Blog Page 15

การบ้าน 3 ข้อ ก่อนดู La Révolution

La Revolution คือซีรีส์ Netflix ที่เปิดหน้าด้วยการปฏิวัติฝรั่งเศส และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการปฏิวัติฝรั่งเศสถูกนำมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในฐานะโมเดลแห่งชัยชนะของประชาชนกับระบบชนชั้น

แต่ก่อนที่ซีรีส์เรื่องนี้จะกลายเป็นกรณีศึกษาเพื่อทบทวนการปฏิวัติฝรั่งเศส เรามาทำการบ้านเพื่ออุ่นเครื่องกันสักนิด

1. เรื่องเกิดขึ้นก่อนปฏิวัติฝรั่งเศส

การปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้นในช่วงปี 1789-1799 หากจะเล่าโดยคร่าวคือก่อนหน้านั้น ฝรั่งเศสปกครองโดยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนช่วง 2-3 ปีก่อนการปฏิวัตินั้น ฝรั่งเศสในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ประสบภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ จนประชาชนต้องอยู่อย่างแร้นแค้น ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จัดประชุมสภาฐานันดรขึ้น โดยในตอนนั้นแบ่งเป็น 3 ฐานันดรคือ 1) นักบวช 2) ขุนนาง และ 3) สามัญชน แต่ด้วยระบบโหวตที่นับ 1 ฐานันดรเท่ากับ 1 คะแนนเสียง ทำให้ไม่ว่าอย่างไรสามัญชนก็ไม่สามารถชนะโหวตได้ เพราะเป็นคนกลุ่มเดียวในสภาที่ต้องแบกภาระการเสียภาษี…สภาฐานันดรนั้นเองที่ทำให้สามัญชนต้องการที่จะร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และเป็นปมความขัดแย้งทางชนชั้นที่สำคัญจนมีการเคลื่อนไหวไปสู่การทำลายคุกบัสตีย์เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 1789 เพื่อชิงอาวุธมาทำการปฏิวัติ โค่นล้มระบอบกษัติย์และขุนนางในเวลาอีก 10 ปีต่อมา

La Revolution เล่าเรื่องในปี 1787 หรือ 2 ปีก่อนเกิดปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และยิ่งแสดงภาพความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นอย่างชัดเจน โดยซีรีส์เล่าผ่านมุมมองของ โฌแซ็ฟ อีญัส กีโยแต็ง ที่พบว่ากำลังเกิดโรคระบาดประหลาดซึ่งทำให้เลือดมนุษย์กลายเป็นสีน้ำเงิน ชนชั้นนำจึงออกคำสั่งให้กวาดล้างสามัญชนให้สิ้นเพื่อยับยั้งการระบาดนี้โดยเร็ว


อ่านเรื่องราวก่อนเกิดปฏิวัติฝรั่งเศสเพิ่มเติมได้ที่
https://www.matichonweekly.com/column/article_31784
https://thepeople.co/bastille-day-french-revolotion-1789/


2. กีโยแต็งคือใคร?

โฌแซ็ฟ อีญัส กีโยแต็ง เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง (ในซีรีส์รับบทโดย อามีร์ เอล กาเซ็ม) เขาเป็นแพทย์ผู้แนะนำวิธีการประหารนักโทษด้วยการบั่นคอ จากสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นโดย อองตวน หลุยส์ ด้วยเหตุผลว่าเครื่องประหารชนิดนี้จะทำให้นักโทษเจ็บปวดน้อยที่สุด กลไกคือใบมีดรูปสี่เหลี่ยมคางหมูน้ำหนักราว 40 ก.ก. จะถูกแขวนไว้บนสุดของโครงไม้ เมื่อปล่อยเชือกใบมีดจะหล่นลงมาบั่นศีรษะของนักโทษที่พาดอยู่ด้านล่าง เครื่องประหารชนิดนี้สังหารนักโทษไปราว 20,000 คน และในจำนวนนั้นก็คือ พระเจ้าหลุยส์ที 16 และ พระนางมารี อองตัวเน็ต ในปี 1793 โดยเครื่องประหารชนิดนี้ถูกขนานามว่า “กีโยติน” ตามชื่อของกีโยแต็งนั่นเอง


3. โปรเจกต์สานสัมพันธ์ Netflix – ฝรั่งเศส

“เป็นเกียรติยิ่งที่เราได้มาอยู่ฝรั่งเศส ประเทศที่รุ่มรวยทางวัฒนธรรมและเรื่องเล่า สำนักงานใหม่แห่งนี้คือสัญญาณแห่งความมุ่งมั่นระยะยาวกับฝรั่งเศส ทั้งยังเปิดโอกาสให้เราได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักสรรค์สร้างชาวฝรั่งเศส เพื่อผลิตงานที่มีคุณภาพร่วมกัน ให้คนทั้งโลกได้ดู” นี่คือแถลงการณ์ของ รีด แฮสติ้ง ประธานบริหารของ Netflix เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 63 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเปิดสำนักงานใหม่ในปารีส

ที่ผ่านมา Netflix ได้พัฒนาโปรเจกต์ร่วมกับนักทำหนัง-ซีรีส์ชาวฝรั่งเศส จนมีผลานยอดนิยมอย่าง Marianne และ Family Business มาแล้ว ทำให้ Netflix ยิ่งมั่นใจว่าปารีสจะเป็นฐานที่มั่นสำคัญในการเชื่อมต่อกับคนทำหนังจำนวนมากไปสู่สมาชิกกว่า 150 ล้านคนทั่วโลกได้อย่างเป็นสากล ซึ่ง La Revolution คือหนึ่งในโปรเจกต์ตั้งต้น และเป็นงานเดบิวต์สู่สายตาชาวโลกของ โอเรแล็ง โมลัส ครีเอเตอร์ผู้มีผลงานเป็นซีรีส์ยอดนิยมในฝรั่งเศส เรื่อง Crime Time และ Red Creek

โมลัสเขียนบทร่วมกับ กาอิอา กูอัสตี โดยพวกเขาได้กล่าวถึงที่มาของการชำระประวัติศาสตร์ปฏิวัติใหม่ไว้ว่า “เราได้แรงบันดาลใจมาจากคำพูดของนโปเลียนที่ว่า ‘ประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของการโกหกที่เรายอมรับ’ ทำให้เราเกิดความคิดที่จะทบทวนประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าวอีกสักครั้ง”



ข้อมูลประกอบ
https://tellyvisions.org/2020/09/14/netflix-period-drama-la-revolution-will-offer-reimagined-history-france
https://about.netflix.com/en/news/netflix-opens-new-paris-office-and-increases-investment-in-france
https://fr.wikipedia.org/wiki/Aurélien_Molas
https://board.postjung.com/959465
https://www.bfmtv.com/people/series/la-revolution-une-bande-annonce-et-une-date-de-sortie-pour-la-serie-de-netflix_AN-202009140210.html

โรงหนังยุโรปกระอัก! ดิสนีย์เมินโรง ส่ง Soul ลงออนไลน์

เมื่อสัปดาห์ก่อนเราเพิ่งรายงานว่า โรงหนังเครือยักษ์ใหญ่ของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาถึงขั้นต้องประกาศหยุดกิจการ หลังรู้ข่าวว่าหนังที่โรงฝากความหวังไว้มากที่สุดยามนี้อย่าง No Time to Die (หนังบอนด์ตอนล่าสุด) เลื่อนฉายไปปีหน้า (อ่านได้ที่นี่) …และวันนี้ก็มีข่าวล่าสุดที่สร้างความช็อกซีเนม่าไปทั่วยุโรปมาอีกแล้ว นั่นคือ ดิสนีย์ประกาศจะไม่นำ Soul (แอนิเมชั่นเรื่องใหม่ของค่ายพิกซาร์) เข้าฉายโรง แต่จะพุ่งตรงไปเปิดตัวบนช่องทางสตรีมมิ่ง Disney+ ในวันคริสต์มาสแทน

ข่าวนี้สร้างความไม่พอใจอย่างที่สุดแก่บรรดาโรงหนังในยุโรป ระดับที่สหภาพโรงภาพยนตร์ The International Union of Cinemas (UNIC) ต้องออกแถลงการณ์ว่า “การตัดสินใจครั้งนี้ของฮอลลีวูดสร้างความช็อคและผิดหวังแก่ผู้ประกอบการโรงหนังอย่างยิ่ง”

“โรงหนังทั่วยุโรปและอันที่จริงแล้วรวมถึงโรงหนังในอีกหลายภูมิภาคทั่วโลกกลับมาเปิดให้บริการแล้ว เราลงทุนมหาศาลเพื่อจะมอบประสบการณ์ที่ปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ให้แก่คนดู พร้อมคำสัญญาว่าจะมีหนังใหม่ๆ มาฉาย แต่แล้วเราก็ต้องพบว่าผู้จัดจำหน่ายได้สร้างความผิดหวังแก่เราอีกครั้งหนึ่ง” คือข้อความส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ดังกล่าว

Soul เป็นแอนิเมชั่นค่ายพิกซาร์ที่ได้ เจมี ฟ็อกซ์ มาพากย์เสียงนำในบทนักดนตรีแจ๊ซที่วิญญาณแยกออกจากร่างกาย หนังเปิดตัวรอบปฐมทัศน์โลกไปเมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมาที่เทศกาลหนังลอนดอน และจะฉายในเทศกาลหนังโรมสัปดาห์นี้ จากนั้นจะเข้าสู่แพลตฟอร์ม Disney+ ในวันที่ 25 ธันวาคม โดยขณะนี้เข้าใจว่าดิสนีย์จะขายหนังในราคาปกติ ไม่บวกเพิ่มแบบที่เคยทำกับ Mulan

ในแถลงการณ์ของ UNIC ยังบอกด้วยว่า การตัดสินใจคราวนี้ของฮอลลีวูดจะสร้างความเสียหายแก่ตลาดหลักอย่างไม่อาจแก้ไข และกว่าจะถึงวันที่เหล่าสตูดิโอยินดีนำหนังบล็อกบัสเตอร์กลับมาเข้าโรงอีกครั้ง “มันอาจเป็นวันที่สายเกินไปแล้วสำหรับโรงหนังก็ได้”

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 8 ต.ค. 63

ไม่น่าใช่สัญญาณที่ดีนัก กับการที่หนังเปิดตัววันแรก แล้วหนังที่ทำรายได้สูงสุดได้ไปแค่ 0.28 ล้านบาทเท่านั้น

รายได้หนังประจำวันที่ 8 ต.ค. 63

  1. เลิฟยู..โคกอีเกิ้ง – 0.28 ล้านบาท
  2. Greenland – 0.25 (16.29) ล้านบาท
  3. The Eight Hundred – 0.24 ล้านบาท
  4. Vanguard – 0.20 (4.84) ล้านบาท
  5. Tenet – 0.18 (57.64) ล้านบาท
  6. The War with Grandpa – 0.13 ล้านบาท
  7. The Secrets We Keep – 0.09 ล้านบาท
  8. Mulan – 0.04 (63.99) ล้านบาท
  9. Love You Forever – 0.03 ล้านบาท
  10. Deliver Us from Evil – 0.03 (0.90) ล้านบาท

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 1-7 ต.ค. 63

Greenland กับ Vanguard คับเคี่ยวกันมาตลอดทั้งสัปดาห์ สุดท้ายผลงานโลกแตกของ เจอราด บัตเลอร์ ก็เฉือนเอาชนะไปได้เพียงนิดเดียว ทำให้ Greenland เป็นหนังที่ทำรายได้เป็นอันดับหนึ่งสองสัปดาห์ติดกัน

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 1-7 ต.ค. 63

  1. Greenland – 4.96 (16.04) ล้านบาท
  2. Vanguard – 4.63 ล้านบาท
  3. Tenet – 1.36 (57.46) ล้านบาท
  4. Mulan – 1.21 (63.95) ล้านบาท
  5. Deliver Us from Evil – 0.88 ล้านบาท
  6. The Last Full Measure – 0.75 ล้านบาท
  7. Tesla – 0.42 (1.79) ล้านบาท
  8. Behind You – 0.28 (1.17) ล้านบาท
  9. Love at Second Sight – 0.20 (0.66) ล้านบาท
  10. Billie – 0.11 ล้านบาท

‘ลูกอีสาน’ ‘บ้านผีปอบ’ ในวันที่ไม่มีใครเป็นอื่นของ ธงชัย ประสงค์สันติ

ในความทรงจำของคนยุค 90 แบบผมนั้น นอกเหนือจากการเป็นหนึ่งในสมาชิก ‘สามโทน’ แล้ว ธงชัย ประสงค์สันติ ยังได้รับการจดจำในฐานะของนักแสดงตลกในหนังขายสายต่างจังหวัด โดยเฉพาะหนังชุด ‘บ้านผีปอบ’ ที่เขาวิ่งหนีผีอยู่หลายภาค

แต่ความจริงที่ไม่ได้ปรากฏทางหน้าจอ คือช่วงชีวิตเริ่มต้นในวงการบันเทิงของธงชัย เคยผ่านการฝึกงานในกองถ่ายหนังเรื่องท้ายๆ ของ วิจิตร คุณาวุฒิ อย่าง ‘ลูกอีสาน’ (1982) และยังเป็นหนังเรื่องแรกที่เขาได้ร่วมแสดงอีกด้วย ซึ่งที่แห่งนั้นก็ได้จุดประกายเล็กๆ  ให้เขาอยากทำหนังเป็นครั้งแรก

ปัจจุบันธงชัยคือผู้กำกับและผู้จัดละครชื่อดังแห่งค่าย พอดีคำ และด้วยความสำเร็จอย่างท่วมท้นของละคร ‘ผู้บ่าวอินดี้ ยาหยีอินเตอร์’ (2019, นันทรัตน์ นันทเอกพงศ์) เปิดโอกาสให้เขาได้ต่อยอด ทำภาคต่อในรูปแบบหนังเข้าโรงในชื่อ ‘เลิฟยู โคกอีเกิ้ง’ โดยที่เขาของลงมือกำกับเอง

และนี่คือหนังยาวเรื่องแรกในชีวิตของ ธงชัย ประสงค์สันติ หลังจากตามความฝันมายาวนานเกือบ 40 ปี


ความฝันของ ‘ลูกอีสาน’

ธงชัย ประสงค์สันติ

การรอคอยมานานร่วม 40 ปี เพิ่งสัมฤทธิ์ผลในปีที่โควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก ธงชัย ประสงค์สันติ ใเล่าความรู้สึกนั้นให้ฟังว่า

“ตื่นเต้นดี ที่บอกว่าตื่นเต้น ก็คือตื่นเต้นกับกระบวนการถ่ายหนัง จริงๆ ผมมาจากหนังนะ เรื่องแรกคือเรื่อง ‘ลูกอีสาน’ แต่เราก็ไม่ได้เข้าไปในกระบวนการทำงานมากขนาดนั้น ท่านกำกับ เราแค่เป็นนักแสดง ช่วยแปลบทพูด เป็นผู้ช่วยฝ่ายอาร์ต ช่วยกำกับตัวประกอบบ้าง เล็กๆ น้อยๆ แต่กับ ‘เลิฟยู โคกอีเกิ้ง’ มันเป็นอะไรที่ใหญ่สำหรับเรามาก

“พอเราได้ลงมือมันก็เป็นไปอย่างอัตโนมัติ เพราะเราได้ทีมกล้องหรือผู้ช่วยผู้กำกับจากสายหนังเข้ามาช่วย แต่ในความรู้สึกผม ไม่ว่าจะวิธีการอะไรก็แล้วแต่ อารมณ์ของหนังต้องยังอยู่ หนังที่เราอยากให้มันเป็นมันต้องอยู่กับเรา ต้องมาจากรสมือของเรา มาจากสัญชาตญาณของเรา”

ชีวิตในวงการบันเทิงของธงชัย เริ่มต้นตั้งแต่วัยรุ่นหลังจบ ม.ศ.3 (หรือเทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 3) ก่อนตัดสินใจเดินทางจากโคราช มาเรียนในโรงเรียนสอนการแสดงของช่อง 3 

“ย้อนไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เราเรียนการแสดงที่ช่อง 3 ก็มีครูใหญ่ คือ อ.สดใส (รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล) จากภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาสอนให้ มี อ.คณิต คุณาวุฒิ (ลูกชายของ วิจิตร คุณาวุฒิ) มาสอนการวิจารณ์หนัง ควบคู่ไปกับศิลปะทางภาพยนตร์ เราก็ไปดูหนัง แล้วก็เขียนวิจารณ์ในมุมมองของเราส่งไป แล้วก็เรื่องดนตรีก็ได้เรียนกับ อ.บรูซ แกสตัน เป็นช่วงที่เรามีความสุขมาก”

โดยผลงานการแสดงของธงชัยเรื่องแรกคือละครที่ชื่อ ‘โลกใบเล็ก’ (1983) ก่อนที่จะได้ไปร่วมแสดงและฝึกงานเบื้องหลังในกองถ่ายหนัง ‘ลูกอีสาน’

“เราถือว่าโชคดีมาก เราได้ภาคทฤษฏีจากโรงเรียนการแสดง แล้วมาได้ภาคปฏิบัติจากในกองหนังของ ครูวิจิตร คุณาวุฒิ คือมันสุดยอดมากๆ ความอยากทำหนังเรามันก็เริ่มจากตรงนั้น”


ตำนาน ‘บ้านผีปอบ’

ภาพจากหนัง ‘เลิฟยู โคกอีเกิ้ง’

แน่นอนว่าเราอดไม่ได้ที่จะถามถึงหนึ่งในงานแสดงที่โด่งดังที่สุดของธงชัยอย่าง ‘บ้านผีปอบ’ โดยเฉพาะบรรยากาศการทำงานของ “หนังสาย” ในยุคนั้น

“เราชอบความแม่นยำของคนสมัยก่อนนะ คือด้วยงบประมาณมันน้อย การจะมาถ่าย insert อะไรมากๆ ก็เป็นไปได้น้อยเพราะค่าฟิล์มมันแพง ม้วนนึงตก 7- 8 พันบาท ทุกอย่างก็บ้านๆ เปลี่ยนเลนส์น้อยหน่อย insert น้อยหน่อย (หัวเราะ) ภาพกว้างก็จะเยอะหน่อย แล้วก็มีมาพากย์ที่หลังให้มันได้ใจความ ตังก็จ่ายกันวันแรกเลย ปิดกล้องเสร็จก็มอบจ่ายกันตรงนั้นเลย มันกินอยู่ร่วมกัน มันเลยเป็นบรรยากาศที่สนุกมาก คือเราถ่ายกันอยู่ที่ จ.สุพรรณบุรี กันจนคุ้นมาก ตั้งแต่จังหวัดยังไม่มีห้าง ทีแรกชาวบ้านเขาก็ชอบมานั่งดูเราถ่ายกัน แต่หลังๆ เขาก็ไม่สนใจละ ไปทำนาหาปลากันดีกว่า

“คือเวลาถ่ายก็เอาหัวใจของเรื่องเป็นหลัก ดังนั้นคิวมันต้องแม่นมาก เอ้า! วันนี้เราจะถ่ายตลกกัน เราจะวิ่งหนีผีกันนะ ถ่ายกัน 5 วัน จบปั๊บ อีก 2 วันก็เป็นเส้นเรื่องของพระเอกนางเอกไป แล้วนักแสดงที่เล่นร่วมกันก็ต้องรู้ใจกันมากๆ การวิ่งหนี รับมุกส่งมุก คือลูกสดเยอะมาก ที่สำคัญสุดคือทุกคนทุ่มเทใจมาก และเราก็มองว่ามันคืองานที่ทุกคนมีส่วนร่วมกันทั้งหมด ไม่มีพระเอกนางเอกสำคัญกว่า หรือแม้แต่เราสำคัญกว่า ทุกอย่างมันไปพร้อมกันเป็นทีมหมด เหมือนเป็นทีมที่ซ้อมกันมานานมาก ทั้งที่ก็พึ่งมาเจอกันนะ แต่ทุกคนเคารพรักและให้เกียรติในการทำงานมาก ทุกคนก็เลยสนุกกับมัน”


เป็นคนแนวโรแมนติก-คอมิดี้

ภาพจากหนัง ‘เลิฟยู โคกอีเกิ้ง’

เมื่อเราลองถามเปรียบเทียบระหว่างตัวของธงชัย กับนักแสดงร่วมรุ่นที่มีผลงานกำกับหนังมาก่อนหน้าอย่าง หม่ำ จ๊กมก (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ก็ได้คำตอบว่า

“ของหม่ำเขาจะแข็งแรงมากในความเป็นคอมิดี้ คือได้รับความบันเทิงแน่นอน แต่สำหรับสิ่งที่ผมอยากแชร์ คือความเป็นโรแมนติก-คอมิดี้ ในอีกรสชาติหนึ่งให้กับผู้ชม ถ้าเป็นส้มตำ มันอาจจะเป็นรสชาติที่ไม่เผ็ดมาก แต่กินได้ทุกคน”

โดยแรงบันดาลใจที่ทำให้ธงชัยชื่นชอบในทางโรแมนติก-คอมิดี้ คือหนังของนักแสดงตลกระดับตำนานอย่าง ชาร์ลี แชปลิน

“ผมรู้สึกว่าในความตลกของเขา มันมีความดราม่าอยู่ด้วย มันมีเส้นชีวิตทุกฉากทุกตอนที่เขาแสดง มันเป็นความบันเทิงที่ทาบไปด้วยเงาของชีวิตจริงๆ แล้วมันยังมีมุมมองบางอย่างที่กล้าจะเล่นกับชีวิตของตัวละคร”


ไม่ใช่ภาคต่อ แค่ยืมชื่อตัวละครมาเล่าใหม่หมด

ภาพจากหนัง ‘เลิฟยู โคกอีเกิ้ง’

เรื่องราวความรักของหนุ่มอีสานที่เป็นตำรวจปลอมตัวมากับสาวไฮโซลูกครึ่ง ณ หมู่บ้านโคกอีเกิ้งในฉบับละคร ถูกรื้อสร้างใหม่ด้วยการยังยึดชื่อตัวละครเดิมไว้ แต่เปลี่ยนบทบาทใหม่หมด 

โดย ‘เลิฟยู โคกอีเกิ้ง’ เล่าเรื่องราวของบักพล (ศุกลวัฒน์ คณารศ) กับคนรัก แหม่ม (เซฟฟานี อาวะนิค) สาวลูกครึ่งที่กำลังจะถูกพ่อฝรั่งจับแต่งงาน ทั้งสองจึงพากันหนีไป ทว่าพวกเขาก็ต้องกลับมา เมื่อพ่อของแหม่มตาย และกลายเป็นผีสุดเฮี้ยนที่หลอกคนทั้งหมู่บ้านจนอลมาน

ธงชัยพูดถึงแนวคิดในการดัดแปลงละครเรื่องดังให้กลายเป็นหนังว่า “ผมพูดตรงๆ นะ โจทย์ของผมคือ ทำยังไงให้หนังได้เงิน เพื่อที่ถ้าเงินมันเหลือ ผมจะได้ไปทำหนังในแบบที่อยากทำบ้าง แต่ถ้าเรื่องแรกมันไม่เวิร์ค มันก็ไปต่อยากมาก ดังนั้นแปลว่า หนึ่ง-รักต้องมี เส้นรักต้องแข็งแรงมาก สอง-ความบันเทิงระดับชาวบ้าน เช่นคนรุ่นผมอายุ 50 กว่า ไม่ว่าผู้ชายผู้หญิง ต้องดูได้ สาม-คนไทยชอบดูหนังผี ก็ต้องมีผีด้วย แล้วสำหรับวัยรุ่น คนเมือง ก็ต้องมีมุมที่เขารับได้ ฟินไปกับหนังได้ด้วย ฟินไปกับเสน่ห์ของคู่พระนางคือ เวียร์ กับ เซฟ ซึ่งทั้งคู่น่ารักมาก แล้วมันยังมีเรื่องของประเพณี เรื่องครอบครัว ผสมอยู่ในหนังด้วย

“ผมใช้เวลาคิดร้อยเรียงความคิดเหล่านี้ทั้งหมดให้มันออก และไม่เกินไปกว่าความเป็น ‘ผู้บ่าวอินดี้ ยาหยีอินเตอร์’ มันเลยเป็นโจทย์ที่ยากหน่อย สุดท้ายแล้วหัวใจสำคัญที่สุด คือทำยังไงให้ผู้ชมฟินไปกับพระเอก-นางเอกของเรื่องมากกว่า ที่เหลือมันก็คือของแถมที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน ดึงดูดซึ่งกันและกัน”

“เมื่อก่อนคนอีสานเคยถูกล้อว่าเป็นคนบ้านนอก แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว อะไรที่มันเป็นวิถีชีวิตแท้ๆ มันมีค่ามากนะ”


หนังอีสานที่ดูได้ทุกคน

ภาพจากหนัง ‘เลิฟยู โคกอีเกิ้ง’

หากเทียบกับภาพจำในอดีตของอีสานอันแร้นแค้นในหนัง ‘ลูกอีสาน’ ภาพของอีสานในปัจจุบันนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงด้วยพลังของสื่อโซเซียลมีเดียต่างๆ เช่นเดียวกับทัศนคติต่อคนอีสาน ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกค่อนแคะดูถูกให้เป็นอื่น ก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

“เมื่อก่อนคนอีสานเคยถูกล้อว่าเป็นคนบ้านนอก แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว อะไรที่มันเป็นวิถีชีวิตแท้ๆ มันมีค่ามากนะ คนลืมความเป็นบ้านนอก ความเป็นเซราะกราวไปแล้ว ซึ่งผมต้องชมศิลปินอีสานนะ เขาทำและต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้จนเป็นเพลงเป็นนู่นเป็นนี่ ความเป็นอีสานถูกถ่ายทอดเป็นเพลงเป็นสื่อต่างๆ จนได้รับการยอมรับมากขึ้น มันจะมาเจาะจงเป็นคำหรือเป็นประโยคเพื่อมาต่อว่าก็คงไม่ได้แล้ว มันกลายเป็นงานศิลปะ กลายเป็นชีวิตจริงๆ ที่ทุกคนยอมรับแล้ว

“ไม่ใช่แค่ภาคอีสานนะ ผมว่าทุกภาคมันเท่ากันหมดแล้ว คือคนไม่มีเวลาที่จะมาคิดว่าใครมาจากภาคไหน มันอยู่ที่ใครใช้ชีวิตสนุกกว่ากัน ใครมีความสุขมากกว่ากัน ใครมีวิถีที่ใช้ชีวิตเป็น ใช้ชีวิตเรียบง่าย ในขณะที่โลกมันบีบคั้นด้วยความเครียด ด้วยเศรษฐกิจ ด้วยเรื่องราวมากมาย เราคิดว่าเราให้ความสำคัญกับชีวิตจริงๆ มากพอหรือยัง หรือให้ความสำคัญกับมันมากน้อยแค่ไหน”

เช่นเดียวกับสิ่งที่ธงชัยเชื่อมั่นใน ‘เลิฟยู โคกอีเกิ้ง’ คือเนื้อหาของหนังที่เป็นสากลและสื่อสารกับคนดูทุกกลุ่ม โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นผู้ชมชาวอีสานเท่านั้น

“ผมรู้สึกว่าถ้าเราสามารถชอบหนังญี่ปุ่นอย่าง Always : Sunset on Third Street (2005, ทาคาชิ ยามาซากิ) หรือชอบหนังบอลลีวูดดีๆ สักเรื่องนึงได้ กับ ‘เลิฟยู โคกอีเกิ้ง’ เองสำหรับผมก็มั่นใจว่ามันตอบโจทย์ใกล้เคียงกับความรู้สึกเหล่านั้นได้ เพียงแต่มันถูกห่อไว้ด้วยรูปแบบอีกอย่างเท่านั้นเอง “

ทิศทางหนังโลกหลังจาก MULAN และ TENET ออกฉาย

หลังจากตลอดครึ่งปีแรกของปี 2020 โลกภาพยนตร์ต้องประสบกับภาวะซบเซาไร้ความหวังจากวิกฤตโควิด 19 ที่ดูเหมือนจะหาจุดสิ้นสุดไม่เจอ ข่าวการเลื่อนฉายของหนังฟอร์มใหญ่ฮอลลีวูดหลายต่อหลายเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายคนเริ่มทำใจแล้วว่าบางทีปีนี้ อาจเป็นปีที่เงียบเหงาของธุรกิจภาพยนตร์โลกในรอบหลายทศวรรษเนื่องจากไม่มีหนังฟอร์มใหญ่เข้าฉายตลอดทั้งปี 

แต่แล้วในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมต่อด้วยต้นสิงหาคมที่ผ่านมา ก็ได้เกิดข่าวที่พอจะสร้างแสงสว่างให้แก่วงการภาพยนตร์โลกได้บ้าง เมื่องสองค่ายหนังยักษ์ใหญ่อย่าง วอร์เนอร์ และ ดิสนิย์ ได้ประกาศวันฉายหนังที่ถือเป็นความหวังของค่ายในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน โดยวอร์เนอร์ได้ประกาศวันฉาย Tenet หนังต้นทุน 200 ล้านเหรียญ คริสโตเฟอร์ โนแลนในอเมริกาในวันที่ 3 กันยายน ซึ่งตรงกับช่วงวันหยุดแรงงาน โดยก่อนหน้านี้หนึ่งอาทิตย์หนังจะเปิดฉายในประเทศต่างๆ ทั่วโลกก่อนhttps://www.eonline.com/news/117412/christopher-nolans-tenet-finally-has-a-release-date-what-to-know-about-the-film ขณะที่ ดิสนีย์ สร้างความฮือฮาด้วยการเปิดตัวหนังเรื่อง Mulan บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเองที่ชื่อ ดิสนีย์พลัส (Disney Plus) ในประเทศอเมริกาและบางประเทศโดยคิดอัตราค่าชม 29.99 เหรียญต่อการสตรีม ขณะเดียวกันก็เปิดฉายโรงภาพยนตร์ในหลายประเทศทั่วโลกในวันที่ 4 กันยายนhttps://www.theverge.com/2020/8/4/21354593/mulan-release-date-disney-earnings-warner-bros-tenet-theaters

กำหนดการฉายของหนังทั้งสองเรื่องสร้างความคึกคักให้กับเดือนสิงหาคมตลอดทั้งเดือน โดย Tenet ได้รับการคาดหมายจากผู้ประกอบการโรงหนังเล็กใหญ่ทั่วอเมริกาว่าจะปลุกกระแสการกลับมาดูหนังในโรงของชาวอเมริกันอีกครั้ง ขณะที่ Mulan แม้ว่าจะไม่ได้ฉายโรงในอเมริกา แต่ผู้สร้างต่างเชื่อว่าหนังน่าจะทำรายได้ดีในหลายประเทศในทวีปเอเซีย โดยเฉพาะประเทศจีนที่เป็นตลาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

แต่แล้วเมื่อถึงกำหนดฉายจริงๆ การณ์กลับไม่เป็นดังที่คาดไว้ แม้ว่า Tenet จะเปิดตัวในหลายประเทศด้วยรายได้ที่งดงาม ทำรายได้มากกว่า 207 ล้านเหรียญในช่วงเวลาสามอาทิตย์ แต่ในอเมริกาแล้ว หนังเปิดตัวได้อย่างน่าผิดหวัง ถึงขนาดที่บริษัทวอร์เนอร์ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยมีสตูดิโอแห่งใดเคยทำมาก่อนนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลรายได้แบบเป็นทางการเป็นต้นมา ด้วยการไม่เปิดเผยข้อมูลตัวเลขบ็อกซ์ออฟฟิศรายวันแล้วสรุปรวบยอดทีเดียวในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณ 20 ล้านเหรียญ จนถึงตอนนี้ หนังทำรายได้ในอเมริการาว 41 ล้านเหรียญ เมื่อรวมกับรายได้จากทั่วโลกอีก 243 ล้านเหรียญ เท่ากับว่า หนังทำรายได้ทั้งหมด 284 ล้านเหรียญ ซึ่งเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตกว่า 200 ล้านเหรียญ กับค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของต้นทุนการผลิต หนังยังคงห่างไกลกับคำว่าคืนทุนหลายช่วงตัวhttps://www.reuters.com/article/us-usa-boxoffice-idUSKBN2640P6

และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้ค่ายวอร์เนอร์ตัดสินใจเลื่อนเปิดตัวหนังฟอร์มใหญ่หลายๆ เรื่องออกไปจากกำหนดเดิม ไม่ว่าจะเป็น Wonder Woman 1984 ที่เลื่อนไปฉายในช่วงคริสมาส ขณะที่ Dune หนังไซไฟมหากาพย์ที่กำหนดฉายในเดือนธันวาคมอาจต้องเลื่อนไปฉายปีหน้า ไม่เพียงเท่านั้น ความล้มเหลวของ Tenet ยังทำให้ความมั่นใจในการนำหนังเข้าฉายในโรงของสตูดิโอยักษ์หลายๆ ค่ายเกิดการสั่นคลอน สะท้อนผ่านการเลื่อนกำหนดฉายอย่างไม่มีกำหนดของหนังหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น หนังสยองขวัญเรื่อง Candyman ของยูนิเวอร์แซลที่เดิมมีกำหนดฉายในเดือนตุลาคม แต่ต้องเลื่อนไปฉายปีหน้าแทนhttps://www.theatlantic.com/culture/archive/2020/09/hollywoods-tenet-experiment-didnt-work/616345/ หรือหนังจากค่ายดีสนีย์เรื่อง Black Widow, West Side Story และ Death of Niles ก็ถูกเลื่อนไปฉายปีหน้าอย่างไม่มีกำหนดhttps://variety.com/2020/film/news/black-widow-west-side-story-eternals-release-date-delay-1234773491/

ไม่เพียงแต่ Tenet เท่านั้นที่ประสบความล้มเหลวจากการฉายในโรงภาพยนตร์ Mulan เองที่เปิดตัวในโรงภาพยนตร์ในหลายประเทศก็มีสภาพไม่ต่างกัน สัญญาณที่ไม่น่าไว้วางใจเกิดขึ้นตั้งแต่หนังยังไม่ฉาย โดยเฉพาะเสียงวิจารณ์เรื่องเนื้อหาของหนังที่ถูกมองว่าเป็นการสร้างภาพเหมารวมคนเอเชียในสายตาชาวตะวันตก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่หนังเปิดตัวในหลายประเทศด้วยรายได้แผ่วเบา โดยเฉพาะในประเทศจีน หนังเปิดตัว 3 วันแรกด้วยรายได้เพียง 23.2 ล้านเหรียญเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับหนังดิสนีย์ที่ดัดแปลงจากการ์ตูนอย่าง Beauty and the Beast และ The Jungle Book ที่ทำรายได้เปิดตัว 85.5 ล้านเหรียญ และ 55 ล้านเหรียญตามลำดับ จนถึงขณะนี้ Mulan ทำรายได้จากการฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลกเพียง 64 ล้านเหรียญเท่านั้นhttps://screenrant.com/mulan-2020-movie-disney-plus-office-success-failure/

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Mulan จะประสบหายนะจากการฉายในโรงภาพยนตร์ แต่ในแง่ของการฉายทางช่องทาง วิดีโอออนดีมานด์ แล้ว สถานการณ์เหมือนตรงกันข้าม ดิสนีย์ได้รายงานว่า ภายหลังจากประกาศว่าจะฉาย Mulan ทางช่องทางสตรีมมิ่งของตนเองชื่อ ดิสนีย์พลัส แบบพรีเมียม (ผู้ชมต้องชำระค่าชมก่อนในราคา 29.99 เหรียญซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับการซื้อตั๋วหนัง) ปรากฏว่ายอดดาวน์โหลดแอพของดิสนีย์พลัสมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 68% ถึงตรงนี้ ผู้เขียนต้องขออธิบายนิดนึงว่า สำหรับผู้ที่ต้องการชม Mulan สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นดิสนีย์พลัสก่อน ซึ่งคิดค่าบริการรายเดือนเดือนละ 6 เหรียญ จากนั้นจึงสามารถจ่ายค่าชมราคา 29.99 เหรียญสำหรับสตรีมหนังเรื่อง Mulan ได้https://screenrant.com/mulan-2020-movie-disney-plus-office-success-failure/

ในแง่ของรายได้ของหนัง แม้ว่าดิสนีย์จะดำเนินนโยบายเดียวกับเจ้าของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งรายใหญ่อย่าง Netflix คือไม่เปิดเผยยอดผู้ชมให้สาธารณะรับรู้ แต่จากการประเมินของ Samba TV ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลผู้ใช้สมาร์ตทีวี ของอเมริกา ประเมินว่า ใน 4 วันแรกที่ Mulan เปิดตัว (4-7 กันยายน) มีผู้ชมดูหนังเรื่องนี้ประมาณ 1.12 ล้านคน ซึ่งหากคิดตามจำนวนค่าบริการสตรีมมิ่ง 29.99 เหรียญเท่ากับว่า Mulan น่าจะทำรายได้เปิดตัวประมาณ 33.5 ล้านเหรียญhttps://observer.com/2020/09/was-mulan-an-unmitigated-disaster-or-a-success-its-complicated/ (เทียบกับ Tenet ที่ได้ 20 ล้านเหรียญ) และที่สำคัญเป็นรายได้ที่ได้แบบเต็มๆ เพราะไม่ต้องแบ่งกับโรงภาพยนตร์ !!

เท่านั้นยังไม่พอ 7 Park Data ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลชื่อดังในอเมริกา ยังได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 -12 กันยายนที่ผ่านมา สมาชิกดิสนีย์พลัสในอเมริกาเกือบ 29% ได้ชำระค่าชมหนังเรื่อง Mulan ซึ่งหมายความว่า หากพิจาราณาจากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 30 ล้านคนในอเมริกา (รวมทั่วโลก 60 ล้านคน) มีผู้จ่ายค่าดูหนังเรื่องนี้ถึง 9 ล้านคน และถ้าคิดจากค่าบริการ 29.99 เหรียญเท่ากับว่า ในช่วง 12 วันออกฉาย หนังทำเงินไปแล้วเกือบ 260 ล้านเหรียญ โดยที่ไม่ต้องแบ่งรายได้ให้กับใครhttps://finance.yahoo.com/news/nearly-onethird-of-us-households-purchased-mulan-on-disney-for-30-fee-data-221410961.html (ต้นทุนของหนังคือ 200 ล้านเหรียญเท่า Tenet)

คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ หนังทั้งสองเรื่องที่ออกฉายในเวลาที่ไล่เลี่ยกันนี้ จะส่งผลอย่างไรต่อโลกภาพยนตร์ในช่วงเข้าไตรมาสสุดท้ายของปีบ้าง ผู้เขียนขอวิเคราะห์ฉากทัศน์ที่น่าจะเป็นไปได้ดังนี้

1. การกลับมาของโรงหนังยังคงมีความคลุมเครือ จากยอดรายได้เปิดตัวของ Tenet ในสัปดาห์แรกที่น้อยกว่าที่คาดไว้มาก แสดงให้เห็นว่า ผู้ชมยังไม่พร้อมที่จะกลับมาดูหนังในโรงเท่าใดนัก นอกจากนี้ การที่รัฐที่ถือว่าเป็นฐานของคนดูหนังสำคัญอย่าง แคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์ก ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดส่งผลต่อยอดรายได้ที่ลดอย่างเห็นได้ชัด ไม่เพียงเท่านั้น ไม่กี่วันหลังจากที่ Tenet ออกฉาย นายแพทย์ แอนโธนี เฟาซี ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อชื่อดังของอเมริกายังได้กล่าวว่า ตราบใดที่ยังไม่ประกาศใช้วัคซีน โรงหนังก็ยังคงเป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยต่อไป นั่นหมายความว่า อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีกหนึ่งปีกว่าที่ผู้ชมจะสามารถดูหนังในโรงได้อย่างปลอดภัยhttps://www.theatermania.com/new-york-city-theater/news/we-might-not-be-able-to-safely-sit-in-a-theater_91420.html คำพูดดังกล่าวของนายแพทย์เฟาซี เท่ากับปิดประตูความหวังที่จะเห็นโรงหนังกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง

2. ภูมิทัศน์ของการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ที่เปลี่ยนไป จากความล้มเหลวของ Tenet และผลของการทดลองที่ออกไปในทางบวกของดิสนีย์ (อย่างน้อย Mulan ก็ไม่น่าจะขาดทุน) น่าจะส่งผลให้มโนทัศน์เดิมของการจัดจำหน่ายต้องเปลี่ยนไป กล่าวคือ จากเดิมที่โรงหนังคือช่องทางสำคัญของการสร้างรายได้ของหนังฟอร์มใหญ่ จนทำให้มีอำนาจต่อรองกับช่องทางการฉายอื่นๆ ผ่านข้อกำหนดหลายอย่าง เช่น ระยะเวลาการฉายที่มากกว่าช่องทางอื่นๆ หรือโรงหนังจะต้องเป็นช่องทางแรกที่หนังต้องเปิดตัวเท่านั้น แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มของการระบาดที่ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง หรือแม้แต่ความล้มเหลวในการฉายโรงของ Tenet อาจทำให้ภูมิทัศน์ของการจัดจำหน่ายเปลี่ยนไปก็ได้ เช่น ต่อไปหนังฟอร์มใหญ่หลายเรื่องอาจเปิดตัวในโรงด้วยเวลาที่สั้นลง (เช่น 2-3 อาทิตย์ จากนั้นก็เผยแพร่ทางช่องทางสตรีมมิ่งเลย) หรือกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ ช่องทางสตรีมมิ่งอาจเป็นช่องทางแรกที่หนังฟอร์มใหญ่เลือกเปิดตัวก็ได้

3. ความสำเร็จของดิสนีย์ อาจทำให้ค่ายสตูดิโอยักษ์ใหญ่ที่มีหนังในคลังเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นหนังเก่าหรือหนังใหม่ก็ตาม เกิดความคิดที่จะสร้างแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเองบ้าง เพราะแม้ว่าจะต้องเสียเงินลงทุนสูง แต่ก็คุ้มค่ากว่ามาก เนื่องจากรายได้ที่เกิดจากการให้บริการไม่ต้องแบ่งให้กับใคร ซึ่งต่างจากการนำหนังเข้าฉายโรง ที่นอกจากจะต้องจ่ายค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์จำนวนมากแล้ว เมื่อหนังฉายในโรงก็ต้องแบ่งรายได้อย่างต่ำ 50% ให้กับโรงอีก ดังนั้นจึงไม่แปลกหากผู้บริหารของสตูดิโอทั้งหลายจะเริ่มเกิดไอเดียที่จะต้องสร้างช่องทางการการใช้ของตัวเองไว้บ้างแล้ว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็น่าเป็นห่วงว่า โรงหนังจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้อย่างไร

แต่ไม่ว่า ฉากทัศน์ใดจะเกิดขึ้น หรือสุดท้ายแล้ว จะไม่มีฉากทัศน์ใดเกิดขึ้นเลยก็ตาม เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกภาพยนตร์กำลังเข้าสู่ภาวะของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ เป็นการเปลี่ยนผ่านจะที่รื้อสร้างโครงสร้างแบบเดิมแล้วก่อกำเนิดโครงสร้างใหม่ขึ้นมาแทนที่ สิ่งที่เราทำได้มากที่สุดคือ การยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และปรับตัวรับกับสภาพที่ไม่เหมือนเดิมต่อไป

โรงหนังเครือยักษ์แห่งอังกฤษ-สหรัฐอเมริกา ประกาศหยุดกิจการทั้งเครือ! หลังความหวังสุดท้าย “No Time to Die” เลื่อนฉายไปปีหน้า

สถานการณ์โรงหนังเริ่มส่อแวววิกฤติหนักขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะในไทยที่บรรยากาศยังคงซบเซาแม้โควิด-19 จะคลี่คลาย แต่โรงหนังยักษ์ใหญ่อย่าง Cineworld ซึ่งเป็นเครือใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกา ก็ประกาศหยุดกิจการโรงทั้งหมดแล้ว (ประกอบด้วยโรง Regal Cinema 543 สาขาในสหรัฐฯ และทุกโรงในอังกฤษกับไอร์แลนด์) โดยแจ้งข่าวให้พนักงานกว่า 5,500 คนได้รู้ล่วงหน้าแค่ไม่กี่วันเท่านั้น

มีข่าวว่า ผู้บริหารโรงได้เขียนจดหมายชี้แจงถึง บอริส จอห์นสัน นายกฯ อังกฤษ และ โอลิเวอร์ ดาวเดน รมต.วัฒนธรรม ว่า สาเหตุสำคัญเป็นเพราะสตูดิโอพากันเลื่อนหนังฟอร์มใหญ่ออกไปหมด โดยเฉพาะเรื่องที่ถูกคาดหวังในฐานะ “ฟางเส้นสุดท้าย” อย่าง No Time to Die หรือหนังบอนด์ตอนล่าสุด ซึ่งเพิ่งประกาศเมื่อไม่กี่วันก่อนว่าจะเขยิบวันฉายจากปลายปีไปเป็นเมษายนปี 2021 สร้างความช็อคแก่บรรดาโรงหนังอย่างรุนแรง

ก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ ซีเนเวิลด์เพิ่งออกแถลงการณ์ประกอบผลรายงานกิจการครึ่งปีแรกว่า “หากรัฐบาลยังใช้นโยบายคุมเข้มไม่ให้ประชาชนกลับมารวมตัวทำกิจกรรมทางสังคมอย่างเป็นปกติ และหนังใหญ่ๆ ยังคงยึดแนวทางเลื่อนวันฉายออกไปเรื่อยๆ โรงก็จะประสบภาวะวิกฤติการเงินในไม่ช้า” (อนึ่ง ซีเนเวิลด์กำลังพิจารณาสถานการณ์ของตนว่า ปีหน้าจะมีโอกาสกลับมาเปิดกิจการใหม่ได้หรือไม่ หรือจะต้องเลิกถาวร)

สำหรับคิวเข้าฉายของหนังที่เป็นความหวังของโรงนั้น หลังจากนี้ก็ต้องจับตามอง Soul ของพิกซาร์ ที่ยังลุ้นว่าดิสนีย์จะเปลี่ยนใจเลื่อนการฉายจากปลายพ.ย. ไป หรือเลิกฉายโรงแล้วนำหนังไปลงช่องทาง Disney Plus แทนเลยหรือเปล่า เช่นเดียวกับ Wonder Woman 1984 และ Dune ของวอร์เนอร์บราเทอร์ส ที่ก็มีแววว่าอาจจะโดนเลื่อนจากธันวาคมด้วยเช่นกัน

A Moment of Romance (天若有情, Hong Kong)

ค.ศ. 1982 รัฐบาลอังกฤษภายใต้นาง Margaret Thatcher ได้ปฏิเสธการต่อสัญญาเช่าเขตฮ่องกง (Hong Kong Territory) ก่อนครบสัญญาอายุเก้าสิบเก้าปีในปี 1997 (หรืออีกสิบห้าปีหลังจากนั้น)

ผลจากการตัดสินใจของรัฐบาลอังกฤษ สร้างความไม่เชื่อมั่นในอนาคตของเขตปกครองฮ่องกง ทันทีที่ถูกเปลี่ยนมือตกเป็นของจีนแผ่นดินใหญ่ สร้างความหวาดวิตกต่อนักลงทุน+เจ้าของเงินและธุรกิจ (โดยเฉพาะชาติตะวันตก) ส่งผลให้เกิดการขนย้ายถ่ายโอนเงินทุนออกนอกประเทศเป็นว่าเล่น โดยเฉพาะทุนที่ต่างชาติถือครองสินทรัพย์ ซึ่งกระจายตัวไปหลายส่วนทั่วโลก 

จนกระทั่งถึงวันส่งมอบเอกราชจากอังกฤษให้กับจีนแผ่นดินใหญ่ในค่ำคืนวันที่ 30 มิถุนายน 1997 มีการจัดพิธีเฉลิมฉลองอย่างใหญ่โต เพื่อให้ย่างก้าวเข้าสู่วันแรกของยุคสมัยที่ฮ่องกงจะตกเป็นของจีนเต็มตัว 1 กรกฎาคม

ทันใดนั้นเองในวันวันเดียวกันนี้อีกเช่นกันก็ได้เกิดเหตุสะเทือนขวัญทางการเงินซึ่งมิได้เกิดขึ้นบนแผ่นดินฮ่องกง ทว่าเริ่มที่เมืองไทยเรานี่เอง เมื่อรัฐบาลภายใต้ พล.อ.เชาวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทแบบไร้เพดาน

จนกระทั่งลุกลามกลายเป็นวิกฤตทางการเงินไปทั่วภูมิภาคเอเชียอาคเนย์อันเป็นที่รู้จักด้วยชื่อ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’

ทุนที่ระบายออกจากฮ่องกง ส่วนหนึ่งได้ถูกใช้เป็นเงินต้นสำหรับปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนหันมาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ เพื่อนำไปหมุนปล่อยกู้ต่อให้กับนักลงทุนรายย่อยในประเทศอีกต่อ โดยผูกไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อครบกำหนดเกิดการแทรกแซงโดยนาย George Soros ได้เสนอปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลดอลลาร์ต่อหน่วยเงินท้องถิ่นซึ่งสร้างผลกระทบโดยตรงทั้งต่อเงินต้นและดอกเบี้ย ฝ่ายที่รับผลกระทบโดยตรงกลายเป็นระบบการคลังที่ต้องระดมทุนสำรอง (โดยเฉพาะทองคำ) เพื่อนำมาใช้หนุนและค้ำจุนเสถียรภาพทางด้านอัตราการแลกเปลี่ยน เพื่อปรับตัวตามค่าเงินดอลลาร์ที่ผันผวนไม่สิ้นสุด

แล้ววิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก มาเกี่ยวอะไรกับ ‘ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ’ (A Moment of Romance, 天若有情, 1990) ด้วย คงต้องบอกว่าเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอังกฤษมีต่อความเป็นอยู่และอนาคต (ณ เวลานั้น) ของฮ่องกงโดยตรง เพราะมิใช่มีแค่เงินทุนจะกระจายไปทั่วโลก หากแต่คนของเขาก็ยังรับผลกระทบตามมาอีกเป็นทอดๆ

ผลกระทบที่ว่าคงพอมองเห็นตั้งแต่เมื่อคราวออกฉายครั้งแรก แล้วหลังจากนั้นอีกเจ็ดปีให้หลัง (ในปี 1997) ผลกระทบเหล่านั้นก็ยิ่งย้ำข้อพิสูจน์ที่ว่าหลังจากคนของเขาได้กระจายตัว (ซึ่งคงไม่ถึงกับต้องเรียกอพยพ) ย้ายถิ่นไปตั้งรกรากตามประเทศซีกโลกตะวันตก เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ซึ่งฝ่ายที่รับประโยชน์ก็คงมีแค่กลุ่มเงินทุน, เจ้าของกิจการ ขณะที่อีกข้างหนึ่งยังคงมีกลุ่มประชากรรากหญ้าที่ไม่มีความมั่นใจและมั่นคงต่ออนาคต

เหมือนตกอยู่ภายใต้ภาวะที่ต้องพร้อมรับกับภัยคุกคามในทันทีที่ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ เมื่อฮ่องกงกำลังจะถูกเปลี่ยนมือไปอยู่กับจีน 

จะเห็นได้ว่าปีที่ ‘ผู้หญิงข้าฯ’ ออกฉาย (1990) จะตกอยู่ในช่วงกึ่งกลางอันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของฮ่องกงพอดีๆ คือแปดปีหลังการตัดสินใจไม่ต่อสัญญา (1982) พอเหลืออีกเจ็ดปี คนฮ่องกงก็ต้องเดินหน้าเข้าสู่ระบบใหม่ที่ทางการจีนจะเข้ามารับช่วงต่อ (1997) แต่สำหรับคนรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมตกอยู่ในสภาพที่ถ้าไม่หวาดหวั่นกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ก็หยิบยื่นความหวาดหวั่นที่ว่านั้นเสียเอง คนและหนังฮ่องกงจึงเหมือนตกอยู่ภายใต้วงล้อมของนักเลง, แก็งสเตอร์, ผีสางเทวดา และหนังโป๊ catagory III ขณะที่คน(ฮ่องกง)ที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่ต่อ ต่างก็คาดหวังว่าวันหนึ่งน่าจะพอโอกาสและยกระดัยความเป็นอยู่ให้ทัดเทียมกับพวกที่ ‘ล่วงหน้า’ ไปตั้งรกรากรุ่นก่อนหน้าขึ้นมาบ้าง ซึ่งในความเป็นจริง ความไม่มั่นใจต่ออนาคตที่ยังมาไม่ถึงก็ยังคงทำงานอยู่ในมิติทางจิตวิทยามวลชนของคนฮ่องกงเสมอ

คนที่ลอยตัวไปแล้ว ก็จะมีพวกพ่อ-แม่ของโจโจ้ ขณะที่ในฮ่องกงยังคงมีคนอย่างอาหวอ (หลิวเต๋อหัว), แรมโบ้ (อู่ม่งต๊ะ) และพวกพ้องที่พร้อมจะเป็นศัตรู ต่อให้อยู่ในแก็งค์ๆ เดียวกัน ส่วนที่น่าสนใจมาก เป็นซีนหลังการปล้นร้านเพชรใจกลางกรุง โดยจับโจโจ้เป็นตัวประกัน พลพรรคชาวเดอะแก็งค์ก็ไปตกลงแบ่งผลประโยชน์ (พร้อมด้วยโจโจ้ที่เตรียมจะปล่อยเป็นอิสระ) กันกลางหุบเขา ซึ่งแทนที่จะเป็นย่านใจกลางเมืองของฮ่องกงเอง หากแต่ไปนัดพบกันถึงเขต New Territory ซึ่งอยู่ตอนเหนือๆ ติดชายแดนจีน

เฉินมู่เซิง (陳木勝) สร้างตัวละครอย่างแม่กับพ่อของโจโจ้เป็นตัวขับเคลื่อนและถ่างช่องว่างความขัดแย้งให้กว้างออก เพราะลำพังแค่เห็นผ่านวิดีโอ (ซึ่งเวลานั้น อย่างหรูสุดก็คงแค่ส่งเมล์พัสดุมาเป็นม้วน, หาใช่วิดีโอคอล) น่าจะเป็นสัญญาณที่น่าจะชัดเจนพอ ทว่าเจ็บปวดในความรู้สึกได้พอประมาณแล้ว แต่นี่ตัวเป็นๆ ดันมาให้เห็นกันถึงที่เอาในเวลาที่ความรักความสัมพันธ์ของโจโจ้กับอาหวอกำลังเบ่งบานและผ่านวันเวลาดีๆ งามๆ ร่วมกัน (เป่าเค้ก, ต้มซุปใส่กระติกเยี่ยมไข้) แล้วรังสีมาดามแม่ก็แผ่ให้เราเห็น โดยเราไม่เห็น อย่างในเวลาที่อาหวอถูกขัง แล้วจู่ๆ ก็ได้รับการปล่อยต้วแบบ (เอ้อออ เนอะ) จนกระทั่งมาพบคำเฉลยในห้องหน.สถานี บนผนัง อ้าว! ยังมีรูปควีน อลิซาเบธใส่กรอบแขวนอยู่

ภาพสาทิศลักษณ์ราชินีเองก็รอคอยการปลด อาหวอก็รอการปล่อย (ปล่อยที่ว่าคือออกจากห้องขัง) ซึ่งเท่านี้ก็เจ็บพอแล้ว ต่อให้ไม่บอกให้รู้ ไม่ทำให้ดู ก็พอเดาได้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง ซึ่งการใช้เส้นสาย, อิทธิพลของมาดามแม่ ใช่ว่าจะให้ผลเป็นคุณ หากแต่จะยิ่งสร้างแรงกดดันต่อความรักของคนรุ่นลูกหนักขึ้นกว่าเก่า จนกระทั่งมาพบคำตอบในที่ซีนมาดามสั่งป้าแม่บ้านให้ทำโน่นทำนี่ (ตัดกิ่งไม้,ทาสีใหม่) ถึงได้รู้จุดประสงค์ของนางในการกลับฮ่องกงว่ามิได้มาเพื่อโจโจ้ แต่เป็นการกลับมาเพื่อ “เตรียม” ขายบ้าน!

คนรุ่นแม่รุ่นพ่อของโจโจ้+อาหวอ รังแต่จะเข้ามาเพื่อสร้างความเหลื่อมล้ำ (สู้บุกบั่นเพื่ออนาคตยังต่างแดนแบบข้ามทวีป) ตรงกันข้ามกับที่อาหวอกลับเลือกเดินย้อนศร ในฮ่องกง อาหวอโตขึ้นท่ามกลางแม่ๆ บุญธรรมทั้งสาม (ซึ่งน่าจะเป็นส่วนเดียวที่เขากับโจโจ้มีส่วนคล้ายคลึงกันก็คือความเป็น fairy tale ที่ไม่ต่างกับชีวิตในการ์ตูนดิสนีย์ สมมติโจโจ้เป็นเจ้าหญิง อาหวอก็มีนางฟ้าใจเมตตาทั้งสามคอยชุบเลี้ยง หากแต่เพียงนางฟ้าที่ว่าประกอบอาชีพขายบริการ) หากมาดามแม่พยายามลากจูงโจโจ้สู่แดนในอุดมคตินอกประเทศ อาหวอกลับพาตัวเองย้อนกลับไปหารากเหง้าเมื่อครั้งอดีตของตนที่มาเก๊าซึ่งแม้จะไม่มีแม่ แต่อาหวอยังมีเหล่ากงที่พร้อมจะรับรู้เป็นสักขีพยาน และพาร์ตในมาเก๊านี้อีกเช่นกันที่ หากสมมติว่าผกก.เบนนี่ ชาน หันมาเพิ่มโฟกัสตรงนี้นิดเดียว นอกจากเรื่องจะปรับตัวเข้าหาโทนดรามาเต็มตัว เผลอๆ อาจยังมีผลทำให้พบปมบางอย่างเพิ่มขึ้นมาว่า คนอย่างอาหวอแทบไม่ต่างอะไรกับ ‘นกไร้ขา’ อย่างยกไจ๋ (เลสลีย์ จาง) จากเรื่อง Days of Being Wild (阿飛正傳, 1991, Wong Kar Wai)

อาหวอค้นจนพบร่องรอยอดีตและความเป็นมาของตัวเองในมาเก๊า ขณะที่โจโจ้แทบมองไม่เห็นอนาคต (ที่มาดามแม่ลาดปูเตรียมไว้ให้) ยังต่างแดน ซึ่งไม่มีทางไปกันได้ด้วยกันทั้งคู่ เมื่อข้างหนึ่ง สายใยเชื่อมต่อ ‘ขาด’ ไปแล้วก่อนหน้า คือ ‘แม่’ แท้ๆ ของอาหวอที่ด่วนตัดช่องน้อยไปก่อนหน้า ขณะที่อีกข้างก็ยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะในต่างแดนหรือบนดินแดนฮ่องกงเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่คนหนุ่มสาวในยุค 90 ต้องเผชิญร่วมกัน

ขณะเดียวกันทางการจีนเอง เมื่อถึงเวลาของการส่งมอบจริง ก็ยังคงไม่ผลีผลามด่วนทุบหม้อข้าวตนเองไปตามที่หลายฝ่ายพากันประหวั่นพรั่นพรึงตลอดมาช่วงเวลาร่วมๆ ครึ่งแรกของทศวรรษที่ 90 นอกเสียจากว่าปล่อยให้คนรุ่นถัดจากโจโจ้ที่โตขึ้นและใช้ชีวิตบนความ Future Shock ซึ่งใกล้เคียงตามที่คนหนุ่มสาวในยุค nineties ที่ได้เปลี่ยนมาเป็นรุ่นพ่อรุ่นแม่ไปเรียบร้อย เมื่อทางการจีนหันมาใช้นโยบายที่แข็งกร้าวเหนือดินแดนที่นับถึงทุกวันนี้ที่ทางการจีนมองว่าได้ถูกนับรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนไปแล้วเต็มตัว จิตวิญญาณแบบอาหวออาจพ่ายแพ้ในยุคสมัยของเขาเอง (เท่าๆ กับที่คนรุ่นซึ่งเกิดและโตทันยุคส่งมอบได้ถูกทางรัฐบาลกลางของจีนมอมเมา ไม่ต่างกับนิสัยที่มาดามแม่ชอบใช้กับลูกและคนในปกครอง) ที่ทำให้การร่วมวงศ์วานสายเลือดและสร้างครอบครัวระหว่างโจโจ้กับอาหวอไม่เกิดขึ้นและไม่มีทางเป็นไปได้ในยุคสมัยของตน

แต่ถ้าเปลี่ยนได้ อาหวอกับโจโจ้ตกร่องปล่องชิ้น (ตามมายาคติของการครองคู่ที่แต่งคอสเป็นเจ้าบ่าวเจ้าสาวกันทั้งสองคน) ได้จริง คนที่เกิดในชั่วรุ่นถัดจากนี้ต่างหากที่จะเป็นฝ่ายเผชิญหน้ากับความหวาดกลัวขนานแท้ นั่นคืออะไรที่คนรุ่นที่แล้ว (อาหวอ+โจโจ้) เคยหวาดกลัว หลังจากที่ผ่านการมอมเมา ตลอดจนสร้างบรรยากาศให้เหมือนต้มกบในน้ำที่ค่อยๆ เดือด สิ่งที่เคยคาดการณ์ไว้ ถึงค่อยมาเห็นผลกันในคนชั่วรุ่นปัจจุบันนี้แทน

Can You Ever Forgive Me? : จากนักเขียนผู้โรยแรง สู่นักปลอมแปลงผู้เรื่อเรือง

1

“When you live in the dark for so long, you begin to love it. And it loves you back, and isn’t that the point? You think, the face turns to the shadows, and just as well. It accepts, it heals, it allows. But it also devours.”

 ― Raymond Carver

ถ้อยคำของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ (Raymond Carver) นักเขียนเรื่องสั้นชาวอเมริกันชื่อดังที่ยกมาข้างต้น ดูจะอธิบายชีวิตของตัวละครในหนังเรื่อง Can You Ever Forgive Me? (2018) ได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงแต่ชีวิตของ ลี อิสราเอล ในหนังเรื่องนี้ (ซึ่งสร้างจากหนังสืออัตชีวประวัติของเธอในชื่อเดียวกัน) จะมีความคล้ายคลึงกับบรรดาตัวละครชีวิตแตกร้าวผุพังในจักรวาลเรื่องสั้นของคาร์เวอร์เท่านั้น แต่ชีวิตส่วนตัวของนักเขียนชายอย่างคาร์เวอร์ และนักเขียนหญิงอย่างลี (อันที่จริงเธอเป็นเลสเบี้ยน) ยังนับว่ามีแง่มุมที่ส่องสะท้อนกันอย่างน่าสนใจ ในประเด็นที่ว่าทั้งคู่ต่างก็เป็นนักเขียนที่ชีวิตส่วนตัวล้มเหลวผุพังคล้ายๆ กัน

แม้หนังจะนำเค้าโครงมาจากเรื่องจริง แต่ในฐานะของตัวละครแล้ว นี่คือการสำรวจ “โลกของนักเขียนหญิง” ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ปกติแล้ว “เรื่องเล่า” ทำนองนี้มักจะเล่าถึงแต่เฉพาะชีวิตบัดซบล้มเหลวของนักเขียนชาย ซึ่งอาจวางอยู่บนอุดมคติทางวรรณกรรมแบบหนึ่งที่มองว่าชีวิตแบบนี้คือวัตถุดิบชั้นดีสำหรับงานเขียน เป็นความผุพังอันน่ารื่นรมย์ที่ช่วยค้ำยันความเป็นปิตาธิปไตยในโลกวรรณกรรมเอาไว้อย่างหนักแน่น เรื่องเล่าของนักเขียนชายตกอับจึงมักครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในโลกวรรณกรรม เพราะมันช่วยตอกย้ำค่านิยมแบบ masculinity ที่เชิดชูความห่ามห้าว ความกร้านโลก ความขบถ ฯลฯ ซึ่งดูเหมือนว่ามีแต่ “ผู้ชาย” เท่านั้นที่ได้รับอภิสิทธิ์ให้มีเรื่องเล่าแบบนี้ได้                                                                                                                                                  

แต่มีแค่นักเขียนชายเท่านั้นหรือที่ตกอับ ? แล้วนักเขียนหญิงล่ะ นักเขียนหญิงที่ชีวิตบัดซบหายไปไหนใน “เรื่องเล่ากระแสหลัก” นี้ ? ความล้มเหลวทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวและด้านงานเขียนของพวกเธอมีใครบ้างไหมที่อยากจดจาร ?


2

Can You Ever Forgive Me? (2018) เปิดเรื่องด้วยฉากที่ ลี อิสราเอล หญิงวัย 50 กว่า เพิ่งจะสูญเสียงานประจำในออฟฟิศแห่งหนึ่งไปเพราะความปากร้ายและไม่ยอมใครของเธอ ในอดีตลีเคยเป็นนักเขียนชีวประวัติชื่อดัง ทว่าตอนนี้เธอกลายเป็นนักเขียนตกอับ ติดเหล้า ถังแตก โดดเดี่ยวไร้เพื่อน และเกลียดโลก เป็นคุณป้ามหาภัยที่พร้อมจะเปิดศึกกับใครก็ได้ที่พูดจาไม่เข้าหู โปรเจกต์งานเขียนชีวประวัติเล่มใหม่ที่เธอหมายมั่นว่ามันจะช่วยกอบกู้ชีวิตกลับคืนมา ก็ถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธอย่างไม่ไยดี เรียกได้ว่าชีวิตของเธอตีบตันในทุกทาง

เมื่อชีวิตมาถึงทางตัน อาชญากรรมจึงมอบแสงสว่างให้ชีวิต…

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ชะตากรรมก็พัดพาให้ลีมาพบกับ แจ็ค ฮ็อค เกย์เฒ่าเจ้าคารมที่ชีวิตก็ตกอับไม่ต่างกัน ทั้งคู่เคยรู้จักกัน (อย่างผิวเผิน) เมื่อนานมาแล้ว ความต่างอย่างเดียวคือแจ็คเป็นคนปากหวาน รู้จักพูดจาฉอเลาะเอาอกเอาใจคน เฟรนด์ลี่ ใจดี สปอร์ต (แต่ความจริงแล้วถังแตกพอกัน) เข้ากับคนอื่นได้ง่าย ฉาบเคลือบความขมขื่นเอาไว้ด้วยสีหน้าท่าทางที่ดูรื่นรมย์ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็ดูกะล่อนลื่นไหลและเก็บงำชีวิตเบื้องหลังเอาไว้ เมื่อคนสิ้นหวังสองคนมาเจอกัน มิตรภาพประหลาดล้ำจึงเริ่มต้นขึ้น ประโยคที่แจ็คพูดกับลีในตอนที่พบกันครั้งแรกว่า “คุณไม่ใช่คนเดียวที่ไร้เพื่อน” จึงทั้งตลกร้ายและแสนเศร้าพอๆ กัน

ลีก่ออาชญากรรมอะไร ?

จริงๆ แล้วมันก็ไม่ถึงกับเป็นเรื่องคอขาดบาดตายอะไร เธอแค่ค้นพบว่ามันมีวงการนักสะสมของเก่าที่ชอบสะสมจดหมายของนักเขียนหรือคนดัง แผ่นกระดาษเก่าๆ มอซอที่ถูกอัพราคาสูงลิบลิ่วในตลาด (มืด) ด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ (ที่เพิ่งสร้าง ?) ของมัน การบริโภคสัญญะในโลกของนักสะสมที่แทบจะไม่สนว่าจดหมายเหล่านี้คือ “ของแท้” หรือไม่ มีจริงบ้างปลอมบ้างปะปนกันไปภายใต้การขยิบตาเป็นที่รู้กันของคนในวงการธุรกิจสีเทานี้

นี่เองคือช่องทางทำเงินของลี เธอปลอมแปลงจดหมายพวกนั้นด้วยการอาศัยความสามารถทางวรรณกรรมของเธอเอง เธอลอกเลียนสำนวนของนักเขียนชื่อดังหลายคนแล้วอุปโลกน์ว่าเป็นจดหมายของนักเขียนคนนั้น แล้วนำไปเสนอขายให้กับร้านต่างๆ ที่รับซื้อของสะสมพวกนี้ แล้วเรื่องราวในหนังก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ด้วยกลวิธีปลอมแปลงอันแยบยลของเธอที่เก่งกาจขึ้น สุ่มเสี่ยงขึ้นและถลำลึกมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าแจ็คก็กลายเป็นหุ้นส่วนในอาชญากรรมนี้ด้วย


3

หนังพาเราไปสำรวจโลกของการปลอมแปลงนี้ผ่านสายตาของลี ชีวิตของคนสิ้นหวังหมดท่าที่บังเอิญค้นพบวิธีหาเงินทางลัด เราอาจพูดได้ว่าเธอเพียงเข้าไปเป็นกลไกส่วนหนึ่งของการเล่นแร่แปรธาตุในระบบธุรกิจขนาดใหญ่ที่แปรเปลี่ยน “คุณค่าทางประวัติศาสตร์” มาเป็นสินค้า เธอไม่ใช่ขาใหญ่ของธุรกิจนี้ด้วยซ้ำ เป็นเพียงนักปลอมแปลงขาจรที่เข้ามา “แบ่งเค้ก” ไปประทังความหิวบ้างก็เท่านั้น หนังจึงไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ประเด็นทางจริยธรรมของการปลอมแปลง แต่กลับเผยให้เห็นว่าเส้นแบ่งระหว่าง “ของแท้” กับ “ของเทียม” นั้นเบาบางเพียงใด และถึงขั้นวิพากษ์ความเหลวไหลไร้สาระของการยึดติดกับความเป็น “ของแท้” ว่ามันได้ทำลายคุณค่าและความหลากหลายในระบบนิเวศของวงการนักสะสมลงอย่างไร

ในแง่นี้คุณค่าความเป็นของแท้ก็ถูกสร้างขึ้นด้วยการมีอยู่ของของเทียม ตลาดของนักสะสมและการอัพราคาแผ่นกระดาษเก่าๆ ให้สูงลิบลิ่วได้ช่วยชุบชีวิตไม่ให้ของแท้ถูกทิ้งหรือสูญหายไป ของแท้จึงยังคงอยู่ได้เพราะมีตลาดธุรกิจอันกว้างขวางที่ของเทียมช่วยกรุยทางเอาไว้ให้ สิ่งเดียวที่ต้องแลกมากับการชุบชีวิตนี้ก็คือ ของแท้จะถูกสาปให้ปะปนอยู่กับของเทียมจนแทบจะแยกไม่ออก ในขณะเดียวกันการมีอยู่ของของแท้ในฐานะ “ต้นแบบ” ก็ช่วยให้ของเทียมถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างหลากหลาย ของแท้กับของเทียมจึงดำรงอยู่คู่ของในฐานะสองสิ่งที่คอยอุปถัมภ์ค้ำจุนกันเอาไว้

ความเป็นของแท้ในที่นี้จึงอาจไม่สำคัญเท่ากับว่ามันเป็นของที่มี “ชิ้นเดียว” หรือไม่ จดหมายของโดโรธี ปาร์กเกอร์ นักเขียนหญิงชื่อดังที่ลีปลอมแปลงขึ้น ไม่ได้ทำให้จดหมายของแท้ถูกทำลายลง แนวทางของลีไม่ใช่การ “ทำซ้ำ” แต่คือการ “ทำเพิ่ม” ขึ้นมา โดยตรรกะของการสะสมแล้วของที่ถูกทำเพิ่มขึ้นมาไม่ได้ทำลายของที่มีอยู่แต่เดิม ขอเพียงแค่ว่าของชิ้นนั้นเป็นของชิ้นเดียวในโลก หนังจึงชวนเราตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วคุณค่าของการสะสมนั้นอยู่ตรงที่ความเป็น “ของแท้” หรือความเป็น “ของชิ้นเดียว” ในโลกกันแน่ ? นักสะสมพึงพอใจกับสิ่งใดกันแน่ระหว่างของแท้ที่แสนจะหายากและอาจไม่มีวันได้ครอบครอง กับของเทียมที่ช่วยเติมเต็มความ fetish ได้ไม่รู้จบ ?

หากมองในสายตาของนักประวัติศาสตร์ จริงอยู่ว่าธุรกิจการปลอมแปลงนี้อาจสร้างความยากลำบากให้แก่การศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย แต่ทว่าโลกของการศึกษาทางประวัติศาสตร์กับโลกของธุรกิจการสะสมของเก่าก็ใช่ว่าจะมีมาตรวัดคุณค่าแบบเดียวกัน นักประวัติศาสตร์อาจมองของเทียมที่ถูกปลอมแปลงขึ้นว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย แต่ทว่าในสายตาของนักสะสมของเก่า ซึ่งอาจไม่สนใจ (หรืออาจแกล้งทำเป็นเอาหูไปนา เอาตาไปไร่) ว่าสิ่งนั้นจะเป็นของแท้หรือของเทียมกันแน่ มากเท่ากับความพึงพอใจที่ได้ครอบครองมัน ก็อาจมองมันในมุมที่ต่างออกไป คุณค่าทางประวัติศาสตร์กับคุณค่าของการสะสมอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกันหรือลงรอยกันได้ เพราะของบางสิ่งอาจไม่มีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์มากนัก แต่กลับมีคุณค่าในการเป็นของสะสม ในขณะเดียวกันของที่มีคุณค่าในการเป็นของสะสม ก็ไม่จำเป็นต้องมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในแบบที่นักประวัติศาสตร์มองหาและต้องการเสมอไป


4

หนังค่อยๆ เผยให้เราเห็นว่า สิ่งที่ทำให้ธุรกิจนี้ดำรงอยู่ได้ไม่ใช่การเที่ยวไปพิสูจน์ว่าสินค้าของใครเป็นของแท้หรือของปลอม แต่คือการขยิบตาเป็นที่รู้กันอย่างเป็นธรรมเนียมว่าอย่าไปสนใจมากนักว่าของแท้หรือของปลอม ขอเพียงแค่สิ่งนั้นขายได้และปลอมแปลงได้ “เนียน” ก็พอแล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นมือใหม่ของลีที่ยังไม่รู้จักพิษสงของธุรกิจนี้ดีพอ บวกกับความร้อนเงินของเธอ และความตื่นตากับพรสวรรค์ที่เพิ่งค้นพบของตัวเอง เธอจึงพลาดท่าถูกจับได้ในวันหนึ่ง การถูกจับของลีมาพร้อมกับอำนาจรัฐที่เข้ามาตรวจสอบธุรกิจนี้ มันจึงกลายเป็นว่าเพื่อรักษาโลกของธุรกิจนี้ไว้ ผู้เล่นอื่นๆ ในธุรกิจนี้จึงพร้อมใจกันถีบส่งและโยนความผิดให้เธอ ไม่ใช่เพราะเธอทำ “ผิด” ที่กล้าปลอมแปลง แต่เพราะเธอทำ “พลาด” ที่ถูกจับได้ และเกือบพาซวยไปทั้งวงการต่างหาก

สิ่งเดียวที่สามารถกระตุ้นต่อมมโนธรรมสำนึกให้ลีหันกลับมาตั้งคำถามกับการกระทำของตัวเอง ไม่ใช่ความรู้สึกผิดที่เธอได้ปลอมแปลงจดหมายต่างๆ ขึ้นมา (และขอย้ำอีกครั้งว่าหนังไม่โยนคำถามเกี่ยวกับจริยธรรมการปลอมแปลงใส่ตัวละครเลยแม้แต่น้อย) แต่คือความรู้สึกผิดที่ว่าเธอได้ขายของปลอมให้กับหญิงสาวเจ้าของร้านหนังสือคนหนึ่งที่ใสซื่อจริงใจและพยายามจะผูกมิตรกับเธอ ความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นจึงเป็นความรู้สึกผิดต่อมิตรผู้จริงใจและทรยศต่อมิตรภาพอันงดงามนั้น

สิ่งที่ทรงพลังมากๆ ในหนังคือการที่ลีไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เธอทำเป็นเรื่องผิด ไม่ใช่เพราะว่าโลกบัดซบใส่เธอก่อน เธอจีงมีสิทธิ์ตบหน้าโลกกลับอย่างชอบธรรม มันไม่ใช่ความสะใจของอาชญากรรมที่วางอยู่บนความรู้สึกต่อต้านสังคม แต่เพราะว่านี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เธอรู้สึกว่าเธอกลับมาเชื่อมั่นในการเขียนของตัวเองอีกครั้ง ถ้อยคำของเธอ (ที่ลอกเลียนสำนวนการเขียนของนักเขียนชื่อดัง) สามารถซื้อใจคนได้และขายได้ในราคาสูงลิ่ว ทั้งหมดนี้ช่วยโอบอุ้มให้นักเขียนที่หมดไฟคนหนึ่งให้ลุกขึ้นมาเขียนหนังสืออีกครั้ง และเรื่องราวในหนังสือเล่มใหม่ของเธอก็ไม่ใช่อะไรอื่นไกล แต่คือเรื่องราวอาชญากรรมของเธอเอง อาชญากรรมที่เกือบจะพาเธอไปนอนในคุก แต่ก็ปลดปล่อยเธอออกจากความซังกะตายของชีวิต

BOX OFFICE REPORT : รายได้หนังประจำวันที่ 1 ต.ค. 63

เป็นอีกหนึ่งสัปดาห์ที่เงียบเหงา เพราะแม้ว่าเมื่อวานนี้เป็นวันที่มีหนังใหม่เข้า แต่ไม่มีเรื่องไหนทำเงินเกิน 1 ล้านบาทเลย แม้แต่หนังที่เปิดตัวอันดับ 1 อย่าง Vanguard ที่มี เฉินหลง รับบทนำ ซึ่งเดิมทีสัปดาห์นี้ควรมีความคึกคักจาก Wonder Woman 1984 ที่เลื่อนหนีไปคริสต์มาสก่อนหน้านี้

รายได้หนังประจำวันที่ 1 ต.ค. 63

1. Vanguard – 0.62 ล้านบาท
2. Greenland – 0.50 (11.58) ล้านบาท
3. Mulan – 0.11 (62.85) ล้านบาท
4. Deliver Us from Evil – 0.10 ล้านบาท
5. Tenet – 0.10 (56.40) ล้านบาท
6. The Last Full Measure – 0.09 ล้านบาท
7. Tesla – 0.06 (1.42) ล้านบาท
8. Love at Second Sight – 0.03 (0.49) ล้านบาท
9. Behind You – 0.02 (0.92) ล้านบาท
10. Billie – 0.02 ล้านบาท

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 24 – 30 ก.ย. 63

หลังจากครองอันดับ 1 มาสามสัปดาห์ ในที่สุด Mulan ก็หล่นลงมาแล้วด้วยหนังโลกแตกของ เจอราด บัตเลอร์ เรื่อง Greenland โดยสัปดาห์แรกทำเงินไป 11 ล้านบาท

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 24-30 ก.ย. 63

1. Greenland – 11.08 ล้านบาท
2. Mulan – 2.74 (62.74) ล้านบาท
3. Tenet – 1.90 (56.30) ล้านบาท
4. Tesla – 1.36 ล้านบาท
5. Behind You – 0.89 ล้านบาท
6. Antebellum – 0.52 (3.74) ล้านบาท
7. Love at Second Sight – 0.46 ล้านบาท
8. เกมเมอร์เกมแม่ – 0.42 (7.74) ล้านบาท
9. I Am Woman – 0.26 ล้านบาท
10. Ode to Joy – 0.04 (0.58) ล้านบาท

Phantom Thread : ผู้หญิงหัด ‘ร้าย’ กับผู้ชายพ่าย ‘เห็ด’ …สงคราม ‘พิษ’ สวาทในสังคมชายเป็นใหญ่

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

ช่างตัดชุดสตรีมือหนึ่งของกรุงลอนดอนยุค 50 อย่าง เรย์โนลด์ส วูดค็อค อาจเก่งฉกาจในเรื่องของการเข้าอกเข้าใจมนุษย์ ‘เพศหญิง’ ผ่านการรังสรรค์เครื่องแต่งกายสุดเลิศหรูที่สอดรับกับสรีระอันงดงามที่แตกต่างกันไปของพวกหล่อน แต่สำหรับหญิงคนรัก-และนางผู้เป็นแรงบันดาลใจในผลงานการตัดเย็บ-ของเขาอย่าง อัลมา เอลสัน แล้ว เขาคือมนุษย์ ‘เพศชาย’ เจ้าระเบียบที่เอาอกเอาใจยากเป็นที่สุด และที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ‘ความรัก’ ที่เขามอบให้เธอดันพ่วงติดมากับกฎเกณฑ์การใช้ชีวิตที่เขามักเป็นผู้กำหนดขึ้นเองตามอำเภอใจอยู่เพียงฝ่ายเดียว

ความรักของเรย์โนลด์สเข้าครอบงำชีวิตของอัลมา และจับเธอพลิกคว่ำคะมำหงายจนไม่ทันได้ตั้งตัว เพราะแรกทีเดียว มันทำให้เธอรู้สึกดีที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในโลกของใครสักคน แต่ต่อมา มันกลับพยายามควบคุมเธอ เปลี่ยนแปลงเธอ และบางคราวก็ทำร้ายเธอ …กระทั่งวันหนึ่ง เธอก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับการปฎิบัติเหมือนเมื่อตอน ‘แรกรัก’ อีกต่อไป

ผู้หญิงอย่างเธอจึงหมดความอดทน ก่อนตัดสินใจใช้ ‘เห็ดพิษ’ เป็นตัวช่วย เพื่อทำให้เธอได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ควบคุม ‘เกมแห่งความสัมพันธ์’ และทำให้ผู้ชายอย่างเขากลับมารักเธอจนหมดหัวใจอีกครั้ง

— นั่นคือเรื่องราวชวนน้ำตาตกในจาก Phantom Thread (2017) หนังชิงรางวัลออสการ์ของ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ที่สะท้อนให้เห็นถึง ‘พิษ’ จากสัมพันธ์ ‘สวาท’ ระหว่างคนสองเพศ ซึ่งบีบคั้นให้ฝ่ายหญิงต้องหันมาทำตัว ‘ร้ายๆ’ เพื่อหวังให้ฝ่ายชายรู้จักยอม ‘อ่อนข้อ’ หรือแม้แต่ ‘พ่ายแพ้’ เสียบ้าง


1

ย้อนกลับไปยังช่วงต้นของหนัง มีฉากหนึ่งที่อัลมา (รับบทโดย วิคกี คริปส์) เดินออกมาเรียนรู้วิธีการ ‘เก็บเห็ด’ กับแม่บ้านท่ามกลางแดดอุ่นๆ แถวชายป่าใกล้บ้านชนบทหลังงามของเรย์โนลด์ส (แดเนียล เดย์-ลูอิส) คนรักของเธอที่สืบทอดวิชาตัดเย็บมาจากแม่และนำมาใช้เปิดห้องเสื้อจนโด่งดัง ซึ่งถึงแม้ว่าหนุ่มเจ้าบ้านจะไม่เคยนึกอยากแต่งงานกับผู้หญิงคนไหนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน แต่เขาก็ยัง ‘พิศวาส’ เธอมากพอถึงขนาดเชิญชวนให้มาอยู่ร่วมกันใน ‘พื้นที่ของเขา’ ทั้งห้องเสื้ออันทรงเกียรติที่แม้แต่เชื้อพระวงศ์ก็ยังต้องแวะเวียนมาใช้บริการ และบ้านชนบทอันสงบเงียบที่เขาไม่เคยเปิดต้อนรับใครพร่ำเพรื่อ

ความสัมพันธ์ตั้งต้นของคนทั้งคู่จึงแลดูสมถะ สวยงาม และเติบโตไปตามครรลอง – คล้ายกับเห็ดที่อัลมากำลังก้มเก็บลงตะกร้าอย่างเพลิดเพลินใจ

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะตามธรรมชาติแล้ว ‘เห็ด’ คือชีวอินทรีย์-หรือหากกล่าวอย่างเจาะจงก็คือ ‘เชื้อราชั้นสูง’-ประเภทหนึ่งที่หากมองจากภายนอกแล้วช่างดู ‘รักสันโดษ’ และ ‘ไม่มีพิษภัย’ เนื่องจากมันมักผุดโผล่ขึ้นมาตามบริเวณซอกหลืบหรือพื้นที่อับชื้นเล็กๆ บนผืนดินผืนป่า ภายใต้รูปลักษณ์ที่มีเพียงก้าน (Stipe) และหมวก (Pileus) เท่านั้น โดยเห็ดจะงอกเงยขึ้นมาได้ภายในระยะเวลาแค่ชั่วข้ามคืนหากพวกมันอยู่ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งจากระดับความชื้นและแหล่งอาหารที่พอเพียง แถมยังสามารถแพร่พันธุ์ออกไปในวงกว้างผ่านสปอร์ (Spore) -อันเปรียบกับเมล็ดของพืช- ที่ล่องลอยไปในอากาศได้ด้วย

แต่กระนั้น เมื่อลองพิจารณาในเชิงสัญญะ ดร.เดนิส เบนจามิน นักพยาธิวิทยาผู้เขียนหนังสือ Mushrooms: Poisons and Panaceas (1995) กลับอธิบายเอาไว้ว่า เห็ดมีความหมายที่หลากหลายกว่าที่เราคิด และสามารถถูกตีความได้แตกต่างกันออกไปตาม ‘ความเชื่อ’ ในแต่ละพื้นถิ่นของโลก ยกตัวอย่างเช่น สังคมยุโรปตะวันตกมองมันเป็น ‘ลางร้ายที่นำไปสู่ความตาย’ ขณะที่สังคมเอเชียกลับมองมันเป็น ‘เครื่องหมายของความศักดิ์สิทธิ์’ เป็นต้น — ด้วยเหตุนี้ เห็ดจึงมีโอกาสเป็นได้ทั้ง ‘สิ่งดี’ และ ‘สิ่งชั่วร้าย’ ในสายตาของผู้คนบนโลก

นอกจากนี้ เขายังแจกแจงถึงข้อเท็จจริงอีก 3 ประการของเห็ด-ซึ่งสามารถสะท้อนถึงความหมายทั้งสองด้านนี้ของมันได้ด้วย นั่นคือ หนึ่ง, เห็ดช่วยวางกลไกการรีไซเคิล (Recycle – การแปรสภาพแล้วนำกลับมาใช้ใหม่) ให้แก่ระบบนิเวศตลอดมา (เพราะมันช่วยย่อยสลายสสารอื่นที่ดูจะหมดประโยชน์แล้ว); สอง, เห็ดมีปฏิสัมพันธ์กับพืชบนโลกมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ (เพราะมันมักขึ้นอยู่ตามโคนต้นไม้และคอยแลกเปลี่ยนสารอาหารกันไปมา เช่น เห็ดให้น้ำและแร่ธาตุแก่ต้นไม้ ส่วนต้นไม้ก็ให้น้ำตาลแก่เห็ด) และ สาม, เห็ดเป็น ‘ปรสิต’ (Parasite) ที่อาศัย-และอาจถึงขั้น ‘ทำลาย’-เนื้อเยื้อของพืชหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในการเอาตัวรอด

ฉะนั้น เห็ดจึงไม่ได้เป็นแค่ชีวอินทรีย์รูปทรงน่ารักน่าชังที่อาศัยอยู่อย่างเจียมตัวไปวันๆ อย่างที่เราเคยเข้าใจ …หากแต่มันยังมีสถานะเป็นเสมือน ‘ศัตรูตัวร้าย’ หรือแม้แต่ถูกใช้เป็น ‘อาวุธ’ สำหรับประหัตประหารสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นได้เช่นกัน


2

เมื่อวันเวลาผันผ่าน ความรักของทั้งคู่ก็เริ่มผันแปร เมื่ออัลมาตระหนักว่า โดยเนื้อแท้แล้ว เรย์โนลด์สคือผู้ชายที่ชอบยึดเอาความคิดของตนเป็น ‘ศูนย์กลาง’ เสมอ และไม่ชอบให้ใครทำอะไรนอกเหนือไปจากแบบแผนที่เขาก่อร่างสร้างไว้ จากชีวิตการทำงาน (ชุดสตรีฝีมือเขามีไว้สำหรับลูกค้าที่คู่ควรและภักดีกับร้านเท่านั้น) จนถึงชีวิตคู่ระหว่างเขากับเธอ (ทั้งคู่ขัดแย้งกันตั้งแต่เรื่องมาตรฐานความดีงามของเนื้อผ้า ไปยันเรื่องที่เธอทาเนยบนขนมปังกรอบจนเสียงดังแกรกกรากน่ารำคาญในมื้อเช้า – อันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่พี่สาวของฝ่ายชายออกปากเตือนฝ่ายหญิงว่า “ถ้ามื้อเช้าของเขารวนแล้ว มันก็คงยากที่เขาจะกลับมาอารมณ์ดีได้อีกตลอดวัน” ก่อนที่สงครามความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นบนโต๊ะอาหารอีกวันแล้ววันเล่า) ซึ่งแตกต่างจากตอนที่พวกเขาตกหลุมรักกันเมื่อแรกเห็นในห้องอาหารของโรงแรมแห่งหนึ่งราวกับหนังคนละม้วน เพราะในตอนนั้น เขายังเป็นเพียงลูกค้าหนุ่มสุดเนี้ยบที่ทำตัวอ่อนโยนกับเธอมากกว่านี้ และเธอก็ยังเป็นแค่สาวเสิร์ฟซื่อใสที่ปฏิบัติต่อ ‘เด็กชายผู้หิวโหย’ ในตัวเขาอย่างรักใคร่เอ็นดู

ดังนั้น เมื่อเรย์โนลด์สค่อยๆ กีดกันเธอออกไปด้วยกฎเกณฑ์สารพัด และมีทีท่าว่าอยากจะกลับไปใช้ชีวิตแบบตัวคนเดียวที่ตนสามารถควบคุมได้โดยไม่ต้องมีตัวแปรอย่างอัลมามาคอยขัด มันก็ยิ่งทำให้ฝ่ายหญิงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะเธอไม่สามารถดูแลฝ่ายชายผู้เป็นที่รักได้ตามวิถีทางที่เธอต้องการ และเมื่อเธอพยายาม ‘เซอร์ไพรส์’ เขาด้วยอาหารมื้อค่ำอย่างเมนูหน่อไม้ฝรั่งย่าง…ซึ่งดันใส่ ‘เนย’ -ที่เธอชอบ แต่เขาไม่เคยชอบ- ลงไปด้วย ความสัมพันธ์ของพวกเขาจึงเหมือนเดินทางมาถึง ‘จุดแตกหัก’ – มันทำให้เขา ‘บอกเลิก’ ด้วยเหตุผลที่ว่าเธอทำให้แบบแผนในการใช้ชีวิตเขาต้องพังทลาย และนั่นก็ทำให้สาวเจ้าทั้งโกรธทั้งเสียใจจนอยากเดินออกไปจากโลกของเขาจริงๆ

แต่ภายในใจลึกๆ อัลมาก็ยังหวาดวิตกเพราะกลัวการถูกทอดทิ้งและการต้องกลับไปอยู่เพียงลำพังอีกหน เธอจึงหยิบบทหนึ่งในหนังสือที่ว่าด้วยการแบ่งแยกประเภท ‘เห็ดที่กินได้/กินไม่ได้’ ขึ้นมาอ่าน และออกไปเก็บ ‘เห็ดพิษ’ -ที่มีฤทธิ์แค่ทำให้ปวดท้องอย่างหนักแต่ไม่ถึงแก่ชีวิต- มาบดบี้โปรยลงในกาน้ำชาที่เรย์โนลด์สต้องดื่มทุกเช้า ซึ่งส่งผลให้เขาต้องล้มป่วยขณะดำเนินการตัดเย็บชุดแต่งงานครั้งสำคัญ และนั่นก็ทำให้เขาเริ่มเล็งเห็นว่าหากปราศจากเธอคอยมาดูแล-ราวกับแม่-ในยามที่เขาเจ็บป่วยหรืออ่อนแอ ชีวิตก็คงจะน่าหดหู่เดียวดายอยู่ไม่น้อย

สุดท้าย, ด้วยอานุภาพอันรุนแรงของพิษจากเห็ด – เธอจึงสามารถเข้าควบคุม ‘เด็กน้อย’ คนนี้ได้ และถูกเขาขอแต่งงานสมดังใจปรารถนา

เห็ดพิษจึงเป็นเสมือนกับ ‘อาวุธ’ ของอัลมาในสงครามที่เรียกว่า ‘ความรัก’ ไปโดยปริยาย

ผู้กำกับอย่างพอล โธมัส แอนเดอร์สันได้ไอเดียในการสร้างหนังเรื่องนี้-รวมถึงการเขียนฉากดังกล่าว-ขึ้นมาจากประสบการณ์ตรงในตอนที่เขาล้มป่วยและภรรยาที่เป็นนักแสดงอย่าง มายา รูดอล์ฟ ต้องมาคอยประคบประหงม ซึ่งทำให้เขาเกิดจินตนาการสุดบรรเจิดขึ้นมาว่า หากภรรยาผู้อ่อนโยนที่ดูแลเขาอย่างเอาใจใส่อยู่นี้ ต้องการ ‘ยื้อ’ อาการป่วยของเขาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อ ‘ควบคุม’ เขาเอาไว้ภายใต้สภาพจิตสภาพกายที่ไร้อำนาจต่อรอง และเพื่อแสดงให้เห็นว่า ‘ความรัก’ ของเธอนั้นช่างยิ่งใหญ่จนเขาต้องสำนึกในบุญคุณล่ะ มันจะสามารถสะท้อนถึงความสัมพันธ์ฉันสามี-ภรรยาที่กลายมาเป็นสงครามแย่งชิงอำนาจระหว่างชาย-หญิงได้ชัดเจนขึ้นหรือไม่ และจะเป็นอย่างไรหากผู้ชายที่เคยกุมอำนาจภายในบ้านกำลังถูกผู้หญิงวางแผนตลบหลังเพื่อ ‘ทวงคืนอำนาจ’

เพื่อบอกว่าผู้หญิงทุกคนไม่ได้ ‘ใจดี’ กับผู้ชายของเธอ-เหมือนภรรยาของแอนเดอร์สัน-เสมอไป


3

ในช่วงปีสองปีก่อนที่หนังเรื่องนี้จะออกฉาย คนทำหนังอีกบางรายก็ต่างพร้อมใจกันนำ ‘เห็ดพิษ’ มาใช้เป็น ‘อาวุธ’ ของตัวละครหญิงในหนัง ทั้ง Lady Macbeth (2016) ของ วิลเลียม โอลด์รอย และ The Beguiled (2017) ของ โซเฟีย คอปโปลา เพื่อต่อกรกับตัวละครชายที่เข้ามาคุกคามชีวิต/ขัดขวางความปรารถนาของพวกเธอผ่านการ ‘วางยา’ ด้วยกันทั้งสิ้น (เพราะกล่าวกันว่าพิษจากเห็ดคือ ‘เครื่องมือสังหาร’ ที่ยากจะใช้เป็นหลักฐานชี้ชัดในทางอาชญาวิทยาได้)

ทว่ากลับไม่มีหนังเรื่องไหนที่สามารถบอกเล่ามันออกมาได้อย่าง ‘เลือดเย็น’ และ ‘หลอกหลอน’ เท่ากับหนังเรื่องนี้ของแอนเดอร์สัน

เพราะในช่วงท้ายๆ ของ Phantom Thread อัลมาตัดสินใจโยน ‘เนย’ ลงในกระทะอย่างไม่แยแส เธอไม่สนอีกต่อไปว่าเรย์โนลด์ส-ที่แม้แต่งงานแล้วแต่ก็ยังทำสงครามประสาทกับเธออย่างไม่หยุดหย่อน-จะกิน ‘สิ่งที่เขาเกลียด’ ได้หรือไม่ โดยหลังจากที่ไข่ไก่ถูกตอกใส่ถ้วยแล้วตีให้เข้ากัน เห็ดก็ถูกหั่นด้วยมีดเล่มบางอันคมกริบ และโดนความร้อนเข้าเชื่อมประสานจนกลายเป็น ‘ออมเล็ตต์’ (Omelette หรือก็คือ ‘ไข่เจียว’ แบบตะวันตก) สีเหลืองทองที่โรยด้วยใบพาร์สลีย์สับปิดท้าย — องค์ประกอบทั้งภาพ (ที่จับจ้องการตระเตรียมอาหารอย่างเย็นชา-แม้ว่าจะมีรอยยิ้ม-ของตัวละครหญิงอย่างอัลมา), เสียง (ดนตรีจากเครื่องสายที่สร้างบรรยากาศความรู้สึกหดหู่ กดดัน ไม่น่าไว้วางใจ) และแสง-สี (อันหม่นมืดทีึมทึบ – จนดูเหมือนตัวละครชายอย่างเรย์โนลด์สที่นั่งรอจะหายใจได้ไม่สะดวกนัก) ทำให้ฉากการประกอบอาหารในเมนู ‘ออมเล็ตต์เห็ดพิษ’ ของอัลมานี้ กลายเป็นฉากที่ ‘สยองขวัญสั่นประสาท’ ราวกับคนทั้งคู่จะลุกขึ้นมา ‘ฆ่า’ กันเมื่อไหร่ก็ได้ มากกว่าจะเป็นฉากที่ ‘นุ่มนวลชวนฝัน’ เหมือนคราวที่พวกเขาปิ๊งรักกันในห้องอาหารแห่งนั้น

“ฉันอยากให้คุณล้มป่วย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อ่อนโยน และเปิดใจ โดยมีเพียงฉันที่คอยดูแล…” อัลมาเอื้อนเอ่ย “…คุณอาจอยากตาย แต่คุณจะไม่ตายหรอก คุณแค่ต้องรู้จักสงบจิตสงบใจลงเสียบ้าง”

การผสมผสานเห็ดพิษเข้ากับออมเล็ตต์-เมนูเรียบง่ายที่ใครๆ ก็รู้จักและแพร่หลายไปทุกครัวเรือน-จึงถือเป็นการนำเสนอ ‘ความสัมพันธ์อันเป็นพิษ’ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันผ่านอาหารของตัวละครได้อย่างชาญฉลาด ซึ่งก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นไปอีก เมื่อรากศัพท์ของคำว่า Omelette ที่เริ่มใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 16 นั้น มาจากคำว่า Alemelle ที่แปลว่า ‘ใบมีด’ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบกับรูปทรงอันบางเฉียบของไข่หลังปรุงเสร็จ — ด้วยเหตุนี้ เมนู ‘ออมเล็ตต์เห็ดพิษ’ ในหนังจึงอาจเปรียบได้กับอาวุธที่อัลมาใช้ ‘ทิ่มแทง’ สามีของเธอในอีกแง่หนึ่ง

และมันก็ยังเป็น ‘อำนาจ’ ที่ทำให้เรย์โนลด์ยอมโอนอ่อนผ่อนตามและใช้ชีวิตคู่ร่วมกับอัลมา-ผู้ที่สามารถเข้ามา ‘แทนที่’ แม่ผู้อบอุ่นที่เขาไม่เคยลืม-ต่อไปได้อีกนานตราบเท่าที่เธอต้องการ


4

เห็ดหลายชนิดอาจมีพิษจนสามารถคร่าชีวิตสิ่งอื่นๆ บนโลกได้ แต่ในขณะเดียวกัน เห็ดส่วนใหญ่ก็ยังคงคุณสมบัติด้านบวกอีกประการหนึ่งเอาไว้ด้วย นั่นคือการ ‘ดูดซับพิษ’ ออกจากผืนดินรอบข้างที่มันอาศัยอยู่ — ซึ่งหากมองในแง่นี้ การวางยาคนรักด้วยเห็ดพิษของอัลมาใน Phantom Thread ก็อาจมีความหมายเทียบเคียงกับการพยายาม ‘ชะล้างตัวตนอันเป็นพิษ’ ของผู้ชาย-ที่มักยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล-อย่างเรย์โนลด์สออกไปได้เช่นกัน

จึงไม่แปลกที่จะมีนักวิจารณ์บางรายออกมาตีความว่า นี่คือหนังที่ว่าด้วยเพศหญิงที่ลุกขึ้นมาต่อต้านความคิดแบบ ‘ชายเป็นใหญ่’ ที่ยึดครองสังคมกระแสหลักมาช้านาน และทำให้เพศชายมักออกมาทำตัว ‘เป็นพิษ’ ด้วยการระราน ‘คนอื่น’ ไปทั่ว

ยังมีผู้ชายอีกจำนวนไม่น้อยที่ชอบแสดง ‘อำนาจ’ ของตนผ่านการใช้หน้าที่การงานและตำแหน่งแห่งที่ในครอบครัวมา ‘กดขี่’ ผู้อื่นให้ยอมศิโรราบ ซึ่งหลายครั้งก็เป็นผลมาจากการที่พวกเขารู้สึกถึง ‘ความอ่อนแอ’ และ ‘ความล้มเหลว’ ในชีวิตของตน และยอมรับไม่ได้จนต้องหาหนทางแสดงความเข้มแข็งแบบผิดๆ เพื่อปกปิดมันเอาไว้ หรือถึงขั้นทำร้ายคนรอบตัวด้วยการพยายามควบคุมพวกเขาให้ได้ดั่งใจแทน

ทว่าเอาเข้าจริงแล้ว ก็คงไม่ใช่แค่เพศชายเท่านั้นที่ ‘เป็นพิษ’ ในโลกของความสัมพันธ์ เพราะไม่ว่าเพศหญิงหรือเพศไหนๆ ก็สามารถเป็นพิษกับคนรอบข้างได้ทั้งนั้น หากเราเอาแต่ตั้งตนเป็นใหญ่โดยไม่ยอมรับฟังใครคนอื่น – เหมือนกับที่อัลมาค่อยๆ ทำตัวร้ายกาจกับเรย์โนลด์สโดยการใช้เห็ดพิษมาสร้างความทุกข์ให้แก่เขาอยู่หลายคราว

เพียงเพราะต้องการให้อีกฝ่าย ‘รัก’ ในแบบที่ตน ‘รัก’ หรือทำตัว ‘ดี’ ในแบบที่ตนเห็นว่า ‘ดี’

มนุษย์เรามักเข้าข้างตัวเอง มองเห็นตัวเองเป็นทั้ง ‘ผู้ที่ถูกต้อง’ และ ‘ผู้ที่ถูกกระทำ’ หนักเข้าก็ใช้เหตุผลนี้เป็นข้ออ้างในการลุกขึ้นมาเป็น ‘ผู้กระทำ’ เสียเองเพื่อแก้แค้น ‘ฝ่ายตรงข้าม’ อย่างสาสม กลายเป็นการทำร้ายชีวิตของกันและกันจนส่งผลให้ความสัมพันธ์ต้องพังภินท์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย — ทั้งที่เราสามารถตั้งสติใคร่ครวญและทำตัวให้เป็นเหมือนกับเห็ดที่สามารถ ‘ดูดซับพิษ’ ออกจากความสัมพันธ์แย่ๆ ระหว่างกันได้แท้ๆ

มันคงจะดีกว่าไม่น้อย, หากเรายอมหันมาทำความเข้าใจกับความบกพร่องและปัญหาที่เรามีต่อกัน ก่อนที่ ‘ความสัมพันธ์อันเป็นพิษ’ -ประหนึ่งเมนูเห็ดจานแล้วจานเล่าของอัลมา- จะทำให้เราต้องป่วยไข้ไร้สุข

และพากันฉุดกระชากลากถูชีวิตที่เหลือให้ต้องคอยรบราอยู่ในสงคราม ‘พิษ’ สวาทนี้ไปชั่วกัปชั่วกัลป์

ความเสียสติของผู้ใหญ่ ในโลก โรอัลด์ ดาห์ล

สังคมต่างตกตะลึงกันไปแล้วจากภาพกล้องวงจรปิดห้องเรียนชั้นอนุบาลที่คุณครูกระทำทารุณต่อเด็ก ซึ่งในโลกภาพยนตร์คงเทียบเคียงได้กับพฤติกรรมของครูทรันช์บูลแห่ง Matilda หนังปี 1996 ของ แดนนี เดอ วิโต ซึ่งมีให้ดูใน Netflix อยู่ตอนนี้ 

ครูทรันช์บูลแทบจะติดทุกการจัดอันดับครูผู้ชั่วร้ายที่สุดในโลกภาพยนตร์ พิสูจน์ได้จากวีรกรรมของเธอไม่ว่าจะเป็นการที่ไม่ชอบให้เด็กถักเปียมาโรงเรียน เลยจับเปียเหวี่ยงน้องเข้าไปในสวนดอกไม้, หยิกหูนักเรียนตัวน้อยแล้วโยนออกนอกหน้าต่าง, บังคับเด็กอ้วนให้กินเค้กก้อนโตจนหมดอย่างทรมาน และขังเดี่ยวเด็กดื้อในห้องแคบๆ ที่มีตะปูทิ่มเข้าไปในนั้น 

ตัวละครทรันช์บูลเป็นผลผลิตจากวรรณกรรมเยาวชนของ โรอัลด์ ดาห์ล ซึ่งเป็นงานขาดทุนประจำปีที่มันฉายของค่ายโซนี่ แต่มันกลับเป็นความทรงจำสุดพิสดารของเด็กยุค 90 เพราะภายใต้หน้าหนังสุดฟรุ้งฟริ้งมันกลับสอดแทรกฉากชวนช็อคดังที่ยกตัวอย่างมาทั้งเรื่อง ไม่ต่างนักกับงานจากดาห์ลเรื่องอื่นๆ 

ใน Charlie and the Chocolate Factory เมื่อ วิลลี วองกา เจ้าของโรงงานช็อคโกแลตเปิดอาณาจักรให้เด็กๆ ที่ถูกเลือกได้ตื่นตะลึง เขาใช้โอกาสพิเศษนั้นสั่งสอนเด็กที่ทำตัวไม่น่ารักได้อย่างชวนขนหัวลุก ซึ่งหากแปรเป็นหนังสยองขวัญมันอาจเป็นฝันร้ายของน้องๆ ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งความสนุกเกินเบอร์ที่ว่าอาจถูกต้องแล้วเมื่อเจอกับผู้กำกับสุดพิลึกอย่าง ทิม เบอร์ตัน 

ทั้ง Matilda และ Charlie and the Chocolate Factory คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่าเด็กในวรรณกรรมของดาห์ลต้องผจญกับความเสียสติของผู้ใหญ่ขนาดไหน เพื่อจะปลุกให้เด็กลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับมันอย่างกล้าหาญ แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นยานำ้เชื่อมรสหวานที่กล่อมเกลาให้น้องๆ ประพฤติตนอยู่ในร่องในรอยที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็น 

วองกาเลือกมอบรางวัลชิ้นโตให้กับ ชาร์ลี บัคเก็ต หนูน้อยสู้ชีวิตที่ไม่ได้ทะยานอยากแบบเด็กคนอื่นๆ ขณะที่มาทิลด้าใน Matilda ก็อาศัยช่วงเวลาที่ถูกละเลยจากครอบครัว ใฝ่หาความรู้จากหนังสือกองโตในห้องสมุด จนมีเชาวน์ปัญญาเหนือเด็กทุกคน และได้รับของขวัญเป็นพลังวิเศษกับคำชมอันสวยงามจากครูใจดี เจนนิเฟอร์ ฮันนี

ของขวัญในโลกของดาห์ลจึงมีไว้ให้กับเด็กที่ใฝ่ดีตามความต้องการของพ่อแม่เท่านั้น ผลงานเหล่านี้จึงได้รับเลือกจากผู้ปกครองเสมอมา เวลาต้องการเรื่องสนุกๆ สักเรื่อง เพื่อเล่าให้เด็กน้อยฟังก่อนนอน เนื่องจากจุดเริ่มต้นของดาห์ลในการเขียนหนังสือ ก็มาจากเรื่องสนุกๆ ที่สอดแทรกกุศโลบายที่เขาเล่าให้ลูกฟังทุกคืนนั่นเอง 

ดาห์ลเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับบีบีซีเมื่อปี 1972 ว่า “เรื่องเล่าส่วนใหญ่มันเป็นความเลวร้าย แต่ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ผมเล่าให้พวกเขาฟัง มันจะมีประกายบางอย่างที่ส่องออกมาจากแววตาเขา เมื่อไหร่ที่คืนต่อมาเขารบเร้าให้เราเล่าเรื่องเมื่อคืนก่อนหน้านั้นอีก มันก็จะเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้นๆ” 

นั่นคือจุดเริ่มต้นให้ดาห์ลลุกขึ้นมาเขียนวรรณกรรมเด็ก James and the Giant Peach ที่เล่าเรื่องของหนูน้อยผู้หนีจากความโหดร้ายในครอบครัว เข้าไปผจญภัยในลูกพีชยักษ์ จนได้เพื่อนใหม่เป็นเหล่าสรรพสัตว์ใจดี โดยมันถูกนำมาทำเป็นหนังผสมสต็อปโมชั่น ออกฉายในปีเดียวกับ Matilda โดยผู้กำกับ เฮนรี เซลิก ในการควบคุมของ ทิม เบอร์ตัน ชุดเดียวกับที่ทำ The Nightmare Before Christmas นั่นเอง 

How dare you disagree with us!” ―Aunt Sponge to James (James and the Giant Peach)

เอกลักษณ์ของวรรณกรรมเด็กตามครรลองดาห์ล คือเขามักเล่าผ่านมุมมองเด็กที่มีตัวร้ายเป็นผู้ใหญ่ ด้วยอารมณ์ขันและการหักมุมอันแพรวพราว เพื่อนำไปสู่ชัยชนะของเด็กๆ ในท้ายที่สุด จนทำให้ในขณะที่งานของเขาได้รับความนิยมจากผู้ปกครองและลูกหลาน ก็จะถูกโจมตีจากนักวิจารณ์อีกกลุ่มหนึ่งด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะท่าทีเหยียดเพศและชาติพันธุ์โดยไม่รู้ตัว

ตัวอย่างเช่น ชาวอุมปาลุมปาตัวป่วนใน Charlies and the Chocolate Factory ก็มีรูปลักษณ์คล้ายชาวพิกมี, ตัวละครหญิงในงานของเขาก็มักมีความร้ายกาจไม่โจ่งแจ้งก็แอบซ่อนเอาไว้ หรือใน Revolting Rhymes ที่ดาห์ลตั้งใจจิกกัดล้อเลียนขนบเทพนิยายดิสนีย์ ก็ให้ภาพเจ้าหญิงแสนดีดุจดั่งโสเภณีข้างบ้าน เป็นต้น 

จะกล่าวว่าผลผลิตความสยองสีลูกกวาดในงานของดาห์ลบ่มเพาะมาตั้งแต่เขาเกิดก็คงไม่ผิดนัก เขาสืบเชื้อสายนอร์เวย์มาจากครอบครัวแต่เติบโตในเวลส์ เขาเสียพ่อไปตั้งแต่เด็ก โดยได้รับการปลูกฝังจริยธรรมจากแม่ด้วยนิทานพื้นบ้านนอร์เวย์ ซึ่งก็เต็มไปด้วยความรุนแรงในตัวเอง ต่อมาก็ไปเรียนในโรงเรียนประจำ ซึ่งที่นี่เองที่ทำให้เขารู้สึกถูกกดทับจากความรุนแรงในวัฒนธรรมของโรงเรียน และพอโตขึ้นก็ออกไปเผชิญความโหดร้ายในสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยการเข้าร่วมกองทัพอากาศ เครื่องบินของเขาถูกยิงตกในลิเบีย และได้รับบาดเจ็บในซีเรีย ความโหดร้ายของโลกใบนี้ที่เขาเผชิญจึงคลี่คลายเป็นความน่าขนลุกในวรรณกรรมนั่นเอง 

ดาห์ลเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1990 แต่งานของเขากลับไม่เคยตาย เพราะมันถูกหยิบมาชำระใหม่อยู่เสมอด้วยแง่มุมที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะสถานะวรรณกรรมที่ถูกใช้ปลูกฝังจริยธรรมเด็กทั่วโลก ยิ่งเป็นสิ่งที่ควรได้รับการทบทวนอย่างถึงที่สุด อย่างไรก็ดีคุณค่าที่เป็นอมตะในงานเขียนเหล่านี้คือการแสดงภาพอันโหดร้ายของโลกล้ำจินตนาการ เพื่อให้เด็กๆ พร้อมไปเจอของจริงที่รอต้อนรับพวกเขาในโลกกว้างนั่น 

Whitney Cummings : Can I Touch It? (2019) นางสาวหุ่นยนต์

ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบรรดานักเรียนนักศึกษาช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้คือ สัดส่วนของผู้ชุมนุมเพศหญิงมีมากกว่าผู้ชุมนุมเพศชายอย่างมีนัยสำคัญ ข้อสังเกตนี้มาพร้อมกับแนวคิดที่ว่า วัยรุ่นหญิงเหล่านี้นี่แหละ คือเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการกดขี่อย่างเข้มข้นที่สุดในบ้านนี้เมืองนี้ การพูดคุยเรื่องแนวคิดสตรีนิยม อย่างแพร่หลายทั้งบนเวทีทางการเมืองและในหมู่ประชาชนโซเชียลเนตเวิร์กยิ่งตอกย้ำเรื่องนี้อย่างหนักแน่น

เพื่อเป็นการตอบรับบทสนทนาของสังคมเรื่องสิทธิสตรีดังที่กล่าวถึง เราจะขอหยิบยกโชว์ที่ชื่อว่า Can I Touch It? ของวิทนีย์ คัมมิงส์อันว่าด้วยเรื่องผู้หญิงและหุ่นยนต์ (?) ในปี 2019 มาพูดถึงกันในฐานะการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนที่พูดถึงหัวอกลูกผู้หญิงด้วยลีลาสุดแสบคัน และทิ้งปมประเด็นน่าขบคิดเกี่ยวกับขบวนการสิทธิสตรีสมัยใหม่เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ก่อนจะพูดถึงตัวโชว์ ย้อมูลหนึ่งที่ควรจะรู้เอาไว้ก็คือ วิทนีย์ คัมมิงส์ คือหนึ่งในผู้สร้างและผู้เขียนบท 2 Broke Girls ซีรีส์ซิทคอมที่ดำเนินเรื่องผ่านสาวเสิร์ฟวัยรุ่นถังแตกที่มีความฝันจะเปิดร้านคัพเค้กในนิวยอร์ก และโชว์ Can I Touch It? นี้ได้พี่ใหญ่ผู้ขึ้นชื่อเรื่องมุกตลกสุดแมนอย่างบิล เบอร์ มานั่งแทนร่วมอำนวยการผลิต 

มุกตลกส่วนใหญของวิทนีย์ คัมมิงส์ในโชว์นี้จะเป็นการตอบคำถามที่ผู้ชายมักจะถามกันบ่อยๆ เมื่อมีการพูดถึงเรื่องสิทธิสตรี หนึ่งในคำถามที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยก็คือ หากว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายเอาเปรียบเสียเองล่ะ เราจะทำยังไงกับเรื่องพวกนี้

“ตอนนี้เราอยู่ในภาวะที่ทุกคนต้องห้ามตัวเองไม่ให้พูดไม่ดีกับผู้หญิง พอมีใครเริ่มว่าผู้หญิงปุ๊บ ทุกคนมีอันต้องประสาทกินกันไปหมด อันนี้เป็นเรื่องไม่ดีมากๆ เราต้องกลับไปที่จุดที่เราเตือนกันได้ว่าทำแบบนี้มันไม่โอเค 

“มีใครในนี้มีเพื่อนที่คิดว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ แต่จริงๆ แล้วเป็นคนนิสัยเสียบ้างมั้ยคะ ของแบบนี้มันต้องมีคนคอยเตือนกันบ้างนะ

“ฉันมีเพื่อนคนหนึ่งที่ชอบไปเมาที่เทศกาลดนตรี 5 วันรวด แล้วก็กลับมาบ่นว่า ‘ทำไมไม่เจอผู้ชายดีๆ บ้างเลยวะ’ มันมีเว้ยมึง เขาแค่ไม่ได้ไปอยู่แถวที่ที่มึงไปเท่านั้นเอง ผู้ชายดีๆ ที่ไหนเขาจะยืนดูมึงเมาเละเทะอยู่ในงานเบิร์นนิ่งแมนวะ”

แม้ว่าการเหมารวมจะเป็นเครื่องมือหากินชิ้นสำคัญของนักแสดงตลก แต่คัมมิงส์ก็ก็ยืนยันหนักแน่นว่าสิ่งนี้ทำงานได้ผลดีที่สุดเฉพาะบนเวทีตลกเท่านั้น ในความเป็นจริงการเหมารวมผู้ชายเป็นอย่างนั้น ผู้หญิงเป็นอย่างนี้นั้นไม่สนุกและไม่ขับเคลื่อนการสนทนาไปในทิศทางที่ควรจะเป็น (ในแง่ของการขับเคลื่อนสังคม) จุดที่น่าสังเกต คือการเหมารวมหลายครั้งตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่สะท้อนความไม่เป็นธรรมบางประการ

“ทุกครั้งที่ฉันได้ยินผู้ชายบ่นเรื่องนักขุดทอง (ผู้หญิงที่เกาะผู้ชายรวยๆ กิน) ฉันก็จะนึกเสมอว่า ผู้ชายได้ออกมาขุดทองกันจริงๆ ตั้งแต่สมัยที่ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านนะ กว่าพวกเราจะทำมาหากินได้เองก็ไม่มีทองเหลือให้ขุดแล้ว พวกนั้นไม่ยอมแบ่งเลย เพราะอย่างนั้นผู้หญิงหลายคนเขาก็เลยเลือกทางนี้ไง

แต่ปัญหานี้มีทางแก้นะ ครั้งหน้าคุณลองเดตกับผู้หญิงที่เขามีงานมีการทำดูดีมั้ยล่ะ พวกนี้มีทองเป็นของตัวเอง พวกคุณก็แค่เลิกอวดรวย เลิกเดตกับเด็กอายุสิบแปดเท่านั้นเอง”

นอกจากบรรดามุกตลกแสบๆ แล้ว สิ่งที่เป็นจุดขาย ของการแสดงครั้งนี้คือการที่หุ่นยนต์เซ็กซ์ขนาดเท่าตัวคนจริงที่ถอดแบบออกมาจากคัมมิงส์ปรากฏตัวออกมาในฐานะแขกรับเชิญ เธอยกย่องว่าเจ้าสิ่งนี้แหละคือนวัตกรรมที่จะมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิง แบบเดียวกันกับที่เครื่องล้างจานและเครื่องดูดฝุ่นเคยทำมาแล้ว นั่นคือทำให้ผู้หญิงมีเวลาว่างมากขึ้น และใช้ชีวิตนอกบ้านได้เยอะกว่าเดิม “หวังว่ามันจะเป็นของที่ขายได้ทั่วไปในเร็ววันนะ ฉันตั้งตารอจะได้พูดว่า ที่รักวันนี้เหนื่อยจังเลย เธอไปเอากับอาร์ทูดีทูก่อนได้มั้ย”

ครึ่งชั่วโมงสุดท้ายของโชว์เป็นชุดมุกตลกที่มาพร้อมกับข้อเท็จจริงชวนตะลึง เช่น คนที่สั่งทำส่วนใหญ่ยอมจ่ายเงินเพิ่ม 1,400 เหรียญเพื่อให้หุ่นยนต์มีขนในที่ลับ, หุ่นยนต์ทุกตัวมีหัวนมสูงต่ำไม่เสมอกัน, เจ้าของหุ่นยนต์เซ็กซ์คือชายไม่กี่พวกบนโลกที่รู้ราคาของอายแชโดว์ และผู้หญิงมีส่วนร่วมอย่างมากในการออกแบบหุ่นยนต์เซ็กซ์ ข้อมูลและมุกตลกของคัมมิงส์โคจรอยู่รอบแนวคิดเรื่องความเคารพความแตกต่างในฐานะมนุษย์ซึ่งมักตกหล่นหายไปในบทสนาอันเผ็ดร้อนระหว่างนักสตรีนิยมและผู้โต้แย้ง เธอย้ำอยู่หลายครั้งว่าเธอไม่ได้โกรธ และไม่ได้เกลียดผู้ชาย แต่ความเหลื่อมล้ำอาจถูกมองข้ามไปเมื่อมองจากสายตาของผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์บางอย่างแค่เพียงเพราะเขาเกิดมามีเพศชาย พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องมองข้ามมันไปเฉยๆ เพียงเพราะเขาไม่รู้ตัวว่าเผลอทำร้ายความรู้สึกของใครไปบ้าง  

“ฉันทดลองทิ้งหุ่นยนต์ไว้กับแฟนตัวเองหนึ่งสัปดาห์ แรกๆ เขาก็บอกว่าไม่ชอบไอ้หุ่นนี่เลย รับไม่ได้อย่างแรงตรงที่มันคอยจ้องเขาแปลกๆ ตลอดเวลา ยินดีด้วยนะที่รัก คุณเริ่มเข้าใจการเป็นผู้หญิงขึ้นมาบ้างแล้ว

สายตาแบบนี้แหละที่พวกเราโดนมาตลอดชีวิต”

จะว่าตลกมันก็ตลกใช้ได้ เมื่อวัตถุสำหรับร่วมเพศอย่างหุ่นยนต์นี่แหละ ที่สะกิดเตือนไม่ให้เราเผลอมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ


*คุณสามารถรับชม Whitney Cummings: Can I Touch It? ผ่านทางสตรีมมิ่งได้แล้วที่ Netflix 

The Devil All the Time ศรัทธาบาปในนามของอเมริกาและความรุนแรง

มีอยู่สองสามเหตุผลว่าทำไม The Devil All the Time (2020) หนังดราม่า-ธริลเลอร์ความยาวสองชั่วโมงกว่าที่เน็ตฟลิกซ์นำมาลงฉายนั้นถูกจับตาจากคนดูหนังมากเป็นพิเศษ ข้อแรกๆ อาจเพราะมันรวมนักแสดงเบอร์ใหญ่เกือบสิบคนไว้ในเรื่องเดียวกัน ข้อถัดมาคือมันดัดแปลงจากนิยายขายดีชื่อเดียวกันของ โดนัลด์ เรย์ พอลล็อค และข้อสุดท้าย นี่เป็นการหวนกลับมากำกับหนังยาวอีกครั้งในรอบสี่ปีของ อันโตนิโอ แคมโปส ภายหลังจากที่เขาสำรวจจิตใจอันซับซ้อนและเปราะบางของมนุษย์ใน Christine (2016) ก่อนจะหายหน้าหายตาไปกำกับซีรีส์และนั่งแท่นเป็นโปรดิวเซอร์ให้หนังเรื่องอื่นๆ

ที่ผ่านมา งานกำกับของแคมโปสนั้นมักเข้มข้นด้วยการจ้องมองความวิปริตของตัวละครหลักทั้งจาก Buy It Now (2005) ตามติดชีวิตเด็กสาววัย 16 ที่ขาย ‘เปิดบริสุทธิ์’ ของเธอทางอีเบย์โดยไม่มีจุดประสงค์ใดเป็นสำคัญ, Afterschool (2008) หนังยาวเรื่องแรกของแคมโปส แจ้งเกิด เอซรา มิลเลอร์ ในบทเด็กหนุ่มติดอินเทอร์เน็ตที่กลายมาเป็นพยานรู้เห็นการตายของเพื่อนสาวร่วมชั้นเรียน นำไปสู่ความคลั่งแค้นอันไร้ขีดจำกัด, Simon Killer (2012) ชายที่ออกเดินทางไปยังปารีสหลังเลิกกับแฟนจนได้เข้าไปพัวพันกับโสเภณีสาวอันค่อยๆ ทำให้เราได้เห็นเบื้องหลังอันดำมืดของทั้งคู่ และล่าสุดใน Christine ซึ่งดัดแปลงมาจากชีวิตจริงของ คริสทีน ชับบัค นักข่าวสาวที่ยิงตัวตายออกอากาศเพื่อเสียดสีนโยบายโหยหาเรตติ้งของช่องโทรทัศน์

โดยทั่วไป -ตามประสาคนที่มี มิคาเอล ฮานาเกอ เป็นไอดอลในการทำหนัง- หนังของแคมโปสนั้นมักมีกลิ่นอายความเลือดเย็นและชวนขนลุก เขามักจะหยิบจับองค์ประกอบในหนังมากรีดชำแหละให้มันกลายเป็นเรื่องราวชวนบาดหัวใจ และนั่นเองที่ทำให้ The Devil All the Time น่าจับตาอย่างยิ่ง เพราะมันเต็มไปด้วยส่วนผสมที่จะทำให้เขาหยิบจับมาโหมกระพือให้มันบ้าคลั่งยิ่งกว่าที่ใครจะทำได้ผ่านเรื่องราวของความตาย ศรัทธา ความใคร่และพระเจ้า

ปี 1945 พลทหาร วิลลาร์ด (บิลล์ สการ์สการ์ด) เข้าประจำการในสงครามโลกครั้งที่สองที่เกาะโซโลม่อน และเป็นประจักษ์พยานที่เห็นเพื่อนร่วมทัพถูกทหารญี่ปุ่นตรึงกางเขนทั้งเป็น แม้วิลลาร์ดจะรอดชีวิตจากสงครามนั้นกลับมายังอเมริกาได้ แต่บางอย่างในตัวเขาก็เปลี่ยนไปตลอดกาล เขาไม่ยอมแต่งงานกับ เฮเลน (มีอา วาชิโควสกา) -สาวชาวบ้านเคร่งศาสนาที่แม่อุตส่าห์จับคู่ไว้ให้เนื่องจากอธิษฐานกับพระเจ้าไว้ว่าหากวิลลาร์ดกลับมาอย่างปลอดภัย เธอจะให้เขาแต่งงานกับเฮเลน- แต่กลับไปตกหลุมรักสาวเสิร์ฟใจบุญที่เมืองอื่น ขณะที่เฮเลนแต่งงานกับ รอย (แฮร์รี เมลลิง) นักเทศน์หนุ่มผู้เลื่อมใสในพระเจ้าหมดหัวใจ

อย่างไรก็ตาม ชีวิตของพวกเขาทั้งหมดไม่ได้สงบสุขนัก วิลลาร์ดและภรรยาให้กำเนิดลูกชาย อาร์วิน (ทอม ฮอลแลนด์) ท่ามกลางพายุเคราะห์กรรมห่าใหญ่ที่ซัดเข้ามาในครอบครัวและบีบคอให้วิลลาร์ดกลายเป็นคนบ้าคลั่งพระเจ้าต่อหน้าลูกชาย, เฮเลนและรอยทิ้ง เลอนอรา ลูกสาวคนเดียวของทั้งคู่ไว้กับแม่ของวิลลาร์ด เพื่อที่อีกไม่กี่ปีต่อมา แม่ของวิลลาร์ดจะต้องรับเอาอาร์วินเข้ามาอยู่ด้วยเมื่อเด็กชายเหลืออยู่ตัวคนเดียว จนเมื่อทั้งสองเติบโตขึ้นมาได้พบกับ พริสตัน (โรเบิร์ต แพตตินสัน) นักเทศน์หนุ่มจากแดนไกลกับความเลื่อมใสในพระเจ้าอันน่าพรั่นพรึง

และทั้งหมดนี้ ลี (เซบาสเตียน สแตน) นายอำเภอที่ข้องเกี่ยวกับวงการใต้ดินสกปรก เป็นพยานรู้เห็นความตาย การเปลี่ยนแปลงและความบ้าคลั่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดภายในชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ นำมาสู่โศกนาฏกรรมที่แม้แต่เขาเองก็หยุดยั้งมันไม่ได้

เรื่องราวทั้งหมดวางอยู่บนบริบทความบ้าคลั่งในช่วงรอยต่อของสงครามในอเมริกา ทั้งปลายยุคสงครามโลกครั้งที่สองและเคลื่อนเข้าสู่สงครามเย็น ตามมาด้วยระเบิดขึ้นของลัทธิประหลาดทั่วโลก และปิดท้ายด้วยการที่สหรัฐฯ เดินหน้าเข้าสู่สงครามเวียดนามเต็มตัว “หนังมันเริ่มขึ้นที่จุดจบของสงครามใหญ่ที่นำมาสู่ประสบการณ์เลวร้ายของนายทหารที่เข้าร่วมรบ และปิดท้ายด้วยการที่อีกตัวละครอีกตัวหนึ่งอาจตัดสินใจเข้าร่วมรบในสงครามครั้งใหม่อีกเช่นกัน” แคมโปสบอก “มันคือประเทศที่เพิ่งจะเผชิญจุดจบของสงครามมาแล้วก็ยังจะผลักเราให้ไปสู่สงครามครั้งใหม่ สงครามที่เราไม่ได้อยากเข้าไปร่วมต่อสู้และแลกมาด้วยชีวิตของคนหนุ่มชาวอเมริกันจำนวนมหาศาล ซึ่งนี่เองที่ทำให้คนอเมริกันรุ่นต่อไปเติบโตมาอย่างหวาดหวั่นและเต็มไปด้วยบาดแผลทางใจ”

สิ่งที่น่าสนใจคือสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลานั้นเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมืองและทางสังคม แม้พวกเขาจะได้รับชัยในสงครามโลกครั้งที่สองแต่ก็แลกมากับกลุ่มคนที่ได้รับการทารุณทางจิตใจและร่างกายอย่างรุนแรงกลับมาบ้านเกิด พวกเขาสะบักสะบอมและเคว้งคว้าง กลายเป็นทหารผ่านศึกที่ไม่มีใครจดจำล่องลอยไปในสังคมในฐานะคนไร้บ้าน เดินดุ่มไปตามคาเฟ่เพื่อขอทานแลกเศษเหรียญหรืออาหารประทังชีวิต อย่างเช่นที่วิลลาร์ดซึ่งเพิ่งออกมาจากกรมเฝ้ามองชายแขนพิการรับเงินจากสาวเสิร์ฟไป เขาอวยพรหล่อนด้วยพระวจนะของพระเจ้า และหล่อนตอบรับ วิลลาร์ด -ที่เพิ่งมีภาพจำเป็นร่างของเพื่อนที่ถูกตรึงกางเขน- ตกหลุมรักหล่อนนับแต่วินาทีนั้น และปฏิเสธจะแต่งงานกับเฮเลน หญิงสาวผู้เคร่งครัดในศาสนาที่แม่จัดหาให้เพื่อมาอยู่กินกับสาวเสิร์ฟ ปล่อยให้เฮเลนแต่งงานกับรอย นักเทศน์ที่คลั่งในตัวพระเจ้าและเชื่อว่าพระเจ้าสื่อสารมายังเขาโดยตรง

แม้พวกเขาจะได้รับชัยในสงครามโลกครั้งที่สองแต่ก็แลกมากับกลุ่มคนที่ได้รับการทารุณทางจิตใจและร่างกายอย่างรุนแรงกลับมาบ้านเกิด พวกเขาสะบักสะบอมและเคว้งคว้าง กลายเป็นทหารผ่านศึกที่ไม่มีใครจดจำล่องลอยไปในสังคมในฐานะคนไร้บ้าน 

ความคลั่งในศรัทธาที่ประจวบเหมาะกับห้วงเวลาที่สังคมอเมริกากำลังคลอนแคลนด้วยการขาดที่พึ่งทางใจ ส่งให้ลัทธิแปลกประหลาดกระจายตัวไปทั่ว รอย -ซึ่งเป็นนักเทศน์ที่มีพี่ชายขาพิการจากการอุทิศตนทดสอบศรัทธาของพระเจ้า- เชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจว่าพระองค์สื่อสารมายังเขาโดยตรง จนนำไปสู่ความลุ่มหลงที่ว่าเขาอาจจะฟื้นคืนชีพคน แบบที่พระเจ้ามอบชีวิตคืนให้พระเยซูคริสต์ได้อีกครั้ง และในทางกลับกัน ศรัทธาของรอยก็ไม่ง่อนแง่นแม้ในห้วงเวลาที่เขากำลังเผชิญหน้ากับความเป็นความตายที่เป่าลมหายใจรดต้นคอ มันจึงเป็นความน่าสมเพชที่อดเห็นใจไม่ได้

และหากมองในภาพกว้าง เราคงพบว่าในประเทศที่โหยหาความรุนแรงเช่นนี้ อาร์วินมีแนวโน้มจะเดินตามรอยวิลลาร์ดผู้เป็นพ่อ ทั้งการตบเท้าเข้าสู่การเป็นทหารในสงครามครั้งใหม่ ภาวะจิตใจแหลกสลายจากความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตอกย้ำด้วยความเคว้งคว้างและปรารถนาหาที่ยึดเหนี่ยวในการมีชีวิตหลังถูกศรัทธาหักหลัง ครั้งหนึ่งที่วิลลาร์ดเห็นเพื่อนถูกตรึงกางเขนทั้งเป็นหรือเมื่ออาร์วินเป็นพยานเห็นความเน่าเฟะของนักเทศน์ผู้ที่คนทั้งชุมชนเลื่อมใส หรือกระทั่งการที่ตัวละครที่เป็นสัญลักษณ์ของกฎหมายและผู้พิทักษ์อย่างนายอำเภอลีก็คาบเส้นด้วยการรับเงินจากมาเฟียใต้ดินและมีน้องสาวที่ทำงานเป็นโสเภณีอยู่กินกับชายซึ่งต้องสงสัยว่าจะเป็นฆาตกรต่อเนื่อง หนังจึงเต็มไปด้วยบรรยากาศความบาปทั้งในเชิงศีลธรรมและความผิดในเชิงกฎหมายอยู่เต็มไปหมด และสองอย่างนี้เองที่มันค่อยๆ ชักพาเอาคนเหล่านี้ให้ทาบทับกันในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของชีวิต นำมาสู่ความรุนแรงหรือความโศกเศร้าในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ตาม ความเข้มข้นและดุดันของหนังบางลงไปอย่างน่าเศร้าใจเมื่อมันถูกกลบด้วยพลังดารานักแสดงระดับแถวหน้าของฮอลลีวูด หลายครั้งที่พลังดาราของพวกเขาชักจูงและหันเหความสนใจของคนดูไปอย่างช่วยไม่ได้และน่าเสียดายมากๆ จนในด้านหนึ่งเราอาจจะกล่าวได้ว่านี่อาจเป็นจุดบอดไม่กี่จุดที่ทำให้ความเข้มข้นของหนังอ่อนตัวลงไปถนัดโดยที่ผู้กำกับอาจไม่ได้ตั้งใจด้วยซ้ำ

MIDNIGHT CINEMA 04 : La Llorona ผีนางครวญ

0

นายพล Enrique Monteverde คืออดีตผู้นำเผด็จการที่ปกครองประเทศกัวเตมาลาอยู่หลายปี (ตามประวัติศาสตร์ ประเทศกัวเตมาลาคือประเทศที่อยู่ในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของเผด็จการมาโดยตลอด และรุนแรงเข้มข้นในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สองโดยมีอเมริกาเป็นผู้หนุนหลังเหล่าเผด็จการทหาร จนถึงปี 1996) ในเวลานั้น เขาและกองทัพของเขา ลักพา ทำร้าย ข่มขืน และฆ่า ชาวอินเดียนเผ่ามายันลงไปเป็นจำนวนมาก ในเวลานี้ เขายังคงอยู่สุขสบายในคฤหาสน์สุดหรูกับภรรยา กองทัพคนรับใช้และบอดี้การ์ดผู้ภักดี ลูกสาวเป็นหมอและคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวแวะมาเป็นบางครั้ง เขากำลังต้องเดินทางไปขึ้นศาลในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในฐานะอาชญากร ตลอดขวบปีที่เขาปกครอง เขาไล่ฆ่า อุ้มหาย ข่มขืน ทำลายผู้คนไปมากมายเหลือเกินโดยเฉพาะคนอินเดียนพื้นเมืองเผ่ามายัน แต่สิ่งนั้นไม่รบกวนจิตใจของเขาเท่ากับที่ว่า กลางดึกคืนหนึ่ง เขาตื่นมาพบเสียงร้องให้ในบ้านตัวเอง เขาถือปืนลุกมาเดินสำรวจ จิตใจถูกรบกวนด้วยเสียงร้องไห้นั้น พลันเห็นเงาตะคุ่มที่หางตา เขายิงปืนออกไปนัดหนึ่ง เกือบโดนเอาภรรยาของเขาที่ลุกขึ้นมาตาม

ต่อมาเขาไปขึ้นศาล ศาลพิพากษาให้ได้รับโทษอย่างสาสมจนป่วยไข้เข้าโรงพยาบาล หลังออกจากโรงพยาบาล เขากลับมาพบว่าหน้าบ้านเต็มไปด้วยผู้ชุมนุมขับไล่ กองทัพคนใช้อินเดียนก็ลาออก ไม่ใช่เพราะไม่อาจทนรับใช้เผด็จการ แต่คนอินเดียนยากจนต่างรู้ดีว่าเสียงร้องไห้ในยามกลางคืนไม่ใช่อาการประสาทหลอน แต่คือเสียงของผี La Llorona ผีนางครวญ

ท่ามกลางความกดดันของการลอคดาวน์ตัวเองในบ้าน หัวหน้าคนรับใช้ที่อยู่กับท่านนายพลเป็นคนสุดท้ายแจ้งความประสงค์กลับไปยังหมู่บ้านของเธอให้ส่งคนมาช่วย วันหนึ่งท่ามกลางกลุ่มผู้ประท้วง หญิงสาวอินเดียนผมดำยาวคนหนึ่งปรากฏกายขึ้น เธอเป็นคนรับใช้คนใหม่ที่ไม่มีที่มาที่ไปแน่ชัด จนเมื่อเข้ามาในบ้าน เธอสนิทสนมกับเด็กหญิงหลานสาวนายพลอย่างน่าสงสัย เธอปลุกกำหนัดของจอมทัพที่คลำไม่มีหางก็เอาหมด ภรรยาท่านนายพลก็เริ่มฝันร้ายว่าตัวเองถูกไล่ล่าโดยคนของกองทัพของสามีตัวเอง ลูกสาวเริ่มสงสัยว่าที่สามีของเธอหายตัวไปบางทีอาจจะเป็นฝีมือของพ่อตน ใบหน้าของผู้ชุมนุมก็คล้ายคลึงกันกลับใบหน้าของผู้คนที่ตายไปในช่วงเวลานั้น

ท่ามกลางเสียงร้องไห้ที่มีแต่ท่านนายพลที่ได้ยิน บ้านในสภาวะปิดตายเพราะการชุมนุมค่อยๆ จมลึกลงในความหวาดผวา ท่านผู้นำต้องทำทุกอย่างเพื่อสู้กับผีที่วนเวียนอยู่ในบ้าน แต่ในสภาวะครึ่งเป็นครึ่งตาย ไร้อำนาจแม้แต่ในร่างกายของตัวเองอย่างที่เคยเป็นเขาจะทำอะไรได้ หรือบางทีนี่อาจเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของกรรมสนอง

ตามตำนานนั้นผีนางครวญมีหลายฉบับ ฉบับหนึ่งที่รู้จักกันคือผีของหญิงสาวที่อดรนทนไม่ได้ที่สามีรักลูกสาวลูกชายมากกว่าตัวเธอ ด้วยความคลั่งเธอจับลูกของตนกดน้ำจนตาย จากนั้นก็ฆ่าตัวตายตามด้วยการเดินลงแม่น้ำ วิญญาณของเธอปฏิเสธการไปสวรรค์จนกว่าจะเจอวิญญาณลูก ขณะเฝ้าวนเวียนหาลูกสาวลูกชายของตน หากเธอพบเด็กเธอจะลักพาไป เมื่อรู้ว่าไม่ใช่ลูกตนก็จะฆ่าทิ้งเสีย ผีนางครวญเป็นหนึ่งในตำนานที่แพร่หลายในลาตินอเมริกา และเราอาจจะรู้จัก La Lllorona จากหนังผีน่าเบื่ออย่าง The Curse of La Llorona ที่ออกฉายในปีเดียวกันกับหนังเรื่องนี้ ในฐานะภาคแยกของหนังตระกูล The Conjuring แม้จะใช้ตำนานเดียวกันมาเล่าเรื่องแต่แน่นอนว่าหนังสองเรื่องนี้ไม่มีอะไรเหมือนกัน

La Llorona เต็มไปด้วยความเงียบงัน เชื่องช้า ผีนางครวญไม่ได้ถูกใช้เพื่อเขย่าขวัญผู้ชม อันที่จริง เราไม่อาจรู้ด้วยซ้ำว่ามีผีอยู่จริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงอาการประสาทหลอนของผู้เฒ่าที่เคยเป็นผู้นำแต่ตอนนี้เป็นอาชญากร ในขณะที่ตัวตำนานหลักอาจจะไม่ได้มีความเป็นการเมืองมากขนาดนี้ หนังกลับนำตำนานผีนางครวญมาปรับแปลงให้เห็นความเป็นการเมืองของมัน

หนังเล่าอย่างไม่ปิดบังในที่นี้ว่าผีนางครวญเป็นภาพแทนของคนอินเดียนจำนวนมากที่ตายลงในยุคเผด็จการ ผีนางครวญที่ผู้ชมมองไม่เห็นอาจจะใช่หรือไม่ใช่คนรับใช้คนใหม่ที่มีประวัติศาสตร์ส่วนตัวจากการเสียลูกและสามีจากฝีมือของพวกทหารรับใช้เผด็จการในช่วงเวลานั้น และอาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ที่เธอจะมาลักหลานสาวท่านนายพลไป เมื่อหลายต่อหลายครั้งทั้งคู่ถูกพบเห็นในสภาวะที่เด็กหญิงอยู่ในน้ำ

ดังที่เราอาจจะพอได้ยินมาบ้าง หนึ่งในขนบหนังที่มักถูกใช้ในการทำนายอนาคต (ผ่านการจับความกังวล ความหวาดกลัวของผู้คน) และอภิปรายอดีต (ผ่านการอุปมาอุปไมยการกลายเป็นเหยื่อ) คือขนบของหนังสยองขวัญ และอย่างที่รู้กันดี การกลับมาหลอกหลอนของผีหลังจากตายลงเป็นเสมือนภาพแทนภาพฝันของผู้ถูกกดขี่ที่ไร้อำนาจในยามที่มีชีวิตอยู่ แม้จะถูกพรากทุกอย่างไปก็ไม่อาจลุกขึ้นต่อสู้ มีแต่ความตายเท่านั้นที่ให้อำนาจคืนกลับ ขนบหนัง ‘ผีทวงแค้น’ จึงเป็นหนึ่งในขนบหนังที่ไม่มีวันตายเพราะมีคนถูกกดขี่มากมายเหลือเกินในโลกนี้ และมันไม่เคยจบลง เมื่อเผด็จการคนหนึ่ง/ระบบหนึ่งจากไป ก็เป็นเพียงการเปิดโอกาสให้เผด็จการคนใหม่/ระบบใหม่เข้ามาเท่านั้นเอง

การกลับมาหลอกหลอนของผีหลังจากตายลงเป็นเสมือนภาพแทนภาพฝันของผู้ถูกกดขี่ที่ไร้อำนาจในยามที่มีชีวิตอยู่ แม้จะถูกพรากทุกอย่างไปก็ไม่อาจลุกขึ้นต่อสู้ มีแต่ความตายเท่านั้นที่ให้อำนาจคืนกลับ

ความตายเป็นทั้งปลายทางของความทุกข์ทรมาน เป็นจุดสิ้นสุดของการต่อสู้ และเป้าหมายของการยอมจำนน โลกหลังความตายกลายเป็นความยุติธรรมของทุกความอยุติธรรม มีแต่อยู่กันคนละโลกเท่านั้นจึงได้อำนาจคืนกลับมาสะสางแค้นเคืองที่ติดค้างกันอยู่ เราจึงเห็นหนังจำนวนมาก ที่ว่าด้วยเรื่องของผีที่กลับมาไล่ฆ่าคนที่เคยข่มเหงพวกเขาตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ และโดยมาก บรรดาผีทวงแค้นมักเป็น ผีสาว อาจจะตั้งแต่แม่นาคพระโขนง ผีปอบ ไปจนถึงผีแม่ลูกในหนังอย่าง Ju-on ผู้หญิงที่ถูกกดขี่โดยเพศกำเนิดในโลกปิตาธิปไตย ระบบสังคนที่คนไม่เท่าเทียมกันร่วมกันกดให้เธอต่ำลงไปอีก ผ่านระบบศีลธรรมครอบครัว ความเป็นแม่ ไปจนถึงความเป็นการเมืองของพวกผู้ชาย ผีใน La Llorona เป็นภาพแทนของผู้หญิงที่เสียสามีให้กับการต่อต้าน ลูกๆ ของเธอถูกจับกดน้ำต่อหน้า และเธอถูกฆ่าทิ้ง เช่นเดียวกับพยานหญิงอินเดียนนับร้อยบนศาลที่คลุมใบหน้า เล่าเรื่องการถูกข่มขืน ล่วงละเมิด ทำร้ายและคุมขัง เธอเข้าถึงฆาตกรได้ผ่านทางผู้หญิงที่รายรอบเขา หัวหน้าคนใช้ ภรรยา ลูกสาว และหลานสาวซึ่งล้วนมีประสบการณ์ไม่ดีกับเจ้านาย ผัว พ่อ และตาของตัวเอง นั่งกอดกันพิงหลังไหล่บนบันไดขณะที่ท่านผู้นำค่อยๆ เป็นบ้า

แต่กระทั่งเป็นผี ผีใน La Llorona นั้นก็กลับไร้อำนาจเหลือเกิน ผีมีอำนาจน้อยกว่าบรรดาการชุมนุมประท้วงหน้าบ้านท่านนายพลเสียอีก ผีไม่แม้แต่จะสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ฆ่าคน ผีในเรื่องมีแค่เพียงเสียงร้องไห้ เสียงร้องไห้ที่แทบไม่มีใครได้ยิน หากมันไม่ยอมหายไป เสียงร้องไห้ที่ดื้อด้าน เหมือนคราบฝังแน่นที่ลบไม่ออกบนผืนพรมที่คลี่คลุมประวัติศาสตร์บาดแผลเอาไว้ พลังอำนาจของภูติผีแผ่ลามไปในความคิดคำนึงของสาวๆ ในบ้านความฝันของแม่ที่ได้กลายเป็นแม่ของเหยื่อเสียบ้างหลังจากเป็นผู้ถูกกระทำ และการค้นพบของลูกสาวว่าเธออาจจะเป็นเหยื่อเสียเอง

แต่กระทั่งเป็นผี ผีใน La Llorona นั้นก็กลับไร้อำนาจเหลือเกิน ผีมีอำนาจน้อยกว่าบรรดาการชุมนุมประท้วงหน้าบ้านท่านนายพลเสียอีก ผีไม่แม้แต่จะสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ฆ่าคน ผีในเรื่องมีแค่เพียงเสียงร้องไห้ เสียงร้องไห้ที่แทบไม่มีใครได้ยิน

ผีจึงเป็นรูปแบบของการส่งต่อเสียงร้องไห้ การทำให้เสียงร้องไห้ยังดำรงคงอยู่แม้ดวงวิญญาณสูญดับ การจดจำความเจ็บปวด และบอกเล่าความเจ็บปวดนั้นต่อๆ กันไป พลังอำนาจของปากคำนอกประวัติศาสตร์ทางการที่เขียนโดยรัฐที่เป็นผู้ชนะ ปากคำที่อยู่ในบทกวี ดนตรี วรรณกรรม ภาพยนตร์ ซึมไหลไปแม้ในผู้คนที่เป็นวงศ์วานว่านเครือของรัฐให้ได้ตระหนักรู้แม้แค่เพียงในฝันว่าทุกคนเป็นเหยื่อได้ แม้คนที่คิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของผู้กดขี่ก็ตาม

เสียงร้องไห้ของผีนางครวญ จึงเป็นทั้งเสียงร้องของสัตว์ที่ไร้ความหมายมากพอกับเสียงของการประกาศแถลงการณ์ของการต่อต้านโดยการไม่ยอมถูกลืม

BOX OFFICE REPORT : รายได้หนังประจำวันที่ 24 ก.ย. 63

ถึงเวลาที่หนังเรื่องใหม่จะขึ้นอันดับ 1 แล้ว นั่นคือหนังอุกกาบาตชนโลก Greenland ที่ทำเงินทิ้งห่างเรื่องอื่นๆ อยู่หลายช่วงตัว โดยเมื่อวานนี้ทำเงินไปราว 1.6 ล้านบาท

รายได้หนังประจำวันที่ 24 ก.ย. 63

  1. Greenland – 1.60 ล้านบาท
  2. Tenet – 0.25 (54.62) ล้านบาท
  3. Mulan – 0.22 (60.21)
  4. Behind You – 0.10 ล้านบาท
  5. Antebellum – (0.07 (3.29) ล้านบาท
  6. Love at Second Sight – 0.05 ล้านบาท
  7. I Am Woman – 0.03 ล้านบาท
  8. เกมเมอร์เกมแม่ – 0.03 (7.35) ล้านบาท
  9. Ode to Joy – 0.003 (0.55) ล้านบาท
  10. The High Note – 0.0006 (0.55) ล้านบาท

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 17 – 23 ก.ย. 63

Mulan กับ Tenet ยังคงรักษาต้นตารางเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ขณะที่ Antebellum ตามมาไม่ห่างนัก แต่หนังที่ชวนเซอร์ไพรซ์คือ Break the Silence: The Movie ที่สัปดาห์นี้ฉายแค่สองวันด้วยราคาบัตรขั้นต่ำ 500 บาท สามารถทำเงินได้ถึงเกือบ 5 แสนบาท ส่งผลให้รายได้รวมทะยานถึงกว่า 4.5 ล้านบาท

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 17-23 ก.ย. 63

  1. Mulan – 6.43 (60.00) ล้านบาท
  2. Tenet – 4.12 (54.40) ล้านบาท
  3. Antebellum – 3.22 ล้านบาท
  4. เกมเมอร์เกมแม่ – 2.08 (7.34) ล้านบาท
  5. Ode to Joy – 0.55 ล้านบาท
  6. Break the Silence: The Movie – 0.47 (4.56) ล้านบาท
  7. The High Note – 0.16 (0.55) ล้านบาท
  8. The Secret Garden – 0.12 (1.53) ล้านบาท
  9. Special Actors – 0.08 (0.43) ล้านบาท
  10. The New Mutants – 0.06 (12.73) ล้านบาท

รู้จัก โคลเอ้ จ้าว ว่าที่เต็งออสการ์ปีล่าสุด

ในขณะที่ออสการ์กำลังตื่นตัวกับความหลากหลาย ก็คงถึงเวลาของ โคลเอ้ จ้าว คนทำหนังชาวจีนที่โตในอเมริกา จนตอนนี้กลายเป็นตัวเต็งอันดับ 1 ผู้เข้าชิงออสการ์ปีหน้าไปแล้ว เพราะเธอเพิ่งพาหนัง Nomadland คว้ารางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังเวนิซไปหมาดๆ ซึ่งยังถือเป็นการปูทางสู่โปรเจกต์ต่อไปอย่างการกำกับหนัง The Eternals แห่งจักรวาลมาร์เวล ที่มีนักแสดงนำอย่าง แองเจลิน่า โจลี่ และ ซัลม่า ฮาเย็ก แน่นอนว่า ฟ็อกซ์เสิร์ชไลท์ ผู้จัดจำหน่ายในอเมริกาที่อยู่ใต้ชายคาดิสนีย์ คงทำสุดความสามารถเพื่อดันจ้าวเข้าชิงออสการ์ให้ได้

จ้าวเป็นสาวจีนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากปักกิ่ง เกิดเมื่อปี 1983 ในครอบครัวชนชั้นกลางค่อนสูง พ่อของเธอเป็นผู้จัดการบริษัทผลิตเหล็ก ส่วนแม่ทำงานในโรงพยาบาลและเคยเป็นนักแสดงในกองทัพปลดแอกประชาชน จนอายุ 15 จึงไปเรียนต่อที่อังกฤษ ก่อนจะข้ามไปเรียนรัฐศาสตร์ที่วิทยาลัยเมาท์โฮลโยกซึ่งเป็นวิทยาลัยเอกชนหญิงล้วนในแมสซาชูเซ็ตต์ ก่อนจะไปเรียนต่อด้านภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค (หนังเปลี่ยนชีวิตคือ Happy Together ของหว่องกาไว) การเป็นคนเอเชียชนชั้นกลางที่ไปเติบโตในต่างแดน ความแปลกถิ่นนำมาซึ่งความเปลี่ยวเหงา นั่นจึงเป็นที่มาของหนังทั้งสามเรื่องที่กรุยทางเธอจนมาถึงจุดที่ทั้งฮอลลีวูดกำลังจับจ้องในเวลาเพียงไม่กี่ปี

“เมื่อก่อน เวลาคนรู้สึกสูญสลายก็มักจะไปฝั่งตะวันตก นั่นคือสิ่งที่ฉันทำ ฉันโตในปักกิ่งก็จะมีแฟนตาซีถึงประเทศมองโกเลีย และพอฉันมาอยู่นิวยอร์ค ฉันก็คิดว่าเซาธ์ดาโกตาคือที่สำหรับฉัน”

Song My Brother Taught Me คือหนังเรื่องแรกของจ้าว เธอเล่าเรื่องของจอห์นนีและ จาชอน น้องสาวของเขา ที่อาศัยอยู่กับแม่เลี้ยงเดี่ยวในห้องเช่าที่เซาธ์ดาโกตา วันหนึ่งเมื่อพ่อของทั้งคู่เสียชีวิตลง จอห์นนีต้องไปแสวงโชคในแอลเอแต่ก็อดเป็นห่วงน้องสาวไม่ได้

จ้าวทุ่มสุดตัวกับการทำหนังเรื่องแรกโดยเธอใช้ชีวิตกับชาวบ้านนานแรมเดือน โดยใช้นักแสดงท้องถิ่นมารับบทนำ และการฝังตัวอยู่ที่นั่นทำให้เธอได้เจอกับ แบรดี จันโดร คาวบอยหนุ่มที่ประสบอุบัติเหตุและฝังบาดแผลลงในจิตใจของเขา เกิดเป็นหนังเรื่องที่สอง The Rider ที่จันโดรรับบทเป็นตัวเอง

The Rider ทำให้จ้าวกลายเป็นที่จับจ้องมากยิ่งขึ้น (เธอได้เข้าชิงผู้กำกับยอดเยี่ยม เวทีอินดี้สปิริต และเจิดจรัสมากๆ ในซันแดนซ์) ในฐานะที่เธอเป็นผู้หญิงเอเชีย แต่เล่าวิถีคาวบอยแบบผู้ชายได้ละเอียดอ่อนและเจ็บปวด ราวกับเติบโตมากับม้าและความเวิ้งว้างในใจกลางของอเมริกา

“หนังสองเรื่องแรกของฉันอาจดูคล้ายกันแต่มันต่างกันที่สภาพแวดล้อม ที่สร้างขึ้นมาให้คาวบอยและเด็กหนุ่มมีชีวิตโลดแล่นไม่เหมือนกัน มันเป็นวิธีเดียวกับการทำงานกับ ฟรานเชส แม็กดอร์แมน ใน Nomadland มันไม่ได้ทำงานเหมือนหนังสตูดิโอใหญ่ทั่วไป เราทำงานกันแบบกองโจรและเร่ร่อนไปเรื่อยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนและวิถีชีวิตของพวกเขา”

ใน Nomadland แม็กดอร์แมนรับบทแม่ม่ายที่เดินทางข้ามอเมริกาด้วยรถตู้บุโรทั่ง โดยเธอสลัดความเป็นนักแสดงสองรางวัลออสการ์ทิ้งไป แล้วร่วมตะลอนไปกับจ้าว พักในโรงแรมจิ้งหรีด และดูแลตัวเองอยู่นานนับเดือน เพื่อเข้าถึงตัวละคร เฟิร์น ที่เธอรับบท เป็นส่วนหนึ่งกับโลกอันถ่อมตัวของจ้าวอย่างไม่ขัดเขิน

รากจากชนชั้นกลางในปักกิ่ง จ้าวกลับสามารถเป็นส่วนหนึ่งกับบริบทอเมริกันชนชั้นกรรมาชีพ จริงอยู่ว่ามาจากการทำงานแบบกำซาบจิตวิญญาณอเมริกันเข้าไป แต่ก็ไม่เคยลืมว่าเธอมาจากไหน และนึกเสมอว่าหนังเล็กๆ ที่เธอทำจะได้สร้างบทสนทนากับครอบครัวของเธอที่อยู่ในอีกฟากโลก

“ฉันอยากให้ครอบครัวของฉันในปักกิ่งสามารถเชื่อมโยงกับหนังที่ทำ ฉันจึงต้องให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ ซึ่งนั่นคือความเป็นสากล”

Antebellum อิสรภาพที่มิได้กล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ

หนังบางเรื่องถูกสร้างให้ดูซ้ำ (นับวันยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ) แต่ก็มีบางเรื่องที่สร้างขึ้นเพื่อให้ดูหนเดียวพอ เพราะหลังจากนั้นมันจะวนเวียนตามหลอนหลอก เพื่อไม่ให้ลืม และแม้แต่ในเรื่องเรื่องเดียวกันนี้เองก็เถอะ ที่มีการสวิงตัวของความรู้สึก ให้เหวี่ยงไปมาได้หลายรูปแบบ (ซึ่งรวมการเข้าถึงตัวหนัง) ที่เปลี่ยนจากเฉยเป็นชอบๆ เป็นยี้ๆ แล้วสุดท้ายก็ต้องกลับมาทบทวนกับมันอย่างระมัดระวังและรอบคอบอีกครั้งหนึ่งว่าเราหลงลืมหรือมองข้ามอะไรไปบ้างรึเปล่าซึ่ง Antebellum (2020, Gerard Bush and Christopher Renz) ก็คือหนึ่งในนั้น

การจะเขียนรีวิวและทำความเข้าใจหนังอย่าง Antebellum บางทีก็มิใช่ว่าเขียนด้วยความรู้สึกหลังดูจบ (ซึ่งแน่นอนว่าตัว ‘ภาพรวม’ ของหนังเองซึ่งรวมคำเฉลยของทุกสิ่งที่เห็น ก็เป็นอีกหนึ่งที่มีส่วนชี้นำฉันทาคติชอบ-ชัง-ดี-เลว) ทว่าต้องย้อนกลับไปนั่งในใจตัวเองขณะดู ถึงได้พบว่าแต่ละภาค-แต่ละส่วนแทบไม่มีอะไรใหม่ นอกจากเป็นผลของการผลิตซ้ำ แล้วค่อยนำมาแตกในส่วนของรายละเอียดกันอีกที ซึ่งสุดท้ายภาพที่เห็น แทบไม่ต่างกับที่พวกเราเคยดู-เคยเห็นกันจนติดตา

เชื่อว่าพอเห็นซีนทรมานทาสในยุคสงครามกลางเมือง หลายคนคงนึกไปถึงพวก Django Unchained, 12 Years a Slave เท่าๆ กับที่สิ่งที่มาก่อน 12 Years ก็เคยมี Beloved (1998, Jonathan Demme) ขณะดู Beloved ก็นึกไปถึง The Color Purple (1987, Steven Spielberg) เท่าๆ กับที่ตัว The Color Purple เองก็พาคนดูเรโทรกลับไปหาทีวีซีรีส์, Roots เช่นเดียวกับที่ก่อนของก่อนหน้านี้ สายพันธ์ุหนังที่พูดถึงเรื่องการลุกฮือของทาสในเขตรัฐทางใต้ จนกระทั่งไปสุดเอาที่หนังเรื่องแรกๆ ที่ออกในยุคแนว blaxploitation กำลังบูมซึ่งเข้าไปแตะประเด็นเรื่องของทาสแรงงานเป็นหนังสองภาคต่อกันอย่าง Mandingo (1975, Tom Gries) + Drum (1976, Steve Carver) ซึ่งเป็นการพูดถึงทาสในแง่มุมที่ตรงกันข้ามกับ Gone with the Wind จนมาฉายเมืองไทยถึงมีชื่อว่า ‘วิมานเลือด’

การดิ้นรนและการดิ้นรนต่อสู้ของทาสได้ผ่านการผลิตซ้ำจนตัวของมันเกิดภาพมายาคติ เหมือนกับที่คนขาวมีคาวบอยบุกเบิกภาคตะวันตก ตัวเนื้อหาเองก็แทบจะเป็นร้อยเนื้อทำนองเดียว จนกระทั่งคนดูเกิดภาพจำและการคาดหวังว่าจะต้องเห็นสิ่งนี้ๆๆ กลายเป็น convention ทางการเล่าเรื่อง เหมือนกับคนดูกำลังถูกกล่อมและมอมเมาด้วย myth เมื่อถึงจุดอิ่มตัว คนทำถึงได้หาแนวทางใหม่ๆ มาใช้ในการนำเสนอ 

เมื่อเรื่องส่อแววว่าเริ่มจะเชย, cliche แล้ว ทันใดนั้นโครงเรื่องของ Gerald Bush ก็สวิงแบบไม่ต้องรู้สี่รู้แปด คือผลุนผลันก็เป็นเรื่องราวในยุคปัจจุบันซะยังงั้น แต่เค้าก็ยังอุตส่าห์ใส่ตัวบอกใบ้ว่าเค้าตั้งใจจะเล่าแบบแหวกขนบ ด้วยการใส่ตัวละครที่คนดูพอจะคุ้นหน้าจากองก์ที่หนึ่งอย่าง Janelle Monáe ซึ่งเป็นดาราดังเพียงคนเดียว เมื่อมีการใช้ตัวละครซ้ำหน้ากันได้ คนดูก็เริ่มตั้งคำถามแล้วว่านี่กำลังจะเล่าสองเหตุการณ์สลับกันระหว่างช่วงพีเรียด vs. ร่วมสมัยใช่เปล่า? โดยใช้นักแสดงชุดเดียวกัน คือเมื่อมีคนหนึ่งได้ คนที่เหลือจะตามมามีบทในยุคปัจจุบันด้วยมั้ย?

มุขคล้ายๆ กันนี้ เชื่อว่าถ้าไม่ผกก.สองคน ก็คนดูที่เป็นศิษย์สำนัก Kieślowski School เหมือนกับตอนคุณดู Blue เห็น White, ดู White เห็น Blue แล้วทั้ง Blue, ทั้ง White ก็ไปรวมตัวกันอยู่ใน Red พอมาถึง Antebellum บ้าง คนดูก็มีศูนย์รวมแห่งดวงใจอย่าง Janelle Monáe ที่เป็นคุณนายเมียนายพลในพาร์ตสงครามกลางเมือง มาโผล่เป็นซีเคร็ท แอ็ดไมเรอร์ นักเขียนใหญ่ที่เป็นปากเสียงต่อสู้เพื่อชนผิวสี (Veronica Hemmel) ในยุคปัจจุบัน ถึงตอนนี้คนดูก็เริ่มประกอบจิ๊กซอว์เงียบๆ ในใจว่า สาวคนนี้ต้องมีบทในองก์ที่ผ่านมาแน่ๆ แต่ตลอดเบี้ยใบ้รายทางที่ผ่านมา ก็ยังไม่วายเกิดข้อคำถามประเภทอิหยังหว่า โดยเฉพาะในส่วนของคนขาวอย่างเช่น

ก. ทหารหนุ่มแซวเพื่อนด้วยกันที่กำลังจะมีคู่นอนเป็นทาสสาวว่าพ่อโรมีโอ (เป็นไปได้เหรอที่ยุคศตวรรษที่สิบเก้าในสหรัฐจะเกิดกระแส Shakespeare ศึกษาในรัฐฝ่ายใต้ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ก็เป็นผลพวงมาจากฝั่งอังกฤษ ขณะที่กระแสทางอิทธิพลที่ย่านนี้รับมาเต็มๆ กลับมาจากสายฝรั่งเศส) คงไม่เท่ากับ

ข. สาเหตุของสงครามกลางเมือง : มาจากรัฐฝ่ายใต้ที่ต้องการมีทาสไว้ใช้แรงงานในไร่ ขณะที่ภาพจำพวก mindsetting บวกด้วยมายาคติของเรื่องในยุคนี้กลับนำมาดรามาไทซ์ด้วยการให้พวกเจ้าที่ดินกับทหารฝ่าย confederate พากันกระทำย่ำยีทาสแรงงานซึ่งเป็นผลประโยชน์ของตัวเองซะยังงั้น เหมือนกับว่าทหารสหพันธรัฐเห็นแรงงานทาสเป็นฝ่ายตรงข้ามกับราวกับเป็นข้าศึกอย่างทหารฝ่ายเหนือยังไงยังงั้น

ขณะที่เรื่องยังอยู่ในองก์แรก สิ่งเดียว (ซึ่งก็คงไม่ใหม่แล้ว) ที่ผุดขึ้นมาก็คือ แม้ในยุคปัจจุบัน รัฐทางใต้ยังคงมองตัวเองว่าเป็นรัฐอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับทาง Washington แล้วใช่มั้ย? ธงสหพันธรัฐได้กลายเป็น hidden emblem และซึ่งมีไว้ใช้ส่งสัญญาณเรียกพวกพ้องสายเลือดเดียวกัน ก็เลยเกิดเป็น ‘อิหยังหว่า’ ในข้อถัดไป

ค. วาทกรรม patriot : เริ่มมีการใช้ในยุคสงครามกลางเมืองเนี่ยน่ะเหรอ ในเมื่อสงครามกลางเมืองในสหรัฐเริ่มต้นจากความขัดแย้งในภาคพลเรือน/civilของคนชาติเดียวกันธรรมดา จะมาแพ๊ททริอ่ง แพ็ทริอ็อตอะไรกันอีก (แถมในซับไทยยังใช้คำว่า ‘ชาตินิยมๆ’ ซึ่งความหมายจะยิ่งถูกพัดพาไกลหนักเข้าไปใหญ่) แต่ไม่ว่าจะรักชาติ, ชาตินิยมยังไง ในหนังมีการเอามาใช้ในซีนที่ Daniel ทหารฝ่ายใต้ปฏิเสธการมีเซ็กซ์กับทาสสาว (คือ แค่จะเสพย์เมถุนนี่ มันไปเกี่ยวยังไงกับเรื่องของ patriot จ้ะ)

จนกระทั่งมาพบกุญแจดอกสำคัญซึ่งมีความเสี่ยงในการสปอยล์ค่อนข้างสูง ก็คือคำว่า ‘เวลา’ ซึ่งในหนังมีการเล่นทั้งแบบพีเรียด แล้วก็ลำดับไทม์-ไลน์ (chronological) มาถึงนี้ได้ก็แตะปากเหวรำไรแล้วครับ คืออีกนิดก็จะกลายเป็นสปอยล์ทันที แต่ถ้าจำเป็นต้องพูด ก็คงต้องพูดถึง

ก. พีเรียด (period setting) : โดยเฉพาะยุคสงครามกลางเมือง ที่พออยู่ในหนัง จะดูเหมือนเอามาใช้มอมคนดูเหมือนยาเสพติด คือกล่อมซะคนดูไม่มีทางคิดเป็นอื่น โดยให้เวลานานพอที่ปักใจเชื่อ + ยอมรับว่าบรรยากาศความเป็นอยู่ หลังจากเคยผ่านสายตาจากเรื่องอื่นซึ่งใช้ period setting ในยุคเดียวกัน โดยลืมนึกถึงหรือมองข้ามส่วนที่หลุด (ทั้งที่ตั้งใจแล้วก็ไม่ตั้งใจ)

ถ้าคนดูเชื่อใน period setting พอเหวี่ยงมาเป็นยุคปัจจุบัน ลำดับต่อไป คนดูจะเริ่มหา ‘รอยต่อ’ ที่น่าจะมีความเป็นไปได้ (อย่างกลับชาติมาเกิดใหม่ ซึ่งเลอะเทอะ) หรือคนที่เห็นหน้าซ้ำๆ ทว่ามาต่างกาลเวลา เกี่ยวข้องทางสายเลือดหรือเปล่า (อันนี้ก็ใช้วิธี approaching แบบซีรีส์ Roots มากไป ยิ่งพอมาได้เห็น Veronica เป็นนักเขียนแบบเดียวกับ Alex Hailey (คนแต่งตัวนิยายที่ดั้นด้นไปสืบประวัติต้นตระกูลถึงประเทศแกมเบียในแอฟริกา) ซะอีก ภาพมายาคติเริ่มกลับมาทำงานต่อทันที แต่เส้นเรื่องเค้าจับแยกไว้เสร็จว่า ในยุคค้าทาสตัวละครของ Janelle Monáe ใช้อีกชื่อว่า Eden ไม่ใช่เหรอ)

ข. chronological : หนังแบ่งออกเป็นสามองก์ (ลองสมมติเป็นโค้ด Blue-White-Red ไปพลางๆ ก่อนครับ เพื่อความปลอดภัย) เอาเป็นว่าพอตัดเข้า White ปุ๊บ! คนดูจะเริ่ม question แล้ว (ว่านี่ชาติภพใหม่, หรือเป็นเรื่องของคนรุ่นทายาท แต่ก็ยังเชื่อว่าน่าจะมี audiences บางส่วนเริ่มระแคะระคายในใจว่า ลองนางเอก Veronica เป็นนักเขียน ส่วนที่เป็น Blue เอามาจากนิยายใช่ป้ะ, ครึ่งคะแนน 555)

ทีนี้พอเข้าพาร์ต (ที่ติ๊งต่างว่าเป็น Red) ข้อกังขาก็จะหนักข้อขึ้นไปอีกว่า นี่mng.กำลังเล่นอะไรของmng. จนกระทั่งไล่เรียงไปเรื่อยๆ รู้คำเฉลย ก็ต้องมา doubt กันอีกว่า แล้วที่ผ่านมาระหว่าง (ส่วนที่เป็น) Blue กับ White ถ้าเอามาเรียงตามลำดับไทม์ไลน์ อะไรมาก่อน-มาหลัง ซึ่งรวมๆ ความแล้ว ไม่ว่าจะ ‘น้ำเงิน’ – ‘ขาว’ – ‘แดง’, หรือความขัดแย้งระหว่างผิวสี vs. ผิวขาว เป็นเรื่องของความเชื่อใน myth ของแต่ละข้าง เป็นต้นว่ารัฐฝ่ายใต้มิได้เป็นผู้แพ้, สหพันธรัฐยังคง activate (อย่างน้อยๆ ก็ในความเชื่อและวิธีคิดของคน), คนผิวสีที่มองคนต่างผิวเป็นศัตรู ต่อให้เข้าสู่โลกยุคปัจจุบัน การต่อสู้ช่วงชิงก็ยังคงมีอยู่ต่อไป ความ (ที่เคย) เป็นผู้ถูกกดขี่ ได้ถูกผันมาใช้เป็นอาวุธ ทั้งในแง่ของการสร้างวาทกรรม, การเรียกร้องความเห็นใจและถูกนำมาใช้เป็น commodities ทางการตลาดผ่านสื่อ รูปแบบการต่อสู้ แม้จะไม่รุนแรง แต่ก็เพิ่มความซับซ้อนขึ้น การตั้งนามสกุลของตัวละคร Veronica Henley เองก็มีนัยให้เกิดการพ้องเสียงกับอเล็กซ์ Hailey ผู้แต่งนิยาย Roots ซึ่งปลุกกระแสเชิดชูการต่อสู้ของคนผิวสี เท่าๆ กับวางรากฐานให้คนย้อนกลับไปสืบรากเหง้าต้นตระกูล โดยเป็นการต่อสู้ซึ่งยืมกลไกจากสิ่งที่พวกนักคิดผิวขาวเคยวางรากฐานไว้อย่างสิทธิมนุษยชน, อิสรภาพ เพื่อก้าวล่วงเข้าสู่เกมในโลกทุนนิยม และการเห็นภาพการสู้รบในสงครามกลางเมืองกันในยุคปัจจุบัน (ผ่านสื่อ, ภาพยนตร์, สารคดี) ก็แทบไม่ต่างอะไรกับการลุกฮือโดยใช้กำลังเข้าปะทะเป็นระลอกๆๆ ขณะที่ชื่อหนังซึ่งตั้งกันเป็นภาษาบาลี (เอ๊ย! “ละติน” ครับ) ซึ่งมีความหมายถึงก่อนหน้า (ante) เอาเข้าจริงๆ (แม้แต่ในส่วนที่เป็น Blue, ในเรื่องคือองก์แรก) การสู้รบมีมานานแล้ว ขณะที่คำเดียวกัน มักมีการใช้เป็นคำคำเดียวคือเขียนติดกันคือ antebellum ซึ่งถ้าพอแปลก็มักถูกจำกัดให้มีความหมายเฉพาะ ‘(ก่อน) สงครามกลางเมือง’ แค่อย่างเดียว ขณะที่โลกภายนอกเค้าไปถึงไหนกันแล้ว พอผกก. คู่ดูโอ้ Bush + Renz เอามาทำเป็นหนัง ไหงถึงมีทั้ง ’สงคราม-ยัง-ไม่เกิด’ ซ้อนทับเข้าไว้ด้วยกันกับ ‘สงคราม-ยัง-ไม่-สิ้น’ ไปพร้อมๆ กัน

มู่หลาน: รัฐคือครอบครัว แต่ครอบครัวมาก่อนรัฐ

นับว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีทั้งเสียงชื่นชมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ สำหรับ Mulan เวอร์ชัน Live Action ของดิสนีย์ ที่จุดประเด็นถกเถียงมากมาย ทั้งความขัดแย้งในซินเจียง สถานที่ถ่ายทำหนัง และทัศนคติทางการเมืองของนักแสดงนำ อย่างหลิวอี้เฟย ที่ออกมาสนับสนุนการใช้กำลังของตำรวจในฮ่องกง อย่างไรก็ตาม แม้เราไม่อาจแยกศิลปะภาพยนตร์ออกจากการเมืองได้ แต่เราอาจทำความเข้าใจภาพยนตร์ในฐานะสื่อกลางทางวัฒนธรรม ที่ก่อนสร้างนั้นมีการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมนั้นๆ แล้วถ่ายทอดผ่านองค์ประกอบศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นพล็อตเรื่อง ดนตรีประกอบ และฉาก หรืออื่นๆ

มู่หลานเล่าเรื่องราวของหญิงสาวที่ปลอมตัวเป็นผู้ชายออกรบแทนบิดา ซึ่งในสมัยก่อนถือเป็นการฝ่าฝืนจารีตอันดีงาม แต่ด้วยความรักครอบครัว และเป็นห่วงอันตรายที่จะเกิดกับบิดาที่แก่เฒ่า มู่หลานจึงยืนยันที่จะโกหกทุกคนแม้ต้องเสี่ยงสร้างความอับอายแก่วงศ์ตระกูล ลักษณะของการให้ความสำคัญต่อครอบครัวอย่างแน่นแฟ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากขงจื่อ นักคิดคนสำคัญที่ผู้ศึกษาวัฒนธรรมจีนทุกคนต้องรู้จัก

แก่นเรื่องอันเกี่ยวกับคุณธรรมของมู่หลานอาจถักทอด้วยคำสามคำที่อยู่บนกระบี่ประจำตระกูล นั่นคือ ภักดี กล้าหาญ ซื่อตรง ซึ่งมู่หลานเองพยายามทำให้ได้ตามกฏทั้งสาม แต่ไม่อาจทำตามกฏข้อสุดท้าย คือ ความซื่อตรง ได้ เพราะเธอจำต้องโกหกทุกคนว่าเธอเป็นผู้ชาย และความขัดแย้งในใจตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เธอรู้สึกว่าเติมเต็มหน้าที่ต่อรัฐได้ไม่เต็มที่ และเป็นเสมือนชนักปักหลังที่เหนี่ยวรั้งเธอไว้ การเป็นพลเมืองที่ไม่สมบูรณ์ของรัฐจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูล เพราะในปรัชญาขงจื่อนั้น รัฐและครอบครัวอยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์เดียวกัน รัฐในปรัชญาขงจื่อเปรียบเสมือนภาพขยายของครอบครัว เป็นเครือข่ายครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีผู้ปกครองเป็นพ่อ และประชาชนเป็นลูก ดังที่ปรากฏในคัมภีร์หลุนอี่ว์ยึดตามต้นฉบับ หลุนอี่ว์: ขงจื่อสนทนา ของสำนักพิมพ์ โอเพ่นบุ๊กส์ แปลโดย สุวรรณา สถาอานันท์ ซึ่งเป็นตัวบทสำคัญของปรัชญาขงจื่อ บทที่ ๑:๒ ว่า

อาจารย์โหยวกล่าวว่า “ผู้มีความกตัญญูและเชื่อฟังพี่ น้อยนักที่จะขัดขืนผู้บังคับบัญชา ผู้ที่ไม่ขัดขืนผู้บังคับบัญชาไม่มีเลยที่จะก่อความวุ่นวาย”

น่าสังเกตว่าในบทข้างต้นนี้ ได้กล่าวถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เล็กกว่าก่อน นั่นคือครอบครัว (ผู้มีความกตัญญูและเชื่อฟังพี่) แล้วค่อยขยายไปสู่ระดับรัฐ (ไม่ขัดขืนผู้บังคับบัญชา) ผู้ที่ไม่ก่อความวุ่นวายในครอบครัว ย่อมไม่ก่อความวุ่นวายให้กับรัฐด้วย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจหลักการที่มีลักษณะไม่เป็นกลางของปรัชญาขงจื่อก่อน โดยทั่วไป ปรัชญาตะวันตกหลายแนวคิดมักจะใช้กฎเกณฑ์แบบ “เป็นกลาง (Impartialism)” มาสร้างกฎทางจริยศาสตร์ซึ่งใช้ได้กับทุกคน เช่น ถ้าเรายอมให้มีการขโมย แปลว่าเรายอมว่าการขโมยจะเกิดขึ้นกับเราก็ได้ ดังนั้นถ้าเราไม่อยากให้ใครก็ได้มาขโมยของของเรา เราจะต้องไม่ขโมยเอง และไม่สนับสนุนการขโมยด้วย ปรัชญาแบบ Impartialism นี้จะเน้นสร้างตัวตนนามธรรมของมนุษย์ขึ้นมา ว่าทุกคนเป็นเหมือนกันหมด และใช้แนวเทียบเดียวกันหมด แต่ในคัมภีร์หลุนอี่ว เล่มที่ 13 บทที่ 18 กลับมีข้อความดังนี้

13: 18: 1

เซ่อกงกล่าวแก่ขงจื่อว่า “ในแคว้นของเรา มีคนตรง เมื่อบิดาขโมยแกะ บุตรไปเป็นพยาน”

13: 18: 2

ขงจื่อกล่าวว่า “ในแคว้นของข้า คนตรงจะต่างออกไป บิดาจะซ่อนความผิดของบุตร บุตรจะซ่อนความผิดของบิดา ความตรงดำรงอยู่ ณ ใจกลางพฤติกรรมเหล่านี้แล้ว”

สาเหตุที่ขงจื่อเห็นว่าควรซ่อนความผิดของบุพการี เป็นเพราะขงจื่อให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทซึ้งระหว่าง บิดา-บุตร หรือคนในครอบครัวก่อน สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะความสัมพันธ์ชนิดนี้เป็นความสัมพันธ์ที่มีเพียงชุดเดียวในโลก เป็นความสัมพันธ์เฉพาะที่เป็นต้นกำเนิดของศีลธรรมในตัวมนุษย์ ในปรัชญาขงจื่อ มนุษย์เราอยากจะไม่ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น เพราะเราเห็นว่าตัวเราเป็นลูก พี่ น้อง พ่อ แม่ หรือญาติของใครสักคนเสมอ เมื่อเราเห็นว่าเราเป็นใครสักคนในความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดนี้ เราก็สามารถเทียบเคียงตัวเองเข้ากับคนอื่นได้ว่า คนอื่นก็เป็นลูก พี่ น้อง พ่อ แม่ หรือญาติของใครสักคนเหมือนกัน จริยศาสตร์แบบขงจื่อจึงเป็นจริยศาสตร์ที่ “ไม่เป็นกลาง (Partialism)” เพราะในความเป็นมนุษย์เราย่อมเลือกปฏิบัติต่อคนในแต่ละชุดความสัมพันธ์ต่างกันไป หากคนที่จมน้ำมีสองคน คือพ่อของเรา กับคนไม่รู้จัก เราย่อมต้องช่วยพ่อของเราก่อนตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าจริยศาสตร์แบบขงจื่อจะเป็นจริยศาสตร์ที่ไม่เป็นกลางแบบสุดโต่ง เพราะขงจื่อแนะนำให้วิญญูชน หรือผู้ได้รับการขัดเกลา เทียบเคียงตัวเองเข้ากับคนอื่น และมองหาสถานการณ์ที่สร้างความสอดคล้องในสังคมได้มากที่สุดเสมอ ยิ่งผู้คนได้รับความรักความอบอุ่นจากครอบครัวมากเท่าใด เราก็เทียบเคียงใจ เห็นคุณค่าของบุคคลอื่นได้มากเท่านั้น และจะ “รู้สึก” ไม่อยากสร้างความเดือดร้อนขึ้นมาได้เอง ความสัมพันธ์ที่ “หนา” กว่า อย่างความสัมพันธ์แบบครอบครัวจึงสามารถส่งผลไปยังความสัมพันธ์ที่ “บาง” กว่า อย่างความสัมพันธ์ในแบบรัฐได้ โดยที่ไม่ต้องด้อยค่าความรู้สึกของปัจเจกมากจนเกินไปเช่นจริยศาสตร์แบบ Impartialism

ในแง่หนึ่ง จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่ในตอนท้ายของเรื่องมีการใส่คุณธรรมเพิ่มขึ้นมาอีกข้อหนึ่ง นั่นคือ “ความกตัญูญูต่อครอบครัว” ซึ่งอันที่จริงควรจะเป็นคุณธรรมข้อแรกเสียด้วยซ้ำ และการที่มู่หลานปฏิเสธไม่รับตำแหน่งราชการก่อนจะได้กลับไปคลี่คลายปมของครอบครัวตัวเอง จึงเป็นเรื่องสำคัญ พูดในแง่หนึ่ง มู่หลานอาจทำผิดด้วยการ “ไม่ซื่อตรง” ต่อรัฐ แต่เธอได้ “ซื่อตรงต่อคุณธรรมเรื่องครอบครัว” ของตัวเอง และนั่นเป็นส่วนที่มีความหมายมากกว่าหน้าที่ต่อรัฐเสียอีก

ขอเวลาอีกไม่นาน: สื่อและเวลาในสถานะผู้กระทำที่ถูกยืดยาวออกไปไม่รู้จบ

“ขอเวลาอีกไม่นาน” นิทรรศการศิลปะของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน – 9 สิงหาคม 2563 ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY มีผลงานหลักคือวิดีโอที่ถูกฉายบนจอ 4 จอในห้องแสดงหลัก ภาพและคำบรรยายในวิดีโอถูกทำขึ้นจากการตัดนำเอาภาพจากหนังสือพิมพ์และข้อความมาผสมปนกัน จุฬญาณนนท์เล่าให้ฟังถึงกระบวนการสร้างภาพขึ้นจากการใช้กรรไกรตัดภาพและมาแปะด้วยกาวลงเป็นกระดาษก่อนที่จะนำภาพตัดแปะบางส่วนไปใช้ในวิดีโอ 

ภาพและข้อความถูกหยิบโดยสุ่มจากหนังสือพิมพ์และถูกเลือกโดยสุ่มอีกครั้งเพื่อจะนำไปเป็นภาพในวิดีโอ ต้นทางของภาพคือการค่อยๆ เก็บสะสมภาพปะติดทุกวันจากหนังสือพิมพ์นับตั้งแต่วันแรกที่มีการรัฐประหารนำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มาจนถึงวันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรวันที่ 24 มีนาคม 2562

ในเอกสารชี้แจงรายละเอียดของนิทรรศการ ประกอบไปด้วยข้อความที่ตัดแปะจากเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ร่ายยาวคล้ายกับกลอน จุฬญาณนนท์ อธิบายชิ้นงานของเขานับตั้งแต่กงล้อธรรมจักรหลากสีที่หมุนวนคล้ายนาฬิกาอยู่ด้านข้างอาคาร ชุดเอกสารรวบรวมรูปที่เขาตัดแปะ และวิดีโอในห้องแสดง ด้วยข้อสังเกตของเขาที่มองว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 นับเป็นหนึ่งในการเลือกตั้งที่มีการคอรัปชั่นมากที่สุด และยังเป็นกลไกในการชำระล้างความผิดของคณะรัฐประหารมากกว่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งประชาธิปไตย

นอกจากนี้เขายังชี้ชวนให้มองถึงการควบคุมสื่อรูปแบบเดิมได้แก่ หนังสือพิมพ์ ที่มาพร้อมกับการควบคุมตัวนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง เยาวชนจึงใช้ช่องทางของสื่อดิจิตัลในการหลบหลีกการจ้องมองโดยรัฐ และแน่นอนว่ารัฐเองก็พยายามเข้าไปควบคุมพื้นที่อินเทอร์เน็ตด้วยเช่นกัน

กระบวนการเปลื่ยนผ่านของสื่อนับเป็นสิ่งที่จุฬญาณนนท์ให้ความสนใจตลอดมาผ่านผลงานของเขานับตั้งแต่หนังสั้น หัวลำโพง (2004) ที่เขาจับจ้องถ่ายชายสูงอายุคนหนึ่งกำลังงุ่นง่านอยู่กับการใช้กล้องถ่ายภาพด้วยฟิล์มจับภาพบรรยากาศในสถานีรถไฟหัวลำโพง หรือ Chulayarnnon (2008) ซึ่งเป็นการบันทึกการเผาไหม้ของภาพฟิล์มของเขาในวัยเด็กอย่างช้าๆ หรือใน ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง (2013) เมื่อหมอดูไพ่ยิบซีนำภาพฟิล์มอดีตร้านชำที่ถูกทุบทิ้งมาให้คุณป้าที่กำลังพักฟื้นหลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่า ผู้เคยเป็นเจ้าของร้านนั้นดู ป้ากล่าวว่า “ถ้าไม่เคยถ่ายรูปเหล่านี้ไว้ ก็คงจะไม่รู้เลยว่าเคยมีร้านนี้” หรืออย่างใน Vanishing Horizon of the Sea (2014) เขาเองก็เล่าถึงการจากไปของคุณตา ผ่านการบุบสลายและหายไปของ VHS (Video Home System) 

ภาพจาก FB: BANGKOK CITYCITY GALLERY

การเปลี่ยนผ่านสื่อสังเคราะห์สู่สื่อวิเคราะห์

John Durham Peters กล่าวไว้ว่าประวัติศาสตร์ของสื่อก็คือประวัติศาสตร์ของความพยายามที่เป็นไปไม่ได้ที่จะหยิบฉวยสิ่งที่มีอยู่ ความต้องการที่จะเข้าใจและใช้มาตรวัดสิ่งที่ล้อมรอบเราคือสิ่งที่มนุษย์ให้ความสนใจมาโดยตลอด เริ่มจากความหมกมุ่นในการสร้างความเป็นปัจจุบัน (presentness) หรือสภาวะที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน (contemporaneity) ของสถานการณ์ที่เราค้นพบตนเอง

หากเปรียบเทียบกับสื่อที่นักวิชาการด้านสื่อสนใจในช่วงแรกราวทศวรรษที่ 1920 มักถูกมองว่าสื่ออยู่แยกขาดจากมนุษย์ แต่สื่อดิจิตัลกลับพัวพันจนแยกไม่ออกจากชีวิตประจำวันของมนุษย์ เรากลายเป็นผู้ที่ตั้งใจบันทึกข้อมูลส่วนตัวเหล่านั้นเองลงในสื่ออินเทอร์เน็ตเพื่อบ่งบอกถึงว่าเราอยู่ไหน เราอยู่กับใคร และเรารู้สึกอย่างไร

สิ่งที่ตามมาคือเทคโนโลยีดิจิตัลเหล่านี้ได้สร้างระบบเวลาและจังหวะใหม่ต่อชีวิตของมนุษย์ สื่อสามารถบันทึกและประเมิน (measure) ชีวิตของมนุษย์ ผ่านการวัดค่า แปรผล และแสดงผลความความคิดและระบบสรีรวิทยาของมนุษย์ให้กลายเป็นตัวเลขฐานสิบ (Digit Number System) นี่จึงนำไปสู่การสร้างสถานะผู้กระทำ (agency) ของสื่อ กล่าวคือสื่อไม่ได้เป็นเพียงวัตถุหรือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น สื่อไม่ได้รอคอยการป้อนข้อมูลของมนุษย์ สื่อไม่ได้รับใช้มนุษย์ หากมนุษย์และสื่อมีวิวัฒนาการร่วมกันไปโดยตลอด David Berry เสนอว่าสื่อได้ทำให้เราอยู่ในภวังค์ (trance) ที่ผู้ใช้งานหลุดออกจากเวลาปัจจุบันและกำลังไปสู่อนาคต 

ในหนังสือ Against Transmission: Media Philosophy and the Engineering of Time โดย Timothy Barker นักวิชาการด้านสื่อ ชวนให้เรามองถึงประวัติศาสตร์ของสื่อซึ่งมักจำกัดอยู่แต่สื่อสังเคราะห์ (synthetic media) ได้แก่ ภาพยนตร์และสิ่งพิมพ์ โดยกลับไปมองสื่อวิเคราะห์ (analytic media) ได้แก่ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ กล้อง และการถ่ายภาพ เพื่อทำความเข้าใจสื่อที่เกี่ยวข้องกับเราในชีวิตประจำวัน โดย Baker หันไปมองแนวคิดของ Alfred North Whitehead ผู้เสนอว่าสื่อเป็นเสมือน สภาพแวดล้อม (environment) มากกว่าที่จะมองว่าเป็นวัตถุ (object) ที่ตัดขัดจากมนุษย์ 

Barker มองว่าสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ล้วนแต่เป็นกระบวนการ (process) เช่นเดียวกับสื่อที่ไม่ได้หยุดนิ่งและตายตัว และเป็นปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนและมีพลวัตอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการก่อร่างทางประวัติศาสตร์ของสื่อที่เปลี่ยนผ่านจากอดีตของยุคสมัยใหม่ (past of the modernity) ไปสู่สภาวะปัจจุบันของกาลเวลาที่ดำเนินต่อเนื่อง (present of the contemporary) เขาเสนอว่าการเปลี่ยนยุคสมัยนั้นขึ้นอยู่กับการรับรู้และแสดงออกของเวลาที่สื่อในช่วงเวลานั้นสร้างขึ้น ด้วยความที่สื่อเป็นตัวกลางของมนุษย์ สื่อจึงกลายเป็นตัวกลางของเวลาไปด้วย 

ภาพจาก BANGKOK CITYCITY GALLERY

ผลงานของจุฬญาณนนท์ใน “ขอเวลาอีกไม่นาน” ก็เล่าถึงการเปลี่ยนจากสื่ออนาลอกสู่สื่อดิจิตัล โดยใช้การสร้างภาพวิดีโอจากหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นส่วนที่ Barker สนใจ เขาเสนอให้กลับไปมองความแตกต่างของสื่อสองชนิดได้แก่ สื่อสังเคราะห์ (synthetic media) ได้แก่ ภาพยนตร์และสิ่งพิมพ์ที่แสดงถึงยุคสมัยใหม่และสอดคล้องไปกับเวลา สังเกตได้จากหนังสือพิมพ์ที่จะเป็นเรื่องราวของวันที่นั้นๆ ของแต่ละฉบับ หรืออย่างหนังสือพิมพ์ที่จุฬญาณนนท์เลือกใช้ก็บ่งบอกเวลาชัดเจนว่าภาพใดมาจากหนังสือพิมพ์วันที่เท่าไร ซึ่งสื่อสังเคราะห์เป็นการสร้างประวัติศาสตร์และเวลาให้อยู่ในเส้นที่ต่อเนื่อง 

ตรงข้ามกับสื่อวิเคราะห์ (analytic media) ซึ่งเป็นการสื่อที่มีการจัดเก็บและวัดค่าประเมินผล ได้แก่ ฐานข้อมูล รูปภาพ ทีวีดิจิตัล สื่อเหล่านี้แสดงถึงสภาวะที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน (contemporaneity) สื่อวิเคราะห์ทำหน้าที่ในการแตกหักเวลาให้กระจัดกระจาย อย่างต่อเนื่องและทันทีทันใด พร้อมๆ กับจัดเก็บในลักษณะที่ไม่เป็นเส้นตรง (non-linear) เข้าถึงได้ และผ่านการประมวลผลสัญญาณที่อิสระจากเวลา (time-discrete) ยุคสมัยของสื่อวิเคราะห์จึงมีลักษณะของการเป็นจดหมายเหตุ (archival) มากกว่าจะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับวิดีโอของจุฬญาณนนท์ที่ภาพจากหนังสือพิมพ์ถูกนำมาใช้โดยที่เราไม่อาจทราบได้และไม่มีความจำเป็นต้องไปรู้ว่าภาพมาจากหนังสือพิมพ์ฉบับใด

ภาพจาก BANGKOK CITYCITY GALLERY

Barker เสนอว่าเวลาไม่ควรถูกมองว่าเป็นความไหลบ่า (flow) ของเหตุการณ์ (events) ที่ถูกนำมาผสมผสานอีกต่อไป แต่ควรถูกมองว่าเป็นกระบวนการทางคอมพิวเตอร์ที่ตัดแบ่งโลกเป็นชิ้นส่วนสั้นๆ กระบวนการที่ไม่ปะติดปะต่อนี้เองได้ทำให้ข้อมูล (รวมถึงความทรงจำ) ถูกประกอบขึ้นจากการทำงานอันหลากหลายของระบบซึ่งนำไปสู่กระบวนการแปรเปลี่ยนความหมาย

กระบวนการนี้ได้เปลี่ยนวิธีการประกอบสร้างความทรงจำและจัดเก็บข้อมูลผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มเช่น YouTube ซึ่งเป็นโมเดลของโครงข่าย (networked) มากกว่าที่จะเป็นเรื่องเล่าที่เป็นเส้นตรงที่ถูกสร้างโดยสื่อเดิม หากมองไปที่วิดีโอจะพบว่าการจัดวางของผลงานทั้งสี่จอคล้ายเม็ดพิกเซลถูกจัดตั้งให้ลดหลั่นลงมาคล้ายกับน้ำตก ภาพคล้ายกับสายน้ำ (flow) หากแต่การเคลื่อนไหวของภาพตัดปะกับเคลื่อนไหวอย่างสะเปะสะปะ และแตกออกเป็นหลายจอคล้ายกับการแตกออกของภาพ (fragmentation) 

นั่นเพราะที่ผ่านมา การสังเคราะห์เวลา (synthesis of time) นำไปสู่การสร้างประวัติศาสตร์ เหมือนที่เฮเกล (Hegel) ได้กล่าวไว้ว่าประวัติศาสตร์ถูกสร้างขึ้นจากสภาวะของการอนุรักษ์ (preservation) และโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างการอนุรักษ์สื่อและการสร้างเหตุการณ์ (events) ซึ่งเหตุการณ์ก็สร้างภาพแทนทางประวัติศาสตร์ไปพร้อมกันๆ (historical representations) เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ที่จุฬญาณนนท์นำทั้งภาพและคำมาตัดแปะ หนังสือพิมพ์ในฐานะสื่อสังเคราะห์ได้สร้างภาพแทนของเวลาในวันวันนั้นขึ้นมา และกักเก็บเวลาแช่หยุดนิ่งไว้ในสื่อ

แต่ในยุคสมัยของสื่อวิเคราะห์กลับพาเราไปสู่สภาวะ หลังประวัติศาสตร์ (post-historical) ที่มาพร้อมกับเสรีนิยมประชาธิปไตยของโลกตะวันตกดังที่ฟูกุยามะ (Fukuyama) เสนอไว้ในหนังสือเรื่อง The End of History and the Last Man (1992) หรือจุดจบแห่งประวัติศาสตร์ กับมนุษย์คนสุดท้าย ว่า ประวัติศาสตร์ของโลกได้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว โดยที่ระบอบเสรีประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรีจะกลายเป็นระบอบการปกครองหลักที่เอาชนะทุกระบอบการปกครองได้ ภายหลังการล่มสลายค่ายคอมมิวนิสต์ 

วิดีโอของจุฬญาณนนท์ท้าทายอำนาจรัฐและตัวแทนทางการเมืองอันสมบูรณ์แบบ มิติเวลาที่ไม่เป็นเส้นตรงและวิดีโอกำลังทำเช่นเดียวกับที่ Barker ชี้ชวนให้เรามองไม่เพียงการทำลายเรื่องเล่าหลักด้วยการอธิบายถึงการแตกหักอย่างถึงราก หากแต่ย้ำเตือนถึงโวหารหลอกลวงของความสมบูรณ์แบบ (completeness) หรือความถูกต้องเที่ยงแท้ของสื่อในยุคดิจิตัลร่วมสมัย สื่อวิเคราะห์พาเราเข้าสู่หลังประวัติศาสตร์ซึ่งคือการเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน (contemporaneity) อย่างถาวร โดยที่อดีตจะถูกกักเก็บไว้และฉายผ่านสื่อจนดูเหมือนว่าอดีตจะถูกผนวกรวมเข้ากับปัจจุบันและขยับขยายไปสู่อนาคต เหมือนกับภาพและข้อความจากหนังสือพิมพ์ที่จุฬญาณนนท์นำมาใส่ไว้ในวิดีโอเคลื่อนไหว แต่จุดร่วมสำคัญของสื่อสังเคราะห์และวิเคราะห์คือไม่สามารถสร้างความสมบูรณ์ (plenitude) หรือความต่อเนื่องได้ (continuity) นั่นเพราะสื่อโดยความหมายก็มาพร้อมกับการสูญหายและช่องว่าง 

ภาพแทน ภาพจำ การผลิตซ้ำ และการไปให้พ้นภาพแทน 

อีกจุดสนใจของวิดีโอจัดวางของจุฬญาณนนท์คือการนำภาพจากหนังสือพิมพ์มาผลิตซ้ำๆ จำนวนมากในวิดีโอ เช่นเดียวกับสิ่งพิมพ์ที่ผลิตภาพและเนื้อหาข่าวจำนวนมากๆ และสำหรับสื่อดิจิตัลเองก็มีการผลิตซ้ำของภาพผ่านกระบวนการต่างๆ เกิดเป็นการสร้างภาพแทน (representation) ดังที่เราเห็นภาพของพระใส่หมวกกันน็อคกำลังสอนเณรวาดภาพในวิดีโอของจุฬญาณนนท์ที่ถูกก๊อปปี้ซ้ำเรียงติดกันคล้ายตะขาบ

การเมืองในยุคหลังประวัติศาสตร์ที่เราถูกหลอกให้เชื่อว่ามีเหลือเพียงระบอบเสรีประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรีคือทางเลือกสุดท้ายที่เหลืออยู่ มีปัญหาสำคัญคือเรื่องของการเมืองของภาพแทน Hito Steyerl เรียกว่า Politics of Representation ที่เมื่อเราเลือกคะแนนเสียงให้ใคร คนนั้นก็จะเป็นเสมือนตัวแทนของเรา ผลประโยชน์ของคนหมู่มากก็จะถูกจัดแบ่งตามสัดส่วนและเป็นตัวแทน 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยหลังภาพแทน (Politics of Post-Representation) คือเราตระหนักได้ว่าประชาธิปไตยกลับมีท่าทีไม่ต่างจากสมาร์ทโฟนที่สามารถกำจัดขยะภาพ (noise) และสร้างข้อมูลขึ้นมาใหม่ บุคคลที่เราเลือกไปไม่อาจตอบสนองความต้องการหรือเจตจำนงของเราได้ ที่ผ่านมาเราถูกทำให้กลายเป็นวัตถุที่ถ่ายเทพลังทางการเมืองให้กับผู้แทน แต่ในโลกหลังประวัติศาสตร์ เราตระหนักได้ว่าเราเองต่างหากที่เป็นองค์ประธานผู้สามารถขับเคลื่อนการเมืองผ่านโครงข่ายสื่อสังเคราะห์โดยไม่ต้องยึดโยงกับภาพแทนอย่างเช่นรัฐหรือผู้แทนการเมือง 

ประเด็นสำคัญที่นิทรรศการ “ขอเวลาอีกไม่นาน” ต้องการนำเสนอคงเป็นเรื่องของฐานพลังของผู้คนที่หลบหลีกการควบคุมของรัฐในสื่อดิจิตัล เวลาที่ถูกขอจากรัฐบาลยืดยาวออกไปไม่รู้จบ เป็นกาลเวลาที่ทอดยาวเป็นเส้นตรงแบบเฮเกลที่กลายเป็น แนวคิดเรื่องจิตวิญญาณของเฮเกลคือองค์รวม (totality) ที่ปิดกั้นความหลากหลายและมีแนวโน้มที่จะปราบปรามความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้น ผู้คนและสรรพสิ่งที่แตกต่างหลากเคลื่อนย้ายตนเองในแพลตฟอร์มออนไลน์ มนุษย์กลายเป็นสื่อและสื่อก็กลายเป็นมนุษย์ 

แต่ในทางตรงกันข้ามวลี “ขอเวลาอีกไม่นาน” ก็อาจหมายถึงการโต้กลับของประชาชนที่ถูกกดปราบ ความง่อนแง่นของรัฐศักดินาเผยเรือนร่างของตนเองกลางธารกำนัลอย่างไม่อดอาย เยาวชนดูจะเป็นกำลังหลักของการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ฝูงชนที่ตื่นรู้ผ่านโครงข่ายออนไลน์ และเวลาที่มีอิสระในตนเอง พร้อมกับแยกขาดออกจากเส้นทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเส้นตรง นี่ดูจะเป็นสิ่งที่ David Savat และ Tauel Harper ย้ำเตือนใน Media After Deleuze ซึ่งเสนอว่าสื่อเป็นองค์ประธาน (Subject) ด้วยตัวสื่อเอง มิได้ขึ้นกับเนื้อหาหรือข้อความ สื่อยังมิได้เป็นสิ่งชี้นำ หากแต่ปฏิบัติการผ่านการมาประกอบร่วมกัน (assemblage) ซึ่งเป็นกระบวนการแห่งถ้อยแถลงของหมู่กลุ่มทางสังคมและวัตถุ (collective social-material processes of enunciation)

แต่ในทางตรงกันข้ามวลี “ขอเวลาอีกไม่นาน” ก็อาจหมายถึงการโต้กลับของประชาชนที่ถูกกดปราบ ความง่อนแง่นของรัฐศักดินาเผยเรือนร่างของตนเองกลางธารกำนัลอย่างไม่อดอาย เยาวชนดูจะเป็นกำลังหลักของการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ฝูงชนที่ตื่นรู้ผ่านโครงข่ายออนไลน์ และเวลาที่มีอิสระในตนเอง พร้อมกับแยกขาดออกจากเส้นทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเส้นตรง

ไม่ว่าสื่ออะไรเภทใดก็ตามมักจะอยู่ภายใต้กระบวนการของการประกอบสร้างอยู่ตลอดเวลา และยังประกอบไปด้วยชุดความสัมพันธ์อันซับซ้อนหลากหลาย (multitude) ผู้ชมและสื่อต่างเป็นส่วนหนึ่งของการมาประกอบร่วมกัน สื่อต่างๆ ถูกสร้างในขณะที่ถูกใช้และมีส่วนร่วมกับผู้ชมและผู้ใช้ที่ต่างก็ถูกผลิตซ้ำและสร้างขึ้นเป็นองค์ประธาน สื่อมีส่วนสำคัญในการสร้างตัวตนของเราผ่านกระบวนการแบบหมู่คณะ (collective processes) ที่ตัวเราก็มีส่วนสำคัญในการเป็นผู้เล่นในขณะที่เราถูกผลิตขึ้น

สื่อไม่ได้อยู่ในสถานะจำยอมหรืออิสระโดยตัวมันเอง หากแต่ขึ้นกับเครือข่ายโยงไยกันและการแสดงออก Deleuze และ Guattari มีความสนใจในผู้เป็นชายขอบของสังคม ความลื่นไหล และการแตกหัก พวกเขาชื่นชมการมาประกอบร่วมกันของสื่อที่มีจิตใจปฏิวัติ คาดเดาไม่ได้ และการไม่หยุดนิ่ง ซึ่งตรงข้ามกับ “สภาวะเหนือโลก” (transcendence) อันได้แก่ ความเป็นอุดมคติ ภาพแทน หรือการวางหลักเกณฑ์ทั่วไป ซึ่งสภาวะเหนือโลกนี่เองที่มักจะนำไปสู่การมีอิทธิพลเหนือกว่าความหลากหลายและกำหนดกฏเกณฑ์โดยไม่สนใจความสอดคล้อง และไม่เอาใจใส่ความเป็นพื้นบ้าน รวมถึงรายละเอียดเล็กน้อยที่แตกต่าง 

การครอบครองความเป็นศิลปิน และการขถบขัดขืนเวลาของทุนนิยม

ประเด็นสุดท้ายที่ผู้เขียนมองว่าวิดีโอของจุฬญาณนนท์ รวมไปถึงภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาคือ 100 Times Reproduction of Democracy (2019) ซึ่งถูกฉายในวันปิดนิทรรศการ “ขอเวลาอีกไม่นาน” ภาพยนตร์ตั้งคำถามถึงความเป็นศิลปิน เหนืออื่นไปกว่านั้นมองไปถึงสถานะของผู้ประพันธ์ สำหรับ Deleuze และ Guattari จักรกล (machine) อย่างหนึ่งก็คือหนังสือ ซึ่งความหมายของจักรกลก็คือองค์ประธาน Mark Poster เสนอว่าสถานะของผู้ประพันธ์ที่เราเข้าใจเป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น และเรื่องของลิขสิทธิ์ก็เป็นใจกลางหลักของระบอบทุนนิยม

หนังสือ (รวมถึงสื่อ) มีสถานะของการมาประกอบร่วมกันและความแตกต่างหลากหลาย ไม่มีสิ่งใดที่เป็นวัตถุ (object) พวกเขานิยามประเภทหนังสือสามชนิด ได้แก่ หนังสือประเภทราก (root-book) คือมีลักษณะเหมือนรากแก้ว ที่มีแกนกลางและแผ่กิ่งก้านออก นี่ทำให้เกิดการแตกออกเป็นสอง (binary fashion) เช่น x หรือ y ซึ่งกลายมาเป็นระบบแนวคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล (rational) ที่มีอิทธิพลกับระบบความคิดของเราในโลกสมัยใหม่ ทำให้เราไม่อาจะเข้าใจเรื่องความแตกต่างหลากหลายหรือการมาประกอบร่วมกัน

แนวคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลจะมุ่งสู่แก่นแท้ ความเป็นหนึ่งเดียว (the One) ต้นฉบับ (original) หรือ จุดเริ่มต้น สิ่งอื่นๆ จึงเป็นเพียงการลอกเลียนแบบ ความคิดว่ามีบางอย่างที่จริงแท้คือความรู้สึกผิดเพื่อตามหาความขาด (lack) ตามหาบางสิ่งที่หายไป นำไปสู่การสร้างภาพแทนไม่มีที่สิ้นสุด

หนังสือเป็นประเภทที่สองคือระบบคิดแบบรากฝอย (radicle-system หรือ fascicular root) โลกสมัยใหม่ดูจะมีความจงรักภักดีกับแนวคิดนี้อย่างมาก โลกคือความวุ่นวายโกลาหล โลกที่ไม่มีแก่นหลัก องค์ประธานไม่แตกย่อยเป็นสอง (dichotomise) หากแต่ก็ยังคงมีการแยกระหว่างองค์ประธานหรือวัตถุ (subject/object) และปัญหาคือแนวคิดเหล่านี้พยายามจะมองหาความเป็นเอกภาพ เคลื่อนกลายตนเองไปสู่ความไม่แน่ใจและการแน่วแน่อย่างล้นเกิน ดูมีความแตกต่างหลากหลายแต่มักจะถูกลดทอนให้เหลือเพียงสภาวะองค์รวมจนดูเป็นเรื่องการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ (Identity Politics) ระบบความคิดที่ดูเปิดกว้างนี้ก็ยังยึดโยงกับเวลาแบบเส้นตรงที่มีทิศทางเดียวและความเป็นเอกภาพที่รวมศูนย์อำนาจที่ยืนยันสถานะของตนผ่านมิติแบบวงกลม (circular dimension) ซึ่งไม่ได้เคลื่อนไปไหน มโนภาพของความคิดเช่นนี้ยังยึดติดกับสถานะของภาพแทน 

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เสนอว่า เวลาที่มีลักษณะแบบวงกลมนี้พบในมโนทัศน์เวลาของโลกก่อนสมัยใหม่ เช่น ในความคิดกรีก-โรมัน มองว่าเวลาไม่มีที่สิ้นสุดและเป็นนิรันดร์ ประวัติศาสตร์ถูกพ่วงเข้ากับเวลา มนุษย์ ผู้ยิ่งใหญ่) เท่านั้นเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์โดยใช้เวลา พื้นที่ (สัตว์ ธรรมชาติ สถานที่) เป็นเพียงองค์ประกอบของประวัติศาสตร์ เวลามีสถานะเป็นเพียงฉากหลังของประวัติศาสตร์ที่ไม่มีอำนาจในตัวของเวลาเอง เวลาถูกหั่นเป็นชิ้นๆ เอามาเรียบเรียงจากอดีต ปัจจุบัน และสู่อนาคต ประวัติศาสตร์เป็นภาพแทนของโลกที่ไม่เคลื่อนไปไหน (absolute immobility) นอกจากนี้ยังพบในแนวคิดของพุทธศาสนาที่มองว่าเวลาเดินเป็นสังสารวัฏ เวลาถูกแบ่งเป็นอสงไขยขึ้นกับจำนวนพระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้

เก่งกิจ มองว่าการมองเวลาแบบวงกลมและประวัติศาสตร์คือการเกิดขึ้นซ้ำๆ ของเหตุการณ์ที่ขึ้นกับเทพเจ้าทำให้มนุษย์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ มนุษย์เป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ที่เกิดมาอายุสั้นในจักรวาลขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับความคิดของคริสต์ศาสนาที่เวลาของมนุษย์มีจุดสิ้นสุด เป็นเส้นตรงพาดยาวออกไปและมีปลายทางแน่นอนคือพระผู้เป็นเจ้า เหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ในชีวิตมนุษย์ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโดยพระเจ้า

โดยสรุปแล้วระบบเวลาในโลกก่อนสมัยใหม่ได้แก่ กรีก-โรมัน พุทธศาสนา และคริสต์ศาสนา ล้วนแต่เป็นเวลาที่อยู่ในสภาวะเหนือโลก (transcendence) ปลายทางของเวลาเหล่านี้คือความนิรันดร์ หรือที่ Alexandre Kojève ผู้ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาเวลาของเฮเกล เรียกว่า Eternity (E) ที่ศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์ที่มนุษย์ผูกความปรารถนาของตนไว้กับอนาคตหรือพระเจ้าและมหาบุรุษ แต่ในขณะเดียวกันก็กีดกันการคิดถึงอนาคตในรูปแบบอื่นๆ เพระการคิดถึงอนาคตที่ไม่ใชพระเจ้าเป็นการบั่นทอนความสมบูรณ์ของพระเจ้า การคิดถึงอนาคตจึงถือเป็นเรื่องไร้สาระ

Louis Althusser วิพากษ์ระบบเวลาแบบเฮเกลโดยเสนอว่าการลำดับเวลา (diachronic) ซึ่งเป็นการที่เวลาถูกจัดวางเรียงกันไปตามลำดับได้ลดทอนพลังอำนาจของเวลาในตัวมันเอง และการลำดับเวลาต้องพึ่งพิงการร่วมเวลา (synchronic) ที่มีสถานะเป็นอิสระจากประวัติศาสตร์ที่ไล่เรียงลำดับเวลาแบบเส้นตรง การร่วมเวลากลายเป็นจุดบรรจบของเวลาที่มีความเฉพาะเจาะจงในตัวเอง (historical conjuncture) ที่แตกหักกับประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบเส้นตรง และที่ไม่ใช่การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ (periodization) แต่เผยให้เห็นการมาประกอบสร้างกันของมิติเวลาที่หลากหลาย และในเวลาเดียวกันก็เป็นอิสระจากกัน

Antonio Negri ได้นำแนวคิดของ Althusser มาพัฒนาต่อด้วยการเสนอว่า นอกจากแยกเวลาออกจากประวัติศาสตร์เส้นตรงและการไล่เรียงเวลาแล้ว ยังปลดปล่อยสถานะของเวลาให้มีชีวิตโดยตัวของเวลาเอง เวลามีลักษณะปลายเปิด เวลาไม่ถูกสลายตัวให้เป็นนามธรรมแต่ยึดโยงกับรูปธรรมความหลากหลายของชีวิตอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาเวลาได้ถูกทำให้เป็นนามธรรมและแยกขาดจากมนุษย์ เวลามีอำนาจเหนือมนุษย์ เวลาเปลี่ยนกำลังแรงงานของมนุษย์ให้เป็นตัวเลขนามธรรม เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของทุนนิยมที่ขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน

Giorgio Agamben เสนอว่า “ภารกิจของการปฏิวัติไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนโลกหากแต่เป็นการเปลี่ยนเวลา” นั่นคือการสร้างมโนทัศน์ใหม่เรื่องของเวลาที่อนาคตต้องไม่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า ต้องไม่มีจุดจบหรือปลายทางที่มีพระเจ้ารออยู่ หากแต่อนาคตคือความเป็นไปได้อื่นๆ ของการปฏิวัติและประวัติศาสตร์ โดยที่ปัจจุบันเป็นการรวมเอาอดีต ปัจจุบัน และอนาคตมาอยู่ไว้พร้อมๆ กัน (being-in-time) อดีตสามารถฉายไปในอนาคต อนาคตสามารถทำให้อดีตที่ถูกกดไว้เผยตนออกมา และปัจจุบันคือการปฏิวัติที่สร้างประวัติศาสตร์แบบใหม่ ประวัติศาสตร์ที่เผยให้เห็นเรื่องเล่าที่ลูกลบลืม 

เวลาของ Negri ที่ต่อต้านเวลาเส้นตรงของทุนนิยมจึงสอดคล้องกับเวลาในสื่อวิเคราะห์ที่เปลี่ยนรูปกลายร่าง เวลาในยุคสมัยหลังประวัติศาสตร์ที่อาจกล่าวได้ว่าเรื่องเล่าหลักได้ถูกทำลายลงอย่างไม่มีชิ้นดี สื่อวิเคราะห์เปลี่ยน (transduction) เหตุการณ์ให้การเป็นสัญญาณ ซึ่งกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นก่อนการส่งสัญญาณ (transmssion) การแปลงสัญญาณได้เป็นการทั้งต่อต้านและอำนวยให้เกิดการส่งสัญญาณของเหตุการณ์ 

Baker เสนอว่าขั้นต่อแปลงสัญญาณนี่เองในระสื่อวิเคราะห์ที่มันต่อต้านการสร้างประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน สื่อจึงทำให้เรามองระบบเวลาด้วยมโนทัศน์แบบใหม่ ที่ไม่ใช่เวลาวางเปล่าซึ่งถูกทําให้เหมือนกัน (homogeneous-empty time) แบบที่ Benedict Anderson เสนอ หากแต่เวลาที่ไม่อยู่ในเอกภาพความสงบเรียบร้อยของรัฐ เวลาไม่ใช่เหตุการณ์ที่ถูกเอามาร้อยเรียงแล้วไหลไปตามเส้นทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นเวลาของชีวิตที่หลากหลาย ไม่เป็นที่คุ้นชิน และไม่ได้ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางอีกต่อไป ในอีกทางหนึ่งมโนทัศน์เวลาโดยสื่อวิเคราะห์ (ที่ไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงภาพแทนของมนุษย์ หากแต่มีพลังอำนาจในตัวมันเอง) กำลังต่อต้านแนวคิดแบบรากฝอยที่ฝังลึกในระบบความคิดยุคสมัยใหม่มาอย่างยาวนาน 

ระบเวลาแบบวงกลม การไม่เคลื่อนไปไหนของประวัติศาสตร์ชาตินิยม การติดหล่มกับภาพแทนเช่นบูรพกษัตริย์หรือผู้แทนทางการเมือง นี่ชวนให้ผู้เขียนนึกถึงนาฬิกาหลากสีคล้ายธรรมจักรที่ถูกติดตั้งข้างอาคาร ซึ่งปรากฏในภาพยนตร์สั้น Planetarium เนื่องจากลักษณะของนาฬิกาที่มีแก่นตรงกลางและเข็มนาฬิกาที่ยื่นยาวออกไป นี่เป็นลักษณะของระบบคิดแบบรากฝอย นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เขียนนึกถึงภาพปะติดในวิดีโอคือรูปพีระมิดสีทองที่มีหนวดยาวสีเขียวกวัดแกว่งไปมา นี่ยังเน้นย้ำลักษณะการแตกกิ่งก้านออกจากศูนย์กลางของระบบคิดสมัยใหม่แบบระบบคิดแบบรากฝอย

ภาพจาก BANGKOK CITYCITY GALLERY

ไปให้ไกลกว่ารากฝอย สลายร่างของเราลงบนสื่อวิเคราะห์ และสร้างกองกำลังรูปธรรมขึ้นมาใหม่

สำหรับ Deleuze ความคิดมิใช่การแตกออกเป็นสอง ภาพแทน การลอกเลียนแบบ หรือองค์รวม ความคิดไม่ได้เรียบนิ่ง มีเหตุผล มีตรรกะ และมิใช่องค์ประธานที่เป็นภาพสะท้อนของวัตถุ สมองโดยตัวมันเองมีลักษณะคล้ายกับรากหญ้ามากกว่าต้นไม้ ความคิดเช่นนี้คือไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด สถานะเช่นนี้คือการอยู่ระหว่าง (intermezzo) ความคิดจึงกลายเป็นสิ่งที่ลื่นไหลเหมือนของเหลวที่ไม่ได้เคลื่อนไหวหากแต่ไหลลื่น ของเหลวมีอัตราเร็ว มีความเร็ว แต่มิได้เป็นการเคลื่อนจากจุด A ไป B 

ความคิดจึงมีลักษณะคล้ายกับ rhizome หรือลำต้นเจริญในแนวนอนขนานไปกับพื้นดิน ความสัมพันธ์แบบรากมักเป็นการสืบหาต้นกำเนิดคล้ายการสืบสกุลฝั่งบิดา แต่ rhizome เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะแนวร่วมที่ใกล้ชิดกัน เช่นเดียวกับความคิดและความปรารถนา (desire) ไม่เคยเป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบ แต่กลับเป็นกระบวนการ (process) และลื่นไหลอยู่ตลอดเวลา นี่คือความสร้างสรรค์ ความปรารถนา และการมาประกอบร่วมกันที่สร้างกระแสของความลื่นไหล

ปัญหาของความคิดภาพจำแบบเพลโตที่มีอิทธิพลครอบงำความคิดของเรามาตลอดโดยเฉพาะกับสื่อ (media) คือมักมองว่าสัญญะ (signs) จะไม่มีวันเท่ากับความจริงและมักถูกนิยามเทียบกับต้นฉบับ สัญญะถูกมองว่าเป็นเพียงการลอกเลียนแบบ ความแตกต่าง (difference) จึงถูกมองว่าขาดหายตลอดเวลา (lack) เต็มไปด้วยความรู้สึกผิดบาปและแรงด้านลบ ไม่สามารถวันยึดโยงกับอำนาจด้านบวก

ภาพจาก BANGKOK CITYCITY GALLERY

Deleuze เสนอให้เรามองว่าสัญญะก็มีพลังอำนาจในการก่อให้เกิดผล ความจริงจำลอง (simulacra) อันได้แก่ สัญญะ ความคิด ความปรารถนา และการมาประกอบร่วมกัน สามารถมีปฏิบัติการโดยไม่ต้องยึดโยงหาความเหมือนกับต้นฉบับหรือความจริง และความจริงเสมือน (virtual) ก็ไม่ได้เป็นคู่ตรงข้ามกับความจริงตาม “แนวคิดแยกเป็นสอง” ของเพลโต หากแต่ความจริงเสมือนสร้างและจัดระเบียบความจริงอีกที มากกว่าที่จะให้ความจริงมามีอิทธิพลเหนือกว่า 

Deleuze ตอกย้ำว่าเราต้องตั้งคำถามถึงผลลัพธ์ซึ่งคือความคิดเห็นส่วนตัวที่เรามักจะเอาไปผูกโยงกับองค์รวม การเฉลิมฉลองความเป็นปัจเจก จุดกำเนิด ผู้ประพันธ์ หรือศิลปิน ในทางตรงกันข้ามเราไม่สามารถแยกระหว่างความจริง โลก ภาพแทน หนังสือ (สื่อ) ความคิดเห็นส่วนตัว และผู้ประพันธ์ได้อีกต่อไป

นี่เองทำให้ผู้เขียนย้อนกลับไปมองวิดีโอของจุฬญาณนนท์ที่ตัวละคร ภาพแทนจากสื่ออนาลอกลื่นไหลไร้ทิศทาง สวนกระแสของภาพที่จัดวางคล้ายน้ำตกที่กระแสลดหลั่นจากสูงไปต่ำ ภาพจากจอสี่จอที่เคลื่อนไหวสะเปะสะปะนี้เองชวนให้ตั้งคำถามถึงความเป็นปัจเจก การยึดถือตัวตนของศิลปิน การล่มสลายของข่าวสารจากสื่อของรัฐ การลุกฮือของข่าวสารพลเมือง (citizen journalism) ที่ไม่ต่างจากข่าวสารของผู้ร่อนเร่ (nomad news) ที่เป็นเสียงจากชายขอบและเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง การสร้างเครือข่ายอันโยงใยอย่างซับซ้อนในโลกความจริงเสมือนเพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐที่แทรกซึมเข้ามาในพื้นที่สื่อวิเคราะห์ 

แม้รัฐและทุนนิยมจะเป็นผู้สร้างความจริงเสมือน ศิลปะ และอินเทอร์เน็ต รวมถึงเป็นผู้บงการความคิดของเราตลอดมา แต่นิทรรศการ “ขอเวลาอีกไม่นาน” ก็ยืนยันกับเราว่าเวลามิใช่สิ่งที่จะถูกขอและยืดยาวออกไปไม่รู้จบ ในทางตรงกันข้าม เวลาและสื่อมีอิสระในตนเองที่คล้ายกับโพรงที่ดึงเอาสิ่งต่างๆ มาประสบพบกันโดยคาดเดาไม่ได้ และเราไม่จำเป็นต้องไปประกอบสร้างและยึดโยงกับสิ่งที่รัฐอำพรางตลบแตลง 

หากแต่เราสามารถสร้างเครือข่ายของเราเองเพื่อต่อต้านขัดขืนกับอำนาจแบบลำดับชั้นผ่านเครือข่ายที่รัฐสร้างขึ้นมาเพื่อลวงล่อเราผ่านภาพแทนทั้งหลายที่เราเคยเชื่อและยึดโยงตัวเราเข้ากับภาพแทน ท่ามกลางยุคสมัยหลังประวัติศาสตร์และภาพแทนนั้น เราในฐานะสื่อ เวลา เครื่องจักร และสิ่งอื่นๆ อีกอนันต์ ต่างหากที่เป็นผู้กระทำและองค์ประธานของการต่อสู้ทางการเมือง 


อ้างอิง :

  • Timothy Barker. (2018). Against Transmission: Media Philosophy and the Engineering of Time
  • David Savat. Tauel Harper. (2016). Media After Deleuze
  • ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ. (2020). การเดินทางในระยะห่างของดวงตา. ระหว่างบรรทัด
  • เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2020). ว่าด้วยเวลาอนาคต: วิพากษ์ประวัติศาสตร์ที่เป็นเส้นตรงและข้อถกเถียงระหว่าง Kojève กับ Althusser
  • เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2014). เวลา” กับการศึกษาประวัติศาสตร์: ประวัติศาสตร์ของเทพเจ้า, ประวัติศาสตร์แห่งรัฐ-ชาติ-ทุน และประวัติศาสตร์แห่งการปลดปล่อย

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 17 ก.ย. 63

Mulan ครองแชมป์เป็นสัปดาห์ที่ 3 โดยที่ Tenet ก็ยังอันดับ 2 ไม่ไปไหน หนังใหม่ทำเงินสูงสุดขึ้นมาได้แค่อันดับที่ 3 นั่นคือ Antebellum อย่างไรก็ตาม เมื่อวานเป็นวันที่หนังใหม่เข้า แต่ไม่มีหนังเรื่องไหนทำเงินถึง 1 ล้านบาทเลยแม้แต่เรื่องเดียว

รายได้หนังประจำวันที่ 17 ก.ย. 63

1. Mulan – 0.68 (54.25) ล้านบาท
2. Tenet – 0.56 (50.84) ล้านบาท
3. Antebellum – 0.50 ล้านบาท
4. เกมเมอร์เกมแม่ – 0.20 (5.45) ล้านบาท
5. Ode to Joy – 0.07 ล้านบาท
6. The High Note – 0.03 (0.41) ล้านบาท
7. Special Actors – 0.01 (0.35) ล้านบาท
8. Peninsula – 0.01 (52.72) ล้านบาท
9. The New Mutants – 0.006 (12.68) ล้านบาท
10. The Secret Garden – 0.006 (1.42) ล้านบาท

Mirch Masala : รสชาติที่แผดแรงของ ‘พริก’ …ความทุกข์ที่ลุกโชนเป็นโกรธแค้นของ ‘สตรีเพศ’ และ ‘คนอื่น’

ณ แผ่นดินอันเวิ้งว้างร้างไกล ทหารหนุ่มหลายนายกำลังควบม้าไล่ล่าหญิงสาวนางหนึ่งอย่างเอาเป็นเอาตาย โดยมีหลากองค์ประกอบแวดล้อมในเหตุการณ์นี้ที่ช่วยขับเน้นให้ ‘ความทุกข์ตรมขมไหม้’ บนใบหน้าของหญิงสาวยิ่งกระจ่างชัดและทวีความเข้มข้นมากขึ้นทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นความร้อนระอุของอุณหภูมิที่มาจากแสงแดดเจิดจ้าในเวลากลางวัน หรือรายละเอียดอันแสนจัดจ้านของชุดส่าหรีที่ทั้งรัดรึงและพริ้วไหวอยู่บนเรือนกายของเธอ

รวมถึงสีแดงฉานของ ‘พริก’ จำนวนมหาศาลที่ถูกวางกองแผ่หราไว้บนลานกว้างสุดลูกหูลูกตานั้น …จนดูราวกับทะเลเพลิงที่กำลังลุกโชนแผดเผาไปทั่วทุกองคาพยพ

— ฉากดังกล่าวคือหนึ่งในภาพจำสุดคลาสสิกของ Mirch Masala หนังอินเดียภาษาฮินดีปี 1987 ของผู้กำกับ เคตาน เมห์ตา ที่ว่าด้วยการลุกฮือขึ้นของเหล่าหญิงสาวที่ถูกแนวคิด ‘ชายเป็นใหญ่’ กดขี่ข่มเหงในรัฐคุชราตยุค 40 ก่อนที่การประกาศอิสรภาพของชาวอินเดียจะมาถึง

และมันก็ยังเป็นหนังดราม่าน้ำดีที่ช่วย ‘เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมในสังคมให้แก่สตรีเพศ’ ผ่านการใช้สีสันและคุณสมบัติของวัตถุดิบอาหารขึ้นชื่อประจำชาติอย่าง ‘พริก’ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจอีกด้วย


1

พริก คือหนึ่งในเครื่องเทศที่เข้ามามีบทบาทในครัวของอินเดียเป็นเวลากว่า 500 ปีแล้ว โดยมันเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลพร้อมชาวโปรตุเกสจากทวีปอเมริกาใต้มายังรัฐกัวของอินเดีย (ซึ่งในตอนนั้นยังเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส) และมันก็เริ่ม ‘ถูกปาก’ ผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถ ‘ยืนหนึ่ง’ แทนที่วัตถุดิบรสเผ็ดรุ่นพี่อย่าง ‘พริกไทย’ กับ ‘ดีปลี’ ได้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ก่อนที่อินเดียจะขยับขยายกลายมาเป็นประเทศที่มีการผลิตและการส่งออกพริกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แถมพริกหลากหลายสายพันธุ์จากที่นี่ก็ยังถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในทวีปเอเชียใต้อีกด้วย (อาทิ ศรีลังกา, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, เนปาล) ในฐานะของเครื่องปรุงรสที่ช่วยสร้างสีสันและเพิ่มรสชาติเผ็ดร้อนให้แก่เมนูอาหารพื้นถิ่นต่างๆ

และก็เพื่อความสะดวกสบายในการเก็บไว้ใช้ปรุงอาหารภายในครัวเรือน พริกจึงถูกพัฒนาต่อยอดมาเป็น ‘ผงพริก’ -ตามชื่อของหนังอย่าง Mirch Masala- โดยเมื่อผลพริกเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง พวกมันจะถูกเด็ดจากต้นออกมาตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปป่นละเอียดจนกลายเป็นผงที่พร้อมใช้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ไม่เฉพาะแค่ผงที่ทำจาก ‘พริก’ (Mirch) เท่านั้น แต่ ‘มาซาลา’ (Masala) หรือ ‘ผงเครื่องเทศ’ ในอินเดียก็ยังถูกจำแนกแยกย่อยออกมาได้อีกหลายประเภท โดยส่วนใหญ่มักเป็นผงที่รวมเอาเครื่องเทศหลากชนิดเข้าไว้ด้วยกัน (เช่น ขิง, ขมิ้น, ลูกผักชี, กระวาน, กานพลู, อบเชย) และมักถูกนำไปปรุงร่วมกับเมนูอาหารจำพวกพืชผักและเนื้อสัตว์อย่างไก่หรือแพะเป็นหลัก (ไม่ใช่วัวหรือหมูที่ถือเป็น ‘วัตถุดิบต้องห้าม’ ของผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูกับอิสลาม – ตามลำดับ)

แต่กระนั้น ถึงจะเป็นที่นิยมมากเพียงใด ทว่าเครื่องเทศรสจัดเหล่านี้กลับไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในเมนูมังสวิรัติสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูอย่างเคร่งครัดได้ เพราะขัดแย้งกับความเชื่อทางศาสนาที่มองว่าของเผ็ดร้อนเป็น ‘ของไม่ดี’ ด้วยค่าที่มันสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่คนกิน ดังนั้น ในงานเทศกาลหรือพิธีกรรมต่างๆ เราจึงได้เห็นอาหารรสหวานอย่างขนมหรือผลไม้บางชนิด-ซึ่งเชื่อกันว่าสามารถส่งมอบ ‘ความรัก/ความสุข’ ให้คนกินได้-ปรากฏอยู่อย่างหนาตา ขณะที่อาหารรสเผ็ดมักจะถูกนำไปถวายเทพระดับล่างหรือผีสางแทน

มาถึงตรงนี้, ‘สถานะของพริก’ จึงดูจะสอดคล้องเชื่อมโยงกับ ‘สถานะของผู้หญิง’ ในอินเดียอยู่ไม่น้อย เพราะทั้งคู่ล้วนถูก ‘กีดกันแบ่งแยก’ ด้วยบางความเชื่อ/ค่านิยมบางประการเฉกเช่นเดียวกัน


2

Mirch Masala (หรือชื่อภาษาอังกฤษของหนังคือ A Touch of Spice) เล่าถึงชีวิตของ ซอนไบ (รับบทโดย สมิตา ปาติล) หญิงสาวชาวบ้านแห่งรัฐคุชราตในยุค 40 -ผู้อยู่เพียงลำพังเพราะสามีต้องออกไปทำงานในเมือง- ที่ต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่คนใหม่จากโลกอาณานิคม (นาซีรุดดิน ชาห์) ที่เดินทางพร้อมกองทหารเข้ามาปักหลักที่หมู่บ้านเล็กๆ ของเธอและเอาแต่หาเศษหาเลยกับหญิงชาวบ้านไปวันๆ จนเธออดรนทนไม่ไหวและลุกขึ้นขัดขืนด้วยการตบหน้าเขาไปเต็มแรง – การตอบโต้ดังกล่าวทำให้เธอต้องวิ่งหนีหัวซุกหัวซุนจากการไล่ล่าของบรรดาทหารเข้าไปในโรงงานผลิตมาซาลาที่เต็มไปด้วยคนงานหญิงหลากช่วงวัย

ซอนไบกลายมาเป็น ‘ตัวปัญหา’ ของชาวบ้านที่เหลือ เนื่องจากพวกเขาส่วนใหญ่ต้องการให้เธอออกมารับกรรมที่เจ้าตัวก่อไว้กับเจ้าหน้าที่หนวดงามใจทราม และให้เธอยอมถูกลวมลามไปเสีย เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนตามไปด้วย แม้ว่าในท่ามกลาง ‘ผู้ชาย’ -เช่น หัวหน้าหมู่บ้านผู้ร่ำรวย (สุเรศ โอเบรอย)- และ ‘ผู้หญิง’ -เช่น สาวโรงงานส่วนใหญ่- ที่คิดว่าปัญหานี้ ‘ไม่ใช่เรื่องของตน’ นั้น จะยังเหลือยามแก่ประจำโรงงาน (โอม ปุรี) ที่ลุกขึ้นมายืนหยัดปกป้องโดยคอยเฝ้าประตูเพื่อกีดขวางไม่ให้มีใครล่วงเกินเธอได้ รวมถึงชาวบ้านอีกบางส่วนที่ต่อต้านการส่งมอบตัวซอนไบให้แก่เจ้าหน้าที่ แต่ก็ดูท่าว่าพวกเขาจะไม่ใช่ ‘เสียงส่วนใหญ่’ เมื่อคนเกือบทั้งหมู่บ้านต่างเกรงกลัวอิทธิพลของผู้มีอำนาจ จนสามารถยอมแลกความสบายใจของตนกับ ‘ศักดิ์ศรีของผู้หญิงคนหนึ่ง’ ได้อย่างไร้มนุษยธรรม

หนังเรื่องนี้จึงสามารถสะท้อนถึงความตกต่ำของ ‘สถานะทางสังคมของผู้หญิง’ ในอินเดียได้อย่างถึงพริกถึงเครื่อง

เราอาจเคยได้ยินมาตั้งแต่ไหนแต่ไรว่า การเกิดเป็น ‘ผู้หญิง’ ในประเทศอินเดียคือเรื่องที่ทั้ง ‘น่าอับอาย’ และ ‘ไร้ราคา’ โดยเฉพาะในสายตาของคนเป็นพ่อเป็นแม่ เพราะสุดท้ายแล้ว ลูกสาวก็ต้องตกไปเป็น ‘สมบัติ’ ของครอบครัวอื่นผ่านการแต่งงานอยู่ดี แถมพวกเขายังต้องจ่ายค่าสินสอดให้บ้านเจ้าบ่าวด้วยเงินจำนวนมหาศาล เพื่อเป็น ‘ค่าธรรมเนียมแรกเข้า’ ให้อีกฝ่ายยอมรับลูกสาวไปเลี้ยงดู ก่อนช่วยขัดเกลาให้เธอกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของวงศ์ตระกูลอันทรงเกียรติ (ซึ่งค่าสินสอดนั้นอาจสูงกว่ารายได้ต่อปีของบ้านฝ่ายหญิงด้วยซ้ำ) จึงมีหลายคนที่รังเกียจการมีลูกสาวจนเลือกตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการหาทางขัดขวางไม่ให้เด็กในครรภ์มีโอกาสได้ออกมาลืมตาดูโลก หรือหากรอดไปได้ก็ต้องหาทางเลี้ยงดูแบบทิ้งๆ ขว้างๆ เพื่อให้ป่วยตายไปเอง…

และแม้ลูกสาวเหล่านั้นจะสามารถเติบใหญ่มามีชีวิตในฐานะ ‘ผู้ใหญ่’ ได้ ก็ใช่ว่าจะหลุดพ้นจากความทุกข์โศกรายวัน เพราะด้วยสถานะที่ถูกมองว่า ‘ต่ำชั้นกว่า’ ผู้ชายมาตั้งแต่เกิด ทำให้พวกเธอต้องคอยรับมือกับตรรกะที่บิดเบี้ยวในสังคมอินเดียอีกหลายประการ เช่น การถูกผู้ชายพร่ำบอกว่าเป็นผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียนหนังสือให้รู้รอบนัก เพราะการศึกษาเป็นเรื่องสูงส่งที่คู่ควรกับพวกเขามากกว่า หรือการถูกผู้ชายแตะเนื้อต้องตัว-แม้ผู้หญิงจะไม่ยินยอม-ที่กลายมาเป็นพฤติกรรมธรรมดาในพื้นที่สาธารณะ และลุกลามบานปลายถึงขั้น ‘ข่มขืน’ กันอย่างอุกอาจโดยที่สังคมกลับมองว่าเป็นความผิดของตัวผู้หญิงที่แต่งตัวยั่วยวนเองเสียด้วยซ้ำ — ทั้งหมดนั้นเป็นผลมาจากคำสอนต่างๆ ของสังคมอินเดียนับจากยุคโบราณกาล ทั้งตำนานเรื่องเล่าอิงศาสนาฮินดูที่มักกำหนดให้ผู้หญิงทำตัวเรียบร้อยว่านอนสอนง่ายอยู่ใต้อาณัติของผู้ชาย (พ่อ, สามี, พ่อสามี) และธรรมเนียมโบราณอย่างการให้หญิงหม้ายกระโดดเข้ากองไฟตายตามสามีที่เสียชีวิตไปเพื่อพิสูจน์ความจงรักภักดี เป็นต้น

และแม้ลูกสาวเหล่านั้นจะสามารถเติบใหญ่มามีชีวิตในฐานะ ‘ผู้ใหญ่’ ได้ ก็ใช่ว่าจะหลุดพ้นจากความทุกข์โศกรายวัน เพราะด้วยสถานะที่ถูกมองว่า ‘ต่ำชั้นกว่า’ ผู้ชายมาตั้งแต่เกิด ทำให้พวกเธอต้องคอยรับมือกับตรรกะที่บิดเบี้ยวในสังคมอินเดียอีกหลายประการ

ทว่านับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ที่สังคมอินเดียเริ่มตื่นตัวในเรื่องการเรียกร้องให้สตรีได้รับสิทธิทางสังคมที่เท่าเทียมกับบุรุษ -อันเป็นหัวใจหลักของแนวคิด ‘สตรีนิยม’ หรือ เฟมินิสม์ (Feminism) จากโลกตะวันตก ที่เกิดขึ้นเพื่อคัดง้างกับระบบคิดอันกดขี่ของสังคมแบบ ‘ชายเป็นใหญ่’ หรือ ‘ปิตาธิปไตย’ (Patriarchy)– ไล่เลยมาจนถึงในช่วงต้นยุค 40 อันเป็นห้วงเวลาท้ายๆ ที่ มหาตมะ คานธี ขึ้นเป็นผู้นำประชาชนในการเรียกร้องให้อินเดียเป็นอิสระจากการตกเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษด้วยสันติวิธีนั้น มีหลักฐานบ่งชี้ว่า พลเมืองเพศหญิง-ที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่เพิ่มมากขึ้น-มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเรียกร้องเอกราชให้กับประเทศพอๆ กับพลเมืองเพศชายในยุคนั้น ทั้งการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และการออกมาต่อสู้เรียกร้องที่หลายครั้งก็เสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต

เมื่ออินเดียได้รับเอกราชในปี 1947 และกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งครั้งแรกระหว่างปี 1951-1952 รัฐบาลก็เริ่มออกมาสนับสนุนสิทธิสตรีมากขึ้น ทั้งในบ้าน ในสถานศึกษา ในที่ทำงาน และในโลกการเมือง ทว่าด้วยความคิดความเชื่อเกี่ยวกับคุณค่า/บทบาทของผู้หญิง-ทั้งในเชิงสังคม วัฒนธรรม และศาสนา-ที่ฝังรากหยั่งลึกมายาวนาน รวมถึงปัญหาด้านความยากไร้-โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกสาว-และการแบ่งแยกผู้คนผ่าน ‘ชนชั้นวรรณะ’ (Caste) ก็ทำให้การแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่นมาโดยตลอด แม้ว่าผู้หญิงที่เชื่อว่า ‘สตรีเพศสามารถทำทุกสิ่งได้’ อย่าง อินทิรา คานธี จะเคยขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกและคนเดียวของอินเดียในหลายช่วงเวลาระหว่างยุค 60-80 ก็ตาม

ที่ทางของผู้หญิงอินเดียในสังคมร่วมสมัยจึงยังคงถูกจัดวางให้ค้างเติ่งอยู่ที่ ‘บ้าน’ ในฐานะของแม่บ้านผู้ดูแลครอบครัว หุงหาอาหาร หรือซักล้างทำความสะอาด โดยปราศจากอำนาจโต้แย้งหรือแม้แต่อำนาจบริหารจัดการเม็ดเงินภายในครัวเรือน ขณะที่ในตลาดแรงงานของอินเดีย ผู้หญิงก็ไม่ได้เป็นที่ต้องการมากเท่าผู้ชาย ไม่ว่าพวกเธอจะทำงานได้ดีกว่าแค่ไหน และแม้ว่าสถานประกอบการบางแห่งจะเต็มไปด้วยผู้หญิง-เช่นเดียวกับโรงงานพริกที่ปรากฏใน Mirch Masala แต่นั่นก็เป็นเพราะมันคือ ‘งานไม่สลักสำคัญ’ ที่ผู้ชายไม่อยากแตะต้อง และพวกเธอก็ไม่ได้มีอำนาจมากไปกว่าการทำหน้าที่เล็กๆ ของตนให้ลุล่วงในแต่ละวัน

ความต้อยต่ำของผู้หญิงอินเดียจึงอาจเปรียบได้กับ ‘พริก’ ที่ถูกเมินจากโลกศาสนาในสังคมอินเดียเช่นกัน กล่าวคือนอกจากจะเป็นเพศที่ถูกกีดกันจากความเชื่อทางศาสนาในบางกรณีแล้ว (ผู้หญิงที่มีประจำเดือนจะถูกห้ามไม่ให้เข้าวัดและเข้าร่วมพิธีทางศาสนา) พวกเธอก็ยังเป็นลูกสาวที่พ่อ-แม่ไม่ต้องการ เป็นภรรยา/มารดาที่ต้องคอยปรนนิบัติสมาชิกครอบครัวอยู่แต่ในบ้าน และเป็นแรงงานที่ถูกกดขี่ในที่ทำงานตามที่ผู้ชายคอยชี้นิ้วสั่ง — เหล่านี้เป็นกรอบกฎเกณฑ์ที่คอยสุม ‘ความโกรธ’ ให้เกิดแก่ผู้หญิงอินเดีย จนพวกเธอต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องอยู่เป็นระยะๆ ในทุกยุคทุกสมัย

และแน่นอนว่าความโกรธนี้ก็ลุกลามมายัง ‘โลกภาพยนตร์’ ด้วย


3

บอลลีวูด (Bollywood) คือชื่อเรียกของวงการหนังอินเดียกระแสหลักที่ใช้ภาษาฮินดี (ซึ่งวงการหนังในภาษาอื่นๆ ของอินเดียอีกราว 20 ภาษา ก็จะมีชื่อเรียกที่ต่างกันออกไป) ซึ่งดูจะยั่วล้อกับชื่อวงการหนังกระแสหลักของสหรัฐอเมริกาอย่าง ฮอลลีวูด (Hollywood) โดยทั้งสองวงการนี้ต่างเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ทรงอิทธิพลอันดับต้นๆ ของโลก

และทั้งสองวงการนี้ก็ยัง ‘กดขี่สตรีเพศ’ -ทั้งในและนอกจอ- มาอย่างยาวนานไม่ต่างกัน

ผู้ชายที่มีอำนาจในวงการหนังหลายแห่งมักยึดกุมอำนาจแห่งการสร้างสรรค์ผลงานมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม พวกเขาพร้อมที่จะใช้ความคิดของตนชี้เป็นชี้ตายในทุกสิ่งทุกอย่าง แถมยังลุกลามไปถึงการใช้อำนาจในการหาประโยชน์ทางเพศกับผู้หญิงโดยที่พวกเธอไม่เต็มใจอีกด้วย ซึ่งการสังคายนาการกดขี่ผู้หญิงผ่านการใช้อำนาจบาตรใหญ่ในวงการหนังได้ค่อยๆ เพิ่งถูกตรวจสอบและชำระสะสางในช่วงปีหลังๆ มานี้เอง นับจากปรากฏการณ์ #MeToo ที่ผู้หญิงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในวงการฮอลลีวูดออกมาแฉพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศที่พวกเธอต้องเผชิญตลอดหลายทศวรรษ-จากนักแสดง/ผู้บริหารเพศชาย-กันอย่างกว้างขวาง จนส่งผลสั่นสะเทือนไปสู่วงการหนังในฟากฝั่งอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งก็รวมถึงการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในบอลลีวูดที่กลายเป็นกระแส #MeTooIndia ในเวลาต่อมาด้วย

หากมองกันเฉพาะแค่ในบอลลีวูด ทัศนคติเหยียดหยามผู้หญิง (Misogyny) ทั้งการมองว่าเป็นเพศที่ด้อยกว่าและเป็นได้เพียงวัตถุทางเพศสำหรับผู้ชาย รวมถึงการกีดกันผู้หญิงที่ ‘ต่าง’ ไปจากกรอบความงามตามมาตรฐานนั้น มีมาตลอดจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ผู้หญิงทำงานในโลกภาพยนตร์จึงไม่ได้ถูกคนวงในให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของพวกเธอมากพอ รวมถึงบรรดาตัวละครหญิงจำนวนมากที่มักถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนดูเพศชายได้เชยชมและยังตอกย้ำสถานะที่ต่ำต้อยกว่าเรื่อยมา จากแม่ผู้เสียสละ, สตรีแสนดีผุดผ่อง, เหยื่อผู้อ่อนแอ, สาวทรวดทรงเซ็กซี่ จนถึงหญิงยากจนที่น่าสงสาร ซึ่งแม้ในปัจจุบัน หนังหลายเรื่องจะพยายามพูดถึง ‘ชีวิตในโลกความจริง’ ของผู้หญิงมากขึ้น ทว่าบุคลากรหลายรายในวงการ-แม้กระทั่งผู้หญิงด้วยกันเอง-ก็กลับไม่ยินดีที่จะข้องเกี่ยวกับการผลักดันสิทธิในการพูดเรื่องจริงเหล่านี้ แถมยังมองว่ามันเป็นเรื่องที่ ‘ไม่จำเป็น’ เสียด้วยซ้ำ แถมหนังภาษาฮินดีปี 1990 อย่าง Ghar Ho To Aisa -ที่เล่าถึงผู้หญิงที่ออกมาตั้งองค์กรสนับสนุนเพศหญิงให้ใช้ชีวิตเป็นอิสระจากผู้ชาย- ก็ยังทำให้คนมองว่าแนวคิดเฟมินิสม์ ‘เป็นพิษ’ และ ‘ทำลายสถาบันครอบครัว/การแต่งงานอันดีงาม’ ไปเสียอีก อย่างไรก็ดี ในท่ามกลางข้อถกเถียงที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้นนี้ ความทุกข์เกี่ยวกับสถานะทางสังคมของผู้หญิงใน Mirch Masala ของเมห์ตา ก็ดูจะเป็นประเด็นถกเถียงที่ ‘ร่วมสมัย’ อย่างน่าตกใจ เพราะมีหลายบทหลายตอนในหนังที่ยังทำให้เราเห็นว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ถูกทำร้ายด้วย ‘ทัศนคติติดลบ’ แบบเดียวกับความขัดแย้งที่เราสามารถพบเจอได้ในหน้าข่าวทุกวันนี้ โดยเฉพาะการถูก ‘คาดโทษ’ เมื่อพวกเธอทำผิดกรอบจารีตดั้งเดิม

เห็นได้จากในฉากที่ผู้หญิงอย่างซอนไบต้องวิ่งหลบหนีการจับกุมของทหารในลานตากพริกสีสันร้อนแรง ซึ่งในที่นี้อาจเป็นภาพแทนที่สะท้อนถึงความทุกข์ทนที่เริ่มกลายเป็นความโกรธเกรี้ยวของหญิงสาวก็ย่อมได้ ทั้งตัวซอนไบเองที่แข็งขืนต่อขนบความเชื่อในแบบเดิมๆ และกลุ่มผู้หญิงในหมู่บ้านที่ถูกลดทอนคุณค่าในทุกมิติของสังคม โดยการสื่อสารผ่าน ‘สีแดง’ -ที่ตามหลักการทั่วไปในโลกแห่งการเล่าเรื่องอาจหมายถึงได้ทั้งแรงปรารถนา, ความโกรธเคือง, อันตราย หรือแม้แต่การลุกฮือขึ้นในทางการเมืองของผู้คน- จากพริกและองค์ประกอบอื่นๆ ในหนัง ที่ถ้าผู้ชมสังเกตให้ดีก็จะพบว่ามันค่อยๆ แทรกซึมไปทั่วทั้งเมืองนี้มาตั้งแต่แรกแล้ว

แต่ถึงตัวหนังจะเต็มไปด้วยความความโกรธขึ้งที่ผู้หญิงมีต่อความอยุติธรรมที่ตนได้รับ แต่เมห์ตาก็ยังพยายามให้ผู้หญิงในเรื่อง ‘กล้า’ ที่จะออกมาต่อสู้มากขึ้นทีละนิด ไม่ว่าจะเป็นสาวโรงงานบางส่วนที่ยืนยันจะให้ซอนไบได้หลบซ่อนที่นี่ หรือภรรยาที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพของหัวหน้าหมู่บ้าน (เขาไม่ยอมให้เธอพาลูกสาวไปเรียนหนังสือ) ที่ออกมาช่วยเหลือสาวโรงงานที่กำลังตั้งรับกับความโหดร้ายจากโลกภายนอก ทั้งการลักลอบส่งอาหารให้ หรือแม้แต่ชักชวนผู้หญิงในหมู่บ้านให้ร่วมกันเดินขบวนเรียกร้องชาวบ้านผู้ชายในการออกมาปกป้องผู้หญิง เพราะหากชาวบ้านยอมปล่อยปละให้ผู้มีอำนาจข่มเหงผู้หญิงคนใดคนหนึ่งในหมู่บ้านได้ตามใจชอบ วันหนึ่งก็อาจเป็นแม่, ภรรยา, น้องสาว หรือลูกสาวของพวกเขานี่เองที่ต้องโดนกระทำย่ำยีเป็นรายต่อไป

เพราะหากชาวบ้านยอมปล่อยปละให้ผู้มีอำนาจข่มเหงผู้หญิงคนใดคนหนึ่งในหมู่บ้านได้ตามใจชอบ วันหนึ่งก็อาจเป็นแม่, ภรรยา, น้องสาว หรือลูกสาวของพวกเขานี่เองที่ต้องโดนกระทำย่ำยีเป็นรายต่อไป

กระทั่งในฉากสุดท้ายที่เหล่าหญิงสาว-ผู้เคยทนสยบยอมต่อความเชื่อเก่าๆ ของสังคมมาก่อน-ตัดสินใจใช้ผงพริกในโรงงานสาดใส่หน้าผู้มีอำนาจที่ตามราวีซอนไบ มันจึงเหมือนเป็นการที่พวกเธอลุกขึ้นมาแสดงความไม่พอใจในความอยุติธรรมนั้นโดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมในที่สุด

นอกเหนือจากวีรกรรมอันดุเดือดของตัวละครหญิงในหนังเรื่องนี้ นักแสดงหญิงอย่างสมิตา ปาติล-ผู้รับบทซอนไบ-ก็ยังสามารถถ่ายทอดด้านที่เปราะบาง กล้าหาญ และเปี่ยมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของสตรีเพศแทนผู้หญิงอินเดียทั้งประเทศได้อย่างน่าชื่นชม แถมยังลุกลามไปยังวิถีชีวิตส่วนตัวนอกหนังอีกด้วย เพราะเธอเป็นนักแสดงหญิงเพียงไม่กี่คนในอินเดียยุค 70-80 ที่มี ‘ที่ทาง’ ทั้งในหนังบอลลีวูดและหนังนิวเวฟ (New Wave) หรือหนังทุนต่ำที่เน้นการถ่ายทอดความสมจริงมากกว่า เป็นคนที่ทำลายขนบความเชื่อที่ว่านักแสดงหญิงต้องมีผิวขาวละเอียดและเรือนร่างบอบบางเท่านั้น และเป็นเฟมินิสต์ตัวจริงที่พยายามส่งเสริมสิทธิสตรีในทุกช่องทาง ยกตัวอย่างเช่น การเลือกบทบาทที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง ความซับซ้อน และด้านที่เป็นจริงของผู้หญิงในสังคมอินเดีย ทั้งตัวละครหญิงชนชั้นล่างที่ต้องมีชีวิตกระเสือกกระสนใน Manthan (1976, ชยาม เบเนกัล), หญิงสาวที่ตกหลุมรักชายที่แต่งงานแล้วใน Arth (1982, มาเหศ บัตต์) และสาวโรงงานที่ถูกกระทำใน Mirch Masala นอกจากนี้ เธอยังสร้างชื่อเสียงจากการรับงานกระแสหลักในบอลลีวูดจนทำให้ผู้ชมเริ่มหันมาสนใจหนังทุนต่ำที่เธอเล่นอีกด้วย (อนึ่ง เป็นเรื่องน่าใจหายที่เธอเสียชีวิตหลังคลอดบุตรตอนอายุ 31 ปี ก่อนที่หนังเรื่องนี้จะออกฉายเพียงไม่กี่เดือน)

ฉะนั้น เมื่อองค์ประกอบของเรื่องราวทั้งในและนอกจอนี้ถูกประกอบสร้างเข้าด้วยกัน Mirch Masala จึงกลายเป็น ‘หนังผู้หญิง’ ที่ถือเป็น ‘ตำนานหน้าสำคัญ’ ของโลกภาพยนตร์อินเดียไปโดยปริยาย


4

ผู้กำกับอย่างเมห์ตามักใช้หนังของเขาวิพากษ์สังคมอินเดียอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นหนังแจ้งเกิดเรื่องแรกอย่าง Bhavni Bhavai (The Tale of the Life, 1980) ซึ่งเป็นหนังภาษาคุชราต (ที่เราอาจเรียกว่าหนัง ‘ดอลลีวูด’ หรือ ‘กอลลีวูด’ ก็ได้) ที่ตีแผ่ความทุกข์ของคนชนชั้น ‘จัณฑาล’ หรือ ‘ดาลิต’ -อันเป็นพลเมืองชั้นต่ำสุดที่เกิดจากพ่อแม่ต่างวรรณะหรือเป็นคนไร้บ้าน- ผ่านเรื่องเล่าว่าด้วยบุตรผู้ถูกทอดทิ้งของกษัตริย์ที่กลับได้รับความเมตตาจากครอบครัวชนชั้นล่าง ซึ่งเป็นการวิพากษ์ปัญหาที่ยังคงยืดเยื้อมาจนปัจจุบัน หรือ Holi (The Festival of Fire, 1984) หนังภาษาฮินดีที่เล่าถึงวัยรุ่นที่ลุกฮือขึ้นประท้วงมหาวิทยาลัยเพราะมองระบบการศึกษาเป็นเพียง ‘โรงงานผลิตทาส’ — ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเด็นที่เขาสนใจมากเป็นพิเศษก็คือ ‘การถูกกดขี่’ หรือก็คือภาวะ ‘อำนาจนิยม’ ที่ส่งผลต่อชีวิต/ผู้คนในอินเดียนั่นเอง

และผลงานหนังยาวลำดับที่ 3 ของเขาอย่าง Mirch Masala ก็ยังคงพูดถึงประเด็นเดียวกัน

เมห์ตาดัดแปลงเรื่องราวมาจากเรื่องสั้นความยาวเพียง 4 หน้าที่ชื่อ Abhu Makarani (1955) ของ ชุนนิลัล มาเดีย นักเขียนแถวหน้าจากหลายทศวรรษก่อนที่เล่าถึงผู้หญิงในยุค 40 ที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของผู้ชาย โดยในต้นฉบับ โรงงานที่หญิงสาววิ่งมาหลบซ่อนก็คือโรงงานใบยาสูบ แต่จากการที่เมห์ตาได้ไปเห็นลานตากพริกในรัฐคุชราต-อันเป็นบ้านเกิดของทั้งเขาและมาเดีย-แล้วรู้สึกประทับใจกับความงดงามที่ได้ประสบพบเจออย่างมาก เขาจึงเปลี่ยนฉากหลังมาเป็นโรงงานผลิตมาซาลาแทน ประกอบกับการที่เขาได้ฟังเรื่องเล่าของหญิงสาวผู้กล้าหาญในยุคก่อนเก่าจากผู้คนของที่นั่น มันจึงกลายสภาพมาเป็นภาพยนตร์คลาสสิกเรื่องนี้ ที่ทั้งตัวหนัง ผู้กำกับ และนักแสดงนำหญิงต่างได้รับรางวัลและคำชมล้นหลามจากทั้งในและนอกประเทศ

และเนื่องด้วยในปี 1987 ที่หนังเรื่องนี้ออกฉาย คือปีที่ 40 ของการครบรอบการได้รับเอกราชของอินเดียพอดิบพอดี ดังนั้น ในแง่หนึ่ง ตัวหนังจึงคล้ายกับเป็นการเฉลิมฉลองอิสรภาพของชาวอินเดีย และตั้งคำถามถึงการถูกกดขี่ในหลากหลายมิติของสังคมนี้ที่ยังคงมีให้เห็นอยู่เนืองๆ ไปด้วยในตัว จากผู้มีอำนาจที่ครอบงำคนใต้ปกครอง, สามีที่ครอบงำภรรยา, พ่อที่ครอบงำลูกสาว ไปจนถึงความเป็นชายที่ครอบงำความเป็นหญิง — ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าว ก็ยังมีหนังอินเดียอีกหลายเรื่องที่พยายามฉายภาพถึง ‘ผู้หญิง’ ในแบบที่เป็นจริงๆ -โดยปฏิเสธการลอกเลียน ‘ความเข้มแข็งแบบผู้ชาย’ หรือให้ผู้หญิงออกมา ‘แก้แค้น’ ผู้ชายเช่นเดียวกับในหนังกระแสหลักอีกหลายเรื่อง- อาทิ Ankur (1974, ชยาม เบเนกัล), Fire (1996, ดีปา เมห์ตา) และ Astitva (2000, มาเหศ มันจเรคาร์) เป็นต้น

และหากพิจารณาจากทศวรรษ 2010 ที่ผ่านมา พลเมืองหญิงก็ต่างพากันถลกส่าหรีก้าวเข้าไปมีบทบาททั้งในแง่สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่หนังอินเดียร่วมสมัยหลายเรื่องที่กำกับโดยผู้หญิงเองก็พยายามเล่าถึงผู้หญิงอย่างตรงไปตรงมา-แม้ว่ามันจะขัดแย้งกับ ‘ภาพอุดมคติอันดีงาม’ ที่สังคมกำหนดเอาไว้ก็ตาม โดยโฟกัสไปยังภาพความใกล้ชิด ความปรารถนาทางเพศ และความสามารถในการควบคุมชีวิตของพวกเธอ-ที่เข้มข้นลึกซึ้งแทบไม่ต่างจากผู้ชาย เช่น Lipstick Under My Burkha (2016, อาลันคริตา ชรีวาสตาวา) ที่เล่าเรื่องของผู้หญิงหลากวัย เซ็กซ์ของพวกเธอ และการจิกกัดรากเหง้าความคิดแบบ ‘ชายเป็นใหญ่’ ที่ฝังแน่นในสังคม หรือ Sonata (2017, อาปาร์นา เซน) ที่สำรวจความสัมพันธ์อันซับซ้อนของแก๊งเพื่อนหญิงวัยกลางคนอย่างดุเดือดเลือดพล่าน — ซึ่งถึงแม้ในแง่เนื้อหาจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทว่าเมื่อมองในแง่ของระบบ เราก็ยังคงพบว่า หากคนทำหนังเหล่านี้ไม่คอยตบตีกับกองเซ็นเซอร์ (Central Board of Film Certification – CBFC) ในประเทศจนเลือดขึ้นหน้า ตัวหนังก็มักถูกอัปเปหิให้ออกไปฉายในเทศกาลหนังต่างแดนอยู่ดี และหลายครั้งก็เลยเถิดไปจนถึงการที่ทีมงาน/นักแสดงของหนังเหล่านี้ถูกผู้ชมส่งจดหมาย ‘ขู่ฆ่า’ เลยก็มี

นี่จึงนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายและน่าหวาดวิตกไม่น้อย เมื่อผลงานและบุคลากรจากวงการหนัง-โดยเฉพาะโลกกระแสหลัก-ที่น่าจะทรงอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนก็ยังไม่สามารถใช้พลังทางการสื่อสารที่มีในการตั้งคำถาม ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน หรือเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างที่ควรจะเป็นได้


5

เมื่อการแสวงหาความเท่าเทียมให้กับ ‘เพศที่ถูกทำให้ด้อยกว่า’ ในสังคมชายเป็นใหญ่ คือหนึ่งสิ่งที่ถูกเรียกร้องจากสตรีเพศมาโดยตลอด วัตถุดิบอย่าง ‘พริก’ ที่ถูกเมินเพราะความเชื่อทางศาสนาในสังคมนี้มาเนิ่นนานไม่แพ้กัน จึงถูกหนังอย่าง Mirch Masala นำมาใช้เป็น ‘เครื่องมือเล่าเรื่อง’ เพื่อตั้งคำถามกับสังคมด้วยท่าทีที่ทั้งแสนเศร้าและเกรี้ยวกราด ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ (ในฐานะของอาชีพต่ำต้อยที่ช่วยต่อชีวิตของพวกเธอและครอบครัวขณะที่สามีออกไปทำงานในเมืองที่ห่างไกล) และสังคม (หรือก็คือการต่อสู้คัดง้างกับเพศชายโดยการลุกขึ้นมาสาดพริกใส่ผู้ชายบ้าอำนาจของสาวโรงงาน)

‘พริก’ ได้กลายเป็นอุปมาในการโต้กลับด้วยความโกรธแค้นของคนตัวเล็กๆ ในสังคมที่ประสบทั้งความทุกข์และความหวาดกลัวจากการถูกกดขี่โดยความคิด/ความเชื่อจากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า — ทั้งผู้ชายและรัฐที่ปกครองพวกเธออยู่

ผู้หญิง-ไม่ว่าจะมาจากแห่งหนใด-ล้วนต้องการสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของตนเทียบเท่ากับผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างเซ็กซ์หรือเรื่องส่วนรวมอย่างบทบาททางสังคมของสตรี ฉะนั้น หนังขึ้นหิ้งเรื่องนี้จึงเป็นเสมือนหลักไมล์ที่ชี้ให้ผู้ชมอย่างเรา-ไม่ว่าเพศไหน-ได้เล็งเห็นถึงสิทธิที่ ‘ยิ่งใหญ่กว่า’ คำว่า ‘สิทธิสตรี’ — นั่นคือสิทธิของความเป็นมนุษย์ที่คนทุกคนควรได้รับอย่างเสมอภาคกัน โดยปราศจากข้อแม้ทั้งจากเรื่องเพศ ชนชั้น หรืออคติอื่นใด

แต่มันก็คงเหมือนกับความเหลื่อมล้ำทั้งหลายบนโลกใบนี้ ที่หากไม่เจอเข้ากับตัวเอง เราก็คงไม่มีวันรู้ซึ้งถึงการดำรงอยู่ของปัญหานั้นๆ และหากเรายอมอดทนกับความอยุติธรรมซ้ำเล่านี้โดยการอนุญาตให้มันเกิดขึ้นกับ ‘คนอื่น’ โดยไม่เข้าไปขัดขวางหรือแม้แต่ตั้งคำถามกับมัน วันหนึ่งก็อาจเป็น ‘เรา’ หรือ ‘คนรอบข้างของเรา’ นี่เองที่ต้องถูกความอยุติธรรมแบบเดียวกันนี้เข้าแผดเผาจนมอดไหม้ทั้งกายและใจ

มอดไหม้จนไม่เหลือชิ้นดีเหมือนกับ ‘คนอื่น’ ที่เราเคยเพิกเฉยและปล่อยให้ชีวิตของพวกเขาต้องพังทลายไปต่อหน้าต่อตา จากปัญหาที่เราเคยคิดอย่างตื้นเขินว่า ‘คงไม่มีวันเกิดขึ้นกับเรา’ นี่แหละ


ดู Mirch Masala ได้ที่ MUBI

มองภาษาหนังร่วมสมัย ผ่านแนวคิดภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง

เมื่อพูดถึงหนัง 4 เรื่อง 4 สัญชาติ ได้แก่ ฉลาดเกมส์โกง (ไทย) Parasite (เกาหลี) Joker (อเมริกัน) และ Better Days (จีน) สิ่งที่เหมือนกันอย่างน่าสนใจคือ ต่างเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และเสียงวิจารณ์ในประเทศตัวเอง ขณะเดียวกันก็ได้รับการตอบรับจากผู้ชมต่างชาติด้วย โดย “ฉลาดเกมส์โกง” ทำรายได้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 113 ล้านบาท และทำรายได้จากการฉายนอกประเทศรวมกันถึง 44.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (1,380 ล้านบาท)https://www.boxofficemojo.com/title/tt6788942/ ขณะที่ Parasite ทำรายได้ในเกาหลีใต้ 53 ล้านเหรียญ และทำรายได้ทั่วโลก 204 ล้านเหรียญhttps://www.boxofficemojo.com/title/tt6751668 ส่วน Joker ทำรายได้ในอเมริกากว่า 335 ล้านเหรียญ ทั่วโลกอีก 738 ล้านเหรียญhttps://www.boxofficemojo.com/title/tt7286456 และ Better Days ทำรายได้จากการฉายในจีน 222 ล้านเหรียญ ทั่วโลกอีกว่า 3.2 ล้านเหรียญhttps://www.boxofficemojo.com/title/tt9586294/

ที่เกริ่นมาทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนจะวิเคราะห์ความสำเร็จของหนังทั้ง 4 เรื่อง เพราะผู้อ่านคงได้อ่านบทวิเคราะห์ดีๆ ของนักวิเคราะห์หนังเก่งๆ มาบ้างแล้ว แต่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอในบทความนี้คือ การค้นหาว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดกระบวนการในการนำเสนอหนังทั้ง 4 เรื่องขึ้น

โดยในการวิเคราะห์ประเด็นนี้ ผู้เขียนขอนำ แนวคิดทางด้านภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง ของ แฟร์ดินองด์ เดอโซซูร์ นักภาษาศาสตร์ต้นศตวรรษที่ 20 ที่ต่อมาได้ถูกต่อยอดจนกลายเป็นทฤษฎีโครงสร้างนิยมและสัญญะวิทยา มาใช้เป็นแนวทางในการค้นหาคำตอบ

Joker

เดอโซซูร์กล่าวว่า ระดับภาษาแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) ภาษา (Langue) ซึ่งหมายถึงโครงสร้างเบื้องต้นของภาษา เช่นไวยากรณ์ ระบบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของภาษา และ 2) การพูด หรือการใช้ภาษา (parole) ซึ่งก็คือการถ่ายทอดภาษาออกมาเป็นคำพูด หรือเขียน โดยคำพูดเหล่านั้นต้องยึดโยงกับโครงสร้างภาษาเป็นสำคัญสภางค์ จันทวานิช. ทฤษฎีสังคมวิทยา น. 146-148 หมายความว่าคำจะมีความหมายหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่ว่าความหมายของคำนั้นอยู่ในโครงสร้างของภาษาหรือไม่

สำหรับหนัง หากพิจารณาตามแนวคิดของโซซูร์ ภาษาหรือ Langue ของหนัง หมายถึง ไวยากรณ์และภาษาเบื้องต้นของหนัง เช่น ระยะภาพแต่ละระยะจะมีความหมายแตกต่างกันไป ส่วนการพูดหรือการใช้ภาษา (parole) ก็คือการผลิตหนังเรื่องหนึ่งออกมาโดยการใช้ภาษาและไวยากรณ์ของหนัง

คำถามที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์ต่อไปก็คือ หาก parole หรือการใช้ภาษา คือตัวหนังที่ถูกผลิตออกมา แล้วโครงสร้างทางด้านภาษา (langue) ของหนังทั้ง 4 เรื่องข้างต้นมีลักษณะอย่างไร

ฉลาดเกมส์โกง

เริ่มแรกเราต้องมาวิเคราะห์กันก่อนว่า องค์ประกอบสำคัญของหนังทั้ง 4 เรื่องนั้นมีอะไรบ้าง

– “ฉลาดเกมส์โกง” เป็นเรื่องราวของเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ถูกระบบการศึกษาอันมีช่องโหว่ผลักดันให้ดินเข้าสู่ด้านมืดด้วยการโกง องค์ประกอบสำคัญในหนังเรื่องนี้ได้ แก่ ตัวละครสีเทาไม่ดีจัดเลวจัด เทคนิคทางด้านภาพที่หวือหวา เนื้อหาสะท้อนปัญหาสังคม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำและความหวังต่อความสำเร็จ

– Parasite เป็นเรื่องราวของครอบครัวชนชั้นล่างที่มีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตในบ้านของครอบครัวชนชั้นสูงจนนำมาสู่ปัญหามากมาย องค์ประกอบสำคัญในหนังได้แก่ ตัวละครสีเทา เทคนิคการสร้างที่หวือหวา การเล่าเรื่องที่ยากแก่การคาดเดา และนำเสนอประเด็นทางสังคมโดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ

– Joker เล่าเรื่องของนักแสดงตลกที่ถูกสังคมกดดันจนต้องหาทางออกด้วยความรุนแรง องค์ประกอบสำคัญได้ แก่ ตัวละครสีเทาค่อนไปทางด้านมืด มีสถานะทางสังคมระดับต่ำ เนื้อหาสะท้อนความเหลื่อมล้ำ

– Better Days นำเสนอเรื่องราวของตัวละครหนุ่มสาวที่ถูกผลักดันให้ออกนอกขอบสังคม จนพวกเขาต้องอาทรกันเองและปกป้องกันเอง องค์ประกอบสำคัญได้แก่ ตัวละครสีเทา ปัญหาสังคมเรื่องความเหลื่อมล้ำ ระบบการศึกษาที่มีปัญหา

Parasite

หากพิจารณาจากองค์ประกอบสำคัญที่ปรากฏจะพบว่า องค์ประกอบร่วมที่ทุกเรื่องมีเหมือนกันคือ 1) ตัวละครที่มีสีเทา ไม่ได้มีชีวิตดีงาม หรือมืดสุดโต่ง 2) การสะท้อนปัญหาสังคม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ และ 3) การใช้เทคนิคทางด้านภาพที่หวือหวา เช่น การเคลื่อนกล้องและการตัดต่อ เราจึงอาจสรุปได้ว่า โครงสร้างทางด้านภาษา (langue) ของหนังทั้ง 4 นอกจากไวยากรณ์ทางด้านภาษาภาพยนตร์โดยทั่วไปแล้ว ก็ยังรวมถึง องค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้นด้วย

คำถามต่อมาก็คือ อะไรคือตัวแปรที่ทำให้ไวยากรณ์ใหม่ของภาษาภาพยนตร์เกิดขึ้น ในการแสวงหาคำตอบของคำถามดังกล่าว สิ่งที่ควรทำควบคู่กันคือ การศึกษาบริบททางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่หนังทั้ง 4 เรื่องถูกสร้าง และถูกนำออกฉาย

โดยผู้เขียนขอยกเหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ 3 เหตุการณ์ได้แก่

1. การเกิดขึ้นของกระแส Occupy Wall Street ในเดือนกันยายนปี 2011 เมื่อคนหนุ่มสาวกว่าหนึ่งพันคนเดินประท้วงไปตามสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ด้านความมั่งคั่งทางการเงินทั่วนิวยอร์ก โดยเฉพาะตลาดหุ้นวอลล์สตรีต การเคลื่อนไหวนี้สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้นในอเมริกา โดยเฉพาะกลุ่มคนรวยที่มีสัดส่วนน้อยที่สุดในประเทศ แต่กลับเข้าถึงทรัพยากรส่วนใหญ่ของประเทศ การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการกระแสการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกhttps://www.seattletimes.com/life/a-look-back-at-10-of-the-biggest-social-movements-of-the-2010s-and-how-they-shaped-seattle/

2. การเกิดขึ้นของฝ่ายประชานิยมใหม่ (new populism) เริ่มต้นในปี 2015 หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยชูนโนบาย “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ซึ่งทำให้กระแสความนิยมต่อตัวเขาในหมู่กลุ่มอนุรักษ์นิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาได้รับชัยชนะกลายเป็นประธานาธิบดีคนล่าสุด และแผ้วถางทางให้นักการเมืองสายอนุรักษ์นิยมหลายคนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะเป็น โรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ ฌาอีร์ โบลโซนารู ผู้นำบราซิล หรือ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เป็นต้น

ชัยชนะของฝ่ายประชานิยมใหม่ได้สร้างความขัดแย้งในภาคประชาชนระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหัวเก่า และฝ่ายเสรีนิยมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ จนเกิดการปะทะกันทางความคิดและทางกายภาพหลายครั้งhttps://www.seattletimes.com/life/a-look-back-at-10-of-the-biggest-social-movements-of-the-2010s-and-how-they-shaped-seattle/

Better Days

3. กระแสเรียกร้อง “โลกที่ดีกว่า” ของคนรุ่นใหม่ บุคคลที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวดังกล่าวคือ เกรตา ธันเบิร์ก เด็กสาววัย 16 ปีจากประเทศสวีเดนที่เรียกร้องให้ผู้นำของโลกตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนในปี 2018 การเรียกร้องด้วยท่าทีจริงจังและตรงประเด็นของธันเบิร์ก ได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะเยาวชนทั่วโลกลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในการมีอนาคตที่ดีกว่าและปลอดภัย จนทำให้ธันเบิร์กได้รับเลือกจากนิตยสาร Time ให้เป็นบุคคลแห่งปี (Person of the year) ในปี 2019https://www.seattletimes.com/life/a-look-back-at-10-of-the-biggest-social-movements-of-the-2010s-and-how-they-shaped-seattle/

หากพิจารณาจากบริบทข้างต้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเคลื่อนไหวทางสังคมดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความคิดของทั้งผู้สร้างหนังและคนดูในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชากรของโลก

สำหรับผู้ผลิตหนัง ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นได้ผลักดันให้พวกเขาเลือกประเด็นที่คนส่วนใหญ่กำลังรู้สึกมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำหรือความไม่มั่นคงในอนาคต ส่วนผู้ชมนั้นเมื่อพบว่าเนื้อหาของหนังนำเสนอสิ่งที่ตนมีความรู้สึกร่วม ก็ตอบสนองด้วยการซื้อตั๋วเข้าไปชม และส่งความรู้สึกต่อหนังเรื่องนั้นไปสู่คนอื่นๆ ที่มีแนวคิดและรสนิยมแบบเดียวกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า ปฏิกิริยาที่มีต่อปรากฏการณ์ทางสังคมของทั้งผู้ผลิตและผู้ชมมีส่วนสำคัญไม่น้อยต่อการกำหนดไวยากรณ์ใหม่ของภาษาภาพยนตร์ ยิ่งหนังที่ใช้ไวยากรณ์เดียวกันประสบความสำเร็จมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้โครงสร้างของภาษาภาพยนตร์ใหม่มีความแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น

โซซูร์เคยกล่าวว่า “ภาษา” มีความลื่นไหลและดิ้นได้ตามช่วงเวลาสภางค์ จันทวานิช. ทฤษฎีสังคมวิทยา น. 146-148 ภาษาภาพยนตร์ก็เช่นกัน แม้จะมีไวยากรณ์ชุดหนึ่งที่มีความคงที่ เช่น การใช้มุมกล้องหรือระยะภาพ แต่ก็จะมีไวยากรณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมอยู่เสมอ ดังนั้นผู้ผลิตหนังจึงควรหมั่นติดตามความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพราะการสร้างหนังด้วยไวยากรณ์ถูกต้อง อาจส่งผลต่อความสำเร็จทั้งด้านรายได้และเสียงชื่นชมเมื่อออกฉาย

Tenet: ผู้รู้เวลาครบคือพระเจ้า

กลายเป็นกระแสไปเรียบร้อย สำหรับหนังเรื่อง Tenet โดยผู้กำกับระดับพระกาฬ คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่ไม่ว่าใครได้เข้าไปดูก็ถึงกับ ‘งง’ ไปตามๆ กัน เพราะคอนเซปต์หลักของหนังเล่นกลับการย้อนเวลา – แม้ว่าในเรื่องจะไม่อยากใช้คำนี้นัก – หนังใช้คำว่า ‘การย้อนกลับ (inversion)’ เพื่ออธิบายการที่ตัวเอกทำสำเนาตนเองเข้าไปทับไทม์ไลน์ต่างๆ ในอดีต เพื่อแก้ไขแผนการล้างโลกที่คนในอนาคตวางแผนไว้ ได้อ่านเพียงเท่านี้หลายคนอาจจะเริ่มมึนว่าอะไรคืออดีตและอนาคต แต่การที่มึนนั่นเองแปลว่าหนังได้ทำงานกับเราไปเรียบร้อยแล้ว และเราก็หลุดเข้าไปในจักรวาลของหนัง ที่ใช้เหตุผลทำความเข้าใจไม่ได้ทั้งหมด เพียงแต่เราต้อง ‘รู้สึก (feel it)’ ถึงมัน

ส่วนที่น่าสนใจที่สุดของหนังคงจะเป็นคอนเซปต์ของคำว่า ‘เจตจำนงเสรี​ (free will)’ – คำถามก็คือ เราจะป้องกันสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วในอนาคตได้อย่างไร คำถามนี้อาจจะชัดเจนขึ้นถ้าเขียนในรูปของ Future Perfect Tense – ‘How can we prevent things that will have happened in the future?’ คำถามนี้ทำให้เกิดปฏิทรรศน์ (paradox) นั่นคือความขัดแย้งในตัวเองขึ้นมา เพราะว่า ถ้าสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นไปแล้ว เราย่อมแก้ไขมันไม่ได้ แต่มันก็อาจมีทางแก้ไขมันได้ เพราะมันอยู่ในอนาคต สรุปแล้วเรามีเจตจำนงเสรีที่จะแก้ไขมันจริงๆ หรือไม่ นั่นคือคำถามที่โนแลนทิ้งไว้ให้คนดูขบคิด

มองในมุมหนึ่ง เหมือนกับว่าตัวละครเอก (The Protagonist) ที่แสดงโดยจอห์น เดวิด วอชิงตัน จะไม่มีทางเลือกนอกจากเดินตามเส้นไทม์ไลน์เพื่ออุดรูรั่วให้แก่ปมเหตุการณ์ต่างๆ เขาดูเหมือนเป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่งในเครื่องจักร ซึ่งถูกโปรแกรมเอาไว้อยู่แล้วว่าหายนะในอนาคตจะต้องไม่เกิดขึ้น เพราะหากมันเกิดขึ้น เขาที่อยู่ในอดีตย่อมต้องไม่มีตัวตนอยู่ในวินาทีนี้ นี่เป็นฝันร้ายของนักปรัชญาก็ว่าได้ เพราะดูเหมือนกับว่า ตัวเอกจะไม่มีเจตจำนงเสรี และถูกชะตากรรมใช้เป็นเครื่องมือ เขาไม่สามารถเลือกเองได้เลยว่าเขาจะทำให้หายนะเกิดหรือไม่เกิด เขาอยู่ในระบบปิดที่ถูกออกแบบล่วงหน้ามาไว้แล้ว

แต่ก็มีคำอธิบายหนึ่งที่อาจทำให้เขามีเจตจำนงเสรีขึ้นมา ก็คือ ในการแก้ไขสิ่งหนึ่งๆ ในไทม์ไลน์ของตัวเอง เขาได้สร้างไทม์ไลน์ใหม่ที่แตกแขนงออกมาจากไทม์ไลน์เดิม และเป็นอิสระจากไทม์ไลน์เดิม จริงอยู่-ในไทม์ไลน์อื่น หายนะอาจเกิดขึ้นจริงก็ได้ แต่ไม่ใช่ในไทม์ไลน์ของเขา ที่เขากำลังแก้ไขเหตุการณ์อยู่ เหมือนกับคนขับรถออกจากถนนสายหลักเพื่อหลีกเลี่ยงรถติด บางสิ่งอาจเกิดขึ้นไปแล้ว แต่ก็มี ‘ทางเลือกใหม่’ สร้างความจริงแบบอื่นขึ้นมา ที่ความจริงในอดีตนั้นไม่เคยเกิดขึ้น นี่อาจเป็นสาเหตุที่หญิงชาวอินเดียบอกเขาว่า เขาเป็นเพียงหนึ่งในตัวเอกเท่านั้น ใช่ตัวเอกเพียงคนเดียวเสียเมื่อไหร่ ในไทม์ไลน์อื่นก็มีตัวเอกที่ป้องกันหายนะในไทม์ไลน์ของตัวเองอยู่เหมือนกัน

คอนเซปต์ของการเล่นบทพระเจ้า ก็ดูจะเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ตัวร้ายของเรื่องคือเซทอร์คิดว่าการที่ตัวเองสร้างหายนะระดับโลกขึ้นมาได้จะทำให้เขากลายเป็นพระเจ้า เพราะเมื่อโลกในไทม์ไลน์ของเขาถูกทำลาย โลกอื่นในไทม์ไลน์อื่นจะรอด และรอดได้อย่างงดงามกว่าโลกใบเก่า คอนเซปต์นี้ทำให้นึกถึงปรัชญาของนักปรัชญาชาวโรมันคนท้ายๆ ในประวัติศาสตร์ปรัชญา นั่นคือ โบเอธีอุส (ค.ศ. 475-525) ซึ่งเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้รู้แจ้งในทุกสิ่ง เซทอร์กำลังเล่นบทพระเจ้า ที่ขยายความรับรู้ของเขาไปยังจักรวาลคู่ขนานอื่นนอกเหนือจากของตัวเอง

แต่เซทอร์ก็ไม่อาจเป็นพระเจ้าได้จริง เพราะเมื่อเขาสิ้นชีพลง การรับรู้ของเขาก็จะดับลงไปด้วย ถ้าเป็นพระเจ้าในมุมของโบเอธีอุส พระองค์จะต้องทรงอยู่เป็นผู้รับรู้ทุกสิ่งต่อไปโดยไม่มีเงื่อนไขว่าจักรวาลหนึ่งจะดับลงหรือไม่ นอกจากนั้น โบเอธีอุสยังตั้งคำถามว่า ถ้าพระเจ้ารู้ทุกสิ่งล่วงหน้าอยู่แล้ว มนุษย์จะมีเจตจำนงเสรีได้อย่างไร ในเมื่อพระเจ้ารู้อยู่ทุกก้าวว่าเราจะทำอะไรต่อ ถ้าเช่นนั้นคงไม่ต้องมีการให้รางวัลเมื่อเราทำดีหรือทำชั่ว เพราะพระเจ้ารู้ล่วงหน้าอยู่แล้วสิ แต่เขาก็ได้แก้ปฏิทรรศน์นี้ด้วยการเสนอทฤษฎีว่า พระเจ้าไม่ได้รับรู้เวลาอย่างที่มนุษย์รู้ คือเป็น อดีต ปัจจุบัน อนาคต แต่ทรงรับรู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคตพร้อมๆ กัน เพราะพระเจ้านั้นไร้กาลเวลาและอยู่เหนือกาลเวลาทั้งหมด

โบเอธีอุสยังตั้งคำถามว่า ถ้าพระเจ้ารู้ทุกสิ่งล่วงหน้าอยู่แล้ว มนุษย์จะมีเจตจำนงเสรีได้อย่างไร ในเมื่อพระเจ้ารู้อยู่ทุกก้าวว่าเราจะทำอะไรต่อ ถ้าเช่นนั้นคงไม่ต้องมีการให้รางวัลเมื่อเราทำดีหรือทำชั่ว เพราะพระเจ้ารู้ล่วงหน้าอยู่แล้วสิ แต่เขาก็ได้แก้ปฏิทรรศน์นี้ด้วยการเสนอทฤษฎีว่า พระเจ้าไม่ได้รับรู้เวลาอย่างที่มนุษย์รู้ คือเป็น อดีต ปัจจุบัน อนาคต แต่ทรงรับรู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคตพร้อมๆ กัน เพราะพระเจ้านั้นไร้กาลเวลาและอยู่เหนือกาลเวลาทั้งหมด

ดูเหมือนเราจะไม่สามารถทำความเข้าใจทฤษฎีนี้ได้เลย เพราะเรายังคงเป็นมนุษย์ที่มองเวลาเป็นเส้นตรง ไม่ต่างจากตัวเอกที่เราติดตามอยู่ในไทม์ไลน์นี้ แต่ตัวเอกคนนี้นี่แหละ ที่ตัวตนในอนาคตเขาจะเป็นผู้ถักทออดีต ปัจจุบัน อนาคตเข้าด้วยกัน และเป็นผู้รับรู้กาลเวลาทุกรูปแบบรวมกัน ดังนั้นเขาจึงเล่นบทไม่ต่างจากพระเจ้า เพราะมีเขาเพียงคนเดียวที่รู้ว่าห้วงเวลาทั้งสาม คืออดีต ปัจจุบัน อนาคต คลี่คลายตัวเองออกไปอย่างไร แต่ก็อาจจะเป็นเพียงพระเจ้าของไทม์ไลน์นี้ก็เป็นได้

อีกคอนเซปต์หนึ่งเกี่ยวกับพระเจ้าของโบเอธีอุส ก็คือ ความรู้ที่พระเจ้ามีแตกต่างจากพรหมลิขิตที่กำหนดชะตาชีวิตมนุษย์ พระเจ้ารู้ว่าเราจะทำอะไร แต่เป็นการรู้ในองค์รวมเท่านั้น ยังมีความเป็นไปได้ที่เราจะตัดสินใจเลือกอะไรต่างๆ เพราะชีวิตเราไม่ได้ลิขิตโดยพระองค์ ซึ่งทฤษฎีนี้ตอบรับเป็นอย่างดีกับเรื่องเส้นของเวลาที่แตกแขนงออกไป เราอาจรู้ได้ว่าอะไรเกิดขึ้นไปแล้ว แต่เรามีอำนาจผันเปลี่ยนเส้นเวลาของเรา และสร้างทางเลือกที่เป็นอิสระออกมาจากเส้นเวลาเดิม

อย่างไรก็ตาม ก็น่าคิดว่า ถ้าเราผันเปลี่ยนเส้นเวลาของตัวเองแล้วสร้างทางใหม่ขึ้นมา คนที่อยู่ในเวลาเดียวกับเราที่ชะตาถูกเปลี่ยนไปจะแยกออกเป็นสองคน หรือต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในเส้นเวลาที่เปลี่ยนไปหรือไม่ หรือแม้กระทั่ง พวกเขา “มีตัวตน” หรือไม่ตั้งแต่เส้นเวลาแยกออกไป หรือทุกสิ่งเป็นเพียงภาพลวงแห่งโลกปรากฏการณ์ที่หลอกเราตั้งแต่เส้นเวลาถูกแยกออกมา เป็นไปได้ไหมที่จะมีเรา (ในที่นี้คือตัวเอก) เพียงคนเดียวที่เห็นผลลัพธ์นั้นและรู้ความแตกต่างระหว่างโลกที่มีหายนะกับโลกที่ไม่มีหายนะ โดยที่คนอื่นไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบด้วยเลย ไม่แน่เราอาจจะเห็นภาพหลอนไปเองและถูกทิ้งเคว้งไว้ในเส้นเวลาใหม่เพียงคนเดียว

นอกจากคอนเซปต์เรื่องเวลาแล้ว พระเจ้าของโบเอธีอุส ยังเป็นตัวแทนของความจริงและความดีสูงสุด ซึ่งคล้ายกับทฤษฎีแบบ (Theory of Form) ของเพลโตที่บอกว่า มนุษย์เราไม่ได้สร้างความดีขึ้นมาเฉยๆ ในโลกกายภาพได้ แต่จะต้องมี “แบบ” (Form) ของความดี ซึ่งเป็นสิ่งที่นามธรรมอยู่ในอาณาจักรพระเจ้า ที่เป็นต้นแบบของความดีทุกแบบในโลกรวมกัน เมื่อวิเคราะห์ในมุมนี้ ก็น่าสงสัยว่าสิ่งที่ตัวเอกทำเป็นสิ่งที่ดีบริสุทธิ์หรือไม่ เพราะเขาฆ่าคนไปมากมายในระหว่างทาง หรือจริงๆ แล้วอาจเป็นเซทอร์ที่บริสุทธิ์มากกว่า เพราะเขาทำลายจักรวาลหนึ่งลงเพื่อให้อีกจักรวาลหนึ่งรอด ในแง่หนึ่ง ตัวเอกเพียงแค่ยื้อเวลาหายนะออกไปเท่านั้น โดยไม่ได้ไปแก้ที่ต้นเหตุ คือการทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษย์หรือเปล่า ซึ่งความเทาๆ ของตัวเอกนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องตั้งคำถามกันต่อไป

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 10 – 16 ก.ย. 63

‘เกมเมอร์เกมแม่’ ขึ้นเป็นหนังใหม่ที่เปิดตัวสูงสุดประจำสัปดาห์ ด้วยรายได้ 5.24 ล้านบาท โดยแซง Break the Silence: The Movie ที่ฉายเป็นวาระพิเศษเพียง 4 วัน ในค่าตั๋วมากกว่า 500 บาท ทำรายได้สูงถึงกว่า 4 ล้านบาท

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 10-16 ก.ย. 63

1. Mulan – 14.85 (53.58) ล้านบาท
2. Tenet – 8.78 (50.28) ล้านบาท
3. เกมเมอร์เกมแม่ – 5.24 ล้านบาท
4. Break the Silence: The Movie – 4.09 ล้านบาท
5. The High Note – 0.39 ล้านบาท
6. The New Mutants – 0.36 (12.68) ล้านบาท
7. Special Actors – 0.35 ล้านบาท
8. The Secret Garden – 0.34 (1.41) ล้านบาท
9. คืนยุติ-ธรรม – 0.09 (3.04) ล้านบาท
10. Peninsula – 0.05 (52.71) ล้านบาท

Mee Pok Man และ Be with Me: ความเหงากลางเมืองใหญ่ในมุมมองของผู้กำกับ ‘อีริค คู’

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจสำหรับ ‘แฟนหนังอาเซียน’ ในช่วงที่ผ่านมาก็คือ การที่มีหนังสิงคโปร์มากกว่า 20 เรื่องเข้าฉายใหม่ใน Netflix ซึ่งหลายเรื่องในนั้นเป็นหนังคลาสสิคหาดูยาก โดยได้มีการรีมาสเตอร์จนภาพและเสียงคมชัด

นี่จึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับคอหนังในการทำความรู้จักกับหนังจากประเทศนี้ซึ่งมีความน่าสนใจแต่กลับไม่ค่อยถูกเผยแพร่และถูกพูดถึงในกลุ่มคอหนังชาวไทยสักเท่าไร

หากเลือกไม่ถูกว่าควรเริ่มจากเรื่องไหนก่อน ขอแนะนำให้เริ่มจาก Mee Pok Man (1995) และ Be with Me (2005) ซึ่งหนังทั้งสองเรื่องนี้มีจุดร่วมกันตรงที่มันเป็นหนังของผู้กำกับคนสำคัญของสิงคโปร์อย่างอีริค คู (Eric Khoo), เคยเข้าฉายในเทศกาลหนังหลายแห่งทั่วโลก, พูดถึงประเด็นเดียวกันอย่างเรื่อง ‘ความเหงาและความโดดเดี่ยวท่ามกลางเมืองใหญ่’ ซึ่งถือเป็นประเด็นสากลที่ไม่ว่าคนประเทศไหนก็เข้าใจและอินตามไปด้วยได้


Mee Pok Man รักเธอจวบจนสิ้นชีวาวาย

(บทความนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วนของหนัง)

Mee Pok Man บอกเล่าเรื่องราวของจอห์นนี่ หนุ่มขาย Mee Pok (บะหมี่ป๊อกป๊อก) ซึ่งรับหน้าที่ดูแลร้านต่อจากพ่อที่เสียไป เขาเป็นคนเงียบขรึม ขี้อาย เก็บกด สมองช้า ทำให้ไม่ค่อยมีเพื่อน เขาตกหลุมรักบันนี่ – โสเภณีที่เป็นลูกค้าประจำร้านบะหมี่ แต่เธอกลับไม่เหลียวแลเขาเพราะเธอเฝ้ามองหาผู้ชายในฝันที่สามารถพาเธอหนีไปจากชีวิตเดิมๆ ได้ แต่เธอก็พบกับความผิดหวังอยู่เสมอ

ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ในคืนหนึ่งส่งผลให้เส้นทางชีวิตของทั้งคู่บรรจบกันอย่างไม่คาดฝัน และกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ลงเอยแบบไม่คาดคิด

Mee Pok Man เป็นผลงานหนังยาวเรื่องแรกของอีริค คู (1965 – ) สำหรับประวัติโดยย่อนั้น เขาเป็นลูกชายของ Khoo Teck Puat มหาเศรษฐีพันล้านซึ่งเคยติดอันดับคนรวยที่สุดของสิงคโปร์ อีริคถูกปลูกฝังความรักหนังจากแม่ซึ่งพาเขาไปโรงหนังทุกสัปดาห์และมอบกล้อง Super 8 ให้เขาลองทำหนังตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบ หลังเรียนจบด้านถ่ายภาพจาก City Art Institute ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย เขาได้กำกับหนังสั้นทั้งหมด 7 เรื่องซึ่งได้เข้าฉายในเทศกาลหนังต่างประเทศ

ต่อมาเขาได้นำเงินสปอนเซอร์จากการที่หนังสั้นเรื่อง Pain (1994) ของเขาชนะรางวัลมาใช้เป็นทุนเพื่อสร้างหนังยาวอย่าง Mee Pok Man ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกใหม่และท้าทายอย่างมากในตอนนั้นเพราะอุตสาหกรรมหนังในสิงคโปร์ยังไม่เกิดขึ้น (มีการสร้างหนังตลาดเพียงปีละ 2 – 3 เรื่อง และไม่มีสตูดิโอที่สร้างหนังโดยตรง) ทำให้ทีมงานส่วนใหญ่ของหนังเรื่องนี้เป็นมือใหม่หรือไม่ก็มาจากวงการทีวี การถ่ายทำเน้นวิธีแบบกองโจรที่ใช้เวลารวดเร็ว โดยถ่ายทำแค่ไม่กี่เทคเพราะหนังมีงบประมาณจำกัดมาก

ผู้ชมจะเห็นถึงความเป็นหนังเรื่องแรกของ Mee Pok Man ได้จากความขาดๆ เกินๆ ไม่ลงตัวของหนัง โดยเฉพาะงานด้านเทคนิคที่เต็มไปด้วยจุดบกพร่อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงพลังอันพุ่งพล่านของหนังซึ่งยังคงสัมผัสได้ตอนนี้แม้ว่าหนังจะมีอายุ 25 ปีแล้ว

นักเขียนในหนังสือ Southeast Asian Independent Cinema ได้นิยามหนังเรื่องนี้ว่า ‘มีความพั้งค์ร็อค’ อยู่สูง โดยหนังมีความล่อแหลมทางด้านภาพ (เช่น นม, อวัยวะเพศผู้หญิง) และองค์ประกอบต่างๆ (โสเภณี, แมงดา, ยาเสพย์ติด, อาชญากรรม, ย่านเสื่อมโทรม,ตัวละครที่รักกับศพ) ซึ่งสำหรับคอหนังสายแข็งที่ชินกับองค์ประกอบเหล่านี้แล้วอาจมองว่าเฉยๆ แต่หากพิจารณาถึงบริบทในช่วงที่หนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นแล้วต้องถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะในตอนนั้นรัฐบาลสิงคโปร์มีความอนุรักษ์นิยมสูง ส่วนกองเซ็นเซอร์ก็เข้มงวดอย่างมาก ทำให้การเซ็นเซอร์และแบนหนังถือเป็นเรื่องปกติ ด้วยเหตุนี้ Mee Pok Man ซึ่งเต็มไปองค์ประกอบต้องห้ามอีกทั้งนำเสนอภาพของย่านเสื่อมโทรม/คนชายขอบที่ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของรัฐ (ที่เน้นความสะอาดมีระเบียบ) จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะโดนเซ็นเซอร์ แต่สุดท้ายหนังก็ได้รับอนุญาตให้ฉายด้วยเรตสูงสุดอย่าง R(A) (อายุน้อยกว่า 21 ปีห้ามดู)โดยไม่ต้องตัดฉากไหนทิ้งเลย (หมายเหตุ – ในปี 2004 ได้มีการปรับลดเรตเป็น M18 หรืออายุน้อยกว่า 18 ปีห้ามดู)

“ด้วยความที่หนังเรื่องนี้ใช้เงินสปอนเซอร์ในการสร้างทำให้ผมไม่ต้องซีเรียสเรื่องหนังต้องทำรายได้คุ้มทุน ผมจึงลองผลักดันเพดานของการนำเสนอด้วยการใส่องค์ประกอบล่อแหลมและเรื่องห้ามพูดในสังคมสิงคโปร์ลงไป” อีริคกล่าว “ผมมองว่าการที่หนังได้รับอนุญาตให้ฉาย เกิดจากตอนนั้นทางการต้องการส่งเสริมให้มีการสร้างหนังในประเทศมากขึ้น” (หมายเหตุ – เขาเคยใส่เรื่องต้องห้ามลงไปในหนังตั้งแต่ตอนทำหนังสั้นเรื่อง Pain ซึ่งนำเสนอเรื่องซาโดมาโซคิสต์ ส่งผลให้หนังถูกกองเซ็นเซอร์แบน แต่ภายหลังมันกลับได้รางวัลใหญ่จากการประกวดหนังสั้น)

ผู้ชมสามารถมองหนังเรื่องนี้ได้หลายแง่มุม ทั้งแง่มุมหนังรักและหนังสยองขวัญ โดยหนังเริ่มต้นด้วยการเป็นหนังรักแบบเหงาๆ ต่อมามันกลับลงเอยด้วยการเป็นหนังสยองขวัญที่ด้วยแฝงอารมณ์เศร้าหมอง (หนังดัดแปลงจากเรื่องสั้นแนวสยองขวัญ One Last Cold Kiss ในหนังสือ Classic Singapore Horror Stories: Book 2 (1994) โดยเดเมียน สิน) ซึ่งความสยองมาจากการที่จอห์นนี่ได้พาบันนี่ที่ถูกรถชนจนบาดเจ็บสาหัสไปดูแลที่ห้องของเขาโดยไม่พาไปหาหมอ แม้เธอจะตายไปแล้วและศพเริ่มเน่าแต่เขาก็ยังคงเฝ้าดูแลราวกับว่าเธอยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งแสดงถึงความหมกมุ่นในรักตัวเอกที่ไม่อาจไถ่ถอนแม้อีกฝ่ายจะสูญสิ้นความเป็นคนไปแล้ว

หนังยังมีแง่มุมของความเป็นหนังสะท้อนสังคมโดยแสดงให้เห็นถึงชีวิตของคนชายขอบอย่างตัวเอกซึ่งเป็นชนชั้นล่างที่พักอยู่ในตึกแถวซอมซ่อในเขตเกลัง (ซึ่งเป็นย่านโลกีย์ของสิงคโปร์) พวกเขารู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว และเหมือนถูกตัดขาดจากสังคมที่ไม่เหลียวแลพวกเขา ด้วยลักษณะดังกล่าวทำให้ตัวเอกของหนังสามารถสะท้อนถึงจิตวิญญาณและความรู้สึกของผู้คนในสังคมเมืองในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี (และยังสะท้อนถึงสังคมในยุคนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากความโดดเดี่ยวของคนในเมืองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าไรนัก)

หนังแสดงให้เห็นถึงสังคมสิงคโปร์ในช่วงกลางยุค 90 ซึ่งแนวคิดทุนนิยมและบริโภคนิยมกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง ผู้คนพากันไขว่คว้าหาเงินทองของมีค่าโดยเชื่อว่ามันจะนำไปสู่ความสุขในชีวิต ซึ่งบันนี่ก็คิดแบบนี้เช่นกัน แต่กลับกลายเป็นว่ามันไม่ใช่ความสุขจริงแท้ที่เธอตามหา ซึ่งความสุขที่แท้ของเธอนั้นถูกเปิดเผยให้เห็นผ่านไดอารี่ที่เธอเขียนข้อความลงไป (ข้อความเหล่านี้ถูกบรรยายเป็นเสียงวอยซ์โอเวอร์ในหนังหลายช่วง) โดยสื่อความในใจว่า เธอต้องการใครสักคนที่รักและใส่ใจเธอ ซึ่งมันคือสิ่งเดียวกับที่จอห์นนี่ต้องการเช่นกัน แต่สิ่งที่ดูเหมือนพบได้ทั่วไปดังกล่าวกลับกลายเป็นสิ่งที่หายากในสังคมที่พวกเขาอยู่

หนังแสดงให้เห็นถึงสังคมสิงคโปร์ในช่วงกลางยุค 90 ซึ่งแนวคิดทุนนิยมและบริโภคนิยมกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง ผู้คนพากันไขว่คว้าหาเงินทองของมีค่าโดยเชื่อว่ามันจะนำไปสู่ความสุขในชีวิต ซึ่งบันนี่ก็คิดแบบนี้เช่นกัน แต่กลับกลายเป็นว่ามันไม่ใช่ความสุขจริงแท้ที่เธอตามหา

ตอนที่เข้าฉายครั้งแรกนั้น หนังเรื่องนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชมต่างประเทศมากกว่าในสิงคโปร์ โดยหนังได้เข้าฉายในเทศกาลหนังมากกว่า 30 แห่งและคว้ารางวัล FIPRESCI มาครองได้ ในขณะที่เสียงตอบรับจากผู้ชมในประเทศแบ่งออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน โดยหนังถูกวิจารณ์ในหลายประเด็น (เช่น ตัวละครผู้หญิงเป็นฝ่ายถูกกระทำมากเกินไป, การนำเสนอตัวละครโสเภณีและชนชั้นล่างที่ออกมาผิวเผินและ romanticize เกินไป) แต่พอเวลาผ่านไปหนังเรื่องนี้ถูกประเมินคุณค่าใหม่โดยได้รับเสียงชื่นชมเพิ่มขึ้น มันถูกมองว่าเป็นหนังเรื่องสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของวงการหนังสิงคโปร์ยุคใหม่อีกทั้งยังส่งอิทธิพลต่อหนังยุคหลังหลายเรื่อง โดยมันได้ปูทางให้อีริค คูกลายเป็นผู้กำกับและผู้สร้างหนังอิสระชั้นนำของสิงคโปร์จนถึงทุกวันนี้

Be with Me ความเงียบที่แสนจะอื้ออึง

หลังกำกับหนังดราม่าเรื่อง 12 Storeys (1997) อีริค คูก็เว้นว่างจากการกำกับหนังไปหลายปี เนื่องจากทุ่มเทเวลาให้กับบริษัทหนังของตัวเองอย่าง Zhao Wei Films และรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับหนังของผู้กำกับหนังรุ่นใหม่หลายเรื่อง เช่น Liang Po Po (1999, แจ๊ค นีโอ), 15 (2003, รอยสตัน แทน) เป็นต้น ซึ่งผู้กำกับเหล่านั้นก็กลายเป็นผู้กำกับชื่อดังที่เพิ่มความแข็งแรงให้กับวงการหนังสิงคโปร์ในเวลาต่อมา

Be With Me เป็นผลงานกำกับหนังเรื่องแรกของอีริค คูในรอบ 8 ปี มันเป็นหนังดราม่าที่ประกอบด้วยเรื่องราว 3 ตอนโดยร้อยเรียงแบบเล่าตัดสลับกัน ดังนี้

‘Meant to Be’ เรื่องราวของชายชราเจ้าของร้านขายของชำที่เพิ่งสูญเสียภรรยาคู่ชีวิตจากการเจ็บป่วย ทำให้เขาหมดกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อ แต่เมื่อเขาได้อ่านหนังสือชีวประวัติของหญิงพิการอย่าง ’เทเรซ่า’ ทำให้เกิดกำลังใจขึ้นอีกครั้ง

‘Finding Love’ เรื่องราวของหนุ่มร่างท้วมซึ่งมีอาชีพเป็นยาม เขาถูกเหยียดหยามจากคนในครอบครัวแถมยังถูกไล่ออกจากงาน สิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเขาได้แก่สาวสวยที่อยู่ในอพาร์ตเมนต์ซึ่งเขาเคยทำงานอยู่ เขาตกหลุมรักเธอข้างเดียวโดยที่เธอไม่รู้ตัว

‘So in Love’ เรื่องราวของหญิงสาวมัธยมสองคนที่รู้จักกันทางออนไลน์และได้สานสัมพันธ์แบบคู่รัก แต่ความรักต้องจบลงเมื่อฝ่ายหนึ่งปันใจไปหาชายหนุ่มคนใหม่ (Be With Me เป็นหนังสิงคโปร์เรื่องแรกที่แสดงถึงความสัมพันธ์แบบเลสเบี้ยน)

แต่ละตอนไม่ได้เน้นเชื่อมโยงทางด้านเนื้อเรื่อง (ตัวละครในแต่ละตอนมีชะตากรรมที่เชื่อมโยงกันแค่ช่วงตอนท้ายเรื่อง) แต่เน้นเชื่อมโยงด้านธีมเรื่อง ซึ่งได้แก่ ‘ความรัก – ความโดดเดี่ยว – ความสัมพันธ์ – การก้าวผ่านความเจ็บปวด’ โดยหนังแสดงให้เห็นถึงประเด็นดังกล่าวในบริบทที่แตกต่างในแต่ละตอน อย่างช่วงอายุของตัวละคร (วัยเรียน วัยทำงาน วัยชรา) และสถานที่ซึ่งเป็นฉากหลัง (ทำให้ผู้ชมได้เห็นสิงคโปร์ในมุมที่หลากหลาย ทั้งทางด้านแลนด์สเคปและลักษณะตึกรามบ้านช่อง)

Be With Me พูดถึงประเด็น ‘ความเหงาและความโดดเดี่ยวท่ามกลางเมืองใหญ่’ เช่นเดียวกับ Mee Pok Man แต่ด้วยสไตล์การเล่าที่แตกต่างกัน โดยสไตล์ของ Be With Me มีลักษณะสงบ เรียบนิ่ง เชื่องช้า ไม่บีบคั้นฟูมฟาย เต็มไปด้วยความเงียบและมีบทสนทนาน้อยมาก (หนังมีบทพูดรวม 2 นาทีครึ่ง จากความยาวหนัง 93 นาที) เน้นสื่อสารด้วยการใช้ภาพและภาษากายของนักแสดงมากกว่า

กล่าวคือถ้า Mee Pok Man เป็นเหมือนเพลงพั้งค์ร็อค หนังเรื่องนี้ก็เป็นเหมือนเพลงบรรเลงเปียโนซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ใช้จินตนาการล่องลอยไปกับตัวหนัง

ในบรรดาตัวละครในหนัง คนที่โดดเด่นที่สุด ‘เทเรซ่า’ หรือ Theresa Chan Poh Lin ซึ่งสิ่งที่ปรากฏในหนังนั้นเป็นตัวตนของเธอจริงๆ (ต่างจากตัวละครอื่นๆ ที่เป็น fiction) เธอเป็นหญิงชราพิการซึ่งเริ่มหูหนวกตาบอดตั้งแต่อายุ 14 ปี แต่เธอก็ไม่สิ้นหวังและต่อสู้จนได้ไปเรียนต่อที่อเมริกา จากคนพิการที่รู้จักแต่ภาษาจีน เธอพยายามเรียนรู้ภาษาอังกฤษและพยายามลองทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นกีฬา เล่นละคร ฯลฯ จากนั้นเธอก็ได้กลับมาเป็นครูในโรงเรียนสอนเด็กพิการที่สิงคโปร์ แม้บทของเธอในหนังจะเน้นไปที่ภาพชีวิตประจำวันของเธอประกอบไปกับ text ซึ่งมาจากบันทึกที่เธอเขียนบรรยายเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมา แต่เพียงเท่านั้นมันก็ส่งพลังและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมได้อย่างมากจนมีหลายคนที่อยากให้หนังขยายบทของเธอให้มากขึ้น โดยตัวตนของเธอนั้นสามารถแสดงให้เห็นถึงนิยามของความรัก ความหวัง ความพยายามของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี 

อีริค คูกล่าวว่า “ผมเจอเทเรซ่าที่งานแต่งงานและได้นั่งโต๊ะจีนร่วมกับเธอ พอได้รู้จักก็พบว่าเธอมีความน่าสนใจอย่างมาก ผมชักชวนให้เธอมาแสดงในหนังของผมแบบไม่คิดอะไรแต่เธอก็ตอบตกลงอย่างจริงจัง ก่อนหน้านี้ผมพยายามเขียนบทหนัง Be With Me มาสองปีแต่ก็ไม่สำเร็จเพราะขาดจิ๊กซอว์ที่จะทำให้ภาพสมบูรณ์ จนกระทั่งผมเจอเธอและได้อ่านสิ่งที่เธอเขียน ทำให้พบว่าเธอเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่หายไปและทำให้โปรเจคต์หนังที่ค้างคามานานเรื่องนี้เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งแผนการแรกผมตั้งใจจะเขียนตัวละครฟิคชั่นให้เธอเล่น แต่ก็พอได้อ่านสิ่งที่เธอเขียนทำให้คิดว่าไม่มีเรื่องแต่งไหนที่เทียบเคียงกับเรื่องจริงของเธอได้เลย ผมจึงทำพาร์ตของเธอเป็นสารคดีแล้วนำไปผสมกับพาร์ตฟิคชั่นในตอนอื่นๆ”

หนังประสบความสำเร็จทั้งรายได้และเสียงวิจารณ์ หนังได้เข้าฉายในสาย Director’s Fortnight ของเทศกาลหนังเมืองคานส์และถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของสิงคโปร์ในการเข้าชิงออสการ์หนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (แต่ไม่ผ่านคุณสมบัติเพราะว่าบทพูดที่มีอยู่น้อยนิดนั้นส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ) หนังเข้าฉายในไทยที่ House RCA ซึ่งได้รับการพูดถึงอย่างมากจากคอหนังชาวไทยในตอนนั้น

แม้ด้วยเวลาที่ล่วงเลยจะส่งผลให้สไตล์หนังแบบนิ่งๆ เหงาๆ จะดูเชยไปแล้ว (เพราะภายหลังมีการสร้างหนังสไตล์แบบนี้ออกมามากจนเกร่อ) แต่ประเด็นของหนังที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์อย่างความหวัง ความรัก การไถ่บาป ความสูญเสีย การก้าวข้ามความหลังที่เจ็บปวด ความพยายามสื่อสารกันนั้น ก็ยังคงมีความร่วมสมัยอยู่เสมอ


หมายเหตุ 1 – อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากบทความ “I do not have anything against commercial films”- Interview with Eric Khoo โดย Tilman Baumgartel ในหนังสือ Southeast Asia Independent Cinema (Hong Kong University Press 2012)

หมายเหตุ 2 – นอกจาก Mee Pok Man กับ Be with Me แล้ว ยังสามารถรับชมหนังอีก 2 เรื่องของเขาได้ทางช่องทางสตรีมมิ่ง ได้แก่ Tatsumi (2011) ทาง Netflix และ Ramen Teh (2018) ทาง HBO Go

ทัวร์ลง Netflix พลิกหน้าหนังจนล้ำเส้นเยาวชน

เมื่อช่วงวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา #cancelnetflix ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ในหลายๆ ประเทศ ซึ่งประเด็นเกิดขึ้นจากการพลิกหน้าหนังฝรั่งเศสเล็กๆ เรื่อง Cuties ที่ Netflix ซื้อสิทธิฉายทั่วโลก หลังจากหนังคว้ารางวัล Directing Award สาย World Cinema เทศกาลหนังซันแดนซ์เมื่อต้นปี

หนังฉายวันแรกเมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่เป็นประเด็นนั่นเอง ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ Netflix ปฏิเสธจะใช้โปสเตอร์ฉบับออริจินัลสีสันสดใสน่ารัก (ตามรูป) และหันมาใช้ภาพน้องๆ นุ่งสั้น โชว์เนื้อหนัง โพสท่ายั่วยวน พร้อมแคปชั่นในทวิตเตอร์ว่า “หลงใหลไปกับทีมเต้นที่แสนเร้าใจ” โดยอาจลืมไปว่าน้องๆ ตัวละครอายุแค่ 11 ปีเท่านั้น!

Cuties ว่าด้วยเด็กหญิงเซเนกัลในปารีส ที่ฝืนขนบของครอบครัวไปตั้งทีมเต้นลงแข่งขันครั้งสำคัญ ซึ่งตัวหนังก็เน้นมิตรภาพน่ารักๆ และการเติบโตของเด็กๆ แต่ Netflix เลือกตีความหน้าหนังใหม่ ให้เป็นหนังเต้นเต็มตัวแบบ Step Up เลยปรับลุคส์น้องๆ ให้โตเกินกว่าอายุจริง จนนอกจากจะโดนกระแส #CancelNetflix แล้วยังมีการล่ารายชื่อใน Change.org ด้วย

ผกก.ไมมูนา ดูกูเร่ ผู้กำกับหญิงที่เปิดตัวเรื่องแรกจากเรื่องนี้ ก็โดนถล่มไปด้วย เธอบอกว่า “ฉันโดนโจมตีหนักมากจากคนที่ไม่เคยดูหนัง พวกเขาหาว่าฉันทำหนังที่ละเมิดทางเพศเด็ก ซึ่งหนังไม่ได้เป็นแบบนั้น”

หลังจากโดนถล่ม Netflix ก็ได้ถอดโปสเตอร์นี้ออก พร้อมแถลงขอโทษที่ออกแบบอาร์ตเวิร์กไม่เหมาะสมออกมา พร้อมทั้งแสดงความเสียใจกับดูกูเร่เป็นการส่วนตัวด้วย


หมายเหตุ : ส่วนหนึ่งที่ทำให้กระแส #CancelNetflix จากกรณี Cuties รุนแรงขึ้นมาได้ เพราะกลุ่มลัทธิ QAnon ซึ่งเป็นกลุ่มขวาจัดและมีทฤษฎีสมคบคิดว่า เหล่ายักษ์ใหญ่ในฮอลลีวูดต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าประเวณีเด็กอย่างลับๆ ซึ่งการพลิกหน้าหนังของ Netflix นี้ยิ่งสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวพอดี

ที่มา + ดูรูปที่เป็นปัญหาได้จากลิงค์นี้

ความพยายามถมช่องว่างระหว่างรุ่นของ เสือ ยรรยง

เดิมที ‘เกมเมอร์ เกมแม่’ มีกำหนดเข้าฉายเดือน ก.พ. 63 ในวันนั้นจุดขายที่แข็งแรงที่สุดคงหนีไม่พ้นการในแข่งขันวงการอีสปอร์ต

แต่การเลื่อนฉายหนีโควิด ทำให้สารของหนังร่วมสมัยยิ่งกว่าเดิม เพราะหัวใจของมันคือการหันหน้าเข้าหากันของคนสองรุ่น

และนั่นเป็นสิ่งที่ผู้กำกับ เสือ-ยรรยง คุรุอังกูร ตั้งใจจะนำเสนอมาตั้งแต่ต้น เป็นสิ่งที่เขา ‘อิน’ ที่สุด จากคนเป็นพ่อที่แม้แต่เล่นเกมก็เล่นไม่เป็น


กลายเป็นว่าหนังได้เข้าฉายในวันที่คนกำลังมองหาการเชื่อมต่อของคนต่างรุ่น

ก็พอได้โจทย์ Mother Gamer มา เราก็มองว่าเป็นเรื่อง generation gap เลย เป็นเรื่องของการปกครอง แม่ปกครองลูก ครูปกครองนักเรียน ในทีมเกมก็มีโค้ช เพราะฉะนั้นในการนำเสนอเราก็ยึดหลักเรื่องของการปกครอง ปกครองยังไงให้มันประสบความสำเร็จ ปกครองอย่างนี้จะเป็นยังไง? เราก็ทำไดเร็กชั่นให้มันออกมาเป็นแบบนั้น บรรยากาศโรงเรียน บรรยากาศการแข่งขัน บรรยากาศบ้าน สีของแต่ละทีม ถ้าว่ากันตามตรง สีของฝั่งหนึ่งจะเป็นสีแบบเผด็จการอีกฝั่งจะเป็นสีบรรยากาศของประชาธิปไตย เฮฮากันไป เพื่อจะได้มองวิชวลตรงกันในทีมงาน

พอพูดเรื่องการปกครอง เราก็อยู่กันแบบนี้มาตลอด

ซึ่งในยุคนั้นเรารับได้เนอะ เรารู้สึกผิดถ้าเราไม่ได้อยู่ในแนวทางที่เขาวางไว้ให้ พอรู้สึกผิดเราก็ไม่อยากบอกเขาว่าเราทำผิด เพราะถ้าบอกเราก็โดน ได้แต่บอกตัวเองว่าเดี๋ยวกูไม่ทำแล้ว แต่ทุกวันนี้เด็กมันมีข้อมูลเยอะ เยอะกว่าผู้ใหญ่อีก ซึ่งเด็กก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำมันถูกนะ เราสามารถแย้งกันได้ ซึ่งเราว่ามันแล้วแต่สิ่งแวดล้อมในแต่ละยุค อย่างยุคเราพอผมยาวก็โดนไถอีก แล้วพอกลับบ้านกูโดนด่าอีกแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องน่าอายสำหรับคนไทย แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ เรื่องทรงผมมันไม่ได้กำหนดเรื่องของจิตใจคน

ผมไม่แน่ใจว่าตอนทำเรื่องนี้รีเสิร์ชกับเด็กๆ เยอะแค่ไหน?

เราก็ดูตามเพจต่างๆ ที่เด็กชอบ เพื่อดูว่ามุมมองของเด็กคืออะไร เราก็พบว่าเด็กเขามีแชแนลตัวเอง อย่างลูกของพี่ที่เป็นหุ้นส่วน ทุกวันนี้ก็ดูสปอยล์หนังนะ เขาไม่ดูหนังเต็มเรื่องแล้ว มันเปลี่ยนไปหมด ต่อไปนี้เราอาจจะต้องทำหนังความยาวเท่าสปอยล์หนังรึเปล่า (หัวเราะ) เราก็ลองไปดูก้ววแหละว่าเด็กๆ คิดอะไรกันอยู่

เห็นจุดร่วมอะไรของเด็กรุ่นนี้

มันแน่วแน่นะ เขารู้ว่าทำอะไรกันอยู่ มากกว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกมาว่าต้องทำอะไรถึงจะถูก อย่างเช่น อีสปอร์ต นี่ก็ได้ คนเล่นเกมก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันผิดอะไรนี่ เล่นทั้งวันทั้งคืนก็ได้เพราะมันเป็นเกมของคนยุคนี้ มันมีการแย้งจากผู้ใหญ่ตลอดเหมือนตอนเด็กๆ เราไปเล่นที่ร้านเกม เออหรือว่ากูเล่นนานไปแล้วมั้ง คือเราเชื่อฟังเขาไง เด็กรุ่นนี้คือเมื่อไหร่ก็เล่นได้ เพราะมันอยู่ข้างๆ กูแล้ว เด็กๆ คิดว่าเป็นสิ่งที่ทำมันถูกต้องแล้ว

คิดว่าตอนทำเรื่องนี้จนถึงวันนี้ เด็กเปลี่ยนไปมั้ย

มันคือสามปีเนอะ …

ในฐานะคนทำหนัง หลังจากนี้คงต้องเปลี่ยนวิธีคิดแล้วรึเปล่า

ผมว่าทุกอย่างเปลี่ยนไป เพราะว่าที่ทำตอนนั้นโลกยังสงบสุขว่างั้นเถอะ มันยังไม่มีไวรัสด้วย เหตุบ้านการณ์เมืองมันยังไม่ได้รุนแรงขนาดนี้ ผมก็ตกใจเหมือนกันนะที่เห็นเยาวชนปลดแอกเกิดขึ้นมา ผมว่ามันเปลี่ยนเยอะเลย และผมว่าสิ่งที่เขาพูดมันก็มีแนวทางที่ชัดเจนนะ และก็ไม่ผิดด้วย อาจะแค่คิดต่างแต่มันไม่ผิด

ทั้งจากตัวหนังและสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ทำให้เรามีวิธีปฏิบัติกับลูกยังไงบ้าง

ถ้าตัวหนังมันเหมือนเป็นตัวสมาน ตัวละครเบญจมาศ (พิยดา จุฑารัตนกุล) กับ โอม (ต้นหน ตันติเวชกุล) พยายามเข้าหากัน มันไม่ได้หนีออกจากกัน ผมเองก็เหมือนตัวเบญจมาศแหละ ที่พยายามดูว่าลูกชอบอะไร ลูกคิดอะไร เอ๊ะ ทำไมเด็กๆ เราไม่คิดอย่างนี้นะ เพียงแต่ว่าลูกผมก็ยังเล็ก ก็คงพยายามจูนเข้าหาเขาให้มากที่สุด และคงไม่เว้นช่องว่างให้เยอะ ให้รู้สึกว่าเราอยากเป็นเพื่อนเขา มีอะไรก็คุยกับเราได้

ในขณะที่เทคโนโลยีทุกอย่างเอื้อแล้ว คุณว่ายัง มีอะไรที่ต้องอินพุทลูกต่อไป

ผมคิดว่าเป็นเรื่องศีลธรรมมากกว่า ก็คงปลูกฝังว่าทำดีก็ยังได้ดี ทำชั่วก็ยังได้ชั่ว นอกเหนือจากนั้นมันเป็นเรื่องของเทคโนโลยีและวิธีการที่จะสวมเข้าไป ถ้าเขาทำดีและตั้งใจจริง เราก็คงจะได้คนที่ต้องการจะขับเคลื่อนประเทศจริงๆ มีคุณธรรม มีศีลธรรม และก็มีความสามารถ แต่ถ้าเขาไม่มีศีลธรรมก็จะ …จากที่เคยดีก็มาเลว จากที่เคยเลวก็มาดี มันไม่มีอะไรที่แน่นอน

ก็มนุษย์นั่นแหละ

ใช่ แต่ขอสักเรื่องเถอะ ถ้ามีศีลธรรมควบคู่ไปด้วย ทุกอย่างมันก็จะไปได้สวย