Honeyland ณ ดินแดนแห่งน้ำผึ้ง

(2019, Tamara Kotevska, Ljubomir Stefanov)

*** บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์ ***

Oscar ปีล่าสุดนี้ นอกจากกระแสของ Parasite ที่มาแรงแซงโค้งทุกกระแสแล้ว สารคดีต่างๆ ที่เข้าชิงก็โดดเด่นเกินกว่าเราจะมองข้ามไปได้ ซึ่งที่น่าจับตามองได้แก่ American Factory สารคดีจากบริษัท production ของ Obama ที่พูดถึงการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมของแรงงานโลกตะวันออกและตะวันตก รวมถึงโลกทุนนิยมเก่าและใหม่ที่มีแรงงานจักรกลที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งได้รางวัลชนะเลิศ Oscar สารคดียอดเยี่ยมไปครอง, The Edge of Democracy อันพูดถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองอันร้อนระอุในช่วงเปลี่ยนผ่านการปกครองของบราซิลผ่านมุมมองของชนชั้นกลางที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองฝั่งความขัดแย้ง แต่นอกจากสองเรื่องนี้ ยังมีสารคดีที่ดูเรียบง่ายแต่ทรงพลัง น่าสนใจ และพิเศษมากๆ อย่าง Honeyland จากมาร์ซีโดเนียซึ่งมีดีกรีได้เข้าชิงออสการ์ถึง 2 สาขา ทั้งสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศรวมถึงสาขาสารคดียอดเยี่ยมเป็นเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ครับ

Honeyland เปิดภาพมาด้วย Hatidže หญิงชาวพื้นเมืองใส่เสื้อเหลืองสดเดินลัดเลาะไปตามเทือกเขาแห้งแล้งในประเทศมาร์ซีโดเนีย ก่อนจะหยิบเปิดหินที่ปิดรวงผึ้งและบรรจงหยิบบางส่วนออกมาเก็บเข้าถุงผ้าที่พกมา แล้วเดินทางกลับไปดูแลมารดาที่พิการตาบอดนอนอยู่บ้าน ความสัมพันธ์ของสองคนนี้จะว่าไม่ดีก็ได้ ดีก็ได้ เพราะแม้ Hatidže เองจะพร่ำคอยดูแลหาน้ำหาข้าวให้แม่ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะบ่นกระปอดกระแปดเวลาแม่ทำตัวเงอะงะไม่ทันใจอยู่เสมอ

“แบ่งครึ่งนึงให้ฉันนะ อีกครึ่งคืนกลับไปให้เธอ” Hatidže กล่าวขณะเทน้ำผึ้งที่เก็บมาได้ออกครึ่งหนึ่งให้ผึ้งในบริเวณน้ัน และเก็บอีกครึ่งที่เหลือเพื่อนั่งรถบัสไปขายในตลาดในเมืองแลกกับการซื้อปัจจัยสี่กลับมาจุนเจือชีวิตตัวเองและมารดา (อาจจะบวกยาย้อมสีผมที่เธอแสนจะภาคภูมิใจ และพัดมือที่ซื้อกลับไปให้แม่เผื่ออากาศร้อนไว้เป็นปัจจัยที่ห้าและหกให้คอยกระชุ่มกระชวย)

แต่แล้วความพลิกผันก็ปรากฏเมื่อชาวพื้นเมืองร่อนเร่อีกครอบครัวหนึ่งได้ย้ายรกรากมาใกล้ๆ แม้ลูกหลานร่วมเกือบสิบคนในครอบครัวใหม่นี้จะเป็นที่รักและเอ็นดูของ Hatidže แต่เนื่องจากปริมาณคนที่มากขึ้น ทำให้ครอบครัวดังกล่าวต้องหาทางต่างๆ เพื่อหาเงินและอาหารมาประทังคนในครอบครัวในสัดส่วนที่มากขึ้น

นอกจากปศุสัตว์​ (อันที่เราได้เห็นสัตว์ต่างๆ ถูกกระทำอย่างทารุณกรรมบ้างในหลายโอกาส) Sam หัวหน้าครอบครัวได้ตัดสินใจเรียนรู้วิธีการเก็บน้ำผึ้งจาก Hatidže ซึ่งเธอก็เต็มใจสอนแต่โดยดี หากแต่ไม่รู้ว่าวันหนึ่งเขาจะโลภจนตกลงที่จะทำธุรกิจกับนายทุนที่มาติดต่อและไม่เชื่อฟังเธอโดยการไม่เหลือน้ำผึ้งส่วนที่ควรจะแบ่งกลับให้แก่ฝูงผึ้ง ส่งผลให้ผึ้งของ Sam มาแย่งน้ำผึ้งจากรวง Hatidže ไปในช่วงฤดูหนาวและทำให้รวงผึ้งของเธอเสียหาย ซ้ำร้าย Sam ยังเผาต้นสนจูนิเปอร์ที่อยู่ในอาณาบริเวณโดยรอบเพื่อเพิ่มพื้นที่หญ้า รวมถึงตัดตอไม้เพื่อหารวงผึ้งที่ซ่อนอยู่จนผึ้งหายไปจนทุกอย่างหมดสิ้น

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าทึ่งคือ สารคดีเรื่องนี้ถูกถ่ายทำนานร่วมสามปีโดยทีมถ่ายทำเพียง 6 คน อันประกอบไปด้วย ผู้กำกับ 2 คน ผู้กำกับภาพ 2 คน นักตัดต่อ 1 คน และวิศวกรเสียงอีก 1 คน แต่สุดท้ายได้ฟุตเทจกว่า 400 ชั่วโมง โดยแรกเริ่มทีมงานวางแผนว่าจะมาทำสารคดีสั้นๆ เกี่ยวกับชีวิตของคนในหมู่บ้านทั่วๆ ไปและพื้นที่รอบลุ่มแม่น้ำ Bregalnica ในบริเวณเดียวกันเท่านั้น จนกระทั่งเจอกับ Hatidže จึงเกิดเปลี่ยนใจ เพราะอยากจะเล่าถึงพิธีกรรมของชนกลุ่มน้อยของชาวตุรกีที่บังคับให้ลูกสาวคนเล็กต้องอยู่บ้าน ไม่สามารถแต่งงานออกได้ ต้องคอยปรนนิบัติและดูแลมารดาจนระยะสุดท้าย และสุดท้ายมาตกผลึกเล่าถึงชีวิตการดูแลผึ้งอันเป็นธีมหลักของภาพยนตร์ในภายหลัง

สารคดีเรื่องนี้ถูกถ่ายทำนานร่วมสามปีโดยทีมถ่ายทำเพียง 6 คน อันประกอบไปด้วย ผู้กำกับ 2 คน ผู้กำกับภาพ 2 คน นักตัดต่อ 1 คน และวิศวกรเสียงอีก 1 คน แต่สุดท้ายได้ฟุตเทจกว่า 400 ชั่วโมง

ทีมงานตัดสินใจปักหลักนอนเต็นท์อยู่หน้าบ้านนี้ เก็บภาพเคลื่อนไหวแทบทุกอย่างในชีวิตเธอและครอบครัวของ Sam ที่ย้ายมาใหม่โดยใช้เทคนิก ‘fly on the wall’ คือสังเกตอยู่แต่โดยรอบเท่านั้น ไม่เข้าแทรกแซงเหตุการณ์ใดๆ (แม้กระทั่งผู้กำกับ Stefanov และ Kotevska ไม่เข้าใจบทสนทนาในภาษาถิ่นที่ทั้ง Hatidže และ Sam พูด แต่ก็เอาเป็นว่าเก็บภาพและเสียงของเหตุการณ์ทั้งหมดไว้ก่อนและมาประมวลทีหลัง) โดยผู้กำกับทั้งสองได้ให้สัมภาษณ์ว่าบางครั้งต้องจับคู่กับมือกำกับภาพและสลับกันถ่ายแต่ละที่โดยไม่สามารถเพิ่มจำนวนทีมงานหรือตากล้องได้ เพราะกลายเป็นว่าทั้งสองครอบครัวสนิทและชินกล้องกับทีมงานทุกคนไปแล้ว และการมีบุคคลแปลกหน้าเข้ามาทำให้บรรยากาศการถ่ายทำกระอักกระอ่วน เนื่องจากต้องกินหลับด้วยกันแทบจะตลอด งานกำกับภาพเองก็ต้องพึ่งแสงธรรมชาติล้วนๆ แต่ข้อดีคือทีมงานเองก็ได้ภาพและเรื่องราวที่สมจริงที่สุด กระทั่งสุดท้ายเกิดเหตุการณ์ขัดแย้งบานปลายทั้งหมดขึ้น ทั้งหมดคือไม่มีบทและไม่ได้แต่งแต้มดราม่าอะไรเลย ทำให้สารคดีออกมาเป็นธรรมชาติอย่างสุดยอดมากๆ โดยไม่ต้องใช้เสียงพากย์บรรยายเหตุการณ์ซะด้วยซ้ำ

สิ่งที่ทำให้เราชอบ Honeyland คือประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลในธรรมชาติ และระบบทุนนิยมที่คืบคลานเข้ามาแม้ในบริเวณที่ห่างไกลเมืองที่สุดอย่างชนบทของมาร์ซีโดเนียเองก็แล้วแต่ ที่สะท้อนผ่านเรื่องราวครอบครัวสองครอบครัวนี้ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ

หลายคนหลังได้ดู Honeyland หรือได้อ่านเรื่องย่อจากบทความนี้ อาจจะได้ชมภาพยนตร์สเปนที่พูดถึงประเด็นใกล้เคียงกันอย่าง The Platform ที่ออกมาภายหลังไม่นานมากนัก อันว่าด้วยชั้นวางอาหารที่ถูกส่งต่อลงไปเรื่อยๆ ด้านล่างหอคอยทรงสูง ที่ทำให้คนด้านบนได้อิ่มหนำกับอาหารก่อน และคนด้านล่างต้องทานอาหารที่เหลือและร่อยหรอลงเรื่อยๆ ในขณะที่ตัวเอกในเรื่องพร่ำบอกกับทุกคนว่า ให้กินแต่พอดีอิ่ม เพื่อที่ทุกคนจะได้กินอิ่มกันทั้งหมด แทนที่จะกินโดยละโมบและไม่เหลือให้ผู้คนด้านล่างเลย

Honeyland ก็สะท้อนความจริงนี้ได้น่าสนใจพอกัน ณ บริบทโลกซึ่งทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด ประกอบกับผลลัพธ์อันน่าสะเทือนใจของเรื่องราวในภาพยนตร์ ทำให้เราได้กลับมามองย้อนวลีอันแสนธรรมดาอันว่าด้วยการ “เอาไปครึ่งหนึ่ง และคืนให้ธรรมชาติครึ่งหนึ่ง” หรือการ “เอาไปเฉพาะที่จำเป็น” จากหญิงชาวพื้นเมืองคนนี้เป็นภูมิปัญญาและสัจธรรมที่ละเลยไม่ได้เลย ยิ่งเมื่อนึกถึงภาวะโลกร้อนในปัจจุบันที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรอย่างทิ้งขว้าง การเผาป่าและการตัดไม้ (เช่นเดียวกับฉากสะเทือนใจในภาพยนตร์อย่างการเผาต้นสนจูนิเปอร์ยามโพล้เพล้) ด้วยแล้ว ก็คาดเดาได้ไม่ยากว่าผลลัพธ์ที่เราทุกคนจะต้องเผชิญในท้ายที่สุด ก็คงไม่ต่างกับชีวิตของ Hatidže และ Sam เท่าใดนัก ถ้าเรายังขาดสำนึกรักในธรรมชาติ ละโมบ และมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องไกลตัว

ทำให้เราได้กลับมามองย้อนวลีอันแสนธรรมดาอันว่าด้วยการ “เอาไปครึ่งหนึ่ง และคืนให้ธรรมชาติครึ่งหนึ่ง” หรือการ “เอาไปเฉพาะที่จำเป็น” จากหญิงชาวพื้นเมืองคนนี้เป็นภูมิปัญญาและสัจธรรมที่ละเลยไม่ได้เลย ยิ่งเมื่อนึกถึงภาวะโลกร้อนในปัจจุบันที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรอย่างทิ้งขว้าง

ถ้าเรากลับมามองดูเรื่องราวอย่างใคร่ครวญแล้ว ก็ได้แต่ทึ่งในตัว Hatidže และวิถีชีวิตที่เข้าใจในธรรมชาติของเธออย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นท่วงท่าที่หยิบผึ้งที่กำลังจะจมน้ำอย่างแผ่วเบาเพื่อปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ ร้องละเล่นเพลงท้องถิ่นระหว่างการหยิบรวงผึ้งอย่างระมัดระวัง การแบ่งน้ำผึ้งให้ผึ้งที่เหลือที่กล่าวไปแล้ว รวมถึงความพยายามในการไกล่เกลี่ยเวลาครอบครัวข้างบ้านมีปัญหา และช่วยเหลือดูแลเด็กๆ ท่าทางเล็กๆ น้อยๆ อย่างการโดนผึ้งตัวเล็กๆ ต่อย ยิ่งสะท้อนให้ได้ชัดเมื่อเทียบกับข้างบ้าน ที่พยายามจะเอาน้ำผึ้งโดยไม่สนใจอะไร ส่งผลให้มีฉากที่เด็กน้อยโดนผึ้งต่อยกันเกือบทั้งบ้านจนตาบวมร้องไห้โฮและได้แต่ก่นด่าพ่อแม่ ซึ่งก็ไม่ใส่ใจอะไรอีก นอกจากจะบ่นให้ลูกๆ อดทนจะได้เก็บน้ำผึ้งได้เยอะๆ (ซึ่งผู้เขียนก็แอบรู้สึกว่าเป็นการสะท้อนการลงโทษของธรรมชาติสู่เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่แต่โดนรุ่นเก่าๆ ทำไว้ได้น่าปวดใจดี)

นอกจากเนื้อหาอันเป็นนิทานสอนใจชีวิตจริง สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างในภาพยนตร์คืองานภาพของ Fejmi Daut และ Samir Ljuma ซึ่งถ่ายทอดชีวิตของครอบครัวทั้งสองได้อย่างออกมาเป็นธรรมชาติ และเก็บภาพ landscape ของชนบทมาร์ซีโดเนียได้สวยงามอย่างน่าทึ่งในทุกฤดู (จนต้องมานั่งทบทวนตัวเองหลายครั้งว่าดูสารคดีอยู่หรือนี่) จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตของแม่ Hatidže เอง ที่เราได้แต่แทบหยุดหายใจเมื่อได้รู้เรื่องราวไปพร้อมๆ กับเธอ ใจสลายเมื่อเห็นชีวิตที่ป่นปี้ ทั้งรวงผึ้งที่โดนทำลาย หน้าหนาวที่คืบคลานเข้ามา มารดาที่โรยราไปตามวัย และการเดินทางสู่ชีวิตใหม่ผ่านทุ่งหิมะผ่านภาพบนจอได้สวยงามมากๆ

ณ เวลาที่ได้ดูสารคดี มันอาจจะเจ็บปวดที่ได้รู้สึกว่าในโลกปัจจุบันเราหลายคนล้วนใช้ชีวิตแบบ Sam เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทรัพยากรรอบข้างให้ได้มากที่สุด อาจจะด้วยความจำเป็นหรือเพราะสาเหตุใดก็แล้วแต่ แต่การได้เห็นวิถีการดำเนินชีวิตของ Hatidže ก็คงทำให้เราระลึกได้ถึงความสวยงามในการพยายามเป็นมิตรกับธรรมชาติ และเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นถ้าเราสามารถทำได้แบบเธอบ้างไม่มากก็น้อยครับ


อ้างอิง

Interview: Tamara Kotevska and Ljubomir Stefanov on Making the Most Out of an Environmentally Sticky Situation in “Honeyland”

Ljubomir Stefanov, Tamara Kotevska • Directors of Honeyland

Buzz-Worthy: Tamara Kotevska and Ljubomir Stefanov Talk ‘Honeyland’

LATEST REVIEWS