Blog Page 12

รอมคอมรำลึก : Four Weddings and a Funeral จากหนังนอกสายตาสู่สุดยอดโรแมนติกคอมเมดี้ที่โลกหลงรัก

1.

Four Weddings and a Funeral อายุครบ 27 ปีในปีนี้ ย้อนไปในปี 1994 ที่หนังเข้าฉาย มันสร้างประวัติศาสตร์กวาดเงินทั้งในอังกฤษและอเมริกาถล่มทลาย ปั้นฮิวจ์ แกรนต์ขึ้นเป็นซูเปอร์สตาร์ หนังเข้าชิงรางวัลใหญ่และคว้าคำชมมากมายให้แก่บทและการแสดงอันสุดเนี้ยบ แถมยังแผ่อิทธิพลต่อทั้งวงการหนังโรแมนติกคอมเมดี้, ทำให้เพลง Love is All Around ของ Wet Wet Wet เด้งติดท็อปชาร์ต, ทรงผมพระเอกนางเอกฮิตไปทั้งโลก และเปลี่ยนเทรนด์การอ่านคำอาลัยในงานศพไปอย่างไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน

แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้ เชื่อหรือไม่ว่านี่คือหนังที่แทบไม่มีใครยอมให้ทุนสร้าง แถมยังไม่มีใครสักคน-แม้แต่ฮิวจ์ แกรนต์-เชื่อว่ามันจะประสบความสำเร็จไปได้!

2.

ริชาร์ด เคอร์ติส มือเขียนบทรายการตลกทางทีวี Blackadder ในวัย 34 มาจับมือกับโปรดิวเซอร์ ดันแคน เคนเวิร์ธที รับโจทย์จากค่ายอังกฤษ Working Title ที่ให้ทำหนังรักตลกๆ สักเรื่อง เคอร์ติสจึงตัดสินใจเอาประสบการณ์ตัวเองจากการเข้าร่วมงานแต่งงานมาเป็นพล็อต (เขาเล่าว่า ในช่วง 11 ปีนั้น เขาไปงานแต่งงานทั้งสิ้นถึง 65 งาน และในงานหนึ่ง มีแขกคนหนึ่งมาขอเขาแต่งงานด้วย แต่เขาปฏิเสธเธอไปและยังคงเสียใจมาตลอด)

เคอร์ติสเขียนบทถึง 17 ร่างกว่าจะมาถึงร่างสุดท้ายที่เราเห็นในหนัง “ผมเรียนจบสาขาวรรณกรรมอังกฤษมาพร้อมความเชื่อว่า การเขียนอะไรตลกขบขันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ขณะที่ผู้กำกับ ไมค์ นีเวลล์ เป็นสายที่เชื่อการสร้างความสมจริง ดังนั้นตัวละครในหนังเรื่องนี้ไม่ว่าจะบทเล็กบทใหญ่จึงมีเรื่องราวของตัวเองรองรับเสมอ ไม่มีใครโผล่มาเป็นแค่มุกสามประโยคจบ และนี่จึงเป็นหนังโรแมนติกว่าด้วยความรักกับมิตรภาพ ที่แหวกว่ายอยู่ในทะเลแห่งมุกตลก”

3.

ใครเคยดูหนังย่อมจำฉากเปิดลือลั่นที่อุดมไปด้วยคำว่า Fuck ได้ เคอร์ติสบอกว่าเขาปลื้มใจสุดๆ ที่จะได้ทำหนังที่มีฉากเปิดแบบนี้เสียที “แต่ปัญหาคือตราบใดที่เราไม่ได้ตัวนักแสดงที่เหมาะกับมัน มันก็จะถูกมองเป็นแค่คำหยาบบนหน้ากระดาษเท่านั้น”

หลังจากออดิชั่นนักแสดง 70 กว่าคน นักแสดงหนุ่มวัย 34 ชื่อฮิวจ์ แกรนต์ก็โผล่เข้ามา ตอนนั้นอาชีพเขากำลังอยู่ในช่วงซบเซา เขาต้องหาเงินด้วยการไปรับจ้างสอนนางเอกฝรั่งเศสชื่อดัง จูเลียต บิโนช ฝึกพูดสำเนียงอังกฤษ แต่ความตลกโปกฮาผสมน่ารักสดใสอย่างเหลือเชื่อของเขา ทำให้เคอร์ติสรู้ทันทีว่า พ่อหนุ่มคนนี้เกิดมาเพื่อบท “ชาร์ลส์” พระเอกหล่อป้ำเป๋อผู้พลาดรักครั้งแล้วครั้งเล่าในหนังเรื่องนี้อย่างแท้จริง

4.

เคนเวิร์ธทีกับเคอร์ติสวางงบ Four Weddings ไว้ 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ถูกค่ายสั่งตัดออกล้านกว่าๆ ซ้ำช่วงกลางปี 1992 ยังเกิดปัญหาเงินไม่มาจนเกือบต้องล้มโปรเจ็กต์ โชคดีที่ทั้งคู่ยังสู้ต่อไป โดยใช้เวลาช่วงรอเงินไปกับการออดิชั่นนักแสดงเพิ่ม และคุยปรับบทกันจนทำให้ได้บทที่แข็งแรงขึ้นมาก ทั้งยังทำให้นักแสดง (ซึ่งไม่มีรถเทรลเลอร์ให้อยู่เพราะไม่มีงบ) มีเวลาคลุกคลีใกล้ชิดกันนานกว่าปกติจึงเข้าฉากกันได้อย่างสนิทสนมสมจริง

5.

การถ่ายทำกลับมาเริ่มในฤดูร้อนปี 1993 โดยผู้กำกับ ไมค์ นีเวลล์ โชว์ความเทพด้วยการถ่ายแค่ 36 วันรวดแล้วปิดกล้องทันที เร่งมือชนิดดาราไม่ได้พักได้ผ่อน แกรนต์ถึงกับติดไข้และต้องถ่ายหนังไปด้วย บางฉากที่ใช้นักแสดงเยอะๆ และรายละเอียดยุบยิบซึ่งปกติจะถ่ายกันหลายชั่วโมง นีเวลล์ก็เก๋าจัดขนาดถ่ายเสร็จภายใน 20 นาที! (หนังเรื่องนี้ยังเป็นยุคที่ตัดต่อกับฟิล์มจริงๆ ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์)

6.

อย่างไรก็ดี ไม่มีใครเชื่อเลยว่าหนังจะประสบความสำเร็จได้ โดยเฉพาะค่าย Polygram นายทุนและผู้จัดจำหน่ายฝั่งอเมริกา ซึ่งส่งแฟ็กซ์มาหาเคอร์ติสรัวๆ เพื่อตินั่นตินี่ พวกเขาถึงขั้นเขียนลิสต์ว่าคำหยาบแบบไหน ฉากเซ็กซ์ประเภทใดบ้างที่ห้ามทำ (เพราะจะทำให้ฉายในทีวีอเมริกันไม่ได้) และที่โหดที่สุดคือ การสั่งให้เปลี่ยนชื่อหนังซะ เนื่องจาก “Four Weddings and a Funeral เป็นชื่อที่…

– ผู้ชายได้ยินแล้วไม่อยากดู ไม่มีผู้ชายคนไหนอยากดูฉากแต่งงานสี่ฉากติดๆ กันหรอก- ชื่อมันแสดงถึงปัญหาว่าหนังขาดช่วงเป็นตอนๆ ไม่ต่อเนื่องกัน ท่าทางน่าเบื่อ

– มีคำว่า Wedding เหมือนหนังเจ๊งๆ หลายเรื่อง เช่น The Wedding, Betsy’s Wedding และ The Wedding Banquet

– ค่ายเสนอให้ลองใช้ชื่อ True Love and Near Misses หรือ Loitering in Sacred Places หรือ Rolling in the Aisles หรือไม่ก็ Skulking Around แทน (><)

แต่โชคดีที่เคอร์ติสเมินคอมเมนต์เหล่านี้ แม้เขาเคยพยายามจะเปลี่ยนมันเป็นชื่อ “The Best Man” แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจยึดชื่อเดิมแล้วตอบไปว่า “ตราบใดที่พวกคุณยังหาชื่อที่ดีกว่าชื่อของผมไม่ได้ ผมก็จะยังไม่เปลี่ยนล่ะนะ”

7.

อีกคำที่ถูกถกเถียงกันมากเป็นพิเศษก็คือ “fuck” ทั้งหลายในหนัง เคอร์ติสเล่าว่า “ในอเมริกาเขาเคร่งครัดกว่าเราในอังกฤษเยอะ เพราะถ้าคิดจะให้หนังฉายทีวีหรือฉายบนเครื่องบิน ก็ห้ามมีคำสบถแบบนี้ มีคำหยาบสัก 70 คำได้มั้งที่ห้ามเราใช้ แต่สุดท้ายเราพบว่าเอ๊ะ เขาไม่ได้ห้ามคำว่า ‘bugger’ นี่นา เราก็เลยเปลี่ยนมาใช้คำนี้แทน เหตุผลก็เพราะคนอเมริกันไม่รู้ว่าคำนี้แปลว่าอะไร เขาคิดว่ามันแปลว่า ‘ไอ้เฒ่า’ เฉยๆ ^^”

8.

ในการฉายเปิดตัวรอบปฐมทัศน์โลกที่เทศกาลหนังซันแดนซ์ ทีมงานนั่งอกสั่นขวัญแขวน เพราะเพียงแค่เริ่มฉายได้ 2 นาที คำหยาบอันพรั่งพรูในฉากเปิดก็ทำให้คนดูเกือบ 30 คนลุกออกจากโรงไปเลย ฮิวจ์ แกรนต์หันไปพึมพำกับเคอร์ติสว่า “สงสัยมันคงไม่ดังอย่างที่เราหวังแล้วล่ะ”

แต่แล้วสิ่งที่แกรนต์กลัวก็จบลงแค่ตรงนั้น บทวิจารณ์แรกหลังการฉายเสร็จสิ้นมาจาก Variety ซึ่งเขียนว่า “หนังโรแมนติกคอมเมดี้ที่มีเสน่ห์จริงๆ นั้นเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำยากที่สุด และทีมหนังชาวอังกฤษทีมนี้ทำได้แล้ว” สัญญาณแห่งความสำเร็จฉายชัดขึ้นทันที ส่งผลให้ค่าย Polygram ตัดสินใจทุ่มงบถึง 11 ล้านให้หนังทุน 3 ล้านเรื่องนี้ใช้ในการโปรโมท และผลคือมันก็โด่งดังกลายเป็นขวัญใจผู้ชม จนสามารถทำรายได้ทั่วโลกไปถึง 144 ล้าน ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในหนังอังกฤษที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาล

9.

เมื่อมาย้อนนึกในวันนี้ เคอร์ติสบอกว่าเซอร์ไพรส์มากที่หลายๆ สิ่งที่คนดูรักและจดจำจากหนังของเขาหลายๆ เรื่อง ไม่ได้เกิดจากการเขียนของเขาด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น

– ฉากบทอำลาในงานศพที่แสนซาบซึ้งตรึงใจ ซึ่งหนังนำมาจากบทกวีของ ดับเบิลยู เอช ออเดน

– ฉากพระเอกเดินผ่านแล้วฤดูกาลรอบตัวเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ใน Notting Hill เขาก็ไม่ได้เขียน แต่เพิ่งคิดขึ้นมาในระหว่างถ่ายทำ

– ฉากตัวละครของเอมมา ทอมป์สันร้องไห้ตอนฟังเพลงของโจนี มิตเชลล์ใน Love Actually ก็ไม่ได้อยู่ในบท แต่เกิดขึ้นระหว่างถ่ายทำอีกเช่นกัน เคอร์ติสบอกว่า “ที่น่าสนใจคือ ในหนังที่มีบทพูดเยอะๆ อย่างเช่นหนังของผมนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ตัวละครหยุดพูดและเกิดอะไรบางอย่างขึ้นมาแทน ฉากเหล่านั้นแหละที่มักจะกลายเป็นฉากที่กระแทกใจคนดูมากที่สุด”

– รวมถึงสปีชบนเวทีลูกโลกทองคำหลังคว้ารางวัลนักแสดงนำชาย (สายหนังตลก) ของฮิวจ์ แกรนต์ด้วย เคอร์ติสบอกว่า “พวกเราโตมากับเขา แต่ในสายตาคนดูหนังทั่วโลก เขาคือความมหัศจรรย์ ลองคิดดูสิว่าตอนนั้นเขาทั้งหนุ่มทั้งหล่อขนาดไหน ที่เจ๋งกว่านั้นคือเขาโคตรตลกเลยด้วย ใครๆ ก็คิดว่าสปีชที่มีแต่มุกฮาของเขาบนเวทีคืนนั้นเป็นฝีมือการเขียนของผม ยังไม่มีใครรู้ว่าฮิวจ์ตัวจริงตลกมาก มากกว่าผมซะอีก”

10.

และแน่นอน สิ่งที่เคอร์ติสกับเคนเวิร์ธทีจำแม่นไม่มีทางลืม ก็คืองานประกาศรางวัลออสการ์ที่บท Four Weddings ได้เข้าชิง ยิ่งกว่านั้นคือหนังเล็กๆ เรื่องนี้ถึงขั้นได้ชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ปะทะกับคู่แข่งแข็งปั๋งอย่าง Pulp Fiction, The Shawshank Redemption, Quiz Show และ Forrest Gump “เราไม่คิดว่าหนังเราจะชนะหรอก แต่เราก็ยังอดมีหวังอยู่วูบนึงไม่ได้” เคอร์ติสเล่า “โดยเฉพาะไอ้เสี้ยววินาทีตอนที่เขาประกาศว่า ผู้ชนะได้แก่หนังเรื่อง ‘ฟออออ…’ นั่นน่ะครับ!” 😆

FILM CLUB Year List 2020 (Part 6)

0

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง) | (รายชื่อรอบสาม)

(รายชื่อรอบสี่) | (รายชื่อรอบห้า)

ในที่สุดปี 2020 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ท่ามกลางสถานการณ์การปิดโรงหนังหนีโควิด การเฟื่องฟูของกิจการ Streaming ภาพยนตร์ และการที่เทศกาลหนังเกือบทั้งโลกย้ายมาอยู่ออนไลน์ เปิดประตูกว้างต้อนรับผู้ชมจากทั่วโลก และสำหรับในประเทศการมาถึงของการชุมนุมที่นอกจากจะขยายเพดานการสื่อสารอย่างสามารถสร้างเทรนด์บางอย่างของการดูหนังแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วย 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2020 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2021 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง 

และนี่คือรายชื่อในรอบที่หก


ปราบดา หยุ่น : ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียน

11 Years of Cassini Saturn Photos in 3 hrs 48 min

(รวมภาพบันทึกจากการโคจรรอบดาวเสาร์ของยานสำรวจแคสสินี นาน 11 ปี ความยาว 3 ชม. 48 น.)

ภาพทั้งหมดจากดาวเสาร์ที่บันทึกโดยยานสำรวจแคสสินีจำนวน 341,805 ภาพ นับตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2004 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2015 (มันทำลายตัวเองด้วยการพุ่งลงไปให้ชั้นบรรยากาศดาวเสาร์เผาไหม้ในเดือนกันยายนปี 2017) ฟุตเทจเหล่านี้ถูกนำมารวมกันเป็นภาพเคลื่อนไหวโดย จอน คีแกน (Jon Keegan) แห่งสำนักข่าว เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล เมื่อปี 2015

ปี 2020 เป็นปีที่ไม่ได้เข้าโรงหนังแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งเพราะสถานการณ์โควิดและเพราะไม่มีเวลา ได้ดูซีรีส์มากกว่าหนัง ทั้งเพื่อทำงานและเพราะซีรีส์หลายเรื่องก็ทำได้น่าติดตามจริงๆ แต่คลิปรวมภาพจากดาวเสาร์ (และบริวาร) โดยยานแคสสินีคลิปนี้ เป็นภาพเคลื่อนไหวที่เปิดเจอโดนบังเอิญและประทับใจที่สุด มันแฝงไว้ด้วยความหมายเชื่อมโยงมากมายเหลือเกินในความเป็นภาพที่ดูเผินๆ เหมือนภาพ “หนังเก่า” แต่ส่งมาจากอวกาศไกลโพ้นที่ตัวเราเองไม่มีวันไปถึง 

ในความเป็นการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ที่เหมือนจะเย็นชาและห่างเหินจากปัญหาต่างๆ ของสังคมมนุษย์ มันกลับอุดมไปด้วยประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติและสะท้อนความปรารถนาและจินตนาการของมนุษย์ได้อย่างไม่อาจบรรยายเป็นคำพูดง่ายๆ มันมีความเป็นดนตรีทางสายตา เป็นหนังทดลอง เป็นแอนิเมชัน เป็นจิตวิทยา เป็นศิลปะนามธรรม ฯลฯ ที่ดูได้เหมือนดู visual poetry โดยไม่เบื่อเลย มีทั้งความน่าตื่นเต้น ความระทึกขวัญ ความลึกลับ น่ากลัว และน่าเศร้า อยู่อย่างครบครัน



ธัญ เปลวเทียนยิ่งทวี : ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ HAL Distributions

Dragon Ball Z Abridged (2020, Team Four Star, Japan)

มันคือดรากอนบอล Z ตั้งแต่ต้น Z (โกคูโตแล้ว) จนจบที่ภาคเซลตัดใหม่ภาคใหม่ ซึ่งไอ้ที่มันเขียนใหม่ก็ตลกมากๆ และฉลาดในเวลาเดียวกัน แถมยังตัดต่อใหม่ให้สั้นกระชับ และกลบ plot hole หลายอย่างได้แนบเนียนด้วย เหมาะกับปีเครียดๆ (และอาจจะเครียดต่อในปีนี้)



พัชร เอี่ยมตระกูล : โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระ 

Hospital Playlist (2020, Shin Won-ho, South Korea) TV series

เป็นคนที่ไม่ค่อยอินซีรีส์ หรือ หนังมิตรภาพแบบนี้เท่าไหร่ คือมีบ้างแต่ไม่ได้เป็นสายที่แพ้ทางอะไรแบบนี้ แต่ว่าเรื่องนี้คือทำให้ชวนติดตามและรู้สึกเติบโต เข้าใจ เรียนรู้ เจ็บปวดไปด้วยกันกับตัวละครมากๆ แถมเพลงประกอบคือดีจริงๆ มันเลยกลายเป็นเรื่องนี้คือเรื่องที่คิดถึงเป็นชื่อแรกๆ ถ้ามีคนถามว่าปีที่แล้วชอบหนังหรือซีรีส์เรื่องไหนบ้าง



บดินทร์ เทพรัตน์ : นักเขียนอิสระ และผู้ก่อตั้งกลุ่มฉายหนังปันยามูฟวี่คลับ

The World of Wong Kar-Wai’s Retrospective

เทรนด์ที่น่าสนใจในวงการหนังบ้านเราช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมานี้ ก็คือการนำหนังเก่าคลาสสิคมารีมาสเตอร์แล้วฉายในโรงทั่วไป เช่น Memories of Murder, Wings of Desire, Paris Texas, Farewell My Concubine, พันธุ์หมาบ้า เป็นต้น (ซึ่งถือเป็นเทรนด์ที่ดีงามซึ่งผู้เขียนอยากให้มีต่อไปเรื่อยๆ)

แต่หนังเรื่องที่เป็นไฮไลท์ ผมขอยกให้กับโปรแกรม The World of Wong Kar-Wai’s Retrospective ซึ่งนำหนังของผู้กำกับหว่องการ์ไวจำนวน 5 เรื่องอย่าง In the Mood For Love, Happy Together, Fallen Angels, 2046, Chungking Express มาฉายในโรง ซึ่งทุกเรื่องได้รับการบูรณะภาพและเสียงแบบ 4K

จากการตามดูครบทุกเรื่อง ทำให้เห็นว่าหนังของเขาเหมาะแก่การดูในโรงแบบจอใหญ่มากกว่าการดูผ่านจอทีวีหรือจอคอมพิวเตอร์หลายเท่า (ด้วยความที่หนังของเขามีลักษณะเน้นบรรยากาศ รวมถึงงานด้านภาพและองค์ประกอบศิลป์ที่สุดแสนอลังการ) แม้องค์ประกอบหลายอย่างจะเชยและตกยุคไปตามกาลเวลา รวมถึงการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบบางอย่างในหนังของผู้กำกับก็ชวนให้ส่ายหัว แต่โดยรวมแล้วต้องถือว่าหนังของเขายังคงดีงาม มีพลัง และน่าจดจำเทียบเท่ากับตอนที่ดูครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีก่อน

ด้วยความที่โลกของการดูหนังเมื่อวัยเยาว์ของผมเริ่มต้นมาจากการดูหนังหว่องการ์ไว (ด้วยแผ่นจากร้านแว่นวิดีโอ) การได้ดูหนัง ของเขาอีกครั้งบนจอใหญ่จึงสร้างความฟินในแบบที่หาที่สุดไม่ได้จริงๆ



วิกานดา พรหมขุนทอง : อาจารย์สาขาภาพยนตร์และวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหิดล

India Song (1975, Marguerite Duras, France) 

ดีใจที่เจอเรื่องนี้ใน Mubi ช่วง lockdown ดูแล้วต้องดูซ้ำ หนังเรื่องนี้นำเสนอประสบการณ์แห่งความทับซ้อนด้านความรู้สึกในภาวะอาณานิคมช่วงปี ค.ศ. 1930s ที่ไม่มีใครสมปรารถนาอย่างแท้จริง ฉากหลักในเรือนรับรองบ้านพักทูตงดงามปนเศร้า มีควันธูป ภาพถ่าย กุหลาบในแจกัน เปียโนบรรเลงอยู่เป็นพื้นหลัง (เพลง India Song ตามชื่อหนังโดย Carlos D’Alessio ถูกเปิดซ้ำๆ ติดหูมาก) กล้องแพนเก็บรายละเอียดอย่างละเมียด ชวนเข้าไปอยู่ในภวังค์. Deadly. 

India Song ชวนเราไปสังเกตภาวะความเหงาเย็นข้างในของภรรยาทูตในเดรสสีแดงเลือดหมูที่ดูเหมือนจะหยั่งรู้ถึงสภาวะสูญเสียจิตวิญญาณของตัวเองและเพื่อนร่วมชะตากรรม แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรไปได้มากกว่าการพยายามปลอบประโลมผู้อื่น (ชายหนุ่มที่มาขับเคลื่อนธุรกิจแห่งอาณานิคม) ให้สัมผัสกับบรรยากาศความเป็นยุโรปที่ยกมาให้เสพเพื่อกลบเคลื่อนความอบอ้าวและเหตุการณ์ข้างนอก 

เสียงคุยกระซิบกระซาบจากสาวสองคนซึ่งเราไม่เห็นหน้าตลอดเรื่องเล่าว่า Anne-Marie แต่งงานเมื่ออายุ 18 และเปลี่ยนเส้นทางจากการเป็นนักเปียโนติดตามทูตมาที่อินโดจีน จากสะหวันนะเขต ไปถึงโกลกาตา  แม้จะเติมเต็มเวลาในแต่ละวันด้วยการปั่นจักรยาน เล่นเทนนิสที่ทำช่วงที่แดดยังไม่ร้อนไปถึงการจัดงานบอลรูม แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถซ่อมภาวะเรื้อรังทางจิตใจ (ภาวะเรื้อรังแห่งอาณานิคม?) ของเธอได้ หนังใช้เสียงแอบคุยของผู้สังเกตการณ์อีกหลายคน เสียงในใจของตัวละคร และเสียงตะโกนอยู่ไกลๆ ด้วยภาษาถิ่นของหญิงสาวจากสะหวันนะเขตที่ระหกระเหินมาโกลกาตาอย่างแยบยล บทสำคัญของเรื่องชวนเราไปรู้จัก “The Vice-Consul” ที่เลือกมาอินเดียเพราะเพลง India Song ผู้ประสบภาวะ break down จากลาฮอร์และมองหาที่พึ่งจากมาดาม แต่ต่างคนก็ต่างอยู่ในสภาวะกลับไม่ได้ไปไม่ถึง และอิสระแห่งการหลุดพ้น (ถ้าไม่เดินออกจากพันธกิจอาณานิคม) อาจจะคือการเป็นบ้า หรือการปลดชีวิตตัวเอง

หนังอาร์ตฝรั่งเศสที่เปิดฉากด้วยพระอาทิตย์อัสดงในเมฆสีหม่น แต่ก็มีกลิ่นอายของความประดิษฐ์แบบ Hollywood melodrama เล่าถึงดินแดนอินโดจีน แต่จัดฉากถ่ายทำที่ chateau แห่งหนึ่งในฝรั่งเศสได้แนบเนียน ดูหนังเรื่องนี้ที่ไทยที่บรรยากาศแบบ drawing room พบได้ตามห้องโถงโรงแรม ในร้านกาแฟ บ้านเก่าสไตล์โคโลเนียล ชวนเราคิดต่อไปหลายเรื่องสำหรับคนที่สนใจการถ่ายทอดภาวะ(หลัง)อาณานิคมผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้น่าสนใจทีเดียว



จุมพล เวสารัชกิตติ +  ปิยะพงษ์ เพ็ชรพลาย : cinephiles

อนินทรีย์แดง (2020, รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค) 

กะเทย กะหรี่ สปาย คำหยาบคายจากปากสู่ใจ เสียงภาษาเปิดอ้าล้อกับตัวตน ความเป็นคนของรัฐในการจัดการฝ่ายตรงข้าม



ฐิติคมน์ ญาณสมบัติ : cinephile

Inventing the Future (2020, Isiah Medina, Canada)

ผลงานเรื่องล่าสุดของ Isiah Medina (88:88) ดัดแปลงจากหนังสือ Inventing the Future: Postcapitalism and a World Without Work ออกมาเป็นหนังที่ชวนให้นึกถึงงานยุคหลังๆ ของโกดาร์ด ซึ่งเล่นกับความเป็นไปได้ต่างๆ ของหนังยุคดิจิทัล และตำแหน่งแห่งที่ของการทำหนังยุคดิจิทัลท่ามกลางการต่อสู้ทางชนชั้นในโลกยุคปัจจุบัน

ไม่ว่าผู้ชมจะซื้อไอเดียโลกหลังทุนนิยมแบบที่หนังนำเสนอหรือไม่ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นประสบการณ์การดูหนังที่ประหลาดล้ำและน่าจดจำที่สุดครั้งหนึ่งในรอบปี



อินทร์นวัต สังข์มนัส : cinephile ทีมงาน Film Club 

Martin Eden (2019, Pietro Marcello, Italy)

“ซื่อสัตย์ต่อจิตวิญญาณ มิใช่ตัวอักษร”

อาจจะเป็นคำจำกัดความที่สามารถมาอธิบายภาพรวมของ Martin Eden ได้อย่างเหมาะเจาะที่สุด เรื่องราวจากนิยายเก่าชื่อเดียวกันของ แจ็ค ลอนดอน ที่ว่าด้วยการพยายามก้าวขึ้นไปเป็นนักเขียนของกรรมกรหนุ่ม มาสู่การดัดแปลง/ตีความ/ต่อเติมที่ผู้กำกับ ปิเอโตร มาร์เชลโล ลงมาเล่นแร่แปรธาตุกับงานต้นฉบับอย่างสนุกมือ แต่ในขณะเดียวกันก็เคารพแก่นเรื่องของลอนดอนไว้ได้อย่างชวนประทับใจ

ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็จากการเบลอความสามารถในการรับรู้เส้นเวลาของผู้ชมจนไม่เหลือชิ้นดี เพราะในหนังเราจะได้สัมผัสกับเรื่องราวที่เกิดในปลายยุค 40 แต่อยู่ดีๆ ก็จะมีรถจากยุค 70 มาประกอบฉากอย่างจงใจ หรือบทสนทนาที่พาไปโผล่ไปในช่วงเวลาคุกรุ่นก่อนสงครามโลกจะเริ่มต้นขึ้น หรือแม้กระทั่งกับการใช้ฟุตเตจข่าวของนักอนาธิปไตยจากยุค 20 มาเป็นฉากโหมโรง

ทั้งนี้ทั้งนั้นคอนเซ็ปท์การเล่าแบบพาทัวร์ทะลุเส้นเวลาของมาร์เชลโลก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอีกหลายส่วน (และแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นก็ต้องมีการตีบทแตกแบบกระจุยกระจายของ ลูกา มาริเนลลี นักแสดงนำที่ใครๆ ก็บอกว่าฝีไม้ลายมือชวนให้นึกถึง โรเบิร์ต เดอ นีโร ตอนสมัยหนุ่มๆ) ที่ทั้งหมดนั้นประกอบกันขึ้นมาเป็นร่างทรงร่วมสมัยที่ช่วยให้เราได้กลับมาพิเคราะห์กันถึงความเจ็บปวดของปัจเจกบุคคลในแบบที่ แจ็ค ลอนดอน เคยถ่ายทอดเอาไว้เมื่อร้อยกว่าปีก่อน เพียงแค่ครั้งนี้มันกลับมาในร่างใหม่ที่โฉบเฉี่ยวขึ้นมาอีกนิดนึง



สิทธิชัย เปลี่ยนทองดี : นักเขียนประจำ Film Club

Dick Johnson is Dead (2020, Kirsten Johnson, US)

ตลกดีที่หนังเรื่องนี้กับเรามาเจอกันในช่วงชีวิตที่พอดิบพอดีมาก คือพ่อเราเองก็เริ่มหลงๆ ลืมๆ หนักเท่ากันหรืออาจจะมากกว่าคุณพ่อของผู้กำกับในเรื่องเลย ทุกครั้งที่เจอกันเราจะนึกสงสัยตลอดว่า เอ๊ะ พ่อเราตัวหดเล็กลงหรือเปล่านะ ส่วนคุณพ่อในเรื่องก็แสดงอาการชัดเจนว่าเขาหดลงตลอดเวลาจริงๆ

อีกสิ่งที่ทำให้จูนกันติด คืออารมณ์ขันร้ายกาจที่มันคอยหล่อเลี้ยงพลังของหนังเรื่องนี้เอาไว้ รู้สึกว่าโชคดีจริงๆ ที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ในปีที่ครุ่นคิดเรื่องความตายอย่างเข้มข้นที่สุด ถ้าจะมีอะไรที่เรียกได้ว่าเป็นมนต์เสน่ห์ของภาพยนตร์ มันก็น่าจะเป็นความรู้สึกนี้นี่แหละ



ปารณพัฒน์ แอนุ้ย : cinephile นักเขียนอิสระ นักวิจารณ์ Starpics

Kyojo (2020, Isami Nakae, Japan)

มินิซีรี่ส์ตอนพิเศษออกอากาศทางช่อง Fuji TV เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปีของช่อง เล่าเรื่องราวของเหล่านักเรียนตำรวจหน้าใหม่ที่ต้องผ่านบททดสอบสุดทรหดทั้งทางกายและใจ เพื่อจบการศึกษาออกไปเป็นตำรวจที่มีเกียรติ ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก แต่บททดสอบในรั้วโรงเรียนซึ่งปกติไม่ง่ายอยู่แล้ว ยิ่งยากกว่าเดิมหลายเท่าเมื่อนักเรียนเหล่านั้นต้องผ่านการฝึกจาก คาซามะ คิมิจิกะ (คิมูระ ทาคูยะ) ครูฝึกตำรวจขาโหด ผู้มีไหวพริบปฏิภาณขั้นสูง ผู้ไม่ไว้หน้าใครทั้งนั้น หากทำอะไรผิดหลักความเป็นตำรวจน้ำดีแม้แต่นิดเดียว

ทุกองค์ประกอบของซีรี่ส์ถ่ายทอดให้เห็นว่ากว่าคนคนนึงจะจบออกมาเป็นตำรวจคุณภาพต้องผ่านอะไรบ้าง ทำไมโรงเรียนตำรวจถึงต้องเป็นสถานที่คัดกรองสุดหฤโหด จนไม่น่าแปลกใจทำไมตำรวจญี่ปุ่นถึงมีเกียรติน่าชื่นชม และทำงานอย่างแข็งขันเพื่อประชาชนจริงๆ ดูแล้วอดคิดไม่ได้ว่าถ้าเปิด Kyojo ให้ตำรวจไทยดู พวกเขาจะคิดอะไร จะรู้สึกละอายใจกับการทำตัวเป็นศัตรูประชาชนตลอดปีที่ผ่านมาบ้างหรือไม่

ในช่วงเวลาที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ Kyojo ซีซั่นที่ 2 ออกฉายที่ญี่ปุ่นเรียบร้อย และสามารถหารับชมแบบถูกลิขสิทธิ์ในไทยทาง VIU ได้แล้วด้วย ใครสนใจก็สามารถรับชมไปกันได้



ไกรวุฒิ จุลพงศธร อ.ด้านภาพยนตร์ศึกษา

Tartuffe (1926, F. W. Murnau, Germany)

ไอ้คนหน้าไม่หล่อแล้วยังลวงได้ Murnau นำละครของ Molière ที่แสดงครั้งแรกในปี 1664 มาสร้างใหม่ในปี 1926 โดยดัดแปลงให้ร่วมสมัยอย่างหวือหวา บทละครเดิมเป็นเรื่องของชายผู้มั่งคั่งที่ไปหลงปลื้มเจ้าพ่อลัทธิที่ชื่อ Tartuffe โดยเขาหลงถึงขั้นยกบ้าน ยกสมบัติ และทุกสิ่งให้หมด จนกระทั่งเมียของชายผู้นี้พยายามฉีกหน้ากากของ Tartuffe แต่ในเวอชั่นของ Murnau นั้นสร้าง intertext เข้าไปอย่างเฉียบคม โดยการถ่ายทอดเรื่องของหลานชายที่กลับมาหาเจ้าคุณปู่ แต่เจ้าคุณปู่หลงเชื่อนังคนใช้เลยไล่หลานชายออกจากบ้านไป หลานชายจึงต้องปลอมตัวเป็นคนฉายหนัง แล้วฉายเรื่อง Tartuffe ให้เจ้าคุณปู่ ‘ตาสว่าง’ 

ในสมัยที่ภาพยนตร์ยังไม่กี่ขวบปี ภาพยนตร์ในสายตาของ Murnau นั้นสามารถไล่ผีถีบความชั่วช้าและเบิกตาเบิกกะลาได้ …1926 เป็นปีสุดท้ายก่อนที่ภาพยนตร์จะพบว่าตัวเองเปล่งเสียงได้ ในหนังเงียบเรื่องนี่กลับมีเนื้อหาที่เสียงดัง และก้องกังวานมาถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ทรัมป์ถึงไทยแลนด์



(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 7)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 8)

FILM CLUB Year List 2020 (Part 5)

0

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง)

(รายชื่อรอบสาม) | (รายชื่อรอบสี่)

ในที่สุดปี 2020 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ท่ามกลางสถานการณ์การปิดโรงหนังหนีโควิด การเฟื่องฟูของกิจการ Streaming ภาพยนตร์ และการที่เทศกาลหนังเกือบทั้งโลกย้ายมาอยู่ออนไลน์ เปิดประตูกว้างต้อนรับผู้ชมจากทั่วโลก และสำหรับในประเทศการมาถึงของการชุมนุมที่นอกจากจะขยายเพดานการสื่อสารอย่างสามารถสร้างเทรนด์บางอย่างของการดูหนังแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วย 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2020 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2021 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง 

และนี่คือรายชื่อในรอบที่ห้า


คนมองหนัง : คอลัมน์นิสต์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ 

Ema (2020, Pablo Larrain, Chile) 

หนังชิลีที่พูดถึงจินตนาการแบบใหม่ ภราดรภาพแบบใหม่ ครอบครัว/ชุมชน/สังคมแบบใหม่ ได้อย่างสนุกสนานและน่าตื่นเต้น ผ่านการนำพาผู้ชมให้เดินทางไปปะทะเผชิญหน้ากับภูมิปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ และการปั่นป่วน-ทำลายระบบ/ระบอบ ที่แหวกแนวถึงรากถึงโคน ของคนหนุ่มสาวตรงชายขอบสังคม



อภิโชค จันทรเสน : หนึ่งในทีมเขียนบทภาพยนตร์ Homestay และ นศ.ปริญญาโทภาพยนตร์

Terminator 2 : Judgment Day (1991, James Cameron, US) (Drive-In ณ ลอส แองเจลิส)

กลางปี 2020 โรงหนังที่แอลเอปิดหมดเพราะฤทธิ์โควิด เลยมีคนหัวใส จัดฉายหนัง drive-in ทั่วเมือง ทั้งหนังชนโรงและหนังเก่าคลาสสิค ซึ่งหนึ่งในหนังเก่าในตำนานที่เอามาฉายก็คือ Terminator 2: Judgment Day ด้วยความที่ผู้เขียนไม่เคยได้ดูหนังภาคนี้เต็มเรื่อง เคยแต่ดูอย่างขาดๆ วิ่นๆ บนทีวีมานับสิบครั้ง เลยถือโอกาสนี้ดูให้เต็มๆ เรื่อง ประเดิมการดูหนัง drive-in เป็นครั้งแรกในชีวิต

คืนนั้น รถเป็นร้อยคันมาจอดรวมกันในลานจอดของห้างชานเมืองแห่งหนึ่ง หน้าจอกลางแปลงยกสูง ทางผู้จัดเช่าตัวปล่อยสัญญาณวิทยุให้ทุกคนเปิดเสียงจากหนังในรถตัวเอง แล้วหนังก็เริ่มฉายคือ 4DX ก็ 4DX เถอะ การนั่งในรถแล้วเปิดเบสสุดคือระเบิดทีรถสั่นทั้งคัน แล้วคนส่วนใหญ่ที่มาดูก็คือแฟนๆ เดนตายของหนังเรื่องนี้ เวลาซีนสำคัญโผล่มาทุกคนก็จะบีบแตรกันให้แซ่ด ตัวหนังเองคงไม่ต้องอธิบายให้มากความ ในที่สุดผู้เขียนก็เข้าใจว่าทำไมใครๆ ก็ยกให้หนังเรื่องนี้ขึ้นหิ้ง ความบู๊ระเบิดสุดขีดแบบเล่นจริงเจ็บ พลังความแกร่งโคตรพ่อโคตรแม่ของ Linda Hamilton กับความสัมพันธ์พ่อลูกของเฮียอาร์โนลด์กับเอ็ดเวิร์ด เฟอร์ลองคือที่สุดของที่สุดของความเอนเตอร์เทนเพียวๆ แบบยุค 90 (ความพีคอีกขั้นคือการได้ดูหนังเรื่องนี้ในเมืองที่ถ่ายหนังเรื่องนี้เอง ตึกออฟฟิศที่ระเบิดทิ้งกันตอนจบห่างจากที่ฉายหนังไปนิดเดียว)

แต่นอกจากความมันบู๊ระเบิดของมัน อีกอย่างที่ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังของปี 2020 สำหรับผู้เขียน ก็คือความหวังที่เต็มเปี่ยมอยู่ในเรื่อง 

ในปีที่คนดูหนังทุกคนต้องมากระจุกกันอยู่ในรถของตัวเองเพื่อจะได้ดูหนัง ในปีที่เราต้องต่อสู้กับศัตรูสุดโหดที่มองไม่เห็น ฆ่ายังไงก็ไม่ตายราวกับหุ่นเทอร์มิเนเตอร์อย่างโควิด ก็มีหนังเรื่องนี้แหละที่บอกเราว่า แทนที่เราจะนอนรอให้โควิดมาฆ่าเรากันง่ายๆ เราสามารถลุกขึ้นมาเป็นซาร่าห์ คอนเนอร์ แล้วเปลี่ยนโชคชะตา เอาชนะสิ่งนี้ไปด้วยกันได้ถ้าเราร่วมมือกัน



วรรษชล ศิริจันทนันท์ : นักเขียนประจำ Film Club 

Closing Time (2018, Nicole Vögele, Germany/Switzerland)

พูดได้เต็มปากว่าเทศกาลหนังไต้หวันเป็นเทศกาลโปรดอันดับหนึ่งในไทยของเราไปแล้วหลังจากเทศกาลครั้งล่าสุดได้แทรกตัวขึ้นมาระหว่างโควิดระลอกแรกและระลอกสอง ทำให้เราโชคดีได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงใหญ่ และได้มีประสบการณ์การเสพ slow cinema ที่น่าจดจำและทำให้เราทิ้งตัวจมลงไปในหนังได้อีกครั้งหนึ่ง

เราจดจำบรรยากาศเยือกเย็นของไทเปยามค่ำคืนที่เจือไออุ่นจากควันที่ลอยขึ้นมาจากหม้อแกงจืดได้ดี เราจดจำแสงไฟฟุ้งๆ จากไฮเวย์และไฟรถที่ตกกระทบน้ำสกปรกบนพื้นถนนได้ เราจำได้ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างผัวและเมียเจ้าของร้านข้าวต้ม ชีวิตประจำวันของเจ้าของกิจการอื่นๆ ในละแวกนั้น ไปจนถึงหมาหงอยที่ถูกเจ้าของปล่อยทิ้งไว้ไม่กลับมา แต่นี่ไม่ใช่การจำลองความเหงาของคนเมืองบนจอภาพยนตร์ แต่คือการจดจ้องความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ที่มากครั้งไม่ได้งดงามตรึงตา จะมีก็แต่ความเย็นชืดของเวลาและการเกิดซ้ำของกิจกรรมเดิม การเร่งเครื่องมอเตอร์ไซค์ออกไปยังพื้นที่แปลกตาในตอนท้ายจึงเป็นดั่งอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้ในช่วงชีวิตของคนหนึ่งคน



Keiko Sei : ภัณฑารักษ์ นักกิจกรรม นักเขียนรับเชิญ Film Club

Dead Mission: Remote (2020) by Shinichiro Ueda

ไม่มีหนังเรื่องไหนที่จะสะท้อนความรู้สึกของคนในวงการในช่วงเวลาของการล็อกดาวน์อย่างรวดเร็วได้ดีเท่ากับ หนังจาก Ueda ผู้กำกับภาพยนตร์ One Cut of The Dead ที่หนังทั้งเรื่องสร้างและถูกรับชมผ่าน ZOOM มันทำให้เราทั้งหัวเราะและร้องให้ มันทำให้เราอยากเชื่อมต่อและถูกเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ มากกว่าที่เคย มันทำให้เราได้ตระหนักว่า บางอย่างที่เคยเป็นเรื่องสามัญดาษดื่นอย่างเช่นการต่อต้านตัวเอง ก็อาจจะกลายเป็นความงามได้ มันทำให้เราอยากดูหนังเรื่องอื่นๆ มากขึ้น และทำให้เราปรารถนาที่จะต้อนรับปีใหม่มากกว่าครั้งไหนในชีวิต ลาก่อนปี 2020

* คนทำหนังเรื่องนี้ยังได้มีส่วนร่วมในโปรเจกต์ที่ตั้งใจจะช่วยเหลือโรงภาพยนตร์อิสระขนาดเล็กระหว่างที่มันถูกปิด โดยโปรโมตร่วมกับหนังใน Youtube หนังเรื่องนี้จึงเป็นแนวทางที่ชี้ให้เห็นว่าภาพยนตร์สามารถยืดหยุ่นที่พอที่จะรองรับสื่อต่างๆ ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันเพื่อนำไปสู่การร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ซึ่งจะเห็นได้จากโครงการของไทยบางเรื่องเช่น“ Two Soldiers” เราหวังว่าจะได้เห็นโครงการแบบนี้จากประเทศไทยอีกในปีนี้!



Seam-C : cinephile

Of Land and Bread (2019, Ehab Tarabieh, Palestine/Israel)

เป็นหนังที่กระอักกระอ่วนที่สุดของปี ไม่สามารถลืมได้ลง ไม่สามารถดูแบบต่อเนื่องได้เพราะมันหดหู่เกินไป ที่สำคัญมันคือภาพจริงเสียงจริง!

หนังรวบรวมวิดีโอที่ถูกถ่ายโดยกลุ่ม B’Tselem ประหนึ่งนักข่าวพลเมืองของชาวปาเลสไตน์ผู้คอยเก็บภาพการกดขี่ข่มเหง การรุกไล่อย่างโหดร้ายจากทหารและชาวอิสลาเอลในเขต West Bank

ทุกคลิปเรียกได้ว่าไปสุดทุกอัน ไร้ซึ่งมนุษย์ธรรมความเป็นมนุษย์โดยสิ้นเชิง ไม่เว้นแม้กระทั้งเด็กน้อยตัวเล็กๆ โหดร้ายแบบถ้าใจไม่แข็งจริงอาจทนรับกับมันไม่ได้

พื้นที่บางส่วนของโลกมันโหดร้ายเกินกว่าเราจะจินตนาการได้จริงๆ ขอบคุณที่โลกนี้มีนวัตกรรมการบันทึกภาพ อาวุธชิ้นเล็กของคนตัวเล็กตัวน้อย



ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล : composer ภาพยนตร์ไทย 

Devs (2020, Alex Garland, UK/US) Mini-series

พระเจ้าไม่ได้ทอดลูกเต๋า จริงหรือเปล่าแบบที่ไอน์สไตน์ว่าไว้? น่าจะเป็นคอนเซปต์คร่าวๆ ของซีรี่ส์ไซไฟอันนี้ คือการตั้งคำถามกับแนวคิดแบบ determinism (คือทุกสิ่งถูกวางแผนไว้แล้ว) และเราไม่ได้มี free will จริงๆ, และเป็นอีกเรื่องที่กล่าวถึงการที่มนุษย์อยากเป็นพระเจ้าในอีกมุมมองที่ต่างจาก Ex Machina, โดยที่บริษัทแผนก Devs ในเรื่องได้พยายามสร้างเครื่องที่ไว้ทำนายอดีตไปจนถึงอนาคตได้ในระดับควอนตัม เพื่อพิสูจน์ว่า determinism เป็นจริง

ซีรี่ส์เรื่องนี้เล่าเรื่องในรูปแบบ mysterious thriller เนื่องจากแฟนของนางเอกได้อยู่ๆ ฆ่าตัวตายหลังจากเข้าไปทำงานกับ Devs

ในซีรี่ส์นี้ยังพูดถึงแนวคิดฟิสิกส์ในเรื่องอื่นๆ เช่น Multiverse รวมถึงความเป็นลัทธิของกลุ่มคนที่เชื่อใน Determinism ให้เราชวนตั้งคำถามไปกับการดูพร้อมๆ กันในแบบที่ไม่ประณีประนอมคนดูเหมือนเทเน็ท (ฮา) ในการกำกับสไตล์ Garland เหมือนในสองเรื่องหลังของเขา

ผมชอบงานยุคหลังของ Garland มาก ยิ่งทำก็ยิ่งตั้งคำถามที่ชวนซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ ในแบบที่คนอื่นเขาไม่ทำกันเริ่มจากการเล่นเป็นบทพระเจ้าในสวนอีเดนแบบ Ex Machina, การทำร้าย (และทำลาย) ตัวเองในธรรมชาติมนุษย์แบบ Annihilation, จนมาถึงเรื่องล่าสุดที่เป็นเรื่องมิติความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่สามารถทำนายได้ทั้งหมด, จริงๆ ถ้าพูดถึงแนวคิดอย่างเดียวอาจจะมีคนทำไปแล้วบ้าง แต่พอเป็นงานของ Garland ผมรู้สึกว่าเขาลงไปสำรวจในแนวคิดนั้นได้ลึกกว่าคนอื่นๆ ที่ทำ รวมถึงสไตล์ที่ค่อนข้างเข้ากับตัวหนังเชิงปรัชญาได้เป็นอย่างดีเลยด้วย



ปัณณวิชญ์ เตชะเกรียงไกร : นักวิจารณ์ภาพยนตร์ แอดมินเพจ ชมรมวิจารณ์บันเทิง

ติดถ้ำ – The Caved Life (2020, พัฒนะ จิรวงศ์, อุรุพงศ์ รักษาสัตย์, โสภาวรรณ บุญนิมิตร, พีรชัย เกิดสินธุ์, ญาณิน พงศ์สุวรรณ)

ภาพยนตร์สารคดี “ติดถ้ำ” (The Caved Life) แม้จะอิงกับเหตุการณ์หมูป่าติดถ้ำหลวง แต่เป็นการนำเสนอ 4 เรื่องราวชีวิต “คนนอกถ้ำหลวง” ด้วยความหมายโดยนัย ตีความ “ติดถ้ำ” เชิงนามธรรม ว่า “ชีวิตมนุษย์ล้วนมีถ้ำโปร่งแสง ถ้ำที่มองไม่เห็น และเรากำลังติดอยู่ในนั้น โดยไม่มีหน่วยกู้ภัยใดๆ ช่วยเหลือ” 

จุดเด่นของภาพยนตร์สารคดี “ติดถ้ำ” (The Caved Life) นอกเหนือจากประเด็น “มนุษย์-ผู้ติดถ้ำโปร่งแสง” ทั้งโดยไม่รู้ตัว, รู้ตัวแต่จำยอม, รู้ตัวและพยายามดิ้นรนออกมา, หรืออาจกำลังเดินเข้าไป เพื่อติดอยู่ในนั้น.. ก็คือ “งานกำกับภาพ” และ “งานลำดับภาพ” 

งานกำกับภาพของสารคดีเรื่องนี้ (ทั้ง 4 ตอน) นอกจากงดงาม ตรึงตาตระการใจ ยังทำหน้าที่มากกว่าแค่แทนสายตาคนดู ให้ “รู้จัก” ผู้คนเหล่านั้น.. ภาพที่ปรากฏบนจอ ดึงดูดคนดูร่วมเป็น “ส่วนหนึ่ง” ในชีวิตพวกเขา.. คนดูจะสัมผัสได้ถึงอารมณ์ ความรู้สึก กระทั่งมุมมองความคิดผ่านภาพที่นำเสนออย่างมีชั้นเชิง..

เฉกเช่นเดียวกับ งานลำดับภาพ ที่เลือกช่วงเหตุการณ์สำคัญๆ ในชีวิตของตัวละคร เรียงร้อยเข้าหากัน เพื่อนำไปสู่การกระตุ้นคนดู ให้สังเกตผู้คนรอบข้างในสังคม ให้เกิดการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่.. ซึ่งสอดคล้องกับเจตนาที่ผู้สร้างหนังเรื่องนี้ต้องการถามคนดู… “คุณคิดว่า สังคมไทย ยัง ‘ติดถ้ำ’ อะไรอยู่บ้าง?”



ลลิตา หาญวงษ์ : นักวิชาการ อ.สอนประวัติศาสตร์ 

A Special Day (Una Giornata Particolare) (1977, Ettore Scola, Italy)

A Special Day หรือ Una Giornata Particolare เป็นผลงานการกำกับของผู้กำกับมากความสามารถชาวอิตาเลียน Ettore Scola แม้จะไม่ได้เป็นที่รู้จักเปรี้ยงปร้างเหมือนผู้กำกับอิตาเลียน เช่น Federico Fellini, Luciano Visconti หรือ Vittorio De Sica แต่ผลงานเรื่อง A Special Day ของ Scola ก็ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ ประเภทภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศดีเด่นในปี 1978 และตัวเขาเองยังเคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 5 ครั้ง 

ฉากของ A Special Day เกิดขึ้นในกรุงโรม ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประทุขึ้นเพียงไม่ถึงปี อิตาลีในยุคนั้นถูกปกครองโดยพรรคฟาสซิสม์แห่งชาติ ของ Benito Mussolini มาตั้งแต่ 1922 และประชาชนถูกล้างสมองให้เชื่อมั่นในพรรคฟาสซิสม์และความเกรียงไกรของอิตาลี ในฐานะชาติที่มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางวัตถุและศีลธรรมอันดี ตัวละครหลักในภาพยนตร์เรื่องนี้ต่างเป็นบุคคลชายขอบของสังคมอิตาเลียนในยุคนั้น Gabriele (นำแสดงโดย Marcello Mastroianni) เป็นผู้จัดรายการวิทยุฝ่ายซ้ายที่กำลังถูกติดตามตัวโดยรัฐบาล นอกจากเขาจะมีทัศนคติต่อต้านระบอบฟาสซิสม์อย่างรุนแรงแล้ว Gabriele ยังถูกสงสัยว่าเป็นเกย์ 

ภายใต้การปราบปรามผู้มีรสนิยมรักเพศเดียวกันอย่างหนัก Gabriele ไม่สามารถเปิดเผยความลับนี้กับใคร เมื่อเขาย้ายไปอยู่ อพาร์ทเมนต์ใหม่ เขาได้พบกับ Antonietta (แสดงโดย Sophia Loren แม่บ้านลูก 6 ซึ่งมีสามีที่โปรระบอบฟาสซิสม์สุดขั้ว การได้พบ Gabriele ทำให้ Antonietta เริ่มตั้งคำถามกับตนเองทั้งในบทบาทของ “แม่” และ “เมีย” ในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่แบบอิตาลี และตกหลุมรัก Gabriele แบบไม่รู้ตัว ด้าน Gabriele ก็มีความรู้สึกที่ดีกับ Antonietta ในฐานะเพื่อนที่ดี และผู้ที่สร้างรอยยิ้มให้กับเขาในยามที่สังคมอิตาลีกำลังจะดำดิ่งเข้าสู่สงคราม Gabriele ไม่ต้องการมีความรู้สึกผูกมัดกับใครเพราะเขารู้ดีว่าหากเขาถูกจับตัวได้ ตำรวจจะเนรเทศไปอยู่ “confine politico” หรือคุกการเมือง สำหรับผู้มีรสนิยมรักเพศเดียวกัน และผู้ที่ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ตั้งอยู่ตามหมู่เกาะหลายแห่งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หรืออาจถูกสั่งประหารชีวิตก็ได้ 

ความงดงามของ A Special Day มีทั้งมุมมองของผู้กำกับที่ต้องการให้เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในบริเวณอพาร์ทเมนต์ และมีเสียงเพลงปลุกใจฟาสซิสม์คลอตลอดทั้งเรื่อง เพื่อเตือนให้ทั้งตัวเอกและผู้ชมรำลึกถึงความโหดเหี้ยมของฟาสซิสม์ ในขณะเดียวกันความรักและมิตรภาพที่เบ่งบานระหว่างคน 2 คนที่แตกต่างกันสุดขั้วก็เป็นสิ่งที่สวยงาม ที่ในชั่วขณะหนึ่งได้ผลักให้ระบอบฟาสซิสม์และกรอบทางศาสนาเป็นชั้นบรรยากาศจางๆ ที่ไม่สามารถทำลายความเป็นมนุษย์ (humanity/humanness) ไปได้ 

A Special Day ยังมีความวิเศษอยู่ที่เคมีของนักแสดงหลักทั้ง 2 คน ที่ลื่นไหล สร้างอารมณ์ร่วมอย่างรุนแรง ทำให้เราดำดิ่งเข้าไปอยู่ในอิตาลียุคก่อนสงคราม ในยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่ถูกล้างสมองให้เชื่อมั่นในมายาคติที่คล้ายๆ กับ “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” หรือ “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” แต่ท้ายที่สุด พรรคฟาสซิสม์อิตาลีก็ล่มสลายลงไปพร้อมๆ กับความสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ของอิตาลีและมวลมนุษยชาติ



Filmsick : นักเขียน กองบรรณาธิการ Film Club 

YiYi (2000, Edward Yang, Taiwan)

ไม่กี่วันก่อนแม่เข้าโรงพยาบาล ผมได้ดู YiYi อีกครั้ง (และเป็นครั้งแรกบนจอใหญ่) หนังว่าด้วยเรื่องของครอบครัวชนชั้นกลางไต้หวันท่ามกลางยุคการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด และปัญหาภายในของตัวละครแต่ละตัวที่ไม่อาจแก้ไขคลายคืนได้นอกจากเรียนรู้ว่ามันจะเกิดขึ้น ดำรงคงอยู่และคลี่คลายไปด้วยเวลาเท่านั้นเอง

พอมาดูซ้ำในเวลาที่เหมาะสมของแต่ละช่วงวัย ตัวละครที่เราผูกพันก็เปลี่ยนตาม คราวนี้ยักย้ายถ่ายเทจาก หยางหยางลูกชายคนเล็กวัยประถมที่เพิ่งเรียนรู้ที่จะตกหลุมรัก ไปสู่ เอ็นเจ คนพ่อในวัยผู้ใหญ่ที่ผ่านเรื่องราวต่างๆ มามาก หากต้องเผชิญหน้ากับการถูกบังคับให้ตีสองหน้ากับมิตรสหายใหม่ที่ตัวเองรู้สึกถูกชะตา และการได้พบรักแรกที่เลยลับอีกครั้ง ดื่มกินช่วงเวลาสั้นๆ ของชีวิตส่วนที่ตอนนั้นไม่ได้เลือก ทำความเข้าอกเข้าใจมัน และอีกครั้งให้มันจบลงอย่างไม่บอกกล่าว 

ไม่นานหลังจากแม่เข้าโรงพยาบาล แม่จากไป บ่อยครั้งในห้วงเวลานั้นผมมักคิดถึงหนังเรื่องนี้และยักย้ายถ่ายเทความผูกพันทางใจจากตัวละครพ่อและหยางหยางมายังแม่และถิงถิง แม่ที่ไม่สามารถรับได้ว่าแม่ของตนกำลังจะตายจนหนีไปเสีย และถิงถิง เด็กสาวัยรุ่นที่ผูกพันกับยายมากที่สุด ในเรื่องเธอเรียนรู้ความเจ็บปวดของรักครั้งแรก และในขณะเดียวกัน เรียนรู้เรื่องสำคัญว่าชีวิตคือการอยู่คนเดียว จมกับความสำนึกผิดว่าเธออาจมีส่วนในการล้มเจ็บและจากไปของยาย คนคนเดียวบนโลกที่มอบความรู้สึกปลอดภัยให้เธออย่างแท้จริง

ในหนังมีฉากเล็กๆ ที่งดงามมากๆ หลังจากผ่านเรื่องรักวุ่นๆ ที่ลงเอยอย่างรวดร้าวและสยดสยอง เด็กสาวเหนื่อยล้าจนเผลอหลับไปตอนกลางวัน และตื่นขึ้นมาพบว่ายายยังอยู่ในห้อง และคอยปลอบประโลมเธอ ก่อนที่จะพบว่าเธอเพียงฝันไปเท่านั้น ความรู้สึกผิดที่ไม่อาจแก้ไข ความอ้างว้างภายในที่ไม่อาจเยียวยา ปรากฏขึ้นเงียบๆ ในฉากเล็กๆ นั้น

แม่จากไปโดยไม่หวนกลับ ผมกลับมาใคร่ครวญถึง YiYi บ่อยครั้ง ราวกับการได้มองเห็นท้ายทอยของตัวเองเป็นครั้งแรก งานศพแม่ผ่านไปท่ามกลางความช่วยเหลืออย่าคาดไม่ถึงของญาติๆ และมิตรสหาย ทั้งทางกายและทางใจ กระนั้นก็ตามความรู้สึกของการเป็นเด็กกำพร้าก็ยังคงอยู่ แม้มิตรสหายและคนที่เรารักจะประคับประคองเราไว้เราก็เรียนรู้ว่าไม่มีสิ่งใดจะเยียวยาเรื่องนี้ได้นอกจากเวลาและตัวเราเอง

ใน YiYi เราได้เห็นว่าครอบครัวในหนังไม่ใช่ครอบครัวใจจืดที่ทำลายกัน พวกเขาเป็นครอบครัวเล็กๆ ที่ผูกพันกัน แต่เมื่อหนังขยายภาพลงไปอย่างละเอียดลออ เราก็ได้เห็นว่าปัญหาของใครก็เป็นเพียงเรื่องภายในของคนคนนั้นที่แม้แต่ครอบครัวก็ไม่อาจสอดมือยุ่งเกี่ยว ถึงที่สุดแต่ละคนก็ต้องรับมือและผ่านมันไปโดยลำพัง ราวกับจะตอกย้ำว่าเราทุกคนล้วนเกิดมาและจากไปเพียงคนเดียว และคุณค่าของครอบครัวไม่ใช่เรื่องของการวุ่นวายกับคนในครอบครัวไม่จบสิ้น หากคือการอยู่ด้วยกันเพื่อให้แต่ละคนได้อยู่คนเดียว ให้แต่ละคนได้รู้ว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว



สรยศ ประภาพันธ์ : ผู้กำกับภาพยนตร์ 

Dummy (2020, Laurynas Bareiša, Lithuania) shorts 

จากหน้าหนังของหนังที่เล่าซีนประกอบคำสารภาพของคดีข่มขืน กลับกลายเป็นหนังที่เล่าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมของตำรวจในหน่วยงาน รวมถึงการละเมิดและดูถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเพศหญิงในหน่วยงาน



ดาวุธ ศาสนพิทักษ์ : นักเขียนประจำ Film Club 

Lovers Rock (2020, Steve McQueen, UK)

Lovers Rock (2020) ของ Steve McQueen เป็นส่วนหนึ่งของหนังชุด Small Axe (ประกอบไปด้วย 5 ตอนจบในตัว ว่าด้วยชีวิตคนดำในอังกฤษ) หนังเล่าเรื่องสองหนุ่มสาวที่มาพบกันในงานปาร์ตี้เร็กเก้ที่จัดขึ้นในบ้านหลังหนึ่งในลอนดอนยุค 80 หนังไม่ได้มีพล็อตสลับซับซ้อน ไม่ได้พุ่งเข้าชนประเด็นเชื้อชาติและสีผิว แต่แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของพวกเขาที่เป็นลูกหลานคนดำโพ้นทะเลจากเกาะเวสต์อินดีส์ ลักษณะบ้านเรือนของพวกเขา อาหารที่พวกเขาทาน เครื่องแต่งกายสีจัดจ้าน สำเนียงและไวยากรณ์ภาษาอังกฤษที่ฟังดูแปลกแปร่งเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขา ว่ากันตามตรง หนังเพียงแค่พาคนดูเข้าไปสัมผัสความเป็นไปในห้วงเวลาหนึ่งๆ ซึ่งก็คือในปาร์ตี้อันแสนรื่นเริงนี้ เชื้อเชิญให้เราสนุกสนาน เคลิบเคลิ้มไปกับบทเพลง จังหวะการโยกย้าย และกลิ่นอายความรักที่ลอยฟุ้ง

เราดูเรื่องนี้แล้วนึกถึงหนังปาร์ตี้อีกเรื่องที่เผอิญได้ดูในปีนี้เหมือนกัน คือ Climax (2018) ของ Gaspar Noé ซึ่งเล่าถึงกลุ่มนักเต้นที่จัดปาร์ตี้ฉลองหลังเสร็จสิ้นการซ้อมใหญ่ โดยหารู้ไม่ว่ามีมือปริศนาแอบใส่สารเสพติดลงไปเครื่องดื่มของทุกคน ไม่นานปาร์ตี้จึงกลายเป็นแดนซ์ฟลอร์นรกแตกที่ทุกผู้คนต่างเสียสติจากฤทธิ์ยาและปลดล็อคความรุนแรงออกมาอย่างน่าสยดสยอง

แม้ดูทรงแล้ว Lovers Rock กับ Climax จะดูไม่ได้เข้ากันขนาดนั้น แต่เราชอบที่ทั้งคู่พาคนดูดำดิ่งเข้าสู่ค่ำคืนของการสังสรรค์ ฉายภาพการร่ายรำและจับจังหวะการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ที่สอดประสานไปกับดนตรีและร่างกายของคนที่อยู่ข้างๆ — เรื่องหนึ่งรุนแรง อีกเรื่องรื่นเริง

สำหรับเรา พลังทำลายล้างของ Climax ชวนให้เรานึกถึงสภาวะ ‘ใกล้วันสิ้นโลก’ หรือสภาวะ ‘เหมือนตกนรกทั้งเป็น’ ของ 2020 ได้อย่างน่าขนลุก แต่สำหรับ Lovers Rock นั้น นอกจากการจับจ้องอย่างเป็นธรรมชาติไปตามผู้คนในปาร์ตี้ และความรู้สึกอิ่มเอมอันยากจะอธิบายที่คละคลุ้งอยู่ในหนัง หนังชวนให้เราถวิลหาบรรยากาศการรวมตัวของฝูงชน ความรู้สึกของการได้ไปดูคอนเสิร์ตดีๆ ครั้งหนึ่งท่ามกลางคนจำนวนมากที่ร้องเพลงโปรดได้เหมือนเรา ความอ่อนโยนของสัมผัสและการโยกย้ายอยู่ในอ้อมกอดของใครสักคน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตของพวกเราในปี 2020 ไม่มากก็น้อย 

Lovers Rock จึงเป็นหนังที่เรียบง่าย ทว่าชุบชูหัวใจเหลือเกินในปีแสนทรหดอย่าง 2020



ณัฐวุฒิ นิมิตชัยโกศล : นักเขียนประจำ Film Club

A Family Tour (2018, Ying Liang, Taiwan/Hong Kong/Singapore/Malaysia)

พลอตคือหนังที่สร้างมาจากชีวิตจริงของผู้กำกับ ว่าด้วยผู้กำกับจีนที่ต้องลี้ภัยมาที่ฮ่องกง เพราะทำหนังที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของจีน เธอต้องทิ้งแม่ไว้ที่บ้านเผชิญภัยกับทางรัฐอยู่คนเดียว แล้วมีชีวิตใหม่ มีสามีฮ่องกงและลูกชาย แต่ก็พยายามเจอกับแม่และพามาอยู่ที่ฮ่องกงให้ได้ จนสุดท้ายทั้งหมดสามารถนัดเจอกันได้ที่ไต้หวันผ่านทัวร์ธง และงานเทศกาลหนังที่จะฉายผลงานเก่าของเธอ ทั้งหมดต้องเจอกันโดยที่ไม่ให้ใครรู้ว่าพวกเขาเป็นครอบครัวเดียวกันเพื่อป้องกันภัยอื่น พยายามหาทางออกที่ทุกฝ่ายปลอดภัยและไม่มีปัญหาใดๆ ตามมา

หนังแสดงผลกระทบของการสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐที่ควบคุมด้วยอำนาจ สั่นสะท้านถึงหน้าที่ ความสัมพันธ์ และความปลอดภัย การกระทำทุกอย่างต้องดำเนินด้วยความหวาดระแวง หนังจะมีบรรยากาศของความกลัวปกคลุมอยู่ตลอด ควบคู่ไปกับความเศร้าปนแค้นของตัวผู้กำกับที่กำลังจะทำหนังเรื่องใหม่ ที่จะทำหนังเพื่อบ่งบอก statement ของตัวเอง ถึงแม้อารมณ์ของหนังในนั้นเยือกเย็น และเรียบง่าย แต่สิ่งที่ทำให้มันดูรุนแรงคือสถานการณ์และเหตุการณ์ที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมด ทำให้เราเข้าใจความอันตราย การตัดสินใจที่เจ็บปวด และส่งผลต่อสิ่งต่างๆ ในครอบครัวนี้ 

และ “This film is dedicated to our child.”



(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 6)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 7)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 8)

อนินทรีย์แดง (Red Aninsri, or Tiptoeing on the Still Trembling Berlin Wall) : The Next Voice You Hear

มีจุดเล็กๆ ที่แทบจะมิได้มีส่วนขับเคลื่อนหนังเท่าไหร่ อยู่ช่วงกลางๆ เรื่องที่ตัวเอก ‘อังค์’ เข้าไปตีสนิทกับนักเคลื่อนไหวผู้ซึ่งเป็นที่ต้องการตัวของรัฐบาล ในขณะนั้น ‘อังค์’ ได้แปลงโฉมตัวเองเป็นชายหนุ่ม (โดยใข้ชื่อ ‘อิน’) มีบทสนทนาบนเตียง (ซึ่งมีแค่นั้นจริงๆ ครับ) ที่สองคนเขาถกกันถึงสิ่งที่อเมริกาปฏับัติกับญี่ปุ่นด้วยการไม่จับองค์จักรพรรดิ แต่เก็บไว้ เพื่อไม่ต้องการให้ญี่ปุ่นเป็นคอมมิวนิสต์ (ซึ่งอันนี้ไม่เคยรู้มาก่อนเลย)

(เพราะเท่าที่เคยได้ยินมาคงมีแค่) หลังอเมริกาทิ้งบอมบ์ไปสองลูก ก็เข้าไปปลดอาวุธญี่ปุ่น โดยยกเลิกกองทัพซะ ด้วยความที่วิตกว่าสาเหตุอันเป็นสารตั้งต้นของ ‘แนวคิดวงศ์ไพบูลย์แห่งภาคพื้นเอเชียอาคเนย์’ ด้วยการแผ่ขยายกำลังทางทหาร ล้วนเกิดจากลัทธิบูชิโดกับมายาคติเรื่องคนในชาติทุกคนคือลูกพระอาทิตย์ ขณะที่ในความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น อุดมการณ์สังคมนิยมแทบจะไม่เข้ามาสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อโครงสร้างทางการเมืองเสียด้วยซ้ำ ยิ่งกว่านั้นยังมีการก่อตั้งพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น ซึ่งที่ถูกแล้ว (ตัวละคร)จิตรน่าที่จะตกเป็นที่ต้องการตัวของขบวนการตามล่า(แม่มด)จากรัฐบาลญี่ปุ่นมากกว่า (ใช่ป๊ะ) แต่เท่าที่เห็นกัน จิตรกลายเป็นเป้าหมายการตามล่าของอีก(รัฐ)ชาติไปซะแทน

‘ญี่ปุ่น’ (และองค์จักรพรรดิ) มิได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นอะไร (ตามความเห็นของ ‘จิตร’) เพียงแค่ถูกยืมชื่อมาอ้าง นอกเสียจากส่วนที่เปราะบางและอ่อนไหวพอกัน ก็ดันมาเกิดกับอีกชาติซึ่งบังเอิญมีโครงสร้างที่ใกล้เคียงกันอีก ซึ่งถ้าเปลี่ยน(ถ้อยคำในไดอะล็อกนิดเดียว)เป็นอีกชาติหนึ่ง ความอ่อนไหวถึงขั้นต้องส่งสปายมาตามล่าหัว ‘นักกิจกรรม’ (ซึ่งคงไม่มีแค่แค่จิตรแน่) จะชัดเจนขึ้น นี่ยิ่งถ้าเราอ่าน ‘ขุนศึก ศักดินาฯ’ จะเก๊ตเองว่าที่อเมริกาเข้ามาหนุนหลัง(   ) เพื่อไม่ให้(    )ตกเป็นคอมมิวนิสต์นั่น มันเรื่องของอีกประเทศต่างหาก

ขณะที่ภาพจำอันดับแรกของ ‘อนินทรีย์แดง’ มักเป็นเรื่องของการสร้างตัวตนใหม่ไปพร้อมๆ กับการกลบเกลื่อนเสียงเดิม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของหนังในยุคสิบหกมม.ซึ่งผูกติดกับการพากย์เป็นหลัก ซึ่งนี่ก็เป็นกับดักอีกหลุมที่ผกก.รัชฏ์ภูมิใช้เบี่ยงเบนความสนใจ ซึ่งถ้าคนดูจับทางถูก+ไม่หลง (คือไม่ยอมให้รัชฏ์ภูมิหลอก) หนังเรื่องนี้จะยิ่งสนุกมาก หากมองด้วย ‘ดวงตาที่สาม’ คือก้าวข้ามทั้งสิ่งที่เห็นด้วยตาและเสียงที่ได้ยิน (ในสิ่งที่คนที่ต้องการจะให้เราฟัง)

หนังอย่าง ‘อนินทรีย์แดง’ จึงถูกสร้างในยุคที่บริบททางสังคมเข้าไปใกล้กับยุคสงครามเย็น ยกเว้นการสนองตอบของคนที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อคนเลิกเชื่อในสิ่งที่ได้รับการบอกเล่า (อะไรที่มาจากทางการกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความน่าเชื่อถือ มิหนำซ้ำยังดูปลอมแปลงเกินกว่าจะเห็นค่าความเป็นจริง) 

ตลอดทั้งเรื่อง รัชฏ์ภูมิยั่วล้อกับขนบของการ (ใส่เสียง)พากย์ = dubbed โดยให้คู่ขนานไปกับความสงสัยเคลือบแคลงไปจนกระทั่งถึงความไม่ไว้วางใจ (doubt) ไปกับภาพที่เห็น, ข้อมูลที่ได้รับ กับการสัมผัสจริงด้วยตัว: อังค์ค้นพบด้านที่ทางการไม่เห็น (หรือถ้าเห็น ก็คงปิดบังหรือไม่ก็ให้ข้อมูลไม่ครบ) เกี่ยวกับตัวจิตร จนกระทั่งอังค์เองกลายเป็นคนที่สร้างภาพซึ่งซ้อนทับกันชนิดพหุเลเยอร์ส: อังค์ยอมถอดวิกผมทองที่สวมมาตลอดจนมั่นใจว่า identity ที่แท้จริงคือตัวตนตรงนี้ โดยแสดงตัวต่อจิตรในร่างของเพศชาย+พูดจาด้วย ‘เสียงพระเอก’ จนในที่สุดคนที่ ‘ปลอม’ และเสแสร้งกลายเป็นตัวเธอเอง

ส่วนที่น่าคลางแคลงกว่ากลายเป็นตัวละครลับซึ่งมีวี่แววว่ามีส่วนเชื่อมโยงทั้งอังค์|อินและจิตรเข้าไว้ด้วยกัน เป็นชาวต่างชาติซึ่งลอยวนเป็น vibe ให้คน(ดู)สงสัยเล่น ระหว่าง ‘ผัว’ เก่าซึ่งมีเชื้อสายแอฟริกัน (โดยหนังได้เสริมย้ำในส่วนของการพากย์-ใช้เสียงคนอื่นมาพากย์ไทยทับ = dubbed) แล้วมีชื่อเรียกว่า Josh กับสายเรียกเข้ามือถือของจิตร ปรากฏชื่อในเม็มฯ รู้สั้นๆ คล้ายเป็นโค้ดแค่ ‘Miiss: J’ ซึ่งสมมติว่า หาก J จะย่อมาจาก ‘Josh’ จริง คู่ของคนสองคน (ที่คนดูมองไม่เห็น) คือคนคนเดียวกัน

(หรือถ้าจะเป็นข้อสมมติฐานที่ worse case scenario ขึ้นมาอีก ก็คงได้ความว่า ถ้าชื่อสองชื่อเป็นคนละคนกัน ก็จะออกมาในรูปที่ว่าทั้ง Josh, หนุ่มผิวสีกับ ‘Miiss J’ นั่นมีความเกี่ยวพันกัน นั่นก็หมายความว่าคู่ของแต่ละฝ่าย (อังค์|อิน และ จิตร) เมื่ออยู่ลับหลังจะคบหากันเอง ซึ่งไม่มีข้อสรุป (นี่ก็เป็นอีก doubt ที่ไม่มีคำเฉลย) หรือถ้าาาา ที่เราเห็นว่าเป็น ‘Miiss’ สมมติไม่มีตัวตนอยู่จริง ทว่าเป็นแค่รหัสที่ใช้แทนคำว่า mission ธรรมดาๆ

องค์ประกอบที่คาใจเกี่ยวกับเป้าหมายของการตามจับคือจิตร ทั้งการแคสต์ตัวนักแสดง + การสร้างตัวละคร (ทำไม)ถึงได้กระเดียดไปทาง Joshua Wong ซึ่งฝ่ายที่ต้องการมากกว่าน่าจะเป็นทางการจีน ทว่ายังมี ‘คนรุ่นใหม่’ ของอีกชาติแถวๆ นี้ ยังมีอีกคนซึ่งมีเค้าหน้าละม้าย Joshua (ยิ่งกว่านั้นด้วยความเคลื่อนไหวของคนซึ่งหน้าเหมือนโจชัว หว่องแถวๆ นี้… การที่จะส่งสายลับเข้าทาบประกบดูจะมีความสมเหตุสมผลกว่า) ขณะที่การได้อยู่ใต้ร่มเงาของ ‘ความเป็นอังค์’ ด้วยการสวมวิกผมทอง, พูดด้วย ‘เสียงสอง’ ของความเป็นหญิง ดูจะตอบสนองได้ทั้งความสุขและความปลอดภัยของการได้หยิบยืม identity ของหลินชิงเสีย/Brigitte Lin จากหนัง Chungking Express ซึ่งผู้กำกับนามสกุลเดียวกับ Joshua ทางนู้นนนคือ Wong (Kar Wai) ว่าแล้วทั้งอังค์|อินและจิตรต่างก็สลัดคราบแล้วเปลือยตัวตนของตัวเองในทันทีที่เชื่อมต่อเข้าหากันจนติด

หนังมีการใช้ภาษาที่เป็นการเปล่งออกมาจากความรู้สึกธรรมชาติ คือคำหยาบซึ่งเป็นรูปแบบของการแสดงออกที่ไร้ความเสแสร้งอย่าง ‘อีหน้า-ี’ ในไดอะล็อกของ Josh (ซึ่งจังหวะการปากไม่สัมพันธ์กับคำพูดตามประสาการพากย์เสียงภาษาไทยทับภาษาอื่น)

จนกระทั่งเรื่องเข้าสู่องก์ที่สาม (ท้ายเรื่อง) ซึ่งเป็นการจับอิน|อังค์เข้ารับการเวิร์คช็อป ‘การเปล่งเสียงด้วยวัจนภาษา’ การ doubt ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์, การปลอมแปลงอัตลักษณ์ตัวตน จนเสียงคุยฟังเหมือนเสียงพากย์ได้กลายเป็นเสาหลักสองต้นที่ช่วยพยุงความอยู่รอดทางธุรกิจสายลับมาตลอด ขณะเดียวกันภายใต้บรรยากาศสงครามเย็นยังมีอีกตัวแปรหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของการนำชุดความคิด, ความเชื่ออุดมการณ์ชุดใหม่เข้าไปแทนที่และทับสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ขั้นสูงสุดของการครอบงำคนในสังคม… ‘การล้างสมอง’

บรรยากาศห้องเวิร์คช็อป ซึ่งเป็นการเวิร์คช็อปเฉพาะชื่อเรียก รวมๆ แล้วกลับดูค่อนไปทาง group therapy มากกว่า ผกก.รัชฏ์ภูมิใช้ตัวละครคนนอกแบบเดียวกับที่ใส่หนุ่มเชื้อสายแอฟริกัน (พากย์ไทย) ในช่วงก่อนหน้า พอเข้าซีเควนซ์ ‘ห้องเวิร์คช็อป’ คนดูก็ได้รู้จัก ‘สมาชิกใหม่’ เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเป็นหนุ่มนักอนุรักษ์ป่า (เดียวกัน), ในเรื่องชื่อม่อน (ธีระพันธ์ุ เงาจีระนนท์) โดยถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยภาษาใน level เดียวกับ Josh คือบรรยายความใหญ่ของ-วยในเวลาที่อยู่ในปากของกันและกันซึ่งไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษา (ที่ทั้งไม่พากย์, ไม่ต้องหาคำเพราะมาสร้างจริต ทว่าปล่อยให้ออกมาดิบๆ ตามความรู้สึก) และการสร้างตัวละครซึ่งเป็นคนนอก ทว่าทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมต่อให้สองคนได้เข้ามาหากัน ซึ่งถ้าไม่มีตัวละคร ‘สองดวงใจ’เข้ามา เรื่องเล่าของม่อนก็คงเป็นแค่การถ่ายทอดประสบการณ์ประกอบ self-criticism ธรรมดา นอกเสียจากว่าคนสองคนที่หวาดระแวง (doubt) ซึ่งกันและกันจะอยู่ที่ตรงนั้นด้วย… ‘ม่อน’ ได้กลายเป็น ‘นักพากย์’ แทนความรู้สึกลึกๆ ของคนสองคนโดยไม่ต้องปริปากพูด

คือถ้าาา ไม่มีคนสองคนเข้ารับการบำบัด group therapy (เอ๊ย! ‘เวิร์คช็อปการออกเสียง’) เรื่องของม่อนก็คงเป็นแค่การระบายเพื่อประโยชน์สุขทางอารมณ์ของตัวม่อนเอง แล้วเรื่องของอังค์|อินและจิตรก็จะเหลือแค่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและการหลอกใช้ที่กระทำกันเป็นทอดๆๆ (ที่ไม่จำเพาะแค่คนสองคน ทว่าตัวองค์กร + หน่วยเหนือเองก็ได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ของคนสองคนตามไปด้วย)

ใช่ครับ ทั้งจิตรก็เจ็บ, อังค์|อินเองก็เจ็บซึ่งเป็นความเจ็บที่เกิดขึ้นหลังสองคนยอม ‘เปลือย’ อารมณ์ความรู้สึกให้กันและกันโดยไม่ต้องมามิบเม้มอำพรางหรือเก๊กเสียงหล่อซึ่งหนังเขาใช้โค้ด (ที่ไม่ค่อยเป็นโค้ดซักเท่าไหร่คือชัดแจ้งแบเบอร์ปานนั้น) ระหว่างคำว่า’สาย-ลับ’, ‘สาย-รับ’ แล้วตลอดเรื่องเราก็มักเห็นโทรศัพท์มิสส์คอลล์มาเข้ามือถือของจิตร โดยที่จิตรก็มิได้ ‘รับ-สาย’ นอกจากปล่อยให้คลุมเครือกันเล่นๆ ว่าที่เห็น ‘Miiss J’ นั่น ควรจะเป็นใคร ในเมื่อจิตรก็ต้องคอยเฝ้า + พูดคุยโต้ตอบกับคู่สาย ซึ่งก็ไม่แน่ชัดว่าจะใช่เจ้านายต้นสังกัดหรือเปล่า..แล้วนี่ถ้าสมมติว่า คู่สายปลายทางฝั่งเรียกเข้าเครื่องของจิตร (‘Miiss J’) อะไรนั่น เกิดเป็นหัวหน้าต้นสังกัดจริง เรื่องซึ่งไม่ได้รับการบอกเล่าก็จะออกมาในรูปที่ว่า แล้ว’มิสส์ เจ’ๆ อยากพูดอะไรกับจิตร ซึ่งรวมถึง กำลังจะมีคำสั่งอะไรมาไหว้วานจิตร สรุปแล้วในโลกของสปาย อีกฝ่ายก็ยังคงไม่แคล้วเป็นสปาย (‘สาย-ลับ’) เหมือนกัน สุดท้าย ‘ผีก็ย่อมเห็นผี’ ด้วยกันเสมอซึ่งนั่นก็ตรงกับสำนวนวาทกรรมเป็นที่รู้กันเฉพาะผู้มีรสนิยมทั้งสายรับและสายรุก

และในโลกของจารชนเองก็ยังคงมีความพร่ามัวระหว่างสายลับกับเป้าหมาย เมื่อต่างคนต่างสืบ, ต่างฝ่ายต่างเป็นที่ต้องการตัวของฝั่งตรงข้าม ขณะที่หนังทำให้เราเห็นเพียงครึ่งเดียว แต่ฝั่งของอังค์|อิน (โดยทำหน้าที่แทนคนดูในการประกอบภารกิจตามรอยและตามจับจิตร) ขณะที่ ‘โลกซึ่งอยู่ลับสายตาของคนดู’ (ฝั่ง dark side of the moon) ของจิตร กลายเป็นส่วนที่ไม่มีใครเห็น เสียงของ ‘ม่อน’ จึงเข้ามาทำหน้าที่ ‘พากย์’ ในสิ่งที่ทั้งอังค์|อินและจิตรพูดออกมาไม่ได้เท่าๆ กับที่โลกนี้ก็ยังต้องพึ่งบริการของสปาย-สายลับ-จารชน ที่ต้องทำครบหมดทั้งหาข่าว, ป้อนข้อมูล ในสิ่งที่ต้นสังกัดยังอยู่ในอาการ ‘ใบ้’ และไร้เสียงโต้ตอบ

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 31 ธ.ค. 63 – 6 ม.ค. 64

สัปดาห์ปีใหม่นี้เป็นความเงียบเหงาของธุรกิจโรงหนังอย่างแท้จริง แม้ว่า Monster Hunter จะทำรายได้ไปมากถึง 11.69 ล้านบาท แต่นั่นมาจากรายได้ช่วงเทศกาล แต่พอพ้นจากเวลาดังกล่าว หนังทำรายได้ในแต่ละวันไม่ถึง 1 ล้านบาทเลยแม้แต่วันเดียว และในสัปดาห์นี้จนถึงสัปดาห์หน้า จะไม่มีหนังใหม่เข้าฉายเลยแม้แต่เรื่องเดียว ต้องจับตาดูว่าโรงหนังจะหากลยุทธ์อะไรเพื่อเรียกคนกลับเข้าโรงหนังได้อีกครั้ง หรือจะมีวิธีปรับตัวเพื่อการอยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 31 ธ.ค. 63 – 6 ม.ค. 64

  1. Monster Hunter – 11.69 (16.84) ล้านบาท
  2. Soul – 5.46 (11.63) ล้านบาท
  3. Wonder Woman 1984 – 3.64 (61.99) ล้านบาท
  4. Demon Slayer: Kimetsu No Yaiba – 1.47 (72.07) ล้านบาท
  5. อ้าย..คนหล่อลวง – 0.91 (56.04) ล้านบาท
  6. Detective Conan: The Scarlet School Trip – 0.85 ล้านบาท
  7. วอน (เธอ) – 0.45 (2.12) ล้านบาท
  8. ITO: Our Tapestry of Love – 0.24 (0.40) ล้านบาท
  9. อีเรียมซิ่ง – 0.16 (75.71) ล้านบาท
  10. Josee – 0.15 (0.19) ล้านบาท

FILM CLUB Year List 2020 (Part 4)

0

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง) | (รายชื่อรอบสาม)

ในที่สุดปี 2020 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ท่ามกลางสถานการณ์การปิดโรงหนังหนีโควิด การเฟื่องฟูของกิจการ Streaming ภาพยนตร์ และการที่เทศกาลหนังเกือบทั้งโลกย้ายมาอยู่ออนไลน์ เปิดประตูกว้างต้อนรับผู้ชมจากทั่วโลก และสำหรับในประเทศการมาถึงของการชุมนุมที่นอกจากจะขยายเพดานการสื่อสารอย่างสามารถสร้างเทรนด์บางอย่างของการดูหนังแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วย 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2020 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2021 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง 

และนี่คือรายชื่อรอบสี่


โสฬส สุขุม : Producer ศิลปินศิลปาธร 

Akira (1988, Katsuhiro Otomo, Japan)

ต้องขอออกตัวก่อนว่า เราไม่ใช่คอหนังแอนิเมชัน แต่อาจจะเป็นได้ว่าหลังภาวะกักตัว จากสถานการณ์โควิด ซึ่งทำให้เราใช้เวลาในการอยู่บ้านส่วนใหญ่ คิดเรื่องชีวิต ที่ผ่านมา และอนาคต ของตัวเองนั้น จึงทำให้การออกจากบ้านไปดูหนัง ในโรงภาพยนตร์ครั้งแรก ซึ่งคือ Akira หนังเอนิเมชั่น พังค์ไซไฟ กำกับโดย คัตสึฮิโระ โอโตโมะ เป็นหนังอีกเรื่องนึงที่ประทับใจมากในปี 2020 นี้ 

Akira เล่าถึงญี่ปุ่นในโลกอนาคต ในปี 2019 ซึ่งเมืองถูกทำลายจากระเบิดปรมาณู โดยมีองค์กรลับของรัฐบาล จับคนไปทำการทดลอง โดยมีคาเนดะ ตัวเอกของเรื่อง ได้รวบรวมพรรคพวกเพื่อต่อต้านรัฐบาลและพยายามช่วยเพื่อนของเขา ซึ่งถูกทดลอง จนไม่ใช่คนเดิม ที่คาเนดะ รู้จักอีกแล้ว

ด้วยวิชวล ลายเส้น และ วิธีการเล่าเรื่องที่สนุก ประทับใจและ ดราม่า รวมถึง ประเด็นทางสังคมที่หนังพูดถึง หนังจึงพาเราที่กำลังอยู่ในสภาวะกระอักกระอ่วน

ถึงอนาคตของตัวเอง รู้สึกมีความสุขแปลกๆ เศร้า ไร้ความหวังได้เป็นอย่างดี 



วาริน นิลศิริสุข : นักวิจารณ์ 

Memories of Murder (2003, Bong Joon-ho, South Korea) 

เคยได้ยินเสียงร่ำลือมายาวนาน และพอได้มาดูจริงกับตาก็ต้องยอมรับในความยอดเยี่ยมสมคำร่ำลือ เช่นเดียวกับผลงานสร้างชื่อในยุคหลังของบงจุนโฮอย่าง Parasite หนังผสมผสานอารมณ์ขัน ประเด็นเสียดสีสังคม (เห็นความไร้ประสิทธิภาพ ขาดแคลนจริยธรรม จรรยาบรรณของหน่วยงานราชการในหนังเรื่องนี้ ซึ่งดำเนินเหตุการณ์ในยุค 80 แล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจว่านี่เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนยังคงเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน) ความระทึกขวัญ และการวิพากษ์แก่นแท้ของมนุษย์สีเทาๆ ได้อย่างเจ็บแสบ บาดลึก ฉากจบของหนังจะต้องติดตาและหลอกหลอนคนดูไปอีกนาน เมื่อตัวละครเอกเดินทางกลับมายังจุดเกิดเหตุอีกครั้งหลังจากเวลาผ่านไปหลายปี แล้วค้นพบว่าฆาตกรที่เขาไล่ล่ามาตลอดนั้นหาใช่ผู้บกพร่องทางสมอง หรือชายหนุ่มหน้าตาหล่อเหลา แต่เป็นเพียงคนธรรมดาทั่วไปนี่แหละ เช่นเดียวกับความชั่วร้ายซึ่งจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน และแม้ว่าคุณจะพยายามทุ่มเทมากเพียงใดกลับไม่มีอะไรสามารถหยุดยั้งมันได้



ภาส พัฒนกำจร : ผู้กำกับ นักเขียนประจำ Film Club 

รามเกียรติ์ ตอน นนทกโดนแกล้ง (2020, PASULOL, 27 min) shorts 

เห็นคนแชร์กันเยอะเลยกดเข้าไปดู ก็ตกใจว่ามียอดวิวถึง 11 ล้าน ภายใน 3 เดือน พอได้ลองดู ก็เก็ตว่ามันมีทุกอย่างที่จะดังในโซเชี่ยลได้ ทั้งหยิบเอาเรื่องที่คนคุ้นเคยดี (จากการยัดเยียดในวิชาภาษาไทย) มาเล่าใหม่ให้โมเดิร์น เน้นตลกกวนตีนเสียดสี ใช้คำหยาบคายได้เพราะไม่ต้องผ่านเซ็นเซอร์ แทรกอะไรที่เป็นป็อปคัลเจอร์มาเยอะๆ และสะท้อนสังคมไปในตัวซึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือฐานแฟนของ Channel PASULOL ซึ่งพอลองไล่ๆ ดูก็พบว่าเรื่องนนทกนั้นน่าจะเป็นงานทีดีที่สุดของเขา

เรื่องของนนทกที่เหมือนเป็น prologue ของรามเกียรติ์นั้นถ้าใครอ่านแล้วคิดตามไปด้วยก็จะเห็นว่ามันการเมืองมากๆ อยู่แล้ว ความชิบหายในเรื่องล้วนเกิดจากความกดขี่และขี้เหยียดของเทพและเทวดา ความชุ่ยของพระอิศวร การอ้างความดีในการปราบอธรรมของพระนารายณ์ ทั้งหมดล้วนสะท้อนไปยังความอยุติธรรมของชนชั้นปกครองทั้งสิ้น (ตอนเกิดเหตุการณ์กราดยิงโคราชก็นึกถึงเรื่องของนนทกเหมือนกัน)

ตัวแอนิเมชันนี้ก็นำประเด็นนี้มาขยี้ได้ชัดเจน เข้ากับสังคมปัจจุบัน ดูเอาบันเทิงได้ (อยู่ที่จริตว่าจะชอบงานแบบนี้ไหม) สาระก็มี คิดว่าที่น่าชมคือตอนจบที่พระนารายณ์บอกว่าไว้เราจะมาสู้กันอย่างแฟร์ๆ ในชาติหน้า ซึ่งถ้ามองเหตุการณ์หลังจากนี้คือการสู้รบกันของพระรามและทศกัณฑ์ในรามเกียรติ์ที่เราคุ้นเคยก็จะรู้ว่ามันไม่เคยแฟร์เลย ในเมื่อสวรรค์เบื้องบนกำหนดชัดไว้แล้วว่าฝ่ายไหนคือธรรมะและฝ่ายไหนคืออธรรม



R.P. Mac : นักเขียนรับเชิญ Film Club

Rewind (2019, Sasha Neulinger, US)

หนึ่งในสารคดีสุดสะเทือนใจ ผู้กำกับรวบรวมความกล้าลุกขึ้นมาทำสารคดีเกี่ยวกับตัวเขาเองที่โดน sexual abuse จากคนในครอบครัวตอนเด็ก เขาต้องนั่งดูเทปโฮมวิดีโอหลายม้วน สัมภาษณ์คนในครอบครัว เผชิญหน้ากับอดีตอีกครั้ง ดูแล้วทั้งโกรธและเศร้า ได้เห็นว่าการเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่บิดเบี้ยวนั้นส่งผลต่อเด็กอย่างไร และผลกระทบนี้แผ่ขยายเป็นวงกว้างได้ตั้งแต่พี่น้องด้วยกันจนลงไปยังรุ่นสู่รุ่น



ชลนที พิมพ์นาม : นักเขียนประจำ Film Club 

When the Weather is Fine​ (2020, Han Ji-Seung, South Korea) TV series

ซีรีส์ว่าด้วย​ แฮวอน​ (พัก มิน-ย็อง) ครูสอนเชลโลจากโซล ที่เจอปัญหา​ส่วนตัว​จนตัดสินใจ​ลาพักร้อน​ไปอาศัยกับน้าสาว ณ ต่างจังหวัด​ไกลปืนเที่ยง​ ก่อนได้พบกับ​ อึนซบ​ (ซอ คังจุน) ชายหนุ่ม​เงียบขรึมเจ้าของ​ร้านหนังสือ​ “ราตรีสวัสดิ์” อดีตเพื่อน​ร่วม​ชั้นสมัยมัธยมของเธอ​ โดนที่แฮวอนไม่รู้​ว่าเขานั้นรักเธอข้างเดียว​มานานแล้ว

สิ่งที่เราชอบเรื่องนี้เป็นพิเศษ นั่นคือมวลความเศร้ามหาศาลที่คลุมบรรยากาศทั้งเรื่องเอาไว้ ผ่านการเล่าที่เนิบช้ากว่าซีรีส์เกาหลีทั่วไป ตัวละครหลักทั้งหลายในเรื่องต่างต้องเผชิญหน้ากับความผิดพลาดในอดีตที่ไม่สามารถกลับไปแก้อะไรได้อีกแล้ว ดังนั้นเวลาส่วนใหญ่ที่ใช้ในเรื่องมันจึงเหมือนการนั่งดูตัวละครโบยตีตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อที่จะยอมรับความจริงให้ได้ และเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไป สุดท้ายสิ่งเดียวที่พอจะเยียวยาความเจ็บปวดได้บ้าง คือความรักและเอื้ออาทรในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนี่ละ

**หาดูแบบถูกลิขสิทธื์ได้ทาง Viu



พัลลภัทร น้อยธิ : จิตแพทย์ / คนดูหนัง / เขียนวิจารณ์ประปราย

The Edge of Democracy (2019, Petra Costa, Brazil)

ในบริบทของการเมืองไทยปี 2020 ที่มีพรรคการเมืองถูกยุบ มีการประท้วง ทำให้เราไม่สามารถมองสารคดีเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องของ “บราซิล” ล้วนๆ ได้เลย มันมีอะไรให้มองย้อนกลับมาที่ประเทศเรามากมาย 

ไม่ว่าจะระบบและโครงสร้างทางการเมืองที่อยุติธรรม สองมาตรฐาน การตัดสิทธิริดรอนเสียงของประชาชน การแบ่งขั้วทางสังคม ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศเรา และยิ่งไปกว่านั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่สองประเทศนี้เหมือนลอกกันมา ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลืองเสื้อแดง การชุมนุมเรียกร้องทหารให้ยึดอำนาจ การชุมนุมด้วยความเกลียดชังของกลุ่มคนอนุรักษนิยม 

ที่จริงสารคดีไม่เป็นกลางอย่างชัดเจน ผู้กำกับยืนอยู่ฝั่งแนวคิดฝ่ายซ้าย พ่อแม่ก็เคยเป็นแนวร่วมกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหาร เธอพูดชัดเจนว่าผู้นำอย่างลูลาคือความหวัง ดังนั้นสารคดีเรื่องนี้จึงเป็นบทบันทึกทั้งความคิดและอารมณ์ของผู้รักประชาธิปไตยของผู้ที่มีความฝันของผู้ที่ต้องการเห็นสังคมที่ก้าวหน้าและเป็นธรรม ซึ่งสุดท้ายมันคือฝันร้ายที่น่าหดหู่

แต่ประเด็นสำคัญที่คนทำหนังอยากจะสื่อมากที่สุดคืออำนาจในการตัดสินผู้นำควรเป็นของประชาชนไม่ใช่ชนชั้นนำบางกลุ่มบางคน และยิ่งไปกว่านั้น ถ้าหากจะใช้ข้ออ้างหรือเหตุผลอะไรก็ตามมาใช้กับใครคนใดคนหนึ่งก็ควรใช้ข้ออ้างหรือเหตุผลนั้นกับคนอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่กระทำการโดยไร้มาตรฐานเช่นนี้

สิ่งหนึ่งที่ฝ่ายขวาหรือพวกอภิสิทธิ์ชนไม่เข้าใจว่ามันน่าจะขยะแขยงขนาดไหนที่พวกเขาอ้างกฎหมาย อ้างความถูกต้อง พวกเขาอ้างประหนึ่งเป็นผู้ผูกขาดความถูกต้องนี้แต่เพียงผู้เดียว เพราะในขณะที่พวกเขาจินตนาการล้ำลึกถึงความบิดเบี้ยวและขัดต่อกฎหมายของอีกฝ่ายหนึ่ง เขากลับถอดดวงตาคู่นั้นออกเพื่อมองสิ่งที่ฝ่ายเดียวกันอย่างเรียบเฉย พวกเขาร่ายนิยายความชั่วช้าที่ซ่อนอยู่ในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่กับกลุ่มผลประโยชน์เดียวกัน คำตอบง่ายๆ คือ “ไม่ผิดกฎหมาย” “ไม่สั่งฟ้อง” หรือไม่ก็นิ่งเฉยเสมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

การที่ได้ดูสารคดีเรื่องนี้ เอาเข้าจริงแล้วมันชวนให้รู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง การที่ได้เห็นความฝันที่พังทลายของประชาธิปไตยในประเทศอื่นมันยิ่งทำให้เสียกำลังใจ แต่ในขณะเดียวกันมันก็สะท้อนว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยวในโลก ซึ่งก็นั่นแหละ ตราบใดที่เรายังไม่ได้กลายเป็นนายพล ไม่ได้เป็นมหาเศรษฐี ไม่ได้กลายเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขราชวงศ์ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่มีวันได้เป็นไม่ว่าจะอย่างไหนก็ตาม เราก็ยังต้องเรียกร้องและต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยอยู่ดี ไม่มีทางเลือกน่ะ


สัณห์ชัย โชติรสเศรณี : รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

Ammonite (2020, Francis Lee, UK)

ชอบการที่หนังให้ความสำคัญกับเรื่องอาชีพอย่างมาก ซึ่งช่วยเพิ่มมิติให้หนัง LGBT ที่ส่วนใหญ่มักจะนำเสนอเรื่องความรัก การเปิดเผยตัวตน และการยอมรับจากสังคม ซึ่งหวังว่าคนดูจะได้เห็นและเข้าใจซอกมุมอื่นของตัวละคร LGBT ที่แตกต่างจากที่เคยเห็นทั่วๆ ไป ได้มากขึ้น



กิตติกา บุญมาไชย : cinephile

นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย ปาฐกถาโดย ธงชัย วินิจจะกูล 

ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย” ในงานปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563 ที่อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

เป็นปาฐกถาที่ทรงพลังที่สุดของปีนี้ โดยเฉพาะช่วงท้ายที่กล่าวถึงผู้คนที่ถูกระบอบนิติรัฐอภิสิทธิทำร้าย คุณอาจจะหาอ่านปาฐกถานี้ได้ แต่น้ำเสียงและจังหวะการพูดขอ อ.ธงชัย จะทำให้คุณร้องไห้



วรุต พรชัยประสาทกุล : cinephile

Freak Orlando (1981, Ulrike Ottinger, West Germany)

เราเพิ่งเคยดูหนังของผกก.คนนี้เป็นเรื่องแรกเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว แต่หลังจากนั้นจนถึงสิ้นปี ด้วยความที่เราชอบหนังของเธอมากๆ เราเลยค่อยๆ ไล่ดูหนังของเธอรวมไปทั้งสิ้นแปดเรื่องแล้ว

แน่นอนว่าเราชอบหนังเรื่องนี้ที่สุด ซึ่งเป็นหนังเรื่องที่สองของเธอที่เราเคยดู เราได้ดูหนังเรื่องนี้ที่โรงหนังในนิวยอร์ก (ก่อนล็อคดาวน์แค่ไม่กี่วัน แล้วจนถึงตอนนี้โรงหนังในเมืองนี้ก็ไม่เคยกลับมาเปิดอีกเลย) จำได้ว่าแทบทุกนาทีระหว่างที่ดูเรารู้สึกมีความสุขมากๆ สุขในระดับที่อยากลุกขึ้นมาร้องเล่นเต้นรำเพื่อปลดปล่อยมวลความสุขอันมหาศาลอย่างหฤหรรษ์ มีบางจังหวะที่เราอยากจะตะโกนออกไปดังๆ เลยว่า “Thank God this film exists.” นี่คือหนึ่งในไม่กี่สิ่งที่เรานึกออกว่าโรงหนังเสียเปรียบการดูหนังที่บ้านอย่างไร 55555

หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไรหรือเรื่องคืออะไรเราก็ไม่รู้เหมือนกันนะ ยิ่งตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้โดยที่ยังแทบไม่เคยดูหนังเรื่องอื่นๆ ของผกก.คนนี้มาก่อนด้วย แต่เรารักบรรยากาศที่เหมือนเป็นการเฉลิมฉลองให้กับคนชายขอบและความบกพร่องและความอัปลักษณ์ในสายตาของสังคมและของโลกภาพยนตร์อย่างสุดๆ และรักความบรรเจิดเปิดเปิงด้วยจินตนาการและทะลุทุกขอบเขตในแบบอิสระป่าเถื่อน การเล่นล้อสับเปลี่ยนกับทุกตัวตนอย่างไม่แคร์โลก การจับนักแสดงมาแต่งหน้าทำผมใส่ชุดประหลาดๆ และแอคท่าหรือกระทำใส่กันแรงๆ และฉากเฉิกก็จัดเต็ม หนังมันพิสดารพันลึกมาก แต่ก็ทรงพลังด้วย และมีความดุร้าย แต่ก็มีความงดงาม และในบางตอนเราก็เหมือนจะเข้าใจได้บ้างว่าหนังพยายามจะสื่อสารอะไรบางอย่าง คือมันหายากมากๆ นะที่หนังอะไรแบบนี้จะยังตลกโปกฮาสำหรับเราด้วย หนังยังเป็นเหมือนทั้งการซ้ำรอยประวัติศาสตร์ ทั้งล้ำยุคสมัยและทั้งเหนือกาลเวลาพร้อมๆ กัน



ประวิทย์ แต่งอักษร : นักวิจารณ์ อ.สอนภาพยนตร์ 

The Mortal Storm (1940, Frank Borzage, US)

หนังเรื่องหนึ่งที่ได้ดูเมื่อปีที่แล้วและติดค้างอยู่ในความรู้สึกมากๆ เป็นหนังฮอลลีวูดคลาสสิกเรื่อง The Mortal Storm ของแฟรงค์ บอร์เซกี้ (Frank Borzage) สร้างปี 1940 เนื้อหาหลักๆ บอกเล่าเรื่องของสังคมเยอรมันในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสาธารณรัฐไวมาร์ไปสู่ระบอบนาซี 

ส่วนที่นึกไม่ถึงก็ตรงที่หนังของบอร์เซกี้ถ่ายทอดให้เห็นพฤติกรรมคลั่งไคล้ท่านผู้นำของบรรดาตัวละครในหนังเรื่องนี้ ตลอดจนสถานการณ์ ‘ไม่รักนะ ระวังติดคุก’ ซึ่งยิ่งดูก็ยิ่งรู้สึกว่ามันละม้ายคล้ายคลึงกับความคลั่งไคล้บางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้อย่างไม่น่าเชื่อ ดูแล้วไม่เพียงแค่เห็นพิษภัยของฮิตเลอร์ และรวมถึงสังคมที่ผู้คนจิตใจคับแคบ



ธนพนธ์ อัคควทัญญู : cinephile กองบรรณาธิการ Film Club 

The Man Standing Next (2020, Woo Min-Ho, South Korea)

เกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลา 40 วันก่อนหน้าการลอบสังหารประธานาธิบดีปาร์คที่ดำรงตำแหน่งอยู่นาน 18 ปี (จากการรัฐประหาร) อเมริกาและซีไอเอเกี่ยวข้องอย่างไรกับเกมการเมืองนี้ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่เหล่าประชาชนเกาหลีออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เหตุการณ์จราจลกำลังอยู่ในจุดเดือดปรอทแตกหนังเกาหลีเรื่องนี้เล่าข้อมูลมหาศาล ความเชื่อมโยงจากตัวละครหลายสิบตัว รวมถึงเหตุการณ์สำคัญๆ หนังมีโฟกัสหลักอยู่ที่ตัวละครเอกผู้เป็นคนลั่นไกและตั้งคำถามถึงการลอบสังหารว่า มันเป็นเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุผลทางส่วนตัวกันแน่ นอกจากนั้นหนังยังเทียบเคียงตัวเองเข้ากับ ‘Othello’ โศกนาฎกรรมคลาสสิคของเชกสเปียร์ ทุกอย่างถูกรวมไว้ในหนังสองชั่วโมงที่สนุกสุดขีดทุกวินาทีตามแบบฉบับหนังทริลเลอร์เกาหลีที่ทำให้เราตื่นตาตื่นใจได้ทุกปี ดูแล้วหนังสือสุดฮิตประจำปีอย่าง ‘ขุนศึก ศักดินาและพญาอินทรี’ ทั้งช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน และเรื่องราวที่ก็น่าจะตื่นเต้นและสนุกไม่แพ้กัน ถ้าการเมืองดีอะไรก็กลายเป็นหนังได้



(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 5)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 6)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 7)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 8)

สวีเดนรับสมัครซีเนไฟล์ใจกล้า ไปดูหนังทั้งเทศกาล – บนเกาะ – คนเดียว!

เมื่อโควิดยังไม่สิ้นฤทธิ์ และนโยบายเว้นระยะห่างยังถูกใช้ต่อไปในหลายพื้นที่ของโลก เทศกาลหนังยักษ์ใหญ่แห่งสแกนดิเนเวียอย่าง “เทศกาลหนังกอเทนเบิร์ก” (Göteborg Film Festival) ครั้งที่ 44 ณ ประเทศสวีเดน จึงขอไปให้สุดทางด้วยการประกาศรับสมัครซีเนไฟล์ใจถึงไปใช้ชีวิตในประภาคาร Pater Noster บนเกาะในทะเลเหนือ เพื่อดูหนังทุกเรื่องของเทศกาลตามลำพังคนเดียวเป็นเวลา 1 สัปดาห์เต็ม!

โปรเจกต์ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “The Isolated Cinema at Pater Noster” นี้ เปิดรับสมัครแล้วที่ https://goteborgfilmfestival.se/en/pater-noster หมดเขต 17 มกราคมและประกาศผล 19 มกราคม โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะได้เดินทางไปอยู่บนเกาะตั้งแต่วันที่ 30 มกราคมเป็นต้นไป (จะต้องส่งรายงานถึงหนังที่ได้ดู กับประสบการณ์การอยู่บนเกาะมาให้ชาวโลกได้ร่วมรับรู้ด้วย)

ไม่เพียงเท่านั้น เทศกาลหนังกอเทนเบิร์กซึ่งจะมีเวอร์ชั่นดิจิทัลช่วงวันที่ 29 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ ยังจะทำการคัดเลือกผู้โชคดีอีก 2 คนที่จะได้เข้าไปนั่งดูหนังคนเดียวในสถานที่ฉายอีก 2 แห่งคือ Scandinavium และ Draken Cinema โดยจะมีคนทำหนังมากล่าวแนะนำหนังก่อนฉายให้เป็นการส่วนตัวอีกด้วย!

โยนัส ฮอล์มเบิร์ก ไดเร็กเตอร์ของเทศกาลบอกว่า “โปรเจกต์ฉายหนังในสถานที่โดดเด่นแก่คนดูเพียงคนเดียวครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ของการดูหนังในเทศกาลอย่างปลอดภัยเท่านั้น แต่เรายังต้องการแสดงให้เห็นว่าภาวะโรคระบาดได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ของคนกับภาพยนตร์ไปอย่างไรด้วย สถานที่ฉายหนังที่เคยคึกคักไปด้วยผู้คนนั้น บัดนี้ได้กลายเป็นที่ที่เต็มไปด้วยความโดดเดี่ยวเสียแล้ว” 

7 มกราคมนี้ ไม่มีหนังใหม่ในโรงภาพยนตร์

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดที่รุนแรงระลอกนี้ แต่โรงหนังยังไม่ถูกสั่งปิด ทำให้ 7 มกราคมนี้ เป็นสัปดาห์แรกในรอบหลายปีที่จะไม่มีหนังใหม่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เลย

หลังจากช่วงสุดสัปดาห์ปีใหม่ที่ผ่านมา หนังใหม่เรื่องเดียวอย่าง Monster Hunter ทำเงินตลอดวันหยุดยาวข้ามปีไปเพียง 15 ล้านบาทเท่านั้น ซ้ำร้ายเมื่อเข้าสู่วันธรรมดา มันทำเงินไปได้แค่ 7 แสนบาท ซึ่งนี่คือหนังที่ทำเงินสูงสุดประจำสัปดาห์

ด้วยเหตุนี้ทำให้หนังที่จ่อคิวฉายเดือน ม.ค. เลื่อนหนีโดยพร้อมเพรียงกัน ไม่ว่าจะเป็น ‘บอสฉันขยันเชือด’ หนังเรื่องแรกในนาม Tai Major โดย วิสูตร พูลวรลักษณ์ ที่เลื่อนจาก 14 ม.ค. ออกไปก่อน และ ‘ไสหัวไปนายส่วนเกิน’ หนังรวมดารา อนันดา เอเวอริงแฮม กับ พีชญา วัฒนามนตรี และกำกับโดย สมเกียรติ์ วิทุรานิช (October Sonata) ก็เลื่อนจากโปรแกรมรับวาเลนไทน์ออกไปเช่นกัน

ส่วนหนังที่เดิมเข้าฉาย 7 ม.ค.นี้ ก็เลื่อนจนไม่เหลือแม้แต่เรื่องเดียว ไม่ว่าจะเป็น ‘หร่อยจังจ้าว’ ของผกก. ราเมศ เรืองประทุม ผลิตโดย 5432 แอ็คชั่นส์ ฟิล์ม, Let It Snow ค่าย Tham Studio เลื่อนจาก 10 ธ.ค. มา 7 ม.ค. แล้วก็ต้องเลื่อนออกไปอีก และที่ตัดสินใจเลื่อนหนีเป็นเรื่องสุดท้ายคือ Happiest Season หนัง LGBTQ งานกำกับของ คลี ดูวัลล์ ที่นำแสดงโดย คริสเตน สจวร์ต กับ แม็กเคนซีส์ เดวิส เลื่อนไป 4 ก.พ.

ทำให้ ณ ตอนนี้ หนังใหม่ที่จะเข้าเร็วที่สุดคือ The End of the Storm สารคดีเพื่อแฟนลิเวอร์พูล ที่วางกำหนดไว้ 14 ม.ค.

ในขณะที่โรงหนังยังไม่ถูกสั่งปิดจากรัฐบาล นั่นหมายความว่าโรงหนังต้องหาทางเคลื่อนไหวอะไรสักอย่าง ไม่เช่นนั้นจะต้องฉายหนังโปรแกรมปีใหม่ลากยาวไปจนถึงวันที่ 14 ม.ค. เลยทีเดียว

*** อัพเดต The End of the Storm เลื่อนไปฉาย 28 ม.ค. แล้ว ทำให้หนังใหม่ที่มาเร็วสุดคือ Your Eyes Tell, The Legend of Hei, True Mothers และ Songbird ที่จะฉาย 21 ม.ค.

FILM CLUB Year List 2020 (Part 3)

0

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง)

ในที่สุดปี 2020 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ท่ามกลางสถานการณ์การปิดโรงหนังหนีโควิด การเฟื่องฟูของกิจการ Streaming ภาพยนตร์ และการที่เทศกาลหนังเกือบทั้งโลกย้ายมาอยู่ออนไลน์ เปิดประตูกว้างต้อนรับผู้ชมจากทั่วโลก และสำหรับในประเทศการมาถึงของการชุมนุมที่นอกจากจะขยายเพดานการสื่อสารอย่างสามารถสร้างเทรนด์บางอย่างของการดูหนังแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วย 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2020 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2021 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง 

และนี่คือรายชื่อรอบสาม


ชลิดา เอื้อบำรุงจิต : ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

The Green Ray (1986, Eric Rohmer, France)

ดูใน mubi 

เพิ่งเคยดูหนังของโรห์แมร์แบบตั้งอกตั้งใจ ชอบมาก ไม่มีเชย เรื่องของนางเอกที่เลิกกับแฟนตอนช่วงซัมเมอร์ซึ่งใครๆ ก็มีแผนไปเที่ยวกัน นางก็เลยเคว้ง แล้วก็เกิดเรื่องบ้าบอแบบเดาไม่ถูก ก็ยังงงว่าเชื่อมโยงกับจูลล์ เวิร์น ยังไง เดี๋ยวคงต้องไปหาหนังสืออ่านต่อ แต่ถึงจะไม่เข้าใจทุกอย่างก็ยังสนุก ดูจบก็อยากไปดูพระอาทิตย์ตกที่ทะเลมาก หนังเรื่องนี้อาจจะดูในเวลาที่เหมาะสมด้วย คือเป็นเวลาที่ประสาทกับโควิด ซึ่งความประสาท มันมีทั้งทั้งความเครียดและขำในเวลาเดียวกัน ทำให้เข้าใจตัวละครในเรื่องได้ดี ใครที่ชอบหนังฮงซังซู น่าจะชอบ



นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ : ศิลปิน

Something Useful (İşe Yarar Bir Şey) (2017, Pelin Esmer, Turkey)

ผ่านมุมมองและความเคลื่อนไหวของภาพ ถ้อยคำและการแสดงเล็กน้อยของตัวละคร หนังสร้างประสบการณ์การรับรู้แบบเดียวกับการอ่านบทกวี ตัวหนังเองก็ใช้บทกวีเป็นทั้งเครื่องมือและวิธีการสำรวจ นี่เป็นหนังที่เลือกนึกถึงในปีที่หนักหน่วง เป็นหนังที่คนทำพยายามยืนยันว่า งานศิลปะ (บทกวี) มีความหมายและเป็นเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ต่อไป



ก้อง ฤทธิ์ดี : รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ 

I’m Thinking of Ending Things (2020, Charlie Kaufman, US)

หนังเรื่องนี้คงต้องดูคู่กับไปหนังสือ Antkind ของผู้กำกับชาร์ลี คอฟแมน (ตัวเอกเป็นหนักวิจารณ์หนังที่ค้นพบหนังที่ไม่มีใครเคยดู – นี่คือความฝันของนักวิจารณ์ในยุคเฟซบุ๊ก) ความหมกมุ่นกับตัวเองและกระบวนการความคิดของตัวเองนี่บางทีมันเป็นความน่ารำคาญแบบอเมริกัน พวก oversensitive กับทุกสิ่งและอยากจะถ่ายทอดความหมกมุ่นของตัวเองกับคนอื่น แต่กับคอฟแมน สิ่งนี้กลายเป็นความเรืองรองของภาพในสมองที่กลายเป็นภาพยนตร์ กลายเป็นความโศกเศร้าของการไม่เคยไปถึงสิ่งที่ตัวเองคิดว่าตัวเองควรจะเป็น หรือควรจะทำในชีวิต I’m Thinking of Ending Things เป็นปริศนาที่ไม่ต้องการคำตอบใดๆ แต่เป็นปริศนาที่ชวนให้อ่านหรือดูซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้เห็นว่ามันมีปริศนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเคยเหมือนทุกครั้ง นี่คือหนังที่คอฟแมนจัดทริปเข้าไปในหัวตัวเอง ในกระแสสำนึกที่ทั้งฟุ้งซ่าน ปราดเปรื่อง และลุ่มหลงไปกับร้อยพันสิ่งที่ผ่านเข้ามา ถ้าเราจะออกทริปไปด้วยก็ต้องรับสภาพนี้ (รับครับ) เสียดายไม่ได้ดูจอใหญ่เพราะถ่ายภาพและตัดต่อดีเหลือเกิน



จักรพงษ์ เอี่ยมสอาด (มิสเตอร์อเมริกัน) : เจ้าของเพจจิบชารับ มิสเตอร์อเมริกา และ บรรณาธิการ Palo Publishing

Zombie Land Saga (2018, Sakai Munehisa, Japan) (12 ตอนจบ) TV Series

จอร์จ เอ โรเมโร่ คงตกใจหรืออาจจะทึ่งที่ผลผลิตซอมบี้ของเขามาไกลได้ขนาดนี้ จากเดิมมันเป็นเครื่องมือในการวิพากษ์คอมมิวนิสต์ ทุนนิยม เอดส์ ภัยก่อการร้าย ไปจนถึงบริโภคนิยม ทว่า อนิเมะที่ว่าด้วยการเอาบรรดาซอมบี้สาวๆ มาเป็นไอดอลเรื่องนี้กลับไปไกลกว่าทั้งที่พล็อตดูจะเป็นงานเกรดหนังเกรด Z ของญี่ปุ่น ทว่า นี่คือ แอนิเมชันม้ามืดเรื่องดังที่พูดถึงความฝัน ความพยายาม ความเป็นไอดอล และ ชีวิตกับความตายได้อย่างน่าตื่นตะลึง ในเรื่องให้เราได้ติดต่อตัวละครทั้งเจ็ดที่เคยเป็นมนุษย์แต่ตอนนี้ตายแล้วฟื้นมาเป็นซอมบี้ เราได้เรียนรู้ชีวิตของพวกเธอการเติบโต ก้าวผ่านความเจ็บปวดไปพร้อมๆ กัน ซีรีย์ให้เราเห็นว่า การเป็นซอมบี้ไม่ได้เลวร้ายเท่ากับการถูกหลงลืมไร้ค่าในสังคม ขณะเดียวกันก็บอกกับเราว่า ความเป็นมนุษย์นั้นคืออะไรกันแน่ ?

นี่คือ แอนิเมชันไอดอลที่ดีที่สุดเท่าที่มีการสร้างมา (มันเหนือกว่า Love Live หรือ Idolmaster) เพราะนี่คือ เรื่องราวของมนุษย์ที่แม้จะมีอุปสรรคเพียงใดก็ต้องก้าวต่อไปด้วยความเชื่อมั่นว่า ความหวังยังมีอยู่เสมอ

ขนาดซอมบี้ยังพยายามจะมีชีวิตอีกครั้ง แล้วมนุษย์เราก็ไม่ควรจะสิ้นหวังไม่ใช่หรือ ?

เหมือนดั่งเพลงที่ว่า “ลุกขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ถ้าเธอไม่ยอมแพ้จุดจบจะเป็นการเริ่มต้นใหม่

แม้ว่ามันจะโหดร้ายและไม่ยุติธรรม แต่อย่าให้มันมากระทบเธอ

เธอจึงยิ้มและบอกลาทุกความสงสัยได้

และมีความฝันใหม่

“จงลุกขึ้น !!” “

เพราะไอดอลนั้นคือ ความหวังและความฝันของผู้คนยังไงล่ะ



นนทวัฒน์ นำเบญจพล : ผู้กำกับภาพยนตร์ 

Stay Awake, Be Ready (2019, Pham Thien An, Vietnam) SHORTS

หนังสั้นจากเวียดนาม วันเทคลองชอต ที่บันดาลใจและตื่นเต้นทุกครั้งที่กล้องเคลื่อน มันทั้งสร้างสรรค์ ตราตรึง และงดงาม



นคร โพธิ์ไพโรจน์ : กองบรรณาธิการ นักเขียนประจำ Film Club 

Demon Slayer: Kimetsu no Yaiba the Movie: Mugen Train (2020, Haruo Sotozaki, Japan)

ไม่ได้เป็นแฟนมังงะหรือซีรีส์อมิเมะอะไรทั้งสิ้น แต่หากต้องเลือกหนึ่งเรื่องของปีที่ผ่านมา มันกำลังบอกเราว่าการดูหนังในเมืองไทยเปลี่ยนไปแล้ว และไปในทิศทางเดียวกับกระแสโลกด้วย การที่มันเอาชนะหนัง DC และดิสนีย์ได้บนบ็อกซ์ออฟฟิศประเทศไทย คือสิ่งที่คนในวงการหนังต้องหันกลับมาทบทวนตลาดใหม่ทั้งหมด กลยุทธ์แบบเก่าอาจไม่ใช่คำตอบของ 2021 และหลังจากนี้อีกต่อไป



ภาณุ อารี : ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล นักเขียนประจำ Film Club

Minari (2020, Lee Isaac Chung, US)

ได้ดูในรอบ distributor’s screening ที่เบอร์ลินเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 หนังนำเสนอเรื่องราวของครอบครัวเกาหลีที่อพยพมาตั้งรกรากที่อเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 80 แต่แทนที่เลือกไปเริ่มต้นชีวิตที่แอลเอแบบคนเกาหลีทั่วๆ ไปทำกัน แต่ครอบครัวนี้เลือกไปมิดเวสต์ซึ่งไม่มีอะไรเลย ชอบที่หนังเล่าเรื่องแบบเชื่องช้า แต่แฝงด้วยอารมณ์ขันและความเศร้าซึมแบบพอดี หลายคนบอกว่าสตีเวน ยวนแสดงได้สุดยอด แต่โดยส่วนตัวขอบการแสดงของ เยริ​ ฮานผู้แสดงเป็นภรรยามากกว่า สายตาของเธอสื่อถึงความไม่เข้าใจในตัวสามีว่าทำไมถึงต้องมาเริ่มต้นจากติดลบ แทนที่จะเป็นศูนย์แบบคนอื่นๆ ขณะเดียวกันก็พร้อมจะเป็นกำลังให้เขาสานฝันให้สำเร็จ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดคนไทยน่าจะมีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงไม่ช้าก็เร็ว



วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย : ผู้กำกับสารคดี School Town King ผู้ก่อตั้ง Eyedropper Fill

See Heaven (1995, Naomi Kawase, Japan) short

ปีนี้เป็นปีที่หนักมาก ในเรื่องการพาให้บริษัทรอดจากโควิด เป็นปีที่ทำงานจนไม่ได้พัก และเมื่อวันรอบสื่อหนัง school town king ออกฉายโรง เป็นวันที่อาม่า ที่ป่วยมานานเสียชีวิต เป็นอาม่าที่เลี้ยงเราตอนเด็ก แต่ช่วงหลังที่เขาป่วยไม่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเขาเลย รู้สึกผิดในใจ เพราะเราเป็นหลานชายคนโตที่เขารักเรามาก เหตุการณ์นี้ก็ทำให้เราสะท้อนใจ หนังเรื่องนี้เลยพอจะบอกความรู้สึกบางอย่างแทนปีนี้ ในขณะที่เราสนใจเรื่องภายนอก อยากให้กลับมามองหรือสนใจสิ่งใกล้ตัวด้วย อาจจะไม่ใช่เฉพาะคน แต่หมายถึงภายในจิตใจข้างใน



นภัทร มะลิกุล : นักวิจารณ์ นักเขียนประจำ Film Club 

The Midnight Sky (2020, George Clooney, US)

The Midnight Sky (2020) หนังที่สะท้อนความเปลี่ยวดายของการอยู่คนเดียวในโลกที่กำลังจะเป็น apocalypse และส่งผ่านความรู้สึกคิดถึงใครบางคนข้างเดียว กับห้วงความทรงจำแสนหวานในอดีตที่ผุดพรายขึ้นมาเป็นเพื่อนยามเหงา แสดงนำโดยนักแสดงแถวหน้าอย่างจอร์จ คลูนีย์ และมีสกอร์เพลงน่าจดจำ



Inertiatic Groovfie Viaquez : cinephile คนหนึ่ง

All About “Chiaki Mayumura” (Provisional) (2019, Hajime Matsuura, Japan)

15 นาทีแรกคือ Fact ของ จิอากิ มายุมุระ สาวน้อยนักร้องมากความสามารถคนนี้

ที่เหลือหลังจากนั้นอีกชั่วโมงคือฟิกชันยำใหญ่ที่สุดแสนจะบันเทิง ว่าด้วยที่มาที่ไปของสาวน้อยนักร้องคนนี้ ผู้มาจากโลกใต้ดิน ที่เป็นโคลนนิ่ง ผ่านระบบการแข่งขันคัดกรองด้วยระบบไอดอลเป็นรอบๆ แล้วที่สำคัญ รอบล่าสุดที่จะถูกส่งขึ้นไปแสดงสดในคอนเสิร์ตใหญ่ของจิอากิ จะไม่ได้มีเพียงเหล่าโคลนนิ่งที่จะชิงชัยตั๋วการขึ้นสู่โลกเบื้องบน หนึ่งในนั้นจิอากิคือตัวจริงยีนแท้ที่จะร่วมพิสูจน์ตัวเองไปกับเขาด้วย

ความบันเทิงที่จะได้สัมผัส ก็สุดแสนจะป๊อปคัลเจอร์ญี่ปุ่นเหลือเกิน โลกใต้ดินที่เป้าหมายแฝงต่อโลกเบื้องบนผ่านแผนการไอดอล ความระเบิดระเบ้อเมืองพังตามสไตล์หนังสัตว์ประหลาดบุกเมือง และอื่นๆ ทำนองนี้อีกมากมาย ^^



ธนิศวร์ วสุ ยันตรโกวิท : ผู้กำกับหนังสั้น และ มิวสิควิดีโอ

One Summer Story (2020, Okita Shuichi, Japan)

ถ้าจะมีหนังเรื่องไหนที่เล่าเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ไม่ได้เป็นโมเม้นต์พิเศษแต่เป็นจุดก้าวผ่านสำคัญบางอย่างขอยกให้เรื่องนี้ หนังเล่าเรื่องของเด็กสาวที่โดดค่ายชมรมว่ายน้ำฤดูร้อนไปหาพ่อที่ไม่เคยเจอมาก่อน ได้ใช้เวลาหมดไปกับวันธรรมดาๆ ได้เจอหนุ่มที่คลิกกัน แล้วเล่าโดยที่ไม่ต้องมีเหตุอะไรให้ใหญ่โต เหมือนกับส่องชีวิตคนคนนึงอยู่

บางทีในปี 2020 เราอาจจะต้องการอะไรแค่นี้ แค่การดูชีวิตของใครสักคนไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องคาดหวังให้มีอะไรพิเศษขึ้นมา แล้วออกจากโรงไปด้วยโมเมนต์ดีๆ ที่มีให้หนังเรื่องหนึ่ง



พิมพ์ชนก พุกสุข : นักเขียนประจำ Film Club 

The Last Dance (2020, Jason Hehir, US) series

เราอาจจะมองมันเป็นสารคดีกีฬาที่คัดเลือกฟุตเตจและประเด็นอย่างแม่นยำเพื่อเล่าถึงอดีตอันรุ่งโรจน์ของทีม ชิคาโก้ บูลล์ส ช่วงปี  1997-1998 กับผู้เล่นที่กล่าวกันว่าเป็นทีมที่ดีที่สุดในโลก ภายใต้การนำทัพของ ไมเคิล จอร์แดน ก็ได้ หรืออาจจะมองมันในฐานะซีรีส์ที่เผยให้เห็นด้านดำมืดของเทพเจ้าแห่งวงการบาสเก็ตบอลก็ได้อีกเหมือนกัน การกระเสือกกระสนอยากเอาชนะ แพ้ไม่เป็น กลายเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนให้เขากลายเป็น ‘หนึ่งเดียว’ ของลีก การต้องแลกที่จะไม่เป็นที่รักของใครในทีมเพื่อถ้วยรางวัล การที่เลือกแล้วว่าจะไม่แพ้และจะเป็นตำนาน ล้วนแล้วแต่มีราคาที่ต้องจ่ายซึ่งไม่ใช่แค่หยาดเหงื่อ แต่อาจหมายถึงหัวใจ หมายถึงการหักล้างและปฏิเสธจะยอมอ่อนโอนเพื่อคนอื่น เพียงเพื่อชัยชนะและเกียรติยศของตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ จอร์แดนเลือกแล้ว แลกแล้ว และแม้ราคาที่ต้องจ่ายในฐานะชายที่จะพิชิตคนทั้งโลกจะสูงลิ่ว แต่มันก็แลกมาด้วยการที่ชิคาโก บูลส์ในวันเวลานั้นเป็นทีมเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่อาจมีใครลบล้างหรือทดแทนได้อีกตลอดกาล



(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 4)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 5)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 6)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 7)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 8)

FILM CLUB Year List 2020 (Part 2)

0

(รายชื่อรอบแรก)

ในที่สุดปี 2020 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ท่ามกลางสถานการณ์การปิดโรงหนังหนีโควิด การเฟื่องฟูของกิจการ Streaming ภาพยนตร์ และการที่เทศกาลหนังเกือบทั้งโลกย้ายมาอยู่ออนไลน์ เปิดประตูกว้างต้อนรับผู้ชมจากทั่วโลก และสำหรับในประเทศการมาถึงของการชุมนุมที่นอกจากจะขยายเพดานการสื่อสารอย่างสามารถสร้างเทรนด์บางอย่างของการดูหนังแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วย 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2020 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2021 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง 

และนี่คือรายชื่อรอบสอง


พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู : นักวิชาการอิสระ โปรแกรมเมอร์หอภาพยนตร์

School Town King (2020, วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย)

สารคดีที่ไม่เพียงแต่จะเล่าเรื่องการดิ้นรนเพื่อความฝันของนักเรียนคู่หนึ่งซึ่งขัดต่อค่านิยมทางการศึกษาของคนส่วนใหญ่ หากยังกระตุ้นให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำและกรอบที่กักขังสังคมไทยมายาวนาน ซึ่งสุดท้ายแล้วมันถูกระเบิดออกมาเป็นปรากฏการณ์บนท้องถนนในช่วงที่ผ่านมา ในแง่หนึ่ง หนังจึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนอารมณ์และใจกลางของปัญหาสำคัญแห่งปี พ.ศ. ที่เพิ่งจบไป



ภาคภูมิ ลมูลพันธ์ : Routine กราฟิกดีไซเนอร์ ฝ่ายศิลป์ Film Club 

The Mandalorian season 2 (2020, Jon Favreau(creator), US)

สุดท้ายปีที่ไม่มีอะไรบันเทิง blockbuster นอกบ้านเท่าไหร่ ก็ยังมีสิ่งนี้มาเติมความหวัง เหมือน Jon Favreau เดินมาบอกดิสนีย์ว่าพวกเอ็งทำอะไรกัน พอได้แล้ว เอามานี่เดี๋ยวทำให้ดู



มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ : นักวิจารณ์ภาพยนตร์ นักเขียนประจำ Film Club

The Painted Bird (2019, Nabarvené ptáče, Czech)

อึ้งสิครับ เอาแค่เนื้อหาที่ตรึงความสนใจจนจบ โดยไม่วืด,ว่อกแว่กคิดเรื่องอื่น ขณะดู นี่ยังไม่รวมที่เขาตบตาได้สนิทใจ จนนึกว่าเป็นหนังที่สร้างตั้งแต่ยุค 60 (เพียงเพราะฉายวันต่อกันกับ Closely Observed Train ซึ่งก็เป็นหนังขาวดำเหมือนกันอีก) ยิ่งหนังจบมีเซอร์ไพรส์ตามมาอีกมากมาย

ก่อนดูไม่รู้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับหนังมาก่อนเลย นอกจากชมในใจว่าหนังมาก่อนเวลายาวนาน (เปล่า หนังทำในยุคเรานี่แหละ) เซอร์ไพรส์สอง: อ้าว นี่สร้างจากคนแต่งคนเดียวกับ Being There นี่, เซอร์ไพรส์สาม: เริ่มสงสัยตะหงิดๆ แล้วสิ ว่าใช่เรื่องเดียวกับที่เคยใช้ชื่อ (ฉบับแปล) ว่า ‘นกเถื่อน’ หรือเปล่า



ดูหนังทุกวัน : แอดมินเพจและผู้จัดจำหน่ายหนังต่างประเทศ 

แปลรักฉันด้วยใจเธอ (2020, นฤเบศร์ กูโน) series 

ซีรีส์ของนาดาวและ Line TV ที่เขียนถึงแทบทุกตอนที่นางฉาย (ทั้งที่นางมีอยู่แค่ห้าตอน 55) ซึ่งก็อย่างที่เขียนถึงไปแล้วว่าชอบมากและอินมากในความเป็น representation ของซีรีส์ที่มีต่อชาว LGBT out there 

และโดยส่วนตัวเราเองก็เห็นซีรีส์เรื่องนี้เป็นภาพแทน “เรื่องของเรา” ในอดีต มันจึงดีมากๆ ทั้งสำหรับคนวัยเรา วัยแก่กว่าเรา วัยเท่ากับเต๋และโอ้เอ๋ว หรือวัยไหนก็แล้วแต่ ที่จะได้ดูเรื่องของคุณผ่านจอ หวังว่าโควิดระลอกใหม่จะไม่ทำให้ตารางการถ่ายทำต้องกระทบจนวันฉาย Part 2 เดือนมีนาต้องเลื่อนนะ



คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง : อาจารย์สอนภาพยนตร์ คอลัมนิสต์ นักวิจารณ์ 

One Summer Story (2020, Shuichi Okita, Japan)

ผลงานของผู้กำกับ A Story of Yonosuke ที่กลับมาคืนฟอร์มอีกครั้ง เรื่องราวในฤดูร้อนของเด็กสาวชายหนุ่มที่ช่วยกันตามหาพ่อที่แท้จริงของฝ่ายหญิงและพบว่าเขากลายเป็นเจ้าลัทธิไปแล้ว เป็นพล็อตเอื้อต่อความหวือหวาดรามาติกสุดๆ ทว่าผู้สร้างกลับเลือกนำเสนอแบบเรื่อยเปื่อยเอื่อยเฉื่อย ทุกสิ่งอย่างดูเป็นกิจวัตรสามัญธรรมดาไปเสียหมด หากแต่การถ่ายทำก็ไม่ได้ง่ายดายเพราะหนังเต็มไปการถ่ายแบบ long take รวมถึงฉากสุดท้ายของหนังที่ถ่ายทอดความรักใสซื่อของวัยมัธยมได้อย่างน่าประทับใจ เช่นนั้นแล้วชื่อหนังอาจจะเป็นแค่ “ฤดูร้อนหนึ่ง” แต่หนังเรื่องนี้จะไม่ใช่เพียง “หนังเรื่องหนึ่ง” สำหรับหลายคน



ปราปต์ : นักเขียน 

The Long Walk (2019, Mattie Do, Laos)

ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้จักผกก.คนนี้มาก่อน​ ได้เข้าไปดูในงานหนังอาเซียนแบบไม่รู้อะไรเลย​ ปรากฏว่าตลอดเวลาที่ดูเป็นประสบการณ์ที่ดีมากที่สุดครั้งหนึ่งของการดูหนัง​ มันมีอะไรว้าวเต็มไปหมด​ พลอตและโปรดักชันอินเตอร์ตัดกับภาพวิถีบ้านๆ​ ที่เล่าอยู่ในเรื่องมากๆ​ เป็นเสน่ห์แหวกๆ​ ที่น่าจะหาไม่ได้จากงานของใครอีกแล้ว​ เพราะส่วนใหญ่ถ้าตั้งต้นมาอินเตอร์​ มันก็มักจะปูไปเป็นอินเตอร์ทุกส่วน​ จบจากเรื่องนี้แล้วได้ดูน้องฮัก​ ก็ว้าวอีกเหมือนกัน​ จากนั้นปวารณาตัวว่าจะไม่พลาดงานของแมตตี้​ โด​ อีกเลย​ รู้สึกลุ้นให้มีงานไทยที่ไปไกลขนาดนี้บ้าง​ โดยเฉพาะในทางหนังสยอง/สืบสวนที่หลังๆ​ เงียบหายกันไปนาน



ธีรพันธ์ ​เงาจีนานันต์ : ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี ไกลบ้าน 

Manhattan (1979, Woody Allen, US)

เคยดูตอนมหาลัยแล้วไม่ได้รู้สึกชอบขนาดนั้น แต่ส่วนตัวผมรักหนัง Woody Allen มากๆ อยู่แล้ว การได้มีโอกาสดูอีกครั้งในวันที่โตขึ้น ในโรงหนังจอใหญ่ๆ เหมือนได้มาทำความรู้จักกับหนังเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง และได้เห็นความชิบหายวายป่วง ความสับสนงุ่นง่าน เอาแต่ใจของหนังเรื่องนี้อีกครั้ง ที่อาจจะกลายเป็นชอบเรื่องนี้ของ Woody Allen ที่สุดไปเลยครับ



ชาญชนะ หอมทรัพย์ : นักวิชาการภาพยนตร์ คนเขียนบท อ.สอนภาพยนตร์

The Invisible Man (2020, Leigh Whannell, US) 

เป็นหนังผีในยุคสมัยจักรวาลมาเวลครองตลาดหนังจริงๆ ฉลาดที่เอาความกลัวผีของคนดู มาผสมกับความน่าเชื่อถือเรื่องเทคโนโลยีสุดล้ำ จริงๆ ตัวนิยายดั้งเดิมที่เอช จี เวลส์ เขียนเมื่อร้อยกว่าปีก่อนก็พูดถึงอันตรายของวิทยาศาสตร์เหมือนกัน (ในฉบับเดิมคือนักวิทยาศาสตร์การทดลองกับตัวเอง)



พงศ์สันต์ อรุณสินทวีพร : cinephile นักเขียนรับเชิญ Film Club 

Dwelling in the Fuchun Mountains (2019, Gu Xiaogang, PRC)

เป็นประสบการณ์การดูหนังแห่งปีที่ทั้งงดงามและมหัศจรรย์ กู้เสี่ยวกังเอาวิธีดูภาพวาดจีนโบราณมาใส่ในหนังด้วยเทคนิค scroll montage เหมือนค่อยๆ คลี่ภาพวาดออกจากม้วน เราจะเห็นทัศนียภาพก่อน แล้วค่อยเห็นผู้คน และชีวิตกิจกรรมข้างใน ซึ่งในที่นี้คือชีวิตของคนในครอบครัวหนึ่งซึ่งสุดแสนจะธรรมดาสามัญแต่ขึ้นลงแตกต่างตามโชคชะตา และสามารถสะท้อนเข้าไปจับในหัวใจเราได้ โดยหนังใช้ประโยชน์จากทัศนียภาพของเมืองฟู่หยางและแม่น้ำฟู่ชุนอย่างเต็มที่ กลายเป็นฉากหลังอันตราตรึงที่กินเวลาทั้งสี่ฤดู ห่มคลุมลงไปบนชีวิตของครอบครัวหลักในเรื่อง บ่อยครั้งที่ภาพไพล่ไปถ่ายทัศนียภาพแทนตัวละคร แม้ขณะที่เรายังได้ยินเสียงสนทนาดำเนินไป ก่อนที่กล้องจะเลี้ยวลดกลับมาหาตัวละครอีกที กลายเป็นฉากลองเทคที่น่าทึ่ง นุ่มนวล เป็นกวี และเปี่ยมพลัง

ด้วยเรื่องที่เป็นเรื่องครอบครัวอันประกอบด้วยสมาชิกสามรุ่น ถ่ายทอดสายใยรักชังตัดไม่ขาด ช่องว่างระหว่างรุ่นวัย แรงเสียดทานของสมัยเก่าข้างหลังและสมัยใหม่ข้างหน้า ความทุกข์ของชีวิตและโมงยามงดงามเล็กๆ ที่แทรกอยู่ในนั้น และด้วยวิธีเล่าที่ละเมียดค่อยเป็นค่อยไป ให้เวลาแต่ละฉากอย่างแน่ใจว่ายาวนานพอ ท่ามกลางฉากหลังเมืองจีนที่ผสมทั้งเก่าและใหม่ – ด้วยทั้งหมดที่ว่าไป มันจึงทำเกิดความรู้สึกรื้นใจขึ้นมาหลายที ค่าที่มันเหมือนหนังของเอ็ดเวิร์ด หยางผู้ล่วงลับที่เรารักมากๆ



ธนพัฒน์ วงษ์วิสิทธิ์ : นักวิจารณ์ แอดมินเพจ Movies can Talk 

Two Little Soldiers (2020, เป็นเอก รัตนเรือง) video art

ณ ซอกเร้นในป่า มีเสียงของประชาชนที่ไม่ได้ใครได้ยินซ่อนอยู่

หนึ่งในประสบการณ์ที่สุดแสนประทับใจจากดูหนังปี 2020 การเดินดูงาน Bangkok Art Biennale ณ หอศิลป์กรุงเทพ ท่ามกลางกลางงานศิลปะนานาชาติเรียงรายตาชูความโดดเด่น เราสะดุดตางานชิ้นใหม่ของพี่ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง หนังสั้นเรื่องใหม่ล่าสุดของเขา สาวสะเมิน (Two Little Soldiers) 

หนังสร้างจากบทหนังใหญ่ที่ถูกสร้างของพี่ต้อม โดยดัดแปลงจากเรื่องสั้นของกีย์ เดอ โมปาส์ซังต์ เจ้าพ่อเรื่องสั้นฝรั่งเศสเรื่อง Two Friends สู่หนังขนาดสั้น สาวสะเมิน (Two Little Soldiers) อันว่าด้วยเมืองหลวงเกณฑ์ทหารเข้ากรุงปราบประชาชน เหล่าทหารสองนายต่างจังหวัดที่ไม่ได้ถูกเลือกจึงพากันมาตกปลา ว่ายน้ำ พักผ่อน ณ ริมบึงแห่งหนึ่ง ที่นี่เขาพบสาวหมู่บ้านสะเมิงนั่งอยู่ ชีวิตของทั้งสามคนจะเปลี่ยนไปตลอดกาล

ก่อนจะเข้าห้องฉาย ภาพนอก มีภาพพิมพ์ที่เกิดสร้างจากบทภาพยนตร์ของพี่ต้อมไม่ถจำนวนกว่าสิบภาพ แต่ละภาพมีสแกน QR Code ลิงก์ที่ขึ้นเป็นคลิปเบื้องหลังพี่ต้อมทำงานกับนักแสดงในหนัง เสียงของเหล่าคนทำงานศิลปะในคลิปต่างขยายความหมายของภาพและจินตนาการคนดูจนแทบอยากเห็นฉบับหนังยาวจากเรื่องนี้  

ในทางกลับกันในห้องฉายหนังเก้าอี้นวมโมเดิร์นลายทหารถูกจัดวางให้คนดูนั่งอิ่มเอม เหมือนทหารพักร้อนไปตกปลา บทสนทนาระหว่างทหารหนุ่มสองนายและสาวชาวบ้านหนึ่งคนถูกเล่าในรูปแบบหนังเงียบ ขณะที่ข่าวจากรัฐบาลใช้มาตราการความรุนแรงปราบประชาชนค่อยๆ ดังขึ้นเรื่อยๆ



กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ : แพทย์ นักเขียนประจำ Film Club 

ไหลถอน (2020, ฉันทนา ทิพย์ประชาติ) video art 

ไหลถอน วิดีโอจัดวางของฉันทนา ทิพย์ประชาติ จัดแสดงที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ในเทศกาล บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ฉายภาพประเพณีไหลเรือไฟที่จังหวัดนครพนม กฤษดา นาคะเกตุ ผู้กำกับภาพจับจ้องเหล่าแรงงานผู้ศรัทธาพญานาค อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมในแทบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนการเข้ามาของศาสนาพุทธ และขวดเครื่องดื่มชูกำลังที่ใช้เป็นแหล่งกำเนิดเปลวไฟที่สะท้อนเรืองรองบนลำน้ำโขง

วิดิโอประกอบกับเสียงทำนองสรภัญญะ (ซึ่งปกติใช้บูชาพระพุทธเจ้า) ที่แต่งโดยฉันทนาเพื่อสรรเสริญชนชั้นกรรมาชีพและเยียวยาปลอบประโลมบาดแผลจากการไปเป็นลูกจ้างพลัดถิ่นในเมืองใหญ่



กฤตนัย ธีรธรรมธาดา : แพทย์ นักเขียนประจำ Film Club 

I Lost My Body (J’ai perdu mon corps) (2019, Jérémy Clapin, France)

เด็กส่งพิซซ่าที่ใช้ชีวิตอย่างซังกะตาย กับมือปริศนาที่วิ่งตะกุยตะกายฟันฝ่าอุปสรรคไปทั่วกรุงปารีส เป็นหนังแอนิเมชันเน็ตฟลิกซ์ที่เราชอบมากที่สุดในปีนี้ ด้วยวิธีที่มันพูดถึงอดีตและความทรงจำ ความผูกพันและตัวตนของเราผ่านโสตและกายสัมผัส และการก้าวผ่านขีดจำกัด อดีตอันเจ็บปวด และพันธนาการของชีวิตเพื่อไปสู่จิตจำนงเสรีได้สุดมาก รวมถึงเป็นอีกเรื่องที่เราคิดว่ามีฉากไคลแมกซ์ที่ทรงพลังและชวนตื้นตันมากที่สุดของปี 2020 (อาจต้องขอบคุณสกอร์ของแดน เลวี่ที่ชวนเหงาแต่ก็เต็มไปด้วยความหวังเหลือเกิน)

ดูแล้วก็ได้แต่มานั่งคิดขอบคุณอดีตและร่องรอยการสัมผัสของชีวิตเราในปีที่ผ่านมา แม้จะลำบากยากเข็ญ ชวนเจ็บปวด ชวนเศร้าเพียงไหน (คาดว่าหลายๆ คนก็คงบาดเจ็บไม่ต่างกัน) แต่ก็ต้องก้าวกระโดดเพื่อข้ามผ่านมันไปให้ได้ แล้วเจอกัน 2021!



(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 3)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 4)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 5)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 6)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 7)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 8)

FILM CLUB Year List 2020 (Part 1)

0

ในที่สุดปี 2020 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ท่ามกลางสถานการณ์การปิดโรงหนังหนีโควิด การเฟื่องฟูของกิจการ Streaming ภาพยนตร์ และการที่เทศกาลหนังเกือบทั้งโลกย้ายมาอยู่ออนไลน์ เปิดประตูกว้างต้อนรับผู้ชมจากทั่วโลก และสำหรับในประเทศการมาถึงของการชุมนุมที่นอกจากจะขยายเพดานการสื่อสารอย่างสามารถสร้างเทรนด์บางอย่างของการดูหนังแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วย 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2020 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2021 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง 

และนี่คือรายชื่อรอบแรก


จิตร โพธิ์แก้ว : cinephile ที่ปรึกษา Film Club 

HAPPY 20TH BIRTHDAY (2020, เคียงดาว บัวประโคน, 21 min) shorts

คือหนึ่งในภาพยนตร์ที่เราชอบมากที่สุดในปี 2020 หนังมีเนื้อหาเกี่ยวกับหญิงสาวที่ฉลองวันเกิดอายุ 20 ปีของตัวเองด้วยการออกไปล่าฝรั่งหนุ่มหล่อเพื่อจะได้มีเซ็กซ์กัน พอเราได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว เราก็รู้สึกดีใจที่ตัวเองอดทนมีชีวิตอยู่มา 47 ปีจนถึงวันที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ คือมันเป็นหนังไทยแบบที่เราอยากเห็นมานานมากๆ แล้ว แต่ก็ไม่เคยมีคนไทยสร้างมันออกมาให้เราได้ดูในเลยในช่วง 47 ปีที่ผ่านมา นึกว่าการได้ดูหนังเรื่องนี้คือการได้นอนตายตาหลับเสียที 55555 เพราะมีคนทำในสิ่งที่เราปรารถนามานาน 47 ปีให้สำเร็จได้ในที่สุด

สาเหตุที่เราชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ ก็คือว่า ถ้าหากเราเกิดเป็นหญิงสาวที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนนางเอกหนังเรื่องนี้ เราก็อาจจะตัดสินใจทำทุกอย่างคล้ายนางเอกหนังเรื่องนี้น่ะ (แต่จริงๆ แล้วเราคงไม่รอจนอายุ 20 ปีหรอก 55555) คือนางเอกหนังเรื่องนี้ “ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ” ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากเห็นมานานมากแล้วในหนังไทย แต่เราแทบไม่เคยเจอมาก่อน

HAPPY 20TH BIRTHDAY ก็เลยเหมือนเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่เราได้ดูในช่วง 47 ปีที่ผ่านมา ที่นำเสนอ “นางเอก” ที่ตรงกับ “นางเอกในจินตนาการของเรามากที่สุด” หรือตรงกับ “ผู้หญิงในแบบที่เราอยากจะเป็นมากที่สุด” นางเอกหนังเรื่องนี้ “ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ” จริงๆ



ศาสวัต บุญศรี : cinephile อ.สอนภาพยนตร์

How to Disappear (2020, Leonhard Müllner, Robin Klengel, Michael Stumpf With Kathy Tanner, Austria) shorts

หนึ่งใน essay film ที่เล่าเรื่องตรงประเด็นและชวนให้คนดูตั้งคำถามต่อสงครามเป็นยิ่งนัก ผู้กำกับเลือกใช้เกม Battlefield V เป็นเครื่องมือในการสะท้อนภาพ ซึ่งเกมสงครามดังกล่าวก็ absurd ไม่แพ้กัน การเลือกเล่า “ทหารหนีทัพ” ที่ทั้งในเกมและชีวิตจริง พวกเขาคือคนที่ต้องถูกกำจัดให้แดดิ้นไม่ต่างจากศัตรู ผ่านเครื่องมือของกฎกติกาในเกมต่างๆ ล้วนทำให้เราตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของสงครามและทหารว่ายังจำเป็นอีกหรือ



รัชฎ์ภูมิ บุญบัญชาโชค : ผู้กำกับ เขียนบท นักเขียน Film Club

Liberté (2019, Albert Serra, France)

ภาพยนตร์แห่งความเงี่ยน ไม่คิดไม่ฝันว่าจะมาเจอหนังอะไรแบบนี้ เป็น 2 ชั่วโมงที่ทั้งเรื่องมีแต่คนเงี่ยนมองกันไปมาในป่าสุมทุมพุ่มพฤกษในศตวรรษที่ 18 ที่ประดาคนทุกหมู่เหล่าไม่ว่าจะชายหญิงกะเทย ขุนนางชนชั้นสูงนั่งเสลี่ยงและข้าทาสไพร่บริวารที่เป็นคนแบกเสลี่ยง คณิกางามเมืองโสเภณีหรืออิสตรีสูงศักดิ์จากตระกูลเจ้า พวกเขาต่างก็พากันเดินทางมายังป่ากามารมณ์แห่งนี้ที่พออาทิตย์คล้อยลับหายนภาเคลื่อนสู่ราตรี เกมกามหรรษาก็บรรเลง สถานะสังคมของแต่ละผู้แต่ละคนก็ถูกปลดเปลื้องต่างอาภรณ์ คนมั่งมีหรือยากไร้ต่างพากันเดินย่ำย่างไปในป่ามืดใช้แสงจันทร์ต่างไฟส่องพาให้เจอกัน ต่างคนต่างเงี่ยนและเมียงมองกันเองว่าเธอจะมาสลายความเงี่ยนกับฉันไหม ความเหนียม ความตะบิดตะบวยของปัจเจกต่างฉายฉานผ่านอากัปของตัวละครแสนวิกลเหล่านี้ ความกำหนัดที่ปริ่มท้นอยู่ตลอดเวลาก็ทะลักทลายแตกซ่านละเลงนองเต็มพื้นผืนป่ากันก่อนรุ่งสางประดุจหยาดน้ำพิรุณรวยรินลงมาปลูกให้ป่าหนาเต็มผืนเป็นภาพที่สวยงาม ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนทำหนังแบบนี้ออกมา ประทับใจมากๆ



กิตติพล สรัคคานนท์ : นักเขียน บรรณาธิการ เจ้าของร้าน Books and Belonging

Claire Denis: J’ai pas sommeil (1994, Claire Denis, France)

แม้จะเป็นปีแห่งโรคระบาด แต่ก็เป็นช่วงปีที่กลับไปดูหนังในโรงบ่อยมากถึงมากที่สุด J’ai pas sommeil เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่รู้สึกได้ถึงความแตกต่างจากการนั่งดูหน้าจอทีวีเครื่องเล็กๆ รายละเอียดของความเป็นคนและดนตรีของ Denis ต้องถือว่างดงามและทำให้ประสบการณ์ของการเข้าไปสำรวจชีวิตของคนอพยพในมหานครแห่งโลกกลายเป็นที่จดจำมาถึงตอนนี้ 



ณิศวร์ฐิตะ ทองน้อย : นักเขียนประจำ Film Club 

Hillbilly Elegy (2020, Ron Howard, US)

หนังดราม่าครอบครัวและการก้าวผ่านช่วงวัยของเด็กหนุ่มจากชนบทของอเมริกา (คำว่า Hillbilly หมายถึงคนหลังเขา, คนบ้านนอก) รากเหง้าและความสัมพันธ์อันขมขื่นในครอบครัวที่คอยเหนี่ยวรั้งการแสวงหาชีวิตใหม่ ครอบครัวกลายเป็นเบ้าหลอมความเฮงซวยในชีวิตที่คุณอยากกลบฝังมันเอาไว้และหนีไปให้ไกลที่สุด 

หนังเล่าสลับไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบันของตัวละคร ความทรงจำหวานขมในอดีตถูกฉายซ้ำผ่านภาพชีวิตในปัจจุบัน การเติบโตอาจมอบสายตาคู่ใหม่ที่ทำให้เข้าใจความเจ็บปวดมากขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้เจ็บปวดน้อยลง การเยียวยาบาดแผลในใจ ความลับเล็กๆ น้อยๆ ในครอบครัวที่แต่ละคนต่างเก็บงำเอาไว้เพื่อถางทางให้เราเติบโตขึ้น 

แม้หนังจะไม่ได้นำเสนอประเด็นเฟมินิสม์โดยตรง แต่เมื่อดูแล้วก็อดสังเกตไม่ได้ว่าในเส้นทางการแสวงหาและการเติบโตของตัวเอก ล้วนแล้วแต่มี “ผู้หญิง” (ยาย แม่ พี่สาว แฟนสาว) คอยประคับประคองเป็นลมใต้ปีกอยู่ในทุกช่วงชีวิต 



นพธีรา พ่วงเขียว : นักเขียนรับเชิญ Film Club เจ้าของเพจ “คนวิจารณ์หนังไม่เป็น” แอคเคาท์ทวิตเตอร์ “addPALM” 

Spontaneous (2020, Brian Duffield, US)

แม้เรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นที่เริ่มทยอยเสียชีวิตด้วยเหตุผลที่อธิบายไม่ได้อย่าง “ร่างกายตัวระเบิดแตกตาย” จนเลือดสาดจะดูเป็นหนังคัลท์หรือหนังเพื่อความบันเทิง แต่แท้จริงแล้ว spontaneous กลับมีประเด็นและเนื้อหาของความเป็นหนัง coming-of-age ของวัยรุ่นซ่อนอยู่และเล่าผ่านตัวละครต่างๆ ได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ

และผกก. นำพาประเด็นนี้ออกมาเล่าได้อย่างชาญฉลาด โดยมุ่งเน้นหลักๆ ไปที่ตัวละครที่ต้องรับมือกับความสูญเสียและความโศกเศร้า เมื่อเพื่อนๆ ที่พวกเขารู้จักตายอย่างไม่มีการจากลา ไม่มีวันเวลาบอกล่วงหน้า หรือไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดเลยว่าพวกเขาตายเพราะอะไรกันแน่?

ยังไงก็แล้วแต่ spontaneous นับว่าเป็นหนังที่หลอกคนดูได้ดีระดับนึงให้หลงเชื่อว่าเป็นแค่หนังคัลท์สยองขวัญโง่ๆ เพื่อความบันเทิง แต่แท้จริงกลับมีทั้งความโหด ความตลก และความเป็นหนังวัยรุ่นที่ลงตัว โดยเฉพาะครึ่งหลังของหนังที่น่าจะเรียกได้เต็มปากว่าเป็นการพลิกโทนการเล่าเรื่องที่กล้าหาญอย่างสุดๆ



ธีพิสิฐ มหานีรานนท์ : นักเขียน อดีต บก. Bioscope นักเขียนประจำ Film Club 

Cherry Magic (2020, Hiroki Kazama, Japan) TV series

นับเป็นเรื่องน่าประทับใจสำหรับแฟนซีรีส์วายอย่างข้าพเจ้า ที่ในท่ามกลางกระแสธารอันเชี่ยวกรากของการขายความโฉ่งฉ่างร้อนเร่าของตัวละครชาย-ชาย ยังมี Cherry Magic จากญี่ปุ่นที่กลับว่ายทวนน้ำขึ้นมาได้อย่างสง่างาม ด้วยค่าที่มันสามารถถ่ายทอดความรักอันอบอุ่นหัวใจของชายหนุ่มสองคนออกมา โดยไม่จำเป็นต้องมีฉากเซ็กซี่เรียกแขกแต่อย่างใด ผ่านเรื่องราวชีวิตประจำวันกึ่งแฟนตาซีที่ว่าด้วยหนุ่มโสดซิงซื่อใสอย่าง อาดาจิ (เอจิ อาคาโซ) ที่เพิ่งได้รับพลังวิเศษในการ ‘อ่านใจผู้คนผ่านการสัมผัส’ หลังวันเกิดวัยสามสิบของตน และเพิ่งได้รู้ว่า คุโรซาวะ (เคตะ มาจิดะ) หนุ่มหล่อแสนเพอร์เฟ็กต์ของออฟฟิศกำลังแอบชอบเขาอยู่

ซีรีส์ 12 ตอนเรื่องนี้บอกเล่าพัฒนาการความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่อย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยท่าทีเรียบง่าย ขบขัน หรือแม้แต่ชวนให้เขินจิ้นฟินจิกหมอน แต่ก็ยังเต็มไปด้วยความจริงจังจริงใจที่ตัวละครมีต่อรายละเอียดของชีวิต สังคม และผู้คนที่แวดล้อมพวกเขา โดยเป็นการพยายามชี้ให้ผู้ชมเห็นถึง ‘คุณค่า’ ของตัวเองและคนอื่นๆ เพื่อยืนยันว่า ไม่ว่าเราจะเป็นเพศไหนหรือเป็นใคร คนทุกคนก็ล้วนเปล่งประกายในแบบของตัวเองทั้งนั้น

และที่สำคัญ, จงอย่ายอมให้ใคร-หรืออะไร-มาตัดโอกาสหรือตัดสินชีวิตของเราได้ง่ายๆ …โดยเฉพาะจาก ‘อคติ’ ที่เรามีต่อตัวเอง

นี่จึงกลายเป็นซีรีส์วายที่ถ่อมตัว มีหัวจิตหัวใจ และเพิ่มพลังชีวิตให้ผู้ชมได้มากที่สุดในขวบปีที่แสนโหดร้ายต่อมวลมนุษยชาติอย่าง 2020 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป

หมายเหตุ : สามารถรับชม Cherry Magic (ถ้า 30 ยังซิง! จะมีพลังวิเศษ) แบบมีซับไตเติ้ลไทยและถูกลิขสิทธิ์ได้ทาง WeTV นะจ๊ะ



นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ : ผู้กำกับภาพยนตร์ ศิลปิน

Everyday is A Good Day (2018, Tatsushi Ohmori, Japan)

นี่คือ soul ของข้าพเจ้า , การนั่งดูคนหัดชงชาทั้งเรื่องแม่งวัดใจสัด แต่สุดท้ายความช้าของการชงชา ก็ทำให้เราต้องนั่งรอและเห็นอะไรชัดขึ้นหลายอย่าง , ถ้านิ่งได้เมื่อไหร่ เราก็จะเข้าใจชีวิตได้มากขึ้น ไม่มากก็น้อย



 ‘กัลปพฤกษ์’ : นักวิจารณ์ภาพยนตร์ 

The Truffle Hunters (2020, Michael Dweck/Gregory Kershaw, Italy/US/Greece)

เหมือนได้ดูหนังตลกขำขื่นฝืนสังขารของผู้กำกับอำมหิตจิตโหด Ulrich Seidl อย่างไรอย่างนั้น ต่างก็แต่เพียงมันคือหนังสารคดีนักล่าเห็ด truffle ล้ำค่าหายากในอิตาลีที่ไม่ได้มีการจัดฉากหรือจ้างใครมาแสดง! ดูแล้วต้องเชื่อเลยว่าโลกแห่งความเป็นจริงมันสามารถวิปริตผิดแปร่งจนเกินกว่าจะแต่งเขียนออกมาเป็นบทหนัง เมื่อทุกสิ่งทั้งหมดที่เห็นล้วนเป็นเหตุการณ์และผู้คนที่มีตัวตนอยู่จริงๆ!


ณฐพล บุญประกอบ : ผู้กำกับสารคดี

School Town King (2020, วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย)

ไม่มีหนังจากคนทำหนังระดับโลกคนไหนที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมได้เท่ากับหนังเกี่ยวกับสังคมเรา และสร้างขึ้นโดยเพื่อนเราเอง



(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 2)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 3)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 4)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 5)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 6)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 7)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 8)

Box Office Report 2020 ไร้หนังร้อยล้าน

เมื่อสรุปรายได้หนังทั้งปี 2020 แล้วพบว่าไม่มีหนังเรื่องไหนทำเงินถึง 100 ล้านบาทเลย หนังที่ทำเงินสูงสุดเป็นของ ‘อีเรียมซิ่ง’ ซึ่งเก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อยๆ จนทำเงินไป 75.59 ล้านบาท และ Jumanji : The Next Level หนังจากปี 2019 ที่ทำเงินต่อเนื่องถึง 2020 ซึ่งเฉพาะปี 2020 หนังทำเงินไปกว่า 36 ล้าน ส่งผลให้รายได้รวมสูงถึง 108 ล้านบาท

รายได้หนังปี 2020

  1. อีเรียมซิ่ง – 75.59 ล้านบาท
  2. Demon Slayer: Kimetsu No Yaiba – 70.98 ล้านบาท
  3. Mulan – 64.64 ล้านบาท
  4. Wonder Woman 1984 – 59.54 ล้านบาท
  5. Tenet – 58.88 ล้านบาท
  6. อ้าย..คนหล่อลวง – 55.39 ล้านบาท
  7. Peninsula – 52.77 ล้านบาท
  8. Low Season สุขสันต์วันโสด – 41.30 ล้านบาท
  9. Jumanji: The Next Level – 36.43 (108.73) ล้านบาท
  10. พี่นาค 2 – 35.91 ล้านบาท

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 23 – 30 ธ.ค. 63


สัปดาห์สุดท้ายของปีนี้ ส่งท้ายกันด้วยความสำเร็จของ Monster Hunter ที่ทำเงินเมื่อวาน (30 ธ.ค.) วันเดียวกว่า 5 ล้านบาทเลยทีเดียว

รายได้หนังประจำสัปดาห์ที่ 23-30 ธ.ค.63

  1. Wonder Woman 1984 – 13.25 (58.35) ล้านบาท
  2. Soul – 6.16 ล้านบาท
  3. Monster Hunter – 5.15 ล้านบาท
  4. Demon Slayer: Kimetsu No Yaiba – 2.97 (70.60) ล้านบาท
  5. อ้าย..คนหล่อลวง – 2.02 (55.13) ล้านบาท
  6. วอน (เธอ) – 1.66 ล้านบาท
  7. Horizon Line – 0.70 ล้านบาท
  8. A Gift from Bob – 0.70 ล้านบาท
  9. Chungking Express – 0.31 (0.38) ล้านบาท
  10. อีเรียมซิ่ง – 0.18 (75.55) ล้านบาท

The Farewell การจากลาครั้งสุดท้าย (ที่อาจไม่มีโอกาสได้บอก)

*** บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์ ***

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา หลังหนังดังอย่าง Crazy Rich Asains ของผู้กำกับ จอน เอ็ม. ชู หรือ The Rider ของ โคลเอ้ จ้าว (ที่ปัจจุบันได้ไปกำกับ The Eternal ของมาร์เวลเรียบร้อยแล้ว) ได้เข้าฉาย กระแสตอบรับด้านบวกต่อผลงานของผู้กำกับชาวเอเชียก็ได้เฉิดฉายในวงการฮอลลีวูดอย่างต่อเนื่อง

และที่ไม่กล่าวถึงเลยไม่ได้ ก็คงเป็นหนังชื่อดังที่สร้างความฮือฮาให้กับเทศกาลหนังซันแดนซ์ปีที่แล้ว กับหนังที่ถูกสร้างขึ้นมาจากชีวิตจริงของผู้กำกับหญิงชาวจีน Lulu Wang ที่ย้ายรกรากตามบิดา (ที่มาศึกษาปริญญาเอก) และครอบครัว มาเติบโตอยู่ที่ไมอามี่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้นักแสดงสาวดาวรุ่งมากความสามารถอย่าง Akwafina มาแสดงนำ ซึ่งก็คือหนังเรื่อง The Farewell นั่นเอง

หนังเปิดด้วยคำที่กระตุกต่อมสงสัยของผู้ชมอย่าง “จากเรื่องโกหกเรื่องจริง” (Based on a true lie) ก่อนจะเฉลยในภายหลังว่า หนังเป็นกึ่งอัตชีวประวัติของผู้กำกับ Wang เอง ที่ว่าด้วยเธอและครอบครัวที่ปิดบังเรื่องราวการเจ็บป่วยจากคุณย่า ผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดระยะที่สี่ เพื่อทุกคนจะได้มาอยู่รวมกันพร้อมหน้าในงานแต่งงานที่ถูกเลื่อนขึ้นมาจัดก่อน ด้วยความกังวลว่าคุณย่าจะจากไป

The Farewell เองเล่าด้วยเรื่องที่คล้ายคลึงกันหากแต่เปลี่ยนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่ออรรถรสในการรับชม หนังว่าด้วยชีวิตของ บิล สาวชาวจีนที่กำลังหมดอาลัยตายอยากกับอนาคตและชีวิตหลังโดนปฏิเสธจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง เธออาศัยอยู่ในนิวยอร์กกับพ่อและแม่ แต่ก็ยังคงติดต่อกับคุณย่าที่จีนแผ่นดินใหญ่อยู่เสมอๆ ก่อนที่วันหนึ่งจะรู้ข่าวร้ายจากคุณลุงที่บ้านเกิดว่า คุณย่าที่ป่วยเรื้อรังด้วยอาการไอ ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดระยะที่สี่ และมีโอกาสจะอยู่ได้อีกไม่กี่เดือน (แต่ไม่มีใครในครอบครัวแจ้งข่าวนี้ให้คุณย่ารู้) ทั้งครอบครัวจึงตัดสินใจจัดงานระหว่างลูกพี่ลูกน้องของเธอกับแฟนสาวชาวญี่ปุ่นที่เพิ่งคบหากันมาได้สามเดือน เพื่อเป็นข้ออ้างในการเรียกรวมญาติครั้งใหญ่ และเฉลิมฉลองกับคุณย่าครั้งสุดท้ายก่อนจะไม่ได้มีโอกาสอีก

อย่างไรก็ตาม บิลถูกขัดขวางอย่างหนัก เพียงเพราะครอบครัวกังวลว่าเธออาจทำความลับแตก จากการที่เป็นคนแสดงออกทางสีหน้ามากเกินไป ก่อนหนังจะตัดกลับไปที่จีนและแสดงให้เราเห็นว่าสุดท้ายเธอก็แอบจองตั๋วกลับมาอยู่ดี (และก็เก็บอาการไม่ได้จริงๆ​ แต่โชคดีที่คุณย่าไม่ได้สงสัยอะไร)

หนังวนเวียนอยู่กับสถานการณ์ชวนวุ่น ทั้งความสับสนในใจของบิลเองที่ลังเลระหว่างการบอกหรือไม่บอกคำวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยของคุณย่า เหตุการณ์ชุลมุนในงานแต่งงาน ก่อนมาถึงด้วยไคลแมกซ์เล็กๆ ในฉากที่คุณย่าให้คนใช้ไปเอาผลการวินิจฉัยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดโดยที่ไม่ใครรู้ ร้อนถึงบิลต้องวิ่งตามไปเอาถึงโรงพยาบาล ก่อนจะเฉลยภายหลังว่า แม่บ้านอ่านหนังสือไม่ออกจึงไม่รู้ว่าผลการตรวจเขียนอะไรไว้ บิลเลยเอาผลตรวจไปแก้ที่ร้านคอมฯ แถวนั้น แล้วกลับมาโกหกคุณย่าว่าเป็นการติดเชื้อในปอดไม่ใช่มะเร็ง

หนังจบลงด้วยฉากสะเทือนใจขณะที่เธอบอกลาคุณย่า หันหลังมองจากกระจกรถที่กำลังจะออกตัวไปสนามบินเพื่อกลับนิวยอร์กโดยรู้ทั้งรู้ว่าอาจจะไม่มีโอกาสได้เจอคุณย่าอีก ก่อนหนังจะหักมุมอีกครั้งในฉากจบด้วยฟุตเทจจากชีวิตจริงว่า คุณย่าของผู้กำกับเองยังมีชีวิตอย่างแข็งแรงอยู่ดีในอีก 6 ปีถัดมา!  

นอกจากประเด็นการเติบโตในครอบครัวต่างวัฒนธรรมและการพลัดถิ่น The Farewell จึงเป็นหนังที่น่านำมาถกเถียงกันในประเด็นที่ว่า การโกหกนั้นเป็นสิ่งที่สมควรทำหรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีของผู้ป่วยระยะสุดท้าย (terminally illed patient)

มีสองฉากในหนังที่น่าสนใจ ฉากแรกคือฉากที่ว่าด้วยการเปิดอกคุยกันของพ่อและบิล

ในขณะที่บิลเติบโตมากับอิทธิพลสังคมอเมริกันที่ถือว่าปัจเจกเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด และชีวิตเป็นของตัวเราเอง ทางจีนและชาวตะวันออกก็เชื่อว่าชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของมวลรวม ครอบครัว สังคมเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของทุกคนในครอบครัวที่จะดูแลสุขภาพคุณย่าทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ และทำให้มีสิทธิ์ในการตัดสินใจแทนคุณย่าด้วย นอกจากนี้ยังมีคำพูดในเหล่าชาวจีนที่ว่า คนตายไม่ได้ตายเพราะมะเร็ง แต่ตายเพราะกลัวมะเร็ง ซึ่งยิ่งสนับสนุนการตัดสินใจของพ่อขึ้นไปอีก

อีกฉากหนึ่งซึ่งมีความคล้ายคลึงกันคือฉากที่บิลไปเยี่ยมคุณย่าผู้มีอาการกำเริบที่โรงพยาบาล และได้ยินความคิดเห็นที่ใกล้เคียงกันจากหมอวัยรุ่นราวคราวเดียวกัน “มันเป็นโกหกที่เจตนาดีครับ (white lie) ครอบครัวส่วนใหญ่ในจีนก็ตัดสินใจไม่บอกแบบนี้แหละ” 

แต่คำกล่าวนี้ถูกต้องจริงตามหลักการแพทย์หรือไม่ อาจต้องกลับมามองหลักจริยธรรมสากลอีกที ความจริงแล้ว หลักและรายละเอียดปลีกย่อยอาจแตกต่างกันไปในแต่ละที่หรือตามประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตาม ใจความส่วนใหญ่มักประกอบไปด้วย 4 ข้อตามที่ Beauchamp and Childress (2008) กล่าวไว้ ได้แก่

1. Autonomy สิทธิที่ผู้ป่วยจะรู้วินิจฉัยว่าป่วยเป็นอะไรและเลือกวิธีการรักษาตามความเหมาะสม

2. Benificene การรักษาที่เน้นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย

3. Non-maleficence การรักษาต้องไม่เพิ่มอันตรายใดเพิ่มเติมให้ผู้ป่วย

4. Justice การรักษาต้องบริสุทธิ์ยุติธรรมตามวินิจฉัยโรค

สังเกตว่าการตัดสินใจไม่บอกวินิจฉัยแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย แม้จะขัดกับจริยธรรมสากลข้อ 1 แต่ก็เอื้อกับหลักข้อ 2 (ถ้านับจากเจตนา) นี่เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างตัดสินได้ยาก (dilemma) พอสมควร และยังคงเป็นข้อถกเถียงในการตัดสินใจให้การรักษาในแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน

มีการถกเถียงถึงประเด็นข้อขัดแย้งนี้มาอย่างช้านาน ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1998 มีการให้ความเห็นและเขียนความคิดเห็นถกเถียงกันผ่านบทบรรณาธิการในวารสารทางการแพทย์ รวมถึงในวารสารชื่อดังอย่าง JAMA (The Journal of the American Medical Association) ที่มีบทความพูดถึงประเด็นนี้ มีความเห็นต่างกันมากมายในขณะนั้น ตั้งแต่ความคิดที่ว่า การบอกความจริงทั้งหมดอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดเสมอไป ควรมองให้ครบในหลายมิติ ทั้งสภาพจิตใจ ศาสนา ความเชื่อของคนไข้ และบอกเท่าที่ควรจะบอกตามดุลยพินิจแพทย์, บางส่วนให้ความเห็นว่าผู้ป่วยบางรายหลังรู้อยากมีชีวิตต่อมากจนเลือกรักษาทุกรูปแบบจนเกิดผลข้างเคียงมากมาย ทำให้วาระสุดท้ายเสียชีวิตอย่างไม่สุขสบาย, บางส่วนให้ความเห็นว่าการประเมินเวลาเป็นไปได้ยาก ดังนั้นจึงไม่ควรกะเกณฑ์คาดเดาเวลาเสียชีวิต ซึ่งทั้งหมดก็ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าการบอกหรือไม่บอกวินิจฉัยและพยากรณ์โรคต่อคนไข้ แบบไหนดีกว่ากัน

ผ่านมาในปี 2013 มีการถกเถียงในประเด็นนี้ ในการประชุม ASCO (American Society of Clinical Oncology) อันเป็นการประชุมว่าด้วยการยกระดับการรักษามะเร็งของหลายๆ ภาคส่วน โดยได้ข้อสรุปกลางๆ ว่า การแจ้งวินิจฉัยแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย อาจต้องมีการตัดแต่ง (tailor) ให้เข้ากับแต่ละบุคคล เพื่อคนไข้ได้รับข้อมูลอันเหมาะสม ไม่น้อยไปที่จะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ และไม่มากไปจนอาจส่งผลเสียและกระทบถึงการตัดสินใจเพื่อรักษาต่อของผู้ป่วย

หรือในปี 2015 เคยมีงานวิจัยของคุณ Enzinger และคณะ ซึ่งสอบถามผู้ป่วย 590 คน จากโรงพยาบาลใหญ่หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา โดยรวมกลุ่มผู้เป็นมะเร็งที่ต้องได้ยาคีโมบำบัดบรรเทาอาการ (ว่าง่ายๆ ว่ารักษาแบบประคับประคองระยะสุดท้ายแล้ว คิดว่าไม่หายขาดแน่ๆ) ด้วย พบว่า 70% อยากทราบอายุขัย​ที่เหลืออยู่ (life expectancy) และมีเพียงประมาณ 20% เท่านั้นที่จำได้ว่าแพทย์เคยแจ้งข้อมูลนี้ไว้

จากการวิจัยดังกล่าวพบว่า การรู้ว่าตัวเองมีอายุขัยอีกเท่าใดสัมพันธ์ต่อการวางแผนรักษาผู้ป่วยให้สะดวกสบายและเจ็บป่วยน้อยที่สุด โดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ไม่ได้ทำให้เป็นซึมเศร้า หรือเป็นโรควิตกกังวลมากขึ้น รวมถึงไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้กับแพทย์แย่ลง (เช่น ไม่ยอมมารักษาต่อ หรือไม่เชื่อการรักษา)

โดยสรุป ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าแนวโน้มการรักษายุคปัจจุบันในกลุ่มคนไข้มะเร็งที่ยังรักษาไม่หาย มีแนวโน้มไปทางการรักษาแบบประคับประคองเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตมากขึ้น ซึ่งอาจตรงกับความคิดของทางตะวันตกที่สนับสนุนการบอกผลการวินิจฉัยแก่ผู้ป่วย (มากน้อยอีกเรื่องหนึ่ง) เพื่อร่วมกันวางแผนการรักษาในอนาคต โดยอ้างอิงจากงานวิจัยในช่วงหลังๆ ที่ว่าบอกทำได้ ไม่มีผลกับสุขภาพจิตคนไข้ ไม่ทำให้ซึมเศร้ามากขึ้น ซึ่งผลงานวิจัยในปัจจุบันหลายฉบับก็สนับสนุนส่วนนี้ แม้หลายเสียงอาจจะอ้างว่างานวิจัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ส่วนมากมักมาจากทางตะวันตก ซึ่งนิยมให้บอกผลมากกว่า แต่ระยะหลังเอง ทางตะวันออกก็เริ่มทำวิจัยในทำนองนี้บ้างและได้ผลออกมาคล้ายกัน นั่นคือสนับสนุนให้บอก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์เกิดกับคนใกล้ตัว ปัจจัยหลายอย่างก็อาจกวนการตัดสินใจของเรา ลองคิดดูว่า ถ้าพ่อแม่ หรือญาติคนใกล้ชิดของเราเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เราจะอยากบอกหรือไม่ หลายคนอาจจะไม่อยากบอกเพราะกลัวอีกฝ่ายอาการทรุดลงเพราะกำลังใจเสีย หลายคนอาจอยากบอกเพื่ออีกฝ่ายรับทราบและวางแผนอนาคตที่เหลืออยู่ร่วมกัน

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว เราอาจจะต้องกลับมาที่หลักการง่ายๆ กับตัวเราเองว่า ถ้าเราเป็นมะเร็ง จะอยากรู้ไหมว่าเป็นอะไร อยากรู้เนิ่นๆ เพื่อที่จะได้เตรียมการหรือเตรียมความพร้อมในชีวิตไว้ หรือไม่อยากรู้ แล้วรออาการกำเริบหนักทีเดียว

ผู้เขียนอยากให้ลองคิดถึงตอนจบของหนังในสภาพตรงกันข้าม หากคุณย่าไม่ได้สบายดีอย่างเช่นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง (และในหนัง) แต่อาการกำเริบ ล้มป่วย และเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน การที่บิล (หรือผู้กำกับ Wang เอง) ไม่ได้เจอกับย่าอีก ไม่มีโอกาสบอกความปรารถนาสุดท้ายต่อกัน สุดท้ายจะเป็นอย่างไร

คำตอบส่วนนี้อาจไม่มีถูกหรือผิดชัดเจน ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนที่ต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเราอาจเห็นพ้องต้องกันคือ ณ ตอนนี้ที่คนรอบข้างเราไม่มีใครเจ็บป่วยหรือเป็นอะไรร้ายแรง (หรืออาจมีก็แล้วแต่) ในช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกัน และไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไร การใช้เวลาให้คุ้มค่าเต็มที่น่าจะเป็นการรับมือดีที่สุด

อย่างน้อย บิลก็คงไม่เสียใจ ที่วันนั้นได้กอดลา และดูแลคุณย่าเป็นอย่างดีในช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันสั้นๆ ก่อนจากกัน ไม่ว่าเธอจะได้เจอคุณย่าอีกหรือไม่ก็ตาม


ป.ล. เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับหนังคือหนังทั้งหมดถ่ายทำที่เมืองฉางชุนบ้านเกิดของ Lulu Wang โดยปิดเป็นความลับกับคุณย่าตัวจริงสุดฤทธิ์ แต่พอหนังเข้ามาฉายในจีน ชื่อหนังในจีนใช้ชื่อว่า 别告诉她 ซึ่งแปลได้ว่า “อย่าบอกเธอ” เพื่อนสุดที่รักของคุณย่าดูหนังแล้วชอบมาก เลยส่งรีวิวมาให้คุณย่าอ่าน คุณย่าเลยทราบเรื่องเรียบร้อย แถมยังพูดติดตลกว่า “มาถ่ายหนังนี่ไม่ยอมบอกเลยนะว่าเกี่ยวกับอะไร บอกชื่อหนังก็ยังไม่ได้ แต่ดูซิ พอหนังเข้าจีน ชื่อหนังว่าอย่าบอกเธอ สุดท้ายฉันเลยเก็ทเลยว่า อ๋อฉันก็คือ ‘เธอ’ คนนั้นสินะ!”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคุณย่าของผู้กำกับ Wang ก็ยังสุขภาพแข็งแรงดี

อ้างอิง

https://www.historyvshollywood.com/reelfaces/the-farewell/

https://slate.com/culture/2020/01/farewell-lulu-wang-grandmother-learns-secret-hollywood-foreign-press-foreign-language-symposium.html

https://www.screendaily.com/features/lulu-wang-on-the-real-life-story-behind-the-farewell/5145613.article

https://depts.washington.edu/bhdept/ethics-medicine/bioethics-topics/articles/principles-bioethics

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/9800997/

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26438121/

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23714568/

They’ll Love Me When I’m Dead ราชันย์ฝันสลาย

ภาพยนตร์ของออร์สัน เวลส์ มักเริ่มต้นด้วยความตาย เรื่องนี้ก็เช่นกัน

ไม่ต่างอะไรกับบรรดาผลงานแสนยิ่งใหญ่ทั้งหลายที่เป็นได้ทั้งความภาคภูมิใจและคำสาปร้ายแรง ที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของบรรดาผู้ที่รังสรรค์มันขึ้นมา Citizen Kane ทำเอาชีวิตของผู้ยิ่งใหญ่แห่งฮอลลีวูดประสบชะตากรรมชีวิตพลิกคว่ำคะมำหงาย ทั้งคนเขียนบทอย่างเฮอร์แมน แมนคีวิกซ์ที่เราได้เห็นไปแล้วใน Mank และกับตัวผู้กำกับอย่างออร์สัน เวลส์ ที่ไม่ว่าจะทำหนังออกมากี่เรื่องหลังจากนั้นก็จะต้องถูกเอาไปเทียบกับความยิ่งใหญ่ของผลงานสร้างชื่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คำสาปของเคน ทำเอาเวลส์เซ็งฮอลลีวูดจนต้องหนีไปอยู่ยุโรปเกือบสองทศวรรษ ก่อนที่เขาจะเริ่มรวบรวมแรงฮึดสุดท้ายมาทำหนังสั่งลาฮอลลีวูด The Other Side of The Wind และสารคดีเรื่องนี้ คือบันทึกเบื้องหลังกองถ่ายสุดบ้าระห่ำ ตำนานคลั่งครั้งสุดท้ายของเวลส์ที่แม้กระทั่งเจ้าตัวก็ไม่มีโอกาสได้เห็นมันออกฉาย

“คนพวกนั้นจะรักผมก็ตอนที่ผมตายไปแล้วนั่นแหละ” บางคนที่เคยทำงานกับเวลส์ยืนยันว่าเคยได้ยินเขาตัดพ้อ ในขณะที่หลายคนก็ยืนยันว่าเขาไม่เคยพูดแบบนั้นเสียหน่อย ไม่ว่าเวลส์จะเคยพูดหรือไม่ มันก็ฉายภาพความรักแบบฮอลลีวูดที่ไม่เคยเปลี่ยน ดาวรุ่งหลายคนดับแสงลงเพราะไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ กลายเป็นที่รักอีกครั้งเมื่อสิ้นชีวิต หลังจากทำ Touch of Evil ก็แทบไม่เหลือนายทุนคนไหนรักมนต์เสน่ห์ของเวลส์อีกต่อไป สิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่การระลึกถึงกันอีกครั้งหลังความตาย เรื่องนี้ถูกพิสูจน์แล้วด้วยความพยายามอย่างทุลักทุเลตลอดหกปีที่เขาทำหนังเรื่องสุดท้าย เวลส์ต้องการเกษียณอย่างมีเกียรติ

The Other Side of The Wind คือเรื่องราวอันว่าด้วยวันสุดท้ายในชีวิตของเจค ฮันนาฟอร์ด ผู้กำกับมือเก๋าแห่งฮอลลีวูด ที่กำลังจัดฉายหนังที่จะมากอบกู้ชีวิตของเขาให้กลับมาสดใสอีกครั้งในฮอลลีวูด และต้องรับมือกับความฉิบหาย ภัยพิบัติต่างๆ ในวันฉายรอบปฐมทัศน์ เส้นเรื่องของหนังแบ่งเป็นสองส่วนคือ สารคดีปลอมเล่าเรื่องราวของฮันนาฟอร์ดในงานฉายหนัง กับตัวหนังที่เขาทำขึ้นมาแต่ถ่ายไม่จบเพราะงบไม่พอ เวลส์ยืนยันหนักแน่นว่าฮันนาฟอร์ดไม่ใช่ภาพแทนของตัวเขาแต่อย่างใด แต่ก็เชื่อได้ยากเหลือเกินเมื่อทั้งเวลส์และฮันนาฟอร์ดต่างก็ตกอยู่ในที่นั่งเดียวกัน ภาพความพยายามอย่างบ้าคลั่งของทั้งสองแทบจะซ้อนกันได้สนิทถึงเพียงนี้

ส่วนเรื่องราวของ They’ll Love When I’m Dead เริ่มต้นจากการที่ปีเตอร์ บ็อกดาโนวิช คนทำหนังและนักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อเมริกันเสนอตัวขอเข้าไปสัมภาษณ์และเก็บเรื่องราวชีวิตของผู้กำกับรุ่นใหญ่ ออร์สัน เวลส์เปิดเผยกับเข้าว่ามีหนังอยู่เรื่องหนึ่งที่เขากำลังพยายามทำอยู่ หลังจากนั้นไม่นานเวลส์ก็โทรศัพท์เรียกให้เขาเข้ามาเยี่ยมชมกองถ่าย และเสนอบทสมทบให้ ฟังดูตีหัวเข้าบ้านเหลือเชื่อ แต่ก็เป็นวิธีการหลักที่เวลส์ใช้ในการรวบรวมทั้งแรงคนในการทำหนังตลอดหกปี เวลส์ออกเงินทำหนังเองทั้งหมด ปล่อยให้นักแสดงด้นสด ถ่ายหนังเก็บไว้ทั้งที่ยังไม่มีนักแสดงนำ และตระเวนถ่ายทีละน้อยตลอดหกปี คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากเรามองจากปี 2020 แต่ในช่วงทศวรรษ 70 กองถ่ายหนังอินดี้แบบนี้คงไม่มีใครคิดทำ ยังไม่รวมถึงการใช้เส้นสายจากนายทุนฝรั่งเศสผู้ความความเกี่ยวพันกับชาห์แห่งอิหร่าน ผู้ซึ่งอาจก่อปัญหาร้ายแรงแก่เขาในภายภาคหน้า 

หากจะมีใครควรได้รับคำชมในการถ่ายทอดเรื่องราวสุดโกลาหลครั้งนี้คงหนีไม่พ้นมอร์แกน เนวิลล์ (เจ้าของผลงาน Won’t You Be My Neighbor สารคดีที่ออกฉายปี 2018 เช่นเดียวกัน) กับทักษะในการเลือกใช้ฟุตเตจสุดยียวน เขาเลือกใช้ฟุตเตจหนังเก่าที่เวลส์เคยเล่น เอามาตัดสลับตอบโต้กลับบรรดาผู้ให้สัมภาษณ์ในเรื่องอย่างคมคาย และหายนะทั้งหลายแหล่ที่เกิดขึ้นระหว่างถ่ายทำหนังก็ถูกแทนที่ด้วยฉากทำลายล้างสุดอลังการจากหนังฮอลลีวูดบล็อกบัสเตอร์ช่วงปี 70-80 ผสมกับภาพข่าว และรายการโทรทัศน์ในช่วงเดียวกัน 

เรื่องราวความผันผวนของฮอลลีวูดที่กัดกร่อนจิตใจของศิลปินทั้งหลายไม่เคยเก่า ไม่ใช่เพียงแค่กับเรื่องของเวลส์และฮันนาฟอร์ดในหนังจะเป็นภาพสะท้อนซึ่งกันและกัน การต่อสู้เพื่อจิตวิญญาณของศิลปินของแมงค์และเวลส์ซ้อนทับกันได้เกือบแนบสนิทราวกับเป็นหนังภาคต่อ จะต่างกันเล็กน้อยตรงที่ว่าในท้ายที่สุดแล้ว อดีตลูกรักแห่งฮอลลีวูดคนนี้ก็ไม่มีโอกาสได้ชื่นชมดอกผลของงานที่เขาอุตส่าห์ทุ่มเทสุดตัวเพื่อมัน แม้ว่าเวลส์จะขึ้นชื่อว่าเป็นจอมโอหังผู้ไม่ประนีประนอมกับใครหน้าไหน แต่สภาพชวนปวดหัวใจของเขาเมื่อยามต้องเอาหนังที่ยังไม่เสร็จไปฉายเพื่อขอระดมทุนเพิ่ม และเมื่อคราวที่ฟุตเตจทั้งหมดถูกยึดอันเนื่องมาจากเหตุวุ่นวายในการปฏิวัติอิหร่านก็ฉายภาพอันน่าเศร้าสะเทือนในช่วงสุดท้ายของศิลปินผู้นี้จนอดเห็นใจไม่ได้

แม้จะน่าเสียดายที่เวลส์ไม่มีโอกาสได้ดูหนังเรื่องสุดท้ายของตนเอง แต่ The Other Side of The Wind ก็ได้ออกสู่สายตาสาธารณชนจนได้ เมื่อสิทธิในการครอบครองตัวฟุตเตจตกสู่มือของรอยัลโร้ดเอนเตอร์เทนเมนต์ โดยมีปีเตอร์ บ็อกดาโนวิช และมาร์ค มาร์แชล เข้าคุมโปรเจกต์บูรณะตัวหนังขึ้นมาใหม่ ตัวหนังออกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์เวนิซปี 2018 คู่กับสารคดี They’ll Love Me When I’m Dead และลงสู่ระบบสตรีมมิ่งของ Netflix ในเวลาต่อมา

“สำหรับผม ภาพยนตร์คือการร้อยเรียงอุบัติเหตุที่งดงามเข้าด้วยกัน”

แม้ว่ามันจะเศร้าและเจ็บปวดเหลือเกิน แต่เราก็ปฏิเสธความงามของอุบัติเหตุครั้งนี้ไม่ได้จริงๆ


ชม They’ll Love Me When I’m Dead ได้ที่ Netflix

“แรงงานข้ามชาติ” ในหนังไทย เป็นผีตลอดไป ถ้าไม่ตาย…ก็ไม่ได้ยิน

ต้องยอมรับว่าหาก โควิด 19 ไม่ระบาดที่มหาชัย เราอาจมืดบอดต่อการเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติในเมืองไทยก็เป็นได้ แต่เพื่อได้มาซึ่งการได้เห็นความจริงที่พวกเขาต้องเผชิญ ราคาที่ต้องแลกก็คือการถูกตีตราว่าแรงงานข้ามชาติเป็นต้นเหตุแห่งการแพร่เชื้อ และผลักไสคนกลุ่มนี้ให้อยู่นอกระบบมากยิ่งขึ้น

ซึ่งเมื่อหันกลับมาสำรวจชีวิตของแรงงานข้ามชาติในหนังไทยแล้ว จริงอยู่ที่มีแง่มุมน่ารักๆ ปรากฏใน ‘รักภาษาอะไร’ (2013, ณิชยา บุญศิริพันธ์) และการสะท้อนความเป็นอยู่อย่างเข้มข้นใน ‘กระเบนราหู’ (2019, พุทธิพงศ์ อรุณเพ็ง) แต่นอกเหนือจากนั้น แรงงานข้ามชาติกลับมีบทบาทอยู่ในหนังผีแทบทั้งสิ้น

‘โควิด 19’ ในแรงงานข้ามชาติ และ แรงงานข้ามชาติใน ‘หนังผีไทย’ บางทีอาจมีอะไรบางอย่างที่ซ้อนทับกันอยู่…

‘อดิศร เกิดมงคล’ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ และเป็นผู้จัดการ Migrant Working Group สะท้อนมุมมองต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้ว่า “โควิดมันทำให้คนกลุ่มนี้มีตัวตนชัดเจนมากขึ้น แต่ว่ามันอาจจะชัดเจนในการที่คนมองในแง่ร้าย อันที่จริงผมว่าโดยการอยู่อย่างผิดกฎหมายของเขานั้นมันก็มีหลายปัจจัย สิ่งหนึ่งที่เราคนทั่วไปไม่ค่อยรู้ก็คือตัวรัฐ ตัวนโยบาย หรือสังคมไทยที่ไม่ยอมรับคนผิดกฎหมาย ผมคิดว่าคนที่ผิดกฎหมายตอนนี้มีหลายคนเคยอยู่อย่างถูกกฎหมายมาก่อน แต่โดยข้อกำหนดและเงื่อนไขทำให้เขาต้องหลุดออกนอกระบบไป เช่น ห้ามเปลี่ยนนายจ้าง ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องพิสูจน์ความผิดของนายจ้างเดิม ให้ตัวคนงานพิสูจน์ว่านายจ้างผิด กฎหมายโคตรประหลาดเลย แล้วก็คุณต้องหานายจ้างใหม่ภายใน 30 วัน คือช่วงโควิดมันไม่มีใครหานายจ้างใหม่ได้เลยภายใน 30 วัน เพราะว่าทุกที่มันปิดหมด ฉะนั้นตัวเลขที่เราประเมินว่าหายไปจากระบบแน่นอนคือ 6 แสนคน คือเดิมมัน 2.8 ล้าน ปัจจุบันคือ 2.2 ล้าน จึงค่อนข้างชัดเจนว่า 6 แสนคนที่หายไป เหมือนเขาถูกฆ่าโดยนโยบายรัฐ โดยความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ โดยสังคมหรืออะไรก็ตามแต่ที่ผลักเขาออกจากระบบ

“กับคนอีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่พอจะเข้าไปอยู่อย่างถูกกฎหมาย ระบบมันก็ปิดไม่ให้เข้ามา นึกออกมั้ยว่าเราต่างก็อยากมีตัวตนกันทั้งนั้น ไม่มีแรงงานคนไหนอยากจะอยู่อย่างผิดกฎหมายหรอก แต่ว่าโดยระบบและเงื่อนไขทั้งหลายแหล่ และโดยความกลัวของรัฐบาลเอง มันไม่เปิดให้เขาปรากฏตัวขึ้นมาได้ พอเกิดโควิดปุ๊บ เขาก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง กลุ่มแรกๆ เลย

“อันที่สองที่โควิดทำให้เห็นชัดเจนคือ ที่ผ่านมาเขาอยู่กันยังไง ถ้าไปดูห้องพักตรงตลาดกลางกุ้งจะเห็นเลยว่าเขาอยู่อย่างแออัด ห้องนึงมี 6 คน แล้วใช้วิธีการสลับกะมานอน ใครทำงานกะเช้าก็มานอนกลางคืน ใครทำงานกะกลางคืนก็มานอนเช้า พอมันล็อคดาวน์ที่ตลาดกุ้ง กลายเป็นว่าหกคนต้องมาอยู่ด้วยกันในห้องเล็กๆ ช่วงโควิดแรกๆ ก็เจอปัญหาคล้ายกัน ผมเจอบางห้องอยู่กันสิบกว่าคน เพราะว่าเขาถูกเลิกจ้าง เลยไม่มีรายได้ ก็ต้องมาเช่าห้องอยู่ด้วยกัน สภาพคือคนท้อง คนแก่ ก็รวมอยู่ในห้องนั้นหมด มันสะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่มีทางเลือกที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้”

สิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านชีวิตแรงงานข้ามชาติในหนังไทยอย่างไร อดิศรให้ความเห็นว่า “ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวของผู้สร้าง แต่มันก็เห็นได้ชัดว่าเขาอยู่อย่างยากลำบากจริงๆ เขามีที่ทางแค่นั้นในสังคมไทยจริงๆ ถ้าเป็นฮอลลีวูดก็อาจจะเป็น MIB ที่เป็นมนุษย์ต่างดาว พอเป็นหนังไทยก็เห็นได้ชัดว่าความเป็นผีมันทำให้พวกเขาทั้งน่าหวาดกลัว และไม่มีใครมองเห็น พูดอะไรก็ไม่ได้

“จริงๆ ทางสังคมศาสตร์เขามีคำว่า subaltern ซึ่งคือคนที่ถูกกดจนพูดแทนตัวเองไม่ได้ ไม่มีสิทธิมีเสียงเพราะพูดไปคนก็ไม่เข้าใจ ในการที่จะบอกว่าฉันมีปัญหาอะไร ฉันเดือดร้อนอะไร พูดไปก็ไม่มีใครฟังฉันหรอก เพราะคนคิดไปแล้วว่าคนพวกนี้มันผิดกฎหมาย เมื่อมีโควิดแล้วมันถึงมีกระแสบอกว่า ให้ส่งพม่ากลับให้หมดเลย ให้กลับไปอยู่บ้าน ให้รักษากันที่บ้านตัวเอง นั่นคือคุณไม่เคยเข้าใจหรือไม่เคยได้ยินสิ่งที่เขาพูดว่าเขาอยู่ในเมืองไทยเขาเป็นยังไงบ้าง เขาต้องการอะไรบ้าง

“จริงๆ ผมว่าแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในไทย เป็นคนที่เจียมเนื้อเจียมตัวมากเลยนะ โดยเฉพาะแรงงานพม่าในไทย ต้องทรีตคนไทยดีทุกอย่าง ไม่ว่าคนไทยจะกระทำยังไงก็ตาม หรืออย่างง่ายๆ ที่เคยได้คุยกับคนงานว่าเคยรู้สึกถูกคนไทยเคยทำร้ายมั้ย เขาบอก ‘ไม่เคยๆ คนไทยดีกับเขาทุกอย่างเลย’ ถามว่าเคยเจอปัญหามั้ย ‘ก็มีบ้าง ทะเลาะกันตอนเล่นบอล คนไทยเล่นแรงกับเขา แต่ว่าไม่เป็นไร เราไม่ถือ’ แต่คนไทยเองที่คิดไม่ดีกับเขาทำให้ตัวคนงานเองไม่ค่อยกล้าพูดเท่าไหร่”


“แรงงานข้ามชาติ” ในหนังผีไทย ถ้าไม่ตายก็ไม่มีใครได้ยิน

สถานะของผู้ไม่มีสิทธิมีเสียงที่สังคมและระบบไม่ได้รับการออกแบบมาให้รับฟังความยากลำบากของพวกเขา สะท้อนออกมาในหนังผีไทยอยู่หลายเรื่อง ดังนี้…

ห้าแพร่ง ตอน Backpackers (2009, ทรงยศ สุขมากอนันต์)

หนังว่าด้วยกลุ่มแรงงานที่ถูกลักลอบบรรทุกในรถห้องเย็นจนเต็มและขาดอากาศหายใจตายทั้งคัน นอกจากนี้พวกเขายังถูกซุกซ่อนยาเสพติดไว้ในร่างกายด้วย ทำให้เมื่อพวกเขาตายไป ยาเสพติดได้ไปทำปฏิกิริยาอะไรบางอย่างจนกลายเป็นซอมบี้ แม้หนังไม่ได้ระบุว่าตัวละครแรงงานในรถบรรทุกนั้นเป็นแรงงานข้ามชาติ แต่เราอนุมานได้ทันทีเพราะหนังออกฉายเพียง 1 ปีหลังข่าวใหญ่ เมื่อแรงงานข้ามชาติ 121 คนต้องอัดกันมาในรถห้องเย็นจนขาดอากาศหายใจเสียชีวิตถึง 54 ศพ ซึ่งหากไม่เกิดเหตุการณ์สุดสลดเช่นนี้ สังคมอาจไม่เคยรู้ถึงขบวนการลักลอบค้ามนุษย์อย่างผิดกฎหมาย และหนังเองก็นำเสนอคนกลุ่มนี้ในฐานะคนที่ไม่มีสิทธิพูดอะไรจนกระทั่งความตายมาเยือน


เปรมิกาป่าราบ (2017, ศิวกร จารุพงศา) 

เมื่อผีสาวถูกปลดพันธนาการจากตู้คาราโอเกะ เธอตระเวนท้าทายแขกในโรงแรมให้ร้องเพลง ถ้าใครร้องผิด ร้องเพี้ยน ก็จะถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด ภายใต้พลอตสุดป่วงเช่นนี้เราจะค่อยๆ รู้ถึงปูมหลังของผีว่าเธอคือแรงงานข้ามชาตินอกระบบ ที่ถูกซื้อมาทำงานในธุรกิจค้าประเวณี และการที่เธออยู่ในประเทศโดยไม่มีกฎหมายรองรับจึงถูกกระทำย่ำยีโดยที่ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้เลย แม้กระทั่งความตายมาพรากเธอไป ก็ไม่แม้แต่จะมีใครสนใจสืบหา การอาละวาดไล่ฆ่าคนจึงอาจเป็นทางเดียวที่คนอื่นจะรับฟังเธอบ้าง


ลัดดาแลนด์ (2011, โสภณ ศักดาพิศิษฏ์) 

มะขิ่น คือแรงงานข้ามชาติที่ทำงานเป็นแม่บ้านในบ้านสุดหรู เธออยู่โดยไม่สุงสิงกับใคร และไม่มีใครสนใจการมีตัวตนของเธอด้วยซ้ำ จนวันที่เธอถูกฆาตกรรมยัดตู้เย็น คนในหมู่บ้านจึงรับรู้การมีอยู่ของมะขิ่นในฐานะผีที่คอยหลอกหลอนผู้คนจนลูกบ้านย้ายออกกันเกือบหมด


มอญซ่อนผี (2015, ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ)

หนังผีตลกโอละพ่อ ที่เล่าเรื่องของแรงงานข้ามชาตินอกระบบกลุ่มหนึ่งซึ่งออกเรือไปกับนายจ้างชาวไทย แต่แล้วพวกเขาก็พบว่าบนเรือนั้นมีศพซ่อนอยู่ พวกเขาจึงต้องหาวิธีอำพรางคดีก่อนที่ตำรวจจะตามมาเจอ มิเช่นนั้นพวกเขาจะต้องถูกจับ เพราะอยู่อย่างผิดกฎหมาย

Last and First Men : แล้วเรา ก็ตามหากันจน(ไม่)เจอ

ไม่ผิดครับ ถ้าเรายังไม่เกิดในช่วงเวลาที่หนัง L’Année Dernière à Marienbad (อาแลง เรอเนส์, 1961) มาฉายตามโรง (ซึ่งจริงๆ ก็ไม่เคยมาเข้าอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นที่อื่นบ้างล่ะ), ไม่ใช่เรื่องน่าน้อยใจว่าทำไมเราเพิ่งเคยดูหนัง La Jetée (คริส มาร์กเกอร์, 1962) เอาเมื่อเวลาผ่านมาเนิ่นนาน แล้วก็มิใช่เรื่องที่ต้องมาทอดอาลัยว่าทำไมเราถึงเพิ่งมารู้จักวรรณกรรมไซไฟชื่อ Last and First Men ของ โอลาฟ สเตเบิลดัน ในเวลาที่เพิ่งจะมีคนเอามาสร้างเป็นหนัง (โยฮัน โยฮันส์สัน, 2020)

ตามจริงเวอร์ชันหนังสือของเรื่องเดียวกัน เจตนาเดิมสเตเบิลดันเขียนในรูปของนิยายไซไฟตั้งแต่แรก ทว่าพอเอามาดัดแปลงเป็นหนังปุ๊บกลับดูเป็นงานสารคดี หนำซ้ำยังก้าวข้ามรูปแบบไปเป็นงานพวก essay film ที่แทรกเรื่องความคิดทะลุได้ไกลแบบไร้เพดาน จนไม่สามารถจับให้เข้าแนวทางหนึ่งใดได้อย่างเหมาะเหม็งลงตัว เหมือนเดินไปหาใครก็ไม่มีพวก

จนกระทั่งพบว่าตัวงานเขียนของสเตเบิลดันเองก็ดัดแปลงทำเป็นเวอร์ชันหนังไม่ได้เอาเลย ต่อให้อยู่ในรูปไซไฟ (ซึ่งควรจะมีการนำไปสร้างได้ตั้งนานแล้ว แต่ก็เปล่า) และจนกระทั่งพบว่าขืนมีใครทำขึ้นมาจริงๆ ริ้วรอยของช่วงเวลาและยุคสมัยที่สร้างก็จะเป็นตัวลดค่าความ futuristic/dystopian ของเรื่องราว สู้ทำออกมาอย่างที่เป็นอยู่ (ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกปรามาสว่าเป็น e-book แบบมีภาพประกอบมิใช่น้อย)

เรียกได้ว่าโยฮันส์สัน “อยู่เป็น” และตัดสินใจถูกมากที่ทำ Last and First Men ออกมาอย่างที่เห็น (ซึ่งจริงๆ ไซไฟเรื่องอื่นอย่าง The Martian Chronicles หรือแม้แต่ Dune เองก็น่าจะลองๆ หาทำบ้าง) คือมีพล็อต, มีเรื่องราว แต่ไม่ต้องทำออกมาให้เห็นภาพ เพราะลักษณะการเล่าเรื่องของสเตเบิลดันไม่เน้นตัวละคร แค่เป็นการพยากรณ์ไปถึงโลกอนาคตในอีกสองพันล้านปีข้างหน้าแล้วคนในยุคเดียวกันก็ส่งสารย้อนกลับมาหาคนรุ่นเรา เป็นการพยากรณ์โดยแลไปข้างหน้าถึงอนาคตที่ไม่มีใครอยู่ทันเห็นแน่

พอมาทำเป็นหนัง แค่เปิดช็อตแรกมาก็อึ้งแล้ว ตรงที่โยฮันส์สันเล่นกับมุมภาพที่ค่อยๆ เคลื่อนตัวออก (ดูแล้วนึกถึงซีนเปิดเรื่องของ Star Wars ทุกภาคซึ่งมักเน้นภาพใต้ยานอวกาศที่ใหญ่มากๆ) ทว่าใน Last and First Men จะมีความแหวกจนห่างออกไปไกล นั่นคือ เมื่อกล้องเคลื่อนออกได้สักระยะ จะเห็นว่ามีรูปทรงคล้ายด้านหลังซองจดหมายที่ยังไม่ถูกแกะออกอ่าน ซึ่งสไตล์ด้านภาพเช่นนี้ก็ออกมาใกล้เคียงกันหมดเกือบทั้งเรื่อง ใช้การคร็อปเน้นเฉพาะบางส่วนจนวัตถุเดิมที่ไม่สู้ใหญ่โตอะไรกลายเป็นวัตถุขนาดมหึมา อย่างประติมากรรมกึ่งสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งไม่รู้ว่าเกิดจากความฟลุกหรืออย่างไรที่จู่ๆ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ก็บังเอิญตรงกับเนื้อหางานในเขียนของสเตเบิลดันพอดี หรือว่า มี “ผู้ทรงภูมิปัญญาจากโลกอื่น” มาสร้างทิ้งเอาไว้จริงๆ

วิธีแรกที่ผกก.โยฮันส์สันเริ่มดึงคนดูเข้ามาเดินทางร่วมไปกับจินตนาการของสเตเบิลดันก็คือ เล่นกับการมองและการใช้สายตาของคนเราทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อเนื้อหาในหนังสือเป็นการพูดถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมมากๆ และล้ำหน้าช่วงเวลาที่เขียนไปไกล ทว่าก็แม่นยำราวกับตาเห็น (มีการอ้างถึงโรคที่คร่าชีวิตคนเป็นจำนวนมาก, ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เมื่อดาวเคราะห์ชนโลก ตลอดจนอุบัติการณ์ที่ดวงอาทิตย์ดับแล้วแตกตัว) ก่อนที่มนุษย์จะพบที่หมายใหม่เป็นแหล่งพักพิงสุดท้าย ณ ดาวเนปจูน ซึ่งโยฮันส์สันโคว้ตเอามาใส่ในหนังด้วย

มั่นใจว่าชาวเราคงไม่มีใครอยู่ทันเห็นเมื่อถึงวันที่มนุษย์กลายพันธ์ุผิดรูปผิดร่างเราอาจทำใจไม่ได้ถ้าวันหนึ่งพบว่าตัวเราหน้าเหมือนแพะ, ขนยาวรุงรังเป็นหมี หรือแม้กระทั่งมีงวงงอกเป็นช้าง (มีอ้างในหนัง) ซึ่งสาบานได้ครับว่า ทุกอย่างที่ว่ามาเป็นเผ่าพันธ์ุมนุษย์จริงๆ ทว่าเป็นการวิวัฒน์เป็นรุ่นๆ จากหนึ่งถึงสิบแปด ว่าแล้วโยฮันส์สันก็อุตส่าห์ไปหาประติมากรรมมีรูปร่างคล้ายสิ่งมีชีวิตซึ่งมีคน(?)นำไปจัดวางไว้ก่อนแล้ว (มีสองตาโปนๆ ทว่ารูปร่างคล้ายหนอน กำลังขดอัดกันอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม)

ในแง่ของสไตล์ ตัวเรื่องเดิมของสเตเบิลดันก็ว่ามีเนื้อหาที่ transcendence ไปไกลพอแล้ว เวอร์ชันหนังของโยฮันส์สันยังทำออกมาโดยให้ภาพรวมก้าวข้ามการจัดประเภทจนกลายเป็นงานที่ไม่ติดยึดกับรูปแบบหนึ่งใดเป็นพิเศษ คือจะดูให้เป็นสารคดีก็ได้ เป็น essay film ก็ได้ เท่าๆ กับที่เป็นคำพยากรณ์ไปถึงอนาคตที่ไกลออกไปก็ได้ และเมื่อดูไป เราอาจเริ่มเชื่อและคล้อยตามไปเรื่อยๆ จนก้าวเข้าไปเฉียดใกล้พรมแดนของศาสนาด้วยเช่นกัน ทั้งที่ทุกอย่างเริ่มต้นจากการเป็นไซไฟในด้านเนื้อหาที่สมบูรณ์ในตัว เมื่อหนังได้ให้ข้อมูลเราต่อไปอีกว่า คนในรุ่นถัดไปๆ เขาจะเลิกใช้ระบบสัญลักษณ์ในการสื่อสารพูดคุย แต่หันมาสนทนาทางโทรจิตกันแทน

สเตเบิลดันมิได้ออกมาเรียกร้องให้คนตระหนักถึงภัยโลกร้อนหรือรณรงค์ให้คนรักสันติภาพ เท่าๆ กับที่โยฮันส์สันเองก็มิได้เชื่อเรื่องโลกสวย ทุกอย่างพร้อมที่จะทำร้ายแล้วก็ทำลายตัวของมันเอง สเตเบิลดันสมมติตัวเองว่าเป็นมนุษย์รุ่นสุดท้ายที่ส่งสาส์นเปิดผนึกมายังมนุษย์รุ่นแรก (โดยเชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้น ภาษาจะมิใช่พรมแดนปิดกั้นมนุษย์ด้วยกันอีกต่อไป) เรื่องเล่าจาก “มนุษย์อนาคต” กำลังพูดถึงสิ่งที่เป็นอดีตไปแล้วสำหรับพวกเขา ให้แก่คนที่ยังไม่รู้ว่าอะไรจะมาถึงในวันข้างหน้า

เสียงบรรยายของ ทิลดา สวินตัน ในหนัง มีการพูดถึงสิ่งที่มนุษย์ (รุ่นของเรา) ยังไม่ได้ทำอยู่สองอย่างคือ การเรียนรู้-ทำความเข้าใจกับสิ่งมีชีวิตต่างเผ่าพันธ์ุที่อยู่ห่างไกลออกไป และการเดินทางข้ามมิติเวลา (มีทั้งเรื่องของ “พื้นที่” กับ “เวลา” ตามประสาไซไฟครบ) ซึ่งเป็นเรื่องพ้นวิสัยสำหรับมนุษย์รุ่นหนึ่งอย่างเราๆ แน่ นั่นก็แปลว่า พวกเขา=มนุษย์ในรุ่นถัดไปๆ ทำได้จนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว (ถึงได้ย้อนกลับมาสั่งสอนคนรุ่นบรรพกาล) และถ้าหากลองเทียบระยะห่างทางเวลาระหว่างมนุษย์รุ่นหน้ามาถึงเรา มาไกลกว่าจุดที่แยกเรากับไดโนเสาร์ร่วมสองถึงสามเท่า (สองพันล้านกับเจ็ดสิบห้าล้าน) เพราะฉะนั้นสมมติว่าเราได้รับสัญญาณเตือนจากคนรุ่นหน้า ก็เท่ากับว่าพวกเขากำลังเซฟตัวเองมิให้รับผลกระทบ ตราบใดที่มนุษย์รุ่นเรายังไม่สามารถย้อนกลับไปป้องกันการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตและชาติพันธ์ุซึ่งมาก่อนได้

ไปๆ มาๆ รูปการณ์ก็กลายเป็นว่า คนรุ่นอนาคตนั้นนอกจากจะมาเที่ยวสั่งสอน ตลอดจนเล่าคำทำนายให้ชาวเราได้รู้อนาคตอีกยาวไกล เหมือนสปอยล์ให้รู้ล่วงหน้า (แล้วทำไมอนาคตใกล้ๆ กะอีแค่หวยงวดหน้าจะออกอะไร ถึงไม่มาบอกกันบ้าง 5555) เท่ากับว่าน่าจะครอบคลุมถึงการเดินทางมาสร้างร่องรอยอะไรบางอย่างทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า อย่างอาคาร, สิ่งปลูกสร้าง, ประติมากรรมกึ่งๆ อนุสาวรีย์ (ในยูโกสลาเวียเดิม) ด้วยลักษณะเด่นของการเปิดให้เลือกมุม+มองได้รอบด้าน โดยที่ขนาดไม่น่าจะใหญ่โตอะไร ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มพื้นที่ (บนความจำกัด) ให้ออกมาดูมีความหมายโดยตัว space เอง

เรียกได้ว่าตัวประติมากรรม+สถาปัตยกรรม (Spomeniks) ที่โยฮันส์สันไปค้นเจอแล้วนำมาใช้เป็นโลเคชั่นนี้ คือสิ่งปลูกสร้างที่มีมาก่อนแล้ว (โดบศิลปินได้ผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ยุค 1950 จนถึงยุค 80 ในสมัยของนายพลยอซีป บรอซ ตีโต) นั่นคือโดยตัวของ Spomeniks มีความเป็นวัตถุรูปธรรม ทว่ามีคุณสมบัติของความเป็นนามธรรม (เหมือนน่าจะกำลังส่งสาร+ต้องการบอกอะไรเรา) จนน่าเดินทางไปดูของจริงให้เห็นกับตา 

เพราะเอาเข้าจริงๆ ไม่ว่าจะโดยรูปทรง, form, texture แล้วก็สไตล์ที่คล้ายคลึงกับงานในกลุ่ม Spomeniks ที่ว่านี้ กลับมีให้เห็นในงานเมนสตรีซึ่งเห็นได้ชัดมากก็ตรงซีนเปิดเรื่องที่โยฮันส์สันพยายามโยงเข้าหาแท่น monolith (ใน 2001: A Space Odyssey), โครงสถาปัตยกรรมโลกอนาคตก็มีส่วนละม้ายอาร์ตดีไซน์ใน Logan’ s Run (ริชาร์ด แอนเดอร์สัน, 1976) แล้วไหนยังจะมีบางส่วนที่มองผ่านแวบแรกก็พลันนึกถึงพวกหุ่นเทพเจ้า Rideen ของอนิเมะญี่ปุ่นกับ Optimus Prime ที่พวกเรารู้จักมักคุ้นกันดี

อันนี้มิใช่หมายความว่าใครก๊อบปี้ใครนะครับ ถึงแม้ผู้สร้างงานจะอยู่กันคนละที่ (Spomeniks ในยุโรปตะวันออกกับคนทำงานออกแบบอาร์ตทั้งในฮอลลีวูดแล้วก็ญี่ปุ่น) แล้วจู่ๆ ก็สร้างชิ้นงานที่ออกมาดูใกล้เคียงกันโดยบังเอิญ ถ้าสเตเบิลดันโน้มใจให้เราเชื่อเรื่องมนุษย์รุ่นสุดท้าย (ในอีกสองพันล้านปีข้างหน้า) ผู้เจริญด้วยอารยธรรมที่มากับเทคโนโลยีเดินทางข้ามมิติเวลาเพื่อมาบอกกล่าวข่าวสาส์นแก่เรา ถ้าจะแวะพักกลางทางโดยปรับจูนผู้สร้างสรรค์งานซึ่งอยู่กันคนละฝั่งทะเลต่างคาบเวลากันออกไปบ้าง ก็ย่อมมิใช่เรื่องพ้นวิสัย และถ้าเจ้าของชิ้นงานในยูโกฯ มีการสร้างตัวสิ่งปลูกสร้างสถาปัตยกรรม+ประติมากรรมออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นล่ำเป็นสัน ถ้ามีการให้เวลากับเรามากขึ้น ไม่แน่เผลอๆ อาจมี “ข้อความ” แอบแฝงมากับ shape, form และ style ซึ่งสำหรับคนรุ่นหน้าอาจเทียบได้กับ “ภาษาเขียน” ที่ต้องการสื่ออะไรให้กับเราโดยตรงบ้าง

จากเดิม สถาปัตยกรรมกลุ่ม Spomeniks ถูกสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะให้เป็นรูปแบบผสมผสานกับแนว futuristic อยู่ในที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ได้ถูกโยฮันส์สันนำมาใช้เป็นตัวแทนร่องรอยของของอารยธรรมที่เสื่อมสลาย ในเวลาเดียวกัน ก็เหมือนว่ามีกลุ่มพลังงานอะไรบางอย่างมาบันดาลใจให้โยฮันส์สันอยากเอาเรื่อง Last and First Men มาทำเป็นหนัง ถ้าเช่นนั้นก็น่าที่จะมีอะไรดึงดูดโยฮันส์สันให้มาค้นพบตัวงานประติมา+สถาปัตย์เหล่านี้ ซึ่งทำหน้าที่ “เป็นปากเป็นเสียงทางสายตา” (นอกเหนือจากที่ทิลดา สวินตันทำหน้าที่แบบเดียวกันทางการได้ยิน) นอกเสียจากว่า “แรงกระทำและ aspirations” เหล่านั้นยังไม่ค่อยมีใครเคยมองเห็นด้วยตาของคนในระยะที่ยังเพิกเฉย ตามประสา “มนุษย์รุ่นแรก” ซึ่งตามคำบรรยายระบุว่า “it was hard to find you, but contacting with you even more harder.”

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 24 ธ.ค. 63

นับเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากของธุรกิจโรงหนังก็ว่าได้ ทั้งที่เป็นช่วงเทศกาล แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ประกอบกับปัจจัยแวดล้อมด้านเศรษฐกิจ ทำให้เมื่อวานนี้ที่มีหนังใหม่เปิดตัว แต่ทำได้ดีที่สุดแค่ราว 4 แสนบาทเท่านั้น และหนังเรื่องที่ว่าคือ ‘วอน (เธอ)’ นั่นเอง

รายได้หนังประจำวันที่ 24 ธ.ค. 63

  1. Wonder Woman 1984 – 1.74 (46.70) ล้านบาท
  2. Demon Slayer: Kimetsu No Yaiba – 0.35 (67.98) ล้านบาท
  3. วอน (เธอ) – 0.39 ล้านบาท
  4. อ้าย..คนหล่อลวง – 0.22 (53.33) ล้านบาท
  5. Horizon Line – 0.13 ล้านบาท
  6. A Gift from Bob – 0.13 ล้านบาท
  7. Chungking Express – 0.06 (0.13) ล้านบาท
  8. Come Away – 0.02 (2.78) ล้านบาท
  9. Ammonite – 0.02 ล้านบาท
  10. ITO: Our Tapestry of Love – 0.02 ล้านบาท

Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring สุนทรียะของฤดูกาลและการก้าวผ่านช่วงวัย

เงาแดดทอประกายบนผิวน้ำ ใบไม้เปลี่ยนสี หิมะโปรยปราย ทะเลสาบกลายเป็นน้ำแข็ง…

เราอาจพูดได้ว่า “ฤดูกาล” คือตัวละครเพียงหนึ่งเดียวของหนังเรื่องนี้ หากกล่าวอย่างถึงที่สุด หนังทั้งเรื่องไม่ได้พูดถึงสิ่งใดนอกจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงอันแสนสามัญที่ครอบครองและคลี่คลุมทุกฉากของชีวิต ฤดูกาลเป็นทั้งผู้อยู่ ผู้มาเยือน และผู้จากไป

บางครั้งสายตาของหนังก็ชวนให้เราเพ่งพินิจความเปลี่ยนแปลงในระยะใกล้ บางครั้งก็เป็นการทอดสายตามองความเปลี่ยนแปลงอย่างเฉื่อยชาในระยะไกล

เณรน้อยเติบโต พระอาจารย์แก่ชรา ฤดูกาลผันผ่านไป…


Spring

อาศรมไม้หลังนั้นตั้งอยู่กลางทะเลสาบ ทะเลสาบอยู่ใจกลางหุบเขา วิธีเดียวที่จะเดินทางไปอาศรมแห่งนั้นได้คือต้องนั่งเรือข้ามไป วิธีเดียวที่จะนั่งเรือข้ามไปได้คือต้องให้นักบวชในอาศรมแห่งนั้นพายเรือมารับ อาศรมแห่งนั้นมีพระอาจารย์รูปหนึ่งอาศัยอยู่กับลูกศิษย์ที่เป็นเณรน้อยอีกรูปหนึ่ง มันเป็นศาสนสถานแสนสันโดษ แทบจะเรียกได้ว่าตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสมบูรณ์

เรื่องราวเริ่มต้นในเช้าวันหนึ่ง เณรน้อยขี้เซาตื่นขึ้นพร้อมเสียงสวดภาวนาทำวัตรเช้าของพระอาจารย์ พระอาจารย์บอกว่าจะพายเรือออกไปเก็บสมุนไพรบนฝั่ง เขาขอติดตามไปด้วย เมื่อถึงฝั่ง ต่างคนต่างแยกกัน เณรน้อยในวัยซุกซนปีนป่ายลัดเลาะไปตามโตรกผาและลำธาร ครั้งแรกเขาจับปลาขึ้นมา ผูกก้อนหินติดไว้กับตัวมัน แล้วปล่อยมันกลับลงไปในลำธาร พอเห็นมันว่ายน้ำดิ้นรนไปอย่างทุลักทุเลโดยมีก้อนหินถ่วงรั้งไว้ ก็หัวเราะชอบใจไปกับภาพที่เห็น และอีกสองครั้งต่อมาเขาทำแบบเดียวกันกับกบและงู พฤติกรรมทั้งหมดนี้ไม่รอดพ้นสายตาของพระอาจารย์ที่แอบยืนสังเกตอยู่อีกมุมหนึ่ง

เช้าวันต่อมา เณรน้อยรู้สึกตัวตื่นขึ้นพร้อมกับหินก้อนหนึ่งที่ถูกผูกติดไว้กับแผ่นหลัง ร้องห่มร้องไห้อย่างไร้เดียงสา ไม่นานจึงได้รู้ว่ามันคือกุศโลบายคำสอนของอาจารย์ อาจารย์บอกว่า “เจ้าต้องออกไปตามหาสัตว์พวกนั้นทุกตัวและแก้มัดให้มัน อาจารย์ถึงจะแก้มัดให้ แต่ถ้าเกิดสัตว์พวกนั้นตายไป เจ้าจะต้องแบกหินในใจของเจ้าไปชั่วชีวิต” นั่นคือบทเรียนสำคัญที่เณรน้อยได้เรียนรู้ บทเรียนซึ่งในเวลาต่อมาจะกลายเป็นอุปมานิทัศน์ (allegory) ที่สอดแทรกไว้ตลอดทั้งเรื่อง

ช่วงแรกๆ หนังฉายภาพความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับอาจารย์ผ่านกิจวัตรต่างๆ ที่ทำร่วมกัน กิจวัตรที่ไม่มีอะไรมากไปกว่าการพายเรือออกไปเก็บสมุนไพร การตำยาสมุนไพร และการบำเพ็ญภาวนา มันคือโลกใบเล็กแคบอันแสนสันโดษที่ไม่มีสิ่งเร้าใดๆ มารบกวน โลกที่ความอ่อนเยาว์ไร้เดียงสาของเณรน้อยยังเป็นสิ่งที่อาจารย์สามารถ “เข้าถึง” และขัดเกลาได้ และโลกทั้งใบของเณรน้อยมีเพียงอาจารย์ผู้เงียบขรึมและอาศรมกลางน้ำอันเวิ้งว้างเท่านั้น

“ภาษา” ของหนังเรื่องนี้คือภาษาของปริศนาธรรม โดยมากแล้วปริศนาธรรมมักจะไม่ถูกอธิบายอย่างกระจ่างแจ้ง แต่มักจะซ่อนความหมายระหว่างบรรทัดเอาไว้ให้ตีความหรือขบคิดต่อเสมอ ผู้กำกับหยิบยืมเอาลักษณะเฉพาะดังกล่าวนี้มาใช้กับภาษาของภาพยนตร์ได้อย่างแยบคาย มุมกล้องและสายตาของหนังถูกออกแบบมาให้เป็นสายตาของความช่างสังเกตสังกา จับจ้องไปยังสิ่งละอันพันละน้อย เสียงลั่นเอี๊ยดอ๊าดของประตู ภาพเรือลอยโคลงเคลง การเคลื่อนไหวของสิงสาราสัตว์ สรรพเสียงของธรรมชาติ อากัปกิริยาเล็กๆ น้อยๆ ของตัวละคร ฯลฯ องค์ประกอบเหล่านี้ประกอบสร้างสุนทรียะเฉพาะตัวของหนังและโลกของตัวละครขึ้นมา

ถ้อยคำถูกทอนออกไปแล้วแทนที่ด้วยความเงียบ ความเงียบเปรียบเหมือนผืนน้ำเวิ้งว้างที่ล้อมอาศรมเอาไว้ ถ้อยคำจะถูกเอ่ยออกมาเท่าที่จำเป็น เช่นเดียวกับที่เรือจะถูกพายก็ต่อเมื่อจะออกไปหรือกลับเข้ามาที่อาศรมเท่านั้น…


Summer

พร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ตัวละครก็เติบโตขึ้น เณรน้อยกลายเป็นพระหนุ่ม การเติบโตที่มาพร้อมกับสายตาและตัวตนแบบใหม่ หนังอธิบายการเติบโตของตัวละครไว้อย่างแยบคายในฉากที่พระหนุ่มเดินเล่นบนโขดหินแล้วสังเกตเห็นงูสองตัวกำลังเลื้อยเกี้ยวพากัน ความตื่นเต้นในแววตาพระหนุ่มไม่ใช่ความไร้เดียงสาในแววตาของเณรน้อยคนนั้นอีกแล้ว

หญิงสาวมาถึงในฤดูร้อน เธอป่วยด้วยโรคบางอย่าง เธอเดินทางดั้นด้นข้ามหุบเขามาพร้อมกับแม่ที่หวังว่าจะฝากลูกสาวให้พระอาจารย์ช่วยรักษาอาการป่วยนั้น หลังจากฝากฝังลูกสาวไว้กับอาจารย์แล้ว แม่ก็เดินทางกลับ จึงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่อาศรมสันโดษกลางน้ำมีสมาชิกเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งคน

การมาถึงของหญิงสาวมาพร้อมกับความรู้สึกบางอย่างที่อธิบายไม่ได้ในตัวพระหนุ่ม ความแปลกหน้าค่อยๆ กลายเป็นความคุ้นเคย ความคุ้นเคยเปลี่ยนเป็นการหยอกเย้ากันอย่างสนิทสนม การแอบมอง การลอบส่งสายตาหากัน พฤติกรรมทั้งหมดค่อยๆ สุกงอมจนไฟปรารถนาลุกโชน หนังค่อยๆ พาเราสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ พร้อมกับการเฝ้ามองของผู้เป็นอาจารย์

การก้าวผ่านช่วงวัย (coming of age) ของตัวละครมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในภาษาภาพยนตร์อย่างน่าสนใจ การมีสมาชิกเพิ่มเข้ามาทำให้ความเงียบแบบเดิมถูกทำลายลงและวิธีการสื่อสารเปลี่ยนไป ความเงียบเริ่มไม่เงียบ เพราะความเงียบกลายเป็นรวงรังแห่งความลับส่วนตัวระหว่างหนุ่มสาว ความเงียบเปลี่ยนจากความนิ่งงันไปเป็นความเคลื่อนไหวที่ปราศจากเสียง ความเงียบของความลับกลายเป็นกำแพงที่กั้นอาจารย์ออกจากลูกศิษย์ ความเงียบของอาจารย์กลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจ “พูด” กับลูกศิษย์ได้อีกต่อไป

ยิ่งนานวันเข้า ความเงียบของพระอาจารย์ยิ่งกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมและเหลือทนสำหรับพระหนุ่ม โลกของอาศรมกลางน้ำเป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้อีกต่อไป เขาจะ “สื่อสาร” และ “แบ่งปัน” ตัวตนกับพระอาจารย์ที่มีแต่ความนิ่งเงียบ เย็นชา และไม่เคยสื่อสารอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมาได้อย่างไร เขาอยู่กับพระอาจารย์มาค่อนชีวิต แต่ไม่อาจเข้าถึงตัวตนของพระอาจารย์พอๆ กับที่รู้สึกว่าพระอาจารย์ก็ไม่เข้าใจในตัวเขา ผิดกับหญิงสาวที่รู้จักกันเพียงไม่นาน แต่เขาสามารถแบ่งปันสิ่งต่างๆ กับเธอได้อย่างที่ไม่มีอะไรมากั้นกลาง

และแล้ว ความสัมพันธ์ที่ถลำลึกลงเรื่อยๆ ก็ถูกจับได้ในวันหนึ่ง พระอาจารย์สั่งให้หญิงสาวกลับไป ไม่นานหลังจากที่หญิงสาวต้องกลับไป พระหนุ่มที่เพ้อคลั่งด้วยพิษรักก็จากไปพร้อมกับเธอ เขาขโมยพระพุทธรูปประจำอาศรมและไก่ที่อาจารย์เลี้ยงไปด้วย ประหนึ่งว่าต้องการเอาคืนด้วยการพรากสิ่งที่รักไปจากอาจารย์เช่นกัน


Fall

ใบไม้เปลี่ยนสี อาศรมเงียบเหงา สังขารโรยรา…

อาจจะผ่านไป 10 ปีหรือมากกว่านั้น แล้ววันหนึ่งพระหนุ่มก็กลับมา แต่ตอนนี้เขาไม่ได้เป็นพระอีกแล้ว เขาเติบโตเป็นชายหนุ่มวัย 30 ผู้เหนื่อยล้ากับชีวิต สีหน้าอมทุกข์ แววตาซ่อนความกังวลและหวาดกลัว ก่อนหน้านี้เขาจากไปพร้อมกับความไม่เข้าใจโลกของอาศรมกลางน้ำ บัดนี้เขากลับมาพร้อมกับความไม่เข้าใจโลกภายนอก โลกภายนอกซับซ้อนเกินไป หัวใจของคนและความสัมพันธ์ยิ่งซับซ้อนกว่านั้น ชายหนุ่มพลั้งมือฆ่าภรรยา เขากลับอาศรมพร้อม “ก้อนหิน” หนักอึ้งถ่วงรั้งอยู่บนหลัง

ชายหนุ่มจากไปในฤดูร้อน และกลับมาในฤดูใบไม้ร่วง เพียงเพื่อจะพบว่าความเงียบของอาจารย์มีเพียงฤดูเดียว…

หนังจับจ้องไปที่ความรู้สึกของชายหนุ่ม ความรุ่มร้อนรู้สึกผิด ความเงียบงำอัดอั้น ความรู้สึกว่าไม่อาจเป็นหนึ่งเดียวกับโลกอาศรมกลางน้ำได้อีกต่อไป ความรู้สึกว่าตัวเองแปดเปื้อนเกินไปสำหรับสถานที่แห่งนี้ อาจารย์ก็เป็นเช่นอาศรม แวดล้อมด้วยความเงียบ เขารู้ว่าอาจารย์ไม่ได้โกรธเคือง แต่ก็ไม่ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ราวกับโลกใบเล็กแห่งนี้ไม่มีประวัติศาสตร์ ไม่มีความทรงจำ โลกทั้งใบลดรูปลงเหลือเพียงความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล สายตาที่อาจารย์ใช้มองเขาคือสายตาแบบเดียวกับที่ใช้มองความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล รับรู้มันในฐานะสรรพสิ่งที่เกิด-ดับหมุนวนเป็นวัฏจักร

ชายหนุ่มกลับมาพร้อมพระพุทธรูปที่ขโมยไปและมีดอีกเล่มหนึ่ง “มีด” เป็นสัญญะที่น่าสนใจ หนังบอกให้เรารู้ว่ามันคือมีดเล่มที่เขาใช้ปลิดชีพภรรยา และต่อมาเขาก็ใช้มีดเล่มนี้ปลงผมตัวเอง ฉากที่ทรงพลังที่สุดฉากหนึ่งของหนังเรื่องนี้คือฉากที่พระอาจารย์ใช้หางแมวต่างพู่กันจดจารข้อความจาก “ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร” ลงไปจนเต็มพื้นชานอาศรม แล้วสั่งให้ชายหนุ่มใช้มีดเล่มนั้นแกะสลักตาม มีดที่เป็นเหตุแห่งทุกข์จึงถูกใช้เป็นมรรควิธีแห่งการดับทุกข์นั้น


Winter

อาศรมถูกทิ้งร้าง หิมะโปรยปรายทับถม พระอาจารย์ละสังขารไปแล้วหลายปี…

กาลเวลาหยุดนิ่งราวกับถูกแช่แข็งเอาไว้ ทะเลสาบกลายเป็นน้ำแข็ง เรือลำเดียวที่เป็นพาหนะก็จมอยู่ใต้พื้นน้ำแข็ง แต่การเดินทางไปอาศรมไม่จำเป็นต้องใช้เรืออีกต่อไป นับเป็นครั้งแรกในวงรอบของฤดูกาลที่ใบหน้าและเรือนร่างของอาศรมเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด

ประตูอาศรมถูกเปิดออกอีกครั้ง ปรากฏภาพชายวัยกลางคนเดินเข้ามา ชายคนนั้นคือ Kim Ki-duk ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ ซึ่งเข้ามารับบทเป็นชายหนุ่ม/พระหนุ่มคนเดิมนั่นเอง

ในพาร์ตนี้หนังค่อยๆ เปลี่ยนท่วงทำนองการเล่าจากแนว minimalism ไปเป็นแนว symbolism อย่างเข้มข้น จริงอยู่ว่าก่อนหน้านี้ก็เล่าด้วยแนว symbolism ควบคู่ไปกับ minimalism มาตลอด แต่ในพาร์ตนี้จะสังเกตได้ว่าน้ำหนักของความ minimalism ถูกทอนออกไป กลายเป็นแนว symbolism อย่างเข้มข้นและเต็มตัว อีกทั้งฉาก เหตุการณ์ และตัวละครก็ถูกนำเสนอด้วยลีลาของความมหัศจรรย์ (magical) ตัวอย่างเช่น ฉากที่หญิงปริศนาคลุมหน้าคลุมตาอุ้มเด็กทารกคนหนึ่งมาที่อาศรม แต่เมื่อเปิดผ้าคลุมหน้าเธอออกมาก็กลับกลายเป็นใบหน้าของพระพุทธรูป

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือการเปลี่ยนตัวนักแสดง นักแสดงที่รับบทเป็นเณรน้อย/พระหนุ่ม/ชายหนุ่ม จะถูกเปลี่ยนไปทุกฤดู (ในทั้งหมด 4 ฤดู เปลี่ยนนักแสดงที่รับบทนี้ฤดูละ 1 คน) หากนี่คือปริศนาธรรมเรื่องสภาวะของจิต ก็อาจพูดได้ว่าต่อให้ “กาย” เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ไปแค่ไหน แต่ “จิต” ก็ยังเป็นดวงเดิม


…and Spring

ในพาร์ตสุดท้ายที่ฤดูใบไม้ผลิวนกลับมาครบรอบอีกครั้ง หนังก็ท้าทายเราด้วยการใช้นักแสดงที่รับบทเณรน้อยในต้นเรื่องมารับบทเป็นเณรน้อยอีกครั้ง (แต่คนที่รับบทเป็นพระอาจารย์คือ Kim Ki-duk) ชะตากรรมก็เล่นซ้ำยั่วล้อกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว มันจึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่าที่สุดแล้วหนังเรื่องนี้อาจไม่ได้เล่าเรื่องของใครเลย นอกจากตัวละครเพียงหนึ่งคนที่เติบโตขึ้นและแก่ชราลงไปตามฤดูกาลของชีวิต ความแตกต่างที่เห็นอาจเป็นเพียงมายาของสภาวะจิตที่เกิด-ดับซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างเป็นอนิจจัง ในที่สุดแล้วทั้งเณรน้อย ชายหนุ่ม พระหนุ่ม และพระอาจารย์ผู้ชรา ก็จะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

อินไซด์งานดีไซน์ ‘เสียงที่ไม่ได้ยิน’ Sound of Metal

มีหลายองค์ประกอบในหนัง Sound of Metal ที่สะกดเราให้จมไปกับชีวิตสุดช็อคของ รูเบน ผู้ที่หูค่อยๆ ดับจนกระทั่งไม่ได้ยินอะไรเลย ซึ่งทำให้ชีวิตมือกลองวงเมทัลของเขาล่มสลายลงตรงหน้า ไม่เว้นแม่กระทั่งความรักของเขา…อันดับแรกคือการแสดงระดับลุ้นรางวัลของ ริซ อาห์เม็ด ผู้รับบทรูเบน ต่อมาคือการที่หนังพาเราไปทำความรู้จักกับสังคมคนหูหนวก และเราจะเดินทางไปสู่จุดนั้นไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับการนำพาของ “ซาวด์ดีไซน์” เพื่อทำให้เราสดับ “เสียงที่ไม่ได้ยิน” จนสามารถเปิดประตูให้เราเดินเข้าไปเรียนรู้โลกที่เงียบงันของคนหูหนวก

ทั้งหมดนี้เกิดจากการทำงานร่วมกันแรมปีก่อนถ่ายทำ ระหว่างผู้กำกับ ดาริอุส มาร์เดอร์, คนตัดต่อเสียง นิโกลัส เบ็คเกอร์ และพระเอกอาห์เม็ด โดยเริ่มจากการที่มาร์เดอร์เกิดนิมิตอยากจะเล่าหนังในมุมมองบุคคลที่ 1 ผ่านรูเบน แต่อยากให้เป็นมุมมองของเสียง (Point of Hearing) ไม่ใช่มุมมองของภาพ (Point of View) เนื่องจากหนังจะโฟกัสที่อาการผิดปกติทางการได้ยินของตัวละคร มาร์เดอร์อธิบายให้เข้าใจมากขึ้นว่า “สมมติตัวละครมองออกไปนอกหน้าต่าง หนังทั่วไปก็จะทำโฟเลย์หรือใส่เสียงตามภาพที่เห็น แต่หนังเรื่องนี้จะมิกซ์โดยอิงเสียงที่ตัวละครได้ยินเป็นหลัก” นั่นหมายความว่าเสียงอาจไม่ได้มาจากภาพก็ได้

มาร์เดอร์เลือกร่วมงานกับเบ็คเกอร์ ผู้ซึ่งเป็นศิลปินโฟเลย์มาก่อน (โฟเลย์คือการแสดงเสียงประกอบตามภาพที่ปรากฏด้วยเทคนิคทำมือ) โดยผลงานที่น่าจะอ้างอิงการทำงานชิ้นนี้ได้ดี คือการทำโฟเลย์ให้ Gravity (อัลฟ็องโซ กัวร็อง กำกับ) แต่พอมาทำ Sound of Metal มันกลับเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยทำมาก่อน เบ็คเกอร์กับมาร์เดอร์พูดคุยกับผู้พิการทางการได้ยินเยอะมาก โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้พิการมาแต่กำเนิด เพื่อค้นหาชั่วขณะที่หูเริ่มดับและเงียบไปเลย กระทั่งวันที่ผ่าตัดจนกลับมาได้ยินอีกครั้ง ว่าเสียงแต่ละช่วงเวลานั้นแตกต่างกันแค่ไหน

หากจะอธิบายเสียงในหนัง Sound of Metal เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่รูเบนได้ยิน ก็คงประมาณว่า อื้อๆ แล้วขาดๆ หายๆ เสียงเพี้ยน แบนไร้มิติ ก็คงไม่ยากถ้าจะมิกซ์เสียงให้ออกมาแบบนั้น แต่สิ่งที่ทำให้เสียงทำงานไปอีกระดับก็คือการที่มันสร้างปฏิสัมพันธ์กับความรู้สึกร่วมของผู้ชม เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ เกิดเป็นงานทดลองใหม่ของทุกคน

“เราวาดสตอรีบอร์ดของเสียง เรามานั่งทบทวนความทรงจำเกี่ยวกับเสียงต่างๆ ทำไมเราถึงจดจำมันได้ มันไม่ได้มีภาพให้จับต้องแต่ทำไมเราจำมันได้ เพลงบางเพลงทำไมถึงเอาออกจากหัวไปไม่ได้ เราคิดกับสิ่งเหล่านี้เยอะเพื่อจะเอามาใช้ในหนัง เราทำงานหนักมากเพื่อถ่ายทอดมุมมองของเสียงออกมาให้ได้ เพราะว่ามันเป็นการสื่อสารที่ยากยิ่งกว่าการใช้ภาพหลายเท่านัก” มาร์เดอร์เล่า

ในฐานะของศิลปินโฟเลย์ เบ็คเกอร์แทบจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในห้องเก็บเสียง ที่แทบไม่ได้ยินเสียงรอบนอกเลย นอกจากเสียงที่ส่งออกมาจากภายในร่างกายของเขา นี่คือจุดเริ่มต้นให้เบ็คเกอร์ชวนมาร์เดอร์มานั่งอยู่ในห้องนั้นคนเดียวและปิดไฟ… “ในขณะนั้นผมได้ยินเสียงกล้ามเนื้อ เสียงของเหลวที่ลำเลียงผ่านเส้นเลือด เสียงลมหายใจตัวเอง และมันเกิดความรู้สึกขึ้นมากมาย” มาร์เดอร์เล่า

เมื่อทั้งเบ็คเกอร์และมาร์เดอร์รู้แล้วว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนรู้สึกช็อคกับภาวะหูดับของรูเบนคือเสียงภายในจากตัวละคร นอกเหนือไปจากการดีไซน์เทคนิคความพร่าเลือนของเสียง เขาจึงทำงานต่อกับพระเอกอาห์เม็ด โดยการพาเขามาอยู่ในห้องเก็บเสียงนั้นแล้วทำการแสดงไปเรื่อยๆ ระหว่างนั้นก็ติดไมโครโฟนเล็กๆ ไปทั่วร่างกายของเขาแม้กระทั่งในช่องปาก เพื่อบันทึกทุกเสียงกล้ามเนื้อ ลมหายใจ น้ำเสียง แม้กระทั่งการกลืนน้ำลาย

เบ็คเกอร์ปฏิเสธการใช้เสียงที่มีอยู่ในไลบราลี่ทั้งหมด ไม่ใช้แม้กระทั่งสกอร์ แต่เลือกใช้เครื่องดนตรีที่ทำจากแท่งแก้ว (Cristal Baschet) แล้วบรรเลงโดย อับราฮัม มาร์เดอร์ น้องชายผู้กำกับ ด้วยมือที่เปียกน้ำ “มันให้เสียงของโลหะ (Sound of Metal ตามชื่อเรื่อง)” เบ็คเกอร์เสริม “การสั่นสะเทือนของมันช่วยนำเสนอความรู้สึกภายในของรูเบนจากการสูญเสียการได้ยินอย่างถูกต้อง…คนดูสามารถเชื่อมโยงผ่านความทรงจำและประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นตอนหนุนหมอนหรือดำอยู่ใต้น้ำ”

ทุกรายละเอียดเหล่านี้นำมาผสมผสานในขั้นตอนการมิกซ์เสียงอีกที ซึ่งใช้เวลานานถึง 20 สัปดาห์ จนเกิดเป็นภาวะสุดช็อคของรูเบนได้ในที่สุด และปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้คนดูรู้สึกร่วมไปกับตัวละครได้อย่างไม่รู้ตัว

“หลังจากคิดค้นประสบการณ์นี้ให้กับผู้ชม เราก็อยากให้ผู้ชมทบทวนถึงเรื่องราวเหล่านี้ และมันก็เหมือนเราได้สร้างห้องเก็บเสียงให้พวกเขาไปใคร่ครวญกันต่อที่บ้าน”


ข้อมูลประกอบ

https://variety.com/2020/artisans/production/sound-of-metal-riz-ahmed-sound-design-1234844558

https://www.washingtonpost.com/entertainment/sound-metal-design-darius-marder-nicolas-becker/2020/12/07/be1acbde-38cf-11eb-bc68-96af0daae728_story.html

https://www.slashfilm.com/sound-of-metal-director-interview

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 17 – 23 ธ.ค. 63

ในสัปดาห์ที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 มากขึ้นเป็นพิเศษ จนเกิดการตื่นตัวเรื่อง social distancing อีกครั้ง ส่งผลโดยตรงต่อการซื้อตั๋วดูหนังของผู้คน โดยเฉพาะนับจากวันจันทร์เป็นต้นมา รายได้หนังลดลงฮวบฮาบอย่างชัดเจน และหนังที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ คือ Wonder Woman 1984 ที่ทำเงินเปิดตัวสูงสุดของปี แต่มีแนวโน้มว่าจะทำรายได้รวมไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น ขณะที่ School Town King ฉายวันละ 1-2 รอบนั้น สามารถทำเงินไปราว 8 หมื่นบาทแล้ว และได้รอบฉายเพิ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 17-23 ธ.ค. 63

  1. Wonder Woman 1984 – 45.10 ล้านบาท
  2. Demon Slayer: Kimetsu No Yaiba – 9.31 (67.63) ล้านบาท
  3. อ้าย..คนหล่อลวง – 5.67 (53.11) ล้านบาท
  4. อีเรียมซิ่ง – 1.06 (75.36) ล้านบาท
  5. Soul Snatcher – 0.71 ล้านบาท
  6. Memories of Murder – 0.22 ล้านบาท
  7. The Croods: A New Age – 0.18 (6.60) ล้านบาท
  8. Ghosts of War – 0.15 (2.02) ล้านบาท
  9. School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน – 0.08 ล้านบาท
  10. 2046 – 0.05 (0.30) ล้านบาท

จับตา หนังสตรีมมิ่งล่ารางวัล ‘นอก Netflix’

ตามปกติช่วงเดือน ธ.ค. ของทุกปี จะเริ่มเข้าสู่ฤดูล่ารางวัล แต่สำหรับปีนี้อาจไม่คึกคักเท่าปีที่ผ่านมา เพราะสถานการณ์โรงหนังอเมริกากำลังซบเซาอย่างหนัง ทำให้หนังที่โผล่มาเป็นตัวเต็งของปีนี้จึงมีไม่กี่เรื่อง ซึ่งล้วนเป็นหนังฟอร์มเล็ก อย่าง First Cow ของ เคลลี ไรชาร์ดต และ Nomadland ของ โคลเอ้ จ้าว กับที่งอกงามอยู่ใน Netflix เช่น Mank ของ เดวิด ฟินเชอร์ และ The Trial of Chicago 7 ของ แอรอน ซอร์กิน เป็นต้น 

แต่ยังมีหนังสตรีมมิ่งอีกจำนวนไม่น้อยที่ราศีจับในช่วงเทศกาลล่ารางวัลปีนี้ และไม่ได้อยู่ใน Netflix ซึ่งเรารวบรวมมาแนะนำส่วนหนึ่ง ดังนี้…


Wolfwalkers (ทอม มัวร์, รอส สตวร์ต – Apple TV+)

ในสาขาหนังแอนิเมชั่น แม้จะมีขาใหญ่อย่างพิกซาร์ถึงสองเรื่องคือ Onward กับ Soul แต่ก็ไม่ควรประมาทงานจากไอร์แลนด์เรื่องนี้ได้ หนังสร้างโดยสตูดิโอ การ์ตูน ซาลูน ซึ่งผลงานก่อนหน้านี้ล้วนประสบความสำเร็จในระดับสากล ทั้ง The Secret of Kells, Song of the Sea, The Breadwinner และล่าสุดคือ Wolfwalkers จุดแข็งของหนังเรื่องนี้นอกจากลายเส้นที่แสนจะงดงามตามสไตล์ การ์ตูน ซาลูน แล้ว เนื้อหายังน่าประทับใจและแฝงความท้าทายเอาไว้ด้วย โดยหนังหยิบตำนานพื้นบ้านของไอร์แลนด์เรื่อง วูล์ฟวอล์คเกอร์ หรือคนครึ่งหมาป่า ผ่านความผูกพันและมิตรภาพระหว่าง โรบิน ลูกสาวนายพราน กับ เมบห์ สาวน้อยวูล์ฟวอล์คเกอร์ พวกเธอเริ่มจากสถานะผู้ล่าและผู้ถูกล่าก่อนจะค่อยๆ พัฒนากลายเป็นเพื่อนแท้ต่อกันในที่สุด ซึ่งสิ่งที่กระชับความสัมพันธ์นั้นคือบรรยากาศความร้อนแรงทางสังคม ที่ตามล่าหมาป่าทุกตัวในฐานะภัยต่อความมั่นคง 

หนังกวาดรางวัลจากสถาบันนักวิจารณ์มาหลายเวทีแล้ว ไม่ว่าจะเป็น บอสตัน, ชิคาโก, นิวยอร์ค และแอลเอ ปาดหน้าเค้กพิกซาร์ไปอย่างเนียนๆ 


Sound of Metal (ดาริอุส มาร์เดอร์ – Prime Video) 

หนังว่าด้วยมือกลองวงเมทัลที่อยู่กับเสียงดังสนั่นมาทั้งชีวิต แต่แล้ววันหนึ่งหูเขาก็ดับลง ทำให้ชีวิตตรงหน้าทั้งการงานและความรักก็พังทลายลงทันที เขาเลยต้องค่อยๆ เรียนรู้ชีวิตแบบที่ไม่ได้ยินไปควบคู่กับการหาทางรักษามัน หนังโดดเด่นจนเป็นตัวเต็งอันดับต้นๆ ในงานมิกซ์เสียงและออกแบบเสียง ที่จำลองการได้ยินของคนหูดับจนคนดูเข้าใจความช็อคของตัวละครได้ไม่ยาก นอกจากนี้หนังยังพ่วงการแสดงระดับกวาดรางวัลได้เลย ของ ริซ อาห์เม็ด ในบทรูเบ็น กับ พอล ราซี ในบทคุณลุงผู้ดูแลบ้านคนหูหนวก หนังเปิดตัวที่โตรอนโตแล้ว Amazon Prime รีบเจรจาคว้าสิทธิมาฉายทันที ส่วนราซีคว้ารางวัลสมทบชายยอดเยี่ยมจากสถาบันนักวิจารณ์บอสตันไปครองแล้ว 


Time (การ์เร็ตต์ แบรดลีย์ – Prime Video) 

หนังเต็งหนึ่งทุกเวทีในสาขาสารคดียอดเยี่ยม โดยว่าด้วย ฟ็อกซ์ ริช หญิงหม้ายที่สามีถูกตัดสินจำคุกถึง 60 ปีในรัฐลุยเซียนา เธอจึงเดินหน้าต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเขา หนังผสมฟุตเตจจากโฮมวิดีโอกับฟุตเตจใหม่ เพื่อเล่าถึงการต่อสู้และการรอคอยความยุติธรรมของผู้หญิงคนหนึ่ง กับการแลกด้วยอะไรอีกหลายอย่างในชีวิต งานชิ้นนี้สามารถใช้กรณีของริชพาคนดูไปเห็นความกระท่อนกระแท่นของกระบวนการยุติธรรมในอเมริกาทั้งระบบ ขณะที่ก็ไม่หลงลืมหัวใจสำคัญของริชในการรอคอยคนรักกลับมาอยู่ด้วยกันไม่ว่าจะนานสักแค่ไหน 


On the Rocks (โซเฟีย คอปโปลา – Apple TV+) 

การกลับมาของ โซเฟีย คอปโปลา ในครั้งนี้ ได้รับการพูดถึงว่าเป็นงานที่ผ่อนคลายที่สุดเรื่องหนึ่งของเธอ มันว่าด้วยหญิงสาวที่แท็คทีมกับพ่อตัวเอง สะกดรอยสามีของเธอเพราะเริ่มไม่ไว้ใจเขา ผลคือมันเป็นหนังตลกที่เต็มไปด้วยบทสนทนาฉลาดๆ จนหลายคนเทียบมันกับหนังของ วูดี้ อัลเลน แต่สิ่งที่ทำให้มันจับต้องได้ เพราะหนังสะท้อนออกมาจากภาวะความไม่มั่นคงของคอปโปลาเอง ในวันที่เธอเป็นคุณแม่ ต้องเรียนรู้กับโลกใบใหม่อย่างโรงเรียนลูก ซึ่งห่างไกลจากแวดวงศิลปะที่เธอรู้สึกปลอดภัยมาทั้งชีวิต 


One Night in Miami (เรจินา คิง – Prime Video) 

นับเป็นการเปิดตัวในฐานะการกำกับหนังเรื่องแรกได้อย่างงดงาม สำหรับ เรจินา คิง เจ้าของออสการ์เมื่อสองปีก่อนจาก If Beale Street Could Talk โดยเธอดัดแปลงมาจากละครเวทีเรื่องเดียวกันนี้ ที่สร้างเหตุการณ์สมมติ เมื่อคนดำผู้ทรงอิทธิพลกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกันในคืนหนึ่งเพื่อฉลองชัยชนะของ มูฮัมหมัด อาลี ซึ่งคนอื่นๆ ยังประกอบไปด้วย มัลคอล์ม เอ็กซ์, จิม บราวน์ และ แซม คุก หนังเปิดตัวที่เทศกาลหนังเวนิซกับโตรอนโต ครองตำแหน่งรองชนะเลิศ People Choice Awards จากโตรอนโตมาได้ โดยพ่ายให้กับ Nomadland ของ โคลเอ้ จ้าว ซึ่งหนังที่เข้ารอบสาขานี้ช่วยการันตีการเข้าชิงออสการ์ได้แม่นยำมาหลายปีติดต่อกันแล้ว และ Amazon เองก็ดูจะมั่นใจกับหนังมาก โดยวางแผนเข้าฉายแบบจำกัดโรงในช่วงคริสต์มาสนี้ และลงสตรีมมิ่ง 15 ม.ค. 2021 แน่นอนว่าคนไทยก็ดูพร้อมกับชาวโลกเช่นกัน   


Small Axe (สตีฟ แม็กควีน – Amazon Prime ในอเมริกา) 

เนื่องจากปีนี้หลายเวทีรางวัลรื้อการจำกัดความเกี่ยวกับหนังกันใหม่หมด เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงหนังสตรีมมิ่งด้วย ทันใดนั้นพวกเขาก็เจอหนังชุด Small Axe มาท้าทายกติกาในทันที เพราะมันเป็นหนังยาว 5 เรื่องของ สตีฟ แม็กควีน ที่เล่าถึงการต่อสู้ของคนเวสต์อินเดียนในลอนดอน ช่วงปี 1960 – 1970 ซึ่ง 5 เรื่องนั้นประกอบด้วย Mangrove; Lovers Rock; Red, White and Blue, Alex Wheatle และ Education โดยสามเรื่องแรกนั้นไปฉายเวิลด์พรีเมียร์ที่เทศกาลหนังนิวยอร์คแล้ว และได้รับเสียงชมอื้ออึงถึงขนาดว่าสามารถดันหนังให้มีบทบาทในฤดูรางวัลนี้ได้เลย แต่ทีนี้จะจำกัดความมันให้อยู่ในหมวดหมู่หนังหรือซีรีส์ดี เพราะในอังกฤษมันออกอากาศทาง BBC ส่วนในอเมริกามันฉายทาง Prime Video (ที่ไทยยังไม่มีกำหนด) หรือจริงๆ ถึงเวลาล้างไพ่การจัดประเภทหนังกับซีรีส์ได้เสียที?

The Call การฟาดฟันของเหล่าหญิงสาว

ในกระแสที่ร้อนแรงของหนังเกาหลี เราจะเห็นได้ว่ามีหนังแนวไซไฟ-ทริลเลอร์หลายเรื่องที่โดดเด่นและเล่นกับเรื่องการข้ามเวลา เช่น Alice หรือ The King: Eternal Monarch และหนึ่งในนั้นเป็นหนังที่ออกฉายทาง Netflix ปีนี้ คือ The Call ซึ่งได้ดาราฝีมือดีอย่าง พัคชินฮเย และ ชอนจงซอ มารับบทนำ

The Call เล่าเรื่องของ ซอยอน (พัคชินฮเย) หญิงสาวที่กลับไปยังบ้านเก่าของเธอในชนบทเพื่อเยี่ยมแม่ที่ป่วยด้วยโรคร้าย เธอลืมโทรศัพท์มือถือไว้บนรถไฟ จึงต้องใช้โทรศัพท์ไร้สายเครื่องเก่าของที่บ้าน แต่แล้ว เธอกลับได้รับสายปริศนาจากผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งโทรมาซ้ำๆ และเมื่อคุยกันไประยะหนึ่ง เธอจึงรู้ว่าสายนี้โทรมาจากคนที่เคยอยู่บ้านเดียวกันกับเธอเมื่อ 20 ปีก่อน คือโอยองซุก (ชอนจงซอ) หญิงสาวที่ถูกแม่เลี้ยงที่เป็นหมอผีจับขังไว้ในบ้านจากอาการผิดปกติทางจิต แรกเริ่มทั้งสองมีมิตรภาพที่ดีต่อกัน แต่แล้วสถานการณ์ก็กลับพลิกผันเมื่อยองซุกรู้ว่าเธอใช้ประโยชน์จากข้อมูลในอนาคตได้มากแค่ไหน

มิตรภาพของซอยอนและยองซุกในช่วงแรกของเรื่องดำเนินไปอย่างน่าสนุก ยองซุกฝากข้อความและสิ่งของต่างๆมาให้ซอยอนซึ่งอยู่ในอนาคต ขณะที่ซอยอนเล่าเรื่องราวของโลกปัจจุบันที่สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปมากมาย รวมถึงแชร์เพลงในอนาคตของศิลปินคนโปรดของยองซุกให้เธอฟัง ในเบื้องต้นเราอาจเห็นว่ายองซุกน่าสงสารที่ต้องอยู่กับแม่เลี้ยงที่ปฏิบัติต่อเธอไม่ต่างจากสัตว์ และหมกมุ่นกับพิธีกรรมน่ากลัวทางไสยศาสตร์ บ้านที่ทั้งสองอยู่เป็นบ้านหมอผี ซึ่งกล่าวได้ว่าหนังใช้ฉากบ้านในการบอกเป็นนัยถึงลางร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างดี ต้องชมทีมออกแบบฉากที่เซ็ตให้บ้านหมอผีซึ่งมีห้องลับใต้ดินเป็นบ้านที่ชวนขนหัวลุก และทำให้ผู้ชมรู้สึกเยียบเย็นไปถึงกระดูกสันหลัง แม้จะมีบางฉากที่บ้านถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นบ้านที่สดใส แต่ห้องใต้ดินที่ติดอยู่กับตัวบ้านก็กัดกินบ้านนี้ไม่ต่างจากเนื้อร้ายที่งอกออกมา

โดยปกติหนังแนวข้ามเวลาต้องมีกฎการยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ในระนาบเวลาต่างๆ เช่น การกลับไปแก้ไขอดีต ซึ่ง The Call ก็วางกฎนี้ไว้ได้อย่างรัดกุม – กฎที่มีนั้นสั้นและเรียบง่าย: ซอยอนรู้เห็นเพียงอนาคตที่เปลี่ยนไป ขณะที่ยองซุกแก้อดีตเพื่อเปลี่ยนอนาคตได้ แต้มต่อของทั้งสองดูจะไม่เท่ากันนัก เพราะในขณะที่ยองซุกสามารถเปลี่ยนชะตาคนในอนาคตได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ ซอยอนกลับไม่อาจเดินทางไปยังอดีตเพื่อหายองซุกและห้ามเธอจากอาชญากรรมที่เธอก่อได้เลย หากจะมีอะไรที่เธอพอจะทำได้ ก็เป็นเพียงการหลอกยองซุกให้เดินตามเกมของตัวเองเล็กๆน้อยๆ

สิ่งที่เป็นลายเซ็นอย่างหนึ่งของหนังเกาหลี ก็คือการใส่ประเด็นเรื่องครอบครัวมาเรียกน้ำตาผู้ชม ซึ่งแม้ The Call จะเป็นหนังทริลเลอร์ แต่ก็ยังไม่วายใส่ประเด็นนี้เข้ามาด้วย ซอยอนนั้นอาฆาตมาดร้ายแม่ของตัวเองเพราะเธอเป็นสาเหตุทำให้บ้านไฟไหม้และพ่อเธอเสียชีวิต แม้ในช่วงเวลาที่แม่ป่วยหนัก เธอก็ยังคงไม่ให้อภัยแม่ แต่เหตุการณ์ที่เธอได้เจอกลับยองซุกเปลี่ยนความสัมพันธ์นี้ไปทั้งหมด วัฒนธรรมเกาหลีที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบขงจื่อยังยกชูให้พ่อแม่เป็นเหมือนเทวดาคุ้มครองลูก และเป็นคนผันเปลี่ยนสถานการณ์ในยามร้ายให้กลับกลายเป็นดีได้ ด้วยความรักและความหวังดี ในทางหนึ่ง การคลี่คลายของหนัง ก็คือการคลี่คลายความสัมพันธ์ที่แม่และลูกเข้าใจกันดีมากขึ้น และให้อภัยต่อกัน

ในทางตรงข้าม เมื่อสืบค้นดูสายใยในครอบครัวของยองซุก เราจะพบว่าเธอถูกเลี้ยงดูอย่างขาดๆ เกินๆ แม่แท้ๆของเธอก็เป็นบ้าและเสียชีวิตในโรงพยาบาล ทิ้งให้เธออยู่กับแม่เลี้ยงที่เย็นชาและทำร้ายร่างกายเธอ เราไม่รู้จนกระทั่งกลางๆ เรื่องว่า การกระทำของแม่เลี้ยงซึ่งเป็นหมอผีนั้นมีเหตุผลบางอย่างในแบบของมัน แต่ก็น่าเชื่อว่ายองซุกไม่ได้รับความรักความอบอุ่นมากพอ จนทำให้เธอมีอาการทางจิต

อย่างไรก็ตาม อาการทางจิตของยองซุกดูจะได้รับการให้ค่าน้อยไปหน่อย บางครั้งเธอแค่ดูคล้ายหญิงสาวที่มีพฤติกรรมรุนแรง บางครั้งเธอก็หัวเราะอย่างบ้าคลั่งและกล่าวสบถ หนังไม่ได้ให้ข้อมูลมากนักว่าโรคที่เธอเป็นอยู่คืออะไรกันแน่ คนดูเห็นธาตุแท้ของเธอเพียงเมื่อเธอไล่ฆ่าคนที่จะทำให้เธอโดนจับ ซึ่งอันที่จริงเป็นการปกป้องตนเอง เราจึงไม่อาจจัดเธอเข้าในกลุ่มฆาตกรโรคจิตได้อย่างเป็นทางการ และอันที่จริง การแสดงของชอนจงซอในส่วนที่ฉายให้เห็นความเป็นโรคจิตของยองซุกก็ดูจะเกินและยัดเยียดไปหน่อยในบางฉาก ซึ่งอาจเป็นจุดที่หนังยังทำได้ไม่ดีนัก

อันที่จริงตัวละครหลักทั้งสองคือซอยอนและจองซุกล้วนเห็นแก่ตัว ซอยอนหวังอยากให้พ่อฟื้นจากความตาย จึงใช้ยองซุกไปเปลี่ยนอดีตทั้งที่รู้อยู่บ้างว่าเธออาจโดนแม่เลี้ยงทำโทษ ยองซุกเองก็ทำทุกวิถีทางให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตและกำจัดทุกคนที่จะมาจับตัวเธอหรือมาฆ่าเธอ การที่เธอเที่ยวฆ่าใครต่อใครเป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้เข้าใจยากเกินไปนัก ดังที่กล่าวไปแล้วว่าแต้มต่อของทั้งสองคนนี้ไม่เท่ากัน คนที่เอาใจช่วยซอยอนให้พ้นจากเงื้อมมือฆาตกรอย่างยองซุกจึงอาจอึดอัดใจเล็กน้อย และหนังก็เป็นไปในทิศทางที่หวังพึ่งตัวละครภายนอกเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของ The Call ก็คือ มันคือการห้ำหั่นกันเองระหว่างผู้หญิงด้วยกัน ทั้งในความสัมพันธ์ระหว่างซอยอน-แม่ ยองซุก-แม่เลี้ยง หรือซอยอน-ยองซุก ล้วนเป็นความสัมพันธ์ที่มีการเล่นกับอารมณ์ของความเป็นหญิงสูง โดยเฉพาะการพยายามโยงความเป็นหญิงเข้ากับแนวคิดที่ให้ครอบครัวมาที่หนึ่ง ความฝันใฝ่ที่ซ่อนอยู่ในตัวละครทุกตัวก็คือการมีครอบครัวที่อบอุ่น สมบูรณ์ ผู้คนรักใคร่กัน แม้กระทั่งตัวละครแม่เลี้ยงหมอผีของยองซุกที่เย็นชากับเธออยู่ตลอดเวลา ก็มีความปรารถนาดีบางอย่างซ่อนอยู่ลึกๆ กับความต้องการให้ลูกสาวของตัวเองกลายเป็นคนปกติ ซึ่งหากเป็นตัวละครชาย ความใฝ่ฝันทะยานอยากอาจถูกตีความให้ต่างออกไป เป็นเรื่องที่พ้นจากครอบครัว

เราจึงได้ดูการต่อสู้ห้ำหั่นระหว่างผู้หญิงด้วยกันในคู่ความสัมพันธ์ต่างๆที่ไม่ต่างจาก Cat Fight เพียงแต่เป็น Cat Fight ที่เอาชีวิตของตัวเองและคนในครอบครัวมาเป็นเดิมพัน ซึ่งในฐานะของผู้หญิง การปกป้องสถาบันครอบครัวถือเป็นหน้าที่ที่ไม่แยกขาดจากตัวตั้งแต่พวกเธอเกิดมาแล้ว

มันคือการห้ำหั่นกันเองระหว่างผู้หญิงด้วยกัน ทั้งในความสัมพันธ์ระหว่างซอยอน-แม่ ยองซุก-แม่เลี้ยง หรือซอยอน-ยองซุก ล้วนเป็นความสัมพันธ์ที่มีการเล่นกับอารมณ์ของความเป็นหญิงสูง โดยเฉพาะการพยายามโยงความเป็นหญิงเข้ากับแนวคิดที่ให้ครอบครัวมาที่หนึ่ง

อีกจุดหนึ่งที่ดูจะทำลายโครงเรื่องของหนังลงไปมากก็คือ ฉากต่อท้ายในช่วง end credits ซึ่งหนังใส่ตอนจบแบบหักมุมเข้ามา ทำให้ผู้ชมต้องเชื่อมโยงเรื่องเอาเองและเป็นการปูทางไปสู่ภาคต่อ ซึ่งในความเห็นของหลายคนมันอาจไม่ใช่ไอเดียที่ดีนัก และฉาก end credits ก็ดูไม่สัมพันธ์กับธีมเรื่องและโครงสร้างเรื่องเงื่อนเวลามากเท่าไหร่ เว็บไซต์วิจารณ์หนังบางแห่งถึงกับบอกว่า หากจะดูเรื่องนี้ให้สนุก ควรละเลยการดู end credits เสียจะดีกว่า

ในภาพรวม The Call ถือเป็นหนังไซไฟ-ทริลเลอร์ที่ดูสนุก ทำให้ลุ้นระทึกไปกับตัวละคร และสร้างบรรยากาศของความน่ากลัวได้อย่างมีเอกลักษณ์ มีพล็อตที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวที่อาจเรียกน้ำตาจากผู้ชมชาวเอเชียได้ แม้หนังจบไปหลายวันแล้ว แต่อารมณ์ของคนดูยังค้างอยู่กับบรรยากาศแบบทึมๆ และเต็มไปด้วยปริศนา เป็นหนังทริลเลอร์ที่น่าชมอีกเรื่อง และได้คะแนนจากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes อยู่ที่ 100% (ข้อมูลวันที่ 11 ธ.ค. 2563)


ชม The Call ได้ที่ Netflix

ค่ายใหญ่ยังพ่าย! “บลัมเฮ้าส์” ชนะประมูลคว้าบทความดังเตรียมทำหนัง

ท่ามกลางคู่แข่งแข็งๆ อย่างสตูดิโอไลออนเกตส์ทีวี, ทเวนตี้ทีวี, ยูซีพี, ค่ายแอมบลิน, เอชบีโอ และค่ายผู้สร้างหนังดังๆ อย่างเชอร์นินเอนเตอร์เทนเมนต์ (Ford v. Ferrari), ค่ายเมคเรดดี้ (Queen & Slim) และค่ายทันเดอร์โร้ด (John Wick) …ค่ายหนังสยองขวัญ “บลัมเฮ้าส์” กลับสามารถคว้าชัยในการแย่งประมูลสิทธิทำหนังของบทความโด่งดังในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ไปได้สำเร็จ โดยมีข่าวว่า ราคาที่เสนอประมูลกันนั้น สูงสุดถึงขั้นเป็นตัวเลข 7 หลักเลยทีเดียว!

บทความสุดฮ็อตที่ว่านี้มีชื่อว่า “She Stalked Her Daughter’s Killers Across Mexico, One by One” (เธอสะกดรอยฆาตกรที่สังหารลูกสาวของเธอไปทั่วเม็กซิโก ทีละคน) เขียนโดย อาซัม อาห์เม็ด (มือเขียนบทความเชิงข่าวเจ้าของรางวัลมากมาย) เพิ่งลงตีพิมพ์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง

ในบทความเล่าเรื่องสุดเข้มข้นของคุณแม่ชื่อ มีเรียม โรดริเกซ ซึ่งอาศัยอยู่ในซานเฟอร์นันโด ประเทศเม็กซิโก ลูกสาววัย 20 ปีของเธอถูกลักพาตัวไปเรียกค่าไถ่ตั้งแต่ปี 2014 และแม้เธอจะยอมจ่ายเงินค่าไถ่แล้ว แต่กลับไม่ได้ตัวลูกคืนมา ซ้ำร้ายบรรดาตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ใส่ใจจะติดตามคดีที่เกี่ยวข้องกับแก๊งค้ายานี้เลย แม่ผู้ไม่มีอะไรจะสูญเสียจึงตัดสินใจลงมือแกะหาร่องรอยแก๊งลักพาตัวดังกล่าวทางโซเชียลมีเดีย, ตัดผม และปลอมตัว (โดยปลอมเป็นตั้งแต่เจ้าหน้าที่ประกันสังคมไปจนถึงเจ้าหน้าที่ดูแลการเลือกตั้ง) แล้วสะกดรอยตามคนเหล่านั้นทีละคนๆ อยู่หลายเดือน จนความพยายามอันทรหดของเธอนำไปสู่การจับตัวสมาชิกแก๊งค้ายาท้องถิ่นได้ 10 คนในที่สุด

บทความของอาห์เม็ดเล่าเรื่องข้างต้นควบคู่ไปกับคดีลักพาตัวอีกคดีหนึ่งซึ่งน่าสะเทือนใจพอๆ กัน เป็นเรื่องของเด็กชายวัย 14 ปีในเมืองเดิมที่เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2020 นี้เอง เพื่อถ่ายทอดให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ เปลี่ยนและไม่เปลี่ยนอย่างไรบ้างหลังการล้างแค้นด้วยตัวคนเดียวของโรดริเกซ ซึ่งคนอ่านอาจจะมองว่านี่คือเรื่องราวของวีรสตรีผู้หาญกล้า หรืออาจจะมองเป็นเรื่องน่าหดหู่ใจของผู้คนที่ต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความป่าเถื่อนและเพิกเฉยของผู้มีอำนาจก็ได้เช่นกัน

สำหรับเหตุผลที่ค่ายบลัมเฮ้าส์สามารถเอาชนะค่ายใหญ่ในการประมูลสิทธิของบทความนี้ไปได้ คาดว่าน่าจะเพราะพวกเขาเป็นค่ายเดียวที่เสนอว่าจะนำมันไปทำหนัง (ส่วนค่ายอื่นๆ เสนอทำซีรี่ส์เป็นส่วนใหญ่) และแม้จะโด่งดังจากหนังสยองขวัญ แต่บลัมเฮ้าส์ก็มีงานแนวอื่นที่ดีงามเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นหนังเสียดสีร้ายกาจอย่าง Get Out, มินิซีรี่ส์ The Loudest Voice และล่าสุดคือซีรี่ส์โด่งดังเรื่อง The Good Lord Bird

School Town King : ความฝันเป็นเรื่องของคนที่มีพรีวิลเลจ

บุ๊ค-ธนายุทธ ณ อยุธยา และ นนท์-นนทวัฒน์ โตมา เป็นแร็ปเปอร์ ถิ่นฐานของเขาอยู่ในสลัมคลองเตย ชุมชนแออัดที่แน่นด้วยหนึ่งหมื่นครัวเรือนในพื้นที่ไม่กี่ไร่ พวกเขากระเบียดกระเสียนนอนในบ้านหลังเล็กแคบที่ไม่รู้เลยว่าวันดีคืนดีรัฐบาลจะสั่งคนมาไล่ทุบทำลาย (ในนามของการปรับปรุง) เมื่อไหร่ เช้าวันใหม่หมายถึงการไปโรงเรียนเพื่อทำพิธีตอนเช้าและท่องค่านิยมสิบสองประการ ผลาญเวลาในหนึ่งวันหมดไปกับเนื้อหาการเรียนที่ไม่เข้าใจและไม่ได้อยากรู้ โลกทั้งใบกีดกันพวกเขาจนเหลือพื้นที่ไม่กี่แห่งที่คนทั้งสองจะวาดลวดลายได้ หนึ่งในนั้นคือการร้องเพลงแร็ปเพื่อระบายความอัดอั้น ความเจ็บแค้นที่ไม่เคยถูกรัฐเหลียวแลหรือแยแส

‘School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ คือหนังสารคดีเรื่องล่าสุดของ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ตามติดชีวิตของเด็กหนุ่มสองคนในสลัมคลองเตยซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นชุมชนแออัดมากที่สุดในไทย และท่ามกลางฉากหน้าที่ว่าด้วยการแร็ปและการต่อสู้ของเด็กหนุ่ม สารคดีมันยังพาคนดูไปสำรวจความเหลื่อมล้ำในสังคม ระบบการศึกษาที่ดับฝันมนุษย์ เลาะเรื่อยไปจนถึงอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนั้น หนังมันจึงฉีกตัวออกจากการเป็นหนังสูตรสำเร็จประเภทที่ว่า คนขาดโอกาสกัดฟันสู้ชีวิตไล่ตามความฝันจนประสบความสำเร็จ เพราะข้อเท็จจริงคือ ทั้งบุ๊คและนนท์ยังต้องดิ้นรนต่อสู้ ต้องถูกท้าทายและต้องจมอยู่ในโลกที่แล้งไร้ใบเดิมของพวกเขา

อย่างไรก็ดี โดยตัวมันเองนั้น เพลงแร็ปถือกำเนิดขึ้นมาในฐานะของการต่อต้าน การขบถ และการไม่จำยอมต่อสังคม มันจึงเหมาะสมและท่วมท้นไปด้วยอารมณ์อย่างยิ่งเมื่อคนที่แต่งและเปล่งเสียงเพลงนี้ออกมาคือคนที่ถูกรัฐและสังคมพิจารณาว่าเป็นคนนอกมาโดยตลอดอย่างบุ๊คกับนนท์ พวกเขาห่างไกลจากนิยามเด็กดีที่รัฐมอบให้ ไม่ได้ตั้งใจเรียนและไม่ปรารถนาจะถูกคุมขังอยู่ในระบบ กล้องติดตามคนทั้งสองที่ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ต้องยืนเข้าแถวพนมมือทุกเช้าเพื่อทำพิธีหน้าเสาธง ท่องค่านิยมสิบสองประการที่ถูกกำหนดมาไว้ให้แล้วว่าต้องท่อง มีคุณครูยืนถือไม้เรียวตวาดใส่หน้าเด็กที่ล้วนแล้วแต่สวมเสื้อผ้าเหมือนกัน ไว้ผมทรงเดียวกัน และในนักเรียนหญิงก็ผูกโบว์เหมือนกัน ทุกอย่างเป็นระบบเหมือนโยนเด็กเข้าโรงงานอัดกระป๋อง นำมาสู่ฉากอันชวนปวดหัวใจเมื่อบุ๊ค -ซึ่งเพิ่งเสร็จจากการแร็ปอันเดือดดาลเมื่อคืนก่อน- ต้องตื่นขึ้นมาแต่เช้าแล้วไปตัดผมตามที่โรงเรียนกำหนด

เพลงแร็ปถือกำเนิดขึ้นมาในฐานะของการต่อต้าน การขบถ และการไม่จำยอมต่อสังคม มันจึงเหมาะสมและท่วมท้นไปด้วยอารมณ์อย่างยิ่งเมื่อคนที่แต่งและเปล่งเสียงเพลงนี้ออกมาคือคนที่ถูกรัฐและสังคมพิจารณาว่าเป็นคนนอกมาโดยตลอดอย่างบุ๊คกับนนท์ พวกเขาห่างไกลจากนิยามเด็กดีที่รัฐมอบให้ ไม่ได้ตั้งใจเรียนและไม่ปรารถนาจะถูกคุมขังอยู่ในระบบ

ทั้งนี้ คีย์เวิร์ดสำคัญที่ได้ปรากฏในหนังบ่อยๆ ทั้งจากตัวซับเจ็กต์และจากผู้คนที่รายรอบเองคือ ‘ความฝัน’ อันที่จริงหากว่าเป็นหนังเรื่องอื่น ในธีมแบบอื่น เราก็คงไม่สะดุดใจอะไรกับมันมากนัก แต่เมื่อมันหล่นออกมาจากปากคนที่ขาดแคลนแทบจะทุกองค์ประกอบในชีวิต คำนี้จึงทั้งทรงพลังและชวนเศร้าไปพร้อมๆ กัน “เราต้องไล่ตามหาฝันสิ” บุ๊คพูดแบบนั้นทั้งในชีวิตจริงและในเนื้อเพลงของเขา ตัวบุ๊คเองได้อิทธิพลการแร็ปมาจากศิลปินอเมริกันอย่าง ทูพัค, Eminem และไม่แปลกเลยที่เขาจะเสพเอาแนวคิดการตามหาความฝันอันเป็นวิธีคิดแบบอเมริกันจัดๆ มาผลักดันตัวเอง

คตินิยมแบบอเมริกันดรีมส์ มันคือการไขว่คว้าหาโอกาสเพื่อจะทำตามเป้าหมายใหญ่ของชีวิตให้สำเร็จผ่านการทุ่มเทและทำงานอย่างหนัก ซึ่งทั้งหมดนี้นั้นต้องวางอยู่บนความเท่าเทียมทางโอกาส ซึ่งน่าเศร้าที่ประเทศไทยไม่เคยมีโอกาสเช่นนั้น การจะพูดว่าฉันมีความฝันในประเทศแล้งไร้แห่งนี้คือคุณอาจต้องมีต้นทุนหรือแต้มต่อในชีวิตมากกว่าคนอื่นอยู่สักหน่อย ใครก็ตามที่ไม่ต้องตื่นเช้ามาพบว่าบ้านกำลังถูกรื้อ เงินไม่มีพอจ่ายค่าน้ำค่าไฟ การออกไล่ตามความฝันอาจจะง่ายสักหน่อย คุณอยากจะเป็นอะไรคุณก็เป็นได้ทั้งนั้นเพราะการไล่ตามความฝันเป็นเรื่องของคนที่มีพรีวิลเลจ

หนังเล่นประเด็นกับคำว่าความฝันเยอะมาก ความฝันกลายเป็นสิ่งมีค่าเรืองรองเมื่อออกจากจากบุ๊ค แต่มันจะกลายเป็นความ “เพ้อเจ้อ ไร้สาระ” เมื่อมองจากสายตาของคนเป็นพ่อ หนังอุทิศเวลาหลายสิบนาทีในการเฝ้าจับจ้องและสัมภาษณ์พ่อของบุ๊คซึ่งมีท่าทีต่อต้านการทำเพลงแร็ปของลูกชายมาโดยตลอด ผ่านการพร่ำบอกว่าเขาเข้าใจความคิดของวัยรุ่นเพราะเขาก็เคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน แต่เขาล้มเหลวและเจ็บจากการออกนอกแถว -เช่นเดียวกับพ่อเขาในยุคก่อนหน้านั้น- รัฐโบยตีเขาจนเข้ามาอยู่ในระบบระเบียบอีกครั้งซึ่งมันไม่ได้ทำให้เขาภูมิใจเลย แรงกดดันทั้งหมดจึงถาโถมไปอยู่ที่ลูกชายซึ่งเขามองว่า “ก็เหมือนผมสมัยอายุเท่านั้น” และเขาวาดหวังว่าบุ๊คจะเรียนหนังสือให้จบเพื่อเรียนต่อในระดับปริญญาตรี จบออกมามีงานมั่นคง (ที่แน่นอนว่าเขาไม่นับการร้องเพลงแร็ปเป็นอาชีพที่มั่นคงแต่อย่างใด)

เด็กทุกคนในเรื่องจึงพูดถึงความฝันของตัวเองด้วยท่าทีเจียมเนื้อเจียมตัว ด้วยท่าทีปราศจากความทะเยอทะยาน และหากมองจากสายตาคนที่มีต้นทุนชีวิตดีกว่าเขา การเรียนจบปริญญาตรีอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยและอาจไม่ถูกนับเป็น ‘ความฝัน’ ของคนที่มีพรีวิลเลจใดๆ ในชีวิตเลยก็ได้ แต่มันชวนตั้งคำถามว่าแล้วประเทศแบบไหนกันที่ฆ่าฝันเด็กเสียจนเด็กไม่อาจคิดการณ์ใหญ่ไปกว่าการเรียนให้จบได้ ประเทศแบบไหนกันที่เป้าหมายชีวิตรูปแบบหนึ่ง กลายมาเป็นหมุดหมายความสำเร็จก้อนใหญ่ของคนบางคน และเป็นแค่เส้นทางที่รอให้เดินผ่านของคนอีกคนเท่านั้น เพดานการฝันของเด็กไทยจึงต่ำมากๆ เรียนให้จบปริญญาตรีได้ก็ดีแล้ว ไม่ต้องเรียนปริญญาโทก็ได้ และไม่ได้หวังว่าจะได้ทำงานที่อยากหรือฝันใฝ่ใดๆ เลย

มันชวนตั้งคำถามว่าแล้วประเทศแบบไหนกันที่ฆ่าฝันเด็กเสียจนเด็กไม่อาจคิดการณ์ใหญ่ไปกว่าการเรียนให้จบได้ ประเทศแบบไหนกันที่เป้าหมายชีวิตรูปแบบหนึ่ง กลายมาเป็นหมุดหมายความสำเร็จก้อนใหญ่ของคนบางคน และเป็นแค่เส้นทางที่รอให้เดินผ่านของคนอีกคนเท่านั้น เพดานการฝันของเด็กไทยจึงต่ำมากๆ เรียนให้จบปริญญาตรีได้ก็ดีแล้ว ไม่ต้องเรียนปริญญาโทก็ได้ และไม่ได้หวังว่าจะได้ทำงานที่อยากหรือฝันใฝ่ใดๆ เลย

อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือการที่บุ๊คเดินเรื่องไปขอลาออกที่โรงเรียน แต่โรงเรียนกลับไม่อนุมัติให้เขาลาออกในทันที ด้านหนึ่งมันจึงว่าด้วยตัวระบบที่คิดแทนปัจเจกว่า การลาออกของเด็กนั้นหมายถึงการลาออกเพื่อไปศึกษาต่อที่อื่น ไม่ใช่เพราะลาออกเพื่อ ‘ลาออก’ จริงๆ อย่างที่บุ๊คปรารถนา ความฝันในการจะสลัดโซ่ตรวนทางการศึกษาออกเป็นด่านแรกของเขาจึงจอดสนิทตั้งแต่เมื่อโรงเรียนยังไม่ออกเอกสารให้เพราะต้องเฝ้าดูว่าเขายังเหลือวิชาไหนบ้างที่ติดค้างอยู่

ดูแล้วเจ็บใจเหลือเกิน -ทั้งในฐานะผู้ใหญ่ที่ผ่านการโบยตีจากโรงเรียน จากรัฐ หรือกระทั่งจากครอบครัวจนยอมจำนนแล้วในที่สุด- หรือแม้แต่ในฐานะคนดูที่เอาใจช่วยทุกคนให้หลุดพ้นจากการล่ามตรวนนี้ ประเทศที่หาคนมาพร่ำบอกค่านิยม (ที่ก็ไปรับมาจากตะวันตกอีกที) ใส่หัวเราเสมอว่าให้ทำตามความฝันเพราะจะทำให้ชีวิตมีคุณค่า แต่ก็ทุบตี สั่งสอนในนามของความหวังดี ความเป็นผู้ใหญ่จนฝันนั้นตายซากไปเอง ฟุตเตจในหนังรายล้อมไปด้วยคนของรัฐทั้งตัวบุคคลหรือแม้แต่มาในนามของคำสั่งสอน รูปภาพ หรือป้ายขนาดยักษ์ราวกับจะย้ำเตือนว่าคนเหล่านี้จับจ้องคุณอยู่เสมอ และเรายิ่งโกรธเมื่อพบว่า ในอีกไม่กี่เดือนต่อมาภายหลังการถ่ายทำ ตัวบุ๊คถูกควบคุมตัวและถูกพิจารณาว่าเป็น ‘อีกฝั่ง’ ของรัฐเมื่อเขาขึ้นร้องเพลงแร็ปในงานเยาวชนปลดแอก นำมาสู่คดีความที่ยืดเยื้อและยาวนาน

อย่างไรก็ดี สำหรับงานของวรรจธนภูมิ เราชอบการที่ตัวตนของเขามักจะหายไปหลังกล้องอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ในหนังก่อนหน้านี้ของเขาอย่าง ‘นิรันดร์ราตรี Phantom of Illumination’ (2017) ก็มีฉากอันชวนประดักประเดิดโผล่ขึ้นมาคล้ายว่าซับเจ็กต์ลืมไปแล้วโดยสิ้นเชิงว่ามีกล้องจับอยู่ และใน School Town King เองก็เช่นกัน แม้ไม่ได้ชัดเจนหรือรุนแรงเท่าในหนังเรื่องก่อน แต่ก็นับเป็นโมเมนต์ที่น่าสนใจซึ่งปรากฏขึ้นในหนัง

หนังมีฉากที่ถ่ายให้เห็นชุมชนแออัดคลองเตย แล้วแพนไปยังอีกฝั่งหนึ่งคือสุขุมวิท สิ่งที่แบ่งแยกสองดินแดนนี้ออกจากกันคือถนนพระรามสี่และความเหลื่อมล้ำอันเลวทรามในน้ำมือของรัฐ

ทางออกของการดึงคนดูกลับเข้าโรงหนังในยุคเปลี่ยนผ่าน

แม้ว่าอุบัติการณ์ของโรคโควิด 19 จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ของทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะการปิดตัวของโรงหนังในหลายประเทศ ขณะที่ความนิยมในช่องทางสตรีมมิ่งเพิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง จนทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า หรือประวัติศาสตร์ภาพยนตร์กำลังพลิกโฉมครั้งสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิกฤติเริ่มคลี่คลายในหลายประเทศในช่วงปลายเดือนมิถุนายน จนทำให้ผู้ประกอบการโรงหนังได้กลับมาเปิดโรงอีกครั้ง ภายใต้การจำกัดจำนวนที่นั่งตามนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีอย่างล้นหลามจากผู้ชม

Train to Busan : Peninsula

เริ่มตั้งแต่ประเทศเกาหลีใต้ที่ประเดิมฉายหนังแนวซอมบี้แอ็คชั่นเรื่อง Alive ในปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งขายบัตรเข้าชมในวันแรกสูงถึงสองแสนใบ ก่อนที่จะถูกลบสถิติลงด้วยหนังเรื่อง Train to Busan : Peninsula ซึ่งเข้าฉายสองสัปดาห์ถัดมาและทำรายได้เปิดตัวสูงถึง 2.4 ล้านเหรียญ (จากรายได้ทั้งหมด 28.7 ล้านเหรียญ) ไม่เพียงเท่านั้น Deliver Us From Evil ซึ่งเข้าฉายในต้นเดือนสิงหาคม ทำสถิติยอดขายบัตรตลอดทั้งโปรแกรมสูงสุดเป็นอันดับสองของปี กับยอดขายกว่า 4 ล้านใบจากการฉายเป็นเวลาหนึ่งเดือน อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเกาหลีใต้ก็เผชิญกับวิกฤติระบาดระลอก 2 ของโรคโควิด 19 จนทำให้ยอดผู้ชมลดลงอีกครั้งจนถึงขณะนี้ แต่กระนั้นหลายฝ่ายยังเชื่อว่าถ้าสถานการณ์คลี่คลายอีกครั้ง ผู้ชมจะยังกลับมาเข้าโรงหนังอยู่ดี

The Eight Hundreds

ประเทศถัดมาที่โรงหนังเปิดให้บริการหลังวิกฤติคลี่คลาย ได้แก่ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่โรคโควิด 19 ระบาด หลังจากที่รัฐบาลสั่งปิดโรงหนังทั่วประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ จนกลางเดือนกรกฎาคม โรงหนังก็กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวดเรื่องการเว้นระยะห่าง แม้ว่าในระยะแรกคนดูยังไม่กลับเข้าโรงเต็มที่นักเนื่องจากยังไม่มีความมั่นใจ แต่เมื่อเข้าสู่เดือนสิงหาคม สัญญาณแห่งการพลิกฟื้นก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนและรุนแรง เมื่อยอดบ็อกซ์ออฟฟิศเฉพาะของเดือนนี้รวมกันได้ 3.39 พันล้านหยวน หรือ 495.6 ล้านเหรียญ หรือ 14,800 ล้านบาท!! และเมื่อแปลงเป็นจำนวนตั๋วเข้าชม เดือนสิงหาคมแค่เดือนเดียวมีผู้ซื้อบัตรเข้าชมหนังในโรงจำนวน 95 ล้านคน โดยหนังที่ทำรายได้สูงสุดตกเป็นของ The Eight Hundreds ที่ทำรายได้ตลอดการฉาย 1.9 พันล้านหยวนhttp://www.china.org.cn/arts/2020-09/05/content_76673549.htm#:~:text=Chinese%20war%20epic%20film%20%22The,the%20Chinese%20market%20this%20year. ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้จีนเตรียมก้าวขึ้นเป็นตลาดหนังที่ใหญ่ที่สุดในโลกแทนสหรัฐอเมริกาในเวลาไม่ช้าจากนี้

Demon Slayer the Movie: Mugen Train

อีกประเทศที่ไม่สามารถไม่กล่าวถึงได้ ก็คือประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าโรงหนังไม่ได้รับคำสั่งให้ปิดการให้บริการตามประกาศภาวะฉุกเฉินที่ประกาศโดยรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะในเดือนเมษายน แต่ความกังวลใจของประชาชนก็ส่งผลให้ยอดการซื้อตั๋วเข้าชมหนังลดลงอย่างฮวบฮาบ นอกจากนี้โรงหนังที่ตั้งอยู่ในเขตโรคระบาดต่างเลือกที่จะปิดตัวเองลงเพื่อความสบายใจของลูกค้าhttps://www.japantimes.co.jp/culture/2020/04/16/films/save-japanese-independent-cinemas/ จนกระทั่งเข้าสู่เดือนตุลาคม เริ่มเกิดสัญญาณเชิงบวกขึ้น เมื่อแอนิเมชันเรื่อง Demon Slayer เข้าฉายวงกว้างและทำรายได้เฉพาะสัปดาห์เปิดตัวถึง 44 ล้านเหรียญ และยังคงทำรายได้อย่างต่อเนื่องจนกำลังจะสร้างสถิติหนังทำรายได้สูงสุดตลอดกาลของญี่ปุ่น (จนถึงวันที่ 13 ธันวาคม หนังทำเงินไปทั้งหมด 290 ล้านเหรียญ) จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลถึงกับกล่าวชื่นชมว่า Demon Slayer สร้างคุณูปการยิ่งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์

เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมของทั้งสามประเทศสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มว่าจะมีความแข็งแรงมั่นคงแม้จะต้องเผชิญความไม่แน่นอนของภาวะการระบาดของโรค และความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบก็ตาม อาจสรุปได้ดังนี้

1) ความแข็งแรงของวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ในโรง จากการสำรวจของสถาบันภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักร (BFI) ประจำปี 2020 พบว่าในปี 2019 ประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นติดอันดับประเทศที่ผู้ชมซื้อบัตรเข้าชมหนังในโรงมากที่สุดในโลก 10 อันดับแรก โดยจีนซึ่งอยู่อันดับที่ 1 มีจำนวนผู้ชมหนังในโรงตลอดทั้งปีจำนวน 1,727 ล้านคน คิดเป็นจำนวนผู้ชมเฉลี่ย 143.9 ล้านคนต่อเดือน ตามมาด้วยเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่อันดับที่ 5 ของโลก มีจำนวนผู้ชมในโรงหนังตลอดทั้งปี 228 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวนผู้ชมโดยเฉลี่ย 18.9 ล้านคนต่อปี และประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ในอันดับ 8 ของโลก มีจำนวนผู้ชมทั้งปี 195 ล้านคน หรือคิดเป็น 16.2 ล้านคนต่อปี จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าแม้ธุรกิจโรงหนังกำลังเผชิญกับความท้าทายของนวัตกรรมการจัดจำหน่ายหนังแบบใหม่ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของทั้งสามประเทศยังคงเลือกโรงหนังเป็นช่องทางในการเสพหนังเป็นลำดับแรกอยู่

2) ความศรัทธาต่อหนังในประเทศ ข้อสังเกตที่น่าสนใจซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลข้อแรกได้แก่ หนังที่ปลุกกระแสการกลับมาเข้าโรงของแต่ละประเทศ ล้วนแต่เป็นหนังในประเทศ ซึ่งได้โอกาสจากการที่ตลาดปราศจากหนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Alive, Train to Busan และ Deliver Us From Evil จากเกาหลีใต้ เรื่อง The Eight Hundred จากจีน และ Demon Slayer จากญี่ปุ่น สิ่งที่เกิดขึ้นในทั้งสามประเทศแสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงของศรัทธาที่มีต่อหนังในประเทศของผู้ชม ซึ่งจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เมื่อธุรกิจภาพยนตร์โลกต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญหลังวิกฤติโควิด 19 คลี่คลาย โดยเฉพาะเมื่อค่ายหนังยักษ์ใหญ่ในฮอลลีวูดอย่างบริษัทวอร์เนอร์ บราเธอร์ส ประกาศทำลายเส้นแบ่งระหว่างการฉายหนังในโรงกับช่องทางสตรีมมิ่ง อันหมายความว่า ถ้าโรงหนังยังคงพึ่งพารายได้จากหนังฮอลลีวูดเป็นสำคัญ และหนังในประเทศไม่สามารถเรียกศรัทธาจากผู้ชมภายในประเทศได้ โอกาสที่โรงหนังจะประสบกับภาวะยากลำบากในการเอาตัวรอดนั้นมีสูง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวดูจะเกิดขึ้นยากกับทั้งสามประเทศ


หันกลับมามองที่ประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย แม้ว่ากิจกรรมทางภาพยนตร์จะกลับมาเริ่มต้นอีกครั้งในเดือนมิถุนายน พร้อมกับสถิติตัวเลขผู้ป่วยโควิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนการตอบรับของผู้ชมยังมีอยู่อย่างจำกัดและไม่คงที่ กล่าวคือ หนังที่ได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่เป็นหนังต่างประเทศฟอร์มยักษ์ที่มีต้นทุนการสร้างสูง ได้แก่เรื่อง Train to Busan : Peninsula ซึ่งทำรายได้กว่า 50 ล้านบาท เรื่อง Tenet ที่ทำรายได้ประมาณ 60 ล้านบาท เรื่อง Mulan ที่ทำรายได้ประมาณ 64 ล้านบาท (*รายได้เฉพาะใน กทม.) และล่าสุด แอนิเมชันเรื่อง Demon Slayer ที่กำลังสร้างสถิติใหม่ของหนังทำเงินในญี่ปุ่น

อีเรียมซิ่ง

สำหรับหนังไทย หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายให้โรงหนังกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้งในเดือนมิถุนายน มีหนังไทยเข้าฉายจนถึงปัจจุบัน (วันที่ 15 ธันวาคม) จำนวน 22 เรื่องhttps://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2563 มีเพียงแค่ 2 เรื่องที่ทำรายได้มากกว่า 50 ล้านบาท คือ อีเรียมซิ่ง และ อ้ายคนหล่อลวง นอกเหนือจากนี้แล้ว หนังส่วนใหญ่ที่เข้าฉายช่วงหลังวิกฤติโควิด 19 คลี่คลาย ล้วนแต่ประสบความล้มเหลวทางด้านรายได้ โดยมีเหตุผลหลักมาจาก สภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้บริโภคจับจ่ายอย่างที่ตั้งใจได้ ประกอบกับราคาค่าตั๋วหนังที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอัตราค่าครองชีพ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกไม่มากสำหรับการตัดสินใจชมหนังสักเรื่อง ดังนั้นหนังที่มีต้นทุนสูง และเป็นที่รู้จักในวงกว้างจึงกลายเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ผู้ชมยอมจ่ายเงินซื้อตั๋วเข้าไปชมทันทีที่ออกฉาย ขณะที่หนังขนาดกลางๆ หรือเล็กซึ่งมีจำนวนมากกว่า แทบจะไม่ได้รับความสนใจนอกจากจะเกิดกระแสปากต่อปากขึ้น ซึ่งกว่าที่หนังเหล่านี้จะได้รับความสนใจ ก็แทบไม่เหลือพื้นที่การฉายอีกแล้ว เนื่องจากถูกครอบครองโดยหนังที่มีศักยภาพทางธุรกิจมากกว่า

จากสภาวะเช่นนี้ แม้อาจไม่สามารถกล่าวได้ว่าธุรกิจหนังไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติได้อย่างเต็มปาก เนื่องจากผู้ชมยังคงเข้าโรงหนังเมื่อที่มีเรื่องที่พวกเขารู้สึกว่าคุ้มค่าต่อการเสียเงินเข้าไปชม แต่ตราบใดที่หนังฟอร์มใหญ่โดยเฉพาะภาพยนตร์จากต่างประเทศ หรือหนังไทยที่มีต้นทุนของความนิยมสูง ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญในการเรียกผู้ชมเข้าโรง ในระยะยาวจึงน่าเป็นห่วงว่า ในวันที่รูปแบบโครงสร้างการจัดจำหน่ายหนังเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเมื่อเส้นแบ่งระหว่างการฉายในโรงหนังและทางช่องทางสตรีมมิ่งหายไป โรงหนังจะยังมีความสำคัญต่อผู้ชมขนาดไหน และที่อาจจะแย่ไปกว่านั้นก็คือ โรงหนังจะอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาอย่างไร

คำถามสำคัญตามมาก็คือ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเช่นนี้ เราควรปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยที่ยังคงรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมภาพยนตร์อย่างการชมหนังในโรงไว้อยู่ ผู้เขียนขอเสนอแนวทางดังต่อไปนี้

เทศกาลภาพยนตร์อิตาลี 2020 (ภาพจากเพจ Facebook: Italian Film Festival Bangkok)

1. การสนับสนุนให้มีกิจกรรมทางด้านภาพยนตร์ (Film Event) มากขึ้น โดยอาจอยู่ในรูปของการจัดเทศกาลหนัง การจัดกิจกรรมประเภทภาพยนตร์สนทนา ซึ่งเน้นการพูดคุยแลกเปลี่ยนเปลี่ยนในช่วงก่อนและหลังการฉายหนัง หรือแม้กระทั่งการจัดกิจกรรมฉายหนังเฉพาะกลุ่ม เช่นกลุ่มผู้ชมวัยเกษียณ และกลุ่มผู้ชมวัยเด็ก จากการสังเกตของผู้เขียน กิจกรรมประเภท film event ค่อนข้างได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชมจำนวนหนึ่งในช่วงหลังวิกฤติโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลหนังอิตาเลียนและเทศกาลหนังญี่ปุ่นที่จัดที่โรงหนังเฮ้าส์สามย่านในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน หรือกิจกรรมการฉายภาพยนตร์สนทนาประกอบการฉายหนังคลาสสิกที่จัดที่หอภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จของกิจกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโรงหนังยังคงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสุดในการเผยแพร่ เพียงแต่ว่าสิ่งที่ต้องเพิ่มขึ้นมาคือความหลากหลายของหนัง และความรู้จากบริบทของหนังที่ได้รับชม

2. การตอกย้ำความสำคัญของการชมหนังในโรง ผ่านการรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ เช่นการรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญ “ประสบการณ์ทางด้านภาพยนตร์” (cinematic experience) ซึ่งไม่สามารถหาได้จากที่ใดได้นอกจากโรงหนัง โดยการณรงค์อาจกระทำผ่านสื่อประเภทต่างๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และภาพเคลื่อนไหว โดยมีผู้นำทางสังคมสาขาต่างๆ เป็นผู้ผลักดันเชิญชวน การรณรงค์ควรกระทบควบคู่ไปกับความพยายามของโรงหนังที่จะทดลองรูปแบบการฉายหนังใหม่ๆ เช่นการทดลองการฉายแบบข้ามสื่อ (crossover screening) ที่นอกจากฉายหนังแบบปกติแล้ว โรงอาจลองฉายคอนเทนต์ประเภทอื่นที่นำเอารูปแบบการถ่ายทำหนังไปประยุกต์ใช้ เช่น ซีรีส์ การถ่ายทอดสดคอนเสิร์ต หรือแม้แต่การถ่ายทอดสดละครเวที การตอกย้ำเรื่องประสบการณ์ทางด้านหนังต่อเนื่อง อาจช่วยสร้างฐานผู้ชมกลุ่มใหม่ ให้ได้สัมผัสกับประสบการณ์เสพคอนเทนต์ที่ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่สื่อใดสื่อหนึ่งต่อไป

3. การเข้ามามีส่วนร่วมของภาครัฐ ด้วยการออกนโยบายแบ่งเบาภาระระหว่างผู้ชมกับโรงหนัง ในลักษณะแบบโครงการคนละครึ่งเหมือนที่กำลังดำเนินอยู่กับภาคธุรกิจอื่น ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้รับการพิเศษแล้วว่าเห็นผลที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยในเดือนมิถุนายน สภาการภาพยนตร์เกาหลี หรือ KOFIC ได้ออกคูปองส่วนต่างสำหรับซื้อตั๋วเข้าชมหนังให้ผู้บริโภค โดยส่วนต่างนี้มีสัดส่วน 60% ของราคาตั๋วทั้งหมด ผลจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวของสภาการภาพยนตร์เกาหลีส่งผลให้จำนวนผู้ชมที่กลับมาชมหนังในโรงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญhttps://www.firstpost.com/entertainment/coronavirus-outbreak-korean-film-council-issues-subsidy-coupons-on-movie-tickets-to-draw-audience-to-theatres-8437431.html และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หนังเรื่อง Alive ทำเงินมหาศาล แม้จะเปิดตัวช่วงหลังวิกฤติโควิดคลี่คลายครั้งแรกhttps://www.screendaily.com/features/how-south-koreas-box-office-is-coming-back-from-the-dead/5151252.article และช่วยสร้างความคึกคักให้แก่วงการหนังเกาหลีอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดวิกฤติระบาดระลอกที่สองในช่วงเดือนกันยายน สำหรับประเทศไทย นโยบายแบ่งเบาภาระผู้ชมกับผู้ประกอบการโรงหนังอาจดำเนินในรูปแบบเดียวกับนโยบายคนละครึ่งที่ดำเนินอยู่ เพียงแต่อาจต้องกำหนดเงื่อนไขว่าโรงหนังที่เข้าร่วมโครงการต้องลดเพดานค่าตั๋วหนังลง เช่นไม่เกิน 200 บาท ทั้งนี้เพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้บริโภคมากเกินไป (และรัฐเองจะได้ไม่ต้องจ่ายส่วนต่างที่สูงเกินไป) ส่วนโรงหนัง แม้จะได้รายได้น้อยลง แต่จะได้ความถี่ของผู้ชมที่เพิ่มขึ้นเป็นการทดแทน

นอกเหนือจากข้อเสนอทั้งสามข้อแล้ว สิ่งที่ทุกฝ่ายควรเริ่มต้นทำไปพร้อมๆ กัน คือการสร้างวัฒนธรรมภาพยนตร์อย่างยั่งยืน อันที่จริง วัฒนธรรมภาพยนตร์สำหรับประเทศไทยไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ เพราะได้เริ่มต้นพร้อมกับหลายๆ ประเทศเมื่อประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ได้เริ่มต้นขึ้นโดยมีโรงหนังเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีสื่ออื่นๆ ถูกแนะนำเพิ่มขึ้น วัฒนธรรมภาพยนตร์ก็ค่อยๆ ลดบทบาทลง จนแทบจะกลายเป็นเพียงแค่หนึ่งในหลายกิจกรรมในชีวิตของคนคนหนึ่ง ในทัศนะของผู้เขียน การสร้างวัฒนธรรมแบบยั่งยืนที่น่าจะเป็นรูปธรรมมากที่สุด ได้แก่การกำหนดให้ภาพยนตร์เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทุกระดับ เปรียบได้กับวิชาสังคมที่นักเรียนทุกคนควรเรียน โดยเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ไปจนถึงวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ ซึ่งไม่มีห้องเรียนใดที่จะสร้างประสบการเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบที่สุดได้เท่ากับโรงภาพยนตร์

ปัญหาซ่อนเร้นของหนังไทย 1 รอบทั้งประเทศ

สารคดีไทย School Town King ‘แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ ผลงานของ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย เข้าฉายโรงเมื่อ 17 ธ.ค. 63 ด้วยการฉายแบบ exclusive กับโรงหนังเครือ เอสเอฟ แต่เมื่อประกาศรอบออกมา พบว่ามันฉายแค่รอบเดียวคือ 18.00 น. ที่ เอสเอฟเวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ ก่อนจะเพิ่มให้อีกรอบที่สาขาเดิม ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 19 ธ.ค. ซึ่งเท่ากับว่าหนังเรื่องนี้เข้าฉายเพียง 1-2 รอบต่อวัน จากทั้งประเทศ นำมาสู่ข้อถกเถียงว่าจำนวนรอบเพียงเท่านี้คงไม่สามารถพาหนังไปถึงคนดูได้มากเท่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าหนังสามารถเข้าถึงการฉายกับ 1 ใน 2 เครือหลักที่มีโรงหนังกระจายไปทั้งประเทศแล้ว

สถานะ 1-2 รอบทั้งประเทศนี้ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่มันเป็นปัญหาหมักหมมของหนังไทยอิสระที่ไม่ได้มีกำลังมากพอจะผลักดันหนังให้กระจายสู่คนดูวงกว้างได้ ณัฐวร สุริยสาร หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Filmocracy ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการหนังเพื่อนำไปสู่ความหลากหลายของผู้ผลิตและการอยู่รอดในวิชาชีพ โดยกลุ่มคนทำหนังรุ่นใหม่ ได้ให้ความเห็นในสถานการณ์นี้ว่า “ผมไม่แน่ใจว่าคนดูจะสนใจการมีอยู่ของหนังกลุ่มนี้รึเปล่า เพราะผมก็เพิ่งเห็นคนแสดงความเห็นว่าเอสเอฟก็ใจดีนะที่ให้รอบฉายหนังเรื่องนี้ด้วย แต่ผมมองว่ามันต้องถึงขนาด 1 รอบทั้งประเทศเลยหรือ

“ผมเคยคิดว่าสิ่งที่ทำให้หนังประสบความสำเร็จคือการประชาสัมพันธ์ สำหรับ School Town King เราก็ต้องทำความเข้าใจว่าเขาไม่ได้มีศักยภาพการประชาสัมพันธ์ได้เท่าหนังจากค่ายใหญ่ๆ แน่นอน ซึ่งหนังแบบนี้ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้มีโอกาสที่จะทำเงินได้ในระดับหนังสตูดิโอแน่ๆ การที่เขาเลือก Exclusive นั่นหมายความว่าเขาก็คาดหวังจะได้รับการผลักดันอีกแรงจากโรงภาพยนตร์”

การได้รับการปฏิบัติเช่นนี้จากโรง อาจมองได้ว่าหนังที่ไม่ได้มีกำลังทั้งเรี่ยวแรงและเม็ดเงินเพื่ออัดฉีดการประชาสัมพันธ์สู่วงกว้าง คงไม่แคล้วจะสร้างกลุ่มคนดูไม่มากไปกว่าพื้นที่ที่หนังได้รับจากโรงหนังนัก แต่ขณะเดียวกันพื้นที่อันจำกัดก็ปิดกั้นการเข้าถึงของกลุ่มคนดูด้วยเช่นกัน ณัฐวรจึงมองว่าปัญหาเหล่านี้แก้ที่ผู้สร้างและโรงหนังคงไม่พอ “รัฐควรทำอะไรสักอย่างเพื่อสนับสนุนหนังประเทศตัวเองมากกว่านี้ สิ่งที่ผมอยากเห็นคือคนทำหนังอิสระไทยสามารถอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ในนามคนทำหนังศักดิ์ศรีเรามีอยู่แล้ว คนข้างนอกก็อาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองต่อหนังอิสระใหม่หมดเลย หากอยากทำให้หนังไทยเดินหน้าไปได้จริง การผลักดันระดับนโยบายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถึงจะมีการเปลี่ยนความคิดต่อหนังไทยได้ทั้งหมด หนังอิสระกับหนังสตูดิโอจึงจะมีศักดิ์ศรีเท่ากันในฐานะคนทำหนังไทยเหมือนกัน”

ระดับนโยบายที่ณัฐวรกล่าวถึงควรจะเป็นอย่างไร อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เผยว่าขณะนี้กำลังดำเนินการเพื่อหาทางสนับสนุนการจัดจำหน่ายหนังไทยอิสระ เพื่อให้เข้าถึงผู้ชมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยล่าสุดได้หารือกับ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และความร่วมมือจากบุคลากรในวงการหนัง ผู้เชี่ยวชาญการจัดจำหน่ายและประชาสัมพันธ์ทั้งในระบบสตูดิโอและอิสระ เพื่อให้หนังไทยอิสระสามารถสร้างรายได้ในทุกมิติ มีการจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกหนังด้วยพิจารณาจากคุณค่าทางศิลปะและโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการสร้าง ‘สภาภาพยนตร์’ อันเป็นแผนระยะยาวของสมาคมฯ เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรและวงการหนังอย่างยั่งยืน

อนุชาเผยว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับ School Town King มันสะท้อนให้เห็นปัญหาการผูกขาดของระบบโรงหนังที่อยู่แค่ 2 เครือหลัก เราขาดแคลนโรงหนังที่สนับสนุนการฉายหนังเล็กๆ แบบนี้จริง สะท้อนความลำบากของหนังอิสระในประเทศ จนยากที่จะเกิดคนทำหนังรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาในอนาคต

“สิ่งที่ดิฉันอยากจะพูดคือเรื่องการสร้างคน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าคนทำหนังที่ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ รวมถึงหนังที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ส่วนใหญ่มันก็เกิดจากคนทำหนังที่ผ่านประสบการณ์การดิ้นรนในหนังอิสระมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ที่ทำ ‘ฉลาดเกมส์โกง’ เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ หรือแม้แต่ดิฉันเองก็ตาม กระทั่งหนังหรือซีรีส์วายที่สร้างตลาดในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ก็มาจากคนที่เคยทำหนังอิสระมาก่อน และไม่ใช่แค่ผู้กำกับ หนังอิสระยังสร้างคนอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นคนเขียนบทหรือแม้แต่นักแสดง ที่ก็ได้โอกาสแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ในหนังอิสระ”

ดูเหมือนหนังไทยที่อยู่รอดได้ในทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นแค่ในระบบสตูดิโอที่มีกลไกการจัดจำหน่ายอย่างเป็นระบบเท่านั้น แต่ขณะเดียวกัน หนังอิสระก็เหมือนเป็นบันไดก้าวแรกของนักทำหนังอีกมากมาย จนปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังอิสระเองก็มีบทบาทที่สำคัญเช่นกันในการขับเคลื่อนวงการหนังไทย

“ความเป็นหนังอิสระสำหรับดิฉัน ไม่อยากจำกัดความแค่ต้นทางการผลิตจากแหล่งเงินทุนอิสระ แต่อยากให้มองถึงความแตกต่างและสร้างความท้าทายในการรับชม หนังที่สร้างการถกเถียง ซึ่งมันไม่ได้มีพื้นที่นี้ในหนังสตูดิโอมากเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว ที่ค่ายใหญ่สร้าง ‘รักแห่งสยาม’ ออกมา และทุกวันนี้มันจะเกิดขึ้นได้ยากถ้าไม่มีพื้นที่อิสระ ซึ่งมันก็สะท้อนความล่มสลายของวงการหนังในภาพรวมได้เช่นกัน”

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 17 ธ.ค. 63

Wonder Woman 1984 เลื่อนหนีโควิดมาหลายรอบ สุดท้ายก็ยอมดับเครื่องชน และกลายเป็นหนังที่เปิดตัวสูงสุดในเมืองไทยประจำปีนี้ โดยทำเงินไปทั้งสิ้น 9.15 ล้านบาท ขณะที่เมื่อวานนี้มีหนังเล็กๆ เข้าฉายสองเรื่องด้วย นั่นคือ Memories of Murder หนังขึ้นหิ้งของ บงจุนโฮ ได้ไปราว 4 หมื่นบาท กับหนังไทย School Town King ได้ไปราว 1.3 หมื่นบาท

รายได้หนังประจำวันที่ 17 ธ.ค. 63

  1. Wonder Woman 1984 – 9.15 ล้านบาท
  2. Demon Slayer: Kimetsu No Yaiba – 1.11 (59.44) ล้านบาท
  3. อ้าย..คนหล่อลวง – 0.78 (48.21) ล้านบาท
  4. อีเรียมซิ่ง – 0.12 (74.43) ล้านบาท
  5. Soul Snatcher – 0.11 ล้านบาท
  6. Memories of Murder – 0.04 ล้านบาท
  7. Ghosts of War – 0.02 (1.89) ล้านบาท
  8. School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน – 0.01 ล้านบาท
  9. Office Uprising – 0.009 (0.71) ล้านบาท
  10. 2046 – 0.007 (0.26) ล้านบาท

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 10 – 16 ธ.ค. 63

Demon Slayer นอกจากทำสถิติถล่มทลายในญี่ปุ่นแล้ว ที่บ้านเราเองก็เช่นกัน โดยหนังทำเงินไปสัปดาห์แรกของการฉายจริง ก็กวาดรายได้ไปมากกว่า 2 หนังญี่ปุ่นที่เคยครองตำแหน่งทำเงินสูงสุดในไทยอย่าง Your Name กับ Doraemon: Stand By Me ไปแล้ว ซึ่งทั้งสองเรื่องทำเงินไปราว 45 ล้านบาท

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 10-16 ธ.ค. 63

  1. Demon Slayer: Kimetsu No Yaiba – 38.92 (58.32) ล้านบาท
  2. อ้าย..คนหล่อลวง – 18.76 (47.44) ล้านบาท
  3. อีเรียมซิ่ง – 4.99 (74.30) ล้านบาท
  4. Ghosts of War – 1.88 ล้านบาท
  5. The Croods: A New Age – 0.92 (6.42) ล้านบาท
  6. Doraemon: Nobita’s New Dinosaur – 0.70 (16.59) ล้านบาท
  7. Office Uprising – 0.70 ล้านบาท
  8. สีดา ตำนานรักโลงคู่ – 0.57 ล้านบาท
  9. 2046 – 0.26 ล้านบาท
  10. อีหล่าเอ๋ย – 0.24 (4.32) ล้านบาท

ให้มันจบที่รุ่นเรา : การเมือง ประชาธิปไตย และคนรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย (ตอนที่ 2)

(อ่านตอนแรกได้ที่นี่)

เกม เบ็นโล คุณสองคนเพิ่งเริ่มทำงาน พวกคุณช่วยเล่าปัญหาของบัณฑิตสายภาพยนตร์ให้พวกเราฟังได้ไหม

เบ็นโล : เราเพิ่งเจอสเตตัสของรุ่นพี่มหาลัย เราเองก็เจอเรื่องนี้เหมือนกันว่า ‘เราทำยังไงเราถึงจะเปลี่ยนมันได้วะเรื่องการเขียนบทไม่เซ็นสัญญา’ เขียนๆ ไปยังไม่รู้เลยค่าตอบแทนได้ตอนหนึ่งเท่าไหร่ แล้วเราก็เพิ่งนึกออกว่ามีสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์อยู่ ก็เลยไปดูเพจเขา สิ่งที่เขาทำคือจัดประกวดนักเขียนบทหน้าใหม่ซึ่งเรารู้สึกว่าประเทศเรามีการประกวดทำหนังสั้น ประกวดเขียนบทอะไรอย่างนี้เยอะนะ อยากจะหาดาวรุ่งพุ่งแรงหน้าใหม่ แต่คำถามมึงจะประกวดไปทำไมวะในเมื่อคนหน้าใหม่เข้ามาแม่งก็อยู่ไม่ได้ เรารู้สึกว่าการทำงานกับความเข้าใจของคนข้างนอกก็เรื่องหนึ่งแหละแต่ถ้าคนข้างในยังไม่เห็นค่าความเป็นมนุษย์ของแรงงานจบใหม่ (จิ๊ปาก) มันยากมากเลยเพราะคุณจะทำเหมือนฆ่าตัดตอนด้วยตัวคุณเอง เพราะว่าคุณทำให้คนหน้าใหม่ยืนไม่ได้แล้วคนที่ยืนได้ก็คือคนที่มีทุนเรื่องเงินหรือทำหนังได้รางวัล ซึ่งรางวัลปีหนึ่งมีอยู่ประมาณ 3-4 ถ้วย แล้วมันจะมีแค่อี 3-4 คนนั้นเหรอที่ยืนอยู่ในวงการได้ประมาณหนึ่ง แล้วโอกาสที่จะไปอยู่แถวหน้าของคนอื่นคือตรงไหนนะ พอหมดโอกาสการเป็นนักศึกษาปุ๊บก็ยากเลย เราว่ามัน Bullshit ถ้าคุณมานั่งหาหน้าใหม่ไปเรื่อยๆ เหมือนพวกวงการเพลงน่ะมีรายการประกวดร้องเพลงอยู่สิบรายการเลยแต่ไม่มีรายการที่ให้ศิลปินมาร้องเพลง มันประหลาด เพราะเดี๋ยวนี้มันไปดังในยูทูบกันหมดแล้วมั้ง

เกม : มีเคสคนอกหักจากการเขียนบทเยอะมาก (เน้นเสียง) ผมรู้สึกว่าทั้งในเรื่องไปทำแล้วงานไม่ได้ออน งานไม่ได้ไปต่อแล้วก็ได้แค่ค่าเรื่องย่อซึ่งมันน้อยมาก หรือมาเขียนเป็นทีมแล้วพอโปรเจคไม่ได้ไปต่อก็ทีมแตก ทั้งคนข้างบนไม่เห็นเหมือนเรา เขารู้สึกมันทำเงินไม่ได้แล้วก็โน่นนี่นั่น มันหลายอย่าง มันไม่ได้มีการฝึกฝนอะไรไปต่อ

แคปเปอร์ : บางทีมันหลงไปอยู่ในโปรเจคอะไรก็ไม่รู้เนาะที่เราก็มีฝันน่ะ แต่มันขายฝันให้เด็กจบใหม่นะบางคนน่ะ วาดฝันให้สวยหรูอย่างงี้ๆ แต่พอไปทำจริงๆ แล้วแม่ง…

เกม : ปัญหาคือตลาดต้องการอะไรวะ (หัวเราะ) ตลาดต้องการแคบไปรึเปล่า จะมานั่งให้กูทำตามความต้องการมึงแต่ความต้องการมึงแคบไปรึเปล่า

แคปเปอร์ : ตลาดมันกว้างแต่คนตัดสินใจมันแคบ เอาจริงคนดูหนังชอบบอกว่าคนทำหนังอ่ะดูถูกคนดู เท่าที่ทำงานมารู้สึกว่าอีกมุมหนึ่งก็คือคนทำหนังดูถูกตัวเองแล้วก็ดูถูกคนที่ทำงานด้วยว่ามึงทำแบบนั้นไม่ได้หรอกมันยาก เขียนไปทางนั้นไม่เวิร์ค จะทำได้หรอวะ มีคำถามนี้อยู่บ่อยครั้งมาก มันก็เลยไปไม่พ้นข้อจำกัดของตัวเองที่มันจะเป็นไปได้ ที่มันจะดีขึ้น ที่มันจะหลากหลายขึ้น

เบ็นโล : หรือบางคนอาจจะไม่ได้อยากต้องการตะกายดาวอะไร แค่อยากเป็นคนทำงานที่มีอยู่มีกินได้ทำงานไปเรื่อยๆ ได้พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ฝีมือดีขึ้นเรื่อยๆ แค่นี้ยังไม่พอมีเลยน่ะ ตอนนี้วงการภาพยนตร์ในเด็กรุ่นเรามันเหมือนเป็นสนามเด็กเล่นของชนชั้นกลาง คนที่มีทุนเท่านั้นจะอยู่ในวงการได้ในระดับหนึ่ง หมายความว่าคุณไม่ต้องเลี้ยงพ่อแม่ คุณไม่ต้องจ่ายค่าที่อยู่อาศัยเอง ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟเอง บางคนจ่ายเองจริงแต่ถ้าเงินหมดก็ไปหาพ่อแม่ได้ บางคนต้องส่งเงินให้พ่อแม่เลี้ยงเพราะพ่อแม่แก่เฒ่าเกษียณหรือทำงานเอกชนไม่มีสวัสดิการบำนาญ บางคนไม่มีทุนทรัพย์พอจะหมุนเงินไม่มีแรงมากพอในระบบฟรีแลนซ์ที่ไม่เซ็นสัญญาแบบนี้

ตอนนี้วงการภาพยนตร์ในเด็กรุ่นเรามันเหมือนเป็นสนามเด็กเล่นของชนชั้นกลาง คนที่มีทุนเท่านั้นจะอยู่ในวงการได้ในระดับหนึ่ง หมายความว่าคุณไม่ต้องเลี้ยงพ่อแม่ คุณไม่ต้องจ่ายค่าที่อยู่อาศัยเอง ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟเอง บางคนจ่ายเองจริงแต่ถ้าเงินหมดก็ไปหาพ่อแม่ได้ บางคนต้องส่งเงินให้พ่อแม่เลี้ยงเพราะพ่อแม่แก่เฒ่าเกษียณหรือทำงานเอกชนไม่มีสวัสดิการบำนาญ บางคนไม่มีทุนทรัพย์พอจะหมุนเงินไม่มีแรงมากพอในระบบฟรีแลนซ์ที่ไม่เซ็นสัญญาแบบนี้

เกม : ที่เบ็นโลบอกสนามเด็กเล่นของชนชั้นกลางเรารู้สึกว่าบางคนมีน้อยมากที่โอเคกับทุกๆ อย่าง ทั้งระบบ เงื่อนไขกับการต้องทำงานเงินเดือนเท่านี้ ตอนเราเป็นฟรีแลนซ์เราก็ต้องคิดทุกเดือนว่ามันซัฟเฟอร์เหมือนกันนะที่กูต้องมาคิดเรื่องเงินอะไรบ่อยๆ เงินจะมาเมื่อไหร่แล้วเอาเงินที่ไหนใช้ไปก่อน จะไปซื้อนั่นซื้อนี่ก็ปวดหัว เราใช้ทรัพยากรที่บ้านเลี้ยงเราเยอะมาก ไม่มีงานก็กลับบ้านไปพอมีงานก็ขึ้นมาทำได้ ตอนแรกๆ ที่ทำยังเลี้ยงชีพไม่ได้เลยเช่าหออยู่ประจำ เพราะเราไม่แน่ใจว่าเราจะมีงานทุกเดือนไหมถ้าเราเช่าหอประจำ ตอนนั้นทำฟรีแลนซ์ก็โคตรไม่มั่นคงเลย

ส่วนมากแต่ละคนก็จะมีภาระที่บ้านของตัวเอง มันเลยเป็นสิ่งเห็นได้ชัดว่าหลายๆ คนไปทำอย่างอื่น ทั้งเรื่องจบมาไม่มั่นใจการทำก็เรื่องหนึ่ง พื้นที่มันน้อยกูไม่รู้จะไปอยู่ตรงไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง หรือกูทำแล้วมันไม่ไหวจริงๆ ชีวิตมันเหนื่อย มีทั้งเรื่องสุขภาพ มีทั้งเรื่องงาน มันจะยิ่งมีปัญหาเยอะสำหรับเด็กจบใหม่ที่คุณก็ยังไม่มีโปรไฟล์ทำงานจนเชี่ยวชาญ ไม่มีประสบการณ์การตลาด เท่ากับงานคุณก็จะน้อยแล้วมึงจะผ่านช่วงหินเหี้ยห่าอะไรนี่ไปได้ยังไงวะ มีคนตายไปหลายคนอ่ะ —ไม่ได้ตายจริงๆ นะหมายถึงตายจากวงการ ซึ่งมีศพเยอะมากที่มึงผ่านตรงนี้ไปไม่ได้น่ะ

ตอนเข้ามาเรียนเราชอบดูหนังชอบผู้กำกับคนนั้นคนนี้มากเลย จบมาแล้วแบบ…เหมือนทุกคนอกหักๆ จริงๆ ความสัมพันธ์สำหรับเด็กฟิล์มโดยเฉพาะคนที่อยากทำงานในวงการ คนที่อยากมีหนังเป็นของตัวเองแม่งคือโคตรของโคตรรักเขาข้างเดียวอ่ะ (หัวเราะ) อกหักมาก เคยคุยกับเบ็นโลว่าพวกเราแม่งอกหักกันหมดเลยว่ะ อกหักเหี้ยๆ แบบหนังไม่เคยเหลียวแลฉันเลย มึงสมหวังยากมากในความรักนี้ยากมากๆ แบบโคตรหินอ่ะ เป็นความรักที่ไม่เคยเหลียวแลกูเลย ไม่มีทางจะสมหวังในความรักนี้

ความสัมพันธ์สำหรับเด็กฟิล์มโดยเฉพาะคนที่อยากทำงานในวงการ คนที่อยากมีหนังเป็นของตัวเองแม่งคือโคตรของโคตรรักเขาข้างเดียวอ่ะ (หัวเราะ) มึงสมหวังยากมากในความรักนี้ยากมากๆ แบบโคตรหินอ่ะ เป็นความรักที่ไม่เคยเหลียวแลกูเลย

เราก็คิดอยู่ตลอด ตอนนี้ก็ออกมาทำงานคอนเทนต์ตัดต่อแล้วเราคุยกันบ่อยๆ อยากทำหนังๆ แต่คิดไปจะเอาเงินมาจากไหนวะ หรือออกไปทำตรงนั้นแล้วทิ้งงานประจำ แล้ว… กูจะอยู่ได้ยังไงวะ มีเพื่อนหลายคน รุ่นพี่คนรู้จักหลายคนที่เรารู้สึกหนังธีสิสหรืองานเขามีศักยภาพ เราอยากเห็นพวกเขาทำหนังต่อ มีงานผู้กำกับหรืองานเขียนบทให้เราได้เห็นต่อ แต่ปัญหาคือมันไม่มีอะไรแบบนั้นออกมาแล้วเพราะอย่างแรกเขาไม่มีทุน อย่างที่สองระบบต่างๆ โครงสร้างของประเทศมันไม่เอื้อต่อการที่เขาจะทำหนังเรื่องที่ 2 เรื่องที่ 3 นี่แค่หนังสั้นนะ การที่ทำหนังใหญ่ Feature Film นี่คือเป็นความฝันของโคตรความฝันของโคตรความฝันแบบ 10 ชั้นอ่ะ คือแบบ…โคตรของโคตรยาก

เบ็นโล : เรามีศักยภาพที่จะเก่งแต่เวลาที่ให้เราพัฒนาตัวเองมันน้อยเหลือเกินจนทุกวันนี้เราต้องการคนที่วิ่งเร็วมากๆ แต่กว่าคุณจะดังกว่าคุณมีที่ทางในสังคม มีโปรไฟล์มากพอ มีพอร์ตที่แข็งแรงพอ คุณจะต้องลงทุนกับมันไปเท่าไหร่ ซึ่งเราว่าอันนั้นราคาแพงมากเกินกว่าที่เด็กไทยจะจ่ายไหว มันก็มีคนจ่ายไหวแต่มันก็มีคนจ่ายไม่ไหวแล้วคนจ่ายไม่ไหวมันเยอะมาก เยอะจนน่ากลัว

แคปเปอร์ : นอกจากระบบที่มันควรจะดีขึ้นกว่านี้อีกมากๆ แล้ว ต้องพึ่งใจตัวเองเหมือนกันนะในการสู้อ่ะ (หัวเราะเบาๆ)

เกม : มีใจอย่างเดียวไม่มีเงินก็ทำไม่ได้นะพี่

นอกจากกำลังใจในการต่อสู้สิ่งที่เราอยากมีคือ?

เบ็นโล : กลับไปที่จุดเริ่มต้นนะ ถ้าเรามีการกระจายอำนาจ มีเศรษฐกิจที่ดีเราฝันเหมือนกันที่จะเห็นหนังสตูดิโอที่เป็นหนังสารคดี หนังสตูดิโอที่เป็นหนังการเมือง เรารู้สึกโอเคกว่าถ้าโครงสร้างพวกนี้มันเลี้ยงตัวเองได้จริงๆ พอตลาดตรงนี้มันแข็งแรงขึ้นมาสามารถตั้งตัวตั้งอะไรได้ขึ้นมาโดยอาจจะมีรัฐสนับสนุนโมเดลในเชิงภาพรวม หรือมีโมเดลของการทำให้เศรษฐกิจภาพรวมมันดีขึ้นคนมีตังค์เหลือในกระเป๋าอาจจะลงทุนทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นมาแล้วค่อยๆ โตได้ขึ้นมา มันก็อาจจะทำให้เด็กที่มีความหลากหลายถูกโอบอุ้มมากขึ้น ในแง่ที่ว่าตอนนี้เด็กมันมีความหลากหลายมีเป็นร้อยเฉดเลยเว้ยแต่เฉดที่เขารับได้มีอยู่แค่ 5 เฉด 10 เฉดที่ตลาดต้องการ หลายคนที่ออกจากวงการไปไม่ใช่ว่ามันไม่เก่งนะเว้ยแต่มันทำสิ่งที่ตลาดต้องการตอนนี้ไม่ได้ แล้วเรามีเด็กที่ถูกคัดทิ้งหล่นทิ้งเยอะมากไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เก่ง

เกม : เขาหาที่ทางที่อยู่ในตลาดนี้ไม่ได้

เบ็นโล : ใช่ บางคนเขาก็ทำในสิ่งที่ตลาดต้องการได้แต่เขาก็ทำหนังนอกกระแสไม่ได้ แต่ทำไมเขาคือคนที่ไม่มีงานทำ แล้วสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่แฟร์เลย ถ้าพูดถึงความแฟร์ว่าเราไม่มีสิทธิเลือกที่เราจะทำหนังอะไรก็ได้แล้วอยู่ในตลาดได้ หมายถึงว่ามันไม่มีที่สำหรับเราที่จะเลือกทำแนวหนังที่เราต้องการได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราถูกบังคับให้เลือกเป็นไม่กี่อย่าง

แคปเปอร์ : เบ็นโลกับเกมบอกว่าจบมาคนต้องหาประกวดโน่นนั่นนี่ มันเลวร้ายกว่านั้นคือไอ้คนที่ทำงานมาแล้วเป็นสิบปี หรือเป็นโปรดิวเซอร์ใหญ่ๆ มาแล้วผ่านงานมาแล้วก็ยังต้องประกวดอยู่ คือมันมีทางไปได้น้อยมาก (ทำเสียงจิ๊ปาก) ไม่ใช่แค่เฉพาะแค่เด็กจบใหม่ไง ไอ้คนที่อยู่มาเป็นสิบปีแล้วก็ต้องเขียนงานประกวดต้องหาที่หาทางให้ตัวเองเหมือนกัน มันไม่มั่นคงขนาดไหนก็น่าจะบอกได้

คุยกันเรื่องความมั่นคงในการทำงานหน่อย

แคปเปอร์ : ถ้าถามพี่ว่ามันมั่นคงไหม มันก็ไม่มั่นคงหรอก อย่างที่เรารู้ๆ อยู่ ขนาดพวกพี่ผู้กำกับขนาดพี่โต้ง (บรรจง ปิสัญธนะกูล) ได้หนังพันล้านเขายังบอกทำหนังอย่างเดียวมันอยู่ไม่ได้ เขาต้องทำโฆษณาทำอะไร เขาต้องพูดทุกครั้งเวลาโดนถาม เวลาเขาออกสื่อประชาสัมพันธ์ ทั้งพี่เป็นเอก (เป็นเอก รัตนเรือง – ผู้กำกับ) พี่โต้ง ทั้งฝั่งอาร์ตฝั่งแมสพูดเหมือนกันหมด ทำแค่หนังอย่างเดียวมันอยู่ไม่ได้ขนาดนั้น มันไม่รวยแล้วมันก็ไม่ (อนุญาต) ให้รวยขนาดนั้น

โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล (คนที่ 2 นับจากซ้ายมือ) และ แคปเปอร์ (ริมขวามือสุด)

แคปเปอร์ : ทั้งที่เรามองอุตสาหกรรมประเทศแบบเกาหลีใต้ มองย้อนไป 20-30 ปีที่แล้ว พวกนางนาก พวก 2499 เราก็โตมาพร้อมๆ กันเลยทั้งสองประเทศ หนังอะไรก็อยู่ในระดับที่ไล่เลี่ยกันเติบโตมาพร้อมกัน แต่ตอนนี้เขากลับไปไกลมากแล้ว ซึ่งพอมองเทียบกับสภาพการเมืองได้ คือมันส่งกันมันเป็นเหตุเป็นผลกันทั้งสองอย่างทำให้คนในอุตสาหกรรมไทยเองไม่สามารถที่จะทำงานได้อย่างเต็มที่ แสดงออกได้อย่างเต็มที่ อันนี้คือจุดที่มันยังไม่ได้พัฒนาไปเท่าไหร่ รวมถึงการเมืองที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ที่มันกลายเป็นของฟุ่มเฟือยกลายเป็นอะไรไป

เบ็นโล : ความมั่นคงในอาชีพของเราคืออะไร พออยู่ในประเทศนี้ก็ดู ‘มักน้อย’ ไปหน่อย มักน้อยในประเทศนี้ก็เหมือนมักมากแล้ว แค่…ทำงานแล้วสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ (เกม : แบบเวลาพักผ่อนอะไรอย่างนี้) ในเรื่องคุณภาพชีวิตก็เรื่องหนึ่ง หมายถึงมีเวลาพักผ่อน มี ‘ชั่วโมงการทำงาน’ ที่เหมาะสมใช้คำนี้ดีกว่า ได้ค่าแรง ได้เงินที่เหมาะสม มีสัญญาที่เป็นธรรม แล้วก็มีรัฐสวัสดิการที่ดี หมายถึงซัพพอร์ตเราในเรื่องอื่นๆ ในมิติอื่นๆ ของบริบทชีวิตนอกเหนือจากการทำหนัง

แล้วถ้าสมมติว่ามากกว่านั้นก็คือการเติบโตในทางอาชีพ หมายถึงว่าคุณเติบโตไปเป็นอะไรได้บ้าง หมายความว่าจิตนาการของเรามันถูกออกไปได้แค่ไหนหรือเราจะเติบโตไปเป็นอะไรได้บ้างในการทำงานสายงานนี้ ซึ่งสิ่งนี้มันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเด็กจบใหม่ทุกวันนี้ยัง… “พี่ เงินเดือนไม่พอ” กูไม่ต้องคิดถึงตอนโต คิดถึงแค่อีก 3 วันข้างหน้าจะเอาเงินที่ไหนหมุนวะ แค่นี้มันก็เรียกว่าไม่มีความมั่นคงแล้วน่ะ

หรือคนที่อยากจะเป็นผู้กำกับ อยากเปิดสตูดิโอหนังแล้วกลับมาพบความจริงว่าความเป็นไปได้มันแค่ไหน ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าการทำงานอุตสาหกรรมมันมีความมั่นคงน่ะ ความฝันนี้มันอาจจะไม่ใช่เรื่องยากก็ได้ คือทุกเรื่องที่เราพูดมา ทุกเรื่องที่ถ้าการเมืองดีมันจะเกิดสิ่งนี้สิ่งนั้น ทุกเรื่องมันมีคนทำได้นะ แต่’ มันไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะทำได้ หมายถึงว่ามันมีเงื่อนไขชีวิตอะไรบางอย่างที่อ๋อ เพราะมันต้องเป็นแบบนี้ถึงทำได้แต่ลูกอีแก้วอีคำทั่วไปมันทำไม่ได้น่ะ มันไม่ใช่ ‘สิทธิ’ สิทธิ คือเราสามารถเลือกที่จะทำหรือไม่ทำได้ ถ้าสมมติว่าเราสามารถเปิดสตูดิโอได้แต่เราไม่อยากทำสตูดิโอ เราไปทำอย่างอื่น อันเนี้ยเรียกว่าชีวิตที่มีสิทธิ ชีวิตที่มั่นคง แต่…ถ้ากูอยากเปิดแต่กูเปิดไม่ได้ทำไงก็ทำไม่ได้ วิ่งเป็นหนูในกงล้ออยู่อย่างนี้ วิ่งเท่าไหร่ ทำงานงกๆๆๆ สุดท้ายก็ไม่ได้อะไรนอกจากหาเงินประทังชีวิตไปวันๆ สิ่งนี้ไม่ได้เรียกว่ามั่นคง สิ่งนี้ไม่ได้เรียกว่าความก้าวหน้า แล้วมันก็เกิดจากสังคมที่ไม่ให้เราก้าวหน้า มันไม่ใช่เพราะเราโง่หรือเราไม่เก่ง

ถ้าสมมติว่าเราสามารถเปิดสตูดิโอได้แต่เราไม่อยากทำสตูดิโอ เราไปทำอย่างอื่น อันเนี้ยเรียกว่าชีวิตที่มีสิทธิ ชีวิตที่มั่นคง แต่…ถ้ากูอยากเปิดแต่กูเปิดไม่ได้ทำไงก็ทำไม่ได้ วิ่งเป็นหนูในกงล้ออยู่อย่างนี้ วิ่งเท่าไหร่ ทำงานงกๆๆๆ สุดท้ายก็ไม่ได้อะไรนอกจากหาเงินประทังชีวิตไปวันๆ สิ่งนี้ไม่ได้เรียกว่ามั่นคง สิ่งนี้ไม่ได้เรียกว่าความก้าวหน้า แล้วมันก็เกิดจากสังคมที่ไม่ให้เราก้าวหน้า มันไม่ใช่เพราะเราโง่หรือเราไม่เก่ง

เกม : เรารู้สึกว่าถ้าเชิงเป็นเหตุเป็นผล มันควรจะเป็นยิ่งคนทำงานมากระบบก็ควรแข็งแรงมากขึ้น แต่ยิ่งนานวันไปเรื่อยๆ วงการหนังต่างๆ รู้สึกมันยิ่งโดนกดทับจากเจ้าของทุน กดทับจากหลายๆ ทาง แทนที่มันจะมั่นคงแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องรายได้ ในเรื่องสิทธิต่างๆ ที่มันควรจะได้รับ มันก็ยิ่งเอาเปรียบกันเข้าไปใหญ่ เช่น การทำงานเกินชั่วโมงมีคิวหลายๆ คิวติดกันคนทำก็ได้นอนน้อยมากหรือไม่ได้นอน เรารู้สึกว่าแสตนดาร์ดพวกนี้มันต่ำลงไปเรื่อยๆ เงินมันก็โดนกดลงไปเรื่อยๆ อันนี้โคตรไม่มั่นคงเลย แล้วยิ่งรู้สึกว่าคนที่เป็นคนให้ทุนหรือบางคนที่กดเราอยู่เขาเคยทำแบบนี้ได้ เขาก็จะทำให้มันเป็นบรรทัดฐานเหมือน ‘สิ่งนี้เราเคยทำกับที่นี่ได้นะแล้วทำไมคุณทำไม่ได้’ แล้วมันจะยิ่งต่ำลงไปเรื่อย ซึ่งเรารู้สึกว่าโคตรแย่เลยและยิ่งไม่มั่นคงไปเรื่อยๆ

ถ้าเทียบความมั่นคงของวงการ ความมั่นคงของคนที่ทำงานให้เป็นภาพ คือลืมไปเลยเรื่องการก้าวไปข้างหน้า ยืนให้อยู่กับที่ยังยืนไม่ได้เลย ไม่ต้องหวังความก้าวหน้าการเจริญเติบโตอะไรทั้งสิ้น มีแต่…อยู่ในโคลนดูดและลงไปเรื่อยๆ ทุกวันๆ ไม่รู้เมื่อไหร่จะมิดหัวแค่นั้นเอง

แคปเปอร์ : พี่ชอบที่เบ็นโลพูดมักน้อยแต่ก็ยังดูมักมากอยู่ดี อันนี้ชอบมาก (หัวเราะ) การเรียกร้องอะไรนิดๆ หน่อยๆ ที่เราควรจะได้มันกลับไม่ได้ในประเทศนี้ มันโดนด่าว่า พวกเรียกร้องก็ออกมาเรียกร้องปาวๆ เป็นพวกก้าวร้าว เป็นพวกไม่รู้จักพอ ไม่พอเพียง ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี อยู่ในกรงในกรอบในกะลาก็ดีอยู่แล้วจะออกมาให้คนอื่นวุ่นวายด้วยทำไม

เบ็นโล : นี่เลยๆ ถ้าเป็นบริบทของวงการหนังคือ “มึงจะมาเรียกร้องคนดูหนังทำไม มึงไปทำหนังให้ดีก่อนเถอะ”

บอกให้เราฟังหน่อยว่าการมีประชาธิปไตยสำคัญต่อพวกคุณยังไง

เกม : เรื่องประชาธิปไตยมันก็เกี่ยวโยงกับ Free Speech เรื่องอิสรภาพในการพูด ในแง่ของคนที่ทำหนังหรือทำอะไรออกมาเราค่อนข้างที่จะกลัวนะ กลัวการถูกคุกคามเพราะสมมติถ้าคุณทำหนังประเด็นการเมือง ถามทุกคนๆ ก็กลัวเราว่าส่วนใหญ่กลัวหมด ถึงจะเป็นผู้กำกับสารคดีทำหนังอะไรต่างๆ โตๆ แล้วทำ Feature Film เราก็สัมผัสได้ว่าเขาก็มีความกลัว กลัวการโดนคุกคามจากเจ้าหน้าที่ กลัวการโดนคุกคามจากคนอื่นๆ จากการเอาไปฉาย มันน่ากลัวกว่าแบนหนังอีก บางทีเราก็กลัวแบบ…อันนี้แรงไปไหมวะกูจะโดนเจ้าหน้าที่เคาะประตูบ้านไหม ที่บ้านจะมาบอกมีคนมาหา เราจะโดนคุกคามในชีวิตประจำวันไหม

ซึ่งมันมีมวลความกลัวแบบนี้อยู่ในสังคมไทย ในสังคมกลุ่มคนทำหนัง คนทำเนื้อหา คนทำคอนเทนต์อะไรออกมา มันมีมวลความกลัวแบบนี้อยู่ทั่วไปหมดเลยแล้วเราก็รู้สึกว่า เหมือนเราโดนกลุ่มควันอะไรกดไว้ไม่ให้มันมีอากาศหายใจข้างบน ต้องคลานหมอบไปหายใจข้างล่างแล้วค่อยพูด มันพูดยากแม้แต่หนังที่ผมเคยทำมีหนังการเมืองเรื่อง ในนามของความสงบ เกี่ยวกับครู นักเรียน เสื้อแดง มันก็เคยมีเรื่อง ถ้ามีคนขอไปฉายเราก็ยังคิดเลย เราว่ามันเกินขั้นของคำว่าแบนหนังไปแล้วอีกขั้นหนึ่งน่ะ แม่งคือการคุกคามในชีวิตจริงซึ่งเรารู้สึกว่าอันนี้จำกัดโคตรๆ ในเรื่องเนื้อหา ในเรื่องของการสร้างความหวาดกลัว

แคปเปอร์ : ไม่ใช่แค่ผู้สร้าง ไม่ใช่แค่ศิลปินที่กลัว ชาวบ้านที่เราต้องไปหา (เวลาทำ) หนังอะไรดีๆ ซักเรื่องที่มันสะท้อนสังคม เขาก็กลัวไม่ต่างจากเรา สมมติว่าเราอยากจะทำหนังประวัติศาสตร์ซักเรื่อง สมมติเป็นเรื่องถังแดงลงไปชุมพรทางใต้ ไปสืบเรื่องการฆ่าคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น เอาไมค์ไปจ่อถามชาวบ้านเขาก็ไม่กล้าพูดปวดใจที่จะพูด กลัวเวลาภาพออกไปมันจะไม่ปลอดภัยเพราะมันมีการสอดส่องจากเจ้าหน้าที่ มันไม่ใช่แค่คนทำกลัวเขากลัวอีกยิ่งกว่าด้วยซ้ำ มันก็แย่มากๆ

แคปเปอร์ : มันไม่ใช่แค่ที่เป็นอยู่ แต่เป็นมาตั้งแต่ 100 ปีที่แล้ว (หัวเราะ) ที่มีปัญหาเรื้อรังมาจนถึงตอนนี้ มันก็ยังส่งผลกระทบต่อทุกอย่าง คือไอ้การทำสื่อแค่เราเล่าบางอย่างไม่ได้ถึงแม้มันจะไม่ผิดกฎหมายก็ยังเล่าไม่ได้ มันก็ไม่ใช่แล้ว มันเป็นสิ่งที่ผิดแปลกไปแล้ว

ถ้าประชาธิปไตยมันมีจริงๆ เราจะไม่ต้องกลัวอะไรมากขนาดนี้ และก็ไม่ต้องมาถูกเซ็นเซอร์ เราก็จะสามารถทำหนังอย่างเช่น เหตุการณ์ 6 ตุลาได้ เราจะสามารถทำหนังอย่างพฤษภาทมิฬได้ เหตุการณ์สวรรคตของร.8 เหตุการณ์ถังแดงฆ่าล้างคอมมิวนิสต์ โดยที่เราไม่ต้องมานั่งกลัวนั่งกังวลอะไรกับอำนาจต่างๆ ที่จะมากดดันที่จะมาคุกคามเรามากขนาดนี้ ทำจนมันจะกลายเป็นหนังที่คลิเชแล้วคนไม่อยากดู อาจจะเป็นหนังที่คนไม่อยากดูแล้วเหตุการณ์การเมืองพวกนี้ (หัวเราะ) (เบ็นโล : อยากทำกันจนเบื่อ ทำจนไม่อยากทำแล้ว เล่าจนหมดทางจะเล่า)

ถ้าประชาธิปไตยมันมีจริงๆ เราจะไม่ต้องกลัวอะไรมากขนาดนี้ และก็ไม่ต้องมาถูกเซ็นเซอร์ เราก็จะสามารถทำหนังอย่างเช่น เหตุการณ์ 6 ตุลาได้ เราจะสามารถทำหนังอย่างพฤษภาทมิฬได้ เหตุการณ์สวรรคตของร.8 เหตุการณ์ถังแดงฆ่าล้างคอมมิวนิสต์ โดยที่เราไม่ต้องมานั่งกลัวนั่งกังวลอะไรกับอำนาจต่างๆ ที่จะมากดดันที่จะมาคุกคามเรามากขนาดนี้ ทำจนมันจะกลายเป็นหนังที่คลิเชแล้วคนไม่อยากดู

เบ็นโล : สำหรับเรามันสุ่มเสี่ยงสำหรับรัฐแต่คือไม่ใช่เรื่องสุ่มเสี่ยงสำหรับกู สำหรับเรากระบวนการเซ็นเซอร์มันไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับรัฐหรอก เราเคยคุยกับพี่ตี้ (ชญานิน เตียงพิทยากร – นักวิจารณ์)ในเทป Parasite วันนั้น Parasite ได้ออสการ์ (เกม : เทปพิเศษ) นัดพี่ตี้ออกมาแล้วพี่ตี้ก็พูดคำหนึ่งว่า “คุณไม่ต้องไปถึงการเซ็นเซอร์จากรัฐหรอก คุณอาจจะทำหนังเรื่องแฉช่องเนชั่น ทำแบบหนังเรื่อง Bombshell คำถามคือใครจะให้ตังค์มึงทำวะ” Bombshell ที่เป็นสาวสวยผู้ประกาศข่าวแฉกระฉ่อนโลก

ยังไม่ต้องไปถึงว่าทำเสร็จแล้วไปโดนแบนนะ มึงเอาตังค์ที่ไหนทำก่อน ปัญหาคือมันหาเงินทุนไม่ได้เริ่มแต่แรก อันนี้มันก็คือการเซ็นเซอร์รูปแบบหนึ่ง อันนี้มันอาจจะคาบเกี่ยวกันถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยในรูปแบบทุนนิยมที่มันไม่มีการสนับสนุนทางอื่นเลย

แคปเปอร์ : สำหรับการถ่ายหนังมันก็มีปัญหานะถึงมันจะเป็นเรื่องแต่งเรื่องอะไร ในช่วง 2 ปีก่อนเราเคยทำหนังสั้นเรื่อง จอย แล้วเราก็ไปขอสถานที่ถ่ายทำหนัง มันก็เป็นประเด็นโสเภณีกับตำรวจที่มันมารักกัน

เราก็ลงพื้นที่เซอร์เวย์อะไรเรียบร้อยหมดแล้วแหละ เราต้องไปขอหน่วยงานบางหน่วยงานเพื่อที่จะเข้าไปถ่ายในเขตที่เป็นชายแดนไทย-ลาว ต้องไปขอตม. แหละ ไปขอส่วนจังหวัดๆ ให้แต่พอส่งเรื่องไปที่ส่วนกลางกรุงเทพฯ เขาดันไม่ให้ เขาอ่านบทแล้วบอก “เห้ย ผ่านได้ไง ให้ถ่ายได้ไง” ทั้งที่ท้องถิ่นให้แล้ว ตัวจังหวัดเขาให้แล้ว กลายเป็นตอนนั้นเราเตรียมงานหมดแล้วนึกว่าจะได้ถ่ายแล้ว เราก็ต้องยกฉากนั้น ปรับเปลี่ยนบทใหม่แล้วก็ถ่ายๆ ถ่ายเท่าที่ทำได้

มันก็เป็นการเซ็นเซอร์อย่างหนึ่งทั้งที่เราเห็นทนโท่ว่ามันเป็นเรื่องจริงนะแล้วมันก็เป็นเรื่องที่ควรเล่า มันเป็นประเด็นค้ามนุษย์ เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องเสรีภาพ-ไม่เสรีภาพของมนุษย์ที่เราควรจะเป็นปากเป็นเสียงได้ผ่านงานศิลปะ ผ่านสื่อ แต่เราไม่สามารถเล่ามันได้อย่างเต็มที่ ทั้งที่ของหน่วยงานพวกนั้นมันควรจะซัพพอร์ตสิ่งเหล่านี้ด้วยซ้ำ แต่เราดันโดนกันโดนบล็อกในการที่จะสื่อสารออกไปให้มันตรงและมีประสิทธิภาพมากที่สุด สิ่งที่ทำได้คือเราก็ต้องหลบหลีกหรือหาวิธีทางใหม่ๆ ที่เราจะเล่าประเด็นของเราออกไปให้ได้ มันก็เป็นความอึดอัดอยู่เหมือนกัน เราก็เข้าใจเลยว่าคนทำหนังบางคนถึงเลือกที่จะไม่อยากทำ (หนัง) อยู่ไทย

ถ้าการเมืองดีเราจินตนาการชีวิตตัวเองยังไง

(ทุกคนเงียบ)

ผู้เขียน : ใครอยากตอบก่อน เกมกับพี่แคปเปอร์ไหม?
เกม : ยากจัง นึกไม่ออก (หัวเราะเบาๆ)
เบ็นโล : ให้เกมตอบก่อน เกมก็จะตอบว่ากูนึกไม่ออก
เกม : เออ กูก็นึกไม่ออกจริงๆ ว่าการเมืองดีชีวิตกูจะเป็นยังไง
ผู้เขียน : พี่แคปเปอร์อยากตอบก่อนไหม

แคปเปอร์ : ถ้าการเมืองดีชีวิตเราก็น่าจะ… ก็ดีขึ้นแหละ เราไม่ต้องนั่งรถเมล์ผุๆ พังๆ ไม่ต้องเสี่ยงเดินตกท่อ นี่คือตามโซเชียลเน็ตเวิร์คที่เขาพูดกันทั่วไปเลยนะ เราไม่ต้องมากังวลว่า…อะไรดีล่ะ อ่า ให้เกมตอบก่อนก็ได้ (เกมกับแคปเปอร์ – หัวเราะ) พยายามเกริ่นให้ตอบแล้วนึกไม่ออกเหมือนกัน

เกม : การเมืองดีก็คงมีโอกาสทำหนังเป็นของตัวเองต่อไปครับ แล้วก็มีเงินใช้ด้วย มีเวลาพักผ่อนด้วยเท่านี้ครับ

เบ็นโล : ไม่นับพวกเรื่องความปลอดภัยจากการถูกคุกคามนะ อันนั้นมันบาร์ต่ำมาก(เกม – หัวเราะ) คือไม่มีก็ไม่ได้นับว่าเป็นการเมืองที่ดีนะ การเมืองเราให้สองอย่างเท่านั้นแหละคือให้เวลากับให้โอกาส การเมืองดีจะทำให้เราว่างเราไม่ต้องไปทำงานงกๆ หาเงินเพื่อไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลแพงๆ และเราก็คงมีเวลาทำอะไรมากขึ้น ทำสิ่งที่อยากทำ พอระบบเศรษฐกิจดีโอกาส (มี) ถุงเงินถุงทองจะมากขึ้น โอกาสที่เราจะเข้าไปในระบบอุตสาหกรรมที่มันมั่นคงมันก็จะมากขึ้น แล้วก็การมีประชาธิปไตยก็จะทำให้เรามีการคุ้มครองแรงงาน แล้วเราอาจจะนำบทสนทนาของสังคมไปถึงจุดที่เราพูดถึงศิลปะกับทุนนิยมกันในวงกว้างซักที

แคปเปอร์ : เพราะเราเติบโตมากับครอบครัวที่เป็นข้าราชการครู เราก็คิดมาตลอดว่าถ้าการเมืองมันดีการศึกษาดีทุกอย่างมันน่าจะดี การศึกษาดีคนก็น่าจะมีการตั้งคำถามมากขึ้น มีการคิดวิเคราะห์ในการตัดสินใจสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น ทุกอย่างก็น่าจะเข้าที่เข้าทางมากกว่านี้ได้ดีขึ้นช่วยให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ในขณะเดียวกันการเมืองก็ต้องซัพพอร์ตสวัสดิภาพชีวิตของคนไปด้วย

แล้วก็พี่ว่าจะฉาย ฝนเม็ดน้อย แล้วก็จะทำรายการวันวันฟิล์มทอล์กพิเศษขึ้นมาคุยกับ ส.ศิวลักษณ์ กับ
ครูศิวกานท์ ปทุมสูติ เจ้าของบทประพันธ์กลอนฝนเม็ดน้อย ถ้าการเมืองมันดีขึ้นเราก็น่าจะไม่มีผลกระทบอะไรกับชีวิตเรา เราก็น่าจะพูดคุยอะไรกันได้อย่างสะดวกโยธินสบายใจ

มีใครอยากขายของอะไรอีกไหม (หัวเราะ)

เบ็นโล : เราก็มีหนังสั้นอยู่ 2 เรื่องครับ (หัวเราะ) Boy With A Basket of Fruit ที่เคยได้ฉายใน Queer Program ของเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 20 แล้วก็ พื้นรุ้งผ่าน (Somewhere Under The Rainbow) เป็นหนังธีสิสครับ ธีสิสเฉยๆ เลย ไม่มีได้มีตำแหน่งอะไร มีแค่นี้แหละครับ ลองดูครับ ติชมวิพากษ์วิจารณ์กันได้นะครับ ไม่รู้จะได้มีปัญญาทำหนังของตัวเองอีกเมื่อไหร่เหมือนกัน คนดูแล้วคงจะไม่แปลกใจที่มันตกงาน…รึเปล่าวะ? (หัวเราะ)