เหตุใดคนขาวจึงมีบทบาทเด่นในด้านการบริหารภาพยนตร์

สิ่งที่เหมือนกันระหว่างภาพยนตร์เรื่อง Moonlight, Get Out, 12 Years a Slave หรือแม้แต่ Black Panther คือต่างเป็นหนังเกี่ยวกับคนผิวดำ นำแสดงและสร้างสรรค์โดยคนผิวดำที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านรางวัล และบ็อกซ์ออฟฟิศ อย่างไรก็ดี สิ่งที่เหมือนกันอย่างน่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังในส่วนการบริหารจัดการส่วนใหญ่ ล้วนแต่เป็นคนผิวขาวทั้งสิ้น โดยในตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างของภาพยนตร์เรื่อง Moonlight จำนวน 10 คน เป็นคนผิวขาวเสีย 9 คน (ในจำนวนนี้รวมถึง แบรด พิทท์ด้วย) ขณะที่ภาพยนตร์เรื่อง Get Out จำนวนของผู้อำนวยการสร้างผิวขาวมีจำนวน 11 คนจากทั้งหมด 12 คน ส่วน 12 Years a Slave สัดส่วนของผู้อำนวยการสร้างผิวขาวมีจำนวนมากกว่าผู้อำนวยการสร้างผิวดำถึง 8:2

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนผิวขาวมีบทบาทเด่นในด้านงานบริหารภาพยนตร์ที่กำกับโดยคนผิวสี นำแสดงโดยคนผิวสี และมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับคนผิวสี ผู้เขียนขอวิเคราะห์ดังนี้

โครงสร้างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ถูกออกแบบโดยคนผิวขาว

หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อเมริกันที่เริ่มต้นในปี 1893 ภายหลังจากที่โธมัส อัลวาเอดิสัน (ซึ่งเป็นคนผิวขาว) ได้ผลิตเครื่องฉายภาพยนตร์คีเนโตสโคปและนำออกให้บริการแก่สาธารณะ [1] จนทำให้เกิดธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ซึ่งต่อมาพัฒนากลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีองค์ประกอบสำคัญประกอบด้วย ภาคการผลิต ภาคจัดจำหน่าย และภาคการเผยแพร่ จะพบว่าคนผิวสีอื่น โดยเฉพาะคนผิวดำแทบไม่มีบทบาทสำคัญในการก่อร่างสร้างอุตสาหกรรมเลยแม้แต่น้อย ทุกอย่างถูกออกแบบ ถูกกำหนดวาระโดยคนผิวขาวทั้งสิ้น

แม้ว่าในบางช่วงเวลา อุตสาหกรรมจะให้โอกาสคนผิวสีอื่นได้มีส่วนร่วมในกระบวนการบางส่วน เช่น การเกิดขึ้นของหนังชาติพันธ์ (race film) ซึ่งเป็นหนังที่เกี่ยวกับคนผิวดำ กำกับโดยคนผิวดำ และได้รับความนิยมในหมู่คนผิวดำในช่วงระหว่างปี 1915- 1952 แต่ภาพยนตร์เหล่านี้เกือบทั้งหมด ผลิต และลงทุนโดยบริษัทของคนผิวขาว ที่อยู่นอกฮอลลีวูด เช่น บริษัท Million Dollar Production ในช่วงทศวรรษที่ 1930 บริษัท Toddy Pictures ในทศวรรษที่ 1940 และบริษัท Ebony Film Company ที่มีสำนักงานอยู่ในชิคาโก้ [2] โดยเหตุผลสำคัญที่บริษัทเหล่านี้ ได้ลงทุนผลิตภาพยนตร์เกี่ยวกับคนผิวดำ หาใช่ความต้องการตอบโต้ฮอลลีวูดที่มักผลิตภาพยนตร์แบบฟอกขาว (white washing) ที่ให้นักแสดงผิวขาว สวมบทบาทคนผิวสี (คนผิวดำเสียส่วนใหญ่) [3] แต่เป็นเพราะตลาดภาพยนตร์สำหรับคนผิวดำกำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในเมืองใหญ่บางเมืองอย่างเช่น นิวยอร์ค และ ชิคาโก้ ต่างหาก 

ลักษณะเช่นนี้ ยังเกิดขึ้นกับหนังแนว Blaxploitation ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ชมผิวดำเป็นหลัก ในช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยจุดเด่นของหนังประเภทนี้คือการนำเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ “พลังสีดำ” หรือ Black Power ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองของกลุ่มคนผิวดำในช่วง 1960 เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมกันกับคนผิวขาว [4]

บริษัทสตูดิโอต่างๆ (ซึ่งผู้บริหารทั้งหมดเป็นผิวขาว) ได้สังเกตความเคลื่อนไหวเช่นนี้อย่างเงียบๆ และเมื่อเห็นการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้กลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม พวกเขาจึงไม่รอช้า ลงทุนผลิตภาพยนตร์ที่สอดรับกับกระแสสังคมที่เกิดขึ้นทันที ยกตัวอย่างเช่น บริษัท MGM ผลิตภาพยนตร์เรื่อง Shaft (1971) ว่าด้วยนักสืบเอกชนผิวดำที่ได้รับการว่าจ้างจากกลุ่มมาเฟียในชุมชนผิวดำ ให้ทำการช่วยเหลือลูกสาวที่ถูกลักพาตัวโดยหัวหน้าแก๊งอิตาเลียนคู่อริ และด้วยความที่หนังถูกผลิตโดยสตูดิโอใหญ่ จึงทำให้ประสบความสำเร็จไม่เฉพาะแค่กลุ่มผู้ชมผิวดำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ชมทั่วโลกอีกด้วย ส่งผลให้สตูดิโอรายอื่นๆ (ซึ่งแน่นอนว่าผู้บริหารผิวขาว) ตัดสินใจผลิตหนังแนว Blaxploitation ตามมาอีกหลายเรื่องตลอดทศวรรษที่ 1970 เช่น Superfly (1972) ซึ่งผลิตโดยค่ายวอร์เนอร์ บราเธอร์ส Foxy Brown (1974) โดยบริษัท American International Pictures เป็นต้น [5]

Systematic Racism : กระบวนการสกัดกั้นการเข้าถึงอำนาจบริหารของคนผิวดำในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

Systematic Racism หรือแปลเป็นไทยว่า การเหยียดผิวเชิงระบบ หมายถึงกระบวนการที่ทำให้ความเป็นผิวขาวที่สูงส่ง (white superiority) กลายเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นที่ยอมรับในสังคม การเหยียดผิวเชิงระบบอาจอยู่ในรูปของกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ที่ให้สิทธิพิเศษแก่คนผิวขาวมากกว่าคนเชื้อชาติอื่น [6] แม้แต่คนผิวขาวที่ต่อต้านการเหยียดผิว ก็อาจยอมรับการเหยียดผิวเชิงระบบโดยไม่รู้ตัว (เพราะตนเองได้ประโยชน์จากความเป็นคนผิวขาวเช่นกัน) ตัวอย่างของการเหยียดผิวเชิงระบบ จากการการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด ได้แก่กรณีจ้างงาน ชื่อที่ฟังดูแล้ว “เป็นคนขาว” (whitened) มักได้รับโอกาสถูกเรียกสัมภาษณ์งานมากกว่าชื่อที่ฟังดูแล้วไม่ขาว (unwhitened) [7]

ในวงการภาพยนตร์เช่นกัน การเหยียดผิวเชิงระบบอยู่ในรูปของการยอมรับว่าคนผิวขาวมีความเหมาะสมในการกำหนดนโยบาย มีความน่าเชื่อถือมากกว่าคนผิวอื่น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จากการสำรวจของหนังสือพิมพ์ Washington Post ในปี 2016 ถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติในกลุ่มผู้บริหารภาพยนตร์ฮอลลีวูด พบว่าในจำนวนผู้บริหารของบริษัทภาพยนตร์ต่างๆ กว่า 450 คน เป็นคนผิวขาวถึงร้อยละ 96 [8] และโปรเจกต์ที่ได้รับการอนุมัติส่วนใหญ่ มักเป็นโปรเจกต์ที่ผู้สร้างภาพยนตร์มีสีผิวเดียวกับผู้บริหาร หรือจะพูดให้ชัดก็คือ โอกาสที่โปรดิวเซอร์ผิวสีอื่นจะเสนอโปรเจกต์และได้รับการอนุมัติให้ทำนั้นมีความเป็นไปได้น้อยกว่าโปรเจกต์ที่คนผิวขาวเสนอ

ด้วยเหตุนี้ หากผู้สร้างภาพยนตร์ผิวดำ หรือ ผิวสีอื่นสักคนต้องการผลักดันโปรเจกต์หนังสักเรื่องให้ไปไกลกว่าแค่ความคิดในอากาศ ทางเดียวที่พวกเขาต้องทำก็คือ การแสวงหาโปรดิวเซอร์ผิวขาวสักคน เพื่อผลักดันให้โปรเจ็กต์เข้าถึงปัจจัยสำคัญที่สุดของการสร้างหนัง นั่นก็คือแหล่งเงินทุน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะเจอะเจอหนังที่สร้างโดยคนผิวสีแบบครบองค์ประกอบในตลาดหนังอเมริกันทุกวันนี้ ตราบใดที่การเหยียดผิวอย่างเป็นระบบยังคงฝังรากลึกในสังคมอเมริกัน จนกลายเป็นที่ยอมรับของคนทุกสีผิว

โรลองด์ บาร์ตส์ นักสัญวิทยาชื่อดังชาวฝรั่งเศสผู้นำเสนอคำว่า “มายาคติ” (Mythologies) เคยกล่าวว่า มายาคติคือคติความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นและถูกทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมชาติจนคนทั่วไปคิดว่าเป็นเรื่องจริง ทางเดียวที่จะทำลายมายาคติเดิมได้คือการสร้างมายาคติใหม่ขึ้นมาซ้อนทับ[9] หากสังคมอเมริกันมองว่า การเหยียดผิวเชิงระบบคือมายาคติแบบหนึ่งที่เชื่อว่า ผิวขาวคือความสูงส่ง การทำลายกรอบความคิดนี้ ด้วยการสร้างมายาคติใหม่ที่เชื่อในความเป็นมนุษย์มากกว่าสีผิวขึ้นมาซ้อนทับ อาจทำให้เราได้เห็นความเป็นอเมริกันแบบใหม่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน และเมื่อถึงเวลานั้น เราอาจเห็นการรื้อสร้างครั้งสำคัญของการทำหนังชาติพันธุ์ในอเมริกาก็เป็นได้


อ้างอิง

[1] Thomas Edison’s Kinetoscope (1893)

[2] Early Race Filmmaking in America

[3] Whitewashing in film

[4][5] Blaxploitation

[6][7] Explainer: what is systemic racism and institutional racism?

[8] The staggering numbers that prove Hollywood has a serious race problem

[9] Mythologies (book)

ภาณุ อารี
ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล นอกจากนี้ ยังเป็นนักทำหนังสารคดี เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาธุรกิจภาพยนตร์และวิชาผลิตภาพยนตร์สารคดี และเป็นนักเขียนในบางวาระ

RELATED ARTICLES