Home Blog Page 5

FILM CLUB Year List 2021 (Part 4)

0

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง) | (รายชื่อรอบสาม)

ในที่สุดปี 2021 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ไม่แพ้ปี 2020 โรงหนังกลับมาเปิดแล้วในช่วงครึ่งปีหลังแต่ยังลูกผีลูกคน กิจการ Streaming ภาพยนตร์เติบโตต่อเนื่องและอาจจะน่ากังขาพอๆ กับน่าชื่นชม ความตายรายวันของผู้คนในประเทศจากโรคระบาด การชุมนุมที่ซบเซาลงทั้งจากโรคและการออกหมายจับรายวันจนถึงวันนี้ 

ผู้คนก็ยังคงดูหนังกันอยู่ ทั้งแบบออกนอกบ้านและไม่ออกนอกบ้าน ทั้งแบบเดิมที่ตั้งใจดูและแบบใหม่ที่ดูไปแชตไป เทศกาลกระจุกตัวในห้วงเวลาสั้นๆ ท้ายปีจนแทบชนกันตายเพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นและเลื่อนจากอดีตมาหลายคำรบแล้ว 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2021 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2022 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง


บดินทร์ เทพรัตน์ : นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และผู้ก่อตั้งกลุ่มฉายหนังปันยามูฟวี่คลับ

Taste of Cherry (1997, Abbas Kiarostami, Iran)

ในช่วงที่ผ่านมามีหนังที่พูดถึงความตายและคุณค่าของชีวิตออกมาหลายเรื่อง แต่เรื่องที่ผมมองว่าถ่ายทอดประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจ ลึกซึ้ง คมคายมากที่สุด ได้แก่หนังเก่าอย่าง Taste of Cherry (รับชมได้ทาง mubi) ซึ่งผมเพิ่งดูซ้ำอีกครั้งและชอบมากกว่าตอนดูครั้งแรกเมื่อ 20 ปีก่อนหลายเท่า

หนังเล่าเรื่องราวของ ‘บาดี’ ชายวัยกลางคนที่ต้องการกินยานอนหลับฆ่าตัวตายแล้วถูกกลบฝังไว้ในหลุมข้างต้นไม้บนยอดเขา เขาขับรถวนเวียนไปมานอกเขตเมืองเตหะรานเพื่อติดต่อจ้างวานคนแปลกหน้าให้ช่วยเอาดินฝังกลบศพของเขา แต่มักถูกปฏิเสธกลับมาเนื่องจากมันเป็นภารกิจที่สร้างความกระอักกระอ่วนให้ผู้ถูกว่าจ้างและถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดบาปทั้งทางด้านศาสนา กฎหมาย และความเชื่อในสังคม 

Taste of Cherry ปรากฏลายเซ็นของผู้กำกับเคียรอสตามีซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกวีของภาพยนตร์อย่างชัดเจน ทั้งความเรียบนิ่ง เน้นความสมจริง พล็อตเรื่องเบาบาง ไม่มีดนตรีประกอบ หลีกเลี่ยงการใช้เทคนิคทางภาพยนตร์เร้าอารมณ์หวือหวา โดยหนังเรื่องนี้ดำเนินเรื่องในรถเป็นส่วนใหญ่และขับเคลื่อนด้วยบทสนทนาเกือบทั้งเรื่อง นอกจากนั้นหนังยังหลีกเลี่ยงที่จะใส่ภูมิหลังหรือแรงจูงใจของตัวเอกว่าทำไมเขาถึงอยากฆ่าตัวตาย โดยปล่อยให้ผู้ชมตีความหรือจินตนาการเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ชมหลายคนจะรู้สึกเข้าไม่ถึงตัวละครและเหมือนถูกผลักออกไปจากหนัง (รวมถึงผมในตอนที่ดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกด้วย) แต่พอได้ดูหนังเรื่องนี้อีกครั้ง กลับรู้สึกชอบที่หนังไม่ชักจูงผู้ชมจนเกิดเหตุ และเปิดโอกาสให้ผู้ชมตีความได้เต็มที่

หนังแสดงให้เห็นถึงแง่มุมหลากหลาย ทั้งจาก ‘ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการฆ่าตัวตาย’ ซึ่งมาจากความเห็นของเหล่าผู้คนที่บาดีว่าจ้างซึ่งหลากต่างวัยหลายความเชื่อ โดยมีตัวละครหนึ่งเล่าถึงประสบการณ์ตรงซึ่งเขาเคยคิดฆ่าตัวตาย แต่พอได้ชิมรสหอมหวานของเชอร์รี่ก็ทำให้ได้รับรู้ถึงความสวยงามของชีวิตและทำให้เขาอยากมีชีวิตอยู่ แต่ในอีกมุมหนังก็แสดงให้เห็นแง่มุมของ ‘คนที่อยากฆ่าตัวตาย’ ซึ่งไม่ได้ถูกนำเสนอแบบ stereotype แต่เป็นการมองแบบไม่ตัดสินและเปิดโอกาสให้ผู้ชมตีความได้หลากหลาย 

กล่าวโดยสรุปคือ Taste of Cherry ไม่ได้มีทีท่าสั่งสอน, ให้กำลังใจแบบตรงๆ, หรือให้คำตอบสำเร็จรูป (เหมือนหนังที่พูดถึงการฆ่าตัวตายเรื่องอื่นๆ) แต่ Taste of Cherry เป็นยาขมที่ทำให้เรากล้ามองสิ่งที่เป็นประเด็นต้องห้ามแบบตรงๆ แล้วนำไปสู่การใคร่ครวญพิจารณาที่ต่อเนื่องยาวนาน


ธีรพันธ์ ​เงาจีนานันต์ : ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี ‘ไกลบ้าน’

Midnight Mass (2021, Mike Flanagan, USA)

ส่วนตัวติดตามผลงานของ Mike Flanagan แล้วก็รู้สึกว่าเป็นงานที่เล่าเรื่องผีสาง ความกลัวอะไรตรงทาง สะกิดหัวใจมากๆ คืองานของเขามันพูดถึงมนุษย์เยอะมากๆ

พยายามเริ่มดูเรื่องนี้แบบไม่รู้อะไรเลย แล้วก็ปล่อยให้ตัวเรื่องพาเราไปตามทางที่อยากให้ไป ซึ่งตลอดการดูก็ตื่นตะลึงกับความเก่งฉกาจในการเล่าเรื่องและผูกประเด็น ไม่รู้พูดแล้วจะดูเวอร์ไปไหม แต่รู้สึกแบบนั้นจริงๆ

คือมันว่าด้วยความโง่เขลาในความเชื่อ ศรัทธา ความหวังดี ที่อาจนำพาชีวิตและสังคมไปสู่ความชิบหาย ปีศาจภายใต้คำอ้างของความดี และความเลื่อนไหลในการตีความศาสนาและความเชื่อ

และไม่ใช่แค่ประเด็นที่รู้สึกว่ามันเก่ง การเล่าเรื่อง เล่าความเป็นมนุษย์ ความรู้สึกต่างๆ ก็เก่งมากๆด้วย มันมีทั้งความน่ารังเกียจและงดงามมากๆ ปะปนกันไปในตัวละครที่ถูกเล่าออกมา ช่วงท้ายๆ ของซีซั่นดูรวดเดียวจนจบเลย

จำได้ว่าดูจบตอนเช้าพอดี ความรู้สึกตอนนั้นคือมันเศร้าและว่างเปล่าตกค้างอยู่ในใจนานพอสมควร


วรรษชล ศิริจันทนันท์ : นักเขียนประจำ Film Club

The Hand of God (2021, Paolo Sorrentino, Italy) 

ช่วงที่ได้ดูเรื่องนี้เป็นช่วงที่ความทรงจำสองอย่างในชีวิตถูกกวนขึ้นมาจากก้นแก้วที่ของเหลวเป็นกาแฟสีดำสนิทจนหากไม่กวนขึ้นมาหรือทำมันหกด้วยอุบัติเหตุบางอย่างก็คงไม่มีวันเห็น นั่นคือความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตช่วงสั้นๆ ที่อิตาลี และความทรงจำถึงครั้งแรกที่รู้สึกอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งว่าอยากทำอะไรต่อไปในชีวิตข้างหน้า—ฟาบิเอ็ตโตเป็นอย่างเรา และเราก็เป็นอย่างฟาบิเอ็ตโต เพียงแต่ชีวิตไม่ได้เล่นตลกกับเราแบบที่มันเล่นตลกกับเขา และในความเป็นเด็ก เราจับจ้องความงดงามของสถานที่และผู้คนได้ไม่แม่นยำเท่าเขาแม้สักนิด 

สำหรับเราแล้ว เมืองที่เราอยู่นั้นออกจะแห้งแล้งและแบนราบ ทุกคนและทุกอย่างดูเหมือนกันไปหมด มันจึงเป็นการยากที่จะหยิบจับอะไรมาตั้งไว้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำ แต่นาโปลีไม่ใช่เมืองประเภทนั้น มันมีชีวิตอยู่ข้างใน มันมีความดิบเถื่อนที่แม้จะมองผ่านสายตานักท่องเที่ยวก็ยังน่าค้นหาและเข้าไปหาคำตอบบางอย่าง มันมีแสงอาทิตย์จ้า เงาระยับของน้ำทะเล และสีสีนของตึกเตี้ยๆ ที่เรียงตัวยาวต่อกันไปจนมองจากท่าเรือกลับไปแล้วดูเหมือนขบวนรถไฟที่ไม่มีตู้สุดท้าย และชาวนาโปลิตันก็กำลังเดินทางไปหาความฝันของตนด้วยรถไฟขบวนนั้น 

เปาโล ซอร์เรนติโน ทำให้เราผู้เคยเห็นนาโปลีเพียงสามวัน รู้สึกเหมือนได้กลับไปอยู่ที่นั่นนานสามปี เราได้ทำความรู้จักครอบครัวของฟาบิเอ็ตโตที่มีทั้งพ่อ แม่ พี่ชาย พี่สาว และบรรดาญาติสนิทมิตรสหายสุดป่วง โดยมี ‘ดิเอโก มาราโดนา’ เชื่อมร้อยพวกเขาเอาไว้ ซอร์เรนติโนถักทอชิ้นส่วนความทรงจำในช่วงวัยรุ่นของตัวเองเข้าไว้ด้วยกันอย่างเรียบง่ายแต่ก็เก่งกาจ ตัวละครที่แม้จะเขียนขึ้นจากผู้คนในชีวิตจริงถูกปรับเติมเสริมแต่งจนเราหลงรักและละสายตาไม่ได้ ซอร์เรนติโนทำให้เราอิ่มเอมกับความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชังของพวกเขา เพราะในชีวิตเรา อาจมีสัดส่วนของความชังอยู่มากกว่า 

และในระหว่างที่เส้นเรื่องหลักของหนังดำเนินไป มันก็ถูกปะชุนด้วยห้วงบันทึกความทรงจำของซอร์เรนติโนเกี่ยวกับภาพยนตร์ ที่แม้จะไม่สนทนากันเองมากพอจะเป็นเส้นเรื่องของตัวเอง แต่รอยปะชุนนั้นก็ปรากฏอยู่ตลอดสองชั่วโมงกว่าของหนัง บางทีก็เป็นเฟลลินี บางทีก็เป็นคาปูอาโน บางทีก็เป็นม้วนวิดีโอ Once Upon a Time in America ที่ไม่ถูกเปิดดูเสียที ฟาบิเอ็ตโตกล่าวกับน้าสาวตอนไปเยี่ยมเธอที่สถานบำบัดว่า เขาอยากเป็นผู้กำกับ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คนดูได้รับข้อมูลนั้น และน่าจะเป็นครั้งแรกเช่นกันที่ฟาบิเอตโตได้พูดมันกับคนที่เขาไว้ใจ สำหรับเรา นั่นเองที่เป็น magic moment ของหนัง มันเงียบงันและเรียบง่าย แต่ก็จับใจเกินกว่าจะลอยผ่าน มันชวนให้เรานึกถึงครั้งแรกๆ ที่เราบอกเล่าความฝันให้คนที่เราไว้ใจได้ฟัง สายตาและใบหน้าของน้าสาวทำให้นึกถึงเรื่องของเรา ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นในวินาทีแบบนั้นเอง


ปริชาติ หาญตนศิริกุล : นักเขียนรับเชิญ Film Club 

4Kings (2021, พุฒิพงษ์ นาคทอง)

ยอมรับว่าครั้งแรกที่เห็นตัวอย่างหนังเรื่องนี้เราไม่สนใจ ยังไม่มีความคิดอยากดูเท่าไหร่ 

แต่พอเห็นเพื่อนๆ บนไทม์ไลน์เฟซบุ๊กเขียนรีวิวกับกระแสนักวิจารณ์ที่พูดถึงหนังเรื่องนี้บ่อยๆ ในทางบวก ทำให้เราคิดว่า เออ ลองไปดูหนังเด็กอาชีวะก็ได้วะ ซึ่งพอดูจบเรากลับประทับใจหนังเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เพราะมันพาไปสำรวจโลกอีกด้านหนึ่งที่ไม่ค่อยมีพื้นที่สื่อในสังคมไทย โดยส่วนตัวเรามองว่าโลกของนักเรียนอาชีวะมันเป็นพื้นที่ห่างไกลจากคนแบบเรามาก เพราะเราเป็นชะนีชนชั้นกลางที่เติบโตมากับหนังรอมคอม GTH ไม่ก็หนังวัยรุ่นฝรั่ง นอกจากข่าวนักเรียนอาชีวะตีกัน เราแทบไม่รู้จักโลกอะไรของนักเรียนอาชีวะเลย

เหตุที่เราถึงเลือกให้ 4Kings ให้เป็นภาพยนตร์แห่งปี เพราะสิ่งที่ปรากฏใน 4Kings มันสะท้อนว่าสังคมไทย ‘บ้าสถาบัน’ ถึงเพียงไหน สถาบันที่อยู่ใน 4Kings หลักๆ เลยคือสถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว ตามด้วยสถาบันทางกฎหมาย ในส่วนที่ปรากฎในหนังสถาบันกฎหมาย คือผู้บังคับใช้กฎหมาย-ตำรวจ และทัณฑสถานคือบ้านเมตตา

สำหรับสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นปมสำคัญของหนังและดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งเดียวที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของบรรดาตัวละครหลัก 

ฉากหนึ่งในบ้านเมตตาตัวละครต่างสถาบันต่างตั้งคำถามกันว่า ‘ทำไมถึงตัดสินใจเลือกเรียนที่นี่’ ถ้าคำถามนี้ถูกพูดขึ้นในหนังวัยรุ่นนักเรียนคอซอง ฉากนี้ (ส่วนมาก) ก็คงต้องออกมาในโทนภาพการมีความหวัง แต่พอมันมาปรากฏในหนังเรื่องนี้ เราไม่สามารถพูดได้เลยว่าตัวละครมีความหวัง เพราะในความเป็นจริงพวกเขาเป็นเพียงเด็กที่ไม่มีที่ไป ไม่มีความฝันชัดเจนในระบบการศึกษา เมื่อตัวละครแต่ละคนต่างไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร พวกเขาทำได้แต่ ‘มองโลกในแง่ดี’ หาข้อดีว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรบ้างจากการศึกษาอยู่ในรั้วสถาบันอาชีวะ

ส่วนสถาบันครอบครัว ถ้าเราสังเกตดีๆ ตัวละครแทบทุกคนที่ถูกตราหน้าเป็นเด็กเหลือขอ เป็น ‘ปัญหาสังคม’ ส่วนมากก็มาจากบ้านที่อยู่กันแบบปิตาธิปไตยเป็นหลักทั้งสิ้น บ้านที่น่าสงสารที่สุดสำหรับเราคือบ้านของอุ๊ แม้ว่าอุ๊จะเป็นแค่สาวพาณิชย์และมีพ่อเป็นตำรวจ แต่อุ๊เป็นผู้หญิงที่น่าสงสารมาก อุ๊ไม่สามารถเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองได้ ไม่มีสิทธิแม้กระทั่งตัดสินใจอะไรในร่างกายตัวเองด้วยซ้ำ ราวกับว่าพ่อเนี่ยเป็นเจ้าของชีวิตอุ๊มากกว่าตัวอุ๊เองเสียอีก 

ตามท้องเรื่องของ 4Kings ชีวิตตัวละครนักเรียนอาชีวะนั้นเต็มไปด้วยความรุนแรง พวกเขาไม่ใช่แค่เป็นกลุ่มที่แก้ปัญหาด้วยการใช้กำลัง แต่พร้อมกันนั้นพวกเขาก็ถูกตอกกลับและ ‘สั่งสอน’ ด้วยความรุนแรงในนามของกฎหมายและความชอบธรรม ภาพยนตร์นำเราไปสู่การถ่ายทอดชีวิตคนในบ้านเมตตา ตลอดมาหากนับตามช่วงพ.ศ.ตามท้องเรื่องหรือปัจจุบัน สังคมไทยต่างมีความเชื่อว่าไม้เรียวนี่แหละสร้างคน ตัวละครหลักต่างสถาบันเข้าไปในคุกเยาวชนเพื่อรับการทำโทษ พวกเขาเป็นแค่นักเรียนที่ถูกเปลี่ยนสถานที่ทำโทษและรูปแบบการโบยตี จากโรงเรียนไปเป็นคุกเยาวชน จากครูและผู้ปกครองไปเป็นผู้คุมนักโทษ แต่การโบยตีในบ้านเมตตานั้นไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรให้คนเหล่านั้นเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น สำหรับโลกแห่งความเป็นจริง คุกมีไว้สำหรับเดนคนเท่านั้น ไม่ใช่สถานที่ที่ช่วยบำบัดความเป็นมนุษย์ที่ดี นี่คือบทบาทสถาบันกฎหมายที่สะท้อนอยู่ใน 4Kings

ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือตั้งใจ แต่ถ้าเราหันมามองด้านสถาบันการเมืองของไทย ในช่วงเวลาปัจจุบันที่หนังเรื่องนี้เข้าฉาย บทบาทอาชีวะที่มีต่อปรากฏการณ์การเมืองในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ สถาบันอาชีวะถูกนำกลับมาใช้ในฐานะกลุ่มตัวแทนทางการเมือง ทั้ง กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ ส่วนในฟากฝั่งประชาธิปไตยก็มี การ์ดอาชีวะ เช่นกัน การที่ภาพยนตร์ 4 Kings ฉายในเวลานี้มันยิ่งเป็นตัวสะท้อนว่าสังคมให้ความสำคัญและปฏิบัติต่อประชากรชายขอบเช่นนี้อย่างไร


พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู : นักวิชาการอิสระ โปรแกรมเมอร์หอภาพยนตร์

พญาโศกพิโยคค่ำ (2021, ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์)

ด้วยความที่ทำงานในสถานที่ที่มีโรงหนัง จึงไม่ได้มีอารมณ์คิดถึงโรงหนังมากเท่าไรนัก จนกระทั่งได้ดู “พญาโศกพิโยคค่ำ” ซึ่งได้ทำหน้าที่ปลุกศักยภาพด้านต่างๆ ของโรงภาพยนตร์ ที่มักถูกปล่อยให้หลับใหลมากกว่าที่จะได้รับโอกาสให้เผยตัวออกมา แม้บรรยากาศของหนังจะสะกดให้ตกอยู่ในภวังค์ ในความฝัน แต่ก็ระหว่างทางที่ชม ก็รู้สึกเหมือนถูกกระตุ้นให้รับรู้ได้ถึงพลังแห่งการมีอยู่ของโรงหนังแทบจะตลอดเวลา 

ในปีที่โรงหนังยังคงเป็นสถานที่แรกๆ ที่ถูกปิดและตกอยู่ในอันดับท้ายๆ ที่ถูกเปิด จึงอยากจะเลือก “พญาโศกพิโยคค่ำ” ให้เป็นหนังแห่งปีในแง่นี้ แม้จริงๆ แล้วภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีอีกหลายแง่มุมที่สร้างความประทับใจโดยส่วนตัวก็ตาม


มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ : นักวิจารณ์ภาพยนตร์ นักเขียนประจำ Film Club

Danse Macabre/มรณสติ (2021, ธัญสก พันสิทธิวรกุล/พัศรวินทน์ กุลสมบูรณ์)

สร้างความปั่นป่วนได้หลากหลายแง่มุมดีแท้ ทั้งขณะดูหรือแม้แต่ให้รำลึกนึกถึง อย่างเช่น การจะให้ content บางอย่าง, เรื่องบางเรื่องสมควรจะได้รับการอ้างถึงหรือเปล่า (ขณะที่ในหนังก็กล้าพอที่จะใส่เข้ามาแบบไร้การประนีประนอม) ไม่ว่าในส่วนของฟุตภาพที่ใส่เข้ามา, ชื่อคนบางคน, เหตุการณ์สำคัญ ที่ทำให้รู้ว่าเรื่องบางเรื่อง ประเด็นบางประเด็นค่อนข้างมีข้อจำกัดเพดานของการถ่ายทอดว่าพูดได้แค่ไหน หลายๆ เหตุการณ์ได้ถูกนำมาใช้เป็นมาตรวัดระดับของความกล้า 

ช่วงที่กำลังทำการคัดเลือกก็ลังเลอยู่หลายนานว่าสมควรจะนับเรื่องนี้เข้าอันดับจะดีมั้ย ตราบใดที่ประเด็นเนื้อหาในเรื่องเข้าข่ายล่อแหลม ตัวหนังทั้งเรื่องเองก็ถูกทำขึ้นภายใต้ภาวะที่ทั้งกดดันและโกรธขึ้ง 

จริงๆ เรื่องนี้ เจ้าของงาน เขาทำออกมาสองแบบเป็น feature film ความยาวตามมาตรฐานคือ 89 นาที (ใช้ชื่อ ‘มรณะสติ’ Danse Macabre สำหรับฉายโรง แต่สู้ไม่ฉายดีกั่ว) กับเป็นแบบหนังสั้น (ใช้ชื่อ Dance of Death อันนี้ซอยออกถึงสองในสาม สิริรวมแล้วหายไปร่วมๆ ชั่วโมงกว่า) ซึ่งแลกกับการเปิดฉายในรูปแบบสาธารณะไปแล้วแน่ๆ ก็สองรอบ แต่ต่อให้เทียบกับเนื้อหาส่วนที่หายไป ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็ยังเข้าขั้นหนักหน่วง ฟุตบางช่วงดูน่ากลัวถึงขั้นที่ว่า ‘ร่างทรง’ อาจกลายเป็นหนังจิบลิเอาง่ายๆ (อย่างพาร์ตเหตุการณ์ 6 ตุลา กับกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มนปช.ที่กระทำการโดยรัฐล้วนๆ และเป็นเรื่องของคนธรรมดา อย่างกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นฟุตที่ถ่ายตามหน้ารพ.ในคืนที่เกิดเหตุ) ซึ่งรอด จนกระทั่งมีให้เห็นในฉบับสั้นบางทีคนทำอาจต้องการพิสูจน์อะไรบางอย่างซึ่งเป็นเรื่องวิสัยโลกอย่างความตาย ก็ยังมีข้อจำกัดในตัว คนบางชนชั้นพูดได้, นำเสนอได้ (คดีฆาตกรรมน้องแก้มบนรถไฟ) พอไกลกว่านั้น + สูงขึ้นกว่านั้น กลายเป็นของต้องห้าม ซึ่งอะไรที่ไม่เห็นกันในฉบับสั้น เวอร์ชันยาวมีให้ดู แบบต่อให้เดาก็ไม่มีใครเดาผิด


ชลนที พิมพ์นาม : นักเขียนประจำ Film Club

[ MV ] KIRINJI – 時間がない (Jikanga Nai) (2018)
Dir: Eisuke Shirota

เพลงนี้อยู่ใน “Ai wo Arudake, Subete” อัลบั้มที่ 8 ของวง KIRINJI เพลงนี้แต่งโดย Takaki Horigome นักร้องนำและหนึ่งในผู้ก่อตั้งวง เอาเข้าจริงคือฟังมาหลายปีโดยไม่ได้ใส่ใจความหมายหรือเคยดู MV มาก่อน จนได้มาเห็น MV ในปีนี้เลยอยากรู้ความหมายเพลง ก็พบว่าเนื้อหามันช่างสิ้นหวังตรงข้ามกับเพลงแบบสิ้นเชิง เพราะว่าด้วยชายหนุ่มที่รู้ตัวอีกทีก็เข้าวัยกลางคนแบบไม่รู้ตัว และยังไม่ได้ทันได้เห็นโลกกว้างหรือทำตามความฝันเลย (ฮือ)

ส่วน MV มันเป็นการตีความที่ตรงไปตรงมาจากเพลงมากๆ โดยใช้ภาพลักษณ์ของ “มนุษย์เงินเดือน” อันแสนจำเจน่าเบื่อ ที่กำลังเต้นรำบนฟลอร์อย่างชำนาญลื่นไหลเพียงลำพัง เหมือนเป็นการดิ้นรนที่จะมีความสุขตามสังขารที่ร่วงโรยไปเรื่อยๆ 

ก็หวังว่าทุกคนจะยังค้นหาความสุขในชีวิตได้…ในภาวะอันน่าอึดอัดเช่นนี้


ฐิติคมน์ ญาณสมบัติ : cinephile

James Acaster: Cold Lasagne Hate Myself 1999 (2020, Daniel Lucchesi, UK)

โชว์สแตนด์อัพคอมเมดีความยาวสองชั่วโมงเศษ น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่เจมส์ เอแคสเตอร์ขึ้นเวทีเล่าเรื่องชีวิตตัวเองจริงๆ จังๆ ไม่ใช่มหกรรมเล่าเรื่องแต่ง เล่าเป็นตุเป็นตะ เล่าไปเรื่อย เล่าจนเป็นมินิซีรีส์อย่างในโชว์ชุด Repertoire (ดูได้ใน Netflix) แต่เป็นการเปิดเปลือยตัวตน เล่าเรื่องที่ตัวเองกลายเป็นมีมในโลกอินเทอร์เน็ต การเลิกรากับคนรัก การแยกทางกับเอเจนต์ การบำบัดรักษาสุขภาพจิต ไปจนถึงการเมืองเรื่อง Brexit

เซนส์ตลกของเอแคสเตอร์ยังคงเฉียบขาด เขียนโชว์มีโครงสร้างแข็งแรง จังหวะมุกตลกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ลูกล่อลูกชนแพรวพราว ช่างกัดช่างแซะ ดูแล้วสนุกกับการยั่วล้อและใช้ประโยชน์จากปฏิกิริยาของผู้ชมมากๆ รู้สึกว่าการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างตัวเอแคสเตอร์กับผู้ชมก็น่าสนใจดี เหมือนเอาความสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงตลกสายไม่สนสี่สนแปด (หรือที่เอแคสเตอร์เรียกว่า edgy comedian) กับผู้ชมมากลับหัวกลับหางเสียใหม่

ในปีที่หดหู่ซึมเซา การได้หัวเราะต่อเนื่องสักสองชั่วโมงก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ไม่เลวเลย

ดูได้ที่นี่


ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล : อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย 

My Dear Exes (2021, Kazuhito Nakae/Chihiro Ikeda/Yusuke Taki)

ชื่อญี่ปุ่น Omameda Towako To San-nin No Moto Otto (โอมาเมะดะ โทวาโกะกับผ.เก่าสามคน)

ละครเล่าช่วงชีวิตยากๆ ผ่านเรื่องตลกหน้าตายของชีวิตประจำวันของโทวาโกะ ประธานบริษัทที่จริงๆ แล้วอยากเป็นสถาปนิกเฉยๆ ผ่านการแต่งงานมาสามครั้ง มีลูกสาวหนึ่ง มีเพื่อนสนิทที่ค้นหาความหมายของชีวิตจนถึงอายุสี่สิบอีกหนึ่ง และบิดาที่เป็นนักการเมืองอีกหนึ่ง 

เรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ กับความพัวพันกับผ.เก่าสามคนที่มีทั้งเยื่อใย ความลับที่เพิ่งค้นพบ สลับไปเล่าถึงกิ๊กปัจจุบันของผ.เก่าทั้งหลาย และชีวิตรักของเพื่อนสนิท ทั้งหมดนี่มันมีเชื้อที่จะเป็นเรื่องดราม่าได้ง่ายๆ แต่มันก็ไม่ได้สร้างความกดดันอะไรให้เราที่เป็นคนดูเลย ทั้งที่หลายจังหวะต้องหยุดดูเพื่อจะทบทวนสิ่งที่ตัวละครพูดออกมา

ไม่รู้จะอธิบายยังไงว่ารู้สึกยังไงกับละครเรื่องนี้ แต่มันเต็มไปด้วยชีวิตชีวาทั้งที่เป็นชีวิตธรรมดา มันมีความเป็นมนุษย์ในขณะที่เล่าเรื่องเหมือนละครเวทีที่ขายขำขายความเวียร์ด ผ่านบทสนทนาที่บรรจงเลือกสรรมาให้จิ้มใจคนดู แบบไม่ปราณีทั้งด้วยเนื้อหาและด้วยโวหาร

ความกังวลความวิตกในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตของโทวาโกะ ตั้งแต่หินในรองเท้า มุ้งลวดหลุด น้ำไม่อุ่น แผลในปาก มันทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดกับตัวละครมาก รวมไปถึงวิธีการที่ตัวละครแสดงออกต่อกันนั้นมันมีทั้งเก็บงำอย่างน่ารำคาญไปจนถึงตรงไปตรงมาจนใจเจ็บ ทั้งที่ตัวละครแต่ละตัวมันเป็นมนุษย์สุดโต่งแต่เราก็รู้สึกคุ้นเคยกับความแปลกประหลาดนั้น

สิ่งที่ช่วยบรรเทาความเวียร์ดในละครเรื่องนี้คือเพลงและภาพ โดยเฉพาะเพลงที่ใช้วงออเคสตร้าแต่งดนตรีประกอบมาทั้งเรื่อง แถมเพลงปิดเรื่องมีความแตกต่างไปนิดๆ หน่อยๆ ในแต่ละตอน เป็นกิมมิคเล็กๆ ที่ไม่ต้องมีก็ได้ แต่พอมีแล้วดีมาก และเรายินดีมากที่เรื่องและการแสดงมันก็คราฟท์พอๆ กับโปรดักชั่น

ตอนดูก็ค่อยๆ ดูไปทีละหน่อย ละเลียดไปเรื่อยๆ และรู้สึกได้ว่าคงจะได้ดูซ้ำอีกหลายรอบแน่ๆ


นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ : ศิลปิน

Otto (2012, Cao Guimarães, Brazil)

คืนหนึ่งในฤดูร้อนปลายปี 2010 Cao Guimarães นั่งดูหนัง Drifter (2007) ของเขาเองอยู่กับผู้ชมที่มีเพียงคนเดียวในโรงหนัง Cine Casablanca ใน Montevideo เธอนั่งอยู่นั่งแถวถัดไปข้างหลัง พวกเขาเพียงบังเอิญนั่งดูหนังในโรงหนังที่ว่างเปล่าเงียบงันนี้พร้อมกัน ในช่วงเวลาสำคัญของหนัง หญิงสาวลุกออกไปและเขาคิดว่าเธอคงไม่กลับมาแล้ว แต่ไม่ใช่ เธอกลับมาและยังกลับมานั่งเก้าอี้ตัวเดิม และเพราะเขาคิดว่าเธอพลาดฉากที่ดีที่สุดของหนังเรื่องนี้ไป หลังหนังฉายเขาจึงบอกเธอว่าควรดูหนังนี่อีกรอบ

พวกเขาออกจากโรงหนังพร้อมกันในคํ่านั้นและใช้ชีวิตด้วยกันจนปรากฏเป็นหนังให้คนดูได้มีส่วนร่วมเฝ้ามองห้วงเวลา 9 เดือนของการอุ้มท้องของหญิงสาวในหนังที่มีความยาว 71 นาที หนังที่การเฝ้ามองเป็นทั้ง process และเป้าหมาย

ไม่เคยดูหนังหรือรู้จักเขามาก่อน พอลองค้นๆ จึงเห็นชื่อ Cao Guimarães ปรากฏร่วมกับศิลปินชาวบราซิลอีกคนในงานบางชิ้นที่เรารู้จักและเคยดูในอินเทอร์เน็ต พบว่าเขาเป็นอีกคนที่ทำงานข้ามไปมาระหว่างหนังที่ฉายในเทศกาลฟิล์มกับงานวิดีโออาร์ตในเบียนนาเลหรือในคอลเลคชั่นของมิวเซียมสำคัญหลายแห่งอย่าง Tate หรือ Moma

Otto น่าจะเป็นหนังส่วนตัวมากที่สุดเรื่องหนึ่ง Cao Guimarães พูดไว้ในบางบทสัมภาษณ์ว่ามันเป็นงานที่เขาทำเพื่อลูกที่กำลังจะเกิดในตอนนั้น ใครดูก็จะพบว่าการจ้องมองในหนังทั้งหมดนั้นโอบล้อมวนเวียนอยู่กับเสี้ยวส่วน มุมบางมุม มุมเต็มมุมของใบหน้า วงมือ อิริยาบถของหญิงสาว เมียของเขา เราเห็นเธอออกกำลังกาย หัวเราะ ฮำเพลง ทำอาหาร หรืออ่านหนังสือที่เธอมักจะขีดเส้นใต้ใจความสำคัญที่ติดใจเอาไว้ มันคือ portrait ของเธอ ความเปล่งปลั่งของหญิงสาวกับความเป็นแม่และการมาถึงของเด็กชายอีกคน ลูกของพวกเขา

Otto ไม่ใช่หนังที่อัดแน่นด้วยเรื่องเล่า ไม่ใช่ทั้งสโลว์ซีเนมาหรือสารคดีแบบนั้น มันคือซีเควนซ์ของแอคชั่นเล็กๆ น้อยๆ อยู่ในเส้นทางที่เจ้าของงานเคยพูดไว้ในบทสัมภาษณ์บางที่หรือเห็นได้ในหนังหรืองานของเขา ความสนใจที่เขามีต่อ “… micro ordinary events in the day by day life…” เขาบอกว่าการเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ ใน event เหล่านี้มีลักษณะ expressive ล้นเปี่ยม เล่าเรื่องบางอย่างได้และยังเปิดโอกาสให้ผู้คนครุ่นคิดต่อ ขึ้นอยู่กับว่าจะคว้าจับชั่วขณะที่ว่าหรือให้สุ้มให้เสียงกับมันอย่างไร มันยังดึงผัสสะเรื่องเวลาให้กลับมาสัมพันธ์กับเวลาในชีวิตจริงๆ เพราะเวลาอีกแบบใน perception ของเรานั้นถูกจัดการไปจนห่างจากจุดเริ่มต้นมากแล้วด้วยความเคยชินต่อวิธีการเล่าเรื่องและตัดต่อตามขนบของหนังเมนสตรีม

ตอนที่ดูครั้งแรกเราชอบล่ะ ไม่ใช่เพียงเพราะภาพมันสวยหรือเสียงดนตรีประกอบที่ทำงานกับภาพ แต่ในแง่ที่เราเห็นร่องรอยความรักที่มีต่อคนคนหนึ่งเต็มไปหมด

ที่เลือกพูดถึงเพราะหนังมันเยียวยาเราได้จากภาวะจิตตกในช่วงโควิด

ชื่อหนัง Otto คือชื่อของลูกชายของพวกเขา

ถ้าให้พูดสั้นๆ นี่คืองานที่ Cao Guimarães เฝ้าจ้องมองเมียและลูกในท้องที่กำลังเกิด

และเราอยากพูดอีกทีว่า นี่คือหนังรัก


อ่านต่อในตอนอื่นๆ : FILM CLUB Year List 2021 (Part 5)

10 อันดับอนิเมะเรื่องเยี่ยม ที่ชุบชูใจให้ผ่านพ้นปี 2021 มาได้

ปี 2021 ถึงไม่ใช่ปีที่ดีในภาพรวมโดยเฉพาะความลำบากที่เกิดขึ้นต่อแทบทุกคน แต่กลับถือว่าเป็นปีที่ดีสำหรับวงการอนิเมะ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาจากปี 2020 ที่วิกฤติโควิดมีส่วนทำให้ธุรกิจสตรีมมิ่งรุ่งเรืองสุดขีด อนิเมะเลยได้อานิสงส์ในการเปิดรับคนดูกลุ่มใหม่ๆ จนเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากๆ เหล่าสตูดิโอผลิตอนิเมะในญี่ปุ่นจึงมีงานชุก ได้มีผลงานดีๆ ออกมาสู่สายตาชาวโลกมากมาย มีผลงานที่ฮิตสุดๆ ของปีอย่าง มหาเวทย์ผนึกมาร Jujitsu Kaisen, Attack on Titian Final Season และสานต่อความฮิตของดาบพิฆาตอสูร Kimetsu no Yaiba Season 2 ในตอนปลายปี

ลิสต์ที่เลือกมาแนะนำต่อไปนี้จะมีทั้งที่เป็นซีรีส์และหนังยาว ที่ทั้งดังอยู่แล้วและอาจตกสำรวจ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือเป็นอนิเมะที่ช่วยเยียวยาจิตใจตัวผมเองจนพาตัวเองผ่านอะไรแย่ๆ ในปีที่ผ่านมาได้ โดยเรียงลำดับว่าเรื่องไหนที่มันโดนเส้นเราและยังติดค้างในใจมาจนถึงตอนนี้มากกว่ากัน (ซึ่งเป็นรสนิยมส่วนตัวล้วนๆ)


อันดับ 10
Blue Period

สร้างจากมังงะชื่อดัง ด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับนักเรียนที่ตั้งใจจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยศิลปะ อย่างที่รู้กันดีว่ามังงะและอนิเมะญี่ปุ่นนั้นมีเนื้อหาที่เล่าเรื่องในวงการต่างๆ หรือความชอบที่เป็นวัฒนธรรมกลุ่มย่อยมากมาย ซึ่งมังงะและอนิเมะเหล่านี้ก็เหมือนประตูพาเราไปสู่โลกที่เราไม่รู้จัก อย่าง Blue Period นั้นพาเราไปสู่โลกศิลปะ วงการของนักเรียนที่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะของรัฐที่มีการแข่งขันที่สูงลิ่ว

ยะโทระ ตัวเอกของเรื่องเพิ่งมาค้นพบว่าตัวเอกชอบวาดรูปและอยากเข้าเรียนมหาลัยศิลปะก็ตอนที่อยู่ ม.ปลายแล้ว ถือเป็นการเริ่มที่ช้าแต่ก็ยังไม่สายเกินไป เพื่อทดแทนที่เริ่มต้นช้า เขาจึงเข้าชมรมศิลปะของโรงเรียนและเข้าโรงเรียนกวดวิชาที่ติวด้านศิลปะโดยเฉพาะ ซึ่งอนิเมะในซีซั่นแรกนั้นจะจบลงที่ช่วงการสอบเข้ามหาลัยของยะโทระพอดี

การได้สัมผัสในโลกหรือวงการที่เราไม่รู้จักนั่นน่าสนุกเสมอ และเอาเข้าจริงไม่ว่าจะเรื่องเล่าเกี่ยวกับวงการอะไร มันก็มีจุดร่วมที่คนเราต้องผ่านกันมาหมด ทั้งการต้องอุตสาหะพยายาม การล้มเหลว การค้นพบว่าตัวเองนั้นยังอ่อนหัดและมีคนที่เก่งกว่าเรามากมาย ทำยังไงถึงจะหาจุดเด่นของเราเจอและใช้มันเป็นอาวุธได้ นี่คือสิ่งที่ยะโทระต้องเผชิญตลอด และเส้นทางมันไม่ได้สวยหรู ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ก็โชคดีที่คนรอบตัวยะโทระไม่ว่าจะครอบครัวหรือเพื่อนนั้นเข้าใจและสนับสนุนอยู่เสมอ

ในแง่งานแอนิเมชันอาจจะไม่ได้ดีขั้นเลิศเลอ มีหลายฉากที่รู้สึกว่าน่าจะถ่ายทอดมาได้ดีกว่านี้ ทั้งงานเคลื่อนไหวและงานภาพ แต่ตัวเรื่องก็ยังสนุกและยังนำสารต่างๆ มาถึงคนดูได้ ที่ชอบเป็นการส่วนตัวคือตอนที่ยะโทระมาเห็นภาพของรุ่นพี่แล้วชมว่าเธอมีพรสวรรค์ รุ่นพี่ก็เลยบอกว่าการถูกชมว่ามีพรสวรรค์เนี่ยเหมือนกับถูกมองว่าเธอไม่ได้พยายามเลย ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เรามักจะมองแต่ผลงานที่ประสบความสำเร็จแล้วของคนคนนั้นแต่ไม่ค่อยมองว่าเขาต้องผ่านอะไรมาบ้างถึงจะสร้างผลงานชิ้นนี้ได้ ไม่มีใครที่จะเก่งเทพมาตั้งแต่แรก ซึ่ง Blue Period นั้นเป็นอนิเมะที่เต็มไปด้วยการตั้งคำถามในเรื่องของ “ศิลปินกับการสร้างผลงาน” อยู่ตลอดทั้งเรื่อง

ดูได้ที่ Netflix


อันดับ 9
Taisho Otome Otogibanashi เรื่องเล่าสาวน้อยยุคไทโช

ทามาฮิโกะ ทายาทชายจากตระกูลใหญ่โต ประสบอุบัติเหตุจนมือข้างหนึ่งใช้การไม่ได้ เขาจึงถูกพ่ออัปเปหิออกจากตระกูล ให้ไปอยู่ที่บ้านพักตากอากาศที่บ้านนอกอย่างโดดเดี่ยว ทามาฮิโกะจึงดำดิ่งเข้าสู่ความมืดหม่น มองโลกในแง่ร้าย คิดอยากจะจบชีวิตตัวเองอยู่ตลอดราวกับเป็นดาไซ โอซามุ (ผู้ประพันนธ์เรื่อง สูญสิ้นความเป็นคน) แต่แล้ววันหนึ่งก็มี ยูซึกิ สาวน้อยที่พ่อเขาจ้างมาเพื่อแต่งเป็นภรรยา (เรื่องปกติในยุคนั้น) เข้ามาในชีวิตของเขา ความสดใสของยูซึกินี่แหละที่จะเป็นยาเยียวยาหัวใจอันบอบช้ำของทามาฮิโกะให้กลับมาเห็นว่าโลกนั้นสวยงามอีกครั้ง

เอาเข้าจริงมันก็นิยายรักโรแมนติคน้ำเน่าดีๆ นี่แหละครับ คาดเดาง่าย การดำเนินเรื่องก็ไม่ได้หวือหวา แทบจะราบเรียบสุดๆ ด้วยซ้ำ แต่ที่ทำให้อนิเมะเรื่องนี้ติดอันดับในใจก็คือ ในความเรียบง่ายของมันนั้น มันเต็มไปด้วยความน่ารัก ความสว่างสดใส ความหวานระดับมดขึ้นจอที่ชวนให้ยิ้มได้ตลอดเวลาที่ดู สรุปแล้วมันเป็นอนิเมะที่ใช้เยียวยาจิตใจให้คิดบวกได้ดีมากๆ

จุดน่าสนใจคือเรื่องราวที่อยู่ในยุคสมัยไทโช ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับเรื่องดาบพิฆาตอสูร แต่จากเรื่องนี้เราจะได้เห็นภาพรวมของสังคมญี่ปุ่นในยุคไทโชชัดขึ้น เป็นยุคที่สิ่งใหม่จากตะวันตกเข้ามามากมาย ปัญหาในการน้อมรับสิ่งใหม่ในขณะที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสิ่งเก่า วิถีชีวิตของคนในสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปเมื่อประเทศเริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม การศึกษาที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตคนมากๆ และเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่อยู่ในยุค เราก็จะได้เห็นในอนิเมะเรื่องนี้ด้วย

แต่ยังไงคุณค่าที่สำคัญสุดสำหรับอนิเมะเรื่องนี้ มันอยู่ที่ความน่ารัก สดใส และช่วยเยียวยาจิตใจจากสภาวะสังคมที่โหดร้ายได้ ไม่ต่างกับที่ยูซึกิได้เข้ามาเปลี่ยนโลกอันหม่นหมองของทามาฮิโกะให้สว่างสดใสขึ้นนั่นเอง

ดูได้ที่ muse Thailand


อันดับ 8
Beastars Season 2

สานต่อเรื่องราวของสังคมสัตว์ที่สัตว์กินเนื้อและกินพืซอาศัยอยู่ร่วมกัน (ประมาณใน Zootopia แต่ลงลึกในปัญหาและดาร์กกว่า) โดยที่ตัวเอก หมาป่าเลโกชิ ยังต้องต่อสู้กับสัญชาตญาณสัตว์กินเนื้อของตัวเองเพื่อพิชิตใจ ฮัล กระต่ายสาวที่เขาหลงรัก และอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ที่เป็นสัตว์กินพืชให้ได้ เขาต้องไปยุ่งเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมตัวลามะหนุ่มที่เป็นเพื่อนชมรมการละครของเขา และฆาตกรก็น่าจะเป็นหนึ่งในเพื่อนร่วมชมรม เลโกชิจึงต้องหาตัวฆาตกรให้ได้เพื่อไม่ให้คนที่เขารักต้องตกเป็นเหยื่อ ขณะเดียวกันที่นอกรั้วโรงเรียน หลุยส์ กวางหนุ่มที่อดีตเป็นดาวเด่นของโรงเรียนก็ได้เข้าสู่เส้นทางยากูซ่าที่รายล้อมไปด้วยเหล่าสัตว์กินเนื้อ แล้วเส้นทางของเลโกชิกับหลุยส์ที่เคยลาจากกันไปในซีซั่น 1 จะกลับมาบรรจบกันอย่างไร

ซีซั่น 2 นี้มีการเดินเรื่องที่เข้มข้นขึ้น คดีฆาตกรรมที่จั่วหัวมาตั้งแต่เปิดซีซั่นแรกในที่สุดเส้นเรื่องนี้ก็ได้รับการสานต่อ โดยภาคนี้จะเป็นการเล่าเรื่องคู่ขนานของขั้วตรงข้ามอย่าง เลโกชิและหลุยส์ ที่เส้นเรื่องทั้งสองก็ยังคงอยู่การตั้งคำถามที่เป็นธีมหลักของเรื่องอย่าง “สัตว์กินเนื้อกับสัตว์กินพืชสามารถอยู่ร่วมได้ไหม?” ขณะเดียวกันเรื่องเส้นรักที่ค่อนข้างให้ความสำคัญในซีซั่นก่อนกลับลดน้อยลงมากๆ (คาดว่าคงไปเล่นต่อในซีซั่น 3)

โดยรวมแล้วซีซั่นนี้ถือว่าสนุกมากๆ ตัวละครแต่ละตัวที่มีเส่นห์ก็ยังคงเป็นจุดเด่นของเรื่องนี้ เราได้เห็นนิสัยของตัวละครตามแบบสัตว์ที่พวกเขาเป็น ซึ่งพวกเขาต่างก็พยายามฝืนสัญชาตญาณตัวเองอย่างเต็มที่เพื่อหาที่ทางของตัวเองให้อยู่ในสังคมที่ความแตกต่างต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ด้วยกันนั้นมีหลายแบบไม่ใช่แค่ผู้ล่ากับเหยื่อ โดยซีซั่นนี้ได้พา arc ของตัวละครก็ขยับไปข้างหน้าค่อนข้างเยอะ ในตอนสุดท้ายเองก็ถือว่าคลายเรื่องทั้งหมดและปิดซีซั่นได้อย่างสวยงามลงตัวและอยากทำให้ดูซีซั่นต่อไปเร็วๆ แล้ว

ดูได้ที่ Netflix


อันดับ 7
Zombieland Saga Revenge

ภาคต่อของ Zombieland Saga อนิเมะที่มีส่วนผสมหลายอย่าง ตั้งแต่ ซอมบี้ ไอดอล และการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดซากะ ฟังดูพึลึกแต่ส่วนผสมนี้กลับกลายเป็นอนิเมะแนวไอดอลที่ลงตัวมากๆ เรื่องหนึ่ง ซึ่งใน Zombieland Saga Revenge ก็ยังคงเป็นเรื่องราวของไอดอลสาววง Fran Chou Chou แห่งจังหวัดซากะ ที่ต้องสู้เพื่อกอบกู้จังหวัดซากะด้วยการเป็นไอดอลที่ฮิตระดับประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องปกปิดความจริงที่ว่าพวกเธอนั้นเป็นซอมบี้ที่เคยตายไปแล้วและกลับคืนชีพมาใหม่

ซีซั่นนี้เปิดมาก็พบว่าวง Fran Chou Chou นั้นวงแตกเสียแล้ว เพราะว่าไปเช่าสเตเดี้ยมใหญ่เพื่อจัดคอนเสิร์ต แต่คนมาดูน้อยจนเป็นหนี้ย่อยยับ เหล่าสาวๆ ซอมบี้จึงต้องทำงานพิเศษเพื่อหาทางให้ Fran Chou Chou กลับมาเริ่มสเตจอีกครั้งแม้จะต้องเริ่มใหม่จากศูนย์ก็ตาม โดยภาคนี้ปริศนาและแบ็คกราวน์ตัวละครก็เริ่มจะเผยให้เห็นมากขึ้น มีการพยายามใส่จุดกำเนิดของเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดซากะเข้าไป ก่อนจะไปจบด้วยภัยพิบัติครั้งใหญ่ของจังหวัดที่วง Fran Chou Chou จะต้องออกมากอบกู้จิตใจที่บอบช้ำของคนในจังหวัด (และเป็นสิ่งที่คนในปีที่แล้วต้องการจริงๆ)

เอาจริงๆ Zombieland Saga โดยพื้นฐานแล้วเส้นเรื่องต่างๆ ก็แทบไม่ต่างกับอนิเมะไอเดอลอย่าง Idol Master หรือ Love Live เลย ตรงที่มันว่าด้วยการสู้เพื่อฝันเป็นไอดอลของเด็กสาว การก้าวข้ามปมและเอาชนะตัวเอง มิตรภาพของเพื่อนในวง ทุกอย่างที่เป็นสูตรของอนิเมะไอดอลก็มีใน Zombieland Saga แต่อะไรที่ทำให้ Zombieland Saga โดดเด่นขึ้นมาก็คือการ execute ไอเดียที่ต่างออกไป ตั้งแต่การที่สาวๆ ในเรื่องเป็นซอมบี้ เพื่อล้อกับความหมายของคำว่า Live หรือการแสดงสด สำหรับพวกเธอที่เป็นซอมบี้การแสดงสดเท่านั้นแหละที่จะทำให้พวกเธอดำรงตัวตนต่อไปได้ และภาคนี้ก็ยังคงยึดธีมอันนี้อย่างแน่นหนา บวกกับการเป็นอนิเมะที่สนับสนุนการท่องเที่ยวจังหวัด ซึ่งต้องยอมใจในการขายจังหวัดจริงๆ (วิธีแบบไหนลองดูเอาเอง) ทำให้ดูแล้วอยากไปตามรอย วง Fran Chou Chou ที่จังหวัดซากะมากๆ

และที่ขาดไม่ได้สำหรับอนิเมะไอดอลนั่นก็คือตัวเพลง ซึ่งโดยรวมแล้วชอบเพลงในซีซั่นนี้มากกว่าซีซั่นแรกเสียอีก และทางสตูดิโอ MAPPA ก็ทำซีนไลฟ์คอนเสิร์ตออกมาได้ดีมีพลังมากๆ โดยเฉพาะ EP สุดท้ายของซีซั่นที่ปิดด้วย คอนเสิร์ตยาว 3 เพลงเต็มๆ ความยาว 10 กว่านาที ที่ดูสนุกราวกับดูคอนเสิร์ตไอดอลจริงๆ

ดูได้ที่ muse Thailand


อันดับ 6
Mobile Suit Gundam Hathaway’s flash

กันดั้มฉบับหนังโรงภาคล่าสุด ที่แต่เดิมนั้นต้องฉายในปี 2020 แต่ด้วยพิษโควิดก็เลยต้องเลื่อนมาฉายปี 2021 แทน และหลังจากฉายโรงไปได้ไม่กี่สัปดาห์ก็ทำการลงสตรีมมิ่งใน Netflix ทั่วโลกพร้อมกันเลย ทำให้เราได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ที่บ้านได้โดยไม่ต้องรอนาน

โดยที่กันดั้มภาค Hathaway’s flash นั้นดัดแปลงมาจากนิยายของ โยชิยูกิ โทมิโนะ ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดกันดั้มนั่นเอง เนื้อหานั้นต่อเนื่องจากภาค Char’s counter attack และภาค Unicorn (สามารถชมทั้งสองภาคได้ใน Netflix) โดยที่ตัวเอกของภาคนี้คือ ฮาธาเวย์ โนอา ที่จากเป็นเด็กวัยรุ่นในภาค Char’s counter attack ก็กลายมาเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว และผลิกผันจากลูกชายของกัปตันกองเรือของสหพันธ์มาเป็นหัวหน้ากลุ่มก่อการร้ายที่มีชื่อว่ามาฟตี้ และมาฟตี้ก็ได้สั่นคลอนอำนาจของสหพันธ์ที่เป็นรัฐบาลปกครองโลกและชาวอวกาศด้วยการสังหารนักการเมืองของสหพันธ์ ทางสหพันธ์ก็ไม่นิ่งนอนใจสั่งการให้เคนเนธ เจ้าหน้าที่มือดีมาทำการไล่ล่ามาฟตี้ ซึ่งการขับเคี่ยวระหว่างฮาธาเวย์กับเคนเนธก็มี กิกิ สาวสวยปริศนาเข้ามาเกี่ยวพันกับทั้งคู่ การต่อสู้ครั้งใหม่ด้วยหุ่นรบโมบิลสูทจึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง

หลังจากดูจบก็กล้าบอกได้เต็มปากว่านี่เป็นกันดั้มฉบับภาพยนตร์ที่มีงานสร้างดีที่สุด ภาพสวยที่สุด มีองค์ประกอบทุกอย่างที่ Cinematic มากๆ ขณะเดียวกันเนื้อหาก็เข้มข้นจริงจัง มีความการเมืองสูงตามแบบฉบับกันดั้มยุคก่อน ตัวละครหลัก 3 ตัวอย่าง ฮาธาเวย์ เคนเนธ และ กิกิ ต่างก็ดูเทาๆ ไม่มีใครดีพร้อมหรือร้ายสุด และยังไงขึ้นชื่อว่ากันดั้ม จุดที่ขาดไม่ได้ก็คือฉากสู้กันระหว่างโมบิลสูทที่ภาคนี้อาจจะมีไม่เยอะมาก เพียงแต่ละฉากนั้นทำออกมาสวย ได้อารมณ์สงครามแบบสมจริง ฉับไว โดยเฉพาะการเปิดตัวของกันดั้มตัวเอกในท้ายตอนที่ดูแล้วอยากจะสั่งซื้อโมเดลกันพลามาต่อทันที

ถือเป็นการเปิดหนังไตรภาค (คาดว่าจะมี 3 ภาค ตามนิยายที่มี 3 เล่ม) ที่สวยงามและทำให้อยากดูภาคต่อไปอย่างมาก ด้วยเนื้อหาที่จริงจังเป็นผู้ใหญ่และการปล่อยสตรีมมิ่งทั่วโลก น่าทำให้มีผู้ชมหน้าใหม่ที่ไม่ใช่แฟนกันดั้มอ้าแขนเปิดรับ Mobile Suit Gundam Hathaway’s flash จำนวนมาก

ดูได้ที่ Netflix


อันดับ 5
SSSS.Dynazenon

ในปี 2019 ได้มีอนิเมะ SSSS.Gridman ซึ่งเป็นอนิเมะที่ทางสตูดิโอ Trigger สร้างขึ้นเพื่อสานต่อตำนานหนังยอดมนุษย์คนแสดง (แนว Tokukatsu) Gridman ของทางค่าย Tsuburaya โดยที่อนิเมะ SSSS.Gridman นั้นประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จนทำให้มีภาคต่อที่ออกมาสานต่อจักรวาลกริดแมน นั่นก็คือ SSSS.Dynazenon ซึ่งคราวนี้เปลี่ยนจากยอดมนุษย์ตัวเท่าตึกสู้กับสัตว์ประหลาด กลายเป็นหุ่นยนต์ยักษ์ต่อสู้กับสัตว์ประหลาดแทน

ดูเผินๆ อาจจะคิดว่า SSSS.Dynazenon เป็นอนิเมะหุ่นยนต์ฟัดกับสัตว์ประหลาดธรรมดาๆ แต่สิ่งที่ทำให้ประทับใจในอนิเมะเรื่องนี้กลับไม่ใช่ฉากต่อสู้บ้าพลังตามแบบฉบับสตูดิโอ Trigger แต่เป็นเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัวที่ต้องมาบังคับหุ่นยนต์ร่วมกัน ซึ่งแต่ละคนก็มีบาดแผลในชีวิตของตน อนิเมะเรื่องนี้เลยโฟกัสกับการก้าวข้ามบาดแผลของตัวละครมากกว่าการปราบสัตว์ประหลาด (สัตว์ประหลาดก็เป็นสัญญะของบาดแผลในใจของแต่ละคน)

ขณะที่ SSSS.Gridman นั้นมีจังหวะที่เดินเรื่องเร็วฉับไว เรื่องไปข้างหน้าตลอด แต่ SSSS.Dynazenon กลับมีท่าทีในการเล่าที่แช่มช้าและนิ่งกว่า มีพื้นที่ให้เราลงไปสำรวจภาวะของตัวละครได้มากกว่า มีบรรยากาศเคว้งๆ อุ่นๆ เหมือนดูหนังวัยรุ่นญี่ปุ่นสไตล์ชุนจิ อิวาอิ ปมบาดแผลของแต่ละตัวละครก็ดูเป็นมนุษย์ธรรมดา (ยกเว้นกาอุมะที่ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา) อย่างไอ้หนุ่มที่แอบชอบหญิงสาวแต่รู้สึกว่าถูกหญิงสาวเล่นกับความรู้สึกอยู่ หญิงสาวที่สับสนในการตายของพี่สาวจนกลายเป็นโรคไม่ชอบรักษาสัญญา คนไร้งานที่ไม่กล้าสู้หน้าสาวที่เคยแอบชอบสมัยเรียน เด็กสาวที่ไม่อยากไปโรงเรียน 

ชอบที่ปมที่กล่าวไปเมื่อมันถูกคลี่คลาย ก็แบบง่ายๆ ไม่มีดราม่าอะไรใหญ่โตซ่อนไว้ บางคนอาจจะรู้สึกว่า “แค่นั้นเองเหรอ อุตส่าห์ตามมาตั้งนาน” แต่เพราะมัน “แค่นี้เอง” นี่แหละที่ทำให้เราเชื่อมโยงกับความเจ็บปวดของตัวละครได้ง่ายมาก และมันมีสิ่งที่ SSSS.Gridman ไม่มีนั่นก็คือเส้นรักวัยรุ่นที่แข็งแรงและโรแมนติกมากๆ

ดูได้ที่ Bilibili


อันดับ 4
Ranking of Kings

จริงๆ แล้วเรื่องนี้ยังฉายไม่จบ เพิ่งดำเนินมาถึงช่วงครึ่งหลังของซีซั่น แต่ก็เพียงพอที่จะพิสูจน์ความสนุกของอนิเมะเรื่องนี้ ที่สามารถชวนให้ติดตามได้ตั้งแต่ EP แรก จึงไม่แปลกที่เรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องฮิตส่งท้ายปีที่แล้วและยังคงเป็นเรื่องที่กระแสแรงในต้นปีนี้เคียงคู่กับดาบพิฆาตอสูร ซีซั่น 2

Ranking of Kings เล่าถึงโลกในจินตนาการที่จะมีการจัดลำดับของกษัตริย์ที่ปกครองแต่ละอาณาจักร ยิ่งอันดับสูงอำนาจก็ยิ่งมีมาก ตัวเอกของเรื่อง โบ๊ทจิ เป็นองค์ชายองค์โตของอาณาจักรหนึ่ง แต่ทว่าเกิดมาพิการ หูไม่ได้ยิน พูดไม่ได้ และยังร่างกายอ่อนแอ แต่โบ๊ทจิก็ยังหวังที่จะเป็นกษัตริย์ที่ดีและพิชิตเอาตำแหน่งราชาอันดับหนึ่งมาครองให้ได้ โบ๊ทจิต้องเจออุปสรรคมากมายทั้งจากภายนอกและภายในแต่เขาก็ยังมี คาเกะ เด็กกำพร้าเผ่ามนุษย์เงาที่จะมาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขเคียงข้างกับโบ๊ทจิตลอดไป

ถึงงานภาพและคาแรคเตอร์ดีไซน์จะมีความน่ารักสดใสเหมือนนิทานเด็กแต่จริงแล้ว Ranking of Kings นั้นมีเรื่องราวที่เข้มข้นและดาร์กในระดับหนึ่งทีเดียว ซึ่งจุดแข็งของ Ranking of Kings นั้นคือดราม่าของตัวละครเอกอย่าง โบ๊ตจิ ที่เกิดมาอาภัพ ไม่สมประกอบ โดนดูถูกไม่พอแต่ยังโดนปองร้ายจากคนใกล้ชิดอีก จึงเป็นตัวเอกที่ชวนให้เอาใจช่วยอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้คนดูอบอุ่นในมิตรภาพที่บริสุทธิ์ของโบ๊ตจิและคาเกะ

อีกอย่างที่ทำให้ Ranking of Kings นั้นดูสนุกคือการที่ตัวละครทุกตัวนั้นมีอีกด้านให้เห็นเสมอ อย่างเช่นเหล่าคนสนิททั้งหลายของพระราชาที่ตอนแรกเราจะคิดว่าเขาเป็นคนแบบนั้นแบบนี้แต่จู่ๆ เขาก็ทำในสิ่งที่เราคาดไม่ถึงด้วยการเผยอีกด้านออกมา ซึ่งนั่นทำให้ตัวละครเรื่องนี้นั้นดูเทาและมีมิติมากๆ คนดูเลยคาดเดาได้ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในเรื่อง

ดูได้ที่ IQIYI


อันดับ 3
Heike Monogatari ตำนานตระกูลไทระ

Heike Monogatari เป็นผลงานคุณภาพของสตูดิโอ Science Saru ที่ก่อตั้งโดย Masaaki Yuasa ที่มีผลงานน่าจดจำมากมายอย่าง Mind Game, The Tatami Galaxy, Night Is Short, Walk On Girl ส่วน Heike Monogatari นั้นกำกับโดย Yamada Naoko ที่เคยมีผลงานที่เป็นที่ชื่นชอบอย่าง A Silent Voice

Heike Monogatari เป็นมหากาพย์โบราณเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่เป็นเรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับตระกูลไทระ ซึ่งเป็นตระกูลที่มีอำนาจรุ่งเรืองในยุคเฮอัน ตระกูลไทระได้ทำการรบพุ่งแย่งชิงอำนาจกับตระกูลมินาโมโตะ ในสงครามใหญ่ของยุคเฮอันที่เรียกว่า “สงครามเก็นเปย์” เอาเข้าใจง่ายๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่ตระกูลสตาร์กรบพุ่งแย่งอำนาจกับตระกูลแลนนิสเตอร์ในซีรีส์เกมออฟโทรน ซึ่งจุดน่าสนใจของ Heike Monogatari นั้นอยู่ตรงที่ปกติเราจะรับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของฝั่งผู้ชนะซะส่วนใหญ่ แต่นี่คือเรื่องราวของผู้แพ้ในสงครามที่เล่าโดย “บิวะ” เด็กสาวผู้มีพลังเห็นอนาคต แต่เธอก็ไม่สามารถทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงโชคชะตาที่เธอเห็นล่วงหน้าได้ เธอได้เข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับตระกูลไทระ เพื่อเฝ้ามองความรุ่งเรืองจนถึงการล่มสลาย และนำเรื่องดังกล่าวขับขานให้คนรุ่นหลังได้รับรู้

เป็นอนิเมะที่งานภาพและงานเคลื่อนไหวสวยมากๆ ตามมาตรฐานของ สตูดิโอ Science Saru แต่ที่ทำให้ชอบมากๆ คือมันมีหัวจิตหัวใจและมีความกวีสูง อาจจะไม่ใช่อนิเมะที่ดูง่ายสำหรับทุกคน แต่ถ้าตั้งใจดูจะพบว่าไม่ยากจนเกินเข้าใจ และหากมีความเข้าใจในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นหน่อยจะดูสนุกขึ้นมาก ซึ่งในยุคนี้หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ไม่ยากเลย แค่ลองค้นด้วยคำว่า Tale of Heike หรือ Genpei War ก็ได้

แก่นของ Heike Monogatari นั้นทำให้เราเห็นถึงสัจธรรม ความอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถึงจะเป็นผู้แพ้ในประวัติศาสตร์แต่คนในตระกูลไทระต่างก็เคยมีชีวิต ทั้งมีความสุข ความทุกข์ มีครอบครัว มีคนที่รักและคนที่ชัง มีนิสัยต่างกันออกไป มีเกิดแก่เจ็บตาย ทุกคนต่างเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งในวัฏฏะแห่งนี้

ดูได้ทาง Bilibili


อันดับ 2
Sonny Boy

เหล่านักเรียนมัธยมกลุ่มนึงได้หลุดลอยมายังโลกที่เขาไม่รู้จักซึ่งในเรื่องจะเรียกว่า “โลกลอยเคว้ง” เด็กแต่ละคนได้พลังวิเศษเฉพาะตัว บางคนอยากกลับไปโลกเดิม บางคนอยากใช้พลังที่ได้รับเพื่อพิชิตโลกใบใหม่ โลกที่พวกเขาต้องหากฎและกติกาให้เจอเพื่อเอาชนะ และยิ่งพยายามทางออกเท่าไหร่ ก็ยิ่งหลุดไปต่างโลกอย่างไม่จบสิ้น ในโลกที่เวลาไม่เดินไปข้างหน้า พวกเขาจะสามารถกลับไปยังโลกเดิมเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้หรือไม่?

และนั่นคือเรื่องราวคร่าวๆ ของ Sonny Boy อนิเมะที่น่าพิศวงและชวนถกเถียงตีความที่สุดในปี 2021 ที่ผ่านมา มีการเล่าเรื่องที่ไม่ตรงไปตรงมา บอกข้อมูลว่า นี่คืออะไร? เกิดอะไรขึ้น? เพราะอะไร? ให้คนดูน้อยมาก บทสนทนาของตัวละครก็เป็นสิ่งที่ต้องตีความระหว่างบรรทัดเสมอ ทำให้ Sonny Boy เป็นอนิเมะที่ไม่ใช่สำหรับทุกคนเท่าไหร่เพราะ Narrative ของมันนั้นเน้นเชิง Meaning มากกว่าจะเล่า Story

แต่กระนั้น Sonny Boy เป็นงานที่มีเสน่ห์มากๆ ทั้งคาแรคเตอร์ดีไซน์ สไตล์ภาพ มุมกล้องการเฟรมภาพ เพลงประกอบ และบรรยากาศของเรื่องที่มันมีความ coming of age ของวัยรุ่นมากๆ ทำให้เป็นอนิเมะที่รอดูตอนใหม่ทุกวันศุกร์อย่างใจจดจ่อมากๆ (ในช่วงที่ฉาย) ซึ่งคนที่งงกับการดูก็แนะนำให้กลับไปยึดใจความหลักในย่อหน้าแรก เพราะเส้นเรื่องหลักของ Sonny Boy มีเพียงเท่านั้นและปล่อยให้อนิเมะเรื่องนี้มันสื่อสารกับเรา ซึ่งถ้าใครดูมาจนถึงจบ EP12 ก็จะรู้เองได้ว่าผู้สร้างนั้นอยากจะพูดอะไรกับเรา

ถ้าในบรรดาอนิเมะที่เป็นซีรีส์ เรื่องนี้ถือว่าอันดับ 1 ในใจของเราเลย แม้ดูจบมาหลายเดือนแต่ก็ยังคงติดค้างมาจนถึงตอนนี้ และชวนให้กลับไปดูซ้ำรอบที่สองและสามอยู่เรื่อยๆ เพราะทุกครั้งที่กลับไปดูใหม่ก็จะได้อะไรใหม่ๆ กลับมาเสมอ เช่นการดูรอบสองทำให้เราเก็ตการเล่าเรื่องใน EP1 มากขึ้นว่ามันไม่ได้เล่าเรื่องแบบเรียงลำดับ 1234 แต่มันเล่าแบบ 3412 แล้วถึงค่อยไป 5 ต่อๆ ไป

สิ่งที่ชอบที่สุดใน Sonny Boy ก็ไม่พ้นตัวละครแทบทุกตัว ตั้งแต่นาการะที่เป็นตัวเอก โดยในตอนแรกนั้นอาจจะดูน่ารำคาญ (คล้ายๆ ชินจิในอีวา) แต่พอเห็นการเปลี่ยนแปลงแล้วก็ทำให้รักและรู้สึกร่วมกับนาการะมากๆ ตัวละครหญิงอย่างโนโซมิและมิซุโฮะก็มีเสน่ห์มากๆ แต่ที่ชอบที่สุดคือ รัชดานี ที่เป็นนักเรียนชาวอินเดีย เป็นตัวละครที่ชาญฉลาด มีจิตใจดีงามและเป็นที่พึ่งของเพื่อนๆ (และคนดู)ในการไขปริศนาต่างๆ ของเรื่อง การเฝ้าดูความสัมพันธ์และการเติบโตของแต่ละตัวละครเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ในการดู Sonny Boy

ถ้าถามว่าจริงๆ แล้ว Sonny Boy เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร? จริงๆ ก็อยากให้ทุกคนไปสัมผัสกันและหาคำตอบกันเอง แต่ก็พอบอกได้กว้างๆ ว่ามันเล่าภาวะการณ์เปลี่ยนผ่านของวัยรุ่น การค้นหาตัวเอง ตั้งคำถามกับกฎต่างๆ ของโลก คิดว่าตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ และต้องเลือกว่าในความเป็นไปได้ไม่มีที่สิ้นสุดในโลกลอยเคว้งแห่งนี้ พวกเขาต้องการอนาคตที่จะอยู่ในโลกแบบไหน สรุปแล้วเป็นอนิเมะที่อยากให้ทุกคนได้ลองสัมผัสดูจริงๆ ถึงตอนนี้คนที่ดูอาจจะเป็นแค่กลุ่มเล็กๆ แต่ก็เชื่อได้ว่าถ้าได้ดูจนจบ Sonny Boy จะเป็นอนิเมะที่จะอยู่ในใจของคนดูไปอีกนานเท่านาน

ดูได้ทาง Ani-one Asia ใน youtube (ซับอังกฤษ) หรือ Bilibili (ซับไทย)


อันดับ 1
Evangelion: 3.0 + 1.01 Thrice Upon a Time

ใคจะคิดว่าบทสรุปของ Rebuild of Evangelion ซึ่งคือภาพยนตร์จตุรภาคที่เหมือนเป็นการเล่าใหม่ของ Neon Genesis Evangelion (ภาคทีวี 26 ตอน + ภาพยนตร์ The End of Evangelion) จะเป็นภาคสั่งลาที่ดูจบแล้วรู้สึกอบอุ่นใจ ผิดกับภาคก่อนๆ ที่ต่อให้สนุกแค่ไหนก็จะมีความหน่วงตามมาเสมอ กล่าวคือ ภาค Thrice Upon a Time เหมือน “การปล่อยวาง” ของตัว ผกก. ฮิเดอากิ อันโนะและคนดูเอง โดยการคลายทุกอย่างออกมาในมุมมองที่เป็นแง่บวก คนดูได้เห็นการเคลียร์สิ่งที่เคยค้างคาใจแทบจะทั้งหมด แน่นอนว่าด้วยความเป็นอีวาเกเลี่ยน เราสามารถดูรู้เรื่องได้แต่ไม่มีวันเข้าใจทั้งหมด ปริศนาในเรื่องที่ยังไม่เคลียร์ อะไรคืออะไร เป็นอย่างนั้นได้ยังไง ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนเพื่อเป็นช่องว่างให้จินตนาการและถกเถียงกันต่อไป

แต่สิ่งที่คลายออกมาชัดเจนที่สุดก็คือปมของตัวละครหลักๆ ที่ถูกคลายไปในแง่บวก เพราะหัวใจหลักของเรื่องอีวานเกเลี่ยนมันก็เรื่องของการที่ตัวละครไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียวได้ (ภาค 1 You are (not) alone) จมอยู่กับที่ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ (ภาค 2 You can(not) advance) และ ไม่สามารถแก้ไขความผิดในอดีตได้ (ภาค 3 You can(not) undo) จนมาในภาคสุดท้าย ที่ปมภายในทุกอย่างของตัวละครมันถูกคลี่คลายออกหมดก็จนคนดูที่ตามมา 20 กว่าปีไม่มีอะไรค้างคาใจกับอีวานเกเลี่ยนอีกต่อไป

การ Rebuild ครั้งนี้ตัวละครเองก็มีพัฒนาการเพิ่มเติมต่อเนื่องจากเวอร์ชั่นเก่าด้วย มันเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยที่เรารู้สึกว่าตัวละครแต่ละตัวนั้นแตกต่างออกไปจากเดิม ชินจิจะมีจุดที่เข้มแข็งขึ้นในหลายเหตุการณ์ เกนโดเองก็มีท่าทีอ่อนต่อชินจิมากขึ้น เรย์ที่อยากเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากขึ้น ริตสึโกะที่ปล่อยวางเรื่องเรย์และเกนโดมากขึ้น ถึงจะไม่มีจุดที่เฉลยชัดว่า Neon Genesis Evangelion เวอร์ชั่นเก่าที่จบลงในภาค The End of Evangelion กับภาพยนตร์ชุด Rebuild นั้นเกี่ยวข้องในเชิงลูปเวลาหรือเป็นจักรวาลเดียวกันที่ถูกรีเซ็ตขึ้นใหม่หรือไม่ (มีแต่ตัว hint บอกใบ้เชื่อมโยง) แต่ที่แน่ๆ มันมีความเชื่อมโยงกันทางความรู้สึกอยู่ทั้งในฐานะคนทำและคนดู ถึงมันจะไม่ได้ต่อเนื่องกันเป็นแต่คนที่ดูเวอร์ชั่นก่อนก็ย่อมเชื่อมโยงตัวละครกับเหตุการณ์ในเวอร์ชั่นเก่าเข้ากับภาค rebuild ได้เสมอ พอเห็นความเปลี่ยนไป เราก็จะรู้สึกไปเองว่าตัวละครนั้นมีพัฒนาการขึ้นมาจริงๆ ดังนั้นการที่จะดูเฉพาะภาค Rebuild อย่างเดียวนั้นไม่มีวันได้รับความรู้สึกและประสบการณ์ต่างๆ ได้เต็มที่เท่ากับการดูภาคทีวีและ The End of Evangelion มาก่อนแน่ๆ

สิ่งที่เหนือความคาดหมายที่สุดนั้นไม่พ้นตัวละครอย่างเกนโด ในเวอร์ชั่นก่อนๆ เราจะรู้แหละว่าเขาคือคนที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เจอภรรยาอีกครั้ง เขาเป็นตัวละครที่ลึกๆ นั้นอ่อนแอ ขี้ขลาด ยึดติดไม่ยอมปล่อยวางที่สุดในเรื่อง แต่ในบทสรุปครั้งนี้เราจะได้เห็นความเป็นมาว่าเขาต้องเผชิญกับอะไรจนกลายมาเป็นแบบที่เราเห็น พอเราเห็นความทุกข์ทรมานของเกนโด มันก็ทำให้เข้าใจและเห็นใจเขามากขึ้น และโล่งใจที่เขาสามารถก้าวผ่านมาได้ ดังนั้นโมเมนต์การต่อสู้ที่สำคัญที่สุดในภาคนี้ก็ไม่พ้นการปะทะกันระหว่างพ่อกับลูก เป็นครั้งแรกที่พวกเขาไม่เคยได้เคลียร์กันหมดเปลือกกันจริงๆ และแน่นอนปมขัดแย้งส่วนใหญ่ระหว่างมนุษย์วิธีแก้ที่ได้ผลที่สุดมันก็ไม่พ้นการนั่งเปิดอกคุยกัน

ในบทสรุปของภาคนี้เหมือนจะบอกให้เราเข้าหากันมากขึ้น พูดคุยมากขึ้นเพื่อเข้าใจอีกฝ่าย เพราะไม่ใช่เราคนเดียวที่เจ็บปวด คำพูดของตัวละครคาจิที่ว่า “การเคยชินกับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจะทำให้เราเอาใจใส่และเข้าใจอีกฝ่ายได้มากขึ้น” นั้นก็พอจะตอบคำถามในทั้งเวอร์ชั่นเก่าและเวอร์ชั่น Rebuild ว่ายิ่งเราได้เห็นความทุกข์ทรมานของชินจิมามากเท่าไหร่เราก็ยิ่งเข้าใจและใส่ใจชินจิมากขึ้น (ตามวัยและประสบการณ์ที่เติบโตขึ้นของคนดูด้วย) แน่นอนที่สุดว่าชินจิเองก็เช่นกัน จากคนที่เอาความทุกข์ของตัวเองเป็นที่ตั้งเสมอ เขาได้เติบโตโดยที่พยายามจะเข้าใจความทุกข์ของคนอื่นและกล้าที่จะเข้าหาเพื่อโอบกอดและปลอบโยนช่วยเหลือคนอื่น ในฐานะคนที่ตามดูชินจิมา 20 กว่าปีก็ไม่คิดเลยว่าชินจิจะมาถึงจุดนี้ได้ มันเลยอิ่มเอมและภูมิใจในตัวชินจิมากๆ

ขอบคุณผู้กำกับฮิเดอากิ อันโนะมากๆ ที่พาคนดูอย่างเรามาส่งยังชานชาลาปลายทางได้อย่างสวยงาม เป็นการจากลาที่ดีจริงๆ การที่ช่วงเครดิตนั้นภาพค่อยๆ กลายเป็นภาพในโลกจริงไม่ใช่แอนิเมชันอีกต่อไป ก็เป็นสารที่บอกให้เรายืนหยัดเข้มแข็งในโลกแห่งความจริง ไม่ใช่แค่ในจินตนาการ

ดูได้ทาง Amazon Prime Video

 

จักรวาล นิลธำรงค์ : ‘เวลา’ ที่อาจไม่ได้เป็นเส้นตรง และตัวเราในตอนนี้กับอดีตอาจเป็นคนละคนกัน ?

ย้อนไปช่วงปี พ.ศ.2558 ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ เก่ง – จักรวาล นิลธำรงค์ ในวาระที่หนังยาวเรื่องแรกของเขาอย่าง Vanishing Point (2015) เข้าฉายในไทย ผลงานที่เขาเปรียบเปรยว่า เป็นการจำลองสภาวะใกล้ความตายที่สุด ผ่านเรื่องราวที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตของคุณพ่อ

ในครั้งนั้นจักรวาลเองได้เอ่ยถึงบทหนังเรื่องถัดมา ที่ตัวเขาตั้งใจจะเขียนขึ้นเพื่อ “แม่” ของเขาบ้าง หกปีต่อมาบทที่ว่านั้น กลายมาเป็นหนังยาวเรื่องที่สองของเขา ‘เวลา’ Anatomy of Time ที่เล่าเรื่องราวของ “แหม่ม” (เทวีรัตน์ ลีลานุช) หญิงชราวัย 70 ปี ที่ต้องดูแลสามีป่วยติดเตียงผู้เหลือเวลาในชีวิตไม่มากแล้ว และการรำลึกถึงความทรงจำในวัยสาวของเธอ (ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์) กับเสนาธิการทหารคนหนึ่ง (วัลลภ รุ่งกำจัด) ในฉากหลังยุคการเมืองคุกรุ่น พ.ศ. 2524

“ผมเคยพูดถึงด้วยหรือ ? (หัวเราะ)” จักรวาลกล่าวหลังจากผมบอกเล่าถึงการเอ่ยถึงบทหนังเรื่องนี้ครั้งแรกในอดีต เป็นเรื่องปกติที่เวลาจะทำให้เราลืมสิ่งที่เคยบอกเล่าไปแล้วในอดีต แม้กระทั่งเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดของเราเองได้ 

และเมื่อเริ่มสนทนากับจักรวาลอีกครั้งในรอบหลายปี ผมพบว่าเขาดูผ่อนคลายกว่าเมื่อก่อนอย่างเห็นได้ชัด ดูเหมือนว่า “เวลา” จะเปลี่ยนแปลงตัวของจักรวาล ไม่ต่างจากตัวผมและทุกคนเช่นกัน…

© Diversion, Damned Films, Sluizer Film Productions, M_GO Films, Mit Out Sound Films

Film Club : เมื่อ 6 ปีก่อน คุณเคยบอกว่าตั้งใจว่าเขียนบทขึ้นมาอีกเรื่อง เพื่ออุทิศให้กับแม่ด้วย ซึ่งก็กลายมาเป็นเรื่อง ‘เวลา’ อยากรู้ว่ามันเริ่มต้นมาอย่างไร ?

จักรวาล : มันก็เริ่มต้นมาจากตอนที่เราไปบวชมา จำไม่ได้ว่าตอนที่คุยกันเมื่อ 6 ปีก่อนเราไปบวชมาหรือยัง แต่บทหนังเรื่องนี้เราเขียนขึ้นมาตอนบวชนั่นละ ก็ได้เป็นโครงหนังทั้งเรื่อง มีทรีตเมนต์ตั้งแต่ต้นจนจบ

Film Club : ในหนังเรื่อง ‘เวลา’ มีความเกี่ยวเนื่องกับ เหตุการณ์ประสบอุบัติเหตุของครอบครัว ที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำเรื่อง Vanishing Point ด้วยหรือเปล่าครับ ?

จักรวาล : ไม่เกี่ยวครับ เราไม่ได้อ้างถึงอุบัติเหตุครั้งนั้นเลย มันเป็นเหมือนอีกมุมของชีวิตฝั่งคุณแม่เรา มันเกิดจากคำถามที่ว่า ถ้าเราพยายามจะเข้าใจชีวิตของเขา มันสามารถหาคำตอบนี้ด้วยวิธีไหนได้บ้าง 

จริงๆ น่าจะเรียกว่า เราใช้ชีวิตของคุณแม่เป็นแรงบันดาลใจมากกว่า คล้ายๆ กับตอนที่เราทำ Vanishing Point ที่เริ่มต้นเขียนบทจากรูปซากรถยนต์ของคุณพ่อที่เกิดอุบัติเหตุ กับ ‘เวลา’ คือเราไปเจออัลบั้มรูปเก่าๆ ของคุณแม่ แล้วก็พบว่าคุณแม่ตอนสาวๆ คือสวยมาก มีรูปตอนเป็นดรัมเมเยอร์อะไรแบบนั้นด้วย จนกระทั่งเราไปเจอรูปที่คุณแม่ถ่ายกับผู้ชายคนอื่นที่ไม่ใช่คุณพ่อ เราก็เริ่มต้นคิดไปว่า สมมติถ้าคุณแม่เลือกผู้ชายคนนี้แทนคุณพ่อเรา ชีวิตเขาอาจจะไม่ทนทุกข์ขนาดนี้ หรือเราอาจจะไม่ได้เกิดมาก็ได้ ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจในการเล่าเรื่องของพาร์ตอดีต มันคือแฟนตาซีที่เราคิดขึ้นมาล้วนๆ จากรูปถ่ายของแม่

ส่วนพาร์ตปัจจุบัน แรงบันดาลใจมากจากช่วงที่คุณแม่ต้องดูแลคุณพ่อก่อนเสียชีวิต ซึ่งมันจะไปในทางเรียลลิสติก เพราะขณะที่เราทำหนังเรื่องนี้ มันคือสิ่งที่เห็น ณ ปัจจุบันตอนนั้นเลย แล้วคุณพ่อเราเสียก่อนที่หนังจะเปิดกล้องแค่วันเดียวเอง ฉะนั้นเราจะเห็นคุณแม่ที่ต้องไปเยี่ยมคุณพ่อทุกๆ วันจนถึงวันที่เสีย จัดงานศพ เอาเถ้ากระดูกไปลอย คือครบทุกกระบวนการในตอนนั้น จนแม่เขาได้หมดห่วงหลุดพ้นตรงนั้นไปแล้ว 

เมื่อถึงตอนที่เรากำกับ เราก็เล่าประสบการณ์ถึงเหตุการณ์นี้ให้นักแสดงฟัง พยายามที่จะให้นักแสดงมีประสบการณ์ร่วมกับสิ่งที่เราเห็นมาให้มากที่สุด ซึ่งมันเป็นไดเร็คชั่นในการทำงานที่เรามุ่งไปในทาง realism จริงๆ

© Diversion, Damned Films, Sluizer Film Productions, M_GO Films, Mit Out Sound Films

Film Club : กับชื่อภาษาอังกฤษ Anatomy of Time ต้องการสื่อถึงอะไรครับ ?

จักรวาล : โดยโครงสร้างของ ‘เวลา’ จะคล้ายๆ กับ Vanishing Piont ตรงที่เรื่องราวของมันถูกแบ่งครึ่งออก เป็นเรื่องราวของผู้หญิงคนนึงในช่วงวัยสาวและวัยชรา และทั้งสองต่างก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าแต่ละเรื่องเป็นภาพสะท้อนของอะไร แต่สิ่งที่เราสนใจในตอนทำเรื่องนี้หรือแม้แต่เมื่อตอนทำ Vanishing Point เองก็ตาม เรามักจะมีคำถามที่ว่า เมื่อตอนเป็นเด็กกับตอนเป็นผู้ใหญ่ เราคือคนคนเดียวกันใช่หรือเปล่า ? 

เราก็นึกย้อนไปถึงทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ หรืออย่างนักปรัชญาของยุคโมเดิร์น เขาก็เริ่มโยงกลับไปว่า การกระทำของเรา (ในปัจจุบัน) เป็นผลจากอดีตในวัยเยาว์ ซึ่งมันก็คือแนวคิดในอีกรูปแบบนึง จนมันมาถึงยุคปัจจุบัน มันถูกหักล้างไปแล้วว่าตัวเราในอดีต กับตัวเราในปัจจุบัน มันคือคนละคนเลย เราอาจจะมีประสบการณ์คนละชุด มองโลกคนละแบบไปเลย ซึ่งเราว่าในยุคปัจจุบันมันก็เห็นได้ชัด อย่างเช่นเรื่องการเมือง ที่วันนึงเคยอยู่ฝั่งนึง แต่ปัจจุบันข้ามมาอีกฝั่งนึงเลย มันไม่ได้เป็นเรื่องที่ linear (เป็นเส้นตรง) ต่อกันอีกแล้ว

เราก็เลยมองคำว่า “เวลา” มันสามารถถูกอธิบายได้หลายอย่าง คือเมื่อเราพูดถึงเวลา เรามักคิดถึงความเป็น linear หรือเป็นเส้นตรง มีอดีต ปัจจุบัน แต่เวลามันก็สามารถอธิบายในฐานะช่วงเวลาหนึ่ง ตำแหน่งแห่งที่หนึ่ง ใครครวญคิดถึงในแง่โมเมนต์หนึ่งได้เหมือนกันอีกแรงบันดาลหนึ่งของเรา เราได้อ่านหนังสือของพี่ ชาติ กอบจิตติ ชื่อเรื่องว่า ‘เวลา’ (นวนิยายรางวัลซีไรท์ปี 2537 ว่าด้วยเรื่องราวของผู้กำกับวัย 63 ที่สูญเสียภรรยาและลูกสาว กับคณะละครเวทีหนุ่มสาว ที่หลงใหลจะถ่ายทอดเรื่องราวของคนวัยชรา ซึ่งความสนใจของนวนิยายเล่มนี้ คือการใช้ฟอร์มของการเขียนบทภาพยนตร์ มาแทรกไว้ในส่วนหนึ่งของเรื่องด้วย) เราก็เลยอิงคาแรคเตอร์ตัวหนึ่งมาจากในหนังสือเล่มนี้ เข้ามาอยู่ในบทของเราด้วย ซึ่งก่อนจะทำหนังเราก็ส่งบทไปให้พี่ชาติอ่านก่อน ซึ่งพี่เขาก็ไม่ได้ติดขัดอะไร

Film Club : ในบทวิจารณ์หนังเรื่อง ‘เวลา’ ของคุณก้อง ฤทธิ์ดี กล่าวว่านี่คืองานที่ “เล่าเรื่อง” มากที่สุดเท่าที่คุณเคยทำมา 

จักรวาล : ก็คงจริง เพราะตอนเริ่มโปรเจกต์เราอยากท้าทายตัวเอง คือตอนที่เราไป pitching project เราก็จะบอกเลยว่าหนังเรื่องนี้จะไม่มี surreal แต่เราจะโฟกัสไปในทาง realism โดยใช้ภาพธรรมชาติในการเล่าถึงความธรรมดา ความเหมือนจริง สัจธรรมของชีวิต มันก็รวมไปถึงการแสดง อย่างนักแสดงที่มารับบทเป็นหญิงชรา ที่ต้องดูแลสามี เราก็ต้องนำเขาไปฝึกกับเนิร์สซิ่งโฮม ต้องรู้วิธีการถอดผ้าออม การพลิกตัว การเช็ดตัวผู้สูงอายุ มันก็ลงไปถึงรายละเอียดของการทำงานว่า เราจะไปในไดเรคชั่นนี้นะ

แต่เมื่อมาถึงการเรียงเรื่อง การตัดต่อ ถ้าถามว่ามันแบบจะ narrative แบบตรงไปตรงมาก็คงไม่ใช่ เพราะด้วยคอนเซ็ปต์เรื่อง เรามันไม่ได้มอง “เวลา” เป็น narrative ที่เป็นเส้นตรงอยู่แล้ว ดังนั้นหนังมันยังเป็นการเล่า ที่เกิดจากการทดลองค้นหาคอนเซ็ปต์เรื่อง “เวลา” ของเราอยู่

Film Club : ด้วยความเป็นคนทำหนังทดลองของคุณ เลยยังทำให้ยังสนใจที่จะลองเล่ามันในรูปแบบที่ไม่เป็น narrative แบบตรงไปตรงมาด้วยหรือเปล่า ?

จักรวาล : เราอาจจะไม่ได้มองตรงนั้นเลยก็ได้ เพราะเราคิดว่าทุกวันนี้มันก็ไม่ได้มีอะไรใหม่อีกต่อไปแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่ทำให้เรายัง keep working ต่อไปได้ ก็คืออะไรที่มันท้าทายตัวเราเอง รวมไปถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่มันเกิดจากการทำงานจริงๆ อันนั้นคือสำคัญสุด

อย่างช่วงที่ตัดต่อเรื่องนี้ เราใช้คนตัดต่อสองคน คนแรกคือ แคธารีน่า วาร์ทีน่า เป็นชาวดัตช์ ซึ่งก็มาด้วยเงื่อนไขของทุนที่เราได้มา เราก็ดูงานที่ผ่านมาของเธอก็โอเค แล้วด้วยความที่มันเล่าเรื่องผ่านผู้หญิง เราก็คิดว่าน่าสนใจที่จะทำงานกับนักตัดต่อหญิงดู แต่สุดท้ายเมื่อตัดเสร็จ กำลังจะไปขั้นตอนเกรดสีละ เราก็ตัดสินใจว่าไม่เอาดีกว่า คือมันยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เมื่อเทียบกับบทมันยังมีบางอย่างที่ขาดหายไป 

เราก็มาตัดกับพี่ ลี ชาตะเมธีกุล พี่ลีก็จะถามเราวนๆ อยู่อย่างนี้ว่า accent ของหนังคืออะไร คอนเซ็ปต์ของเวลาคืออะไร คอนเซ็ปต์ของ Anatomy of Time คืออะไร มันก็เปิดโอกาสให้เรากลับไปนั่งอ่านหนังสือ หาวิธีที่จะมาตอบพี่ลีหรือสนทนาว่า เวลาในมุมมองของเรามันคืออะไร ก็อ่านหนังสือปรัชญาที่มันเกี่ยวข้องกับเวลาเกือบทั้งหมด ซึ่งเราว่าอันเนี่ยสนุก และเราก็ได้ประโยชน์จากตรงนั้นมาก ในการหาบทสรุปให้กับหนัง 

© Diversion, Damned Films, Sluizer Film Productions, M_GO Films, Mit Out Sound Films

Film Club : นอกจากแรงบันดาลใจจากคุณแม่ ใน ‘เวลา’ ยังมีส่วนที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองในพาร์ตอดีตที่พูดถึง “กบฏยังเติร์ก” เพราะอะไรถึงเลือกนำเหตุการณ์ช่วงนั้นมาเล่าครับ ?

จักรวาล : พ่อเราเป็นทหาร แล้วก็อยู่ในกลุ่มกบฏยังเติร์กนี่ละ แต่เป็นรุ่นที่เด็กลงมา คือเราไม่ได้อยากเล่าเรื่องการเมืองแบบตรงไปตรงมา แต่แรงบันดาลใจมันมาจากประสบการณ์ของเรา คือเราเคยไปงานศพของพวกเพื่อนๆ พ่ออยู่บ่อยๆ เมื่อครั้งที่เขายังแข็งแรง มีอยู่ครั้งนึงคนที่มาในงานศพนั้น คือคุณ สุจินดา คราประยูร สิ่งที่เราเห็น ณ ตอนนั้นก็คือภาพของทหารแก่คนนึงที่เดินเข้ามาในงาน แต่ในความรับรู้ของคนเจเนอเรชั่นเรา พอเห็นสุจินดาก็คือขนลุก เพราะไม่คิดว่าคนแบบนี้ควรจะมีที่ยืนในสังคมอีกต่อไป แต่ปรากฏว่าในงานก็มีคนกลุ่มนึงที่ยังเคารพเขา ในขณะที่อีกกลุ่มคือเงียบไปเลยจากที่เสียงดังๆ ในตอนแรก

สิ่งที่เราสนใจคือ ภรรยาของสุจินดา ซึ่งก็เดินเกาะแขนเขาเข้ามาในงานศพนั้นด้วย เราก็เลยเริ่มสนใจตรงนี้ ว่าอยากเล่าเรื่องของชีวิตภรรยานายทหาร ที่ต้องคอยเกาะตามสามีไป ทั้งที่สามีเองก็ไปผจญกับเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่มีส่วนรับรู้เกี่ยวข้อง แต่ต้องมาคอยรับเคราะห์ไปด้วย แล้วในอีกนัยหนึ่งมันก็เป็นเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ทางการเมืองผ่านเรื่องราวของ “หลังบ้าน” 

จริงๆ ในหนังแทบไม่ได้เล่าเยอะเลย เพราะเราคิดว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์มันหาได้ง่าย แค่เราไปสะกิดให้คนตั้งคำถามว่า อะไรคือ “ยังเติร์ก” แค่นั้นเราก็ประสบความสำเร็จแล้ว เดี๋ยวเขาก็ไปหาต่อเองได้ เราอาจไม่จำเป็นต้องทำหนังเล่าประวัติศาสตร์ในภาพยนตร์ตรงๆ แต่ว่าหน้าที่ของเราคือการทำให้เขาสนใจสิ่งที่มันเคยเกิดขึ้นในอดีตมากกว่า

© Diversion, Damned Films, Sluizer Film Productions, M_GO Films, Mit Out Sound Films

Film Club : คุณคิดว่าคนทำหนัง จำเป็นไหมที่ต้องสะท้อนความเห็นหรือทัศนคติเกี่ยวกับสังคมหรือการเมืองในช่วงเวลานั้นๆ โดยเฉพาะกับคนทำหนังอิสระไทย ที่ผู้ชมมักจะมองว่า ชอบใส่เรื่องการเมืองเข้าไปในหนังอยู่เสมอ ?

จักรวาล : เราคิดว่าหน้าที่ของคนทำศิลปะ ไม่ใช่แค่การสื่อสารทัศนคติของเราผ่านผลงานเพียงอย่างเดียว แต่หน้าที่ที่สมควร คือเขาควรจะหาวิธีตั้งคำถามที่ดี แล้วให้คนไปหาคำตอบเอง เพราะว่าถ้าเราเลือกข้างๆ นึง แล้วใส่ทัศนคตินั้นลงไปในหนัง เวลาผ่านไปอีก 30 ปี หนังเรื่องนั้นก็จะกลายเป็น propaganda เรื่องนึง เพราะเขากำลังโฆษณาชวนเชื่อ ให้เชื่อในทัศนคตินั้น 

แต่ถ้าเราเลือกที่จะตั้งคำถามขึ้นมาคำถามนึง แล้วให้คำถามนั้นมันน่าสนใจมากพอให้ผู้ชมไปหาคำตอบเอง โดยที่เขาอาจจะเลือกข้างไหนก็ได้ นี่คือสิ่งที่ทำได้ยากกว่า เพราะฉะนั้นเรื่องทัศนคติทางการเมือง สำหรับเรา ต่อให้เราจะพูดหรือไม่พูดในหนัง เมื่อหนังมันถูกสร้างขึ้นมาในบรรยากาศ ณ ขณะนั้น มันก็จะพูดด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นที่จะพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา

คือเรารู้สึกว่า วงจรของการแยกชิงอำนาจ มันมีทุกที่ มีมาตลอด และจะมีตลอดไป มันคือ rise and fall ที่เกิดวนซ้ำไม่รู้จบ มันจะหยุดเมื่อไหร่ ถ้าเราไม่ถอยออกมาเพื่อดูมัน เราก็จะไม่มีทางเห็นมัน


หมายเหตุ : ‘เวลา’ Anatomy of Time เข้าฉายในไทย 20 มกราคม นี้

FILM CLUB Year List 2021 (Part 3)

0

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง)

ในที่สุดปี 2021 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ไม่แพ้ปี 2020 โรงหนังกลับมาเปิดแล้วในช่วงครึ่งปีหลังแต่ยังลูกผีลูกคน กิจการ Streaming ภาพยนตร์เติบโตต่อเนื่องและอาจจะน่ากังขาพอๆ กับน่าชื่นชม ความตายรายวันของผู้คนในประเทศจากโรคระบาด การชุมนุมที่ซบเซาลงทั้งจากโรคและการออกหมายจับรายวันจนถึงวันนี้ 

ผู้คนก็ยังคงดูหนังกันอยู่ ทั้งแบบออกนอกบ้านและไม่ออกนอกบ้าน ทั้งแบบเดิมที่ตั้งใจดูและแบบใหม่ที่ดูไปแชตไป เทศกาลกระจุกตัวในห้วงเวลาสั้นๆ ท้ายปีจนแทบชนกันตายเพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นและเลื่อนจากอดีตมาหลายคำรบแล้ว 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2021 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2022 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง


กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ : แพทย์ นักเขียนประจำ Film Club

แสงมัวบอด (Blinded by the Light) (2011, ชนสรณ์ ชัยกิตติภรณ์)

การพูดถึงขบวนการแรงงานและสหภาพแรงงานดูจะเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมากขึ้นอีกครั้งหลังการรัฐประหารในปี ค.ศ. 2014 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการประท้วงต่อต้านการสืบทอดอำนาจรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาในช่วง ค.ศ. 2020-2021 รวมไปการตีพิมพ์หนังสือรวมเล่มบทความชื่อ Autonomia : ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ และการเมืองของการปฏิวัติ (2018) ของ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ที่บทความ “เราทุกคนคือศิลปิน”: อวัตถุศึกษาว่าด้วยแรงงาน ได้ช่วยชี้ให้เห็นถึงการขูดรีดที่เปลี่ยนไปจากยุคอุตสาหกรรมสู่ยุคดิจิตัลในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 จนถึงต้นศตวรรษที่ 21 การค่อยๆ กลายเป็นแรงงานทางความคิดหรือแรงงานอวัตถุของคนร่วมสมัยจึงกลายเป็นข้อถกเถียงสำคัญที่ช่วยให้เรานึกถึงการจัดตั้งความสัมพันธ์แบบใหม่ขององค์กรแรงงานอวัตถุ ผ่านการต่อสู้เพื่อให้ได้การประกันรายได้พื้นฐานให้แก่การทำงานศิลปะ หรือรายได้พื้นฐานที่ปราศจากเงื่อนไขที่รัฐมีหน้าที่ต้องให้กับภาคแรงงานไม่เป็นทางการด้วย 

ดังนั้นแล้วแรงงานในอุตสหกรรมภาพยนตร์จึงถือเป็นแรงงานอวัตถุรุ่นแรกๆ ซึ่งสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นอวัตถุ โดยคร่าวๆ แล้วภาพยนตร์สั้นที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ชมและคิดว่ามีข้อเสนอที่น่าสนใจต่อประเด็นแรงงานอวัตถุในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้แก่ People on Sunday (2020) โดย ตุลพบ แสนเจริญ 31 วันหรรษาสารขัณฑ์ (2021) โดย ธนกฤต กฤษณยรรยง จนถึง แสงมัวบอด (2021) โดย ชนสรณ์ ชัยกิตติภรณ์ ซึ่งจะขออนุญาตหยิบยกเพียงแค่ แสงมัวบอด (2021) มาพูดถึง

แสงมัวบอด (2021) เป็นวิดีโอขนาดยาว 22 นาที ที่รับเลือกฉาย International Premiere ใน The Southeast Asian Short Film Competition ที่งาน 32nd Singapore International Film Festival รวมถึงได้ทุนสร้างจากหอภาพยนตร์ โดยมีการจัดแสดงผลงานในรูปแบบวิดีโอจัดวาง (Video Installation) ในวาระโอกาสเฉลิมฉลอง 124 ปี วันกำเนิดภาพยนตร์ในสยาม

หากแต่ว่า แสงมัวบอด (2021) กลับเป็นการเฉลิมฉลองคนธรรมดาสามัญมากเสียกว่าจะเป็นการเชิดชูความศักดิ์สิทธิ์สถาพรของภาพยนตร์ที่แรกเริ่มเดิมทีนำเข้ามาผ่านราชสำนักเพื่อใช้บันทึกพระราชพิธีในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แต่รัตน์ เปสตันยี กลับเป็นที่พูดถึงในฐานะผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในช่วงทศวรรษ 1950-1960

นิทรรศการ แสงมัวบอด ถูกจัดวางและฉายด้วยฉากที่คล้ายกับภาพอธิบายทฤษฎีการหักเหของแสงที่ว่า เมื่อแสงเดินทางจากแหล่งที่มีค่าดัชนีหักเหมาก ไปแหล่งที่มีค่าดัชนีหักเหน้อย จะทำให้เกิดมุมหักเหของแสงเบนออกจากเส้นปกติ จอที่ฉายวิดิโอมีองศาที่คล้ายกับมุมหักเห ที่เมื่อผู้ชมนั่งดูจะพบว่าเป็นภาพสองจอปกติ แต่หากมองจากด้านข้างจะพบว่าจอทำมุมแบ่งออกเป็นสองจอ การดูวิดิโอบนจอที่ทำมุมจึงเป็นเสมือนการดูเงามากกว่าที่จะเป็นการดูแสง

การเกิดมุมหักเหของแสงแน่นอนว่าทำให้เกิดเงา เพราะมีการบังรังสีของแสง เงาดูจะเป็นส่วนที่ชนสรณ์ให้ความสนใจ วิดิโอเริ่มด้วยสีขาวของแสงและจบลงด้วยแสงสีขาว หากแต่ชนสรณ์ให้พื้นเกือบทั้งหมดของวิดิโอกับสีดำ สีดำของห้องฉายและสีดำที่หมายถึงบุคคลที่ไม่ถูกฉาย ชนสรณ์มักจะตัดภาพของบุคคลสำคัญออกไปและให้พื้นที่และเวลากับแรงงานในฉากนับตั้งแต่ ทีมงานฝ่ายเทคนิคในกองถ่าย ผู้พายเรือพระที่นั่ง พราหมณ์ผู้ประกอบพระราชพิธี ไปจนถึงนักแสดงและทีมงานในกองถ่ายที่ได้รับผลกระทบทางด้านร่างกายจากการประกอบอาชีพที่ไร้สวัสดิการ การชดเชยความเสียหายจากการทำงาน (ที่เหมาะสม) และความปลอดภัยในที่ทำงาน 

พร้อมๆ กันยังมีเสียงสัมภาษณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่ผู้ดูแลกองถ่ายที่ทำงานล่วงเวลาจนหมดสติในกอง ไปจนถึงช่างภาพที่ต้องแบกกล้องจนกระดูกสันหลังทรุด และช่วงครึ่งหลังของวิดิโอถูกแบ่งด้วยภาพพรมแดงงานสุพรรณหงส์ที่เหล่าดาราถูกตัดภาพออกเหลือแต่ช่วงตัวกับภาพที่หลอกหลอนตัดสลับกับลานดาราในหอภาพยนตร์ที่ให้พื้นที่กับเหล่าทีมงานในอุตสหกรรมภาพยนตร์ หลังจากนั้นเป็นภาพของจอหนังกางแปลงของทีมงาน “นิรันดร์ ภาพยนตร์” ที่กำลังล้มพังพาบ เหล่าแรงงานกำลังพยายามยื้อยุดไม่ให้จอภาพล้มลงเพราะแรงลม ธุรกิจหนังกางแปลงเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ กำลังล่มสลายลงในระบอบเสรีนิยมใหม่เช่นนี้

ชนสรณ์ให้พื้นที่ครึ่งหลังของวิดิโอเป็นคลิปจากกล้องที่ถ่ายชีวิตธรรมดาที่ต้องนั่งจักรยานยนต์รับจ้าง ชีวิตในเมืองหลวงไร้สวัสดิการ รถไฟฟ้าราคาแพง พลุปีใหม่ที่เสมือนกำลังใจจากฟ้าแบบไลฟ์โค้ชในการขายแรงงานให้ทุนข้ามพ้นไปอีกปี บ้านเรือนที่กำลังลุกไหม้ ภาพทำบุญเลี้ยงพระ น้ำเน่าเสีย ชายหาดซัดสาดคลื่นจากกล้องความละเอียดต่ำ ทางเดินแยกปทุมวันที่กลายเป็นพื้นที่ประท้วงของประชาชนวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 2020 และเป็นภาพแรงงานวงการภาพยนตร์สูงวัยตัดกับภาพเด็กสาวที่รุ่นหลาน ต้นไม้สีเขียวสูงขึ้นรับแสงแดด ชนสรณ์ฉายภาพสุดท้ายคือเงาเหล่านั้น เงาของต้นไม้ และเงาของละครมือ ก่อนที่แสดงสีขาวจะสว่างขึ้นอีกครั้ง ภาพในช่วงหลังส่วนหนึ่งมาจากคลิปที่ชนสรณ์ให้ทีมงานเบื้องหลังภาพยนตร์ที่ได้รับบาดเจ็บถ่ายวิดิโอเรื่องราวในชีวิตประจำวันแล้วส่งมาให้เขา

การหันกลับไปหาเงา การละเล่นเงา และการฉายภาพยนตร์ ดูจะชวนให้นึกถึงเรื่องเล่าถ้ำของเพลโต ที่เหมือนจะเป็นต้นธารของความคิดโลกสมัยที่ขุดเอาแนวคิดกรีกกลับมาอีกครั้ง “ว่าด้วยพลเมืองที่ถูกล่ามไว้ในถ้ำ พวกเขาเรียนรู้ผ่านแสงและเงาบนผนังถ้ำ พวกเขาเข้าใจไปว่าภาพเหล่านั้นคือความจริง และมีเพียงชนชั้นนำที่มีความปรารถนาจะออกจากถ้ำเพื่อไปรับรู้ความจริงแบบอื่นๆ และพวกเขาจะกลายเป็นผู้มาควบคุมคนในถ้ำ”

การกลับเข้าถ้ำ การหันเข้าหาด้านมืดของลำแสง การเผชิญหน้า และปล่อยให้ร่างกายสัมผัสกับชีวิตของเงา จึงมิใช่การกลับไปหาความโง่เขลา หรือแม้แต่การหยิ่งผยองในอำนาจของสภาวะสมัยใหม่ หากแต่เป็นการเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ ในแนวระนาบ ที่แสงและเงาอยู่ในโครงข่ายโยงใยเดียวกัน ที่ความมืดและสว่างต่างดำรงอยู่อย่างเท่าเทียม และที่ทุกสิ่งมีศักยภาพของการเป็นองค์ประธานของการเปลี่ยนแปลงและปฏิวัติ


ธีพิสิฐ มหานีรานนท์ : นักเขียน กองบรรณาธิการ Thairath plus

Don’t Call Me (2021, Song Min-kyu with SHINee, South Korea)

ถึง 2021 จะเป็นปีที่มีแต่ความฉิบหาย วุ่นวาย และป่าเถื่อน แต่หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ยัง ‘รู้สึกดี’ กับการมีชีวิตอยู่ ก็คือ การได้กลับมา ‘ติ่งเกาหลี’ อีกครั้งในรอบหลายปี 

Don’t Call Me คือเพลงและเอ็มวีที่จูงมือพาฉันให้กลับมายังจุดนี้ได้ เพราะมันคือผลงาน comeback stage ของ SHINee -วงไอดอลน่ารักน่าชังที่เคยมีเพลงแนวเต้นตามได้ในผับเมื่อทศวรรษก่อน- ในรอบหลายปี (เช่นกัน) ซึ่งจู่ๆ การได้ดูได้ฟังสิ่งนี้เมื่อต้นปี ก็ทำให้รู้สึกตื่นเต้นกับความเคป๊อปที่ไปไกลถึงไหนต่อไหน, ความพยายามของศิลปินที่อยากทดลองอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ และความรู้สึกที่ว่าเพลงพวกนี้มันไม่ใช่แค่เพลงเต้นๆ หล่อๆ เฉยๆ โว้ย แต่มันเหนื่อยฉิบหาย กว่าจะเติบโตมา และทำสิ่งนี้ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ! (FYI : SHINee เดบิวต์มากว่า 13 ปีแล้ว)

ยิ่งรักขึ้นไปอีก เมื่อพอไปไล่ดูประวัติศาสตร์ของวง (ที่เมื่อก่อนเคยรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง) จนค่อยๆ ระลึกชาติได้ว่า วงของห้าหนุ่มนี้ ต้องผ่านความหนักหนาสาหัสมามากมาย ทั้งจากความพยายามฝึกฝนเป็นไอดอลในมิติต่างๆ (แต่ก็ยังคงความเป็นตัวเองของสมาชิกแต่ละคนไว้ได้), ความตีลังกาสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบใหม่ๆ (จนบางทีคนฟังก็ด่า) และความสูญเสีย (จงฮยอน สมาชิกคนหนึ่งในห้า เสียชีวิตไปเมื่อปี 2017) ที่ทำให้ ชยาวอล -ชื่อแฟนคลับวงที่กร่อนคำมาจาก SHINee World- หลายคน ต้องสั่นสะเทือนจนไม่สามารถทำใจตามซัพพอร์ตวงต่อไปได้

ปี 2021 คือปีที่พวกเขากลับมาอีกครั้ง หลังจากทำอัลบั้ม The Story of Light (2018 – ที่มีจำนวนสมาชิกเหลืออยู่เพียงแค่สี่คนเป็นครั้งแรก คือ อนยู, คีย์, มินโฮ และ แทมิน) ด้วยการปล่อยอัลบั้มชุดที่ 7 อย่าง Don’t Call Me ตามด้วยมหกรรมการคัมแบคจากอัลบั้มรีแพคเกจ (เพิ่มเพลง) Atlantis, อีพีอัลบั้มภาษาญี่ปุ่น Superstar และงานโซโล่ของสมาชิก ทั้ง Advice อีพีของแทมิน, Bad Love อีพีของคีย์, Way เพลงคู่ของอนยู (ผู้ที่มีเสียงร้องเป็นเอกลักษณ์จนโด่งดังกลายเป็นไวรัลจากรายการ Sea of Hope) และ Heartbreak ซิงเกิลของมินโฮ

นี่ยังไม่นับรวมถึงคอนเสิร์ตแบบวงและแบบเดี่ยวใน Beyond Live ที่มากันอย่างต่อเนื่อง จนกดจ่ายเงินกันแทบไม่ทัน — ซึ่งความน่าสนใจก็คือ ผลงานทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้แฟนๆ ได้เห็นถึงความตั้งใจในการทำงาน และดีเทลความเป็นมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ ของพวกเขาแต่ละคนมากขึ้นทีละนิดทีละหน่อย จนเราค่อยๆ เข้าใจมนุษย์ไอดอลเหล่านี้-ที่ดูเหมือนจะแตะต้องได้ยาก แต่กลับมีนิสัยหลายอย่างที่เชื่อมโยงกับเรา-ได้อย่างน่าประทับใจ

สิ่งเหล่านี้ช่วยย้ำเตือนให้ฉันรู้สึกว่าการเป็นติ่งเกาหลีไม่เคยเป็นเรื่องไร้สาระ แต่มันขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะ ‘สัมผัส’ มันจากมุมไหนมากกว่า

และการเป็นชยาวอลในปีนี้ มันช่วย save ฉันจากความรู้สึกแย่ๆ ในสังคมไทยรอบข้างทุกวันนี้ เมื่อได้เห็นว่าความรักที่ SHINee มีให้กัน และมีให้แฟนๆ ทั่วโลก มันสามารถส่งต่อให้ติ่งอย่างเรากลับมามีความหวังและมีพลังสู้ชีวิตต่อไปได้เรื่อยๆ

โดยหลายทีก็พกอินเนอร์แบบ ‘อย่าโทรมาจุ้นจ้านกับฉัน’ ให้มากความ (ตามอย่างเพลง Don’t Call Me) เพราะฉัน (กู) จะมูฟออนแล้วโว้ย!!!!!


นภัทร มะลิกุล : นักวิจารณ์ นักเขียนประจำ Film Club

I Care a Lot (2020, J Blakeson, UK/USA)

หนังที่มีดีตรงความจิกกัดเจ็บๆ คันๆ ที่จะทำให้เราตั้งคำถามกับ “ความรวย” ที่แสบมากคือหนังทำให้เราเอาใจช่วยตัวละครที่ทำผิดศีลธรรมแต่กำลังมุ่งหน้าไปสู่ความสำเร็จอย่างสุดโต่ง เป็นการเผยด้านมืดของคนดูมากกว่าตัวละครเสียอีก และการแสดงของโรซามุนด์ ไพค์ กับปีเตอร์ ดิงค์เลจ ก็ไม่ทำให้ผิดหวังเลยจริงๆ เพราะมันร้ายสูสีกันอย่างลงตัว


จิตร โพธิ์แก้ว : cinephile ที่ปรึกษา Film Club

The Japanese Settlers to the Manchuria and Inner Mongolia of Mainland China (2008, Haneda Sumiko, Japan, 120min)

หนึ่งในหนังที่ชอบที่สุดที่ได้ดูในปีนี้คือหนังสารคดีเรื่อง THE JAPANESE SETTLERS TO THE MANCHURIA AND INNER MONGOLIA OF MAINLAND CHINA ที่ตามสัมภาษณ์ชาวญี่ปุ่นหลายคนที่รอดชีวิตจากแมนจูเรียในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมาได้ หนังเล่าให้ฟังว่า ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นั้น ประชากรญี่ปุ่นล้นเกาะ คงเพราะยุคนั้นยังไม่มีถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิด แล้วพอในยุคนั้นประชากรญี่ปุ่นล้นเกาะ มันก็เลยเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร คนในชนบทอดอยากยากแค้นกันอย่างรุนแรงสุดๆ (นึกถึงละครทีวี “สงครามชีวิตโอชิน”) รัฐบาลญี่ปุ่นก็เลยกระตุ้นให้ชาวบ้านจนๆ ในชนบทอพยพไปอยู่แมนจูเรีย แล้วตัวรัฐบาลแมนจูเรียเองก็ต้องการประชากรญี่ปุ่นมาอยู่กันเยอะๆ ด้วย เพื่อเอาไว้ต้านโซเวียต แต่พอเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วญี่ปุ่นเริ่มแพ้สงคราม ทหารโซเวียตก็บุกเข้ามาในแมนจูเรียในปี 1945 ชาวบ้านญี่ปุ่นในแมนจูเรียก็เลยอพยพหนีตายกัน และก็เผชิญกับชะตากรรมที่หนักมากๆ โดยเรื่องที่หนักที่สุดคือการที่แม่หลายคนฆ่าลูกตัวเล็กๆ ของตัวเองตาย เพราะลูกๆ ของพวกเธอร้องเสียงดังในระหว่างการเดินทางหลบหนีจากศัตรู ตัวผู้ให้สัมภาษณ์คนนึงเล่าว่า พอโซเวียตบุก เธอกับครอบครัวและชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆ ก็เลยต้องอพยพหนีตายกัน เธอแบกเด็ก 2 ขวบมาด้วยคนนึง เป็นลูกของเพื่อนบ้าน แต่ในระหว่างการเดินทางขึ้นเขา เด็กคนนี้กับเด็กอีก 2 คนร้องเสียงดังเพราะความหิว แม่ของเด็กก็เลยตัดสินใจฆ่าลูกๆ ของตัวเองตาย เพื่อที่คนอื่นๆ จะได้รอดชีวิตได้ แล้วมันไม่ได้จบแค่นั้น เพราะการฆ่าเด็กเล็กๆ มันเกิดขึ้นต่อมาเรื่อยๆ ในระหว่างการเดินทางหลบหนี มีแม่บางคนจำใจต้องโยนลูกเล็กๆ ของตัวเองลงบ่อน้ำ (แต่เหมือนเด็กรอดชีวิต ซึ่งผู้ให้สัมภาษณ์ก็ไม่แน่ใจว่ารอดชีวิตได้อย่างไร) แล้วผู้ให้สัมภาษณ์คนนึงก็เล่าว่า แม่ของเธอตัดสินใจฆ่าน้องสาววัย 5 ขวบของเธอด้วย เพราะน้องสาววัย 5 ขวบของเธอร้องว่าอยากกิน sweet potatoes แม่ของเธอก็เลยให้คนเอาลูกของตัวเองไปฆ่า และเธอก็เล่าอีกด้วยว่า พี่ๆ ของเธอไม่เคยให้อภัยแม่ของเธออีกเลยนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นั้นเป็นต้นมา

พ่อๆ หลายคนก็ฆ่าลูกของตัวเองในเหตุการณ์นี้ด้วยเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่พ่อๆ ไม่ได้ฆ่าลูกเพราะความจำเป็นในการปกป้องชีวิตของคนอื่นๆ ในระหว่างการเดินทาง แต่พวกเขาฆ่าลูกๆ เพราะเห็นว่าศัตรูกำลังจะบุกมาถึงตัว และพวกเขาคงเห็นว่าการฆ่าเมียและลูกๆ ของตัวเองและฆ่าตัวตายตาม อาจจะมีเกียรติกว่าการถูกศัตรูจับตัวไป แต่สิ่งที่หนักที่สุดก็คือว่า พอพ่อๆ จำนวนมากฆ่าเมียกับลูกๆ ของตัวเองตายกันไปหมดแล้ว แล้วกำลังจะฆ่าตัวตายตามครอบครัวตัวเองไป ปรากฏว่าดันเจอ “ทางหนี” พอดี พวกพ่อๆ ก็เลยหนีมาได้ 

ยังมีเรื่องราวอื่นๆ อีกมากมายในสารคดีเรื่องนี้ ทั้งเรื่องของคนแก่ที่ตัดสินใจไม่หนีตามคนอื่นๆ เพราะกลัวตัวเองจะเป็นภาระในการหลบหนีของคนอื่นๆ, เด็กที่ถูกกระแสน้ำพัดพาหายไปในระหว่างการเดินทางข้ามแม่น้ำ, ชาวญี่ปุ่น 500 คนที่ฆ่าตัวตายหมู่ เพราะกลัวว่าจะถูกทหารโซเวียตจับไป, หญิงญี่ปุ่นที่ตัดสินใจแต่งงานกับชายชาวจีน เพื่อช่วยเหลือลูกๆ 4 คนของตัวเธอเอง, แม่ๆ ที่ตัดสินใจทิ้งลูกเล็กๆ ไว้ข้างทาง แล้วไม่รู้ว่าลูกจะโดนหมาป่าจับไปกินหรือเปล่า, เด็กญี่ปุ่นที่ถูกทิ้งไว้ข้างทาง แล้วได้รับการเลี้ยงดูจากชาวจีนในฐานะลูกบุญธรรม ซึ่งก็มีทั้งเด็กที่ได้พ่อแม่บุญธรรมชาวจีนที่ดี และเด็กที่ได้พ่อแม่บุญธรรมชาวจีนที่เลวร้าย และเรื่องของเด็กญี่ปุ่นที่พอโตมาแล้วก็มีปัญหาอย่างรุนแรงกับพวก Red Guard ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนจนเกือบจะถูกตัดสินประหารชีวิต ในข้อหาเป็นสปายของญี่ปุ่น แต่โชคดีที่นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหลของจีนเข้ามาช่วยชีวิตเธอไว้

อย่างไรก็ดี หนังเรื่องนี้ก็ย้ำตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องว่า จุดยืนของหนังเรื่องนี้คือการประณามรัฐบาลญี่ปุ่นและลัทธินิยมทหารของญี่ปุ่นในอดีต คือถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะเน้นถ่ายทอดความทุกข์ยากลำเค็ญของชาวญี่ปุ่นในแมนจูเรียเป็นหลัก แต่หนังก็บอกว่าคนผิดคือรัฐบาลญี่ปุ่นและ Japan Militarism และหนังบอกไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเคยทำเลวกับคนจีนเอาไว้อย่างรุนแรงมาก เพราะฉะนั้นจุดยืนของหนังเรื่องนี้ก็เลยเป็นสิ่งที่เราชื่นชมมากๆ

เรื่องบังเอิญอีกอย่างนึงที่เราอยากจดบันทึกไว้ก็คือว่า ปีนี้เราได้ดูหนังกลุ่ม “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ที่เราชอบสุดๆ มากมายหลายเรื่องด้วย หนังเหล่านี้มักจะกลับไปสำรวจเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในอดีต ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว (อย่างเช่น PROFIT MOTIVE AND THE WHISPERING WIND) และเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีก่อน (อย่างเช่น แม่นาปอย) โดยหนังกลุ่ม “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ที่เราชอบสุดๆ ในปีนี้ก็รวมถึง THE JAPANESE SETTLERS TO THE MANCHURIA AND INNER MONGOLIA OF MAINLAND CHINA ที่เราได้กล่าวถึงไปแล้ว และหนังเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น 

1. THE ANABASIS OF MAY AND FUSAKO SHIGENOBU, MASAKO ADACHI, AND 27 YEARS WITHOUT IMAGES (2011, Eric Baudelaire, Lebanon/Japan, documentary)

2. ASIA THE UNMIRACULOUS (2018-2020, Ho Rui An, Singapore)

3. BELGRADE FOREST INCIDENT…AND WHAT HAPPENED TO MR. K? (2020, Jan Ijäs, Finland, about Saudi Arabia, documentary)

4. THE CARDINAL (2020, Nicolae Margineanu, Romania)

5. THE DEAD WEIGHT OF A QUARREL HANGS (1999, Walid Ra’ad, Lebanon)

6. DEAFENING SILENCE: BURMA INSIDE/OUT (2012, Holly Fisher, USA, about Myanmar)

7. THE DEATH OF A HORSE (1992, Saimir Kumbaro, Albania)

8. DRUMS OF RESISTANCE (2016, Mathieu Jouffre, Kosovo, documentary)

9. THE EDGE OF DAYBREAK (2021, Taiki Sakpisit)

10. FIG TREES (2009, John Greyson, Canada, about South Africa, documentary)

11. JOHN LEWIS: GOOD TROUBLE (2020, Dawn Porter, USA, documentary)

12. JUDAS AND THE BLACK MESSIAH (2021, Shaka King, USA)

13. THE LAST RECORD OF ‘DA TORPEDO’ (2020, Nutcha Tantivitayapitak, documentary)

14. LEVEL FIVE (1997, Chris Marker, France, about Japan)

15. MAALBEEK (2020, Ismaël Joffroy Chandoutis, France, about Belgium, documentary)

16. MAE NAPOI (2021, Chaweng Chaiyawan, documentary)

17. NAURU – NOTES FROM A CRETACEOUS WORLD (2010, Nicholas Mangan)

18. THE NIGHTINGALE (2018, Jennifer Kent, Australia)

19. A NIGHT OF KNOWING NOTHING (2021, Payal Kapadia, India)

20. PROFIT MOTIVE AND THE WHISPERING WIND (2007, John Gianvito, USA, documentary)

21. RED’S SCAR (2021, Nutcha Tantivitayapitak, documentary)

22. THE RIFLEMAN (2020, Sierra Pettengill, USA, documentary)

23. RIFT FINFINNEE (2020, Daniel Kötter, Germany/Ethiopia, documentary)

24. THE SAKO TAPES (2019, Machiel van den Heuvel, Netherlands/Indonesia/India, documentary)

25. SEEING IN THE DARK (2021, Taiki Sakpisit)

26. SILENCE (2021, Kick the Machine Documentary Collective)

27. THE SILENT PROTEST: JERUSALEM 1929 (2019, Mahasen Nasser-Eldin, Palestine, documentary)

28. A SKETCH OF MANNERS (ALFRED ROCH’S LAST MASQUERADE) (2013, Jumana Manna, Palestine) 

29. SLUT NATION: ANATOMY OF A PROTEST (2021, Wendy Coburn, Canada, documentary)

30. SONGS OF REPRESSION (2020, Marianne Hougen-Moraga, Estephan Wagner, Denmar, about Chile, documentary)

31. SURFACES (2021, Cristina Motta, Argentina/Colombia, documentary)

32. TASTE OF WILD TOMATO (2021, Lau Kek-huat, Taiwan, documentary)

33. TWILIGHT OF THE GOODTIMES (2010, Charles Mudede, Roxanne Emadi, USA, documentary)

34. YOUR FATHER WAS BORN 100 YEARS OLD, AND SO WAS THE NAKBA (2018, Razan Alsalah, Canada/Palestine)


ธนพัฒน์ วงษ์วิสิทธิ์ : อาจารย์พิเศษสอนภาพยนตร์, นักวิจารณ์ แอดมินเพจ Movies Can Talk

แด่วันสุดท้ายที่เริ่มต้น (2021, วชากร เพิ่มพูล)

ในสถานการณ์โรคโควิด 19 ลงจนประกาศหยุดการถ่ายทำดั่งจราจรลงไฟแดงตลอดสาย หนึ่งในเสียงอันน้อยๆ ที่น่าเห็นใจคือเหล่านักศึกษาทำหนังจบที่ต้องดิ้นรนเข็นจนจบ

“แด่วันสุดท้ายที่เริ่มต้น” เป็นหนังส่งจบมหาลัย (แต่ไม่ได้ฉายเทศกาลหนังจบเพราะเหตุผลส่วนตัว ต่อมามีมิตรสหายส่งหลังไมค์ให้คอมเมนต์อีกที) หนังสั้นขนาดยาวเกือบ 40 นาทีเล่าเรื่องของ เมษ ปลาย และอีฟ นักเรียนสามคนจะไปเล่นคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายเพราะอีฟป่วยเป็นมะเร็ง ในหนังแทบทั้งเรื่องเป็น Road Movie มีหลงกลางป่า ฉากโชว์ดราม่าจนถึงโชว์ร้องเพลง แค่ลองจินตนาการว่าเป็นหนังจบคงจะใหญ่โตไม่น้อย

สิ่งที่เห็นในหนังคือมีช็อตนักแสดงเพียงฉากเปิดเรื่อง (ก่อนเดินทาง) และปิดเรื่อง (ส่งเพื่อนถึงบ้าน) ส่วนตรงกลางทั้งหมดเป็นสีดำโดยเล่นคล้ายละครวิทยุ มีเสียงธรรมชาติอัดจริง เสียงนักแสดง (ซึ่งคนละแคส แถมผู้กำกับเล่นเองอีก) เล่นจริงแทนที่จะอ่านแบบละครวิทยุ ผลลัพธ์ที่ได้น่าอัศจรรย์ใจมาก แทนที่จะรู้สึกเศร้ากับการที่น้องเสียโอกาสการถ่ายทำ น้องตั้งใจและผลักให้พลัง ”ความมืด” ให้เป็นประโยชน์เหมือนคนฟังอยู่ในวงเพื่อน ปลอบโยนตัวละคร (และคนดู) จากปากเพื่อนป่วยโรคมะเร็งว่า ”ทุกอย่างมันจะโอเค” ฉากร้องเพลงของ อีฟ มันทรงพลังมากจนเรากลั้นน้ำตาไม่อยู่จริงๆ

ถึงแม้ “แด่วันสุดท้ายที่เริ่มต้น” จะเป็นหนังไม่สมบูรณ์นักโดยเฉพาะเรื่องเสียงขาดความต่อเนื่องและซีนดูเป็นส่วนๆ แต่พลังใจของน้องที่กัดฟันทำจนสำเร็จจนเราสัมผัสได้อย่างเต็มเปี่ยมและ ”ขอบคุณ” ที่ใช้หัวใจสร้างมาให้คนดูรับชม สุดท้ายกลายเป็นหนึ่งในหนึ่งประสบการณ์ที่ละจากหัวไม่ได้ หวังว่าหนังจะถูกฉายอย่างทางการอีกในเร็ววัน พลังคนทำงานศิลปะจงเจริญ!


บารมี ขวัญเมือง : นักประชาสัมพันธ์ฝ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ M PICTURES, นักวิจารณ์, แอดมินเพจ Movies Can Talk

Pleasure (2021, Ninja Thyberg, Sweden/Netherlands/France)

มันเกือบจะเป็นหนัง exploitation เกรดบีที่ประสบความสำเร็จ แต่เพราะงานนี้ผู้กำกับ Ninja Thyberg กลับสามารถหลบหลุมพรางต่างๆ ให้พ้นเงาของหนังประเภทดังกล่าวได้อย่างแยบยลและกลายเป็นอีกเวอร์ชั่นในชื่อ A Pornstar Is Born ผ่านตัวละครวัยรุ่นสาวที่พยายามตะกายดาวสู่การเป็นที่ 1 ในวงการหนังผู้ใหญ่ ด้วยการนำเสนอทั้งภาพไขว่คว้าจินตนาการเพ้อฝัน ตัดสลับกับความเป็นจริงอย่างน่าเวทนา ซึ่งความคลุมเครือเหล่านี้มันทำให้คนดูหยั่งลึกเข้าไปถึงภายในจิตใจของตัวละครที่เต็มไปด้วยความสับสน ผนวกกับความอ่อนแอและเปราะบาง อีกทั้งมันยังเป็นการสะท้อนอุตสาหกรรมที่พวกเขาอยู่ (นอกจากนางเอกแล้ว นักแสดงทุกคนในเรื่องก็ล้วนเป็นดาราหนังโป๊ตัวจริง) ได้อย่างมีชั้นเชิง เก็บทุกรายละเอียด และไม่อ้อมค้อม โดยเฉพาะการทรีตภาพของดาราหนังโป๊ให้เป็น “มนุษย์” เหมือนกัน ทำให้เข้าใจว่าชีวิตที่เขาต้องมาสร้างความสุขให้เราก็เหน็ดเหนื่อยไม่แพ้วงการอื่นๆ หรือแม้กระทั่งเรื่องชื่อเสียงทั้งหมดที่คนเหล่านี้ยอมทิ้งความเป็นตัวเองและเสียสละจุดสุดยอดเพื่อให้ได้มานั้น มันคุ้มค่าที่สุดแล้วจริงหรือ?


ปฏิพล อัศวมหาพงษ์ : นักแสดงละครเวที นักการละคร 

Orlando (2019, Katie Mitchell, Germany/France/Spain/Sweden)

เป็นบันทึกการแสดงสด ที่บนเวทีคือฉากถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง orlando ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกัน ที่มีการถ่ายทำ มีคนบรรยายบท และตัวภาพยนตร์ที่เกิดจากการถ่ายบนเวทีให้ดูพร้อมกัน เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ดี ทุกอย่างดูซุกซนกลกิโมโนมากๆ อยากดูอะไรก็ดู จะดูเรื่องดูการแสดงก็ได้ หากเบื่อเรื่องก็สามารถดูความลำบากของนักแสดงในการถกกระโปรงเปลี่ยนชุดหลังกล้องเพื่อเข้าฉากถัดไปแบบไม่ได้พักหายใจหายคอได้ ทั้งทีมงานและนักแสดงวิ่งวุ่นบนเวทีเหมือนกุ้งเต้น จนบางครั้งก็หลงลืมโมเม้นอะไรแบบนี้ แต่พอมันได้เห็นอะไรแบบนี้ก็ชื้นใจดี ประทับใจจนขอจับหน้าอกจับจิต


วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย : ผู้กำกับสารคดี School Town King ผู้ก่อตั้ง Eyedropper Fill

4 KINGS (2021, พุฒิพงษ์ นาคทอง)

ชอบอันดับแรกคือ เราไม่ได้เห็นหน้าหนังที่พูดถึงคนชายขอบมานานมากแล้ว ช่วงที่ดูหนังเรื่องนี้ในโรงทำให้นึกถึงหนังช่วงยุค 90-2000 จำพวก เสียดาย, มือปืน, เฉิ่ม, เสือร้องไห้ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เราเติบโตมาด้วย ดีใจที่มีพื้นที่ให้กับชีวิตและเรื่องราวของคนเหล่านี้ได้ปรากฏอยู่บนจอโรงหนังขนาดใหญ่

ชอบอันดับสองคือ เราได้เห็นองค์ประกอบของยุค 90 ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์หนังโลกทั้งใบให้นายคนเดียว ในลานจอดรถห้าง, ถุงน้ำหวาน, ตู้โทรศัพท์ หรือเพลงวงร็อคอย่างหินเหล็กไฟ ได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ซึ่งเราว่านี่เป็นอีกจุดดึงดูดนึงของหนังที่แทรกช่วงเวลาย้อนวันวานแบบนอสตราเจียให้ได้คิดถึง เราว่าองค์ประกอบเหล่านี้ได้ฮีลใจเรามากๆ เมื่อเทียบกับความโหดร้ายจากสถานการณ์การเมืองและโควิดในโลกปัจจุบัน

ชอบอันดับสาม หนังได้พาเราไปอยู่ใน landscape สถานที่ต่างๆ ที่เด็กวัยรุ่นยุคนั้นอาศัยอยู่ ดาดฟ้าของห้างที่เห็นปล่องแอร์, ชั้นตู้เกมส์, ตรอกซอกซอยในชุมชน, ห้องอาบน้ำในคุกเด็ก หนังได้พาเราไปซอกซอนลัดเลาะไปใน landscape ที่เราไม่เคยเห็น แล้วประกอบออกมาเป็นโลกที่ช่วยให้เราเข้าใจวิถีชีวิตของเด็กอาชีวะมากขึ้น แต่เสียดาย เราอยากเห็นพาร์ตในโรงเรียนมากกว่านี้ อยากรู้ว่าเขาเรียนกันยังไง? มีวิธีรับน้องหรือส่งต่อวัฒนธรรมรักสถาบันกันยังไง? มอบเสื้อรุ่นหรือหัวเข็มขัดกันยังไง? ถ้าหนังมีพาร์ตนี้เสริมอีกหน่อยคิดว่าโลกอาชีวะน่าจะกลมขึ้น 

รวมๆ แล้วเราอยากให้มีหนังที่พูดถึงประเด็นคนชายขอบอีกเยอะๆ เบื่อแล้วหนังเด็กชนชั้นกลางในเมือง ยิ่งปัญหาในตอนนี้ กลุ่มคนเหล่านี้มีอีกมาก เราในฐานะคนทำหนังและคนดูก็อยากให้มีพื้นที่สื่อสารประเด็นเหล่านี้ในระดับแมสได้อีกเยอะๆ เอาใจช่วยทีมงาน, ผู้กำกับ, นายทุน และผู้ผลิตทุกคนสำหรับความกล้าที่มีต่อหนังเรื่องนี้ครับ


อภิโชค จันทรเสน : นักเขียนรับเชิญ Film Club, ผู้กำกับภาพยนตร์สั้น ost

ด้วยรัก…ถึงกุหลาบ

ผมได้ดู ‘ด้วยรักฯ’ เป็นครั้งแรกในงานฉายหนังสั้นที่ได้เข้ารอบประกวดมูลนิธิหนังไทยปีนี้ ก่อนดูก็สนเท่ห์กับเรื่องย่อและกิตติศัพท์หน้าหูที่ได้ยินมาจากคนที่ได้ดูตัวหนังก่อนติดเข้ารอบอยู่แล้ว แต่เมื่อได้ดูจริงๆ บนจอขนาดโรงภาพยนตร์เต็มตาถึงได้รู้ว่า ทั้งหมดของปี 2021 ไม่มีอะไรที่ให้ประสบการณ์ได้เหมือนกับการดูหนังเรื่องนี้เลย

สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดู ‘ด้วยรักฯ’ เล่าถึงเรื่องราวของ กุหลาบ น้าสาวคนหนึ่งในครอบครัวคนทำหนังเรื่องนี้ที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ก่อนเธอจะเกิดมา ขณะยังมีชีวิตกุหลาบเป็นเด็กหญิงจอมแก่นที่เติบโตขึ้นมาในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคอีสาน กุหลาบเป็นเด็กหน้าตาดี เป็นที่รักใคร่ของทุกคน ยิ่งเธอโตเป็นสาวก็ยิ่งเป็นดาวประจำหมู่บ้าน แทบจะเรียกว่าเป็นศูนย์รวมหัวใจของคนทั้งตำบลเลยก็ว่าได้ แต่เคราะห์ร้ายชีวิตอันแสนรุ่งโรจน์ของเธอกลับต้องจบลงด้วยโรคร้ายในวัย 18 แต่เรื่องไม่ได้จบลงแค่นั้น เพราะเมื่อน้องสาวของผู้กำกับเกิดมา ด้วยหน้าตา ท่าทาง การกระทำต่าง คนทั้งครอบครัวล้วนลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่าน้องสาวของผู้กำกับ เป็นนางสาวกุหลาบกลับชาติมาเกิดแน่นอน

คือต้องแอบยอมรับว่า เราเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ความคาดหวังเรื่องมิติพิศวง Twilight Zone กลับชาติมาเกิดของเรื่อง แต่พอได้ดูจริงๆ ได้ฟังคนทั้งครอบครัวเล่าเรื่องราวชีวิตของนางสาวกุหลาบทุกด้านด้วยความรักและคิดถึง ผ่านภาพถ่ายนับร้อยของกุหลาบที่ครอบครัวถ่ายเก็บไว้ ได้เห็นโลกที่กุหลาบใช้ชีวิต ประเพณีของหมู่บ้าน สีหน้า แววตา ท่าทาง รู้ตัวอีกที เราเหมือนได้รับอภิสิทธิ์ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวน้ากุหลาบไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ พอตอนท้ายเรื่องได้เห็นรูปถ่ายขาวดำของน้ากุหลาบ เราน้ำตาไหลเลย ในเวลาแค่ 10 กว่านาที เรารักคนคนนี้จนหมดหัวใจไปเสียแล้ว

ไม่ว่าน้องสาวของผู้ทำหนังเรื่องนี้จะเป็นน้ากุหลาบกลับชาติมาเกิดจริงหรือไม่ แต่ผู้เขียนขอบอกว่ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รู้จักกับมนุษย์คนนี้ น้ากุหลาบ หญิงสาวที่ทำให้โลกใบนี้เป็นโลกที่ดีขึ้น แม้จะเป็นแค่ในเวลาสั้นๆ ก็ตาม


Seam-C : cinephile

2020 (2020, กฤษดา นาคะเกตุ)

เป็นหนังสั้นที่ดูตั้งแต่ต้นปี 2021 แต่ตราตรึงมาจนตอนนี้ ทั้งหมดของมันเป็นเพียงแค่กับจับจ้องผู้คนและสถานที่ในปี 2020 ปีที่ประเทศยังอยู่กับภาวะโรคระบาดรอบใหม่ คือภาพสามัญของผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตกันต่อไป มันทั้งเศร้าสร้อยแต่ก็งดงามไปในที มีมวลอารมณ์ล่องลอยอยู่มากมายเต็มไปหมดและที่มันรุนแรงกว่าคือภาพแบบเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นซ้ำอีกในปีถัดมา


อ่านต่อในตอนอื่นๆ : FILM CLUB Year List 2021 (Part 4) | FILM CLUB Year List 2021 (Part 5)

อนาคตลูกโลกทองคำ ปฏิรูปเท่านั้นที่ต้องการ

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการประกาศรางวัลลูกโลกทองคำประจำปี 2022 ซึ่งนอกจากผลรางวัลแล้วก็ไม่มีภาพข่าวอื่นใดที่จะทำให้บรรยากาศคึกคักเหมือนปีก่อนๆ เนื่องจากงานโดนชาวฮอลลีวูดบอยคอตทั้งวงการ จึงไม่มีหน้างาน ไม่มีการถ่ายทอดสด และไม่มีดารา แม้แต่การแต่งชุดสวยๆ นั่งลุ้นรางวัลหน้าจอแบบปีก่อนหน้าก็ไม่มี…เกิดอะไรขึ้นกับสถาบันเก่าแก่ที่มอบรางวัลมาแล้ว 79 ครั้งแห่งนี้ 

เริ่มต้นจาก ก.พ. 2021 LA Times สืบคดีการฟ้องร้องต่อต้านการผูกขาด ซึ่งเริ่มเป็นเรื่องเป็นราวกันมาตั้งแต่ พ.ย. 2020 โดยนักข่าวชาวนอร์เวย์ Kjersti Flaa ได้กล่าวหา สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำฮอลลีวูด (HFPA) ผู้จัดงานลูกโลกทองคำ ว่าองค์กรนี้สร้าง ‘วัฒนธรรมแห่งการทุจริต’ โดยเธอบอกว่าองค์กรนี้มีการผูกขาด กีดกันการเข้าถึงสื่อ มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก หลบเลี่ยงภาษี เลือกปฏิบัติ และเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง และความไม่เป็นธรรมอันฟอนเฟะเบื้องหลังองค์กรอันทรงอิทธิพลที่สุดองค์กรหนึ่งของฮอลลีวูด ในฐานะองค์กรสื่อที่สนับสนุนอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน 

ลูกโลกทองคำเผชิญกับข้อครหาเหล่านี้มาเนิ่นนาน รวมไปถึงกรณีบ้าดาราที่แบ่งประเภทดราม่าและตลกออกจากกันเพื่อเพิ่มที่นั่งผู้เข้าชิงให้ดารา การปิดโอกาสหนังต่างประเทศและแอนิเมชั่นเข้าชิงรางวัลอื่นๆ นอกเหนือจากหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม จนเป็นเหตุให้หนังอย่าง Parasite กับ Minari ไม่สามารถเข้าไปถึงรางวัลหนังยอดเยี่ยมได้ ยังไม่นับความฉาวโฉ่ในอดีตได้ถูกขุดมาตีแผ่อีกเพียบ อย่างข้อครหาว่ามีการ ‘ซื้อ’ นักแสดงดาวรุ่งยอดเยี่ยมให้ เปีย ซาโดรา จาก Butterfly 

ต่อมาสมาคมยังถูกเปิดโปงว่าสมาชิกไม่มีคนดำแม้แต่คนเดียว จนอาจเป็นผลให้มีการกีดกันการเข้าชิงรางวัลหนังยอดเยี่ยมของหนังคนดำที่โดดเด่นเมื่อปีที่แล้วอย่าง Da 5 Bloods, Ma Rainy’s Black Buttom และ Judas and the Black Messiah รวมถึงซีรีส์เรื่องดัง I May Destroy You ด้วย แต่ขณะที่ Emily in Paris ได้เข้าชิง 2 รางวัลใหญ่ ซึ่งเมื่อสืบสาวไปก็พบว่าอาจมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากมีนักข่าวของ HFPA ได้โควต้าเยี่ยมกองถ่ายที่ปารีสถึง 30 คน และการเปิดโปงทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก่อนงานประกาศลูกโลกทองคำ 2021 เพียง 1 สัปดาห์ จนคณะผู้บริหารต้องขึ้นเวทีขณะกำลังถ่ายทอดสด เพื่อแถลงว่าจะแก้ไขการบริหารองค์กรใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก

พ.ค. 2021 สตูดิโอใหญ่อย่าง Netflix และ Amazon ประกาศคว่ำบาตรงานลูกโลกทองคำ ก่อนจะตามมาด้วย Warner Media ที่ออกแถลงให้ HFPA ตอบคำถามจากอุตสาหกรรมซึ่งเรื้อรังมาเป็นเวลานาน ทั้งเรื่องเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ และการล่วงละเมิดทางเพศ เช่น กรณีของ เบรนแดน เฟรเซอร์ ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ GQ ว่าเขาโดน ฟิลลิป เบิร์ก ประธาน HFPA ลวงไปล่วงละเมิดทางเพศเมื่อปี 2003 

จุดแตกหักอยู่ที่นักแสดงเบอร์ต้นๆ ของฮอลลีวูด ส่งคืน 3 รางวัลลูกโลกทองคำให้ HFPA ซึ่งเขาเป็นดาราทรงอิทธิพลของฮอลลีวูด ตามด้วยการเปิดโปงพฤติกรรมฟอนเฟะของสมาชิก HFPA เช่น สการ์เลต โจแฮนส์สัน ที่แฉว่าเคยโดนถามคำถามในเชิงล่วงละเมิดทางเพศจากนักข่าวของ HFPA จนในที่สุด NBC ประกาศยกเลิกการถ่ายทอดงานประกาศรางวัล 2022 จนกว่าจะมีการปฏิรูปองค์กร แล้วค่อยมาคุยกันใหม่ในปี 2023 ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้ของ NBC ได้รับการสนับสนุนจากดาราและสตูดิโออย่างท่วมท้น 

หลังจากการยกเลิกจาก NBC แล้ว HFPA ได้วางแนวทางการปฏิรูปองค์กรโดยละเอียด รวมถึงการแก้ไขข้อบังคับและหลักจรรยาบรรณขององค์กรเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริตติดสินบน เปิดรับผู้บริหารที่มีความหลากหลาย ปิดช่องโหว่การสร้างผลประโยชน์ และเปิดรับสมาชิกใหม่โดยการดูแลจากคนกลาง …HFPA ได้ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มสมาชิกใหม่อีก 50% (จากเดิมที่มีสมาชิกไม่ถึงแค่ 87 คน) ภายในช่วง 18 เดือน โดยใช้เกณฑ์พิจารณาใหม่ให้นำไปสู่ความหลากหลายมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่เกณฑ์ใหม่ไม่ได้ตอบข้อเรียกร้องของคนในอุตสาหกรรมเพราะการขยายฐานสมาชิกที่หลากหลายไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูประบบอย่างที่ต้องการ เพราะสุดท้ายแล้วองค์กรก็จะถูกกำกับดูแลโดยคนไม่กี่คนอยู่ดี 

ลูกโลกทองคำ และ HFPA เป็นสถาบันเก่าแก่ที่ไม่ได้เพิ่งโดนบอยคอตครั้งแรก ก่อนหน้านี้ก็ถูกต่อต้านจากคนในอุตสาหกรรมมาเป็นระยะ จากข้อกล่าวหาเดิมๆ จากวิธีบริหารแบบเก่าที่ไม่ได้ยกเครื่องระบบการบริหารมานานแล้วจนตกยุค …เพียงครั้งนี้การเรียกร้องของคนในอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่การคว่ำบาตร การปฏิรูปต่างหากที่สำคัญ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าหาก HFPA ไม่สามารถปฏิรูปองค์กรและกติกาอย่างที่คนในอุตสาหกรรมต้องการ ปี 2022 อาจเป็นจุดจบของลูกโลกทองคำก็เป็นได้ 

การดิ้นรนเพื่อปฏิรูปองค์กรของ HFPA อาจจะสะท้อนให้เห็นเป็นผลรางวัลปีนี้ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ซีรีส์เกาหลี Squid Game เข้าชิง 3 รางวัลคือ ซีรีส์ยอดเยี่ยมประเภทดราม่า, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมประเภทดราม่า (อีจุงแจ) และนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (โอยองซู) ซึ่งสามารถคว้ารางวัลสุดท้ายไปครองได้สำเร็จ, นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มอบรางวัลให้นักแสดงข้ามเพศ เอ็มเจ โรดิเกซ ที่คว้ารางวัลนักแสดงหญิงยิดเยี่ยมจาก Pose และชัยชนะของ เจน แคมเปียน เป็นผู้กำกับหญิงคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก The Power of the Dog ตามหลัง บาร์บรา สตรัยแซนด์ จาก Yentl (1984) และ โคลเอ้ จ้าว จาก Nomadland (2021) 


ผลรางวัลลูกโลกทองคำ 2022 

หนังยอดเยี่ยม (ดราม่า) – The Power of the Dog

หนังยอดเยี่ยม (เพลงหรือตลก) – West Side Story 

ผู้กำกับยอดเยี่ยม – เจน แคมเปียน (The Power of the Dog) 

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ดราม่า) – วิล สมิธ (King Richard) 

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (ดราม่า) – นิโคล คิดแมน (Being the Ricardos) 

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (เพลงหรือตลก) – แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ (tick, tick…Boom!) 

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (เพลงหรือตลก) – ราเชล เซ็กเลอร์ (West Side Story) 

นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม – โคดี้ สมิท แม็กฟี – The Power of the Dog 

นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม – อารีอาน่า เดอโบส (West Side Story) 

บทยอดเยี่ยม – เคนเนธ บรานาห์ (Belfast) 

แอนิเมชั่นยอดเยี่ยม – Encanto 

หนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม – Drive My Car 

ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม – ฮานส์ ซิมเมอร์ (Dune) 

เพลงประกอบยอดเยี่ยม – No Time to Die (No Time to Die) 

ซีรีส์ยอดเยี่ยม (ดราม่า) – Succession 

ซีรีส์ยอดเยี่ยม (เพลงหรือตลก) – Hacks 

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (ทีวีซีรีส์ดราม่า) – เอ็มเจ โรดิเกซ (Pose) 

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ทีวีซีรีส์ดราม่า) – มาร์ค สตรอง (Succession) 

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (ทีวีซีรีส์เพลงหรือตลก) – จีน สมาร์ท (Hacks) 

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ทีวีซีรีส์เพลงหรือตลก) – เจสัน ซูดิคิส (Ted Lasso) 

ลิมิเต็ดซีรีส์หรือหนังทีวียอดเยี่ยม – The Underground Railroad 

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (ลิมิเต็ดซีรีส์หรือหนังทีวี) – เคต วินสเลต (Mare of Easttown) 

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ลิมิเต็ดซีรีส์หรือหนังทีวี) – ไมเคิล คีตัน (Dopesick) 

นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (ทีวี) – ซาราห์ สนูก (Succession) 

นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ทีวี) – โอยองซู (Squid Game) 

Don’t Look Up ก็มองบนไปเลยสิคะ!!!!

0

คำเตือน : นอกจากสปอยล์แล้ว บทรีวิวนี้ยังเต็มไปด้วยความท่วมท้นทางอารมณ์ และการตะโกนขึ้นเสียง ยืนเท้าเอววีน ด่าแบบเหมือนมีคนตะคอกใส่ มีการใช้คำหยาบคาย มีทุกคำอย่างที่คนกำลังเผชิญหน้าหายนะจะกรีดร้องออกมา

ไม่ได้แล้ว ไม่ได้!!! ไม่ได้เลย!!!!! ไม่ได้!!!!!

ปกติแล้วในหนังเรื่องอื่น ฉันจะดูไป อิมโพรไวซ์ตามตัวละครไปด้วย ประหนึ่งเราเป็นนางเอก ซึ่งเรื่องนี้ แน่นอนค่ะว่ากะเทยเป็นแม่เจนลอว์ เพื่อจะได้เข้าใจหนังมากขึ้น แต่กับเรื่องนี้ ฉันร้องกรี๊ดออกมาเลย!!!! ไม่ใช่เพราะว่าฉันไม่เข้าใจ แต่เพราะว่าฉัน…กะเทย…ฉันใช้ชีวิตในเรื่องนี้ไม่ได้ ใครมันบอกว่าเป็นหนังตลก กะเทยจะวีน จะกรี๊ด จะเถียงสุดหัวใจ ทุกอย่างมันไม่มีอะไรที่ควรจะทำ ทุกอย่างมันวุ่นวายและทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่วิบัติกว่าในหนังมหาวิบัติดาวหางชนโลก ก็คือ คือตรรกะคนในเรื่อง คือความบ้งของตัวละครทุกตัว แล้วทุกอย่างในหนังนั้นดันดูเป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริง!!! จริงแบบเห็นภาพ กะเทยเห็นภาพคอนเสิร์ตแชริตี้ แบบในเรื่องที่ดาราทั่วทุกหัวระแหง ทุกสารทิศจะมาจับมือกันแล้วร้องเพลงประหนึ่งหนังฟีลกู๊ด ประหนึ่งร้องเพลงในทุ่งหญ้าลาเวนเดอร์แล้ว แล้วดาวหางก็จะพุ่งชนโลกเป็น background แล้วสุดท้ายทุกคนก็ตายห่าไป ดูแล้วมันจะเกิดขึ้นจริง จริงจนหดหู่ได้เลย

หนังเรื่องนี้เปิดด้วยนักดาราศาสตร์สองคน มินดี้ และ เคท รับบทโดยลุงหมีลีโอ และ แม่เจนลอว์ วันดีคืนดีตรวจพบดาวหาง แล้วตรวจไปตรวจมาพบว่าอีเวร มัน…จะชนโลก!!! เอาแล้วมึงงงงง ร้อนแล้ว ข่าวร้อนมันแน่นอกต้องยกออก ต้องรีบบอกทุกคนเพื่อแก้สถานการณ์ นี่มันข่าวใหญ่!!!!! เรื่องใหญ่!!! เรื่องนี้ต้องถึงหูประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งรับบทโดยสมเด็จป้าองค์มหาราชินีแห่งฮอลลีวูด เมอรีล สตรีพ ที่อยู่วงการมาหลายสิบปี ตอนนี้มารับบทให้คนด่าเล่น เดบิวท์ตัวเองเป็นสนามอารมณ์ การมาเจอประธานาธิบดี กะเทยคิดแล้วว่าทุกอย่างต้องถูกจัดการอย่างทันท่วงที เรามีเวลาอีกหกเดือน เราจะยิงนู๊ค ยิงจรวด ยิงระเบิด ยิ่งผียิ่งห่าอะไรขึ้นไปถล่มมันก็ได้ หรือจัดตั้งกองกำลังสุดปั๊วปัง ถล่มดาวหางเอาให้วอดวาย เอาให้พีคยิ่งกว่าหนังไมเคิล เบย์ แล้วคราวนี้ ต้องไม่มีใครตาย บรู๊ซ วิลลิสไม่ต้องสละชีพ!! แต่…ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สิ่งที่นางทำคือ อ๋อ ไม่ทำค่ะ ขอโฟกัสกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดในอีกสามสัปดาห์!!!!!!!!! อีเวรร!!!!! ฉันไม่อยากจะพูดคำนี้ แต่ทุกคนคะ ทุกเรื่องมันจะมีอีนางนึง ….อีนังนึงเสมอที่เป็นต้นเหตุแห่ง…หายนะ!!!!!! จำชื่อนี้ไว้เลยนะคะ อีเจนี่ ออร์ลีน อีตัวต้นเรื่อง ที่ฟ้าดันประทานให้คนโง่ไปนั่งอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของประเทศอย่าง ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไม่รู้ว่าฟ้าโง่ หรือฟ้าใจร้าย แต่งานนี้ฟ้าปิดประตูไม่รับรู้ความปวดใจ ฟ้าช่างไร้ซึ่งความเมตตา ชูบีดูว้า ชูบีดูวา!!! ขอร้องเพลงเพื่อโทนดาวน์นิดนึงค่ะ เดี๋ยวเป็นบ้าตายซะก่อนจะเขียนรีวิวจบ ขอบคุณเพลงจากป๊อป แองเจิ้ลส์ สามสาว บัว มด พิมนะคะ ดังนั้นหลังจากเหตุการณ์ทั้งหมด กะเทยขออัญเชิญสุภาษิตคำพังเพยยุคใหม่ ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด หลังจากนั้นไม่อยากพูดถึง เพราะหัวร้อนแบบไฟลุก แต่พูดอีกก็ถูกอีก ผู้นำโง่!!! เรา!!! จะ!!! ตายกันหมด!!!!!!! นี่ยังไม่นับเรื่องของ กว่าจะได้เข้าพบประธานาธิบดีต้องรอแบบข้ามวัน รอให้เถียงกันเรื่องจะแก้ภาพลักษณ์ที่เจ๊แอบไปเล่นจ้ำจี้กับนอมินีตัวแทนศาลที่เคยเป็นดาราหนังโป๊เก่า หรือต้องรอให้อีเลขาหน้าห้องจัดปาร์ตี้วันเกิด อีเวร มีอะไรสำคัญกว่าความเป็นอยู่ของประชาชนผู้เสียภาษีอีกมั้ย …. อ๋อ ความสุขของพวกหล่อนสินะ!!! นี่ยังไม่นับที่ แก๊งค์แม่เจน ลุงหมีลีโอ โดนนายพลระดับสามดาวทำงานที่เพนตากอน หลอกขายขนมปังกรอบกับน้ำเปล่าในทำเนียบขาวอีกด้วย อีเวรใจบาปทำกันได้ยังไง

เอาแค่ซีเคว้นซ์แรก ก็คือ วีนแล้ว ด่าไปแล้วหลายสิบตัวละคร รวมทั้งอีเจสัน โฆษกประธานาธิบดี ซึ่งเป็นลูกชายของอีประธานาธิบดีเอง รับบทโดยโจนาห์ ฮิล ซึ่งขึ้นจอแบบห้าวตีน กวนประสาทแบบไม่แคร์หนามทุเรียน เรื่องนี้ฉันจะป่วง ฉันประสาท ฉันจะปั่น ใครจะทำไม ใครไม่มองบนไม่คว่ำปากใส่อีนี่ถือว่า เก่งมาก!!! 

หลังจากที่ทำเนียบขาวบ้งแล้ว ทางออกคือต้องทำให้เป็นข่าว ต้องฉาว ต้องบอกโลก เลยต้องไปออกรายการ the daily rip ซึ่งเขียนชื่อรายการได้แบบ อืมมมม เอาเลยยยย ก็ RIP ไปเลยสิคะ หรือในชื่อไทยว่าแฉรายวัน ที่มีสองพิธีกรคู่ขวัญ แจ็ค กับ บรี รับบทโดย ป้าเคต แบลนเชตต์และ ไทเลอร์ เพอร์รี่ ซึ่งช่วงเวลาที่สัมภาษณ์นักดาราศาสตร์ดันอยู่หลังข่าวซิงเกิ้ลใหม่ของนักร้องที่พึ่งเลิกกับผัว ไรรี่ บีน่า รับบทโดย ป๊อปสตาร์ดีว่าสาวอารีอาน่า แกรนเด้ แล้วพออีนักร้องมันบอกว่ามันจะกลับไปคืนดีกับผัว อีผัวออกไลฟ์บอกขอแต่งงาน โซเชียลก็แตกเลย แตกเหมือนซ่อง เป็นข่าว เป็นเทรนด์ทวิต เป็นทุกอย่างที่โลกจับจ้อง จนโลกลืมดูสิ่งที่อยู่นอกโลก พอถึงเวลาอีนักดาราศาสตร์สองคนไปบอกว่าโลกจะแตก ทุกคนมองเป็นเรื่องตลก!!! อีนักข่าวทำเป็นไม่สนสี่สนแปด มองว่าตลก แบบต้องทำให้เรื่องจริงจังเป็นเรื่องขำขัน!!! คือมันก็ใช่ แต่ไม่ใช่กับทุกเรื่อง จุดนั้นอีแม่เจนคือไม่ไหวแล้ว กูระเบิดอารมณ์ซ่องแตกกลางรายการ การระเบิดความสติแตกคือเลเวลน้องๆ กับตอนแม่เป็นบ้าใน Mother! อะค่ะ ด้วยการบอกว่าโทษนะ ฉันพูดไม่เคลียร์หรอ!!! ดาวหางกำลังจะชนโลก เรากำลังจะตายห่ากันหมด แล้วทำไมมึงขำ…มึง… ไม่ควรขำ ไม่มีอะไรต้องขำ ขำ…ทำไม!!!!! ส่วนกะเทย ยืนด่าทุกตัวละครไม่ไว้หน้าใคร!!! การสติแตกในรายการสดของแม่เจน นำพาให้ความตั้งใจในการไปออกรายการสดเพื่อบอกว่าโลกจะแตกไปได้ไม่ไกลเกินกว่ากลายเป็น อินเตอร์เน็ตมีม!!! อีเวร!! เรื่องจริง สงก็สง ขำก็ขำ เศร้าก็เศร้า และทุกอย่างก็จบลงตรงนั้น โดยที่ผู้บริหารนาซ่า ออกมาบอกว่า ทุกคนตื่นตูมไป โดยที่มีเบื้องหลังคือ อีนังนาซ่าคนนี้อยู่เบื้องหลังประธานาธิบดี อีนังเจนี่ ออร์ลีน อีกที!!! 

แต่ทุกอย่างกลับตะละปัด เมื่อมีเอฟบีไอ มาตามเก็บทั้งสองคน ไปพบกับประธานาธิบดีเจนี่ เพราะชีเกิดจากอยากจะสานต่อโครงการถล่มดาวหางนี้เพื่อเอาหน้าเรียกเสียงสนับสนุนจากมหาชน กระแสนิยมตกลงเพราะส่งรูปจิ๋มให้ตัวแทนศาลสูง แล้วรูปหลุด ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เพิ่งฉาวกับการที่มีคู่ขาเป็นนายอำเภอที่เคยเล่นหนังโป๊ ฉาวโฉ่จนคนออกมาต่อต้าน!!! มึงคะ มึงงง มึงงงงงง มึงงงงงงงงงงงงงงง อนาคตโลกเราอยู่ในกำมือของผู้หญิงคนนี้ อีเจนี่!!!!!! มึงเปลี่ยนใจเพราะรูปกีหลุด มันเท่านั้นเอง ฮืออออ ช่วยด้วย ฉันไม่อยากอยู่ในหนังเรื่องนี้ แม้แต่ถังขยะก็ไม่ขอเป็น ตัวละครอีเคทของแม่เจนลอดูมีสติสุด แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ แม้จะรู้ทันทั้งหมดแต่ก็ต้องยอมอยู่ใต้อำนาจของอีประธานาธิบดี โอ๊ยยยยย อีเวร ไม่ไหวแล้วนี่มันเป็นบ้าอะไรกันไปหมดดดดดดดด แล้วทีนี้มันทำไม มันทำไมคะ มันก็เอาหน้าไงคะ!!! อีเจนี่ ก็คือได้คะแนนนิยมกลับมา แล้วเอาคู่ขาดาราหนังโป๊ในช่องเคเบิ้ลเข้ารับตำแหน่ง ขณะที่ลุงลีโอไปออกรายการแฉ เพื่อให้ความมั่นคงกับประชาชน รวมทั้งการแอบแซ่บลับๆ กับเจ๊บรี ผู้ประกาศข่าว (ป้าเคต แบลนเชตต์) ท้ายที่สุดในงานวันจริงที่จะส่งขีปนาวุธ จรวดขึ้นไปถล่มดาวหาง ในขณะที่ทั้งโลกเต็มไปด้วยความหวัง ทุกคนกำลังภาวนาเพื่อที่จะมีชีวิตต่อ โลกกำลังเปล่งประกายแสงแรงตะวันแห่งความหวังอันเรืองรองผ่องพรรณรายแจ่มสกาวพราวเจิดจ้าจรัสแขไขรัศมีทอแสงโชติช่วงชัชวาลแห่งยุคใหม่ เพื่อที่จะคงการดำรงอยู่ต่อไปของมวลมนุษย์ ในจุดสูงสุดที่จรวดทะยานสู่อวกาศ แล้วทั้งหมด ก็เลี้ยวกลับมาโลก What The fuck!!!!!!!!!! ราวกับว่าทุกอย่างที่หวังไว้ กลายเป็นแค่เรื่องสมมติ เป็นข่าวลือ เป็นเรื่องที่ทุกคนฝันไป นี่มันเกิดอะไรขึ้น อีเวร!!!!!!!!

สุดท้ายคือไม่มีใครฝันไปคะ จรวดยิงจริง แล้วกลับจริง ที่มันกลับมาเพราะอีเจ้าของบริษัทเทคโนโลยีมือถือ ที่เป็นหนึ่งในคนที่สนับสนุนอีประธานาธิบดี อีเจนนี่ อีสนามอารมณ์คนนี้ มันบอกให้หยุด เพราะบนดาวหางมันเต็มไปด้วยแร่ธาตุที่มันสามารถเอามาใช้ผลิตมือถือได้!!!! ดังนั้นแล้วมึงหลบไปค่ะ บริษัทเทคโนโลยีผลิตมือถือยักษ์ใหญ่ของกูจะจัดการดาวหางดวงนี้เอง ด้วยวิธีการสุดแยบคายสลายเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเอายานขุดเจาะ ไปพามันกลับสู่โลก!!!! เอาละ ตอนนี้กะเทยหัวเราะไม่ออก ชั้นภาพตัดเลยแม่ นี่มันผีห่าแบบไม่มีอะไรกั้น ฉันร้องกรี๊ดเลยยยย กรี๊ดไปกับคาแรกเตอร์ เคท ดิบิแอสกี้ ของแม่เจนลอว์เราเข้าใจทุกอย่าง เข้าใจว่าทำไมแม่ถึงกรี๊ด ถึงสติแตก แล้วด่ากราดทุกคน เพราะสิ่งที่มันเกิดขึ้นคือเรื่องราวที่โคตรจะเลวร้าย ไร้ชั้นเชิง และ โง่งมแบบที่สุด คำถามคือ ทำไมเราถึงจะต้องลังเลระหว่างการเลือกชีวิตมนุษย์ กับ แร่ธาตุผลิตมือถือ!!! ทำไม!!! ดังนั้นตอนที่แม่ประกาศบอกโลกว่า ทำไมจรวดถึงเลี้ยวกลับ เพราะอีพวกคนบนนั้นมันจะเอาแร่ธาตุกลับมาทำมือถือแล้วทำให้คนที่มันรวยอยู่แล้วรวยขึ้นไปอีก เป็นซีนสั้นๆ แต่เห็นกระบวนการโครงสร้างการบริหารประเทศชาติที่นายทุนกับรัฐมันเอื้อประโยชน์เกื้อหนุนรับใช้กันยังไง ขณะที่ประชาชนได้แต่สติแตก และกลายเป็นหมากในเกมส์ และสิ่งที่จริง ยิ่งกว่าจริง จริงจนประสาทจะกิน จริงจนมือจีบ คือสิ่งที่เคทคิดและกะเทยคิดและคนดูคิดว่าก็ระเบิดดาวหางไปเลยสิคะ มันก็มีคนเห็นเป็นอื่น เมื่อตัวละครอื่นทั้งพ่อแม่ของเคท หรือประชาชนคนอื่นๆ ก็มีท่าที่สนับสนุนให้เอาแร่ธาตุมาทำมือถือ จุดนี้ จะด่าอีเวรก็ไม่ได้เต็มปาก เพราะอย่างที่บอกถอยออกมาจากหนัง การดำเนินชีวิตในโลกใบนี้ หรือกระทั่งประเทศเราก็ไม่ต่างอะไรกัน มันมีทั้งคนที่เห็นด้วย เห็นต่าง เห็นด้วยแบบแตกต่าง เห็นด้วยแบบไม่ทั้งหมด no comment ฉันขอไปหาข้อมูลเพิ่ม ดังนั้นแล้วเราจะบอกรอบที่ล้านว่ามันจริงไปหมด!!!! แม้ในเรื่องที่มันควรจะจบปัญหาแบบเร็วที่สุดก็ยังไม่สามารถเห็นพ้องต้องกันได้ ดังนั้นการดูหนังเรื่องนี้เหมือนการเสพข่าวที่ประสาทแดก และเซอร์เรียลในประเทศไทย ไม่ต่างกันเลยแม้แต่น้อย!!! 

จุดที่เราขำแบบหัวเราะ ฮึๆ แบบหัวเราะร่าน้ำตาริน ซึ่งเป็นการหัวเราะแบบนี้เกือบจะทั้งเรื่อง คือตอนที่หลังจากภารกิจแรกมันโดนสั่งยกเลิก อีจรวด อีทั้งหลายที่หมายจะส่งไปยิงดาวหางคือวนรถกลับ แม่เจนลอว์ได้แต่ถามตัวเอง ถามว่าทำไมนายพลระดับสามต้องแอบเอาขนมฟรีมาหลอกขาย ได้แต่คิดแล้วก็สงสัย ทำไมเค้าเอาขนมฟรีมากหลอกขาย ขำหนึ่งคือ อีเวรตัวละครวกวนมาก ขำสอง คือหลังจากขำหนึ่ง แล้วก็คิดต่อได้ว่า อีกะเทย มึงขำมันแล้วตัดภาพมาตอนที่มึงเจอเองอ่ะ …ขำออกมั้ย ว่าทำไม เค้าขาย ATK เราแพงๆ ทั้งๆ ที่มันควรถูกหรือฟรี!!!! แล้วยังมีหน้ามาบอกเราว่ามันเป็นโรคกระจอก โธ่อีเวร พูดมาได้เฮงซวย!! #เสียงภัสสร กะเทยด่ามันเสร็จแล้วหัวเราะออกมาเลย มันปิ๊ดออกมาเลย เศร้าจนขำ ขำในความผีห่า ในโมงยามวิกฤติอีนายพลยังหลอกขายขนม ส่วนเราโดนหลอกขายหน้ากาก ที่ตรวจแพงๆ อีเวร!!! คือจุดนั้นชีวิตมันเหี้ย ขออนุญาตใช้คำหยาบ แต่มัน fucked up จนเราแบบ ไม่ไหวกับมันแล้ว โลกจะแตกอยู่แล้ว แต่แม้แต่ขนมฟรียังโดนหลอกขาย!!!!!

ขณะเดียวกันหนังเรื่องนี้มันมีความเป็นมนุษย์อยู่สูงมาก ในเรื่องแม้ว่า ดาวหางพุ่งชนโลกจะเป็นเส้นเรื่องหลัก แต่ตัวละครทุกตัวไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันอยางเดียว แต่ยังคงทำโน้นทำนี่ ทำผีทำห่าอย่างอื่น ยังคงกรี๊ดว่านักร้องเลิกกับผัว ขอคืนดี และขอแต่งงานน หรือ มีการทำ internet meme หรือมี การเอาประทัดพุ่งอัดหน้าเป็น challenge เลียนแบบการปล่อยจรวด หรือทำหนังล้อกับเหตุการณ์โลกแตก หรือจัดคอนเสิร์ตชูบชูชีวิตให้กำลังใจ ด้วยการผุด #JustLookUp เมื่อดาวหางเข้าใกล้โลกในจุดที่เห็นได้ เพียงแค่มองขึ้นไปความจริงก็ปรากฏว่า เราจะตายห่ากันหมด จุดนั้นอีแม่เจนคือตายซากแล้ว กูปล่อยใจฝันกับอีน้องทีโมที่ เนี่ยแหละ ชีวิตกูมีผัวผัวก็ทิ้ง บอกทุกคนว่าโลกจะแตกก็เป็นได้แค่มีม แต่ถึงฉันตายอย่างตัวตลก แต่ฉันก็มีผัวใหม่ #กะเทยร้องไห้ ตัดภาพมา เราคงรับบทคุณหญิงกีรติ ฉันตายโดยไม่มีผัว ไม่มีภาพ ไม่มีข้างหลังใครให้ซบโอบอิงขิงข่าหรืออะไรทั้งนั้น!!! กะเทย กลับมา!! อย่าเพิ่งเป็นบ้า ซึ่งอี #JustLoookUp มันเลยกลายเป็นธีมหลักในคอนเสิร์ตของอีไรรี่ บีน่า กับผัวเดีเจ ด้วยการร้องเพลงว่า ออกมาจากกะลาซะทีได้มั้ย เชื่อนักวิทยาศาสตร์กันบ้าง หรือเราจะตายห่ากันหมด ขณะที่ทางฝั่งประธานาธิบดีบอกว่า #Don’tLookUp ประหนึ่งเพลงของพี่ติ๊นาที่ร้องว่า อย่ามองตรงนั้น อย่ามองตรงนั้น อย่ามองตรงนั้นจะเป็นเรื่องใหญ่ ขอบคุณพี่ติ๊นาค่ะ รัฐบาลบอกให้เราใช้ชีวิตหลับตาข้างนึง หรือหลับไปเลยสองข้างก็ได้ เหมือนบอกว่าโลกไม่แตก เพราะไม่มีดาวหาง งานนี้ขออันเชิญตรรกะยอดนิยมของชาวเรา “ไม่ตรวจเท่ากับไม่เป็น ไม่ชั่งเท่ากับไม่อ้วน และ ไม่เห็นเท่ากับไม่มี” แต่หนังบอกว่า ถ้ามีก็ไม่ต้องมอง ดังนั้นไม่มองเท่ากับไม่เห็น ไม่เห็นเท่ากับไม่มี ไม่มีเท่ากับไม่ตาย!!!!! #ก็อย่ามองบนไปเลยสิคะ #อีเวร อีเวรรอบที่ล้าน มันไม่ได้มั้ยแม่ ซึ่งทุกอย่างโคตรจะไม่สมจริงในหนังหายนะที่ทุกคนต้องจริงจัง ร่วมมือร่วมใจ หาทาง หาวิธีแก้ปัญหา แต่กลับโคตรจะสมจริงในโลกปกติ ซึ่งเชื่อว่าในโลกใบนี้ ถ้าจะมีดาวหางพุ่งมาชนโลก มันก็คงเกิดเหตุการณ์แบบในเรื่องนั้นแหละ ไม่ต่างกันหรอก โดยเฉพาะอีคอนเสิร์ต ต้องมาจริงๆ นึกๆ แล้วก็เหมือนนั่งอ่านบทละครของ Anton Chekhov ที่ตัวละครคุยๆ กันเรื่องหนึ่ง แล้วหันไปเถียงกันอีกเรื่องที่เหมือนจะไม่ใช่เรื่องที่สลักสำคัญ แล้วกลับมาเถียงกันอีกเรื่องหนึ่งวนไปวนมา คือ เรียกได้ว่าโคตรจะมีความเป็นคนอยู่สูงมาก

ดูหนังจนจบด้วย ฟิลเตอร์หนังตลก ดูแบบปล่อยใจฝัน ดูแบบไม่เครียด ดูแบบหนังตลก แต่จนถึงฉากสุดท้าย ยันเอ็นเครดิต ตัวที่หนึ่ง ยันตัวที่สองเอาจริงๆ ทุกอย่างมันขำ..ไม่ออก โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในบริบทที่โลกกำลังพบเจอกับปัญหาโรคระบาด หรือกระทั่งเรื่องราวในประเทศเรา นี่ยังไม่นับปัญหาที่คาราคาซังโยงใยกันอีรุงตุงนังอุตหลุดทั้ง การศึกษา ค่าครองชีพ เศรษฐกิจ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เอาจริงๆ ภัยร้ายที่สุดอาจจะไม่ใช่แค่ผู้นำโง่อย่างเดียว แต่มันอาจจะรวมถึงการหลับตา การมองผ่าน การลืม การไม่สี่สนแปดกับสิ่งมันเกิดขึ้น พอถึงเวลาจริงๆ ก็ทำได้แค่นั่งรอดาวหางพุ่งชนโลก จุดนี้ขณะที่เราด่าหนัง ด่าความวิบัติฉิบหาย ผู้นำโง่ หนังก็ด่าเราไปด้วยเช่นกัน อีเวร อีผกก เริ่ดไม่ไหว


ดู Don’t Look Up ได้ที่ Netflix

ความสยองของการเป็นแม่ พา แม็กกี้ จิลเลนฮาล มาสู่ The Lost Daughter

ความเซอร์ไพรส์หนึ่งของฤดูกาลล่ารางวัล คือการเปิดตัวในฐานะคนทำหนังของ แม็กกี้ จิลเลนฮาล นักแสดงมากฝีมือที่เธอทั้งโปรดิวซ์ เขียนบท และกำกับเอง เป็นครั้งแรกใน The Lost Daughter ซึ่งเล่าเรื่องของ เลดา หญิงวัย 48 ปีที่ไปพักตากอากาศเพียงลำพัง ก่อนที่เราจะค่อยๆ รับรู้ว่าเธอพังพินาศเพียงใดจากการเป็นแม่ลูกสองผ่านพฤติกรรมขโมยตุ๊กตาเด็กคนหนึ่งมาครอบครอง 

The Lost Daughter สร้างจากหนังสือของนักเขียนชาวอิตาเลียน เอเลนา เฟอร์รันเต้ ซึ่งจิลเลนฮาลเล่าว่าแรกอ่านก็รู้สึกว่าชีวิตเลดานั้นบัดซบสิ้นดี กระทั่งเธอกับตัวละครค่อยๆ เชื่อมโยงกันด้วยการต้องรับผิดชอบลูกสองคน และจากพฤติกรรมของเลดานั้น จิลเลนฮาลจึงนิยามตัวละครนี้และตัวเธอเองว่าเป็น “แม่ที่ผิดธรรมชาติ” เหมือนกันด้วย จิลเลนฮาลจึงเดินทางไปหาเฟอร์รันเต้ด้วยตัวเอง เพื่อแสดงความ “ต้องการ” ที่จะทำหนังเรื่องนี้ และเมื่อทั้งคู่ได้เปิดใจต่อกัน เฟอร์รันเต้ก็ “ต้องการ” จิลเลนฮาลมาถ่ายทอดมันเป็นหนังด้วย โดยเฟอร์รันเต้บอกกับจิลเลนฮาลว่าถ้าเธอไม่กำกับ ข้อตกลงทุกอย่างถือเป็นโมฆะทันที 

ความท้าทายสำหรับจิลเลนฮาลคือการเขียนบทและกำกับหนังเรื่องนี้ คือการทำความเข้าใจตัวละครอย่างเลดาไปในตัว ซึ่งเธอถือว่าเป็นแม่ประเภทที่ไม่น่าไว้ใจที่สุด “มันอันตรายมากหากเราจะทำความเข้าใจเลดา เธอขโมยตุ๊กตามาแต่ความท้าทายที่สุดคือเราจะอยู่กับคนแบบนี้จริงหรือ?” จิลเลนฮาลมีเวลาทำการบ้านเป็นการส่วนตัวกับเฟอร์รันเต้อยู่นาน และสิ่งที่เธอจับจนมั่นเพื่อเป็นแกนของการเล่าเรื่องคือคำพูดของเฟอร์รันเต้ซึ่งเปรียบเปรยว่า “การเข้าไปในความคิดของเลดา ก็เหมือนการผจญภัยในสายน้ำที่เชี่ยวกรากโดยไม่มีเสื้อชูชีพ” 

ในฐานะ “แม่ที่ผิดธรรมชาติ” อย่างจิลเลนฮาล การที่เธอเดินเข้าสู่โลกอันไม่น่าไว้ใจของเลดา ก็เพื่อหาคำตอบให้ได้ว่า “แม่ที่เป็นธรรมชาติ” นั้นเป็นอย่างไร และเธอก็พบว่าตัวละครเลดาสามารถใช้ทดสอบนิยามความเป็นแม่กับสังคมได้อย่างดี เพราะเธอรักลูกมากแต่ก็ไม่อาจอุทิศทั้งชีวิตเพื่ออยู่กับลูกได้ “ในตอนที่เราเป็นเด็กเราเชื่อฟังพ่อแม่เพราะนั่นเป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอด และบางทีแม่ก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าทำตัวเป็นแม่กับเรา แต่พอเราโตขึ้นการเอาตัวรอดมันเปลี่ยนไป มันคือความสิ้นหวังอย่าง คือความวิตกกังวล คือความหวาดกลัว เหล่านี้คือสิ่งที่เราจะต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิต” 

ใน The Lost Daughter เราจะได้เห็นเลดาสองช่วงวัย คือ 28 ปี (แสดงโดย เจสซี บักลี) ที่ต้องดูแลลูกน้อยสองคนโดยที่ก็ต้องหางานเพื่ออยู่รอดไปพร้อมกัน กับวัย 48 ปี (แสดงโดย โอลิเวีย โคลแมน) ที่อยู่ตัวคนเดียวและราวกับแบกความทุกข์ตรมเอาไว้บนบ่าตลอดเวลา แม้จะพยายามเป็นส่วนหนึ่งกับความงดงามของเมืองริมหาดแสนสวยแค่ไหนก็ตาม 

“ความเป็นแม่มันคือการต่อสู้ที่ต้องยอมจำนน จริงอยู่ที่มันเปลี่ยนชีวิตและเป็นส่วนหนึ่งของตัวฉัน มันนำมาซึ่งความสุขที่บีบคั้นหัวใจน่าดู การเป็นพ่อแม่คนมันทำให้คุณลดอัตตาลงเพื่อที่คุณและลูกๆ ได้เติบโตไปด้วยกันอย่างแนบแน่น” จิลเลนฮาลเสริม “ขณะที่เราก็ต่างมีแง่มุมใจยักษ์ใจมาร ส่วนนี้เรามักไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงออกเพราะมันไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ดีกับโลกใบนี้

“เลดาตอนสาวนั้นรักลูกๆ ของเธอจนไม่เหลือพื้นที่ในหัวใจให้กับอะไรอีกแล้ว ฉันว่านั่นคือความเป็นแม่ที่ทำให้เรากำลังอยู่ในแดนอันตรายและน่ากลัว…ซึ่งมันน่ากลัวยิ่งกว่าถ้าเราจะพูดเรื่องราวเหล่านี้ออกมา” 


ข้อมูลประกอบ

https://www.mercurynews.com/2021/12/31/maggie-gyllenhaal-discusses-directing-the-film-of-elena-ferrantes-the-lost-daughter-2/

https://www.theatlantic.com/culture/archive/2022/01/maggie-gyllenhaal-lost-daughter/621165/

Hometown Cha-Cha-Cha : กงจิน ท้องถิ่นที่กลับไปได้เพราะคนมีกำลังซื้อ ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่เลวร้าย บวกกับกลไกสวัสดิการสังคมที่โยงกับผู้คน

มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

เรื่องของหมอฟัน กับ หัวหน้าฮง ในหมู่บ้านชายทะเลเล็กๆ ได้ฉายภาพชีวิตดีๆ ที่ต่างจังหวัดของสังคมเกาหลีใต้ ซึ่งจะจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ไม่มีข้อมูล ในที่นี่ขอข้ามความโรแมนติกที่วางอยู่บนบังเอิญจนน่ารำคาญออกไป

ภาพชนบทอย่างกงจินดู งดงามและผู้คนมีความสุข ขณะเดียวกันก็เล่าปมความทุกข์ของแต่ละครอบครัวที่ไม่ทำให้เห็นว่า คนในกงจินเป็นเทวดาที่อยู่บนสรวงสวรรค์เสียทีเดียว

เราจะเห็นว่า สิ่งที่แฝงอยู่คือ ในกงจิน พวกเขาไม่ได้อยู่เฉยๆ หรืองอมืองอตีนแล้วมีความสุข แต่อยู่บนฐานที่เขาทำมาหากิน บนฐานค่าแรงและรายได้ที่ไม่ย่ำแย่จนเกินไป

EP แรกเปิดตัวมาด้วย การที่นางเอกต้องไปทำงานนั่งลอกเครื่องในปลาหมึกนี่แหละ ค่าแรงขั้นต่ำ เกาหลีใต้ ชั่วโมงละ 8,720 วอน เทียบได้ประมาณ 247.91 บาท เธอไปนั่งทำอยู่ 3 ชั่วโมง กับแก๊งยายๆ ก็คูณ 3 กันไป 

ถ้าเทียบกับบ้านเราที่มักคิดเป็นรายวัน ดันไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด (ตอนค่าแรง 300 นั่นเท่ากันทุกจังหวัด) ปี 2563 ชลบุรีที่ค่าแรงสูงที่สุดที่ 336 บาท ขณะที่กรุงเทพฯและปริมณฑล อยู่ที่ 331 บาทต่อวัน 

กลับไปที่กงจิน กาแฟอเมริกาโน่ในร้านกาแฟท้องถิ่นอยู่ที่แก้วละ 4,000 วอน (113.78 บาท) 

นอกจากตัวละครจะมีอาชีพอย่างแม่ค้าร้านอาหารจีน ร้านปลาดิบ-อาหารทะเล ร้านขายของชำ-วัสดุก่อสร้างแล้ว พระเอกก็เป็นคนที่มีความสามารถสารพัดที่ได้รับการอบรมจนได้ใบประกอบวิชาชีพหลายใบ ตัวพระเอกใครๆ ก็เรียกว่า หัวหน้าฮง รับช่วยเหลือคนในหมู่บ้านแต่ไม่ได้ด้วยน้ำใจล้วนๆ แต่แลกมากับค่าแรงที่เขาคิดจากค่าต่ำเป็นรายชั่วโมง

ขณะที่หมอฟัน หลังจากที่ไปสร้างปัญหากับขาใหญ่ในวงการทันตแพทย์ที่โซล พร้อมกับการหว่านล้อมของเจ้าของร้านปลาดิบ (ที่เป็นทั้งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า พร้อมกับ การเป็นหัวหน้าชุมชน (ท่งจัง) ไปด้วย) ทำให้เธอคำนวณแล้วว่าในชุมชนที่ไม่มีร้านหมอฟัน แต่มีคนแก่ไม่น้อย น่าจะกลายเป็นแหล่งทำเงินให้เธอได้

เงินและโอกาสความเป็นไปได้ทางธุรกิจ จึงเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผลักให้เธอมายังกงจิน

ผัวของหัวหน้าชุมชน มีตำแหน่งเป็น “ดงจัง” ที่ถือว่าเป็นหน่วยท้องถิ่นขนาดเล็กที่สุดที่มีสำนักงานเป็นของตัวเอง ถ้าจะพอเทียบก็อาจจะประมาณนายกอบต.จะได้ไหมหว่า เพราะในเรื่องกับข้อมูลที่อ่านมาไม่บอกว่าเป็น นักการเมืองหรือข้าราชการประจำ (คือถ้าเป็นข้าราชการประจำก็อารมณ์ ปลัดอบต.)

ขณะที่ท่งจัง ใหญ่กว่าหัวหน้าฮง แถมยังมีเงินเดือนราว 300,000 วอน (8-9 พันบาท) และได้ค่าเบี้ยเลี้ยงประชุมครั้งละ 20,000 วอน หรือราวๆ 5-6 ร้อยบาท) 

ส่วนหัวหน้าฮง (ฮงพันจัง) โดยชื่อแล้ว “หัวหน้า” เป็นตำแหน่งที่ดูแลพื้นที่หมู่บ้านขนาดเล็ก ตำแหน่งนี้ไม่มีเงินเดือน แต่มีเบี้ยเลี้ยงปีละประมาณ 50,000 วอน หรือประมาณ 1,500 บาท (ได้รับช่วงตรุษจีน และช่วงวันหยุดชูซอกอะไรซักอย่าง) และอาจมีค่าเบี้ยในการจัดการขยะเพิ่มให้อีกนิดหน่อยว่ากันว่าบางพื้นที่ก็ยกเลิกไปแล้ว สามตำแหน่งเป็นตัวแทนของผู้นำพื้นที่ที่มีบทบาทดูแลพื้นที่และความเป็นอยู่ของผู้คน

ในกงจินมีเรื่องลี้ลับอยู่ 3 เรื่อง หนึ่งในนั้นมีอยู่ว่า มีคนถูกลอตเตอรี่มูลค่า 1,400 ล้านวอน (ประมาณ 39 ล้านบาทโดยประมาณ) ที่ลี้ลับก็เพราะไม่มีใครรู้ ต่างจากบ้านเราที่การถูกหวยไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล ท้ายเรื่องก็ได้เฉลยให้เห็นว่าใครที่ได้เงินก้อนโตนี้ไป 

ส่วนเรื่องที่ 2 คือ สาเหตุการหย่าร้างของดงจัง และเจ้าของร้านปลาดิบที่อาจดูไม่สำคัญอะไร แต่ในความสัมพันธ์นี้มันได้สะท้อนให้เห็นถึง การต่อรองกันทั้งความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่าง(อดีต)สามีและภรรยา กับ เขาทั้งสองในฐานะผู้นำชาวบ้าน และบางครั้งหัวหน้าฮงก็เข้าไปช่วยเรียกร้องร่วมกับเจ้าของร้านปลาดิบด้วย

เรื่องสุดท้าย คือ ความลี้ลับว่า ก่อนหน้าที่หัวหน้าฮงจะโซซัดโซเซกลับมากงจิน เขาไปทำอะไรมา เรื่องถูกเฉลยว่า เขาเคยอยู่กับเงินมหาศาล เพราะนั่งอยู่ในใจกลางของตลาดทุนนิยม นั่นคือ การทำงานในบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ทำการบริหารกองทุนและคำแนะนำทางการเงิน จนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และอุบัติเหตุทางชีวิตจนเขาเชื่อว่า เขาได้ทำลายชีวิตบางคนไป เขาถึงนึกย้อนถึงคำสาปในชีวิตของเขากลับมาอีกครั้งว่า เพราะเขาเองที่เป็นต้นเหตุ ดังนั้น เขาจึงไม่คู่ควรเลยที่จะมีความสุขในชีวิต

พื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่ซ่อนอยู่กับสังคมเกาหลีใต้ก็คือ ดินแดนในอุดมคติอย่างอเมริกา มีอย่างน้อย 1 ครอบครัวที่ส่งลูกหลานไปเรียนต่อและใช้ชีวิตที่อเมริกา คือ หลานของยายกัมรี (ไม่แน่ใจว่าบ้านไหนอีกบ้านที่มีคนไปอยู่อเมริกาเหมือนกัน) เมื่อเทียบแล้ว 3 พื้นที่อย่างอเมริกา โซล และกงจิน ถือเป็นภาพตัวแทนไตรภูมิของคนเกาหลีใต้เลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ไม่ชอบสุงสิงกับใคร อาจใช้ชีวิตอยู่ในชนบทได้ไม่สะดวกนัก เพราะคนรอบตัวคุณอาจจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคุณผ่านการก้าวข้ามเส้นส่วนตัว รวมถึงเมื่อมีกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกันในวันหยุด เช่นการนัดกันทำความสะอาด หรือการนัดประชุมชุมชน

กงจิน ได้กลายเป็นจุดหมายของสื่อมวลชน เมื่อโปรดิวเซอร์จากโซลเข้ามาค้นพบความเป็นหมู่บ้านชนบทเรียบง่าย กงจินได้ถูกทำให้เป็นสินค้า เช่นเดียวกับที่ Hometown Cha-Cha-Cha สร้างภาพชนบทริมทะเลอย่าง “กงจิน” ขึ้นมา

ถึงตอนนี้หลายคนอาจรู้แล้วว่า “กงจิน” ในซีรีย์นี้ ไม่มีอยู่จริง


ดู Hometown Cha-Cha-Cha ได้ที่ Netflix

เซลีน เซียมมา เมื่อมีภาพยนตร์ เลสเบี้ยนก็ได้ดำรงอยู่

ราวปลายยุค 80s ย่านแซกี-ปองตัวส์, ประเทศฝรั่งเศส เซลีน เซียมมา มั่นใจตั้งแต่วัยเด็กว่าเธอเป็นเกย์ เธอเพียงแค่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ โลกรอบตัวไม่มีคำอธิบายต่อสิ่งที่เธอเป็นและสนใจ เซียมมาในวัยเด็กจึงดิ่งลึกลงไปในโลกของหนังสือและภาพยนตร์ หวังจะได้พบคำตอบต่อคำถามอันแสนคลุมเครือให้ตัวเอง

“ปราศจากอินเตอร์เน็ต การเป็นเลสเบี้ยนก็ดูไม่มีอยู่จริงเลย” เธอบอก ระยะเวลาค้นคว้าและศึกษาคำถามของเธอนั้นกินเวลาหลายปีทีเดียว ก่อนที่จะประกาศชัดว่าเธอเป็นเลสเบี้ยนในอีกหลายขวบปีต่อมา “หมายถึงว่า มันมีอยู่จริงนั่นแหละ แต่เราต่างอยู่ในโลกของตัวเอง ต้องเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเอง ลองจินตนาการถึงเด็กอายุ 14 สักคนที่มองหานิยายเลสเบี้ยนโรแมนติกที่ห้องสมุดสาธารณะสิ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องเริ่มหาที่ตรงไหน เช่นเดียวกันกับภาพยนตร์นั่นแหละ เราก็ต้องสร้างมันขึ้นมาเอง”

“หนังของฉันก็เหมือนกันทุกเรื่อง นั่นคือมันมักว่าด้วยเรื่องราวไม่กี่วันที่ตัวละครได้หลุดออกไปจากโลก ไปยังสถานที่ซึ่งได้พบคนรัก ได้รักและถูกรัก แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องราวของตัวละครหญิงเสมอ เพราะมีเพียงแต่พื้นที่ส่วนตัวเช่นนี้เท่านั้นที่พวกเธอจะเป็นตัวของตัวเองได้ ได้แบ่งปันความเดียวดาย ความฝัน ความคิดและไอเดียต่างๆ ให้กันและกันฟัง”

อาจไม่เกินจริงจากที่เซียมมานิยามงานของตัวเองนัก เมื่อมองจากภาพรวม ตัวละครในหนังทั้งห้าเรื่องของเธอก็ล้วนแล้วแต่ได้เบ่งบานและเติบโตในพื้นที่อันจำเพาะ โดดเดี่ยวตัวเองจากโลกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กสาวที่ตื่นรู้เรื่องทางเพศของตัวเองจากสระว่ายน้ำและล็อคเกอร์เล็กแคบ, เด็กหญิงที่สวมรอยเป็นเด็กผู้ชายเพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนสนิทในป่าเล็กๆ แถวบ้าน, เด็กสาวที่ค้นพบตัวตนของเธอขณะกอดคอร้องเพลงของริฮานนาด้วยกันในห้องพักของโรงแรม เรื่อยมาจนจิตรกรสาวผู้ใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์บนเกาะรกร้างห่างไกลและได้สัมผัสห้วงยามแห่งความรักกับหญิงสาวอีกคน -ซึ่งกำลังจะต้องไปแต่งงานกับชายหนุ่มแปลกหน้า รวมทั้งหนังลำดับล่าสุดของเธอที่เล่าเรื่องราวของเด็กหญิงที่พบเพื่อนใหม่ที่มาพร้อมเต็นท์หลังน้อยในวันที่แม่ของเธอหายตัวไปอย่างลึกลับ

การข้ามพ้นวัยของผู้หญิงอาจเป็นหัวใจสำคัญใจหนังของเซียมมา ตัวละครของเธอไม่เพียงแต่เติบโต เปลี่ยนแปลงหรือคลี่คลายความขัดแย้งในตัวเองเท่านั้น แต่หลายต่อหลายครั้ง เซียมมายังพาคนดูร่วมสำรวจอัตลักษณ์ทางเพศของตัวละครเหล่านี้ได้อย่างงดงามและมีหัวใจ 

ก่อนหน้าที่จะได้ทำหนังของตัวเอง เซียมมาหมกมุ่นอยู่กับภาพยนตร์อยู่ก่อนแล้วจากการปลูกฝังของคุณย่าที่มักสรรหาภาพยนตร์ฮอลลีวูดเก่าๆ มาให้เธอดูตั้งแต่ยังเด็ก จนกระทั่งเมื่อย่างเข้าวัยรุ่น เซียมมาก็ยังหลงใหลในโลกของภาพยนตร์และหมกตัวอยู่ในโรงยูโทเปียซึ่งเป็นโรงหนังอาร์ตเฮาส์ย่านแซกีสัปดาห์ละสามครั้ง “ฉันเป็นซีเนไฟล์ด้วยการดูหนังของคนทำหนังฝรั่งเศสในยุค 90s ไม่ว่าจะเป็น อาร์นูด เดเปลชอง, โนเอมี ลวอฟสกี, เอริก โรชองต์” เซียมมาเล่า “แต่เอาจริงๆ สมัยวัยรุ่นนี่ฉันชอบหนังของ กัส แวน แซงต์กับแลร์รี คลาร์ค มากเลยนะ แล้วอย่าลืมหนังของ เดวิด ลินช์ เด็ดขาดเชียว” (เซียมมายังบอกด้วยว่า เธอได้ไอเดียจากการทำหนังรักแสนหวานมาจาก Mulholland Drive หนังธริลเลอร์ของลินช์ซึ่งเธอบอกว่า กลิ่นไอความรักนั้นเรื่องนั้นมันแสนจะจับใจเธอเสียนี่กระไร!)

ระยะทางของการเป็นซีเนไฟล์มาสู่การเป็นคนทำหนังสำหรับเซียมมานั้นกินเวลานานหลายปี เธอเข้าเรียนสาขาวรรณกรรมฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัยปารีส นองแตร์ (“ฉันจึงมักได้ไอเดียการทำหนังมาจากวรรณกรรม โดยเฉพาะช่วง bildungsroman หรือการสำรวจตัวตนของตัวละครหลักในงานวรรณกรรมสมัยศตวรรษที่ 19 น่ะค่ะ” เธอว่า) แล้วจึงเข้าเรียนทำหนังที่สถาบันภาพยนตร์ลา เฟมีส (La Fémis) ในเวลาต่อมา และที่แห่งนี้เองที่ทำให้เธอได้หวนกลับมาพินิจพิเคราะห์ชีวิตของตัวเองอย่างละเอียด นับตั้งแต่วัยเยาว์มาจนถึงวัยรุ่น คำถามตลอดจนข้อสงสัยที่เธอได้แต่ตั้งคำถาม แต่โลกไม่เคยมอบคำตอบให้เมื่อนานมาแล้ว 

“ฉันอยากทำหนังจากเรื่องที่ฉันเข้าใจมันจริงๆ แล้วช่วงที่เราเป็นเด็กจนถึงวัยรุ่นมันก็เป็นช่วงเวลาที่สำคัญอันเปี่ยมล้นด้วยห้วงอารมณ์อันทรงพลังหลายอย่างมาก ก็เลยอยากจับจ้องไปยังการก่อกำเนิดของช่วงเวลาในการเป็นผู้หญิง” เซียมมาบอก “เป็นอย่างที่ ซีมอน เดอ โบวัวร์ (นักเขียนชาวฝรั่งเศส) กล่าวไว้นั่นแหละว่า ‘เราไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิง แต่เรากลายมาเป็นผู้หญิง’ น่ะ”

เซียมมาเรียบเรียงเอาคำถาม ปริศนาและมวลอารมณ์ของช่วงวัยรุ่นออกมาเป็น Water Lilies (2007) หนังยาวเรื่องแรกที่เธอ -ในวัย 27 ปี- เขียนบทและกำกับ ก่อนที่มันจะส่งเธอเข้าชิงสาขากล้องทองคำและ Un Certain Regard Award จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ โดยมันเล่าเรื่องราวของเด็กสาวสามคน แอนน์ (หลุยส์ แบลร์แชร์), แมรี (เพาลีน อาควอร์ต) และ ฟลอเรียเน (อาเดล อีเนล -ผู้พบรักกับเซียมมาจากเรื่องนี้) ที่ใช้เวลาอยู่ด้วยกันในสระว่ายน้ำแห่งหนึ่งและค่อยๆ สานสัมพันธ์ลึกซึ้งต่อกัน หนังจับจ้องไปยังพลังพลุ่งพล่านของวัยรุ่น ความสงสัยใคร่รู้ ตลอดจนการสำรวจตัวตนทั้งเชิงร่างกายและจิตใจอย่างเร่าร้อน ยังผลให้เมื่อหนังเข้าฉายในสหราชอาณาจักรด้วยการถูกจัดเรตห้ามไม่ให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปีเข้าชมโดยเด็ดขาด (ภายหลังเซียมมาบอกว่าเธอช็อคอยู่ไม่น้อย เพราะในฝรั่งเศส ประเทศบ้านเกิดของเธอ Water Lilies ถือเป็นหนังสำหรับคนทุกเพศทุกวัย)

“มันเพราะฉันอยากลองทำหนังเกี่ยวกับผู้หญิงผ่านสายตาของผู้หญิงดูบ้างน่ะ เพราะที่ผ่านมาดูไม่ค่อยมีหนังแบบนี้โผล่มาให้เห็นเท่าไหร่ คือก็จริงแหละที่มันมีหนังมากมายที่ยกย่องการเป็นผู้หญิง แต่ส่วนใหญ่หนังเหล่านั้นก็เล่าผ่านผู้ชายเสมอ ดังนั้นแล้วมันจึงมักลงเอยด้วยการอธิบายความเป็นผู้หญิงด้วยสายตาของผู้ชาย แทนที่จะเป็นการเล่าประสบการณ์ที่แท้จริงของการเป็นผู้หญิง” เซียมมาสาธยาย “ฉันอยากให้หนังเรื่องนี้มันเล่าเรื่องที่สดใหม่สักหน่อย เพราะเนื้อเรื่องมันต่างจากหนังรักวัยรุ่นทั่วไปที่มีเด็กหนุ่มและเด็กสาว เนื่องจากผู้ชายแทบไม่มีบทบาทอะไรในเรื่องนี้เลย”

และเช่นเดียวกับ Water Lilies เซียมมายังสำรวจโลกของวัยรุ่นหญิง ความเป็นอื่น และการอยู่ภายในโลกที่ผู้ชายเป็นผู้ออกกฎผ่าน Girlhood (2014) หนังสุดจะพังค์ของเธอกับฉากจำเมื่อเด็กสาวผิวดำกลุ่มใหญ่ตะเบ็งเสียงร้องเพลง Diamonds ของศิลปินสาวริฮานนาในห้องพักเล็กๆ ของโรงแรมแห่งหนึ่ง (โดยเซียมมาเล่าว่า เธอตัดฟุตเตจหนังท่อนนี้ส่งไปให้ริฮานนากับทีมงานดูก่อนหนังออกฉายเพื่อเดินเรื่องขอลิขสิทธิ์เอาเพลงมาใช้ในหนัง และศิลปินสาวตอบกลับมาว่า มันจ๊าบมาก พร้อมไฟเขียวให้เธอเอาเพลงดังไปใช้ได้เลย) หนังเล่าถึง มาเรียม (คาริดยา ตูเร) เด็กสาวผิวดำที่ใช้ชีวิตเงียบๆ และโดดเดี่ยว แม่ของเธอต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาเลี้ยงทั้งครอบครัวจนแทบไม่มีเวลากลับบ้าน ทำให้เธอต้องอยู่ใต้การดูแลของพี่ชายจอมกักขฬะตลอดเวลา หากแต่ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปเมื่อได้รู้จักกับเด็กสาวกลุ่มใหญ่ที่เข้ามาประคับประคองช่วงชีวิตวัยรุ่นของมาเรียมให้หลุดพ้นจากความอึดอัด โดดเดี่ยวในที่สุด

สิ่งที่ทำให้ Girlhood ได้รับคำชมอย่างหนักคือการที่เซียมมาจับจ้องไปยังภาวะของการค่อยๆ เติบโตเป็นเด็กสาวท่ามกลางโลกและสายตาที่ผู้ชายจับจ้องมายังเธอ มาเรียมไม่เพียงแต่ต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัวใต้ร่มเงาของพี่ แต่ยังหวาดระแวงจากสายตาของเพื่อนบ้านที่ละลาบละล้วงการใช้ชีวิตเธอแทบทุกฝีก้าว ทั้งหนังยังเล่าถึงการค้นพบพื้นที่ปลอดภัยของเหล่าเด็กสาว นั่นคือการเกาะกลุ่มกันและกัน สร้างโลกใบเล็กๆ ของตัวเองขึ้นมาด้วยการเช่าห้องในโรงแรมด้วยกันสักคืนหนึ่ง เพื่อจะได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องมีสายตาของใครอื่นมาตัดสิน

“มันไม่มีที่ปลอดภัยสำหรับเด็กผู้หญิงเลย ไม่ว่าจะละแวกบ้านหรือแม้แต่ในบ้านเองก็ตาม มันเป็นที่ที่ผู้ชายเป็นคนออกกฎ เป็นที่ที่ผู้หญิงต้องอยู่ และเมื่อผู้หญิงออกไปยังสถานที่สาธารณะ มันก็เป็นพื้นที่ที่พวกเธอต้องทำตัวให้ดีไปกว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ในเวลานั้นๆ มีเพียงพื้นที่อันเป็นส่วนตัว -อย่างการเช่าห้องในโรงแรม- เท่านั้นที่พวกเธอจะได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริงเสียที” 

พ้นไปจากช่วงวัยแรกรุ่น เซียมมายังสนใจสำรวจความเยาว์วัยอันจะเห็นได้จากหนังลำดับที่สอง Tomboy (2011) และหนังลำดับล่าสุดของเธอ Petite Maman (2021) ซึ่งทิ้งห่างกันสิบปีเต็มพอดี โดย Tomboy นั้นจับจ้องไปยังชีวิตของ ลอรี (โซเอ เอรอง) เด็กหญิงวัยสิบขวบที่ต้องย้ายบ้านตามครอบครัวไปยังเมืองแห่งใหม่ที่เธอไม่รู้จักใครเลย และที่นั่น เพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกันกับเธอต่างเข้าใจว่าเธอเป็นเด็กผู้ชาย ด้วยไม่รู้จะวางตัวอย่างไร ลอรีจึงตามน้ำ สวมรอยเป็นเด็กผู้ชายและเปลี่ยนชื่อตัวเองเสียใหม่เป็น มิคาเอล พร้อมกันกับที่ได้รู้จัก ลิซา (ฌาน ดีซอง) เด็กหญิงวัยเดียวกันที่ทำให้มิคาเอลเริ่มอยากยืดระยะเวลาการเป็น ‘เด็กผู้ชาย’ ให้ยาวนานขึ้นอีก ขณะที่ Petite Maman เล่าเรื่องของ เนลลี (โจเซฟีน ซ็องส์) เด็กหญิงวัยแปดขวบที่วันดีคืนดีพบว่าแม่แท้ๆ ของตัวเองหายตัวไป แทนที่ด้วยการปรากฏตัวของ มารียง (กาเบรียลลา ซ็องส์) เด็กหญิงวัยเดียวกันกับเธอที่ชวนเธอไปเยือนเต็นท์หลังน้อยในป่าซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นโลกอันโดดเดี่ยว ปราศจากผู้ใหญ่ของทั้งสอง

“ฉันสนใจประเด็นเรื่องเพศสภาพและความเป็นเด็ก ก็เลยอยากเล่าเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศกับความเยาว์วัยของคนเรา เพราะตอนเรายังเด็ก เราเลือกสิ่งต่างๆ ได้ เลือกจะเล่นหรือทำอะไรก็ได้ทั้งนั้นโดยไม่ถูกตัดสินใดๆ เลย” เซียมมาบอก สมัยเมื่อเธอยังเด็กนั้นเธอก็มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กผู้ชายบ่อยๆ (“แต่มันก็เป็นธรรมดานะคะ ยุค 80s น่ะใครเขาก็ต้องตัดผมสั้นกันทั้งนั้นแหละ”) และด้านหนึ่งมันก็ทำให้เธอฉุกคิดถึงตัวตน เพศสภาพในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งโดยไม่รู้ตัว “เหมือนว่าตอนเรายังเด็ก เรามักจะเล่นสวมบทบาทเป็นคนนั้นคนนี้เสมอ สมมติตอนกลางวัน เราอยากเป็นอีกคนหนึ่ง แล้วเราก็เปลี่ยนคนที่เราอยากเป็นไปเรื่อยๆ ในทุกวัน”

“คุณลองไปดูวิธีการที่ ฟร็องซัวส์ ทรุฟโฟต์ (คนทำหนังชาวฝรั่งเศส) จับจ้องไปยังเรื่องราวของเด็กๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะใน The 400 Blows (1959), Pocket Money (1976) สิ เขาส่งอิทธิพลต่อฉันมากทีเดียว ฉันดูหนังพวกนั้นตั้งแต่สมัยยังเด็กและคิดว่ามันเป็นหนังที่ดูตอนนั้นแล้วรู้สึกเชื่อมโยงกับหนังเอามากๆ เลย พอได้มาทำหนังเองเลยทะเยอทะยานอยากสร้างอะไรแบบนั้นได้บ้าง คือการทำหนังเพื่อผู้ใหญ่ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นเด็ก แต่ก็ยังอยากให้มันเป็นหนังที่เด็กดูแล้วรู้สึกเชื่อมโยงกับเรื่องราวในนั้นด้วย 

“ฉันยังจำความรู้สึกเหล่านั้นได้ดีเลยนะ การเป็นเด็กที่โตมาใยยุค 80s กับสารพัดหนังจากสตูดิโอแอมบ์ลิน (บริษัททำหนังที่ก่อตั้งโดย สตีเวน สปีลเบิร์ก), บรรดาหนังของสปีลเบิร์กซึ่งมักเต็มไปด้วยตัวละครเด็กๆ สุดจะเจ๋งที่คุณรู้สึกแทนตัวเองเข้าไปด้วยได้ ซึ่งอะไรแบบนี้ดูจะหายไปจากหนังสมัยใหม่ไปแล้ว เด็กๆ เลยได้ดูแค่ภาพจำลองสัตว์แบบสามมิติแทน”

ทั้งนี้ คงไม่เกินเลยหากจะกล่าวว่า Portrait of a Lady on Fire (2019) คือหนังยาวที่ส่งให้เซียมมาประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติการทำหนังของเธอ โดยมันส่งเธอคว้ารางวัลเขียนบทยอดเยี่ยมและเควียร์ปาล์มจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ทั้งยังส่งเธอชิงปาล์มทองคำด้วย โดยมันเล่าถึงฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 18 มาเรียนเน (โนเอมี เมอร์ลองต์) เป็นจิตรกรสาวที่ถูกว่าจ้างให้ไปวาดภาพเหมือนเพื่อใช้ดูตัวแต่งงานของ เอโลอิส (อาเดล อีเนล -กลับมาร่วมงานกับเซียมมาอีกครั้ง) สาวจากตระกูลสูงศักดิ์ ปัญหาคือเอโลอิสต่อต้านการวาดภาพเหมือนอย่างมากจนมาเรียนเนต้องแอบตีสนิทเพื่อจดจำรายละเอียดใบหน้า ท่าทางและอากัปกิริยาต่างๆ ของอีกฝ่ายแล้วกลับมาแอบวาดภาพในห้องของตัวเองอย่างเงียบเชียบ กับบรรยากาศความใกล้ชิดที่ก่อตัวขึ้นทีละน้อย

เช่นเดียวกันกับหนังเรื่องอื่นๆ ของเซียมมา นั่นคือมันดำรงอยู่บนโลกส่วนตัวของหญิงสาวที่ซึ่งตัวละครสามารถเปลือยเปล่าความเป็นตัวเองได้เต็มที่ ตลอดความยาวสองชั่วโมงนั้นปรากฏตัวละครชายเพียงสองครั้งแค่ช่วงต้นเรื่องกับท้ายเรื่อง ทั้งยังอยู่ในสถานะคนนอกและเป็นอื่นตลอดเวลา และสิ่งที่ทำให้ Portrait of a Lady on Fire ได้รับคำชมอย่างหนาหูคือการที่เซียมมาจับจ้องไปยังความสัมพันธ์ของตัวละครอย่างอ่อนโยน ปราศจากการจ้องมองด้วยสายตาของผู้ชายต่อผู้หญิง (male gaze) อันเป็นผลงานของ แคร์ มาธ็อง ผู้กำกับภาพที่ค่อยๆ ละเมียดสายตาผ่านเลนส์กล้อง เฝ้ามองความสัมพันธ์และความรู้สึกของตัวละครที่ค่อยๆ โถมทวีขึ้นทุกชั่วขณะที่พวกเธออยู่ด้วยกัน

“ไม่ใช่ว่าฉันเป็นผู้หญิงที่อยู่หลังกล้องแล้วเลยทำให้งานไม่ออกมาเป็น male gaze หรอกนะ เพราะเอาเข้าจริงผู้หญิงก็สร้าง male gaze ขึ้นมาได้เหมือนกัน เพราะเราเรียนรู้กันมาแบบนั้น ก็ใช่ที่ว่างานฉันมักมีลักษณะ female gaze พอสมควร ซึ่งก็ไม่ใช่จะเกิดขึ้นมาโดยง่ายแค่เพราะคุณเป็นผู้หญิง แต่มันเป็นสิ่งที่คุณต้องถอดรื้อโครงสร้างอย่างสม่ำเสมอ โดยที่ก็ไม่ได้ต้องหมกมุ่นระวังตัวกับมันตลอดเวลา ฉันไม่เคยต้องทำหนังไปพลาง ครุ่นคิดไปพลางว่า ‘จะทำยังไงไม่ให้ผู้หญิงคนนี้กลายเป็นวัตถุดีนะ’ หรอกค่ะ”

“ฉันอยากให้หนังเรื่องนี้มันเล่าผ่านสายตาของผู้หญิงที่จับจ้องไปยังผู้หญิง (female gaze) และคิดว่าเป็นโอกาสอันดีทีเดียวที่จะได้สร้างอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานภาพแบบใหม่ เส้นเรื่องแบบใหม่” เซียมมาบอก “ในหนังก็เล่าเรื่องตำนานออร์ฟิอุสกับนางยูริดิซี (ตำนานกรีก ว่าด้วยการเดินทางของออร์ฟิอุสที่หัวใจสลายเมื่อยูริดิซีซึ่งเป็นหญิงคนรักตายจาก จึงอ้อนวอนจนเทพแห่งความตายสงสารและส่งมอบวิญญาณยูริดิซีกลับมา ด้วยเงื่อนไขเดียวว่า ระหว่างการเดินทางจากยมโลกไปจนถึงโลกมนุษย์นั้น ออร์ฟิอุสห้ามเหลียวกลับมามองวิญญาณนางยูริดิซีที่เดินตามหลังมาเด็ดขาด หากแต่ออร์ฟิอุสทำไม่ได้ เมื่อเขาฝ่าฝืนคำสั่งหันกลับมามองเธอ ทำให้วิญญาณของเธอถูกพรากไปตลอดกาล) มันเป็นตำนานที่กลุ่มเฟมินิสต์หยิบมาวิเคราะห์บ่อยครั้งเชียวล่ะ ในแง่ที่ว่าการจับจ้องของผู้ชายนั้นสามารถฆ่าเราได้เลย”

ด้านหนึ่ง Portrait of a Lady on Fire ยังลัดเลาะไปยังบทบาทของผู้หญิงในแวดวงศิลปะทั้งมวล ตัวละครมาเรียนเนกับการต่อสู้ดิ้นรนภายใต้ร่มเงาของพ่อผู้เป็นศิลปินใหญ่ สีหน้าอ้างว้างเมื่อผู้คนเข้ามาทักทายเธอในฐานะลูกสาว ไม่ใช่ในฐานะจิตรกรที่จัดแสดงผลงานใหญ่โต “หนังที่ถูกสร้างโดยผู้หญิงนั้นอยู่คู่กับประวัติศาสตร์มาตลอด เพียงแต่พวกเราถูกลบหายไปได้อย่างรวดเร็วเหลือเกิน” เซียมมาบอก “และหนังเรื่องนี้ก็เล่าถึงการที่ผู้หญิงถูกลบออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์งานศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าจิตรกรหญิงนับร้อยชีวิตในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 เราถูกบอกมาตลอดว่าสิทธิและโอกาสต่างๆ ของผู้หญิงนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มันไม่จริงเลย มันเป็นวัฏจักรของมันแบบนี้

“เราอยู่ในห้วงเวลาที่ดูราวกับเป็นการปรับเปลี่ยนเชิงวัฒนธรรมครั้งใหญ่ เราพูดคุยถึงประเด็นเหล่านี้ คิดว่าโอกาสน่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตแต่พร้อมกันนั้นเราก็จดจำประสบการณ์ของการถูกต่อต้านต่างๆ ได้เข้ากระดูกดำ” เธอว่า “งานเขียนของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (นักเขียนหญิงชาวอังกฤษ) เปลี่ยนโฉมหน้าวรรณกรรมทั้งปวง หรือเมื่อ ฌองตาล อาเคอร์แมน (คนทำหนังหญิงชาวเบลเยี่ยม) ทำหนังเรื่อง Jeanne Dielman, 23 Commerce Quay, 1080 Brussels (1975) เธอก็เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไปเลย แต่จากนั้น คุณคงจะพบแล้วว่าเราลืมเลือนเรื่องราวของพวกเธอกันง่ายดายเหลือเกิน”

“ภาพยนตร์ต่างก็ยืนหยัดเพื่ออะไรบางอย่างทั้งนั้น หนังของฉันเองก็ด้วย” เธอบอก ก่อนขยายความถึงห้วงเวลาเคว้งคว้างสมัยยังเด็ก ในวัยที่ตระหนักได้ว่าตัวเองเป็นเลสเบี้ยนแต่โลกกลับไม่มีคำตอบหรือมองเห็นภาวะการดำรงอยู่ของเธอได้เลย และนี่นับเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เซียมมาทำหนังที่ว่าด้วยการสำรวจตัวตนของผู้หญิง การข้ามพ้นวัยและความรักทั้งในวัยเด็ก วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่เรื่อยมา -เพื่อที่ว่ามันอาจตอบคำถามของเด็กสักคนที่เคยสงสัยใคร่รู้ในตัวตนและความเป็นตัวเองเหมือนที่เธอเป็นมาในอดีต “ฉันเป็นเกย์ตั้งแต่เด็กและเสแสร้งแกล้งเป็นอย่างที่สังคมอยากให้เป็นมาโดยตลอด ซึ่งเป็นเรื่องน่าเจ็บปวดอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อมาตระหนักได้ว่าเราจำเป็นต้องแสดงแสร้งทำต่อไปเรื่อยๆ และต้องอดทน อดทนจนกว่าจะได้เริ่มใช้ชีวิตจริงๆ

“เราเสียเวลาไปมหาศาลเพราะสังคมไม่ปรับตัว เราจึงต้องสร้างมันขึ้นมาใหม่ ค้นพบอะไรใหม่ๆ มาอีก และนี่แหละค่ะความงดงามของมัน”


หมายเหตุ : งาน Céline Sciamma Retrospective (2007-2022) จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 9-16 มกราคม 2565 นี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่ และ Petite Maman จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2565

The Guilty – ฉันเชื่อว่ากาทุกตัวมีสีดำ

ในฐานะตำรวจที่มีประสบการณ์มาหลายปี เจ้าหน้าที่ โจ เบย์เลอร์ บอกได้ทันทีว่าบุคคลที่ปลายสายกำลังตกอยู่ในอันตราย เขาถูกสั่งพักงานภาคสนามจากกรมตำรวจลอสแองเจลิส และให้มานั่งโต๊ะรับโทรศัพท์สายด่วน 911 ซึ่งเป็นงานที่เขาไม่ชอบนัก แต่แล้ว เอมิลี ไลท์ตัน หญิงคนหนึ่งที่โทรมากลับทำให้วันนั้นของเขาเป็นวันแห่งความลุ้นระทึก และเขาเองก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

The Guilty เป็นหนังขายนักแสดงนำโดยแท้ เพราะตัวดำเนินเรื่องหลักมีเพียงพระเอก โจ เบย์เลอร์ ในขณะที่ตัวละครหลักอื่นๆ มาในรูปของเสียงที่อยู่ปลายสาย หนังรีเมคจากหนังสัญชาติเดนิชในชื่อเดียวกัน และได้เจค จิลเลียนฮาล มานำแสดง ซึ่งเขาทำได้ดีเกินคาดในการแบกหนังทั้งเรื่องเอาไว้ แต่นักวิจารณ์หลายคนก็ยังคิดว่าหนังฉบับนี้ยังด้อยกว่าฉบับดั้งเดิมอยู่บ้าง

เรื่องราวตึงเครียดเริ่มขึ้นเมื่อเบย์เลอร์เพิ่งวางสายจากชายที่ถูกโสเภณีปล้น และเขาเองไม่คิดว่าวันนี้จะมีอะไรน่าสนใจอีกต่อไป แต่แล้วหญิงคนหนึ่ง ซึ่งเขารู้ในภายหลังว่าชื่อเอมิลี ไลท์ตัน ก็โทรมาด้วยน้ำเสียงหวาดกลัว ดูเหมือนเธอกำลังถูกจับตามอง ทำให้ไม่สามารถบอกรายละเอียดของสถานที่และคนที่เธออยู่ด้วยได้ เบย์เลอร์จึงต้องตั้งคำถามแบบใช่ ไม่ใช่ ให้เธอตอบ และเขาก็ได้รู้ว่าเธอกำลังถูกลักพาตัวอยู่บนรถตู้สีขาว เบย์เลอร์พยายามติดตามสัญญาณโทรศัพท์ของเธอ และให้เพื่อนตำรวจภาคสนามมองหารถคันนั้น ในวันที่ลอส แองเจลิสวุ่นวายจากผู้ประสบภัยไฟป่า แต่ดูเหมือนคนที่ภาคสนามจะไม่ให้ความร่วมมือมากนัก เขาจึงต้องเล่นนอกเกมด้วยการให้เพื่อนตำรวจช่วยสืบ จนค้นเจอว่าเอมิลีมีสามีที่มีประวัติอาชญากรรม และเขาอาจกำลังควบคุมตัวเธออยู่

หนังปูเรื่องมาเพียงเท่านี้ ซึ่งเอาเข้าจริงมันคงเป็นหนังแนวอาชญากรรมไขคดีทั่วไป ที่ในตอนท้าย ตัวเอกสามารถ หรืออาจไม่สามารถช่วยเหลือคนตรงปลายสายจากเงื้อมมือของความรุนแรงในครอบครัว แต่หนังกลับพลิกตีลังกากลับหลังในช่วงท้ายเรื่อง จนทำให้คนดูอึ้งไปเหมือนกันว่าตัวเองเดาผิด และการเดาผิดนั้นมาจากการเชื่อมั่นใน “ประสบการณ์” ที่ตัวเองเคยดูหนังแนวนี้มาหลายเรื่องและมันจบตามแบบที่คิดไว้ ในขณะเดียวกัน เจ้าตัว “ประสบการณ์” นี้ ก็เป็นสิ่งที่หลอกเบย์เลอร์ด้วยเช่นกัน

ในโลกของญาณวิทยา (การศึกษาเกี่ยวกับความรู้) สิ่งที่จะให้ความรู้เรามีอยู่ 2 อย่างหลักๆ อย่างแรกคือประสบการณ์ เช่น เราเห็นว่ากามีสีดำซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง เราจึงให้ข้อสรุปว่า กาทุกตัวมีสีดำ และอย่างที่สองคือเหตุผลบริสุทธิ์ที่ไม่อิงกับประสบการณ์ เช่น การบอกได้ว่า 1+1 เป็น 2 ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนของโลก เราก็จะได้ผลลัพธ์นี้ โดยไม่ต้องไปดูในโลกแห่งความจริงว่าเราเอาของหนึ่งอย่างมารวมกันสองครั้งแล้วจะเท่ากับสองหรือไม่

ความรู้ที่อิงกับประสบการณ์นี้ นักปรัชญาเรียกว่าเป็นความรู้แบบ a posteriori ส่วนความรู้ที่อิงเหตุผล เรียกว่า a priori โดยความรู้แบบ a posteriori มักจะถูกนักปรัชญาฝ่ายตรงข้ามโจมตีเสมอว่า เป็นความรู้ที่ไม่นิ่ง และไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป ในกรณีที่บอกว่ากาทุกตัวมีสีดำ ข้อความดังกล่าวอาจไม่เป็นความจริงก็ได้ เพราะอาจมีคนค้นพบกาสีขาวขึ้นมาสักวันหนึ่ง และทำให้ข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ นักคิดแบบ a posteriori จึงต้องหาทางปกป้องตนเองในเรื่องนี้มาเสมอ ในขณะเดียวกัน นักคิดแบบ a posteriori ก็โจมตีความรู้แบบ a priori ว่า ไม่ได้ทำให้ได้ข้อมูลใหม่ๆ ในโลกแห่งความจริง ในสมการ 1+1=2 ทั้งสองข้างของสมการเป็นเพียงการเขียนข้อความเดียวกัน ไม่ได้เป็นความรู้ที่ได้ออกมาใหม่แต่อย่างใด

เบย์เลอร์เองก็ถูกความรู้แบบ a posteriori หลอกเอา เพราะเขา “เชื่อประสบการณ์” ของตนเอง จากการที่เขาเป็นตำรวจมานานหลายปี เขานำ “ข้อมูลใหม่” จากโลกภายนอกที่ได้มา เช่น ประวัติอาชญากรรมของสามีเอมิลี มาเชื่อมโยงกับข้อมูลจากประสบการณ์ที่เขามีอยู่ และสร้างข้อสรุปขึ้นมาเองว่า เอมิลีกำลังอยู่ในอันตราย แต่กลายเป็นว่าเขาเดาผิดถนัด

ถ้าหากเขาจะประยุกต์ใช้แนวคิดแบบ a priori ในกระบวนการคิดของเขาบ้าง เขาควรฉุกคิดว่า ความรู้จากประสบการณ์อาจไม่เป็นเหมือนเดิมเสมออย่างที่เขาเข้าใจ และหาหลักฐานข้อมูลมากกว่านี้ ที่สามารถยืนยันได้ว่าเหตุการณ์กำลังเป็นไปในทางใดกันแน่ ซึ่งจะทำให้เขาคาดการณ์สิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้องมากกว่านี้

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าคิดจากหนัง The Guilty คือปฏิกิริยาตอบสนองของคนเรา ที่มีแนวโน้มจะต้อง “ทำอะไรสักอย่าง” ตลอดเวลาในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้รู้สึกว่าตนเองได้เดินหน้า มีแบบทดสอบทางจิตวิทยาอันหนึ่ง ที่จำลองสถานการณ์ว่าผู้ถูกทดสอบเครื่องบินตก มีสิ่งของให้เลือกหยิบได้เพียง 2 อย่างจากซากเครื่องบิน เช่น น้ำ ปืน ร่มชูชีพ แผนที่ หนังสือเกี่ยวกับพืชท้องถิ่น โดยที่เมืองอยู่ทางทิศตะวันออกแต่ไม่รู้ระยะทางว่าไกลเท่าใด เมื่อให้ผู้เข้าร่วมทดสอบเลือกว่าจะทำอย่างไรต่อไป ปรากฏว่าคนจำนวนมากเลือกที่แผนที่ หรือปืน เพื่อที่จะเดินทางออกจากจุดเครื่องบินตกไปหาเมือง ทั้งที่ในความเป็นจริง เมื่อเกิดสถานการณ์ดังกล่าว ควรจะปักหลักอยู่ที่เดิม และพยายามทำให้ร่างกายอบอุ่น เช่น หาเสื้อกันหนาวมาห่ม หรืออาจนำร่มชูชีพมาแผ่เป็นสัญลักษณ์ให้ทีมค้นหามาพบ เพราะผู้ค้นหาจะเริ่มค้นหาจากพิกัดที่เครื่องบินตกเป็นที่แรก

การเดินไปข้างหน้าโดยที่มีข้อมูลไม่เพียงพอทำให้เกิดสถานการณ์น่าลำบากใจหลายอย่าง โดยที่เบย์เลอร์ก็ได้ลากเพื่อนร่วมอาชีพมาเกี่ยวข้องด้วย และถึงกับให้ตำรวจพังเข้าไปในบ้านของเอมิลี แต่อย่างไรก็ตาม การที่เขาทำเช่นนั้นก็ไม่ได้เปล่าประโยชน์ เพราะเขาสามารถช่วยคนคนหนึ่งไว้ได้ทันเวลา จะว่าไป ลูกบ้าในการเดินหน้าของคนเราก็อาจจะมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่ก็มองได้ว่าหนังใส่องค์ประกอบนี้เข้ามาเพื่อให้เราที่เอาใจช่วยพระเอกอยู่ไม่เสียหน้ามากจนเกินไป

สิ่งที่ดูจะเป็นข้อคิดสำคัญอีกอย่างหนึ่งจากหนัง ก็คือการเผชิญหน้ากับความจริง เบย์เลอร์ถูกพักงานภาคสนามเพราะเขาได้ยิงผู้บริสุทธิ์ และเขาได้เตรียมการขึ้นให้การกับศาลในวันรุ่งขึ้น โดยเขาได้เตรียมให้เพื่อนพูดข้อมูลที่เป็นเท็จเพื่อให้เขาพ้นผิด เมื่อเขาได้เผชิญกับความจริงที่ประสบการณ์หลอกเขาเอง ทำให้เขามีทีท่าที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนกับเรื่องเหล่านี้ หากพูดในเชิงจิตวิทยา เขาอาจได้รับความรู้สึกทดเทิด นั่นคือ ได้ช่วยใครสักคนหนึ่ง จนทำให้เขาเกิดรู้สึกผิดขึ้นมา และเห็นความเปราะบางของชีวิต จนเขาไม่อยากเดินหน้าโกหกอีกต่อไป แต่ในอีกแง่หนึ่ง การที่เขาถูกประสบการณ์ตัวเอง “โกหก” ทำให้เขารู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดจากการโดนหลอก และตัดสินใจเปลี่ยนแผนในนาทีสุดท้าย

หนังยังออกมาในจังหวะเวลาพอดีกับเหตุการณ์ที่ตำรวจสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ เช่น เหตุการณ์ตำรวจสังหารจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันผิวดำ โดยหนังได้ให้สถิติไว้ตอนท้ายเรื่องว่า ตำรวจผิวขาวที่ผ่านกระบวนการไต่สวนเช่นนี้จนได้รับความผิดมีน้อยมาก ซึ่งนับว่าหนังได้สะท้อนสังคมได้อย่างมีอิมแพ็กต์พอสมควร ทำให้คนดูเกิดอารมณ์ร่วมได้ดีเนื่องจากได้ร่วมประสบการณ์อันตึงเครียดไปพร้อมกับตัวเอกมาเป็นชั่วโมง และเป็นพยานถึงการสารภาพผิดของเขาทั้งน้ำตา

ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยคงจะสามารถเห็นธีมเรื่องนี้ได้ในหนังกระแสหลัก เมื่อมองถึงวงการหนังบ้านเรา คงจะต้องเดินทางอีกยาวกว่าจะสามารถพูดประเด็นละเอียดอ่อนด้านอาชีพเช่นนี้ได้ กรณีที่เคยเกิดและโดนแบนไปแล้วก็อย่างเช่นซีรีส์ ให้รักพิพากษา ซึ่งมีเส้นเรื่องวิจารณ์การทำงานของอัยการ จนเกิดเป็นกระแสต่อต้าน หากมีวันที่หนังไทยสามารถพูดประเด็นความขัดแย้งในโลกทางอาชีพได้อย่างตรงไปตรงมา ก็คงเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการหนังไทย ที่จะทำหน้าที่เป็นสื่อสะท้อนสังคมได้อย่างแท้จริง


ดู The Guilty ได้ใน Netflix

FILM CLUB Year List 2021 (Part 2)

0

(รายชื่อรอบแรก)

ในที่สุดปี 2021 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ไม่แพ้ปี 2020 โรงหนังกลับมาเปิดแล้วในช่วงครึ่งปีหลังแต่ยังลูกผีลูกคน กิจการ Streaming ภาพยนตร์เติบโตต่อเนื่องและอาจจะน่ากังขาพอๆ กับน่าชื่นชม ความตายรายวันของผู้คนในประเทศจากโรคระบาด การชุมนุมที่ซบเซาลงทั้งจากโรคและการออกหมายจับรายวันจนถึงวันนี้ 

ผู้คนก็ยังคงดูหนังกันอยู่ ทั้งแบบออกนอกบ้านและไม่ออกนอกบ้าน ทั้งแบบเดิมที่ตั้งใจดูและแบบใหม่ที่ดูไปแชตไป เทศกาลกระจุกตัวในห้วงเวลาสั้นๆ ท้ายปีจนแทบชนกันตายเพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นและเลื่อนจากอดีตมาหลายคำรบแล้ว 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2021 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2022 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง


ปราปต์ : นักเขียน

The Innocent (2021, Oriol Paulo, Spain, mini-series) 

ปีนี้ได้ดูหนังค่อนข้างน้อย และไม่รู้สึกว่ามีเรื่องไหนโดดเด่นในใจเป็นพิเศษ แต่พอลองเลือกๆ ดู พบว่ามีซีรี่ส์สามเรื่องที่ชอบมากในระดับเท่าๆ กัน คือ เรื่องนี้ Mouse (2021) และ The Victims’ Game (2020) ทั้งหมดเป็นซีรี่ส์แนวสืบสวนสอบสวนจากสามชาติ พอต้องมาเลือกจริงๆ ก็ยากพอสมควร เกณฑ์แรกที่ใช้ตัดออกคือดูเรื่องไหนแล้วหงุดหงิดน้อยที่สุด ก็ตัด Mouse ออกไป จากนั้นคือ เรื่องไหนดูแล้วถูกตรึงไว้กับมัน ต้องดูต่อจนจบ ไม่กินไม่นอน คราวนี้ชัดเลยว่า The Innocent 

มันเป็นงานฝั่งสเปนที่ทำมาจากนิยายของฮาร์ลาน โคเบน ส่วนตัวยังไม่ได้อ่านเล่มนี้ แต่ปกติเราจะพอเดาลายเซ็นได้ว่าโคเบนจะมาแนวไหน และทั้งที่เป็นอย่างนั้น มันก็ยังเป็นงานที่เอาอยู่มากๆ ชอบการดีไซน์การเล่าแบบเจาะสลับไปทีละตัวละครในแต่ละ EP (รัก prologue ในทุกๆ EP เลย) ชอบความเปรี้ยวที่ทำให้ EP แรกกับ EP 2 มันดูแทบไม่เกี่ยวกันเลย คือเปิดมาแล้วนึกว่าดูคนละเรื่อง ชอบความเกินคาดเดา และความดราม่าในระดับที่พอดี ไม่รู้สึกเว่อร์จนเหมือนถูกบีบบังคับหรือจับวางอย่างไม่สมเหตุผล ชอบที่สุดคือการวางตัวร้าย เพราะมันเป็นตัวละครที่เรารักและผูกพันกับเขามากๆ แถมเรื่องมันก็โชว์ให้เห็นเหตุผลที่เกิดขึ้นตลอดแบบไม่กั๊กเลย แต่เรากลับมองข้ามไปได้จริงๆ ส่วนตัวรักงานสเปนมากๆ ยกให้เป็นญี่ปุ่นของฝั่งยุโรป คือมันจะเวียร์ด จะคราฟท์ จะเป๊ะปังไปหมดเสมอ สำหรับปีนี้ การได้ดูเรื่องนี้และอีกสองเรื่องที่ยกมา เป็นความบันเทิงที่ดีต่อใจและดีต่ออาชีพตัวเองมากๆ เหมือนจุดไฟในตัวเองให้ลุกโชนขึ้นได้แรงๆ อีกครั้ง


คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง : นักวิจารณ์และอาจารย์พิเศษด้านภาพยนตร์

We Don’t Bite: Villains in the Countryside (2021, South Korea)

รายการวาไรตี้เกาหลีประเภทเอานักแสดง นักร้อง คนดัง ไปอยู่ตามชนบทนั้นมีมากดาษดื่นจนกลายเป็นความเฝือ หากแต่ We Don’t Bite: Villains in the Countryside ก็มีบริบทพิเศษเฉพาะของมัน นี่คือรายการที่เอาทีมนักแสดงจากซีรีส์ประสาทแดก The Penthouse (2020-2021) ไปอยู่บ้านรกร้างต่างจังหวัด ทำกับข้าว ทำงานไม้ จับปลา ซ่อมบ้าน ฯลฯ จากที่เคยเห็นแต่การฟาดฟัน ด่าทอ ตบตี เชือดเฉือนอารมณ์แบบ K-Drama เราก็ได้เห็นด้านที่ต่างออกไปของพวกเขา ทั้งตลก อบอุ่น และอ่อนโยน อีกทั้งรายการก็รู้ขอบเขตที่จะไม่ romanticize ความบ้านนอกจนเกินไป นี่จึงเป็นรายการเยียวยาจิตใจแห่งปีในยุคสมัยที่เหมือนโลกจะแตกได้ทุกวัน 


ณขวัญ ศรีอรุโณทัย

Collective (2019, Alexander Nanau, Romania)

สรุปปี 2021 : ปีแห่งความฉิบหาย

ขอยกสารคดีแฉความเน่าหนอนของโรมาเนียเรื่องนี้เป็นหนังแห่งปี ปีที่ดูหนังน้อย อ่านหนังสือน้อย ฟังเพลงก็น้อย เป็นขาลงของชีวิตต่อเนื่องลากยาวมาสามสี่ปีแล้ว 

ความฉิบหายในหนังช่างละม้ายคล้ายสิ่งที่เราเผชิญกันวันต่อวันในประเทศนี้ ในปีแห่งความฉิบหาย และเราก็ดูมัน นั่งในโรงหนังทางเลือก บนเบาะไม่แข็งไม่นุ่ม ในสเปซขนาดกะทัดรัด เงียบกริบ ปลอบประโลมใจตัวเองว่าทุกที่ต่างก็มีความฉิบหายเป็นของตัวเอง


ชาญชนะ หอมทรัพย์

Belfast (2021, Kenneth Branagh, UK)

หนังเล็กๆ เล่าเรื่องส่วนตัวของคนทำ ถึงชีวิตในอดีตที่พ้นเลยมาแล้ว ช่วงเวลาไม่มีวันหวนคืน ชอบมวลๆ ความเศร้าละมุนในหนัง เป็นหนังที่ทำให้เราตระหนักถึงเมจิคสำคัญของภาพยนตร์คือการเป็นเครื่องย้อนเวลา สร้างอดีตขึ้นมาอีกครั้งและพาคนดูกลับไปดูชีวิตคนทำเองในวัย 9 ขวบ ทั้งเรื่องเล่าอยู่บนถนนเส้นเดียวของชุมชนหนึ่งในเมืองเบลฟาสท์ ประเทศไอแลนด์เหนือ ที่สุดท้ายผลของการเมืองและความขัดแย้งทางศาสนาทำให้เด็กชายตัวเล็กๆ คนหนึ่งต้องจากบ้านมาและมีชีวิตที่เปลี่ยนไปตลอดกาล ทุกโมเม้นต์ในหนังคือโมงยามแห่งความสุขเล็กๆ ที่เราอยากจะกอดเอาไว้ให้นานแสนนาน อาจจะเพราะปีนี้เป็นปีที่หฤโหดสำหรับเราและคนไทยแทบทุกคน ความสุขในการดูหนังเล็กๆ เรื่องนี้จึงยิ่งใหญ่มากๆ ในความทรงจำ


สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ : ผู้กำกับ

First Time [The Time for All but Sunset – VIOLET] (2021, Nicolaas Schmidt, Germany)

สำหรับปี 2021 ถ้าไม่นับ Memoria แล้ว ภาพยนตร์ที่ชอบมาก และนึกถึงอยู่เรื่อยๆ ที่สุด ก็คือหนังกึ่งสั้นกึ่งยาวเรื่องนี้ อาจจะเพราะมันมีการจับจ้องผู้โดยสารบนรถไฟเป็นเวลานานด้วย เลยรู้สึกเชื่อมโยงโดยส่วนตัวเป็นพิเศษ โปรแกรมเมอร์เทศกาลแนะนำให้ไปดูโดยบอกว่านี่คือ James Benning “Erotic version” ได้ยินแค่นี้ก็แอบเทใจชอบไปแล้ว ตัวหนังจริงๆ ไม่ถึงกับ “Erotic” แต่เป็น “Romantic comedy” (ของวัยรุ่นยุค Social Distancing) ฉบับที่เอาเนื้อเรื่องออกไปให้หมด เหลืออยู่แค่โครงคร่าวๆ ให้จิ้นจิกหมอนกันไปเอง เป็นหนังยาว 50 นาที ที่เปิดเรื่องด้วย MV โค้กยุค 80 ที่เหมือนจะไม่เกี่ยวอะไรกับหนัง แต่สุดท้ายแล้วเกี่ยวเนื่องอย่างที่สุด หนังทั้งเรื่องมีอยู่ไม่กี่ช็อต ช็อตเด็ดเป็น long take กล้องนิ่งนานเกือบ 35 นาที ที่ทำให้คนดูทยอยลุกออกไปครึ่งค่อนโรง ส่วนคนที่ยังอยู่ดูกันต่อ ก็จะได้เห็นมุกขำๆ ที่คนทำทยอยป้อนเข้ามาเป็นระยะ ผ่านรายละเอียดของสถานการณ์ พฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ของนักแสดง เสียงบรรยากาศและเสียงดนตรีที่เลี้ยงอารมณ์หนังไปโดยตลอด เอาเข้าจริงถ้าใครที่ซิงค์กับจังหวะของมันได้ มันเป็นหนังที่ฮา น่ารัก และยียวนมาก ระหว่างดูก็ตื่นเต้น ลุ้น และยิ้มไปตลอดทั้งเรื่อง


พงศ์สันต์ อรุณสินทวีพร : cinephile

Tokyo Sunrise (2015, Ryutaro Nakagawa, Japan)

เมื่อคาโอรุ-เพื่อนสนิทของเร็น-ฆ่าตัวตายโดยไม่บอกลาและไม่รู้สาเหตุ เร็นรู้สึกเหมือนอกหักและถูกหักหลังไปในคราวเดียวกัน เขาเพิ่งตระหนักว่าระยะห่างระหว่างกันกว้างกว่าที่เข้าใจก็เมื่อฝ่ายหนึ่งจากไปแล้ว เร็นจัดการกับการตายของคาโอรุไม่ได้ แม้โดยผิวเผินเขายังครองสติไปในแต่ละวันได้อยู่ จนพ่อแม่ของคาโอรุมอบภาพใบสุดท้ายที่คาโอรุวาดให้เขา มันเป็นภาพวาดเด็กสาวผู้เป็นรักแรกของคาโอรุที่เขาเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน เขาจึงตัดสินใจออกเดินทางไปกับริซาโกะ-หญิงสาวคนรักคนสุดท้ายของคาโอรุ เพื่อตามหารักแรกของคาโอรุในภาพวาดนั้น – นี่จึงเป็นหนังที่ว่าด้วยการเดินทางไกลเพื่อดีลกับความตายของเพื่อนสนิทที่จากไปพร้อมกับเอาส่วนหนึ่งของตัวเราไปด้วย

หนังเล่าเรื่องโดยจับเอาห้วงเหตุการณ์ที่ดูธรรมดาในแต่ละช่วงชีวิตมาขึ้นจอ แต่สามารถให้ภาพความสัมพันธ์ของตัวละครได้กระจ่าง แม้หนังเลือกที่จะละการเล่าบางเหตุการณ์สำคัญด้วยการข้ามไปไม่พูดถึงด้วย – ริวทาโร่ นาคางาวะ (Mio on the Shore, Silent Rain) ทำหนังเรื่องนี้ด้วยแรงบันดาลใจจากประสบการณ์จริงของเขาเองที่สูญเสียเพื่อนสนิทไปจากการฆ่าตัวตายที่ไม่รู้สาเหตุ โดยมีไทกะ นากาโนะ ที่มอบหนึ่งในการแสดงที่ดีที่สุดของเขาเอาไว้ในบทของเร็น

หนังมีจังหวะการเล่าเรื่องราวกับบทกวีและถ่ายภาพได้สวยละมุน มวลอารมณ์ทึมเทาเศร้าสร้อยทว่างดงามของหนังให้ความรู้สึกเหมือนมีแสงแดดจางๆ แบบที่ไม่รู้ว่าเป็นแสงแรกหรือแสงสุดท้ายของวันเจืออยู่ในนั้น ทั้งหมดทั้งมวลของหนังทิ้งรสขมปร่าในคอและตะกอนอบอุ่นในใจ จนขอเลือกให้เป็นหนังแห่งปีสำหรับเรา


ปฏิกาล ภาคกาย : บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Salmon Books

Kakushigoto (2020, Yūta Murano, Japan, series)

แอนิเมชั่นว่าด้วยชีวิตของนักเขียนการ์ตูนแนวทะลึ่งตึงตัง ที่ต้องปกปิดเรื่องนี้เป็นความลับ เพราะกลัวว่าความจริงนี้จะไปทำให้ชีวิตของลูกสาววัย 10 ขวบต้องอับอาย เป็นแอนิเมชั่นเล่าเรื่องน่ารักๆ ที่นอกจากจะมีประเด็นความลับระหว่างพ่อลูก ยังมีความลับในแวดวงหนังสือ ความลับในการทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูน ที่ถ้าใครสนใจเรื่องนี้เป็นทุนเดิมน่าจะคลายความสงสัยไปได้ไม่มากก็น้อย


กิตติกา บุญมาไชย : cinephile

𝑺𝑰𝑳𝑬𝑵𝑪𝑬

𝐛𝐲 𝐊𝐢𝐜𝐤 𝐭𝐡𝐞 𝐌𝐚𝐜𝐡𝐢𝐧𝐞 𝐃𝐨𝐜𝐮𝐦𝐞𝐧𝐭𝐚𝐫𝐲 𝐂𝐨𝐥𝐥𝐞𝐜𝐭𝐢𝐯𝐞

6 – 10 October 2021 at 100 Tonson Foundation, Bangkok

งานวิดีโอจัดวางโปรแกรมพิเศษเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ประกอบด้วยวิดีโอสามจอ สองจออยู่ด้านหน้าเป็นฟุตเทจจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ภาพมองทาจเหตุการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวันของยุคนั้น สลับกับตัวหนังสือเล่าเรื่องโลกอนาคตฉบับดิสโทเปีย จอด้านหลังแสดงภาพจุดสีแดงที่ค่อยๆ ใหญ่ขึ้น 

โดยส่วนตัวเราเคยเห็นคลิปจากเหตุการณ์ 6 ตุลา มาเยอะมาก ทั้งในนิตยสารสมัยก่อนที่แม่เคยซื้อเก็บไว้ หรือเอกสารประวัติศาสตร์และงานวิชาการอีกมากมาย แต่การนั่งอยู่ในความมืดถูกบังคับให้จ้องมอง (โดยปริยาย) ไปยัง “ร่าง” ของนักศึกษาที่ถูกฆ่า มัน Disturbing มากๆ ซึ่งเราคิดว่านั้นคือสิ่งที่ศิลปินตั้งใจ

งานวิดีโอจัดวางเป็นสิ่งที่มีเสน่ห์มาก โดยตัวมันเองก็ส่งสารอันน่าทึ่งได้ แต่พอมันถูกจัดวางร่วมกันในพื้นที่หนึ่งแล้วองค์ประกอบของพื้นที่ เสียง แสง และการเล่นล้อต่อกันของมันยิ่งเสริมพลังของสารทร่ผู้สร้างจะสื่อได้อย่างยอดเยี่ยม


ดูหนังทุกวัน : แอดมินเพจและผู้จัดจำหน่ายหนังต่างประเทศ

แค่เพื่อนครับเพื่อน (กำกับ: นพณัช ชัยวิมล, ซีรีส์จาก GMMTV ฉายซ้ำใน WeTV)

เราคิดว่าในจักรวาลซีรีส์วายไทยที่มีมากมายหลายเรื่องให้ดู เราก็ไม่ได้ดูมันหมดทุกเรื่องขนาดนั้น แต่เท่าที่พูดคุยกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ หลายคนรอบตัว (โดยเฉพาะที่เป็น LGBT) ก็ออกจะแปลกใจอยู่ที่ส่วนใหญ่คือไม่ค่อยดูละครวายกันเลย เพราะโดยส่วนตัวสนุกกับละครวายมากทีเดียว และเราว่าหลายเรื่องในปีนี้ก็ทำได้ดีเลยแหละ ..เนื่องจากปีนี้ได้ดูหนังค่อนข้างน้อยแต่ได้ดูซีรีส์เยอะไปหมด ก็เลยตั้งโจทย์กับตัวเองว่าจะขอเลือกซีรีส์วายซักเรื่องหนึ่งมาเขียนถึงก็แล้วกัน ซึ่งปรากฏว่าเรื่องที่เราอยากเขียนถึงมากที่สุดกลายเป็นเรื่องที่ยังฉายไม่จบและออกอากาศไปแล้ว 9 ตอนและน่าจะเหลืออีก 3 ตอนเรื่องนี้ – แค่เพื่อนครับเพื่อน

สำหรับเราส่วนตัว ตอนที่เห็นข่าวการประกาศสร้างก็รู้สึกว่าเคมีของโอมกับนนนในฐานะคู่วายนี่มันจะไปทางนี้ได้หรือเปล่านะ และพอเปิดซีรีส์มา 3-4 ตอนแรกที่เรื่องขีดมาให้ทั้งสองคนอยู่คณะวิศวะกับคณะสถาปัตย์ซึ่งมีความยกพวกตีกันก็ดูเหมือนจะทำให้อินได้ยากมาก แต่นั่นก็เป็นไปเพื่อคงพล็อตหลักจากตัวนิยายเรื่อง “หลังม่าน | Behind the Scenes” เพื่อเซ็ตจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งของสองตัวละครหลักให้ชัดขึ้น เพราะนอกเหนือจากจะอยู่คณะที่เป็นศัตรูกัน สองคนนี้ยังเป็นเพื่อนบ้านที่พ่อแม่เกลียดชังกันไปอีก แต่สุดท้ายพอความรักที่จริงๆ ก็ก่อตัวมานานแล้วระหว่างปราณกับภัทรมันชัดขึ้นๆ หลังจูบนั้นในอีพี 5 เราคิดว่าเรื่องราวต่อจากนั้นมันคือการเล่าความสัมพันธ์แบบแอบคบกันของเด็กหนุ่มสองคนที่น่าติดตามว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ มีรายละเอียดน่ารักๆ ที่ผ่านกระบวนการคิดมาดี โดยเฉพาะการถอดวิธีคิดในความสัมพันธ์ของตัวผู้กำกับมาใส่ไว้ในแต่ละตัวละคร และมาพร้อมการแสดงที่ดีมากๆ ของทั้งโอมและนนน ..เราคิดว่าในปีที่ต้องทำงานจับเจ่าอยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่แบบปีนี้ การมีซีรีส์รักโรแมนติกที่ย่อยง่ายดูได้เพลินๆ แบบแค่เพื่อนครับเพื่อนให้ได้ดูก็เป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลยแหละ


ศาสวัต บุญศรี : อาจารย์สอนภาพยนตร์ผู้ประสบปัญหาดูหนังที่บ้านไม่ได้

ทุกรายการในชาแนล FAROSE โดยเฉพาะ ไกลบ้าน ตอน EP.52 หลวงเจ้ลาสิกขา พอกันทีชีวิต ป.เอก 

ปี 2564 ผ่านไปได้เพราะ Farose หรือคุณแดงของชาวช่องเลยจ้ะ โดยเฉพาะ ไกลบ้าน ตอน EP.52 หลวงเจ้ลาสิกขา พอกันทีชีวิต ป.เอก ที่ดาราหลักอย่าง (แม่)ชีต่อ จิตรพันธ์ุ หรือ AJ Jito Suzuki ไปลาสิกขาว่าจะไม่เรียน ป.เอกแล้ว ทุกประโยคที่ต่อพูดนี่มันโดนใจไปหมด ไม่ว่าจะเป็นมุมมองการเรียน การใช้ชีวิต การท้อใจ และการให้กำลังใจ (โดยเฉพาะการจะไม่ยอมแพ้ดาราหลักอีกคนอย่างเจ๊ป้อง และ อายุพึ่ง 38 วอนอย่าเรียกพี่นะคะ 555 พอดีอายุเท่ากันเลยอิน) รวมถึงความจริตกะเทยที่เราเองก็มักพูดคล้ายกันแบบนี้กับเพื่อนๆ ชาวซีเนไฟล์ซ่องแตก เลยเอนจอยมากๆ 

ไกลบ้านกลายเป็นรายการที่คนดูผูกพันกับดาราหลักไปแบบไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้รู้จักมักจี่กันเป็นการส่วนตัว ยิ่ง EP หลังๆ ที่เรียบง่ายแต่กินใจและชวนตกใจ ทั้งข่าวช็อคของแอนนี่ พี่ป้องกับฟาโรส หน่องผอม ต่อลาออก อ.ปวินมาเที่ยว)ด้วย หรือล่าสุดการไปกินข้าวกลางวันบ้านเจ๊เหว พอทุกอย่างมันออกมาสดๆ ไม่ได้ตั้งใจที่จะปรุงแต่งจนมากไป เลยเหมือนกิจกรรมที่เพื่อนๆ เราทำแล้วคนดูเราได้ไปเป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย

จากนั้นก็ฟังวนสลับกันไป คืนนี้ไกลบ้านบ้าง คืนนี้ People you may know บ้าง คืนนี้สลับมาเสน่ห์นางชี(โห) บ้าง โดยเฉพาะรายการเสน่ห์นางชี เราว่า ต่อ จิตรพันธ์ุเป็นคนเล่าเรื่องพระพุทธศาสนาได้น่าฟัง ย่อยเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่าย ฟาโรสเองก็เป็นคนยิงประเด็นและช่วยสรุปต่างๆ ได้ดี คือดูแล้วก็ได้ทั้งความรู้เพิ่มและกำลังใจในการทำงานวิชาการต่อไปมากๆ 


อ่านต่อในตอนอื่นๆ : FILM CLUB Year List 2021 (Part 3) | FILM CLUB Year List 2021 (Part 4) | FILM CLUB Year List 2021 (Part 5)

มนต์รักทรานซิสเตอร์ : ชีวิตที่พังทลายของแผน + สะเดา เพราะโชคชะตาหรือโครงสร้างสังคมอันอยุติธรรม?

บทสัมภาษณ์ของวัฒน์ วรรลยางกูรในปี 2555 บอกเราว่า เขาตัดสินใจออกจากป่าเพราะปัญหาในพรรคที่เขาพบว่า ห้ามวิจารณ์เบื้องสูงในพรรค แบบนั้นจะต่างอะไรกันกับการห้ามวิจารณ์ศักดินาในเมืองกันเล่า นิยายมนต์รักทรานซิสเตอร์ เกิดขึ้นหลังจากที่วัฒน์สลัดคราบคอมมิวนิสต์ออกไปแล้ว นั่นคือ การตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2524

ตัวนิยายไม่ได้บอกเราว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงไหนชัดๆ แต่มีหมุดหมายสำคัญอยู่ที่สุรพล สมบัติเจริญ ที่แผนพยายามเดินตามรอยอยู่ การที่กล่าวถึงโปสเตอร์เลือกตั้ง โปสเตอร์เกี่ยวกับการชุมนุมของนักศึกษา ทำให้พอเดาได้ว่าแผนและสะเดาอาจมีชีวิตอยู่ช่วงทศวรรษ 2510 ไม่แน่ว่าจะอยู่ก่อน 14 ตุลาฯ หรือหลังจากนั้น

ทรานซิสเตอร์เป็นชื่อวิทยุที่ถือว่าเป็นกลไกสำคัญของรัฐ สมัยสฤษดิ์ ได้มีการสั่งให้ทหารผลิตเครื่องวิทยุจำหน่ายในราคาถูก รายการวิทยุเกิดขึ้นอย่างมาก เพื่อขยายสัญญาณปิดน่านฟ้าไม่ให้รายการวิทยุของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แย่งชิงมวลชนไปได้ เคยอ่านเจอด้วยซ้ำว่า มีองค์กรต่างประเทศเสนอให้รัฐบาลไทยเพิ่มรายการวิทยุเพื่อการศึกษา แต่ได้รับการปฏิเสธไป ในอีกด้านก็เปิดพื้นที่ให้บริษัทเอกชนเข้าไปรับสัมปทานทำรายการบันเทิงอย่างละครวิทยุ และรายการเพลงแทน

หากศาสนาจะเป็นยาฝิ่นในสายตาฝ่ายซ้าย ละครวิทยุ เพลงรักใคร่และโฆษณาสินค้า ไม่แน่ใจว่าคืออะไร แต่ไม่ใช่พันธมิตรของมาร์กซิสต์แน่นอน สิ่งเหล่านี้มันเข้าไปอยู่ในความใฝ่ฝันและความรู้สึกนึกคิดของแผน และเป็นสื่อเชื่อมโยงเขากับสะเดา กับโลกอันทันสมัยที่พวกเขาเข้าถึงได้ เพียงแค่หมุนคลื่นวิทยุฟัง และนั่นคือความหวังอันแสนหวานก่อนที่โศกนาฏกรรมจะชุดคร่าพวกเขาออกจากกันในเวลาต่อมา

ตัวหนังในอีก 20 ปีต่อมา ปรับมาจากนิยายต้นฉบับของวัฒน์ วรรลยางกูร ที่สร้างขึ้นโดยเป็นเอก รัตนเรือง ในบริบทที่ต่างออกไป แม้บอกไม่ได้เต็มปากว่าทุนนิยมเป็นผู้พ่ายแพ้ แต่ฟองสบู่เศรษฐกิจที่แตกโพละในต้นทศวรรษ 2540 ได้ล้มความเป็นไปได้ว่าไทยจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่แบบเดียวกับญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หว้น ในทางกลับกันมันทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งกลับมาหา “ราก” ของตัวเอง บ้างก็ไปกับอุดมการณ์ชาตินิยม (หนังบางระจัน สุริโยไท เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน) บ้างก็กลับไปหาคำตอบที่หมู่บ้าน มนต์รักทรานซิสเตอร์เลือกส่วนหลัง

เอาเข้าจริงหนังเรื่องนี้จะว่าย้อนยุคก็ไม่ใช่ ร่วมสมัยก็ไม่เชิง โทรศัพท์มือถือ skywalk บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้บ่งบอกว่าหนังมันคุยกับคนในปัจจุบัน แต่หลายฉากยังไงมันก็คือ โลกในอดีตชัดๆ อย่างน้อยวิทยุทรานซิสเตอร์ อันเป็นหนึ่งในชื่อเรื่อง ก็ไม่น่าจะมีใครใช้กันอย่างจริงจังแล้วตามเส้นเรื่อง เอาเป็นว่า มนต์รักทรานซิสเตอร์คือหนังชีวิตคนชนบทแบบหนึ่งที่ไม่ได้เคร่งครัดกับช่วงเวลาก็แล้วกัน

ท่อนแรกของหนังที่ว่าด้วยชีวิตชนบทอันสดใสและงดงาม แต่กลับเป็นส่วนที่ดูน่าอึดอัด ด้วยความพยายามยัดเยียดแฟนตาซีของชนบทเข้าไปในเรื่อง เราจึงเห็นเป็ด ไก่ ห่าน หมูน้อย อยู่ตามเวทีงานวัด หลังเวทีลูกทุ่ง เพื่อขับความเป็น “บ้านนอก” ออกมาอย่างสุดขั้ว อารมณ์ช่วงนี้ทำให้นึกถึงบทสัมภาษณ์ของเป็นเอกซักที่หนึ่งที่เขาเล่าว่า เติบโตมากับเพลงลูกทุ่งมาจากพี่เลี้ยงที่เป็นคนที่มาจากชนบทอีกที ชนบทของเป็นเอกจึงเป็นภาพตัวแทนที่เขาหยิบเลือกมาปะติดปะต่อ ไม่ว่าจะเป็นงานวัด เวทีรำวง หนังกลางแปลง ฯลฯ และไม่แปลกที่ว่า เพลงประกอบไม่น้อยมาจากยุคที่เขาเด็กๆ เช่น เพลงของสุรพล สมบัติเจริญ

ส่วนนี้ของเรื่อง ได้อารมณ์เดียวกับชีวิตก่อนถูกจับของ “แผน” (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ) ในฉากที่เขากับ “บักเสี่ยว” (อำพล รัตน์วงศ์) ลอบเข้าไปในงานแฟนซีการกุศลที่จัดหารายได้เพื่อสนับสนุนคนยากจน ในงานมีการประกวดกันว่าใครจะแต่งเป็นคนจนได้เหมือนที่สุด แผนกับบักเสี่ยวที่เป็นคนจนตัวจริง หลังจากที่ถูกจับได้ สิ่งที่พวกเขาได้รับคือ ตีนเน้นๆ ชนบทในช่วงแรกของหนังเผยความไม่สมจริงออกมาอย่างที่ไม่แน่ใจว่าคนสร้างตั้งใจหรือไม่

ขณะที่ชนบทในนิยายไม่ได้แบนราบเหมือนในภาพยนตร์ โลกชนบทในนิยายยังซ้อนกันสองใบระหว่างคนในคลองกับคนปากคลอง คนปากคลองถือว่าเป็นคนในเมืองมากกว่า เพราะอยู่ใกล้เส้นทางสัญจร คนปากคลองมีวาจา คำพูดที่ดูเป็นทางการและมีนัยของความ “เหนือกว่า” คนในคลองที่ดูบ้านนอกกว่า แน่นอนว่า ความบ้านนอกในหนังสือ ไม่ได้งดงามแบบที่เป็นเอกคิด

แผนและสะเดาลงทุนลงแรงแทบตายเพื่อปลูกแตงโม แต่ปรากฏว่าใช้เงินไปไม่น้อย ทำงานจนเหนื่อย แม้จะได้เงิน 6 พันกว่า แต่กำไรเหลือแค่ 175 บาท จากการปลูกแตงโมไป 1,200 ลูก ความหวังที่เขาและเธอจะส่งลูกเรียนจบป.ตรีที่รามคำแหงก็ถือว่าเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อมเสียแล้ว

อย่างไรก็ตาม วัฒน์ไม่ได้เขียนให้ตัวเอกของเราเป็นนักสู้สามัญชน แบบนิยายฝ่ายซ้ายสัจนิยมเน้นกันอีกต่อไป แผนเป็นเพียงเหยื่อในโลกทุนนิยม ที่ถูกล่อลวงด้วยแสงสีของเพลงลูกทุ่งที่ให้สัญญาลมๆ แล้งๆ ว่าหากได้เป็นนักร้องแล้วจะสุขสบาย มีบ้าน มีรถ สัญญาของปิศาจทำให้เขาจำใจต้องแหกกฎด้วยการหนีทหาร แต่กลายเป็นว่าการหนีเงื้อมมือกฎหมายไป ทำให้เขาสร้างบ่วงใหม่ให้กับตัวเองอีกครั้ง เพราะว่า เมื่อเป็นคนมีชนักติดหลัง การติดต่อกลับไปยังเมียและลูกแบบเปิดเผยย่อมไม่มีทางเป็นไปได้

และนั่นทำให้เส้นทางของแผนแทบจะตัดขาดจากอดีตและรากของตนที่บ้านนอกไปเลย

หากศัตรูของฝ่ายซ้ายคือ รัฐและนายทุนผู้ฉ้อฉล หนังมนต์รักทรานซิสเตอร์ ได้ฉายภาพนี้ในฐานะที่เป็นโครงสร้างทางสังคมที่ได้ทำลายชีวิตครอบครัวของแผนและสะเดา (สิริยากร พุกกะเวส) อย่างไม่ได้ตั้งใจ ชีวิตสมรสและการตั้งท้องของสะเดาได้ถูกการเกณฑ์ทหารพรากแผนออกไปจากครอบครัว การขัดขืนของแผนไม่สามารถทำได้อย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ตามสุดท้ายแผนก็ตัดสินใจหนีทหารไปกับวงดนตรีลูกทุ่งคณะหนึ่ง เมื่อเขาได้โอกาสจากการเป็นผู้ชนะในการประกวด นั่นคือ การต่อสู้ครั้งแรกๆ ของเขาจากการละเมิดกฎหมายของรัฐ แล้วไปซบอ้อมกอดนายทุนที่มีภาพลักษณ์ที่สวยงาม และให้คำสัญญาว่าเขาจะได้มีชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง เงินทอง รถยนต์ กระทั่งบ้านหลังโต

พอไปอยู่กับวงดนตรี แผนเป็นได้แค่เบ๊ทำงานรับใช้ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า เขาถูกหลอกว่า ใครที่หนีทหารหากถูกจับได้ จะถูกยิงเป้า แผนจึงไม่กล้าไปไหน แม้แต่จะติดต่อกับเมียรัก แต่จังหวะที่เขาได้เฉิดฉาย ก็มาถึงในวันที่นักร้องหายไปจากเวที เขาขึ้นเป็นนักร้องสำรองในนาม “สุรแผน เพชรน้ำไหล” แต่ข่าวดีของแผนยาวนานไม่พ้นข้ามคืน แผนกลายเป็นฆาตกร ฆ่าเจ้าของวงดนตรีด้วยความไม่ตั้งใจ แล้วเขาก็หนีไปสุดหล้าฟ้าเขียวแบบตกกระไดพลอยโจนไปอยู่ในไร่อ้อย นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่เขาต่อสู้ แต่เป็นการสู้กับนายทุนด้วยการพลั้งมือฆ่าด้วยตัวเอง

แผนกลายเป็นแรงงานค่าจ้างต่ำในไร่อ้อยของนายทุนการเกษตรที่สภาพเป็นอยู่ย่ำแย่ วันๆ กินแต่ผักกับหัวหน้าคนคุมไร่ที่แม้จะใจดีกับเขาเพราะแผนเป็นคนว่านอนสอนง่าย เจียมเนื้อเจียมตัว แต่ถือว่าเป็นคนเขี้ยวที่วางอำนาจบาตรใหญ่ใส่ลูกน้อง เกิดเหตุวันหนึ่งบักเสี่ยวถูกซ้อมหนัก แผนตัดสินใจใช้กำลังกับหัวหน้าจนต้องหนีตายกับบักเสี่ยวหัวซุกหัวซุนจนเข้าไปอยู่ในกรุงเทพฯ

แผนอยากกลับบ้านเป็นที่สุด แต่เขาไม่มีเงิน สุดท้ายก็ต้องยอมร่วมแผนวิ่งราวสร้อยกับบักเสี่ยว แต่สุดท้ายเป็นเขาคนเดียวที่ถูกจับเข้าคุก และถูกสั่งฟ้องสองกระทงคือ หนีทหารและชิงทรัพย์ มันทำให้เขารู้ว่า หนีทหารไม่ถึงกับถูกยิงเป้า แผนหนีออกไปจากโลกที่ทุนเป็นใหญ่ไม่สำเร็จ กลับบ้านยังไม่ได้เลย แต่กลายเป็นว่าเขาได้หวนกลับมาอยู่ในอุ้งมือของรัฐอีกครั้ง และถูกดัดสันดานทั้งร่างกายและจิตใจในนั้นจนวันพ้นโทษ

ส่วนสะเดา เธอกับพ่อได้แวะไปหาแผนที่กรุงเทพฯ ทั้งยังได้ชมคอนเสิร์ตครั้งแรกและครั้งเดียวของแผน คืนนั้นแผนให้คำมั่นว่าจะพาลูกพาเมียมาอยู่ด้วย และคืนนั้นเองแผนก็ทำลายคำมั่นเพราะอุบัติเหตุเผลอฆ่าคน เราไม่รู้ว่าพ่อของสะเดาตายเมื่อไหร่ แต่ภาพสุดท้ายที่เห็นทั้งคู่อยู่ด้วยกัน ก็ตอนที่สะเดาผรุสวาทคำหยาบคายออกมาหลังจากที่รู้ว่า แผนได้หนีไปแล้ว จากวันนั้น สะเดาตัดใจ และถือว่าแผนได้ตายจากเธอไปแล้ว

สะเดาแม้จะมีลูกติด แต่ก็ยังเนื้อหอม หนุ่มนักพากษ์หนังขายยาเจ้าสเน่ห์ได้เข้ามาแทนที่แผน จนทั้งคู่มีลูกด้วยกัน แต่สุดท้ายไอ้หนุ่มคนนี้ก็ทิ้งเธอไว้กับพยานรักอีกคน ครั้งแรกสะเดาถูกพรากผัวไปเพราะเกณฑ์ทหาร ครั้งที่สองก็เพราะการตามหาความฝันและหนีคดีของแผน และครั้งที่สาม แม้จะไม่บอกเหตุผลชัดนักแต่ก็พอเดาได้ถึงความไม่แน่นอนของชีวิตลูกจ้างเร่ขายยาที่ต้องเดินทางไปทั่ว

การกลับมาถึงบ้านของแผน อาจเทียบได้กับชีวิตของคนจำนวนมากที่พังทลายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ที่คนจำนวนหนึ่งตัดสินใจกลับบ้านในต่างจังหวัด การต่อสู้ของแผนก็เช่นเดียวกับแรงงานจำนวนมากในไทยที่สู้ด้วยตัวคนเดียว ปัจเจกผู้ที่สู้กับรัฐโดยลำพัง สุดท้ายก็พ่ายแพ้ หรือไม่ก็ยอมแพ้ไประหว่างทาง

ผิดแต่ว่าในหนังรัฐและทุนนิยมมีอำนาจที่กล้าแข็งเสียเหลือเกินที่ดลบันดาลชีวิตของตัวละครแต่ละตัว ความคลุมเครือของช่วงเวลา ยังอาจตีความได้ว่า สังคมไทยในหนังมันยังอยู่ในช่วงสงครามเย็นที่รัฐรวมศูนย์เต็มที่ การเกณฑ์ทหารเพื่อทำสงครามยังเป็นเรื่องจำเป็น รัฐควบคุมการแสดงออกทางการเมืองอย่างเคร่งครัด แต่ก็ปล่อยให้ความบันเทิงเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ไม่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ขณะที่นายทุนกลุ่มเล็กได้ผลประโยชน์ ขณะที่คนในสังคมไม่ได้รับสวัสดิการที่ดีพอทั้งด้านสาธารณสุข และการศึกษา (ด้านการศึกษาก็เน้นเชิงปริมาณและการเรียนเพื่อรักสถาบันหลักของชาติต่อต้านคอมมิวนิสต์)

แต่สำหรับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 นั้น รัฐและทุนอยู่ห่างไกลนักต่อคำว่าอำนาจที่กล้าแข็ง “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เป็นฉายาของความพังพินาศทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ตรงกันข้ามกับความน่าภาคภูมิใจที่เคยได้รับว่าจะกลายเป็น “เสือเศรษฐกิจ” ในช่วงปลายทศวรรษ 2530 

อย่างไรก็ตามปี 2544 เศรษฐกิจไทยกำลังโงหัวขึ้น พร้อมกับพรรคไทยรักไทยและทักษิณ ชินวัตรกำลังสั่งสมกำลังสร้างรัฐที่เข้มแข็งขึ้นใหม่ เช่นเดียวกับภาคประชาสังคมที่กำลังเติบโตมาพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540

ขณะที่มนต์รักทรานซิสเตอร์ ฉบับนิยาย อาจถือเป็นการป่าวประกาศถึงความพ่ายแพ้ของนักสู้ฝ่ายซ้าย ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นภาพของจินตนาการถึงหนทางข้างหน้าที่มืดมนของคนในชนบท แม้ 66/2523 จะนำคนออกมาจากป่า แต่พวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน บางคนเลือกเดินเข้าวัด บางคนกลับไปจับมือกับศักดินา บางคนเปลี่ยนตัวเองเป็น NGOs พยายามรักษาอุดมการณ์เพื่อมวลชนต่อไป มีน้อยรายมากที่ยังยึดความเป็นซ้ายอยู่

ในอีกด้าน ชื่อของนิยายได้เป็นการประกาศชัยชนะกลายๆ ของทุนนิยมบันเทิงในยุคสงครามเย็นอย่างตรงไปตรงมา ที่จะส่งผลมาอย่างต่อเนื่องยาวนานในสังคมไทย จนกว่าเหล่าศักดินาจะค่อยๆ สั่งสมบารมีขึ้นสู่จุดพีกในกลางทศวรรษ 2530 ที่สร้างความฝันอันสูงสุดก็คือ การจ่อจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ตามรอยเสือทั้งหลายในเอเชีย

MIDNIGHT CINEMA 08 : พญาโศกพิโยคค่ำ – ที่ริมขอบของรุ่งสาง

0

คนหนุ่มดุ่มเดินตัดสนามสกปรกเข้าไปในบ้านมืดทึบ ลงไปในอุโมงค์ชั้นใต้ดิน ที่มีคนถูกมัดมือคลุมหัว รถคันหนึ่งมาจอด หญิงสาวกับเด็กหญิงลงมาจากรถ มีศพห่อผ้ากลับขึ้นไปแทน

หลังจากทำแผล รักษาอาการบาดเจ็บ เขาตามภรรยาและลูกสาวมาที่บ้านเพื่อกินข้าวร่วมกันเป็นครั้งสุดท้าย เธอกระซิบบอกเขา ฉันเพิ่งฆ่าพอของตัวเอง เขาไปจากเธอกลางดึก ตอนที่เธอกำลังหลับ นั่งไปกับคนขับรถ ลูกสาวถูกพาไปโดยแม่บ้านอีกคน เธอตื่นขึ้นเจอแต่ความมืดและลูกน้องของเขายืนเรียงรายเหมือนภูติผี พาเธอข้ามผ่านรั้ว มันคล้ายคลึงกับบ้านของแม่เหลือเกิน 

ด้วยภาพและเสียงอันมืดมนเข้มข้น เรื่องเล่าถูกผลักออกและประสบการณ์ถูกรุนหลังมาข้างหน้า ในห้องมืดสนิท ผู้ชมได้โอกาสนั่งจ้องความมืดในภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ศิลปินและคนทำหนังที่หมกมุ่นอยู่กับทัศนียภาพระยะไกล และผู้คนในระยะใกล้ที่ใบหน้า เสื้อผ้า เส้นผมกลายเป็นตัวทัศนียภาพเสียงเอง ทัศนียภาพของความรกร้างล่มสลาย ภาพและเสียงอมพะนำที่อวลมวลพลังงานมืดและประวัติศาสตร์ขาดวิ่นของผู้คนมาอย่างยาวนาน ในหนังเรื่องนี้ ไทกิยังคงมุ่งมั่นในสิ่งที่ผู้ชมของเขาคุ้นเคย เสียงอันรบกวนโสตประสาท ภาพที่อยู่เหนือเรื่องเล่า บรรยากาศกดทับจนหายใจติดขัด ทัศนียภาพของพื้นที่ทิ้งร้างว่างเปล่า ปากแผลทั้งแห้งและสดของการเสื่อมสลาย วอลเปเปอร์ขอบล่อน ผนังที่ชั้นสีบวมพอง สนามที่เกลื่อนด้วยเศษหญ้าและเศษตะไคร่กรังแห้ง ทัศนียภาพที่คล้ายคลึงกับ การถ่ายภาพโรงแรมเก่าที่เคยเป็นส่วนหนังของประวัติศาสตร์บาดแผลใน ภูเขาไฟพิโรธ หรือภาพในวอร์ดจิตเวชที่ผู้คนถูกถ่ายในระยะ extreme close up ใน Mental Traveller และร้านถ่ายรูปชราที่ถ่ายรูปข้าราชการเผด็จการมาทุกยุคและเสื่อมทรุดไปตามกาลใน Shadow and Act ภาพยนตร์ของไทกิ เป็นสนามของภาพและเสียง เป็นประสบการณ์หลอนหลอกคล้ายกับการเข้าไปในถ้ำสกปรกและสูดกลิ่นอับชื้นของมัน เป็นการยากที่จะเล่าเรื่องย่อ หรือสรุปความหนังเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เพราะนั่นเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราอาจจะได้รับ กล่าวให้ถูกต้องนี่คือหนังประเภทที่ใช้ดวงตาและหูแทนผิวหนัง จมูก ปาก ผัสสะทั้งหมดใช้ดวงตาเป็นทางเข้า เพื่อสัมผัสโดยอยู่นิ่งกับที่ เป็นประสบการณ์มากกว่าเรื่องราว 

เราอาจแบ่งหนังออกเป็นสองช่วงเวลา ระหว่างเวลาของแม่ ‘ไพลิน’ ในบ้านที่ถูกทำให้หยุดนิ่ง และเวลาของลูกสาว ‘พลอย’ เวลาแรกถูกกำหนดคร่าวๆ ว่าเป็นช่วงล่าคอมมิวนิสต์หลังหกตุลา และช่วงที่สองคือค่ำคืนหลังการรัฐประหารในปี 2006 เวลาทั้งสองถูกกำหนดโดยผู้หญิงสองคน คนหนึ่งเป็นภรรยาที่รอการกลับมาของสามีที่นำกองกำลังทหารไปไล่ล่านักศึกษา อีกคนหนึ่งคือเวลาในการกินข้าวมื้อสุดท้ายกับสามีที่อาจจะเป็นนักการเมือง นักปฏิวัติ ก่อนหลบหนีออกนอกประเทศ (เวลาในส่วนนี้ทำให้นึกถึงเวลาคืนสุดท้ายของปรีดีกับพูนศุข ในหนังสั้นเรื่อง พูนศุข ของ ณัฐวร สุริยสาร ซึ่งไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์เองก็เล่าว่าเขาได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือชื่อ สันติปรีดี ของชมัยภร แสงกระจ่าง ที่เล่าถึงชีวิตของ ปรีดี พนมยงค์) แต่เวลาทั้งสองห้วงนี้กลับถูกจัดวางให้ซ้อนทับและกลับหัวจนเป็นได้ทั้งการผลิตซ้ำของวงจรอุบาทว์ของกันและกันจากคนละฟากฝั่ง ในขณะเดียวกันเวลาหนึ่งก็เป็นเหมือนภาพสะท้อนภายในของอีกเวลาหนึ่งราวกับลูกกำลังจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรมเศร้ากึ่งวิปลาสของแม่

อย่างไรก็ดี เวลาสองห้วงนี้ถูกเชื่อมร้อย ตัดขาด จากสิ่งที่อยู่คงทนยืนนานเหนือกาลเวลาพอๆ กับวงจรรัฐประหารในประเทศนี้นั่นคือผี

ผีของผู้หญิงผมยาวไร้ชื่อที่ไม่ว่าจะถูกฆ่า ทารุณกี่ครั้งก็ยังไม่มีชื่อ ในเรื่องเล่าของหมอ น้องเขยของไพลินเขาเล่าถึงการพบเจอกับสามีของไพลินครั้งหลังสุด ที่นั่นมีศพของผู้หญิงผมยาวนอนเปลือยกายในยามกลางคืน ผู้หญิงที่อาจจะเป็นนักศึกษาที่ถูกทรมาน บังคับสูญหาย อีกครั้งผู้หญิงผมยาวปรากฏในฐานะนางพรายใต้น้ำที่อาจจะทำให้พลอยจมน้ำว่ากันว่าในคืนนั้น ผีผู้หญิงผมยาวที่ถูกลักพาตัวมาจากกรุงเทพฯ ให้ความรู้สึกเชื่อมโยงกับความเป็นนักศึกษาที่ถูกไล่ล่า

ในทางภาพผู้หญิงผมยาวปรากฏเป็นศพอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินที่ไหนสักแห่งนอนเปลือยเปล่าไร้วิญญาณโดยมีชายคนหนึ่งนั่งเฝ้าศพ อาจจะเป็นผู้หญิงคนเดียวกันกับในเรื่องเล่าหรือไม่ใช่ก็ได้ และในอีกทางหนึ่งผู้หญิงผมยาว อาจจะคนนี้หรืออีกคน เดินซัดเซหลงในป่าเพียงลำพัง ในฉากนี้เอง ดูเหมือนมันเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและจุดจบของเวลาในหนัง 

ในฉากดังกล่าวประกอบขึ้นจากสามเหตุการณ์ หนึ่งคือสามีของพลอย บอกลาภรรยาแล้วขึ้นรถเดินทางหลบหนีอาจจะออกนอกประเทศหรือไม่ก็ได้ เขานั่งในรถกับคนขับที่ฝ่าความมืดออกไปบนถนนเส้นเล็กๆ อีกเหตุการณ์หนึ่ง เหตุการณ์เดียวที่มี ‘ชาวบ้าน’ ปรากฏขึ้นบนจอ นั่นคือรถโดยสารพัดลมที่แล่นมาตามถนน ค่ำคืนร้อนทุรนผู้คนบนรถกึ่งหลับกึ่งตื่นเบียดเสียดกัน ดื่มเหล้าขาวไม่ก็น้ำเปล่าจากขวดเดียวกันเวียนส่งต่อกันไป จนกระทั่งรถจอดเสียริมถนน คนขับและผู้โดยสารบางคนลงไปซ่อม เหตุการณ์ที่สามคือผู้หญิงผมยาวไร้ชื่อ โซซัดโซเซออกมาจากป่า ในฉากนั้นรถของสามีพลอยขับผ่านรถโดยสารที่จอดเสียกลางความมืด เด็กหญิงบนรถโดยสารคนหนึ่งเพ่งมองจากบนรถออกไปสบตากับผีหญิงสาวผมยาวคนหนึ่ง หญิงสาวที่ซ่อนตัวอยู่ในป่า ผีจากอดีตกาลที่ยังไม่ไปผุดเกิด ผู้หญิงผมยาวกระโดดออกมาตัดหน้ารถที่แล่นสวนไป เขาเหยียบเบรค จอดลงมาดู ไม่มีร่างผู้หญิงผมยาวมีแต่ท้องฟ้าที่สว่างขึ้นมาหากเราเรียงตาม ‘ลำดับเวลา’ เราอาจบอกได้ว่าฉากในยามสางนี้คือตอนจบของเรื่อง ในขณะที่หนังที่เกือบทั้งหมดเกิดในเวลากลางคืน ในความมืดที่แม้แต่เวลากลางวันยังถูกครอบครองโดยสุริยุปราคา แสงที่ริมขอบฟ้าในฉากนี้คือแสงแรกของหนังหลังจากฝันร้ายอันยาวนาน

ราวกับว่านี่คือจุดตัดของความมืดกับความสว่างของอดีตกับอนาคต ของเวลาที่ไม่เป็นเวลาอีกต่อไป เช่นเดียวกับการที่หนังมีชื่อไทยว่าพญาโศกพิโยคค่ำ ที่อาจจะหมายถึงการเพลงพญาโศก -เพลงงานศพที่บรรเลงในตอนกลางคืน ขณะที่ชื่ออังกฤษของหนังคือ The Edge of The Daybreak ที่แปลว่า ริมขอบของรุ่งสาง และที่นั้นนั้น เป็นจุดที่เวลาสองห้วงแตะสัมผัสกันและถูกทำลาย หนังจึงกลายเป็นเวลาของโลกที่ไม่มีเวลาอีกต่อไป เช่นเดียวกับที่หมุดหมายโมงยามทางประวัติศาสตร์ของหนังไม่ได้อยู่ในตัวหนังแต่อยู่ในเรื่องย่อแทน เวลาถอยหลังกลับเข้าไปในฝันร้ายวนซ้ำไม่รู้จบ ง่อยเปลี้ย ง่วงงุน ครึ่งหลับครึ่งตื่น หวาดผวา สกปรก มืดดำ น้ำตาครั้งแล้วครั้งเล่า ตายและสูญหายครั้งแล้วครั้งเล่า สุริยุปราคาครั้งแล้วครั้งเล่า

หนังจึงกลายเป็นเวลาของโลกที่ไม่มีเวลาอีกต่อไป เช่นเดียวกับที่หมุดหมายโมงยามทางประวัติศาสตร์ของหนังไม่ได้อยู่ในตัวหนังแต่อยู่ในเรื่องย่อแทน เวลาถอยหลังกลับเข้าไปในฝันร้ายวนซ้ำไม่รู้จบ

ในเวลาของไพลิน หนังอยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น หนังเปิดฉากด้วยการตื่นนอนเชื่องช้าของไพลิน ด้วยชายเฒ่าเงียบใบ้บนรถเข็น ง่อยเปลี้ยเสียขา พิกลพิการและไร้ทางออก ไพลินต้องให้หญิงรับใช้อาบน้ำให้ ชายเฒ่าออกไปตักบาตรโดยไม่มีพระ และพลอย ลูกสาวของพลินเป็นเจ้าหญิงนิทราหลังจมน้ำ กล่าวให้ถูกต้องคือบ้านทั้งหลังเป็นสภาวะหนืดเนือยนิ่งงันทั้งทางภายภาพ (พิการ / ติดเตียง) และจิตใจ (ความตรมเศร้าของไพลิน) โดยเรือนกายของบ้านเป็นสถานที่ที่ถูกเก็บรักษาไว้ให้เหมือนเดิมก่อนที่สามีจะจากไป การแช่แข็งเวลาก่อนเก่าทำให้บ้านเสื่อมทรุดมากกว่าจะคงสภาพ เศษตะไคร่ใบไม้ล้นสนาม สวนรกเรื้อ แม้แต่พื้นบ้านหรือกระจกหน้าต่างก็ไม่ได้รับการขัดถู

หนังวาดภาพของบ้านแบบเดียวกับเสียงบรรยายในช่วงต้นของเรื่องว่าเหมือนอยู่ภายในร่างกายของสัตว์ใหญ่ ทัศนียภาพของบ้านที่เป็นปุ่มปม (อาคารซาโต้) เหมือนกับเกล็ดของงู ทำให้ในบ้านยิ่งคล้ายบรรยากาศของโลกที่ถูกสวาปามเข้าไปในท้องของงู แต่นี่ไม่ใช่งูในจินตนาการแบบเจ้าชายน้อย ไม่ใช่งูที่อยูในโรงเพาะเห็ด แต่เป็นงูที่อยู่ในบ้าน หนังมีฉากที่ไพลินเล่าเรื่อง หนูบนเพดาน เสียงเล็กๆ ที่ไร้ความหมายแต่มอบความอบอุ่นให้เธอ เธอบอกว่าเธอเก็บบ้านนี้ไว้เช่นนี้ เพื่อให้พวกหนูเหล่านี้นยังมีชีวิตอนยู่ได้ ส่งเสียงเล็กๆ อย่างร่าเริงอยู่บนเพดานเพื่อบรรเทาความเหงาของเธอ ในแง่นี้ไพลินจึงเห็นงูในฐานะของสิ่งที่จะเข้ามาคุกคาม หนูน้อยน่ารักที่เธอไม่เห็นตัวแต่ได้ยินเสียง เธอจึงให้คนงานฆ่างู แล้วจับมาแกง

แต่ความยอกย้อนทั้งหมดคือหากบ้านหลังนี้ (ที่มีเธอเป็นเจ้าของ) คืองูเสียเอง ก็เท่ากับเธอเองที่เป็นลูกหนูน้อยในท้องของงู ในเวลาของไพลิน เธอเล่าเรื่องประหนึ่งเธอเป็นเหยื่อจากการสูญหายของสามี แต่สามีของเธอเป็นผู้กระทำ ไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ สถานะของไพลินจึงไม่ใช่ญาติของผู้ถูกบังคับสูญหาย แต่มีสถานะแบบชนชั้นปกครอง ที่พยายามจะปกป้องบ้านเมืองจากงูร้ายที่อาจจะใช่หรือไม่ใช่คอมมิวนิสต์ในทศวรรษที่ 1970’s หากสำหรับเธอคนที่เธอปกป้องไม่ใช่คนในระดับเดียวกับเธอแต่เป็นเพียงหนูตัวเล็กๆ บนหลังคา ภาพแทนอุดมการณ์ทางการเมืองที่เราคุ้นเคยกันมายาวนานของการที่วีรบุรุษในนามของสถาบันต่างๆ ผู้คนต่างๆ มีศักดินาที่อยู่เหนือเล่าและบอกเล่าซ้ำๆ ว่าต้องลำบากแค่ไหนเพื่อปกป้องเราจากภัยร้ายที่จะขังเราไว้ในบ้านที่เปื่อยเน่า ในท้องของอสรพิษ

ในเวลาของไพลินมันจึงเต็มไปด้วยเรื่องเล่า ท้ังของเธอ ของพลอย (ที่เธอเป็นผู้เล่า) ของหมอที่มีศักดิ์เป็นน้องชายของสามี และของสามีเธอเอง ในเวลาของไพลิน ตัวละครนั้นอาจจะพูดกัน แต่พวกเขาไม่ได้สนทนากันพวกเขาเพียงใช้อีกฝ่ายเป็นภาชนะในการรองรับเรื่องเล่าที่มีพวกเขาเป็นตัวเอกที่ทนทุกข์ ทั้งความฝันถึงอดีตที่ชั่วร้ายของแม่ที่ไม่นับเธอเป็นลูก หรือหมอที่เล่าเรื่องเขากับพี่ชายและพ่อที่ตีแม่จนตาบอด ไล่ไปจนถึงเรื่องของเธอที่อมทุกข์เพราะลุกถูกพรายน้ำลักพาชีวิตไปจนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา พรายน้ำที่มีสถานะเหมือนผี เหมือนงู เหมือนหญิงสาวผมยาวนอนตาย 

ในเวลาของไพลิน มันจึงเป็นเวลาที่ไม่มีเวลา เวลาเคลื่อนไปข้างหน้าแต่เข็มนาฬิกาเดินเป็นวงกลม เวลาของไพลินคือการรับรู้เวลาแบบหลัง แบบที่ไม่มีการเคลื่อนไปข้างหน้าแต่เป็นวงกลมอยู่กับที่ สุริยุปราคาจึงปรากฏซ้ำราวกับว่าเกิดขึ้นทั้งวันไม่หยุดหย่อน สุริยปราคายังอาจถูกแทนที่ด้วยภาพของน้ำสกปรกที่หมุนวนอยู่ในท่อระบายน้ำ ด้วยการออกแบบภาพและเสียงอันบ้าคลั่ง ภาพของน้ำเลือด น้ำมัน คราบไคลสกปรกไหลลงท่อกลายเป็นจุดไคลแมกซ์ของเรื่องเป็นภาพปรากฏการณ์ของสุริยุปราคาโดยไม่มีพระอาทิตย์ เวลาแห่งสุริยุปราคาที่ยาวนาน เปลี่ยนกลางวันเป็นกลางคืนเปลี่ยนคนเป็นงูและเปลี่ยนประเทศเป็นท้องของสัตว์ใหญ่ที่กลืนกินเรา

เวลาของไพลินคือการรับรู้เวลาแบบหลัง แบบที่ไม่มีการเคลื่อนไปข้างหน้าแต่เป็นวงกลมอยู่กับที่ สุริยุปราคาจึงปรากฏซ้ำราวกับว่าเกิดขึ้นทั้งวันไม่หยุดหย่อน สุริยปราคายังอาจถูกแทนที่ด้วยภาพของน้ำสกปรกที่หมุนวนอยู่ในท่อระบายน้ำ ด้วยการออกแบบภาพและเสียงอันบ้าคลั่ง

เวลาของพลอยนั้นตรงกันข้าม หนังเริ่มต้นจากการเคลื่อนย้ายศพ และดูเหมือนสามีของพลอยได้รับบาดเจ็บเตรียมวางแผนหลบหนี เราไม่อาจรู้ว่าสามีของเธอคือใคร นักกิจกรรม นักการเมือง หรือทหาร รู้แต่ว่าเขาน่าจะได้รับพิษภัยจากการเมือง พลอยและลูกสาว (ที่แทบจะคล้ายคลึงกับพลอยตอนเด็ก) ถูกพาตัวเข้าไปในบ้านที่มีสถานะไม่ต่างกันกับบ้านของไพลิน ในแง่หนึ่งด้วยความตั้งใจของหนัง พลอยกับไพลินถูกทำให้คล้ายคลึงกันอย่างยิ่ง ทั้งเรือนร่าง เสื้อผ้า ทรงผม ไปจนถึงการมีฉากถ่ายมุมสูงในอ่างอาบน้ำจนในบางฉากแทบจะแยกไม่ออกว่าใครเป็นใครแม้จะใช้นักแสดงคนละคน จนเราอาจบอกได้ว่าแม่ลูกถึงที่สุดเป็นมิติคู่ขนานของกันและกัน หรือคนหนึ่งเป็นสภาวะทางจิตของอีกคนแบบเดียวกันกับผู้หญิงสองคนใน Persona ของ Ingmar Bergman ที่ต่างไปสิ้นเชิงกับภาคของไพลินคือภาคของพลอยแทบไม่มีบทสนทนาใดๆ ทุกอย่างดำเนินไปในความเงียบและมืด สนทนากันผ่านภาษากาย ไม่มีเรื่องเล่าหลงเหลือ มีแต่เหตุการณ์เปลือยเปล่า

แต่หากเล่าเรื่องของพลอย ‘ตามเวลา’ เราอาจต้องกลับไปเริ่มตั้งแต่การ ‘ตื่น’ ของพลอยในช่วงท้ายของหนัง การลืมตาคืนขึ้นมาในบ้านที่รกร้างจนเหมือนบ้านผีสิงของพลอย เกิดขึ้นหลังการมาถึงของพ่อ ที่มาพร้อมกับพายุใหญ่ พ่อที่กลับมาหาแม่เพื่อบอกลา เพื่อขังแม่ไว้ไปตลอดกาลด้วยความรักและภักดี พลอยลืมตาตื่นขึ้นมาเฉยๆ บ้านที่หยุดนิ่งเปิดเผยว่าความเสื่อมโทรมของมันในฉากนี้ เศษขยะ ซากใบไม้ โรงเพาะเห็ดเปื่อยเน่า ซากสัตว์กรังแห้งติดกระดูก พลอยตื่นขึ้นมาและมองดูสิ่งเหล่านี้ด้วยสายตาคนละแบบกับมารดาอย่างสิ้นเชิง และการ ‘ตื่น’ ของพลอยนี้เองที่ทำให้เวลาหลุดออกจากวงกลม เและเคลื่อนไปข้างหน้า

มาถึงตรงนี้ฉากที่น่าสะพรึงกลัวจึงเป็นฉากชำแหละหมูที่ปรากฏอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยในเรื่อง อันที่จริงผู้ชมได้เห็นภาพนี้มาก่อนแล้ว ผ่านทางภาพของวอลเปเปอร์ในบ้านที่ขอบของสองชิ้นดีดงอขึ้น และซากของสัตว์เล็กที่ถูกชำแหละทิ้งแขวนติดไว้กับรั้ว (ที่ดูเหมือนจะเป็นรั้วเดียวกันที่ใช้ขนย้ายศพ หลบหนี และออกไปทำบุญตักบาตร) ในฉากโรงฆ่าสัตว์นี้ กล้องขยับเข้าไปจากระยะไกลและมองเห็นว่านอกจากหมูที่แขวนอยู่เพื่อชำแหละ สิ่งที่นอนรอเรียงรายคือศพของผู้คน ราวกับเป็นฉากเดียวที่จำลองสิ่งที่หนังไม่ได้ฉายภาพ สิ่งที่อยู่พ้นไปจากจักรวาลของตัวละครทั้งหมด มันคือการฉายภาพของการบังคับสูญหาย การถูกทารุณ ชำแหละ แล่เนื้อเถือหนัง ภาพของเหยื่อไร้ชื่อ ไร้ใบหน้า เลือดที่นองท่วมออกจากประตูของโรงเชือด นองจนสะท้อนเงาของประตูโรงเชือดราวกับเลือดกลายเป็นกระจก จึงเป็นภาพที่ไม่มีเหตุมีผล ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวแต่ทิ่มแทงทุกการกระทำในเรื่อง

มันจึงทรงพลังอย่างยิ่งที่เราได้รู้เห็นว่า ‘พ่อ’ มีชีวิตสืบต่อมาอีกยาวนาน และพลอย ผู้ซึ่งรู้เห็นการกระทำของพ่อผ่านการเข้าไปแอบดูในความฝัน เหลือทางเลือกไม่กี่ทางในการจัดการอดีต นำมาซึ่งบทสนทนาหนึ่งเดียวในช่วงนี้ กล่าวให้ถูกต้องพลอยคือผลลัพธ์ของสังคมแช่แข็งและถูกมองเป็นเพียงเด็กสาวหลับใหล การตื่นของพลอยจึงเป็น ‘ริมขอบของรุ่งสาง’ หลังจากปล่อยให้เพลงพญาโศก กล่อมขวัญในค่ำคืนที่ยาวนานไม่รู้จบ 

เราจึงอาจกล่าวได้ว่า พญาโศกพิโยคค่ำ เป็นหนังที่สำคัญ ทั้งในแง่ของความกล้าหาญในการสร้างภาพยนตร์ของศิลปินที่ไม่ประนีประนอมกับผู้ชมของเขา ซื่อสัตย์กับวิธีการและพลังของภาพและเสียงที่เขาเชื่อ ในขณะเดียวกันมันได้บันทึกอุดมการณ์ความรู้สึกของยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านของผู้คน โดยไม่ต้องทำหน้าที่เป็นเพียงเรื่องเล่าภาพแทนทางการเมืองตรงไปตรงมา หากพร้อมจะยอกย้อน ไม่ลงรอย และเต็มไปด้วยการเปิดพื้นที่ให้การตีความ และต่อต้านการตีความไปพร้อมกัน

FILM CLUB Year List 2021 (Part 1)

0

ในที่สุดปี 2021 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ไม่แพ้ปี 2020 โรงหนังกลับมาเปิดแล้วในช่วงครึ่งปีหลังแต่ยังลูกผีลูกคน กิจการ Streaming ภาพยนตร์เติบโตต่อเนื่องและอาจจะน่ากังขาพอๆ กับน่าชื่นชม ความตายรายวันของผู้คนในประเทศจากโรคระบาด การชุมนุมที่ซบเซาลงทั้งจากโรคและการออกหมายจับรายวันจนถึงวันนี้ 

ผู้คนก็ยังคงดูหนังกันอยู่ ทั้งแบบออกนอกบ้านและไม่ออกนอกบ้าน ทั้งแบบเดิมที่ตั้งใจดูและแบบใหม่ที่ดูไปแชตไป เทศกาลกระจุกตัวในห้วงเวลาสั้นๆ ท้ายปีจนแทบชนกันตายเพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นและเลื่อนจากอดีตมาหลายคำรบแล้ว 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2021 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2022 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง


ณิศวร์ฐิตะ ทองน้อย : นักเขียนประจำ Film Club

Drive My Car (2021, Ryûsuke Hamaguchi, Japan)

เป็นการดัดแปลงงานวรรณกรรมมาเป็นภาพยนตร์ได้น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง ปกติแล้วงานเขียนมูราคามิมักจะถูกวิจารณ์จากสายเฟมินิสต์ว่ามีความมาโช่ (macho) สูงมาก และนำเสนอภาพที่กดทับความเป็นหญิง แต่ Drive My Car ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ของผู้กำกับฮามากุจิทำในสิ่งที่ต่างออกไป มันคือการรื้อสร้างเรื่องเล่าของผู้ชาย ถ่ายถอนมวลสารความเป็นชายออกไป ถ่ายเลือดใหม่ให้กับเรื่องเล่าที่มีแต่เสียงของผู้ชายซึ่งกลบทับผู้หญิงให้เป็นแค่ฉากหลังจางๆ แล้วขับเน้นเรื่องเล่าและเสียงของผู้หญิงให้เปล่งประกายขึ้นมา

หนังเปิดพื้นที่ให้กับอัตภาวะต่างๆ ได้เข้ามาปะทะสังสรรค์ แลกเปลี่ยน และยักย้ายถ่ายเทสภาวะการดำรงอยู่ไปมาระหว่างกัน ทั้งในพื้นที่ของละครเวทีและนอกละครเวที และผ่านความเลื่อนไหลของสัมพันธบท เมื่อตัวบทต่างๆ ส่งเสียงสนทนาข้ามพื้นที่และเวลาของตัวเอง คาฟุกุกลายเป็น Uncle Vanya โอโตะกลายเป็นเซเฮราซาด (ทั้งเซเฮราซาดในนิทานอาหรับราตรีและเซเฮราซาดในเรื่องสั้นของมูราคามิ) เด็กสาวที่ระลึกชาติได้ว่าตัวเองเคยเกิดเป็นตัวแลมเพรย์ แม่ของมิซากิที่กลายร่างเป็นซาจิ ฯลฯ กาลเวลาในหนังจึงทำหน้าที่คล้ายเวลาแบบปกรณัมที่เวลาไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง แต่เลี้ยวลัดเลาะเข้าไปในอัตภาวะต่างๆ ที่ดำรงอยู่ร่วมกัน ตัวละครและตัวบทจึงเป็น พร้อมจะกลายเป็น และ translate ตัวเองผ่านอัตภาวะอื่นๆ ได้ตลอดเวลา

ท่วงทำนองของหนังมีความ poetic สูงมาก สามารถตรึงเราไว้ได้อยู่หมัดตั้งแต่ต้นจนจบตลอด 3 ชั่วโมงของหนัง เป็นประสบการณ์การดูหนังที่อิ่มเอมและปีติ เหมือนถูกชำระล้างด้วยพลังของเรื่องเล่าที่ทั้งโอบกอดและปลอบประโลม


ฉันทนา ทิพย์ประชาติ : ผู้กำกับภาพยนตร์

The Forbiden Strings (2019, Hasan Noori, Iran/Afghanistan/Qatar)

หนังสารคดีอีกเรื่อง สนุกมากๆๆๆๆ เทคนิคแบบหนังฟิคชั่น ลุ้นระทึกตื่นเต้น ปมดราม่า และจุดคลี่คลาย แต่นี่แบบชีวิตคนจริงๆ ไง มันเหลือเชื่อมันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ เรื่องราวของวงดนตรี ที่สมาชิกทุกคนต่างลี้ภัยจากอัฟกานิสถานไปอยู่อิหร่าน แล้วพวกเค้าก็เป็นชนชั้นแรงงานในอิหร่าน เฝ้ารอการไปเล่นคอนเสิร์ตที่อัฟกานิสถาน แต่มีการวางระเบิดทริปแรกเลยล่มไป สุดท้ายพวกเค้าก็พาตัวเองไปแสดงจนได้ คนล้นหลาม ความฝันความหวังจุดประกาย พอกลับมาอิหร่าน มันก็ยากที่จะเล่นคอนเสิร์ตได้อีก เพราะแค่ซ้อมวงยังค้องหลบๆ ซ่อนๆ เลย ก็ต้องมีคนหล่นหายไปจากวงเพื่อเติบโตตามฝันตัวเองอีกครั้ง ด้วยการลี้ภัยไปประเทษโลกที่หนึ่ง การแสดงสุดท้ายในหนังที่ร้องเพลงเนื้อหาว่า คนเราเนี่ยเกิดมาไม่ใช่ว่าจะเป็นดั่งนก เราล้วนแต่เป็นดั่งใบไม้ ที่รอวันร่วงลงหล่นบนดินต่างหาก เออ แซดจัด ชีวิต


ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย : กองบก. 101.world 

28 Days Later (2002, Danny Boyle, UK)

ดูหนังโรคระบาดช่วงล็อกดาวน์ แค่เห็นลอนดอนร้างไร้ผู้คน กับทอมมี่ เชลบี้ไม่ใส่สูทก็คุ้มค่าแล้ว


วรุต พรชัยประสาทกุล : Cinephiles

Femmes précaires (2005, Marcel Trillat, France)

หนังสารคดีที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากการตามถ่ายชีวิตประจำวันและพูดคุยกับหญิงชนชั้นแรงงานห้าคนสลับไปสลับมาไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรนอกจากการใส่ใจพวกเธอที่ยืนอยู่บนความอัตคัดและโอนเอนตลอดเวลา จำได้ว่าเราดูหนังเรื่องนี้ต่อจากหนังสารคดีเกี่ยวกับการผูกขาดของนายทุนที่ระบบของมันบงการทุกอย่างในเมืองเมืองหนึ่ง และสูบเลือดสูบเนื้อสูบจิตวิญญาณของมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่ปราศจากทางเลือกอื่นๆ ภายในนั้น ซึ่งเราประทับใจที่หนังแพรวพราวด้วยวิธีการทางภาพยนตร์ที่ทรงพลัง และเต็มไปด้วยวาทะทางการเมืองที่ปังมากๆ จนแทบจะจดเก็บไว้ได้ประโยคเว้นประโยค แต่พอเราได้มาดูหนังเรื่องนี้เราก็พบกับความจริงบางอย่างที่น่าสนใจมากๆ เกี่ยวกับตัวเราเอง เพราะหนังเรื่องนี้แทบจะมีลักษณะตรงข้ามกัน นั่นคือเราไม่สามารถจดประโยคอะไรที่ออกจากปากของซับเจกต์แต่ละคนในหนังเรื่องนี้ได้เลย ทุกคำพูดของพวกเธอเป็นเพียงสิ่งสามัญที่เราได้ยินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ต่างก็เป็นประโยคที่เราคุ้นเคยและธรรมดาเกินกว่าที่ใครจะต้องมานั่งจดเก็บไว้ แต่ระหว่างที่เราดูหนังเรื่องนี้เรากลับรู้สึกว่าคำพูดที่ธรรมดาที่สุดในโลกเหล่านี้มันแตะโดนหัวใจของเราบ่อยครั้งมากๆ เรารู้สึกไปกับคำพูดของพวกเธอในแทบทุกฉาก ผ่านการบันทึกและนำเสนอทุกอย่างในแบบบ้านๆ ง่ายๆ ตรงๆ หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งในหนังที่เรารักที่สุดในชีวิตไปแล้ว แม้หนังจะไม่ได้สร้างอะไรใหม่ๆ เป็นหนังและชีวิตที่ทุกคนพร้อมจะลืม แต่นี่อาจเป็นหนังเรื่องแรกก็ได้ที่ทำให้เราเพิ่งจะค้นพบว่าการที่เราจะรักหนังเรื่องใดหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับทั้งความงามและความฉลาดของมันเลย


Inertiatic Groovfie Viaquez : Cinephile

Ode to Nothing (2018, Dwein Baltazar, Philippines)

คนเหงาและคนตาย 

ลูกสาวรับช่วงต่อพ่อในธุรกิจเกี่ยวกับคนตาย เป็นสัปเหร่อ แต่งหน้าศพ ขายโลงศพ ทั้งบ้านเหลืออยู่กันสองคนบรรยากาศเหงาๆ พ่อลูกไม่ค่อยคุยกัน ธุรกิจก็เงียบเหงาคนไม่ค่อยตายกัน จนกระทั่งการมาถึงของศพหญิงแก่นิรนามคนหนึ่งที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุและถูกคู่กรณีที่ขับรถชนยัดเยียดศพมาให้บ้านนี้จัดการ หลังจากบ้านนี้ก็ไม่เหงาอีกเลย ธุรกิจเดินหน้าได้ดีมาก คนตายกันเยอะ หญิงสาวเชื่อว่าเป็นเพราะโชคจากศพหญิงแก่นิรนามคนนี้ที่นอนนิ่งอยู่ที่ห้องเก็บศพ ในเวลาเดียวกัน บรรยากาศในบ้านก็เริ่มเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะศพหญิงแก่คนนี้ได้ถูกเอามาแทนที่สมาชิกครอบครัวที่ขาดหายไป หญิงสาวที่ต้องการนอนกอดแม่อีกครั้งก็แอบเอาศพมานอนด้วย บรรยากาศกินข้าวที่เคยเงียบเหงาพ่อลูกไม่คุยกัน ก็ครึกครื้นขึ้นเมื่อเอาศพหญิงแก่มาวางร่วมวงโต๊ะกินข้าวด้วย เสมือนพ่อลูกและแม่กินข้าวไปคุยกันไปมาอย่างออกรสชาติกันไป


ศุภโมกข์ ศิลารักษ์ : คนทำหนัง

4Kings (2021, พุฒิพงษ์ นาคทอง, Thailand)

หลายปีมาแล้วที่หนังเมนสตรีมไทยนั้นถูกนำด้วยสไตล์แลการตลาด​แทนที่จะเป็นคุณภาพของตัวโพรดักดังเช่นสินค้าชนิดอื่นทั่วไป

หนังส่วนใหญ่ในตลาดจึงเป็นเพียงเรื่องประโลมโลกของเหล่าอีลิทและคนชั้นกลางในกรุง​ หากจะมีหนังนอกกระแสอันจริงใจกับการเล่าอยู่บ้างก็ได้โรงและรอบฉายอันแสนจำกัดจำเขี่ยจนยากจะเห็นผลสะท้อนต่อวงกว้างได้​ 

คงมีแต่ไทบ้านเดอะซีรีย์อยู่​เรื่องเดียวเท่านั้นกระมัง​ที่นำพาความอินดี้ไปเขย่าวงการได้ หากหลังจากนั้นแม้แต่หนังที่พยายามทยอยกันมาในมู้ดโทนตลกวัยรุ่นก็ไม่สามารถส่งแรงกระเพื่อมอะไรได้มากนัก​ 

จนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์​ 4​kings​ ซึ่งพาหนังไปในโทนจริงจัง​ สี่คิงส์ทั้งเล่าเรื่องและทำหนังในแบบยุค​ ’90​ อันตรงไปตรงมาฉูดฉาดเปี่ยมสีสัน

ไร้จริตจะก้านอาร์ต​อันได้เพิ่งรับความนิยม​จากคนทำหนังไทยราวหลังยุค ​​​2000 ต้นๆ

ไม่รู้​ว่าด้วยความจริงใจในส่วนนี้​ หรือเพราะเรื่องของเด็กช่างชายขอบ​ หรือเพราะความถวิลหาอดีต​ หรือทั้งหมดนั้นมัดรวมกันแทรกสัมผัสเข้าถึงหัวใจคนดูชาวไพร่ภูธร​ พวกเขาต่างยกพวกมาดูมันต่างอ้าแขนรับมัน​เหมือนพวกเขานั้นโหยหาเรื่องเล่าของตัวเองในสื่อกระแสหลักมานานแล้ว

แม้จะยังมีจุดแหว่งโหว่​ แต่​ 4kings​ หนังเรื่องแรกของบริษัทเนรมิตรหนังนั้นนับเป็นหมุดหมายสำคัญ​ให้เกิดความหวังที่จะได้เห็นเรื่องเล่าอันหลากหลากจากคนทำหนังที่อินกับเรื่อง​ และจริงใจกับมัน


พัลลภัทร น้อยธิ : จิตแพทย์ / คนดูหนัง / เขียนวิจารณ์ประปราย

Laabam (2021, S. P. Jananathan, India)

มันไม่ใช่หนังดีมีคุณภาพอะไรนัก การดำเนินเรื่องก็มีจุดไม่สมเหตุสมผลอยู่มาก แต่มันกลับกลายเป็นหนังที่ติดอยู่ในความทรงจำมากที่สุดเรื่องนึงของปีนี้ 

ตัวหนังว่าด้วยความพยายามของผู้นำของชาวไร่ชาวนาคนหนึ่งที่พยายามแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการเชิญชวนให้ชาวบ้านมาทำนารวมและยังกำหนดราคาพืชผลด้วยตัวเองซึ่งแน่นอนว่ามันก็ตามมาด้วยการขัดแย้งกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

ทีเด็ดของหนังอยู่ที่ 15 นาทีสุดท้ายที่ฉายทั้งภาพความรุนแรงโดยรัฐและการโต้กลับของชาวบ้านอย่างถึงเลือดถึงเนื้อสุดๆ สุดจนต้องร้อง “อห!”


‘กัลปพฤกษ์’ : นักวิจารณ์ภาพยนตร์

FLEE (2021, Jonas Poher Rasmussen, Denmark)

หนังลูกผสม animation-สารคดี เล่าชีวิตในอดีตอันขมขื่นของหนุ่มอัฟกานิสถานนาม Amin ผู้รู้ตัวตั้งแต่เด็กว่าเขาเป็น gay และต้องเติบโตมาในสังคมมุสลิมอันเคร่งครัด แต่นั่นก็ไม่น่าเจ็บปวดเท่ากับการที่ครอบครัวของเขาต้องอพยพลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศบ้านเกิด พลัดลูกพลัดแม่พลัดพี่พลัดน้องแยกย้ายกระจัดกระจายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในหลายๆ ประเทศของทวีปยุโรป และต้องผ่านความยากลำบากและการผจญภัยเสี่ยงอันตรายต่างๆ นานา หลังจากที่ฝ่ายบิดาถูกทางการจับกุมเนื่องจากเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลอัฟกัน จนกลายเป็นหนัง coming-out ที่เคียงขนานไปกับโศกนาฏกรรมชีวิตอันแสนเศร้า กระทั่งทำให้เพลง disco จังหวะสนุกๆ อย่าง Take on Me (1984) ของวง A-ha เพลง Joyride (1991) ของวง Roxette เพลง Wheel of Fortine (1992) ของวง Ace of Base และเพลง technoฯ สุดล้ำสมัยอย่าง VERIDIS QVO (2001) ของวง Daft Punk กลายเป็นท่วงทำนองที่ลึกๆ แล้วล้วนอวลไปด้วยสุ้มเสียงแห่งความหม่นเศร้า

หนังดีที่ไม่เพียงแต่ควรได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ทั้งสาขา สารคดียอดเยี่ยม-animation ยอดเยี่ยม-หนังต่างประเทศยอดเยี่ยม ไปพร้อมๆ กัน แต่ควรจะต้องคว้าครบทุกๆ รางวัลดังที่กล่าวมา งานภาพยนตร์ LGBTQ เพียงไม่กี่เรื่องที่น่าจะสามารถสร้างความสะเทือนใจให้ผู้ชมได้ครบทุกเพศทุกวัยเลยจริงๆ!


วิกานดา พรหมขุนทอง : สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

Barbara (2012, Christian Petzold, Germany)

ในปีที่มีผู้คนสนใจเรื่องย้ายประเทศเป็นหมื่นแสน เราได้ดู Barbara ที่เล่าเรื่องเยอรมันตะวันออกยุค 80s จากมุมมองของผู้ที่มุ่งมั่นจะไปจากที่นั่น เธอไม่ได้คาดหวังอะไรกับสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์รอบตัวแล้ว หนังทำให้รับรู้ได้อย่างดีผ่านบรรยากาศความเกรอะเก่าและอึมครึมของสิ่งต่างๆ ผู้คิดจะย้ายฝั่งถูกจับเปลี่ยนที่ทำงาน เพ่งเล็ง ตรวจค้น ล้วงควักไปทุกอย่าง Barbara มีศักยภาพสูงในอาชีพของเธอ มีคนรักคนช่วยให้ออกไปได้ เธอไม่จำเป็นต้องอยู่ และค่อยๆ เตรียมตัวไปอย่างแยบยล แต่แล้วความสัมพันธ์ใหม่กับเพื่อนร่วมงาน และสถานการณ์ในอาชีพที่เธอสามารถช่วยคนอื่นให้รอดพ้นจากระบบที่เสื่อมทรามได้ทำให้เธอตัดสินใจอีกครั้ง 

ดูจบแล้วก็อยากดูบางฉากซ้ำ และไปตามงาน Christian Petzold ใน Mubi อีกหลายเรื่อง (หอภาพยนตร์ฉายเรื่อง Yella เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา) เขาทำหนังผสม genre ที่เล่นกับความทรงจำ/ประวัติศาสตร์อย่างนิ่งลึกมีมนต์ขลัง แต่ก็แทรกแสงอุ่นๆ และแววตาที่อ่อนโยนไว้ ชอบการเลือกใช้โทนสี สถานที่ และจังหวะของหนัง ฉากการตัดสลับจากครัว ชั้นนิยายในห้องนั่งเล่น และสวนหลังบ้านที่เชื่อมต่อกันในขณะที่ Andre ทำ ratatouille ให้ Barbara จากผักที่มีคนให้มาอีกทีช่างธรรมดาแต่ก็งดงามมาก


วิชย อาทมาท

Sloane Square: A Room of One’s Own (1974-1976, Derek Jarman/Guy Ford, UK)

เป็นผลงานชิ้นที่ 42 ในนิทรรศการ Derek Jarman, Dead Souls Whisper (1986-1993) วางอยู่ในตำแหน่งที่เราได้เดินทางพบเห็นผลงานเขามาพอสมควร พอได้เห็นห้องที่เป็นทั้งที่พัก ที่ทำงาน ที่สังสรรค์ เรื่องราวผู้คนข้าวของในภาพกับผลงานต่างๆ ก็เชื่อมโยงกันไปหมดเลยรู้สึกกับมันมากๆ


อ่านต่อในตอนอื่นๆ : FILM CLUB Year List 2021 (Part 2) | FILM CLUB Year List 2021 (Part 3)
FILM CLUB Year List 2021 (Part 4) | FILM CLUB Year List 2021 (Part 5)

‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ บทบันทึกความรื่นรมย์ที่สูญหายของ เป็นเอก รัตนเรือง

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2564 เป็นวันครบรอบ 20 ปี หนัง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ …เป็นเอก รัตนเรือง พูดคุยผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาจากเชียงใหม่ ที่ซึ่งเขาย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่นั่นมาได้สักพัก เพื่อทักทายกับผู้ชมในโรงหนังเล็กๆ ของ Doc Club & Pub.

ผู้ชมในวันนั้นอายุเฉลี่ยน่าจะรุ่นราวคราวเดียวกับหนัง ดังนั้นพวกเขาจึงอาจจะไม่ทันบรรยากาศในวันที่ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ เข้าโรง ซึ่งนี่เป็นหนังรัก-ตลก ฉีกแนวจากหนังที่เป็นเอกทำมาก่อนหน้าอย่าง ‘ฝันบ้า คาราโอเกะ’ และ ‘เรื่องตลก 69’ เราจึงชวนเป็นเอกย้อนความทรงจำในวันนั้นเพื่อปูบรรยากาศก่อนจะเริ่มดูหนัง

จำได้มั้ยว่าในวันแรกที่มันเข้าโรง เป็นอย่างไร

ปีนั้นผมฉายรอบสื่อมวลชนเสร็จปั๊บเข้าใจว่าอีก 2-3 วันถึงจะเข้าฉายทั่วไป วันนั้นผมไม่ได้อยู่เมืองไทยแล้วน่าจะอยู่บาหลีนะ ไปเที่ยว เพราะว่าเวลาหนังเข้าโรงจะไม่กล้าอยู่เมืองไทย ไม่กล้ารับรู้ข่าวสาร เพราะว่าหนังผมเข้าโรงทีไรก็รายได้ถล่มทลายทุกที สมมติหนังเข้าโรงวันศุกร์ (ในช่วงนั้นหนังใหม่เข้าฉายวันศุกร์) มันจะฉายรอบสื่อประมาณจันทร์อังคาร เสร็จแล้วผมก็จะเผ่นออกนอกประเทศทันที และมันก็ไม่ได้มีโซเชียลมีเดีย เพราะงั้นผมก็จะไม่ต้องรับรู้อะไรเลย สมมติผมไปไหนผมก็จะอยู่ยาวจนกลับมาทุกอย่างมันก็จะเคลียร์ไปหมดแล้ว ซึ่งส่วนมากหนังผมก็อยู่ไม่นานหรอกนะ คนมีบุญเท่านั้นถึงจะได้ดู

ตอนนั้นค่อนข้างแปลกใจเหมือนกันที่พี่มาทำเรื่องนี้ เพราะมันต่างจากงานก่อนหน้าชัดเจน

‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ทำมาจากนวนิยายของคุณ วัฒน์ วรรลยางกูร ทีนี้แรกเริ่มผมไม่ได้อยากจะทำเรื่องนี้นะ มันมีนิยายของพี่วัฒน์ที่ผมอยากจะทำมากๆ และผมประทับใจมากๆ คือเรื่อง ‘คือรักและหวัง’ ผมอ่านเล่มนั้นโดยบังเอิญและผมชอบมากจนอยากทำเป็นหนัง ตอนนั้นผมมีแฟนและแฟนเรียนหนังสืออยู่เยอรมัน ผมทำหน้าที่คอยส่งหนังสือไปให้เขาอ่าน แล้ว ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ผมส่งไปให้เขาอ่านโดยที่ผมเองก็ไม่ได้อ่าน หนังสือพี่วัฒน์ผมก็ส่งไปหลายเล่ม เขาอ่านเสร็จแล้วส่งกลับมาแนะนำให้ผมอ่านเล่มนี้ดู พอผมอ่านเสร็จก็คิดว่า…ไหนๆ พี่วัฒน์ก็ไม่ได้อยู่เมืองไทยเนอะ (ยิ้ม) ด้วยความเคารพ ผมไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ใน ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ มันค่อนข้างไกลตัวผมเพราะผมเกิดและโตที่กรุงเทพฯ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จำได้ว่าตอนที่อ่านเสร็จมันเหมือนเราได้กลิ่น กลิ่นฟาง กลิ่นหญ้า กลิ่นดิน กลิ่นฝน แต่ตัวนิยายจริงๆ ผมไม่ค่อยชอบนะ ผมอาจรู้สึกว่ามันไม่ร่วมสมัยพอมั้ง มันอาจจะเชยไป อาจจะเป็นสิ่งที่ผมเชื่อมโยงไม่ค่อยได้ แต่รู้สึกได้กลิ่นของมันและรู้สึกว่าเราน่าจะทำอะไรกับมันได้ และสมัยนั้น พี่อ้อม ดวงกมล ลิ่มเจริญ -ซึ่งแกก็เสียไปนานแล้ว แกเป็นโปรดิวเซอร์หนังไทยคนแรกๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นโปรดิวเซอร์จริงๆ – ก็บังเอิญวันนึงนั่งกินข้าวกันอยู่บนโต๊ะ มีพี่อุ๋ย นนทรีย์ (นิมิบุตร) มีพี่อ้อม ดวงกมล มี ปีเตอร์ ชาน ด้วยจำได้ (หัวเราะ) และผมพูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาว่าผมอยากทำเป็นหนัง แต่พูดเล่นๆ พี่อ้อมก็บอกว่าถ้าคุณต้อมจะทำเป็นหนังนะ อ้อมจะโปรดิวซ์ ก็มีการจับไม้จับมือกัน เข้าใจว่าเมาแหละ (ฮาทั้งโรง) เป็นหนังที่เกิดจากข้อตกลงที่ดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือเลย ตื่นเช้าขึ้นมาก็ชิบหายกูต้องทำแล้วนี่หว่า จากนั้นผมก็เริ่มลงมือเขียนบทซึ่งจำได้ว่าตอนเขียนบทผมไม่กลับไปอ่านหนังสืออีกเลย เขียนด้วยว่าอะไรที่จำได้ในหัวก็เขียนตามนั้น อะไรที่จำไม่ได้ก็แต่งขึ้นมา อย่างตัวละครตัวนึง เป็นตัวละครชื่อว่า ดาว (พรทิพย์ ปาปะนัย) นักร้องลูกทุ่งที่รุ่งเรืองมากเลย จำได้ว่าดาวมาในหนังสือแค่แว้บเดียวแล้วหายไป และมันจะมีตัวละครอีก 2-3 ตัวที่มาแว้บเดียวแล้วหายไปเหมือนกัน ทีนี้พอเป็นนวนิยายมันอาจจะเป็นแบบนั้นได้แต่พอเป็นหนัง เวลามันมีตัวละครหรือมีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้น ถ้ามันมาทีเดียวแล้วหายไปมันไม่ใช่บทที่ดี มันควรมาแล้วมีความหมายบางอย่างในการที่จะเดินเรื่องต่อหรือถ้ามีตัวละครเกิดขึ้นมามันต้องมีความหมายต่อตัวละครหลัก ไปทำให้ตัวละครหลักเสียหลักหรือเขวไปจากชีวิต ทีนี้ตัวละครชื่อ ดาว ผมเอามาผสมกับตัวละครอีก 2-3 ตัวที่อยู่ในหนังสือรวมเป็นตัวละครเดียว ส่วนตอนจบของหนังสือจำได้ว่าผมอ่านแล้วแทบจะปาหนังสือทิ้งเลยเพราะว่าแกดันไปจบแบบตลกคาเฟ่ยังไงก็ไม่รู้ เลยทำให้ความรู้สึกที่เราให้กับหนังสือและไอ้แผนกับสะเดามาทั้งเล่มมันไม่ค่อยใช่สำหรับการเป็นหนัง ต้องเข้าใจนิดนึงว่าสื่อของนวนิยายและภาพยนตร์มันเป็นคนละสื่อกัน เราดูหนังเราก็ไม่สามารถย้อนกลับไปอ่านหน้า 17 ใหม่ได้ เราดูหนังพร้อมกับคนหลายคนเพราะงั้นการเปิดเรื่องกับการปิดเรื่องมันเลยกลายเป็นเรื่องสำคัญ ก็เลยรู้สึกว่าการจบของหนังสือถ้าเป็นหนังมันอาจจะไม่ค่อยดี ก็เลยเปลี่ยนตอนจบ

เป็นเอก รัตนเรือง

หนังเรื่องนี้มีเนื้อหาที่หากเอามาดูใหม่ก็ยังร่วมสมัยอยู่ ต้องการจะบอกเล่าอะไรผ่านหนังเรื่องนี้หรือไม่?

ผมทำหนังมาประมาณ… เอาเป็นฟีเจอร์ฟิล์มอย่างเดียวแล้วกันเนอะ นับถึงตอนนี้ก็ 10 เรื่อง ผมไม่เคยมีแมสเสจอะไรสักเรื่อง ผมไม่เคยตั้งใจจะมี ผมต้องการให้มันเป็นหนังที่อยู่ในความสนใจในชีวิตผมตอนนั้น ผมมีคำถามแบบนั้นในชีวิตผม บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้มีสาระอะไรนะ อย่าง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ผมไม่ได้มีอะไรที่จะสื่อสารกับคนดูเลยนอกจากว่าผมอยากทำหนังที่มันใหญ่กว่า ‘เรื่องตลก 69’ ซึ่งมันค่อนข้างจะประสบความสำเร็จเหมือนกันในแง่ที่ว่ามันทำออกมาแล้วแม่งไม่แย่ว่ะ แม่งพอได้ว่ะ แล้วคนที่ได้ไปดูก็รู้สึกว่ามันหนุกดีว่ะ แปลกดีว่ะ มันมีรสชาติที่เราไม่เคยได้รับจากหนังไทยว่ะ เพราะงั้นเรื่องต่อไปกูอยากทำเรื่องที่มันใหญ่ขึ้นหน่อย ก็เลยออกต่างจังหวัดมั้ยวะ มีนักร้อง มีคอนเสิร์ตมั้ยวะ ผมต้องการแค่นั้นเลย หนังผมที่มันเหมือนจะมีแมสเสจเกือบทุกเรื่องนั้นมันจะมาตอนที่หนังเสร็จแล้วน่ะครับ ผมไม่เคยตั้งใจตั้งแต่ต้นว่าอยากจะสื่อสารอะไรกับคนดู มันถึงบอกมาในรายได้ของหนังน่ะนะ ผมมันเป็นผู้กำกับที่เห็นแก่ตัวสุดๆ คือกูจะทำในสิ่งที่กูชอบเท่านั้น แล้วถ้าเรื่องไหนสิ่งที่ผมสนใจ ทำออกมาแล้วมันดันไปโดนกับรสนิยมของคนพอสมควร มันก็จะได้รายได้ที่พอใช้ได้หน่อย แต่ถ้าเรื่องไหนสิ่งที่ผมสนใจมันไม่ใช่สิ่งที่คนสนใจ มันก็จะเป็นรายได้อย่างที่เราเห็น ก็คือเราเอาตัวเองเป็นที่ตั้งสุดๆ

‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ถ้าเอาเฉพาะในเมืองไทย มันทำรายได้มากที่สุดของหนังผม ในตอนนั้นมันน่าจะได้ประมาณ 20 ล้าน ซึ่งพอยุคสมัยมันเปลี่ยนไป มันอาจจะได้มากกว่านี้อีก ในวันนี้มันมีช่องทางการสื่อสารค่อนข้างเยอะเนอะ สมัยก่อนยังเป็นยุคที่ต๊อกกับอุ้มยังต้องไปเยี่ยมแท่นพิมพ์ไทยรัฐกันอยู่เลย ไปเยี่ยมทำไมก็ไม่รู้เนอะ ในยุคนั้นเวลาเราทำออกมาเข้าโรงเรื่องนึง เราต้องพึ่งไทยรัฐขนาดที่ว่าพระนางของหนังทุกเรื่องต้องไปเยี่ยมแท่นพิมพ์ ผมไม่เคยไปเยี่ยมแท่นพิมพ์นะเพราะเขาไม่ได้ต้องการผู้กำกับ

ตอนนี้ผมทำหนังมา 24 ปี คือไอ้หนังของผมแต่ละเรื่องมันเหมือนเป็นหมุดปักช่วงชีวิตของผมเอง เราก็โตขึ้น แก่ลง ฉลาดขึ้น โง่ลง อกหักจำนวนครั้งมากขึ้น ตัวเรามันก็เปลี่ยนไประหว่างทาง มันเหมือนการเดินทางนะครับ หนังของผมมันเหมือนผมเดินทางมาถึงจุดนึงก็จะปักหมุดเอาไว้ เดินมาถึงอีกจุดนึงก็จะปักหมุดเอาไว้ ทีนี้ถ้าตอบคำถามก็คือว่าพอมันเดินมาถึงตอนนี้มันคงยากที่จะย้อนกลับไปเป็นคนแบบนั้น เกิดถ้าผมไปเจอนิยายแบบนี้อีกและเกิดอยากทำเป็นหนังขึ้นมาอีก มันก็จะไม่ออกมาท่านี้หรอกนะ มันจะไม่ออกมาเป็นโลกใสๆ แบบนี้แล้วล่ะ ตอนนี้ในหัวนี่มีแต่เรื่องการเมือง เพราะว่าเราอยู่ในประเทศนี้มา ไอ้สิบกว่าปีที่ผ่านมากลายเป็นว่าเรื่องการเมืองมันเป็นเรื่องที่ปลุกเราตื่นจริงๆ นะ สมมติผมทำ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ เรื่องเดียวกันในปีหน้า มันคงไม่ออกมาท่านี้หรอก มันอาจจะเป็นเรื่องเดียวกันแต่คงจะคนละโทน คนละมู้ด คงไม่สนุกเท่านี้ อาจจะสนุกกว่าก็ได้แต่คงไม่รื่นรมย์เท่านี้ หนังเรื่อง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ตอนที่ทำมันมีแต่ความอินโนเซนส์ทั้งตัวเรา ทั้งนักแสดง ทั้งทีมงาน โลกเมื่อยี่สิบปีที่แล้วมันเป็นโลกที่มันเรียบง่ายมากๆ มันไม่มีอะไรให้ต้องคิดมาก การทำหนังของผมมันก็เหมือนกัน ตอนนั้นมันก็ใสซื่อบริสุทธิ์มากเลย แล้วก็ทีมงานด้วยมันยังมีความพยายามจะเรียนรู้การทำหนังกันอยู่ ปัจจุบันเราได้กลายเป็นคนแบบที่เราไม่ชอบไปแล้ว (หัวเราะ) เพราะว่าเรื่องการเมืองเรื่องอะไรก็ตาม

ขยายความการที่เราเปลี่ยนเป็นคนที่เราไม่ชอบหน่อย

ก็เป็นคนที่มันระแวงมากขึ้น ได้ยินเรื่องวัคซีน ก็ “ไอ้เหี้ยมีเบื้องหลังป่าววะ” (ฮา) ได้ยินเรื่องเรือดำน้ำ “ไอ้นี่มันมีเบื้องหลังป่าว” คือได้ยินเรื่องห่าอะไรก็คิดว่ามันมีเบื้องหลังหมดเลย มันต้องการจะอุดรูรั่วอะไรมั้ยวะ เราไม่ได้อยากเกิดมาเป็นคนแบบนี้เลย แต่ว่าประเทศนี้มันทำให้เรากลายเป็นคนแบบนี้ไปในที่สุด แต่ว่าตอนที่ทำ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ เราไม่ได้เป็นคนแบบนี้เลยนะครับ เราเป็นคนน่ารักกว่านี้เยอะ มันเป็นหนังเรื่องนึงที่ผมรู้สึกว่าทำได้เกินคาดที่ตัวเองคาดไว้นะ ซึ่งมีน้อยนะ เพราะหนังผมเองส่วนมากทำเสร็จก็จะนั่งกุมหัว พอตอนวันฉายเข้าโรงก็อยากจะคืนเงินนายทุน แล้วก็นั่งด่าตัวเองตลอดว่าอะไรทำให้มึงคิดว่ามึงทำเป็นวะ แต่ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ เป็นหนึ่งในหนังไม่กี่เรื่องที่มันไม่เหมือนภาพที่ตั้งไว้ในหัวนะ แต่ว่ามันเป็นภาพที่เกินไปกว่านั้น ผมจำได้ว่า ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ เข้าฉายเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งมันก็มีคนที่ไม่ชอบหนังล่ะนะ เขาจะบอกว่าเป็นหนังบ้านนอกที่โคตรเฟคเลย ซึ่งความตั้งใจของผม ผมไม่ได้ตั้งใจจะทำหนังบ้านนอกนะครับ ผมตั้งใจจะทำหนังที่มีโลกของมันเอง คือถ้าได้ดูไปถึงจุดนึงมันจะดูดเข้าไปในโลกของมันเลย ซึ่งผมถือว่าเป็นความสำเร็จของผมนะ ผมไม่ได้ตั้งใจจะเป็นหนังบ้านนอก ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นหนังคนกรุง มันคือการสร้างโลกของมันขึ้นมาเองในจอสี่เหลี่ยมนี้ แล้วมันจะค่อยๆ ดูดพวกเราเข้าไป แล้วมันจะบ้วนพวกเราออกมาในตอนที่หนังมันจบแล้ว ซึ่งถ้าหนังทำแบบนั้นได้ก็โอเคอะ

จากนายกรัฐมนตรี สู่ ฌ็อง มาร์ก วัลลี การสูญเสียของวงการหนังและชุมชน

การเสียชีวิตของ ฌ็อง มาร์ก วัลลี นับเป็นความสูญเสียที่ชวนช็อคกับวงการหนังโลก เนื่องด้วยวัยเพียง 58 ปี ทว่าผลงานของเขายังได้รับการพูดถึงเสมอมา ไม่ว่าจะเป็น Dallas Buyers Club, Wild และซีรีส์เรื่องดัง Big Little Lies แต่ไม่ใช่แค่วงการหนังเท่านั้นที่แสดงความเสียใจต่อการจากไปครั้งนี้ เพราะเขาคือประชาชนของแคนาดาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ นี่จึงไม่เพียงเป็นการสูญเสียของวงการหนังแต่เป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของรัฐด้วย

จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ทวิตข้อความถึงวัลลี รวมไปถึงตัวแทนจากหน่วยงานรัฐที่ออกมาแสดงความเสียใจ เนื่องจากความสำเร็จในวิชาชีพของวัลลีนั้น ไม่เพียงสร้างคุณูปการต่อวงการหนัง แต่ยังประโยชน์มาสู่ควิเบก และประเทศแคนาดาอีกมหาศาล ด้วยบทบาทนักทำหนังของเขาเอง

ทรูโดทวิตว่า “ความมุ่งมั่นในการทำหนังและเล่าเรื่องของ ฌ็อง มาร์ก วัลลี ยากที่จะมีใครเหมือน ซึ่งนี่คือพรสวรรค์ของเขา จากผลงานและงานศิลปะของเขาที่ผ่านมา ได้ฝากหมุดหมายของควิเบก ไว้กับประเทศแคนาดาและทั้งโลก ความระลึกถึงเขาจะฝากไปกับครอบครัว มิตรสหาย และแฟนหนังของเขาต่อการจากไปอย่างฉับพลันครั้งนี้”

ปาโบล รอดริเกซ รัฐมนตรีมรดกแห่งแคนาดาและผู้แทนเมืองควิเบก ก็แสดงความเสียใจว่า “ฌ็อง มาร์ก วัลลี สร้างคุณูปการไว้กับหนัง ไม่เพียงแค่ในควิเบก แต่คือทั้งโลก หนังของเขาทำให้เราหัวเราะ ร้องไห้ ฉุกคิด และเปิดโลกทัศน์อย่างยิ่งยวด”

โฆษกร่วมของควิเบก กาเบรียล นาโด-ดูบัวส์ หนึ่งในนักการเมืองหลายคนที่แสดงความเสียใจทางโซเชียลมีเดียเช่นกัน เขาพูดถึงวัลลีว่า “ยักษ์ใหญ่แห่งวงการหนังควิเบก” เขาทวีตว่า “วัลลีจะยังคงเป็นหนึ่งในบุคลากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการหนังบ้านเรา”

วัลลีเป็นนักทำหนังผู้มีถิ่นฐานอยู่ในควิเบก ที่แม้จะมีผลงานมากมายในฮอลลีวูด แต่เขาก็มักนำชื่อเสียงและรายได้กลับมาใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ในชุมชนเสมอ เช่น การเป็นผู้สนับสนุนหลักศูนย์ดูแลผู้ป่วย Teresa Dellar เป็นต้น

วัลลีถูกพบว่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา Film Club ขอแสดงความเสียใจมา ณ โอกาสนี้


ที่มา

https://montreal.ctvnews.ca/director-jean-marc-vallee-remembered-by-quebecers-for-his-exceptional-talent-and-kindness-1.5720507

4Kings : ความโรแมนติก และโลกของจตุราชันย์ชนชั้นกลางล่าง กับความรุนแรงที่สลายพลังในการรวมตัวกันของแรงงานไทย

สำหรับคนทั่วไปแล้วอาจไม่เคยได้ยิน 4 สถาบันช่างในหนังอย่าง กนก, บู, ประชาชลและอิน (ตามที่เรียกในเรื่อง) เพราะคนทั่วไปจะรู้จักคู่ปรับคลาสสิกแบบช่างกลปทุมวัน VS อุเทนถวาย มากกว่า

รัฐบาลตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้พยายามสร้างหลักสูตรอาชีวศึกษา แต่คนไม่สนใจเรียนนัก นักวิชาการบางคนชี้ว่า ปัญหาใหญ่ของบ้านเราคือ คนอยากเป็นข้าราชการมากกว่าไปเป็นช่าง เพราะมีชีวิตที่ดีกว่า ทั้งสวัสดิการและคนนับหน้าถือตา

เมื่อเวลาผ่านไป การเรียนอาชีวะ ที่ดูมีอนาคตจึงเริ่มกลายเป็นบันไดในการไต่เต้าสถานภาพทางสังคมอีกทางหนึ่งสำหรับครอบครัวคนในระดับล่างที่ไม่มีโอกาสจะส่งลูกหลานเรียนในระดับปริญญาตรี

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนอาชีวศึกษาได้รับการสนับสนุนมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังถือว่าไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะปริมาณคนเรียนยังน้อยอยู่ ต้องรอจนถึงหลังทศวรรษ 2500 ที่โรงเรียนและนักเรียนช่างได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากรัฐ รวมถึงการได้ทุนสนับสนุนจากประเทศตะวันตก เพื่อป้อนคนเข้าสู่ตลาดแรงงานที่โรงงานอุตสาหกรรมเริ่มขยายตัว

ประเทศต่างๆ ดาหน้าเข้ามาสนับสนุนเช่น ออสเตรเลียสนับสนุนโรงเรียนช่างกลพระนครเหนือ รัฐบาลเยอรมันสนับสนุนตั้งวิทยาลัยเทคนิคที่ขอนแก่น ปี 2500 นักเรียนอาชีวศึกษามีรวมกันมากถึง 57,000 คน ที่เข้าเรียนกันมากเพราะว่ามีโอกาสได้งานทำสูง จำนวนหนึ่งใช้เป็นใบเบิกทางเพื่อสมัครเป็นครูในโรงเรียนประถม ในทศวรรษ 2510 บางส่วนยกระดับตัวเองไปเปิดระดับปริญญาตรี เห็นได้จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าในปี 2514

เดิมสถานภาพของพวกเขาคือ โรงเรียน แต่หลัง 14 ตุลา 16 มีความพยายามให้ยกระดับสถาบันเป็นวิทยาลัย เป็นได้จาก พ.ร.บ.เทคโนโลยีและอาชีวศึกษา และปี 2519 ก็เกิดวิทยาลัยอาชีวศึกษาในจังหวัดต่างๆ

เราอาจเคยได้ยินวลี “พี่เป็นสมอง น้องเป็นกำลัง” (“พวกพี่เป็นสมองนะ พวกผมจะเป็นกำลังป้องกันให้เอง” จากคำสัมภาษณ์แบบตรงไปตรงมาเป็นแบบนี้) ที่อยู่ในช่วง 14 ตุลา 16 แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักศึกษาปริญญาตรี กับ นักเรียนอาชีวศึกษา อย่างไรก็ตาม อีกไม่กี่ผ่านไปได้มีการจัดตั้งกองกำลังฝ่ายขวาที่มีส่วนผสมของเด็กช่างอยู่ในนั้น ในช่วงก่อน 6 ตุลา 19 ในปีนั้นมีนักศึกษาอาชีวะ กว่า 196,686 คน

หลังจบเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองด้วยรัฐประหาร 6 ตุลาฯ ความรุนแรงก็มิได้จบลงการต่อสู้ด้วยอาวุธระหว่างรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเกิดขึ้นในเขตป่าและชายขอบของประเทศ ในเขตเมืองถูกควบคุมด้วยความหวาดวิตกเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ ต้องรอให้ถึงกลางทศวรรษ 2520 ความรุนแรงแบบนั้นก็ได้สิ้นสุดลง แต่ที่มาแทนที่คือ ระบบมาเฟีย ซุ้มมือปืนที่ผูกพันกับทั้งผู้มีอิทธิพลและนักการเมือง ความตายของนักเลง และนักการเมืองท้องถิ่นแทบจะเป็นเรื่องปกติที่ลงพาดหัวข่าวได้ทุกวัน สิ่งนี้คือ ความรุนแรงในชีวิตประจำวันภายใต้สังคมประชาธิปไตยครึ่งใบที่ทหารเป็นใหญ่ ชื่อของบิ๊กโน่นบิ๊กนี่ออกมาตบเท้าเมื่อไม่พอใจรัฐบาล เป็นเรื่องปกติ

ขณะเดียวกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็มีสร้างพื้นที่สำแดงอำนาจของตัวเองในลักษณะที่ต่างกัน จุฬา-ธรรมศาสตร์ มีฟุตบอลประเพณี, โรงเรียนมัธยมชั้นครีมมีบอลจตุรมิตร ปฏิเสธมิได้ว่าพื้นที่เหล่านี้คือ พื้นที่ของชนชั้นกลางและผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้มีการศึกษาสูงหรือมีโอกาสทางสังคมมากกว่า และเสียงดังกล่าวคนกลุ่มอื่น

ในทางตรงกันข้าม การเข้าเรียนสาขาช่างกลับเป็นพื้นที่อีกแบบ เป็นโลกอีกใบของคนในสังคมไทย การเกิดขึ้นของวิทยาลัยอาชีวศึกษาทางช่าง (เช่นเดียวสายพาณิชย์) เติบโตขึ้นจนมีตลาดมากพอที่เอกชนจะเปิดสอนไปด้วย ตัวเลขนักศึกษาช่างในปี 2524 มีมากถึง 492,498 คน (ปี 2563 รวมอาชีวศึกษาทั้งหมด 388,915 คน)

ด้วยวัยและความคึกคะนองของพวกเขา ประกอบกับเวลาเรียนที่มีอิสระกว่านักเรียนมัธยม ทำให้เด็กช่างมีโอกาสที่จะปรากฏตัวในที่สาธารณะต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะการเดินทางด้วยเส้นทางรถเมล์เป็นพาหนะชั้นดีที่เชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับห้องเรียน ป้ายรถเมล์ และปลายทาง เวทีคอนเสิร์ตอาจเป็นจุดรวมตัวชั้นดี ดังที่เห็นในหนังว่า มันคือจุดประกาศความเป็นชายและศักดิ์ศรี

การทะเลาะวิวาทกลายเป็นเรื่องปกติ และยกระดับความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อมันส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น อันที่จริงปัญหาการทะเลาะวิวาทการยกพวกตีกันในโรงเรียนมัธยมก็มีอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อเทียบกับฝ่ายเด็กช่าง ถือว่าก่อความรุนแรงได้มากกว่า สำหรับคนต่างจังหวัด ช่างกลปทุมวัน กับ อุเทนถวายคือ คู่แค้นคู่อาฆาตที่ได้ยินคำร่ำลือมาบ่อยๆ

ในทางกลับกันตัวละครใน 4 Kings เป็นตัวแทนของวิทยาลัยอาชีวะเอกชน ท้องเรื่องวางอยู่ในช่วงปลายทศวรรษ 2530 อันเป็นช่วงท้ายของยุคทองของเศรษฐกิจไทยก่อนฟองสบู่แตก นิคมอุตสาหกรรมที่โตวันโตคืน โครงการก่อสร้างตึกรามบ้านช่อง คอนโด บ้านจัดสรรขยายตัวแบบไม่มีใครจะคิดว่าบางตึกจะกลายเป็นอาคารร้างผีสิงในเวลาต่อมา

เช่นเดียวกับการยกพวกตีกันในเรื่องก็ถือเป็นช่วงพีกที่สุดของ 4 สถาบัน ก่อนที่จะทยอยปิดตัวไปไม่ว่าจะเหตุผลว่าถูกรัฐปิด หรือเศรษฐกิจอะไรก็ตาม ความตายของตัวละครบางตัวมันจึงมีนัยของการเสื่อมสลายของวัฒนธรรมดังกล่าวไปด้วย

ฉากในสถานพินิจ ที่มีตัวแทนจาก บู, ประชาชลและอิน  แสดงให้เห็นว่าสุดท้ายแล้ว สถาบันก็เป็นเพียงขื่อคาที่ล็อกและแยกพวกเขาออกจากกัน ในนั้นพวกเขายังมีน้ำมิตรต่อกันได้

อย่างไรก็ตาม ตัวละครแบบยาท กม.11 ที่เป็นตัวแทนของเด็กบ้านที่ไร้การศึกษา ก็เป็นตัวเปรียบเทียบให้เห็นเป็นอย่างดีว่า เด็กช่างไม่ใช่ปลายสุดของชนชั้นที่ถูกเหยียดหยาม ยาทถูกป้ายสีให้เป็นเหมือนหมาบ้าที่จนตรอกพร้อมจะงับทุกคนอย่างไม่เลือกหน้า โดยเฉพาะพวกเด็กช่างที่เขาเหม็นขี้หน้า บนสถานภาพที่ใกล้เคียงกันแต่มีความเหนือกว่าอยู่ เห็นได้ในฉากสู้กันในห้องน้ำที่ยาทบอกเองว่า เรื่องบางเรื่องไม่มีอยู่ใน “หนังสือเรียน” เด็กช่างที่ดูโหดๆ เลยกลายเป็นคงแก่เรียนไปเลยเมื่อเทียบกับพวกเด็กบ้านที่ไร้อนาคต

ตัวหนังพยายามแสดงโทนของการสำนึกผิดให้บทเรียนผู้ชม ผ่านแอม ลูกสาวของตัวเอกตัวหนึ่ง เสียงของแอมคือเสียงชนชั้นกลางที่ก่นด่าความระยำตำบอนของพ่อตัวเองที่บ้างาน ติดเหล้า และเป็นต้นเหตุที่ทำให้เธอ “พิการ” เอาเข้าจริง แอมเกือบจะไม่ได้เกิดมาด้วยซ้ำ หากมิได้ “พ่อๆ” ของเธอก้มกราบเพื่อไม่ให้ถูกทำแท้ง

น่าสงสัยว่า ชีวิตเด็กช่างหลังจบไป พวกเขาเดินทางไปเส้นทางใดต่อ เข้านิคมอุตสาหกรรม? เข้าบริษัทรับเหมาก่อสร้าง? จำนวนเด็กช่างมหาศาลนั้น เอาจริงๆ นักศึกษาที่เข้าไปเรียนเฉยๆ เพราะต้องการได้งานที่ดีกว่ามีสถานภาพอย่างไร เป็นคนส่วนน้อยหรือคนส่วนมาก คนเหล่านี้ต่างหากที่เงียบหายไปเลย แต่โดนขโมยซีนด้วยความเท่และเถื่อนของเด็กช่างแบบในหนัง

ในอีกด้าน การใช้ความรุนแรงระหว่างสถาบัน ทำให้พลังการรวมตัวกันของแรงงานเกิดขึ้นไม่ได้เลยตั้งแต่ในวัยเรียน แม้ว่ากฎหมายเกี่ยวกับแรงงานอย่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์จะเกิดขึ้นในปี 2518 พร้อมกับกฎหมายการจัดตั้งสถานศึกษาอาชีวศึกษาดังที่กล่าวมาแล้ว รัฐบาลไทยจึงแทบไม่เผชิญความรุนแรงจากการต่อต้านของแนวร่วมนักศึกษาอาชีวศึกษาเลย จนกระทั่งเร็วๆ นี้ที่เครือข่ายเด็กช่างรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย

เราไม่อาจแน่ใจได้ว่า รัฐรู้เห็นเป็นใจเพียงใดที่ปล่อยให้ความรุนแรงสถาบันเกิดขึ้น แต่รู้แน่ว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้การรวมตัวกันของแรงงานมันอ่อนแอลงไปด้วย ในประเทศที่รัฐและทุนเป็นใหญ่ การมีองค์กรแรงงานและสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ไม่นับว่าเป็นผลดีของพวกเขาเลย

จากความผิดพลาดของภูฏาน สู่การเข้ารอบ 15 เรื่องสุดท้าย ออสการ์หนังต่างประเทศ

ออสการ์ประกาศ shortlists 10 สาขาออกมาแล้ว 1 ในนั้นคือสาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม เป็นอีกปีที่ไม่มีหนังไทย โดยเราส่ง ‘ร่างทรง’ ของ บรรจง ปิสัญธนะกูล ไปประกวด และไม่มีแม้แต่เจ้าของรางวัล Jury Prize จากเมืองคานส์ Memoria ของประเทศโคลอมเบีย ที่กำกับโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล แต่มีหนึ่งประเทศที่น่าจะฉลองอย่างยิ่งใหญ่ นั่นคือ ‘ภูฏาน’ ที่ส่งหนัง Lunana: A Yak in the Classroom ไปชิงชัย และติด 15 เรื่องสุดท้าย ซึ่งเป็นการส่งหนังไปออสการ์ครั้งแรกของประเทศนี้ในรอบ 23 ปี!

ในประวัติศาสตร์ ภูฏานส่งหนังไปออสการ์แค่สองครั้งเท่านั้น ก่อนหน้านี้คือ The Cup หนังปี 1999 ของ Khyentse Norbu ซึ่งว่าด้วยสามเณรชาวธิเบตที่ลี้ภัยอยู่ในวัดบนเทือกเขาหิมาลัยผู้หาทางดูฟุตบอลโลกรอบชิงให้ได้ แล้วก็ข้ามมาครั้งล่าสุดคือ Lunana: A Yak in the Classroom เลย ซึ่งที่จริงภูฏานได้พยายามส่งหนังเรื่องนี้เข้าประกวดไปตั้งแต่ปีก่อนหน้านี้แต่โดนตีกลับ

เมื่อปีที่แล้ว หลังจากภูฏานส่งหนังไปออสการ์ ผู้กำกับ Pawo Choyning Dorji ยังให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “ไม่ต้องหวังว่าเราจะเข้ารอบหรือชนะก็ได้ครับ แค่เห็นว่าเขายอมรับเราก็เป็นนิมิตหมายที่ดีแล้ว” แต่ไม่กี่วันหลังให้สัมภาษณ์หนังก็เด้งออกจากรายชื่อผู้เข้าประกวด เพราะผิดกติกาออสการ์ เนื่องจากมันส่งในนาม ‘กระทรวงข้อมูลและการสื่อสารภูฏาน’ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ แต่กติการะบุว่าหนังต้องได้รับเลือกโดยองค์กรหรือคณะกรรมการที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐเท่านั้น – เช่นบ้านเราคัดเลือกโดย สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ – กว่าจะถูกปฏิเสธก็กระชั้นจนภูฏานไม่อาจแต่งตั้งหน่วยงานใดขึ้นมารับหน้าที่ส่งหนังไปออสการ์ได้ทัน รัฐบาลเลยขอเวลา 1 ปีแล้วจะส่งหนังเรื่องนี้กลับไปใหม่ ในนาม ‘คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติภูฏาน’ (National Film Commission Bhutan)

Lunana: A Yak in the Classroom ว่าด้วยครูฝึกสอนหนุ่มที่อยู่ในเมืองใหญ่ผู้ถูกส่งไปยังพื้นที่ห่างไกลความเจริญอย่างไม่เต็มใจ แต่เขากลับเป็นที่รักของเด็กๆ เพราะเขาคือคนที่จะสอนให้ชุมชนได้รู้จักกับอนาคต…หนังเปิดตัวที่เทศกาลหนัง BFI ตั้งแต่ปี 2019 และคว้ารางวัลขวัญใจผู้ชมที่เทศกาลหนังปาล์มสปริง จากนั้นก็ตระเวนไปตามเทศกาลหนังทั่วโลก อาทิ ปูซาน, คลีฟแลนด์ และไคโร เป็นต้น

หนังถ่ายทำที่หมู่บ้านลูนานา ซึ่งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 16,000 ฟุต โดยไม่มีไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการถ่ายทำ ทีมงานต้องอาศัยพลังงานจากแสงอาทิตย์เท่านั้นตลอดระยะเวลา 60 วัน โดยไม่มีแม้แต่สัญญาณโทรศัพท์ “เราไม่สามารถมานั่งเช็คฟุตในแต่ละวันได้เลยเพราะต้องเซฟแบตเตอรี่เอาไว้สำหรับการถ่ายทำเท่านั้น ผมจะได้ดูฟุตอีกทีคือห้าเดือนหลังจากปิดกล้องไปแล้ว” Dorji กล่าว

หนึ่งในตัวละครหลลักของเรื่องคือเด็กหญิงวัย 9 ขวบ ซึ่งรับบทโดย Pem Zam ซึ่งชีวิตนี้ไม่เคยใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและไม่เคยดูหนังเลยแม้แต่เรื่องเดียว ทำให้ Dorji ต้องเขียนบทขึ้นมาใหม่เพื่อสะท้อนชีวิตของเธอและเด็กๆ อีกมากมายบนนั้น เพื่อสามารถถ่ายทอดมุมมองโต้ตอบกับตัวละครครูฝึกสอนจากเมืองใหญ่ได้

Dorji เล่าว่า “ตัวละครหลักของเราเป็นภาพแทนของคนรุ่นใหม่ในภูฏานตอนนี้ เขาก็ยังอยู่ในโลกแบบเก่าๆ นั่นแหละ แต่ก็พยายามอย่างมากที่จะพาตัวเองไปสัมผัสกับความศิวิไลซ์ ไม่ต่างจากหนุ่มสาวภูฏานส่วนใหญ่ที่กำลังชะเง้อมองหาอนาคตตัวเองข้ามเทือกเขาที่ถูกหิมะปกคลุมลูกนั้นออกไป ซึ่งมันทำให้ชาวภูฏานถูกกีดกันออกจากการเป็นส่วนหนึ่งกับโลก น่าตลกดีที่พวกเราต่างอยากหนีออกไปจากดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีความสุขที่สุดเพื่อเสาะหานิยามของความสุขอีกแบบที่สวยงามระยิบระยับ”

หนังได้ไปฉายในโปรแกรมปกติหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส, เยอรมัน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน ฯลฯ ขณะที่ในบ้านเกิดเองมันก็ได้รับความนิยมด้วย ซึ่งพลิกความคาดหมายของผู้สร้างเพราะหนังภูฏานที่ทำเงินส่วนใหญ่จะมีแนวทางใกล้เคียงกับหนังบอลลีวูดมากกว่า โดยในวันที่มันฉายก็เกิดปรากฏการณ์โรงแตกต้องเสริมเก้าอี้เพื่อรองรับคนดูบางส่วนที่นั่งรถบัสนาน 18 ชั่วโมงเพื่อมาดูหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ

“หนังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภูมิประเทศ และภาษา แต่ก็ยังสัมผัสถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และผมว่าเรื่องราวทำนองนี้มันจะสื่อสารกับทุกคนได้ว่าเราอยู่ตรงไหนของโลกใบนี้” Dorji กล่าว

Shortlists ทั้ง 10 สาขา ดูที่นี่


ข้อมูลประกอบ

https://variety.com/2021/film/awards/international-feature-oscar-2021-submissions-1235066208/

https://www.vice.com/en/article/889zdb/why-it-took-bhutan-21-years-to-send-a-film-to-the-oscars

ส่องหลักสูตรทำหนังแห่งอนาคต Virtual Production โดย มาร์ติน สกอร์เซซี

เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา มาร์ติน สกอร์เซซี เพิ่งอายุครบ 79 ปี แต่อายุไม่ใช่อุปสรรคสำหรับเขาที่จะเริ่มต้นเปิดหลักสูตรการทำหนังแห่งอนาคต!

NYU Tisch School of the Arts เพิ่งเปิด สถาบันศิลปะภาพยนตร์โลก มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese Institute of Global Cinematic Arts) ซึ่งสถานบันแห่งนี้จัดตั้งโดยกองทุนครอบครัวฮอบสัน/ลูคัส ของ เมลโลดี ฮอบสัน CEO แอเรียล อินเวสท์เมนต์ และสามีของเธอ จอร์จ ลูคัส นั่นเอง ความน่าสนใจคือ สถาบันฯ สกอร์เซซี แห่งนี้ จะมี The Martin Scorsese Virtual Production Center ซึ่งจะเป็นที่แรกที่เปิดหลักสูตร Virtual Production หรืองานสร้างโลกเสมือนขึ้นมา

“เราตื่นเต้นมากที่ได้ให้เกียรติ มาร์ติน สกอร์เซซี เพื่อนรักของเรา สถาบันฯ สกอร์เซซี จึเป็นการประกาศคุณงามความดีของเขาในฐานะผู้สร้างหนังชาวอเมริกันคนสำคัญ และจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนไปอีกนาน ด้วยหลักสูตรที่สอนให้ลงมือปฏิบัติจริงเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิตัล เปิดวิสัยทัศน์ทางศิลปะซึ่งจะกลายเป็นจริงขึ้นเมื่อการเล่าเรื่องมาบรรจบกับนวัตกรรม” ฮอบสันและลูคัสกล่าว

สิ่งที่ Virtual Production สอน จะเป็นการปูทางไปสู่การทำหนังแห่งอนาคต มันคือการหยิบนวัตกรรมจากซอฟต์แวร์ของเกม, กราฟิกการ์ด, การเคลื่อนกล้อง และเทคโนโลยี AR กับ VR มาใช้ในการถ่ายทำ หรือก็คือการบรรจบกันของศาสตร์การถ่ายทำแบบดั้งเดิมและเทคโนโลยีแห่งอนาคตตั้งแต่หน้ากอง ก่อนจะส่งต่อไปขั้นตอนโพสต์โปรดักชั่นนั่นเอง

อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นคือ ก่อนหน้านี้เวลาต้องเข้าฉากที่สร้างขึ้นจากซีจี นักแสดงจะต้องเล่นบนฉากหลังกรีนสกรีนหรือติดสัญญาณโมชั่นแคปเจอร์ตามตัว โดยที่ทั้งนักแสดงและทีมงานต้องอาศัยจินตนาการเอาเพราะทั้งหมดจะไปสร้างขึ้นใหม่ในขั้นตอนโพสต์โปรดักชั่น ขณะที่เทคโนโลยี Virtual Production นักแสดงและทีมงานเห็นกันที่หน้ากองได้เลยว่าจะออกมายังไง ลดขั้นตอนวุ่นวายของโพสต์โปรดักชั่นลงอีกเยอะ ยกตัวอย่างเช่น The Mandalorian ก็สร้างโลกใหม่ขึ้นมาบนจอ LED ความละเอียดสูงสูดให้นักแสดงเข้าฉากได้เลย หรือใน The Irishman ก็ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาเพื่อลดอายุตัวละครและแสดงผลกันเดี๋ยวนั้น เพราะฉะนั้นนักเรียนในหลักสูตรจึงประกอบด้วยเหล่าคนทำหนังทั้ง ตากล้อง, นักแสดง ไปยันสายแอนิเมเตอร์ และคนทำซีจี เพื่อหาจุดที่ทุกฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้ในที่สุด

สกอร์เซซีกล่าวว่า “ในการพัฒนาเทคโนโลยีการทำหนัง เมื่อผู้สร้างต่างกำลังสนใจการดัดแปลงเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการถ่ายทำ Virtual Production จึงเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญ เพราะมันทำให้เราเห็นภาพขณะทำงาน ไม่ว่าเราจะสร้างโลกในจินตนาการหรือสร้างโลกที่ล่วงลับไปแล้ว ความเร็วของมันช่วยให้เห็นว่าเรากำลังสร้างอะไรในแบบเรียลไทม์ อย่าง The Irishman จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่รู้ว่าผมจะทำอะไรได้บ้างหากไม่มีเครื่องมืออันล้ำค่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนที่จะทำหนังในอนาคต”

สถาบันฯ สกอร์เซซี เป็นเสมือนของขวัญที่ครอบครัวฮอบสันและลูคัสมอบให้สกอร์เซซี เพราะ NYU Tisch School of the Arts ก็สถานที่ที่สกอร์เซซีจบการศึกษามา และอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านเกิดของเขาเอง เป็นดั่งการมอบความภาคภูมิใจให้นักทำหนังวัย 79 ปีผู้ที่ไม่เคยหยุดพัฒนาผลงาน

“จอร์จกับผมรู้จักกันมาทั้งชีวิต และเขาผลักดันให้เกิดโลกใบใหม่ในการทำหนังขึ้นเสมอ แรงผลักดันและความหลงใหลในภาพยนตร์ของเขา เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมภาพยนตร์ที่ต่อยอดมาจากสิ่งที่สร้างไว้โดย ฌอร์ฌ เมเลียส (นักทำหนังผู้ริเริ่มกับการแสดงให้เห็นความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์) และคงกล่าวได้ว่าความหลงใหลของผมนั้นเกิดจากวัฒนธรรมที่คู่ขนานไปกับภาพยนตร์ ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากพี่น้องลูมิแยร์ ที่รักในการสำรวจความลึกลับ ความงาม และความแปลกประหลาดของโลกที่อยู่ตรงหน้า” สกอร์เซซี่กล่าว


ที่มา

https://tisch.nyu.edu/scorsese-institute

Zero Contact หนัง NFT เรื่องแรกของโลก

หลังจากลงบทสัมภาษณ์ กนกวรรณ วัชระ กรรมการผู้จัดการ บ.เนรมิตรหนัง ฟิล์ม จำกัด ที่เล่าถึงโมเดลธุรกิจหนังไทยที่ผูกโยงกับ Cryptocurrency ก็ทำให้มีหลายคนตั้งคำถามตามมามากมายว่ารูปแบบธุรกิจหนังเช่นนี้จะเกิดขึ้นจริง และจะเป็นอนาคตของวงการหนังไทยได้อย่างไร?

ซึ่งโมเดลธุรกิจนี้นับว่ากำลังเป็นที่สนใจของผู้สร้างหนังทั่วโลก และมีผู้สร้างบางรายล่วงหน้าไปก่อนแล้ว อย่างหนังเรื่อง Zero Contact ที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นหนัง NFT เรื่องแรกของโลก! และอาจจะหมายถึงก้าวย่างที่เนรมิตรหนังกำลังพยายามเดินไปสู่เส้นทางดังกล่าวก็เป็นได้ เรามาค่อยๆ ทำความเข้าใจมันไปด้วยกัน

NFT หรือ Non-Fungible Token เป็น Cryptocurrency ประเภทหนึ่งที่แสดงความเป็นเจ้าของ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ซึ่งจะต่างจากตระกูล Bitcoin ที่เป็น Fungible Token เนื่องจากกลุ่มหลังนั้นแต่ละเหรียญจะมีมูลค่าเท่ากันและสามารถทดแทนกันได้ แต่กับ NFT นั้นแต่ละเหรียญจะมีความเฉพาะตัว ไม่สามารถทดแทนกันได้เลย เพราะฉะนั้น NFT จึงมักนิยมนำไปใช้ซื้อขายในแวดวงศิลปะที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกหรือเพื่อสิทธิ์ในเนื้อหาบางอย่างที่คนอื่นไม่สามารถเข้าถึงได้ ด้วยเหตุนี้การซื้อขายด้วย NFT จึงมีคุณสมบัติพิเศษในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาพ่วงมาด้วย

ดังนั้น NFT จึงกำลังเป็นที่สนใจในแวดวงศิลปะขณะนี้ และเพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างงานของ ติ๊ก ชิโร่ ที่เริ่มจากการประมูลงานศิลปะของตัวเองและเนื้อเพลงที่เป็น “ลายมือ” เป็น NFT บนเว็บ OpenSea.io ซึ่งทั้งหมดเป็นงานที่ “มีชิ้นเดียวในโลก”

แล้ววงการหนังจะตักตวงผลประโยชน์จาก NFT กันอย่างไร เริ่มจาก หว่องกาไว ส่ง In the Mood for Love – Day One ซึ่งก็คือการนำฟุตเตจจากวันแรกของการถ่ายทำ In the Mood for Love ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน นำไปประมูลเป็น NFT เพื่อฉลองครบ 30 ปีค่ายหนัง Jet Tone Films ของตัวเอง หรือ เควนติน ทารันติโน ก็ลุยตลาด NFT เป็นล่ำเป็นสัน เปิดประมูลสินทรัพย์ผ่านเว็บไซต์ tarantinonfts.com ซึ่งมีทั้งบท Pulp Fiction ที่เขียนมือ ไปจนถึงเสียงคอมเมนทารีส่วนตัว แต่ต่อมาค่ายมิราแม็กซ์ได้ฟ้องร้องทารันติโนให้หยุดประมูลสินทรัพย์จาก Pulp Fiction เพราะแม้ของบางอย่างทารันติโนจะมีสิทธิเต็มที่แต่อาจสร้างความสับสนกับคนทั่วไปได้ว่าเป็นสินค้าของสตูดิโอ ทั้งยังไม่อยากให้คนทำหนังรายอื่นเข้าใจว่าสามารถทำอะไรก็ได้กับหนังในค่าย

Zero Contact เป็นหนัง NFT เรื่องแรกของโลก โดยผู้กำกับ ริก ดักเดล เล่าเรื่องผ่าน 5 คนจากคนละมุมโลกที่ต้องร่วมมือกันยับยั้งผลกระทบจากการพัฒนาเทคโนโลยีของ ฟินลีย์ ฮาร์ต มหาเศรษฐีผู้ล่วงลับซึ่งรับบทโดย แอนโธนี ฮอพกินส์ หนังถ่ายทำผ่านโปรแกรมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในช่วงล็อคดาวน์ระลอกแรกปี 2020 จาก 17 ประเทศ

โมเดลของ Zero Contact โคจรอยู่บนแพลตฟอร์มชื่อ VUELE.io ซึ่งพัฒนาโดย CurrencyWorks ผู้ให้บริการบล็อกเชนครบวงจร เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการดูหนังและซื้อขายงานดิจิทัลเป็น NFT

แคเมอรอน เชลล์ ประธานบริหาร CurrencyWorks และผู้ก่อตั้ง VUELE เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจ็คต์ Zero Contact ว่ามาจากการพูดคุยกับ ผกก.ดักเดล ซึ่งเป็น CEO ของ Enderby Entertainment (ผู้สร้าง Zero Contact) ด้วย พวกเขาคาดเดาถึงอุตสาหกรรมหนังฮอลลีวูดว่าบล็อกเชนจะมีบทบาทอย่างมากในอนาคต และที่สำคัญคือโมเดลนี้จะทำให้แฟนหนังเข้าถึงชิ้นงานได้มากกว่าแค่การได้ดูหนัง แต่ยังสามารถมีส่วนร่วมในขั้นตอนต่างๆ รวมถึงได้ใกล้ชิดกับผู้สร้าง ทีมงาน กระทั่งนักแสดงมากกว่าเดิม – อีกนัยหนึ่งก็คือมีกรรมสิทธิ์เสมือนเป็นเจ้าของหนังอีกคนนั่นเอง

“NFT ทำให้ปรับวิธีการจัดจำหน่ายหนังแบบเก่าไปเลย มันจะสร้างรายได้ตามมาอีกนอกเหนือจากการนำหนังเข้าฉายโรงตามปกติ เราเลยตื่นเต้นมากที่หนังเรื่องแรกของ VUELE มีดาราดังมาเล่น (ฮอพกินส์ที่เพิ่งคว้าออสการ์ปีล่าสุดมาด้วย) ยิ่งช่วยยืนยันความเชื่อของ CurrencyWorks และ Enderby ว่าธุรกิจหนังฮอลลีวูดจะขยับพรมแดนไปอีก สตูดิโอสามารถสร้างรายได้นอกเหนือไปจากการสร้างหนัง คือการเข้าถึงหนังที่พ่วงด้วยสิทธิพิเศษและเมอร์ชันไดส์อะไรก็ได้ที่มีหนังเป็นศูนย์กลาง” เชลล์กล่าว

ผลลัพธ์คือ Zero Contact ได้รับความสนใจจากทั้งแฟนหนังไปจนสตูดิโอหนังจากทั่วโลก เข้าร่วมประมูลเพื่อครอบครองหนังพร้อมฟีเจอร์พิเศษ (Zero Contact Platinum Edition) 11 NFT แรก ก็สร้างรายได้ไปมากกว่า 90,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ – แน่นอนว่ามูลค่ามากกว่าการขายแผ่นบลูเรย์ 11 แผ่นมหาศาล – ซึ่ง VUELE จะปล่อย Zero Contact พร้อมฟีเจอร์ใหม่ๆ ตามมาอีก

“เพื่อรักษาระบบนิเวศและตลาด NFT ของภาพยนตร์ จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม VUELE เป็นแพลตฟอร์มครบวงจรที่สร้างสรรค์ ซื้อขาย รับชม และแลกเปลี่ยนกันได้ หรืออยากจัดแพ็คเกจใหม่ เช่น การเข้าถึงงานออกแบบ ฟุตเตจเบื้องหลัง หรืออยากกำหนดราคา ระยะเวลาซื้อขาย จำนวนผู้ชม ได้หมด เป็นการเปิดโอกาสให้สร้างรายได้จากหนังอีกไม่รู้จบ” เชลล์กล่าว


ข้อมูลเพิ่มเติม

https://vuele.io/zero-contact-platinum-collectors-edition

https://tarantinonfts.com/

https://en.thevalue.com/articles/sothebys-auction-wong-kar-wai-in-the-mood-for-love-nft

https://www.augustman.com/my/culture/film-tv/sir-anthony-hopkins-latest-film-zero-contact-has-made-its-debut-as-an-exclusive-nft

ดูอะไรในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันครั้งที่ 4 (PART 2 : SHORTS)

0

อ่านตอนแรกที่พูดถึงภาพยนตร์ขนาดยาวได้ที่นี่

ในส่วนของสารคดีสั้นในเทศกาลสารคดีไต้หวันครั้งที่ 4 (Taiwan Documentary Film Festival in Thailand 2021) นี้ประกอบด้วยโปรแกรมสารคดีสั้นสามโปรแกรม ที่เราภูมิใจเสนอมากๆ สารคดีสั้นเอาจริงๆ อาจจะหาโอกาสดูได้ยากกว่าสารคดีขนาดยาว เพราะนอกจากพื้นที่ในเทศกาลหนังต่างๆ (ที่มักถูกจัดโปรแกรมแบบอาภัพลับแล) สารคดีสั้นเหล่านี้ก็แทบไม่มีโอกาสได้ฉายในโรงหนัง หากโชคดีก็อาจจะได้ฉายในโปรแกรมลับแลทางโทรทัศน์ในตอนดึกๆ เราจึงอยากให้โปรแกรมสารคดีสั้นตั้งใจเลือกนี้ เป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้ชมในเทศกาล


โปรแกรม 1

In Their Teens (LIN Yu-en)

สารคดีสั้นที่สั่นสะเทือนมากๆ หนังติดตามบรรดา ‘วัยรุ่น’ ชนชั้นแรงงานในไต้หวัน ที่ไม่ใช่ไทเป พวกเขาไม่ได้เรียนหนังสือ ทำงานรับจ้างขนกระดาษเงินกระดาษทอง ฉีดยาฆ่าแมลง ขนสับปะรด หนึ่งในนั้นมีเมียกับลูกเล็ก แล้วทุกคนก็ยังเป็นเด็กอยู่มาก ยังอยากเที่ยวผับ เล่นมือถือ ใช้จ่าย แต่ชีวิตอนุญาตให้น้อยมากๆ สถานะทางการเงินบีบคั้น งานที่ใช้แรงและได้เงินน้อย บีบบังคับให้ฝันแบบวัยรุ่นน้อยลงไปด้วย

หนังตามถ่ายแบบชิดใกล้ ให้ผู้ชมเห็นทั้งความหวังและความสิ้นหวังของเด็กๆ จากฉากเปิดสุดปะทะเมื่อซับเจ็กต์หันมาถามคนทำว่าจะมาถ่ายผมทำไม ชีวิตผมไม่มีอะไรสักอย่าง พอหนังจบลงทำให้ประโยคเปิดหนังเรื่องนี้รุนแรงขึ้นหลายเท่า ดูเรื่องนี้ร่วมกันกับ Mickey On The Road จะได้ภาพชีวิตวัยรุ่นไต้หวันที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม

The Old Men’s Party (LIN Tse-yu)

สารคดีตามถ่ายชีวิตบูมเมอร์เหงาๆ ชาวไต้หวันที่เกษียณแล้ว ยากจนและไม่มีอะไรไรทำ วันๆ เลยได้แต่จับกลุ่มริมถนน ดื่มชา กินเหล้า กินข้าวฟู้ดคอร์ต พูดคุยไปเรื่อยเปื่อย แต่พอเราเพ่งมองก็พบว่าพวกเขาดูเหมือนจะเป็นฝั่งโปรจีน (หรือไม่ก็โปร KMT) แล้วในคืนที่ไช่อิงเหวินชนะเลือกตั้งพวกเขาก็ฟูมฟายเสียใจเรียกเผด็จการประชาธิปไตย บอกว่าไต้หวันจะล่มสลาย

นี่คือหนังที่พาเราเข้าไปสำรวจจิตใจของบูมเมอร์จำนวนมาก คนแบบที่เราอาจจะต่อต้าน แต่การต่อต้านอาจไม่เพียงพอหากเราไม่ได้เข้าใจหัวจิตหัวใจของเขาด้วย นี่คือห้วงยามเล็กๆ ที่พาเราไปสำรวจความกลัว ความสิ้นหวัง ความทุกข์ของพวกเขา

Temporary (HSU Hui-ju)

นอกจาก Hard Goof Life สารคดีสองภาคที่จับใจผู้คนอย่างรุนแรง เรายังฉายหนังสั้นของสวี่ฮุ่ยหรูเรื่องนี้ที่ว่าด้วย หนังว่าด้วยการจ้างแรงงานรายวันสามคน หญิงหนึ่ง ชายหนึ่ง วัยรุ่นหนึ่ง เข้าไปเก็บกวาดโรงงานร้างแห่งหนึ่งแล้วทำให้มันเหมือนเป็นบ้านขึ้นมา ต่อตู้ ต่อโต๊ะ ทาสี แต่ละคนมีประวัติชีวิตปวดเจ็บของตัวเอง มีความใฝ่ฝันของตัวเอง 

หนังตามถ่ายบทสนทนาระหว่างการทำงานของทั้งสามคน แล้วพอทำเสร็จก็ถ่ายรูปรวมกันเหมือนเป็นครอบครัวพ่อแม่ลูกเอามาแขวน โกดังร้างก็กลายเป็นบ้าน เป็นครอบครัวปลอมๆ ที่ถูกสร้างขึ้น

แต่มันซ้อนอีกทีตรงที่พอตกกลางคืนก็มีคนจรจัดมาแชร์สเปซ พอมาทำงานตอนเช้าก็เจอคนมาต่อเตียงง่ายๆ ล้มตู้มาทำผนังแล้วติดโปสเตอร์รูปโป๊ บ้านปลอมๆ เลยเป็นสเปซที่ถูกแชร์ระหว่างแรงงานชายขอบที่ไม่มีครอบครัว และคนที่ไม่มีงานไม่มีบ้าน เรื่องของบ้าน เรื่องของครอบครัวเลยเรืองความชั่วคราวของมันออกมา 

หนังง่ายๆ เหมือนจะทื่อๆ แต่แหลมคมและซับซ้อน นิยามของบ้าน ของครอบครัวที่ปลอมขึ้นมาและเป็นเพียงสิ่งชั่วคราว และบ้านที่ไม่ได้ยืนอยู่ด้วยนิวเคลียร์แฟมิลี่ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมกับสิ่งที่อยู่ข้างนอกด้วย


โปรแกรม 2

Liberty Square (Wood Lin)

ภาพชีวิตรอบๆ อนุสรณ์สถานเจียงไคเชคในหนึ่งวันที่มีทั้งนักท่องเที่ยวดูทหารยืนยามเปลี่ยนเวร คนตัดต้นไม้รอบสวน นักกีฬามาซ้อมวิ่งบนบันได คนเดินเล่นพักผ่อน นักดนตรีมาซ้อมดนตรี นักท่องเที่ยวเดินดูมิวเซียม โดยมีศูนย์กลางเป็นรูปปั้นเจียงไคเชก 

หากพอดูด้วยสายตาของสังคมที่กำลังชำระประวัติศาสตร์ และตั้งคำถามกับอดีต รื้อสร้างภาพลักษณ์วีรบุรุษก่อนเก่า หนังก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้น หนังใช้เสียงจาก archive วันตายของเจียงไคเชก การพร่ำพรรณาถึงเจียงไคเชก และสปีชชาตินิยมตอนเปิดอนุสรณ์สถาน พอมันตัดข้ามกับความเพิกเฉยไม่ไยไพของบรรดาผู้คนรายรอบที่ใช้สถานที่ในฐานะพื้นที่สาธารณะ รูปปั้นเจียงไคเชกยิ้มแฉ่งถูกเปลี่ยนความหมาย ถูกท้าทายให้เป็นเพียง tourist attraction และชาติที่เปลี่ยนความหมายไปสู่ประชาชน 

การดูหนังเรื่องนี้ในประเทศที่ปิดสนามหลวง และกั้นรั้วสเปซหลายๆ แห่งมันเลยทรงพลังกว่าเดิมมากๆ การดูหนังเรื่องนี้คู่กับ Taste of Wild Tomatoes จะยิ่งทำให้เห็นภาพของความยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน การกลับไปชำระอดีตชัดเจนมาขึ้น

62 Years and 6,500 Miles Between (Anita Chang)

หนังว่าด้วยตัวคนทำเองที่พ่อกับแม่ย้ายมาอเมริกา แต่แม่จะพากลับบ้านไปเยี่ยมอาม่า อากู๋ และญาติพี่น้องอยู่เนืองๆ แม้จะพูดจีนไม่ได้แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่นั่นมากกว่าคนอเมริกัน 

อาม่า เคยได้รับสมญาว่าอาม่าประชาธิปไตย ไปเลือกตั้งไม่เคยขาด และไม่ยอมจำนนตลอดช่วงเวลา White Terror แม้จะไม่ได้เป็นนักสู้ เป็นแค่ภรรยาคนธรรมดาเลี้ยงลูก แต่ก็มีอุดมการณ์อะไรแบบนั้น

ตอนที่เธอลงมือถ่ายจริง อาม่าเป็นสโตรคไปสามรอบแล้วจนพูดไม่ได้ ฟุตที่เธอมีเลยเป็นฟุตที่ถ่ายอาม่าเล่นๆ อาม่าชอบด่าว่าเธอแต่งตัวไม่สวยจะหาผัวไม่ได้ คนเราจะมีชีวิตจะยืนยาวเป็นร้อยปี (อาม่าอยู่จนร้อยปี) ต้องแต่งตัวสวยไว้ก่อน เธอเลยต้องไปสัมภาษณ์ อาโป๋น้องสาวอาม่า ที่เป็นช่างตัวเสื้อ อาโป๋ก็เล่าเรื่องแบบ น้องไม่สบาย อาม่าไม่มีเงินต้องไปขอให้หมอมารักษาน้องแล้วให้จับนมเป็นค่ารักษา ไปคุยกับอาอี๊ลูกสาวอาม่าที่เขียนเรื่องของอาม่า และเล่าถึงชีวิตของอาม่าที่อยากเรียนหมอ แต่แต่งงานก่อนกับอากงที่แต่งไม่ใช่เพราะรัก แต่เพราะอากงบอกจะให้เงินไปเรียนหมอ แต่อาม่าท้องเสียก่อน แล้วก็เล่าเรื่องอาม่าตั้งแต่ยุคญี่ปุ่นยึด จนยุคก๊กมินตั๋ง ช่วง White Terror ชีวิตหญิงธรรมดาคนหนึ่งที่ทรงพลัง กระดูกเหล็กอายุยืนและถ่ายทอดอุดมการณ์เงียบๆ ของเธอผ่านให้ลูกหลาน หนังสัมภาษณ์อากิ๋ม ที่เป็นสะใภ้และดูแลอาม่ามาสี่สิบปี และไม่ได้เล่าอะรไมากไปกว่าชีวิตประจำวันของอาม่าแต่น่าจะเป็นส่วนที่งดงามที่สุดของหนัง

และสุดท้ายสัมภาษณ์อาม่าโดยให้แม่ถามแล้วอาม่าจะเขียนเป็นตัวหนังสือ แล้วเราก็เห็นว่าอาม่ายังทรงพลังทางความคิดขนาดไหน

ดูร่วมกับ Taste of Wil Tomatoes (อีกแล้ว) จะเห็นภาพประวัติศาสตร์ไต้หวันจากยุคญี่ปุ่นจนถึงก๊กมินตั๋ง ดูควบกับ Hard Good Life ให้เห็นการทำหนังจากเรื่องส่วนตัวความสัมพันธ์กับครอบครัวจาก footage home video จะยิ่งอร่อย 

Before The Dawn (HUANG Pang-chuan, LIN Chunni)

ถ้าจำกันได้หวงปางเฉวียน คือคำหนังสั้นแสนงดงามอย่าง Return ที่เริ่มต้นจากภาพเพียงภาพเดียวของปู่ แล้วเขาก็นั่งรถไฟกลับบ้านจากยุโรป ย้อนทางกลับไปหาทางที่ปู่เคยเดิน หนังประกอบขึ้นจากภาพถ่าย หมดจดงดงาม และพูดถึงประวัติศาสตร์ที่เข้มข้น อีกเรื่องของเขาคือ Last Year When The Train Passed By ที่เขาถ่ายภาพขณะนั่งรถไฟผ่านหมู่บ้าน แล้วปีถัดมา เขากลับไปที่หมู่บ้านนั้น เอาภาพที่ถ่ายจากรถไฟ ไปให้เจ้าของบ้านดูแล้วนั่งลงคุยกัน วิธีการทำหนังของเขางดงามพิสดารและได้รางวัลมากมาย

ในหนังเรื่องนี้ เขาและหลินจวินนี่ ออกเดินทางตามหานักเขียนหัวก้าวหน้าคนหนึ่งที่เคยมาเรียนที่ญี่ปุ่น พยายามสิบจากภาพ ข่าวหนังสือพิมพ์เพื่อประกอบชีวิตของนักเขียนจากยุคต้นศตวรรษขึ้นมาใหม่ 

แน่นอนว่าควรดูคู่กับ A Lean Soul หนังชีวิตนักเขียนสุดเข้มข้น 



โปรแกรม 3

Ning (CHEN Wei-chieh)

นี่คือหนึ่งในสารคดีสั้นที่เข้าชิงรางวัลม้าทองคำในปีนี้ มาร์กไว้เลย นี่คือเรื่องของอาหนิง คนหนุ่มวัยเฉียดสี่สิบ ที่เป็น Down Syndrome หนังติดตามหนิง ไปสมัครงาน ขึ้นรถไฟ อยู่บ้านกับครอบครัว เขาโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่การขึ้นรถไฟใต้ดินไปกลับบ้าน และการรักษาความสะอาดของร่างกายยังเป็นเรื่องยากของเขา หนังตามดูเขาพูดคุยกับหมอที่ดูแล ไปสมัครงาน ไปใช้ชีวิต ที่แม้จะยากก็ต้องใช้ไป ด้วยสายตาอ่อนโยนไม่ก้าวล่วง เราได้ดูพลังชีวิตของเขา ความทุกข์ยากของเขา และครอบครัวของเขา ถือเป็นสารคดีสาย observe ที่ทรงพลังที่สุดเรื่องหนึ่งที่ได้ดูในปีนี้ 

Today, You Are You (CHEN Kuan-chun)

สารคดีว่าด้วยทรานส์แมนคนหนึ่ง เด็กหนุ่มที่เคยเป็นเด็กสาว เขามุ่งมันจะผ่าตัดแปลงเพศ เฉือนหน้าอก กินฮอร์โมน แต่นี่ไม่ใช่ชีวิตทุกข์ระทมของคนข้ามเพศ ครอบครัวของเขายอมรับและสนับสนุน เขามีคนรักเป็นหญิงสาวที่ไม่เคยนิยามตัวเองเป็น LGBT เธอรักคนนี้ ก็คือคนนี้เท่านั้น เขาทำงานเป็นนักเต้น มีชีวิตที่ดีตามสมควร เชื่อมั่น กล้าหาญ แต่ทุกความกล้าหาญก็มีความกังวล ความกลัวอยู่ทั้งสิ้น หนังพูดคุยกับคนรอบตัว ติดตามเขาและคนรักไปหาหมอ แลกเปลี่ยนความหวัง ความไฝ่ฝันกัน ปีนี้ไม่ได้เลือกหนังในประเด็น LGBT มากนัก หวังว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้เห็นถึงความงดงามในคนทุกเพศ


Ms. Lin – The Retouching Lady (LIN Shih-chun)

สารคดีที่คนทำตามถ่ายแม่ตัวเองที่ปีนี้หกสิบห้าแล้ว ยังกระฉับกระเฉง ไปเป็นจิตอาสาที่กู้กง และทำงานเสมียนที่คลินิค แต่ความลับที่ไม่ลับของแม่คือที่จริงแม่คือนักแต่งภาพเนกาทีฟระดับมือต้นของไต้หวัน

แม่เกิดในร้านถ่ายรูปของอากง มีพี่น้องหลายคน อากงก็บังคับทำทุกอย่าง คนนึงล้างคนนึงอัด พอดีแม่ได้เป็นฝ่ายรีทัชรูปด้วยดินสอลงบนฟิล์มจริงๆ ทำตั้งแต่สาวจนแต่งงานจนออกมาเปิดสตูของตัวเอง เลิกไปตอนมันเปลี่ยนยุคเป็นดิจิตัล 

หนังสัมภาษณ์แม่ที่อวดรูปถ่ายตัวเองประมาณห้าร้อยรูป แม่คือนักเซลฟี่ในตำนานตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต เพราะแม่ชอบถ่ายรูปตัวเอง บางทีเอาฟิล์มเหลือของคนล้างรูปมาใช้จนแก่ก็ยังชอบ ตอนนี้คนถ่ายรูปแม่คือหลานๆ นั่นเอง หนังไปสัมภาษณ์ช่างภาพอีกหลายคนที่เคยส่งงานให้แม่ ทุกคนชมว่าแม่คือมือหนึ่ง แต่ตอนนี้งานมันตกสมัยไปแล้ว แม่เล่าเรื่องพ่อเป็นคนขี่มอไซค์ไปรับฟิล์มเอามาให้แม่ แล้วแม่ทำส่วนพ่อเอาไปส่งคืน มีการโชว์จดหมายรักด้วย 

หนังเล่าเง่ายๆ แต่จับใจมากๆ ฉากหนึ่งลูกสาวที่เรียนหนังพาแม่เข้าห้องล้างฟิล์มแล้วแม่สอนให้จับเวลาด้วยตาไม่ใช่นาฬิกา หรือสอนการดูกระดาษล้างอัดรูป เราค่อยๆ เห็นว่าคุณป้าสุด alert คนนี้คือจอมยุทธ์หญิงที่จริงแท้ 

หนังตระกูลตามถ่ายพ่อแม่ควรดูด้วยกัน ทั้ง Hard Good Life และ 62 Years and 6,500 Miles Between

Sung’s Family (SUNG Yan-fei)

อีกหนึ่งสารคดีลูกถ่ายแม่เหมือนกัน แต่อันนี้ถิอว่าเดือดดาลกว่าทุกเรื่อง เพราะแม่คือเจ้าสาวไปรษณีย์จากเวียดนามที่พ่อได้มา ตอนนี้พ่อแม่หย่ากันแล้ว แต่ยังร่วมบ้าน แม่นอนข้างบน พ่อนอนข้างล่าง ทรัพย์สมบัติที่แชร์กันมีแค่หมากับลูกสาวสองคน พ่อเป็นตาลุงแก่ปากหมาอารมณ์ร้าย หนังถ่ายการด่าทอกันในครอบครัวอย่างเป็นปกติเพราะคนในถ่ายเองแฉเอง แม่ตอนนี้มีกิ๊กด้วย ทำงานเก็บเห็ด ส่วนพ่อ อยู่บ้านไปวันๆ

หนังฉายภาพเหมือนภาพสามสิบปีต่อมาของยุคเจ้าสาวไปรษณีย์ แม่ที่สู้สุดใจเพื่อชีวิตที่ดี ลูกๆ ที่ยืนงงในความสับสนของครอบครัวที่แตกแล้วแต่ก็ยังโอเคกันอยู่ หนังไม่ฟูมฟายความครอบครัวแตกสลาย หรือเข้าไปอธิบายความลำบากของแม่ หนังบอกว่า พวกเราก็อยู่กันไปอย่างนี้แหละ ตัวคนทำซึ่งยังเด็กอยู่มากเป็นลูกผสมของไต้หวันเวียดนาม เป็นรุ่นสองของคนเวียดอพยพซึ่งก็น่าสนใจดี

หนังเข้าใกล้ทุกคนในเรื่องมากๆ และไม่มีใครบันยบันยังหน้ากล้องทั้งสิ้น พ่อชูนิ้วกลางให้ลูกสาวหน้ากล้อง ลูกสาวก็แซะไม่หยุด แต่ไม่ได้มีใครเกลียดกันขนาดนั้นจนแล้วจนรอด

หนังอาจจะดูกับลิสต์ฉันถ่ายพ่อแม่ฉันด้านบนก็ได้ แต่สิ่งที่เข้าคู่กันมากที่สุดย่อมคือสารคดีแรงงานเวียดนามอพยพอย่าง The Lucky Woman


(อ่านรายละเอียดของเทศกาลได้ที่นี่)

ดูอะไรในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันครั้งที่ 4 (Part 1 : Features)

0

อีกไม่กี่วัน เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันครั้งที่ 4 (Taiwan Documentary Film Festival in Thailand 2021) ก็จะเริ่มขึ้นแล้ว ปีนี้มีหนังยาวเก้าโปรแกรมและหนังสั้นสามโปรแกรม โดยในสิบเรื่องมีสารคดีเจ็ดโปรแกรม และหนังเล่าเรื่องสามเรื่อง นอกจากหนังสำคัญอย่าง Flowers of Shanghai โดยโหวเสี่ยวเฉียน หนังเปิดเทศกาลในเซคชั่นหนังคลาสสิคประจำปี และหนังเรื่อง Days ที่เป็นหนังล่าสุดของไฉ้หมิงเลี่ยง ผู้กำกับคนสำคัญของไต้หวันและของโลกแถมหนังยังถ่ายในเมืองไทยทั้งเรื่องอีกต่างหาก ก็ยังมีหนังเล็กๆ ที่คุณอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน เราจึงขอแนะนำหนังในโปรแกรมฉายทั้งหมดให้มากกว่าเรื่องย่อเพื่อประกอบการตัดสินใจของทุกท่านครับ

The Bad Man (LEE Yong-chao)

ถ้าใครจำได้ สองปีก่อน หนังเรื่อง Blood Amber สารคดีขนาดยาวเรื่องแรกของเขาได้รับเลือกให้เป็นหนังเปิดเทศกาลของเรา สารคดีเรื่องนั้นติดตามบรรดากรรมกรเหมืองอำพันที่เช้าไปขุดกันในป่าลึก หนังติดตามชีวิตประจำวันแร้นแค้นของพวกเขาอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ ปีนี้เขากลับมาอีกครั้งกับสารคดี ที่ว่าด้วยการตามสัมภาษณ์หนุ่มขาขาดในสถานบำบัดยาเสพติดของคะฉิ่น เด็กหนุ่มเป็นอดีตทหารเด็กที่โดนกองกำลังคะฉิ่นจับไปรบในสงคราม เด็กหนุ่มที่ยังหนุ่มอยู่มากบอกกับหลีหย่งเชา ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาเขาฆ่าคนไปมากมายด้วยวิธีการต่างๆ และเขาเป็นหนึ่งในตัวอันตรายของโลกใบนี้ แต่ถึงที่สุดเขาก็เป็นเพียงเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ผ่านนรกมาทั้งชีวิต แม้หนังจะมีแต่การสัมภาษณ์และการเฝ้าดูชีวิตประจำวัน แต่มันทั้งน่าสะพรึงและน่าเศร้าอย่างยิ่ง 


A Lean Soul (CHU Hsien-che)

สารคดีชีวิตนักเขียนชีเติ่งเซิง ที่ว่ากันว่าเป็นนักเขียนไต้หวันที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งและ controversial ที่สุดคนหนึ่งในเลเวลที่มีคนเขียนบทความด่าว่าถ้านักเขียนไต้หวันเขียนแต่เรื่องพรรค์อย่างนี้ประเทศชาติคงล่มจม

หนังสร้างขึ้นโดยเทคนิคสามสี่อย่าง ภาพฟิคชั่นขาวดำที่คัดเอาบทประพันธ์บางส่วนของเขามาใช้ (และกลายเป็นโมโนลอกอธิบายชีวิตเขาเอง) บทสัมภาษณ์คนรอบข้าง เพื่อนเก่า เพื่อนนักเขียน ลูกสาว ลูกชาย เมียเก่า และบทสนทนากับตัวเขาเอง ซึ่งช่วงหลังสุดไม่ใช่อะไรนอกจากการคุยไปเรื่อยๆ โดยไม่เล่าอะไร

มันเลยเป็นหนังที่ประกอบชีวิตของเขาจากงานของเขา และผู้คนที่รายรอบเขา ตัวตนที่โดดเดี่ยว เย็นชา เข้มข้น ภาพของคนต่อต้านสังคมที่อาจจะทำให้คนรอบข้างต้องทนทุกข์จากการอุทิศตนในการเขียนในสิ่งที่เชื่อของตนเอง 

มันเป็นสารคดีที่เข้มข้น เศร้าสร้อย และทรงพลัง ภาพยนตร์และวรรณกรรมส่งเสริมกันอย่างน่าตื่นเต้นในหนังเรื่องนี้ 


I’m Here (WU Yao-tung)

ถ้าใครจำได้ สองปีที่แล้ว เราเคยฉายหนังเรื่อง Swimming on The Highway กับ Goodnight and Goodbye หนังที่เป็นภาคต่อของการที่คนทำถือกล้องไปตามเพื่อนคนหนึ่งของเขาที่เป็นเกย์ ในช่วงเวลาที่การเป็นโฮโมเซกชวลยังไม่เป็นที่ยอมรับ กล้องแนบสนิทชิดใกล้ให้ความรู้สึกทั้งแนบชิดและกระอักกระอ่วน ระยะห่างกว้างนับอนันต์ของสเตรทกับเกย์ มันเป็นสารคดีที่หมิ่นเหม่และเจ็บปวด อีกสิบปีต่อมาเขาถือกล้องกับไปเยี่ยมเพื่อนที่แตกหักกันไปหลังสารคดีเรื่องนั้นดัง ไม่นึกเลยจะได้อยู่ในวาระสุดท้ายอันแสนเศร้าของเพื่อนเก่า

ปีนี้ อาตง ผู้กำกับหนังสองเรื่องนั้นกลับมาพร้อมกับหนังที่พาผู้ชมไปสำรวจนักการละครสองคน ที่ยืนหยัดกับละครโรงเล็กมาตลอดชีวิต หนังติดตามการดิ้นรนของคนสูงวัยสองคนในโลกที่ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแต่ทั้งคู่ยังยืนยันในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ

เลือกเรื่องนี้โดยมีความรู้สึกอยากขอบคุณคนทำละครโรงเล็กในประเทศไทย หนังเต็มไปด้วยความดื้อรั้นที่แข็งแกร่งในระดับใช้ทั้งชีวิตแลก อยากให้คนละครได้ดูและแลกเปลี่ยนกำลังใจแก่กัน

ถึงที่สุดเราหวังว่าการได้ดูหนังอย่าง A Lean Soul และ I’m Here คู่กันจะมอบบทสนทนาและพลังบางอย่างให้กับคนทำงานสร้างสรรค์ในบ้านเราด้วย 


Hard Good Life I & II (HSU Hui-ju)

สารคดีเรื่องนี้มีสองภาค ห่างกันห้าปี ภาคแรก เป็นการตามถ่ายพ่อของตัวเองที่บ้านตัดสลับกับถ่ายตัวเองทำหนังเรื่องพ่อ หนังแทบไม่มีบทสนทนา เป็นแค่การถ่ายชีวิตประจำวันของพ่อ ด้วยสายตาของลูกสาวที่รักพ่อมากๆ ถ่ายทอดความสัมพันธ์ด้วยสายตานุ่มนวลแบบที่มีแต่คนในที่ทำเรื่องตัวเองเท่านั้นที่จะสามารถถ่ายทำออกมาได้ หนังงดงามมากๆ จนภาคต่อของหนังในอีกห้าปีถัดมาจะยิ่งทำให้ภาคแรกงดงามมากขึ้นเพราะภาคสองนั้นเศร้ามากๆ

ภาคสองนั้นเศร้ามากๆ เพราะเป็นการตามถ่ายพ่อตอนที่หมอบอกว่าพ่อเป็นมะเร็งลำไส้ หนังจึงเป็นการถ่ายพ่อที่กำลังตายทีละน้อย แล้วระหว่างถ่ายเธอก็เจอเนื้องอกในตัวเองด้วยหนังจึงบันทึก ความรัก ความสูญเสีย ความตาย ทั้งของพ่อ และของตัวเธอเอง เป็นการเผชิญหน้ากับความตายแบบเปลือยเปล่า ไม่รู้เนื้อรู้ตัว มีทั้งการดิ้นรน การยอมแพ้ ความรักและการจากลา 


Mickey on The Road (Mian Mian-lu)

หนังว่าด้วยสองสาวเพื่อนซี้ คนนึงเป็นพริตตี้ โคโยตี้เต้นตามบาร์และหลังรถกระบะ อีกคนเป็นสาวหล่ออยู่กับแม่ที่ป้ำๆ เป๋อๆ เพราะพ่อทิ้งไปเมืองจีน ตัวเธออยากเล่นงิ้วในศาลเจ้าแต่เขาไม่ให้เล่นเพราะเป็นผู้หญิง วันหนึ่งเพื่อนสาวได้ one night stand กับหนุ่มจีน เลยคิดจะไปหาเขาที่จีน เลยชวนเพื่อนไปหาพ่อด้วย สองสาวเลยงัดตู้ตามสวนสนุกเก็บตังค์แล้วไปผจญภัยในเมืองจีน

หนังฉูดฉาดมาก พลอตก็อาจจะไม่มีอะไรใหม่แต่ถูกเล่าออกมาอย่างละเอียดลออ และรักตัวละครมากๆ ไต้หวันในเรื่องเป็นเมืองชนบทห่างไกลในขณะที่จีนกลายเป็นเมืองใหญ่ที่หนุ่มสาวชนบทเฝ้าฝันหา

หนังอบอวลไปด้วยพลังของผู้หญิง อารมณ์ของความโฮโมอีโรติคที่โอบอุ้มตัวละครท่ามกลางแสงนีออนของเมืองใหญ่ตัดกับแสงสีทองของศาลเจ้าที่กดข่มผู้คน


The Lucky Woman (TSENG Wen-chen)

สารคดีแรงงานข้ามชาติอพยพในไต้หวันเป็นหนึ่งในแนวสารคดีที่มีฉายทุกปี แต่นี่คือสารคดีแรงงานอพยพที่รุ่มรวยและงดงาม หนังติดตามหญิงชาวเวียดนามที่มาเป็นแรงงานอพยพผิดกฏหมายในไต้หวัน เธออยู่มานาน และทำหน้าที่คล้าย NGO ที่คอยช่วยเหลือแรงงานอพยพผิดกฏหมาย ทั้งหางาน ดูแลยามเจ็บป่วย ไปจนถึงขั้นส่งเถ้ากระดูกกลับบ้าน เธอมีความทุกข์ของเธอ แต่ยังคงยืนยันจะอยู่ที่นี่ แรงงานแต่ละคนก็มีความทุกข์เศร้าเป็นของตัวเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่มอบตัวกับตำรวจก็จะถูกส่งกลับและกลับเข้ามาไม่ได้อีก หนังติดตามเรื่องราวชีวิตเล็กๆ เหล่านั้น ทั้งการผูกพันกันเองและผูกพันกับนายจ้าง แรงงาน และนายจ้างในฐานะมนุษย์ไม่ใช่ภาพรวมหมู่ทางเศรษฐกิจหรือการปกครอง แม้ตัวงานจะดูเหมือนสารคดีแรงงานทั่วไป แต่ขอให้มั่นใจว่านี่คือสารคดีที่จะทำให้คุณน้ำตารื้น 


Taste of Wild Tomato (LAU Kek-huat)

สารคดีเรื่องล่าสุดจากเล่าเค็กฮวต ที่เป็นที่รู้จักจากสารคดีสำรวจชีวิตคอมมิวนิสต์มาลายาจากเรื่องของพ่อและปู่ใน Absent Without Leave และสารคดีที่พูดถึงการสังหารหมู่ชาวจีนในมาเลเซียอย่าง The Tree Remembers ที่เคยมาฉายในเทศกาลในปีที่ผ่านมา นำไปสู่การ Q&A ที่ยาวนานจนทะลักออกมานอกโรง

ในสารคดีเรื่องใหม่ของเขา เขาได้รับการสนับสนุนจากหอภาพยนตร์เมืองเกาสงในการกลับไปรื้อฟื้นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ย้อนไปตั้งแต่สมัยในอาณานิคมญี่ปุ่น ตามสัมภาษณ์ทหารไต้หวันที่ไปรบในสงครามโลกครั้งที่สองในฐานะทหารญี่ปุ่น และความชั่วร้ายที่แต่ละคนต้องเผชิญในระดับที่แทบสูญสิ้นความเป็นคน ไล่ไปจนถึงหลังสงคราม และการเข้ามาของก๊กมินตั๋ง ไปจนถึงการสังหารหมู่ผู้คนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการกดขี่ของเพื่อนร่วมชาติที่โหดเหี้ยมกว่าเจ้าอาณานิคม หนังพาไปสำรวจถึงระดับรรดาของผู้คนที่ต่อต้านเจียงไคเชก การสำรวจความยุติธรรมเปลี่ยนผ่านในยุคกฏอัยการศึก 

สารคดีอาจเต็มไปด้วยการสนทนาพูดคุยและเรื่องเล่า แต่ประวัติศาสตร์บาดแผลนี้แสนจะทรงพลัง โดยมีหลักฐานที่ยังหลงเหลือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่กระจายอยู่ทั่วเมือง ไม่ว่าจะไปสัมภาษณ์ผู้คนที่ไหนก็ตาม


โปรดติดตามการแนะนำหนังสั้นอีกสามโปรแกรมในตอนที่สอง

(อ่านรายละเอียดของเทศกาลได้ที่นี่)

พลังนมและปากของอำแดงเหมือน : อำนาจสามัญชนที่ไปไม่สุด กับ ภาพสะท้อนความฉ้อฉลของสังคม ที่แพ้อำนาจสูงสุดในแผ่นดิน

“แด่ มิตรสหายผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผู้ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม”

แม้คนจะยกย่องหนังเรื่องนี้กันมากมายในประเด็นของการเรียกร้องสิทธิสตรีด้วยวรรคทองอย่าง “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน” แต่จากการกลับไปดูอีกครั้ง พบบางอย่างระหว่างบรรทัด ที่คิดว่าจะต้องเขียนถึง

อำแดงเหมือนกับนายริด (2537) เป็นหนังยุคท้ายๆ ของเศรษฐกิจยุคทองของไทย หากมองผ่านสภาพแวดล้อมทางการเมืองก็จะเห็นว่าเกิดขึ้นหลังพฤษภาทมิฬ 2 ปี ซึ่งหลายคนคงจำภาพจุดจบของเหตุการณ์นี้ได้ดีว่า ถูกยุติด้วยการเรียกคนสำคัญเข้าเฝ้า

หนังอำแดงเหมือนฯ เปิดฉากมาด้วยพายุที่โหมซัดจนเรือล่ม อีเหมือน (จินตหรา สุขพัฒน์) ตกน้ำ แล้วก็ได้พระริด (สันติสุข พรหมศิริ) ที่ว่ายน้ำเข้าไปช่วย หน้าอกหน้าใจของอีเหมือนปรากฏกระจ่างตาต่อพระสงฆ์วัยฉกรรจ์ จนกลายเป็นภาพติดตา และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่อง

นม หรือเรือนร่างของนางเอกถูกแสดงในฐานะวัตถุทางเพศที่ยั่วยวนจนพระหนุ่มอยู่ไม่สุข หลับตาก็เห็นสองเต้าลอยขึ้นมา การเข้าไปบริกรรมกับกระดูกในป่าช้าก็เพื่อระงับความปรารถนาทางเพศ ส่วนอีเหมือนเองก็รู้สึกว่าตัวเองจะมีใจให้พระ แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า พระนั้นหนีความใคร่หรือหนีความรักไปด้วย

อีเหมือนเห็นว่าพระริด อาศัยอยู่วัดใกล้ๆ หวังใจว่าจะได้ใกล้ชิด จึงนำไปสู่การขอเรียนหนังสือกับสมภาร (ส.อาสนจินดา) เพื่อไม่ให้น่าเกลียด จึงต้องกระเตงย่าจัน (บรรเจิดศรี ยมาภัย) เข้าไปเรียนด้วย ย่าผู้รักหลานเป็นนักหนา ตามใจแทบทุกเรื่อง มีอดีตที่ขมขื่นคือ เป็นเมียน้อยถูกปฏิบัติเยี่ยงทาสถูกเฆี่ยนถูกโบยจนเหลือร่องรอยแผลเป็นมาจนวัยนี้ การได้เรียนหนังสือของเหมือน ทำให้เธอเติบโตขึ้นทางความคิดและจิตวิญญาณ พลังของเหมือนเคลื่อนจากนมมาอยู่ที่ปาก เมื่อเหมือนรู้จักตั้งคำถาม และมักจะยอกย้อนด้วยเหตุและผลของตนเองที่ผิดกับยุคสมัยอยู่เสมอ

ความสงบสุขของชีวิตสามัญชนอย่างอีเหมือนอยู่ได้ไม่นาน เมื่อภัยที่คุกคามชีวิตของอีเหมือนและครอบครัวคือ วงจรอุบาทว์โง่ จน เจ็บ มีพ่อ (สมศักดิ์ พงษ์ธีระพล) ที่อยู่ในนิยามจน เครียด กินเหล้า (และเล่นพนัน) สำหรับราษฎรในหนัง การจะหลุดพ้นวงจรนี้ได้คือ การที่ลูกสาวได้ผัวที่ดี ลูกสาวในยุคนั้นถือเป็นทรัพย์สมบัติของพ่อแม่ การขายลูกสาว เรียกเอาเงิน เป็นสิ่งที่พบเห็นกันได้ไม่ยาก นี่คือ ภาพแรกของความเลวร้าย

ภาพที่สองคือ นายภู (รณฤทธิชัย คานเขต) ผู้เป็นเศรษฐีโรงหล่อพระ ที่ทำบุญบังหน้า แต่ผลิตพุทธรูปด้วยเลือด เนื้อและชีวิตของแรงงานที่เขาใช้ขูดรีดอย่างหนัก เมียน้อยและลูกของนายภูเองก็อยู่อย่างลำบากด้วยการกดขี่ทำร้ายของเมียแต่ง นายภูเห็นเรือนร่างของอีเหมือนจนอยากจะได้เป็นเมีย ก็ใช้ทั้งเงินทองและการดูแลเอาใจใส่ครอบครัวอีเหมือนเป็นอย่างดี หลังจากย่าจันตายไปก็ไม่มีคนขวาง นายภูจึงฉุดลากอีเหมือนไปยังเรือน โดยที่พ่อและแม่ไม่ห้ามอะไร นายภูเป็นตัวแทนอย่างดีของคนร่ำรวยในยุคทองทางเศรษฐกิจที่ดูใจบุญสุนทานภายนอก แต่โดยเนื้อแท้แล้วเลวทราม

อย่างไรก็ตาม อีเหมือนที่ไม่อยากถูกจองจำในฐานะเมียน้อย ก็หนีออกมาท่ามกลางการไล่ล่าของบ่าวบ้านนายภู จนนึกว่าอีเหมือนจมน้ำตายไปแล้ว ส่วนอีเหมือนก็หนีไปอยู่กับบ้านพ่อและแม่พระริด ตัวพระริดเองก่อนหน้านั้นก็ได้เจอเหมือนอีกครั้ง เหมือนใช้ปากเป็นอาวุธในการโจมตีด้วยการบอกรัก แม้จะกลัวตกนรก แต่ก็ไม่มีอำนาจหักห้ามความรักได้ อาวุธนั้นได้ส่งผลในเวลาต่อมา นั่นคือ พระริดตัดสินใจสึก และทั้งคู่ก็ได้กลับมาเจอกันอีกครั้งทิดริดกลับบ้านมาเจอเหมือน และได้อยู่กินกัน

เรื่องมันควรจะจบตรงนี้แบบมีความสุข แต่ด้วยธรรมเนียมคือ อ้ายริดจะต้องกลับไปขอขมาพ่อแม่เหมือนเสียก่อน เมื่อส่งข่าวไป นายภูรู้เรื่องจึงในที่สุดก็ทำเรื่องฟ้องไปยังตระลาการ ตำแหน่งพระนนทบุรีศรีมหาสมุทร (รุจน์ รณภพ) แสดงให้เห็นว่า ท้องเรื่องอยู่แถบริมน้ำนนท์และย่านเรือกสวนไร่นาแถบนั้น พื้นที่แห่งนี้เปิดโอกาสให้เหมือนได้ใช้อาวุธที่ตนเองถนัดที่สุดนั่นก็คือ ปาก

การต่อปากต่อคำของเหมือนในศาล ไม่เพียงจะมีผลต่อการถกเถียงด้วยเหตุผลและผลในเชิงคดีแล้ว พบว่า เหมือนยังต่อสู้เชิงอุดมการณ์ ด้วยการตั้งคำถามกลับต่อตระลาการ เมื่อเจอตัวบทที่กล่าวว่า กฎหมายทาสว่าไว้ พ่อแม่สามารถยกลูกหรือขายลูกให้ใครก็ได้ เป็นการชำระหนี้สินแทนเงิน ด้วยเหตุนี้เหมือนจะต้องตกเป็นทาสคนหรือทรัพย์แก่นายภู เหมือนก็โต้ว่าเป็นกฎหมายไม่ยุติธรรม และพยายามยกประเด็นความไม่เป็นธรรมทางกฎหมายที่ลำเอียงไปทางผู้ชาย จนตระลาการต้องเตือนว่า “มึงพูดนอกเรื่องกูไม่รับฟัง”

อีเหมือนร้องขอว่า “ได้โปรดเถิดเจ้าค่ะใต้เท้า ให้โอกาสผู้หญิงได้พูดบ้าง” อ้างถึงย่าของตนที่ตายไปโดยไม่มีโอกาสได้ร้องขอความเห็นใจในความเป็นคนของแก “ผู้หญิงถูกกดให้ต่ำลงด้วยน้ำมือของผู้ชาย ทั้งๆ ที่เกิดมาเป็นคนเหมือนกัน ใต้เท้าคะ มันไม่ใช่ความผิดของอิชั้นหรือผู้หญิงคนไหนที่ต้องเกิดเป็นผู้หญิง เราเลือกเกิดเองไม่ได้ แล้วทำไมเราต้องถูกกระทำราวกับเราไม่มีหัวจิตหัวใจ เป็นอย่างสัตว์เดรัจฉาน เป็นเหมือนวัวควายที่ต้องทำทุกอย่างตามแต่ที่เจ้าของจะสนตะพายลากจูงเฆี่ยนตี” ตระลาการได้ยินเช่นนั้นก็ยิ่งมีอารมณ์ และตวาดไปว่า “อีเหมือน ถ้ามึงยังไม่หยุดพูดตระลาการจะลงโทษ” นายริด นายภู และแม่ก็เตือนเหมือนว่าไม่ให้พูด

อีเหมือนตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะต้องสู้ให้ถึงที่สุดจึงกล่าวต่อไปว่า “ฉันต้องพูด ตระลาการมีแต่ผู้ชายที่สุมหัวกันตีราคาให้ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน ทำไมผู้ชายไม่ยกตัวเองให้เป็นเทวดาซะเลยล่ะ”

ตระลาการแทบจะทนไม่ไหวกล่าวอีกว่า “กูขอสั่งเป็นครั้งสุดท้าย ให้หยุดพูด” “ไม่หยุด” เหมือนท้าทายต่อไปว่า “ผู้ชายก็ดีแต่สั่ง สั่งเพราะขี้ขลาดตาขาว กลัวสูญเสียอำนาจ กลัวสูญเสียความเป็นเจ้านาย จะทำทุกอย่าง

เพื่อรักษาอำนาจให้เหนือผู้หญิง กดขี่ทุกๆ ทางให้ผู้หญิงไม่มีโอกาสโงหัวขึ้น กดให้จบปลักอยู่อย่างควาย”

ในที่สุดตระลาการก็ใช้อำนาจจัดการปิดปาก “อีเหมือน มึงหมิ่นประมาทตระลาการซ้ำสอง และขัดคำสั่งตระลาการด้วยทำให้เสียขบวนการพิจารณา พระธำมรงค์ เอาตัวไปคุมขังจนกว่ามันจะได้สำนึก”

ถ้าถือว่า ตระลาการยึดมั่นในหลักกฎหมายและเกียรติยศของตนแล้ว ตัวละครอีกตัวคือ พระธำมรงค์ (ชลิต เฟื่องอารมย์) ก็ถือว่าเป็นผู้ดูแลนักโทษผู้ฉ้อฉล รับสินบนจากนายภู ทั้งตระลาการและพระธำมรงค์นับเป็นตัวแทนของระบบราชการ และอาจรวมถึงนักการเมืองด้วย ในสังคมไทยยุคนั้นที่ข้าราชการ นักการเมืองและพรรคการเมืองเชื่อถือไม่ได้

เมื่อถูกจับเข้าตาราง อีเหมือนถูกใช้แรงงานอย่างหนักในเรือนจำ ถูกเหยียดหยามต่างๆ นานา มีฉากหนึ่งที่พระธำมรงค์ด่าอีเหมือนว่าชั่วช้า “มันถือว่ามันรู้หนังสือ มันเลยอวดดี หัวแข็ง พ่อแม่หรือใครๆ ก็ปกครองมันไม่ได้ มีผัว แล้วก็ไปมีชู้ ประพฤติผิดประเพณี ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง แล้วยังกล้าขัดคำสั่งต่อศาล ดูถูก ดูหมิ่นศาล” แล้วยุให้คนในคุกด่า-ถ่มน้ำลายรด มีเสียงสาบแช่งสารพัด “อีดอก” “เลว” “ชั่ว” “สารเลว” “ผ่าเหล่าผ่ากอ” “คนอย่างมึงเนี่ย มันต้องเอาไปตัดหัวเสียบประจาน” เสียงก่นด่าพร้อมเสียงถ่มน้ำลายเป็นเสมือนการตัดสินประชาทัณฑ์ของศาลเตี้ยไปก่อนตระลาการจะตัดสินคดีเสียอีก

อ้ายริดรู้ข่าวว่า อีเหมือนถูกกลั่นแกล้งมากกว่านักโทษชายที่ฆ่าคนตายเสียอีก โทษทัณฑ์และการทรมานที่หนักหนาแบบไม่ได้สัดส่วนยังปรากฏอยู่ในกฎหมายยุคหลังของไทยทุกวันนี้

อีเหมือนคุยกับแม่ (ดวงดาว จารุจินดา) ที่มาเยี่ยมว่า ยอมติดตะราง “ขอต่อสู้” ด้วยตัวเอง และโต้แย้งไปว่า ถ้าแม่ไม่สู้ก็อย่ามาบอกให้งอมืองอเท้า จนแม่ด่ากลับไปว่าไม่น่ายอมให้เรียนหนังสือเลย “เรียนแล้วหัวแข็ง ปกครองไม่ได้”

อีเหมือนไม่ยอมสำนึกและไม่ยอมเป็นของนายภู จึงถูกทรมานให้หนักขึ้นไปอีกด้วยการจับขังในบ่อน้ำลึก นายริดรู้เรื่องจึงไปช่วยหนีออกมา ระหว่างทางที่หนีไป พบว่ามีขบวนพยุหยาตราชลมารคผ่านมา อีเหมือนจึงเห็นว่าจะ ทางรอดสุดท้ายก็คือ การถวายฎีกาในหลวงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม

เมื่อตัดสินใจถวายฎีกาไปแล้ว อีเหมือนได้ถูกจองจำไว้ตามธรรมเนียมที่กฎหมายเกรงว่า คนถวายฎีกาอาจกราบทูลความเท็จ หรือความอันเป็นโทษแก่ผู้อื่น จึงต้องกักตัวไว้ก่อนจนกว่าจะชำระความแล้วเสร็จ

เมื่อเรื่องไปถึงฝ่ายตระลาการผู้ใหญ่ ก็ให้เกิดบทสนทนากัน พระนนทบุรีศรีมหาสมุทรก็เป็นหนึ่งในนั้น ตามเนื้อคดีก็ดูจะเป็นใจให้กับอีเหมือน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ขุนนางเหล่านั้นรับไม่ได้ก็คือ เรื่องที่นอกเหนือจากคดี นั่นคือ การเสียดสีตระลาการเรื่องเทวดา-เรื่องกลัวเสียความเป็นเจ้านาย เพราะเชื่อว่านี่คือการหมิ่นตระลาการและหมิ่นกฎหมาย ขุนนางผู้ใหญ่กล่าวย้ำว่า จะยกเลิกกฎหมายคู่บ้านคู่เมืองเพื่อคนคนเดียวนั้นไม่ได้ และเห็นว่า อ้ายริดแม้จะมีข้อหาลักนักโทษหนี แต่ก็ไม่ถึงตาย แต่อีเหมือนจะไม่พ้นโทษตัดหัวเสียบประจาน เรื่องได้หันหัวมาจนถึงปลายที่เป็นความชิบหายของอีเหมือนโดยแท้

แต่การตัดจบของเรื่องนั้น มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย นั่นคือ ไม่กี่นาทีก่อนจบ ได้ตัดภาพมาที่ฉากฝนตก นายริดนั่งเหม่ออยู่ใต้เพิง แล้วก็ตัดภาพมาที่ธงของกษัตริย์แล้วมีเสียงบรรยายถึงพระบรมราชโองการให้ประกาศแก่ลูกขุนตุลาการ โรงศาล และราษฎรในกรุงและหัวเมือง ให้ทราบทั่วกันว่า ให้อำแดงเหมือน ผุ้ร้องฎีกาพ้นผิด และตกเป็นภรรยาของนายริดตามความสมัครใจ ให้ยกเลิกกฎหมายที่ให้อำนาจบิดามารดาและสามีขายบุตร ขายภรรยาได้ตามอำเภอใจ

เราไม่รู้เลยว่า ขุนนางและตระลาการเหล่านั้นจะคิดเห็นเช่นไร หลังจากที่ตนเป็นโกรธเป็นแค้นขนาดนั้น การต่อสู้ระหว่างอีเหมือนกับระบบกฎหมายและความฉ้อฉลของขุนนางได้ถูกทำให้เงียบลงไป

ความเลวร้ายอย่างคนในครอบครัว คืออำนาจของพ่อและแม่ อำนาจของนายทุนหน้าเลือด ข้าราชการและนักการเมืองผู้โสมม อยู่ๆ ก็ถูกลบออกไป ทั้งที่ความจริง อำนาจเหล่านี้แค่ถูกทำให้หายไปชั่วคราว เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า

การยุติด้วยพระราชอำนาจของ รัชกาลที่ 4 ในเรื่อง ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเหตุการณ์ก่อนหนังฉายเมื่อ 2 ปีก่อน

สำหรับผู้เขียน เรื่องสิทธิสตรีในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่โดดเด่นอย่างยิ่ง แต่กระนั้นความยิ่งใหญ่กว่าเรื่องสิทธิสตรีคือ การเปล่งเสียงพูด ตั้งคำถามต่อความไม่สมเหตุสมผลของอีเหมือน ไม่ใช่เฉพาะกับคนในครอบครัว ไม่ใช่กับสมภารเท่านั้น แต่ยังเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ โดยไม่หวั่นเกรงการลงโทษทัณฑ์ใดๆ บทสนทนาเหล่านี้มันทำให้นึกถึงการท้าทายดันเพดานของคนรุ่นใหม่ที่พยายามเดินหน้าอย่างกล้าหาญ

ภาพเหมือนที่อยู่หลังลูกกรงของอีเหมือน ทำให้ผู้เขียนนึกถึง เนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่ร้องว่า “ในกรงขังยังมีดวงดาว ส่องแสงท้าทายฟากฟ้า บอกฟ้าว่าถึงเวลา”

แล้วมันถึงเวลาแล้วหรือยัง?

Belfast กับ West Side Story นำโด่งชิง Critics Choice Award

ต่อเนื่องจากผลผู้เข้าชิงลูกโลกทองคำ Critics Choice Awards ก็ประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงตามออกมา โดยเวทีนี้ Belfast หนังขาวดำสุดละมุนเพราะเล่าเรื่องส่วนตัวของผู้กำกับ เคนเนธ บรานาห์ นำโด่งด้วยการเข้าชิง 11 รางวัล เท่ากับ West Side Story หนังเพลงของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ส่วนรายชื่ออื่นๆ ติดตามจากด้านล่าง

หนังยอดเยี่ยม
Belfast
CODA
Don’t Look Up
Dune
King Richard
Licorice Pizza
Nightmare Alley
The Power of the Dog
tick, tick…Boom!
West Side Story

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
นิโคลัส เคจ – Pig
เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ – The Power of the Dog
ปีเตอร์ ดิงก์เลจ – Cyrano
แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ – tick, tick…Boom!
วิลล์ สมิธ – King Richard
เดนเซล วอชิงตัน – The Tragedy of Macbeth

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
เจสสิกา แชสเทน – The Eyes of Tammy Faye
โอลิเวีย โคลแมน – The Lost Daughter
เลดี้ กาก้า – House of Gucci
อลานา เฮม – Licorice Pizza
นิโคล คิดแมส – Being the Ricardos
คริสเทน สตวร์ต – Spencer

นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
เจมี ดอร์แนน – Belfast
เซียรัน ฮินดส์ – Belfast
ทรอย คอตเซอร์ – CODA
จาเรด เลโต – House of Gucci
เจเค ซิมมอนส์ – Being the Ricardos
โคดี สมิธ แม็กฟี – The Power of the Dog

นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม
แคทริโอนา บัลเฟ – Belfast
อารีอานา เดอโบส – West Side Story
แอน โดวด์ – Mass
เคอร์สเทน ดันสต์ – The Power of the Dog
ออนจานู เอลลิส – King Richard
ริตา โมเรโน – West Side Story

นักแสดงรุ่นใหม่ยอดเยีายม
จูด ฮิลล์ – Belfast
คูเปอร์ ฮอฟฟ์แมน – Licorice Pizza
เอมิเลีย โจนส์ – CODA
วูดี นอร์แมน – C’mon C’mon
ซานีย์ยา ซิดนีย์ – King Richard
ราเชล เซ็กเลอร์ – West Side Story

ทีมนักแสดงยอดเยี่ยม
Belfast
Don’t Look Up
The Harder They Fall
Licorice Pizza
The Power of the Dog
West Side Story

ผู้กำกับยอดเยี่ยม
พอล โธมัส แอนเดอร์สัน – Licorice Pizza
เคนเยธ บรานาห์ – Belfast
เจน แคมเปียนท – The Power of the Dog
กีแยร์โม เดล โตโร – Nightmare Alley
สตีเวน สปีลเบิร์ก – West Side Story
เดอนีส์ วิลล์เนิฟ – Dune

บทยอดเยี่ยม (ออริจินัล)
พอล โธมัส แอนเดอร์สัน – Licorice Pizza
แซ็ค เบย์ลิน – King Richard
เคนเนธ บรานาห์ – Belfast
อดัม แม็กเคย์, เดวิด ซิโรตา – Don’t Look Up
แอรอน ซอร์กิน – Being the Ricardos

บทยอดเยี่ยม (ดัดแปลง)
เจน แคมเปียน – The Power of the Dog
แม็กกี จิลเลนฮาล – The Lost Daughter
ซีอา เฮเดอร์ – CODA
โทนี คุชเนอร์ – West Side Story
จอน สเปห์ตส, เดอนีส์ วิลล์เนอฟ, เอริก รอธ – Dune

กำกับภาพยอดเยี่ยม
บรูโน เดลบอนเนล – The Tragedy of Macbeth
กรีก เฟรเซอร์ – Dune
ยานุซ คามินสกี – West Side Story
แดน ลอสต์เซน – Nightmare Alley
อารี เวกเนอร์ – The Power of the Dog
ฮาริส ซัมบาร์ลูคอส – Belfast

ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม
จิม เคลย์, แคลร์ นิอา ริชาร์ดส์ – Belfast
ทามารา เดอเวอเรลล์, เชน วิโอ – Nightmare Alley
อดัม สต็อกฮอเซน, เรนา เดอแองเจโล – The French Dispatch
อดัม สต็อกฮอเซน, เรนา เดอแองเจโล – West Side Story
แพทริซ เวอร์เม็ต ซูซานา ซิโปส์ – Dune
.
ตัดต่อยอดเยี่ยม
ซาราห์ โบรชาร์ และ ไมเคิล คาห์น – West Side Story
อูนญา นิ ธองเกล – Belfast
แอนดี เจอร์เกนเซน – Licorice Pizza
ปีเตอร์ ซิเบอร์ราส์ – The Power of the Dog
โจ วอล์คเกอร์ – Dune

ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
เจนนี บีเวน – Cruella
ลูอิส ซีกีรา – Nightmare Alley
พอล เทซเวล – West Side Story
ฌาคเกอลีน เวสต์, โรเบิรต มอร์แกน – Dune
แยนตี เยตส์ – House of Gucci

แต่งหน้าทำผมยอดเยี่ยม
Cruella
Dune
The Eyes of Tammy Faye
House of Gucci
Nightmare Alley

วิชวลเอฟเฟ็คต์ยอดเยี่ยม
Dune
The Matrix Resurrections
Nightmare Alley
No Time to Die
Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings

หนังตลกยอดเยี่ยม
Barb & Star Go to Vista Del Mar
Don’t Look Up
Free Guy
The French Dispatch
Licorice Pizza

แอนิเมชันยอดเยี่ยม
Encanto
Flee
Luca
The Mitchells vs the Machines
Raya and the Last Dragon

หนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม
A Hero
Drive My Car
Flee
The Hand of God
The Worst Person in the World

เพลงประกอบยอดเยี่ยม
Be Alive – King Richard
Dos Oruguitas – Encanto
Guns Go Bang – The Harder They Fall
Just Look Up – Don’t Look Up
No Time to Die – No Time to Die

ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
นิโคลัส บริเทลล์ – Don’t Look Up
จอนนี กรีนวูด – The Power of the Dog
จอนนี กรีนวูด – Spencer
นาธาน จอห์นสัน – Nightmare Alley
ฮานส์ ซิมเมอร์ – Dune

The White Lotus เราเที่ยวด้วยกัน?

นับตั้งแต่มีการ “เปิดประเทศ” เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน หน้าฟีดของผมก็เต็มไปด้วยภาพสถานที่ท่องเที่ยวไม่เคยว่างเว้น ทั้งทริปสั้นและทริปยาวไม่ซ้ำสถานที่ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ด้วยเหตุที่ว่าผู้คนต่างอัดอั้นจากภาวะปิดบ้านล้อมเมืองกักกันโรคระบาด และบ้านเมืองเราอุดมไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวสารพัดรูปแบบที่กำลังรอเม็ดเงินสำหรับการเยียวยาความเสียหาย ตัวเลขรายได้จากภาคการท่องเที่ยวปี 2562 ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 20% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (ขณะที่ภาคเกษตรกรรมคิดเป็น 8%) และ 1 ใน 3 ของมาจากการจับจ่ายของคนในประเทศเอง เป็นหลักฐานชั้นดีว่าภาคการท่องเที่ยว หวังพึ่ง “เรา” ให้มาเที่ยวกันเองมากแค่ไหน ในวันที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงขยาดการออกท่องเที่ยวนอกประเทศ

ส่วนผมยังไม่ได้ออกไปเที่ยวที่ไหนเลย เพราะต้องตักตวงทรัพยากรไว้ใช้ในยามที่ยังทำงานได้สะดวก สะสางธุระที่ต้องเลื่อนมาตั้งแต่คราวปิดเมืองครั้งล่าสุด ด้วยความระแวงระวังว่าอาจจะมีการปิดเมืองอีกครั้งเมื่อไรก็ไม่อาจทราบ แม้จะคิดถึงภูเขา ทะเล และวาระโอกาสแห่งการสำมะเลเทเมาเพียงใด แต่ เรา ที่จะได้ เที่ยวด้วยกัน คงยังไม่นับรวมตัวผมเข้าไปด้วยในเร็วๆ นี้แน่นอน เมื่อคิดได้เช่นนี้ ผมก็เริ่มสงสัยว่า เรา ที่ว่านั้น ประกอบไปด้วยใครบ้างในสังคมนี้

มันคงไม่ใช่คำถามที่น่าสนใจสำหรับ เชน ชายฐานะดีที่นั่งหน้าบูดอยู่ที่สนามบินฮอนโนลูลู จากบทสนทนาเรื่อยเปื่อยกับคู่นักท่องเที่ยวฝั่งตรงข้าม ทำให้เราพอจะรู้ได้ว่าเชนมาฮันนีมูนกับภรรยา ทว่าน่าเสียดาย ทริปแห่งความทรงจำครั้งนี้นอกจากจะไม่ราบรื่นแล้วยังอาจจะเป็นฝันสยองทุกครั้งที่เขานึกถึง เขายิ่งดูบึ้งตึงยิ่งกว่าเดิมเมื่อต้องเฉลยกับอีกฝั่งว่าเขาและภรรยาเข้าพักที่ ไวท์โลตัส รีสอร์ตที่เพิ่งมีข่าวคนฆ่ากันตายเมื่อเร็วๆ นี้ และศพจะถูกขนส่งไปทางเครื่องบินลำที่พวกเขากำลังจะโดยสารกลับบ้าน

“เกิดอะไรขึ้น คุณพอรู้บ้างไหม” คำถามนี้ไม่มีคำตอบ เพราะเชนจบบทสนทนาด้วยการบอกให้อีกฝ่าย “เลิกเสือก” และปล่อยให้เขาได้อยู่เงียบๆ เสียเถิด

นี่คือฉากเปิดเรื่องของ The White Lotus ซีรีส์ความยาว 6 ตอนจบ ผลงานล่าสุดของไมค์ ไวท์ (Mike White) นักเขียนบทชาวอเมริกันผู้เขียนบท School of Rock, Nacho Libre ครั้งนี้เขาควบตำแหน่งโปรดิวเซอร์ กำกับ และเขียนบทด้วยตัวเองเช่นเดียวกับผลงานก่อนหน้าอย่าง Enlightened 

The White Lotus คือเรื่องราวของหายนะทางจิตที่เกิดขึ้นในรีสอร์ตบนหมู่เกาะฮาวายชื่อเดียวกันกับชื่อเรื่อง เป็นความอลหม่านที่ประกอบไปด้วย เชนและเรเชล ชายที่เกิดบนกองเงินกองทองและสาวมั่นยอดนักสู้ที่เพิ่งแต่งงานกัน นิโคลและมาร์ค หัวหน้าครอบครัวผู้มีอันจะกินที่พาลูกวันรุ่นวัยต่อต้านมาเที่ยวด้วย โอลิเวีย สาวรุ่นที่ลากเพื่อนซี้ พอลล่า มาเที่ยวกับทริปครอบครัว ควินน์ เด็กหนุ่มติดเกมติดจอที่ไม่ตื่นเต้นกับการออกมาเที่ยวนอกบ้านสักเท่าไร ทันยา หญิงทึนทึกแหลกสลายผู้หวังจะให้การท่องเที่ยวเยียวยาจิตใจ อาร์มอนด์ ผู้จัดการรีสอร์ตที่รับมือกับทุกความประสาทเสียด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม และ เบลินดา หัวหน้าแผนกสปาผู้ฝันใฝ่จะหนีไปจากนรกสุดหรูที่เอารัดเอาเปรียบเธอมาอย่างเนิ่นนาน 

และแน่นอน ตัวละครสำคัญของเรื่องนี้คือฮาวาย รัฐลำดับที่ 50 ของสหรัฐอเมริกา ดินแดนอาณานิคมที่ชาวท้องถิ่นถูกขับออกจากหาด ก่อนที่คนขาวจะยึดมาสร้างรีสอร์ตหย่อนใจ เปลี่ยนวิถีชีวิตท้องถิ่นให้หันเขาสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดัดแปลงศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านให้กลายเป็นโชว์สุดตื่นตา

เดิมทีการท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่สงวนไว้สำหรับอภิสิทธิ์ชน คนระดับเจ้านายเท่านั้นจึงจะมีสิทธิได้เที่ยว จนการมาถึงของเทคโนโลยีที่ทำให้ชั่วโมงทำงานของมนุษย์ลดลง และค่าใช้จ่ายในการคมนาคมถูกลง การเดินทางท่องเที่ยวจึงเป็นที่นิยมในหมู่สามัญชน ประโยชน์ทางตรงของการท่องเที่ยวมีทั้งกระตุ้นการจับจ่าย เพิ่มงานในแหล่งท่องเที่ยว ทำให้แรงงานผ่อนคลายเพื่อฟื้นกำลังในการผลิตต่อไป การท่องเที่ยวยังมีคุณสมบัติอีกประการที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง นั่นคือการที่มันอนุญาตให้นักท่องเที่ยว ยกฐานะตัวเองขึ้นมาเป็นเจ้านายชั่วคราว ด้วยค่าใช้จ่ายที่พอรับไหว เราอาจพูดหยาบๆ ได้ว่าการท่องเที่ยว อนุญาตให้เรา เล่นเป็นเจ้า ในช่วงเวลาครู่หนึ่ง ตราบเท่าที่จ่ายไหวและไม่อินจนถูกล้มล้างอำนาจ (ทั้งด้วยกฎหมายและด้วยการเอาไปแหกในสังคมออนไลน์) เอาได้

บรรดาแขกของไวท์โลตัสได้รับสถานะเป็น “เจ้านาย” ตั้งแต่เท้ายังไม่เหยียบพื้นเกาะ ภาพพนักงานที่ถูกเกณฑ์มาโบกมือต้อนรับด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ชวนให้นึกถึงสถานะของเจ้านายในแบบที่เหนือยิ่งไปกว่าเจ้านายที่เป็นลูกค้า เป็นเจ้านายในแบบเจ้าอาณานิคม ส่วนผู้จัดการและหัวหน้าแผนกอื่นก็รับบทบาทตัวแทนของแผ่นดินแม่ คอยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว ไม่ให้พวกเขาจำต้องเปลืองแรงติดต่อกับไพร่ฟ้าชาวพื้นเมืองโดยตรง สิ่งเดียวที่ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวต่างไปจากการเยือนอาณานิคมต่างถิ่นคือ ทุนนิยม ลูกค้ามีอำนาจเยี่ยงเจ้าได้ตราบใดที่ยังจ่ายเงิน ยิ่งจ่ายมากก็ยิ่งมีอำนาจมาก ส่วนผู้ให้บริการก็ยินยอมมอบการรับใช้เพื่อเงิน ยิ่งที่พักหรูหราเท่าไร ลูกค้ายิ่งจ่ายเยอะแค่ไหน พวกเขายิ่งต้องเล่นบทบ่าวรองรับความจุกจิกของเจ้านายมากเท่านั้น 

ในระดับผิวเผิน รายได้จากการเล่นบทสมมติ เจ้านายกับบ่าว ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวดูสมเหตุผลสมผล ทว่าระดับผิวเผินที่ว่านี้คือการที่เราแกล้งทำเป็นลืมไปในธุรกิจการท่องเที่ยวมีแต่นักท่องเที่ยวกับผู้ให้บริการ ไม่มีคนพื้นถิ่นที่เคยอยู่ตรงนั้นมาก่อน ไม่มีชุมชนที่ถูกเบียดออกไปเพราะค่าครองชีพสูงขึ้น ไม่มีทุนใหญ่ (ซึ่งก็เป็นคนจากเมืองเดียวกันกับเจ้านายสมมตินั่นแหละ) มากว้านซื้อที่ดินเพื่อดำเนินธุรกิจ การดำรงอยู่ของตัวละครโอลิเวียและพอลล่า (ซิดนีย์ สวีนีย์ และบริททานี โอ เกรดี้) เด็กสาวที่หากใช้คำร่วมสมัยหน่อยก็คงจะต้องเรียกว่าเป็นพวก Woke หรือพวกตาสว่าง นับเป็นการเสียดเย้ยต่อความจริงข้อนี้อย่างร้ายกาจ พวกเธอเป็นพวกเดียวในเรื่องที่กล้าพูดถึงอภิสิทธิ์ของคนขาว ประณามคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ว่าสนับสนุนการเบียดเบียนคนท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็ไม่ลังเลที่จะแสดงอำนาจ ฉวยเอาประโยชน์จากทุกโอกาส โอลิเวียทำถึงขั้นไล่น้องไปนอนนอกห้องเพื่อเล่นยากับเพื่อนด้วยซ้ำ แม่ของเธอถึงกับต้องออกปากว่า “ลูกเห็นใจคนอื่นได้ทุกคน แต่ทำไมกับคนในครอบครัวถึงได้ใจดำขนาดนี้” เพื่อเป็นการกระทุ้งให้เห็นว่า แท้จริงแล้วปัญหาที่พวกวัยรุ่นตาสว่างมองเห็น อาจไม่ได้แก้กันง่ายๆ ด้วยการฉอดคนไปเรื่อยอย่างที่พวกเธอทำ 

ชื่อของ The White Lotus อิงมาจากกวี The Lotos-Eaters ของอัลเฟรด เทนนีสัน ว่าด้วยกลุ่มกะลาสีที่กินบัวเป็นอาหารและเข้าสู่ภาวะมึนเมาตัดขาดตัวเองออกจากโลกภายนอก ตัวกวีอิงมาจากส่วนหนึ่งของมหากาพย์โอดิสซีอีกทีหนึ่ง ความหมายโดยนัยของซีรีส์เรื่องนี้จึงอาจตีความได้ว่าเป็น “สิ่งที่ทำให้คนขาวมัวเมา” มันไม่ใช่สารออกฤทธิ์ตามธรรมชาติ หากแต่เป็นความรู้สึกถึงลำดับชั้นทางอำนาจของพวกเขาที่มีต่อสิ่งต่างๆ ที่เด่นชัดขึ้นมาตลอดเวลาหนึ่งสัปดาห์บนเกาะ 

ไวท์เคยให้สัมภาษณ์กับ Entertainment Weekly ไว้ว่า สารตั้งต้นของไอเดียนี้มาจากการที่เขาเติบโตมาในชุมชนของผู้มีอันจะกิน (แม่ของเขาเป็นนักจัดกิจกรรมระดมทุน ส่วนพ่อเป็นนักเขียนสุนทรพจน์) ทำให้เขาพอจะเห็นความซับซ้อนในความสัมพันธ์ระหว่างคนรวยกับคนรวยกว่า แม้เราจะมองเห็นว่าคนพวกนี้เป็นมิตรต่อกัน แต่ลึกลงไปใต้หน้ากากแห่งความทัดเทียม มันคือสายสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งชัง คนที่รวยกว่ามักหาโอกาสในการแสดงอำนาจ ส่วนคนที่มีเงินน้อยกว่าก็หาทางใช้ประโยชน์จากการแสดงอำนาจนั้น ความสัมพันธ์เช่นนี้เองทำให้พวกเขาผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น แต่ขณะเดียวกันก็บ่มเพาะความแค้นเคืองต่อกันเอาไว้ด้วย การ “เที่ยวด้วยกัน” ของพวกเขาดูจะเป็นวาระที่ขับความรู้สึกทั้งรักทั้งเกลียดนี้ออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดที่สุด ดังที่เราจะได้เห็นความตึงเครียดระหว่างเชนกับเรเชลที่การตกถังข้าวสารของฝ่ายหลังมีสภาพใกล้เคียงกับนรกในใจ นิโคลที่หาเงินได้มากกว่าสามีจนเขาต้องพยายามชดเชยด้วยการเล่นบทที่พึ่งทางใจของครอบครัว ความเป็นเพื่อนรักเพื่อนร้ายระหว่างโอลิเวียกับพอลล่า และมิตรภาพแบบหวังผลของเบลินดากับทันยา เศรษฐีนีผู้แตกสลาย 

ส่วนที่ผมติดใจเป็นพิเศษในเรื่อง คือบทสนทนาระหว่างมาร์ค (สตีฟ ซาห์น) กับโอลิเวีย ในฉากที่เธอกับพอลล่าเริ่มฉอดทุกคนบนโต๊ะอาหาร ว่าการนั่งทานมื้อเย็นพร้อมดูชนพื้นเมืองเต้นระบำเป็นเรื่องน่าสะอิดสะเอียน การที่ทุกคนยังนั่งกินข้าวกันอยู่ได้เป็นความเพิกเฉยที่แสนร้ายกาจ เป็นใจกลางของปัญหาความเหลื่อมล้ำ มาร์กโต้ตอบอาการ จ้วก ของลูกสาวโดยการย้อนถามกลับไปว่า “ถ้าทั้งหมดนี้เป็นความผิดของพวกเราจริงๆ แล้วเราจะแก้ปัญหานี้กันยังไง” เขาเสนอว่าถ้าเราทิ้งทุกอย่างที่สร้างมา จ่ายเงินทั้งหมดที่มีให้ชนพื้นเมือง ปัญหาจะหมดไปหรือเปล่า ความสำนึกผิดของเราจะช่วยให้ชาวเมาอิได้ผืนแผ่นดินของบรรพชนคืนหรือไม่ คำถามซื่อๆ ของมาร์คทำงานได้หลายระดับอย่างน่าทึ่ง จะมองว่ามันเป็นการเสียดสีชนกลุ่มโว้กก็ได้ จะมองว่ามันเป็นการย้ำความไร้น้ำยาของบรรดาคนขาวในเรื่องที่ต้องรับมือกับปัญหาที่ไม่อาจแก้ด้วยการจ่ายเงินก็ได้ หรือจะมองว่ามันเป็นการหันมาถามคนดูตรงๆ ว่าจะเอายังไงกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ดูไร้สิ้นทางออกเช่นนี้ 

โจทย์นี้ไม่เคยมีคำตอบที่ง่าย เราทุกคนต่างรู้ว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะส่งผลกระทบต่อชุมชนเสมอแต่เราก็ยังเที่ยว อาหารมื้อดีๆ มีราคาแฝงที่ชวนปวดหัวใจแต่เราก็ยังกิน เราไม่ได้เที่ยวด้วยกัน ไม่มีคนท้องถิ่นจนๆ อยู่ในสมการ เช่นเดียวกับสถานะของชาวเมาอิในเรื่องที่ปรากฏตัวมาสร้างดราม่าในวันพักผ่อนแล้วก็หายตัวไป แต่มันเป็นความผิดของนักท่องเที่ยวจริงๆ หรือที่มีเงินมากพอให้ท่องเที่ยวผ่อนคลายความเหนื่อยล้าในชีวิต หากทุกคนเริ่มต้นแก้ไขความเหลื่อมล้ำที่ตัวเองทั้งหมดด้วยการไม่เที่ยว เศรษฐกิจคงมิวายพังพินาศ ตลกร้ายอีกประการของ The White Lotus ก็คือการที่มันไม่มีนักการเมือง (ผู้ที่เป็นบุคคลในอำนาจแบบตรงตามตัวอักษร) อยู่ในบทสนทนา เพราะในสายตาคนขาวที่ร่ำรวย นักการเมืองก็คือคนหัวอกเดียวกัน เป็นคนรวยที่จนปัญญากับการแบ่งปันอำนาจที่มีให้คนกลุ่มอื่นๆ ไม่ต่างกัน

ผมไม่แน่ใจนักว่าอารมณ์ขันในแบบของไมค์ ไวท์ จะเป็นอารมณ์ขันที่เหมาะกับทุกคนหรือเปล่า แต่ประสบการณ์ขำแบบไม่ต้องออกเสียงระหว่างดู The White Lotus ก็ยังนับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมันเชิญชวนให้ พวกเรา ในฐานะพลเมืองแห่งราชอาณาจักรไทย ประเทศที่การลางานเจ็ดวันขึ้นเครื่องบินไปเที่ยว หรือการจ่ายค่าทางด่วน นับเป็นกิจกรรมของคนมีเงินเหลือกินเหลือใช้ ได้ทบทวนระยะห่างทางสังคมที่เรามีต่อคนอื่นๆ

ผมไม่กล้าหาญพอจะฉอดใครเรื่องความเท่าเทียมหรอกครับ (ไอ้คนที่ “กล้า” มันมีเยอะเกินไปแล้ว พูดเยอะเกินไปแล้วด้วย) เพียงแต่อยากจะยืนยันอีกเสียงว่าเราไม่ต้อง เที่ยวด้วยกัน ก็ได้

ขอให้มองกันเป็นมนุษย์ก็พอ


*คุณสามารถรับชม The White Lotus ได้ทาง HBO GO

พร้อมแบกวงการหนังไทย และคริปโตโมเดล ของแกะดำ ‘เนรมิตรหนัง’

“เราต้องการผลักดันอุตสาหกรรมหนังไทยสู่ฮอลลีวูด และเนรมิตรหนังก็สัญญาว่าจะทำให้ได้” นี่คือเป้าหมายของ กนกวรรณ วัชระ กรรมการผู้จัดการ บ.เนรมิตรหนัง ฟิล์ม จำกัด ที่อาจดูเป็นคำสัญญาเลื่อนลอยเพราะผู้สร้างหน้าใหม่มักมาพร้อมอุดมการณ์แรงกล้าหวังจะผลักดันหนังไทยด้วยกันทั้งนั้น แต่ผลสุดท้ายต่างบอบช้ำกลับไป

เนรมิตรหนัง ฟิล์ม คือค่ายที่ปูพรมซื้อสื่อโฆษณาทั่วประเทศให้หนังเรื่องแรก ‘4Kings อาชีวะยุค 90’ ทั้งบิลบอร์ด รถเมล์ รถไฟฟ้า ยันกะป๊อสองแถว จนเราเป็นห่วงล่วงหน้าไปว่าค่ายน้องใหม่นี้จะเจ็บตัวและกลับไปทำธุรกิจอื่นอีกราย

แต่รายได้ 4Kings ก็ทำให้เราต้องเตือนตัวเองว่าอย่าประมาทความตั้งใจของค่ายใหม่ค่ายนี้ เพราะแค่วันแรก หนังก็ได้รับการคาดหมายว่าจะทำเงินทั้งประเทศทะลุ 100 ล้านบาทเลยทีเดียว

ในมุมคนทำหนังไทยตอนนี้ต่างฮือฮากับทั้งคุณภาพงานและผลตอบรับของหนังเรื่องแรกคุณ

ก็ถือว่าเป็นผลตอบรับที่ดีตามคาด เพราะด้วยความเป็นหนังเรื่องแรกของค่าย ก็อยากให้ทุกอย่างมันออกมาเพอร์เฟ็คต์ เราก็อยากสร้างแบรนดิ้งเพราะเราก็เป็นค่ายน้องใหม่ แล้วพอเป็นค่ายน้องใหม่ เราจะทำยังไงให้ทุกคนจับตามอง และก็ด้วยตัวหนัง 4Kings มันมีที่มาที่ไปค่อนข้างยาวนาน ด้วยการเดินทางของผู้กำกับด้วย (พุฒิพงษ์ นาคทอง) เราก็เลยมองว่ามันโอเคแล้วแหละที่เราจะซัพพอร์ตเขา และทุ่มทุนสร้างเพื่อให้มันออกมายิ่งใหญ่

เราวางแบรนดิ้งเอาไว้ยังไง

เอาจริงนะ ตามมิชชั่นของทางค่ายเลยคือเราอยากเป็นค่ายที่พัฒนาหนังไทยไปสู่สากล ทั้งในแง่ของการถ่ายทำ ตัวบท โปรดักชั่น ซีจี แอ็กชั่น เอฟเฟ็คต์ ทุกอย่าง เราวางแบบแผนของทางค่ายไว้ว่าเราจะดันหนังไทยไปสู่ฮอลลีวูด ที่บางเรื่องยังมีเอนด์เครดิตเป็นชื่อคนไทยเลยนะ ทีมทำเอฟเฟ็คต์ ทีมแต่งหน้า หรือนั่นโน่นนี่ เราก็อยากไปสู่จุดนั้นแต่นักแสดงเป็นคนไทย ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ ทุกอย่างเป็นคนไทย มันจะไปดังในระดับโลก ความคาดหวังของค่ายในการก่อตั้งเนรมิตรหนังขึ้นมาเป็นแบบนี้

มิชชั่นนี้ก็ไม่ง่ายนะ เพราะเราก็ฝันที่จะเป็นแบบนั้นกันมาตลอด

เราเชื่อว่าทุกค่ายก็อยากเป็นแบบนั้นกันหมด คนไทยเรามีฝีมือและสามารถโชว์ผลงานตัวเองออกมาได้ถ้ามีพื้นที่ ซึ่งทางค่ายเราเป็นแบบนั้น เราเปิดรับทุกแนวความคิดเลย คุณเสนอบทเข้ามาเถอะ คุณฟอร์มทีมมาได้ เราต้องการ เราพร้อมซัพพอร์ตทุกอย่างเพื่อเราจะได้เปิดพื้นที่ตรงนี้ให้คุณได้โชว์ผลงานเต็มที่ บางคนเขามีความคิดความตั้งใจที่จะทำ แต่เขาไม่มีโอกาส หรือไม่ได้มีพื้นที่ที่จะทำ

กนกวรรณ วัชระ – กรรมการผู้จัดการ บ.เนรมิตรหนัง ฟิล์ม จำกัด

พูดแบบนี้เดี๋ยวคนทำหนังไทยทั้งวงการจะพุ่งเข้าไปที่เนรมิตรหนังนะ

มาเลย เราเปิดรับหมดเลย ไม่ว่าคุณจะดังระดับไหน มากประสบการณ์หรือว่าเพิ่งจบ คุณฟอร์มทีมมาเลย เพราะว่าการที่คุณเป็นเด็กจบใหม่หรือไม่เคยมีผลงานมาก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่มีผลงานที่ดี แค่คุณขาดทีมงานที่จะช่วยประกอบจากพื้นฐานตรงนั้น เรามองว่าเราผลักดันทุกอย่างไปได้ ซึ่ง 4Kings ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ทางเนรมิตรตั้งใจมาก เพราะว่าด้วยตัวบทที่ผู้กำกับเขาทุ่มเทมา 7-8 ปี เดินทางเสนอมาหลายค่ายแต่ว่ามันไม่ใช่แนวทางที่จะขายได้ในไทย ในไทยอาจจะมีรอมคอมเยอะหน่อยแต่ยังไม่มีหนังที่ตีแผ่ชีวิตของเด็กอาชีวะหรือแก๊งสเตอร์ ซึ่งมันมีน้อยมากตั้งแต่ ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ แต่เรื่องนั้นมันอิงทางการเมืองและสังคมด้วย ส่วนอันนี้เด็กช่างจริงๆ เราต้องสร้างสรรค์ตรงนี้ออกมาให้ทุกคนยอมรับว่าหนังแบบนี้มันทำรายได้ในไทยได้นะ มันสามารถเอาออกไปโชว์ต่างประเทศได้นะ ให้เขาเข้าใจคัลเจอร์ของเด็กช่างได้ว่าแต่ละประเทศมี traditional ต่างกัน อย่างญี่ปุ่นเขาอาจจะเป็นยากูซ่าเนอะ อย่างอเมริกาก็มีแก๊งของเขาเนอะ ของไทยเราก็มีแต่มีในนามของการรักสถาบัน ความอินในสีเสื้อ ความอินในโรงเรียนตัวเอง มันเป็น traditional ที่มันขยายต่อและขายออกไปได้

ก่อนที่หนังจะฉายเราก็เห็น 4Kings ทั่ว กทม ไปหมด นี่ลงทุนไปไม่น้อยแน่นอนในการซื้อโฆษณา ตอนนั้นรู้มั้ยว่าวันนี้วงการหนังไทยอาจไม่ได้ให้ผลตอบรับมากมายขนาดเท่าที่ลงทุนไป

เอาจริงๆ นะ พอเราไปเห็นความตั้งใจของนักแสดง เราได้เห็นการถ่ายทำ พอหนังตัดเสร็จมาแล้วและเราได้ดูหนังเต็ม เรามองว่าหนังมันสามารถโชว์ได้ และอาจผลักดันวงการอาชีวะให้คนอื่นที่มองเข้ามา สามารถเปลี่ยนมุมมองต่ออาชีวะได้ คนที่อาจจะมองว่าอาชีวะแค่เด็กตีกัน ทุกวันนี้ก็ยังมีนะคะคนที่บอกว่าจะไปดูทำไมหนังเด็กตีกันเฉยๆ แต่จริงๆ เรามีคำตอบในหนังอยู่แล้วว่าทำไมชีวิตของเขา ณ ตอนนั้นถึงเป็นแบบนั้น แต่เราไม่ได้ส่งเสริมนะคะว่าพอเราเป็นเด็กอาชีวะเราต้องรักเสื้อช็อป เราต้องตบหัวเข็มขัด มันไม่ใช่ แต่เรามองว่าทางเดินที่คุณเลือกแล้วมันผิดทางมันก็มีผลกระทบไม่ว่าจะเป็นในแง่ของครอบครัวที่ต้องสูญเสีย เพื่อนที่ต้องแยกจากกัน และอนาคตที่มันต้องแลก แล้วพอพูดถึงอาชีวะเราก็มักนึกถึงยุคเก่าๆ อย่าง 90 เราอยากทำหนังให้คนที่ไม่ได้เข้าโรงหนังนานแล้วได้กลับเข้าโรงหนังอีกครั้ง เพราะแม้คุณจะไม่ได้เรียนอาชีวะ ไม่ได้เป็นกนก บู ชื่น อิน แต่มันก็เล่าเรื่องในยุคเรานะ อยากให้คุณเข้าไปดูและเดินออกมาคุยกันว่า เฮ้ย เราตีกันไปทำไมวะ แต่ในการที่เราตีกัน ณ ตอนนั้น เพราะเรารักเพื่อนว่ะ เพราะเราต้องการโดดเด่น โด่งดัง ในแง่ของสังคม ณ ตอนนั้น ทั้งหมดนี้เราเลยมองว่ามันค่อนข้างคุมทุนกับการลงโฆษณาขนาดนั้น ให้คนเขามาเห็นว่าอาชีวะไม่ได้มีดีแค่ตีกัน

ก่อนจะลงทุนโฆษณาขนาดนั้นได้ เราทำการบ้านมากน้อยแค่ไหน

เราทำรีเสิร์ชมาแล้วค่ะว่าปีหนึ่งๆ ในประเทศไทยมีเด็กจบอาชีวะมาไม่ต่ำกว่าแสนคน และก็จบกันทุกปี อาชีวะ เทคโน สายอาชีพ มีจบการศึกษาทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งเรามองว่านี่แหละคือกลุ่มการตลาดของเรา แต่ไม่ใช่ niche market (เฉพาะกลุ่ม) เรามองว่าบุคคลทั่วไป พ่อแม่ที่ต้องการจะให้ลูกเห็นว่าถ้าวันนึงลูกเดินทางผิดพลาดหรือติดเพื่อน มันมีผลอย่างไรต่อตัวลูกนะ ครอบครัวที่อาจจะไม่ได้เข้าใจการกระทำของวัยรุ่น ณ ตอนนั้นก็อยากให้เขาเปลี่ยนมุมมองความคิด เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าคนไทยอินในความสัมพันธ์ครอบครัว ก็เลยมองว่าการตลาดของเรื่องนี้มันไม่ใช่แค่อาชีวะอย่างเดียว มันค่อนข้างคุ้มค่าที่จะลงทุน เอาจริงๆ ในมุมมองของคนทั่วไปก็จะมองเด็กกลุ่มนี้ว่าก็แค่เด็กไร้สาระ จบไปแล้วทำอะไร ตีกันเดี๋ยวก็ตายอีก แต่มันมีกลิ่นอายของมิตรภาพนะ มันมีความรักในสถาบันอยู่นะ ซึ่งไอ้คำนี้แต่ละคนก็ตีความไม่เหมือนกันอยู่แล้ว รักสถาบันไปแล้วได้อะไร แล้วมึงจะแลกไปเพื่ออะไร แต่ในมุมของคนรักสถาบันนั้น เมื่อก่อนเสื้อช็อปเขาจะให้แค่คนละตัว ซื้อไม่ได้ การที่เราไปเอาเสื้อช็อปเขามา มันเหมือนเราไปดึงความภาคภูมิใจของเขามา ไปดึงศักดิ์ศรีของเขามา นั่นแหละมันอาจจะเป็นชนวนเหตุให้เราต้องตีกันรึเปล่า

และจริงๆ แกนของมันก็คือเรื่องมิตรภาพ ซึ่งนี่คือวงกว้างมาก

ใช่ กูเจ็บได้แต่เพื่อนกูอย่าเจ็บ มันก็เลยเป็นความฮึกเหิมของการรักเพื่อนไปด้วย แล้วพอหนังเข้าฉายเราเห็นเด็กอาชีวะใส่เสื้อช็อปกันไปดูหนัง ในโรงเดียวกันมันก็มีสถาบันนั้นสถาบันนี้นั่งดูอยู่ด้วยกัน ก็ไม่ได้ตีกันนี่ คำตอบที่ได้จากหนังทางค่ายหนังเรามองว่ามันค่อนข้างฮีลจิตใจเราแล้ว เราได้คำตอบแล้ว

ผลตอบรับของหนังมันยืนยันในสิ่งที่เราเชื่อมั้ย หรือมีอะไรที่เกินคาด

เอาจริงมันเป็นไปตามแบบแผนที่ทางค่ายวางไว้ และเราก็จะพัฒนาหนังไทยไปต่อเรื่อยๆ ไม่ได้จบแค่ 4Kings ตอนนี้ที่ทำไปแล้วก็ 7 เรื่อง ปีหน้าเราจะได้เห็นแน่นอนว่าเราไม่ได้มีแค่แนวทางเดียว จะได้เห็นความหลากหลายจากทางค่ายเรา เพราะเราเปิดรับทุกความคิดสร้างสรรค์ ถ้าคุณคิดว่าเรื่องแบบนี้จะขายได้เหรอวะ มันไม่แมสส์นะ ใครจะดูวะ แต่คุณไม่รู้หรอกว่าหนังเรื่องนั้นๆ น่ะ ถ้าเราส่งต่างประเทศหรือส่งชิงรางวัลมันอาจท็อปฟอร์มมากเลยนะ คนไทยอาจจะยังยึดติดแค่หนังสนุก หนังเฮฮา หนังคลายเครียด แต่จริงๆ หนังบางเรื่องที่มันไม่ได้เป็นแมสส์มาร์เก็ต แต่บทมันดี ผู้สร้างเขาตั้งใจทำ และมันต้องการที่จะสื่อสารและส่งสารเหล่านั้นมาถึงคนดูในรูปแบบใหม่ เรามองว่าการที่เราเปิดโอกาสให้ทุกคนที่ต้องการสร้างสรรค์ผลงานในพื้นที่ของทางค่ายเรา และเราพร้อมสนับสนุนทุกแนวความคิด 

‘หนังไทยไม่ไปไหนซะที’ เราได้ยินคำนี้บ่อยมากว่าเราไม่ดูหนังไทยนานแล้วเพราะหนังไทยก็ทำได้เท่านี้แหละ จริงๆ คนไทยเรามีประสิทธิภาพมากแต่ขาดพื้นที่ เราก็อยากเป็นพื้นที่ตรงนั้น ถามว่าเราพร้อมแบกรับทั้งวงการมั้ย? พร้อมค่ะ

จากสถานการณ์ของหนังไทย ณ ตอนนี้ พร้อมมั้ยถ้าจะเป็นค่ายที่ต้องแบกรับทั้งวงการ

ถามว่าพร้อมมั้ย? เราพร้อม! เราสู้ เพราะว่าค่ายเราตั้งใจแล้วว่าเราจะต้องไปสู่ฮอลลีวูดให้ได้ ไม่ว่ายังไงก็ตามเราจะต้องผลักดันไปสู่จุดนั้นให้ได้ ต้องสู้กับต่างชาติให้ได้ อย่างเกาหลีบทเขาดีแค่ไหนเราก็ทำได้นะ แต่เราแค่ยังขาดคนที่จะซัพพอร์ตความคิดของบุคคลเหล่านั้น เราขาดองค์ประกอบโดยรวมมันก็เลยมองว่า ‘หนังไทยไม่ไปไหนซะที’ เราได้ยินคำนี้บ่อยมากว่าเราไม่ดูหนังไทยนานแล้วเพราะหนังไทยก็ทำได้เท่านี้แหละ จริงๆ คนไทยเรามีประสิทธิภาพมากแต่ขาดพื้นที่ เราก็อยากเป็นพื้นที่ตรงนั้น ถามว่าเราพร้อมแบกรับทั้งวงการมั้ย? พร้อมค่ะ เพราะเราต้องการผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย และเนรมิตรหนังก็สัญญาว่าจะทำให้ได้

พอจะเล่าได้มั้ยว่า 7 เรื่องที่ทำอยู่ตอนนี้ มีทิศทางอย่างไร จะไดเห็นว่าหลักในการอนุมัติเป็นอย่างไร

ทางค่ายไม่ได้สโคปว่าหนังจะต้องเป็นแนวไหนนะคะ เรารับหมดเลย การอนุมัติโปรเจ็คต์ของเราก็คือ ถ้าคุณมีความตั้งใจแล้วเรามองว่าบทของคุณมันโอเค คุณมีทีมหรืออะไรก็แล้วแต่มาเสนอกับเรา เราพร้อมที่จะให้โอกาสผลักดันทุกโปรเจ็คต์ เพราะฉะนั้นทั้ง 7 โปรเจ็คต์ รวม 4Kings ก็จะเป็นคนละแนวทางกันหมด อย่าง 4Kings ก็เป็นแก๊งสเตอร์ 90 หรือที่เพิ่งบวงสรวงไปอย่าง Ghost Radio ก็เป็นหนังผี แล้วก็ที่มีปล่อยๆ ออกไปแล้วบ้างก็มี ‘กล้าฝันปล้นสนั่นเมือง’ อันนั้นก็จะเป็นแอ็กชั่นบู๊ล้างผลาญเลย ค่ายเราจับมือกับ ‘บ้านริก’ (ผู้ให้บริการอุปกรณ์ริกกิ้งและสตันท์) ซึ่งมองว่าจะเป็นอีกเรื่องที่น่าจะได้กระแสตอบรับดี แล้วก็ทางค่ายก็เป็นพันธมิตรกับ แฟทแคทสตูดิโอ ซึ่งเป็นทีมสร้างซีจี ‘นาคี ๒’ ก็จะเป็นจักรวาลของสัตว์ประหลาด บทจะดูเข้าถึงง่าย แต่ซีจีอลังการมาก

จุดแข็งของค่ายเราคือการเปิดรับทุกความคิดถูกมั้ยคะ ซึ่งนี่แหละที่จะทำให้เรามีองค์ความรู้ที่ใหญ่พอสมควร

ก้าวต่อไปของเนรมิตรหนังจะเป็นอย่างไร

จุดแข็งของค่ายเราคือการเปิดรับทุกความคิดถูกมั้ยคะ ซึ่งนี่แหละที่จะทำให้เรามีองค์ความรู้ที่ใหญ่พอสมควร ถึงตอนนี้เราจะเป็นค่ายน้องใหม่ แต่ถ้าเราจับมือบ้านริก แฟทแคท หรืออีกมากมาย เราสามารถรังสรรค์ผลงานไปได้อีก และมันได้อีกเยอะมากๆ มันน่าจะไปในแนวโน้มที่ดี และมันจะทำให้ค่ายเราเป็นที่จดจำไปเรื่อยๆ

สมมติหนังได้ทั้งประเทศร้อยล้านจริงๆ แต่สิ่งที่ลงทุนไปก็ไม่น้อย คุ้มมั้ย

ทางค่ายมองว่าคุ้ม ตรงที่ว่าทุกคนได้เปลี่ยนมุมมองต่ออาชีวะ ทุกคนได้รู้จักค่ายเรา เฮ้ย เราเป็นค่ายน้องใหม่ก็จริงนะ แต่เราก็พร้อมจะซัพพอร์ตทีมผู้สร้างทุกคน เรามองว่ามันคุ้มค่า

สิ่งที่เราได้ทราบมาคือโมเดลที่เกี่ยวกับคริปโต ซึ่งส่วนตัวไม่ได้อยู่ในวงการนี้ แต่ก็มองว่าเป็นโมเดลที่แปลก และมันอาจนำไปสู่การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจภาพยนตร์ได้ ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อย

ในตอนนี้วงการหนังไทยจะมีข้อจำกัดเรื่องการซื้อขายหนัง ทีนี้การที่เราพัฒนาแพลตฟอร์มจนสามารถซื้อขายได้ด้วยคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งมันคือสกุลเงินดิจิตัล มันไร้ข้อจำกัด ทีนี้ข้อดีของมันก็คือว่าทั่วโลกสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มเราได้ เพียงแค่ผ่านคริปโตเคอร์เรนซี และเราก็จะเสนอสื่อหรือหนังที่เรามีไปสู่ต่างประเทศได้ผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งสามารถรองรับได้ทุกภาษาทั่วโลก ทั่วโลกจะสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มเราได้ง่ายมากๆ ทุกคนสามารถซื้อขายหนังเราโดยไม่ต้องมาแก้ปัญหาเรื่องการชำระเงิน

เหมือนไม่ต้องผ่านดิสทริบิวเตอร์รึเปล่า

ใช่ มันเป็นหนังเราเอง คุณเข้าถึงมันได้ง่าย ค่าธรรมเนียมก็ไม่แพง ซึ่งในตอนนี้กระแสคริปโตกำลังมาแรง หลากหลายธุรกิจในต่างประเทศก็เริ่มที่จะรับคริปโต ในไทยก็มีนะคะจ่ายค่าน้ำมัน บางธนาคารก็รับ และมองว่าในอนาคตถ้าเราอยากผลักดันอุตสาหกรรมหนังไทยไปสู่สากล สากลก็ต้องเข้าถึงอุตสาหกรรมหนังไทยได้ง่ายด้วย

นี่หรือเปล่าความหมายของการพาหนังไทยไปสู่สากลของคุณ เพราะไม่รู้ว่าตอนนี้อุตสาหกรรมหนังประเทศอื่นเขากำลังพัฒนาวงการของเขาผ่านคริปโตหรือไม่ และมันอาจนำไปสู่การประเมินความสำเร็จในอีกรูปแบบหนึ่ง

ใช่ค่ะ มันก็เป็นอีกรูปแบบนึงที่เรามองว่ามันเป็นชอยส์ เป็นโอกาสที่ถ้าเราเอาแพล็ตฟอร์มหนังของเราผูกกับคริปโต ลองดูซิว่าการเข้าถึงมันเป็นอย่างไร เพราะต้องไม่ลืมว่าโลกมันพัฒนาไปเรื่อยๆ สกุลเงินดิจิตัลมันก็เดินทางของมันไปเรื่อยๆ และมันก็ไม่มีวันที่จะดับสูญ แล้วมันก็จะมีการพัฒนาต่อ จากคริปโตและอาจเป็นอย่างอื่นต่อที่เราปูพื้นฐานไป เรามองถึงอนาคตที่จะเป็น long term business มองว่ายังไงมันก็เข้าถึงง่าย คุ้มค่า และก็เชื่อว่าทุกคนทั้งในไทยและต่างชาติสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มต่างๆ พวกนี้ได้ง่ายขึ้น

การออกจากเซฟโซนมันหมายถึงการที่เราออกไปเจอโลกกว้าง และทั้งโลกก็จะมองเห็นเรา

กำลังมองว่ายังไงโลกก็จะไปสู่จุดนั้นอยู่แล้ว ถูกมั้ย?

ใช่ค่ะ เพราะว่าตอนนี้ก็มีข่าวซื้อขายบ้านด้วยคริปโต มันเริ่มมีสกุลเงินดิจิตัลเข้ามาในชีวิตประจำวันของเราทุกคนมากขึ้น เราอาจจะไม่ได้ใช้เอง แต่เราอาจจะเห็นเพื่อนใช้ อาจจะเห็นโฆษณา ก็เลยมองว่าอาจจะเป็นอีกทางเลือกนึงที่เราสามารถผลักดันและเดินทางไปสู่จุดนั้นได้ ก็อยากให้ติดตามกันต่อไป

อยากรู้มากว่ามันจะไปยังไงต่อไอ้โมเดลนี้ เพราะต้องยอมรับว่าวงการหนังไทยในตอนนี้อาจจะยังตามไม่ทัน

ใช่ โมเดลธุรกิจหนังไทยเราอาจจะยังอยู่ในกรอบเดิมๆ ที่มีกันมาอย่างช้านาน ทางเรามองว่าการเดินในกรอมเดิมมันผิดมั้ย ไม่นะคะ เพราะมันเปรียบเสมือนเซฟโซน แต่ทางค่ายเรามองว่าถ้าเราออกจากเซฟโซน มันเสี่ยงมั้ย? เสี่ยงนะ แต่ถามว่ามันคุ้มมั้ย? มันคุ้ม เพราะว่าการออกจากเซฟโซนมันหมายถึงการที่เราออกไปเจอโลกกว้าง และทั้งโลกก็จะมองเห็นเรา ถ้าเรายังอยู่ในเซฟโซนก็จะมีแต่คนในเซฟโซนนั้นแหละที่มองเห็น แต่แค่ก้าวออกมาอยู่ในโลกธุรกิจอื่นๆ ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เท่านั้น แต่วงการอื่นก็จะมองเห็นเราด้วย ซึ่งก็มองว่าทางค่ายก็น่าจะต่อยอดไปในทิศทางอื่นๆ ได้อีก โดยที่ทุกคนจะมองเห็นว่าเราพร้อมจะพัฒนา ผลักดัน และก้าวหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ

สปีลเบิร์กไม่ใส่ซับไตเติ้ลเพราะตัวหนังสือไม่สำคัญกว่าภาษา

ใน West Side Story เวอร์ชันรีเมคของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ที่กำลังได้รับคำชมจนเป็นตัวเต็งออสการ์ปี 2022 มีสิ่งหนึ่งที่อาจเป็นเรื่องขัดใจของใครบางคน นั่นคือการที่หนังไม่ขึ้นซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษให้กับตัวละครที่พูดภาษาสเปน ซึ่งเรื่องราวส่วนนี้ดันไม่ใช่ส่วนน้อยของหนังเสียด้วย …และแน่นอนว่าการไม่มีบทบรรยายภาษาอังกฤษ มันก็จะไม่ถูกแปลเป็นภาษาอื่น

West Side Story เล่าเรื่องความขัดแย้งของแก๊งวัยรุ่นชั้นแรงงานเชื้อสายเปอโตริกันกับอเมริกันผิวขาว ซึ่งในหนังเราจะได้เห็นความเป็นอยู่ของชุมชนชาวเปอโตริกัน และพวกเขามักพูดภาษาสเปนซึ่งเป็นภาษาถิ่นของชาวละตินอเมริกันเวลาอยู่ด้วยกัน

ในฉากเหล่านี้ แม้ว่าตัวละครเชื้อสายละตินจะพูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่ก็จะคั่นด้วยการพูดภาษาสเปน และเมื่อเรื่องราวดำเนินไปจนเริ่มเข้มข้น ตัวละครก็เริ่มพูดภาษาสเปนในประโยคสำคัญอย่างยิ่งยวด เช่นการเฉลยปมบางอย่าง หรือการถ่ายทอดอารมณ์ที่ส่งผลให้เราอาจเข้าใจตัวละครมากขึ้น…แต่สปีลเบิร์กก็ไม่ใส่ซับไตเติ้ลเพื่อช่วยคนดูที่ไม่ได้เข้าใจภาษาสเปนแต่อย่างใด

สปีลเบิร์กชี้แจงว่า “ด้วยความเคารพต่อนักแสดงละตินทั้งหมดที่เราชวนมาเล่นเป็นแก๊ง Shark ในหนังเรื่องนี้” โดยสปีลเบิร์กมอบโจทย์แก่ ซินดี้ โทแลน แคสติ้งไดเร็กเตอร์ของหนังเรื่องนี้เลยว่า ตอนคัดเลือกนักแสดงละติน ให้ปล่อยทุกคนทดสอบบทในภาษาพ่อแม่ตัวเองไปเลย

“นี่คือความตั้งใจของผม” สปีลเบิร์กกล่าว “ผมจะไม่ใส่ซับไตเติ้ลลงไปในไดอะล็อกภาษาสเปนเด็ดขาด เพราะขืนใส่คำบรรยาย (ภาษาอังกฤษ) ลงไป มันจะไปลดทอนความหมายบางอย่างของภาษาดั้งเดิม ผมไม่อยากให้ภาษาอังกฤษมีอำนาจเหนือกว่าภาษาสเปน ผมต้องเคารพภาษาดั้งเดิมของตัวละคร เลยตัดสินใจเช่นนี้”

สปีลเบิร์กแอบลังเลบ้างเหมือนกันว่าคนดูทั่วไป (ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก) จะเข้าใจหนังหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่เปิดเผยข้อมูลสำคัญ แต่กลายเป็นว่าเขาไม่เคยได้รับฟี้ดแบ็คในมุมว่าการไม่มีซับไตเติ้ลให้ภาษาสเปนจะเป็นปัญหาต่อการดูหนังแต่อย่างใด

“ผมไม่เห็นว่าคนดูจะมีปัญหาอะไรเลยนะ ไม่มีใครมาบอกให้ผมใส่ซับไตเติ้ลเลย” สปีลเบิร์กกล่าว “ผมรู้สึกด้วยซ้ำว่าการใส่ซับไตเติ้ลเข้าไปต่างหาก ที่จะเป็นการไม่เคารพต่อภาษาที่สองของประเทศนี้”


ที่มา
https://www.ign.com/articles/west-side-story-director-steven-spielberg-on-his-decision-to-not-use-spanish-subtitles

https://nypost.com/2021/12/08/why-steven-spielberg-didnt-put-subtitles-in-west-side-story

Get Out ทะยานอันดับ 1 บทยอดเยี่ยมแห่งศตวรรษที่ 21

สมาคมคนเขียนบทแห่งอเมริกา (WGA) ประกาศรายชื่อ 101 บทหนังยอดเยี่ยมแห่งศตวรรษที่ 21 ออกมา ความน่าสนใจคืออันดับ 1 เป็นของหนังเขย่าขวัญของ จอร์แดน พีล อย่าง Get Out เฉือนเอาชนะ Eternal Sunshine of the Spotless Mind ที่เขียนบทโดย ชาร์ลี คอฟแมน ที่ตามมาเป็นอันดับ 2 นอกจากนี้ Parasite ของ บงจุนโฮ ยังเป็นหนังภาษาต่างประเทศที่ติดอันดับสูงสุดคืออันดับ 4 ด้วย เราไปดูรายชื่อทั้ง 101 อันดับกันว่ามีเรื่องอะไรบ้าง

  1. Get Out บทโดย จอร์แดน พีล
  2. Eternal Sunshine of the Spotless Mind ชาร์ลี คอฟแมน
  3. The Social Network แอรอน ซอร์กิน
  4. Parasite บงจุนโฮ, ฮันจินวอน
  5. No Country for Old Men โจล กับ อีธาน โคเอน
  6. Moonlight แบร์รี เจนกินส์
  7. There Will Be Blood พอล โธมัส แอนเดอร์สัน
  8. Inglourious Basterds เควนติน ทารันติโน
  9. Almost Famous แคเมอรอน โครว์
  10. Memento คริสโตเฟอร์ โนแลน
  11. Adaptation ชาร์ลี กับ โดนัลด์ คอฟแมน
  12. Bridemaids แอนนี มูมูโล กับ คริสเตน วิกก์
  13. Brokeback Mountain ลาร์รี แม็กเมอร์ทรี กับ ไดอานา ออสซานา
  14. The Royal Tenenbaums เวส แอนเดอร์สัน กับ โอเวน วิลสัน
  15. Sideways อเล็กซานเดอร์ เพย์น กับ จิม เทย์เลอร์
  16. Lady Bird เกรต้า เกอร์วิก
  17. Her สไปค์ จอนซ์
  18. Children of Men อัลฟ็องโซ กัวร็อง, ทิโมธี เจ แซ็กซ์ตัน, เดวิด อาราทา, มาร์ค เฟอร์กัส ฮอว์ก ออสต์บี
  19. Lost in Translation โซเฟีย คอปโปลา
  20. Michael Clayton โทนี กิลรอย
  21. Little Miss Sunshine ไมเคิล อาร์นต์
  22. Once Upon a Time in Hollywood เควนติน ทารันติโน
  23. Promising Young Woman เอเมอรัลด์ เฟนเนลล์
  24. Juno ดิอาโบล โคดี
  25. The Grand Budapest Hotel เวส แอนเดอร์สัน
  26. The Dark Knight โจนาธาน กับ คริสโตเฟอร์ โนแลน
  27. Arrival เอริก เฮสเซอร์เรอ
  28. Jojo Rabbit ไทกา ไวติติ
  29. Inside Out เม็ก เลอฟอร์ฟ
  30. The Departed วิลเลียม โมนาฮาน
  31. Spotlight จอช ซิงเกอร์ กับ ทอม แม็กคาร์ธี
  32. Whiplash เดเมียน ชาแซล
  33. Up บ็อบ ปีเตอร์สัน กับ พีท ด็อกเตอร์
  34. Mean Girls ทีนา เฟย์
  35. WALL-E แอนดรูว์ สแตนตัน กับ จิม แรร์ดอน
  36. Pan’s Labyrinth กีแยร์โม เดล โตโร
  37. Inception คริสโตเฟอร์ โนแลน
  38. Slumdog Millionaire ไซมอน โบฟอย
  39. Before Sunset ริชาร์ด ลิงเคลเตอร์, จูดี เดลพี และ อีธาน ฮอว์ค
  40. In Bruges มาร์ติน แม็กโดนาฟ
  41. Mulholland Dr. เดวิด ลินช์
  42. A Serious Man โจล กับ อีธาน โคเอน
  43. Amélie กิโยม ลอครร็องต์ และ ฌ็อง ปิแยร์ เฌอเนต์
  44. Toy Story 3 ไมเคิล อาร์นต์
  45. The Favourite เดเบอราห์ เดวิส และ โทนี แม็กนามารา
  46. Zodiac เจมส์ แวนเดอร์บิลท์
  47. Gladiator เดวิด ฟรานโซนี, จอห์น โลแกน และ วิลเลียม นิโคลสัน
  48. The Incredibles แบรด เบิร์ด
  49. Knives Out ไรอัน จอห์นสัน
  50. Ex Machina อเล็กซ์ การ์แลนด์
  51. Birdman or (The Unexpected Virtue of Ignorance) อเลคันโดร กอนซาเลซ อิญาร์ริตู, นิโกลัส เกียโกโบน, อเล็กซานเดอร์ ดิเนลาเรส จูเนียร์ และ อาร์มันโด โบ
  52. The Lives of Others ฟลอเรียน เฮนซ์เกล วอน ดอนเนอร์ชมัก
  53. Nightcrawler แดน กิลรอย
  54. 12 Years a Slave จอห์น ริดลีย์
  55. The Big Short ชาร์ลส แรนดอล์ฟ และ อดัม แม็กเคย์​
  56. Moneyball สตีเวน เซลเลียน และ แอรอน ซอร์กิน
  57. Black Panther ไรอัน คูกเลอร์ และ โจ โรเบิร์ต
  58. You Can Count on Me เคนเนธ โลเนอร์แกน
  59. Boyhood ริชาร์ด ลิงเคลเตอร์
  60. Finding Nemo แอนดรูว์ สแตนตัน, บ็อบ ปีเตอร์สัน และ เดวิด เรย์โนลดส์
  61. The Hurt Locker มาร์ค โบล
  62. Roma อัลฟ็องโซ กัวร็อง
  63. The Wolf of Wall Street เทอร์เรนซ์ วินเทอร์
  64. Hell or High Water เทย์เลอร์ เชอริแดน
  65. Manchester by the Sea เคนเนธ โลเนอร์แกน
  66. A Separation แอชการ์ ฟาร์ฮาดี
  67. Spirited Away ฮายาโอะ มิยาซากิ
  68. Mad Max: Fury Road จอร์จ มิลเลอร์, เบรนแดน แม็กคาร์ธี และ นิโก ลาธอริส
  69. Booksmart เอมิลี ฮัลเพิร์น, ซาราห์ ฮัสกินส์, ซูซานนา โฟเกล และ เคที ซิลเบอร์แมน
  70. City of God บรอลิโอ มอนโตวานี
  71. Spider-Man: Into the Spider-Verse ฟิล ลอร์ด และ ร็อดนีย์ ร็อธแมน
  72. Inside Llewyn Davis โจล กับ อีธาน โคเอน
  73. The King’s Speech เดวิด ซีดเลอร์
  74. Django Unchained เควนติน ทารันติโน
  75. Ocean’s Eleven เท็ด กริฟฟิน
  76. The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring ฟราน วอลช์, ฟิลิปปา โบเยนส์ และ ปีเตอร์ แจ็คสัน
  77. Shaun of the Dead ไซมอน เพ็กก์ และ เอ็ดการ์ ไรท์​
  78. Erin Brockovich ซูซานนา แกรนต์
  79. Call Me by Your Name เจมส์ ไอวอรี
  80. Three Billboards Outside Ebbing, Missouri มาร์ติน แม็กโดนาฟ
  81. The Lobster ยอร์กอส ลันธิมอส และ เอฟธีมิส ฟิลิปโป
  82. The Prestige โจนาธาน กับ คริสโตเฟอร์ โนแลน
  83. Midnight in Paris วูดี อัลเลน
  84. The Master พอล โธมัส แอนเดอร์สัน
  85. Argo คริส เทอร์ริโอ
  86. Y tu mamá también การ์ลอส กับ อัลฟ็องโซ กัวร็อง
  87. Phantom Thread พอล โธมัส แอนเดอร์สัน
  88. Superbad เซ็ธ โรเกน กับ อีวาน โกลด์เบิร์ก
  89. Little Women เกรตา เกอร์วิก
  90. BlacKkKlansman ชาร์ลี วอทช์เทล, เดวิด ราบิโนวิตซ์, เควิน วิลล์ม็อตต์ และ สไปค์ ลี
  91. The Farewell ลูลู่ หวัง
  92. La La Land เดเมียน ชาแซลล์
  93. Borat: Cultural Learnings of America for Make Benefit Glorious Nation of Kazakhstan ซาชา บารอน โคเฮน, แอนโธนี ไฮนส์, ปีเตอร์ เบย์นแฮม และ แดน เมเซอร์
  94. The 40-Year-Old Virgin จัดด์ อพาโทว์ และ สตีฟ คาร์เรลล์
  95. Ratatouille แบรด เบิร์ด
  96. Lars and the Real Girl แนนซี โอลิเวอร์
  97. Nomadland โคลเอ้ จ้าว
  98. Winter’s Bone เดบราห์ กรานิก และ แอนน์ รอเซลลินี
  99. O Brother, Where Art Thou? อีธาน กัล โจล โคเอน
  100. Legally Blonde คาเรน แม็กคัลลาห์ ลุตซ์ และ เคอร์สเทน สมิธ
  101. Silver Linings Playbook เดวิด โอ รัสเซลล์

ที่มา

https://www.indiewire.com/2021/12/get-out-wga-list-101-greatest-scripts-21st-century-1234683712/

LA BOUM (Fr., 1980, Claude Pinoteu) สมการรักคาวหวาน

เมื่อถึงที่สุดแล้ว ความพยายามช่วยโรงสกาลาให้รอดจากการถูกทุบคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สุดท้ายก็คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการย้อนกลับไปหา content ที่เคยอยู่ในนั้น ว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นเหมือนสื่อกลางให้ที่ตรงนั้นเกิดความทรงจำร่วมกับคนทุกรุ่น ซึ่งก็คือประดาหนังที่เคยผ่านจอฉายของโรงในละแวกนี้


อันที่จริงหนัง La Boum (1980, โคล้ด ปีโนโต) ก็ไม่เคยฉายสกาลา แต่ไปเข้าโรงสยาม ซึ่งกว่าจะได้ฉายจริงก็ล่วงเข้าปีพ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) โดยในช่วงเดียวกันที่ฝรั่งเศสเขาดูภาคสองไปเรียบร้อยแล้ว มิใช่ว่าเพราะหนังถูกดอง แแต่เกิดจากขั้นตอนการเจรจาซื้อขายระหว่างเอเพ็กซ์ ค่ายหนังนำเข้า กับทางค่ายเจ้าของลิขสิทธิ์อย่าง Gaumont กว่าจะได้เข้าโรงจริงๆ ก็ในราวเดือนตุลาคมซึ่งตรงกับฤดูปิดภาคกลางปี แต่ถึงกระนั้น นั่นก็ยังมิใช่การมาฉายครั้งแรกของหนัง La Boum อยู่ดี

จุดเริ่มต้นคงต้องย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นราวปี 1981 ตัวหนังเคยมาเข้าร่วมเทศกาลหนังฝรั่งเศสที่ Alliance Française สมัยยังเป็นที่ทำการเดิม ณ ถนนสาธรใต้ (ในเวลาที่ชื่อถนนนี้ยังสะกดด้วยตัวธ-ธง) แล้วรอบหนึ่งก็มีคุณสุชาติ วุฒิวิชัย (ครีเอทีฟ + นักวางแผนโฆษณาประจำค่ายเอเพ็กซ์ที่ชาวเรารู้จักเป็นอย่างดี) ไปร่วมชมแล้วเกิดถูกใจจึงนำไปรายงานผู้บริหารเครือขณะนั้น (วิวัฒน์ ตันสัจจา) นำมาซึ่งเกิดการเจรจาทำสัญญาซื้อขาย + เปิดแอลซีนำเข้า จนกระทั่งตัวหนังได้เดินทางมาฉายโรงในที่สุด

ครั้งแรกที่หนังเรื่องนี้ได้เปิดตัวต่อสังคมและผู้คนผ่านไปผ่านมานั้น หนังใช้ชื่อทับศัพท์เป็นคำภาษาฝรั่งเศสว่า La Boum (ขณะที่ตลาดอเมริกาใช้ The Party กันแบบดุ่ยๆ) โดยตัวกระตุ้นต่อมความอยากดูมิใช่หน้าแม็กกาซีนหรืออันดับหนังทำเงินที่ไหน ทว่าเป็นคัทเอาท์ไม้อัดเยื้องแนวบันไดเลื่อนของโรงลิโด ซึ่งลำพังรูปที่เป็นใบหน้านักแสดงก็คงไม่เท่าไหร่ (ยามนั้นตัวหนังยังไม่เข้า ดารายังไม่เป็นที่รู้จัก) แต่ส่วนที่สะกดสายตา (ทว่ารอดพ้นเรดาร์การเฝ้าระวังมาได้อย่างเฉียดฉิว) กลายเป็นส่วนริมๆ ของอาร์ตเวิร์คที่เป็นภาพวัยรุ่นชายหญิงอายุราว 13-14 กอดกันกลมเป็นคู่ๆ แค่นี้แม้หนังยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่ก็มั่นใจพอแล้วว่าหนังเข้าเมื่อไหร่ เสร็จแน่

‘La Boum’ จึงเป็นคำนามที่มิใช่ตัวบุคคล แต่ชื่อไทยเมื่อคราวมาฉายโรง (‘ลาบูมที่รัก’) ก็ส่อเจตนาว่าตั้งใจกะขายนางเอก โซฟี มาร์โซ (Sophie Marceau) อย่างชัดเจน ทั้งที่จริงๆ แล้วนางเอกก็มิได้ชื่ออะไรบุ๋มๆ เลยแม้แต่น้อย ตัวหนังเล่าเรื่องวัยรุ่นผู้อยากทำพิธีกรรมชนเผ่าชาวทุนนิยมที่เปิดบ้านตัวเองจัดตี้เพื่อให้เพื่อนวัยเดียวกันได้มาจับคู่ เพราะการมาเที่ยว ‘บูม’ หนึ่งครั้งก็มักนำไปสู่อะไรอย่างอื่นได้อีกมากมาย ถ้าลากเส้นตรงต่อจุดเข้าด้วยกันมันก็เหมือนวิถีชีวิตวัยรุ่นชนชั้นกลางฝรั่งเศส ในช่วงปลายทศวรรษ70 ต่อเนื่องยุค 80 นั่นเอง

ตามปกติ ประเพณี ‘บูม’ มักปักหมุดกันที่คืนวันเสาร์ อาจละม้ายกับฝั่งอเมริกันที่มี Saturday Night Fever (1977, John Badham) โดยเฉพาะตรงมีเรื่องของการเต้นรำเข้ามาเป็นตัวดึงดูด แต่สองวัฒนธรรมนี้ต่างกันในแง่สาระสำคัญเล็กน้อยนั่นคือ จุดนัดพบของฝั่งมะกันมักเน้นสถานประกอบการ ตามเธคที่เปิดให้บริการอยู่เป็นปกติอันเป็นเรื่องของธุรกิจแหล่งแฮงก์เอาท์ แต่สำหรับขนบของทางฝรั่งเศสจะหันไปจัดตามบ้านอยู่อาศัยหรืออพาร์ทเมนท์แทน (คาดว่าเพื่อเลี่ยงข้อจำกัดเรื่องอายุคนใช้บริการ) นอกจากนั้น ขณะที่เด็กหรือคนหนุ่มสาวฝั่งอเมริกันมีความใฝฝันอยากเป็นแชมป์เต้นรำประจำเธค ส่วนหนึ่งของวัยรุ่นฝรั่งเศสกลับมีความมุ่งหวังว่า วันหนึ่งคงได้มีโอกาสเปิดบ้านรองรับเพื่อนฝูงและมิตรสหายให้เข้ามาเที่ยวดื่มแล้วก็หาประสบการณ์ (อย่างน้อยๆ ก็ขอ ‘ครั้งแรก’) กันที่บ้านของตนเอง

ในอีกด้านหนึ่งของการเปิดบ้านจัด ‘บูม’ ยังมีเรื่องของการท้าทายอำนาจของพ่อแม่เข้ามาเจือปน นั่นคือ กว่าบ้านวัยรุ่นคนไหนจะลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพกับเขาได้ ขั้นแรกควรต้องหาโอกาสเวลาที่พ่อแม่ไม่อยู่ (ไม่ว่าจะด้วยการเดินทาง ซึ่งยิ่งไกลยิ่งดี, ออกไปสังสันทน์นอกบ้าน หรือแม้แต่ขอความร่วมมือ ‘ล็อคดาวน์ตัวเอง’ ด้วยการกักตัวให้อยู่แค่ในห้องและห้ามออกมาเพ่นพ่านปะปนกับวัยรุ่นและลูกๆ) สาระสำคัญของการจัดบูมในแต่ละที่จึงเป็นเรื่องของ ‘เขตปลอดผู้ใหญ่’ แค่นี้ก็พูดได้เต็มปากเต็มคำแล้วว่าเด็กสามารถยึดครองพื้นที่ที่ตัวเองเป็นเจ้าของได้สำเร็จซะที และแน่นอนว่าคนที่จะเปิดบ้านจัดบูม เชิญเพื่อนฝูงมาดิ้นมาดื่มกันในบ้านตัวเองได้ก็ต้องมีฐานะอยู่ในระดับหนึ่ง

ส่วนเรื่องที่ว่าผลพวงของการจัดบูมจะนำไปสู่อะไรนั้น หลังตัวงานผ่านพ้นไปแล้วคาดว่ามีจำนวนไม่น้อยจับคู่คบกัน เพราะโดยฟังก์ชันของตัวพิธีกรรมเอง ก็หวังจะให้เด็กได้ลองซ้อมประสบการณ์ก่อนถึงวัยที่จะต้องมีความรับผิดชอบตามประสาผู้ใหญ่ เมื่อถึงเวลาอันควรก็จะต้องแยกบ้านพ้นไปจากพ่อแม่เข้าสักวัน

ถ้ามองด้วยหัวใจวัยรุ่น งานบูมมีขึ้นก็เพื่อจะให้ตนเองได้มีเซ็กส์ ถ้าไม่ใช่กับเพื่อน ก็ขอไปตกเอาตามคนที่เจอในงานก็ได้ การได้มีผัวทิพย์เมียทิพย์จากงาน’บูม’ กลายเป็นภาพในมายาคติสำหรับวัยรุ่น (ซึ่งถ้าบรรลุเป้าหมายได้จริง ก็แยกบ้านไปมีครอบครัวเป็นของตัวเอง)

ผกก. ปีโนโตค่อนข้างเชื่อว่า พิธีกรรม ‘บูม’ คงไม่จบแค่คนในวัยรุ่นเพียงกลุ่มเดียว แม้จุดมุ่งหมายที่ทำให้ใครต่อใครกลัวว่าเด็กจะเตลิด แต่แท้ที่จริง สถาบันครอบครัวในสังคมทุนนิยมก็พร้อมจะพังได้เท่าๆ กับความสัมพันธ์ชั่วคราวของวัยรุ่น และคนทุกวัยก็มีโอกาสเป็นต้นเหตุของภาวะบ้านแตกได้ทุกเวลา เริ่มจากพ่อของวิค (โซฟี มาร์โซ) ที่แอบไปมีกิ๊กนอกบ้าน เป็นสาวใหญ่ชื่อแวเนสซา (โดมินิก ลาวานงต์) ส่วนแม่ของวิคก็ใช่ว่าจะทำหน้าที่คอยพะยุงเสาหลักเอาไว้ได้ตลอดเวลา เมื่อเธอยอมเผลอใจไปกับเอริก (แบร์นาด์ จีโรโด)ครูสอนภาษาเยอรมันในโรงเรียนของลูก บ้านครอบครัวนางเอกจึงพร้อมจะสลายไปเป็นบ้านเล็กบ้านน้อยได้อีกสองถึงสามหลัง ถ้าต่างคนต่างพร้อมใจกันแยกตัวเองไปมี ‘ครอบครัวใหม่’ กับคนที่แอบคบเงียบๆ อยู่เบื้องหลัง

แม้ว่าหน้าหนังเรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นหนังวัยรุ่น แต่ถ้าเราก้าวข้ามพวกใบปิดหรือหน้าแบ๊วๆ ใสๆ ของมาร์โซไป La Boum ก็ไม่ต่างอะไรกับหนังแนว bedroom farce ที่ตัวละครในเรื่องพร้อมจะเอนเอียงเข้าหาแรงขับตามธรรมชาติตลอดเวลา จนกลายเป็นว่าตัวละครกลุ่มที่ใครๆ ชอบเข้าใจว่าง่ายต่อการชักจูงอย่างพวกวัยรุ่น+แก๊งลูกๆ กลับเป็นกลุ่มที่ดูสะอาดที่สุด และการจัดตี้ ‘บูม’ ที่สังคมมองว่าจะเป็นการชักจูงหรือมอมเมาเด็กนั้น กลับใสซื่อกว่าสังคมและไลฟ์สไตล์ทุนนิยมของคนวัยผู้ใหญ่ (ซึ่งกลายเป็น ‘บูม’ ที่ไม่มีใครมองเห็นทั้งๆ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด) นอกจากนั้น งานบูมที่เด็กๆ จัดยังกลับกลายเป็นตัวช่วยกระชับสัมพันธ์ให้พ่อกับแม่ได้กลับมาใกล้ชิดกันอีกครั้ง (นี่นับเฉพาะคู่ของฟรองซัวส์กับฟรองซวส พ่อแม่ของวิค) ขณะที่หน้าตัวงานจริงก็แทบเปลี่ยนไปเป็นงานชุมนุมผู้ปกครองโดยไม่ตั้งใจ เมื่อทุกบ้านแห่กันมารับลูกหลานของตัวทันทีที่ถึงกำหนดกลับ

ในหนัง เรายังเห็นภาวะ disruption media บางตัวซึ่งปัจจุบันตายไปแล้วเรียบร้อย นั่นคือ ‘ตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญ’ (ที่ต้องมีเยลโลว์เพจเจสประจำอยู่) ที่เล่นกับหัวใจและสร้างความกดดันแก่คนต่อคิวรอพอๆ กับการเข้าแถวหน้าห้องน้ำสาธารณะ กับ ‘โทรศัพท์บ้าน’ ที่เป็นความหวังของวัยรุ่น แต่เป็นความกระอักกระอ่วนของคนวัยผู้ใหญ่ที่มักพบว่าสายปลายทางไม่ว่างตลอดทั้งวันเพียงเพราะบ้านนั้นมีลูกอยู่ในวัยรุ่น (แต่แม้นี่จะเป็นยุคที่เริ่มดูห่างไกลจากทุกวันนี้ ในหนังก็มีบางอย่างที่จบอายุขัยตัวเองไปก่อนแล้วเรียบร้อย นั่นคือไม่มีใครในเรื่องเขียนจดหมาย-ใส่ซอง-ปิดแสตมป์-ส่งทางไปรษณีย์ถึงกันอีกต่อไป)

ญาติคนเดียวที่วิคไว้ใจได้มากที่สุดก็คือ ปูเปต์หรือคุณทวด (เดนีส เกรย์) ซึ่งเป็นคนเดียวที่ลอยตัวอยู่เหนือเงื่อนไข ไม่มีเรื่องบนเตียงรักๆ ใคร่ๆ กับใครเขา ผิดกับพ่อของวิคที่ไปก่อคดีกับแวเนสซาแล้วทิ้งร่องรอยการลักกินขโมยกินจนเจอภาวะใหญ่โตเกินคาดเมื่อเมียมาขอแยกบ้าน โครงเรื่องของปีโนโต (ซึ่งมี แดเนียล ทอมป์สัน ร่วมสร้างไดอะล็อก) มีความเป็นออร์แกนิกคือพร้อมที่จะบานปลายได้ทุกเวลา จนก้าวข้ามความเป็นหนังวัยรุ่นเธอกับฉันมาเป็นเรื่องของคนวัยผู้ใหญ่ กลายเป็นซับเซ็ทหนึ่งของเรื่องสมการรักคาวหวานที่มีด้วยกันสามคู่ ตามตัวละครหลักซึ่งก็คือสมาชิกในครอบครัว

แรกเริ่มเรื่องที่ดูเหมือนเน้นเฉพาะฝั่งวัยรุ่น ครั้นหนังเปิดตัวละครใหม่อย่างแวเนสซาเข้ามาเส้นเรื่องก็บานปลายแตกแขนงออกไปหลายเส้น มีการจับเอาตัวละครฝั่งลูกมาชนฝั่งพ่อแม่ จนยากที่จะแยกออกว่า เวลาเกิดวิกฤตขึ้นมาใครคือตัวต้นเหตุ โดยเฉพาะหลังจากพ่อของวิคตัดสินใจแยกบ้านหลังเกิดเรื่องแวเนสซา แล้วให้วิคอยู่กับแม่ซะ ทีนี้พอวิคหายจากบ้านทำไง แม่ก็ต้องบากหน้าโทรไปเช็คบ้านพ่อ ซึ่งช่วงนี้เป็นส่วนที่น่าสนใจมากช่วงหนึ่งคือพ่อได้โอกาสไถ่ถอนบาปที่ทำไว้กับครอบครัวด้วยการออกโรงตามหาลูกสาวด้วยตัวเอง เริ่มกันที่ลงทุนโทรไปเช็คบ้านเพเนโลป (ชีลา โอคอนเนอร์) เพื่อนซี้ของวิค จึงได้รู้ว่าวิคอยู่ลานสเกต และที่วิคเที่ยวลานสเกตก็เพียงเพราะแค่ต้องการจับพิรุธเจ้าหนุ่มมัททีเออ (อเล็กซองดร์ สเตอร์ลิง) ว่าแอบหนีมาควงกับสาวคนไหน พอเห็นพ่อบุกเข้ามาถึงลาน วิคก็หลอกใช้พ่อให้เป็นประโยชน์ ซึ่งแทนที่จะเป็นหนทางแก้ปัญหากลับมีแต่จะยุ่งหนักขึ้นไปอีก เพราะแผนจัดฉากของวิคส่งผลต่อไปอีกยาวไกล

วิธีเล่าเรื่องของปีโนโตที่เหมือนแยกลำน้ำออกเป็นสามสาย ทั้งที่เดิมมีอยู่แค่สายเดียว คือวิคกับมัททีเออ พออีกเดี๋ยวก็มีสายของฟรองซัวส์กับแวเนสซาเข้ามาแจม ขณะที่อีกข้างคือสายของฟรองซวส (แม่) กับเอริก (ครูเยอรมัน) ซึ่งก็อยู่ในระยะ progressive พอกัน แต่เขาก็เลือกที่จะเคลียร์สายของฟรองซวสกับครูก่อน ด้วยการให้ฝ่ายชายรับบทเรียนกลับไป

สังเกตได้ว่าเมื่อตัวละครรู้ว่าตัวเองมีชนักเมื่อไหร่ บทหนังมักเปิดโอกาสให้ไถ่โทษคู่กันกับการให้อภัยตามประสาลูกผู้ชาย เมื่อปมค้างคาใจระหว่างมัททีเออกับฟรองซัวส์ยังไม่ได้รับการสะสาง มัททีเออเองก็จ้องจะเปิดศึกกับหนุ่มใหญ่ในทันทีที่โผล่มายื้อยุดฉุดกระชากวิคที่หน้าประตูโรงเรียน ประเด็นก็คือในเวลานั้น ไม่มีใครในฝั่งตัวละครชายรู้ว่าอีกฝ่ายคือใคร มัททีเออไม่รู้ว่าฟรองซัวส์คือพ่อวิค เช่นเดียวกับพ่อของวิคก็ไม่รู้ว่าเอริกคือครูในโรงเรียน และเรื่องขมึงทึงหนักขึ้นอีก เมื่อแม่วิครู้ตัวว่าตนเองกำลังจะมีข่าวดี แต่ส่วนที่น่าจะดีกว่าก็คือวิคเตรียมจะเป็นเจ้าภาพเปิดบ้านจัด ‘บูม’ กับเขาอีกคนแล้ว

La Boum เวอร์ชั่นที่เคยฉายบ้านเรา ส่วนมากจะได้ดูกันในฉบับพากย์อังกฤษทับ ซึ่งก็น่าจะเป็นยุคท้ายๆ แล้วที่ค่ายจัดจำหน่ายเมืองนอกใช้นโยบายจัดโซนนิ่งกับประเทศที่มิใช่กลุ่ม francophone ด้วยการทำพากย์ก่อนทุกเรื่อง ซึ่งพอมาเป็นเสียงอังกฤษนั้น นอกจากสำเนียงจะฟังดูแปลกๆ วิธีเรียกชื่อตัวละครก็ยังโดนบิดเพื่อให้เข้ากับเสียงพากย์ อย่างตัวละครหนุ่มตาปรือที่ในเรื่องชื่อมัททีเออ เสียงพากย์เวลานั้นก็จะเรียก ‘แมททิวๆๆ’ ทุกคำ หรืออย่างบทคุณทวดผู้รู้ใจวัยมันส์ซึ่งในหนังเรียกว่าปูเปต์ เวอร์ชันพากย์ก็เปลี่ยนเป็น ‘ป็อปอายๆๆ’ ไป แต่พอมาถึงยุคนี้แล้ว โลกและวิธีคิดของผู้จัดจำหน่ายเปลี่ยนไป การได้ดู La Boum กันอีกครั้งก็น่าจะเป็นการ set zero เหมือนกับยังไม่เคยมีการฉายมาก่อน จนเดี๋ยวนี้ไม่มีใครรู้ว่าเวอร์ชั่นที่พากย์ทับไปอยู่เสียที่ไหน


La Boum ฉายอยู่ที่ Doc Club & Pub. ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่

Licorice Pizza เปิดฤดูล่ารางวัลที่ National Board of Review

ผลรางวัล National Board of Review มักเป็นที่สนใจทุกปี เพราะมันเป็นสถาบันที่ประกาศออกมาเป็นเวทีแรกของฤดูล่ารางวัล และรายชื่อหนังเหล่านี้ก็จะปรากฏบนเวทีต่างๆ จนกว่าออสการ์จะมาถึง

สมาชิกของสถาบันนี้ประกอบด้วยเหล่าคนทำหนัง นักวิชาการภาพยนตร์ ที่มีความหลากหลายทั้งปูมหลัง เพศ และอายุ ซึ่งก็เป็น Licorice Pizza ที่เปิดฤดูกาลด้วยการคว้ารางวัลใหญ่จากเวทีนี้

หนัง : Licorice Pizza
ผู้กำกับ: พอล โธมัส แอนเดอร์สัน (Licorice Pizza)
นักแสดงนำชาย : วิลล์ สมิธ (King Richard)
นักแสดงนำหญิง : ราเชล เซ็กเลอร์ (West Side Story)
นักแสดงสมทบชาย : เซียรัน ฮินดส์ (Belfast)
นักแสดงสมทบหญิง : ออนจานู เอลลิส (King Richard)
บทออริจินัล : โจล โคเอน (The Tragedy of Macbeth)
บทดัดแปลง : อัสการ์ ฟาฮาร์ดี (A Hero)
การแสดงแจ้งเกิด : อลานา เฮม กับ คูเปอร์ ฮอฟฟ์แมน (Licorice Pizza)
การกำกับครั้งแรก : ไมเคิล ซาร์นอสกี (Pig)
แอนิเมชัน : Encanto
หนังภาษาต่างประเทศ : A Hero
สารคดี : Summer of Soul (…Or, When the Revolution Could Not be Televised)
การแสดงแบบทีม : The Harder They Fall
กำกับภาพ : บรูโน เดลบอนเนล (The Tragedy of Macbeth)
รางวัลพิเศษ NBR เสรีภาพแห่งการนำเสนอ : Flee


Top Films (เรียงตามตัวอักษร)

Belfast
Don’t Look Up
Dune
King Richard
The Last Duel
Nightmare Alley
Red Rocket
The Tragedy of Macbeth
West Side Story

Top 5 หนังภาษาต่างประเทศ (เรียงตามตัวอักษร)

Benedetta
Lamb
Lingui, The Sacred Bonds
Titane
The Worst Person in the World

Top 5 สารคดี (เรียงตามตัวอักษร)

Ascension
Attica
Flee
The Rescue
Roadrunner: A Film About Anthony Bourdain

Top 10 หนังอิสระ (เรียงตามตัวอักษร)

The Card Counter
C’mon C’mon
CODA
The Green Knight
Holler
Jockey
Old Henry
Pig
Shiva Baby
The Souvenir Part II