หากอยากเข้าใจสถานการณ์คนดำให้มากขึ้น…โปรดมองข้ามหนังเหล่านี้

ในขณะที่อเมริกากำลังลุกเป็นไฟ อันผลพวงจากการถูกทำให้เสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ สิ่งที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ตอนนี้มีมิติที่ทับซ้อนกันมากมาย ทั้งการใช้อำนาจรัฐต่อประชาชนและการเหยียดชาติพันธุ์ ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยอยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ปรากฏการณ์ต่อมาจึงคือการที่ The Help หนังปี 2011 ของ เทต เทย์เลอร์ ทะยานขึ้นอันดับ 1 หนังที่มีจำนวนผู้ชมสูงสุดของ Netflix อเมริกา ในขณะที่นักวิจารณ์อีกฟากก็ออกมาคัดค้านสุดตัวว่า หากอยากเข้าใจสถานการณ์ให้มากขึ้นจริงๆ ก็จงมองข้ามหนังเรื่องนี้ซะเถอะ!

The Help ถูกเหล่านักวิจารณ์ดังกล่าวจัดให้อยู่ในกลุ่มหนังที่ “ประนีประนอมทางเชื้อชาติ” (racial reconciliation) ซึ่งหมายถึง หนังที่มีพล็อตว่าด้วยการสร้างความสัมพันธ์อันดีของคนสีผิวต่างกัน โดยกลบเกลื่อนกดทับประเด็นความเหลื่อมล้ำที่แท้จริง เป็นการกวาดปัญหาไปซ่อนไว้ใต้พรมแสนสวยงามอันมีชื่อว่า “มิตรภาพ”

Green Book

The Help หนังที่ ไวโอล่า เดวิส ผิดหวัง 

“ฉันเคยเสียใจที่ได้เล่นหนังเรื่องไหนมั้ย?” ไวโอล่า เดวิส เล่าว่าเธอถามตัวเองแบบนั้น และคำตอบก็คือ “มีสิ …หนังเรื่องนั้นคือ The Help”

หนังที่เข้าฉายในไทยด้วยชื่อสุดขยี้ว่า ‘คุณนายตัวดี สาวใช้ตัวดำ’ เรื่องนี้ เป็นหนังพลังหญิงว่าด้วยสาวใช้ผิวดำผู้รองรับแรงกดดันต่างๆ ทั้งจากบ้านของนายจ้างผิวขาวและสังคมรอบตัว จนเมื่อหญิงสาวผิวขาวเพื่อนของนายจ้างเล็งเห็นปัญหา เรื่องราวของเธอจึงถูกขุดมานำเสนอผ่านบทความต่อสาธารณะ

เดวิสกล่าวว่า เธอรับแสดงหนังเรื่องนี้ด้วยความคาดหวังแบบหนึ่ง แต่ผลลัพธ์กลับไม่ใช่อย่างที่คิด แม้ว่ามันจะทำเงินสูงถึง 216 ล้านเหรียญฯ และส่งให้เธอได้เข้าชิงออสการ์ก็ตาม 

“ฉันรู้สึกว่าถึงที่สุดแล้ว เสียงของสาวใช้ในหนังก็ไม่ได้ถูกเปล่งออกมาอย่างที่คิด” เธอบอก “ฉันรู้จักผู้หญิงแบบไอบิลีน (ตัวละครของเดวิส) และมินนี่ (ตัวละครของ อ็อกตาเวีย สเปนเซอร์) พวกเธอก็เหมือนย่าและแม่ของฉันเอง ฉันรับเล่นหนังเรื่องนี้เพราะคิดว่ามันจะเล่าชีวิตของพวกเธอให้เราได้รู้ว่า ในยามที่ต้องทำงานให้คนขาว เลี้ยงดูลูกๆ ของพวกเขาให้เติบใหญ่ในช่วงปี 1963 นั้น พวกเธอรู้สึกอย่างไร แต่ฉันก็ไม่ได้ยินสิ่งเหล่านั้นจากหนังเลย” 

Driving Miss Daisy

เมื่อคนขาวอยากคืนดี และออสการ์ก็เห็นดีเห็นงาม

เวสลีย์ มอร์ริส ให้ข้อสังเกตไว้ในบทความ “ทำไมรางวัลออสการ์มักปลาบปลื้มหนังแฟนตาซีว่าด้วยการประนีประนอมทางเชื้อชาติ” (Why Do the Oscars Keep Falling for Racial Reconciliation Fantasies?) ในนิวยอร์กไทมส์ ถึงหนังสามเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกันโดยบังเอิญ ได้แก่ Driving Miss Daisy หนังออสการ์ปี 1989 ของ บรูซ เบเรสฟอร์ด, Green Book หนังออสการ์ปี 2018 ขอบ ปีเตอร์ ฟาร์เรลลี และ The Upside หนังปี 2017 ของ บีล เบอร์เกอร์ (ที่ดัดแปลงจากหนังฝรั่งเศส The Intouchables ปี 2011)

Driving Miss Daisy ว่าด้วยโชเฟอร์คนดำ (มอร์แกน ฟรีแมน) กับนายจ้างสูงวัย (เจสสิก้า แทนดี้) ส่วน Green Book เป็นการสลับบทบาทกัน โดยโชเฟอร์เป็นคนขาว (รับบทโดย วิกโก มอร์เทนเซน) ส่วนนายจ้างเป็นนักเปียโนผิวดำ (มาเฮอร์ชาลา อาลี) ขณะที่ใน The Upside เควิน ฮาร์ท รับบทเป็นคนดำที่ถูกจ้างให้มาดูแลชายพิการผิวขาวเอาแต่ใจ (ไบรอัน แครนสตัน) ทั้งสามเรื่องนำเสนอการเดินทางร่วมกันของลูกจ้าง-นายจ้างต่างสีผิวที่นำไปสู่การเรียนรู้ชีวิตกันและกัน จนก่อเกิดเป็นมิตรภาพอันงดงาม 

มอร์ริสตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า มิตรภาพที่เกิดขึ้นในหนัง 3 เรื่องนี้ล้วนเป็นผลมาจาก “การว่าจ้าง” และ “การที่คนขาวหยิบยื่นโอกาสให้กับคนดำ” ถึงแม้ใน Green Book จะมีการสลับบทบาทผู้ว่าจ้างให้คนดำมีอำนาจเหนือกว่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เอาเข้าจริงแล้วหน้าที่ของตัวละครคนดำในเรื่องก็มีไว้เพื่อ “ช่วยให้คนขาวได้แก้ไขความผิดพลาดของตนเองและมีความเป็นมนุษย์ยิ่งขึ้น”

The Upside

ยังมีหนังอีกมากมายที่มีเนื้อหาว่าความขัดแย้ง-การคืนดีของคนขาวกับคนดำ และประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่บนเวทีรางวัล อาทิ The Blind Side และ Crash ซึ่งนำไปสู่บทสรุปว่าด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง แต่กลับไม่สามารถสะท้อนและตีแผ่ปัญหาทางโครงสร้างที่แท้จริงได้

และที่ขำไม่ออกคือ เมื่อบนเวทีรางวัล มีหนังว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างคนขาวกับคนดำมากกว่า 1 เรื่อง หนังที่นำเสนอประเด็นนี้ในเชิงประนีประนอมก็มักจะเป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ ตัวอย่างเช่น ปีที่ Driving Miss Daisy ผงาดบนเวทีออสการ์ ในปีนั้นยังมีหนังตีแผ่ชีวิตสุดขมขื่นของคนดำอย่าง Do the Right Thing ของ สไปค์ ลี ด้วย และในปีที่ Green Book ชนะหนังยอดเยี่ยม ก็มี BlackKklansman ของลีชิงชัยด้วยเช่นกัน

จึงน่าสังเกตว่า นับจากความสำเร็จของ Driving Miss Daisy, Crash มาจนถึง Green Book และขณะนี้ที่ The Help สามารถก้าวขึ้นอันดับ 1 ใน Netflix อเมริกา อาจสะท้อนว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสีผิวในประเทศนี้ก็ยังคงถูกฝังกลบไว้ ภายใต้ความต้องการจะประนีประนอมของคนส่วนใหญ่อยู่นั่นเอง?


อ้างอิง :
Viola Davis Shares Regrets Over Acting in ‘The Help’
As ‘The Help’ Goes #1 on Netflix, Critics Speak Out and Offer Better Movies to Stream
Why Do the Oscars Keep Falling for Racial Reconciliation Fantasies?

Related NEWS

LATEST NEWS