FILM CLUB Year List 2020 (Part 6)

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง) | (รายชื่อรอบสาม)

(รายชื่อรอบสี่) | (รายชื่อรอบห้า)

ในที่สุดปี 2020 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ท่ามกลางสถานการณ์การปิดโรงหนังหนีโควิด การเฟื่องฟูของกิจการ Streaming ภาพยนตร์ และการที่เทศกาลหนังเกือบทั้งโลกย้ายมาอยู่ออนไลน์ เปิดประตูกว้างต้อนรับผู้ชมจากทั่วโลก และสำหรับในประเทศการมาถึงของการชุมนุมที่นอกจากจะขยายเพดานการสื่อสารอย่างสามารถสร้างเทรนด์บางอย่างของการดูหนังแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วย 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2020 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2021 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง 

และนี่คือรายชื่อในรอบที่หก


ปราบดา หยุ่น : ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียน

11 Years of Cassini Saturn Photos in 3 hrs 48 min

(รวมภาพบันทึกจากการโคจรรอบดาวเสาร์ของยานสำรวจแคสสินี นาน 11 ปี ความยาว 3 ชม. 48 น.)

ภาพทั้งหมดจากดาวเสาร์ที่บันทึกโดยยานสำรวจแคสสินีจำนวน 341,805 ภาพ นับตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2004 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2015 (มันทำลายตัวเองด้วยการพุ่งลงไปให้ชั้นบรรยากาศดาวเสาร์เผาไหม้ในเดือนกันยายนปี 2017) ฟุตเทจเหล่านี้ถูกนำมารวมกันเป็นภาพเคลื่อนไหวโดย จอน คีแกน (Jon Keegan) แห่งสำนักข่าว เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล เมื่อปี 2015

ปี 2020 เป็นปีที่ไม่ได้เข้าโรงหนังแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งเพราะสถานการณ์โควิดและเพราะไม่มีเวลา ได้ดูซีรีส์มากกว่าหนัง ทั้งเพื่อทำงานและเพราะซีรีส์หลายเรื่องก็ทำได้น่าติดตามจริงๆ แต่คลิปรวมภาพจากดาวเสาร์ (และบริวาร) โดยยานแคสสินีคลิปนี้ เป็นภาพเคลื่อนไหวที่เปิดเจอโดนบังเอิญและประทับใจที่สุด มันแฝงไว้ด้วยความหมายเชื่อมโยงมากมายเหลือเกินในความเป็นภาพที่ดูเผินๆ เหมือนภาพ “หนังเก่า” แต่ส่งมาจากอวกาศไกลโพ้นที่ตัวเราเองไม่มีวันไปถึง 

ในความเป็นการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ที่เหมือนจะเย็นชาและห่างเหินจากปัญหาต่างๆ ของสังคมมนุษย์ มันกลับอุดมไปด้วยประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติและสะท้อนความปรารถนาและจินตนาการของมนุษย์ได้อย่างไม่อาจบรรยายเป็นคำพูดง่ายๆ มันมีความเป็นดนตรีทางสายตา เป็นหนังทดลอง เป็นแอนิเมชัน เป็นจิตวิทยา เป็นศิลปะนามธรรม ฯลฯ ที่ดูได้เหมือนดู visual poetry โดยไม่เบื่อเลย มีทั้งความน่าตื่นเต้น ความระทึกขวัญ ความลึกลับ น่ากลัว และน่าเศร้า อยู่อย่างครบครัน



ธัญ เปลวเทียนยิ่งทวี : ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ HAL Distributions

Dragon Ball Z Abridged (2020, Team Four Star, Japan)

มันคือดรากอนบอล Z ตั้งแต่ต้น Z (โกคูโตแล้ว) จนจบที่ภาคเซลตัดใหม่ภาคใหม่ ซึ่งไอ้ที่มันเขียนใหม่ก็ตลกมากๆ และฉลาดในเวลาเดียวกัน แถมยังตัดต่อใหม่ให้สั้นกระชับ และกลบ plot hole หลายอย่างได้แนบเนียนด้วย เหมาะกับปีเครียดๆ (และอาจจะเครียดต่อในปีนี้)



พัชร เอี่ยมตระกูล : โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระ 

Hospital Playlist (2020, Shin Won-ho, South Korea) TV series

เป็นคนที่ไม่ค่อยอินซีรีส์ หรือ หนังมิตรภาพแบบนี้เท่าไหร่ คือมีบ้างแต่ไม่ได้เป็นสายที่แพ้ทางอะไรแบบนี้ แต่ว่าเรื่องนี้คือทำให้ชวนติดตามและรู้สึกเติบโต เข้าใจ เรียนรู้ เจ็บปวดไปด้วยกันกับตัวละครมากๆ แถมเพลงประกอบคือดีจริงๆ มันเลยกลายเป็นเรื่องนี้คือเรื่องที่คิดถึงเป็นชื่อแรกๆ ถ้ามีคนถามว่าปีที่แล้วชอบหนังหรือซีรีส์เรื่องไหนบ้าง



บดินทร์ เทพรัตน์ : นักเขียนอิสระ และผู้ก่อตั้งกลุ่มฉายหนังปันยามูฟวี่คลับ

The World of Wong Kar-Wai’s Retrospective

เทรนด์ที่น่าสนใจในวงการหนังบ้านเราช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมานี้ ก็คือการนำหนังเก่าคลาสสิคมารีมาสเตอร์แล้วฉายในโรงทั่วไป เช่น Memories of Murder, Wings of Desire, Paris Texas, Farewell My Concubine, พันธุ์หมาบ้า เป็นต้น (ซึ่งถือเป็นเทรนด์ที่ดีงามซึ่งผู้เขียนอยากให้มีต่อไปเรื่อยๆ)

แต่หนังเรื่องที่เป็นไฮไลท์ ผมขอยกให้กับโปรแกรม The World of Wong Kar-Wai’s Retrospective ซึ่งนำหนังของผู้กำกับหว่องการ์ไวจำนวน 5 เรื่องอย่าง In the Mood For Love, Happy Together, Fallen Angels, 2046, Chungking Express มาฉายในโรง ซึ่งทุกเรื่องได้รับการบูรณะภาพและเสียงแบบ 4K

จากการตามดูครบทุกเรื่อง ทำให้เห็นว่าหนังของเขาเหมาะแก่การดูในโรงแบบจอใหญ่มากกว่าการดูผ่านจอทีวีหรือจอคอมพิวเตอร์หลายเท่า (ด้วยความที่หนังของเขามีลักษณะเน้นบรรยากาศ รวมถึงงานด้านภาพและองค์ประกอบศิลป์ที่สุดแสนอลังการ) แม้องค์ประกอบหลายอย่างจะเชยและตกยุคไปตามกาลเวลา รวมถึงการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบบางอย่างในหนังของผู้กำกับก็ชวนให้ส่ายหัว แต่โดยรวมแล้วต้องถือว่าหนังของเขายังคงดีงาม มีพลัง และน่าจดจำเทียบเท่ากับตอนที่ดูครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีก่อน

ด้วยความที่โลกของการดูหนังเมื่อวัยเยาว์ของผมเริ่มต้นมาจากการดูหนังหว่องการ์ไว (ด้วยแผ่นจากร้านแว่นวิดีโอ) การได้ดูหนัง ของเขาอีกครั้งบนจอใหญ่จึงสร้างความฟินในแบบที่หาที่สุดไม่ได้จริงๆ



วิกานดา พรหมขุนทอง : อาจารย์สาขาภาพยนตร์และวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหิดล

India Song (1975, Marguerite Duras, France) 

ดีใจที่เจอเรื่องนี้ใน Mubi ช่วง lockdown ดูแล้วต้องดูซ้ำ หนังเรื่องนี้นำเสนอประสบการณ์แห่งความทับซ้อนด้านความรู้สึกในภาวะอาณานิคมช่วงปี ค.ศ. 1930s ที่ไม่มีใครสมปรารถนาอย่างแท้จริง ฉากหลักในเรือนรับรองบ้านพักทูตงดงามปนเศร้า มีควันธูป ภาพถ่าย กุหลาบในแจกัน เปียโนบรรเลงอยู่เป็นพื้นหลัง (เพลง India Song ตามชื่อหนังโดย Carlos D’Alessio ถูกเปิดซ้ำๆ ติดหูมาก) กล้องแพนเก็บรายละเอียดอย่างละเมียด ชวนเข้าไปอยู่ในภวังค์. Deadly. 

India Song ชวนเราไปสังเกตภาวะความเหงาเย็นข้างในของภรรยาทูตในเดรสสีแดงเลือดหมูที่ดูเหมือนจะหยั่งรู้ถึงสภาวะสูญเสียจิตวิญญาณของตัวเองและเพื่อนร่วมชะตากรรม แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรไปได้มากกว่าการพยายามปลอบประโลมผู้อื่น (ชายหนุ่มที่มาขับเคลื่อนธุรกิจแห่งอาณานิคม) ให้สัมผัสกับบรรยากาศความเป็นยุโรปที่ยกมาให้เสพเพื่อกลบเคลื่อนความอบอ้าวและเหตุการณ์ข้างนอก 

เสียงคุยกระซิบกระซาบจากสาวสองคนซึ่งเราไม่เห็นหน้าตลอดเรื่องเล่าว่า Anne-Marie แต่งงานเมื่ออายุ 18 และเปลี่ยนเส้นทางจากการเป็นนักเปียโนติดตามทูตมาที่อินโดจีน จากสะหวันนะเขต ไปถึงโกลกาตา  แม้จะเติมเต็มเวลาในแต่ละวันด้วยการปั่นจักรยาน เล่นเทนนิสที่ทำช่วงที่แดดยังไม่ร้อนไปถึงการจัดงานบอลรูม แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถซ่อมภาวะเรื้อรังทางจิตใจ (ภาวะเรื้อรังแห่งอาณานิคม?) ของเธอได้ หนังใช้เสียงแอบคุยของผู้สังเกตการณ์อีกหลายคน เสียงในใจของตัวละคร และเสียงตะโกนอยู่ไกลๆ ด้วยภาษาถิ่นของหญิงสาวจากสะหวันนะเขตที่ระหกระเหินมาโกลกาตาอย่างแยบยล บทสำคัญของเรื่องชวนเราไปรู้จัก “The Vice-Consul” ที่เลือกมาอินเดียเพราะเพลง India Song ผู้ประสบภาวะ break down จากลาฮอร์และมองหาที่พึ่งจากมาดาม แต่ต่างคนก็ต่างอยู่ในสภาวะกลับไม่ได้ไปไม่ถึง และอิสระแห่งการหลุดพ้น (ถ้าไม่เดินออกจากพันธกิจอาณานิคม) อาจจะคือการเป็นบ้า หรือการปลดชีวิตตัวเอง

หนังอาร์ตฝรั่งเศสที่เปิดฉากด้วยพระอาทิตย์อัสดงในเมฆสีหม่น แต่ก็มีกลิ่นอายของความประดิษฐ์แบบ Hollywood melodrama เล่าถึงดินแดนอินโดจีน แต่จัดฉากถ่ายทำที่ chateau แห่งหนึ่งในฝรั่งเศสได้แนบเนียน ดูหนังเรื่องนี้ที่ไทยที่บรรยากาศแบบ drawing room พบได้ตามห้องโถงโรงแรม ในร้านกาแฟ บ้านเก่าสไตล์โคโลเนียล ชวนเราคิดต่อไปหลายเรื่องสำหรับคนที่สนใจการถ่ายทอดภาวะ(หลัง)อาณานิคมผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้น่าสนใจทีเดียว



จุมพล เวสารัชกิตติ +  ปิยะพงษ์ เพ็ชรพลาย : cinephiles

อนินทรีย์แดง (2020, รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค) 

กะเทย กะหรี่ สปาย คำหยาบคายจากปากสู่ใจ เสียงภาษาเปิดอ้าล้อกับตัวตน ความเป็นคนของรัฐในการจัดการฝ่ายตรงข้าม



ฐิติคมน์ ญาณสมบัติ : cinephile

Inventing the Future (2020, Isiah Medina, Canada)

ผลงานเรื่องล่าสุดของ Isiah Medina (88:88) ดัดแปลงจากหนังสือ Inventing the Future: Postcapitalism and a World Without Work ออกมาเป็นหนังที่ชวนให้นึกถึงงานยุคหลังๆ ของโกดาร์ด ซึ่งเล่นกับความเป็นไปได้ต่างๆ ของหนังยุคดิจิทัล และตำแหน่งแห่งที่ของการทำหนังยุคดิจิทัลท่ามกลางการต่อสู้ทางชนชั้นในโลกยุคปัจจุบัน

ไม่ว่าผู้ชมจะซื้อไอเดียโลกหลังทุนนิยมแบบที่หนังนำเสนอหรือไม่ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นประสบการณ์การดูหนังที่ประหลาดล้ำและน่าจดจำที่สุดครั้งหนึ่งในรอบปี



อินทร์นวัต สังข์มนัส : cinephile ทีมงาน Film Club 

Martin Eden (2019, Pietro Marcello, Italy)

“ซื่อสัตย์ต่อจิตวิญญาณ มิใช่ตัวอักษร”

อาจจะเป็นคำจำกัดความที่สามารถมาอธิบายภาพรวมของ Martin Eden ได้อย่างเหมาะเจาะที่สุด เรื่องราวจากนิยายเก่าชื่อเดียวกันของ แจ็ค ลอนดอน ที่ว่าด้วยการพยายามก้าวขึ้นไปเป็นนักเขียนของกรรมกรหนุ่ม มาสู่การดัดแปลง/ตีความ/ต่อเติมที่ผู้กำกับ ปิเอโตร มาร์เชลโล ลงมาเล่นแร่แปรธาตุกับงานต้นฉบับอย่างสนุกมือ แต่ในขณะเดียวกันก็เคารพแก่นเรื่องของลอนดอนไว้ได้อย่างชวนประทับใจ

ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็จากการเบลอความสามารถในการรับรู้เส้นเวลาของผู้ชมจนไม่เหลือชิ้นดี เพราะในหนังเราจะได้สัมผัสกับเรื่องราวที่เกิดในปลายยุค 40 แต่อยู่ดีๆ ก็จะมีรถจากยุค 70 มาประกอบฉากอย่างจงใจ หรือบทสนทนาที่พาไปโผล่ไปในช่วงเวลาคุกรุ่นก่อนสงครามโลกจะเริ่มต้นขึ้น หรือแม้กระทั่งกับการใช้ฟุตเตจข่าวของนักอนาธิปไตยจากยุค 20 มาเป็นฉากโหมโรง

ทั้งนี้ทั้งนั้นคอนเซ็ปท์การเล่าแบบพาทัวร์ทะลุเส้นเวลาของมาร์เชลโลก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอีกหลายส่วน (และแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นก็ต้องมีการตีบทแตกแบบกระจุยกระจายของ ลูกา มาริเนลลี นักแสดงนำที่ใครๆ ก็บอกว่าฝีไม้ลายมือชวนให้นึกถึง โรเบิร์ต เดอ นีโร ตอนสมัยหนุ่มๆ) ที่ทั้งหมดนั้นประกอบกันขึ้นมาเป็นร่างทรงร่วมสมัยที่ช่วยให้เราได้กลับมาพิเคราะห์กันถึงความเจ็บปวดของปัจเจกบุคคลในแบบที่ แจ็ค ลอนดอน เคยถ่ายทอดเอาไว้เมื่อร้อยกว่าปีก่อน เพียงแค่ครั้งนี้มันกลับมาในร่างใหม่ที่โฉบเฉี่ยวขึ้นมาอีกนิดนึง



สิทธิชัย เปลี่ยนทองดี : นักเขียนประจำ Film Club

Dick Johnson is Dead (2020, Kirsten Johnson, US)

ตลกดีที่หนังเรื่องนี้กับเรามาเจอกันในช่วงชีวิตที่พอดิบพอดีมาก คือพ่อเราเองก็เริ่มหลงๆ ลืมๆ หนักเท่ากันหรืออาจจะมากกว่าคุณพ่อของผู้กำกับในเรื่องเลย ทุกครั้งที่เจอกันเราจะนึกสงสัยตลอดว่า เอ๊ะ พ่อเราตัวหดเล็กลงหรือเปล่านะ ส่วนคุณพ่อในเรื่องก็แสดงอาการชัดเจนว่าเขาหดลงตลอดเวลาจริงๆ

อีกสิ่งที่ทำให้จูนกันติด คืออารมณ์ขันร้ายกาจที่มันคอยหล่อเลี้ยงพลังของหนังเรื่องนี้เอาไว้ รู้สึกว่าโชคดีจริงๆ ที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ในปีที่ครุ่นคิดเรื่องความตายอย่างเข้มข้นที่สุด ถ้าจะมีอะไรที่เรียกได้ว่าเป็นมนต์เสน่ห์ของภาพยนตร์ มันก็น่าจะเป็นความรู้สึกนี้นี่แหละ



ปารณพัฒน์ แอนุ้ย : cinephile นักเขียนอิสระ นักวิจารณ์ Starpics

Kyojo (2020, Isami Nakae, Japan)

มินิซีรี่ส์ตอนพิเศษออกอากาศทางช่อง Fuji TV เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปีของช่อง เล่าเรื่องราวของเหล่านักเรียนตำรวจหน้าใหม่ที่ต้องผ่านบททดสอบสุดทรหดทั้งทางกายและใจ เพื่อจบการศึกษาออกไปเป็นตำรวจที่มีเกียรติ ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก แต่บททดสอบในรั้วโรงเรียนซึ่งปกติไม่ง่ายอยู่แล้ว ยิ่งยากกว่าเดิมหลายเท่าเมื่อนักเรียนเหล่านั้นต้องผ่านการฝึกจาก คาซามะ คิมิจิกะ (คิมูระ ทาคูยะ) ครูฝึกตำรวจขาโหด ผู้มีไหวพริบปฏิภาณขั้นสูง ผู้ไม่ไว้หน้าใครทั้งนั้น หากทำอะไรผิดหลักความเป็นตำรวจน้ำดีแม้แต่นิดเดียว

ทุกองค์ประกอบของซีรี่ส์ถ่ายทอดให้เห็นว่ากว่าคนคนนึงจะจบออกมาเป็นตำรวจคุณภาพต้องผ่านอะไรบ้าง ทำไมโรงเรียนตำรวจถึงต้องเป็นสถานที่คัดกรองสุดหฤโหด จนไม่น่าแปลกใจทำไมตำรวจญี่ปุ่นถึงมีเกียรติน่าชื่นชม และทำงานอย่างแข็งขันเพื่อประชาชนจริงๆ ดูแล้วอดคิดไม่ได้ว่าถ้าเปิด Kyojo ให้ตำรวจไทยดู พวกเขาจะคิดอะไร จะรู้สึกละอายใจกับการทำตัวเป็นศัตรูประชาชนตลอดปีที่ผ่านมาบ้างหรือไม่

ในช่วงเวลาที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ Kyojo ซีซั่นที่ 2 ออกฉายที่ญี่ปุ่นเรียบร้อย และสามารถหารับชมแบบถูกลิขสิทธิ์ในไทยทาง VIU ได้แล้วด้วย ใครสนใจก็สามารถรับชมไปกันได้



ไกรวุฒิ จุลพงศธร อ.ด้านภาพยนตร์ศึกษา

Tartuffe (1926, F. W. Murnau, Germany)

ไอ้คนหน้าไม่หล่อแล้วยังลวงได้ Murnau นำละครของ Molière ที่แสดงครั้งแรกในปี 1664 มาสร้างใหม่ในปี 1926 โดยดัดแปลงให้ร่วมสมัยอย่างหวือหวา บทละครเดิมเป็นเรื่องของชายผู้มั่งคั่งที่ไปหลงปลื้มเจ้าพ่อลัทธิที่ชื่อ Tartuffe โดยเขาหลงถึงขั้นยกบ้าน ยกสมบัติ และทุกสิ่งให้หมด จนกระทั่งเมียของชายผู้นี้พยายามฉีกหน้ากากของ Tartuffe แต่ในเวอชั่นของ Murnau นั้นสร้าง intertext เข้าไปอย่างเฉียบคม โดยการถ่ายทอดเรื่องของหลานชายที่กลับมาหาเจ้าคุณปู่ แต่เจ้าคุณปู่หลงเชื่อนังคนใช้เลยไล่หลานชายออกจากบ้านไป หลานชายจึงต้องปลอมตัวเป็นคนฉายหนัง แล้วฉายเรื่อง Tartuffe ให้เจ้าคุณปู่ ‘ตาสว่าง’ 

ในสมัยที่ภาพยนตร์ยังไม่กี่ขวบปี ภาพยนตร์ในสายตาของ Murnau นั้นสามารถไล่ผีถีบความชั่วช้าและเบิกตาเบิกกะลาได้ …1926 เป็นปีสุดท้ายก่อนที่ภาพยนตร์จะพบว่าตัวเองเปล่งเสียงได้ ในหนังเงียบเรื่องนี่กลับมีเนื้อหาที่เสียงดัง และก้องกังวานมาถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ทรัมป์ถึงไทยแลนด์



(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 7)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 8)

filmclub
กอง Film Club

RELATED ARTICLES