อินไซด์งานดีไซน์ ‘เสียงที่ไม่ได้ยิน’ Sound of Metal

มีหลายองค์ประกอบในหนัง Sound of Metal ที่สะกดเราให้จมไปกับชีวิตสุดช็อคของ รูเบน ผู้ที่หูค่อยๆ ดับจนกระทั่งไม่ได้ยินอะไรเลย ซึ่งทำให้ชีวิตมือกลองวงเมทัลของเขาล่มสลายลงตรงหน้า ไม่เว้นแม่กระทั่งความรักของเขา…อันดับแรกคือการแสดงระดับลุ้นรางวัลของ ริซ อาห์เม็ด ผู้รับบทรูเบน ต่อมาคือการที่หนังพาเราไปทำความรู้จักกับสังคมคนหูหนวก และเราจะเดินทางไปสู่จุดนั้นไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับการนำพาของ “ซาวด์ดีไซน์” เพื่อทำให้เราสดับ “เสียงที่ไม่ได้ยิน” จนสามารถเปิดประตูให้เราเดินเข้าไปเรียนรู้โลกที่เงียบงันของคนหูหนวก

ทั้งหมดนี้เกิดจากการทำงานร่วมกันแรมปีก่อนถ่ายทำ ระหว่างผู้กำกับ ดาริอุส มาร์เดอร์, คนตัดต่อเสียง นิโกลัส เบ็คเกอร์ และพระเอกอาห์เม็ด โดยเริ่มจากการที่มาร์เดอร์เกิดนิมิตอยากจะเล่าหนังในมุมมองบุคคลที่ 1 ผ่านรูเบน แต่อยากให้เป็นมุมมองของเสียง (Point of Hearing) ไม่ใช่มุมมองของภาพ (Point of View) เนื่องจากหนังจะโฟกัสที่อาการผิดปกติทางการได้ยินของตัวละคร มาร์เดอร์อธิบายให้เข้าใจมากขึ้นว่า “สมมติตัวละครมองออกไปนอกหน้าต่าง หนังทั่วไปก็จะทำโฟเลย์หรือใส่เสียงตามภาพที่เห็น แต่หนังเรื่องนี้จะมิกซ์โดยอิงเสียงที่ตัวละครได้ยินเป็นหลัก” นั่นหมายความว่าเสียงอาจไม่ได้มาจากภาพก็ได้

มาร์เดอร์เลือกร่วมงานกับเบ็คเกอร์ ผู้ซึ่งเป็นศิลปินโฟเลย์มาก่อน (โฟเลย์คือการแสดงเสียงประกอบตามภาพที่ปรากฏด้วยเทคนิคทำมือ) โดยผลงานที่น่าจะอ้างอิงการทำงานชิ้นนี้ได้ดี คือการทำโฟเลย์ให้ Gravity (อัลฟ็องโซ กัวร็อง กำกับ) แต่พอมาทำ Sound of Metal มันกลับเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยทำมาก่อน เบ็คเกอร์กับมาร์เดอร์พูดคุยกับผู้พิการทางการได้ยินเยอะมาก โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้พิการมาแต่กำเนิด เพื่อค้นหาชั่วขณะที่หูเริ่มดับและเงียบไปเลย กระทั่งวันที่ผ่าตัดจนกลับมาได้ยินอีกครั้ง ว่าเสียงแต่ละช่วงเวลานั้นแตกต่างกันแค่ไหน

หากจะอธิบายเสียงในหนัง Sound of Metal เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่รูเบนได้ยิน ก็คงประมาณว่า อื้อๆ แล้วขาดๆ หายๆ เสียงเพี้ยน แบนไร้มิติ ก็คงไม่ยากถ้าจะมิกซ์เสียงให้ออกมาแบบนั้น แต่สิ่งที่ทำให้เสียงทำงานไปอีกระดับก็คือการที่มันสร้างปฏิสัมพันธ์กับความรู้สึกร่วมของผู้ชม เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ เกิดเป็นงานทดลองใหม่ของทุกคน

“เราวาดสตอรีบอร์ดของเสียง เรามานั่งทบทวนความทรงจำเกี่ยวกับเสียงต่างๆ ทำไมเราถึงจดจำมันได้ มันไม่ได้มีภาพให้จับต้องแต่ทำไมเราจำมันได้ เพลงบางเพลงทำไมถึงเอาออกจากหัวไปไม่ได้ เราคิดกับสิ่งเหล่านี้เยอะเพื่อจะเอามาใช้ในหนัง เราทำงานหนักมากเพื่อถ่ายทอดมุมมองของเสียงออกมาให้ได้ เพราะว่ามันเป็นการสื่อสารที่ยากยิ่งกว่าการใช้ภาพหลายเท่านัก” มาร์เดอร์เล่า

ในฐานะของศิลปินโฟเลย์ เบ็คเกอร์แทบจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในห้องเก็บเสียง ที่แทบไม่ได้ยินเสียงรอบนอกเลย นอกจากเสียงที่ส่งออกมาจากภายในร่างกายของเขา นี่คือจุดเริ่มต้นให้เบ็คเกอร์ชวนมาร์เดอร์มานั่งอยู่ในห้องนั้นคนเดียวและปิดไฟ… “ในขณะนั้นผมได้ยินเสียงกล้ามเนื้อ เสียงของเหลวที่ลำเลียงผ่านเส้นเลือด เสียงลมหายใจตัวเอง และมันเกิดความรู้สึกขึ้นมากมาย” มาร์เดอร์เล่า

เมื่อทั้งเบ็คเกอร์และมาร์เดอร์รู้แล้วว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนรู้สึกช็อคกับภาวะหูดับของรูเบนคือเสียงภายในจากตัวละคร นอกเหนือไปจากการดีไซน์เทคนิคความพร่าเลือนของเสียง เขาจึงทำงานต่อกับพระเอกอาห์เม็ด โดยการพาเขามาอยู่ในห้องเก็บเสียงนั้นแล้วทำการแสดงไปเรื่อยๆ ระหว่างนั้นก็ติดไมโครโฟนเล็กๆ ไปทั่วร่างกายของเขาแม้กระทั่งในช่องปาก เพื่อบันทึกทุกเสียงกล้ามเนื้อ ลมหายใจ น้ำเสียง แม้กระทั่งการกลืนน้ำลาย

เบ็คเกอร์ปฏิเสธการใช้เสียงที่มีอยู่ในไลบราลี่ทั้งหมด ไม่ใช้แม้กระทั่งสกอร์ แต่เลือกใช้เครื่องดนตรีที่ทำจากแท่งแก้ว (Cristal Baschet) แล้วบรรเลงโดย อับราฮัม มาร์เดอร์ น้องชายผู้กำกับ ด้วยมือที่เปียกน้ำ “มันให้เสียงของโลหะ (Sound of Metal ตามชื่อเรื่อง)” เบ็คเกอร์เสริม “การสั่นสะเทือนของมันช่วยนำเสนอความรู้สึกภายในของรูเบนจากการสูญเสียการได้ยินอย่างถูกต้อง…คนดูสามารถเชื่อมโยงผ่านความทรงจำและประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นตอนหนุนหมอนหรือดำอยู่ใต้น้ำ”

ทุกรายละเอียดเหล่านี้นำมาผสมผสานในขั้นตอนการมิกซ์เสียงอีกที ซึ่งใช้เวลานานถึง 20 สัปดาห์ จนเกิดเป็นภาวะสุดช็อคของรูเบนได้ในที่สุด และปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้คนดูรู้สึกร่วมไปกับตัวละครได้อย่างไม่รู้ตัว

“หลังจากคิดค้นประสบการณ์นี้ให้กับผู้ชม เราก็อยากให้ผู้ชมทบทวนถึงเรื่องราวเหล่านี้ และมันก็เหมือนเราได้สร้างห้องเก็บเสียงให้พวกเขาไปใคร่ครวญกันต่อที่บ้าน”


ข้อมูลประกอบ

https://variety.com/2020/artisans/production/sound-of-metal-riz-ahmed-sound-design-1234844558

https://www.washingtonpost.com/entertainment/sound-metal-design-darius-marder-nicolas-becker/2020/12/07/be1acbde-38cf-11eb-bc68-96af0daae728_story.html

https://www.slashfilm.com/sound-of-metal-director-interview

นคร โพธิ์ไพโรจน์
ริจะเบนเส้นทางไปเป็นไลฟ์โค้ชด้านการลดน้ำหนัก แต่เฟลเลยกลับมาเขียนบทความหนังไทยเหมือนเดิม

RELATED ARTICLES