Mother Gamer: ยูโทเปียเกมเมอร์หลังห้อง

(2020, ยรรยง คุรุอังกูร)

ติดอันดับหนังยอดนิยมใน Netflix ไปเรียบร้อยสำหรับหนังไทยเอาใจวัยรุ่น “Mother Gamer: เกมเมอร์ เกมแม่” หนังที่เข้าฉายในโรงเมื่อปลายปี 2020 และเพิ่งเข้าสตรีมมิงไม่นานมานี้ ที่ได้นางเอกยุค ’90 อย่าง อ้อม พิยดา จุฑารัตนกุล มาเป็นนักแสดงนำ เนื้อเรื่องของหนังพาเราไปทำความรู้จักกับวงการอี-สปอร์ต และเกม Arena of Valor (RoV) ชนิดที่คนไม่เคยเล่นก็สามารถสนุกไปด้วยไม่ยาก และธีมของเรื่องก็เหมาะกับคนหลายวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่ต้องการทำความเข้าใจโลกของเด็กๆ สมัยนี้

หนังเล่าเรื่องของ “เบญ (พิยดา จุฑารัตนกุล)” ครูคณิตศาสตร์โรงเรียนรัฐหัวโบราณ ที่พยายามเคี่ยวเข็ญให้ “โอม” ลูกชายคนเดียวของเธอตั้งใจเรียนจนได้เป็นนักเรียนดีเด่น โดยไม่รู้ว่าเบื้องหลังความเป็นเด็กที่อยู่ในกรอบ โอมเป็นสตรีมเมอร์เกม RoV ชื่อดังและเป็นผู้เล่นระดับโปรเพลเยอร์ที่สร้างรายได้มากมาย เขาได้เซ็นสัญญาเข้าทีมระดับประเทศที่ชื่อว่า Higher ที่มีเป้าหมายไปแข่งที่เกาหลี และนั่นทำให้แม่ใจสลาย เบญจึงหาทางขัดขวางเส้นทางอาชีพของโอมด้วยการตั้งทีมขึ้นมาโค่นลูกตัวเอง นำทีมโดยกอบศักดิ์ เด็กหลังห้องลุคแบดบอย และเพื่อนๆ อีกสามคน คือ มะปราง แม็ค และแบงค์

หนังถูกจัดเข้าประเภทแอ็คชัน คอเมดี ซึ่งเอาเข้าจริงดูจะเข้ากับอีกประเภทได้ด้วย นั่นคือดราม่า เพราะในช่วงเริ่ม หนังค่อนข้างให้ความสำคัญกับช่องว่างระหว่างวัยระหว่างคู่แม่-ลูก คือเบญและโอม ซึ่งนักแสดงนำอย่างอ้อม พิยดา แสดงออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติและพอดี ส่วนตน-ต้นหน ผู้รับบทโอมนั้นอาจจะแสดงอารมณ์ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นอยู่บ้าง ซึ่งอาจเป็นเพราะบทเซ็ตให้โอมเป็นคนพูดน้อยเมื่ออยู่กับแม่ แต่กลับพูดได้ไม่หยุดเมื่ออยู่หน้ากล้องในระหว่างสตรีมเกม

เบญ ผู้เป็นแม่นั้นยึดโยงกับค่านิยมการทำงานหนักเพื่อไต่ระดับทางสังคมแบบคน Gen X ซึ่งไม่เข้าใจการค้นหาความหมายในชีวิตของโอม และการใช้เทคโนโลยีเป็นทางลัดไปสู่ความเป็นคนสำคัญ อันเป็นสิ่งที่คน Gen Z เข้าใจได้ ดูเหมือนในวันหนึ่ง การใช้ชีวิตตามกรอบแบบค่อยเป็นค่อยไปก็กลายเป็นค่านิยมที่ตกยุค และไม่สัมพันธ์กับสังคมสมัยใหม่ที่ความเร็วเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าใครจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เบญที่ตามไม่ทันโลกยุคนี้จึงเชื่อว่าการเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน และเชื่อฟังผู้มีอำนาจเท่านั้นจึงจะทำให้ลูกประสบความสำเร็จได้ ตามขนบของการศึกษาไทยที่ยังเหมือนถูกแช่แข็งอยู่ในยุคสงครามเย็น

เบญที่ตามไม่ทันโลกยุคนี้จึงเชื่อว่าการเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน และเชื่อฟังผู้มีอำนาจเท่านั้นจึงจะทำให้ลูกประสบความสำเร็จได้ ตามขนบของการศึกษาไทยที่ยังเหมือนถูกแช่แข็งอยู่ในยุคสงครามเย็น

โลกของเทคโนโลยีและเกมจึงเป็นโลกที่ไกลห่างจากอุดมคติของเบญ เพราะมันเป็นทั้งสิ่งที่เร็วในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นในมิติเชิงกายภาพ (การควบคุมเกมที่ต้องใช้ความคล่องแคล่วของมือ การทำงานประสานระหว่างมือกับสายตา) เชิงความสัมพันธ์ (คนที่เล่นเกมสามารถทำงานร่วมกับคนใหม่ๆ ที่เพิ่งเจอกันในทีมได้ทันที เพียงแค่รู้ว่าเป้าหมายร่วมกันคืออะไร) และเชิงการสื่อสาร (การตัดสินใจต้องรวดเร็ว และการพูดคุยกันในทีมก็ต้องทำอย่างรวดเร็วในเสี้ยววินาที) ดูเหมือนคนที่ไม่ใช่ digital native อย่างเบญจะไม่สามารถใส่ตัวเองเข้ามาในโลกของเกมได้ และความไม่เข้าใจในโลกแบบนี้ก็ทำให้เธอมองว่าเทคโนโลยีนั้น “เป็นอื่น” จนตั้งโครงการ “ห้องเรียนปลอดมือถือ” ขึ้นมา เพราะ “มือถือทำให้นักเรียนสมาธิสั้น”

แม้อาจตั้งคำถามได้ว่า แรงจูงใจของเบญนั้นเพียงพอที่จะทำให้เธอฟอร์มทีมอี-สปอร์ตขึ้นมาโค่นลูกหรือไม่ แต่หนังก็ใช้ความเป็นคอเมดีผ่านเรื่องนี้ไปได้อย่างเนียนๆ โดยใส่เงื่อนไขประกอบเข้ามาหลายอย่าง ทั้งการที่เธอต้องจ่ายเงินหลักหลายแสนเพื่อเอาลูกออกจาก Higher หรือการที่ขอกู้เงินยังไม่ผ่าน นับว่าหนังค่อนข้างให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจเกือบจะตลอดทั้งเรื่อง การใช้ชีวิตประจำวันของเบญก็ไม่ต่างจากการผ่านด่าน ที่จะต้องคิดคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้พอสำหรับเลี้ยงปากท้องและใช้ยามจำเป็น โครงการห้องเรียนปลอดมือถือของเบญก็เป็นหนึ่งในวิธีเพิ่มเงินในกระเป๋า จากการที่เธอได้เลื่อนขั้นนั่นเอง

นับว่าหนังค่อนข้างให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจเกือบจะตลอดทั้งเรื่อง การใช้ชีวิตประจำวันของเบญก็ไม่ต่างจากการผ่านด่าน ที่จะต้องคิดคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้พอสำหรับเลี้ยงปากท้องและใช้ยามจำเป็น โครงการห้องเรียนปลอดมือถือของเบญก็เป็นหนึ่งในวิธีเพิ่มเงินในกระเป๋า จากการที่เธอได้เลื่อนขั้นนั่นเอง

เมื่อเธอฟอร์มทีมร่วมกับกอบศักดิ์นั่นเอง เธอจึงได้พบว่าทักษะในชีวิตประจำวันของเธอ ที่เหมือนการเล่นเกมอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ได้ถูกใช้ให้เป็นประโยชน์กับทีม และในพื้นที่ตรงนี้เอง ที่หนังทำให้ช่องว่างระหว่างวัยของคนสองรุ่นหดสั้นลง เบญได้ค้นพบว่าเกมไม่ใช่สิ่งไร้สาระ แต่เป็นนวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาตอบสนองการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กันได้อย่างรวดเร็วของคนรุ่นใหม่ เธอได้รู้ว่าคนรุ่นใหม่ใช้เครือข่ายทางสังคมออนไลน์เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้อย่างรวดเร็วเพียงใด และนิยามความเป็นทีมของคนรุ่นใหม่ก็ไม่ใช่แบบเป็นทางการ หรือเป็นแบบบนลงล่าง อย่างที่เธอต้องเจอในวิชาชีพครู ซึ่งต้องปฏิบัติตามลำดับชั้นทางอำนาจให้เจ้านายและเพื่อนร่วมงานพอใจ

ในจุดนี้ ตัวละครที่น่าพูดถึงเป็นอย่างมากคือกอบศักดิ์ ซึ่งเป็นเด็กหลังห้องที่กำลังจะเรียนไม่จบเพราะฝ่าฝืนทัณฑ์บนหลายครั้งเกินไป ไหนจะเกรดที่น้อยจนเข็นไม่ขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่เบญใช้ต่อรองให้กอบศักดิ์ฟอร์มทีมให้เธอ เธอสัญญาว่าจะช่วยให้กอบศักดิ์เรียนจบหากทำตามที่เธอร้องขอ ซึ่งเด็กหนุ่มก็ดูจะไม่มีทางเลือกเท่าไหร่ หนังไม่ได้ทำให้ใครถือไพ่เหนือกว่า แต่ดูเหมือนภายหลัง กอบศักดิ์จะเป็นผู้สอนให้เบญเห็นค่าของความไว้วางใจภายในทีม และคุณค่าของความสามารถส่วนบุคคล ที่ทำให้คนคนหนึ่งนั้นแตกต่างจากคนอีกนับล้าน แม้ว่าเขาจะไม่ได้เดินตามรอยเท้าใคร

การที่ผู้ใหญ่ และคนทำอาชีพที่มีอำนาจทางสังคมอย่างเบญได้มาทำความเข้าใจโลกที่ดูจะกึ่งใต้ดินนิดๆ อย่างโลกของเกม RoV จนเกิดการยอมรับ และเลิกมองว่าโลกแบบนี้เป็นอื่นหรือเป็นศัตรูกับตัวเอง จึงเปรียบเสมือนการสร้างยูโทเปียของเยาวชนที่รักการเล่นเกมขึ้นมาภายในระยะเวลาสองชั่วโมงของหนัง และทำให้พวกเขารู้สึกมีที่ยืนขึ้นมา การได้ฝันหวานว่าคนระดับผู้อำนวยการโรงเรียนจะยอมก่อตั้งชมรมอี-สปอร์ต อาจเป็นก้าวแรกของการสร้างที่ทางให้แก่วงการนี้ เพราะความฝันเป็นจุดเริ่มต้นของโลกแห่งความเป็นจริงที่คนในวงการยังต้องพิสูจน์ตนเองกับสังคมอีกมากมาย ยิ่งในสถานการณ์ที่ผู้ใหญ่หลายฝ่ายต่างป้ายสีให้เกมเป็นผู้ร้ายที่ทำลายอนาคตเยาวชนเช่นนี้ หนังอย่าง Mother Gamer: เกมแม่ เกมเมอร์ ยิ่งเป็นหนังที่ควรสนับสนุนให้มีมากขึ้น หากต้องการจะสร้างสรรค์วงการเกมไทย

การได้ฝันหวานว่าคนระดับผู้อำนวยการโรงเรียนจะยอมก่อตั้งชมรมอี-สปอร์ต อาจเป็นก้าวแรกของการสร้างที่ทางให้แก่วงการนี้ เพราะความฝันเป็นจุดเริ่มต้นของโลกแห่งความเป็นจริงที่คนในวงการยังต้องพิสูจน์ตนเองกับสังคมอีกมากมาย ยิ่งในสถานการณ์ที่ผู้ใหญ่หลายฝ่ายต่างป้ายสีให้เกมเป็นผู้ร้ายที่ทำลายอนาคตเยาวชนเช่นนี้

ในแง่ของการแนะนำโลกของเกม หนังค่อนข้างเล่าเรื่องแบบมีเกมเป็นศูนย์กลาง และนำเสนอคำศัพท์และระบบใหม่ๆ เกี่ยวกับตัวเกม ชนิดที่คนที่เล่นและชื่นชอบ RoV อยู่แล้วจะขนลุกและ “อิน” ได้ไม่ยาก สำหรับคนที่ไม่ได้เล่นเกมนั้น หนังก็ถือว่าเล่าเรื่องไม่ยากจนเกินไปนัก สามารถสร้างอารมณ์ร่วม และดูสนุกได้ในระดับหนึ่ง แม้จะไม่เข้าใจระบบเกมทั้งหมด นอกจากนั้น หนังยังนำเสนอบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงๆ ในวงการเกม และใช้นักพากย์เกมที่มีชื่อเสียงเข้ามาสร้างสีสันให้กับหนัง จนอาจกล่าวได้ว่าหนังพยายามจะเจาะกลุ่มคนเล่น RoV เป็นหลัก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เพราะคนกลุ่มนี้มีอยู่เป็นจำนวนมากจนอาจทำให้หนังทำกำไรได้ไม่ยาก แต่สำหรับคนกลุ่มอื่นๆ เช่นผู้ใหญ่ ดูจะเป็นผลพลอยได้ที่น่านำไปขยายผลต่ออยู่เหมือนกัน เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของเกมให้มากขึ้น

หนังพยายามจะเปรียบเทียบสกิลต่างๆ ในเกมเข้ากับทักษะบางที่มีอยู่ในชีวิตจริง เช่นเรื่องการคิดคำนวณ อันเป็นทักษะของครูคณิตศาสตร์ที่เบญถนัดและช่วยให้ทีมเล่นเข้าจังหวะกันได้ดี หรือบางครั้ง หนังก็จำลองกราฟิกในเกมมาอยู่บนตัวคนจริงๆ ผ่านการตัดต่อและซีจี ซึ่งผลของมันมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ แต่อย่างหนึ่งที่เป็นผลสำเร็จของหนังก็คือ คนเข้าใจและอินไปกับมูฟเมนต์การต่อสู้ของตัวละคร จนหนังถูกจัดให้เข้าในประเภทแอ็คชัน

การได้เห็นผู้หญิงอายุเกินสามสิบขึ้นไปนั่งเล่นเกมและตะโกนประสานงานกับคนในทีมอายุคราวลูกถือเป็นสิ่งที่แปลกใหม่จริงๆ และทำให้คนที่ชื่นชอบเกมอดเอ็นดูไปด้วยได้ไม่ยาก อาจกล่าวได้ว่า Mother Gamer: เกมแม่ เกมเมอร์ เป็นหนังสร้างสรรค์อีกเรื่องหนึ่ง ที่ช่วยสื่อสารประเด็นทางสังคม ช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย และเป็นปากเสียงให้กับเกมเมอร์ โดยเฉพาะเกมเมอร์หลังห้องอีกหลายร้อยชีวิต

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS