Tenet: ผู้รู้เวลาครบคือพระเจ้า

(2020, Christopher Nolan)

กลายเป็นกระแสไปเรียบร้อย สำหรับหนังเรื่อง Tenet โดยผู้กำกับระดับพระกาฬ คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่ไม่ว่าใครได้เข้าไปดูก็ถึงกับ ‘งง’ ไปตามๆ กัน เพราะคอนเซปต์หลักของหนังเล่นกลับการย้อนเวลา – แม้ว่าในเรื่องจะไม่อยากใช้คำนี้นัก – หนังใช้คำว่า ‘การย้อนกลับ (inversion)’ เพื่ออธิบายการที่ตัวเอกทำสำเนาตนเองเข้าไปทับไทม์ไลน์ต่างๆ ในอดีต เพื่อแก้ไขแผนการล้างโลกที่คนในอนาคตวางแผนไว้ ได้อ่านเพียงเท่านี้หลายคนอาจจะเริ่มมึนว่าอะไรคืออดีตและอนาคต แต่การที่มึนนั่นเองแปลว่าหนังได้ทำงานกับเราไปเรียบร้อยแล้ว และเราก็หลุดเข้าไปในจักรวาลของหนัง ที่ใช้เหตุผลทำความเข้าใจไม่ได้ทั้งหมด เพียงแต่เราต้อง ‘รู้สึก (feel it)’ ถึงมัน

ส่วนที่น่าสนใจที่สุดของหนังคงจะเป็นคอนเซปต์ของคำว่า ‘เจตจำนงเสรี​ (free will)’ – คำถามก็คือ เราจะป้องกันสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วในอนาคตได้อย่างไร คำถามนี้อาจจะชัดเจนขึ้นถ้าเขียนในรูปของ Future Perfect Tense – ‘How can we prevent things that will have happened in the future?’ คำถามนี้ทำให้เกิดปฏิทรรศน์ (paradox) นั่นคือความขัดแย้งในตัวเองขึ้นมา เพราะว่า ถ้าสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นไปแล้ว เราย่อมแก้ไขมันไม่ได้ แต่มันก็อาจมีทางแก้ไขมันได้ เพราะมันอยู่ในอนาคต สรุปแล้วเรามีเจตจำนงเสรีที่จะแก้ไขมันจริงๆ หรือไม่ นั่นคือคำถามที่โนแลนทิ้งไว้ให้คนดูขบคิด

มองในมุมหนึ่ง เหมือนกับว่าตัวละครเอก (The Protagonist) ที่แสดงโดยจอห์น เดวิด วอชิงตัน จะไม่มีทางเลือกนอกจากเดินตามเส้นไทม์ไลน์เพื่ออุดรูรั่วให้แก่ปมเหตุการณ์ต่างๆ เขาดูเหมือนเป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่งในเครื่องจักร ซึ่งถูกโปรแกรมเอาไว้อยู่แล้วว่าหายนะในอนาคตจะต้องไม่เกิดขึ้น เพราะหากมันเกิดขึ้น เขาที่อยู่ในอดีตย่อมต้องไม่มีตัวตนอยู่ในวินาทีนี้ นี่เป็นฝันร้ายของนักปรัชญาก็ว่าได้ เพราะดูเหมือนกับว่า ตัวเอกจะไม่มีเจตจำนงเสรี และถูกชะตากรรมใช้เป็นเครื่องมือ เขาไม่สามารถเลือกเองได้เลยว่าเขาจะทำให้หายนะเกิดหรือไม่เกิด เขาอยู่ในระบบปิดที่ถูกออกแบบล่วงหน้ามาไว้แล้ว

แต่ก็มีคำอธิบายหนึ่งที่อาจทำให้เขามีเจตจำนงเสรีขึ้นมา ก็คือ ในการแก้ไขสิ่งหนึ่งๆ ในไทม์ไลน์ของตัวเอง เขาได้สร้างไทม์ไลน์ใหม่ที่แตกแขนงออกมาจากไทม์ไลน์เดิม และเป็นอิสระจากไทม์ไลน์เดิม จริงอยู่-ในไทม์ไลน์อื่น หายนะอาจเกิดขึ้นจริงก็ได้ แต่ไม่ใช่ในไทม์ไลน์ของเขา ที่เขากำลังแก้ไขเหตุการณ์อยู่ เหมือนกับคนขับรถออกจากถนนสายหลักเพื่อหลีกเลี่ยงรถติด บางสิ่งอาจเกิดขึ้นไปแล้ว แต่ก็มี ‘ทางเลือกใหม่’ สร้างความจริงแบบอื่นขึ้นมา ที่ความจริงในอดีตนั้นไม่เคยเกิดขึ้น นี่อาจเป็นสาเหตุที่หญิงชาวอินเดียบอกเขาว่า เขาเป็นเพียงหนึ่งในตัวเอกเท่านั้น ใช่ตัวเอกเพียงคนเดียวเสียเมื่อไหร่ ในไทม์ไลน์อื่นก็มีตัวเอกที่ป้องกันหายนะในไทม์ไลน์ของตัวเองอยู่เหมือนกัน

คอนเซปต์ของการเล่นบทพระเจ้า ก็ดูจะเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ตัวร้ายของเรื่องคือเซทอร์คิดว่าการที่ตัวเองสร้างหายนะระดับโลกขึ้นมาได้จะทำให้เขากลายเป็นพระเจ้า เพราะเมื่อโลกในไทม์ไลน์ของเขาถูกทำลาย โลกอื่นในไทม์ไลน์อื่นจะรอด และรอดได้อย่างงดงามกว่าโลกใบเก่า คอนเซปต์นี้ทำให้นึกถึงปรัชญาของนักปรัชญาชาวโรมันคนท้ายๆ ในประวัติศาสตร์ปรัชญา นั่นคือ โบเอธีอุส (ค.ศ. 475-525) ซึ่งเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้รู้แจ้งในทุกสิ่ง เซทอร์กำลังเล่นบทพระเจ้า ที่ขยายความรับรู้ของเขาไปยังจักรวาลคู่ขนานอื่นนอกเหนือจากของตัวเอง

แต่เซทอร์ก็ไม่อาจเป็นพระเจ้าได้จริง เพราะเมื่อเขาสิ้นชีพลง การรับรู้ของเขาก็จะดับลงไปด้วย ถ้าเป็นพระเจ้าในมุมของโบเอธีอุส พระองค์จะต้องทรงอยู่เป็นผู้รับรู้ทุกสิ่งต่อไปโดยไม่มีเงื่อนไขว่าจักรวาลหนึ่งจะดับลงหรือไม่ นอกจากนั้น โบเอธีอุสยังตั้งคำถามว่า ถ้าพระเจ้ารู้ทุกสิ่งล่วงหน้าอยู่แล้ว มนุษย์จะมีเจตจำนงเสรีได้อย่างไร ในเมื่อพระเจ้ารู้อยู่ทุกก้าวว่าเราจะทำอะไรต่อ ถ้าเช่นนั้นคงไม่ต้องมีการให้รางวัลเมื่อเราทำดีหรือทำชั่ว เพราะพระเจ้ารู้ล่วงหน้าอยู่แล้วสิ แต่เขาก็ได้แก้ปฏิทรรศน์นี้ด้วยการเสนอทฤษฎีว่า พระเจ้าไม่ได้รับรู้เวลาอย่างที่มนุษย์รู้ คือเป็น อดีต ปัจจุบัน อนาคต แต่ทรงรับรู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคตพร้อมๆ กัน เพราะพระเจ้านั้นไร้กาลเวลาและอยู่เหนือกาลเวลาทั้งหมด

โบเอธีอุสยังตั้งคำถามว่า ถ้าพระเจ้ารู้ทุกสิ่งล่วงหน้าอยู่แล้ว มนุษย์จะมีเจตจำนงเสรีได้อย่างไร ในเมื่อพระเจ้ารู้อยู่ทุกก้าวว่าเราจะทำอะไรต่อ ถ้าเช่นนั้นคงไม่ต้องมีการให้รางวัลเมื่อเราทำดีหรือทำชั่ว เพราะพระเจ้ารู้ล่วงหน้าอยู่แล้วสิ แต่เขาก็ได้แก้ปฏิทรรศน์นี้ด้วยการเสนอทฤษฎีว่า พระเจ้าไม่ได้รับรู้เวลาอย่างที่มนุษย์รู้ คือเป็น อดีต ปัจจุบัน อนาคต แต่ทรงรับรู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคตพร้อมๆ กัน เพราะพระเจ้านั้นไร้กาลเวลาและอยู่เหนือกาลเวลาทั้งหมด

ดูเหมือนเราจะไม่สามารถทำความเข้าใจทฤษฎีนี้ได้เลย เพราะเรายังคงเป็นมนุษย์ที่มองเวลาเป็นเส้นตรง ไม่ต่างจากตัวเอกที่เราติดตามอยู่ในไทม์ไลน์นี้ แต่ตัวเอกคนนี้นี่แหละ ที่ตัวตนในอนาคตเขาจะเป็นผู้ถักทออดีต ปัจจุบัน อนาคตเข้าด้วยกัน และเป็นผู้รับรู้กาลเวลาทุกรูปแบบรวมกัน ดังนั้นเขาจึงเล่นบทไม่ต่างจากพระเจ้า เพราะมีเขาเพียงคนเดียวที่รู้ว่าห้วงเวลาทั้งสาม คืออดีต ปัจจุบัน อนาคต คลี่คลายตัวเองออกไปอย่างไร แต่ก็อาจจะเป็นเพียงพระเจ้าของไทม์ไลน์นี้ก็เป็นได้

อีกคอนเซปต์หนึ่งเกี่ยวกับพระเจ้าของโบเอธีอุส ก็คือ ความรู้ที่พระเจ้ามีแตกต่างจากพรหมลิขิตที่กำหนดชะตาชีวิตมนุษย์ พระเจ้ารู้ว่าเราจะทำอะไร แต่เป็นการรู้ในองค์รวมเท่านั้น ยังมีความเป็นไปได้ที่เราจะตัดสินใจเลือกอะไรต่างๆ เพราะชีวิตเราไม่ได้ลิขิตโดยพระองค์ ซึ่งทฤษฎีนี้ตอบรับเป็นอย่างดีกับเรื่องเส้นของเวลาที่แตกแขนงออกไป เราอาจรู้ได้ว่าอะไรเกิดขึ้นไปแล้ว แต่เรามีอำนาจผันเปลี่ยนเส้นเวลาของเรา และสร้างทางเลือกที่เป็นอิสระออกมาจากเส้นเวลาเดิม

อย่างไรก็ตาม ก็น่าคิดว่า ถ้าเราผันเปลี่ยนเส้นเวลาของตัวเองแล้วสร้างทางใหม่ขึ้นมา คนที่อยู่ในเวลาเดียวกับเราที่ชะตาถูกเปลี่ยนไปจะแยกออกเป็นสองคน หรือต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในเส้นเวลาที่เปลี่ยนไปหรือไม่ หรือแม้กระทั่ง พวกเขา “มีตัวตน” หรือไม่ตั้งแต่เส้นเวลาแยกออกไป หรือทุกสิ่งเป็นเพียงภาพลวงแห่งโลกปรากฏการณ์ที่หลอกเราตั้งแต่เส้นเวลาถูกแยกออกมา เป็นไปได้ไหมที่จะมีเรา (ในที่นี้คือตัวเอก) เพียงคนเดียวที่เห็นผลลัพธ์นั้นและรู้ความแตกต่างระหว่างโลกที่มีหายนะกับโลกที่ไม่มีหายนะ โดยที่คนอื่นไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบด้วยเลย ไม่แน่เราอาจจะเห็นภาพหลอนไปเองและถูกทิ้งเคว้งไว้ในเส้นเวลาใหม่เพียงคนเดียว

นอกจากคอนเซปต์เรื่องเวลาแล้ว พระเจ้าของโบเอธีอุส ยังเป็นตัวแทนของความจริงและความดีสูงสุด ซึ่งคล้ายกับทฤษฎีแบบ (Theory of Form) ของเพลโตที่บอกว่า มนุษย์เราไม่ได้สร้างความดีขึ้นมาเฉยๆ ในโลกกายภาพได้ แต่จะต้องมี “แบบ” (Form) ของความดี ซึ่งเป็นสิ่งที่นามธรรมอยู่ในอาณาจักรพระเจ้า ที่เป็นต้นแบบของความดีทุกแบบในโลกรวมกัน เมื่อวิเคราะห์ในมุมนี้ ก็น่าสงสัยว่าสิ่งที่ตัวเอกทำเป็นสิ่งที่ดีบริสุทธิ์หรือไม่ เพราะเขาฆ่าคนไปมากมายในระหว่างทาง หรือจริงๆ แล้วอาจเป็นเซทอร์ที่บริสุทธิ์มากกว่า เพราะเขาทำลายจักรวาลหนึ่งลงเพื่อให้อีกจักรวาลหนึ่งรอด ในแง่หนึ่ง ตัวเอกเพียงแค่ยื้อเวลาหายนะออกไปเท่านั้น โดยไม่ได้ไปแก้ที่ต้นเหตุ คือการทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษย์หรือเปล่า ซึ่งความเทาๆ ของตัวเอกนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องตั้งคำถามกันต่อไป

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS