มู่หลาน: รัฐคือครอบครัว แต่ครอบครัวมาก่อนรัฐ

(2020, Niki Caro)

นับว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีทั้งเสียงชื่นชมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ สำหรับ Mulan เวอร์ชัน Live Action ของดิสนีย์ ที่จุดประเด็นถกเถียงมากมาย ทั้งความขัดแย้งในซินเจียง สถานที่ถ่ายทำหนัง และทัศนคติทางการเมืองของนักแสดงนำ อย่างหลิวอี้เฟย ที่ออกมาสนับสนุนการใช้กำลังของตำรวจในฮ่องกง อย่างไรก็ตาม แม้เราไม่อาจแยกศิลปะภาพยนตร์ออกจากการเมืองได้ แต่เราอาจทำความเข้าใจภาพยนตร์ในฐานะสื่อกลางทางวัฒนธรรม ที่ก่อนสร้างนั้นมีการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมนั้นๆ แล้วถ่ายทอดผ่านองค์ประกอบศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นพล็อตเรื่อง ดนตรีประกอบ และฉาก หรืออื่นๆ

มู่หลานเล่าเรื่องราวของหญิงสาวที่ปลอมตัวเป็นผู้ชายออกรบแทนบิดา ซึ่งในสมัยก่อนถือเป็นการฝ่าฝืนจารีตอันดีงาม แต่ด้วยความรักครอบครัว และเป็นห่วงอันตรายที่จะเกิดกับบิดาที่แก่เฒ่า มู่หลานจึงยืนยันที่จะโกหกทุกคนแม้ต้องเสี่ยงสร้างความอับอายแก่วงศ์ตระกูล ลักษณะของการให้ความสำคัญต่อครอบครัวอย่างแน่นแฟ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากขงจื่อ นักคิดคนสำคัญที่ผู้ศึกษาวัฒนธรรมจีนทุกคนต้องรู้จัก

แก่นเรื่องอันเกี่ยวกับคุณธรรมของมู่หลานอาจถักทอด้วยคำสามคำที่อยู่บนกระบี่ประจำตระกูล นั่นคือ ภักดี กล้าหาญ ซื่อตรง ซึ่งมู่หลานเองพยายามทำให้ได้ตามกฏทั้งสาม แต่ไม่อาจทำตามกฏข้อสุดท้าย คือ ความซื่อตรง ได้ เพราะเธอจำต้องโกหกทุกคนว่าเธอเป็นผู้ชาย และความขัดแย้งในใจตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เธอรู้สึกว่าเติมเต็มหน้าที่ต่อรัฐได้ไม่เต็มที่ และเป็นเสมือนชนักปักหลังที่เหนี่ยวรั้งเธอไว้ การเป็นพลเมืองที่ไม่สมบูรณ์ของรัฐจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูล เพราะในปรัชญาขงจื่อนั้น รัฐและครอบครัวอยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์เดียวกัน รัฐในปรัชญาขงจื่อเปรียบเสมือนภาพขยายของครอบครัว เป็นเครือข่ายครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีผู้ปกครองเป็นพ่อ และประชาชนเป็นลูก ดังที่ปรากฏในคัมภีร์หลุนอี่ว์1ยึดตามต้นฉบับ หลุนอี่ว์: ขงจื่อสนทนา ของสำนักพิมพ์ โอเพ่นบุ๊กส์ แปลโดย สุวรรณา สถาอานันท์ ซึ่งเป็นตัวบทสำคัญของปรัชญาขงจื่อ บทที่ ๑:๒ ว่า

อาจารย์โหยวกล่าวว่า “ผู้มีความกตัญญูและเชื่อฟังพี่ น้อยนักที่จะขัดขืนผู้บังคับบัญชา ผู้ที่ไม่ขัดขืนผู้บังคับบัญชาไม่มีเลยที่จะก่อความวุ่นวาย”

น่าสังเกตว่าในบทข้างต้นนี้ ได้กล่าวถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เล็กกว่าก่อน นั่นคือครอบครัว (ผู้มีความกตัญญูและเชื่อฟังพี่) แล้วค่อยขยายไปสู่ระดับรัฐ (ไม่ขัดขืนผู้บังคับบัญชา) ผู้ที่ไม่ก่อความวุ่นวายในครอบครัว ย่อมไม่ก่อความวุ่นวายให้กับรัฐด้วย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจหลักการที่มีลักษณะไม่เป็นกลางของปรัชญาขงจื่อก่อน โดยทั่วไป ปรัชญาตะวันตกหลายแนวคิดมักจะใช้กฎเกณฑ์แบบ “เป็นกลาง (Impartialism)” มาสร้างกฎทางจริยศาสตร์ซึ่งใช้ได้กับทุกคน เช่น ถ้าเรายอมให้มีการขโมย แปลว่าเรายอมว่าการขโมยจะเกิดขึ้นกับเราก็ได้ ดังนั้นถ้าเราไม่อยากให้ใครก็ได้มาขโมยของของเรา เราจะต้องไม่ขโมยเอง และไม่สนับสนุนการขโมยด้วย ปรัชญาแบบ Impartialism นี้จะเน้นสร้างตัวตนนามธรรมของมนุษย์ขึ้นมา ว่าทุกคนเป็นเหมือนกันหมด และใช้แนวเทียบเดียวกันหมด แต่ในคัมภีร์หลุนอี่ว เล่มที่ 13 บทที่ 18 กลับมีข้อความดังนี้

13: 18: 1

เซ่อกงกล่าวแก่ขงจื่อว่า “ในแคว้นของเรา มีคนตรง เมื่อบิดาขโมยแกะ บุตรไปเป็นพยาน”

13: 18: 2

ขงจื่อกล่าวว่า “ในแคว้นของข้า คนตรงจะต่างออกไป บิดาจะซ่อนความผิดของบุตร บุตรจะซ่อนความผิดของบิดา ความตรงดำรงอยู่ ณ ใจกลางพฤติกรรมเหล่านี้แล้ว”

สาเหตุที่ขงจื่อเห็นว่าควรซ่อนความผิดของบุพการี เป็นเพราะขงจื่อให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทซึ้งระหว่าง บิดา-บุตร หรือคนในครอบครัวก่อน สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะความสัมพันธ์ชนิดนี้เป็นความสัมพันธ์ที่มีเพียงชุดเดียวในโลก เป็นความสัมพันธ์เฉพาะที่เป็นต้นกำเนิดของศีลธรรมในตัวมนุษย์ ในปรัชญาขงจื่อ มนุษย์เราอยากจะไม่ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น เพราะเราเห็นว่าตัวเราเป็นลูก พี่ น้อง พ่อ แม่ หรือญาติของใครสักคนเสมอ เมื่อเราเห็นว่าเราเป็นใครสักคนในความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดนี้ เราก็สามารถเทียบเคียงตัวเองเข้ากับคนอื่นได้ว่า คนอื่นก็เป็นลูก พี่ น้อง พ่อ แม่ หรือญาติของใครสักคนเหมือนกัน จริยศาสตร์แบบขงจื่อจึงเป็นจริยศาสตร์ที่ “ไม่เป็นกลาง (Partialism)” เพราะในความเป็นมนุษย์เราย่อมเลือกปฏิบัติต่อคนในแต่ละชุดความสัมพันธ์ต่างกันไป หากคนที่จมน้ำมีสองคน คือพ่อของเรา กับคนไม่รู้จัก เราย่อมต้องช่วยพ่อของเราก่อนตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าจริยศาสตร์แบบขงจื่อจะเป็นจริยศาสตร์ที่ไม่เป็นกลางแบบสุดโต่ง เพราะขงจื่อแนะนำให้วิญญูชน หรือผู้ได้รับการขัดเกลา เทียบเคียงตัวเองเข้ากับคนอื่น และมองหาสถานการณ์ที่สร้างความสอดคล้องในสังคมได้มากที่สุดเสมอ ยิ่งผู้คนได้รับความรักความอบอุ่นจากครอบครัวมากเท่าใด เราก็เทียบเคียงใจ เห็นคุณค่าของบุคคลอื่นได้มากเท่านั้น และจะ “รู้สึก” ไม่อยากสร้างความเดือดร้อนขึ้นมาได้เอง ความสัมพันธ์ที่ “หนา” กว่า อย่างความสัมพันธ์แบบครอบครัวจึงสามารถส่งผลไปยังความสัมพันธ์ที่ “บาง” กว่า อย่างความสัมพันธ์ในแบบรัฐได้ โดยที่ไม่ต้องด้อยค่าความรู้สึกของปัจเจกมากจนเกินไปเช่นจริยศาสตร์แบบ Impartialism

ในแง่หนึ่ง จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่ในตอนท้ายของเรื่องมีการใส่คุณธรรมเพิ่มขึ้นมาอีกข้อหนึ่ง นั่นคือ “ความกตัญูญูต่อครอบครัว” ซึ่งอันที่จริงควรจะเป็นคุณธรรมข้อแรกเสียด้วยซ้ำ และการที่มู่หลานปฏิเสธไม่รับตำแหน่งราชการก่อนจะได้กลับไปคลี่คลายปมของครอบครัวตัวเอง จึงเป็นเรื่องสำคัญ พูดในแง่หนึ่ง มู่หลานอาจทำผิดด้วยการ “ไม่ซื่อตรง” ต่อรัฐ แต่เธอได้ “ซื่อตรงต่อคุณธรรมเรื่องครอบครัว” ของตัวเอง และนั่นเป็นส่วนที่มีความหมายมากกว่าหน้าที่ต่อรัฐเสียอีก

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS