INTERVIEW

ความพยายามถมช่องว่างระหว่างรุ่นของ เสือ ยรรยง

เดิมที ‘เกมเมอร์ เกมแม่’ มีกำหนดเข้าฉายเดือน ก.พ. 63 ในวันนั้นจุดขายที่แข็งแรงที่สุดคงหนีไม่พ้นการในแข่งขันวงการอีสปอร์ต

แต่การเลื่อนฉายหนีโควิด ทำให้สารของหนังร่วมสมัยยิ่งกว่าเดิม เพราะหัวใจของมันคือการหันหน้าเข้าหากันของคนสองรุ่น

และนั่นเป็นสิ่งที่ผู้กำกับ เสือ-ยรรยง คุรุอังกูร ตั้งใจจะนำเสนอมาตั้งแต่ต้น เป็นสิ่งที่เขา ‘อิน’ ที่สุด จากคนเป็นพ่อที่แม้แต่เล่นเกมก็เล่นไม่เป็น


กลายเป็นว่าหนังได้เข้าฉายในวันที่คนกำลังมองหาการเชื่อมต่อของคนต่างรุ่น

ก็พอได้โจทย์ Mother Gamer มา เราก็มองว่าเป็นเรื่อง generation gap เลย เป็นเรื่องของการปกครอง แม่ปกครองลูก ครูปกครองนักเรียน ในทีมเกมก็มีโค้ช เพราะฉะนั้นในการนำเสนอเราก็ยึดหลักเรื่องของการปกครอง ปกครองยังไงให้มันประสบความสำเร็จ ปกครองอย่างนี้จะเป็นยังไง? เราก็ทำไดเร็กชั่นให้มันออกมาเป็นแบบนั้น บรรยากาศโรงเรียน บรรยากาศการแข่งขัน บรรยากาศบ้าน สีของแต่ละทีม ถ้าว่ากันตามตรง สีของฝั่งหนึ่งจะเป็นสีแบบเผด็จการอีกฝั่งจะเป็นสีบรรยากาศของประชาธิปไตย เฮฮากันไป เพื่อจะได้มองวิชวลตรงกันในทีมงาน

พอพูดเรื่องการปกครอง เราก็อยู่กันแบบนี้มาตลอด

ซึ่งในยุคนั้นเรารับได้เนอะ เรารู้สึกผิดถ้าเราไม่ได้อยู่ในแนวทางที่เขาวางไว้ให้ พอรู้สึกผิดเราก็ไม่อยากบอกเขาว่าเราทำผิด เพราะถ้าบอกเราก็โดน ได้แต่บอกตัวเองว่าเดี๋ยวกูไม่ทำแล้ว แต่ทุกวันนี้เด็กมันมีข้อมูลเยอะ เยอะกว่าผู้ใหญ่อีก ซึ่งเด็กก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำมันถูกนะ เราสามารถแย้งกันได้ ซึ่งเราว่ามันแล้วแต่สิ่งแวดล้อมในแต่ละยุค อย่างยุคเราพอผมยาวก็โดนไถอีก แล้วพอกลับบ้านกูโดนด่าอีกแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องน่าอายสำหรับคนไทย แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ เรื่องทรงผมมันไม่ได้กำหนดเรื่องของจิตใจคน

ผมไม่แน่ใจว่าตอนทำเรื่องนี้รีเสิร์ชกับเด็กๆ เยอะแค่ไหน?

เราก็ดูตามเพจต่างๆ ที่เด็กชอบ เพื่อดูว่ามุมมองของเด็กคืออะไร เราก็พบว่าเด็กเขามีแชแนลตัวเอง อย่างลูกของพี่ที่เป็นหุ้นส่วน ทุกวันนี้ก็ดูสปอยล์หนังนะ เขาไม่ดูหนังเต็มเรื่องแล้ว มันเปลี่ยนไปหมด ต่อไปนี้เราอาจจะต้องทำหนังความยาวเท่าสปอยล์หนังรึเปล่า (หัวเราะ) เราก็ลองไปดูก้ววแหละว่าเด็กๆ คิดอะไรกันอยู่

เห็นจุดร่วมอะไรของเด็กรุ่นนี้

มันแน่วแน่นะ เขารู้ว่าทำอะไรกันอยู่ มากกว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกมาว่าต้องทำอะไรถึงจะถูก อย่างเช่น อีสปอร์ต นี่ก็ได้ คนเล่นเกมก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันผิดอะไรนี่ เล่นทั้งวันทั้งคืนก็ได้เพราะมันเป็นเกมของคนยุคนี้ มันมีการแย้งจากผู้ใหญ่ตลอดเหมือนตอนเด็กๆ เราไปเล่นที่ร้านเกม เออหรือว่ากูเล่นนานไปแล้วมั้ง คือเราเชื่อฟังเขาไง เด็กรุ่นนี้คือเมื่อไหร่ก็เล่นได้ เพราะมันอยู่ข้างๆ กูแล้ว เด็กๆ คิดว่าเป็นสิ่งที่ทำมันถูกต้องแล้ว

คิดว่าตอนทำเรื่องนี้จนถึงวันนี้ เด็กเปลี่ยนไปมั้ย

มันคือสามปีเนอะ …

ในฐานะคนทำหนัง หลังจากนี้คงต้องเปลี่ยนวิธีคิดแล้วรึเปล่า

ผมว่าทุกอย่างเปลี่ยนไป เพราะว่าที่ทำตอนนั้นโลกยังสงบสุขว่างั้นเถอะ มันยังไม่มีไวรัสด้วย เหตุบ้านการณ์เมืองมันยังไม่ได้รุนแรงขนาดนี้ ผมก็ตกใจเหมือนกันนะที่เห็นเยาวชนปลดแอกเกิดขึ้นมา ผมว่ามันเปลี่ยนเยอะเลย และผมว่าสิ่งที่เขาพูดมันก็มีแนวทางที่ชัดเจนนะ และก็ไม่ผิดด้วย อาจะแค่คิดต่างแต่มันไม่ผิด

ทั้งจากตัวหนังและสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ทำให้เรามีวิธีปฏิบัติกับลูกยังไงบ้าง

ถ้าตัวหนังมันเหมือนเป็นตัวสมาน ตัวละครเบญจมาศ (พิยดา จุฑารัตนกุล) กับ โอม (ต้นหน ตันติเวชกุล) พยายามเข้าหากัน มันไม่ได้หนีออกจากกัน ผมเองก็เหมือนตัวเบญจมาศแหละ ที่พยายามดูว่าลูกชอบอะไร ลูกคิดอะไร เอ๊ะ ทำไมเด็กๆ เราไม่คิดอย่างนี้นะ เพียงแต่ว่าลูกผมก็ยังเล็ก ก็คงพยายามจูนเข้าหาเขาให้มากที่สุด และคงไม่เว้นช่องว่างให้เยอะ ให้รู้สึกว่าเราอยากเป็นเพื่อนเขา มีอะไรก็คุยกับเราได้

ในขณะที่เทคโนโลยีทุกอย่างเอื้อแล้ว คุณว่ายัง มีอะไรที่ต้องอินพุทลูกต่อไป

ผมคิดว่าเป็นเรื่องศีลธรรมมากกว่า ก็คงปลูกฝังว่าทำดีก็ยังได้ดี ทำชั่วก็ยังได้ชั่ว นอกเหนือจากนั้นมันเป็นเรื่องของเทคโนโลยีและวิธีการที่จะสวมเข้าไป ถ้าเขาทำดีและตั้งใจจริง เราก็คงจะได้คนที่ต้องการจะขับเคลื่อนประเทศจริงๆ มีคุณธรรม มีศีลธรรม และก็มีความสามารถ แต่ถ้าเขาไม่มีศีลธรรมก็จะ …จากที่เคยดีก็มาเลว จากที่เคยเลวก็มาดี มันไม่มีอะไรที่แน่นอน

ก็มนุษย์นั่นแหละ

ใช่ แต่ขอสักเรื่องเถอะ ถ้ามีศีลธรรมควบคู่ไปด้วย ทุกอย่างมันก็จะไปได้สวย

LATEST