จากความผิดพลาดของภูฏาน สู่การเข้ารอบ 15 เรื่องสุดท้าย ออสการ์หนังต่างประเทศ

ออสการ์ประกาศ shortlists 10 สาขาออกมาแล้ว 1 ในนั้นคือสาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม เป็นอีกปีที่ไม่มีหนังไทย โดยเราส่ง ‘ร่างทรง’ ของ บรรจง ปิสัญธนะกูล ไปประกวด และไม่มีแม้แต่เจ้าของรางวัล Jury Prize จากเมืองคานส์ Memoria ของประเทศโคลอมเบีย ที่กำกับโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล แต่มีหนึ่งประเทศที่น่าจะฉลองอย่างยิ่งใหญ่ นั่นคือ ‘ภูฏาน’ ที่ส่งหนัง Lunana: A Yak in the Classroom ไปชิงชัย และติด 15 เรื่องสุดท้าย ซึ่งเป็นการส่งหนังไปออสการ์ครั้งแรกของประเทศนี้ในรอบ 23 ปี!

ในประวัติศาสตร์ ภูฏานส่งหนังไปออสการ์แค่สองครั้งเท่านั้น ก่อนหน้านี้คือ The Cup หนังปี 1999 ของ Khyentse Norbu ซึ่งว่าด้วยสามเณรชาวธิเบตที่ลี้ภัยอยู่ในวัดบนเทือกเขาหิมาลัยผู้หาทางดูฟุตบอลโลกรอบชิงให้ได้ แล้วก็ข้ามมาครั้งล่าสุดคือ Lunana: A Yak in the Classroom เลย ซึ่งที่จริงภูฏานได้พยายามส่งหนังเรื่องนี้เข้าประกวดไปตั้งแต่ปีก่อนหน้านี้แต่โดนตีกลับ

เมื่อปีที่แล้ว หลังจากภูฏานส่งหนังไปออสการ์ ผู้กำกับ Pawo Choyning Dorji ยังให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “ไม่ต้องหวังว่าเราจะเข้ารอบหรือชนะก็ได้ครับ แค่เห็นว่าเขายอมรับเราก็เป็นนิมิตหมายที่ดีแล้ว” แต่ไม่กี่วันหลังให้สัมภาษณ์หนังก็เด้งออกจากรายชื่อผู้เข้าประกวด เพราะผิดกติกาออสการ์ เนื่องจากมันส่งในนาม ‘กระทรวงข้อมูลและการสื่อสารภูฏาน’ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ แต่กติการะบุว่าหนังต้องได้รับเลือกโดยองค์กรหรือคณะกรรมการที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐเท่านั้น – เช่นบ้านเราคัดเลือกโดย สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ – กว่าจะถูกปฏิเสธก็กระชั้นจนภูฏานไม่อาจแต่งตั้งหน่วยงานใดขึ้นมารับหน้าที่ส่งหนังไปออสการ์ได้ทัน รัฐบาลเลยขอเวลา 1 ปีแล้วจะส่งหนังเรื่องนี้กลับไปใหม่ ในนาม ‘คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติภูฏาน’ (National Film Commission Bhutan)

Lunana: A Yak in the Classroom ว่าด้วยครูฝึกสอนหนุ่มที่อยู่ในเมืองใหญ่ผู้ถูกส่งไปยังพื้นที่ห่างไกลความเจริญอย่างไม่เต็มใจ แต่เขากลับเป็นที่รักของเด็กๆ เพราะเขาคือคนที่จะสอนให้ชุมชนได้รู้จักกับอนาคต…หนังเปิดตัวที่เทศกาลหนัง BFI ตั้งแต่ปี 2019 และคว้ารางวัลขวัญใจผู้ชมที่เทศกาลหนังปาล์มสปริง จากนั้นก็ตระเวนไปตามเทศกาลหนังทั่วโลก อาทิ ปูซาน, คลีฟแลนด์ และไคโร เป็นต้น

หนังถ่ายทำที่หมู่บ้านลูนานา ซึ่งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 16,000 ฟุต โดยไม่มีไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการถ่ายทำ ทีมงานต้องอาศัยพลังงานจากแสงอาทิตย์เท่านั้นตลอดระยะเวลา 60 วัน โดยไม่มีแม้แต่สัญญาณโทรศัพท์ “เราไม่สามารถมานั่งเช็คฟุตในแต่ละวันได้เลยเพราะต้องเซฟแบตเตอรี่เอาไว้สำหรับการถ่ายทำเท่านั้น ผมจะได้ดูฟุตอีกทีคือห้าเดือนหลังจากปิดกล้องไปแล้ว” Dorji กล่าว

หนึ่งในตัวละครหลลักของเรื่องคือเด็กหญิงวัย 9 ขวบ ซึ่งรับบทโดย Pem Zam ซึ่งชีวิตนี้ไม่เคยใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและไม่เคยดูหนังเลยแม้แต่เรื่องเดียว ทำให้ Dorji ต้องเขียนบทขึ้นมาใหม่เพื่อสะท้อนชีวิตของเธอและเด็กๆ อีกมากมายบนนั้น เพื่อสามารถถ่ายทอดมุมมองโต้ตอบกับตัวละครครูฝึกสอนจากเมืองใหญ่ได้

Dorji เล่าว่า “ตัวละครหลักของเราเป็นภาพแทนของคนรุ่นใหม่ในภูฏานตอนนี้ เขาก็ยังอยู่ในโลกแบบเก่าๆ นั่นแหละ แต่ก็พยายามอย่างมากที่จะพาตัวเองไปสัมผัสกับความศิวิไลซ์ ไม่ต่างจากหนุ่มสาวภูฏานส่วนใหญ่ที่กำลังชะเง้อมองหาอนาคตตัวเองข้ามเทือกเขาที่ถูกหิมะปกคลุมลูกนั้นออกไป ซึ่งมันทำให้ชาวภูฏานถูกกีดกันออกจากการเป็นส่วนหนึ่งกับโลก น่าตลกดีที่พวกเราต่างอยากหนีออกไปจากดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีความสุขที่สุดเพื่อเสาะหานิยามของความสุขอีกแบบที่สวยงามระยิบระยับ”

หนังได้ไปฉายในโปรแกรมปกติหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส, เยอรมัน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน ฯลฯ ขณะที่ในบ้านเกิดเองมันก็ได้รับความนิยมด้วย ซึ่งพลิกความคาดหมายของผู้สร้างเพราะหนังภูฏานที่ทำเงินส่วนใหญ่จะมีแนวทางใกล้เคียงกับหนังบอลลีวูดมากกว่า โดยในวันที่มันฉายก็เกิดปรากฏการณ์โรงแตกต้องเสริมเก้าอี้เพื่อรองรับคนดูบางส่วนที่นั่งรถบัสนาน 18 ชั่วโมงเพื่อมาดูหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ

“หนังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภูมิประเทศ และภาษา แต่ก็ยังสัมผัสถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และผมว่าเรื่องราวทำนองนี้มันจะสื่อสารกับทุกคนได้ว่าเราอยู่ตรงไหนของโลกใบนี้” Dorji กล่าว

Shortlists ทั้ง 10 สาขา ดูที่นี่


ข้อมูลประกอบ

https://variety.com/2021/film/awards/international-feature-oscar-2021-submissions-1235066208/

https://www.vice.com/en/article/889zdb/why-it-took-bhutan-21-years-to-send-a-film-to-the-oscars

Related NEWS

LATEST NEWS