ลัดเลาะเขาวงกตในบทออสการ์ The Father

The Father คว้า 2 รางวัลออสการ์ครั้งล่าสุดแบบไร้ข้อกังขา 1 คือนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมของ แอนโธนี ฮอพกินส์ และ 2 คือบทดัดแปลงยอดยี่ยม โดยผู้กำกับ ฟลอเรียน เซลเลอร์ ที่เพิ่งเขียนบทหนังครั้งแรก และ คริสโตเฟอร์ แฮมพ์ตัน ซึ่งผ่านงานสุดเจ๋งทั้ง Dangerous Liaisons กับ Atonement มาแล้ว โดยหนังดัดแปลงมาจาก Le Pere ละครเวทีฝรั่งเศสของผู้กำกับนั่นเอง

เสียงแซ่ซ้องที่มีต่อบทหนังเรื่องนี้คือมันเล่าผ่านมุมมองของ แอนโธนี คุณปู่ผู้ป่วยสมองเสื่อม ดังนั้นมันจึงไม่ได้เล่าเรื่องเป็นเส้นตรงแต่ประกอบสร้างจากเศษเสี้ยวความทรงจำของเขาที่แหว่งวิ่น เพื่อบดขยี้ความรู้สึกในตอนท้ายหลังจากต่อเติมชิ้นส่วนของเรื่องราวได้แล้ว จนมีบางคนหยิบไปเทียบกับ Memento ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่เล่าเรื่องย้อนกลับแทนมุมมองของผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำระยะสั้น อันสอดคล้องกับคำนิยามของเซลเลอร์ที่มีต่อหนังตัวเองว่า “เขาวงกตของผู้ป่วยสมองเสื่อม”

จุดเริ่มต้นของละครเวที Le Pere มาจากการถ่ายทอดประสบการณ์ของเซลเลอร์ที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยคุณย่า จนกระทั่งเขาอายุ 15 ปีเธอก็ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม นั่นคือครั้งแรกที่ทำให้เขาพยายามทำความเข้าใจชุดความคิดอันไม่ปกติของคนที่เขารัก โดยบทละครเรื่องนี้แปลเป็นภาษาต่างประเทศมากมาย (รวมถึงไทย) และภาษาอังกฤษก็แปลโดยแฮมพ์ตันนั่นเอง “เวลาที่ละครแสดงจบลง เสียงตอบรับจากคนดูจะไม่ใช่ ‘ยินดีด้วย’ แต่กลายเป็นการแชร์ประสบการณ์จากหลายๆ คนมากกว่า

“ผมเหมือนได้เจอกับพี่น้องอีกมากมายที่ต่างก็มีความกลัวร่วมกัน เลยเกิดความคิดที่จะทำมันเป็นหนัง เพราะน่าจะถ่ายทอดความรู้สึกได้ดีกว่าด้วยเทคนิคทางภาพยนตร์” เซลเลอร์กล่าว

เซลเลอร์เล่าถึงสาเหตุที่ชวนแฮมพ์ตันมาช่วยกันดัดแปลง Le Pere ให้เป็น The Father นอกจากเพราะเขาคือคนแปลบทเป็นภาษาอังกฤษที่น่าจะเข้าใจความลึกซึ้งของบทละครได้อย่างดีแล้ว ประสบการณ์ของแฮมพ์ตันก็เป็นส่วนสำคัญสำหรับคนที่ไม่เคยเขียนบทหนังมาก่อนเลยเช่นเซลเลอร์ “เราจะไม่เขียนบทละครเรื่องใหม่มาถ่ายเป็นหนังแน่นอน” เซลเลอร์กล่าว และแฮมพ์ตันเสริม “อันดับแรกที่เราจะทำก็คือการคงความยาว 100 นาทีของต้นฉบับเอาไว้ แต่ลดทอนบทพูดลง แล้วให้การแสดงช่วยสื่อสารความรู้สึกออกมาทางท่วงท่าและแววตา หนึ่งในกลยุทธ์ที่เราใช้คือให้แอนโธนีหยุดยืนมองทางเดินภายในห้องพักจับสังเกตสภาพแวดล้อมรอบข้างที่ไม่เหมือนเดิม เพื่อสื่อสารกับผู้ชมด้วยวิธีที่ผู้ป่วยสองเสื่อมอย่างเขาจะทำ”

เมื่อพวกเขาเลือกใช้วิธีให้แอนโธนี่จับสังเกตสภาพแวดล้อมภายในห้องพักเป็นกุญแจสำคัญ นั่นหมายความว่าความท้าทายของการเขียนบท The Father คือการถ่ายทอดให้เห็นความผิดปกติของสิ่งรอบตัว ตั้งแต่การเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน เช่น แต่ละตัวละครแวดล้อมมีการเปลี่ยนนักแสดงในบางฉาก ไปจนถึงสภาพห้อง เช่น ผังห้อง การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ และข้าวของเครื่องใช้ที่เปลี่ยนไป ในแต่ละฉากที่เขียนขึ้น เฟลเลอร์จึงต้องวาดผังห้องขึ้นมาประกอบเพื่อสื่อสารกับโปรดักชั่นดีไซน์ไปด้วย

“ตอนแรกที่คิดจะทำเป็นหนังเราก็อยากจะออกไปถ่ายภายนอกบ้าง เพราะเป็นสิ่งที่ละครเวทีทำไม่ได้ แต่พอมาทบทวนดูแล้วคิดว่าไม่ควร การให้ตัวละครอยู่แต่ในอพาร์ทเมนต์มันจะยิ่งน่าอึดอัดกว่าตอนเป็นละครเวที หนังทั้งเรื่องจึงเลือกถ่ายในสตูดิโอเพราะเราจะทำอะไรกับมันก็ได้ จะเอากำแพงออก เปลี่ยนสัดส่วน หรือเปลี่ยนสีได้ง่ายมาก และที่ผมทำแบบนี้ก็เพื่อให้สภาพแวดล้อมของแอนโธนี่เป็นเหมือนเขาวงกตที่ทำให้เขาออกไปไหนไม่ได้ รู้สึกสบสน รู้สึกสูญเสียทุกสิ่งในชีวิตแม้แต่ตัวของตัวเอง”

การเปลี่ยนแปลงของฉากหลังจะไม่ได้เปลี่ยนจนคนดูรู้สึกได้ในทันที แต่จะมีความ “คลับคล้ายคลับคลา” ว่าต้องมีบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนั่นคือความรู้สึกเดียวกับแอนโธนี “ในฉากแรกของหนัง เราในฐานะคนดูไม่ตั้งข้อสงสัยต่อสถานที่เพราะเราจะคิดว่ามันคืออพาร์ทเมนต์ของแอนโธนี่โดยอัตโนมัติ จากนั้นเราจะค่อยๆ รู้สึกได้ว่าแต่ละฉาก แต่ละตอน ที่ผ่านไป มันจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้น บางครั้งเป็นเพียงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเดียวที่หายไป หรืออาจเป็นสัดส่วนของห้องที่ไม่เหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณรู้ว่าอยู่ที่ไหนแต่ไม่มั่นใจเท่าไหร่”

ฉากหนึ่งที่สร้างความพิศวงให้ผู้ชมคือในขณะที่เรากำลังตกอยู่ภายใต้ภาวะสับสนกับโลกของผู้ป่วยสมองเสื่อมอยู่นั้น จู่ๆ ก็มีการวนลูปสถานการณ์ขึ้นมา ซึ่งนี่เป็นฉากที่มีอยู่แล้วในฉบับละครเวที แฮมพ์ตันเล่าว่า “ฉากนี้เราปรับให้กระชับขึ้น เราต้องการให้มีการเล่นซ้ำอีกครั้ง เพื่อสร้างความสับสนว่าเหตุการณ์เคยเกิดขึ้นมาแล้วหรือเพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก? นี่คือตอนเช้าหรือตอนเย็น? แล้วทำไมถึงมานั่งกินข้าวเย็นในชุดนอน? เราคิดว่าใครสักคนที่อยู่ในตัวแอนโธนีจะต้องทนทุกข์ทรมานกับเหตุการณ์ซ้ำซากเหล่านั้น”

เซลเลอร์เสริม “ผมอยากสร้างพื้นที่ให้ผู้ชมเป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่อง และค้นหาส่วนผสมของตัวเองเพื่อสร้างชุดคำตอบของแต่ละคน ตอนที่ผมดู Mulholland Drive ของ เดวิด ลินช์ ครั้งแรก รู้มั้ยว่ามันมีความหมายกับผมมาก เพราะผมได้เรียนรู้ว่าการเล่าเรื่องอาจเป็นปริศนาอักษรไขว้ที่ไม่สมบูรณ์ เป็นวิธีเล่นกับจิตใต้สำนึกของคนดูให้เกิดการมีส่วนร่วมกับหนังของเรา”


ข้อมูลประกอบ

https://scriptmag.com/interviews-features/florian-zeller-christopher-hampton-the-father

https://www.forbes.com/sites/adawson/2021/03/30/florian-zeller-takes-viewers-into-the-labyrinth-of-dementia-with-the-father/

นคร โพธิ์ไพโรจน์
ริจะเบนเส้นทางไปเป็นไลฟ์โค้ชด้านการลดน้ำหนัก แต่เฟลเลยกลับมาเขียนบทความหนังไทยเหมือนเดิม

RELATED ARTICLES