มนต์รักทรานซิสเตอร์ : ชีวิตที่พังทลายของแผน + สะเดา เพราะโชคชะตาหรือโครงสร้างสังคมอันอยุติธรรม?

(2001, เป็นเอก รัตนเรือง)

บทสัมภาษณ์ของวัฒน์ วรรลยางกูรในปี 2555 บอกเราว่า เขาตัดสินใจออกจากป่าเพราะปัญหาในพรรคที่เขาพบว่า ห้ามวิจารณ์เบื้องสูงในพรรค แบบนั้นจะต่างอะไรกันกับการห้ามวิจารณ์ศักดินาในเมืองกันเล่า นิยายมนต์รักทรานซิสเตอร์ เกิดขึ้นหลังจากที่วัฒน์สลัดคราบคอมมิวนิสต์ออกไปแล้ว นั่นคือ การตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2524

ตัวนิยายไม่ได้บอกเราว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงไหนชัดๆ แต่มีหมุดหมายสำคัญอยู่ที่สุรพล สมบัติเจริญ ที่แผนพยายามเดินตามรอยอยู่ การที่กล่าวถึงโปสเตอร์เลือกตั้ง โปสเตอร์เกี่ยวกับการชุมนุมของนักศึกษา ทำให้พอเดาได้ว่าแผนและสะเดาอาจมีชีวิตอยู่ช่วงทศวรรษ 2510 ไม่แน่ว่าจะอยู่ก่อน 14 ตุลาฯ หรือหลังจากนั้น

ทรานซิสเตอร์เป็นชื่อวิทยุที่ถือว่าเป็นกลไกสำคัญของรัฐ สมัยสฤษดิ์ ได้มีการสั่งให้ทหารผลิตเครื่องวิทยุจำหน่ายในราคาถูก รายการวิทยุเกิดขึ้นอย่างมาก เพื่อขยายสัญญาณปิดน่านฟ้าไม่ให้รายการวิทยุของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แย่งชิงมวลชนไปได้ เคยอ่านเจอด้วยซ้ำว่า มีองค์กรต่างประเทศเสนอให้รัฐบาลไทยเพิ่มรายการวิทยุเพื่อการศึกษา แต่ได้รับการปฏิเสธไป ในอีกด้านก็เปิดพื้นที่ให้บริษัทเอกชนเข้าไปรับสัมปทานทำรายการบันเทิงอย่างละครวิทยุ และรายการเพลงแทน

หากศาสนาจะเป็นยาฝิ่นในสายตาฝ่ายซ้าย ละครวิทยุ เพลงรักใคร่และโฆษณาสินค้า ไม่แน่ใจว่าคืออะไร แต่ไม่ใช่พันธมิตรของมาร์กซิสต์แน่นอน สิ่งเหล่านี้มันเข้าไปอยู่ในความใฝ่ฝันและความรู้สึกนึกคิดของแผน และเป็นสื่อเชื่อมโยงเขากับสะเดา กับโลกอันทันสมัยที่พวกเขาเข้าถึงได้ เพียงแค่หมุนคลื่นวิทยุฟัง และนั่นคือความหวังอันแสนหวานก่อนที่โศกนาฏกรรมจะชุดคร่าพวกเขาออกจากกันในเวลาต่อมา

ตัวหนังในอีก 20 ปีต่อมา ปรับมาจากนิยายต้นฉบับของวัฒน์ วรรลยางกูร ที่สร้างขึ้นโดยเป็นเอก รัตนเรือง ในบริบทที่ต่างออกไป แม้บอกไม่ได้เต็มปากว่าทุนนิยมเป็นผู้พ่ายแพ้ แต่ฟองสบู่เศรษฐกิจที่แตกโพละในต้นทศวรรษ 2540 ได้ล้มความเป็นไปได้ว่าไทยจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่แบบเดียวกับญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หว้น ในทางกลับกันมันทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งกลับมาหา “ราก” ของตัวเอง บ้างก็ไปกับอุดมการณ์ชาตินิยม (หนังบางระจัน สุริโยไท เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน) บ้างก็กลับไปหาคำตอบที่หมู่บ้าน มนต์รักทรานซิสเตอร์เลือกส่วนหลัง

เอาเข้าจริงหนังเรื่องนี้จะว่าย้อนยุคก็ไม่ใช่ ร่วมสมัยก็ไม่เชิง โทรศัพท์มือถือ skywalk บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้บ่งบอกว่าหนังมันคุยกับคนในปัจจุบัน แต่หลายฉากยังไงมันก็คือ โลกในอดีตชัดๆ อย่างน้อยวิทยุทรานซิสเตอร์ อันเป็นหนึ่งในชื่อเรื่อง ก็ไม่น่าจะมีใครใช้กันอย่างจริงจังแล้วตามเส้นเรื่อง เอาเป็นว่า มนต์รักทรานซิสเตอร์คือหนังชีวิตคนชนบทแบบหนึ่งที่ไม่ได้เคร่งครัดกับช่วงเวลาก็แล้วกัน

ท่อนแรกของหนังที่ว่าด้วยชีวิตชนบทอันสดใสและงดงาม แต่กลับเป็นส่วนที่ดูน่าอึดอัด ด้วยความพยายามยัดเยียดแฟนตาซีของชนบทเข้าไปในเรื่อง เราจึงเห็นเป็ด ไก่ ห่าน หมูน้อย อยู่ตามเวทีงานวัด หลังเวทีลูกทุ่ง เพื่อขับความเป็น “บ้านนอก” ออกมาอย่างสุดขั้ว อารมณ์ช่วงนี้ทำให้นึกถึงบทสัมภาษณ์ของเป็นเอกซักที่หนึ่งที่เขาเล่าว่า เติบโตมากับเพลงลูกทุ่งมาจากพี่เลี้ยงที่เป็นคนที่มาจากชนบทอีกที ชนบทของเป็นเอกจึงเป็นภาพตัวแทนที่เขาหยิบเลือกมาปะติดปะต่อ ไม่ว่าจะเป็นงานวัด เวทีรำวง หนังกลางแปลง ฯลฯ และไม่แปลกที่ว่า เพลงประกอบไม่น้อยมาจากยุคที่เขาเด็กๆ เช่น เพลงของสุรพล สมบัติเจริญ

ส่วนนี้ของเรื่อง ได้อารมณ์เดียวกับชีวิตก่อนถูกจับของ “แผน” (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ) ในฉากที่เขากับ “บักเสี่ยว” (อำพล รัตน์วงศ์) ลอบเข้าไปในงานแฟนซีการกุศลที่จัดหารายได้เพื่อสนับสนุนคนยากจน ในงานมีการประกวดกันว่าใครจะแต่งเป็นคนจนได้เหมือนที่สุด แผนกับบักเสี่ยวที่เป็นคนจนตัวจริง หลังจากที่ถูกจับได้ สิ่งที่พวกเขาได้รับคือ ตีนเน้นๆ ชนบทในช่วงแรกของหนังเผยความไม่สมจริงออกมาอย่างที่ไม่แน่ใจว่าคนสร้างตั้งใจหรือไม่

ขณะที่ชนบทในนิยายไม่ได้แบนราบเหมือนในภาพยนตร์ โลกชนบทในนิยายยังซ้อนกันสองใบระหว่างคนในคลองกับคนปากคลอง คนปากคลองถือว่าเป็นคนในเมืองมากกว่า เพราะอยู่ใกล้เส้นทางสัญจร คนปากคลองมีวาจา คำพูดที่ดูเป็นทางการและมีนัยของความ “เหนือกว่า” คนในคลองที่ดูบ้านนอกกว่า แน่นอนว่า ความบ้านนอกในหนังสือ ไม่ได้งดงามแบบที่เป็นเอกคิด

แผนและสะเดาลงทุนลงแรงแทบตายเพื่อปลูกแตงโม แต่ปรากฏว่าใช้เงินไปไม่น้อย ทำงานจนเหนื่อย แม้จะได้เงิน 6 พันกว่า แต่กำไรเหลือแค่ 175 บาท จากการปลูกแตงโมไป 1,200 ลูก ความหวังที่เขาและเธอจะส่งลูกเรียนจบป.ตรีที่รามคำแหงก็ถือว่าเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อมเสียแล้ว

อย่างไรก็ตาม วัฒน์ไม่ได้เขียนให้ตัวเอกของเราเป็นนักสู้สามัญชน แบบนิยายฝ่ายซ้ายสัจนิยมเน้นกันอีกต่อไป แผนเป็นเพียงเหยื่อในโลกทุนนิยม ที่ถูกล่อลวงด้วยแสงสีของเพลงลูกทุ่งที่ให้สัญญาลมๆ แล้งๆ ว่าหากได้เป็นนักร้องแล้วจะสุขสบาย มีบ้าน มีรถ สัญญาของปิศาจทำให้เขาจำใจต้องแหกกฎด้วยการหนีทหาร แต่กลายเป็นว่าการหนีเงื้อมมือกฎหมายไป ทำให้เขาสร้างบ่วงใหม่ให้กับตัวเองอีกครั้ง เพราะว่า เมื่อเป็นคนมีชนักติดหลัง การติดต่อกลับไปยังเมียและลูกแบบเปิดเผยย่อมไม่มีทางเป็นไปได้

และนั่นทำให้เส้นทางของแผนแทบจะตัดขาดจากอดีตและรากของตนที่บ้านนอกไปเลย

หากศัตรูของฝ่ายซ้ายคือ รัฐและนายทุนผู้ฉ้อฉล หนังมนต์รักทรานซิสเตอร์ ได้ฉายภาพนี้ในฐานะที่เป็นโครงสร้างทางสังคมที่ได้ทำลายชีวิตครอบครัวของแผนและสะเดา (สิริยากร พุกกะเวส) อย่างไม่ได้ตั้งใจ ชีวิตสมรสและการตั้งท้องของสะเดาได้ถูกการเกณฑ์ทหารพรากแผนออกไปจากครอบครัว การขัดขืนของแผนไม่สามารถทำได้อย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ตามสุดท้ายแผนก็ตัดสินใจหนีทหารไปกับวงดนตรีลูกทุ่งคณะหนึ่ง เมื่อเขาได้โอกาสจากการเป็นผู้ชนะในการประกวด นั่นคือ การต่อสู้ครั้งแรกๆ ของเขาจากการละเมิดกฎหมายของรัฐ แล้วไปซบอ้อมกอดนายทุนที่มีภาพลักษณ์ที่สวยงาม และให้คำสัญญาว่าเขาจะได้มีชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง เงินทอง รถยนต์ กระทั่งบ้านหลังโต

พอไปอยู่กับวงดนตรี แผนเป็นได้แค่เบ๊ทำงานรับใช้ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า เขาถูกหลอกว่า ใครที่หนีทหารหากถูกจับได้ จะถูกยิงเป้า แผนจึงไม่กล้าไปไหน แม้แต่จะติดต่อกับเมียรัก แต่จังหวะที่เขาได้เฉิดฉาย ก็มาถึงในวันที่นักร้องหายไปจากเวที เขาขึ้นเป็นนักร้องสำรองในนาม “สุรแผน เพชรน้ำไหล” แต่ข่าวดีของแผนยาวนานไม่พ้นข้ามคืน แผนกลายเป็นฆาตกร ฆ่าเจ้าของวงดนตรีด้วยความไม่ตั้งใจ แล้วเขาก็หนีไปสุดหล้าฟ้าเขียวแบบตกกระไดพลอยโจนไปอยู่ในไร่อ้อย นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่เขาต่อสู้ แต่เป็นการสู้กับนายทุนด้วยการพลั้งมือฆ่าด้วยตัวเอง

แผนกลายเป็นแรงงานค่าจ้างต่ำในไร่อ้อยของนายทุนการเกษตรที่สภาพเป็นอยู่ย่ำแย่ วันๆ กินแต่ผักกับหัวหน้าคนคุมไร่ที่แม้จะใจดีกับเขาเพราะแผนเป็นคนว่านอนสอนง่าย เจียมเนื้อเจียมตัว แต่ถือว่าเป็นคนเขี้ยวที่วางอำนาจบาตรใหญ่ใส่ลูกน้อง เกิดเหตุวันหนึ่งบักเสี่ยวถูกซ้อมหนัก แผนตัดสินใจใช้กำลังกับหัวหน้าจนต้องหนีตายกับบักเสี่ยวหัวซุกหัวซุนจนเข้าไปอยู่ในกรุงเทพฯ

แผนอยากกลับบ้านเป็นที่สุด แต่เขาไม่มีเงิน สุดท้ายก็ต้องยอมร่วมแผนวิ่งราวสร้อยกับบักเสี่ยว แต่สุดท้ายเป็นเขาคนเดียวที่ถูกจับเข้าคุก และถูกสั่งฟ้องสองกระทงคือ หนีทหารและชิงทรัพย์ มันทำให้เขารู้ว่า หนีทหารไม่ถึงกับถูกยิงเป้า แผนหนีออกไปจากโลกที่ทุนเป็นใหญ่ไม่สำเร็จ กลับบ้านยังไม่ได้เลย แต่กลายเป็นว่าเขาได้หวนกลับมาอยู่ในอุ้งมือของรัฐอีกครั้ง และถูกดัดสันดานทั้งร่างกายและจิตใจในนั้นจนวันพ้นโทษ

ส่วนสะเดา เธอกับพ่อได้แวะไปหาแผนที่กรุงเทพฯ ทั้งยังได้ชมคอนเสิร์ตครั้งแรกและครั้งเดียวของแผน คืนนั้นแผนให้คำมั่นว่าจะพาลูกพาเมียมาอยู่ด้วย และคืนนั้นเองแผนก็ทำลายคำมั่นเพราะอุบัติเหตุเผลอฆ่าคน เราไม่รู้ว่าพ่อของสะเดาตายเมื่อไหร่ แต่ภาพสุดท้ายที่เห็นทั้งคู่อยู่ด้วยกัน ก็ตอนที่สะเดาผรุสวาทคำหยาบคายออกมาหลังจากที่รู้ว่า แผนได้หนีไปแล้ว จากวันนั้น สะเดาตัดใจ และถือว่าแผนได้ตายจากเธอไปแล้ว

สะเดาแม้จะมีลูกติด แต่ก็ยังเนื้อหอม หนุ่มนักพากษ์หนังขายยาเจ้าสเน่ห์ได้เข้ามาแทนที่แผน จนทั้งคู่มีลูกด้วยกัน แต่สุดท้ายไอ้หนุ่มคนนี้ก็ทิ้งเธอไว้กับพยานรักอีกคน ครั้งแรกสะเดาถูกพรากผัวไปเพราะเกณฑ์ทหาร ครั้งที่สองก็เพราะการตามหาความฝันและหนีคดีของแผน และครั้งที่สาม แม้จะไม่บอกเหตุผลชัดนักแต่ก็พอเดาได้ถึงความไม่แน่นอนของชีวิตลูกจ้างเร่ขายยาที่ต้องเดินทางไปทั่ว

การกลับมาถึงบ้านของแผน อาจเทียบได้กับชีวิตของคนจำนวนมากที่พังทลายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ที่คนจำนวนหนึ่งตัดสินใจกลับบ้านในต่างจังหวัด การต่อสู้ของแผนก็เช่นเดียวกับแรงงานจำนวนมากในไทยที่สู้ด้วยตัวคนเดียว ปัจเจกผู้ที่สู้กับรัฐโดยลำพัง สุดท้ายก็พ่ายแพ้ หรือไม่ก็ยอมแพ้ไประหว่างทาง

ผิดแต่ว่าในหนังรัฐและทุนนิยมมีอำนาจที่กล้าแข็งเสียเหลือเกินที่ดลบันดาลชีวิตของตัวละครแต่ละตัว ความคลุมเครือของช่วงเวลา ยังอาจตีความได้ว่า สังคมไทยในหนังมันยังอยู่ในช่วงสงครามเย็นที่รัฐรวมศูนย์เต็มที่ การเกณฑ์ทหารเพื่อทำสงครามยังเป็นเรื่องจำเป็น รัฐควบคุมการแสดงออกทางการเมืองอย่างเคร่งครัด แต่ก็ปล่อยให้ความบันเทิงเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ไม่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ขณะที่นายทุนกลุ่มเล็กได้ผลประโยชน์ ขณะที่คนในสังคมไม่ได้รับสวัสดิการที่ดีพอทั้งด้านสาธารณสุข และการศึกษา (ด้านการศึกษาก็เน้นเชิงปริมาณและการเรียนเพื่อรักสถาบันหลักของชาติต่อต้านคอมมิวนิสต์)

แต่สำหรับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 นั้น รัฐและทุนอยู่ห่างไกลนักต่อคำว่าอำนาจที่กล้าแข็ง “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เป็นฉายาของความพังพินาศทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ตรงกันข้ามกับความน่าภาคภูมิใจที่เคยได้รับว่าจะกลายเป็น “เสือเศรษฐกิจ” ในช่วงปลายทศวรรษ 2530 

อย่างไรก็ตามปี 2544 เศรษฐกิจไทยกำลังโงหัวขึ้น พร้อมกับพรรคไทยรักไทยและทักษิณ ชินวัตรกำลังสั่งสมกำลังสร้างรัฐที่เข้มแข็งขึ้นใหม่ เช่นเดียวกับภาคประชาสังคมที่กำลังเติบโตมาพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540

ขณะที่มนต์รักทรานซิสเตอร์ ฉบับนิยาย อาจถือเป็นการป่าวประกาศถึงความพ่ายแพ้ของนักสู้ฝ่ายซ้าย ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นภาพของจินตนาการถึงหนทางข้างหน้าที่มืดมนของคนในชนบท แม้ 66/2523 จะนำคนออกมาจากป่า แต่พวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน บางคนเลือกเดินเข้าวัด บางคนกลับไปจับมือกับศักดินา บางคนเปลี่ยนตัวเองเป็น NGOs พยายามรักษาอุดมการณ์เพื่อมวลชนต่อไป มีน้อยรายมากที่ยังยึดความเป็นซ้ายอยู่

ในอีกด้าน ชื่อของนิยายได้เป็นการประกาศชัยชนะกลายๆ ของทุนนิยมบันเทิงในยุคสงครามเย็นอย่างตรงไปตรงมา ที่จะส่งผลมาอย่างต่อเนื่องยาวนานในสังคมไทย จนกว่าเหล่าศักดินาจะค่อยๆ สั่งสมบารมีขึ้นสู่จุดพีกในกลางทศวรรษ 2530 ที่สร้างความฝันอันสูงสุดก็คือ การจ่อจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ตามรอยเสือทั้งหลายในเอเชีย

LATEST REVIEWS