ -แจ็ค ฟินเชอร์- เขียนไว้และเดวิดผู้เป็นลูกก็ตั้งใจจะสร้างเป็นหนังตามหลัง The Game (1997) หนังยาวลำดับที่สามของเขา พร้อมยืนยันว่าหนังต้องถ่ายเป็นภาพขาว-ดำเท่านั้นซึ่งทำให้มันกลายเป็นโปรเจ็กต์ล่าช้าจนไม่ได้สร้างสักที กระทั่งกลางปี 2019 ที่ฟินเชอร์ประกาศว่าเขาจะสานต่อบทหนังของพ่อผู้ล่วงลับไปเมื่อปี 2003 ด้วยการหยิบบทหนังที่เขียนทิ้งไว้นานนับทศวรรษมาสร้างเป็นหนังยาว เล่าเรื่องของ เฮอร์แมน แมงคีวิกซ์ (แกรี โอลด์แมน -ชิงสาขานำชายยอดเยี่ยม) หรือแมงค์ คนเขียนบทขี้เมาที่ใช้เวลาระหว่างพักรักษาตัวในกระท่อมน้อยโดดเดี่ยวเขียนบทหนังให้คนทำหนังหนุ่มไฟแรงของฮอลลีวูด ออร์สัน เวลล์ส และในเวลาต่อมามันได้กลายเป็นหนังแสนอหังการ บ้าพลังของฮอลลีวูดในนาม Citizen Kane (1941) พร้อมสำรวจความสัมพันธ์ของแมงค์กับบรรดา ‘ขาใหญ่’ ในอุตสาหกรรมหนังอเมริกา ทั้งโปรดิวเซอร์ วิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์ตส์ (ชาร์ลส์ แดนซ์) ซึ่งเป็นเสมือนเจ้าพ่อของวงการ กับ แมเรียน (อแมนดา เซย์ฟริด -ชิงสาขาสมทบหญิงยอดเยี่ยม) นักแสดงสาวที่เฝ้าหาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในฮอลลีวูด

และเมสเซอร์ชมิดต์นี่เองที่เข้ามาร่วมมือสลักหินเล่าเรื่องการขับเคี่ยวในอุตสาหกรรมภาพยนตร์กับฟินเชอร์ ซึ่งยังคงมุ่งมั่นตั้งใจจะเล่าเรื่องด้วยภาพขาว-ดำตลอดทั้งความยาวสองชั่วโมงกับอีกสิบนาที ซึ่งเมสเซอร์ชมิดต์พบว่าเป็นความท้าทายที่เขาจะปล่อยให้หลุดมือไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด ก่อนหน้านี้เขาเคี่ยวกรำอยู่ในแวดวงภาพยนตร์ในฐานะทีมช่างไฟจาก November (2004), Lovelace (2013) และ Gone Girl (2014) หนังธริลเลอร์ชวนเสียวสันหลังของฟินเชอร์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นผู้กำกับภาพในซีรีส์ Mindhunter เป็นลำดับต่อมา

ก่อนหน้าการถ่ายทำ เมสเซอร์ชมิดต์ใช้เวลาหลายสัปดาห์ขลุกอยู่กับงานภาพจากยุค 1930-1940 เพื่อใช้อ้างอิงในการถ่ายภาพยนตร์ “ผมรวบรวมเอางานภาพถ่ายและรูปวาดไปให้เดวิด เป็นงานภาพขาวดำจำนวนมาก ไม่ได้มีเนื้อหาอะไร แต่เป็นภาพที่บอกเขาว่า ‘สำหรับผมแล้ว รูปพวกนี้แหละเล่าเกี่ยวกับหนัง’ แล้วมันมีประมาณสัก 300 รูปได้ละมั้ง ผมส่งไปให้เดวิดทั้งหมดเลย” เมสเซอร์ชมิดต์เล่า “สักพักเขาก็มาหาผม ปรึกษาว่า ‘ผมชอบงานพวกนี้มาก แบบภาพนี้ไม่เอานะ เอาแบบภาพนี้ดีกว่า เราจะขยายไอเดียพวกนี้ต่อไปยังไง หรือถ้าเอาแบบนี้มาใช้ในฉากนี้มันต้องน่าสนใจแน่ๆ เลย’

“อันที่จริงการถ่ายหนังขาวดำมันล่อตาล่อใจผมมาแต่แรกอยู่แล้ว และผมก็กังวลหน่อยๆ ว่าอาจจะหมกมุ่นกับเรื่องการออกแบบแสงอย่างหนักเพราะรู้สึกว่าตัวเองทำได้ จนกลัวว่าบางทีอาจทำให้คนดูหลุดออกไปจากสิ่งที่เราอยากสื่อสาร หรือไม่มันก็อาจจะดึงความสนใจของผู้คนไปจากเรื่องที่เรากำลังเล่า ซึ่งพอเป็นแบบนี้ผมก็คงต้องหาทางอธิบายให้คนดูรับรู้ถึงเรื่องแสงผ่านงานเสียจนทั้งหมดนี้กลายเป็นตัวหนังทั้งเรื่องไป และนี่แหละที่ผมกังวลมากที่สุด”

เมสเซอร์ชมิดต์อธิบายคร่าวๆ ว่า สำหรับงานภาพสีนั้นผู้กำกับภาพมักจะใช้สีที่แตกต่างกันเพื่อบอกระยะความลึกของภาพ (colour separation) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในการกำกับภาพขาวดำไม่ได้ “คุณต้องใช้แค่แสงเงาและความเข้มของแสงเท่านั้น แล้วยังต้องอาศัยการใช้สีในฉากด้วย มันจึงไม่ใช่แค่เครื่องแต่งกายหรือองค์ประกอบฉากเท่านั้นแต่ยังรวมถึงสีสันต่างๆ ซึ่งทั้ง ทริช ซัมเมอร์วิลล์ (คอสตูม ดีไซเนอร์ -ชิงออสการ์สาขาเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม), ดอน เบิร์ต (โปรดักชั่น ดีไซเนอร์ -คว้าออสการ์สาขาโปรดักชั่นดีไซน์) แล้วก็ผมทดลองเรื่องสีพวกนี้กันหัวแทบแตกเลยล่ะ” 

ภาพจาก https://twitter.com/MankFilm/status/1386502550669598722

ฟินเชอร์กับเมสเซอร์ชมิดต์ใช้เทคนิคจากงานกำกับภาพของ เกร็ก โทแลนด์ จาก Citizen Kane เป็นต้นแบบโดยเฉพาะการจัดแสงและเงาอันจัดจ้าน “แต่ว่าส่วนใหญ่แล้ว Citizen Kane ถ่ายทำในอาคารหรือไม่ก็ในคฤหาสน์ขนาดยักษ์ ขณะที่หนังของเราถ่ายทำหลายโลเคชั่นมากๆ เราไปออกกองที่ทะเลทราย แล้วกลับมาถ่ายที่สตูดิโอต่อ เพราะงั้นเลยรู้สึกว่าตัวหนังมันควรอิงเรื่องความสมจริงอย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง ซึ่งทำให้เรามีโอกาสได้จัดแสงแบบเดียวกับใน Citizen Kane ด้วย ทั้งผมและเดวิดเลยหาตัวอย่างหนังเก่าๆ มาเพื่อใช้อ้างอิงเป็นตั้งๆ ทั้ง The Night of the Hunter (1955), Rebecca (1940), The Grapes of Wrath (1940 -โทแลนด์กำกับภาพด้วย)”

อย่างไรก็ดี แม้จะตั้งอกตั้งใจถ่ายให้มันเป็นงานภาพขาว-ดำ แต่นี่เองคือหนึ่งในความหวาดหวั่นของเมสเซอร์ชมิดต์ ทั้งเขาและฟินเชอร์อยากให้งานภาพออกมาดู ‘เคารพ’ ภาพจากยุค 30s-40s แต่ต้องไม่ดูเหมือนจนเกินไปเพราะมันจะกลายเป็นการ ‘ลอกเลียน’ งานในยุคนั้นแทน “ที่ผมกลัวมากที่สุดคือถ่ายเป็นขาวดำแล้วมันดูปลอมมากๆ จนเหมือนไปล้อเลียนต้นฉบับ คือถ้าคุณตั้งใจจะถ่ายให้มันออกมาเหมือนหนังยุคนั้นมากๆ แทนที่มันจะเป็นการแสดงความเคารพเทคนิคการถ่ายทำยุคนั้น มันก็จะกลายเป็นการล้อเลียนไปได้ง่ายๆ เลย” เขาว่า “ผมอยากให้มันออกมาดูเป็นงานที่เลียนแบบด้วยความชื่นชม (pastiche) มากกว่าจะเป็นงานที่ล้อเลียน (parody) ขึ้นมา เพราะงั้น ผมเดาว่าหนังมันจึงเป็นส่วนผสมระหว่างการแสดงความเคารพต่องานภาพยนตร์คลาสสิก ด้วยองค์ประกอบและเทคนิคการถ่ายทำแบบหนังสมัยใหม่ แต่ผมไม่อยากให้คนดูไปดูหนังเรื่องนี้แล้วคิดไปว่าหนังมันสร้างขึ้นมาในปี 1930 หรือ 1940 จริงๆ เพราะมันไม่ใช่ไงล่ะ! มันถ่ายไวลด์สกรีนนะ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นการแสดงความเคารพมากกว่า”

เงื่อนไขสำคัญของ Mank คือหนังเล่าเรื่องผ่านสองเส้นเวลา เส้นแรกคือช่วงที่แมงค์นอนขาหักอยู่บนเตียงไปพลาง เขียนบทหนังให้ออร์สัน เวลล์สไปพลางโดยมีผู้ช่วยสาวชาวอังกฤษ (ลิลี คอลลินส์) คอยบทตามคำบอก และอีกเส้นเรื่องคือช่วงที่เขาแวะเวียนไปยังสตูดิโอในฮอลลีวูด สานสัมพันธ์กึ่งสร้างศัตรูกับแมเรียนและเฮิร์ตส์ ซึ่งเมสเซอร์ชมิดต์ต้องหาทางทำให้คนดูแยกออกให้ได้ว่าฉากไหนอยู่ในช่วงปัจจุบัน และฉากไหนอยู่ในอดีตก่อนที่แมงค์จะได้มาเขียนบทหนังอันเปลี่ยนโฉมหน้าฮอลลีวูดในเวลาต่อมา ซึ่งฟินเชอร์และเมสเซอร์ชมิดต์ตัดสินใจเล่าทั้งสองช่วงเวลาด้วยภาพขาวดำเหมือนกัน เพียงแต่เหตุการณ์ในอดีตนั้นพวกเขาใช้แสงขับเน้นบรรยากาศจนแสงเงาตัดกันเข้มข้นมากกว่าในช่วงเวลาที่แมงค์นอนอยู่บนเตียงพร้อมไม้ดามขา -ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นแสงอ่อนที่ส่องผ่านหน้าต่างหรือบานประตูทาบลงมายังพื้น- แล้วใช้เทคนิคการเล่าตัดสลับไปยังฉากในอดีตแบบที่ Citizen Kane ใช้นั่นคือค่อยๆ เลือนฉากไปยังเหตุการณ์ในอดีต และเมื่อต้องตัดสลับกลับมาช่วงปัจจุบัน ก็ใช้การตัดสลับอย่างรวดเร็วกลับมา “เป็นวิธีที่เราใช้บอกคนดูว่าเรากำลังย้อนกลับไปเล่าเรื่องในอดีตของแมงค์นะ แล้วพอคนดูเห็นอะไรแบบนี้สักครั้งสองครั้ง พวกเขาก็จะเข้าใจวิธีเล่าเรื่องเองนั่นแหละ” เขาสาธยาย “และในภาษาภาพยนตร์ยุคใหม่ เรามักใช้กล้องโฟกัสเพื่อให้คนดูรู้ว่าต้องมองอะไรในเฟรมนั้นๆ ส่วนไหนของภาพที่สำคัญหรือตัวละครไหนที่เด่นออกมา แต่ในหนังขาวดำ ถ้าคุณโฟกัสหนักๆ แบบนั้นภาพพื้นหลังมันจะถูกกลืนหายไปหมดเลย ซึ่งจะทำให้เราคุมความเข้มแสงหรืออะไรในภาพไม่ได้แม้แต่น้อย” 

อย่างไรก็ตาม สำหรับเมสเซอร์ชมิดต์ หนึ่งในฉากที่โหดมากๆ และต้องซักซ้อมมุมกล้องกันอยู่หลายตลบคือฉากที่ตัวละครหลักเกือบทั้งหมดไปสังสรรค์กันในคฤหาสน์ของเฮิร์ตส์ ซึ่งฟินเชอร์ตั้งใจจะเก็บรายละเอียดให้ได้ครบทั้งหมดไม่ว่าจะสีหน้านักแสดงหรือองค์ประกอบ ฉากต่างๆ และการถ่ายทำฉากความยาวไม่เกินสิบห้านาทีนี้กินเวลาอยู่สองสามวัน เนื่องจากทั้งเดวิดและเมสเซอร์ชมิดต์ต้องตระเตรียมวางแผนการจับกล้องไล่ตามสายตาของนักแสดง รวมทั้งกวาดเก็บรายละเอียดสิ่งละพันอันละน้อยตามที่เขียนไว้ในบท ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีที่เล่นเปียโนพลางชำเลืองมองเฮิร์ตส์ หรือแมงค์ซึ่งมองตรงไปยังแมเรียน หญิงสาวซึ่งกวาดตาไปทั่วห้องและมองข้ามไหล่ไปสนทนากับนักแสดงหรือโปรดิวเซอร์ชื่อดัง “เดวิดอยากให้ฉากในคฤหาสน์ของเฮิร์สต์สร้างความรู้สึกเหมือนอยู่ในคฤหาสน์จริงๆ ให้คนดูได้ คือมันต้องมีบรรยากาศของความเหม็นอับ เยือกเย็นและกว้างขวาง ถือเป็นงานหินเลยล่ะ” เมสเซอร์ชมิดต์ว่า “อันที่จริงผมชอบการเคลื่อนกล้องในฉากนี้มาก เราซ้อมกันหนักหน่วงทีเดียว เฮิร์สต์จะนั่งอยู่ตรงหน้าเตาผิง เขาพยายามหาที่นั่งให้แมเรียน ซึ่งแมเรียนจะต้องได้เห็นแมงค์ด้วย จากนั้นเธอจะมองข้ามไหล่ตัวเองเพื่อเจอกับ ชาร์ลี แชปลิน ดังนั้นเธอจึงต้องนั่งอยู่บนโซฟา จากนั้นกล้องจะไปจับที่เมเยอร์กับธัลเบิร์กซึ่งอยู่ตรงมุมห้องกับครอบครัวตัวเอง คุณจะพบว่ากล้องมันกวาดไปกว้างมากๆ เพื่อเก็บรายละเอียดสิ่งที่สคริปต์เขียนไว้ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องจำให้ได้คือ ‘ใครต้องเริ่มมองเห็นใครก่อน และเมื่อไหร่’

“เราถ่ายกันอยู่สี่หรือห้าวันได้ ซักซ้อมกันนานหลายรอบหลายครั้ง และแกรีก็แสดงเต็มที่ทุกครั้งเพื่อรับส่งกับนักแสดงคนอื่นๆ แม้กล้องจะยังไม่จับเขาก็ตาม หรือแม้เมื่อเราจับไปยังสีหน้าของนักแสดงเอ็กซ์ตร้าที่รายล้อมอยู่ แกรีแสดงเต็มที่ตลอด ต่อบทสนทนายาวเหยียดตลอดเก้านาทีเต็มนั้น มันเป็นฉากจำเลยล่ะ และพูดจริงๆ นะ โคตรเหนื่อยเลย”

รวมถึงฉากที่ถูกพูดถึงอย่างมาก และเป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ฝีมือของเมสเซอร์ชมิดต์ นั่นคือฉากที่แมเรียนออกไปเดินเล่นกับแมงค์เพียงลำพังในสวนสัตว์ของเฮิร์ตส์ยามค่ำคืน… ซึ่งแท้จริงแล้วฉากนี้ถ่ายกลางแดดเปรี้ยงเที่ยงตรง ทั้งกองต้องยกกันไปถ่ายทำในสวนฮันติงตันย่านแพซาดีนา และหอบไปยังซาน มาริโนเพื่อถ่ายให้ติดฉากที่ตัวละครทั้งสองเห็นสัตว์ในสวนเดินเพ่นพ่านไปมาเป็นฉากหลัง “ทั้งสองโลเคชั่นมันตรงกับสิ่งที่เดวิดอยากได้และร่างภาพไว้ในใจมากๆ” เมสเซอร์ชมิดต์บอก “แต่ก็อีกนั่นแหละที่ทั้งสองแห่งมันถ่ายทำฉากกลางคืนไม่ได้เลย เรายกเอาไฟไปจัดแสงเพื่อถ่ายทำตอนกลางคืนไม่ได้หรอก ผมไม่ได้ใช้อุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมากหรืออะไร เพราะถ้าเอาไปจริงๆ ค่าขนส่งจัดการมันคงแพงกระเป๋าฉีกเอาได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นเราต้องกลับไปยึดมั่นให้ดีว่า สิ่งที่เราต้องการคือทำให้คนดูเข้าใจได้ว่าคฤหาสน์ของเฮิร์ตส์นี่มันเป็นพื้นที่ที่น่าเหลือเชื่อเสียจริงๆ”

ช่วงนั้น เมสเซอร์ชมิดต์เพิ่งเสร็จจากการร่วมงานซีรีส์ทางโทรทัศน์เรื่อง Raised by Wolves ของ ริดลีย์ สก็อตต์ และมีหลายฉากทีเดียวที่เขาต้องถ่ายซีนกลางคืนในเวลากลางวัน ช่วงที่แดดจ้าเผาหัวอยู่กลางกระหม่อม เมสเซอร์ชมิดต์จึงส่งตัวอย่างงานและเสนอว่าบางทีแล้วพวกเขาอาจไม่ต้องแบกไฟไปจัดแสงในสวนสาธารณะให้งบกระจุย แต่อาจไปถ่ายช่วงกลางวันแทน “ปรากฏว่าเดวิดปลื้มไอเดียนี้มาก แถมการถ่ายหนังซีนกลางคืนในช่วงกลางวันมันก็เป็นเทคนิคช่วงยุคทองของภาพยนตร์พอดี ไม่มีอะไรใหม่เลย มันจึงเหมาะเจาะกับฉากนั้นเป็นอย่างยิ่ง และเราเลยตกลงจะถ่ายฉากนี้กันในเวลากลางวัน แต่แน่ล่ะว่าฉากกลางคืนฉากอื่นๆ ในหนังนั้นเราก็ถ่ายช่วงกลางคืน มีแค่ฉากนี้เท่านั้นที่เรายกกองไปถ่ายกันในตอนกลางวัน” (ซึ่งปรากฏว่า การถ่ายทำฉากกลางคืนในสถานที่กลางวันโดยต้องได้สีขาวดำที่เหมาะเจาะสวยงามนั้น ต้องใช้แสงจ้าจัดเสียจนเมสเซอร์ชมิดต์พบว่านักแสดงสู้แสงไม่ไหว -ทั้งโอลด์แมนและเซย์ฟริดเอาแต่หยีตามองหน้ากันและกันซึ่งดูพิกลมากเมื่อเส้นเรื่องว่าด้วยการที่ตัวละครอยู่ด้วยกันกลางค่ำคืน- เพื่อจะแก้ปัญหานี้ เขาเลยไปหาคอนแทคเลนส์แบบที่กันแสงได้มาให้นักแสดงสวมชั่วคราว)

การคว้ารางวัลออสการ์หลังการกำกับภาพให้หนังยาวเป็นเรื่องแรกนั้นทำให้เมสเซอร์ชมิดต์กลายเป็นที่จับตาทันที ก่อนหน้านี้เขาเคยกำกับภาพให้หนังสารคดี In a Dream (2008) และงานหนังสั้นกับซีรีส์อยู่บ้าง และกล่าวได้ว่า Mank คือหนังยาวเรื่องแรกที่เขาพิสูจน์ฝีมือได้หมดจด ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความชำนาญเรื่องแสงและสีซึ่งเขาเคี่ยวกรำหมกมุ่นกับมันมานานนับทศวรรษตลอดการทำงานในอุตสาหกรรมฮอลลีวูดนี้


ชม Mank ได้ที่ Netflix

Music Is My Weapon : ดนตรีคืออาวุธ

คำกล่าวที่ว่า ”ดนตรีนั้นไม่เคยเป็นอาวุธของใคร” นั้นทำให้ใครหลายคนแค้นเคือง เพราะถ้าหากดนตรีไม่เคยเป็นอาวุธจริง นั่นอาจหมายความว่าดนตรีนั้นไม่มีพลวัตที่จะขับเคลื่อนอะไรได้ แม้แต่อุตสาหกรรมดนตรีที่เพลงและคนทำเพลงอยู่เองก็ตาม ในขณะที่ยังมีเพลงที่คอยมอบพื้นที่แห่งความรื่นเริงและความสนุกสนาน คอยขับขานเรื่องราวความเป็นไปได้ของความรักได้อย่างไม่รู้จบ อีกด้านหนึ่งศิลปินหลายคนในหลายๆ ประเทศ พวกเขายังต้องใช้เสียงเพลงเพื่อเป็นเครื่องมือในการแสดงออก เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการสรรเสริญว่าพวกเขายังมีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมที่พวกเขาได้ร่วมกันสร้างขึ้นมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หรือเป็นอีกหนึ่งบทบันทึกว่าความโหดร้ายที่พวกเขาเผชิญนั้นเกิดขึ้นจริงไม่ใช่เพียงแค่เสียงลือเสียงเล่าอ้าง เพราะพวกเขาถ่ายทอดทุกอย่างที่เกิดขึ้นลงไปในนั้น เป็นอีกหนึ่งการถ่ายทอดเรื่องราว เป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันตัวตนว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่ เสียงเพลงและดนตรีนั้นไม่เคยเป็นศัตรู จนกระทั่งมีใครบางคนที่มองว่ามันกลายเป็นภัยคุกคาม แค่นั้นดนตรีก็กลายเป็นอาวุธที่ใครจะหยิบจับขึ้นมาใช้กันได้แล้ว แต่การเป็นอาวุธของมันไม่ได้สร้างความเจ็บปวดทางกายให้กับใคร แต่มันอาจคือเสียงเล็กๆ ที่อาจงัดคานอำนาจอันยิ่งใหญ่หากในทางตรงกันข้ามก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรัดตรึงให้เราว่านอนสอนง่ายได้เช่นเดียวกัน

ที่น่าเศร้าคือคำว่า “ดนตรีไม่เคยเป็นอาวุธของใคร” นั้นออกมาจากปลายนิ้วของบุคลากรที่ใช้เสียงเพลงในการทำงาน ถึงแม้เขาจะได้กลับมาขอโทษด้วยความไม่ทันได้ตระหนักถึงอานุภาพความยิ่งใหญ่ของดนตรีที่มีอยู่ แต่ก็อาจจะสายเกินแก้ไปแล้ว ในขณะที่บุคลากรวงการเพลงไทยหลายๆ คนที่เป็นรุ่นพี่ของเขา และเป็นนักแต่งเพลงในดวงใจของใครหลายคนก่อนหน้า ใช้เสียงเพลงเป็นอาวุธในการครอบงำจัดระเบียบความคิดของผู้คนให้แสดงความรักของบุคคลที่ซึ่งถูกเทิดทูนเอาไว้เหนือหัว การจะถอนมนต์สะกดนั้นออกมาได้ต้องใช้เวลาที่ยาวนาน หรือเหตุการณ์ที่สะเทือนใจพอที่จะกลับมามองเห็นความจริง และนั่นคือสิ่งที่เขาต้องตระหนักอยู่ทุกครั้งว่าในขณะที่ดนตรีของเขานั้นใช้เพื่อปลอบประโลม ในทางหนึ่งนั่นก็คืออำนาจของเพลงของเขาเองที่กล่อมเกลาให้พวกเราเชื่องซึมและละเลยกับเหตุการณ์จริงที่กำลังโหดร้ายอยู่ตรงหน้า จากผู้มีอำนาจที่ควบคุมเสียงเพลงทุกอย่างให้เป็นไปตามที่ต้องการ เหมือนกับศิลปะแขนงอื่นๆ ที่เขาต่างเซ็นเซอร์ และถูกริดรอนซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้จบ

“ดนตรีนั้นคืออาวุธ” อยู่เสมอ มันจะเป็นเช่นนั้นอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้มันอาจจะถูกค้นพบแต่ไม่รู้ตัวว่ามันเป็น หรือจะถูกหลบซ่อนเร้นอำพรางตาด้วยกลอันโฉ่งฉ่างของอำนาจของเบื้องบนก็ตาม และบทความนี้เป็นอีกหนึ่งเครื่องเตือนใจสำหรับผู้ที่หลงลืมอีกหนึ่งหน้าที่ที่แท้จริงของดนตรีว่ามันมีไว้เพื่อเป็นอาวุธของใครบางคนอยู่เสมอ ไม่วาจะเป็นทั้งกลุ่มคนผู้เรียกร้องซึ่งสิทธิเสรี เสรีภาพ และความเท่าเทียม หรือกลุ่มคนที่ต้องการควบคุมอำนาจที่พวกเขามีให้ยังดำรงอยู่ต่อไป หากความไม่เข้าใจว่าเพลงเพลงหนึ่งจะกลายเป็นอาวุธที่ทรงอานุภาพได้อย่างไร พวกเขาจะไม่สามารถผลักดันตัวเองให้ไปพร้อมกันกับทุกคนได้ ผลกระทบของเพลงหนึ่งเพลงมันส่งผลกับทุกคนไม่ว่าจะร่างกาย จิตใจ หรือความคิดเองก็ตาม มันทั้งสร้างกำลังใจต่อเป้าหมายที่อยู่ในบทเพลง ในอีกทางหนึ่งมันก็กำลังทิ่มแทงคนที่ถูกทอดทิ้งไว้อยู่เบื้องหลังไปพร้อมๆ กัน และนั่นก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรเข้าใจว่าบทเพลง ศิลปะ การเมือง ชีวิต ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ มันสอดคล้องกันไปอย่างเป็นระบบ

ภาพยนตร์ทั้ง 10 เรื่องที่แนะนำขึ้นมานี้แสดงให้เห็นว่าดนตรีนั้นยังคงเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่คอยส่งเสียงให้กับผู้ที่ได้พบเห็นว่าพวกเขายังอยู่ และการต่อสู้เหล่ามันเคยเกิดขึ้นอยู่ที่ฟากฝั่งของโลก หรือมันยังคงเกิดขึ้นอยู่ไม่จบสิ้น ดนตรีของพวกเขาที่เราเห็นในหนังแต่ละเรื่อง อาจจะยังไม่เปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบได้ แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็สร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้กับคนที่ได้รับฟัง หรือที่ได้ดูหนังเรื่องเหล่านี้เช่นกัน


Summer of Soul (…Or, When the Revolution Could Not Be Televised) (2021, Ahmir “Questlove” Thompson)

ผลงานในฐานะผู้กำกับหนังเรื่องแรกของ Ahmir Khalib Thompson หรือ Questlove มือกลองและหัวหน้าวง The Roots อีกหนึ่งวงดนตรีฮิปฮอปรุ่นใหญ่ในตำนาน หรือหลายคนอาจจะเคยเห็นหน้าในฐานะนักดนตรีแบ็คอัพในรายการ The Tonight Show Starring Jimmy Fallon ซึ่งเขาหยิบเอาเหตุการณ์เทศกาลดนตรีที่เฉลิมฉลองวัฒนธรรมอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดประวัติศาสตร์ของคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา แต่ถูกปกปิดและหายไปจากการรับรู้ของคนทั่วไปยาวนานนับ 50 ปี และฟุตเตจทั้งหลายที่ถูกถ่ายในเทศกาลครั้งนี้ จะกลับมาให้ผู้ชมได้รับชมอีกครั้งในปีนี้

ในปี 1969 นอกจากจะเป็นปีที่ให้กำเนิดเทศกาลดนตรีที่เป็นตำนานอย่างยิ่งใหญ่และทรงพลังที่สุดของโลกอย่าง Woodstock Music & Art Fair แล้ว อีกร้อยกว่าไมล์ถ้ดมาในเมืองนิวยอร์ก รัฐแมนฮัตตัน The Harlem Cultural Festival ก็ถูกจัดขึ้นมาที่ Mount Morris Park เพื่อเฉลิมฉลองดนตรีของกลุ่มชนชาวแอฟริกัน-อเมริกัน กระจายวัฒนธรรมและเสริมสร้างสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพของคนผิวดำ เทศกาลนี้ถูกขนานนามว่าเป็น Black Woodstock ด้วยความใหญ่โตที่เทียบเท่ากันนั้นเอง รวมไปถึงการที่มีศิลปินระดับท็อปของวงการมาอย่างมากมาย เช่น Stevie Wonder, Nina Simone, Sly & the Family Stone, Gladys Knight & the Pips, Abbey Lincoln & Max Roach ฯลฯ และระยะเวลาของเทศกาลที่ยาวนานถึง 6 สัปดาห์ มีผู้คนเข้าร่วมนับเกือบ 300,000 คน แต่กลับถูกไม่ได้ให้ความช่วยเหลือจากตำรวจ NYPD และได้กลุ่ม Black Panther มาช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องความปลอดภัยแทน

Summer of Soul เปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์ Sundance Film Festival เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้รับ Grand Jury Prize และ Audience Award และกำลังจะฉายในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้


The Punk Singer (2013, Sini Anderson)

หนังสารคดีที่ติดตามชีวิตของ Kathleen Hanna นักร้องนำของ Bikini Kill วงดนตรีที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญของขบวนการ Riot grrrl ที่ผสานแนวคิดสตรีนิยม ศิลปะ การเมือง และดนตรีพังค์ร็อคเข้าด้วยกัน เธอกลายเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของ “เฟมินิสต์คลื่นลูกที่สาม” ที่มีแนวคิดว่าผู้หญิงทุกคนล้วนมีคุณค่าในตัวเอง ไปจนถึงเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องปัญหาสารพันที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงด้วยกัน เช่น การข่มขืน ความรุนแรงในครอบครัว หรือความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

The Punk Singer คือสารคดีที่เล่าเรื่อง 20 ปีในเส้นทางการทำงานของเธอ ตั้งแต่ช่วงที่ทำเพลงพังค์ใต้ดิน ทั้งวง Bikini Kill, วง Le Tigre หรืองานเดียวในชื่อ Julie Ruin ทั้งฐานะเบื้องหลังในฐานะคนทำแฟนซีน (นิตยสารทำมือสำหรับแฟนคลับ) ไปจนถึงการต่อสู้กับโรคลายม์ (Lyme disease) ที่เรื้อรังยาวนานจนต้องพักงานในปี 2005 หรือแม้กระทั่ง มิตรภาพระหว่างตัวแฮนนากับ Kurt Cobain สมาชิกวง Nirvana ผู้ล่วงลับ ผ่านการให้สัมภาษณ์ของคนในวงการเพลง, นักวิจารณ์, สื่อมวลชนสายเฟมินิสต์ ไปจนถึงสามีของเธอ Adam Horovitz สมาชิกวงฮิปฮอประดับตำนาน Beastie Boys


Lili Marleen (1981, Rainer Werner Fassbinder)

สร้างมาจากนิยายอัตชีวประวัติเรื่อง Der Himmel hat viele Farben (The Heavens Have Many Colors) ของ Lale Andersen นักร้องและนักแสดงชาวเยอรมัน และชื่อหนังเรื่องนี้ก็มาจากเพลงที่มีชื่อเสียงที่สุดของเธออีกด้วย

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องราวเริ่มต้นในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ Willie นักร้องสาวชาวเยอรมนีตกหลุมรักกับนักแต่งเพลงหนุ่มชาวยิว Robert ที่กำลังต่อต้านกองกำลังนาซีด้วยการให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่อพยพ วันหนึ่งเธอช่วยเหลือ Robert ได้ แต่ต้องแลกกับการอยู่ที่เยอรมนี หลังจากที่เธอเริ่มร้องเพลง Lili Marleen เพลงที่ Robert แต่งให้ กลายเป็นว่าเพลงนี้เป้นเพลงฮิตในเยอรมนีเป็นอย่างมาก ทหารเยอรมนีทุกคนต้องได้ยินเพลงนี้ผ่านวิทยุสักครั้ง เธอกลายเป็นดารา ใครๆ ก็ต่างอยากพบเธอ แม้กระทั่งตัวฮิตเลอร์ยังต้องชวนเธอไปร้องที่งานเลี้ยงส่วนตัว ซึ่งนั่นทำให้เธอถูกห้ามเข้าสวิตเซอร์แลนด์อย่างเป็นทางการ

แต่ด้วยความรักของทั้งคู่ Robert จึงแอบลักลอบเข้าไปที่เบอร์ลินเพื่อพบเธออีกสักครั้ง แต่กลับถูกจับตัวได้ ทำให้เขาและเธอไม่ได้เจอกันอีก ทำได้เพียงแค่รอสงครามครั้งนี้สิ้นสุดลงเท่านั้น


No One Knows About Persian Cats (2009, Bahman Ghobadi)

ผู้กำกับ Bahman Ghobadi ที่ได้รางวัล Caméra d’Or ในเทศกาลเมืองคานส์ปี 2000 จากเรื่อง A Time for Drunken Horses ครั้งนี้เขาได้ร่วมงานกับ Roxana Saberi นักข่าวชาวสหรัฐอเมริกาที่ถูกจำคุกอยู่ในอิหร่านอย่างไม่เป็นธรรมถึง 8 ปี เพื่อบอกเล่าถึงความน่าสนใจของซีนดนตรีใต้ดินของอิหร่าน ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านอำนาจรัฐในรูปแบบใหม่

No One Knows About Persian Cats ติดตามชีวิตของคู่หหูักดนตรี Ashkan และ Negar ที่เพิ่งถูกปล่อยจากคุก พวกเขามีเป้าหมายที่จะตั้งวงดนตรีร็อคของพวกเขาและเดินทางไปเล่นที่ยุโรป แต่ด้วยการแบนเพลงร็อคแอนด์โรลในประเทศอิหร่าน ทำให้พวกเขาจึงเริ่มวางแผนที่จะหนีออกจากประเทศผ่านโปรโมเตอร์ ที่พาพวกเขาเดินทางทั่วเตหะรานเพื่อตามหาสมาชิกวง และเล่นดนตรีในประเทศเป็นครั้งสุดท้าย หนังเรื่องนี้จะพาให้เรารู้จักอีกด้านของเมืองเตหะราน ที่มีซีนดนตรีใต้ดินที่มีสีสันมากมาย เพราะที่นี่มีวงดนตรีนอกกระแสที่ต้องหลบหนีจากกฎหมายร่วม 2,000 วง


Super Dimension Fortress Macross The Movie: Do You Remember Love? (1984, Noboru Ishiguro + Shōji Kawamori)

ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากเวอร์ชั่นทีวีซีรี่ส์ จำนวน 36 ตอน ในชื่อเรื่องเดียวกัน เรื่องเริ่มต้นหลังจากที่วาร์ปออกมาจากโลกมนุษย์หลายปีแสง ยานอวกาศ Macross ก็ยังคงบรรทุกเมือง ผู้คน และเหล่าทหารนับห้าหมื่นชีวิต เพื่อพาพวกเขากลับบ้าน เหล่ามนุษย์ยังคงต้องต่อสู้กับการตามล่าของเผ่าพันธุ์ Zentradi และ Meltrandi มนุษย์ต่างดาวขนาดยักษ์ที่ต้องการทำสงครามกับมนุษย์โลก

ระหว่างเกิดสงคราม ยาน Macross นักบิน Hikaru Ichijou ได้ขับยานหุ่นรบเข้าช่วยเหลือไอดอล Lynn Minmay จากการถูกบุกเข้าโจมตีของยักษ์ระหว่างที่จัดคอนเสิร์ต หลังจากนั้นความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ได้เริ่มต้นขึ้น แต่สิ่งนั้นต้องถูกปกปิดเอาไว้เพราะมันจะกลายเป็นภัยต่อชื่อเสียงและชีวิตของ Lynn Minmay เอง

ในขณะที่สงครามยังคงดำเนินต่อไป และจะมีแต่เพิ่มความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ Hikaru และเหล่าเพื่อนพ้องนักบินขับหุ่นรบต้องเผชิญกับศัตรูปริศนา และอีกด้านหนึ่งทั้ง Hikaru และ Minmay ต้องห้ามความรู้สึกของกันและกันเอาไว้ แต่ด้วยความรู้สึกอันท่วมท้นของ Minmay ที่ได้ใส่ลงไปในบทเพลงของเธอ นั่นอาจเป็นกุญแจที่ไขความลับสู่ความสงบสุขของทั้งจักรวาลนี้ก็เป็นได้


Sonita (2016, Rokhsareh Ghaemmaghami)

เจ้าของรางวัลสารคดีโลกยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังซันแดนซ์ เรื่องราวทรงพลังของ “โซนิตา อะลิซาเดห์” เด็กสาววัย 18 ที่ลักลอบอพยพจากอัฟกานิสถานมาอาศัยในชุมชนแออัดของอิหร่าน และไม่เพียงปัญหาความยากจนข้นแค้นเท่านั้นที่เธอต้องการหลบหนี ทว่าโซนิตายังปรารถนาจะหลุดพ้นจากแรงกดดันของครอบครัวที่ต้องการ “ขาย” เธอไปเป็นเจ้าสาวเพื่อแลกกับเงินสดหนึ่งก้อนซึ่งพี่ชายของเธอต้องการใช้จัดงานแต่งงานของตัวเอง ซ้ำร้าย โซนิตายังมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักร้องแร็ปอันเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมของเธอ เด็กสาวผู้นี้จะแสวงหาเสรีภาพได้อย่างไรในท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยข้อบังคับอันยากจะต้านทาน (ดูได้ที่ Doc Club on Demand)


Straight Outta Compton (2015, F. Gary Gray)

หนังที่สร้างมาจากอัตชีวประวัติของวง N.W.A. (Niggaz Wit Attitudes) วงดนตรีฮิปฮอประดับตำนานที่ริเริ่มแนวเพลงย่อยลงไปคือ แก๊งสตาร์ แร็ป (Gangsta Rap) ที่บรรยายชีวิตของชาวแก็งค์ เนื้อหากล่าวถึงความยากจน ความรุนแรงและเรื่องต้องห้ามของสังคม เช่น ยาเสพติด อาชญากรรม การข่มขืน โสเภณี วัตถุนิยม

Straight Outta Compton เล่าเรื่องจากชีวิตจริงของกลุ่มคนหัวกบฏทางวัฒนธรรมที่มีเนื้อเพลง ความกร่าง ความกล้าหาญ และพรสวรรค์ เป็นอาวุธประจำตัวในการยืนหยัดต่อต้านอำนาจจากภาครัฐ โดยดำเนินเรื่องผ่านตัวละครหลักทั้งสามคน ซึ่งเป็นสมาชิกคนสำคัญของวง และเป็นบุคลากรคนสำคัญของวงการฮิปฮอป อย่าง ไอซ์ คิวบ์ (Ice Cube), ดร.เดร (Dr.Dre) และอีซี่ อี (Eazy-E) จนพวกเขาและเพื่อนๆ อย่าง อาราเบียน พรินซ์ (Arabian Prince) ดีเจเยลล่า (DJ Yella), และเอ็มซี เร็น (MC Ren) ได้มารวมตัวกันมาเป็น N.W.A. ศิลปินกลุ่มที่อันตรายที่สุดในโลก พวกเขาถ่ายทอดความจริงอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ด้วยการเปิดเผยเรื่องราวชีวิตของพวกเขาในสังคมอาชญากรรมที่เต็มไปด้วยความก้าวร้าวและความรุนแรง ซึ่งจุดประกายสู่การปฏิวัติทางสังคมและส่งผลมาถึงปัจจุบัน


The Mission (1986, Roland Joffé)

The Mission กำกับโดย Roland Joffé จาก The Killing Fields ได้รับรางวัล Palme d’Or จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และได้รางวัลออสการ์ ในสาขาการกำกับภาพยอดเยี่ยมในปีนั้นจากฝีมือของ Chris Menges

เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างพ่อค้าทาสและมิชชั่นนารีคณะเยสุอิต ในช่วงที่ทวีปอเมริกาใต้นั้นถูกยึดครองโดยประเทศสเปนและโปรตุเกส ในปี ค.ศ. 1750 บาทหลวงเยสุอิตชาวสเปนชื่อ คุณพ่อ Gabriel (เจเรมี ไอร์ออนส์) ได้เข้าไปในป่าดงดิบของอเมริกาใต้เพื่อทำภารกิจเผยแพร่ศาสนาที่ดินแดนของชนเผ่าพื้นเมืองกวารานี เขาได้เจอกับ Rodrigo Mendoza (โรเบิร์ต เดอ นีโร) พ่อค้าทาสที่ทั้งฆ่าและจับชนเผ่ากวารานีไปขาย และสังหารน้องชายที่แย่งชิงแฟนสาวของเขาไปด้วยความหึงหวง ทำให้เขาตกอยู่ในความทุกข์และสำนึกผิดต่อบาป คุณพ่อ Father Gabriel ได้เข้ามาช่วยเหลือจนทำให้ Mendoza ตัดสินใจบวชเป็นบาทหลวงเพื่อรับใช้ศาสนา

แต่เมื่อคณะเยสุอิตต้องถอนตัวจากการเผยแพร่ศาสนาให้ชนเผ่าพื้นเมืองตามคำสั่งของเบื้องบน นั่นทำให้การค้าทาส และใช้ความรุนแรงจากพ่อค้าทาสยังคงดำเนินต่อไป พวกเขาต้องตัดสินใจระหว่างจะกลับถิ่นที่จากมา หรือช่วยเหลือชนเผ่าพื้นเมืองกวารานี จากอำนาจจากการปกครองของประเทศโปรตุเกส

ตัวละครของคุณพ่อ Gabriel นั้นได้แรงบันดาลใจมาจาก โรก กอนซาเลซ เดอ ซานตา ครูซ (Roque González de Santa Cruz) บาทหลวงเยสุอิตและนักบุญชาวปารากวัย


Dzi Croquettes (2009, Raphael Alvarez + Tatiana Issa)

Dzi Croquettes เป็นกลุ่มละครที่ผสมผสานการเต้นเข้ากับอารมณ์ขันและการล้อเลียนรัฐบาลเพื่อท้าทายอำนาจเผด็จการป่าเถื่อนในตอนนั้นที่กำลังปกครองประเทศบราซิลในช่วงยุค 70 พวกเขาได้สร้างภาษาของละครเวทีขึ้นมาใหม่จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นนั้นได้ทำตามหรือกล้าแสดงออก กลุ่มละครกลุ่มนี้ได้ขับเคลื่อนขบวนการความเคลื่อนไหวของกลุ่มเกย์ในประเทศอย่างมากจนทำให้ถูกเซ็นเซอร์และแบนในช่วงการปกครองของกลุ่มทหารในเวลาถัดมา ประวัติศาสตร์ของพวกเขาได้หล่อเลี้ยงวัฒนธรรมป๊อบคัลเจอร์ของบราซิลให้รุ่งเรืองในช่วงยุค 70 ถึง 80

สารคดีเรื่องนี้จะเล่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการตั้งกลุ่ม ความทะเยอทะยานอย่างไม่หยุดยั้ง และการเป็นที่รักของผู้คนมากมายทั้งในประเทศ และนอกประเทศ ไปจนถึงศิลปินชื่อดังระดับโลก อย่าง Mick Jagger, Jeanne Moreau, Omar Sharif, Josephine Baker และ Liza Minnelli ที่กลายเป็นเพื่อนสนิทคนสำคัญของคนในกลุ่มละครที่ทำให้พวกเขา/เธอได้ไปทำการแสดงที่ปารีส ไปจนถึงช่วงเวลาสุดท้ายของกลุ่มที่ความกดดัน อีโก้ การถูกสังหาร และยุคสมัยของการค้นพบโรคเอดส์ ได้ทำลายกลุ่มละครนี้อย่างช้าๆ


Afghan Star (2009, Havana Marking)

ในประเทศอัฟกานิสถาน คุณต้องเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยงเพื่อให้ได้แค่ร้องเพลง หลังจากที่ประเทศตกอยู่ในศูนย์กลางของสงครามนับ 30 ปี และถูกยึดครองโดยกลุ่มตาลีบัน ป๊อบคัลเจอร์ก็ถูกมอบกลับคืนแก่ประเทศ ช่วงปี 2005 เป็นต้นมา ผู้คนนับล้านต่างรอเฝ้าดูรายการทางช่อง Tolo TV ที่ชื่อว่า Afghan Star เป็นรูปแบบรายการที่คล้ายคลึงกับ American Idol คือรายการที่รับสมัครผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเพศใด จากประเทศไหน เชื้อชาติอะไร หรืออายุเท่าไหร่ก็ตาม เข้ามาประกวดแสดงความสามารถเพื่อหาผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว รับเงินรางวัลและเซ็นสัญญากับค่ายเพลงทันที มีคนร่วมสมัครนับหลายพันคน รวมไปถึงผู้หญิงที่กล้าที่จะสมัครรายการนี้อีกสามคน คนดูทุกคนจะสามารถโหวตผู้เข้าแข่งขันที่ชื่นชอบเพื่อให้เขาหรือเธอชนะเลิศผ่านทางโทรศัพท์ นั่นคือสิ่งแรกที่ทำให้พวกเขาได้รู้จักกับกระบวนการประชาธิปไตย

สารคดีพาติดตามชีวิตของผู้เข้าแข่งขันรอบสุดท้ายทั้ง 4 คน ที่ทั้งพวกเขาและเธอต้องยอมเสี่ยงทุกอย่างเพื่อให้ได้เป็นป๊อบสตาร์ยอดนิยมของประเทศนี้ โดยทำการสำรวจความคิดของผู้คนอัฟกันต่อวัฒนธรรมป๊อบคัลเจอร์ที่เพิ่งกำเนิดขึ้นมา ที่กำลังขัดแย้งกับวัฒนธรรมดั้งเดิมที่พวกเขารับสืบทอดกันมาโดยตลอด

Ma Rainey’s Black Bottom: ร้อนจนคลั่งไปกับเพลงบลูส์

เลวีมาเล่นให้วงแจ๊สวันนี้เพราะเขาฝันจะได้อัดแผ่นเสียงของตนเอง โปรดิวเซอร์ค่ายเพลงสัญญากับเขาไว้ว่าจะให้เขาเล่นเพลงที่ตัวเองแต่ง ตอนที่เขามาครั้งที่แล้ว ประตูไม่ได้อยู่ตรงนั้น เขาหัวเสียมากและพยายามเปิดมันอยู่หลายครั้ง จนสุดท้ายที่เขาพังมันออกไปนั่นแหละ เขาถึงพบว่ามันไม่ได้พาไปถึงไหน เขาพบแค่กำแพงสูงกั้นอยู่หลังประตูนั้นและมองไปเบื้องบนยังท้องฟ้าสีขาวกับดวงอาทิตย์กลมโตอันร้อนระอุของชิคาโก

ภาพเปรียบเปรยถึงประตูที่ไม่ได้พาไปที่ไหนอาจตรงกับชีวิตของคนผิวดำในอเมริกา ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และอาจเลยยาวมาจนถึงปัจจุบัน ในดินแดนที่คนขาวบอกว่าทุกคนจะได้โอกาสเท่าๆ กัน คนดำจำนวนมากยังคงติดอยู่กับกับดักแห่งการเหยียดสีผิว พวกเขาต้องทำตัวให้ดีเพียงเพื่อจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ในขณะที่คนขาวจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ ความเชื่อมโยงนี้ทำให้นึกถึงเหตุการณ์สังหารจอร์จ ฟลอยด์ อยู่ไม่น้อย – เหตุการณ์ที่คนดำถูกตั้งข้อสงสัยเอาไว้ก่อนว่าเขาทำผิด และถูกกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ – ภาพแทนของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งคนดำต้องแบกรับไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

Ma Rainey’s Black Bottom เล่าถึงการอัดเสียงอันวุ่นวายในบ่ายอันร้อนระอุวันหนึ่ง ของมา เรนนีย์ นักร้องแจ๊สผิวสี ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “เจ้าแม่แห่งเพลงบลูส์ (The Mother of the Blues)” นักดนตรีแจ๊สผู้มีประสบการณ์สามคน-สโลวแดรก โทเลโด และคัทเลอร์ มาถึงตรงเวลา จากนั้นก็เป็นการปรากฏตัวของนักทรัมเปตหนุ่มเจ้าเสน่ห์ เลวี ผู้ซึ่งยืนยันว่าจะให้วงเล่นเพลงในเวอร์ชันของเขา แต่ไม่มีใครเห็นด้วยเลยสักคน แล้วมาก็มาถึง รถเธอเฉี่ยวกับรถอีกคน ทำให้เออร์วิน ผู้จัดการของเธอต้องเข้ามาเคลียร์ แต่เรื่องก็ยังไม่จบ เมื่อมายืนยันให้หลานของเธอ ซิลเวสเตอร์ เป็นคนพูดเปิดเพลง ทั้งที่ซิลเวสเตอร์เป็นคนพูดติดอ่าง

ฉากหลังของเรื่องคือการอพยพครั้งใหญ่ของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน จากความโหดร้ายและอยุติธรรมทางตอนใต้ ขึ้นมาสู่ทางตอนเหนือ ที่ซึ่งพวกเขาถูกสัญญาไว้ว่าโอกาสจะเป็นของทุกคนอย่างเท่าเทียม การมาถึงตอนเหนือหมายความว่าพวกเขาจะได้ใช้แรงงานแลกกับเงิน โดยไม่ต้องมีข้อผูกมัดเรื่องที่ดิน ซึ่งดูเหมือนจะดี เมื่อประกอบกับความตกต่ำของอุตสาหกรรมฝ้าย คนผิวดำจำนวนมากจึงอพยพมาที่นี่ ที่ซึ่งพวกเขากลายเป็นแรงงานในร้านค้าและเหมืองต่างๆ แต่พวกเขาก็ยังคงโดนเอาเปรียบอยู่ดี ด้วยเงื่อนไขอันไม่เป็นธรรมในสัญญาจ้าง

แม้แต่มาเองก็โดนเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมเช่นกัน เราจะเห็นได้ว่าในตอนท้ายเรื่อง โปรดิวเซอร์ต้องการหักเงินจากส่วนของเธอ 25 เหรียญให้กับซิลเวสเตอร์ แทนที่เขาจะออกเงินเพิ่ม นั่นทำให้มาโต้ตอบกลับไป และเออร์วินก็ต้องไปไกล่เกลี่ยจนโปรดิวเซอร์ยอมจ่ายเงินเต็มจำนวนให้กับมา สาเหตุที่เขาทำเช่นนั้นก็เพราะว่ามายังไม่ได้เซ็นสัญญาเผยแพร่ให้เขา ซึ่งเอาเข้าจริงนั่นทำให้เธอหัวเสียจนเกือบออกจากที่นั่นโดยไม่เซ็นมันอยู่แล้ว

เหตุการณ์ในสตูดิโออัดเสียงช่วงระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงเป็นแค่ภาพเล็กของอุตสาหกรรมเพลงอเมริกันในยุค 1900’s ซึ่งมีการเติบโตของ “แผ่นเสียงคนดำ (Race Records)” ซึ่งเป็นงานผลิตโดยคนขาวเพื่อสนองตอบต่อจำนวนประชากรผิวดำที่อพยพมา พวกเขาทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำจากนักร้องผิวดำ ด้วยการขายของให้คนผิวดำ และทำสัญญาที่เอาเปรียบกับนักร้อง

มาเองก็อยู่ในจุดที่เลือกไม่ได้มากนัก เพราะเธอกำลังถูกคุกคามโดยความโด่งดังของเบสซี่ สมิธ ที่ร้องเพลงเดียวกันอีกเวอร์ชันเอาไว้ แม้เธอจะไม่ชอบค่ายเพลงนี้ก็ตาม เธอก็ไม่สามารถถอนตัวไปออกทัวร์คอนเสิร์ตอย่างที่เธอขู่ว่าจะทำได้ เราอาจเห็นการดิ้นรนเชิงอำนาจของมาได้จากบทพูดที่เธอบอกว่า พวกคนขาว “สนใจแค่เสียง” ของเธอเท่านั้น และที่จริงพวกเขาไม่ได้แคร์อะไรเธอเลย แม้แต่เออร์วิน ผู้จัดการส่วนตัวที่ควรจะแคร์เธอ ก็ชวนเธอไปบ้านเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเพื่อร้องเพลงให้เพื่อนคนขาวของเขา

การดิ้นรนเชิงอำนาจเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเพลงบลูส์มาเสมอ ประวัติศาสตร์ของบลูส์นั้นยาวไปถึงยุคก่อนสงครามกลางเมือง โดยเกิดจากความตรากตรำของชาวอเมริกันที่ถูกขายเป็นทาสในทางใต้ เพลงบลูส์นั้นวิวัฒนาการมาจากเพลงทางศาสนาและเพลงที่ร้องในระหว่างทำงานของทาสผิวดำ และกลายมาเป็นวิธีระบายออกของความข้นแค้น โดยที่ยังคงไว้ซึ่งธรรมเนียมของการเล่าเรื่องแบบปากเปล่าผ่านบทเพลง เพลงบลูส์ยุคแรกๆ มีลักษณะเป็นเรื่องเล่าแบบหลวมๆ โดยที่นักร้องชาวแอฟริกัน-อเมริกันสะท้อนเสียงของพวกเขาว่าด้วยความโศกเศร้าในโลกที่มีความจริงอันโหดร้าย ความรักที่จากไป ความป่าเถื่อนของตำรวจ และการกดขี่โดยคนขาว

“เป็นเรื่องยากที่จะให้คำจำกัดความเพลงประเภทนี้” ออกัสต์ วิลสัน ผู้เขียนบทละคร Ma Rainey’s Black Bottom กล่าวไว้ “อาจเป็นการเพียงพอที่จะบอกว่ามันเป็นดนตรีที่หายใจได้และสัมผัสได้ เป็นดนตรีที่เชื่อมโยง และเป็นวิถีของการแยกออกมาโดดเดี่ยวและแตกต่างจากใครๆ ในตัวมันเอง”

นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่า บลูส์เป็นเพลงที่ “ไม่อาจร้องออกมาโดยปราศจากหัวใจอันเต็มเปี่ยม และจิตวิญญาณที่ขาดวิ่น” อันเป็นลักษณะที่จุดประกายเพลงบลูส์มาแล้วนับไม่ถ้วน ดังที่มาบอก บลูส์ทำให้เหล่าคนดำลุกขึ้นจากเตียงได้ในตอนเช้า และมันคือวิธีเข้าใจชีวิตแบบหนึ่ง ในขณะที่คนขาวเพียงได้ยินมัน แต่ไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่ามันกำลังพูดถึงอะไร หากเพลงบลูส์เป็นสิ่งก่อสร้างอย่างหนึ่ง มา เรนนีย์ ก็คือสถาปนิกตัวยง เธอทำความรู้จักเพลงประเภทนี้ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1900 หลายปีก่อนที่เพลงประเภทนี้จะได้รับการจำกัดความเป็นเพลงประเภทหนึ่ง เธอเป็นที่รู้จักในชื่อ “Ma Can Can” และ “Black Nightingale” และเธอก็เอาผู้ชมจนอยู่หมัดด้วยเนื้อเพลงที่พูดถึงความเศร้าโศกและความวิตกกังวลของชีวิตคนดำในยุคนั้น

สไตล์การแสดงของมา เรนนีย์ มักเป็นการผสมผสานระหว่างการเอื้อนที่บ้าบิ่น และบางครั้งก็เครียดเคร่ง มีการเรียกให้ผู้ชมมีส่วนร่วม และมีความผันผวนทางอารมณ์ สไตล์ของเธอเป็นที่นิยมมากเสียจนเธอสามารถแสดงให้ผู้ชมทั้งสองผิวสีรับชมได้เป็นหลายทศวรรษก่อนที่จะมีการยกเลิกการแบ่งแยกสีผิวเสียอีก

ฟลอรีน ดอว์คิน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เพลงบลูส์ของ มา เรนนีย์ กล่าวว่า “เธอ (มา เรนนีย์) ไม่อาจควบคุมโลกใบนี้ที่มีการแบ่งแยกและเอาเปรียบได้ แต่เธอสามารถควบคุมทุกอย่างได้เมื่อเธออยู่บนเวที เธอควบคุมผู้ชมได้ไม่ว่าจะเป็นใคร เธอทำให้พวกเขาทึ่ง และนั่นคือการควบคุมของเธอ นั่นคือพลัง และเธอก็ใส่พลังลงไปในสิ่งที่เธอทำ ‘พวกเขาอาจไม่นับถือหรือชอบฉัน หรือคิดว่าฉันเป็นพลเมืองเต็มขั้น แต่เมื่อฉันขึ้นไปบนเวทีนั้น ฉันทำให้พวกเขาทึ่ง พวกเขาอยู่ในกำมือของฉัน’

Now I’m gonna show y’all my black bottom

They pay to see that dance

Wait until you see me do my big black bottom

It puts you in a trance

ฉันจะโชว์บั้นท้ายดำๆ ของฉัน

พวกเขาจ่ายเงินมาดูการแสดงระบำนั้น

รอจนกว่าเธอจะได้เห็นบั้นท้ายของฉันเสียก่อนเถอะ

มันจะทำให้คุณอยู่ในภวังค์

– เนื้อเพลง Ma Rainey’s Black Bottom –

อารมณ์และความพลุ่งพล่านที่อยู่ในทำนองเพลงบลูส์ของมา อาจสอดรับได้อย่างพอดีกับความเกรี้ยวกราดของเหล่านักดนตรีผิวดำที่ซ้อมอยู่ที่ชั้นใต้ดิน เลวี ผู้ซึ่งถูกปรามาศว่ากลัวคนขาวจนหงอ หลังจากที่เขาพูด “ครับผม” กับโปรดิวเซอร์ เผยถึงอดีตอันเจ็บปวด ที่แม่ของเขาถูกกลุ่มคนขาวล่วงละเมิดตอนที่พ่อไม่อยู่บ้าน เลวี ซึ่งเป็นเด็กอายุแค่แปดขวบ ลอบไปเอามีดของพ่อมา และพยายามจะปาดคอหนึ่งในนั้น แต่พวกมันก็ตอบโต้จนมีดเฉือนเข้าที่อกของเลวี ด้วยเหตุนั้นคนขาวกลุ่มนั้นจึงหนีไปด้วยความกลัวว่าเขาจะตาย น้ำตาแห่งความคั่งแค้นของเลวีไหลออกมาขณะที่เขาโชว์รอยแผลเป็นที่อก ก่อนจะบอกให้เพื่อนร่วมวงหยุดสั่งสอนเขาว่าจะต่อรองกับคนขาวอย่างไร

ในเวอร์ชันต้นฉบับที่เป็นละครเวที Ma Rainey’s Black Bottom ดำเนินเรื่องอยู่ในหน้าหนาว แต่ผู้กำกับเวอร์ชันภาพยนตร์เห็นว่า หน้าร้อนของชิคาโก ที่ร้อนเอามากๆ น่าจะเป็นฉากหลังที่ดีสำหรับไฟแค้นที่ปะทุอยู่ในตัวละครผิวดำทั้งหลายของเขา มันสุมความโกรธเคืองให้กับมา ที่รู้ว่าค่ายเพลงของคนขาวไม่ได้สนใจอะไรนอกจากผลประโยชน์ที่ได้จากเธอ และเป็นฉากหลังอันดีให้กับการท้าทายพระเจ้าของเลวี ในฉากที่เขาประณามพระองค์ที่ไม่ออกมาช่วยตอนที่แม่เขาโดนทำร้าย นอกจากนั้นมันยังเป็นตัวปูทางที่ดีไปสู่ความเดือดที่ขมวดปมออกมาเป็นความรุนแรงในตอนท้ายเรื่อง กับความแค้นที่ระเบิดออกมาจนกลายเป็นโศกนาฏกรรม

อาจกล่าวได้ว่า ความร้อนแรงของเพลงบลูส์ และอากาศที่ร้อนจัด เป็นสิ่งที่คนดูจะได้สัมผัสเมื่อดูหนังเรื่องนี้ และมันทำให้ความคิดของเราเดือดพล่านอย่างได้ผล เมื่อรับรู้ว่าคนดำต้องแบกรับความเจ็บปวดอยู่มากเพียงใด และพวกเขาต้องแลกอะไรเพียงเพื่อให้คนเห็นว่าเป็นคนเท่ากัน อาจเหมือนที่โทเลโดบอกว่า คนดำเป็นเหมือนอาหารที่เหลือ ภาพพจน์ที่เขาให้นั่นมันช่างน่าเจ็บใจและหดหู่ จนเราอดสะท้อนใจไม่ได้เมื่อตระหนักว่า ความเจ็บปวดเหล่านี้ยังคงตกค้างมาจนถึงทุกวันนี้

ในอีกแง่หนึ่ง Ma Rainey’s Black Bottom ก็เป็นงาน slice of life ชิ้นหนึ่ง ที่จดจารประวัติศาสตร์การถูกกดขี่ของคนผิวดำที่ต้องต่อรองเชิงอำนาจตลอดเวลา และเป็นงานชั้นครูที่แสดงเจตจำนงของ ออกัสต์ วิลสัน ผู้เขียนบท ที่คิดว่าคนเราต้องรู้ประวัติศาสตร์ของกลุ่มตนเอง แม้จะเป็นประวัติศาสตร์ในด้านที่ไม่สวยงาม แต่มันก็ช่วยให้เกิดความสืบเนื่องทางตัวตน ในการที่จะอธิบายว่าเราคือใคร และสร้างกฏเกณฑ์บางอย่างเพื่อใช้ในชีวิต เพราะ “หากเราไม่ใช้ชีวิตตามกฎของตัวเอง เราก็จะแพ้” ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดที่สะท้อนอยู่ในคาแร็กเตอร์อันเด่นชัด ไม่ยอมคน ของมา ตั้งแต่เริ่มเรื่อง ซึ่งเป็นคาแร็กเตอร์ที่ทำให้ไวโอลา เดวิส นักแสดงเจ้าของบทบาทนี้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ปีนี้นั่นเอง


ชม Ma Rainey’s Black Bottom ได้ที่ Netflix


อ้างอิง

https://www.theguardian.com/music/2020/dec/15/ma-rainey-black-bottom-netflix-mother-of-the-blues

https://en.wikipedia.org/wiki/Blues

5 หนังวันแรงงาน เพราะเราทุกคนคือแรงงาน

วันแรงงานปีนี้ หลายคนต้องหยุดอยู่กับบ้าน หลายคนก็ยังต้องออกไปทำงาน เราต่างต้องใช้แรงงานแลกค่าแรงด้วยกันทั้งสิ้น เราจึงขอเฉลิมฉลองวันแรงงานด้วยหนัง 5 เรื่องที่หาดูได้จากที่บ้าน จากสถานการณ์ที่คนทำงานจำนวนไม่น้อยต้องอยู่บ้านไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือจำใจก็ตาม

อันที่จริงหนังแทบทุกเรื่องบนโลกนี้ต่างพูดถึงการดิ้นรนในฐานะคนทำงานด้วยกันทั้งสิ้น แต่เราขอคัดเลือกหนังที่ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงบนจอ เพื่อต่อสู้ให้สิทธิคนทำงานอย่างจริงจัง


1. Pride (2007, แมทธิว วอร์ชัส)

ย้อนไปในปี 1984 คนงานเหมืองนัดหยุดงานทั่วอังกฤษ เพื่อประท้วงการบริหารงานของนายกรัฐมนตรี มากาเร็ต แธ็ตเชอร์ แต่พวกเขาไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งกำลังเรียกร้องสิทธิความหลากหลายทางเพศแต่ถูกต่อต้านจากสังคมอนุรักษ์นิยมในยุคนั้น จึงเข้าสนับสนุนการเรียกร้องคนงานเหมือง ด้วยการระดมทุนและจัดพาเหรด เกิดเป็น ”กลุ่มเลสเบียนกับเกย์สนับสนุนคนงานเหมือง” (LGSM) และร่วมต่อสู้ไปด้วยกัน นี่คือบทบันทึกจากเหตุการณ์จริงด้วยท่าทีสุดแสนเป็นมิตร เกิดเป็นหนังที่ถ่ายทอดเบื้องหลังการประท้วงที่เข้มข้นทว่าก็รื่นรมย์จากการได้เห็นมิตรภาพของกลุ่มคนสองขั้วที่ดูไม่น่าจะไปด้วยกันได้ แต่สามารถร่วมทางด้วยอุดมการณ์เดียวกัน (ดูทาง Monomax)


2. Hustlers (2019, ลอรีน สกาฟาเรีย)

หนังสร้างจากบทความ New York Magazine ชื่อ The Hustlers at Scores โดย เจสสิกา เพรสเลอร์ เล่าเรื่องของกลุ่มนักเต้นเปลื้องผ้าหญิงในนิวยอร์ก ที่ก่ออาชญากรรมด้วยการยักยอกเงินลูกค้านักธุรกิจรายใหญ่จำนวนมาก ในด้านหนึ่งหนังกำลังพูดถึงชีวิตของกลุ่มคนที่โดนผลกระทบเต็มๆ จากวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ อันเป็นการล่มสลายระดับมหภาค ทว่าชีวิตของผู้หญิงกลางคืนอย่างพวกเธอกลับถูกมองข้ามจากความพังพินาศนั้น นอกจากนี้หนังยังนำเสนอให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยว่า ในวันที่เศรษฐกิจยังดี นักเต้นเปลื้องผ้าก็สามารถสร้างคุณค่าทางอาชีพด้วยการฝึกฝนและทุ่มเทเพื่อเพิ่มทักษะความสามารถได้ แต่เมื่อพายุทางเศรษฐกิจเหวี่ยงเธอออกนอกระบบอย่างไม่ไยดี พวกเธอก็ต้องเลือกเดินในโลกใต้ดินเพื่อความอยู่รอด (ดูทาง HBO Go และ Monomax)


3. Tokyo Idol (2017, เคียวโกะ มิยาเกะ)

นอกจากสารคดีชิ้นนี้จะเป็นการปูความเข้าใจต่อวงการไอดอลญี่ปุ่นแล้ว หนังยังทำหน้าที่นำเสนออีกด้านของศิลปินไอดอลที่ต้องผ่านบททดสอบสุดเข้มข้น เพื่อดำรงตัวให้รอดในวงการที่ฟาดฟันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย อันเป็นวงจรธุรกิจที่วัดความสำเร็จจากปัจจัยมากมายรอบด้าน และการจะอยู่ในระบบนี้ได้อย่างผู้ชนะก็ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง ซึ่งเมื่อมองในมิตินี้แล้วจะเห็นได้ว่าการเป็นศิลปินไอดอลก็เหนื่อยยากและต้องการความเป็นธรรมไม่ต่างจากแรงงานประเภทอื่น (ดูทาง Doc Club on Demand)

*แนะนำให้ดูคู่กับ Girls Don’t Cry (2018, นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) ทาง Netflix


4. ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (2015, นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์)

เมื่อพูดถึงแรงงาน ภาพแรกที่ปรากฏในความคิดอาจเป็นคนทำงานโรงงานหรือพนักงานออฟฟิศกินเงินเดือน แต่ที่จริงแล้วแรงงานยังรวมถึงคนที่อยู่นอกระบบ อย่าง ‘ฟรีแลนซ์’ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่น้อยและไม่ได้รับการดูแล หนังเล่าเรื่องของ ยุ่น มนุษย์ฟรีแลนซ์ที่มีเวลางาน 24 ชั่วโมง จนร่างกายต้องต่อต้านการใช้งานตัวเองหนักเกินไป ในขณะที่หนังพยายามถ่ายทอดให้เห็นการต่อสู้กับร่างกายของยุ่นที่พยายามฝืนเพื่อทำงานให้เสร็จ เราก็ไม่อาจหยุดคิดถึงความปลอดภัยและมั่นคงในการใช้ชีวิตเป็นคนทำงานอิสระนอกระบบที่เมืองไทยได้เลย (ดูทาง Netflix)


5. The White Tiger (2021, รามิน บาราห์นี)

ภายใต้สภาพสังคมอินเดียที่แบ่งแยกชนขั้นตามวรรณะ เราได้รู้จักกับ พลราม ชายวรรณะต่ำต้อยที่ได้งานเป็นคนขับรถให้มหาเศรษฐีผู้หยิบยื่นมิตรภาพให้เขา แต่การออกแบบชนชั้นให้มีความเหลื่อมล้ำโดยตัวเองนั้น ทำให้แรงงานอย่างพลรามไม่สามารถผลักดันตัวเองเข้าสู่ระบบที่เป็นธรรม หรือเขตแดนอันปลอดภัยที่สนับสนุนให้มีความเจริญเติบโตได้เลย หากเขาไม่ตัดสินใจทำลายเส้นแบ่งทางชนชั้นลงด้วยน้ำมือตัวเอง (ดูทาง Netflix)

เหตุผลที่ปี 2021 อาจไม่ได้เป็นปีที่ดีอีกปีของ Netflix

กล่าวกันว่าปี 2020 เป็นปีที่ผู้ประกอบการสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่อย่าง Netflix ได้เริงร่ากับผลประกอบการทางธุรกิจที่ยอดเยี่ยมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 ที่ส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกต้องเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะการต้องล็อกดาวน์ตัวเองอยู่ในที่พัก ดังนั้นการเสพความบันเทิงผ่านช่องทางสตรีมมิ่ง จึงเป็นความสุขเพียงไม่กี่อย่างที่พวกเขาจะหาได้ในช่วงเวลานั้น

โดยในปี 2020 ปีเดียว Netflix มีสมาชิกทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 37 ล้านคน ส่งผลให้ยอดรวมสมาชิกทั้งหมดรวมเป็น 203.6 ล้านคนhttps://www.theverge.com/2021/1/19/22238877/netflix-200-million-subscribers-q4-earnings-bridgerton-emily-paris-cobra-kai-queens-gambit ตลอดทั้งปี Netflix มีคอนเทนต์ทั้งหนัง สารคดี และซีรีส์ที่มียอดชมสูงกว่า 60 ล้านครัวเรือนต่อเรื่องถึง 5 เรื่อง ได้แก่ สารคดีที่ว่าด้วยความฉ้อฉลในธุรกิจการค้าเสือเรื่อง Tiger King ซีรีส์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของนักหมากรุกหญิงอัจฉริยะเรื่อง The Queen’s Gambit ซีรีส์ที่นำเสนอเรื่องราวชนชั้นสูงในยุครีเจนซี เรื่อง Bridgerton ซีรีส์มหากาพย์เรื่องราวในราชวงศ์อังกฤษเรื่อง The Crown ซีซั่น 4 และ หนังไซไฟที่กำกับและแสดงนำโดยจอร์จ คลูนีย์เรื่อง The Midnight Skyhttps://www.theverge.com/2021/1/19/22238877/netflix-200-million-subscribers-q4-earnings-bridgerton-emily-paris-cobra-kai-queens-gambit 

ในแง่ของรายได้ Netflix ทำรายได้จากค่าสมาชิกทั่วโลกในปีเดียวสูงถึง 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้มีสภาพคล่องทางการเงินล้นมือจนทำให้ไม่ต้องกู้เงินจากแหล่งทุนภายนอกอีกต่อไป ถึงตอนนี้ผู้บริหารของ Netflix เริ่มคิดถึงการปลดหนี้จำนวนมหาศาลที่สร้างความกังวลว่าอาจนำบริษัทสู้การล้มละลาย รวมถึงคิดที่จะซื้อคืนหุ้นจำนวนกว่า 5 พันล้านเหรียญ ซึ่งนั่นจะทำให้ Netflix สามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งใครอีกต่อไปhttps://www.bloomberg.com/news/articles/2021-04-20/netflix-plunges-after-subscriber-miss-bleak-customer-outlook

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ปี 2021 ดูเหมือนความหวังของผู้บริหาร Netflix จะไม่เป็นอย่างที่คาดไว้ เมื่อผลประกอบการไตรมาสที่หนึ่งของปี 2021 ระบุว่า Netflix มียอดสมาชิกเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 3.98 ล้านคน จากที่คาดการณ์ไว้ 6 ล้านคนhttps://www.bloomberg.com/news/articles/2021-04-20/netflix-plunges-after-subscriber-miss-bleak-customer-outlook ข่าวรายงานผลประกอบการดังกล่าวสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้คนในแวดวงธุรกิจบันเทิงทั่วโลกอยู่ไม่น้อย เพราะจะว่าไป แม้ว่าสถานการณ์ของโรคระบาดจะดีขึ้น แต่ก็ยังไม่น่าจะดีพอที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่ได้เปรียบยักษ์ใหญ่สตรีมมิ่งเจ้านี้ได้ แต่อะไรคือสาเหตุ ?

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงได้ทำการค้นคว้าหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงศึกษาบริบทรอบด้าน จนนำมาสู่ข้อสรุปดังนี้

1. การแข่งขันในสมรภูมิสตรีมมิ่งที่เข้มข้น : ในช่วงต้นปีของ 2020 ตอนที่โรคโควิดเริ่มระบาดใหม่ๆ และหลายประเทศรวมถึงสหรัฐอเมริกาเริ่มนโยบายล็อกดาวน์ และปิดสถานที่ที่เป็นแหล่งชุมนุมของคนจำนวนมาก ซึ่งโรงภาพยนตร์ก็เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ได้รับผลกระทบ Netflix ได้ช่วงชิงความได้เปรียบด้วยการโหมประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนสมัครเป็นสมาชิก ซึ่งก็ได้ผลดังคาด โดยจากรายงานการวิจัยที่ทำโดยบริษัททำวิจัย Morning Consult ร่วมกับ Hollywood Reporter ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โรคโควิดได้เริ่มต้นคุกคามชาวอเมริกัน ระบุว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใหญ่ ร้อยละ 35 เป็นสมาชิกของ Netflix ขณะที่ร้อยละ 10 เป็นสมาชิกของค่าย Hulu ร้อยละ 9 เป็นสมาชิกของ Amazon Prime และมีเพียงร้อยละ 4 ที่เป็นสมาชิกของ Disney Plushttps://morningconsult.com/2020/03/31/people-are-most-likely-to-be-streaming-netflix-during-the-pandemic

อย่างไรก็ตามดุลภาพของการแข่งขันเริ่มเปลี่ยน เมื่อสองสตูดิโอสำคัญซึ่งได้แก่ บริษัท Disney และ Warner Brothers ซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่โรงหนังทั่วอเมริกาถูกปิด ได้ตัดสินใจทดลองโมเดลการจัดจำหน่ายแบบใหม่ ด้วยการเปิดตัวหนังสำคัญทั้งในโรงภาพยนตร์และช่องทางสตรีมมิ่งของตัวเอง โดย Disney ได้ทดลองกับหนังฟอร์มใหญ่ทุนสร้าง 200 ล้านเหรียญเรื่อง Mulan ออกฉายในเดือนกันยายน พร้อมกันทั้งโรงภาพยนตร์และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง Disney Plus ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2019 ขณะที่ Warner Bros ได้ใช้รูปแบบเดียวกันในการจัดจำหน่ายเรื่อง Wonder Woman 1984 ผ่านแพลตฟอร์ม HBO Maxhttps://www.indiewire.com/2020/11/three-studios-three-strategies-how-covid-19-turned-film-releases-into-a-free-for-all-1234598627/

แม้ว่ารูปแบบการฉายทางสตรีมมิ่งของภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องจะมีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ ผู้ชมจะต้องจ่ายค่าชมหนึ่งครั้ง สำหรับการรับชมภาพยนตร์ภายในเวลา 48 ชั่วโมง แต่การจัดฉายในลักษณะดังกล่าวได้กระตุ้นให้ผู้ชมได้สมาชิกของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของทั้งสองเจ้าด้วย ผลตามมาก็คือ ยอดสมาชิกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย Disney Plus มียอดสมาชิกจนถึงไตรมาสที่สามของปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บริษัทดิสนีย์ได้ทดลองจัดจำหน่ายโมเดลใหม่ สูงถึง 57.5 ล้านคน และได้เพิ่มอย่างต่อเนื่องถึง 100 ล้านคนในไตรมาสแรกของปี 2021https://www.theverge.com/2021/3/9/22320332/disney-plus-100-million-subscribers-marvel-star-wars-wandavision ขณะที่ HBO Max ซึ่งเปิดตัวในเดือนพฤษภาคม ปี 2020 และให้บริการเฉพาะอเมริกาประเทศเดียว ก็เติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะจากการให้บริการฉายหนังในคลังของบริษัท Warner รวมถึงหนังฟอร์มใหญ่ชนโรงอย่าง Wonder Woman 1984 ในเดือนธันวาคม ปี 2020 และ Godzilla vs Kong ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยนับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน HBO Max มีจำนวนสมาชิก เฉพาะแค่ในอเมริกาประเทศเดียว 9.7 ล้านคนhttps://www.ft.com/content/7f33e9b9-2a4b-4562-98a0-1dd52e317abb

จากการแข่งขันที่เข้มข้นเช่นนี้ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ส่วนแบ่งทางการตลาดของ Netflix จะถูกแย่งไป จนส่งผลให้ยอดสมาชิกจึงไม่เป็นไปตามเป้าในไตรมาสแรกของปีนี้

2. การขาดความต่อเนื่องของคอนเทนต์ : หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ปี 2020 เป็นปีทองของ Netflix ก็คือ ซีรีส์และหนังที่ได้รับความนิยมเกือบทั้งหมดล้วนแต่ผลิตก่อนวิกฤตโควิด 19 ทั้งสิ้น จึงไม่ทำให้ได้รับผลกระทบใดๆ ขณะที่หนังหรือซีรีส์ที่ผลิตในช่วงที่เกิดโรคระบาดจำต้องหยุดการถ่ายทำอย่างไม่มีกำหนด ส่งผลให้ตารางการออกฉายต้องเลื่อนออกไป Netflix เองก็มีโปรเจกต์ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 หลายเรื่องเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ซีรีส์ฤดูกาลสุดท้ายของ Dear White People หนังทุนสูงที่นำแสดงโดย ไรอัน กอสลิง และ คริส อีแวนส์ เรื่อง The Grayman ที่ต้องเลื่อนการถ่ายทำมาในปีนี้https://tbivision.com/2021/01/05/netflix-lionsgate-expand-la-production-pause-as-covid-spreads/ ในขณะที่ซีรีส์หลายเรื่องก็ต้องถูกยกเลิก เนื่องจากไม่สามารถถ่ายทำได้ตามกำหนดจนทำให้มีปัญหาเรื่องงบประมาณ อาทิ ซีรีส์เรื่อง Messiah ซีซั่น 2 ซีรีส์เรื่อง The Society ซีซั่นที่ 2 และ Queen Sono ซีซั่นที่ 2 เป็นต้นhttps://en.wikipedia.org/wiki/List_of_American_television_series_impacted_by_the_COVID-19_pandemic

ผลจากการขาดช่วงของคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เลยทำให้สมาชิกจำนวนไม่น้อยตัดสินใจเลิกติดตามชั่วคราว หรือไม่ก็หันไปสมัครเป็นสมาชิกของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเจ้าอื่นที่มีคอนเทนต์ที่น่าสนใจแทน อย่างเช่น HBO Max ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกยอดสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง 2.8 ล้านคนจากการเปิดตัวหนังฟอร์มยักษ์อย่าง Zack Snyder’s Justice League และ Godzilla vs Kong ขณะที่ Netflix มียอดสมาชิกในอเมริกาในช่วงไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 450,000 คนเท่านั้นhttps://www.ft.com/content/7f33e9b9-2a4b-4562-98a0-1dd52e317abb

รัส โมลด์ ผู้อำนวยการฝ่ายลงทุนของบริษัท AJ Belle ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการลงทุนออนไลน์ชื่อดังในสหราชอาณาจักรให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า“ผู้ประกอบการสตรีมมิ่งไม่ต่างจากผู้ประกอบการโรงหนัง ที่คนมาดูหนังที่โรงเพราะมีหนังที่น่าดูฉาย เช่นเดียวกับสตรีมมิ่ง คอนเทนต์คือตัวแปรสำคัญ แล้ว Netflix เองก็นำเสนอคอนเทนต์คุณภาพแย่มากเกินไปเมื่อเทียบกับค่ายอื่น ดังนั้นความกระตือรือร้นที่จะสมัครเป็นสมาชิกของผู้บริโภคจึงลดลงอย่างช่วยไม่ได้”https://ukinvestormagazine.co.uk/netflix-subscriptions-slump-a-concern-for-investors/

Peninsula

3. พฤติกรรมการบริโภคเริ่มเปลี่ยนไป : แม้ว่าตอนช่วงเกิดวิกฤติโควิดใหม่ๆ ในช่วงต้นปี 2020 อัตราการสมัครเป็นสมาชิกของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งทุกเจ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการที่รัฐบาลของหลายประเทศประกาศล็อกดาวน์จนทำให้ผู้คนต้องกักตัวเองและครอบครัวอยู่กับบ้าน และหาทางออกในการเยียวยาชีวิตด้วยการสมัครเป็นสมาชิกแพลตฟอร์มออนไลน์ ในสหรัฐอเมริกา ประชาชนจำนวนไม่น้อยสมัครเป็นสมาชิกแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมากกว่าหนึ่งเจ้าhttps://www2.deloitte.com/us/en/insights/industry/technology/video-streaming-services-churn-rate.html อย่างไรก็ตามจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่สาม (เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน) เมื่อยอดการสมัครของ Netflix ลดลงจาก 15.77 ล้านคนในไตรมาสแรก (มกราคมถึงมีนาคม) และ 10.09 ล้านคนในไตรมาสที่สอง เหลือเพียง 2.2 ล้าน สาเหตุสำคัญมาจาก มาตรการผ่อนคลายที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศประกาศใช้ จนทำให้กิจกรรมนอกสถานที่เริ่มกลับมาอีกครั้ง ดึงความสนใจต่อความบันเทิงในครัวเรือนไปได้ระดับหนึ่งhttps://www.forbes.com/sites/joewalsh/2020/10/20/netflix-subscriber-growth-slows-after-surging-during-pandemic/?sh=4bef8f3c244e เช่นกรณีของประเทศเกาหลีใต้ซึ่งหลังจากการภาวะระบาดเริ่มคลี่คลายในเดือนมิถุนายน และโรงหนังกลับมาให้บริการเต็มรูปแบบอีกครั้ง ปรากฏว่าหนังฟอร์มใหญ่ที่เข้าฉายในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกันยายน ได้แก่ Alive Peninsula และ Deliver Us from Evil ต่างทำรายได้อย่างงดงาม สร้างความหวังให้แก่อุตสาหกรรมหนังเกาหลีใต้อีกครั้งhttps://workpointtoday.com/film-industry-south-korea-covid-19-01/ (ก่อนที่จะซบเซาอีกครั้งเพราะการระบาดระลอกที่สองและสาม)

นอกจากนี้ สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือปัจจัยทางเศรษฐกิจ อย่างที่ทราบกันดีกว่า หลังจากที่โรคโควิด 19 ได้แพร่ระบาดตามมาในหลายประเทศ ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา จากการที่กิจกรรมทางธุรกิจหลายอย่างต้องหยุดชั่วคราวคือ ภาวะถดถอยทางการเงินของประชาชน ในสหรัฐอเมริกาซึ่งภาวะการระบาดเริ่มต้นในเดือนมีนาคม จากการสำรวจของ Deloitte Insight ซึ่งเป็นบริษัททำวิจัยเชิงลึกทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ระบุว่า ในปี 2020 ครอบครัวอเมริกันเป็นสมาชิกของบริษัทให้บริการสตรีมมิ่งโดยเฉลี่ย 5 เจ้า แต่หลังจากเกิดภาวะทดถอยทางเศรษฐกิจจนทำให้ต้องมีการรัดเข็มขัดทางการเงินขึ้น ภายในเดือนตุลาคม ครอบครัวอเมริกันกว่าร้อยละ 46 ตัดสินใจยกเลิกการเป็นสมาชิกของบริษัทให้บริการสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มอย่างน้อยหนึ่งเจ้าhttps://www2.deloitte.com/us/en/insights/industry/technology/video-streaming-services-churn-rate.html

ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจัยทางเศรษฐกิจยังส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่เรียกว่า subscriber churn หรือ ภาวะการหยุดเป็นสมาชิกของลูกค้ากับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่เป็นสมาชิก กล่าวคือ ผู้บริโภคจะเลือกช่วงเวลาที่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเจ้าต่างๆ เปิดตัวหนังและซีรีส์ที่น่าสนใจ ก่อนตัดสินใจเป็นสมาชิกในเดือนนั้น จากนั้นก็จะชมคอนเทนต์เหล่านั้นรวดเดียวจนจบ ก่อนที่จะยกเลิกสมาชิกในเดือนถัดไป แล้วรอจนมีคอนเทนต์ใหม่มีคิวฉายอีกครั้ง จึงจะกลับไปสมัครเป็นสมาชิกอีกครั้งhttps://www2.deloitte.com/us/en/insights/industry/technology/video-streaming-services-churn-rate.html ดังนั้น การที่บริษัทให้บริการสตรีมมิ่งไม่สามารถนำเสนอคอนเทนต์ที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยใดก็ตาม จึงมีโอกาสได้รับผลกระทบจากภาวะการหยุดเป็นสมาชิกของลูกค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

4. ความนิยมในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแบบมีโฆษณา (Ad Supported VOD) ที่เพิ่มขึ้น : แม้ว่าถ้าเทียบในแง่คุณภาพการบริการ และคอนเทนต์ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแบบมีโฆษณาจะถูกดูหมิ่นว่าด้อยกว่าแพลตฟอร์มแบบบอกรับสมาชิกรายเดือนอย่างเทียบไม่ติด แถมยังสร้างความน่ารำคาญใจกับผู้ชมด้วยการแทรกโฆษณาสั้นตลอดเวลา แต่ด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจที่มีปัญหาทำให้ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยหันมาบริโภคคอนเทนต์ผ่านช่องทางนี้มากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องจ่ายค่าบริการใดๆ ซึ่งสอดรับกับรายงานการวิจัยของ Deloitte Insight ที่ว่า จำนวนชาวอเมริกันร้อยละ 28 ตัดสินใจเปลี่ยนมารับชมคอนเทนต์ทางแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแบบมีโฆษณา ทันทีที่ยกเลิกการเป็นสมาชิกแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแบบบอกรับสมาชิกรายเดือนhttps://www2.deloitte.com/us/en/insights/industry/technology/video-streaming-services-churn-rate.html โดยในปี 2020 แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแบบมีโฆษณาที่ได้รับความนิยมประกอบด้วย Facebook Watch Ruku Channel Crackle และ Tubi TVhttps://www.statista.com/statistics/1132778/growth-avod-services-north-america/

จากปัจจัยทั้ง 4 ข้อข้างต้น ทำให้เห็นว่า แม้แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจสตรีมมิ่งของยักษ์ใหญ่อย่าง Netflix จะยังคงดำเนินต่อเนื่องต่อไปด้วยด้วยจำนวนสมาชิกทั่วโลกกว่า 200 ล้านคน มากเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอื่นๆ แถมรายงานการผลประกอบการที่สร้างความตื่นตะลึงจะเป็นเพียงแค่รายงานผลแค่ไตรมาสแรกเท่านั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนที่ว่า สงครามสตรีมมิ่งกำลังจะเพิ่มความเข้มขึ้นขึ้นเรื่อยๆ โดยมีตัวแปรคือ คอนเทนต์ ที่ต่างฝ่ายต่างต้องสร้างสรรค์ออกมาให้มีความโดดเด่นมากที่สุด นอกจากนี้ระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ทั้ง Netflix และผู้ประกอบการสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ต้องเผชิญ คือการคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นของวิกฤติโรคระบาดซึ่งจะส่งผลให้ช่องทางการจัดจำหน่ายที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดอย่างโรงหนังกลับมาทำหน้าที่อีกครั้ง เมื่อเวลานั้นมาถึง เราคงได้เห็นการเคลื่อนย้ายฐานผู้บริโภคความบันเทิงครั้งสำคัญเป็นแน่แท้

ลัดเลาะเขาวงกตในบทออสการ์ The Father

The Father คว้า 2 รางวัลออสการ์ครั้งล่าสุดแบบไร้ข้อกังขา 1 คือนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมของ แอนโธนี ฮอพกินส์ และ 2 คือบทดัดแปลงยอดยี่ยม โดยผู้กำกับ ฟลอเรียน เซลเลอร์ ที่เพิ่งเขียนบทหนังครั้งแรก และ คริสโตเฟอร์ แฮมพ์ตัน ซึ่งผ่านงานสุดเจ๋งทั้ง Dangerous Liaisons กับ Atonement มาแล้ว โดยหนังดัดแปลงมาจาก Le Pere ละครเวทีฝรั่งเศสของผู้กำกับนั่นเอง

เสียงแซ่ซ้องที่มีต่อบทหนังเรื่องนี้คือมันเล่าผ่านมุมมองของ แอนโธนี คุณปู่ผู้ป่วยสมองเสื่อม ดังนั้นมันจึงไม่ได้เล่าเรื่องเป็นเส้นตรงแต่ประกอบสร้างจากเศษเสี้ยวความทรงจำของเขาที่แหว่งวิ่น เพื่อบดขยี้ความรู้สึกในตอนท้ายหลังจากต่อเติมชิ้นส่วนของเรื่องราวได้แล้ว จนมีบางคนหยิบไปเทียบกับ Memento ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่เล่าเรื่องย้อนกลับแทนมุมมองของผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำระยะสั้น อันสอดคล้องกับคำนิยามของเซลเลอร์ที่มีต่อหนังตัวเองว่า “เขาวงกตของผู้ป่วยสมองเสื่อม”

จุดเริ่มต้นของละครเวที Le Pere มาจากการถ่ายทอดประสบการณ์ของเซลเลอร์ที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยคุณย่า จนกระทั่งเขาอายุ 15 ปีเธอก็ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม นั่นคือครั้งแรกที่ทำให้เขาพยายามทำความเข้าใจชุดความคิดอันไม่ปกติของคนที่เขารัก โดยบทละครเรื่องนี้แปลเป็นภาษาต่างประเทศมากมาย (รวมถึงไทย) และภาษาอังกฤษก็แปลโดยแฮมพ์ตันนั่นเอง “เวลาที่ละครแสดงจบลง เสียงตอบรับจากคนดูจะไม่ใช่ ‘ยินดีด้วย’ แต่กลายเป็นการแชร์ประสบการณ์จากหลายๆ คนมากกว่า

“ผมเหมือนได้เจอกับพี่น้องอีกมากมายที่ต่างก็มีความกลัวร่วมกัน เลยเกิดความคิดที่จะทำมันเป็นหนัง เพราะน่าจะถ่ายทอดความรู้สึกได้ดีกว่าด้วยเทคนิคทางภาพยนตร์” เซลเลอร์กล่าว

เซลเลอร์เล่าถึงสาเหตุที่ชวนแฮมพ์ตันมาช่วยกันดัดแปลง Le Pere ให้เป็น The Father นอกจากเพราะเขาคือคนแปลบทเป็นภาษาอังกฤษที่น่าจะเข้าใจความลึกซึ้งของบทละครได้อย่างดีแล้ว ประสบการณ์ของแฮมพ์ตันก็เป็นส่วนสำคัญสำหรับคนที่ไม่เคยเขียนบทหนังมาก่อนเลยเช่นเซลเลอร์ “เราจะไม่เขียนบทละครเรื่องใหม่มาถ่ายเป็นหนังแน่นอน” เซลเลอร์กล่าว และแฮมพ์ตันเสริม “อันดับแรกที่เราจะทำก็คือการคงความยาว 100 นาทีของต้นฉบับเอาไว้ แต่ลดทอนบทพูดลง แล้วให้การแสดงช่วยสื่อสารความรู้สึกออกมาทางท่วงท่าและแววตา หนึ่งในกลยุทธ์ที่เราใช้คือให้แอนโธนีหยุดยืนมองทางเดินภายในห้องพักจับสังเกตสภาพแวดล้อมรอบข้างที่ไม่เหมือนเดิม เพื่อสื่อสารกับผู้ชมด้วยวิธีที่ผู้ป่วยสองเสื่อมอย่างเขาจะทำ”

เมื่อพวกเขาเลือกใช้วิธีให้แอนโธนี่จับสังเกตสภาพแวดล้อมภายในห้องพักเป็นกุญแจสำคัญ นั่นหมายความว่าความท้าทายของการเขียนบท The Father คือการถ่ายทอดให้เห็นความผิดปกติของสิ่งรอบตัว ตั้งแต่การเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน เช่น แต่ละตัวละครแวดล้อมมีการเปลี่ยนนักแสดงในบางฉาก ไปจนถึงสภาพห้อง เช่น ผังห้อง การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ และข้าวของเครื่องใช้ที่เปลี่ยนไป ในแต่ละฉากที่เขียนขึ้น เฟลเลอร์จึงต้องวาดผังห้องขึ้นมาประกอบเพื่อสื่อสารกับโปรดักชั่นดีไซน์ไปด้วย

“ตอนแรกที่คิดจะทำเป็นหนังเราก็อยากจะออกไปถ่ายภายนอกบ้าง เพราะเป็นสิ่งที่ละครเวทีทำไม่ได้ แต่พอมาทบทวนดูแล้วคิดว่าไม่ควร การให้ตัวละครอยู่แต่ในอพาร์ทเมนต์มันจะยิ่งน่าอึดอัดกว่าตอนเป็นละครเวที หนังทั้งเรื่องจึงเลือกถ่ายในสตูดิโอเพราะเราจะทำอะไรกับมันก็ได้ จะเอากำแพงออก เปลี่ยนสัดส่วน หรือเปลี่ยนสีได้ง่ายมาก และที่ผมทำแบบนี้ก็เพื่อให้สภาพแวดล้อมของแอนโธนี่เป็นเหมือนเขาวงกตที่ทำให้เขาออกไปไหนไม่ได้ รู้สึกสบสน รู้สึกสูญเสียทุกสิ่งในชีวิตแม้แต่ตัวของตัวเอง”

การเปลี่ยนแปลงของฉากหลังจะไม่ได้เปลี่ยนจนคนดูรู้สึกได้ในทันที แต่จะมีความ “คลับคล้ายคลับคลา” ว่าต้องมีบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนั่นคือความรู้สึกเดียวกับแอนโธนี “ในฉากแรกของหนัง เราในฐานะคนดูไม่ตั้งข้อสงสัยต่อสถานที่เพราะเราจะคิดว่ามันคืออพาร์ทเมนต์ของแอนโธนี่โดยอัตโนมัติ จากนั้นเราจะค่อยๆ รู้สึกได้ว่าแต่ละฉาก แต่ละตอน ที่ผ่านไป มันจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้น บางครั้งเป็นเพียงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเดียวที่หายไป หรืออาจเป็นสัดส่วนของห้องที่ไม่เหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณรู้ว่าอยู่ที่ไหนแต่ไม่มั่นใจเท่าไหร่”

ฉากหนึ่งที่สร้างความพิศวงให้ผู้ชมคือในขณะที่เรากำลังตกอยู่ภายใต้ภาวะสับสนกับโลกของผู้ป่วยสมองเสื่อมอยู่นั้น จู่ๆ ก็มีการวนลูปสถานการณ์ขึ้นมา ซึ่งนี่เป็นฉากที่มีอยู่แล้วในฉบับละครเวที แฮมพ์ตันเล่าว่า “ฉากนี้เราปรับให้กระชับขึ้น เราต้องการให้มีการเล่นซ้ำอีกครั้ง เพื่อสร้างความสับสนว่าเหตุการณ์เคยเกิดขึ้นมาแล้วหรือเพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก? นี่คือตอนเช้าหรือตอนเย็น? แล้วทำไมถึงมานั่งกินข้าวเย็นในชุดนอน? เราคิดว่าใครสักคนที่อยู่ในตัวแอนโธนีจะต้องทนทุกข์ทรมานกับเหตุการณ์ซ้ำซากเหล่านั้น”

เซลเลอร์เสริม “ผมอยากสร้างพื้นที่ให้ผู้ชมเป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่อง และค้นหาส่วนผสมของตัวเองเพื่อสร้างชุดคำตอบของแต่ละคน ตอนที่ผมดู Mulholland Drive ของ เดวิด ลินช์ ครั้งแรก รู้มั้ยว่ามันมีความหมายกับผมมาก เพราะผมได้เรียนรู้ว่าการเล่าเรื่องอาจเป็นปริศนาอักษรไขว้ที่ไม่สมบูรณ์ เป็นวิธีเล่นกับจิตใต้สำนึกของคนดูให้เกิดการมีส่วนร่วมกับหนังของเรา”


ข้อมูลประกอบ

https://scriptmag.com/interviews-features/florian-zeller-christopher-hampton-the-father

https://www.forbes.com/sites/adawson/2021/03/30/florian-zeller-takes-viewers-into-the-labyrinth-of-dementia-with-the-father/

เท็จที่จริง ว่าด้วยปัญหาของความจริงในภาพเคลื่อนไหวของศิลปิน

0

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา e-flux ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการตีพิมพ์ การเก็บรวบรวมโปรเจกต์ทางศิลปะ รวมถึงเป็นแพลตฟอร์มของการคัดสรรงานศิลปะ และเป็นนิตยสารศิลปะที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1998 ได้จัดฉายภาพยนตร์ออนไลน์เป็นซีรีส์ 5 ชุดในหัวข้อ ‘เท็จที่จริง : ปัญหาของความจริงในภาพยนตร์ของศิลปิน’ (True Fake: Troubling the Real in Artists’ Films) ซึ่งคัดสรรโดย Lukas Brasiskis ภัณฑารักษ์ นักวิจัยสื่อและภาพยนตร์ จาก New York University ซึ่งทั้ง 5 ชุด มีทั้งหนังสารคดีปลอมของ Peter Watkins งานทดลองจัดๆ ของ Hito Styrel หรือ Harun Forcki ผู้ล่วงลับ และนี่คือสเตทเมนต์ของตัวงาน

‘การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดจนไม่อาจเปรียบได้ที่เกิดขึ้นในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้ ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงต่อการรับรู้และประสบการณ์ของความเป็นจริง ในทศวรรษที่ 1990’s และ ต้น 2000’s สิ่งที่เคยเป็นมาตรฐานตามขนบถูกตั้งข้อสงสัย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการเชื่อในความจริงตามข้อเท็จจริงเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งจากมุมมองและการรับรู้ความจริงอีกหลายๆ แบบ และส่งผลให้เกิดการอภิปรายทางวิชาการเกี่ยวกับวิกฤติของความจริงส่งเสียงสะท้อนก้องไปในโลกศิลปะ ศิลปินหลายคนเริ่มสร้างผลงานที่สะท้อนไม่ก็วิพากษ์วิจารณ์วาทกรรม “หลังความจริง” อันเป็นสิ่งที่นักวิจารณ์ศิลปะและนักประวัติศาสตร์เรียกว่า “การพลิกโฉมสารคดีในศิลปะร่วมสมัย”

อย่างไรก็ตามในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเมื่อข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ไม่สามารถย้อนคืนได้ เกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนของลัทธิปฏิเสธวิทยาศาสตร์ และเมื่อวาทศิลป์เกี่ยวกับ “ข้อเท็จจริงทางเลือก” ซึ่งเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบ รวมทั้งการแพร่กระจายของ “ข่าวปลอม” ทางออนไลน์ ได้กลายเป็นภัยคุกคามที่แท้จริงต่อประชาธิปไตย เราจึงจำเป็นต้องพิจารณาคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นจริง ข้อเท็จจริงที่เป็นทั้งสื่อกลางและเป็นอัตลักษณ์ใหม่อีกครั้ง เพื่อตอบสนองต่อสภาวะทางการเมืองเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ภาพยนตร์ชุดนี้ประกอบด้วยภาพยนตร์และวิดีโอที่สำคัญร่วมสมัยและในอดีตจำนวนยี่สิบเรื่องที่ตรวจสอบขอบเขตที่ไม่แน่นอนระหว่างข้อเท็จจริงและเรื่องแต่ง ธรรมชาติและสิ่งประดิษฐ์ วัตถุวิสัยและอัตวิสัย ความเป็นสื่อและการแสดงออก ชื่อเท็จที่จริง (True Fake) ได้รับเลือกให้เป็นถ้อยแถลงที่พาดพิงถึงภาพและเสียงที่ถูกมองว่าเป็นภาพประดิษฐ์ที่ไม่ได้บ่งชี้สิ่งใดหากข้ามพ้นไปจากการแบ่งอย่างมักง่ายระหว่าง จริง/เท็จ สารคดี/เรื่องเล่า อีกด้วย

ศิลปินตอบสนองต่อบริบทที่ความไว้วางใจในการเมืองที่ปนเปื้อนการกำหนดเป้าหมายตามอัลกอริทึมและข่าวปลอมได้อย่างไร ภาพยนตร์และวิดีโอจะตรวจสอบความจริงที่ประดิษฐ์ขึ้นได้อย่างไรเมื่อข้อเท็จจริงทางเลือกบั่นทอนความเชื่อมั่นและความสมบูรณ์ของสื่อ “ความจริง” ของของปลอมส่งผลอย่างไรต่อกลยุทธ์ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองและกระบวนการปลดปล่อยอาณานิคม? อะไรคือบทบาทของจินตนาการในโลกที่อิ่มตัวทางเทคโนโลยี? เราจะรักษาอัตลักษณ์ของตนที่ตั้งอยู่ระหว่างโลกแห่งความจริงและโลกเสมือนได้อย่างไร? และมีค่าใช้จ่ายเท่าไร? ความเป็นจริงมีรูป Avatar หรือไม่? และถ้ามี จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ศิลปินและคนทำหนังจากทั้งห้าชุดของซีรีส์นี้ได้ตรวจสอบความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างความจริงและเรื่องแต่งอย่างสร้างสรรค์โดยไม่เพียงตรวจสอบข้อเท็จจริงและสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นสื่อเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลไกของสื่อด้วย พวกเขามีปัญหากับความเชื่อที่ไร้เดียงสาในความบริสุทธิ์ของความจริงและค้นหาโหมดภาพและเสียงใหม่เพื่อพูดความจริงต่อสาธารณะ’

แม้งานฉายออนไลน์จะสิ้นสุดลงไปแล้วแต่เราก็ไม่อยากให้พลาดโปรแกรมนี้ เราจึงออกสืบค้นในโลกอินเทอร์เน็ต จนพบว่าภาพยนตร์บางส่วนจากโปรแกรมนี้ สามารถหาชมได้ในช่องทางอื่นๆ ทั้งถูกกฎหมายและช่องทางธรรมชาติ ในการณ์นี้ Film Club ของรวบรวมลิงก์เท่าที่หาได้และน่าจะเป็นทางการมาไว้ในที่นี้ ให้ผู้ชมที่พลาดได้ตามไปเก็บย้อนหลังกัน

อ่านรายละเอียดเต็มๆ ของโปรแกรมนี้ได้ที่นี่


The Falling Sky (2017, Peggy Ahwesh)

นี่คือ วิดีโอสร้างจากพวกคลิปยูทูป operational image ทั้งหลาย งาน CG แบบไทยรัฐทีวี ที่ถูกทำขึ้นเพื่ออธิบาย หรือขายของ แต่เมื่อนำมาฉายต่อกันก็กลายเป็นทั้งคำทำนาย และคำอธิบาย นิทานสาธกเสียดสีที่ทั้งตลกและสยองขวัญ แสดงให้เห็นเรื่องการควบคุมผู้คนผ่าน social media ภาพแสดงภาวะโลกร้อนที่โชว์ทิศทางของแสงอาทิตย์หรือพายุ ภาพร่างของอนาคต เช่น ในตาของทารกมีบาร์โค้ด ป้ายหลุมศพมี QR โค้ด ที่สแกนแล้วจะเล่นวิดีโอที่เป็นความทรงจำที่ดีของคนตาย การจับมือกันที่สามารถแลกแอคเคานท์ ​LinkedIn Facebook ได้ทันที ภาพของความคลั่งโทรศัพท์ของผู้คน 

หนังเต็มไปด้วยความหลอนของความปลอมจากฟุตเตจ CG ง่ายๆ ภาพที่มาจากคลิปแบบอื่น วัตถุประสงค์อื่น ถูกนำมาใช้ใหม่สร้างควาหมายใหม่ มันกลายเป็นโลกที่เปลือยเปล่าที่แสดงแผนภูมิ กราฟ ทาบลงบนโลก ขั้นตอนว่าที่แท้จริงแล้วโลกมันสยองขวัญและถูกควบคุมมากขนาดไหน

ดูได้ที่ https://www.vimeo.com/320904520


Finding Fanon 2 (2015, Larry Achiampong and David Blandy)

งานที่สร้างจากภาพในเกม Grand Theft Auto 5 โดยถูกเอามาเล่าใหม่ให้เกี่ยวกับโครงเรื่องหลายเรื่องรวมถึงประวัติครอบครัวของศิลปินที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคม การตรวจสอบว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาก่อตัวขึ้นอย่างไรผ่านพื้นที่เสมือนจริงและความคิดเกี่ยวกับผลกระทบของสภาพหลังมนุษย์ 

ซีรีส์ Finding Fanon ได้รับแรงบันดาลใจจากบทละครที่หายไปของ Frantz Fanon (2468-2504) นักมนุษยนิยมหัวรุนแรงทางการเมืองต่อสู้เรื่องการล่าอาณานิคมมาโดยตลอด ตลอดทั้งซีรีส์ Achiampong และ Blandy นำเอาความคิดของ Fanon มาตรวจสอบการเมืองของเชื้อชาติการเหยียดสีผิวและการแยกประเทศและปัญหาทางสังคมเหล่านี้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเราอย่างไรท่ามกลางยุคของเทคโนโลยีใหม่วัฒนธรรมที่เป็นที่นิยมและโลกาภิวัตน์

ดูได้ที่


It’s in the Game ’17 (2017, Sondra Perry)

เรื่องโฟกัสไปที่ Sandy Perry ฝาแฝดชายของคนทำหนังเรื่องนี้ ที่เป็นนักบาสเกตบอล ดิวิชั่น1 ของมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ผู้ซึ่งข้อมูลทางกายภาพและสถิติของเขาถูกขายโดยสมาคมกีฬาระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (NCAA : National Collegiate Athletic Association) ให้กับบริษัทพัฒนาเกมเพื่อนไปใช้ โดยที่เจ้าตัวไม่รู้และไม่ยินยอม ไม่มีผู้เล่นคนใดในเกมที่ได้รับการชดเชยจาก NCAA ซึ่งอ้างว่าผู้เล่นได้รับการศึกษาฟรีและไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในเรื่องนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ในขอบเขตขององค์กรดิจิทัลมีสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรมหรือไม่? ร่างกายดิจิทัลเป็นเพียงทรัพย์สินไม่มีสิทธิ์หรือไม่?

หนังเทียบวิดีโอเกมเข้ากับภาพจำลอง CG ของรูปปั้นในพิพิธภัณฑ์ที่เป็นร่างกายเหมือนกันที่มีกรรมสิทธิ์คุ้มครองแตกต่างกัน ยิ่งทำให้มันน่าสนใจมากขึ้น

ดูได้ที่


Level Five (1997, Chris Marker)

ลอร่าโปรแกรมเมอร์สาวได้เข้ามารับช่วงต่อในการออกแบบเกมคอมพิวเตอร์ที่จะต้องมีฉากสงครามในโอกินาวาที่เกิดขึ้นจริงในสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอสืบค้นอินเตอร์เน็ทหาข้อมูลถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้น สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ และผู้เห็นเหตุการณ์ ขณะที่พยายามสร้างเลเวลที่ยากที่สุดของเกม นั่นคือเลเวล 5 จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามีเธอทิ้งไว้ ความแปลกประหลาดของสมรภูมิโอกินาวาได้ทำให้ลอร่าย้อนกลับไปคิดถึงชีวิตทั้งของตนเอง และมนุษยชาติที่ต้องผเชิญกับประวัติศาสตร์บาดแผล และนำมาเสนอผ่านภาพยนตร์ เราอาจบอกได้ว่า Level Five เป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่พูดถึงและใคร่ครวญ ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับยุคสมัยของดิจิตัล ความจริงเสมือน ซึ่งเป็นสิ่งที่ใหม่มากๆ ในขณะนั้น

ดูได้ที่ MUBI หรือ dafilms


Triple-Chaser (2019, Forensic Architecture + Praxis Films)

Forensic Architecture (FA) คือ หน่วยงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Goldsmiths ในลอนดอน โดยงานหลักคือการสอบสวนการละเมิดสิทธิมุษยชนซึ่งรวมถึงความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐ โดยตำรวจ ทหาร และบริษัทเอกชน FA ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมต่างๆ ตั้งแต่นักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าไปจนถึงหน่วยงานทางกฎหมาย NGO ระหว่างประเทศ และองค์กรสื่อ เพื่อทำการสืบสวนในนามของปัจเจกและชุมชนในประเด็นตั้งแต่การใช้กำลังตำรวจ ปัญหาชายแดน และความรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อม โดยเป็นผู้บุกเบิกการสืบสวนโดยอาศัยเทคนิคการวิเคราะห์เชิงพื้นที่และสถาปัตยกรรม การสอบสวนผ่าน open source (open source investigation) การสร้างแบบจำลองดิจิทัลและเทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนการวิจัยเอกสาร การสัมภาษณ์และความร่วมมือทางวิชาการ ข้อค้นพบจากการสอบสวนของ FA ถูกนำเสนอในห้องพิจารณาคดีระดับชาติและระดับนานาชาติการสอบถามของรัฐสภาและนิทรรศการที่สถาบันทางวัฒนธรรมชั้นนำของโลกและในสื่อระหว่างประเทศรวมทั้งในศาลของพลเมืองและการชุมนุมในชุมชน

เดือนพฤศจิกายน 2018 ตำรวจชายแดนของอเมริกาปาแก๊สน้ำตาใส่ประชาชน มีรูปภาพที่แสดงให้เห็นว่าแก๊สน้ำตาเกือบทั้งหมดผลิตโดย Safariland Group ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘อาวุธอันตรายต่ำ’ รายสำคัญเจ้าหนึ่งของโลก โดยเจ้าของของ Safariland Group คือ Warren B. Kanders ซึ่งนอกจากผลิตอาวุธยังเป็นรองประธานคณะกรรมการของ Whitney Museum of American Art แลเะเพื่อตอบสนองการได้รับเชิญไปร่วมงาน Whitney Biennial 2019 Forensic Architectures จึงร่วมมือกับ Praxis Films (บริษัทผลิตภาพยนตร์ของ Laura Poitras เจ้าของหนังอย่าง Citizenfour) ในโครงการการฝึกใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในการตรวจับแก๊สน้ำตาของSafariland จากภาพถ่ายนับล้านๆภาพในโลกออนไลน์ ซึ่งในการนี้จะต้องใช้ภาพนับพันภาพในการฝึกฝนระบบการตรวจจับ แต่ภาพของวัตถุทรงกระบอกสามชิ้นที่ประกอบกันเป็นแก๊สน้ำตานั้นพบได้น้อยมาก ทาง FA จึงตัดสินใจสร้างแบบจำลองของมันขึ้นมา จากนั้นทดลองนำไปวางภาพจากสภาพแวดล้อมจริง สร้างสถานการณ์ขึ้นไหม่เพื่อให้แก๊สน้ำตานี้ถูกตรวจจัยได้ ด้วยวิธีการนี้ ภาพปลอม สามารถใช้ช่วยในการค้นหาภาพจริงขึ้นมาได้ในอนาคตหากว่า แก๊สน้ำตาของSafariland ถูกนำมาใช้กับประชาชนอีก 

และหนังเรื่องนี้คือการบันทึกกระบวนการดังกล่าวออกมาให้เห็นเป็นภาพตั้งแต่ต้น

ดูได้ที่

หมายเหตุ รู้จัก FA เพิ่มเติมได้ที่นี่ 


Watching the Detectives (2017, Chris Kennedy)

หลังจากการระเบิดในงานบอสตันมาราธอนในปี 2013 นักสืบสมัครเล่นนายหนึ่งเข้าไปในห้องแชตแล้วพยายามจะสืบหาผู้ก่อเหตุ บรรดาผู้ใช้ reddit 4chan และอื่นๆ ช่วยกันตรวจสอบรูปถ่ายต่างๆ ที่ถูกอัพโหลดขึ้นในเว็บไซต์ มองหารายละเอียดของคนที่อาจจะเป็นผู้ต้องสงสัย หนังอาศัยข้อความและภาพ jpeg จากการสืบสวนในครั้งนี้มาเล่าเรื่องเกี่ยวกับการตามหาผู้ร้ายแบบ crowd-source

ดูได้ที่ dafilms


Art and Theft (2017, Sara Magenheimer)

หนังว่าด้วยเทคนิคทางมายากลที่เรียกว่า misdirection คือลวงสายตาคนด้วยการหันเหความสนใจไปทางอื่น เป็นทริคพื้นฐานของการเล่นกล แล้วมันก็ถูกใช้ในทางการแสดงไปจนถึงทางการเมือง (นึกถึงพวกข่าวดาราที่ออกมาช่วงที่นักการเมืองมีเรื่องแล้วกินพื้นที่ข่าวการเมืองไปจนหมด) และ visualise มันออกมาเป็นภาพที่มีทั้งภาพแบบ found footage หัวข้อการปล้นบ้านในเจ็ดนาที (ตามความยาวหนัง) แต่ภาพคือกวางพุ่งเข้าไปทำลายข้าวของในบ้านคน หรือการเอาภาพเขียนยุค medieval art มาส่องรายละเอียดทีละส่วน เป็นภาพนักมายากลแสดงกล แต่ถ้าดูจริงๆ จะเห็นว่า ทุกคนในรูป Misdirection มองไปคนละทาง และบางคนทำบางอย่างเพราะอีกคน misdirection อยู่

ดูได้ที่


Blue Orchids (2017, Johan Grimonprez)

ในหนังเรื่องนี้ Johan Grimonprez ได้สร้างภาพภาพคู่ขนานของผู้เชี่ยวชาญสองคนที่ยืนกันอยู่คนละฟากของเรื่องเดียวกัน ซึ่งนั่นคือโลกของการค้าอาวุธสงคราม คนหนึ่งคือ Chris Hedges อดีตผู้สื่อข่าวของ New York Times อีกคนคือ Ricardo Privitera อดีตนักค้าอาวุธสงครามของบริษัท Talisman Europe Ltd. ทั้งคู่ฉายให้เห็นภาพที่ทั้งผิดประหลาดและรบกวนจิตใจ ด้วยบริบทชวนช็อกที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมสงคราม ตามจริง Grimonprez สัมภาษณ์ทั้งสองคนเพื่อนำไปเป็นส่วนหึ่งในหนังยาวเรื่อง Shadow World (2016) ของเขา หากแต่ทั้งสองคนกลับไปให้ภาพที่ชัดเจนร่วมกันในการพูดถึงความเจ็บปวดจากเหตุการณ์เดียวกันในมุมมองที่ย้อนแย้งกันและกัน คนหนึ่งอุทิศตนให้กับการเปิดเผยคำโกหก ขณะที่อีกคนสร้างตัวเองขึ้นจากการโกหกเหล่านั้น บุคลิกส่วนตัวและประวัติศาสตร์การเมืองค่อยๆ เปิดเผยความทุกข์ทรมานที่อยู่ลึกลงไปในการค้าอาวุธที่เป็นเพียงกลุ่มอาการของโรคร้ายที่ชื่อว่าความโลภ

ดูได้ที่ http://blueorchids.revondemand.org


How Not to Be Seen: A Fucking Didactic Educational .MOV File (2013, Hito Steyerl)

นี่คือหนังที่สำรวจการเมืองของการมองเห็นและความหมายของการไม่ยอมเป็นภาพแทนในยุคดิจิตัล ด้วยโครงสร้างแบบวิดีโอฮาวทู งานของ Steyrel แสดงให้เห็นเทคนิคต่างๆ ในการหลีกเลี่ยงการถูกจับจ้องจากเลนส์กล้อง ด้วยท่าทีทีเล่นทีจริงหากเนื้อหาของหนังกลับจริงจังอย่างยิ่ง กล่าวคือ เครือข่ายดิจิตัลที่กำลังฉายภาพของโลกปัจจุบันนี้ ล้วนมีเป้าหมายที่จะช่วงใช้มวลชนในนามของการควบคุม อำนาจ และผลประโยชน์ และยิ่งสมาร์ตโฟนของเราบันทึกตัวเราและติดตามกันผ่านโซเชียลมีเดียมากเท่าไร ก็ยิ่งเท่ากับให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนระบบการตรวจสอบเหล่านี้โดยปริยายผ่าน “ระบอบการปกครองของการควบคุมตนเอง (ซึ่งกันและกัน) และการมีวินัยในตนเองด้วยภาพ” มากขึ้นเท่านั้น Steyrel เตือนว่า ‘อำนาจนำนับวันยิ่งก้าวล่วงสู่ภายในเรามากขึ้นทุกที ไปพร้อมๆ กันกับแรงกดดันให้ทั้งต้องปฏิบัติตามและแสดงการปฏิบัติออกมา เช่นเกียวกับแรงกดดันของการเป็นภาพแทนและถูกทำให้เป็นภาพแทน’ ดังนั้นการกระทำของการหายตัวไปจึงกลายเป็นความหมายเดียวกันกับการปฏิเสธนั่นคือการปฏิเสธที่จะยอมจำนนแรงกดดันดังกล่าวและการปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในเครือข่ายการแสวงหาผลประโยชน์เหล่านี้ 

ดูได้ที่ https://www.artforum.com/video/hito-steyerl-how-not-to-be-seen-a-fucking-didactic-educational-mov-file-2013-51651

Box Office Report : รายได้หนังในวันแรกที่ปิดโรงหนังใน กทม.

เมื่อวานนี้ (26 เม.ย.) เป็นวันแรกที่ กทม. ประกาศปิดโรงหนัง แต่ในพื้นที่ปริมณฑลยังเปิดให้บริการอยู่ ทั้ง นนทบุรี, ปทุมธานี และ สมุทรปราการ เราจึงเก็บรายได้ในวันแรกของการปิดโรงหนังใน กทม. มาฝาก ซึ่งมาจากการรวบรวมรายได้ใน กทม. ปริมณฑล และเชียงใหม่ ก่อนที่ในวันนี้ (27 เม.ย.) นนทบุรีจะประกาศปิดโรงหนังตามมา

รายได้หนังประจำวันที่ 26 เม.ย. 64

  1. Mortal Kombat – 0.02 (10.14) ล้านบาท
  2. Godzilla vs. Kong – 0.02 (177.85) ล้านบาท
  3. Nobody – 0.01 (3.51) ล้านบาท
  4. Seobok – 0.01 (3.97) ล้านบาท
  5. Doraemon : Stand by Me 2 – 0.01 (6.61) ล้านบาท
  6. Promising Young Woman – 0.007 (0.36) ล้านบาท
  7. Collectors – 0.006 (0.25) ล้านบาท
  8. The Courier – 0.006 (0.75) ล้านบาท
  9. บอสฉันขยันเชือด – 0.006 (4.80) ล้านบาท
  10. เรื่องผีเล่า – 0.005 (9.12) ล้านบาท

Voltes V อนิเมะแห่งชาติฟิลิปปินส์ ที่สั่นสะเทือนเผด็จการในยุคกฎอัยการศึก

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา GMA Network บริษัทธุรกิจบันเทิงยักษ์ใหญ่ของฟิลิปปินส์ได้ปล่อย Teaser ตัวอย่างภาพยนตร์ซีรีส์ Voltes V Lagacy ที่รีเมคจากอนิเมะหุ่นยนต์ปี 1977 เรื่อง Chodenji Machine Voltes V หรือชื่อที่ฉายที่ช่อง 7 ในไทยคือ “หุ่นยักษ์ วี ห้า” โดยทาง GMA ได้นำมาสร้างใหม่เป็นซีรีส์คนแสดงหรือ Live Action ซึ่งฉากหุ่นยนต์ยักษ์จะเป็น CGI และหลังจากที่ปล่อยตัวอย่างออกมาแล้ว แฟนๆ ของอนิเมะหุ่นยักษ์ทั่วโลกก็ได้แต่ทึ่งกับงานสร้างที่ดูยิ่งใหญ่อลังการ อย่างตัว CGI ตัวหุ่นยนต์ Voltes V ที่ดูดีมากๆ แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ยังรู้สึกว้าวเมื่อได้ดู ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมฟิลิปปินส์ถึงต้องรีเมคอนิเมะหุ่นยนต์เรื่องนี้ ทั้งๆ ที่หากมีทรัพยากรก็สร้างหนังหรือซีรีส์หุ่นยนต์ของตัวเองขึ้นมาใหม่ซะไม่ดีกว่าเหรอ? คำตอบก็เพราะ Voltes V นั้นถือว่าเป็นอนิเมะแห่งชาติฟิลิปปินส์ ที่มีส่วนสำคัญในวัฒนธรรมร่วมสมัยของประเทศ และยังเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองในยุคสมัยเผด็จการของนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส

ตัวอย่าง Voltes V Legacy

Chodenji Machine Voltes V อนิเมะหุ่นยนต์ที่สร้างโดย Toei Company และ Sunrise Nippon เป็น 1 ในไตรภาค “Nagahama Romance Robot Series” ของผู้กำกับ นากาฮาม่า ทาดาโอะ อันประกอบด้วย Chodenji Robo Combattler V (1976), Chodenji Machine Voltes V (1977) และ Tosho Daimos (1978) แม้จะเรียกว่าไตรภาค แต่เนื้อเรื่องก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน จากสไตล์ของผู้กำกับทาดาโอะที่มีเรื่องราวดราม่าเข้มข้น โรแมนติกซึ้งเรียกน้ำตา ทำให้เป็นที่ประทับใจของเหล่าแฟนๆ ทั้งในญี่ปุ่นและชาวต่างขาติ ซึ่งในทั้ง 3 เรื่อง Voltes V ถือเป็นเรื่องที่ได้ความนิยมสูงสุดในประเทศญี่ปุ่นเพราะดราม่าที่เข้มข้นและท่าไม้ตายสุดเท่ที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง “ท่าฟันตัว V” โดยในช่วง 70’s ที่สร้างนั้นถือยุคสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดของอนิเมะประเภทซุปเปอร์โรบอต

Voltes V เป็นเรื่องราวของการต่อสู้ระหว่างมนุษย์โลกและผู้รุกรานจากดาว Boazan ที่ต้องการปกครองโลกและนำชาวโลกไปเป็นทาสของตน ซึ่งอาวุธเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถต่อกรกับเทคโนโลยีของชาวดาว Boazan ได้ก็คือหุ่นยนต์พลังแม่เหล็กไฟฟ้า Voltes V ที่ขับโดยหนุ่มสาว 5 คน ได้แก่ 3 พี่น้องตระกูลโก เคนอิจิ ไดจิโร่ และฮิโยชิ ส่วนสมาชิกอีกสองคนก็คือ อิปเปย์และเมกูมิ โดยคู่ปรับของพวกเขาก็คือเจ้าชายไฮเนล ผู้บัญชาการทัพ Boazan ในการรุกรานโลก

Voltes V ได้เข้ามาฉายยังประเทศฟิลิปปินส์ในปี 1978 ซึ่งตอนนั้นประเทศฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้การปกครองของนายเฟอร์ดินาด์ มาร์กอส ถือเป็นอนิเมะกลุ่มแรกๆ ที่ได้เข้าฉายในประเทศ (ก่อนหน้านั้นฟิลิปปินส์ยังไม่ยอมรับอะไรจากญี่ปุ่น เพราะผลของสงครามโลก) อนิเมะหุ่นยนต์ยักษ์ถือว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่สุดๆ สำหรับเด็กฟิลิปปินส์เนื่องจากที่ผ่านมา พวกเขาได้ดูแต่อนิเมชั่นฝั่งอเมริกัน ทำให้เกิดความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะ Voltes V ถือว่าเป็นเรื่องที่ได้เรตติ้งสูงสุด ชนะอนิเมะหุ่นยนต์ที่ฉายในช่วงเดียวกันอย่าง Mazinger Z และ Tosho Daimos อย่างมาก เนื่องจากเนื้อหาดราม่าครอบครัวที่เข้าถึงง่ายกว่า ความรักหนุ่มสาวใน Daimos และทันสมัยกว่าอนิเมะเก่าอย่าง Mazinger Z อีกทั้งตัวหุ่นยนต์ที่เป็นจุดขายสำหรับเด็กนั้นหวือหวาและน่าดึงดูดกว่ามาก เพราะเป็นหุ่นที่เกิดจากการประกอบรวมร่างของยานพาหนะ 5 คัน/ลำ ทำให้ Voltes V ครองใจเยาวชนรวมถึงวัยรุ่นชาวปินอยได้อย่างมาก จนประโยคพูด “Let’s Volt In!” ที่จะพูดตอนประกอบร่างเป็นหุ่นก็กลายมาเป็นประโยคฮิตสุดๆ ในช่วงนั้น

กระแสความนิยมของ Voltes V นั้นแรงต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปี 1979 แต่จู่ๆ นายมาร์กอส (ที่ตอนนั้นยังคงประกาศให้ประเทศอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก) ก็ได้สั่งแบนการฉายอนิเมะเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่เหลืออีกเพียง 5 ตอนเท่านั้นก็จะอวสาน โดยให้เหตุผลว่าเพราะอนิเมะเรื่องนี้มีความรุนแรงสูง ทำให้เด็กๆ ยุคนั้นเสียอกเสียใจมากๆ ที่ไม่อาจรู้ได้ว่าชะตากรรมของเหล่าฮีโร่ของพวกเขาในการต่อสู้กับเผด็จการชาว Boazan นั้นมีบทสรุปอย่างไร อย่างไรก็ตามชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อในการให้เหตุผลเรื่องความรุนแรงของมาร์กอส แต่เชื่อว่าเพราะเนื้อหาของ Voltes V คือการต่อสู้กับอำนาจที่มากดขี่ ยิ่งเนื้อหาในช่วงท้ายๆ ที่จะพูดถึงการรุกฮือต่อต้านอำนาจเผด็จการและการปฏิวัติ เพราะแท้จริงแล้ว ดร.เคนทาโร่ โก ผู้เป็นพ่อของพี่น้องโกที่เป็นตัวเอกนั้น เป็นอดีตเจ้าชายดาว Boazan ที่ไร้เขา โดยคนมีเขาในดาว Boazan คือชนชั้นสูงที่มีสิทธิในการปกครอง และกดขี่ผู้ไม่มีเขา ทำให้ ดร.เคนทาโร่ต้องหนีไปโลกเพื่อสร้าง Voltes V เพื่อรับมือกับชาวดาว Boazan ที่จะมารุกรานในอนาคตโดยฝากความหวังไว้กับบรรดาคนรุ่นลูก ซึ่งภายหลังจากที่ ดร.เคนทาโร่โดนจับไปอีกครั้ง เขาและชาวดาว Boazan ที่ไร้เขาก็ได้รวมตัวกันเพื่อทำการปฏิวัติโค่นล้มอำนาจของเผด็จการของชนชั้นสูงที่มีเขาโดยมีลูกๆ และชาวโลกมาร่วมต่อสู้ด้วย ซึ่งมาร์กอสกลัวกว่าเนื้อหาดังกล่าวอาจส่งผลให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านตัวเอง จึงทำการแบนอนิเมะเรื่องนี้ ถึงเวลาต่อมา Bongbong Marcos ผู้เป็นลูกชายของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จะได้ออกมาพูดแทนพ่อของเขาว่าที่พ่อเขาแบน Voltes V ก็เพราะมีเหล่าผู้ปกครองมาร้องเรียนว่าอนิเมะเหล่านี้จะส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อลูกพวกเขา อย่างไรก็ตามก็ไม่มีการเปิดเผยสาเหตุที่แท้จริงในการแบน Voltes V อย่างกระจ่างชัด

ในที่สุดการปกครองอำนาจเผด็จการอันยาวนาน 21 ของมาร์กอสก็จบลงในปี 1986 จากการลุกฮือของประชาชนที่รู้จักในชื่อว่า The People Power Revolution และปัจจัยภายในและภายนอกอีกหลายประการทำให้นายมาร์กอสต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ทำให้ในที่สุด Voltes V ก็ได้ถูกนำมาฉายรีรันใหม่ในปี 1986 และ 1989 แต่เวอร์ชั่นพากย์เสียง Tatalog ที่สมบุรณ์ที่สุดและอิมแพคที่สุดคือเวอร์ชั่นปี 1999 ที่ฉายทางช่อง GMA7 และทางบริษัท GMA ยังได้นำ 5 ตอนสุดท้ายที่ถูกแบนมาตัดต่อรวมกันเป็นหนังยาวออกฉายโรงในชื่อว่า “Voltes V: The Liberation” เพียงเท่านี้ก็ทำให้เหล่าเด็กในยุค 1978 ที่ใจสลายเจ็บปวดจากการปิดกั้นเสรีภาพสื่อของเผด็จการในช่วงนั้น ในที่สุดก็ได้ดู Voltes V ฉบับสมบูรณ์ และยังเป็นตัวจุดกระแสให้ความคลั่งไคล้ในอนิเมะและวัฒนธรรมญี่ปุ่นในฟิลิปปินส์ขึ้นมาอีกครั้งและยังคงต่อเนื่องยาวมาจนถึงทุกวันนี้

มรดกหลายอย่างของ Voltes V ยังคงหลงเหลือใน Pop culture ของฟิลิปปินส์มาจนถึงทุกวันนี้ เหล่าเด็กในช่วงที่อนิเมะเรื่องนี้ออกฉายครั้งแรกนั้นถูกเรียกว่า Voltes V Generetion ก็ได้เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ในสังคมและยังคงยึด Voltes V เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Voltes V นั้นว่าด้วยร่วมแรงร่วมใจต่อสู้ เพราะเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่ได้เกิดจากบังคับของฮีโร่เพียงคนเดียว ลำพังเพียงยานรบ 1 ลำไม่สามารถเอาชนะศัตรูได้ แต่พอทุกคนร่วมใจประกอบร่างกันถึงจะไร้เทียมทาน และเรายังคงเห็น Voltes V แฝงแทรกตัวในวัฒนธรรมร่วมสมัยของฟิลิปินส์ได้มากมาย จนมีคนกล่าวว่าชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่สามารถร้องเพลงเปิดของ Voltes V ได้ (ถ้าเทียบเคียงกับบ้านเรา ที่ใกล้เคียงที่สุดก็คงโดราเอม่อน) ซึ่งในปี 2014 ก็ได้มีการตั้งงานศิลปะรูปปั้นสลัก “Last, Lost, Lust for Four Episodes” ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ โดยงานชิ้นนี้บอกเล่าเรื่องราวของการแบนอนิเมะเรื่องนี้ในปี 1979 ที่มีรูปปั้นเด็กสวมหัวและดาบที่คล้ายกับตัวหุ่น Voltes V ลุกขึ้นสู้กับรูปปั้นนายมาร์กอสที่มีเขา ที่แทนสัญลักษณ์เผด็จการของเรื่อง

แต่ถึงเหล่ามนุษย์และชาว Boazan ที่ไร้เขาจะสามารถโค่นล้มเผด็จการของพวกชนชั้นปกครองที่มีเขาและนำประชาธิปไตยกลับคืนมาได้แล้ว แต่ในโลกความจริงมรดกของเผด็จการของเฟอร์ดินานด์มาร์กอสก็ยังคงมีอิทธิพลหลงเหลืออยู่มากในสังคมฟิลิปปินส์ปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำก็ยังคงมีมากมาย ซึ่งถ้ามองแล้วก็ไม่ต่างจากประเทศเรามากนัก ก็หวังว่าการกลับมาอีกครั้งของอนิเมะแห่งชาติปินอยในรูปแบบซีรีส์ Live Action ในนาม Voltes V Legacy จะสามารถทำให้ประชาชนปลุกจิตวิญญาณของการที่ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจเผด็จการให้กลับมาอีกครั้ง และพร้อมจะ “Let’s Volt In!”

ผู้อ่านสามารถชม Voltes V 2 ตอนแรกแบบมีคำบรรยายภาษาอังกฤษได้ที่ channel youtube ของ Toei โดยที่ตอน 3 เป็นต้นไปนั้นจะไม่มีคำบรรยายภาษาอังกฤษ


อ้างอิง

https://dubbing.fandom.com/wiki/Voltes_V

สรุปเสวนาคลับเฮาส์ ‘การเมืองในหนังไทย’ : สถานะของภาพยนตร์ในการเมืองร่วมสมัย

หลังจากวงเสวนาคลับเฮาส์ในหัวข้อ “หนังไทย (Once Upon a Time – Thai Cinema) : ปรากฏการณ์ T Wave ในทศวรรษที่ 2000” ว่าด้วยหรือปรากฏการณ์ความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยในพุทธศักราช 2540 ได้รับความสนใจอย่างมากจากคนรักหนังและคนทำหนังในไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา คุณภาณุ อารี ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศของสหมงคงฟิล์ม จึงได้เปิดวงเสวนาในคลับเฮาส์อีกครั้งในหัวข้อ “การเมืองในหนังไทย” เพื่อสะท้อนภาพวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์และสถานะของภาพยนตร์ในการเมืองไทยร่วมสมัย ตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมาจนเหตุการณ์พฤษภาฯ 2553 และนี่คือบทความสรุปเนื้อหาการสนทนาในวันนั้น


จากหนังสือพิมพ์สู่ภาพเคลื่อนไหวภายใต้โลกาภิวัฒน์

ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเภทของสื่อมีหลากหลายและมีหน้าที่หลายหลากไม่ต่างกับปัจจุบัน ทั้งหนังสือพิมพ์ หนังข่าว และสารคดีที่ให้ความรู้ข้อมูลข่าวสาร ไปจนถึงภาพยนตร์ขายความบันเทิงซึ่งเข้ามาตามกระแสโลกาภิวัฒน์ ภาพยนตร์มีอิทธิพลในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นสื่อที่ทุกชนชั้นเข้าถึงได้ คุณโดม สุขวงศ์ อดีตผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ไล่เรียงเส้นประวัติศาสตร์วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้เราฟังว่า

“ภายในช่วงสิบปีที่เปลี่ยนผ่านจาก ร.5 เป็น ร.6 โรงหนังกระจายตัวทั่วโลก โลกาภิวัฒน์ทำให้คนรับรู้อะไรพร้อมกัน เหมือนกัน แบบเดียวกัน หนังกลายเป็นสื่อที่มีอิทธิพลในชุมชน ดูเสร็จกลับบ้านตื่นเช้ามาคุยกัน

“ในปี 1914 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝรั่งเศสที่เป็นทุนใหญ่กลายเป็นสนามรบ ทำให้ฮอลลีวู้ดครองตลาดหนังระดับโลก หนังกลายเป็น soft power นายทุนและเจ้าของโรงหนังกลายเป็นเจ้าของหนัง คนดูเป็นผู้รับสาร รัฐเป็นตัวกลาง ต่อมารัฐกลัวพลังของหนัง หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงเกิดการควบคุมมากขึ้น ทำให้เกิดการทำหนังโจมตีเยอรมันออกมาฉายในไทย เป็นต้น”

คุณโดมเล่าต่อว่า “ในสมัย ร.6 เริ่มมีกฎหมายที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ โดยเป็นกฎหมายป้องกันอัคคีภัยที่บังคับให้ห้องฉายเป็นปูน นอกจากนั้น รัฐเองก็เริ่มเห็นว่าหนังทำให้คนฉลาด จึงมีความคิดให้มหาดไทยร่าง พรบ. ภาพยนตร์ แต่เปลี่ยนแผ่นดินพอดีจึงหยุดไป ต่อมา ร.7 เห็นว่าฝรั่งเข้ามาถ่ายหนัง จึงกลัวจะเกิดปัญหาเหมือนตอนที่นางสาวสุวรรณเข้ามาถ่ายแล้วถ่ายสิ่งที่รัฐไม่อยากให้ใครเห็น จึงประกาศใช้ พรบ. ภาพยนตร์ในปี 2473 (ค.ศ. 1930) ประกาศใช้จริงปี 2474 (ค.ศ. 1931)

“ในปี 2465 (ค.ศ. 1922) มีการตั้งโรงถ่ายหนังหรือกองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าวเพื่อสร้างภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ โดยให้อยู่ภายใต้การรถไฟ ต่อมาจอมพล ป. ให้ความสำคัญกับหนัง จึงให้สร้างหนังและให้ตั้งโรงถ่ายหนังโฆษณาชวนเชื่อ และให้ทหารอากาศดำเนินกิจการ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทีวีเข้ามา รัฐจึงใช้กฎหมายควบคุมให้พลเมืองมีศีลธรรมอันดี”


14 ตุลาฯ 2516: เมื่อเสรีภาพเบ่งบาน (คนทำ)หนังก็หลากหลาย

ในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 (ค.ศ. 1973) ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการและเพิ่งผ่านสงครามเย็นมาหมาดๆ หนังไทยจึงมีพล็อตที่บ้างก็มาจากนิยายไทย บ้างก็มีความเมโลดรามา เกิดการผลิตซ้ำเรื่องเพ้อฝันและเรื่องบันเทิงใจ รวมไปถึงหนังโป๊หรือหนังที่มีฉากล่อแหลม และในหลายกรณี ฉากเหล่านั้นก็นับว่าตกยุคไปเรียบร้อยแล้ว อย่างฉากที่นางเอกถูกพระเอกข่มขืนใน ‘เขาชื่อกานต์’ (2516/1973, หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) ซึ่งอาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์และอาจารย์ด้านภาพยนตร์ ยกตัวอย่างขึ้นมา

ที่มาภาพ: หอภาพยนตร์

คุณโดมจึงเล่าเสริมว่าหนังโป๊มีมาตั้งแต่สมัยก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ในฐานะส่วนหนึ่งของหนังครบรส และหนึ่งในรสเหล่านั้นคือรสของความโป๊ “กฎหมายเซ็นเซอร์ห้ามเห็นอวัยวะเพศกับขน แต่ถ้าไม่เห็นไม่เป็นไร จูบปากไม่ห้าม ทัศนะชายเป็นใหญ่ก็ครองมาแต่แรกแล้วไม่ว่าก่อนหรือหลัง 14 ตุลาฯ ข่มขืน ฉุด ฆ่า เป็นเรื่องปกติ ตอนนั้นที่ดู ‘เขาชื่อกานต์’ ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่าผิดปกติ นอกจากนั้นยังมีเรื่องดาวยั่ว เต้นยั่วยวน คำหยาบก็ใช้ได้เต็มที่ แต่ก่อนหน้านี้ในยุคหนัง 16 มม. ยังมีการควบคุม”

“เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2513 (ค.ศ. 1970)” คุณชาญชนะ หอมทรัพย์ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เล่าต่อให้เห็นภาพกว้างของพลวัตนี้

“เกิดหนัง [เรื่องแรก] ของเปี๊ยกโปสเตอร์ เช่น ‘โทน’ (2513/1970, เปี๊ยก โปสเตอร์) คุณเปี๊ยกตั้งใจทำหนังให้พ้นจากคำสบประมาท เน้นความเป็นศิลปะของการถ่ายและการตัดต่อ จนได้รับการชื่นชมจากคนรุ่นใหม่ ชนบทกับเมือง ชาวบ้านกับปัญญาชน เสพสื่อต่างกัน แต่หนังเรื่อง ‘โทน’ ทำให้นักศึกษากลับมาดูหนังไทย หรือการทำ ‘มนต์รักลูกทุ่ง’ (2513/1970, รังสี ทัศนพยัคฆ์) ที่ครองใจชาวบ้าน กลายเป็นปรากฏการณ์ ยืนโรงฉายนานหกเดือน”

หลังจากนั้น ท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) ก็ทำ ‘เขาชื่อกานต์’ หนังสร้างมาจากจากนิยายของสุวรรณี สุคนธา เกี่ยวกับอุดมการณ์ของคนหนุ่มสาวและการต่อสู่กับระบบราชการและคอรัปชั่น ตัวนิยายได้รับรางวัลจาก สปอ. (องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEATO) และสักกะ (ณรงค์) จารุจินดา คลื่นลูกใหม่ในยุคเดียวกับท่านมุ้ยก็ทำ ‘ตลาดพรหมจารีย์’ (2516/1973, ณรงค์ จารุจินดา) สะท้อนชีวิตชนชั้นล่างผ่านโศกนาฏกรรมของหญิงสาวในครอบครัวชาวประมงที่คนเป็นพ่อพยายามจะขายเธอให้กับวงการโสเภณี หนังถูกสร้างออกมาในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับหนังในกระแสนีโอเรียลลิสม์ของอิตาลีที่เล่าเรื่องของคนตัวเล็กตัวน้อยแบบสมจริง ทั้งในแง่ของการเล่าเรื่องและการถ่ายทำ

“หนังเหล่านี้เข้ามาเปลี่ยนทัศนคติคนหนุ่มสาว” คุณชาญชนะกล่าว

ที่มาภาพ: ไทยบันเทิง

นอกจากนี้ คุณโดมยังเพิ่มเติมว่าการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งในยุคหลัง 14 ตุลาฯ คือนักศึกษาเกือบจะไม่มีโอกาสได้เข้าไปทำงานในวงการหนัง เพราะวงการหนังมีความกระจุกอยู่ในครัวเรือน ถึงอย่างนั้นก็ยังมีกลุ่มคนใหม่ๆ ที่เดินเข้ามา ตั้งแต่กลุ่มคนทำหนังรุ่นใหม่อย่างยุทธนา มุกดาสนิท และปกรณ์ พรหมวิทักษ์ และกลุ่มคนทำโฆษณาอย่างเพิ่มพล เชยอรุณ, คิด สุวรรณศร, เทียนชัย ณ ชาญชัย, วีระประวัติ วงษ์พัวพันธุ์ รวมถึงบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ที่มาจากการเป็นนักหนังสือพิมพ์ ก็จะมีสปิริตของการเป็นนักต่อสู้

แต่ถึงเสรีภาพจะเบ่งบานในวงการภาพยนตร์ และดูเหมือนรัฐจะผ่อนคลายความเข้มงวดเกี่ยวกับการเมืองในหนัง แต่กองเซ็นเซอร์ก็ยังทำงานอยู่ คุณชาญชนะจึงเอ่ยปากถามคุณชายอดัม (หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล) คนทำหนังและทายาทของท่านมุ้ย ซึ่งอยู่ในห้องสนทนาในวันนั้นว่า ท่านมุ้ยต่อสู้กับกองเซ็นเซอร์อย่างไรในยุคนั้น ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตแบบหลวมๆ จากผู้ร่วมสนทนาหลายท่านว่า ‘การเป็นเจ้า’ ย่อมทำให้ได้รับการตอบสนองที่ต่างไป

“จากที่ท่านพ่อเล่าให้ฟัง สิ่งที่ท่านพ่อทำตอนนั้นคือเข้าไปขอพบจอมพลถนอม เข้าไปฉายหนังให้ดูและถามว่าเป็นความจริงรึเปล่า” คุณชายอดัมคลายข้อสงสัย

“จอมพลถนอมก็บอกว่ามีเค้าโครงของความเป็นจริงอยู่ ถ้ามันกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็เป็นประโยชน์ หนังจึงได้บายพาสกองเซ็นเซอร์และได้ฉาย จริงๆ ตอนนั้นมันจะมีลิสต์ว่าใครบ้างที่ทำหนังก้าวหน้าๆ หรือหนังที่พูดเรื่องคอมมิวนิสต์ ท่านพ่อค้นพบหลักฐานการรายงานการเคลื่อนไหวตลอดทั้งวันว่า ใครไปไหนกับใคร เจอใครบ้าง แสดงว่าในตอนนั้นคนทำหนังก็ถูกจับตามองโดยภาครัฐระดับหนึ่ง”


6 ตุลา 2519: ประวัติศาสตร์และปัญหาสังคมมิใช่เพียงประเด็นรอง

“พอเข้าปี 2520-2521 การฆ่ากลางเมืองทำให้คนช็อค แต่เขาก็ยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จ ก่อนจะคลาย” คุณโดมเล่าย้อนไปถึงช่วงหลังจากที่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 (ค.ศ. 1976) เพิ่งผ่านไป “สมัยธานินทร์มีการประชุมเพื่อสนับสนุนวงการหนัง แต่รอบนี้ประกาศขึ้นภาษีหนังต่างประเทศจาก 1 เป็น 30 บาท ทำให้ฮอลลีวู้ดบอยคอตต์ ไม่ส่งหนังมา หนังไทยเลยเกิดขึ้นเยอะในจังหวะนี้ ปกติ 100-120 เรื่อง ในยุคนี้กลายเป็น 140-150 เรื่อง ต่อมาทีวีสีราคาถูกลง คนเลยเอนไปทางทีวีเยอะขึ้น เริ่มมีวิดีโอดูในบ้าน”

ทั้งสองอย่างนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในวงการหนัง ทั้งจำนวนของหนังไทยที่ถูกสร้าง และการเล่าเรื่องเกี่ยวกับการเมืองในหนังไทยที่ไม่ได้เล่าเรื่องชะตากรรมของผู้คนแบบเมโลดรามาหรือพูดถึงความยากจนเหลื่อมล้ำแบบเดียวกับในยุคก่อน แต่เริ่มมีพล็อตและตัวละครหลักแบบที่ไม่เคยมี และมีการเล่าเรื่องด้วยวิธีที่ค่อนข้างท้าทายกระแสสังคมและท้าทายอำนาจรัฐไปพร้อมกัน คุณชายอดัมเล่าว่า

“พอเหตุการณ์เริ่มเบาลง คนทำหนังยุคนั้นเลยหาวิธีหลบและหลีกเลี่ยงภาครัฐได้ แต่แรงปะทะยังมีอยู่บ้าง แม้จะไม่สูงเท่าช่วงแรก สภาพสังคมก็มีประเด็นให้หยิบจับมาตีแผ่ มาวิพากษ์ภาครัฐทางอ้อม คนทำหนังใช้การตีความและการเล่าเรื่องแบบหลบเลี่ยงกันมาก เพื่อไม่ให้ถูกจับตาจนเกินพอดี ทำให้เกิดการสร้างเนื้องานมาคานซึ่งกันและกัน ดุเดือดพอสมควร”

ที่มาภาพ: Thai Movie Posters
ไผ่แดง
ที่มาภาพ: หอภาพยนตร์

‘ชีวิตบัดซบ’ (2520/1977, เพิ่มพล เชยอรุณ) และ ‘ไผ่แดง’ (2522/1979, เพิ่มพล เชยอรุณ) ถูกยกขึ้นมาพูดถึงในวงสนทนาเป็นเรื่องแรกๆ “ในชีวิตบัดซบ ตัวละครอยู่ในสลัม ชีวิตโดนกดทับ อยู่ในวงโคจรของอาชญากรรม เป็นหนังที่แปลกในช่วงเวลานั้น คงได้รับอิทธิพลจากเรื่อง ‘Straw Dogs’ (1971, Sam Peckinpah) ที่ตัวละครอยู่ในบ้านที่ต้องเดินผ่านสลัม สิ่งแวดล้อมที่แย่ ถูกกดทับจนระเบิดออกมา” อาจารย์ประวิทย์ยกตัวอย่างขึ้นมา และนอกจากสองเรื่องดังกล่าว คุณก้อง ฤทธิ์ดี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ยังพูดถึงหนังของคุณเพิ่มพลอีกเรื่องนั่นคือ ‘สัญชาตญาณโหด’ (2521/1978, เพิ่มพล เชยอรุณ)

“ยุคนั้นนายทุนเปิดกว้าง พอคนสร้างเปิดกว้างทางความคิด คนดูเปิดใจพร้อมรับหนังแปลกๆ หนังแบบยุคนั้น ยุคนี้คนก็ไม่กล้าจะทำกันแล้ว เรื่องที่ผมเพิ่งดูเรื่องหนึ่งคือสัญชาตญาณโหด พบว่ามันสมัยใหม่และมาก่อนกาลมาก เกี่ยวกับทหารที่ไปรบสมรภูมิลาว พอกลับมาไทยก็อยู่ในสลัม ถูกกดดันด้วยระบบราชการ เบิกเงินทหารผ่านศึกไม่ได้ แล้วก็ไปพัวพันกับการค้ามนุษย์ คล้ายๆ กับหนังทหารอิรักที่มีอาการ PTSD คุณเพิ่มพลแช่ช็อตยาวกว่าปกติ คิดเยอะ ทำให้มันไม่เหมือนหนังตลาดทั่วไป สิ่งที่พูดๆ อยู่ ถ้าออกตอนนี้มันจะได้ออกไหม ทำไปทำมา มันแคบลง แคบลง”

“ตอนเรียนเราจะเห็นโปสเตอร์หรือคัตเอาท์ที่มีการแทรกตรงไหนสักแห่งเพื่อทำให้เรารู้ว่ามันมีฉากวับๆ แวมๆ แต่หลัง 6 ตุลาฯ มันกลับไปเป็นแบบนั้นไม่ได้ มันเลยมี ‘เทพธิดาบาร์ 21’ (2521/1978, ยุทธนา มุกดาสนิท) มี ‘เมืองในหมอก’ (2521/1978, เพิ่มพล เชยอรุณ) มีหนังที่ตั้งคำถาม เป็นอุปมาอุปมัย คุณเพิ่มพลเป็นหัวหอกคนหนึ่ง ‘คนขวางโลก’ (2527/1984, เพิ่มพล เชยอรุณ) และ ‘ไผ่แดง’ ที่ทำมาจากนิยายของคึกฤทธิ์ ทำให้มันมีคอมมิวนิสต์อยู่ในเรื่อง หรือ ‘ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น’ (2520/1977, หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) ที่ตัวละครต้องกลับบ้านเพราะมีเคอร์ฟิว ทำให้หนังช่วงนั้นไม่ได้สยบยอม เป็นมูฟเมนต์ที่คนทำหาทางเล่าเรื่องที่จะสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น ฉะนั้นต้นทศวรรษ 2520 ด้านหนึ่งจะมีหนังที่เป็นแนวประโลมโลก ขวาจัด อย่าง ‘สิงห์สำออย’ (2520/1977, ดอกดิน กัญญามาลย์) ก็เป็นหนังขวาจัดที่โคตรสนุก ในอีกด้านหนึ่งก็จะมีหนังที่เป็นลิเบอรัล ซ้ายหน่อย พูดถึงมวลชน”

นอกจากนั้น คุณก้องยังพูดถึงเรื่อง ‘ครูสมศรี’ (2528/1985, หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) ขึ้นมา ว่าเป็นเรื่องที่มีความท้าทาย เพราะเป็นเรื่องแรกที่พูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แบบตรงไปตรงมาทั้งที่รัฐพยายามไม่พูดถึง นอกจากนั้นยังสามารถเอาภาพจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาแทรกได้ มาถึงประเด็นนี้ คุณชายอดัมจึงเล่าว่าปกติแล้วท่านพ่อท่านแม่เป็นคนบ้าระห่ำและมักจะถือกล้องเข้าไปถ่ายอะไรต่อมิอะไรเสมอ “และด้วยความเป็นเจ้า ตอนนั้นก็เลยได้เข้าไปในพื้นที่ที่เป็นห้องประชุม มีแกนนำ มีภาพของคนฝั่งภาครัฐและภาคประชาชน แล้วท่านก็หยิบมาใช้เมื่อเวลาเหมาะสม ซึ่งก็คือตอนครูสมศรี เสียดายที่ฟุตเทจทั้งหมดหายไปหมดแล้ว”

บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เป็นอีกหนึ่งคนทำหนังที่ถูกพูดถึงในวงสนทนาว่ามักจะถูกมองข้าม เพราะแม้แต่ ‘บุญชูผู้น่ารัก’ (2531/1988, บัณฑิต ฤทธิ์ถกล) ก็ยังมีการสอดแทรกเรื่องการเมืองเข้าไป นอกจากนั้นหลายท่านยังเห็นตรงกันว่าอีกเรื่องที่สำคัญมากของเขาคือ ‘คนดีที่บ้านด่าน’ (2528/1985, บัณฑิต ฤทธิ์ถกล) ที่เล่าเรื่องของนักมวยคาดเชือกที่ไปออกค่ายอาสาของนักศึกษาแล้วเจอมาเฟียค้าไม้ มีคาราบาวมาเล่น และมีฉากการต่อสู้ที่ดุเดือด

คุณสุภาพ หริมเทพาธิป เล่าเสริมว่า “พี่บัณฑิตแกมาจากการเป็นนักข่าว ช่วงที่เป็นนักข่าว แกก็จะไปคลุกคลีอยู่ที่บ้านของทนายความที่ทำงานเคลื่อนไหว พอวางมือจากหนังสือพิมพ์ก็มาทำหนัง ทั้งเขียนบทและเป็นผู้ช่วยผู้กำกับของชุมพร เทพพิทักษ์, ฉลอง ภักดีวิจิตร และชรินทร์ นันทนาคร การทำหนังของแกเลยจะมีรูปแบบของความเป็น old school มีการเขียนบทหน้ากอง เขียนบทบนซองบุหรี่ มันจะมีภาพอยู่ในหัวว่าถ่ายยังไง ตัดต่อยังไง กล้องเข้าออกยังไง แล้วมันก็จะมีความสดแบบคนทำหนังรุ่นเก่าที่ตื่นมาเขียน shooting script ตอนเช้าแล้วออกไปถ่าย”


พฤษภาฯ 2535 (ค.ศ. 1992) และพฤษภาฯ 2553 (ค.ศ. 2010): เราเรียนรู้อะไรบ้างจากอดีต?

“มันเป็นยุคที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย เราเรียนอยู่ที่ขอนแก่น มันทำให้เรารู้สึกห่างไกลมาก มารู้ทีหลังจากสื่ออย่างหนังสือสารคดี” คุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หนึ่งในคนทำหนังที่ร่วมวงเสวนาในวันนี้พูดขึ้นเมื่อเราเดินทางมาถึงยุคพฤษภาทมิฬ ในขณะที่คุณคงเดช จาตุรันต์รัศมี คนทำหนังที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองอันเป็นสถานที่เกิดเหตุเริ่มเล่าย้อนไปยังช่วงเวลานั้น

“ตอนนั้นผมเพิ่งจบปีสามและกำลังจะขึ้นปีสี่ เรารู้ข้อมูลเกี่ยวกับมันน้อยมากและรู้จากกระแสและสื่อหลักมากกว่า แต่แน่นอนมันสร้างความรู้สึกตื่นเต้น เราเห็นภาพม็อบแบบที่เราเคยเห็นในอดีต แต่เปลี่ยนจากนักศึกษาเป็นชนชั้นกลาง คนทำงาน มันแปลกใหม่สำหรับเรา เราเองในฐานะนักศึกษาเราก็เป็นชนชั้นกลาง เราไม่ได้รู้ตื้นลึกหนาบางเท่าม็อบทุกวันนี้ แต่วัยทำให้เราเกิดความรู้สึกอยากเรียกร้องสิทธิของตัวเอง มันเป็นสิทธิของเราและเราควรได้เป็นเจ้าของมัน”

“มันเป็นม็อบที่มี pop culture อยู่ด้วย” คงเดชเล่าต่อพร้อมไขข้อสงสัยว่าทำไมใน ‘สยิว’ (2546/2003, คงเดช จาตุรันต์รัศมี) หนังเรื่องแรกของเขา จึงมีการพูดถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และอะไรทำให้มันมาอยู่ในความทรงจำของเขาในฐานะคนทำหนัง “เราเลยเลยไปถึงพวกละคร นักร้องเพลงป๊อปในยุคนั้น หรือดาราเซ็กซี่ที่อยู่ในบริบทเดียวกับการเมืองช่วงนั้น ทุกอย่างมันใหม่และพุ่งเข้ามาพร้อมๆ กัน มันสะท้อนกันและกันอยู่ เราเลยอยากให้มันสะท้อนแบบนี้ในหนังเช่นกัน”

ส่วนคุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ เล่าต่อในฐานะนักศึกษาธรรมศาสตร์ในยุคก่อนหน้าคงเดชและอภิชาติพงศ์เล็กน้อย “เรารู้สึกว่าคนยุค 14 ตุลาฯ กลับมาแอคทีฟกันมาก เหมือนเป็น 14 ตุลาฯ รียูเนียน เราในฐานะนักศึกษากลับเป็นคนข้างสนาม ไม่รู้ว่าจะเข้าไปร่วมกับพี่ๆ เขาดีไหม ก็เลยได้แต่ไปยืนดู จนมีการยิงในวันที่ 17 พฤษภาฯ เราไม่ได้อยู่ข้างใน แต่เรายืนอยู่ข้างสนาม ดูวัยกลางคนเคลื่อนไหวกันแทน” ซึ่งคุณโดมก็เห็นด้วย “ตอน 14 ตุลาฯ เราเพิ่งเรียนจบ คนรุ่น 14 ตุลาฯ กลายเป็นคนวัยกลางคน เริ่มประสบความสำเร็จในชีวิต มีมือถือ มันเลยเป็นชุมนุมศิษย์เก่าจริงๆ”

“ช่วงนั้นที่ธรรมศาสตร์บรรยากาศดีมาก อาจารย์เสก (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) เพิ่งกลับมา คุณจี๊ด (จีระนันท์ พิตรปรีชา) ก็เพิ่งได้ซีไรท์” คุณชลิดาเสริม

คุณภาณุ อารี เล่าว่า ช่วงนั้นเกิดกระบวนการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ทหารในหนัง ซึ่งคนก็จะไม่ค่อยดูหนังพวกนั้น แต่ก็จะมี ‘เวลาในขวดแก้ว’ (2534/1991, ประยูร วงษ์ชื่น, อนุกูล จาโรทก และอมรศรี เย็นสำราญ) ที่สร้างจากนวนิยายของประภัสสร เสวิกุล และมีเรื่องของนักศึกษาที่วิ่งหนีออกมาจาก 6 ตุลาฯ และฉายภาพ 6 ตุลาฯ ผ่านทีวี อาจารย์ประวิทย์เสริมว่าเป็นเพราะผู้สร้างหนังเรื่องนี้ ได้แก่ คุณประยูร คุณอนุกูล และคุณอมรศรี เป็นคนอีกวัยหนึ่ง จึงทำให้มีเรื่อง 6 ตุลาฯ ในหนัง

“ตอนพฤษภาทมิฬ คนที่โตมาเหมือนไม่ค่อยรู้จัก 6 กับ 14 ตุลาฯ กันแล้ว ในบทเรียนไม่มีการพูดถึง เป็นวิธีการที่รัฐทำมาตลอด นั่นคือทำให้ประชาชนไม่สามารถต่อติดกับเหตุการณ์ในยุคนั้นได้ มันเพิ่งกลายเป็นอีเวนต์ที่คนรู้จักกันมากมายเมื่อ 10-15 ปีที่ผ่านมานี่เอง”

เมื่อวกกลับมาพูดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จึงมีการยกภาพยนตร์เรื่อง ‘14 ตุลา สงครามประชาชน’ (2544/2001, บัณฑิต ฤทธิ์ถกล) ขึ้นมาในวงสนทนา “ตอนดู 14 ตุลา สงครามประชาชน ผมชอบมาก” อาจารย์ประวิทย์เล่าความรู้สึก “เขาไม่ได้พูดถึง 14 ตุลาในฐานะชัยชนะ แต่ในฐานะความพ่ายแพ้ เพราะเขาไม่สามารถปกป้องมวลชนให้ไม่บาดเจ็บได้ และพอเข้าป่าก็ต้องออกมา มันคือความผิดหวัง” คุณชลิดาจึงเสริมว่า ตอนแรกชื่อเรื่องคือ ‘คนล่าจันทร์’ ซึ่งมาจากเรื่องสั้นของคุณเสกสรรค์ที่ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องข้างเคียง แต่เล่าจากมุมมองของปัจเจกมากกว่า

อย่างไรก็ดี เป็นที่สังเกตได้ว่าหนังยุคหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬน่าจะมีเสรีภาพมากกว่าเดิม แต่คุณภาณุตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อมาถึงยุคหลังรัฐประหารปี 2549 (ค.ศ. 2006) กลับไม่เป็นอย่างนั้น

“หลังจากที่นายกทักษิณถูกรัฐประหาร นำมาสู่การที่มวลชนที่สนับสนุนออกมาเรียกร้อง ผมจำได้ว่าเจ้ยออกไปที่คานส์พร้อม ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ (2553/2010, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ในตอนปี ’53 โดยที่หนังมีการพูดถึงการปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่นาบัวในทศวรรษ 1960 มันไม่ค่อยมีใครพูดถึงการเมืองแล้วย้อนไปไกลกว่า 14 ตุลาคมเท่าไหร่ในตอนนั้น”

“ปกติผมไม่ได้สนใจการเมืองแบบการเมืองจริงๆ แต่ก่อนนี้จะสนใจการเมืองเรื่องเพศ เรื่องชายแดน หรือสิ่งแวดล้อมมากกว่า” อภิชาติพงศ์เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของหนังในทางการเมือง “แต่พอมาทำลุงบุญมี มันเริ่มจากมีหนังสือเล่มนึงที่ได้จากพระข้างบ้าน เขียนเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้ชายระลึกชาติได้หลายชาติ มีชื่อ มีนามสกุล ผมเริ่มโครงการโดยที่มันจะเกี่ยวโยงจากงานศิลปะที่ทำ ซึ่งมีรายละเอียดเยอะกว่าหนัง เราเดินทางไต่แม่น้ำโขงตามหาลุงบุญมีไปเรื่อย เราคุยกับชาวบ้านและเริ่มคิดว่านอกจากความทรงจำของลุงบุญมี ความทรงจำของคนภาคอีสานแถวเลียบแม่น้ำโขงก็น่าสนใจ [พวกเขา] เริ่มได้รับผลกระทบจากความรวนของระดับแม่น้ำโขงจากการสร้างเขื่อนในจีน แล้วผมก็เดินทางไปกับป้าเจนและน้องๆ เป็นการทำหนังที่คล้ายกับการทำรีเสิร์ช เราไปสะหวันนะเขตก่อน แล้วมาที่นาบัวเพื่อตามรอยอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แล้วก็เริ่มต่อจิกซอว์เอง

“เรามาจากขอนแก่น ซึ่งมีอนุสาวรีย์สฤษดิ์ ที่เราก็สงสัยมานานแล้วว่าคือใคร จนต่อจิกซอว์ได้ แต่ที่น่าสนใจคือการสัมภาษณ์รายละเอียดที่เกิดขึ้นก่อนปี 2508 (ค.ศ. 1965) ที่คอมมิวนิสต์เริ่มเข้ามาจากเวียดนามแล้ว เหตุการณ์วันเสียงปืนแตกก็เกิดที่นาบัว ตอนนั้นหมู่บ้านก็ถูกล้อม จะไปไหนต้องประทับตราที่มือ ถูกควบคุมเหมือนคุก มีการขโมยวัวควายชาวบ้านและมีการข่มขืนด้วย ชาวบ้านถูกข่มขืนทั้งด้านจิตวิทยาและร่างกาย และประวัติศาสตร์ก็ยังไม่เคยถูกชำระ

“แล้วพูดถึงตอนไปคานส์ [ในปี 2553 (ค.ศ. 2010)] ตอนนั่งรถไปสนามบิน ผมยังเห็นควันลอยมาอยู่เลย เสียงตอบรับที่นั่นก็น่าสนใจ เราได้รางวัลแล้วไม่ได้กลับมาทันที แล้วก็เกิดดราม่าเพราะดันไปพูดไม่ถูกใจใคร แต่เรื่องของภาคอีสานมันโยงใยกับการใช้อำนาจของส่วนกลาง เหมือนกับนักศึกษาที่เข้าไปในป่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคอีสานทั้งหมด จากอดีตและปัจจุบัน มันทำให้เราเห็นว่ามันไม่ได้เปลี่ยนไปเท่าไหร่”

นอกจากเรื่องของลุงบุญมีแล้ว ยังมีหนังในยุคหลัง 2553 (ค.ศ. 2010) อีกเรื่องที่ให้ความสำคัญกับฉากหลังและช่วงเวลาในเรื่องมาก นอกจากนั้นยังมีฉากเหตุการณ์พฤษภาฯ 2553 ปรากฏอยู่ นั่นคือ ‘ตั้งวง’ (2556/2012, คงเดช จาตุรันต์รัศมี) “เรามีลูกตอนปี 49 แล้วมันก็เกิดรัฐประหารขึ้น ผ่านมา 14-15 ปีแล้ว มันก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น” นี่คือความรู้สึกของเขา

“การสร้าง ‘ตั้งวง’ เริ่มจากกระทรวงวัฒนธรรมและพี่ปุ๊ก (พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์) เรารับมาด้วยเงินด้วยซ้ำ แต่พอพูดถึงวัฒนธรรมไทย เราก็ใบ้กิน แล้วมันก็ผ่าน ’53 มาไม่นาน แผลมันยังสดมาก ท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้เรายังจะมาพูดเรื่องวัฒธรรมไทยแบบนี้กันอยู่อีกหรอ เราเลยเขียนไปเลยว่า เด็กวัยรุ่นจะโตกันมาแบบไหน เวลาทำหนังเรามักจะโฟกัสเรื่องคนตัวเล็กตัวน้อยอยู่แล้ว พอตอนตั้งวง เราสนใจเด็กวัยรุ่นที่โตขึ้นมาด้วยสภาพแวดล้อมแบบนี้ว่าเขามองช่วงเวลาเหล่านั้นยังไง

“ตอนนั้นลูกยังเล็กและผมก็กำลังใบ้กินกับอาชีพตัวเอง เพราะทำหนังกับสตูดิโอเรื่อง ‘กอด’ (2551/2008, คงเดช จาตุรันต์รัศมี) แล้วมันก็ค่อนข้างล้มเหลว ตอนนั้นเราคิดว่า เรากำลังกลับมามองหาอนาคตตัวเองเหมือนกับเด็กวัยรุ่นในเรื่องนี้เหมือนกัน

ที่มาภาพ: Catdumb

“ส่วนตอนทำ ‘Snap’ (2558/2015, คงเดช จาตุรันต์รัศมี) อย่างแรกคือเวลาเราทำหนัง เรามักจะสนใจคนเล็กคนน้อยเสมอ เพราะว่าหนังในระบบไม่ค่อยพูดถึงกัน แล้วพอมันเป็นแบบนั้น หลัง ’49 มา ก็รู้สึกได้ชัดว่า การเมืองมันพันผูกกับชีวิตมาก เราอาจจะมีทัศนคติทางการเมืองแบบนี้แล้วคุณภาพชีวิตมันยังไม่ดี เรื่องแบบนี้มันเลยเข้าไปอยู่ในพล็อตเสมอ Snap เป็นช่วงที่เรานึกถึงผู้คนที่เลือกทางต่างๆ กัน เลือกจะสนับสนุนใครต่างกัน การเลือกมันทำให้หลายๆ ความสัมพันธ์มีปัญหา และสำหรับหลายคน มันจบลง เราเลยอยากบันทึกสิ่งนี้เอาไว้ในรูปแบบของหนังรัก เราทำเพื่ออุทิศให้คนที่เคยเป็นเพื่อนกันแล้วไม่ได้เป็นเพื่อนกันต่อ มันเป็นเรื่องเศร้าที่การเมืองทำให้มันเกิดขึ้น”


จากการพยายามเล่าเหตุการณ์ทางการเมืองและการเมืองเรื่องความเหลื่อมล้ำผ่านสื่อภาพยนตร์ตรงๆ เพื่อฉายให้เห็นภาพกว้างของสถานการณ์การเมืองในยุคหลัง 14 ตุลาฯ และการสอดแทรกทัศนคติทางการเมืองของคนทำเพิ่มเข้าไปในยุคหลัง 6 ตุลาฯ ทั้งแบบตรงไปตรงมาและแบบหลบเลี่ยง (ไม่ว่าจะเพื่อตอบโจทย์ทางศิลปะหรือเพื่อให้รอดพ้นจากการถูกจับตามองโดยรัฐ) มาจนถึงยุคปัจจุบันที่คนทำหนังมักจะใช้สภาวะไร้ทางออกของคนตัวเล็กตัวน้อยหรือคนธรรมดาเป็นเครื่องมือในการบอกเล่าประเด็นทางการเมืองหรือผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง น่าจับตามองยิ่งนักว่า รูปแบบการทำหนังของนักทำหนังชาวไทยต่อจากนี้จะขยับเขยื้อนเคลื่อนย้ายไปในทิศทางใด ภายใต้การจับตามองของภาครัฐที่ไม่เคยหายไป

เป็นไปได้ว่าคนทำหนังอาจเล่าเหตุการณ์ความสูญเสียในอดีตและการแสดงจุดยืนทางการเมืองในรูปแบบที่คลุมเครือขึ้นกว่าทศวรรษที่ผ่านมา และก็เป็นไปได้เช่นกันว่าพวกเขาอาจพยายามเผยให้เห็นอิทธิพลของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เข้าไปแทรกซึมอยู่ในทุกอณูชีวิตของปักเจกชนคนเดินถนน โดยไม่แตะเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองอีกต่อไป

แต่ไม่ว่าจะเป็น ‘การเมือง’ ในความหมายใด มันจะไม่มีทาง ‘ไม่ปรากฏ’ อยู่ในสื่อภาพยนตร์ไทยหลังจากนี้เป็นแน่

Tiger: อ่านระหว่างบรรทัดชีวิตนักกอล์ฟดัง

เมื่อพูดถึงสารคดี สิ่งหนึ่งที่เราคาดหวังจากมันก็คือ “ความเป็นกลาง” หรือการเล่าเรื่องอย่างตรงตามความเป็นจริงที่สุด ดังที่แมทธิว ฮามาเช็ค ได้พูดเอาไว้เกี่ยวกับสารคดี Tiger ที่ตีแผ่ชีวิตอันขึ้นสุดลงสุดของนักกอล์ฟดังอย่าง ไทเกอร์ วูด

“มีแรงผลักดันอย่างต่อเนื่องในส่วนของเรา เพื่อที่จะทำให้แน่ใจว่า แม้เราจะไม่มีไทเกอร์ เราก็ได้สะท้อนเสียงของเขา และเราก็ให้ผู้คนที่รู้จักเขาดีพาเราเข้าไปอยู่ในความคิดของเขา”

สารคดีเรื่องนี้กำกับโดยแมทธิว ไฮน์แมน และแมทธิว ฮามาเช็ค โดยส่วนหนึ่งของเรื่องได้รับอิทธิพลมาจากหนังสือชีวประวัติของวูด โดยอาร์เมน เคเทเยียน และเจฟฟ์ เบเนดิก โปรดสังเกตว่ามันไม่ใช่ “อัต” ชีวประวัติ เพราะไทเกอร์ วูดไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้เลยสักนิดเดียว

“เราต้องเล่าเรื่องอย่างตรงตามความเป็นจริง แต่มันมีเหตุผลอยู่ที่เราต้องใส่ทุกรายละเอียดลงไป”

สารคดีความยาวสองตอน รวมกันกว่าสามชั่วโมงนี้ เล่าเรื่องชีวิตของไทเกอร์ วูด ตั้งแต่ตอนที่เขายังเป็นเด็ก ได้รับการสนับสนุนให้ฝึกกอล์ฟ โดย เอิร์ล วูด ผู้เป็นบิดา จนเริ่มไต่เต้าไปสู่ความเป็นมืออาชีพด้านกอล์ฟ จนกระทั่งกลายเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นที่สุดในวงการที่ถูกครอบงำโดยคนผิวขาวมาแสนนาน และได้เป็นพรีเซนเตอร์แบรนด์ดังอย่างไนกี้ สารคดีไปถึงจุดไคลแม็กซ์เมื่อมันตีแผ่เรื่องชีวิตทางเพศของวูด ที่มีความสัมพันธ์กับหญิงสาวมากหน้าแม้จะแต่งงานและมีลูกแล้ว หนึ่งในฟุตเตจมาจากการสัมภาษณ์เรเชล ยูคิเทล เจ้าของบาร์โฮสต์ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมียน้อยของไทเกอร์ วูด รวมถึงแฟนเก่าของไทเกอร์ในวัยมัธยม ชีวิตของเขาไปถึงจุดต่ำสุดเมื่อเขาถูกจับระหว่างขับรถ โดยตำรวจตรวจพบว่าเขาใช้ยาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทหลายตัว

“โปรดให้อภัยผมด้วย แต่บางครั้งผมก็รู้สึกอ่อนไหวเมื่อพูดถึงลูกชายผม” เอิร์ล บิดาผู้ล่วงลับของวูดกล่าวในฟุตเตจช่วงต้นของสารคดี “หัวใจผมเต็มไปด้วยความปิติเมื่อรู้ว่าเด็กชายคนนี้จะช่วยคนอีกมากมาย” เขาอยู่ในงานเลี้ยงมอบรางวัลด้านกอล์ฟของมหาวิทยาลัย และได้ขึ้นไปพูดบนเวทีในชุดสูทสีดำ “เขาจะนำความเป็นมนุษยนิยมมายังโลกใบนี้แบบที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน…โลกจะกลายเป็นสถานที่ที่ดีขึ้นด้วยคุณธรรมจากการดำรงอยู่ของเขา”

ไทเกอร์ วูด แสดงอัจฉริยภาพด้านกอล์ฟตั้งแต่เขายังเด็กมาก และพ่อของเขาก็ตอบรับเสียงจากสวรรค์นั้นด้วยการให้เขาฝึก ฝึก และฝึก จนวันหนึ่งครูระดับประถมของไทเกอร์ถึงกับเอ่ยปากถามพ่อของเขาว่า เด็กชายจะฝึกกีฬาอย่างอื่นบ้างได้ไหม แต่โดนเอิร์ลปฏิเสธ คนที่ขอให้เธอไปพูดกับเอิร์ลก็คือไทเกอร์เอง

“เขา (เอิร์ล) เป็นคนกวนประสาทตัวจริง” มอรีน เดคเคอร์ ครูคนนั้นบอกกับทีมงานสารคดี

ชีวิตวัยเด็กของไทเกอร์อาจเรียกได้ว่าขาดไร้ซึ่งความเป็นเด็ก เพราะทุกลมหายใจของเขาคือกอล์ฟ ดินา พารร์ แฟนสาวคนแรกของไทเกอร์ในสมัยมัธยมได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนไทเกอร์อยู่กับเธอเท่านั้นที่เขาได้ปลดปล่อยความเป็นเด็กออกมาจริงๆ และออกมาจากสิ่งแวดล้อมอันเข้มงวดของที่บ้านบ้าง

ไทเกอร์เป็นเด็กที่แบกรับความคาดหวังมหาศาลเอาไว้ และเขาก็แสดงออกเหมือนกับว่าเขาทำมันได้ดี ชีวิตของเขามีพ่อเป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นเสมือนเพื่อนที่ดีที่สุดของเขา แต่การเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดนี้มันดีสำหรับเขาจริงๆ หรือเปล่า?

“ดูเหมือนบางครั้งไทเกอร์ต้องการพ่อมากกว่าเพื่อน” เพื่อนคนหนึ่งของครอบครัววูดให้สัมภาษณ์ “และเอิร์ลก็ดูไม่ได้ทำหน้าที่ของพ่อ มากกว่าที่จะเป็นเพื่อนให้เขา”

ไทเกอร์เขียนจดหมายไปบอกเลิกแฟนสาวของเขา ดินา ด้วยเหตุผลว่าการคบกับเธอจะไม่ดีกับอนาคตของเขา เห็นได้ชัดว่าเขาทำเช่นนั้นด้วยอิทธิพลของครอบครัว

ตัดภาพกลับมาในตอนที่ไทเกอร์ประสบความสำเร็จ เขาได้พบกับอีเลน ภรรยาของเขา และทั้งคู่ก็แต่งงานกัน ทุกอย่างดูไปด้วยดี แต่แล้วไทเกอร์ก็เริ่มไปเที่ยวลาสเวกัสและมั่วผู้หญิง หนังมาเฉลยตอนช่วงหลังว่ามันเป็นภาพซ้อนทับกับเอิร์ลในวัยหนุ่ม ที่มักจะไปกับผู้หญิงที่เขาเจอที่สนามกอล์ฟ

เพื่อนคนหนึ่งของไทเกอร์เล่าว่า เขาดูจะจัดการได้ไม่ดีนักกับความรู้สึกที่ซับซ้อน และเลือกที่จะตัดทุกคนในชีวิตออกไปเมื่อเกิดปัญหา ดังที่เขาตัดเธอออก และไล่แคดดี้ประจำตัวออกช่วงที่มีปัญหาเรื่องผู้หญิง

หากดูภาพรวม เส้นเรื่องของสารคดีเรื่องนี้ เริ่มต้นที่จุดกลางๆ ของชีวิตไทเกอร์ จากนั้นก็ขึ้นไปจุดสูงสุด แล้วดิ่งลงมาต่ำสุดอย่างรวดเร็ว ก่อนจะค่อยๆ กระเถิบขึ้นอีกครั้ง โทนเสียงของมันเป็นทั้งการสรรเสริญความยิ่งใหญ่ของนักกีฬาแห่งยุค แต่ในขณะเดียวกันก็นินทาลับหลังเกี่ยวกับเรื่องคาวๆ ของเขาด้วย ความจริงที่ว่า ไทเกอร์ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสารคดีเรื่องนี้ และมีเพียงคนรู้จักของเขามาให้สัมภาษณ์ เป็นสิ่งที่ทำให้น่าตั้งคำถามกับการเมืองของ “คลังข้อมูล (Archive)” ที่ใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวของชีวิตคนหนึ่ง

เมื่อพูดถึง Archive คำถามที่มักถูกตั้งก็คือ ใครเป็นคนควบคุมการจัดเก็บข้อมูลของมัน และควบคุมการผลิตซ้ำ archive เหล่านี้ ข้อมูลอะไรบ้างที่คนเห็นว่าสำคัญและควรเก็บเข้าไว้ในคลังข้อมูล และการผลิตซ้ำคลังข้อมูลเป็นไปอย่างเหมือนต้นฉบับ หรือถูกดัดแปลงอย่างไร เราได้เห็นฟุตเตจมากมายของการตีลูกที่ดีที่สุดของไทเกอร์ เพราะความยิ่งใหญ่ (Greatness) ของเขาถูกนิยามด้วยช่วงเวลาที่เขาอยู่บนกรีน ในขณะที่ช่วงเวลาอื่นๆ ที่เขาเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ไม่ใช่นักกอล์ฟดังหายไปจากสารบบ Archive ผู้สร้างสารคดีคิดว่าพวกเขาจะใช้บทสัมภาษณ์ของคนใกล้ตัวไทเกอร์มาอุดรูรั่วตรงนี้ได้ แต่คำถามก็คือมันทำแบบนั้นได้จริงๆ หรือไม่?

นอกจากนั้น การทำซ้ำของ Archive เหล่านี้ยังเป็นลักษณะของการดัดแปลง จริงอยู่ที่แต่ละฟุตเตจไม่ถูกดัดแปลงโดยตัวมันเอง แต่การตัดต่อก็ได้ให้ความหมายใหม่กับฟุตเตจเหล่านั้น สารคดีมีเส้นเรื่องของมันเองที่เป็นอิสระจากฟุตเตจเดิม และใช้ฟุตเตจมาเรียงให้ตรงกับเส้นเรื่องเหล่านั้น ผู้สร้างพยายามบอกว่า พวกเขากำลังพยายามสร้างภาพของไทเกอร์ที่เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่ผิดพลาดได้ แต่พวกเขาจะอ้างว่าทำเช่นนั้นได้อย่างไรในเมื่อ archive ที่พวกเขามี เป็นเพียงความเห็นของผู้อื่น และภาพตอนไทเกอร์ออกสื่อเท่านั้น

การจะดูสารคดีเรื่องนี้ให้สนุกจริงๆ สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงคือ เราควรจะคำนึงถึงสิ่งที่ไม่ได้อยู่ใน archive ด้วยนั่นเอง เราอาจต้องจินตนาการถึงช่วงเวลาที่ไทเกอร์อยู่คนเดียว สับสนกับการตัดสินใจอันผิดพลาดของตนเอง หรือการที่เขาพูดคุยกับภรรยา (ซึ่งไม่ได้ให้สัมภาษณ์ในสารคดีนี้) ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยวิธีนั้น เราอาจจะเริ่มปะติดปะต่อภาพเกี่ยวกับชีวิตของเขาได้อีกภาพหนึ่ง ซึ่ง archive ไม่ได้เก็บเอาไว้ และอาจเริ่มมองเห็นไทเกอร์ในมุมมองที่ “เป็นมนุษย์” อย่างที่สารคดีอ้างว่าจะทำให้เขาเป็น

“เหมือนกับหนังสือที่มันอ้างอิง สารคดีของ HBO เรื่องนี้เป็นแค่อีกความพยายามหนึ่งของคนนอกที่ไม่ได้รับอนุญาตและทำให้เรื่องอื้อฉาว เพื่อที่จะสร้างภาพที่ไม่สมบูรณ์ของชีวิตนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลคนหนึ่ง” มาร์ค สไตน์เบิร์ก ตัวแทนของไทเกอร์ วูด ให้สัมภาษณ์

สิ่งที่คนอยากรู้จริงๆ ก็คือ ไทเกอร์คิดอย่างไรกับสารคดีเรื่องนี้ เขาอาจเห็นว่ามันเป็นความพยายามอย่างละลาบละล้วง ที่จะเล่าถึงชีวิตส่วนตัวของเขา หรือเขาอาจจะไม่ได้คิดอะไร แต่ที่แน่ๆ เราในฐานะคนดูต้องอ่านระหว่างบรรทัดพอสมควร เพื่อที่จะเลือกว่าจะเชื่ออะไรในหนังสารคดีเรื่องนี้บ้าง

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 22 เม.ย. 64

หนังใหม่เข้าฉายเมื่อวานนี้ 3 เรื่อง ไม่มีเรื่องไหนทำเงินถึง 1 แสนบาทเลย โดยเฉพาะเมื่อมองอันดับ 1 อย่าง Seobok ได้ไปแค่ 0.11 ล้านบาทเท่านั้น

รายได้หนังประจำวันที่ 22 เม.ย. 64

  1. Seobok – 0.11 (3.59) ล้านบาท
  2. Mortal Kombat – 0.10 (9.68) ล้านบาท
  3. Nobody – 0.10 (3.10) ล้านบาท
  4. Promising Young Woman – 0.09 ล้านบาท
  5. Godzilla vs. Kong – 0.09 (177.46) ล้านบาท
  6. Collectors – 0.07 ล้านบาท
  7. Doraemon: Stand by Me 2 – 0.05 (6.43) ล้านบาท
  8. บอสฉันขยันเชือด – 0.04 (4.67) ล้านบาท
  9. The Courier – 0.03 (0.62) ล้านบาท
  10. Detective Conan: The Scarlet Alibi – 0.03 (5.64) ล้านบาท

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 15-21 เม.ย. 64

การระบาดของโควิดรอบนี้ สะเทือนรายได้หนังหนักกว่าครั้งไหน โดยหนัง 2 อันดับแรกคือ Mortal Kombat กับ Seobok ทำเงินเฉลี่ยต่อวันเพียงราว 0.15-0.20 ล้านบาทเท่านั้น

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 15-21 เม.ย. 64

  1. Seobok – 2.12 (3.48) ล้านบาท
  2. Mortal Kombat – 2.08 (9.57) ล้านบาท
  3. Nobody – 1.77 (2.99) ล้านบาท
  4. Doraemon: Stand by Me 2 – 1.33 (6.39) ล้านบาท
  5. Godzilla vs. Kong – 1.30 (158.21) ล้านบาท
  6. The Courier – 0.38 (0.59) ล้านบาท
  7. เรื่องผีเล่า – 0.37 (9.40) ล้านบาท
  8. บอสฉันขยันเชือด – 0.30 (4.63) ล้านบาท
  9. เอหิปัสสิโก – 0.30 (1.62) ล้านบาท
  10. Detective Conan: The Scarlet Alibi – 0.20 (5.61) ล้านบาท

จับคนจัดเทศกาลหนังเบลารุส …หรือรัฐเผด็จการกลัวอำนาจทางวัฒนธรรม

(Photo Credit: watch-docs)

เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีการจับกุม ทัทซิอาน่า ฮัตสุระ-ยาวอร์สกายา ศิลปินและผู้จัดเทศกาลหนังเพื่อสิทธิมนุษยชน Watch Docs ณ เมืองมินสก์ ประเทศเบลารุส พร้อมยึดของกลางคือโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ ทำให้เครือข่ายเทศกาลหนัง องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน และอุตสาหกรรมหนังต่างประเทศ ส่งจดหมายถึงรัฐบาลเบลารุสกดดันให้ปล่อยฮัตสุระ-ยาวอร์สกายา โดยเร็วที่สุด

ฮัตสุระ-ยาวอร์สกายา ถูกจับกุมจากการจัดนิทรรศการชื่อ The Machine is Breathing, I Am Not เพื่อสะท้อนปัญหาการจัดการด้านสาธารณสุขต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเธอจัดร่วมกับเพื่อนอีกสองคน คือ นาตาเลีย เตรนินา และ ยูลยา เซเมนเชนโก แต่สองคนหลังได้รับการปล่อยตัวมาแล้ว เหลือเพียงฮัตสุระ-ยาวอร์สกายาเท่านั้น โดยเธอถูกตั้งข้อหา “ขัดขืนคำสั่งเจ้าหน้าที่” และกำลังจะถูกดำเนินคดี “ระดมทุนเพื่อการชุมนุม” ตามมา

เบลารุส เป็นประเทศที่แยกออกจากสหภาพโซเวียตและถูกยึดอำนาจโดย อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ซึ่งครองตำแหน่งประธานาธิบดีมานานร่วม 27 ปีแล้ว จนลูกาเชนโกได้รับการขนานนามว่าเป็น “เผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป” โดยในช่วงปีที่ผ่านมา ประชาชนเบลารุสได้ออกมาขับไล่รัฐบาลเผด็จการนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อเดือนตุลาคม 2020 ประชาชนนับแสนคนได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นการชุมนุมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เบลารุสได้รับเอกราชจากโซเวียต ต่อมารัฐบาลได้มีการใช้กำลังสลายการชุมนุมเมื่อปีกลาย

The Guardian ของอังกฤษเผยแพร่ข่าวการจับกุมฮัตสุระ-ยาวอร์สกายา พร้อมเรียกร้องให้เครือข่ายด้านวัฒนธรรมร่วมกันกดดันให้รัฐบาลเบลารุสปล่อยเธอโดยเร็วที่สุด พร้อมตั้งคำถามว่า “หรือรัฐเผด็จการจะกลัวพลังทางวัฒนธรรม” จนนำมาสู่การรับลูกต่อของเครือข่ายเทศกาลหนังนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น คานส์, ซันแดนซ์, เบอร์ลิน รวมถึงเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนและอุตสาหกรรมหนังโลก ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเบลารุสทันที

“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลเบลารุสปล่อยตัวเพื่อนของเรา ทัทซิอาน่า ฮัตสุระ-ยาวอร์สกายา โดยไม่มีเงื่อนไข รวมถึงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ และหยุดการกระทำอันน่าละอายเช่นนี้ในทันที”

*เทศกาลหนังเพื่อสิทธิมนุษยชน Watch Docs จัดมาแล้ว 17 ครั้ง โดยได้รับการสนับสนุนจาก Helsinki Foundation for Human Rights ประเทศโปแลนด์ รูปแบบของเทศกาลคือการขยายสาขาไปตามประเทศต่างๆ เพื่อคัดสรรหนังที่ชวนถกเถียงเรื่องสิทธิมนุษยชนจากทั่วโลกมาฉายพร้อมจัดวงเสวนา ที่ผ่านมา Watch Docs เคยไปจัดมาแล้วทั้งใน เมียนมา ลิธัวเนีย และเบลารุส ซึ่งจัด ณ เมืองมินสค์ โดยการดูแลของฮัตสุระ-ยาวอร์สกายา นั่นเอง


อ้างอิง

https://www.theguardian.com/film/2021/apr/13/tatsiana-tanya-hatsura-yavorskaya-belarus-minsk-watch-docs-film-festival

https://www.hollywoodreporter.com/news/festivals-demand-belarus-release-director-tatsiana-hatsura-yavorska

Collective นายทุน รัฐ และนักข่าว เรื่องของความกล้าหาญทางศีลธรรม

ตุลาคม 2015 เกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้นในกรุงบูคาเรสต์, โรมาเนีย เมื่อไฟไหม้ขึ้นที่ผับคอลเล็กทีฟ -ซึ่งไม่มีทางหนีไฟหรือแม้แต่อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัยพื้นฐาน- จนมีผู้เสียชีวิต 27 รายและบาดเจ็บอีก 180 ราย เกือบทั้งหมดนี้เข้ารับการรักษาของโรงพยาบาลในบูคาเรสต์ที่รับปากประชาชนเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าพวกเขามีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยเทียบเท่าโรงพยาบาลชั้นนำในเยอรมนี เพื่อจะพบว่าหลังจากนั้นไม่กี่เดือน ผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเหล่านี้เสียชีวิตอย่างทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นอีก 37 ราย จนเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักข่าว กาตาลิน โตลอนตัน ปักหลักตามสืบประเด็นนี้แบบกัดไม่ปล่อย กลายเป็นการชำแหละความฟอนเฟะของระบบสาธารณสุขของโรมาเนีย และรุนแรงถึงขั้นต้องเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในเวลาต่อมา

Collective (2019) เป็นหนังสารคดีเรื่องยาวลำดับที่สี่ของ อเล็กซานเดอร์ นาเนา คนทำหนังที่เป็นชาวบูคาเรสต์โดยกำเนิด ก่อนหน้านี้เขาแจ้งเกิดจากหนังสารคดีที่สำรวจพื้นที่และความเป็นไปโดยรอบของบูคาเรสต์ ทั้ง Bucharest The World According to Ion B. (2009) ที่เล่าถึงศิลปินในบูคาเรสต์และ Toto and His Sisters (2014) สำรวจสลัมบูคาเรสต์ผ่านความสัมพันธ์ของสามพี่น้อง ดังนั้นสำหรับนาเนาแล้ว เหตุการณ์ไฟไหม้ผับคอลเล็กทีฟตลอดจนการเคลื่อนไหวประท้วงของประชาชนเพื่อเรียกร้องความโปร่งใสของภาครัฐจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจละสายตาได้เลย และก็เป็นลงถนนนี้เองที่ดึงความสนใจของนาเนาถัดจากเรื่องไฟไหม้ จนเขาตัดสินใจเริ่มสำรวจเหตุการณ์นี้ ผ่านการจับจ้องไปยังโตลอนตัน นักข่าวสายกีฬาที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำข่าวเชิงสืบสวนจนครั้งหนึ่งเคยทำข่าวแฉการทุจริตในแวดวงกีฬาของโรมาเนียจนนำมาสู่การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬาสองรายซ้อน ทั้งสองคนลงเอยที่การติดคุกนานนับปี (นาเนาเสริมว่า “และส่วนหนึ่งคือ พวกคนในระบบสาธารณสุขไม่ค่อยสนใจพวกเขาด้วย แต่โตลอนตันกับทีมงานบอกว่าเป็นนักข่าวกีฬา พวกนั้นก็จะรู้สึกว่า ‘เอาเหอะ คงไม่มาถามอะไรมากหรอก เพราะยังไงก็มาจากสายกีฬา’ เลยอาจไม่ค่อยระวังตัวมาก และนี่แหละที่เป็นข้อได้เปรียบอย่างมากเลย”) 

แรกเริ่ม โตลอนตันเพียงตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้เพียง 10-15 เปอร์เซ็นต์จึงเสียชีวิตในโรงพยาบาลด้วยการติดเชื้อแบคทีเรียที่ร้ายแรงที่สุดในยุโรป ก่อนที่เขาและทีมงานจะพบว่าต้นธารของมันอยู่ที่น้ำยาฆ่าเชื้อที่ถูกเจือจางจนไม่ได้มาตรฐานในโรงพยาบาล (“หมายความว่า เมื่อพวกเขาเอามีดผ่าตัดไปล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่เจือจางจนฆ่าเชื้อโรคไม่ได้พวกนี้ ก็หมายความว่ามันยังมีเชื้อโรคอยู่บนมีดเล่มนั้นยังไงล่ะ”) โตลอนตันจึงขุดหาไปจนถึงบริษัทขายน้ำยาฆ่าเชื้อให้โรงพยาบาลหลายๆ แห่งในบูคาเรสต์ จนโยงไปสู่ข้อเท็จจริงอันชวนตระหนกว่า เป็นไปได้มากทีเดียวที่โรงพยาบาล รัฐมนตรี และบริษัทน้ำยาฆ่าเชื้อจะร่วมมือกันเจือจางน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อจัดจำหน่ายให้ได้ราคาดีที่สุด โดยมีต้นทุนต่ำที่สุด แลกกันกับชีวิตของประชาชนซึ่งแขวนอยู่บนเชื้อโรคและแบคทีเรียชนิดนั้น

การเปิดฉากตีแผ่การคอร์รัปชั่นของโตลอนตันนั้น ด้านหนึ่งทำให้เขาถูกตั้งแง่จากโรงพยาบาลหรือฝั่งสาธารณสุขที่มีเอี่ยวกับบริษัทน้ำยาฆ่าเชื้อแห่งนั้น แต่อีกด้าน การตีพิมพ์ข่าวครั้งนั้นก็เปิดทางให้บุคลากรในแวดวงการแพทย์ทยอยออกมาให้ข้อมูลต้องห้ามมากมาย ทั้งแพทย์สาวที่สิ้นหวังกับระบบสาธารณสุข และนักบัญชีที่ช่วยกันปลอมแปลงตัวเลขให้โรงพยาบาล ข้อมูลเหล่านี้จึงทะลักออกสู่สายตาประชาชนจนเป็นเหตุให้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาแถลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ นำมาสู่ฉากการตั้งคำถามอันเผ็ดร้อนของกลุ่มนักข่าวและโตลอนตันที่ไปสัมภาษณ์ด้วยตัวเองอย่างไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว ด้วยท่าทีปราศจากการประนีประนอมหรืออ่อนข้อใดๆ ให้กลุ่มผู้มีอำนาจ จนต้องเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคนที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนคือ วลาด วอยกูเลสกู ชายหนุ่มที่พูดได้เต็มปากว่ารับเผือกร้อนมานอนกอดเต็มๆ เมื่อต้องจัดการกับความโกลาหลที่เดิมพันกับชีวิตของผู้คน กล้องจับไปยังสีหน้าตระหนกสุดขีดเมื่อเขาพบเจอกับความ ‘เน่าหนอน’ ที่ซุกซ่อนอยู่ในโรงพยาบาลตลอดมา และเผยให้เห็นความเปราะบางทางอารมณ์บางอย่างซึ่งส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นมวลอารมณ์ที่ดิบมากๆ ความจริงที่ปรากฏตรงหน้าทำให้วอยกูเลสกูต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ว่าจะปิดโรงพยาบาลหรือไม่ ซึ่งหากปิด นั่นแปลว่าเขาอาจต้องปะทะกับกลุ่มทุนและเจ้าของโรงพยาบาลรายใหญ่และอาจกลายเป็นขั้วตรงข้ามของเขาในภายภาคหน้าได้

อันที่จริง องค์ประกอบของมันอาจไม่มีอะไรใหม่นัก หัวใจหลักของมันคือการสำรวจองค์ประกอบการเอื้อผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับนายทุน ที่คนเดือดร้อนคือประชาชนตาดำๆ ที่ต้องเดินทางเข้าออกโรงพยาบาล และเงื่อนไขสำคัญที่แปรเปลี่ยนให้เหตุการณ์นี้พลิกกลับจากความสิ้นหวังดำมืดคือการกัดฟันสู้ยิบตาของเหล่านักข่าวที่ไม่ใช่แค่โตลอนตัน แต่ยังหมายรวมถึงนักข่าวอื่นๆ ที่จับจ้องไปยังเหล่าผู้มีอำนาจด้วยสายตาไต่ถามเสมอ Collective จึงสร้างบรรยากาศเข้มข้นจนราวกับนั่งดูหนังสืบสวนชั้นดี คนดูตั้งต้นเท่ากันกับโตลอนตันที่สงสัยสาเหตุการตายจนนำไปสู่การขุดค้นการทุจริตครั้งใหญ่ ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากการเรียบเรียงเส้นเรื่องอันแยบยลของนาเนาและ อันโตอานาตา โอปริส ที่ค่อยๆ ไต่ระดับความเข้มข้นนับจากประเด็นการเจือจางน้ำยาฆ่าเชื้อ โยงไปสู่ความล้มเหลวของระบบสาธารณสุขในโรมาเนีย ตลอดจนภาพใหญ่อย่างเรื่องราวของประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่านที่สืบเนื่องจากการลงถนนของผู้คนในตอนต้นเรื่อง กับผลการเลือกตั้งปี 2016 ที่มีคนรุ่นใหม่ไปลงคะแนนเสียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ลงเอยด้วยพรรคสังคมประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคอำนาจเก่าเป็นผู้ชนะ กับสายตาเจ็บปวดของวอยกูเลสกูในฐานะนักการเมืองหน้าใหม่ที่เพิ่งลงเล่นในเกมนี้

การที่นักข่าวตั้งคำถามเล็กๆ อย่าง ‘ทำไมผู้ป่วยจึงไปเสียชีวิตในโรงพยาบาลเยอะขนาดนั้น’ จนนำไปสู่การกระชากความเน่าเฟะของระบบสาธารณสุขของโรมาเนีย ก็ทำให้ Collective เป็นหนังที่ชำแหละโครงสร้างทางสังคมที่บิดเบี้ยวได้หมดจดผ่านการสืบสวนที่แตกขยายมาจากคำถามนั้น หลายคนก็เอ่ยปากชมความกล้าหาญและแหลมคมของนักข่าวอย่างโตลอนตันที่สืบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจังจนโดนคุกคามไม่น้อย

ใช่ว่าประเทศไทยไม่มีนักข่าวสืบสวน หากเราย้อนกลับไปยังสิบปีก่อนสมัยที่เกิดเหตุการณ์เครื่องบินตกในอำเภอแก่งกระจาน ที่นำไปสู่การเปิดโปงคดีเผาไล่ที่กะเหรี่ยงในหมู่บ้านจนเป็นกระแสสังคมครั้งใหญ่หลังจากนั้น เรื่องราวก็เริ่มขึ้นจากนักข่าวที่สงสัยว่าทำไมเครื่องบินจึงไปตกในละแวกนั้น ก่อนจะค่อยๆ พบกับข้อเท็จจริงที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้การเดินทางขนส่งผู้คนบนเฮลิคอปเตอร์ลำนั้น จุดกระแสเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้ชุมชนกะเหรี่ยงแก่งกระจาน (ซึ่งน่าเศร้าเหลือเกินที่ในอีกสิบปีต่อมา พวกเขายังต้องต่อสู้เรื่องนี้อยู่ในชื่อของ กะเหรี่ยงบางกลอย)

กับประเด็นสาธารณสุขและการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างนายทุนกับรัฐ หากจะเทียบเคียงอย่างหยาบๆ เราคงพอจะพูดได้ว่าไม่ห่างกันจากสถานการณ์ในไทยสักกี่มากน้อย หากวัดกันในช่วงหลังไวรัสโควิด-19 ระบาด เราคงเห็นความเน่าเฟะที่ฟ้องชัดโดยไม่ต้องให้นักข่าวลงแรงสืบตั้งแต่หน้ากากอนามัยหลายตันที่หายไปอย่างลึกลับ มาจนถึงการจับจองวัคซีนล่าช้า และเราก็อยากจะเชื่อเหลือเกินว่านักข่าวได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพแล้วหากไม่ต้องทนเห็นภาพที่ผู้สื่อข่าวนั่งเงียบเชียบเมื่อโดนโยนเปลือกกล้วยหรือฉีดแอลกอฮอลใส่ หรือจำต้องอ่านแถลงการณ์จากองค์กรวิชาชีพสื่อฯ ที่ปฏิเสธจะตั้งคำถามต่อการใช้ความรุนแรงจากรัฐต่อผู้สื่อข่าวภาคสนาม ดังนั้น หากมองอย่างเห็นใจนักข่าวตาดำๆ ที่แค่นั่งไขว่ห้างก็อาจถูกระงับไม่ให้ไปทำข่าวที่ทำเนียบฯ เราก็อาจต้องย้อนไปตั้งคำถามว่าแล้วองค์กรวิชาชีพสื่อฯ นั้นช่วยหนุนหลังหรือสนับสนุนความกล้าหาญทางวิชาชีพให้คนเหล่านี้มากน้อยแค่ไหนกัน

เราล้วนอยากมีนักข่าวอย่างโตลอนตันที่กระชากความเลวทรามและความเน่าเฟะของภาครัฐและทุนกันทั้งนั้น และเราก็ยังเชื่อว่ามีนักข่าวเช่นนี้อยู่อีกจำนวนมาก หากแต่พวกเขาล้วนถูกเด็ดปีกหรือกีดกันจนไม่ได้เอ่ยปากตั้งคำถามอย่างที่ใจอยาก แม้ว่าจะถูกหยามหมิ่นมากเท่าใดก็ตาม

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 8-14 เม.ย. 64

เดิมทีสัปดาห์ที่ผ่านมาควรจะเป็นความคึกคัก เพราะเป็นวันหยุดยาวเลยมีหนังใหม่เข้าฉายจำนวนมาก มีตั้งแต่หนังฟอร์มใหญ่ Mortal Kombat กับ Seobok และหนังไทย ‘คุณชายใหญ่’ กับ ‘วัยอลวนฮ่า!’ แต่กลับเจอวิกฤติโควิดสกัดเสียก่อน ผลเลยเป็นอย่างที่เห็น โดยเฉพาะ ‘วัยอลวนฮ่า!’ ที่เข้าฉายรับสงกรานต์และทำเงินจนถึงตอนนี้ได้เพียง 0.13 ล้านบาทเท่านั้น ส่วน ‘เอหิปัสสิโก’ นั้นเก็บเล็กผสมน้อยจนตอนนี้ทำเงินไปแล้ว 1.32 ล้านบาท

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 8-14 เม.ย. 64

  1. Mortal Kombat – 7.49 ล้านบาท
  2. Godzilla vs. Kong – 4.46 (156.91) ล้านบาท
  3. Doraemon : Stand By Me 2 – 2.64 (5.06) ล้านบาท
  4. Seobok – 1.36 ล้านบาท
  5. Nobody – 1.22 ล้านบาท
  6. เรื่องผีเล่า – 0.97 (9.03) ล้านบาท
  7. เอหิปัสสิโก – 0.81 (1.32) ล้านบาท
  8. บอสฉันขยันเชือด – 0.70 (4.33) ล้านบาท
  9. Detective Conan: The Scarlet Alibi – 0.67 (5.40) ล้านบาท
  10. คุณชายใหญ่ -0.48 ล้านบาท

สรุปบทความจากเสวนาคลับเฮาส์ : ปรากฏการณ์ Thai Wave Cinema ในทศวรรษ 2540 (ตอนที่ 2)

(อ่านตอนแรก)

หนังแอคชั่นสไตล์ไทย เล่นจริง เจ็บจริง ไม่มีแสตนด์อิน :
พ.ศ. 2535-2538 (ค.ศ. 1992-1995), พ.ศ. 2546-2548 (ค.ศ. 2003-2005)

ความสำเร็จของหนังไทยในช่วงทศวรรษที่ 2540 ไม่ได้มีเพียงหนังดราม่าและหนังอาร์ตเท่านั้น หากให้ลองนึกถึงภาพยนตร์แอคชั่นของไทยขึ้นชื่อ ทุกคนน่าจะรู้จัก องค์บาก และ ต้มยำกุ้ง ซึ่งทั้งสองเรื่องกำกับโดย ปรัชญา ปิ่นแก้ว

ปรัชญา เล่าให้เราฟังว่าเขาเดินทางจากโคราชเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อมาเรียนต่อ ในยุคสมัยของปรัชญาคือช่วง ค.ศ. 1980-1990 (พ.ศ. 2523 – 2533) เป็นช่วงที่วงการหนังไทยอยู่ในขาลง จากสมัยเด็กๆ ที่ปรัชญาเห็นมีหนังไทยเข้าโรงเยอะมาก ปีหนึ่งมีเป็นร้อยๆ เรื่อง แต่ช่วงพอปลายทศวรรษ 2530 ก็เริ่มมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ แต่ถึงแม้หนังไทยเข้าฉายน้อยลง ปรัชญาก็ยังชอบดูหนัง เขาชอบดูหนังทุกแนวและชอบดูสื่อทุกแบบ

ต่อมาปรัชญาได้เข้าทำงานที่ค่ายเพลง RS เขาดูแลด้านมิวสิค วิดีโอเป็นหลัก ในยุคนั้นมิวสิค วิดีโอนิยมโปรโมทเพลงด้วยการทำหนังสั้นหลายๆ ตอนต่อกันเป็น มินิ ซีรีย์ หรือที่เรียกว่า ‘มิวสิค ซีรี่ย์’ วันหนึ่ง เฮียฮ้อ หรือ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานบริษัท RS มีความคิดว่าในเมื่อ mv มินิซีรี่ย์ที่ทำอยู่ได้เสียงตอบรับดี เราน่าจะลองทำเป็นหนังแล้วนำไปฉายโรงดู ปรัชญาจึงพัฒนาโปรเจคนี้ไปเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง รองต๊ะ แล่บแปล๊บ ในที่สุด

ปรัชญาเล่าว่ารองต๊ะ แล่บแปล๊บ เป็นเสมือนเป็นแบบฝึกหัดของเขา เขาเคยคิดว่าการทำหนังน่าจะต่างจากการทำ mv เพียงแค่เปลี่ยนจากกล้องวิดีโอเบต้า มาเป็นกล้องฟิล์ม แต่ความจริงมันมีรายละเอียดและความยากซับซ้อนกว่าที่เขาคิด แต่อย่างไรก็ตามปรัชญาก็กำกับรองต๊ะ แล่บแปล๊บสำเร็จและออกฉายในปี 2535 (ค.ศ. 1992) และทำรายได้ 15 ล้านบาทข้อมูลรายได้จากบทความ “เปิดไดอารี่ หนังดังในตำนาน รองต๊ะแล่บแปล๊บ” โดย BKKNews เข้าถึงข้อมูลจาก https://retro.bkkclub.net/927

หลังจาก รองต๊ะ แล่บแปล๊บประสบความสำเร็จ สามปีต่อมา พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) ปรัชญาก็ได้ทำหนังเรื่อง เกิดอีกทีต้องมีเธอ ซึ่งเป็นหนังของค่าย RS อีกเช่นเคย ทั้งสองเรื่องประสบความสำเร็จด้านรายได้เป็นอย่างดี การทำมิวสิค วิดีโอที่ RS สอนให้เขาเข้าใจเรื่องการตลาดและรีแอคชั่นของคนดูกับฉากต่างๆ ว่าการออกแบบฉากแต่ละแบบส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ชมอย่างไร ปรัชญาทำหนังและ mv ที่ RS ควบคู่กันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปีที่ 9 ของการทำงาน เขารู้สึกอิ่มตัวกับงานประจำแล้วและอยากจะทุ่มเทให้กับการทำหนังมากกว่า

“ผมก็เริ่มวิเคราะห์ตัวเองว่าการทำหนังต้องอยู่กับมัน ต้องโฟกัสกับมันอย่างจริงจัง แต่ทุกวันนี้ยังต้องคิดและรับผิดชอบงาน mv เลยไปขอออกจาก RS เหมือนทุบหม้อข้าวตัวเองเพื่อไปทำหนัง ยอมเดินเข้าวงการหนังทั้งที่ยังอันตรายอยู่

“ตอนนั้นนอกจากอยากทำหนังที่เราอยากทำแล้ว ก็คิดว่าควรทำให้วงการหนังไทยกลับมาฟื้นเหมือนเดิมให้ได้ ช่วงที่วงการหนังไทยมันตกต่ำลง ผู้กำกับหนังไทยเก่าๆ หายไป มันขาดช่วง แล้วช่วงที่ขาดช่วงเราก็มาเจอผู้กำกับสตูดิโอ ผู้กำกับโฆษณา เลยเกิดความคิดว่าถ้าคนทำ mv มาทำหนังล่ะอาจจะทำให้วงการหนังไทยมีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น ก่อนไป (ลาออกจากจาก RS) ก็คุยกับพี่อังเคิล (อดิเรก วัฏลีลา – โปรดิวเซอร์) ว่าเราต้องช่วยกัน อยากให้วงการหนังมีความหลากหลายถึงจะทำให้เราอยู่ทำหนังได้อย่างสบายๆ ”

หลังจากที่ปรัชญาเข้ามาทำหนังกับบริษัทแกรมมี่ตามคำชักชวนของเพื่อน เขามีความสนใจอยากทำหนังเกี่ยวกับมวยไทย ซึ่งในสมัยนั้นหนังมวยไทยไม่เคยประสบความสำเร็จเลย แต่ปรัชญากลับเห็นความพิเศษของหนังแอคชั่นสไตล์ไทยๆ ที่ต่างประเทศไม่มี

ดังที่บอกไปข้างต้นว่าโดยนิสัยปรัชญาเป็นคนชอบดูหนังไทยทุกแบบ แต่เขารู้สึกสนุกกับฉากแอคชั่นสไตล์ไทยๆ เป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นหนังของฉลอง ภักดีวิจิตร, จรัล พรหมรังสี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังของ พันนา ฤทธิไกร ซึ่งเป็นหนังแอคชั่นภูธรที่ฉายตามภาคอีสาน ปรัชญามองว่าในสมัยก่อนหนังแอคชั่นเหล่านี้มีงบประมาณถ่ายทำไม่มาก ไม่มีเทคโนโลยีถ่ายทำเหมือนหนังฝรั่งที่สามารถใช้เอฟเฟคมุมกล้องได้ ทำให้นักแสดงคิวบู๊ต้องเสี่ยงเล่นอย่างผาดโผนตามที่บทเขียนโดยปราศจากอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย เช่น การเตะต่อยจริง การขี่รถชนพุ่งชนสิ่งของต่างๆ ฯลฯ ฟังดูเป็นเรื่องรันทดของการทำหนัง แต่สาเหตุนี้เองเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ภาพออกมาดูน่าตื่นเต้นและสมจริง ปรัชญามองว่านี่คือเอกลักษณ์ของหนังแอคชั่นสไตล์ไทยๆ ที่เขาชื่นชอบ เขาจึงตัดสินใจทำหนังเรื่อง องค์บาก โดยใช้นักแสดงคิวบู๊ของ พันนา ฤทธิไกร ผู้กำกับที่เขาประทับใจ

“ก่อนหน้านี้หนังที่ทำเกี่ยวกับมวยไทยไม่เคยประสบความสำเร็จเลย เจ๊งหมดเลย นายทุนจะกลัวแล้วไล่เรากลับด้วย แต่เราเชื่อกัน เราทำมวยไทยในแบบที่มันดูจริง เปลี่ยนการแสดงที่เน้นความสมจริงสมจังให้ได้มากที่สุด คุยกับพันนาว่าเขามีสตั๊นท์ที่กล้าเสี่ยงด้วยชีวิต เราบอกกับทุกคนว่าถ้าเราอยากให้โลกเห็นเรา เราต้องแลกด้วยชีวิต ไม่งั้นเราทำสู้เขาไม่ได้ เลยเป็นที่มาขององค์บาก”

การถ่ายทำองค์บากนอกจากจะแสดงจริงแล้ว แม้กระทั่งเสียงปรัชญาก็ใช้เสียงจากการเตะต่อยจริง สิ่งสำคัญคือเขาอาศัยประสบการณ์จากการทำ mv มาประยุกต์ใช้ในหนัง เขามองว่าการทำหนังแอคชั่นนั้นว่าด้วยการทำฉากตื่นเต้นเป็นหลัก ว่าเราสามารถเร้าใจคนดูได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการทำหนังภายใต้งบประมาณที่จำกัดและความไม่พร้อมด้านความปลอดภัยของนักแสดงคิวบู๊

แม้ว่าองค์บากจะมีข้อจำกัดต่างๆ ที่กล่าวไปในข้างต้น แต่หนังก็สามารถสร้างสำเร็จด้วยดี เมื่อเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) องค์บากคว้ารายได้จากการฉายในประเทศไปได้ถึง 200 ล้านบาท นอกจากประสบความสำเร็จในประเทศแล้วในเดือนกันยายน 2546 (ค.ศ. 2003) องค์บากยังได้โอกาสเดินทางไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโตต่อ ปรัชญาเล่าว่าเขาเห็นคนดูต่อคิวยาวมากเพื่อรอดูองค์บากและเมื่อหนังฉายจบผู้ชมก็ยืนปรบมือกันนานมาก นอกจากจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมต่างประเทศองค์บากก็เป็นที่สนใจในบริษัทจัดจำหน่ายเช่นกัน ความสำเร็จขององค์บากเดินทางไปไกลถึงยุโรปและอเมริกา และสามารถทะยานเข้าสู่ Box Office ของอเมริกาได้อย่างงดงาม ยอดรวมรายได้ทั่วโลกที่องค์บากทำได้คือประมาณ 20 ล้านเหรียญ

ความสำเร็จขององค์บากไม่ได้นำมาแค่เม็ดเงินรายได้เท่านั้น แต่ยังเป็นหนังแจ้งเกิดให้พระเอกคิวบู๊อย่าง จา พนม ยีรัมย์ และได้ฉายา บรู๊ซ ลี เมืองไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005) ปรัชญาก็สร้างภาพยนตร์แอคชั่นเรื่องใหม่คือเรื่อง ต้มยำกุ้ง โดยมีจา พนมเป็นนักแสดงนำเช่นเดิม ต้มยำกุ้งประสบความสำเร็จทั้งในแง่รายได้และเสียงตอบรับจากผู้ชมจนกระแสมวยไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ชาวต่างชาติหลายคนหันมาสนใจกีฬามวยไทยจากภาพยนตร์แอคชั่นไทยที่ปรัชญาสร้าง


ปรากฏการณ์รักแห่งสยาม

มะเดี่ยว หรือ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล กล่าวว่าตัวเขาเองก็เป็นผลผลิตจากสปีคเกอร์ทุกคน ทั้งการได้ดูภาพยนตร์และอ่านบทวิจารณ์ของทุกคนในห้องคลับเฮาส์ เดิมทีมะเดี่ยวเข้าเรียนที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ทุกๆ ปิดเทอมเขาจะต้องทำหนังสั้นเข้าประกวด แต่หนังสั้นของมะเดี่ยวก็ไม่ได้สั้นสมชื่อ ส่วนใหญ่หนังสั้นของเขามักยาวครึ่งชั่วโมงเป็นต้นไป จึงกล่าวได้ว่ามะเดี่ยวเป็นหนึ่งในนักศึกษาคนแรกๆ ที่ถ่ายทำหนัง(สั้น)ขนาดยาว

ทุกๆ ปีที่จุฬาฯ จะมีการทำละครเวทีของนักศึกษานิเทศศาสตร์ตามประเพณี มะเดี่ยวจึงเสนอให้ลองทำหนังกัน ละครของนิเทศจุฬาปีนั้นก็กลายเป็นภาพยนตร์ประจำปีขึ้นมา ในครั้งแรกมะเดี่ยวคิดว่าหนังนิเทศจุฬาที่เขากำกับจะฉายเพียงในห้องประชุมเท่านั้น แต่รุ่นพี่ของเขาแนะนำว่าไหนๆ เมื่อจัดฉายแล้วก็น่าจะเอาเข้าโรงภาพยนตร์ดู แม้จะมีความไม่มั่นใจอยู่บ้างแต่ท้ายที่สุดหนังประจำปีของนิเทศจุฬาก็ได้ฉายที่โรงหนังสนามหนึ่งรอบประกอบในงานเลี้ยงรุ่นของคณะ

เมื่อออกจากรั้วมหาลัย มะเดี่ยวได้เข้าทำงานที่บริษัท RS เมื่อทำงานจนมีประสบการณ์มากพอจะสร้างภาพยนตร์ โจทย์แรกที่มะเดี่ยวได้รับคือการสร้างหนังสยองขวัญด้วยทุนสร้างเพียง 1 ล้านบาท แม้เป็นเงินหลักล้านแต่การถ่ายทำภาพยนตร์ขนาดยาวนั้นก็มีค่าใช้จ่ายหลายๆ อย่างประกอบ ทั้งค่าจ้างนักแสดง ค่าใช้จ่ายแรงงานทีมงานเบื้องหลัง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมาย เงินจำนวน 1 ล้านบาทจึงไม่ใช่เงินที่มากนักสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ขนาดยาว ด้วยสาเหตุนี้ทำให้มะเดี่ยวจำเป็นจะต้องใช้สถานที่ถ่ายทำที่เดียวตลอดเรื่อง เขาจึงนึกถึงประสบการณ์ของตนเองขณะเรียนหนังสือ มะเดี่ยวเล่าให้เราฟังว่าเขาเคยไปบ้านเพื่อนในกรุงเทพฯ ที่เป็นห้องแถว ตอนนั้นเขาโดนเพื่อนแกล้งด้วยการขังเขาไว้ในห้องคนเดียว เขาลองจินตนาการว่าหากลองทำหนังสยองขวัญที่ใช้สถานที่ถ่ายทำเป็นห้องๆ เดียวจะออกมาเป็นอย่างไร ความคิดนี้ได้ถูกพัฒนากลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง คน ผี ปีศาจ ในเวลาต่อมา 

มะเดี่ยวเล่าให้เราฟังเพิ่มเติมว่าบุคคลสำคัญที่ช่วยเหลือเขาตลอดการสร้าง คน ผี ปีศาจ คือปรัชญา ปิ่นแก้ว ที่สอนให้เขารู้จักการจัดการทีมงาน จัดการเบื้องหลังการถ่ายทำอย่างเป็นมืออาชีพ คน ผี ปีศาจ ออกฉายในปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2003) และทำรายได้ทั่วประเทศประมาณ 11.99 ล้านบาท และยังได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติคานส์อีกด้วย

ความสำเร็จด้านรายได้ของคน ผี ปีศาจ ทำให้นายทุนไว้วางใจฝีมือการกำกับภาพยนตร์ของมะเดี่ยว ไม่กี่ปีต่อมาเขาก็ได้สร้างภาพยนตร์เขย่าขวัญเรื่อง 13 เกมสยอง ที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนเรื่อง My Mania ของนักวาดการ์ตูนไทย เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ และออกฉายปี พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006)

ภาพยนตร์เรื่อง 13 เกมส์สยองได้พามะเดี่ยวเดินทางไปเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติหลายแห่งและได้รับรางวัลกลับมากมาย การเข้าร่วมเทศกาลหนังต่างๆ ทำให้เขามีโอกาสได้ดูหนังที่แปลกใหม่ และมีบริษัทตัวแทนจัดจำหน่ายอเมริกามาติดต่อซื้อลิขสิทธิ์หนังไปรีเมค กลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง 13 Sins กำกับโดย แดเนียล สแตมม์

แม้หนังที่มะเดี่ยวทำจะได้ผลตอบรับจากผู้ชมดีมาโดยตลอด แต่หนังที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตเขาคงหนีไม่พ้น รักแห่งสยามความจริงรักแห่งสยามไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างปุบปับฉับพลัน รักแห่งสยามถูกเขียนเป็นบทภาพยนตร์ตั้งแต่สมัยที่มะเดี่ยวเพิ่งเรียนจบ ตอนนั้นเขาพยายามถือบทในมือไปคุยกับผู้ใหญ่หลายคน แต่ก็ยังไม่มีใครตอบอนุมัติอย่างจริงจัง จนเมื่อ 13 เกมสยองประสบความสำเร็จด้านรายได้ นายทุนก็อนุมัติงบให้ชูเกียรติสร้างรักแห่งสยามได้ รักแห่งสยามได้ออกฉายสู่สายตาคนไทยในปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี จนกลายเป็นผลงานแจ้งเกิดให้นักแสดงนำหน้าใหม่อย่าง มาริโอ เมาเร่อ, วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล และ วงออกัส 

รักแห่งสยาม

ความสำเร็จของรักแห่งสยามไม่ได้หยุดอยู่แค่ในประเทศไทยแต่ดังไกลไปถึงประเทศจีน ในปี ค.ศ.2008 (พ.ศ. 2551) เป็นช่วงที่จีนเริ่มเปิดประเทศและเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก รัฐบาลจีนพยายามเปิดรับวัฒนธรรมต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชียด้วยกัน มะเดี่ยวกับวงออกัสได้รับเชิญไปแสดงคอนเสิร์ตที่จีน เขาจึงได้รู้ว่ารักแห่งสยามเป็นที่ชื่นชอบมากในหมู่ชาวจีน เพราะหนังเรื่องนี้เป็นเสมือนกระบอกเสียงให้สังคม LGBTQ+ ในประเทศที่ถูกกดทับมานาน มะเดี่ยวออกความเห็นว่าการเลือกศิลปินจากประเทศไทยไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศของจีนกับญี่ปุ่นและเกาหลี ประกอบกับในสมัยนั้นอุตสาหกรรมบันเทิงไทยกำลังเติบโต นานาชาติเริ่มรู้จักและมองว่าหนังจากประเทศไทยมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ

“2007-2008 เป็นช่วงที่จีนเปิดประเทศพอดี มีการเปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติโดยเฉพาะไทย ตอนนั้นมีคนชวนวงออกัสไปเล่นคอนเสิร์ต เราก็ลังเลใจว่า เอ๊ะ จีนแผ่นดินใหญ่เขาชวนเราไปมันมีอะไรวะ แต่ไปเพื่อให้รู้ว่าแฟนๆ ให้การตอบรับ มันก็เป็นการเปิดโลกอีกแบบหนึ่งเขาเปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติโดยเฉพาะในเอเชียแบบดีมากๆ โดยเฉพาะประเทศไทย

พอเขาเปิดรับเรามองเห็นโอกาสว่าสิ่งที่เขาไม่มีนั่นคือสังคม LGBT ของเขามันถูกกดอยู่นานมากเลย หนังเรื่องนี้มันไปเปิดให้เขารู้สึกว่าเขามีตัวตน ตอนนั้นมีแค่หนังเรา (รักแห่งสยาม) กับหนัง Yes or No แต่หนังเรื่องนี้เข้าฉายจีนไม่ได้นะเพราะเป็นเกย์ คนจีนก็โหลดเถื่อนดู ทีนี้จะไปกับหนังมันก็ชัดเจนไปหน่อย ก็เลยไปกับวงออกัส ไปเล่นคอนเสิร์ต

“เราก็ไม่คิดว่าหนังเรื่องนี้ (รักแห่งสยาม) จะพลิกวงการ LGBT ไปขนาดนั้น แต่มันก็เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่มากๆ มันเป็นโอกาสที่ดีที่หนังพาเราไปไกลมากๆๆ (ลากเสียง) ไปในที่ที่ไม่คิดว่าจะได้ไป”


ผู้อำนวยการสร้างคนสำคัญ

(จากซ้ายไปขวา) ธงชัย แม็คอินไตย์, ดวงกมล ลิ่มเจริญ, หว่องการ์ไว
ที่มาภาพ : บทความหว่องการ์ไวผู้ชายที่ฉันรัก, ผู้เขียน ดวงกมล ลิ่มเจริญ, นิตยสารสีสัน, ปี 2544

นอกเหนือจากผู้กำกับและนักทำหนังแล้ว ภาณุ อารี (ผู้ดำเนินรายการ) ได้เอ่ยถึง ดวงกมล ลิ่มเจริญ โปรดิวเซอร์หรือผู้อำนวยการสร้างคนสำคัญที่ผลักดันหนังไทยหลายเรื่องให้เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ เธอเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับหนังไทยยุค 2540 หลายเรื่องเช่น จัน ดารา โอเคเบตง มนต์รักทรานซิสเตอร์ ซึ่งส่วนมากเธอจะทำงานกับ นนทรีย์ นิมิบุตร และ เป็นเอก รัตนเรือง

ดวงกมลเป็นคนที่รักละคร ภาพยนตร์ และศิลปะการแสดงเป็นชีวิตจิตใจ เธอเชื่อมาตลอดว่าหนังไทยมีคุณภาพมากพอที่จะส่งออกแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ แต่ในยุคก่อน 2540 ไม่มีใครเชื่อว่าสิ่งที่เธอคิดจะเป็นจริงได้ ผู้ใหญ่ต่างมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันเสียมากกว่า หลังจากทำงานไม่นานนักเธอได้มีโอกาสไปเรียนต่อที่อเมริกาด้าน Business and Management in Entertainment เมื่อเรียนจบกลับมายังประเทศไทยเธอได้ทำงานตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปให้กับบริษัทแกรมมี่ ฟิล์ม และการทำงานเบื้องหลังนี้เองทำให้ดวงกมลมีโอกาสได้ร่วมงานกับ หว่องการ์ไว ขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง 2046 กับ In the Mood For Love ที่ประเทศไทย

ดวงกมลเขียนบทความ “หว่องการ์ไวผู้ชายที่ฉันรัก” ลงในนิตยสารสีสันว่ากลางปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) หว่องการ์ไวยกกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง 2046 มาที่ประเทศไทย ดวงกมลจึงได้ใกล้ชิดและคอยอำนวยความสะดวกให้กองถ่ายของหว่องฯ อยู่หลายเดือน การได้คลุกคลีกับหว่องการ์ไวนี้เองทำให้เธอมีโอกาสพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ กับเขาจนสนิทกัน วันหนึ่งหว่องก็เรียกเธอเขามาคุยด้วยเป็นการส่วนตัวแล้วพูดกับเธอเป็นใจความว่า

“ในความเห็นของเขา ฉัน (ดวงกมล) น่าจะเริ่มต้นทำหนังอย่างจริงจังได้แล้ว ทำในเมืองไทยนี่แหละ ทำในเมืองไทยแล้วก็มีเพื่อนฝูงร่วมอุดมการณ์อยู่ตามประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียด้วยกัน สร้างหนังมาแล้วมาแลกกันเอาไปฉาย เอาตังค์มารวมกันแล้วทำหนังด้วยกัน จะได้ฉายหลายๆ ประเทศ (…)”

เดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) คำพูดจากจากหว่องการ์ไวสร้างขวัญและกำลังใจให้เธอเป็นอย่างมาก ดวงกมลตัดสินใจลาออกจากบริษัทใหญ่ที่ทำงานอยู่แล้วมาร่วมก่อตั้งบริษัท Cinemasia กับนนทรีย์ นิมิบุตร พร้อมรับตำแหน่งเป็นโปรดิวเซอร์เช่นเดิมแต่วางบทบาทของตนเองให้เป็น ‘โซ่ข้อกลาง’ ผู้คอยจัดการปัญหาธุรกิจระหว่างนักทำหนังกับนายทุนและภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้คนทำภาพยนตร์สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การยกระดับบทบาทโปรดิวเซอร์ในอุตสาหกรรมหนังไทยของดวงกมลทำให้เกิดภาพยนตร์ที่เป็นผลผลิตจากการร่วมมือกันระหว่างประเทศอย่างเรื่อง รักน้อยนิดมหาศาล (Last Life in the Universe) ที่ได้ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ ผู้กำกับภาพคู่ใจชาวออสเตรเลียของหว่องกาไวมาเป็นทีมงาน และนักแสดงชาวญี่ปุ่นอย่าง ทาดาโนบุ อาซาโนะ มาแสดงนำ รวมไปถึงภาพยนตร์เรื่อง อารมณ์ อาถรรพ์ อาฆาต โปรเจกต์หนังที่เกิดจากการร่วมมือกัน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย เกาหลี ฮ่องกง

ในช่วงที่การงานรุ่งโรจน์ถึงขีดสุดดวงกมลกลับพบข่าวร้ายว่าเธอเป็นโรคมะเร็งและมีเวลาเหลืออยู่บนโลกอีกไม่นาน เธอจึงซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์จากเกาหลีเพื่อทำหนังเรื่องสุดท้ายในชีวิตนั่นก็คือ The Letter จดหมายรัก เธอทุ่มเทกับภาพยนตร์เรื่องนี้มากถึงขนาดไปออกกองถ่ายทำด้วยแม้ว่าสภาพร่างกายตนป่วยหนักมากก็ตาม

ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2546 ดวงกมลได้รับรางวัล CineAsia Award สาขา Producer of the Year จาก Film Expo Group ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับเอเชียก่อนจากไปในเดือนธันวาคมด้วยวัยเพียง 39 ปี เธอจากไปก่อน The Letter จะได้เข้าฉาย อย่างไรก็ตามเมื่อ The Letter เข้าโรงฉายก็ทำรายได้ได้ถึง 43.7 ล้านบาท และกลายเป็นภาพยนตร์โรแมนติกดราม่าเรื่องสำคัญของวงการหนังไทย


บริษัทตัวแทนจัดจำหน่าย

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ไทยได้รับการยอมรับระดับนานาประเทศไม่ได้เกี่ยวข้องแค่คุณภาพภาพยนตร์เท่านั้น การตลาดที่ดีของบริษัทตัวแทนจัดจำหน่ายก็เป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยสำคัญที่พาหนังให้ไปไกลในระดับโลก ซึ่งวัตถุประสงค์การนำภาพยนตร์ไปฉายต่างประเทศแบ่งได้เป็น 2 แบบคือการนำไปฉายโรงภาพยนตร์ทั่วไปในเชิงการค้า หรือนำไปร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์ในแง่การส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม

Fortissimo Films เป็นบริษัทตัวแทนจัดจำหน่ายของเนเธอร์แลนด์ และเป็นเจ้าแรกที่เล็งเห็นว่าภาพยนตร์ไทยในทศวรรษที่ 2540 มีศักยภาพมากพอที่จะนำไปออกฉายในตลาดภาพยนตร์ต่างประเทศได้ ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกๆ ที่บริษัท Fortissimo เลือกไปจัดจำหน่าย ได้แก่ นางนาก (นนทรีย์ นิมิบุตร, 2542/1999), เรื่องตลก69 (เป็นเอก รัตนเรือง, 2542/1999), บางกอกแดงเจอรัส (ออกไซด์ แปง , แดนนี แปง, 2543/2000), ฟ้าทะลายโจร (วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง, 2544/2001) และ สตรีเหล็ก (ยงยุทธ ทองกองทุน, 2543/2000) ฯลฯ โดยเฉพาะสามเรื่องหลัง Fortissimo ติดต่อกับบริษัทผู้สร้างก่อนหนังจะเข้าฉายโรงภายในประเทศเสียอีก นอกเหนือเรื่องที่ยกตัวอย่างมาแล้ว Fortissimo ยังจัดจำหน่ายภาพยนตร์โดยเน้นตัวผู้กำกับ เช่น นนทรีย์ นิมิบุตร เป็นเอก รัตนเรือง

อีกกรณีหนึ่งที่เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือบริษัทตัวแทนจัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่ององค์บาก กล่าวคือบริษัทที่เป็นตัวจัดจำหน่ายองค์บากมี 2 แห่ง คือบริษัท Golden Network Asia และบริษัท Europa Corp

Golden Network Asia เป็นบริษัทที่นำองค์บากเข้าสู่ตลาดภาพยนตร์ในภูมิภาคเอเชีย โดยเข้าฉายที่สิงคโปร์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) เพียง 5 สัปดาห์ก็มีผู้ชมกว่า 69,790 คน และทำรายได้ในสิงคโปร์ได้รวม 300,500 เหรียญสหรัฐฯ ต่อมาองค์บากก็ได้ไปฉายที่ฮ่องกงในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) และทำรายได้มากถึง 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่วนบริษัท Europa Corp ซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่ายของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ลุค เบซอง โดย Europa Corp ซื้อลิขสิทธิ์แล้วตัดต่อใหม่ในแบบฉบับลุค เบซองแล้วพากย์เสียงภาษาฝรั่งเศสทับแล้วนำเข้าฉายในแถบยุโรปและอเมริกาในเดือนเมษายน ค.ศ.2004 (พ.ศ. 2547) องค์บากทำรายได้ที่ฝรั่งเศสได้มากถึง 6.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสามารถกล่าวได้ว่าหนังแอคชั่นไทยอย่างองค์บากและต้มยำกุ้งเป็นหนังที่ทำให้ชาวต่างชาติหลายคนหันมาสนใจมวยไทย ซึ่งภาพยนตร์ของปรัชญา ปิ่นแก้ว สามารถสร้าง Soft Power ให้คนหันมารู้จักวัฒนธรรมศิลปะป้องกันตัวของไทย หรือภาพยนตร์แนว Martial Art


สรุปพัฒนาการภาพยนตร์ไทยในทศวรรษ 2540 – 2548

ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (มะเดี่ยว) ขณะถ่ายทำภาพยนตร์
ที่มาภาพ : http://sahamongkolfilm.com/saha-movie/love-siam-movie-2550/

รายงานผลการวิจัย “พัฒนาการของภาพยนตร์ไทยในช่วง พ.ศ. 2540-2548” ของ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต แสดงข้อมูลหนังไทยที่เข้าฉายในปี พ.ศ. 2540-2548 (ค.ศ. 1997-2005) โดยเก็บสถิติจำนวนหนังถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548

นอกจากนำเสนอข้อมูลภาพยนตร์แล้ว ชลิดายังนำอายุผู้กำกับหน้าใหม่ที่ทำหนังในช่วงเวลาดังกล่าวมาวิเคราะห์ ซึ่งข้อมูลจำนวนและตัวเลขอายุของผู้กำกับหน้าใหม่นี้สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงเวลานั้นวงการภาพยนตร์เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถทำหนังออกฉายตามความฝันได้จริง นักศึกษาภาพยนตร์จบใหม่หรือคนนอกวงการหนังก็สามารถเป็นผู้กำกับได้

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งของช่วงปี 2540 – 2548 คือการเกิดผู้กำกับหน้าใหม่ ซึ่งมาจากภูมิหลังและอายุที่แตกต่างกัน จากจำนวนภาพยนตร์ 201 เรื่องมีจำนวนผู้กำกับ 138 คน เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก 96 คน

ในบรรดาผู้กำกับหน้าใหม่ที่มีอายุน้อยที่สุดคือ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับเรื่อง คน ผี ปีศาจ มีอายุเพียง 23 ปี (เมื่อภาพยนตร์ออกฉาย) ส่วนผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีอายุมากที่สุด จรูญ วรรธนะสิน กำกับเรื่อง เชอรี่แอน อายุ 63 ปี และในบรรดาผู้กำกับหน้าใหม่ มีผู้กำกับหญิง 7 คน”

ชลิดายังตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะร่วมของหนังไทยที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ยุคนั้นหลายเรื่องเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ซึ่งบริบทของช่วงปี 2540 เป็นยุคที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ผู้คนกลับมารื้อฟื้นคุณค่าความเป็นไทยทำให้ความเชื่อทางการเมืองแบบชาตินิยมถูกหยิบยกขึ้นมาในยุคนี้ ตัวอย่างภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ในยุคนั้นเช่น บางระจัน (ธนิตย์ จิตนุกูล, 2543/2000) สุริโยทัย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล, 2544/2001) โหมโรง (อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์, 2547/2004) ที่เชิดชูดนตรีไทยและเครื่องดนตรีอย่างระนาด นางนากหนังผีไทยที่เน้นความสมจริงและงานสร้างที่พิถีพิถัน รวมไปถึงองค์บากและต้มยำกุ้งที่หยิบยกศิลปะมวยไทยมานำเสนอ

ส่วนหนังอาร์ตที่สามารถไปเทศกาลหนังระดับนานาชาติอย่างเรื่อง ฝัน บ้า คาราโอเกะ ฟ้าทะลายโจร สุดเสน่หา สัตว์ประหลาด ฯลฯ ชลิดาตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าภาพยนตร์ศิลปะเหล่านี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นตามสูตรสำเร็จเท่าใดนัก และเป็นภาพยนตร์ที่ให้อิสระในการคิดสูง แต่มีโอกาสทางการค้าจำกัดทั้งในและต่างประเทศ


กลับมาที่ห้องคลับเฮาส์เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ชาญชนะ หอมทรัพย์ คอลัมนิสต์ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยเอ่ยว่าภาพยนตร์เรื่อง 2499 สำหรับเขามีความเป็นหนังฝรั่งเสียมาก

ส่วน ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์และรองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ เองก็ให้ความเห็นว่าความนิยมในหนังไทยช่วงปี 40 ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

“2540 มันมาพร้อมๆ กับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปและความเปลี่ยนแปลงของชุมชนเมืองในต่างจังหวัด คือมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น รสนิยมถูกแบ่งมากขึ้น ความเป็นเมืองกับต่างจังหวัด หนังไทยกลายเป็นหนังของคนต่างจังหวัด คนกรุงเทพฯ ดูหนังฝรั่ง จนช่วงอุ๋ย-นนทรีย์ทำ 2499 คนก็กลับมาดูหนังไทยเรื่อยๆ เพราะคุณภาพหนังดีและดูสมัยใหม่ และต่อเนื่องมาเรื่อยๆ มันก็ตอบสนองด้วยสินค้าทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบไป พี่อุ๋ยก็มาในเวลานั้นพอดีก่อนแตกไปเป็นอินดี้เป็นอะไรอย่างอื่น”

ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์หนังเห็นด้วยกับชาญชนะพร้อมให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าหนังของนนทรีย์ในช่วง 2540 ไม่เหมือนกับหนังไทยในยุค 2530 ที่คนไทยเคยรู้จักพร้อมกับเหตุผลว่า

“ข้อดีของ 2530 คือความเสื่อมของมันทำให้เกิดการล้างไพ่ล้างบุคคลรุ่นเก่าออกไป (หัวเราะ) และมาแทนที่ด้วยคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีความเชื่อมโยง มาพร้อมกับเรื่องไอเดียใหม่ๆ มาพร้อมกับร้านวิดีโอ มาพร้อมกับโลกที่กว้างขึ้น”

หลังที่สปีคเกอร์ทุกคนในพูดจบก็เข้าสู่ช่วงตอบคำถามและให้ผู้ฟังแสดงความเห็น ดรสะรณ โกวิทวณิชชา นักวิจารณ์และโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์นอกกระแสกล่าวแสดงความคิดเห็นทิ้งท้ายว่า

“เรารู้สึกเศร้ามากนะ มันเหมือนหนังไทยเคยอยู่ในจุดที่สูงมาก แล้ววันนี้มันกลายเป็นมันหลงทิศหลงทางน่ะ ถึงก็ยังมีคนที่ตั้งใจทำอะไรดีๆ อย่างฉลาดเกมส์โกงที่ประสบความสำเร็จ แต่หลายๆ อย่างมันขาดทิศทาง ขาดซึ่งการผลักดันสนับสนุน ทั้งแน่นอนภาครัฐที่มีส่วนอย่างมาก ว่าการสนับสนุนถูกทางหรือเปล่า หรือเข้าใจไหมว่าต้องการอะไร ต้องการเห็นหนังไทยอยู่ในเวทีโลก หรือว่าก็ทำไปอย่างนั้นหรือเปล่า อีกฝั่งหนึ่งคือเรื่องของเอกชนเองด้วย

สุดท้ายหนังที่อยู่ในท้องตลาดเรารู้สึก เราอยากให้ทุกคนคิดว่าทำอะไรที่ได้คุณภาพจริงๆ มากกว่าจินตนาการว่าหนังแบบไหนมีคนดู”


อ้างอิง

  • ภาพการฉายหนังสั้นในปี ค.ศ. 2000 ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ และ ภาพบรรยากาศการประกวดภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 1 ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ จากบทความ “24 ปีแห่งความหลังของนักดูหนังสั้นมาราธอนที่ชื่อ จิตร โพธิ์แก้ว” เขียนโดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.fapot.or.th/main/information/article/view/589
  • ข้อมูลรายได้จากบทความ “เปิดไดอารี่ หนังดังในตำนาน รองต๊ะแล่บแปล๊บ” โดย BKKNews เข้าถึงข้อมูลจาก https://retro.bkkclub.net/927
  • “เส้นทางความสำเร็จองค์บาก” เข้าถึงข้อมูลจาก https://positioningmag.com/7748 
  • ดวงกมล ลิ่มเจริญ : สานฝัน ‘หนังไทย’ สู่ ‘หนังโลก’ เขียนโดย เพจ ยอดมนุษย์…คนธรรมดา
  • นิตยสารสีสัน ปี 2544 บทความ “หว่องการ์ไวผู้ชายที่ฉันรัก” เขียนโดย ดวงกมล ลิ่มเจริญ เข้าถึงข้อมูลจาก https://pantip.com/topic/33581644
  • รายงานผลการวิจัย “พัฒนาการของภาพยนตร์ไทยในช่วงพ.ศ.2540-2548” โดย ชลิดา เอื้อบำรุงจิต

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 8 เม.ย. 64

หลังจากคึกคักได้ไม่กี่สัปดาห์ โรงหนังก็กลับเข้าสู่บรรยากาศอันเงียบเหงาอีกครั้ง เมื่อวานนี้หนังฟอร์มใหญ่ Mortal Kombat เปิดตัววันแรก แต่ทำเงินไปได้แค่ 1.5 ล้านบาทเท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้าม ‘เอหิปัสสิโก’ ก็ทำเงินเกินแสนบาท จากโรงฉายเพียงสิบกว่าโรงเท่านั้น

รายได้หนังประจำวันที่ 8 เม.ย. 64

  1. Mortal Kombat – 1.50 ล้านบาท
  2. Godzilla vs. Kong – 0.65 (153.11) ล้านบาท
  3. Doraemon: Stand By Me 2 – 0.49 (3.55) ล้านบาท
  4. Detective Conan: The Scarlet Alibi – 0.12 (4.86) ล้านบาท
  5. คุณชายใหญ่ – 0.12 ล้านบาท
  6. เอหิปัสสิโก – 0.11 (0.62) ล้านบาท
  7. บอสฉันขยันเชือด – 0.10 (3.72) ล้านบาท
  8. Stigmatized Properties – 0.09 ล้านบาท
  9. เรื่องผีเล่า – 0.09 (8.69) ล้านบาท
  10. Minari – 0.03 (1.21) ล้านบาท

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 1-7 เม.ย. 64

ความคึกคักกลับมาสู่โรงหนังอีกครั้ง ไม่ใช่เฉพาะ Godzilla vs. Kong ที่กำลังทะยานสู่ 200 ล้านบาทเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสารคดีอิสระ ‘เอหิปัสสิโก’ ที่เพิ่งเข้าฉายแบบจำกัดรอบและโรงได้เพียงสองวัน ก็ทำเงินไปเกิน 5 แสนบาทแล้ว

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 1-7 เม.ย. 64

  1. Godzilla vs. Kong – 25.34 (152.45) ล้านบาท
  2. Detective Conan: The Scarlet Alibi – 4.73 ล้านบาท
  3. บอสฉันขยันเชือด – 3.63 ล้านบาท
  4. Doraemon: Stand by Me 2 – 3.06 ล้านบาท
  5. Minari – 0.97 (1.18) ล้านบาท
  6. เรื่องผีเล่า – 0.96 (8.06) ล้านบาท
  7. Raya and the Last Dragon – 0.79 (42.18) ล้านบาท
  8. The Mauritanian – 0.70 ล้านบาท
  9. เอหิปัสสิโก – 0.51 ล้านบาท
  10. The Nightingale – 0.24 ล้านบาท

ณฐพล บุญประกอบ ‘เอหิปัสสิโก’ เรื่องของคนสองฝั่งที่มีรัฐเป็นกรรมการ

ราวปี 2017 เกิดปรากฏการณ์ที่เหล่าสานุศิษย์ของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ออกมารวมตัวกันนั่งสมาธิเพื่อต่อต้านและแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการที่เจ้าหน้าที่รัฐปิดล้อมวัดเพื่อเข้าจับกุมเจ้าอาวาสในฐานะผู้ต้องสงสัยคดียักยอกทรัพย์ จนมันกลายเป็นข่าวที่กินพื้นที่หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลายฉบับติดกันนานนับเดือน และท่ามกลางความชุลมุน ปะทะกันระหว่างคนสองฝ่ายหรืออาจจะมากกว่า ไก่-ณฐพล บุญประกอบ เฝ้าจับจ้องเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิด บันทึกฟุตเตจช่วงเวลาแห่งการต่อสู้หรือตั้งคำถามเหล่านั้น

และภายหลังจากแจ้งเกิดในวงกว้างด้วย ‘2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว’ (2018) สารคดีบันทึกการออกวิ่งจากเบตงถึงแม่สายครั้งประวัติศาสตร์ ณฐพลก็หวนกลับมาอีกครั้งกับเรื่องราวการเฝ้ามองและสำรวจความเป็นไปในวัดพระธรรมกายใน ‘เอหิปัสสิโก’ (Come and See) สารคดีที่บันทึกคำถามและแสวงหาคำตอบความขัดแย้งระหว่างความเชื่อและรัฐ ผ่านสายตาที่อยากออกสำรวจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าจะตัดสิน จนเขาออกปากเปรียบเปรยอยู่กลายๆ ว่าเป็นเสมือนการมองดูทีมฟุตบอลเตะกันอยู่บนอัฒจันทร์มากกว่าจะลงไปเป็นผู้เล่นเอง

ทว่า ไกลออกไปนั่นคือรัฐที่สวมบทบาทเป็นกรรมการ และกลายเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของเรื่องนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันที่จริงก็อาจจะเป็นตัวละครสำคัญในหนังเรื่องก่อนๆ หรือหนังสั้นของตัวณฐพลอยู่เรื่อยๆ ด้วยซ้ำไป

และนี่คือหนึ่งในประเด็นที่เราอยากชวนเขาสนทนาในวาระที่ เอหิปัสสิโก กำลังลงโรงฉายอยู่ในเวลานี้

มองยังไงที่ก่อนนี้มันมีกรณีที่ เอหิปัสสิโก เกือบจะโดนเซ็นเซอร์ ห้ามฉายไปแล้ว

ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ) ใจหนึ่งก็รู้สึกว่าหนังไม่เสี่ยง แต่อีกใจก็รู้สึกว่ากังวล ด้วยความที่บริบทสังคมบ้านเรามันเป็นแบบนี้ มันมีความ oversensitive ในบางประเด็น เลยคิดว่าเป็นไปได้ถ้าเขาจะหาเหตุผลในการมาแบนหนังที่มันพูดเกี่ยวกับประเด็นนี้ แต่ถ้าวัดจาก common sense หรือตรรกะเราเลย เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าหนังเสี่ยง มันเลยชั่งกันอยู่สองข้างนี่แหละ

กระบวนการในการทำหนังเรื่องนี้เป็นยังไง ควานหาซับเจ็กต์หรือตัวละครด้วยวิธีไหน

มันเริ่มจากแค่ความสงสัยใคร่รู้แหละว่า ไอ้เหี้ย วัดนี้มันอะไรกันวะ ทำไมคนออกมานั่งสมาธิขวางตำรวจกัน 

มันเหมือนดูฟุตบอล เราเดินเข้าไปในสนามในฐานะผู้เล่นทีมนึงที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับทีมธรรมกายเพราะเราไม่ได้อินกับเขาอยู่แล้ว เอามาล้อเป็นโจ๊กด้วยซ้ำ แต่ก็อยากเข้าใจ แล้วพอทำหนังไปเรื่อยๆ มันก็พาเราออกไปจากสนาม มองจากมุมสูงว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมันเลยพ้นไปกว่าธรรมกายนะ 

ทีนี้ตอนหาซับเจ็กต์ เราก็โพสต์เฟสบุ๊คดื้อๆ เลย เพราะตอนเริ่มแรก เราไม่มีคนรู้จักอยู่ในวัดเลยต้องโพสต์เฟซบุ๊กหาเผื่อจะมีใครที่มีญาติโยม แล้วติดต่อไปจนเข้าวัดได้ ขออนุญาตเขา ทีนี้ซับเจ็กต์ฝั่งวัดคือวัดเลือกมาให้เลย

…ซึ่งเขาก็คงต้องเลือกคนที่พูดดีๆ อยู่แล้วหรือเปล่า

โอ้ อยู่แล้วเลย ใช่ๆ ซึ่งตอนแรกเราก็ไม่แน่ใจว่าต้องขึ้น reminder ตอนต้นเรื่องไหมว่านี่คือซับเจ็กต์ที่เขาเลือกมานะ แต่ก็รู้สึกว่าถ้าเราจะพยายามเสนอภาพคนศรัทธาอยู่แล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นข้อเสียถ้าวัดจะเลือกมาให้เลยว่าเอาคนที่ดีที่สุดที่เขาคิด เพราะมันจะ represent ตัววัดเอง เลยคิดว่าก็ดีนะ วิน-วินทั้งสองฝ่าย

กรณีคุณไพบูลย์ นิติตะวัน ได้ตั้งใจเลือกมาไหม ในฐานะที่เขาก็ออกตัวเรื่องศาสนาพุทธอยู่เนืองๆ

ตั้งใจเลือกอยู่แล้ว เพราะตอนที่มันเกิดความขัดแย้ง คนที่ออกมาพูดเยอะๆ ก็จะมีหมอมโน (เลาหวณิช) กับคุณไพบูลย์นี่แหละ เราเลยพยายามเลือกคนที่เป็นปากเสียงของคนฝั่งที่แอนตี้วัด แล้วเขาก็มีเจตนาของเขา เจตนาแบบที่เขาคิดว่ามันดี 

แล้วตอนที่ทำหนัง การจะไปมองว่ามันต้องซ้ายหรือขวา คือเราอยู่ในระนาบความขัดแย้งเดียวกัน เราจะโปรวัดหรือเกลียดวัด เราไม่ได้มองว่าตัวเองอยู่ในเกมนี้ มันเลยไม่ใช่ความเป็นกลาง แต่เป็นความแบบ ก็กูไม่ได้เชียร์สักทีม (หัวเราะ) มากกว่านะ

แต่การที่หนังมันอาจไม่ได้มีท่าทีตัดสิน มันอาจเป็นเพราะสิ่งที่คนเหล่านั้นพูดมันไม่มีข้อพิสูจน์สักอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นคนที่เกลียดหรือคนที่ชอบ มันไม่มีหลักฐานสักอย่าง มันเลยเป็นเรื่องความเชื่อล้วนๆ เราไม่รู้ด้วยนะว่าใครพูดจริงหรือไม่จริง ชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร เช่น ตอนที่หมอมโนพูดว่า พระธัมมชโยแย่มาก คิดว่าตัวเองเป็นพระเจ้าหรืออะไรก็ตาม นั่นก็เป็นความเชื่อของหมอมโนแล้วก็พิสูจน์ไม่ได้ด้วย เพราะไม่มีคนอยู่ให้เราพิสูจน์ หรือกระทั่งที่บอกว่า การบริจาคเงินแล้วชาติหน้าจะสวยขึ้นรวยขึ้น มันก็เป็นความเชื่อไง เราก็พิสูจน์ไม่ได้ หรือที่บอกว่าพระธัมมชโยดีมากเลยนะ เขาบอกให้เราพัฒนาตัวเองในการพูดกับคนอื่นเพราะคนอื่นถึงจะต่อต้านเราแต่เราก็ต้องบอกตัวเองว่าเรายังไม่ดีพอ มันก็เป็นความคิดเห็นเขา ความเชื่อเขา เราเลยไม่ได้รู้สึกว่า (คิด) มันเหมือนเราแค่เข้าไปฟังความคิดเห็นของคนสองสามฝ่ายนี้เฉยๆ โดยที่แน่นอนว่ามันมีความรู้สึกหรืออารมณ์แหละเพราะเราก็ไม่ใช่พระอิฐพระปูนในการทำหนัง บางทีเราก็คิดว่า อันนี้เขาพูดมีเหตุผล หรืออันนี้พูดอะไรวะ 

เราไม่ได้พยายามวางตัวเป็นกลางแล้วคิดว่าจะไปฝั่งไหนดี เราพยายามทำความเข้าใจเกมนี้ว่าฝ่าย A ฝ่าย B มันมีแท็กติกการเตะกันอย่างไร มีความขัดแย้งหรือกติกาคืออะไร

คือคุณไม่ได้ใส่ตัวเองเข้าไปเป็นกรรมการด้วยเหรอ

เออ เราไม่ใช่กรรมการด้วย (หัวเราะ) กรรมการคือรัฐ ซึ่งเราไม่รู้ว่าเลือกข้างหรือเปล่า แล้วเราก็ตั้งข้อสังเกตจากมุมมองบุคคลที่สาม เราคงมองและเรียนรู้จากมุมมองของนักวิชาการมากกว่ามั้งว่าเขามองปรากฏการณ์นี้อย่างไร ที่มันนอกเหนือไปจากแค่การถกเถียงว่า คำสอนธรรมกายบิดไปเป็นแบบไหน แต่ว่าการสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการล้อมจับ หรือการเผยแพร่ของธรรมกายที่ไปไกลมาก มันทำให้เราสังเกตเห็นอะไรบ้างมากกว่า

คำตอบที่เราได้คือเราว่ามันเป็นเรื่องของศาสนาในภาพรวม ไม่ใช่แค่ศาสนาพุทธด้วยซ้ำ ปัญหาของศาสนาที่เกิดขึ้นมันคือการตีความ STORYTELLING ของศาสนาต่างๆ มากกว่าจะมาเถียงกันว่านิพพานคืออัตตาหรืออนัตตา เป็นต้น หรือตายแล้วไปไหนก็เป็นความเชื่อส่วนตัวหรือเปล่าวะ คำว่าบิดเบือนมันคืออะไร แล้วความจริงแท้มันคืออะไรวะ พุทธแท้คืออะไร คือสำหรับเราะ คำถามมันใหญ่กว่าแค่พระธัมมชโยโกหกจริงหรือเปล่า อันนั้นมันแค่ตัวจุดประเด็นขึ้นมาเฉยๆ

คำตอบที่เราได้คือเราว่ามันเป็นเรื่องของศาสนาในภาพรวม ไม่ใช่แค่ศาสนาพุทธด้วยซ้ำ ปัญหาของศาสนาที่เกิดขึ้นมันคือการตีความ storytelling ของศาสนาต่างๆ มากกว่าจะมาเถียงกันว่านิพพานคืออัตตาหรืออนัตตา เป็นต้น หรือตายแล้วไปไหนก็เป็นความเชื่อส่วนตัวหรือเปล่าวะ คำว่าบิดเบือนมันคืออะไร แล้วความจริงแท้มันคืออะไรวะ พุทธแท้คืออะไร คือสำหรับเราะ คำถามมันใหญ่กว่าแค่พระธัมมชโยโกหกจริงหรือเปล่า อันนั้นมันแค่ตัวจุดประเด็นขึ้นมาเฉยๆ

ถ้าบอกว่ารัฐวางตัวเป็นกรรมการ คิดว่ากรรมการคนนี้เที่ยงตรงไหม

อันนี้ต้องอยู่ที่คนมองนะ เพราะไม่รู้สิ ฝั่งวัดก็จะบอกว่า คดีที่ DSI ฟ้องมันไม่สามารถฟ้องได้นะ การรับเงินบริจาคนั้นเราไม่รู้ที่มาของเงินคืออะไร ไม่สามารถไปกล่าวโทษคนรับเงินบริจาคได้ ซึ่งนั่นก็เป็นจุดยืนในการต่อสู้ของวัดว่ามันไม่ยุติธรรมนะ แต่ว่าคนที่รับรู้ข้อมูลเหล่านี้ก็แล้วแต่ บางคนอาจจะคิดว่า วัดปกป้องคนผิด แต่วัดก็บอกว่าไม่ได้ปกป้องคนผิด มึงใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือต่างหาก

ถึงที่สุดมันอาจจะพูดได้เรื่องความหลากหลายของความเชื่อของประชาชนได้ไหม

คือมันก็แต่ไหนแต่ไรแล้ว ที่บอกกันว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าเราต้องอุ้มชูศาสนา แล้วก็มีคนพยายามเติมว่าศาสนาพุทธ มันอยู่ในแบบเรียน ในขนบกระแสหลัก พุทธมันถูกสนับสนุนโดยรัฐมาตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว ซึ่งถ้าถามความเห็นเรามันควรแยกศาสนากับรัฐอยู่แล้ว ควรเป็น secular state (รัฐฆารวาส – รัฐมีหรือแสดงความเป็นกลางในประเด็นทางศาสนา โดยไม่สนับสนุนทั้งศาสนาและการไม่มีศาสนา รัฐฆราวาสยังพึงปฏิบัติกับพลเมืองทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาเหล่านั้นถือศาสนาใด) ศาสนามันควรเป็นเสรีภาพในการเลือกของทุกคน ซึ่งพูดงี้เดี๋ยวคนก็แย้งอีกว่าเขาไม่ได้ห้ามมึงเปลี่ยนศาสนานี่นา คือมันก็ใช่ แต่นั่นแหละ ในความหวังดีของรัฐมันมีบางคนที่รู้สึกว่าเขาโดนกดทับ โดนกีดกันออกไป ด้วยความหวังดีของรัฐ เพราะเราเชื่อว่ารัฐหวังดี ซึ่งหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในสังคมและเป็นปัญหา มันก็ทำด้วยการอ้างความชอบธรรมว่าเป็นความหวังดีและความดีในสายตาของเขานี่แหละ

ซึ่งถ้าถามความเห็นเรามันควรแยกศาสนากับรัฐอยู่แล้ว ควรเป็น secular state ศาสนามันควรเป็นเสรีภาพในการเลือกของทุกคน ซึ่งพูดงี้เดี๋ยวคนก็แย้งอีกว่าเขาไม่ได้ห้ามมึงเปลี่ยนศาสนานี่นา คือมันก็ใช่ แต่นั่นแหละ ในความหวังดีของรัฐมันมีบางคนที่รู้สึกว่าเขาโดนกดทับ โดนกีดกันออกไป ด้วยความหวังดีของรัฐ เพราะเราเชื่อว่ารัฐหวังดี ซึ่งหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในสังคมและเป็นปัญหา มันก็ทำด้วยการอ้างความชอบธรรมว่าเป็นความหวังดีและความดีในสายตาของเขานี่แหละ

การทำสารคดีมันทำให้เราเห็นบทบาทของรัฐกับศาสนาหรือรัฐกับความเชื่อมากขึ้นไหม

(คิด) จริงๆ สิ่งที่เราตอบจะคล้ายๆ กับสิ่งที่นักวิชาการตอบในหนัง เพราะเราก็เรียนรู้จากการสัมภาษณ์เขามา ที่อาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) พูดว่า modern state มันทำหน้าที่แทนศาสนาไปเยอะมาก ทำให้ศาสนาเสื่อมบทบาทลง เลยมีความดิ้นรนที่จะปรับตัวของศาสนา ไม่ใช่แค่วัดธรรมกาย แต่มันก็ทุกวัดเพื่อจะได้มีคุณค่าในสังคมร่วมสมัย 

นี่คือสิ่งที่เปิดโลกเราเหมือนกัน เพราะเราไม่เคยคิดในมุมนี้มาก่อน แล้วเลยมาเชื่อมโยงได้ว่ามันไม่ใช่แค่ธรรมกาย แต่มีวัดอื่นๆ ที่เขาปรับตัว แล้วปรับตัวในลักษณะไหนวะ แล้วธรรมกายถูก stand out ออกมาเพราะอะไร

สุดท้ายมันเป็นประสบการณ์ส่วนตัวจริงๆ นะ personal experience เราเคยคุยกับอาจารย์คนหนึ่งที่เราเคารพมาก ก็ถามว่าที่เกิดปัญหามากมายในโลกนี้จากศาสนานั้นมันเพราะอะไร อาจารย์เขาก็กินเบียร์อยู่ แล้วยื่นเบียร์ให้เรากิน แล้วถามว่ารสชาติเป็นยังไง เราก็แบบว่า ก็ซ่าๆ ขมๆ ก็เบียร์น่ะครับ เขาก็บอกว่านั่นแหละคือปัญหา ปัญหาคือประสบการณ์ส่วนตัวมันถ่ายทอดออกมาเป็นภาษา และนั่นคือข้อจำกัดและการตีความของประสบการณ์เหล่านั้นมันแตกต่างไปในแต่ละคน มันเลยเป็นเรื่องที่คุยกันยากมาก เพราะทุกคนรับรู้โลกไม่เหมือนกันจริงๆ แล้วการอ้างว่าคำคำหนึ่งเหนือกว่าอีกคำหนึ่ง คำสอนหนึ่งเหนือกว่าอีกคำสอนหนึ่ง มันก็ตีความได้ไม่จบสิ้นน่ะ มันจึงเป็นที่มาของปัญหา แค่มึงพูดว่าพุทธแท้ เหี้ยคำนี้นี่คืออะไรวะ (หัวเราะ) แล้วหลายๆ คนก็อ้างความชอบธรรมในการทำหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างด้วยการพูดว่านี่คือสิ่งที่จริงแท้

อาจารย์เขาก็กินเบียร์อยู่ แล้วยื่นเบียร์ให้เรากิน แล้วถามว่ารสชาติเป็นยังไง เราก็แบบว่า ก็ซ่าๆ ขมๆ ก็เบียร์น่ะครับ เขาก็บอกว่านั่นแหละคือปัญหา ปัญหาคือประสบการณ์ส่วนตัวมันถ่ายทอดออกมาเป็นภาษา และนั่นคือข้อจำกัดและการตีความของประสบการณ์เหล่านั้นมันแตกต่างไปในแต่ละคน มันเลยเป็นเรื่องที่คุยกันยากมาก เพราะทุกคนรับรู้โลกไม่เหมือนกันจริงๆ

เทียบกันกับหนัง 2215 เรื่องก่อนซึ่งว่าด้วยการบริจาคเหมือนกันและมีรัฐเป็นฉากหลังเหมือนกัน มองมันต่างจากการทำการกุศลแบบธรรมกายยังไง

อย่างนั้นก็เทียบได้กับหนังทุกเรื่องเหมือนกันนะ เราว่าพูด School Town King (2020) มันก็พูดถึงรัฐได้ รัฐมันอยู่ในทุกอณูของชีวิตอยู่แล้ว เพราะหน้าที่ของรัฐคือการดูแลประชาชนในพื้นที่และเวลานั้น ฉะนั้นถ้าจะเทียบเคียงเคสพี่ตูนกับธรรมกายมันอาจจะต่างกรรมต่างวาระไปนิดนึงมั้งสำหรับเรา มันอาจจะแค่ซ้อนทับในแง่ของเวลาคือเป็นยุคของ คสช. คืออย่างธรรมกายมันเป็นคดี แต่ของพี่ตูนไม่ใช่คดี มันเป็นการซัพพอร์ต และเราในฐานะคนในที่อยู่กับพี่ตูน เขาประสงค์ดีในการจะหาทรัพยากรมาสนับสนุนรัฐ และรัฐก็ซัพพอร์ตพี่ตูนด้วยการอำนวยความสะดวกไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร มันออกจะคนละกรณีอยู่นะ

หลังๆ คุณทำหนังสั้นอย่าง Face of the Flowers, Sukanya Migael หรือ 17 ที่สำรวจการเมือง และมองในสภาวะปัจจุบัน มันยากหรือท้าทายขึ้นไหมสำหรับคนทำสารคดี

เราว่ามันไม่ใช่คนทำสารคดีหรอก มันก็เป็น freedom of speech และ freedom of expression ของสังคมนั้น มันต้องถอยออกมาอีก สารคดีเป็นแค่หนึ่งเครื่องมือในการแสดงออกเฉยๆ อาจจะต้องไปถามว่า การแสดงออกในภาวะสังคมแบบนี้มันมีความยากง่ายขึ้นมากน้อยแค่ไหนถ้าจะพูดถึงปัญหาโดยตรง

เราว่ามันเป็นบรรยากาศของสังคมที่รัฐพยายามสร้างความกลัวโดยการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับหลายๆ คนที่ออกมาพูดหรือเรียกร้อง ซึ่งเรามองกลับกันว่า ถ้าโฟกัสแค่เรื่องสารคดี เราว่าสารคดีแม่งมีความยืดหยุ่นมากกว่าการแสดงออกแบบการพูดบนเวที เราว่าศิลปะภาพยนตร์มันมีความลื่นไหลและสื่อสารที่มันมีเลเยอร์ที่มากกว่าการเดินออกไปพูดเฉยๆ แต่มันเป็นฟังก์ชั่นที่ต่างกันนะ การพูดบนเวทีมันก็มีฟังก์ชั่นและพลังแบบหนึ่ง มีความสัมพันธ์แบบหนึ่ง การทำหนังก็เช่นกัน มันก็มีความสำคัญและพลังอีกแบบ มีฟังก์ชั่นอีกแบบ

แต่ถ้ามองภาพรวม แน่นอนมันก็ยากขึ้นเพราะมันมีความกลัวอยู่

พอจะพูดได้ว่ามันเป็นบรรยากาศที่ท้าทาย คึกคักขึ้นได้ไหมนะ

คึกคักแบบไม่ยิ้มแย้ม ไม่ฮิฮะ เราว่ามันมีความอัดอั้นมากกว่า คนมันก็อยากจะแสดงออกอยู่แล้วเพราะเราว่ามันเป็นรีแอ็กชั่นในเรื่องธรรมดาทั่วไปในเรื่องทุกมิติของชีวิต เมื่อคนอัดอั้นก็อยากระบายออก และสื่อรูปแบบนี้มันทำได้ง่ายขึ้นละมั้ง คนเลยทำหนังออกมาเยอะขึ้น หรือไม่เราก็แค่ expose กับสื่อเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นเพราะมีแพลตฟอร์มที่ทำให้เราเห็นง่ายขึ้น 

ถ้าถามความรู้สึก เราว่ามันมีความอัดอั้นมากขึ้นและมีความขัดแย้งมากขึ้นในสังคม คนทำหนังก็อยากนำเสนอความขัดแย้งเหล่านี้ มันไม่ใช่ว่าเราไปถ่ายคนกินกาแฟเฉยๆ มันก็ไม่มีเรื่องราวสิ พอมันมีความขัดแย้งสูงก็ตามมาซึ่งคนที่ต้องการจะนำสิ่งเหล่านี้ออกไปทำอะไรสักอย่าง

อย่างหนังสั้น เราทำหนังพวกนั้นขึ้นมาเพราะความอยากทำ มันไม่ได้มีฟีดแบ็คจากภาครัฐ เราทำแล้วปล่อยส่วนตัวมากกว่า เป็นความรับรู้จากประสบการณ์ ข่าวสารบ้านเมืองแล้วทำให้เราทำหนังออกมามากกว่า

‘เอหิปัสสิโก’ โรงแตก! เปิดตัว 3 แสนบาทจากโรงฉายจำกัด

รายได้เปิดตัวหนัง 3 แสนบาท อาจไม่ได้น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่สำหรับ Come and See หรือ ‘เอหิปัสสิโก’ หนังสารคดีอิสระของไทย ผลงานของ ณฐพล บุญประกอบ ถือเป็นปรากฏการณ์ย่อมๆ ในวันที่ข่าวการแพร่ระบาดโควิดเข้าขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเข้าฉายเพียง 8 โรง และจำกัดรอบเฉลี่ยโรงละ 3 รอบเท่านั้น

‘เอหิปัสสิโก’ เป็นหนังเรื่องแรกจากโครงการ ‘หนังเลือกทาง’ อันเป็นการร่วมมือกันระหว่าง สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ในการผลักดันหนังอิสระให้สามารถเข้าฉายในวงกว้างไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยส่วนแบ่งที่เป็นธรรม

อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับฯ และผู้ผลักดันโครงการหนังเลือกทาง เล่าความรู้สึกว่า “ดีใจนะคะที่ฉายแล้วประสบความสำเร็จ ถือว่าเกินคาดมากๆ คิดว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่เราต้องการขยายฐานคนดู

“ในกรุงเทพฯ เรามีฐานคนดูอยู่แล้ว แต่ที่เราต้องการเพิ่มเติมคือคนดูหนังในต่างจังหวัด อย่างหนังเรื่องนี้เราก็จะมีการพาผู้กำกับไปพูดคุยกับคนดูโดยจะเริ่มจากหาดใหญ่และเชียงใหม่ซึ่งสองที่นี้มีฐานของผู้ชมอยู่แล้ว หลังจากเห็นตัวเลขวันแรกแล้วเราก็กำลังหารือกับทางสมาพันธ์ฯ เพื่อหาทางให้หนังมันขยายไปมากกว่านี้

“วัตถุประสงค์หลักของโครงการคือการขยายฐานผู้ชมให้หนังไทยอิสระ ซึ่งการจัดจำหน่ายหนังกลุ่มนี้อาจจะยากกว่าหนังทั่วไป เพราะมันไม่ใช่แค่ซื้อสื่อตรงนั้นตรงนี้แล้วจบ หนังอิสระมันต้องการการพูดคุย ทำความเข้าใจกับผู้ชมให้เขารู้ว่าหนังมันน่าสนใจอย่างไร ซึ่งก็ต้องขอบคุณ สมาพันธ์ฯ และเครือโรงภาพยนตร์ทุกเครือที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี”

สารคดี ‘เอหิปัสสิโก’ เล่าเรื่องการต่อสู้ของลูกศิษย์วัดธรรมกายเพื่อความเชื่อและศรัทธาของพวกเขา ที่อาจสวนกระแสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของคนส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่งประเด็นที่ชวนถกเถียงนั้นประกอบกับข่าวก่อนหน้านี้ว่าหนังอาจถูกแบนจนผู้สร้างถูกเรียกเข้าพบนั้น ทำให้หนังได้รับความสนใจมากขึ้น

และจากการลงพื้นที่สำรวจของทีมงาน Film Club ตามโรงต่างๆ ที่เข้าฉาย พบว่าทุกจุดมีผู้ชมเกือบเต็มไปจนถึงเต็มทุกที่นั่งทุกรอบ และผู้ชมนั้นเป็นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยเข้าโรงหนังแล้วในปัจจุบัน

อนุชาเล่าว่าโรงหนังกำลังเพิ่มรอบและโรงฉายให้ ‘เอหิปัสสิโก’ ในช่วงวันหยุดยาวที่จะถึงนี้ เนื่องจากรายได้ของหนังยังคึกคักตามหัวเมืองต่างๆ อีกด้วย

(*รายได้ 3 แสนบาท เป็นรายได้เฉพาะกรุงเทพฯ และเชียงใหม่)

สรุปบทความจากเสวนาคลับเฮาส์ : ปรากฏการณ์ Thai Wave Cinema ในทศวรรษ 2540 (ตอนที่ 1)

เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ภาณุ อารี ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ ได้จัดคลับเฮาส์พูดคุยในหัวข้อ “หนังไทย (Once Upon a Time – Thai Cinema) : ปรากฏการณ์ T Wave ในทศวรรษที่ 2000” ว่าด้วยหรือปรากฏการณ์ความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยในพุทธศักราช 2540

และนี่คือการสรุปความจากบทสนทนาที่เป็นเสมือนประวัติศาสตร์ขนาดย่อของภาพยนตร์ไทยโดยมุมมองของผู้คนในแวดวงและนักวิชาการภาพยนตร์

หมายเหตุ : บทความนี้เขียนระบุปีพุทธศักราชและคริสต์ศักราชคู่กันเพื่อให้ผู้อ่านจินตนาการและเปรียบเทียบบริบททางสังคมระหว่างสถานการณ์ภายในประเทศกับนอกประเทศได้ง่ายขึ้น


บรรยากาศแวดวงภาพยนตร์ไทยก่อนคลื่นใหญ่จะพัดมา

“Thai Wave ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศแต่เกิดขึ้นในตลาดโลก คนเริ่มรู้จักหนังไทยมากขั้นทั้งฝั่งเมนสตรีมและอาร์ตเฮาส์”

นี่คือคำอธิบายปรากฏการณ์ภาพยนตร์ไทยในทศวรรษที่ 2540 ของ ชาญชนะ หอมทรัพย์ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เขาเล่าถึงบรรยากาศแวดวงอุตสาหกรรมหนังในประเทศไทยช่วงต้นพุทธศักราช 2530 ว่ามีการผลิตหนังไทยเรื่อยๆ ทว่าราวๆ ช่วงกลางทศวรรษ (ราวปลายทศวรรษ 1980’s- กลาง 1990’s) ผู้ผลิตหนังจำต้องเผชิญกับการมาถึงของเทคโลโนยีและนวัตกรรมอุตสาหกรรมบันเทิง เช่น ร้านเช่าวิดีโอ และการมาเยือนของโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ที่ส่งผลให้โรงแสตนอโลนด์เสื่อมความนิยม

ชาญชนะเล่าว่าสมัยก่อนเจ้าของค่ายหนังจำนวนหนึ่งเป็นเจ้าของโรงสแตนอโลนควบคู่กันไป เมื่อทำหนังเสร็จก็จะนำหนังในค่ายมากระจายฉายตามโรงที่ตนเป็นเจ้าของ ชาญชนะยกตัวอย่างหนังไทยในช่วง 2530 ที่ส่วนมากเป็นหนังแนวรักวัยรุ่นหรือหนังตลกที่มีหลายภาค เช่นเรื่อง บุญชู บ้านฝีปอบ ฯลฯ

ที่มาภาพและข้อมูล : ประวิทย์ แต่งอักษร

ทาง ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์อธิบายสภาพการณ์ของอุตสาหกรรมหนังไทยใน พ.ศ. 2530 – 2540 ตามกราฟว่า ในช่วงต้นพ.ศ. 2530 มีหนังไทยเข้าฉายในโรงปีหนึ่งเป็นร้อยๆ เรื่อง แต่เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวจำนวนหนังไทยที่สามารถผลิตเข้าสู่โรงภาพยนตร์ในช่วงปลาย พ.ศ. 2530 ก็เริ่มลดลง พฤติกรรมและความนิยมของคนดูภายในประเทศก็เริ่มเปลี่ยนไป

“ในช่วงปี 2530 คนกรุงเทพฯ ไม่ดูหนังไทย คนดูในประเทศแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือคนดูหนังฝรั่งที่ยังอยู่ในกรุงเทพฯ กับคนดูหนังไทยที่อยู่ในต่างจังหวัด แล้วโรงหนังในตอนปี 2530 โรงหนังในกรุงเทพฯ ก็ไม่ฉายหนังไทย มันชัดเจนมากว่ามีการแบ่งชนชั้นอย่างรุนแรง”

นอกจากปัญหาการมาถึงของเทคโลโนยีที่ผู้ผลิตหนังต้องเผชิญแล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจภายในไทยช่วง พ.ศ. 2538 – 2539 (ค.ศ. 1995 – 1996) ก็เริ่มฝืดเคือง จนกระทั่ง พ.ศ. 2540 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง บรรดานักทำหนังไทยรุ่นเก่าต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว ทว่าแม้ปี 2540 จะเป็นปีที่เลวร้ายด้วยเหตุวิกฤติเศรษฐกิจแต่วงการหนังไทยกลับเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขึ้น…


ปรากฏการณ์คลื่นลูกแรกจาก 2499 : พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997)

หลังจากทำงานในวงการโฆษณามานานราว 15 ปี นนทรีย์ นิมิบุตร, เป็นเอก รัตนเรือง และ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง มีความฝันร่วมกันคือ ‘อยากทำหนัง’ ทั้งสามรวมตัวกันทุกวันศุกร์ ผลัดกันเสนอไอเดียและพล็อตหนังที่ตนอยากทำ แต่ถึงกระนั้นนนทรีย์ก็ยังรู้สึกเป็นความฝันอันเลื่อนลอย พวกเขาไม่รู้จักใครในวงการหนังเป็นพิเศษ แต่ด้วยความทะยานอยากทั้งสามจึงตกลงกันเป็นเอกฉันกันว่าเราจะต้องทำหนังตามความฝันให้ได้

แรกเริ่มทั้งสามอยากทำเรื่องแม่นากพระโขนง แต่มีเหตุอันต้องเปลี่ยนใจ…

“ตอนคิดเรื่องจนจะเสร็จอยู่แล้ว วันหนึ่งวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยงก็บอกว่า ‘เห้ย เราเป็นใครกันวะ ไม่มีใครรู้จักเราเลยในวงการภาพยนตร์’ (แต่หนังที่เราจะทำมันเปลี่ยนแปลงแม่นากพระโขนงไปโดยสิ้นเชิง) ทำให้พี่วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยงเองก็คอนเซิร์นขึ้นมาในคืนหนึ่งว่าเราทำอะไรกันอยู่ คนจะเชื่อเราได้ยังไงว่าไอ้มนุษย์สามคนนี้มันจะมาทำให้แม่นากพระโขนงของเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงได้ พอประโยคนั้นของวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยงก็ทำให้ทุกคนชะงักงันแล้วก็เงียบกันไป ว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราเป็นใครก็ไม่รู้มาเปลี่ยนแปลงแม่นากพระโขนงของไทยที่เขาเคยทำมาตั้ง 20 เวอร์ชั่น (ทั้งหนังและละคร)

“เราก็สตั๊นท์กันไปอยู่พักหนึ่งแล้วก็บอกว่าจริง แต่เราจะทำไงกันดีเราอยากทำหนังแล้ว ถึงเวลาของพวกเราแล้วที่เราอยากจะเข้าไปสู่ในวงการภาพยนตร์กัน ผมก็ยกมือแล้วบอกมีเรื่องนึงที่อยากทำคือแดง-ไบเล่ เพราะเขาสนใจว่าทำไมนักเลงคนหนึ่งถึงได้กว้างขวางและมีอิทธิพลต่อสังคมขนาดนั้น และนั้นคือจุดเริ่มต้นของพล็อตภาพยนตร์เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมืองที่พวกเขาจะกำกับร่วมกันเป็นเรื่องแรก”

เมื่อตกลงกันว่าจะทำเรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง ทั้งสามคนจึงนำเรื่องไปเสนอกับ วิสูตร พูลวลักษณ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและบริหารค่ายหนัง ไท เอนเตอร์เทนเมนต์ นนทรีย์เล่าว่าทุกครั้งที่เขาทำหนังสิ่งที่เขาพยายามคิดคือทำยังไงไม่ให้นายทุนขาดทุน นอกจากการพยายามทำหนังไม่ให้ขาดทุนแล้วสิ่งที่โดดเด่นของหนังเรื่อง 2499ฯ คือการมีภาษาภาพยนตร์ที่ ‘มีความเป็นฝรั่ง’ แตกต่างจากบรรดาหนังไทย (ยุค 2530) อย่างชัดเจน และความแปลกใหม่นี้เองทำให้ภาพยนตร์เรื่อง 2499ฯ เป็นที่จดจำและเป็นที่นิยมในหมู่คนดูสมัยนั้น 2499ฯ ปิดตัวด้วยรายได้ 75 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่สวนทางกับวิกฤติทางเศรษฐกิจ ณ เวลานั้น นนทรีย์กล่าวเพิ่มเติมในคลับเฮาส์ว่า…

“พี่ยังยืนยันว่า… สิ่งที่ทุกคนทำในยุคนั้นตั้งใจทำ ไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อการตลาด

แต่เพราะทำในสิ่งที่เรารัก ทำให้สิ่งที่เราทำตอนนั้นมันโดดเด่นมากๆ”

หลังจากการประสบความสำเร็จของ 2499 ทำให้นนทรีย์ เป็นเอก และวิศิษฏ์เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น 2 ปีต่อมานนทรีย์จึงนำเรื่อง นางนาก ที่เป็นโปรเจคแรกเริ่มไปเสนอกับนายทุนอีกครั้งหนึ่ง ด้วยผลพวงความสำเร็จของ 2499ฯ นายทุนจึงมั่นใจให้ทุนสร้างถึง 2 เท่า (ของทุนสร้าง 2499ฯ) นับรวมแล้วประมาณ 12 ล้านบาท นนทรีย์กล่าวถึงนางนากพระโขนงเวอร์ชั่น พ.ศ. 2542 (หรือ ค.ศ. 1999) ว่ามันเป็นหนังรักที่มีบรรยากาศน่ากลัวและทุกวันนี้ก็ยังมีต่างประเทศสนใจติดต่อขอนำไปฉายเป็นเนืองๆ


‘สตรีเหล็ก’ หนังกระเทยที่โกยเงิน : พ.ศ. 2543 (ค.ศ.2000)

แม้ในช่วงปีปลาย พ.ศ. 2530 วงการหนังไทยเต็มไปด้วยหนังวัยรุ่นแนวกระโปรงบานขาสั้น อย่างภาพยนตร์เรื่อง โลกทั้งใบให้นายคนเดียว ที่ฉายในปี 2538 (ค.ศ. 1995) ก็สามารถกวาดรายได้ไปถึง 55 ล้านบาท กอปรกับภาพความสำเร็จจากหนังเรื่อง 2499ฯ และ นางนาก (2542/1999) ที่ตามมาติดๆ ปรากฏการณ์ความสำเร็จที่เกิดจากฝีมือสามผู้กำกับหน้าใหม่นี้เองทำให้ค่ายหนังและสตูดิโอต่างๆ ยอมเปิดโอกาสให้คนนอกวงการเข้ามาทำหนังมากขึ้น พร้อมๆ กันในขณะนั้นเป็นช่วงโรงหนังมัลติเพล็กซ์กำลังเติบโต ความต้องการหนังเข้าฉายของโรงจึงมีมากตามไปด้วย

ยงยุทธ ทองกองทุน ที่ถึงแม้ขณะนั้นทำงานโฆษณาให้กับ บริษัทหับโห้หิ้น บางกอก ก็รู้สึกมีความหวังกับการทำหนังและมองว่ากลุ่มคนดูวัยรุ่นและคนดูในเมืองที่เคยดูแต่หนังฝรั่งพร้อมที่จะเปิดรับหนังไทยที่มีแนวทางการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ มากขึ้น เขาได้รับโอกาสเข้ามาพัฒนาบท สตรีเหล็ก ความท้าทายของการทำภาพยนตร์เรื่องนี้คือในสมัยนั้นหนังกีฬาและหนังกะเทยเป็นหนังต้องห้ามที่ทำแล้วเสี่ยงมากที่จะขาดทุน ยงยุทธจึงลองทำฉากแข่งขันที่เป็นฉากการแข่งขันสุดท้ายไปเสนอให้วิสูตรซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าของบริษัททุน แม้ว่าจะเต็มไปด้วยความไม่มั่นใจแต่ท้ายที่สุดวิสูตรก็ยอมอนุมัติทุนสร้างให้สตรีเหล็ก (ภาคแรก) ได้ถ่ายทำ สตรีเหล็กถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่บริษัทไท เอนเตอร์เทนเมนต์ ร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทหับโห้หิ้น บางกอก

ปี 2543 (ค.ศ.2000) วันแรกที่ฉายสตรีเหล็กก็ทำเงินได้ถึง 6 ล้านบาท มีทั้งการเพิ่มรอบและการเสริมที่นั่ง ความสำเร็จของสตรีเหล็กไม่ได้ปรากฏแค่ตัวเลขรายได้เท่านั้น แต่ภายหลังการฉาย สังคมได้พูดถึงประเด็นเพศที่สามกันเป็นวงกว้างจากเดิมที่คนในยุคนั้นไม่ให้การยอมรับและพูดถึงปัญหานี้เท่าที่ควรนัก สตรีเหล็กไม่ได้ประสบความสำเร็จแค่ที่ไทยเท่านั้นแต่ไปไกลถึงฮ่องกง ซึ่งสตรีเหล็กสามารถเอาชนะใจชาวฮ่องกงด้วยรายได้ปิดโปรแกรม 13 ล้านเหรียญฮ่องกง นับเป็นหนังไทยที่ได้รายได้มากที่สุดมานานจนกระทั่งถูกโค่นด้วยฉลาดเกมส์โกงเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

สามปีต่อมาบริษัทหับโห้หิ้น ฟิล์มกลับมาจับมือกับบริษัทไท เอนเตอร์เทนเมนต์อีกครั้งและร่วมกันผลิต สตรีเหล็กภาค 2 ภายใต้ฝีมือกำกับของยงยุทธเช่นเดิม สตรีเหล็กภาค 2 ออกฉายในเดือนมีนาคม 2546 (ค.ศ. 2003) กวาดรายได้ไปได้ 71 ล้านบาท


กำเนิด GTH และปรากฏการณ์ ‘แฟนฉัน’ : พ.ศ. 2545-2547 (ค.ศ. 2002-2004)

ยงยุทธเล่าต่อว่าหลังจากบริษัทหับโห้หิ้น บางกอก ทำสตรีเหล็กภาคแรกสำเร็จก็ได้รับการทาบทามให้มาลองทำหนัง จึงมีการจัดตั้งบริษัทหับโห้หิ้น ฟิล์มเพื่อร่วมมือผลิตสื่อภาพยนตร์ และภาพยนตร์เรื่องแรกที่บริษัทหับโห้หิ้น ฟิล์มทำร่วมกับ GMM Picture คือเรื่อง 15 ค่ำเดือน 11 ที่กำกับโดย จิระ มะลิกุล พร้อมออกฉายในปี 2545 (ค.ศ.2002) 15 ค่ำเดือน 11 กวาดรายได้ไปได้ 55 ล้านบาท

ในปี 2546 (ค.ศ.2003) มีภาพยนตร์ไทยเข้าฉายมากถึง 48 เรื่อง แต่ในบรรดา 48 เรื่องนี้เรื่องที่สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญแก่วงการหนังไทยก็คือภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน ซึ่งเป็นหนังเด็กที่มีผู้กำกับร่วมกันถึง 6 คน ได้แก่ นิธิวัฒน์ ธราธร, วิชชา โกจิ๋ว, ทรงยศ สุขมากอนันต์, คมกฤษ ตรีวิมล, วิทยา ทองอยู่ยง และ อดิสรณ์ ตรีศิริเกษม ซึ่งทั้งหกต่างเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ที่ไม่เคยมีผลงานกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวมาก่อน

และนอกจากจะเป็นผลงานเรื่องแรกของผู้กำกับหน้าใหม่ทั้งหกคนแล้ว แฟนฉันยังเป็นภาพยนตร์ที่เกิดจากการร่วมมือกันทางธุรกิจของ 3 บริษัทภาพยนตร์คือ ไท เอนเตอเทนเมนท์, GMM Picture และ บริษัทหับโห้หิ้น ฟิล์ม แฟนฉันฉีกกฎความเชื่อเดิมของวงการหนังไทยที่เคยถือกันว่าหนังเด็กเป็นหนังต้องห้ามเพราะทำยากและไม่ทำเงิน แต่แฟนฉันกลับทำรายได้ได้มากถึง 137 ล้านบาท 

นอกจากการประสบความสำเร็จด้านรายได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นที่ชื่นชอบในหมู่คนดูเพราะใช้เพลงไทยที่เคยฮิตในยุค 80 มาประกอบภาพยนตร์ ความสำเร็จของแฟนฉันทำให้บริษัทที่ร่วมลงทุนทั้ง 3 แห่ง ตัดสินใจรวมตัวกันเปิดค่ายหนังอย่างเป็นทางการและตั้งชื่อค่ายหนังใหม่นี้ว่า GTH

ในปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ออกฉายในนาม GTH อย่างเป็นทางการคือหนังสยองขวัญเรื่อง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ฝีมือการกำกับของ โต้ง – บรรจง ปิสัญธนะกูล และ โอ๋ – ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ซึ่งเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ไฟแรงทั้งคู่ จุดเด่นของชัตเตอร์ฯ ที่เป็นหนังผียุคใหม่คือการใช้เทคนิคที่เน้นความสมจริง ต่างจากหนังผีแบบที่คนไทยคุ้นเคย กอปรกับทีมงานของ GTH พยายามโปรโมตภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างแข็งขันจนในที่สุดก็สามารถทำรายได้ทะลุ 100 ล้านบาท 

ความสำเร็จของชัตเตอร์ฯ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในประเทศเท่านั้น ยงยุทธเล่าว่าในช่วงนั้นกระแสหนังผีเอเชียกำลังเป็นที่นิยมในตลาดภาพยนตร์โลก ทั้งหนังผีญี่ปุ่นอย่าง The Ring กับ Ju-On ทำให้หนังสยองขวัญจากประเทศไทยได้รับความสนใจตามไปด้วย

“วันที่จัดงานฉลองรายได้ 100 ล้าน ‘กดติดร้อยล้าน กดติดเอเซีย’ วันนั้นมี Distributor (บริษัทตัวแทนจัดจำหน่ายต่างประเทศ) 4-5 ประเทศ มาร่วมพิธีเซ็นสัญญาจะเอาหนังไปฉายต่อเลย ตอนนั้นเรามีคอนเนกชั่นในการจัดจำหน่ายมันเลยไปค่อนข้างเร็ว หนังก็เริ่มไปฉายที่สิงคโปร์ ไต้หวัน มันก็เกิดกระแสแล้วก็ประสบความสำเร็จทุกที่”

ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณทำเงินได้จากการฉายภายในประเทศได้เป็นเงินทั้งสิ้น 110 ล้านบาท ในช่วงเวลานั้นมีบริษัทจัดจำหน่ายจากหลายประเทศต่างสนใจภาพยนตร์เรื่องนี้มากขนาดยอมขึ้นเครื่องบินมาที่ไทยเพื่อหิ้วฟิล์มกลับไปดู รวมไปถึง รอย ลี (Roy Lee) โปรดิวเซอร์ลูกครึ่งเอเชีย-อเมริกันที่ซื้อพล็อตชัตเตอร์ฯ เพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์รีเมคเวอร์ชั่นฮอลลีวู้ด ซึ่งนั่นก็คือเรื่อง Shutter กำกับโดย มาซายูกิ โอชิอาอิ


กำเนิดเทศกาลหนังสั้น : พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997)

บรรยากาศการประกวดภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 1 ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์
ที่มาภาพ : บทความ 24 ปีแห่งความหลังของนักดูหนังสั้นมาราธอนที่ชื่อ จิตร โพธิ์แก้ว, ผู้เขียน พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู, https://www.fapot.or.th/main/information/article/view/589
การฉายหนังสั้นในปี ค.ศ. 2000 ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์
ที่มาภาพ : บทความ 24 ปีแห่งความหลังของนักดูหนังสั้นมาราธอนที่ชื่อ จิตร โพธิ์แก้ว, ผู้เขียน พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู, https://www.fapot.or.th/main/information/article/view/589

ในช่วงปี 2530 แม้จะมีหนังไทยเข้าฉายหลายเรื่องแต่กลับไม่มีงานฉายหนังสั้นอย่างเป็นทางการ โดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์ มีความคิดมาเสมอว่าประเทศไทยควรพื้นที่ให้หนังประเภทอื่นที่ไม่ใช่หนังกระแสหลัก โดมจึงจัดงานฉายหนังสั้นของนิสิตนักศึกษาบ้างเป็นครั้งคราวแต่ยังไม่ต่อเนื่องเท่าใดนัก

ในช่วงเวลานั้นคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อหนังสั้นเท่าที่ควร ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการ หอภาพยนตร์ เล่าประสบการณ์ให้พอเห็นภาพว่าขณะที่ตนเป็นนักศึกษาภาพยนตร์ เธอไม่มีโอกาสได้ดูหนังสั้นของเพื่อนร่วมชั้นเรียน เพราะสมัยก่อนหนังสั้นที่บรรดานักศึกษาทำส่งอาจารย์เป็นเพียงหนังที่ผลิตขึ้นเพื่อฉายให้ครูผู้สอนดูแล้วพิจารณาให้คะแนนนักศึกษา หลังจากส่งหนังเสร็จก็ไม่มีใครพูดถึงหนังสั้นที่เคยทำกันอีกเลย

ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ให้ข้อมูลว่าประมาณปี พ.ศ. 2537-2538 ช่วงที่ จิระ มะลิกุล ได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะนิเทศจุฬาฯ จิระได้จัดงานฉายหนังสั้นที่นิสิตทำพร้อมให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมได้ จากนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มมีการจัดงานฉายหนังสั้นมากขึ้นๆ ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ

ต่อมาในปี 2540 (ค.ศ.1997) ซึ่งนอกจากจะเป็นปีเข้าฉายของภาพยนตร์เรื่อง 2499 ปีนี้ก็เป็นปีที่ครบรอบ 100 ปีภาพยนตร์ในประเทศไทย มูลนิธิหนังไทยก็ได้จัดกิจกรรมเทศกาลหนังสั้นขึ้นมา โดยประสบการณ์ที่คุณชลิดาเคยไปดูหนังสั้นที่เมืองนอกมาดัดแปลงใบสมัครเทศกาลหนังสั้นของเมืองนอกมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับของไทย

ปัจจุบันเทศกาลหนังสั้นของหอภาพยนตร์เปรียบเสมือนเวทีสำหรับนักทำหนังหน้าใหม่ และเป็นก้าวแรกของบุคลากรหลายคนในวงการหนังไทย ทั้ง บุญส่ง นาคภู่, พิมพ์กา โตวิระ, ศิวโรจณ์ คงสกุล, นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ฯลฯ


คลื่นลูกเริ่มของหนังอาร์ตไทย

ในยุค 1990 (ประมาณพ.ศ. 2533) ธุรกิจร้านเช่าวิดีโอเริ่มเข้ามายังประเทศไทย ณ ภาคอีสานร้านค้าที่มีฐานะอย่างร้านไฟฟ้า โรงสีของคนจีนจะเปิดบ้านเป็นร้านเช่าวิดีโอ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับหนังอิสระเล่าว่าเขาเติบโตมาพร้อมกับการดูหนังจากบรรดาร้านเช่าวิดีโอ ในวัยเด็กของอภิชาติพงศ์ไม่มีคนหรือสื่อโซเชียล มีเดียคอยแนะนำว่าควรดูหนังเรื่องไหน เขาค้นพบหนังแปลกๆ ด้วยตนเองและตื่นตาตื่นใจกับบรรดาหนังต่างประเทศเกรดบีในร้านเช่าวิดีโอ

อภิชาติพงศ์เล่าให้ฟังว่าพอเขาเริ่มโตบรรยากาศของโรงหนังแสตนอโลนก็เริ่มซบเซาลง แต่ตอนที่เขาเข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรมเขาก็พบหนังไทยที่น่าสนใจอีกครั้ง นั่นก็คือเรื่อง พริกขี้หนูกับหมูแฮม (2532/1989) ของค่ายไท เอนเตอร์เทนเมนต์ อภิชาติพงศ์มาวิเคราะห์เองในภายหลังว่าเหตุที่พริกขี้หนูกับหมูแฮมเป็นหนังที่แปลกใหม่สำหรับเขา เพราะใช้เทคนิคการเล่าแบบโฆษณา เช่น เทคนิคการถ่ายภาพ มีการใช้เสียงในฟิล์ม 

ช่วงปี 2537 (ค.ศ. 1994) หลังจากเรียนจบปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรม อภิชาติพงศ์ไปศึกษาต่อด้านภาพยนตร์ที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา การไปอยู่ต่างประเทศทำให้อภิชาติพงศ์ได้ชมหนังไต้หวันและหนังอิหร่านที่เป็น World Wave แล้วเกิดความรู้สึกประทับใจและบันดาลใจอย่างมาก เขาเขียนจดหมายจากชิคาโกส่งมาให้นิตยสารฟิล์มวิวว่าในหนังอิหร่านและหนังไต้หวันที่เขาชอบก็มีหลายสิ่งที่หนังไทยมีอยู่ แต่ทำไมหนังไทยถึงไปได้ไม่ไกลเหมือนหนังประเทศเหล่านี้เสียที

ภายหลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 (ค.ศ. 1997) อภิชาติพงศ์เดินทางกลับมาไทยและเริ่มทำหนังด้วยความวาดหวังต้องการจะเปลี่ยนแปลงหนังไทยแบบเดิมๆ เขาไม่มีงบทำหนังแต่พอจะมีบทอยู่บ้าง จึงเขียนจดหมายเสนอบทหนังไปให้ไท เอนเตอร์เทนเมนต์ แม้ผลจะลงเอยที่การปฏิเสธ แต่ทุกวันนี้อภิชาติพงศ์ยังคงเก็บจดหมายที่วิสูตรเขียนปฏิเสธกลับมาไว้เป็นที่ระลึก 

อภิชาติพงศ์เผยว่าในสมัยนั้นคำว่า ‘independent film’ ยังไม่เกิดขึ้น การเป็นผู้กำกับหนังอิสระในยุคนั้นเป็นไปได้ยากมากจนแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะแม้ว่าจะสามารถถ่ายทำคนเดียวได้แต่เมื่อต้องนำฟิล์มไปล้าง แลปแทบทุกแห่งจะเอาแต่ถามว่าเราเป็นใคร มาจากหน่วยงานไหน (ซึ่งเหตุนี้เองทำให้อภิชาติพงศ์จำต้องเปิดบริษัทเองในเวลาต่อมา) ข้อจำกัดนี้ทำให้อภิชาติพงศ์เดินทางมาหา โดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์ เพื่อขอคำแนะนำและช่องทางติดต่อกับผู้กำกับอิสระคนอื่นๆ ในไทย

ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน สถาบันเกอเธ่เปิดคอร์สสอนการทำหนังทดลอง นำโดย คริสตอฟ ยาเนสโก (Christoph Janetzko) ทำให้อภิชาติพงศ์ได้รู้จักนักทำหนังไทยเพิ่มขึ้นและได้พบกับ เคี้ยง-ไพสิฐ พันธ์พฤกษชาติ ทั้งสองได้ทำหนังหลายเรื่องร่วมกัน ปัจจุบันไพสิฐกลายมาเป็นทีมงานคนสำคัญที่ดูแลด้านเสียงให้กับหนังของอภิชาติพงศ์ อภิชาติพงศ์กล่าวถึงเรื่องราวในสมัยนั้นว่า

“เราว่าเสน่ห์ของตอนนั้นคือความไม่รู้นี่แหละ มันบ้าเลือด แล้วมันไม่มีคอนแทคที่ง่ายเหมือนปัจจุบัน ก็ต้องลุยน่ะ”

ต่อมาอภิชาติพงศ์ก็สามารถสร้างภาพยนตร์เรื่องแรกสำเร็จและออกฉายใน พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) นั่นก็คือเรื่องคือ ดอกฟ้าในมือมาร ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบรรดาหนัง World Wave อิหร่านและไต้หวันที่เขาประทับใจนั่นเอง โดยดอกฟ้าในมือมารเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการสนับสนุนทุนสร้างจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติรอตเตอร์ดัมและได้ไปฉายตามเทศกาลต่างประเทศ ซึ่งการฉายดอกฟ้าในมือมารนอกประเทศนี้เองทำให้หนังของอภิชาติพงศ์ได้รับความสนใจและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังอาร์ตไทยเป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิจารณ์ต่างชาติ แต่อภิชาติพงศ์เล่าถึงความรู้สึกว่าการได้ไปเทศกาลหนังนานาชาติไม่ได้หมายความว่าจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีเสมอไป

“สำหรับเราเทศกาลมันเป็นเหมือนห้องเรียนน่ะ คานส์เนี่ยมันเป็นโรงเรียนที่ใหญ่มาก มันเป็นที่ที่ทำให้เราเตือนสติว่า ฉันทำของฉันอย่างนี้ มันไม่สามารถที่จะเอาใจใครได้ เป็นที่ฝึกให้เราเจอคนดูและต้องยอมรับทุกอย่างที่ฉันทำไป จะมีคำถามมีอะไรเยอะมากทำให้เราเรียนรู้มาก รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้ทำหนังเรื่องต่อไปด้วยก็คือเรื่อง สุดเสน่หา*”

(*สุดเสน่หาได้ฉายในปี พ.ศ. 2545 หรือ ค.ศ. 2002)

เมื่อหนังไทยเดินทางไประดับโลก : พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002)

สิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อผู้ผลิตหนังไม่น้อยไปกว่าผู้ชมก็คือ ‘นักวิจารณ์’ นักวิจารณ์เป็นเสมือนกระบอกเสียงหนึ่งที่ผลักดันให้ผู้คนรับรู้ถึงการมีอยู่และความน่าสนใจของหนังเรื่องนั้นๆ

ประมาณปี ค.ศ. 1996-1997 (พ.ศ. 2539 – 2540) ก้อง ฤทธิ์ดี มีโอกาสเข้ามาเป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ภาคภาษาอังกฤษ (ปัจจุบันก้องเป็นรองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์) การเขียนบทวิจารณ์เป็นภาษาอังกฤษนี้เองทำให้ชาวต่างชาติรับรู้ข่าวสารความเป็นไปในแวดวงหนังไทยมากขึ้น โดยเฉพาะหนังไทยช่วงปี 2540 (ค.ศ. 1997) ที่มีความแตกต่างและแปลกใหม่ บทความที่เขาเขียนจึงถือเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทำให้ต่างประเทศรู้จักและให้ความสนใจกับหนังไทยมากขึ้น 

ก้องไม่ได้เขียนบทวิจารณ์เฉพาะหนังในโรงที่ได้รับความนิยมเท่านั้น —หากจะกล่าวเป็นความบังเอิญก็ว่าได้ ครั้งหนึ่งก้องมีโอกาสหยิบยืมเทป VHS (วิดีโอเทป) เรื่องดอกฟ้าในมือมารจากเพื่อนฝรั่งคนหนึ่ง ซึ่งเพื่อนฝรั่งคนนี้เป็นเพื่อนกับเคี้ยง-ไพสิฐ ทีมงานด้านเสียงของอภิชาติพงศ์ การดูวิดีโอเทปเรื่องดอกฟ้าในมือมารครั้งนั้นคือการชมผลงานภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ครั้งแรกของก้อง 

เมื่อก้องและอภิชาติพงศ์ได้เจอหน้ากัน อภิชาติพงศ์ได้ชักชวนเขาไปดู สุดเสน่หา ที่ห้องแลปบันทึกเสียง CVD แถววิภาวดี (ต่อมากลายเป็น technicolor lab) ก้องเล่าว่าบรรยากาศในวันนั้นแม้มีผู้ชมดูหนังเรื่องนี้อยู่เพียง 4-5 คน แต่ความรู้สึกในการชมภาพยนตร์ยังเด่นชัดอยู่ในความทรงจำของเขา ในเวลาต่อมาสุดเสน่หาก็กลายเป็นภาพยนตร์สำคัญอีกเรื่องของอภิชาติพงศ์

และเป็นหนังที่พาให้อภิชาติพงศ์มีโอกาสได้รู้จักผู้คนมากมาย ทั้งนักแสดงคู่ใจอย่าง ป้าเจน – เจนจิรา พงพัศ วิดเนอร์ ซึ่งแสดงนำในหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ลี ชาตะเมธีกุล นักตัดต่อภาพยนตร์อิสระหลายเรื่องของไทย ซึ่งขณะที่ทำเรื่องสุดเสน่หาอยู่นั้นลียังเป็นเพียงนักศึกษาภาพยนตร์จบใหม่ สุดเสน่หาไม่ได้พาให้อภิชาติพงศ์รู้จักเพียงทีมงานคู่ใจของเขาเท่านั้น หนึ่งในผู้ชมคนสำคัญที่ได้ดูสุดเสน่หาคือ แอนน์ ฮุย (Ann Hui) ผู้กำกับฮ่องกงที่มาเมืองไทยพอดี เธอบอกอภิชาติพงศ์ว่าสุดเสน่หาเป็นหนังที่ดีมาก ทว่าในขณะนั้นอภิชาติพงศ์สนใจทำงานด้านศิลปะมากกว่าภาพยนตร์

ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) อภิชาติพงศ์ได้ทุนทำงานศิลปะที่ฝรั่งเศส การไปทำงานศิลปะที่ฝรั่งเศสทำให้อภิชาติพงศ์ได้รู้จักเพื่อนต่างชาติที่รู้จักกับคนคัดเลือกหนังเข้าประกวดเทศกาลหนังเมืองคานส์ เขายื่น mini-DVD ให้เพื่อนต่างชาติคนนั้นดู เพื่อนคนนั้นจึงนำหนังส่งเข้าประกวด ปรากฏว่าสุดเสน่หาติดรายชื่อหนังที่ได้รับเลือกเข้าฉายในเทศกาลคานส์สาย Un Certain Regard และได้รางวัลชนะเลิศในที่สุด! การคว้ารางวัลนี้เป็นข่าวใหญ่ที่สื่อฝรั่งเศสให้ความสนใจเป็นอย่างมาก หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ 2 หัวของฝรั่งเศสพร้อมใจกันลงข่าวสุดเสน่หาเต็มหน้า อภิชาติพงศ์เผยว่านั่นเป็นช่วงเวลาที่เขารู้สึกว่าทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เขาได้เรียนรู้ไดนามิกของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์และเรียนรู้การทำงานกับสื่ออีกด้วย ในช่วงเวลาเดียวกันที่ฝั่งไทย ก้องพยายามบอกเจ้านายว่ามีหนังไทยได้รางวัลที่เมืองคานส์ แต่กว่าบางกอกโพสต์จะลงข่าวนี้ก็ล่าช้าไป 2-3 วัน

นอกจากเรื่องสุดเสน่หาแล้ว ในช่วงทศวรรษที่ 2540 ยังมีภาพยนตร์ไทยอีกเรื่องที่ได้รับเลือกให้เข้าฉายในสาย Un Certain Regard คือเรื่อง ฟ้าทะลายโจร ของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ซึ่งฉายในปี 2544 (ค.ศ. 2001)


(อ่านต่อในตอนที่ 2)

อานเญส วาร์ดา: ห้องทดลองแห่งเสียงของวาร์ดา

โลกภาพยนตร์นั้นไม่ควรจดจำอานเญส วาร์ดา เป็นเพียงแค่หนึ่งในผู้กำกับของกลุ่ม French New Wave กลุ่มผู้กำกับภาพยนตร์ฝรั่งเศสที่เติบโตมาจากการเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ (ถึงแม้ตัววาร์ดาเองจะไม่ได้มาจากการเป็นนักวิจารณ์ก็ตาม เธอตามมาทีหลัง พร้อมกับคริส มาร์แกร์, อแล็ง เรแน, ฌากส์ เดมี ในนามกลุ่ม Left Bank) ถึงพวกเขาเปลี่ยนแปลงความเป็นภาพยนตร์ของโลกไปตลอดกาล แต่ว่าแต่ละคนนั้นก็ยังมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าคนที่ขึ้นชื่ออย่าง ฌอง-ลุค โกดาร์ด หรือ ฟร็องซัว ทรูว์โฟ ก็ตาม และวาร์ดาก็เป็นคนที่โดดเด่นอย่างมากในกลุ่มเช่นเดียวกับกลุ่มคนที่บอกไว้ก่อนหน้า และภายหลังเธอมีความโดดเด่นนำหน้าผู้กำกับร่วมรุ่นหลายๆ คน ด้วยผลงานที่สร้างอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นที่รักของคนรักหนังทั่วโลก

ความโดดเด่นของอานเญส วาร์ดา ที่นอกจากจะถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างละมุนละม่อมและน่ารัก ให้พลังบวกแก่ทุกคนที่ได้ดู เธอสังเกตและใส่ใจรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ที่คนมองข้าม และเธอเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของขบวนการเฟมินิสต์ในโลกภาพยนตร์ เธอแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและพลังของสตรีที่ทัดเทียมไม่แพ้ผู้ชายทั้งในจอและนอกจอภาพยนตร์ แต่สิ่งสำคัญที่เราจะเล่าก็คือเธอยังเป็นคนใช้เสียงและภาพได้มีประสิทธิภาพมากที่สุดคนหนึ่ง อย่างคำพูดที่จะได้เห็นในคลิปที่ว่า “ภาพยนตร์เป็นสื่อที่ขึ้นอยู่กับภาพ แต่แค่ภาพนั้นเล่าเรื่องราวได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น” หากจะถามว่าการใช้เสียงในภาพยนตร์ของเธอนั้นโดดเด่นขนาดไหน ก่อนอื่นขอให้ลองดูตัวอย่างจากคลิปนี้ของ fandor ก่อน

ก่อนจะเข้าเนื้อหาของบทความนั้นต้องอธิบายคำศัพท์ที่จะได้เห็นในบทความนี้เป็นหลัก ซึ่งเกี่ยวกับการใช้เสียงในภาพยนตร์ การใช้เสียงโดยพื้นฐานแยกออกเป็น 2 แบบ คือ การใช้เสียงที่ปรากฏแหล่งเสียงในเฟรม (diegetic) เช่น เสียงพูดจากตัวละคร เสียงเพลงที่เปิดจากวิทยุ กับการใช้เสียงที่ไม่ปรากฏแหล่งเสียงในเฟรม (non-diegetic) เช่น เสียงความคิดในใจของตัวละคร เสียงสกอร์ประกอบฉาก เป็นต้น จากคลิปที่ได้ชมไปข้างต้นจะได้ยินชัดว่าเธอค่อนข้างปล่อยในการใช้เสียงของการปรากฏแหล่งเสียงในเฟรมค่อนข้างชัด ถึงแม้ว่าจะเป็นเสียงที่ปกติในภาพยนตร์จะใช้เป็นเสียง ambient คือเสียงประกอบฉาก จะไม่โดดเด่นเท่าเสียงพูดคุยของตัวละครที่พูดคุยกัน หรือเสียงของสกอร์ที่ต้องการขับเน้นอารมณ์ บ่อยครั้งการไม่มีเสียงสกอร์เข้ามาประกอบฉากนั้นเพราะว่าจะเป็นการขับเน้นบรรยากาศมากกว่า แต่วาร์ดานั้นใช้เสียงเพลงและเสียงอื่นๆ เสมือนว่านี่คือห้องทดลองของเธอ ดั่งคลิปที่ได้แสดงให้เห็น เพราะการไม่ใช้เสียงเพลงของเธอนั้นไม่ใช่ความเงียบของจริง มันยังมีเสียงต่างๆ ที่สามารถประกอบกับเป็นสกอร์ของหนังได้

เพื่อขยายความยอดเยี่ยมในการใช้เสียงของเธอได้อย่างชัดเจนขึ้น เราได้เจอบทความหนึ่งที่ได้วิเคราะห์การใช้เสียงของวาร์ดา จาก Claudia Gorbman ศาสตราจารย์ที่ศึกษาภาพยนตร์จาก University of Washington Tacoma เธอเขียนหนังสือ Unheard Melodies: Narrative Film Music เกี่ยวกับหน้าที่ของการใช้เพลงในภาพยนตร์ตั้งแต่เป็นยุคเงียบจนมีเสียงพูดในปัจจุบัน เธอสังเกตว่าวาร์ดานั้นเป็นคนรักเสียงเพลงอย่างมาก เธอใช้เพลงในหนังเป็นส่วนหนึ่งการออกแบบภาพของเธอ วาร์ดามีคนทำสกอร์เพลงคู่บุญอย่าง Joanna Bruzdowicz คอมโพสเซอร์ชาวโปแลนด์ที่ร่วมงานกันตั้งแต่ Vagabond ไปจนถึง The Gleaners and I นอกจากนั้นเธอยังมีการใช้แนวเพลงที่หลากหลายตั้งแต่เพลงป๊อบร่วมสมัยไปจนถึงฮิปฮอป ซึ่งในเรื่อง Cléo de 5 à 7 นั้นเธอได้ใช้งาน Michel Legrand คอมโพสเซอร์ระดับตำนานชาวฝรั่งเศส ซึ่งเขาได้เล่นเป็นมือเปียโนที่แต่งเพลงให้กับ Cléo ด้วย

Joanna Bruzdowicz (จากคลิป Joanna Bruzdowicz à propos de “Les Glaneurs et la glaneuse” d’Agnès Varda)

บทความนี้จะโฟกัสไปที่หนังของวาร์ดาชั้นครูหลักๆ สองเรื่อง คือ Cléo de 5 à 7 (1962) และ Vagabond (1985) หนังทั้งสองนั้นโฟกัสไปที่ชีวิตของตัวเอกที่เป็นผู้หญิง หนึ่งคนที่กำลังจะมีชะตาชีวิตกำลังจะตาย และอีกหนึ่งคนที่เร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ เหมือนวันพรุ่งนี้ไม่มีอยู่จริง และความเหมือนของตัวเอกหญิงทั้งสองคนนั้นชื่นชอบเสียงเพลงเหมือนกัน และเพลงในเรื่องนั้นต่างก็มีส่วนช่วยในการรับรู้แรงขับเคลื่อนและเรื่องราวของตัวละครไปพร้อมกัน

Cléo de 5 à 7 ว่าด้วยเรื่องของ Cléo หญิงสาวนักร้องที่กำลังรอผลตรวจที่เธอไปตรวจมาก่อนหน้า เธอกังวลว่าเธออาจจะเป็นโรคที่ร้ายแรงจนถึงชีวิต จึงได้ไปหาหมอดูเพื่อทำนายถึงอนาคตที่เธอกำลังจะได้เจอว่าจะดีหรือไม่ แต่สุดท้ายเธอก็เหมือนจะรู้ชะตาตัวเองในทางอ้อม จึงเกิดความหวั่นวิตกว่าเธอจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน ความโดดเด่นของหนังเรื่องนี้คือการที่หนังทั้งเรื่องใช้เวลาเล่าเรื่องเกือบตามจริง ตั้งแต่เวลาห้าโมงเย็นไปจนถึงหนึ่งทุ่ม ซึ่งคือเวลาที่เธอจะไปรู้ผลตรวจนั้น ภาพจากตอนแรกที่เคยเป็นสีจะกลับกลายเป็นขาวดำด้วยความวิตกและหม่นหมองของเธอ และหนังจะแบ่งบทเป็น chapter ตามช่วงระยะเวลาต่างๆ

Cléo de 5 à 7

ใน Cléo de 5 à 7 นั้นเราจะได้ยินทั้งเสียงที่ปรากฏแหล่งเสียงและไม่ปรากฏแหล่งเสียงอย่างชัดเจน และเชื่อมโยงกันค่อนข้างชัดด้วย ซึ่งเพลงหัวใจสำคัญของเรื่องนี้นั้นจะมีอยู่สองเพลง หนึ่งคือ “La Belle P.” และเพลง “Cri d’amour” ซึ่งเพลงแรกนั้นบ่งบอกบุคลิกความหลงตัวเองของตัวเอกหญิง ความเป็นป๊อบสตาร์ที่ต้องแสดงถึงความงามให้คนอื่นเห็นอยู่ตลอด ซึ่งจะครอบคลุมอารมณ์ของตัวละครในช่วงแรกของหนัง ส่วนอีกเพลงนั้นเป็นเพลงที่เราจะได้ยินครั้งแรกเมื่อตอนซ้อมร้องเพลงระหว่าง Cléo กับคู่หูนักแต่งเพลง ซึ่งเป็นเพลงที่ให้อารมณ์เศร้าหมอง และเนื้อเพลงที่น่ากลัว จึงเป็นเพลงที่ถ้าได้ยินเมื่อไหร่ มันอาจบ่งบอกว่าเธอกำลังคิดถึงเรื่องความตาย ซึ่งทั้งสองเพลงนี้เกื้อหนุนมุมองที่เป็นทั้งการเล่าเรื่องและบ่งบอกอารมณ์ของเธอ

เพลงธีมแรกนั้นปรากฏตัวออกมาแบบไม่ปรากฏแหล่งเสียงเป็นส่วนใหญ่ เราจะได้ยินเพลงนี้ครั้งแรกตั้งแต่ฉากแรกที่ Cléo ได้เข้าไปพบกับหมอดูไพ่ และเพลงจะเริ่มต้นหลังจากที่เธออกจากห้องนั้นไป น่าแปลกที่เพลงนั้นมีจังหวะประสานไปกับเสียงรองเท้าเดิน และผ่อนความเร็วของเพลงตามความเร็วในการเดินของเธอ ซึ่งเราจะรับรู้ในภายหลังว่านี่คือเพลงเวอร์ชั่นออร์เคสตร้าของเพลง “La Belle P.” จังหวะเพลงที่มีการยืดหยุ่นเคลื่อนไหวอยู่ตลอดทำให้ซีนนี้มีความเป็นมิวสิคัลอย่างมาก ซึ่งโดยปกติของหนังแล้ว การวางสกอร์ของหนังที่ถูกที่ถูกเวลา จะเป็นการส่งเสริมเพลงธีมของหนัง ที่จะทำให้คนดูนั้นเข้าใจตัวละครได้ง่ายและชัดเจนมากขึ้น แต่วาร์ดานั้นใช้เพลงสกอร์ในจุดประสงค์อื่น เพราะมันยังไม่ได้มีเพลงนี้ที่เป็นเวอร์ชั่นหลักปล่อยขึ้นมาให้เราได้ยินก่อน เธอฮัมเพลงนี้ในช็อตแรกๆ ของหนังขึ้นมาเพื่อสร้างความมั่นใจในความงามและความมีชีวิตชีวาของตัวเอง หลังจากนั้นกล้องก็จะเริ่มตามตัว Cléo โดยจัดตำแหน่งให้เธออยู่ศูนย์กลางของเฟรม และเพลงก็ได้สร้างความซับซ้อนของการมองและการใช้เสียงที่เธอมองตัวของตัวเอง

ส่วนเพลง “Cri d’amour” ที่เราได้ยินนั้น เป็นการใส่เพลงเข้ามาในตอนที่พวกเขากำลังซ้อมเล่นเพลงนี้ไปด้วยกัน ซึ่งในฉากนั้นตัว Cléo เองเพิ่งเคยได้รับชีทเพลงเป็นครั้งแรก แต่เธอกลับร้องได้อย่างครบถ้วนเหมือนเคยซ้อมเพลงนี้มาก่อน นี่คือเพลงที่สะท้อนความเป็นตัวเองได้อย่างแนบเนียน ราวกับว่าเธอเป็นเจ้าของเพลง หรือเธอคือตัวเพลงนี้เอง มันคือข้อความที่บ่งบอกความเป็นตัวเธออย่างครบถ้วน ซึ่งวาร์ดาใช้เพลงนี้และซีนนี้เป็นจุดเปลี่ยนของหนัง เป็นเจตนาที่ทำให้เห็นถึงความก้าวหน้าของเนื้อเรื่องอย่างชัดเจนในขณะที่เวลาภายในหนังนั้นยังคงเดินหน้าต่อไป กล้องในเรื่องนั้นเคลื่อนไหวราวกับละครเวที ทั้งฉากนั้นเป็นลองเทคเคลื่อนไหวยาว กล้องคอยเปลี่ยนระยะของเธอ หลังจากร้องจบแล้วเธอได้เปลี่ยนตัวตนของตัวเอง ถอดวิกบลอนด์ออกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นหญิงแบบดั้งเดิม ใส่ชุดดำและเดินหนีออกจากห้องนั้นไป และหลังจากนั้นเมื่อเธอได้เจอเด็กคนหนึ่งที่กำลังเล่นเปียโนของเล่น ซึ่งกลายเป็นเพลงนี้เช่นกัน กลายเป็นว่าเพลงนี้ได้กลายเป็นตัวแทนความคิดของ Cléo ที่ได้แสดงความรู้สึกผ่านเสียงเพลง

Michel Legrand จากเรื่อง Cléo de 5 à 7

ในคำนำของบทภาพยนตร์ที่วาร์ดาได้ตีพิมพ์ เธอได้ใช้การเปรียบเปรยของเพลงอธิบายเป้าหมายของเธอที่ทำให้คนดูได้รู้สึกถึงความแปรผกผันของอารมณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาที่จำกัด “ฉันอยากให้คนได้ฟังในเวลาเดียวกันในระหว่างที่เสียงของไวโอลินและเครื่องเคาะจังหวะดังขึ้น ซึ่งในกลไกของเวลาที่ยังเคลื่อนไหวไม่มีวันหยุด Cléo ก็เดินทางผ่านประสบการณ์ที่เธอเป็นเจ้าของเส้นทางเพียงคนเดียว” เพลงในเรื่องนั้นเป็นตัวแทนของเวลาที่สามารถนับได้ซึ่งก็คือเป็นเสียงของเครื่องนับจังหวะ และการรับรู้อารมณ์ผ่านเสียงไวโอลิน ควบคู่ไปกับการเรียบเรียงตัดต่อของภาพเพื่อควบคุมเวลาให้เดินทางกันไปตามจริง

ส่วนเรื่องของ Vagabond นั้นเริ่มด้วยภาพแห่งความตายของหญิงสาวคนหนึ่ง ผู้ที่ไม่มีใครรู้ที่มาที่ไปว่าเธอเป็นใคร และตายจากสาเหตุอะไร แล้วหลังจากนั้นเรื่องจะเริ่มต้นขึ้น ว่าด้วยการเดินทางของ Mona หญิงสาวคนนั้น เธอไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีเพื่อน ไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีอาชีพที่ทำอย่างชัดเจน เราแทบจะไม่รู้จักเรื่องราวเบื้องหลังของผู้หญิงคนนี้ แต่เราจะติดตามชีวิตของเธอที่โบกรถเดินทางไปตามที่ต่างๆ พบเจอกับผู้คนมากมายหลายหน้าทั้งผู้คนที่ใจดี หรือใจร้ายกับตัวเธอ ในโลกที่มีแต่ผู้ชายแห้งแล้ง ป่าเถื่อน เธอเข้มแข็ง เกรี้ยวกราด หวาดกลัว ต่อสู้กับภัยอันตรายทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว เธอไม่ต้องการให้ใครยุ่งเกี่ยวกับเธอ และนี่เป็นการเดินทางที่ไม่มีจุดหมายปลายทาง เพราะฉะนั้นอย่าคาดหวังเรื่องราวการเดินทางที่ทำให้เราได้อะไรจากการเดินทางครั้งนั้น สลับกับผู้ทำหนังที่สืบสาวราวเรื่องถึงที่มาของหญิงคนนี้ว่าเธอคือใคร ด้วยการสอบถามจากคนที่เคยพบเจอกับเธอ แต่ต่างคนนั้นก็ต่างพบกับตัวเธอในแต่ละแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง ว่ากันว่านี่คือเรื่องราวที่หนักหน่วงที่สุดของวาร์ดา

Vagabond

ถึงแม้ Vagabond จะดูเหมือนเป็นหนังที่ไม่มีเสียงเพลงเลย ทั้งเรื่องมีแต่เสียงของความเงียบและความสงบเสงี่ยมอยู่เต็มไปหมด เสียงเพลงที่ไม่ปรากฏแหล่งเสียงหนึ่งเดียวของหนังเรื่องนี้ เป็นเพลงสกอร์ที่มาพร้อมกับลองเทคที่แทร็กตัวละครจากขวาไปซ้ายอันเป็นที่จดจำ เสียงเพลงของ Joanna Bruzdowicz มีความร่วมสมัยมาขึ้นจากเสียงเครื่องสาย ไดนามิคของเพลงที่ค่อนข้างกลางๆ โทนของเพลงที่ให้ความรู้สึกคลุมเครือ ทุกการเดินทางที่ควบคู่ไปกับการถ่ายช็อตแบบแทร็กกิ้งนั้นเห็นชัดว่ามาจากเพลงที่บรรเลงในแบบที่ใกล้เคียงกัน เพลงที่เข้ามาแต่ละครั้งจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ในเพลงสกอร์เหล่านี้จะสะท้อนถึงสิ่งสำคัญบางอย่างในช็อตการเดินทางทั้ง 12 ครั้งของเธอ ซึ่งในทำนองที่ซ้ำกันไปมานี้ บางครั้งประโยคเพลงจะกลายเป็นท่วงทำนองที่ชัดเจน แต่บ่อยครั้ง คิวเพลงจะหยุดหายไปอย่างดื้อๆ หายไปในอากาศ โดยไม่มีการเชื่อมโยงทางดนตรีใดๆ

ซึ่งการเลือกใช้เพลงสมัยใหม่ของ Bruzdowicz และ วาร์ดาในซีนการเดินเท้าของ Mona นั้นสอดคล้องกับบทความ Composing for the Films ที่ Hanns Eisler นักแต่งเพลงชาวออสเตรียได้เขียนไว้ เขาเขียนว่าวิธีการใช้เพลงดั้งเดิมนั้นให้ความรู้สึกที่ “สะดวกสบายและเป็นความไพเราะที่ถูกตกแต่งมาอย่างดีแล้ว” ซึ่งเพลงเหล่านั้นจะทำให้พลังของภาพนั้นลดน้อยถอยลงไปจากเดิม และในทางกลับกัน เขาเขียนว่า “การพัฒนาการใช้เพลง avant-garde นั้นเปิดแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ และความเป็นไปได้ที่ไม่ได้ที่สิ้นสุด มันไม่มีเหตุผลเลยที่ภาพยนตร์จะไม่ลองใช้เพลงประเภทนี้” ซึ่งวิธีการใช้เพลงที่ให้ความรู้สึกคลุมเครือของวาร์ดานั้นฉีกธรรมเนียมความโรแมนติกและความรู้สึกแบบเดิมๆ ด้วยการใช้เครื่องดนตรีแบบน้อยชิ้นนั้นไม่ได้อธิบายความรู้สึกภายในของ Mona แต่อธิบายภาวะความโดดเดี่ยวของตัวละคร การคาบเกี่ยวระหว่างความเป็นความตาย และความหนาวเหน็บของชนบทในเรื่อง

แต่มีเพลงอีกประเภทหนึ่งที่วาร์ดาเลือกใช้ในหนังก็คือเพลงป๊อบและเพลงร็อคโดยทั่วไป ซึ่งไม่ได้เป็นเพลงซาวด์แทร็กที่ลอยขึ้นมาอย่างไม่มีแหล่งเสียง เพลงเหล่านี้ถูกเปิดภายในซีนทั้งหมด ด้วยความที่ Mona ก็เป็นคนรักเสียงเพลงเช่นเดียวกับ Cléo เธอจะเปิดเพลงฟังให้เราเห็นบ่อยๆ ในหนัง แต่เพลงที่เปิดนั้นก็ยากที่จะบอกว่ามันเป็นอุบัติเหตุมากกว่าจงใจ อย่างเพลง A Contre Courant ของศิลปินเพลงป๊อบชาวฝรั่งเศส Valérie Lagrange ในช่วงแรกๆ ของหนังที่เธอหยอดเหรียญเปิดตู้เพลง ซึ่งเพลงนี้เป็นที่มีทำนองสไตล์เร็กเก้ เรื่องราวของเพลงนั้นก็ซ้อนทับกับเรื่องราวของ Mona ที่เป็นนักเดินทางโบกรถที่แหกคอกกว่าคนทั่วไป กลายเป็นการร่วมเรื่องราวของผู้หญิงทั้งสองคนที่ถูกปฏิเสธจากค่านิยมของสังคม เมื่อเพลงนี้เล่นขึ้น เราจะเห็น Mona ในมุมขนาดใกล้ กำลังกินขนมปังอยู่ สายตาที่ว่างเปล่าของเธอจะไม่แสดงให้เห็นความรู้สึกภายใน แต่ตัวเพลงนั้นจะเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ เหมือนเป็นการเข้าใจและล้อเลียนไปกับตัวภาพเอง

ด้วยเพลงทั้งสองรูปแบบที่ใช้ใน Vagabond ได้ดึงเอาความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่าเสียงเพลงที่ปรากฏแหล่งเสียงและไม่ปรากฏแหล่งเสียงมาใช้ ส่วนของเพลงสกอร์ที่ใช้เครื่องสายนั้นเห็นได้ชัดว่าจะไม่สามารถขยายความโลกของตัวเอกได้ ในขณะที่เพลงป๊อบและร็อคนั้นทำหน้าที่แทนเสียงของเธอ สกอร์ของ Bruzdowicz เป็นเหมือนเสียง voice-over ที่เล่าเรื่องราว ผสมไปกับเสียงพูดของวาร์ดาเองที่เราได้ยินในช่วงต้นเรื่องเพียงแค่ครั้งเดียว เสียงเหล่านี้เปรียบเทียบได้กับการเล่าเรื่องที่เป็นกลาง (objective narration) ที่เป็นเสียงที่เชื่อถือได้มากกว่าคำบอกเล่าของตัวละครที่ได้ถูกสัมภาษณ์ในหนังเรื่องนี้ ด้วยความซับซ้อนของตัวละคร Mona เพลงสกอร์นั้นจะขับเน้นการตีความตัวละครอย่างเป็นกลางมากขึ้น มันจะช่วยสร้างระยะห่างอย่างที่มีคนเขียนไว้ว่า “ความอวดดีของคนที่ชอบเก็บตัวแบบ Mona นั้นจะกีดกันวิธีการวิเคราะห์ Projective Identification (กลไกการป้องกันทางจิตเพื่อหลีกหนีความรู้สึกที่เจ็บปวดจากการแยกจากคนหรือสิ่งของที่รัก) แบบดั้งเดิมของตัวละครทิ้งไป”

สิ่งที่ Gorbman พยายามอธิบายก็คือการใช้เพลงของวาร์ดาในหนังนั้นเหมือนเป็นการนำทางให้คนดูได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งภาพและเสียงในการพิจารณาถึงตัวละคร Cléo de 5 à 7 นั้นพาไปรู้จักสภาวะจิตใจของผู้หญิงที่หวาดกลัวกับความป่วยไข้และความตาย เสียงที่ไม่ปรากฏแหล่งเสียงของ Michel Legrand นั้นขยายความเสียงเพลงที่ปรากฏแหล่งเสียงให้กลายเป็นเพลงสกอร์ที่พาคนดูอย่างเราไปอยู่ในกระแสสำนึกของตัวละคร ส่วน Vagabond นั้นจะเป็นเหมือนการทดลองใช้เสียงอีกแบบ เป็นการนำเสนอตัวละครที่ทำความเข้าใจได้ยาก คนดูนั้นต้องประกอบสร้างตัวละครของเธอ จากปากคำของพยานคนอื่นที่หลากหลายมุมมอง ซึ่งเชื่อมโยงกันโดยเสียงเพลงไร้แหล่งเสียงที่ให้ความรู้สึกคลุมเครือ เป็นมุมมองที่ตัดสินด้วยสายตาจากคนภายนอก มากกว่ามุมมองของคนภายในหรือตัวละครเอง ด้วยการอธิบายอย่างคร่าวๆ ที่พาให้เห็นวิธีการใช้เสียงเพลงของวาร์ดานี้ เป็นการเปิดเผยให้เห็นถึงความรุ่มรวย หลากหลาย และความละเอียดลออในการใช้งานที่สนับสนุนความเป็น cinecriture (คำศัพท์ที่วาร์ดานิยามวิธีการทำหนังของตัวเอง แปลอย่างหยาบๆ ว่าการร้อยเรียงภาพยนตร์) ของเธอ

ต่อต้านด้วยการร่อนเร่: อารมณ์ รา มันฝรั่ง และเพศภาวะใน Vagabond

อานเญส วาร์ดาเขียนบันทึกถึงตัวเองเมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1985 ไม่กี่วันก่อนถ่ายทำ Vagabond ว่า “สิ่งที่ต้องการคือประสบการณ์ ภาพ หรือสิ่งที่คาดไม่ถึง มากกว่าจะเน้นที่เรื่องราวหรือการขุดคุ้ยทางจิตวิทยา”

Kelley Conway อาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ผู้แต่งหนังสือ Agnès Varda (2015) เสนอว่าก่อนการฉาย Vagabond วาร์ดาแทบไม่เคยถูกเหลียวแลโดยนักวิจารณ์ภาพยนตร์และนักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ การประสบความสำเร็จทางรายได้ของ Sans toit ni loi หรือ Vagabond ในปี ค.ศ. 1985 ได้ดึงดูดความสนใจในหมู่นักวิจารณ์สายสตรีนิยมให้เหลียวหันกลับไปมองผลงานของเธอที่ผ่านมากว่า 30 ปี นับแต่ตั้งภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก La Pointe Courte ในปี ค.ศ. 1955 ของเธอถูกสร้างขึ้น

ลักษณะภาพยนตร์ของวาร์ดาคือการใช้เทคนิคของการ “รีไซเคิล” กระบวนการผลิตภาพยนตร์กลับมาใช้อยู่เรื่อยๆ เช่น การผสมระหว่างสารคดีและเรื่องแต่งเพื่อกระตุ้นประสบการณ์เฉพาะที่เกิดบริเวณพื้นที่หนึ่งๆ หรือเพื่อเล่าเรื่องราวที่น่าดึงดูดใจของผู้คนชายขอบ วาร์ดามักชี้ชวนให้ผู้ชมมองอย่างละเมียดละไมและชื่นชมชีวิตของคนธรรมดาสามัญ

Vagabond กลายเป็นภาพยนตร์เล่าเรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอมากที่สุด ด้วยการนำเสนอเรื่องราวสองเดือนสุดท้ายของหญิงสาวร่อนเร่ทางใต้ของฝรั่งเศสท่ามกลางฤดูหนาวที่เย็นยะเยือก ชื่อในภาษาฝรั่งเศส Sans toit ni loi แปลว่า “โดยไร้ซึ่งพระเจ้าและกฎหมาย” ซึ่งยากที่จะแปลเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างครบถ้วน เบื้องหลังการประสบความสำเร็จ โครงการภาพยนตร์นี้แท้จริงแล้วเกือบจะต้องล้มเลิกไป Vagabond สร้างขึ้นในช่วงที่ตกต่ำของชีวิตการทำงานของเธอ 

ภาพยนตร์เปิดด้วยภูมิทัศน์ของทุ่งนาที่เว้งว้าง ชาวสวนคนหนึ่งพบศพหญิงสาวอยู่ที่ร่องสวน ก่อนที่เขาจะรีบวิ่งไปบอกเจ้านาย หนังย้อนภาพกลับไปไม่กี่สัปดาห์ก่อน เราถึงได้ทราบชื่อของเธอ โมนา Vagabond เป็นภาพยนตร์ที่คนดูแทบไม่ทราบเรื่องราวหรือที่มาที่ไปใดๆ ของโมนา แม้จนกระทั่งหนังจบลง เราก็ได้ทราบเพียงแค่ว่าเธอเคยทำงานเป็นเลขาฯ ในบริษัทสักแห่ง เธอไม่ชอบการมีเจ้านาย รู้สึกแปลกแยกจากครอบครัว ชอบดนตรีป๊อป และรักการปุ๊นกัญชา

เราค่อยๆ รับรู้เรื่องราวของโมนาผ่านท่วงท่าและการเกี่ยวรันพันตูระหว่างเธอกับผู้คน สถานที่ พืช และสิ่งอื่นๆ ความปรารถนาและความทรงจำของเธอค่อยๆ ปริแตกและรั่วไหลผ่านปฏิสัมพันธ์ของเธอ กับทั้ง (1) ลังเดีย ศาสตราจารย์ด้านพฤกษศาสตร์ สาวโสดผู้รับเธอขึ้นรถ ก่อนจะหลงไหลในตัวโมนา แม้กระทั่งหลังจากเธอถูกไฟช๊อตโดยบังเอิญ ในช่วงวินาทีเฉียดตายเธอก็นึกย้อนห่วงหาโมนา (2) ช่างกลเจ้าของอู่ซ่อมรถที่เธอไปขอทำงานแลกเงินรวมถึงต่างฝ่ายต่างมอบเพศรสให้กันและกันในเต็นท์ของโมนาที่ตั้งอยู่หน้าอู่ (3) อัสซุน ชาวสวนชาวโมรอคโคที่ให้ที่พักกับเธอชั่วคราวก่อนเพื่อนชาวแอฟริกาตอนเหนือของเขาจะกลับมา (4) ครอบครัวจบการศึกษาระดับสูงที่แยกตัวออกมาทำไร่อันได้อิทธิพลจากการประท้วงในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1968 ที่กรุงปารีส (5) โยลองเด แม่บ้านที่พยายามเป็นเพื่อนกับโมนาเพราะเห็นโมนาเป็นต้นแบบของความรักในอุดมคติที่เธออยากมี ก่อนที่เธอจะไล่โมนาไปเพราะโมนาพา (6) ป้าลินดี้ คุณยายผู้เป็นเจ้านายของโยลองเดตั้งวงเหล้าเล็กๆ รวมไปถึงความสัมพันธ์ของเธอกับ (7) ดาวิด เพื่อนชาวเร่ร่อนที่กลายมาเป็นคู่รักของโมนาไม่กี่วัน ก่อนเธอจะทิ้งเขาไปเพราะไม่มีกัญชาเหลืออีกต่อไป? และอื่นๆ ที่ผู้เขียนมิอาจพรรณาได้ครบถ้วนสมบูรณ์

เรารับรู้เรื่องราวและอารมณ์ของโมนา ทั้งจากเรื่องเล่าของเธอและจากปากคำที่วาร์ดาลงพื้นที่สัมภาษณ์แบบสารคดีหรือการรายงานข่าว อย่างไรก็ตามการสร้างภาพแทนของเรื่องราวผ่านคำบอกเล่าของผู้คนมากมายที่รายล้อมรอบตัวโมนาก็ไม่มีอาจทาบทับกันได้อย่างสมบูรณ์กับเรื่องเล่าโดยโมนา วาร์ดากำลังล้อเล่นและท้าทายกระแสการสร้างภาพแทนด้วยการสร้างบรรยากาศของภาวะหลังภาพแทน (post-representation) ที่เรื่องแต่งและเรื่องจริงตัดข้ามกันและไม่อาจทดแทนกันได้อย่างแนบสนิท 

เพราะแม้แต่เมื่อหนังจบลง คนดูก็ไม่อาจเข้าใจแรงปรารถนาหรือเป้าหมายของโมนาได้อย่างชัดเจน นั่นทำให้ผู้ชมไม่อาจแสดงอาการเห็นใจแบบชนชั้นกลาง สงสาร หรือตัดสินหญิงไร้บ้านที่ถูกข่มขืนและหนาวตายอย่างโมนาได้ ภาพยนตร์ก็มีสถานะเป็นภาพแทน วาร์ดาปฏิเสธที่จะขุดคุ้ยหาปมของโมนาในลักษณะท่าทีแบบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ที่มักใช้ทฤษฎีของซีคมุนท์ ฟร็อยท์ในการอธิบายอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วย ราวกับว่าพวกเขาเป็นวัตถุของการศึกษา ในทางตรงกันข้ามวาร์ดาเข้าใจดีในขีดจำกัดของการมอง เธอเปิดพื้นที่ของผัสสะที่ไหลท้นเคลื่อนไหวไปมาระหว่างจอภาพ เรื่องราว และเรือนร่างของผู้ชม วาร์ดาเขียนไว้ในบันทึกว่า “เราไม่มีทางรู้ว่าโมนาคิดอะไร และเธอก็พูดน้อยมากถึงตัวเอง” Kelley Conway เสนอว่าเป้าหมายของวาร์ดาจึงเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงและอากัปกิริยา (gestures) ของโมนาที่ถูกมองเห็น บรรยาย และคิดจากมุมมองของคนที่รายล้อมรอบตัวโมนา (รวมถึงวาร์ดาเองด้วย) 

เพราะแม้แต่เมื่อหนังจบลง คนดูก็ไม่อาจเข้าใจแรงปรารถนาหรือเป้าหมายของโมนาได้อย่างชัดเจน นั่นทำให้ผู้ชมไม่อาจแสดงอาการเห็นใจแบบชนชั้นกลาง สงสาร หรือตัดสินหญิงไร้บ้านที่ถูกข่มขืนและหนาวตายอย่างโมนาได้ ภาพยนตร์ก็มีสถานะเป็นภาพแทน วาร์ดาปฏิเสธที่จะขุดคุ้ยหาปมของโมนาในลักษณะท่าทีแบบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ที่มักใช้ทฤษฎีของซีคมุนท์ ฟร็อยท์ในการอธิบายอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วย ราวกับว่าพวกเขาเป็นวัตถุของการศึกษา

ฉากที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันร้อยรัดของผู้คนในเรื่องคือเมื่อโยลันเดมาถึงที่สถานีรถไฟ เพื่อที่จะไปหางานทำที่อื่น ตัวละครต่างๆ ได้เข้ามาพบเจอกัน ดูทั้งเป็นเรื่องบังเอิญอย่างตั้งใจ เป็นทั้งการเชื่อมต่อและแยกขาดจากกัน เป็นทั้งเรื่องแปลกประหลาดและปกติธรรมดา ฉากนี้ได้ทำให้ผู้ชมเห็นถึงรอยแตกของเรื่องเล่าที่เป็นได้ทั้งเรื่องแต่งและเรื่องจริงไปพร้อมๆ กัน ความน่าสนใจคือสถานีรถไฟเป็นพื้นที่ที่ Marc Augé นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสเรียกว่า nonplace หรือพื้นที่ผู้คนไม่ได้ทราบชื่อเสียงเรียงนามของกันและกัน อัตลักษณ์ของผู้คนและสรรพสิ่งได้ถูกสลายหายไป nonplace จึงเสนอให้เรารับรู้ถึงสภาวะที่ก้าวข้ามพ้นอัตลักษณ์ เป็นพื้นที่ที่สรรพสิ่งกลายเป็นสิ่งอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา เป็นพื้นที่ของการจดจำได้ไม่ชัดเจน คลับคล้ายคลับคลา และแยกจากกันไปโดยไม่ได้ทักทาย

ในทางหนึ่งการเป็น nomad หรือคนร่อนเร่ เช่น โมนา ก็คือสภาวะข้ามพ้นอัตลักษณ์ วาร์ดาสัมภาษณ์ผู้คนที่พบเจอโมนา บ้างก็จำได้ บ้างก็ทึกทักเอา บ้างไม่เคยรู้จักชื่อของเธอ แต่กลับมีความปรารถนาแบบเควียร์ที่ถูกปล่อยปล่อยออกมาผ่านบทสนทนาและอาการทางกายอย่างอธิบายได้ยาก เช่น ลังเดีย นักพฤกษศาสตร์ผู้ศึกษาเชื้อ Ceratocystis fimbriata ที่เธออ้างว่าเป็นเชื้อร้ายที่เข้ากัดกินมันฝรั่งและต้นไม้ให้ตายยืนต้นภายในสามสิบปี เชื้อนี้มากับลังขนอาวุธพร้อมกับทหารอเมริกันที่เข้ามาทำสงครามทางตอนใต้ของฝรั่งเศสราวปี ค.ศ. 1944 เชื้อค่อยๆ แพร่กระจายอย่างช้าๆ เธอพยายามคิดค้นสายพันธุ์พืชที่ทนทานต่อเชื้อนี้ 

การพบกันระหว่างโมนาและลังเดีย ทำให้รถที่พวกเธอแลกเปลี่ยนบทสนทนากลายเป็น nonplace พวกเธอทำความรู้จักกัน และแยกจากกันโดยไม่รู้จักกัน ความสัมพันธ์ของพวกเธอไม่อาจชี้ได้ชัดเจนว่าลังเดียแอบชอบโมนา ปรารถนาที่จะมีชีวิตเสรีเช่นเดียวกับโมนา หรือเอ็นดูแบบแม่ลูก เช่นเดียวกับโมนาและอัสซุน ที่หนังไม่ได้ขี้ชัดว่าทั้งคู่ตกหลุมรักกัน และเช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของโมนากับดาวิด เราอาจเรียกความรู้สึกที่เกิดขึ้นเช่นนี้ว่าเป็นสภาวะที่ปฏิเสธบรรทัดฐานรักต่างเพศ (non-heteronormativity) ที่ท้าทาย ขัดขืน และต่อต้านระบบการคิดแบบแยกออกเป็นสอง (dualism) ที่ถูกสถาปนาโดยเพศชายผิวขาว 

การขบถต่อระบบชายเป็นใหญ่ถูกซุกซ่อนไว้อย่างแยบคายตลอดการเล่าของวาร์ดา โดยเฉพาะฉากที่โมนาพูดคุยกับคนเลี้ยงแกะที่วาร์ดาชวนเขามาแสดงในหนังด้วยตัวเขาเอง วาร์ดาพบกับคนเลี้ยงแกะหลายคนที่ละทิ้งธรรมเนียมการใช้ชีวิตและออกไป “ตามล่าหาความฝันในธรรมชาติอันเงียบสงบ” แบบโรแมนติกหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภา ค.ศ. 1968 จุดที่น่าสนใจคือโมนาบอกว่าเธอเองก็ฝันว่าอยากมีที่เป็นของตัวเองแล้วปลูกมันฝรั่ง ชายผิวขาวคนนั้นมอบที่เล็กๆ ให้โมนาปลูกมันฝรั่ง แต่สุดท้ายเธอก็ขี้เกียจ และล้มเลิกความสนใจไปเสียเฉยๆ มันฝรั่งกลายเป็นส่วนที่วาร์ดาเล่าขยายต่อมาใน The Gleaners & I (2000) รวมไปถึง Patatutopia (2003) นิทรรศการของวาร์ดาที่ปูพื้นห้องจัดแสดงด้วยมันฝรั่ง 

สำหรับวาร์ดา เธอต้องการจะแสดงความเคารพต่อมันฝรั่ง เธอเล่าว่าเธอพบกับหัวมันผิดขนาดที่ถูกโยนทิ้งรูปร่างหัวใจ เธอเก็บมันมาและค่อยๆเฝ้ามองมันจนกระทั่งมันค่อยๆ เน่า และมีต้นใหม่เกิดขึ้นอีกครั้ง เธอยังเชื่อในยูโทเปีย เธอเชื่อในความงดงามของโลกเช่นเดียวกับความรู้สึกบนผิวของมันฝรั่งและต้นอ่อนเล็กๆ ที่โตขึ้น มันฝรั่งช่วยให้เรารับรู้สึกสภาวะ “ดำรงอยู่ในโลก” และช่วยให้เรากลับไปประณีประนอมกับโลกอีกครั้ง เธอมองว่ามันฝรั่งคือพืชที่ธรรมดา พื้นฐาน และเป็นส่วนรวม (common) วาร์ดามองว่ามีผัสสารมณ์ (affection) และความห่วงใย (empathy) ที่โผล่ขึ้นจากสิ่งที่ไม่ถูกนับ สิ่งถูกมองว่าแปลกและผิดรูป เธอเปรียบเทียบมันฝรั่งที่ถูกคัดทิ้งและไม่ไปอยู่บนแผงร้านซูเปอร์มาร์เก็ตว่าไม่ต่างอะไรจากสังคมของเรา ที่อะไรผิดแผกแตกต่างก็จะถูกกำจัด แต่สิ่งที่ผิดปกติ ถูกทิ้ง และหมดอายุเหล่านี้นี่แหละ คือพลังของชีวิตที่ทำให้สิ่งต่างๆ กำเนิดเกิดใหม่อีกครั้ง

ดังนั้นแล้วการที่โมนาไม่สนใจจะปลูกมันฝรั่งบนที่นาของชายผิวขาวคือการต่อต้านเสียยิ่งกว่าการต่อต้าน? ชายผิวขาวผู้อกหักจากการปฏิวัตินักศึกษาช่วงกลางปี 1968 ที่สุดท้ายแล้วพรรคการเมืองฝ่ายขวาก็ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย (ชวนให้คิดถึงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไม่น้อย) Chris Darke อาจารย์ด้านภาพยนตร์ มหาวิทยาลัย Roehampton เสนอว่า ฉากนั้นทำให้เราเห็นการเผชิญหน้าระหว่างสองแนวคิด ได้แก่ วัฒนธรรมการต่อต้านอย่างมีอุดมการณ์ที่ต่อต้านสังคมกระแสหลักซึ่งนำเสนอผ่านคนเลี้ยงแกะผู้เป็นอดีตนักศึกษาด้านปรัชญา กับการขัดขืนต่อต้าน “อย่างไม่มีอุดมการณ์” ซึ่งนำเสนอผ่านโมนา ที่อาจเรียกได้ว่า “ไม่มีขื่อไม่มีแป” (ตามชื่อภาพยนตร์)

Vagabond ถูกสร้างขึ้นราวๆ เกือบยี่สิบปีหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภา ค.ศ. 1968 จริงอยู่ที่การปฏิวัตินักศึกษาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการต่อต้านสงครามเวียดนามและอิทธิพลของอเมริกัน แต่ Vagabond กลับไม่ได้มีท่าที่ต่อต้านอเมริกันแบบโหมกระพือผ่านอุดมการณ์ชาตินิยม ตรงกันข้ามหนังกลับสำรวจสิ่งตกค้างจากระบบทุนนิยมที่ก้าวพ้นและไม่อาจหาจุดศูนย์กลางได้อีกต่อไป (หมายถึงว่า ไม่อาจโทษรัฐชาติอเมริกาอย่างเฉพาะเจาะจงได้อีกต่อไป) หนังพยายามตอบโต้ว่าการรักษาอาการอกหักแบบที่ฝ่ายซ้ายผู้ชายผิวขาวนิยมกันคือการใช้ชีวิตอย่างสงบสุข ดื่มด่ำธรรมชาติ พยายามหลีกหนีออกจาก “(การ)เมือง” คือการไม่มีความรับผิดชอบและหลีกเลี่ยงด้วยการไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา 

และแน่นอนว่าเชื้อราในเรื่องนี้ไม่ได้ถูกนำเสนอเป็นเพียงสัญญะอย่างดาษดื่นว่าเป็นทุนนิยมจากอเมริกันที่เข้ามากัดกินชาติฝรั่งเศสที่ชาวฝรั่งเศสต้องช่วยกันกำจัด (นักวิทยาศาสตร์ต้องพยายามหาทางกำจัดเชื้อหรือสร้างสายพันธุ์พืชที่แข็งแรง) ตรงกันข้ามเชื้อราได้กลายเป็นผู้กระทำการสำคัญในการเปิดเผยความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ผ่านการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเพราะสงคราม จนไปถึงชีวอำนาจที่พยายามเข้ามาจัดการเชื้อราไม่ให้ทำลายพืชผลทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม 

เชื้อรากลับเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนถึงความเปราะบางของอำนาจชายผิวขาวและวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นวัฏจักรของชีวิตที่สัมพันธ์กับมันฝรั่งในฐานะเศษซากจากทุนนิยมที่ถูกพ่นคายออกมา และยังย้ำเตือนถึงความเป็นและความตายผ่านการเน่าสลายและการเกิดใหม่ของพืชพันธ์ุซึ่งต่อต้านความพยายามของวิทยาศาสตร์แบบชายผิวขาวที่พยายามคิดค้นหาสายพันธุ์ที่อมตะทนทานเพื่อหมุนกงล้อของทุนนิยม 

ในช่วงท้าย หลังจากโมนาหนีออกมาจากบ้านร้างที่ถูกดาวิดจุดไฟเผา โมนาร่อนเร่ไร้ถุงนอน เธอเตร็ดเตร่ขอติดรถพยาบาล (นี่วาร์ดาอาจกำลังประชด) แล้วเธอก็ลงจากรถ ก่อนจะเข้าไปนอนที่โรงปลูกผักกลางทุ่งนา รุ่งเช้าเธอถามชาวไร่แถวนั้นเพราะท้องหิว เธอเข้าไปในตัวเมืองแล้วพบว่าพวกเขากำลังเฉลิมฉลองประเพณีบาคะนาลเพื่อบูชา แบคคัส เทพเจ้าเกี่ยวกับไวน์องุ่น 

Judith Butler อาจารย์ด้านเพศภาวะศึกษา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ เขียนบทความ To Sense What Is Living in the Other: Hegel’s Early Love ไว้ว่า คำนำของหนังสือ The Phenomenology of Spirit ของเฮเกล นักปรัชญาจิตนิยมเยอรมัน ปรากฏเป็นภาพประเพณีบาคะนาล เธอเสนอว่าเฮเกลวิเคราะห์ทุนหลายสิบปีก่อนหน้ามาร์กซ์ เฮเกลมีความพยายามจะแยกทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งที่ถูกทำให้มีชีวิต ออกจากโลกของกรรมสิทธิ์ เฮเกลไม่ได้ต่อต้านโลกของวัตถุ เพียงแต่ต้องการบอกว่าวัตถุทั้งหลายเป็นโลกที่ถูกทำให้มีชีวิต 

เมื่อวัตถุถูกทำให้เป็นกรรมสิทธิ์ ผลที่เกิดขึ้นคือการแยกขาดระหว่างมนุษย์และวัตถุ (สำหรับบัตเลอร์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัตถุคือการรัก) และนี่เป็นสิ่งที่ทุนนิยมแตกต่างจากความพยายามทางศาสนานั่นคือการสร้างขอบเขตให้กับสิ่งที่ไม่มีขอบเขต 

บัตเลอร์บอกว่าการเปรียบเทียบเรื่องโลกของวัตถุของเฮเกล คล้ายกับการเต้นรำของคู่รัก (ที่ไม่ได้หมายถึงแค่เต้นกันเป็นคู่ๆ) กล่าวคือ การร่ายรำที่มีจังหวะระหว่างลำดับที่มีขอบเขต (finite series) กับลำดับอันไม่มีที่สิ้นสุดซึ่งไม่อาจจับขังไว้ใต้กรงของภาษาได้ บัตเลอร์เสนอว่า “การกำลังเป็นกำลังตาย” นี่เองที่คั่นจังหวะในลำดับที่ไม่มีที่สิ้นสุด ลำดับที่ไม่มีใครอาจเข้าใจผ่านแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง หรือผ่านแนวคิดที่หยุดนิ่งตายตัว

เฮเกลชี้ว่าความตายคือสิ่งที่เดี๋ยวมาเดี๋ยวไป (evanescent) มิใช่อะไรที่หยุดนิ่งกับที่ เฮเกลมองว่าที่เราเข้าใจความจริงของความตาย (death truth) ว่าเป็นอะไรที่ “กำลัง” เกิดขึ้นและ “กำลัง” ดับไปนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ “การเกิดและดับ” หากแต่เป็นการประกอบสร้างความจริงประเดี๋ยวนั้นและการเคลื่อนไหวของชีวิตของความจริง เฮเกลเขียนว่า “ความจริงคือว่าในงานรื่นเริงเฉลิมฉลองเทพแบคคัส ไม่มีใครไม่เมา เมื่อใดที่สมาชิกแต่ละคนฟุบหลับเมื่อนั้นพวกเขากำลังจะจบพิธี” บัตเลอร์เปรียบ งานรื่นเริงว่าไม่ต่างอะไรกับการนอนตายอย่างสงบและง่ายงาม นั่นเพราะทั้งสองสิ่งชี้ให้เราเห็นถึงความวูบไหวของชีวิตของความจริง

ฉากงานเฉลิมฉลองที่ตำรวจพากันปิดหน้าต่าง และปล่อยให้ผู้คนละเลงโคลนได้เต็มที่ เป็นการเปิดพื้นที่ของสภาวะโกลาหลไร้ขื่อไร้แป อันเป็นการตอกย้ำผัสสะของโมนาที่ข้ามพ้นอุดมการณ์ทางการเมือง (แบบชายผิวขาว) ในฉากนั้นเปรียบกับการเชื้อเชิญให้เราเพ่งพินิจความเป็นความตายของโมนา ความตายที่มาพร้อมความการเฉลิมฉลอง ชีวิตของความจริงของโมนาที่ผุดโผล่ขึ้นมาและร่วงหล่นหายไป ชีวิตของหญิงสาวที่ผ่านมาผ่านไปอย่างรวดเร็วจนคนดูที่อาจจับคว้าอะไรได้ไว้ไม่ทัน เช่นเดียวกับที่วาร์ดาจ้องมองพลังชีวิตที่ชั่วประเดี๋ยว การกำลังเกิดและกำลังดับของมันฝรั่ง 

ในฉากนั้นเปรียบกับการเชื้อเชิญให้เราเพ่งพินิจความเป็นความตายของโมนา ความตายที่มาพร้อมความการเฉลิมฉลอง ชีวิตของความจริงของโมนาที่ผุดโผล่ขึ้นมาและร่วงหล่นหายไป ชีวิตของหญิงสาวที่ผ่านมาผ่านไปอย่างรวดเร็วจนคนดูที่อาจจับคว้าอะไรได้ไว้ไม่ทัน

Vagabond ฉายให้เห็นสิ่งที่ Carolyn Pedwell อาจารย์ด้านสื่อศึกษา มหาวิทยาลัย Newcastle เรียกว่า การเมืองของเฟมินิสต์ที่เชื่อมโยงระหว่างผัสสารมย์ กับความสัมพันธ์ทางอำนาจในมิติทางเพศภาวะ ความปรารถนาทางเพศ เชื้อชาติ และชนชั้น หนังเน้นย้ำถึงสภาวะก้ำกึ่ง (in-between-ness) ที่แรงปรารถนาแบบเฟมินิสต์ได้ถูกปลดปล่อยและสะท้อนกลับไปมา เพื่อตั้งคำถามและขัดขืนต่อต้าน

ท้ายที่สุด Vagabond จึงเป็นโต้กลับขบวนการฝ่ายซ้าย? ของชายผิวขาวที่กำลังมาถึงทางตัน วาร์ดาเล่าถึงความสนใจในคนร่อนเร่ว่า “ในช่วงทศวรรษที่ 1980 หญิงสาวจำนวนมากหายไปและไปปรากฏตัวอีกทีบนท้องถนนและหน้าประตู พวกเขาไม่ได้สูญหายหรือยอมแพ้ หากแต่พวกเขาตัดสินใจใช้ชีวิตอย่างเสรีบนเส้นทางที่โดดเดี่ยวและโหดร้าย (wild)” ความโหดร้ายที่ต่อต้านขนบของโลกชายเป็นใหญ่ เพราะคำว่า wild ยังหมายถึง ป่า ความป่าเถื่อน และล้าหลัง ที่ Jack Halberstam อาจารย์ด้านวรรณคดี มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เสนอว่าเป็นมรดกทางอาณานิคมของชายผิวขาวที่สร้างภาพให้สภาวะอนาธิปัตย์ของชนพื้นเมืองเป็นสิ่งที่ป่าเถื่อนและล้าหลัง หากแต่ความโหดร้ายรุนแรง (wild) นี่เองที่เป็นภวววิทยาที่ไม่เชื่อง (untamed ontology) หรือสภาวะที่ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยระบบภาษาหรือสายตาของชาวผิวขาว เช่น ฉากที่คนดูและชายคนเลี้ยงแกะไม่อาจเข้าใจเหตุผลของโมนาที่จู่ๆ ก็เลิกปลูกมันฝรั่ง แล้วเลือกจะนอนเล่นเฉยๆ

โมงยามชีวิต ความเป็นและความตายของโมนาจึงมิใช่มหรสพแห่งการเรียกร้องความสงสารหรือความอเนจอนาถใจ หากแต่เป็นการรื้อถอนโครงสร้าง และก้าวพ้นการให้คุณค่า หรือการตีความทางภาษาและสัญญะเชิงจิตวิทยาแบบที่เพศชายให้ความสำคัญ และกลับไปให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ในแนวระนาบที่ยักย้าย เคลื่อนไหว และสอดประสานกับสิ่งต่างๆ อย่างหลากหลาย เข้ากับความปรารถนา และพลังของชีวิต 


อ้างอิง 

  • Kelley Conway (2015), Agnès Varda 
  • T. Jefferson Kline (2013), Agnès Varda: Interviews
  • Chris Darke (2008), Vagabond: Freedom and Dirt, www.criterion.com  
  • Libe García Zarranz (2018), Transdisciplinary Approaches to Affect Theory, https://www.youtube.com/watch?v=za8ew2WgcvA&t=4683s 
  • Judith Butler (2012), To Sense What Is Living in the Other: Hegel’s Early Love, Judith Butler: To Sense What is Living in the Other, Hegel’s Early Love: 100 Notes, 100 Thoughts: Documenta Series 066
  • Jack Halberstam (2020), Wild Things: The Disorder of Desire