Mee Pok Man และ Be with Me: ความเหงากลางเมืองใหญ่ในมุมมองของผู้กำกับ ‘อีริค คู’

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจสำหรับ ‘แฟนหนังอาเซียน’ ในช่วงที่ผ่านมาก็คือ การที่มีหนังสิงคโปร์มากกว่า 20 เรื่องเข้าฉายใหม่ใน Netflix ซึ่งหลายเรื่องในนั้นเป็นหนังคลาสสิคหาดูยาก โดยได้มีการรีมาสเตอร์จนภาพและเสียงคมชัด

นี่จึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับคอหนังในการทำความรู้จักกับหนังจากประเทศนี้ซึ่งมีความน่าสนใจแต่กลับไม่ค่อยถูกเผยแพร่และถูกพูดถึงในกลุ่มคอหนังชาวไทยสักเท่าไร

หากเลือกไม่ถูกว่าควรเริ่มจากเรื่องไหนก่อน ขอแนะนำให้เริ่มจาก Mee Pok Man (1995) และ Be with Me (2005) ซึ่งหนังทั้งสองเรื่องนี้มีจุดร่วมกันตรงที่มันเป็นหนังของผู้กำกับคนสำคัญของสิงคโปร์อย่างอีริค คู (Eric Khoo), เคยเข้าฉายในเทศกาลหนังหลายแห่งทั่วโลก, พูดถึงประเด็นเดียวกันอย่างเรื่อง ‘ความเหงาและความโดดเดี่ยวท่ามกลางเมืองใหญ่’ ซึ่งถือเป็นประเด็นสากลที่ไม่ว่าคนประเทศไหนก็เข้าใจและอินตามไปด้วยได้


Mee Pok Man รักเธอจวบจนสิ้นชีวาวาย

(บทความนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วนของหนัง)

Mee Pok Man บอกเล่าเรื่องราวของจอห์นนี่ หนุ่มขาย Mee Pok (บะหมี่ป๊อกป๊อก) ซึ่งรับหน้าที่ดูแลร้านต่อจากพ่อที่เสียไป เขาเป็นคนเงียบขรึม ขี้อาย เก็บกด สมองช้า ทำให้ไม่ค่อยมีเพื่อน เขาตกหลุมรักบันนี่ – โสเภณีที่เป็นลูกค้าประจำร้านบะหมี่ แต่เธอกลับไม่เหลียวแลเขาเพราะเธอเฝ้ามองหาผู้ชายในฝันที่สามารถพาเธอหนีไปจากชีวิตเดิมๆ ได้ แต่เธอก็พบกับความผิดหวังอยู่เสมอ

ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ในคืนหนึ่งส่งผลให้เส้นทางชีวิตของทั้งคู่บรรจบกันอย่างไม่คาดฝัน และกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ลงเอยแบบไม่คาดคิด

Mee Pok Man เป็นผลงานหนังยาวเรื่องแรกของอีริค คู (1965 – ) สำหรับประวัติโดยย่อนั้น เขาเป็นลูกชายของ Khoo Teck Puat มหาเศรษฐีพันล้านซึ่งเคยติดอันดับคนรวยที่สุดของสิงคโปร์ อีริคถูกปลูกฝังความรักหนังจากแม่ซึ่งพาเขาไปโรงหนังทุกสัปดาห์และมอบกล้อง Super 8 ให้เขาลองทำหนังตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบ หลังเรียนจบด้านถ่ายภาพจาก City Art Institute ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย เขาได้กำกับหนังสั้นทั้งหมด 7 เรื่องซึ่งได้เข้าฉายในเทศกาลหนังต่างประเทศ

ต่อมาเขาได้นำเงินสปอนเซอร์จากการที่หนังสั้นเรื่อง Pain (1994) ของเขาชนะรางวัลมาใช้เป็นทุนเพื่อสร้างหนังยาวอย่าง Mee Pok Man ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกใหม่และท้าทายอย่างมากในตอนนั้นเพราะอุตสาหกรรมหนังในสิงคโปร์ยังไม่เกิดขึ้น (มีการสร้างหนังตลาดเพียงปีละ 2 – 3 เรื่อง และไม่มีสตูดิโอที่สร้างหนังโดยตรง) ทำให้ทีมงานส่วนใหญ่ของหนังเรื่องนี้เป็นมือใหม่หรือไม่ก็มาจากวงการทีวี การถ่ายทำเน้นวิธีแบบกองโจรที่ใช้เวลารวดเร็ว โดยถ่ายทำแค่ไม่กี่เทคเพราะหนังมีงบประมาณจำกัดมาก

ผู้ชมจะเห็นถึงความเป็นหนังเรื่องแรกของ Mee Pok Man ได้จากความขาดๆ เกินๆ ไม่ลงตัวของหนัง โดยเฉพาะงานด้านเทคนิคที่เต็มไปด้วยจุดบกพร่อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงพลังอันพุ่งพล่านของหนังซึ่งยังคงสัมผัสได้ตอนนี้แม้ว่าหนังจะมีอายุ 25 ปีแล้ว

นักเขียนในหนังสือ Southeast Asian Independent Cinema ได้นิยามหนังเรื่องนี้ว่า ‘มีความพั้งค์ร็อค’ อยู่สูง โดยหนังมีความล่อแหลมทางด้านภาพ (เช่น นม, อวัยวะเพศผู้หญิง) และองค์ประกอบต่างๆ (โสเภณี, แมงดา, ยาเสพย์ติด, อาชญากรรม, ย่านเสื่อมโทรม,ตัวละครที่รักกับศพ) ซึ่งสำหรับคอหนังสายแข็งที่ชินกับองค์ประกอบเหล่านี้แล้วอาจมองว่าเฉยๆ แต่หากพิจารณาถึงบริบทในช่วงที่หนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นแล้วต้องถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะในตอนนั้นรัฐบาลสิงคโปร์มีความอนุรักษ์นิยมสูง ส่วนกองเซ็นเซอร์ก็เข้มงวดอย่างมาก ทำให้การเซ็นเซอร์และแบนหนังถือเป็นเรื่องปกติ ด้วยเหตุนี้ Mee Pok Man ซึ่งเต็มไปองค์ประกอบต้องห้ามอีกทั้งนำเสนอภาพของย่านเสื่อมโทรม/คนชายขอบที่ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของรัฐ (ที่เน้นความสะอาดมีระเบียบ) จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะโดนเซ็นเซอร์ แต่สุดท้ายหนังก็ได้รับอนุญาตให้ฉายด้วยเรตสูงสุดอย่าง R(A) (อายุน้อยกว่า 21 ปีห้ามดู)โดยไม่ต้องตัดฉากไหนทิ้งเลย (หมายเหตุ – ในปี 2004 ได้มีการปรับลดเรตเป็น M18 หรืออายุน้อยกว่า 18 ปีห้ามดู)

“ด้วยความที่หนังเรื่องนี้ใช้เงินสปอนเซอร์ในการสร้างทำให้ผมไม่ต้องซีเรียสเรื่องหนังต้องทำรายได้คุ้มทุน ผมจึงลองผลักดันเพดานของการนำเสนอด้วยการใส่องค์ประกอบล่อแหลมและเรื่องห้ามพูดในสังคมสิงคโปร์ลงไป” อีริคกล่าว “ผมมองว่าการที่หนังได้รับอนุญาตให้ฉาย เกิดจากตอนนั้นทางการต้องการส่งเสริมให้มีการสร้างหนังในประเทศมากขึ้น” (หมายเหตุ – เขาเคยใส่เรื่องต้องห้ามลงไปในหนังตั้งแต่ตอนทำหนังสั้นเรื่อง Pain ซึ่งนำเสนอเรื่องซาโดมาโซคิสต์ ส่งผลให้หนังถูกกองเซ็นเซอร์แบน แต่ภายหลังมันกลับได้รางวัลใหญ่จากการประกวดหนังสั้น)

ผู้ชมสามารถมองหนังเรื่องนี้ได้หลายแง่มุม ทั้งแง่มุมหนังรักและหนังสยองขวัญ โดยหนังเริ่มต้นด้วยการเป็นหนังรักแบบเหงาๆ ต่อมามันกลับลงเอยด้วยการเป็นหนังสยองขวัญที่ด้วยแฝงอารมณ์เศร้าหมอง (หนังดัดแปลงจากเรื่องสั้นแนวสยองขวัญ One Last Cold Kiss ในหนังสือ Classic Singapore Horror Stories: Book 2 (1994) โดยเดเมียน สิน) ซึ่งความสยองมาจากการที่จอห์นนี่ได้พาบันนี่ที่ถูกรถชนจนบาดเจ็บสาหัสไปดูแลที่ห้องของเขาโดยไม่พาไปหาหมอ แม้เธอจะตายไปแล้วและศพเริ่มเน่าแต่เขาก็ยังคงเฝ้าดูแลราวกับว่าเธอยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งแสดงถึงความหมกมุ่นในรักตัวเอกที่ไม่อาจไถ่ถอนแม้อีกฝ่ายจะสูญสิ้นความเป็นคนไปแล้ว

หนังยังมีแง่มุมของความเป็นหนังสะท้อนสังคมโดยแสดงให้เห็นถึงชีวิตของคนชายขอบอย่างตัวเอกซึ่งเป็นชนชั้นล่างที่พักอยู่ในตึกแถวซอมซ่อในเขตเกลัง (ซึ่งเป็นย่านโลกีย์ของสิงคโปร์) พวกเขารู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว และเหมือนถูกตัดขาดจากสังคมที่ไม่เหลียวแลพวกเขา ด้วยลักษณะดังกล่าวทำให้ตัวเอกของหนังสามารถสะท้อนถึงจิตวิญญาณและความรู้สึกของผู้คนในสังคมเมืองในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี (และยังสะท้อนถึงสังคมในยุคนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากความโดดเดี่ยวของคนในเมืองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าไรนัก)

หนังแสดงให้เห็นถึงสังคมสิงคโปร์ในช่วงกลางยุค 90 ซึ่งแนวคิดทุนนิยมและบริโภคนิยมกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง ผู้คนพากันไขว่คว้าหาเงินทองของมีค่าโดยเชื่อว่ามันจะนำไปสู่ความสุขในชีวิต ซึ่งบันนี่ก็คิดแบบนี้เช่นกัน แต่กลับกลายเป็นว่ามันไม่ใช่ความสุขจริงแท้ที่เธอตามหา ซึ่งความสุขที่แท้ของเธอนั้นถูกเปิดเผยให้เห็นผ่านไดอารี่ที่เธอเขียนข้อความลงไป (ข้อความเหล่านี้ถูกบรรยายเป็นเสียงวอยซ์โอเวอร์ในหนังหลายช่วง) โดยสื่อความในใจว่า เธอต้องการใครสักคนที่รักและใส่ใจเธอ ซึ่งมันคือสิ่งเดียวกับที่จอห์นนี่ต้องการเช่นกัน แต่สิ่งที่ดูเหมือนพบได้ทั่วไปดังกล่าวกลับกลายเป็นสิ่งที่หายากในสังคมที่พวกเขาอยู่

หนังแสดงให้เห็นถึงสังคมสิงคโปร์ในช่วงกลางยุค 90 ซึ่งแนวคิดทุนนิยมและบริโภคนิยมกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง ผู้คนพากันไขว่คว้าหาเงินทองของมีค่าโดยเชื่อว่ามันจะนำไปสู่ความสุขในชีวิต ซึ่งบันนี่ก็คิดแบบนี้เช่นกัน แต่กลับกลายเป็นว่ามันไม่ใช่ความสุขจริงแท้ที่เธอตามหา

ตอนที่เข้าฉายครั้งแรกนั้น หนังเรื่องนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชมต่างประเทศมากกว่าในสิงคโปร์ โดยหนังได้เข้าฉายในเทศกาลหนังมากกว่า 30 แห่งและคว้ารางวัล FIPRESCI มาครองได้ ในขณะที่เสียงตอบรับจากผู้ชมในประเทศแบ่งออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน โดยหนังถูกวิจารณ์ในหลายประเด็น (เช่น ตัวละครผู้หญิงเป็นฝ่ายถูกกระทำมากเกินไป, การนำเสนอตัวละครโสเภณีและชนชั้นล่างที่ออกมาผิวเผินและ romanticize เกินไป) แต่พอเวลาผ่านไปหนังเรื่องนี้ถูกประเมินคุณค่าใหม่โดยได้รับเสียงชื่นชมเพิ่มขึ้น มันถูกมองว่าเป็นหนังเรื่องสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของวงการหนังสิงคโปร์ยุคใหม่อีกทั้งยังส่งอิทธิพลต่อหนังยุคหลังหลายเรื่อง โดยมันได้ปูทางให้อีริค คูกลายเป็นผู้กำกับและผู้สร้างหนังอิสระชั้นนำของสิงคโปร์จนถึงทุกวันนี้

Be with Me ความเงียบที่แสนจะอื้ออึง

หลังกำกับหนังดราม่าเรื่อง 12 Storeys (1997) อีริค คูก็เว้นว่างจากการกำกับหนังไปหลายปี เนื่องจากทุ่มเทเวลาให้กับบริษัทหนังของตัวเองอย่าง Zhao Wei Films และรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับหนังของผู้กำกับหนังรุ่นใหม่หลายเรื่อง เช่น Liang Po Po (1999, แจ๊ค นีโอ), 15 (2003, รอยสตัน แทน) เป็นต้น ซึ่งผู้กำกับเหล่านั้นก็กลายเป็นผู้กำกับชื่อดังที่เพิ่มความแข็งแรงให้กับวงการหนังสิงคโปร์ในเวลาต่อมา

Be With Me เป็นผลงานกำกับหนังเรื่องแรกของอีริค คูในรอบ 8 ปี มันเป็นหนังดราม่าที่ประกอบด้วยเรื่องราว 3 ตอนโดยร้อยเรียงแบบเล่าตัดสลับกัน ดังนี้

‘Meant to Be’ เรื่องราวของชายชราเจ้าของร้านขายของชำที่เพิ่งสูญเสียภรรยาคู่ชีวิตจากการเจ็บป่วย ทำให้เขาหมดกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อ แต่เมื่อเขาได้อ่านหนังสือชีวประวัติของหญิงพิการอย่าง ’เทเรซ่า’ ทำให้เกิดกำลังใจขึ้นอีกครั้ง

‘Finding Love’ เรื่องราวของหนุ่มร่างท้วมซึ่งมีอาชีพเป็นยาม เขาถูกเหยียดหยามจากคนในครอบครัวแถมยังถูกไล่ออกจากงาน สิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเขาได้แก่สาวสวยที่อยู่ในอพาร์ตเมนต์ซึ่งเขาเคยทำงานอยู่ เขาตกหลุมรักเธอข้างเดียวโดยที่เธอไม่รู้ตัว

‘So in Love’ เรื่องราวของหญิงสาวมัธยมสองคนที่รู้จักกันทางออนไลน์และได้สานสัมพันธ์แบบคู่รัก แต่ความรักต้องจบลงเมื่อฝ่ายหนึ่งปันใจไปหาชายหนุ่มคนใหม่ (Be With Me เป็นหนังสิงคโปร์เรื่องแรกที่แสดงถึงความสัมพันธ์แบบเลสเบี้ยน)

แต่ละตอนไม่ได้เน้นเชื่อมโยงทางด้านเนื้อเรื่อง (ตัวละครในแต่ละตอนมีชะตากรรมที่เชื่อมโยงกันแค่ช่วงตอนท้ายเรื่อง) แต่เน้นเชื่อมโยงด้านธีมเรื่อง ซึ่งได้แก่ ‘ความรัก – ความโดดเดี่ยว – ความสัมพันธ์ – การก้าวผ่านความเจ็บปวด’ โดยหนังแสดงให้เห็นถึงประเด็นดังกล่าวในบริบทที่แตกต่างในแต่ละตอน อย่างช่วงอายุของตัวละคร (วัยเรียน วัยทำงาน วัยชรา) และสถานที่ซึ่งเป็นฉากหลัง (ทำให้ผู้ชมได้เห็นสิงคโปร์ในมุมที่หลากหลาย ทั้งทางด้านแลนด์สเคปและลักษณะตึกรามบ้านช่อง)

Be With Me พูดถึงประเด็น ‘ความเหงาและความโดดเดี่ยวท่ามกลางเมืองใหญ่’ เช่นเดียวกับ Mee Pok Man แต่ด้วยสไตล์การเล่าที่แตกต่างกัน โดยสไตล์ของ Be With Me มีลักษณะสงบ เรียบนิ่ง เชื่องช้า ไม่บีบคั้นฟูมฟาย เต็มไปด้วยความเงียบและมีบทสนทนาน้อยมาก (หนังมีบทพูดรวม 2 นาทีครึ่ง จากความยาวหนัง 93 นาที) เน้นสื่อสารด้วยการใช้ภาพและภาษากายของนักแสดงมากกว่า

กล่าวคือถ้า Mee Pok Man เป็นเหมือนเพลงพั้งค์ร็อค หนังเรื่องนี้ก็เป็นเหมือนเพลงบรรเลงเปียโนซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ใช้จินตนาการล่องลอยไปกับตัวหนัง

ในบรรดาตัวละครในหนัง คนที่โดดเด่นที่สุด ‘เทเรซ่า’ หรือ Theresa Chan Poh Lin ซึ่งสิ่งที่ปรากฏในหนังนั้นเป็นตัวตนของเธอจริงๆ (ต่างจากตัวละครอื่นๆ ที่เป็น fiction) เธอเป็นหญิงชราพิการซึ่งเริ่มหูหนวกตาบอดตั้งแต่อายุ 14 ปี แต่เธอก็ไม่สิ้นหวังและต่อสู้จนได้ไปเรียนต่อที่อเมริกา จากคนพิการที่รู้จักแต่ภาษาจีน เธอพยายามเรียนรู้ภาษาอังกฤษและพยายามลองทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นกีฬา เล่นละคร ฯลฯ จากนั้นเธอก็ได้กลับมาเป็นครูในโรงเรียนสอนเด็กพิการที่สิงคโปร์ แม้บทของเธอในหนังจะเน้นไปที่ภาพชีวิตประจำวันของเธอประกอบไปกับ text ซึ่งมาจากบันทึกที่เธอเขียนบรรยายเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมา แต่เพียงเท่านั้นมันก็ส่งพลังและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมได้อย่างมากจนมีหลายคนที่อยากให้หนังขยายบทของเธอให้มากขึ้น โดยตัวตนของเธอนั้นสามารถแสดงให้เห็นถึงนิยามของความรัก ความหวัง ความพยายามของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี 

อีริค คูกล่าวว่า “ผมเจอเทเรซ่าที่งานแต่งงานและได้นั่งโต๊ะจีนร่วมกับเธอ พอได้รู้จักก็พบว่าเธอมีความน่าสนใจอย่างมาก ผมชักชวนให้เธอมาแสดงในหนังของผมแบบไม่คิดอะไรแต่เธอก็ตอบตกลงอย่างจริงจัง ก่อนหน้านี้ผมพยายามเขียนบทหนัง Be With Me มาสองปีแต่ก็ไม่สำเร็จเพราะขาดจิ๊กซอว์ที่จะทำให้ภาพสมบูรณ์ จนกระทั่งผมเจอเธอและได้อ่านสิ่งที่เธอเขียน ทำให้พบว่าเธอเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่หายไปและทำให้โปรเจคต์หนังที่ค้างคามานานเรื่องนี้เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งแผนการแรกผมตั้งใจจะเขียนตัวละครฟิคชั่นให้เธอเล่น แต่ก็พอได้อ่านสิ่งที่เธอเขียนทำให้คิดว่าไม่มีเรื่องแต่งไหนที่เทียบเคียงกับเรื่องจริงของเธอได้เลย ผมจึงทำพาร์ตของเธอเป็นสารคดีแล้วนำไปผสมกับพาร์ตฟิคชั่นในตอนอื่นๆ”

หนังประสบความสำเร็จทั้งรายได้และเสียงวิจารณ์ หนังได้เข้าฉายในสาย Director’s Fortnight ของเทศกาลหนังเมืองคานส์และถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของสิงคโปร์ในการเข้าชิงออสการ์หนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (แต่ไม่ผ่านคุณสมบัติเพราะว่าบทพูดที่มีอยู่น้อยนิดนั้นส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ) หนังเข้าฉายในไทยที่ House RCA ซึ่งได้รับการพูดถึงอย่างมากจากคอหนังชาวไทยในตอนนั้น

แม้ด้วยเวลาที่ล่วงเลยจะส่งผลให้สไตล์หนังแบบนิ่งๆ เหงาๆ จะดูเชยไปแล้ว (เพราะภายหลังมีการสร้างหนังสไตล์แบบนี้ออกมามากจนเกร่อ) แต่ประเด็นของหนังที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์อย่างความหวัง ความรัก การไถ่บาป ความสูญเสีย การก้าวข้ามความหลังที่เจ็บปวด ความพยายามสื่อสารกันนั้น ก็ยังคงมีความร่วมสมัยอยู่เสมอ


หมายเหตุ 1 – อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากบทความ “I do not have anything against commercial films”- Interview with Eric Khoo โดย Tilman Baumgartel ในหนังสือ Southeast Asia Independent Cinema (Hong Kong University Press 2012)

หมายเหตุ 2 – นอกจาก Mee Pok Man กับ Be with Me แล้ว ยังสามารถรับชมหนังอีก 2 เรื่องของเขาได้ทางช่องทางสตรีมมิ่ง ได้แก่ Tatsumi (2011) ทาง Netflix และ Ramen Teh (2018) ทาง HBO Go

บดินทร์ เทพรัตน์
คอลัมนิสต์อิสระด้านภาพยนตร์ และผู้ก่อตั้งกลุ่มฉายหนัง 'ปันยามูฟวี่คลับ' ที่เชียงใหม่

LATEST REVIEWS