Tiger: อ่านระหว่างบรรทัดชีวิตนักกอล์ฟดัง

(2021, Matthew Hamachek/Matthew Heineman)

เมื่อพูดถึงสารคดี สิ่งหนึ่งที่เราคาดหวังจากมันก็คือ “ความเป็นกลาง” หรือการเล่าเรื่องอย่างตรงตามความเป็นจริงที่สุด ดังที่แมทธิว ฮามาเช็ค ได้พูดเอาไว้เกี่ยวกับสารคดี Tiger ที่ตีแผ่ชีวิตอันขึ้นสุดลงสุดของนักกอล์ฟดังอย่าง ไทเกอร์ วูด

“มีแรงผลักดันอย่างต่อเนื่องในส่วนของเรา เพื่อที่จะทำให้แน่ใจว่า แม้เราจะไม่มีไทเกอร์ เราก็ได้สะท้อนเสียงของเขา และเราก็ให้ผู้คนที่รู้จักเขาดีพาเราเข้าไปอยู่ในความคิดของเขา”

สารคดีเรื่องนี้กำกับโดยแมทธิว ไฮน์แมน และแมทธิว ฮามาเช็ค โดยส่วนหนึ่งของเรื่องได้รับอิทธิพลมาจากหนังสือชีวประวัติของวูด โดยอาร์เมน เคเทเยียน และเจฟฟ์ เบเนดิก โปรดสังเกตว่ามันไม่ใช่ “อัต” ชีวประวัติ เพราะไทเกอร์ วูดไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้เลยสักนิดเดียว

“เราต้องเล่าเรื่องอย่างตรงตามความเป็นจริง แต่มันมีเหตุผลอยู่ที่เราต้องใส่ทุกรายละเอียดลงไป”

สารคดีความยาวสองตอน รวมกันกว่าสามชั่วโมงนี้ เล่าเรื่องชีวิตของไทเกอร์ วูด ตั้งแต่ตอนที่เขายังเป็นเด็ก ได้รับการสนับสนุนให้ฝึกกอล์ฟ โดย เอิร์ล วูด ผู้เป็นบิดา จนเริ่มไต่เต้าไปสู่ความเป็นมืออาชีพด้านกอล์ฟ จนกระทั่งกลายเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นที่สุดในวงการที่ถูกครอบงำโดยคนผิวขาวมาแสนนาน และได้เป็นพรีเซนเตอร์แบรนด์ดังอย่างไนกี้ สารคดีไปถึงจุดไคลแม็กซ์เมื่อมันตีแผ่เรื่องชีวิตทางเพศของวูด ที่มีความสัมพันธ์กับหญิงสาวมากหน้าแม้จะแต่งงานและมีลูกแล้ว หนึ่งในฟุตเตจมาจากการสัมภาษณ์เรเชล ยูคิเทล เจ้าของบาร์โฮสต์ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมียน้อยของไทเกอร์ วูด รวมถึงแฟนเก่าของไทเกอร์ในวัยมัธยม ชีวิตของเขาไปถึงจุดต่ำสุดเมื่อเขาถูกจับระหว่างขับรถ โดยตำรวจตรวจพบว่าเขาใช้ยาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทหลายตัว

“โปรดให้อภัยผมด้วย แต่บางครั้งผมก็รู้สึกอ่อนไหวเมื่อพูดถึงลูกชายผม” เอิร์ล บิดาผู้ล่วงลับของวูดกล่าวในฟุตเตจช่วงต้นของสารคดี “หัวใจผมเต็มไปด้วยความปิติเมื่อรู้ว่าเด็กชายคนนี้จะช่วยคนอีกมากมาย” เขาอยู่ในงานเลี้ยงมอบรางวัลด้านกอล์ฟของมหาวิทยาลัย และได้ขึ้นไปพูดบนเวทีในชุดสูทสีดำ “เขาจะนำความเป็นมนุษยนิยมมายังโลกใบนี้แบบที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน…โลกจะกลายเป็นสถานที่ที่ดีขึ้นด้วยคุณธรรมจากการดำรงอยู่ของเขา”

ไทเกอร์ วูด แสดงอัจฉริยภาพด้านกอล์ฟตั้งแต่เขายังเด็กมาก และพ่อของเขาก็ตอบรับเสียงจากสวรรค์นั้นด้วยการให้เขาฝึก ฝึก และฝึก จนวันหนึ่งครูระดับประถมของไทเกอร์ถึงกับเอ่ยปากถามพ่อของเขาว่า เด็กชายจะฝึกกีฬาอย่างอื่นบ้างได้ไหม แต่โดนเอิร์ลปฏิเสธ คนที่ขอให้เธอไปพูดกับเอิร์ลก็คือไทเกอร์เอง

“เขา (เอิร์ล) เป็นคนกวนประสาทตัวจริง” มอรีน เดคเคอร์ ครูคนนั้นบอกกับทีมงานสารคดี

ชีวิตวัยเด็กของไทเกอร์อาจเรียกได้ว่าขาดไร้ซึ่งความเป็นเด็ก เพราะทุกลมหายใจของเขาคือกอล์ฟ ดินา พารร์ แฟนสาวคนแรกของไทเกอร์ในสมัยมัธยมได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนไทเกอร์อยู่กับเธอเท่านั้นที่เขาได้ปลดปล่อยความเป็นเด็กออกมาจริงๆ และออกมาจากสิ่งแวดล้อมอันเข้มงวดของที่บ้านบ้าง

ไทเกอร์เป็นเด็กที่แบกรับความคาดหวังมหาศาลเอาไว้ และเขาก็แสดงออกเหมือนกับว่าเขาทำมันได้ดี ชีวิตของเขามีพ่อเป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นเสมือนเพื่อนที่ดีที่สุดของเขา แต่การเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดนี้มันดีสำหรับเขาจริงๆ หรือเปล่า?

“ดูเหมือนบางครั้งไทเกอร์ต้องการพ่อมากกว่าเพื่อน” เพื่อนคนหนึ่งของครอบครัววูดให้สัมภาษณ์ “และเอิร์ลก็ดูไม่ได้ทำหน้าที่ของพ่อ มากกว่าที่จะเป็นเพื่อนให้เขา”

ไทเกอร์เขียนจดหมายไปบอกเลิกแฟนสาวของเขา ดินา ด้วยเหตุผลว่าการคบกับเธอจะไม่ดีกับอนาคตของเขา เห็นได้ชัดว่าเขาทำเช่นนั้นด้วยอิทธิพลของครอบครัว

ตัดภาพกลับมาในตอนที่ไทเกอร์ประสบความสำเร็จ เขาได้พบกับอีเลน ภรรยาของเขา และทั้งคู่ก็แต่งงานกัน ทุกอย่างดูไปด้วยดี แต่แล้วไทเกอร์ก็เริ่มไปเที่ยวลาสเวกัสและมั่วผู้หญิง หนังมาเฉลยตอนช่วงหลังว่ามันเป็นภาพซ้อนทับกับเอิร์ลในวัยหนุ่ม ที่มักจะไปกับผู้หญิงที่เขาเจอที่สนามกอล์ฟ

เพื่อนคนหนึ่งของไทเกอร์เล่าว่า เขาดูจะจัดการได้ไม่ดีนักกับความรู้สึกที่ซับซ้อน และเลือกที่จะตัดทุกคนในชีวิตออกไปเมื่อเกิดปัญหา ดังที่เขาตัดเธอออก และไล่แคดดี้ประจำตัวออกช่วงที่มีปัญหาเรื่องผู้หญิง

หากดูภาพรวม เส้นเรื่องของสารคดีเรื่องนี้ เริ่มต้นที่จุดกลางๆ ของชีวิตไทเกอร์ จากนั้นก็ขึ้นไปจุดสูงสุด แล้วดิ่งลงมาต่ำสุดอย่างรวดเร็ว ก่อนจะค่อยๆ กระเถิบขึ้นอีกครั้ง โทนเสียงของมันเป็นทั้งการสรรเสริญความยิ่งใหญ่ของนักกีฬาแห่งยุค แต่ในขณะเดียวกันก็นินทาลับหลังเกี่ยวกับเรื่องคาวๆ ของเขาด้วย ความจริงที่ว่า ไทเกอร์ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสารคดีเรื่องนี้ และมีเพียงคนรู้จักของเขามาให้สัมภาษณ์ เป็นสิ่งที่ทำให้น่าตั้งคำถามกับการเมืองของ “คลังข้อมูล (Archive)” ที่ใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวของชีวิตคนหนึ่ง

เมื่อพูดถึง Archive คำถามที่มักถูกตั้งก็คือ ใครเป็นคนควบคุมการจัดเก็บข้อมูลของมัน และควบคุมการผลิตซ้ำ archive เหล่านี้ ข้อมูลอะไรบ้างที่คนเห็นว่าสำคัญและควรเก็บเข้าไว้ในคลังข้อมูล และการผลิตซ้ำคลังข้อมูลเป็นไปอย่างเหมือนต้นฉบับ หรือถูกดัดแปลงอย่างไร เราได้เห็นฟุตเตจมากมายของการตีลูกที่ดีที่สุดของไทเกอร์ เพราะความยิ่งใหญ่ (Greatness) ของเขาถูกนิยามด้วยช่วงเวลาที่เขาอยู่บนกรีน ในขณะที่ช่วงเวลาอื่นๆ ที่เขาเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ไม่ใช่นักกอล์ฟดังหายไปจากสารบบ Archive ผู้สร้างสารคดีคิดว่าพวกเขาจะใช้บทสัมภาษณ์ของคนใกล้ตัวไทเกอร์มาอุดรูรั่วตรงนี้ได้ แต่คำถามก็คือมันทำแบบนั้นได้จริงๆ หรือไม่?

นอกจากนั้น การทำซ้ำของ Archive เหล่านี้ยังเป็นลักษณะของการดัดแปลง จริงอยู่ที่แต่ละฟุตเตจไม่ถูกดัดแปลงโดยตัวมันเอง แต่การตัดต่อก็ได้ให้ความหมายใหม่กับฟุตเตจเหล่านั้น สารคดีมีเส้นเรื่องของมันเองที่เป็นอิสระจากฟุตเตจเดิม และใช้ฟุตเตจมาเรียงให้ตรงกับเส้นเรื่องเหล่านั้น ผู้สร้างพยายามบอกว่า พวกเขากำลังพยายามสร้างภาพของไทเกอร์ที่เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่ผิดพลาดได้ แต่พวกเขาจะอ้างว่าทำเช่นนั้นได้อย่างไรในเมื่อ archive ที่พวกเขามี เป็นเพียงความเห็นของผู้อื่น และภาพตอนไทเกอร์ออกสื่อเท่านั้น

การจะดูสารคดีเรื่องนี้ให้สนุกจริงๆ สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงคือ เราควรจะคำนึงถึงสิ่งที่ไม่ได้อยู่ใน archive ด้วยนั่นเอง เราอาจต้องจินตนาการถึงช่วงเวลาที่ไทเกอร์อยู่คนเดียว สับสนกับการตัดสินใจอันผิดพลาดของตนเอง หรือการที่เขาพูดคุยกับภรรยา (ซึ่งไม่ได้ให้สัมภาษณ์ในสารคดีนี้) ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยวิธีนั้น เราอาจจะเริ่มปะติดปะต่อภาพเกี่ยวกับชีวิตของเขาได้อีกภาพหนึ่ง ซึ่ง archive ไม่ได้เก็บเอาไว้ และอาจเริ่มมองเห็นไทเกอร์ในมุมมองที่ “เป็นมนุษย์” อย่างที่สารคดีอ้างว่าจะทำให้เขาเป็น

“เหมือนกับหนังสือที่มันอ้างอิง สารคดีของ HBO เรื่องนี้เป็นแค่อีกความพยายามหนึ่งของคนนอกที่ไม่ได้รับอนุญาตและทำให้เรื่องอื้อฉาว เพื่อที่จะสร้างภาพที่ไม่สมบูรณ์ของชีวิตนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลคนหนึ่ง” มาร์ค สไตน์เบิร์ก ตัวแทนของไทเกอร์ วูด ให้สัมภาษณ์

สิ่งที่คนอยากรู้จริงๆ ก็คือ ไทเกอร์คิดอย่างไรกับสารคดีเรื่องนี้ เขาอาจเห็นว่ามันเป็นความพยายามอย่างละลาบละล้วง ที่จะเล่าถึงชีวิตส่วนตัวของเขา หรือเขาอาจจะไม่ได้คิดอะไร แต่ที่แน่ๆ เราในฐานะคนดูต้องอ่านระหว่างบรรทัดพอสมควร เพื่อที่จะเลือกว่าจะเชื่ออะไรในหนังสารคดีเรื่องนี้บ้าง

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS