5 หนังวันแรงงาน เพราะเราทุกคนคือแรงงาน

วันแรงงานปีนี้ หลายคนต้องหยุดอยู่กับบ้าน หลายคนก็ยังต้องออกไปทำงาน เราต่างต้องใช้แรงงานแลกค่าแรงด้วยกันทั้งสิ้น เราจึงขอเฉลิมฉลองวันแรงงานด้วยหนัง 5 เรื่องที่หาดูได้จากที่บ้าน จากสถานการณ์ที่คนทำงานจำนวนไม่น้อยต้องอยู่บ้านไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือจำใจก็ตาม

อันที่จริงหนังแทบทุกเรื่องบนโลกนี้ต่างพูดถึงการดิ้นรนในฐานะคนทำงานด้วยกันทั้งสิ้น แต่เราขอคัดเลือกหนังที่ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงบนจอ เพื่อต่อสู้ให้สิทธิคนทำงานอย่างจริงจัง


1. Pride (2007, แมทธิว วอร์ชัส)

ย้อนไปในปี 1984 คนงานเหมืองนัดหยุดงานทั่วอังกฤษ เพื่อประท้วงการบริหารงานของนายกรัฐมนตรี มากาเร็ต แธ็ตเชอร์ แต่พวกเขาไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งกำลังเรียกร้องสิทธิความหลากหลายทางเพศแต่ถูกต่อต้านจากสังคมอนุรักษ์นิยมในยุคนั้น จึงเข้าสนับสนุนการเรียกร้องคนงานเหมือง ด้วยการระดมทุนและจัดพาเหรด เกิดเป็น ”กลุ่มเลสเบียนกับเกย์สนับสนุนคนงานเหมือง” (LGSM) และร่วมต่อสู้ไปด้วยกัน นี่คือบทบันทึกจากเหตุการณ์จริงด้วยท่าทีสุดแสนเป็นมิตร เกิดเป็นหนังที่ถ่ายทอดเบื้องหลังการประท้วงที่เข้มข้นทว่าก็รื่นรมย์จากการได้เห็นมิตรภาพของกลุ่มคนสองขั้วที่ดูไม่น่าจะไปด้วยกันได้ แต่สามารถร่วมทางด้วยอุดมการณ์เดียวกัน (ดูทาง Monomax)


2. Hustlers (2019, ลอรีน สกาฟาเรีย)

หนังสร้างจากบทความ New York Magazine ชื่อ The Hustlers at Scores โดย เจสสิกา เพรสเลอร์ เล่าเรื่องของกลุ่มนักเต้นเปลื้องผ้าหญิงในนิวยอร์ก ที่ก่ออาชญากรรมด้วยการยักยอกเงินลูกค้านักธุรกิจรายใหญ่จำนวนมาก ในด้านหนึ่งหนังกำลังพูดถึงชีวิตของกลุ่มคนที่โดนผลกระทบเต็มๆ จากวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ อันเป็นการล่มสลายระดับมหภาค ทว่าชีวิตของผู้หญิงกลางคืนอย่างพวกเธอกลับถูกมองข้ามจากความพังพินาศนั้น นอกจากนี้หนังยังนำเสนอให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยว่า ในวันที่เศรษฐกิจยังดี นักเต้นเปลื้องผ้าก็สามารถสร้างคุณค่าทางอาชีพด้วยการฝึกฝนและทุ่มเทเพื่อเพิ่มทักษะความสามารถได้ แต่เมื่อพายุทางเศรษฐกิจเหวี่ยงเธอออกนอกระบบอย่างไม่ไยดี พวกเธอก็ต้องเลือกเดินในโลกใต้ดินเพื่อความอยู่รอด (ดูทาง HBO Go และ Monomax)


3. Tokyo Idol (2017, เคียวโกะ มิยาเกะ)

นอกจากสารคดีชิ้นนี้จะเป็นการปูความเข้าใจต่อวงการไอดอลญี่ปุ่นแล้ว หนังยังทำหน้าที่นำเสนออีกด้านของศิลปินไอดอลที่ต้องผ่านบททดสอบสุดเข้มข้น เพื่อดำรงตัวให้รอดในวงการที่ฟาดฟันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย อันเป็นวงจรธุรกิจที่วัดความสำเร็จจากปัจจัยมากมายรอบด้าน และการจะอยู่ในระบบนี้ได้อย่างผู้ชนะก็ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง ซึ่งเมื่อมองในมิตินี้แล้วจะเห็นได้ว่าการเป็นศิลปินไอดอลก็เหนื่อยยากและต้องการความเป็นธรรมไม่ต่างจากแรงงานประเภทอื่น (ดูทาง Doc Club on Demand)

*แนะนำให้ดูคู่กับ Girls Don’t Cry (2018, นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) ทาง Netflix


4. ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (2015, นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์)

เมื่อพูดถึงแรงงาน ภาพแรกที่ปรากฏในความคิดอาจเป็นคนทำงานโรงงานหรือพนักงานออฟฟิศกินเงินเดือน แต่ที่จริงแล้วแรงงานยังรวมถึงคนที่อยู่นอกระบบ อย่าง ‘ฟรีแลนซ์’ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่น้อยและไม่ได้รับการดูแล หนังเล่าเรื่องของ ยุ่น มนุษย์ฟรีแลนซ์ที่มีเวลางาน 24 ชั่วโมง จนร่างกายต้องต่อต้านการใช้งานตัวเองหนักเกินไป ในขณะที่หนังพยายามถ่ายทอดให้เห็นการต่อสู้กับร่างกายของยุ่นที่พยายามฝืนเพื่อทำงานให้เสร็จ เราก็ไม่อาจหยุดคิดถึงความปลอดภัยและมั่นคงในการใช้ชีวิตเป็นคนทำงานอิสระนอกระบบที่เมืองไทยได้เลย (ดูทาง Netflix)


5. The White Tiger (2021, รามิน บาราห์นี)

ภายใต้สภาพสังคมอินเดียที่แบ่งแยกชนขั้นตามวรรณะ เราได้รู้จักกับ พลราม ชายวรรณะต่ำต้อยที่ได้งานเป็นคนขับรถให้มหาเศรษฐีผู้หยิบยื่นมิตรภาพให้เขา แต่การออกแบบชนชั้นให้มีความเหลื่อมล้ำโดยตัวเองนั้น ทำให้แรงงานอย่างพลรามไม่สามารถผลักดันตัวเองเข้าสู่ระบบที่เป็นธรรม หรือเขตแดนอันปลอดภัยที่สนับสนุนให้มีความเจริญเติบโตได้เลย หากเขาไม่ตัดสินใจทำลายเส้นแบ่งทางชนชั้นลงด้วยน้ำมือตัวเอง (ดูทาง Netflix)

นคร โพธิ์ไพโรจน์
ริจะเบนเส้นทางไปเป็นไลฟ์โค้ชด้านการลดน้ำหนัก แต่เฟลเลยกลับมาเขียนบทความหนังไทยเหมือนเดิม

RELATED ARTICLES