ความเสียสติของผู้ใหญ่ ในโลก โรอัลด์ ดาห์ล

สังคมต่างตกตะลึงกันไปแล้วจากภาพกล้องวงจรปิดห้องเรียนชั้นอนุบาลที่คุณครูกระทำทารุณต่อเด็ก ซึ่งในโลกภาพยนตร์คงเทียบเคียงได้กับพฤติกรรมของครูทรันช์บูลแห่ง Matilda หนังปี 1996 ของ แดนนี เดอ วิโต ซึ่งมีให้ดูใน Netflix อยู่ตอนนี้ 

ครูทรันช์บูลแทบจะติดทุกการจัดอันดับครูผู้ชั่วร้ายที่สุดในโลกภาพยนตร์ พิสูจน์ได้จากวีรกรรมของเธอไม่ว่าจะเป็นการที่ไม่ชอบให้เด็กถักเปียมาโรงเรียน เลยจับเปียเหวี่ยงน้องเข้าไปในสวนดอกไม้, หยิกหูนักเรียนตัวน้อยแล้วโยนออกนอกหน้าต่าง, บังคับเด็กอ้วนให้กินเค้กก้อนโตจนหมดอย่างทรมาน และขังเดี่ยวเด็กดื้อในห้องแคบๆ ที่มีตะปูทิ่มเข้าไปในนั้น 

ตัวละครทรันช์บูลเป็นผลผลิตจากวรรณกรรมเยาวชนของ โรอัลด์ ดาห์ล ซึ่งเป็นงานขาดทุนประจำปีที่มันฉายของค่ายโซนี่ แต่มันกลับเป็นความทรงจำสุดพิสดารของเด็กยุค 90 เพราะภายใต้หน้าหนังสุดฟรุ้งฟริ้งมันกลับสอดแทรกฉากชวนช็อคดังที่ยกตัวอย่างมาทั้งเรื่อง ไม่ต่างนักกับงานจากดาห์ลเรื่องอื่นๆ 

ใน Charlie and the Chocolate Factory เมื่อ วิลลี วองกา เจ้าของโรงงานช็อคโกแลตเปิดอาณาจักรให้เด็กๆ ที่ถูกเลือกได้ตื่นตะลึง เขาใช้โอกาสพิเศษนั้นสั่งสอนเด็กที่ทำตัวไม่น่ารักได้อย่างชวนขนหัวลุก ซึ่งหากแปรเป็นหนังสยองขวัญมันอาจเป็นฝันร้ายของน้องๆ ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งความสนุกเกินเบอร์ที่ว่าอาจถูกต้องแล้วเมื่อเจอกับผู้กำกับสุดพิลึกอย่าง ทิม เบอร์ตัน 

ทั้ง Matilda และ Charlie and the Chocolate Factory คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่าเด็กในวรรณกรรมของดาห์ลต้องผจญกับความเสียสติของผู้ใหญ่ขนาดไหน เพื่อจะปลุกให้เด็กลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับมันอย่างกล้าหาญ แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นยานำ้เชื่อมรสหวานที่กล่อมเกลาให้น้องๆ ประพฤติตนอยู่ในร่องในรอยที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็น 

วองกาเลือกมอบรางวัลชิ้นโตให้กับ ชาร์ลี บัคเก็ต หนูน้อยสู้ชีวิตที่ไม่ได้ทะยานอยากแบบเด็กคนอื่นๆ ขณะที่มาทิลด้าใน Matilda ก็อาศัยช่วงเวลาที่ถูกละเลยจากครอบครัว ใฝ่หาความรู้จากหนังสือกองโตในห้องสมุด จนมีเชาวน์ปัญญาเหนือเด็กทุกคน และได้รับของขวัญเป็นพลังวิเศษกับคำชมอันสวยงามจากครูใจดี เจนนิเฟอร์ ฮันนี

ของขวัญในโลกของดาห์ลจึงมีไว้ให้กับเด็กที่ใฝ่ดีตามความต้องการของพ่อแม่เท่านั้น ผลงานเหล่านี้จึงได้รับเลือกจากผู้ปกครองเสมอมา เวลาต้องการเรื่องสนุกๆ สักเรื่อง เพื่อเล่าให้เด็กน้อยฟังก่อนนอน เนื่องจากจุดเริ่มต้นของดาห์ลในการเขียนหนังสือ ก็มาจากเรื่องสนุกๆ ที่สอดแทรกกุศโลบายที่เขาเล่าให้ลูกฟังทุกคืนนั่นเอง 

ดาห์ลเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับบีบีซีเมื่อปี 1972 ว่า “เรื่องเล่าส่วนใหญ่มันเป็นความเลวร้าย แต่ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ผมเล่าให้พวกเขาฟัง มันจะมีประกายบางอย่างที่ส่องออกมาจากแววตาเขา เมื่อไหร่ที่คืนต่อมาเขารบเร้าให้เราเล่าเรื่องเมื่อคืนก่อนหน้านั้นอีก มันก็จะเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้นๆ” 

นั่นคือจุดเริ่มต้นให้ดาห์ลลุกขึ้นมาเขียนวรรณกรรมเด็ก James and the Giant Peach ที่เล่าเรื่องของหนูน้อยผู้หนีจากความโหดร้ายในครอบครัว เข้าไปผจญภัยในลูกพีชยักษ์ จนได้เพื่อนใหม่เป็นเหล่าสรรพสัตว์ใจดี โดยมันถูกนำมาทำเป็นหนังผสมสต็อปโมชั่น ออกฉายในปีเดียวกับ Matilda โดยผู้กำกับ เฮนรี เซลิก ในการควบคุมของ ทิม เบอร์ตัน ชุดเดียวกับที่ทำ The Nightmare Before Christmas นั่นเอง 

How dare you disagree with us!” ―Aunt Sponge to James (James and the Giant Peach)

เอกลักษณ์ของวรรณกรรมเด็กตามครรลองดาห์ล คือเขามักเล่าผ่านมุมมองเด็กที่มีตัวร้ายเป็นผู้ใหญ่ ด้วยอารมณ์ขันและการหักมุมอันแพรวพราว เพื่อนำไปสู่ชัยชนะของเด็กๆ ในท้ายที่สุด จนทำให้ในขณะที่งานของเขาได้รับความนิยมจากผู้ปกครองและลูกหลาน ก็จะถูกโจมตีจากนักวิจารณ์อีกกลุ่มหนึ่งด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะท่าทีเหยียดเพศและชาติพันธุ์โดยไม่รู้ตัว

ตัวอย่างเช่น ชาวอุมปาลุมปาตัวป่วนใน Charlies and the Chocolate Factory ก็มีรูปลักษณ์คล้ายชาวพิกมี, ตัวละครหญิงในงานของเขาก็มักมีความร้ายกาจไม่โจ่งแจ้งก็แอบซ่อนเอาไว้ หรือใน Revolting Rhymes ที่ดาห์ลตั้งใจจิกกัดล้อเลียนขนบเทพนิยายดิสนีย์ ก็ให้ภาพเจ้าหญิงแสนดีดุจดั่งโสเภณีข้างบ้าน เป็นต้น 

จะกล่าวว่าผลผลิตความสยองสีลูกกวาดในงานของดาห์ลบ่มเพาะมาตั้งแต่เขาเกิดก็คงไม่ผิดนัก เขาสืบเชื้อสายนอร์เวย์มาจากครอบครัวแต่เติบโตในเวลส์ เขาเสียพ่อไปตั้งแต่เด็ก โดยได้รับการปลูกฝังจริยธรรมจากแม่ด้วยนิทานพื้นบ้านนอร์เวย์ ซึ่งก็เต็มไปด้วยความรุนแรงในตัวเอง ต่อมาก็ไปเรียนในโรงเรียนประจำ ซึ่งที่นี่เองที่ทำให้เขารู้สึกถูกกดทับจากความรุนแรงในวัฒนธรรมของโรงเรียน และพอโตขึ้นก็ออกไปเผชิญความโหดร้ายในสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยการเข้าร่วมกองทัพอากาศ เครื่องบินของเขาถูกยิงตกในลิเบีย และได้รับบาดเจ็บในซีเรีย ความโหดร้ายของโลกใบนี้ที่เขาเผชิญจึงคลี่คลายเป็นความน่าขนลุกในวรรณกรรมนั่นเอง 

ดาห์ลเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1990 แต่งานของเขากลับไม่เคยตาย เพราะมันถูกหยิบมาชำระใหม่อยู่เสมอด้วยแง่มุมที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะสถานะวรรณกรรมที่ถูกใช้ปลูกฝังจริยธรรมเด็กทั่วโลก ยิ่งเป็นสิ่งที่ควรได้รับการทบทวนอย่างถึงที่สุด อย่างไรก็ดีคุณค่าที่เป็นอมตะในงานเขียนเหล่านี้คือการแสดงภาพอันโหดร้ายของโลกล้ำจินตนาการ เพื่อให้เด็กๆ พร้อมไปเจอของจริงที่รอต้อนรับพวกเขาในโลกกว้างนั่น 

Related NEWS

LATEST NEWS