INTERVIEW

เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ : บทบาทของการถูกกดขี่ที่มีอยู่ในเราทุกคน

ในสภาพนุ่งกางเกงชั้นในตัวเดียว เด็กหนุ่มคลานเข่าคาบกระดูกปลอมจากพื้น ไปวางไว้ตรงหน้าเด็กสาวผู้ออกคำสั่ง ยื่นมือให้อย่างว่าง่ายเมื่อเธอ ‘ขอมือ’ แล้วส่งเสียงเห่าหอนที่ทั้งเจ็บปวด โกรธเกรี้ยวและแตกสลายไม่ต่างจากหมาตัวหนึ่ง ก่อนจะถูกพาไปขังในกรงสี่เหลี่ยมแคบๆ มองดูผู้คนโยนเศษอาหารลงมาให้ประทังชีวิต

‘รับน้อง’ คือตอนหนึ่งของซีรีส์ ‘เด็กใหม่ 2’ (2021) -ซีรีส์ธริลเลอร์ภาคต่อที่ว่าด้วยเด็กสาวปริศนาผู้ย่างกรายเข้าไปปั่นกระชากเอาความอำมหิตในตัวมนุษย์ออกมาตีแผ่- กำกับโดย คมกฤษ ตรีวิมล จับจ้องไปยังเหตุการณ์รับน้องในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง เค เด็กหนุ่มที่สวมบทบาทเป็นพี่ว้าก ใช้อำนาจที่มีออกคำสั่งรุ่นน้องซึ่งค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมในที่สุด เพื่อจะหลบหลีกการต้องรับผิดชอบ เด็กหนุ่มย้ายไปเรียนยังสถานที่แห่งใหม่และเข้ารับการรับน้องใหม่อีกครั้งในฐานะ ‘รุ่นน้อง’ ที่ไม่เพียงแต่ต้องเจอกับกฎอันเดือดดาลเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการลดทอนความเป็นมนุษย์ ทุบทำลายศักดิ์ศรีและเลยเถิดไปจนถึงขั้นมุ่งเอาชีวิต

สิ่งที่ทำให้ตอน ‘รับน้อง’ ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงอย่างหนาหูไม่ใช่แค่ประเด็นความฉาวหรือความรุนแรงของมันเท่านั้น แต่มันยังรวมถึงการแสดงของ เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ ที่ผลักตัวละครของเคให้ไปสู่ขอบเขตของความคลุ้มคลั่งในท้ายที่สุด

ภายหลังเรียนจบกราฟิกดีไซน์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภูมิภัทรวนเวียนเป็นนักแสดงและทีมงานให้นักศึกษาเอกฟิล์มเรื่อยมา และด้านหนึ่งมันก็กลายเป็นประตูบานสำคัญสู่การเป็นนักแสดงนำเรื่องแรกใน ‘นคร-สวรรค์’ (2018, พวงสร้อย อักษรสว่าง) ในฐานะเณรผู้บวชให้ครอบครัวของคนรักเก่า ตลอดจนหนังสั้นและมิวสิกวิดีโอจำนวนมากกว่าสองมือนับไหว

เคเป็นตัวละครที่เปลี่ยนจากผู้กระทำกลายเป็นผู้ถูกกระทำอย่างรุนแรงมากๆ คุณตีความตัวละครนี้ยังไงบ้าง

ผมสนใจตัวละครนี้ตั้งแต่อ่านบทแล้ว มันน่าสนุก อาจเพราะตอนนั้นรู้สึกอยากเล่นบทบาทในเชิง physical ด้วยละมั้ง

ทำไมอยากเล่นอะไรที่ physical

ผมมักรับบทเป็นคนนั่งเศร้า สูบบุหรี่อยู่บ้านแล้วร้องไห้ ไม่ค่อยได้ทำอะไรมาก ไปยืนริมทะเลแล้วลมพัด ผมปลิวเห็นหัวเถิกตัวเอง (หัวเราะ) เลยไม่ค่อยได้ใช้ร่างกายอะไรมาก

ปีที่แล้วได้มีโอกาสไปทำ performance theater แล้วรู้สึกว่า นี่แหละคือสิ่งที่สนุก มันได้ใช้ร่างกาย เลยคิดว่าอยากสำรวจประเด็นนี้ อย่างปีที่แล้วก็พยายามรับงานที่ได้สำรวจร่างกายตัวเองบ้าง ได้ใช้อะไรที่มันไม่ใช่ร่างกายท่อนบนบ้าง และงานจาก ‘เด็กใหม่’ ก็สนุกเพราะว่าได้ใช้ร่างกายมากขึ้น

แล้วการมารับบทเป็นเคต้องทำการบ้านเยอะไหม

ไม่ได้รู้สึกว่าต้องทำการบ้านเพิ่มมากมาย ยิ่งสภาวะในตอนนั้นคือเราถ่ายทำกันเดือนตุลาคม 2020 มันเลยเต็มไปด้วยพลังงานหลายๆ อย่างที่มันคุกรุ่นอยู่ในร่างกายเราทุกเช้าเย็นอยู่แล้ว ผมรู้สึกว่าในบทบาทของการเป็นผู้ถูกกระทำ เราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งในภูมิภาคนี้ มันย่อม related กับสิ่งนี้ได้มากอยู่แล้ว มันก็เต็มไปด้วยวัตถุดิบที่รอวันปะทุออกมาจากรูขุมขนเราอยู่แล้ว มันไม่ได้ต้องเตรียมตัวอะไร

แล้วพอสั่งคัต กลับมาดูก็ยังคิดเลยว่า ที่กูทำแบบนี้ได้เพราะว่าเราอยู่กันแบบนี้แหละ เพราะเราทุกคนมัน related กับสิ่งนี้ มันจึงไม่ยากเลยที่เราจะดึงสิ่งนี้ออกมา มันมีความเก็บกด ข้นแค้นอยู่ในหัวใจทุกคนอยู่แล้ว

แต่สิ่งที่ยากคือการที่เราต้องเป็นคนที่ไปกระทำคนอื่น แล้วการเรียงลำดับการถ่ายคือเขาถ่ายผมเป็นหมาก่อน เขาวางตารางการถ่ายทำให้มันถูกต้องตามหลักของ economic เลยกลายเป็นอีกอย่างที่น่าสนใจมาก เพราะผมจะต้องเป็นหมาก่อนแล้วค่อยไปเป็นคนที่ไปกดขี่คนอื่น ซึ่งผมว่าการต้องไปทรมานคนอื่นมันเป็นเรื่องยากมาก

ทำไมการรับบทเป็นคนไปกระทำคนอื่นจึงเป็นเรื่องยากล่ะ

ไม่รู้เหมือนกัน สำหรับคนอื่นมันอาจง่ายกว่าก็ได้ แต่สำหรับผมมันยากกว่าในแง่ที่ว่า มันไม่ใช่สิ่งที่เราทำทุกวัน ไม่ใช่สิ่งที่เราโดน ไม่ใช่สิ่งที่เราคุ้นชิน มันค่อนข้างไกลจากชีวิตเรา

ตอนที่ถ่ายมันมีโมเมนต์หนึ่งที่ผมคลำไปเจอ มันก็เป็นความน่ากลัวว่าการเป็นคนคุมอำนาจ มันน่ากลัวมาก ผมไม่คิดว่ามันจะมีในร่างกายผมด้วย ไอ้การที่เรารู้สึกอยากให้คนคนนี้ตายจริงๆ มันมีอยู่จริงว่ะ ซึ่งผมเกิดมาจนตอนนี้ก็เพิ่งรู้ว่ามันมีสิ่งนี้ในร่างกายผมด้วย ประหลาดดี

พอมันไม่ถ่ายเรียงตามลำดับเวลาในเรื่อง มันทำให้เราทำงานยากขึ้นไหม

ฉากแรกที่เราถ่ายทำในเรื่องนี้คือช็อตรับน้องตอนตัวละครเคกลายเป็นน้องใหม่ ที่มีการผูกสายสิญจน์กัน ซึ่งในบทก็เขียนว่าตัวละครมันเคยเจออะไรมาก่อน เราอ่านบทเราเข้าใจว่าสิ่งที่ตัวละครนี้มันเจอมาก่อนหน้านี้คืออะไร มันเคยเป็นใคร

ตอนที่ถ่ายทำฉากเป็นหมาผมไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าการเอาชีวิตรอดนะ คิดแค่ว่ากูจะเอาชีวิตรอดจากสิ่งนี้ยังไง แล้วจริงๆ มันเต็มไปด้วยการอิมโพรไวซ์เยอะมากๆ การด้นสดของทั้งกองถ่าย เพราะว่าเรามีเวลาสามคิวซึ่งฝนตกทั้งสามคิวเลย เวลาในการทำงานมันจึงเหลือน้อยมาก ทุกอย่างเลยต้องถูกรวบ ถูกอิมโพรไวซ์โดยทุกภาคส่วน ต้องทำงานกับทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดทุกอย่าง นักแสดงสมทบทุกคนเขาก็มืออาชีพกันมากๆ

แต่พอเป็นหมาแล้ว ตอนที่แนนโน๊ะโยนกระดูกมาให้ ผมก็วิ่งออกไปเลย เทคแรกผมเล่นด้วยการกระโจนออกไปอย่างรวดเร็วเลย แต่พี่เอส ผู้กำกับเขาบอกว่าขออีกแบบหนึ่ง คือให้ตัวละครมันค่อยๆ คิด ค่อยๆ ไปดีกว่า มันเลยมีการปั้นขึ้นมาเหมือนกัน

ในมุมกลับ ตอนที่เป็นพี่เค คุณจินตนาการอะไร

ในพาร์ตที่ตัวละครต้องใช้อำนาจ ผมมีตัวช่วยนิดหนึ่งคือฟังเพลง (หัวเราะ) Immigrant Song ของวง Led Zeppelin ไถๆ ไปเรื่อยแล้วมันขึ้นมาเจอพอดีเลยนั่งฟัง แล้วมันก็เข้ากันดีนะ

ผมไม่ได้รู้จักคนที่มีความเป็น ‘พี่เค’ ในชีวิตจริง ตัวละครเคมันคือคนที่ไม่ได้เชื่อในระบบนี้ขนาดนั้น แต่มันทำเพราะมันไม่มีทางเลือก

ภาพจาก IG: aelmsleep

ที่เล่าว่าบรรยากาศตอนเดือนตุลาคมปีที่แล้วมันส่งผลกระทบ อยากรู้ว่ามันกระทบในแง่ไหน ยังไงบ้าง

เราทุกคนล้วนได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ต่อให้คนบอกว่าอยู่เฉยๆ ก็ไม่โดนผลกระทบ แต่เราไม่ได้อยู่ของเราเฉยๆ หรอกมันไม่มีคำนั้น

เอาจริงๆ ผมไม่มีความสุขตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ก่อนหน้าการลงประชามติอีก ผมมีความสุขครั้งสุดท้ายก็น่าจะ… (คิดนาน)

2014 ไหม ที่เกิดรัฐประหาร

ไกลกว่านั้น (เน้นเสียง)

ถามว่ามันส่งผลต่อผมยังไง (คิดนานมาก) มันยากเหลือเกิน แล้วทุกวันนี้มันก็ยิ่งยาก ผมจะพูดแบบนี้ว่า มันไม่สำคัญว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่เราทำได้ดีที่สุดในช่วงเวลาของเราหรือยัง อันนี้ผมคิดแบบนี้มากกว่า มันไม่สำคัญแล้วว่าเราจะได้ชื่นชม ‘มัน’ หรือเปล่า แต่หน้าที่ของเราคือเราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดในช่วงเวลาของตัวเอง

นคร-สวรรค์ กำกับโดย พวงสร้อย อักษรสว่าง

ขณะที่การแสดงใน ‘เด็กใหม่’ มันชวนคลั่งมาก กลับมาที่ ‘นคร-สวรรค์’ ที่ตัวละครมันใช้เวลาอยู่ด้วยกันในห้องเล็กๆ กับบทสนทนา ตีความตัวละครยังไง

ผมชอบวิธีการกำกับของพี่โรส (พวงสร้อย) มากๆ รู้สึกอบอุ่นเวลาทำงานกับเขา แล้วตอนนั้นมันเป็นงานแสดงแรกของผม ไม่เคยทำอะไรแบบนั้นเหมือนกัน แต่จำได้ว่าตัวเองอยู่ในห้องนั้นกับเอย (ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์ -นักแสดงนำหญิง) แล้วก็ค่อยๆ รีแอ็คกับอากาศในห้อง ค่อยๆ เล่นกับทุกอย่างในห้อง เล่นกับเอย เล่นกับถั่วลิสง เล่นกับทิชชู่ แก้ว มันก็ไปเรื่อยๆ ได้ของมัน แล้วแบ็คกราวน์ตัวละครที่พี่โรสเขาเขียนไว้ก็บอกชัดเจนว่ามันเกิดอะไรขึ้น คือตัวละครของเราดีใจที่เขากลับมา บ้านเขาไม่มีผู้ชายเราเลยบวชให้ บวชไม่กี่วันมันไม่ใช่เรื่องใหญ่ แล้วก็หวังว่าเราจะเป็นบ้านให้เขาได้มั้ง แต่เมื่อมันไม่ใช่ เราก็เสียใจที่เราไม่สามารถให้ความรักเขาได้ หรือไม่รู้เหมือนกันว่าที่เสียใจนั้นเพราะเขาไม่ยอมให้อะไรเข้าไปในใจเขาเลย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันก็อิมโพรไวซ์เยอะมาก หลายๆ อย่างที่ตัวละครพูดก็เป็นเรื่องราวของผมเองที่พี่โรสเขาหยิบไปเขียน เช่นการประสบอุบัติเหตุ ตอนนอน ICU ตอนไม่อยากตาย เป็นเรื่องที่พี่โรสหยิบจากเราไปเขียนต่อ มันเลยยิ่งทำให้เส้นแบ่งระหว่างสารคดีกับเรื่องแต่งมันบางลงเรื่อยๆ

หลายๆ อย่างในเรื่อง ‘นคร-สวรรค์’ ก็เป็น material ที่ผสมกันระหว่างความจริงกับเรื่องแต่ง เช่น รูปที่ผมถ่ายเอยตอนลอยอังคาร ก็เป็นรูปที่ผมถ่ายจริงๆ หรือฉากที่ต้องออกจากห้องไป มันก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าต้องทำแบบนั้น แต่ตอนนั้นพี่โรสเขากำกับแล้วบอกว่าให้ทำอะไรก็ได้ ลองเล่นดู ในบทเขียนแค่ปาถั่วเฉยๆ แต่พอแสดงจริงผมก็หยิบของปาออกไปแทน แล้วเอยก็ร้องไห้

มันมีการพัฒนาขึ้นมาระหว่างทางตลอดเวลา สนุกมากเลย

ดูสนุกกับการได้สำรวจตัวเองผ่านการแสดงนะ

ผมว่าทุกงาน ทุกกระบวนการในการสร้างงานศิลปะมันคือการสำรวจตัวเอง มันคือความกล้าหาญว่าเราจะเข้าใจตัวเองได้มากแค่ไหน และผมว่า การแสดงมันยังซ่อนสิ่งเหล่านี้ได้มากกว่างานศิลปะแขนงอื่นๆ อีก ถ้าเป็นคนทำงานเขียน เป็นผู้กำกับ มันต้องเปลือยตัวเอง สำหรับงานแสดงในบางสื่อ บางงานเราเป็นภาชนะในการเล่าเรื่อง แต่ถ้าเป็นผู้กำกับหรือเป็นศิลปินแขนงอื่นที่งานพูดออกมาจากตัวตนคนทำ มันจะต้องเปลือย จะต้องกล้าหาญในการสำรวจตัวเองมากๆ

คุณเล่นหนังสั้นนักศึกษาเยอะมาก เห็นทิศทางหรือสารที่คนทำหนังรุ่นใหม่พยายามสื่อบ้างไหม

(คิดนาน) ผมว่าค่อนข้างชัดเจนมากๆ เลย ไม่ใช่แค่หนังสั้นด้วย แต่เป็นทุกงานที่ออกมาจากทุกศิลปินซึ่งไม่ใช่แค่นักศึกษาด้วย มันอยู่ในโซนนั้นหมด เพราะมันคือสิ่งที่กำลังทรมานพวกเราอยู่แล้ว มันชัดเจนมากๆ ผมเลยค่อนข้างอุ่นใจว่ามันคงมีประเด็นเหล่านี้ขึ้นมามากขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ก็อยากฝากไปถึงนักศึกษาที่สนใจประเด็นว่า ไม่ต้องกดดัน เราไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องเดียวกับทุกคนก็ได้ เราพูดเรื่องที่เราเชื่อแหละ เพราะผมว่ามันต้องมีคนที่กดดันแน่ๆ ว่ากูต้องพูดเรื่องการเมืองตลอดเวลา ซึ่งมันไม่จำเป็น คุณแค่ทำสิ่งที่คุณเชื่อ ธีสิสคือการทำสิ่งที่เราอยากเห็น ไม่รู้เหมือนกันนะ คือผมก็ไม่ใช่อาจารย์และถ้าเป็นอาจารย์ก็ต้องเป็นอาจารย์ที่เ-ี้ยคนหนึ่ง (หัวเราะ) เลยอยากบอกน้องๆ ว่าทำสิ่งที่ตัวเองอยากเห็นที่สุด เชื่อที่สุด แล้วเดี๋ยวงานมันจะเชพเราเองว่า สิ่งที่กูทำไปมันถูกหรือผิด เรียนรู้จากมัน คือต่อให้มันเป็นตัวเลือกที่ผิด ยังไงมันก็ถูกอยู่ดีเพราะเราจะได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น เวลาไปออกกองกับน้องๆ มันก็มีความทุลักทุเล ไม่ลื่นไหลเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ผมได้อะไรหลายอย่างมากๆ จากการออกกองกับนิสิตนักศึกษา ซึ่งก็จะรับเล่นไปเรื่อยๆ ทุกปีเพราะชอบ

ทำไปเถอะครับ ทำสิ่งที่เชื่อและสิ่งที่อยากเห็นไป

เวลานี้เพดานการพูด ความแหลมคมต่างๆ ในสังคมไทยมันไปไกลมากขึ้น คิดว่าสิ่งนี้มันส่งผลต่อคนทำหนังไหม ในเชิงว่าอาจถูกเรียกร้องให้ขยับเพดานการเล่าเรื่องของตัวเองมากขึ้น

(คิดนาน) ผมคิดเหมือนกันว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่มันช่วยให้โลกนี้มันดีขึ้นยังไงบ้าง คิดมาเรื่อยๆ เลยว่าสิ่งที่กูทำอยู่มันช่วยให้สภาพแวดล้อมหรือสังคมที่อยู่มันดีขึ้นอย่างไร มันให้อะไรคนอื่นบ้าง ก็ถามตัวเองทุกวันเหมือนกัน

ผมว่านั่นคือหน้าที่ของศิลปะ คือหน้าที่ของงานงานหนึ่งที่มันสั่นคลอนความคิดคน และสร้างความเปลี่ยนแปลง ผมรู้สึกว่าถึงอย่างไรก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น

เท่าที่ดูในไอจี คุณดูเป็นคนดูหนังเยอะมาก (เขาโพสต์ถึงหนัง Three Colors: Blue ของ คริสซ์ตอฟ เคียสลอฟสกี และ The Piano Teacher ของ มิคาเอล ฮานาเกอ) มีหนังที่อยากแนะนำหรือที่รู้สึกว่ามัน represent ตัวตนคุณไหม

ยากมากเลย (เขาคิดนานมาก มากจนเราชวนเขาคุยเรื่องคนทำหนังยุโรปต่างๆ)

อันที่จริงผมไม่ได้ดูหนังยุโรปเยอะขนาดนั้น ผมดูไปเรื่อยมากกว่า อย่างฮานาเกอนี่ก็ไม่ได้ชอบทุกเรื่องของเขานะ แต่แค่รู้สึกว่าเวลาเราดูหนังจากประเทศโซนนั้นแล้วมันมีความเป็นวรรณกรรมค่อนข้างเยอะ แต่เวลาดูก็จะเหนื่อยหน่อย ไม่ใช่หนังที่เราจะเลือกดูในวันที่พลังงานเราเหลือน้อย บางทีผมก็ดู SpongeBob (หัวเราะ)

แต่ผมชอบการแสดงในหนังรสชาตินั้นมากๆ เราอยากจะอยู่ในหนังแบบนั้น อยากลองเล่นด้วยวิธีเหล่านั้น ภาษาทางภาพยนตร์บางทีมันกำหนดวิธีการแสดงด้วย หรือขนาดของเลนส์ หรือเรื่องภูมิภาคต่างๆ ที่หนังเหล่านั้นไปถ่ายทำมันก็กำหนดวิธีการแสดง ผมอยากเล่นอะไรแบบนี้

ผมชอบประสบการณ์ที่ได้ดูเรื่อง ‘สาวสะเมิน’ (2020, เป็นเอก รัตนเรือง) คือผมไม่ชอบดูงานตัวเองขนาดนั้น แต่พอดูเรื่องสาวสะเมินที่เป็นหนังใบ้ เลยรู้สึกว่ามันก็น่าสนใจดีถ้าจะได้เล่นอะไรแบบนั้นต่อ

(ถัดจากนั้นอีกราวสิบนาที เขาโทรศัพท์กลับมาหาเราพร้อมบอกว่า นึกชื่อหนังที่อยากบอกออกแล้ว)

ผมเอ็นจอยกับหนังทุกแบบ แต่ถ้าเรื่องการแสดงชอบ Persona (1966, อิงมาร์ เบิร์กแมน) มากๆ ตอนที่ดูแม่ง What the Fuck? มากๆ ผมอยากอยู่ในหนังที่ได้สำรวจตัวเองในแง่งานแสดง ส่วนอีกเรื่องคือ The Lighthouse (2019, โรเบิร์ต เอ็กเกอร์ส) เพราะรู้สึกว่าหนังทั้งสองเรื่องมันใช้วิธีการต่างกันมาก มีภาษาหนังคนละแบบ ซึ่งภาษาหนังมันจะเรียกร้องการแสดงที่ต่างกันมากเช่นกัน แล้วเป็นสองรูปแบบที่ผมรู้สึกว่ามันน่าสนุกทั้งคู่

แต่ก็ยังเอ็นจอยกับบทคนสูบบุหรี่ร้องไห้ เอ็นจอยกับการเป็นหมา ถูกล่ามต้องวิ่งไปเก็บกระดูกอยู่นะครับ


ชม Girl from Nowhere (เด็กใหม่) ได้ที่ Netflix



( ดูชื่อหนังแห่งปี 2020 ของภูมิภัทรได้ที่ FILM CLUB YEAR LIST 2020 (PART 8) + อ่านเรื่อง ‘สาวสะเมิน’ ได้ที่ FILM CLUB YEAR LIST 2020 (PART 2) )

LATEST