Chocolate : อาณานิคมแห่งอคติที่ไม่เคยล่มสลาย …สัมพันธภาพอันเลวร้ายระหว่าง ‘โกโก้’ กับ ‘คนผิวสี’

ตลอดกว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้ อาจมีหนังหลายเรื่องจากหลากสัญชาติที่นิยมใช้ ‘ช็อกโกแลต’ (Chocolate) มาตั้งเป็นชื่อ พร้อมนำเสนอมันออกมาอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้นิยามของ ‘ความหอมหวาน’ และ/หรือ ‘ความน่าเย้ายวน’ ซึ่งอาจเปรียบได้กับสภาวะนามธรรมเชิงบวกของตัวละครในหนังเรื่องนั้นๆ ทั้งความรักที่งดงาม ความรู้สึกทางเพศที่คุกรุ่น หรือแม้แต่ช่วงชีวิตที่น่าจดจำ

ทว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดกับ Chocolate (1988) -หรือ Chocolat ในภาษาฝรั่งเศส- ผลงานหนังเรื่องแรกในวัยหลักสี่ของ แคลร์ เดอนีส์ ผู้ที่ต่อมาได้กลายเป็นคนทำหนังชั้นครูของแวดวงภาพยนตร์โลก

เพราะแม้เธอจะใช้ช็อกโกแลตมาตั้งเป็นชื่อหนังเช่นกัน …ทว่าเนื้อหาของมันกลับแทบไม่ปรากฏถึง ‘การมีอยู่’ ของอาหารรสขื่นชนิดนี้เลย

แถมเมล็ด ‘โกโก้’ (Cocoa) อันเป็นต้นธารของ ‘ช็อกโกแลต’ ที่เดอนีส์หยิบมาใช้นั้น ก็ยังสะท้อนถึงสัมพันธภาพอันเลวร้ายที่พืชเศรษฐกิจชนิดดังกล่าวมีต่อชีวิตของ ‘แรงงานผิวสี’ ในสังคมแอฟริกันจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างน่าเจ็บปวดใจเสียด้วย


1

“คนไม่ค่อยรู้จักวิธีดื่มกาแฟที่ถูกต้องกันแล้ว อย่างฉันน่ะชอบบิช็อกโกแลตสองสามชิ้นลงไปด้วย […] ว่าแต่กาแฟที่แกชงน่ะมันห่วยแตกสิ้นดี น่าขยะแขยงจนฉันรู้สึกเสียใจที่ปลูกมันขึ้นมาเลยเชียว”

ชายวัยกลางคน ‘ผิวขาว’ ที่กำลังนั่งจิบกาแฟอยู่ในเต็นท์เอ่ยปากกับคนครัว ‘ผิวสี’ ที่ยืนเสิร์ฟกาแฟอยู่ข้างๆ ในฉากหนึ่งของ Chocolate ซึ่งก็คล้ายกับเป็นการส่งสารอยู่กลายๆ ว่า ไม่ว่าคนผิวสีจะพยายามทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มกำลังแค่ไหน แต่คนผิวขาวก็ไม่เคยพอใจและหมิ่นแคลนศักยภาพของพวกเขาเสมอมา โดยเฉพาะในบ้านเมืองภายใต้ลัทธิล่าอาณานิคม (Colonialism) ของแคเมอรูนที่ถูกบอกเล่าในหนัง

ฉากดังกล่าวยังแสดงให้เห็นด้วยว่า เมล็ด ‘กาแฟ’ ที่ถูกนำมาชงเป็นเครื่องดื่มแก้วนั้น คือผลผลิตทางการเกษตรของโลกที่แม้จะมีฐานการผลิตสำคัญอยู่ในกลุ่มประเทศของคนผิวสี แต่ก็มักถูก ‘ครอบครอง’ และ ‘ควบคุม’ อย่างเบ็ดเสร็จโดยคนผิวขาวผู้มีอำนาจเหนือกว่า

— เช่นเดียวกับเมล็ด ‘โกโก้’ อันเป็นวัตถุดิบในการผลิต ‘ช็อกโกแลต’ ที่ถูกอ้างถึงในฉากนี้ด้วย

โกโก้ถูกส่งต่อจากทวีปอเมริกามายังแอฟริกาเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 19 พร้อมกับที่ช็อกโกแลต (ชื่อของมันแผลงมาจากคำว่า Xocolatl ซึ่งเป็นภาษานาวัตล์ของชาวยูโต-อัสเตกันในเม็กซิโกที่แปลว่า ‘น้ำรสขม’) ก็กำลังมีวิวัฒนาการอันน่าตื่นเต้น เพราะมันได้ถูกพัฒนาจาก ‘เครื่องดื่ม’ ที่เคยเป็นทั้ง ‘ยา’ และ ‘ของทานเล่น’ (จากการปรุงแต่งกลิ่นรสด้วยเครื่องหอมหรือเครื่องเทศ) มาสู่ ‘อาหารแท่ง’ อันเป็นรูปลักษณ์ร่วมสมัยที่ผู้คนคุ้นเคยกันดีมาตั้งแต่ปี 1847 — โดยในทุกวันนี้ กลุ่มประเทศจากแอฟริกาตะวันตกอย่าง ไอวอรี โคสต์ และ กานา ถือได้ว่าเป็นผู้นำด้านการผลิตโกโก้ที่มีส่วนแบ่งในตลาดโลกมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ถึงเมล็ดโกโก้จะต้องถูกแปรรูป-โดยบรรษัทอาหารชั้นนำของอเมริกาเหนือและยุโรป-ให้เป็นผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตที่มีมูลค่าสูงกว่านั้นอีกหลายเท่าตัวก็ตาม

ในระหว่างที่ช็อกโกแลตค่อยๆ ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งใน ‘รสชาติยอดนิยม’ ของวัฒนธรรมอาหารโลกอยู่นั้น การใช้ ‘แรงงานทาสผิวสี’ -อันเป็นแนวคิดที่กดขี่แบ่งแยกผู้คนต่างเชื้อชาตินับจากศตวรรษที่ 16- ก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญใน ‘การทำไร่โกโก้-กาแฟ’ ที่ถูกคนผิวขาวมองว่าเป็น ‘งานชั้นต่ำ’ ไปโดยปริยาย ซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้ ยังสามารถเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในพื้นถิ่นของคนผิวสีเอง หากประเทศของพวกเขาต้องถูกครอบงำโดยอำนาจทางการเมืองอันแข็งกร้าวของคนผิวขาว

และแม้ว่าการค้าทาสในโลกตะวันตกจะถูกยกเลิกมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 แต่ชีวิตของคนผิวสีในทวีปแอฟริกาก็ดูจะห่างไกลจากคำว่า ‘อิสรภาพ’ อยู่ดี — เหมือนกับใน Chocolate ที่แคเมอรูนบางส่วนต้องถูกฝรั่งเศสปกครองเป็น ‘อาณานิคม’ มาเนิ่นนาน โดยเริ่มต้นในปี 1922 (หลังจากผู้ปกครองเดิมอย่างเยอรมนีต้องพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1) และลากยาวมาจนถึงยุค 50 ดังที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง (อันเป็นทศวรรษสุดท้ายของการตกเป็นอาณานิคม) ทำให้ในช่วงเวลานั้น คนผิวสีพื้นเมือง-ในฐานะของ ‘ผู้ใช้แรงงาน’-ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวคนผิวขาวที่โยกย้ายมาจากประเทศเจ้าอาณานิคม จนหลายคนเริ่ม ‘ผูกพัน’ กับบรรดา ‘เจ้านาย’ ภายในบ้าน ซึ่งก็รวมถึง ‘เด็กๆ’ ที่มีชีวิตเติบโตมาจากการดูแลของคนผิวสีอย่างพวกเขาด้วย

เห็นได้จากฉากหนึ่งที่ ฟร็องซ์ (รับบทโดย เซซีล ดูกาสส์) ลูกสาววัยใสของผู้สำเร็จราชการชาวฝรั่งเศส ได้แลกเปลี่ยน ‘ของกิน’ กับ โปรเต (ไอแซก เดอ บ็องโคเล) คนรับใช้หนุ่มผิวสี ด้วยรอยยิ้มที่ไร้พิษภัยท่ามกลางบรรยากาศอันร้อนแล้งของแคเมอรูน — ซึ่งเป็นหนึ่งในฉากที่สะท้อนถึง ‘แง่งาม’ เล็กๆ ของความสัมพันธ์ดังกล่าว นอกเหนือไปจากการเป็น ‘นาย’ กับ ‘บ่าว’ ที่คอยส่ง-รับคำสั่งกันไปมาในชีวิตประจำวัน

…หรือสิ่งที่เรียกว่า ‘มิตรภาพ’ จะยังไม่สูญสลายหายไปเสียหมดในอาณานิคมแห่งนี้?


2

อาจกล่าวได้ว่า ตัวละครเด็กหญิงยุคอาณานิคมคนนั้น คือ ‘ตัวแทน’ ของผู้กำกับอย่างเดอนีส์

เพราะตั้งแต่อายุได้เพียงสองเดือนจนย่างเข้าวัยรุ่น เธอต้องย้ายตามพ่อ-ที่เป็นผู้สำเร็จราชการของฝรั่งเศสยุคล่าอาณานิคม-ไปใช้ชีวิตอยู่ในทวีปแอฟริกา โดยในขวบปีท้ายๆ เธอกับครอบครัวยังเคยพักอาศัยอยู่ในแคเมอรูนหลังจากโลกอาณานิคมล่มสลายไปได้ไม่กี่ปี มันจึงทำให้เธอได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนผิวสีแอฟริกัน-ไม่ต่างจากตัวละครอย่างฟร็องซ์-มานานกว่าหนึ่งทศวรรษ

เดอนีส์อาจต้องการแสดงให้ผู้ชมเห็นถึงความสัมพันธ์ในอีกด้านหนึ่งที่ยังพอจะมี ‘ความเป็นมนุษย์’ หลงเหลืออยู่บ้างระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสีของที่นั่น ทั้งจากฉากที่ฟร็องซ์แลกของกินกับโปรเตในข้างต้น (เธอให้ผลไม้ที่รับมาจากแม่ ส่วนเขาให้ขนมปังทาเนยโรย ‘มดดำที่ยังมีชีวิต’ -ตามวิถีของชนพื้นเมืองผู้บริโภคแมลงเป็นปกติ- ซึ่งเธอก็หยิบกินอย่างมูมมามด้วยความอยากรู้อยากลอง), หลายฉากที่คนทั้งคู่แลกเปลี่ยนความรู้-ทัศนคติต่างๆ ระหว่างกันบนโต๊ะอาหาร รวมถึงอีกหลายฉากที่ครอบครัวเจ้าอาณานิคมดูจะให้ความรักใคร่และความไว้วางใจแก่โปรเต จน ‘เกือบ’ เหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน

แต่นั่นก็เป็นเพียงสัมพันธภาพที่เบ่งบานอยู่บนโครงสร้างสังคมอันบิดเบี้ยวเท่านั้นเอง — เพราะถึงอย่างไร ‘ช็อกโกแลตที่หวานหอม’ เหล่านั้นก็ถูกรังสรรค์ขึ้นมาจาก ‘เมล็ดโกโก้ที่ขมขื่น’ อยู่ดี

เมื่อฉากหนึ่งที่ตัวละครแม่ถามฟร็องซ์ว่า อยากกินช็อกโกแลตเป็นอาหารเช้าไหม แต่เด็กสาวกลับปฏิเสธโดยไม่ต้องคิดนั้น ทำให้ผู้ชมตระหนักขึ้นมาได้ว่า ‘นายผิวขาว’ อย่างฟร็องซ์อยู่ในสถานะที่สามารถ ‘เลือกได้’ มากกว่า ‘บ่าวผิวสี’ อย่างโปรเตมาโดยตลอดมา เขาไม่เคยเลือกได้ (ฟร็องซ์อาจแบ่งปันอาหารให้เขา แต่เธอก็ยังบังคับให้เขากินอาหาร ‘ดีๆ’ แบบที่เธอกิน) หรือหากจะพอเลือกได้บ้าง ก็มักถูกมองว่าผิดแปลกเสมอ (เช่น รสนิยมการกินแมลงตัวเป็นๆ ของเขาที่ถูกคนนอกมองว่า ‘ไม่ดี’) — นี่ยังไม่นับเรื่องที่โปรเตต้องคอยรับใช้คนผิวขาวจนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับครอบครัวและคนรักของเขาได้ หรือต้องหยุดคิดอะไรเกินเลยกับนายหญิง-ผู้เป็นแม่ของฟร็องซ์-ที่ก็ดูจะมีใจให้เขาอยู่ไม่น้อยด้วย

สาเหตุที่เดอนีส์เลือกคำว่า ‘ช็อกโกแลต’ มาใช้เป็นชื่อเรื่อง-ทั้งที่ผู้ชมแทบจะไม่มีโอกาสได้เห็นช็อกโกแลตจริงๆ ในหนังเลยสักครั้งนั้น ก็เพราะในช่วงยุค 50 คำคำนี้เคยถูกใช้เป็นสแลงอันหมายถึงสถานะที่ ‘ถูกเอาเปรียบ’ ของผู้คน ซึ่งก็ดูจะเชื่อมโยงกับสถานะทางสังคมของแรงงานผิวสีที่ ‘มีอยู่ แต่ไม่สลักสำคัญ’ โดยในหนังนั้น เธอได้บอกเล่าภาวะนี้ผ่านการกำหนดให้ตัวละครแรงงานผิวสีอย่างโปรเตเป็นคน ‘พูดน้อย’ และ ‘สงวนท่าที’ จนต้องโดนคนผิวขายเอาเปรียบทั้งกายและใจ ท่ามกลางฉากหลังของแคเมอรูนยุคอาณานิคมที่ดูเวิ้งว้างห่างไกลจนสัมผัสได้ถึงความโดดเดี่ยวภายในใจของเขา – เพราะสุดท้ายแล้ว โปรเตก็ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวคนผิวขาวของฟร็องซ์ได้อย่างแท้จริง

ภาวะ ‘มีอยู่ แต่ไม่สลักสำคัญ’ ของคนผิวสีนี้ ยังถูกขยายให้ใหญ่ขึ้นในอีกสองทศวรรษถัดมา ด้วยหนังอย่าง White Material (2009) ที่เดอนีส์หวนกลับมาแตะเรื่องแรงงานผิวสีในทวีปแอฟริกาอีกครั้งจนดูราวกับเป็น ‘ภาคต่อ’ ของหนังเรื่องแรก โดยเล่าถึงการพยายามดูแลรักษากิจการไร่กาแฟของหญิงผิวขาว (อิซาแบลล์ อูแปรต์) ในประเทศไร้นามของแอฟริกายุคอาณานิคมก่อนสงครามกลางเมือง ซึ่งชื่อเรื่องที่แปลว่า ‘สมบัติของคนผิวขาว’ ก็ช่วยตอกย้ำว่า แม้จะผ่านเวลามานานเท่าไหร่ คนผิวสีก็ยังเป็นได้แค่ ‘สิ่งของ’ ของคนผิวขาวผู้มีอำนาจเท่านั้น ดังเช่นที่หญิงผิวขาวในเรื่องพยายามแสดงตัวเป็นคนดีมีเมตตาเพื่อให้คนผิวสีเข้ามาช่วยเป็น ‘เครื่องมือ’ ในการกอบกู้ไร่ของเธอ โดยที่ลึกๆ ในใจ เธอก็ยังคงตั้งแง่รังเกียจและเลือกปฏิบัติกับคนเหล่านี้เหมือนเคย

และก็ยิ่งน่าสะเทือนใจขึ้นไปอีก, ที่เด็กหญิงผู้ถูกฟูมฟักจากครอบครัวคนผิวขาวอย่างฟร็องซ์ใน Chocolate อาจไม่เคยตระหนักรู้เลยว่า เด็กผิวสีรุ่นราวคราวเดียวกันในแคเมอรูนที่เธอพำนักอยู่นั้น จะมีชีวิตที่ ‘แตกต่าง’ จากเธอแบบ ‘หน้ามือเป็นหลังเท้า’


3

‘แรงงานเด็กผิวสี’ ในไร่โกโก้ คือปัญหาที่ถูกส่งต่อกันมาในทวีปแอฟริกา-รวมถึงประเทศแคเมอรูน-เป็นเวลายาวนานนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อราคาในตลาดโลกของโกโก้ค่อยๆ ตกต่ำลง จนเจ้าของไร่จำนวนไม่น้อยต้องเริ่มหาทางออกด้วยการจัดจ้างแรงงานราคาถูก

ในปี 1960 หลังจากที่แคเมอรูนได้รับเอกราชอย่างเต็มตัวจากฝรั่งเศส คนผิวสีอาจไม่ต้องตกเป็น ‘แรงงานใต้กฎอาณานิคม’ ของคนผิวขาวอีกต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขายังคงต้องมีสภาพเป็น ‘แรงงานใต้ระบบทุนนิยม’ ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในโลกสมัยใหม่อยู่ดี ซึ่งนั่นก็หมายรวมถึง ‘แรงงานเด็ก’ ในธุรกิจไร่โกโก้ ที่ส่วนใหญ่เกิดมาในครอบครัวยากจน และไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องช่วยพ่อแม่หารายได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ทั้งจากการช่วยกิจการภายในบ้าน หรือแม้แต่การถูกพ่อ-แม่ส่งไป ‘ขาย’ ให้เจ้าของไร่ด้วยตัวเอง โดยตามสถิติในแอฟริกาตะวันตก แรงงานเด็กผิวสีเหล่านี้ที่มีอายุเพียง 12-16 ปี (อายุน้อยที่สุดที่เคยพบคือ 5 ขวบ!) ต้องทำงานในไร่สัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 80-100 ชั่วโมงเพื่อแลกกับรายได้อันน้อยนิด แถมยังต้องทนทุกข์กับสวัสดิการอันต่ำเตี้ยและการถูกนายจ้างทุบตีอีกต่างหาก

นอกจากนี้ เป็นที่รู้กันว่าการปลูก ‘พืชเอาใจยาก’ อย่างโกโก้ (เพราะถึงมันจะชอบอุณหภูมิในประเทศเขตร้อนชื้น แต่ก็ยังต้องการแสงแดดที่ต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย ต้องการดินที่อุดมสมบูรณ์เพียงพอ และต้องการน้ำที่มีปริมาณสม่ำเสมอ) ในระบบธุรกิจนั้น จำเป็นต้องใช้ ‘สารเคมี’ ในการเร่งผลผลิตเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละหลายๆ ครั้ง มันจึงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแรงงานเด็กอย่างเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงการต้องทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่เต็มเวลานั้น ก็แน่นอนว่าจะทำให้พวกเขาต้องสูญเสียโอกาสทางการศึกษาไปอย่างน่าเสียดาย

จนถึงปัจจุบันนี้ ประเด็นปัญหาดังกล่าวก็ยังเป็นเรื่องที่แก้ไม่ตก เพราะมีเด็กผิวสีที่ถูกผู้ใหญ่บีบบังคับให้ใช้แรงงานอยู่ในธุรกิจไร่โกโก้ที่แอฟริกาตะวันตกมากถึง 2.1 ล้านคน — ที่สำคัญ, ยังมีรายงานด้วยว่า เด็กผิวสีหลากสัญชาติจำนวนหลายหมื่นคนเคยถูก ‘ลักพาตัว’ เพื่อนำไปขายเป็นแรงงานทาสในตลาดมืดของที่นั่นมาแล้ว

และแม้ว่าหลายฝ่ายจะพยายามออกมาต่อต้านการใช้แรงงานเด็กผิวสีในไร่โกโก้ ด้วยการเลิกซื้อสินค้าและการผลักดันกฎหมายเพื่อบอยค็อตต์ (Boycott) จนบริษัทผลิตช็อกโกแลตระดับโลกหลายเจ้าต้องออกมาประกาศในช่วงต้นสหัสวรรษใหม่ว่า พวกเขาจะเลิกรับซื้อผลผลิตจากไร่ที่ใช้แรงงานเด็กในแอฟริกาตะวันตก และจะร่วมกันหาหนทางยุติการกระทำอันโหดร้ายนี้ลงให้จงได้ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปจนกรณีพิพาทเงียบหาย การค้าแรงงานเด็กผิวสีก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง อาจเพราะเม็ดเงินหมุนเวียนหลายพันล้านในธุรกิจช็อกโกแลตนั้นมันช่างน่าเย้ายวนใจเกินกว่าที่บริษัทยักษ์ใหญ่จะเสียเวลาไปตรวจสอบต้นทางของเมล็ดโกโก้ให้วุ่นวาย เช่นเดียวกับที่ปัญหาความยากจนของครอบครัวคนผิวสีในแอฟริกาก็ยังไม่เคยได้รับการดูแลแก้ไขที่ตรงจุดจากผู้มีอำนาจเสียที

ความไม่เท่าเทียมในชีวิตของคนผิวสีกลางไร่โกโก้ในแอฟริกาจึงยังคงดำเนินต่อไป…


4

หลังจาก Chocolate ออกฉายพร้อมชิงรางวัลปาล์มทองที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ในปี 1988 และได้รับคำชื่นชมล้นหลาม เดอนีส์ก็เฝ้าสำรวจปัญหาชีวิตของผู้คน ‘ชายขอบ’ -รวมถึงคนผิวสี- ที่แตกต่างหลากหลายในโลกเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นนักพนันชนไก่ใน No Fear, No Die (1990), ผู้ลี้ภัยใน I Can’t Sleep (1993), พลทหารใน Good Work (1999), พนักงานขับรถไฟใน 35 Shots of Rum (2008) หรือคนงานไร่กาแฟใน White Material — แต่กระนั้น ก็ดูเหมือนว่า ‘การแบ่งแยกทางเชื้อชาติ/ชนชั้น’ ระหว่างมนุษย์จะยังปรากฏให้เห็นในโลกความจริงนอกจอหนังอยู่เสมอ

ประวัติศาสตร์หลายร้อยปีของการค้าแรงงานทาสอันโหดร้ายและน่าเศร้าสลดที่ล่วงผ่าน ดูจะไม่สามารถส่งมอบ ‘บทเรียน’ ให้มนุษย์เราได้เลย เพราะถึงที่สุดแล้ว คนผิวสีก็ยังมีสถานะเป็นเพียง ‘ช็อกโกแลต’ ที่ถูกเอาเปรียบและไร้ตัวตนสำหรับผู้คนที่ดูแคลนพวกเขาอยู่วันยังค่ำ พวกเขายังเป็นแค่ ‘สมบัติของคนผิวขาว’ ที่จะถูกเรียกใช้ทำประโยชน์หรือทิ้งขว้างอย่างไรก็ย่อมได้

— คล้ายกับว่ามนุษย์เรายังคงถูกจองจำอยู่ใน ‘อาณานิคมแห่งอคติ’ ที่ไม่เคยล่มสลายหายไปไหน เป็นอาณานิคมที่ถูกก่อเป็น ‘กำแพง’ ขึ้นมาชั้นแล้วชั้นเล่าภายในจิตใจของเรานี่เอง

กำแพงอันคับแคบหนาหนักของอาณานิคมแห่งอคติที่ว่านี้ ไม่เพียงบีบเค้นให้ ‘ทาสอาณานิคม’ ค่อยๆ ขาดอากาศหายใจจนตายเท่านั้น หากแต่มันยังสามารถกลายเป็นสถานที่คุมขังหรือแม้แต่พังทลายลงมาถมทับ ‘เจ้าอาณานิคม’ -ที่สร้างมันขึ้นมา- ได้ด้วย ดังเช่นใน Chocolate ที่ตัวละครแม่ของฟร็องซ์ต้องปวดหัวกับการสั่งให้คนครัว ‘ทำ’ หรือ ‘ไม่ทำ’ อาหารสัญชาติไหน ตามความต้องการของแขกผิวขาว-ผู้มีอำนาจมากกว่าสามีของเธอ-ที่มาเยี่ยมเยือน หรือใน White Material ที่หญิงผิวขาวผู้ดูแลไร่กาแฟเชื่อมั่นแบบผิดๆ เสมอมาว่า สถานะการเป็นคนผิวขาวของเธอจะทำให้ตนมีอภิสิทธิ์เหนือคนผิวสีพื้นเมืองและรอดพ้นจากภัยสงครามอันเลวร้ายไปได้

ก่อนที่พวกเธอทั้งคู่จะพบว่า ‘สถานะทางสังคม’ อันสูงส่งนั้น ไม่อาจช่วยให้มนุษย์เราหลุดพ้นจาก ‘ความทุกข์ยาก’ ได้เสมอไป

และมันก็เป็น ‘ความขมขื่น’ ของชีวิตที่ไม่ว่าใครหน้าไหนก็คงไม่อยากลิ้มรสด้วยกันทั้งนั้น


หมายเหตุ :

ถึงแม้ Chocolat จะยังไม่มีให้ชมทั่วไปในตอนนี้ แต่หากอยากชมงานของ Claire Denis ทุกท่านสามารถไปชม I Can’t Sleep ภาพยนตร์อีกเรื่องของเธอในงาน Wildtype VS AF ในวันที่ 8 กค. นี้ รายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่

ธีพิสิฐ มหานีรานนท์
นักเขียนอิสระ, อดีตบรรณาธิการนิตยสารหนัง BIOSCOPE, นักแสดง GAY OK BANGKOK และแฟนซีรีส์วาย

RELATED ARTICLES