หลังฉากคลอดลูกลองเทคครึ่งชั่วโมง Pieces of a Woman

ใน Pieces of a Woman นอกจากการแสดงของ วาเนสซา เคอร์บี้ ที่เด็ดขาดจนคว้ารางวัลจากเวนิซและมีลุ้นเข้าชิงออสการ์ปีนี้ อีกสิ่งที่สร้างความฮือฮาก็คือฉากคลอดลูกต้นเรื่องที่กินเวลาเกือบครึ่งชั่วโมงและเป็น ‘ลองเทค’ นั่นคือไม่ตัดเลย!

ฉากนี้สำคัญกับเรื่องอย่างมาก เพราะหนังเล่าเรื่องของ มาร์ธา หญิงสาวที่เลือกจะคลอดลูกคนแรกด้วยวิธีธรรมชาติในบ้านตัวเอง แต่โชคร้ายที่ลูกสาวของเธอเสียชีวิตเพียงไม่กี่วินาทีหลังลืมตาดูโลก จึงนำมาสู่มหากาพย์ความพังทลายที่ถูกหลอกหลอนด้วยความสูญเสียในคืนนั้น

ฉากนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เราไปย้อนดูเส้นทางของมันกัน…


บท

กาทา เวเบอร์ ผู้เขียนบท Pieces of a Woman เป็นเรื่องที่สาม โดยเป็นการทำงานกับผู้กำกับ กอร์เนล มุนดรักโซ ทั้งหมด (หนังที่เคยมาฉายเมืองไทยคือ White God – 2014) เธอเล่าว่า เดิมไม่ได้ตั้งใจให้ฉากนี้ออกมาเป็นลองเทคอย่างในหนัง แต่เธอตั้งใจใส่รายละเอียดทุกเม็ดเท่าที่มันจะเกิดในขณะทำคลอดจนฉากนี้ฉากเดียวมีความยาวถึง 20-30 หน้า

“ฉันอยากให้เห็นทุกอารมณ์และความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นในขณะทำคลอดเท่าที่จะเป็นได้ นั่นเพราะฉันไม่ได้ต้องการแค่ให้เห็นเฉพาะความสูญเสียและความใจสลายเท่านั้น แต่ฉันยังอยากให้คนดูสัมผัสถึงความรักที่มาร์ธามอบให้ลูกน้อยในวินาทีที่เขาเกิดมา ซึ่งในเวลาต่อมาเราจะเข้าใจทุกความรู้สึกส่วนลึกของมาร์ธา ฉันเชื่อว่าจิตวิญญาณที่เกิดขึ้นในฉากนั้นมันจะคงอยู่ในทุกวินาทีของหนังทั้งเรื่อง”


กำกับ และ กำกับภาพ

ข้อเท็จจริงสำหรับหนังเรื่องนี้คือ คนเขียนบทเวเบอร์เป็นภรรยาในชีวิตจริงของผู้กำกับ กอร์เนล มุนดรักโซ ซึ่งทั้งคู่เคยผ่านประสบการณ์การสูญเสียลูกน้อยมาด้วยกัน และมุนดรักโซยังเคยถ่ายทอดประสบการณ์นี้มาแล้วครั้งหนึ่งในรูปแบบ ‘ละครเวที’ …การถ่ายทำแบบลองเทคนี้ก็คือวิธีการทำงานแบบละครเวทีนั่นเอง และไอเดียที่ว่าเกิดจากการทำงานร่วมกันของมุนดรักโซกับผู้กำกับภาพ เบนจามิน โลบ เพื่อให้คนดูมีส่วนร่วมทางความรู้สึกกับตัวละครให้มากที่สุด โลบบอกว่า “สำหรับฉากนี้ ถ้าตัดเพียงคัตเดียว คนดูจะถูกผลักไปเป็นคนนอกทันที”

ความต้องการของมุนดรักโซสำหรับฉากนี้คือการแสดงให้คนดูเห็นตั้งแต่ความเจ็บแรกที่มาร์ธารู้สึกจนกระทั่งน้ำคร่ำแตกลากยาวไปจนวินาทีที่รถพยาบาลมาถึงหลังผ่านความสูญเสียไปแล้ว ซึ่งทั้งหมดโลบบอกว่าเพื่อถ่ายทอด “ความกลัวที่ฝังลึก” ของมุนดรักโซเอง

และด้วยขั้นตอนการคลอดลูกเองตามธรรมชาตินั้น จำเป็นต้องใช้ทั้ง “พื้นที่” และ “เวลา” กล่าวคือว่าที่คุณแม่และคุณพ่อจะต้องพากันเปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆ ให้สอดคล้องกับการบีบรัดของกล้ามเนื้อจนกว่าทารกจะเคลื่อนออกจากร่างกาย ดังนั้นวิธีที่คล่องตัวที่สุดก็คือ ‘แฮนด์เฮลด์’ แต่จะทำยังไงในเมื่อมุนดรักโซไม่ได้ต้องการให้คนดูรู้สึกว่าตัวเองอยู่หลังกล้อง จึงต้องหาวิธีที่จะไม่ให้เกิดอาการกล้องสั่นขณะแฮนด์เฮลด์นั้น โลบจึงเลือกใช้ ‘กิมบอล’ (อุปกรณ์ลดทอนความสั่นไหว) ประคองกล้องและอุปกรณ์เสริมพะรุงพะรังไว้ตลอดครึ่งชั่วโมงนั้น

การถือกิมบอลครึ่งชั่วโมงอาจจะเป็น ‘งานหนัก’ ของโลบ แต่ ‘งานยาก’ สำหรับเขามันคือการจัดไฟ เนื่องจากมุนดรักโซต้องการให้กล้องสามารถเคลื่อนไหวอย่างอิสระ และพร้อมเสมอที่จะหันกล้องไปทางไหนก็ได้ 360 องศา แสงในฉากนั้นจึงต้องพร้อมไปกับเขาด้วย และเมื่อเป็นเช่นนี้เขาจะต้องหาวิธี ‘ซ่อนไฟ’ ไว้ตามซอกหลืบต่างๆ ของบ้านให้มากที่สุด และทั้งหมดสามารถหรี่ความสว่างได้ทุกเมื่อ (เทคที่ใช้ในหนังไม่มีการใช้ซีจีลบสิ่งของแปลกปลอมที่แลบออกมาในฉากเลยแม้แต่นิดเดียว)

แล้วกล้องควรจะหันไปรับหน้าใครดี เพราะในฉากนี้มี 3 ตัวละครหลัก คือ มาร์ธา, ฌอน (ไชอา ลาบัฟ) และหมอทำคลอด (มอลลี พาร์คเกอร์) ซึ่งทุกตัวละครล้วนแฝงรายละเอียดสำคัญไม่ว่าจะมาจากบทพูดหรือสีหน้าท่าทางที่จะมีผลต่อเรื่องราวที่จะตามมาทั้งนั้น โลบยึดหลักว่าหนังเรื่องนี้สะท้อนเบื้องลึกของมุนดรักโซ ดังนั้นตัวละครที่เป็นตัวแทนของเขาที่สุดก็คือฌอน เนื่องจากขณะนั้นมันเป็นเรื่องระหว่างหมอกับแม่ ผู้เป็นคนนอกที่สุดของเหตุการณ์นี้จึงคือฌอน โลบจึงเลือกวางตำแหน่งของคนดูให้อยู่ในระดับเดียวกับเขา

โลบเล่าว่าที่เลือกเล่าผ่านมุมมองฌอนหรือตัวแทนของมุนดรักโซก็เพราะ “เขาเคยอยู่ในจุดนั้นและเป็นจุดเดียวกับที่ผมเองก็เคยผ่านมาเช่นกัน เราต่างเป็นคนนอกแต่ไม่ใช่คนแปลกหน้าของสถานการณ์ ในความวุ่นวายสับสนหน้าที่ของเรามีเพียงการหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เท่านั้น” และเมื่อใดก็ตามที่มาร์ธาแสดงความเจ็บปวดออกมา โลบก็พร้อมทันทีที่จะหันกล้องไปสำรวจสีหน้าของเคอร์บี้ “คุณไม่จำเป็นต้องเห็นหรอกว่าอะไรที่ทำให้เธอเจ็บ สีหน้าของตัวละครจะบอกเล่าทุกอย่างว่ามันเจ็บแค่ไหน”

ฉากนี้ถ่ายกันทั้งสิ้น 2 วัน วันแรกถ่ายไป 4 เทค วันที่ 2 ถ่าย 2 เทค โดยถ่ายตอนจบของฉากนั้นเอาไว้ 2 แบบ คือกล้องตามฌอนออกไปเห็นรถพยาบาลเข้ามา กับแบบที่ทิ้งคนดูไว้กับมาร์ธา ซึ่งมุนดรักโซเลือกเทคที่ 4 ของวันที่ 1 ซึ่งเป็นการตามฌอนออกไปหารถพยาบาล โดยมุนดรักโซให้เหตุผลว่ามันส่งผลต่อความรู้สึกในฉากต่อไปมากกว่า เพราะคนดูจะยังไม่มั่นใจว่าทารกนั้นรอดหรือไม่รอดอย่างไร และมาร์ธาจะเสียใจแค่ไหน


การแสดง

แน่นอนว่าฉากนี้สามารถวางไว้หน้าแรกบนเรซูเม่ทางอาชีพของเคอร์บี้ได้สบาย ซึ่งนับเป็นก้าวกระโดดที่น่าจับตาจากบทนางเอกหนังแอ็กชั่น Hobbs & Shaw และเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตใน The Crown มาสู่งานหวังรางวัลระดับนี้

เคอร์บี้บอกว่าถ้าส่วนตัวแล้วไม่ใช่งานยากเท่าไหร่ เพราะเธอเริ่มอาชีพมาจากวงการละครเวทีอยู่แล้ว เฉพาะในส่วนของการแสดงจึงคือการทำงานร่วมกันกับนักแสดงร่วมอีก 2 คน และผู้กำกับภาพ เธอเทียบว่า 2 วันที่ถ่ายทำ -ซึ่งเป็น 2 คิวแรกของหนัง- เหมือนเป็นการกระโดดหน้าผาไปด้วยกันกับทุกคน

แต่ความท้าทายที่สุดสำหรับเคอร์บี้คือเธอไม่เคยมีลูก ดังนั้นฉากนี้จึงมาจากการทำการบ้านและจินตนาการล้วนๆ “ถ้าในฉากนี้มีสักวินาทีที่ฉันไม่เชื่อ หนังทั้งเรื่องก็จะพังพินาศทันที” เคอร์บี้เสริม “สิ่งที่ฉันทำจึงคือตามดูสารคดีเกี่ยวกับการคลอดลูกให้มากที่สุด แต่แน่นอนว่ามันไม่มีเรื่องไหนหรอกที่จะพาฉันไปร่วมประสบการณ์ตรงนั้นได้”

มีผู้หญิง 2 คนที่เคอร์บี้กล่าวถึงในการพาไปพบประสบการณ์การคลอดลูกอย่างใกล้ชิด คนแรกคือ แคลร์ เมลลอน ที่ทำงานโรงพยาบาลในนอร์ธลอนดอน ผู้พาเคอร์บี้ไปอยู่กับหมอทำคลอดในช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งเคอร์บี้ได้เจอกับเคสของคุณแม่ที่มารพ.พร้อมปากมดลูกที่เปิดแล้ว 9 ซม. “เหตุการณ์นั้นเปลี่ยนชีวิตฉันเลย เพราะเป็นครั้งแรกที่ทำให้ฉันสัมผัสช่วงเวลาที่มหัศจรรย์งดงามและน่าขนหัวลุกในเวลาเดียวกัน ซึ่งฉันจะแสดงไม่ได้เลยถ้าคว้าความรู้สึกนั้นไว้ไม่ได้”

กับอีกคนคือ อีลัน แม็กอัลลิสเตอร์ ผู้ที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมการทำคลอด “เธอมาอยู่กับเราตลอดช่วงเวลาที่ถ่ายทำฉากนี้ และทำให้ฉันเข้าใจคำว่า ‘การร่ายรำของการให้กำเนิด’”

(Pieces of a Woman มีให้ดูใน Netflix)


ข้อมูลประกอบ :

https://ew.com/movies/vanessa-kirby-pieces-of-a-woman-interview

https://lwlies.com/articles/pieces-of-a-woman-one-shot-birth-scene

https://collider.com/pieces-of-a-woman-long-take-explained-kornel-mundruczo-kata-weber-interview/

นคร โพธิ์ไพโรจน์
ริจะเบนเส้นทางไปเป็นไลฟ์โค้ชด้านการลดน้ำหนัก แต่เฟลเลยกลับมาเขียนบทความหนังไทยเหมือนเดิม

RELATED ARTICLES