INTERVIEW

จักรวาล นิลธำรงค์ : ‘เวลา’ ที่อาจไม่ได้เป็นเส้นตรง และตัวเราในตอนนี้กับอดีตอาจเป็นคนละคนกัน ?

ย้อนไปช่วงปี พ.ศ.2558 ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ เก่ง – จักรวาล นิลธำรงค์ ในวาระที่หนังยาวเรื่องแรกของเขาอย่าง Vanishing Point (2015) เข้าฉายในไทย ผลงานที่เขาเปรียบเปรยว่า เป็นการจำลองสภาวะใกล้ความตายที่สุด ผ่านเรื่องราวที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตของคุณพ่อ

ในครั้งนั้นจักรวาลเองได้เอ่ยถึงบทหนังเรื่องถัดมา ที่ตัวเขาตั้งใจจะเขียนขึ้นเพื่อ “แม่” ของเขาบ้าง หกปีต่อมาบทที่ว่านั้น กลายมาเป็นหนังยาวเรื่องที่สองของเขา ‘เวลา’ Anatomy of Time ที่เล่าเรื่องราวของ “แหม่ม” (เทวีรัตน์ ลีลานุช) หญิงชราวัย 70 ปี ที่ต้องดูแลสามีป่วยติดเตียงผู้เหลือเวลาในชีวิตไม่มากแล้ว และการรำลึกถึงความทรงจำในวัยสาวของเธอ (ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์) กับเสนาธิการทหารคนหนึ่ง (วัลลภ รุ่งกำจัด) ในฉากหลังยุคการเมืองคุกรุ่น พ.ศ. 2524

“ผมเคยพูดถึงด้วยหรือ ? (หัวเราะ)” จักรวาลกล่าวหลังจากผมบอกเล่าถึงการเอ่ยถึงบทหนังเรื่องนี้ครั้งแรกในอดีต เป็นเรื่องปกติที่เวลาจะทำให้เราลืมสิ่งที่เคยบอกเล่าไปแล้วในอดีต แม้กระทั่งเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดของเราเองได้ 

และเมื่อเริ่มสนทนากับจักรวาลอีกครั้งในรอบหลายปี ผมพบว่าเขาดูผ่อนคลายกว่าเมื่อก่อนอย่างเห็นได้ชัด ดูเหมือนว่า “เวลา” จะเปลี่ยนแปลงตัวของจักรวาล ไม่ต่างจากตัวผมและทุกคนเช่นกัน…

© Diversion, Damned Films, Sluizer Film Productions, M_GO Films, Mit Out Sound Films

Film Club : เมื่อ 6 ปีก่อน คุณเคยบอกว่าตั้งใจว่าเขียนบทขึ้นมาอีกเรื่อง เพื่ออุทิศให้กับแม่ด้วย ซึ่งก็กลายมาเป็นเรื่อง ‘เวลา’ อยากรู้ว่ามันเริ่มต้นมาอย่างไร ?

จักรวาล : มันก็เริ่มต้นมาจากตอนที่เราไปบวชมา จำไม่ได้ว่าตอนที่คุยกันเมื่อ 6 ปีก่อนเราไปบวชมาหรือยัง แต่บทหนังเรื่องนี้เราเขียนขึ้นมาตอนบวชนั่นละ ก็ได้เป็นโครงหนังทั้งเรื่อง มีทรีตเมนต์ตั้งแต่ต้นจนจบ

Film Club : ในหนังเรื่อง ‘เวลา’ มีความเกี่ยวเนื่องกับ เหตุการณ์ประสบอุบัติเหตุของครอบครัว ที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำเรื่อง Vanishing Point ด้วยหรือเปล่าครับ ?

จักรวาล : ไม่เกี่ยวครับ เราไม่ได้อ้างถึงอุบัติเหตุครั้งนั้นเลย มันเป็นเหมือนอีกมุมของชีวิตฝั่งคุณแม่เรา มันเกิดจากคำถามที่ว่า ถ้าเราพยายามจะเข้าใจชีวิตของเขา มันสามารถหาคำตอบนี้ด้วยวิธีไหนได้บ้าง 

จริงๆ น่าจะเรียกว่า เราใช้ชีวิตของคุณแม่เป็นแรงบันดาลใจมากกว่า คล้ายๆ กับตอนที่เราทำ Vanishing Point ที่เริ่มต้นเขียนบทจากรูปซากรถยนต์ของคุณพ่อที่เกิดอุบัติเหตุ กับ ‘เวลา’ คือเราไปเจออัลบั้มรูปเก่าๆ ของคุณแม่ แล้วก็พบว่าคุณแม่ตอนสาวๆ คือสวยมาก มีรูปตอนเป็นดรัมเมเยอร์อะไรแบบนั้นด้วย จนกระทั่งเราไปเจอรูปที่คุณแม่ถ่ายกับผู้ชายคนอื่นที่ไม่ใช่คุณพ่อ เราก็เริ่มต้นคิดไปว่า สมมติถ้าคุณแม่เลือกผู้ชายคนนี้แทนคุณพ่อเรา ชีวิตเขาอาจจะไม่ทนทุกข์ขนาดนี้ หรือเราอาจจะไม่ได้เกิดมาก็ได้ ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจในการเล่าเรื่องของพาร์ตอดีต มันคือแฟนตาซีที่เราคิดขึ้นมาล้วนๆ จากรูปถ่ายของแม่

ส่วนพาร์ตปัจจุบัน แรงบันดาลใจมากจากช่วงที่คุณแม่ต้องดูแลคุณพ่อก่อนเสียชีวิต ซึ่งมันจะไปในทางเรียลลิสติก เพราะขณะที่เราทำหนังเรื่องนี้ มันคือสิ่งที่เห็น ณ ปัจจุบันตอนนั้นเลย แล้วคุณพ่อเราเสียก่อนที่หนังจะเปิดกล้องแค่วันเดียวเอง ฉะนั้นเราจะเห็นคุณแม่ที่ต้องไปเยี่ยมคุณพ่อทุกๆ วันจนถึงวันที่เสีย จัดงานศพ เอาเถ้ากระดูกไปลอย คือครบทุกกระบวนการในตอนนั้น จนแม่เขาได้หมดห่วงหลุดพ้นตรงนั้นไปแล้ว 

เมื่อถึงตอนที่เรากำกับ เราก็เล่าประสบการณ์ถึงเหตุการณ์นี้ให้นักแสดงฟัง พยายามที่จะให้นักแสดงมีประสบการณ์ร่วมกับสิ่งที่เราเห็นมาให้มากที่สุด ซึ่งมันเป็นไดเร็คชั่นในการทำงานที่เรามุ่งไปในทาง realism จริงๆ

© Diversion, Damned Films, Sluizer Film Productions, M_GO Films, Mit Out Sound Films

Film Club : กับชื่อภาษาอังกฤษ Anatomy of Time ต้องการสื่อถึงอะไรครับ ?

จักรวาล : โดยโครงสร้างของ ‘เวลา’ จะคล้ายๆ กับ Vanishing Piont ตรงที่เรื่องราวของมันถูกแบ่งครึ่งออก เป็นเรื่องราวของผู้หญิงคนนึงในช่วงวัยสาวและวัยชรา และทั้งสองต่างก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าแต่ละเรื่องเป็นภาพสะท้อนของอะไร แต่สิ่งที่เราสนใจในตอนทำเรื่องนี้หรือแม้แต่เมื่อตอนทำ Vanishing Point เองก็ตาม เรามักจะมีคำถามที่ว่า เมื่อตอนเป็นเด็กกับตอนเป็นผู้ใหญ่ เราคือคนคนเดียวกันใช่หรือเปล่า ? 

เราก็นึกย้อนไปถึงทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ หรืออย่างนักปรัชญาของยุคโมเดิร์น เขาก็เริ่มโยงกลับไปว่า การกระทำของเรา (ในปัจจุบัน) เป็นผลจากอดีตในวัยเยาว์ ซึ่งมันก็คือแนวคิดในอีกรูปแบบนึง จนมันมาถึงยุคปัจจุบัน มันถูกหักล้างไปแล้วว่าตัวเราในอดีต กับตัวเราในปัจจุบัน มันคือคนละคนเลย เราอาจจะมีประสบการณ์คนละชุด มองโลกคนละแบบไปเลย ซึ่งเราว่าในยุคปัจจุบันมันก็เห็นได้ชัด อย่างเช่นเรื่องการเมือง ที่วันนึงเคยอยู่ฝั่งนึง แต่ปัจจุบันข้ามมาอีกฝั่งนึงเลย มันไม่ได้เป็นเรื่องที่ linear (เป็นเส้นตรง) ต่อกันอีกแล้ว

เราก็เลยมองคำว่า “เวลา” มันสามารถถูกอธิบายได้หลายอย่าง คือเมื่อเราพูดถึงเวลา เรามักคิดถึงความเป็น linear หรือเป็นเส้นตรง มีอดีต ปัจจุบัน แต่เวลามันก็สามารถอธิบายในฐานะช่วงเวลาหนึ่ง ตำแหน่งแห่งที่หนึ่ง ใครครวญคิดถึงในแง่โมเมนต์หนึ่งได้เหมือนกันอีกแรงบันดาลหนึ่งของเรา เราได้อ่านหนังสือของพี่ ชาติ กอบจิตติ ชื่อเรื่องว่า ‘เวลา’ (นวนิยายรางวัลซีไรท์ปี 2537 ว่าด้วยเรื่องราวของผู้กำกับวัย 63 ที่สูญเสียภรรยาและลูกสาว กับคณะละครเวทีหนุ่มสาว ที่หลงใหลจะถ่ายทอดเรื่องราวของคนวัยชรา ซึ่งความสนใจของนวนิยายเล่มนี้ คือการใช้ฟอร์มของการเขียนบทภาพยนตร์ มาแทรกไว้ในส่วนหนึ่งของเรื่องด้วย) เราก็เลยอิงคาแรคเตอร์ตัวหนึ่งมาจากในหนังสือเล่มนี้ เข้ามาอยู่ในบทของเราด้วย ซึ่งก่อนจะทำหนังเราก็ส่งบทไปให้พี่ชาติอ่านก่อน ซึ่งพี่เขาก็ไม่ได้ติดขัดอะไร

Film Club : ในบทวิจารณ์หนังเรื่อง ‘เวลา’ ของคุณก้อง ฤทธิ์ดี กล่าวว่านี่คืองานที่ “เล่าเรื่อง” มากที่สุดเท่าที่คุณเคยทำมา 

จักรวาล : ก็คงจริง เพราะตอนเริ่มโปรเจกต์เราอยากท้าทายตัวเอง คือตอนที่เราไป pitching project เราก็จะบอกเลยว่าหนังเรื่องนี้จะไม่มี surreal แต่เราจะโฟกัสไปในทาง realism โดยใช้ภาพธรรมชาติในการเล่าถึงความธรรมดา ความเหมือนจริง สัจธรรมของชีวิต มันก็รวมไปถึงการแสดง อย่างนักแสดงที่มารับบทเป็นหญิงชรา ที่ต้องดูแลสามี เราก็ต้องนำเขาไปฝึกกับเนิร์สซิ่งโฮม ต้องรู้วิธีการถอดผ้าออม การพลิกตัว การเช็ดตัวผู้สูงอายุ มันก็ลงไปถึงรายละเอียดของการทำงานว่า เราจะไปในไดเรคชั่นนี้นะ

แต่เมื่อมาถึงการเรียงเรื่อง การตัดต่อ ถ้าถามว่ามันแบบจะ narrative แบบตรงไปตรงมาก็คงไม่ใช่ เพราะด้วยคอนเซ็ปต์เรื่อง เรามันไม่ได้มอง “เวลา” เป็น narrative ที่เป็นเส้นตรงอยู่แล้ว ดังนั้นหนังมันยังเป็นการเล่า ที่เกิดจากการทดลองค้นหาคอนเซ็ปต์เรื่อง “เวลา” ของเราอยู่

Film Club : ด้วยความเป็นคนทำหนังทดลองของคุณ เลยยังทำให้ยังสนใจที่จะลองเล่ามันในรูปแบบที่ไม่เป็น narrative แบบตรงไปตรงมาด้วยหรือเปล่า ?

จักรวาล : เราอาจจะไม่ได้มองตรงนั้นเลยก็ได้ เพราะเราคิดว่าทุกวันนี้มันก็ไม่ได้มีอะไรใหม่อีกต่อไปแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่ทำให้เรายัง keep working ต่อไปได้ ก็คืออะไรที่มันท้าทายตัวเราเอง รวมไปถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่มันเกิดจากการทำงานจริงๆ อันนั้นคือสำคัญสุด

อย่างช่วงที่ตัดต่อเรื่องนี้ เราใช้คนตัดต่อสองคน คนแรกคือ แคธารีน่า วาร์ทีน่า เป็นชาวดัตช์ ซึ่งก็มาด้วยเงื่อนไขของทุนที่เราได้มา เราก็ดูงานที่ผ่านมาของเธอก็โอเค แล้วด้วยความที่มันเล่าเรื่องผ่านผู้หญิง เราก็คิดว่าน่าสนใจที่จะทำงานกับนักตัดต่อหญิงดู แต่สุดท้ายเมื่อตัดเสร็จ กำลังจะไปขั้นตอนเกรดสีละ เราก็ตัดสินใจว่าไม่เอาดีกว่า คือมันยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เมื่อเทียบกับบทมันยังมีบางอย่างที่ขาดหายไป 

เราก็มาตัดกับพี่ ลี ชาตะเมธีกุล พี่ลีก็จะถามเราวนๆ อยู่อย่างนี้ว่า accent ของหนังคืออะไร คอนเซ็ปต์ของเวลาคืออะไร คอนเซ็ปต์ของ Anatomy of Time คืออะไร มันก็เปิดโอกาสให้เรากลับไปนั่งอ่านหนังสือ หาวิธีที่จะมาตอบพี่ลีหรือสนทนาว่า เวลาในมุมมองของเรามันคืออะไร ก็อ่านหนังสือปรัชญาที่มันเกี่ยวข้องกับเวลาเกือบทั้งหมด ซึ่งเราว่าอันเนี่ยสนุก และเราก็ได้ประโยชน์จากตรงนั้นมาก ในการหาบทสรุปให้กับหนัง 

© Diversion, Damned Films, Sluizer Film Productions, M_GO Films, Mit Out Sound Films

Film Club : นอกจากแรงบันดาลใจจากคุณแม่ ใน ‘เวลา’ ยังมีส่วนที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองในพาร์ตอดีตที่พูดถึง “กบฏยังเติร์ก” เพราะอะไรถึงเลือกนำเหตุการณ์ช่วงนั้นมาเล่าครับ ?

จักรวาล : พ่อเราเป็นทหาร แล้วก็อยู่ในกลุ่มกบฏยังเติร์กนี่ละ แต่เป็นรุ่นที่เด็กลงมา คือเราไม่ได้อยากเล่าเรื่องการเมืองแบบตรงไปตรงมา แต่แรงบันดาลใจมันมาจากประสบการณ์ของเรา คือเราเคยไปงานศพของพวกเพื่อนๆ พ่ออยู่บ่อยๆ เมื่อครั้งที่เขายังแข็งแรง มีอยู่ครั้งนึงคนที่มาในงานศพนั้น คือคุณ สุจินดา คราประยูร สิ่งที่เราเห็น ณ ตอนนั้นก็คือภาพของทหารแก่คนนึงที่เดินเข้ามาในงาน แต่ในความรับรู้ของคนเจเนอเรชั่นเรา พอเห็นสุจินดาก็คือขนลุก เพราะไม่คิดว่าคนแบบนี้ควรจะมีที่ยืนในสังคมอีกต่อไป แต่ปรากฏว่าในงานก็มีคนกลุ่มนึงที่ยังเคารพเขา ในขณะที่อีกกลุ่มคือเงียบไปเลยจากที่เสียงดังๆ ในตอนแรก

สิ่งที่เราสนใจคือ ภรรยาของสุจินดา ซึ่งก็เดินเกาะแขนเขาเข้ามาในงานศพนั้นด้วย เราก็เลยเริ่มสนใจตรงนี้ ว่าอยากเล่าเรื่องของชีวิตภรรยานายทหาร ที่ต้องคอยเกาะตามสามีไป ทั้งที่สามีเองก็ไปผจญกับเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่มีส่วนรับรู้เกี่ยวข้อง แต่ต้องมาคอยรับเคราะห์ไปด้วย แล้วในอีกนัยหนึ่งมันก็เป็นเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ทางการเมืองผ่านเรื่องราวของ “หลังบ้าน” 

จริงๆ ในหนังแทบไม่ได้เล่าเยอะเลย เพราะเราคิดว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์มันหาได้ง่าย แค่เราไปสะกิดให้คนตั้งคำถามว่า อะไรคือ “ยังเติร์ก” แค่นั้นเราก็ประสบความสำเร็จแล้ว เดี๋ยวเขาก็ไปหาต่อเองได้ เราอาจไม่จำเป็นต้องทำหนังเล่าประวัติศาสตร์ในภาพยนตร์ตรงๆ แต่ว่าหน้าที่ของเราคือการทำให้เขาสนใจสิ่งที่มันเคยเกิดขึ้นในอดีตมากกว่า

© Diversion, Damned Films, Sluizer Film Productions, M_GO Films, Mit Out Sound Films

Film Club : คุณคิดว่าคนทำหนัง จำเป็นไหมที่ต้องสะท้อนความเห็นหรือทัศนคติเกี่ยวกับสังคมหรือการเมืองในช่วงเวลานั้นๆ โดยเฉพาะกับคนทำหนังอิสระไทย ที่ผู้ชมมักจะมองว่า ชอบใส่เรื่องการเมืองเข้าไปในหนังอยู่เสมอ ?

จักรวาล : เราคิดว่าหน้าที่ของคนทำศิลปะ ไม่ใช่แค่การสื่อสารทัศนคติของเราผ่านผลงานเพียงอย่างเดียว แต่หน้าที่ที่สมควร คือเขาควรจะหาวิธีตั้งคำถามที่ดี แล้วให้คนไปหาคำตอบเอง เพราะว่าถ้าเราเลือกข้างๆ นึง แล้วใส่ทัศนคตินั้นลงไปในหนัง เวลาผ่านไปอีก 30 ปี หนังเรื่องนั้นก็จะกลายเป็น propaganda เรื่องนึง เพราะเขากำลังโฆษณาชวนเชื่อ ให้เชื่อในทัศนคตินั้น 

แต่ถ้าเราเลือกที่จะตั้งคำถามขึ้นมาคำถามนึง แล้วให้คำถามนั้นมันน่าสนใจมากพอให้ผู้ชมไปหาคำตอบเอง โดยที่เขาอาจจะเลือกข้างไหนก็ได้ นี่คือสิ่งที่ทำได้ยากกว่า เพราะฉะนั้นเรื่องทัศนคติทางการเมือง สำหรับเรา ต่อให้เราจะพูดหรือไม่พูดในหนัง เมื่อหนังมันถูกสร้างขึ้นมาในบรรยากาศ ณ ขณะนั้น มันก็จะพูดด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นที่จะพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา

คือเรารู้สึกว่า วงจรของการแยกชิงอำนาจ มันมีทุกที่ มีมาตลอด และจะมีตลอดไป มันคือ rise and fall ที่เกิดวนซ้ำไม่รู้จบ มันจะหยุดเมื่อไหร่ ถ้าเราไม่ถอยออกมาเพื่อดูมัน เราก็จะไม่มีทางเห็นมัน


หมายเหตุ : ‘เวลา’ Anatomy of Time เข้าฉายในไทย 20 มกราคม นี้

LATEST