FILM CLUB Year List 2020 (Part 2)

(รายชื่อรอบแรก)

ในที่สุดปี 2020 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ท่ามกลางสถานการณ์การปิดโรงหนังหนีโควิด การเฟื่องฟูของกิจการ Streaming ภาพยนตร์ และการที่เทศกาลหนังเกือบทั้งโลกย้ายมาอยู่ออนไลน์ เปิดประตูกว้างต้อนรับผู้ชมจากทั่วโลก และสำหรับในประเทศการมาถึงของการชุมนุมที่นอกจากจะขยายเพดานการสื่อสารอย่างสามารถสร้างเทรนด์บางอย่างของการดูหนังแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วย 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2020 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2021 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง 

และนี่คือรายชื่อรอบสอง


พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู : นักวิชาการอิสระ โปรแกรมเมอร์หอภาพยนตร์

School Town King (2020, วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย)

สารคดีที่ไม่เพียงแต่จะเล่าเรื่องการดิ้นรนเพื่อความฝันของนักเรียนคู่หนึ่งซึ่งขัดต่อค่านิยมทางการศึกษาของคนส่วนใหญ่ หากยังกระตุ้นให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำและกรอบที่กักขังสังคมไทยมายาวนาน ซึ่งสุดท้ายแล้วมันถูกระเบิดออกมาเป็นปรากฏการณ์บนท้องถนนในช่วงที่ผ่านมา ในแง่หนึ่ง หนังจึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนอารมณ์และใจกลางของปัญหาสำคัญแห่งปี พ.ศ. ที่เพิ่งจบไป



ภาคภูมิ ลมูลพันธ์ : Routine กราฟิกดีไซเนอร์ ฝ่ายศิลป์ Film Club 

The Mandalorian season 2 (2020, Jon Favreau(creator), US)

สุดท้ายปีที่ไม่มีอะไรบันเทิง blockbuster นอกบ้านเท่าไหร่ ก็ยังมีสิ่งนี้มาเติมความหวัง เหมือน Jon Favreau เดินมาบอกดิสนีย์ว่าพวกเอ็งทำอะไรกัน พอได้แล้ว เอามานี่เดี๋ยวทำให้ดู



มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ : นักวิจารณ์ภาพยนตร์ นักเขียนประจำ Film Club

The Painted Bird (2019, Nabarvené ptáče, Czech)

อึ้งสิครับ เอาแค่เนื้อหาที่ตรึงความสนใจจนจบ โดยไม่วืด,ว่อกแว่กคิดเรื่องอื่น ขณะดู นี่ยังไม่รวมที่เขาตบตาได้สนิทใจ จนนึกว่าเป็นหนังที่สร้างตั้งแต่ยุค 60 (เพียงเพราะฉายวันต่อกันกับ Closely Observed Train ซึ่งก็เป็นหนังขาวดำเหมือนกันอีก) ยิ่งหนังจบมีเซอร์ไพรส์ตามมาอีกมากมาย

ก่อนดูไม่รู้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับหนังมาก่อนเลย นอกจากชมในใจว่าหนังมาก่อนเวลายาวนาน (เปล่า หนังทำในยุคเรานี่แหละ) เซอร์ไพรส์สอง: อ้าว นี่สร้างจากคนแต่งคนเดียวกับ Being There นี่, เซอร์ไพรส์สาม: เริ่มสงสัยตะหงิดๆ แล้วสิ ว่าใช่เรื่องเดียวกับที่เคยใช้ชื่อ (ฉบับแปล) ว่า ‘นกเถื่อน’ หรือเปล่า



ดูหนังทุกวัน : แอดมินเพจและผู้จัดจำหน่ายหนังต่างประเทศ 

แปลรักฉันด้วยใจเธอ (2020, นฤเบศร์ กูโน) series 

ซีรีส์ของนาดาวและ Line TV ที่เขียนถึงแทบทุกตอนที่นางฉาย (ทั้งที่นางมีอยู่แค่ห้าตอน 55) ซึ่งก็อย่างที่เขียนถึงไปแล้วว่าชอบมากและอินมากในความเป็น representation ของซีรีส์ที่มีต่อชาว LGBT out there 

และโดยส่วนตัวเราเองก็เห็นซีรีส์เรื่องนี้เป็นภาพแทน “เรื่องของเรา” ในอดีต มันจึงดีมากๆ ทั้งสำหรับคนวัยเรา วัยแก่กว่าเรา วัยเท่ากับเต๋และโอ้เอ๋ว หรือวัยไหนก็แล้วแต่ ที่จะได้ดูเรื่องของคุณผ่านจอ หวังว่าโควิดระลอกใหม่จะไม่ทำให้ตารางการถ่ายทำต้องกระทบจนวันฉาย Part 2 เดือนมีนาต้องเลื่อนนะ



คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง : อาจารย์สอนภาพยนตร์ คอลัมนิสต์ นักวิจารณ์ 

One Summer Story (2020, Shuichi Okita, Japan)

ผลงานของผู้กำกับ A Story of Yonosuke ที่กลับมาคืนฟอร์มอีกครั้ง เรื่องราวในฤดูร้อนของเด็กสาวชายหนุ่มที่ช่วยกันตามหาพ่อที่แท้จริงของฝ่ายหญิงและพบว่าเขากลายเป็นเจ้าลัทธิไปแล้ว เป็นพล็อตเอื้อต่อความหวือหวาดรามาติกสุดๆ ทว่าผู้สร้างกลับเลือกนำเสนอแบบเรื่อยเปื่อยเอื่อยเฉื่อย ทุกสิ่งอย่างดูเป็นกิจวัตรสามัญธรรมดาไปเสียหมด หากแต่การถ่ายทำก็ไม่ได้ง่ายดายเพราะหนังเต็มไปการถ่ายแบบ long take รวมถึงฉากสุดท้ายของหนังที่ถ่ายทอดความรักใสซื่อของวัยมัธยมได้อย่างน่าประทับใจ เช่นนั้นแล้วชื่อหนังอาจจะเป็นแค่ “ฤดูร้อนหนึ่ง” แต่หนังเรื่องนี้จะไม่ใช่เพียง “หนังเรื่องหนึ่ง” สำหรับหลายคน



ปราปต์ : นักเขียน 

The Long Walk (2019, Mattie Do, Laos)

ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้จักผกก.คนนี้มาก่อน​ ได้เข้าไปดูในงานหนังอาเซียนแบบไม่รู้อะไรเลย​ ปรากฏว่าตลอดเวลาที่ดูเป็นประสบการณ์ที่ดีมากที่สุดครั้งหนึ่งของการดูหนัง​ มันมีอะไรว้าวเต็มไปหมด​ พลอตและโปรดักชันอินเตอร์ตัดกับภาพวิถีบ้านๆ​ ที่เล่าอยู่ในเรื่องมากๆ​ เป็นเสน่ห์แหวกๆ​ ที่น่าจะหาไม่ได้จากงานของใครอีกแล้ว​ เพราะส่วนใหญ่ถ้าตั้งต้นมาอินเตอร์​ มันก็มักจะปูไปเป็นอินเตอร์ทุกส่วน​ จบจากเรื่องนี้แล้วได้ดูน้องฮัก​ ก็ว้าวอีกเหมือนกัน​ จากนั้นปวารณาตัวว่าจะไม่พลาดงานของแมตตี้​ โด​ อีกเลย​ รู้สึกลุ้นให้มีงานไทยที่ไปไกลขนาดนี้บ้าง​ โดยเฉพาะในทางหนังสยอง/สืบสวนที่หลังๆ​ เงียบหายกันไปนาน



ธีรพันธ์ ​เงาจีนานันต์ : ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี ไกลบ้าน 

Manhattan (1979, Woody Allen, US)

เคยดูตอนมหาลัยแล้วไม่ได้รู้สึกชอบขนาดนั้น แต่ส่วนตัวผมรักหนัง Woody Allen มากๆ อยู่แล้ว การได้มีโอกาสดูอีกครั้งในวันที่โตขึ้น ในโรงหนังจอใหญ่ๆ เหมือนได้มาทำความรู้จักกับหนังเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง และได้เห็นความชิบหายวายป่วง ความสับสนงุ่นง่าน เอาแต่ใจของหนังเรื่องนี้อีกครั้ง ที่อาจจะกลายเป็นชอบเรื่องนี้ของ Woody Allen ที่สุดไปเลยครับ



ชาญชนะ หอมทรัพย์ : นักวิชาการภาพยนตร์ คนเขียนบท อ.สอนภาพยนตร์

The Invisible Man (2020, Leigh Whannell, US) 

เป็นหนังผีในยุคสมัยจักรวาลมาเวลครองตลาดหนังจริงๆ ฉลาดที่เอาความกลัวผีของคนดู มาผสมกับความน่าเชื่อถือเรื่องเทคโนโลยีสุดล้ำ จริงๆ ตัวนิยายดั้งเดิมที่เอช จี เวลส์ เขียนเมื่อร้อยกว่าปีก่อนก็พูดถึงอันตรายของวิทยาศาสตร์เหมือนกัน (ในฉบับเดิมคือนักวิทยาศาสตร์การทดลองกับตัวเอง)



พงศ์สันต์ อรุณสินทวีพร : cinephile นักเขียนรับเชิญ Film Club 

Dwelling in the Fuchun Mountains (2019, Gu Xiaogang, PRC)

เป็นประสบการณ์การดูหนังแห่งปีที่ทั้งงดงามและมหัศจรรย์ กู้เสี่ยวกังเอาวิธีดูภาพวาดจีนโบราณมาใส่ในหนังด้วยเทคนิค scroll montage เหมือนค่อยๆ คลี่ภาพวาดออกจากม้วน เราจะเห็นทัศนียภาพก่อน แล้วค่อยเห็นผู้คน และชีวิตกิจกรรมข้างใน ซึ่งในที่นี้คือชีวิตของคนในครอบครัวหนึ่งซึ่งสุดแสนจะธรรมดาสามัญแต่ขึ้นลงแตกต่างตามโชคชะตา และสามารถสะท้อนเข้าไปจับในหัวใจเราได้ โดยหนังใช้ประโยชน์จากทัศนียภาพของเมืองฟู่หยางและแม่น้ำฟู่ชุนอย่างเต็มที่ กลายเป็นฉากหลังอันตราตรึงที่กินเวลาทั้งสี่ฤดู ห่มคลุมลงไปบนชีวิตของครอบครัวหลักในเรื่อง บ่อยครั้งที่ภาพไพล่ไปถ่ายทัศนียภาพแทนตัวละคร แม้ขณะที่เรายังได้ยินเสียงสนทนาดำเนินไป ก่อนที่กล้องจะเลี้ยวลดกลับมาหาตัวละครอีกที กลายเป็นฉากลองเทคที่น่าทึ่ง นุ่มนวล เป็นกวี และเปี่ยมพลัง

ด้วยเรื่องที่เป็นเรื่องครอบครัวอันประกอบด้วยสมาชิกสามรุ่น ถ่ายทอดสายใยรักชังตัดไม่ขาด ช่องว่างระหว่างรุ่นวัย แรงเสียดทานของสมัยเก่าข้างหลังและสมัยใหม่ข้างหน้า ความทุกข์ของชีวิตและโมงยามงดงามเล็กๆ ที่แทรกอยู่ในนั้น และด้วยวิธีเล่าที่ละเมียดค่อยเป็นค่อยไป ให้เวลาแต่ละฉากอย่างแน่ใจว่ายาวนานพอ ท่ามกลางฉากหลังเมืองจีนที่ผสมทั้งเก่าและใหม่ – ด้วยทั้งหมดที่ว่าไป มันจึงทำเกิดความรู้สึกรื้นใจขึ้นมาหลายที ค่าที่มันเหมือนหนังของเอ็ดเวิร์ด หยางผู้ล่วงลับที่เรารักมากๆ



ธนพัฒน์ วงษ์วิสิทธิ์ : นักวิจารณ์ แอดมินเพจ Movies can Talk 

Two Little Soldiers (2020, เป็นเอก รัตนเรือง) video art

ณ ซอกเร้นในป่า มีเสียงของประชาชนที่ไม่ได้ใครได้ยินซ่อนอยู่

หนึ่งในประสบการณ์ที่สุดแสนประทับใจจากดูหนังปี 2020 การเดินดูงาน Bangkok Art Biennale ณ หอศิลป์กรุงเทพ ท่ามกลางกลางงานศิลปะนานาชาติเรียงรายตาชูความโดดเด่น เราสะดุดตางานชิ้นใหม่ของพี่ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง หนังสั้นเรื่องใหม่ล่าสุดของเขา สาวสะเมิน (Two Little Soldiers) 

หนังสร้างจากบทหนังใหญ่ที่ถูกสร้างของพี่ต้อม โดยดัดแปลงจากเรื่องสั้นของกีย์ เดอ โมปาส์ซังต์ เจ้าพ่อเรื่องสั้นฝรั่งเศสเรื่อง Two Friends สู่หนังขนาดสั้น สาวสะเมิน (Two Little Soldiers) อันว่าด้วยเมืองหลวงเกณฑ์ทหารเข้ากรุงปราบประชาชน เหล่าทหารสองนายต่างจังหวัดที่ไม่ได้ถูกเลือกจึงพากันมาตกปลา ว่ายน้ำ พักผ่อน ณ ริมบึงแห่งหนึ่ง ที่นี่เขาพบสาวหมู่บ้านสะเมิงนั่งอยู่ ชีวิตของทั้งสามคนจะเปลี่ยนไปตลอดกาล

ก่อนจะเข้าห้องฉาย ภาพนอก มีภาพพิมพ์ที่เกิดสร้างจากบทภาพยนตร์ของพี่ต้อมไม่ถจำนวนกว่าสิบภาพ แต่ละภาพมีสแกน QR Code ลิงก์ที่ขึ้นเป็นคลิปเบื้องหลังพี่ต้อมทำงานกับนักแสดงในหนัง เสียงของเหล่าคนทำงานศิลปะในคลิปต่างขยายความหมายของภาพและจินตนาการคนดูจนแทบอยากเห็นฉบับหนังยาวจากเรื่องนี้  

ในทางกลับกันในห้องฉายหนังเก้าอี้นวมโมเดิร์นลายทหารถูกจัดวางให้คนดูนั่งอิ่มเอม เหมือนทหารพักร้อนไปตกปลา บทสนทนาระหว่างทหารหนุ่มสองนายและสาวชาวบ้านหนึ่งคนถูกเล่าในรูปแบบหนังเงียบ ขณะที่ข่าวจากรัฐบาลใช้มาตราการความรุนแรงปราบประชาชนค่อยๆ ดังขึ้นเรื่อยๆ



กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ : แพทย์ นักเขียนประจำ Film Club 

ไหลถอน (2020, ฉันทนา ทิพย์ประชาติ) video art 

ไหลถอน วิดีโอจัดวางของฉันทนา ทิพย์ประชาติ จัดแสดงที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ในเทศกาล บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ฉายภาพประเพณีไหลเรือไฟที่จังหวัดนครพนม กฤษดา นาคะเกตุ ผู้กำกับภาพจับจ้องเหล่าแรงงานผู้ศรัทธาพญานาค อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมในแทบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนการเข้ามาของศาสนาพุทธ และขวดเครื่องดื่มชูกำลังที่ใช้เป็นแหล่งกำเนิดเปลวไฟที่สะท้อนเรืองรองบนลำน้ำโขง

วิดิโอประกอบกับเสียงทำนองสรภัญญะ (ซึ่งปกติใช้บูชาพระพุทธเจ้า) ที่แต่งโดยฉันทนาเพื่อสรรเสริญชนชั้นกรรมาชีพและเยียวยาปลอบประโลมบาดแผลจากการไปเป็นลูกจ้างพลัดถิ่นในเมืองใหญ่



กฤตนัย ธีรธรรมธาดา : แพทย์ นักเขียนประจำ Film Club 

I Lost My Body (J’ai perdu mon corps) (2019, Jérémy Clapin, France)

เด็กส่งพิซซ่าที่ใช้ชีวิตอย่างซังกะตาย กับมือปริศนาที่วิ่งตะกุยตะกายฟันฝ่าอุปสรรคไปทั่วกรุงปารีส เป็นหนังแอนิเมชันเน็ตฟลิกซ์ที่เราชอบมากที่สุดในปีนี้ ด้วยวิธีที่มันพูดถึงอดีตและความทรงจำ ความผูกพันและตัวตนของเราผ่านโสตและกายสัมผัส และการก้าวผ่านขีดจำกัด อดีตอันเจ็บปวด และพันธนาการของชีวิตเพื่อไปสู่จิตจำนงเสรีได้สุดมาก รวมถึงเป็นอีกเรื่องที่เราคิดว่ามีฉากไคลแมกซ์ที่ทรงพลังและชวนตื้นตันมากที่สุดของปี 2020 (อาจต้องขอบคุณสกอร์ของแดน เลวี่ที่ชวนเหงาแต่ก็เต็มไปด้วยความหวังเหลือเกิน)

ดูแล้วก็ได้แต่มานั่งคิดขอบคุณอดีตและร่องรอยการสัมผัสของชีวิตเราในปีที่ผ่านมา แม้จะลำบากยากเข็ญ ชวนเจ็บปวด ชวนเศร้าเพียงไหน (คาดว่าหลายๆ คนก็คงบาดเจ็บไม่ต่างกัน) แต่ก็ต้องก้าวกระโดดเพื่อข้ามผ่านมันไปให้ได้ แล้วเจอกัน 2021!



(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 3)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 4)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 5)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 6)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 7)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 8)

filmclub
กอง Film Club

RELATED ARTICLES