Voltes V อนิเมะแห่งชาติฟิลิปปินส์ ที่สั่นสะเทือนเผด็จการในยุคกฎอัยการศึก

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา GMA Network บริษัทธุรกิจบันเทิงยักษ์ใหญ่ของฟิลิปปินส์ได้ปล่อย Teaser ตัวอย่างภาพยนตร์ซีรีส์ Voltes V Lagacy ที่รีเมคจากอนิเมะหุ่นยนต์ปี 1977 เรื่อง Chodenji Machine Voltes V หรือชื่อที่ฉายที่ช่อง 7 ในไทยคือ “หุ่นยักษ์ วี ห้า” โดยทาง GMA ได้นำมาสร้างใหม่เป็นซีรีส์คนแสดงหรือ Live Action ซึ่งฉากหุ่นยนต์ยักษ์จะเป็น CGI และหลังจากที่ปล่อยตัวอย่างออกมาแล้ว แฟนๆ ของอนิเมะหุ่นยักษ์ทั่วโลกก็ได้แต่ทึ่งกับงานสร้างที่ดูยิ่งใหญ่อลังการ อย่างตัว CGI ตัวหุ่นยนต์ Voltes V ที่ดูดีมากๆ แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ยังรู้สึกว้าวเมื่อได้ดู ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมฟิลิปปินส์ถึงต้องรีเมคอนิเมะหุ่นยนต์เรื่องนี้ ทั้งๆ ที่หากมีทรัพยากรก็สร้างหนังหรือซีรีส์หุ่นยนต์ของตัวเองขึ้นมาใหม่ซะไม่ดีกว่าเหรอ? คำตอบก็เพราะ Voltes V นั้นถือว่าเป็นอนิเมะแห่งชาติฟิลิปปินส์ ที่มีส่วนสำคัญในวัฒนธรรมร่วมสมัยของประเทศ และยังเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองในยุคสมัยเผด็จการของนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส

ตัวอย่าง Voltes V Legacy

Chodenji Machine Voltes V อนิเมะหุ่นยนต์ที่สร้างโดย Toei Company และ Sunrise Nippon เป็น 1 ในไตรภาค “Nagahama Romance Robot Series” ของผู้กำกับ นากาฮาม่า ทาดาโอะ อันประกอบด้วย Chodenji Robo Combattler V (1976), Chodenji Machine Voltes V (1977) และ Tosho Daimos (1978) แม้จะเรียกว่าไตรภาค แต่เนื้อเรื่องก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน จากสไตล์ของผู้กำกับทาดาโอะที่มีเรื่องราวดราม่าเข้มข้น โรแมนติกซึ้งเรียกน้ำตา ทำให้เป็นที่ประทับใจของเหล่าแฟนๆ ทั้งในญี่ปุ่นและชาวต่างขาติ ซึ่งในทั้ง 3 เรื่อง Voltes V ถือเป็นเรื่องที่ได้ความนิยมสูงสุดในประเทศญี่ปุ่นเพราะดราม่าที่เข้มข้นและท่าไม้ตายสุดเท่ที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง “ท่าฟันตัว V” โดยในช่วง 70’s ที่สร้างนั้นถือยุคสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดของอนิเมะประเภทซุปเปอร์โรบอต

Voltes V เป็นเรื่องราวของการต่อสู้ระหว่างมนุษย์โลกและผู้รุกรานจากดาว Boazan ที่ต้องการปกครองโลกและนำชาวโลกไปเป็นทาสของตน ซึ่งอาวุธเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถต่อกรกับเทคโนโลยีของชาวดาว Boazan ได้ก็คือหุ่นยนต์พลังแม่เหล็กไฟฟ้า Voltes V ที่ขับโดยหนุ่มสาว 5 คน ได้แก่ 3 พี่น้องตระกูลโก เคนอิจิ ไดจิโร่ และฮิโยชิ ส่วนสมาชิกอีกสองคนก็คือ อิปเปย์และเมกูมิ โดยคู่ปรับของพวกเขาก็คือเจ้าชายไฮเนล ผู้บัญชาการทัพ Boazan ในการรุกรานโลก

Voltes V ได้เข้ามาฉายยังประเทศฟิลิปปินส์ในปี 1978 ซึ่งตอนนั้นประเทศฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้การปกครองของนายเฟอร์ดินาด์ มาร์กอส ถือเป็นอนิเมะกลุ่มแรกๆ ที่ได้เข้าฉายในประเทศ (ก่อนหน้านั้นฟิลิปปินส์ยังไม่ยอมรับอะไรจากญี่ปุ่น เพราะผลของสงครามโลก) อนิเมะหุ่นยนต์ยักษ์ถือว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่สุดๆ สำหรับเด็กฟิลิปปินส์เนื่องจากที่ผ่านมา พวกเขาได้ดูแต่อนิเมชั่นฝั่งอเมริกัน ทำให้เกิดความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะ Voltes V ถือว่าเป็นเรื่องที่ได้เรตติ้งสูงสุด ชนะอนิเมะหุ่นยนต์ที่ฉายในช่วงเดียวกันอย่าง Mazinger Z และ Tosho Daimos อย่างมาก เนื่องจากเนื้อหาดราม่าครอบครัวที่เข้าถึงง่ายกว่า ความรักหนุ่มสาวใน Daimos และทันสมัยกว่าอนิเมะเก่าอย่าง Mazinger Z อีกทั้งตัวหุ่นยนต์ที่เป็นจุดขายสำหรับเด็กนั้นหวือหวาและน่าดึงดูดกว่ามาก เพราะเป็นหุ่นที่เกิดจากการประกอบรวมร่างของยานพาหนะ 5 คัน/ลำ ทำให้ Voltes V ครองใจเยาวชนรวมถึงวัยรุ่นชาวปินอยได้อย่างมาก จนประโยคพูด “Let’s Volt In!” ที่จะพูดตอนประกอบร่างเป็นหุ่นก็กลายมาเป็นประโยคฮิตสุดๆ ในช่วงนั้น

กระแสความนิยมของ Voltes V นั้นแรงต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปี 1979 แต่จู่ๆ นายมาร์กอส (ที่ตอนนั้นยังคงประกาศให้ประเทศอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก) ก็ได้สั่งแบนการฉายอนิเมะเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่เหลืออีกเพียง 5 ตอนเท่านั้นก็จะอวสาน โดยให้เหตุผลว่าเพราะอนิเมะเรื่องนี้มีความรุนแรงสูง ทำให้เด็กๆ ยุคนั้นเสียอกเสียใจมากๆ ที่ไม่อาจรู้ได้ว่าชะตากรรมของเหล่าฮีโร่ของพวกเขาในการต่อสู้กับเผด็จการชาว Boazan นั้นมีบทสรุปอย่างไร อย่างไรก็ตามชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อในการให้เหตุผลเรื่องความรุนแรงของมาร์กอส แต่เชื่อว่าเพราะเนื้อหาของ Voltes V คือการต่อสู้กับอำนาจที่มากดขี่ ยิ่งเนื้อหาในช่วงท้ายๆ ที่จะพูดถึงการรุกฮือต่อต้านอำนาจเผด็จการและการปฏิวัติ เพราะแท้จริงแล้ว ดร.เคนทาโร่ โก ผู้เป็นพ่อของพี่น้องโกที่เป็นตัวเอกนั้น เป็นอดีตเจ้าชายดาว Boazan ที่ไร้เขา โดยคนมีเขาในดาว Boazan คือชนชั้นสูงที่มีสิทธิในการปกครอง และกดขี่ผู้ไม่มีเขา ทำให้ ดร.เคนทาโร่ต้องหนีไปโลกเพื่อสร้าง Voltes V เพื่อรับมือกับชาวดาว Boazan ที่จะมารุกรานในอนาคตโดยฝากความหวังไว้กับบรรดาคนรุ่นลูก ซึ่งภายหลังจากที่ ดร.เคนทาโร่โดนจับไปอีกครั้ง เขาและชาวดาว Boazan ที่ไร้เขาก็ได้รวมตัวกันเพื่อทำการปฏิวัติโค่นล้มอำนาจของเผด็จการของชนชั้นสูงที่มีเขาโดยมีลูกๆ และชาวโลกมาร่วมต่อสู้ด้วย ซึ่งมาร์กอสกลัวกว่าเนื้อหาดังกล่าวอาจส่งผลให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านตัวเอง จึงทำการแบนอนิเมะเรื่องนี้ ถึงเวลาต่อมา Bongbong Marcos ผู้เป็นลูกชายของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จะได้ออกมาพูดแทนพ่อของเขาว่าที่พ่อเขาแบน Voltes V ก็เพราะมีเหล่าผู้ปกครองมาร้องเรียนว่าอนิเมะเหล่านี้จะส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อลูกพวกเขา อย่างไรก็ตามก็ไม่มีการเปิดเผยสาเหตุที่แท้จริงในการแบน Voltes V อย่างกระจ่างชัด

ในที่สุดการปกครองอำนาจเผด็จการอันยาวนาน 21 ของมาร์กอสก็จบลงในปี 1986 จากการลุกฮือของประชาชนที่รู้จักในชื่อว่า The People Power Revolution และปัจจัยภายในและภายนอกอีกหลายประการทำให้นายมาร์กอสต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ทำให้ในที่สุด Voltes V ก็ได้ถูกนำมาฉายรีรันใหม่ในปี 1986 และ 1989 แต่เวอร์ชั่นพากย์เสียง Tatalog ที่สมบุรณ์ที่สุดและอิมแพคที่สุดคือเวอร์ชั่นปี 1999 ที่ฉายทางช่อง GMA7 และทางบริษัท GMA ยังได้นำ 5 ตอนสุดท้ายที่ถูกแบนมาตัดต่อรวมกันเป็นหนังยาวออกฉายโรงในชื่อว่า “Voltes V: The Liberation” เพียงเท่านี้ก็ทำให้เหล่าเด็กในยุค 1978 ที่ใจสลายเจ็บปวดจากการปิดกั้นเสรีภาพสื่อของเผด็จการในช่วงนั้น ในที่สุดก็ได้ดู Voltes V ฉบับสมบูรณ์ และยังเป็นตัวจุดกระแสให้ความคลั่งไคล้ในอนิเมะและวัฒนธรรมญี่ปุ่นในฟิลิปปินส์ขึ้นมาอีกครั้งและยังคงต่อเนื่องยาวมาจนถึงทุกวันนี้

มรดกหลายอย่างของ Voltes V ยังคงหลงเหลือใน Pop culture ของฟิลิปปินส์มาจนถึงทุกวันนี้ เหล่าเด็กในช่วงที่อนิเมะเรื่องนี้ออกฉายครั้งแรกนั้นถูกเรียกว่า Voltes V Generetion ก็ได้เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ในสังคมและยังคงยึด Voltes V เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Voltes V นั้นว่าด้วยร่วมแรงร่วมใจต่อสู้ เพราะเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่ได้เกิดจากบังคับของฮีโร่เพียงคนเดียว ลำพังเพียงยานรบ 1 ลำไม่สามารถเอาชนะศัตรูได้ แต่พอทุกคนร่วมใจประกอบร่างกันถึงจะไร้เทียมทาน และเรายังคงเห็น Voltes V แฝงแทรกตัวในวัฒนธรรมร่วมสมัยของฟิลิปินส์ได้มากมาย จนมีคนกล่าวว่าชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่สามารถร้องเพลงเปิดของ Voltes V ได้ (ถ้าเทียบเคียงกับบ้านเรา ที่ใกล้เคียงที่สุดก็คงโดราเอม่อน) ซึ่งในปี 2014 ก็ได้มีการตั้งงานศิลปะรูปปั้นสลัก “Last, Lost, Lust for Four Episodes” ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ โดยงานชิ้นนี้บอกเล่าเรื่องราวของการแบนอนิเมะเรื่องนี้ในปี 1979 ที่มีรูปปั้นเด็กสวมหัวและดาบที่คล้ายกับตัวหุ่น Voltes V ลุกขึ้นสู้กับรูปปั้นนายมาร์กอสที่มีเขา ที่แทนสัญลักษณ์เผด็จการของเรื่อง

แต่ถึงเหล่ามนุษย์และชาว Boazan ที่ไร้เขาจะสามารถโค่นล้มเผด็จการของพวกชนชั้นปกครองที่มีเขาและนำประชาธิปไตยกลับคืนมาได้แล้ว แต่ในโลกความจริงมรดกของเผด็จการของเฟอร์ดินานด์มาร์กอสก็ยังคงมีอิทธิพลหลงเหลืออยู่มากในสังคมฟิลิปปินส์ปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำก็ยังคงมีมากมาย ซึ่งถ้ามองแล้วก็ไม่ต่างจากประเทศเรามากนัก ก็หวังว่าการกลับมาอีกครั้งของอนิเมะแห่งชาติปินอยในรูปแบบซีรีส์ Live Action ในนาม Voltes V Legacy จะสามารถทำให้ประชาชนปลุกจิตวิญญาณของการที่ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจเผด็จการให้กลับมาอีกครั้ง และพร้อมจะ “Let’s Volt In!”

ผู้อ่านสามารถชม Voltes V 2 ตอนแรกแบบมีคำบรรยายภาษาอังกฤษได้ที่ channel youtube ของ Toei โดยที่ตอน 3 เป็นต้นไปนั้นจะไม่มีคำบรรยายภาษาอังกฤษ


อ้างอิง

https://dubbing.fandom.com/wiki/Voltes_V

RELATED ARTICLES