Blog Page 19

Business Update : โรงหนังเมกาเตรียมเปิด & สองสตรีมมิ่งจีนยักษ์ใหญ่อาจควบรวมกัน?

ขณะที่หลายภาคส่วนต่างๆ ของธุรกิจหลายประเภท กำลังเริ่มต้นเดินเครื่องธุรกิจใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ต้องว่างเว้นไปเพราะดำเนินตามนโยบายป้องกันโรคโควิด 19 ธุรกิจภาพยนตร์ดูเหมือนกำลังเข้าสู่โหมดปรับตัวครั้งใหญ่ ด้วยคุณลักษณะของธุรกิจที่ต้องเกี่ยวกับคนจำนวนมาก ไม่ว่าในด้านการผลิตที่ต้องอาศัยบุคลากรจำนวนมากในการสร้างภาพยนตร์สักเรื่อง หรือ การเผยแพร่ซึ่งแน่นอนว่า หลีกเลี่ยงฝูงชนจำนวนมากไม่พ้น จึงทำให้ ธุรกิจภาพยนตร์อาจมีความเปราะบางเมื่อเทียบกับธุรกิจหลายๆ ประเภท เพราะหากเกิดการระบาดรอบสอง และต้นตอของการระบาดมาจากธุรกิจภาพยนตร์ภาคใดภาคหนึ่ง ผลที่เกิดขึ้นตามเห็นจะหนีไม่พ้นหายนะครั้งใหญ่ของโลกภาพยนตร์อย่างแน่นอน สำหรับความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในวงการธุรกิจภาพยนตร์โลกช่วงเวลานี้มีดังนี้


โรงหนังเครือใหญ่ในอเมริกา เตรียมเปิดให้บริการอีกครั้ง

หลังจากที่ต้องปิดตัวลงเป็นเวลาเกือบสี่เดือน โรงภาพยนตร์ในอเมริกา ก็ได้ฤกษ์เตรียมเปิดให้บริการอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่สถานการณ์ของโรคระบาดยังไม่นิ่งทั้งประเทศ สมาคมผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์แห่งอเมริกา จึงได้ทำสรุปถึงสถานการณ์ของโรงภาพยนตร์ในรัฐต่างๆ ทั่วประเทศ แบ่งได้ดังนี้ สำหรับรัฐที่โรงภาพยนตร์ยังไม่สามารถเปิดได้ มีอยู่ทั้งหมด 9 รัฐ ประกอบด้วย วอชิงตัน โคโลราโด นิวเม๊กซิโก เมน นิวยอร์ค อิลินอยส์ นอร์ธคาโรไลนา เซ้าธ์โคโลไรนา และ ฮาวาย ในขณะที่รัฐที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย แต่เจ้าของโรงภาพยนตร์จำกัดรอบการฉาย มีจำนวนทั้งหมด 13 รัฐ ได้แก่ อลาสก้า โอเรกอน ไวโอมิง แคนซัส โอกลาโฮมา อริโซนา ยูทาห์ ไวโอมิง เซ้าธ์ดาโกตา ไอโอวา มิซูรี โอไฮโอ และจอร์เจีย ส่วนรัฐที่เหลือ แม้ว่าโดยส่วนใหญ่โรงหนังจะเปิดให้บริการเป็นปกติแล้ว แต่ยังคงมาตรการ social distancing ด้วยการจำกัดจำนวนที่นั่งเข้าชมที่มีจำนวนระหว่าง 20-70%

ภาพจากเฟซบุ๊กของโรงหนังในเครือ REGAL

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรงภาพยนตร์จะเปิดได้บางส่วนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นโรงภาพยนตร์ขนาดกลางและเล็ก สำหรับโรงภาพยนตร์เครือใหญ่อย่าง AMC ซึ่งมีโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศจำนวนมากกว่า 600 แห่ง และเครือ REGAL ซึ่งมีจำนวนโรงภาพยนตร์รวมกันทั้งหมด 564 แห่งทั่วประเทศ มีกำหนดที่จะเปิดให้บริการอีกครั้งในสัปดาห์ที่สองของเดือนกรกฎาคม เพื่อรองรับการเปิดตัวของหนังฟอร์มใหญ่เรื่องแรกของปีเรื่อง Mulan ของค่ายดิสนีย์ซึ่งมีกำหนดที่จะเข้าวันที่ 24 กรกฎาคม ก่อนที่จะตามมาด้วย Tenet หนังไซไฟทุนสูงของคริสโตเฟอร์ โนแลนด์ซึ่งจะเข้าฉายในวันที่ 31 กรกฎาคม ว่ากันว่าหนังทั้งสองเรื่องจะเป็นตัวแปรชี้วัดว่า อุตสาหกรรมหนังในยุค new normal จะเป็นเช่นไร หากทั้งสองเรื่องทำรายได้อย่างน่าพอใจ ก็จะทำให้ทั้งโรงภาพยนตร์และค่ายหนังยักษ์ใหญ่เบาใจได้ว่า อย่างน้อยคนยังพร้อมกลับมาดูหนังในโรงอยู่ แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนว่า จะป้องกันโรคโควิด 19 ได้อย่างไร แต่ถ้าผลออกมาตรงกันข้าม ก็คงเป็นเรื่องที่น่าหนักใจของทั้งโรงหนังและค่ายหนัง ที่ต้องอดทนรอว่าหนังเรื่องต่อไปที่จะดึงคนดูกลับมายังโรงหนังอีกครั้งจะเป็นเรื่องอะไร


อ้างอิง

AMC Theatres Unveils Plans to Reopen During Coronavirus

Theaters Declare July 10 National Reopening Day, but Are They Going for Broke?


วงการสตรีมมิ่งโลกสั่นสะเทือนหาก 2 ยักษ์ใหญ่สตรีมมิ่งของจีน ควบรวมกัน

สืบเนื่องจากวิกฤตโควิด 19 ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ได้ทำให้พฤติกรรมการเสพสื่อบันเทิงของชาวจีนได้เปลี่ยนไป จากการสำรวจของ Maoyan Zhiduoxing แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจบันเทิงจีนในเดือนเมษายนที่ผ่านมาระบุว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีนระหว่างวันที่ 24 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์ ชาวจีนใช้บริการแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง เพิ่มขึ้น 17.4% หรือคิดเป็นจำนวน 310 ล้านคน โดยผู้ใช้บริการใช้เวลาเฉลี่ย 98 นาทีตลอดช่วงเวลาของเทศกาล นอกจากนี้ยอดการรับชม ภาพยนตร์เรื่อง Lost In Russia ซึ่งบริษัท Bytedance เจ้าของแอพพลิเคชั่นที่โด่งดังอย่าง Tik Tok ได้ซื้อสิทธิ์มาปล่อยฉายแบบฟรีๆ ทางออนไลน์ สูงถึง 600 ล้านวิวในช่วงเวลาเพียงสามวัน!! เท่านั้นยังไม่พอ หนังตลกเรื่อง Enter the Fat Dragon ที่ผู้สร้างภาพยนตร์ตัดสินใจจัดจำหน่ายทางออนไลน์แบบเก็บค่าชม (Transaction VOD) มีผู้ชมยอมจ่ายค่าบริการเพื่อรับชมถึง 63 ล้านคนในช่วงเวลาเพียงแค่สามวันเท่านั้น

โปสเตอร์ Lost In Russia และ Enter the Fat Dragon

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองเห็นโอกาสเติบโตของธุรกิจสตรีมมิ่งในประเทศจีน และมองว่าวิกฤตโรคโควิด 19 อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีน และอาจเป็นเพราะปรากฏการณ์ดังกล่าว จึงทำให้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ค่ายสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ของจีนสองค่ายที่ต่างเป็นคู่แข่งของกันและกันอย่าง Tencent Video และ Iqiyi (นึกถึง Netflix และ Amazon Prime ของอเมริกา) อาจมีโอกาสควบรวมกัน โดย Tencent ยักษ์ใหญ่แห่งเกมออนไลน์และโซเชียลมีเดียของจีน จะทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเพื่อซื้อหุ้นของ IQYI ที่ได้รับฉายาว่า Netflix แห่งประเทศจีน ซึ่งผู้ถือหุ้นหลักคือ Baidu เสิร์ชเอนจินชื่อดัง

แม้ว่ารายงานข่าวดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันจากปากของทั้งสองบริษัท แต่ก็สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ที่อยู่แวดวงธุรกิจสตรีมมิ่งเป็นอย่างมาก เพราะทั้ง Tencent และ IQYI ต่างมีสมาชิกที่จ่ายค่าบริการรายเดือนฝั่งละ 110 ล้านคน การควบรวมกันของบริษัททั้งสอง นอกจากจะทำให้ศักยภาพในการผลิตคอนเทนต์สูงขึ้นแล้วยังทำให้พวกเขาจะมีอำนาจในการจัดซื้อคอนเทนต์อย่างไม่มีขีดจำกัดอีกด้วย และหากว่าพวกเขามองไกลกว่าประเทศจีน บริษัทที่ยังไม่มีชื่อบริษัทนี้จะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของ Netflix หรือ Amazon Prime Video ในการยึดครองโลกแห่งคอนเทนต์เลยทีเดียว!!!


อ้างอิง

Maoyan: China’s Online Entertainment Market Booming with the COVID-19 Pandemic

Exclusive: Tencent aims to become biggest shareholder of video streaming rival iQIYI – sources

Honeyland ณ ดินแดนแห่งน้ำผึ้ง

*** บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์ ***

Oscar ปีล่าสุดนี้ นอกจากกระแสของ Parasite ที่มาแรงแซงโค้งทุกกระแสแล้ว สารคดีต่างๆ ที่เข้าชิงก็โดดเด่นเกินกว่าเราจะมองข้ามไปได้ ซึ่งที่น่าจับตามองได้แก่ American Factory สารคดีจากบริษัท production ของ Obama ที่พูดถึงการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมของแรงงานโลกตะวันออกและตะวันตก รวมถึงโลกทุนนิยมเก่าและใหม่ที่มีแรงงานจักรกลที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งได้รางวัลชนะเลิศ Oscar สารคดียอดเยี่ยมไปครอง, The Edge of Democracy อันพูดถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองอันร้อนระอุในช่วงเปลี่ยนผ่านการปกครองของบราซิลผ่านมุมมองของชนชั้นกลางที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองฝั่งความขัดแย้ง แต่นอกจากสองเรื่องนี้ ยังมีสารคดีที่ดูเรียบง่ายแต่ทรงพลัง น่าสนใจ และพิเศษมากๆ อย่าง Honeyland จากมาร์ซีโดเนียซึ่งมีดีกรีได้เข้าชิงออสการ์ถึง 2 สาขา ทั้งสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศรวมถึงสาขาสารคดียอดเยี่ยมเป็นเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ครับ

Honeyland เปิดภาพมาด้วย Hatidže หญิงชาวพื้นเมืองใส่เสื้อเหลืองสดเดินลัดเลาะไปตามเทือกเขาแห้งแล้งในประเทศมาร์ซีโดเนีย ก่อนจะหยิบเปิดหินที่ปิดรวงผึ้งและบรรจงหยิบบางส่วนออกมาเก็บเข้าถุงผ้าที่พกมา แล้วเดินทางกลับไปดูแลมารดาที่พิการตาบอดนอนอยู่บ้าน ความสัมพันธ์ของสองคนนี้จะว่าไม่ดีก็ได้ ดีก็ได้ เพราะแม้ Hatidže เองจะพร่ำคอยดูแลหาน้ำหาข้าวให้แม่ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะบ่นกระปอดกระแปดเวลาแม่ทำตัวเงอะงะไม่ทันใจอยู่เสมอ

“แบ่งครึ่งนึงให้ฉันนะ อีกครึ่งคืนกลับไปให้เธอ” Hatidže กล่าวขณะเทน้ำผึ้งที่เก็บมาได้ออกครึ่งหนึ่งให้ผึ้งในบริเวณน้ัน และเก็บอีกครึ่งที่เหลือเพื่อนั่งรถบัสไปขายในตลาดในเมืองแลกกับการซื้อปัจจัยสี่กลับมาจุนเจือชีวิตตัวเองและมารดา (อาจจะบวกยาย้อมสีผมที่เธอแสนจะภาคภูมิใจ และพัดมือที่ซื้อกลับไปให้แม่เผื่ออากาศร้อนไว้เป็นปัจจัยที่ห้าและหกให้คอยกระชุ่มกระชวย)

แต่แล้วความพลิกผันก็ปรากฏเมื่อชาวพื้นเมืองร่อนเร่อีกครอบครัวหนึ่งได้ย้ายรกรากมาใกล้ๆ แม้ลูกหลานร่วมเกือบสิบคนในครอบครัวใหม่นี้จะเป็นที่รักและเอ็นดูของ Hatidže แต่เนื่องจากปริมาณคนที่มากขึ้น ทำให้ครอบครัวดังกล่าวต้องหาทางต่างๆ เพื่อหาเงินและอาหารมาประทังคนในครอบครัวในสัดส่วนที่มากขึ้น

นอกจากปศุสัตว์​ (อันที่เราได้เห็นสัตว์ต่างๆ ถูกกระทำอย่างทารุณกรรมบ้างในหลายโอกาส) Sam หัวหน้าครอบครัวได้ตัดสินใจเรียนรู้วิธีการเก็บน้ำผึ้งจาก Hatidže ซึ่งเธอก็เต็มใจสอนแต่โดยดี หากแต่ไม่รู้ว่าวันหนึ่งเขาจะโลภจนตกลงที่จะทำธุรกิจกับนายทุนที่มาติดต่อและไม่เชื่อฟังเธอโดยการไม่เหลือน้ำผึ้งส่วนที่ควรจะแบ่งกลับให้แก่ฝูงผึ้ง ส่งผลให้ผึ้งของ Sam มาแย่งน้ำผึ้งจากรวง Hatidže ไปในช่วงฤดูหนาวและทำให้รวงผึ้งของเธอเสียหาย ซ้ำร้าย Sam ยังเผาต้นสนจูนิเปอร์ที่อยู่ในอาณาบริเวณโดยรอบเพื่อเพิ่มพื้นที่หญ้า รวมถึงตัดตอไม้เพื่อหารวงผึ้งที่ซ่อนอยู่จนผึ้งหายไปจนทุกอย่างหมดสิ้น

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าทึ่งคือ สารคดีเรื่องนี้ถูกถ่ายทำนานร่วมสามปีโดยทีมถ่ายทำเพียง 6 คน อันประกอบไปด้วย ผู้กำกับ 2 คน ผู้กำกับภาพ 2 คน นักตัดต่อ 1 คน และวิศวกรเสียงอีก 1 คน แต่สุดท้ายได้ฟุตเทจกว่า 400 ชั่วโมง โดยแรกเริ่มทีมงานวางแผนว่าจะมาทำสารคดีสั้นๆ เกี่ยวกับชีวิตของคนในหมู่บ้านทั่วๆ ไปและพื้นที่รอบลุ่มแม่น้ำ Bregalnica ในบริเวณเดียวกันเท่านั้น จนกระทั่งเจอกับ Hatidže จึงเกิดเปลี่ยนใจ เพราะอยากจะเล่าถึงพิธีกรรมของชนกลุ่มน้อยของชาวตุรกีที่บังคับให้ลูกสาวคนเล็กต้องอยู่บ้าน ไม่สามารถแต่งงานออกได้ ต้องคอยปรนนิบัติและดูแลมารดาจนระยะสุดท้าย และสุดท้ายมาตกผลึกเล่าถึงชีวิตการดูแลผึ้งอันเป็นธีมหลักของภาพยนตร์ในภายหลัง

สารคดีเรื่องนี้ถูกถ่ายทำนานร่วมสามปีโดยทีมถ่ายทำเพียง 6 คน อันประกอบไปด้วย ผู้กำกับ 2 คน ผู้กำกับภาพ 2 คน นักตัดต่อ 1 คน และวิศวกรเสียงอีก 1 คน แต่สุดท้ายได้ฟุตเทจกว่า 400 ชั่วโมง

ทีมงานตัดสินใจปักหลักนอนเต็นท์อยู่หน้าบ้านนี้ เก็บภาพเคลื่อนไหวแทบทุกอย่างในชีวิตเธอและครอบครัวของ Sam ที่ย้ายมาใหม่โดยใช้เทคนิก ‘fly on the wall’ คือสังเกตอยู่แต่โดยรอบเท่านั้น ไม่เข้าแทรกแซงเหตุการณ์ใดๆ (แม้กระทั่งผู้กำกับ Stefanov และ Kotevska ไม่เข้าใจบทสนทนาในภาษาถิ่นที่ทั้ง Hatidže และ Sam พูด แต่ก็เอาเป็นว่าเก็บภาพและเสียงของเหตุการณ์ทั้งหมดไว้ก่อนและมาประมวลทีหลัง) โดยผู้กำกับทั้งสองได้ให้สัมภาษณ์ว่าบางครั้งต้องจับคู่กับมือกำกับภาพและสลับกันถ่ายแต่ละที่โดยไม่สามารถเพิ่มจำนวนทีมงานหรือตากล้องได้ เพราะกลายเป็นว่าทั้งสองครอบครัวสนิทและชินกล้องกับทีมงานทุกคนไปแล้ว และการมีบุคคลแปลกหน้าเข้ามาทำให้บรรยากาศการถ่ายทำกระอักกระอ่วน เนื่องจากต้องกินหลับด้วยกันแทบจะตลอด งานกำกับภาพเองก็ต้องพึ่งแสงธรรมชาติล้วนๆ แต่ข้อดีคือทีมงานเองก็ได้ภาพและเรื่องราวที่สมจริงที่สุด กระทั่งสุดท้ายเกิดเหตุการณ์ขัดแย้งบานปลายทั้งหมดขึ้น ทั้งหมดคือไม่มีบทและไม่ได้แต่งแต้มดราม่าอะไรเลย ทำให้สารคดีออกมาเป็นธรรมชาติอย่างสุดยอดมากๆ โดยไม่ต้องใช้เสียงพากย์บรรยายเหตุการณ์ซะด้วยซ้ำ

สิ่งที่ทำให้เราชอบ Honeyland คือประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลในธรรมชาติ และระบบทุนนิยมที่คืบคลานเข้ามาแม้ในบริเวณที่ห่างไกลเมืองที่สุดอย่างชนบทของมาร์ซีโดเนียเองก็แล้วแต่ ที่สะท้อนผ่านเรื่องราวครอบครัวสองครอบครัวนี้ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ

หลายคนหลังได้ดู Honeyland หรือได้อ่านเรื่องย่อจากบทความนี้ อาจจะได้ชมภาพยนตร์สเปนที่พูดถึงประเด็นใกล้เคียงกันอย่าง The Platform ที่ออกมาภายหลังไม่นานมากนัก อันว่าด้วยชั้นวางอาหารที่ถูกส่งต่อลงไปเรื่อยๆ ด้านล่างหอคอยทรงสูง ที่ทำให้คนด้านบนได้อิ่มหนำกับอาหารก่อน และคนด้านล่างต้องทานอาหารที่เหลือและร่อยหรอลงเรื่อยๆ ในขณะที่ตัวเอกในเรื่องพร่ำบอกกับทุกคนว่า ให้กินแต่พอดีอิ่ม เพื่อที่ทุกคนจะได้กินอิ่มกันทั้งหมด แทนที่จะกินโดยละโมบและไม่เหลือให้ผู้คนด้านล่างเลย

Honeyland ก็สะท้อนความจริงนี้ได้น่าสนใจพอกัน ณ บริบทโลกซึ่งทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด ประกอบกับผลลัพธ์อันน่าสะเทือนใจของเรื่องราวในภาพยนตร์ ทำให้เราได้กลับมามองย้อนวลีอันแสนธรรมดาอันว่าด้วยการ “เอาไปครึ่งหนึ่ง และคืนให้ธรรมชาติครึ่งหนึ่ง” หรือการ “เอาไปเฉพาะที่จำเป็น” จากหญิงชาวพื้นเมืองคนนี้เป็นภูมิปัญญาและสัจธรรมที่ละเลยไม่ได้เลย ยิ่งเมื่อนึกถึงภาวะโลกร้อนในปัจจุบันที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรอย่างทิ้งขว้าง การเผาป่าและการตัดไม้ (เช่นเดียวกับฉากสะเทือนใจในภาพยนตร์อย่างการเผาต้นสนจูนิเปอร์ยามโพล้เพล้) ด้วยแล้ว ก็คาดเดาได้ไม่ยากว่าผลลัพธ์ที่เราทุกคนจะต้องเผชิญในท้ายที่สุด ก็คงไม่ต่างกับชีวิตของ Hatidže และ Sam เท่าใดนัก ถ้าเรายังขาดสำนึกรักในธรรมชาติ ละโมบ และมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องไกลตัว

ทำให้เราได้กลับมามองย้อนวลีอันแสนธรรมดาอันว่าด้วยการ “เอาไปครึ่งหนึ่ง และคืนให้ธรรมชาติครึ่งหนึ่ง” หรือการ “เอาไปเฉพาะที่จำเป็น” จากหญิงชาวพื้นเมืองคนนี้เป็นภูมิปัญญาและสัจธรรมที่ละเลยไม่ได้เลย ยิ่งเมื่อนึกถึงภาวะโลกร้อนในปัจจุบันที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรอย่างทิ้งขว้าง

ถ้าเรากลับมามองดูเรื่องราวอย่างใคร่ครวญแล้ว ก็ได้แต่ทึ่งในตัว Hatidže และวิถีชีวิตที่เข้าใจในธรรมชาติของเธออย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นท่วงท่าที่หยิบผึ้งที่กำลังจะจมน้ำอย่างแผ่วเบาเพื่อปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ ร้องละเล่นเพลงท้องถิ่นระหว่างการหยิบรวงผึ้งอย่างระมัดระวัง การแบ่งน้ำผึ้งให้ผึ้งที่เหลือที่กล่าวไปแล้ว รวมถึงความพยายามในการไกล่เกลี่ยเวลาครอบครัวข้างบ้านมีปัญหา และช่วยเหลือดูแลเด็กๆ ท่าทางเล็กๆ น้อยๆ อย่างการโดนผึ้งตัวเล็กๆ ต่อย ยิ่งสะท้อนให้ได้ชัดเมื่อเทียบกับข้างบ้าน ที่พยายามจะเอาน้ำผึ้งโดยไม่สนใจอะไร ส่งผลให้มีฉากที่เด็กน้อยโดนผึ้งต่อยกันเกือบทั้งบ้านจนตาบวมร้องไห้โฮและได้แต่ก่นด่าพ่อแม่ ซึ่งก็ไม่ใส่ใจอะไรอีก นอกจากจะบ่นให้ลูกๆ อดทนจะได้เก็บน้ำผึ้งได้เยอะๆ (ซึ่งผู้เขียนก็แอบรู้สึกว่าเป็นการสะท้อนการลงโทษของธรรมชาติสู่เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่แต่โดนรุ่นเก่าๆ ทำไว้ได้น่าปวดใจดี)

นอกจากเนื้อหาอันเป็นนิทานสอนใจชีวิตจริง สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างในภาพยนตร์คืองานภาพของ Fejmi Daut และ Samir Ljuma ซึ่งถ่ายทอดชีวิตของครอบครัวทั้งสองได้อย่างออกมาเป็นธรรมชาติ และเก็บภาพ landscape ของชนบทมาร์ซีโดเนียได้สวยงามอย่างน่าทึ่งในทุกฤดู (จนต้องมานั่งทบทวนตัวเองหลายครั้งว่าดูสารคดีอยู่หรือนี่) จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตของแม่ Hatidže เอง ที่เราได้แต่แทบหยุดหายใจเมื่อได้รู้เรื่องราวไปพร้อมๆ กับเธอ ใจสลายเมื่อเห็นชีวิตที่ป่นปี้ ทั้งรวงผึ้งที่โดนทำลาย หน้าหนาวที่คืบคลานเข้ามา มารดาที่โรยราไปตามวัย และการเดินทางสู่ชีวิตใหม่ผ่านทุ่งหิมะผ่านภาพบนจอได้สวยงามมากๆ

ณ เวลาที่ได้ดูสารคดี มันอาจจะเจ็บปวดที่ได้รู้สึกว่าในโลกปัจจุบันเราหลายคนล้วนใช้ชีวิตแบบ Sam เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทรัพยากรรอบข้างให้ได้มากที่สุด อาจจะด้วยความจำเป็นหรือเพราะสาเหตุใดก็แล้วแต่ แต่การได้เห็นวิถีการดำเนินชีวิตของ Hatidže ก็คงทำให้เราระลึกได้ถึงความสวยงามในการพยายามเป็นมิตรกับธรรมชาติ และเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นถ้าเราสามารถทำได้แบบเธอบ้างไม่มากก็น้อยครับ


อ้างอิง

Interview: Tamara Kotevska and Ljubomir Stefanov on Making the Most Out of an Environmentally Sticky Situation in “Honeyland”

Ljubomir Stefanov, Tamara Kotevska • Directors of Honeyland

Buzz-Worthy: Tamara Kotevska and Ljubomir Stefanov Talk ‘Honeyland’

การเมืองเรื่องของหญิงร่าน : ว่าด้วยภาพยนตร์ดัดแปลงของหม่อมน้อย

0

ดัดแปลงเพิ่มเติมจากฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร ปรากฏ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2557

หญิงร้ายชายชั่วลักลอบคบชู้จนถูกจับได้แล้วสั่งล่ามโซ่ไว้ด้วยกันตราบชั่วฟ้าดินสลาย คดีไม่คลี่คลายของการที่โจรป่าฆ่านักรบเสียแล้วเอาเมียมันมา บ้างว่าโจรมันเลว แต่บ้างก็ว่าผัวมันเหยาะแหยะ หนักข้อก็ว่าเมียนั่นแหละคบชู้โจรฆ่าผัว และไอ้เด็กจัญไรที่แม่คลอดแล้วตายทิ้งมรดกเลือดนอกอกไว้ให้พ่อคุณหลวงดูต่างหน้า ต่อมาก็ฟาดแม่เลี้ยงเอาเยี่ยงพ่อไม่บังเกิดเกล้าที่คลำไม่มีหางเป็นลุยดะ กงกำกงเกวียนก็เลยเวียนกันไปอยู่เช่นนั้น

กล่าวตามลำดับ เหล่านี้คือตัวละครจาก ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ ของ มาลัย ชูพินิจ, ‘ราโชมอน’ ฉบับแปลๆ แปลงๆ ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (ที่ดัดแปลงจากบทภาพยนตร์ของ อากิระ คุโรซาว่า ที่ดัดแปลงมากจากเรื่องสั้นสองเรื่องของ ริวโนะสุเกะ อะคุตะงาว่า อีกที) และเรื่องสุดท้าย จาก ‘เรื่องของจัน ดารา’ โดย อุษณา เพลิงธรรม นิยาย/เรื่องสั้นทั้งสามเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสังคมการอ่านของไทย เป็นหลักหมายสำคัญของการอ่านวรรณกรรมไทยช่วงปลายพุทธศักราชสองพันสี่ร้อยมาจนถึงยุคต้นสองพันห้าร้อย ซึ่งนอกจากเรื่องทั้งหมดจะอยู่ในห้วงร่วมยุคเหลื่อมสมัยกันแล้ว พิศผาดเผินทั้งสามเรื่องไม่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันจวบจนกระทั่งในรยะเวลาไม่กี่ปีหลังนี้เองเรื่องทั้งสามถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องโดยผู้กำกับคนเดียวกัน นั่นคือหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล หรือที่รู้จักกันในามหม่อมน้อย ผู้กำกับหนังที่เคยทำหนังอย่าง ‘ช่างมันฉันไม่แคร์’ (ที่แทรกบรรยากาศหลังหกตุลาไว้อย่างน่าตื่นเต้น), ‘ความรักไม่มีชื่อ’ หรือ ‘นางนวล’ และเป็นหม่อมน้อยนี้เองที่ชี้ให้เราเห็นความเกี่ยวพันกันในระดับโครงสร้างของเรื่องทั้งสาม รวมถึงยืมมีดของเรื่องเล่ามาใช้ในการส่งสาส์นต่อสังคมร่วมสมัยอย่างน่าสนใจ

แม้งานทั้งสี่ชิ้นของหม่อมน้อยจะถูกมองว่ารกรุงรังด้วยไวยากรณ์ภาพยนตร์ที่ฟูมฟายเกินพอดี หรือหมกมุ่นอยู่ในจินตนาการพาฝันของเนื้อหนังมังสา หรือแม้แต่ทำลายบทประพันธ์ลงอย่างน่าเสียดาย แต่ไม่ว่าจะมีข้อหาอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิธีการตีความบทประพันธ์ใหม่ของหม่อมน้อยนั้นน่าสนใจศึกษาโดยละเอียดอย่างยิ่งดังที่เราจะได้กล่าวต่อไป

ชั่วฟ้าดินสลาย (2010) : เสรีชนบนพันธนาการ

ดัดแปลงจากนิยายขนาดสั้นของครูมาลัย ชูพินิจ ว่าด้วยเรื่องของพะโป้ พ่อเลี้ยงปางไม้ทางภาคเหนือที่เพิ่งรับเอายุพดีเมียใหม่เข้ามาบ้านจากพระนคร ยุพดีเป็นสาวรักอิสระที่ใฝ่ใจกับการอ่านหนังสือตะวันตก เป็นผู้หญิงฉลาดเฉลียวจากในเมืองที่พอมาถึงปางไม้ในป่าทึบก็รู้สึกเปล่าเปลี่ยวในหัวใจ จวบจนเธอได้พบกับส่างหม่อง หลานชายพะโป้ที่ยังหนุ่มแน่น แกว่นกล้า และออกจะทึ่มทื่อในเรื่องของผู้หญิง จากการยั่วล้อค่อยๆ ถลำลึก ในที่สุดทั้งคู่ก็ลักลอบเป็นชู้กัน จวบจนเมื่อพะโป้จับได้ รักมากก็แค้นมาก พะโป้จะยกยุพดีให้ส่างหม่องด้วยข้อแม้เดียวคือ ทั้งคู่ต้องถูกล่ามโซ่ติดกันไว้ อยู่ด้วยกันไปจน ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’

ตัวหนังนั้นยึดตามบทประพันธ์อย่างเคร่งครัด ถึงขนาดมี voice over เล่าเรื่องตามต้นฉบับ ด้วยสำนวนตามต้นฉบับ หรือการคัดฉาก บทสนทนา แบบที่ลอกออกมาจากตัวต้นฉบับจนเกือบจะกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวของบทประพันธ์ในหลายๆ ฉาก ดังนั้นด้วยโครงเรื่องที่แข็งแกร่ง (เรื่องสั้นของ ครูมาลัย ชูพินิจ ไม่ได้ยาวมาก และเล่าตรงๆ ไม่มีการฟูมฟายเอื้อนเอ่ย เป็นการเล่าที่กระชับมากๆ) การขยายเรื่องออกมาให้เป็นหนังยาวทำให้ต้องเพิ่มเติมที่มาที่ไป อ้อยสร้อยยืดยาวอยู่กับบางฉาก อย่างไรก็ดี ฉากที่ผู้กำกับเลือกเข้ามาเพิ่มในหนังหลายๆ ฉากก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงเรื่องหลัก จนน่าสนใจว่า วัตถุประสงค์ของฉากเหล่านั้นคืออะไร

วิธีการพิสูจน์ข้อสงสัยที่หยาบที่สุดคือ การคัดเอาเฉพาะฉากที่อยู่ ‘นอกบทประพันธ์ ‘มาพิจารณาซึ่งประกอบด้วย

ฉากทหารของคณะราษฏร์บุกจับพระองค์เจ้าปริวัตร กลางงานเลี้ยง ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงในบทประพันธ์ ฉากนี้คือกุญแจสำคัญในการควบคุมการตีความตามวิธีของหม่อมน้อยทั้งหมดในเรื่อง เป็นไปได้ไหมว่า วาทกรรมที่หม่อมน้อยกำลังพูดไม่ใช่เรื่องการเมืองเหลืองแดง แต่เป็นวาทกรรม ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ของคณะราษฏร์ จุดเริ่มต้นของการท้าทายอำนาจเจ้าในปี 2475 ต่างหาก ฉากการจับเจ้าของทหารคณะราษฏร์อาจเป็นเพียงฉากเล็กๆ เพื่อเอื้อให้ยุพดีพบพะโป้ และพูดเรื่องเบื่อการเมือง แต่ยุพดีฉบับหม่อมน้อยพยายามจะเดินตามยุพดีผู้มีหัวใจอิสระตามต้นฉบับ มากกว่าจะเป็นหญิงร้ายชายชั่ว (แม้การแสดงจะพาไปอีกทางก็ตาม) ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลยืนอยู่ในโครงสร้างความสัมพันธ์ของยุพดี พะโป้ และส่างหม่อง

ก่อนอื่นต้องพูดถึงสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดนั่นคือ สายตาของเรื่อง ซึ่งทั้งตัวหนังสือและหนังฉบับนี้เป็นสายตาของพะโป้มากกว่าตัวละครอื่นๆ (แม้จะย้อนซ้อนว่านี่เป็นการเล่าของทิพย์ก็ตาม) สายตาของพะโป้ที่ ‘ลอบมอง’ ‘ทอดมอง’ ‘ลองใจ’หลานรักเล่นชู้กับเมีย เป็นสายตาหลักของหนัง (หลายซีนหนังใช้ภาพแอบมองผ่านสิ่งของบังตา และตัวหนังสือก็มีรูปแบบของการแอบมอง ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นการแอบมองของพะโป้หรือทิพย์ก็ได้) แต่การเล่นชู้ของหลานกับอาสะใภ้เปิดโอกาสเชิงศิลธรรมให้คนดูเข้าข้างพะโป้มากกว่าส่างหม่องและยุพดี (จนกระทั่งมาถึงตอนท้าย ความเหี้ยมโหดของพะโป้จึงเปิดเผย) หญิงร้ายชายชั่วได้รับการสั่งสอน แม้จะเลยเถิดไปบ้าง ส่วนที่ดีคือ ดูเหมือนหม่อมน้อยพยายามสร้างฉากร้าวรานในความสัมพันธ์ความเป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อให้ตัวละคร (ต้นฉบับเล่าทุกอย่างแบบคร่าวๆ มากๆ) และการเปิดเผยความสัมพันธ์นี้ก็เชื้อเชิญให้ตีความกันได้อย่างสนุกสนาน

นี่คือความสัมพันธ์ในลักษณะที่พะโป้อยู่เหนือทุกคน เขามองเห็นทุกอย่าง แต่เลือกเองที่จะไม่สอดมือยุ่งเกี่ยว แรกทีเดียวเขาอาสาไปหาเมียให้ส่างหม่อง แต่ดันไปได้มาเสียเอง หนังบอกซ้ำๆ ว่าพะโป้เป็นคนเจ้าชู้ เมียๆ ของเขาไม่นานเขาก็เบื่อและโละให้คนงาน แต่แน่นอนว่าไม่ใช่เมียแต่งอย่างยุพดี ถ้าเมียเก็บยกให้คนงาน เมียที่เหมาะเจาะกับหลานรักก็เมียแต่งนี่แหละ พะโป้เป็นฝ่ายเปิดโอกาสให้หลานกับเมียใกล้ชิดกัน หากทั้งหมดคือเกมอำนาจของเขา (เหมือนหมากรุกที่เขาเล่นกับทิพย์ในช่วงท้ายและไล่ทิพย์ไปนอนหลังจากบอกว่า เกมหมากรุกจบแล้ว -ยุพดีตาย) เขาให้ยุพดี จิตวิญญาณเสรีที่ฉลาดแต่ไร้เดียงสา ได้พบกับหลานชายผู้บริสุทธิ์จนแทบจะเถื่อนถ้ำ จนเมื่อทั้งคู่ละเมิดอำนาจของเขาด้วยการได้เสียกัน มันทำให้อำนาจของพะโป้ในการควบคุมความสัมพันธ์ลดลง และเขาต้องกู้หน้าคืน แรกก็ด้วยความละมุนละม่อมอย่างการเชิญคุณหนูพันธ์ทิพย์มา แต่เมื่อไม่ได้ผลแถมยังโดนตอบแทนด้วยคำลวงเรื่องท้อง พะโป้เลยต้องลงมือขั้นเด็ดขาด

กล่าวให้ถูกต้อง ความสัมพันธ์ของยุพดีกับส่างหม่องก็ไม่ได้ต่างจากกล้วยไม้ในป่า (ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ในนิยายต้นฉบับ) ที่สวยงามดีอยู่แล้ว และส่างหม่องไม่ควรเด็ดมันม าควรรอเวลาก่อน แต่ส่างหม่องไม่รอ เหมือนคณะราษฏรไม่รอพระราชทาน ดังนั้น พวกเขาต้องใช้จ่ายค่าตอบแทนด้วยการล่ามโซ่คนดงผู้โง่งมในนามของประชาชนกับจิตวิญญาณเสรีที่เอาแน่ไม่ได้ในนามของประชาธิปไตยไว้ด้วยกัน และเรียนรู้ว่า การมีเสรีภาพโดยไม่เอาพะโป้นั้นเป็นไปไม่ได้ ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ เป็นการประชดประชันที่แสบสันสำหรับพวกปฏิเสธอำนาจเก่าที่ต้องทนทุกข์

กล่าวให้ถูกต้อง ความสัมพันธ์ของยุพดีกับส่างหม่องก็ไม่ได้ต่างจากกล้วยไม้ในป่า (ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ในนิยายต้นฉบับ) ที่สวยงามดีอยู่แล้ว และส่างหม่องไม่ควรเด็ดมันมา ควรรอเวลาก่อน แต่ส่างหม่องไม่รอ เหมือนคณะราษฏรไม่รอพระราชทาน ดังนั้น พวกเขาต้องใช้จ่ายค่าตอบแทนด้วยการล่ามโซ่คนดงผู้โง่งมในนามของประชาชนกับจิตวิญญาณเสรีที่เอาแน่ไม่ได้ในนามของประชาธิปไตยไว้ด้วยกัน และเรียนรู้ว่า การมีเสรีภาพโดยไม่เอาพะโป้นั้นเป็นไปไม่ได้ ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ เป็นการประชดประชันที่แสบสันสำหรับพวกปฏิเสธอำนาจเก่าที่ต้องทนทุกข์

ฉากที่ยุพดีกับส่างหม่องโดนล่ามเข้าด้วยกันนั้น พะโป้อยู่ในตำแหน่งนั่งบัลลังก์ เช่นเดียวกันหลังจากนั้นการเข้าฉากของทั้งสามพะโป้จะนั่งอยู่ด้านบนไม่ต่างจากการเข้าเฝ้า ยุพดีและส่างหม่องหมอบคลานมาเข้าเฝ้า แต่ไม่ได้รับการให้อภัยจาก ‘พ่อเหนือหัว’ ฉากการขอขมาส่างหม่องถึงกับเอากล้วยไม้ (ดอกไม้ต้องห้ามในเรื่อง) ใส่กระทงใบตองมาด้วย แต่ในเมื่อเวลาไม่เหมาะสมมันก็ต้องโดนเตะกระเด็นไป รอจนกระทั่งฉากสุดท้ายนั่นแหละที่พะโป้จะยอมรับกล้วยไม้ของส่างหม่อง ผู้ซึ่งกลับมาสยบแทบเท้าพะโป้อีกครั้งหนึ่ง

หากเราจะแบ่งตัวละคร เราจะยิ่งเห็นลำดับชั้นชัดเจน พะโป้อยู่ตำแหน่งสูงสุด ขณะที่ อีกสองกลุ่มคือ ยุพดีและส่างหม่อง เป็นหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ต่อต้านอำนาจของพะโป้ และกลุ่มสุดท้ายคือ ทิพย์และมะขิ่น ตัวละครมะขิ่นนี้น่าสนใจมากๆ เพราะเป็นตัวละครที่ไม่ได้อยู่ในต้นฉบับ แต่ถูกเพิ่มขึ้นมาเพื่อขับเน้นความจงรักภักดีต่อพะโป้โดยแท้ กลุ่มตัวละครวัยสูงกว่าซึ่งเป็น ‘ข้าทาสผู้จงรักภักดี’ สภาพภายในปางไม้ของพะโป้จึงเป็นสภาพจำลองการปกครองในยุคระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่น่าสนใจมาก -อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์เช่นนี้กลับจะไม่เห็นชัดนักในตัวนิยาย

อาการชิงสุกก่อนห่าม การท้าทายต่ออำนาจเก่าและจบลงด้วยความชิบหายวายวอด จึงเป็นหัวใจของการเสียดสี สภาวะ’ ชั่วฟ้าดินสลาย’ ในครั้งนี้

อุโมงค์ผาเมือง (2011) : ความจริงคืออาจม

เรื่องมีอยู่ว่า มีการฆาตกรรมเกิดขึ้นในป่า มีนักรบ มีแม่หญิงงามเมียนักรบ แล้วก็มีโจรป่า นักรบนั้นตาย แต่ไม่มีอาวุธในที่นั้น โจรป่าว่าเขาฆ่านักรบ เมียนักรบบอกว่านางฆ่านักรบ นักรบบอกผ่านร่างคนทรงว่าเขาฆ่าตัวตาย คนตัดไม้อยู่ที่ศาล เห็นศพนักรบเป็นคนแรก พระท่านก็อยู่ที่ศาล พระท่านเห็นนักรบและเมียก่อนจะถูกฆ่า พระและคนตัดฟืนจึงได้ฟังคำให้การทั้งหมด แม้ไม่รู้จะเชื่ออย่างไร ทั้งสองคนไปติดฝนอยู่ในอุโมงค์ผาเมือง แล้วแบ่งปันเล่าเรื่องให้ชายหน้าผีฟัง เรื่องคดีฆาตกรรมชวนขนหัวลุก

ดัดแปลงจากบทละครของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (โดยดัดแปลงอย่างไม่ให้เครดิตจากบทภาพยนตร์ Rashomon ของ Akira Kurosawa ซึ่งดัดแปลงจากเรื่องสั้นสองเรื่องของ Ryonosuke Akutagawa อีกที ทั้งสองเรื่องมีชื่อไทยว่า ในป่าละเมาะ และ ราโชมอน โดยเรื่องหลังนั้นดัดแปลงมาจากนิทานโบราณ) ภาพยนตร์เรื่องนี้ประกาศชัดแจ้งว่า ดัดแปลงมาจากบทละครของม.ร.ว.คึกฤทธิ์เท่านั้น (ซึ่งแน่นอนก่อให้เกิดกระแสติดตามว่าจะหลบสายตาจากคุโรซาว่าได้อย่างไร) ซึ่งสำหรับผู้เขียนนั้นเห็นว่า นี่เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ในเชิงกระบวนการ เพราะนี่คือการทำใหม่ ากต้นฉบับที่เป็นของทำซ้ำ การตีความขยายผลนั้นสามารถจำกัดอยู่เพียงแต่ส่วนที่งอกเงยจากต้นฉบับ (ทำซ้ำ) โดยมิพักต้องกังวลกับต้นฉบับของจริงเลยแม้แต่น้อย เนื่องเพราะสำหรับผู้สร้าง ฉบับทำซ้ำนี้คือ ‘ต้นฉบับ’ ของเขา หาใช่ตัวต้นฉบับจริงๆ ไม่ (เฉกเช่นการที่เราสามารถร้องเพลงของสุนทราภรณ์ซ้ำได้โดยไม่ต้องเข้าถึงเพลงเต้นรำของตะวันตกที่เป็นต้นทาง) อย่างไรก็ดี การให้เกียรติ แสดงความเคารพ หรือท่าทีนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งควรมองแยกออกจากตัวกระบวนการ

อย่างไรก็ตาม ในฐานะภาพยนตร์ดัดแปลงจากบทประพันธ์ หม่อมน้อยไม่ได้เลือกวิธีการหยิบบทประพันธ์มาตีความใหม่จากมุมอื่นอย่างที่เป็นที่นิยมกัน หากเลือกใช้วิธีกึ่งๆ ทำซ้ำอย่างเคารพต้นฉบับ ขณะเดียวกันก็ขยายความส่วนปลีกย่อยของบทประพันธ์ออกมา ซึ่งจากส่วนที่ขยายออกขับเน้นให้โดดเด่นนี้เองที่เราอาจจะมองเห็นร่องรอยของการตีความที่น่าสนใจมากอีกครั้ง ทั้งนี้เราอาจจะต้องเริ่มจากต้นฉบับของต้นฉบับเสียก่อน ฉบับของคุโรซาว่านั้นดัดแปลงเอาส่วนที่มืดดำจาก ‘ราโชมอน’ เข้ามาประกอบเข้ากับเนื้อหาของ ‘ในป่าละเมาะ’ ผลลัพธ์ที่ได้คือ การประสานความรู้สึกร่วมของความจริงนั้นมีอยู่ เพียงแต่มนุษย์นั้นโสมมและโหดเหี้ยมจนทำให้ความจริงเป็นแต่เพียงเรื่องชวนหดหู่จิตใจ

ในฐานะภาพยนตร์ดัดแปลงจากบทประพันธ์ หม่อมน้อยไม่ได้เลือกวิธีการหยิบบทประพันธ์มาตีความใหม่จากมุมอื่นอย่างที่เป็นที่นิยมกัน หากเลือกใช้วิธีกึ่งๆ ทำซ้ำอย่างเคารพต้นฉบับ ขณะเดียวกันก็ขยายความส่วนปลีกย่อยของบทประพันธ์ออกมา ซึ่งจากส่วนที่ขยายออก ขับเน้นให้โดดเด่นนี้เองที่เราอาจจะมองเห็นร่องรอยของการตีความที่น่าสนใจมากอีกครั้ง 

ในฉบับของหม่อมคึกฤทธิ์นั้น แทบจะถ่ายทอดเอาเหตุการณ์และบทสนทนามาจากหนังของคุโรซาว่า ผิดก็แต่ว่าหม่อมคึกฤทธิ์ได้ขยายผลในส่วนของเมียซามูไร (ผ่านทางบทสนทนาของแม่เมียซามูไร ซึ่งอันที่จริงตัวละครนี้มีอยู่ในต้นฉบับของอะคุตะงาว่า แต่ไม่ได้กล่าวถึงปูมหลังของลูกสาวดังเช่นที่หม่อมคึกฤทธิ์ทำไว้) การขยายปูมหลังตัวละครจากเมียซามูไรไร้ที่มาในหนังต้นฉบับ ให้เป็นลูกคนใช้ในบ้านที่กลายมาเป็นเมียในฉบับของหม่อมคึกฤทธิ์ ได้สร้างระดับศักดินาของตัวละครขึ้นมาโดยฉับพลัน และสิ่งนี้ถูกสานต่อใน ‘อุโมงค์ผาเมือง’ อย่างน่าตื่นตะลึงยิ่งเมื่อหม่อมน้อยนอกจากจะขยายผลเรื่องเมียซามูไรแล้ว ยังขยายผลเรื่องของพระในอีกทอดหนึ่ง

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เราอาจแบ่งตัวละครในหนังเรื่องนี้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ ชนชั้นสูงที่ประกอบด้วยนักรบ และพระ (หนังขยายปูมหลังพระอานนท์ในสถานะของลูกชายคนชั้นสูงที่อยากบวชมากกว่ามีชีวิตทางโลก ครั้นเมื่อสึกออกมาก็ได้มองเห็น การ เกิด แก่ เจ็บ ตาย จากทั้งชีวิตของพี่ชายและความตายของแม่จนต้องขอกลับไปบวชใหม่ ก่อนที่จะพบเจอคดีฆาตกรรมที่สั่นสะเทือนตัวพระท่านจนแทบขอลาสิกขาบท) ส่วนกลุ่มที่สองคือ โจรป่า และคนตัดฟืน โดยตัวละคร แม่หญิงคำแก้ว เมียนักรบนั้นเป็นภาพแทนของคนชั้นล่างที่อยากได้อยากมีจนได้เป็นเมียนักรบในที่สุด

เห็นได้ชัดว่า ดูเหมือนความวุ่นวายใดๆ ในหนังก็ล้วนมีเหตุจำเพาะมาจากการกระทำของคนชั้นล่างเสียร่ำไป เจ้าโจรป่าอ้างลมวูบหนึ่งให้ก่อเหตุสะเทือนขวัญ แม่หญิงเมียนักรบหรือก็กระไร ไต่เต้าจากลุูกคนใช้ขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโต ยังมีจิตคิดไม่ซื่อ ลักลอบคบชู้สู่ชาย นำความตายมาตกแก่ผัวตน หรือหนักข้อที่สุดคือชายตัดฟืนที่ดูเหมือนเป็นคนสามัญ ก็ได้มีส่วนร่วมประกอบอาชญากรรมกับเขาอยู่ดัวยซ้ำ

เห็นได้ชัดว่า ดูเหมือนความวุ่นวายใดๆ ในหนังก็ล้วนมีเหตุจำเพาะมาจากการกระทำของคนชั้นล่างเสียร่ำไป เจ้าโจรป่าอ้างลมวูบหนึ่งให้ก่อเหตุสะเทือนขวัญ แม่หญิงเมียนักรบหรือก็กระไร ไต่เต้าจากลูกคนใช้ขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโต ยังมีจิตคิดไม่ซื่อ ลักลอบคบชู้สู่ชาย นำความตายมาตกแก่ผัวตน

ชนชั้นสูงใน ‘อุโมงค์ผาเมือง’ หากจะมีความผิดอยู่บ้างก็ตรงที่พวกเขานั้นอ่อนแอเกินไป เฉกเดียวกับชายนักรบที่ ‘รากแตกรากแตน’ ก่อนไปออกรบ ชายนักรบที่ไม่ยอมจัดการกับเมียไพร่ผยองที่นอกใจ และสุดท้ายต้องมาตายอย่างช่วยเหลืออะไรไม่ได้ คนชั้นสูงในเรื่องนี้เป็นเหยื่อของโจรป่า ‘ลูกชาวนา’ ไม่รู้จักพอ และนางข้าทาสอสรพิษที่สมคบชายชู้ฆ่าผัว ชนชั้นสูงใน ‘อุโมงค์ผาเมือง’ เป็นเหยื่อจากความใจอ่อนเกินไป อ่อนแอเกินไป (หนังขับเน้นอารมณ์ดังกล่าวด้วยการที่ในฉากขึ้นศาลจะมีการตัดภาพไปยังใบหน้าของเจ้าเมืองซึ่งฟังคำให้การด้วยอาการอันต่างกัน ทั้งเหยียดหยามคำให้การของโจรป่า หัวเราะเยาะคำให้การของแม่หญิง และตื้นตันถึงขั้นหลั่งน้ำตาให้แก่คำให้การของนักรบที่เล่าผ่านคนทรง)

อย่างไรก็ดี ในต้นฉบับของหม่อมคึกฤทธิ์นั้น (อาจจะรวมเอาฉบับของคุโรซาว่าเข้าไปด้วย) ได้บอกกับผู้ชมว่า ความจริงนั้นมีอยู่ เพียงแต่กลวิธีการบอกเล่าความจริงส่วนตัวและความฉ้อฉลชั่วช้าของมนุษย์ต่างหากที่ได้พากันบิดเบือนความจริงให้เข้าข้างตัว เพื่อให้ตัวพ้นภัย เพื่อให้ตัวพ้นคำครหา หรือเพื่อให้ตัวได้กลายเป็นวีรบุรุษ (ซึ่งเอาเข้าจริงในต้นฉบับของ ‘ในป่าละเมาะ’ นั้นไม่มีการสรุปความจริงอื่นใดอีกเลย ราวกับว่าความจริงไม่ได้มีอยู่ มีแต่ความจริงของใคร รับใช่้ใครเท่านั้น) ความจริงใน ‘ราโชมอน’ ของหม่อมคึกฤทธิ์คือความจริงที่ว่ามนุษย์นั้นล้วนมืดบอดไปเสียสิ้น (เพียงแต่ชนชั้นล่างอาจจะมืดบอดกว่าในฐานะผู้ก่ออาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นเมียซามูไร หรือชายตัดฟืน) ในขณะที่ฉบับของคุโรซาว่า การไร้ปูมหลังของตัวละครทำให้ระดับชั้นนี้สาบสูญไปอยู่มาก

ความจริงของ ‘อุโมงค์ผาเมือง’ นั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป ไม่มีความจริงอันใดเป็นที่ต้องการอีกต่อไป อันที่จริงหนังได้บอกไว้อย่างแนบเนียนในฉากแรกๆ แล้วด้วยซ้ำ (ฉากนี้ไม่ปรากฏมาก่อนในฉบับอื่นๆ) เพราะไม่ว่าเราจะสืบค้นสิ่งใดต่อไป ความจริงก็ไม่สำคัญอีกแล้ว โจรป่าถูกประหารไปตั้งแต่ฉากแรก และที่สำคัญเขาไม่ได้ถูกประหารในฐานะของผู้กระทำความผิดฆ่าข่มขืน เขาถูกประหารในฐานะการสักการะผีบ้านผีเมือง ถูกประหารเพื่อล้างกาลีบ้านกาลีเมือง!

สุดท้ายแล้ว ความจริงในหนังจึงเป็นเพียงเรื่องเล่าสนุกๆ เรื่องหนึ่งมากกว่าจะเป็นการค้นหาสรณะว่าความจริงมีอยู่ ด้วยอาการเช่นนี้เอง มันจึงไม่จำเป็นอีกแล้วที่จะไปค้นหาว่าใครทำอะไรในอดีต เพราะความจริงก็ล้วนแต่รับใช้ตัวผู้พูดทั้งสิ้น ที่ตายก็ตายไปแล้ว เราเลิกแล้วต่อกันแล้วหันมาบูชาพระศาสนาเถิด ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ สาส์นนี้ช่างสอดคล้องไปกันได้เหลือเกินกับวิธีคิดที่เราเลือกจดจำประวัติศาสตร์ของประเทศทั้งในอดีต และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์ฆาตกรรมอันสลับซับซ้อนกลางเมือง

และหากหนังจะยึดมั่นในความจริงใดเข้าสักอย่างแล้วละก็ ใช่หรือไม่ที่คดีฆาตกรรมอันซับซ้อนสับสนนี้ที่แท้แล้วเป็นเพียงสาธกชิ้นหนึ่ง ใน ‘อุโมงค์ผาเมือง’ ฉบับนี้ คดีฆาตกรรมนักรบไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวเรื่องหลักที่ส่งสาส์นเกี่ยวกับความจริงหรือแสดงสภาวะทุกข์เศร้าหดหู่ที่มนุษย์มีต่อมนุษย์ด้วยกันเอง (ความฉลาดของคุโรซาว่าและหม่อมคึกฤทธิ์คื อการให้หนึ่งในมนุษย์ผู้สิ้นหวังนั้นถือครองเพศบรรพชิต) อีกต่อไป เพราะคดีฆาตกรรมนักรบในหนังเรื่องนี้กลับทำหน้าที่เป็นเสมือนนิทานสาธกที่พระอานนท์ได้ยกมาเล่าสู่ชายตัดฟืน โดยมีชายหน้าผีทำหน้าที่เป็นผู้คอยแย้งให้เรื่องสนุกสนานมากขึ้น ถึงที่สุดแล้ว ตัวละครที่ถูกเปรียบเปรยประหนึ่งเป็นตัวผู้ชมไม่ใช่ตัวละครทั้งสาม หากเป็นชายตัดฟืน ผู้ซึ่ง ‘เลวพอกัน’ ไปเสียทั้งสิ้น

สุดท้ายแล้ว ความจริงในหนังจึงเป็นเพียงเรื่องเล่าสนุกๆ เรื่องหนึ่งมากกว่าจะเป็นการค้นหาสรณะว่าความจริงมีอยู่ ด้วยอาการเช่นนี้เอง มันจึงไม่จำเป็นอีกแล้วที่จะไปค้นหาว่าใครทำอะไรในอดีต เพราะความจริงก็ล้วนแต่รับใช้ตัวผู้พูดทั้งสิ้น ที่ตายก็ตายไปแล้ว เราเลิกแล้วต่อกันแล้วหันมาบูชาพระศาสนาเถิด ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ สาส์นนี้ช่างสอดคล้องไปกันได้เหลือเกินกับวิธีคิดที่เราเลือกจดจำประวัติศาสตร์ของประเทศทั้งในอดีต และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์ฆาตกรรมอันสลับซับซ้อนกลางเมือง

การขยายความเบื้องหน้าเบื้องหลังของพระอานนท์ในหนัง (ที่ไม่ได้มีอยู่ในฉบับใดมาก่อน) จึงเป็นหัวใจของ ‘อุโมงค์ผาเมือง’ ถึงที่สุดหนังได้กลายร่างจากต้นฉบับอันหดหู่สิ้นหวังมาเป็นนิทานสาธกซึ่งถวายเป็น ‘พุทธบูชา’ ต่อพระพุทธศาสนา หนังกลายร่างจากหนังที่สะท้อนภาพความจริงอันหลากหลาย ไปสู่ความจริงหนึ่งเดียว นั่นคือความจริงแท้แน่นอนในการหันหน้าเข้าสู่พระพุทธศาสนา ไม่ว่าการเมืองสีใดหรือการเพรียกหาความยุติธรรมใดก็หาได้มีความหมายอีกต่อไปไม่ ในนามของพระศาสนาที่สถาปนาตนเองเป็นความจริงหนึ่งเดียวนี้สามารถจะปิดปากความจริงใดๆ ไปจนหมดสิ้นได้ เป็นความจริงหนึ่งเดียวที่ห้ามถามหรือสงสัย ละวางเสียเถิดประสก

แต่ศาสนาในหนังก็ยังคงเป็นของเฉพาะคนชั้นสูงอีกเช่นกัน ส่วนขยายเพิ่มเติมเรื่องของพระอานนท์นั้น ช่างละมุนละไมละม้ายกับพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า (หนำซ้ำยังสะอาดกว่าในแง่ที่ว่าพระอานนท์ไม่ต้องลงมามีภริยาเองให้ต้องละทิ้งภริยาและบุตรไปออกผนวชแต่อย่างใด) กล่าวถึงที่สุด พระอานนท์จึงเป็นตัวแทนของสิ่งที่อยู่สูงส่ง ซึ่งในที่สุดได้ฉายแสงอันสุกสว่างอย่างมลังเมลืองในตอนท้ายของเรื่อง

จากความมืดดำหดหู่ใน ‘ราโชมอน’ ต้นฉบับ ในที่สุดหม่อมน้อยคลี่คลายเรื่องราวฉบับไทยๆ ได้อย่างแนบเนียน โดยกลับหัวพลิกหางจากเรื่องเล่าชวนรันทดท้อให้กลายเป็นนิทานสาธกอันเรื่อเรืองด้วยแสงแห่งธรรม อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้เป็นของสูง เป็นเรื่องที่ชนชั้นสูงบอกกล่าวให้เราฟัง เราในฐานะคนตัดฟืนผู้ซึ่งร่วมประกอบอาชญากรรมควรพึงสังวรตนและเก็บทารกพลัดหลงไปเลี้ยงดู ทำหน้าที่เป็นศาสนิกที่ดีในการเชื่อฟังคำสอนของเรา ซึ่งมีแต่ทางนี้เท่านั้นที่จะพามนุษย์ชั้นล่างให้ออกจากอาจมของความจริงได้ นับได้ว่าหม่อมน้อยได้ช่วยเติมเต็มสิ่งที่หม่อมคึกฤทธิ์ได้ทิ้งร่องรอยไว้ในการดัดแปลง ‘ราโชมอน’ อย่างหมดจดยิ่ง

หนังเต็มไปด้วยการแสดงที่ล้นเกินราวกับทุกตัวละครทุกฉากตอนเป็นละครเวทีที่มีผู้ชมมหาศาล ทุกตัวละครจึงต้องเปล่งเสียง แสดงท่าทาง อารมณ์อย่างรุนแรง แน่นอนว่าในทางหนึ่งมันทำให้หนังประดักประเดิดในความฟูมฟายล้นเกินจะทะลักออกจากจออย่างยิ่ง ในอีกทางหนึ่งมันกลับทำให้หนังถูกจดจำในฐานะหนังที่สไตล์จัดจ้านจนเกือบจะบอกว่าเป็นลักษณะเฉพาะได้ในอนาคต

จัน ดารา (2012) : กามกรีฑาคือสาธก

จากนิยายเชิงสังวาสเรื่องดังของอุษณา เพลิงธรรม หนังเล่าเรื่องจัน เด็กที่เติบโตในคฤหาสน์ของคุณหลวงพ่อที่เกลียดลูกอย่างเขาชนิดเข้าไส้ แม่ของจันมาแต่งกับคุณหลวงด้วยเหตุจำเป็น ตายหลังจากคลอดจัน จันโตมาด้วยการเอาตัวเข้าแลกของน้าวาดน้องสาวของแม่ ได้ใช้ชีวิตในเรือนเล็กส่วนตัวโดยมีไอ้เคน กระทิงทองเป็นทั้งเพื่อนสนิทและคนรับใช้ จันค่อยๆ เรียนรู้โลกามาผ่านทางความมักมากในกามของคุณหลวงที่ร่วมสังวาสกับหญิงสาวในบ้านไปทั่ว ก่อนจะรับเอาคุณบุญเลื่องเมียใหม่เข้ามาในบ้าน คุณบุญเลื่องนี้เองได้สอนให้จันรู้จักเรียนรัก ทำให้จันเติบโตขึ้น ในขณะเดียวกันตัวจันเองก็ค่อยๆ ก้าวล่วงเข้าไปในวิถีชีวิตแบบคุณหลวง และในที่สุดกลายเป็นคุณหลวงน้อยๆ หลังจากถูกเฉดหัวออกจากบ้านกลับไปรู้ความจริงเรื่องแม่และกลับมาอีกครั้งเพื่อล้างแค้นพ่อจอมปลอมของตัวเอง ด้วยการฆ่าปีศาจแล้วกลายเป็นปีศาจไปเสียเอง

ต่างไปจากงานสองชิ้นก่อนหน้าในครานี้ หม่อมน้อยได้ขยายงานของอุษณา เพลิงธรรม เพิ่มเติมเรื่องราวออกไป โดยเฉพาะที่สำคัญการที่หนังถูกตัดแบ่งออกเป็นสองภาคทำให้สองภาคนี้สะท้อนกันและกันเองด้วยการวางคู่ตรงข้ามภาคแรกเป็นจันกับคุณหลวง และครึ่งหลังเป็นจันกับเคน กระทิงทอง (ซึ่งในต้นฉบับนั้นเคนหายตัวไปตั้งแต่ครึ่งแรกของบทประพันธ์) แต่สิ่งที่น่าตกตะลึงที่สุดคือ การที่มันได้แปรรูปจากนิยายยวนอารมณ์ขั้นสูงสุดในตัวบทประพันธ์มาเป็นหนังที่อาจจะเกลื่อนด้วยฉากสังวาส แต่แบนราบไร้อารมณ์เย้ายวนจนถึงขนาดกึ่งกามตายด้าน กล่าวให้ถูกต้องคือ ทำทุกอย่างที่อุษณาเขียน แต่ไม่มีสิ่งที่อุษณาเป็น

สิ่งที่น่าตกตะลึงที่สุดคือ การที่มันได้แปรรูปจากนิยายยวนอารมณ์ขั้นสูงสุดในตัวบทประพันธ์มาเป็นหนังที่อาจจะเกลื่อนด้วยฉากสังวาส แต่แบนราบไร้อารมณ์เย้ายวนจนถึงขนาดกึ่งกามตายด้าน กล่าวให้ถูกต้องคือ ทำทุกอย่างที่อุษณาเขียน แต่ไม่มีสิ่งที่อุษณาเป็น

หากการทำความสะอาดตัวหนังกลับน่าสนใจยิ่งเพราะมันคือการชำระเอาความลามกออกจากตัวจันด้วย ในที่นี้ภาคต้น (ตัดที่จันออกจากบ้านวิสนันท์) จันจึงเป็นเหยื่อของการทำทารุณกรรมของบิดา หนังได้ขัดสีฉวีวรรรณให้จันเป็นสิ่งงดงามท่ามกลางความระยำตำบอนของบ้าน จันทำในสิ่งที่ถูกทำนองคลองธรรมที่สุด ในเรื่องจันคือความเรืองรองดุจดังพระอานนท์ท่ามกลางความโฉดชั่วของคนในถ้ำ

ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่ปฐมบทของจัน ดาราค่อนข้างเป็นไปตามบทประพันธ์ ครึ่งหลังของหนังกลับเตลิดเปิดเปิงไปจากตัวบทดังที่ได้กล่าวไว้ และยิ่งมันไปไกลเท่าไร มันยิ่งน่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น

ถ้าเราจำได้ในขณะที่หนัง Sterile จันให้บริสุทธิ์ผุดผ่องดังพระอานนท์ใน ‘อุโมงค์ผาเมือง’ หรือส่างหม่องในครึ่งแรกของ ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ เราพบว่าตัวละครเคนที่เป็นเหมือนด้านริยำของจัน (ในครึ่งแรกเคนคือผู้ชี้ชวนจันเข้าสู่วงการกามาบันเทิงในบ้านวิสนันท์ หากในครึ่งหลังเคนกลับพบรักและสร้างครอบครัวแสนสุขกับสาวที่พบในวัด -แน่นอนไม่มีอยู่ในบทประพันธ์) กลับถูกล้างจนสะอาดในภาพนี้เพื่อที่จะให้เป็นฝาแฝดกับจัน เป็นคนที่รับเอาความงามของจันมาพยุงตัวละครของจันเอาไว้ การที่เคน (ซึ่งในบทประพันธ์ครึ่งหลังไม่มีอีกต่อไป) รับหน้าที่นี้ เท่ากับเชื่อมคนดูเข้ากับความผุดผ่องของจัน หรือความเป็นจันซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ว่าจันเป็นใครกันแน่ในเรื่องนี้

จากลูกไม่มีพ่อ หรือมีก็หาไม่เจอในบทประพันธ์ จันถูกชะล้างให้สะอาดด้วยความรักศักดิ์สิทธิ์ เซ็กซ์ในหน้าที่ของพ่อกับแม่เพื่อกู้เกียรติตระกูล (คุณดาราแม่ของจันโดนโจรใจทรามลากไปข่มขืน แต่ที่จริงโจร-พ่อทางสายเลือดของจันทำเพื่อกู้เกียรติของตน ซึ่งไม่มีในบทประพันธ์เช่นเคย) จากจันที่ไม่มีตัวตนในหนังสือ กลายเป็นจันที่เกิดอย่างมีเกียรติ (แม้หนังจะพูดเหมือนหนังสือว่าแม่จันก็โดนลูกน้องไอ้จอมฟอนไป แต่ฉากงดงามในแสงสนธยาก็ตราประทับลงในคนดูเพื่อที่จะทำให้จันนั้นสะอาดเสียทั้งตัว)

จันกลับพิจิตรแบบเจ้า ไม่ใช่ไพร่ ถ้าจำได้ เรื่องทั้งหมดคือความโกลาหลที่ตอกหมุดปักลงตรงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พร้อมกับฉากอันลือลั่นที่แปลงประวัติศาสตร์ตรงไปตรงมาด้วยการแสดงให้เห็นภาพวันที่คณะราษฏรเดินทางไปจับบรรดาเชื้อพระวงศ์​และพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงสำแดงความกักขฬะใส่ประชาชนคนผู้จงรักภักดีอีกด้วย พูดให้ถูกอีก คุณหลวงกลายเป็นภาพแทนของคณะราษฎร ที่คุ้มดีคุ้มร้าย ชั่วช้า เผด็จการ และเจ้าคิดเจ้าแค้น ทำไมน่ะหรือ ก็จันมาถึงพิจิตรพอดิบพอดีกับวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ และกลับพระนครหลังในหลวงสละราชสมบัติ จันจึงเป็นตัวแทนของอำมาตย์พลัดถิ่นภายใต้การปกครองอันรวนเรของคณะราษฎร จันไปอยู่พิจิตรอย่างเจ้า (ในต้นฉบับ จันไปอยู่อย่างไพร่ และบทไพร่ก็ได้พ่อเคนเรารับเอาไป แถมยังเพิ่มฉากของแม่ปทุมโสเภณีสาวที่นำจันไปสู่การพบชาติกำเนิดอันบริสุทธิ์อย่างไร้ข้อกังขา ตามด้วยฉากจันเดินลงน้ำ เขาไม่ได้ฆ่าตัวตาย แต่ลงไปชำระล้างในน้ำแทน)

คุณหลวงกลายเป็นภาพแทนของคณะราษฎร ที่คุ้มดีคุ้มร้าย ชั่วช้า เผด็จการ และเจ้าคิดเจ้าแค้น ทำไมน่ะหรือ ก็จันมาถึงพิจิตรพอดิบพอดีกับวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ และกลับพระนครหลังในหลวงสละราชสมบัติ จันจึงเป็นตัวแทนของอำมาตย์พลัดถิ่นภายใต้การปกครองอันรวนเรของคณะราษฎร

เคนซับเอาความงามของจันเพื่อให้จันได้เอาคืนพ่อเลี้ยงอย่างแสบสัน หนังลดทอนอาการลมเพลมพัด ความไม่ดิ้นรน (รอโชคลอยลงในมือ) ของจันในหนังสือออกจนหมด กลายเป็นจันแห่งโทสะ กล่าวให้ง่ายเมื่อให้ประชาชนปกครองตนเอง ถ้าคนเท่ากันอย่างไอ้คุณหลวงได้เป็นนายทุนครองที่ (แม่) แลัวไอ้จันกลับไปเอาคืนบ้างเรื่องมันก็วุ่นเช่นนี้แหละ

ถ้อยแถลงอันจงรักภักดีและชาตินิยมของคุณยายต่อแผ่นดินของเรา (ตามบทดั้งเดิมนั้นเป็นคุณตาและหาได้มีถ้อยแถลงต่อหน้าแผ่นดินกว้างไกลในพิจิตรไม่) ได้ช่วยตอกย้ำความเป็นราษฎรผู้จงรักภักดีลงในตัวจันและตระกูลพิจิตรวานิช การสมอ้างจังหวะการสละราชสมบัติของในหลวงไม่ได้บอกว่าจันเป็นตัวแทนของอำมาตย์ แต่จัน (และเคน) คือภาพแทนผลพวงของผู้คนในยุค Post monarchy เมื่อครั้งปี 2478 ต่างหาก ในแง่นี้การสละราชสมบัติก็ถูกขัดสีฉวีวรรณขึ้นมาพอๆ กับการพระราชทานรัฐธรรมนูญ

โลกหลังการสละราชฯ ของในหลวงจึงเป็นแต่เพียงละครของการแต่งงานของจันกับคุณแก้ว (ลูกสาวคุณบุญเลื่อง) การจองเวรที่ล่วงถลำลงสู่หล่มบาป หนังทำลายความงามในความสัมพันธ์ของจันกับคุณบุญเลื่องในหนังสือลงอย่างราบคาบด้วยการให้จันนั้นกราดเกรี้ยวเสียเหลือเกิน คุณบุญเลื่องก็ลดรูปจากหญิงไม่อิ่มรักที่มีจิตใจประเสริฐ ไปสู่หญิงร่านพื้นๆ ที่ไร้ความสำคัญ กล่าวให้ถูกต้องถึงที่สุด คุณบุญเลื่องได้ร่วมสถานะกับยุพดีและแม่หญิงคำแก้วเป็นที่เรียบร้อย

เรื่องก็มันตรงนี้ เมื่อหนังทำให้ความสัมพันธ์ของคุณแก้วกับคุณขจรเรื่อเรืองเป็นความรัก (คุณแก้วเป็นลูกคุณบุญเลื่องที่เกิดแต่คุณหลวง ส่วนคุณขจรเป็นลูกติดของคุณบุญเลื่อง) แทนความใคร่อย่างในต้นฉบับ มันก็เท่ากับว่า คุณแก้วและคุณขจรคือคนที่ถูกทำลายจากระบบการปกครองของพ่อแม่ที่ปกปิดความจริง ยิ่งเมื่อคุณขจรเรืองรองขัดสีฉวีวรรณมากขึ้นด้วยการไปเป็นเสรีไทย คุณขจรก็เลยได้เชื้อของคณะราษฎรด้านดีที่หนีรักในสายเลือดไปสละชีพเพื่อชาติต่างกับคุณขจรที่เป็นเหยื่อของคุณแก้วซึ่งหนีไปจากบ้านด้วยความอับอายและขลาด (ในต้นฉบับนั้น คุณขจรออกจากบ้านไปอย่าพวกกลัวผิดบาป ออกไปใช้ชีวิตนายทหารแสนดีและได้กลายเป็นคนใหญ่คนโตในเวลาต่อมา) สงครามโลกในต้นฉบับดำเนินไปในที่ทางของการนำไปสู่การเปิดเผยความลับของบุญเลื่อง แต่ในคราวนี้ สงครามกับเอาไว้ขัดสีฉวีวรรณคุณขจร เสรีไทยผู้ห้าวหาญและเสียสละ เมื่อโลกในบ้านวิสนันท์ตกต่ำถึงขีดสุด สงครามโลกเป็นจุดจบของบ้านวิสนันท์ เป็นจุดกำเนิดของปรีย์ เด็กพิกลพิการจาการสังวาสร่วมสายเลือดของเสรีไทยอย่างคุณขจรและหญิงร่านลูกคุณหลวง กล่าวให้ง่าย ปรีย์ต้นฉบับที่เป็นเพียงผลของรักร่วมสายเลือดก็ได้มีความเป็นการเมืองขึ้นเมื่อเราทาบทับว่า นี่สิผลผลิตภายในของผู้ยึดอำนาจ

ทีนี้เคนกับจันก็เป็นเพียงผู้เฝ้ามองความวิปริต น่าเสียดายที่หนังลดทอนการกลายเป็นปีศาจโดยไม่ได้ตั้งใจโดยอย่างเป็นกระจกของจันกับคุณหลวง ในหนังจันไม่ได้เป็นคุณหลวงอย่างในหนังสือ แต่จันเป็นเคน เป็นคนที่ไหลไปตามเกมอำนาจและกลับเนื้อกลับตัวในท้ายที่สุด ถ้าจันเป็นคุณหลวงก็หมดกัน คนมันเท่ากันเลวได้เท่าๆ กัน เมื่อเปรียบไปจันไม่ใช่คนเฝ้าศพในถ้ำกับคนตัดฟืนใน ‘อุโมงค์ผาเมือง’ จันกับเคนคือพระอานนท์กับพี่ชายของพระอานนท์ต่างหาก (ไม่ต้องคิดว่าพระอานนท์และจันรับบทโดยมาริโอ้ และพี่ชายของพระอานนท์กับเคน รับบทโดย นิว ชัยพล)

การชำระล้างจันให้สะอาดเอี่ยม (อาจจะเรียกรวมๆ ว่าทำจันให้เป็นหมัน – sterile จัน) จึงทำให้เป็นการเมืองขึ้นมาโดยมีบ้านวิสนันท์เป็นภาพแทนการโกลาหลอย่างไม่รู้จบสิ้น และจันก็เป็นเพียงผู้เล่นตามเกมของท่านยายมากกว่าเป็นคนที่ค่อยๆ เลวจากข้างใน (ฉากหนึ่งเคนถึงกับบอกว่าเขามองเห็นจันคนดีอยู่ในจันคนนี้) การเป็นคนร้ายสวมหน้ากากข่มขืนคุณแก้ว ล้างแค้นคุณหลวง เป็นเพียงหน้ากากไม่ใช่เนื้อแท้ (จริงๆ การขอมีลูกในหนังสือไม่ได้เป็นเรื่องของรุ่นพ่ออย่างโจรจอมกับคุณดารา แต่เป็นเรื่องของจันกับแก้ว ในที่นี้ จันกับปรีย์จึงถือเป็นตัวแทนที่กลับหัวกลับหางกันและกัน) การเอาพลิกหัวกลับหางนอกจากจะทำให้มันสะอาดสวยงามแล้ว ยังเป็นการลดทอนความต่ำช้าของสถาณการณ์เดียวกันและของการมีลูกด้วย ดังนี้ความตายของคุณแก้ว (ในต้นฉบับคุณแก้วไม่ได้ตาย) จึงเป็นการขัดสีฉวีวรรณศีลธรรมมากกว่าปล่อยให้คุณแก้วเป็นสาวทอมอย่างในหนังสือ

กล่าวให้ถึงที่สุด ‘จัน ดารา’ ของหม่อมน้อย จึงทำหน้าที่เช่นเดียวกับ ‘อุโมงค์ผาเมือง’ ในแง่ของการเปลี่ยนเรื่องที่พูดถึงความดำมืดของจิตมนุษย์ให้กลายเป็นนิทานสาธกสอนศีลธรรมได้อย่างน่าตะลึง


การเมืองคือเรื่องรักของหญิงร่าน หนุ่มไร้เดียงสา และ เสือเฒ่า

ดังที่ได้กล่าวแล้ว เราพบได้ไม่ยากนักว่า หนังทั้งสี่เรื่องของหม่อมน้อย วนเวียนอยู่ในโครงสร้างของรักสามเส้า การเอาชนะคะคานของเกมอำนาจระหว่างหญิงร่าน กับชายเฒ่า และคนหนุ่มไร้เดียงสา การข้ามไปมาของโครงเรื่องยังถูกตัดข้ามด้วยการเลือกใช่นักแสดงที่ต่อเนื่องกัน ยุพดีและแม่หญิงคำแก้ว รับบทโดยพลอยเฌอมาลย์, ส่างหม่องและนักรบ รับบทโดยอนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม, พระอานนท์และจัน โดยมาริโอ้ เมาเร่อ, พี่ชายของพระอานนท์ กับเคน กระทิงทอง รับบทโดย นิว ชัยพล ไปจนถึงศักราช ฤกษ์ธำรงในบทของทิพย์ (คนเล่าเรื่องใน ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’) เจ้าเมือง (คนฟังเรื่องใน ‘อุโมงค์ผาเมือง’) และคุณหลวง ‘อุโมงค์ผาเมือง’ จึงเป็นเหมือนแกนกลางที่เชื่อมหนังอีกสองเรื่องไว้ด้วยกัน

‘หญิงร่าน’ ของหม่อมน้อย มักผูกพ่วงอยู่กับความหัวนอกสมัยใหม่ คนเยี่ยงยุพดีที่อ่านเฮนริค อิบเสน หรือคุณบุญเลื่องที่เป็นสาวนักธุรกิจจากปีนัง ผู้หญิงเหล่านี้เข้ามาล่อลวง ชักจูง ยั่วยวนคนหนุ่มเถื่อนถ้ำไร้เดียงสาให้ตกลงในหลุมหล่มปรารถนาที่จะไปจากผู้ปกครอง การณ์ยิ่งชัดเจนมื่อเรามองดูแม่หญิงคำแก้วในฐานะลูกไพร่ที่อยากได้ดีอาศัยความอ่อนแอไร้เดียงสาของนักรบผู้เป็นสามีในการไต่เต้า ในขณะที่คนหนุ่มไร้เดียงสาอย่างส่างหม่องได้ถูกขัดสีฉวีวรณทีละน้อย จากส่างหม่องไปยังจัน และเคนที่ทำหน้าที่หนุ่มเถื่อนถ้ำที่ถูกยั่วยวนโดยหญิงร่าน แน่นอนทั้งหมดวิ่งวนรอบการตายของนักรบและการเกิดของพระอานนท์ในอุโมงค์ผาเมือง คนหนุ่มค่อยๆ ถูกขัดถูกจากชายหนุ่มอ่อนแอมาสู่การเป็นคนหนุ่มผู้เรืองรองและอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งมวล ในอีกทางหนึ่งชนชั้นปกครองผู้ปกครองก็ค่อยๆ ถูกทำให้อ่อนแอ จากพะโป้มาสู่คุณหลวงที่พ่ายแพ้หมดรูป และแน่นอนเจ้าเมืองใน ‘อุโมงค์ผาเมือง’ เป็นเสมือนภาพแทนความหมายที่แท้ หรือหากจะพูดใหม่ พูดในอีกทาง อันที่จริงพะโป้กับส่างหม่องได้ถูกรวบเอาไว้ภายในตัวของพระอานนท์เอง เฉกเช่นที่จันกลายเป็นคุณหลวงอย่างไม่อาจแยกออกจากกัน คนหนุ่มจะกลายเป็นผู้ปกครองในอนาคต พวกเขาคือความหวังในการใช้ธรรมะและความดีงามขจัดความโสมมของหญิงร่าน

ถึงที่สุด ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ คือโครงเรื่องเบื้องต้น ‘อุโมงค์ผาเมือง’ คือการแฉโพยโครงสร้างที่ค้ำจุนโครงเรือง ก่อนที่ ‘จัน ดารา’ จะหยิบสิ่งนั้นมาใช้สอยอย่างเต็มที่

คณะราษฎร ประชาธิปไตย ไพร่และเจ้า

ที่น่าสนใจที่สุด คือทั้ง ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ และ ‘จัน ดารา’ ต่างจงใจอาศัยภาพของคณะราษฎรเพิ่มเข้ามาในตัวเรื่อง คณะราษฎรแทนภาพความสมัยใหม่ที่มาทำลายสิ่งเก่า คณะราษฎรในหนังของหม่อมน้อยทำหน้าที่แบบเดียวกับหญิงร่านในการเข้ามาเปลี่ยนแปลงแล้วส่งผลทางร้ายต่อประชาชนคนตาดำๆ ที่เป็นภาพแทนคนเถื่อนถ้ำ ในขณะที่ชนชั้นปกครองอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ วิธีการที่ดีที่สุดในการจัดการกับหญิงร่านคือ การเสริมพลังให้คนมีธรรม ธรรมที่มาจากผู้ปกครอง ดังเช่น พระอานนท์สละสมบัติมาออกบวช หรือคุณขจรที่กลายเป็นเสรีไทยมาช่วยเหลือจันในตอนท้าย

กล่าวให้ง่ายคือ ชนชั้นปกครองแบบพะโป้นั้นกำลังอ่อนล้าลงทุกขณะ สิ่งที่เขาจะทำได้คือส่งต่อให้คนหนุ่มรุ่นต่อไปได้ค้นพบจุดมุ่งหมายของชีวิต แต่ต้องเป็นการเรียนรู้อย่างช้าๆ ผ่านทางเขาเท่านั้น เราเป็นเพียงชายตัดไม้ผู้โง่เขลา เราจะเติบโตได้ด้วยธรรมของพระอานนท์ และด้วยวิธีเช่นนั้นเราจึงจะหาหนทางในการจัดการกับบรรดาหญิงร่านรักหัวสมัยใหม่ ประชาธิปไตยปแบบชิงสุกก่อนห่ามอย่างถูกต้อง และการอยู่ในศีลในธรรมตามแต่คนรุ่นก่อนสอนสั่งนี้เองจะทำให้เราประสบโชคดีมีชัย ดังเช่นที่เคน กระทิงทอง ทิ้งความมักมากในกามคุณแล้วประกอบสัมมาชีพจนสามารถส่งลูกชายไปร่ำเรียนจนได้ทำงานในนาซ่า 

‘ประชาธิปไตยของไพร่ในสายตาเจ้า’ อาจจะเป็นถ้อยคำที่เกินเลยไปสักหน่อย แต่น่าจะอธิบายสาส์นซ่อนเร้นในหนังชุดนี้ได้ไม่เลวนัก

คณะราษฎรในหนังของหม่อมน้อยทำหน้าที่แบบเดียวกับหญิงร่านในการเข้ามาเปลี่ยนแปลงแล้วส่งผลทางร้ายต่อประชาชนคนตาดำๆ ที่เป็นภาพแทนคนเถื่อนถ้ำ ในขณะที่ชนชั้นปกครองอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ วิธีการที่ดีที่สุดในการจัดการกับหญิงร่านคือ การเสริมพลังให้คนมีธรรม ธรรมที่มาจากผู้ปกครอง

บทส่งท้าย หญิงร่านปฏิวัติ

แผลเก่า (2014) : เรียมเหลือทนแล้วนั่น!!!! ขวัญของเรียม

สองปีหลังจาก ‘จัน ดารา’ หม่อมน้อยหยิบยกบทประพันธ์เก่ามาตีความใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้เขาเลือก ‘แผลเก่า’ ของไม้ เมืองเดิม ตำนานรักทุ่งบางกะปิของไอ้ขวัญอีเรียมหนุ่มสาวบ้านนาที่ถูกพ่อแม่ของฝ่ายหญิงกีดกันจนพ่อของเรียมจับเธอส่งไปชุบตัวที่บางกอก พอกลับมาก็นำมาสู่โศกนาฏกรรมของรักข้ามชนชั้นที่งดงามและทรงพลังที่สุดในเรื่องเล่าของวรรณกรรมไทย

อันที่จริง ‘แผลเก่า’ เคยได้รับการดัดแปลงจากบทประพันธ์มาเป็นภาพยนตร์แล้วในปี 1977 โดย เชิด ทรงศรี (และอีกครั้งในชื่อ ‘ขวัญ เรียม’ ปี 2001 โดย สุทธากร สันติธวัช) ดูเหมือนหม่อมน้อยจะเขียนบทครั้งใหม่นี้ขึ้นโดยอ้างอิงทั้งจากนิยายต้นฉบับและภาพยนตร์ฉบับคุณเชิด

นิยายต้นฉบับของไม้ เมืองเดิมนั้นหนาเพียงประมาณ 100 หน้าต้น ความกระชับฉับไวเทียบเท่า ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ ของ มาลัย ชูพินิจ ‘แผลเก่า’ มีฉากหลักเพียงไม่กี่ฉาก เปิดที่ขวัญกับเรียมริมน้ำ ตามด้วยการได้รับแผลเก่าของขวัญในการต่อสู้ ตามด้วยการเอาเรียมไปขัง ไปขาย เรียมกลับจากบางกอกหลังจากไปหลายปี เรียมสับสนเรื่องขวัญจนหนีกลับพระนคร เรียมกลับมาใหม่และเริ่มคิดถึงขวัญ ก่อนจะนำไปสู่ฉากสำคัญของเรื่อง

ในฉบับภาพยนตร์ของคุณเชิดนั้นได้ปรับแปลงบทประพันธ์โดยเพิ่มเติมความขัดแย้งของคนรุ่นพ่อเข้ามา เรื่องเกี่ยวกับการชิงรักหักสวาทแม่รวยแม่ของเรียมไปจนถึงการเปลี่ยนบทช่วงไคลแมกซ์ให้เกิดขึ้นขณะไอ้ขวัญกำลังเตรียมจะบวชเรียน ซึ่งไม่มีในต้นฉบับ และการเปลี่ยนการตายของเรียมให้เป็นเรื่องโรแมนติคd่าเอามีดจากมือไอ้ขวัญมาแทงตัวเอง

ในขณะที่หนังก่อนหน้านี้ทั้งจตุรภาค หม่อมน้อยทำการ ‘ ดัดแปลง’ โดยเพิ่มเติมแต่เพียงเล็กน้อย ขยายความบางฉาก แต่สำหรับ ‘แผลเก่า’ เราอาจบอกได้ว่านี่คือการ ‘เขียนใหม่’ มากกว่าจะดัดแปลง แม้ตัวประเด็นใหญ่ๆ จะรับมาจากหนังคุณเชิดอีกต่อหนึ่ง แต่หม่อมน้อยเพิ่มเติมอีกมาอีกหลายส่วน ดังนี้

ในสี่สิบนาทีแรกของหนัง การเปิดฉากในท้องทุ่ง ขวัญเกี้ยวเรียม ขวัญไปอวดศักดากับไอ้เริญพี่อีเรียม ฉากขวัญกับพ่อและความขัดแย้งของพ่อ ฉากงานวัดไม่ได้มีในนิยาย (แต่เข้าใจว่ามีในหนังคุณเชิด) ต่อมาก็คือบรรดาฉากของเรียมในพระนคร ซึ่งในนิยายเป็นแต่เพียงความคำนึงสั้นๆ ของเรียม กล่าวคือเมื่อเรียมออกจากทุ่งบางกะปิเวลาก็ผ่านไปเลยสามปี ตัดมาบทต่อไปคือเรียมเตรียมกลับบ้านนอก โดยในส่วนนี้หม่อมน้อยเพิ่มตัวละครอย่าง คุณนายทองคำ(เปลว) (ในนิยายชื่อทองคำ) ที่นุ่งกิโมโนกินช็อกโกแลต ตัวละครอีจำปาที่เป็นเมียเก็บของจ้อยและพาขวัญไปตามเรียมในกรุง การที่เรียมได้ไปเมืองนอกสามปี รวมไปถึงฉากท่าเรือปลอมๆ และการที่ขวัญได้เจอเรียม (แม้เพียงชั่วแล่น) ที่ท่าเรือ ไปจนถึงการขยายความคุณสมชายคู่แข่งของไอ้ขวัญ ให้ไปเกี่ยวข้องกับโลกหลัง 2475 ในยุคจอมพลป.เรืองอำนาจ ถึงกับให้คุณสมชายเป็นหนึ่งในแก๊งของจอมพลป.ที่มีลุ้นนายก เลยเถิดไปจนถึงการสร้าง ฉากเซ็กซ์หมู่ (เรียมหนีกลับบ้านนอกหลังจากเจอเซ็กซ์หมู่ของหนุ่มคณะราษฎร) ฉากคุณนายทองคำเปลวมายืนด่าเรียมฉอดๆ แล้วเรียมเถียงกลับ (ซึ่งคือฉากสำคัญที่สุดของหนังในฉบับนี้) หรือการเน้นย้ำยุคสมัยในฉากมาลานำไทย และที่สุดคือ การตายของเรียมที่เป็นการตายตามโดยปราศจากประโยคสำคัญที่สุดจากหนังสือนั่นคือ “ผัวฉันตายแล้ว”

ก่อนจะลงมาพิจารณารายละเอียด มีเรื่องหนึ่งที่ต้องสนใจคือ หากก่อนหน้านี้ งานดัดแปลงบทประพันธ์ของหม่อมน้อยเป็นเรื่องของการเมือง เรื่องของหญิงร่าน กล่าวคือ หนังทั้งสี่เรื่องอยู่ในในคอนเซปต์ ‘ชายเถื่อนถ้ำไร้เดียงสา ผู้ปกครองที่เหี้ยมโหดเด็ดขาด และหญิงร่านที่มาล่อลวงชายไร้เดียงสา นำไปสู่ความพินาศฉิบหายของการไปจากผู้ปกครองเก่า’ ซึ่งตัวโฟกัสของหม่อมตลอดทั้งสี่คือ ตัวละครชาย ความไร้เดียงสา และการถูกล่อลวงโดยเสรีนิยมเอาแต่ใจ (หญิงร่าน)

ตัวละครของเรียมกลับเป็นครั้งแรกที่หม่อมเลื่อนมาโฟกัสตัวละครหญิง ซึ่งตามโครงสร้างเดิมต้องเป็นหญิงร่าน (เรียม) ที่ มาล่อลวงชายไร้เดียงสา (ขวัญ) การเลื่อนขวัญจากตัวนำลงไปเป็นอดีตอันหอมหวาน ทำให้หนังเป็นเรื่องของผู้หญิงที่ได้รับชีวิตใหม่จากผูปกครอง แต่ชีวิตใหม่กลับทำให้เธอเหนียวแน่นในอดีตอันเรืองรองของตัวเอง เห็นความโฉดเขลาของผู้ปกครองเสียเอง

ตัวละครของเรียมกลับเป็นครั้งแรกที่หม่อมเลื่อนมาโฟกัสตัวละครหญิง ซึ่งตามโครงสร้างเดิมต้องเป็นหญิงร่าน (เรียม) ที่ มาล่อลวงชายไร้เดียงสา (ขวัญ) การเลื่อนขวัญจากตัวนำลงไปเป็นอดีตอันหอมหวาน ทำให้หนังเป็นเรื่องของผู้หญิงที่ได้รับชีวิตใหม่จากผูปกครอง แต่ชีวิตใหม่กลับทำให้เธอเหนียวแน่นในอดีตอันเรืองรองของตัวเอง เห็นความโฉดเขลาของผู้ปกครองเสียเอง

หากจะกล่าวให้ง่าย หลังจากหม่อมทำหนังว่าด้วยไพร่โง่โดนทุนนิยม เสรีนิยมหลอกใช้ให้ไปจากเจ้ามาตลอด หม่อมน้อยหันมาทำหนังว่าด้วยคนชั้นกลางที่รักเจ้า แต่การเป็นคนชั้นกลางที่ดีต้องเอาไพร่ด้วย การ ‘ขืนเจ้า เอาไพร่ แต่ได้ประโยชน์จากพวกเจ้า’ คือคู่มือของการเป็นชนชั้นกลางที่ดีที่หม่อมจะเล่า แผลเก่าของการประท้วงชุมนุมล้มตายเผาบ้านเผาเมืองนั้นได้กลายเป็นแผลรักแลแผลชัง แผลใหม่เกิดจากการที่เจ้าจะเอาไปเสียทุกอย่างนั่นเอง


จากหนังเสื้อแดงโง่ นี่คือหนังของการเป่านกหวีดอย่างถูกทำนองคลองธรรม

เราอาจอ่านการวิเคราะห์เรียมที่หลักแหลมร้ายกาจจากการวิเคราะห์ของ อ.ชูศักดิ์ ในนิตยสาร ‘อ่าน’ ฉบับแผลใหม่ ที่อธิบายเรียมในฐานะคนบ้านนอกซึ่งถูกผู้ดีพระนครเอาไป ‘กัดขาว’ ให้เป็นโฉมยง ซึ่งการได้รับชีวิตใหม่ ชื่อใหม่ คือการกลายเป็นชาวบ้านในแบบที่ชาวพระนครอยากให้เรียมเป็น เรียมคือภาพแทนความศิวิไลซ์ที่ผู้ดีพระนครต้องการจะให้ชนบทไทยเป็น และอาการอุกอั่งกระอักกระอ่วนของเรียมในนิยายคือความงดงามของเรื่องทั้งเรื่อง

หากดูราวกับว่าในนิยายไม้ เมืองเดิม ไม่ได้เขียนเรื่องรักเรียกน้ำตาเฉยๆ แต่นี่คือการเฝ้าสังเกตสภาวะการเข้าสู่สมัยใหม่ของไทยที่น่าทึ่ง พระนครในนิยายนั้นห่างไกลและสายตาของหนังฉบับนี้คือสายตาของขวัญที่มองความเปลี่ยนแปลงของเรียม แต่จิตใจของหนังสือกลับคือจิตใจของเรียมที่ไม่ได้ต้องการเป็นเพียงเรียมลูกนายเรือง ใจมันใหญ่กว่าถิ่นกำเนิดเสียแล้ว เรียมชาวพระนครไม่สามารถเข้ากันได้กับท้องไร่ท้องนา แต่ความผูกพันแลกเลือดแต่หนหลังก็รัดหล่อนไว้ตลอดทั้งเรื่อง เรียมตัดใจไม่ขาดเสียด้วยซ้ำว่า ระหว่างนายขวัญกับคุณสมชายเรียมจะเลือกใคร ฉากไคลแมกซ์เป็นไปโดยบังเอิญและจบลงด้วยโศกนาฏกรรมโดยบังเอิญ ความคลุมเครือจนจวบชั่วนาทีสุดท้ายของหนังสือตอกย้ำให้บทพูดแผลรักแผลชังของขวัญเต็มไปด้วยเลือดและน้ำตาในทุกคำ กระทั่งความตายของเรียมในหนังสือยังเป็นไปในสถานะของความบังเอิญมากกว่าความรักอันมั่นคง

การขายความคลุมเครือให้ชัดเจนทั้งโดยหม่อมน้อยและคุณเชิดจึงเป็นการทำลายสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของเรียมต่ออาการ modernized ของเรียมลง และเมื่อมองจากจุดนี้ เราพบว่าเรียมของไม้กับเรียมของหม่อมเป็นคนละคนกัน ‘แผลเก่า’ ของหม่อมถูกสร้างมาในคนละแบบของ ‘แผลเก่า’ ของไม้

เรียมของหม่อมไม่ได้ถูกกัดขาวจากกรุงเทพฯ แค่ชั้นเดียว แต่ถูกกัดขาวถึงสองชั้นจากหม่อมที่อยู่ในสถานะสูงกว่าคุณนายทองคำเปลวเสียอีก หากเรียมถูก modernized, westernized ในนิยายของไม้ เรียมคือภาพแทนของสังคมใหม่ที่พุ่งไปข้างหน้า แล้วไม่รู้จะเอาอย่างไรกับความล้าหลังป่าเถื่อนของอดีต หม่อมตีความได้เฉียบขาดมากด้วยการเพิ่มอาการไทยฮิสทีเรียของยุคสมัยหลังการ modernized ลงไปผ่านตัวเรียม กล่าวคือการให้เรียมไม่ใช่แค่ได้รับความสุขสบาย แต่ได้เห็นการฉ้อฉลกลกลวงของไอ้พวกเปลี่ยนการปกครอง เรียมไม่ได้แค่ modernized ตัวเอง แต่ post-modernized เรียมกลายเป็นสัตว์ประหลาดที่การ modernized ทำให้เรียมกลับไป fetish อดีตของตัวเอง

สอดรับกับทุ่งนา lomo style ของหนัง เรียมคือคนที่ไปเรียนเมืองนอกแล้วกลับมาบ้าความเป็นไทย (ทื่ไม่มีจริง) กว่าเดิม เรียมคือผลผลิตระดับถึงรากของทองคำเปลว ที่ไม่ใช่แค่เป็นพวกทองคำเปลว (a.k.a. พวกเปลี่ยนการปกครอง) การผลักขั้วตรงข้ามอย่างเจ้าและพวกเปลี่ยนการปกครองเข้าไว้ด้วยการทำให้ศัตรูชัด ซึ่งทำให้มโนคติที่แท้ก็ชัดขึ้นมาด้วย เรียมไม่ได้เป็นเพียงความสับสนของบ้านนอกในเมือง แต่เรียมคือผลผลิตจากการสร้างบ้านนอกปลอมๆ ของผู้ดีปลอมๆ เรียมลบความโหดเหี้ยมของบ้านนอก ความเถื่อนถ้ำของบ้านนอกให้เหลือเพียงอกผายไหล่ผึ่งของขวัญ คำสัญญาของขวัญ ทุ่งนาสีทองของขวัญ อีเรียมของหม่อมเลยสวมงอบ ใส่เสื้อแขนกระบอก ผมยาวสยาย ไปดำนาขูดมะพร้าวราวกับหลุดมาจากโปสการ์ดชาวนาไทยมากกว่าจะเป็นอีหญิงชาวนาหน้าดำ เรียมคือภาพสมบูรณ์พร้อมของสำนึกรักบ้านเกิด การอยู่กินอย่างพอเพียง อย่าให้พวกผู้ดีพระนครมาหาประโยชน์หลอกใช้ แต่เรียมก็ไกลออกจากบ้านนอกของตัวเอง ไม่เสวนากับพวกพ่อพวกพี่เริญ เรียมพยายามจะเอาแม่รวยที่ไม่เห็นเรียมเป็นเรียม กับแม่ทองคำเปลวที่เห็นเรียมเป็นภาพโฉมยง เรียมสร้างสัตว์ประหลาดขึ้นมาตัวหนึ่งที่รับเอาภาพเรียมของรวยกับโฉมยงของทองคำเปลวมาปะติดกันอย่างทื่อๆ ภายใต้วาทกรรมชุดหนึ่ง และนี่คืออีเรียมของเรา อีเรียมของหม่อม อีเรียมผู้ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ถูกต้อง หนีกลับมาหาขวัญแทนที่จะมาบ้านเพราะแม่จะตาย นี่คือเรียมที่ลุกขึ้นเถียงคุณนายทองคำเปลวที่อยากให้เรียมเคารพเหมือนแม่ แต่ไม่ใช่แม่ดิฉันสักหน่อย นี่คือเรียมที่ไม่พูดกูมึง แต่ยังดำนาจับปลาทำกับข้าวได้ เรียมที่หัวสมัยใหม่แต่ก็เคารพรักเจ้าพ่อไทร นี่คือเรียมที่จะไม่พูดว่าผัวฉันตายแล้ว (มันระคายปากเกินไป) แต่ตายตามขวัญด้วยการยึดถือคุณธรรมความรัก

เรียมคือภาพสมบูรณ์พร้อมของสำนึกรักบ้านเกิด การอยู่กินอย่างพอเพียง อย่าให้พวกผู้ดีพระนครมาหาประโยชน์หลอกใช้ แต่เรียมก็ไกลออกจากบ้านนอกของตัวเอง ไม่เสวนากับพวกพ่อพวกพี่เริญ เรียมพยายามจะเอาแม่รวยที่ไม่เห็นเรียมเป็นเรียม กับแม่ทองคำเปลวที่เห็นเรียมเป็นภาพโฉมยง เรียมสร้างสัตว์ประหลาดขึ้นมาตัวหนึ่งที่รับเอาภาพเรียมของรวยกับโฉมยงของทองคำเปลวมาปะติดกันอย่างทื่อๆ ภายใต้วาทกรรมชุดหนึ่ง

เรียมของหม่อมจึงคือภาพฝันอันสมบูรณ์ถึงจุดถะถั่งหลั่งล้น เรียมของหม่อมสอดรับอยู่ในภาพฝันของท้องทุ่งที่หม่อมประดิษฐ์ขึ้น เรียมที่สวมงอบเสื้อแขนกระบอกอย่างไม่ขัดเขินพอๆ กับที่จะสวมชุดสมสมัยเต้นรำได้ไม่เคอะเขิน กล่าวถึงที่สุด เรียมคืออะไร เรียมคือนางเอกหนังไทยที่สมบูรณ์แบบที่เราเห็นและเอาใจช่วยในละครหลังข่าว

เรียมคือพจมาน ของ ก.สุรางคนางค์ (ในเวอร์ชั่นละคร) เรียมคือมัสยา ของพนมเทียน (ในเวอร์ชั่นละคร) เรียมคือภาพพาฝันของคนชนชั้นกลางใหม่จำนวนมาก หญิงบ้านนอกที่พกเอาความซื่อบริสุทธิ์ แบบบ้านนอก ความสามารถเอาตัวรอด ความมีน้ำใจแบบบ้านนอก เอามารวมเข้ากับความสามารถและจริตแบบคนกรุง ในละครเหล่านี้ ฉากหลักมักคือตัวละครนางร้ายแกล้งนางเอกด้วยการหวังจะเห็นเธอทำเปิ่นในงานเลี้ยง แต่ปรากฏว่าเธอพูดได้สามภาษา กินอาหารตะวันตกและเต้นรำเป็น ในขณะเดียวกันก็ยังทำกับข้าวได้ พูดจาสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน

เรียมได้สร้างสัตว์ประหลาดขึ้นสำเร็จและมันคือภาพพาฝันของคนชั้นกลางทั้งหมด ภาพที่แกว่งไปมาระหว่างบ้านของคุณนายทองคำเปลว (ฝ่ายอักษะ before it was cool นุ่งกิโมโนก่อนจอมพลป.สมยอมญี่ปุ่น) และท้องทุ่งสีทองโลโม่คินโฟล์ค นี่คือเรียมที่เราควรเป็น เรียมที่เราฝันจะเป็น เรียมที่ไม่มีจริง

‘แผลเก่า’ ของหม่อมจึงไม่มีความจำเป็นที่จะใช้สายตาของขวัญผู้แสนซื่อใสไร้เดียงสา รักอย่างซื่อๆ ตายอย่างโง่ๆ อีกต่อไป หรือแม้แต่สายตาพวกเปลี่ยนระบอบอย่างคุณสมชายที่ร้ายกาจและนำมาซึ่งโศกนาฏกรรม สายตาของหนังคือการต่อสู้ นับถือ ยอมรับกันระหว่างเรียมกับทองคำเปลว การยอมรับและขัดขืนและเอาชนะทองคำเปลวคือหัวใจทั้งหมดของ ‘แผลเก่า’ ฉบับนี้ ไม่ใช่ความรักของขวัญเรียมอีกต่อไป

‘แผลเก่า’ ฉบับนี้จึงไม่ใช่แผลของอกที่กลัดหนองพี่หมองดั่งคลองแสนแสบ แต่คือแผลของภาวะ เรียมเหลือทนแล้วนั่น ขวัญของเรียม!

น่าเสียดายที่ภาพยนตร์ดัดแปลงเรื่องต่อมาของหม่อมน้อยอย่าง ‘แม่เบี้ย’ (2015) ไม่ประสบความสำเร็จในแทบทุกมิติ (แม้จะไปกันได้ในแง่ของการโฟกัสตัวละครหญิงร่านอีกเช่นเคย) แต่ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับสิ่งที่หม่อมน้อยเลือกจะพูดหรือไม่ ถึงที่สุด นี่คือหนังไทยกลุ่มที่น่าสนใจที่สุด กล้าหาญที่สุด ทั้งในแง่ของการกล้าตีความใหม่ ขยายขอบเขตของเรื่องออกไป หรือการพูดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อจริงๆ อย่างไม่มิดเม้ม ไม่ว่าสิ่งที่เชื่อนั้นจะเป็นสิ่งที่ค้านกับสายตาผู้อื่นก็ตาม ดังนั้นในสายตาของผู้เขียน หนังชุดนี้คือหนังดัดแปลงจากวรรณกรรมที่ไปไกลที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์หนังไทย

รวมหนัง ‘อิหยังวะ’ บนบ็อกซ์ออฟฟิศอเมริกาช่วงโควิด

พอโรงหนังในอเมริกายังไม่พร้อมเปิดให้บริการได้ ผลเลยกลายเป็นว่าหนังอันดับ 1 บ็อกซ์ออฟฟิศในช่วงเวลาที่ควรจะเคยเป็นของ Black Widow และ Wonder Woman 1984 เลยเต็มไปด้วยหนัง ‘อิหยังวะ’ เหล่านี้


1. Unsubscribe

เรื่องเริ่มต้นจาก เอริก ทาแบค อดีตโปรดิวเซอร์คลิปไวรัลของ BuzzFeed ส่งข้อความหาเพื่อน คริสเตียน นิลส์สัน ว่ามาทำหนังขึ้นอันดับ 1 บ็อกซ์ออฟฟิศในช่วงที่ไม่มีหนังฉายกันเถอะ เกิดเป็นหนังที่ทำผ่านโปรแกรม Zoom บันทึกการสังสรรค์ในหมู่เพื่อนที่จู่ๆก็มีบุคคลปริศนาโผล่มาร่วมวง หนังยาวแค่ 30 นาที ไม่มีทุนสร้างเลย แต่อาศัยเช่าโรงหนังและซื้อตั๋วทุกที่นั่งเอง ทำให้มีบันทึกรายได้ 25,488 เหรียญฯ ที่เข้ากระเป๋าพวกเขาโดยไม่แบ่งโรง (เพราะเช่าไปแล้ว) ขึ้นอันดับ 1 บ็อกซ์ออฟฟิศเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ได้สำเร็จ เป็นความสะใจเล็กๆ ของพวกเขาเพราะช่วงเดียวกันของปีก่อน อันดับ 1 คือ The Secret Life of Pets 2 ที่ทำรายได้รวม 430 ล้านเหรียญฯ


2. The Wretched

หนังสยองขวัญทุนต่ำที่ยืน 1 บ็อกซ์ออฟฟิศมานาน 8 สัปดาห์แล้ว (โดนโค่นไปหนึ่งวันเพราะ Unsubscribe. ละบางวันโดย Becky ) โดยค่าตั๋วมาจากโรงหนังไดรฟ์อินที่เปิดให้บริการทั้งหมด หนังว่าด้วยเด็กหนุ่มที่ค้นพบว่าชายป่าข้างบ้านมีปีศาจซ่อนอยู่ และเขาต้องหยุดยั้งมัน งานของผู้กำกับโนเนม เบร็ตต์ และ ดรูว์ ที เพียร์ซ ที่ลงวิดีโอออนดีมานด์ไปแล้วด้วยซ้ำ จนถึงตอนนี้หนังทำเงินไปแล้ว 1.4 ล้านเหรียญฯ นอกจากนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นให้คนในอุตสาหกรรมฮอลลีวูดกลับมาทบทวนวัฒนธรรมโรงหนังไดรฟ์อินใหม่ด้วย


3. Becky

หนังที่เดิมทีมีกำหนดเปิดตัวในเทศกาลหนังไทรเบก้า แต่พอเทศกาลยกเลิกไป ค่ายเล็กๆ อย่าง ควิเวอร์ เลยส่งหนังลงวิดีโอออนดีมานด์ และเพิ่งเข้าฉายในโรงหนังไดรฟ์อินเมื่อ 5 มิถุนายน มันเป็นหนังที่เป็นคู่แข่งสมน้ำสมเนื้อกับ The Wretched ผลัดกันขึ้นอันดับ 1 อยู่หลายวัน ผลงานของ โจนาธาน ไมลอตต์ และ แคร์รี เมอร์เนียน ว่าด้วยเด็กน้อยในบ้านกลางป่าที่มีคนร้ายบุกเข้ามา (หลายคนบอกเป็นภาคสยองของ Home Alone)ตอนนี้หนังทำเงินไปกว่า 5.7 แสนเหรียญฯ และเคยขึ้นอันดับ 8 ยอดเช่าสูงสุดบน AppleTV ด้วย


หนังที่แม้ไม่เคยขึ้นอันดับ 1 แต่น่าสนใจ

Infamous หนังที่ เบลลา ธอร์น รับบทเป็นนางโจร ที่ร่วมมือกับแฟนหนุ่มออกโจรกรรมไปทั่วเมืองแล้วไลฟ์สดจนเป็นเซเลบ บางวันหนังเอาชนะ The Wretched เข้าฉายเมื่อ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา และขับเคี่ยวกับ Becky มันหยด ตอนยี้หนังทำเงินไปราว 2.2 แสนเหรียญฯ

วันผู้ลี้ภัยโลก: 5 หนังว่าด้วยผู้ลี้ภัยในแผ่นดินที่ไม่มีใครอ้าแขนรับ

“เราปักหมุดหมายให้วันผู้ลี้ภัยโลกในปีนี้ ไม่เป็นแค่เพียงการต่อกรกับวิกฤติโลกอย่างเดียวเท่านั้น และไม่ใช่แค่จำนวนผู้คนที่ถูกบังคับให้ต้องจากบ้านเกิด แต่โลกนี้ก็กำลังต่อสู้กับโควิด-19 อันเป็นโรคภัยที่ส่งผลกระทบต่อพวกเราทั้งปวง ยังให้เกิดปัญหาเรื่องสุขภาพที่ขยายตัวไปทั่ว รวมถึงกับผู้คนซึ่งแสนจะเปราะบางอย่างผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น ที่ยังต้องเผชิญหน้ากับความข้นแค้นซึ่งแพร่ระบาดอยู่ก่อนแล้วอีก”

ข้างต้นคือส่วนหนึ่งของแถลงการณ์วันผู้ลี้ภัยโลก (World Refugee Day) ของปี 2020 ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มิถุนายนของทุกปี จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ท่ามกลางสถานการณ์ของผู้พลัดถิ่นที่ยังพุ่งขึ้นสูงเพิ่มมากขึ้นทุกปี อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาการเมืองและความอยุติธรรมในแต่ละประเทศ

บ้านเราเองก็เช่นกัน มิหนำซ้ำยังอาจเลวร้ายเพราะจนถึงนาทีนี้ ข่าวคราวของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งในผู้ลี้ภัยจากผลทางการเมืองของไทยยังหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ปราศจากการติดตามหาจากภาครัฐหรือแม้แต่องค์กรที่ทำหน้าที่ด้านนี้โดยเฉพาะ

การลี้ภัยมันไม่ใช่เพียงแค่การจากบ้านออกเดินทางไปยังที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หากแต่มันหมายความถึงการโดนบังคับให้พลัดถิ่น ให้ออกห่างจากบ้านเกิด ครอบครัวและคนที่รัก หลายครั้งยังมีหวังจะได้กลับมาพบกันอีก และอีกหลายครั้งเช่นกันที่มันหมายความถึงการจากกันตลอดกาล

และนี่คือหนังที่ว่าด้วยผู้ลี้ภัยที่เราอยากแนะนำให้คุณได้ดู


Human Flow (2017, อ้ายเหว่ยเหว่ย)

สารคดีความยาวเกือบสองชั่วโมงครึ่งของเสด็จพ่อ อ้ายเหว่ยเหว่ย ที่ภายหลังทำหนังวิพากษ์สังคมอันตึงเครียดของจีนใน Fairytale (2008) และ Disturbing the Peace (2009) ทั้งยังวิจารณ์นโยบายและการปกครองของรัฐบาลจีนอย่างออกรสออกชาติจนถูกมองว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของทางการ ทั้งยังเป็นต้นเหตุให้เขาโดนริบพาสปอร์ตการเดินทาง ติดคุกในจีนและเมื่อพ้นออกมาได้ก็ยังไม่วายกลายเป็นผู้พลัดถิ่นเสียเองตรายจนได้พาสปอร์ตคืน หนังจึงเริ่มขึ้นผ่านสายตาของอ้ายทั้งในฐานะคนทำหนังและในฐานะอดีตผู้ลี้ภัยที่มองเข้าไปยังกลุ่มคนพลัดถิ่น แน่นอนว่าหลายล้านชีวิตไม่อาจโชคดีอย่างเขา (หากเราจะเรียกว่านั่นเป็น ‘โชค’ ได้) ที่ยังได้หวนคืนกลับบ้านเกิด กว่าครึ่งของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ลงเอยที่ค่ายผู้อพยพและอยู่ยาวเช่นนั้นตราบสิ้นอายุขัย

อ้ายเริ่มสนใจถ่ายทำหนังที่ว่าด้วยผู้ลี้ภัยครั้งแรกเมื่อคราวที่เขาออกเดินทางไปยังเกาะเลสบอส ประเทศกรีก ซึ่งมีผู้อพยพจำนวนมากใช้ชีวิตอยู่บนเรือ ลอยห่างออกไปจากแถบชายฝั่ง เขาจึงเริ่มต้นถ่ายทำและเก็บฟุตเตจด้วยกล้องไอโฟน ซึ่งในเวลาต่อมาได้ขยับขยายเป็นโปรเจ็กต์ยักษ์ของเขาด้วยการใช้ทีมงานกว่าร้อยชีวิต กล้องอีกนับร้อยตัวในการเดินทางไปยังแต่ละประเทศ เพื่อจะถ่ายทำผู้ลี้ภัยไร้ชื่อเสียงเรียงนามที่พลัดถิ่นจากบ้านเกิด ทั้งยังไม่มีพรมแดนใดจะต้อนรับ หลายคนตกอยู่ในสภาวะใช้ชีวิตอยู่บนเรือ ล่องไปตามน่านน้ำไกลสุดลูกหูลูกตา

สิ่งที่ทรงพลังมากที่สุดของ Human Flow จึงเป็นงานภาพอลังการที่อ้ายบรรจงถ่ายผู้คนมหาศาล ทะลักเข้าไปอยู่ในเรือลำน้อยและออกเดินทางไปยังเวิ้งทะเล แน่นอนว่าหนังอาจไม่ได้มุ่งมั่นนำเสนอ หาทางแก้ไขความขัดแย้งอันเป็นต้นตอของการลี้ภัย หากแต่จุดประสงค์สำคัญของอ้ายคือการบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนที่ถูกลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างเลือดเย็นโดยรัฐบาลในบ้านเกิดของพวกเขาเอง

อ้ายกล่าวถึงหนังเรื่องนี้ไว้เมื่อคราวที่มันออกฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิซว่า “นี่คือการพยายามทำความเข้าใจเรื่องราวของมนุษยชาติในยุคสมัยของเรา ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นมาโดยเชื่อมั่นในคุณค่าของสิทธิมนุษยชนเป็นที่สุด ในห้วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้ เราต้องอดกลั้นให้มากขึ้น เห็นอกเห็นใจกันให้มากขึ้น และเชื่อมั่นในตัวกันและกันให้มากขึ้นว่าเราล้วนเป็นหนึ่งเดียว มิเช่นนั้นแล้ว มนุษยชาติคงได้เผชิญกับวิกฤติที่หนักหนาว่านี้อย่างแน่นอน”


Seeking Refuge Ali’s Story: A Journey From Afghanistan (2013, แอนดี กลินน์)

แอนิเมชั่นขนาดสั้นความยาวเพียงสามนาทีครึ่งของช่อง BBC โดยเป็นหนึ่งในมินิซีรีส์เรื่อง ‘Seeking Refuge’ ที่ว่าด้วยการสำรวจชีวิตผู้ลี้ภัยในสหราชอาณาจักร ในเรื่องนี้จับจ้องไปยังชีวิตของ อาลี เด็กชายชาวอัฟกานิสถานที่ต้องลี้ภัยจากบ้านเกิดกับคุณย่า โดยทิ้งพ่อแม่ไว้ท่ามกลางจลาจลและสงครามที่บ้านเกิด และแม้เขาจะได้พบประสบการณ์ใหม่ๆ อันน่าตื่นตาตื่นในในสหราชอาณาจักร แต่บาดแผลสำคัญที่ไม่เคยได้รับการเยียวยาคือความรู้สึกที่เขาถูกบังคับให้ออกห่างจากพ่อแม่ ทั้งยังทิ้งสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ไว้ท่ามกลางอันตราย

Ali’s Story: A Journey From Afghanistan เป็นเพียงแอนิเมชั่นขนาดสั้นที่เล่าถึงห้วงอารมณ์แตกสลายของอาลี รวมทั้งโลกแห่งความวุ่นวายและสงครามของผู้ใหญ่ภายในสายตาของเด็กซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง ฉากที่น่าสะเทือนใจมากที่สุดคือเมื่อพ่อแม่ของอาลีถูกกักตัวที่ด่านตรวจและไม่ได้รับอนุญาตให้ ‘ข้ามฝั่ง’ เพื่อออกเดินทางไปยังดินแดนแห่งใหม่ อาลีจึงต้องทนมองดูพ่อแม่อยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังของอัฟกานิสถานซึ่งเขาจำต้องจากมาเพื่อ “ไปอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัยต่อชีวิตเรามากกว่านี้” ในยุโรป

ดูหนังได้ด้านล่าง


Fire at Sea (2016, จิอันฟรังโก โรซี)

สารคดีร่วมทุนสร้างสองสัญชาติ (อิตาลี-ฝรั่งเศส) ส่งผู้กำกับ จิอันฟรังโก โรซี คว้ารางวัลหมีทองคำจากเทศกาลหนังนานาชาติเบอร์ลิน ทั้งตัวหนังยังเข้าชิงออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยมด้วย

“มันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้โดยแท้ในการจะต้องเห็นเพื่อนมนุษย์เราล้มตายขณะออกเดินทางข้ามทะเลเพื่อหนีให้พ้นจากโศกนาฏกรรมที่บ้านเกิดของตัวเอง” จิอันฟรังโกกล่าวปิดท้ายเมื่อเขาขึ้นรับรางวัลหมีทองคำ

มีอยู่หลายเหตุผลที่ทำให้ Fire at Sea กลายเป็นสารคดีสำรวจชีวิตผู้อพยพที่นักวิจารณ์ชื่นชอบมากที่สุดเรื่องหนึ่งของปี หนึ่งในนั้นคือการที่มันไม่ได้เล่าเรื่องของผู้อพยพแต่เพียงฝั่งเดียว หากยังเล่าถึงผู้คนที่รายล้อมพวกเขาด้วย โดยหนังปักหลักที่เกาะลัมเปดูซา, อิตาลี อันเป็นป้อมปราการแรกที่จะเปิดรับผู้อพยพเข้าสู่ทวีปยุโรป เกาะจึงท่วมท้นไปด้วยชาวพื้นเมืองและผู้อพยพที่ต้องเรียนรู้และอยู่ด้วยกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  โดยใจกลางของเรื่องคือนายแพทย์ชาวเกาะที่ต้อนรับและดูแลผู้อพยพจากแอฟริกาเหนือ ควบคู่กันไปกับเส้นเรื่องที่มองจากสายตาของ ซามูเอล พูคิลโล เด็กชายที่พบเจอและผูกสัมพันธ์กับผู้อพยพชาวไนจีเรีย

หนังสำรวจประเด็นข้อพิพาททางการเมืองในแอฟริกาไม่ลึกนัก และนั่นก็ไม่ใช่หัวใจสำคัญของหนังด้วย เนื่องจากประเด็นหลักของมันคือการตั้งใจจะชี้ให้เห็นสภาพความเป็นอยู่และความเป็นมนุษย์ที่ถูกริบเอาไปอย่างเลือดเย็นของเหล่าผู้อพยพกว่าแปดร้อยชีวิต -ที่ล่องเรือมาไกลลิบ เสบียงร่อยหรอ กระหายน้ำและในบางรายยังได้รับบาดเจ็บรุนแรง- ขณะที่พวกเขาครวญเพลงถึงบ้านเกิดตัวเองในวันที่พายุโหมกระหน่ำเกาะลัมเปดูซา


กระเบนราหู (2018, พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง)

“แด่ชาวโรฮิงญา” คือข้อความเปิดเรื่องของหนังไทยเรื่องแรกที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย Orizzonti จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซอย่าง ‘กระเบนราหู’ หนังเรื่องแรกของ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง

แก่นหลักของเรื่องก็ดังเช่นข้อความแรกที่ปรากฏในหนัง นั่นคือการสำรวจปัญหาและชีวิตของผู้อพยพชาวโรฮิงญาในประเทศไทย ผ่านเรื่องราวของชายชาวประมงที่เข้าไปช่วยเหลือชายอีกคนที่ถูกน้ำซัดพัดเข้ามายังเกาะแห่งหนึ่ง ก่อนจะค่อยๆ ‘กลาย’ เป็นคนในเกาะนั้นเสียเอง โดยตลอดทั้งเรื่อง เขาไม่เคยแม้ได้ปริปากพูดแสดงความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไปพร้อมกันนั้น พุทธิพงษ์ยังถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ของตัวละครหลักทั้งคู่ผ่านงานภาพแสนวิจิตร

‘กระเบนราหู’ ไม่ได้วางตัวเองเป็นหนังที่สำรวจข้อเท็จจริงหรือความเป็นอยู่อันแร้นแค้นในเชิงข้อมูลของชาวโรฮิงญา หากแต่มันมุ่งหน้าเล่าถึงสุ้มเสียงอันเงียบเชียบและไร้อำนาจของคนพลัดถิ่น ที่ไม่ว่าจะในบ้านเกิดของตัวเองหรือในที่แห่งใหม่ ก็ไม่มีโอกาสได้เอ่ยปากแสดงความเห็นหรือตัวตน อัตลักษณ์ใดๆ ให้ใครได้ยิน มันจึงเป็นหนังที่เล่าถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างละเมียดและชวนหัวใจสลายถึงความเปราะบางและความเลือดเย็นของเราเองไปพร้อมๆ กัน

ดูหนังได้ใน vimeo on demand หรือสั่งซื้อแผ่นทางเพจของหนัง


After Spring (2016, เอลเลน มาร์ติเนซ กับ สเตฟ ชิง)

สารคดีที่จับจ้องไปยังคนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองในซีเรีย นับตั้งแต่กลางปี 2011 ที่การต่อสู้ปะทุขึ้น ประชากรชาวซีเรียกว่าสี่แสนคนอพยพไปจอร์แดนและต้องอาศัยอยู่ในเต้นท์หรือรถบ้าน จนมันขยับมาเป็นสังคมอย่างเต็มรูปแบบในเวลาต่อมา

แม้ว่าด้านหนึ่ง After Spring หาได้เป็นอะไรไปมากกว่าบทบันทึกช่วงเวลาที่ผู้อพยพต้องใช้ชีวิตในรถบ้าน และสร้างสังคมของพวกเขาขึ้นมาเองในเวิ้งกว้างสุดลูกหูลูกตาที่มีแต่ผู้อพยพแห่งนั้น แต่ในอีกด้าน มันก็ได้บันทึกเสี้ยวเวลาชีวิตของผู้คนมากมาย ทั้งผู้อพยพใหม่ที่ดวงตายังเรื่อแดงด้วยความชอกช้ำ คนที่พิการหรือบาดเจ็บสาหัสเพราะสงคราม เรื่อยไปจนคนที่อยู่มานานเสียจนแววตาชินชาและไม่ไยดีในการจะออกกล้องหรือแม้แต่มองหาความหวัง สีหน้าเหนื่อยหน่ายของเหล่าวัยรุ่นที่ฆ่าเวลาด้วยการออกเดินไปรอบๆ ลานกว้าง คอยมองดูเหล่าเด็กเล็กซึ่งสมควรจะอยู่ในรั้วโรงเรียนวิ่งเล่นอยู่ห่างออกไป พวกเขาไม่รู้จะจัดวางตัวเองอย่างไรกับโลกใหม่ที่ไม่มีพื้นที่ให้พวกเขา หลายคนล้มเลิกความตั้งใจจะไปโรงเรียน และอีกมากที่ใช้พลังงานของคนหุ่มสาวไปกับการก่อปัญหาและต่อยตี

After Spring มันอาจหมายถึงความปรารถนาของชาวซีเรียที่อยากย้ายถิ่นฐานจากค่ายผู้ลี้ภัยในจอร์แดนกลับไปสู่บ้านเกิดหลังฤดูใบไม้ผลิ พวกเขาทำได้เพียงเฝ้ารอสถานการณ์ในบ้านเกิดสงบลงเพื่อจะได้กลับไปมีชีวิตอยู่ที่นั่น -แต่ดูเหมือนฤดูใบไม้ผลิจะยังมาไม่ถึง- และไม่เคยมาถึงพวกเขาสักทีในโลกสมัยใหม่ ในสายตาสหประชาชาติ และในสายตาประชาคมโลกที่เฝ้ามองพวกเขาล้มตายเงียบเชียบในแต่ละวัน

ดูหนังได้ที่ Doc Club On Demand

ไปก่อนนะอลาสก้า อำลารถบัสแห่ง Into the Wild

บนโปสเตอร์หนัง Into the Wild ของ ฌอน เพนน์ จะเห็น เอมิล เฮิร์ช ที่รับบทเป็น คริสโตเฟอร์ แมคแคนด์เลสส์ นั่งอยู่บนรสบัสคันหนึ่ง ซึ่งความสำคัญคือมันเป็นรถคันที่พาเขาไปพบความหมายของชีวิต โดยหนังดัดแปลงจากบทบันทึกของ จอน คราเคาเออร์ ที่เล่าชีวิตจริงของแมคแคนด์เลสส์ ชายหนุ่มผู้ละทิ้งทุกสิ่งตะลอนไปทั่วอเมริกาเหนือเพื่อค้นหาความหมายของชีวิต ก่อนจะหายเข้าไปในป่าลึกของอลาสก้ากับรถบัสคันนี้

รถบัสคันนี้มีอยู่จริง มันถูกจอดทิ้งไว้ตั้งแต่ปี 1992 ในป่าลึกที่อยู่ห่างออกไปจากไฮเวย์ปาร์คถึง 25 ไมล์ ถนนเข้าไปไม่ถึง สัญญาณโทรศัพท์ไม่มี และบางทีน้ำป่าก็ไหลผ่าน แต่พอมันเป็นแลนด์มาร์คของอิสรภาพที่ถูกนำเสนอผ่านหนังและหนังสือ มันจึงเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จนมีคนได้รับอุบัติเหตุและเสียชีวิตจำนวนมาก

หน่วยรักษาอุทยานอลาสก้าจึงจำเป็นต้องขนย้ายรถบัสคันดังกล่าวออกมาจากพื้นที่ตรงนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีนักท่องเที่ยวเสี่ยงอันตรายเข้าไปถ่ายรูปกับรถ ด้วยการใช้เฮลิคอปเตอร์เข้าไปยกรถออกมา

การขนย้ายรถบัสออกมาจากพื้นที่เสี่ยงภัย เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กู้ภัย ดังนั้นจึงไม่มีค่าใช้จ่ายงอกเงยจากการณ์นี้ ก่อนจะนำไปเก็บรักษาในพื้นที่ที่ปลอดภัยก่อนที่จะตัดสินใจว่าควรทำอย่างไรกับมัน

“เราอยากให้นักท่องเที่ยวมีความสุขกับธรรมชาติในอลาสก้านะ และเราก็รู้ดีว่ารสบัสคันนี้โด่งดังแค่ไหน” คอร์ริ ฟิเก้ เจ้าหน้าที่อุทยานกล่าว “แต่รถคันนี้มันทรุดโทรมและอันตรายมาก มันไม่คุ้มถ้าจะต้องแลกมาด้วยชีวิตของนักท่องเที่ยว ที่ประเมินค่าไม่ได้”

คริสเตน สจวร์ต – เจ้าหญิงไดอาน่า ในหนัง ปาโบล ลาร์เรน และเหตุผลว่าทำไมใครๆ ก็ทำหนังเกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษได้เสมอ

โปรเจกต์หนึ่งที่น่าตื่นเต้นในเวลานี้ คือ Spencer หนังเรื่องล่าสุดของ ปาโบล ลาร์เรน ซึ่งเล่าเรื่องราวในสามวันสำคัญช่วงคริสต์มาสสุดท้ายของ เจ้าหญิงไดอาน่า เมื่อเธอทบทวนแล้วว่าชีวิตสมรสกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลสคงไปต่อไม่ได้อีกแล้ว จึงนำมาสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญที่อาจทำให้เธอหมดโอกาสขึ้นเป็นราชินีคนต่อไป

หากใครเคยดู Jackie ผลงานปี 2016 ของลาร์เรน คงพอนึกออกว่าหนังจะน่าสนใจอย่างไร เพราะไม่ใช่แค่การทำการบ้านกับประวัติศาสตร์อย่างเข้มข้น เขายังสำรวจความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงที่โลกไม่ลืมได้ลึกซึ้งด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือก คริสเตน สจวร์ต มารับบทสำคัญนี้ ยิ่งทำให้โปรเจกต์ได้รับการจับตามหาศาล จนเป็นหนึ่งในหนังราคาสูงของตลาดหนังในตอนนี้ ลาร์เรนเล่าว่า “การจะทำหนังเรื่องนี้ให้ดี สิ่งสำคัญคือการทำให้ตัวละครนี้ดูน่าค้นหา เธอดูลึกลับ มีความเปราะบางและเข้มแข็งพอกัน นี่คือสิ่งที่เราต้องการ องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้นึกถึงสจวร์ต ซึ่งวิธีที่เธอเขาถึงตัวละครก็ช่างงดงาม ผมว่าเธอจะทำออกมาได้น่าสนใจเพราะมันเป็นพลังจากธรรมชาติของเธอเอง”

การตีความตัวละครเจ้าหญิงไดอาน่าของลาเรนแตกต่างสิ้นเชิงกับเวอร์ชันของ โอลิเวอร์ เฮิร์ชบิเกล ใน Diana (2013) ที่ นาโอมิ วัตตส์ เป็นเจ้าหญิงผู้เลอโฉมท่ามกลางความกระหายข่าวของสื่อมวลชน แน่นอนว่าหนังทั้งสองเรื่องย่อมหลีกไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึงตัวละครในราชวงศ์ที่ยังมีชีวิตอยู่

ในราชวงศ์อังกฤษยังมีสมาชิกอีกมากมายจนพอจะทำเป็นซีรีส์ The Crown ได้ถึง 5 ซีซัน (ถ่ายทำถึงซีซัน 4 แล้ว) และเมื่อคนทำหนังเลือกสำรวจความลึกลับในราชวงศ์ ก็ย่อมสะเทือนมาถึงการบริหารงานของรัฐบาล เกิดเป็นผลงานที่ล้วนพูดถึงความขัดแย้งในพระราชวัง สภาผู้แทนราษฎร และประชาชน อันเป็นความสัมพันธ์ที่ถ้ามองตามกรอบของบ้านเราแล้ว ก็แสนจะหมิ่นเหม่เปราะบาง แต่ทำไมคนทำหนังถึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์ระบบเจ้าขุนมูลนายอังกฤษผ่านหนังได้เสมอมา

เฮเลน มิเรน คือนักแสดงที่รับบท สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มาแล้ว 2 ครั้ง คือ The Queen หนังปี 2006 ของ สตีเฟน เฟรียส์ ที่ส่งให้เธอคว้าออสการ์ และละครเวที The Audience ปี 2013 ที่ส่งให้เธอคว้ารางวัลโทนี่ จนแม้แต่เราเองยังคิดว่ามิเรนคงมีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีมามากพอ จนสามารถสวมบทบาทเป็นพระองค์ได้อย่างแนบเนียน แต่ความเป็นจริงแล้วเธอเคยเข้าเฝ้าแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แถมยังอยู่แค่รอบนอกด้วย

มิเรนบอกว่า “พระราชินีและราชวงศ์มีความเปิดกว้าง เพราะเราเป็นประเทศที่มีเสรีภาพในการแสดงออกอยู่แล้ว ดังนั้นเลยมีหนังหลายเรื่องที่แสดงภาพของราชวงศ์ที่หลากหลาย บ้างแสดงความเป็นนาซี และกล่าวร้ายต่างๆ นานา แต่พระองค์ไม่เคยแสดงความเห็นอะไรออกมา ได้แต่ปล่อยให้มันเกิดขึ้นต่อไปไม่จำเป็นต้องเรียกร้องความชอบธรรมให้ตัวเอง เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ที่ราชวงศ์จะต้องมาตอบโต้ต่อโลกแห่งการวิพากษ์วิจารณ์”

ขณะที่ สตีเฟน เฟรียส์ ผกก. The Queen บอกว่า “ราชวงศ์มีอำนาจล้นฟ้าและมีความอิ่มตัวในสถานะอยู่แล้ว ไม่มีเหตุอันใดที่พวกเขาจะต้องลดตัวลงมาต่อสู้กับคนทำหนังธรรมดาๆ อย่างพวกเรา พวกเขาจะทำไปทำไม? ชนะแล้วได้อะไร? ไม่ต่างจากสิ่งที่อยู่ใน The Queen พวกเขาต้องรักษาระยะห่างกับราษฎรเอาไว้”

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงไม่เคยมีเชื้อพระวงศ์พระองค์ใดในราชวงศ์อังกฤษแสดงท่าทีต่อต้านหรือแม้แต่สนับสนุนหนังที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันเลยแม้แต่ครั้งเดียว และหนึ่งในคนทำหนังที่ได้ชื่อว่าสำรวจราชวงศ์อังกฤษมาแล้วปรุโปร่งคือ ปีเตอร์ มอร์แกน เขาทั้งเขียนบท The Queen, The Audience และเป็นผู้สร้าง The Crown ด้วยนั้น เล่าว่าสิ่งที่เขาเห็นคือชีวิตในรั้วในวังของเชื้อพระวงศ์ สุดท้ายก็คาบเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ นี่คือความเย้ายวนของนักเล่าเรื่องอย่างเขา ในการสร้างความน่าเชื่อถือบนตัวละครที่มีระยะทางชนชั้นกับคนดูมากล้นอย่างนี้

“ผมทำงานทุกชิ้นด้วยความรับผิดชอบต่อเรื่องราวที่เล่าอย่างสูงสุด แต่บางครั้งคนเขียนบทก็จำต้องใส่จินตนาการลงไปด้วย แต่ผมว่าคนดูคาดหวังและเปิดรับสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว ดีไม่ดี เรื่องแต่งให้ความความเคารพต่อสถาบันมากเสียยิ่งกว่าประวัติศาสตร์ทางการเสียด้วยซ้ำ”


อ้างอิง

Pablo Larraín and Kristen Stewart to Give Princess Diana the ‘Jackie’ Treatment in New Film

The royal system is contradictory – but it works.

A Quiet Audience: Why Queen Elizabeth II Has Never Commented on Helen Mirren’s Performance of Her

Fiction is often more honest than official history: The Crown creator Peter Morgan

เพราะการทำสารคดี เรามีโอกาสแค่ One Take

หลังจาก Lovesuck (2015) ผลงานกำกับหนังเรื่องแรกของ โดนัท – มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล ยังคงสนุกกับการทำงานเบื้องหลังในหลากหลายรูปแบบและแพล็ตฟอร์ม ทั้งละครโทรทัศน์อย่าง ‘เดือนประดับดาว’ (2017), หนังสั้น ‘กลับบ้าน’ ในโปรเจกต์ค่านิยม 12 ประการของรัฐบาล และหนังสารคดี The Journey ‘บันทึกทางไกล..ถึงพ่อ’ (2017) 

จนมาถึงโปรเจกต์ล่าสุด BNK48: One Take การกำกับหนังสารคดีเรื่องที่สองของเธอ และยังเป็นหนังสารคดีภาคต่อของกลุ่มไอดอลอย่าง BNK48 ถัดจาก BNK48: Girls Don’t Cry (2018, นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) ที่ถูกจับตามองและคาดหวังจากเหล่าแฟนคลับ เพราะมันคือบทบันทึกช่วงเวลาทองคำในการเดินทางสู่ความนิยมสูงสุดในไทยของ BNK48 ผ่านเหตุการณ์สำคัญคือ BNK48 6th Single Senbatsu General Election ปี 2019 หรืออีเวนท์การประกาศผลการเลือกตั้ง ที่บ่งบอกว่าสมาชิกคนใดของกลุ่มจะได้รับการสนับสนุนจากแฟนๆ มากที่สุด

แม้ ณ ปัจจุบันเราจะรับรู้บทสรุปไปเรียบร้อยแล้ว แต่ BNK48: One Take ยังคงมีคุณค่าในตัวเอง ในฐานะบทบันทึกช่วงเวลาความสุข หยาดเหงื่อ และคราบน้ำตาของการเติบโต ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวในชีวิตของพวกเธอ …ไม่ต่างกับการทำสารคดีที่มีโอกาสบันทึกช่วงเวลาเหล่านั้นได้เพียง “เทคเดียว” เท่านั้น

ความท้าทายใหม่ที่เรียกว่า “หนังสารคดี”

ช่วงเวลาคาบเกี่ยวตั้งแต่การทำหนังอิสระเรื่องแรกอย่าง Lovesuck ต่อเนื่องถึงการทำละครเรื่องแรก กลายเป็นช่วงเวลาที่มนัสนันท์รู้สึกอิ่มตัวกับการแสดง และมองหาความสนใจในการทำงานใหม่ๆ ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับความนิยมในการชมหนังสารคดีในโรงของไทยเริ่มมีมากขึ้น จนทำให้เธอได้ค้นพบกับความสนุกของหนังสารคดีเป็นครั้งแรก

“ก่อนหน้านั้นในแง่การรับรู้ของคนส่วนใหญ่จะมองว่าหนังสารคดีมันน่าเบื่อ จนเราได้เริ่มดูหนังที่ทาง Documentary Club เอามาฉายก็ได้รู้ว่าหนังสารคดีมันดูง่ายก็มีอยู่นะ อย่างเช่นเรื่องที่เราชอบมากๆ อย่าง All Things Must Pass (2015, โคลิน แฮงค์ส) เพราะว่าเราก็เกิดในยุค Tower Records แล้วผ่านช่วงเวลานั้นมา มันก็ยิ่งทำให้เราดูสนุกและอินกับมันมาก” 

จนในปี 2016 ณ ช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าจากการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เป็นโอกาสที่ทำให้เธอ ได้นำความสนใจส่วนตัวออกเดินทางไปเก็บบันทึกและเล่ามันออกมาในรูปแบบหนังสารคดีเป็นครั้งแรก อย่าง The Journey ‘บันทึกทางไกล..ถึงพ่อ’

เมื่ออดีตนักแสดงวัยรุ่นมาทำสารคดีไอดอล

หลังจากการฉาย The Journey ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ทาง BNK48 Films (หรือปัจจุบันคือ iAM Films) กำลังหาคนมาทำสารคดีเรื่องที่สองของ BNK48 อยู่ ก็ทำให้มนัสนันท์ได้พบกับ ต้อม – จิรัฐ บวรวัฒนะ CEO ของ BNK48 ในขณะนั้น ผ่านการแนะนำของ สุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ แห่งเครือ SF Cinema ที่ช่วยเหลือเธอในการนำหนังสารคดีเข้าฉายก่อนหน้านั้นนั่นเอง

“ตอนที่เราได้คุยกับพี่ต้อมตอนแรกๆ เราก็ยังตัดสินใจไม่ได้นะว่าจะทำ เพราะเราเองก็รู้จัก BNK48 น้อยมาก ในขณะเดียวกัน คุณโบว์ – พรมนัส รัตนวิชช์ (โปรดิวเซอร์ที่ทำงานกับเธอมาตั้งแต่หนังเรื่องแรก และยังร่วมเขียนบทหนังสารคดีทั้งสองเรื่อง) ก็จะคุยกับเราตลอดเพื่อค้นหาแง่มุมที่เราอาจจะสนใจ ซึ่งเราก็คุยกับทางพี่ต้อมหลายรอบมาก จนเราเจอมุมที่เราสนใจเกี่ยวกับ BNK48 ได้ นั่นคือ ‘ความมุ่งมั่นในการตามหาความฝันของเด็กสาว’ ก็เลยตกลงทำในที่สุด”

เมื่อมองในมุมของคนที่เคยผ่านช่วงเวลาในการเข้าสู่วงการบันเทิงตั้งแต่วัยรุ่นมาก่อน สำหรับมนัสนันท์แล้วความกดดันจากการเป็นคนสาธารณะที่เธอเคยเจอนั้น แตกต่างจากยุคปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง มันเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย การมาของโซเซียลมีเดียมันทำให้ทุกอย่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ในช่วงเวลาของเรา เวลามีข่าวในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร โอกาสที่เราจะออกมาแก้ข่าวหรือพูดด้วยตนเองมันก็ยากกว่า ขณะที่ในยุคนี้การวิพากษ์วิจารณ์มันเกิดจากใครก็ได้ที่เราไม่รู้จัก แต่เราก็ยังมีช่องทางที่จะออกมาชี้แจงหรือสื่อสารมันด้วยตนเองได้ สำหรับเราสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจตัวน้องๆ ได้คือความเป็นผู้หญิงด้วยกันนี่ละ”

“ในช่วงเวลาของเรา เวลามีข่าวในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร โอกาสที่เราจะออกมาแก้ข่าวหรือพูดด้วยตนเองมันก็ยากกว่า ขณะที่ในยุคนี้การวิพากษ์วิจารณ์มันเกิดจากใครก็ได้ที่เราไม่รู้จัก แต่เราก็ยังมีช่องทางที่จะออกมาชี้แจงหรือสื่อสารมันด้วยตนเองได้”

นอกจากนี้ เพื่อให้เข้าใจถึงวัฒนธรรมไอดอล 48Group ที่มีต้นกำเนิดจาก AKB48 ในญี่ปุ่น มนัสนันท์ตามไปเก็บฟุตเตจในช่วงเวลาที่สมาชิกไปร่วมงาน AKB48 53rd Single World Senbatsu General Election (2018) หรือการเลือกตั้งรวมประจำปีของเหล่าไอดอลใน 48Group ทั้งหมด และยังได้สัมภาษณ์ทีมงานของ 48Group ในญี่ปุ่น ซึ่งช่วยให้เธอและผู้ชมหน้าใหม่เข้าใจในวัฒนธรรมไอดอลมากขึ้น

ทำสารคดีด้วยมุมมองของผู้หญิง

เมื่อได้ธีมหลักของตัวสารคดีที่ต้องการแล้ว มนัสนันท์กับพรมนัสจึงเริ่มแผนการถ่ายทำและวางโครงสร้างในการเล่าเรื่อง โดยแบ่งออกเป็น 5 องก์ ผ่านช่วงเวลาตั้งแต่การประกาศสมาชิก BNK48 รุ่นที่สอง ไปจนถึงช่วงประกาศผล BNK48 6th Single Senbatsu General Election ปี 2019 

กระนั้นความท้าทายสำคัญของสารคดีเรื่องนี้ คือเหตุการณ์ในเรื่องล้วนเคยผ่านตาผู้ชมโดยเฉพาะแฟนคลับมาแล้วในหลากมุมมอง นั่นจึงทำให้มนัสนันท์มองหาสิ่งที่เรียกว่า “ฟุตเตจลับ” หรือภาพที่ไม่เคยเผยแพร่ ทั้งในแง่ของการบันทึกเบื้องหลังการทำงาน และการสร้างสถานการณ์พิเศษขึ้นเพื่อบันทึกพฤติกรรมที่ไม่มีทางเห็นในเวลาปกติ อย่างการสร้าง “คลาสสอนการแสดง” ขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้

นิรมล รอสส์ -ผู้กำกับภาพ

“ด้วยเวลาในการเก็บฟุตเตจต่างๆ ค่อนข้างมีจำกัด ไปจนถึงเรามีโอกาสที่จะนั่งสัมภาษณ์น้องแบบเดี่ยวๆ ทั้ง 51 คนแค่ครั้งเดียว เราเลยสร้างคลาสสอนการแสดงขึ้นมาเพื่อจะมีโอกาสในเก็บโมเมนต์พิเศษจากน้องๆ มากขึ้น ซึ่งแรกน้องๆ อาจจะยังงงว่ามาทำอะไรกัน จนสักพักก็เริ่มจะรู้ตัวเหมือนกัน คือเราอยากได้โมเมนต์ของผู้หญิง ที่มีทั้งช่วงเวลาที่น่ารัก และก็มีวันที่เขาไม่น่ารัก บางวันก็เหนื่อยแต่ก็ต้องยิ้มเพื่อออกไปสู้ต่อ ซึ่งเราก็พยายามจะเก็บโมเมนต์เหล่านั้นให้ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด” โดยทีมงาน BNK48: One Take มีผู้กำกับภาพหลักคือ นิรมล รอสส์ ซึ่งเป็นคนเดียวกับ BNK48: Girls Don’t Cry รวมไปถึงทีมผู้กำกับภาพยังเป็นผู้หญิงทั้งหมดอีกด้วย

ในส่วนของการตัดต่อที่กินเวลายาวนาน​ ได้มีการเปลี่ยนทีมตัดต่อในช่วงแรก​มาเป็น แพร – อสมาภรณ์ สมัครพันธ์ (เคยร่วมตัดต่อ The Cave ‘นางนอน’ กับ ลี ชาตะเมธีกุล) ที่มาสานต่อในช่วงท้ายจนเสร็จสิ้น​ “เราว่าด้วยความที่แพรเองก็อยู่ในวัยที่ใกล้เคียงกับน้อง BNK48 มันเลยทำสามารถเลือกโมเมนต์ที่มันตรงกับสิ่งที่เราพยายามค้นหาในตอนแรกจนสำเร็จ”

สารคดีไทย Original Netflix เรื่องแรก

ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้แต่เดิมที่หนังสารคดี BNK48: One Take มีกำหนดเข้าฉายในโรงก่อน BNK48 9th Single Senbatsu General Election หรือการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ต้องยกเลิก บวกกับตัวหนังได้ขายสิทธิ์ในการเผยแพร่ทางสตรีมมิ่งให้ Netflix ไปแล้วล่วงหน้า ทำให้ตัวสารคดีกลายเป็น “สารคดีไทย Original Netflix” เรื่องแรกไปโดยปริยาย เนื่องจากเป็นการฉายครั้งแรกบน Netflix นั่นเอง
“จริงๆ ตอนที่มันมีสถานะเป็นหนังสารคดีเข้าโรง สำหรับเรามันก็กดดันเหมือนกัน แต่เมื่อมันกลายเป็นสารคดีไทย Original Netflix สำหรับเรามันคือโอกาสที่จะทำให้ผลงานจากคนทำหนังอิสระแบบเรา ไปสู่สายตาคนทั่วโลกพร้อมกัน ซึ่งในอนาคตคุณ อดัม เดล เดโอ (Adam Del Deo) รองประธานฝ่ายสารคดีออริจินัลของ Netflix ยังบอกว่าในอนาคตก็จะมีสารคดีไทยที่เป็น Original Netflix ตามมาอีกแน่นอน”


ดู BNK48: One Take ได้ใน Netflix

เหตุใดคนขาวจึงมีบทบาทเด่นในด้านการบริหารภาพยนตร์

สิ่งที่เหมือนกันระหว่างภาพยนตร์เรื่อง Moonlight, Get Out, 12 Years a Slave หรือแม้แต่ Black Panther คือต่างเป็นหนังเกี่ยวกับคนผิวดำ นำแสดงและสร้างสรรค์โดยคนผิวดำที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านรางวัล และบ็อกซ์ออฟฟิศ อย่างไรก็ดี สิ่งที่เหมือนกันอย่างน่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังในส่วนการบริหารจัดการส่วนใหญ่ ล้วนแต่เป็นคนผิวขาวทั้งสิ้น โดยในตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างของภาพยนตร์เรื่อง Moonlight จำนวน 10 คน เป็นคนผิวขาวเสีย 9 คน (ในจำนวนนี้รวมถึง แบรด พิทท์ด้วย) ขณะที่ภาพยนตร์เรื่อง Get Out จำนวนของผู้อำนวยการสร้างผิวขาวมีจำนวน 11 คนจากทั้งหมด 12 คน ส่วน 12 Years a Slave สัดส่วนของผู้อำนวยการสร้างผิวขาวมีจำนวนมากกว่าผู้อำนวยการสร้างผิวดำถึง 8:2

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนผิวขาวมีบทบาทเด่นในด้านงานบริหารภาพยนตร์ที่กำกับโดยคนผิวสี นำแสดงโดยคนผิวสี และมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับคนผิวสี ผู้เขียนขอวิเคราะห์ดังนี้

โครงสร้างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ถูกออกแบบโดยคนผิวขาว

หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อเมริกันที่เริ่มต้นในปี 1893 ภายหลังจากที่โธมัส อัลวาเอดิสัน (ซึ่งเป็นคนผิวขาว) ได้ผลิตเครื่องฉายภาพยนตร์คีเนโตสโคปและนำออกให้บริการแก่สาธารณะ [1] จนทำให้เกิดธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ซึ่งต่อมาพัฒนากลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีองค์ประกอบสำคัญประกอบด้วย ภาคการผลิต ภาคจัดจำหน่าย และภาคการเผยแพร่ จะพบว่าคนผิวสีอื่น โดยเฉพาะคนผิวดำแทบไม่มีบทบาทสำคัญในการก่อร่างสร้างอุตสาหกรรมเลยแม้แต่น้อย ทุกอย่างถูกออกแบบ ถูกกำหนดวาระโดยคนผิวขาวทั้งสิ้น

แม้ว่าในบางช่วงเวลา อุตสาหกรรมจะให้โอกาสคนผิวสีอื่นได้มีส่วนร่วมในกระบวนการบางส่วน เช่น การเกิดขึ้นของหนังชาติพันธ์ (race film) ซึ่งเป็นหนังที่เกี่ยวกับคนผิวดำ กำกับโดยคนผิวดำ และได้รับความนิยมในหมู่คนผิวดำในช่วงระหว่างปี 1915- 1952 แต่ภาพยนตร์เหล่านี้เกือบทั้งหมด ผลิต และลงทุนโดยบริษัทของคนผิวขาว ที่อยู่นอกฮอลลีวูด เช่น บริษัท Million Dollar Production ในช่วงทศวรรษที่ 1930 บริษัท Toddy Pictures ในทศวรรษที่ 1940 และบริษัท Ebony Film Company ที่มีสำนักงานอยู่ในชิคาโก้ [2] โดยเหตุผลสำคัญที่บริษัทเหล่านี้ ได้ลงทุนผลิตภาพยนตร์เกี่ยวกับคนผิวดำ หาใช่ความต้องการตอบโต้ฮอลลีวูดที่มักผลิตภาพยนตร์แบบฟอกขาว (white washing) ที่ให้นักแสดงผิวขาว สวมบทบาทคนผิวสี (คนผิวดำเสียส่วนใหญ่) [3] แต่เป็นเพราะตลาดภาพยนตร์สำหรับคนผิวดำกำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในเมืองใหญ่บางเมืองอย่างเช่น นิวยอร์ค และ ชิคาโก้ ต่างหาก 

ลักษณะเช่นนี้ ยังเกิดขึ้นกับหนังแนว Blaxploitation ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ชมผิวดำเป็นหลัก ในช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยจุดเด่นของหนังประเภทนี้คือการนำเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ “พลังสีดำ” หรือ Black Power ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองของกลุ่มคนผิวดำในช่วง 1960 เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมกันกับคนผิวขาว [4]

บริษัทสตูดิโอต่างๆ (ซึ่งผู้บริหารทั้งหมดเป็นผิวขาว) ได้สังเกตความเคลื่อนไหวเช่นนี้อย่างเงียบๆ และเมื่อเห็นการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้กลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม พวกเขาจึงไม่รอช้า ลงทุนผลิตภาพยนตร์ที่สอดรับกับกระแสสังคมที่เกิดขึ้นทันที ยกตัวอย่างเช่น บริษัท MGM ผลิตภาพยนตร์เรื่อง Shaft (1971) ว่าด้วยนักสืบเอกชนผิวดำที่ได้รับการว่าจ้างจากกลุ่มมาเฟียในชุมชนผิวดำ ให้ทำการช่วยเหลือลูกสาวที่ถูกลักพาตัวโดยหัวหน้าแก๊งอิตาเลียนคู่อริ และด้วยความที่หนังถูกผลิตโดยสตูดิโอใหญ่ จึงทำให้ประสบความสำเร็จไม่เฉพาะแค่กลุ่มผู้ชมผิวดำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ชมทั่วโลกอีกด้วย ส่งผลให้สตูดิโอรายอื่นๆ (ซึ่งแน่นอนว่าผู้บริหารผิวขาว) ตัดสินใจผลิตหนังแนว Blaxploitation ตามมาอีกหลายเรื่องตลอดทศวรรษที่ 1970 เช่น Superfly (1972) ซึ่งผลิตโดยค่ายวอร์เนอร์ บราเธอร์ส Foxy Brown (1974) โดยบริษัท American International Pictures เป็นต้น [5]

Systematic Racism : กระบวนการสกัดกั้นการเข้าถึงอำนาจบริหารของคนผิวดำในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

Systematic Racism หรือแปลเป็นไทยว่า การเหยียดผิวเชิงระบบ หมายถึงกระบวนการที่ทำให้ความเป็นผิวขาวที่สูงส่ง (white superiority) กลายเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นที่ยอมรับในสังคม การเหยียดผิวเชิงระบบอาจอยู่ในรูปของกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ที่ให้สิทธิพิเศษแก่คนผิวขาวมากกว่าคนเชื้อชาติอื่น [6] แม้แต่คนผิวขาวที่ต่อต้านการเหยียดผิว ก็อาจยอมรับการเหยียดผิวเชิงระบบโดยไม่รู้ตัว (เพราะตนเองได้ประโยชน์จากความเป็นคนผิวขาวเช่นกัน) ตัวอย่างของการเหยียดผิวเชิงระบบ จากการการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด ได้แก่กรณีจ้างงาน ชื่อที่ฟังดูแล้ว “เป็นคนขาว” (whitened) มักได้รับโอกาสถูกเรียกสัมภาษณ์งานมากกว่าชื่อที่ฟังดูแล้วไม่ขาว (unwhitened) [7]

ในวงการภาพยนตร์เช่นกัน การเหยียดผิวเชิงระบบอยู่ในรูปของการยอมรับว่าคนผิวขาวมีความเหมาะสมในการกำหนดนโยบาย มีความน่าเชื่อถือมากกว่าคนผิวอื่น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จากการสำรวจของหนังสือพิมพ์ Washington Post ในปี 2016 ถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติในกลุ่มผู้บริหารภาพยนตร์ฮอลลีวูด พบว่าในจำนวนผู้บริหารของบริษัทภาพยนตร์ต่างๆ กว่า 450 คน เป็นคนผิวขาวถึงร้อยละ 96 [8] และโปรเจกต์ที่ได้รับการอนุมัติส่วนใหญ่ มักเป็นโปรเจกต์ที่ผู้สร้างภาพยนตร์มีสีผิวเดียวกับผู้บริหาร หรือจะพูดให้ชัดก็คือ โอกาสที่โปรดิวเซอร์ผิวสีอื่นจะเสนอโปรเจกต์และได้รับการอนุมัติให้ทำนั้นมีความเป็นไปได้น้อยกว่าโปรเจกต์ที่คนผิวขาวเสนอ

ด้วยเหตุนี้ หากผู้สร้างภาพยนตร์ผิวดำ หรือ ผิวสีอื่นสักคนต้องการผลักดันโปรเจกต์หนังสักเรื่องให้ไปไกลกว่าแค่ความคิดในอากาศ ทางเดียวที่พวกเขาต้องทำก็คือ การแสวงหาโปรดิวเซอร์ผิวขาวสักคน เพื่อผลักดันให้โปรเจ็กต์เข้าถึงปัจจัยสำคัญที่สุดของการสร้างหนัง นั่นก็คือแหล่งเงินทุน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะเจอะเจอหนังที่สร้างโดยคนผิวสีแบบครบองค์ประกอบในตลาดหนังอเมริกันทุกวันนี้ ตราบใดที่การเหยียดผิวอย่างเป็นระบบยังคงฝังรากลึกในสังคมอเมริกัน จนกลายเป็นที่ยอมรับของคนทุกสีผิว

โรลองด์ บาร์ตส์ นักสัญวิทยาชื่อดังชาวฝรั่งเศสผู้นำเสนอคำว่า “มายาคติ” (Mythologies) เคยกล่าวว่า มายาคติคือคติความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นและถูกทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมชาติจนคนทั่วไปคิดว่าเป็นเรื่องจริง ทางเดียวที่จะทำลายมายาคติเดิมได้คือการสร้างมายาคติใหม่ขึ้นมาซ้อนทับ[9] หากสังคมอเมริกันมองว่า การเหยียดผิวเชิงระบบคือมายาคติแบบหนึ่งที่เชื่อว่า ผิวขาวคือความสูงส่ง การทำลายกรอบความคิดนี้ ด้วยการสร้างมายาคติใหม่ที่เชื่อในความเป็นมนุษย์มากกว่าสีผิวขึ้นมาซ้อนทับ อาจทำให้เราได้เห็นความเป็นอเมริกันแบบใหม่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน และเมื่อถึงเวลานั้น เราอาจเห็นการรื้อสร้างครั้งสำคัญของการทำหนังชาติพันธุ์ในอเมริกาก็เป็นได้


อ้างอิง

[1] Thomas Edison’s Kinetoscope (1893)

[2] Early Race Filmmaking in America

[3] Whitewashing in film

[4][5] Blaxploitation

[6][7] Explainer: what is systemic racism and institutional racism?

[8] The staggering numbers that prove Hollywood has a serious race problem

[9] Mythologies (book)

A Band Called Death – อัลบั้มที่ถูกค้นพบอีกสามสิบปีให้หลัง แต่เปลี่ยนประวัติศาสตร์วงการเพลงพังก์ครั้งยิ่งใหญ่

หากจะพูดถึงดนตรีแนวพังก์ สิ่งแรกที่เรานึกถึงดนตรีที่รวดเร็ว คือการเล่นเทคนิคกีต้าร์แบบสาดเสียงด้วยคอร์ดเดิม เสียงร้องที่เหมือนแหกปากตะโกนโวยวายเหมือนการเรียกร้องหรือการระบาย การแต่งตัวที่สมัยก่อนน่าจะเรียกได้ว่าขัดใจแม่ การทำตัวเป็นขบถที่ขัดใจทุกอย่างตั้งแต่ดนตรีไปจนถึงการแต่งตัว แต่มันกลับถูกใจวัยรุ่นอย่างรุนแรง ด้วยความเร็ว แรง การต่อต้าน และความแสบสันต์ของดนตรี ถ้าหากถามว่าเวลานึกถึงดนตรีแนวพังก์นั้น จะนึกถึงวงอะไร หลักๆ ที่เคยได้ยินชื่อก็คงเป็น Sex Pistols, The Ramones หรืออาจจะเป็น Bad Brains ที่เป็นวงดนตรีพังก์ของกลุ่มคนผิวดำที่พอนึกออก แต่ถ้าถามว่าวงดนตรีพังก์วงแรกของโลกคือวงอะไร มีข้อถกเถียงกันจนถึงปัจจุบันว่าควรนับวงไหนกันแน่ ซึ่งก็มีทฤษฎีหนึ่งที่สนับสนุนว่า พวกเขาควรได้นับว่าเป็นวงดนตรีแนวพังก์วงแรกของโลก

ย้อนกลับไปในสมัยยุค 70 ตอนต้น ในขณะที่ดนตรีของคนผิวดำยังคงรุ่งเรืองด้วยแนวดิสโก้ และฟังก์ อย่าง Earth, Wind & Fire สามพี่น้องแห่งตระกูลแฮคนี่ย์ (Hackney) นำทีมโดยเดวิด (กีต้าร์) เริ่มชักชวนบ็อบบี้ (เบส,ร้อง) และแดนนิส (กลอง) ตั้งวงดนตรีแนวฟังก์ที่ผสมผสานกับดนตรีร็อกที่มีชื่อว่า RockFire Funk Express แต่เส้นทางของพวกเขานั้นเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเดวิดได้เริ่มค้นพบหนทางของการเป็นร็อคแอนด์โรลสตาร์ จากความชื่นชอบในดนตรีของ The Beatles และการได้ไปดูการแสดงสดของ The Who และ Alice Cooper พวกเขาสรรค์สร้างดนตรีร็อคแบบใหม่ จากห้องใต้หลังคาที่บ้านของตัวเอง ด้วยวิธีการเล่นเพลงร็อคที่เร็วกว่าปกติ เดวิดตั้งชื่อวงดนตรีนี้ว่า Death แต่ไม่ได้ตั้งแบบต่อต้านสะใจเอาเล่นๆ แต่ชื่อนั้นมีความหมาย สัญลักษณ์วงกลมที่ทำรูปเป็นสามเหลี่ยมนั้นหมายถึงสมาชิกทั้งหมดสามคน และวงกลมที่หลุดออกมาจากสามเหลี่ยมนั่นคือการเฝ้ามองของพระเจ้า เดวิดเชื่อว่าพวกเขาต้องเดินทางตามเส้นทางที่พระเจ้าได้กำหนดไว้ให้

แต่เส้นทางการเป็นร็อคสตาร์ของพวกเขานั้นไม่ได้ง่าย ถึงแม้ว่าเดโมที่พวกเขาอัดไว้จะมีความยอดเยี่ยมประการใด แต่พวกเขาต้องเจอกับอุปสรรคใหญ่ที่สุดคือภาพลักษณ์ของชื่อวง คำว่า “Death” นั้นเป็นคำที่รุนแรงและอันตรายเกินไป ไม่มีค่ายเพลงใดกล้ารับศิลปินที่มีชื่อนี้ แต่โอกาสมาถึงพวกเขาเมื่อ Death ได้รับความสนใจจาก Clive Davis โปรดิวเซอร์ชื่อดัง (ที่ปัจจุบันเขาได้รับรางวัลแกรมมี่ถึง 5 ตัว และสังกัดค่าย Columbia Records) แต่ต้องแลกเปลี่ยนว่า ถ้าจะเข้าค่ายนี้ ต้องขอเปลี่ยนชื่อวงดนตรี ถึงแม้ตัวบ็อบบี้ และแดนนิสจะยอมรับว่า พวกเขาคิดว่าข้อเสนอนี้นั้นคุ้มค่าดี เพราะพวกเขาก็เริ่มทนไม่ไหวกับความกลัว และคำดูถูกเช่นกัน แต่เดวิดที่เป็นตัวตั้งตัวตีก็คัดค้านหัวชนฝา เพราะมันเป็นการเปลี่ยนคอนเซ็ปท์สิ่งที่ทำมาสิ้นเชิง ด้วยความเชื่อที่พี่น้องกันย่อมไม่ทิ้งกัน ที่เป็นคติประจำใจที่ถูกปลูกฝังมาโดยตลอด พวกเขาจึงปฏิเสธข้อเสนอ และนั่นทำให้จุดร้าวของพวกเขาเริ่มเกิดขึ้น

พวกเขาออกมาทำค่ายของตัวเอง Tryangle Records ออกซิงเกิ้ล Politician in my eyes / Keep on Knockin’ แผ่น 45 RPM จำนวน 500 แผ่น หวังว่าแผ่นซิงเกิ้ลนี้จะเป็นการโปรโมทที่ดี ทำให้คลื่นวิทยุสนใจและนำไปเปิด หวังให้พวกเขาได้ถูกพบเจอจากค่ายเพลง ผู้จัดจำหน่าย หรือแมวมองในวงการดนตรี แล้วทำให้เส้นทางดนตรีของพวกเขาเริ่มต้น แต่มันไปได้ไม่ไกลขนาดนั้น ทุกคนเริ่มเกิดความเหนื่อยและท้อจากการถูกปฏิเสธจากค่ายเพลงต่างๆ หรือแม้กระทั่งคนรอบข้างเขาเองเรื่อยมา สุดท้ายพวกเขาเก็บมาสเตอร์เทปไว้ในห้องใต้หลังคานั้น และฝังทุกอย่างเกี่ยวกับ Death ไว้ในห้องนั้นตลอดไป ไม่มีใครพูดถึงอดีตที่ผ่านมานั้นอีก นั่นกลายเป็นจุดจบของ Death ไปโดยปริยาย

หลังจากนั้นพวกเขาตั้งวง The 4th Movement ดนตรีร็อคในคอนเซปต์ที่พูดถึงเรื่องศาสนาและพระเจ้า แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเช่นเคย และนั่นก็คือครั้งสุดท้ายที่ได้ทำงานร่วมกันของสามพี่น้อง ชีวิตทั้งสามต่างเริ่มเดินทางไปในเส้นทางของตัวเอง บ็อบบี้ และแดนนิสยังคงเดินในเส้นทางของนักดนตรีต่อ ทั้งสองคนรวมตัวทำวงดนตรีแนวเร็กเก้ชื่อว่า Lambsbread ได้รับเสียงตอบรับที่ดีพอสมควร พวกเขาออกอัลบั้ม และมีทัวร์ไปเล่นตามเวทีและเทศกาลดนตรีตามเมืองต่างๆ มีชีวิตและครอบครัวที่ควรจะเป็น ส่วนเดวิดหันหลังให้กับการเป็นนักดนตรี ราวกับว่าทุกอย่างเขาอุทิศให้กับ Death ไปหมดแล้ว ชีวิตของเขาเหมือนพังทลาย เขาติดเหล้า เสียศูนย์ และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดในปี 2000 สร้างความเสียใจให้ทั้งบ็อบบี้ และแดนนิสเป็นอย่างมาก พวกเขารู้ดีว่าถ้าปัจจุบัน Death ยังอยู่ เดวิดคงไม่มีจุดจบของชีวิตที่น่าเศร้าแบบนี้

ผ่านไปนับสามสิบปี นักสะสมแผ่นเสียงคนหนึ่งที่พยายามขุดหาวงดนตรีที่ลับแลและน่าสนใจให้คนวงกว้างได้เชยชม จนกระทั่งเขาไปเจอแผ่นซิงเกิ้ลแผ่นหนึ่งที่วางหลบเร้นอยู่ในร้านขายแผ่นเสียงมือสอง เขาเห็นชื่อของวงนี้จากลิสท์ที่ไหนสักที่ จึงซื้อด้วยความถูกชะตา ทำให้เขาจึงได้พบความยอดเยี่ยมที่ถูกซ่อนไว้มานาน ทั้งสองเพลงถูกเผยแพร่ตามที่ต่างๆ ในงานปาร์ตี้ไวนิลจากเพื่อนสู่เพื่อน ไปจนถึงกลุ่มคนรักไวนิล ไปจนถึงงานปาร์ตี้รื่นเริง คลื่นวิทยุ จนกระทั่งลงเป็นไฟล์ mp3 จากนั้น Death ก็เหมือนถูกปลุกจากความตาย แผ่นไวนิลซิงเกิ้ลราคาธรรมดาถูกดีดสูงขึ้นหลายเท่า เมื่อนักข่าวจาก New York Times ทำบทความลงหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นเองทำให้อเมริการู้จักวงดนตรีที่ชื่อว่า Death เสียที จนสุดท้ายอัลบั้มเดบิวท์ของพวกเขาได้วางขายตามร้านขายซีดีเมื่อปี 2009 เกิดขึ้นหลังจากก่อตั้งวง 33 ปี Death ได้เริ่มต้นออนทัวร์ แสดงสดตามงานดนตรี และเทศกาลต่างๆ บ็อบบี้ และแดนนิสได้เห็นสิ่งที่พวกเขาต้องการที่จะเห็นมาโดยตลอด ในนามของวงนี้ แต่พวกเขาต้องเริ่มต้นโดยที่ไม่มีเดวิด คนที่ควรจะเห็นสิ่งสิ่งนี้มากที่สุด

หนังนั้นเริ่มต้นด้วยการเปิดตัวของศิลปินรุ่นใหญ่ทั้งแนวพังก์อย่าง Alice Cooper, Kid Rock, Questlove ไปจนถึง Elijah Wood (นอกจากที่เขาจะเป็นนักแสดง เขายังเคยเป็นเจ้าของค่ายเพลง) ต่างออกมาให้การยอมรับและชื่นชมถึงความยอดเยี่ยม ความมาก่อนกาลของวงนี้ และประหลาดใจอย่างมากว่าอัลบั้มที่ดีขนาดนี้ ทำไมพวกเขาถึงไม่รู้จักมาก่อน ซึ่งก็ไม่แปลกใจที่พวกเขาจะไม่รู้จัก เพราะแทบไม่มีใครบนโลกนี้เคยได้สัมผัสความยอดเยี่ยมของวงดนตรีวงนี้ในช่วงที่พวกเขายังคงเคลื่อนไหวและสร้างสรรค์เพลงใหม่ ชีวิตของพวกเขาถูกดับหายไปอย่างเงียบเชียบ ก่อนที่โลกจะเปิดฟ้าต้อนรับพวกเขาอีกครั้ง ในอีกสามสิบปีให้หลัง สารคดี A Band Called Death เรื่องนี้ เป็นการขยายเรื่องราวของพวกเขาที่โลกไม่มีทางได้รับรู้ว่า กว่าที่พวกเขาจะกลับมาได้อย่างทุกวันนี้ ต้องแลกกับอะไรไปบ้าง และมันเกิดขึ้นเพราะสิ่งใดกันแน่ พรมแดนดนตรีที่ไม่เปิดรับพวกเขาที่แตกต่างเกินไป หรือการที่พวกเขาเกิดผิดที่ ผิดเวลา เพียงแค่นั้น

แต่สิ่งที่เดวิดทำนั้นไม่สูญเปล่า นอกจาก Death จะยืนอยู่บนเวทีดนตรีได้อย่างเต็มภาคภูมิ ความฝันที่พวกเขาเคยวางไว้นั้นประสบผลสำเร็จ เดวิดยังส่งเชื้อไฟแห่งความหลงใหลในดนตรีให้กับลูกๆ ของ บ็อบบี้ และแดนนิสทั้งสาม เชื้อสายของนักดนตรีนั้นรุนแรงไม่แพ้รุ่นพ่อ หลังจากที่พวกเขารู้ตัวว่าครอบครัวของตัวเองเป็นสมาชิกวงดนตรีที่เป็นปรากฏการณ์อยู่ในขณะนั้น ทั้งเพื่อนๆ ของเขาและคนทั่วอเมริกากำลังให้ความสนใจอย่างท่วมท้น พวกเขาจึงเริ่มก่อตั้งวงดนตรี Rough Francis ซึ่งเป็นนามแฝงสุดท้ายของเดวิดที่ทำเพลงก่อนเสียชีวิต เพื่อประกาศถึงความยิ่งใหญ่ของวง Death จุดเริ่มต้นพวกเขาเหมือน Death อย่างกับถอดกันมา สมาชิกสามคนที่เป็นพี่น้องร่วมตระกูล แต่เพิ่มเพื่อนในสมัยเรียนไปอีกสองคน พวกเขาเริ่มต้นจากการเล่น tribute ให้กับวงของพ่อตัวเอง และภายหลังจึงเริ่มเดินเส้นทางการเป็นนักดนตรีเป็นของตัวเอง

Dazed เคยมีบทความที่ตั้งคำถามว่าทำไมประวัติศาสตร์ของเพลงพังก์เราถึงนึกได้แต่หน้าตาของคนผิวขาว ซึ่งเพราะว่าซีนที่โดดเด่นที่สุดของเพลงพังก์ คือการขับเคลื่อนจากความเกรี้ยวกราดและการถูกทอดทิ้งจากชนชั้นแรงงานของคนขาวในสหราชอาณาจักร ตัวบทความเองบอกว่าในสัญชาตญาณของของพวกเขานั้นมีความขบถและต่อต้านมาตั้งแต่เกิดแล้ว จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แต่ดนตรีแห่งการต่อต้านของพวกเขาก็ไม่ใช่แนวพังก์เป็นหลัก เพราะฉะนั้นเสียงของการต่อต้านของพวกเขาจะนำไปลงในเสียงเพลงของบลูส์ กอสเปล และฮิปฮอปในเวลาถัดมา ในหนังเอง การที่ Death ได้เป็นที่รู้จักอีกรอบ เป็นเพราะนักสะสมแผ่นเสียงชื่อดังที่เป็นคนผิวขาวเป็นคนถูกค้นพบ และทำให้ Death เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง พวกเขาอาจจะไม่ได้มีพื้นที่ทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขนาดนี้ก็ได้ ถ้าคนที่ค้นพบวงนี้กลายเป็นคนผิวดำ

หนังเรื่องนี้อาจสอนให้รู้ว่าเส้นทางศิลปินอาจดูอันตราย ไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด ยิ่งถ้าเป็นเส้นทางของศิลปินผิวดำยิ่งอันตราย การที่พวกเขาเพิ่งดังในช่วง 2000 ต้นๆ นั้น ก็ไม่สามารถทดแทนในเส้นทางที่พวกเขาควรได้รับในช่วงยุค 70 และหนทางที่เขาต้องกลับไปอยู่ในขนบของวงดนตรีผิวดำที่ทั่วโลกรู้จักและควรจะเป็น อย่างดิสโก้ หรือ เร็กเก้ ก็ถือว่าเป็นจำกัดรูปแบบของใครบางคน ทั้งที่พวกเขาควรได้รับการถูกพูดถึงและเป็นที่จดจำในฐานะวงดนตรีพังก์รุ่นแรกๆ เทียบเท่ากับวงพังก์ระดับแนวหน้าวงอื่นๆ

การกลับมาของ Death ในอีกแง่หนึ่ง มันก็คือการเฉลิมฉลองความสำเร็จของพวกเขาทั้งสามคน ที่เวลาจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม ก็ยังยกผลงานชิ้นนี้ไว้เป็นความภาคภูมิใจสูงสุดที่ได้ทำ แต่ดาบสองคมของมันก็คือการที่บ็อบบี้ และแดนนิส ต้องแบกบาดแผลที่พวกเขาทำผิดพลาด ที่เป็นเหตุทำให้เดวิดจากไป ขึ้นแสดงสดทุกครั้ง มันเหมือนกับว่าพวกเขาเล่นเพื่อแสดงเกียรติให้กับ ผู้เป็นทุกอย่างของวง พวกเขากลายเป็นแค่นักแสดงที่ถูกกำกับไว้แล้วตลอดชีวิต หน้าที่ของพวกเขาที่เคยทำผิดพลาด ไม่ยอมทำตามคติของครอบครัว การเชื่อใจครอบครัวของตัวเอง และสนับสนุนไปให้ถึงที่สุด นั่นก็คือการแบกเกียรติยศและศักดิ์ศรีของ Death ใส่หลัง และทำหน้าที่การเป็นนักดนตรีวงนี้ไปตลอดชีวิต จนกว่าพวกเขาจะตายจากกันไป นั่นถือว่าจะเป็นสิ่งที่สาสม

Box Office Report : Fantasy Island – Guns Akimbo สองหนังใหม่ครองอันดับเปิดตัวสูงสุด

เมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.) มีหนังใหม่เปิดตัว 4 เรื่อง คือ Fantasy Island หนังสยองจากค่าย Blumhouse, Guns Akimbo หนังแอ็กชันเลือดสาด ซึ่งทั้งสองเรื่องเปิดตัวสูงเป็นสองอันดับแรก ยังมี Emma หนังงดงามจากผกก. ออสการ์ เดอ ไวลด์ และ งานล่าสุดของ เทอร์เรนซ์ มาลิค A Hidden Life ที่ฉายเฉพาะ เฮาส์ สามย่าน ที่เดียว

นอกจากนี้ยังมีหนังไทยเก่าๆกลับมาฉายอีกครั้งเป็นวันแรก อย่าง ‘ขุนพันธ์ 2’ ‘แสงกระสือ’ ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2’ ‘พี่มาก..พระโขนง’ และ ‘สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก’ แต่ทั้งหมดทำรายได้ไม่แรงพอจะเข้ามาในสิบอันดับแรกได้เลย

รายได้หนังประจำวันที่ 18 มิ.ย. 63

1. Fantasy Island – 0.26 ล้านบาท

2. Guns Akimbo – 0.17 ล้านบาท

3. พจมาน สว่างคาตา – 0.10 (5.98) ล้านบาท

4. Baba Yaga – 0.06 (1.43) ล้านบาท

5. Emma – 0.05 ล้านบาท

6. I Still Believe – 0.04 ล้านบาท

7. Your Name – 0.02 (0.36) ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการกลับมาฉายใหม่

8. Begin Again – 0.013 (0.27) ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการกลับมาฉายใหม่

9. Weathering with You – 0.013 (0.29) ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการกลับมาฉายใหม่

10. A Hidden Life – 0.01 ล้านบาท

Box Office Report: ‘พจมาน สว่างคาตา’ อันดับ 1 สัปดาห์ที่ 2 แต่รายได้ยังไม่ถึง 10 ล้านบาท!

แม้ ‘พจมาน สว่างคาตา’ จะยืนหนึ่งมาสองสัปดาห์ติด แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆอย่าง ทำให้หนังยังทำเงินไม่ถึง 10 ล้านบาทเสียที เรามารอลุ้นคืนนี้ที่ปลดเคอร์ฟิวและคลายล็อคระดับ 4 เป็นวันแรก (รองรับจำนวนผู้ชมต่อโรงได้มากขึ้น) ว่ารายได้หนังจะกระเตื้องขึ้นหรือไม่?

รายได้หนังสุดสัปดาห์ 11-14 มิ.ย. 2020

1. พจมาน สว่างคาตา – 1.21 (5.41) ล้านบาท

2. Baba Yaga – 0.89 ล้านบาท

3. Low Season – 0.25 (41.04) ล้านบาท

4. Your Name – 0.20 ล้านบาท *นับรายได้เฉพาะการนำกลับมาฉายใหม่

5. Weathering with You – 0.17 ล้านบาท *นับรายได้เฉพาะการนำกลับมาฉายใหม่

6. Begin Again – 0.16 ล้านบาท *นับรายได้เฉพาะการนำกลับมาฉายใหม่

7. A Beautiful Day in a Neighborhood – 0.12 ล้านบาท *นับรายได้เฉพาะการนำกลับมาฉายใหม่

8. Bloodshot – 0.12 (13.68) ล้านบาท

9. Jumanji: The Next Level – 0.11 (108.67) ล้านบาท

10. The Invisible Man – 0.06 (10.45) ล้านบาท

ฆาตกรรมที่มิสซิสซิปปี: การกลายเป็นทาส การกลายเป็นคนขาว และภาวะขาดอากาศในรัฐที่ท่วมท้นด้วยเสรีภาพ

กลางศตวรรษที่ 16 ชาวยุโรปที่เข้ามาตั้งรกรากในทวีปอเมริกาเพื่อล่าทองคำจากชาวพื้นเมืองคือชาวสเปน และเริ่มก่อตั้งอาณานิคมแห่งแรกเมื่อ ค.ศ. 1565 ก่อนที่ชาวอังกฤษจะเข้ามาตั้งอาณานิคมที่เมืองเจมส์ทาวน์เมื่อปี ค.ศ. 1607 แต่การอพยพของชาวยุโรปที่สำคัญและจำนวนมากคือผู้อพยพนิกาย Puritans เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1620 ที่เดินทางโดยเรือ Mayflower จากท่าเรือ Plymouth มาเทียบท่าที่อ่าวแมสซาชูเซตส์

กลุ่มผู้อพยพ Puritans ผู้ได้รับอิทธิพลจากคำสอนของจอห์น คาลแวง นักสอนศาสนาชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 16 พวก Puritans หลบหนีการกวาดล้างถูกจับเผาทั้งเป็นจากนิกายอังกฤษ (Church of England) จากการปฏิรูปศาสนา (Reformation) ที่สำหรับ Puritans ไม่ได้ศรัทธาในรูปเคารพและพระเจ้าสำหรับพวกเขาคือการยึดตัวบทพระคำภีร์ และรู้สึกว่านิกายโรมันคาทอลิกคือความเสื่อมโทรมของศาสนา พระและบาทหลวงมีความเป็นอยู่อย่าง ฟุ่มเฟือย หรูหรา ทั้งยังเรียกเก็บภาษีบำรุงศาสนาสูงขึ้น 

พวกเขาถือตนเองว่าเป็นชนชาติที่ได้รับเลือกโดยพระเจ้า (Chosen people) มีหน้าที่กำจัดคนที่เห็นต่างหรือต่อต้านพระเจ้า (anti-christ)  มีเจตจำนงเป็นของตนเอง (self-determinism) หวังจะมาสร้างดินแดนใหม่แห่งนี้ตามเจตจำนงของพระเจ้าให้เป็นดินแดงแห่งความถูกต้องและความสุข (Millennium) John Winthrop หนึ่งในผู้นำการเดินทางออกสู่ทวีปอเมริกากล่าวไว้ว่า “เราจะเป็นดั่งนครบนภูเขา (Wee shall be as a City upon a Hill)” ที่แบบอย่างที่ดีให้คนทั้งโลกต้องจับจ้อง

พวกเขาถือตนเองว่าเป็นชนชาติที่ได้รับเลือกโดยพระเจ้า (Chosen people) มีหน้าที่กำจัดคนที่เห็นต่างหรือต่อต้านพระเจ้า (anti-christ)  มีเจตจำนงเป็นของตนเอง (self-determinism) หวังจะมาสร้างดินแดนใหม่แห่งนี้ตามเจตจำนงของพระเจ้าให้เป็นดินแดงแห่งความถูกต้องและความสุข (Millennium) John Winthrop หนึ่งในผู้นำการเดินทางออกสู่ทวีปอเมริกากล่าวไว้ว่า “เราจะเป็นดั่งนครบนภูเขา (Wee shall be as a City upon a Hill)” ที่แบบอย่างที่ดีให้คนทั้งโลกต้องจับจ้อง

พวกเขาเข้ามาตั้งชุมชนที่พักอาศัย เพาะปลูก และป้อมปราการหลบภัยจากชนพื้นเมืองและชาวต่างชาติ และสร้างเมืองในฐานะ “นครแห่งพระผู้เป็นเจ้า (a city of God)” ในปลายศตวรรษที่ 18 ผู้อพยพไม่ได้มาเพราะความเชื่อทางศาสนาเพียงอย่างเดียวแต่ยังรวมถึงนักแสวงโชคและหาโอกาสในการทำธุรกิจด้วย รูปแบบการเมืองของพวก Puritans สนับสนุนให้เกิดการเมืองแบบตัวแทน (representative) แม้จะมีกฎหมายที่ควบคุมอาณานิคมยังต้องผ่านกฎหมายของอังกฤษ (Act of 1430) นี่จึงเท่ากับเป็นการส่งทอดมรดกการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชของอังกฤษมาสู่การเมืองอเมริกันยุคอาณานิคม ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งก็ยังจำกัดอยู่ในคนที่มีทรัพย์สินโดยสมบูรณ์ (freehold property) เช่นต้องมีเงินอย่างน้อย 50 ปอนด์ หรือมีที่ดินอย่างน้อย 100 เอเคอร์

แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่การตัดสินใจก็ยังขึ้นกับเขตอาณานิคม ประชาชนอาณานิคมรู้สึกว่าถูกประเทศแม่เอาเปรียบผ่านพระราชบัญญัติทาวน์เซนด์ (Townsend Acts) ไม่มีสิทธิคัดค้าน ภาษีก็ต้องจ่ายแต่แทบไม่ได้รับผลประโยชน์ ความไม่พอใจของประชาชนนำไปสู่การประท้วงที่เมืองบอสตันและการสั่งหารหมู่ ปี ค.ศ. 1770 ตามมาด้วยการปลอมตัวเป็นอินเดียนแดงแล้วไปขโมยใบชาไปโยนทิ้งแม่น้ำ ในปี ค.ศ. 1773 จนในท้ายที่สุดก็เกิดสงครามกองทหารอาณานิคมกับทหารอังกฤษเมื่อ ค.ศ. 1775 

กองทัพอังกฤษพ่ายแพ้เพราะขาดงบประมาณและในช่วงนั้นก็กำลังทำสงครามในยุโรป โทมัส เจฟเฟอรสันเขียนประกาศอิสรภาพว่า “อาณานิคมทั้งหลายเป็นอิสระและเป็นเอกราช (Free and independent states)” ในปี ค.ศ. 1776 และมีรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1787 เพื่อบรรลุถึง “ความปลอดภัยในชีวิต เสรีภาพ และการเสาะแสวงหาความสุข” พวกเขาพยายามสร้างสาธารณรัฐที่ดีงาม ดังที่โธมัส เพน เขียนไว้ใน Common Sense (1776) โจมตีระบอบกษัตริย์ว่าฉ้อฉลและทุจริต อันถือเป็นการละเมิดเสรีภาพทางโลกและศาสนา

ด้วยเจตจำนงอันหนักแน่นของพวกเขาที่ยึดมั่นในเสรีภาพและถือว่าเป็นอิสระจากระบอบกษัตริย์ที่ล้าหลังคร่ำครึ ชนชาติอเมริกันแองโกลแซกซอน (Anglo-Saxons) จึงเกิดสำนึกว่าตนเป็นชาติที่พิเศษและเหนือกว่าชาติอื่นๆ (American Exceptionalism) โลกเก่าสำหรับชาวแองโกลแซกซอนจึงเป็นพวกประเทศที่ปกครองแบบศักดินาและชนชั้น อันแตกต่างจากชาวแองโกลแซกซอนซึ่งสำนึกตนเองว่าเป็นโลกใหม่ที่สามารถตัดสายสะดือจากแม่ได้เด็ดขาดแล้ว ชาวแองโกลแซกที่มีระบบเน้นเหตุผล (Rationality) เสรีภาพ และความเสมอภาค

ด้วยเจตจำนงอันหนักแน่นของพวกเขาที่ยึดมั่นในเสรีภาพและถือว่าเป็นอิสระจากระบอบกษัตริย์ที่ล้าหลังคร่ำครึ ชนชาติอเมริกันแองโกลแซกซอน (Anglo-Saxons) จึงเกิดสำนึกว่าตนเป็นชาติที่พิเศษและเหนือกว่าชาติอื่นๆ (American Exceptionalism) โลกเก่าสำหรับชาวแองโกลแซกซอนจึงเป็นพวกประเทศที่ปกครองแบบศักดินาและชนชั้น อันแตกต่างจากชาวแองโกลแซกซอนซึ่งสำนึกตนเองว่าเป็นโลกใหม่ที่สามารถตัดสายสะดือจากแม่ได้เด็ดขาดแล้ว ชาวแองโกลแซกที่มีระบบเน้นเหตุผล (Rationality) เสรีภาพ และความเสมอภาค

แม้จะยึดถือในเสรีภาพดังคำกล่าวของโธมัส เพน แต่ในทางปฏิบัติแล้วชาวแองโกลแซกซอนกลับสวนทางกับคุณค่าที่พวกเขายึดถือ เพราะเสรีภาพกลับถูกยึดไว้แต่เพียงคนไม่กี่คน ผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นชายผิวขาวที่ร่ำรวย (propertied white males) ชาวอเมริกันพื้นเมืองไม่สามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรได้เท่ากับคนแอฟริกันที่คนผิวขาวลักพาตัวพวกเขาจากทวีฟแอฟริกามาเป็นทาสภายในนามของพระเจ้า การค้าขายแรงงานทาสคนแอฟริกันจึงเฟื่องฟูอย่างมากตั้งแต่ ค.ศ. 1502-1870 ทำให้ชาวผิวขาวสร้างรายได้มหาศาลจากการค้ากาแฟ ฝ้าย น้ำตาล ข้าว เหมืองแร่ และยาสูบ ประมาณการว่ามีการค้าทาสกว่า 15 ล้านคนบริเวณสามเหลี่ยมค้าทาส (Triangular trade) แม้แต่เจฟเฟอร์สันผู้ร่างประกาศอิสรภาพก็ยังมีทาสไว้รับใช้จนเขาเสียชีวิต

จากอุดมคติว่าสาธารณรัฐที่ดีงาม (Republicanism) โธมัส เพนเคยกล่าวว่าการเปิดประเทศไปค้าขายภายนอกจะทำให้ลุ่มหลงกับเงินตรา ความร่ำรวย ซึ่งไปไม่ได้กับรัฐมหาชนและจะทำลายจิตวิญญาณของความเป็นสหรัฐฯ แต่เมื่อแรงงานทาสสร้างผลผลิตจนล้นเกินก็จำเป็นต้องขยับขยายการค้าออกไปยังยุโรปแผ่นดินแม่ โธมัส เพนกลับมากล่าวทีหลังว่า “การค้าจะทำให้จิตใจมนุษย์อ่อนโยนและเข้าอารยธรรมอื่นๆมากขึ้น” นี่จึงเป็นจุดที่สร้างความเชื่อมั่นในหมู่ผู้ก่อตั้งรัฐในฐานะประเทศทุนนิยมอเมริกัน (capitalist America) เพนได้บอกว่าชาวโลกจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของอเมริกัน 

ขนาดของสหรัฐเติบโตขึ้นอย่างมาก ในทศวรรษที่ 1820 จาก 13 รัฐดั้งเดิม เป็น 24 รัฐ มีประชากรเพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุกๆ 22 ปี แต่เบื้องหลังการเจริญเติบโตเหล่านี้ก็แลกมาด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนพื้นเมือง พวกเขาส่วนหนึ่งต้องอพยพไปอยู่แดนไกล โดยคนขาวอ้างว่าแผ่ขยายดินแดนเพื่อปกป้องและเผยแพร่สิทธิเสรีภาพ James Madison ผู้สืบทอดอำนาจจากเจฟเฟอร์สันก็ยังรวบอำนาจไว้ที่ฝ่ายบริหารแม้ปากของเขาจะรังเกียจและหวาดกลัวการยึดอำนาจไว้แต่เพียงผู้เดียวก็ตาม ระบบการปกครองรัฐแบบเจฟเฟอร์สัน-แมดิสันนี้นำไปสู่การสร้าง “กลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้า (economic and comercial group)” ของสหรัฐฯที่แข็งแกร่งและยืนยงคงกระพันมาอย่างยาวนาน กลุ่มนี้เองมีอิทธิพลต่อทิศทางนโยบายการต่างประเทศของจักวรรดิอเมริกันในเวลาต่อมา

ช่วงศตวรรษที่ 19 การขยายตัวของทุนนิยมและยึดครองดินแดนทางตะวันตกมากขึ้น นายทุนทางภาคเหนือต้องการแรงงานอิสระเพื่อเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม ขัดแย้งกับนายทาสทางใต้ที่ยังต้องการทาสเอาไว้ทำเศรษฐกิจแบบการเกษตร ช่วงทศวรรษที่ 1869 จึงเกิดการต่อสู้ทางความคิดระหว่างรัฐทาส (slave states) กับรัฐที่ส่งเสริมระบบทุนเสรีนิยม (free states) การชนะเลือกตั้งของลินคอล์นใน ค.ศ. 1860 นำไปสู่การต่อต้านจากรัฐทางใต้ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนไปเป็นสมาพันธรัฐอเมริกา (Confedrate States of America) 

จนสุดท้ายลินคอล์นก็ประกาศเลิกทาสใน ค.ศ. 1863 หลังจากสงครามกลางเมืองช่วง 1861-1865 ซึ่งคนแอฟริกันถูกให้คำสัญญาว่าถ้ามาช่วยรบรัฐทางใต้ พวกเขาจะได้เป็นทาสที่เป็นอิสระ (free slaves) ในขณะที่รัฐตอนเหนือก็ไม่ได้เห็นใจทาส เพียงแต่มองว่าทาสที่ติดที่ดินไม่เอื้ออำนวยต่อระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมซึ่งกำลังมาแทนที่เกษตรกรรม

จนสุดท้ายลินคอล์นก็ประกาศเลิกทาสใน ค.ศ. 1863 หลังจากสงครามกลางเมืองช่วง 1861-1865 ซึ่งคนแอฟริกันถูกให้คำสัญญาว่าถ้ามาช่วยรบรัฐทางใต้ พวกเขาจะได้เป็นทาสที่เป็นอิสระ (free slaves) ในขณะที่รัฐตอนเหนือก็ไม่ได้เห็นใจทาส เพียงแต่มองว่าทาสที่ติดที่ดินไม่เอื้ออำนวยต่อระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมซึ่งกำลังมาแทนที่เกษตรกรรม

หลังสงครามกลางเมือง สมาชิกผู้แทนฯ กลุ่มรีพับลิกันได้ผลักดันรัฐบัญญัติสิทธิพลเมืองขึ้น (Civil Rights Act of 1866) ทำให้ผู้ที่เกิดบนแผ่นดินอเมริกาเป็นพลเมืองเต็มขึ้น แม้จะต้องมีการแก้ไขตัวบทอีกหลายครั้งตามมาเพื่อให้ครอบคลุมพลเมืองมากที่สุด รวมไปถึงการแก้ตัวบท 15 ทำให้พลเมืองมีสิทธิเลือกตั้ง ใน ค.ศ. 1870 ในแต่ทางปฏิบัติแล้วคนผิวดำก็ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งเพราะถูกจำกัดด้วยข้ออ้างว่า เคยเป็นทาสมาก่อน ฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี บรรพบุรุษต้องมีสิทธิเลือกตั้งก่อนสงครามกลางเมือง หรือไม่ผ่านการทดสอบการรู้หนังสือ (Literacy Test) โดยเฉพาะรัฐฝ่ายใต้พยายามออกกฎที่จำกัดคนผิวสี เช่น เกณฑ์ภาษีรายหัว (Poll Taxes) และกฎหมายแบ่งแยกเชื้อชาติสีผิว (Segregation law) 

ฝ่ายใต้ไม่พอใจกฎหมายที่เป็นผลผลิตของพวกรีพับริกันนิยมเสรีของฝ่ายเหนือที่พยายามมารับรองสิทธิคนดำนำไปสู่การเคลื่อนไหวกลุ่ม Ku Klux Klan ที่เริ่มก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1866 โดยพลเมืองผิวขาวนับถือนิกายโปรเตสแตนต์ เพื่อเชิดชูชนชาติผิวขาว (white supremacy) ต่อต้านศาสนาอื่นๆ สร้างความหวาดกลัวผ่านการวางเพลิงและฆาตกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนผิวดำ โดยเฉพาะหลังการประนีประนอมระหว่างรัฐฝ่ายเหนือและใต้ (Compromise of 1877) ยิ่งนำไปสู่ “ยุคมืด” ของคนผิวดำและสิทธิพลเมืองสหรัฐฯ แม้จะมีความพยายามของขบวนการสตรีนิยมเรียกร้องสิทธิสตรีในปลายศตวรรษที่ 18 แต่กว่าจะสำเร็จก็ผ่านไป 42 ปี คือเมื่อ ค.ศ. 1920 ผู้หญิงถึงมีสิทธิเลือกตั้ง เช่นเดียวกับกลุ่มคนพื้นเมืองที่ถูกละเลยและไม่ได้เป็นพลเมืองมาตลอดเพราะไม่ได้เสียภาษีจึงไม่มีสิทธิเลือกตั้ง กว่าจะถือว่าเป็นพลเมืองก็ ค.ศ. 1924 

ยุคมืดของคนผิวดำหลัง ค.ศ. 1877 โดยเฉพาะในรัฐทางใต้และตะวันออกที่สมาชิกผู้แทนฯ กลุ่มเดโมแครตขึ้นมีอำนาจ เต็มไปด้วยแนวคิดการแบ่งแยกผ่านระบบ Jim Crow หรืออีกาดำ ถ้าคนดำฝ่าฝืนจะถูกจับหรือสังหาร การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองกลับมาอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากคนผิวดำเข้าร่วมรบสงคราม และต้องการมีสิทธิเลือกตั้ง ผ่านการตั้งสมาคมโดย W. E. B. Du Bois ที่มีสมาชิกกว่าห้าแสนคน จนถึงทศวรรษ 1950 ก็เกิดการร้องเรียนไปยังศาลสูงสุดแห่งสหรัฐฯจำนวนมาก โดยประเด็นสำคัญคือการโจมตีแนวคิดแบ่งแยกแต่เสมอภาค (seperate but equal) ซึ่งเป็นการกระทำที่ย้อนแย้ง เพราะถึงแม้ว่ามีการแยกโรงเรียนคนดำและคนขาว แต่โรงเรียนของคนผิวดำก็มีคุณภาพต่ำกว่ามาก

การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างเข้มข้นในปี ค.ศ. 1955-56 หลังจากโรซา ปาร์ค ช่างตัดเสื้อผิวดำถูกจับเพราะไม่ยอมยกที่นั่งให้คนขาว เป็นชนวนให้เกิดการลุกต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติทั่วประเทศและมีคนถูกจับจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ Martin Luther King, Jr. ที่ใช้แนวทางสันติวิธีแบบคริสตศาสนาและมองว่าคนขาวและคนดำอยู่ร่วมกันได้ เน้นแนวคิดเรื่องเสรีภาพ ตรงข้ามกับ Malcolm X ในทศวรรษที่ 1960 ที่เน้นความรุนแรงและประกาศชัดเจนว่าคนดำเป็นศัตรูกับคนผิวขาว มีการเรียกร้องสิทธิมากขึ้นในภาคใต้ พร้อมๆกับการประท้วงสงครามเวียดนาม แสดงออกผ่านกลุ่มนักศึกษาและ Freedom ride ซึ่งตระเวนขึ้นรถจากเหนือลงใต้เพื่อแสดงถึงเสรีภาพ

Lyndon B. Johnson ผลักดันรัฐบัญญัติสิทธิพลเมืองสำเร็จในปี ค.ศ. 1964 รวมไปถึงการสิทธิเลือกตั้งปี ค.ศ. 1965 (Voting Rights Act) ที่ให้พลเมืองทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งโดยไม่ต้องทดสอบการรู้หนังสือและไม่ต้องคำนึงถึงภาษีรายหัว (Poll taxes) และครอบคลุมตั้งแต่คนอายุ 18 ปีขึ้นไป เมื่อปี ค.ศ. 1970 หลังการเรียกร้องของทหารที่ไปสงครามเวียดนาม พวกเขาถูกเกณฑ์ไปตั้งแต่อายุ 18 ปี แต่กลับไม่มีสิทธิเลือกตั้ง

Murder in Mississippi (1965) หนังทุนต่ำเล่าเรื่องราวฆาตกรรมคนเห็นต่างโดยชาวผิวขาวคลั่งเชื้อชาติ กำกับโดย Joseph W. Mawra ผู้มีพื้นเพจากเมืองควีนส์ นิวยอร์ค เขาโด่งดังจากการทำหนัง Exploitation ซึ่งเป็นตระกูลหนังทุนต่ำที่เสนอความรุนแรง หรือเพศวิตถาร เพื่อทำตลาดในคนหมู่มาก นิยมผลิตขึ้นช่วงทศวรรษที่ 1960 เนื้อหาหนังมักท้าทายศีลธรรมอันดีงามของกลุ่มคริสตศาสนิกชน ในทางหนึ่ง หนัง Exploitation ก็เป็นการระบายความอัดอั้น หรือสร้างภาพฝันของผู้คนที่เติบโตมาในรัฐทุนนิยมที่สิ้นหวัง นอกจากนี้ยังมีประเภทย่อยของหนัง Exploitation ได้แก่ Blaxploitation ซึ่งมักเป็นหนังที่มีผู้แสดงหลักเป็นคนผิวดำ และสร้างมาเพื่อให้คนผิวดำดู มักมีเนื้อหาพูดถึงตัวละครคนผิวดำที่เอาชนะอำนาจอยุติธรรมของรัฐหรือตำรวจได้ 

Joseph W. Mawra ใช้เวลาเพียง 2 ปีในการสร้างหนัง Exploitation ถึงสี่เรื่องที่เขาตั้งชื่อว่า “Olga” แสดงโดย Audrey Campbell เล่าถึงหัวหน้าวงการอาชญากรรมซาดิสม์ เขาใช้เวลาในการถ่ายแต่ละเรื่องประมาณ 3-4 วันเท่านั้น หลังจากที่ Mawra ต้องไปขึ้นศาลเพราะเนื้อหาอนาจารใน Olga’s House of Shame (1964) เขาหันไปทำหนังที่เนื้อรุนแรงลดลง หนึ่งในนั้นคือ Murder in Mississippi (1965) ที่ Nicolas Winding Refn ตั้งโครงการบูรณะภาพยนต์ที่เขาเรียกหนังกลุ่มนี้ว่าเป็น “ทางด่วนทางวัฒนธรรมลามกอนาจาร” และจากโครงการนี้เองที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ของ Mawra ที่ไม่มีคนพูดถึงได้กลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง

Murder in Mississippi (1965) สร้างจากเรื่องจริงของเหตุฆาตกรรมที่มิสซิสซิปปีในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1964 นักศึกษาอาสาสมัครเดินทางจากรัฐทางเหนือมารัฐทางใต้เพื่อรณรงค์ให้คนผิวดำมาเลือกตั้ง ด้วยการรวมตัวกันจัดตั้งองค์ชุมชนรากหญ้า ให้ความรู้เรื่องการสมัครเลือกตั้ง มีการรายงานว่ามีอาสาสมัครเข้ามาที่มิสซิสซิปปีในหน้าร้อนกว่าสามหมื่นคนซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่ม Ku Klux Klan อย่างมาก 

เหยื่อของเหตุนี้ได้แก่ชายผิวดำ James Chaney (เสียชีวิตตอนอายุ 21 ปี) Andrew Goodman (เสียชีวิตตอนอายุ 20 ปี) และ Michael Schwerner (เสียชีวิตตอนอายุ 24 ปี) ทั้งสามคนเป็นสมาชิกของกลุ่ม Congress of Racial Equality (CORE) ตั้งใจที่จะมาก่อตั้งโรงเรียนแห่งเสรีภาพ (Freedom School) เพื่อให้ความรู้แก่คนผิวดำที่เมืองเนโชบา คันทรี เพื่อให้คนผิวดำผ่านการสอบวัดความรู้หนังสือที่รัฐมิสซิสซิปปีกำหนด

ชายทั้งสามคนเดินทางจากเมืองเมอริเดียนมาเมืองลองเดลเพื่อคุยกับคณะกรรมการโบสถ์ของคนผิวดำที่ถูกกลุ่ม Ku Klux Klan เผา ต่อมาชายทั้งสามคนถูกจับด้วยข้อหาขับรถเร็วเกินกำหนดและถูกขัง หลังจากที่ถูกปล่อยตัวออกมาก็ถูกตำรวจตามและถูกลักพาตัวก่อนจะถูกยิงเสียชีวิตและเอาไปฝัง รถของพวกเขาถูกเผาและมีคนไปพบในบึงสามวันหลังจากการหายตัวไป การสืบคดีทำโดย FBI และค้นพบว่าสมาชิกกลุ่ม Ku Klux Klan ซึ่งทำงานในสำนักงานนายอำเภอและสถานีตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ กว่าจะพบร่างของพวกเขาใช้เวลากว่าสองเดือน

การฆาตกรรมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งสามคนสร้างความโกรธแค้นให้กับคนจำนวนมากจนนำไปสู่การผ่าน รัฐบัญญัติสิทธิพลเมืองสำเร็จในปี ค.ศ. 1964 แม้ศาลของรัฐจะปฏิเสธการตัดสินคดี ในท้ายที่สุดปี ค.ศ. 1967 รัฐบาลกลางได้ตัดสินผู้มีความผิดที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ถึง 18 คนซึ่งได้ละเมิดรัฐบัญญัติสิทธิพลเมือง 

ด้วยกระบวนการสร้างหนังที่ใช้ทุนต่ำของ Mawra ทำให้ Murder in Mississippi (1965) ได้บันทึกสภาพสังคมเพียงหนึ่งปีหลังเหตุฆาตกรรมที่มิสซิสซิปปี หนังเปิดเรื่องด้วย Free Ride ของกลุ่มนักศึกษาที่ขับจากเหนือลงใต้อันแสดงถึงความเป็นเสรีชน ด้วยความที่หนังบันทึกความสดใหม่ของห้วงอารมณ์ ความหวาดกลัวของคนผิวสีที่ไม่กล้าออกมาใช้สิทธิในขณะนั้น คนผิวสีไม่กล้าแสดงตำแหน่งแห่งที่ของตนในสังคมที่ได้ขึ้นชื่อว่าเสรี 

หัวหน้ากลุ่มอาสาสมัครชี้แจงกับนักศึกษาว่าการทำงานในพื้นที่ของคนขาวคลั่งเชื้อชาติ พวกเขาต้องทำตั่วให้ต่ำที่สุด พูด “ครับ” “ค่ะ” ทุกครั้ง หากเขาด่าคุณว่า “ไอ้มืด” ก็ไม่ต้องไปสนใจ “เรามาที่นี่เพื่อช่วยให้คนได้เลือกตั้ง ไม่ได้มาสละชีพเพื่ออุดมการณ์” “และจำไว้เสมอ ยิ้มสู้เข้าไว้”

หัวหน้ากลุ่มอาสาสมัครชี้แจงกับนักศึกษาว่าการทำงานในพื้นที่ของคนขาวคลั่งเชื้อชาติ พวกเขาต้องทำตั่วให้ต่ำที่สุด พูด “ครับ” “ค่ะ” ทุกครั้ง หากเขาด่าคุณว่า “ไอ้มืด” ก็ไม่ต้องไปสนใจ “เรามาที่นี่เพื่อช่วยให้คนได้เลือกตั้ง ไม่ได้มาสละชีพเพื่ออุดมการณ์” “และจำไว้เสมอ ยิ้มสู้เข้าไว้”

แม้เนื้อเรื่องในฉบับของ Mawra จะถูกดัดแปลงจากเรื่องจริงไปเสียมาก แต่ก็ได้สร้างฉากที่มีเนื้อหาหมิ่นเหม่ศีลธรรมในชนิดที่ว่าคนขาวคลั่งเชื้อชาติศาสนาต้องทนดูไม่ได้แน่ๆ (หรือพวกเขาอาจจะพึงพอใจก็เป็นได้) เช่น กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐจับตัวนักศึกษาไปเรียกค่าไถ่และข่มขืน หรือฉากที่นักศึกษาผิวดำจูบกับนักศึกษาผิวขาว รวมไปถึงฉากที่สำคัญคือการตอน (castrated) คนผิวดำโดยกลุ่ม Ku Klux Klan ด้วยความเชื่อของคนผิวขาวว่าพวกเขากลัวพลังอำนาจของเพศชายของคนผิวดำ จึงใช้วิธีการตอนคนผิวดำมาตั้งแต่ยุคค้าทาสจนถึงกลางศตวรรษที่ 20 

ความน่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือนายอำเภอได้กล่าวหาว่าหนึ่งในนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์พร้อมๆกับการเหยียดเชื้อชาติ นี่จึงเป็นผลผลิตของความเป็นอเมริกันของชนชาติอเมริกันแองโกลแซกซอนที่ยกย่องความเหนือกว่าชนชาติหรือความเชื่ออื่นๆ แม้สิทธิการเลือกตั้งของคนแอฟริกัน-อเมริกันจะใช้เวลากว่า 200 ปี แต่อาจกล่าวได้ว่าการต่อสู้ของคนผิวดำในปัจจุบันได้ผ่านพ้นยุคสมัยแห่งตัวบทกฎหมายแล้ว (Post-civil rights era)

ภายใต้สังคมเสรีที่ทุกคนต้องการเป็นอย่างคนขาว การเหยียดเชื้อชาติในปัจจุบันมีความซับซ้อนขึ้นไปอีก อย่างเช่นในกรณี George Floyd ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ไม่ได้มีเพียงแค่คนผิวขาว (Interminority racism) หนึ่งในตำรวจที่เกี่ยวข้องก็มีเชื้อสายม้ง หรือเจ้าของร้านที่แจ้งตำรวจจับ Floyd ก็มีเชื้อชาติอาหรับ 

ดังทฤษฎีของ Blalock และ Bonacich นักสังคมวิทยาในทศวรรษที่ 1960 ถูกนำมาใช้อธิบายความสัมพันธ์ของคนเอเชีย-อเมริกัน ว่าการเป็นคนกลาง (middle man theory) สามารถสร้างการยอมรับในสังคมคนขาวด้วยการเป็นผู้มีอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจ เช่น เป็นเจ้าของร้านค้า ซึ่งนั่นทำให้คนเอเชีย-อเมริกันได้รับผลประโยชน์จากการอยู่ตรงกลางระหว่างคนผิวขาวและคนแอฟริกัน-อเมริกัน 

นี่เป็นการตกย้ำภาพจำของ model minority หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ก้าวขึ้นมามีฐานะทางสังคมของคนเอเชียได้เทียบเท่ากับคนขาว นั่นยังรวมไปถึงรายได้ที่ได้เท่าๆกับคนขาวและการถูกตัดสินทางคดีความที่ได้รับโทษเบากว่าคนผิวดำ มีการศึกษาในปี ค.ศ. 1994 โดย The National Conference of Christians and Jews สอบถามคนอเมริกันหลากหลายเชื้อชาติราว 3,000 คน พบว่าทั้งคนขาวและคนเอเชียต่างมีมุมมองเช่นเดียวกันว่า “คนผิวดำไม่มีทางเจริญหรือดีได้เท่าพวกเขาหรอก”

นี่เป็นการตกย้ำภาพจำของ model minority หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ก้าวขึ้นมามีฐานะทางสังคมของคนเอเชียได้เทียบเท่ากับคนขาว นั่นยังรวมไปถึงรายได้ที่ได้เท่าๆกับคนขาวและการถูกตัดสินทางคดีความที่ได้รับโทษเบากว่าคนผิวดำ มีการศึกษาในปี ค.ศ. 1994 โดย The National Conference of Christians and Jews สอบถามคนอเมริกันหลากหลายเชื้อชาติราว 3,000 คน พบว่าทั้งคนขาวและคนเอเชียต่างมีมุมมองเช่นเดียวกันว่า “คนผิวดำไม่มีทางเจริญหรือดีได้เท่าพวกเขาหรอก”

การต่อสู้ยังไม่จบสิ้น ความเกลียดชังและการสร้างปีศาจในรัฐที่ใช้วาทกรรมของความเป็นเสรีประชาธิปไตยก็ยังดำเนินต่อไป แม้แต่กวีชาวไทยท่านหนึ่งก็ยังออกมาบอกว่า “เทพีเสรีภาพ” ยังคงรังแกคนทั้งโลก และกดขี่ทำให้คนเป็นทาส ซึ่งเป็นสำนึกของการรังเกียจทุนนิยมอเมริกันเป็นที่นิยมอย่างมากหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 และเข้มข้นขึ้นในช่วงรัฐบาลทักษิณ ชิณวัตร พวกเขาหันมายกย่องเชิดชูระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง 

“อาการ” รังเกียจทุนนิยมอเมริกันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากแต่ “อาการ” เหล่านั้นกลับมาพร้อมกับการสร้างความชอบธรรมให้เผด็จการในคราบระบบทุนนิยมเสรี และแม้ปากของกวีจะบอกรังเกียจแนวคิดค้าทาสแต่ตัวของเขาเองก็สนับสนุนการกำจัดคนเห็นต่างจากตน มิได้ต่างอะไรจากกลุ่ม Ku Klux Klan นี่จึงเป็นความย้อนแย้งที่น่าโศกเศร้าของรัฐไทยที่ถูกปกครองด้วยคน “บ้าอำนาจ” และพลเมืองที่ “เอออวยให้กับความอยุติธรรม” 

ทุนนิยมเสรีอเมริกันจึงเป็นแม่แบบที่รัฐไทยอยากจะไปให้ถึง จึงเป็นรัฐไทยที่อยากเป็นคนผิวขาวอเมริกัน พร้อมๆกัน รัฐไทยก็สร้างความพิเศษเหนือชนชาติและความเห็นต่างอื่นๆ (Thai Exceptionalism) แม้กวีจะบอกว่าเขาจงเกลียดจงชังขนาดไหนก็ตาม 


ดูภาพยนตร์ได้ที่นี่


อ้างอิง

ฐิติกร สังข์แก้ว. 2013. อ่านความเป็นพลเมืองในรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา : บริบทเชิงนิติประวัติศาสตร์ และภาคปฏิบัติการทางการเมือง

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. 1984. กำเนิดและพัฒนาระบบทาสในอเมริกา

ย์ชนะ ประณมศรี. 2552. ความเป็นรัฐธรรมนูญอเมริกันและรูปแบบการปกครองแบบประธานาธิบดีที่ยั่งยืนมาจนทุกวันนี้

มิ่ง ปัญหา.ธาริตา อินทนาม. 2020.ไพ่สองเหรียญ การค้าทาส และวรรณกรรมของชาวแอฟริกันอเมริกัน

Stand-up Comedy Review : Vir Das – For India …ความยุติธรรม 99% และเครื่องเทศอื่น ๆ หลายชนิด

“ตลกฝรั่งไม่ค่อยขำ” เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ตัวผู้เขียนมักจะเจอเมื่อชักชวนใครสักคนให้ลองดูโชว์ตลกเดี่ยวไมโครโฟน อาจเพราะกำแพงทางภาษา ความต่างทางวัฒนธรรม หรือเพราะสภาพสังคมที่ไม่เอื้อให้คนออกมาเล่นมุกตลกแรง ๆ ท้าทายความเชื่อและผู้มีอำนาจในที่สาธารณะ เหตุผลที่คนเอเชียอย่างเราจะ “ไม่ขำ” วัฒนธรรมการเล่นตลกในภาคพื้นยุโรปและอเมริกาคงมีได้มากมาย ผู้เขียนตั้งใจเอาไว้ว่า หากมีโอกาสได้แนะนำโชว์ตลกสแตนด์อัพให้กับผู้ชมหน้าใหม่ จะเลือกหยิบเอาโชว์คุณภาพดีที่นักแสดงไม่ใช่ “ฝรั่ง” และมีพื้นเพวัฒนธรรมใกล้เคียงกับชาวเอเชียอย่างพวกเราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าวิธีการแบบตลกสแตนด์อัพนั้นเป็นสากล และชนชาติไหนก็ถ่ายทอดเรื่องทุกข์ยากด้วยอารมณ์ขันได้ทั้งนั้น

ครั้งนี้เป็นคราวของ Vir Das: For India โชว์พิเศษปี 2020 ที่จัดขึ้นในเมืองมุมไบ โดยดาวตลกหน้าหล่อ ขนตางอน วีร์ ดาส ทำการแสดงบนเวทียกพื้นที่ประกอบไปด้วยบันไดและประตูสีฟ้า คล้ายหน้าบ้านของใครสักคนด้วยท่าทีสบาย ๆ เขาจัดให้ผู้ชมนั่งกันแบบครึ่งวงกลมรอบประตูโดยมีผู้ชมชาวอเมริกันนั่งตรงกลางและชาวอินเดียนั่งขนาบสองฝั่ง ใครกันจะรู้ว่าด้วยท่าทีแบบนี้ เขากำลังจะพาเราไปพบกับบทเรียน ‘อินเดียศึกษา’ ฉบับแสบสันไปตลอด 75 นาทีของการแสดง

อธิติ เทโว ภว – แขกคือพระเจ้า ภาษิตฮินดีเป็นปรัชญาในการแสดงครั้งนี้

“บอกเอาไว้ก่อนตรงนี้ว่าตลอดการแสดง จะมีบางช่วงที่ผมต้องใช้เวลาอธิบายบริบทบางมุกให้คนดูที่ไม่ใช่อินเดียฟัง แต่เชื่อผมเถอะ บางเรื่องแม้กระทั่งคนอินเดียเองก็ยังต้องการคำอธิบาย” เขาออกตัวก่อนเริ่มอธิบาย 5 สิ่งเล็ก ๆ ที่ควรรู้เพื่อทำความรู้จักอินเดีย ซอสรสชาติแปลกประหลาด อาการคลั่งผิวขาวในหลอดครีมไวท์เทนนิ่ง เอกราชของประเทศเบื้องหลังเหล้ารัมยี่ห้อโอลด์มังก์ บิสกิตยอดฮิตที่มีสภาพเหมือนผิวถนนมุมไบ และคัมภีร์พระเวท หนังสือฮาวทูเล่มแรกของชาวอินเดีย

“ถ้าคุณจะทำความเข้าใจอินเดีย คุณต้องทำความเข้าใจเรื่องความเชื่อก่อน นั่นก็คือบางเรื่องเรารู้ดีแก่ใจว่ามันไม่จริง แต่เราโคตรเชื่อเลย ยกตัวอย่างเช่น คนอินเดียทุกคนต้องยืนทำความเคารพเพลงชาติ ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราไม่ต้องยืนก็ได้ แต่ยืนเถอะ …เพื่อความปลอดภัยนะ”

“บอกเอาไว้ก่อนตรงนี้ว่าตลอดการแสดง จะมีบางช่วงที่ผมต้องใช้เวลาอธิบายบริบทบางมุกให้คนดูที่ไม่ใช่อินเดียฟัง แต่เชื่อผมเถอะ บางเรื่องแม้กระทั่งคนอินเดียเองก็ยังต้องการคำอธิบาย” เขาออกตัวก่อนเริ่มอธิบาย 5 สิ่งเล็ก ๆ ที่ควรรู้เพื่อทำความรู้จักอินเดีย ซอสรสชาติแปลกประหลาด อาการคลั่งผิวขาวในหลอดครีมไวท์เทนนิ่ง เอกราชของประเทศเบื้องหลังเหล้ารัมยี่ห้อโอลด์มังก์ บิสกิตยอดฮิตที่มีสภาพเหมือนผิวถนนมุมไบ และคัมภีร์พระเวท หนังสือฮาวทูเล่มแรกของชาวอินเดีย

จุดที่เข้มข้นที่สุดในโชว์นี้คือ การที่ดาสพาเราไปสัมผัสประวัติศาสตร์บาดแผล สงคราม และความขัดแย้งทุกครั้งที่เกิดขึ้นในอินเดียอย่างไม่เขินอาย ด้วยเจตนาของการมองหาแสงสว่างจุดเล็ก ๆ ในวันคืนอันดำมืด เขาพูดถึงทั้งการจลาจลนีรภยา* (“การที่หนุ่มสาวโกรธเกรี้ยวมันงดงามมากจริง ๆ นักการเมืองแก่ ๆ ไม่กลัวอะไรเท่าสิ่งนี้หรอก”) ความยุติธรรมเบื้องหลังโรงงานเหล้ารัมโอลด์มังค์ กรณีพิพาทวิหารพระรามที่อโยธยา** เรื่องราวที่กระทบใจผู้เขียนที่สุดคือ เมื่อเขาพูดถึงโศกนาฏกรรม 26/11 เหตุก่อการร้ายที่มุมไบปี 2008 กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเข้าทำการก่อการร้ายต่อเนื่องถึง 4 วัน วีร์ ดาสเล่าว่าเขาเสียเพื่อนสนิทที่เป็นเหมือนอาจารย์ที่เขาเคารพไปในเหตุการณ์นั้น วันเดียวกันกับที่เขากำลังจะบันทึกเทปการแสดงตลกสแตนด์อัพของตัวเองเป็นครั้งแรก

ขณะที่กำลังเสียขวัญ ‘บาบู’ เด็กทีมไฟก็เดินมาเรียกให้เขาไปถ่ายทำต่อ ทั้งสองคุยกันและดาสเข้าใจในตอนนั้นว่า ไม่ว่าจะอย่างไร เขาก็จะต้องทำงานของตัวเองต่อไป และทุกคนยังต้องมีเงินกินข้าวในวันพรุ่งนี้

“ผมทำงานกับบาบูอีกหลายปีนับจากนั้น และเพิ่งทราบเอาในภายหลังว่า บาบูมีชื่อเต็ม ๆ ว่า คาเบียร์ โมฮัมเหม็ด ฮุสเซน ไม่น่าจะมีใครเป็นมุสลิมไปกว่านี้ได้อีกแล้ว

บทเรียนของผมคือ คืนที่เพื่อนของผมโดนยิงตายในนามของพวกที่อ้างศาสนาอิสลาม มุสลิมตัวจริงรู้ดีว่ามันไม่เห็นจะเกี่ยวกันตรงไหน ผมกับคาเบียร์ โมฮัมเหม็ด ฮุสเซน ขำอยู่ด้วยกันทั้งคืน เพราะเราถังแตก และยังต้องหากินเพื่อวันพรุ่งนี้ นั่นคือเหตุผลที่คนพวกนั้นไม่มีวันชนะ คือเหตุผลที่ว่าพวกเขาทำให้เราพังพินาศกว่านี้ไม่ได้ เพราะพวกเราพังสุด ๆ มาตั้งแต่ต้นแล้วโว้ย พวกเรายุ่งจนแทบไม่มีเวลาเหลือไปเกลียดใครด้วยซ้ำ”

วีร์ ดาส บรรจงหยิบเอาสิ่งละอันพันละน้อยที่ประกอบสร้างกันเป็นอินเดียสมัยใหม่ออกมาเล่นสนุกได้อย่างกล้าหาญโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาเลือกที่จะสบตากับรอยแผลเป็นน่าเกลียดที่อยู่ในประวัติศาสตร์ของประเทศตัวเองอย่างเปิดเผย นี่จึงไม่ใช่การแสดงตลก “สำหรับอินเดีย” ตามที่ชื่อบอกเอาไว้เท่านั้น แต่มันเป็นการส่งออกวัฒนธรรมอย่างแนบเนียนที่สุดในหลายระดับ

ขณะที่เรากำลังเพลิดเพลินกับชั้นเรียนอินเดียศึกษาผ่านมุกตลกน่ารักน่าชังของเขา วีร์ ดาส บรรจงหยิบเอาสิ่งละอันพันละน้อยที่ประกอบสร้างกันเป็นอินเดียสมัยใหม่ออกมาเล่นสนุกได้อย่างกล้าหาญโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาเลือกที่จะสบตากับรอยแผลเป็นน่าเกลียดที่อยู่ในประวัติศาสตร์ของประเทศตัวเองอย่างเปิดเผย นี่จึงไม่ใช่การแสดงตลก “สำหรับอินเดีย” ตามที่ชื่อบอกเอาไว้เท่านั้น แต่มันเป็นการส่งออกวัฒนธรรมอย่างแนบเนียนที่สุดในหลายระดับ

และสำหรับพวกเรา ผู้ชมชาวไทยที่รับชมกันทางสตรีมมิ่ง จะสามารถค้นพบได้ว่าบางจุดของการแสดง เพียงแค่เราเปลี่ยนชื่อแทนค่าบางอย่างนิดหน่อย มุกตลกของเขาก็สามารถสวมทับเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราอย่างแนบเนียน


Vir Das: For India มีให้รับชมได้แล้วทาง Netflix

นอกจากนี้วีร์ ดาสยังมีโชว์ตลก ให้ดูกันอีก 2 โชว์ และยังมีผลงานซรีรส์ตลกซิทคอม Hasmukh ที่ว่าด้วยเรื่องของดาวตลกที่ต้องฆ่าคนทุกครั้งก่อนขึ้นโชว์ให้ได้ติดตามรับชมกันอีกด้วย


*การจลาจลนีรภยา – เหตุจลาจลเมื่อวัยรุ่นในหลายภูมิภาคลุกขึ้นมาประท้วงกดดันให้ภาครัฐดำเนินการจริงจังกับคดีละเมิดทางเพศและฆาตรกรรมนักศึกษาหญิงในเมืองเดลีปี 2012 หนึ่งในจุดที่เกิดการลุกลามรุนแรงที่สุดคือที่นิวเดลี นักศึกษาเข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง กินเวลาถึง 3 วัน ก่อนที่จะมีการตัดสินให้ประหารชีวิตผู้ต้องหาทั้ง 4 คน

**กรณีพิพาทอโยธยา – หนึ่งในเหตุพิพาทที่กินเวลาต่อเนื่องยาวนานที่สุดระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมในการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นที่ประสูติของพระรามในคัมภีร์อโยธยา มหาตมยา นำไปสู่การบุกทำลายมัสยิดบาบรีในปี 1992 คดีความสิ้นสุดในปี 2019 เมื่อศาลสูงสุดตัดสินให้สร้างวิหารของชาวฮินดูที่นั่น และยกที่ดิน 5 เอเคอร์แปลงอื่นให้สร้างมัสยิดแห่งใหม่

The Half of It รักไม่โรแมนติกของอลิซ วู

0

เอลลี่ ชู คือนักเรียนหญิงหัวดี เธอรับเขียนเรียงความให้เพื่อนร่วมชั้น วันหนึ่ง พอล มันสกี้ ขอให้เอลลี่ช่วยเขียนจดหมายรักให้แอสเตอร์ หญิงที่เขาตกหลุมรัก แต่เขาหารู้ไม่ว่า เอลลี่ก็แอบรักแอสเตอร์เช่นกัน

The Half of It เป็นผลงานกำกับเรื่องที่สองของอลิซ วู (จาก Saving Face) ที่คนดูต่างตกหลุมรัก หนังอเมริกันที่มีคนเอเชีย-อเมริกันเป็นตัวเอก พ่วงประเด็น LGBT การันตีด้วยรางวัลภาพยนตร์เล่าเรื่องยอดเยี่ยม (Best Narrative Feature) จากเทศกาลภาพยนตร์ทริเบกา (Tribeca Film Festival) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

1. “คนที่ทำให้ฉันใจสลายหลังเปิดตัวว่าเป็นเลสเบี้ยนคือผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง”

ผู้กำกับชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอย่าง อลิซ วู เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนเธอมีเพื่อนผู้ชายแท้ผิวขาวอยู่คนหนึ่ง แม้เขาไม่ใช่คนประเภทที่เธอคิดว่า ‘เอาล่ะ ฉันจะต้องซี้กับตานี่’ แต่สุดท้ายทั้งสองก็สนิทกัน และแม้เธอจะเปิดตัวว่าเป็นเกย์ เขาก็ยังปฏิบัติกับเธออย่างปกติและช่วยเธอผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากมาได้

ต่อมาพอเธอย้ายไปทำงานที่อื่น และเขาก็คบกับผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งระแวงอลิซ แม้จะรู้ว่าอลิซเป็นเกย์ก็ตาม วันหนึ่งเขากับอลิซคุยกัน “ฉันไม่เข้าใจเลย ถ้าจะมีอะไรเกิดขึ้นระหว่างเรา มันก็คงเกิดไปแล้วไปใช่เหรอ” เธอถาม “หล่อนไม่ได้กลัวว่าเราจะหลับนอนหรืออะไรด้วยกันหรอก ความใกล้ชิดของเราต่างหากที่ทำให้หล่อนกังวล” เขาตอบ

“แต่พอฉันโตขึ้น ฉันก็เข้าใจความรู้สึกแบบนี้ ความรู้สึกหึงหวงซึ่งเป็นปกติของมนุษย์ และสิ่งที่ฉันชอบในตัวละครของฉันก็คือพวกเขาก็มีจุดบกพร่องเหล่านี้แหละ”


2. 16 ปีที่ห่างหายไป

The Half of It คือผลงานกำกับเรื่องที่สองของอลิซ วู หนังเรื่องก่อนหน้าคือเรื่อง Saving Face เมื่อ 16 ปีก่อน พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาวเลสเบี้ยนในย่านคนจีนที่ควีนส์ และเป็นหนึ่งในหนังฮอลลีวูดเรื่องแรกๆ ที่เล่าถึงคนจีนในสหรัฐฯ และมีตัวละครเอกเป็นเลสเบี้ยน

สาเหตุที่เธอหายจากการกำกับไปนานก็เพราะต้องคอยเฝ้าดูแลแม่ที่ป่วยและเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลเป็นประจำ และตัดสินใจออกจากวงการไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เธอไม่ได้เขียนอะไรอีกเลย The Half of It เป็นแค่ไอเดียที่วนเวียนไปมาอยู่ในหัวตั้งแต่เก้าปีก่อน จนเมื่อสองสามปีที่แล้ว แม่อาการดีขึ้นและเธอเพิ่งออกจากความสัมพันธ์อันยาวนานมา เธอก็เริ่มมานั่งคิดว่า “ฉันจะทำอะไรกับชีวิตดี หน้าที่ของฉันก็แค่เป็นลูกสาวหรือแฟนที่ดีให้กับใครบางคนงั้นเหรอ มีอะไรอีกบ้างที่ฉันทำได้ และนั่นก็ทำให้ฉันเริ่มลงมือเขียนอีกครั้ง”


3. ไฮสคูลไม่ใช่ไอเดียเริ่มแรก

ในบทร่างแรกๆ นี่ไม่ใช่เรื่องของวัยรุ่นมัธยมปลายในโรงเรียน แต่คือเรื่องของเพื่อนเลสเบี้ยนสองคนกับชายแท้ในวัย 20 กว่าๆ ทั้งคู่พยายามทำความเข้าใจความรัก แม้จะยังไม่ค่อยเข้าใจความสัมพันธ์ต่อกัน จนอลิซถึงทางตันเพราะไม่สามารถหาวิธีจบเรื่องที่เธอพอใจได้ และนั่นทำให้โรงเรียนมัธยมปลายเข้ามามีบทบาท เพราะอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงมัธยมปลายล้วนให้ความรู้สึกราวกับเป็นครั้งแรก และเหมือนจะเป็นครั้งสุดท้ายเช่นกัน ทุกสิ่งต่างดูล้นไปหมด ซึ่งคุณจะพบกับอารมณ์ทุกรูปแบบในเวลาอันรวดเร็วมาก

ภาพฉูดฉาดในโรงเรียนมัธยมปลาย และบ้านแสนอบอุ่น คือโลกทั้งสองของเอลลี่ ซึ่งผกก.อลิซตั้งใจใส่ความรู้สึกเกินจริงนิดๆ ลงไปในโลกของโรงเรียนม.ปลาย เพราะคนดูจะรู้สึกถึงความจริงมากขึ้นไปอีก เมื่อตัดสลับไปที่ภาพชีวิตธรรมดาๆ ของเอลลี่ที่บ้าน


4. ชีวิตวัยรุ่นสุดเซ็ง

“ฉันไม่รู้ว่าชีวิตในโรงเรียนม.ปลายของคนอื่นเป็นยังไง แต่ของฉันค่อนข้างเงียบเหงา ฉันรู้สึกว่าชีวิตของทุกคนในโรงเรียนดูมีสีสันและมหัศจรรย์ ส่วนชีวิตของฉันแสนน่าเบื่อ”

เรื่องราวใน The Half of It เกิดในเมืองสมมติที่ชื่อสควอเฮมิช ตัวแทนของเมืองชนบทในสหรัฐฯ และถ่ายทำในเมืองที่อลิซเคยใช้ชีวิตตอนวัยรุ่น (อีสต์วอชิงตัน) เมืองที่อลิซใช้ชีวิตตอนวัยรุ่น เอลลี่คือตัวละครหลักที่มีเชื้อสายจีน ครอบครัวเธออพยพมาอยู่เมืองนี้ตั้งแต่ตอนเธอเด็กๆ มีความรู้สึกไม่เข้าพวกเกิดขึ้นเพราะเธอเป็นเพียงครอบครัวผู้อพยพครอบครัวเดียวในเมือง อลิซเล่าว่าปกติเราจะไม่เห็นคนกลุ่มนี้ในหนัง หรือถ้าเห็นก็เป็นเพียงตัวประกอบ หรือเบื้องหลังอยู่ไกลๆ ซึ่งหลังจากดูหนังจบ เธอหวังว่าคนดูจะตกหลุมรักตัวละคร และฉุกคิดถึงครอบครัวผู้อพยพในเมืองของตัวเอง เพราะแม้จะเป็นเมืองในสหรัฐฯ ที่มีคนขาวอาศัยอยู่มากที่สุด ก็ต้องมีครอบครัวคนผิวสีหรือครอบครัวผู้อพยพอยู่หนึ่งครอบครัว


5. เควียร์กับเอเชียอเมริกัน

“ปกติฉันพูดจีนกลางกับพ่อแม่ แต่เขียนหรืออ่านไม่ได้ ฉันเปิดตัวว่าเป็นเลสฯ กับพวกเขาตอนอยู่ปีท้ายๆ ในวิทยาลัย และทำให้ฉันนึกได้ว่าฉันไม่รู้จักคำว่า เกย์ ในภาษาจีน เพราะมันไม่ใช่คำที่ครอบครัวของเราจะพูดกัน … ฉันเริ่มมานั่งคิดว่า ถ้าคุณไม่รู้แม้กระทั่งแต่คำที่ใช้อธิบายมัน แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณคือสิ่งนั้น

ดังนั้น ฉันคิดว่าถ้าฉันเคยเห็นตัวละครชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่เป็นเควียร์ ฉันอาจจะมีคำหรือภาพในหัว เพราะตอนที่ฉันเปิดตัว ฉันแทบไม่รู้เลยว่ามีใครเป็นเกย์ ยิ่งเป็นคนเชื้อสายเอเชียแล้วยิ่งไม่มีเลย ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพวกเขามีตัวตนอยู่ ถ้าฉันได้เห็น ฉันอาจมีภาพของพวกเขาอยู่ในหัวมาก่อนบ้าง”

อลิซหวังว่าหนังจะทำให้คนดูนึกถึงเด็กคนหนึ่งที่ต่างจากคนอื่นนิดๆ คนคนนั้นอาจจะเปิดตัวว่าเป็นเควียร์ หรือเปิดตัวว่าเป็นอะไรก็ตาม


6. รักไม่โรแมนติก

“ฉันเคยคิดว่าความรักมีสมการตายตัวแบบเดียว เช่น A + B – C = ความรัก แล้วพอฉันผ่านโลกมานานขึ้น ก็พบว่าที่จริงมันยังมีอีกหลายสูตร หลากรูปแบบ เกินกว่าที่เคยจินตนาการไว้”

อลิซพูดถึงไอเดียของความรักที่เธออยากสำรวจ “รักโรแมนติกที่คนเราเชิดชู… เราจะรู้สึกเติมเต็มถ้าเจอรักโรแมนติก วันแต่งงานเป็นวันที่มีความสุขที่สุดในชีวิต แต่หลังจากวันนั้นล่ะ? เราจะมีความสุขน้อยลงงั้นหรือ ชีวิตเรามีอยู่แค่นั้นหรือ” แต่จากประสบการณ์ของอลิซ เธอคิดว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น แม้รักโรแมนติกหรือการตามหาความรักในรูปแบบอื่นจะแสนวิเศษ แต่ก็อย่าลืมว่ายังมีความสัมพันธ์แบบเพื่อนสนิทด้วย

“ฉันอยากจะเขียนเรื่องราวความรักผ่านความสัมพันธ์ของเพื่อนสองคน คนหนึ่งเป็นชายแท้ อีกคนเป็นเลสเบี้ยน อะไรจะเกิดขึ้นถ้าคุณพบใครบางคน และรู้สึกเหมือนเจอเนื้อคู่ แม้จะมีความใกล้ชิดอันลึกซึ้งระหว่างคุณสองคน แต่คุณก็ไม่ได้ปรารถนาถึงเซ็กซ์ ฉันอยากเล่าเรื่องจากแง่มุมนั้น และองค์ประกอบหลายๆ อย่างก็เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างหลังจากฉันเขียนเรื่องให้อยู่ในช่วงม.ปลาย”

“นี่ไม่ใช่หนังที่ประเภทใครลงเอยกับใคร แต่เป็นเรื่องของคนสามคนที่มาเจอกันในห้วงเวลาหนึ่ง ทั้งสามต่างก็เจอเศษเสี้ยวในตัวเองที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่ามี ซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นคนที่อยากเป็น”


อ้างอิง:

What Alice Wu Wants To Say In ‘The Half Of It’

‘The Half of It’ is Director Alice Wu’s Ode to Platonic Soulmates [Interview]

BlacKkKlansman คนดำรำพัน

หากว่าช่วงระยะปี 2016 เรื่อยมาจนถึง 2018 คือช่วงเวลาที่หนังคนดำปรากฏตัวในฮอลลีวูดไล่เลี่ยกันอย่างน่าสนใจภายใต้การขึ้นดำรงตำแหน่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีจากรีพับลิกัน บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ เรื่องราวและความสัมพันธ์ของคนดำทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่าง Moonlight (2016), Hidden Figures (2016), Get Out (2017) และ Green Book (2018) ซึ่งล้วนแล้วแต่มีท่าทีประนีประนอม บอกเล่าถึงปัญหา สุขและทุกข์ของการเป็นคนดำด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน

กระทั่งการมาถึงของ BlacKkKlansman (2018) โดยเสด็จพ่อ สไปค์ ลี ที่เหมือนกระโดดถีบยอดหน้าคนดูแล้วบอกว่า พอกันทีกับความนุ่มนิ่มโว้ย มึงมาดูความแค้นเคือง ความเจ็บปวดที่คนดำต้องเผชิญเพราะคนขาว (อย่างพวกมึง) ที่นี่ เดี๋ยวนี้เลยนะ!

BlacKkKlansman ดัดแปลงมาจากหนังสือชีวประวัติของ รอน สตอลล์เวิร์ธ (ในหนังรับบทโดย จอห์น เดวิด วอชิงตัน) นายตำรวจผิวดำคนแรกของสำนักงานตำรวจโคโลราโด สปริงส์ช่วงปี 1972 อันเป็นช่วงที่การเหยียดผิวหวนกลับมาระบาดในสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง เมื่อกลุ่มเหยียดผิวคูคลักซ์แคลน (KKK) พยายามจะเรืองอำนาจและออกล่าคนดำ สตอลล์เวิร์ธจึงรับบทเป็นนักสืบด้วยการทำทีเป็นขอเข้าเป็นสมาชิกของ KKK แต่ถ้าเดินดุ่มเข้าไปเองน่าจะโดนตีนตายห่าตั้งแต่ยังก้าวเท้าไม่พ้นประตูรั้ว สตอลล์เวิร์ธเลยไปขอความช่วยเหลือจาก ฟลิป ซิมเมอร์แมน (อดัม ไดรเวอร์) เพื่อนตำรวจหนุ่มคนขาวที่เพิ่งรู้จักกันหมาดๆ ให้สวมรอยเป็นเขาเข้าไปในกลุ่ม KKK แม้ว่าความฉิบหายจะจ่อคอซิมเมอร์แมนอยู่ด้วยก็ตามเพราะเขาเป็นคนยิวซึ่งตกเป็นเป้าของกลุ่ม KKK ด้วย เขาจึงต้องใช้ภาพลักษณ์การเป็นคนขาวเพื่อเอาตัวรอดในกลุ่มไปพร้อมๆ กับที่พยายามปกปิดสถานะยิวของตัวเองอย่างเต็มขั้นเพื่อไม่ให้ม่องเท่งไปเสียก่อนจะทำคดีสำเร็จ

หากว่าหนังเรื่องอื่นๆ ที่พูดเรื่อง ‘คนดำในโลกคนขาวเป็นใหญ่’ ในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกันเล่าถึงการกดขี่ด้วยท่าทีสละสลวย สไปค์ ลีก็เหมือนตีลังกามาเตะยอดหน้าแล้วตีเข่าใส่ซ้ำอีกสักดอกด้วยลีลาการทำหนังอันแสนฉูดฉาด ด้วยการจับจ้องไปยังโลกที่อนุญาตให้การเหยียดสีผิวนั้นเข้าถึงได้ง่ายดายเสียเหลือเกิน สตอลล์เวิร์ธพบโฆษณากลุ่ม KKK จากหน้าหนังสือพิมพ์และตัดสินใจโทรศัพท์ไปยังปลายสาย เลียนเสียงเป็นคนขาวและก่นด่า ‘ไอ้มืด’ เพื่อเป็นใบเบิกทางขอเข้ากลุ่ม มันจึงเป็นฉากที่เราได้เห็นความแสบสันต์ของตัวละครคนดำที่พยายามตลบหลังคนขาวที่คลั่งลัทธิเหยียดผิวด้วยการหาทางถล่มรังโจรแบบบ้าดีเดือด 

ควบคู่กันไปกับการเรืองอำนาจของกลุ่มเหยียดผิว สตอลล์เวิร์ธก็พบว่าเหล่าคนดำเองก็รวมกลุ่มเพื่อต่อต้าน KKK เช่นกัน โดยขณะที่ให้ซิมเมอร์แมนแฝงตัวอยู่ในกลุ่มคลั่งคนขาว เขาก็แทรกตัวเข้าไปอยู่ในกลุ่มสหภาพต่อต้านการเหยียดผิวซึ่งนำโดย แพทริซ ดูมาส์ (ลอรา ฮาร์เรียร์) นักศึกษาสาวหัวไวที่ไม่ระแคะระคายเลยแม้แต่น้อยว่าพ่อหนุ่มตรงหน้าของเธอเป็นตำรวจปลอมตัวมา ถึงตรงนี้ สตอลล์เวิร์ธจึงเข้าร่วมกับทั้งสองกลุ่ม คือตัวจริงซึ่งเข้ามาสืบหาเรื่องราวในสหภาพต่อต้าน KKK และตัวปลอม (ในร่างคนขาวของซิมเมอร์แมน) ที่ทำเนียนๆ เข้าไปอยู่กับกลุ่มเหยียดผิวเพื่อหาจังหวะทลายรัง

ก่อนหน้านี้ สไปค์ ลีคือคนทำหนังประเด็นสีผิวได้อย่างเฉียบคมและแสบสันต์อยู่เสมอ Jungle Fever (1991 -เรื่องดราม่าของชายผิวดำที่นอกใจเมียไปคบชู้กับเลขาผิวขาวจนความแตก นำมาซึ่งความบัดซบในชีวิตทุกมิติ), Malcolm X (1992 -ว่าด้วยการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิให้คนผิวดำของ มัลคอล์ม เอ็กซ์) และการหวนกลับมาทำหนังในครั้งนี้ก็ยังพิสูจน์ว่าเขี้ยวเล็บของเขายังแหลมคมไม่เปลี่ยน ทั้งยังมุ่งมั่นในการจะวิพากษ์การเหยียดสีผิวและเชื้อชาติที่ฝังรากลึกจนกลายเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของวัฒนธรรมในสังคม ดังที่ปรากฏเมื่อกลุ่ม KKK เปิดหนัง The Birth of a Nation (1915, ดี ดับเบิลยู กริฟฟิธ) เพื่อปลุกใจสมาชิกก่อนออกล่าคนดำ หนังจึงเต็มไปด้วยการสบถสาบานเหยียดชาติพันธุ์แบบไม่ประนีประนอม ไม่ pc จากฝั่งกลุ่มคลั่งคนขาวที่เชื่อว่าสายเลือดของคนขาวนั้นบริสุทธิ์และสูงส่งกว่าคนดำ ซึ่งมันเป็นกระบวนคิดชุดเดียวกันกับที่กลุ่มนาซีใช้เมื่อสมัยฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่สอง และช่วยไม่ได้เลยที่ซิมเมอร์แมนที่แฝงตัวเข้าไปอยู่ในกลุ่มจะรู้สึกอึดอัดจนอยากเบือนหน้าหนี แต่ก็ทำไม่ได้ มากที่สุดคือการจ้องมองกลับไปยังหัวใจของความเกลียดชังและการเลือกปฏิบัตินั้นอย่างแค้นเคือง

เคต บลานเช็ตต์ ประธานคณะกรรมการเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีที่ BlacKkKlansman เข้าประกวด เอ่ยชมตัวหนังว่าช่างเป็นหนังที่ “จับประเด็นวิกฤติของชาวอเมริกันได้อย่างทรงพลัง” ซึ่งแม้ลีจะซึ้งใจ หากแต่เขาก็คิดว่าบลานเช็ตต์นั้นยังพลาดไปไกลโข “ผมว่าเธอเป็นนักแสดงที่เก่งมากๆ และไปคุยกับเธอหลังเทศกาลจบว่าเป็นไปได้ก็อยากร่วมงานกับสักครั้ง แต่เอาจริงๆ นะ ผมคิดว่าประเด็นนี้เธอพลาดและกรรมการคนอื่นๆ ก็มองพลาดด้วยเหมือนกัน” ลีว่า “ผมไม่ได้พูดเพราะผมวืดรางวัลปาล์มทองหรืออะไรนะ แต่เพราะหนังเรื่องนี้มันไม่ได้พูดถึงแค่สหรัฐอเมริกา แต่มันระบาดไปทั่วยุโรป เกาะอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี หรือการกลับมาเรืองอำนาจของกลุ่มนีโอ-นาซีในเยอรมนี ผมอยากให้คนเข้าใจเรื่องนี้มากๆ มันคือเรื่องการมีอำนาจของกลุ่มขวาจัด กลุ่มฟาสซิสต์ที่ไม่ได้อยู่แค่ในอเมริกา” (ลีปิดท้ายการสนทนานี้ว่า “อย่างอนนะเคต ที่บอกว่าอยากร่วมงานกันนี่ผมหมายความแบบนั้นจริงๆ นะ”)

สไปค์ ลียังตอกย้ำกระแสคลั่งคนขาวอย่างเจ็บแสบด้วยการให้ตัวละครผิวดำจ้องมองตรงมายังคนดู แล้วใช้ฟุตเตจปิดท้ายเป็นเหตุการณ์จริงในปัจจุบันที่กลุ่มบูชาคนขาวอาละวาด เรียกร้องให้เกิดการแบ่งแยกชาติพันธุ์หรือสร้างความเป็นอื่นให้คนที่ไม่ได้เป็นคนขาว BlacKkKlansman จึงช่างชวนให้รู้สึกเจ็บแปลบเมื่อมันคือหลักฐานที่ว่า แม้เหตุการณ์จะล่วงผ่านมาอีกหลายปี ความรุนแรงและความเกลียดชังที่สตอลล์เวิร์ธ ซิมเมอร์แมนและคนดำเคยเผชิญในอดีตนั้นก็ยังไม่จางหายไปสักกี่มากยน้อย มันเพียงแต่ซุกซ่อนตัวไว้ใต้โฉมหน้าของความสงบนิ่งเท่านั้น

“ผมทำหนังก็เพราะแรงสะเทือนจากวัฒนธรรมและสังคมอยู่แล้ว คนยังมาบอกผมอยู่เลยว่าถ้าไม่เคยดู School Daze (1988 -ว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์คนดำของตัวละครเอกซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม) ก็คงไม่ไปศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมคนดำแน่ๆ” ลีบอก “และผมมั่นใจจะตายไปว่างานของผมจะยังอยู่แม้ตัวผมจะจากไปนานแสนนานแล้ว นี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะหวังได้แล้วล่ะ นั่นคือเมื่อชีวิตเราสร้างผลกระทบต่ออะไรสักอย่างในทางที่ดีน่ะ”

ภายหลังหนังออกฉายได้สองปี ความเกลียดชัง -ที่ถูกจุดชนวนขึ้นมาอยู่บ่อยครั้ง- ก็ระเบิดขึ้นอีกครั้งในปี 2020 พร้อมการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคของคนดำ อันเป็นสิ่งซึ่งลีเรียกร้องมานับตั้งแต่ทำหนังในขวบปีแรกๆ จวบจนปัจจุบันที่ดูเหมือนหนังของเขาจะยัง ‘ฟังก์ชั่น’ กับเหตุการณ์จริงอย่างน่าเศร้า และด้านหนึ่งมันก็ทำให้ BlacKkKlansman ยังคงทรงพลังต่อไปในโลกที่ความเกลียดชังยังมีบทบาทต่อผู้คนเช่นนี้

เหตุใดยักษ์ใหญ่สตรีมมิ่งยังไม่สามารถเจาะตลาดจีนได้

แม้ว่าปัจจุบัน ประเทศจีนจะกลายเป็นตลาดสำคัญสำหรับภาพยนตร์ของฮอลลีวูด จนเรียกได้ว่าเป็นแหล่งทำเงินนอกบ้านของเหล่าบริษัทสตูดิโอต่างๆ แต่สำหรับผู้ประกอบการสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่อย่าง Netflix หรือ Amazon Prime จีนเป็นตลาดเดียวในโลก (ไม่นับ ซีเรีย เกาหลีเหนือ อิหร่าน) ที่พวกเขายังไม่สามารถเจาะได้

ปัจจุบัน Netflix มีจำนวนสมาชิกทั่วโลกกว่า 182 ล้านคน ขณะที่ Amazon Prime มีสมาชิกกว่า 150 ล้านคน ส่วนประเทศจีนมีพลเมืองทั้งหมด 1,483 ล้านคน ว่ากันว่า ถ้าพวกเขาสามารถเข้าถึงกลุ่มประชากรจีนได้สัก 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งเท่ากับ 297 ล้านคน พวกเขาก็จะกลายเบอร์หนึ่งของธุรกิจ Video on Demand ในโลกนี้ในบัดดล

ว่าแต่อะไรคือสาเหตุที่ปิดกั้นโอกาสที่จะทำให้พวกเขากลายเป็นจ้าวโลกของธุรกิจสตรีมมิ่งโดยสมบูรณ์แบบ ผู้เขียนขอสรุปดังนี้

1. ความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ที่ไม่เอื้อต่อผู้ให้บริการคอนเทนต์ดิจิตอลต่างชาติ ตามกฎหมายของจีน ช่องโทรทัศน์และช่องทางสตรีมมิ่งต่างชาติโดยส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่เนื้อหารายการในประเทศ ยกเว้นผู้ประกอบการไม่กี่ราย อย่างเช่น ช่องบีบีซี และช่องต่างชาติไม่กี่ช่อง ที่ได้รับอนุญาตให้แพร่ภาพได้ในโรงแรมเท่านั้น แต่พวกเขาต้องแลกด้วยการถูกตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐอย่างเข้มงวด จนทำให้บางครั้งเกิดภาวะจอดำขึ้นมา

ทางเลือกเดียวที่ผู้ประกอบการคอนเทนต์ดิจิตอลจะทำได้คือ ขายสิทธิ์คอนเทนต์ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นไปแพร่ภาพแทน เช่นกรณี Netflix ที่ขายซีรีส์ Black Mirror ให้ Youku สตรีมมิ่งชื่อดังของจีน ซึ่งเป็นของอาลีบาบา แต่ดูเหมือน Netflix จะไม่พอใจแค่นี้ เพราะรายได้ที่ได้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการหลักของพวกเขา นั่นคือ การเป็นหนึ่งในผู้เล่นของตลาดคอนเทนต์ดิจิตอลในประเทศจีน

Lost in Russia

2. และหากแม้ว่าพวกเขาจะสามารถสอดแทรกเข้าไปในตลาดคอนเทนต์ดิจิตอลในจีนได้ (ผ่านรูปแบบของการร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น แบบที่บริษัทหนังหลายแห่งของฮอลลีวูดได้ทำมาแล้ว) แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับคู่แข่งที่อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบกว่าหลายขุม อาทิ Youku ที่มีผู้ใช้บริการรวมกัน 500 ล้านคนต่อเดือน แพลตฟอร์ม Iqiyi ของเสิร์ชเอ็นจินยักษ์ใหญ่ ไป่ตู๋ (Baidu) มีผู้ใช้บริการต่อเดือนถึง 500 ล้านคนต่อเดือน เช่นกัน แพลตฟอร์ม Tencent Video ของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ Tencent มีสมาชิกทั้งหมด 62.59 ล้านคน หรือล่าสุด แพลตฟอร์ม Bytedance เจ้าของแอพดัง TikTok ที่สร้างความฮือฮาในช่วงที่โรคโควิด 19 กำลังระบาดหนัก ลงทุนซื้อหนังจีนเรื่อง Lost in Russia ด้วยจำนวนเงินถึง 90.83 ล้านเหรียญ แล้วฉายแบบไม่เก็บค่าชมเพียงแต่ผู้ชมต้องโหลดแอพก่อน

จุดเด่นของผู้ประกอบการสตรีมมิ่งเหล่านี้คือ

1) คอนเทนต์ที่แข็งแรงทั้งหนังและซีรีส์ โดยภาพยนตร์หลายเรื่องที่ฉายในช่องทางนี้ มักไม่ผ่านโควตาหนังต่างประเทศที่สามารถฉายในโรงภาพยนตร์ได้

2) ส่วนใหญ่ไม่เก็บค่าบริการสมาชิก หรือพูดง่ายๆ ก็ฉายให้ดูฟรีโดยผู้ชมจะต้องดาวน์โหลดแอพของบริษัทเหล่านี้ก่อนถึงจะดูได้ การเก็บค่าบริการถือเป็นการมอบทางเลือกให้ผู้ใช้บริการมากกว่า เพราะหากอยากชมคอนเทนต์แบบไม่ต้องมีโฆษณาคั่นก็เพียงแค่จ่ายค่าสมาชิกเท่านั้น แถมค่าบริการจัดอยู่อัตราที่ไม่แพง

3. ระบบเซ็นเซอร์ที่เข้มงวด ตามกฎหมายของจีน ภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่จะฉายในช่องทางออนไลน์ได้ จะต้องผ่านการพิจารณาจากสำนักงานภาพยนตร์ (Film Bureau) การฉายภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการพิจารณาถือว่าผิดกฎหมาย ดังนั้น แม้ว่า Netflix หรือ Amazon Prime จะให้บริการในประเทศจีนได้ แต่ก็ใช่ว่าคอนเทนต์ของพวกเขา ซึ่งมีลักษณะเด่นตรงเนื้อหาที่ถูกนำเสนออย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เซ็กซ์ ความรุนแรง หรือแม้แต่การเมือง จะสามารถฉายได้ เมื่อเป็นดังนี้ โอกาสที่จะสอดแทรกขึ้นเป็นผู้เล่นเบอร์ต้นๆ ของธุรกิจสตรีมมิ่งในจีนก็แทบจะเป็นไปไม่ได้


4. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่แน่นอน ปัจจัยนี้แม้ไม่ส่งผลให้เห็นชัดเจน ในช่วงที่เกิดสงครามการค้า เพราะเมื่อปีที่แล้ว หนังอเมริกันหลายเรื่องยังทำรายได้อย่างน่าประทับใจ แต่หลังจากเกิดวิกฤตการณ์โควิด ที่ทำให้รัฐบาลอเมริกันยกระดับการโจมตีจากเรื่องการค้าที่ไม่เป็นธรรมไปสู่การโจมตีว่าจีนอยู่เบื้องหลังการระบาดของโรค รวมถึงการให้ความเห็นที่สนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง อาจทำให้ความสัมพันธ์ในเชิงวัฒนธรรมได้รับผลกระทบไปด้วย เท่ากับทำให้โอกาสที่ Netflix และ Amazon Prime จะรุกตลาดจีนเป็นไปได้ยากขึ้น ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า การแข่งขันขยายพื้นของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งรายได้ใหญ่ อย่าง Netflix Amazon Prime Video หรือแม้แต่หน้าใหม่อย่าง Disney Plus เป็นไปอย่างเข้มข้น แต่จะมีประโยชน์อะไร ถ้าจีนยังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางธุรกิจประเทศเดียวที่พวกเขายังเจาะไม่ได้

Moonlight : โอบกอดความแปลกต่างด้วย ‘ไก่ย่างคิวบา’ …ประตูที่เปิดออกด้วย ‘รัก’ ในสังคมแห่งการเหยียด

ไชรอน จ้องมองประตูบานนั้นจากด้านในของร้านอาหารอยู่เนิ่นนาน ระหว่างที่พ่อครัว-ผู้เป็นเพื่อนชายที่พลัดหายจากชีวิตของเขาไปราวสิบปี-อย่าง เควิน กำลังเตรียม ‘เมนูไก่สุดพิเศษ’ ในสไตล์คิวบามาเสิร์ฟให้ถึงโต๊ะริมหน้าต่าง เขาอาจกำลังนั่งหวนนึกถึงช่วงชีวิตอันหม่นเศร้าที่ผ่านมาทั้งหมดของตัวเอง จากการเป็นเด็กชายตัวจ้อยที่มีครอบครัวไม่สมประกอบและมักถูกผู้อื่นรังแก, การเป็นเด็กหนุ่มร่างบางที่สับสนกับการแสวงหา ‘ที่ทาง’ ในบ้านและโรงเรียนของตน มาสู่การเป็นชายฉกรรจ์หุ่นหนาที่พยายามไม่แยแสกับโลกรอบข้างอีกต่อไปในเวลานี้

ทว่าลึกๆ ภายในจิตใจที่ด้านชานั้น ไชรอนก็ยังคงเฝ้าฝันถึง ‘ความรัก’ ที่เขาโหยหา ไม่ว่าจะเป็นความรักจากแม่ที่เคยติดยาจนคลุ้มคลั่งอยู่ในบ้านหลังเล็กแคบแสนหลอกหลอน หรือความรักจากเควินที่เคยร่วมโมงยามสุดเสน่หากับเขาตรงชายหาดไมอามีในค่ำคืนหนึ่ง

แต่สิ่งที่เขา-และครอบครัว-ได้รับมาตลอดชั่วชีวิตกลับเป็น ‘ความเกลียดชัง’ ทั้งในฐานะของคนยากจน, คนผิวสี และเกย์ — กลุ่มสถานะที่ถูกผู้คนบนโลกมองต่ำด้วยสายตา ‘เหยียดหยาม’ เสมอมา


1

ไชรอน (รับบทโดย อเล็กซ์ ฮิบเบิร์ต) เป็นเด็กชายชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่เติบโตอย่างล้มลุกคลุกคลานมาในย่านลิเบอร์ตี ซิตี เมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ของสหรัฐอเมริกาช่วงยุค 80 ซึ่งด้วยความเป็นเด็กที่ทั้งขี้กลัวและผอมแห้ง เขาผู้มีฉายาว่า ‘ลิตเติล’ จึงต้องถูกเด็กๆ ในละแวกนั้นกลั่นแกล้ง กระทั่ง ฆวน (มาเฮอร์ชาลา อาลี) -หนุ่มค้ายาผิวสีผู้มีจิตใจอ่อนโยน- กับแฟนสาวเข้ามาช่วยส่งมอบความรู้สึก ‘อบอุ่นปลอดภัย’ ให้ และกลายมาเป็นเสมือน ‘บ้าน’ ทางจิตวิญญาณของเขา ซึ่งช่างแตกต่างจาก ‘บ้าน’ หลังจริงราวฟ้ากับเหว เมื่อที่นั่นมีแต่แม่ที่ทั้งขัดสนเงินทองและค่อยๆ ถลำลึกไปกับการเสพยา

แต่ถึงจะมีบ้านอีกหลังให้คอยพิงพักจนกระทั่งแตกเนื้อหนุ่ม ไชรอน (แอชตัน แซนเดอร์ส) ก็ยังคงถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมโรงเรียน และมันก็ดูจะหนักข้อขึ้นทุกครั้งจนเขาแทบทนไม่ไหว ซึ่งหลังจากที่ เควิน (แจร์เรล เจอโรม) -เพื่อนชายคนสนิทจากวัยเด็ก- ชวนไชรอนไปนั่งเล่นริมหาดในเวลากลางคืนจนเลยเถิดไปสู่การปล่อยปลดอารมณ์ทางเพศระหว่างกัน ฝ่ายแรกก็ถูกแก๊งเพื่อนจอมเกเรที่โรงเรียนบังคับให้ชกหน้าฝ่ายหลังเสียยับเยิน — เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ไชรอนต้องเจ็บปวดทั้งใจทั้งกาย และตัดสินใจฝังกลบ ‘ความอ่อนแอ’ ภายในตัวเองไปตลอดกาล

และเมื่อก้าวเข้าสู่วัยฉกรรจ์ แม้ ไชรอน (เทรแวนเท รอดส์) จะฟิตร่างกายให้ใหญ่หนา, กลายเป็นดาวเด่นในแวดวงค้ายา-ไม่ต่างจากฆวน-ที่แอตแลนตา และตั้งฉายานามให้ตัวเองว่า ‘แบล็ค’ -ตามชื่อเล่นที่เควินเคยเรียกเขา- จนดูน่าเกรงขามกว่าแต่ก่อนหลายเท่า ทว่าลึกๆ แล้ว เขาก็ยังรู้สึกไม่มั่นคงกับชีวิตและตัวตนอยู่ดี ก่อนที่ในคืนหนึ่ง เควิน (อันเดร ฮอลแลนด์) -ผู้ที่ตอนนี้กลายเป็นพ่อครัวประจำร้านอาหารคิวบาในเมืองเกิด- จะโทรหาเขาอย่างไม่คาดฝันหลังไม่ได้พบหน้าค่าตากันมาเป็นสิบปี

หากพิจารณาจากชะตากรรมทั้งหมดนี้ ตัวละครไชรอนใน Moonlight (2016) -หนังรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเรื่องแรกที่บอกเล่าชีวิตเควียร์เป็นหลักและใช้นักแสดงผิวสียกทีม- ก็อาจถือได้ว่าเป็น ‘ภาพแทน’ ของมนุษย์ที่โดนสังคมกดขี่ในหลากหลายมิติ เขาถูกบีบคั้นจากฐานะอันยากไร้ของครอบครัวจนแทบไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสอาหารชั้นเลิศ, สมาชิกจากทั้งสองบ้านของเขา-ทั้งแม่และฆวน-ก็ถูกกกดทับจากเชื้อชาติผิวสีจนไม่สามารถหางานการดีๆ ทำได้ จึงต้องก้าวเข้าไปพัวพันกับยาเสพติดเพื่อความอยู่รอด และเขาก็ยังถูกทำร้ายจากรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูอ้อนแอ้นบอบบาง-หรือแม้แต่เพศสภาวะภายในที่กำลังสั่นไหวเมื่อดันเผลอใจไปมี ‘อะไร’ กับเพื่อนชาย-ของตน โดยกลุ่ม ‘ผู้ชาย’ รอบข้างที่คอยล้อเลียนและรังแกเขาจนถึงขั้นเลือดตกยางออกมาตั้งแต่เล็กจนโต

การถูกกดขี่เหยียดหยามจากคนรอบข้างทำให้ไชรอนจำต้อง ‘เปลี่ยน’ ตัวเองให้กลายเป็น ‘พวกเดียวกัน’ กับผู้ชายเหล่านั้น ทั้งจากเรือนร่างบึกบึนที่เต็มไปด้วยมัดกล้ามแน่นปั๋ง และจากการแสดงออกที่ดู ‘ป่าเถื่อน’ และ/หรือ ‘ไร้ความรู้สึก’ พอๆ กับพวกผู้ชายที่เคยทำร้ายเขา

แต่ถึงจะลงทุนปกปิดด้านที่อ่อนแอของตนถึงเพียงนี้ เขาก็ยังคง ‘หายใจไม่ออก’ กับภาพฝันร้าย และผวาตื่นขึ้นมากลางดึกอย่างเดียวดายอีกหลายหน — โดยเฉพาะกับภาพที่แม่ปิดประตูกระแทกใส่หน้าแล้วทิ้งให้เขาต้องมีชีวิตอยู่ลำพัง และภาพที่แม่เปิดประตูออกมาด่าทอเขาด้วยท่าทีรังเกียจเดียดฉันท์

ภาพฝันร้ายเหล่านั้นทำให้เขาสงสัยเรื่อยมาว่า จะยังมีประตูที่เปิดออกไปสู่ ‘ความสุข’ หลงเหลือสำหรับเขาอยู่อีกบ้างไหม


2

ตลอดชีวิตสามช่วงวัยของไชรอน ‘อาหาร’ แต่ละมื้อมักถูกนำมาใช้เป็น ‘โมทีฟ’ (Motif – สิ่งที่ถูกเน้นย้ำบ่อยๆ ในหนังจนก่อเกิดเป็น ‘ความหมาย’ บางอย่าง) เสมอ …ในฐานะของ ‘ความรัก’ ที่เขาค่อยๆ ได้รับมาจากคนรอบข้างทีละนิด-ทั้งที่รู้และอาจไม่รู้ตัว

นับตั้งแต่ช่วงวัยเด็กที่เขาค่อยๆ เปิดใจยอมรับมิตรภาพจากฆวนและแฟนสาวผ่านอาหาร-โดยเฉพาะไก่ทอดรสจัดจ้าน-ที่เด็กจนๆ เช่นเขาแทบไม่เคยมีโอกาสได้กิน (และทั้งคู่ก็มักจะนั่งมองเขากินด้วยความเอ็นดูทุกทีไป), ช่วงวัยรุ่นที่เขาสามารถเข้า-ออกบ้านฆวนเพื่อมานั่งกินอาหารอย่างสบายใจได้ทุกเมื่อ มาจนถึงช่วงวัยผู้ใหญ่ที่เขาได้มีโอกาสขับรถกลับมายังเมืองเกิดเพื่อกินมื้อค่ำฝีมือเควิน-เพื่อนชายที่เขาคิดถึงอยู่ทุกคืนวัน และก็เป็น ‘เมนูไก่สุดพิเศษ’ ในสไตล์คิวบานี้เอง ที่ทำให้ไชรอนผู้ปิดกั้นตัวเองเริ่มย้อนกลับไปนึกถึงความรักเหล่านั้นในแต่ละช่วงชีวิตที่ล่วงผ่าน 

เมนูสัญชาติคิวบาที่เควินทำให้ไชรอนกินด้วยความรักในคืนนั้น คือ Pollo a La Plancha ที่แปลว่า ‘ไก่บนกระทะเหล็กร้อน’ หรือ ‘ไก่ย่าง’ ในภาษาสเปน ซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นจานเด็ดของคิวบา อันประกอบด้วยอกไก่หมักเครื่องเทศที่ย่างจนสุกหอมบนกระทะเหล็กร้อน บีบเลมอน ราดด้วยหัวหอมแว่นผัดเกรียม วางเคียงด้วยข้าวสวย-ถั่วดำต้มปรุงรส และโรยผักชีสับลงไป — ถือเป็นเมนูที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมอาหารคิวบาที่นิยมผสมผสานรสชาติอันหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน (ซึ่งได้รับอิทธิพลทั้งจากสเปน, โปรตุเกส, แอฟริกา, เอเชีย หรือแม้แต่หมู่เกาะแถบแคริบเบียน) โดยมักใช้วัตถุดิบที่ช่วยสร้างความสดชื่นตื่นตัว (เลมอน-เครื่องเทศ) และให้พลังงานสูง (ไก่-ถั่วดำ) ซึ่งเมนูไก่ย่างลักษณะนี้ถูกทำเสิร์ฟกันอย่างแพร่หลายทั้งในบ้าน งานปาร์ตี้ และภัตตาคารทั่วไปของคิวบา

และด้วยประวัติศาสตร์รักอันยาวนานที่พวกเขามีร่วมกัน มื้อค่ำระหว่างชายผิวสีทั้งคู่นี้จึงถูกถ่ายทอดออกมาด้วยท่วงท่าที่ ‘เนิบช้า’ และ ‘ละมุนละไม’ กว่าฉากอื่นๆ ก่อนหน้า เราเลยได้มีเวลาละเลียดมองไชรอนเสริมหล่อก่อนเดินเข้าร้านอาหารไปด้วยใจตุ๊มต่อม, นั่งรอเควินที่กำลังทำอาหารอย่างประณีตบรรจงอยู่ในครัว, ลิ้มรสอาหารจานนั้น, ดื่มไวน์แดงร่วมกัน และหวนรำลึกถึงความสัมพันธ์ครั้งเก่าผ่านเสียงดนตรีย้อนยุคจากตู้เพลงที่ถูกบรรเลงอย่างอ้อยส้อยหวานหยด – ราวกับมันเป็นช่วงเวลาอันมีค่าที่ทั้งไชรอนและเควินอยากยึดยื้อเอาไว้ให้นานที่สุด เพื่อร่วมแบ่งปันและช่วยเยียวยาชีวิตที่ก้าวพลาดของกันและกัน

แต่พวกเขาอาจไม่รู้ว่า ในอีกแง่หนึ่ง ‘ไก่ย่างคิวบา’ บนโต๊ะอาหารของพวกเขานั้น ก็ยังสามารถสะท้อนถึง ‘สังคม’ รอบข้างที่เฝ้าทำร้ายไชรอนและผู้คนผิวสีที่รักเขาได้ด้วย


3

ในวัยเด็ก, หลังการสอนว่ายน้ำริมทะเลเสร็จสิ้นลง ชายชื่อ ฆวน ผู้เปรียบได้กับ ‘พ่อ’ ของไชรอนเคยบอกกับเขาว่า “ฉันมีเพื่อนผิวสีอยู่ที่คิวบาเต็มไปหมด แต่หนูจะไม่มีทางรู้ได้เลย (ว่าคนผิวสีคนไหนเป็น ‘ชาวคิวบา’ บ้าง) หากอาศัยอยู่ที่นี่” — ซึ่งคำว่า ‘ที่นี่’ ของเขา หมายถึง เมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกานั่นเอง

ฆวนมาจากประเทศหมู่เกาะในคาบสมุทรแคริบเบียนอย่าง ‘คิวบา’ และสาเหตุที่เขาเข้าใจสถานะความเป็น ‘คนนอก’ ของเด็กชายตัวจ้อยได้ดี ก็เพราะการเป็น ‘คนผิวสีเชื้อสายคิวบา’ ในไมอามีนั้น ช่างเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากพอๆ กัน เนื่องจากชุมชนคนคิวบาของที่นั่นล้วนเต็มไปด้วย ‘คนผิวขาว’ จนทำให้หลายครั้ง ชาวอเมริกันก็มีภาพจำว่า ชาวคิวบาคือ ‘คนสีผิวอ่อน’ เท่านั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ประชากรผิวสีในคิวบามีจำนวนมากถึงครึ่งต่อครึ่ง

เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้คิวบากลายเป็นพื้นถิ่นที่คลาคล่ำไปด้วยคนผิวสี อาจเป็นเพราะการขึ้นสู่อำนาจของ ฟิเดล คาสโตร เมื่อปี 1959 ที่นำพาเอาแนวคิด ‘สังคมนิยม’ (Socialism) หรือการปกครอบแบบ ‘รัฐจัดสรร’ เข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ทศวรรษถัดจากนั้น โดยเฉพาะการสร้างความเท่าเทียมให้กับคนผิวสีและคนยากจน รวมถึงการต่อต้านแนวคิดทุนนิยมและตั้งตนเป็นศัตรูกับประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกา — ซึ่งทั้งหมดนั้นก็ทำให้ชนชั้นนำผิวขาวที่ร่ำรวยต้องหลีกลี้หนีหายออกนอกคิวบาไป (เพราะนโยบายสังคมนิยม-เช่น คนรวยต้องปันที่ดินให้คนจน หรือการขึ้นภาษีรถหรูจนสูงลิ่ว-นั้น เป็นเรื่องเกินจะรับได้สำหรับพวกเขา) ขณะที่ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างจำนวนมากก็ถูกสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองของโลกสังคมนิยม (การเข้ามาจำกัดและตรวจสอบทุกปัจจัยของรัฐที่ทำให้พวกเขาดำเนินธุรกิจส่วนตัวได้ยากกว่าเดิม) บีบให้ตัดสินใจเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งรกรากและแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในอเมริกาแทน โดยมีการประเมินกันว่า ในระหว่างยุค 60-80 มีชาวคิวบาย้ายถิ่นฐานไปยังอเมริกามากถึงกว่าครึ่งล้านคน 

ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมอาหารของคิวบาจึงแทรกตัวเข้าไปงอกเงยเบ่งบานอยู่ในอเมริกามาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะในเมืองริมทะเลอย่างไมอามีของรัฐฟลอริดาที่ตั้งอยู่ไม่ไกลนักจากหมู่เกาะคิวบา ซึ่งจากสถิติเมื่อไม่นานมานี้ กล่าวกันว่า มีชาวคิวบาอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นหลักล้านคนแล้ว 

แต่แม้ไมอามีจะถูกถือครองร่วมโดยชาวคิวบาและวัฒนธรรมชาวเกาะของพวกเขา-ซึ่งแน่นอนว่าสามารถช่วยขับเคลื่อนเมืองนี้ได้อย่างเข้มแข็ง ทว่าในยุคสมัยหนึ่ง คนคิวบาที่มี ‘ผิวสีดำ’ อย่างฆวนกลับต้องถูกสังคม-ไม่ว่าจะของคนอเมริกันหรือคนคิวบาเอง-กีดกันด้านอาชีพการงานจนต้องลักลอบหาเงินเอาจากการค้ายาที่ผิดกฎหมายแทน เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น เขาและคนในครอบครัวก็จะมีสถานะเป็นแค่ ‘คนผิวสีผู้ยากไร้’ ที่ไม่มีใครอยากเหลียวแลไปจนวันตาย

— ไม่ต่างจากคนผิวสีชนชาติอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมหาศาลที่ถูก ‘เหยียด’ มาตลอดในหน้าประวัติศาสตร์ของสังคมอเมริกันเลย


4

หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างว่า ‘ไก่ทอดอเมริกัน’ คืออาหารที่เป็นสัญลักษณ์แทน ‘คำเหยียดหยาม’ ที่คนผิวขาวมีต่อคนผิวสี

เพราะนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา-อันเป็นช่วงเวลาที่การค้าทาสยังคงรุ่งเรือง เมนูไก่ทอด (แบบปรุงรสและทอดน้ำมันท่วม) ที่ปรากฏขึ้นทางตอนใต้ของอเมริกา (รวมถึงรัฐฟลอริดาที่อยู่ในหนัง) ถูกตีตราว่าเป็น ‘อาหารสำหรับทาสผิวสี’ เนื่องด้วยมี ‘ราคาถูก’, ให้พลังงานสูง ‘เหมาะกับคนใช้แรงงาน’ และยังต้องบริโภคด้วยมืออย่าง ‘สกปรกเลอะเทอะ’ ซึ่งอคติเหมารวมเหล่านี้ของคนผิวขาวถือเป็นการสร้าง ‘ภาพจำอันน่ารังเกียจ’ ให้เกิดกับคนผิวสีอย่างน่าเจ็บปวดใจ และแม้ว่าในปัจจุบัน ไก่ทอดจะกลายเป็นอาหารจานสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของคนผิวขาวได้ (ก็ ‘ไก่ทอดผู้พัน’ จากเคนตักกีนั่นปะไร!) ความหมายเชิงลบดังกล่าวของไก่ทอดก็ยังคงเป็น ‘ปมทางใจ’ ของกลุ่มคนผิวสีที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงและถกเถียงกันอย่างกว้างขวางไม่รู้จบ

แต่ถึงวัตถุดิบอย่างไก่จะเคยถูกแปรสภาพให้เป็นเมนูของอเมริกันชนที่ฝังติดกับอคติการเหยียดเชื้อชาติมาก่อน ทว่าใน Moonlight มันกลับกลายมาเป็นเมนูที่ช่วย ‘โอบกอด’ คนผิวสีได้อย่างน่าประทับใจ เพราะสำหรับไชรอนแล้ว ไก่ทอดบนโต๊ะอาหารที่บ้านฆวนหาใช่คำดูถูกเหยียดหยาม-ดังที่เคยถูกบอกเล่าฝังหัวกันมา หากแต่มันคือ ‘คำปลอบโยน’ จาก ‘ผู้คนที่รักเขา’ ที่ช่วยทำให้เขามีเรี่ยวแรงลุกขึ้นมาตั้งรับกับความทุกข์ที่เข้าถาโถมได้อีกครา

แต่ถึงวัตถุดิบอย่างไก่จะเคยถูกแปรสภาพให้เป็นเมนูของอเมริกันชนที่ฝังติดกับอคติการเหยียดเชื้อชาติมาก่อน ทว่าใน Moonlight มันกลับกลายมาเป็นเมนูที่ช่วย ‘โอบกอด’ คนผิวสีได้อย่างน่าประทับใจ เพราะสำหรับไชรอนแล้ว ไก่ทอดบนโต๊ะอาหารที่บ้านฆวนหาใช่คำดูถูกเหยียดหยาม-ดังที่เคยถูกบอกเล่าฝังหัวกันมา หากแต่มันคือ ‘คำปลอบโยน’ จาก ‘ผู้คนที่รักเขา’ ที่ช่วยทำให้เขามีเรี่ยวแรงลุกขึ้นมาตั้งรับกับความทุกข์ที่เข้าถาโถมได้อีกครา

เช่นเดียวกับเมนูไก่สุดพิเศษของชายหนุ่มเพียงคนเดียวที่เขารักอย่างเควิน เพราะไก่ย่างคิวบาจานนั้นได้กลายเป็นอาหารที่ช่วยส่งมอบ ‘ความรัก’ คืนกลับมาให้ไชรอน-คนผิวสีผู้บอบช้ำกับชีวิตที่ถูกหยามเหยียด-ในท้ายที่สุด


5

“เมื่อคุณลงมือทำอาหารให้ใครสักคน มันเป็นการกระทำที่บ่งชี้ว่าคุณอยากจะ ‘ดูแล’ ใครคนนั้น และสิ่งที่ดูเรียบง่ายเหลือเกินนี้ ก็เป็นการแลกเปลี่ยนความใกล้ชิดระหว่างกันได้อย่างจริงแท้ที่สุดแล้ว”

ผู้กำกับอย่าง แบร์รี เจนคินส์ เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้เช่นนั้น “แล้วผมก็ยังไม่เคยเห็นผู้ชายผิวสีทำอาหารให้กับผู้ชายผิวสีอีกคนในหนัง ละครโทรทัศน์ หรือสื่ออื่นใดมาก่อนเลยด้วย” เขาจึงตั้งใจปั้นฉากมื้อค่ำแสนโรแมนติกนี้ขึ้นมาเพื่อสื่อถึง ‘ความรักอันลึกซึ้งที่มนุษย์สองคนมีต่อกัน’ — ไม่ว่าคนสองคนนั้นจะ ‘เป็นใคร’

เจนคินส์เกิดและเติบโตในไมอามีภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ไม่ต่างกับไชรอนมากนัก ซึ่งเนื่องด้วยการมีสถานะเป็นทั้ง ‘คนผิวสี’, ‘คนยากจน’ และ ‘ลูกที่มีแม่ติดยา’ เขาจึงได้สัมผัสกับบรรยากาศแห่งการเหยียดหยามในสังคมผู้ชายของที่นั่น และเริ่มตั้งคำถามว่า เหตุใดผู้ชายหลายคนจึงต้องพยายามปกปิดด้านที่ ‘อ่อนไหว’ ของตนเอาไว้ และเปลี่ยนแปลงตัวเองไปตามบรรทัดฐานของสังคมในฐานะ ‘ผู้ชาย’ ที่ต้องคอยแสดงความเข้มแข็งออกมาเพียงด้านเดียวเท่านั้น

และแม้ว่าเจนคินส์จะไม่ได้เป็น ‘เกย์’ แบบไชรอน แต่การที่เขาเคยถูกกลั่นแกล้งเพราะเป็น ‘ผู้ชายที่ดูอ่อนแอกว่าคนอื่น’ ในวัยเยาว์ ก็ทำให้เขาสามารถ ‘เข้าอกเข้าใจ’ ความทุกข์ยากของคนที่โดนดูถูกเพราะเพศสภาวะที่แปลกต่างได้ดี — นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาถ่ายทอดด้านที่อ่อนไหวของตัวละครนี้ใน Moonlight ออกมาได้อย่างทรงพลัง

เจนคินส์ยังแสดงให้เราเห็นผ่านฉากการกิน ‘อาหาร’ ทั้งหลายในหนังเรื่องนี้ด้วยว่า สิ่งเรียบง่ายที่สุดที่จะช่วยให้มนุษย์เราสามารถก้าวข้ามชีวิตที่เจ็บปวด หรือต่อสู้กับอคติอันบิดเบี้ยวโหดร้ายของผู้คนในสังคมได้ ก็คือ ‘ความรักความเข้าใจ’ ที่เรามีต่อตัวเองและผู้อื่น – ซึ่งแท้จริงแล้ว เป็นสิ่งเดียวกับที่ฆวนและเควินพยายามหยิบยื่นให้ไชรอนมาทั้งชีวิต

เป็นความรักความเข้าใจที่ช่วยปรับมุมมองว่า ‘ความอ่อนไหว’ ในตัวเขา-ที่มนุษย์เพศชายในสังคมตั้งแง่รังเกียจจนเขาต้องคอยปกปิดมันเอาไว้นั้น คือคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการ ‘เป็นมนุษย์’

และมันไม่ใช่สิ่งเดียวกับ ‘ความอ่อนแอ’ หากแต่เป็น ‘ความกล้าหาญ’ ที่จะยอมเปิดรับตัวตนของตัวเองในทุกแง่มุม -เปิดรับให้หลากหลายเหมือนกับส่วนผสมต่างรสชาติต่างวัฒนธรรมในไก่ย่างคิวบาจานนั้น- และยอมเปิดเผยออกมาให้คนที่เขารักและรักเขา-ไม่ว่าฆวน แม่ หรือเควิน-ได้มีโอกาสรับรู้ เรียนรู้ ปรับตัว และโอบกอด โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตัดสินอีกต่อไป

และมันไม่ใช่สิ่งเดียวกับ ‘ความอ่อนแอ’ หากแต่เป็น ‘ความกล้าหาญ’ ที่จะยอมเปิดรับตัวตนของตัวเองในทุกแง่มุม -เปิดรับให้หลากหลายเหมือนกับส่วนผสมต่างรสชาติต่างวัฒนธรรมในไก่ย่างคิวบาจานนั้น- และยอมเปิดเผยออกมาให้คนที่เขารักและรักเขา-ไม่ว่าฆวน แม่ หรือเควิน-ได้มีโอกาสรับรู้ เรียนรู้ ปรับตัว และโอบกอด โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตัดสินอีกต่อไป

กล้าที่จะเปิดประตูบานนั้นด้วย ‘ความรัก’ จากตัวเองและคนอื่น ออกไปสู่ ‘ความสุข’ ในแบบที่เราเฝ้าฝัน …ออกไปเผชิญหน้าและรับมือกับการเหยียดหยามแบ่งแยกในโลกข้างนอกนั่น

เพราะหากประตูแห่งความสุขบานนั้นสามารถเปิดออกสำหรับไชรอนผู้ปิดกั้นตัวเองมาตลอดชีวิตได้ มันก็น่าจะสามารถเปิดออกสำหรับ ‘เรา’ ทุกคนได้ด้วยเช่นกัน

— ไม่ว่าเราจะ ‘เป็นใคร’ ในสายตาของผู้ที่เกลียดชังก็ตาม

ถึงเวลารื้อแนวคิดซีรีส์สืบสวน? เหตุแห่งความเข้าใจผิดต่อระบบอำนาจจากภาครัฐ

เคร็ก กอร์ โพสต์ภาพถือปืนยืนหน้าบ้าน พร้อมขู่ว่าจะจัดการกับไอ้อีที่เข้ามายุ่มย่ามกับบ้านเขา เมื่อวันที่การชุมนุมเพิ่งดำเนินไปหลังการตายของ จอร์จ ฟลอยด์ เพียงไม่กี่วัน ท่ามกลางแรงสนับสนุนจากเพื่อนของเขามากมาย …นั่นคือการแสดงออกของคนเขียนบท Law and Order ซึ่งหากคุณคิดว่าการเสพข่าวอาชญากรที่ถูกทำให้ตายหรือหายไปโดยเจ้าหน้าที่รัฐคือสิ่งที่รับได้ เพราะอาชญากร ‘ควรจะได้รับการลงโทษ’ บางทีคุณอาจคล้อยตามกอร์ไปแล้ว

ขณะที่ซีรีส์โดยทั่วไปมีอายุเพียงชั่วระยะหนึ่งก็ต้องอำลา แต่ซีรีส์สืบสวนอย่าง CSI, NCIS, Criminal Minds, Law and Order ฯลฯ กลับมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบปีกันทั้งนั้น ทั้งยังแตกสาขาไปสู่จักรวาลการสืบคดีของเจ้าหน้าที่รัฐได้อีกไม่สิ้นสุด จนปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่กับซีรีส์ประเภทนี้จนถูกบิดเบือนการรับรู้เรื่องการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐจนเป็นเหตุแห่งการยอมรับความรุนแรงเหล่านั้น

นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราคิดเอาเอง แต่มีงานวิจัยเป็นเรื่องเป็นราวจากองค์กร Color of Change หัวข้อ “การทำให้ความอยุติธรรมเป็นเรื่องปกติ: อันตรายจากการบิดเบือนเป็นซีรีส์สืบสวนทางโทรทัศน์” (Normalizing Injustice: The Dangerous Misrepresentations that Define Television’s Scripted Crime Genre) เผยแพร่ที่เทศกาลซันแดนซ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

งานวิจัยชิ้นนี้เน้นศึกษาซีรีส์สืบสวนซึ่งได้รับความนิยมมาเป็นเวลานานเหล่านั้น เพื่อหาคำตอบว่ามันมีอิทธิพลมากน้อยแค่ไหนในการทำให้สังคมเข้าใจผิดต่อกระบวนการยุติธรรมที่รัฐกระทำกับอาชญากร ละเลยความเป็นจริงที่นำไปสู่การไม่ยอมรับความต่างของเพศ สีผิว และวัฒนธรรม เพราะท้ายสุดแล้วมันก็กลายเป็นภาพแทนของกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้ชม

ในจำนวนตัวอย่างของซีรีส์สืบสวน 353 อีพี จาก 26 เรื่อง ทั้งที่ออกอากาศในทีวีและสตรีมมิ่ง ช่วงปี 2017-2019 และปรากฏว่า ‘พระเอก-นางเอก’ มักเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนคดีระดับชำนาญการ ผิวขาว ขณะที่คนดำและสีผิวอื่นๆ มักเป็นตัวร้าย หรือผู้สมรู้ร่วมคิดเสมอ โดยมีเพียงสามครั้งเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่สืบสวนจะกระทำผิด แต่แทนที่ซีรีส์จะคัดค้านการกระทำ บทกลับแก้ต่างให้พวกเขาแทน

การกำหนด ‘คนดี’ และ ‘คนร้าย’ จึงไม่อันตรายเท่าการสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงต่ออาชญากร แล้วมองมันเป็นเรื่องที่ควรยอมรับ โดยไม่คิดว่ากระบวนการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องทบทวนหรือแก้ไขแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อมีซีรีส์เหล่านี้ออกมามากมายจนแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันผู้คน ทำให้การใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ

ราชาด โรบินสัน ประธาน Color of Change กล่าวว่า “เรารู้แล้วว่าซีรีส์เหล่านี้มีอิทธิพลต่อวิธีคิดของผู้ชมทั่วโลกอย่างไร ดังนั้นอันตรายของบทซีรีส์กลุ่มนี้ก็คือการบิดเบือนความเข้าใจของผู้คนต่อคดีอาชญากรรม เพศ และเชื้อชาติ แทนที่จะบอกเล่าความจริงเพื่อผลเชิงบวกในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ซีรีส์เหล่านี้กลับเพิกเฉยที่จะกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง”

หลังจาก เคร็ก กอร์ ผู้อยู่เบื้องหลังบท Law and Order โพสต์รูปที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงงัดกับความรุนแรงไม่ต่างกันนักกับท่าทีในซีรีส์ที่เขาเขียน ทำให้กอร์ถูกเด้งออกจากโปรเจกต์ภาคแยกของซีรีส์เรื่องดังกล่าวทันที

แต่นั่นเป็นเพียงปลายทางเท่านั้น เพราะการสอดแทรกความเข้าใจผิดต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างแนบเนียนของเขาและผู้สร้างซีรีส์สืบสวนอีกหลายเรื่อง – โดยอาจกล่าวได้ว่าท่าทีเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในอเมริกา – มันเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนความรุนแรงไปแล้ว

การตื่นรู้ของประชาชนที่มีต่อการกระทำความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในอเมริกา และอาจรวมถึงอีกหลายประเทศทั่วโลก… เป็นการส่งสัญญาณต่อผู้สร้างว่าพวกเขาอาจต้องทบทวนวิธีคิดต่อกระบวนการยุติธรรมในงานของตัวเองครั้งใหญ่


ข้อมูลประกอบ :
New Study Reveals How Crime TV Series Distort Understanding of Race and Criminal Justice System

Cops Are Always the Main Characters

‘Law & Order’ spinoff fires writer after he appeared to make threatening social media post

สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตา : ภาพยนตร์ว่าด้วยการบังคับสูญหาย

0

การหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่หนีออกนอกประเทศเนื่องจากปฏิเสธการไปรายงานตัวกับ คสช.ในช่วงเวลาหลังการรัฐประหารเขาถูก ‘อุ้ม’ ไปจากบ้านพักในประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจจากผู้คนจำนวนมาก แม้ตอนนี้จะยังไม่ทราบชะตากรรม หรือสาเหตุที่แน่ชัดเกี่ยวกับการกายตัวไป แต่ก็เป็นที่เชื่อได้ว่าการหายตัวไปของวันเฉลิม ที่มีคลิปวินาทีโดนอุ้ม เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับกรณีบังคับสูญหายของผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยจำนวนกลายต่อหลายคดีทั้งในประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ภายในประเทศไทยเอง

การบังคับสูญหายเป็นหนึ่งในความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นไปในที่ต่างๆ ทั่วโลก เกิดกับผู้คนที่มีความเห็นขัดแย้งกับผู้ปกครองรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐเผด็จการ หรือกึ่งเผด็จการที่มองชีวิตของผู้คนเป็นเพียงสิ่งของที่สามารถทำให้หายไปได้

และนี่คือการย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์บาดแผลผ่านนานาภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องการบังคับสูญหายจากหลายพื้นที่ทั่วโลก


Punishment Park (1971, Peter Watkins)

ทะเลทรายอันร้อนระอุที่มีธงชาติอเมริกาปักอยู่อีกฟากของจุดที่พวกเขายืนอยู่ แต่หากไปไม่ถึงที่นั่นพวกเขาจำต้องตายไป มาสู่อีกมุมของทะเลทรายกองทหารติดอาวุธรอคอยให้พวกเขาเดินทางมาถึง และมาสู่ห้องสอบสวนที่พวกเขาอยากออกไป แต่หากไม่ได้ออกก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยที่สุดพวกเขาต้องได้พูดสิ่งที่ต้องพูด

Punishment Park ถ่ายทำแบบ ‘แสร้งว่า’ เป็นสารคดีที่นักข่าวตามติดและสัมภาษณ์กลุ่มผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ เมื่อพวกเขาถูกอุ้มมาจากฉากของการต่อสู้เพราะ ‘เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ’ และต้องตกอยู่ภายใต้การบังคับใช้ Concentration Camp Law (Internal Security Act 1950 ที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์อเมริกา) สิ่งที่พวกเขาทำได้จึงมีเพียงการยอมติดคุกแบบไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน หรือนั่งรถที่บึ่งออกไปกลางทะเลทรายและถูกปล่อยให้สู้ (หรือหนีจาก) บรรดาทหารที่รอ ‘สอย’ พวกเขาแบบไม่ต้อง ‘ซุ่ม’ แม้พวกเขาจะไปถึงจุดที่ธงปักอยู่ก็ตาม

แน่นอนว่าอุดมการณ์ขวา-ซ้ายย่อมต้องปรากฏในหนัง เมื่อมีโอกาส พวกเขาทุ่มเถียง ปลดปล่อยความคิดความเชื่อในอุดมการณ์ของตนออกมา แต่ใช่หรือไม่ว่าผู้มีอำนาจย่อมไม่รับฟัง แต่ผู้ใช้อำนาจจะใช้ประโยชน์จากความหวังที่ฝ่ายต่อต้านพอจะมีหลงเหลือ แล้วใครกันที่จะรอดจากเกมอันเดือดพล่านนี้–เราบอกไม่ได้ ตราบใดที่เกมนี้ไม่โดนล้มหมดทั้งกระดาน


National Security (2012, Chung Ji Young)

หนังสร้างจากเรื่องจริงของบรรดานักเคลื่อนไหวในเกาหลีใต้จำนวนหนึ่งที่โดนจับตัวไปหลังเหตุการณ์ นองเลือด 18 พฤษภา ในกวางจูเพื่อต่อต้านนายพล Chun Doo-hwan ที่ตอนนั้นเป็นหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง และวางแผนจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทน นายพล Park Chung -hee ที่ถูกลอบสังหาร

แต่นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์บอกเล่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แบบเรียงลำดับ ในความยาวหนึ่งชั่วโมงสี่สิบนาทีของหนัง เวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงครึ่งเป็นเรื่องของการทรมานล้วนๆ หนังฉายภาพสารพัดวิธีการทรมานนักโทษทางการเมืองของรัฐบาลทหาร กระบวนการที่ชวนขนลุกสยองขวัญ หนังเองสร้างจากบันทึกของนักโทษที่ในเวลาต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีของเกาหลี และโยนคำถามรุนแรงใส่หน้าผู้ชมว่า เราสามารถจะให้อภัยบรรดาผู้คนเหล่านี้ได้หรือไม่ และอะไรคือความยุติธรรม


Solo, Solitude (Yosep Anggi Noen, 2016)

Widji (หรือ Wiji) Thukul คือกวีชาวอินโดนีเซียที่มีชื่อเสียงเพราะผลงานวิพากษ์ประเด็นสังคมการเมืองในสมัยเผด็จการของนายพลซูฮาร์โต เขาถูกรัฐเพ่งเล็งเมื่อเข้าไปร่วมจัดตั้งการประท้วงของกรรมกรและเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยม

หนังจับจ้องชีวิตของเขาหนีจากบ้านที่เมือง Solo (หรือ Surakarta) ไปกบดานที่ชุมชนแห่งหนึ่งบนเกาะบอร์เนียว บันทึกความเงียบงัน เนิบช้า ของชีวิตที่ต้องคอยหลบซ่อน บทกวีที่เคยเขียนหรืออุบัติขึ้นระหว่างช่วงเวลาไกลบ้านอาจช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจ หรือมีสายใยของมิตรสหายร่วมอุดมการณ์ที่แวะเวียนมาพบปะสนทนา ทว่าทุกสิ่งที่เขาพบในชุมชนใหม่อาจกลายเป็นภัยทิ่มแทงได้เสมอในยุคสมัยแห่งการไล่ล่ากวาดล้างคนเห็นต่าง นี่คือหนังที่บันทึกความกลัวของผู้ลี้ภัยได้อย่างเป็นรูปธรรม ความกลัวที่กัดกินบ่อนเซาะจิตใจทั้งจากทหารตำรวจในละแวกนั้น และวัยรุ่นสติไม่ดีที่หมกมุ่นกับการตั้งด่านลอยเที่ยวขอตรวจบัตรประชาชนใครต่อใคร

ภรรยาของ Widji Thukul ได้รับการติดต่อจากสามีครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 1998 – ปัจจุบันเขายังคงสถานะหายสาบสูญ


48 (2010, Susana de Sousa Dias)

ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากภาพถ่ายของบรรดานักโทษการเมืองที่โดนจับตัวไปตลอดช่วงเวลาหลายปีของการเรืองอำนาจของเผด็จการ ซาลาซาร์ แห่งโปรตุเกส หนังใช้ภาพถ่ายของผู้คน ตั้งแต่ครั้งยังเป็นหนุ่มสาว ทั้งหมดเป็นรูปข้างและรูปหน้าตรงของผู้คนที่โดนจับไปขังลืมในคุก กล่าวให้ถูกต้องเป็นรูปที่ถ่ายโดยตำรวจทั้งหมด โดยเสียงเล่าเป็นเสียงของเหล่าผู้รอดตายจากการถูกซ้อมทรมา การถูกขังลืม ถูกจับแล้วปล่อยแล้วจับ ตลอดเวลาหลายสิบปี เรื่องราวที่รุนแรงเจ็บปวดและสูญเสียงถูกเล่าจากผู้คนที่เราเห็นแค่เพียงอดีตของเขา ตัดสลับกัรูปถ่ายอีกชุดหนึ่งซึ่งคือรูปของพวกเขาเองในอีกหลายปีต่อมา และเช่นกัน รูปหน้าตรงและรูปด้านข้าง ถ่ายในช่วงเวลาก่อนออกจากคุก รูปถ่าหยน้าตรงเหล่านี้ฉายภาพชีวิตที่ถูกกัดกินโดยการเมือง และปีศาจเผด็จการ รูปของการต่อสู้กับมันโดยแลกกับทั้งชีวิตไป


Missing (1982, Costa-Gavras)

นักเขียนชาวอเมริกันผู้หนึ่งหายตัวไปหลังจากการรัฐประหารที่ประเทศชิลีในปี 1973 พ่อของเขาเดินทางมาจากนิวยอร์คเพื่อตามหาตัวลูกชาย เขาพบกับลูกสะใภ้ที่ไม่เคยลงรอยกัน ชายแก่เชื่อมั่นว่าประเทศของเขาจะช่วยเหลือตนได้ หญิงสาวเชื่อมั่นในสิ่งตรงข้าม การออกตามหาเริ่มดำเนินไปพร้อมกับความจริงอันแสนหดหู่และสยดสยอง

ผลงานคลาสสิคโดย Costa-Gavras ที่คว้ารางวัลปาล์มทองในปี 1982 (ร่วมด้วยรางวัลนักแสดงนำชายโดย Jack Lemmon) สร้างจากเรื่องจริงของนักเขียนอเมริกัน Charles Horman หนังถูกแบนในชิลีจนถึงปี 1990 ซึ่งเป็นปีที่นายพลปิโนเชต์ลงจากอำนาจ ส่วนในอเมริกาผู้กำกับ Costa-Gavras ถูกฟ้องหลังจากหนังได้รับการฉายในโรงและเทป VHS ถูกแบนไม่ให้จำหน่าย จนเวลาผ่านไปกว่า 20 ปีที่คดีถูกยกฟ้องและ DVD ได้รับการจัดจำหน่ายในที่สุดในปี 2004 สาเหตุสำคัญมาจากการที่ตัวหนังโจมตีการสนับสนุนของอเมริกาในช่วงรัฐบาลนิกสันต่อการรัฐประหารอย่างตรงไปตรงมาและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการหายตัวไปของ Charles Horman

แต่ความสำคัญของหนังเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่แค่ความอื้อฉาวของมันเพียงอย่างเดียว จริงๆ แล้วมันพูดถึงอาการ”ตาสว่าง” ของตัวละครได้อย่างน่าสนใจ ตัวเอกเป็นชายวัยกลางคนชาวอเมริกันผู้มองว่าการเมืองเป็นสิ่งที่น่าหงุดหงิดและเด็กรุ่นใหม่ทำได้แค่บ่นไปวันๆ และมีอุดมคติที่จับต้องไม่ได้ เขาถูกเสียดสีอย่างเจ็บแสบว่า “พวกคนอเมริกันอย่างคุณคิดว่าเราต้องทำอะไรผิดใช่ไหม เราถึงโดนจับ” ในฉากหนึ่งตัวหนังอ้างถึงนิยายเรื่องเจ้าชายน้อยและประโยคคุ้นหูที่ว่า “สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตา” ซึ่งอาจจะเป็นประโยคที่อธิบายหนังเรื่องนี้ได้ดีที่สุด เมื่อในตอนจบเขาพบจริงๆ ว่าสิ่งสำคัญที่อยู่ใต้พื้นผิวนั้นคืออะไรและเปลี่ยนแปลงความเชื่อในสถาบันที่เขาเชื่อมั่นไปตลอดกาล

ในฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งที่ยาวไม่กี่วินาทีแต่ทรงพลังมากเมื่อเรากลับมาดูในตอนนั้น ค่ำคืนหลังจากรัฐประหารที่มีเคอร์ฟิว ตัวละครจ้องมองไปยังโรงแรมหรูฝั่งตรงข้ามและพบกับเหล่าคนร่ำรวยกำลังจัดปาร์ตี้โดนไม่ได้รับผลกระทบอะไร พวกเขาปรบมือให้กับรถถังและทหารที่ขับผ่านไปอย่างชื่นมื่น ในขณะที่บนท้องถนนเต็มไปด้วยเสียงปืนและประชาชนกำลังนอนจมกองเลือด ในแง่หนึ่งเราอาจจะมองได้ว่า Gavras กำลังพูดถึงชนชั้นกลางที่เพิกเฉยต่อการเมือง ไม่สนใจว่าเกิดอะไรขึ้นในโลกใบนี้และอยู่มาวันหนึ่งการเมืองนั้นก็มีผลกระทบกับตัวเขาเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวเอกอาจจะเป็นหนึ่งในคนที่ปรบมือให้กับทหาร ถ้าหากลูกชายเขาไม่ได้หายตัวไป ถ้าหากเขาไม่ได้มาที่ชิลีและพบว่ารัฐบาลเผด็จการทหารนั้นเป็นอย่างไร


The Pearl Button (2015, Patricio Guzman)

งาน essay film ภาคสองจากไตรภาคชิลี ที่ที่ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องการสังหารหมู่ในช่วงเผด็จการปิโนเชต์ ในคราวนี้เขาค่อยๆ เชื่อมโยงเอา ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อาชญวิทยา ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา สังคมวิทยา ศิลปะ กวี มาอธิบาย โดยแทนที่เขาจะเหมือนกับผู้กำกับคนอื่นๆ กระแทกใบหน้าของผู้ชมด้วยความรุนแรง ความโกรธแค้น ความเจ็บปวด ด้วยภาพการทรมานที่น่าเกลียดน่ากลัว หรือการเล่าถึงความทรงจำอันเจ็บปวด หรือการสร้างความทรงจำขึ้นมาใหม่ราวกับการล้างแค้น เขากลับค่อยๆ เล่าผ่านสรรพวิทยาต่างๆ แสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว ด้วยลีลาของกวี การสังหารหมู่ของเขาจึงไม่ใช่ความรุนแรง แต่มันคือความเศร้าที่กัดกินผู้คน ความเจ็บปวดที่อยู่ภายในร่างกายโดยไม่ได้บาดเป็นแปลแค่ระดับผิวหนัง ความสุขุมในการค่อยๆ เล่า ในการค่อยๆ เชื่อมร้อยสิ่งต่างๆ เข้าหากัน ฉายภาพทุกข์เศร้ายาวนานหลายร้อยปีของประเทศ

เริ่มต้นจากหยดน้ำในทะเลทราย หยดน้ำหยดหนึ่งในผลึกควอตซ์ที่ถูกค้นพบในทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดในโลก จากทะเลทรายที่เคยมีน้ำ ลัดเลาะไปตามฝั่งทะเลของประเทศ ไปเล่าชีวิตคนอินเดียนพื้นเมืองที่เคยเร่ร่อนไปตามฝั่งทะเล แต่พอคนขาวมาก็ห้ามพวกเขาลงน้ำ เพราะต้องเอามหาสมุทรมาใช้เป็นพื้นที่ทางการทหาทร

ทางตอนเหนือของประเทศชิลี หยดน้ำที่เชื่อกันว่าในทะเลาทรายแห่งนี้เคยมีน้ำ น้ำทุกรูปแบบในจักรวาล จากนั้นเราก็ลัดเลาะไปตามฝั่งทะเลขอประเทศที่มีภูมิศาสตร์เป็นแนวยาวเคลียกับชายฝั่งแตกตัวออกไปเป็นหมู่เกาะมากมาย แล้วเราก็พบกับอินเดียนพื้นเมืองซึ่งเคยเป็นอยู่มาด้วยการเร่ร่อนไปตามฝั่งทะเล ด้วยเรือพายทำเองพวกเขาอ่านแล่นเรือข้ามแหลม อ่าว แวะพักตามเกาะแก่งอย่างไม่แน่นอน เป็นอยู่มานานนับศตวรรษ นับพันปีก่อนการมาถึงของคนขาว ตอนนี้พวกเขาถูกห้ามลงทะเลเพราะทหารต้องใช้พื้นที่ เขายังคงจดจำแผนที่ การพายเรือ การเดินทางไปตามกระแสน้ำโดยอาศัยสัญชาตญาณและภูมิปัญญาของตนบางคนอย่างจิมมี บัตตัน เป็นคนชนเผ่าที่ถูกขายไปอังกฤษเพื่อแลกกระดุมมุกไม่กี่เม็ด คนอังกฤษศิวิไลซ์เขา แต่หลายปีผันผ่าน เขากลับมาที่เกาะ กลับมาในสภาพสุภาพบุรุษอังกฤษ เมื่อมาถึงเขาถอดทุกอย่างออกจากตัว พูดพื้นเมืองคำอังกฤษคำใช้ชีวิตเยี่ยงคนพลัดถิ่นในบ้านตนเองตลอดกาล

มหาสมุทรนอกจากให้ชีวิตยังกลืนกินผู้คนประดุจสุสาน ของนักกิจกรรม ในตลอดช่วงยุคเผด็จการปิโนเชต์ ที่ยาวนานหลายสิบปี นักโทษการเมืองจำนวนมากถูกคุมขังในคุกลับบนเกาะแก่งห่างไกล หลายคนถูกฆ่า เชือดทั้งเป็น ข่มขืน ทรมาน สูญหาย และหนึ่งในวิธีที่ทำให้สูญกายคือการถ่วงด้วยท่อนเหล็กแล้วแล้วทิ้งลงมหาสมุทร ท่อนเหล็กซึ่งถูกค้นพบในสามสิบปีต่อมา ท่อนเหล้กที่ถูกห่อหุ้มด้วยสัตว์ทะเล ห่อหุ้มร่องรอยของเหยื่อที่สูญดับอาจจะเป็นเศษของเนื้อของ DNA หรือกระดุมสักเม็ด


The Purple Kingdom (2016, พิมพกา โตวิระ)

เริ่มจากภาพในจอคอมพิวเตอร์ ภาพของมือนอและลูกๆ ทั้งห้าของเธอ ในภาพนั้น ช่างกำลังพยายามตัดต่อรูปของบิลลี่ สามีของเธอใส่เข้าไปในภาพเพื่อให้มันเป็นภาพครอบครัวขึ้นมาจริงๆ ช่างขยับภาพบิลลี่ไปมา พยายามลบรอยต่อ หรือปรับสี ช่างถามมือนอว่านี่ได้หรือยัง เธอตอบว่าโอเค แต่ใครก็ดูออกว่านี่เป็นรูปตัดต่อ บิลลี่หายตัวไปหลายปีแล้วหลังจากออกไปเก็บน้ำผึ้งและโดนเจ้าหน้าที่เรียกตัวไป เจ้าหน้าที่ปฏอเสธว่าปล่อยตัวเขาไปแล้ว แต่เขาไม่ได้กลับบ้านและไม่เคยได้กลับบ้าน คดีไม่คืบหน้า ขณะที่มือนอและลูกๆ พยายามจะตามหาเขา ขอความช่วยเหลือ มีชีวิตต่อไป ในหมู่บ้านที่อยู่กันมายาวนานหลายชั่วคนแต่เจ้าหน้าที่ปรารถนาจะให้ย้ายออกไป เธอเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาที่สามีหายไปและสับสนงุนงงกับชีวิตที่ยาก ลึกลับ และอันตรายขึ้นเรื่อยๆ

นี่คือฉากเปิดหนังสั้นที่ติดตาม มึนอ ภรรยาผู้เข้มแข็งของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ชาวกะเหรี่ยงผู้ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาตแก่งกระจานที่ด่านตรวจแม่มะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในวันที่ 17 เมษายน 2557 และเจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ปล่อยตัวไปแล้วในช่วงที่เขาถูกควบคุมตัวนั้นเป็นช่วงเวลาขณะเดินทางจากบ้านโป่งลึกไปยังตัวอำเภอเพื่อเตรียมข้อมูลคดีชาวบ้านฟ้องหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในเวลานั้นจากเหตุเผาบ้านกะเหรี่ยงและทรัพย์สินของชาวบ้านในเขตอุทยานแห่งชาติระหว่างปี 2553 และ 2554

หนังเล่าเรื่องความฝันของมึนอว่าบิลลี่กลับมาหาเธอและลูกๆ ในขณะที่ชีวิตจริงจนถึงตอนนี้ยังไม่เคยพบบิลลี่อีกเลย ตัดสลับกับหญิงสาวคนหนึ่งที่มีทหารทั้งหมู่คอยช่วยเธอตามหาสามีที่หายไปในป่า เรื่องจริงที่ตัดข้ามกดทับกับเรื่องเล่าอย่างเจ็บปวดและรุนแรง

เช่าหนังได้ที่ Objectifs


Melancholia (2008, Lav Diaz)

นางชีกับโสเภณีมาถึงเมืองนี้พร้อมกัน คนหนึ่งมาขายตัวอีกคนมาขอบริจาคเงิน และยังมีแมงดาหนุ่มอีกคนที่มาเป็นนายหน้าจัดหาเซกซ์โชว์ ก่อนที่เราจะพบว่าที่แท้แล้ว ทั้งสามคนเป็นเพื่อนกัน พวกเขาอยู่ระหว่างการทดลองเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้อื่น พวกเขาทำเช่นนี้ปีละหนมาแล้วห้าหกปี เพื่อหวังว่ามันจะทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ ผลพวงจากการสาบสูญของบรรดาคนรักของพวกเชา สูญไปในการล้อมปราบ ลักพา ฆ่าสังหารโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วนางชีก็หายตัวไป การทดลองสิ้นสุด นางโสเภณีกลับไปเป็นคุณครูใหญ่ชื่อ Alberta Munoz ตามที่ลูกค้าคนหนึ่งทักเธอ (แต่เธอไม่ยอมรับ) เช่นเดียวกับที่แมงดาหนุ่มที่แท้คือ Julian บรรณาธิการหนุ่มไฟแรง ซึ่งยังคงเฝ้าฝันว่าภรรยาที่ตายไปออกมาร้องเพลงกลางป่าทึบ เธอและเขาพบกันบ้างเป็นบางครั้งถามไถ่ถึงนางชีผู้สาบสูญ โศกเศร้าจากบาปผิดที่ไม่อาจไถ่ถอน นอกไปจากนั้น Alberta กำลังมีปัญหากับลูกสาวบุญธรรม ที่หนีออกจากบ้านไปขายตัวข้างถนนจริงๆ ขณะที่ Julian กำลังวางแผนตีพิมพ์นิยายเล่มใหม่ของนักเขียนหนุ่มซึ่งว่าด้วยประวัติศาสตร์ ภาพยนตร์ของฟิลิปปินส์อันเกาะเกี่ยวอยู่กับความหลอกลวง

กระทั่งไดรับแจ้งให้ไปดูกองกระดูกในป่าลึกที่ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นสามีของ เธอซึ่งสาบสูญไปเมื่อหลายปีที่แล้ว เช่นเดียวกัน พวกเขาค้นพบว่า นางชีปลอมสุดท้ายฆ่าตัวตาย ทิ้งไว้เพียงพวกเขาซึ่งบนบ่าแบกแอกแห่งประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลไว้จนเต็มหลัง Alberta เร่ออกตามหาลูกสาวที่สาบสูญไปไม่รู้จบขณะ Julian ก็ติดกดับสำนึกบาปจนค่อยๆ กลายเป็นบ้าไป

ตัวละครใน Melancholia รับบทผู้ถูกเนรเทศชั่วนิรันดร์อันเกิดจากพิษภัยทางการเมือง พยายามรักษาโรค ‘ไม่ลืมอดีต’ ไถ่บาปด้วยการปลอมตัวเป็นชาวบ้าน ลิ้มรสทุกข์ยากของชาวบ้านแท้ๆ ในต่างจังหวัดเพียงปีละเดือนหรือสองเดือน อย่างน้อยมันก็ช่วยให้พวกเขาอุ่นใจว่า พวกเขาได้ร่วมทุกข์ร่วมสุข ทั้งกับแกนนำ (คนรักของพวกเขา) ซึ่งตายไปแล้ว และกับประชาชนที่พวกเขาต่อสู้เพื่อ ซึ่งใช่หรือไม่ว่าสิ่งนี้ที่แท้ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการปลอบประโลมตนเอง

ดูหนังได้ที่ MUBI


The Act of Killing (2012) + The Look of Silence (2014, Joshua Oppenheimer)

สารคดีสองเรื่องที่ทั้งเหมือนและไม่เหมือนเป็นภาคต่อของกันและกัน หลังจากที่ Joshua Oppenheimer ค้นคว้าเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่อินโดนีเซียกว่า 10 ปีจนเกิดเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ในปี 2012 เขาพบกับ Anwar Congo ในปี 2005 ชายผู้เป็นหัวหน้าแก๊งสังหารคอมมิวนิสต์ที่ตอนเหนือของเกาะสุมาตราเมื่อปี 1965-1966 หลังจากการขึ้นสู่อำนาจของกองกำลังฝ่ายขวาที่สนับสนุนโดยสหรัฐฯ นำโดยซูฮาร์โต (Suharto) เป็นประธานาธิบดีคนที่สองของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

มีการประมาณว่าเหตุการณ์เมื่อปี 1965-1966 ที่ชาวอินโดนีเซียถูกบังคับให้สูญหายราวห้าแสนถึงหนึ่งล้านคน The Look of Silence เสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2014 เล่าเรื่องของชายผู้หนึ่งสำรวจความทรงจำ (ก่อนที่เขาจะเกิด) ของครอบครัวและคนรอบข้างพี่ชาย ผู้ถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงจนเสียชีวิตในปี 1965 ในข้อหาคอมมิวนิสต์ ฆาตกรในตอนที่ Joshua ไปถ่ายทำยังเล่าถึงวันที่เขาปาดคอและกินเลือดของคนได้อย่างหน้าตาเฉย

ซื้อหนังทั้งสองเรื่องได้ที่ Doc Club on Demand

“ผมทิ้งเครื่องเป่า แล้วหันมาเขียนแทน” เลนนี นีฮอส นักดนตรีคู่ใจ คลินต์ อีสท์วูด สิ้นแล้วในวัย 90 ปี

เลนนี นีฮอส คือนักดนตรีแจ๊ซมากประสบการณ์ แต่เขาตัดสินใจทิ้งเส้นทางนั้นมาเป็นนักดนตรีในหนัง หลังจากได้เจอกับ คลินต์ อีสต์วูด ที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักดนตรีแจ๊ซ แต่เส้นทางขีดให้มาเป็นนักแสดงและคนทำหนัง

ทั้งคู่เติมเต็มให้แก่กันโดยมีดนตรีแจ๊ซเป็นสื่อประสาน โดยร่วมงานกันเรื่องแรกใน Tightrope (1984) หนังเชือดที่อีสต์วูดเป็นนักแสดงและโปรดิวเซอร์ ส่วนนีฮอสเป็นคอมโพสเซอร์ หลังจากนั้นมาทั้งคู่ก็ร่วมงานกันเกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นในฐานะคอมโพสเซอร์ นักดนตรี หรือคอนดักเตอร์ โดยผลงานเรื่องสุดท้ายที่ทั้งคู่ได้ร่วมงานกันคือ Gran Torino ซึ่งนีฮอสเป็นคอนดักเตอร์

ผลงานการประพันธ์สกอร์ของนีฮอสที่โดดเด่น อาทิ Unforgiven (1992), The Bridges of Madison County (1995) และ True Crime (1999) เป็นต้น

“ความยอดเยี่ยมของเลนนิส คือไม่ว่าหนังเรื่องนั้นจะเรียบง่ายหรือซับซ้อนเขาสามารถทำมันได้ทุกอย่าง เขาสามารถปรับตัวให้เข้ากับหนังของผมได้ทุกเรื่อง และเป็นคนฉลาด ผมจึงเลือกจะร่วมงานกับเขาเสมอ” อีสต์วูดกล่าว

ของดีจากเทศกาลหนังออนไลน์ We Are One

0

We Are One เป็นเทศกาลหนังออนไลน์ ที่รวมเอาหนังเทศกาลทั้งจากคานส์ ซันแดนซ์ ไปยันเยรูซาเลม มาเก๊า ฯลฯ เริ่มแล้วบน youtube และมีจำกัดเวลาดูเพียง 7 วันหลังพรีเมียร์ ด้านล่างคือหนังส่วนหนึ่งจากหลายเรื่องที่ Film Club แนะนำ


Crazy World (2019, Navwana IGG, Uganda)

เล่าเรื่องคร่าวๆ นี่คือ TAKEN ฉบับอูกันดาที่ถ่ายกันในหมู่บ้าน พร้อมนักแสดงแอ็กชันแห่งยุค บรูซ ยู ซูป้า คอมมานโด วากาสตารซ เบบี้คอมมานโด และ อูกันดา นินจา !!!

พระเอกเป็นคอมมานโด โดยลักลูกฆ่าเมียจนเป็นบ้า แต่คอยตามล่าแก๊งลักเด็ก ตอ่มาเด็กถูกลักมากขึ้นเพราะต้องเอามาบูชายัญก่อนลงเสาเข็มตึก เด็กๆเองก็เหมือนหลุดมาจากหนังแอ็กชัน มีฝีมือแอ็กชันสตาร์ เตะต่อยตบตี ทีมพ่อทีมลูกเลยช่วยกันสยบเหล่าร้าย

หนังบ้าบอสุดขีดและมีทั้งการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ (ด้วยการส่งเครื่องบินตามไปจับคนละเมิดที่ปารีสและโตรอนโต) หรือตัวอย่างหนังเรื่องต่อไปอย่าง ’ลุงบานงระลึกชาติ‘ ที่โผล่แทรกมากลางเรื่องเสียเฉยๆ แถมหนังมีผู้กำกับมาพากย์ไปตลอดเรื่อง!!!

เจ้ยต้องหลีก ทีมพากย์พันธมิตรต้องไหว้ คู่แข่งเดียวคือวีระศักดิ์ สุยะลา!!!

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว


 Ticket Of No Return (1979, Ulrike Ottinger, West Germany)

เรารีวิวเอาไว้แล้วตามลิงก์ด้านล่าง

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว


Bridges of Sarajevo (2014)

Bridges of Sarajevo คือหนัง omnibus ที่รวมตัว 13 ผู้กำกับจากทั่วทวีปยุโรปมาทำหนังสั้นในโจทย์เดียวกัน (หนังเปิดตัวในสาย Special Screenings ที่เมืองคานส์เมื่อปี 2014) เพื่อสะท้อนความทรงจำ ความคิดเห็น และความรู้สึกของพวกเขาที่มีต่อเมืองซาราเยโว เมืองหลวงของประเทศบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินาในปัจจุบัน และอดีตสมรภูมิรบในสงครามยูโกสลาเวียระหว่างปี 1991 ถึง 2001 ที่บอบช้ำรุนแรงที่สุดทั้งจากการปิดล้อม สังหารหมู่ และพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ทั้งสายตาที่จับจ้องไปในซาราเยโวปัจจุบันเพียง 10 ปีเศษ (ในปีที่หนังออกฉาย) หลังเหตุการณ์รุนแรงทั้งหมด ส่องสะท้อนความทรงจำ ความเจ็บปวด และผลกระทบของสงครามต่อผู้คนกับพื้นที่ ไปจนถึงตีความประวัติศาสตร์ ส่งเสียงตะโกนเรียกร้องทางการเมือง หรือย้อนไปเล่าเรื่อง ณ เวลาที่สงครามยังดำเนินไป บ้างก็ย้อนไปถึงซาราเยโวในวันที่เกิดเหตุการณ์ซึ่งจุดระเบิดให้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง – ทั้งหมดทั้งมวลล้วนคือความพยายามของคนทำหนังที่จะจดจำและอธิบายว่า สำหรับทวีปยุโรปแล้ว เหตุการณ์ที่ซาราเยโว (และบอสเนียฯ) มีความหมายและสำคัญแค่ไหน

ตามธรรมชาติของหนัง omnibus ที่นำหนังสั้นจากต่างคนต่างที่มารวมกันภายใต้โจทย์เดียวกัน หนังบางเรื่องย่อมกลบรัศมีของบางเรื่อง พลังและความแหลมคมย่อมไม่เท่ากัน แต่สำหรับ Bridges of Sarajevo มีอยู่ 4 เรื่องที่แข็งแรง ทรงพลัง และคุ้มค่าอย่างยิ่งที่จะลอง

The Bridges of Sighs ของ Jean-Luc Godard (ซึ่งอินการเมืองและประเด็นบอสเนียมากๆ อยู่แล้ว) คือคอลลาจเดือดพล่านร้อนแรงที่ทำหน้าที่ถ้อยแถลงการเมืองอย่างท้าทาย ผ่านการใช้ภาพ เสียง และตัวอักษรของประวัติศาสตร์ในพื้นที่ ตรงข้ามกับสายตาสงบนิ่งแต่คมกริบของ Reflections ที่กำกับโดย Sergei Loznitsa ซึ่งจ้องมองภาพถ่ายของกองกำลังติดอาวุธที่ลุกขึ้นปกป้องซาราเยโวในช่วงสงคราม ผ่านกระจกแกลเลอรี่ที่สะท้อนทัศนียภาพของเมือง ในขณะที่ Quiet Mujo ของ Ursula Meier คือการส่งผ่านความทรงจำจากผู้ใหญ่ที่บอบช้ำ ถ่ายทอดให้เด็กน้อยที่ยังบริสุทธิ์ผ่องแผ้วและขาดจากประสบการณ์เลวร้ายที่มนุษย์เคยเผชิญในที่แห่งนั้น และ Sara and Her Mother ของ Teresa Villaverde คือการนำเสนออดีตอันเจ็บปวดที่สงบนิ่งเงียบเชียบ ในบ้านที่เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ความทรงจำเลวร้ายยังคงกัดกร่อนและบ่อนเซาะตัวตนของคนคนหนึ่งอย่างเยียบเย็น

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว


Shiraz: A Romance in India (1928, Franz Osten)

Franz Osten คือคนทำหนังชาวเยอรมันที่มีบทบาทสำคัญในยุคแรกเริ่มของภาพยนตร์ในอินเดีย (ก่อนต้องยุติบทบาทเมื่อถูกกองทัพอังกฤษจับกุมตัว โดยในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเขาเป็นสมาชิกพรรคนาซี แต่หลังจากนั้นได้เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอซึ่งต่อมาพัฒนาเป็น Bavaria Film Studio ที่ยังทำหนังอยู่ในเยอรมนีปัจจุบัน) หลังจากทำหนังเยอรมันตั้งแต่ปี 1911 และเป็นนักข่าวกับทหารในช่วงสงคราม เขาได้รับการติดต่อจาก Himansu Rai นักเรียนกฎหมายที่มุ่งมั่นจะก่อตั้งสตูดิโอภาพยนตร์ในอินเดีย (ซึ่งต่อมาเป็นอีกหนึ่งผู้บุกเบิกคนสำคัญ) ก่อนจะลงเอยด้วยการทำหนังในอินเดียถึงเกือบ 20 เรื่อง และ Shiraz คือหนึ่งในนั้น

เนื้อเรื่องที่ผูกพันกับตำนานการสร้างทัชมาฮาลคือจุดขายที่แข็งแรงของหนัง ทว่าชื่อเรื่องกลับไม่ได้สื่อถึงราชินีผู้งดงามอย่างมุมตาซ (ซึ่งในหนังใช้ชื่อเจ้าหญิงเซลิมา) หรือจักรพรรดิชาห์จาฮานแห่งราชวงศ์โมกุล แต่ระบุถึง ชิราซ (Rai เล่นเอง) พี่ชายบุญธรรมของพระมเหสีที่ปักใจรักเธอมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อยตราบจนสิ้นอายุขัย และหนังเขียนให้เขาถ่ายเทความรักที่ไม่เคยสูญสลาย จนกลายเป็นอนุสรณ์สถานทัชมาฮาล

หนังเริ่มเรื่องตั้งแต่องค์หญิงน้อยแห่งราชวงศ์แถบเปอร์เซียถูกทิ้งไว้กลางทะเลทราย หลังคาราวานถูกกลุ่มโจรดักปล้นฆ่า กระทั่งครอบครัวช่างปั้นหม้อของชิราซมาพบและชุบเลี้ยงเป็นลูก เมื่อเติบโตเป็นสาวงาม เธอถูกกลุ่มนักค้าทาสลักตัวไปขาย แต่ผู้ชนะประมูลคือตัวแทนจากวังขององค์ชาย (ก่อนขึ้นครองราชย์) ผู้แสดงออกชัดว่าถูกใจเธอ จนทำให้ ดาเลีย ลูกสาวขุนนางที่มักใหญ่ใฝ่สูง พยายามวางแผนกำจัดอยู่ลับหลัง ประจวบกับที่ชิราซอาศัยความช่วยเหลือของนางรับใช้คนสนิทลอบเข้าพบเซลิมาได้ถึงในวัง ก่อนที่ความจริงจะถูกเปิดเผยทั้งแผนร้ายของดาเลียและเลือดสีน้ำเงินแท้ของเซลิมา

ตามประสาหนังเงียบจากยุคอาณานิคม ผู้ชมหลายท่านอาจตะขิดตะขวงใจอยู่บ้างกับท่าทีและสายตาที่มองโลกฝั่งตะวันออกอย่างฝรั่งผิวขาวที่ exoticize ชาติใต้อาณัติอย่างเต็มที่ แต่เนื้อเรื่องโรแมนซ์แต่งเติมที่สนุกครบรสและการถ่ายภาพที่งดงามหมดจด ก็ทำให้ Shiraz กลายเป็นหนึ่งในหนังเงียบเรื่องสำคัญ

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว


The Epic of Everest (1924, J.B.L. Noel, UK)

* ตัวอย่างชั้นดีของ “ภาพยนตร์สารคดี” ที่สร้างขึ้นในยุคหนังเงียบ (ซึ่งต่างจากการบันทึกห้วงขณะของเหตุการณ์จริงในหนังเงียบยุคแรกเริ่มที่คุ้นตากัน) ในฐานะบทบันทึกอย่างเป็นทางการที่ติดตามความพยายามพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ของสองนักสำรวจชาวอังกฤษ George Mallory และ Andrew Irvine ในปี 1924 (ผู้กำกับ Noel เองก็เป็นนักสำรวจและนักผจญภัย ผู้เคยพยายามขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์มาแล้วเมื่อปี 1913 จากฝั่งธิเบต แต่ไม่ประสบความสำเร็จ)

* นอกจากทัศนียภาพอันยิ่งใหญ่ของเทือกเขาหิมาลัยและยอดเขาเอเวอเรสต์ (ที่ผ่านการบูรณะฟิล์มครั้งล่าสุดเมื่อปี 2013) The Epic of Everest ยังได้บันทึกช่วงแรกเริ่มของการแข่งขันพิชิตยอดเขาเอาไว้ ตัวหนังที่ตั้งใจเผยแพร่สู่สาธารณชนได้อธิบายอย่างละเอียดว่าการเดินทางสู่เทือกเขาหิมาลัยของ Mallory กับ Irvine นั้นสำคัญแค่ไหน ท้าทายด้วยเหตุปัจจัยใดบ้าง เพื่อกระตุ้นให้คนตื่นเต้นและรู้สึกร่วมกับภารกิจอันยิ่งใหญ่ (หลัง George Finch กับ Geoffrey Bruce เป็นสองคนแรกที่ขึ้นถึงระดับความสูง 8,000 เมตรเมื่อปี 1922)

* เป็นความรู้สึกคนละเรื่องกับการรับรู้ของผู้คนหลังความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ของ Edmund Hillary กับ Tenzing Norgay ในปี 1953 – ใช่แล้ว The Epic of Everest จบด้วยโศกนาฏกรรม

* อีกข้อมูลทรงคุณค่าที่หนังได้บันทึกไว้ก็คือเทคโนโลยีของการถ่ายทำภาพยนตร์ในยุคสมัยนั้น เพราะนอกจากต้องอธิบายว่าการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ยิ่งใหญ่แค่ไหน หนังต้องอธิบายให้คนดูเข้าใจด้วยว่าทีมถ่ายทำของ Noel ต้องคิดค้นดัดแปลงอุปกรณ์กล้องอย่างไร ให้เหมาะสมกับการเดินทางในสภาพภูมิประเทศทุรกันดาร ทนต่ออากาศหนาวในระดับฆ่าคนได้ และเพื่อให้บันทึกภาพ Mallory กับ Irvine ได้จากระยะไกลชนิดข้ามเขาเป็นลูกๆ (กล้องในหนังซูมถ่ายทั้งคู่จากแคมป์ที่เป็นจุดปลอดภัย)

* เมื่อหนังจบลงด้วยความสูญเสีย (จากที่ตั้งเป้าว่าจะเป็นภาพของความสำเร็จ) และตัดต่อเพื่อออกฉายในปีเดียวกันหลังเหตุการณ์เพียงไม่นาน ความเวิ้งว้างของภูมิทัศน์จึงเปี่ยมอารมณ์ท่วมท้นเข้มข้น และกลายเป็นบทบันทึกความเกรี้ยวกราดโกรธาของเจ้าอาณานิคมที่พ่ายแพ้และไม่อาจได้รับเกียรติเป็นผู้พิชิตดินแดนท้าทายแห่งใหม่

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว


Electric Swan (2019, Konstantina Kotzamani)

ห่านดินกินหญ้า แล้วหงส์ไฟฟ้ากินอะไร(วะ)? อ๋อ หงส์ไฟฟ้าเขามีไว้ขายนักท่องเที่ยวอย่างเรานี่แหละลูก

Konstantina Kotzamani คือคนทำหนังชาวกรีกรุ่นใหม่น่าจับตา (เธออายุ 37) มีหนังสั้นที่ได้ฉายทั้งที่เบอร์ลิน (Washingtonia, 2014) โลการ์โน (Yellow Fieber, 2015) คานส์ (Limbo, 2016 – เคยมาฉายที่กรุงเทพ) เวนิซ (เรื่องนี้แหละ) และเข้าชิงหนังสั้นยอดเยี่ยม European Film Awards มาแล้วสองครั้ง

Electric Swan คือ Swan Lake เวอร์ชั่นกวนตีนแปลกประหลาดที่เสียดสีเรื่องชนชั้นได้แสบลึก (หนังเปิดเรื่องด้วยนักท่องเที่ยวจีนถีบเรือเป็ด แต่อยู่ในสวนลุม / หนองประจักษ์ / บึงแก่นนคร ของอาร์เจนตินา) หงส์ขาวคือคุณหนูนักบัลเลต์ที่มีชีวิตลำพังในห้องสวีตชั้นบนสุดของคอนโด ส่วนหงส์ดำคือพี่ยามชื่อคาร์ลอสซึ่งเป็นชนพื้นเมือง ผู้แทบจะมีชีวิตอยู่แค่คอกยามชั้นล็อบบี้กับห้องนอนที่ชั้นใต้ดินของตึก

นอกจากสองคนนี้ อีกหลายชีวิตในตึกก็ประหลาดไม่แพ้กัน ทั้งคุณยายไฮโซที่เลี้ยงหมาป่วยไว้แล้วไม่กล้าการุณยฆาตเอง เด็กน้อยที่ชอบฝันกลางดึก (แล้วมาเล่าให้คาร์ลอสฟัง) ถึงคนในตึก แล้วฝันของเธอก็ดูจะจริงเสียเหลือเกิน – คุณน้องนักบัลเลต์กำลังเผชิญกับอาการบ้านหมุนที่ยิ่งคลื่นไส้หนักเพราะอยู่ชั้นบนสุด แต่ก็ไม่รู้ว่าบ้านหมุนในหัวตัวเองหรือตึกนี้มันแอบเดินตอนที่ไม่มีคนเห็น ในขณะที่ชั้นใต้ดินของคาร์ลอสก็น้ำหยดน้ำรั่วมายาวนาน หาสาเหตุไม่เจอ บางทีอาจจะมาจากตึกข้างๆ ที่เจรจาอะไรไม่ได้เพราะเขาใช้นวัตกรรมใหม่คือจ้างคนบ้านนอกมาเป็นยามกะดึกผ่าน Skype

หลายฉากชวนให้นึกถึง High-Rise (ทั้งนิยายของ J.G. Ballard และหนังของ Ben Wheatley) ที่รักษาท่าทีมากกว่าหน่อย แต่หมัดเด็ดของหนังคือการคารวะ Tsai Ming-Liang กันแบบเอาให้คนรู้ว่าครูของฉันคือใคร ฉากที่ไหว้ The Hole (1998) ยังเข้าธีมอยู่ตามเส้นเรื่องน้ำรั่ว แต่พอเข้าช่วงกราบเท้า I Don’t Want to Sleep Alone (2006) นี่ถึงกับต้องขำออกเสียงด้วยความเจ็บแสบ ไม่รู้คิดได้ยังไง

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว


No One Left Behind (2019, Guillermo Arriaga Jordán, Mexico)

ทหารอเมริกันหมู่หนึ่งพร้อมผู้บังคับบัญชา นั่งไปในรถยนต์เงาวับสามคันขับเรียงแถว ภูมิประเทศเป็นลูกรังฝุ่นทราย ทั้งหมดปรากฏตัวด้วยเครื่องแบบติดเข็มเต็มยศ วันทยหัตถ์ทำความเคารพอย่างแข็งขันเคร่งครัด ขบวนรถจอดที่หน้าบ้านหลังหนึ่ง นายพลสอบถามทักทายด้วยภาษาสเปนตามมารยาท ได้รับคำตอบก่อนเดินเข้าไปด้านใน

ภาพเหตุการณ์เริ่มดูแปลกๆ ทหารอเมริกันมาทำอะไรถึงเมืองบ้านนอกของเม็กซิโก?

พวกเขามาร่วมงานศพของเพื่อนทหารชาวเม็กซิกัน ที่เคยร่วมรบช่วยชีวิตมีความทรงจำต่อกันในสมรภูมิอิรัก ไม่ได้มาตามมารยาท แต่รู้สึกเศร้ากับการเสียชีวิตอย่างมนุษย์ และต้องการเชิดชูเกียรติของชายหนุ่มที่จากไปก่อนวัยอันควรด้วยใจจริง นายพลขออนุญาตพ่อคนตายทำพิธีคลุมธงชาติให้โลงศพ พ่อโพล่งว่าลูกกูเป็นเม็กซิกันตอนพวกเขาคลี่ธงชาติอเมริกัน ไม่เป็นไร เรารู้ เรามีธงชาติเม็กซิโกเตรียมมาด้วย

เพื่อเชิดชูเกียรติสูงสุด พวกเขาถึงกับขอศพลูกชายพ่อกลับไปฝังในสุสานนายทหารอเมริกัน ให้สมเกียรติของผู้รับใช้ชาติอย่างเต็มภาคภูมิ พ่อเลยถามต่อว่าถ้าลูกกูเป็นวีรบุรุษ แล้วประเทศมึงเนรเทศเขาทำไม เขาไปอยู่ประเทศมึงสิบห้าปี รบให้มึงไปแล้วก็เจ็ดปี มีความหมายอะไรหรือเปล่า
ความเหนือชั้นของ No One Left Behind คือการขยับเล่าเรื่องไปไกลกว่าวิวาทะข้างต้น – Guillermo Arriaga (มือเขียนบท Amores Perros, 21 Grams, Babel) ไม่ได้ต้องการแค่วิพากษ์นโยบายกีดกันคนต่างชาติในสมัยทรัมป์หรือต่อต้านสงครามแบบทื่อๆ แต่ต้องการพูดถึงสิ่งซึ่งแม้กระทั่งหัวจิตหัวใจและความเป็นมนุษย์ก็ไม่อาจแก้ไขเยียวยา

หลังจากโดนพ่อคนตายตอกหน้า ทหารอเมริกันก็ล่าถอย สงบนิ่ง พวกเขาขอแค่อยู่ค้างคืนเพื่อร่วมพิธีฝังในรุ่งเช้า เจ้าภาพต้อนรับอย่างอบอุ่นเต็มที่ มีบทสนทนาหยอกล้อกับเด็กๆ ในบ้าน แลกเปลี่ยนความทรงจำและวีรกรรมของผู้วายชนม์ บ้างก็จำวิทยุที่เพื่อนผู้จากไปซื้อไว้ตั้งแต่สมัยอยู่เท็กซัสได้

บรรยากาศเต็มไปด้วยหัวจิตหัวใจ ความเห็นอกเห็นใจ ความซื่อสัตย์จริงใจ และมนุษย์ที่ต่างโศกเศร้ากับสูญเสียทั้งในฐานะครอบครัวและเพื่อนร่วมรบ

สิ่งที่ Arriaga บันทึกไว้ได้อย่างหมดจดที่สุดก็คือความผิดที่ผิดทางแปลกประหลาด ไม่ว่าภาพสถานการณ์จะดูซาบซึ้งชวนประทับใจแค่ไหน ทหารอเมริกันเหล่านี้จะเป็นมนุษย์มากเพียงใด เกียรติยศอย่างทหารอเมริกันที่สะท้อนผ่านร่างกาย ระเบียบ และพิธีกรรม ก็ไม่อาจเป็นหนึ่งเนื้อเดียวกันกับสิ่งรอบตัวได้ – โดยเฉพาะเมื่อคนที่พวกเขาพยายามเชิดชูเกียรติ ไม่เคยถูกนับเป็นเนื้อเดียวกันอยู่แล้วตั้งแต่ต้น

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว


Wrath of Silence (2017, Xin Yukun, China)

มันคือหนังจีนชีวิตชาวบ้านแร้นแค้นที่โดนกระทำจนตัวละครต้องลุกขึ้นมาสู้ยิบตา แล้วพระเอกดันบู๊เก่ง แต่ไม่ได้เป็นหนังบู๊เว่อร์ๆ แบบหนังบู๊ฮ่องกงนะ แล้วทางหนังก็เป็นดราม่า slow burn ที่มีแอ็กชันและทริลเลอร์หล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเรื่อง

พระเอกเป็นใบ้ เขาเคยถูกชาวบ้านบีบให้เซ็นสัญญายินยอมให้นายทุนมาใช้ภูเขาที่หมู่บ้านทำเหมือง เหลือเขาไม่ยอมอยู่คนเดียว หลังจากที่บู๊กันแหลกไปยกหนึ่งกับเจ้ายักษ์ในหมู่บ้าน ที่สุดเขาก็ถูกบีบให้เซ็นสัญญา ส่วนตัวเขาหนีไปเป็นคนงานเหมืองในต่างเมือง

เรื่องมาเกิดเอาวันหนึ่งที่ลูกชายของเขาหายตัวไปตอนออกไปเลี้ยงแกะเหมือนทุกวัน หาอย่างไรก็หาไม่เจอ เขาต้องพกรูปลูกชายเดินท่อมๆ ข้ามภูเขาไปเที่ยวถามผู้คนว่าเห็นลูกเขาไหม

จนพอไปถึงเหมืองแห่งหนึ่ง ก็ดันประจวบเหมาะเจอกลุ่มลูกน้องนายทุนเหมืองที่เพิ่งซื้อเหมืองแห่งนั้นด้วยวิธีชั่วช้าเข้าพอดี เขาเลยจับพลัดจับผลูต้องร่วมมือกับคนงานเหมืองแห่งนั้นต่อสู้กับแก๊งลูกน้องนายทุนชั่ว จนลูกน้องมือขวาของนายทุนพูดขึ้นมาว่า เคยเห็นลูกชายแกมาก่อน ตามฉันมาสิ แล้วก็พาเขาขึ้นรถเข้าเมืองไปหาเสี่ยนายทุน

ความลับลมคมในชวนสงสัยบังเกิด หรือไอ้เสี่ยนายทุนนี้เองจะลักพาตัวลูกชายเขาไป นอกจากนี้เสี่ยก็กำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะทางการกำลังสืบสวนการทำเหมืองผิดกฎหมายของเสี่ยอยู่ และทนายของเสี่ยก็ดูจะช่วยเสี่ยไม่ได้ ซ้ำยังชวนสงสัยว่าทนายคนนี้จะแปรพักตร์ไปเข้าข้างตำรวจเพื่อตลบหลังเสี่ยอีก

หนังเหมือนเป็น A Touch of Sin เวอร์ชั่นผู้ชาย แต่มาในแบบ slow burn เนื้อเรื่องดี และมีศิลปะในการเรียงลำดับการเล่า ค่อยๆ เอาเส้นเรื่องของพระเอกใบ้กับทนายของเสี่ยมาบรรจบกันด้วยการผูกเรื่องที่เข้าท่า ศิลปะการเล่ายังมาในรูปของวิธีที่จะเล่าหรือไม่เล่าอะไร หรือการเฉลยด้วยการไม่เล่าด้วยวิธีโจ่งแจ้งในตอนจบ ที่ก่อให้เกิดพลังมหาศาลกว่าการเล่าตรงๆ อีก

ดราม่าก็ได้ ทริลเลอร์ก็ได้ บู๊แอ็กชันก็ได้อีก ท่ามกลางบรรยากาศเมืองบนภูเขาเหมืองแร้นแค้นของจีน

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว


Air Conditioner (2020, Fradique, Angola)

จู่ๆ ในแองโกล่าก็มีปรากฏการณ์แอร์ตก ซึ่งไม่ได้หมายถึงเครื่องปรับอากาศหยุดทำงานแบบทั่วไป แต่คือปรากฏการณ์ที่ใครก็ตามที่ติดแอร์ไว้บนเพดาน ตัวแอร์มันก็จะหล่นลงมาเอง แอร์ทั่วทั้งแผ่นดินร่วงหล่นลงมาเหมือนนกเจอไข้หวัดนกระบาดเลย ทั่วกรุงลูอันดาเมืองหลวงคือศพแอร์กล่นเกลื่อนกันเต็มถนนไปหมด แอร์เจ๊งกันเป็นแถบๆ บางทีก็ตกใส่หัวคน คนนอกจากจะหัวร้อนแล้วยังจะต้องตัวร้อนอีกเพราะไม่มีแอร์ นายมาเตเซโด้กระทาชายพระเอกของเรื่องเป็นนักการภารโรงที่ต้องจัดหาแอร์ให้เจ้านาย ขณะเดียวกันวิทยุก็รายงานการวิเคราะห์ว่า เริ่มมีกระแสคนหันกลับไปใช้ชีวิตแบบไม่มีแอร์ “เขาบอกว่าแอร์เป็นของต่างชาติที่เข้ามาในแองโกล่า เราต้องปรับตัวกับการเป็นประเทศเขตร้อนของตัวเอง” มาเตเซโด้ยกแอร์ไปให้ร้านซ่อมเครื่องใช้ไ้ฟฟาที่มีนายทหารเก่าสมัยสงครามกลางเมืองเป็นคนซ้อม แม้ชาวบ้านชาวช่องเขาจะเม้าท์กันว่านายคนนี้ซ่อมอะไรไม่ค่อยได้

ของต่างชาติที่เข้าในสังคมเพื่อให้คนอยู่กันได้สบายขึ้น ? (แอร์ในประเทศเขตร้อน?) นายทหารที่ถูกคาดหวังให้ซ่อมแต่ซ่อมอะไรไม่ได้นอกจากให้ความหวังไปเรื่อยๆ ?

Air Conditioner เป็นภาพยนตร์รสแปร่งที่มีลีลาแสนกลแบบหนังที่ใช้ภาษาโปรตุเกสทั่วไป ตัวหนังโดดเด่นด้วยบทเพลงที่เลี้ยงบรรยากาศเศร้าสุขระคอไปด้วยกัน ที่สำคัญคือตัวหนังเล่นกับอุปลักษณ์การเปรียบเปรยทางสังคม แต่ลีลาการกำกับที่อ่อนหวานก็ไม่ได้ถีบคนดูให้หนีห่างแต่สามารถปรุงการเล่าเรื่องแบบสัญลักษณ์ได้กลมกล่อมชวนติดตาม

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว


Adela Has Not Had Supper Yet (1978, Oldrich Lipský, Czechoslovakia)

หรืออีกชื่อภาษาอังกฤษว่า Dinner for Adele (แต่ชื่อ Adela เก๋กว่าตั้งเยอะ) ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของเทศกาล We Are One ที่เหมาะสมสำหรับผู้ต้องการหนังหลุดโลก ปั่นประสาท และควรค่าแก่การรับชมเป็นหมู่คณะเพื่อความบันเทิงสูงสุด หลังจากที่หลายๆ คนได้เจออิทธิฤทธิ์ปืนไฟบาแก็ตของ Crazy World จากยูกันดาไปแล้ว

Adela ไม่ได้ดิบเถื่อนเป็นบ้านสลัมกำแพงสังกะสีขนาดนั้น ความเสียสติของหนังใส่สูทเนี้ยบกับกระโปรงฟูสีหวานๆ อยู่ตามสไตล์ยุโรป ตัวหนังเล่าเรื่องหนึ่งคดีของ “ยอดนักสืบที่โด่งดังที่สุดของสหรัฐอเมริกา” นิค ปาร์คเกอร์ แกโด่งดังขนาดไหน ก็ขนาดที่ว่า เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ยังส่งจดหมายชื่นชมอัดกรอบมาให้ตั้งโชว์ถึงโต๊ะทำงาน มีคนมาลอบฆ่าถึงสำนักงานนักสืบทุกวี่ทุกวัน วางกับดักรออยู่แล้วทุกมุมห้องแบบเก๋ๆ เวลาอยากทำภารกิจก็สุ่มหยิบๆ เอา รอบนี้ได้ไปกรุงปรากว่ะ เป็นจดหมายจากเคาน์เตส รายละเอียดคดีให้ไปรู้ที่โน่น

คุณนิคเป็นคนเก่งคนดัง คุณนิคเลยหัดภาษาเช็คจากหนังสือบนรถไฟ (แต่ตอนอยู่อเมริกาแกก็พูดภาษาเช็คนั่นแหละ) หาชุดชาวเช็คจากหนังสือเพื่อแต่งตัวให้แนบเนียน (แต่เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ออสเตรีย-ฮังการี) แต่งตัวไปแกก็เนียนอยู่นะ แต่ตำรวจจำได้ อ้าว ตกใจ ทำไมรู้ล่ะว่าเป็นผม แหม ก็คุณออกจะเลื่องชื่อว่าปลอมตัวได้ยอดเยี่ยม ใครเห็นใครก็ต้องจำได้สิครับ (เอ๊ะ)

ก่อนจะไปหาเคาน์เตสเจ้าของคดีก็ไปนั่งคุยกับผู้บัญชาการตำรวจ แบบว่าจริงๆ แล้วตำรวจก็อยากทำคดี แต่เคาน์เตสเธอเมนคุณนิค มีหนังสือทุกเล่ม ตามทุกคดี รักมากเลยไม่ยอมให้ตำรวจยุ่ง เอาเป็นว่าเดี๋ยวฝากลูกน้องไปเป็นผู้ช่วยแล้วกัน พรุ่งนี้ค่อยเริ่ม ดีเลยยังไม่ต้องเริ่มวันนี้ งั้นก็แดกเบียร์แม่งทุกร้านเลยก็แล้วกัน

ถองเบียร์กันจนเช้า เข้าไปเตรียมสืบคดี อ๋อ เป็นคดีคนหาย หายไปดื้อๆ เลยคืนหนึ่ง เคาน์เตสเล่นเพลงกล่อมนอนอยู่ก็แวบหายไปจากห้องเฉยเลย โอ้โห คดีเหนือธรรมชาตินี่ แต่อ้าว ที่เล่ามาทั้งหมดไม่ใช่คนนี่ครับ มันเป็นหมา นี่ยอดนักสืบอย่างผมต้องมาทำคดีหมาหายเหรอเนี่ย เสียเกียรติยิ่งแล้วแม่แก้วจอมขวัญ แต่ทว่าสืบไปสืบมา ดูเหมือนผู้ร้ายในคดีนี้จะเป็นดอกไม้กินคน (!!!) ตายแล้วว

ที่เล่ามานี่แค่ประมาณ 20 นาทีของเรื่อง ส่วนที่เหลือถ้าอยากรู้ว่าตกลงแล้ว Adela นี่มันเป็นใคร(วะ) แล้วคดีจะจบลงอีท่าไหน เห็นทีจะต้องให้ไปดูกันเอง

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว

หากอยากเข้าใจสถานการณ์คนดำให้มากขึ้น…โปรดมองข้ามหนังเหล่านี้

ในขณะที่อเมริกากำลังลุกเป็นไฟ อันผลพวงจากการถูกทำให้เสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ สิ่งที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ตอนนี้มีมิติที่ทับซ้อนกันมากมาย ทั้งการใช้อำนาจรัฐต่อประชาชนและการเหยียดชาติพันธุ์ ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยอยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ปรากฏการณ์ต่อมาจึงคือการที่ The Help หนังปี 2011 ของ เทต เทย์เลอร์ ทะยานขึ้นอันดับ 1 หนังที่มีจำนวนผู้ชมสูงสุดของ Netflix อเมริกา ในขณะที่นักวิจารณ์อีกฟากก็ออกมาคัดค้านสุดตัวว่า หากอยากเข้าใจสถานการณ์ให้มากขึ้นจริงๆ ก็จงมองข้ามหนังเรื่องนี้ซะเถอะ!

The Help ถูกเหล่านักวิจารณ์ดังกล่าวจัดให้อยู่ในกลุ่มหนังที่ “ประนีประนอมทางเชื้อชาติ” (racial reconciliation) ซึ่งหมายถึง หนังที่มีพล็อตว่าด้วยการสร้างความสัมพันธ์อันดีของคนสีผิวต่างกัน โดยกลบเกลื่อนกดทับประเด็นความเหลื่อมล้ำที่แท้จริง เป็นการกวาดปัญหาไปซ่อนไว้ใต้พรมแสนสวยงามอันมีชื่อว่า “มิตรภาพ”

Green Book

The Help หนังที่ ไวโอล่า เดวิส ผิดหวัง 

“ฉันเคยเสียใจที่ได้เล่นหนังเรื่องไหนมั้ย?” ไวโอล่า เดวิส เล่าว่าเธอถามตัวเองแบบนั้น และคำตอบก็คือ “มีสิ …หนังเรื่องนั้นคือ The Help”

หนังที่เข้าฉายในไทยด้วยชื่อสุดขยี้ว่า ‘คุณนายตัวดี สาวใช้ตัวดำ’ เรื่องนี้ เป็นหนังพลังหญิงว่าด้วยสาวใช้ผิวดำผู้รองรับแรงกดดันต่างๆ ทั้งจากบ้านของนายจ้างผิวขาวและสังคมรอบตัว จนเมื่อหญิงสาวผิวขาวเพื่อนของนายจ้างเล็งเห็นปัญหา เรื่องราวของเธอจึงถูกขุดมานำเสนอผ่านบทความต่อสาธารณะ

เดวิสกล่าวว่า เธอรับแสดงหนังเรื่องนี้ด้วยความคาดหวังแบบหนึ่ง แต่ผลลัพธ์กลับไม่ใช่อย่างที่คิด แม้ว่ามันจะทำเงินสูงถึง 216 ล้านเหรียญฯ และส่งให้เธอได้เข้าชิงออสการ์ก็ตาม 

“ฉันรู้สึกว่าถึงที่สุดแล้ว เสียงของสาวใช้ในหนังก็ไม่ได้ถูกเปล่งออกมาอย่างที่คิด” เธอบอก “ฉันรู้จักผู้หญิงแบบไอบิลีน (ตัวละครของเดวิส) และมินนี่ (ตัวละครของ อ็อกตาเวีย สเปนเซอร์) พวกเธอก็เหมือนย่าและแม่ของฉันเอง ฉันรับเล่นหนังเรื่องนี้เพราะคิดว่ามันจะเล่าชีวิตของพวกเธอให้เราได้รู้ว่า ในยามที่ต้องทำงานให้คนขาว เลี้ยงดูลูกๆ ของพวกเขาให้เติบใหญ่ในช่วงปี 1963 นั้น พวกเธอรู้สึกอย่างไร แต่ฉันก็ไม่ได้ยินสิ่งเหล่านั้นจากหนังเลย” 

Driving Miss Daisy

เมื่อคนขาวอยากคืนดี และออสการ์ก็เห็นดีเห็นงาม

เวสลีย์ มอร์ริส ให้ข้อสังเกตไว้ในบทความ “ทำไมรางวัลออสการ์มักปลาบปลื้มหนังแฟนตาซีว่าด้วยการประนีประนอมทางเชื้อชาติ” (Why Do the Oscars Keep Falling for Racial Reconciliation Fantasies?) ในนิวยอร์กไทมส์ ถึงหนังสามเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกันโดยบังเอิญ ได้แก่ Driving Miss Daisy หนังออสการ์ปี 1989 ของ บรูซ เบเรสฟอร์ด, Green Book หนังออสการ์ปี 2018 ขอบ ปีเตอร์ ฟาร์เรลลี และ The Upside หนังปี 2017 ของ บีล เบอร์เกอร์ (ที่ดัดแปลงจากหนังฝรั่งเศส The Intouchables ปี 2011)

Driving Miss Daisy ว่าด้วยโชเฟอร์คนดำ (มอร์แกน ฟรีแมน) กับนายจ้างสูงวัย (เจสสิก้า แทนดี้) ส่วน Green Book เป็นการสลับบทบาทกัน โดยโชเฟอร์เป็นคนขาว (รับบทโดย วิกโก มอร์เทนเซน) ส่วนนายจ้างเป็นนักเปียโนผิวดำ (มาเฮอร์ชาลา อาลี) ขณะที่ใน The Upside เควิน ฮาร์ท รับบทเป็นคนดำที่ถูกจ้างให้มาดูแลชายพิการผิวขาวเอาแต่ใจ (ไบรอัน แครนสตัน) ทั้งสามเรื่องนำเสนอการเดินทางร่วมกันของลูกจ้าง-นายจ้างต่างสีผิวที่นำไปสู่การเรียนรู้ชีวิตกันและกัน จนก่อเกิดเป็นมิตรภาพอันงดงาม 

มอร์ริสตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า มิตรภาพที่เกิดขึ้นในหนัง 3 เรื่องนี้ล้วนเป็นผลมาจาก “การว่าจ้าง” และ “การที่คนขาวหยิบยื่นโอกาสให้กับคนดำ” ถึงแม้ใน Green Book จะมีการสลับบทบาทผู้ว่าจ้างให้คนดำมีอำนาจเหนือกว่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เอาเข้าจริงแล้วหน้าที่ของตัวละครคนดำในเรื่องก็มีไว้เพื่อ “ช่วยให้คนขาวได้แก้ไขความผิดพลาดของตนเองและมีความเป็นมนุษย์ยิ่งขึ้น”

The Upside

ยังมีหนังอีกมากมายที่มีเนื้อหาว่าความขัดแย้ง-การคืนดีของคนขาวกับคนดำ และประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่บนเวทีรางวัล อาทิ The Blind Side และ Crash ซึ่งนำไปสู่บทสรุปว่าด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง แต่กลับไม่สามารถสะท้อนและตีแผ่ปัญหาทางโครงสร้างที่แท้จริงได้

และที่ขำไม่ออกคือ เมื่อบนเวทีรางวัล มีหนังว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างคนขาวกับคนดำมากกว่า 1 เรื่อง หนังที่นำเสนอประเด็นนี้ในเชิงประนีประนอมก็มักจะเป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ ตัวอย่างเช่น ปีที่ Driving Miss Daisy ผงาดบนเวทีออสการ์ ในปีนั้นยังมีหนังตีแผ่ชีวิตสุดขมขื่นของคนดำอย่าง Do the Right Thing ของ สไปค์ ลี ด้วย และในปีที่ Green Book ชนะหนังยอดเยี่ยม ก็มี BlackKklansman ของลีชิงชัยด้วยเช่นกัน

จึงน่าสังเกตว่า นับจากความสำเร็จของ Driving Miss Daisy, Crash มาจนถึง Green Book และขณะนี้ที่ The Help สามารถก้าวขึ้นอันดับ 1 ใน Netflix อเมริกา อาจสะท้อนว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสีผิวในประเทศนี้ก็ยังคงถูกฝังกลบไว้ ภายใต้ความต้องการจะประนีประนอมของคนส่วนใหญ่อยู่นั่นเอง?


อ้างอิง :
Viola Davis Shares Regrets Over Acting in ‘The Help’
As ‘The Help’ Goes #1 on Netflix, Critics Speak Out and Offer Better Movies to Stream
Why Do the Oscars Keep Falling for Racial Reconciliation Fantasies?

พจมาน สว่างคาตา : สงครามไพร่

0

ในรอบสิบห้าปีที่ผ่านมานี้มีอย่างน้อยสามครั้งที่โครงสร้างเรื่องเล่าใหญ่ในสารบบนิยายกระแสหลัก/ละครไทยถูกนำมาตีความใหม่อย่างท้าทายกลับหัวกลับหาง ครั้งแรกคือ สะใภ้บรื๋อส์ในปี 2008 ครั้งต่อมาคือวงศ์คำเหลาในปี 2009

โครงสร้างเรื่องเล่าที่ว่าคือเรื่องของคฤหาสน์หรูหราครอบครองโดย ‘ผู้ดี’ ที่ต้องสั่นสะเทือนด้วยการมาถึงของหญิงสาวชนชั้นล่างที่อาจจะเป็นเจ้าของคฤหาสน์ตัวจริง ผู้ซึ่งเป็นคนดีจากภายในสู่ภายนอก ตอบโต้ความชั่วร้ายการตีสองหน้าของเหล่าคนร่ำรวยหน้าเนื้อใจเสือที่ทำทุกอย่างเพื่อจะขับไล่เธอออกไปเอาชนะด้วยความดี ขณะเดียวกันก็ได้ชนะจิตใจอันแข็งกระด้างของชายหนุ่มที่เป็นทายาทของบ้าน ก่อนจะขยับฐานะขึ้นมาเป็นเจ้าของบ้านที่แท้จริง ทั้งผ่านทางสาแหรก สายเลือด (ปานดำที่แขน สร้อยที่แม่ให้มา) หรือการแต่งงาน ถึงที่สุดโครงสร้างของหนังคืออาการพาฝันของคนชนชั้นล่าง/ชนชั้นกลางระดับล่างที่ไม่อยากยอมรับว่าไม่ว่าจะพยายามเพียงใดก็ไม่อาจขยับฐานะไปเทียบผู้ดีได้ เพราะสิ่งที่ขาดไม่ใช่แค่เศรษฐฐานะ แต่ยังรวมถึงสายเลือดอีกด้วย ทางเดียวที่จะข้ามชนชั้นจึงไม่ใช่ความมุ่งมั่นทางการศึกษาหากคือการป็นคนดีมีศีลธรรม แล้วรอให้โชคชะตา (เลือดผู้ดีเกิดที่ไหนย่อมเป็นผู้ดี เลือดไพร่ก็เช่นกัน) มาหา หรือการได้เข้าร่วมสายเลือดผ่านทางการแต่งงาน (เป็นเครื่องจักรสืบทอดสายเลือดเดิมต่อไป) บทขึ้นและลงท้ายของโครงเรื่องหลักนี้สะท้อนก้องถึงสิ่งสำคัญมิตรสหายท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า ‘สังคมไทยเป็นสังคมที่มีสำนึกเรื่องชนชั้นสูงมาก’ ซึ่งอาจจะหมายถึงสำนึกเรื่องชนชั้นสำหรับการเหยียดชนชั้น หรือสำนึกเรื่องการบูชาชนชั้นสูงและความถี่ถ้วนในการจัดลำดับว่าใครมีศักดิ์สูงกว่าใคร กล่าวให้ง่ายคือไม่ว่าเราจะก้าวเข้าสู่สังคมประชาธิปไตย สังคมทุนนิยม สังคมเผด็จการ หรือใดๆ ก็ตามแต่ ความนึกคิดของเราก็วนเวียนอยู่กับการเป็นสังคมศักดินาซ่อนรูป อยู่ในกฎแห่งกรรม และการทำตนเป็นคนดี ชูผู้ดี และตีไพร่ด้วยกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายใต้โครงสร้างเรื่องเล่านี้เรื่องที่รู้จักกันดีที่สุดคงหนีไม่พ้น บ้านทรายทอง ที่ประพันธ์โดย ก.สุรางคนางค์ ตัวนิยายเขียนขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ. 1950 แต่ยังคงเป็นหนึ่งในโครงสร้างเรื่องเล่าที่ยังแข็งแรงและถูกตีความไปในทางเพื่อควบคุมมโนทัศน์เดิมของสังคมที่ยังใช้การกันอยู่ในเวลา 70 ปีต่อมา ซึ่งว่ากันว่าตัวเรื่องของบ้านทรายทองคือการต่อสู้ของชนชั้นกลางใหม่ (คนมีการศึกษา กับศักดินาหัวโบราณ)

สะใภ้บรื๋อส์ เปลี่ยนพจมานให้เป็นผี ด้วยการเล่าเรื่องของหญิงสาวที่เป็นนางพยาบาลเจ้าคุณพ่อที่จู่ๆ ได้รับคำสั่งให้แต่งงานกับลูกชายเพื่อรับมรดกเป็นคฤหาสน์ ทำให้คุณหญิงแม่ไม่พอใจถึงกับจ้างนักเลงมาขู่ แต่กลับตาลปัตรพลั้งมือฆ่าเธอตาย เธอจึงกลายเป็นผีมาหลอกทุกคน

วงศ์คำเหลากลับหัวกลับหางเรื่องเล่าหลักได้อย่างน่าสนุกด้วยการเอานักแสดงชาวอีสาน ตัวละครที่ถูกจดจำในบทคนชั้นล่างและคนใช้ พลิกกลับมารับบทเป็นผู้ดีกับเขาบ้าง ผู้กำกับร้ายกาจถึงขนาดหยิบนามสกุลของตัวเองมาใช้เป็นสกุลผู้ดี เราจึงเห็นผู้คนที่หน้าตามักถูกจดจำแบบคนใช้ได้กลายเป็นผู้ดี ใช้ชีวิตอีลิท (อย่างที่ขำเพราะเข้ารหัสรสนิยมของคนชั้นล่างปะทะกับความผู้ดี) โดยมีนางเอกเป็นครูสอนภาษาแสนดีที่ดีจนคุณชายเจ้าของบ้านตกหลุมรักแม้ศักดิ์จะไม่เท่าเทียม

ภายใต้การละเล่นนั่นนี่ของทั้งสองเรื่องที่่ชวนให้คิดว่านี่คือการตีความใหม่ เพื่อท้าทายกับขนบของรักต่างชนชั้นและการยั่วล้อเพื่อบ่อนเซาะทำลายศักดินาดั้งเดิม แต่ในท้ายที่สุดหนังก็ต้องปล่อยให้ผีอยู่ส่วนผี และผู้ดีอยู่ส่วนผู้ดีและยังคงเป็นผู้ดีต่อไปด้วยความรู้ตัวที่จะไม่แตะประเด็นชนชั้นเกินกว่าผิวเปลือกของความตลกโปกฮา

หากสะใภ้บรื๋อส์คือการทำให้พจมานกลายเป็นผี และวงศ์คำเหลาพลิกเอาชนชั้นคนใช้ให้มาเป็นเจ้านาย พจมาน สว่างวงศ์ก็มีทุกอย่างครบทั้งการที่พจมานกลายเป็นผี แต่ชนชั้นคนใช้สายเควียร์ที่พลิกอำนาจกลับจากคนใช้กลายไปเป็นผู้ดีกับเขาบ้าง

เรื่องคือพจมาน (ตัวจริง) เดินทางมายังบ้านดอก(ไม้)ทอง เพื่อทวงคืนความยุติธรรมในฐานะเจ้าของบ้าน คนที่รอต้อนรับคือหม่อมแม่ หญิงใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม และหญิงเล็กกะจิริด และชายน้อยหนึ่ง คืนนั้นเอง หม่อมแม่พยายามวางยาพจมานแต่ไม่สำเร็จ แต่ด้วยความแส่อยากรู้ว่าเรือนเล็กมีอะไร พจมานเลยตกกระไดตายซี้แหงแก๋

เพื่อวางแผนครอบครองบ้านดอกไม้ทอง หม่อมแม่สั่งให้แม่มณี (พชร์อานนท์ในบทชื่อรอง ‘อีช่อ’) คนรับใช้ไปหาใครก็ได้มาเล่นบทพจมาน เพื่อจะได้แต่งกับชายตุงกลาง ที่กำลังจะกลับจากเมืองนอก แค่ยั่วให้ชายตุงกลางตกหลุมรัก แต่งงานจบปั๊บรับเช็คกลับบ้าน แล้วก็ได้อนาคตใหม่เป็นสาวแพนเค้กสก๊อยขาลุยแม่ป่วยมารับบทนี้ขณะที่ผีพจมานตัวจริงออกหลอกหลอนในยามค่ำ ชายกลางที่มีแฟนเป็น เจนนี่ โรเซ่ จีซู ลิซ่า มีแม่และพี่สาวน้องสาวเป็นเจนนุ่นโบว์ ก็ตกหลุมรักพจมาน แต่เรื่องมันก็ไม่ได้มีแค่ใครคือพจมานตัวจริงหรอกนะยะ

ก่อนจะกลับไปที่พจมาน เราไปพชร์ อานนท์กันก่อน หลังจากเปลี่ยนมาหลายชื่อ ทำหนังมาหลายแนว ยืนหนึ่งต้านทานแรงเสียดทานของผู้ชมจำนวนหนึ่งที่มักจะพยายามใช้หนังของเขาเป็นเครื่องหมายของการเป็นหนังไทยชั้นเลว พชร์เลิกพิสูจน์แล้วว่าเขาเป็นคนทำหนังดีได้ แต่เขาพิสูจน์ว่าเขาทำหนังได้ หนังของเขาอาจไม่ทรงคุณค่าเมื่อหยิบจับมาตรฐานหนังดีมาจับ แต่มันก็เหมือนหยิบไม้บรรทัดเซนติเมตรมาวัดสิ่งที่ต้องวัดเป็นหุน หลังจากทำหนังมานับทศวรรษ พชร์รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ เขาต้องการอะไร และใครคือกลุ่มเป้าหมาย หนังของเขากลายเป็นจักรวาลพาฝันที่ความแคมป์ ความเควียร์ ความไม่มีความถูกต้องทางการเมืองมารวมกัน มันคือภาพฉาบฉวยของไดอารี่บันทึกทางสังคมของบรรดาข่าวมโนสาเร่ จากโซเฟียลา ถึงลีน่าจัง และสิตางศุ์ บัวทอง บรรดา Cameo ในหนังของพจน์เป็นคนดังที่มาแล้ววูบหายไป คาแรคเตอร์แรงๆ แบบเอาขายตลกสังขาร หากลองมองย้อนกลับไปบางคนอาจจะลืมไปแล้วว่าตัวละครเหล่านี้เคยมีบทบาทอะไรในสังคม มิตรสหายท่านหนึ่งเคยกล่าวว่าภาพยนตร์ของพชร์ อานนท์ให้ความรู้สึกเหมือนการอ่านแมกกาซีน อันที่จริงต้องเรียกว่า แมกกาซีนกอสสิป ที่จับเอาข่าวขายขำ เรื่องออนไลน์ฉาบฉวยมาพาดหัว สิ่งเหล่านี้อาจถูกมองเป็นเรื่องไร้สาระ แต่สังคมที่เป็นธุระจนเรื่องราวเหล่านี้กลายเป็น talk of the town ย่อมมีประเด็นให้ชวนค้นต่อไปว่าทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้น

แต่ก็ใช่ว่าหนังของพชร์ อานนท์จะไม่มีปัญหา การที่หนังพึ่งพาตัวละครสามเจ๊และผีแพงเค้ก อาศัยการรับส่งมุกต่อมุกแบบไม่จำเป็นต้องท่องบทให้เสียเวลาทำให้หนังของพชร์มีปัญหาเสมอเมื่อหนังต้องร่วมซีนกับตัวละครอื่นๆ ที่ไม่ได้มีทักษะทางการตลกมาก่อน โชคดีอย่างยิ่งที่ครั้งนี้แพนเค้ก เขมนิจ มาพร้อมกับพลังงานเกินร้อยแบบที่ผู้ชมเองก็ไม่เคยเห็นพลังงานระดับนี้มากอ่น (ยิ่งตอกย้ำว่าป้าแฮปปี้ฯ นั้นเป็นการใช้ประโยชน์แพนเค้กอย่างเสียของขนาดไหน) เลยทำให้แพนเค้กเป็นตัวละครหนึ่งเดียวที่สามารถฟาดฟันกับสี่ตัวละครหลักได้ ขณะที่ตัวละครรั่วมากๆ ของแนคชาลีนั้นจืดจางราวกับน้ำเปล่า

ความด้นไปเรื่อยๆ ความพลอตน้อย ไร้พลอต หรือหาความสมเหตุสมผลเชื่อมฉากซีนไม่เจอเคยทำให้ซีรีส์หอแต๋วแตกเป็นความบันเทิงที่ไม่ต้องสนใจพลอต (และภาคใดก็ตามที่พยายามจะมีพลอตระทึกขวัญมันก็จะพาลออกทะเลไปทุกที) ความสมเหตุสมผลหรือความถูกต้องทางการเมืองใดๆ อีกต่อไป นอกจากดูการแต่งแดรกควีนแบบจัดเต็ม แล้วออกมายืนด่ากันแบบจัดเต็ม แล้วเล่าอะไรก็ได้ไปเรื่อยๆ ให้มันจบไป (ลีลาของหนังจักรวาล หอแต๋วแตกชวนให้คิดถึงการพูดไปเรื่อยจนดังของ สิตางศุ์ บัวทองมากๆ) ทำให้มันเป็นหนังเฉพาะกลุ่ม โลกแฟนตาซีของชาวเควียร์ เป็นมหกรรมความ Drag ที่ไม่นำพาต่อตรรกะใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งนั่นทำให้มันพิเศษ

มันจึงน่าสนใจที่ พจมาน สว่างคาตา กลับมามีพลอตจัดเต็มยอกย้อนซ่อนเงื่อน การลดจำนวนเด็กหนุ่มวัยแรกรุ่นถอดเสื้อวิ่งไปมาในหนัง และการพยายามเล่าเรื่องทำให้หนังมีน้ำหนักมากขึ้น (ไม่ใช่ว่าพชร์ไม่เคยทำ เขาเคยทำหนังอย่าง เพื่อน กูรักมึงว่ะที่พยายามจนตลก หรือ เหยิน เป๋ เหล่ เซมากูเตะที่มีอารมณ์พิสดารพิลึกพิลั่นเรื่องหนึ่ง ปล้นนะยะก็เล่าเรื่องได้ไม่เลว ขณะที่ตอนหนึ่งของหนังอย่างตายโหง และศพเด็ก 2020 ก็พอจะเล่าได้รู้เรื่องไม่น้อย) การที่หนังเกาะเกี่ยวยั่วล้ออยู่กับบ้านทรายทองทำให้หนังยอกย้อนอย่างน่าสนใจ จนขาดอีกเพียงนิดเดียวเราอาจจะบอกว่านี่คือการตีความบ้านทรายทองที่ก้าวหน้าและบ้าบอที่สุดครั้งหนึ่ง


* จากนี้ไป เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์ *

ในการตีความพจมานใหม่นี้ นอกเสียจากการเล่นกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของตนเอง (เอาแพนแค้กมาเล่นเป็นแพนเค้กที่ปลอมเป็นพจมาน แล้วเอาโก๊ะตี๋ที่เล่นเป็นผีอีแพงเค้กมาหลายปีมาเป็นพจมาน นี่คือมุกยั่วล้อที่ดีที่สุดมุกนึงในหนังของเขา หรือการยั่วล้อความ พจ กับ ความอานนท์) พจมาน(เกือบ)กลายเป็นภาพแทนของชนชั้นล่างไปจริงๆ ชนชั้นแรงงานที่เป็นเจ้าของบ้านดอกไม้ทองตัวจริง แต่กลับเป็นฝ่ายถูกกดขี่ ถูกกระทำ ถูกบังคับอุ้มหายตายดับไป โดยฝีมือของเหล่า ‘ผู้ดี’ ชีหม่อมแม่และหญิงเล็กหญิงใหญ่ ชนชั้นนำที่หวาดกลัวการสูญเสียสถานะผู้ปกครองของตน จนต้องออกปากกดขี่ให้อีกฝั่งฝ่ายเป็นไพร่ไปตลอดเวลา (ฉากหนึ่งที่สำคัญมากๆ และมีนัยทางชนชั้นมากๆ คือการที่พจมานบอกว่า พจมานตัวจริงต้องไว้สองเปีย แล้วสาวใช้ทั้งบ้านก็ไว้สองเปีย เพราะนี่คือภาพแทนชนชั้นแรงงานเจ้าของบ้านทีแท้จริง) พจมานจึงมีอำนาจด้วยความตาย และการกลายเป็นผี เช่นเดียวกันกับนัยของผีสาวในหนังไทยหลายๆ เรื่อง (รวมถึงสะใภ้บรื๋อส์) คือต้องตายเพื่อพิสูจน์คุณงามความดีเยี่ยงสีดาลุยไฟเท่านั้นจึงจะ ‘ชอบธรรม’ พอจะมาล้างแค้น ซึ่งความชอบธรรมนี้ไม่ใช่ชอบธรรมต่อหม่อมแม่ แต่ชอบธรรมสำหรับผู้ชมที่ชีวิตไม่ได้ดีไปกว่าพจมานมากนัก มีคนชนชั้นหม่อมแม่ไว้เป็นองุ่นเปรี้ยวสำหรับโลกที่อยากจะไปแต่ไปไม่ถึง และคนอย่างแพนเค้ก (ตัวละครแพนเค้กนั้นน่าสนใจอย่างยิ่งเพราะดูเหมือนเธอจะมีทั้งคุณสมบัติของคนรุ่นใหม่ปากกล้าท้าอำนาจ ไปจนถึงคนที่ต้องปากกัดตีนถีบแบบวีรกรรมทำเพื่อแม่ จนต้องมาตกกระไดพลอยโจนกับสงครามชนชั้นครั้งนี้ โดยมีชายกลางเป็นความเหลาะแหละเหลวไหลไม่ได้เรื่องของผู้ชายชนชั้นสูง พวกผู้ดีที่มีดีแค่มรดกที่พ่อให้มาทั้งทางกายภาพและการเงิน) สก๊อยปากกล้าไว้เหยียดหยามในความดีไม่พอ ก๋ากั่น ก้าวร้าว ไม่เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ร่าน บ้าผู้ชาย เอาไว้เป็นเครื่องบำบัดความใคร่ทางศีลธรรมไม่ต่างจากที่เคยทำกับคนอย่าง เรยาในดอกส้มสีทอง อินทุอรในเมียหลวง หรือ มาหยารัศมีในดาวพระศุกร์ คนเสื้อแดงเมื่อสิบปีก่อน หรือเด็กๆ นักประท้วงหัวก้าวหน้า ศีลธรรมและความดีเป็นสิ่งเดียวที่เรายึดไว้ได้เพราะมันไม่ต้องพึ่งสายเลือดหรือเศรษฐฐานะสำหรับเรา แต่พึ่งทั้งสายเลือด มารยาท และบุญบารมีสำหรับผู้อื่น ความดีใดๆ ไม่ได้มีไว้ปฏิบัติเอง แต่มีไว้เขวี้ยงใส่คนที่เราไม่ชอบขี้หน้า

ในการตีความพจมานใหม่นี้ นอกเสียจากการเล่นกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของตนเอง … พจมาน(เกือบ)กลายเป็นภาพแทนของชนชั้นล่างไปจริงๆ ชนชั้นแรงงานที่เป็นเจ้าของบ้านดอกไม้ทองตัวจริง แต่กลับเป็นฝ่ายถูกกดขี่ ถูกกระทำ ถูกบังคับอุ้มหายตายดับไป โดยฝีมือของเหล่า ‘ผู้ดี’ ชีหม่อมแม่และหญิงเล็กหญิงใหญ่ ชนชั้นนำที่หวาดกลัวการสูญเสียสถานะผู้ปกครองของตน จนต้องออกปากกดขี่ให้อีกฝั่งฝ่ายเป็นไพร่ไปตลอดเวลา … พจมานจึงมีอำนาจด้วยความตาย และการกลายเป็นผี

แต่บัดเดี๋ยวก่อน อย่าได้คิดว่านี่คือหนังไทยที่หาญกล้าตั้งคำถามท้าทายระบบขนบเก่า เพราะนอกจากความก๋ากั่นของกระเทยไทยแล้ว ถึงที่สุดเมื่อหนังมาถึงจุดเฉลยหนังก็หันกลับไปสยบยอมในสถานะดั้งเดิมของผู้ดีที่อยู่ส่วนผู้ดี ไพร่ที่อยู่ส่วนไพร่ ตัวละครที่ต่อสู้แย่งชิงจนถึงขั้นฆ่ากันตายหรือเปล่านะตลอดเรื่องกลายเป็นเพียง ‘สงครามไพร่’ ที่ไม่ต่างอะไรกับการฆ่ากันเกือบตายในห้องใต้ดินบ้านตระกูลพัคใน Parasite พจมานตัวจริงในที่สุดได้เลื่อนสถานะสมคุณค่าความงามจากภายในของเธอกับการสมรสสมรักกับผู้ดีจริง ส่วนพวกผู้ดีปลอม (ผู้ดีแท้ย่อมไม่หลอกลวงผู้อื่น) พวกสิบแปดมงกุฏก็ต้องรับผลบาปกรรมของตน คล้ายกับเรื่องเล่าทุกเรื่องย้อนกลับไปสู้เรื่องในไบเบิ้ล เรื่องเล่าชาวตะวันออกเฉียงใต้สายพุทธทุกเรื่องก็แทบจะย้อนกลับไปสู่เรื่องของกฎแห่งกรรม อันมีหน้าที่ทั้งพาฝันและกดข่มผู้คนให้สยบสมยอมโดยไม่ตั้งคำถาม

เช่นเดียวกันกับความเป็นผู้ดี ความเป็นแม่ก็ถูกเทิดไว้ให้ลบล้างทุกความผิดพลาดราวกับว่าการสร้างครอบครัวเป็นยาครอบจักรวาลเยียวยาทุกปัญหา แฮปปี้เอนดิ้งของหนังจึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น ยอมรับได้ ยอมรับให้ได้ไม่ว่ามันจะต้องก้าวข้ามหัวของใครก็ตาม

พจมาน สว่างคาตา อาจจะไม่ใช่หนังที่จะเป็นหนังดี บางทีแม้แต่ความตลกของหนังก็ยังก้ำกึ่ง แต่ในที่สุด จักรวาลของพชร์ อานนท์ก็ยังคงสามารถมีแง่มุมมากมายให้พูดคุยคิดต่อ ไม่ว่าจะจำเป็นต้องคิดหรือตั้งใจให้คิด ถึงที่สุดนี่ก็คือหนังหัวรั้นที่อาจมีทุนเป็นธงนำ แต่มันก็ไปได้ตามทางของมันโดยไม่ต้องตีสองหน้าประนีประนอมใดๆ กับผู้ชมที่ไม่ใช่ผู้ชมของมัน และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เราสนุกกับหนังชุดนี้มาโดยตลอด

ส่วนน้อยสละเพื่อส่วนใหญ่: วาทกรรมความสุขของผู้ปกครอง ปัญญาชนผู้หวังดี ความทุกข์ของชาวอีสานและทองปานผู้หายสาบสูญ

ทศวรรษที่ 1960 สงครามเย็นแผ่ขยายเข้าปกคลุมภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทหารอเมริกันรวมถึงนักพัฒนาและนักสร้างเขื่อนจากอเมริกา หน่วยงานพัฒนาที่ดิน (BuRec) ทีมเดียวกับที่สร้างเขื่อนฮูเวอร์ การเข้ามาตั้งฐานทัพจำนวนมากในภาคอีสานพร้อมกับเขื่อนถูกสร้างเพื่อส่งกระแสไฟ อูจีน แบลค หัวหน้าทีมประสานงานให้กับสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความสำคัญกับชนชั้นนำไทยเป็นพิเศษ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ให้ความสนพระทัยเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับจอมพลสฤษฎิ์ก็ให้ความร่วมมือกับโครงการสร้างเขื่อนของสหรัฐฯ มีการก่อตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นก็เกิดขึ้นเพราะจอมพลสฤษฎิ์ดำเนินตามนโยบายสหรัฐฯ รวมไปถึง ป๋วย อึ้งภากรณ์ ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศก็สนับสนุนโครงการสร้างเขื่อน

การเข้ามาของอเมริกามีผลทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนจากรัฐนิยมซึ่งเริ่มในสมัยจอมพล ป. เป็นระบอบ “เสรีนิยม” ผ่านการผลักดันโดยธนาคารโลกให้ก่อตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้นมาในปี ค.ศ. 1959 การสร้างเขื่อนของอเมริกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่ริมขอบมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Rim) เพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของลัทธิสังคมนิยมที่นำโดยสหภาพโซเวียต การสร้างเขื่อนในอีสานส่วนหนึ่งนอกจากเพิ่มกระแสไฟฟ้าให้กับฐานทัพอเมริกันใช้ในการทำสงครามเวียดนามแล้ว ยังเพื่อเป็นการแสดงความเจริญก้าวหน้าตามแนวทางทุนนิยมเพื่อจูงใจประเทศอื่นๆ ให้มาเข้าเป็นอยู่ฝ่ายสหรัฐฯ 

ผลจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขงทำให้ชาวบ้านต้องย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ เขื่อนทำให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์กลายสภาพเป็นท้องอ่างเก็บน้ำ สภาพดินไม่เหมาะกับการเกษตร ปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านที่ย้ายถิ่นกับผู้อยู่อาศัยเดิม นี่นำไปสู่กระแสการต่อต้านจากชาวบ้านแต่ก็ไม่สามารถคัดค้านได้มากเนื่องจากเป็นยุคเผด็จการทหารที่สืบเนื่องตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษฎิ์ จนถึงถนอม-ประภาส-ณรงค์ ถ้าหากใครต่อต้านการสร้างเขื่อนก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” “ญวนอพยพ” “ไม่ใช่คนไทย” หรือ “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ” จนกระทั่งปลาย 1980 ชาวบ้านถึงเริ่มร้องเรียนได้

โครงการสร้างเขื่อมผามองนับเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุด คาดว่ามีการอพยพของชาวบ้านกว่า 500,000 คน ในปี 1973 กลุ่ม Quaker องค์กรทางศาสนาคริสต์ที่เกี่ยวข้องทางการเมือง และไม่ใช้ความรุนแรงในการประท้วง ผู้เข้าร่วมกลุ่มนี้บางส่วนได้รับยกเว้นการเกณฑ์ทหาร กลุ่ม Quaker นี่เองได้เข้ามาเคลื่อนไหวตั้งคำถามผลของการพัฒนา ร่วมกับปัญญาชนไทยได้แก่ ป๋วย อึ้งภากรณ์ เสน่ห์ จามริก และ ส. ศิวรักษ์ จัดการเสวนา “ผามอง, การตั้งรกรากใหม่และการเคลื่อนย้ายประชากรจากบริเวณเขื่อนผามอง ปัญหาทางสังคมเนื่องจากประยุกต์วิทยา” ที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 หนังสือพิมพ์ดาวสยาม เอาภาพการเสวนานี้ไปลงในปี พ.ศ. 2519 โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมร่วมกับคอมนิวนิสต์รัสเซีย ฉบับวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2519 หลังเหตุการณ์ฆาตกรรมกลางกรุง 6 ตุลาคม

หลังจากการเสวนาในครั้งนั้น ไพจง ไหลสกุล (ขณะนั้นทำงานเป็นผู้ช่วยนักข่าวที่ Far Eastern Economic Rview) กับไมเคิล มอร์โรว์หลังจากที่เขาไปทำข่าวการเสวนา ก็เกิดแนวคิดการทำสารคดีโดยมีช่างภาพคือแฟรงค์ กรีน และได้คำสิงห์ ศรีนอกและวิทยากร เชียงกูลเป็นผู้เขียนสคริป โดยให้สุรชัย จันทิมาธรเป็นผู้เชื่อมต่อสื่อสารกับชาวบ้านในพื้นที่ แต่หลังจากที่ทีมงานได้รับรู้เรื่องราวของทองปาน หนึ่งในชาวบ้านที่ถูกชักชวนให้มาเสวนา ก็ทำให้ทีมงานเปลี่ยนใจไปทำเรื่องเขาแทน

ไพจง ได้คำแนะนำจากคำสิงห์ในการหานักแสดงผู้มารับบทเป็นทองปาน คือ องอาจ มณีวรรณ์ ผู้มีภูมิลำเนาที่บ้านโนนสัง ตำบลโพนทอง จ.นครราชสีมา เขาเกิดในครอบครัวที่มีพ่อแม่และบรรพบุรุษเป็นชาวนา หลังเรียนจบระดับชั้นประถมสี่ เขาก็ออกมาช่วยครอบครัวทำนา ก่อนจะไล่ล่าตามความฝันเพื่อจะเป็นนักมวย ตอนอายุ 17 ปี จนอายุ 25 ปีก็แต่งงานและเลิกชก กลับมาเป็นชาวนา เขาเคยไปเป็นแรงงานที่ประเทศลิเบียจนพลาดโอกาสไปรับรางวัลสุพรรณหงส์จากการแสดงภาพยนตร์เรื่อง “ลูกอีสาน” 

องอาจได้รับบทแสดงเป็นทองปานผู้อพยพหนีเขื่อนมาถึงสองรอบ ไพจงเล่าว่า ทองปาน แม้จะเป็นชาวบ้านในพื้นที่ แต่ในตอนแรกเข้าไม่ได้ถูกเลือกให้เข้าเสวนาเพราะถือเป็นคนนอกของชุมชน เขาเป็นลูกจ้างของชาวนาอีกที ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ไม่มีญาติ เขารับจ้างเลี้ยงไก่ให้ชาวบ้าน ก่อนจะได้เข้ามาร่วมในงานเสวนาของปัญญาชนที่หวังจะเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้มีปากมีเสียง 

คำสิงห์ ศรีนอกเล่าให้ฟังว่า ในระหว่างงานเสวนาทองปานทำกระเป๋าเงินหายในนั้นมีเงินจำนวน 20 บาท เป็นเงินก้อนสุดท้ายของครอบครัว เขาหวังว่าจะนำเงินนั้นไปซื้อยารักษาวัณโรคให้กับภรรยา วันสุดท้ายของการเสวนาเขาขอตัวกลับก่อน เมื่อทีมงานได้ตามเขาไปที่บ้านพบทองปาน “ในอาการคนเมาอยู่ข้างๆ ขวดเหล้า ลูกเล็กๆ และศพของภรรยาของเขาที่เพิ่งเสียชีวิตก่อนหน้าที่เขาจะถึงบ้าน” หลังจากนั้นทองปานก็ย้ายถิ่นฐานอีกครั้ง ไพจงและทีมงานก็ไม่ได้พบทองปานอีกเลย

ไพจงเริ่มถ่ายภาพยนตร์เรื่องทองปานเมื่อประมาณ พ.ศ. 2519 โดยฉากงานสัมนาได้ยุทธนา มุกดาสนิทมาช่วยกำกับกล้อง ในฉากนั้นเองที่ไพจงแทบจะปล่อยให้นักแสดงด้นสดแสดงความเห็นของตนเอง จะมีก็แค่นายอำเภอที่เขียนบทให้นักแสดงพูดตาม ฉากที่เหลือถ่ายที่ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา เธอและทีมงานต้องนั่งรถสามล้อเพื่อไปยังสถานที่ถ่ายทำ ระหว่างถ่ายทำทีมงานมักมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ ไพจงเล่าว่า สุรชัยเคยเกือบถูกตำรวจยิง แม้แต่ฉากงานศพก็ยังมีตำรวจมายืนคุม 

หลังถ่ายทำเสร็จใช้เวลาประมาณเดือนกว่าๆ เธอเอาภาพยนตร์ไปตัดต่อที่ฮ่องกง และต่อมาขายภาพยนตร์ให้กับช่องโทรทัศน์ของประเทศสวีเดน และเงินที่ได้ก็เอาไปทำโพส-โพรดักชั่นจนภาพยนตร์เสร็จประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2520 กว่าจะได้กลับมาฉายที่ไทยก็ปลายปี พ.ศ. 2520 ที่เกอเธ่และสยามสมาคม เธอไม่ได้ขออนุญาตฉายในเมืองไทยในตอนนั้น เพราะคิดว่าเพลง “คนกับควาย” ที่ใช้ประกอบถูกแบน นักแสดงและผู้เกี่ยวข้องเกือบทั้งหมดหนีเข้าป่า (ในระหว่างนั้นเธออยู่สวีเดน)

ผมหอม พิลาสมบัติ ผู้แสดงเป็นภรรยาของทองปานก็ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น ผมทิพย์ เพราะสามี (ในชีวิตจริง) ของเธอซึ่งเป็นเพื่อนกับคำสิงห์ ศรีนอก เข้าร่วมกับการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และถูกกวาดล้างอย่างหนักหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ตำรวจจากนครราชสีมานำเฮลิคอปเตอร์ มาลงที่ อ.ประทาย จ.นครราชสีมา เพื่อค้นบ้านของผมหอม

ไพจงเล่าว่า “ทองปานคล้ายกับเป็นหนังชีวิต เวลาดูก็ทำให้นึกถึงชาวบ้านแบบทองปาน นักศึกษาไทยที่อเมริกาดูก็ทำให้เขาคิดว่าจะพัฒนาประเทศอย่างไรให้ชาวบ้านเหล่านี้ได้ประโยชน์” การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ในทางหนึ่ง ผู้ที่ได้ชมส่วนใหญ่ก็เป็นชนชั้นกลางปัญญาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาชนที่หวังจะไปพัฒนาสร้างความผาสุกให้กับชาวบ้าน

ตัวภาพยนตร์เองกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชนชั้นกลางอยากจะสร้างความสุขให้เกิดกับชนชั้นล่างผ่านภาพจำที่มีต่อคนจนคนอีสาน ทำให้นึกถึงคำพูดของนายอำเภอที่แม้ไพจงจะเป็นคนเขียนบทให้แต่ก็ทำให้เห็นภาพของความต้องการบริหารความสุขเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนคนไทย ดังที่ว่า “ปัญหาของการพัฒนา คือ ทำอย่างไรให้พอใจแก่คนหมู่มากและยาวนานที่สุด”

ตัวภาพยนตร์เองกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชนชั้นกลางอยากจะสร้างความสุขให้เกิดกับชนชั้นล่างผ่านภาพจำที่มีต่อคนจนคนอีสาน ทำให้นึกถึงคำพูดของนายอำเภอที่แม้ไพจงจะเป็นคนเขียนบทให้แต่ก็ทำให้เห็นภาพของความต้องการบริหารความสุขเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนคนไทย ดังที่ว่า “ปัญหาของการพัฒนา คือ ทำอย่างไรให้พอใจแก่คนหมู่มากและยาวนานที่สุด”

คำพูดของนายอำเภอมีส่วนที่น่าสนใจพอๆ กับการวิพากย์ตนเองของปัญญาชนในฉากเสวนา “การพัฒนามีทั้งผลดีและผลเสีย ให้ได้ร้อยเปอเซนต์คงไม่มี แต่คำนวณดูแล้วได้รับผลดีมากกว่าเสีย ก็ควรพิจารณากันให้ดี” “เพราะประชาชนไขว้เขว้และมีความไม่เข้าใจ ประชาชนส่วนน้อยควรต้องเสียสละให้คนส่วนใหญ่บ้าง” แนวความคิดเรื่องการจัดการความสุขดังที่นายอำเภอและชนชั้นนำมักยึดถือเอาไว้ใช้ในการปกครองผ่านแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ดังที่ Jeremy Bentham ผู้เผยแพร่แนวคิดนี้ในปลายศตวรรษที่ 18 เน้นในเรื่องของผลลัพธ์ของการกระทำ (consequentialist) โดยยึดหลักว่า “ความสุขสูงสุดแก่คนจำนวนมากที่สุด” (The greatest happiness of the greatest number) ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก David Hume และ John Priestly

ถ้าบุคคลสามารถสร้างความสุข (happiness) หรือเพิ่มอรรถประโยชน์ (utility) ให้มากขึ้นได้ บุคคลนั้นจะถือว่าได้กระทำในสิ่งที่ดี นี่นำไปสู่การคำนวนอรรถประโยชน์ทางจริยธรรม Bentham เสนอว่าบุคคลที่มีการศึกษาเท่านั้นถึงจะรู้แจ้งถึงการแสวงหาความสุข แนวคิดของ Bentham เป็นผลสำคัญของการก้าวเข้าสู่ยุคสมัยของทุนนิยม อุดมการณ์ทางการเมืองแบบ “เสรีนิยม” และปัจเจคบุคคล แทนที่ศาสนจักรและสมบูรณาญาสิทธิราชย์ Bentham เสนอว่า “นายเหนือหัวของเราคือความสุขกับความทุกข์”

นอกจากนี้ Bentham ผู้เป็นแนวหน้าในการสร้างรัฐโลกวิสัย (secular state) อิสรภาพของการแสดงความคิดเห็น และสิทธิส่วนบุคคล เขายังเป็นผู้ออกแบบคุกสรรพทัศน์ (panopticon) ที่ใช้สอดส่องพฤติกรรมนักโทษแม้จะมีหรือไม่ผู้คุมบนหอคอยนั้นก็ตาม ซึ่งแนวคิดนี้ มิเชล ฟูโกต ก็ได้นำไปพัฒนาต่อว่าเป็นต้นแบบของการควบคุมเรือนร่างของพลเมืองผ่านอำนาจทางวินัย (disciplinary power) ที่ร่างกายตกอยู่ใต้บงการ ทำให้พลเมืองจะเฝ้าระวังพฤติกรรมของตนเองไม่ให้ผิดปกติ

John Stuart Mill ผู้เป็นบุตรของลูกศิษย์ Jeremy Bentham ได้นำแนวคิดของ Bentham มาวิพากย์ใหม่โดยเขาเน้นความสุขในเชิงปัญญา (Aesthetic Pleasure) เช่น ศีลธรรมหรืองานศิลปะ มากกว่าความสุขจากโลกีย์ รวมถึงเน้นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว (altruism) Mill เป็นผู้ที่เน้นความสำคัญของเสรีภาพซึ่งนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 

แต่แนวคิดที่เน้นยึดเอาอรรถประโยชน์เป็นหลักนี้ก็ได้สร้างข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง เนื่องจากการเน้นแต่เรื่องผลลัพธ์ของการกระทำ การเน้นที่ความสุขเป็นสำคัญของคนส่วนใหญ่ได้ละเลยความแตกต่างหลากหลายของบุคคล ความปรารถนาของมนุษย์มีความแตกต่างกัน ความสุขของคนส่วนใหญ่ก็อาจแลกมาด้วยความทุกข์ของคนจำนวนไม่น้อย หรือแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมยอมให้มีการจำกัดเสรีภาพของคนส่วนน้อยเพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ แต่นักอรรถประโยชน์นิยมก็อ้างว่าการ (คืน) สร้างความสุขให้กับประชาชาชนส่วนใหญ่สุดท้าย ความสุขนั้นก็จะค่อยๆ ตกไปถึงคนจนอยู่ดี ถ้ามัวแต่เน้นเรื่องความเป็นธรรมก็จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวม (totality)

ความสุขได้กลายเป้นเป้าหมายทางการเมือง เป็นเป้าหมายของชนชั้นปกครองที่เอาไว้อ้างในการปกครองคนจำนวนมาก (mass) ในสภาวะสมัยใหม่ แนวคิดเสรีประชาธิปไตยไปได้ด้วยดีกับแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมที่เน้นสร้างความสุขให้กับคนจำนวนมากที่ไม่ได้แบ่งเชื้อชาติ ชนชั้น หรือเพศสภาะวะแบบใด แต่การปฏิบัติการของรัฐที่ต้องสร้างความสุขสร้างรายได้ให้คนจำนวนมากๆ ก็หลีกหนีไม่พ้นการประเมินเชิงปริมาณ เช่น การแข่งกันสร้างความสุขมวลรวมของชาติ (GNH) ซึ่งตามมาด้วยการละเลยมิติเชิงอัติวิสัย (subjective) การสร้างความสุขยังเป็นการสร้างขั้วตรงข้ามนั่นคือความทุกข์ การกระทำใดที่ไม่เป็นประโยชน์หรือสร้างความทุกข์ก็เป็นสิ่งต้องห้ามไม่ดีงาม นั่นทำให้ความสุขกับจริยธรรมเป็นสิ่งแยกออกจากกันไม่ได้ แม้ Bentham จะพยายามแยกศาสนาออกจากการเมืองแล้วก็ตาม

สิ่งที่เรานิยามชะตากรรมของตัวละครผ่านการชมภาพยนตร์ “ทองปาน” ว่านี่คือความทุกข์ การที่เขาและครอบครัวต้องดิ้นรนขัดสน นี่อาจบอกได้หรือไม่ว่าเป็นผลจากโครงการสร้างความสุขของรัฐและชนชั้นปกครองผู้รู้ดี ดังที่ ธเนศ วงยานนาวากล่าวไว้ว่า หลักการความสุขของคนจำนวนหนึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นคนจำนวนมาก ก็พร้อมจะเป็นความทุกข์ หรือพร้อมจะกลับมาทำลายความสุขของคนอีกจำนวนหนึ่ง ความสุขจึงเป็นเป็นความสุขของคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น


อ้างอิง :

– ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ. “30 ปี ผามองและทองปาน: การเมืองของการพัฒนาลุ่มน้ำโขงยุคสงครามเย็น. 2549

– ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. จาก 14 ถึง 6 ตุลา และทองปาน. 2549

– พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู. ชีวิตหลังภาพยนตร์ของนักแสดงสามัญชนใน ทองปาน. 2563

– STILLWATER. ทองปาน 2549. 2007

– ประโยชน์ ส่งกลิ่น. แนวคิดเชิงจริยธรรมในการบริหารรัฐกิจ: การเปลี่ยนแปลงของแนวคิดเชิงจริยธรรมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน. 2018

– ภูวิน บุณยะเวชชีวิน. จากคอมมิวนิสต์สู่คอมพิวติสต์: การเมืองเรื่องอินเทอร์เน็ต. 2009

– จารุณี วงศ์ละคร. อำนาจชีวะในทัศนะของ มิเชล ฟูโกต์. 2018

– Thomas McMullan. What does the panopticon mean in the age of digital surveillance?. 2015

– ศักดิ์สิทธิ์ ฆารเลิศ. ความสัมพันธ์ระหว่างหลักแห่งอรรถประโยชน์ของจอห์น สจ๊วต มิลล์กับประชาธิปไตย. 2562

– ธเนศ วงศ์ยานนาวา. On Happiness ว่าด้วยความสุข. 2017


ชม “ทองปาน” ได้ที่ Youtube

คานส์ประกาศไลน์อัพหนังในเทศกาลปีล่าสุดที่ไม่ได้จัด

ปีนี้จะเป็นปีที่ 73 ในการจัดเทศกาลหนังเมืองคานส์ ถ้าเทศกาลไม่ถูกงดไปเสียก่อน และเราคงจะได้รู้ผลว่าหนังเรื่องอะไรที่จะได้รับรางวัลสูงสุดจากเวทีนี้ตาม Parasite ไปตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม แต่อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ประธานของเทศกาล Pierre Lescure และผู้แทนเทศกาล Thierry Frémaux ออกมาประกาศรายชื่อหนังทั้งหมด 56 เรื่องที่ทางเทศกาลได้คัดเลือกให้ฉายหากงานได้จัดขึ้นโดยรวมทุกสายประกวดเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งหนังทั้งหมดจะมีสิทธิ์ที่แปะโลโก้คานส์อย่างเป็นทางการ

ในปีนี้คานส์มีหนังที่ผ่านการพิจารณาถึง 2,067 เรื่องมากกว่าปีที่แล้วที่มีอยู่ 1,845 เรื่อง 15 ในจำนวน 56 เรื่องเป็นหนังเรื่องเปิดตัวของผู้กำกับ ในขณะที่อีก 16 เรื่องเป็นหนังที่กำกับโดยผู้หญิง แต่ถึงอย่างไรก็ตามปีนี้มีหนังฝรั่งเศสที่ถูกเลือกถึง 21 เรื่อง ซึ่งมากกว่าปีก่อนๆ ที่ผ่านมา

ในส่วนของฝั่งสายคานส์คลาสสิคที่ปีนี้จะมี In the Mood for Love ของหว่องกาไว และจะถูกประกาศเร็วนี้ๆ ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง และสำหรับ In the Mood for Love ก็มีแผนที่จะฉายทั่วฝรั่งเศสในเดือนธันวาคม

สุดท้ายก่อนที่เราจะไปดูว่ามีอะไรที่น่าสนใจในไลน์อัพบ้าง หนังทั้งหมดจะถูกฉายในเทศกาลต่างๆ ทั่วโลกหลังจากนี้ ซึ่งการจัดการจะเป็นอย่างไรก็จะถูกประกาศต่อไป แต่ท่านประธานได้บอกไว้ว่า คานส์จะคอย “สนับสนุน” เทศกาลต่างๆ ที่นำหนังเหล่านี้ไปฉาย เราคงต้องมารอดูต่อไปว่า หนังเหล่านี้จะได้เปิดตัวในเทศกาลใดในเวลาไหนกันบ้าง

ในบรรดาหนังทั้งหมด 56 เรื่อง เราคงไม่พูดถึงหนังรวมดาวเรื่องล่าสุดของผู้กำกับ Wes Anderson ไม่ได้ The French Dispatch ปล่อยตัวอย่างมาเรียกเสียงฮือฮาให้ชมกันตั้งแต่ช่วงต้นปี หนังบอกเล่าชีวิตของนักข่าวชาวอเมริกันผู้ทำงานในฝรั่งเศส หนังถูกบรรยายว่ามันเป็น “จดหมายรัก” ถึงนักข่าว ร่วมด้วยดาราเกือบยี่สิบชีวิตที่ถ้าหนังได้ฉายในเทศกาลปีนี้เราคงเห็นภาพพรมแดงล้นทะลัก The French Dispatch มีกำหนดฉายในเดือนตุลาคมจากกำหนดการเดิมในเดือนมิถุนายน

Lover’s Rock (BBC)

Steve McQueen จาก 12 Years a Slave และ Shame มีหนังอยู่ในรายชื่อถึงสองเรื่อง (Lover’s Rock, Mangrove) เขาออกมาประกาศว่าหนังทั้งสองเรื่องเกี่ยวกับการเหยียดผิวในประเทศอังกฤษ และเขาขออุทิศหนังเรื่องนี้แด่ George Floyd และเหล่าผู้คนผิวสีทั่วโลก ทั้ง Lover’s Rock และ Mangrove เป็นส่วนหนึ่งของทีวีซีรีส์จากอังกฤษที่เขาทำมีชื่อว่า “Small Axe” มีที่มาจากสำนวนแอฟริกันที่พูดว่า “ถ้าคุณเป็นต้นไม้ใหญ่ ฉันก็เป็นขวานอันเล็กๆ” McQueen เป็นหนึ่งในสองผู้กำกับผิวสีที่อยู่ในไลน์อัพปีนี้

เกาหลีเจ้าของปาล์มทองและออสการ์ปีล่าสุดกลับมาพร้อมกับหนังสองเรื่อง Heaven: To the Land of Happiness โดย Im Sang Soo ซึ่งถือเป็นการกลับมาครั้งที่สี่ในเวทีนี้หลังจาก The President’s Last Bang, The Housemaid และ The Taste of Money นำแสดงโดย Choi Min Sik ที่ทุกคนจะจำเขาได้ใน Old Boy เรื่องราวของชายสองคนที่พบกันโดยบังเอิญและมุ่งหน้าออกเดินทางไปสู่ความสุขสุดท้ายในชีวิต ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ Peninsula โดย Yeon Sang-Ho ภาคต่อของ Train to Busan เรื่องราวสี่ปีหลังจากภาคแรก ผู้กำกับให้สัมภาษณ์ว่า หนังจะอยู่ในจักรวาลเดียวกัน แต่เรื่องและตัวละครจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน รวมถึงสเกลหนังที่จะใหญ่ขึ้น โดย “Peninsula จะทำให้ Train to Busan ดูเป็นหนังอินดี้ไปเลยล่ะครับ” ผู้กำกับ Yeon กล่าว หนังเกาหลีทั้งสองเรื่องนี้มีกำหนดฉายในครึ่งหลังปีนี้

Summer 85

ในปีนี้ François Ozon (Swimming Pool, 5×2) กลับมาในหนังชื่อ Summer 85 บอกเล่าเรื่องราวเด็กหนุ่มอายุ 16 ที่เฝ้าฝันถึงความตาย ผู้กำกับเลือกฉากหลังเป็นรีสอร์ตชายฝั่งนอร์มังดีในช่วงยุค 80 นี่เป็นครั้งที่ห้าที่ Ozon กลับมาในเทศกาลคานส์ โดยที่เขายังไม่เคยชนะรางวัลอะไรจากเวทีเลย ผู้กำกับอีกคนที่มีชื่ออยู่ในเทศกาลมาหลายต่อครั้งแต่ยังไม่เคยชนะรางวัลใหญ่สุดไป คือ Naomi Kawase เธอกลับมาในหนังชื่อ True Mothers เรื่องของสองสามีภรรยาที่ตัดสินใจรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมและพบว่าถูกขู่เอาเงินจากผู้หญิงลึกลับผู้หนึ่งที่อ้างตนว่าเธอคือ แม่ที่แท้จริงของเด็ก

The Real Thing

นอกจาก Kawase แล้ว ยังมีผู้กำกับญี่ปุ่นอีกสองคนที่ได้รับเลือกในปีนี้ เรื่องแรกคือ Aya and the Witch โดย Goro Miyasaki ลูกชาย Hayao Miyasaki นี่เป็นแอนิเมชั่นเรื่องแรกจากสตูดิโอจิบลิที่จะใช้เทคนิคตอมพิวเตอร์กราฟฟิค ตัวเรื่องดัดแปลงจากนิยายของ Diana Jones ที่ Hayao เคยดัดแปลงมาแล้วครั้งหนึ่งใน Howl’s Moving Castle ส่วน Aya and the Witch มีกำหนดฉายในช่อง NHK ช่วงฤดูหนาว แต่ยังไม่มีวันเวลาที่ชัดเจน เรื่องที่สองเป็นผลงานจาก Kôji Fukada ที่เราคงคุ้นเคยจาก Harmonium ในชื่อ The Real Thing เรื่องราวของชายหนุ่มแสนดีผู้กำลังตกหลุมรักหญิงสาวผู้หนึ่งที่กำลังจะพาเขาเข้าไปสู่ด้านมืด ตัวหนังเดิมเป็นซีรีส์ยาว 10 ตอน ความยาวรวม 5 ชั่วโมง ส่วนฉบับที่เดิมวางแผนไว้ว่าจะเปิดตัวที่เทศกาลน่าจะเป็นเวอร์ชั่นที่ตัดตอนมาจากซีรีส์ในความยาว 3 ชั่วโมง 48 นาที ถือเป็นหนังที่มีความยาวที่สุดในเทศกาลปีนี้

อีกหนึ่งแอนิเมชั่นในจำนวนสี่เรื่องในปีนี้คือ Soul ของสตูดิโอพิกซาร์ โดย Pete Docter จาก Up และ Inside Out ทางพิกซาร์ได้ออกมาบอกว่า Soul เปรียบเสมือนกับ Inside Out ในรูปแบบที่เป็นผู้ใหญ่มากกว่า ตัวเรื่องเล่าเรื่องราวของ ชายหนุ่มผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักดนตรีแจ๊ซ และกำลังจะได้ขึ้นแสดง แต่โชคร้ายที่เขาเกิดอุบัติเหตุทำให้วิญญาณหลุดออกไปจากร่างและเขาต้องร่วมมือกับจิตวิญญาณเพื่อหาทางกลับมายังร่างกายของเขา ตัวหนังมีกำหนดฉายในเดือนพฤศจิกายนในปีนี้

Ammonite

หนึ่งในผู้กำกับที่ได้รับเลือกครั้งแรกที่น่าสนใจคือ Francis Lee (God’s Own Country) ในผลงาน Ammonite นำแสดงโดย Kate Winslet และ Saoirse Ronan เรื่องราวของ Mary Anning นักขุดฟอสซิลหญิงผู้โด่งดังและความสัมพันธ์ของเธอกับหญิงสาวผู้หนึ่ง ตัวหนังอื้อฉาวตั้งแต่ยังไม่ถ่ายทำ เมื่อลูกหลายของ Anning ออกมาบอกว่า หนังสร้างเรื่องที่เธอเป็นเลสเบี้ยนขึ้นมาเอง ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีการยืนยันว่าเธอเป็นจริงๆ ไหม ในขณะที่ Lee เองก็โต้ตอบใน Twitter ของเขาอย่างยาวเหยียดเช่นเดียวกัน ส่วนตัวหนัง Ammonite ยังไม่มีกำหนดฉายที่ชัดเจนในตอนนี้

Septet: The Story Of Hong Kong จากฮ่องกง เป็นหนึ่งในหนังที่น่าตื่นเต้นมากๆ ในปีนี้ โดยหนังรวมผู้กำกับชาวฮ่องกง 7 คนมาทำหนังสั้นเกี่ยวกับฮ่องกงในมุมมองของตน ประกอบไปด้วย Johhny To (ตู้ ฉีฟง), Hark Tsui (ฉีเคอะ), Ann Hui, Ringo Lam, Patrick Tam, Sammo Hung (หง จินเป่า) และ Yuen Wo Ping ตัวหนังรอได้รับการฉายมาหลายปีและจะได้เปิดตัวในปีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เทศกาลถูกยกเลิกและตอนนี้ยังไม่มีข่าวออกมาว่าหนังจะฉายเมื่อไหร่

Enfant Terrible

หนังเรื่องสุดท้ายที่เราจะพูดถึงคือ Enfant Terrible โดย Oskar Roehler จากเยอรมนี เรื่องราวชีวประวัติของ Rainer Werner Fassbinder ผู้กำกับชาวเยอรมันผู้ลือลั่นในช่วงยุค 70 เขาสร้างหนังกว่า 40 เรื่องในระยะเวลา 10 กว่าปี ก่อนที่จะเสียชีวิตในวัย 37 ด้วยการเสพยาเกินขนาด ตัวหนังปล่อยตัวอย่างออกมาแล้ว และกำลังรอการจัดจำหน่ายในลำดับต่อไป


รายชื่อหนังทั้งหมด 56 เรื่อง

THE FAITHFUL

(เคยถูกเลือกอย่างน้อยหนึ่งครั้ง)

The French Dispatch

THE FRENCH DISPATCH, Wes Anderson (USA)

SUMMER 85, François Ozon (France)

ASA GA KURU (True Mothers), Naomi Kawase (Japan)

LOVERS ROCK, Steve McQueen (England)

MANGROVE, Steve McQueen (England)

DRUK (Another Round), Thomas Vinterberg (Denmark)

DNA, Maïwenn (Algeria / France)

LAST WORDS, Jonathan Nossiter (USA)

HEAVEN: TO THE LAND OF HAPPINESS, IM Sang-Soo (Korea)

EL OLVIDO QUE SEREMOS (Forgotten we’ll be), Fernando Trueba (Spain)

PENINSULA, YEON Sang-Ho (Korea)

IN THE DUSK (At dusk), Sharunas BARTAS (Lithuania)

DES HOMMES (Home Front), Lucas BELVAUX (Belgium)

THE REAL THING, Kôji Fukada (Japan)


THE NEW COMERS

(ถูกเลือกครั้งแรก)

Souad

PASSION SIMPLE, Danielle Arbid (Lebanon)

A GOOD MAN, Marie Castille Mention-Schaar (France)

THE THINGS YOU SAY, THE THINGS YOU DO, Emmanuel Mouret (France)

SOUAD, Ayten Amin (Egypt)

LIMBO, Ben Sharrock (England)

ROUGE (Red Soil), Farid Bentoumi (France)

SWEAT, Magnus Von Horn (Sweden)

TEDDY, Ludovic and Zoran Boukherma (France)

FEBRUARY, Kamen Kalev (Bulgaria)

AMMONITE, Francis Lee (England)

A NIGHT DOCTOR, Elie Wajeman (France)

ENFANT TERRIBLE, Oskar Roehler (Germany)

NADIA, BUTTERFLY, Pascal Plante (Canada)

HERE WE ARE, Nir Bergman (Israel)


AN OMNIBUS FILM

SEPTET: THE STORY OF HONG KONG, Ann Hui, Johnnie TO, Tsui Hark, Sammo Hung, Yuen Woo-Ping and Patrick Tam (Hong Kong)


THE FIRST FEATURES

(หนังเรื่องแรกของผู้กำกับ)

Falling

FALLING, Viggo Mortensen (USA)

PLEASURE, Ninja Thyberg (Sweden)

SLALOM, Charlène Favier (France)

CASA DE ANTIGUIDADES (Memory House), Joao Paulo Miranda Maria (Brazil)

BROKEN KEYS (False note), Jimmy Keyrouz (Lebanon)

IBRAHIM, Samir Guesmi (France)

BEGINNING (In the beginning), Déa Kulumbegashvili (Georgia)

GAGARINE, Fanny Liatard and Jérémy Trouilh (France)

16 SPRING, Suzanne Lindon (France)

VAURIEN, Peter Dourountzis (France)

GARÇON CHIFFON, Nicolas Maury (France)

SI LE VENT TOMBE (Should the Wind Fall), Nora Martirosyan (Armenia)

JOHN AND THE HOLE, Pascual Sisto (USA)

INTO THE WIND (Running with the Wind), Shujun WEI (China)

THE DEATH OF CINEMA AND MY FATHER TOO (The film Death and my father too), Dani Rosenberg (Israel)


3 DOCUMENTARIES

(หนังสารคดี)

The Truffle Hunters

ON THE ROUTE FOR THE BILLION (The Billion Road), Dieudo Hamadi (Democratic Republic of the Congo)

THE TRUFFLE HUNTERS, Michael Dweck and Gregory Kershaw (USA)

9 DAYS AT RAQQA, Xavier de Lauzanne (France)


5 COMEDIES

หนังตลก

Antoinette in the Cévennes

ANTOINETTE IN THE CÉVÈNNES, Caroline Vignal (France)

LES DEUX ALFRED, Bruno Podalydès (France)

UN TRIOMPHE (The Big Hit), Emmanuel Courcol (France)

THE ORIGIN OF THE WORLD, Laurent Lafitte (France)

THE SPEECH, Laurent Tirard (France)


4 ANIMATED MOVIES

หนังแอนิเมชัน

Josep

AYA TO MAJO (Aya and the Witch), Gorô Miyazaki (Japan)

FLEE, Jonas Poher Rasmussen (Denmark)

JOSEP, Aurel (France)

SOUL, Pete Docter (USA)

Box Office Report : รายได้เปิดตัว ‘พจมาน สว่างคาตา’ 1.12 ล้านบาท

‘พจมาน สว่างคาตา’ ของ พชร์ อานนท์ เป็นหนังเรื่องแรกที่เปิดตัวหลังวิกฤตโควิด 19 และเป็นหนังใหม่เรื่องเดียวที่เปิดตัวสัปดาห์นี้ด้วย โดยหนังทำเงินเป็นอันดับ 1 อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งทำเงินไปที่ 1.12 ล้านบาท ทั้งนี้หนังมีข้อจำกัดการเข้าชมมากมายจากมาตรการ Social Distancing

ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดจำนวนที่นั่งให้เหลืออยู่ที่ประมาณ 25% มีรอบฉายต่อวันน้อยเนื่องจากต้องให้เวลากับการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ โรงส่วนใหญ่ยังเปิดไม่ครบทุกจอ และที่สำคัญคือต้องฉายให้จบก่อนเคอร์ฟิวตอน 23.00 น.ด้วย อย่างไรก็ดีรายได้ที่หนังทำในวันเปิดตัวซึ่งตรงกับวันหยุดราชการด้วยนั้น ถือว่าไม่มากไม่น้อยจนเกินไป

สรุปรายได้หนังประจำวันที่ 3 มิถุนายน 2563

1. พจมาน สว่างคาตา – 1.12 ล้านบาท
2. Bloodshot – 0.18 (12.96) ล้านบาท
3. Low Season สุขสันต์วันโสด – 0.17 (40.15) ล้านบาท
4. Bhrams: The Boy II – 0.09 (3.26) ล้านบาท
5. The Invisible Man – 0.09 (10.06) ล้านบาท
6. พี่นาค 2 – 0.04 (35.76) ล้านบาท
7. Last Letter – 0.03 (0.32) ล้านบาท
8. 1917 – 0.02 (31.70) ล้านบาท
9. My Spy – 0.02 (0.96) ล้านบาท
10. Sonic: The Hedgehog – 0.02 (12.09) ล้านบาท

วอร์เนอร์ ปล่อย Just Mercy ให้เช่าฟรีตลอดเดือนมิถุนายน

สตูดิโอ วอร์เนอร์ ประกาศให้ชาวอเมริกันเช่าชม Just Mercy ฟรี ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ในอเมริกาที่กำลังร้อนแรงอยู่ขณะนี้

Just Mercy เป็นงานกำกับของ เดสติน แดเนียล เคร็ตตัน ผู้กำกับ Short Term 12 และ The Glass Castle โดยสร้างมาจากเรื่องจริงของ ไบรอัน สตีเวนสัน ทนายสิทธิมนุษยชนไฟแรง ที่มาทำคดี วอลเตอร์ แม็กมิลเลียน ชายผิวดำที่ถูกจับกุมข้อหาฆาตกรรม รอนดา มอร์ริสัน หญิงผิวขาวในปี 1986 นั่นเป็นครั้งแรกที่เขาได้เห็นความผิดวิสัยในคดีและทำให้เขาได้เห็นว่าคนดำเป็นเหยื่อได้ง่ายดายในกระบวนการยุติธรรม

วอร์เนอร์ออกแถลงการณ์ว่า “เราเชื่อในพลังของเรื่องเล่า หนัง Just Mercy สร้างจากเรื่องของทนายนักสิทธิมนุษยชน ไบรอัน สตีเวนสัน เป็นแหล่งข้อมูลที่ดีมากหากใครอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเหยียดชาติพันธุ์อันยาวนาน

“เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมที่น่าสิ้นหวังนี้ เราขอเชิญชวนให้คุณได้ร่วมศึกษาประวัติศาสตร์และความไม่เป็นธรรมที่นำพาเรามาสู่วันนี้ ขอขอบคุณศิลปิน นักเล่าเรื่อง และทุกภาคส่วนที่ทำให้หนังเรื่องนี้เกิดขึ้น”

Just Mercy เปิดตัวในอเมริกาเมื่อช่วงคริสต์มาสปลายปี 2019 และส่งให้ เจมี่ ฟ็อกซ์ เข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม บนเวที SAG Awards จากบทแม็กมิลเลี่ยน นอกจากนี้ยังมี ไมเคิล บี จอร์แดน ในบทสตีเวนสัน และ ทิม เบลก เนลสัน กับ บรี ลาร์สัน ร่วมแสดงด้วย

MIDNIGHT CINEMA 01 : CASTLE ROCK SS01 VS GHOST TOWN ANTHOLOGY ชุมชนขนหัวลุก

0

เช้าวันหนี่ง พัศดีเรือนจำชอว์แชงค์แต่งตัวไปทำงานตามปกติ แต่เขาไม่ได้ไปเรือนจำ เขาไปฆ่าตัวตาย ด้วยการคล้องเชือกเข้าที่คอ มัดติตด้นไม้ แล้วขับรถพุ่งลงหน้าผา หัวที่หายยังหาไม่พบ

หลังความตายพัศดีหญิงคนใหม่มารีบหน้าที่ เรือนจำนี้เป็นเรือนจำเอกชน เมือง Castle Rock อยู่ได้จากการที่คนครึ่งเมืองเป็นแรงงานในเรือนจำนี้ แต่ลึกลงไปใต้เรือนจำ ระหว่างผู้คุมสองคนเดินสำรวจพวกเขาเจอเข้ากับกรง กรงที่ไม่ใช่คุก แต่เป็นกรงขังเหมือนขังสัตว์ ในนั้นพวกเขาพบชายหนุ่มคนหนึ่ง

ทันทีที่พาตัวชายหนุ่มออกมาเขาเอ่ยเพียงชื่อเดียว เฮนรี่ ดีเวอร์ ชื่อที่ผู้คนยังจดจำได้แม้เจ้าตัวจะไม่อยู่แล้ว ในฐานะของเรื่องลึกลับของ เฮนรี่ ดีเวอร์

เฮนรี่เป็นเด็กผิวสีที่บาทหลวงประจำเมืองกับภรรยารับมาเลี้ยง คืนหนึ่งพ่อบุญธรรมของเขาพาเขาเข้าไปในป่าแล้วหายตัวไป ไม่มีใครรู้ว่าท่านบาทหลวงมีความเชื่อประหลาดๆ ว่าเฮนรี่ได้ยินเสียงของพระเจ้าในป่า คนพ่อถูกพบตกหน้าผา แล้วมาตายที่บ้าน คนลูกหายตัวไปสิบเอ็ดวัน กระทั่งนายอำเภอมาพบตัวกลางอากาศหนาว ชุมชนร่ำลือกันว่าเฮนรี่ฆ่าพ่อตัวเอง แล้วซ่อนตัวไว้ แม้ไม่มีใครพิสูจน์อะไรได้แต่นั่นก็ทำลายชีวิตของเขาลง มีแต่มอลลี่เด็กสาวข้างบ้านที่มีสัมผัสพิเศษเท่านั้นที่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เธอได้ยินเสียงความคิดคนอื่น ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากเพราะไม่มีใครเชื่อ เธอต้องคอยหลบซ่อนจากผู้คน ลักลอบซื้อยากล่อมประสาทมากินเพื่อระงับอาการ เธอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่เพราะเธอแค่ได้ยิน แต่เพราะเธอผูกจิตกับ เฮนรี่ เธอเข้าถึงเขาเหมือนเปิดดูทีวี เธอรู้ว่าใครฆ่าบาทหลวง

พัศดีคนใหม่ไม่อยากให้มีเรื่อง แต่ผู้คุมที่เป็นคนพบเด็กหนุ่มค่อยๆ ประสาทเสียกับงานในคุกที่กัดกินเขา ตัดสินใจโทรหาเฮนรี่ ดีเวอร์ที่ตอนนี้เป็นทนายให้กับคดีประหารชีวิตต่างๆ เฮนรี่เดินทางกลับมายังเมืองที่เขาเกลียด เพื่อจะพบว่าหลุมศพพ่อหายไปแล้ว แม่คบหากับนายอำเภอคนที่เคยช่วยเขาตอนเด็ก อาจจะคบหากันตั้งแต่พ่อยังอยู่ ตอนนี้แม่เริ่มป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ โดยมีนายอำเภอคอยดูแลอยู่ไม่ห่าง แม่เริ่มลืมสิ่งต่างๆ อดีตและปัจจุบันเลือนเข้าหากันต่อหน้าแม่ เขาลองพยายามเข้าพบลูกความปลอมๆ ของตน แต่ถูกปฏิเสธ เมืองเริ่มเกิดเรื่องเลวร้ายขึ้น มีการจราจลในเรือนจำ มีการฆ่ากันตาย มีครอบครัวโรคจิตย้ายมาอยู่ในเมือง ทั้งเมืองเริ่มร่วงหล่นลงในหล่มความชั่วร้าย อาจเพราะเฮนรี่ปีศาจกลับเข้ามาในเมือง หรือไม่ก็เพราะคนหนุ่มลึกลับในกรงที่ออกมาเดินตามถนน คนหนุ่มที่ไม่แก่ลงเลยนับจากวันแรกที่โดนจับขังเมื่อราวยี่สิบปีที่แล้ว

ไกลออกไปในอีกเมืองหนึ่ง ในชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งใน Quebec ชุมชนที่ทุกคนรู้จักกัน มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นอยู่มาวันหนึ่ง เจ้าหนุ่มไซมอน ขับรถไปบนถนนที่คลุมด้วยน้ำแข็ง ไถลออกนอกทางและเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต

ชุมชนสั่นสะเทือน เพราะไม่มีการตายมานานแล้ว แม่ไม่สามารถรับได้เรื่องนี้จนแทบจะป่วยไข้ซึมเศร้า ขณะที่พ่อถึงขนาดขับรถออกไปจากเมืองแล้วหายไปเลย พี่ชายกับเพื่อนสนิทพยายามจะใช้ชีวิตเหมือนเดิมแต่ก็ไม่มีอะไรเหมือนเดิม ความเจ็บปวดจากการสูญเสียคนอันเป็นที่รัก ส่วนหนึ่งของชุมชน

นั่นจนกระทั่ง จู่ๆ มีคนมายืนกลางถนน พี่ชายเห็นน้องชายตัวเองยืนอยู่ไกลๆ แต่ไม่ใช่แค่น้องชาย ยังมีคนอื่นๆ อีกมากมายกลับมาจากความตาย แต่พวกเขาไม่รู้จักคนพวกนี้ หากคือคนที่ตายในเมืองนี้ คนในชุมชนที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุนอีกต่อไปแล้ว ที่ของคนตายไม่ใช่ของคนตายแล้ว คนตายเองก็ไม่ได้ต้องการอะไรนอกจากยืนนิ่งบนถนน ในป่า แค่ยืนนิ่งอยู่ในหางตาของผู้คน รัฐส่งนักจิตวิทยามา เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นแค่เมืองเดียว มันเกิดขึ้นในหลายๆ เมือง นักจิตวิทยาเป็นสาวมุสลิมสวมฮิญาบ เธออาจจะเป็นคนเป็น แต่เธอแปลกแยกกับชาวเมืองมากเสียกว่าคนตาย

ในขณะเดียวกัน เด็กสี่คนที่สวมหน้ากากผี เร่ไปตามถนน บางคนเห็นบางคนก็ไม่เห็น เด็กๆ สี่คนนั้นเห็นวันที่ไซม่อนตาย และเด็กๆ สี่คนนั้นอาจจะเป็นภูติผีจากบ้านร้างนอกเมือง ที่ที่เจ้าของรายก่อนฆ่าลูกๆ สี่คนตายในบ้าน และกลายเป็นบ้านร้างไปตลอด คนหนุ่มพยายามเจรจากับนายกเทศมนตรีของเมือง เพื่อซื้อบ้านนั้นมาเปิดร้าน แต่ทุกอย่างก็ยากยิ่งหลังจากมีคนตายเดินไปเดินมาในเมือง เดินไปอย่างไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เพราะไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันจึงมีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจชาวเมือง จนเช้าวันหนึ่งเด็กสาวที่ดูเหมือนสติไม่สมประกอบ จิตวิญญาณบริสุทธิ์เดียวของเมืองนี้ เกิดลอยขึ้นไปบนฟ้าและค้างเติ่งอยู่อย่างนั้น

หนังสองเรื่องนี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย เรื่องหนึ่งเป็นซีรีส์จาก Hulu (ที่ตอนนี้ลง Netflix เรียบร้อยแล้ว) สร้างขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากนิยายหลายๆ เรื่องของ Stephen King นักเขียนเรื่องสยองขวัญชาวอเมริกันที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลก ในขณะที่ Ghost Town Anthology เป็นหนังอาร์ตจากแคนาดา โดย Denis Cote คนทำหนังชาวแคนาดา ที่ทำหนังและสารคดีเชิงทดลองมาหลายเรื่องหนังของเขาเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงหนังอาร์ต หนังดูยากเชื่องช้า พูดน้อย และค่อนข้างหนาวของเขาห่างไกลอย่างยิ่งจากแวดวงภาพยนตร์กระแสหลัก

หนังทั้งสองเรื่องจึงแทบจะเหมือนอยู่กันคนละจักรวาล อย่างไรก็ดีหนังทั้งสองเรื่องกลับสร้างบทสนทนากันอย่างน่าสนใจ เพราะหนังทั้งคู่มีแกนกลางอันเดียวกัน นั่นคือการที่มันพูดถึงชุมชนทั้งในฐานะของความสัมพันธ์ผ่านประวัติศาสตร์บาดแผล การเลือกที่จะจำ และเลือกที่จะลืม

Castle Rock เลือกหยิบเอาเมืองสมมติชื่อ Castle Rock อันเป็นเมืองที่คิงใช้เป็นฉากหลังในนิยายหลายต่อหลายเรื่องของเขา แม้ตัวซีรีส์จะ หยิบเอาองค์ประกอบของนิยายดังๆ ของเขามาเป็นลูกเล่น ตั้งแต่ The Shining, Carrie, Needful Things ไปจนถึง The Shawshank Redemption และ It แต่จุดร่วมของทั้งสอง Season คือชุมชนที่ชื่อ Castle Rock

เราไม่ได้เห็นภาพรวมของชุมชนมากนัก เพราะดูเหมือนตัวเอกของเราเป็นคนนอกของชุมชน แต่ดูเหมือนชุมชนทั้งชุมชนพ่วงอยู่กับคุก เพราะคนเกือบทั้งหมดของเมืองทำงานในคุก เรื่องฉาวโฉ่ของคุกจึงเป็นปัญหาของเมืองไปด้วย ไม่ว่าเฮนรี่จะไปที่ไหนก็ไม่มีใครต้อนรับ เพราะเขาคือ เฮนรี่ ดีเวอร์ เด็กฆ่าพ่อ ชุมชนเล็กคือสุนทรสถานความบันเทิงของการนินทาและการรวมใจกันหวาดกลัวสิ่งแปลกปลอม บาทหลวง พัศดี นายอำเภอ ในฐานะบทบาทหลักของชุมชนร่วมใจกันปกป้องชุมชนด้วยการจับเอาคนที่เชื่อว่าเป็นปีศาจไปขังกรง ผดุงชุมชนแสนสุขที่ไม่มีอยู่จริง อันเป็นหนึ่งในธีมหลักของงานของ Stephen King บาดแผลในอดีตที่กลับมาพร้อมกับการกลับบ้าน บ้านที่ไม่น่าอภิรมย์ ชุมชนปัญหาที่ซ่อนไว้ใต้พรม เพื่อให้ชุมชนดำเนินอยู่ต่อไปได้

อย่างไรก็ดี Castle Rock เลือกทางของการโยนปัญหากลับไปหาปีศาจ โดยการเลือกเชื่อว่ามีปีศาจจากนอกชุมชนเดินทางมาที่นี่ แล้วบังคับจิตใจผู้คนให้กระทำเรื่องชั่วร้าย ซึ่งในทางหนึ่งมันเกิดขึ้นได้เพราะมีเชื้อมูลของความดำมืดชั่วร้ายในใจของเราอยู่ก่อนแล้ว การอยู่ร่วมกันได้ห่มคลุมมันเอาไว้ และปีศาจเพียงเลิกพรมขึ้นเท่านั้น

สิ่งสำคัญใน Castle Rock คือการ ‘ท่องเวลา’ ใน Episode 7 อันแสนงดงาม หนังตามท่องกาลเวลาในโลกสมองเสื่อมของแม่ ขณะที่ปีศาจปั่นหัวแม่จนไม่รู้ว่านี่คืออดีต หรืออนาคต ความรู้สึกผิดของการแต่งงานกับชายที่ไม่ได้รัก และความรักที่ไม่สมหวัง ดึงดูดแม่ไปสู่ความเศร้า และการพยายามต่อสู้กับปีศาจเพื่อปกป้องลูกชายกับหลานชายโดยที่เธอไม่รู้เลยว่านี่เธออยู่ในฝันหรือในความจริง ในขณะที่ Episode 9 ฉายภาพโลกของมิติคู่ขนาน ชุมชน Castle Rock เป็นชุมชนในอีกรูปแบบหนึ่งและอีกคนหนึ่งเป็นฝ่ายที่หายไป บางคนอาจจะมีชีวิตที่ดีขึ้นและบางคนอาจมีชีวิตที่แย่ลง

แต่ดูเหมือนข้อใหญ่ใจความของหนังคือการหายไป 11 วัน เฮนรี่ กับการมาถึงของชายนิรนาม และแม่ที่เริ่มเลอะเลือน มิติคู่ขนานการท่องเวลาในหนังเป็นทั้งลูกเล่นแบบคิงๆ และเป็นทั้งนัยของการบอกเล่าประวัติศาสตร์ในสองแบบ ดูเหมือนตัวละครในสองโลกที่ทางเดินชีวิตที่แตกต่างกัน ประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน เมืองยังคงอยู่ แต่ชีวิตแตกต่างไป มิติคู่ขนานจึงละม้ายคล้ายมุมมองของประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันระหว่างประวัติศาสตร์ทางการ กับประวัติศาสตร์ในสายตาของคนชายขอบ ‘เสียงของพระเจ้า’ จึงเป็นทั้งรอยปริแตกของประวัติศาสตร์แบบเดียว ไปสู่การเหลื่อมซ้อนของประวัติศาสตร์แบบอื่นๆ ขณะเดียวกันเสียงของพระเจ้าที่ควรจะเป็นเสียงแห่งความดีงาม กลับเป็นเสียงชนิดเดียวกันที่นำพาความชั่วร้ายมายังเมืองนี้ ซึ่งหากท่องเวลากลับไป ความชั่วร้ายนั้นอาจดำรงอยู่มานานแล้ว บ้านที่เกิดการฆ่าก็จะเกิดการฆ่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตัวร้ายของชาวเมืองจะเป็นตัวร้ายของชาวเมืองวันยันค่ำ

การท่องเวลาขยายความหมายไปอีกรูปแบบใน Ghost Town Anthology ชุมชนเล็กๆ ในหนังอาจเหนียวแน่นเชื่อมโยงมากกว่า Castle Rock แต่การมาถึงของผีและสาวมุสลิมก็สั่นคลอนความเป็นชุมชนที่มีเนื้อเดียวกันทางเชื้อชาตินี้อย่างรุนแรง ชุมชนในเรื่องเข้มแข็งกว่า Castle Rock หลายเท่านัก นายกเทศมนตรีหญิง ที่รู้จักทุกคนบอกนักจิตวิทยาสาวมุสลิมว่าเราไม่ต้องการคุณที่นี่ เพราะเราจัดการกันเองได้ เราไม่ต้องการคนนอก คนอพยพ คนต่างศาสนาในพื้นที่ของเรา ผู้ซึ่งจิตใจดี รักสงบและมีการมีงานทำ ชุมชนภาคตัดขวางเห็นภาพว่าคนตายหนึ่งคนก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะเราผูกพันแน่นเหนียว

จนกระทั่งการกลับมาของผี ที่อาจจะเรียกได้ว่า นักท่องเวลาตัวจริง เพราะหนังบอกว่า ผีในหนังไม่ใช่ใครอื่น แต่คือประวัติศาสตร์ที่ตายแล้ว/ลืมไปแล้วของชุมชนนั้นเอง การมีอยู่โดยไม่ทำอะไรนอกจากยืนในระยะสายตากลับคลายความเหนียวแน่นนั้นออก ผีที่แค่มีอยู่เป็นได้ทั้งคนอพยพ แรงงานต่างด้าว คนนอกชุมชน ไปจนถึงประวัติศาสตร์บาดแผลที่ชุมชนอยากจะลืม หรือกล่าวให้ถูกต้องคือ ลืมไปแล้ว

จนกระทั่งการกลับมาของผี ที่อาจจะเรียกได้ว่า นักท่องเวลาตัวจริง เพราะหนังบอกว่า ผีในหนังไม่ใช่ใครอื่น แต่คือประวัติศาสตร์ที่ตายแล้ว/ลืมไปแล้วของชุมชนนั้นเอง

คนตายจึงเป็นเหมือนการบังคับมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของตน ชุมชนอาจจะคิดว่านี่คือที่ทางของพวกเขา แต่คนตายย้ำเตือนว่าทุกคนเป็นเพียง ‘ผู้อพยพ’ เท่านั้น ประวัติศาสตร์ที่เป็นจริงในขณะหนึ่งเกิดขึ้นจากการกดทับ ขูดลบขีดฆ่าประวัติศาสตร์อีกฉบับหนึ่ง อาคารเก่าดำรงคงอยู่ มันเป็นบ้านที่เคยเกิดฆาตกรรม หรือกำลังจะเป็นภัตตาคารหรูหรา สิ่งหนึ่งลบอีกสิ่งหนึ่งออกไป สัญญะเดียวที่ยืนยันอดีตได้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอมตะ แต่เป็นสิ่งที่ตายไปแล้ว และนั่นคือผี

ผีเป็นคนนอก แม้จะไม่กระทำอะไร แค่การมีอยู่ของมันก็รบกวนมากพอแล้ว คล้ายการมีอยู่ของคนผิวสี คนมุสลิม คนอพยพ ชนพื้นเมือง คนนอกที่ทำให้ชุมชนด่างพร้อย แม้ว่าชุมชนนั้นจะเป็นของพวกเขามาก่อนก็ตาม นอกจากเด็กสาวเพี้ยนๆ เพียงคนเดียวที่เห็นผีก่อนใครและกลายเป็นคนที่ประหลาดที่สุดของชุมชนเมื่อเธอลอยขึ้นไปบนห้าราวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (อากัปเดียวกันนี้เกิดขึ้นในหนังเรื่อง Theorema ของ Pier Paolo Pasolini หญิงที่เล่าเรื่องของชายแปลกหน้าที่เข้าไปยั่วยวนครอบครัวแสนสุขครอบครัวหนึ่งจนพังพินาศ โดยผู้ชมไม่อาจแน่ใจว่าเขาคือพระเจ้าหรือปีศาจ หรือจริงๆ มนุษย์พร้อมที่จะทำลายตัวเองหรือไม่ก็รอการถูกปลดปล่อยอยู่แล้ว) หลังจากชายหนุ่มร่วมรัก/ปลดปล่อย/ทำลายทุกคนในครอบครัวชนชั้นกลาง แม่บ้านของบ้านก็สำแดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหินขึ้นไปบนฟ้าไม่ต่างจากเด็กสาวในเรื่องนี้ ผีจึงคล้ายชายลึกลับที่มาปลดปล่อยและทำลายชุมชนใน Ghost Town Anthology และยังไปคล้ายกับชายลึกลับในกรงขังของ Castle Rock ที่สามารถปลดปล่อย/บังคับจิตใจให้ชาวเมืองก่ออาชญากรรรม วินาศกรรม อัตวินิบาตกรรมได้ ผี ปีศาจ คนนอก จึงกลายเป็นเครื่องทดสอบความเปราะบาง ล้มเหลว ตีสองหน้า ของมนุษย์ที่มาอยู่ร่วมกันเพื่อพึ่งพิงกัน ดูถูกหยามเหยียดเกลียดกัน แต่แสร้งทำเป็นว่าเป็นเนื้อเดียวกัน

ผี ปีศาจ คนนอก จึงกลายเป็นเครื่องทดสอบความเปราะบาง ล้มเหลว ตีสองหน้า ของมนุษย์ที่มาอยู่ร่วมกันเพื่อพึ่งพิงกัน ดูถูกหยามเหยียดเกลียดกัน แต่แสร้งทำเป็นว่าเป็นเนื้อเดียวกัน

ในตอนจบของหนังทั้งสองเรื่องนี้ ชุมชนยังคงดำรงอยู่ ปีศาจถูกกักขัง ผีถูกเพิกเฉย เรื่องราวจบลง วิธีการจัดการความทรงจำมวลรวม ก็เป็นเช่นนี้ เลือกเก็บบางสิ่ง เลือกทิ้งบางอย่าง ขุดหลุมลึกฝังมันไว้ ไม่ก็หลับตาข้างหนึ่ง ทำเป็นมองไม่เห็น และดำรงชีวิตอยู่ต่อไป


ดู Castle Rock ได้ใน Netflix

Stand-up Comedy Review : Trevor Noah – Lost in Translation (2015) เวลาผ่าน ความรุนแรงยังอยู่

โชคดีในโชคร้าย ขณะที่โลกยังตกอยู่ในภาวะนิ่งงันจากการกักตัวกันโรค วงการตลกเดี่ยวไมโครโฟนก็เริ่มเผยแพร่งานโชว์พิเศษที่เคยสงวนไว้ฉายเฉพาะสหรัฐอเมริกา ออกมาให้ดูกันแบบฟรี ๆ ทั่วโลก หนึ่งในโชว์ตลกที่กระทบใจผู้เขียนที่สุดเป็นผลงานจากปี 2015 ของตลกคนดัง เทรเวอร์ โนอาห์ (ปัจจุบันเขารับหน้าที่เป็นพิธีกรรายการข่าวเน้นฮา The Daily Show With Trevor Noah ของช่อง Comedy Central – หาชมหาฟังกันได้ตาม Youtube และช่องทางพอดแคสต์ทั่วไป)

โนอาห์เปิดการแสดง Lost in Translation (ความยาว 40 นาที) ด้วยมุกตลกล้อเลียนเสียงคนดูที่ร้องวู้ฮู้ออกมาในยามที่เขาปรากฏตัวบนเวที เขากล่าวว่าเสียง “วู้ฮู้” ที่ผู้คนร้องออกมาเป็นวัฒนธรรมที่มีต้นกำเนิดจากผู้หญิงคนขาว คนดำอาจจะไม่สบายใจนักเวลาได้ยิน ‘วู้ฮู้’ ที่ว่านี้ฟังไปก็คล้ายเสียงหวอรถตำรวจ กับคนขาวที่ชอบแจ้งตำรวจอยู่แล้วอาจจไม่มีผลอะไรนัก แต่กับคนดำแล้วมันไม่ใช่

ส่วนแรกของโชว์นี้จึงเป็นชุดมุกตลกที่ว่าด้วยเรื่องของการทำอย่างไรไม่ให้คนผิวสีอย่างเขาถูกตำรวจยิงตาย เขายกตัวอย่างคดีอาสาสมัครดูแลชุมชนยิงเด็กอายุ 17 ที่ฟลอริดา “ข่าวนั้นเริ่มต้นด้วยการรายงานว่า ‘ชายคนหนึ่งยิงเด็กวัยรุ่น’ สังคมก็บอกว่าโอ้โห น่ากลัวว่ะ แล้วทำไมไม่รู้ วันต่อมาก็ดันมีการวิเคราะห์กันว่า ‘เด็กชายคนนั้นสวมเสื้อฮู้ด เขาทำอะไรกันแน่ ทำไมเขาจึงทำเช่นนั้น’ เอ่อ…โอเค ต่อไปนี้ผมไม่สวมเสื้อฮู้ดแล้วก็ได้” นอกจากนี้ยังมีการถูกยิงเพราะ ‘เดินเข้าหาตำรวจ’ การถูกล็อกจนขาดอากาศหายใจเพราะ ‘เป็นคนดำตัวใหญ่ท่าทางน่ากลัว’ ทุกเรื่องที่เขายกขึ้นมาล้วนเป็นคดีที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2013-2015

“ไม่สวมฮู้ด ไม่เดินเข้าหาตำรวจ ไม่เป็นคนตัวใหญ่ แล้วก็อีกนั่นแหละ ต่อมาก็มีข่าวคนดำอายุ 50 กว่าโดนตำรวจยิงเพราะวิ่งหนีเฉยเลย ถามว่าเขาทำผิดอะไร ข่าวก็รายงานว่าเขาเคยมีประวัติคดีทำร้ายร่างกายตอนปี 1987 เฮ้ย จริงดิ เราจะอยู่กันอย่างนี้จริง ๆ เหรอ ต้องต่อยคนแรงแค่ไหนถึงจะโดนยิงตายใน 20 กว่าปีถัดมาเนี่ย”

ในส่วนที่เหลือของการแสดง โนอาห์ยังคงล้อเล่นกับอคติทางชาติพันธุ์และศาสนาที่กระทำโดยคนขาว มุกตลกที่เจ็บแสบที่สุดของเขาคือการพูดว่า พอเป็นคนดำยิงกันข่าวจะบอกว่าเป็นเรื่องของชาวแก๊ง พอเป็นมุสลิมทำเรื่องโหดร้ายก็จะถือว่าเป็นผู้ก่อการร้าย แต่พอคนขาวทำอะไรคล้าย ๆ กัน มันจะถูกแปะป้ายให้เป็นเรื่องส่วนตัวหรือปัญหาทางจิตทันที

โชว์ Lost in Translation จึงน่าสนใจมาก ๆ ตรงที่โนอาห์ใช้อารมณ์ขันและความสามารถอันเหลือล้นในการลอกเลียนสำเนียง ท่าทางของผู้คนในสังคมอเมริกามาห่อเคลือบประเด็นความเหลื่อมล้ำทางชาติพันธ์ุในโลกของคนขาวแล้วสื่อสารออกมาอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่สูญเสียความตลกอันเป็นเสน่ห์ของโชว์ตลกสแตนด์อัพไปแม้แต่น้อย

“เคยมีผู้หญิงคนขาวเดินเข้ามาชมผมว่า ‘คุณคือนิกเกอร์ที่หล่อและตลกที่สุดที่ฉันเคยเห็นมาเลยนะ’ ผมได้แต่อึ้ง นี่คมันคำชมแบบไหนกันวะ”

“ต้องมีคนพูดเสมอแหละว่าทำแบบนั้นมันไม่ถูก เผาข้าวเผาของมันไม่ถูกต้อง …แต่มันไม่มีหรอกครับวิธีการประท้วงที่ถูกต้อง เพราะนั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้มันถูกเรียกว่าการประท้วง มันไม่มีทางถูกต้องแน่ ๆ เพราะคุณกำลังทำการต่อต้าน ‘สิ่งที่ทำให้คุณหยุดต่อต้าน’ ”

โชคร้ายในโชคดี มุกตลกหลายชิ้นในโชว์ปี 2015 ตัวนี้ ยังคงทำงานได้รุนแรงในปี 2020 ราวกับว่าความโหดร้ายรุนแรงเหล่านั้นไม่เคยขยับไปในทิศทางไหนเลย ล่าสุดโนอาห์ออกมาพูดเรื่องการชุมนุมประท้วงกรณีจอร์จ ฟลอยด์ที่กำลังปะทุอยู่ตอนนี้ ผ่านช่อง The Daily Show with Trevor Noah ว่านี่คือการตอบโต้ของคนดำที่เป็นสักขีพยานของการฉีกสัญญาการอยู่ร่วมกันในสังคมอเมริกามานับครั้งไม่ถ้วน “เวลาที่คุณมี และเวลาที่คุณไม่มี (ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต) คุณจะมองเห็นโลกต่างกันมาก หลายครั้งเลยที่คนมีบอกคนไม่มีว่า ‘คุณไม่ควรทำแบบนั้นนะ นี่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง’ คอลิน เคเปอร์นิคคุกเข่า, มาร์ติน ลูเธอร์ คิงพาลูกไปประท้วง, คนแอฟริกาเดินขบวนต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว มันต้องมีคนพูดเสมอแหละว่าทำแบบนั้นมันไม่ถูก เผาข้าวเผาของมันไม่ถูกต้อง มันไม่มีหรอกครับวิธีการประท้วงที่ถูกต้อง เพราะนั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้มันถูกเรียกว่าการประท้วง มันไม่มีทางถูกต้องแน่ ๆ เพราะคุณกำลังทำการต่อต้าน ‘สิ่งที่ทำให้คุณหยุดต่อต้าน’ ”

“เวลาที่คุณรู้สึกไม่สบายใจตอนเห็นภาพร้านทาร์เกตถูกปล้นฉกข้าวของไป นั่นเพราะคุณรู้ว่านี่คือการฉีกข้อตกลงของสังคม ทีนี้ลองนึกดูนะครับว่าคนดำจะรู้สึกอย่างไรเวลาที่ต้องมารับรู้ว่าพวกเขาถูกปล้นชีวิตกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นั่นแหละครับคือรากฐานของเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้”


เทรเวอร์ โนอาห์ เป็นใคร?

เขาคือนักแสดงตลกสแตนด์อัพ และพิธีกรรายการโทรทัศน์เชื้อชาติแอฟริกาใต้ที่เข้าสู่วงการกับบทเล็ก ๆ ในละครโทรทัศน์ปี 2002 และเอาดีทางด้านการทำรายการตลกอย่างต่อเนื่องจนได้แสดงเปิดให้ตลกอเมริกันคนดังอย่าง แกเบรียล อิเกลเซียส (Fluffy) ในปี 2007 ก่อนจะย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกาปี 2012 เดินสายโชว์ตลกกวาดรางวัลมากมาย และรับช่วงต่อรายการข่าวแนวตลกเสียดสี The Daily Show ทางช่อง Comedy Central ตั้งแต่ปี 2015 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ไม้เด็ดของเขาคือการลอกเลียนสำเนียง ท่าทางของผู้คนหลากเชื้อชาติหลายภาษา และมุกตลกแหลมคมเกี่ยวกับภาพเหมารวมของผู้คน


– Trevor Noah: Lost in Translation เปิดให้ชมได้ฟรีทาง Comedy Central Stand-Up
– ดูคลิปความเห็นของเทรเวอร์ โนอาห์ต่อกรณีจอร์จ ฟลอยด์ ได้ที่ Youtube