Blog Page 11

Lupin – แหกกรอบชนชั้นด้วยแฟนตาซีงานนอกกฎหมาย

ในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำ ดูเหมือนผู้คนจะใฝ่หาแฟนตาซีมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงจากความตึงเครียดในชีวิตประจำวัน และหนึ่งในสื่อที่มอบแฟนตาซีที่ผู้คนต้องการได้ก็คือหนัง ไม่น่าแปลกใจที่หนังแนวแอ็กชัน อาชญากรรมได้เลื่อนอันดับขึ้นมาติดสิบอันดับของ Netflix ได้ไม่ยาก หนึ่งในนั้นคือ The White Tiger หนังอเมริกันที่เดินเรื่องในอินเดีย เล่าเรื่องคนขับรถธรรมดาที่พลิกชะตาตนเองมาเป็นเจ้าของธุรกิจ และอีกเรื่องหนึ่งก็คือ Lupin จอมโจรลูแปง ซีรีส์ปล้นเหนือเมฆที่เต็มไปด้วยกลยุทธ์หลอกตาเหนือชั้นของจอมโจร

“ซีรีส์เรื่องนี้ไม่เสียเวลาแม้แต่วินาที มันเติมเต็มทุกจังหวะด้วยปริศนา เมื่อคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้รวมกัน ซีรีส์นี้คือตัวเต็งที่จะแย่งพื้นที่สื่อในฐานะหนังที่ดีที่สุดแห่งปี” – Karen Han จาก Slate https://slate.com/culture/2021/01/lupin-review-2021-netflix-series-omar-sy.html

นักวิจารณ์ต่างชื่นชอบซีรีส์ Lupin และคาดการณ์ว่ามันจะทำปรากฏการณ์ฮิตในระดับนานาชาติได้ไม่ยาก ซีรีส์เรื่องนี้เล่าเรื่องของอาสซาน เด็กชายผิวดำชาวเซเนกัลที่อพยพมาอยู่ฝรั่งเศสกับพ่อของเขา พ่อของเขาได้งานเป็นคนขับรถที่บ้านของมหาเศรษฐีตระกูลเพลเลอกรินี และถูกกล่าวหาว่าขโมยเครื่องเพชรมูลค่ามหาศาลของตระกูลไป ไม่นานพ่อของเขาก็ฆ่าตัวตายในคุก ทิ้งให้อาสซานจมอยู่กับความคิดว่าพ่อตัวเองเป็นอาชญากรอยู่นาน ระหว่างที่เติบโตขึ้น เขาได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือจอมโจรลูแปง ที่พ่อของเขามอบให้ และผันตนเองมาเป็นอาชญากรนักโจรกรรมสุดไฮเทค ในเวลาเดียวกัน เขาก็วางแผนเข้าไปขโมยสร้อยพระศอพระราชินี ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อเขาถูกกล่าวหาว่าขโมย และพบว่าพ่อเขาถูกใส่ความ ภารกิจตามหาความจริงและล้างมลทินให้พ่อตนเองของอาสซานจึงเริ่มขึ้น

ในแง่ของพล็อตเรื่อง หนังทำให้เราตื่นตาตื่นใจกับความฉลาดมีไหวพริบของจอมโจรอย่างอัสซาน ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากลูแปงได้เป็นอย่างดี แม้คนที่ไม่เคยดูหรืออ่านเกี่ยวกับลูแปงก็สามารถตามเรื่องได้ไม่ยาก เพราะหนังจะคอยให้อัสซานแนะนำเสมอว่ากลเม็ดแบบไหนบ้างที่อยู่ในหนังสือชุดลูแปง จนทำให้คนดูอยากไปตามอ่าน หนังเดินเรื่องตามแบบฉบับหนังแอ็กชัน อาชญากรรมทั่วไป ที่ให้ตัวเอกมีความสามารถรอบด้าน ทั้งการปลอมตัว ทักษะนักล้วง หรือการใช้เทคโนโลยีเช่นโดรน การแฮ็ค การตัดต่อภาพเพื่อสร้างโปรไฟล์ปลอม หรืออะไรก็ตามที่โจรไฮเทคต้องมี ใครชอบหนังแนว Now You See Me หรือ Money Heist อาจตกหลุมรัก Lupin ได้ไม่ยาก

แต่ส่วนที่ทำให้หนังเข้มข้นมากขึ้นคือส่วนที่มีความเป็นการเมือง อย่างเช่นประเด็นสีผิวของอาสซาน เขาและพ่อเป็นผู้อพยพผิวดำและถูกมองว่าต้อยต่ำเสมอ ในฉากหนึ่ง คุณนายเพลเลอกรินีรถเสียกลางสายฝน และเมื่อเธอเห็นพ่อของอาสซานเดินเข้ามาใกล้ เธอถึงกับรีบล็อครถ โดยยังไม่ทราบว่าเขาจะมาช่วย หรือเมื่ออาสซานได้เข้าโรงเรียนเอกชนสุดหรูด้วยความช่วยเหลือจากผู้บริจาคใจดีรายหนึ่ง คนทั้งโรงเรียนกลับมองเขาเป็นตัวประหลาด และคอยพูดจาเหน็บแนมกลั่นแกล้งเขา ดูเหมือนสิ่งหนึ่งที่ทั้งน่าขมขื่นและน่าทึ่งเกี่ยวกับตัวอาสซาน ก็คือการที่ใครๆ ล้วนไม่สังเกตเห็นเขา หรือมองว่าเป็นคนสำคัญ ฉากการประมูลเพชรที่มีแต่คนผิวขาวและมีเขาคนเดียวเป็นคนผิวดำในนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการเมืองของความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากสีผิว และแม้แต่ผู้ดูแลการประมูลก็กล่าวว่าเขาไม่นึกว่า “คนแบบอาสซาน” จะชนะการประมูลนี้ได้

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจใน Lupin ก็คือประเด็นว่าด้วยชนชั้น ในสังคมทุนนิยม นายทุนเป็นผู้ควบคุมปัจจัยการผลิต และได้รับมูลค่าส่วนเกินจากการผลิตมาสร้างความมั่งคั่งให้ตนเอง ขณะที่ลูกจ้างในระบบ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานมีฝีมืออย่างพนักงานออฟฟิศ หรือแรงงานไร้ฝีมือเช่นคนขนถ่านหิน ต่างทำงานวนเวียนอยู่กับสิ่งเดิมๆ จนเกิดความรู้สึกแปลกแยก (Alienation/อัญภาวะ) จากงานของตนเอง งานแต่ละส่วนถูกซอยออกเป็นกระบวนการย่อยๆ ที่แบ่งคนออกไปทำกระบวนการซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือเห็นกระบวนการผลิตครบทั้งระบบ และพวกเขากลับผลิตทรัพยากรมาเพื่อให้นายทุนใช้ทรัพยากรนั้นกดขี่ตนเองอีกที กล่าวให้สั้น ระบบทุนนิยมทำให้คนติดอยู่ในวงจรที่ไม่สามารถมีอิสระได้เต็มที่ในการทำงานที่มีความหมาย หรือแม้พวกเขาจะรู้สึกว่ามันมีความหมาย พวกเขาก็กำลังถูกหลอก

กล่าวให้สั้น ระบบทุนนิยมทำให้คนติดอยู่ในวงจรที่ไม่สามารถมีอิสระได้เต็มที่ในการทำงานที่มีความหมาย หรือแม้พวกเขาจะรู้สึกว่ามันมีความหมาย พวกเขาก็กำลังถูกหลอก

สิ่งที่อาสซานทำคือการแหกกรอบของโลกทุนนิยมโดยแท้ เพราะเขาทำงานให้ตนเอง มีเป้าหมายเพื่อตนเอง และเลือกวิธีการของตนเอง งานนอกกฎหมายที่อาสซานทำนั้น เขาทำโดยไม่รู้สึกแปลกแยกกับมันแต่อย่างใด และเขายังใช้มันเลื่อนชนชั้นให้ตนเองจนกลายเป็นคนมั่งคั่งขึ้นมา เขาปฏิเสธที่จะเข้าไปอยู่ในระบบ เพราะแม้กระทั่งระบบติดตามคนของรัฐก็ยังตามตัวเขาไม่ได้ เขาเป็นตัวอย่างหนึ่งของขบถที่เหล่าชนชั้นกลางในระบบที่ได้ดูซีรีส์เรื่องนี้ใฝ่ฝันที่จะเป็น ทุกคนล้วนต้องการเสรีภาพและการกำหนดชีวิตตนเองได้แบบอาสซาน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ยิ่งเมื่อคำนึงถึงบริบทของคนผิวดำที่เป็นเด็กกำพร้ายิ่งแล้วใหญ่ 

การวางตัวละครแบบอาสซานเข้ามาอยู่ในบริบทที่เขาอยู่เหนืออำนาจรัฐได้เกือบทุกอย่าง เปรียบเสมือนการทำให้ความฝันของ Extreme User ในเกมทางสังคมกลายเป็นจริง คนอย่างอาสซานเป็นตัวแทนของผู้ถูกกดขี่ทางสังคม ดังนั้น การทำให้คนแบบนี้ผงาดขึ้นมาเป็นพระเอก กลายเป็นคนเก่งรอบด้าน และร่ำรวย มันจึงเปรียบเสมือนการทำให้ฝันของคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีชีวิต “extreme” เท่ากับอาสซานกลายเป็นจริงขึ้นมาด้วย คนทุกสีผิวที่ยังทำงานอยู่ในวงจรของระเบียบโลกแบบทุนนิยมเข้าใจเขาได้ เพราะทุกคนเคยผ่านประสบการณ์ของการเป็นผู้ถูกกดขี่ แม้จะน้อยกว่า

คนอย่างอาสซานเป็นตัวแทนของผู้ถูกกดขี่ทางสังคม ดังนั้น การทำให้คนแบบนี้ผงาดขึ้นมาเป็นพระเอก กลายเป็นคนเก่งรอบด้าน และร่ำรวย มันจึงเปรียบเสมือนการทำให้ฝันของคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีชีวิต “extreme” เท่ากับอาสซานกลายเป็นจริงขึ้นมาด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น หากโลกทุนนิยมของมาร์กซ์คือการต่อสู้กันระหว่างชนชั้นนายทุนที่ร่ำรวย (Bourgeoisie) และชนชั้นกรรมาชีพ (Proletariat) อาสซานก็ไม่ได้ขโมยเพียงความมั่งคั่งของเหล่าผู้ดีเท่านั้น แต่ยังขโมยสถานภาพทางสังคม (status) ของพวกเขา ผ่านการนิยามตนเองว่าเป็น “สุภาพบุรุษจอมโจร (Gentleman Cambrioleur)” ซึ่งความเป็นสุภาพบุรุษนี้ถูกผูกโยงเข้ากับชนชั้นสูงมากเป็นเวลาเนิ่นนาน และอาสซานได้ใช้มันชุบตัวเองใหม่ แต่เขาก็ไม่ได้กลายเป็นชนชั้นสูง เพราะเขาได้สร้างพื้นที่ระหว่างกลาง ที่อยู่นอกเกมอำนาจแบบทุนนิยมขึ้นมาด้วยตนเอง ลูแปงเป็นจอมโจรพันหน้าฉันใด อาสซานก็มีสถานะที่ลื่นไหลฉันนั้น เขาไม่ได้ “เป็นอะไร” หรือ “เป็นใคร” ในระบบทุนนิยมที่เชี่ยวกรากนี้เลย เพราะเขาสลัดตนเองจนหลุดพ้นจากระบบ อาจเรียกได้ว่าเขา “ไม่เป็นใครเลย (no one)”

การสลัดพ้นจากอำนาจทางสังคมยังสะท้อนผ่านการไม่นับถือศาสนา หรือพูดถึงศาสนาของอาซานด้วย หากมาร์กซ์บอกว่า “ศาสนาคือฝิ่น” อาสซานอาจจะเห็นด้วยกับมัน ฉากที่เกี่ยวข้องกับศาสนามีอยู่น้อยมาก หนึ่งในนั้นคือฉากที่ครูคนหนึ่งมอบไบเบิ้ลให้อาสซาน แต่เขากลับนำหนังสือจอมโจรลูแปงไปเย็บสอดไส้มัน และอ่านอยู่ตลอดเวลา ฉากนี้เป็นฉากที่บ่งบอกว่า อุดมคติของอาสซานก้าวพ้นไปจากโลกที่มีศาสนา ศาสนาไม่ได้เป็นที่ยึดเหนี่ยวสำหรับเขา แต่เป็น “อุดมคติ (Idealism)” ต่างหากที่เขาใช้สร้างตัวตนขึ้นมาจากคนที่ไม่มีอะไรเลย เป็นอุดมคติที่ไม่เกี่ยวพันกับศรัทธาความเชื่อใดๆ นอกจากความเชื่อในปัจเจก (Individual)

โดยรวมแล้ว ซีรีส์ Lupin จอมโจรลูแปง เป็นซีรีส์ที่ครบรสทั้งในด้านการเป็นหนังแอ็กชัน อาชญากรรม หรือเป็นหนังที่สะท้อนการเมืองเรื่องสีผิวและชนชั้น ภาพของอาสซานอาจสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนเกี่ยวกับการแปรเปลี่ยนชะตาชีวิตตนเองด้วยความสามารถส่วนบุคคล และการยึดมั่นในอุดมคติประจำใจ ซึ่งทำให้หนังมีความเป็นเอกภาพ (Integrity) อยู่มาก


ดู Lupin ได้ที่ Netflix

100 Times Reproduction of Democracy ‘แกง’ หม้อใหญ่

อ่านตอนแรก Forget Me Not ข้างหลัง-ของ-ข้างหลัง-ภาพ

สมมติว่า Forget Me Not มีความยาวเท่ากับ 100 Times Reproduction of Democracy พอดีๆ (คือ 114 นาที) แล้วเปิดฉายสองเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน จะพบความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งขึ้นมาอย่างคือสองเรื่องนี้จะทับกันสนิท เพียงเพราะต่างก็ถูกสร้างขึ้นด้วยกระบวนการที่ใกล้เคียงกันมาก จนมิอาจแยกออกจากกันเป็นหนังสองเรื่อง หากแต่ต้องประคองคู่เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะโดยกระบวนการคิด, จุดมุ่งหมาย, วิธีนำเสนอ, การ presentation ในแง่ของภาพยนตร์

อันดับแรก ทั้ง Forget Me Not และ 100 Times Reproduction of Democracy มิได้เกิดมาเองตามลำพัง ทว่ามีการเกริ่นนำด้วยผลงานอื่น Forget Me Not มีบทประพันธ์ ‘ข้างหลังภาพ’ คอยเป็นตัวนำร่องให้ทั้งดัดแปลง, ตีความใหม่ (รวมทั้งยั่วล้อ) ซึ่งจุฬญาณนนท์ก็ได้พิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า ด้วยโครงเรื่องเดียวกันก็สามารถสรุปจบได้ด้วยเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงกว่าๆ (เริ่มจากจดหมายฝากฝังจากท่านเจ้าคุณอธิการฯจนถึงความตายของคุณหญิง) ขณะที่ 100 Times Reproduction of Democracy เอง ก็ยังต้องอาศัยผลงานอื่นมาเป็นตัวนำร่องแบบเดียวกัน ทว่าเป็นผลงานก่อนหน้าของจุฬญาณนนท์เองก็คือหนังสั้นสารคดี ’ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง’ (2013)

’ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง’ (2013)

ก็เท่ากับว่าเมื่อใครดู Forget Me Not ก็จะได้รู้เรื่องราวใน ‘ข้างหลังภาพ’ เท่าๆ กับที่ต่อให้ใครที่ยังไม่ได้ดู ‘ไก่จิกเด็กตายฯ’ หนัง (100 Times Reproduction of Democracy) ก็จะถูกนำมาเล่าซ้ำอีกครั้งหนึ่ง แล้วคนดูก็จะค่อยๆ ซึมซับความ beyond ที่เกิดขึ้น ในแง่ของชะตากรรมที่บานปลายตัวของมันเองออก ซึ่งก็มิใช่ออกนอกเรื่องนอกราวที่ไหน แต่ทว่าเป็นการนำคนดูออกไปนอกกรอบและพื้นที่จำกัดแห่งมณฑลทางภาพยนตร์ (ในสภาพที่ควรจะเป็น โดยที่คนดูเองก็หวังที่อยากจะเห็นซึ่งน่าจะเป็นทิศทางของการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ในวันข้างหน้า)

หาก ‘ข้างหลังภาพ’ เกิดขึ้นมาได้ก็โดยศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) แต่ง หลังจากนั้นถึงค่อยถูกนำมาใช้แทนแบบพิมพ์เขียว จนกระทั่งได้ทั้งหนังและนิทรรศการ (ไม่ต่ำกว่าสองครั้ง) ซึ่งเป็นการขานรับกับเนื้อหาที่ได้ผ่านการวางรากฐานไว้ก่อนแล้ว ขณะที่ ‘ไก่จิกเด็กจายบนปากโอ่ง’ เป็นผลงานที่ถือกำเนิดโดยตัวจุฬญาณนนท์เอง โดยคนดูได้ถูกดึงเข้ามามีส่วนร่วมไปกับการต่อสู้ซึ่งมิใช่เพื่อเอาชนะข้อพิพาท (จากหน่วยงานรัฐซึ่งอ้างตัวว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานหนังสั้น) ทว่าเป็นการต่อสู้บนบริบทของความจริง-ความถูกต้อง-ของแท้-ไม่แท้ซึ่งยิ่งตอกย้ำความคล้ายคลึงและจุดร่วมที่ทำให้ 100 Times Reproduction of Democracy ออกมาดูไม่ต่างไปจาก Forget Me Not

’ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง’ (2013)

จุฬญาณนนท์มิเพียงแค่ดึงความเป็น ‘ไก่จิกเด็กตายฯ’ ขยายออก (แบบเดียวกับที่เขาปฏิบัติกับ ‘ข้างหลังภาพ’ ใน Forget Me Not) หากแต่จับงานของตัวเองออกมา parody และ satire มันในแง่ของความเป็นสื่อซึ่งก็ยังยืดขยายออกได้พอๆ กับที่ดึงเอาจักรวาลใน ‘ข้างหลังภาพ’ ออกมาปะปนในโลกความเป็นจริงภายนอกได้สำเร็จ (นิทรรศการกึ่งพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวธีมกีรติที่จัดขึ้นถึงสองครั้งเฉพาะในกทม.) จะต่างกันนิดเดียวก็ตรงที่ ‘ข้างหลังภาพ’ เป็นที่รู้จักกันดีทั่วไป แต่สำหรับ ‘ไก่จิกเด็กตายฯ’ นั่น ยังมีคนไม่มากที่เคยดูหรือรู้จักมาก่อน แต่ไม่เป็นไรครับ ถ้าท่านยังไม่เคยดู เรา (ในที่นี้คือจุฬญาณนนท์และทีมงาน) จะเล่นให้ท่านดูอีกครั้งหนึ่ง (เอาแบบเต็มๆ ด้วย)

ชัยชนะอันสวยงาม (บนข้อพิพาทที่ว่าใครคือผู้ถือลิขสิทธิ์นั่น) นั่นคือจุฬญาณนนท์สามารถนำมาเล่าซ้ำได้อย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งใครที่ยังไม่เคยดู ก็จะได้ดูกันก็คราวนี้ แต่ที่มันไปไกลกว่า (‘ข้างหลังภาพ’ ใน) Forget Me Not ก็คงเป็นเรื่องที่ว่าภายใต้ content เดิม หากสามารถนำมาเล่าใหม่ได้ โดยที่ตัว context มีการเปลี่ยนแปลงและต่อขยายตลอดเวลา กลายเป็นว่าทั้ง Forget Me Not และ 100 Times Reproduction of Democracy นี่กลายเป็นคำตอบของหนังซึ่งหลายคนหวั่นเกรงกันว่าเมื่อถึงวันหนึ่งรูปแบบของ narrative ในหนังจะพบภาวะตีบตัน และในเวลาเดียวกันภายในตัวของ ‘ไก่จิกเด็กตายฯ’ เองก็ยังคงมีความหลากหลายในตัวไม่แพ้กัน นั่นคือที่พอมีการนำมากล่าวซ้ำบ่อยขึ้น ตัวมันเองก็พลันกลายเป็นงานที่อยู่รองลงมา (subordinate) คอยรับใช้จุดมุ่งหมายที่ห่างไกลจากเนื้อหาหลักใน documentary มากขึ้นไปเรื่อยๆ

หลากหลายแรก: ‘ไก่จิกเด็กตายฯ’ กลายเป็นหนังที่ทะลุทั้งคำนิยามและคำจำกัดความใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดประเภทว่าควรอยู่กลุ่มของหนังสารคดี (ว่าด้วยความรู้ทั่วไปและการรักษาตัวของผู้มีอาการข้อเข่าเสื่อม) หรืองาน fiction (ใช้นักแสดง, มีการ set-up, มีการวางโครงสร้างการเล่าเรื่องอย่างด้วยลีลา rhetoric)

หลากหลายสอง: ซึ่งก็ตรงกับลักษณะร่วมที่พบเห็นจากงานของจุฬญาณนนท์เรื่องอื่น โดยเฉพาะในเรื่องของการย้อนรอยตามหาจุดกำเนิด ซึ่งสุดท้ายก็พบว่า แม้แต่ในหนังสั้นตัวตั้งต้น, ‘ไก่จิกเด็กตายฯ’ เองก็ยังมิวายพบจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจจากหนังเรื่องอื่นย้อนขึ้นไปอีกอยู่ดี (โดยเฉพาะ Syndromes and a Century, ‘แสงศตวรรษ’, 2006/2549, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) เมื่อ ‘คุณป้า’ บทนำของเรื่องรำลึกได้ว่าที่ตนเองมีอาการปวดข้อเข่า น่าจะมาจากผลกรรมที่เคยกระทำกับ ‘ไก่’

ในแง่ของการเป็นสารคดีต้องนับว่า ‘ไก่จิกเด็กฯ’ ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ในการให้ความรู้ทางการแพทย์ในระดับที่เข้าใจได้ทั่วไป (ซึ่งตรงตามจุดมุ่งหมายของทางเจ้าของโครงการซึ่งเป็นผลให้ตัวหนังเฉพาะส่วนที่เป็นหนังสั้นได้รับการเผยแพร่และง่ายต่อการเข้าถึง) ขณะที่ในส่วนของความเป็นหนัง จุฬญาณนนท์ยังคง ‘เล่น’ กับลีลาการเล่าเรื่องซึ่งแบ่งได้เป็นสองช่วง โดยอาศัยฉากหลังในห้องตรวจเพียงอย่างเดียว

สมมติว่าถ้ามีการแบ่งหนังออกเป็นสองส่วนหลักๆ (ไม่นับในส่วนของการ ‘ให้ความรู้’ และการรักษา) จะเห็นได้ว่าครึ่งแรกเป็นการเข้ารีบการรักษาของคุณป้าในฐานะคนไข้ แต่พอเข้าช่วงครึ่งหลัง ‘คุณป้า’ จะเป็นฝ่ายย้อนกลับมา ‘ให้’ การรักษาคุณหมอไปแทน โดยจุฬญาณนนท์อาศัย ‘เรื่องเล่า’ ในส่วนของการไปเที่ยวดอยสุเทพแล้วนำ ‘น้ำมนต์’ มาแบ่งปันให้คุณหมอ (อาจจะเพื่อใช้ ‘แก้กรรม’ ให้คุณหมอบ้าง) ซึ่งคราวนี้คุณป้าได้เขยิบตัวเองโดยนำเอาน้ำมนต์มาใช้เยี่ยง ‘โอสถทางจิตวิญญาณ’ และคนซึ่งปลูกถ่ายและผลักดันให้คุณป้าเกิดการเปรียบเทียบ ก็มาจาก ‘เรื่องเล่า’ จากคนอื่นอีกทีเช่นกันคือ ‘แม่หมอยิปซี’ ในซีนเข้าเยี่ยมหลังการผ่าตัดสวมข้อเข่าเทียมที่ยกเอาเรื่องกำลังวังชาที่สามารถในการเดินขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ(ในคนปกติ)มาเป็นตัวกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้คุณป้าเกิดแรงฮึด (ยอมผ่าตัด) จนกระทั่งอาการหายดีเป็นปกติ คุณป้าก็นำ ‘พาว’ ที่ได้ มาใช้กับคุณหมออีกทอด

ในเมื่อเส้นเรื่องได้วางตัวละคร ‘แม่หมอยิปซี’ มาเป็นตัวเชื่อมต่อ (พอๆ กับประโยชน์และหน้าที่ของ ‘ข้อเข่าเทียม’ ในแง่ของการเชื่อมต่อในส่วนของ docu.) คือผลักดันให้คุณป้าหายไวๆ –> (เพื่อจะได้มีแรงขึ้นบันไดพระธาตุ) —> กลับมาแล้วก็นำน้ำมนต์มาให้หมอ (เพื่อจะได้ให้การรักษาเป็นการตอบแทน) โดยจุฬญาณนนท์ไม่ลืมที่จะนำหลักของการเล่าเรื่อง (และเขียนบท) ที่สมบูรณ์ของการที่เมื่อเริ่มต้นด้วยอะไร ก็ให้จบลงด้วยสิ่งๆ เดียวกัน เหมือนกับที่ขึ้นต้นด้วยข่าวในพระราชสำนัก (ราวคัทที่สามหรือสี่ซึ่งมาเป็นเสียงจากโทรทัศน์) เสร็จแล้วก็จบด้วยภาพข่าว ‘กลุ่มและคณะบุคคลเข้าถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้หายจากอาการประชวร’, ข่าวช่วงปี 2556) ซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีใครทันเห็น ‘คุณป้า’ ขณะออกทีวีซึ่งทั้งย้อนแย้งและ irony หากย้อนกลับไปดูองค์รวมของตัวเนื้อหาซึ่งกล่าวถึงการบำบัดอาการป่วย แม้จะด้วยโรคข้อเข่าเสื่อม

‘ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง’ ได้รับรางวัลวิจิตรมาตรา โดยมอบกันเป็นใบประกาศนียบัตรรับรองซึ่งต่อมาหน่วยงานผู้เป็นเจ้าของโครงการออกมาแสดงตนความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งกลายเป็น content หลักให้กับสารคดี The 100 Times Reproduction of Democracy โดย

1.) ใบประกาศได้ถูกใช้เป็นพร็อพที่แม้จะเป็นตัวสำเนา ทว่าผ่านกระบวนการให้ดูเป็น ‘ของแท้’ โดยมีลายเซ็นรับรองจากจุฬญาณนนท์กำกับทุกใบ และได้นำออกเผยแพร่ออกไปยังบุคคลจำนวนหนึ่งร้อยคน โดยที่ผู้รับจะมีการบันทึกวิดีโอไว้ครบคน (ซึ่งคาดกันเล่นๆ ว่า หากใครได้รับใบประกาศรับรอง, ที่แม้จะมาจากพรินเตอร์รุ่นนี้ น่าจะมีมูลค่าหลักพันเมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนผานเข้า) และ 

2.) ตัวสารคดี ‘ไก่จิกเด็กฯ’ เองก็ผ่านการทำสำเนา (โดยเครื่องไรท์) กระจายตัวออกด้วยจำนวนหนึ่งร้อยเท่ากัน และผ่านการเผยแพร่ออกสู่คน (กึ่งๆ) สาธารณะ และจุฬญาณนนท์ก็ได้ปฏิบัติอย่างเดิมคือลงลายเซ็น endorse กำกับไว้ทุกแผ่นแสดงการเป็น ‘ของแท้’ อีกเช่นกัน

ประเด็นมีอยู่ว่า(หนังสั้น) ‘ไก่จิกเด็กฯ’ คราวนี้ เมื่อมองจากภายนอกได้ผ่านการทำซ้ำจนอยู่ในรูปของแผ่นดีวีดีไรท์ซึ่งสามารถนำมามำซ้ำมากแค่ไหนก็ได้ ต่อให้สัญญาณจะดร็อปลงกี่รุ่น, กี่เจ็นฯ ลองมีลายเซ็นรองรับจากเจ้าของงาน ก็มักเป็นที่ยอมรับว่า นี่(ก็)เป็นของแท้ซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องสามัญและยังอาจนำไปใช้อุปมาอุปไมยกับสิ่งที่ผ่านการทำซ้ำ + ก็อปต่อๆๆ กันไม่รู้ต่อกี่รุ่น แค่มีลายเซ็นรับรองก็ผ่านฉลุย โดยไม่นำพาว่าเนื้อในจะบอบช้ำ, ผุพัง, ใช้การไม่ได้ (แม้กระทั่งในเคสที่เลวร้ายหนักกว่านั้นอีกอย่าง เป็นที่ยอมรับโดยอุปทานว่าเป็นของแท้ จนเกิดภาวะ ’emperor’ s new cloth’ คือต่อให้มีข้อบกพร่องแค่ไหน ก็ยังมีคนพร้อมที่จะมองข้ามข้อบกพร่องตรงนั้น แล้วยอมรับว่ามันยังคงใช้การได้อย่างมีคุณค่า) อย่างประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านการถูกละเมิด – ทำซ้ำ – เขียนขึ้นใหม่ๆๆๆ – โดยอาศัยสาระสำคัญและเนื้อหาที่มีอย่างเดิม – ทว่ามีการลงนามรับรอง(ความถูกต้องชอบธรรม) 

เมื่อถึงที่สุดแล้ว ตัวหนังทั้งเรื่องของ 100 Times Reproduction of Democracy คงไม่ต่างกับการนำ ‘ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง’ มารีเมคตัวของมันเอง ทว่ามิใช่เรื่องของการนำมาเล่าใหม่ในแง่ของพล็อต ทว่าเป็นเรื่องของการทะลุทะลวงไปสู่บริบทอื่นทั้งในแง่ของมีเดีย (ความล้มเหลวของสัญญาณภาพ) แล้วตัวความล้มเหลวแบบเดียวกันก็ถูกนำไปทาบทับกับความพังของสิ่งอื่นที่มีรูปทรงแบบเดียวกันคือทรงกลม และเมื่อนำมาเทียบเคียงกัน แผ่นดีวีดี princo ที่เห็นกันแพร่หลายก็คงไม่ต่างจากหมุดคณะราษฎร (แล้วหนังก็พาในส่วนของประเด็นเนื้อหาไต่ระดับต่อได้อีกเรื่อยๆ)

ถึงได้เข้าใจว่า ‘เครื่องหมายการค้าประจำตัว’ ซึ่งมีให้พบเห็นในหนังของจุฬญาณนนท์แทบจะทุกเรื่อง ที่เป็นหลอดไฟต่อกันเป็นรูปทรงพีระมิด (ซึ่งใน Forget Me Not ก็มีให้เห็นกันในส่วนต่อขยายจากเรื่องเดิม โดยจุฬญาณนนท์เชื่อว่าถ้าเรื่องยังไม่ควรจะจบ ก็น่าที่จะไปต่อได้เรื่อยๆ จนกระทั่งล่วงเข้าโซน ‘ประชาธิปไตย’ = หลังความตายของคุณหญิง) จนกระทั่งมาพบคำเฉลยที่พอจะเป็นไปได้ใน 100 Times Reproduction of Democracy ส่วนรอบฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ล้อมรอบด้วยปีกสี่ปีก แต่ทันทีที่ลองหุบปีกทั้งสี่เข้าหากัน สิ่งที่ได้ก็น่าจะเป็นสามเหลี่ยมสี่ด้าน แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นมองจากมุมสูง พื้นที่รอบฐานอนุสาวรีย์ฯ จริงๆ แล้วเป็นวงกลม 

หมุด(ที่หายไป)ของคณะราษฎร, ‘เมื่อเวลาย่ำรุ่ง วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ….’ ที่หายไป แล้วถูกแทนที่โดยหมุด ‘ไพร่ฟ้าหน้าใส’ เมื่อมีของอีกอย่างถูกทำให้เชื่อว่าเป็น ‘ของแท้’ จนกระทั่งกลายเป็นมีมแห่งชาติ ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าตัวต้นตำรับหายไปไหน, ถูกทำลาย, เปลี่ยนสภาพ หรือไม่ก็ถูกนำไปหลอมเป็นเศษ สุดท้ายค่าวัดความเป็น ‘ของแท้’ กับ ‘ของปลอม’ อยู่ที่ตรงไหน (ต้องมาจากทางการก่อน แล้วค่อยยอมรับว่าเป็น ‘ของจริง’ หรือ ทำขึ้นมาใหม่ แล้วผ่านการเซ็นรับรอง จึงจะมีค่าเป็นของแท้ โดยไม่สนใจว่าข้างในจะผุจะพัง, ใช้การไม่ได้ และพร้อมจะถูกทำลายทิ้งเมื่อไม่เป็นที่ต้องการ) 

เหลือวิธีเดียวที่จะเปลี่ยนของ(ที่ว่า)แท้ให้ดูเป็นของเก๊ได้ คงต้องเริ่มที่ตัวของมันเองว่าผ่านการก็อป, ทำซ้ำ, เพิ่มจำนวน จนกระทั่งตัวสำเนากลายเป็นของจริง หลังจากนั้นก็คงต้องปล่อยให้ตัวสำเนาได้รับการปฏิบัติเยี่ยงของแท้ไปเรื่อยๆ เมื่อถึงวันหนึ่งตัวสำเนา replica ก็ย่อมเผลอหลุดข้อบกพร่องออกมา นำไปสู่การตรวจสอบย้อนกลับขึ้นไปหาต้นทาง จนกระทั่งถึงจุดที่ของ(ที่ว่า)แท้ชิ้นนั้นก็ใช้การไม่ได้ ตัว original ก็ย่อมที่จะถึงกาลปลดระวาง, ยุติการใช้งานและหมดอายุตัวของมันในที่สุด

สำนวน ‘ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง’ เองก็มีความเป็นสมบัติสาธารณะ (เท่าๆ กับที่ตัวของถ้อยคำเองก็มิได้ concieved ด้วยการเป็นหนังสั้น) เมื่อถึงวันหนึ่ง แม้แต่ภาพนิ่งรูปตัวละครคุณป้าเกาะโอ่งก็ได้ถูกใช้เป็นภาพประกอบปริศนาเกมโชว์ ในเวลาเดียวกันตัวหนังสั้น (และใบประกาศฯ) เองก็ผ่านการทำซ้ำจนหมดความเป็น original หมุดคณะราษฎร(และรัฐธรรมนูญ)ก็คงไม่ต่างกัน ในเมื่อแทบทุกฉบับผ่านการก็อปต่อๆ กันมา จะต่างกันก็แค่คำประกาศใช้ โดยยกเลิกฉบับเดิมทิ้ง(นับตั้งแต่วันนี้ๆๆๆ เป็นต้นไป) ทว่าเนื้อหา, สาระสำคัญยังคงเหมือนเดิม

‘คุณป้า’ อาจผันมาเป็นผู้ให้การรักษาบ้าง ในทันทีที่เธอได้รับน้ำมนต์ปลุกเสก (หลังเข้ารับการผ่าตัด เมื่อกำลังวังชาเริ่มเข้าที่เป็นปกติ), ตอนนี้คุณเป็นผู้เข้าเยี่ยม วัน(เอ๊ย ‘ซีน’)ถัดๆ มาถึงได้รู้ว่าคุณเป็นหมอ(ดูไพ่ยิปซี) แล้วก็ให้การรักษาหมดทั้งคุณป้า(ในทางขวัญและพลังใจ) แล้วคุณป้าได้นำทุกอย่างที่ว่ามาย้อนกลับไปรักษาคุณหมออีกต่อ พอ ‘ไก่จิกเด็กฯ’ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ 100 Times Reproduction of Democracy บ้าง ‘แม่หมอยิปซี’ ก็ข้ามเรื่องซึ่งสนธิจักรวาลเข้าไว้ด้วยกันเป็นที่เรียบร้อย หันมา ‘ให้การรักษา’ จุฬญาณนนท์ ด้วยคำแนะนำแก้กรรมตามวิธีเดียวกับคุณป้าคือไก่สะเดาะเคราะห์จำนวนร้อยตัว พร้อมสั่งกำชับห้ามทำหนังซึ่งมีเนื้อหาการเมือง พร้อมกับให้ย้อนกลับไปหาธรรมชาติ + ศิลปะ อย่าง ‘ภาพวาด’ 

กลายเป็นว่า inception ของจริง (ที่มิใช่หนังโนแลน) กลายเป็น ‘คำแนะนำของแม่หมอยิปซี’ ที่สุดท้ายก็พาทุกอย่างย้อนกลับไปตั้งต้นที่ลำธารมิตาเกะ(ธรรมชาติ) – ‘ข้างหลังภาพ’ (รูปวาด) – Forget Me Not ซึ่งทำให้หนังสองเรื่องจึงเป็นทั้งเงา, รอยคู่ขนานและสองหน้าบนเหรียญเดียวกัน หรือไม่ก็สองด้านซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามของกันและกัน:หมุดคณะราษฎร/หมุดไพร่ฟ้าหน้าใส, ด้าน emulsion/ด้านข้อมูลบนแผ่นดีวีดี (ที่ไม่สำคัญว่าเป็นแผ่นแท้หรือแผ่นไรท์ princo)

หรือแม้กระทั่ง แผ่นดิสค์ดีวีดีไรท์ ‘ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง’ -> หมุดคณะราษฎร -> ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เป็นรูปทรงเป็นวงกลมเหมือนกัน -> ตัวของประชาธิปไตยเองที่วนเป็นลูป เดี๋ยวตามเดี๋ยวทวนเข็มนาฬิกา 

The White Tiger : เมื่อเสือขาวแหกกรงไก่ และอินเดียใหม่สวมรอยอินเดียเก่า

บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

ผมมีโอกาสได้อ่าน The White Tiger ฉบับนวนิยายเมื่อราวสองปีก่อน แม้เนื้อเรื่องบางส่วนจะเลือนๆ ไปจากความทรงจำบ้างแล้ว แต่ก็ยังจดจำความแสบสันและร้ายกาจของตัวละครได้เป็นอย่างดี เมื่อทราบข่าวว่านวนิยายเรื่องนี้ถูกนำมาสร้างเป็นหนังและกำลังจะเตรียมฉายทาง Netflix จึงยิ่งตั้งตารอดู หลังจากได้ดูจนจบก็ยิ่งประทับใจว่านวนิยายถูกดัดแปลงมาเป็นหนังได้อย่างสมศักดิ์ศรี (โดยส่วนตัวผมคิดว่าตัวนวนิยายเองก็มีคุณสมบัติหลายอย่างที่เอื้อต่อการนำมาสร้างเป็นหนังอยู่พอสมควร) ในขณะที่กระแสตอบรับในโลกโซเชียลมีเดียเองก็ชื่นชมกันอย่างล้นหลาม

แต่สิ่งที่ทำให้ผมเซอร์ไพรส์กว่านั้นก็คือ การที่นวนิยายในปี 2008 ถูกนำมาสร้างเป็นหนังและฉายในปี 2021 ท่ามกลางเงื่อนไขและบริบทของการเมืองโลกร่วมสมัยในปัจจุบัน (โดยเฉพาะการงัดข้อกันระหว่างสองมหาอำนาจอย่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ข้อพิพาทระหว่างจีนกับอินเดีย และการเมืองโลกยุคหลังโดนัลด์ ทรัมป์) กลับยิ่งทำให้หนังมีถ้อยแถลงทางการเมืองส่วนตัวที่เลยพ้นออกไปจากตัวนวนิยายที่เป็นต้นฉบับอย่างคาดไม่ถึง เรียกได้ว่านี่ไม่ใช่แค่เพียงหนังที่ดัดแปลงจากนวนิยาย แต่ตัวหนังก็มีความเป็นการเมืองในตัวของมันเองที่ทำให้สามารถอ่านข้ามบริบทและอ่านนอกบริบทได้หลายระดับ

The White Tiger เล่าเรื่องราวของ พลราม ฮาลวัย ชายหนุ่มวรรณะต่ำจากหมู่บ้านแร้นแค้นแถบฝั่งแม่น้ำคงคา ที่ดิ้นรนไต่เต้าสร้างฐานะตัวเองขึ้นมาจนได้เป็นเจ้าของธุรกิจรถแท็กซี่ในเมืองบังกาลอร์ เมืองแห่งเทคโนโลยีและการลงทุน เมืองที่เปรียบเสมือนซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) แห่งอินเดีย แต่ภายใต้โฉมหน้าความร่ำรวยและธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ พลรามก็ค่อยๆ ลอกเปลือกชีวิตของเขาออกมาให้เราเห็นทีละชั้นๆ ว่า กว่าที่เขาจะมาถึงจุดนี้ได้ เขาต้องถีบตัวเองและถีบคนอื่นขึ้นมาอย่างไร

หนังดัดแปลงวิธีเล่าจากนวนิยายมาใช้ได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือให้พลรามในปัจจุบันในมาดนักธุรกิจหนุ่มผู้ประสบความสำเร็จ มานั่งเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาผ่านบทพูดคนเดียว (monologue) ที่สื่อสารและประจันหน้ากับผู้ชมโดยตรง เล่าเรื่องตัดสลับไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน โดยมีฉากหลังเป็นสำนักงานหรูหราในเมืองบังกาลอร์ น้ำเสียงเยียบเย็นแฝงกังวานความเย้ยหยัน สีหน้าและแววตาเหี้ยมเกรียมยามเล่าถึงอดีตอันดำมืดของตัวเอง ยิ่งขับเน้นสภาวะตัดขาดระหว่างตัวตนในอดีตกับตัวตนในปัจจุบันออกมาได้อย่างน่าขนลุก ราวกับว่าเขากำลังนั่งมองชีวิตของใครอีกคนหนึ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง ราวกับว่าพลรามในอดีตคือตัวตนที่เขาลอกคราบทิ้งไปและตื่นขึ้นมาเป็นพลรามในปัจจุบัน

สำหรับพลราม อินเดียแบ่งออกเป็นสองฝั่ง คืออินเดียในแสงสว่างกับอินเดียในความมืด เขาเกิดและเติบโตขึ้นในอินเดียมืด ชีวิตในวัยเด็กเป็นไปอย่างยากจนแร้นแค้น เขาอาศัยอยู่กับพ่อ พี่ชาย และย่า เด็กชายพลรามเป็นเด็กหัวไวและเฉลียวฉลาด ครูที่โรงเรียนถึงกับตั้งฉายาให้ว่า “เสือขาว” สัตว์หายากที่นานๆ ครั้งถึงจะถือกำเนิดขึ้นมาสักตัว แต่แล้วชีวิตก็ต้องพลิกผัน เมื่อพ่อของเขาตายลง ป่วยและตายไปอย่างคนยากไร้อนาถาต่อหน้าต่อตาเขา เด็กชายจึงต้องออกจากโรงเรียน มาทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านน้ำชากับพี่ชาย ค่าจ้างน้อยนิดที่ได้มาก็ถูกย่าใจร้ายริบเอาไป

พลรามทำงานในร้านน้ำชาอยู่หลายปีจนโตเป็นหนุ่ม วันหนึ่งเขาได้เห็น นกกระสา เศรษฐีเจ้าที่ดินจอมสูบเลือดสูบเนื้อ นั่งรถคันหรูมาเก็บค่าเช่าที่ดิน/ค่าคุ้มครองจากชาวบ้านพร้อมกับลูกชายสองคน ลูกชายคนโตชื่อ พังพอน กักขฬะ หยาบคาย และหน้าเลือดไม่ต่างจากพ่อ แต่คนที่โดดเด่นและแปลกต่างออกไปคือ มิสเตอร์อโศก ลูกชายคนเล็ก ชายหนุ่มหน้าตาหล่อเหลา สุภาพอ่อนโยน บุคลิกและนิสัยใจคอต่างจากพ่อและพี่ชายโดยสิ้นเชิง ต่อมาเมื่อพลรามได้รู้ว่ามิสเตอร์อโศกกำลังรับสมัครคนขับรถประจำตัว เขาจึงเริ่มมองเห็นทางสว่างในชีวิต เขากลับไปรบเร้าขอเงินจากย่าเพื่อไปเรียนขับรถ โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าได้เป็นคนขับรถของมิสเตอร์อโศกแล้ว จะต้องส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวทุกเดือน

มิสเตอร์อโศกเป็นหนุ่มนักเรียนนอกที่เพิ่งกลับจากอเมริกา เขากลับมาพร้อมกับ มาดามพิ้งกี้ ภรรยาสาวชาวอินเดียที่ไปพบรักกันที่อเมริกา ทั้งคู่เป็นคนหนุ่มสาวหัวสมัยใหม่ เชื่อในศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ รังเกียจระบบชนชั้นวรรณะ แบบแผนประเพณีคร่ำครึ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบอุปถัมภ์และการติดสินบนแบบเศรษฐีเจ้าที่ดินอย่างที่พ่อและพี่ชายของเขาต้องเข้าไปพัวพันเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ ความแตกต่างอย่างสุดขั้วทำให้พวกเขาทั้งสี่คนต้องปะทะคารมกันอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะมาดามพิ้งกี้ที่ไม่ยอมให้ตัวเองถูกกดด้วยค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ เธอพร้อมจะลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างเผ็ดร้อนเสมอ

เมื่อพลรามได้เข้ามาอยู่บ้านของมิสเตอร์อโศกในฐานะคนขับรถ เขาจึงอยู่ท่ามกลางแรงปะทะเหล่านี้ ได้รู้เห็นชีวิตและความคิดความอ่านของพวกคนรวย เห็นวิธีปฏิบัติต่อคนรับใช้ที่แตกต่างกันระหว่างมิสเตอร์อโศกกับพ่อและพี่ชาย ได้รู้เห็นแม้กระทั่งฉากการตกลงเรื่องสินบนระหว่างนกกระสากับนักการเมืองปีกสังคมนิยม นอกจากนั้น พลรามยังเรียนรู้ที่จะใช้เล่ห์กลทำให้ตัวเองกลายเป็นคนโปรด วันหนึ่งเขาใช้เล่ห์กลสกปรกบีบบังคับจนกระทั่งคนขับรถหมายเลขหนึ่งของบ้านซึ่งเป็นคนเก่าคนแก่ต้องลาออกไป

อย่างไรก็ดี หนังย้ำเตือนเราอยู่บ่อยครั้งว่า แม้มิสเตอร์อโศกกับมาดามพิ้งกี้จะปฏิบัติต่อพลรามอย่างให้เกียรติ แต่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเจ้านาย VS คนรับใช้ ความสัมพันธ์แบบผู้มีอารยธรรม/มีการศึกษา VS คนเถื่อน/คนไร้การศึกษา ก็ยังย้อนกลับมาจี้ไชและบาดลึกลงไปในจิตใจของพลรามอย่างที่ทั้งคู่ไม่รู้ตัว พร้อมๆ กับที่เปิดโปงให้เห็นความไร้เดียงสาของทั้งคู่ด้วย ดังเช่นในฉากหนึ่งที่อโศกกับพิ้งกี้เรียกพลรามเข้ามาถามลองภูมิเขาเรื่องอินเทอร์เน็ตและเฟซบุ๊ก พลรามไม่เคยรู้จักสิ่งนี้มาก่อนจึงตอบออกไปอย่างเปิ่นๆ เพื่อที่จะพบว่าทั้งคู่เห็นเขาเป็นตัวตลก เป็นคนแบบที่อโศกเรียกว่า “ลูกผีลูกคน” ที่รู้อะไรแบบครึ่งๆ กลางๆ แต่แสร้งทำเป็นรู้ดี

การปะทะกันบ่อยครั้งระหว่างเจ้านายกับคนรับใช้ (แม้จะเป็นไปโดยไม่รู้ตัว) ทำให้แรงตึงเครียดทางชนชั้นค่อยๆ คุกรุ่นขึ้นมา แม้อโศกกับพิ้งกี้จะเป็นคนหัวสมัยใหม่ที่ผ่านการศึกษาและได้รับความคิดหัวก้าวหน้ามาจากเมืองนอกเมืองนา แต่ตัวตนและวิธีคิดของทั้งคู่ก็ยังเป็นลูกผสมระหว่างสถานะความเป็นเจ้านายแบบเก่าที่เป็นเจ้าที่ดิน กับเจ้านายแบบใหม่ที่เป็นเจ้าอาณานิคม สายตาที่พวกเขามองพลรามจึงแทบไม่ต่างอะไรกับสายตาที่เจ้าอาณานิคมมองคนพื้นเมืองผู้ป่าเถื่อน พวกเขาอาจปฏิบัติต่อพลรามอย่างเป็นมนุษย์ “มากขึ้น” แต่ไม่ได้ปฏิบัติต่อพลรามในฐานะมนุษย์ที่ “เท่าเทียม” กันกับพวกเขา

สายตาที่พวกเขามองพลรามจึงแทบไม่ต่างอะไรกับสายตาที่เจ้าอาณานิคมมองคนพื้นเมืองผู้ป่าเถื่อน พวกเขาอาจปฏิบัติต่อพลรามอย่างเป็นมนุษย์ “มากขึ้น” แต่ไม่ได้ปฏิบัติต่อพลรามในฐานะมนุษย์ที่ “เท่าเทียม” กันกับพวกเขา

หนังจึงโยนคำถามกลับมาว่า ใครกันแน่ที่เป็นพวก “ลูกผีลูกคน” คนนอก/คนชั้นบนที่มองลงมาจากหอคอยงาช้างแล้วคิดว่าตัวเองรู้ดีทั้งหมด หรือคนใน/คนชั้นล่างที่สร้างปราสาทราชวังให้พวกเขาได้เสวยสุข เพื่อให้พวกเขาถ่มถุยและดูถูก เพื่อให้พวกเขาได้สูงส่งกว่า สะอาดกว่า แปดเปื้อนน้อยกว่า คนวรรณะต่ำที่ชีวิตไร้ทางเลือกอย่างพลราม หรือคนวรรณะสูงอย่างอโศกที่จะว่าเป็นเจ้าที่ดินก็ไม่ใช่ เจ้าอาณานิคมก็ไม่เชิง แต่กลับได้รับประโยชน์จากการเล่นทั้งสองบทบาทนี้

เช่นเดียวกับนวนิยาย หนังใช้อุปมาเรื่อง “กรงไก่” เป็นภาพแทนโครงสร้าง/ระบบชนชั้นวรรณะที่คอยกดขี่และสูบเลือดสูบเนื้อผู้คน พลรามประจักษ์แก่ใจตัวเองว่าคนอินเดียวรรณะต่ำอย่างเขามีสภาพไม่ต่างจากบรรดาไก่ที่อยู่ในกรงรอเชือด ถูกกล่อมเกลาให้เชื่อง ถูกทำให้เชื่อว่าตัวเองไม่สามารถมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ ถูกทำให้เชื่อว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตที่เพียงแค่หาทางซิกแซ็กเอาตัวรอดจากผู้มีอำนาจได้ และซาบซึ้งกับเศษเงินเพียงน้อยนิดที่พวกเขาหว่านโปรยลงมา (หรือไม่ก็ซาบซึ้งที่พวกเขาไม่ปล้นไปจนหมด) สำหรับพลราม กรงไก่จึงอยู่ทุกหนทุกแห่ง อยู่ในกำมือที่จะบีบก็ตายจะคลายก็รอดของคนรวยและผู้มีอำนาจ อยู่ในการเอาเปรียบและกัดกินกันเองระหว่างคนจนด้วยกัน อยู่ในความใฝ่ฝันอันจำกัดจำเขี่ยที่อยากเป็นเพียงคนรับใช้และมอบกายถวายชีวิตเป็นคนรับใช้ที่ดี อยู่ในความหน้าไหว้หลังหลอกของนักการเมืองปีกสังคมนิยมที่แอบจูบปากกับนายทุนขูดรีด สิ่งเหล่านี้ทำให้พลรามได้ข้อสรุปกับตัวเองว่าอินเดียมีอยู่แค่ 2 วรรณะ คือวรรณะพุงกางกับวรรณะพุงแฟบ มีโชคชะตาอยู่ 2 แบบ ไม่กินก็ถูกกิน

ครึ่งหลังของเรื่องย้ายฉากมาที่เมืองนิวเดลี เมืองหลวงและศูนย์กลางความเจริญของประเทศ พลรามต้องขับรถพามิสเตอร์อโศกเข้าออกระหว่างธนาคารกับทำเนียบรัฐบาล การวิ่งเต้นติดสินบนเพื่อเลี่ยงภาษีให้กับธุรกิจของพ่อ ภารกิจยืดเยื้อนานนับเดือน ภาพเงินเป็นฟ่อนที่ถูกถอนออกมาผ่านหูผ่านตาพลรามไม่เว้นแต่ละวัน ภาพชีวิตฟุ้งเฟ้อของอโศกกับพิ้งกี้ท่ามกลางความหรูหราฟู่ฟ่าของเมืองยิ่งเย้ายวนให้ความคิดฝันของพลรามเตลิดไปไกล ภาพที่ตัดกันระหว่างคอนโดหรูหราในย่านคนรวยของอโศก กับห้องพักสกปรกซอมซ่อสำหรับคนขับรถ ยิ่งทำให้พลรามรู้สึกแปลกแยกกับตัวเอง ความแปลกแยกเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นความคุกรุ่น “เสือขาว” ในตัวเขาจึงวิ่งชน “กรงไก่” แรงขึ้นเรื่อยๆ

แต่เหตุการณ์ที่กลายเป็นจุดแตกหักจริงๆ เกิดขึ้นเมื่อพลรามถูกบังคับให้รับผิดแทนมาดามพิ้งกี้ในอุบัติเหตุขับรถชนคนตาย นั่นยิ่งทำให้พลรามได้ตระหนักว่าอย่างไรเสียเจ้านายที่แสนดีของเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของ “กรงไก่” อยู่วันยังค่ำ เมื่อพวกเขาทำผิด กรงไก่ก็พร้อมจะปกป้องพวกเขา และถีบคนอย่างพลรามเข้าไปรับผิดแทน

เมื่อความซื่อสัตย์ภักดีขาดสะบั้น ความเคียดแค้นชิงชังจึงเข้ามาแทนที่ หนังถ่ายทอดภาพจิตสำนึกที่กำลังเปลี่ยนแปลงออกมาได้อย่างทรงพลัง เมื่อสายตาที่เขามองตัวเองเปลี่ยนไป สายตาที่เขามองเจ้านายและโลกรอบตัวก็เปลี่ยนไป ราวกับสิ่งละอันพันละน้อยรอบตัวต่างร่วมกันกระซิบถ้อยคำแห่งการต่อต้าน ฉากหนึ่งที่ทรงพลังคือฉากที่พลรามมองเห็นพ่อตัวเองอย่างเป็นภาพนิมิตในร่างของคนถีบสามล้อ พ่อบอกเขาว่าสิ่งที่มิสเตอร์อโศกกำลังทำคือการติดสินบนเพื่อเลี่ยงภาษี การเลี่ยงภาษีที่ไม่ต่างอะไรกับการขโมยไปจากคนจนๆ อย่างเขาและพ่อของเขา

ในท้ายที่สุด เมื่อแรงตึงเครียดทางชนชั้นมาถึงจุดระเบิด พลรามจึงตัดสินใจฆ่ามิสเตอร์อโศก และขโมยเงินสี่ล้านรูปีที่มิสเตอร์อโศกเตรียมจ่ายสินบนให้กับ “นักสังคมนิยมผู้ยิ่งใหญ่” ไป อย่างไรก็ดี หากมองในเชิงสัญลักษณ์ ไม่ใช่แค่มิสเตอร์อโศกเท่านั้นที่ถูก “ฆ่า” พลรามเองก็ถูก “ฆ่า” ด้วย แต่เป็นการถูกฆ่าในเชิงสัญลักษณ์ ดังนั้น มันจึงทั้งทรงพลังอย่างยิ่งเมื่อท้ายที่สุดแล้วพลรามสวมรอยกลายเป็นอโศก แต่เขาไม่ใช่ทั้งพลราม ไม่ใช่ทั้งอโศก วาทกรรม “ลูกผีลูกคน” ย้อนกลับมาเล่นซ้ำอย่างชวนหัว แต่ที่ร้ายกาจยิ่งกว่านั้นคือการที่พลรามบอกกับเราด้วยความสะใจว่า ที่เขาสามารถรอดพ้นจากการถูกจับกุมในข้อหาฆาตกรรมมาได้ ก็เพราะเขารู้จักใช้ “กรงไก่” ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง เขาพาทั้งตัวเองและธุรกิจรอดมาได้ก็ด้วยการติดสินบนนั่นเอง

หากเราเอาชีวิตของพลรามกับอโศกมาวางเทียบกัน จะพบว่าทั้งคู่ต่างเป็นคนที่พยายามจะหลุดออกจากรากเหง้า/ครอบครัวของตัวเองเหมือนกัน แต่คนรวยอย่างอโศกหลุดได้ยากกว่าเพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจและผลประโยชน์ล็อคไว้แน่นหนากว่า ในขณะพลรามแทบไม่มีสายสัมพันธ์อะไรกับครอบครัวเลย ตอนเป็นเด็กก็เห็นพ่อตัวเองตายอย่างอนาถา พี่ชายก็ถูกย่าสูบเลือดสูบเนื้ออยู่ชั่วนาตาปี เขามองไม่เห็นว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่ในสภาพแบบนี้ได้อย่างไร สำหรับพลราม ครอบครัวจึงเป็นความเลวร้ายที่คอยแต่จะถ่วงรั้งและเอาเปรียบ ไม่มีต้นทุนชีวิตที่ต้องรักษา เขาจึงหลุดออกจากครอบครัวได้ง่ายกว่า ไปเป็นแรงงานราคาถูก ล่องลอยไปอย่างไร้ราก พร้อมกับสำนึกแบบปัจเจกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อมองเห็นลู่ทางชีวิตในความฝันแบบทุนนิยม/เสรีนิยมใหม่ ที่ไม่สนใจว่าเป็นใคร มาจากไหน ครอบครัวอยู่ที่ไหน (แบบที่ระบบเดิมพยายามจะใช้สิ่งเหล่านี้เป็นกลไกควบคุมแรงงาน) ก็ยิ่งทำให้ความไร้รากสองอย่างนี้มาสมรสกันได้พอดิบพอดี

ทั้งคู่ต่างเป็นคนที่พยายามจะหลุดออกจากรากเหง้า/ครอบครัวของตัวเองเหมือนกัน แต่คนรวยอย่างอโศกหลุดได้ยากกว่าเพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจและผลประโยชน์ล็อคไว้แน่นหนากว่า ในขณะพลรามแทบไม่มีสายสัมพันธ์อะไรกับครอบครัวเลย … สำหรับพลราม ครอบครัวจึงเป็นความเลวร้ายที่คอยแต่จะถ่วงรั้งและเอาเปรียบ ไม่มีต้นทุนชีวิตที่ต้องรักษา เขาจึงหลุดออกจากครอบครัวได้ง่ายกว่า

มิหนำซ้ำยังได้เห็นความอ่อนแอและเหลวแหลกของพวกคนรวยที่เป็นเจ้านายตัวเอง ความหน้าไหว้หลังหลอกของนักสังคมนิยมผู้ยิ่งใหญ่ ดังนั้นแล้วคนอย่างพลรามจึงหลุดออกจากทุก “ราก” ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน ระบบชนชั้นวรรณะ แม้กระทั่งสำนึกทางชนชั้น/สำนึกทางอุดมการณ์ หนังทั้งเรื่องจึงถูกถ่ายทอดออกมาด้วยความสะใจ นี่ไม่ใช่หนังว่าด้วย “การต่อสู้ทางชนชั้น” แต่คือหนังที่คนจนลุกขึ้นมาตบหน้าคนรวย ย้อนเกล็ดคนรวย และบอกให้รู้ว่าเกมที่คนรวยคิดว่าตัวเองเล่นเป็นฝ่ายเดียว คนจนเองก็เล่นเป็นเหมือนกัน แถมยังเล่นได้ดีกว่าด้วย แต่ที่เขาต้องเป็นคนจนก็เพราะว่าเขาไม่รู้กติกา มิหนำซ้ำยังถูกกีดกันออกจากเกมการแข่งขันอยู่ร่ำไป

หากอินเดียแบ่งออกเป็นอินเดียในความมืดกับอินเดียในแสงสว่าง สิ่งที่ชีวิตของพลรามกำลังบอกกับเราก็คือ ไม่ใช่แค่ในอินเดียฝั่งความมืดหรอกที่เต็มไปด้วยความมืด อินเดียในฝั่งแสงสว่างก็เต็มไปด้วย “ความมืด” ไม่ต่างกัน เพราะมีแต่ความมืดเท่านั้นที่จะอำพราง “ผู้ล่า” เอาไว้ไม่ให้ “ผู้ถูกล่า” รู้ตัว


ดู The White Tiger ได้ที่ Netflix

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 11 ก.พ. 64

สัปดาห์ตรุษจีนที่แสนเงียบเหงา

ตามปกติแล้ว สัปดาห์ตรุษจีนมักเป็นช่วงเวลากอบโกยของโรงหนัง แต่สำหรับปีนี้กลับไม่เป็นอย่างนั้น แม้ว่าจะมีหนังใหม่เข้าฉายถึง 6 เรื่องแล้วก็ตาม ทว่าก็ยังไม่แข็งแรงพอที่จะดึงคนกลับเข้าโรงได้อีกครั้ง ซึ่งหนังที่ทำรายได้สูงสุด คือ Shadow in the Cloud ที่ทำเงินไปแค่ 0.23 ล้านบาท

รายได้หนังประจำวันที่ 11 ก.พ. 64

  1. Shadow in the Cloud – 0.23 ล้านบาท
  2. The Cursed Lesson – 0.08 ล้านบาท
  3. Jiu Jitsu – 0.06 (1.75) ล้านบาท
  4. I Remember – 0.05 ล้านบาท
  5. Monster Hunter. — 0.02 (24.21) ล้านบาท
  6. วอน (เธอ) Director’s Cut – 0.02 (0.40) ล้านบาท
  7. The Long Walk – 0.02 ล้านบาท
  8. Soul – 0.02 (16.14) ล้านบาท
  9. Happiest Season – 0.02 (0.48) ล้านบาท
  10. Demon Slayer: Kimetsu No Yaiba – 0.01 (73.95) ล้านบาท

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 4-10 ก.พ. 64

กลายเป็นสัปดาห์ของ จา พนม เพราะสองอันดับแรกของหนังทำเงินประจำสัปดาห์ นำแสดงโดยพระเอกนักบู๊ชาวไทยคนเดียวกัน คือ Jiu Jitsu กับ Monster Hunter อย่างไรก็ดี โรงหนังยังไม่กลับเข้าสู่สภาวะคึกคักได้อย่างที่ควรจะเป็นอยู่ดี

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 4-10 ก.พ. 64

  1. Jiu Jitsu – 1.69. ล้านบาท
  2. Monster Hunter – 0.59 (24.19) ล้านบาท
  3. Happiest Season – 0.47 ล้านบาท
  4. วอน (เธอ) Director’s Cut – 0.38 ล้านบาท
  5. Ideal Home – 0.24 ล้านบาท
  6. Wonder Woman 1984 – 0.24 (64.41) ล้านบาท
  7. Soul – 0.17 (16.13) ล้านบาท
  8. The End of the Storm – 0.17 (1.12) ล้านบาท
  9. Demon Slayer: Kimetsu No Yaiba – 0.16 (73.93) ล้านบาท
  10. Songbird – 0.14. (2.27) ล้านบาท

18 Again : ใบหน้าที่ไม่สวยงามของ ‘ความรัก’ และรูปร่างที่อัปลักษณ์ของ ‘ครอบครัว’

“ถ้านี่เป็นการปิดฉากลงเหมือนตอนจบของหนัง ชีวิตของผมคงจบลงอย่างมีความสุขไปแล้ว …ทว่าความเป็นจริงนั้นกลับเต็มไปด้วยตอนจบแบบปลายเปิด การหักมุมสู่ความโชคร้ายจึงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไร และชีวิตก็คงต้องดำเนินต่อไปเช่นนั้น”

— นี่คือคำพูดปลงตกที่ตัวละครเอกจาก 18 Again (2020) เอ่ยขึ้นในซีเควนซ์เปิดเรื่องขณะที่เขากับคนรักกำลังตระกองกอดกันด้วยรอยยิ้มและหยาดน้ำตาท่ามกลางแสงอาทิตย์อัสดง โดยที่อาจยังไม่มีใครคาดคิดว่า ‘ชีวิต’ จะโหดร้ายกับพวกเขาจนผู้ชมอย่างเราต้องน้ำหูน้ำตาไหลกันถ้วนหน้าในตอนถัดๆ มา

ซีรีส์สัญชาติเกาหลีใต้เรื่องนี้ -ที่ดัดแปลงจากหนังรอมคอมอเมริกันอย่าง 17 Again (2009, กำกับโดย เบอร์ สเตียร์ส และนำแสดงโดย แซ็ก เอฟรอน) และถูกขยายต่อยอดจนมีความยาวถึง 16 ตอนได้อย่างน่าอัศจรรย์- เล่าถึงชายอายุ 37 อย่าง ฮงแดยอง ที่จู่ๆ ก็ได้รับโอกาสให้ ‘ย้อนวัย’ กลับไปเป็นตัวเองตอนอายุ 18 ที่ยังหล่อเหลาหนุ่มแน่นอีกครั้ง เพื่อหาหนทางกอบกู้ชีวิตที่กำลังดิ่งลงเหว เขา-ในคราบของ โกอูยอง เด็กนักเรียนมัธยมปลายหน้าใสที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่-จึงต้องรับมือกับโลกและคนรอบข้าง โดยเฉพาะกับครอบครัวที่ ‘ต่อไม่ติด’ กันมานาน ทั้งภรรยาที่ต้องการจะหย่าให้เร็วที่สุด และลูกสาว/ลูกชายวัยรุ่นที่ไม่ได้รู้สึกสนิทใจกับ ‘พ่อ’ อย่างเขาอีกต่อไป

เรื่องราวทั้งหมดนี้เริ่มขึ้นเมื่อ 18 ปีก่อน ตอนที่ฮงแดยอง (รับบทวัยหนุ่มและวัยผู้ใหญ่โดย อีโดฮยอน และ ยุนซังฮยอน) ยังมีสถานะเป็นนักบาสเกตบอลหนุ่มสุดฮ็อตประจำโรงเรียน ชีวิตของเขาเกือบจะประสบความสำเร็จในฐานะว่าที่นักศึกษาทุนนักกีฬาของมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทว่าชะตากรรมก็กลับต้องพลิกผัน เมื่อ จองดาจอง (รับบทวัยสาวและวัยผู้ใหญ่โดย ฮันโซอึน และ คิมฮานึล) แฟนสาวร่วมชั้นบอกกับเขาว่า ‘เธอกำลังตั้งครรภ์’ ทั้งสองจึงต้องยุติความฝันของตน-ทั้งการเป็นนักกีฬาอาชีพของฝ่ายชายและการเป็นผู้ประกาศข่าวของฝ่ายหญิง-รวมถึงชะลอการเรียนต่อมหาวิทยาลัยเอาไว้ก่อน เพื่อออกมาทำงานหาเงินเลี้ยงดูส่งเสียลูกแฝดชายหญิง และใช้ชีวิตเป็น ‘พ่อแม่’ อยู่เช่นนั้นอีกเกือบตลอดสองทศวรรษถัดมา

อันที่จริง ความสัมพันธ์ระหว่างฮงแดยองกับจองดาจองในช่วงแรกเริ่มนั้นเคยดำเนินมาอย่างสมบูรณ์แบบและสวยสดงดงามตามสูตรสำเร็จ ทั้งคู่ปิ๊งกันขณะที่ฝ่ายชายพุ่งตัวเข้ามาช่วยดึงฝ่ายหญิงให้รอดพ้นจากการโดนรถเฉี่ยวชนบริเวณทางแยก, ลอบส่งสายตาหวานหยดในชั้นเรียนและคอยกางร่มให้กันในวันฝนตก, สารภาพรักกันทั้งกลางสนามบาสเก็ตบอลและกลางคอนเสิร์ตงานโรงเรียน, คบหาดูแลกันในฐานะคู่รักที่ใครหลายคนต้องอิจฉา กระทั่งสัญญาว่าจะจับมือเคียงข้างกันไปจนแก่เฒ่า

จนวันที่หญิงคนรักตัดสินใจเดินมาเปิดเผยเรื่อง ‘ลูก’ กับเขาก่อนการแข่งขันนัดสำคัญนั่นเอง ที่ทำให้ ‘ความสวยงาม’ ของความรักค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็น ‘ความอัปลักษณ์’ เมื่อเวลาล่วงผ่านไปปีแล้วปีเล่า

จองดาจองสะสมความผิดหวังที่มีต่อสามีเรื่อยมา นับตั้งแต่ตอนที่เขาเสนอทางเลือกให้เธอทำแท้งเพื่อให้ชีวิตวัยรุ่นของทั้งคู่กลับคืนสู่สภาวะปกติ, ตอนที่เขาเริ่มเอาแต่นั่งดื่มเหล้าทุกค่ำคืน จนกลายสภาพเป็น ‘คนขี้เมา’ ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การงาน และมิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมรุ่น, มาจนถึงตอนที่เขามองเห็นแต่ความทุกข์ของตนและมักเอาความหงุดหงิดนั้นมาลงกับคนในครอบครัว จนภรรยาอย่างเธอแทบจะเป็นเพียงคนเดียวที่คอยใส่ใจดูแลลูกๆ

ขณะที่ฮงแดยองเองก็รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในชะตาชีวิตถัดจากนั้น เพราะเขาต้องแบกรับความรู้สึกผิดที่เคยอยากให้ภรรยาทำแท้ง, ต้องยอมทิ้งโอกาสในการกลับไปเป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอลอีกหน เนื่องด้วยต้องเอาเวลาไปทำงานให้หนักขึ้นเพื่อหาเงินมารักษาลูกที่ป่วยเรื้อรัง จนตัวเองต้องหันไปพึ่งเหล้า, และต้องอดทนกับการถูกกดขี่ในฐานะช่างซ่อมเครื่องซักผ้าต๊อกต๋อยมาเป็นสิบปี เพียงเพื่อรอให้เด็กใหม่ที่มีเส้นสายดีกว่าได้รับการโปรโมตเลื่อนขั้นแทนเขา

ใบหน้าที่ไม่สวยงามของความรักที่ฮงแดยองและจองดาจองมองเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้คนทั้งคู่ในวัยร่วงโรยรู้สึก ’หมดใจ’ และใช้เวลาที่เหลือวันแล้ววันเล่าไปกับการพยายามหลบลี้หนีห่างจากด้านที่อัปลักษณ์ของชีวิตนั้น ซึ่งนั่นก็ทำให้พวกเขามองไม่เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดที่แท้จริงภายใต้ใบหน้าที่เย็นชาหรือโกรธขึ้งของ ‘คนข้างกาย’ อยู่บ่อยครั้ง

และเมื่อ ‘ความรัก’ ของทั้งคู่แห้งผากทรุดโทรมจนแทบไม่เหลือสิ่งใดให้อยากเชยชมเหมือนสมัยหนุ่มสาว ‘ครอบครัว’ ที่พวกเขาร่วมสร้างกันมาด้วยความหวังล้มๆ แล้งๆ ว่ามันจะสวยงามเฉกเช่นเดียวกับความรักในช่วงแรกเริ่มนั้น จึงแปรผันไปสู่รูปร่างที่อัปลักษณ์ไม่ต่างกัน 

สถานะ ‘การเป็นพ่อคนแม่คน’ ของฮงแดยองและจองดาจองเคยเริ่มต้นด้วยความน่าซาบซึ้งใจ เพราะในตอนนั้น ถึงแม้ฝ่ายชายจะผลุนผลันเสนอให้ฝ่ายหญิงทำแท้ง แต่สุดท้าย เมื่อหัวใจของลูกแฝดในท้องของคนรักทำท่าว่าจะหยุดเต้นไปเสียก่อน เขาก็พบว่าไม่มีใครในชีวิตที่สำคัญกับเขามากไปกว่าภรรยาและลูกๆ อีกแล้ว ซึ่งเหตุการณ์การดังกล่าวทำให้ผัวหนุ่มเมียสาวคู่นี้ช่วยกันประคบประหงมลูกแฝดอย่างดีที่สุด โดยยอมเสียสละทั้งวิถีชีวิตและความฝันส่วนตัวเพื่อให้ครอบครัวของพวกเขาได้มีความสุข

ทว่าในตอนนี้ หลังจากที่ลูกสาว-ลูกชายเติบใหญ่เป็นวัยรุ่นมัธยมปลาย ภาพ ‘ครอบครัวแสนสุข’ ก็ดูจะไม่เป็นไปตามที่คาด เพราะนอกจากลูกๆ จะทำตัวเหินห่างและปฏิเสธที่จะแบ่งปันเรื่องราวในชีวิตของตนให้พ่อแม่อย่างพวกเขาฟังแล้ว ฮงแดยองและจองดาจองเองก็แทบจะเลิกใส่ใจความรู้สึกของกันและกันไปโดยปริยาย กล่าวคือฝ่ายชายเลือกที่จะหลบหนีชีวิตประจำวันสุดเส็งเคร็งของเขาด้วยการนั่งกินเหล้าดูเบสบอลให้เมาหลับ ส่วนฝ่ายหญิงก็หันไปทุ่มเทกับความฝันในการเป็นผู้ประกาศของเธออีกครั้ง แม้อายุอานามจะไม่เอื้อต่อการก้าวเข้าสู่วงการข่าวอีกแล้วก็ตาม — ซ้ำร้าย ความสัมพันธ์อันตะกุกตะกักระหว่างฮงแดยองกับพ่อ (ที่เคยไล่เขาออกจากบ้านหลังรู้ว่าลูกชายทำลูกสาวคนอื่นท้อง) และแม่ยาย (ที่เคยทำเหมือนไม่พอใจที่ได้คนอย่างเขามาเป็นลูกเขย) ก็ดูจะยังคงย่ำอยู่กับที่

‘ครอบครัว’ ของพวกเขาจึงดูคล้ายกับ ‘ร่างกาย’ ที่ปราศจากการดูแลเอาใจใส่ จนทรุดโทรมลงอย่างแสนอัปลักษณ์ และรอเพียงเวลาที่จะแตกดับในอีกไม่ช้าไม่นาน

ฉะนั้น การที่ฮงแดยองได้รับปาฏิหาริย์ในการย้อนวัยกลายเป็นเด็กหนุ่มอายุ 18 อีกครั้ง และได้กลับเข้าไปมีบทบาทอยู่ในชีวิตของลูกๆ, ภรรยา, หรือแม้แต่พ่อกับแม่ยาย ในฐานะของ ‘เพื่อนร่วมชั้น’ หรือ ‘เพื่อนลูก/เพื่อนหลาน’ จึงเหมือนกับเป็นโอกาสครั้งใหม่ที่ทำให้เขาได้ค่อยๆ กลับมาทำความเข้าใจกับสิ่งที่เขาเคยมองข้ามไปตลอดชีวิตการเป็น ‘คนรัก’ และ ‘คนในครอบครัว’

ได้มองเห็นว่า เหตุใดภรรยาถึง ‘หมดใจ’ กับเขา, ได้มองเห็นว่า ทำไมลูกๆ ถึงไม่กล้าเล่าปัญหาของตนให้เขาฟัง, ได้มองเห็นว่า แท้จริงแล้ว พ่อกับแม่ยายรักเขา-และครอบครัว-มากแค่ไหน, และได้มองเห็นว่า ความบกพร่องผิดพลาดของเขาที่ทำให้สมาชิกในบ้านต้องเอือมระอามากขึ้นทุกวันคืออะไร

ขณะที่ผู้ชมอย่างเราก็ได้มองเห็น ‘ใบหน้าที่ไม่สวยงามของความรัก’ และ ‘รูปร่างที่อัปลักษณ์ของครอบครัว’ ในอีกมุมหนึ่ง ว่าสิ่งเหล่านี้คือ ‘ความจริงแท้ของชีวิต’ ที่ถึงอย่างไรก็ต้องเผยตัวหรือส่งผลกระทบกับชีวิตของเราเข้าสักวัน และหลายครั้ง มันก็เป็นความผุพังทรุดโทรมของ ‘ความรัก’ และ ‘ครอบครัว’ ที่เกิดจากการกระทำอันไม่ใส่ใจ ‘คนอื่น’ ของตัวเรานั่นเอง ไม่ว่าเราจะมีสถานะเป็นลูกหลาน, เป็นพ่อแม่ หรือเป็นปู่ย่าตายายก็ตาม

ตัวตนและชีวิตของเราทุกคนล้วนมีด้านที่ไม่สวยงามให้ต้องพบเจออยู่เสมอ แต่คำถามก็คือ เมื่อไหร่เราจะยอมพินิจพิจารณาถึงความอัปลักษณ์ในความสัมพันธ์เหล่านั้น แล้วฟื้นฟูเยียวยาใบหน้าและรูปร่างของพวกมันให้กลับมางดงามเสียที

หรือถึงที่สุดแล้ว, มนุษย์เราจะสามารถเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับความอัปลักษณ์-ที่อาจไม่มีโอกาสหวนกลับไปกอบกู้ได้แบบฮงแดยอง-ทั้งของตัวเองและคนรอบข้างอย่างรู้เท่าทันได้หรือไม่ ก่อนที่เวลาชีวิตจะสิ้นสุดลง

— ทั้งหมดนี้อาจเป็นสิ่งที่ซีรีส์ 18 Again ต้องการให้เราตระหนักถึงอยู่ทุกขณะจิตก็เป็นได้

เมื่อลูกสาวนายพลคือหัวเรือใหญ่วงการหนังเมียนมาร์

ต้นปี 2017 บริษัทโปรดักชั่นของเมียนมาร์ 7th Sense Creation ก่อตั้งขึ้นและได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม เพราะหัวเรือหลักคือ ขิ่น ทริ เธ็ต มอน ลูกสาวแท้ๆ ของนายพลผู้กุมกำลังกองทัพทั้งหมดอย่าง มิน อ่อง หล่าย -ซึ่งในอีกสี่ปีต่อมา เขาจะรัฐประหารรัฐบาลประชาธิปไตยของเมียนมาร์- ร่วมกันกับมิตรสหายของเธอที่ล้วนเป็นลูกชายลูกสาวคนในกระทรวงใหญ่โต และหลังจากก่อตั้งได้สองปี สตูดิโอ 7th Sense Creation ผลิตหนังไปทั้งสิ้นแปดเรื่องรวมถึง Clinging with Hate (2018) ที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีประกวดใหญ่ที่สุดของเมียนมาร์

และในปี 2019 สตูดิโอก็ไปคว้าตัว เน โท และ วุด มน ชเว ยี นักแสดงชายหญิงระดับแม่เหล็กของเมียนมาร์มาเซ็นสัญญาตกลงทำงานร่วมกัน ก่อนที่ในอีกหนึ่งปีต่อมา ภายหลังจากมิน อ่อง หล่าย รัฐประหารรัฐบาลของออง ซาน ซูจีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วุด มน ชเว ยีรวมทั้งนักแสดงแถวหน้าอีกหลายคนจะออกมาประณามการกระทำอันอัปยศนี้ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเองแทบจะในทันที

มองจากภาพรวม เราอาจพอสรุปได้ว่า มันเป็นเครือข่ายของกองทัพที่แฝงเร้นเงียบเชียบอยู่กับธุรกิจอื่นๆ และหากินกับรายได้ที่งอกเงยขึ้นมาจากการลงทุนในระบบครัวเรือน แต่สิ่งที่ทำให้ 7th Sense Creation ถูกจับตามองมากกว่าบริษัทอื่นๆ ไม่ใช่แค่เพราะมันก่อกำเนิดขึ้นมาจากการก่อตั้งของลูกสาวนายพล แต่เพราะย้อนกลับไปในอดีต ตัวมิน อ่อง หล่ายในฐานะนายพลเองออกคำสั่งเข้มงวดกับระบบเซ็นเซอร์หนังทั้งในและต่างประเทศ จนเราอาจจะพูดได้ว่า ตัวมิน อ่อง หล่ายนั้นไม่ได้เป็นที่รักของคนทำหนังและนักดูหนังชาวเมียนมาร์ หรือมากกว่านั้น คือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างระบบเซ็นเซอร์อันเข้มงวดขึ้นมาด้วยเสียเอง

Clinging with Hate (2018)

และหากว่าขิ่น ทริ เธ็ต มอนผู้เป็นลูกสาวสร้างบริษัททำหนัง ลูกสะใภ้นายพลอย่าง เมียว โรดานา ไท้ ก็เป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์หัวใหญ่ๆ ตลอดจนเป็นผู้จัดรายการประกวดนางงามในนามของบริษัท Stellar Seven Entertainment Company… ซึ่งก็แน่นอนว่าก่อตั้งในปี 2017 เช่นเดียวกันกับ 7th Sense Creation และเป็นที่เชื่อกันว่า ทั้งลูกสาวและลูกสะใภ้ของมิน อ่อง หล่ายต่างก็นั่งกำเงินนับพันล้านจ๊าดในฐานะหัวเรือใหญ่ของอุตสาหกรรมยักษ์นี้ และหากวัดกันที่จำนวนปีที่ทั้งสองบริษัทก่อกำเนิด เงินจำนวนนี้นับว่ามหาศาลและชวนให้สื่อมวลชนขุดค้นว่าต้นธารของมันนั้นอยู่ที่ไหน อะไรทำให้พวกเขามีทุนสร้างหนังได้มหาศาลภายในเวลาไม่กี่ปี

ตลาดอุตสาหกรรมหนังเมียนมาร์นั้นขยายตัวใหญ่ขึ้นทุกปีๆ ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่เมียนมาร์จะเข้าสู่ยุคเผด็จการเต็มตัวเมื่อปี 1950 เราอาจจะกล่าวได้ว่า ช่วงเวลานั้นคือ ‘ยุคทอง’ ของวงการ เมื่อเมียนมาร์นำเข้าและผลิตหนังที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย Pyo Chit Lin (1950) หนังคอมิดี้ประวัติศาสตร์ของผู้กำกับ ทิน เมียนต์ ที่สร้างบนฐานเงินทุนจำกัดจำเขี่ยจนต้องเลือกระหว่างการถ่ายหนังด้วยเสียงที่ดีพร้อม หรือจะถ่ายด้วยงานภาพสีซึ่งเป็นของใหม่สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์เมียนมาร์ในเวลานั้นมาก (ท้ายที่สุด เขาเลือกทำหนังสี ซึ่งกลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของวงการหนังเมียนมาร์ในที่สุด) รวมทั้งการกำเนิดขึ้นของโรงภาพยนตร์สแตนอะโลนด์มากหน้าหลายตา มีบันทึกว่าช่วงนั้น ในระยะไม่กี่ช่วงถนนมีโรงภาพยนตร์เกิดขึ้นมากถึงแปดแห่ง เพื่อรองรับจำนวนภาพยนตร์ทั้งที่เมียนมาร์ผลิตเองและนำเข้าเป็นจำนวนมาก ก่อนจะเจอเกมล้มกระดานเมื่อเมียนมาร์เข้าสู่ยุครัฐเผด็จการเต็มตัวในปี 1960 กล่าวคือเมียนมาร์เคยผ่านจุดรุ่งเรืองมาแล้ว และกลายเป็นว่าปัจจุบันได้ก่อเกิดความหวังของคนทำหนังชาวเมียนมาร์ที่อยากจะพาวงการกลับไปแตะยังจุดนั้นอีกหน หรืออาจจะไปไกลกว่านั้นคือพาหนังไปสู่ความเป็นสากลมากขึ้น

Pyo Chit Lin (1950)

แน่นอนว่าตัวขิ่น ทริ เธ็ต มอนเองเคยชี้แจงว่า เธอไม่ได้กระโจนเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้เพราะมันทำเงินได้ แต่เพราะความปรารถนาจะผลักดันหนังเมียนมาร์ให้ไปสู่ตลาดโลกต่างหากล่ะ …แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ตลาดอุตสาหกรรมต่างๆ ในเมียนมาร์จะโดนสหรัฐอเมริกาแบนจากภาวะการเมืองภายในหลายประการ อย่างการที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ออกมาตรการจำกัดการเดินทางของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมาร์สี่นาย เพื่อตอบโต้และแสดงความไม่เห็นด้วยที่กองทัพเมียนมาร์กระทำต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ (ซึ่งกองทัพให้การปฏิเสธและระบุว่า การปราบปรามครั้งนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องต่อกฎหมายแล้ว)

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สถานการณ์ของ 7th Sense Creation ก็ถือว่าเฉิดฉายและไปได้สวยกว่าบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน มันไม่เพียงแต่ผลิตหนังทำทั้งเงินทั้งรางวัลอย่าง Clinging with Hate -ว่าด้วยเรื่องของฝาแฝดที่กลับชาติมาเกิดพร้อมความเกลียดชังแฝดของตน และต้องเรียนรู้ที่จะรักและปล่อยวางตามคำสอนของพุทธศาสนาเพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ- ซึ่งตัวมิน อ่อง หล่าย ให้การสนับสนุนหนังจากสตูดิโอของลูกสาวด้วยการเดินทางไปชมภาพยนตร์จนเป็นข่าว โหมกระพือให้หนังได้รับความนิยมมากขึ้นจนท้ายที่สุด มันยืนโรงนานกว่าสองเดือนเนื่องจากผู้คนแห่แหนมาชมกันล้นหลาม

Clinging with Hate (2018)

นอกเหนือจาก Clinging with Hate สตูดิโอของขิ่น ทริ เธ็ต มอนยังผลิตหนังออกมาอีกเจ็ดเรื่อง ทั้งยังไปคว้าตัวนักแสดงแม่เหล็กมาร่วมงาน ซึ่งกลายเป็นที่สนใจอย่างมากเพราะสตูดิโออื่นๆ ต่างตกอยู่ในภาวะแร้นแค้นและต้องหั่นงบประมาณ ตัดกำลังการผลิตกันจนแทบไม่มีหนังออกฉายขณะที่ 7th Sense Creation สามารถทุ่มงบประมาณในการสร้างหนังหนึ่งเรื่องอยู่ที่เกือบสี่ล้านจ๊าด (ทุนสร้าง Clinging with Hate อยู่ที่สามล้านจ๊าด) และยังพยายามดึงนักแสดงจากประเทศอื่นๆ ทั้งเกาหลี, ญี่ปุ่นหรือไทยเข้าไปร่วมเซ็นสัญญาแสดงหนังเมียนมาร์ เพื่อจะได้ตีตลาดประเทศอื่นๆ กล่าวกันว่าโปรเจ็กต์นี้ใช้งบประมาณมากกว่าที่เคยถึงสองเท่าเลยทีเดียว

ความ ‘ทุ่มไม่อั้น’ และใจป้ำของ 7th Sense Creation ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าพวกเขาเอาเงินทุนจากที่ไหน รวมไปถึงคำถามที่ใหญ่กว่านั้นว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่มันจะกลายเป็นแหล่งฟอกเงินชั้นดีของนักธุรกิจหรือผู้มีอำนาจในเมียนมาร์เอง (แน่นอนว่าทางสตูดิโอออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างแข็งขัน “เราลงทุนกับเรื่องพวกนี้ได้เพราะเรารักงานศิลป์และอยากสร้างสรรค์งานดีๆ ออกมาต่างหากล่ะ” ตัวแทนจาก 7th Sense Creation ยืนกราน และเสริมว่า “เวลาเราสร้างหนังสักเรื่อง เราสนใจแค่ว่ามันจะสร้างประโยชน์ให้คนดูมากแค่ไหน เรื่องที่เราเป็นใครมาจากไหนนั้นไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการผลิตหนังทั้งสิ้น”) โดยเฉพาะการที่มันเป็นแหล่งรวมตัวของลูกหลานคนใหญ่คนโตในเมียนมาร์ ไม่เพียงแค่ขิ่น ทริ เธ็ต มอน แต่ยังรวมไปถึงสองพี่น้องซึ่งเป็นลูกชายของรัฐมนตรีกระทรวงกีฬา นั่งแท่นเป็นที่ปรึกษาในบริษัท (หนึ่งในสองเคยถูกจับที่สนามบินข้อหาครอบครองอาวุธปืนและยาเสพติด) หรือคณะกรรมการด้านการตลาดที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายเวทีประกวดนางงามอย่างแนบแน่น เมื่อน้องสาวของเขาคือคนที่ดำรงตำแหน่งนางงามเมียนมาร์ปี 2013 ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า 7th Sense Creation อาจเกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมนางงามอย่างแยกไม่ขาด… และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราต้องไม่ลืมว่าลูกสะใภ้ของผู้นำเผด็จการ เมียว โรดานา ไท้ เป็นเจ้าของบริษัท Stellar Seven Entertainment Company จัดประกวดนางงามด้วย

วุด มน ชเว ยี

เช่นเดียวกับประเทศที่กองทัพมีอำนาจเหนือกว่าประชาธิปไตยและรัฐบาลพลเรือนประเทศอื่นๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวมิน อ่อง หล่ายนั้นอาจมีส่วนในการฉกฉวยประโยชน์จากอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือไปจากกองทัพผ่านเส้นสายและความสนิทชิดเชื้อ สิ่งที่น่าจับตาคือท่าทีของคนดังมากมายที่ออกมาต่อต้านการใช้อำนาจล้มประชาธิปไตยของเขา ไม่ว่าจะประชาชนชาวเมียนมาร์ที่ลงถนนต่อต้านรัฐประหาร ทั้งการด่าทอ เคาะหม้อไล่เผด็จการ ตลอดจนการแสดงสัญลักษณ์สามนิ้วต่อต้านการยึดอำนาจจากประชาชนชาวเมียนมาร์ทุกกลุ่มอาชีพ ออกมาแสดงการต่อต้านการล้มกระดานการเมืองนี้โดยพร้อมเพรียงกัน ไม่ว่าจะแพทย์ ข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้าตลอดจนดารา นักแสดงและคนดังต่างๆ ที่พร้อมใจกันใช้แพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดียในมือประกาศให้เห็นความอัปยศครั้งนี้ไม่ว่าจะ ไป่ ทาคน, ยุน วัดดี, วุด มน ชเว ยี ฯลฯ

คนที่ถูกจับตาอย่างมากในการเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจจะเป็นวุด มน ชเว ยี เนื่องจากเธอคือหนึ่งในนักแสดงที่เซ็นสัญญากับ 7th Sense Creation ของขิ่น ทริ เธ็ต มอน แต่ยังออกมาประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารอย่างแข็งขัน จนอาจเป็นการตอบคำถามในตัวว่าหากการแสดงออกนั้นจะต้องแลก และต้องเลือก ก็เป็นไปได้ว่าสำหรับหลายๆ คนที่เกลียดการล้มอำนาจอย่างไม่ชอบธรรมนั้น ก็ได้เลือกและได้แลกแล้ว แม้ว่าอาจจะสุ่มเสี่ยงกับอาชีพและหน้าที่การงานของตัวเองก็ตามที


แหล่งอ้างอิง

https://www.matichon.co.th/columnists/news_2155034

https://sg.news.yahoo.com/race-restore-myanmars-film-classics-second-screening-030407658.html

มองพม่าร่วมสมัยผ่านภาพยนตร์

เช้าของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความประหลาดใจให้กับทั่วโลก และที่เกิดเหตุนั้นอยู่ติดบ้านเราไปทางตะวันตก พม่ามีการรัฐประหารเกิดขึ้นนำโดยพล.อ. มิน อ่อง หล่าย มีการควบคุมตัวนางออง ซาน ซู จี และสมาชิกอื่นๆ ของพรรคเอ็นแอลดี (NLD National League for Democracy) ไว้ในที่หนึ่งซึ่งยังไม่รู้สถานที่ว่าอยู่ที่ใด อินเทอร์เน็ตไม่สามารถใช้ได้ชั่วคราวและคนในประเทศไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้ มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน 1 ปี เนื่องจาก “มีการทุจริตการเลือกตั้ง” ทหารออกมาลาดตระเวนและตรวจตราตามท้องถนน สถานการณ์ที่เลวร้ายอาจสามารถมองเทียบเคียงไปได้กับประเทศเราไม่กี่วันหลังจากการก่อรัฐประหารเราได้เห็นประชาชนของพม่าออกมาประท้วงมากมาย ทั้งเคาะหม้อสังกะสี ชูสามนิ้ว นัดหยุดงาน ดาราและศิลปินจากประเทศพม่าร่วมกันออกมาส่งเสียงให้กับคนข้างนอกได้ยิน และแม้แต่ในบ้านเราก็มีการประท้วงอยู่หน้าสถานฑูตเมียนมาร์ แต่การต่อสู้ของพวกเขาไม่ได้เพิ่งจะเริ่มต้น การต่อสู้กับรัฐบาลทหารของพม่านั้นมีเวลามานานแล้วกว่า 50 ปี และในตอนนี้เราไม่มีทางที่จะทราบได้เลยว่าระยะเวลาที่ประชาชนจะต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพที่พวกเขาควรจะมีในประเทศนั้นต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใด

มีเครื่องมือมากมายที่จะช่วยให้ทำความเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งทั้งระหว่างชาติพันธุ์มากมายในประเทศ ไปจนถึงความขัดแย้งของทหารกับประชาชน ศาสนาพุทธอันเข้มข้น และสภาพสังคมเหลื่อมล้ำที่กดทับพวกเขาอยู่ หนังก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือนั้น และนี่คือส่วนหนึ่งของหนังทั้งยาวและสั้นที่พวกเราเลือกมาให้สามารถเห็นส่วนประกอบจนมองภาพใหญ่ของเหตุการณ์นี้ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น หนังหลายเรื่องที่เลือกมา เป็นฝีมือของคนทำหนังหน้าใหม่จากเทศกาล Wathann Film Festival เทศกาลภาพยนตร์สั้นสารดีอิสระในพม่าที่เพิ่งครบสิบปีไปเมื่อปีที่แล้ว พวกเขาอัพโหลดหนังสั้นบางส่วนใน channel YouTube ของเทศกาล และเราขอหยิบมาแนะนำ นอกจากนี้ยังมีหนังยาวทั้งของพม่าและไทยพ่วงแถมมาอีกด้วย


Silence In Mrauk Oo (2018, Than Kyaw Htay & Thadi Htar)

หนังได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ประท้วงในเมืองมรัคอูในต้นปี 2018 การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ประท้วงชาวรักขิ่น ที่ส่งผลให้มีประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิต เรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินหนุ่มผู้เดินทางกลับไปเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับการเสียชีวิตของพ่อ แต่สุดท้ายก็ไม่พบคำตอบว่าสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงของพ่อนั้นคืออะไร และมีอะไรเกิดขึ้นในเหตุการณ์นั้นกันแน่


Now I’m 13 (2014, Shin Daewe)

เด็กสาวอายุ 13 ทำอาชีพเป็นเด็กเลี้ยงแพะ เธอเป็นแรงงานเด็กตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ไม่สามารถเข้าเรียนตามโรงเรียนได้เพราะต้องเลี้ยงดูครอบครัว เฉกเช่นกับเด็กอีกหลายหมื่นคนในพม่าที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเพื่อได้โอาสและอนาคตที่ดีกว่า เธอบอกเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิต และยังมีความหวังว่าถ้าเกิดประเทศนี้เปลี่ยนแปลงไป เธอคงจะมีอนาคตที่ดีกว่านี้ และคงได้เรียนหนังสือสักที


Home Work (2014, Lamin Oo)

สารคดีที่ถ่ายทอดความเป็นไปของครอบครัวหนึ่งในช่วงกลางคืน ที่ลูกสาวต้องทำการบ้านกับแม่ของเธอทุกๆ คืน เว้นเสียแต่ว่าพ่อของเธอไม่ได้อยู่ที่นั่นจริงๆ พ่อของเธอทำงานที่กรุงเทพ ทั้งพ่อและแม่ต่างแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบชีวิตความเป็นไปในถิ่นที่ตัวเองอยู่ และคุยกับเธอผ่านวิดีโอแชทในขณะเด็กหญิงทำการบ้าน นี่เป็นช่วงเวลาเดียวที่ทั้งครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน


This Land Is Our Land (2014, Sai Song Kham)

ชาวนาทั้ง 5 คนต่างกำลังเผชิญปัญหาในการที่จะกลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง หลังจากที่ต้องเสียพื้นที่ในการสร้างอาชีพของตัวเองในแต่ละบริบท หนึ่งคนสูญเสียที่นาในการทำกินเนื่องจากรัฐบาลยึดพื้นที่คืนด้วยการปักป้ายขึ้นว่าเป็นป่าสงวนโดยไม่มีการบอกกล่าว คนที่สองต้องเข้าไปลักลอบตัดไม้นำมาทำเป็นฟืนเพื่อขาย และรับจ็อบเล็กจ็อบน้อยมากมาย เพื่อมาเลี้ยงดูครอบครัวโดยไม่มีทางเลือกอื่นโดยที่เขาก็รู้ดีว่าการตัดไม้ไม่ใช่สิ่งที่ดี คนที่สามโดนน้ำจากแม่น้ำอิรวดีท่วมในหมู่บ้านที่เป็นเกาะจนไม่สามารถปลูกพืชได้ แต่ในขณะที่คนอื่นย้ายออกจากหมู่บ้านเพราะน้ำท่วมและหางานทำในเมืองหลวง แต่เขายังอยู่ คนที่สี่สามารถทำนาได้แค่แปลงเดียว หลังจากอีกสองแปลงของเขาถูกทางรัฐยึดไปและได้ค่าสินไหมทดแทนในการถูกยึดพื้นที่แค่นิดเดียว คนที่ห้ากำลังจะถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ เนื่องจากบริเวณใกล้ๆ หมู่บ้านมีการพบถ่านหิน จึงเกิดการขุดถ่านและนำดินที่ขุดมาเททิ้งไว้ที่บริเวณข้างๆ หมู่บ้าน ซึ่งทำให้พืชไร่ และความเป็นอยู่ของเขาได้รับผลกระทบไปด้วย แต่ถึงแม้ทุกคนจะโดนผลกระทบเหล่านี้ แต่พวกเขาก็ยังไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะถ้าเลิกทำก็เท่ากับอดตาย


A Peaceful Land (2016, Sai Song Kham & Lamin Oo)

ในปี 2005 รัฐบาลพม่ามีโครงการที่จะปลูกพืชสบู่ดำไปทั่วประเทศเพื่อนำมาผลิตน้ำมันดีเซล โครงการนี้ถูกตั้งความสำคัญถึงขั้น “หน้าที่เพื่อชาติ” ที่ต้องปลูกพืชชนิดนี้ มีการปลูกพืชสบู่ดำมากกว่า 8 ล้านไร่ภายใน 3 ปี แต่โครงการก็ทำให้ไร่ของชาวนาที่กำลังทำมาหากิน กลายเป็นพื้นที่ของทางทหารเพื่อปลูกสบู่ดำ และกลายเป็นแรงงานที่ไม่เป็นธรรมที่ต้องทำไร่สบู่ดำไปโดยปริยาย เมื่อต้องเผชิญกับความยากลำบากและความไม่เป็นธรรม ชาวนาทั้งสี่คนในเมือง Nat Mauk ต่อสู้กับทางการรัฐเพื่อสิทธิที่พวกเขาควรจะมี และที่ดินที่เป็นของเขามาตั้งแต่แรก


Thaa Shin Pyu (2017, Edo Vader)

Ko Bo Maung มีแผนที่จะจัดงานบวชให้กับลูกชายหลังจากที่หมดฤดูเก็บเกี่ยวแล้วขายข้าวได้หมด แต่รัฐบาลกับกลุ่มนายทุนได้ยึดพื้นที่ทำเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้ทุกคนในหมู่บ้านหนีออกมาและกลายเป็นคนไร้บ้าน วันหนึ่งเขาได้เห็นเพื่อนบ้านของตนเองขายไต ทำให้เขาคิดว่าจะขายไตเพื่อนำมาเงินมาจัดงานบวช แต่เขาก็ถูกปล้นระหว่างทางกลับบ้าน ทำให้เกิดการตัดสินใจที่มีจุดจบไม่สวยนัก


The Clinic (2012, Ko Ju & Aung Min & The Maw Naing)

Aung Min เป็นหมอชาวบ้านที่เปิดคลินิกรักษาคนไข้ที่ชานเมืองย่างกุ้ง และเดินทางไปรักษาคนไข้นอกสถานที่เช่นกัน เขาเป็นเจ้าของเรื่องและเป็นคนเขียนบทหนังอิสระในพม่าหลายต่อหลายเรื่อง นี่คือการติดตามชีวิตประจำวันของ Aung Min ไปพร้อมกับการรับรู้มุมมองความคิดของเขา และสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ซึ่งค่อยๆ ก่อรูปร่างของหนังเรื่องนี้ จนกระทั่งทำให้เขาเป็นผู้กำกับร่วม


Mrauk Oo Story (2015, Aung Min)

เรื่องราวความวุ่นวายของเด็กเก็บขยะในเมืองมรัคอู 4 คนที่บังเอิญเก็บแท็บเล็ตของนักท่องเที่ยวมาได้ จึงเกิดความวุ่นวายตามมา


The Burmese in Thailand (2013, สุรี ขันตยาลงกต)

เรื่องราวการเดินทางของคนพม่าเข้ามาทำงานเป็นแรงงาน รวมไปถึงการใช้ชีวิต และอนาคตของพม่า ผ่านการเล่าเรื่องของ “เจท “ลูกจ้างพม่าที่ทำงานในร้านต้มเลือดหมู ผู้ทำหน้าที่ตั้งแต่ซื้อของ เตรียมของ ตั้งร้าน ขายของ จนกระทั่งเก็บร้าน เสมือนเป็นเจ้าของร้านเสียเอง


Unfinished Painting (2015, Wai Mar Nyunt)

ชีวิตของผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของพม่าตั้งแต่ที่เธอเป็นวัยรุ่นร่วมกับพ่อและครอบครัว ผ่านความยากลำบากมากมาย เหมือนงานรายงานข่าวที่เธออยากทำ และยังเรียนรู้สถานการณ์ใหม่ๆ ด้วยทัศนคติการความเชื่อที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันของเธอ


The Road To Mandalay (2015, Midi Z)

อีกหนึ่งผลงานที่น่าติดตามของมิดี ซี (Midi Z) ผู้กำกับชาวลูกครึ่งไต้หวัน-พม่า ที่จับเรื่องของแรงงานเถื่อนจากพม่าที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย เพื่อหาเงินและหาโอกาสทำงานที่ดีกว่า เลี่ยนชิง (นำแสดงโดยอู๋เค่อซี นักแสดงคู่บุญของมิดี ซี) เป็นหนึ่งในนั้นที่ยอมเดินทางจากเมืองล่าเสี้ยว มาทำงานในกรุงเทพ และได้พบกับอากู่ (เคอเจิ้นตงที่พลิกบทบาทจาก You Are the Apple of My Eye ได้อย่างไม่น่าเชื่อ) ที่คอยพยายามสานสัมพันธ์กับเธอ และชวนเธอไปทำงานที่โรงงานทอผ้าด้วยกัน อากู่มีความฝันที่จะเก็บเงินเพื่อไปเปิดกิจการที่บ้านเกิด แต่เลี่ยนซิงฝันว่าอยากจะมีชีวิตที่ดีที่ไต้หวัน เธอจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ไปที่นั่น โดยใช้วิธีผิดกฎหมายมากมาย และเป้าหมายที่แตกต่างระหว่างเลี่ยนซิงกับอากู่ ทำให้เกิดความขัดแย้งบางอย่างที่เกินคาดเดา


ดินไร้แดน (Soil Without Land) (2019, นนทวัฒน์ นำเบญจพล)

สารคดีบันทึกเรื่องราวการสำรวจพื้นที่บริเวณรัฐกันชนระหว่างประเทศไทยและพม่า ทางภาคเหนือของไทย ซึ่งเคยเป็นดินแดนของผู้อพยพชาวไทใหญ่และชนกลุ่มน้อยที่ลี้ภัยสงครามจากประเทศพม่าเมื่อหลายสิบปีก่อน ปัจจุบันจากค่ายผู้ลี้ภัยถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ฝึกฝนกองกำลังทหารกู้ชาติไทใหญ่เพื่อป้องกัน ปลดแอกและเรียกร้องอิสรภาพและเอกราชจากรัฐบาลทหารพม่า นนทวัฒน์เริ่มต้นจากคำถามว่าภายหลังการเลือกตั้งของพม่าและได้นางอองซานซูจีขึ้นเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่า ชะตากรรมของชาติพันธ์ที่ตกอยู๋ในสงครามที่ยืดเยื้อนั้นจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร

About Some Meaningless Events ความหมายของเหตุการณ์ที่ไม่มีความหมาย

หนังเริ่มต้นจากกองถ่ายหนึ่งที่อยู่ในบาร์ Casablanca เพื่อทำการจำลองภาพของบางอย่างจากสคริปต์ ไปสู่การสัมภาษณ์ผู้คนทั่วไปที่อยู่ในละแวกนั้น ถามว่าพวกเขาเคยดูหนังของประเทศโมร็อคโคหรือเปล่า แล้วหนังที่ควรจะเป็นของประเทศโมร็อคโคนั้นเป็นอย่างไร บางคนตอบว่าได้ดูหนังบ้าง ไม่ได้ดูหนังบ้าง ด้วยภาพยนตร์เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยทางการเงิน รวมถึงกระทั่งเวลา แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ตอบก็คือพวกเขาไม่ได้ดูหนังของประเทศตัวเองเลย แต่เมื่อถามว่าหนังของโมร็อคโคนั้นควรเป็นอย่างไร พวกเขาส่วนใหญ่จะตอบว่าต้องการให้หนังของประเทศได้แสดงถึงปัญหาของสังคมที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ ปัญหาปากท้องเอย หรือการแสดงภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านทุกวันนี้

คำถามต่อคนทำหนังที่มีต่อหนังก็คือ หนังสามารถทำหน้าที่อะไรได้บ้างนอกจากความบันเทิง หนังเรื่องนี้โยนคำถามนั้นลงไปในหนังเลยทั้งก้อน ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คอนเซปต์ของหนัง แต่มันเป็นบทสนทนาของทีมงานในหนังเรื่องนี้ ว่าด้วยเรื่องของทีมงานของหนังเรื่องหนึ่ง ที่พยายามสัมภาษณ์ผู้คนในโมร็อคโคไปเรื่อยๆ ว่า พวกเขาเคยดูหนังโมร็อคโคหรือไม่ แล้วพวกเขาอยากให้หนังโมร็อคโคมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร เพื่อที่เขาจะได้ทำภาพยนตร์ที่ออกมาเป็นภาพแทนของคนในโมร็อคโคอย่างแท้จริง พวกเขาไล่สัมภาษณ์ไปหลายคนจนได้ตามคนงานคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ที่ท่าเรือ เขาตอบว่าเขาไม่รู้จะตอบว่ายังไง แต่ดูเหมือนเขาตอบปัดๆ เหมือนเก็บงำข้อมูลอะไรบางอย่างมากกว่าไม่รู้เรื่องจริงๆ ทีมงานจึงแอบตามชีวิตของเขาอยู่ห่างๆ จนสุดท้ายชายคนนี้ลงมือฆ่าเจ้านายของตัวเอง แล้วหนังก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ตัวหนังนั้นเริ่มพลิกจากคำถามที่เคยตั้งต้นไปสู่การจำลองเหตุการณ์จริง เมื่อเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมภายในหนัง ทำให้เหล่าคนทำหนังพลิกตัวเองกลายเป็นนักข่าวผู้ตามหาความจริงว่าทำไมผู้ก่อเหตุถึงกระทำการดังกล่าว ซึ่งก็คือชายคนนั้นที่พวกเขาตามมาตลอดนั่นแหละ คนที่ดูภายนอกแล้วไม่น่ามีปัญหาอะไรกับใครได้ หนังจากที่กลายเป็นฟุตเทจรวบรวมคนสัมภาษณ์อย่างเลื่อนลอย คนที่อยู่รอบๆ ตัวของคนฆ่า คนร่วมงานหรือเพื่อนๆ ของเขา เหมือนหนังเริ่มเดินทางเพราะเริ่มมีจุดประสงค์ของคนทำมากขึ้น นั่นคือหนังเพื่อตามหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการฆาตกรรม พวกเขาอาจจะได้สิ่งที่ต้องการ จุดประสงค์บางอย่างของการทำหนัง แต่ผลสุดท้ายกลับคือการไม่มีคำตอบต่อความต้องการ การมีพลังของสื่อในมือของตัวเองอาจไม่ช่วยอะไร ในเมื่อพวกเขายังไม่เข้าใจโลกภายนอกเลย

หนังเรื่องนี้สาบสูญไปถึงหลายสิบปี เพราะด้วยรัฐบาลโมร็อกโกสั่งแบนหนังก่อนที่จะได้ฉาย ทางรัฐอ้างด้วยเหตุผลที่ว่าไม่เหมาะสมที่จะให้ผู้ชมชาวโมร็อคโคได้ชมในช่วงนั้น แต่แท้จริงแล้วพวกเขาแบนหนังเรื่องนี้เพราะว่าท่าทีของหนังที่กำลังตั้งคำถามกับบทบาททางสังคมของหนังในประเทศที่ควรมีมากกว่าความบันเทิง และแสดงออกถึงแนวความคิดของคนรุ่นใหม่ในช่วงนั้น ทำให้หนังได้โลดแล่นเพียงแค่งานฉายหนังใต้ดินเพียงแค่ไม่กี่งาน เวลาผ่านไปสี่สิบปี หนังเรื่องนี้ถูกนำมาฉายในเทศภาพยนตร์เบอร์ลินเมื่อปี 2019 มันได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่าเป็นหนังที่มาก่อนกาล ทั้งเทคนิคและเนื้อหาที่ผสมผสานระหว่างการเป็นสารคดีและเรื่องแต่งเอาไว้ในเรื่องเดียวกันจนแยกไม่ออกว่านี่คือเหตุการณ์จริงหรือว่าเป็นเซ็ตติ้งที่ถูกถ่าย หนังมีการใช้สเลทของกองถ่ายเขียนบอกซีน คัท เทค ต่อหน้ากล้องบ่อยครั้ง นี่อาจเป็นหนังที่เอาไว้จำลองสถานการณ์ถึงความเป็นจริงในโมร็อคโคช่วงนั้น นึกถึงหนังของ Abbas Kiarostami ในการผสมเรื่องเล่าลงไปในความจริง การประกอบเหตุการณ์จากเรื่องเล่าที่เคยเกิดขึ้นจนกลายเป็น Close-Up เป็นต้น

มันได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่าเป็นหนังที่มาก่อนกาล ทั้งเทคนิคและเนื้อหาที่ผสมผสานระหว่างการเป็นสารคดีและเรื่องแต่งเอาไว้ในเรื่องเดียวกันจนแยกไม่ออกว่านี่คือเหตุการณ์จริงหรือว่าเป็นเซ็ตติ้งที่ถูกถ่าย

ในเรื่องมีแต่การโคลสอัพให้เห็นใบหน้าของผู้คนยืนเบียดแออัดกันอยู่ในเฟรม และความตลบอบอวลของเสียงพูดที่ไม่สามารถโฟกัสได้ชัดเจน ราวกับว่าไม่แน่ใจว่าจะมีความสำคัญในเสียงของพวกเขามากขนาดไหน หรือจะแสดงความวุ่นวายในสังคมโมร็อคโคมากขนาดไหน อาจจะเพราะทุกคนต้องการที่จะพูดก็ได้ ทั้งเรื่องมีแต่การจับจ้องระยะกลางถึงใกล้ สถานที่ใจกลางเรื่องคือในบาร์แห่งหนึ่งที่ทุกคนเดินขวักไขว่ เราจึงไม่สามารถโฟกัสไปยังใครคนใดคนหนึ่งได้พิเศษ เพราะมันมีแต่ความวุ่นวาย โกลาหล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากมายภายในบาร์แห่งนั้น เหมือนกับสิ่งที่พวกเขาทำก็กลายเป็นแค่เหตุการณ์หนึ่งที่ไม่มีใครสนใจตามชื่อหนัง แต่ความไม่สำคัญของเหตุการณ์จะทำยังไงให้มันสำคัญขึ้นมาได้ ถ้ามันถูกบันทึกไว้จะสำคัญขึ้นมาได้ไหม

หนังตั้งคำถามกับความเป็นสื่อ ทับซ้อนกับการเป็น meta-fiction ที่พยายามใช้เรื่องเล่าทาบไปกับความเป็นจริงอีกที ว่าพลังของสื่อที่มีอยู่ในโมร็อคโคนั้นสามารถช่วยอะไรชาวบ้านตาดำๆ ที่ต้องทำมาหากินไปวันต่อวันได้หรือไม่ หนังที่เป็นตัวแทนของพวกเขาในช่วงนั้นมันมีอยู่จริงหรือไม่ มองในอีกด้านหนึ่ง ตัวหนังก็กำลังตั้งคำถามต่อกลุ่มคนทำภาพยนตร์ในประเทศช่วงนั้นด้วยว่า พวกเขากำลังทำอะไรกันแน่ พวกเขาสนใจความเป็นไปของคนในประเทศนั้นจริงๆ เหรอ พวกเขาแค่ทำสื่อที่ออกมาปลอบประโลมด้วยความบันเทิงลืมทุกข์โศกชั่วครั้งชั่วคราวกันไป ก่อนจะกลับมาเผชิญหน้าความจริงที่น่าเศร้ากันต่อ หรือกลายเป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อคอยอนุรักษ์ค่านิยมบางอย่างให้ยังอยู่เพื่อดำรงไว้ซึ่งอำนาจของผู้มีอำนาจเพียงเท่านั้น

มีซีนหนึ่งที่เหล่ากลุ่มคนทำหนังกำลังถกเถียงเรื่องเหตุผลว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมขึ้น แรงจูงใจคืออะไร และเหตุการณ์นี้น่าสนใจที่จะมาทำเป็นหนังหรือไม่ แต่บทสนทนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในซีนนั้นช่างแตกต่างและซับซ้อนกว่าภาษาชาวบ้านธรรมดาทั่วไป มันได้แยกบทสนทนาออกเป็นสองเลเยอร์ ระหว่างกลุ่มคนทำหนังทรงปัญญา กับชาวบ้านธรรมดาที่ใช้ภาษาพูดของตัวเอง เหมือนว่าหนังเป็นการล้อเลียนตัวเองอีกทีหนึ่ง ที่ไม่สามารถสื่อสารให้คนภายในประเทศได้เห็นว่าหนังของประเทศโมร็อคโคแท้จริงแล้วมันเป็นอย่างไรกันแน่ หรือหนังกลายเป็นแค่ของเล่นของคนชนชั้นกลางที่มีอันจะกินและไม่สื่อสารกับพวกเขาโดยตรงเสียที

เหมือนว่าหนังเป็นการล้อเลียนตัวเองอีกทีหนึ่ง ที่ไม่สามารถสื่อสารให้คนภายในประเทศได้เห็นว่าหนังของประเทศโมร็อคโคแท้จริงแล้วมันเป็นอย่างไรกันแน่ หรือหนังกลายเป็นแค่ของเล่นของคนชนชั้นกลางที่มีอันจะกินและไม่สื่อสารกับพวกเขาโดยตรงเสียที

ในหนังเกิดซีนระหว่างการสัมภาษณ์ผู้หญิงสองคนในบาร์ กลายเป็นว่าผู้กำกับและตากล้องเกิดผันตัวเองกลายเป็นแคสติ้งทันที เมื่อเห็นสาวสวยคนหนึ่งสนใจในกองถ่ายนั้นๆ อาจจะหวังว่าตัวเองจะได้เข้าวงการบันเทิงสักวัน ส่วนเหล่าคนทำหนังก็หวังจะใช้ผลประโยชน์ของการอยู่ในวงการภาพยนตร์ เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวด้วยการขอชื่อ-ที่อยู่ของเธอ เพื่อที่จะได้สานสัมพันธ์ต่อ แทนที่จะสนใจถามคำถามหลักที่พวกเขาต้องการสัมภาษณ์ และทำให้ชายอีกคนที่พยายามจะเข้ามาจีบเธอเหมือนกันก็เริ่มแสดงอาการไม่พอใจเหมือนแมวที่โดนแย่งปลาไปต่อหน้า ก็อาจจะทำให้เราเห็นบางๆ ว่า พวกเขาอาจจะไม่ได้เข้าใจสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่อย่างชัดเจน เขาแค่ทำตามหน้าที่และใช้อภิสิทธิ์พิเศษในการเป็นกองถ่ายให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง

และพอได้สังเกตในเหตุการณ์ฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในหนังจริงๆ หนังก็ไม่ได้แสดงความสลักสำคัญอะไรอย่างชัดเจน นอกจากผู้ที่เห็นเหตุการณ์รอบข้างแล้ว ไม่มีผู้ตื่นตระหนก ไม่มีใครโวยวาย เหมือนกับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยทั่วไป และไม่ใช่เรื่องของพวกเขาที่จะเข้าไปส่อ ความไร้อำนาจของผู้คนทำให้พวกเขาเฉื่อยแฉะ ไร้ความกระตือรือร้น แล้วใครที่จะพลังพอที่กระตุ้นให้เหตุการณ์นี้มีความหมายมากขึ้น ก็คนที่ถือสามารถบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ได้ไง แต่เมื่อมีคำถามของฆาตกรที่ถามพวกเขาว่าพวกคุณคิดว่าการบันทึกทุกอย่างลงไปในกล้องจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้เหรอ การพยายามหาเหตุผลว่าทำไมเขาถึงสังหารเจ้านายตัวเองจะทำให้คุณเข้าใจปัญหาของผมมากขึ้นเหรอ โดยที่คุณก็ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับชีวิตของผมสักอย่าง คำถามเหล่านี้มันย้อนกลับไปหาตัวกลุ่มคนทำหนัง หรือผู้ที่ชมเองว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นอยู่นี่มันได้ช่วยอะไรใครกันแน่ หรือมันไม่เคยเป็นอะไรมาตั้งแต่แรก

การกระทำบางอย่างอาจไร้ความหมายถ้าไม่มีผู้พบเห็น เหตุการณ์บางเหตุการณ์อาจไม่มีความหมายถ้าไม่มีคนบันทึกเหตุการณ์ หนังบางเรื่องถ้าไม่มีคนดู มันอาจไม่มีความหมายเพราะไม่มีผู้คนได้รับชม และความหมายของมันอาจไม่ถูกตีความอย่างหลากหลายเพราะไม่มีคนได้ดูเป็นจำนวนมาก การที่หนังจะสร้างแรงกระเพื่อมอะไรบางอย่างต่อผู้ชม หรือสังคมในวงกว้าง ต้องเกิดการปะทะระหว่างหนังกับคนดูที่มากมาย อย่างเช่นหนังเรื่องนี้อาจจะไม่มีความหมายถ้ามันไม่ถูกค้นพบและนำมาบูรณะมาฉายอีกครั้งให้คนได้ดูมันอีกรอบ แต่ความหมายของหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ต้องดูเพราะเกิดการแบนหนังเรื่องนี้ มันเกิดการปะทะระหว่างผู้สร้างกับรัฐไปแล้ว และสิ่งนี้จะถูกบันทึกว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มคนทำที่ต่อต้านรัฐ แต่ความหมายของแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในหนังและนอกหนังนั้นสำคัญหรือเปล่า เหตุการณ์การฆาตกรรมในบาร์นั้นน่าสนใจขนาดไหน การที่หนังเรื่องนี้ถูกแบนสร้างผลกระทบอะไรต่อวงการภาพยนตร์โมร็อคโคในช่วงนั้น หรือจริงๆ แล้วหนังของประเทศโมร็อคโคนั้นเป็นอย่างไรในตอนนี้ นั่นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าสนใจมันในแง่ไหน และต้องค้นหาคำตอบกันเอง


สามารถรับชมได้ที่ MUBI

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 4 ก.พ. 64

แม้ว่าเมื่อวานนี้จะมีหนังใหม่เข้าฉายถึง 4 เรื่อง ซึ่ง 1 ใน 4 นั้นคือฉบับตัดต่อใหม่ของหนังไทย ‘วอน (เธอ)’ ที่ทำเงินไปแค่ 4 หมื่นบาท อย่างไรก็ดีบรรยากาศการดูหนังในโรงยังไม่กลับมาคึกคัก และไม่รู้ว่าวันนั้นจะมาถึงอีกเมื่อไหร่ เพราะตลาดโลกเลื่อนฉายหนังไปกองกันไว้ครึ่งปีหลังหมดแล้ว และยังมีการคาดเดากันว่าหนังไตรมาสสองก็จะตบเท้าตามไปด้วยเช่นกัน

รายได้หนังประจำวันที่ 4 ก.พ. 64

  1. Jiu Jitsu – 0.25 ล้านบาท
  2. Happiest Season – 0.06 ล้านบาท
  3. Monster Hunter – 0.04 (23.64) ล้านบาท
  4. วอน (เธอ) Director’s Cut – 0.04 ล้านบาท
  5. The End of the Storm – 0.03 (0.92) ล้านบาท
  6. Ideal Home – 0.02 ล้านบาท
  7. Wonder Woman 1984 – 0.02 (64.19) ล้านบาท
  8. Soul – 0.02 (15.94) ล้านบาท
  9. Demon Slayer : Kimetsu No Yaiba – 0.02 (73.75) ล้านบาท
  10. Songbird – 0.02 (2.13) ล้านบาท

มองธุรกิจหนังในเมืองไทย ในวันที่วิกฤติยังไม่สะเด็ดน้ำ

เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่าน ทอม บรู้กแมนน์ นักเขียนแห่ง Indie Wirehttps://www.indiewire.com/2021/01/predictions-box-office-2021-fewer-theaters-smaller-grosses-more-vod-1234604952/ เว็บไซต์รายงานความเคลื่อนไหวของวงการภาพยนตร์โลกชื่อดัง ได้เขียนบทความทำนายความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจหนังอเมริกันในปี 2021 ไว้ 14 ข้อ ซึ่งผู้เขียนได้อ่าน และสรุปใจความได้ 4 ประเด็นใหญ่ ดังนี้

1) โรงหนังในอเมริกายังคงจะต้องเผชิญความท้าทายที่ยากลำบากต่อไป เนื่องจากต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมจากการที่โรงหนังต้องปิดตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว และถึงแม้ว่าโรงหนังจะกลับมาเปิดได้ใหม่หลังวิกฤติคลี่คลายไปแล้ว ในสภาพการณ์ที่อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิม โรงหนังอาจไม่ใช่แหล่งทำเงินแบบเป็นกอบเป็นกำของผู้สร้างหนังฮอลลีวูดอีกต่อไป (ดูเหตุผลได้ในข้อที่ 2 และ 3) ซึ่งบทสรุปอาจลงเอยด้วยการที่ผู้ประกอบการขอยื่นล้มละลายด้วยตัวเอง หรือขายกิจการให้ผู้ประกอบการรายอื่นต่อไป

Mulan

2) ธุรกิจสตรีมมิ่งจะยังคงความแข็งแรงอย่างต่อเนื่อง จากการเป็นเลือกสำคัญของผู้ชมในช่วงเวลาที่ไม่สามารถออกมาดูหนังที่โรงได้ นอกจากนี้การที่สตูดิโอยักษ์ใหญ่อย่าง Disney และ Warner Brothers ได้ทดลองการจัดจำหน่ายใหม่ที่ผสมผสานรูปแบบการฉายแบบดั้งเดิม (ทางโรงหนัง) กับรูปแบบสตรีมมิ่งที่เรียกว่า premium Video On Demand แล้วผลลัพธ์ที่ออกมาดูเหมือนว่าจะเป็นบวก ไม่ว่าจะเป็นหนังเรื่อง Mulan หรือ Wonder Woman 1984 ก็ยิ่งจะทำธุรกิจสตรีมมิ่งจะกลายเป็นธุรกิจสำคัญของวงการหนังอเมริกันในปีนี้อย่างไม่ต้องสงสัย ขณะเดียวกันก็จะกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้โรงหนังอยู่ได้ยากขึ้น เพราะหากไม่ได้ฉายหนังที่เป็นแบบ “มหาชนนิยม” โอกาสที่คนจะออกมาดูหนังที่โรงอย่างล้นหลาม ก็มีความเป็นไปได้น้อย 

Wonder Woman 1984

3) รูปแบบฉายหนังจะเปลี่ยนไป สืบเนื่องจากสองข้อแรก เมื่อสตรีมมิ่งกลายมาเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสำคัญ จึงส่งผลให้ภูมิทัศน์ของสิ่งที่เรียกว่า release window หรือช่องทางการเผยแพร่หนังต้องเปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยแต่เดิม window แรกของการฉายหนังส่วนใหญ่คือโรงหนัง จากนั้นคล้อยหลังไปสามเดือน ช่องทางการเผยแพร่หนังถัดไปก็คือ ดีวีดี แล้วตามมาด้วยช่องทางอื่นๆ ได้แก่ สตรีมมิ่ง ในรูปแบบของวิดีโอออนดีมานด์ ซึ่งก่อนหน้านี้ หนังเรื่องหนึ่งจะเผยแพร่ทางช่องทางนี้ได้หลังจากหนังเข้าโรงไปแล้วประมาณ 6-8 เดือนไปแล้ว และโทรทัศน์ซึ่งเป็นช่องทางเผยแพร่หนังช่องทางสุดท้าย แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป สตรีมมิ่งขึ้นมามีบทบาทสำคัญเท่าๆ (หรือมากกว่า) โรงหนัง แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อช่องทางการเผยแพร่หนังด้วย ซึ่งอันที่จริง สัญญาณของการเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นตั้งแต่ บริษัท Disney ตัดสินใจฉายหนังเรื่อง Mulan ทางช่องทางสตรีมมิ่งพร้อมกับโรงหนังในเดือนกันยายน ก่อนที่จะตามมาด้วยบริษัท Warner Brothers ที่ตัดสินใจฉาย Wonder Woman 1984 แบบผสมผสานด้วยการเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นๆ ฉายหนังในโรงหนังก่อนอเมริกา 1 อาทิตย์ ส่วนในอเมริกาหนังเปิดตัวพร้อมกันทั้งในโรงหนังและช่องทางสตรีมมิ่งแบบต้องเสียค่าเข้าชม ด้วยรูปแบบการฉายหนังที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ จึงเป็นที่น่าจับตาว่า โรงหนังจะยังคงมีความสำคัญในฐานะช่องทางการเผยแพร่หนังลำดับแรกต่อไปหรือไม่

Peninsula: Train to Busan 

4) โมเมนตั้มของหนังฮอลลีวูดในตลาดต่างประเทศอาจเปลี่ยนไป เหตุผลสำคัญมาจากการที่หนังฟอร์มยักษ์ส่วนใหญ่ หากไม่เลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลายเรื่องที่สร้างไปแล้วก็ไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จตามกำหนด เลยเปิดโอกาสให้หนังท้องถิ่นได้มีโอกาสครองส่วนแบ่งทางการตลาดแบบไร้คู่แข่งสำคัญ ซึ่งอันที่จริงสัญญาณดังกล่าวเริ่มต้นแล้วในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้กับปรากฏการณ์ Peninsula: Train to Busan จีนกับความสำเร็จของหนังเรื่อง 800 และญี่ปุ่นกับสถิติใหม่ของรายได้ที่สร้างขึ้นโดยหนังแอนิเมชั่นเรื่อง Demon Slayer ยิ่งฮอลลีวูดฟื้นตัวช้าโอกาสที่จะกลับมาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศเหล่านั้นก็จะยากขึ้น


ข้อเขียนของทอม บรู้กแมนน์ ทำให้ผู้เขียนเกิดความสนใจว่า ในช่วงเวลาเดียวกับที่ธุรกิจหนังในอเมริกากำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ ผู้ประกอบการธุรกิจหนังในประเทศไทย น่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายในปีที่คาดเดาไม่ได้อย่างปีนี้ ซึ่งหลังจากที่ได้ทำการวิเคราะห์ความเป็นไปของตลาดหนังในช่วงปีที่แล้วจนถึง ณ เวลานี้ ผู้เขียนขอนำเสนอฉากทัศน์ จำแนกตามประเภทขององค์ประกอบธุรกิจหนังในเมืองไทย ดังนี้

ภาพแบนเนอร์ของเพจ Iqiyi Thailand

1) สำหรับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังไทย ความท้าทายสำคัญของพวกเขา คือการต้องกลายเป็นตัวแปรสำคัญของสมรภูมิการแข่งขันของธุรกิจสตรีมมิ่งที่จะเพิ่มดีกรีความร้อนแรงในปีนี้ เนื่องจากจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาร่วมแข่งขันมากขึ้น หลังจากที่ปล่อยให้ Netflix กลายเป็นผู้เล่นหลักของธุรกิจสตรีมมิ่งในเมืองไทย (และโลก) ในช่วงปีแห่งไวรัสที่ผ่านมา โดยเฉพาะการที่ค่ายสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่อย่าง Disney Plus และ Iqiyi จากจีนเริ่มขยายแนวรุกอย่างชัดเจน ด้วยการเปิดรับสมัครตำแหน่งงานจัดหาคอนเทนต์ (Content Acquisitions) ประจำกรุงเทพฯ มีจุดประสงค์เพื่อแสวงหาคอนเทนต์ท้องถิ่นที่น่าสนใจสำหรับนำไปเผยแพร่ในช่องทางของตัวเอง 

ในภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดแบบนี้ คอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นหนัง หรือ ซีรีส์ จึงกลายเป็นที่ต้องการของทุกค่าย ซึ่งแน่นอนว่าจะนำไปสู่การแข่งขันทางด้านราคา สิ่งที่เราอาจจะเห็นในปีนี้ คือ หนังไทยใหญ่ๆ บางเรื่อง อาจถูกซื้อไปฉายในช่องทางสตรีมมิ่งด้วยราคาที่สูงลิ่ว และผู้ชมอาจไม่มีโอกาสได้ชมทางโรงหนัง หรือถ้ามีก็อาจเป็นระยะเวลาอันสั้นมาก เพราะช่องทางหลักของการรับชมได้ถูกควบคุมโดยค่ายสตรีมมิ่งไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดูเหมือนผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังไทย จะได้รับอานิสงส์ จากการแข่งขันของผู้ประกอบการสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คอนเทนต์ทุกประเภทจะถูกซื้อไปฉายโดยไม่ต้องคัดเลือก เพราะสตรีมมิ่งแต่ละเจ้าย่อมมีมาตรฐานในการคัดเลือกของตัวเอง โดยแก่นหลักของการคัดเลือกที่เหมือนกันคือ คุณภาพการผลิตที่ต้องมีมาตรฐานสูง เนื้อหาที่สื่อสารกับผู้ชมวงกว้างที่อาจไม่จำกัดแค่ในประเทศไทยได้ ดังนั้นหากผู้ผลิตต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเกมธุรกิจหนังแบบใหม่ ก็ต้องวางแผนอย่างเป็นระบบก่อนที่จะตัดสินใจสร้างหนังสักเรื่องขึ้นมา

2) สำหรับผู้ประกอบการโรงหนัง แม้ว่าการเกิดขึ้นของการระบาดระลอกใหม่ จะไม่ทำให้โรงหนังต้องปิดตัวลง เหมือนในช่วงภาวะระบาดระลอกแรก แต่ผลประกอบการของโรงหนังทุกโรงในช่วงเวลาที่ผ่านมากลับอยู่ในสภาวะซบเซา เนื่องจากผู้บริโภคลังเลที่จะออกมาดูหนังในโรง ประกอบกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทำให้การดูหนังที่โรงไม่ใช่ทางเลือกหลักของการดำเนินชีวิต ด้วยเหตุนี้ หากวิกฤติโรคระบาดคลี่คลายในระดับที่ดีขึ้น สถานการณ์โรงหนังในเมืองไทย คงจะกลับไปเหมือนกับช่วงหลังจากที่ภาวะโรคระบาดคลี่คลายครั้งแรกในช่วงเดือนมิถุนายน ต่อเนื่องจนถึงก่อนที่จะเกิดภาวะระบาดครั้งที่สองในช่วงกลางเดือนธันวาคม กล่าวคือ รายได้ของโรงขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของหนังเป็นสำคัญ โดยหนังจากฮอลลีวูดลงทุนสูง หรือ หนังเอเชียฟอร์มใหญ่ โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ หรือ ญี่ปุ่น รวมถึงหนังไทยที่ผลิตโดยค่ายที่มีฐานการยอมรับของผู้ชมสูง จะสร้างหลักประกันทางด้านรายได้ให้กับโรงภาพยนตร์ มากกว่าหนังขนาดกลางและเล็กทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งหากพิจารณาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากปีที่แล้ว ที่หนังฮอลลีวูดฟอร์มใหญ่หลายเรื่องมีอันต้องเลื่อนฉายจากสถานการณ์โควิด แล้วมีกำหนดต้องฉายในปีนี้ โดยเฉพาะในไตรภาคที่ 2 และไตรภาคที่ 3 ก็น่าจะทำให้ผู้ประกอบการโรงหนังพอหายใจหายคอได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามคำถามที่ตามมา (ซึ่งสอดคล้องกับข้อเขียนของ บรู้กแมนน์) ก็คือ รูปแบบการจัดจำหน่ายแบบผสมผสาน (hybrid) ที่สตูดิโอใหญ่ อย่าง Warner และ Disney ได้กำหนดไว้จะมีผลต่อโรงหนังในเมืองไทยแค่ไหน ในมุมของผู้เขียน มองว่าขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการฉายที่สตูดิโอต่างๆ กำหนด หากสตูดิโอใหญ่ เปิดโอกาสให้ ผู้ประกอบการโรงหนังในประเทศต่างๆ สามารถฉายหนังของพวกเขาก่อนที่จะเปิดตัวในอเมริกาในช่องทาง สตรีมมิ่งอย่างน้อยหนึ่งอาทิตย์ โอกาสที่โรงจะทำกำไรจากยอดขายตั๋วก็มีสูง ตรงกันข้าม หากสตูดิโอบีบให้โรงหนังนอกอเมริกาต้องฉายหนังของพวกเขาพร้อมกับสตรีมมิ่งในอเมริกา โอกาสที่จะทำกำไรโรงเหล่านี้ก็จะมีน้อยลง เนื่องจากหลังที่หนังได้ออกฉายทางช่องทางสตรีมมิ่งไปแล้ว คล้อยหลังไม่ถึงสองวัน ลิงก์หนังเถื่อนก็จะปรากฏตามเว็บไซต์ผิดกฎหมายต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นกรณี Mulan เป็นต้น

แต่ไม่ว่าโรงหนังจะฉายหนังตามเงื่อนไขแบบใดก็ตาม สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนก็คือ โอกาสที่จะได้เห็นหนังสตูดิโอฟอร์มใหญ่ทำเงินแบบถล่มทลายเกิน 150 ล้านบาท คงเป็นเรื่องที่ยากขึ้น เพราะ ยิ่ง window หรือระยะการฉายก่อนการเปิดตัวทางช่องทางสตรีมมิ่งสั้นลง โอกาสโกยเงินจากค่าตั๋วของโรงภาพยนตร์ก็จะน้อยลงด้วย สิ่งที่เราคงได้เห็นตามมาก็คือ การที่โรงจะต้องทุ่มสรรพกำลังในการโหมประโคมดึงคนให้เข้ามาดูหนังฟอร์มใหญ่เหล่านี้ใน 4 วันแรกให้มากที่สุดเท่าที่จำทำได้ ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อหนังขนาดกลางและเล็กที่อาจหาพื้นที่ฉายได้ยากขึ้น (จากเดิมที่ยากอยู่แล้ว) หากต้องเข้าในช่วงเวลาเดียวกันกับที่หนังฟอร์มยักษ์เหล่านี้เข้าฉาย

จากฉากทัศน์ทั้งสองฉากทัศน์ที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจหนังในประเทศไทยในปีนี้ จะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นความท้าทายที่ขับเคลื่อนโดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นหากต้องการที่อยู่รอดในธุรกิจนี้ต่อไป สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ คือการยอมรับความจริงว่าไม่มีอะไรที่จะกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป จากนั้นก็ตั้งคำถามว่า แล้วเราจะปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

FILM CLUB Year List 2020 (Part 8)

0

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง) | (รายชื่อรอบสาม) | (รายชื่อรอบสี่)

(รายชื่อรอบห้า) | (รายชื่อรอบหก) | (รายชื่อรอบเจ็ด)

ในที่สุดปี 2020 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ท่ามกลางสถานการณ์การปิดโรงหนังหนีโควิด การเฟื่องฟูของกิจการ Streaming ภาพยนตร์ และการที่เทศกาลหนังเกือบทั้งโลกย้ายมาอยู่ออนไลน์ เปิดประตูกว้างต้อนรับผู้ชมจากทั่วโลก และสำหรับในประเทศการมาถึงของการชุมนุมที่นอกจากจะขยายเพดานการสื่อสารอย่างสามารถสร้างเทรนด์บางอย่างของการดูหนังแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วย 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2020 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2021 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง 

และนี่คือรายชื่อในรอบที่แปด รอบสุดท้าย


ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์ : นักแสดง 

Love battles (2013, Jacques Doillon, France)

เกมมวยปล้ำระหว่างชายหญิง

การปะทะกันในบทสนทนาที่คลุมเครือ รุนแรง เดือดดาล ปั่นป่วนระหว่างร่างกาย เต็มไปด้วยแรงอารมณ์ที่กระชากกันไปมา ราวกับละครกายกรรมที่เหมือนสัตว์ที่หยั่งเชิง ยั่วล้อทางอารมณ์และศีลธรรม ความพยายามที่จะผลักตัวเองให้ข้ามเส้นที่มองไม่เห็นของแต่ละคน 

ถึงพอดูจนจบแล้วเราเองก็มีความรู้สึก อืมๆ เข้าใจแหละมั้ง เนื้อเรื่องมันจับต้นชนปลายยังไงกันนะ 

แต่เราจูนติดกับการแสดงมาก มันทำให้เราประทับใจว่านักแสดงต้องไว้ใจกันถึงขนาดไหน เพราะมันให้ความรู้สึกดิบทางการแสดงมาก จนเราดูแล้วเนื้อเต้น นึกถึงความรู้สึกตอนดูเรื่อง raw 

การเผชิญหน้ากันในบทสนทนาและร่างกายระหว่างสองนักแสดงที่สร้างความงุนงงแก่เราว่า มวลความรักแรงปรารถนาที่ดิบเถื่อนมันก่อตัวขึ้นอย่างไร แรงอารมณ์ที่ถาโถมใส่กันมันจะไปจบที่ไหน



ภูมิภัทร ถาวรศิริ : นักแสดง

Homo Sapiens (2016, Nikolaus Geyrhalter, Switzerland-Germany-Austria)

เหมือนการได้เฝ้ามองดูซากเศษของมนุษย์ ทีละน้อยค่อยๆ เริ่มเข้าสู่และอยู่กึ่งกลาง กระบวนการย่อยสลาย ปรากฏผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองตัวละคร คือธรรมชาติในหลากรูปทรง ทั้งแสงอาทิตย์ น้ำฝน เสียงของปีกแมลง ที่ทั้งเคลื่อนไหวและครองบทบาทแห่งชีวิต กับศพแห้งของอดีตอารยธรรมวานรหลังตั้งฉากกลุ่มหนึ่งที่นอนนิ่งสงัดปราศจากสัญญาณชีพอยู่ตรงนั้น

ชอบทุกเสียงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเสียงของลมที่สัมผัสเอาพื้นผิวต่างๆ รอบบริเวณ เมื่อได้ฟังจากหลากสถานที่เทียบกันก็ยิ่งรู้สึกชัดว่าสายลมเวลาไปสัมผัสเข้ากับหรือวัตถุที่เคยเป็นของมนุษย์ เช่นพวกกระดาษเก่าในสำนักงาน หรือเศษโลหะเสียงมันดู peak ฟังดูช่างกระด้างทารุณ ไม่เหมือนเวลาที่เกิดขึ้นของเสียงปีกนก เสียงคลื่นทะเล หรือเสียงใบไม้ร่วงจากต้น 

ได้สัมผัสกับจำลองแห่งวันสิ้นโลกจริงๆ ก็รู้สึกทั้งสะใจและเศร้าใจ สนุกแบบปลงๆ รู้สึกเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้ดูในโรง



วาสุเทพ เกตุเพ็ชร : ผกก. ซีรี่ส์ The Gifted: Graduation, เขียนบท มะลิลา

The Trial of The Chicago 7 (2020, Aaron Sorkin, USA/UK/India)

Aaron Sorkin อาจจะไม่ใช่ชื่อแรกๆ ที่เรานึกถึงเวลาถูกถามถึงผลงานที่ชอบ ไม่ว่าจะในฐานะผู้กำกับหรือคนเขียนบท แต่ก็เป็นคนทำงานที่เราติดตามอยู่เสมอ และเอาจริงๆ คือลึกๆ เราอยากทำงานได้อย่างเขา

บทหนังซอร์กินมันจะแหลมคมด้วยประเด็นเสมอ และการให้ตัวละครพูดเยอะมันสะใจคนเขียนบทแบบเราดี ขณะที่หนังวู้ดดี้ อัลเลนมันพูดเยอะ แต่ก็ยังเป็นการบ่นลมบ่นฟ้า แต่หนังซอร์กินมันพูดกันแทบจะเป็นอภิปรายในสภา ตัวละครเหมือนทำหน้าที่เพียงถ่ายทอดจุดยืนของบท ไม่มีพื้นที่อิสระให้ตัวละครแสดงเหลี่ยมมุมของความเป็นมนุษย์มากนัก บางครั้งเวลาบทของซอร์กินไปอยู่ในมือของผู้กำกับที่ไม่แข็งแรง หนังก็พังแบบไม่เป็นท่าไปเลย

The Trial of The Chicago 7 คือรวมทุกองค์ประกอบของความเป็นหนังซอร์กิน มาแบบไม่กั๊กว่าจะเอาประเด็นอะไร ตัวละครต้องทำหน้าที่อะไร บทพูดแหลมแบบจงใจเหลาเอาแบบชัด แต่สิ่งที่เซอร์ไพรส์เราคือตอนจบอะ ถ้าฉากแบบนี้มันอยู่ในหนังสปีลเบิร์กหรือโนแลนมันคงเฉยๆ แต่พอมันเป็นหนังซอร์กินมันเลยเป็นฉากจบที่ดีมากจนต้องให้เดอะเบสต์ของปีไปจริงๆ เป็นการส่วนตัว

Claire’s Knee : เสรีภาพและความไร้สุขซึ่งบรรจุอยู่ในหัวเข่าของความปรารถนา

0

ฤดูร้อนแสนงาม เจอโรมหนุ่มใหญ่สำรวยเดินทางมาพักผ่อนที่บ้านพักริมทะเลสาบ ที่นั่นเขาเจอออโรร่า เพื่อนสาวที่เขาเคยสนิทสนมแต่กาลก่อน เขาลองเล่นหมาหยอกไก่กับเธออีกครั้งหนึ่งแต่ไม่สำเร็จ เธอแนะนำให้เขารู้จักกับคุณนายวอลเตอร์ เจ้าของคฤหาสน์ที่เธอมาพักอาศัย และเขาได้พบกับลอร่า ลูกสาวคนเล็กแรกรุ่นของคุณนายวอลเตอร์ ออโรร่าบอกเขาว่าเด็กสาววัยรุ่นคนนี้ดูจะสนใจเขา อยากให้เขาลองจีบเธอดู ตัวเขาเองก็เพิ่งแต่งงานกับสาวสวีเดน แต่ก็เอนจอยกับการหว่านเสน่ห์ใส่สาวๆ

หลังจากไปเที่ยวภูเขาด้วยกัน เด็กสาวก็บอกว่าเธอออกจะชอบเขานิดๆ แต่เธอก็มีเพื่อนชายแวะมาหา เขาเองก็หว่านเสน่ห์แบบไม่ได้หวังผลอะไรมากกว่าการได้หว่านเสน่ห์ จนเมื่อแคลร์ ลูกสาวคนโตของคุณนายวอลเตอร์มาถึง เธอมาที่นี่กับแฟนหนุ่มน่ารำคาญ เขาหันมาสนใจเธอ หว่านเสน่ห์ใส่เธอแต่ดูเหมือนเธอจะไม่เล่นด้วย ภายใต้ความหงุดหงิดและพ่ายแพ้ของตัวเอง เขาค่อยๆ เรียนรู้ว่าที่เขาสนใจไม่ใช่ออโรร่า ลอร่า หรือแม้แต่เธออีกต่อไป หากเป็นเพียงการได้สัมผัสหัวเข่าของเธอที่เขาบังเอิญเห็นเข้าครั้งหนึ่งเท่านั้น

มันจึงเป็นเกมของการสนทนา การยั่วยวน การท้าทาย และการแสวงหาความตื่นใจจากเกมของรักและการถูกรัก เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งเดือนสั้นๆ ท่มกลางบรรยากาศอุ่นๆ ของทะเลสาบที่มีภูเขาเขียวขจีทอดเป็นฉากหลัง หนังทั้งเรื่องเป็นเพียงตัวละครสนทนากันไปเรื่อยๆ หลอกล้อยั่วยวนต่อปากต่อคำกัน เดินไปตามถนน ในปราสาทเก่าแก่ ริมทะเลสาบ หรือบนภูเขา เราอาจบอกได้ว่านี่คือเรื่องของกระฎุมพีที่มีเวลาเหลือเฟือ เรื่องน่าเบื่อรื่นรมย์ของพวกคนรวยๆ ในทะเลสาบ แต่ก็นั่นแหละ นี่คือเรื่องราวยวนใจที่กลายเป็นนิทานสอนใจความเหลวไหลไม่ได้เรื่องของอำนาจผู้ชายและการบริหารอำนาจที่พวกเขาคิดว่ามี

ภาพยนตร์เรื่องที่ห้าจากหกเรื่องในตระกูล ‘นิทานสอนใจ’ (Six Moral Tales) ของ Eric Rohmer ผู้กำกับนิวเวฟฝรั่งเศสที่ทุกคนล้วนมีแนวทางต่างกัน ร่วมกันเพียงเติบโตมาจากการเป็นนักดูหนังและนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในนิตยสารอย่าง Cahier du Cinema (ซึ่ง Rohmer เคยเป็นบรรณาธิการอยู่ช่วงหนึ่ง)

นิทานสอนใจของ Eric Rohmer ดูเหมือนจะเป็น นิทานอีสป สุภาษิตสอน/ด่า/ตบหน้า พลางพาฝันมนุษย์เพศชายมากกว่าจะเป็นนิทานสอนใจสำหรับเด็ก เกือบทุกเรื่องในหนังชุดนี้ว่าด้วยการนอกใจ การยั่วยวน การใช้อำนาจที่ตัวเองคิดว่ามีของผู้ชายทั้งหนุ่มทั้งแก่ต่อบรรดาหญิงสาวน้อยใหญ่ (โดยเฉพาะบรรดาสาวน้อย) ที่พวกเขามักคิดว่าพวกเธอเป็นเพียงตัวละครในเกมรักที่เขาเป็นผู้เล่น ก่อนจะถูกสอนมวยว่าพวกเขาเป็นผู้เล่นพอๆ กับที่ถูกเล่นในเกมอีโรติคของความสัมพันธ์ที่ความรักเป็นเพียงเครื่องมือ/ข้ออ้าง หรือแฟนตาซีที่มีไว้ให้ไปไม่ถึง

ใน Claire’s Knee (และหนังหลายๆ เรื่องของ Rohmer) สำหรับตัวละคร (โดยเฉพาะผู้ชาย) การยั่วยวนดูจะสำคัญกว่าการได้ครอบครอง การได้แสดงอำนาจผ่านทางการพูดดูจะสำคัญกว่าการกระทำ ฉากหนึ่งในหนัง เจอโรมถกเถียงกับลอร่าเรื่องความสัมพันธ์ กับความรัก และนี่คือบทสนทนาในฉากนี้


เจอโรม : ฉันแต่งงานกับลูซินด์ก็ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือฉันรู้จักเธอมาหกปีแล้ว และไม่เคยเบื่อเธอเลย แล้วเขาก็เหมือนกันกับฉัน แล้วฉันก็ไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมเราจะไม่อยู่ด้วยกัน เธอคงคิดว่ามันช่างไร้แรงปรารถนาสินะ?
ลอร่า : ใช่ค่ะ หนูอยากจะรู้สึกรักใครสักคนตั้งแต่วันแรก ไม่ใช่อีกหกปีต่อมา นั่นหนูไม่เรียกมันว่าความรักมันน่าจะเป็นมิตรภาพมากกว่า
เจอโรม : เธอคิดว่ามันต่างกันหรือ? ฉันว่าโดยพื้นฐานแล้วน่ะ ความรักกับมิตรภาพเหมือนกัน
ลอร่า : หนูไม่เคยเป็นเพื่อนกับคนที่หนูรัก ความรักทำให้หนูร้าย
เจอโรม : งั้นเลย! ไม่ใช่ฉันแน่ ฉันไม่เชื่อในความรักที่ปราศจากมิตรภาพ
ลอร่า : สำหรับหนูมิตรภาพจะมาทีหลัง
เจอโรม : จะก่อนหรือหลังก็ไม่สำคัญหรอก เพราะในมิตรภาพ เราจะพบบางอย่างที่เป็นเป้าหมายของความรัก นั่นคือการเคารพในอิสรภาพของการและกัน ไม่ใช่การครอบครอง
เจอโรม : หนูน่ะพวกชอบความเป็นเจ้าของ หนูคลั่งการครอบครอง
ลอร่า : งั้นหรือ ไม่ดีเลยนะ มันจะทำลายชีวิตเธอ
ลอร่า : หนูรู้ว่าหนูเกิดมาเพื่อไร้สุข เพราะฉะนั้นหนูจะไม่ยอมไร้สุข หนูน่ะมีความสุขมาก หนูคิดถึงก็แต่เรื่องที่มีความสุข คนเราไร้สุขก็เพราะเขาอยากจะเป็นอย่างนั้น เวลาที่หนูมีปัญหา หนูจะคิดถึงแต่ช่วงเวลาที่มีความสุข การร้องไห้น่ะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา หนูคิดว่าในเมื่อหนูอยู่บนโลกนี้ และนั่นช่างงดงามดังนั้นหนูจะต้องสนุกกับมัน
เจอโรม : ยังไง?
ลอร่า : เมื่อหนูมีความรัก มันจะกระทบกระเทือนต่อตัวหนูทั้งหมด แล้วหูก็จะลืมว่าหนูมีความสุขที่ได้ใช้ชีวิต
เจอโรม : แต่เธอไม่ควรลืม หรือเสียสละชีวิตและความสุขเพื่อรัก ฉันคิดว่าเธอฉลาดมากพอในเรื่องนี้
ลอร่า : หนูจะบอกความลับคุณอย่างนึง จริงๆ แล้วหนูไม่มีความสุขเลยเวลาหนูมีความรัก หนูเกลียดมาก หนูติดแหง็ก ไม่มีอะไรทำให้หนูสนใจได้อีก หนูหยุดใช้ชีวิต มันไม่สนุกเอาเสียเลย
เจอโรม : เห็นไหมล่ะฉันว่าแล้ว! ใช่ไหมล่ะ?
ลอร่า : ไม่ใช่เลย


ท่ามกลางบทสนทนาของพี่ชาย/คุณน้าแสนดีคุยกับน้องสาว/หลานสาว เจอโรมพยายามแสดงอำนาจเหนือกว่าแบบคนอาบน้ำร้อนมาก่อน ในขณะที่เขาพยายามอธิบายเรื่องของความรักกับมิตรภาพ เราก็ได้เห็นความย้อนแย้งของมิตรภาพที่คือความไม่ครอบครอง ความไม่ครอบครองและเสรีภาพ คือการมีเสรีภาพที่จะลองสานสัมพันธ์กับผู้อื่น ความไม่ครอบครองคือการมอบอำนาจให้เฟลิร์ทกับใครก็ได้ ในทางตรงกันข้ามความย้อนแย้งของความรักของลอร่าก็นำไปสู่สิ่งที่เป็นเหมือนหัวใจอีกอย่างในหนังของหลายๆ เรื่องของ Rohmer ก็คือความไร้สุข เพราะมนุษย์ถูกสาปให้อยากมีความสุข ความไร้สุขจึงเป็นปลายทาง เพราะความสุขไม่มีจริง ความสุขถังก้นรั่วเพราะมันต้องการการเติมเพิ่มตลอดเวลา เพราะมีการเติมเพิ่มเท่านั้นที่คือความสุข เราจะเติมเพิ่มเมื่อขาดพร่อง เราจึงต้องขาดพร่องตลอดเวลาเพื่อจะได้เติมเพิ่มลงไป ดังนั้นเราจึงต้องไร้สุขเพื่อให้ความสุขดำรงคงอยู่ เช่นเดียวกับการพ่ายแพ้ในเกมรักเพื่อให้ความรักดำรงคงอยู่เหมือนแฟนตาซี เหมือนยูโทเปีย ความสมบูรณ์แบบที่มีไว้ให้ไป แต่ไม่มีวันถึง

หัวใจอีกอย่างในหนังของหลายๆ เรื่องของ Rohmer ก็คือความไร้สุข เพราะมนุษย์ถูกสาปให้อยากมีความสุข ความไร้สุขจึงเป็นปลายทาง เพราะความสุขไม่มีจริง ความสุขถังก้นรั่วเพราะมันต้องการการเติมเพิ่มตลอดเวลา เพราะมีการเติมเพิ่มเท่านั้นที่คือความสุข เราจะเติมเพิ่มเมื่อขาดพร่อง เราจึงต้องขาดพร่องตลอดเวลาเพื่อจะได้เติมเพิ่มลงไป

ความรัก(หรือเรื่องเพศ)ของผู้ชาย และความสุข(ความรัก)ของผู้หญิงในเรื่องจึงเป็นอะไรคล้ายๆ กับหัวเข่าของแคลร์ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นตัวมันเอง เป็นเพียงวัตถุปรารถนา

หากเทียบกับคนอื่นๆ ที่เหลือ แคลร์เป็นตัวละครที่อยู่นอกเหนือเกมของเจอโรมและออโรร่า เธอเป็นเพียงสาวงามที่มาทีหลังสุด แสดงออกชัดแจ้งว่าไม่สนใจเสน่ห์หนุ่มใหญ่อย่างเจอโรม เธอมีแฟนหนุ่มหล่อวัยรุ่นมาด้วย และเอนจอยวันหยุดกับเขามากกว่าอื่นใด เจอโรมเจอเธอและสนใจเธอแบบที่ผู้ชายคิดอย่างประสาทแดกว่าผู้หญิงทุกคนต้องสนใจคนอย่างเขาในทางใดทางหนึ่ง แต่ก็เรียนรู้ว่าเปล่า จุดสนใจของเขาเลยย้ายมาที่หัวเข่าของเธอซึ่งเปลือยเปล่าพ้นชุดกระโปรงที่เธอสวมใส่ ในยามที่เธอและแฟนหนุ่มปีนบันไดไปเก็บลูกไม้สดๆ จากต้นมากิน เจอโรมบังเอิญเดินผ่าน เขามองเห็นหัวเข่าของเธอ ปรารถนามันเหมือนเด็กอยากได้ของเล่นใหม่ปรารถนาในฐานะของวัตถุที่แยกออกจากร่างกายของเธอ ปรารถนาที่ไม่อาจครอบครองโดยแท้

ปรารถนาแห่งการครอบครองและความไร้สุขของเจอโรมลดรูปจากการได้สานสัมพันธ์กับสาวรุ่นเพลือเพียงหัวเข่าของเด็กสาวและปรารถนาที่หากจะไม่ได้ครอบครองก็ต้องทุบทำลาย โดยถือว่านี่คือชัยชนะ ผู้ชายของ Rohmer มักวนเวียนอยู่กับเรื่องราวหล่านี้ นิทานสอนใจของเขาจึงเป็นการเปิดเปลือยความเหลวไหลของพวกผู้ชายภายใต้ความรื่นรมย์และบทสนทนาแบบปัญญาชน

ผู้ชายของ Rohmer มักวนเวียนอยู่กับเรื่องราวหล่านี้ นิทานสอนใจของเขาจึงเป็นการเปิดเปลือยความเหลวไหลของพวกผู้ชายภายใต้ความรื่นรมย์และบทสนทนาแบบปัญญาชน

ในช่วงท้าย เจอโรมผู้หงุดหงิดทั้งจากความไม่แยแสของแคลร์ ลอร่า และ ออโรร่า (กล่าวตามจริงเธอยุยงเขาเรื่องลอร่าเพื่อไม่ให้เขามาวอแวกับเธอที่กำลังจะแต่งงานกับคู่หมั้นคู่หมาย) ได้ลดรูปความปรารถนาของตนลงให้เหลืออยู่เพียงแค่การได้จับหัวเข่าของแคลร์ ฟังดูน่าตลกพิลึก แต่มันกลับน่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง เพราะความต้องการจะเอาชนะผู้หญิงแบบคิดไปเองของเขาหดแคบลงจนน่าเวทนา

วันหนึ่งเมื่อเขาบังเอิญเจอว่าคนรักของแคลร์อาจจะไปพบหญิงคนอื่น เขาก็ใช้มันเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงแคลร์ เขาปลอบประโลม และบรรลุความปรารถนาของตัวเองแค่เพียงเท่านั้น ไม่มากหรือน้อยกว่า พอเขาบรรลุความปรารถนา แคลร์ก็ไร้ความหมาย กล่าวให้ถูกต้อง การได้ครอบครอง การได้เอาชนะเป็นเกมแบบคิดกฎเองเล่นเองอยู่ฝ่ายเดียวของผู้ชายที่ผู้หญิงไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย และพวกผู้ชายตั้งกฎได้ เล่มเกมได้ ตื่นเต้นได้ สนุกได้ เพราะลึกๆ เขาเชื่อว่าเขามีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง เมื่อผู้หญิงขัดใจเขาไม่เล่นตามเกมของเขา เขาก็หากติกาอื่นๆ มาปลอบใจตัวเอง เหมือนเด็กไม่รู้จักโตไปเรื่อยๆ สำหรับพวกเขา ผู้หญิงจึงเป็นเพียงร่างที่ว่างเปล่าเหมือนกับตัวหมากรุกบนกระดาน หรือตุ๊กตาที่ไร้ตัวตน ในโลกแบบนี้หัวเข่าจึงมีค่ากว่าคนทั้งคน โลกที่มีเสรีภาพของความรักตามที่เจอโรมว่าไว้ เพื่อให้เขาได้ไร้สุขที่จะได้เล่นเกมและเอาชนะและมีความสุขจากการคิดว่าชนะ โดยที่ผู้เล่นที่เขาคิดว่าแพ้ไม่ได้เล่นเกมเดียวกันกับเขา ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขากำลังเล่นเกมไปวันๆ

ความสุขและความไร้สุขของเขาเกิดขึ้นและจบลงในเวลาหนึ่งเดือน (ตามวันที่ที่หนังขึ้นเรียงไปด้วยๆ) มันทั้งชวนหัวและน่าเวทนา และนี่คือนิทานสอนใจแสนสนุกเรื่องหนึ่งของ Eric Rohmer


ดูหนังเรื่องนี้ได้ใน MUBI

Lido Connect ถึงเวลาต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดนับตั้งแต่เมื่อปี 2020 ได้สร้างผลกระทบต่อธุรกิจโรงหนังอย่างไม่อ้อมค้อม วัดได้จากการที่หนังใหม่ของสตูดิโอเลื่อนหนีไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ จนนำมาซึ่งรายได้ของการขายตั๋วที่ลดลงจนบางโรงหนังเลือกที่จะไม่ฉายหนังก็มี เช่น Century The Movie Plaza จนอะไรๆ ก็เริ่มจะเข้าที่เข้าทาง หนังใหม่เริ่มทำเงินเยอะก็เกิดการระบาดรอบ 2 ซึ่งคราวนี้กระทบหนังกว่าเดิมเพราะเดือน ม.ค. มีหนังใหม่เข้าฉายแค่ 3 เรื่องเท่านั้น แน่นอนว่าภาวะเช่นนี้โรงหนังที่โดนผลกระทบไปเต็มๆ ก่อนใครเพื่อนก็คือโรงหนังทางเลือก เช่น ‘ลิโด้ คอนเน็คท์’ และต้องมีการปรับตัวอย่างชัดเจนในช่วงเวลาอันใกล้นี้

สิรินทรา มงคลนาวิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลิโด้ คอนเน็คท์ จำกัด เปิดเผยว่า “ของเราได้รับผลกระทบเยอะนะคะ ตั้งแต่การระบาดรอบที่แล้วที่ต้องเว้นระยะห่าง มันทำให้คนรู้สึกไม่ปลอดภัย ช่วงนั้นคนดูก็เลือกเสพคอนเทนต์สตรีมมิงอยู่ที่บ้านกัน ประกอบกับแต่ละผู้ให้บริการก็มีคอนเทนต์ออกมามากมายหลากหลายด้วย มันเลยเป็นการปรับพฤติกรรมคนดูค่อนข้างเยอะ กว่าจะกลับมาได้ก็คือช่วง มิ.ย. ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน หนังใหม่ก็ไม่ค่อยมี ซึ่งตรงนี้อาจไม่ได้กระทบกับ ลิโด้ คอนเน็คท์ โดยตรง เพราะเราเน้นไปที่หนังทางเลือกมากกว่า”

แม้จะฉายหนังเพียงจอเดียว แต่หลายรอบก็ไม่มีคนดูแล้ว ทำให้สิ่งที่ ลิโด้ คอนเน็คท์ ต้องเร่งมือคือปรับกลยุทธ์การฉายหนังให้เร็วที่สุด อันดับแรกคือเปลี่ยนบทบาทของโรงหนังเสียใหม่ ดังที่แฟนเพจของ ลิโด้ คอนเน็คท์ พยายามเน้นให้เห็นว่าโรงหนังสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อประโยชน์หลากหลาย กระตุ้นให้เกิดการเช่าพื้นที่มากขึ้น และนอกจากนี้คือการลดความถี่ในการฉายหนังตามปกติลง และเพิ่มกิจกรรมแทน

“ถ้าเรายังวางบทบาทเป็นโรงหนังปกติ คนดูหนังก็จะน้อยต่อไปแบบนี้ เพราะฉะนั้นนับจากนี้เราคงจะลดความถี่ในการฉายหนังลง อาจจะเหลือแค่เป็นบางวันเท่านั้น แต่จะพยายามหากิจกรรมที่ทำให้การดูหนังมันพิเศษขึ้นมา เช่นการพูดคุย การให้ความรู้ในแง่มุมต่างๆ เหมือนที่เราเคยทำกับ Documentary Club หรือทำกับสารคดี ‘ติดถ้ำ’ ของ TPBS คนก็ให้ความสนใจ พยายามเพิ่มประสบการณ์พิเศษเข้าไปให้มากที่สุด หรืออย่างที่เราอยากจะสร้างคือการใช้สถานที่เพื่อรองรับหนังนักศึกษา เพราะทุกวันนี้มีหนังดีๆ เยอะ แต่โอกาสเผยแพร่ยังน้อย” สิรินทรากล่าว

“เราพยายามมาตลอดให้ที่ตรงนี้มันเป็นที่ให้คนที่สนใจเรื่องเรี่องเดียวกัน ได้เจอกัน ได้คุยกัน จนเกิดเป็นสังคมย่อยขึ้นมา จะ 2-3 คน หรือเป็นสิบๆ คน หรือจะนัดกันมาก็ได้ เรายินดี นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เกิด ทุกวันนี้เราคุยผ่านออนไลน์ยังไงก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเจอกันตัวเป็นๆ แต่สิ่งที่เราเชื่อมาตลอดคือ Human Touch เพราะฉะนั้นเราหวังว่าโควิดรอบนี้จะเร่งให้เราทำให้มันเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นเสียที”

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 28 ม.ค. 64

เมื่อวานนี้มีหนังใหม่เปิดตัวแค่เรื่องเดียว คือสารคดีสำหรับแฟนหงส์แดง The End of the Storm ซึ่งเป็นสารคดีต่างประเทศเรื่องแรกที่สามารถทำรายได้เป็นอันดับ 1 ประเทศไทย แต่ทำเงินไปได้แค่กว่า 1 แสนบาทเท่านั้น

รายได้หนังประจำวันที่ 28 ม.ค. 64

  1. The End of the Storm – 0.15 ล้านบาท
  2. Monster Hunter – 0.10 (22.51) ล้านบาท
  3. Songbird – 0.07 (1.54) ล้านบาท
  4. Soul – 0.06 (15.40) ล้านบาท
  5. Wonder Woman 1984 – 0.03 (63.76) ล้านบาท
  6. Your Eyes Tell – 0.03 (0.50) ล้านบาท
  7. Demon Slayer: Kimetsu No Yaiba – 0.02 (73.52) ล้านบาท
  8. Ready Player One – 0.02 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายใหม่
  9. The Lighthouse – 0.02 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายใหม่
  10. Detective Conan: The Scarlet School Trip – 0.01 (1.85) ล้านบาท

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 21 – 27 ม.ค. 64

หลังจากเว้นวรรคการมีหนังใหม่เข้าฉายในโรงหนังนานถึง 2 สัปดาห์ แต่พอมีหนังใหม่เข้าฉายจริงจังเป็นโปรแกรมแรกของปี 2021 มันกลับทำรายได้ไม่ต่างจากก่อนหน้านี้เท่าไหร่นัก เรามาดูกันว่าอีกนานแค่ไหนกว่าโรงหนังจะฟื้นฟูกลับมาคึกคักได้ตามเดิมอีกครั้ง

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 21 – 27 ม.ค. 64

  1. Songbird – 1.48 ล้านบาท
  2. Monster Hunter – 1.04 (22.44) ล้านบาท
  3. Soul – 0.71 (14.69) ล้านบาท
  4. Your Eyes Tell – 0.48 ล้านบาท
  5. Wonder Woman 1984 – 0.47 (63.73) ล้านบาท
  6. Demon Slayer : Kimetsu No Yaiba – 0.24 (73.50) ล้านบาท
  7. Doraemon: Stand By Me – 0.10 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายใหม่
  8. Detective Conan: The Scarlet School Trip – 0.09 (1.84) ล้านบาท
  9. Your Name – 0.09 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายใหม่
  10. 1917 – 0.08 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายใหม่

Call Me by Your Name เอ่ยชื่อคือคำ ‘รัก’ ผ่าน ‘พีช’ …ผลไม้ : สัญญะที่ไม่อาจแปลได้แค่ ‘เซ็กซ์’

คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ‘ผลไม้’ คือสัญญะยอดนิยมอย่างหนึ่งสำหรับศาสตร์การเล่าเรื่องในโลกภาพยนตร์ โดยเฉพาะการที่คนทำหนังมักเลือกนำมาผูกโยงเข้ากับ ‘เรื่องเล่าทางเพศ’ อันหมายรวมถึง ‘เซ็กซ์’ ที่ทั้งฉ่ำเยิ้ม นวลนุ่ม และอุ่นอวล ซึ่งเชิญชวนให้มนุษย์เราปรารถนาที่จะลิ้มลองได้ไม่ต่างจากอาหารตามธรรมชาติอย่างผลไม้ที่ถูกใช้เป็น ‘ภาพแทน’ ดังกล่าว

เช่นเดียวกับใน Call Me by Your Name (2017) ผลงานการกำกับของ ลูกา กัวดัญญีโน ที่ดัดแปลงจากนิยายดังปี 2007 -อันว่าด้วยความรักในช่วงฤดูร้อนที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของสองหนุ่มต่างวัยไปตลอดกาล- ของ อันเดร อาซีแมน ออกมาเป็นบทได้อย่างละมุนละไมโดย เจมส์ ไอวอรี -ผู้กำกับ/เขียนบทรุ่นเก๋าจากหนังรักชาย/ชายขึ้นหิ้งอย่าง Maurice เมื่อปี 1987- จนสามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขา ‘บทดัดแปลงยอดเยี่ยม’ มาครอง และหนึ่งในฉากที่น่าจดจำก็คือ การสะท้อนถึงแรงปรารถนาทางเพศของตัวละครหลักผ่านผลไม้รสชาติหอมหวานอย่าง ‘พีช’ ด้วยค่าที่มันไม่ได้ถ่ายทอดเพียงแค่ ‘ความใคร่’ หากแต่ยังเผยถึง ‘ความรัก’ อันลึกซึ้งที่ค่อยๆ งอกเงยอย่างงดงามอยู่ในความสัมพันธ์ครั้งนี้ด้วย


1

ภายใต้บรรยากาศแสนอึมครึมของห้องหับในบ้านกลางสวนทางตอนเหนือของอิตาลีช่วงปี 1983 ระหว่างที่ตัวละครหนุ่มน้อยวัยสิบเจ็ดอย่าง เอลิโอ (รับบทโดย ทิโมธี ชาลาเมต์) กำลังนอนเปลือยท่อนบน อ่านหนังสือ และพลิกตัวไปมาอยู่บนเตียงท่ามกลางความเหนอะเหนียวของฤดูร้อน -เพื่อรอเวลาที่จะได้ใกล้ชิดกับ ‘ผู้ชายคนแรกในชีวิต’ ที่เขายินยอมมอบกายให้อีกครั้ง- เขาก็หันไปมองลูกพีชที่เพิ่งเก็บมาจากสวนผลไม้ของแม่ด้วยทีท่าครุ่นคิด หยิบมันมาลิ้มรสหวานหอม ก่อนใช้นิ้วงัดแงะแกนกลางออกมาจนเปรอะเลอะไปทั่ว แล้วชำแรกแก่นกายที่ตื่นตัวเข้าไปในหลืบร่องสดฉ่ำของพีชลูกนั้น กระทั่งเสร็จสมอารมณ์หมายและผล็อยหลับไป

เมื่อเวลาล่วงผ่าน ผู้ชมอย่างเราจึงได้เห็น โอลิเวอร์ (อาร์มี แฮมเมอร์) -‘ผู้ชายคนแรกในชีวิต’ คนนั้นของเอลิโอที่มาอาศัยอยู่บ้านเขาชั่วคราวในฐานะลูกศิษย์สายโบราณคดีของพ่อ- ค่อยๆ ย่องมาหาที่ห้อง ชายหนุ่มวัยยี่สิบสี่เปลือยท่อนบนหนั่นแน่นและนั่งลงพูดคุยกับหนุ่มน้อยบนเตียง พรมจูบโลมเลียไปยังเรือนร่างบอบบาง ทันทีที่ปลายลิ้นสัมผัสได้ถึงรสหวานของผลไม้ชนิดหนึ่งที่แห้งกรังอยู่บนนั้น โอลิเวอร์จึงเอื้อมหยิบ ‘ลูกพีชที่ปริแตกและเปรอะเปื้อน’ บนโต๊ะด้านข้างขึ้นมาสำรวจตรวจตรา พลางจดจ้องเอลิโอด้วยแววตาเจ้าเล่ห์ จนหนุ่มน้อยเริ่มเกิดความอับอายเมื่อพบว่า ชายหนุ่มอันเป็นที่รักได้ ‘รู้’ เข้าเสียแล้ว

‘รู้’ ถึงตัวตนและแรงปรารถนาทางเพศที่เขาปลดเปลื้องออกมาจนหมดสิ้น …ผ่านพีชลูกนั้น

หากลองสังเกตดูให้ดี เราจะพบว่า ฉากเซ็กซ์-หรือฉากที่แสดงถึงอารมณ์ใคร่-ส่วนใหญ่ในหนังเรื่องนี้ ล้วนถูกถ่ายทอดผ่าน ‘ภาษากาย’ ของตัวละครอย่างค่อนข้างตรงไปตรงมา (แม้จะไม่ได้โจ่งแจ้งเท่ากับการเขียนบรรยายถึงฉากกอดจูบลูบคลำแบบในนิยายต้นฉบับก็ตาม) ไม่ว่าจะเป็นเซ็กซ์ชาย-หญิงระหว่างเอลิโอกับ มาร์เซีย (เอสเธอร์ การ์เรล) เพื่อนสาวคนสนิท หรือเซ็กซ์ชาย-ชายระหว่างเอลิโอกับโอลิเวอร์ ทว่าใน ‘ฉากลูกพีช’ นี้ คนทำหนังกลับเลือกที่จะนำเสนอ ‘ความใคร่’ ที่สองหนุ่มมีต่อกันด้วย ‘ท่าทีที่ต่างออกไป’ ซึ่งก็ช่วยให้ผู้ชมสามารถสัมผัสถึงอารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกของตัวละครได้อย่างกระจ่างชัดยิ่งกว่าฉากเซ็กซ์อันดุเดือดก่อนหน้านั้นเสียอีก

และมันก็ยังเป็นการใช้ ‘ผลไม้’ ในฐานะสัญญะของ ‘เรื่องเพศ’ ที่ปรากฏอยู่บนสื่อศิลปะมาแล้วนับร้อยนับพันปีได้อย่างชาญฉลาดอีกด้วย


2

แคเธอรีน เอลลิส เคยเขียนถึง ‘เซ็กซ์ในคราบของผลไม้ที่ปรากฏอยู่บนสื่อศิลปะ’ ใน Little White Lies เอาไว้ว่า ‘การกิน’ คือกิจกรรมที่ทำให้มนุษย์ได้ใกล้ชิดกันมากที่สุด …ไม่ต่างจากเซ็กซ์

เนื่องจากการกินเป็นพฤติกรรมที่เรายินยอมให้มี ‘สิ่งแปลกปลอมอื่น’ ก้าวล่วงเข้าสู่ร่างกาย ทั้งเพื่อแสวงหาความสุข และเพื่อให้มีชีวิตรอด — หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการ ‘ส่งมอบชีวิต’ ให้แก่เผ่าพันธุ์ของเราเอง ทั้งในแง่ของการใช้อาหารเพื่อหล่อเลี้ยงร่าง และการใช้เซ็กซ์เพื่อสืบพันธุ์

แถมเธอยังตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ การกินผลไม้นั้นมีความ ‘แตกต่าง’ จากการกินอาหารประเภทอื่น เพราะทุกวันนี้ เรายังคงบริโภคผลไม้ด้วยอากัปกิริยาแบบเดียวกับ ‘มนุษย์ถ้ำ’ อันเป็นบรรพบุรุษจากยุคแรกเริ่มของมนุษยชาติ โดยใช้มือเก็บผลไม้จากต้นลงมาฉีกเปลือกออก และใช้ปากกัดแทะดูดกลืนความหวานฉ่ำจากมันโดยตรง ซึ่งแทบจะไม่ได้ใช้อุปกรณ์เสริม-อย่างช้อน/ส้อม-ในการบริโภคหรือผ่านกรรมวิธีปรุงแต่งในครัวที่ซับซ้อนเหมือนอาหารประเภทอื่นให้ยุ่งยากวุ่นวาย

ถือเป็นพฤติกรรมที่เรียบง่ายที่สุดแล้วสำหรับมนุษย์เรา …ไม่ต่างจากเซ็กซ์

ด้วยเหตุนี้ ผลไม้จึงมักถูกนำมาเชื่อมโยงกับเซ็กซ์ในเรื่องเล่าต่างๆ ตั้งแต่โบราณกาล นับจากโลกศาสนา ที่มี ‘ผลไม้ต้องห้าม’ อันเป็นตราบาปที่ทำให้มนุษย์คู่แรกอย่าง อดัม กับ อีฟ ต้องตกสวรรค์ในคัมภีร์ไบเบิล มาจนถึงโลกศิลปะที่ตีความต่อยอดจนกลายเป็นภาพอีฟเปลือยกายถือผลไม้ต้องห้าม-หรือก็คือแอปเปิล-ที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งแม้ผลไม้ทรงกลมอย่างแอปเปิลหรือพีชจะถูกนำมาแทนค่ากับ ‘อวัยวะเพศหญิง’ อยู่บ่อยครั้ง (ตรงข้ามกับผลไม้ทรงยาวรีอย่างกล้วยหรือลูกแพร์ที่มักเป็นภาพแทนของ ‘อวัยวะเพศชาย’) แต่มุมมองทางเพศของมนุษย์ที่นิยามตนว่าเป็น ‘เควียร์’ (Queer) หรือ ‘ผู้มีวิถีเพศหลากหลาย’ (อาทิ ชายรักชาย, หญิงรักหญิง, คนข้ามเพศ, คนรักสองเพศ, ฯลฯ) ก็ยังมีปรากฏให้เห็นผ่านผลไม้ทรงกลมด้วยเช่นกัน ทั้งจากพีชหรือแอปริคอตที่ถูกเปรียบกับ ‘บั้นท้าย’ ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีอยู่ทั้งในมนุษย์เพศหญิงและเพศชาย

หลายครั้ง สื่อภาพยนตร์จึงไม่ได้นำเสนอแค่เพียงบั้นท้าย-ในคราบของลูกพีช-ที่มีความหมายยึดโยงอยู่กับ ‘คนรักต่างเพศ’ หรือ Heterosexual แต่ฝ่ายเดียว โดยเฉพาะบั้นท้ายของเพศหญิงที่ตกอยู่ภายใต้สายตาจาบจ้วงของเพศชายที่มีอำนาจเป็นใหญ่ในเรื่องเล่าเสมอมา

ยกตัวอย่างเช่น ลูกพีชจากฉากการสอนวาดภาพระหว่างหญิงต่างเชื้อชาติ/ชนชั้นสองนางใน The Handmaiden (2016) หนังธริลเลอร์ย้อนยุคของผู้กำกับ พัคชานวุค (ถัดจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ) ที่ถูกใช้เป็น ‘สัญญะลวง’ เพื่อล่อหลอกตัวละคร(และผู้ชม)เพศชายที่ดื่มด่ำกับมันขณะกำลังเกิดอารมณ์หมายปองตัวละครเพศหญิง เพราะสุดท้าย พีชลูกนั้นได้กลับกลายเป็นสัญญะของความปรารถนาเบื้องลึกที่พวกเธอมีต่อกันไปเสียฉิบ

และนี่ก็อาจเป็นเหตุผลว่า ทำไม ‘พีช’ ใน Call Me by Your Name จึงถูกตัวละครที่กำลังทำความรู้จักกับ ‘ความเป็นเควียร์’ ของตนอย่างเอลิโอใช้ช่วยตัวเองด้วยความสุขสม

ถึงแม้ว่าตัวเขาเองจะยังรู้สึกสับสนอยู่ในทีก็ตาม


3

“ฉากลูกพีชเป็นฉากที่สำคัญมาก ส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นฉากที่ชวนช็อค แต่ขณะเดียวกัน มันก็เป็นช่วงเวลาที่ ‘ลึกซึ้ง’ ที่สุดระหว่างชายหนุ่มทั้งคู่ด้วย”

คือคำยืนยันจากนักเขียนชาวอิตาเลียน/อเมริกันอย่างอาซีแมนว่า เขาให้ความสำคัญกับฉากลูกพีชมาตั้งแต่ในนิยายต้นฉบับ ซึ่งเราไม่แน่ใจนักว่า มันเกี่ยวพันแค่ไหนกับการที่พีชเคยเป็นสัญญะสำคัญของ ‘ความปรารถนาต่อเพศเดียวกัน’ จากโลกศิลปะของอิตาลียุคเรอเนส์ซองซ์ (Italian Renaissance) ที่ก็ดูจะสอดคล้องกับภูมิประเทศอันเป็นฉากหลังของหนังและพื้นเพของเหล่าตัวละครที่สนใจใคร่รู้ในเรื่องราวประวัติศาสตร์ศิลป์โบราณไม่น้อย โดยศิลปินหลายรายในยุคนั้นนิยมใช้พีชมาเป็นองค์ประกอบในผลงานของตน ทั้งบทกวี Encomium to Peaches (1522) ของ ฟรังเชสโก แบร์นี ที่เฉลิมฉลองเซ็กซ์ประตูหลังของผู้ชายด้วยกันผ่านลูกพีช และภาพวาด Boy with a Basket of Fruit (1593) ของ การาวัจโจ ที่เป็นรูปเด็กชายเปลือยไหล่กำลังถือตะกร้าผลไม้ที่มีลูกพีชแล้วจ้องมองมาด้วยสายตายั่วยวน

อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปแล้ว พีชในศิลปะยุคอิตาเลียนเรอเนส์ซองซ์มักหมายถึง ‘เกียรติยศ’ และ ‘คุณธรรม’ อันสูงส่ง รวมถึงยังเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ถูกแปะป้ายว่าเป็น ‘อาหารสำหรับชนชั้นสูง’ เพราะต้องเอื้อมเก็บมารับประทานอีกด้วย ซึ่งการจงใจใช้ลูกพีชมาเป็นสัญญะแอบแฝงเพื่อยั่วล้อกับเรื่องเพศ-โดยเฉพาะความเชื่อทางเพศที่แปลกต่างจากขนบ-ของศิลปินเหล่านั้น ก็คล้ายเป็นการท้าทายชุดความคิดและกรอบศีลธรรมของผู้คนร่วมยุคอยู่กลายๆ

กัวดัญญีโนเคยคิดว่า ‘ฉากลูกพีช’ ใน Call Me by Your Name เป็นฉากที่เหมาะกับ ‘การอ่าน’ ที่ผู้เสพสื่อจะได้ใช้จินตนาการส่วนตัว มากกว่า ‘การดู’ ที่จะได้เห็นเป็นภาพชัดเจน เพราะเขาคิดว่าอาซีแมนแค่เลือกใช้ฉากนี้มาเปรียบเปรยถึง ‘ภาวะการตื่นรู้ทางเพศ’ ของเอลิโอเท่านั้น และที่สำคัญ กัวดัญญีโนไม่คิดว่า ‘การช่วยตัวเองด้วยลูกพีช’ จะเป็นกามกิจที่สามารถกระทำได้จริง จนผู้กำกับของเราทดลองช่วยตัวเองด้วยลูกพีชของจริงนั่นแหละ เขาจึงคิดว่าควรใส่ฉากนี้ลงไปในฉบับหนังด้วย!

เหตุผลอีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมันทำให้เขานึกไปถึงการใช้ ‘ภาพเด็กสาวขยี้เกสรดอกไม้จนแหลก’ มาเล่าถึง ‘พลังทางเพศอันพลุ่งพล่านของวัยหนุ่มสาว’ ใน Abraham’s Valley หนังดราม่าสัญชาติโปรตุเกสของ มาโนเอล เดอ โอลิเวรา เมื่อปี 1993 — ซึ่งหากมองให้ลึกลงไป มันก็แทบไม่ต่างกับฉากลูกพีชของกัวดัญญีโนเลย เพราะนอกจาก ‘ดอกไม้’ กับ ‘ผลไม้’ จะถูกแทนค่าด้วย ‘อวัยวะที่ส่อถึงเรื่องเพศ’ ในโลกศิลปะแล้ว พวกมันยังนับได้ว่าเป็นสิ่งเดียวกันในทางธรรมชาติวิทยาอีกต่างหาก (กล่าวคือดอกไม้ที่เกสรถูกผสมพันธุ์จะเติบโตมาเป็นผลไม้นั่นเอง)

ทว่าเมื่อข้ามพ้นไปจากเรื่องเพศ พีชกลับมีความหมายที่ ‘แตกต่าง’ กันตามความเชื่อของผู้คนในแต่ละพื้นถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปในแง่บวก อาทิ จีนที่มองว่าพีชคือสัญลักษณ์ของความเยาว์วัยและอายุที่ยืนยาว (แถมมีเรื่องเล่าปรัมปราว่ามันเคยเป็น ‘ผลไม้สื่อรัก’ ของชายสองคนในสมัยราชวงศ์โจวเมื่อราวหนึ่งพันปีก่อนคริสตกาลด้วย), เกาหลีใต้ที่ยกพีชเป็นผลไม้แห่งความสุข ความมั่งคั่ง หรือแม้แต่ความศักดิ์สิทธิ์ที่ถึงขั้นสามารถขับไล่วิญญาณร้ายออกจากบริเวณบ้านได้ (ครอบครัวคนจนในหนังตลกร้ายรางวัลออสการ์อย่าง Parasite ของ บงจุนโฮ เมื่อปี 2019 จึงใช้ลูกพีชมาเป็นเครื่องมือ ‘กำจัด’ แม่บ้านของครอบครัวคนรวยที่พวกเขามองว่าเป็น ‘ตัวร้าย’ เสียเลย) หรือประเทศแถบยุโรปที่บรรดาศิลปินชอบวาดภาพเหมือนของลูกพีชในตะกร้า ถาด หรือโต๊ะอาหาร โดยใช้ ‘ผล’ และ ‘ใบที่ยื่นออกมา’ ของมันเปรียบเปรยกับ ‘หัวใจ’ และ ‘ลิ้น’ ของมนุษย์ เพื่อสื่อถึงความงดงามของ ‘การพูดความจริงจากใจ’

และจะว่าไปแล้ว ความหมายท้ายสุดนี้ก็ดูจะคล้ายคลึงกับหน้าที่ของ ‘ลูกพีชที่ปริแตกและเปรอะเปื้อน’ ในหนังเรื่องนี้ของกัวดัญญีโนที่เรากำลังพูดถึงด้วยเช่นกัน


4

แน่แท้ว่า ‘ฉากลูกพีช’ ใน Call Me by Your Name ไม่ใช่แค่การพยายามสื่อถึงสภาวะตระหนักรู้ทางเพศแบบเควียร์ๆ ของวัยรุ่นอย่างเอลิโอ ทว่ามันยังพ่วงความหมายที่ ‘ลึกซึ้ง’ กว่านั้นเข้าไปด้วย ทั้งในฉบับนิยายและฉบับหนัง

เพราะในฉบับนิยาย หลังจากที่โอลิเวอร์หยิบ ‘ลูกพีชที่ปริแตกและเปรอะเปื้อน’ จากกามกิจส่วนตัวของเอลิโอขึ้นมาดู และได้เห็นถึงความอับอาย-หรือแม้แต่ความสับสนจนทำตัวไม่ถูก-ผ่านสีหน้าท่าทางของเอลิโอ (ผู้เอ่ยถามด้วยความคับข้องว่า “ผมผิดปกติใช่ไหม?”) ชายหนุ่มรุ่นพี่ก็ลงทุน ‘กัด’ ลูกพีชเปรอะน้ำกามลูกนั้นต่อหน้า เพื่อสื่อสารว่า การกระทำของเด็กหนุ่มไม่ใช่ ‘เรื่องผิดปกติ’ ที่เจ้าตัวต้องรู้สึกละอายใจ และโอลิเวอร์ก็ยังคงรู้สึกดีกับเขามากถึงขนาดที่อยากจะกักเก็บ ‘ทุกอณู’ ของเอลิโอเอาไว้กับตัว

ขณะที่ในฉบับหนัง การกระทำอันสุดโต่งดังกล่าวจากหนังสือได้ถูกปรับเปลี่ยนไปเล็กน้อย โอลิเวอร์ไม่ทันได้กัดลูกพีชเข้าไปจริงๆ เพราะเอลิโอได้โผเข้ากอดเขาเอาไว้เสียก่อน ซึ่งถือเป็นความละเอียดอ่อนในการดัดแปลงบทของผู้สร้างที่ไม่ต้องการให้ผู้ชม ‘เกิดความรู้สึกแง่ลบ’ จากการได้เห็นตัวละครกัดลูกพีชเปรอะน้ำกามด้วย ‘ภาพ’ ที่ชัดเกินไป จนพวกเขาอาจรู้สึกกระอักกระอ่วนใจและมองข้ามความรู้สึกเบื้องลึกอันแสนลึกซึ้งที่เกิดขึ้นระหว่างสองหนุ่มถัดจากนั้น -ทั้งเอลิโอที่ร้องไห้ออกมาด้วยความอ่อนไหวและโอลิเวอร์ที่เข้ามาปลอบใจด้วยวุฒิภาวะที่น่านับถือ- ซึ่งแม้แต่อาซีแมนเองก็ยังชื่นชมการปรับเปลี่ยนในฉากนี้ของกัวดัญญีโน

แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังดู ‘อุจาดตา’ สำหรับผู้ชมบางกลุ่มอยู่ดี เพราะพวกเขามองว่า การกินผลไม้เปื้อนน้ำกามเป็นการกระทำที่ ‘น่าขยะแขยง’ และฉากดังกล่าวก็ยังคงตอกย้ำภาพของเควียร์ในสื่อหนังที่ดูจะ ‘หมกมุ่นกับเรื่องเพศมากเกินไป’ เหมือนที่เคยเป็นมา

ขณะที่ผู้ชมอีกบางกลุ่มกลับมองว่า ไม่ว่าตัวละครโอลิเวอร์จะกัดลูกพีชของเอลิโอเข้าไปหรือไม่ ฉากนี้-ทั้งในนิยายและหนัง-ก็ทำให้เราได้มองเห็นถึง ‘หัวใจรักอันเปิดกว้าง’ ที่ชายหนุ่มส่งมอบให้เอลิโอผ่านอ้อมกอดและคำพูดปลุกปลอบ รวมถึงความพยายามก่อนหน้านั้นที่จะกัดกินลูกพีชเข้าไปโดยไม่รังเกียจสิ่งที่อยู่ภายใน จนทำให้เด็กหนุ่มรู้สึกเต็มตื้นพลางร่ำไห้ออกมาอย่างยินดี เพราะได้รับรู้แน่ชัดแล้วถึง ‘ความจริงในใจ’ ของโอลิเวอร์

มันทำให้เรามองเห็นถึง ‘สัมพันธ์รักธรรมดาอันแสนล้ำค่าของมนุษย์สองคน’ ในแบบที่ผู้ชมกลุ่มแรกอาจไม่มีวันได้เห็นหรือสัมผัส – ผู้ชมที่ยังมอง ‘ลูกพีชที่ปริแตกและเปรอะเปื้อน’ ลูกนั้นว่า ‘บิดเบี้ยวผิดเพี้ยน’ หรือแม้แต่ ‘น่ารังเกียจ’ ด้วยสายตาช่างตัดสินของตน

จนไม่อาจกลายเป็น ‘เอลิโอ’ หรือ ‘โอลิเวอร์’ ที่มีหัวใจรักอันเปิดกว้างสำหรับใครคนอื่นได้

Forget Me Not ข้างหลัง-ของ-ข้างหลัง-ภาพ

บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

‘ไม่รู้’ แบบไร้เหตุผลรองรับใดๆ ทั้งสิ้นครับ ว่าทำไมเวลาเจองานรีเมคทีไร ใจผมมักนึกไปถึงหนังชื่อ The Last Remake of Beau Geste (1977, Marty Feldman) ก่อนเป็นอย่างแรก ซึ่งอย่างกับเป็นยันต์อาบวาจาสิทธิ์พระร่วงคอยสะกดไม่ให้มีใครเอาเรื่อง Beau Geste ที่ว่าเอากลับมาสร้างใหม่กันจริงๆ จนทุกวันนี้แทบไม่มีใครรู้จักหนังที่ชื่อ Beau Geste อะไรนี่กันแล้ว เหมือนโดนฆ่าตัดตอน ขณะที่อีกหลายเรื่องที่เหลือ ผ่านการรีเมคกันจนเกือบจะกลายเป็นมีมทุกครั้งที่มีข่าว

เช่นเดียวกับที่ Forget Me Not (2017-2019, จุฬญาณนนท์ ศิริผล) เองก็ไม่เคยออกตัวว่าเป็น The Last Remake of Behind the Paint แต่แล้วก็ผ่านการนับญาติขึ้นทำเนียบลำดับล่าสุดของการนำวรรณกรรม ‘ข้างหลังภาพ’ (ศรีบูรพา, กุหลาบ สายประดิษฐ์, ตีพิมพ์ครั้งแรก ๒๔๘๐) มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เป็นที่เรียบร้อย สำคัญก็แต่ ‘Behind the Paint น่าจะเข้าข่ายงานในกลุ่มไหนดี ระหว่างremake, parody, ตีความใหม่ (หรือแม้กระทั่งวิดีโอ-อาร์ต) ซึ่งไม่น่าเป็นเรื่องสำคัญ

สำคัญที่อะไรที่ทำให้จุฬญาณนนท์เลือกเอาเรื่องนี้มาสร้างดีกว่า จนกระทั่งมาพบว่าโดยโครงเรื่องมีความผูกพันกับความเป็น ‘ภาพ (เขียน)’ ซึ่งถูกตรึงไว้ด้วยกรอบ ไม่ว่าจะโดยจารีต, การสร้างพื้นที่เฉพาะ ไม่ให้ล้นหรือเกินเลยขอบเขต (ของความเป็นภาพ) รวมไปถึงการกดทับในแง่ของเสรีภาพที่ทำให้ ‘ความเป็น ‘ข้างหลังภาพ’ ‘ ในการสร้างแต่ละฉบับแทบไม่พบความแตกต่างระหว่างกัน

1. เรื่องของนพพรและการเดินทางของคุณหญิงกีรติถูกกำหนดมิให้มีความแตกต่างไปจากเนื้อหาที่บรรยายไว้ในหนังสือ (เป็นเหตุให้การดัดแปลงเป็นฉบับภาพยนตร์ในบางเวอร์ชันได้ถูกตำหนิว่าไม่ต่างไปจาก ‘ละครวิทยุประกอบภาพ’)

2. ฐานันดรศักดิ์ของความเป็น ‘คุณหญิง’ ไม่เปิดโอกาสให้เธอแสดงออก ภาพเขียน ‘มิตาเกะ’ ที่ถูกอ้างในเรื่อง แม้จะไม่ถึงกับถูกใช้แทนปากเสียงความต้องการ ทว่าผ่านการนำมาใช้ในเชิงของอุบายบอกใบ้ว่าตัวคุณหญิง (ผู้วาด) เองก็ไม่ต่างอะไรกับภาพที่เธอเขียน โดยเฉพาะในแง่ของการเป็นภาพภาพเพนต์ที่สุดท้าย ก็มักสิ้นสุดลงด้วยการถูกนำมาอัดใส่กรอบแล้วแขวนในที่ที่ถูกจำกัด

3. ยังคงมี ‘เบื้องหลัง-ของ-เบื้องหลัง (ภาพ)’ ซึ่งยังไม่ได้รับการไขข้อข้องใจ เป็นต้นว่า

3.1 เหตุใดผู้เป็นบิดาถึงต้องเจาะจงส่งนพพรไปศึกษาต่อยังประเทศญี่ปุ่น (ทำไมไม่เป็นประเทศอื่นทางแถบตะวันตก ฤาว่า ‘ท่านพ่อ’ เล็งเห็นถึงกาลในอีกไม่นานข้างหน้าว่าญี่ปุ่นจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในแถบเอเชีย ด้วยการสร้างเครือข่าย ‘วงศ์ไพบูลย์แห่งภาคพื้นเอเชียอาคเนย์’ โดยมีญี่ปุ่นเป็นแกนนำ)

3.2 เพราะอะไรที่ทำให้นพพรเลือกเรียนวิชา (หรือคณะ) เศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว 

3.3 ถ้าทั้ง 3.1 และ 3.2 มิได้มีความหมายอื่นใดเป็นพิเศษล่ะก็ ช่วงที่นพพรกำลังเดินทางไปศึกษาต่อ ทางพระนคร (และประเทศไทย) กำลังเกิดวิกฤติใดที่ทำให้การเดินทางไปศึกษาต่อ มีความหมายแทนการหาที่หลบภัย?

รวมความโดยสั้นๆ ก็อาจที่จะย่นย่อด้วยคำเพียงหนึ่งคำสองพยางค์คือ ‘กรอบ-รูป’ ซึ่งที่จริงแล้วข้อสังเกตที่ผ่านมาทุกข้อข้างต้นก็แทบมิได้อยู่ในความสนใจของจุฬญาณนนท์เลยด้วยซ้ำ ก็เลยทำให้ Forget Me Not เดินหน้าโดยแทบมิได้มีการดัดแปลงอะไรให้ออกนอกลู่นอกทาง คือเดินตามบทประพันธ์เดิมของ ‘ศรีบูรพา’ ยกเว้นในช่างเรียล-ไทม์ นพพรมิได้แสดงการล่วงเกินคุณหญิง (อันเป็นแรงผลักดันให้คุณหญิงถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ โดยหวังจะให้นพพรเก็บรักษาไว้ เพื่อให้ทราบว่าครั้งหนึ่งเธอได้ทอดกาย แม้จะไม่ด้วยความยินยอม ทว่าข้างในถูกเก็บกักไว้อยู่ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา) กับตัวละครทั้งสองบท แสดงโดยคนคนเดียวกันคือจุฬญาณนนท์เอง และที่สำคัญที่สุดก็คือจุฬญาณนนท์เลิกให้ความใส่ใจเรื่องความเที่ยงตรงในแง่ของยุคสมัย โดยให้แบ็กดร็อปฉากเหตุการณ์เป็นยุคปัจจุบันแทน (ความเป็นอยู่ของนพพรในญี่ปุ่นจึงแทบไม่ต่างอะไรกับนักเรียนทุนแลกเปลี่ยนเอเอฟเอสทั่วๆ ไป) และที่ยิ่งกว่านั้นคือจุฬญาณนนท์เชื่อเรื่องราวน่าจะยังมีต่อให้ยาวออกไปอีกได้ แล้วทุกอย่างก็ทะลุทะลวงตัวของมัน จน ‘ความเป็นกรอบ’ และข้อจำกัดนานาประการก็ได้ถูกทำลายลง

สมมติ ‘มิตาเกะ’ สำหรับคนดูผู้ชมซึ่งเป็นคนนอกคือชื่อของภาพเขียนที่ไม่ต่างอะไรกับภาพนิ่งภาพหนึ่ง บทประพันธ์เดิมถึงได้วางตัวละครซึ่งเป็น ‘คนนอก’ จริงๆ อย่าง ‘ปรีดิ์’ (สมมติว่าภาพ ‘มิตาเกะ’ มีการนำมาจัดโชว์ในแกลเลอรี ปรีดิ์ก็น่าจะเป็นผู้ชมงานภาพเขียนเป็นคนแรก, ถึงได้มีคำวิจารณ์คำแรกออกมา, “ฝีมือก็งั้นๆ แต่ก็ไม่แน่นะคะ ปรีดิ์อาจตาไม่ถึงเองก็ได้”) ทำให้งานดัดแปลง ‘ข้างหลังภาพ’ ใช้เรื่องราวในส่วนของตัวละครปรีดิ์, ‘เจ้าสาว’ ของนพพรมีความหลากหลายในแต่ละเวอร์ชันคือทั้งแบบนำมาขึ้นก่อน (เปี๊ยก โปสเตอร์, 2528) แล้วก็ปิดท้าย (เชิด ทรงศรี, 2544) ขณะที่จุฬญาณนนท์มองเรื่องว่าจริงๆ น่าจะยังมีต่อไปได้อีก (ขณะเดียวกันก็ยังสร้างผลข้างเคียงไปยังวรรณกรรมเรื่องอื่นซึ่งแต่งขึ้นภายหลัง ๒๔๗๕ ทว่าใช้ฉากเหตุการณ์ในยุคสมัยไล่เลี่ยกัน เป็นต้นว่า ‘จันดารา’ ของ อุษณา เพลิงธรรมโดยเฉพาะความหมายในชื่อของ ‘ปรีดิ์’ จนกระทั่งเป็นที่เข้าใจวิสัยทัศน์ที่เจ้าของบทประพันธ์มีต่อตัวบุคคลจริงในประวัติศาสตร์) และในทางกลับกันตัวละครปรีดิ์, เจ้าสาวของนพพรถูกปฏิบัติเยี่ยงคนนอกที่มองดูภาพเขียนในแง่ของการเป็น ‘ภาพนิ่ง’ ธรรมดาและไร้การมีส่วนร่วม เมื่ออยู่ช่วงเปิดเรื่อง พูดไดอะล็อกเสร็จก็เข้าเรื่องที่ญี่ปุ่น เรื่องก็เดินหน้าต่อ พลังของเรื่องก็ค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ, เมื่อใส่เข้ามาในตอนจบ หลังจากที่เรื่องราวได้ผ่านจุดพีคไปแล้วเรียบร้อย (ด้วยบทพูดอันเป็นวรรคทองของคุณหญิง “ฉันตายโดยฉันขาดคนที่รักฉัน แต่ฉันก็ยังอิ่มใจที่…”) เรื่องของคุณหญิง (ผู้วาด+ เจ้าของภาพ) จึงถูกปล่อยให้อยู่ในสภาพที่นิ่งสนิท ใครไม่มีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ผ่านเข้ามาเห็นจึงบอกได้เพียงแค่ “ฝีมือก็งั้นๆ”

‘ภาพเขียนมิตาเกะ’ จึงตกอยู่ในสภาพ ‘วัตถุคงที่’ (หากคำนึงในแง่ของการเป็นภาพนิ่งที่ถูกอัดใส่กรอบ) เช่นเดียวกับตัววรรณกรรม ‘ข้างหลังภาพ’ ทั้งเรื่อง เพราะไม่ว่าจะผ่านการดัดแปลงกี่ครั้งกี่หน เรื่องราวก็แทบจะไม่ต่างกับถูกฟรีซให้นิ่งอยู่กับที่ จนกระทั่งมีงานในสาย revisionism อย่าง Forget Me Not เข้ามาจับ ซึ่งเป็นการมองผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่ ทำให้ฉากหลังเกิดในยุคร่วมสมัย โดยยังคงรักษาเนื้อแท้ทางบริบท, วิธีคิดและจิตวิญญาณตามโครงเรื่องเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และด้วยความที่เป็น ‘วัตถุคงที่’ ของการเป็นภาพเขียน จุฬญาณนนท์ยังมีการ ‘อ่าน’ ทะลุไปถึงสิ่งที่แถมมากับยุคสมัย (หลังมรณกรรมทั้งของเจ้าคุณอธิการบดีและคุณหญิงกีรติ) โดยเฉพาะการต่อสู้ของคณะราษฎร, การได้มาซึ่งประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นข้างหลัง-ของ-ข้างหลัง-ภาพ

อาจมองได้ว่า Forget Me Not เป็นความพยายามในการสร้างพลวัตให้กับสิ่งที่หยุดนิ่ง (หรือไม่ก็ถูกปล่อยทิ้งให้ค้างอยู่กับที่) ขณะที่ยุคสมัยยังคงต้องก้าวเดินต่อไปข้างหน้า กลายเป็นว่าตัวสาระสำคัญหลัก (principal) ตกอยู่ในสภาพหยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่สัมพันธ์กับส่วนที่จะเข้ามาสนับสนุน (subordinate) ซึ่งมีความเลื่อนไหล สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นภาวะชะงักงัน ถ้าเช่นนั้น ‘ภาพเขียนมิตาเกะ’ ก็ย่อมไม่ต่างอะไรกับสิ่งสำคัญอีกอย่างอันเป็นผลพวงมาจากยุคสมัยเดียวกันอย่าง ‘ประชาธิปไตย’

กลายเป็นว่าตัวสาระสำคัญหลัก (principal) ตกอยู่ในสภาพหยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่สัมพันธ์กับส่วนที่จะเข้ามาสนับสนุน (subordinate) ซึ่งมีความเลื่อนไหล สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นภาวะชะงักงัน ถ้าเช่นนั้น ‘ภาพเขียนมิตาเกะ’ ก็ย่อมไม่ต่างอะไรกับสิ่งสำคัญอีกอย่างอันเป็นผลพวงมาจากยุคสมัยเดียวกันอย่าง ‘ประชาธิปไตย’

ตัวละครหลักสองบทบาท, คุณหญิงกับนพพรจึงแสดงโดยคนคนเดียวกัน ขณะที่ยุคสมัยเดินหน้าไปถึงยุคไหนต่อไหนแล้ว (นพพรเขียนจดหมายโต้ตอบด้วยอีเมล์ผ่านจอแล็บท็อป, การเดินทางของนพพรกลับกรุงเทพจึงมาด้วยเครื่องบิน ภายใต้บริบทของการเป็น ‘เรือเดินสมุทรของบริษัทมิตซุยบุยซัน-ไคชา’) แม้เรื่องราวราวล่วงเลยถึงตอนจบตามหนังสือแล้วก็จริง แต่จุฬญาณนนท์ก็ลากเรื่องต่อได้อีกเรื่อยๆ เดิม ‘มิตาเกะ’ (ภาพวาด) เคยไม่มีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้เอง ทว่าเรื่องที่ต่อขยายออกมาใหม่ ภาพภาพอื่นที่แม้ยังอัดอยู่ในกรอบ นับตั้งแต่ (บท) ‘ความตายของคุณหญิง’ ได้สิ้นสุดลง ภาพเหล่านี้ก็กลับมีความเคลื่อนไหวเองในตัวได้อย่างน่าประหลาด ซึ่งเชื่อว่าคงมิใช่ผลงานจากการกระทำของสิ่งแฟนตาซี ทว่าเป็นการให้อิสรภาพและการปลดปล่อย ‘สภาพหยุดนิ่งเหมือนแช่แข็ง’ ต่อ scenario ที่อยู่ในภาพ

เท่ากับว่านับแต่นี้ (หลังความตายของคุณหญิง) หลายสิ่งหลายอย่างจะถูกทำให้เคลื่อนตัวได้โดยอิสระ ไม่ว่าจะโดยเรื่องของพล็อต (ที่เดินไปข้างหน้าอย่างเป็นอิสระ), วิธีนำเสนอ, presentation ที่ทะลุทะลวงได้ จนถึงขั้นเปิดเผยเบื้องหลังการถ่ายทำและหลักการของภาพติดตา, persistence of visions อันมีจุดเริ่มต้นจากภาพนิ่งซึ่งเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วจนสายตาปรับไม่ทัน จนไม่รู้สึกว่ามันคือภาพนิ่ง ขณะที่ตัวละครบางคนซึ่งเคยผ่านการแช่แข็งมาช้านานอย่าง ‘ปรีดิ์’, ภรรยานพพรก็มีพลันมีชีวิต, มีเรื่องราวไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนตัวไปข้างหน้า (ในแง่ของบริบท) แล้วเรื่องของเธอก็ก้าวเดินได้ต่อ 

ความตายของคุณหญิงจึงมิใช่การสิ้นสุดของทุกสิ่งทุกอย่าง และมิใช่เรื่องน่าเศร้าอีกต่อไป ความตายที่มิใช่จบเพียงแค่คุณหญิง (อันเนื่องมาจากการติดเชื้อวัณโรคมาจากท่านเจ้าคุณอธิการฯ) เมื่อเรื่องเดินไปข้างหน้า ถัดมาก็หนีไม่พ้นความตาย (เช่นเดียวกับอีกสองคนก่อนหน้า) ปรีดิ์ถูกฆาตกรรมภายหลังความร่าเริงไปกับอิสรภาพอันเป็นผลพวงจากการหลุดพ้นจากแอกพันธนาการทางยุคสมัยและระบอบอันแช่แข็งแน่นิ่ง ภาพวิวทิวทัศน์ของลำธารมิตาเกะอันสงบเงียบตามธรรมชาติจนเหมือนไม่มีความเคลื่อนไหว (ซึ่งผ่านการถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาด) ถูกแทนที่โดยความมีชีวิตชีวาของผู้คนที่พากันมาเที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญปี ๒๔๗๗ อันเป็นโมงยามแห่งความสุขที่มิได้ด้อยไปกว่าความสงบของการไปปิคนิคที่ริมลำธาร แต่แล้วตัวละครปรีดิ์ก็มิวายตกอยู่ภายใต้ชะตากรรมเดียวกับคุณหญิง

พาร์ต (หลังการฆาตกรรม) ปรีดิ์เปิดโอกาสให้คนดูบริหารสายตาไปกับรายละเอียดเล็กๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ (เวลาบนหน้าจอโทรศัพท์ซึ่งมีทั้งชื่อบิดาและวันที่), ตลอดจนเหตุการณ์ปราบปรามขบวนการพคท.ทางภาคใต้ด้วยวิธียัดลงถังแดง (แล้วเผาทำลายหลักฐานในแง่ของอัตลักษณ์ตัวตน) เป็นผลให้ภาพลักษณ์ของนพพรถูกเหวี่ยงสวิงไปเป็นด้านตรงข้าม ไม่ว่าจะในนิยายหรือสื่ออื่น มายาคติของการเป็น ‘มิตรน้อยที่รักของฉัน’ ในตัวนพพรก็ถูกทำลายไปพร้อมๆ กับปรีดิ์ สมมติว่าปรีดิ์จบชีวิตในแง่ของรูปธรรม นพพรเองก็ถูกฆ่าในแง่ของนามธรรมตามไปด้วย หลังจากนี้ไปเส้นเรื่องในส่วนของพล็อต ‘ข้างหลังภาพ’ หลังจากที่เปิดโอกาสให้เดินหน้าและเคลื่อนตัวมาได้สักพัก ก็สมควรที่จะหยุดเส้นทางได้สักที โดยจุฬญาณนนท์จะหันไปต่อยอดในส่วนของ concept แทน

เชื่อแล้วว่านพพรคงรักคุณหญิงกีฯ จริง (โดยที่ไม่รู้สึกผิดกับการฆาตกรรมปรีดิ์เลยแม้แต่น้อย 5555) และความเสียดายที่รูปวาดมิตาเกะได้ถูกปลด ถูกทำลาย (ที่เสียหายเพียงแค่กระจกกรอบแตก) ซึ่งเชื่อว่าลำพังการตำหนิรูปเขียนว่า ‘ฝีมือก็งั้นๆ’ อาจหนักหน่วงพอที่จะเพาะเชื้อความผิดถึงขั้นอนันตริยกรรม ขณะที่คุณหญิงเสียอีกที่ดูจะทะลุเพดานและ transcendence ตัวเองจนก้าวย่างเข้าสู่ความเป็นนามธรรม ไม่ว่าจะในแง่ของพีเรียด-ยุคสมัย-วันเวลาที่มีให้เห็นถึงยุคปัจจุบันที่มองไปข้างไหนก็เจอแต่คุณหญิงกีรติ (จนเกือบจะกลายเป็นโฆษณาสินค้า),ไต่ระดับจนเข้าไปใกล้ความเป็นเทพบนชั้นฟ้า ซึ่งเจ้าของงานทำให้เห็นทั้งแบบดาราศาสตร์แล้วก็ความเชื่อ

พอมาถึงจุดนี้ปุ๊บ ความเป็นนพพร (ในแง่ของตัวละคร) จะแยกขาดจากตัวตนจริงของจุฬญาณนนท์ ตัวตนของคุณหญิงกีรติถูกสร้างให้ดูคล้ายกับคนซึ่งเคยมีชีวิตอยู่จริง มีการเปิดนิทรรศการกึ่งพิพิธภัณฑ์จำลอง ตลอดจนมีการสร้างรูปหล่อประติมากรรมภาพเหมือนคุณหญิง ภายใต้กระบวนการเดียวกับพระพุทธรูป รวมไปถึงนิมนต์พระสงฆ์ประกอบพิธิซึ่งถ้าศักดิ์สิทธิ์จริง คงทำไม่ได้ถึงขั้นนี้

(จบภาคที่หนึ่ง)


อ่านภาคสอง ว่าด้วย 100 Times Reproduction of Democracy ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องต่อมาของจุฬญาณนนท์ ศิริผล ได้ที่นี่

Mother Gamer: ยูโทเปียเกมเมอร์หลังห้อง

ติดอันดับหนังยอดนิยมใน Netflix ไปเรียบร้อยสำหรับหนังไทยเอาใจวัยรุ่น “Mother Gamer: เกมเมอร์ เกมแม่” หนังที่เข้าฉายในโรงเมื่อปลายปี 2020 และเพิ่งเข้าสตรีมมิงไม่นานมานี้ ที่ได้นางเอกยุค ’90 อย่าง อ้อม พิยดา จุฑารัตนกุล มาเป็นนักแสดงนำ เนื้อเรื่องของหนังพาเราไปทำความรู้จักกับวงการอี-สปอร์ต และเกม Arena of Valor (RoV) ชนิดที่คนไม่เคยเล่นก็สามารถสนุกไปด้วยไม่ยาก และธีมของเรื่องก็เหมาะกับคนหลายวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่ต้องการทำความเข้าใจโลกของเด็กๆ สมัยนี้

หนังเล่าเรื่องของ “เบญ (พิยดา จุฑารัตนกุล)” ครูคณิตศาสตร์โรงเรียนรัฐหัวโบราณ ที่พยายามเคี่ยวเข็ญให้ “โอม” ลูกชายคนเดียวของเธอตั้งใจเรียนจนได้เป็นนักเรียนดีเด่น โดยไม่รู้ว่าเบื้องหลังความเป็นเด็กที่อยู่ในกรอบ โอมเป็นสตรีมเมอร์เกม RoV ชื่อดังและเป็นผู้เล่นระดับโปรเพลเยอร์ที่สร้างรายได้มากมาย เขาได้เซ็นสัญญาเข้าทีมระดับประเทศที่ชื่อว่า Higher ที่มีเป้าหมายไปแข่งที่เกาหลี และนั่นทำให้แม่ใจสลาย เบญจึงหาทางขัดขวางเส้นทางอาชีพของโอมด้วยการตั้งทีมขึ้นมาโค่นลูกตัวเอง นำทีมโดยกอบศักดิ์ เด็กหลังห้องลุคแบดบอย และเพื่อนๆ อีกสามคน คือ มะปราง แม็ค และแบงค์

หนังถูกจัดเข้าประเภทแอ็คชัน คอเมดี ซึ่งเอาเข้าจริงดูจะเข้ากับอีกประเภทได้ด้วย นั่นคือดราม่า เพราะในช่วงเริ่ม หนังค่อนข้างให้ความสำคัญกับช่องว่างระหว่างวัยระหว่างคู่แม่-ลูก คือเบญและโอม ซึ่งนักแสดงนำอย่างอ้อม พิยดา แสดงออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติและพอดี ส่วนตน-ต้นหน ผู้รับบทโอมนั้นอาจจะแสดงอารมณ์ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นอยู่บ้าง ซึ่งอาจเป็นเพราะบทเซ็ตให้โอมเป็นคนพูดน้อยเมื่ออยู่กับแม่ แต่กลับพูดได้ไม่หยุดเมื่ออยู่หน้ากล้องในระหว่างสตรีมเกม

เบญ ผู้เป็นแม่นั้นยึดโยงกับค่านิยมการทำงานหนักเพื่อไต่ระดับทางสังคมแบบคน Gen X ซึ่งไม่เข้าใจการค้นหาความหมายในชีวิตของโอม และการใช้เทคโนโลยีเป็นทางลัดไปสู่ความเป็นคนสำคัญ อันเป็นสิ่งที่คน Gen Z เข้าใจได้ ดูเหมือนในวันหนึ่ง การใช้ชีวิตตามกรอบแบบค่อยเป็นค่อยไปก็กลายเป็นค่านิยมที่ตกยุค และไม่สัมพันธ์กับสังคมสมัยใหม่ที่ความเร็วเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าใครจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เบญที่ตามไม่ทันโลกยุคนี้จึงเชื่อว่าการเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน และเชื่อฟังผู้มีอำนาจเท่านั้นจึงจะทำให้ลูกประสบความสำเร็จได้ ตามขนบของการศึกษาไทยที่ยังเหมือนถูกแช่แข็งอยู่ในยุคสงครามเย็น

เบญที่ตามไม่ทันโลกยุคนี้จึงเชื่อว่าการเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน และเชื่อฟังผู้มีอำนาจเท่านั้นจึงจะทำให้ลูกประสบความสำเร็จได้ ตามขนบของการศึกษาไทยที่ยังเหมือนถูกแช่แข็งอยู่ในยุคสงครามเย็น

โลกของเทคโนโลยีและเกมจึงเป็นโลกที่ไกลห่างจากอุดมคติของเบญ เพราะมันเป็นทั้งสิ่งที่เร็วในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นในมิติเชิงกายภาพ (การควบคุมเกมที่ต้องใช้ความคล่องแคล่วของมือ การทำงานประสานระหว่างมือกับสายตา) เชิงความสัมพันธ์ (คนที่เล่นเกมสามารถทำงานร่วมกับคนใหม่ๆ ที่เพิ่งเจอกันในทีมได้ทันที เพียงแค่รู้ว่าเป้าหมายร่วมกันคืออะไร) และเชิงการสื่อสาร (การตัดสินใจต้องรวดเร็ว และการพูดคุยกันในทีมก็ต้องทำอย่างรวดเร็วในเสี้ยววินาที) ดูเหมือนคนที่ไม่ใช่ digital native อย่างเบญจะไม่สามารถใส่ตัวเองเข้ามาในโลกของเกมได้ และความไม่เข้าใจในโลกแบบนี้ก็ทำให้เธอมองว่าเทคโนโลยีนั้น “เป็นอื่น” จนตั้งโครงการ “ห้องเรียนปลอดมือถือ” ขึ้นมา เพราะ “มือถือทำให้นักเรียนสมาธิสั้น”

แม้อาจตั้งคำถามได้ว่า แรงจูงใจของเบญนั้นเพียงพอที่จะทำให้เธอฟอร์มทีมอี-สปอร์ตขึ้นมาโค่นลูกหรือไม่ แต่หนังก็ใช้ความเป็นคอเมดีผ่านเรื่องนี้ไปได้อย่างเนียนๆ โดยใส่เงื่อนไขประกอบเข้ามาหลายอย่าง ทั้งการที่เธอต้องจ่ายเงินหลักหลายแสนเพื่อเอาลูกออกจาก Higher หรือการที่ขอกู้เงินยังไม่ผ่าน นับว่าหนังค่อนข้างให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจเกือบจะตลอดทั้งเรื่อง การใช้ชีวิตประจำวันของเบญก็ไม่ต่างจากการผ่านด่าน ที่จะต้องคิดคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้พอสำหรับเลี้ยงปากท้องและใช้ยามจำเป็น โครงการห้องเรียนปลอดมือถือของเบญก็เป็นหนึ่งในวิธีเพิ่มเงินในกระเป๋า จากการที่เธอได้เลื่อนขั้นนั่นเอง

นับว่าหนังค่อนข้างให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจเกือบจะตลอดทั้งเรื่อง การใช้ชีวิตประจำวันของเบญก็ไม่ต่างจากการผ่านด่าน ที่จะต้องคิดคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้พอสำหรับเลี้ยงปากท้องและใช้ยามจำเป็น โครงการห้องเรียนปลอดมือถือของเบญก็เป็นหนึ่งในวิธีเพิ่มเงินในกระเป๋า จากการที่เธอได้เลื่อนขั้นนั่นเอง

เมื่อเธอฟอร์มทีมร่วมกับกอบศักดิ์นั่นเอง เธอจึงได้พบว่าทักษะในชีวิตประจำวันของเธอ ที่เหมือนการเล่นเกมอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ได้ถูกใช้ให้เป็นประโยชน์กับทีม และในพื้นที่ตรงนี้เอง ที่หนังทำให้ช่องว่างระหว่างวัยของคนสองรุ่นหดสั้นลง เบญได้ค้นพบว่าเกมไม่ใช่สิ่งไร้สาระ แต่เป็นนวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาตอบสนองการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กันได้อย่างรวดเร็วของคนรุ่นใหม่ เธอได้รู้ว่าคนรุ่นใหม่ใช้เครือข่ายทางสังคมออนไลน์เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้อย่างรวดเร็วเพียงใด และนิยามความเป็นทีมของคนรุ่นใหม่ก็ไม่ใช่แบบเป็นทางการ หรือเป็นแบบบนลงล่าง อย่างที่เธอต้องเจอในวิชาชีพครู ซึ่งต้องปฏิบัติตามลำดับชั้นทางอำนาจให้เจ้านายและเพื่อนร่วมงานพอใจ

ในจุดนี้ ตัวละครที่น่าพูดถึงเป็นอย่างมากคือกอบศักดิ์ ซึ่งเป็นเด็กหลังห้องที่กำลังจะเรียนไม่จบเพราะฝ่าฝืนทัณฑ์บนหลายครั้งเกินไป ไหนจะเกรดที่น้อยจนเข็นไม่ขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่เบญใช้ต่อรองให้กอบศักดิ์ฟอร์มทีมให้เธอ เธอสัญญาว่าจะช่วยให้กอบศักดิ์เรียนจบหากทำตามที่เธอร้องขอ ซึ่งเด็กหนุ่มก็ดูจะไม่มีทางเลือกเท่าไหร่ หนังไม่ได้ทำให้ใครถือไพ่เหนือกว่า แต่ดูเหมือนภายหลัง กอบศักดิ์จะเป็นผู้สอนให้เบญเห็นค่าของความไว้วางใจภายในทีม และคุณค่าของความสามารถส่วนบุคคล ที่ทำให้คนคนหนึ่งนั้นแตกต่างจากคนอีกนับล้าน แม้ว่าเขาจะไม่ได้เดินตามรอยเท้าใคร

การที่ผู้ใหญ่ และคนทำอาชีพที่มีอำนาจทางสังคมอย่างเบญได้มาทำความเข้าใจโลกที่ดูจะกึ่งใต้ดินนิดๆ อย่างโลกของเกม RoV จนเกิดการยอมรับ และเลิกมองว่าโลกแบบนี้เป็นอื่นหรือเป็นศัตรูกับตัวเอง จึงเปรียบเสมือนการสร้างยูโทเปียของเยาวชนที่รักการเล่นเกมขึ้นมาภายในระยะเวลาสองชั่วโมงของหนัง และทำให้พวกเขารู้สึกมีที่ยืนขึ้นมา การได้ฝันหวานว่าคนระดับผู้อำนวยการโรงเรียนจะยอมก่อตั้งชมรมอี-สปอร์ต อาจเป็นก้าวแรกของการสร้างที่ทางให้แก่วงการนี้ เพราะความฝันเป็นจุดเริ่มต้นของโลกแห่งความเป็นจริงที่คนในวงการยังต้องพิสูจน์ตนเองกับสังคมอีกมากมาย ยิ่งในสถานการณ์ที่ผู้ใหญ่หลายฝ่ายต่างป้ายสีให้เกมเป็นผู้ร้ายที่ทำลายอนาคตเยาวชนเช่นนี้ หนังอย่าง Mother Gamer: เกมแม่ เกมเมอร์ ยิ่งเป็นหนังที่ควรสนับสนุนให้มีมากขึ้น หากต้องการจะสร้างสรรค์วงการเกมไทย

การได้ฝันหวานว่าคนระดับผู้อำนวยการโรงเรียนจะยอมก่อตั้งชมรมอี-สปอร์ต อาจเป็นก้าวแรกของการสร้างที่ทางให้แก่วงการนี้ เพราะความฝันเป็นจุดเริ่มต้นของโลกแห่งความเป็นจริงที่คนในวงการยังต้องพิสูจน์ตนเองกับสังคมอีกมากมาย ยิ่งในสถานการณ์ที่ผู้ใหญ่หลายฝ่ายต่างป้ายสีให้เกมเป็นผู้ร้ายที่ทำลายอนาคตเยาวชนเช่นนี้

ในแง่ของการแนะนำโลกของเกม หนังค่อนข้างเล่าเรื่องแบบมีเกมเป็นศูนย์กลาง และนำเสนอคำศัพท์และระบบใหม่ๆ เกี่ยวกับตัวเกม ชนิดที่คนที่เล่นและชื่นชอบ RoV อยู่แล้วจะขนลุกและ “อิน” ได้ไม่ยาก สำหรับคนที่ไม่ได้เล่นเกมนั้น หนังก็ถือว่าเล่าเรื่องไม่ยากจนเกินไปนัก สามารถสร้างอารมณ์ร่วม และดูสนุกได้ในระดับหนึ่ง แม้จะไม่เข้าใจระบบเกมทั้งหมด นอกจากนั้น หนังยังนำเสนอบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงๆ ในวงการเกม และใช้นักพากย์เกมที่มีชื่อเสียงเข้ามาสร้างสีสันให้กับหนัง จนอาจกล่าวได้ว่าหนังพยายามจะเจาะกลุ่มคนเล่น RoV เป็นหลัก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เพราะคนกลุ่มนี้มีอยู่เป็นจำนวนมากจนอาจทำให้หนังทำกำไรได้ไม่ยาก แต่สำหรับคนกลุ่มอื่นๆ เช่นผู้ใหญ่ ดูจะเป็นผลพลอยได้ที่น่านำไปขยายผลต่ออยู่เหมือนกัน เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของเกมให้มากขึ้น

หนังพยายามจะเปรียบเทียบสกิลต่างๆ ในเกมเข้ากับทักษะบางที่มีอยู่ในชีวิตจริง เช่นเรื่องการคิดคำนวณ อันเป็นทักษะของครูคณิตศาสตร์ที่เบญถนัดและช่วยให้ทีมเล่นเข้าจังหวะกันได้ดี หรือบางครั้ง หนังก็จำลองกราฟิกในเกมมาอยู่บนตัวคนจริงๆ ผ่านการตัดต่อและซีจี ซึ่งผลของมันมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ แต่อย่างหนึ่งที่เป็นผลสำเร็จของหนังก็คือ คนเข้าใจและอินไปกับมูฟเมนต์การต่อสู้ของตัวละคร จนหนังถูกจัดให้เข้าในประเภทแอ็คชัน

การได้เห็นผู้หญิงอายุเกินสามสิบขึ้นไปนั่งเล่นเกมและตะโกนประสานงานกับคนในทีมอายุคราวลูกถือเป็นสิ่งที่แปลกใหม่จริงๆ และทำให้คนที่ชื่นชอบเกมอดเอ็นดูไปด้วยได้ไม่ยาก อาจกล่าวได้ว่า Mother Gamer: เกมแม่ เกมเมอร์ เป็นหนังสร้างสรรค์อีกเรื่องหนึ่ง ที่ช่วยสื่อสารประเด็นทางสังคม ช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย และเป็นปากเสียงให้กับเกมเมอร์ โดยเฉพาะเกมเมอร์หลังห้องอีกหลายร้อยชีวิต

บรรดาความบันเทิงหลังกองถ่าย Locked Down

Locked Down หนังของ ดั๊ก ไลแมน สตาร์ทโปรเจกต์เมื่อเดือน ก.ค. 2020, ได้ทุนพร้อมประกาศโปรเจกต์เดือน ก.ย., ถ่ายทำ ต.ค., ตัดเสร็จพร้อมขายสิทธิให้ HBO Max เดือน ธ.ค. และออกฉายกลาง ม.ค. ปีนี้เลย …มีหนังเรื่องไหนด่วนกว่านี้อีกมั้ย?

นับตั้งแต่โควิดคุกคามไปทั้งโลก หนังหลายเรื่องต้องแก้บทและถ่ายเพิ่มเพื่อบันทึกช่วงเวลาประวัติศาสตร์นี้เอาไว้ เช่น Borat Subsequent Movie Film ที่ปั้นกันมาแรมปีแต่เพิ่งเพิ่มฉากล็อคดาวน์เข้าไปช่วงถ่ายทำ ส่วน Death to 2020 จริงๆ ก็เป็นโปรเจกต์เอาฮาของทีมผู้สร้าง Black Mirror ที่ทำป้อน BBC มาตั้งแต่ปี 2016 อยู่แล้ว หรืออย่างหนังไทย ‘อ้าย..คนหล่อลวง’ ก็เพิ่มเหตุการณ์โควิดเข้าไปในบท

จนอาจกล่าวได้ว่า นอกจาก Unsubscribe หนังที่รีบทำผ่าน Zoom เพื่อหวังขึ้นอันดับ 1 บ็อกซ์ออฟฟิศอเมริกาช่วงโควิด ก็คงเป็น Locked Down นี่เองที่บ้าพลังเพื่อให้เสร็จทันฉายในช่วงเวลาของมัน โดยที่หนังก็เต็มไปด้วยดาราดังอย่าง แอนน์ แฮทธาเวย์, ชิวเอเทล เอจิโอฟอร์, เบน สติลเลอร์, เบน คิงสลีย์ และ มินดี คาลิง

Locked Down เล่าเรื่องของ ลินดา (แฮทธาเวย์) กับ แพ็กซ์ตัน (เอจิโอฟอร์) คู่สามีภรรยาที่กำลังจะเลิกกันอยู่แล้วแต่ต้องล็อคดาวน์อยู่ด้วยกัน 14 วัน ตามมาตรการของลอนดอน ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ชีวิตคู่ของพวกเขาพินาศสิ้น จนกระทั่งเกิดไอเดียปล้นเพชรซึ่งจัดแสดงค้างอยู่ที่ห้างแฮร์รอดส์ โดยใช้หน้าที่การงานของทั้งคู่กรุยทางเข้าไป …เรื่องที่เห็นทั้งหมดนี่เกิดจากบทที่ยังเขียนไม่เสร็จของ สตีเฟน ไนท์ (Peaky Blunders, Eastern Promises) และเกิดกระบวนการ “ค้นหาหนังระหว่างการถ่ายทำ” นี่มันหนังอะไรครับเนี่ย!


จอมแสบฮอลลีวูด

ก่อนอื่นเราอย่าเพิ่งวี้ดว้ายกับการทำงานแบบนี้ของไลแมน มันเป็นปกติของเขา แม้ว่าจะมีหนังทำเงินอยู่ในเครดิตอย่าง The Bourne Identity, Mr. and Mrs. Smith, Edge of Tomorrow และ American Made ถึงขนาดยูนิเวอร์แซลขึ้นบัญชีดำเขาทันทีหลังปิดกล้อง The Bourne Identity

ตัวอย่างวีรกรรมของไลแมนไล่มาตั้งแต่หนังแจ้งเกิดทุนต่ำอย่าง Swingers ที่ทำให้เขาและทีมงานถูกจับกุมในวันปิดกล้องเพราะไปถ่ายบนไฮเวย์โดยไม่ขออนุญาต, งบแหกถือเป็นเรื่องปกติของไลแมนเพื่อสนองนี้ดส่วนตัว แหกที 20-30 ล้าน จนเขาเคยประกาศขายเครดิตผู้กำกับบนอีเบย์เพื่อเอาเงินมาโปะกับ The Bourne Identity ส่วน Mr. and Mrs. Smith ก็แหกไปเกือบ 30 ล้าน เขาเลยควักเงินส่วนตัวมาเซ็ตฉากในโรงรถแม่ตัวเอง ก่อนจะระเบิดมันทิ้งตามบท!

“สำหรับผม การทำหนังเรื่องหนึ่งก็คือการออกผจญภัย”


เริ่มต้นจากการล็อคดาวน์

เรื่องมันเริ่มจากวันที่ไลแมนคุยงานผ่านซูมกับคนเขียนบทอย่างไนท์ ซึ่งอยู่ห่างกันโดยมีมหาสมุทรแอตแลนติกคั่นกลาง แต่ที่ลอนดอนซึ่งไนท์อยู่นั้นกำลังถูกล็อคดาวน์เพราะโรคระบาดหนักมาก ไอเดียของเขาตอนนั้นมีแค่ว่านักแสดงคุยกันผ่านซูมก็ได้ ไม่ต้องออกไปไหนมากเพราะกำลังปิดประเทศ คุมงบให้น้อยที่สุด แล้วทำหนังที่คนทั้งโลกในตอนนี้เชื่อมโยงได้

“โลกเปลี่ยนไปแล้ว ผมตื่นเต้นที่ได้เล่าเรื่องผ่านตัวละครที่เราสามารถเชื่อมโยงได้ในวันนี้ เราไม่ใช่อย่างที่เราเคยเป็นเมื่อปีที่แล้ว ตัวละครสามารถสะท้อนว่าเราเป็นใครในตอนนี้ จากนั้นค่อยพาพวกเขาออกผจญภัยและหาทางปลดปล่อยออกจากการถูกปิดกั้น”


หนังที่เริ่มถ่ายตั้งแต่บทยังไม่เสร็จ

ไลแมนและไนท์ตระเวนขอคิวนักแสดงทั้งที่บทยังไม่เสร็จ ด้วยความคิดที่ว่าในเมื่อตอนนี้ถ่ายหนังไม่ได้นักแสดงก็ว่างกันทั้งวงการนั่นแหละ จนได้นักแสดงชุดใหญ่ดังที่เห็น เพราะพวกเขาไม่ต้องเดินทางมาเข้าฉาก ส่วนใหญ่คุยผ่าน Zoom มาจากที่ไหนก็ได้ในโลก ซึ่ง เบน สติลเลอร์ คิดมุกให้ลูกชายวัยรุ่นจอมแสบเข้ามาป่วนด้วย ส่วนเอจิโอฟอร์อยู่ในอังกฤษอยู่แล้ว แต่คนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลกับไลแมนมาเข้าฉากที่ลอนดอนก็คือแฮทธาเวย์ “การได้เล่นหนังเรื่องนี้มันเหมือนได้ยาระบาย” เธอกล่าว ซึ่งการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าหนังจะออกมาดีได้อย่างไรนอกจากเครดิตที่เข้าท่าของไลแมนและไนท์ แต่ดาราออสการ์อย่างแฮทธาเวย์เลือกทำ “ฉันรู้ว่ามันเป็นการตัดสินใจที่นักแสดงไม่ควรทำแต่ฉันภูมิใจกับมันนะ คุณรู้มั้ยว่าล็อคดาวน์วันแรกๆ ฉันอยากจะหาทางปลดปล่อยมาก แต่ไม่อยากให้ลูกของฉันกลัว เลยทำได้แค่เอาหมอนปิดหน้าแล้วกรี๊ดออกมาดังๆ”

“มันเป็นความท้าทายในการหาเกณฑ์ว่าคุณถ่ายทอดการสนทนาผ่าน Zoom ในหนังอย่างไรเพราะจากนี้เป็นต้นไป หนังทุกเรื่องในปี 2020 หรือหลังจากนั้นมนุษย์ไม่เพียงแค่โทรศัพท์คุยกันอีกต่อไปใช่ไหม ดังนั้นวิธีการสื่อสารของเราจึงเปลี่ยนไปและภาษาหนังยังไม่ได้ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ในการถ่ายทอดสิ่งนั้น” ไลแมนเสริม

การทำหนังคือการผจญภัย แต่คงไม่มีการผจญภัยครั้งไหนสมบุกสมบันกับไลแมนเท่า Locked Down อีกแล้วที่ไม่มีแม้แต่บทที่สมบูรณ์ โดยสิ่งที่ปรากฏในหนังคือดราฟท์แรกของไนท์เท่านั้น “ตอนผมขึ้นเครื่องบินมาลงลอนดอน ตอนนั้นคิดว่าผมได้ผ่านจุดที่ยากที่สุดมาแล้วคือการข้ามประเทศ แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นมันยากกว่าหลายเท่า

“นี่เป็นโอกาสที่จะเป็นหนังเรื่องหลังการแพร่ระบาดที่แสดงให้เห็นว่าชีวิตของเราเป็นอย่างไรในตอนนี้และต่อไป จากนั้นยังมีความกดดันอีกมากมายเพราะเรากำลังสร้างในขณะที่ลอนดอนยังปิดอยู่ มีความเสี่ยงที่เราจะไม่สามารถถ่ายจบได้ตลอดเวลา มันนำไปสู่ความเร่งรีบในการทำงาน เพราะมีหนังเรื่องสตูดิโอฟอร์มใหญ่รอนักแสดงอยู่” นี่จึงเป็นเหตุผลให้ไลแมนถ่ายได้แค่ 18 วัน แล้วต้องปล่อยนักแสดงกลับโดยไม่มีโอกาสถ่ายซ่อมใดๆ ทั้งสิ้น

เอจิโอฟอร์เล่าว่าไม่เคยถ่ายหนังเรื่องไหนที่ไม่ได้เห็นหน้าทีมงานเลยเพราะทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไลแมนยังเล่าว่า “เจลล้างมือที่เราวางไว้บริการทีมงานตามจุดต่างๆ หายทุกวัน เพราะอะไร? เพราะเรารู้ดีว่าการทำงานเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ให้มันเสร็จ แต่เราต้องรอดกลับไปด้วย”


แฮร์ร็อดส์ห้างที่ไม่เคยให้ถ่ายหนัง

ไฮไลท์ของหนัง Locked Down คือหลังจากตัวละครติดอยู่ในเคหะสถานมาเกือบทั้งเรื่อง พวกเขาก็ออกไปเจอผู้เจอคนในองก์สุดท้าย ในภารกิจจารกรรมเพชรที่จัดแสดงค้างไว้ในห้างแฮร์ร็อดส์ ซึ่งมันเกิดจากไอเดียของไนท์ที่ว่าหนังต้องมี ‘ความเสี่ยง’ เพื่อให้เกิดความน่าตื่นตาตื่นใจ และที่พวกเขาเลือกแฮร์ร็อดส์เพราะมันเป็นห้างเก่าแก่ที่ไม่เคยอนุญาตให้ถ่ายหนังมาก่อนเลยในกว่า 170 ปีที่ก่อตั้งมา ที่สำคัญคือมันแสดงให้เห็นความเหลือกินเหลือใช้ของคนในชนชั้นหนึ่งก่อนที่มันจะถูกทิ้งเอาไว้อย่างนั้นด้วยสถานการณ์โควิด

“โควิดทำให้โลกกลับตาลปัตรไปหมด” ไลแมนเล่า “กฏเกณฑ์ปกติใช้อะไรไม่ได้แล้ว เราเข้าไปคุยกับแฮร์ร็อดส์โดยบอกกันตรงๆ ว่าเราไม่มีสคริปต์ให้ดูนะไม่มีกระทั่งไอเดียในตอนนั้น ถ้าคุณไม่ตอบตกลงเราก็แค่ไม่เขียนมันลงไปในบทเพราะเราไม่มีแผนสำรอง ถ้าไม่ใช่แฮร์ร็อดส์เราก็ไม่มีฉากนี้แค่นั้นเอง” หลังจากบากหน้าไปเจรจากันอย่างตรงไปตรงมากับห้างที่เข้มงวดเรื่องความปลอดภัยที่สุดของลอนดอน ผลลัพธ์ก็คือห้างยอมทุกอย่าง

“ถ้าสถานการณ์ปกติ แฮร์ร็อดส์ไม่มีทางอนุญาตให้เราเข้าไปถ่าย แต่ย้ำอีกครั้งว่าโลกมันกลับตาลปัตรไปหมดแล้ว เขาถึงยอม”

เนื่องจากห้างปิดภายใต้การล็อคดาวน์ลอนดอน แฮร์ร็อดส์จึงยอมให้ไลแมนเข้าไปถ่ายหนัง นอกจากเพื่อหารายได้เข้ามาหมุนเวียนกิจการแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ห้างจะสร้างรายได้ให้พนักงานด้วย เพราะหนึ่งในข้อตกลงคือพนักงานตัวจริงจะต้องได้เข้าฉาก และยังยอมเปิดหลังบ้านให้ไลแมนและทีมงานเข้าไปถ่ายทำอีกต่างหาก แต่อนุญาตให้เข้าได้เฉพาะตำแหน่งที่จำเป็นเท่านั้น

การถ่ายหนังในช่วงล็อคดาวน์จนจบและออกฉายได้ในขณะที่การแพร่ระบาดของโรคยังไม่จบ คือการบรรลุความตั้งใจของไลแมนเป็นอย่างมาก “เดิมทีเราคิดว่าพอหนังถ่ายเสร็จเพื่อให้ทันฉายเดือนมกราคม อะไรๆ มันคงดีขึ้นแล้ว แต่เปล่าเลย”

ซึ่งการทำงานภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ ยิ่งทำให้ไลแมนมีความมั่นใจมากขึ้นกับโปรเจกต์ต่อไปที่แหกทุกกฏเกณฑ์ของการทำงาน นั่นคือการพา ทอม ครูซ ขึ้นไปถ่ายหนังกันนอกโลกบนยานอวกาศ ด้วยการสนับสนุนของ อีลอน มัสก์ และองค์การนาซ่า

“ผมไม่อยากพูดอะไรมากถึงโปรเจกต์นั้นในตอนนี้ แต่พอผมผ่าน Locked Down มาได้ ผมพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าพร้อมแล้วสำหรับความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้น”


ดู Locked Down ได้ที่ HBO GO

ข้อมูลประกอบ

https://www.slashfilm.com/doug-liman-interview-locked-down/

https://www.vulture.com/2021/01/how-locked-down-got-harrods-to-let-a-film-crew-in-its-vaults.html

https://www.reuters.com/article/film-locked-down/anne-hathaway-races-to-release-locked-down-covid-19-rom-com-idUSL1N2JP1P9

A Sun แล้วดวงตะวันก็ฉายแสง

บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

อาเหอ เป็นลูกชายคนเล็ก เกกมะเหรกเกเร ไม่ยอมเรียนหนังสือ คบหากับ แรดิช เพื่อนอันธพาล แล้ววันหนึ่งทั้งคู่ก็พากันไปก่อคดีร้ายแรงจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล พ่อของอาเหอที่เหนื่อยหน่ายกับลูกชายเหลือขอคนนี้เต็มทนจึงยินยอมให้ลูกชายถูกส่งเข้าไปดัดสันดานในสถานพินิจโดยไม่ฟังคำทัดทานของภรรยา อาเหอมีพี่ชายชื่อ อาห่าว ต่างกันราวฟ้ากับดิน อาห่าวทั้งเรียนเก่ง หน้าตาดี สุภาพอ่อนโยน เป็นลูกรักของพ่อ รับผิดชอบตัวเองและคนอื่นได้ดีเสมอ เรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ ความสัมพันธ์ในครอบครัวจึงแบ่งออกเป็นลูกฉันลูกเธออยู่กลายๆ

ครอบครัวของอาเหอไม่ได้มีฐานะอะไรนัก อาศัยอยู่อพาร์ตเมนต์ระดับกลางๆ ในเมือง พ่อทำงานเป็นครูสอนขับรถในโรงเรียนสอนขับรถแห่งหนึ่ง แม่ทำงานเป็นช่างเสริมสวยในสถานบันเทิง ชีวิตสามัญดาษดื่นของชนชั้นกลางระดับล่างที่อาจไม่ได้มีความใฝ่ฝันอะไรมากไปกว่าได้ส่งเสียลูกชายให้เรียนสูงๆ แสวงหาความมั่นคงในชีวิตเท่าที่กำลังของตัวเองจะแสวงหาได้

หนังเปิดเรื่องด้วยฉากรุนแรงเลือดสาดในภัตตาคาร แรดิชใช้มีดมาเชเต้ฟันแขนคู่อริขาดกระเด็นตกลงไปในหม้อไฟกลางโต๊ะอาหาร ภาพอุจาดตาจนดูประดิดประดอยและล้นเกิน (ในตอนท้ายๆ ของเรื่องผู้ชมจะได้รู้เหตุผลว่าทำไมหนังถึงต้องเลือกนำเสนอภาพอุจาดตานี้) ก่อนจะค่อยๆ ลดองศาลงและมาโฟกัสที่ภาพชีวิตปกติของตัวละคร น่าสังเกตว่าหนังเลือกเล่าเรื่องผ่านหลายๆ แนว (genre) ทั้งแนวอาชญากรรม, ดราม่าครอบครัว, การเติบโตก้าวผ่านช่วงวัย (coming of age) หรือแม้กระทั่งรักโรแมนติก เพื่อขับเน้นเงื่อนปมเฉพาะตัวของแต่ละตัวละคร

จริงอยู่ว่าอาเหอในฐานะผู้ร่วมลงมือได้รับโทษเบากว่าแรดิช แต่ในระดับที่ลึกลงไป หนังก็ฉายให้เห็นความซับซ้อนของคดีไว้อย่างน่าครุ่นคิด แรดิชไม่ได้ฟันแขนของ โอเด้ง (ชื่อของเด็กหนุ่มที่ถูกฟันแขนขาด) เพราะเป็นคู่อริตัวเองโดยตรงหรือเป็นความแค้นส่วนตัว แต่ทำไปเพื่อสั่งสอนโอเด้งที่มารังแกอาเหอก่อน คู่กรณีที่แท้จริงจึงเป็นอาเหอ แต่ทว่าอาเหอเองก็ไม่คาดคิดว่าแรดิชจะลงมือรุนแรงถึงขั้นนั้น สัดส่วนของความผิดในทางกฎหมายอาจลงโทษแรดิชหนักว่าในฐานะผู้ลงมือ แต่สัดส่วนของความผิดในทางมโนธรรมส่วนตัวระหว่างอาเหอกับแรดิชก็ยากจะหาจุดลงตัว ต่างคนต่างคิดว่าตัวเองต้องมาติดร่างแหของความผิดที่อีกฝ่ายก่อขึ้น

จากนั้น หนังโฟกัสไปที่ชีวิตของอาห่าว อาห่าวผู้เป็นความหวังของครอบครัว แต่ภายใต้บุคลิกสุภาพอ่อนโยน กลับมีตัวตนเบื้องลึกที่ยากจะเข้าถึง ไม่มีใครรู้ว่าอาห่าวคิดอะไรหรือรู้ว่าเขาเป็นคนยังไงกันแน่ หนังเลือกแนะนำอาห่าวให้เรารู้จักครั้งแรกผ่านฉากในห้องเรียนกวดวิชา ตอนที่อาจารย์กำลังบรรยายเกี่ยวกับคำสอนของซือหม่ากวง (ปราชญ์คนสำคัญในประวัติศาสตร์จีน) เมื่อเห็นอาห่าวนั่งฟังอย่างเหม่อลอย อาจารย์จึงถามเขาอย่างฉุนเฉียวว่าไม่เชื่อในคำสอนของซือหม่ากวงหรือ? แต่อาห่าวกลับย้อนถามอย่างแข็งกร้าวว่า แล้วอาจารย์เชื่อหรือเปล่า? ซึ่งนับว่าเป็นปฏิกิริยาที่เหนือความคาดหมายสำหรับเด็กตั้งใจเรียนอย่างเขา

ต่อมาอาห่าวได้รู้จักกับเด็กสาวคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียน ทั้งคู่พัฒนาความสัมพันธ์กันอย่างเงียบๆ พร้อมๆ กับที่โลกส่วนตัวของอาห่าวก็ถูกเผยออกมาทีละน้อย ความสัมพันธ์งดงามเรียบง่ายราวกับประกายแสงเล็กๆ แย้มเยือนซอกมุมชีวิตอันเงียบเชียบ เป็นความงดงามแบบที่ชวนให้หัวใจสลายเมื่อนึกถึงว่าโมงยามแสนสั้นที่ทั้งคู่ได้ใช้จ่ายวันเวลาร่วมกันเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายที่ชีวิตมอบให้ ก่อนที่ความตายจะพรากมันไป

อาห่าวเป็นตัวละครสำคัญ แต่หนังเลือกเล่าถึงเขา (และให้เขาเล่าถึงตัวเอง) อย่างออมความ ให้เราได้เสาะค้นและตีความตัวเขาผ่านอุปมาหรือสัญลักษณ์บางอย่างเสมอ ในการคุยกันครั้งหนึ่ง อาห่าวเล่านิทานปรัมปราเรื่องการเล่นซ่อนหาของซือหม่ากวงให้แฟนสาวฟัง ซือหม่ากวงเล่นซ่อนหากับเด็กๆ จนกระทั่งพบที่ซ่อนของทุกคนแล้ว แต่เขาบอกว่ายังเหลือเด็กอีกหนึ่งคนที่ซ่อนอยู่ เด็กๆ เหล่านั้นงุนงงว่าจะเป็นไปได้อย่างไร แต่ก็ตามซือหม่ากวงไปจนพบโอ่งปริศนาใบหนึ่ง พอทุบโอ่งออก จึงได้พบว่าเด็กที่ซ่อนอยู่ในนั้นไม่ใช่ใคร แต่เป็นตัวซือหม่ากวงในวัยเด็กนั่นเอง

ในอีกฉากหนึ่ง อาห่าวถามแฟนสาวว่าอะไรคือสิ่งที่ยุติธรรมที่สุดในโลก ก่อนที่เขาจะตอบคำถามของตัวเองว่า “สิ่งที่ยุติธรรมที่สุดในโลกคือดวงอาทิตย์ ไม่ว่าจะอยู่ละติจูดไหน ทุกพื้นที่บนโลก ตลอดทั้งปี ก็มีกลางวันและกลางคืนอย่างเท่าเทียมกัน” ประโยคดังกล่าวกลายเป็นกุญแจไขปริศนาชีวิตของอาห่าว เมื่อต่อมาเราได้รู้ว่าเขาเปรียบตัวเองเสมือนดวงอาทิตย์ ความว้าเหว่เดียวดายของดวงอาทิตย์ที่ต้องส่องแสงเพื่อคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ทุกคนได้รับแสงสว่างและไออุ่นจนกลายเป็นความเคยชินว่าถึงอย่างไรดวงอาทิตย์ก็จะต้องส่องแสงอยู่เสมอ แต่น้อยคนที่จะตระหนักถึงการดำรงอยู่ของดวงอาทิตย์ ทุกคนหาร่มเงาใต้ดวงอาทิตย์ได้ แต่ทว่าดวงอาทิตย์กลับไม่สามารถหลบอยู่ใต้ร่มเงาของตัวเองได้

เขาเปรียบตัวเองเสมือนดวงอาทิตย์ ความว้าเหว่เดียวดายของดวงอาทิตย์ที่ต้องส่องแสงเพื่อคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ทุกคนได้รับแสงสว่างและไออุ่นจนกลายเป็นความเคยชินว่าถึงอย่างไรดวงอาทิตย์ก็จะต้องส่องแสงอยู่เสมอ แต่น้อยคนที่จะตระหนักถึงการดำรงอยู่ของดวงอาทิตย์

เช่นนั้นเองคือวิธีที่ชะตากรรมเล่นตลก กลายเป็นว่าลูกชายสองคนต่างก็ถูกโดดเดี่ยวไปคนละทาง อาเหอถูกตัดหางปล่อยวัดเพราะความเกเรและไม่เอาถ่าน ในขณะที่อาห่าวก็ถูกปิดผนึกไว้ให้อยู่ในความสมบูรณ์แบบของการเป็น “ลูกที่ดี” ทั้งอาเหอและอาห่าวต่างถูกกดดันจากภาพสะท้อนเปรียบเทียบที่ตนมีต่ออีกฝ่าย อาเหอน้อยเนื้อต่ำใจว่าเขาไม่สามารถเป็นลูกที่ดีและสมบูรณ์แบบเท่าพี่ชายได้ ส่วนอาห่าวก็กลายเป็นความกดดันว่าเขาต้องทำตัวเป็นลูกที่ดีตลอดเวลาให้สมกับที่เป็นความหวังและความภูมิใจของพ่อแม่ ในแง่นี้ หนังจึงย้อนกลับมาตั้งคำถามกับความเป็นพ่อแม่ด้วยว่า ไม่ใช่แค่ “ลูกชายที่มีปัญหา” เท่านั้นที่มีปัญหา แต่ลูกชายที่ดูเหมือนไม่มีปัญหาก็อาจมีปัญหาของตัวเองเช่นกัน สำหรับอาเหอ ปัญหาของเขาถูกบดบังจากการต้องรับบทเป็นดวงตะวันของครอบครัว เป็นเรื่องปกติที่จะไม่มีใครรู้ว่าดวงตะวันมีปัญหาอะไร จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อดวงตะวันนั้น “ดับแสง” ลงไปแล้วตลอดกาล

ชีวิตของอาเหอในสถานพินิจไม่ได้ราบรื่นนัก ช่วงแรกเขามีเรื่องชกต่อยกับบรรดาแก๊งขาใหญ่ที่ “รับน้อง” และกลั่นแกล้งเขาด้วยวิธีต่างๆ แต่หลังจากปรับตัวกับสภาพชีวิตใหม่ได้แล้ว หนังก็ค่อยๆ ปอกเปลือกตัวตนของอาเหอออกมาให้เห็นว่าจริงๆ แล้วเขาไม่ใช่คนเลวร้ายและไร้หัวคิด ทั้งยังสามารถรับมือกับความขัดแย้งและคมเขี้ยวของชีวิตได้อย่างน่าชื่นชม (เผลอๆ อาจจะรับมือได้ดีกว่าอาห่าวด้วยซ้ำ) เขารู้จักผูกมิตรและต่อรองอำนาจกับแก๊งขาใหญ่ในห้องขังเดียวกันจนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษลงเรื่อยๆ จนแค่ปีครึ่งก็ได้พ้นโทษออกมา

ในช่วงที่อาเหออยู่ในสถานพินิจ จู่ๆ วันหนึ่งก็มีผู้หญิงคนหนึ่งพาลูกสาวของเธอมาที่บ้านของอาเหอ ผู้หญิงคนนั้นบอกแม่อาเหอว่าลูกสาวของเธอท้องกับอาเหอ พ่อของอาเหอเดือดดาลและไม่ยอมรับรู้เรื่องนี้ มีเพียงผู้เป็นแม่เท่านั้นที่รับเธอเข้ามาอยู่ในบ้าน ดูแลลูกสะใภ้แทนลูกชายของเธอที่ถูกขังอยู่ ราวกับว่านี่เป็นเรื่องระหว่าง “ผู้หญิง” ด้วยกันที่ “ผู้ชาย” อย่างพ่อของอาเหอไม่มีทางเข้าใจ พ่ออาจตัดหางปล่อยวัดอาเหอได้ แต่กับเด็กสาวที่อุ้มท้องมานั้นเป็นอีกเรื่อง มันเป็นเรื่องของ “แม่” ที่ “พ่อ” ไม่มีสิทธิ์เข้ามาตัดสินได้ ทว่าน่าสนใจอย่างยิ่งว่าคนที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในเรื่องนี้ได้คืออาห่าว วันหนึ่งอาห่าวต้องรับอาสาพาเด็กสาวไปฝากครรภ์ หลังจากนั้นเขาแอบพาเธอไปเยี่ยมอาเหออย่างลับๆ อาเหอจึงได้รู้ในตอนนั้นเองว่าตัวเองกำลังจะได้เป็นพ่อคน

ฉากการพบกันระหว่างอาเหอกับอาห่าวในห้องเยี่ยมผู้ต้องขังทำให้เราได้เห็นตัวตนและความสัมพันธ์ของสองพี่น้องชัดขึ้น ภายใต้บทสนทนาห่างเหินและท่าทีที่ดูเหมือนไม่ลงรอยกัน กลับปรากฏสายใยบางๆ ทว่าเหนียวแน่นที่ทำให้เรามองเห็นว่าสองพี่น้องเกาะเกี่ยวตัวตนกันด้วยความรู้สึกเช่นไร เราอาจไม่รู้ว่าอาเหอเกลียดอาห่าวหรือไม่ ไม่รู้ว่าอาห่าวรู้สึกต่อน้องชายอย่างไร สิ่งเหล่านั้นกลับไร้ความสำคัญและเทียบไม่ได้กับการที่วันนี้เวลานี้อาห่าวได้มาอยู่ตรงนี้ มาบอกข่าวสำคัญว่าน้องชายกำลังจะได้เป็นพ่อคน ประหนึ่งว่าทั้งคู่ได้ก้าวเดินออกจากเขาวงกตของความสัมพันธ์เชิงการเปรียบเทียบที่ผู้เป็นพ่อสร้างขึ้น และสร้างความสัมพันธ์ชุดใหม่ต่อกันโดยมีน้องสะใภ้และหลานในท้องเป็นสายใยเชื่อมโยง

ในระหว่างที่ทุกอย่างกำลังจะคลี่คลายไปได้ด้วยดี มรสุมลูกใหญ่ก็พัดเข้ามาอีกครั้ง ความตายของอาห่าวกลายเป็นเรื่องช็อกทั้งสำหรับตัวละครในเรื่องและผู้ชมอย่างเรา ไม่มีการบอกใบ้ถึงต้นสายปลายเหตุ จู่ๆ มันก็เกิดขึ้นในคืนธรรมดาคืนหนึ่ง มิหนำซ้ำหนังยังเลือกทางเดินที่ท้าทายอย่างยิ่งด้วยการไม่อธิบายใดๆ ทั้งสิ้น ปล่อยให้ทั้งตัวละครและผู้ชมอย่างเรางุนงงอยู่ปริศนาที่เกิดขึ้น ยากจะชี้ชัดลงไปได้ว่าความตายนั้นเป็นการฆ่าตัวตายหรือเป็นอุบัติเหตุ ชีวิตของเขาเข้าถึงได้ยากพอๆ กับความตายของเขา มันเป็นความตายที่สะอาดหมดจด เขาพับผ้าผ่อนไว้อย่างเป็นระเบียบ ลบข้อมูลในมือถือออกจนเกลี้ยง ราวกับว่าความตายคือขั้นตอนสุดท้ายของการลบตัวตน ตัวตนที่ยากจะเข้าถึงอยู่แล้วนั้นจึงกลายเป็นตัวตนที่ไม่มีใครเข้าถึงได้ตลอดกาล

ในช่วงท้ายๆ ของเรื่อง มีฉากที่น่าจดจำอยู่ฉากหนึ่งคือ ฉากที่อาเหอ (ซึ่งพ้นโทษมาหลายปีแล้ว) กำลังช่วยแม่เก็บกวาดทำความสะอาดห้องนอนของอาห่าว อาเหอพบว่าสมุดไดอารี่ที่พ่อให้เป็นของขวัญพิเศษแก่อาห่าวคนเดียวทุกปี นับจำนวนได้เป็นสิบกว่าเล่มนั้น หน้ากระดาษของทุกเล่มล้วนว่างเปล่า ไม่มีร่องรอยการขีดเขียนใดๆ เลย ชีวิตของอาห่าวจึงประหนึ่งดวงตะวัน ดวงตะวันไม่สื่อสารหรือขีดเขียนสิ่งใดนอกเสียจากสาดแสงของมันลงมา เราไม่อาจอ่านภาษาของดวงตะวันได้จากรอยหยาบกร้านบนผิวหนังหรือชีวิต แต่เราสามารถอ่านชีวิตได้จากร่องรอยหยาบกร้านที่ดวงตะวันทิ้งร่องรอยไว้ให้

เห็นได้ชัดว่าหนังเล่นล้อความหมายของคำว่า son (ลูกชาย) กับ sun (ดวงตะวัน) อาห่าวคือดวงตะวันที่ใกล้จะลับขอบฟ้า แสงสุดท้ายจึงทั้งงดงามและเศร้าสร้อย ความตายของอาห่าวจัดวางความสัมพันธ์ในครอบครัวขึ้นมาใหม่ อาเหอจึงค่อยๆ มีตัวตนขึ้นมา ราวกับดวงตะวันของวันใหม่ที่ค่อยๆ โผล่พ้นขอบฟ้าในยามรุ่งอรุณ


ชม A Sun ได้ที่ Netflix

Crip Camp: A Disability Revolution ความพิกลของความไม่พิการ

10 ธันวาคม 2020 กลุ่มผู้พิการในไทยรวมตัวกันชุมนุมที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐรับรองข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ว่าด้วยเรื่องการรับรองสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ สวัสดิการอุปกรณ์ช่วยเหลือ การรับรองสถานประกอบอาชีพ และการอุดหนุนค่าเช่าสถานที่ประกอบอาชีพ ภายใต้กฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญในหมวดคนพิการ

ผมสับสนทุกครั้งที่ตัดสินใจเข้าช่วยเหลือผู้พิการในระบบรถไฟฟ้าว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไรกันแน่ เราทำไปเพราะเห็นใจเขาที่เดินเหินไม่สะดวกอย่างคนทั่วไปหรือเห็นใจที่โครงสร้างพื้นฐานนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทุกคน หรือจริงๆ สิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่ความเห็นใจ ถ้าเป็นเรา เราจะชอบน้ำใจแบบนี้จริงๆ หรือเปล่า

เป็นน้ำจิตน้ำใจประเภทที่ชวนเวียนหัวแบบนี้เองที่เรียกว่า “อภิสิทธิ์”

ในช่วงรอยต่อทศวรรษ 70’s และ 80’s เคยมีกลุ่มคนพิการราวแปดสิบคนล้อมกรอบกันเป็นวงกลมเพื่อปิดถนนเส้นหนึ่งจนทำเอาการจราจรทั่วนิวยอร์คเป็นอัมพาต และแกนนำกลุ่มเดียวกันนี้เองเคยรวบรวมกลุ่มผู้พิการประท้วงรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข การศึกษาและสวัสดิการต่อเนื่อง 24 วันเพื่อกดดันให้มีการลงนามในข้อตกลงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการทั่วสหรัฐอเมริกา

บางอย่างบอกพวกเขาว่าสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ควรถูกจำกัดให้พอมีชีวิตรอด และคำอธิบายอย่าง “คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน” ไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ เพลิงแห่งการปฏิวัติของพวกเขาก่อขึ้นจากกองไฟเล็กๆ

กองไฟในค่ายฤดูร้อนที่ชื่อว่า แคมป์เจเน็ด

“คนพิการ” คือ บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญาและการเรียนรู้หรือความบกพร่องอื่นใด (พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550)

จิม เลอแบรคต์ พิการโดยกำเนิดเนื่องจากสภาพผิดปกติในกระดูกสันหลัง โลกของเขาเต็มไปด้วยกำแพงสูงที่ไม่อาจข้ามได้ด้วยวีลแชร์ พ่อของเขาสอนว่า ถ้าลูกไม่เข้าหาคนอื่นเสียบ้าง ก็ยากเหลือเกินที่ใครๆ เขาจะเดินเข้ามาหา พ่ออาจจะพูดถูก แต่ก็ถูกได้อย่างมากแค่ครึ่งหนึ่ง จิมไม่เคยรู้สึกเข้ากับใครได้ดีเลย เขาไม่เคยเจอคนที่เป็นแบบเขา

จนกระทั่งฤดูร้อนปี 1971 จิมลงชื่อเข้าร่วมค่ายฤดูร้อนที่จัดโดยกลุ่มนักศึกษาฮิปปี้ในสมัยนั้น แคมป์เจเน็ด ค่ายฤดูร้อนสำหรับ “ผู้พิการ”

ไม่มีอะไรเป็นพิเศษที่แคมป์เจเน็ด ทั้งพี่เลี้ยง ทั้งชาวค่ายประกอบกิจกรรมสุดธรรมดากันตลอดระยะเวลากิจกรรม พวกเขาเล่นเบสบอล ว่ายน้ำ ทำอาหาร ทำความสะอาด เล่นดนตรี ทำกิจกรรมรอบกองไฟ พบรักครั้งแรกกันที่นี่ ความธรรมดาสามัญถูกส่งถึงมือของชาวค่ายทุกคน พลังของแคมป์เจเน็ดคือการทำให้ทุกคนเข้าใจดีว่าพวกเขาไม่ต้องการจะพิเศษกว่าใคร

13 พฤษภาคม 2018 มานิตย์ อินทร์พิมพ์ ประธานภาคีเครือข่ายมหานครเพื่อทุกคน ทุบลิฟต์สถานีรถไฟฟ้า BTS เพื่อเรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะแก่กลุ่มผู้พิการ หลังจากเรียกร้องผ่านศาลปกครองสูงสุดมาแล้ว 26 ปี

เมื่อไม่มีใครพิเศษกว่ากัน พวกเขาจึงคุยกันได้อย่างเปิดอกในฐานะวัยรุ่น จูดี้ ฮิวแมนน์ หนึ่งในชาวค่ายขณะนั้นยืนยันว่าสิ่งสำคัญที่สุดของพวกเขาคือการได้มีส่วนร่วมตัดสินใจแทบทุกเรื่อง “มันทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมกับสังคม ความเป็นอิสระและเปิดกว้างแบบนี้แหละที่เราไม่ค่อยได้เจอในชีวิตข้างนอก”

หลายปีต่อมา หลังจากค่ายฤดูร้อนครั้งนั้นจบลง จูดี้กลายเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้พิการที่มีชื่อเสียงที่สุด ทั้งในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์พักพิงและช่วยเหลือคนพิการในแคลิฟอร์เนีย และหัวขบวนกลุ่มเคลื่อนไหว Disable in Action (DIA) เจ้าของวีรกรรมปิดถนน และเหตุการณ์ชุมนุมในกระทรวงเพื่อกดดันให้รัฐบาลยอมรับบัญญัติกฎหมาย 504 อันว่าด้วยการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้พิการทั่วประเทศ

สะเก็ดไฟจากค่ายฤดูร้อนลุกเป็นเพลิงกองโตในที่สุด

สิ่งที่น่าเหลือเชื่อไม่แพ้แรงใจที่ส่งให้คนพิการลงทุนปักหลักกินนอนบนพื้นแข็งๆ ของสำนักงานราชการ คือความใจจืดของผู้มีอำนาจมือเท้าดีที่ปล่อยให้พวกเขาทำแบบนั้นอยู่ได้ถึงสามสัปดาห์เต็ม โดยที่ผู้ชุมนุมบางคนพลิกตัวเพื่อเปลี่ยนท่านอนไม่ได้ด้วยซ้ำ

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 คนพิการจะได้เบี้ยคนพิการเพิ่มขึ้นจากเดิม 800 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือนต่อคน เฉพาะคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 1,103,065 ราย และเด็กพิการทั่วประเทศที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อีกจำนวน 126,032 ราย รวมจำนวน 1,229,097 ราย (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2563) ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ค่าครองชีพต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการแบ่งเบาภาระของคนพิการ และช่วยยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น (ประกาศจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ)

“ฉันเหนื่อยมากเลยที่ต้องมารู้สึกขอบคุณที่มีห้องน้ำคนพิการ สิ่งที่ฉันรู้สึกคือ ถ้าฉันต้องรู้สึกขอบคุณเรื่องนี้แล้วเมื่อไรกันที่ฉันจะเท่าเทียมกับคนในสังคมนี้เสียที” จู้ดี้พูดกับเพื่อนผู้ชุมนุมหลังจากที่พวกเขาได้รับชัยชนะในการต่อสู้ 504

สิ่งที่ Crip Camp ทำได้ยอดเยี่ยมมากในฐานะหนังสารคดี ไม่ใช่การจับเรื่องราวของผู้พิการมาเล่าเพื่อเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจ แต่เป็นการที่มันพาเราไปยังจุดสำคัญที่สุดของหลักประชาธิปไตยที่ว่า “มนุษย์ทุกคนล้วนเท่าเทียม” และสะกิดให้เรารับรู้ถึงอภิสิทธิ์บางอย่างที่เราไม่ตระหนักถึงในฐานะมนุษย์ที่เดินเหินได้ตามปกติ ภาพของเหล่าผู้คนที่สิ่งวีลแชร์ไปเบื้องล่าง เพื่อพาตัวเองปีนขึ้นบันไดทำเนียบขาว พิสูจน์ว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องของคนพิการ ปัญหาความไม่เท่าเทียมเป็นเรื่องของพวกเราทุกคนโดยแท้จริง

สิ่งที่ Crip Camp ทำได้ยอดเยี่ยมมากในฐานะหนังสารคดี ไม่ใช่การจับเรื่องราวของผู้พิการมาเล่าเพื่อเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจ แต่เป็นการที่มันพาเราไปยังจุดสำคัญที่สุดของหลักประชาธิปไตยที่ว่า “มนุษย์ทุกคนล้วนเท่าเทียม” และสะกิดให้เรารับรู้ถึงอภิสิทธิ์บางอย่างที่เราไม่ตระหนักถึงในฐานะมนุษย์ที่เดินเหินได้ตามปกติ

สิ่งที่ทำให้ผมเวียนหัวอาจไม่ใช่ความเห็นอกเห็นใจที่น่ากระอักกระอ่วนบนรถไฟฟ้า แต่เป็นความไม่ได้เรื่องของระบบที่ผลักภาระให้เรา “สงสาร” กันมากเกินไป

“เราตระหนักได้ว่าปัญหาจริงๆ มันไม่ได้มาจากคนพิการ แต่มันมาจากคนที่ไม่พิการต่างหาก นี่คือปัญหาของเรา และเราต้องเป็นคนลงมือเปลี่ยนแปลงมัน” เทปบันทึกเสียงสำเนียงเมาของแลรี่ อัลลิสัน ฮิปปี้ผู้อำนวยการแคมป์เจเน็ดยังคงเล่นซ้ำในหัวผมอีกหลายครั้ง


Crip Camp: A Disability Revolution มีให้รับชมได้แล้วบน Netflix

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 21 ม.ค. 64

เมื่อวานนี้ (21 ม.ค.) เป็นวันแรกที่มีหนังใหม่เข้าฉาย หลังจากไม่มีการเปลี่ยนโปรแกรมมานานถึง 2 สัปดาห์ โดยหน่วยกล้าตายคือ Songbird กับ Your Eyes Tell ซึ่งก็ถือว่าไม่รอด โดย Songbird ทำเงินสูงสุดของเมื่อวาน ก็เก็บไปได้เพียง 0.26 ล้านบาท ทั้งที่ฉายในวงกว้าง

รายได้หนังประจำวันที่ 21 ม.ค. 64

  1. Songbird – 0.26 ล้านบาท
  2. Monster Hunter – 0.10 (21.50) ล้านบาท
  3. Your Eyes Tell – 0.08 ล้านบาท
  4. Soul – 0.06 (14.69) ล้านบาท
  5. Wonder Woman 1984 – 0.04 (63.30) ล้านบาท
  6. Demon Slayer: Kimetsu No Yaiba – 0.03 (73.23) ล้านบาท
  7. Your Name – 0.01 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายใหม่
  8. Detective Conan: The Scarlet School Trip – 0.01 (1.74) ล้านบาท
  9. Weathering with You – 0.007 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายใหม่
  10. Ito: Our Tapestry of Love – 0.005 (0.69) ล้านบาท

คริสโตเฟอร์ โนแลน แกนนำเรียกร้องรัฐกู้ชีพโรงหนัง UK

คริสโตเฟอร์ โนแลน นำทีมคนทำหนังกว่า 40 คน อาทิ สตีฟ แม็กควีน, ริดลีย์ สก็อตต์, แดนนี บอยล์, กาย ริทชี และ สตีเฟน ดัลดรี ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรให้เร่งมือช่วยเหลือสถานการณ์โรงหนังใน UK เพราะหากปล่อยให้ตายไปตามการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด จะเดือดร้อนกันทั้งอุตสาหกรรม

โดยจดหมายฉบับดังกล่าวเขียนถึง ริชี ซูนัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งสหราชอาณาจักร เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าขณะนี้โรงหนังใน UK กำลังเข้าสู่วิกฤติต่อการอยู่รอด เหมือน “กำลังยืนอยู่ปากเหว” และหากไม่เร่งแก้ไขจะสะเทือนไปทั้งวงการแน่นอน

“เราตระหนักดีว่ารัฐบาลได้เตรียมความพร้อมสำหรับการช่วยเหลือเอาไว้แล้ว แต่เกรงว่าแค่นั้นมันยังไม่พอ ด้วยความท้าทายยิ่งของผู้ประกอบการโรงหนังที่ไม่สามารถเข้าถึงกองทุนช่วยเหลือที่เหมาะสมได้เท่าที่ควร

“ผู้ประกอบการเหล่านี้มีสัดส่วนถึง 80% จากปัญหาทั้งวงการที่รวมกันเป็น ‘มวลวิกฤติ’ และที่ผ่านมาพวกเขาช่วยผลักดันภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มจัดจำหน่ายและกลุ่มคนทำหนัง หากไม่มีพวกเขา อนาคตของอุตสาหกรรมหนังจะสุ่มเสี่ยงยิ่งขึ้น

“พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะสนองต่อข้อเรียกร้องนี้ สถานการณ์โรงหนังในสหราชอาณาจักรกำลังยืนอยู่บนปากเหว เราต้องการงบเยียวยาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้มั่นใจว่าคนรุ่นต่อๆ ไป จะได้เสพมนตร์เสน่ห์ของภาพยนตร์อย่างแท้จริง”

ทั้งนี้สถานการณ์โรงหนังในสหราชอาณาจักรกำลังประสบปัญหาไม่ต่างจากโรงหนังที่อื่นๆ ทั่วโลก โดยในปีที่แล้วรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศทั้งหมดลดลงถึง 76% เหลือแค่ 454 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น

ซึ่งเหตุการณ์ที่คนทำหนังรวมตัวกันช่วยเหลือโรงหนังเพื่อพากันผ่านพ้นวิกฤติโควิด เกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและอเมริกา โดยเฉพาะกลุ่มคนทำหนังอิสระและโรงหนังรายย่อย ด้วยความตระหนักดีว่าต่างเคยช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกันมาโดยตลอด


รายชื่อคนทำหนังที่ร่วมลงนามเรียกร้องรัฐบาลเยียวยาโรงหนังสหราชอาณาจักร .แอนเดรีย อาร์โนลด์, แอมมส อาซันเต, ไซมอน โบฟอย, ทิม บีแวน, แดนนี บอยล์, เกรแฮม บรอดเบนท์, บาร์บารา บร็อกโคลี, ไอเอน คันนิง, กูรินเดอร์ ชาธา, โนล คลาร์ก, ริชาร์ด เคอร์ติส, สตีเฟน ดัลดรี, กาเร็ธ เอ็ดเวิร์ดส, เอเริก เฟลล์เนอร์, สตีเฟน เฟรียส์, สตีเฟน ฟราย, ซาราห์ แกฟรอน, เจน โกลด์แมน, พอล กรีนกราส, เดวิด เฮย์แมน, อาร์มันโด เอียนนุชชี, อาซิฟ คาปาเดีย, เอลิซาเบ็ธ คาร์ลเซน, ดันแคน เคนเวอร์ธี, พอล คิง, จูด ลอว์, ฟิลิปปา โลว์โธรพ, แอนดรูว์ แม็กโดนัลด์, เควิน แม็กโดนัลด์, สตีฟ แม็กควีน, แซม เมนเดส, ปีเตอร์ มอร์แกน, คริสโตเฟอร์ โนแลน, นิรา พาร์ค, เดวิด พุตต์แนม, ลินน์ แรมซีย์, กาย นิทชี, ริดลีย์ สก็อตต์, เอมมา โธมัส, แม็ทธิว วอห์น, เบน วีทลีย์, ไมเคิล จี วิลสัน, สตีเฟน วูลลีย์, เอ็ดการ์ ไรท์, โจ ไรท์


ที่มา : Deadline

Death to 2020 : ขยี้มุกเอาใจมิลเลนเนียล แม้นักวิจารณ์ไม่ปลื้ม

หากจะกล่าวว่า 2020 เป็นปีที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ คงจะไม่ผิดนัก ระดับความเลวร้ายของมันก็แค่น้องๆ สงครามโลกครั้งที่สองเท่านั้นเอง

ด้วยความร้ายกาจของปีอันน่าจดจำ (ในทางลบ) ที่ว่านี้ คนกลุ่มหนึ่งจึงสร้าง mockumentary หรือสารคดีแนวเสียดเย้ยขึ้นมาเพื่อล้อเลียนมัน และผลที่ได้ออกมาก็คือ Death to 2020 ซึ่งนักวิจารณ์สื่อนอกทั้งหลายไม่ค่อยปลื้มนัก ดูได้จากคำอวย (ในทางลบ) เหล่านี้

“Death to 2020 เป็นการรีแคปอย่างไร้จินตนาการและกะโผลกกะเผลกสำหรับปีปีหนึ่ง ที่แน่นอนว่าคนดูน้อยคนนักจะจำไม่ได้” – Kathryn VanArendonk จาก Vulture

“ผมรอดูมุกเด็ดที่ไม่มีวันมาถึง” – Ed Cumming จาก The Independent

“มุกตลกในเรื่องนี้มันคาดการณ์ได้พอๆ กับกลุ่มคนดูของเรื่องนี้เลย” – Chris Bennion จาก The Telegraph

เพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่าหนังเรื่องนี้ไปทำอะไร ทำไมถึงโดนวิจารณ์เละอย่างที่ว่าไปข้างต้นนี้ จะขอเล่าเรื่องของ mockumentary นี้อย่างคร่าวๆ หนังเปิดฉากด้วยซามูเอล แอล แจ็คสัน ในบทนักข่าวหนังสือพิมพ์ดัง “The New Yorkerly” ที่ถามตากล้องว่า “คุณจะเล่าถึงปี 2020 ไปทำห่าอะไร” และตัดสลับไปยังตัวละครอื่นที่มานั่งให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีที่ว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์ เศรษฐีเจ้าของบริษัทเทคสตาร์ทอัพ นักวิทยาศาสตร์ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ II แม่บ้านเหยียดผิว นักจิตวิทยา ยูทูปเบอร์ หรือผู้หญิงที่ธรรมดาที่สุดในโลก ส่วนที่โดนวิจารณ์มากที่สุดของหนังคือบทพูดว้อยซ์โอเวอร์ที่ทั้งชี้นำและทำลายจินตนาการของคนดูไปพร้อมๆ กันจนทำให้บางมุกออกมาแป้กเสียอย่างนั้น ประเด็นที่หนังพูดถึงมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโควิด-19 การก้าวลงจากตำแหน่งฐานันดรของแฮร์รี่และเมแกน การชนะรางวัลออสการ์ของหนัง Parasite หรือเนื้อหาหนึ่งที่กินเวลาของหนังไปเยอะพอดูคือเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา รวมทั้งข่าวทรัมป์และบอริส จอห์นสัน นายกอังกฤษติดโควิด อาจกล่าวได้ว่าหนังดูสนใจการเมืองเป็นพิเศษ

เมื่อดูจากแนวคิด หนังควรจะออกมาให้คนดู “ว้าว” มากกว่า “ยี้” ด้วยประเด็นที่เล่นได้หลายเรื่องที่จะทำให้คนดูปล่อยใจหัวเราะไปกับเรื่องเครียดๆ ในปีนี้ แต่ดูเหมือนว่ามุกตลกจะไม่ใช่ทางของ Charlie Brooker และ Annabel Jones ผู้ประสบความสำเร็จจากการสร้างซีรีส์เสียดสีสังคมอย่าง Black Mirror หลายมุกของพวกเขาดูจะขาดจินตนาการ เช่น การให้นักวิทยาศาสตร์ออกมาบอกว่าโควิด-19 เกิดจากผู้ชายโตเต็มวัยไปมีเพศสัมพันธ์กับค้างคาว หรือการเรียกนายกอังกฤษว่าเป็น “กองฟาง”

อย่างไรก็ตาม การบอกว่าหนังเรื่องนี้ขาดจินตนาการไปเสียทุกองค์ประกอบดูจะไม่แฟร์กับหนังเท่าไหร่ เพราะหนังก็มีจุดเด่นที่ทำให้ครุ่นคิดได้เหมือนกัน เช่นการให้นักข่าวและนักจิตวิทยาผิวดำดูมีอารมณ์ร่วมไปกับกระแส Black Lives Matter หรือจะเป็นมุกเกี่ยวกับการให้สาวโสดนั่งมองการเลือกตั้งอเมริกาว่าเป็นเหมือนเกมโชว์ห่วยๆ เกมหนึ่ง ซึ่งห่วยเสียจน “ฉันไม่แปลกใจเลยว่าทำไมมันออนแอร์แค่สี่ปีต่อครั้ง” หลายครั้งหนังก็ซ่อนประเด็นแหลมคมทางการเมือง และปั้นมุกชั้นดีที่ทำให้ผู้คนหัวเราะได้ เช่นการเปรียบเทียบเกรต้า ทันเบิร์ก เข้ากับ บิลลี อายลิช (“สิ่งที่เธอพูดมันน่าซึมเศร้าสิ้นดี แต่ทุกคนกลับฟังเธอ”)

นักวิจารณ์ในสื่อตะวันตกหลักๆ อาจมองว่าหนังพลาดในการกำหนดเป้าหมายคนดูว่าจะเป็นคนอังกฤษ หรืออเมริกันกันแน่ แต่คนกลุ่มหนึ่งที่นักวิจารณ์เหล่านี้มองข้ามไปคือเหล่ามิลเลนเนียลในซีกโลกอื่นที่ไม่ใช่แค่สองประเทศนี้ ด้วยเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย มิลเลนเนียลต่างรู้สึกว่าตนเองเป็นหนึ่งเดียวกับกระแสโลก และแสวงหาการเป็นใครสักคนที่มีคุณค่าต่อส่วนรวม จึงไม่แปลกที่มิลเลนเนียลจำนวนมากที่ไม่ใช่คนอเมริกันและอังกฤษติดตามและเข้าใจประเด็นการเมืองโลก อย่างเช่นการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา หรือเรื่องซุบซิบนินทาราชวงศ์อังกฤษ หนังที่จะลงแพลตฟอร์มที่สตรีมทั่วโลกอย่าง Netflix อาจกำลังตั้งเป้าเจาะกลุ่มมิลเลนเนียลในประเทศอื่น เพราะแม้กระทั่งท่าเต้นสุดเชยที่ใส่เข้ามาให้นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องเต้นตามก็มาจากคลิปไวรัลในแอป TikTok ซึ่งเป็นแอปจีนเสียด้วยซ้ำ

การที่สื่อนอกที่ใช้ภาษาอังกฤษวิจารณ์หนังในเชิงลบอย่างแทบจะเป็นเสียงเดียวกัน จึงอาจเป็นเสมือนการอยู่ใน echo chamber ที่สะท้อนเพียงเรื่องราวของคนขาว โดยลืมคนในซีกโลกอื่นๆ ที่อาจ “อิน” กับมุกที่ไม่ต้องคลุกวงในมากนักก็เข้าใจได้ และมองข้ามกลุ่มเป้าหมายสำคัญของหนังเรื่องนี้ไปอย่างน่าเสียดาย มุกตลกที่มองออกง่ายจึงไม่ได้ดีเลิศสำหรับพวกเขา แต่เป็นเพียงมุกตลกที่ “ไร้จินตนาการ” “ง่ายเกินไป” หรือ “น่าผิดหวัง” ทั้งที่คนอีกจำนวนมากในโลกอาจไม่ได้อินกับมุกอันซับซ้อนที่พวกเขาหวังให้หนังใส่เข้าไป และเข้าใจกันเฉพาะคนตะวันตก

ในแง่หนึ่ง ด้วยความเป็นการเมืองสูงของ Death to 2020 มันได้ผลักประเด็นอ่อนไหวเข้ามาสู่สปอตไลท์ และแสดงความเห็นที่มิลเลนเนียลค่อนข้างจะชื่นชอบ อย่างเช่นการใส่ตัวละครโฆษกนักการเมืองหญิงที่สนับสนุนทรัมป์ แต่พูดเบี่ยงประเด็นเอาตัวรอดไปเรื่อย และเมื่อไบเดนชนะการเลือกตั้งก็บอกว่าตนเองไม่เคยสนับสนุนทรัมป์เสียอย่างนั้น ตัวละครเช่นนี้สะท้อนให้เห็นความไว้ใจไม่ได้ของคนการเมือง (โดยเฉพาะฝั่งขวา) ที่เป็นประเด็นผุดพรายขึ้นมาจากการชอบตั้งคำถามกับสถาบันหลักของรัฐโดยคนรุ่นใหม่ หลายครั้ง คนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็อยากมีปากมีเสียงทางการเมือง หรืออยากแสดงความไม่เห็นด้วยกับผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งหนังได้ตอบสนองความต้องการนี้ผ่านเนื้อหาจิกกัดผู้มีอำนาจ เสียงหัวเราะที่ออกมาจากปากพวกเขานั้นมาจากการปลดปล่อย เพราะมีคนพูดในเรื่องต้องห้ามแทนตนเอง และทำให้ผู้มีอำนาจดูด้อยอำนาจลง แม้จะเป็นเพียงในจินตนาการ ในชั่วครู่ยามสั้นๆ

หลายครั้ง คนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็อยากมีปากมีเสียงทางการเมือง หรืออยากแสดงความไม่เห็นด้วยกับผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งหนังได้ตอบสนองความต้องการนี้ผ่านเนื้อหาจิกกัดผู้มีอำนาจ เสียงหัวเราะที่ออกมาจากปากพวกเขานั้นมาจากการปลดปล่อย เพราะมีคนพูดในเรื่องต้องห้ามแทนตนเอง และทำให้ผู้มีอำนาจดูด้อยอำนาจลง แม้จะเป็นเพียงในจินตนาการ ในชั่วครู่ยามสั้นๆ

อัตถิภาวะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกนำมาเล่นในหนังเรื่องนี้ ผ่านตัวละครนักจิตวิทยาสังคมที่บอกว่าตนเองเกลียดชังทุกคน เมื่อดูเพียงผิวเผินมันอาจเป็นแค่การทำตัวมีปัญหากับสังคมเพื่อให้ตนเองดูเท่ แต่ลึกลงไปแล้วมันสะท้อนความโดดเดี่ยวจากการที่ความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันต่างๆ ในสังคมถูกสั่นคลอนหรือแม้กระทั่งโค่นล้มลง สุดท้ายแล้วคนทุกคนเปลือยเปล่าและต้องเผชิญหน้ากับการเลือกของตนเอง ในโลกที่คนอื่นเป็น “นรก” ที่ทำให้เราไม่ได้เลือกเองอย่างมีเสรีภาพ ความโดดเดี่ยวแห่งยุคสมัยนี้เป็นภาวะที่มิลเลนเนียลหลายคนเผชิญและตั้งคำถาม และมันยังเป็นรากฐานสู่วัฒนธรรมแบบปัจเจกนิยมที่สูบฉีดอยู่ในเส้นเลือดของพวกเขา หากมีคนทำโพลล์ว่ามิลเลนเนียลฝันใฝ่อะไรในชีวิต เชื่อว่าคำตอบยอดนิยมคำตอบหนึ่งคือการได้ค้นพบตนเอง หรือเจอ passion ของตนเองและได้ทำตาม passion นั้น ไม่น่าแปลกใจที่สายการบินโลวคอสต์เติบโตได้ดีในยุคที่มิลเลนเนียลมีกำลังจับจ่ายใช้สอย เพราะพวกเขาต้องการออกไปดูโลก เพื่อให้ความหลากหลายโลกนั้นสะท้อนกลับมาช่วยพวกเขาค้นหาตนเอง

ภาวะที่ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่อย่างการล็อคดาวน์หรือปิดประเทศที่เสนอในหนังเรื่องนี้จึงอาจเป็นเหมือนฝันร้ายของมิลเลนเนียล เพราะการไม่ได้ไปไหนย่อมหมายถึงการขาดพลวัตรและทำให้การค้นหาตนเองหยุดชะงัก มันน่ากลัวพอๆ กับความพยายามรวบอำนาจของผู้นำฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างทรัมป์ซึ่งไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและไม่เชื่อในวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ อาจกล่าวได้ว่าหนังเรื่องนี้มาเพื่อทำให้ประเด็นที่น่ากลัวเหล่านี้ดูน่ากลัวน้อยลง เพราะเราสามารถหัวเราะกับมันได้ มุกที่ไม่บรรเจิดนักอย่างมุกคนมีเพศสัมพันธ์กับค้างคาว จริงๆ แล้วอาจเป็นมุกที่ทำให้โควิด-19 เป็นสิ่งที่ดูเครียดน้อยลง และการเรียกนายกอังกฤษว่ากองฟาง ก็อาจเป็นการทำให้ผู้มีอำนาจที่คนรุ่นนี้ตั้งคำถามเสียหนักนาดูเป็นคนธรรมดาที่เราล้อเลียนได้ อาจกล่าวได้ว่า แม้นักวิจารณ์จะไม่ปลื้มหนังเรื่องนี้เท่าใดนัก แต่หนังกลับได้บรรลุหน้าที่ในการสร้างความผ่อนคลายให้แก่เจนเนอเรชันที่มีความไม่มั่นคงมากที่สุดเจนเนอเรชันหนึ่ง – คนยุคมิลเลนเนียล


ชม Death to 2020 ได้ที่ Netflix

Pieces of a Woman ที่ทางของความสูญเสีย

มันอาจจะเป็นหนังที่สร้างความรู้สึกสั่นสะเทือนและสัมผัสได้ถึงความสูญเสียอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เพราะมันว่าด้วยการเกิดและการตายที่ทิ้งห่างกันในเวลาไม่ถึงนาที ผ่านเรื่องราวของ มาร์ธา (วาเนสซา เคอร์บี้) หญิงสาวที่กำลังคลอดลูกคนแรกของชีวิตในบ้านตัวเองโดยมี ฌอน (ไชอา ลาบัฟ) สามีที่ทำงานเป็นพนักงานขุดเจาะสะพานและ อีวา (มอลลี พาร์เกอร์) นางพยาบาลผดุงครรภ์เฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด

หนังเริ่มต้นอย่างเดือดดาลและหนักมือด้วยการถ่ายฉากลองเทคช่วงเวลาแสนทรหดของมาร์ธาขณะคลอดลูกที่บ้านยาวยี่สิบห้านาทีเต็ม นับตั้งแต่การจับไปยังสีหน้าของเธอเมื่อน้ำคร่ำแตก สัญญาณเตือนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ก่อนให้กำเนิดที่เราแทบไม่เคยเห็นหนังเรื่องไหนถ่ายทำและจับจ้องมันอย่างใกล้ชิดเช่นนี้มาก่อน ทั้งการขับลม การคลื่นไส้ หรือการกระตุก บีบรัดของกล้ามเนื้อบางมัดผ่านการแสดงอันเกือบจะเรียกได้ว่าบ้าพลังของเคอร์บี้ ช่วงเวลาอารมณ์แปรปรวนขึ้นลงตามระดับความเจ็บ เธอสบถ กราดเกรี้ยวตัดสลับกันการหันไปออดอ้อนคนรัก แล้วรวบรวมกำลังทั้งหมดที่มีเบ่งเด็กออกจากท้องซึ่งกล้องฉวยไปรับฉาก ‘หัวเด็ก’ แวบหนึ่ง แล้วจึงไล่ขึ้นมายังเส้นเลือดปูนโปนบนลำคอของมาร์ธาขณะเธอกรีดร้อง เล็บมือจิกเกร็งแน่น กล้ามเนื้อทุกมัดแข็งกระตุก ก่อนที่เด็กจะคลอดออกมาอย่างปลอดภัยและชวนใจหายใจคว่ำ

อีวา นางพยาบาลผดุงครรภ์ส่งเด็กให้เธอไปอุ้ม มาร์ธาจูบหลังมือเด็กหญิง กอดเธอได้เพียงอึดใจเดียว ก็พบว่าลูกสาวในอ้อมกอดจากไปแล้ว

ผู้กำกับ กอร์เนล มุนดรักโซ -ที่เคยสั่นสะเทือนคนดูมาแล้วด้วยเรื่องราวระหว่างพ่อ ลูกและหมาใน White God (2014)– ถ่ายทำฉากคลอดลูกนี้อย่างบ้าพลังสุดขีด เพราะมันไม่เพียงแต่ลากยาวติดต่อกันนานครึ่งชั่วโมง แต่มันยังประกอบสร้างมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขากับภรรยา กาตา เวเบอร์ (เขียนบทเรื่องนี้) ที่เคยสูญเสียลูกมาก่อน จึงไม่แปลกอันใดที่เราจะรู้สึกถึงพลังและความเจ็บปวดท่วมท้นจากฉากนี้ “เอาเข้าจริงๆ ผมไม่ได้อยากถ่ายทำฉากนี้เป็นฉากแรกของการทำหนังเลยนะ” มุนดรักโซบอก “แต่ถึงอย่างนั้น ก็รู้แน่แท้ทีเดียวว่าไม่อาจทำหนังต่อไปได้โดยไม่ได้ถ่ายฉากนี้ก่อน และจะไม่มีทางทำงานต่อได้เลยหากไม่ได้ผ่านความยากลำบาก ความดิบ หลากอารมณ์ความรู้สึกที่ต้องเผชิญระหว่างถ่ายทำฉากนี้” (เบนยามิน เลิบ ผู้กำกับภาพบอกว่ามุนดรักโซอยากให้ถ่ายทำแบบที่ดูเป็นทางการหรือใช้ภาษาภาพยนตร์น้อยที่สุด เพราะมันเป็นเสมือนการถ่ายทอดความหวาดกลัวอันล้ำลึกที่สุดของมุนดรักโซเอง ด้วยการนี้เลิบเลยต้องหาทางถ่ายทำแบบอื่น “เราหาทางถ่ายแบบไม่ให้ฝีเท้าของเราไปปรากฏในภาพ สิ่งที่ออกมาจะได้ดูไม่เหมือนว่ามีคนอยู่หลังกล้องอีกทีหนึ่ง” เขาบอก และลงเอยด้วยการถ่ายทำด้วยจังหวะ มุมกล้องเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับหนังสารคดี)

และผลลัพธ์ของการถ่ายทำอันแสนทรหด -ซึ่งอาจแลกด้วยการ ‘เปิดแผล’ ของมุนดรักโซกับเวเบอร์เอง- เราจึงได้เห็นฉากลองเทคที่ว่าด้วยกระบวนการคลอดอันเจ็บปวดและยาวนาน กับการได้โอบอุ้มชีวิตใหม่ด้วยเวลาเพียงอึดใจเดียว ก่อนที่โลกจะพรากจากชีวิตนั้นไปตลอดกาล และนี่คือความใจเด็ดของหนังในอันจะเล่าถึงความพังทลายของมนุษย์คนหนึ่งที่เพิ่งให้กำเนิดลูก กล่าวคือมันได้มอบชีวิตให้เด็ก ให้โอกาสแม่ได้กอดลูกตัวเองแล้วพรากสิ่งเหล่านั้นไปหน้าตาเฉย มันจึงเป็นห้วงนาทีอันแสนบ้าคลั่งเจียนตายของตัวละครที่ต้องต่อสู้กับความรู้สึกที่ถาโถมในชั่วเวลาไม่กี่นาที นับจากความเจ็บปวดไปสู่ความปีติสุข สู่ความสับสน สิ้นหวัง และท้ายที่สุด -แหลกสลาย

นี่คือความใจเด็ดของหนังในอันจะเล่าถึงความพังทลายของมนุษย์คนหนึ่งที่เพิ่งให้กำเนิดลูก กล่าวคือมันได้มอบชีวิตให้เด็ก ให้โอกาสแม่ได้กอดลูกตัวเองแล้วพรากสิ่งเหล่านั้นไปหน้าตาเฉย มันจึงเป็นห้วงนาทีอันแสนบ้าคลั่งเจียนตายของตัวละครที่ต้องต่อสู้กับความรู้สึกที่ถาโถมในชั่วเวลาไม่กี่นาที

หนังตัดสลับไปยังเดือนถัดมาที่มาร์ธาต้องกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ท่ามกลางสายตาจับจ้องจากเพื่อนร่วมงานที่รับรู้โศกนาฏกรรมที่เธอต้องเผชิญแต่ก็ไม่กล้าหาญมากพอจะเข้ามาถามไถ่ หรือในทางกลับกันคือความเป็นห่วงเป็นใยที่เกือบจะกลายเป็นความล้ำเส้นของบางคนที่กระชากเธอกลับไปสู่การพูดเรื่องเศร้าเดิมๆ อีกครั้งและอีกครั้ง แต่ที่หนักหนาที่สุดคือการต้องแบกรับ ‘ความสูญเสีย’ ของคนอื่นในครอบครัวตัวเองทั้งสามี, แม่ตัวเอง (เอลเลน บรัสตีน) และสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ที่สนับสนุนกึ่งบังคับให้เธอดำเนินคดีกับนางผดุงครรภ์ข้อหาทำคลอดโดยประมาทและเป็นเหตุให้ทารกถึงแก่ชีวิต

ภาวะเช่นนี้เองที่น่าจับตาอย่างมาก กล่าวคือในสายตาของคนอื่นในครอบครัว มาร์ธากลายเป็นผู้พ่ายแพ้ ไม่สู้เพื่อความยุติธรรมให้ลูกสาวที่จากไป ทั้งยังดูจะเฉยชาเสียจนทำเรื่องขอบริจาคร่างกายเด็กให้โรงพยาบาล นำมาสู่การปะทะอันร้าวรานระหว่างเธอกับฌอนที่ดึงดันจะฝังศพเด็กร่วมกันกับคนอื่นๆ ในครอบครัว เธอจึงดูเย็นชาจนเกือบๆ จะเยือกเย็นในการรับมือกับความตายของลูก (ทั้งที่ตัวเธอคือคนที่น้ำนมคัด คือคนที่ร่างกายยังมีฟังก์ชั่นของความเป็นแม่โดยไม่มีลูกแล้ว คือคนที่เฝ้ามองเด็กคนอื่นๆ ด้วยสายตาเจ็บปวดเสมอ) จนไม่อาจทำความเข้าใจได้ นำมาสู่ความร้านรานที่ประสานไม่ได้อีกต่อไประหว่างตัวมาร์ธาและฌอนเอง

มุนดรักโซย้ำเตือนถึงสถานะความสัมพันธ์ของคนทั้งสองเสมอ มาร์ธาทำงานในบริษัทใหญ่โตและหรูหราขณะที่ฌอนใช้เวลาเกือบทั้งวันหมดไปกับการเป็นคนสร้างสะพาน ทั้งแม่ของมาร์ธาเองก็ไม่ชอบหน้าของชายหนุ่ม (จริงๆ อาจจะถึงขั้นเกลียด) จนฉีกหน้าด้วยการซื้อรถครอบครัวให้ หรือคำพูดถากถางสถานะต้อยต่ำของฌอนเองซึ่งฟังดูรุนแรงอย่างยิ่งเมื่อผ่านปากของหญิงชรามีอันจะกินที่เป็นแม่ยาย พร้อมกันนั้น รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างยังปรากฏอยู่ในบทสนทนาของพวกเขาที่เราพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมาร์ธากับแม่ของเธอนั้นย่ำแย่อย่างมาก (“ฉันไม่ไปโรงพยาบาลหรอก ฉันจะคลอดที่นี่” และ “ถ้าแกทำตามวิธีของแม่แต่แรก แกคงได้อุ้มลูกอยู่ในอ้อมแขนแล้ว”)

ตลอดทั้งเรื่อง สิ่งหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นระยะคือสะพานที่ฌอนกำลังสร้าง และแอปเปิ้ลที่มาร์ธาซื้อหาหรือกินอยู่เป็นประจำ และมันได้กลายเป็นภาพแทนของคนทั้งสองอยู่กลายๆ ท่ามกลางความสิ้นหวังและเจ็บปวด ฌอนเอ่ยปากเล่าถึงสะพานทาโคม่าที่พังครืนลงมาในปี 1940 โดยปราศจากสาเหตุแน่ชัดภายหลังจากเปิดใช้งานเพียงไม่กี่เดือน นักวิทยาศาสตร์พบภายหลังว่ามันเกิดจากการสั่นพ้อง (resonance) เมื่อทุกวัตถุล้วนมีแรงสั่นของตัวเองและมันสั่นโดยพร้อมเพรียงและเข้าจังหวะจนถล่มลงมา เช่นเดียวกันกับชีวิตคู่ของเขาที่ทั้งตัวฌอนและมาร์ธาเองต่างมีแรงสั่นพ้องของตัวเองมานานก่อนหน้านี้ -ทั้งอาจจะฐานะหรือทัศนคติบางอย่างของทั้งคู่- และปมเรื่องการจากไปของลูกกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่สั่นคลอนชีวิตพวกเขาจนหวนกลับไปเป็นแบบเดิมไม่ได้

ระหว่างนั้น มาร์ธาพยายามกอบกู้ความสูญเสียของตัวเองด้วยการปลูกเมล็ดแอปเปิ้ล ผลไม้ที่เธอชอบกินเช้าเย็น เราไม่อาจกล่าวได้ว่าเธอใช้การปลูกต้นไม้เพื่อเยียวยาชีวิต เพราะอย่างอื่นนอกเหนือไปจากเมล็ดแอปเปิ้ลที่แช่อยู่ใต้สำลีชุบน้ำรอให้รากหยั่งลงมานั้น ไม่มีสิ่งใดในบ้านอีกแล้วที่ยังดำรงชีวิตอยู่ได้ กล้องจับไปยังไม้ประดับเหี่ยวเฉาตายซาก แห้งแล้งเย็นชาเช่นเดียวกับบ้านทั้งหลัง และยิ่งรุนแรงมากขึ้นไปอีกภายหลังเธอกับฌอนแตกหักกัน

ตลอดเวลาทั้งหมดมานี้ ภาวะอารมณ์ของมาร์ธาง่อนแง่นมากขึ้นทุกทีและเราไม่อาจทราบได้เลยว่าอะไรที่ยังประคองเธอไว้ได้อยู่ หรือทุกสิ่งจะหักพังลงเมื่อไหร่ นำมาสู่ฉากที่แตกหักอันเงียบเชียบเมื่อแม่ชวนคนในครอบครัวมากินเลี้ยงที่บ้านเพื่อกล่อมให้มาร์ธาดำเนินคดีเสียที และเราได้เห็นความเจ็บช้ำของมาร์ธาที่ต้องแบกความเจ็บปวดของตัวเอง ความเจ็บปวดของสามี ของแม่ ของผู้คนรอบตัวโดยที่เธอรู้สึก -และถูกทำให้รู้สึก- ว่าต้องมีส่วนในการรับผิดชอบความเจ็บปวดของพวกเขาด้วยการจัดการขึ้นศาล เดินเรื่องเอานางผดุงครรภ์นั้นเข้าคุกเสีย

คำถามคือ แล้วความเจ็บปวดนั้นสามารถโอนถ่ายไปยังการลงโทษได้หรือไม่ มากไปกว่านั้น ยิ่งเมื่อการลงโทษนั้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นโดยถูกที่และถูกวาระ

ความรู้สึกหนึ่งที่ทรงพลังอย่างมากหลังดูหนังจบคือ เราพบว่าในความสูญเสียหลายๆ ครั้งนั้น เราไม่อาจทำใจยอมรับได้ว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัยหรือบางทีมันอาจหาที่ลงเพื่อเยียวยาหัวใจตัวเองไม่ได้ เราจึงต้องดิ้นรน ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อถ่ายโอนความเจ็บปวดของเราไปยังผู้อื่นในลักษณะของการยัดเยียดและทำโทษ ต้องมีใครสักคนที่มารับผิดชอบความขาดวิ่นพังทลายของเรา ใครก็ได้ที่จะรองรับนี้และทำให้เรารู้สึกว่าเราได้รับการเยียวยาแล้ว แม้จะเล็กน้อยก็ตาม

แต่เราได้รับการเยียวยาจริงๆ หรือ

แท้ที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะมาร์ธา ฌอนหรือสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ล้วนแล้วแต่ต้องยอมรับกับความสูญเสียนี้ให้ได้ ด้วยการเผชิญหน้ากับมัน และสบตากับข้อเท็จจริงที่ว่า ในที่ทางของความเจ็บปวดนี้ เราไม่อาจยัดเยียดมันให้ใครเพื่อทำให้หัวใจเราหนักอึ้งน้อยลง หากแต่มันอาจทำได้ด้วยการแบ่งปันและโอบรับบาดแผลของตัวเอง ของคนอื่น และช่วยเยียวยากันและกันเช่นนั้นอย่างแช่มช้าต่อไปเท่านั้นเอง


ชม Pieces of a Woman ได้ที่ Netflix

FILM CLUB Year List 2020 (Part 7)

0

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง) | (รายชื่อรอบสาม)

(รายชื่อรอบสี่) | (รายชื่อรอบห้า) | (รายชื่อรอบหก)

ในที่สุดปี 2020 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ท่ามกลางสถานการณ์การปิดโรงหนังหนีโควิด การเฟื่องฟูของกิจการ Streaming ภาพยนตร์ และการที่เทศกาลหนังเกือบทั้งโลกย้ายมาอยู่ออนไลน์ เปิดประตูกว้างต้อนรับผู้ชมจากทั่วโลก และสำหรับในประเทศการมาถึงของการชุมนุมที่นอกจากจะขยายเพดานการสื่อสารอย่างสามารถสร้างเทรนด์บางอย่างของการดูหนังแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วย 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2020 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2021 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง 

และนี่คือรายชื่อในรอบที่เจ็ด


ชญานิน เตียงพิทยากร : นักวิจารณ์ นักเขียนประจำ Film Club 

Uski Roti (1969, Mani Kaul, India)

อาจพูดได้ว่าเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่เหล่าซีเนไฟล์สามารถกลับไป revisit, reread, rediscover หนังเก่าได้มากและใกล้เคียงพลังที่แท้จริงของมันได้มากที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิตอล (ผ่านการบูรณะฟิล์มหรือ restoration ที่ต่างจากการสะสมประสบการณ์ด้วยวีซีดี/ดีวีดีแผ่นเถื่อน หรือไฟล์แตกพร่าขรุขระในเว็บบิทลับแล) โดยเฉพาะในปีที่หนังใหม่ๆ หนังใหญ่ๆ วิ่งหนีโรคระบาดไปคนละทิศละทาง หนังเก่ากลับมาหาเราทั้งในโรงหนัง ไม่ว่าจะที่ค่ายหนังและโรงหนังหวังให้เป็นอีกหนึ่งตัวชดเชยตลาด หรืออีเวนต์พิเศษทางวัฒนธรรมที่ทำได้ง่ายขึ้นในช่วงไม่กี่ปีหลัง (+ online festivals!) และบรรดา streaming platform ทั้งหลาย – คือเราแทบจะเลิกโหลดหนังคลาสสิกเลื่องชื่อไปแล้วเพราะเดี๋ยวใครสักคนก็คงเอามาฉายแบบชัดๆ ให้ได้ดูกัน 

แน่นอนว่าหนังฮิตหนังดังหรือหนังปรมาจารย์ที่มีชื่อเป็นครูอยู่ในตำราย่อมกลับมาหาเราได้ง่ายกว่า คนฉายนึกถึงและช่วยขายถึงคนรุ่นใหม่ได้เร็วกว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่หนังของ Stanley Kubrick หรือ Wong Kar-Wai จะเรียกคนดูได้เต็มโรง เช่นเดียวกับที่ Agnès Varda, Éric Rohmer, Charlie Chaplin และ Alejandro Jodorowsky กลับมาหาเราแบบโคตรชัดในสตรีมมิ่ง เราได้ดูหนังเก่าที่เคยแค่ได้ยินคำชม เห็นติดลิสต์ชาวบ้านชาวช่อง อ่านบทวิจารณ์ หรือพินิจบทวิเคราะห์เชิงลึก บนจอใหญ่หรือไฟล์ HD เป็นครั้งแรกหลายสิบเรื่องในช่วงไม่กี่ปีหลัง และพบว่าคิดถูกมากๆ ที่ได้เก็บ first encounter หลายๆ ครั้งนี้ไว้ แต่บางทีก็อดค้างคาอยู่ในใจไม่ได้ว่า บางครั้งมันเหมือนเรากำลังหาหลักฐานเพื่อคอนเฟิร์มสิ่งที่คนเขาคอนเฟิร์มกันอยู่แล้ว

ไม่ได้รำคาญใจหรือรู้สึกผิดที่ต้องคอนเฟิร์มหรอก แต่เมื่อได้พบหนังเก่าที่เราไม่เคยได้ยินชื่อ จากครูที่ไม่ค่อยมีจังหวะให้คนใกล้ตัวหรือโลกออนไลน์พูดถึง และทำงานกับความรู้สึกทางภาพยนตร์ของเราได้รุนแรงจริงจัง นั่นแหละคือ ultimate discovery experience

Uski Roti (หรือ Our Daily Bread) คือหนังประเภทที่ถ้าได้ดูแบบฉายฟิล์มในโรงคงล้มลงนอนตายถวายวิญญาณ แสงสีในภาพขาวดำของหนังมันสวยถึงขนาดนั้น เฟรมภาพในหนังเฉียบคมถึงขนาดนั้น การตัดต่อเรียงภาพไร้บทพูดของหนังพิศวงทรงพลังถึงขนาดนั้น ภายใต้เนื้อเรื่องเรียบง่ายว่าด้วยเมียคนขับรถบัสที่ต้องทำโรตีทุกเช้าแล้วเดินเท้าเป็นกิโลๆ เอาไปให้ผัวที่ท่ารถ ซึ่งก็ตามระเบียบบ้านนอกเอเชีย นั่งรอไปเถอะเพราะไม่รู้ราชรถจะมาเทียบท่าวันนี้ตอนกี่โมง – หนังท้าทายระเบียบทื่อตรงของเส้นเวลา คล้ายกับว่าพาเราเข้าไปล่วงถึงห้วงรู้สึกในสภาวะไร้สำนึกของเมียผู้ยึดมั่นในหน้าที่ หน้าที่ที่ยึดเธอไว้กับเส้นเวลาอันเป็นกิจวัตรเฉพาะตัว และกิจวัตรเฉพาะตัวที่ยึดเธอไว้กับความเป็นเมีย ความเป็นหญิง แต่วันนี้ที่เธอไปสาย เส้นเวลาและความยึดโยงทั้งหมดจึงถูกทำลาย สลับเปลี่ยนลำดับและหน้าที่ ภาพเสียงพิศวงทั้งหมดคือโกลาหลแห่งจิตใจ ไม่ว่าเธอจะเริ่มเห็นชัดหรือยังว่าพ้นโรตีในห่อผ้าไปแล้วชีวิตตัวเองจะเป็นอย่างไร แล้วทั้งหมดที่เราเห็นมันเป็นเรื่องจริงหรือ speculation ของเธอที่กำลังตั้งคำถามกับชีวิตบนเส้นเวลาของเธอเอง


[HONORABLE MENTION]

in alphabetical order

– Bleak Night (2010, YOON Sung-Hyun, South Korea)

– Dorian Gray in the Mirror of the Yellow Press (1984, Ulrike Ottinger, West Germany)

The Edge of Democracy (2019, Petra Costa, Brazil)

Ema (2019, Pablo Larraín, Chile)

– episode 2-3 ของ แปลรักฉันด้วยใจเธอ

– Green Ash (2019, Pablo Mazzolo, Argentina) shorts

– He Was Never a She | เขาไม่เคยเป็นเธอ (2020, ณัฐกิตติ์ สุรทิณฑ์) shorts

India Song (1975, Marguerite Duras, France)

– Into the Heart of Darkness | รักแรมทาง (2020, พชรกฤษณ์ โตอิ้ม) shorts

– A Mordida (2019, Pedro Neves Margues, Brazil/Portugal) shorts

– Of Land and Bread (2019, Ehab Tarabieh, Palestine/Israel)

– Peeping Tom (1960, Michael Powell, UK)

– Portrait of a Lady on Fire (2019, Céline Sciamma, France)

– Red Aninsri; Or, Tiptoeing on the Still Trembling Berlin Wall | อนินทรีย์แดง (2020, รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค) shorts

– Red Desert (1964, Michelangelo Antonioni, Italy/France)

– La Religieuse (1966, Jacques Rivette, France)

– Suk Suk (2019, Ray Yeung, Hong Kong)

– Till We Meet Again (1955, Kawashima Yuzo, Japan)

– The Truth (2019, Kore-eda Hirokazu, France/Japan/Switzerland)

ถ้าเธอรักฉันจริง (2020, นราธิป ไชยณรงค์) music video



ปริชาติ หาญตนศิริกุล : นักเขียนรับเชิญ Film Club 

ลุงบุญมีระลึกชาติ (2010, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล)

เราเพิ่งมาสนใจดูหนังไทยนอกกระแสจริงจังได้ไม่นาน และเพิ่งดูลุงบุญมีครั้งแรกในโรงหนังอิสระเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา

ก่อนหน้าที่จะได้ดู เราได้ยินกิตติศัพท์ของหนังอภิชาติพงศ์ที่ขึ้นชื่อลือชาด้านการดูไม่รู้เรื่องมานานแล้ว ความจริงเราก็ดูไม่ค่อยรู้เรื่องเหมือนกัน 555 เพราะงงๆ กับภาษาอีสานด้วย แต่พอดูจบมันเป็นความรู้สึกบางอย่างที่รู้สึกว่ามันงดงามมาก ทั้งภาพแมกไม้สีเขียวประกอบฉากตลอดเรื่อง การกินข้าวร่วมโต๊ะกับวิญญาณเมียสาวลุงบุญมีและลูกที่หายสาบสูญกลายเป็นลิงผี ถ้ำที่เป็นประกายวิบวับในยามค่ำคืน ฉากเจ้าหญิงหน้าดำกับปลาดุก ฯลฯ มันงดงามจนเราไม่มีข้อสงสัยเลยว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงคว้ารางวัลคานส์มาได้

พอมานั่งนึกๆ ดู… เราก็พบว่าตัวเราเองมีหนังอยู่ไม่น้อยที่ตัวเองดูไม่รู้เรื่องแต่รู้สึกดีที่ได้ดู เช่นบรรดาหนังของโนแลน อย่าง Tenet Inception Momento หรือหนังไทยอย่าง ดาวคะนองของอโนชา แต่เพียงผู้เดียวของคงเดช ฯลฯ มันคล้ายที่พี่จิตรเคยพูดว่า มีหนังสนุกๆ ที่รอให้เราค้นหามันให้เจอ (ถ้าหากเรากล้าเปิดใจให้มัน) – ในวงเล็บนี่พี่จิตรไม่ได้พูดเราเติมเอง 555

แต่หนึ่งในความน่าเศร้าของเราคือทั้งที่เรารู้จักและได้ยินชื่อหนังเรื่องนี้มาเนิ่นนานแต่กว่าเราจะสามารถหาโอกาสดูได้ เวลาก็ผ่านไป 10 ปีแล้ว (เพราะโหลดบิทไม่เป็นด้วย ไม่ค่อยรู้จักร้านเถื่อนที่ขายด้วย) แต่สิ่งที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือแม้เวลาได้ผ่านไป 10 ปีแล้วที่อภิชาติพงศ์สามารถคว้ารางวัลมาให้เมืองไทยได้ แต่พี่เจ้ยกลับรู้สึกว่ารางวัลนี้มันไม่ได้ก้าวหน้าหรือส่งผลอะไรต่ออุตสาหกรรมหนังอิสระเลย คนทำหนังอิสระยังต้องดิ้นรนเหมือนเดิมไม่ต่างจากก่อนที่เขาได้รับรางวัลคานส์ 



เฉลิมชัย หนูอนงค์ : นักศึกษาภาพยนตร์

Fatherland (2020, ปัญญา ชู) shorts

ตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสถานการณ์บ้านเมืองเรานั้นคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา กระแสการเคลื่อนไหวของเหล่าประชาชนที่เห็นต่าง กลุ่มคนเหล่านี้พยายามนำเสนอซึ่งวิธีการคิดต่อเรื่องหนึ่งหนึ่งในมุมความคิดของแต่ละคนให้สังคมได้รับรู้ทั้งในด้านมุมมองทางการเมือง แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ แนวคิดเรื่องเพศหรือแนวคิดด้านอื่นๆ อีกมากมาย

เหตุการณ์เหล่านี้เองที่ชวนให้หวนคิดถึงอดีตอันขมขื่นในสังคมของเราที่เรียกได้ว่า “เมื่อมีใครเห็นต่างก็มักจะถูกทำลายลงไป” ไม่ว่าจะทางการฆ่าล้างก็ดีหรือไม่ว่าจะถูกเนรเทศและกดทับให้เป็นพวกชังชาติบ้านเมืองต่างๆ นานาตามที่เราได้เห็นในหน้าประวัติศาสตร์ที่ทุกคนไม่อยากจะเอ่ยถึง

ทั้งหมดนี้เองที่ทำให้เรานึกถึงภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘Fatherland’ โดย ปัญญา ชู ภายในภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นนำเสนอเรื่องราวของครอบครัวที่ได้รับโทษจากการเห็นต่างในอดีต โทษนี้คือการต้องสูญเสียพ่อที่เป็นหัวหน้าครอบครัวไปโดยไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเขานั้นหายไปไหน อย่างไรและจะกลับมาได้หรือไม่

การรับโทษครั้งนี้ของผู้เห็นต่างไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบทางตรงทำให้ตัวผู้เห็นต่างผู้นั้นหายไป หากแต่ยังทำให้แสงสว่างที่คอยนำทางของครอบครัวๆ นี้หดหายไปอีกด้วย

ความมืดมิด ไร้หนทาง ทำให้คนในครอบครัวนี้ยังคงติดอยู่ในวังวนแห่งอดีตและไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ รอยแผลที่สลักลงกลางใจของพวกเขาได้ก่อให้เกิดซึ่งความแค้นและระเบิดออกมาในท้ายที่สุด อย่างไรก็ดีสิ่งเดียวที่เขาทำได้ก็มีเพียงอยู่ร่วมกับรอยแผลจากการเห็นต่างนั้นไปชั่วกาล

จากกรณีศึกษาในภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราหนึ่งในผู้ที่ตาสว่างในปี 2020 นั้นได้รับรู้ถึงความทุกข์ทรมาณของผู้เห็นต่างในอดีต การที่ถูกผลักไสไล่ส่งให้กลายเป็นคนชายขอบของสังคมได้อย่างเข้าอกเข้าใจมากขึ้น และแน่นอนเราจะไม่ยอมให้ผู้เห็นต่างต้องรับโทษเหมือนในหน้าประวัติศาสตร์อันขมขื่นอีกต่อไป



กรภัทร์ จีระดิษฐ์ : นักศึกษาภาพยนตร์

La La land (2016, Damien Chazelle, US)

เราไม่แน่ใจว่าบนโลกนี้ยังมีที่ที่สวยงามได้เท่ากับโลกของหนังเรื่องนี้ไหม เป็นหนังเรื่องนึงในไม่กี่เรื่องที่รู้สึกว่าเซ็ตติ้งโลกขึ้นมาแล้วทำให้เราอยากเข้าไปอยู่จนแก่ตาย งานคราฟท์แสดงถึงความทะเยอทะยานถึงขีดสุด ยิ่งดูตอนท้อแท้หรือดูในช่วงนี้รู้สึกว่ามันฮีลเราได้ในระดับนึงเลย เพลงก็เพราะเหลือเกิน ยิ่งเพลง someone in the crowd นี่แม่ง epic มากๆ ที่อินสุดๆคือตัวละครที่มีความฝันในโลกที่มันดูฝันๆ นี่แหละ ยอมรับว่าตอนดูนี่ไม่อยากให้จบเลย เพราะอยากจะตัดขาดกับโลกที่ไร้ชีวิตนี้จริงๆ…



ทวีโชค ผสม : นักศึกษาภาพยนตร์

The Garden of Earthly Delights (2016, Zhou Xiaohu) video art

“บางสิ่งขาดหายเติมเต็มคุณค่าบางอย่าง”

หนังตั้งคำถามต่อสิ่งสามัญธรรมดาหลากหลายสิ่ง ถ้าจะนิยาม “หนังให้เกิดปัญญา” ในปีที่ผ่านมาเราคงนึกถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก หนังให้ประสบการณ์การดูที่ไม่เหมือนเดิมกับประสบการณ์การดูที่ผ่านมา ทำให้เราหยุด นิ่ง และช้าเพื่อมองเห็นถึงความงามหรือคุณค่าบางอย่างกับการมีตัวตนหรือไม่มีตัวตน 

“หลอดมีประโยชน์เพราะมีรู”

เป็นสิ่งที่น่าคิดหากการไม่มีอยู่หรือไม่ได้ดำรงอยู่หรือขาดหายเว้าแหว่งไป สิ่งเหล่านี้ที่ไม่มีอยู่กับสร้างคุณค่าของการมีอยู่เพราะมันไม่มีอยู่เราจึงเห็นว่ามันมีอยู่ เห็นว่ามันมีคุณค่าบางสิ่ง 

หรือตั้งคำถามต่อการตั้งคำถามต่อการตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามต่อสิ่งนอกจอที่หนังพาไป หรือจะเป็นการตั้งคำถามต่อควาเป็นหนังเอง คำถามทั้งหลายนำพามาสู่การตั้งคำถามกับตัวเอง คำตอบมากมายที่พลัดหลงหายไปกลับเผยออกมาเพราะคำถามที่ถูกฉุดให้คิด ถูกนำพามาโดยหนังเรื่องนี้ 

“รักและขอบคุณ”



ไพรัช คุ้มวัน : ผู้กำกับภาพยนตร์ 

The Exorcism of Emily Rose (2005, Scott Derickon, US) 

แปลกใจเหมือนกันที่เพิ่งมาได้ดูตอนช่วงกักตัวปี 2020 เพราะหนังมันน่าสนใจเกินกว่าจะตกสำรวจไปได้

The Exorcism of Emily Rose เป็นแกะดำที่โผล่มาในยุค J-Horror ที่แม้แต่ Hollywood ก็ยังเอาวิธีการแบบหนังสยองขวัญญี่ปุ่นไปใช้ แต่หนังเรื่องนี้เลือกจะเล่าในวิธีการแบบหนังสยองขวัญอเมริกันปกติ เพียงแต่เนื้อหาที่พูดมันค่อนข้างหนักพอสมควร มันมีความเป็นทั้ง ราโชมอน ผสมกับ The Exorcism + หนังสืบสวนสอบสวน กลายๆ ซึ่งเอาจริงๆ ก็ล้ำเกินเวลาช่วงนั้นพอสมควร

จนถึงปี 2020 ท่ามกลางหนังผียุค Post James Wan เช่นพวกตระกูล Conjuring ทั้งหลายและหลังๆ ก็เริ่มมี Modern Horror (พวกหนังแบบ Us, Get Out, The Witch , Hereditary) เข้ามาแย่งชิงพื้นที่บ้างแล้ว แต่เรื่องนี้ (Emily Rose) ก็ยังคงเป็นแกะดำอยู่ ทั้งวิธีเล่าที่ค่อนข้างจะมาก่อนเวลาไปมาก คู่ขัดแย้งในหนังที่น่าสนใจ และที่สำคัญคือประเด็นที่หนังกำลังสื่อสาร

แม้ว่าตัวหนังจะไม่ได้ดีมากขนาดนั้น แต่ก็เป็นหนังที่น่าจดจำอีกเรื่องหนึ่ง และเป็นข้อพิสูจน์ว่าสำหรับหนังสยองขวัญแล้ว มันเป็นพื้นที่สำหรับการพูดถึงสังคม วัฒนธรรม และเป็นสนามรบของไอเดียใหม่ๆ ได้ดีขนาดไหน



สรวิศ ชัยนาม : อ.นักวิชาการ อาจารย์สอนรัฐศาสตร์

Contagion (2011, Steven Soderbergh, US)

Contagion shows that capital is the real but invisible driver of climate change and global pandemics, which are interconnected. In the film, AIMM Alderson corporation deforests an area that acts as a natural buffer zone between human society and a previously isolated ecosystem, enabling the virus to jump from a wild bat into the food system and the working class and then multiplied by world travel. Capitalism is thus the virus. Today, as many people are yearning for a return to normalcy, the film reminds us that the ‘old normal’ is the problem. In short, revolutionary, anti-capitalist politics is the vaccine that we should all be making.”



จิรัศยา วงษ์สุทิน : คนเขียนบท ผู้กำกับซีรีส์ 365 วันบ้านฉันบ้านเธอ 

This is Us (2016-present , Created by Don Fogelman)

รักมาก ดูจบ 4 ซีซั่นไปด้วยความรวดเร็ว (ซีซั่นละ 18 ตอน!!!) สุดมาก นี่คือซีรี่ส์สำหรับเราที่แท้จริง ซีรี่ส์ครอบครัวที่เต็มไปด้วยคนจิตใจดีที่บางครั้งทำนิสัยไม่ดี 555 แล้วมันพูดถึงทุก aspects ของความเป็นครอบครัวจริงๆ เก่งมากๆเลย วันเยียร์ไม่ได้ขี้เล็บเลย แต่ถ้าวันเยียร์ทำซีซั่น 2 คือเออนึกออกว่าเออไม่ต้องพึ่งเรื่องรักเพื่อดึงคนดูได้ว่ะ และชอบที่มันแตะทุกหัวข้อของความเป็นมนุษย์จริงๆ แต่สิ่งที่โดนที่สุดคือ มีตัวละครผู้หญิงอ้วนเป็นตัวหลัก และพูดเรื่องนี้แบบซีเรียสจริงจังในทุกๆแง่มุมของชีวิต โชคดีมากๆ ที่ได้ดูในตอนที่เราก็กำลัง struggle กับความอ้วนเหมือนกัน ชั้นรักเธอ Kate Pearson มันเป็นซีรี่ส์ที่เล่นกับความอยากรู้ของคนดูได้เก่งมากๆ คือมันชอบเล่าอนาคตให้เราอยากรู้แล้วค่อยเฉลยหรือบางทีก็ไม่เฉลย แต่มันทำแล้วเนียนกริบ ดูไม่พยายามจะบิวท์เกิน คือมันดีทุกภาคส่วนจริงๆ กำกับ บท แสดง ตัด ถ่าย เสื้อผ้า และแต่งหน้าเอฟเฟคท์พีคมาก ไม่เคยเจอการแต่งหน้าแก่และเด็กได้เนียนเท่านี้ อยากกราบ และบอกเลยว่า ดูมา 72 ep นี่เบื่อแค่ 1 ep ทำได้ไง นับถือเลย



ณัฐพันธุ์ บุญเลิศ : นักแปล นักแสดง แอดมินเพจ Horror Club.net 

Happy Together (1997, Wong Kar-wai, Hong Gong)

เป็นหนังหว่องเรื่องแรกที่ดู ก่อนหน้านั้นจะ(แสร้ง)ว่ารับรู้งานเขาทางอ้อม ผ่านพวกหนังไทย หนังสั้นนักศึกษาที่ดูเสแสร้ง เพ้อเจ้อ จนยุคนึงงานเขากลายเป็นตัวแทนของความปลอมประดิษฐ์ที่ใครต่อใครเอามาล้อเลียน… แต่นี่แหละ ดูผ่านของเทียม มันจะเทียบเท่าการได้ดูผ่านของของแท้ได้อย่างไร ไม่น่าเชื่อว่าในองค์ประกอบต่างๆ ที่หากทำพลาดไปสักนิดเดียว หนังทั้งเรื่องจะบ้งโดยพลัน แต่หว่องคือปรมาจารย์ที่คลุกเคล้าเอาองค์ประกอบสำรวยสวยเก๋พวกนี้ได้อย่างลงตัว เทสทางดนตรี และการถ่ายภาพที่ผ่านการเลือกสรรอย่างมีรสนิยมจังหวะลำดับตัดต่อที่เหมือนไร้ระเบียบ แต่เสือกแม่นเหมือนจับวาง 

ไม่อยากปิดท้ายด้วยประโยคเชยๆ แบบที่คนทำหนังเกย์ชอบออกตัวกัน เพราะกลัวคนอคติไม่มาดู “นี่ไม่ใช่เรื่องของเกย์ แต่เป็นเรื่องที่เกิดได้กับทุกคน” แต่ไม่ว่าคุณจะซึมซับหนังเรื่องนี้ด้วยมาตรวัดหนังเกย์ หรือตีความถึงเรื่องการเมืองระหว่างจีนกับฮ่องกง Happy Together คือเรื่องของคนแปลกหน้า 2 คน ที่เป็นทั้งคนสนิท และคนแปลกหน้าด้วยกันเองบนแผ่นดินแปลกถิ่นที่ไร้อนาคตระหว่างกัน บนชีวิตที่เคว้งคว้าง ไม่เป็นหวัง แม้กระทั่งปลายทางความฝันริมน้ำตกอีกวาซูที่สัญญาไว้ว่าจะมาดูด้วยกัน ก็ไม่ได้สวยอย่างที่เห็นบนโคมไฟ การที่สุดท้ายต่างฝ่ายต่างปลดปล่อยตัวเองให้ได้รับอิสระภาพโดยแยกขาดจากกัน มันจึงเป็นความสวยงามอันน่าขื่นขม ขอให้เรามีความสุขด้วยกัน แม้วันนี้จะเป็นคนอื่นที่เธอมีความสุขด้วยก็ตาม



ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ : ผู้กำกับภาพยนตร์ 

Alec Soth: a tour of my bookshelf

ชอบซีรีส์ “photographer’s book tour” ของสำนักพิมพ์ MACK มากๆ

ไฮไลต์ คือ Alec Soth พาไปดูคอลเลกชันหนังสือที่เขาสะสมที่มีทั้งหนังสือเด็ก อัลบั้มรูปส่วนตัวและรูปถ่ายที่ได้มาจากตลาดนัด และหนังสือรูปต่างๆ เช่น Nein, Onkel: Snapshots From Another Front 1938–1945, The Face of Madness, White Trash Cooking ทุกอย่างมีที่มาที่ไปและสะท้อนวิธีคิดในงานของ Soth เอง 

ใครสนใจหนังสือภาพถ่ายของสำนักพิมพ์ MACK ลองไปดูได้ที่ร้าน Vacilando Bookshop https://www.instagram.com/vacilandobookshop/



นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ : ผู้กำกับสารคดี, นักข่าวประชาไท

Cinema Paradiso (1988, Giuseppe Tornatore, Italy)

หนังที่ดูในโรงแล้วประทับใจที่สุดของปีนี้ เป็นหนังเรื่องสุดท้ายในตารางก่อนการปิดตัวสกาลา ที่แทนคำบอกลา แทนความรักทั้งหมดที่เคยเกิดขึ้นของโรงหนังโรงนี้

ในอดีตโรงหนังคือที่ให้ความบันเทิงพักผ่อนหย่อนใจ และจรรโลงใจไม่กี่ที่ที่คนในชุมชนเข้าถึงได้ โรงหนังจึงเต็มไปด้วยผู้คนที่เข้ามาดูและทำกิจกรรมหลากหลาย เสียงโห่ร้องเมื่อฉากจูบถูกตัด เสียงผิวปากเมื่อถึงฉากสนุกหรือเซ็กซี่ เสียงสะอื้นและผ้าเช็ดหน้าที่ถูกแบ่งกันซับน้ำตาในฉากสะเทือนใจ บางคนตั้งใจดู บางคนหลับ บางคนให้นมลูก บางคนแอบช่วยตัวเองในฉากเซ็กซี่ บางคนแอบมีเซ็กซ์ เด็กแอบสูบบุหรี่ และบนห้องฉายหนังก็แทบเป็นบ้านหลังที่สองของคนฉายหนัง อยู่ กิน คุยเรื่องชีวิตและความรัก จูบกับคนรัก อยู่บนนั้น

โตโต้เป็นเด็กซนและฉลาด หลงใหลในการฉายหนัง ใช้ลูกตื้อจนอัลเฟรโด้สอนให้เขาฉายหนังเป็น ทั้งคู่ไม่ได้เป็นญาติกัน แต่ความรู้สึกแนบแน่นยิ่งกว่าพ่อลูก ชีวิตดำเนินไปท่ามกลางอุบัติเหตุและความเปลี่ยนแปลง

เมื่อโตโต้เดินทางไปโรม เขาไม่เคยหวนกลับมาอีกตามคำบอกสุดท้ายของอัลเฟรโด้ก่อนพวกเขาจากกัน และ 30 ปีต่อมา เมื่ออดีตย้อนกลับมาหาโตโต้อีกครั้ง เขาจึงกลับบ้านเกิด และพบว่าที่นี่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกแล้ว แต่เมื่อเขาเข้าไปใน cinema paradiso ที่รกร้าง เขาแทบได้ยินเสียงโห่ร้องและผิวปากจากโรงหนังร้างแห่งนี้ และของขวัญชิ้นสุดท้ายที่อัลเฟรโด้ทิ้งไว้ให้เขา เหมือนการมอบอดีตอันมีค่าและหอมหวาน ที่ไม่ว่าเขาจะจากไปไกลและนานเท่าไหร่ เมื่อกลับมาเขาก็ยังพบว่าเขาอยู่ที่เดิมและอดีตไม่เคยจากเขาไปไหน

พออกจากโรงหนังมา เราพบหน้าพนักงานทุกคนที่สกาล่า ที่เราได้เห็นจากหนังสารคดี The Scala ของอาทิตย์ อัสสรัตน์ พวกเขากล่าวขอบคุณกับเราด้วยรอยยิ้ม ขอบคุณพวกเขาเช่นกัน ที่ทำให้เรามีที่พักผ่อน สร้างความบันเทิง จรรโลงใจเราตลอดมา



(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 8)

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 7 ม.ค. – 13 ม.ค. 64

เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์แรกในรอบทศวรรษที่ไม่มีหนังใหม่เข้าฉายเลย นอกจาก Be with You ซึ่งเป็นหนังเก่าที่เข้า House Samyan ที่เดียวเท่านั้น ทำให้โดยรวมรายได้หนังลดลงอย่างฮวบฮาบ เมื่อรวมรายได้หนัง 10 อันดับแรกตลอดทั้งสัปดาห์ ยังได้ไม่ถึง 10 ล้านบาทเสียด้วยซ้ำ และสัปดาห์นี้ก็ยังไม่มีหนังใหม่เข้าฉายต่อไปอีกหนึ่งสัปดาห์

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 7 ม.ค. – 13 ม.ค. 64

  1. Monster Hunter – 2.85 (19.69) ล้านบาท
  2. Soul – 1.75 (13.38) ล้านบาท
  3. Wonder Woman 1984 – 0.91 (62.90) ล้านบาท
  4. Demon Slayer: Kimetsu No Yaiba – 0.62 (72.69) ล้านบาท
  5. Detective Conan: The Scarlet School Trip – 0.58 (0.85) ล้านบาท
  6. อ้าย..คนหล่อลวง – 0.30 (56.34) ล้านบาท
  7. วอน (เธอ) – 0.22 (2.34) ล้านบาท
  8. ITO: Our Tapestry of Love – 0.15 (0.40) ล้านบาท
  9. Horizon Line – 0.13 (0.93) ล้านบาท
  10. A Gift from Bob – 0.09 (0.96) ล้านบาท

หลังฉากคลอดลูกลองเทคครึ่งชั่วโมง Pieces of a Woman

ใน Pieces of a Woman นอกจากการแสดงของ วาเนสซา เคอร์บี้ ที่เด็ดขาดจนคว้ารางวัลจากเวนิซและมีลุ้นเข้าชิงออสการ์ปีนี้ อีกสิ่งที่สร้างความฮือฮาก็คือฉากคลอดลูกต้นเรื่องที่กินเวลาเกือบครึ่งชั่วโมงและเป็น ‘ลองเทค’ นั่นคือไม่ตัดเลย!

ฉากนี้สำคัญกับเรื่องอย่างมาก เพราะหนังเล่าเรื่องของ มาร์ธา หญิงสาวที่เลือกจะคลอดลูกคนแรกด้วยวิธีธรรมชาติในบ้านตัวเอง แต่โชคร้ายที่ลูกสาวของเธอเสียชีวิตเพียงไม่กี่วินาทีหลังลืมตาดูโลก จึงนำมาสู่มหากาพย์ความพังทลายที่ถูกหลอกหลอนด้วยความสูญเสียในคืนนั้น

ฉากนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เราไปย้อนดูเส้นทางของมันกัน…


บท

กาทา เวเบอร์ ผู้เขียนบท Pieces of a Woman เป็นเรื่องที่สาม โดยเป็นการทำงานกับผู้กำกับ กอร์เนล มุนดรักโซ ทั้งหมด (หนังที่เคยมาฉายเมืองไทยคือ White God – 2014) เธอเล่าว่า เดิมไม่ได้ตั้งใจให้ฉากนี้ออกมาเป็นลองเทคอย่างในหนัง แต่เธอตั้งใจใส่รายละเอียดทุกเม็ดเท่าที่มันจะเกิดในขณะทำคลอดจนฉากนี้ฉากเดียวมีความยาวถึง 20-30 หน้า

“ฉันอยากให้เห็นทุกอารมณ์และความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นในขณะทำคลอดเท่าที่จะเป็นได้ นั่นเพราะฉันไม่ได้ต้องการแค่ให้เห็นเฉพาะความสูญเสียและความใจสลายเท่านั้น แต่ฉันยังอยากให้คนดูสัมผัสถึงความรักที่มาร์ธามอบให้ลูกน้อยในวินาทีที่เขาเกิดมา ซึ่งในเวลาต่อมาเราจะเข้าใจทุกความรู้สึกส่วนลึกของมาร์ธา ฉันเชื่อว่าจิตวิญญาณที่เกิดขึ้นในฉากนั้นมันจะคงอยู่ในทุกวินาทีของหนังทั้งเรื่อง”


กำกับ และ กำกับภาพ

ข้อเท็จจริงสำหรับหนังเรื่องนี้คือ คนเขียนบทเวเบอร์เป็นภรรยาในชีวิตจริงของผู้กำกับ กอร์เนล มุนดรักโซ ซึ่งทั้งคู่เคยผ่านประสบการณ์การสูญเสียลูกน้อยมาด้วยกัน และมุนดรักโซยังเคยถ่ายทอดประสบการณ์นี้มาแล้วครั้งหนึ่งในรูปแบบ ‘ละครเวที’ …การถ่ายทำแบบลองเทคนี้ก็คือวิธีการทำงานแบบละครเวทีนั่นเอง และไอเดียที่ว่าเกิดจากการทำงานร่วมกันของมุนดรักโซกับผู้กำกับภาพ เบนจามิน โลบ เพื่อให้คนดูมีส่วนร่วมทางความรู้สึกกับตัวละครให้มากที่สุด โลบบอกว่า “สำหรับฉากนี้ ถ้าตัดเพียงคัตเดียว คนดูจะถูกผลักไปเป็นคนนอกทันที”

ความต้องการของมุนดรักโซสำหรับฉากนี้คือการแสดงให้คนดูเห็นตั้งแต่ความเจ็บแรกที่มาร์ธารู้สึกจนกระทั่งน้ำคร่ำแตกลากยาวไปจนวินาทีที่รถพยาบาลมาถึงหลังผ่านความสูญเสียไปแล้ว ซึ่งทั้งหมดโลบบอกว่าเพื่อถ่ายทอด “ความกลัวที่ฝังลึก” ของมุนดรักโซเอง

และด้วยขั้นตอนการคลอดลูกเองตามธรรมชาตินั้น จำเป็นต้องใช้ทั้ง “พื้นที่” และ “เวลา” กล่าวคือว่าที่คุณแม่และคุณพ่อจะต้องพากันเปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆ ให้สอดคล้องกับการบีบรัดของกล้ามเนื้อจนกว่าทารกจะเคลื่อนออกจากร่างกาย ดังนั้นวิธีที่คล่องตัวที่สุดก็คือ ‘แฮนด์เฮลด์’ แต่จะทำยังไงในเมื่อมุนดรักโซไม่ได้ต้องการให้คนดูรู้สึกว่าตัวเองอยู่หลังกล้อง จึงต้องหาวิธีที่จะไม่ให้เกิดอาการกล้องสั่นขณะแฮนด์เฮลด์นั้น โลบจึงเลือกใช้ ‘กิมบอล’ (อุปกรณ์ลดทอนความสั่นไหว) ประคองกล้องและอุปกรณ์เสริมพะรุงพะรังไว้ตลอดครึ่งชั่วโมงนั้น

การถือกิมบอลครึ่งชั่วโมงอาจจะเป็น ‘งานหนัก’ ของโลบ แต่ ‘งานยาก’ สำหรับเขามันคือการจัดไฟ เนื่องจากมุนดรักโซต้องการให้กล้องสามารถเคลื่อนไหวอย่างอิสระ และพร้อมเสมอที่จะหันกล้องไปทางไหนก็ได้ 360 องศา แสงในฉากนั้นจึงต้องพร้อมไปกับเขาด้วย และเมื่อเป็นเช่นนี้เขาจะต้องหาวิธี ‘ซ่อนไฟ’ ไว้ตามซอกหลืบต่างๆ ของบ้านให้มากที่สุด และทั้งหมดสามารถหรี่ความสว่างได้ทุกเมื่อ (เทคที่ใช้ในหนังไม่มีการใช้ซีจีลบสิ่งของแปลกปลอมที่แลบออกมาในฉากเลยแม้แต่นิดเดียว)

แล้วกล้องควรจะหันไปรับหน้าใครดี เพราะในฉากนี้มี 3 ตัวละครหลัก คือ มาร์ธา, ฌอน (ไชอา ลาบัฟ) และหมอทำคลอด (มอลลี พาร์คเกอร์) ซึ่งทุกตัวละครล้วนแฝงรายละเอียดสำคัญไม่ว่าจะมาจากบทพูดหรือสีหน้าท่าทางที่จะมีผลต่อเรื่องราวที่จะตามมาทั้งนั้น โลบยึดหลักว่าหนังเรื่องนี้สะท้อนเบื้องลึกของมุนดรักโซ ดังนั้นตัวละครที่เป็นตัวแทนของเขาที่สุดก็คือฌอน เนื่องจากขณะนั้นมันเป็นเรื่องระหว่างหมอกับแม่ ผู้เป็นคนนอกที่สุดของเหตุการณ์นี้จึงคือฌอน โลบจึงเลือกวางตำแหน่งของคนดูให้อยู่ในระดับเดียวกับเขา

โลบเล่าว่าที่เลือกเล่าผ่านมุมมองฌอนหรือตัวแทนของมุนดรักโซก็เพราะ “เขาเคยอยู่ในจุดนั้นและเป็นจุดเดียวกับที่ผมเองก็เคยผ่านมาเช่นกัน เราต่างเป็นคนนอกแต่ไม่ใช่คนแปลกหน้าของสถานการณ์ ในความวุ่นวายสับสนหน้าที่ของเรามีเพียงการหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เท่านั้น” และเมื่อใดก็ตามที่มาร์ธาแสดงความเจ็บปวดออกมา โลบก็พร้อมทันทีที่จะหันกล้องไปสำรวจสีหน้าของเคอร์บี้ “คุณไม่จำเป็นต้องเห็นหรอกว่าอะไรที่ทำให้เธอเจ็บ สีหน้าของตัวละครจะบอกเล่าทุกอย่างว่ามันเจ็บแค่ไหน”

ฉากนี้ถ่ายกันทั้งสิ้น 2 วัน วันแรกถ่ายไป 4 เทค วันที่ 2 ถ่าย 2 เทค โดยถ่ายตอนจบของฉากนั้นเอาไว้ 2 แบบ คือกล้องตามฌอนออกไปเห็นรถพยาบาลเข้ามา กับแบบที่ทิ้งคนดูไว้กับมาร์ธา ซึ่งมุนดรักโซเลือกเทคที่ 4 ของวันที่ 1 ซึ่งเป็นการตามฌอนออกไปหารถพยาบาล โดยมุนดรักโซให้เหตุผลว่ามันส่งผลต่อความรู้สึกในฉากต่อไปมากกว่า เพราะคนดูจะยังไม่มั่นใจว่าทารกนั้นรอดหรือไม่รอดอย่างไร และมาร์ธาจะเสียใจแค่ไหน


การแสดง

แน่นอนว่าฉากนี้สามารถวางไว้หน้าแรกบนเรซูเม่ทางอาชีพของเคอร์บี้ได้สบาย ซึ่งนับเป็นก้าวกระโดดที่น่าจับตาจากบทนางเอกหนังแอ็กชั่น Hobbs & Shaw และเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตใน The Crown มาสู่งานหวังรางวัลระดับนี้

เคอร์บี้บอกว่าถ้าส่วนตัวแล้วไม่ใช่งานยากเท่าไหร่ เพราะเธอเริ่มอาชีพมาจากวงการละครเวทีอยู่แล้ว เฉพาะในส่วนของการแสดงจึงคือการทำงานร่วมกันกับนักแสดงร่วมอีก 2 คน และผู้กำกับภาพ เธอเทียบว่า 2 วันที่ถ่ายทำ -ซึ่งเป็น 2 คิวแรกของหนัง- เหมือนเป็นการกระโดดหน้าผาไปด้วยกันกับทุกคน

แต่ความท้าทายที่สุดสำหรับเคอร์บี้คือเธอไม่เคยมีลูก ดังนั้นฉากนี้จึงมาจากการทำการบ้านและจินตนาการล้วนๆ “ถ้าในฉากนี้มีสักวินาทีที่ฉันไม่เชื่อ หนังทั้งเรื่องก็จะพังพินาศทันที” เคอร์บี้เสริม “สิ่งที่ฉันทำจึงคือตามดูสารคดีเกี่ยวกับการคลอดลูกให้มากที่สุด แต่แน่นอนว่ามันไม่มีเรื่องไหนหรอกที่จะพาฉันไปร่วมประสบการณ์ตรงนั้นได้”

มีผู้หญิง 2 คนที่เคอร์บี้กล่าวถึงในการพาไปพบประสบการณ์การคลอดลูกอย่างใกล้ชิด คนแรกคือ แคลร์ เมลลอน ที่ทำงานโรงพยาบาลในนอร์ธลอนดอน ผู้พาเคอร์บี้ไปอยู่กับหมอทำคลอดในช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งเคอร์บี้ได้เจอกับเคสของคุณแม่ที่มารพ.พร้อมปากมดลูกที่เปิดแล้ว 9 ซม. “เหตุการณ์นั้นเปลี่ยนชีวิตฉันเลย เพราะเป็นครั้งแรกที่ทำให้ฉันสัมผัสช่วงเวลาที่มหัศจรรย์งดงามและน่าขนหัวลุกในเวลาเดียวกัน ซึ่งฉันจะแสดงไม่ได้เลยถ้าคว้าความรู้สึกนั้นไว้ไม่ได้”

กับอีกคนคือ อีลัน แม็กอัลลิสเตอร์ ผู้ที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมการทำคลอด “เธอมาอยู่กับเราตลอดช่วงเวลาที่ถ่ายทำฉากนี้ และทำให้ฉันเข้าใจคำว่า ‘การร่ายรำของการให้กำเนิด’”

(Pieces of a Woman มีให้ดูใน Netflix)


ข้อมูลประกอบ :

https://ew.com/movies/vanessa-kirby-pieces-of-a-woman-interview

https://lwlies.com/articles/pieces-of-a-woman-one-shot-birth-scene

https://collider.com/pieces-of-a-woman-long-take-explained-kornel-mundruczo-kata-weber-interview/

Memories of Murder ความทรงจำของการร่วมกันฆ่า ความทรงจำร่วมของการฆ่า

0

ในช่วงกลางทศวรรษ 1980’s โมงยามแห่งความโกลาหลของประเทศที่กำลังเดินหน้าเปลี่ยนตัวเองจากประเทศเผด็จการเบ็ดเสร็จไปสู่ประชาธิปไตยอย่างลุ่มๆ ดอนๆ เกิดคดีฆาตกรรมขึ้นในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ ผู้ตายเป็นหญิงสาว เหยื่อสวมชุดแดง มือถูกมัดไพล่หลังและศีรษะถูกครอบไว้ด้วยกางเกงชั้นในของเธอเอง ก่อนที่ศพจะถูกนำไปทิ้งไว้ในท่อน้ำ

นายตำรวจเจ้าของคดีเป็นตำรวจท้องถิ่นทึ่มๆ คนหนึ่ง ในเมืองเล็กๆ ที่มีชุมชนแรงงานโรงงานอุตสาหกรรมที่มีคนเข้าออกตลอดเวลา มันยากที่จะหาว่าใครคือฆาตกร หลักฐานรอยเท้าและเสื้อผ้าเหยื่อก็ถูกทำลายเละเทะจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และความอยากรู้อยากเห็นของชาวบ้าน ฝ่ายเก็บหลักฐานทำงานเชื่องช้าพอมาถึงก็ไม่เหลืออะไรแล้ว นักข่าวก็ตามจี้จะเอาข่าวไปเลยแต่ไม่มีอะไรคืบหน้า จนมีเหยื่อรายต่อๆ มาก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า จนในที่สุดทางการตัดสินใจส่งตำรวจหนุ่มจากโซลมาร่วมสืบคดี เขาค่อยๆ เชื่อมโยงแบบแผนการฆ่า รูปแบบของเหยื่อ วิธีการ วันที่เกิดเหตุ ทุกอย่างชี้บ่งว่าฆาตกรน่าจะเป็นคนเดียวกัน เลือกเหยื่อผู้หญิงสวมชุดแดงในคืนฝนตก ขณะเดียวกันเพื่อเร่งปิดคดี ตำรวจท้องถิ่นมองหาใครก็ได้ที่พอจะใช้การได้ว่าจะเป็นฆาตกร เขาจับมาชายพิการคนหนึ่งมาซ้อมให้รับสารภาพ เพราะเชื่อว่าเด็กหนุ่มทึบๆ คนนั้นแอบชอบหนึ่งในเหยื่อ สร้างหลักฐานเท็จก็เอา แต่ยิ่งไปก็ยิ่งน่าขายหน้า และการฆ่าก็ยังดำเนินไป เมืองทั้งเมืองตกอยู่ในความกลัว นายตำรวจสองนายที่ร่วมมือกันสืบคดีนับวันก็จะยิ่งหมกมุ่นกับคดีนี้มากขึ้น ถึงที่สุด พวกเขาเชื่อมั่นว่าเข้าใกล้ตัวฆาตกรอย่างถึงที่สุด พวกเขาอาจจะช่วยเหยื่อบางรายก่อนเกิดเหตุได้ด้วยซ้ำ แต่ท่ามกลางความล้มเหลวอย่างเป็นระบบของสังคมที่ไร้ระบบนี้เองทำให้ทุกอย่างหลุดมือไปจนเหลือแค่ความทรงจำที่พวกเขามีถึงท่อน้ำ อุโมงค์ และการฆาตกรรมเท่านั้นเอง

ภาพยนตร์ขนาดเรื่องที่สองของ Bong Joon-ho เรื่องนี้ยังถูกกล่าวถึงอยู่เสมอในฐานะหนึ่งในหนังเกาหลีใต้ที่ดีที่สุด และอาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในหนังสืบสวนที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก แม้หนังจะสร้างมาเกือบยี่สิบปีแล้ว ก็ยังมีคนพูดถึงกันอยู่ทุกครั้งเมื่อมีการการจัดอันดับหนัง หนังสร้างจากโดยได้รับแรงบันดาลใจจากคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจริงในทศวรรษที่ 1980’s ซึ่งจบลงโดยการหาฆาตกรไม่ได้จริงๆ (และเพิ่งจับฆาตกรได้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้) และในเมื่อหนังเดินตามรอยเหตุการณ์จริง มันจึงจบลงโดยหาฆาตกรไม่ได้จริงๆ

เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาชื่อหนัง มันก็บอกเป็นนัยๆ แล้วว่านี่คือหนังที่ว่าด้วยสองอย่างคือ ‘การฆาตกรรม’ และ ‘ความทรงจำ’ หากหนังจัดวางให้คำว่าความทรงจำอยู่เหนือคำว่าฆาตกรรม นั่นเท่ากับว่า นี่ไม่ใช่หนังที่พูดถึงการสืบสวนการฆ่า ไม่ใช่เรื่องของใครเป็นคนทำ ทำอย่างไรและเพราะอะไร ลงเอยอย่างไร แต่พูดถึงความทรงจำเกี่ยวกับมัน

ความหมายของ ‘ความทรงจำ’ นั้นเล่นลิ้นเสมอ ความทรงจำไหลวนอยู่ในผู้คน ความทรงจำมักเป็นสิ่งที่เสมือนชิ้นส่วนที่ไม่ถูกเลือกจำจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก ไหลเลื่อนออกจากการจดจำที่เป็นทางการ บ่อยครั้งต่อต้านความเป็นทางการของตัวประวัติศาสตร์เอง เพราะเราอาจยอมรับว่าประวัติศาสตร์ไม่อาจจดจำหรือบันทึกทั้งหมดทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น กระนั้นก็ตามสิ่งที่ชวนตั้งคำถามที่สุดย่อมคือ แล้วประวัติศาสตร์เลือกจำอะไร เลือกคัดอะไรทิ้ง ที่มากกว่านั้นคือใครกันที่ถืออำนาจในการคัดเลือกนี้ไว้ในมือซึ่งแน่นอนว่ารัฐได้รับสิทธิ์นั้น และหากรัฐ (ซึ่งเหมารวมว่าเป็นตัวแทนของประชาชนทุกคน) ถืออำนาจในการจดจดจำและไม่จดจำ มันมีการเมืองแบบใดที่ควบคุมการเลือกจำหรือลืมสิ่งเหล่านั้นของรัฐแต่ละแบบ

กระนั้นก็ตามสิ่งที่ชวนตั้งคำถามที่สุดย่อมคือ แล้วประวัติศาสตร์เลือกจำอะไร เลือกคัดอะไรทิ้ง ที่มากกว่านั้นคือใครกันที่ถืออำนาจในการคัดเลือกนี้ไว้ในมือซึ่งแน่นอนว่ารัฐได้รับสิทธิ์นั้น และหากรัฐ (ซึ่งเหมารวมว่าเป็นตัวแทนของประชาชนทุกคน) ถืออำนาจในการจดจดจำและไม่จดจำ มันมีการเมืองแบบใดที่ควบคุมการเลือกจำหรือลืมสิ่งเหล่านั้นของรัฐแต่ละแบบ

โฟกัสของหนังจึงอยู่ที่กระบวนการของตำรวจในการสอบสวน ที่เป็นเพียงการติดอยู่ในความมืดแปดด้าน และพยายามทำให้มันจบๆ ไปอย่างลูบหน้าปะจมูก เพื่อให้โลกที่พวกเขาต้องปกป้องกลับมาสงบสุขอีกครั้ง สร้างหลักฐานเท็จ ซ้อมผู้ต้องสงสัยให้รับสารภาพ หละหลวมในการเก็บหลักฐาน หนังให้เวลาอย่างยาวนานกับการเฝ้ามองความเหลวไหลไม่ได้เรื่องของการสอบสวน เราอาจบอกได้ว่านี่คือปัญหาเชิงปัจเจกของเจ้าหน้าที่ที่ไร้ความสามารถ จนกระทั่งเมื่อนายตำรวจหนุ่มจากโซลที่ดูจะมีความสามารถและความตั้งอกตั้งใจกว่าเดิมก้าวเข้ามาในทีม และเริ่มลงมือหาความเชื่อมโยงคดีต่างๆ

ในที่สุดเราก็มีบุคลากรที่ดีเข้ามาในระบบ แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะต่อให้เขาฉลาด มองภาพรวม และตั้งอกตั้งใจขนาดไหน ต่อให้เขาพบทั้งวิธีการเลือกเหยื่อ วิธีการฆ่าไปจนถึงสามารถระบุได้ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นในวันแบบไหน แม้แต่ว่าฆาตกรจะทำอะไรเพื่อเป็นสัญญาณการออกล่าเหยื่อ กระนั้นก็ตาม พวกเขาก็ยังไม่สามารถจับฆาตกรได้

ความล้มเหลวจึงแผ่ขยายจากนายตำรวจคนหนึ่ง ไปสู่การทำงานของกรมตำรวจ ไปสู่ความล้มเหลวของทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้อง สถานีวิทยุที่ไม่จัดเก็บจดหมายที่ถูกส่งเข้ามา นิติเวชที่ทำงานไม่ได้เรื่องไปจนถึงการที่ไม่มีหน่วยสนับสนุนในคืนเกิดเหตุ เนื่องจากทหารทั้งหน่วยที่ร้องขอความช่วยเหลือไป ถูกส่งไปปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย หนังเน้นย้ำบรรยากาศของบ้านเมืองที่อยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่านจากโลกแบบเผด็จการอำนาจนิยม ไปสู่การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย (หนังถึงกับใส่ฉากการปราบผู้ชุมนุมเข้ามาด้วย) ความพยายามของอำนาจรัฐที่จะยื้ออำนาจของตัวเองไว้ทั้งที่ตัวเองไม่มีปัญญาใช้อำนาจรัฐไปในทางที่ถูกที่ควร ฉากนี้ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ในบ้านเราในปีที่ผ่านมา เมื่อทหารชายแดนถูกเกณฑ์มาปราบม๊อบ ท่ามกลางการระบาดของเชื้อโควิดระลอกใหม่ทางชายแดน หรืออาชญากรรมใดๆ จำนวนมาก

หนังจึงเปิดเผยภาพความล้มเหลวของระบบทั้งระบบที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน แต่เกี่ยวข้องการอย่างยิ่งจนอาจจะพูดว่า ‘ถ้าการเมืองดี’ อาจจะไม่มีเหยื่อรายต่อไป ถ้าการเมืองดี เราจะมีระบบการจัดการหลักฐานที่เป็นระบบระเบียบมีการจัดการการสอบสวนอย่างมีแบบแผน จะไม่มีคนต้องโดนซ้อมฟรีหรือเป็นแพะรับบากในคดี หรือถ้ามี ตำรวจที่ทำก็จะต้องได้รับโทษจากการสร้างหลักฐานเท็จ จะต้องไม่มีคนตายเพราะหวาดกลัวตำรวจ ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นการพูดเกินเลยไปมาก เพราะในโลกที่การเมืองดีจริงๆ เรื่องแบบนี้ก็ยังเกิดขึ้น ทั้งจากความผิดพลาดของระบบ และความชั่วร้ายของปัจเจก ในโลกที่การเมืองดี สิ่งเหล่านี้ก็ยังเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปคือการทบทวนปรับปรุงและพยายามแสดงให้เห็นว่าความผิดพลาดของปัจเจกนั้นต้องสามารถแก้ไขเชิงระบบได้ ระบบต้องปรับปรุงเพื่อไปข้างหน้าไม่หยุดนิ่ง ในทางตรงกันข้าม การปฏิเสธปัญหาเชิงระบบ ทำให้เราผายมือไปที่ปัจเจกบุคคลตั้งแต่แรก เพราะนายซ้อมผู้ต้องหา เพราะนายสร้างหลักฐานเท็จเพราะนายไม่มีปัญญาไล่จับฆาตกรจึงต้องมีคนตาย มันเป็นเพียงความผิดพลาดเชิงปัจเจก เมื่อเป็นความผิดพลาดเชิงปัจเจกสังคมทั้งหมดจึงไม่ต้องแก้ไข โลกนี้ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องปรับปรุงระบบนิติเวชเก็บหลักฐาน ไม่ต้องจัดการกับระเบียบการซ้อมผู้ต้องหา ไม่ต้องพัฒนาการตรวจดีเอ็นเอ ไม่มีปัญหาเลยในสังคมเหล่านี้ ไม่มีประชาธิปไตยก็เป็นเพียงปัญหาเชิงปัจเจกของเด็กหนุ่มสาวไม่รู้จักพอเพียง

ในโลกที่การเมืองดี สิ่งเหล่านี้ก็ยังเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปคือการทบทวนปรับปรุงและพยายามแสดงให้เห็นว่าความผิดพลาดของปัจเจกนั้นต้องสามารถแก้ไขเชิงระบบได้ ระบบต้องปรับปรุงเพื่อไปข้างหน้าไม่หยุดนิ่ง

ฉากสำคัญของหนังคือการจ้องมองหลุมดำ ทั้งในฉากเปิดที่ตัวเอกจ้องมองเข้าไปในท่อระบายน้ำ ฉากสำคัญของเรื่องที่เกิดขึ้นในปากทางอุโมงค์รถไฟ และกลับมาจบที่ท่อน้ำอีกครั้ง การจ้องมองเข้าไปในท่อน้ำของหนัง เป็นได้ทั้งการจ้องมองเข้าไปในความทรงจำถึงการฆาตกรรม ความทรงจำในยุคสมัยที่บ้านเมืองยังเป็นเพียงแดนเถื่อนของการใช้กำลัง การจ้องมองของตัวละครเป็นการจ้องมองปัจจุบันและอนาคตที่มืดมน มีศพ และฆาตกรนอนขวางปลายทางของอุโมงค์อยู่ ในขณะเดียวกัน การจ้องมองของผู้ชมที่จ้องมองเข้าไปในหลุมดำ เป็นการจ้องมองความทรงจำที่ชั่วร้าย เป็นการจ้องมองอดีตที่เปิดเผยว่าที่แท้การฆาตกรรมดำเนินต่อไปได้โดยมีทั้งระบบสังคมที่เพิกเฉยช่วยกันฆ่าในทางอ้อม การจ้องมองความทรงจำเป็นการมองกลับเข้าไปในอาชญากรรมที่เราร่วมกันเป็นอาชญากร ในขณะเดียวกัน ซีนที่สำคัญคือการมองกลับ เมื่อกล้องมองจากท่อระบายน้ำย้อนกลับมาที่ตาของตัวละคร เรามองดูเขา ราวกับเราเป็นเหยื่อที่ตายแล้วจ้องมองออกมา คนที่อยู่ในหลุมดำจ้องมองความช่วยเหลือที่เคยเกือบจะมาถึง การจ้องมองและจ้องตอบของหนังจึงเป็นบทเปิดและบทสรุปชวนขนหัวลุกของหนังเรื่องนี้