Last and First Men : แล้วเรา ก็ตามหากันจน(ไม่)เจอ

(2020, Jóhann Jóhannsson)

ไม่ผิดครับ ถ้าเรายังไม่เกิดในช่วงเวลาที่หนัง L’Année Dernière à Marienbad (อาแลง เรอเนส์, 1961) มาฉายตามโรง (ซึ่งจริงๆ ก็ไม่เคยมาเข้าอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นที่อื่นบ้างล่ะ), ไม่ใช่เรื่องน่าน้อยใจว่าทำไมเราเพิ่งเคยดูหนัง La Jetée (คริส มาร์กเกอร์, 1962) เอาเมื่อเวลาผ่านมาเนิ่นนาน แล้วก็มิใช่เรื่องที่ต้องมาทอดอาลัยว่าทำไมเราถึงเพิ่งมารู้จักวรรณกรรมไซไฟชื่อ Last and First Men ของ โอลาฟ สเตเบิลดัน ในเวลาที่เพิ่งจะมีคนเอามาสร้างเป็นหนัง (โยฮัน โยฮันส์สัน, 2020)

ตามจริงเวอร์ชันหนังสือของเรื่องเดียวกัน เจตนาเดิมสเตเบิลดันเขียนในรูปของนิยายไซไฟตั้งแต่แรก ทว่าพอเอามาดัดแปลงเป็นหนังปุ๊บกลับดูเป็นงานสารคดี หนำซ้ำยังก้าวข้ามรูปแบบไปเป็นงานพวก essay film ที่แทรกเรื่องความคิดทะลุได้ไกลแบบไร้เพดาน จนไม่สามารถจับให้เข้าแนวทางหนึ่งใดได้อย่างเหมาะเหม็งลงตัว เหมือนเดินไปหาใครก็ไม่มีพวก

จนกระทั่งพบว่าตัวงานเขียนของสเตเบิลดันเองก็ดัดแปลงทำเป็นเวอร์ชันหนังไม่ได้เอาเลย ต่อให้อยู่ในรูปไซไฟ (ซึ่งควรจะมีการนำไปสร้างได้ตั้งนานแล้ว แต่ก็เปล่า) และจนกระทั่งพบว่าขืนมีใครทำขึ้นมาจริงๆ ริ้วรอยของช่วงเวลาและยุคสมัยที่สร้างก็จะเป็นตัวลดค่าความ futuristic/dystopian ของเรื่องราว สู้ทำออกมาอย่างที่เป็นอยู่ (ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกปรามาสว่าเป็น e-book แบบมีภาพประกอบมิใช่น้อย)

เรียกได้ว่าโยฮันส์สัน “อยู่เป็น” และตัดสินใจถูกมากที่ทำ Last and First Men ออกมาอย่างที่เห็น (ซึ่งจริงๆ ไซไฟเรื่องอื่นอย่าง The Martian Chronicles หรือแม้แต่ Dune เองก็น่าจะลองๆ หาทำบ้าง) คือมีพล็อต, มีเรื่องราว แต่ไม่ต้องทำออกมาให้เห็นภาพ เพราะลักษณะการเล่าเรื่องของสเตเบิลดันไม่เน้นตัวละคร แค่เป็นการพยากรณ์ไปถึงโลกอนาคตในอีกสองพันล้านปีข้างหน้าแล้วคนในยุคเดียวกันก็ส่งสารย้อนกลับมาหาคนรุ่นเรา เป็นการพยากรณ์โดยแลไปข้างหน้าถึงอนาคตที่ไม่มีใครอยู่ทันเห็นแน่

พอมาทำเป็นหนัง แค่เปิดช็อตแรกมาก็อึ้งแล้ว ตรงที่โยฮันส์สันเล่นกับมุมภาพที่ค่อยๆ เคลื่อนตัวออก (ดูแล้วนึกถึงซีนเปิดเรื่องของ Star Wars ทุกภาคซึ่งมักเน้นภาพใต้ยานอวกาศที่ใหญ่มากๆ) ทว่าใน Last and First Men จะมีความแหวกจนห่างออกไปไกล นั่นคือ เมื่อกล้องเคลื่อนออกได้สักระยะ จะเห็นว่ามีรูปทรงคล้ายด้านหลังซองจดหมายที่ยังไม่ถูกแกะออกอ่าน ซึ่งสไตล์ด้านภาพเช่นนี้ก็ออกมาใกล้เคียงกันหมดเกือบทั้งเรื่อง ใช้การคร็อปเน้นเฉพาะบางส่วนจนวัตถุเดิมที่ไม่สู้ใหญ่โตอะไรกลายเป็นวัตถุขนาดมหึมา อย่างประติมากรรมกึ่งสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งไม่รู้ว่าเกิดจากความฟลุกหรืออย่างไรที่จู่ๆ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ก็บังเอิญตรงกับเนื้อหางานในเขียนของสเตเบิลดันพอดี หรือว่า มี “ผู้ทรงภูมิปัญญาจากโลกอื่น” มาสร้างทิ้งเอาไว้จริงๆ

วิธีแรกที่ผกก.โยฮันส์สันเริ่มดึงคนดูเข้ามาเดินทางร่วมไปกับจินตนาการของสเตเบิลดันก็คือ เล่นกับการมองและการใช้สายตาของคนเราทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อเนื้อหาในหนังสือเป็นการพูดถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมมากๆ และล้ำหน้าช่วงเวลาที่เขียนไปไกล ทว่าก็แม่นยำราวกับตาเห็น (มีการอ้างถึงโรคที่คร่าชีวิตคนเป็นจำนวนมาก, ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เมื่อดาวเคราะห์ชนโลก ตลอดจนอุบัติการณ์ที่ดวงอาทิตย์ดับแล้วแตกตัว) ก่อนที่มนุษย์จะพบที่หมายใหม่เป็นแหล่งพักพิงสุดท้าย ณ ดาวเนปจูน ซึ่งโยฮันส์สันโคว้ตเอามาใส่ในหนังด้วย

มั่นใจว่าชาวเราคงไม่มีใครอยู่ทันเห็นเมื่อถึงวันที่มนุษย์กลายพันธ์ุผิดรูปผิดร่างเราอาจทำใจไม่ได้ถ้าวันหนึ่งพบว่าตัวเราหน้าเหมือนแพะ, ขนยาวรุงรังเป็นหมี หรือแม้กระทั่งมีงวงงอกเป็นช้าง (มีอ้างในหนัง) ซึ่งสาบานได้ครับว่า ทุกอย่างที่ว่ามาเป็นเผ่าพันธ์ุมนุษย์จริงๆ ทว่าเป็นการวิวัฒน์เป็นรุ่นๆ จากหนึ่งถึงสิบแปด ว่าแล้วโยฮันส์สันก็อุตส่าห์ไปหาประติมากรรมมีรูปร่างคล้ายสิ่งมีชีวิตซึ่งมีคน(?)นำไปจัดวางไว้ก่อนแล้ว (มีสองตาโปนๆ ทว่ารูปร่างคล้ายหนอน กำลังขดอัดกันอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม)

ในแง่ของสไตล์ ตัวเรื่องเดิมของสเตเบิลดันก็ว่ามีเนื้อหาที่ transcendence ไปไกลพอแล้ว เวอร์ชันหนังของโยฮันส์สันยังทำออกมาโดยให้ภาพรวมก้าวข้ามการจัดประเภทจนกลายเป็นงานที่ไม่ติดยึดกับรูปแบบหนึ่งใดเป็นพิเศษ คือจะดูให้เป็นสารคดีก็ได้ เป็น essay film ก็ได้ เท่าๆ กับที่เป็นคำพยากรณ์ไปถึงอนาคตที่ไกลออกไปก็ได้ และเมื่อดูไป เราอาจเริ่มเชื่อและคล้อยตามไปเรื่อยๆ จนก้าวเข้าไปเฉียดใกล้พรมแดนของศาสนาด้วยเช่นกัน ทั้งที่ทุกอย่างเริ่มต้นจากการเป็นไซไฟในด้านเนื้อหาที่สมบูรณ์ในตัว เมื่อหนังได้ให้ข้อมูลเราต่อไปอีกว่า คนในรุ่นถัดไปๆ เขาจะเลิกใช้ระบบสัญลักษณ์ในการสื่อสารพูดคุย แต่หันมาสนทนาทางโทรจิตกันแทน

สเตเบิลดันมิได้ออกมาเรียกร้องให้คนตระหนักถึงภัยโลกร้อนหรือรณรงค์ให้คนรักสันติภาพ เท่าๆ กับที่โยฮันส์สันเองก็มิได้เชื่อเรื่องโลกสวย ทุกอย่างพร้อมที่จะทำร้ายแล้วก็ทำลายตัวของมันเอง สเตเบิลดันสมมติตัวเองว่าเป็นมนุษย์รุ่นสุดท้ายที่ส่งสาส์นเปิดผนึกมายังมนุษย์รุ่นแรก (โดยเชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้น ภาษาจะมิใช่พรมแดนปิดกั้นมนุษย์ด้วยกันอีกต่อไป) เรื่องเล่าจาก “มนุษย์อนาคต” กำลังพูดถึงสิ่งที่เป็นอดีตไปแล้วสำหรับพวกเขา ให้แก่คนที่ยังไม่รู้ว่าอะไรจะมาถึงในวันข้างหน้า

เสียงบรรยายของ ทิลดา สวินตัน ในหนัง มีการพูดถึงสิ่งที่มนุษย์ (รุ่นของเรา) ยังไม่ได้ทำอยู่สองอย่างคือ การเรียนรู้-ทำความเข้าใจกับสิ่งมีชีวิตต่างเผ่าพันธ์ุที่อยู่ห่างไกลออกไป และการเดินทางข้ามมิติเวลา (มีทั้งเรื่องของ “พื้นที่” กับ “เวลา” ตามประสาไซไฟครบ) ซึ่งเป็นเรื่องพ้นวิสัยสำหรับมนุษย์รุ่นหนึ่งอย่างเราๆ แน่ นั่นก็แปลว่า พวกเขา=มนุษย์ในรุ่นถัดไปๆ ทำได้จนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว (ถึงได้ย้อนกลับมาสั่งสอนคนรุ่นบรรพกาล) และถ้าหากลองเทียบระยะห่างทางเวลาระหว่างมนุษย์รุ่นหน้ามาถึงเรา มาไกลกว่าจุดที่แยกเรากับไดโนเสาร์ร่วมสองถึงสามเท่า (สองพันล้านกับเจ็ดสิบห้าล้าน) เพราะฉะนั้นสมมติว่าเราได้รับสัญญาณเตือนจากคนรุ่นหน้า ก็เท่ากับว่าพวกเขากำลังเซฟตัวเองมิให้รับผลกระทบ ตราบใดที่มนุษย์รุ่นเรายังไม่สามารถย้อนกลับไปป้องกันการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตและชาติพันธ์ุซึ่งมาก่อนได้

ไปๆ มาๆ รูปการณ์ก็กลายเป็นว่า คนรุ่นอนาคตนั้นนอกจากจะมาเที่ยวสั่งสอน ตลอดจนเล่าคำทำนายให้ชาวเราได้รู้อนาคตอีกยาวไกล เหมือนสปอยล์ให้รู้ล่วงหน้า (แล้วทำไมอนาคตใกล้ๆ กะอีแค่หวยงวดหน้าจะออกอะไร ถึงไม่มาบอกกันบ้าง 5555) เท่ากับว่าน่าจะครอบคลุมถึงการเดินทางมาสร้างร่องรอยอะไรบางอย่างทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า อย่างอาคาร, สิ่งปลูกสร้าง, ประติมากรรมกึ่งๆ อนุสาวรีย์ (ในยูโกสลาเวียเดิม) ด้วยลักษณะเด่นของการเปิดให้เลือกมุม+มองได้รอบด้าน โดยที่ขนาดไม่น่าจะใหญ่โตอะไร ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มพื้นที่ (บนความจำกัด) ให้ออกมาดูมีความหมายโดยตัว space เอง

เรียกได้ว่าตัวประติมากรรม+สถาปัตยกรรม (Spomeniks) ที่โยฮันส์สันไปค้นเจอแล้วนำมาใช้เป็นโลเคชั่นนี้ คือสิ่งปลูกสร้างที่มีมาก่อนแล้ว (โดบศิลปินได้ผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ยุค 1950 จนถึงยุค 80 ในสมัยของนายพลยอซีป บรอซ ตีโต) นั่นคือโดยตัวของ Spomeniks มีความเป็นวัตถุรูปธรรม ทว่ามีคุณสมบัติของความเป็นนามธรรม (เหมือนน่าจะกำลังส่งสาร+ต้องการบอกอะไรเรา) จนน่าเดินทางไปดูของจริงให้เห็นกับตา 

เพราะเอาเข้าจริงๆ ไม่ว่าจะโดยรูปทรง, form, texture แล้วก็สไตล์ที่คล้ายคลึงกับงานในกลุ่ม Spomeniks ที่ว่านี้ กลับมีให้เห็นในงานเมนสตรีซึ่งเห็นได้ชัดมากก็ตรงซีนเปิดเรื่องที่โยฮันส์สันพยายามโยงเข้าหาแท่น monolith (ใน 2001: A Space Odyssey), โครงสถาปัตยกรรมโลกอนาคตก็มีส่วนละม้ายอาร์ตดีไซน์ใน Logan’ s Run (ริชาร์ด แอนเดอร์สัน, 1976) แล้วไหนยังจะมีบางส่วนที่มองผ่านแวบแรกก็พลันนึกถึงพวกหุ่นเทพเจ้า Rideen ของอนิเมะญี่ปุ่นกับ Optimus Prime ที่พวกเรารู้จักมักคุ้นกันดี

อันนี้มิใช่หมายความว่าใครก๊อบปี้ใครนะครับ ถึงแม้ผู้สร้างงานจะอยู่กันคนละที่ (Spomeniks ในยุโรปตะวันออกกับคนทำงานออกแบบอาร์ตทั้งในฮอลลีวูดแล้วก็ญี่ปุ่น) แล้วจู่ๆ ก็สร้างชิ้นงานที่ออกมาดูใกล้เคียงกันโดยบังเอิญ ถ้าสเตเบิลดันโน้มใจให้เราเชื่อเรื่องมนุษย์รุ่นสุดท้าย (ในอีกสองพันล้านปีข้างหน้า) ผู้เจริญด้วยอารยธรรมที่มากับเทคโนโลยีเดินทางข้ามมิติเวลาเพื่อมาบอกกล่าวข่าวสาส์นแก่เรา ถ้าจะแวะพักกลางทางโดยปรับจูนผู้สร้างสรรค์งานซึ่งอยู่กันคนละฝั่งทะเลต่างคาบเวลากันออกไปบ้าง ก็ย่อมมิใช่เรื่องพ้นวิสัย และถ้าเจ้าของชิ้นงานในยูโกฯ มีการสร้างตัวสิ่งปลูกสร้างสถาปัตยกรรม+ประติมากรรมออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นล่ำเป็นสัน ถ้ามีการให้เวลากับเรามากขึ้น ไม่แน่เผลอๆ อาจมี “ข้อความ” แอบแฝงมากับ shape, form และ style ซึ่งสำหรับคนรุ่นหน้าอาจเทียบได้กับ “ภาษาเขียน” ที่ต้องการสื่ออะไรให้กับเราโดยตรงบ้าง

จากเดิม สถาปัตยกรรมกลุ่ม Spomeniks ถูกสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะให้เป็นรูปแบบผสมผสานกับแนว futuristic อยู่ในที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ได้ถูกโยฮันส์สันนำมาใช้เป็นตัวแทนร่องรอยของของอารยธรรมที่เสื่อมสลาย ในเวลาเดียวกัน ก็เหมือนว่ามีกลุ่มพลังงานอะไรบางอย่างมาบันดาลใจให้โยฮันส์สันอยากเอาเรื่อง Last and First Men มาทำเป็นหนัง ถ้าเช่นนั้นก็น่าที่จะมีอะไรดึงดูดโยฮันส์สันให้มาค้นพบตัวงานประติมา+สถาปัตย์เหล่านี้ ซึ่งทำหน้าที่ “เป็นปากเป็นเสียงทางสายตา” (นอกเหนือจากที่ทิลดา สวินตันทำหน้าที่แบบเดียวกันทางการได้ยิน) นอกเสียจากว่า “แรงกระทำและ aspirations” เหล่านั้นยังไม่ค่อยมีใครเคยมองเห็นด้วยตาของคนในระยะที่ยังเพิกเฉย ตามประสา “มนุษย์รุ่นแรก” ซึ่งตามคำบรรยายระบุว่า “it was hard to find you, but contacting with you even more harder.”

LATEST REVIEWS