ทิศทางหนังโลกหลังจาก MULAN และ TENET ออกฉาย

หลังจากตลอดครึ่งปีแรกของปี 2020 โลกภาพยนตร์ต้องประสบกับภาวะซบเซาไร้ความหวังจากวิกฤตโควิด 19 ที่ดูเหมือนจะหาจุดสิ้นสุดไม่เจอ ข่าวการเลื่อนฉายของหนังฟอร์มใหญ่ฮอลลีวูดหลายต่อหลายเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายคนเริ่มทำใจแล้วว่าบางทีปีนี้ อาจเป็นปีที่เงียบเหงาของธุรกิจภาพยนตร์โลกในรอบหลายทศวรรษเนื่องจากไม่มีหนังฟอร์มใหญ่เข้าฉายตลอดทั้งปี 

แต่แล้วในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมต่อด้วยต้นสิงหาคมที่ผ่านมา ก็ได้เกิดข่าวที่พอจะสร้างแสงสว่างให้แก่วงการภาพยนตร์โลกได้บ้าง เมื่องสองค่ายหนังยักษ์ใหญ่อย่าง วอร์เนอร์ และ ดิสนิย์ ได้ประกาศวันฉายหนังที่ถือเป็นความหวังของค่ายในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน โดยวอร์เนอร์ได้ประกาศวันฉาย Tenet หนังต้นทุน 200 ล้านเหรียญ คริสโตเฟอร์ โนแลนในอเมริกาในวันที่ 3 กันยายน ซึ่งตรงกับช่วงวันหยุดแรงงาน โดยก่อนหน้านี้หนึ่งอาทิตย์หนังจะเปิดฉายในประเทศต่างๆ ทั่วโลกก่อน1https://www.eonline.com/news/117412/christopher-nolans-tenet-finally-has-a-release-date-what-to-know-about-the-film ขณะที่ ดิสนีย์ สร้างความฮือฮาด้วยการเปิดตัวหนังเรื่อง Mulan บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเองที่ชื่อ ดิสนีย์พลัส (Disney Plus) ในประเทศอเมริกาและบางประเทศโดยคิดอัตราค่าชม 29.99 เหรียญต่อการสตรีม ขณะเดียวกันก็เปิดฉายโรงภาพยนตร์ในหลายประเทศทั่วโลกในวันที่ 4 กันยายน2https://www.theverge.com/2020/8/4/21354593/mulan-release-date-disney-earnings-warner-bros-tenet-theaters

กำหนดการฉายของหนังทั้งสองเรื่องสร้างความคึกคักให้กับเดือนสิงหาคมตลอดทั้งเดือน โดย Tenet ได้รับการคาดหมายจากผู้ประกอบการโรงหนังเล็กใหญ่ทั่วอเมริกาว่าจะปลุกกระแสการกลับมาดูหนังในโรงของชาวอเมริกันอีกครั้ง ขณะที่ Mulan แม้ว่าจะไม่ได้ฉายโรงในอเมริกา แต่ผู้สร้างต่างเชื่อว่าหนังน่าจะทำรายได้ดีในหลายประเทศในทวีปเอเซีย โดยเฉพาะประเทศจีนที่เป็นตลาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

แต่แล้วเมื่อถึงกำหนดฉายจริงๆ การณ์กลับไม่เป็นดังที่คาดไว้ แม้ว่า Tenet จะเปิดตัวในหลายประเทศด้วยรายได้ที่งดงาม ทำรายได้มากกว่า 207 ล้านเหรียญในช่วงเวลาสามอาทิตย์ แต่ในอเมริกาแล้ว หนังเปิดตัวได้อย่างน่าผิดหวัง ถึงขนาดที่บริษัทวอร์เนอร์ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยมีสตูดิโอแห่งใดเคยทำมาก่อนนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลรายได้แบบเป็นทางการเป็นต้นมา ด้วยการไม่เปิดเผยข้อมูลตัวเลขบ็อกซ์ออฟฟิศรายวันแล้วสรุปรวบยอดทีเดียวในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณ 20 ล้านเหรียญ จนถึงตอนนี้ หนังทำรายได้ในอเมริการาว 41 ล้านเหรียญ เมื่อรวมกับรายได้จากทั่วโลกอีก 243 ล้านเหรียญ เท่ากับว่า หนังทำรายได้ทั้งหมด 284 ล้านเหรียญ ซึ่งเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตกว่า 200 ล้านเหรียญ กับค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของต้นทุนการผลิต หนังยังคงห่างไกลกับคำว่าคืนทุนหลายช่วงตัว3https://www.reuters.com/article/us-usa-boxoffice-idUSKBN2640P6

และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้ค่ายวอร์เนอร์ตัดสินใจเลื่อนเปิดตัวหนังฟอร์มใหญ่หลายๆ เรื่องออกไปจากกำหนดเดิม ไม่ว่าจะเป็น Wonder Woman 1984 ที่เลื่อนไปฉายในช่วงคริสมาส ขณะที่ Dune หนังไซไฟมหากาพย์ที่กำหนดฉายในเดือนธันวาคมอาจต้องเลื่อนไปฉายปีหน้า ไม่เพียงเท่านั้น ความล้มเหลวของ Tenet ยังทำให้ความมั่นใจในการนำหนังเข้าฉายในโรงของสตูดิโอยักษ์หลายๆ ค่ายเกิดการสั่นคลอน สะท้อนผ่านการเลื่อนกำหนดฉายอย่างไม่มีกำหนดของหนังหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น หนังสยองขวัญเรื่อง Candyman ของยูนิเวอร์แซลที่เดิมมีกำหนดฉายในเดือนตุลาคม แต่ต้องเลื่อนไปฉายปีหน้าแทน4https://www.theatlantic.com/culture/archive/2020/09/hollywoods-tenet-experiment-didnt-work/616345/ หรือหนังจากค่ายดีสนีย์เรื่อง Black Widow, West Side Story และ Death of Niles ก็ถูกเลื่อนไปฉายปีหน้าอย่างไม่มีกำหนด5https://variety.com/2020/film/news/black-widow-west-side-story-eternals-release-date-delay-1234773491/

ไม่เพียงแต่ Tenet เท่านั้นที่ประสบความล้มเหลวจากการฉายในโรงภาพยนตร์ Mulan เองที่เปิดตัวในโรงภาพยนตร์ในหลายประเทศก็มีสภาพไม่ต่างกัน สัญญาณที่ไม่น่าไว้วางใจเกิดขึ้นตั้งแต่หนังยังไม่ฉาย โดยเฉพาะเสียงวิจารณ์เรื่องเนื้อหาของหนังที่ถูกมองว่าเป็นการสร้างภาพเหมารวมคนเอเชียในสายตาชาวตะวันตก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่หนังเปิดตัวในหลายประเทศด้วยรายได้แผ่วเบา โดยเฉพาะในประเทศจีน หนังเปิดตัว 3 วันแรกด้วยรายได้เพียง 23.2 ล้านเหรียญเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับหนังดิสนีย์ที่ดัดแปลงจากการ์ตูนอย่าง Beauty and the Beast และ The Jungle Book ที่ทำรายได้เปิดตัว 85.5 ล้านเหรียญ และ 55 ล้านเหรียญตามลำดับ จนถึงขณะนี้ Mulan ทำรายได้จากการฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลกเพียง 64 ล้านเหรียญเท่านั้น6https://screenrant.com/mulan-2020-movie-disney-plus-office-success-failure/

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Mulan จะประสบหายนะจากการฉายในโรงภาพยนตร์ แต่ในแง่ของการฉายทางช่องทาง วิดีโอออนดีมานด์ แล้ว สถานการณ์เหมือนตรงกันข้าม ดิสนีย์ได้รายงานว่า ภายหลังจากประกาศว่าจะฉาย Mulan ทางช่องทางสตรีมมิ่งของตนเองชื่อ ดิสนีย์พลัส แบบพรีเมียม (ผู้ชมต้องชำระค่าชมก่อนในราคา 29.99 เหรียญซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับการซื้อตั๋วหนัง) ปรากฏว่ายอดดาวน์โหลดแอพของดิสนีย์พลัสมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 68% ถึงตรงนี้ ผู้เขียนต้องขออธิบายนิดนึงว่า สำหรับผู้ที่ต้องการชม Mulan สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นดิสนีย์พลัสก่อน ซึ่งคิดค่าบริการรายเดือนเดือนละ 6 เหรียญ จากนั้นจึงสามารถจ่ายค่าชมราคา 29.99 เหรียญสำหรับสตรีมหนังเรื่อง Mulan ได้7https://screenrant.com/mulan-2020-movie-disney-plus-office-success-failure/

ในแง่ของรายได้ของหนัง แม้ว่าดิสนีย์จะดำเนินนโยบายเดียวกับเจ้าของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งรายใหญ่อย่าง Netflix คือไม่เปิดเผยยอดผู้ชมให้สาธารณะรับรู้ แต่จากการประเมินของ Samba TV ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลผู้ใช้สมาร์ตทีวี ของอเมริกา ประเมินว่า ใน 4 วันแรกที่ Mulan เปิดตัว (4-7 กันยายน) มีผู้ชมดูหนังเรื่องนี้ประมาณ 1.12 ล้านคน ซึ่งหากคิดตามจำนวนค่าบริการสตรีมมิ่ง 29.99 เหรียญเท่ากับว่า Mulan น่าจะทำรายได้เปิดตัวประมาณ 33.5 ล้านเหรียญ8https://observer.com/2020/09/was-mulan-an-unmitigated-disaster-or-a-success-its-complicated/ (เทียบกับ Tenet ที่ได้ 20 ล้านเหรียญ) และที่สำคัญเป็นรายได้ที่ได้แบบเต็มๆ เพราะไม่ต้องแบ่งกับโรงภาพยนตร์ !!

เท่านั้นยังไม่พอ 7 Park Data ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลชื่อดังในอเมริกา ยังได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 -12 กันยายนที่ผ่านมา สมาชิกดิสนีย์พลัสในอเมริกาเกือบ 29% ได้ชำระค่าชมหนังเรื่อง Mulan ซึ่งหมายความว่า หากพิจาราณาจากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 30 ล้านคนในอเมริกา (รวมทั่วโลก 60 ล้านคน) มีผู้จ่ายค่าดูหนังเรื่องนี้ถึง 9 ล้านคน และถ้าคิดจากค่าบริการ 29.99 เหรียญเท่ากับว่า ในช่วง 12 วันออกฉาย หนังทำเงินไปแล้วเกือบ 260 ล้านเหรียญ โดยที่ไม่ต้องแบ่งรายได้ให้กับใคร9https://finance.yahoo.com/news/nearly-onethird-of-us-households-purchased-mulan-on-disney-for-30-fee-data-221410961.html (ต้นทุนของหนังคือ 200 ล้านเหรียญเท่า Tenet)

คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ หนังทั้งสองเรื่องที่ออกฉายในเวลาที่ไล่เลี่ยกันนี้ จะส่งผลอย่างไรต่อโลกภาพยนตร์ในช่วงเข้าไตรมาสสุดท้ายของปีบ้าง ผู้เขียนขอวิเคราะห์ฉากทัศน์ที่น่าจะเป็นไปได้ดังนี้

1. การกลับมาของโรงหนังยังคงมีความคลุมเครือ จากยอดรายได้เปิดตัวของ Tenet ในสัปดาห์แรกที่น้อยกว่าที่คาดไว้มาก แสดงให้เห็นว่า ผู้ชมยังไม่พร้อมที่จะกลับมาดูหนังในโรงเท่าใดนัก นอกจากนี้ การที่รัฐที่ถือว่าเป็นฐานของคนดูหนังสำคัญอย่าง แคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์ก ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดส่งผลต่อยอดรายได้ที่ลดอย่างเห็นได้ชัด ไม่เพียงเท่านั้น ไม่กี่วันหลังจากที่ Tenet ออกฉาย นายแพทย์ แอนโธนี เฟาซี ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อชื่อดังของอเมริกายังได้กล่าวว่า ตราบใดที่ยังไม่ประกาศใช้วัคซีน โรงหนังก็ยังคงเป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยต่อไป นั่นหมายความว่า อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีกหนึ่งปีกว่าที่ผู้ชมจะสามารถดูหนังในโรงได้อย่างปลอดภัย10https://www.theatermania.com/new-york-city-theater/news/we-might-not-be-able-to-safely-sit-in-a-theater_91420.html คำพูดดังกล่าวของนายแพทย์เฟาซี เท่ากับปิดประตูความหวังที่จะเห็นโรงหนังกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง

2. ภูมิทัศน์ของการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ที่เปลี่ยนไป จากความล้มเหลวของ Tenet และผลของการทดลองที่ออกไปในทางบวกของดิสนีย์ (อย่างน้อย Mulan ก็ไม่น่าจะขาดทุน) น่าจะส่งผลให้มโนทัศน์เดิมของการจัดจำหน่ายต้องเปลี่ยนไป กล่าวคือ จากเดิมที่โรงหนังคือช่องทางสำคัญของการสร้างรายได้ของหนังฟอร์มใหญ่ จนทำให้มีอำนาจต่อรองกับช่องทางการฉายอื่นๆ ผ่านข้อกำหนดหลายอย่าง เช่น ระยะเวลาการฉายที่มากกว่าช่องทางอื่นๆ หรือโรงหนังจะต้องเป็นช่องทางแรกที่หนังต้องเปิดตัวเท่านั้น แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มของการระบาดที่ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง หรือแม้แต่ความล้มเหลวในการฉายโรงของ Tenet อาจทำให้ภูมิทัศน์ของการจัดจำหน่ายเปลี่ยนไปก็ได้ เช่น ต่อไปหนังฟอร์มใหญ่หลายเรื่องอาจเปิดตัวในโรงด้วยเวลาที่สั้นลง (เช่น 2-3 อาทิตย์ จากนั้นก็เผยแพร่ทางช่องทางสตรีมมิ่งเลย) หรือกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ ช่องทางสตรีมมิ่งอาจเป็นช่องทางแรกที่หนังฟอร์มใหญ่เลือกเปิดตัวก็ได้

3. ความสำเร็จของดิสนีย์ อาจทำให้ค่ายสตูดิโอยักษ์ใหญ่ที่มีหนังในคลังเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นหนังเก่าหรือหนังใหม่ก็ตาม เกิดความคิดที่จะสร้างแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเองบ้าง เพราะแม้ว่าจะต้องเสียเงินลงทุนสูง แต่ก็คุ้มค่ากว่ามาก เนื่องจากรายได้ที่เกิดจากการให้บริการไม่ต้องแบ่งให้กับใคร ซึ่งต่างจากการนำหนังเข้าฉายโรง ที่นอกจากจะต้องจ่ายค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์จำนวนมากแล้ว เมื่อหนังฉายในโรงก็ต้องแบ่งรายได้อย่างต่ำ 50% ให้กับโรงอีก ดังนั้นจึงไม่แปลกหากผู้บริหารของสตูดิโอทั้งหลายจะเริ่มเกิดไอเดียที่จะต้องสร้างช่องทางการการใช้ของตัวเองไว้บ้างแล้ว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็น่าเป็นห่วงว่า โรงหนังจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้อย่างไร

แต่ไม่ว่า ฉากทัศน์ใดจะเกิดขึ้น หรือสุดท้ายแล้ว จะไม่มีฉากทัศน์ใดเกิดขึ้นเลยก็ตาม เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกภาพยนตร์กำลังเข้าสู่ภาวะของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ เป็นการเปลี่ยนผ่านจะที่รื้อสร้างโครงสร้างแบบเดิมแล้วก่อกำเนิดโครงสร้างใหม่ขึ้นมาแทนที่ สิ่งที่เราทำได้มากที่สุดคือ การยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และปรับตัวรับกับสภาพที่ไม่เหมือนเดิมต่อไป

Related NEWS

LATEST NEWS