4Kings : ความโรแมนติก และโลกของจตุราชันย์ชนชั้นกลางล่าง กับความรุนแรงที่สลายพลังในการรวมตัวกันของแรงงานไทย

(2021, พุฒิพงษ์ นาคทอง)

สำหรับคนทั่วไปแล้วอาจไม่เคยได้ยิน 4 สถาบันช่างในหนังอย่าง กนก, บู, ประชาชลและอิน (ตามที่เรียกในเรื่อง) เพราะคนทั่วไปจะรู้จักคู่ปรับคลาสสิกแบบช่างกลปทุมวัน VS อุเทนถวาย มากกว่า

รัฐบาลตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้พยายามสร้างหลักสูตรอาชีวศึกษา แต่คนไม่สนใจเรียนนัก นักวิชาการบางคนชี้ว่า ปัญหาใหญ่ของบ้านเราคือ คนอยากเป็นข้าราชการมากกว่าไปเป็นช่าง เพราะมีชีวิตที่ดีกว่า ทั้งสวัสดิการและคนนับหน้าถือตา

เมื่อเวลาผ่านไป การเรียนอาชีวะ ที่ดูมีอนาคตจึงเริ่มกลายเป็นบันไดในการไต่เต้าสถานภาพทางสังคมอีกทางหนึ่งสำหรับครอบครัวคนในระดับล่างที่ไม่มีโอกาสจะส่งลูกหลานเรียนในระดับปริญญาตรี

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนอาชีวศึกษาได้รับการสนับสนุนมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังถือว่าไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะปริมาณคนเรียนยังน้อยอยู่ ต้องรอจนถึงหลังทศวรรษ 2500 ที่โรงเรียนและนักเรียนช่างได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากรัฐ รวมถึงการได้ทุนสนับสนุนจากประเทศตะวันตก เพื่อป้อนคนเข้าสู่ตลาดแรงงานที่โรงงานอุตสาหกรรมเริ่มขยายตัว

ประเทศต่างๆ ดาหน้าเข้ามาสนับสนุนเช่น ออสเตรเลียสนับสนุนโรงเรียนช่างกลพระนครเหนือ รัฐบาลเยอรมันสนับสนุนตั้งวิทยาลัยเทคนิคที่ขอนแก่น ปี 2500 นักเรียนอาชีวศึกษามีรวมกันมากถึง 57,000 คน ที่เข้าเรียนกันมากเพราะว่ามีโอกาสได้งานทำสูง จำนวนหนึ่งใช้เป็นใบเบิกทางเพื่อสมัครเป็นครูในโรงเรียนประถม ในทศวรรษ 2510 บางส่วนยกระดับตัวเองไปเปิดระดับปริญญาตรี เห็นได้จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าในปี 2514

เดิมสถานภาพของพวกเขาคือ โรงเรียน แต่หลัง 14 ตุลา 16 มีความพยายามให้ยกระดับสถาบันเป็นวิทยาลัย เป็นได้จาก พ.ร.บ.เทคโนโลยีและอาชีวศึกษา และปี 2519 ก็เกิดวิทยาลัยอาชีวศึกษาในจังหวัดต่างๆ

เราอาจเคยได้ยินวลี “พี่เป็นสมอง น้องเป็นกำลัง” (“พวกพี่เป็นสมองนะ พวกผมจะเป็นกำลังป้องกันให้เอง” จากคำสัมภาษณ์แบบตรงไปตรงมาเป็นแบบนี้) ที่อยู่ในช่วง 14 ตุลา 16 แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักศึกษาปริญญาตรี กับ นักเรียนอาชีวศึกษา อย่างไรก็ตาม อีกไม่กี่ผ่านไปได้มีการจัดตั้งกองกำลังฝ่ายขวาที่มีส่วนผสมของเด็กช่างอยู่ในนั้น ในช่วงก่อน 6 ตุลา 19 ในปีนั้นมีนักศึกษาอาชีวะ กว่า 196,686 คน

หลังจบเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองด้วยรัฐประหาร 6 ตุลาฯ ความรุนแรงก็มิได้จบลงการต่อสู้ด้วยอาวุธระหว่างรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเกิดขึ้นในเขตป่าและชายขอบของประเทศ ในเขตเมืองถูกควบคุมด้วยความหวาดวิตกเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ ต้องรอให้ถึงกลางทศวรรษ 2520 ความรุนแรงแบบนั้นก็ได้สิ้นสุดลง แต่ที่มาแทนที่คือ ระบบมาเฟีย ซุ้มมือปืนที่ผูกพันกับทั้งผู้มีอิทธิพลและนักการเมือง ความตายของนักเลง และนักการเมืองท้องถิ่นแทบจะเป็นเรื่องปกติที่ลงพาดหัวข่าวได้ทุกวัน สิ่งนี้คือ ความรุนแรงในชีวิตประจำวันภายใต้สังคมประชาธิปไตยครึ่งใบที่ทหารเป็นใหญ่ ชื่อของบิ๊กโน่นบิ๊กนี่ออกมาตบเท้าเมื่อไม่พอใจรัฐบาล เป็นเรื่องปกติ

ขณะเดียวกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็มีสร้างพื้นที่สำแดงอำนาจของตัวเองในลักษณะที่ต่างกัน จุฬา-ธรรมศาสตร์ มีฟุตบอลประเพณี, โรงเรียนมัธยมชั้นครีมมีบอลจตุรมิตร ปฏิเสธมิได้ว่าพื้นที่เหล่านี้คือ พื้นที่ของชนชั้นกลางและผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้มีการศึกษาสูงหรือมีโอกาสทางสังคมมากกว่า และเสียงดังกล่าวคนกลุ่มอื่น

ในทางตรงกันข้าม การเข้าเรียนสาขาช่างกลับเป็นพื้นที่อีกแบบ เป็นโลกอีกใบของคนในสังคมไทย การเกิดขึ้นของวิทยาลัยอาชีวศึกษาทางช่าง (เช่นเดียวสายพาณิชย์) เติบโตขึ้นจนมีตลาดมากพอที่เอกชนจะเปิดสอนไปด้วย ตัวเลขนักศึกษาช่างในปี 2524 มีมากถึง 492,498 คน (ปี 2563 รวมอาชีวศึกษาทั้งหมด 388,915 คน)

ด้วยวัยและความคึกคะนองของพวกเขา ประกอบกับเวลาเรียนที่มีอิสระกว่านักเรียนมัธยม ทำให้เด็กช่างมีโอกาสที่จะปรากฏตัวในที่สาธารณะต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะการเดินทางด้วยเส้นทางรถเมล์เป็นพาหนะชั้นดีที่เชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับห้องเรียน ป้ายรถเมล์ และปลายทาง เวทีคอนเสิร์ตอาจเป็นจุดรวมตัวชั้นดี ดังที่เห็นในหนังว่า มันคือจุดประกาศความเป็นชายและศักดิ์ศรี

การทะเลาะวิวาทกลายเป็นเรื่องปกติ และยกระดับความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อมันส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น อันที่จริงปัญหาการทะเลาะวิวาทการยกพวกตีกันในโรงเรียนมัธยมก็มีอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อเทียบกับฝ่ายเด็กช่าง ถือว่าก่อความรุนแรงได้มากกว่า สำหรับคนต่างจังหวัด ช่างกลปทุมวัน กับ อุเทนถวายคือ คู่แค้นคู่อาฆาตที่ได้ยินคำร่ำลือมาบ่อยๆ

ในทางกลับกันตัวละครใน 4 Kings เป็นตัวแทนของวิทยาลัยอาชีวะเอกชน ท้องเรื่องวางอยู่ในช่วงปลายทศวรรษ 2530 อันเป็นช่วงท้ายของยุคทองของเศรษฐกิจไทยก่อนฟองสบู่แตก นิคมอุตสาหกรรมที่โตวันโตคืน โครงการก่อสร้างตึกรามบ้านช่อง คอนโด บ้านจัดสรรขยายตัวแบบไม่มีใครจะคิดว่าบางตึกจะกลายเป็นอาคารร้างผีสิงในเวลาต่อมา

เช่นเดียวกับการยกพวกตีกันในเรื่องก็ถือเป็นช่วงพีกที่สุดของ 4 สถาบัน ก่อนที่จะทยอยปิดตัวไปไม่ว่าจะเหตุผลว่าถูกรัฐปิด หรือเศรษฐกิจอะไรก็ตาม ความตายของตัวละครบางตัวมันจึงมีนัยของการเสื่อมสลายของวัฒนธรรมดังกล่าวไปด้วย

ฉากในสถานพินิจ ที่มีตัวแทนจาก บู, ประชาชลและอิน  แสดงให้เห็นว่าสุดท้ายแล้ว สถาบันก็เป็นเพียงขื่อคาที่ล็อกและแยกพวกเขาออกจากกัน ในนั้นพวกเขายังมีน้ำมิตรต่อกันได้

อย่างไรก็ตาม ตัวละครแบบยาท กม.11 ที่เป็นตัวแทนของเด็กบ้านที่ไร้การศึกษา ก็เป็นตัวเปรียบเทียบให้เห็นเป็นอย่างดีว่า เด็กช่างไม่ใช่ปลายสุดของชนชั้นที่ถูกเหยียดหยาม ยาทถูกป้ายสีให้เป็นเหมือนหมาบ้าที่จนตรอกพร้อมจะงับทุกคนอย่างไม่เลือกหน้า โดยเฉพาะพวกเด็กช่างที่เขาเหม็นขี้หน้า บนสถานภาพที่ใกล้เคียงกันแต่มีความเหนือกว่าอยู่ เห็นได้ในฉากสู้กันในห้องน้ำที่ยาทบอกเองว่า เรื่องบางเรื่องไม่มีอยู่ใน “หนังสือเรียน” เด็กช่างที่ดูโหดๆ เลยกลายเป็นคงแก่เรียนไปเลยเมื่อเทียบกับพวกเด็กบ้านที่ไร้อนาคต

ตัวหนังพยายามแสดงโทนของการสำนึกผิดให้บทเรียนผู้ชม ผ่านแอม ลูกสาวของตัวเอกตัวหนึ่ง เสียงของแอมคือเสียงชนชั้นกลางที่ก่นด่าความระยำตำบอนของพ่อตัวเองที่บ้างาน ติดเหล้า และเป็นต้นเหตุที่ทำให้เธอ “พิการ” เอาเข้าจริง แอมเกือบจะไม่ได้เกิดมาด้วยซ้ำ หากมิได้ “พ่อๆ” ของเธอก้มกราบเพื่อไม่ให้ถูกทำแท้ง

น่าสงสัยว่า ชีวิตเด็กช่างหลังจบไป พวกเขาเดินทางไปเส้นทางใดต่อ เข้านิคมอุตสาหกรรม? เข้าบริษัทรับเหมาก่อสร้าง? จำนวนเด็กช่างมหาศาลนั้น เอาจริงๆ นักศึกษาที่เข้าไปเรียนเฉยๆ เพราะต้องการได้งานที่ดีกว่ามีสถานภาพอย่างไร เป็นคนส่วนน้อยหรือคนส่วนมาก คนเหล่านี้ต่างหากที่เงียบหายไปเลย แต่โดนขโมยซีนด้วยความเท่และเถื่อนของเด็กช่างแบบในหนัง

ในอีกด้าน การใช้ความรุนแรงระหว่างสถาบัน ทำให้พลังการรวมตัวกันของแรงงานเกิดขึ้นไม่ได้เลยตั้งแต่ในวัยเรียน แม้ว่ากฎหมายเกี่ยวกับแรงงานอย่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์จะเกิดขึ้นในปี 2518 พร้อมกับกฎหมายการจัดตั้งสถานศึกษาอาชีวศึกษาดังที่กล่าวมาแล้ว รัฐบาลไทยจึงแทบไม่เผชิญความรุนแรงจากการต่อต้านของแนวร่วมนักศึกษาอาชีวศึกษาเลย จนกระทั่งเร็วๆ นี้ที่เครือข่ายเด็กช่างรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย

เราไม่อาจแน่ใจได้ว่า รัฐรู้เห็นเป็นใจเพียงใดที่ปล่อยให้ความรุนแรงสถาบันเกิดขึ้น แต่รู้แน่ว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้การรวมตัวกันของแรงงานมันอ่อนแอลงไปด้วย ในประเทศที่รัฐและทุนเป็นใหญ่ การมีองค์กรแรงงานและสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ไม่นับว่าเป็นผลดีของพวกเขาเลย

LATEST REVIEWS