Collective นายทุน รัฐ และนักข่าว เรื่องของความกล้าหาญทางศีลธรรม

(2019, Alexander Nanau)

ตุลาคม 2015 เกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้นในกรุงบูคาเรสต์, โรมาเนีย เมื่อไฟไหม้ขึ้นที่ผับคอลเล็กทีฟ -ซึ่งไม่มีทางหนีไฟหรือแม้แต่อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัยพื้นฐาน- จนมีผู้เสียชีวิต 27 รายและบาดเจ็บอีก 180 ราย เกือบทั้งหมดนี้เข้ารับการรักษาของโรงพยาบาลในบูคาเรสต์ที่รับปากประชาชนเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าพวกเขามีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยเทียบเท่าโรงพยาบาลชั้นนำในเยอรมนี เพื่อจะพบว่าหลังจากนั้นไม่กี่เดือน ผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเหล่านี้เสียชีวิตอย่างทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นอีก 37 ราย จนเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักข่าว กาตาลิน โตลอนตัน ปักหลักตามสืบประเด็นนี้แบบกัดไม่ปล่อย กลายเป็นการชำแหละความฟอนเฟะของระบบสาธารณสุขของโรมาเนีย และรุนแรงถึงขั้นต้องเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในเวลาต่อมา

Collective (2019) เป็นหนังสารคดีเรื่องยาวลำดับที่สี่ของ อเล็กซานเดอร์ นาเนา คนทำหนังที่เป็นชาวบูคาเรสต์โดยกำเนิด ก่อนหน้านี้เขาแจ้งเกิดจากหนังสารคดีที่สำรวจพื้นที่และความเป็นไปโดยรอบของบูคาเรสต์ ทั้ง Bucharest The World According to Ion B. (2009) ที่เล่าถึงศิลปินในบูคาเรสต์และ Toto and His Sisters (2014) สำรวจสลัมบูคาเรสต์ผ่านความสัมพันธ์ของสามพี่น้อง ดังนั้นสำหรับนาเนาแล้ว เหตุการณ์ไฟไหม้ผับคอลเล็กทีฟตลอดจนการเคลื่อนไหวประท้วงของประชาชนเพื่อเรียกร้องความโปร่งใสของภาครัฐจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจละสายตาได้เลย และก็เป็นลงถนนนี้เองที่ดึงความสนใจของนาเนาถัดจากเรื่องไฟไหม้ จนเขาตัดสินใจเริ่มสำรวจเหตุการณ์นี้ ผ่านการจับจ้องไปยังโตลอนตัน นักข่าวสายกีฬาที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำข่าวเชิงสืบสวนจนครั้งหนึ่งเคยทำข่าวแฉการทุจริตในแวดวงกีฬาของโรมาเนียจนนำมาสู่การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬาสองรายซ้อน ทั้งสองคนลงเอยที่การติดคุกนานนับปี (นาเนาเสริมว่า “และส่วนหนึ่งคือ พวกคนในระบบสาธารณสุขไม่ค่อยสนใจพวกเขาด้วย แต่โตลอนตันกับทีมงานบอกว่าเป็นนักข่าวกีฬา พวกนั้นก็จะรู้สึกว่า ‘เอาเหอะ คงไม่มาถามอะไรมากหรอก เพราะยังไงก็มาจากสายกีฬา’ เลยอาจไม่ค่อยระวังตัวมาก และนี่แหละที่เป็นข้อได้เปรียบอย่างมากเลย”) 

แรกเริ่ม โตลอนตันเพียงตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้เพียง 10-15 เปอร์เซ็นต์จึงเสียชีวิตในโรงพยาบาลด้วยการติดเชื้อแบคทีเรียที่ร้ายแรงที่สุดในยุโรป ก่อนที่เขาและทีมงานจะพบว่าต้นธารของมันอยู่ที่น้ำยาฆ่าเชื้อที่ถูกเจือจางจนไม่ได้มาตรฐานในโรงพยาบาล (“หมายความว่า เมื่อพวกเขาเอามีดผ่าตัดไปล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่เจือจางจนฆ่าเชื้อโรคไม่ได้พวกนี้ ก็หมายความว่ามันยังมีเชื้อโรคอยู่บนมีดเล่มนั้นยังไงล่ะ”) โตลอนตันจึงขุดหาไปจนถึงบริษัทขายน้ำยาฆ่าเชื้อให้โรงพยาบาลหลายๆ แห่งในบูคาเรสต์ จนโยงไปสู่ข้อเท็จจริงอันชวนตระหนกว่า เป็นไปได้มากทีเดียวที่โรงพยาบาล รัฐมนตรี และบริษัทน้ำยาฆ่าเชื้อจะร่วมมือกันเจือจางน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อจัดจำหน่ายให้ได้ราคาดีที่สุด โดยมีต้นทุนต่ำที่สุด แลกกันกับชีวิตของประชาชนซึ่งแขวนอยู่บนเชื้อโรคและแบคทีเรียชนิดนั้น

การเปิดฉากตีแผ่การคอร์รัปชั่นของโตลอนตันนั้น ด้านหนึ่งทำให้เขาถูกตั้งแง่จากโรงพยาบาลหรือฝั่งสาธารณสุขที่มีเอี่ยวกับบริษัทน้ำยาฆ่าเชื้อแห่งนั้น แต่อีกด้าน การตีพิมพ์ข่าวครั้งนั้นก็เปิดทางให้บุคลากรในแวดวงการแพทย์ทยอยออกมาให้ข้อมูลต้องห้ามมากมาย ทั้งแพทย์สาวที่สิ้นหวังกับระบบสาธารณสุข และนักบัญชีที่ช่วยกันปลอมแปลงตัวเลขให้โรงพยาบาล ข้อมูลเหล่านี้จึงทะลักออกสู่สายตาประชาชนจนเป็นเหตุให้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาแถลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ นำมาสู่ฉากการตั้งคำถามอันเผ็ดร้อนของกลุ่มนักข่าวและโตลอนตันที่ไปสัมภาษณ์ด้วยตัวเองอย่างไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว ด้วยท่าทีปราศจากการประนีประนอมหรืออ่อนข้อใดๆ ให้กลุ่มผู้มีอำนาจ จนต้องเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคนที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนคือ วลาด วอยกูเลสกู ชายหนุ่มที่พูดได้เต็มปากว่ารับเผือกร้อนมานอนกอดเต็มๆ เมื่อต้องจัดการกับความโกลาหลที่เดิมพันกับชีวิตของผู้คน กล้องจับไปยังสีหน้าตระหนกสุดขีดเมื่อเขาพบเจอกับความ ‘เน่าหนอน’ ที่ซุกซ่อนอยู่ในโรงพยาบาลตลอดมา และเผยให้เห็นความเปราะบางทางอารมณ์บางอย่างซึ่งส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นมวลอารมณ์ที่ดิบมากๆ ความจริงที่ปรากฏตรงหน้าทำให้วอยกูเลสกูต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ว่าจะปิดโรงพยาบาลหรือไม่ ซึ่งหากปิด นั่นแปลว่าเขาอาจต้องปะทะกับกลุ่มทุนและเจ้าของโรงพยาบาลรายใหญ่และอาจกลายเป็นขั้วตรงข้ามของเขาในภายภาคหน้าได้

อันที่จริง องค์ประกอบของมันอาจไม่มีอะไรใหม่นัก หัวใจหลักของมันคือการสำรวจองค์ประกอบการเอื้อผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับนายทุน ที่คนเดือดร้อนคือประชาชนตาดำๆ ที่ต้องเดินทางเข้าออกโรงพยาบาล และเงื่อนไขสำคัญที่แปรเปลี่ยนให้เหตุการณ์นี้พลิกกลับจากความสิ้นหวังดำมืดคือการกัดฟันสู้ยิบตาของเหล่านักข่าวที่ไม่ใช่แค่โตลอนตัน แต่ยังหมายรวมถึงนักข่าวอื่นๆ ที่จับจ้องไปยังเหล่าผู้มีอำนาจด้วยสายตาไต่ถามเสมอ Collective จึงสร้างบรรยากาศเข้มข้นจนราวกับนั่งดูหนังสืบสวนชั้นดี คนดูตั้งต้นเท่ากันกับโตลอนตันที่สงสัยสาเหตุการตายจนนำไปสู่การขุดค้นการทุจริตครั้งใหญ่ ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากการเรียบเรียงเส้นเรื่องอันแยบยลของนาเนาและ อันโตอานาตา โอปริส ที่ค่อยๆ ไต่ระดับความเข้มข้นนับจากประเด็นการเจือจางน้ำยาฆ่าเชื้อ โยงไปสู่ความล้มเหลวของระบบสาธารณสุขในโรมาเนีย ตลอดจนภาพใหญ่อย่างเรื่องราวของประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่านที่สืบเนื่องจากการลงถนนของผู้คนในตอนต้นเรื่อง กับผลการเลือกตั้งปี 2016 ที่มีคนรุ่นใหม่ไปลงคะแนนเสียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ลงเอยด้วยพรรคสังคมประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคอำนาจเก่าเป็นผู้ชนะ กับสายตาเจ็บปวดของวอยกูเลสกูในฐานะนักการเมืองหน้าใหม่ที่เพิ่งลงเล่นในเกมนี้

การที่นักข่าวตั้งคำถามเล็กๆ อย่าง ‘ทำไมผู้ป่วยจึงไปเสียชีวิตในโรงพยาบาลเยอะขนาดนั้น’ จนนำไปสู่การกระชากความเน่าเฟะของระบบสาธารณสุขของโรมาเนีย ก็ทำให้ Collective เป็นหนังที่ชำแหละโครงสร้างทางสังคมที่บิดเบี้ยวได้หมดจดผ่านการสืบสวนที่แตกขยายมาจากคำถามนั้น หลายคนก็เอ่ยปากชมความกล้าหาญและแหลมคมของนักข่าวอย่างโตลอนตันที่สืบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจังจนโดนคุกคามไม่น้อย

ใช่ว่าประเทศไทยไม่มีนักข่าวสืบสวน หากเราย้อนกลับไปยังสิบปีก่อนสมัยที่เกิดเหตุการณ์เครื่องบินตกในอำเภอแก่งกระจาน ที่นำไปสู่การเปิดโปงคดีเผาไล่ที่กะเหรี่ยงในหมู่บ้านจนเป็นกระแสสังคมครั้งใหญ่หลังจากนั้น เรื่องราวก็เริ่มขึ้นจากนักข่าวที่สงสัยว่าทำไมเครื่องบินจึงไปตกในละแวกนั้น ก่อนจะค่อยๆ พบกับข้อเท็จจริงที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้การเดินทางขนส่งผู้คนบนเฮลิคอปเตอร์ลำนั้น จุดกระแสเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้ชุมชนกะเหรี่ยงแก่งกระจาน (ซึ่งน่าเศร้าเหลือเกินที่ในอีกสิบปีต่อมา พวกเขายังต้องต่อสู้เรื่องนี้อยู่ในชื่อของ กะเหรี่ยงบางกลอย)

กับประเด็นสาธารณสุขและการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างนายทุนกับรัฐ หากจะเทียบเคียงอย่างหยาบๆ เราคงพอจะพูดได้ว่าไม่ห่างกันจากสถานการณ์ในไทยสักกี่มากน้อย หากวัดกันในช่วงหลังไวรัสโควิด-19 ระบาด เราคงเห็นความเน่าเฟะที่ฟ้องชัดโดยไม่ต้องให้นักข่าวลงแรงสืบตั้งแต่หน้ากากอนามัยหลายตันที่หายไปอย่างลึกลับ มาจนถึงการจับจองวัคซีนล่าช้า และเราก็อยากจะเชื่อเหลือเกินว่านักข่าวได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพแล้วหากไม่ต้องทนเห็นภาพที่ผู้สื่อข่าวนั่งเงียบเชียบเมื่อโดนโยนเปลือกกล้วยหรือฉีดแอลกอฮอลใส่ หรือจำต้องอ่านแถลงการณ์จากองค์กรวิชาชีพสื่อฯ ที่ปฏิเสธจะตั้งคำถามต่อการใช้ความรุนแรงจากรัฐต่อผู้สื่อข่าวภาคสนาม ดังนั้น หากมองอย่างเห็นใจนักข่าวตาดำๆ ที่แค่นั่งไขว่ห้างก็อาจถูกระงับไม่ให้ไปทำข่าวที่ทำเนียบฯ เราก็อาจต้องย้อนไปตั้งคำถามว่าแล้วองค์กรวิชาชีพสื่อฯ นั้นช่วยหนุนหลังหรือสนับสนุนความกล้าหาญทางวิชาชีพให้คนเหล่านี้มากน้อยแค่ไหนกัน

เราล้วนอยากมีนักข่าวอย่างโตลอนตันที่กระชากความเลวทรามและความเน่าเฟะของภาครัฐและทุนกันทั้งนั้น และเราก็ยังเชื่อว่ามีนักข่าวเช่นนี้อยู่อีกจำนวนมาก หากแต่พวกเขาล้วนถูกเด็ดปีกหรือกีดกันจนไม่ได้เอ่ยปากตั้งคำถามอย่างที่ใจอยาก แม้ว่าจะถูกหยามหมิ่นมากเท่าใดก็ตาม

LATEST REVIEWS