Blog Page 18

Dark จุดเริ่มต้นคือจุดจบ และจุดจบคือจุดเริ่มต้น

*บทความมีเนื้อหาเปิดเผยตอนจบของซีรีส์

คงไม่เป็นการเกินเลยนัก หากเราจะยกย่องว่า Dark ซีรีส์ความยาวสามซีซั่นสัญชาติเยอรมัน คือหนึ่งในซีรีส์ที่ทะเยอทะยานด้านงานสร้างและการเล่าเรื่องอย่างที่สุด ด้วยการสร้างโครงข่ายความสัมพันธ์อันยุ่งเหยิงของตัวละครกว่าสามสิบชีวิตผ่านมิติทางพื้นที่และเวลาอันซับซ้อน จนเว็บไซต์ของซีรีส์ต้องสร้างแผนผังตระกูลของตัวละครในเรื่องไว้ให้เปิดเป็นคู่มือคอยอ่านไปดูไประหว่างที่ซีรีส์ออกฉาย (แถมผังที่ว่านี้ยังเปลี่ยนทุกซีซั่นตามความสัมพันธ์ของตัวละครอีกนะ!)

สิ่งที่น่าสนใจเมื่อดูจบทั้งสามซีซั่นแล้วก็คือ ทีมงานใช้ประโยคของคนมีชื่อเสียงในอดีตเป็น ‘ฉากเปิด’ ของแต่ละซีซั่นเพื่อเป็นการเซ็ตพื้นฐานให้คนดูเข้าใจถึงธีมและสิ่งที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ ดังนั้น เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจ ผู้เขียนจึงขอเขียนแยกแต่ละซีซั่นคร่าวๆ โดยใช้ประโยคเปิดทั้งสามเป็นเส้นแบ่งสำคัญ


“ความแตกต่างระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นเพียงสิ่งลวงตาที่คงอยู่อย่างดื้อดึง” – อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

ซีซั่นแรกนั้นทีมงานปักหมุดชัดเจนว่าซีรีส์กำลังจะเล่าเรื่องของการเดินทางข้ามเวลา โดยในวินเดล หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในเยอรมนี ซีรีส์เปิดมาด้วยฉากที่ มิคาเอล คุห์นวาล์ด (เซบาสเตียน รูดอล์ฟห์) ชายวัยกลางคนผูกคอตายในบ้านตัวเอง ทิ้งไว้เพียง ฮันนาห์ (มายา โชน์) ภรรยากับ โยนาส (หลุยส์ ฮอฟมันน์) ลูกชายวัยรุ่นไว้หลังจบชีวิต ระหว่างนั้น วินเดลซึ่งดูเป็นเมืองเงียบๆ มาตลอดก็มีเรื่องน่าตระหนกเพราะมีรายงานว่าเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งหายตัวไปนานกว่าสองสัปดาห์ และเด็กคนนั้นคือเพื่อนร่วมโรงเรียนเดียวกันกับโยนาส ซึ่งใช้เวลาในแต่ละวันอยู่กับ บาร์โทสซ์ ทินเดอร์มันน์ (พอล ลักซ์) กับ มาร์ธา นีลเซน (ลีซา วิคารี) แฟนสาวของบาร์โทสซ์ที่โยนาสแอบชอบ

ไปพร้อมกันนั้น เหล่าเจ้าหน้าที่ตำรวจก็กระจายตัวกันตามหาวัยรุ่นที่หายสาบสูญไปอย่างเต็มกำลัง นำทีมโดย อุลริช นีลเซน (โอลิเวอร์ มาซักกี) พ่อของมาร์ธาที่ยุ่งหัวปั่นเพราะคดีไม่คืบหน้า หนำซ้ำชีวิตส่วนตัวยังง่อนแง่นเพราะเขาลักลอบไปเป็นชู้กับฮันนาห์ (แม่ของโยนาส) แถมเมียอย่าง คาธารีนา (ยอร์ดีส์ ทรีเบล) ก็ทำท่าว่าจะจับได้ ลูกชายคนโตอย่าง มักนุส (มอริตซ์ ยาห์น) ก็เป็นวัยรุ่นและอีโมใส่เขาทุกวันๆ ขณะที่ลูกสาวคนรองอย่างมาร์ธาก็เก็บเนื้อเก็บตัวเงียบเชียบ มิกเกล (ดัน เลนเนิร์ด ลีเบรนซ์) ลูกชายคนเล็กก็ยังดูแลตัวเองไม่ได้ เขาจึงต้องกำชับให้ลูกคนโตสองคนคอยดูแลมิกเกลไม่ห่าง

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้สามพี่น้องนีลเซนต้องกระเตงกันเข้าไปเที่ยวในป่าแถบใกล้กันกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พร้อมกันกับ ฟรานซิสกา ด็อปป์เลอร์ (จีนา สตีไบต์ซ) แฟนสาวของมักนุส และมาร์ธาที่มีบาร์โทสซ์ติดสอยห้อยตามมาในฐานะของแฟนหนุ่ม และโยนาสในฐานะเพื่อนของทั้งสองอีกทีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาได้ยินเสียงประหลาดแว่วดังมาจากในถ้ำร้างใกล้ๆ กันกับโรงไฟฟ้า ท่ามกลางความมืดสนิทนั้น ไฟฉายของพวกเขากะพริบก่อนจะดับลง ทั้งหมดจึงออกวิ่งหนีไปให้พ้นจากถ้ำแห่งนั้น โดยโยนาสที่อยู่ใกล้มิกเกลที่สุดคว้าเด็กชายมาด้วย แต่หลุดมือ เมื่อหันกลับมาอีกที มิกเกลก็หายไปแล้ว อันเป็นการเปิดประตูไปสู่โลกแห่งความสลับซับซ้อนของจักรวาล Dark 

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ดังที่ปรากฏในด้านบนนั้นเป็นแค่เพียงเรื่องราวของตัวละครในเอพิโซดแรกเท่านั้น เพราะนับจากนั้นไป โยนาสที่ไปเจอจดหมายลาตายของพ่อ, ค้นพบสะพานเวลาอันลึกลับ, อุลริชที่สาวมือไปถึงคดีในอดีต หรือเมื่อบาร์โทสซ์ค่อยๆ ระแคะระคายเรื่องราวในครอบครัวของตัวเองว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรมในอดีตอย่างลับๆ ตลอดจนเส้นตายคือ ‘วันสิ้นโลก’ เมื่อโรงไฟฟ้าระเบิดจนถล่มวินเดนราบเป็นหน้ากลองทั้งเมือง

มากไปกว่านั้น -และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่อง- คือการที่โยนาสพบว่า มิกเกลเดินทางกลับไปยังอดีตปี 1986 ก่อนจะติดอยู่ที่นั่นจนเติบใหญ่กลายมาเป็น มิคาเอล คุห์นวาล์ด พ่อของเขาที่เพิ่งฆ่าตัวตายไปเมื่อไม่กี่วันก่อน!! 

นี่เองที่เป็นแรงระเบิดสำคัญที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ถูกกล่าวถึงภายในเวลาไม่นานหลังออกฉายครั้งแรก เพราะโผล่มาแค่ไม่กี่ตอน ซีรีส์ก็ ‘เล่นท่ายาก’ ด้วยการโชว์คนดูว่าพวกเขาไม่ได้มาเล่าเรื่องของคนที่เดินทางข้ามเวลาแบบหนังเรื่องก่อนๆ ที่พยายามหลีกเลี่ยงจุดตัดของเส้นเวลาเพื่อคงสภาพเรื่องราวไม่ให้ยุ่งเหยิง หากแต่ความยุ่งเหยิงนี่แหละที่ถูกหยิบมาเป็นจุดขายสำคัญของซีรีส์ 

ต้นกำเนิดของซีรีส์ชวนปวดสมองเรื่องนี้มาจากไอเดียโคตรล้ำของ โบรัน โบ โอดาร์ กับ ยานต์เต ไฟร์ส คู่รักนักเขียนบทชาวเยอรมันที่หวังอยากทำซีรีส์ธริลเลอร์ผสมไซ-ไฟอลังการขึ้นมาสักเรื่อง ก่อนนี้พวกเขาเคยร่วมมือกันเขียนบท Who Am I (2014 -ว่าด้วยแฮ็คเกอร์หนุ่มผู้ทะเยอทะยานอยากเป็นที่รู้จักระดับโลก) และชิงรางวัลเขียนบทยอดเยี่ยมจากเวทีรางวัลภาพยนตร์เยอรมันหลังออกฉาย ทั้งหนังเรื่องนี้เองที่เป็นประตูบานสำคัญที่ไปเตะตาทีมเน็ตฟลิกซ์ซึ่งกำลังมองหาคนมาปั้นโปรเจ็กต์หนังและซีรีส์ลงแพล็ตฟอร์มพอดี สารตั้งต้นของทั้งโอดาร์และไฟร์สจึงเป็นซีรีส์ลึกลับ (ที่พวกเขาบอกว่าคล้ายๆ The Missing ซีรีส์จากสหราชอาณาจักร) ที่พวกเขาอยากได้องค์ประกอบที่ทำให้มันน่าสนใจมากไปกว่าการเป็นซีรีส์ธริลเลอร์ที่ว่าด้วยเด็กหนุ่มและการขุดหาความลับ พวกเขาจึงจับเอาประเด็นการเดินทางข้ามเวลาเข้ามาเป็นส่วนผสมสำคัญของซีรีส์ (ก่อนนี้ โอดาร์เคยกำกับ Das letzte Schweigen หนังยาวลำดับที่สองของเขาที่ว่าด้วยเด็กหญิงวัย 13 ที่หายตัวไปบริเวณเดียวกันกับที่เมื่อ 23 ปีก่อน เกิดคดีฆาตกรรมหญิงสาวขึ้นที่นี่) 

ทั้งนี้ Dark ซีซั่นแรกออกฉายในปี 2017 และยังความประทับใจมาให้ผู้ชมทั้งในและนอกเยอรมนีอย่างมาก ภายหลังจากที่มันพาคนดูทะลวงไปหาความซับซ้อนถึงสามยุคสามสมัยด้วยกันคือ 1953, 1986 และ 2019 โดยไทม์ไลน์สำคัญนั้นแบ่งออกเป็นเหล่าตัวละครแต่ละตระกูลในหลายยุคหลายสมัย (เช่น ช่วงปี 1953 จะเล่าถึงยุคที่รุ่นปู่ย่าในปัจจุบันยังเยาว์วัย หรือปี 1986 จะเป็นเส้นเรื่องของคนรุ่นพ่อแม่โยนาส เช่นอุลริชและฮันนาห์ ยังเป็นวัยรุ่น) ซึ่งลำพังสามช่วงเวลานี่ก็จำตัวละครกันเหนื่อยแล้ว แต่ดูเหมือนจะยังไม่สาแก่ใจทีมสร้าง เพราะพวกเขาหักมุมด้วยการเปิดปากถ้ำตอนจบว่า โยนาสหลุดเข้าไปในอีกช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ใช่ในอดีต แต่เป็นในอนาคตคือปี 2052 กับเหล่าผู้รอดชีวิตหลังวันสิ้นโลก


“และหากมองลงไปในนรกอย่างยาวนาน นรกก็จะมองกลับมาที่คุณเช่นกัน” ฟรีดริช นีตเชอ

ซีซั่นสองออกฉายปี 2019 ทีมงานไม่ได้เลือกเปิดเรื่องที่ปี 2052 ดังที่ปิดเรื่องไว้เมื่อซีซั่นแรก แต่พาคนดูย้อนไปยังปี 1921 เมื่อชายหนุ่มสองคนลงมือก่อสร้างบางสิ่ง และเอ่ยถึง ‘อดัม’ ชายซึ่งเป็นเสมือนผู้สั่งการอยู่เบื้องหลังงานนี้ ลงเอยด้วยการที่เด็กหนุ่มนาม โนอาห์ สังหารชายอีกคนอย่างโหดเหี้ยม แล้วหนังจึงตัดไปยังช่วงเวลาที่โนอาห์เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ เป็นมือขวาของอดัมซึ่งคนดูยังไม่เห็นหน้าค่าตา

เป้าหมายหลักของโยนาสในซีซั่นนี้คือการขัดขาไม่ให้ทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นวงเวียนอีกครั้ง โดยเฉพาะการที่พ่อของเขาต้องฆ่าตัวตาย ดังนั้นเขาจึงพยายามทำทุกทาง -ไม่ว่าจะย้อนอดีตหรือเดินทางไปอนาคต- เพื่อเปลี่ยนแปลงชะตากรรมที่จะเกิดขึ้น หากแต่ก็พบว่าตัวเขาในอนาคตนั่นแหละที่คอยยับยั้งเขาไว้ นำมาสู่เงื่อนไขสำคัญของวังวนการเดินทางข้ามเวลาคือ จุดเริ่มต้นตือจุดจบ และจุดจบคือจุดเริ่มต้น

ซีรีส์เฉลยภายหลังว่าอดัมนั้นคือโยนาสในวัยชรา ที่เดินทางข้ามเวลาบ่อยเสียจนรูปร่างบิดเบี้ยว และโยนาสในวัยชรานี้เองที่พยายามหยุดโยนาสวัยรุ่นทุกทางไม่ให้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นวงเวียน เพราะหากโยนาสวัยรุ่นยับยั้งไม่ให้พ่อของเขาฆ่าตัวตายได้ ก็แปลว่าเด็กชายมิกเกลจะไม่ได้เดินทางย้อนเวลา ไม่ได้โตมาเป็นมิคาเอลและครองรักกับฮันนาห์ นำมาสู่ข้อเท็จจริงที่ว่า โยนาสก็จะไม่ได้ถือกำเนิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากว่าธีมของซีซั่นแรกคือเส้นใยที่ตัวละครโยงเข้าหากันผ่านช่วงเวลา ธีมของซีซั่นที่สองคือการ ‘กลาย’ เป็นอื่นที่พวกเขาไม่อยากเป็นในตอนแรกเริ่ม

“และหากมองลงไปในนรกอย่างยาวนาน นรกก็จะมองกลับมาที่คุณเช่นกัน” มาจากหนังสือปรัชญา Beyond Good and Evil  ของนีตเชอ โดยประโยคเต็มของมันนั้นคือ “ผู้ที่สู้กับปิศาจ ต้องระวังตัวว่าอย่ากลายเป็นปิศาจเสียเองในท้ายที่สุด และหากมองลงไปในนรกอย่างยาวนาน นรกก็จะมองกลับมาที่คุณเช่นกัน”

เพื่อจะบรรลุเป้าประสงค์ที่พวกเขาตั้งไว้ ตัวละครจึงเดินหน้าทำทุกอย่างเพื่อให้สมดังความตั้งใจ โยนาสยอมแลกทุกอย่างกับการเดินทางข้ามเวลาเพื่อทำลายวังวนไม่ให้เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ไปสารภาพรักกับมาร์ธา ซึ่งเขาก็รู้ทั้งรู้ว่าคบกับบาร์โทสซ์ เพื่อนสนิทของเขาอยู่, อุลริชออกตามหามิกเกลจนหลุดเข้าไปอยู่ในปี 1953 และตั้งใจจะลงมือฆ่า เฮเกล ด็อปป์เลอร์ ซึ่งเขาเชื่อว่าหากปล่อยให้เฮเกลมีชีวิตรอดต่อไปจะทำให้วังวนเกิดขึ้นอีกครั้ง, ฮันนาห์ผู้ชอกช้ำจากอุลริช สะกดรอยตามเขามายังปี 1953 เพียงเพื่อจะแค่เยาะเย้ยความพ่ายแพ้ของชายที่เธอไม่อาจครอบครองให้เห็นสีหน้าและความพยาบาทของอีกฝ่ายจนสาแก่ใจ แล้วจึงเดินจากมา พร้อมกันนั้น ก็ตัดสินใจจะไม่หวนกลับไปยังโลกปัจจุบันอีกแล้วเพราะที่นั่นไม่เหลืออะไรทิ้งไว้ ที่นั่น เธอเป็นแม่ม่ายผัวผูกคอตายอย่างไม่ทราบสาเหตุ ลูกชายเงียบขรึมและห่างเหิน ชู้รักก็ไม่มีวันทิ้งเมียมาอยู่กินกับเธอ เธอจึงเลือกจะล่องลอยอยู่ในอดีต ที่ซึ่งเธอไม่มีตัวตน ไม่มีรากให้ใครสืบตามหา และลงเอยด้วยการคบชู้กับนายตำรวจที่สืบคดีวุ่นวายในวินเดลอย่าง เอกอน ทินเดอร์มันน์ และจุดชนวนความวุ่นวายตามมาหลังจากนั้นอีกหลายชั่วอายุคน


“มนุษย์เลือกทำตามเจตจำนงตัวเองได้ แต่เลือกเจตจำนงของตัวเองไม่ได้” อาร์ทัวร์ โชเพินเฮาเออร์

ทั้งอย่างนั้น สองซีซั่นที่ผ่านมา Dark ก็ยังเล่าเรื่องในแนวดิ่ง หรือก็คือเรื่องราวที่ว่าด้วยการเดินทางข้ามย้อนเวลาไปสู่อดีต ปัจจุบันและอนาคต ก่อนที่ซีซั่นที่สาม จะพาคนดูเวียนหัวอีกตลบด้วยการเพิ่มเรื่องแนวขวางจาก ‘โลกคู่ขนาน’ ที่เต็มไปด้วยผู้คนหน้าตาเหมือนชาววินเดลที่โยนาสรู้จัก ทั้งมาร์ธา, ฮันนาห์ แม่ของเขาหรือบาร์โทสซ์ เพื่อนสนิท… หากแต่ไม่มีใครรู้จักโยนาส เพราะโลกนั้นไม่มีโยนาส

เช่นเดียวกับโยนาส คนดูไม่รู้มาก่อนเลยว่าสองซีซั่นที่ผ่านมา เราใช้ชีวิตและมองผ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกของอดัมมาตลอด ซีซั่นที่สามจึงพาคนดูไปสำรวจโลกคู่ขนานที่เกิดขึ้นในโลกของ ‘เอวา’ หรือก็คือมาร์ธาในวัยชรา ซึ่งเป้าประสงค์ของเธอมีเพียงอย่างเดียวคือยับยั้งทุกแผนการของอดัม (โยนาสวัยชรา) ให้ได้ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไร ต้องหลอกใช้ตัวตนของพวกเธอในอดีตมากแค่ไหน นั่นเพราะท้ายที่สุด อดัมเปลี่ยนเป้าหมายไปสู่การยอมหยุดวังวนอันแสนซับซ้อน แต่เอวานั้นตรงข้าม เธอต้องการให้เรื่องราวทั้งหมดดำเนินไปในวังวนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาชีวิตลูกชายในครรภ์ของตัวเองในวัยสาว ซึ่งจะตายได้หากว่าวงจรนั้นหยุดลงตามความต้องการของอดัม

สองซีซั่นก่อนหน้า เรารับรู้มาโดยตลอดว่าตัวละครหลักอย่างโยนาส, มาร์ธาหรือคนอื่นๆ พยายามจะฝืนชะตากรรมวังวนโดยการเลือกเจตจำนง (will) ของตัวเอง เลือกที่จะไม่เป็นส่วนหนึ่งของวงจรเวลาอันน่าเศร้าด้วยการขัดขวางตัวตนของพวกเขาในอดีตหรือในอนาคต แต่มันนำมาสู่คำถามเชิงปรัชญาที่ว่า แท้จริงแล้ว แม้มนุษย์จะเลือก ‘ทำ’ ตามเจตจำนงได้ มนุษย์ ‘เลือก’เจตจำนงของตัวเองได้หรือไม่ หรือแท้จริงแล้วเราเพียงแต่เต้นรำไปตามสิ่งที่ชะตากรรมขีดไว้อย่างมืดบอด

และไม่ว่าเราจะเลือกทำ (หรือไม่ทำ) อย่างไรกับเจตจำนงของตัวเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ มันล้วนส่งผลกระทบต่อคนรอบตัวเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นเดียวกับโยนาสกับมาร์ธา -ที่เข้าไปอยู่ในห้วงเวลาตรงกลางระหว่างโลกของอดัมและโลกของเอวา- จับมือกันหยุดยั้งการประดิษฐ์เครื่องมือข้ามเวลาของนักวิทยาศาสตร์อันเป็นต้นตอของการกำเนิดวังวน สิ่งที่เกิดขึ้นถัดจากนั้นคือ เมื่อไม่มีการย้อนเวลา ตัวละครหลายๆ ตัวจึงไม่มีตัวตนอีกต่อไป ไม่ใช่แค่ตัวโยนาสหรือมาร์ธา แต่เป็นตัวละครอื่นๆ ที่เป็นลูกหลานของทั้งสองด้วย

นั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทั้งโยนาสและมาร์ธาถูกเรียกว่า อดัมและเอวา (หรืออีฟ) ในวัยชรา เพราะช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ พวกเขาได้เดินทางข้ามย้อนเวลาและให้กำเนิดผู้คนที่ในเวลาต่อมาจะกลายมาเป็นพ่อแม่ของตัวเอง พวกเขาจึงเปรียบเสมือนมนุษย์คู่แรกของโลกที่เป็นดังต้นธารของมนุษยชาติตามคัมภีร์ไบเบิล และด้วยเหตุผลเช่นนี้เอง เมื่อวงจรการเดินทางข้ามเวลาหยุดชะงักลง นักวิทยาศาสตร์ไม่ประดิษฐ์เครื่องมือย้อนเวลาอีกต่อไปแล้ว ทั้งอดัมและอีฟหรือโยนาสกับมาร์ธาก็จะไม่มีตัวตนอีกต่อไป พวกเขาจึงต้องสูญสลายหายไปพร้อมวังวนและตัวละครอื่นๆ ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาจากการข้ามเวลาในครั้งนั้น

ฉากจบของเรื่องจึงมีเพียงตัวละครที่ไม่ได้เป็นลูกหลานของโยนาสหรือมาร์ธาหรือมาจากถิ่นฐานอื่น เช่นพี่น้องวอลเลอร์ ที่คนพี่ ทอร์เบน แต่งงานกับฮันนาห์ (เพราะโลกนี้ไม่มีมิคาเอลหรือมิกเกล), ปีเตอร์ ด็อปป์เลอร์ เด็กหนุ่มที่ย้ายมาจากเมืองอื่นครองรักกับวอลเลอร์คนน้อง ขณะที่คาธารีนาก็มีชีวิตอย่างผาสุกในโลกที่ไม่มีอุลริช สิ่งที่น่าสนใจคือฮันนาห์ซึ่งกำลังตั้งท้องอยู่นั้น เหม่อมองไปยังเสื้อคลุมฝนสีเหลืองแล้วรำพึงว่า เธออยากตั้งชื่อลูกว่าโยนาส โดยเราไม่มีทางรู้เลยว่ามันจะก่อให้เกิดวังวนรูปแบบใหม่อันไม่รู้จบหรือไม่ หรือจะเป็นแต่เพียงโลกอันสงบสุขอย่างที่โยนาส -ในโลกเดิม- หวังให้เป็นมาโดยตลอด


ดู Dark ได้ใน Netflix

เบื้องหลังดีลยักษ์ Greyhound – Apple พยายามทำอะไรอยู่?

Greyhound โผล่มาเซอร์ไพรซ์สมาชิก AppleTV+ เพราะนี่ถือเป็นหนังฟอร์มโตที่นำแสดงโดยดาราเกรดเอ ทอม แฮงคส์ ซึ่งเดิมทีเป็นโปรแกรมวันพ่อแห่งชาติ (อเมริกา) ของ โซนี พิคเจอร์ส แต่จู่ๆ ก็แปรสภาพเป็นออริจินัลคอนเทนต์ของ Apple และลัดคิวฉายให้สมาชิกดูพร้อมกันทั่วโลกเมื่อ 10 ก.ค. ที่ผ่านมานี้เอง โดย Apple ยอมควักค่าสิทธิสูงถึง 70 ล้านเหรียญฯ เพื่อแลกกับสิทธิสตรีมมิ่งทาง AppleTV+ นาน 15 ปี ลงทุนขนาดนี้ Apple หวังอะไร? 

70 ล้านเหรียญฯ ที่ Apple ควักกระเป๋าซื้อ Greyhound คือการลงทุนซื้อคอนเทนต์ครั้งใหญ่ที่สุดแล้ว และอาจสูงที่สุดเท่าที่มีการซื้อสิทธิหนังแบบออริจินัลมาแล้วก็ได้ แต่อย่างไรเสียก็ยังเหลือประเทศจีนให้โซนีฯ เอาเข้าโรงไว้หนึ่งประเทศใหญ่ๆ 

ย้อนกลับไปเมื่อกลางเดือน พ.ค. เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงานว่า Apple กำลังปรับกลยุทธ์ใหม่ให้กับ AppleTV+ ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการสตรีมมิ่งที่มาทีหลัง แล้วจะเอาอะไรไปสู้กับเขา เพราะทั้ง Netflix, Amazon Prime และ Hulu กว้านสมาชิกเอาไปตุนไว้เพียบแล้ว ยิ่งช่วงโควิดยิ่งเป็นโอกาสอันดีแต่อาวุธไม่แข็งพอ 

จากเดิมที่ Apple วางจุดแข็งของตัวเองไว้ว่าจะนำเสนอออริจินัลคอนเทนต์ 100% เลยต้องกลืนน้ำลายตัวเอง ไล่กว้านซื้อหนังและซีรีส์เก่าๆ จากค่ายต่างๆ มาสะสมไว้ด้วยอีกทาง เพราะเริ่มตระหนักแล้วว่าคุณภาพที่อยู่ภายใต้การผลิตของตัวเองอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ชมอีกต่อไปแล้ว บางทีความหลากหลายของเนื้อหาก็เป็นปัจจัยกระตุ้นการตัดสินใจให้สมาชิกใหม่ด้วย 

ดีลยักษ์ของ Greyhound ก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง เพราะหลังจากหนังต้องเลื่อนวันฉายอย่างไม่มีกำหนดเพราะโควิด สตูดิโอก็ยังที่โปรแกรมที่ดีที่สุดให้กับมันไม่ได้ เลยเปิดช่องให้ Netflix และ Apple เข้ามาเสนอราคา และสุดท้ายก็จบกับ Apple ที่เปย์หนักกว่า ควักให้ 70 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 50 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น

ต่อเนื่องมาจากวิกฤตโควิด นอกจากจะทำให้ไลน์อัพหนังโรงรวนต่อเนื่องข้ามไปสองปีแล้ว Apple และผู้ให้บริการสตรีมมิ่งรายอื่นๆ ต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะหนังและซีรีส์ไม่สามารถถ่ายทำได้หลายเดือน หากมองไปถึงอนาคต แน่นอนว่าผู้ให้บริการเหล่านี้จะขาดคอนเทนต์ไปช่วงหนึ่งแน่นอน จึงจำเป็นต้องหาคอนเทนต์จากแหล่งอื่นมาอุดช่องว่างเหล่านั้นให้ได้ 

Greyhound เป็นหนังที่ทะเยอทะยานที่สุดของ ทอม แฮงคส์ แล้วก็ว่าได้ มันกำกับโดย อารอน ชไนเดอร์ (Get Low) และเขียนบทโดยแฮงคส์เอง ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยาย The Good Shephard ของ ซี เอส ฟอเรสเตอร์ โดยแฮงคส์รับบทเป็นกัปตันเคลาส์ ที่นำทัพต่อสู้กับเรือดำน้ำอูของกองทัพนาซี ซึ่งซุ่มโจมตีพวกเขาจากใต้น้ำ ขณะมุ่งหน้าสู่อังกฤษ ผกก.ชไนเดอร์บอกว่าหนังเรื่องนี้แทบจะกลั่นออกมาจากการรับบท “กัปตัน” มาทั้งชีวิตของแฮงคส์ ไม่ว่าจะเป็น Captain Phillips, Saving Private Ryan และ Sully ประกอบกับความหมกมุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองของเจ้าตัว (จนเกิดซีรีส์ Band of Brothers) จึงไม่แปลกหากมันจะทำให้แฮงคส์รักและคาดหวังกับหนังเรื่องนี้มากมาย

“ผมหัวใจสลาย” แฮงคส์บอกกับเดอะการ์เดียน “ผมไม่ได้โกรธ Apple หรอกนะ แต่คุณภาพของภาพและเสียงที่คุณจะได้รับจากการดูหนังเรื่องนี้มันคนละชั้นกัน จนน่าเสียดายถ้าคุณจะมีโอกาสดูมันแค่ในทีวีเท่านั้น”

A Hidden Life ผลพวงของการ(ไม่)อยู่เป็น

“ฉันยังจำวันแรกที่เราพบกันได้ดี คุณมองมาที่ฉันและทุกอย่างก็กระจ่างชัด… ชีวิตในตอนนั้นแสนเรียบง่าย ราวกับว่าไม่อาจมีปัญหาใดย่างกรายเข้ามาในหุบเขาของเราได้เลย”

หญิงสาวหวนระลึกถึงความหลังขณะสนทนากับสามีของเธอระหว่างมื้ออาหาร พร้อมกับถ้อยคำแผ่วเบาของเธอนั้นเองที่เราเห็นภาพของชายหนุ่มคนหนึ่งขับมอเตอร์ไซค์ไปบนถนนดินแคบๆ กลางทุ่งหญ้าเขียวขจี ก่อนจะตัดสลับไปยังภาพของหญิงสาวคนเดิมกำลังยืนขวยเขินอยู่ในผับประจำเมืองต่อหน้าผู้ชายคนนั้น…ที่ในกาลต่อมาจะกลายมาเป็นคู่แท้ผู้กำลังนั่งอยู่อีกฟากหนึ่งของโต๊ะอาหารในตอนนี้

โดยไม่ผิดเพี้ยน นี่คือสไตล์ที่เราคุ้นชินจากภาพยนตร์ของเทอร์เรนซ์ มาลิค ผู้กำกับชาวอเมริกันที่สร้างความฉงนฉงายให้กับผู้ชมมาอย่างยาวนาน ด้วยวอยซ์โอเวอร์พร่ำเพ้อล่องลอยอยู่เหนือภาพมุมกว้างที่ลื่นไหลสลับไปมาระหว่างผู้คน ทิวทัศน์ โลกธรรมชาติงามวิไล (และในบางครั้งก็ออกนอกจักรวาล!) การปะติดปะต่อกันของภาพ เสียง และถ้อยคำข้ามพื้นที่และกาลเวลาอย่างเป็นอิสระในหนังของมาลิคนั้น บางครั้งก็สุดแสนสะเปะสะปะจนทำคนดูเลิกล้มความตั้งใจที่จะทำความเข้าใจไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังชุด ‘ด้นสด-ไร้บท’ ในระยะหลังของเขาอย่าง To the Wonder (2012), Knight of Cups (2015) และ Song to Song (2017) ที่มักได้รับคำวิจารณ์ก้ำกึ่ง

ทว่าผลงานล่าสุดของเขาอย่าง A Hidden Life กลับต่างออกไป เพราะมันเป็นเรื่องแรกที่มาลิคหวนกลับมาสู่การทำหนังแบบมีบทหรือโครงสร้างอีกครั้ง โดยสร้างมาจากเรื่องจริงของชาวนาในออสเตรียผู้หนึ่งที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อนาซี ในขณะที่การปะติดปะต่อภาพในหนังยังคงลื่นไหล กระโดดจากชั่วขณะหนึ่งไปยังอีกชั่วขณะ แต่การเล่าเรื่องนั้นมีกลมเกลียวเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น มีการไล่เลี้ยงอารมณ์คนดูที่ทรงพลังขึ้น ทั้งยังมีการขบคิดประเด็นที่ทั้งชัดและคมคายมากกว่าเดิม เมื่อเทียบเคียงกับแค่ 3 เรื่องที่กล่าวไป ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่ผลงานคืนฟอร์มเรื่องนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังที่ดีที่สุดของมาลิคหลังจากผลงานปาล์มทองของเขาอย่าง The Tree of Life (2011)

เริ่มต้นด้วยฟุตเทจขาวดำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในยุคนาซีเรืองอำนาจ (ซึ่งถูกสอดแทรกมาเป็นระยะๆ ตลอดทั้งเรื่อง) ก่อนจะตัดมาสู่ฉากของชีวิตอันสวยงามเรียบง่ายดังที่ได้สาธยายไปข้างต้น มาลิคพาคนดูไปสัมผัสกับชีวิตอันแสนสุขของสามัญชนท่ามกลางหุบเขาตระหง่านของเซนต์ราเดอกุนด์ (St. Radegund) ประเทศออสเตรียปลายทศวรรษ 1930s คู่ผัวเมียฟรานซ์ เยเกอร์สเตเทอร์ (ออกุสต์ ดีห์ล) กับฟานนี (วาเลอรี พาคเนอร์) ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายตามประสาเกษตรกรชาวไร่ ในแต่ละวันพวกเขาช่วยกันทำงานในเรือกสวนไร่นา เย้าแหย่กันบ้างระหว่างงานหนัก พักผ่อนสังสรรค์กับเพื่อนบ้านเป็นครั้งคราวในบาร์ของหมู่บ้าน ไปโบสถ์เป็นเนืองนิจตามวิถีคริสตชน และเมื่อหมดวันอันเหนื่อยล้าก็คอยเจือจุนความรักแสนอบอุ่นให้แก่กันและให้กับลูกๆ ตัวน้อย

ทว่าภูเขาสูงใหญ่นั้นหาได้ปิดกั้นพวกเขาออกจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง ชีวิตสันโดษอันแสนสุขของคนตัวเล็กๆ อย่างพวกเขาต้องสั่นคลอนเมื่อออสเตรียเข้าสู่สงครามโลกครั้งสอง และฟรานซ์ผู้ยึดมั่นในศีลธรรมและมนุษยธรรมถูกเรียกตัวให้ร่วม ‘รับใช้ชาติ’ ซึ่งเข้าฝักฝ่ายเดียวกับนาซี

หนังสำรวจการหยัดยืนของคนธรรมดาๆ คนหนึ่งที่หวังทำสิ่งที่ถูกต้อง (หรืออย่างน้อยที่สุดคือหลีกเลี่ยงจากการทำสิ่งผิด) แม้มันจะสวนทางกับบรรยากาศของสังคมที่บีบคั้นให้ทุกคนคิดไปในทางเดียวกันหมด ฟรานซ์เชื่ออย่างสุดใจว่าตนไม่อาจมีส่วนร่วมในสงครามของนาซีได้ด้วยเพราะขัดกับหลักการที่ตนยึดมั่น ซึ่งความแน่วแน่นี้เองที่มาลิคพาคนดูไปติดตาม ว่าบนเส้นทางการดิ้นรนของมโนสำนึกนี้มีราคาค่างวดที่ต้องจ่ายมากมายแค่ไหน และในท้ายที่สุดยังคุณค่าใดต่อใครบ้าง

ฟรานซ์เชื่ออย่างสุดใจว่าตนไม่อาจมีส่วนร่วมในสงครามของนาซีได้ด้วยเพราะขัดกับหลักการที่ตนยึดมั่น ซึ่งความแน่วแน่นี้เองที่มาลิคพาคนดูไปติดตาม ว่าบนเส้นทางการดิ้นรนของมโนสำนึกนี้มีราคาค่างวดที่ต้องจ่ายมากมายแค่ไหน และในท้ายที่สุดยังคุณค่าใดต่อใครบ้าง

อาจกล่าวได้ว่ามาลิคเป็นคนทำหนังที่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ในหลายระดับ ไม่เพียงความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกัน หากยังเป็นความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าด้วย  โดยใน A Hidden Life นี่เอง การต่อต้านนาซีของฟรานซ์ได้ช่วยขับเน้นให้ความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้นมา

เมื่อฟรานซ์ปฏิเสธที่จะก้มหัวให้นาซี เขาจึงถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศต่อชาติและพงศ์พันธุ์ของตนเอง ทั้งหมู่บ้านที่เคยรักใคร่กลมเกลียวหันมาหมางเมิน เหยียดหยาม และตีตัวออกห่างจากทั้งตัวฟรานซ์กับครอบครัวของเขา การกลายมาเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาของสังคมทำให้ทั้งครอบครัวของฟรานซ์ต้องลำบากกว่าเดิมกับการเอาตัวรอดอย่างโดดเดี่ยวในเมืองเล็กๆ ที่ชาวบ้านล้วนมีความสัมพันธ์โยงใยแน่นแฟ้น ไม่ว่าจะผ่านการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการทำไร่นา หรือพิธีกรรมทางศาสนาที่รวมใจทุกคนในหมู่บ้านเข้าด้วยกัน

แน่นอนว่าบรรยากาศภายในครอบครัวเองก็ตึงเครียด ฟานนีใจสลายแต่พยายามทำความเข้าใจการตัดสินใจของคนรัก พี่สาวของเธอที่อยู่ร่วมชายคาก็กล่าวโทษฟรานซ์ที่ทำให้ทั้งครอบครัวตกที่นั่งลำบาก ส่วนแม่ของเขาทำใจไม่ได้เมื่อนึกถึงผลที่จะตามมาจากการแข็งข้อของลูกชาย การตัดสินใจยืนหยัดเพื่ออุดมการณ์จึงไม่เคยเป็นเรื่องง่าย ด้วยเพราะผลกระทบที่แผ่กระเพื่อมไปยังคนอื่นๆ เช่นเดียวกับที่การ ‘อยู่เป็น’ นั้นอาจไม่ได้หมายถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนๆ เดียวเสมอไป แต่ยังรวมถึงสายใยที่เรามีต่อคนสำคัญรอบตัวเราด้วย

แต่ภายใต้บรรยากาศของสังคมที่บีบคั้นให้มนุษย์ต้องทำในสิ่งที่คัดค้านกับหลักศีลธรรม เราล้วนต่างต้องเลือกให้ตัวเราเองในท้ายที่สุดว่าเราจะยอม ‘อยู่เป็น’ หรือ ‘อยู่ไม่เป็น’ สำหรับฟรานซ์นั้น ที่จริงแล้วก็ยังมีตัวเลือกอยู่บ้างที่เขาพอจะทำได้เพื่อเอาตัวรอดไปโดยไม่ให้มือตัวเองเปื้อนเลือด เขาอาจจะหนีทหารแล้วไปหลบอยู่ในป่าก็ได้ หรืออาจกล่าวคำสวามิภักดิ์ต่อฮิตเลอร์ไปอย่างส่งๆ แล้วทำงานในหน่วยพยาบาล แต่แน่นอนนั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาเลือก

แต่ภายใต้บรรยากาศของสังคมที่บีบคั้นให้มนุษย์ต้องทำในสิ่งที่คัดค้านกับหลักศีลธรรม เราล้วนต่างต้องเลือกให้ตัวเราเองในท้ายที่สุดว่าเราจะยอม ‘อยู่เป็น’ หรือ ‘อยู่ไม่เป็น’

แน่นอนว่ามนุษย์หาได้อยู่เพียงลำพังบนโลกใบนี้ เราอยู่อาศัยในหน่วยสังคมหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน หรือรัฐ ซึ่งน้ำหนักของหน้าที่ความรับผิดชอบที่เรามีต่อหน่วยเหล่านี้ล้วนแต่งต่างกันไป (จะตามค่านิยมของแต่ละคนหรือด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม) มาลิคครุ่นคิดถึงตัวตนของมนุษย์ไม่ใช่ฐานะสิ่งที่เป็นเอกเทศแยกขาดออกมาจากโลก หากแต่เป็นส่วนหนึ่งกับโลกรอบตัวของเขา สำหรับฟรานซ์ ความรับผิดชอบอันหนักอึ้งที่ไม่อาจละเลยได้เลยคือหน้าที่ในเชิงศีลธรรม ซึ่งปักหมุดตัวตนของมนุษย์ว่าเป็นใครและใช้ชีวิตแบบไหนบนโลกใบนี้ การรู้ผิดชอบชั่วดีและปฏิบัติมั่นตามหลักการนั้นทำให้เขาไม่อาจยอมก้มหัวให้นาซี ไม่แม้แต่จะยอมแสร้งทำทีว่าสวามิภักดิ์ต่อฮิตเลอร์ เพราะในใจเขารู้ดีว่าท้ายที่สุดคำปฏิญาณและการแสร้งทำจะยังผูกมัดจิตวิญญาณของตนให้ต้องแปดเปื้อนความชั่วร้ายของนาซีด้วยนั่นเอง

กล่าวได้ว่าการมีเข็มทิศทางศีลธรรมที่เถรตรงเช่นนี้สะท้อนความสัมพันธ์อันลึกซึ้งที่ฟรานซ์มีต่อพระเจ้า แต่คงไม่ถูกต้องหากจะลดทอนความลึกซึ้งดังกล่าวว่าเป็นเพียงความเคร่งครัดในศาสนา ในช่วงแรกๆ ที่ฟรานซ์เกิดข้อกังขาในจิตใจกับการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสงคราม เขาได้ไปปรึกษาพูดคุยกับบาทหลวงผู้ทรงศีล แต่คำตอบก้ำกึ่งที่ได้กลับมาก็หาได้ทำให้ตัวเขาสั่นคลอนในจุดยืนของตน แม้ศาสนา (ในฐานะของสถาบัน) รับรองให้ฟรานซ์เออออทำตามนาซีไปเพื่อเอาตัวรอดโดยไม่ถือเป็นบาปได้ แต่การไม่ยอมก้มหัวให้นาซีของฟรานซ์นั้นไปไกลกว่าเรื่องบุญบาปมากนัก

ทางเลือกและความยึดมั่นของฟรานซ์แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อพระเจ้านั้นไม่ได้จำเป็นต้องยึดโยงต่อสถาบันทางศาสนาเสมอไป นั่นเพราะเมื่อเจตจำนงเสรีเป็นสิ่งที่พระเจ้ามอบให้กับมนุษย์ การเลือกที่จะทำหรือไม่ทำบางสิ่งย่อมเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องตอบต่อพระเจ้า (ในใจของตนเอง) ให้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่ศาสนจักรหรือผู้รอบรู้ศาสนาคนไหนจะมาตอบแทนให้ได้

แม้จะมีหนทางมากมายที่จะอยู่เป็นได้โดยไม่ต้องแบกรับความผิดบาป แต่ผลพวงของการเอาตัวรอดเพียงเพื่อจะได้มีชีวิตต่อไปนั้นอาจเลวร้ายกว่าการอยู่ไม่เป็นมากนัก เพราะท้ายที่สุดมันคือการทรยศต่อสิ่งที่ฟรานซ์รู้อยู่เต็มอกว่าไม่ถูกต้อง การยึดศีลธรรมนำใจนั้นไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ฟรานซ์ใช้เพื่อยกตนเหนือพวกนาซี (แม้ในความเป็นจริง การมีจุดยืนทางศีลธรรมที่เหนือกว่านาซีนั้นเป็นเรื่องที่ควรทำอยู่แล้วก็ตาม) หากเป็นไปเพื่อตัวเขาเอง สิ่งที่ฟรานซ์เลือกนั้นคืออิสรภาพ เพราะแม้เขาจะสามารถคิดต่อต้านได้ตามใจต้องการตราบใดที่ยอมทำงานให้นาซี แต่นั่นย่อมไม่ใช่อิสรภาพที่แท้จริง อิสรภาพที่แท้จริงย่อมเป็นอิสรภาพที่จะคิด ที่จะพูดและทำอย่างที่คิด… อิสรภาพที่มาพร้อมความรับผิดชอบต่อหลักการมนุษยธรรม… อิสรภาพต่อการตกเป็นเครื่องมือในการทำสงครามไร้ศีลธรรม… อิสรภาพในการรักษาจิตวิญญาณของตนเอง…

แม้จะมีหนทางมากมายที่จะอยู่เป็นได้โดยไม่ต้องแบกรับความผิดบาป แต่ผลพวงของการเอาตัวรอดเพียงเพื่อจะได้มีชีวิตต่อไปนั้นอาจเลวร้ายกว่าการอยู่ไม่เป็นมากนัก เพราะท้ายที่สุดมันคือการทรยศต่อสิ่งที่ฟรานซ์รู้อยู่เต็มอกว่าไม่ถูกต้อง

เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ฟานนีผู้เป็นรักแท้เข้าใจได้ในที่สุด และเมื่อช่วงเวลาสุดท้ายมาถึง เธอก็ยอมรับการตัดสินใจของเขาและกล่าวคำอำลาชวนใจสลาย เรื่องทั้งหมดนี้ไม่ยุติธรรมต่อเธอและลูกๆ ตัวน้อย แต่ความรักที่กระจ่างชัดไม่เสื่อมคลายในใจเธอก็ทรงพลังมากพอ เธอไม่ตราหน้าฟรานซ์ว่าเห็นแก่ตัว หากเข้าใจว่าสามีไม่มีทางเลือกอื่น เธอจึงเลือกจดจำจิตวิญญาณที่ยังบริสุทธิ์ของฟรานซ์ในวันที่ร่างกายเขาโรยแรง จดจำมันไว้ไม่ต่างจากที่เธอยังจดจำภาพเขาบนมอเตอร์ไซค์ในวันแรกที่พวกเขาพบกันได้อยู่นั่นเอง

ตลอดทั้งเรื่องฟรานซ์เจอคำถามว่าความยึดมั่นถือมั่น (หรือความดื้อรั้น?) ของเขานั้นมีประโยชน์อะไร เขาไม่ได้มีเหตุผลทางการเมืองเท่ากับแรงจูงใจส่วนตัวล้วนๆ (ซึ่งกลับกลายมาเป็น ‘การเมือง’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยนั่นเอง) เขารู้ดีว่าคนตัวเล็กๆ อย่างเขาหยุดยั้งสงครามและการเข่นฆ่าด้วยตัวเองไม่ได้ ต่อให้เขาไม่ยอมก้มหัวสวามิภักดิ์แต่ฮิตเลอร์ก็หาได้สะทกสะท้านอะไร ความชั่วร้ายและเครื่องจักรสงครามของนาซีจะยังเดินหน้าต่อไป และชื่อของเขาคงถูกกลืนหายไปในกระแสธารของประวัติศาสตร์โดยไม่มีใครจดจำ (ซึ่งข้อนี้อาจจะไม่ค่อยตรงกับความจริงนัก หลักฐานก็คือการที่มีหนังเรื่องนี้ขึ้นมา)

ทว่า การยืนหยัดเพื่อความดีงามนั้นก็ใช่ว่าไร้ค่า เหมือนกับข้อความของจอร์จ เอลเลียต จาก Middlemarch ที่มาลิคหยิบยกมาแปะตอนท้ายเรื่อง (และเป็นที่มาของชื่อหนัง) ว่า “ความดีที่งอกงามบนโลกใบนี้บางทีก็ขึ้นอยู่กับการกระทำที่ไม่ถูกบันทึกบนหน้าประวัติศาสตร์ และเหตุที่สิ่งที่เราเผชิญอยู่ไม่ได้เลวร้ายเท่าที่มันอาจเป็นได้นั้น กว่าครึ่งหนึ่งเป็นเพราะบรรดาผู้ที่ใช้ชีวิตซ่อนเร้นอย่างสัตย์ซื่อไร้ผู้รู้จัก และพำนักอยู่ในสุสานอ้างว้างไร้ผู้ใดเยือน”

หนังของมาลิคเรื่องนี้จึงเชิดชูและยืนยันคุณค่าความดีงามอันแสนสามัญของบรรดาผู้ไร้ใบหน้าหรือชื่อเสียงเรียงนามบนบันทึกทางประวัติศาสตร์ เพราะพวกเขาคือผู้ยึดมั่นเพื่อสิ่งที่ถูกต้องในวันที่โลกดูทึมเทาด้วยความชั่วร้าย เพราะพวกเขาไม่ใช่แค่คนที่ ‘อยู่ไม่เป็น’ หากแต่เป็นผู้เลือกขัดขืนอย่างแข็งขันต่อหน้าทรราชย์ว่าจะ ‘ไม่อยู่เป็น’ ไม่ว่าท้ายที่สุดต้องเผชิญกับเคราะห์กรรมใดก็ตาม

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 9 ก.ค. 63

My Hero Academia : Heroes Rising กลายเป็นหนังใหม่เรื่องที่สองถัดจาก ‘พจมาน สว่างคาตา’ ที่ฉายในช่วงหลังจากปลดล็อคโรงหนัง และสามารถครองอันดับ 1 ได้สองสัปดาห์ติดต่อกัน ทั้งยังมีแนวโน้มว่าหนังมีสิทธิทำเงินแซงหรือเทียบเท่า ‘พจมาน สว่างคาตา’ (6.94 ล้านบาท) ที่ตอนนี้เป็นหนังทำเงินสูงสุดในช่วงหลังโควิดอีกด้วย …ขณะที่หนังใหม่ซึ่งเปิดตัวสูงสุดของเมื่อวานนี้ คือ Blood Quantum หนังซอมบี้คำวิจารณ์ดีจากแคนาดา เปิดตัวได้ 1.5 แสน และพอจะช่วยยืนยันได้ว่า ในช่วงที่ยังไม่มีหนังฟอร์มใหญ่มาเรียกคนดูเข้าโรง โอกาสได้ตกเป็นของหนังสยองฟอร์มเล็กมากขึ้น

รายได้หนังประจำวันที่ 9 ก.ค. 2563

1. My Hero Academia : Heroes Rising – 0.22 (5.12) ล้านบาท
2. Blood Quantum – 0.15 ล้านบาท
3. Kamen Rider Reiwa : The First Generation – 0.09 ล้านบาท
4. มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ – 0.09 (5.06) ล้านบาท
5. Our 30 Minute Sessions – 0.06 ล้านบาท
6. Mr.Jonses – 0.04 (0.82) ล้านบาท
7. เกมเซ่นผี – 0.04 (1.26) ล้านบาท
8. Onward – 0.04 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนับกลับมาฉายใหม่เท่านั้น
9. 32 Malasana Street – 0.03 (2.34) ล้านบาท
10. Jojo Rabbit – 0.03 (0.55) ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนับกลับมาฉายใหม่เท่านั้น

New Normal ของ “โรงหนังอิสระไทย” ปรับตัวอย่างไรเมื่อรายได้ลด – คนดูเปลี่ยนไป

หลังกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งของโรงหนังในไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. สิ่งที่ผู้ประกอบการโรงหนังต้องขบคิดอย่างหนัก คือการทำอย่างไรให้ผู้ชมตบเท้ากลับมาเข้าโรงเป็นปกติอีกครั้ง ภายใต้ข้อจำกัดของมาตรการ Social Distancing 

เช่นเดียวกัน ผู้ประกอบการโรงหนังอิสระอย่าง Bangkok Screening Room ที่เปิดบริการมาราว 4 ปี ก็ต้องเผชิญกับการปรับตัว ทั้งการลดจำนวนที่นั่งเหลือครึ่งเดียวจาก 50 ที่ รวมไปถึงหนังที่จะนำมาฉายเองก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

ศริญญา มานะมุติ Operations Manager และ 1 ในผู้ก่อตั้ง BKKSR พูดถึงการปรับตัวของโรงว่า แม้จะต้องลดจำนวนที่นั่งลงจนทำให้โอกาสสร้างรายได้หายไป จนต้องปรับโครงสร้างการจ้างพนักงานใหม่เพื่อลดค่าใช้จ่ายแล้ว ในแง่ของหนังที่นำมาฉายเอง ก็ได้รับผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะกับบรรดาโปรแกรม exclusive ที่โรงนำเข้ามาฉายเอง 

“เราก็พยายามต่อรองกับดิสทริบิวเตอร์หรือเจ้าของหนังในต่างประเทศ ซึ่งทางเขาก็เข้าใจในผลกระทบที่มันเกิดขึ้น ส่วนถ้าเจ้าไหนที่ดีลในแง่ค่าใช้จ่ายไม่ได้ ก็ต้องตัดสินใจยุบโปรแกรมคืนหนังไป เพื่อเซฟค่าใช้จ่าย

“ช่วงที่ผ่านมา มันมีบัฟเฟอร์ของกลุ่มคนดู ที่เขากังวลใจในโปรแกรมหนังที่มันเรียกร้องความสนใจจากผู้ชมมากๆ ซึ่งเขาก็จะเปิดใจ แต่ตอนนี้เราเข้าใจว่าทุกคนก็มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอยู่ และมีแนวโน้มที่จะเลือกหนังที่เขามั่นใจว่าจะสนุกจริงๆ มากขึ้น การเลือกหนังที่มาฉายในช่วงนี้มันเลยเป็นลักษณะหนังที่คนดูก็มั่นใจว่าจะชมและเราก็มั่นใจว่าจะเจ็บตัวกับมันน้อยที่สุด

“ตัวอย่างเช่นเรื่อง The Souvenir (2019, โจอันนา ฮ็อกก์) กับ BlacKkKlansman (2018, สไปค์ ลี) ก็จะเป็นหนัง exclusive ที่เราลงโปรแกรมในช่วงแรก ซึ่งจริงๆ มันมีเยอะกว่านี้ แต่บางเรื่องมันก็จะมี minimum guarantee (ค่าลิขสิทธิ์ขั้นต่ำที่ต้องจ่าย) ซึ่งทำให้เราต้องตัดใจเลือกแต่หนังที่มีแนวโน้มจะดึงคนดูมาให้ได้มากที่สุด และตัดหนังที่ดูจะมีความเสี่ยงสูงออกไปก่อน เพื่อที่อย่างน้อยที่สุดมันยังได้ทุนจากการซื้อหนังกลับมา คือเรื่องกำไรในตอนนี้ไม่ต้องพูดถึง”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดขายของโรงหนังอิสระอย่างโปรแกรม exclusive ยังคงมีผลกับการดึงผู้ชมกลุ่มขาประจำกลับมาเข้าโรงได้ ตัวอย่างเช่น A Hidden Life (2019 ,เทอร์เรนซ์ มาลิค) ที่ฉายสัปดาห์แรกเฉพาะที่ House สามย่าน ก็ทำรายได้ไปกว่า 7 หมื่นบาท เช่นเดียวกับบรรดาโปรแกรมพิเศษตามเทศกาลหรือห้วงเวลาที่ผู้คนสนใจ ตัวอย่างเช่นช่วง Pride Month ที่ทุกโรงต่างมีโปรแกรมพิเศษของตัวเอง เป็นต้น

“คือเรื่องของโปรแกรมตามอีเวนต์มันก็เปิดกว้างที่ทุกโรงจะทำได้ เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนก็รู้หมดว่าตอนนี้คือ Pride Month ในแง่ดีที่ทุกโรงมีโปรแกรม Pride Month ทำให้ผู้คนรับรู้ถึงความสำคัญของอีเวนต์เหล่านี้ ซึ่งเราก็พยายามจะหลีกเลี่ยงในการจัดโปรแกรมหนังให้มันชนกัน เพราะมันไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย คือโปรแกรมเหล่านี้มันก็มีการวางแผนล่วงหน้ามาระยะหนึ่ง ซึ่งเราคิดว่ากับโรงอื่นก็คงเช่นกัน แต่มันก็ไม่มีการสื่อสารระหว่างโรงหนังด้วยกันทั้งหมด มันเลยทำให้เราเองก็ต้องเตรียมแผนสองแผนสามไว้สำรองด้วย เช่นตอนแรกเราจะจัด Pride Month ไปอีกแบบนึง แต่พอเห็นอีกโรงวางโปรแกรมแบบนี้ เราก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นอีกแบบแทน”

แม้ทางโรงจะพยายามปรับตัวอย่างหนักเพื่อประคับประคองสถานะของโรง แต่ในช่วงเวลาที่ยังมั่นใจไม่ได้ว่า จะเกิดการกลับมาระบาดรอบที่ 2 ของโควิต-19 หรือไม่ รูปแบบหนึ่งที่โรงหนังอิสระทำเพื่อหาเงินทุนมากู้วิกฤติ คือการ Crownfunding ระดมทุนฉุกเฉินข่าวระดมทุนของโรงหนังอิสระแห่งเดียวในสิงคโปร์
https://www.scmp.com/lifestyle/entertainment/article/3081723/coronavirus-and-film-how-singapores-only-independent-cinema
ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของ BKKSR ก็เกิดจากทุนส่วนหนึ่งในรูปแบบของ Crownfunding เช่นกัน

“ช่วงที่เราระดมทุนตอนเปิด BKKSR บอกตรงๆ ว่ากลุ่มผู้ชมคนไทยที่สนใจร่วมบริจาคระดมทุนกับเรามีน้อยมากประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด คือเราเข้าใจธรรมชาติของคนไทยที่อาจจะยังลังเลในวิธีการ crownfunding เราเลยมีประสบการณ์จากตรงนั้นแล้ว

“เราเองก็พยายามจะดิ้นรนกับสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้น ซึ่งถ้ามันถึงจุดนั้นจริงๆ ก็ยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะหาทางออกยังไง ก็คงต้องพยายามอย่างถึงที่สุด ก่อนที่จะต้องยกธงขาวออกไป”

(จากซ้ายมาขวา) วงศรณ สุทธิกุลพานิช, ศริญญา มานะมุติ, นิโคลัส ฮัดสัน เอลลิส – สามผู้ก่อตั้ง Bangkok Screening Room

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 2-8 ก.ค. 63

สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์ของอนิเมะ โดยเฉพาะ My Hero Academia : Heroes Rising ที่ฉายเพียงสัปดาห์แรกก็จะแซงแชมป์เก่า ‘มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ’ แล้ว (เฉพาะใน กทม. เท่านั้น)

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 2-8 ก.ค. 2563

1. My Hero Academia : Heroes Rising – 4.90 ล้านบาท
2. มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ – 2.03 (4.97) ล้านบาท
3. เกมเซ่นผี – 1.22 ล้านบาท
4. Trolls World Tour – 1.11 (2.79) ล้านบาท
5. Mr.Jonses – 0.78 ล้านบาท
6. 32 Malasana Street – 0.68 (2.31) ล้านบาท
7. Akira – 0.68 ล้านบาท
8. Achoura – 0.66 ล้านบาท
9. Jojo Rabbit – 0.52 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายใหม่
10. Vivarium – 0.44 (1.29) ล้านบาท

Business Update : ควันหลง Cannes Virtual Market

แล้วตลาดหนังเสมือนของคานส์ หรือ Cannes Virtual Film Market ก็รูดม่านปิดฉากลงอย่างเงียบๆ เมื่อปลายอาทิตย์ของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมกับประสบการณ์ที่หลากหลายของผู้ซื้อและผู้ขาย อย่างไรก็ตามผู้จัดตลาดหนังเมืองคานส์ (Marche du Film) ก็ยืนยันว่างานประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยตลอดระยะเวลาหนึ่งอาทิตย์ของการจัดงาน (งานเริ่มวันที่ 22 และจบลงวันที่ 28 มิถุนายน) มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมากกว่าหนึ่งหมื่นคน (เทียบกับปีที่แล้วจำนวน 12,527 คน) โดยในจำนวนนี้มาจากภาคพื้นยุโรป 5,900 คน และอีก 1,500 คนมาจากอเมริกา นอกจากนี้ ตลอดทั้งงาน มีการฉายหนังออนไลน์แบบปิดเฉพาะให้ผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 1,235 ครั้ง ซึ่งถือว่าไม่เลวเมื่อเทียบกับงานในปีที่แล้วที่มีการฉายในหนังโรงให้กับผู้ซื้อดูทั้งหมด 1,464 ครั้งhttps://www.hollywoodreporter.com/news/cannes-declares-virtual-market-a-qualified-success-1301527

สำหรับผู้เขียน (ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกนับตั้งแต่ทำงานมาที่ไม่ได้เดินทางไปร่วมตลาดภาพยนตร์ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในโลกแห่งนี้) ได้มีโอกาสเข้าร่วมตลาดภาพยนตร์เสมือนจริงกับเขาด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ว่าไม่ได้เป็นแบบทางการ ที่เขียนว่าเป็นการเข้าร่วมงานแบบไม่เป็นทางการ ก็เนื่องจากว่า ผู้เขียนไม่ได้ลงทะเบียนจ่ายเงิน เพราะเล็งเห็นว่าในสภาพธุรกิจที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร การเลือกติดต่อกับผู้ขายที่คุ้นเคย และเชื่อใจได้ รวมถึงการใช้เวลาไปกับการหาบริษัทขายหนังที่มีสินค้าที่น่าสนใจจริงๆ น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า

และจากการที่ได้ร่วมงานตลาดหนังเสมือน (อย่างไม่เป็นทางการ) ของคานส์ในปีนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ รวมถึงได้มีโอกาสสำรวจความเป็นไปของธุรกิจภาพยนตร์ จนอดไม่ได้ที่จะนำมาแบ่งปันให้ผู้อ่าน (ที่สนใจแวดวงธุรกิจภาพยนตร์โลก) ดังนี้


1. ตลาดหนังเสมือน (Virtual market) ความจำเป็นชั่วคราวที่ยังไม่สามารถทดแทนตลาดจริง (Physical market) ได้

โดยคอนเซปต์หลักของตลาดหนังเสมือนคือ การนัดพบพูดคุยซื้อขายภาพยนตร์ผ่านระบบออนไลน์ โดยรูปแบบที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือการประชุมพูดคุยผ่าน zoom ปัญหาที่ผู้เขียนประสบได้แก่ ความแตกต่างกันของโซนเวลา โดยเฉพาะผู้ขายที่อยู่ในโซนยุโรปและอเมริกาที่มีเวลาห่างกัน 5-14 ชั่วโมง ทำให้บางครั้งการอาจเกิดความสับสนจนลืมเวลานัดได้ นอกจากนี้ความไม่เสถียรของระบบอินเทอร์เน็ตส่งผลให้การประชุมบางครั้งเกิดความไม่ราบรื่น อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับคุณูปการในภาพรวม ก็ต้องถือว่าปัญหาเหล่านี้เป็นเพียงปัญหาหยุมหยิมที่ไม่ส่งผลต่อการเจรจาทางธุรกิจเท่าใดนัก สิ่งที่ถือว่าเป็นข้อดีของตลาดเสมือนอย่างเห็นได้ชัดคือ ค่าใช้จ่ายที่ถูกลงอย่างมากมายเมื่อเทียบกับตลาดจริง โดยเฉพาะค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเช่าบูธ ค่าลงทะเบียนเข้าตลาด ฯลฯ ที่ไม่ต้องเสีย ขณะที่การเจรจาในตลาดเสมือน ค่าใช้จ่ายเพียงอย่างเดียวที่อาจต้องเสียคือค่าสัญญาณอินเทอร์เน็ต

แต่ถึงอย่างไร ในมุมมองของผู้เขียน ตลาดจริงยังคงมีความสำคัญในแง่ของการเป็นพื้นที่ในการพบปะเจรจาที่มีความสะดวกและมีความเป็นระบบ ผู้ซื้อผู้ขายไม่ต้องมากังวลเรื่องความแตกต่างของโซนเวลา เพียงแค่นัดเวลาตามที่ต้องการเท่านั้น และที่สำคัญ ตลาดจริงยังกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายภาพยนตร์ใหม่ๆ ที่มีศักยภาพทางธุรกิจในอนาคต กล่าวคือสำหรับผู้ขาย ตลาดจริง โดยเฉพาะตลาดใหญ่ๆ อย่างคานส์ จะกระตุ้นให้พวกเขาต้องพยายามเข็นโปรเจกต์หนังที่ดีที่สุดออกมาขาย ยิ่งหนังสร้างกระแสความฮือฮา (buzz) ในตลาดมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะขายทำกำไรก็มีสูง ขณะที่ตลาดเสมือนไม่สามารถกระตุ้นให้พวกเขาทำอย่างนั้นได้ หลายบริษัทจึงเลือกที่จะรอเปิดตัวโปรเจกต์ใหม่ๆ ในตลาดจริงถัดไป (ซึ่งหวังว่าจะเกิดขึ้น)

ส่วนผู้ซื้อ ตลาดจริงจะช่วยให้พวกเขาได้เห็นสินค้าในสภาพต่างๆ ตั้งแต่ยังอยู่ในขั้นพัฒนา ไปจนถึงหนังที่เสร็จแล้ว บางบริษัทจะเชิญผู้สร้าง ผู้กำกับมาให้ข้อมูลหนังที่กำลังจะสร้าง หรือกำลังอยู่ในขั้นตอนการสร้าง การที่ผู้ซื้อได้เข้าร่วม event ประเภทนี้จะช่วยทำให้เข้าใจสินค้ามากขึ้น และหากมีคำถามใดๆ เกี่ยวกับหนังก็สามารถถามผู้สร้างได้เลย ส่วนหนังที่เสร็จแล้ว การที่ผู้ซื้อได้มีโอกาสชมในโรงภาพยนตร์ที่ผู้ขายจัดไว้ ก็จะช่วยทำให้การตัดสินใจใดๆ มีประสิทธิภาพมากกว่าการดูผ่านช่องทางออนไลน์


2. ภาวะหนังพร้อมฉายล้นสต๊อก

จากการได้มีโอกาสพบปะบริษัทขายหนังหลายบริษัท ผู้เขียนพบว่า สิ่งที่เกือบทุกบริษัทมีเหมือนกัน คือหนังที่เสร็จพร้อมฉายค้างสต็อกเป็นจำนวนมาก หลายบริษัทเลือกขายแบบลดราคากระหน่ำซัมเมอร์เซลส์ แต่ปัญหาที่ผู้เขียน และผู้ซื้อรายอื่นๆ ต้องเจอคือ หนังเหล่านี้มีขนาดเล็กเกินไป ธรรมดาเกินไป และที่สำคัญ ยังไม่มีอนาคตว่าจะได้ฉายเมื่อไหร่ เพราะหนังส่วนใหญ่ก็ผลิตในประเทศที่สถานการณ์ของโรคโควิด 19 ยังไม่คลี่คลาย โรงภาพยนตร์ยังไม่มีกำหนดเปิด และถ้าโปรดิวเซอร์เลือกที่จะจัดฉายหนังเรื่องนี้ในช่องทาง Video on Demand มันก็เปล่าประโยชน์ที่ผู้ซื้อจะซื้อมาจัดจำหน่ายในโรงภาพยนตร์ เพราะไม่นานหลังจากที่หนังเหล่านี้ออกฉายในประเทศต้นทาง ลิงค์หนังแบบละเมิดลิขสิทธิ์ก็จะหาพบได้ทั่วไป ส่งผลให้มูลค่าทางการตลาดลดลง แม้ว่าจะสามารถผลักดันให้หนังฉายโรงได้ ก็แทบไม่คุ้มอยู่ดี ครั้นจะซื้อหนังเหล่านี้มาก่อน แล้วขายสิทธิต่อให้ช่องทางอื่นๆ เช่น โทรทัศน์ หรือ วิดีโอออนดีมานด์อื่นๆ แต่ช่องทางเหล่านี้ก็สร้างรายได้ไม่เท่ากับการจัดจำหน่ายทางโรงภาพยนตร์อยู่ดี และที่สำคัญไม่ใช่หนังทุกเรื่องที่ช่องทางเหล่านี้จะรับซื้อ


3. อนาคตที่ยังมองไม่เห็นของ presale projects

โปรเจกต์ประเภทนี้คือ โปรเจกต์ที่ยังไม่ได้เริ่มสร้าง แต่ผู้ขายเสนอขายสิทธิล่วงหน้าไปก่อน ในอดีต โปรเจกต์ที่มีขนาดใหญ่ มีทุนสร้างสูง มีดารานำขายได้ มักเป็นพระเอกและนางเอกของตลาดจริงอยู่เสมอ เพราะเป็นที่จับจ้องของผู้ซื้อก่อนที่ตลาดจะเริ่มเสียอีก ยิ่งโปรเจกต์มีศักยภาพมากเท่าใด การแข่งขันก็จะเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น แต่กับตลาดเสมือนในปีนี้ ดูเหมือนผู้ซื้อและผู้ขายต่างระมัดระวังตัวกันมาก เพราะผู้ขายเองก็ไม่รู้ว่า โปรเจกต์นี้จะได้สร้างเมื่อไหร่ โดยเฉพาะหนังอเมริกันที่เป็นที่ต้องการตลอดมา และในสภาวะที่ยังหาจุดคลี่คลายของวิกฤตโควิด 19 ไม่เจอแบบนี้ ไม่มีผู้ขายคนไหนสามารถตอบคำถามสำคัญได้ว่า หนังจะสร้างเสร็จเมื่อไหร่ และจะออกฉายตอนไหน การมุ่งจะขายโดยที่ยังไม่รู้ว่าอนาคตของหนังจะเป็นอย่างไร สุดท้ายอาจกลายเป็นผลเสีย หรือ backfire ของบริษัทขายในอนาคตก็ได้ เพราะถ้าหนังเกิดไม่ได้สร้างขึ้นมา ก็ต้องเสียเครดิตอย่างรุนแรง ส่วนผู้ซื้อก็ต้องระมัดตัวในการจับจ่ายมากเป็นพิเศษ กับสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ การซื้อโปรเจกต์ที่ยังไม่มีอนาคตมาอาจสร้างปัญหาได้ เพราะถ้าสุดท้ายหนังไม่ได้สร้าง ก็ต้องปวดหัวกับการยกเลิกสัญญา และต้องหาทางเรียกคืนเงินมัดจำให้วุ่นวาย (ในกรณีที่ต้องจ่ายมัดจำทันทีที่เซ็นสัญญา)


4. หนังอาร์ทต้องรอก่อน

เห็นได้ชัดเลยว่า การขาด event ในส่วนการประกวดภาพยนตร์ของคานส์ ทำให้ความน่าสนใจของหนังอาร์ทเฮ้าส์ (สำหรับผู้ซื้อภาพยนตร์หลายราย) ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะในอดีต การที่หนังในสายประกวดถูกพูดถึงในแง่บวกจากนักวิจารณ์และคนดู ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่หนังโดยอัตโนมัติ หนังในสายประกวดบางเรื่อง เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อถึงขนาดต้องมีการเสนอราคาแข่งขันเพื่อปิดดีลก่อนที่ผลประกาศรางวัลจะออกมาเสียอีก แต่มาปีนี้ สิ่งที่พิสูจน์ได้อย่างหนึ่งคือ ต่อให้หนังมีโลโก้คานส์ประทับอยู่ ก็หาได้สร้างความศักดิ์สิทธิ์ไม่ หากหนังเรื่องนั้นไม่ได้ถูกฉายในรอบการประกวด และถูกพูดถึงจากทั้งนักวิจารณ์และผู้ชม จริงอยู่แม้ว่าในลิสต์ของหนังที่ได้รับเลือกจากคานส์ปีนี้อาจมีหนังที่มีคุณค่าอยู่บ้าง แล้วก็ดูไม่แฟร์ที่ตัดสินคุณภาพหนังจากกระแส แต่นี่คือความจริงของธุรกิจหนังประเภทนี้ที่ทุกคนอาจต้องยอมรับ

อนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจเป็นการส่วนตัวของผู้เขียน จากการได้มีโอกาสพบปะกับผู้ขายในตลาดหนังเสมือนจริงครั้งนี้ ก็คือ รูปแบบการพูดคุยที่เหมือนกันแบบเป๊ะๆ เริ่มจากการไต่ถามถึงสารทุกข์สุขดิบของแต่ละฝ่าย ไล่ไปสถานการณ์ของธุรกิจภาพยนตร์ที่กำลังเผชิญอยู่ ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นหลักคือการนำเสนอสินค้า แล้วจบลงด้วยการให้กำลังใจซึ่งกันและกันว่าเราจะผ่านปีแย่ๆ ไปด้วยกัน รูปแบบของการพูดคุยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าปีนี้เป็นปีที่ท้าทายมากๆ ของธุรกิจภาพยนตร์ แต่เหนือสิ่งอื่นใด พวกเราต่างคาดหวังว่าในภาวะที่ New Normal กำลังเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่างในโลกใบนี้ ยังไงก็ขอให้รูปแบบเดิมๆ ของธุรกิจภาพยนตร์ยังคงอยู่บ้าง โดยเฉพาะการดำรงอยู่ของตลาดภาพยนตร์แบบจริง (Physical film markets)

สัมพันธ์จีน – อินเดียในมิติธุรกิจภาพยนตร์

เช้าของวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักข่าวทั่วโลกต่างรายงานข่าวการปะทะแบบไร้อาวุธของทหารจีนและอินเดีย ที่พรมแดนบริเวณเทือกเขาหิมาลัย ผลจากการปะทะกันทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิต 3 คน ก่อนที่ต่อมาจำนวนยอดผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 คน ส่วนทหารจีน แม้ว่าจะไม่มีรายงานออกอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีรายงานที่ไม่ได้การยืนยันว่า ทหารจีนเสียชีวิตประมาณ 40 คน ข่าวดังกล่าวสร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก เพราะแม้ว่าจีนและอินเดีย จะมีข้อพิพาทเรื่องหุบเขากัลวาน (Gallwan Valley) จนถึงขั้นทำสงครามกันในปี 1962 แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทั้งสองชาติก็ใช้การทูตเป็นเครื่องมือในการลดระดับความตึงเครียด จนทำให้ตลอดมาไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใหญ่ๆ เกิดขึ้นอีกเลยจนกระทั่งเช้าตรู่ของวันที่ 16 มิถุนายนhttps://www.aljazeera.com/news/2020/06/china-india-agree-reduce-border-tensions-deadly-clash-200623082203724.html

ผลจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าความขัดแย้งครั้งนี้อาจขยายวงไปสู่มิติอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองชาติมีความผูกพันอย่างแนบแน่นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายหลังจากที่ประธานาธิบดีสี่จิ้นผิงได้ทำข้อตกลงการค้าหลายฉบับกับนายกรัฐมนตรีนเรนทะระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดียในปี 2014 กับมิติทางด้านวัฒนธรรมที่มีภาพยนตร์เป็นตัวแปรสำคัญ

ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนขอให้ความสำคัญกับธุรกิจภาพยนตร์เป็นพิเศษ เนื่องจากมีบทบาทเด่นตลอดช่วงระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา และเป็นตัวแปรที่ชี้วัดความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในระดับประชาชนได้เป็นอย่างดี


เมื่อหนังอินเดียตีตลาดจีน

แม้ว่าโดยภาพรวมของความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ประเทศจีนจะได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศอินเดียเกือบสี่เท่า (โดยเฉพาะในปี 2019 จีนได้เปรียบดุลการค้าถึง 51.68 พันล้านเหรียญ)https://www.eoibeijing.gov.in/economic-and-trade-relation.php แต่สำหรับธุรกิจภาพยนตร์แล้ว อินเดียได้เปรียบจีนอยู่หลายช่วงตัว เนื่องจากในช่วงตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา หนังอินเดียได้รับความนิยมในประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง บางเรื่องประสบความสำเร็จเทียบเท่ากับหนังจากฮอลลีวูด เช่น หนังเรื่อง Dangal ซึ่งเกี่ยวกับชีวประวัตินักมวยปล้ำในอินเดียที่นำแสดงโดย อเมียร์ ข่าน ออกฉายในจีนในเดือน พฤษภาคม ปี 2017 ทำรายได้จากการฉายถึง 183 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ อเมียร์ ข่านยังเป็นขวัญใจของผู้ชมชาวจีน ถึงขนาดตั้งสมญานามให้เขาว่า Mishu ซึ่งมีความหมายว่า คุณอา (uncle) ในภาษาจีน แถมแฟนเพจของเขาในเว็บไซต์ Sina Weibo ยังมีผู้ติดตามถึง 1.2 ล้านคนhttps://www.globaltimes.cn/content/1166842.shtml

ปราสาท เชทตี ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์อินเดียเคยให้ความเห็นกับนิตยสาร Hollywood Reporter ถึงเหตุผลที่หนังอินเดียได้รับความนิยมในประเทศจีนไว้ว่า “ทั้งสองประเทศต่างมีค่านิยมที่คล้ายกัน เช่น การให้ความสำคัญกับครอบครัว การศึกษา และหน้าที่การงาน นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังมีประวัติศาสตร์ทางด้านวัฒนธรรมที่ฝังลึกยาวนาน”https://www.hollywoodreporter.com/news/how-bollywood-became-a-force-china-1111394

อย่างไรก็ตาม ในมุมกลับ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับหนังอินเดีย กลับไม่เกิดขึ้นกับหนังจีนในประเทศอินเดีย เหตุผลสำคัญมาจากการที่ผู้ชมอินเดียยังให้นิยมดูหนังที่ผลิตในประเทศอยู่ แม้ขนาดหนังฟอร์มใหญ่ของฮอลลีวูดอย่างค่ายมาร์เวล ก็ยังไม่ติดอันดับหนึ่งในห้าหนังทำเงินในประเทศอินเดีย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่หนังจากประเทศจีนจึงได้รับความนิยมในระดับหนึ่งเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นหนังแนวการต่อสู้ที่นำแสดงโดยดาราชื่อดังอย่างแจ็คกี้ ชาน


Awara และ Caravan สองหนังอินเดียที่สานสัมพันธ์

Awara (1951) และ Caravan (1971)

แม้ว่า Dangal จะได้รับการบันทึกว่าเป็นหนังอินเดียที่ทำรายได้มากที่สุดในประเทศจีน แต่ความนิยมในหนังอินเดียของชาวจีนไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ หากแต่ย้อนกลับไปในปี 1955 อันเป็นปี 7 หลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีนก่อตั้งขึ้นเลยทีเดียว โดยในปีนั้นภาพยนตร์เรื่อง Awara ซึ่งกำกับโดยผู้กำกับชื่อดังราช กาปูร์ ได้ถูกนำเข้ามาฉายในประเทศจีน และสามารถดึงผู้ชมเข้าโรงภาพยนตร์ได้กว่า 4 ล้านคน ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกนำกลับมาฉายใหม่อีกครั้งหลังการปฏิวัติวัฒนธรรมในปี 1978 และสร้างสถิติด้วยจำนวนผู้ชมที่ซื้อตั๋วเข้าชมกว่า 40 ล้านคน Awara ไม่เป็นเพียงภาพยนตร์อินเดียที่อยู่ในใจชาวจีนจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพยนตร์ที่เหมาเจ๋อตุงชื่นชอบเรื่องหนึ่งhttps://en.wikipedia.org/wiki/Awaara

แต่สถิติดังกล่าวได้ถูกทำลายลงในปีถัดมา เมื่อบริษัท Shanghai Film Dubbing Studio ซึ่งเป็นบริษัทภาพยนตร์ของรัฐบาลได้นำภาพยนตร์เรื่อง Caravan หนังเก่าในปี 1971 ว่าด้วยเรื่องราวของหญิงสาวจากครอบครัวเศรษฐีที่ออกตามล่าล้างแค้นคนที่ฆ่าพ่อและสามีของเธอ ออกตระเวนฉายทั่วประเทศ ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ว่ากันว่ามีผู้ชมซื้อบัตรเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้กว่า 300 ล้านใบ และเพลงหลายเพลงในหนังได้รับความนิยมจากผู้ชมชาวจีน และยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนจนถึงปัจจุบันhttps://www.globaltimes.cn/content/1166842.shtml

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นความนิยมในภาพยนตร์อินเดียในประเทศจีนค่อยๆ ลดลง ประกอบกับนโยบายการจำกัดการนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศ หรือ ระบบโควตาที่ประกาศใช้กลางทศวรรษที่ 1990 ที่กำหนดให้มีการนำเข้าหนังต่างประเทศได้ปีละ 10 ยิ่งทำให้โอกาสที่หนังอินเดียจะสอดแทรกเข้ามาเป็นหนึ่งในโควตาเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่ต้นทศวรรษที่ 2010 เมื่อภาพยนตร์เรื่อง 3 idiots (2009) ได้สร้างปรากฏการณ์ “อเมียร์ ข่าน” ขึ้น ด้วยการทำรายได้มากกว่า 3 ล้านเหรียญ ทั้งที่หนังออกฉายมาแล้วเป็นเวลา 2 ปี และแผ่นดีวีดีเถื่อนสามารถหาได้ทั่วไปตามท้องตลาด หลังจากนั้น หนังอินเดียก็ผ่านโควตาได้รับเลือกเข้ามาฉายมากขึ้น และได้รับการตอบรับจากผู้ชมมากขึ้น อนึ่งนอกจากอเมียร์ ข่านแล้ว ชารุค ข่านก็เป็นดาราอินเดียอีกคน ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากผู้ชมชาวจีน


ข้อตกลงความร่วมมือในด้านการผลิตภาพยนตร์ปี 2014

ปี 2014 ผลจากความสำเร็จของการจัดจำหน่ายภาพยนตร์อินเดียในประเทศจีน ได้ทำให้ทั้งรัฐบาลจีนและอินเดียเล็งเห็นช่องทางการกระชับความสัมพันธ์ทั้งในเชิงการทูตและธุรกิจ จึงได้จัดให้ ภาพยนตร์” ถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงทวิภาคีทางการค้าหลายๆ ข้อที่รัฐบาลทั้งสองประเทศได้เซ็นร่วมกัน ระหว่างที่ประธานาธิบดีสี่จิ้นผิงเดินทางมาเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน ปี 2014 ในส่วนข้อตกลงความร่วมมือด้านธุรกิจภาพยนตร์ รัฐบาลทั้งสองประเทศ ตกลงกันว่าจะร่วมผลิตภาพยนตร์ด้วยกันhttps://economictimes.indiatimes.com/news/economy/foreign-trade/india-china-to-ink-film-production-pact-during-xi-jinpings-visit/articleshow/42188070.cms

Zhang Hongsen ผู้อำนวยการของสำนักภาพยนตร์ (Film Bureau of China) ได้กล่าวถึงความคาดหวังต่อการร่วมมือกันของภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศไว้ว่า “ประเทศทั้งสองต่างมีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมของประเทศทั้งสองกำลังเชื่อมต่อกันภายหลังจากข้อตกลงฉบับนี้มีผล”

ในขณะที่ อาจิตต์ ฐากูร (Ajit Thakor) ซีอีโอของ บริษัท Eros Production มองว่าเป้าหมายสำคัญของการร่วมมือกันของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกสองประเทศแรกคือ การพาหนังเข้าถึงตลาดที่มีผู้ชมรวมกัน สองพันห้าร้อยล้านคนเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงค่อยพุ่งเป้าไปที่ตลาดตะวันตก “ถ้าหนังร่วมทุนเหล่านี้ประสบความสำเร็จในทั้งอินเดีย และจีน มันก็ควรจะไปฉายในที่ต่างๆ ทั่วโลกพร้อมกับซับไตเติ้ล หรือไม่ก็ฉบับพากย์ภาษาอังกฤษ”https://www.screendaily.com/production/china-india-co-productions-a-golden-opportunity/5109969.article

ผลพวงจากข้อตกลงดังกล่าว ทำให้มีการร่วมผลิตภาพยนตร์ระหว่างกันของประเทศทั้งสอง ตามมาหลายเรื่อง อาทิ Monk Xuan Zang (2015)https://www.hollywoodreporter.com/news/india-china-coproduction-monk-xuan-795829 ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระจีนในศตวรรษที่ 7 ที่เดินทางจาริกไปยังอินเดีย เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท China Film Group และ Eros Production นำแสดงโดยหวังเสี่ยวหมิง และ Kungfu Yoga (2017) หนังแอ็กชันโดยผู้กำกับสแตน ตงที่ผสมผสานระหว่างกังฟูซึ่งเป็นตัวแทนวัฒนธรรมจีน และโยคะซึ่งแทนวัฒนธรรมอินเดีย นำแสดงโดย แจ็คกี้ ชาน (เดิมทีเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท Taihe Entertainment ของจีน กับ Viacom 18 ของอินเดีย แต่ต่อมาบริษัทอินเดียถอนตัว เพราะหนังนำเสนอมุมจีนมากเกินไป)http://chinafilminsider.com/film-review-kung-fu-yoga-jackie-chans-chinese-new-year-gift/ รวมถึง โปรเจกต์ The Jewel Thief หนังแอ็กชัน โดยผู้กำกับอินเดีย สิทธารถ อนันด์ (Siddharth Anand) และ The Zookeeper หนังทุน 25 ล้านเหรียญ ที่ว่าด้วยเรื่องราวของเจ้าหน้าที่ดูแลสวนสัตว์ของอินเดียที่ต้องเดินทางมาตามหาหมีแพนด้าในเมืองจีน กำกับโดย กาบิร ข่าน (Kabir Khan) ที่เดิมมีกำหนดจะสร้างตั้งแต่ปี 2018 แต่จนถึงปัจจุบันยังอยู่ในขั้นพัฒนาอยู่http://m.china.org.cn/orgdoc/doc_1_29302_1245467.html

Kungfu Yoga (2017)

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ที่ราบรื่นระหว่างจีนและอินเดียในมิติของธุรกิจภาพยนตร์ต้องมีอันสะดุดเมื่อเข้าสู่ปี 2020 เริ่มตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โควิด 19 ในช่วงเดือนมกราคม ที่ทำให้ธุรกิจบันเทิงในจีนทุกภาคส่วนต้องหยุดชะงักลง หนังอินเดียบางเรื่องที่ถูกวางคิวฉายในประเทศจีนต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เช่น หนังเรื่อง Super 30 โดย ฤติก โรศัน (Hrithik Roshan) ซึ่งเดิมมีกำหนดว่าจะฉายช่วงหลังวิกฤตโควิด 19 แต่ก็ยังไม่มีกำหนดที่แน่นอน เพราะโรงหนังในจีนยังคงเลื่อนเปิดอย่างไม่มีกำหนดhttps://www.theweek.in/news/entertainment/2020/04/13/hrithiks-super-30-to-be-1st-bollywood-film-released-in-china-post-covid-19-crisis.html และเมื่อเสริมกับเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างทหารอินเดียและจีนที่หุบเขากัลวาน ยิ่งทำให้ความกังวลว่าความสัมพันธ์ในมิติภาพยนตร์อาจได้รับผลกระทบไปด้วย “เนื่องจากภาวะโควิด 19 ตลาดหนังทุกประเทศรวมทั้งจีนประสบภาวะชะงักงัน ผู้กำกับภาพยนตร์รายหนึ่งที่ไม่ยอมเปิดเผยชื่อกล่าว “ผมไม่คิดว่ามีบริษัทสร้างภาพยนตร์รายไหนคิดถึงการฉายหนังที่นั่นจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น อีกทั้ง ยิ่งกับสถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้ด้วย ผมว่าโปรดิวเซอร์หลายรายน่าจะพยายามเลี่ยงการจัดฉายหนังที่จีนนะ”https://www.livemint.com/news/india/bollywood-may-shun-chinese-market-for-now-11592713057715.html

ถึงตอนนี้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศอินเดียกับจีนยังไม่ดีขึ้น แม้ว่าจะมีความพยายามเจรจาทางการทูตก็ตาม ล่าสุดชาวอินเดียจำนวนมากประกาศบอยคอตสินค้าจีนhttps://www.theguardian.com/world/2020/jun/18/indians-call-for-boycott-of-chinese-goods-after-fatal-border-clashes ขณะที่รัฐบาลอินเดียได้สั่งแบนแอพพลิเคชันบนมือถือของจีนกว่า 60 รายซึ่งรวมถึงแอพ Tik Tok และ WeChathttps://www.nytimes.com/2020/06/29/world/asia/tik-tok-banned-india-china.html แม้ว่าถึงตอนนี้ ยังไม่มีท่าทีตอบโต้จากภาคประชาชนและรัฐบาลจีนอย่างเด่นชัดเท่าไรนัก แต่เมื่อนับผลประโยชน์ที่อินเดียได้รับจากจีน คงไม่มีอะไรที่เปราะบางเท่ากับธุรกิจภาพยนตร์อีกแล้ว คำถามสำคัญที่อาจสร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนภาพยนตร์ของทั้งสองชาติ ก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นหากภาพยนตร์อินเดียต้องถูกห้ามฉายในประเทศจีนต่อไป และจะเกิดอะไรขึ้นกับโปรเจกต์ที่เป็นผลพวงจากข้อตกลงร่วมสร้างภาพยนตร์ของจีนและอินเดียที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2014 คำตอบของทุกคำถามล้วนแต่อยู่ในสายลม

เอกชัย ศรีวิชัย ในวันที่ภาษาถิ่นไม่มีอยู่จริง

ตอนที่รู้ว่า เอกชัย ศรีวิชัย จะกำกับ เจนนี่-ลิลลี่ ได้หมดถ้าสดชื่น และ ครูเต้ย อภิวัฒน์ ศิลปินไอดอลวัยรุ่นที่สร้างชื่อเสียงกัมปนาทบนโลกออนไลน์ ในหนัง ‘มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ’ ผมยังแอบตั้งคำถามอยู่ลึกๆ ว่าเอกชัยที่มีสถานะเป็นซูเปอร์สตาร์แดนใต้รุ่นใหญ่ จะสามารถทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมสมัยใหม่ด้วยความเต็มใจแค่ไหนกัน โดยเฉพาะเมื่อเราเทียบกับงานกำกับเรื่องก่อนหน้าของเขาทั้ง ‘เทริด’ และ ‘โนราห์’ ที่ล้วนพูดถึงการต่อสู้ของวัฒนธรรมพื้นบ้านเก่าแก่ ในโลกซึ่งหมุนไปตามความเร็วของไฮสปีดอินเทอร์เน็ต 

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ไม่เพียงทำให้เราได้รู้ว่านอกจากเอกชัยจะเปิดใจรับวัฒนธรรมสมัยใหม่แล้ว บางเศษเสี้ยวของความคิด ผมยังเห็นว่ามุมมองของเขาที่มีต่อโลกนั้นก้าวทันและอาจจะล้ำหน้าอย่างน่าประหลาดเสียด้วยซ้ำไป

โอกาสทำหนังและโจทย์ใหญ่ เปิดทางให้เด็กรุ่นใหม่เฉิดฉาย

“ผมทำหนังมาสองเรื่อง และที่ประสบความสำเร็จคือ ‘เทริด’ ซึ่งเป็นหนังใต้แท้ๆ พอเราดึงขึ้นมาแมส อย่าง ‘โนราห์’ มันกลับไม่ประสบความสำเร็จในวงกว้าง แต่มันยังคงไปประสบความสำเร็จในใต้อีก เท่ากับว่าเราประสบความสำเร็จในใต้เบิ้ลกันสองรอบแล้ว ก็เลยคิดว่าเมื่อมีคนดูหนังที่อยู่ต่างจังหวัด ต่างอำเภอ เราก็ควรจะทำงานที่ใกล้ตัวเขา อย่างทุกวันนี้ หนังที่ขายกลุ่มคนภาคกลางอาจจะเป็นเรื่องไกลตัวคนดูอำเภอสิชล นครศรีธรรมราช เราพยายามจะบอกให้คนไทยได้รู้ว่ามีหนังไทยทำกันเยอะแยะมากมาย ทุกกลุ่มช่วยกัน ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องมามองหนังไทยของเราว่าจะต้องมาวางเอาไว้ตรงไหน ถ้างั้นผมอยู่ถูกที่ถูกทางของผมดีกว่า คือภาคใต้”

เอกชัยได้โอกาสทำหนังอีกครั้งจากค่าย M39 ทว่าความท้าทายใหม่ของเขาคือโจทย์จากสตูดิโอให้ลองร่วมงานกับศิลปินแดนใต้ที่กำลังมาแรงเจ้าของเพลง ‘เลิกคุยทั้งอำเภอ เพื่อเธอคนเดียว’ 

แม้ว่าจะเป็นศิลปินภาคใต้เหมือนกัน แต่คนที่บ่มเพาะชื่อเสียงมาหลายสิบปี จะไปกันด้วยดีกับศิลปินที่การันตียอดวิวบนยูทูบ 300 ล้านวิวได้แค่ไหนกัน

“พอได้โจทย์มาก็คิดเลยว่าผมจะเอาเด็กสองคนนี้ไปวางไว้ตรงไหน เราจะส่งเด็กรุ่นใหม่ออกไปเดินข้างหน้า ผ่านวิธีคิดและการจัดการแบบเรา ทีนี้พอเราได้ เจนนี่ ลิลลี่ มาแล้ว ก็ไปหาต่อว่ามีใครอีก ชวนมาให้หมด ไหนๆ เราก็มาทางนี้แล้วต้องไปให้สุดเลย มันอาจจะง่ายหน่อยคือเด็กศิลปินทางภาคใต้จะคิดกับพี่เอกเหมือนพ่อคนหนึ่ง และเราก็เหมือนเป็นไอดอลของพวกเขาอยู่แล้ว เมื่อเราติดต่อไปก็ไม่มีใครดื้อกับพี่เอกเลย ถ้าจะไล่ลำดับคือถัดจากรุ่นพี่เอก ก็จะเป็นหลวงไก่ บ่าววี ถัดจากหลวงไก่ บ่าววี ก็จะเป็นเด็กรุ่นนี้” 

เมื่อได้นักแสดงนำที่เป็นขวัญใจวัยรุ่นอยู่ในมือแล้ว แน่นอนว่าหนังที่เอกชัยต้องทำก็คือหนังวัยรุ่น มันจึงย้อนกลับมาสำรวจท่าทีของเอกชัยอีกรอบว่าสิ่งที่เขาจะสื่อสารกับวัยรุ่นควรเป็นอย่างไร

“จุดเริ่มต้นมันอยู่ที่ว่า เราจะสะท้อนตัวตนของเด็กออกมา หรือเราจะเอาเด็กมาเปลี่ยน ผมคิดแว้บแรกเลย เราจะไม่เปลี่ยนเด็ก คาแรกเตอร์เป็นแบบไหน ใส่ตามนั้นเลย ผมเลือกให้นางเอกเป็นแบบที่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เป็น คนไปดูหนังก็จะรู้สึกว่าเหมือนเราเลย ก็เลยใส่คาแรกเตอร์ไปให้นั่งฉีกแข้งฉีกขา ผู้หญิงก็จีบผู้ชายเลย ไม่รู้ว่าสังคมจะรับหรือเปล่า แต่คนดูส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น มาแอ๊บนั่งพับเพียบเยี่ยวมันไม่มีหรอก ถ้าเมื่อก่อนนักร้องผู้หญิงร้องว่าอยากมีสามีนี่คนด่าตายเลยนะ ซึ่งเพลงมันก็สะท้อนสังคมน่ะแหละ คนบริโภคแบบนี้ แล้วอีกอย่างคือตอนผมถ่ายหนังแล้วมีเด็กมาเต้นอยู่ข้างๆ เวที ผมชี้ให้ทุกคนดูว่าทำไมนางเอกผมถึงแก่นขนาดนี้ เด็กสามขวบเต้นกระเด้าๆ นี่คือความจริง

“เราอย่าไปสร้างบรรทัดฐานว่าอันนั้นดีหรือไม่ดีแล้วไปใส่กรอบเด็ก ขอโทษครับ มือถืออยู่ในมือเด็ก แค่พิมพ์เข้าไปว่าท่าหมาโก้งโค้ง มันขึ้นมาหมดเลยครับ ทีนี้เราจะบอกว่าสังคมแบบนี้มันฟอนเฟะก็ไม่ได้อีก มันเป็นภาพจริง

“ในความเป็นคนทำหนังมันก็ย่อมมีการชี้ผิดชี้ถูกตามความคิดของเรา แต่เราก็มีหน้าที่แค่บอกว่าอันนี้เผ็ด อันนี้จืด อันนี้ขม เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปบอกให้เขากินแบบไหน เด็กต้องเลือกเอาเอง ถ้าเมื่อไหร่ที่เราต้องเลือกว่าต้องกินเผ็ดหรือต้องกินจืดตลอดเวลา สมองก็จืดตาม แล้วก็จืดทุกอย่าง นำหน้าใครไม่ได้ ต่างประเทศที่เขาไปไกลกว่าเราก็เพราะว่าเขาไม่กำหนดตรงนี้ไง ใครจะกินเผ็ด กินขม กินเหลือง กินขาว กินดำ กินแดง เรื่องของคุณ แต่มันก็ต้องมีบริบทที่จะบอกว่าอันนี้มันก้าวล่วงคนอื่นนะ ทำอยู่ในกรอบของตัวเองแล้วทำให้สุดโต่ง ในหนังเรื่องนี้สอนไว้หมด อาจจะผ่านตัวผม ผ่านคนรอบข้าง ถามว่ามันผิดหรือถูกผมไม่รู้ ผมแค่ทำหน้าที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมปัจจุบันเขาอยู่กันอย่างนี้

“สิ่งที่พี่อยากเห็นคือทุกคนยืนมองกระจก เราเป็นสิวเราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าหน้าเราเป็นสิว วันนี้เราแก่ไปมากเราก็ปฏิเสธไม่ได้เพราะกระจกมันบอกเราหมดเลย หนังเรื่องนี้ก็เหมือนกัน ผมกำลังสะท้อนให้คุณเห็นผ่านกระจกว่าหน้าคุณเป็นสิว แล้วคุณจะแก้มันยังไง”

หนังขวัญใจชาวใต้ แต่ตั้งใจสลายพรมแดน 

หนึ่งในปัจจัยที่เรามองว่าเป็นส่วนผสมที่น่าสนใจ คือการเลือก ครูเต้ย อภิวัฒน์ ซึ่งเป็นศิลปินไอดอลอีสานมาเล่นหนังใต้ จุดเริ่มต้นมาจากการที่วันหนึ่งเอกชัยเห็นคนมารอดูการแสดงของครูเต้ยที่โรงเหล้าแห่งหนึ่งจนเกิดการจลาจลย่อมๆ เขาเลยเล็งเห็นพลังดาราจากศิลปินคนนี้ ทุกอย่างผ่านกระบวนความคิดที่ไม่ซับซ้อน แต่การตีความบทบาทและหน้าที่ของครูเต้ยในหนังเรื่องนี้ต่างหากที่ชวนคิดต่อ

“ตั้งแต่มีโซเชียลมีเดีย มันตัดขาดพรมแดนเรื่องภาษาไปนานแล้ว เมื่อก่อนเพลงใต้ก็อยู่ใต้ เพลงอีสานก็อยู่อีสาน เพลงเหนือก็อยู่เหนือ เพราะมันยังไม่มีโซเชียล แต่ตอนนี้เราดูหนังอเมริกาพร้อมกันทั้งโลก คนที่เชียงใหม่ไปเที่ยวน้ำตก ณ เวลานี้ คนปัตตานีก็เห็น เพราะฉะนั้นเลยรู้สึกว่าโซเชียลมันทำลายอาณาเขตของภาษา ผมกำลังจะสื่อสารว่าคนอีสานก็สามารถทำมาหากินกับคนใต้ได้ ก็เอาครูเต้ยไปอยู่บ้านคณะรำวงของทางใต้ แต่ในขณะเดียวกันผมที่เป็นผู้นำทางวัฒนธรรมที่ก็รู้ภาษาอีสานแบบครูเต้ย ครูเต้ยก็พูดอีสานในภาพยนตร์ นางเอกก็พูดกลางสำเนียงทองแดง คือพยายามให้เห็นว่าความหลากหลายของภาษามันไม่มีพรมแดน

“ผมอาจจะโดนด่าเรื่องภาษาพูด เพราะผมไม่ได้ใช้ภาษาใต้ แต่ใช้ภาษากลางสำเนียงใต้ ซึ่งเด็กวัยรุ่นเดี๋ยวนี้จะภาคไหนๆ เขาก็พูดภาษากลางสำเนียงท้องถิ่นทั้งนั้น ต้องทำความเข้าใจนะว่าทุกวันนี้เด็กกรุงเทพฯ กับเด็กที่อำเภอกงหรา (จ.พัทลุง สถานที่ถ่ายทำหนัง) เขาเห็นและเข้าใจพร้อมกัน แต่รับความรู้สึกแตกต่างกัน เพราะเด็กที่กงหราก็รู้จักชาบูเหมือนกับเด็กที่กรุงเทพฯ แต่อาจยังไม่เคยเห็นของจริง พารากอนเขาก็รู้จักแต่เขาไม่เคยมา ในขณะเดียวกันเด็กในพารากอนก็รู้จักกงหราได้ไม่ยาก แต่ไม่เคยไปไง รู้เห็นพร้อมกันแต่ประสบการณ์ต่างกัน 

“เทคโนโลยีมันเข้าถึงเหมือนกันหมด ไวไฟ สี่จี มีเหมือนกัน เด็กใต้ดูหนังต่างประเทศได้พร้อมเด็กกรุงเทพฯ นี่แหละคือสิ่งที่อยากนำเสนอในหนัง”

MIDNIGHT CINEMA 03 : Ju-On Origins ประวัติศาสตร์ของความรุนแรง

0

คำว่า Ju-On อาจแปลได้ว่า ‘คำสาปที่เกิดจากแรงอาฆาตของคนที่ต้องตายไปพร้อมกับความเคียดแค้น’ เราอาจแบ่งมันออกได้เป็นสองคำนั่นคือคำว่า ‘คำสาป’ และความ ‘อาฆาต’

Ju-on สองภาคแรกออกฉายในปี 2000 โดยทั้งสองภาคเป็นหนังที่ทำตรงลงวิดีโอ (V-Cinema) ที่มักถ่ายทำง่ายๆ ถูกๆ โดยมากใช้กล้องวิดีโอแทนที่จะเป็นฟิล์ม โดย Takashi Shimizu หนัง V-Cinema หนังเป็นเหมือนภาคขยายจากหนังสั้นก่อนหน้าสองเรื่องก่อนหน้าของเขาเองนั่นคือ Katasumi และ 4444444444 (1989) ที่เล่าเรื่องของนักเรียนหญิงและนักเรียนชายที่หายตัวไปหลังจากโดนผีเด็กชายตัวขาวโพลนหลอก

Ju-on สองภาคแรกมีชื่ออังกฤษว่า The Curse มันเล่าเรื่องของบ้านเดี่ยวสองชั้นแห่งหนึ่งในโตเกียว บ้านที่ไม่ว่าใครที่เข้าไปในบ้านก็จะต้องคำสาป ไม่ว่านายหน้าอสังหาริมทรัพย์ พวกนักเรียน หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผัวเมียที่ย้ายเข้าไปใหม่ ทุกคนจะรู้สึกถึงความประหลาดของบ้านที่ดูเผินๆ เหมือนบ้านทั่วไป หากก็ดูผิดประหลาด บ้านที่มิติเวลาเหลื่อมซ้อน และที่สุดต้องประสบพบเจอกับผีสาวตัวขาวโพลนร่างบิดเบี้ยว ตาเหลือกลาน และลูกชายของเธอที่ร้องเสียงเหมือนแมว ตัวขาวโพลนเหมือนแม่ ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับบ้านต้องสาปต้องตาย ตายอย่างไม่มีเหตุผลปากอ้าตาค้างร้องขอชีวิต

หนังเล่าเรื่องโดยตัดเป็นตอนสั้นๆ ตามชื่อตัวละครที่เข้าไปในบ้านและต้องตายด้วยรูปแบบของเรื่องสั้นๆ เป็นตอนๆ ความตายอันไร้เหตุผลซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นรวมมิตรฉากผีหลอกวิญญาณหลอนที่มีทั้งความสยองขวัญไปจนถึงความตลกพิลึก ขณะเดียวกันหนังก็เฉลยที่มาที่ไปของผีแม่ลูกโดยพาผู้ชมย้อนกลับไปยังจุดกำเนิดของเรื่อง มันคือเรื่องของคู่ผัวเมีย ทาเคโอะ และคายาโกะภรรยาที่เป็นคนเก็บตัว ทั้งคู่กับ โทชิโอะลูกชาย และแมวของบ้านย้ายเข้ามาอยู่บ้านหลังนี้ คายาโกะพบว่าครูของโทชิโอะลูกชายของเธอคือคนที่เธอเคยคลั่งไคล้เขาและยังคลั่งไคล้อยู่

ต่อมาโทชิโอะไม่มาโรงเรียนหลายวัน คุณครูเลยไปเยี่ยมบ้าน เขาพบโทชิโอะนั่งซึมบนพื้นห้อง เหม่อลอย ไม่คุยกับเขา เขาพยายามเรียกหาคุณแม่แต่ไม่มีใครตอบรับ จนกระทั่งเขาขึ้นไปบนชั้นสอง พบไดอารี่ของคายาโกะ และ พบศพของเธอ ในอีกทางหนึ่ง ทาเคโอะสามีจอมหึงหวง ตามสืบจนพบบ้านของเขา และสังหารภรรยาที่กำลังท้องของครู ควักเอาทารกในครรภ์ออกมา เดินอุ้มซากทารกเดินไปตามถนน ก่อนจะถูกผีของคายาโกะตามมาล้างแค้น

Ju-on : The Curse

Ju-on : The Curse ฮิตอย่างเงียบๆ ในฐานะหนังสยองขวัญที่ประหลาด เย็นเยียบ และหยิบเอาความรุนแรงในครอบครัวมาเป็นพื้นอย่างน่าตื่นเต้น ทำให้มันถูกเอาไปทำเป็นหนังโรง อีกสองภาคตามออกมาในชื่อ Ju-on : The Grudge (2002, 2003) (ในไทย หนังสองภาคนี้นับเป็นภาค 1 และ 2 ในขณะที่ The Curse ถูกนำมาตัดรวมกันใหม่และออกฉายในไทยในฐานะภาค 3) ต่อมาหนังฉบับฉายโรง ถูกนำไปรีเมคเป็นหนังฮอลลีวูดอีกสามภาค และกลับมาทำภาคต่อในญี่ปุ่น อีก 5 ตอน และเพิ่งมีฉบับรีเมคฮอลลีวูดอีก 1 ภาคในปีที่แล้ว

แม้เสียงของผู้ชมจะแตกออกเป็นสองแบบ คือถ้าไม่ขนหัวลุก ก็จะรู้สึกว่ามันตลกและไร้เหตุผลไปเลย แต่ความไร้เหตุผลดูจะเป็นแกนกลางของหนัง ทั้งในเชิงเทคนิคและประเด็น กล่าวคือ ความไร้เหตุผลของการหลอกหลอนของผีแม่ลูก (เพียงเพราะผู้เคราะห์ร้ายโผล่เข้าไปในบ้าน) ทำให้เหตุการณ์ที่กระจัดกระจายในหนังคล้ายคลึงกับประสบการณ์ผีจากทางบ้าน อันเป็นหนึ่งในขนบหนังที่ฮิตในแวดวง V-Cinema และรายการทีวีของญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ซีรีส์อย่าง Honto ni Atta Kowai Hanashi ที่มีฉายทุกปีมาต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี หนังจำลองประสบการณ์เจอผีของนาย X จากเมือง Y ที่บังเอิญขับรถผ่านถนน A เข้าพักโรงแรม B หรือเรียนโรงเรียน C แล้วก็เจอดีโดยบังเอิญ ไม่มีเหตุผลที่มาที่ไป บางครั้งเป็นเพียงเหตุการณ์ลึกลับที่อธิบายไม่ได้ ความสมจริงมักแปรผันตรงกับการเป็นเรื่องเล่าที่ไม่เป็นวรรณกรรม เป็นเพียงห้วงเหตุการณ์ที่หาคำอธิบายไม่ได้ ในหนังขนบนี้มักเป็นเรื่องสั้นๆ ต่อๆ กัน บางครั้งเป็น found footage บางครั้งก็เป็นหนังจำลองเหตุการณ์

ความไร้ที่มาที่ไป และความหลอกหลอน (Uncanny) ที่ทำให้เหตุการณ์ปกติในชีวิตประจำวัน เช่นการไปโรงเรียน นั่งรถโดยสาร เช่าห้องใหม่ หรือไปเที่ยวพักผ่อน กลายเป็นประสบการณ์ประหลาดที่เราไม่เข้าใจ ไม่มีบทสรุป กลายเป็นความน่ากลัวที่ได้ผลกว่าการเป็นเรื่องเล่าที่มีที่มาที่ไป มีต้นมีกลางมีบทสรุป

ความไม่มีเหตุมีผลนี้ยังไปได้ดีกับการเป็น ‘คำสาป’ ที่มีลักษณะของการเล่นงานไม่เลือกหน้าอีกด้วย ในขณะที่หนังผีตามขนบมักเล่าเรื่องเพื่อให้เป็นเรื่องเล่า ผีในสมัยใหม่กลายเป็นผีที่มีเหตุมีผล ในแง่ที่แกนกลางของเรื่องคือการที่ผีมาหลอกหลอน เพราะความปรารถนาของผีไม่ถูกเติมเต็มขณะที่มีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะคือความปรารถนาต่อสิ่งที่ตัวเองรัก หรือสิ่งที่ตัวเองเกลียด ความห่วงใยหรือเคียดแค้น เมื่อตัวเอกสามารถสางปม เติมเต็มความปรารถนากับผี ผีที่มีเหตุผลย่อมกลับไปสู่ที่จากมา หายไป เกิดใหม่ กลับคืนสู่ภพภูมิ เรื่องราวจบลง

แต่ผีคายาโกะใน Ju-on (อาจกล่าวรวมไปถึงผีซาดาโกะใน Ringu ที่เป็น ‘รุ่นพี่’ ด้วย) กลับไม่เป็นเช่นนั้น คล้ายกันกับ The Ring ความอาฆาตของคายาโกะเปลี่ยนจากคนใดคนหนึ่งที่เฉพาะเจาะจงเป็นโลกทั้งใบ คำสาปของเธอทำงานแบบ Automate เมื่อเข้าบ้านไม่ว่าใครก็จำต้องโดนคำสาป และต้องตาย คำสาปที่ไร้เหตุผลทำให้ผู้ชมรู้สึกว่ามันมีบางสิ่งไม่ถูกต้อง และออกจะไร้สาระราวกับการถูกผีหลอกจนตายเป็นโชคชะตาที่เลือกไม่ได้ การที่มันไม่มีเหตุมีผลทำให้เราควบคุมไม่ได้ แก้ไขไม่ได้ ซึ่งเท่ากับเอาชนะไม่ได้ และนั่นทำให้มันเป็นเรื่องน่าอึดอัดที่เราเสียเงินมาดูคนถูกผีหลอกตายไปเรื่อยๆ ยาวสองชั่วโมง แม้ว่าจริงๆ เราตั้งใจจะมาดูสิ่งนั้น แต่ความพึงพอใจของเราคือการได้ตีสองหน้าว่าหลังจากสาแก่ใจกับความตายของตัวประกอบแล้ว ภูติผีกระด้างกระเดื่องต้องถูกกำจัดเพื่อให้ผู้ชมได้รับความพึงพอใจและคืนสู่โลกเดิม ความไม่อาจถูกปราบของคายาโกะจึงเป็นความไม่ลงรอยกับขนบ กับความคาดหวัง และความเป็นเรื่องเล่าของมัน

ความพึงพอใจของเราคือการได้ตีสองหน้าว่าหลังจากสาแก่ใจกับความตายของตัวประกอบแล้ว ภูติผีกระด้างกระเดื่องต้องถูกกำจัดเพื่อให้ผู้ชมได้รับความพึงพอใจและคืนสู่โลกเดิม ความไม่อาจถูกปราบของคายาโกะจึงเป็นความไม่ลงรอยกับขนบ กับความคาดหวัง และความเป็นเรื่องเล่าของมัน

เราอาจกล่าวได้ว่า Ju-On ยืนอยู่บนความไม่ลงรอยนี้ เป็นการขยายผลของการล้างแค้นของผู้หญิงที่ไม่สามารถทำได้ในขณะที่เธอมีชีวิต มันพูดถึงความรุนแรงในครอบครัว และผลของมันในการสร้างความอาฆาตแค้นที่แผ่ลามไปในสังคม ซึ่งทั้งหมดถูกเล่าแบบย้อนเกล็ดจากผลไปหาเหตุใน Ju-On : Origins

ไม่มีคายาโกะและโทชิโอะใน Ju-On : Origins หนังถอยหลังพาผู้ชมกลับไปเริ่มเล่าเรื่องในปี 1988 ปีที่เกิดคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญฆ่าโบกปูน คดีลือลั่นเมื่อมีการพบศพของหญิงสาวในถึงที่ถูกเทปูนซีเมนต์ทับ และเรื่องจริงเธอคือจุนโกะ ฟุรุตะนักเรียนมัธยมปลายที่ถูกเพื่อนชายสี่คนลวงไปข่มขืน กักขังทรมานนานนับเดือนแล้วฆ่าทิ้ง

ทั้งหมดเหลือเพียงบ้านเดี่ยวสองชั้นหลังหนึ่งใจกลางเมือง ชายหนุ่มอยากซื้อบ้านไว้เป็นเรือนหอให้กับฮารุกะดาราสาวคนรัก แต่หลังจากกลับจากการไปดูบ้าน เขาและคนรักก็ต้องเจอเหตุการณ์ประหลาดเช่นเสียงคนเดินในบ้าน หลังจากเจอเรื่องประหลาด ฮารุกะไปออกรายการทีวีและได้พบกับโอดาจิมะ นักเขียนที่ตามล่าเรื่องผี ประสบการณ์สยองขวัญมาเขียนหนังสือ เขาเสนอตัวช่วยเธอแต่ไม่มีใครยอมบอกว่าบ้านหลังนั้นอยู่ที่ไหน จนในที่สุดเพื่อนชายของฮารุกะก็ต้องพบกับเรื่องสยองขวัญ ในอีกทางหนึ่ง คิโยมิ เด็กสาวที่เพิ่งย้ายมากลางเทอม ถูกเพื่อนสาวที่หมั่นไส้หลอกไปที่บ้านหลังนั้น แล้วให้เพื่อนชายมาข่มขืน ราวกับเป็นการทำซ้ำคดีของจุนโกะ ฟุรุตะ แต่ในบ้านวันนั้น หนึ่งในสองสาวลวงเพื่อนหายตัวไปเฉยๆ และคิโยมิก็เจอผีผู้หญิงที่ห้องใต้หลังคา และกลายเป็นว่าเธอเป็นฝ่ายขโมยเอาคนที่ข่มขืนเธอให้มาเป็นทาสรับใช้เธอเสียเอง

หกปีต่อมาในปี 1994 ที่มีคนของลัทธิโอม ชินริเกียวเอาแก๊สซารินไปปล่อยในสถานีรถไฟเป็นครั้งแรก คิโยมิให้กำเนิดลูกชายที่กลายเป็นเด็กมีปัญหานั่งชันเข่านอกบ้าน เด็กหนุ่มที่ข่มขืนเธอกลายมาเป็นสามีเจ้าอารมณ์ที่ทุบตีเธอไม่เว้นแต่ละวันด้วยความเคียดแค้น เธอยังพบเห็นผีหญิงสาวคนนั้น ปีต่อมาเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในโกเบ และเกิดคดีแก๊สซารินครั้งที่สองที่ทำให้คนตายจำนวนมาก ครอบครัวใหม่ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านนั้น คนสามีลักลอบคบชู้กับภรรยาของชายหนุ่มอีกคนเพราะพวกเขาเคยเป็นคนรักกันสมัยเรียน นำมาสู่การฆาตกรรมที่สยองขวัญโหดเหี้ยมซึ่งเกี่ยวข้องกับการแหวกท้องควักทารกออกมา

โอดาจิมะยังคงตามเรื่องนี้ มันกลายเป็นว่าเขาเคยอยู่บ้านหลังนี้ตอนเป็นเด็ก และรู้เห็นการหายตัวไปในบ้านของพี่สาวและพ่อ เขาเป็นเหมือนลูกชายคนเดียวที่รอดบ้านนี้มีประวัติย้อนไปตั้งแต่หลังสงครามโลก ที่มีการเอาผู้หญิงมากักขังหน่วงเหนี่ยว ข่มขืนจนท้อง เธอคลอดลูก แต่เด็กหายสาบสูญ และเธอโดนฆ่าตายในบ้าน

ปี 1997 คดีสะเทือนขวัญของการฆ่าในโกเบตัดหัวนักเรียนมาวางกลางสนาม และประกาศท้าทายตำรวจฆาตกรอายุเพียงสิบสี่และฆ่าเพราะอยากจะฆ่า ในปีนั้นมีครอบครัวใหม่ย้ายเข้ามา โอดาจิมะพยายามจะเตือนพวกเขาเรื่องคำสาปของบ้านแต่ก็เหมือนจะสายเกินไป

กลายเป็นว่า Ju-On เปลี่ยนจากหนังผีแม่ลูกตัวขาวไปสู่มหกรรมของคดีฆาตกรรมภายในครอบครัวที่สยองขวัญสั่นประสาทสุดขีด หนังไม่ปรานีเรื่องเลือดเรื่องเหนื้อและเต็มไปด้วยฉากการฆ่าที่บ้าคลั่ง ขณะเดียวกันมันคือการรีเมคคดีฆ่าคายาโกะและลูกชายจากต้นฉบับ เอามาฉีกเป็นชิ้นๆ กระจายกลับเข้าไปในชีวิตของคนที่มาอาศัยในบ้านที่ดูเหมือนเวลาไหลทบเข้าหากัน

เรื่องชั่วร้ายในบ้านดำเนินคลอไปกับคดีฆาตกรรมจริงๆ ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์ของบ้านจึงร่วมไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรงในสังคมญี่ปุ่น คดีที่การฆ่าเป็นการฆ่าโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ บ้านจึงเป็นภาพแทนของ ‘origin’ จุดกำเนิดของความชั่วร้าย บ้านที่เป็นหน่วยย่อยที่สุดของชาติ บ้านบรรจุครอบครัวเดี่ยว (ทุกคนที่ย้ายมาอยู่ในบ้านเป็นครอบครัวเดี่ยวพ่อแม่ลูก) ครอบครัวเดี่ยวเป็นหน่วยย่อยของชาติ ประวัติศาสตร์ความรุนแรงของชาตินี้สามารถสรุปได้คร่าวๆ ถึงความป่วยไข้วิปริตของคนในชาติ ประวัติศาสตร์ของความรุนแรงในชาติย้อนกลับไปอุปมาเปรียบเปรยกับบ้าน ขณะเดียวกันเวลาของหนังดูเหมือนเหลื่อมซ้อน ย้อนไปมา เหตุการณ์ในอนาคตกลับมาเกิดในอดีต เวลาในบ้านไม่เหมือนเวลาที่เคลื่อนไปข้างหน้าหรือไม่วนเป็นวงกลม แต่มันเป็นเหมือนกองสุมของเหตุการณ์ซึ่งไหลซึมเข้าหากัน บ้านกลายเป็นมิติเวลาที่หยุดนิ่ง ราวกับว่ามันคือพื้นที่เอื้อให้เหตุการณ์บังเกิดซ้ำ อดีตของความชั่วร้ายเป็นแรงผลักให้มันเกิดขึ้นซ้ำ ราวกับประวัติศาสตร์หนุนเนื่องกันไป

กล่าวให้ง่ายที่สุด จุดกำเนิดของความรุนแรงคือครอบครัวเชิงเดี่ยวของคนญี่ปุ่นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เราอาจบอกได้ว่า Ju-On : Origins คือมหกรรมลูกฆ่าแม่ ผัวฆ่าเมีย ทุกคนตกอยู่ใต้อาชญากรรมอันเป็นแรงบีบคั้นจากความเป็นครอบครัวที่ต้องติดอยู่ด้วยกัน ครอบครัวเดี่ยวแบบที่ผู้ชายถือครองอำนาจสูงสุดในการเป็นเจ้าของ ‘บ้าน’ เจ้าของทรัพย์สิน โดยเมียและลูกเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทรัพย์สิน ครอบครัวเดี่ยวแบบญี่ปุ่นจึงเป็นทั้งแบบจำลองของชาติ และแบบจำลองของการกดขี่ผู้หญิงขั้นรุนแรง อาการป่วยไข้ที่แสดงอาการออกมาในรูปของการความเกลียดชัง ความอาฆาตแค้นและการฆ่า

Ju-On : Origins คือมหกรรมลูกฆ่าแม่ ผัวฆ่าเมีย ทุกคนตกอยู่ใต้อาชญากรรมอันเป็นแรงบีบคั้นจากความเป็นครอบครัวที่ต้องติดอยู่ด้วยกัน ครอบครัวเดี่ยวแบบที่ผู้ชายถือครองอำนาจสูงสุดในการเป็นเจ้าของ ‘บ้าน’ เจ้าของทรัพย์สิน โดยเมียและลูกเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทรัพย์สิน

ผีผู้หญิงในหนังจึงเป็นการเอาคืนที่เธอจะมีอำนาจได้ก็ต่อเมื่อตายไปแล้วเท่านั้น ผีผู้หญิงเป็นผีของความโกรธแค้นที่ผู้ชายกระทำต่อเธอ ไม่ใช่แค่ผู้ชายคนใดคนหนึ่ง แต่คืออาชญากรรมที่กระทำร่วมกันจากการให้ท้ายพวกผู้ชาย ให้เป็นเจ้าของบ้าน เจ้าของผู้หญิงชอบธรรมที่จะทุบตีหรือทำลายผู้หญิงลงได้ มันจึงเป็นเรื่องของระบบไม่ใช่ปัจเจก เรื่องของบ้านไม่ใช่คน สิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในสังคมญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องของคนชั่ววิปริตฆ่าคนอื่น แต่มันมาจากระบบที่เอื้อให้ผัวถือครองเมีย และฆ่าเมีย ข่มขืนเมีย หรือผู้ชายพาผู้หญิงมาข่มขืน และข่มขู่เธอหลังจากนั้น

จากจุดนี้เราจึงย้อนไปหาคำสาปของคายาโกะในต้นฉบับ ทำไมทุกคนถึงต้องตาย เพราะทุกคนไม่ได้ทุบตีเธอกับลูก แต่ทุกคนมีส่วนร่วมเชิงระบบที่เสริมการดำรงอยู่ของสิ่งนี้ต่างหาก ทุกคนจึงเป็นคนที่เธอเคียดแค้น ในแง่นี้คำสาปของคายาโกะจึงเป็นคำสาปแช่งต่อระบบที่ฉ้อฉลมากกว่าคนที่เลวทรามคนใดคนหนึ่ง

จริงๆ หนังมีประเด็นลูกที่ไม่ได้เกิดมาของผู้หญิงคนนั้น ที่ซ้อนเข้ากับลูกชายคนที่รอดของโอดาจิมะ และลูกชายสมองพิการของคิโยมิ ทั้งหมดเป็นภาพเปรียบเปรยของโทชิโอะ ที่ไม่มีบทบาทอะไรในเรื่องนี้ และเรื่องนี้น่าจะถูกเก็บไว้สำหรับ Season ต่อๆ ไป

ด้วยข้อเสนอนี้ Ju-on : Origins จึงพาเรากลับไปหาเหตุแห่งผี ต้นกำเนิดของความชั่วร้าย ในขณะที่ Ju-on เป็นผลของการสาปแช่งจากต้นเหตุเหล่านี้ กลับไปยังบ้านที่เคยมีความหมายในฐานะของหน่วยย่อยของสังคม ซึ่งเมื่อกลับด้านมันขึ้น มันก็เป็นสถาปัตยกรรมของความรุนแรงไปในท้ายที่สุด

Your Name : ในโลกต่างกาลที่ ‘น้ำลาย’ กลายเป็น ‘สาเก’ …ถ่มความรังเกียจทิ้ง, กำซาบสิ่งที่จริงแท้

บนปรัมพิธีของศาลเจ้าประจำเมืองริมทะเลสาบอย่างอิโตโมริในค่ำคืนอันสลัวงาม พี่น้องสองสาววัยละอ่อนในชุดสีขาว-แดงกำลังร่ายรำไปตามจังหวะระหว่างพิธีกรรมแบบชินโต ก่อนที่พวกเธอจะนั่งลงหยิบข้าวนึ่งที่เตรียมไว้ขึ้นมาเคี้ยวอยู่ชั่วครู่ บ้วนมันพร้อมน้ำลายลงไปในภาชนะบรรจุทรงสี่เหลี่ยมที่ทำจากไม้ และผูกปิดด้านบนด้วยด้ายถักสีแดงอย่างเรียบร้อยแน่นหนา

รอคอยแค่ ‘กาลเวลา’ มาแปรเปลี่ยนมันให้กลายเป็น ‘สาเก’ (Sake) ในอีกไม่ช้าไม่นาน

“อี๋ ฉันไม่มีทางทำแบบนั้นแน่ ไม่อายกันบ้างหรือไงนะ” นักเรียนหญิงรุ่นราวคราวเดียวกันผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับ มิสึฮะ -ที่กำลังบ้วนข้าวลงภาชนะกักเก็บเคียงคู่กับน้องสาวอยู่บนปรัมพิธี- กล่าวขณะยืนดูการกระทำนั้นอยู่กับเพื่อนๆ ด้วยท่าทีเดียดฉันท์เต็มกลืน

นี่คือเหตุการณ์เล็กๆ ที่สร้างความรำคาญใจให้แก่มิสึฮะ-ผู้ที่ต้องสืบทอดพิธีกรรมประจำตระกูลของตนอย่างไม่เต็มใจนัก ก่อนที่เด็กสาวชนบทอย่างเธอจะได้พบเจอกับความวุ่นวายจากการต้อง ‘สลับร่าง’ กับเด็กหนุ่มอีกคนจากกรุงโตเกียว รวมถึงเผชิญหน้ากับความสูญเสียครั้งใหญ่จากปรากฏการณ์ ‘ดาวตก’ ที่กำลังจะเกิดขึ้น — ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวอันแสนลึกซึ้งกินใจใน Your Name หนังอนิเมะยอดนิยมของ มาโคโตะ ชินไค ที่ทำรายได้และกวาดคำชมจากทั่วโลกไปเมื่อปี 2016

…ว่าแต่ ‘น้ำลาย’ ของมิสึฮะที่ถูกนำมาใช้หมักสาเกเป็นสิ่งที่ ‘น่ารังเกียจ’ ขนาดนั้นเลยเชียวหรือ?

1

‘สาเก’ เป็นชื่อเรียกของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากประเทศญี่ปุ่นที่คนทั่วโลกต่างคุ้นหูคุ้นตากันดี ซึ่งโดยทั่วไป สาเกจะเกิดจากการนำเอาน้ำสะอาดมาหมักกับ ‘ข้าว’ ที่ถูกเพาะ ‘หัวเชื้อ’ อย่าง โคจิ (Koji) -หรือก็คือเชื้อราสายพันธุ์ Aspergillus Oryzae อันอุดมไปด้วยเอนไซม์บางชนิดที่มีคุณสมบัติในการย่อยแป้งเป็นน้ำตาล- เอาไว้ ซึ่งจะช่วยเปิดทางให้จุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ (เช่น ยีสต์) สามารถเข้าไปทำปฏิกิริยากับน้ำหมักข้าวจนกลายสภาพเป็น ‘แอลกอฮอล์’ ได้ง่ายขึ้น

ขณะที่กรรมวิธีการทำสาเกที่เราได้เห็นในฉากข้างต้นของ Your Name นั้นจะแตกต่างออกไป เพราะ ‘หัวเชื้อ’ ที่ถูกใช้ในการย่อยแป้งไม่ใช่ ‘โคจิ’ ตามขนบสากล …หากแต่คือ ‘น้ำลาย’ ในช่องปากของมนุษย์เรานี่เอง

หากพิจารณาจากชื่อเรียกของมันอย่าง ‘คุจิคามิสาเก’ (Kuchikamizake) หรือ ‘สาเกที่ถูกเคี้ยวจากปาก’ (คำว่า คุจิ = ปาก / คามิ = เคี้ยว) แล้ว -ซึ่งในที่นี้จะขอเรียกสั้นๆ ว่า ‘สาเกน้ำลาย’- ก็แน่นอนว่ามันเป็นการนำเอา ‘ข้าวที่ผ่านการเคี้ยวแล้วคาย’ มาหมักเก็บไว้ไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ จนกลายเป็นแอลกอฮอล์จากข้าวที่มีสีขาวขุ่นและมีรสชาติกระเดียดไปทางเปรี้ยว โดยในยุคแรกเริ่ม สาเกน้ำลายจะมีลักษณะข้นเหนียวคล้าย ‘โจ๊ก’ มากกว่าที่จะขุ่นเหลวแบบ ‘เครื่องดื่ม’ เหมือนในยุคถัดๆ มา (สืบเนื่องจากกรรมวิธีที่ยังคง ‘กากใย’ ของข้าวเอาไว้ ผิดจากสาเกทั่วไปในปัจจุบันที่ล้วนผ่านกระบวนการกรองและการฆ่าเชื้อ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและสร้างความสะอาดปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคเรียบร้อยแล้ว) จนทำให้มีคนในแวดวงบางส่วนถึงขั้นไม่อยากนับญาติว่า สาเกน้ำลายคือ ‘สาเก’ ด้วยซ้ำไป

แต่กระนั้น สาเกน้ำลายก็ยังถือได้ว่าเป็นหนึ่งในแอลกอฮอล์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลก เพราะก่อนหน้าที่หัวเชื้ออย่างโคจิจะเริ่มเป็นที่แพร่หลายในยุคนาระ (ศตวรรษที่ 8) ชนเผ่าท้องถิ่นจากแถบฮอกไกโดและโอกินาวะในยุคโจมงช่วงท้าย (1,000 – 400 ปีก่อนคริสตกาล) ได้นำเอาผลผลิตข้าวจำนวนมากจากศาสตร์การทำ ‘นาเปียก’ ของชาวจีน มาควบรวมกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านอย่าง ‘การหมักแอลกอฮอล์ด้วยน้ำลาย’ จากพืชประเภทเมล็ดที่สะสมแป้ง (อาทิ ข้าวฟ่าง, บักวีต, ลูกโอ๊ก และเกาลัด) เพื่อใช้เป็นยาหรือใช้ในพิธีกรรม สาเกน้ำลายจึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการนับแต่บัดนั้น

จนกระทั่งในยุคยาโยอิ (300 ปีก่อนคริสตกาล – ศตวรรษที่ 3) เมื่อแนวคิดบูชาเทพเจ้าตามธรรมชาติของลัทธิชินโตเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมเกษตรกรรมของญี่ปุ่นมากขึ้น จนข้าวถูกยกสถานะให้เป็น ‘อาหารศักดิ์สิทธิ์’ ที่สื่อถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่อง การเปลี่ยนผ่านของสรรพชีวิต/ฤดูกาล หรือแม้แต่ความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดิน สาเกน้ำลายจึงพลอยถูกนำมาใช้เป็นเครื่องบรรณาการแด่เทพเจ้า-รวมถึงองค์จักรพรรดิ-ผ่านพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ ไปด้วย

และบุคคลหนึ่งเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ ‘เคี้ยวข้าว’ เพื่อใช้ทำสาเกในพิธีกรรมเหล่านี้ ณ ช่วงเวลาดังกล่าว …ก็มีเพียง ‘มิโกะ’ เท่านั้น

2

มิโกะ (Miko) ไม่ใช่นามอันเจาะจงของปัจเจกชน หากแต่คือชื่อเรียกตำแหน่งของ ‘ผู้หญิง’ คนใดก็ตามที่เป็น ‘ผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา’ ในลัทธิชินโต

ด้วยความที่ชาวญี่ปุ่นในสมัยโบราณเชื่อว่า ‘ผู้หญิง’ เป็นเพศผู้ให้กำเนิดที่เปี่ยมไปด้วย ‘พลังแห่งชีวิต’ พวกเธอ-โดยเฉพาะหญิงสาวผู้อ่อนเยาว์-จึงได้รับเลือกให้เป็น ‘สื่อกลางศักดิ์สิทธิ์’ ในการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า และใช้พลังของเพศหญิงในการขจัดปัดเป่า ‘มลทิน’ ทั้งหลายออกไป (ดังเช่นที่พวกเธอสามารถขับ ‘ของเสีย’ ออกจากร่างกายผ่านการมีประจำเดือนได้) ซึ่งก็รวมถึงการหมักสาเกของ ‘สาวบริสุทธิ์’ เพื่อมอบถวายแด่โลกเบื้องบน ที่คล้ายกับเป็น ‘สะพาน’ เชื่อมต่อให้มนุษย์ได้ใกล้ชิดกับเทพเจ้ามากขึ้น ผ่านการใช้ ‘น้ำลาย’ ของเหล่าสตรีที่ได้รับการยกย่องเทิดทูนอย่างมิโกะนั่นเอง

ทว่าบทบาทของ ‘ผู้หญิง’ ในโลกของ ‘สาเก’ ก็ดูจะเปลี่ยนแปลงไปมากในยุคหลังๆ มานี้

เนื่องจากในช่วงเวลากว่าหนึ่งสหัสวรรษที่ผ่านมา ผู้หญิงได้กลายเป็นเพศที่ถูกสังคมญี่ปุ่นมองว่า ‘ไม่เหมาะสม’ กับวัฒนธรรมแอลกอฮอล์ไปเสียแล้ว โดยเฉพาะกับการประกอบสัมมาอาชีพในแวดวงสาเกอันถือเป็นหนึ่งในธุรกิจทำเงินของประเทศ ซึ่งหากเทียบจากสถิติตัวเลขของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตผลิตสาเกกว่า 1,500 ราย ที่กลับมีชื่อของผู้หญิงอยู่แค่ 50 รายเท่านั้น ก็คงพอจะเห็นได้ว่า การผลิตสาเกยังเป็นธุรกิจที่ถือครองโดยเพศชายเป็นหลัก โดยแนวคิดสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงแทบจะไร้ที่ยืนในวงการนี้ ก็คืออคติเหมารวมที่ว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่ ‘ไม่สะอาด’ สำหรับกระบวนการผลิตสาเก — ซึ่งค่อนข้าง ‘ขัดแย้ง’ กับแนวคิดในสมัยโบราณที่เคยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทโดดเด่นในโลกของสาเก ไม่ว่าจะเป็นมิโกะที่ได้รับสิทธิ์ในการหมักสาเกน้ำลายในยุคแรกๆ หรือสตรีผู้ถูกเรียกขานว่า ‘โทจิ’ (Toji – ที่แปลว่า ‘นักปรุงสาเก’ ซึ่งพ้องเสียงกับคำศัพท์โบราณที่แปลว่า ‘แม่บ้าน’) ที่เคยเป็นโต้โผใหญ่ในการผลิตสาเกประจำราชวังมาตั้งแต่ยุคนาระเป็นต้นมา

กล่าวกันว่าอคตินี้เป็นผลมาจากแนวคิดเหยียด ‘ประจำเดือนของเพศหญิง’ ว่าเป็น ‘สิ่งสกปรก’ ในช่วงต้นยุคเอโดะ (ต้นศตวรรษที่ 17) ที่ตลาดสาเกเริ่มแพร่หลายทั่วไปในหมู่ชาวบ้านร้านตลาด ก่อนจะปรากฏให้เห็นชัดเจนในระบบสังคมยุคเมจิ-นับจากปี 1868 เป็นต้นมา-นี้เอง เมื่อญี่ปุ่นพยายามปฏิรูปประเทศให้ ‘ทันสมัย’ ตามแนวคิดโลกอุตสาหกรรมแบบชนชาติตะวันตก ด้วยการเชิดชู ‘การทำงานนอกบ้าน’ ของผู้ชาย และการกีดกันให้ผู้หญิงเป็นเพียง ‘ผู้ดูแลบ้าน/ครอบครัว’ ซึ่งเหล่านี้ก็ล้วนเอื้อให้ผู้ชายมีอำนาจทางสังคมเหนือกว่าผู้หญิงทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี มีคนพยายามให้คำอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่า การผลิตสาเกเป็นอาชีพที่ไม่เหมาะกับเพศหญิงที่ ‘บอบบาง’ ด้วยประการทั้งปวง เพราะมันต้องอาศัยทั้งความแข็งแกร่งและความอดทน-แบบลูกผู้ชาย-อย่างสูง เนื่องด้วยการทำสาเกในแต่ละครั้งนั้น มีขั้นตอนที่ยุ่งยากหนักหนาและต้องใช้เวลานานเป็นเดือนๆ แถมการมีผู้หญิงอยู่ร่วมด้วยในโรงหมักก็อาจทำให้คนงานส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ชายรู้สึกตะขิดตะขวงใจจนอาจกระทบต่อคุณภาพของสาเกไปด้วย — ซึ่งแน่นอนว่าเป็นข้อโต้แย้งที่ผู้หญิงหลายคนไม่เห็นด้วยเลยแม้แต่น้อย

ตลอดหลายทศวรรษมานี้ ผู้หญิงจึงพยายามออกมาแสดงศักยภาพในการผลิตสาเกให้ผู้ชายได้เป็นที่ประจักษ์ และแม้ว่าในปัจจุบัน จะมีผู้ผลิตสาเกแถวหน้าของญี่ปุ่นที่เป็นผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น ทว่าพวกเธอก็ยังคงต้องต่อสู้แย่งชิงพื้นที่กับบรรดาผู้ชายหัวรั้นในตลาดสาเกกันต่อไป

หากมองจากมุมที่กล่าวมานี้ ดูเหมือนว่า ‘ผู้หญิง’ ในโลกสาเกร่วมสมัยจะถูกสังคมรอบข้างทำให้ดู ‘น่ารังเกียจ’ ไม่แตกต่างจาก ‘น้ำลาย’ ที่ตัวละครหญิงอย่างมิสึฮะใช้หมักสาเกด้วยความลำบากใจใน Your Name เลย

3

อันที่จริง สาเกน้ำลายไม่ใช่สิ่งที่ถูกผลิตขึ้นมาตามความเชื่อทางศาสนาของคนโบราณอย่างเลื่อนลอยไร้แก่นสาร เพราะในทางวิทยาศาสตร์ น้ำลายของมนุษย์มีคุณสมบัติอันแสนมหัศจรรย์ที่เหมาะแก่การ ‘หมักแอลกอฮอล์’ มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

เนื่องด้วยในน้ำลายมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งชื่อว่า อะไมเลส (Amylase) ที่สามารถแปรสภาพแป้ง (Starch) -ซึ่งในกรณีของสาเกก็คือ แป้งจากเมล็ดข้าว- ให้กลายเป็นน้ำตาลมอลโทส (Maltose) -ซึ่งมีโครงสร้างที่ง่ายต่อการนำไปย่อยต่อ- ก่อนที่จุลินทรีย์จะเข้ามาช่วยเปลี่ยนให้มันกลายเป็นแอลกอฮอล์ระหว่างขั้นตอนการหมักในที่สุด — ซึ่งก็ถือได้ว่าอะไมเลสมี ‘คุณสมบัติการย่อยแป้ง’ ที่ทรงประสิทธิภาพจนแทบจะไม่ต่างจากเชื้อโคจิในอุตสาหกรรมการหมักสาเกเลย

และก็ไม่ใช่แค่สาเกชนิดนี้ของญี่ปุ่นเท่านั้นที่นำ ‘น้ำลาย’ มาใช้ประโยชน์ในการหมัก หากยังรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยุคโบราณจากส่วนอื่นๆ ของโลกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ‘เหล้าข้าวโพด’ สูตรดั้งเดิมอย่าง คาวี (Cauim) ของบราซิล และ ชิชา (Chicha) ของอเมริกา ที่หมักจากเมล็ดข้าวโพดที่เคี้ยวแล้ว หรือ ไอรัก (Airag) ที่เป็น ‘เหล้านมม้า’ ประจำชาติของมองโกเลียที่หมักจากน้ำนมของม้า -ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลมากกว่านมของแพะ แกะ หรือวัว และให้ค่าแอลกอฮอล์ที่สูงกว่า- โดยชาวเผ่าจะตั้งหม้อใส่นมเอาไว้หน้ากระโจม แล้วให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาถุยน้ำลายใส่ เพื่อให้แบคทีเรียในช่องปากช่วยเปลี่ยน ‘น้ำตาลย่อยยาก’ ในนมม้าให้เป็น ‘น้ำตาลย่อยง่าย’ ก่อนปล่อยให้ยีสต์ในอากาศสร้างกระบวนการหมักจนเกิดเป็นแอลกอฮอล์

นอกจากคุณสมบัติอันน่าทึ่งในการช่วยผลิตแอลกอฮอล์แล้ว น้ำลายก็ยังมี ‘คุณสมบัติอื่น’ ที่สร้างความน่าตื่นตะลึงได้ไม่แพ้กัน – ซึ่งมันก็ช่างตรงข้ามกับภาพจำที่ ‘สกปรกจนแลดูน่ารังเกียจ’ ของมันในสังคมสมัยใหม่โดยสิ้นเชิง

แมรี โรช นักเขียนหญิงชาวอเมริกันเจ้าของหนังสือปี 2013 อย่าง Gulp. (‘เอื๊อก!’ โดยสำนักพิมพ์ a book) ที่ว่าด้วยการสำรวจระบบร่างกายที่สัมพันธ์กับวิถีการกินอยู่ของมนุษย์ ชี้ให้เห็นว่า ไม่เพียงน้ำลายจะช่วยย่อยอาหารตั้งแต่ภายในช่องปากเท่านั้น แต่มันยังมีคุณสมบัติในการ ‘ทำความสะอาด’ จนถึงขนาดที่เอนไซม์ชนิดต่างๆ ในน้ำลายเคยถูกนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นองค์ประกอบในผงซักฟอก หรือแม้แต่ถูกใช้ทำเช็ดถูงานศิลปะที่ต้องการความละเอียดอ่อนมาแล้ว โดยนอกจากนี้ ในโลกการแพทย์ ยังเคยมีการใช้น้ำลาย-ที่ไม่ปนเปื้อนเศษอาหาร-มา ‘ทารักษาแผล’ ตามร่างกายด้วย เพราะแบคทีเรียหลายชนิดในช่องปากสามารถช่วย ‘ป้องกัน’ และ ‘กำจัด’ เชื้อโรคต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้อย่างดีเยี่ยม

เหนืออื่นใด โรชยังยืนยันด้วยว่า สำหรับผู้คนในวัฒนธรรม/สถานะอื่น น้ำลายอาจสามารถเป็นเพียง ‘สิ่งธรรมดาสามัญ’ หรือถึงขั้นเป็น ‘สิ่งมงคล’ ในชีวิตของพวกเขาได้เช่นกัน ทั้งชาวกรีกที่นิยมใช้การ(ทำท่า)บ้วนน้ำลายใส่ทุกสิ่งที่พวกเขาอยากอวยพร, พ่อ-แม่ที่สัมผัสน้ำลายของลูกๆ ได้โดยไม่รังเกียจรังงอน หรือคู่รักที่จูบปากแลกลิ้นกันด้วยท่าทีหวานชื่นดูดดื่ม

ในสายตาของผู้หญิงอย่างโรช น้ำลายจึงเป็นสิ่งที่ถูกสังคมใส่ร้ายป้ายสีเรื่อยมาในฐานะของ ‘แหล่งรวมเชื้อโรค’ อันน่าขยะแขยง ทั้งที่จริงๆ แล้ว มันเป็นสารคัดหลั่งที่มีประโยชน์โภชน์ผลต่อมวลมนุษย์ในมิติต่างๆ อย่างที่ใครหลายคนไม่เคยฉุกคิด

และมันก็ไม่ได้น่ารังเกียจอย่างที่ใครเคยกล่าวหากันเลยสักนิด

4

เมื่อ ทาคิ -เด็กหนุ่มจากโตเกียวที่เคยสลับร่างกับมิสึฮะอยู่นานจนเกิดเป็นความผูกสมัครรักใคร่ ก่อนที่การหายไปอย่างไร้ร่องรอยของเธอจะทำให้เขาต้องออกตามหา- เดินทางมาถึงภายในถ้ำลึกแคบหม่นมืดอันเป็นที่ประดิษฐานของเทพเจ้าบนภูเขาเหนือเมืองอิโตโมริ เขาก็ได้พบกับขวดบรรจุสาเกในสภาพเก่าเก็บเกรอะกรังที่ตัวเขา-ในร่างมิสึฮะ-เคยนำมาถวายร่วมกับยายและน้องสาวของเธอ

ไม่ว่าจะตระหนักรู้หรือไม่-ว่านั่นเป็นสาเกที่ทำมาจากน้ำลาย หากแต่ด้วยความคิดถึงอันล้นปรี่ ทาคิยกขวด ‘สาเกน้ำลาย’ ที่เป็นเสมือนตัวตน ‘ครึ่งหนึ่งของมิสึฮะ’ ขึ้นดื่มโดยไม่ลังเล และหวังเพียงว่ามันอาจเป็น ‘สะพาน’ ที่ช่วยให้เขาได้ข้ามไปพบกับเด็กสาวผู้สาบสูญคนนั้นอีกสักครั้ง

การดื่มสาเกของทาคิ คือหนึ่งในสิ่งที่ยายของมิสึฮะเคยนิยามไว้ว่าเป็น ‘มุสุบิ’ (Musubi) ในระหว่างที่สามคนยายหลาน-ซึ่งก็รวมถึงทาคิในร่างมิสึฮะ-เดินนำสาเกขึ้นไปถวายเทพเจ้า โดยมุสุบิเป็นชื่อเรียกเก่าแก่ของ ‘พลังแห่งเทพเจ้า’ ที่แฝงตัวอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งหมายรวมถึงสิ่งใดๆ ก็ตามบนโลกใบนี้ที่ ‘เชื่อมโยง’ ทุกสรรพชีวิตเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการถักทอด้ายให้กลายเป็นเส้นเชือกที่สมบูรณ์, การบริโภคอาหาร-อย่างน้ำ ข้าว หรือสาเก-เข้าไปเพื่อเพิ่มพลังชีวิตจนหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับจิตวิญญาณ, การเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่มีวิถีเกี่ยวพันกัน หรือแม้แต่กระแสธารของกาลเวลาที่ไหลเรื่อยไปไม่มีจุดสิ้นสุด

ดังนั้น นอกจาก ‘สาเกน้ำลาย’ จะเป็น ‘มุสุบิ’ ที่เชื่อมต่อมนุษย์กับเทพเจ้าเข้าด้วยกันตามความเชื่อโบราณแล้ว มันก็ยังเป็น ‘มุสุบิ’ ที่ช่วยยึดโยงจิตวิญญาญของหนุ่ม-สาวทั้งคู่ได้ไม่ต่างกันด้วย

และจะว่าไปแล้ว การที่ทาคิ ‘ดื่ม’ สาเกที่หมักจากน้ำลายของมิสึฮะนั้น ก็เหมือนกับการ ‘จูบทางอ้อม’ ซึ่งถือเป็นการแสดง ‘ความรัก’ ระหว่างคนสองคนที่ยอม ‘เปิดใจ’ เข้าหากัน โดยปราศจากอคติหรือความรังเกียจเดียดฉันท์ จนสามารถก้าวข้ามความหวั่นเกรงที่เคยมีภายในจิตใจของตนไปได้ — ซึ่งส่วนหนึ่งก็น่าจะพัฒนามาจากการสลับร่างกันระหว่างคนทั้งคู่ในห้วงเวลาก่อนหน้านั้น ที่ช่วยทำให้ผู้ชายอย่างทาคิได้เข้าใจถึงความทุกข์ยากของผู้หญิงอย่างมิสึฮะมากขึ้นทีละนิด และมันก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงสถานะของพวกเขาจากแค่ ‘คนแปลกหน้า’ มาสู่ ‘คนที่เห็นอกเห็นใจกัน’

ทั้งคู่ได้กำซาบตัวตนแท้จริงที่สถิตอยู่ ‘ภายใน’ ร่างของกันและกัน มากกว่าจะสนใจแค่เปลือกกาย ‘ภายนอก’ อันฉาบฉวย และลุกขึ้นมาพยายามทำบางสิ่งเพื่อให้คนที่ตนรักได้มีเส้นทางชีวิตที่ดีกว่า แม้นั่นอาจหมายถึงการต้องเสียสละสิ่งสำคัญ-หรือกระทั่ง ‘ชีวิต’-ที่ตนเคยยึดยื้อเอาไว้ก็ตาม

การดื่มสาเกขวดนั้นโดยปราศจากความลังเลใจ จึงถือเป็นการเชื่อมโยงทาง ‘จิตวิญญาณ’ ระหว่างมนุษย์สองคนที่กำลังส่งมอบความรักให้แก่กันได้อย่าง ‘จริงแท้’ และ ‘งดงาม’ ที่สุด

— ผ่านสิ่งที่ถูกสังคมตีตราว่าน่ารังเกียจอย่าง ‘น้ำลาย’ นี่เอง

The Kingmaker : ความจริงประกอบสร้างและดินแดนต้องสาป

1.

ความทรงจำของข้าพเจ้าหมุนย้อนกลับไปในปี 2017 ในนาทีที่ข้าพเจ้าเหยียบย่างเข้าไปในทำเนียบมาลากันยัง (Malacañang Palace) ด้วยภารกิจบางประการ นาทีนั้นเหมือนโลกหมุนกลับไปในยุคแปดศูนย์ ในวันที่โลกยังคุกรุ่นไปด้วยไฟสงครามระหว่างค่ายเสรีนิยมและค่ายสังคมนิยม ในวันที่ยังไม่มีใครในโลกรู้จักอินเทอร์เน็ตนอกจากกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ในวันที่เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ยังโลดแล่นอยู่บนเวทีคอนเสิร์ตในฐานะร็อคสตาร์เบอร์ต้น ทำเนียบมาลากันยังให้ความรู้สึกแบบนั้นอย่างเข้มข้น

ถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่านั้นคือ, ในสายตาของคนนอก, เหมือนโลกทั้งใบยังติดอยู่ในทศวรรษที่ 80 สำหรับประเทศฟิลิปปินส์

มันเป็นทั้งความเศร้าและเสน่ห์เย้ายวนอย่างประหลาด


2.

ในปี 2012 ข้าพเจ้ายืนมองแสงสีทองฉาบทามะนิลาเบย์จากระเบียงของอาคารศูนย์วัฒนธรรมแห่งฟิลิปปินส์ (Cultural Center of the Philippines) ในขณะที่รอเวลาฉายของหนังเรื่องถัดไปในเทศกาลภาพยนตร์ Cinemalaya

ในห้วงขณะนั้น ข้าพเจ้าตระหนักว่าตนเองตกหลุมรักเมืองนี้และประเทศนี้ ข้าพเจ้าตกหลุมรักอ่าวที่พระอาทิตย์ตกเป็นสีทอง ข้าพเจ้าตกหลุมรักเมืองต้องสาปที่วันเวลาไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ข้าพเจ้าตกหลุมรักเมืองที่เข็มนาฬิกาหยุดเดินตั้งแต่ภรรยาของอดีตจอมเผด็จการตัดสินใจโปรยหว่านภาษีและเงินกู้ราวหกสิบสามล้านเปโซไปกับกลุ่มอาคารสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมริมอ่าว ข้าพเจ้าตกหลุมรักประเทศที่ผู้คนไม่เคยหยุดรื่นเริงร้องรำ แม้จะรู้ดีว่ามันเป็นไปเพื่อซุกซ่อนความเจ็บปวดข้นแค้นในชีวิตประจำวันเหมือนแสงสีทองฉาบทาอ่าวมะนิลาที่เต็มไปด้วยซากศพที่ลอยออกไปและถูกซัดกลับเข้ามาในช่วงสงครามยาเสพติด


3.

ตำนานรักสิบเอ็ดวันของเฟอร์ดินานด์และอิเมลดา มาร์กอส กลายเป็นเรื่องเล่าที่หญิงชราภาคภูมิใจ หญิงชราที่มีพื้นเพมาจากตระกูลการเมืองในเลย์เตและกำพร้าแม่ในวัยเพียงแปดปี การขาดแม่ในวัยเด็กกลายเป็นสิ่งที่อิเมลดา มาร์กอสย้ำเสมอว่าทำให้เธอมีปมและมองหาสิ่งชดเชยมาตลอดชีวิต เป็นโชคร้ายของประชาชนชาวฟิลิปปินส์ที่การชดเชยปมของเธอคือการผลาญงบประมาณแผ่นดินไปกับความหรูหราฟุ่มเฟือยอย่างล้นเกิน

The Kingmaker บอกเล่าความรุ่งโรจน์ ความตกต่ำ และความพยายามกลับเข้าสู่แวดวงอำนาจอีกครั้งของตระกูลมาร์กอสผ่านสายตาของ อิเมลดา มาร์กอส อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งที่อยู่เคียงข้างจอมเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส มาตั้งแต่มาร์กอสเป็นสมาชิกสภาคองเกรส ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1965

ในช่วงแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาและหน่วยข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency – CIA) เพลิดเพลินกับการใช้งบประมาณอุดหนุนช่วงสงครามเย็นในการลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั่วประเทศ เช่นถนน, เขื่อน, และสะพาน ในรูปแบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนให้ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยเพื่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานส่งให้ความนิยมในตัวมาร์กอสพุ่งทะยานในหมู่ประชาชน แม้ว่าเงินเฟ้อจะกลายเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ซึ่งเคยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียรองจากญี่ปุ่นเริ่มปักหัวลงในแนวดิ่ง

ในขณะเดียวกัน อิเมลดา มาร์กอส อดีตสาวงามจากเวทีประกวดมะนิลาก็เริ่มปรับตัวเข้ากับชีวิตเฉิดฉายในฐานะสตรีหมายเลขหนึ่ง เธอเชื่อว่าประเทศที่ประกอบด้วยเกาะกว่าเจ็ดพันแห่งนี้เป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัวของเธอ และประชาชนทั้งหลายก็เป็นลูกหลานที่เธอต้องดูแลในฐานะแม่ของแผ่นดิน เธอใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเนรมิตสิ่งที่เธอต้องการ ไม่ว่าจะเป็นตึกสูงในนิวยอร์ค รองเท้าหลายพันคู่ งานศิลปะราคาแพง สะพานแห่งความรัก San Juanico ที่เชื่อมระหว่างจังหวัดซามาร์และเลย์เต้ หรือสัตว์ป่าจากแอฟริกา เพื่อทำให้ประเทศฟิลิปปินส์กลายเป็นสวรรค์อย่างที่เธออยากเห็น

เมื่อมูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำเผด็จการลิเบียมาเยือนฟิลิปปินส์ในปี 1976 อิเมลดา มาร์กอสสั่งให้มีการก่อสร้างมัสยิดสีทองในย่านเกียโป กลางเมืองมะนิลา เพื่อต้อนรับกัดดาฟี ด้วยงบประมาณสิบสองล้านเปโซ


4.

ในขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างบ้าคลั่งของตระกูลมาร์กอสดำเนินไป ความตกต่ำทางเศรษฐกิจและความอดอยากยากจนก็ผลักให้ผู้คนเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านรัฐที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์ (Communist Party of the Philippines – CPP), แนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Front) และกองทัพประชาชนใหม่ (New People’s Army) ที่จัดตั้งขึ้นมาในปี 1968, 1973 และ 1969 ตามลำดับ คนหนุ่มสาวเดินทางออกจากเมือง โบกมือลารั้วมหาวิทยาลัยออกไปจับปืนและวาดฝันถึงการปฏิวัติร่วมกับสหายชาวนาชาวไร่ตามทฤษฎีป่าล้อมเมืองของเหมาเจ๋อตุง มาร์กอสและซีไอเอรับมือกับความโกรธเกรี้ยวของประชาชนด้วยการประกาศกฎอัยการศึกในปี 1972

ภายใต้การบังคับใช้กฎอัยการศึก ผู้คนกว่าสามพันถูกสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม กว่าสามหมื่นถูกซ้อมทรมานและล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงเอ็ตต้า โรซาเลส อดีตสมาชิกสภาคองเกรสและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, พีท ลาคาบา นักหนังสือพิมพ์และกวี, เมย์ โรดริเกซ นักกิจกรรมที่ปรากฏอยู่ในสารคดี และกว่าเจ็ดหมื่นที่ถูกคุมขัง และหนึ่งในผู้ถูกคุมขังคืออดีตวุฒิสมาชิก นินอย อาคิโน

นินอย อาคิโน ถูกปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อเข้ารับการผ่าตัดหัวใจและพำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริการาวสามปี ก่อนจะตัดสินใจกลับมาฟิลิปปินส์ในปี 1983 และก่อนที่ใครจะทันรู้ตัว อาคิโนถูกสังหารทันทีที่เท้าแตะพื้นสนามบิน, ซึ่งทุกวันนี้ถูกเรียกขานด้วยชื่อของเขาเพื่อเป็นเกียรติแก่อดีตวุฒิสมาชิกผู้ยอมสละชีพเพื่อต่อสู้กับเผด็จการ

ด้วยข้อจำกัดของการเล่าเรื่องอาจทำให้ผู้ชมบางส่วนตีความการต่อสู้ทางการเมืองในฟิลิปปินส์หดแคบเป็นเพียงการต่อสู้ระหว่างสองตระกูลเจ้าพ่อท้องถิ่นอย่างอาคิโนและมาร์กอส แต่แท้จริงแล้ว สามัญชนคนธรรมดาที่อาจจะไม่ได้มีชื่อและใบหน้าเป็นที่จดจำต่างหากที่อยู่ในฉากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงฟิลิปปินส์ให้หลุดออกจากเงื้อมเงาของเผด็จการ แน่นอนว่าชัยชนะนั้นมีราคาต้องจ่าย ผู้คนมากมายหลายหมื่นหลายแสนคนยังต้องรับมือกับความสูญเสียและบาดแผลในอดีตที่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบเผด็จการ

แท้จริงแล้ว สามัญชนคนธรรมดาที่อาจจะไม่ได้มีชื่อและใบหน้าเป็นที่จดจำต่างหากที่อยู่ในฉากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงฟิลิปปินส์ให้หลุดออกจากเงื้อมเงาของเผด็จการ

ฟางเส้นสุดท้ายขาดลงเมื่อ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส พยายามโกงผลการเลือกตั้งในปี 1986 ดอกผลของการจัดตั้งขบวนการใต้ดินต่อต้านเผด็จการผลิบานออกมาอย่างน่าตื้นตันใจ เมื่อประชาชนสองล้านคนออกมารวมตัวกันบนถนน Edsa ซึ่งเป็นถนนเส้นหลักกลางเมืองมะนิลาในเดือนกุมภาพันธ์ ประชาชนสองล้านคนออกมาแสดงเจตจำนงว่าพวกเขาไม่ต้องการใช้ชีวิตอยู่อย่างอดอยากและไร้ศักดิ์ศรีภายใต้ความหวาดกลัวอีกต่อไป

สหรัฐอเมริกาและซีไอเอหันหลังให้มาร์กอสและมองว่าแนวทางใช้ความรุนแรงโหดเหี้ยมของมาร์กอสมีแต่จะทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์และกองทัพประชาชนใหม่เข้มแข็งขึ้น ตระกูลมาร์กอสอพยพไปอยู่ฮาวายก่อนที่ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอสจะเสียชีวิตลงปี 1989 การฟื้นฟูประเทศจากความเสียหายต่างๆ เริ่มขึ้นหลังจากตระกูลมาร์กอสพ้นไปจากอำนาจ ประมาณกันว่าตระกูลมาร์กอสได้ยักยอกทรัพย์สินราวห้าพันถึงหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์ไปจากประเทศฟิลิปปินส์ตลอดเวลากว่ายี่สิบปีที่เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ คอรี อาคิโน ภรรยาหม้ายของอดีตวุฒิสมาชิก นินอย อาคิโน ได้รับเลือกตั้งขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ประกันสิทธิเสรีภาพซึ่งแลกมาด้วยเลือดเนื้อของประชาชน

แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นเป็นกระบวนการ เป็นภารกิจที่ทอดยาวออกไปตามยุคสมัย และไม่มีวันจบสิ้น พรรคเสรีนิยมของตระกูลอาคิโนอาจจะประสบความสำเร็จในการรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่สิ่งที่เคยเป็นคำมั่นสัญญาในการปฏิวัติโค่นล้มเผด็จการคือการกระจายความมั่งคั่งของตระกูลชนชั้นนำเจ้าที่ดินไปสู่ผู้คนกว่าร้อยล้านในประเทศนั้นไม่เคยเกิดขึ้น แม้กระทั่งในสมัยของ นอยนอย อาคิโน ลูกชายของคอรีและนินอยที่ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีเหมือนแม่

แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นเป็นกระบวนการ เป็นภารกิจที่ทอดยาวออกไปตามยุคสมัย และไม่มีวันจบสิ้น พรรคเสรีนิยมของตระกูลอาคิโนอาจจะประสบความสำเร็จในการรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่สิ่งที่เคยเป็นคำมั่นสัญญาในการปฏิวัติโค่นล้มเผด็จการคือการกระจายความมั่งคั่งของตระกูลชนชั้นนำเจ้าที่ดินไปสู่ผู้คนกว่าร้อยล้านในประเทศนั้นไม่เคยเกิดขึ้น

ตระกูลมาร์กอสและพันธมิตรทางการเมืองของพวกเขา โรดริโก ดูแตร์เต อดีตนายกเทศมนตรีจากเมืองดาเวา มองเห็นจุดอ่อนนี้และหยิบฉวยมาใช้ในเกมส์การเมืองเพื่อนำมาร์กอสกลับมาสู่อำนาจ

ด้วยลักษณะการเมืองแบบเจ้าพ่อท้องถิ่นทำให้ตระกูลมาร์กอสยังได้รับความนิยมอยู่ในภาคเหนือของเกาะลูซอน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ศพของจอมเผด็จการถูกนำกลับเข้ามาประเทศหลังการ ‘กลับบ้าน’ ของตระกูลมาร์กอสในปี 1991 แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ฝังในสุสานวีรบุรุษแห่งชาติหรือ Libingan ng mga Bayani อิเมลดาเฝ้ารออย่างอดทนจนพันธมิตรทางการเมืองของพวกเขา ดูแตร์เต ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งปี 2016 ด้วยจุดขายที่แข็งกร้าวอย่างนโยบายสงครามยาเสพติด

บองบอง มาร์กอส ลูกชายคนเดียวของเฟอร์ดินานด์และอิเมลดาลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งรองประธานาธิบดีเพื่อปูทางไปสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในอนาคต แต่เขากลับพ่ายแพ้ให้กับ เลนี โรเบรโด ผู้สมัครจากพรรคเสรีนิยมของนินอย อาคิโน แผนการเถลิงอำนาจของตระกูลมาร์กอสที่มีอิเมลดาชักใยอยู่เบื้องหลังยังต้องรอคอยออกไปจนกว่าศาลสูงจะชี้ขาดคำอุทธรณ์ของบองบอง หรือจนกว่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2022

แต่ความฝันประการหนึ่งของอิเมลดาได้กลายเป็นจริง คือการนำร่างของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ลงฝังในสุสาน Libingan ng mga Bayani เคียงข้างกับเหล่าวีรบุรุษแห่งชาติและอดีตประธานาธิบดีคนอื่นๆ


5.

ความพยายามเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ทำให้ตระกูลมาร์กอสอยู่ห่างจากการกลับคืนสู่อำนาจเพียงไม่กี่ก้าว อิเมลดา มาร์กอส ก็มีเรื่องเล่าเป็นของเธอเองในฐานะแม่ของแผ่นดินผู้ต้องการดลบันดาลให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นสวรรค์บนดินอีกครั้ง เส้นเรื่องของเธอที่บดบังข้อเท็จจริงทำให้ผู้กำกับ ลอเรน กรีนฟิลด์ ตัดสินใจใช้เทคนิค Cinéma vérité ในการเปิดเปลือยหรือค้นหาความจริงในเส้นเรื่องที่อิเมลดา มาร์กอส สร้างไว้ เช่นการจับภาพอิริยาบถของเธอในขณะเผลอหรือพูดคุยกับคนรับใช้ หรือฉากที่คนรับใช้ต้องเข้ามาเก็บกวาดกระจกที่แตกเกลื่อนหลังอิเมลดากวาดมือไปโดนกรอบรูปบนโต๊ะ

เหมือนกับสัตว์ป่าที่ถูกขนส่งมาจากแอฟริกา เหมือนกับชาวบ้านที่ถูกไล่รื้อเพื่อเปิดทางให้ซาฟารีบนเกาะกาลาวิท อิเมลดาดูจะไม่ได้ใส่ใจเท่าใดนักว่าหนทางกลับคืนสู่อำนาจของตระกูลมาร์กอสจะต้องแลกด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนกี่หมื่นกี่แสนคน

เหมือนกับสัตว์ป่าที่ถูกขนส่งมาจากแอฟริกา เหมือนกับชาวบ้านที่ถูกไล่รื้อเพื่อเปิดทางให้ซาฟารีบนเกาะกาลาวิท อิเมลดาดูจะไม่ได้ใส่ใจเท่าใดนักว่าหนทางกลับคืนสู่อำนาจของตระกูลมาร์กอสจะต้องแลกด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนกี่หมื่นกี่แสนคน

สี่ปีหลังจากขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดี ประมาณกันว่า โรดริโก ดูแตร์เต สังหารประชาชนนอกกระบวนการยุติธรรมไปแล้วราวสามหมื่นคนในสงครามยาเสพติด ทั้งหมดเป็นคนจนเมือง หลายคนถูกตำรวจบุกเข้าไปสังหารในบ้านต่อหน้าต่อตาครอบครัว

นักการเมืองพรรคฝ่ายค้าน องค์กรสิทธิมนุษยชน นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ และนักกิจกรรมที่วิพากษ์วิจารณ์ดูแตร์เตถูกฟ้องคดีและจับตามอง นักการเมืองท้องถิ่นบางคนถูกลอบสังหารอย่างอุกอาจและไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ บัญชีเฟซบุ๊กปลอมหลายหมื่นบัญชีออกปฏิบัติการ ‘โทรลล์’ ป่วนฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยและให้ข้อมูลบิดเบือนประวัติศาสตร์ในช่วงเผด็จการเรืองอำนาจ ในขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีกำลังจะเกิดขึ้นในปี 2022

ในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ปี 2016 โรดริโก ดูแตร์เต ได้รับความนิยมอย่างมากด้วยการเสนอนโยบายปราบปรามการทุจริตและยาเสพติดด้วยวิธีการรุนแรงเด็ดขาด ความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลมาร์กอสและดูแตร์เตเริ่มเป็นที่ปรากฏแม้จะยังไม่ชัดเจน หากผู้กำกับ ลาฟ ดิอาซ ได้เคยถามคำถามสั้นๆ ในภาพยนตร์ความยาวแปดชั่วโมง Hele sa Hiwagang Hapis ของเขาที่ออกฉายในเดือนมีนาคมปี 2016 สองเดือนก่อนการเลือกตั้งว่า “Ano ang kalayaang Pilipino?” (อะไรคือเสรีภาพของชาวฟิลิปปินส์)


6.

อีกครั้งในปี 2012 ข้าพเจ้ามีโอกาสเดินเข้าไปในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จังหวัดบาตาน เศษซากจากอดีตอีกชิ้นที่ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ใช้เงินไปกว่าสองพันล้านเหรียญสหรัฐทั้งในการก่อสร้าง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นี้ไม่เคยได้เปิดใช้งาน โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุการณ์เชอร์โนบิลขึ้นในปี 1986

ในซากโรงงานติดมหาสมุทรสีฟ้าจัดนั้นมืดหม่นและเงียบงัน เฟอร์นิเจอร์เก่าโทรมตกยุค ใบระเบียนเขียนด้วยมือถูกวางทิ้งเกลื่อนกลาด เตาปฏิกรณ์ขนาดยักษ์ถูกทิ้งร้าง คนงานเฝ้าสถานที่ก็มีหน้าที่เพียงแต่เฝ้าดูมันเสื่อมทรุดลงไป

ฟิลิปปินส์อาจจะเป็นประเทศต้องสาป อาจจะเป็นวิญญาณกว่าสามพันดวงของผู้คนที่เสียชีวิตไปในช่วงสิบเอ็ดปีของการบังคับใช้กฎอัยการศึก อาจจะเป็นวิญญาณของคนงานเกือบสองร้อยชีวิตที่ถูกกลบฝังอยู่ใต้หมู่อาคารศิลปวัฒนธรรมริมอ่าว หรืออาจจะเป็นวิญญาณของคนหนุ่มสาวและชาวบ้านนับร้อยนับพันที่สูญเสียไปในการต่อสู้ระหว่างกองทัพประชาชนใหม่และกองทัพรัฐบาล ที่คอยที่วนเวียนสาปแช่งฉุดรั้งประเทศนี้เอาไว้

มันเป็นทั้งความเศร้าและเสน่ห์เย้ายวนอย่างประหลาด

คนทำสกอร์ Cinema Paradiso เอนนิโอ มอร์ริโกเน่ เสียชีวิตแล้ว

6 ก.ค. เอนนิโอ มอร์ริโกเน่ คนทำสกอร์หนังวัย 91 ปี เสียชีวิตแล้ว โดยทิ้งผลงานให้โลกจดจำไว้ในหนังและซีรีส์มากกว่า 400 เรื่อง

มอร์ริโกเน่เป็นเพื่อนที่เรียนมากับนักทำหนังระดับตำนานแห่งอิตาลี แซร์โจ เลโอเน่ และขึ้นสู่จุดสูงสุดกับหนัง The Good, The Bad And the Ugly (1966) อันได้รับการยกย่องว่าเป็นสกอร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดชิ้นหนึ่งของโลกภาพยนตร์ ซึ่งนอกจากหนังเกือบทุกเรื่องของเลโอเน่แล้ว มอร์ริโกเน่ยังทำสกอร์ให้ จูเซปเป้ ทอร์นาทอเร่ เกือบทุกเรื่องด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องที่หลายคนรักอย่าง Cinema Paradiso (1988)

นอกจากหนังของเลโอเน่และทอร์นาทอเร่แล้ว มอร์ริโกเน่ยังได้ร่วมงานกับผกก.อย่าง เทอร์เรนซ์ มาลิก, ไมค์ นิโคลส์, ไบรอัน เดอ พัลมา, โอลิเวอร์ สโตน, วอร์เรน บีตตี้, เควนติน ทารันติโน่ และแม้กระทั่งหนังกระตุกจิตของ ดาริโอ อาร์เจนโต้

มอร์ริโกเน่สร้างสรรค์ผลงานอันโดดเด่นมาทั้งชีวิต ไม่ว่าจะเป็น Days of Heaven, The Thing, The Mission, The Untouchables, Bugsy, The Ripley’s Game และ The Hateful Eight ซึ่งเรื่องหลังสุดนี้ทำให้เขาคว้าออสการ์มาครองได้ครั้งแรก และเป็นผู้คว้าออสการ์ดนตรีประกอบที่อายุมากที่สุดด้วย

หนังยาวเรื่องสุดท้ายของมอร์ริโกเน่คือ Correspondence ผลงานของทอร์นาทอเร่ที่ร่วมหัวจมท้ายด้วยกันมาทุกเรื่อง Film Club ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของคนทำสกอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในโลกภาพยนตร์

Bait : อวนลาก-โฮสเทล / ฟิล์มเก่า-เสรีนิยมใหม่

รถยนต์หลายคันเคลื่อนเข้าจอดหน้าบ้านตรงท่าเรือใกล้ช่องเข้าออกกำแพงกันคลื่น สมาชิกหลายครอบครัวเปิดประตูลงจากรถพร้อมสัมภาระ มองไกลๆ ดูเหมือนงานเลี้ยงขึ้นบ้านใหม่ที่เพียบไปด้วยพวกคนเมืองหลวงเมืองกรุง พวกผู้คนท่าทางภูมิฐานที่หน้าตากับสำเนียงพูดเป็นอังกฤษ ไม่ใช่คอร์นิช (Cornish) อย่างคนในชุมชนชาวประมงแห่งนี้

มาร์ตินเป็นชาวประมงชายฝั่ง อาศัยตอกหมุดลากอวนหาปลาอยู่ริมหาด บางวันพิเศษหน่อยก็หย่อนกระชังดักกุ้งล็อบสเตอร์ทิ้งไว้ข้ามคืน ผลตอบแทนแรงกายก็ใส่ถุงพลาสติกไปแขวนถึงลูกบิดประตูลูกค้าที่ผูกปิ่นโตกันไว้ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่บ้านนักหรอก เหลือพิเศษมาหน่อยเจ้าของผับในชุมชนก็ช่วยรับซื้อไว้บ้าง อันที่จริงเจ้าตัวไม่ได้อยากทำประมงชายฝั่ง แต่พอพ่อตาย เรือหาปลาประจำตระกูลก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสตีเว่น พี่ชายคนโต และถูกแปรสภาพเป็นเรือบริการนักท่องเที่ยวชาวกรุงที่อยากกินเหล้าวิวทะเล

มาร์ตินเป็นชาวประมงชายฝั่ง อาศัยตอกหมุดลากอวนหาปลาอยู่ริมหาด อันที่จริงเจ้าตัวไม่ได้อยากทำประมงชายฝั่ง แต่พอพ่อตาย เรือหาปลาประจำตระกูลก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสตีเว่น พี่ชายคนโต และถูกแปรสภาพเป็นเรือบริการนักท่องเที่ยวชาวกรุงที่อยากกินเหล้าวิวทะเล และนี่คือหนังที่เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของชุมชนชายฝั่งนี้ผ่านสายตาเขา

บ้านตรงท่าเรือหลังนั้นเคยเป็นของมาร์ตินกับสตีเว่น หนังไม่ได้บอกชัดว่าทำไมทั้งคู่ถึงต้องขายบ้านให้คนเมือง แต่ลำพังการแขวนปลาตามประตูและเปลี่ยนเรือประมงไปใช้พาเที่ยวก็คงชัดในตัวให้พอเห็น มาร์ตินเดินเข้าบ้านที่ตัวเองเคยอยู่ กวาดสายตาไปทั่วบริเวณ เห็นประตูห้องลูกชายวัยรุ่นของครอบครัวใหม่ตกแต่งด้วยที่เคาะประตูรูปสมอเรือ กำแพงห้องรับแขกประดับด้วยสารพัดอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ แถมยังเจาะหน้าต่างใหม่เป็นวงกลมแบบชาวเรือ สีหน้าเขาเรียบเฉยแต่พอดูออกว่าไม่พึงใจนัก เจ้าตัวอดค่อนแคะไม่ได้ว่าท่าทางจะฝันอยากเป็นชาวเลกันทั้งบ้าน แล้วพวกที่กำแพงนี่ใช่เครื่องมือทำมาหากินของผมที่ทิ้งไว้ในห้องใต้หลังคาตอนขายบ้านหรือเปล่า

แม่ของครอบครัวใหม่เลี่ยงว่าเธอสั่งออนไลน์มาต่างหาก และคงจับสังเกตได้ถึงบรรยากาศที่ไม่ค่อยเป็นมิตร เลยพูดออกมาว่า (ถ้าไม่เต็มใจ) คุณไม่ต้องขายบ้านให้เราก็ได้นี่ – “ไม่ต้องขายเหรอ?” มาร์ตินย้อน ก่อนเดินออกจากบ้านเก่าที่กลายสภาพเป็นโฮสเทลธีมชาวประมงเต็มรูปแบบ พร้อมคำตอบที่ทั้งสองฝ่ายต่างรู้อยู่แก่ใจ

Bait กลายเป็นหนังอินดี้อังกฤษเรื่องสำคัญของปี 2019 หลังเวิลด์พรีเมียร์ในสาย Forum ที่เบอร์ลิน ติดท็อปลิสต์ปลายปีของนักวิจารณ์จำนวนมาก ได้เข้าชิง 3 รางวัล BIFA (British Independent Film Awards) และชนะรางวัลหนังอังกฤษเรื่องแรกยอดเยี่ยม พร้อมเข้าชิงหนังอังกฤษแห่งปีรางวัล BAFTA – ถึงจะแจ้งเกิดด้วยตำแหน่งคนทำหนังหน้าใหม่ แต่จริงๆ แล้ว Mark Jenkin (ปัจจุบันอายุ 44) เคยทำหนังยาวก่อน Bait มาแล้วถึง 6 เรื่อง และถือเป็นคนสำคัญของกลุ่มคนทำหนัง/ศิลปินคลื่นลูกใหม่ในคอร์นวอลล์ (Cornwall) ที่เชื่อมสะพานทางภาพยนตร์จากเทศมณฑล (county) สุดขอบทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอังกฤษแห่งนี้ ให้ไปถึงการรับรู้ของวงการหนังและศิลปะอังกฤษในเมืองใหญ่

Bait กลายเป็นหนังอินดี้อังกฤษเรื่องสำคัญของปี 2019 หลังเวิลด์พรีเมียร์ในสาย Forum ที่เบอร์ลิน ติดท็อปลิสต์ปลายปีของนักวิจารณ์จำนวนมาก ได้เข้าชิง 3 รางวัล BIFA (British Independent Film Awards) และชนะรางวัลหนังอังกฤษเรื่องแรกยอดเยี่ยม พร้อมเข้าชิงหนังอังกฤษแห่งปีรางวัล BAFTA

ด้วยบริบทเฉพาะตัวของพื้นที่ พิจารณาร่วมกับเนื้อหาในนาทีแรกๆ ของหนังที่กล่าวไว้ในช่วงต้นบทความ คงพอสรุปเป็นเบื้องต้นได้ว่า Jenkin ตั้งใจเผยให้เห็นและพิจารณาผลกระทบของแรงเสียดทานระหว่างคนอังกฤษหรือความเป็นอังกฤษที่แทรกซึมเข้ามา กับชาวคอร์นิชซึ่งถือเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศและมีวิถีชีวิตกับวัฒนธรรมของตนเอง แต่เมื่อหนังไม่ได้เรียกคอร์นวอลล์ตามภาษาดั้งเดิมว่า Kernow, นำเสนอพิธีกรรมหรือเทศกาลประจำถิ่นเป็นฉากสำคัญ หรือถึงขั้นให้ตัวละครพูดจาด้วยภาษาคอร์นิช (ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับภาษาไอริช, เวลช์, เกลิค-Gaelic และเบรอตง-Breton) สำหรับคนนอก มาร์ตินกับสตีเว่นคงถูกนับเป็นฝรั่งผิวขาวชาวชนบทที่มีสำเนียงแปร่งหูฟังยาก คล้ายกับเหล่าชาวอังกฤษชนชั้นล่างในภาพยนตร์ของ Ken Loach

ความเข้าใจเช่นนั้นไม่ได้เสียหาย เพราะท้ายสุดหนังก็เล่าเรื่องชนชั้นล่างในเมืองที่ใกล้หมดลม และต้องดิ้นรนไม่แพ้คนอังกฤษยากจนที่อยู่ชั้นในของประเทศ แต่การมองเห็นบริบทย่อมทำให้เข้าใจมิติความเข้มข้นของแรงปะทะ เมื่อสิ่งที่ปรากฏบนจออาจไม่ใช่แค่คู่ตรงข้ามอย่างเมืองกับชนบท หากมีเรื่องความเป็นชาติปะปนอยู่ไม่น้อย (คอร์นวอลล์ถูกนับเป็น 1 ใน 6 ชาติ Celtic Nations ร่วมกับไอร์แลนด์ + ไอร์แลนด์เหนือ, เวลส์, สก็อตแลนด์, เบรอตาญ/บริตตานีในฝรั่งเศส และ Isle of Man, มีกลุ่มการเมืองเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ได้มาซึ่งการปกครองตนเองในระดับเดียวกับสก็อตแลนด์ เวลส์ ไอร์แลนด์เหนือ และประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคอนุรักษ์นิยมค่อนข้างเหนียวแน่น) ภายใต้การปะทะคารมในผับ ความรักวัยรุ่นหนุ่มสาว หรือเหตุการณ์บานปลายจากเรื่องที่จอดรถ

บริบทของพื้นที่อาจนิยามตัวตนของชีวิตที่ดำเนินไป โดยที่เจ้าของชีวิตไม่จำเป็นต้องตระหนักถึงนิยามดังกล่าวเลยก็ได้ – ทั้งมาร์ติน สตีเว่น นีล เจ้าของผับ เด็กเสิร์ฟปากกล้า หรือครอบครัวโฮสเทล อาจเพิ่งได้รับรู้ถึงแรงกระทบก็ตอนประชิดตัว และมองเห็นเบื้องหลังของมันแค่เท่าๆ กับคนดูวงนอก หนังไม่ได้บอกว่าความซบเซาของการทำประมงที่นี่ดิ่งฮวบฉับพลันหรือค่อยๆ สูญเสียกำลังทีละน้อยมานานนับทศวรรษ เช่นเดียวกับกระบวนการทางความคิดที่กระตุ้นให้คนเมืองผันตัวเป็นฟันเฟืองตัวใหม่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พวกเขาอาจรู้เท่าหรือน้อยยิ่งกว่าเสียงข่าวโทรทัศน์ที่รายงานปัญหาจากนโยบายเศรษฐกิจ และแรงสะเทือนคาราคาซังจากผลประชามติ Brexit

มาร์ตินยึดมั่นในศักดิ์ศรีเกินคนรอบข้างอยู่พอตัว ยอมใช้มือลากอวนอยู่ริมหาดทุกเช้าเพื่อเก็บเงินซื้อเรือลำใหม่ พี่ชายยื่นข้อเสนอให้มาเป็นลูกมือบนเรือพาเที่ยว แน่นอนว่าเจ้าตัวปฏิเสธ ทุกคนรอบตัวต่างเห็นความยากลำบากในเส้นทางที่เลือกและต่างกระทุ้งให้ลองคิดใหม่อยู่เนืองๆ แต่เขามองเห็นชีวิตตัวเองเมื่อได้หายใจอย่างคนจับปลาเท่านั้น

ความยอดเยี่ยมของ Bait คือหนังเล่าความโดดเดี่ยวของการยืนหยัดในทางเลือกของมนุษย์ โดยไม่ผลักมันให้เลยเถิดไปเป็นอาการสำนึกรักบ้านเกิด ต่อต้านการพัฒนาหรือความเป็นสมัยใหม่ และไม่ได้กดทับหยามหยันให้มันเป็นแค่ฝันของคนมุทะลุหัวดื้อที่ไม่ยอมรับความจริงของโลก หรือผลักให้ตัวละครเป็นแค่เครื่องบรรจุความทุกข์ เพราะสำหรับมาร์ติน การจับปลาไม่ใช่แม้กระทั่งความฝัน หากคือวิถีเดียวที่เขารู้จัก และมันกำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง

ความยอดเยี่ยมของ Bait คือหนังเล่าความโดดเดี่ยวของการยืนหยัดในทางเลือกของมนุษย์ โดยไม่ผลักมันให้เลยเถิดไปเป็นอาการสำนึกรักบ้านเกิด ต่อต้านการพัฒนาหรือความเป็นสมัยใหม่ และไม่ได้กดทับหยามหยันให้มันเป็นแค่ฝันของคนมุทะลุหัวดื้อที่ไม่ยอมรับความจริงของโลก หรือผลักให้ตัวละครเป็นแค่เครื่องบรรจุความทุกข์ เพราะสำหรับมาร์ติน การจับปลาไม่ใช่แม้กระทั่งความฝัน หากคือวิถีเดียวที่เขารู้จัก และมันกำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง

มาร์ตินใช้ชีวิตตามวิถีที่เขารู้จัก จอดรถกระบะหน้าบ้านเก่าก่อนขนของไปจับปลา แต่เมื่อบ้านเก่ากลายเป็นโฮสเทล รถเลยถูกล็อคล้อเพราะละเมิดข้อตกลงใหม่ เขาประท้วงด้วยการไม่จ่ายค่าปรับ ปล่อยให้ล็อคข้ามวันข้ามคืนไป – ธรรมเนียมปฏิบัติของผับชุมชนก็เปลี่ยนเมื่อลูกค้าส่วนใหญ่กลายเป็นนักท่องเที่ยว ไม่มีการปิดผับหน้าหนาวเหมือนสมัยรุ่นพ่อ โต๊ะพูลที่ลูกค้าเคยเวียนกันเล่นตามกฎแพ้คัดออก ก็ถูกพวกเด็กวัยรุ่นลูกเจ้าของโฮสเทลยึดเป็นสนามประลองกินเงิน – เพื่อนที่ห่างไปนานตอนนี้ขับแท็กซี่ในเมืองใหญ่ และดูท่าจะหายใจหายคอทางการเงินได้คล่องกว่า

Gentrification คือปรากฏการณ์ซึ่งก่อให้เกิดข้อถกเถียงมากมายในประเด็นการบริหารจัดการหรือวางผังเมือง เมื่อย่านที่อยู่อาศัยหรือชุมชนเดิมถูกเปลี่ยนโฉมหน้า จนผู้อยู่อาศัยเดิมได้รับผลกระทบจากผู้พำนัก ทุน หรือธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มีกำลังทางเศรษฐกิจมากกว่า ภาพลักษณ์ของคำนี้อาจสะท้อนหรืออธิบายปรากฏการณ์ในเมืองใหญ่เป็นหลัก (เมื่อเมืองหรือชุมชนเก่าถูกแปรสภาพเป็นพื้นที่ธุรกิจของวัฒนธรรมฮิปสเตอร์ หรือกลายเป็นย่านอยู่อาศัยราคาแพงของชนชั้นกลางรุ่นใหม่) แต่สิ่งที่เกิดเสมอมาในย่านแหล่งท่องเที่ยวเกิดใหม่ก็เป็นผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองหรือนคร ที่สามารถใช้คำนี้อธิบายได้เช่นกัน

คอร์นวอลล์ที่เราเห็นใน Bait ผ่านชีวิตช่วงหนึ่งของมาร์ติน จึงอยู่ในระนาบใกล้เคียงกับปาย เขาใหญ่ อัมพวา วังเวียง หรือกระทั่งจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวและทุนจีนหรือคนกรุงที่ไปเปิดกิจการรูปแบบใหม่ ภาพในหนังอาจให้บรรยากาศทึมเทาเศร้าหมองและดูคุกคามน้อยกว่าวัฒนธรรมฮิปสเตอร์ราคาแพงที่เราคุ้นชินจากสื่อ มาร์ตินกับสตีเว่นขายบ้านท่าเรือไปซื้อหลังใหม่ไกลกว่าเดิมในเมืองที่เล็กอยู่แล้ว และเป็นไปได้ไม่น้อยที่ครอบครัวโฮสเทลก็อาจถูกรุกไล่มาจากเมืองใหญ่อีกต่อหนึ่ง แต่แกนกลางของความไม่ลงรอยระหว่างสองฝ่ายก็ไม่หนีไปจากระนาบดังกล่าว – หลังกระทบกระทั่งเรื่องที่จอดรถกันมาระยะหนึ่ง (รถยังล็อคล้ออยู่) สามีของบ้านใหม่ก็มาปะทะคารมกับมาร์ตินในผับ เขามองตัวเองที่ทำโฮสเทลว่ากำลังช่วยเหลือเมืองที่กำลังจะตายนี้ ในขณะที่มาร์ตินตอกกลับด้วยคำเดียวกับทุกประโยคและอารมณ์ของอีกฝ่ายว่าคุณแม่งก็แค่นักท่องเที่ยว

คอร์นวอลล์ที่เราเห็นใน Bait ผ่านชีวิตช่วงหนึ่งของมาร์ติน จึงอยู่ในระนาบใกล้เคียงกับปาย เขาใหญ่ อัมพวา วังเวียง หรือกระทั่งจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวและทุนจีนหรือคนกรุงที่ไปเปิดกิจการรูปแบบใหม่

ผมไม่ใช่นักท่องเที่ยว ผมก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเท่าๆ กับคุณนั่นแหละ กฎระเบียบของที่นี่บังคับใช้กับทุกคนเท่ากัน – อ๋อเหรอ? เท่ากันเหรอ? เป็นส่วนหนึ่งแบบไหน? ช่วยเหลือแบบไหน? – ก็เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นวงจรเศรษฐกิจ – วงจรของอะไร ไหนตอบ? – ก็วงจรเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไงล่ะโว้ย! – จบบทสนทนา ฝ่ายหนึ่งหน้าเสีย อีกฝ่ายแค่นหัวเราะ

ใช่ว่าหนังจะไร้ภาพที่สะท้อนการ “เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน” เอาเสียเลย เพราะแค่ไม่กี่วัน เจ้านีลผู้เป็นหลานอาของมาร์ติน (และอยากจับปลามากกว่าเป็นลูกมือเรือเที่ยวของพ่อ) ก็สานสัมพันธ์กับลูกสาวคนโตของบ้านใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของแคมป์ไฟริมหาดยามราตรีของเหล่าวัยรุ่น ส่วนลูกชายคนเล็กก็ดูจะชอบทะเลและการดำน้ำยิ่งกว่านักท่องเที่ยวคนไหน คำถามสำคัญที่หนังทิ้งไว้ก็คือเราจะเรียกสิ่งนี้ว่าส่วนหนึ่งหรือกลืนกิน? เพราะต่อให้ฝ่ายภรรยาของบ้านใหม่จะมีท่าทีเห็นอกเห็นใจมาร์ตินอยู่บ้าง (เธอเคยแย้งลูกค้าที่ตะโกนด่าเสียงติดเครื่องเรือยามเช้าว่าก็คุณเลือกมาเที่ยวหมู่บ้านประมงเองนี่) แต่ซับพล็อตทั้งสองส่วนกลับนำไปสู่ความขัดแย้งและโศกนาฏกรรม

หากไม่ได้อ่านเรื่องย่อหรือบทวิจารณ์จากที่ใดมาก่อน ต้องถือว่าเนื้อเรื่องและประเด็นของ Bait นั้นพลิกความคาดหวังที่หน้าหนังมอบให้อยู่พอตัว เพราะหนังเบี่ยงตัวเองออกจากเทรนด์ร่วมสมัยของการใช้ภาพขาวดำ ไม่ได้ใช้เพื่อคารวะหนังคลาสสิก (The Artist) หรือเพื่อความเฮี้ยนหลอนเหนือจริง (The Lighthouse) แต่ในขณะที่ตัวเรื่องเล่าด้วยท่าทีอย่างนีโอเรียลลิสม์ เนื้อสัมผัสที่หนังมอบให้กลับเป็นรสชาติแบบหนังทดลองยุคหลังด้วยการจงใจใช้ฟิล์มเก่าที่เต็มไปด้วยริ้วรอย ล้างด้วยมือทั้งกระบวนการ และถ่ายด้วยกล้องโบเล็กซ์หมุนมือที่ไม่สามารถอัดเสียงขณะถ่ายทำได้ – มีเสียงวิจารณ์ในแดนลบอยู่บ้างว่าหนังมีแค่ลีลาและจงใจขายรูปลักษณ์ที่เข้ากระแสหนังอินดี้ทดลองร่วมสมัย ผมเห็นแย้งสุดตัว เพราะเห็นว่า Mark Jenkin ตั้งใจสื่อสาระสำคัญผ่านกระบวนการทั้งหมด และเขาทำได้อย่างแยบยล

เขาตระหนักดีว่าเนื้อสัมผัสของฟิล์มเก่าและภาพขาวดำในปัจจุบันถูกมองและให้ความหมายอย่างไร ก่อนจะตั้งใจใช้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่ เพื่อพาคนดูร่วมสมัยที่คาดหวังประสบการณ์ในความหมายดังกล่าว กลับไปสู่เรื่องราวอย่างนีโอเรียลลิสม์อีกครั้ง เชื่อมสะพานระหว่างภาพขาวดำในฐานะความขาดแคลนขัดสนหลังสงครามโลกที่นำเสนอภาพคนทุกข์ยาก กับภาพขาวดำในฐานะตัวเลือกใหม่ของการท้าทายระเบียบกระแสหลักทางศิลปะ – ริ้วรอยบนฟิล์มของ Jenkin เปล่งเสียงทั้งของอดีตและปัจจุบัน สอดคล้องกับคู่ขัดแย้งระหว่างวิถีเดิมและความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาถึงชุมชนริมทะเล

ผู้กำกับ Mark Jenkin Photo:Thom Axon

เขาตระหนักดีว่าเนื้อสัมผัสของฟิล์มเก่าและภาพขาวดำในปัจจุบันถูกมองและให้ความหมายอย่างไร ก่อนจะตั้งใจใช้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่ เพื่อพาคนดูร่วมสมัยที่คาดหวังประสบการณ์ในความหมายดังกล่าว กลับไปสู่เรื่องราวอย่างนีโอเรียลลิสม์อีกครั้ง

รอยขูดขีดหรือแสงกะพริบของฟิล์มเก่าเกรนแตกดิบหยาบ ยังมีโอกาสได้รับความหมายให้เป็นเนื้อสัมผัสของ “การทดลอง” และ “สมัยใหม่” ได้ในโลกภาพยนตร์ปัจจุบัน แต่ความไม่สม่ำเสมอของเส้นเอ็นอวนจับปลาหรือกระชังดักกุ้ง ซึ่งต้องผ่านการซ่อมแซมเย็บรูรั่วทุกจุดด้วยมือของชาวประมง ยังไม่มีโอกาสได้ไปถึงความหมายนั้น มือที่เชี่ยวชาญในวิถีของชาวประมงที่หนังตั้งใจให้คนดูจ้องมองในหลายต่อหลายฉาก ก็คือมือที่ทำหน้าที่อย่างคนล้างฟิล์มด้วยกรรมวิธีเก่า คือมือที่หมุนกล้องเก่าให้บันทึกภาพและเรื่องราวของพวกเขา คือความงามและศักดิ์ศรีของอดีตที่ยังคงร่วมสมัยและท้าทายได้ หากโลกรอบข้างใจกว้างและเท่าทันพอ น่าเสียดายที่ ณ เวลานี้ ไม่ว่าจะอยู่จุดใดของเรื่องราว ทุกคนคือเหยื่อของโลกใบเดียวกัน


สามารถดูหนังยาวเรื่องก่อนๆ และหนังสั้นจำนวนมากของ Mark Jenkin ได้ที่ https://vimeo.com/markjenkin

สรุปความบอบช้ำของ Mulan ล้มคะมำตั้งแต่ยังไม่ฉาย

ถึงตอนนี้ Mulan ผลงานการตีความใหม่ของ นิกิ คาโร ที่ได้ หลิวอี้เฟย, ดอนนี เยน และ ก่งลี่ มานำแสดง จะยังไม่ได้ฉายเสียทีหลังจากเลื่อนแบบนาทีสุดท้ายมาแล้วสองรอบเพราะโควิด 19 อันที่จริงหนังหลายเรื่องก็โดนชะตากรรมเดียวกัน แต่กับ Mulan แล้วมันถูกเล่นงานรอบทิศทางจนบางทีดิสนีย์อาจจะอยากฉายให้จบๆ ไปได้แล้ว ถ้าไม่ติดที่ทุนสร้างมันสูงถึง 200 ล้านเหรียญฯ และมีตลาดจีนอันไพศาลรอให้การสนับสนุนอยู่

2 ก.ค. ต่อเนื่องถึง 3 ก.ค. จู่ๆ #BoycottMulan ก็ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย ซึ่งปรากฏการณ์นี้เปรียบเสมือนบทสรุปสิ่งที่ Mulan พยายามจะก้าวผ่านมันไปอย่างทุลักทุเลมาโดยตลอด เรามาทบทวนกันอีกสักทีว่าเกิดอะไรขึ้นกับหนังบ้าง

– ย้อนกลับไปเมื่อ สิงหาคม 2019 หลังจากทีเซอร์ Mulan ถูกปล่อยมาเรียกเสียงฮือฮาใหม่ๆ ก็เป็นจังหวะคาบเกี่ยวกับที่การจลาจลในฮ่องกงกำลังร้อนแรง จนเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเข้าปรามผู้ชุมนุม จากนั้นนางเอก หลิวอี้เฟย ก็แสดงความเห็นใน เว่ยป๋อ ว่าเธอสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกง

– ชาวเว่ยป๋อในจีนส่วนใหญ่เป็นกำลังใจให้เธอ แต่กระแสในทวิตเตอร์กลับสวนทางกัน จนทำให้เกิด #BoycottMulan ขึ้นเป็นครั้งแรก

– ชาวโลกและสื่อมวลชนรอดูท่าทีของดิสนีย์ต่อเหตุการณ์นี้ แต่อย่างที่รู้กันว่า งบที่ลงไปถึง 200 ล้านเหรียญฯ กับหนังที่มีฉากหลังและนักแสดงเชื้อสายจีนขนาดนี้ย่อมหวังรายได้จากจีนเป็นหลัก ทำให้ดิสนีย์นิ่งเฉยกับกระแสต่อต้าน โดยซีอีโอดิสนีย์ บ๊อบ ไอเกอร์ บอกว่าต้องการวางตัวเป็นกลางต่อสถานการณ์ดังกล่าว แม้จะถูกกดดันจากทุกสารทิศก็ตาม

– ส่วนหลิวอี้เฟยก็งดออกความเห็นในเรื่องนี้อีก เพราะเธอบอกว่ามันละเอียดอ่อนเกินไป

– การนิ่งเฉยของทั้งดิสนีย์และหลิวอี้เฟย ทำให้ Mulan ถูกเหมาว่าเป็นหนังที่สนับสนุนความรุนแรง และกลายเป็นหนังที่มีภาพลักษณ์ผูกติดกับการประท้วงในฮ่องกงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

– กระแส Boycott Mulan ยังไม่ทันจางหาย โควิดก็เข้ามา เดิมหนังวางกำหนดเอาไว้ 12 มีนาคม 2020 แต่ โควิด 19 เริ่มระบาดหนักตั้งแต่ต้นปี โดยศูนย์กลางอยู่ที่อู่ฮั่น ประเทศจีน และบังเอิญว่าเป็นบ้านเกิดของหลิวอี้เฟย

– ช่วงต้นปีที่โควิดเริ่มระบาดออกนอกประเทศ เกิดการเหยียดชาวเอเชียรุนแรงในแถบยุโรปและอเมริกา ถึงขนาดว่ามีการทำลายป้ายโฆษณาหนัง Mulan หลายแห่งในอเมริกา ซึ่งกำหนดฉายของ Mulan ก็เข้าใกล้มาทุกที

– กระนั้นดิสนีย์ก็ยังจัดงานเปิดตัวหนังอย่างยิ่งใหญ่ แม้ว่าโลกกำลังสั่นคลอนแค่ไหนก็ตาม ซึ่งงานนี้เองที่หลิวอี้เฟยดันให้สัมภาษณ์ว่าเธอ “ภูมิใจที่เป็นคนเอเชีย” ก็เหมือนจะไม่มีอะไร แต่ในช่วงเวลาที่คนจีนกำลังตกเป็นจำเลยของชาวโลกเรื่องโควิด บางทีบทสัมภาษณ์ที่เหมือนจะไม่มีอะไรนี้ก็กระทบจิตใจชาวจีนได้เหมือนกัน กระแสในเว่ยป๋อที่เคยสนับสนุนหลิวอี้เฟยเมื่อม็อบฮ่องกง ตีกลับทันทีเพราะกะอีแค่บอกว่า “ภูมิใจที่เป็นคนจีน” มันยากตรงไหน?

– หลิวอี้เฟยโดนคนจีนไล่ไม่ต้องกลับมาทำมาหากินในจีนอีก

– Mulan เลื่อนหนังหนีโควิด รอบแรกเลื่อนมา 24 ก.ค. แต่ดูท่าว่าโรงหนังจะยังฟื้นฟูได้ไม่เต็มร้อยทั้งจีนและอเมริกา ดิสนีย์เลื่อนอีกรอบเป็น 21 ส.ค.

– สภาประชาชนจีน ผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกง เมื่อ 30 มิ.ย. หรือ 1 วัน ก่อนวันครบรอบอังกฤษส่งคืนฮ่องกงให้จีน ซึ่งมักมีการชุมนุมเป็นประจำทุกปี

– กฎหมายนี้อาจลดทอนสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกง โดยเฉพาะการเปิดช่องให้จีนเข้ามาแทรกแซงการดำเนินคดีฮ่องกงได้ แถมยังสามารถจัดการและดำเนินคดีผู้ชุมนุมได้เต็มที่ด้วย โดยอ้างเพื่อรักษาความมั่นคง

– ชาวโลกพร้อมใจยืนเคียงข้างชาวฮ่องกง กระทั่งแคมเปญ #BoycottMulan ถูกขุดมาใช้อีกครั้ง เริ่มต้นที่เกาหลี โดยในวันที่ผ่านกฎหมาย เหล่านักศึกษาและผู้สนับสนุนประชาธิปไตย เดินทางไปชุมนุมกันที่สำนักงาน วอลต์ดิสนีย์ เกาหลี เพื่อกดดันให้ค่ายยกเลิกการฉาย Mulan โดยให้เหตุผลว่าผู้ที่สนับสนุนให้รัฐใช้ความรุนแรงและเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยไม่ควรอยู่ในหนังเรื่องนี้

– มีคนวิเคราะห์ว่าการแสดงออกด้วยวิธีนี้ของชาวเกาหลีนั้นน่าสนใจ เพราะเป็นการแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติและเป็นการกดดันในภาคธุรกิจแทนภาครัฐ ที่น่าจะส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมกว่า

– จากเกาหลี มาถึงไทย #BoycottMulan ขึ้นอันดับ 1 ทวิตเตอร์ไทย จากกลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตย

– ทุกเหตุการณ์เกิดขึ้นในทุกช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการโปรโมทหนัง ทำให้แผนสะดุดหัวทิ่มทุกครั้งไป แล้วก็จบด้วยการเลื่อนหนังออกไปเรื่อยๆเพราะโควิด แน่นอนว่าไม่ใช่ผลดีต่อหนังเลย เพราะราวกับว่าขณะนี้ Mulan บอบช้ำเต็มทีแล้ว

Box Office Report : My Hero Academia อนิเมะญี่ปุ่นเปิดตัวในอับดับหนึ่ง

เมื่อวานนี้เป็นวันเปิดตัวของสองอนิเมะ คือ My Hero Academia : Heroes Rising ส่วน Akira เปิดเฉพาะเครือเมเจอร์ฯ ผลเป็นอย่างไร ดูจากอันดับได้เลยจ้า นอกจากนี้ยังมีหนังไทย ‘เกมเซ่นผี’ ที่เปิดตัวในอันดับ 2 ส่วน the Kingmaker ที่เมื่อวานนี้เปิดตัวไป 6 รอบทั้งประเทศ เก็บไป 2 หมื่นบาท

รายได้หนังประจำวันที่ 2 ก.ค. 63

1. My Hero Academia : Heroes Rising – 0.72 ล้านบาท
2. เกมเซ่นผี – 0.20 ล้านบาท
3. มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ – 0.14 (3.08) ล้านบาท
4. Trolls World Tour – 0.13 (1.80) ล้านบาท
5. Mr.Jones – 0.09 ล้านบาท
6. Akira – 0.07 ล้านบาท
7. 32 Malasana Street – 0.07 (1.69) ล้านบาท
8. Vivarium – 0.05 (0.90) ล้านบาท
9. Jojo Rabbit – 0.05 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายใหม่เท่านั้น
10. Achoura – 0.05 ล้านบาท

กว่าจะเป็นตัวละคร “แฟรงค์ ทีเจ แม็กคีย์” ไลฟ์โค้ชในตำนาน!

“จงเคารพจู๋!”

วาทะคลาสสิกของไลฟ์โค้ชคนนี้ คงบ่งบอกได้ดีถึงความอหังการ์ในความเป็นชายอย่างไม่ธรรมดา แต่เชื่อหรือไม่ว่า ตัวละครบ้าคลั่งในตำนานจากหนังชิงออสการ์เรื่อง Magnolia คนนี้ กลับถูกสร้างผ่านความเศร้าเกินเยียวยาของทั้งดาราและผู้กำกับมาอย่างเข้มข้น!

1) ย้อนไปในปี 1998 ระหว่างถ่ายหนังเรื่อง Eyes Wide Shut อยู่ในอังกฤษ (อ่านเบื้องหลังบ้าคลั่งพอกันของหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่) ทอม ครูส กับ นิโคล คิดแมน ภรรยาในขณะนั้น มีเวลาว่างจัดเลยชวนกันดู Boogie Nights (1997) ผลงานลำดับ 2 ของผู้กำกับอัจฉริยะวัย 27 ปีนาม พอล โธมัส แอนเดอร์สัน และประทับใจสุดๆ ถึงขั้นที่ครูสต้องโทรไปชื่นชม บังเอิญเหลือเกินที่แอนเดอร์สันอยู่ลอนดอนตอนนั้นพอดี ครูสจึงชวนเขามาเที่ยวกองถ่าย Eyes Wide Shut โดยไม่รอช้า


2) มิตรภาพของครูสกับแอนเดอร์สันเบ่งบานอย่างรวดเร็ว เพราะไม่แค่ชอบฝีมือกัน แต่ทั้งคู่ยังพบว่าต่างมีปมกับ “พ่อ” เหมือนกันอีกต่างหาก แอนเดอร์สันกำลังเศร้าเพราะพ่อเพิ่งตายไปไม่กี่เดือนก่อนหน้าด้วยโรคมะเร็ง (พ่อของเขาเป็นพิธีกรรายการสยองขวัญยามดึก และเคยซื้อกล้องวิดีโอให้ลูกชายอันบ่มเพาะให้เขาโตมารักการทำหนัง) มันเป็นความเศร้าที่ครูสเข้าใจดี เขาเองก็เสียพ่อไปให้แก่โรคร้าย แต่เจ็บปวดยิ่งกว่าเพราะตั้งแต่เด็กจนโตเขาเคยเห็นหน้าพ่อแค่สองครั้งคือตอนพ่อมารับไปดูหนัง และตอนเฝ้าพ่อในนาทีสุดท้าย พ่อตายไปโดยไม่เคยดูหนังของครูสเลยแม้แต่เรื่องเดียว


3) เวลาเจอผู้กำกับเก่งๆ ครูสชอบเอ่ยปากขอหนังเล่น แอนเดอร์สันก็ได้รับข้อเสนอเช่นกัน (เขาอายุน้อยกว่าครูส 8 ปี ถือว่าเป็นผู้กำกับอายุน้อยที่สุดที่ครูสเคยทำงานด้วย) และตัดสินใจสร้างตัวละครชื่อ “แฟรงค์ ทีเจ แม็กคีย์” ขึ้นในหนังเรื่องต่อมาของเขาคือ Magnolia โดยนำเรื่องราวความสัมพันธ์กับพ่อ ทั้งของตัวเขาและครูสมาใส่เป็นปูมหลัง


4) แต่อุตส่าห์ได้ดาราระดับทอม ครูสมาเล่นทั้งที ตัวละครนี้มันต้องเปิดโอกาสให้ได้โชว์ฝีมือระดับสุดขั้วสิดาราจะได้ประทับใจ แอนเดอร์สันคิดงั้นและถามตัวเองว่า “พอนึกถึงหน้าหล่อๆ ของทอม ผมก็เกิดไอเดียบ้าๆ ขึ้นมาว่า ทำไมไม่ลองให้เขากลายเป็นไอ้บ้ากามขี้เหยียดเพศหญิงดูล่ะ? เราไม่เคยเห็นเขาในบทแบบนี้มาก่อนเลยนะ” ซึ่งด้วยไอเดียนี้เอง ตัวละครนักพูดสร้างแรงบันดาลใจผู้มาพร้อมสโลแกนประจำตัวว่า “ผู้หญิงมีไว้หลอกล่อ แล้วทำลาย” ก็กำเนิดขึ้น

“ผมบอกทอมว่า รับรองเขามันแน่ เขาจะได้เล่นเป็นพวกขี้โชว์ ได้ขึ้นเวที ได้มีฉากดราม่าไปเยี่ยมพ่อป่วยใกล้ตาย มีครบทุกอารมณ์ว่างั้น ซึ่งทอมเข้าใจและอินเต็มที่ ไม่มีฉากไหนเลยที่เขากลัว เขาพร้อมทำทุกอย่างที่ผมบอกให้ทำ อันที่จริงผมนี่แหละต้องเป็นฝ่ายบอกด้วยซ้ำในบางฉากว่า ‘เพลาๆ หน่อยพี่ ฉากนี้พี่ไม่ต้องถือแส้ก็ได้’ เขาพร้อมเล่นสุดตัวจริงๆ เลย”


5) ใน Eyes Wide Shut ครูสแสดงเป็นนักบำบัดที่หมกมุ่นเรื่องเซ็กซ์ ทว่าบทนั้นกลายเป็นเด็กทารกไปเลยเมื่อเทียบกับ แฟรงค์ ทีเจ แม็กคีย์ ผู้ประกาศศักดาว่าสามารถทำให้ผู้หญิงทุกคนในโลกนี้ยอมพลีกายเป็นทาสเซ็กซ์ได้เพียงกระดิกปลายนิ้ว …แต่น่าสนใจเหลือเกินที่ตลอดหนังทั้งเรื่อง เรากลับไม่ได้เห็นเขาขึ้นเตียงกับผู้หญิงเลยแม้แต่คนเดียว (จริงๆ แล้วตอนถ่ายทำมี แต่แอนเดอร์สันกับครูสตัดสินใจตัดออก) แถมความสัมพันธ์ที่เขามีกับผู้หญิง 2 คนในเรื่องนี้ คือผู้ช่วยของเขา และพิธีกรสาวที่มาสัมภาษณ์ ก็เป็นไปในลักษณะที่เผยให้เห็นว่า เขาต่างหากที่ถูกควบคุมอยู่ภายใต้อำนาจของพวกเธอ


6) แม้ครูสจะขึ้นชื่อเรื่องความหล่อกริบ แต่ตลอดชีวิตการแสดงเขาแทบไม่เคยเผยเรือนร่างท่อนล่างหน้ากล้องเลย (ยกเว้นใน All the Right Moves หนังปี 1983 ส่วนใน Risky Business หนังปีเดียวกัน เขาใส่กางเกงใน) และแม้ใน Magnolia เขาจะไม่ถึงขั้นเปลือย แต่ก็ได้ฝากฉากลือลั่นไว้หลังจากแอนเดอร์สันขอหน้าตาเฉยในวันถ่ายทำว่า “วันนี้คุณช่วยถอดกางเกงหน่อยนะ …เถอะน่ะ รับรองตลก”

ตลกหรือเปล่าไม่รู้ รู้แต่สายตาทุกคู่ต้องตื่นตะลึงกับความยิ่งใหญ่ของครูสในฉากนี้ แต่ถ้าจ้องกันดีๆ ก็คงเดาได้ว่ามันน่าจะเป็นของปลอม และถ้าใครเคยดู Boogie Nights ก็คงรู้ด้วยว่าแอนเดอร์สันเคยใช้จู๋ปลอมในหนังมาแล้ว ครูสให้สัมภาษณ์ว่า ไม่รู้ว่าการที่เขาต้องพึ่งของปลอมและคนดูก็ฮือฮากันใหญ่นั้น “เป็นเรื่องที่ผมควรเสียใจหรือดีใจกันแน่” ขณะที่แอนเดอร์สันให้สัมภาษณ์ว่า “ทอม ครูส เป็นดาราใหญ่ที่สุดในโลกนะ ปัทโธ่ จู๋เขาก็ต้องใหญ่ที่สุดในโลกแน่นอนอยู่แล้ว !”


7) ตอนเริ่มเขียนบท แอนเดอร์สันวาดภาพแฟรงค์เป็นไอ้เนิร์ด แต่งตัวด้วยเสื้อเชิ้ตโปโลกับกางเกงกอล์ฟ ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจมาจาก “รอสส์ เจฟฟรีย์ส” ทนายและนักพูดสร้างแรงบันดาลใจตัวจริง (ผู้โด่งดังจากคอร์ส “สอนวิธีจับหญิง” / มีเกร็ดว่า เจฟฟรีย์สขู่จะฟ้องเพราะหนังลอกคำพูดของเขามาใช้เยอะมาก แต่โชคดีที่พอได้ดูหนังแล้วเขาชอบเลยให้อภัย)

แต่ครูสไม่เห็นด้วยกับไอเดียนั่น เขาบอกว่าเขาเห็นภาพแฟรงค์ในชุดสวมปลอกแขน นาฬิกาสายหนังเส้นใหญ่ๆ เสื้อกั๊กรัดๆ และอะไรๆ ที่แสดงถึงความเป็น “ฮีโร่เพศชาย” มากกว่า ครูสตีความว่า แฟรงค์เป็นคนที่รู้ตลอดเวลาว่าการพูดของตนเป็นแค่การเสแสร้ง ทุกสิ่งที่เขาทำล้วนผ่านการซักซ้อมมานับร้อยครั้ง เขาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ประกอบสร้างตัวตนขึ้นมาให้เฉิดฉายในแสงสปอตไลท์ และต่อให้ถูกทุบทำลายเกราะนั้น (เช่นที่เขาถูกพิธีกรสาวล้วงถามเรื่องส่วนตัวที่ชวนเจ็บปวด) เขาก็พร้อมจะกลับมาโปรยยิ้มแล้วแสร้งสวมบทบาทไลฟ์โค้ชล่าหญิงต่อไปได้อย่างสุดพลิ้ว


8) สิ่งที่ทำให้ครูสได้รับคำยกย่องที่สุด คือการแสดงที่ผสมผสานระหว่างความมั่นใจเว่อร์และความไม่มั่นคง เพราะเบื้องหลังของหนุ่มบ้ากามคนนี้คือเด็กชายที่ถูกพ่อทิ้งไปตั้งแต่เด็ก เคยเผชิญกับความตายอันหดหู่ของแม่ตามลำพังตอนเขาอายุเพียงสิบสี่ และโตมาด้วยความเกลียดชังหวาดกลัวเต็มหัวใจ ครูสใช้ทั้งการแสดงท่าทางหวั่นไหวสลับกับการใช้ความเงียบ ซึ่งแอนเดอร์สันบอกว่า “มีหลายฉากที่เราจะเห็นแฟรงค์เงียบอึ้ง ได้แต่ถลึงตาพูดไม่ออก ทอมเล่นกับความเงียบเก่งมากๆ ผมชอบมาก”


9) ตัวตนที่แท้จริงของแฟรงค์ถูกเผยในฉากท้าย เมื่อเขาไปเยี่ยมพ่อผู้ใกล้หมดลมหายใจ (รับบทโดย เจสัน โรบาร์ดส์) และเป็นอีกครั้งที่ครูสพิสูจน์ว่าเขาเข้าใจตัวละครนี้ดีแค่ไหน ตอนแรกแอนเดอร์สันเขียนบทไว้ว่า “แฟรงค์มาถึงประตู เห็นพ่อ และร้องไห้โฮออกมา” แต่ครูสแย้งว่า “ผมไม่ได้รู้สึกแบบนั้นเลยนะ” เพราะในชีวิตจริง ครูสยังจำได้ดีถึงภาพที่เขาไปเยี่ยมพ่อที่บ้านซึ่งอย่าว่าแต่จะได้เห็นหน้ากันเลย พ่อไม่เปิดประตูรับเขาด้วยซ้ำ

“ฉะนั้น ในนาทีนี้ผมไม่มีทางรู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมจะอาละวาดบ้าคลั่งใส่พ่อที่ผมเกลียดมาทั้งชีวิต หรือผมจะร้องไห้แงเหมือนเด็กน้อยที่เห็นพ่อกำลังจะตาย” และคำตอบคือ ตัวละครแฟรงค์ของเขาทำทั้งสองอย่าง แอนเดอร์สันตัดสินใจปล่อยให้ครูสด้นฉากนี้เอาเอง (“ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายมากนะในการทำหนัง ความจริงเราควรมีแผนไว้บ้าง แต่ผมยอมให้ทอมแสดงตามอารมณ์ตัวเอง ผมบอกเขาว่า คุณจะโกรธแค่ไหนก็ได้ จะเศร้ายังไงก็ได้ เอาตามที่รู้สึกจริงเลย”)

และสิ่งที่เราได้เห็น คือแฟรงค์ผู้พกความโกรธเกรี้ยวเกลียดชังมาถึงเตียงพ่อ เขาพยายามควบคุมตัวเอง (เหมือนที่เขาทำตลอดเวลาบนเวที) เขาสั่งตัวเองไม่ให้อ่อนไหว เขาสบถสาบาน เขาก้มลงสาปแช่ง เขาจ้องหน้าพ่อ เขาก่นด่า เขาร่ำไห้ มันเป็นสองนาทีที่ทุกความรู้สึกของผู้ชายน่ารังเกียจคนนี้ทะลักทลายออกมาต่อหน้าเรา เป็นส่วนผสมอันลงตัวของความบ้ากับความเปราะบางที่ทำให้เราต้องร่วมสะเทือนใจไปกับเขาในที่สุด

และเมื่อหนังออกฉาย นี่ก็คือสองนาทีที่ได้รับคำชมว่าเป็นการแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตของครูส เขาได้เข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งที่สามจากบทนี้

Box Office Report : ‘มนต์รักดอกผักบุ้งฯ’ ขึ้นอันดับ 1

เป็นสัปดาห์ของ ‘มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ’ ที่ใช้พลังของ เจนนี่, ลิลลี่ ได้หมดถ้าสดชื่น และ ครูเต้ย อภิวัฒน์ แม้จะทำเงินมากเป็นอันดับ 1 แต่ด้วยข้อจำกัดของระเบียบสังคมตอนนี้ หนังเลยทำเงินทั้งสัปดาห์ได้ไม่ถึง 3 ล้านบาท แต่ขณะที่หนังผี 32 Malasana Street แม้เป็นหนังฟอร์มเล็ก แต่ก็ทำเงิน ‘เกินล้านบาท’ ซึ่งหนังที่ทำเงินเกินล้านในช่วงนี้ถือว่าแข็งแกร่งไม่น้อยเลย

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 25 มิ.ย.-1 ก.ค. 63

1. มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ – 2.92 (2.94) ล้านบาท
2. Trolls World Tour – 1.67 ล้านบาท
3. 32 Malasana Street – 1.62 ล้านบาท
4. Vivarium – 0.85 ล้านบาท
5. Fantasy Island – 0.59 (2.41) ล้านบาท
6. The Dark Knight – 0.46 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายใหม่เท่านั้น
7. Guns Akimbo – 0.30 (1.47) ล้านบาท
8. The Dark Knight Rises – 0.20 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายใหม่เท่านั้น
9. Emma – 0.18 (0.61) ล้านบาท
10. Batman Begins – 0.17 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายใหม่เท่านั้น

MIDNIGHT CINEMA 02 : ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของ BLACK HORROR ว่าด้วยเชื้อโรค เลือด และคนดำ

0

1.

ท่ามกลางวิกฤตินานาของสังคมอเมริกันในทศวรรษที่ 1970 สงครามเวียดนาม การเหยียดสีผิว ท่ามกลางกระแสของบุปผาชน ฝ่ายขวาหัวรุนแรง การประท้วงสงคราม การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ในโลกภาพยนตร์ทศวรรษที่ 1970 คือช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านอย่างเก้ๆ กังๆ จากความเป็นอนุรักษนิยมของผู้คนยุคสงครามโลก มาสู่เสรีภาพทั้งในเรื่องเพศ วิถีชีวิตและการต่อต้านสงคราม 

สภาวะทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำของฮอลลีวูดนำไปสู่การเปิดโอกาสให้คนทำหนังรุ่นใหม่ ทำหนังแบบใหม่ๆ ทั้งหนังเมนสตรีมและหนังอาร์ต หนึ่งในนั้นคือการถือกำเนิดและจบสิ้นลงของภาพยนตร์ในกลุ่ม Blaxploitation 

Blaxploitation ดูจะเป็นคำแสลงที่เชื่อมโยงกลับไปในฐานะขนบรองของหนังในขนบ Exploitation ซึ่งหมายถึงบรรดาหนังทุนต่ำเกรดบีสร้างง่ายขายถูกที่เน้นความหวือหวา เซ็กซ์ และความรุนแรง หนังผี หนังเชือดเลือดสาด หนังขายเนื้อหนังมังสา หรือฉากการต่อสู้ เดิมที Exploitation เป็นคำเรียกหนังกลุ่มนี้แบบหลวมๆ ที่มีมาตั้งแต่สมัย 1920 หากกลับมาเป็นคำที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายหลังทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา จากการผ่อนคลายลงของระบบเซ็นเซอร์ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปของอเมริกาและยุโรป แม้ในทางหนึ่ง Exploitation เป็นป้ายปิดฉลากของหนังเกรดรองไร้สาระ แต่หนังอาร์ตหลายเรื่องก็เข้าข่ายหนัง Exploitation ด้วย 

สภาวะทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำของฮอลลีวูด นำไปสู่การเปิดโอกาสให้คนทำหนังรุ่นใหม่ ทำหนังแบบใหม่ๆ ทั้งหนังเมนสตรีมและหนังอาร์ต หนึ่งในนั้นคือการถือกำเนิดและจบสิ้นลงของภาพยนตร์ในกลุ่ม Blaxploitation ซึ่งคือหนังเกรดบีขายเซ็กซ์และความรุนแรงที่ทั้งหมดสร้างและแสดงโดยคนดำ แต่ไม่ใช่ว่าหนังที่คนดำเล่นทุกเรื่องในยุค 70’s จะถูกนับเป็น Blaxpolitation ในการถกเถียงทางวิชาการมีผู้เสนอว่า Blaxploitation นั้นเป็น ‘ขบวนการ’ (movement) มากกว่าขนบ (genre)

หากการที่มันจะเป็นหรือไม่เป็น Exploitation ซับซ้อนกว่านั้น เพราะมันไม่ได้เป็นเรื่องตรงไปตรงมา การใช้คำนี้เรียกขนบหนังไม่ใช่คำที่มาก่อนหนัง แต่เป็นคำที่มาทีหลัง กล่าวคือมันแปรผันตามทัศนคติและการรับรู้ที่ผู้ชมมีต่อหนังเรื่องนั้นๆ มากกว่าการถูกกำหนดล่วงหน้า แม้ว่าในทางหนึ่งมันอาจถูกนำมาใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์ก็ตาม แต่ในอีกทางมันก็มีความเหยียดเล็กๆ ในการเรียกขานหนังเหล่านี้ด้วย

หาก Blaxploitation กลับซับซ้อนกว่านั้นอีก เราอาจพูดแบบตีขลุมว่า หนังกลุ่มนี้คือหนังเกรดบีขายเซ็กซ์และความรุนแรงที่ทั้งหมดสร้างและแสดงโดยคนดำ แต่ไม่ใช่ว่าหนังที่คนดำเล่นทุกเรื่องในยุค 70’s จะถูกนับเป็น Blaxpolitation ในการถกเถียงทางวิชาการมีผู้เสนอว่า Blaxploitation นั้นเป็น ‘ขบวนการ’ (movement) มากกว่าขนบ (genre) ซึ่งเหตุผลก็เพราะหนังที่ถูกเรียกว่า Blaxploitation ในทางปฏิบัตินั้นได้กวาดเอาขนบอันหลากหลายทั้งหนังอาชญากรรมอย่าง Shaft หรือ Coffy ไปจนถึงหนังตลกอย่าง The Waremelon Man หนังอาชญากรรมอีโรติกอย่าง Sweet Sweetback’s Badasssss Song และหนังผี 

คล้ายคลึงกับหนังในตระกูล Film Noir (ฟิล์มนัวร์) หนังทั้งสองกลุ่มเกิดขึ้นมาโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากทั้งสังคม การเมือง และสภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ แรกเริ่มเดิมทีคนทำไม่ได้ตั้งใจที่จะทำหนังให้เป็นหนัง Film noir หรือ Blaxploitation กรณีของ Film noir นั้นมันเป็นหนังที่ถูกสร้างขึ้นมากในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง อันเป็นยุคที่ความขัดแย้งทำให้อเมริกาไม่ได้ส่งหนังไปฉายในฝรั่งเศส คำว่า Film Noir มาจากนักวิจารณ์ชาวฝรั่งเศส Nino Frank ใช้เรียกบรรดาหนังที่เขาเพิ่งได้ดู ซึ่งเขาเห็นว่ามันมีเรื่องเล่า สไตล์ และรูปแบบต่างไปจากหนังยุคก่อนสงครามอย่างน่าสนใจ ตัวละครชายที่น่าสงสัยในศีลธรรม ตัวละครหญิงร้าย เรื่องที่ค่อนไปทางมืดดำหดหู่ เขามองว่านี่คือภาพแทนของความวิตกกังวลของคนทำหนังและผู้ชมอันเป็นผลสืบเนื่องจากสงคราม

เช่นเดียวกัน Blaxploitation ขึ้นตรงต่อขนบของหนังน้อยกว่าสิ่งที่อยูในหนัง มันถูกสร้างในยุคสมัยของการเรียกร้องหาเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ถูกสร้างอย่างอิสระนอกสตูดิโอ ในยุคที่สตูดิโอฮอลลีวูดผ่านพ้นยุคทองของตัวเองไปแล้ว ในขณะเดียวกันความเป็นการเมืองของมันคือการที่ตัวมันเองเป็นการต่อต้านภาพแทนของคนดำในหนังฮอลลีวูดที่เป็นได้แค่ ตัวประกอบ ตัวตลก คนดำสร้างหนังของตัวเองที่มีคนดำเป็นตัวเอก เป็นวีรบุรุษ เป็นนักสู้ ในขณะที่เนื้อหาหลักของหนังมักคือ การล้างแค้นเอาคืนระหว่างคนดำกับคนขาว Blaxploitation เป็นทั้งการประกาศศักดาของการทำหนังของคนดำ โดยคนดำ เพื่อคนดำ แต่มันก็สร้างข้อถกเถียงมากมาย โดยเฉพาะการที่ตัวมันเองเป็นหนังอิสระที่มีร่มใหญ่ของความเป็นหนังอาชญากรรมครอบอยู่ ในทางหนึ่งมันจึงถูกมองว่า มันเกือบจะเป็นหนังที่ stereotype คนผิวสีให้เป็นได้แค่อาชญากร คนค้ายา โสเภณี ‘ความเป็นวีรบุรุษ’ ของคนขาวในหนังตระกูลเดียวกันอาจผูกโยงอยู่กับความเป็นสุภาพบุรุษ เชื่อมั่นในคุณธรรมบางอย่าง แต่นั่นไม่ใช่ในหนังแบบคนดำ ในอีกทางหนึ่ง ก็มีการตอบโต้ว่าการวิเคราะห์ให้หนังมีแค่นี้ก็เป็นการลดทอนการต่อสู้ของคนดำที่ไม่ยอมมีความสุภาพแบบคนขาว ไม่ใช่วีรบุรุษพิมพ์นิยมแบบคนขาว และต้องไม่ลืมว่าในสตูดิโอฮอลลีวูดแทบไม่มีทางที่คนดำจะเติบโตในแวดวงภาพยนตร์กระแสหลัก ในเวลานั้นมีคนนับนิ้วมือได้ที่ได้เป็นนักแสดง น้อยกว่านั้นสำหรับการเป็นคนเขียนบท ผู้กำกับหรือโปรดิวเซอร์ 

Blaxploitation เป็นทั้งการประกาศศักดาของการทำหนังของคนดำ โดยคนดำ เพื่อคนดำ แต่มันก็สร้างข้อถกเถียงมากมาย โดยเฉพาะการที่ตัวมันเองเป็นหนังอิสระที่มีร่มใหญ่ของความเป็นหนังอาชญากรรมครอบอยู่ ในทางหนึ่งมันจึงถูกมองว่า มันเกือบจะเป็นหนังที่ sterEotype คนผิวสีให้เป็นได้แค่ อาชญากร คนค้ายา โสเภณี ในอีกทางหนึ่งก็มีการตอบโต้ว่า การวิเคราะห์ให้หนังมีแค่นี้ก็เป็นการลดทอนการต่อสู้ของคนดำที่ไม่ยอมมีความสุภาพแบบคนขาว ไม่ใช่วีรบุรุษพิมพ์นิยมแบบคนขาว และต้องไม่ลืมว่าในสตูดิโอฮอลลีวูดแทบไม่มีทางที่คนดำจะเติบโตในแวดวงภาพยนตร์กระแสหลัก ในเวลานั้นมีคนนับนิ้วมือได้ที่ได้เป็นนักแสดง น้อยกว่านั้นสำหรับการเป็นคนเขียนบท ผู้กำกับหรือโปรดิวเซอร์

อย่างไรก็ตาม ในบทความชิ้นนี้เราจะโฟกัสไปยังขนบย่อยของขนบ/ขบวนการใหญ่เท่านั้น และนั่นคือ หนังสยองขวัญของคนดำ (Black Horror)

2. 

เริ่มกันอย่างนี้ เริ่มกันในศตวรรษที่ 18 คุณคือ Malmuwalde เจ้าชายแห่งชนเผ่า Abani ในแอฟริกา คุณพร้อมด้วยมเหสี Luva เดินทางมายังทรานซิลเวเนียเพื่อเข้าพบกับท่านเคานท์ Dracula หลังจากได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างดีคืนนั้นคุณตรงเข้าประเด็น คุณมาที่นี่เพื่อเจรจาเรื่องการเลิกทาส และสิ่งที่ Dracula ตอบโต้คุณคือการทำให้คุณตกเป็นทาสเสียเอง ไม่ใช่ทาสต่อเขา แต่ทาสของกาลเวลา เขาทำให้คุณเป็นอมตะ เป็นแวมไพร์กระหายเลือดเช่นเดียวกันกับเขา จากนั้น เขาขังคุณไว้ในห้องใต้ดินของบ้านพร้อมกับมเหสีของคุณซึ่งถูกปล่อยให้ตาย 

ศตวรรษต่อมา คู่รักเกย์ดำขาวคู่หนึ่งเข้าซื้อบ้านของ Dracula ในทรานซิลเวเนีย พวกเขาเจอโลงศพลึกลับในห้องใต้ดิน ตัดสินใจขนส่งมาอเมริกา ด้วยวิธีการนี้เอง คุณฟื้นคืนชีพขึ้นมาในนามของ Blacula!

เริ่มต้นกันอย่างนั้น และนี่คือหนังที่ถูกนับเป็นหนังเรื่องแรกของ Black Horor

ด้วยความสำเร็จทางการตลาดของหนัง ในปีเดียวกันนั้น ยังมีหนังทำนองนี้ตามออกมาอีกจำนวนหนึ่ง จาก Blacula (1972) หนังแดรกคูล่าคนดำ ไปสู่ Blackenstein (1973) หนังที่มีคนดำมารับบททหารเวียดนามผู้เสียแขนขาและถูกปลุกชีพให้เป็นแฟรงเกนสไตน์, Dr. Black and Mr. Hyde (1976) หนังดัดแปลง Jackle and Hyde ฉบับคนดำ และ Abby (1974) หนังรีเมก The Exorcist ให้เป็นคนดำผีเข้า

อาจบอกได้ว่าต้นธารของหนัง Black Horror เกิดจากการรีเมกเพื่อสร้างความหมายใหม่ เริ่มจาก Dracula รีเมกเป็น Blacula, FrankenstEIn รีเมกเป็น BlackensTein Dr. Jekyll and Mr. Hyde รีเมกเป็น Dr. Black and Mr. Hyde และ The Exorcist รีเมกเป็น Abby การเปลี่ยนโลกของคนขาวมาเป็นโลกของคนดำในเรื่องเล่าแบบเดียวกันกับสร้างผลที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจ

ดูเหมือนเพียงแค่การดัดแปลงก็มีความหมายทางการเมืองที่น่าสนใจแล้ว เพราะหนังสยองขวัญเหล่านี้เคยเป็นพื้นที่ของคนขาว หากว่ามีคนดำอยู่ในหนัง คนดำก็มักเป็นตัวประกอบ เป็นตัวตลก เป็นคนที่ตายก่อน การช่วงชิงเอาเรื่องสยองของคนขาวมาดัดแปลงให้เป็นเรื่องของคนดำ จึงเป็นปรากฏการณ์ช่วงชิง ท้าทย ความหมายดั้งเดิมที่น่าตื่นเต้นโดยตัวมันเอง

น่าเสียดายที่แม้จะเริ่มต้นอย่างห้าวหาญว่าด้วยการค้าทาส แต่ Blacula ไปได้ไม่ไกลนัก เพราะหลังจาก Blacula ถูกนำมายังอเมริกา เขาก็ออกอาละวาดตามแบบฉบับหนังสยองขวัญ และจบตามขนบโดยไม่มีอะไรเร้าใจไปมากกว่าการเป็นหนังสยองขวัญเรื่องหนึ่ง ด้วยความฮิตของมันจึงทำให้มีภาคต่อออกมาในชื่อ Scream Blacula Scream (1973) ซึ่งแม้ว่าคุณภาพในการเป็นหนังสยองขวัญอาจจะไม่ดีนัก แต่โครงเรื่องของมันกลับท้าทายอย่างยิ่ง เพราะว่าในภาคต่อนี้ Blacula ที่ตายไปในแสงอาทิตย์ถูกปลุกผีขึ้นมาอีกครั้ง นี่ไม่ใช่แค่การปลุกคนที่ตายให้กลับฟื้นตื่น แต่คือการปลุกผีให้กลับมาเป็นผีเลยทีเดียว ที่มันกว่านั้นคือการปลุกผี Blacula เกิดขึ้นจากการเอากระดูกของเขามาร่ายมนต์วูดู !!  

ไสยศาสตร์ของคนดำจึงกลายเป็นอำนาจเหนือความสยองขวัญของคนผิวขาว อย่างไรก็ตามหนังยังคงเดินตามขนบหนังแวมไพร์ Blacula ไล่ดูดเลือดคนอื่น สร้างกองทัพผีดิบ และถึงที่สุดอาจจะตกหลุมรักหมอผีสาวที่พยายามทำพิธีส่งร่างผีดิบกลับไปยังโลกเดิม และในที่สุดเป็นผู้เดียวที่ทำลาย Blaculaได้ 

หนึ่งในการตีความสำคัญเกี่ยวกับ Dracula ฉบับของ Bram Stoker คือการที่โดยเนื้อแท้นี่เป็นเรื่องของการหวาดกลัวคนอพยพและคนยิว (Dracula ย้ายจาก Transylvania มาอยู่ในอังกฤษ นำพาเอาความชั่วร้ายกับโรคติดต่อมาด้วย และการดื่มเลือดของ Dracula ที่ทำให้ผู้ถูกดูดเลือดกลายเป็นแวมไพร์ก็คือภาพเปรียบเปรยของเชื้อโรคและโรคระบาด) ภาพลักษณ์ของแวมไพร์จึงไปกันได้ดีกับสถานะของคนดำในสังคมอเมริกาในสายตาของคนขาว ที่มองคนดำเป็นของพลเมืองชั้นสอง คนอพยพ แหล่งซ่องสุมของความชั่วร้ายและเชื้อโรค มันจึงเป็นการย้อนเกล็ดทั้งการที่เอาตำนานของคนขาวมาเล่าใหม่ เพื่อท้าทายความเป็นเจ้าของเรื่องเล่า ในขณะเดียวกันก็ช่วงชิงเอาความวิตกกังวลที่คนขาวมีต่อคนดำมาใช้เสียเองเพื่อเป็นทั้งแฟนตาซีและการเสียดสี 

ในปีเดียวกันนั้นเองยังมีหนังแวมไพร์คนดำอีกเรื่องที่สำคัญกว่า และกลายเป็นหนึ่งในหนังสำคัญที่สุดทั้งในแง่ของหนังสยองขวัญ หนังอาร์ต และหนัง Blaxploitation นั่นคือ Ganja & Hess

Ganha & Hess เล่าเรื่องของ Dr. Hess (แสดงโดย Duane Jones นักแสดงนำจาก Night of The Living Dead ของ George Romero หนังที่ไม่ใช่ Blaxploitation แต่ถูกจดจำในฐานะหมุดหมายสำคัญหลายๆ ประการ หนึ่งในนั้นคือการที่มีตัวละครเอกเป็นคนผิวดำ ซึ่งแม้ Romero จะออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นหนังที่ตัวละครหลักเป็นคนผิวดำเพื่อประเด็นทางการเมือง แต่นี่คือเรื่องของชายผิวดำที่ต้องต่อสู้กับคืนของซอมบี้ผีดิบท่ามกลางตัวละครคนขาวประสาทๆ มากมาย ก่อนจะลงเอยด้วยการถูกสังหารจากน้ำมือของตำรวจเพราะคิดว่าเขาเป็นซอมบี้ในเช้าวันต่อมา) นักมานุษยวิทยาที่กำลังวิจัยเรื่องชนเผ่าโบราณในแอฟริกาได้กริชมากระดูกสัตว์มาอันหนึ่ง เวลาต่อมาผู้ช่วยของเขาที่่ค่อยๆ เสียสติไปทีละน้อย (รับบทโดย Bill Gunn ผู้กำกับเอง) หยิบกริชอันนั้นมาแทงเขากลางดึกในคืนหนึ่งก่อนจะยิงตัวตาย 

หาก Dr. Hess ไม่ตาย กริชนั้นมีบางอย่างอยู่ ซึ่งเราอาจะเรียกว่ามนต์วูดูหรือเชื้อโรคก็ได้ เขาฟื้นจากความตายเพื่อกลายเป็นแวมไพร์กระหายเลือด และเริ่มออกล่า บางครั้งฉกเลือดจากคลินิก บางครั้งก็จากโสเภณีและคนจรต่างๆ จนกระทั่ง Ganja ภรรยาของผู้ช่วยที่ตายไปแล้วของเขาเดินทางมาถึง หล่อนสวย และมีเสน่ห์ยวนใจ จนในที่สุดเขาดื่มเลือดเธอและทำให้เธอเป็นเช่นเขา ขณะที่เขาทุกข์ทรมานกับความอมตะและคลั่งเลือดของตน Ganja ก็ค่อยๆ เรียนรู้ที่จะเป็นแวมไพร์และหาทางที่จะมีชีวิตใหม่ด้วยตัวของเธอเอง 

หากในช่วงเวลานั้นยังมีหนังแวมไพร์อาร์ตเฮาส์ Ganja & Hess ที่ถือเป็น Black Horror เรื่องสำคัญที่สุด หนังประกอบภาพแวมไพร์อย่างเข้ากับโรคร้าย แต่โรคนี้ไม่ได้ทำให้คนดำแข็งแรงขึ้น มันทำให้เขาอ่อนแอ ความกระหายเลือดนั้นก้ำกึ่งอยู่ระหว่างการเป็นอาการป่วยไข้ หรือการติดยาเสพติด

พล็อตอาจจะดูเป็นหนังแวมไพร์ที่คุ้นเคย แต่หนังกลับถ่ายทำอย่างผิดประหลาด ด้วยงานภาพหลอกหลอนบิดเบี้ยว การสโลว์การเคลื่อนไหวของตัวละครจนหลายฉากเกือบจะเป็นภาพนิ่ง กล้องที่เคลื่อนใกล้ชิดตัวละครจนใบหน้าและร่างกายปรากฏเป็นเพียงส่วนเสี้ยว การเอียงกล้องจนทุกเส้นบนจอเป็นเส้นเฉียงชวนสยอง กล่าวให้ถึงที่สุด Ganja & Hess เป็นหนังแวมไพร์ที่เกือบจะเป็นฉบับเมายาล่องลอย เป็นบรรยากาศมากกว่าตัวเรื่อง เป็นฉากหลังมากกว่าอุปมาอุปไมย

ดูเหมือนหนังประกอบภาพแวมไพร์อย่างเข้ากับโรคร้าย แต่โรคนี้ไม่ได้ทำให้คนดำแข็งแรงขึ้น มันทำให้เขาอ่อนแอ ความกระหายเลือดนั้นก้ำกึ่งอยู่ระหว่างการเป็นอาการป่วยไข้หรือการติดยาเสพติด บ้านของ Dr. Hess ซึ่งเป็นคฤหาสน์หรูหราแบบคนขาว วิถีชีวิตแบบคนขาว มีกระทั่งคนรับใช้ (ผิวดำ) กลายเป็นแบบจำลองของสังคมกระฎุมพีคนขาวสวมในสังคมคนดำ เป็นคนในอาณานิคมที่ฝันอยากเป็นเจ้าอาณานิคม ซึ่งเขาเองเป็นทั้งส่วนหนึ่งและไม่เป็นส่วนหนึ่ง มันเป็นทั้งการล้อเลียนและการทำให้มันผิดที่ผิดทาง การปฏิบัติของ Ganja และ Hess ต่อคนรับใช้ยิ่งฉายภาพผิดที่ผิดทางของความอยากเป็นอย่างคนขาวที่เป็นไม่ได้ไปไม่ถึง ทั้งการถูกเอาคืนจากบรรพบุรุษผ่านกริชลึกลับให้ต้องกลายเป็นสัตว์ที่ ‘เป็นก็ไม่ใช่ ตายก็ไม่เชิง’ เป็นสัตว์ ‘ประหลาด’ (ในความหมายของ Uncanny Creatures อันหมายถึงสิ่งซึ่งดูปกติ เคยดูปกติ แต่ไม่ปกติ มีบางอย่างที่ชวนขนลุก หลอกหลอน ผิดไปจากเดิม ไม่ใช่สัตว์ประหลาดที่ไม่เคยเห็น แต่เป็นสิ่งที่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน)

ความเป็น สัตว์ ‘ประหลาด’ ในหนังทำให้นักวิชาการภาพยนตร์บางคนเปรียบเทียบสถานะของแวมไพร์ในฐานะภาพหัวกลับของการเป็นทาส การเป็นทาสของแอฟริกันอเมริกันมีความกึ่งเป็นวัตถุกึ่งเป็นมนุษย์ เพราะในขณะที่พวกทาสถูกซื้อขายได้ในฐานะวัตถุไม่มีชีวิต เจ้าของทาสก็รู้อยู่เต็มอกว่าเหล่าทาสนี้สามารถถูก ‘สิงสู่’ โดยเจตจำนงเสรีของความเป็นมนุษย์ หรือพูดให้ง่าย เป็นมนุษย์ไม่ใช่สิ่งของ พวกเขาจึงต้องออกกฎควบคุมทาสไม่ให้ละเมิดเจ้าทาส ทาสจึงเป็นทั้งสิ่งที่ทั้งถูกทำให้ไม่มีชีวิตและก็ไม่มีชีวิต ‘เป็นก็ไม่ได้ตายก็ไม่เชิง’  เป็นเพียง ‘สัตว์ประหลาด’ ที่มีกำลังแต่ไร้อำนาจ ในขณะเดียวกัน ความเป็นแวมไพร์ก็ไม่ได้น่ากลัวเพียงเพราะมันทำให้ตาย แต่เพราะมันคือการล่าอาณานิคมที่ปรากฏต่อเรือนกาย ทำให้กายกลายเป็นทาส แบบเดียวกับการล่าอาณานิคมแอฟริกัน กลายเป็นผีที่มีอำนาจ ทาสที่มีอำนาจเหนือนายแต่ก็เป็นทาส (ต่อความกระหายเลือด)

การที่เจ้านายกลายเป็นทาส (ทาสของเลือด ยาเสพติด หรือการเป็นผี) จึงเป็นภาพหัวกลับของนิยามความเป็นทาส ขณะเดียวกันศพสุดท้ายของหนังคือคนรับใช้ของ Dr. Hess ทาสที่ไร้เสียงโดยสมบูรณ์ เมื่อแวมไพร์รายใหม่เปลือยกายขึ้นจากสระน้ำราวกับพระเยซูตื่นฟื้น ส่วน Dr.Hess ผู้ทุกข์ทก็หันหน้าเข้าหาโบสถ์เพื่อให้แก้ไขอาการของตน ราวกับศาสนาเป็นทางออกและยาฝิ่นระงับอาการเป็นก็ไม่ใช่ตายก็ไม่เชิงของคนดำชนชั้นกลางที่ผิดที่ผิดทางไปในสังคมอเมริกันสมัยใหม่ในขณะนั้น 

Ganja &Hess ที่เปล่าเปลือย จึงกลายเป็นหนังที่เปิดโล่งต่อการตีความความหมายหลายๆ แบบในการใช้หนังสยองขวัญมาอธิบายความวิตกกังวล ความกลัว ความตึงเครียดของสังคมผ่านทางโครงเรื่องหลวมๆ บรรยากาศหลอกหลอนและการไม่ยอมตกเป็นทาสของการเล่าเรื่องเสียเอง 

3. 

นี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างคร่าวๆ ถึงบรรดาหนังจากยุคแรกของ Black Horror ในทศวรรษ 1970 ก่อนที่มันจะร่วงโรยไปตามกาลเวลา พร้อมกับการมาถึงของหนัง Blockbuster แนวใหม่ที่เปลี่ยนโฉมหน้าของวงการหนังไปตลอดกาลอย่าง Jaws  

ในยุค 90’s Black Horror กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งผ่านหนังที่คนจดจำกันได้ดี ด้วยเรื่องของฆาตกรฆ่าต่อเนื่อง/ผีปีศาจตัวแรกที่เป็นคนดำอย่าง Candyman (1992) ผีนักฆ่ามือตะขออดีตลูกชายของทาส หรือ Bones (2001) หนังแวมไพร์ของ Snoop Dogg และ Def by Temptation (1990) อีกหนึ่งหนังแวมไพร์ 

และไม่กี่ปีมานี้เอง Black Horror กลับมาอีกครั้ง ผ่านหนึ่งในหนังเรื่องสำคัญทั้งในฐานะหนังทำเงินและหนังชิงรางวัลปี 2017 คือ Get Out โดย Jordan Peele ซึ่งว่าด้วยหนุ่มผิวดำที่มีแฟนเป็นคนขาว สุดสัปดาห์เขาเดินทางไปบ้านแฟนซึ่งเป็นบ้านคนผิวขาวชนชั้นกลาง ในงานปาร์ตี้เขาพบคนดำท่าทางแปลกๆ เหมือนหุ่นยนต์และเริ่มรู้สึกผิดประหลาด เมื่อแม่ของคนรักที่เป็นจิตแพทย์พูดคุยและอาจจะเริ่มสะกดจิตเขา Get Out โด่งดังทั้งในฐานะหนังสยองขวัญและหนังที่ซ่อนประเด็นทางสังคมไว้อย่างเฉียบแหลม ก่อนที่ Jordan Peele จะวิพากษ์ผ่านหนังสยองขวัญอย่างหนักมือขึ้นในหนังเรื่องต่อมาคือ Us ที่วิพากษ์ชนชั้นของคนดำอย่างดุเดือด ซึ่งไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ เราอาจกล่าวได้ว่าหนังสองเรื่องนี้เป็นลูกหลานของหนังในสายตระกูล Black Horror 

และนี่คือประวัติศาสตร์ฉบับย่อของหนังสยองขวัญคนดำ และลูกหลานของมัน


หมายเหตุ : เนื้อหาบางส่วนของบทความเป็นการสรุปและเรียบเรียงจาก Novotony Lawrence และ Gerald R. Butters Jr., บรรณาธิการ. (2016). Beyond Blaxploitation . Detroit : Wayne State University Press

แมมมี่จ๋า : การเหยียดผู้หญิงผิวดำผ่านรากประวัติศาสตร์การสร้างภาพเหมารวม

หลายคนที่ชมภาพยนตร์อเมริกัน อาจคุ้นตากับตัวละครผู้หญิงผิวดำ รูปร่างท้วม มีหน้าที่ทำงานบ้าน คอยดูแลครอบครัวคนขาวในหนังหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น บทของออคตาเวีย สเปนเซอร์ ใน The Help (2011) หลุยส์ บีเวอร์สใน Imitation of Life (1934) หรือบท ‘แมมมี่’ ของ แฮตตี แม็กแดเนียลใน Gone with the Wind (1939)

รวมถึง เฟ ริชาร์ดส์ ผู้ที่ถูกคนหลงลืมในหน้าประวัติศาสตร์หนังฮอลลีวูดยุคแรก เธอรับบทเป็นแม่บ้านผิวดำในเรื่อง Plantation Memory (1937) กำกับโดยมาร์ธา เพจ ผู้กำกับหญิงซึ่งมีข่าวลือหนาหูว่าเธอเป็นคู่รักของเฟ ฟังดูน่าสนใจไม่น้อย แต่ก่อนเราจะไปพูดถึงเธอ มาทำความรู้จักกับตัวละครในลักษณะนี้ หรือที่ถูกเรียกว่า ‘แมมมี่’ กัน


1830: กำเนิดจิม โครว์ และการล้อเลียนคนผิวดำ

ซ้าย: ภาพปกจากชีตเพลง Jump Jim Crow (1832)
ขวา: ภาพจากเอ็มวี This Is America (2018) ที่โดนัลด์ โกลเวอร์ ทำท่าทางเลียนแบบจิม โครว์

ในสหรัฐอเมริกา ประมาณปี 1830 เกิดลักษณะการแสดงประเภทมินสเตรล (Minstrel show) ขึ้น คนขาวแต่งหน้าให้ดำ (Blackface) แล้วเล่นเป็นตัวละครคนผิวดำในลักษณะล้อเลียนขบขันเกินจริง ขับร้องเต้นรำด้วยกิริยาท่าทางโง่เง่า เพื่อดูถูกเหยียดหยามคนผิวดำ มีหลายคณะออกทัวร์ไปทั่วประเทศ รวมถึงคณะของโทมัส ไรซ์ เขาแสดงเป็นตัวละครผิวดำชื่อ จิม โครว์ (รูปด้านล่าง) ซึ่งมาจากเพลง Jump Jim Crow (1828) ที่ตัวละครนี้ร้องและเต้นประกอบธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. กบฏวรรณกรรม. กรุงเทพฯ: สมมติ, 2556. หน้า 292. ไรซ์ออกแสดงในชื่อ “แดดดี้ จิม โครว์” แม้เขาจะไม่ได้เป็นนักแสดงผิวขาวคนแรกที่ทำการแสดงในลักษณะนี้ แต่เขาคือคนที่ทำให้คำว่าจิม โครว์เป็นภาพแทนคนผิวดำในสายตาคนอเมริกัน ขณะออกแสดงในประเทศระหว่างช่วงปี 1850 ถึง 1870https://www.britannica.com/story/what-is-the-origin-of-the-term-jim-crow

การแสดงลักษณะนี้ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะช่วงหลังสงครามกลางเมืองอเมริกัน (1861 – 1865) ก่อนจะลดความโดดเด่นลงในช่วงกลางทศวรรษที่ 1890http://cuir.car.chula.ac.th/dspace/bitstream/123456789/44816/1/worawut_kr.pdf

ป้ายตามที่สาธารณะเพื่อ ‘แบ่งแยก’ คนผิวดำออกจากคนขาว หนึ่งในผลกระทบจากกฎหมายจิม โครว์ – ภาพจากพิพิธภัณฑ์จิมโครว์

อย่างที่ทราบกันว่า หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองอเมริกาในปี 1865 ทาสผิวดำถูกปลดปล่อยจากสถานภาพทาส ต่อมาก็ตกเป็นเป้าการกล่าวโทษของคนผิวขาว เกิดความขัดแย้ง และกระบวนการแบ่งแยกสีผิว (Racial Segregation) ก็เริ่มต้นขึ้น หลายรัฐทางใต้เริ่มออก ‘กฎหมายจิม โครว์’ เพื่อควบคุมคนผิวดำ ทำให้คนผิวดำถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม โดยประเด็นสำคัญคือการยึดหลักแนวคิดแบ่งแยกแต่เสมอภาค (seperate but equal) ซึ่งเป็นการกระทำที่ย้อนแย้ง ตัวอย่างเช่น แม้ว่ามีการแยกโรงเรียนคนดำและคนขาว แต่โรงเรียนของคนผิวดำก็มีคุณภาพต่ำกว่ามากhttps://filmclubthailand.com/film-review/murder-in-mississippi/

จูดี้ การ์แลนด์ทาหน้าดำ (blackface) ใน Babes in Arms (1938)

1852: เธอหุ่นท้วม ผิวดำ ทำงานบ้าน ดูแลเจ้านายผิวขาว เธอคือ “แมมมี่”

ภาพแมมมี่ในโชว์มินสเตรล แสดงโดยคนขาวทาหน้าดำ ช่วง 1880s (Photograph by Miss Libby of Norway, Maine)

ตั้งแต่ยุคการค้าทาสมาจนถึงยุคจิม โครว์ (คำที่ใช้เรียกช่วงระหว่างการบังคับใช้กฎหมายจิม โครว์ ในหลายรัฐทั่วอเมริกา ตั้งแต่ปี 1877-1966) เกิดภาพเหมารวม (สเตอริโอไทป์) “แมมมี่” ขึ้น เธอเกิดจากโชว์มินสเตรลที่คนขาวทาหน้าดำล้อเลียน ลักษณะของตัวละครนี้คือหญิงผิวดำผู้มีความสุข ยิ้มกว้าง หัวเราะอิ่ม หุ่นท้วม มีความเป็นแม่ ยอมรับสถานะอันด้อยกว่าของตน มีความสามารถในการทำงานบ้าน และเลี้ยงดูเด็กๆ ของครอบครัวเจ้านายคนขาวซึ่งเป็นโลกทั้งใบของเธอ จงรักภักดีต่อนายhttps://nmaahc.si.edu/blog-post/popular-and-pervasive-stereotypes-african-americans เธอไม่มีเพื่อนคนผิวดำ และถึงแม้จะมีครอบครัวของตนเอง แต่เธอก็ปฏิบัติกับพวกเขาไม่ดีเท่าไรนักhttps://www.ferris.edu/jimcrow/mammies/

แต่ในความเป็นจริง พบหลักฐานระหว่างช่วงเวลา 50 ปีแรกหลังการปฏิวัติอเมริกา (1783 – 1833) จนถึงช่วงก่อนการเลิกทาส (1863) ว่ามีทาสหญิงจำนวนน้อยมากๆ ที่ช่วยเจ้านายผิวขาวทำงานในบ้าน เพราะมีเพียงเจ้านายผิวขาวที่รวยมากๆ เท่านั้นจึงจะจ้างหญิงผิวดำทำงานบ้าน แทนที่จะทำงานในไร่ ทั้งนี้ หญิงผิวดำที่ทำหน้าที่นี้ ส่วนใหญ่มีรูปร่างผอม (ได้รับอาหารอย่างจำกัดจำเขี่ย) สีผิวไม่ดำเข้ม และอายุน้อย (เพราะสภาพความเป็นอยู่และการถูกใช้งานอย่างหนัก ทำให้ทาสหญิงผิวดำกว่า 90% ตายก่อนจะอายุครบ 50 ปี) ซ้ำร้ายทาสหญิงยังถูกปฏิบัติอย่างโหดเหี้ยม โดนข่มขืน และมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 32 ปี แมมมี่ในภาพแทนที่ลดทอนความเป็นเพศ และไร้พิษภัยใดๆhttps://iforcolor.org/mammy-sean-smith/ จึงเป็นแค่ภาพที่คนขาวทางใต้สร้างขึ้นเพื่อไถ่ความผิดบาป เพราะถูกฝ่ายเหนือโจมตีประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างทาสหญิงผิวดำกับชายผิวขาวในสังคมการค้าทาสCatherine Clinton, The Plantation Mistress: Woman’s World in the Old South (New York: Pantheon Books, 1982), p. 201–203. และเป็นภาพหวนรำลึกถึง ‘วันวานอันหวานชื่น’ ทางตอนใต้ในยุคแอนเทเบลลัม หรือช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงก่อนสงครามกลางเมืองในปี 1861 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจทางตอนใต้ถึงจุดพีคจากการใช้แรงงานทาสอย่างหนัก (ปัจจุบันคำนี้ถือว่าละเอียดอ่อน อย่างล่าสุดวงเลดีแอนเทเบลลัม ก็เปลี่ยนชื่อเป็น เลดีเอ แล้วhttps://www.nytimes.com/2020/06/11/arts/music/lady-antebellum-name-change-lady-a.html)

ในปี 1836 ซึ่งเป็นช่วงที่คำว่าแมมมี่เริ่มถูกใช้อย่างแพร่หลายทางตอนใต้แล้ว ปรากฏบทความชื่อ Diary of an Invalid ใน Southern Literary Messenger มีคนชนชั้นสูงทางตอนใต้คนหนึ่งในรัฐเซาท์แคโรไลนา พูดถึงมาร์กาเร็ต ที่แม่ของเขาจ้างมาดูแลครอบครัว ซึ่งภายหลังเขาเรียกเธอว่า ‘แมมมี่มาร์เก็ต’ และเธอเป็น “หญิงรับใช้ผู้ทุ่มเทและซื่อสัตย์ที่สุดเท่าที่ผมเคยพบเจอ ผมรักและเคารพเธอที่สุด รองจากแม่ของผม”

ซ้าย: ภาพ Please Mammy ไม่ทราบผู้ถ่าย (1899) – the Library of Congress Prints and Photographs Division.
ขวา: ภาพถ่ายปลายศตวรรษที่ 19

มิกกี แม็กเอลยา พูดในหนังสือ Clinging to Mammy: The Faithful Slave in Twentieth-Century America ว่า ปัญหาของการเล่าเรื่องในภาพของทาสรับใช้ผู้จงรักภักดีนี้ เป็นการลดประเด็นของความรุนแรงที่นายทาสมีต่อทาส และด้วยสถานภาพทาส การจงรักภักดีจึงเป็นเรื่องที่ทาส ‘ต้อง’ ทำMicki McElya, Clinging to Mammy: The Faithful Slave in Twentieth-Century America (Massachusetts: Harvard University Press, 1982), p. 5–6.

คิมเบอร์ลี วอลเลซ-แซนเดอร์ส เขียนในหนังสือ Mammy: A Century of Race, Gender, and Southern Memory ถึงการใช้คำว่า “แมมมี่” เพื่อพูดถึงทาสหญิงที่ดูแลเด็กผิวขาวทางตอนใต้ของอเมริกา ซึ่งโผล่ครั้งแรกๆ ในปี 1810 เป็นคำที่ใช้หมายถึงแม่ (ma’am + mamma) พอถึงปี 1820 คำนี้มักถูกใช้กับคนผิวดำผู้มีหน้าที่ดูแลเด็กๆ ผิวขาว แซนเดอร์สค้นคว้านิยายและบันทึกที่ถูกเขียนขึ้นทางตอนใต้ของอเมริกาในยุคแอนเทเบลลัม พบว่าตัวละครที่ทำหน้าที่นี้มีความหลากหลาย มีทั้งเพศชายและหญิง ไม่ได้มีรูปร่างใหญ่หรืออ้วนท้วม หรือรูปแบบพฤติกรรมเฉพาะ จนกระทั่งการมาถึงของนิยาย Uncle Tom’s Cabin (กระท่อมน้อยของลุงทอม) เขียนโดย แฮเรียต บีชเช่อร์ สโตว์ ในปี 1852Kimberly Wallace-Sanders, Mammy: A Century of Race, Gender, and Southern Memory (Michigan: University of Michigan Press, 2008), p. 4.

นิยาย Uncle Tom’s Cabin เขียนโดย แฮเรียต บีชเช่อร์ สโตว์ (1852) (แปลไทยโดย อ. สนิทวงศ์ในชื่อ กระท่อมน้อยของลุงทอม)

ตัวนิยายพูดถึง ครอบครัวของ ‘ลุงทอม’ ทาสผิวดำ ผู้เลื่อมใสในพระเจ้า และจงรักภักดีต่อนายอย่างมาก ตอนแรกเขาทำงานอยู่ในไร่ของตระกูลเชลบีซึ่งเมตตาต่อทาสทุกคน แต่ต่อมาต้องตัดสินใจขายลุงทอมเพื่อใช้หนี้ ลุงทอมและครอบครัวต้องผจญวิกฤติแสนสาหัส และเจ้านายคนใหม่ผู้โหดเหี้ยมในเวลาต่อมา

ในนิยายของสโตว์ ป้าโคลอี คือภาพแทนของแมมมี่ผู้รับผิดชอบงานบ้านให้ครอบครัวเชลบี คอยดูแลและปกป้องครอบครัวคนขาว ‘ของเธอ’ มากกว่าลูกแท้ๆ ของเธอเอง อุทิศตน อ้วนท้วม ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ มีอารมณ์ขัน เป็นคนดูแลบ้านและทำอาหารผู้จงรักภักดี และเป็นกึ่งสมาชิกในครอบครัวhttps://iforcolor.org/mammy-sean-smith/

ในฐานะคนผิวขาวผู้อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของอเมริกา สโตว์เขียนนิยายเรื่องนี้เพื่อต่อต้านการค้าทาส เน้นให้เห็นใจทาสผิวดำทางตอนใต้ที่ต้องเผชิญกับความโหดร้ายทารุณ ตัวนิยายขายดีล้นหลาม ส่งผลกระทบนำไปสู่การถกเถียงอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในหมู่ชนคนอเมริกัน ก่อนจะเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ในเวลาต่อมา (1861)

หนังเรื่องแรกที่ดัดแปลงมาจากนิยาย Uncle Tom’s Cabin (1903, เอดวิน เอส. พอร์เตอร์) ใช้นักแสดงผิวขาวทาหน้าเล่นเป็นคนดำ

ในขณะเดียวกัน ก็เกิดเสียงวิพากษ์ถึงตัวนิยายว่าไม่ได้บรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทางในตอนใต้ พูดถึงทาสในภาพของ ‘ทาสผู้จงรักภักดี’http://www.uncletomscabindvd.com/uncle-toms-cabin-blog/whos-your-mammy และตัวผู้เขียนก็ไม่เคยเดินทางไปตอนใต้มาก่อน รวมถึงเป็นบ่อเกิดภาพเหมารวมของคนผิวดำในมุมมองคนผิวขาวที่ถูกทำให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น ตัวลุงทอม และ โคลอี้ ภรรยาของลุงทอม ซึ่ง โดนัลด์ โบเกิล จำแนกตัวละครภาพเหมารวมของคนผิวดำในหนังไว้ในหนังสือ Toms, Coons, Mulattoes, Mammies and Bucks: An Interpretative History of Blacks in Films ว่า ‘ทอม’ คือคำที่ใช้เรียกตัวละครที่มีบุคลิกอบอุ่นใจดีแบบลุง และอยากรับใช้คนอื่น ส่วน ‘แมมมี่’ คือหญิงรูปร่างอ้วนท้วม ผิวสีดำเข้ม (แบบโคลอี้ในนิยาย)

เนื่องจากตัวนิยายได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่ผู้อ่านทางตอนเหนือ ทำให้ภาพเหมารวมนี้แพร่หลายมากขึ้น แมมมี่อยู่ในบันทึกความทรงจำของคนตอนใต้มากที่สุดในช่วงระหว่างปี 1906 ถึง 1912 หลายทศวรรษหลังการเลิกทาส เป็นตัวแทนของการหวนหาความทรงจำในอดีต และเพื่อ ‘สร้างภาพเหมารวม’ ชุดหนึ่ง ให้กับคนแอฟริกัน-อเมริกัน เพื่อยกตัวจากความผิดในการค้าทาสในอดีตhttps://www.bbc.com/culture/article/20190530-rom-mammy-to-ma-hollywoods-favourite-racist-stereotype

ภาพการล้อเลียนแบบ ‘แมมมี่’ นั้น ยังส่งผลต่อทัศนคติของคนขาวที่มีต่อคนดำ โดยเฉพาะในยุคจิมโครว์ ที่คนดำได้แต่งานต่ำต้อย ค่าตอบแทนน้อยนิด หญิงผิวดำพบว่าตนเองถูกให้ทำงานประเภทเดียวคือ งานแม่บ้าน

ภาพเหมารวม ‘แมมมี่’ ยังปรากฏให้เห็นทั้งในโน้ตเพลง งานวิจิตรศิลป์ โชว์มินสเตรล โวเดอวีล (Vaudeville – การแสดงเพื่อความบันเทิงในลักษณะผสม มีการร้องเต้นผสมกายกรรมและการล้อเลียน) ละครเวที ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งของในชีวิตประจำวัน เช่น ที่เขี่ยบุหรี่ ของเล่น ฉลากสินค้า กระปุกเกลือ/พริกไทย แป้ง รูปปั้น สิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ

ซ้าย: แป้งอบตรา Aunt Sally ประมาณปี 1870-1900https://www.americanheritage.com/mammy-her-life-and-times (Boston Public Library) / กลาง: ที่ห้อยกระดาษโน้ต / ขวา: โฆษณาสบู่ลักซ์ (ประมาณปี 1916-1920)
Scrub Me Mama with a Boogie Beat การ์ตูนปี 1941 สร้างจากเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหญิงจากฮาร์เล็มผู้มีวิธีซักผ้าอย่างอัศจรรย์ จนทุกคนต่างก็มาดูเธอซักผ้า ขณะที่การ์ตูนพูดถึงการมาของหญิงผิวขาวที่ทำให้คนผิวดำในเมืองขี้เกียจตื่นตัว “Listen, Mammy. That ain’t no way to wash clothes! What you all need is rhythm!”

1889: ป้าจาไมม่ากับสูตรแพนเค้กแสนอร่อย

ซ้าย: แนนซี่ กรีน กับการสวมบทบาทเป็นป้าจาไมม่าคนแรก ตั้งแต่ปี 1893-1923
ขวา: โฆษณาแป้งแพนเค้กของป้าจาไมม่าใน New-York Tribune ปี 1909 แถมฟรีตุ๊กตาผ้าป้าจาไมม่ากับครอบครัว (Image by Davis Milling Company)

ในโชว์มินสเตรล (รวมถึงโวเดอวีล) มีตัวละครคนดำคนหนึ่งถูกนำมาล้อเลียนซ้ำๆ ตัวละครนี้มีพื้นฐานมาจากภาพเหมารวมแบบ ‘แมมมี่’ เธอมีสีผิวดำเข้ม รอยยิ้มสีขาว สวมผ้าโพกหัว ใส่ชุดลายจุด โพกผ้าพันคอสีขาว เธอคือ ‘ป้าจาไมม่า’ เธอมาจากเพลง Old Aunt Jemima ในปี 1875 แต่งโดย บิลลี่ เคอร์แซนด์ส (1842-1915) นักแสดงโชว์มินสเตรลผิวดำ เขาแต่งหญิงร้องเพลงนี้ ตัวละครนี้ได้รับความนิยม และมีนักแสดงชายผิวขาวทาหน้าดำแสดงในโชว์มินสเตรลทั่วไป

ปี 1889 คริส แอล. รัตต์ และ ชาร์ลส์ จี. อันเดอร์วูด คิดค้นสูตรผงแป้งที่แค่ใส่น้ำก็สามารถเอามาทำเป็นแพนเค้กได้ง่ายๆ ที่บ้าน และเรียกมันว่าเป็นสูตรของ ‘ป้าจาไมม่า’ (ได้แรงบันดาลใจมาจากการแสดงที่เขาเคยเห็น) แต่โชคร้ายที่พวกเขาไม่มีเงินทุนโฆษณาเพียงพอ จึงจำเป็นต้องขายสูตรต่อให้กับ อาร์.ที. เดวิส ในปีถัดมา

‘ป้าจาไมม่า’ (แนนซี่ กรีน) ในงานเวิลด์แฟร์ที่ชิคาโก ปี 1893 ภาพจาก 10 Everyday Items Brought To Us By the 1893 Chicago World’s Fair
แอนนา โรบินสัน ในบทป้าจาไมม่า เธอปรากฏตัวครั้งแรกในงานเวิลด์แฟร์ที่ชิคาโก จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1951

บริษัทอาร์.ที. เดวิส ปรับปรุงสูตรแพนเค้ก และสิ่งสำคัญคือพวกเขามีแผนในการโฆษณาสินค้า โดยการนำคนจริงๆ มาเล่นเป็น ‘ป้าจาไมม่า’ ผู้ที่ถูกจ้างมาสวมบทบาทนี้คือแนนซี่ กรีน (1834-1923) อดีตทาสจากเคนตักกี เธอปรากฏตัวในงานเวิลด์แฟร์ที่ชิคาโก ปี 1893 ทำแพนเค้ก ร้องเพลง และเล่าเรื่องราวแสนสุขทางตอนใต้ในสมัยก่อนให้ผู้คนที่มาร่วมงานฟัง ‘ป้าจาไมม่า’ ถูกจดเป็นทะเบียนการค้า เธอได้รับความนิยมอย่างมากในอเมริกา ถูกเอาไปทำเป็นซีรีส์วิทยุและบรอดเวย์แสดงโดยคนผิวขาวทาหน้าดำ และแม้จะถูกขายต่อให้กับอีกบริษัท เปลี่ยนคนสวมบทบาท และขยายสายผลิตภัณฑ์ แต่ภาพของเธอก็ยังเป็นที่จดจำสำหรับคนอเมริกามาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาบริษัทเปลี่ยนรูปผู้หญิงบนตราสินค้าให้หลุดจากภาพเหมารวมแบบ ‘แมมมี่’ มากขึ้น ทั้งเอาผ้าโพกหัวออก ผิวดำน้อยลง ผอมลงในปี 1968 เพิ่มต่างหูมุกกับปกเสื้อผ้าลูกไม้ในปี 1989http://www.diningchicago.com/blog/2013/06/20/chicago-mixed-it-up-at-worlds-columbian-exposition/ https://www.nytimes.com/2020/06/17/business/aunt-jemima-racial-stereotype.html

และล่าสุด บริษัทเควกเกอร์ โอ๊ตส์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ ‘ป้าจาไมม่า’ ตัดสินใจยกเลิกการใช้ตัวละครนี้ และจะเปลี่ยนชื่อบรรจุภัณฑ์ใหม่ภายในช่วงปลายปี เพื่อสร้างความรับรู้ถึงปัญหาที่มาของ ‘ป้าจาไมม่า’ ซึ่งมีพื้นฐานจากภาพเหมารวมทางสีผิว หลังมีคลิปวิดีโอพูดถึงประวัติของแบรนด์ถูกแชร์อย่างแพร่หลายในโลกโซเชียล


1915: แมมมี่’ คนแรกในภาพยนตร์

แมมมี่ ใน The Birth of a Nation (1915)

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ ‘แมมมี่’ ปรากฏตัวคือ The Birth of a Nation (1915, ดี. ดับเบิลยู. กริฟฟิท) ภาพยนตร์เอพิคแห่งการเหยียดผิว สร้างจากนิยายปี 1905 เล่าถึงครอบครัวคนขาวสองครอบครัวในช่วงสงครามกลางเมือง ถ่ายทอดภาพคนผิวดำชั่วร้าย และคูคลักซ์แคลน (KKK) ในคราบอัศวินผดุงคุณธรรมhttps://womenintheology.org/2013/02/20/the-movie-django-unchained-is-not-about-slavery/ เจนนี่ ลี คือคนขาวผู้ทาหน้าดำเพื่อรับบทแมมมี่ในเรื่อง เธอมีหน้าที่ปกป้องบ้านของเจ้านายผิวขาวจากการรุกรานของทหาร

รวมถึงภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกอย่าง The Jazz Singer (1927, อลัน ครอสแลนด์) ก็มีฉากที่ชายผิวขาวทาหน้าดำ (รับบทโดยเอล จอลสัน) ร้องเพลง ‘แมมมี่’ เช่นกัน

Laddie Cliff คือคนสหราชอาณาจักรที่ไปสหรัฐอเมริกาในปี 1907-1916 เขาประพันธ์เพลง Coal-Black Mammy ออกแสดงในลอนดอน ซึ่งต่อมาถูกนำไปแสดงในฝรั่งเศสhttps://blog.imagesmusicales.be/the-mammy-stereotype/
(ซ้าย) ปกโน้ตเพลง ประพันธ์โดย Francis Salabert วาดโดย Roger de Valerio (1921) แสดงให้เห็นว่าคนในยุโรปรู้จักคำคำนี้บ้างแล้ว แม้ว่าผู้วาดชาวฝรั่งเศสคนนี้อาจยังไม่เข้าใจสังคมอเมริกันทางใต้ดีพอ
(กลาง) ปกโน้ตเพลง Carolina Mammy ประพันธ์โดย Billy James วาดโดย Dorothy Dullin (1922) นักวาดชาวอเมริกัน ที่ดูเข้าใจความหมายของแมมมี่มากกว่าภาพซ้าย
(ขวา) ปกโน้ตเพลง My Mammy ประพันธ์โดย Walter Donaldson ขับร้องโดย Al Jolson (ผู้เคยร้องสองเพลงด้านบน) อยู่ในหนัง The Jazz Singer (1927) ภาพปกโดย L. R. Deléage (1929)
Al Jolson ร้องเพลง Mammy ในหนัง The Jazz Singer (1927)

ต่อมา ‘แมมมี่’ โผล่ในเรื่อง Imitation of Life (1934, จอห์น เอ็ม. สตาห์ล) สร้างจากนิยายปี 1933 ในชื่อเดียวกัน (ถูกรีเมคอีกครั้งในปี 1959 โดยดักลาส เซิร์ก) เล่าเรื่องของบี พูลแมน (โกลแด็ต กอลแบร์) แม่หม้ายลูกหนึ่ง กับ ดีไลลาห์ (หลุยส์ บีเวอร์ส) แม่เลี้ยงเดี่ยวผิวดำ ดีไลลาห์มีหน้าที่เป็นแม่บ้านให้บี ทั้งคู่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว และมีลูกสาวหนึ่งคน ทุกคนในบ้านต่างชอบแพนเค้กจากฝีมือของดีไลลาห์ ซึ่งทำจากสูตรลับของเธอเอง ดีไลลาห์แอบบอกสูตรลับให้กับบีรู้เพียงคนเดียวเท่านั้น ต่อมาบีนำสูตรแพนเค้กนี้ไปทำแป้ง ตัวสินค้าขายดีเทน้ำเทท่า จนบี ‘ใจดี’ เสนอส่วนแบ่งให้ดีไลลาห์ ‘ถึง’ 20%

หลุยส์ บีเวอร์ส ใน Imitation of Life (1934)

มีประเด็นหนึ่งเกิดขึ้นในเรื่อง นั่นคือพีโอลา (เฟรดี วอชิงตัน) ลูกสาวของดีไลลาห์ ซึ่งเป็นคนแอฟริกัน-อเมริกัน แต่มีผิวค่อนข้างขาว (light-skinned) เริ่มปฏิเสธแม่ผู้มีผิวสีดำเข้ม และถือว่าตัวเอง ‘pass for white’ หรือได้รับการยอมรับจากคนขาวว่าเป็น ‘คนขาว’ แล้ว

แม้จะถูกยกย่องว่าเป็นหนังเรื่องแรกที่พูดถึงหนึ่งในปัญหาทางสีผิวที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น แต่ตัวละครแม่บ้านอย่างดีไลลาห์ ก็ยังไม่หลุดพ้นภาพเหมารวม ‘แมมมี่’ ซึ่งมีต้นแบบมาจาก ‘ป้าจาไมม่า’ อย่างชัดเจน รวมถึงท่าทีที่มีต่อหญิงคนขาว แม้สูตรแพนเค้กของดีไลลาห์ (ซึ่งมีภาพเธอเป็นแบรนด์สินค้าเหมือน ‘ป้าจาไมม่า’) จะทำให้นายจ้างคนขาวรวย แต่เธอไม่แสดงความสนใจในทรัพย์สมบัติ ลองมาดูบทสนทนาระหว่างแม่บ้านผิวดำ (ดีไลลาห์) ผู้อ่อนน้อมถ่อมตน กับเจ้านายผิวขาว (คุณบี) ในหนังเรื่องนี้กัน

“เธอจะมีรถของตัวเอง บ้านของตัวเอง”

“บ้านของตัวเองเหรอคะ คุณจะไล่ฉันไปไกลๆ เหรอคะ คุณบี ฉันอยู่กับคุณไม่ได้หรือ โอ้ กรุณาอย่าไล่ฉันไปเลยนะคะ”

“ฉันจะดูแลคุณกับแจสซี (ลูกของบี) ได้อย่างไรเล่าคะ ถ้าดิฉันไม่ได้อยู่ที่นี่ ทำอาหารให้พวกคุณรับประทาน”

หลุยส์ บีเวอร์ส กับ โกลแด็ต กอลแบร์ ใน Imitation of Life (1934)

หลุยส์ บีเวอร์ส (1902-1962) เริ่มแสดงภาพยนตร์ในช่วงยุค 20 เธอเป็นที่จับตามองหลังรับบทคนใช้ผิวสีผู้คอยปลอบโยนเจ้านายผิวขาว (แมรี พิกฟอร์ด) ใน Coquette (1929) (เกร็ดน่ารู้คือ ในชีวิตจริง หลุยส์เด็กกว่าแมรีถึง 10 ปี!) ซึ่ง Imitation of Life (1934) เป็นผลงานที่โด่งดังที่สุดของเธอ หลุยส์แสดงเป็น ‘แมมมี่’ ในภาพยนตร์อีกหลายต่อหลายเรื่อง แม้บางเรื่องจะไม่ได้รับเครดิต ได้เครดิตว่าเป็น แม่บ้าน หรือ ‘แมมมี่’ และโผล่ออกมาเพียงไม่ฉากก็ตามhttps://www.colorado.edu/gendersarchive1998-2013/2010/07/02/everybody-has-mammy-productive-discomfort-louise-beavers-movie-maids

หลุยส์ บีเวอร์ส กับ แมรี พิกฟอร์ด ใน Coquette (1929)

การตกอยู่ในภาพเหมารวม ‘แมมมี่’ ทำให้เธอได้เล่นบทในลักษณะนี้เกือบตลอดชีวิตการแสดง และยังถูกเตือนให้รักษาหุ่นแบบนี้ไว้ หลุยส์บอกกับสื่อว่า “ฉันต้องอ้วนเข้าไว้ … ใช่ พวกเขาต้องการให้ฉันท้วม ฉันคงไม่ได้เล่นเป็นดีไลลาห์หากไม่ได้อ้วนตุ๊ ต่อมาระหว่างถ่ายหนัง น้ำหนักฉันลดไป 12 ปอนด์กว่า แต่ฉันต้องเล่นเป็นคนอ้วนที่สุดตอนแก่ในฉากสุดท้ายของเรื่อง พวกเขาต้องให้ฉันใส่กระโปรงชั้นในเพื่อให้ดูอ้วนแทน”

หลุยส์บรรยายลักษณะตัวละครที่เธอเล่นว่า “แม่บ้านนิโกรผู้น่าคบหา รูปร่างอ้วนท้วม มีความสุข และหัวเราะง่าย”

แมมมี่ (แฮตตี แม็กแดเนียล) กับ สการ์เล็ตต์ (วิเวียน ลีห์) ใน Gone with the Wind (1939)

แต่บท ‘แมมมี่’ ซึ่งเป็นที่จดจำของผู้คนมากที่สุดน่าจะมาจากภาพยนตร์ Gone with the Wind (1939, วิคเตอร์ เฟรมมิ่ง) สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันปี 1936 รับบทโดยแฮตตี แม็กแดเนียล (หลุยส์ บีเวอร์สพลาดบทนี้ไป) นักแสดงผู้เคยรับบทแม่บ้านมาก่อนบ้างในหนังเหล่านี้ ซึ่งมีพระเอก-นางเอกเป็นดาราชื่อดัง อย่าง Alice Adams (นำแสดงโดยแคทารีน เฮปเบิร์น), China Seas (จีน ฮาร์โลว์https://www.facebook.com/watch/?v=1977899142243136 กับคลาร์ก เกเบิล), Show Boat Carlos E. Cortés, Multicultural America: A Multimedia Encyclopedia (California: SAGE Publications, 2013), p. 1936. (ไอรีน ดันน์), I’m No Angel (แม เวสต์ กับ แครี แกรนต์) The Little Colonel (เชอร์ลีย์ เทมเปิล) Blonde Venus (มาร์เลเนอ ดีทริช กับ แครี แกรนต์) และ Saratoga (จีน ฮาร์โลว์ กับ คลาร์ก เกเบิล) เป็นต้น คุณสมบัติอันโดดเด่นของเธอคือเสียงเลื่อนลั่นทรงพลัง ลักษณะของตัวละครที่เธอเล่นจึงชัดเจน นั่นคือ มั่นใจ แน่วแน่ และแกร่ง ไม่ใช่ในลักษณะโอนอ่อนยอมทำตามคนอื่นง่ายๆDonald Bogle, Hollywood Black: The Stars, the Films, the Filmmakers (New York: Running Press Adult, 2019), p. 74. ซึ่งเป็นคนละบุคลิกกับหลุยส์ บีเวอร์ส ที่มีบุคลิกอ่อนน้อม ปลอบโยนผู้อื่น ไม่เคยสร้างปัญหา และยอมทำงานด้วยใจรักhttps://www.americanheritage.com/mammy-her-life-and-times#3

(จากซ้ายไปขวา) แถวบน: แฮตตี แม็กแดเนียล ใน Blonde Venus (1932), I’m No Angel (1933) และ Alice Adams (1935)
แถวล่าง: แฮตตี แม็กแดเนียล ใน China Seas (1935), The Little Colonel (1935) และ Saratoga (1937)

แฮตตีสวมชุดแม่บ้านเพื่อไปออดิชันในบท ‘แมมมี่’ ใน Gone with the Wind (มีบางข่าวบอกว่าคลาร์ก เกเบิล ผู้เคยร่วมงานกับแฮตตี บอกโปรดิวเซอร์ เดวิด โอ. เซลซนิก ว่าแฮตตีคือแมมมี่ที่เขาชอบที่สุดDonald Bogle, Hollywood Black: The Stars, the Films, the Filmmakers (New York: Running Press Adult, 2019), p. 172.) ก่อนจะได้บทแม่บ้านนิสัยดุดันต่อกรกับคุณหนูสการ์เล็ตต์ (วิเวียน ลีห์) ไป แม้จะพูดจาโต้เถียง แต่เธอก็ยังจงรักภักดีต่อนาย ทำคลอด และอยู่กับเจ้านายแม้ว่าทาสคนอื่นๆ จะหนีไปหมดแล้ว

นอกจากแฮตตีแล้ว ยังมีบทพริสซี่ สาวใช้ผิวดำเสียงแหลมผู้โง่เขลา รับบทโดยบัตเตอร์ฟาย แม็คควีน เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่าเธอเกลียดบทนี้ “ฉันนึกว่าหนังจะแสดงให้เห็นความก้าวหน้าของคนดำ แต่พริสซี่เป็นตัวละครที่ขี้เกียจ โง่ และถอยหลังลงคลอง”https://lwlies.com/articles/butterfly-mcqueen-gone-with-the-wind-black-trailblazer/

พริสซี่ (บัตเตอร์ฟาย แม็คควีน) กับ สการ์เล็ตต์ (วิเวียน ลีห์) ใน Gone with the Wind (1939)

แม้โปรดิวเซอร์จะพยายามตัด ‘บาง’ ประเด็นที่มีปัญหาในหนังสือ อย่างการใช้ n-word หรือเลี่ยงการเอ่ยถึงคูคลักซ์แคลนและเปลี่ยนผู้บุกรุกผิวดำเป็นคนผิวขาวแทน แต่ตัวหนังก็ถูกวิจารณ์จากคนผิวดำว่าเป็นการ ‘เฉลิมฉลองให้กับระบบทาส’ และ ‘สร้างภาพอันสวยงามเกินจริง’ ให้กับตอนใต้ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาตั้งแต่ในหนังสือของมาร์กาเร็ต มิตเชลล์

โดนัลด์ โบเกิล นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า หนังไม่เล่าถึงมุมส่วนตัวของแมมมี่และตัวละครผิวดำคนอื่นๆ พวกเธอพักที่ไหนในบ้าน? หรือในที่พักของทาส? (ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใน Gone with the Wind) และความสัมพันธ์ระหว่างแมมมี่กับตัวละครผิวดำคนอื่นๆ เป็นอย่างไร

แฮตตีกลายเป็นคนแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกที่ชนะรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสบทบหญิงยอดเยี่ยมในปี 1940 กับบทบาท ‘แมมมี่’ หรือคนรับใช้ (เช่นเดียวกับคนผิวดำส่วนใหญ่ในหนังยุค 20 ถึง 50) และแม้ทุกคนจะชื่นชมกับความสามารถในการแสดงของแฮตตีกับบัตเตอร์ฟาย แต่ทั้งคู่ก็ถูกติจากการเล่นหนังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมภาพเหมารวม ‘แมมมี่’ ยิ่งขึ้นไปอีก ขณะที่แฮตตีโต้ว่า “ทำไมฉันต้องบ่นเรื่องได้เงินสัปดาห์ละ 7,000 ดอลลาร์เพื่อเล่นเป็นแม่บ้านล่ะ เพราะถ้าฉันไม่เล่น ฉันคงต้องเป็นแม่บ้านจริงๆ ที่ได้เงินสัปดาห์ละ 7 ดอลลาร์แทน”

แฮตตี แม็กแดเนียล คนแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกที่ชนะรางวัลออสการ์ในปี 1940

แม้จะชนะรางวัลออสการ์ แต่เบื้องหลังนั้น แฮตตีก็ยังถูกเลือกปฏิบัติเพราะเป็นคนผิวดำ ตั้งแต่โดนไม่ให้เข้าร่วมงานพรีเมียร์หนังที่แอตแลนตา ไปจนถึงในงานออสการ์ที่เธอต้องนั่งแยกโต๊ะกับเพื่อนผิวดำของเธอที่มาด้วยกัน ตลอดอาชีพการแสดงของแฮตตี เธอเล่นเป็นแม่บ้านถึง 74 ครั้งhttps://artafricamagazine.org/making-mammy-a-caricature-of-black-womanhood-1840-1940

แมมมี่ในโลกภาพยนตร์เริ่มลดน้อยลงในช่วงยุค 50 และในยุค 60 ซึ่งการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองในอเมริกากลับมาอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากคนผิวดำเข้าร่วมรบสงคราม และต้องการมีสิทธิเลือกตั้งhttps://www.historyonthenet.com/authentichistory/diversity/african/1-mammy

ตัวอย่างแมมมี่ช่วง 30s-60s ในภาพยนตร์ฮอลลีวูด

(จากซ้ายไปขวา) แถวบน: เทเรซา แฮร์ริส ใน Hold Your Man (1933), ลิลเลียน แรนโดล์ฟ ใน It’s Wonderful Life (1946) และ รูบี แดนดริดจ์ ใน Dead Reckoning (1947)
แถวล่าง: อีเธล วอเตอร์ส ใน The Member of the Wedding (1952), คลอเดีย แมคนีล ใน A Raisin in the Sun (1961) และ เอสเตลล์ อีแวนส์ ใน To Kill a Mockingbird (1962)

ตัวอย่างแมมมี่ในสื่อโทรทัศน์

ซ้าย: ‘แมมมี่’ ในการ์ตูนทอมกับเจอร์รี่ ออกอากาศทางโทรทัศน์ครั้งแรกปี 1940 เธอคือหญิงวัยกลางคนผิวดำ รูปร่างใหญ่ ดูแลบ้าน และคอยดุทอม เรามักเห็นแค่ส่วนล่างของเธอ ทำให้ตัวละครนี้ถูกเรียกว่า ‘แมมมี่ทูชูวส์’ (แมมมี่กับรองเท้าสองข้าง)
ขวา: แฮตตี แม็กแดเนียล กับ รูบี แดนดริดจ์ ใน Beulah ซีรีส์คอเมดีทางโทรทัศน์สร้างจากละครวิทยุยุค 50s ที่ย้ำเตือนภาพเหมารวมแบบแมมมี่อีกครั้ง

1996: ออกตามหา เฟ ริชาร์ดส์

ยังจำ เฟ ริชาร์ดส์ ตอนต้นบทความได้ไหม เธอเป็นอย่างไรท่ามกลางภาพเหมารวมในฮอลลีวูดยุค 30s ที่กล่าวมา

เวลาผ่านมาถึงปี 1996 เชอรีล ดันเย ก็สงสัยเช่นเดียวกับเรา เธอเป็นพนักงานร้านเช่าวิดีโอเทป และรับจ้างถ่ายวิดีโอตามงานต่างๆ ในฐานะผู้หญิงผิวดำ เธออยากถ่ายหนังสักเรื่อง เล่าเรื่องราวของหญิงผิวดำ เชอรีลเริ่มดูหนังยุค 30-40 (ส่วนมากนำแสดงโดย แฮตตี แม็กแดเนียล และ หลุยส์ บีเวอร์ส) มีหนังจำนวนนึงในยุคนั้นที่นักแสดงหญิงผิวดำไม่ได้รับเครดิต รวมถึง Plantation Memory ภาพยนตร์ปี 1937 (โดยผู้กำกับหญิงผิวขาวชื่อมาร์ธา เพจ) ซึ่งเชอรีลประทับใจการแสดงของหญิงผิวดำในบทแม่บ้านชื่อเอลซี่มาก แต่ชื่อเธอขึ้นในเครดิตเพียงว่า ‘The Watermelon Woman’

การออกค้นหาว่าเธอเป็นใครจึงเริ่มต้นขึ้น…

“อ่อ เธอคือต้นแบบของป้าจาไมม่าตามขวดไซรัปใช่มั้ย”

“ฟังจากชื่อแล้วน่าจะมาจากหนังฮอลลีวูดเก่าๆ นะ”

“ใช่ผู้หญิงที่ใส่ชุดผลไม้นั่นมั้ยนะ”

“ไม่รู้จัก”

เหล่านี้คือคำตอบที่เธอได้หลังจากถามผู้คนตามถนนในฟิลาเดลเฟีย และหลังจากค้นคว้าสักระยะ เชอรีลก็พบว่า ‘เฟ ริชาร์ดส์’ หรือ ‘เฟธ ริชาร์ดสัน’ คือชื่อจริงของเธอ

เชอรีลค้นลึกลงไปอีก จนพบว่าเฟนั้นมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับมาร์ธา เพจ เธอตกใจกับความจริงข้อนี้ เหตุผลเพราะเธอก็เป็นเลสเบี้ยนผิวดำที่กำลังคบกับ ไดแอนา สาวผิวขาว ขณะค้นคว้าโปรเจกต์นี้ ภาพของเฟ-มาร์ธาทับซ้อนกับชีวิตจริงๆ ของเธออย่างน่าประหลาด

ระหว่างกำลังค้นคว้าข้อมูล เชอรีลค้นพบว่า ข้อมูลของคนผิวดำในหนังยุคเก่ามีน้อยมาก โดยเฉพาะผู้หญิงผิวดำ หลายครั้งที่ชื่อของ มาร์ธา เพจ โผล่ในบันทึกข้อมูลตามที่ต่างๆ แต่ไม่มีชื่อของเฟเลย ยิ่งข้อมูลเรื่องความสัมพันธ์นั้นมีน้อยมาก ทุกอย่างมาจากการบอกเล่าจากคนรู้จัก และภาพถ่ายที่ปรากฏให้เห็นอยู่บ้างประปราย

ที่เล่าถึงเฟ ริชาร์ดส์มาด้านบนทั้งหมดนั้น คือส่วนหนึ่งจากหนังฟิกชันปี 1966 ชื่อ The Watermelon Woman ผลงานกำกับของเชอรีล ดันเย ถือเป็นหนังยาวเรื่องแรกโดยผู้กำกับหญิงเลสเบี้ยนผิวดำ เชอรีลค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หนังคนผิวดำ เน้นไปที่นักแสดงหญิงผิวดำในหนังยุคแรกๆ และพบว่าหลายครั้งที่ผู้หญิงเหล่านี้ไม่มีชื่ออยู่ในเครดิต เธอจึงตัดสินใจสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อปั้นเรื่องของผู้หญิงผิวดำในหนังยุคแรกๆ ด้วยสองมือของตัวเอง

ใช่แล้ว… เฟ ริชาร์ดส์ เป็นตัวละครที่ เชอรีล ดันเย แต่งขึ้นมาเอง ไม่มีอยู่จริง!


1996: ออกตามหา เฟ ริชาร์ดส์ ประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นเอง

“ในบางครั้ง คุณก็ต้องสร้างประวัติศาสตร์ของตัวเองขึ้นมา
The Watermelon Woman คือหนังฟิกชัน”

— เชอรีล ดันเย, 1996

หนังเปิดด้วยภาพวิดีโองานแต่งงานที่เชอรีล (ซึ่งเป็นทั้งชื่อของผู้กำกับเองกับชื่อตัวละครในเรื่อง) โดนจ้างไปให้ถ่าย มีคนมองกล้อง เชอรีลใช้ภาพวิดีโอนี้บันทึกตัวเองพูดถึงการค้นคว้าหนังคนดำของเธอ ขณะเดียวกันก็มีพาร์ตฟิกชันชัดเจน อย่างการถ่ายฉากในร้านเช่าวิดีโอ ซึ่งถ่ายจากฟิล์มที่ชัดกว่า คนดูทราบว่ามีการจัดวาง ตั้งมุมกล้อง และส่วนสุดท้ายคือภาพ found footage ของเฟ ริชาร์ดส์กับหนังยุคเก่า

ผู้เขียนขอสารภาพว่า ไม่รู้ข้อมูลของหนังมาก่อน ทราบเพียงว่านี่เป็นหนังที่กำกับโดยผู้หญิงผิวดำชื่อเชอรีล ดันเย ในขณะที่ดูหนัง ด้วยประสบการณ์การรับรู้ที่ผ่านมา ผู้เขียนเกิดความสับสนในความจริง-ไม่จริงของหนัง เพราะผู้เขียนมั่นใจว่าภาพวิดีโอนั้นมีทั้งส่วนจริงและไม่จริง ขณะที่ภาพเฟ ริชาร์ดส์นั้นเป็นของจริงแน่นอนเพราะอยู่ใน found footage ส่วนพาร์ตฟิกชันผู้เขียนมั่นใจว่าเป็นเรื่องแต่งอย่างแน่นอน

แต่ขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็ไม่เคยได้ยินชื่อของ เฟ ริชาร์ดส์ หรือแม้แต่ มาร์ธา เพจ มาก่อน (ผู้เขียนเคลือบแคลงเพราะเป็นไปได้ยากที่ฮอลลีวูดในยุคนั้นจะมีผู้กำกับเพศหญิงมีชื่อ) และคาดว่าเธอน่าจะถูกหลงลืมในประวัติศาสตร์ จึงค้นหาชื่อของเธอในโลกออนไลน์ ซึ่งหลังจากดูผ่านๆ รอบแรกก็ไม่เห็นประวัติศาสตร์บันทึกเรื่องราวของเธอเอาไว้เลย นอกจากความเชื่อมโยงกับหนังเรื่องนี้

ระหว่างดูหนัง ผู้เขียนสนุกกับแนวทางตลกของหนัง และลุ้นให้เชอรีลรู้เรื่องราวของเฟ ริชาร์ดส์ มากขึ้น จนกระทั่งตอนจบ ที่เชอรีลออกมาเผยไต๋ (ในรูปแบบของตัวหนังสือ) ว่าทั้งหมดที่เล่ามาคือเรื่องแต่ง! และ found footage ที่เกี่ยวกับเฟ ริชาร์ดส์ มาร์ธา เพจ หรือหนังเรื่อง Plantation Memory ก็เป็นสิ่งที่เชอรีลสร้างขึ้นมาเองทั้งหมด!

แต่แม้เรื่องจะจบและทุกอย่างเป็นเพียงภาพลวง ผู้เขียนก็เข้าข่าย ‘รู้เขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก’ เพราะแม้เฟ ริชาร์ดส์จะไม่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์จริงๆ และเชอรีล (ในหนัง) จะออกมาแสดงความผิดหวังที่เธอไม่ได้พบปะและพูดคุยต่อหน้าเฟหรือคนใกล้ชิดกับเฟ (ซึ่งอาจเป็นความผิดหวังเดียวกับตอนที่เชอรีลค้นคว้าเรื่องผู้หญิงผิวดำในหนังฮอลลีวูดยุคแรกๆ แล้วไม่พบ ‘เสียง’ ของผู้หญิงกลุ่มนี้) เพราะสำหรับเชอรีลในฐานะเลสเบี้ยนผิวดำแล้ว เฟคือ “ความหวัง แรงบันดาลใจ ความเป็นไปได้ และคือประวัติศาสตร์” ประวัติศาสตร์ที่เชอรีลในหนังค้นพบ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่เชอรีลสร้างขึ้นมาในโลกภาพยนตร์ วินาทีที่เชอรีลสร้างเฟขึ้นมา ผู้เขียนมั่นใจว่าทั้งเฟและเชอรีลจะเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับคนทำหนังในรุ่นต่อๆ ไป โดยเฉพาะกับคนทำหนังเลสเบี้ยนผิวดำอย่างแน่นอน

เพราะแม้ ‘เฟธ ริชาร์ดสัน’ จะแสดงเป็น แมมมี่ เหมือนนักแสดงผิวดำในยุคนั้น แต่เชอรีลใส่ ‘เสียง’ และ ‘ชีวิต’ ให้กับเธอ เชอรีลเล่าชีวิตของเฟธ ที่มีชีวิตเป็นของเธอเอง มีคนรัก มีคู่มีชีวิต เหมือนกับคนดำที่รับบทแมมมี่ในฮอลลีวูดทุกคน (แฮตตีแต่งงานถึง 4 ครั้ง) ไม่ใช่ในภาพแมมมี่ หรือแม่บ้านผู้คอยห่วงใยรับใช้เจ้านายผิวขาวที่ฮอลลีวูดและผู้คนยัดเยียดให้เธอเท่านั้น

ดังที่กล่าวไป หนังมาจากการค้นคว้าเกี่ยวกับคนดำในหนังยุคแรกๆ ของเชอรีลขณะกำลังเรียนอยู่ เธอสร้างเฟขึ้นมา หลังจากค้นหาคนเลสเบี้ยนผิวดำในโลกฮอลลีวูดไม่พบแม้แต่คนเดียว (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่าไม่มีจริงๆ หรือว่าไม่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ก็ตามhttps://www.youtube.com/watch?v=2coQxUf6YCg) และแม้แต่พาร์ตฟิกชันในหนังก็มีแง่มุมความสัมพันธ์ส่วนตัวของเชอรีลเอง เพราะเธอกำลังคบกับ อเล็กซ์ แฟนผิวขาว ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ของหนัง และยังเล่นเป็นมาร์ธา เพจ ด้วย! ดังนั้น เรื่องราวที่ถูกเล่นในอดีต (เฟ และมาร์ธา ที่เล่นโดยอเล็กซ์ ซึ่งทั้งสองถูกเชอรีลตัวจริงสร้างขึ้น) ก็กำลังถูกเล่นในปัจจุบัน (เชอรีลที่กำลังตามหาเฟในหนัง มีไดแอนาเป็นแฟน) และในชีวิตจริงๆ (เชอรีลในชีวิตจริง ซึ่งกำลังคบกับอเล็กซ์) ด้วย!

หลายคนสันนิษฐานว่าต้นแบบของตัวละครมาร์ธา เพจมาจาก โดโรธี อาซเนอร์ หนึ่งในผู้กำกับหญิงไม่กี่คนในฮอลลีวูดยุค 20-40 แถมยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้หญิงในชีวิตจริงอีกMichael Bennett, Vanessa D. Dickerson – Recovering the Black Female Body: Self-representations by African American Women (New Jersey: Rutgers University Press, 2000), p. 238.

ด้วยงบอันจำกัด เชอรีลต้องร่วมมือกับ ซู ลีโอนาร์ด เพื่อนช่างภาพชาวนิวยอร์กของเธอ ถ่ายภาพเฟ ริชาร์ดส์ (ลิซ่า มารี บรอนสัน) แล้วขายรูปภาพในราคาเพียงครึ่งดอลลาร์เพื่อสนับสนุนเป็นทุนหนัง (ปัจจุบันรูปเหล่านี้มีค่าหลักพันดอลลาร์ในนิทรรศการถาวร และสามารถหาซื้ออัลบั้มรูปได้ใน amazon)

Desert Hearts (1985, ดอนน่า เดตช์) และ Go Fish (1994, โรส โทรเช) สองหนังโดยผู้กำกับเลสเบี้ยนและเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญให้เชอรีลและคนทำหนังเลสเบี้ยน

ในยุคนั้น โดยเฉพาะในกลุ่มนิวเควียร์ซีเนมา (คำที่เกิดขึ้นในปี 1992 เพื่อใช้เรียกการทำหนังอินดี้ที่มีประเด็นเกี่ยวกับเควียร์ในช่วงต้นยุค 90) ทุกคนต่างกระเสือกกระสนสร้างผลงานที่สื่อตัวตนออกมา เชอรีลอยากลองทำอะไรใหม่ๆ โดยเฉพาะกับการเล่าเรื่อง เธอชอบเรื่อง Go Fish (1994, โรส โทรเช) (และดึงเกรเนเวียร์ เทอร์เนอร์ มาเล่นเป็น ไดแอนาในเรื่องด้วย) งานของทอดด์ เฮย์ส และงานของทอม คาลิน เพื่อนของเธอ ผู้ที่สามารถนำเรื่องส่วนตัวมาผสมกับการเมืองได้อย่างบันเทิงในเรื่อง Swoon (1992) ที่สร้างจากคดีจริงปี 1924 ว่าด้วยชายหนุ่มฐานะดีสองคนที่ลักพาตัวเด็กชายคนหนึ่งมาแล้วฆ่า ตัวหนังเน้นภาพความเป็นโฮโมเซ็กช่วลของฆาตกรมากกว่าหนังเรื่องอื่นๆ ที่อิงจากคดีนี้ เชอรีลอยากทำแบบเรื่องนี้ ที่มีแนวคิดของการผสานภาพจริงเข้ากับภาพในหนังhttps://www.interviewmagazine.com/film/cheryl-dunye#slideshow_48918.2 (นอกจากกำกับหนัง ทอม คาลินยังเป็นนักกิจกรรมรณรงค์เรื่องเอดส์ในชีวิตจริง เขาเล่า Swoon โยงกับภาพของความกลัวเกี่ยวกับเอดส์ ความโกรธแค้นที่รัฐบาลเพิกเฉย และการฆาตกรรมซึ่งมีนัยเปรียบถึงเอดส์ เขานำการรณรงค์ของเขาซึ่งเกิดขึ้นนอกอุตสาหกรรมหนังมาผสานใส่ในหนังเรื่องนี้)

เชอรีลกล่าวว่ารูปแบบก็สำคัญ ต้องลองเล่นกับแบบแผนการเล่าเรื่องดู ไม่ใช่แค่ย่ำตามรอยเดิม แต่ควรต้องลองเสาะหารูปแบบใหม่ในการเล่าเรื่องด้วย “สิ่งที่ฉันเคยทำกับ The Watermelon Woman และยังทำอยู่ คือไม่ใช่แค่ตั้งใจสร้างงานที่มอบความบันเทิงและน่าติดตามเท่านั้น แต่ยังต้องพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วย ฉันว่านั่นคือสิ่งที่ฉันชอบทำ ทั้งในฐานะศิลปินและคนทำหนัง”

เรื่องน่าขันหลังหนังออกฉายคือ มีผู้แทนฯ ของสหรัฐออกมาวิพากษ์ องค์การกองทุนเพื่อศิลปะแห่งชาติ (เอ็นอีเอ) ที่ให้ทุนส่วนหนึ่งกับหนัง ว่าเอาภาษีประชาชนไปลงทุนกับ ‘หนังโป๊’ (หนังมีแค่ฉากเลสเบี้ยนบนเตียงอยู่ซีนเดียว) และทำให้องค์การตัดสินใจเปลี่ยนกฎการให้ทุนในเวลาต่อมา

ป.ล. หนังได้รับแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อมาจาก Watermelon Man (1970, เมลวิน แวน พีเบิลส์) หนังเล่าเรื่องชายผิวขาวหัวรั้นที่วันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าตนกลายเป็นคนผิวดำ ซึ่งเป็นหนังตลกพูดถึงปัญหาสีผิวที่เชอรีลค้นพบและชื่นชอบ


2020: แมมมี่ยังคงอยู่?

(จากซ้ายไปขวา) วูปี โกลด์เบิร์ก ใน Corinna, Corrina (1994), ไทเลอร์ เพอร์รี ในบท มาเดีย และ ออคตาเวีย สเปนเซอร์ ใน The Help (2011)

เกิดเหตุการณ์มากมายขณะผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้ ทั้งช่องสตรีมมิ่ง HBO Max เอาเรื่อง Gone with the Wind (1939) ออกชั่วคราว หลังจอห์น ริดลีย์ (มือเขียนบท 12 Years a Slave) ออกมาเขียนบทความพูดถึงหนังที่เล่าความน่ากลัวของระบบทาสในลักษณะสวยงามกว่าความเป็นจริง และเรียกร้องให้ทางช่องถอดหนังออกhttps://www.latimes.com/opinion/story/2020-06-08/hbo-max-racism-gone-with-the-wind-movie (เป็นเรื่องบังเอิญที่เหตุการณ์เกิดใกล้กับช่วงวันคล้ายวันเกิดของแฮตตี แม็กแดเนียลพอดี) หรือหลายเรื่องที่เกิดมานานแล้วแต่มีกระแสขึ้นมาอีกครั้ง หลังเหตุการณ์จอร์จ ฟลอยด์ อย่างการวิพากษ์หนังคนผิวดำที่มีลักษณะ “ประนีประนอมทางเชื้อชาติ” (racial reconciliation) รวมถึงหนังอย่าง The Help (2011, เทต เทเลอร์) หรือในชื่อไทย ‘คุณนายตัวดี สาวใช้ตัวดำ’ เรื่องของสาวใช้ผิวดำในยุค 60 ทางตอนใต้ ที่ต้องเจอกับปัญหาทางสังคม เรื่องราวของเธอถูกนำมาเสนอต่อสาธารณะหลังหญิงสาวผิวขาว เพื่อนของเจ้านายเล็งเห็นปัญหา ซึ่งหนังให้ความสำคัญกับการเล่าถึงผู้หญิงผิวขาวมากกว่าชีวิตของสาวรับใช้

หนังส่งให้นักแสดงผิวดำอย่าง ออคตาเวีย สเปนเซอร์ ชนะรางวัลนักแสดงสบทบหญิงยอดเยี่ยมในงานออสการ์ กับบท มินนี่ แจ็กสัน แม่บ้านผิวดำในบ้านคนผิวขาว ซึ่งเป็นภาพเหมารวมแบบ ‘แมมมี่’ ที่ปรากฏขึ้นอีกครั้ง เหมือนกับแฮตตี แม็กแดเนียล ผู้ชนะรางวัลเดียวกันเมื่อ 72 ปีที่แล้ว

ออคตาเวีย สเปนเซอร์ ใน Ma (2019)

อีกเรื่องที่คนพูดถึงคือ Ma (2019, เทต เทเลอร์) หรือในชื่อไทย ‘แม่_ร้าย’ กำกับโดยเทต เทเลอร์ มีออคตาเวีย สเปนเซอร์แสดงเช่นเดียวกับใน The Help เล่าเรื่องของซู แอน หญิงวัยกลางคนที่ชักชวนเด็กวัยรุ่นให้มาปาร์ตี้ที่ชั้นใต้ดินของบ้านตัวเอง ด้วยเงื่อนไขว่า พวกเธอจะต้องไม่ขึ้นไปชั้นบนของบ้าน และต้องเรียกเธอว่า ‘มา’ (Ma – Mammy? แมมมี่?) ก่อนกลุ่มวัยรุ่นจะพบว่ามีบางอย่างผิดปกติกับซู และเกิดเหตุสะพรึงขวัญขึ้น

โปสเตอร์ Ma กับวัยรุ่นผิวดำที่ถูกทาหน้าขาว(?)

มีผู้ตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ตัวอย่างแรกถูกปล่อย วัยรุ่นเจอซูในเสื้อคลุมพยาบาล เด็กวัยรุ่นเจอหน้ากากแอฟริกันที่อยู่บนบ้าน ส่วนที่ซูไม่อนุญาตให้ขึ้นไป หรือการทาหน้าขาวให้ตัวละครวัยรุ่นคนดำhttps://www.hollywoodreporter.com/heat-vision/is-ma-trailer-a-reaction-octavia-spencers-help-1186279

มา รับบทโดย ออคตาเวีย สเปนเซอร์ ผู้เล่นเป็นแม่บ้าน พยาบาล และคนทำความสะอาดมากกว่า 20 ครั้งในหนัง รวมถึง 2 ใน 3 ของการแสดงที่ได้เข้าชิงออสการ์ และส่วนใหญ่ตัวละครเหล่านี้ดำรงอยู่เพื่อทำหน้าที่รับใช้การเล่าเรื่องให้ตัวละครหลักซึ่งเป็นคนผิวขาว พวกเธอมักให้คำแนะนำอันเรียบง่าย หรือมอบกำลังใจแสนยิ่งใหญ่ให้คนผิวขาว ออคตาเวียเคยให้สัมภาษณ์ถึงระยะห่างระหว่างบทบาทที่ถูกเสนอ กับเรื่องที่ว่าเธอมองตัวเองอย่างไร ว่า “มันยากเหมือนกัน เพราะพวกเขาต้องการให้คุณเล่นแค่บทบาทแบบเดียว ฉันไม่มีลูก ไม่ได้เป็นแม่ใคร ถ้าคุณถามเพื่อนฉัน พวกเขาจะตอบว่า ‘เธอเป็นคนสุดท้ายที่ควรเป็นแม่คน’ ”

ถ้าแมมมี่คือ “ภาพแทนของความเป็นแม่ แต่ไม่ได้ดูแลลูกของตัวเอง ความรัก คำแนะนำสั่งสอนถูกสงวนไว้ให้แค่กับหญิงและเด็กๆ ผิวขาวเท่านั้น” ดูเผินๆ แล้วเหมือน Ma จะพลิกภาพเหมารวมนี้ไปอีกทาง เพราะซูคือหญิงผิวดำรูปร่างท้วม แต่ไม่ได้ ‘ดูแล’ เด็กผิวขาวอีกต่อไป ซึ่งในบทดั้งเดิม ตัวละคร ‘มา’ คือคนผิวขาว แต่เทตเปลี่ยนภายหลังเพื่อให้สเปนเซอร์เล่นโดยเฉพาะ

หลายคนตั้งข้อสงสัยว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงภาพ แมมมี่ หรือไม่? มิกกี แม็กเอลยา ยังกังขากับเรื่องนี้อยู่ “ถ้าอะไรจะเกิดขึ้นล่ะก็ หนังคงเติมเชื้อไฟให้กลุ่มนิยมประชานิยมเพื่อคนขาว (white populist) ในการเมืองอเมริกันมากขึ้น คนขาวหลายรุ่นที่ไม่เห็นว่าตัวเองได้ประโยชน์อะไรจากอุดมการณ์เหยียดผิวด้วยโครงสร้างทางสังคม (structural racism) และอภิสิทธิ์ทางเชื้อชาติ… กลุ่มคนที่บอกว่า ‘ฉันไม่ได้เป็นนายทาส ฉันไม่ต้องรับผิดชอบกับอะไรพวกนี้’ จะผูกตัวเองกับกลุ่มเด็กที่ถูกทำร้ายโดยผู้หญิงผิวดำซึ่งอาฆาตแค้นในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ทำมากกว่า”

มาร์ติน ลอว์เรนซ์ ใน Big Momma’s House 2

มีตัวละครแบบแมมมี่ในยุคปัจจุบันที่ถูกเอามาทำเป็นแนวตลก หรือ ‘mammy in drag’https://surface.syr.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1195&context=thesis (p.7) เช่น มาร์ติน ลอว์เรนซ์ ใน Big Momma’s House (เอฟบีไอพี่เลี้ยงต่อมหลุด) หรือตัวละคร มาเดีย ของไทเลอร์ เพอร์รี่ ซึ่งทั้งคู่เป็นหญิงรูปร่างใหญ่ ลักษณะภายนอกคล้าย ‘แมมมี่’ ปรากฏในหนังและทีวีคอเมดีหลายต่อหลายเรื่อง

เบ็ตตี กาเบรียล กับบท จอร์จีน่า ใน Get Out (2017)

‘แมมมี่’ ยังอยู่ใน Get Out (2017) กับบท จอร์จีน่า ซึ่งอาจมองได้ว่านี่คือการยั่วล้อของ จอร์แดน พีล กับภาพเหมารวม ทั้งการแต่งตัวชุดแม่บ้านด้วยปกเสื้อสีขาว การหัวเราะอย่างขมขื่น และบทพูดที่ชมเจ้านายคนขาว (ซึ่งมีที่มาถ้าเรารู้ twist ของหนัง) อย่างซีนนี้

แมมมี่ เป็นเพียงภาพเหมารวมของคนผิวดำอันหนึ่งที่อยู่ในสื่อมากมาย ส่งผลต่อความคิดและสังคมอย่างฝังลึก และเกิดภาพเหมารวมอื่นๆ ตามมามากมาย ยกตัวอย่างบุคลิกของผู้หญิงผิวดำรูปร่างอ้วนท้วมที่คนมองว่าจะต้อง ‘sassy’ หรือภาพของ ‘Sassy Mammy’https://www.ferris.edu/HTMLS/news/jimcrow/antiblack/sapphire.htm ที่ถูกเล่าในวัฒนธรรมป๊อบตั้งแต่ยุค 1800s จนถึงกลางยุค 1900s (ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในภาพเหมารวมประเภท Sapphire หรือภาพของ ‘หญิงผิวดำขี้โมโห’ มีนิสัยหยาบคาย เสียงดัง หัวแข็ง และเจ้ากี้เจ้าการ) ผู้เขียนขอให้ลองนึกภาพแมมมี่ใน Gone with the Wind (1939) มาเดีย ของไทเลอร์ เพอร์รี่ หรืออาจย้อนกลับไปได้ถึงแมมมี่ใน The Birth of a Nation (1915) เลยทีเดียว ภาพเหมารวมของหญิงผิวดำรูปร่างท้วม เท้าสะเอวและส่ายคอเมื่อไม่เห็นด้วย หรือภาพส่ายนิ้วกลอกตาของพวกเธอที่ทำให้คนอื่นหัวเราะ

เนล คาร์เตอร์ ในซีรีส์โทรทัศน์ Gimme a Break! หนึ่งในบุคลิกแบบ Sassy Mammy

ในฐานะผู้หญิงผิวดำรูปร่างท้วม บริตต์นี คูเปอร์ เล่าว่า พอเป็นหญิงผิวดำ คนอเมริกันจะไม่ตระหนักว่า ความ sass นั้น แม้จะดูเป็นกันเอง แต่จริงๆ แล้วคือความโกรธ เธอพบว่าคนคาดหวังความ sass ของเธอ จากรูปร่างภายนอกhttps://time.com/5191637/sassy-black-woman-stereotype/ หรืออย่างทันย่า ฮอลแลนด์ เชฟชาวอเมริกันที่รายการทีวีคาดหวังให้เธอ sassy แต่เธอไม่ได้มีบุคลิกแบบนั้นhttps://www.grubstreet.com/2012/03/tanya-holland-food-network-black-chefs.html https://blogs.scientificamerican.com/food-matters/not-gone-with-the-wind-the-perpetuation-of-the-mammy-stereotype/ แสดงให้เห็นว่าภาพเหมารวมนี้ตีกรอบให้มีลักษณะนิสัยแบบเดียว เพียงแค่ภาพลักษณ์ภายนอกของคนคนนั้น แทนที่จะมองแยกเป็นรายบุคคล


เห็นแล้วตั้งคำถาม ศึกษาอดีตเพื่อเข้าใจ

ผู้เขียนมองว่าการศึกษาประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ มิใช่วิธีการท่องจำตามตำรา แต่คือการคิดวิเคราะห์พร้อมมองบริบทโดยรอบ ว่าช่วงเวลานั้นเป็นอย่างไร ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น แม้เราจะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ไม่ได้ แต่เราสามารถทำความเข้าใจกับมันและไม่ผลิตมันซ้ำอีก

ร้านอาหาร Mammy’s Cupboard ข้างถนนในรัฐมิสซิสซิปปี ตัวร้านถูกสร้างตามแบบภาพของแมมมี่

แมมมี่เป็นเพียงหนึ่งในภาพเหมารวมของคนดำ ซึ่งถูกล้อเลียนมาตั้งแต่โชว์มินสเตรล คนขาวทาหน้าดำเร่โชว์ทั่วอเมริกา สู่ภาพเหมารวมติดในความคิด คิดไปว่าคนดำต้องเป็นแค่แบบนี้ๆ และยิ่งแพร่หลายมากขึ้นเมื่อปรากฏในที่ต่างๆ และมีคนเสพมันต่อไปเรื่อยๆ ทั้งจากสื่อหนังสือพิมพ์ บันทึกการเดินทาง นิยาย ผ่านภาพยนตร์ วิทยุ ละครเวที สิ่งของประจำวัน กระทั่งโลกออนไลน์ในปัจจุบัน ถูกฝังอยู่ในความคิด สร้างความเคยชินให้สังคม ตัดโอกาสคนที่ถูกมองอยู่ในภาพเหมารวมนี้ เราควรเปลี่ยนจากความคิดแบบ “เรื่องแค่นี้เอง ไม่มีอะไรหรอก พวกนี้คิดมากไปเรื่อย” หรือ “เปลี่ยนสิ่งนี้ทำไม มันอยู่มานานแล้วนะ แบบนี้ก็ต้องเปลี่ยนอาคาร เปลี่ยนชื่อเมือง เปลี่ยนหนังสือ เปลี่ยนชื่อถนนด้วยสิ” หรือลดทอนการเน้นความสำคัญของอีกฝ่ายลงอย่าง “ทุกชีวิตมีค่านะ ไม่ใช่แค่คนดำ คนขาวล่ะ คนเอเชียล่ะ คนพื้นเมืองล่ะ คนละตินอเมริกาล่ะ ฯลฯ” มาเป็น “เอ๊ะ ทำไมเขาถึงทำแบบนี้นะ มันเคยมีอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า เราจะมองมันอย่างไร”

ครั้งหนึ่ง เดวิด พิลกริม เคยปากระปุกเกลือรูปแมมมี่แบบนี้ทิ้ง

อย่างข่าวล่าสุดคือ ภาพยนตร์เรื่อง Gone with the Wind จะกลับมาฉายใน HBO Max ใหม่ในไม่ช้า พร้อมกับข้อความเกริ่นนำด้านประวัติศาสตร์โดยแจ็คเกอลีน สจวร์ตhttps://www.nytimes.com/2020/06/14/movies/gone-with-the-wind-battle.html https://edition.cnn.com/2020/06/12/opinions/gone-with-the-wind-illuminates-white-supremacy-stewart/index.html (ในขณะที่ผู้เขียนเห็นคำโปรยหนังสือฉบับแปลไทยว่า “ทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตของคนอเมริกัน วัฒนธรรม ค่านิยม พฤติกรรม และสัมพันธภาพของคนผิวขาวเจ้าของทาสผิวดำ”)

หรือการถือกำเนิดของพิพิธภัณฑ์จิมโครว์ในปี 2012 ที่เก็บสะสมคอลเลคชั่นสิ่งของสะท้อนการเหยียดผิวที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา พิพิธภัณฑ์นี้ก่อตั้งโดยเดวิด พิลกริม จุดประสงค์เพื่อมุ่งหวังให้ผู้คนเข้าใจการแสดงออกถึงการเหยียดผิวในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่อดีต ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน และทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลให้องค์กรสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง และต้องการให้เกิดบทสนทนาของผู้คนหลังเสร็จสิ้นการชมพิพิธภัณฑ์https://www.theatlantic.com/national/archive/2012/04/new-racism-museum-reveals-the-ugly-truth-behind-aunt-jemima/256185/ https://themomentum.co/museums-now-jim-crow-museum-of-racist-memorabilia/ ตอนอายุ 12 ขวบ เขาซื้อกระปุกเกลือรูปแมมมี่ เพียงเพื่อปามันทิ้ง เพราะเขาเกลียดมันมาก แต่ต่อมาอาจารย์ในวิทยาลัยได้เล่าเรื่องหนึ่งให้เขาฟัง เรื่องของคนดำชนชั้นกลางต้องใส่หมวกคนขับรถผ่านทางตอนใต้ เพราะไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือคนขาวคิดว่ารถเป็นของพวกเขา “ผมจำเรื่องนี้ได้แม่น ทุกวัตถุไม่มีความหมายอะไร นอกจากเราให้ความหมายกับมัน แต่จากเรื่องที่อ.เล่า ดูผิวเผินสิ่งของอย่าง หมวก ไม่น่ามีนัยข้องเกี่ยวกับการเหยียดผิว แต่มันกลับสื่อความหมายถึงในอีกบริบทนึงได้อย่างไม่น่าเชื่อ”

The Last of Us Part II เขียนบท (เกม) แบบตั้งใจให้คนเกลียด

เมื่อปี 2013 เกม The Last of Us ของค่าย Naughty Dog วางจำหน่ายพร้อมสถิติมากมายทั้งการเป็นหนึ่งในเกมที่มียอดขายสูงสุด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการได้รับการยอมรับให้เป็นเกมที่ดีที่สุดของปีนั้น จากทุกเวทีรางวัล 

…2020 

The Last of Us Part II วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ยังคงทำยอดขายถล่มทลาย แต่กระแสตอบรับกลับไม่เอกฉันท์เหมือนเคย มันมีทั้งคนที่รักและเทิดทูนมันเสียยิ่งกว่าภาคแรก ขณะที่คนอีกไม่น้อยก็ก่นด่าสาปแช่งมันเละเทะ 

เราอาจจะคิดว่า Naughty Dog ผู้ผลิต เสียรังวัดไปไม่น้อยที่มันไม่เป็นที่รักเหมือนเช่นเคย แต่ประทานโทษ นี่คือสิ่งที่นักพัฒนาเกมคิดไว้อยู่แล้วว่าผลลัพธ์มันจะออกมาเช่นนี้ เพราะ “ความไม่สบายใจขณะเล่นเกม” คือสิ่งที่พวกเขาอยากให้เป็น! 

แต่ก่อนที่เราจะมาถอดบทเรียนกันว่าพวกเขาทำอย่างไรให้ผู้เล่นทั้งรักทั้งชังได้ในภาค 2 บางทีเราอาจต้องย้อนไปว่าทำไมผู้เล่นถึงรักมันนักหนาในภาคแรก

เรื่องราวในภาคแรกเราจะได้ติดตาม โจเอล กับ เอลลี่ เดินทางฝ่าฝูงซอมบี้ข้ามอเมริกาเพื่อพาเอลลี่ไปเป็นต้นแบบของการพัฒนาวัคซีน หลังจากพบว่าเธอคือคนเดียวที่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อที่กำลังระบาด แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือเราจะได้รู้สึกผูกพันกับทั้งสองตัวละครไปเรื่อยๆ จนทำให้การตัดสินใจบางอย่างมีผลทางอารมณ์ของผู้เล่นอย่างรุนแรง 

โจทย์สำคัญคือเหล่าผู้สร้างจะจัดการยังไงกับโลกที่ตัวละครแค่สองตัวถูกทิ้งไว้กับความล่มสลายนี้แล้วยังทำให้ผู้เล่นรู้สึกร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ วิธีคลี่คลายคือการใช้ ‘โครงสร้างการเขียนบทหนัง’ มารองรับ แต่สิ่งที่ผลักดันมันจนล้วงเข้าไปถึงความรู้สึกของผู้เล่นได้คือการที่มันจริงจังกับ ‘การพัฒนาตัวละคร’ …ไม่ต่างกันกับการเขียนบทหนัง

เกมเปิดเรื่องที่การตายของลูกสาวโจเอล โดยเราจะเล่นเป็นลูกสาวของเขา ซึ่งเหตุการณ์สะเทือนใจนี้เองที่จะตามหลอกหลอนเราในฐานะผู้เล่นและโจเอลไปตลอดทาง ยิ่งเมื่อเขาได้จับคู่กับเอลลี่ที่รุ่นราวคราวเดียวกับลูกสาวของเขา การพัฒนาความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่จึงก่อร่างในมโนสำนึกของผู้เล่นได้ไม่ยากเลย 

จากภาพด้านล่าง เราจะเห็นได้ว่าการเขียนบทเกมนี้ไม่ต่างจากการเขียนบทหนัง แต่ที่แทรกเข้ามาคือการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของผู้เล่นด้วย ซึ่งนอกจาก ‘บท’ ของ The Last of Us ภาคแรกจะได้รับการยกย่องว่ามีลูกล่อลูกชนทั้งยังพาไปสำรวจจิตใจของตัวละครไม่ต่างจากการดูหนังดีๆ เรื่องหนึ่งแล้ว มันยังเป็นเกมที่ได้รับคำชมด้วยว่ามีระบบการเล่นที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี โดยที่ไม่ทิ้งผู้เล่นให้เคว้งคว้างกลางทางแต่อย่างใด 

ภาษาหนังเป็นสิ่งสำคัญของเกม 

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือในความสำเร็จของเกม The Last of Us นั้น มันเต็มไปด้วยภาษาหนังที่แพรวพราว อย่างแรกคือบทเกมอันซับซ้อนทั้งเรื่องราวและอารมณ์ของตัวละคร และเหนือไปกว่านั้นคือการใช้ภาษาหนังขยี้ความรู้สึกของตัวละครและผู้เล่น อย่างเช่นในยามที่มีตัวละครได้รับบาดเจ็บ ผู้เล่นก็จะเจ็บไปกับตัวละครทั้งทางร่างกายและจิตใจจากการเซ็ตอัพปูมหลังของตัวละครดังที่เรายกตัวอย่างในข้างต้น นอกจากนี้มันยังเป็นเกมที่ทำสกอร์โดย กุสตาโว ซานตาโอลัลลา ผู้ที่เคยเข้าชิงออสการ์จาก Brokeback Mountain และ Babel มาแล้ว ทั้งหมดนี้มันนำไปสู่บทสรุปที่ชวนช็อคอันเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้เราพอรู้ว่า การที่เราทำความรู้จักกับตัวละครเป็นวันๆ ในฐานะผู้เล่นนั้น บางทีอาจไม่ได้ทำให้เรารู้จักคนคนนั้นดีพอด้วยซ้ำ และนี่คือสัญญาณเตือนว่าภาค 2 อาจไม่ทำให้ผู้เล่น ‘พึงพอใจ’ ไปเสียทั้งหมดอย่างแน่นอน 

หาก The Last of Us Part II ทำให้คุณไม่สบายใจ …นั่นคือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว!

หลังความสำเร็จของ The Last of Us ผู้กำกับ นีล ดรักมันน์ และคนเขียนบทร่วมของเขา ฮัลลี เวกริน กรอส ก็พัฒนาภาค 2 ต่อทันที โดยแนวคิดของดรักมันน์ (ซึ่งเป็นประธานบริษัท Naughty Dog ด้วย) คือการไม่ทำให้ The Last of Us Part II เป็นการผจญภัยครั้งใหม่ของโจเอลกับเอลลี่ แต่อยากให้มันมีความดีงามในตัวของมันเองเหมือน The Godfather Part II นำมาสู่แนวทางที่ทำให้มันเป็นเกมซึ่งมีคนรักและเกลียดมันพอๆ กัน 

หากคุณคุ้นเคยกับหนังของ ลาร์ส ฟอน ทรีเยร์ คงพอนึกออกว่าหนังเขาสร้างการถกเถียงในโลกแห่งการวิจารณ์มากน้อยเพียงใด The Last of Us Part II เองก็ไม่ต่างกัน นั่นเพราะธรรมชาติของการเล่นเกมนั้น ผู้เล่นจะมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมหรือการตัดสินใจบางอย่างของตัวละครได้ไม่น้อย แต่สำหรับ The Last of Us Part II นั้นสวนทางโดยสิ้นเชิง เมื่อตัวละครกำลังสื่อสารกับผู้เล่นว่าพวกเขาก็มีชีวิตและจิตใจเป็นของตัวเองเหมือนกัน 

กรอสบอกว่า “โจเอลกับเอลลี่เป็นตัวละครที่มีความซับซ้อนที่ลงมือกระทำอะไรบางอย่างแบบไม่น่าให้อภัย แต่เราอยากให้เกียรติตัวละครที่ผ่านบาดแผลมามากมายในโลกของพวกเขา” ด้านดรักมันน์เสริมว่า “สิ่งเหล่านี้ได้แรงบันดาลใจมาจากความเป็นจริงมากมายบนโลกใบนี้ เมื่อสุดท้ายแล้วความเป็นธรรมมันขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ

“และไม่แปลกหากมันจะทำให้ผู้เล่นรู้สึกรังเกียจ เพราะกับบางตัวละครนั้น การตัดสินใจบางอย่างก็ไม่แฟร์สำหรับพวกเขา”

รายละเอียดในเกมที่ปั่นประสาทผู้เล่นนอกจากความรุนแรงทั้งหลายเช่นเดียวกับในภาคแรกแล้ว ยังมีการตัดสินใจของตัวละครที่ไม่เป็นไปตามความชอบธรรมที่ผู้เล่นคุ้นเคย (ซึ่งก็มีการทิ้งเชื้อเอาไว้ในภาคแรกแล้วเช่นกัน) รวมไปถึงความเลื่อนไหลทางเพศของตัวละครอีกด้วย 

กรอสส์บอกว่า “ไม่แปลกที่ผู้เล่นจะไม่เห็นด้วยกับเอลลี่ เพราะเธอก็คือคนแปลกหน้าคนหนึ่งที่คุณได้เจอ แต่ความท้าทายคือเราจะทำอย่างไรให้คุณค่อยๆ เห็นดีเห็นงามไปกับเธอได้ในที่สุด” 

“สิ่งที่เราคาดหวังคือการที่ผู้เล่นได้เห็นอกเห็นใจในสิ่งที่ตัวละครกำลังกระทำ และลองเปิดใจที่จะสวมบทบาทด้วยชุดความคิดแบบตัวละครดูสักครั้ง” ดรักมันน์กล่าว


ข้อมูลประกอบ:

‘The Last of Us’ and How to Write Great Video Games

‘The Last of Us Part II’: Neil Druckmann on the Game’s Violence and Emotional Manipulation

‘The Last of Us Part II’ Creator Explains Game’s Need to Make You Uncomfortable

Chocolate : อาณานิคมแห่งอคติที่ไม่เคยล่มสลาย …สัมพันธภาพอันเลวร้ายระหว่าง ‘โกโก้’ กับ ‘คนผิวสี’

ตลอดกว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้ อาจมีหนังหลายเรื่องจากหลากสัญชาติที่นิยมใช้ ‘ช็อกโกแลต’ (Chocolate) มาตั้งเป็นชื่อ พร้อมนำเสนอมันออกมาอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้นิยามของ ‘ความหอมหวาน’ และ/หรือ ‘ความน่าเย้ายวน’ ซึ่งอาจเปรียบได้กับสภาวะนามธรรมเชิงบวกของตัวละครในหนังเรื่องนั้นๆ ทั้งความรักที่งดงาม ความรู้สึกทางเพศที่คุกรุ่น หรือแม้แต่ช่วงชีวิตที่น่าจดจำ

ทว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดกับ Chocolate (1988) -หรือ Chocolat ในภาษาฝรั่งเศส- ผลงานหนังเรื่องแรกในวัยหลักสี่ของ แคลร์ เดอนีส์ ผู้ที่ต่อมาได้กลายเป็นคนทำหนังชั้นครูของแวดวงภาพยนตร์โลก

เพราะแม้เธอจะใช้ช็อกโกแลตมาตั้งเป็นชื่อหนังเช่นกัน …ทว่าเนื้อหาของมันกลับแทบไม่ปรากฏถึง ‘การมีอยู่’ ของอาหารรสขื่นชนิดนี้เลย

แถมเมล็ด ‘โกโก้’ (Cocoa) อันเป็นต้นธารของ ‘ช็อกโกแลต’ ที่เดอนีส์หยิบมาใช้นั้น ก็ยังสะท้อนถึงสัมพันธภาพอันเลวร้ายที่พืชเศรษฐกิจชนิดดังกล่าวมีต่อชีวิตของ ‘แรงงานผิวสี’ ในสังคมแอฟริกันจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างน่าเจ็บปวดใจเสียด้วย


1

“คนไม่ค่อยรู้จักวิธีดื่มกาแฟที่ถูกต้องกันแล้ว อย่างฉันน่ะชอบบิช็อกโกแลตสองสามชิ้นลงไปด้วย […] ว่าแต่กาแฟที่แกชงน่ะมันห่วยแตกสิ้นดี น่าขยะแขยงจนฉันรู้สึกเสียใจที่ปลูกมันขึ้นมาเลยเชียว”

ชายวัยกลางคน ‘ผิวขาว’ ที่กำลังนั่งจิบกาแฟอยู่ในเต็นท์เอ่ยปากกับคนครัว ‘ผิวสี’ ที่ยืนเสิร์ฟกาแฟอยู่ข้างๆ ในฉากหนึ่งของ Chocolate ซึ่งก็คล้ายกับเป็นการส่งสารอยู่กลายๆ ว่า ไม่ว่าคนผิวสีจะพยายามทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มกำลังแค่ไหน แต่คนผิวขาวก็ไม่เคยพอใจและหมิ่นแคลนศักยภาพของพวกเขาเสมอมา โดยเฉพาะในบ้านเมืองภายใต้ลัทธิล่าอาณานิคม (Colonialism) ของแคเมอรูนที่ถูกบอกเล่าในหนัง

ฉากดังกล่าวยังแสดงให้เห็นด้วยว่า เมล็ด ‘กาแฟ’ ที่ถูกนำมาชงเป็นเครื่องดื่มแก้วนั้น คือผลผลิตทางการเกษตรของโลกที่แม้จะมีฐานการผลิตสำคัญอยู่ในกลุ่มประเทศของคนผิวสี แต่ก็มักถูก ‘ครอบครอง’ และ ‘ควบคุม’ อย่างเบ็ดเสร็จโดยคนผิวขาวผู้มีอำนาจเหนือกว่า

— เช่นเดียวกับเมล็ด ‘โกโก้’ อันเป็นวัตถุดิบในการผลิต ‘ช็อกโกแลต’ ที่ถูกอ้างถึงในฉากนี้ด้วย

โกโก้ถูกส่งต่อจากทวีปอเมริกามายังแอฟริกาเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 19 พร้อมกับที่ช็อกโกแลต (ชื่อของมันแผลงมาจากคำว่า Xocolatl ซึ่งเป็นภาษานาวัตล์ของชาวยูโต-อัสเตกันในเม็กซิโกที่แปลว่า ‘น้ำรสขม’) ก็กำลังมีวิวัฒนาการอันน่าตื่นเต้น เพราะมันได้ถูกพัฒนาจาก ‘เครื่องดื่ม’ ที่เคยเป็นทั้ง ‘ยา’ และ ‘ของทานเล่น’ (จากการปรุงแต่งกลิ่นรสด้วยเครื่องหอมหรือเครื่องเทศ) มาสู่ ‘อาหารแท่ง’ อันเป็นรูปลักษณ์ร่วมสมัยที่ผู้คนคุ้นเคยกันดีมาตั้งแต่ปี 1847 — โดยในทุกวันนี้ กลุ่มประเทศจากแอฟริกาตะวันตกอย่าง ไอวอรี โคสต์ และ กานา ถือได้ว่าเป็นผู้นำด้านการผลิตโกโก้ที่มีส่วนแบ่งในตลาดโลกมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ถึงเมล็ดโกโก้จะต้องถูกแปรรูป-โดยบรรษัทอาหารชั้นนำของอเมริกาเหนือและยุโรป-ให้เป็นผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตที่มีมูลค่าสูงกว่านั้นอีกหลายเท่าตัวก็ตาม

ในระหว่างที่ช็อกโกแลตค่อยๆ ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งใน ‘รสชาติยอดนิยม’ ของวัฒนธรรมอาหารโลกอยู่นั้น การใช้ ‘แรงงานทาสผิวสี’ -อันเป็นแนวคิดที่กดขี่แบ่งแยกผู้คนต่างเชื้อชาตินับจากศตวรรษที่ 16- ก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญใน ‘การทำไร่โกโก้-กาแฟ’ ที่ถูกคนผิวขาวมองว่าเป็น ‘งานชั้นต่ำ’ ไปโดยปริยาย ซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้ ยังสามารถเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในพื้นถิ่นของคนผิวสีเอง หากประเทศของพวกเขาต้องถูกครอบงำโดยอำนาจทางการเมืองอันแข็งกร้าวของคนผิวขาว

และแม้ว่าการค้าทาสในโลกตะวันตกจะถูกยกเลิกมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 แต่ชีวิตของคนผิวสีในทวีปแอฟริกาก็ดูจะห่างไกลจากคำว่า ‘อิสรภาพ’ อยู่ดี — เหมือนกับใน Chocolate ที่แคเมอรูนบางส่วนต้องถูกฝรั่งเศสปกครองเป็น ‘อาณานิคม’ มาเนิ่นนาน โดยเริ่มต้นในปี 1922 (หลังจากผู้ปกครองเดิมอย่างเยอรมนีต้องพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1) และลากยาวมาจนถึงยุค 50 ดังที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง (อันเป็นทศวรรษสุดท้ายของการตกเป็นอาณานิคม) ทำให้ในช่วงเวลานั้น คนผิวสีพื้นเมือง-ในฐานะของ ‘ผู้ใช้แรงงาน’-ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวคนผิวขาวที่โยกย้ายมาจากประเทศเจ้าอาณานิคม จนหลายคนเริ่ม ‘ผูกพัน’ กับบรรดา ‘เจ้านาย’ ภายในบ้าน ซึ่งก็รวมถึง ‘เด็กๆ’ ที่มีชีวิตเติบโตมาจากการดูแลของคนผิวสีอย่างพวกเขาด้วย

เห็นได้จากฉากหนึ่งที่ ฟร็องซ์ (รับบทโดย เซซีล ดูกาสส์) ลูกสาววัยใสของผู้สำเร็จราชการชาวฝรั่งเศส ได้แลกเปลี่ยน ‘ของกิน’ กับ โปรเต (ไอแซก เดอ บ็องโคเล) คนรับใช้หนุ่มผิวสี ด้วยรอยยิ้มที่ไร้พิษภัยท่ามกลางบรรยากาศอันร้อนแล้งของแคเมอรูน — ซึ่งเป็นหนึ่งในฉากที่สะท้อนถึง ‘แง่งาม’ เล็กๆ ของความสัมพันธ์ดังกล่าว นอกเหนือไปจากการเป็น ‘นาย’ กับ ‘บ่าว’ ที่คอยส่ง-รับคำสั่งกันไปมาในชีวิตประจำวัน

…หรือสิ่งที่เรียกว่า ‘มิตรภาพ’ จะยังไม่สูญสลายหายไปเสียหมดในอาณานิคมแห่งนี้?


2

อาจกล่าวได้ว่า ตัวละครเด็กหญิงยุคอาณานิคมคนนั้น คือ ‘ตัวแทน’ ของผู้กำกับอย่างเดอนีส์

เพราะตั้งแต่อายุได้เพียงสองเดือนจนย่างเข้าวัยรุ่น เธอต้องย้ายตามพ่อ-ที่เป็นผู้สำเร็จราชการของฝรั่งเศสยุคล่าอาณานิคม-ไปใช้ชีวิตอยู่ในทวีปแอฟริกา โดยในขวบปีท้ายๆ เธอกับครอบครัวยังเคยพักอาศัยอยู่ในแคเมอรูนหลังจากโลกอาณานิคมล่มสลายไปได้ไม่กี่ปี มันจึงทำให้เธอได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนผิวสีแอฟริกัน-ไม่ต่างจากตัวละครอย่างฟร็องซ์-มานานกว่าหนึ่งทศวรรษ

เดอนีส์อาจต้องการแสดงให้ผู้ชมเห็นถึงความสัมพันธ์ในอีกด้านหนึ่งที่ยังพอจะมี ‘ความเป็นมนุษย์’ หลงเหลืออยู่บ้างระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสีของที่นั่น ทั้งจากฉากที่ฟร็องซ์แลกของกินกับโปรเตในข้างต้น (เธอให้ผลไม้ที่รับมาจากแม่ ส่วนเขาให้ขนมปังทาเนยโรย ‘มดดำที่ยังมีชีวิต’ -ตามวิถีของชนพื้นเมืองผู้บริโภคแมลงเป็นปกติ- ซึ่งเธอก็หยิบกินอย่างมูมมามด้วยความอยากรู้อยากลอง), หลายฉากที่คนทั้งคู่แลกเปลี่ยนความรู้-ทัศนคติต่างๆ ระหว่างกันบนโต๊ะอาหาร รวมถึงอีกหลายฉากที่ครอบครัวเจ้าอาณานิคมดูจะให้ความรักใคร่และความไว้วางใจแก่โปรเต จน ‘เกือบ’ เหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน

แต่นั่นก็เป็นเพียงสัมพันธภาพที่เบ่งบานอยู่บนโครงสร้างสังคมอันบิดเบี้ยวเท่านั้นเอง — เพราะถึงอย่างไร ‘ช็อกโกแลตที่หวานหอม’ เหล่านั้นก็ถูกรังสรรค์ขึ้นมาจาก ‘เมล็ดโกโก้ที่ขมขื่น’ อยู่ดี

เมื่อฉากหนึ่งที่ตัวละครแม่ถามฟร็องซ์ว่า อยากกินช็อกโกแลตเป็นอาหารเช้าไหม แต่เด็กสาวกลับปฏิเสธโดยไม่ต้องคิดนั้น ทำให้ผู้ชมตระหนักขึ้นมาได้ว่า ‘นายผิวขาว’ อย่างฟร็องซ์อยู่ในสถานะที่สามารถ ‘เลือกได้’ มากกว่า ‘บ่าวผิวสี’ อย่างโปรเตมาโดยตลอดมา เขาไม่เคยเลือกได้ (ฟร็องซ์อาจแบ่งปันอาหารให้เขา แต่เธอก็ยังบังคับให้เขากินอาหาร ‘ดีๆ’ แบบที่เธอกิน) หรือหากจะพอเลือกได้บ้าง ก็มักถูกมองว่าผิดแปลกเสมอ (เช่น รสนิยมการกินแมลงตัวเป็นๆ ของเขาที่ถูกคนนอกมองว่า ‘ไม่ดี’) — นี่ยังไม่นับเรื่องที่โปรเตต้องคอยรับใช้คนผิวขาวจนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับครอบครัวและคนรักของเขาได้ หรือต้องหยุดคิดอะไรเกินเลยกับนายหญิง-ผู้เป็นแม่ของฟร็องซ์-ที่ก็ดูจะมีใจให้เขาอยู่ไม่น้อยด้วย

สาเหตุที่เดอนีส์เลือกคำว่า ‘ช็อกโกแลต’ มาใช้เป็นชื่อเรื่อง-ทั้งที่ผู้ชมแทบจะไม่มีโอกาสได้เห็นช็อกโกแลตจริงๆ ในหนังเลยสักครั้งนั้น ก็เพราะในช่วงยุค 50 คำคำนี้เคยถูกใช้เป็นสแลงอันหมายถึงสถานะที่ ‘ถูกเอาเปรียบ’ ของผู้คน ซึ่งก็ดูจะเชื่อมโยงกับสถานะทางสังคมของแรงงานผิวสีที่ ‘มีอยู่ แต่ไม่สลักสำคัญ’ โดยในหนังนั้น เธอได้บอกเล่าภาวะนี้ผ่านการกำหนดให้ตัวละครแรงงานผิวสีอย่างโปรเตเป็นคน ‘พูดน้อย’ และ ‘สงวนท่าที’ จนต้องโดนคนผิวขายเอาเปรียบทั้งกายและใจ ท่ามกลางฉากหลังของแคเมอรูนยุคอาณานิคมที่ดูเวิ้งว้างห่างไกลจนสัมผัสได้ถึงความโดดเดี่ยวภายในใจของเขา – เพราะสุดท้ายแล้ว โปรเตก็ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวคนผิวขาวของฟร็องซ์ได้อย่างแท้จริง

ภาวะ ‘มีอยู่ แต่ไม่สลักสำคัญ’ ของคนผิวสีนี้ ยังถูกขยายให้ใหญ่ขึ้นในอีกสองทศวรรษถัดมา ด้วยหนังอย่าง White Material (2009) ที่เดอนีส์หวนกลับมาแตะเรื่องแรงงานผิวสีในทวีปแอฟริกาอีกครั้งจนดูราวกับเป็น ‘ภาคต่อ’ ของหนังเรื่องแรก โดยเล่าถึงการพยายามดูแลรักษากิจการไร่กาแฟของหญิงผิวขาว (อิซาแบลล์ อูแปรต์) ในประเทศไร้นามของแอฟริกายุคอาณานิคมก่อนสงครามกลางเมือง ซึ่งชื่อเรื่องที่แปลว่า ‘สมบัติของคนผิวขาว’ ก็ช่วยตอกย้ำว่า แม้จะผ่านเวลามานานเท่าไหร่ คนผิวสีก็ยังเป็นได้แค่ ‘สิ่งของ’ ของคนผิวขาวผู้มีอำนาจเท่านั้น ดังเช่นที่หญิงผิวขาวในเรื่องพยายามแสดงตัวเป็นคนดีมีเมตตาเพื่อให้คนผิวสีเข้ามาช่วยเป็น ‘เครื่องมือ’ ในการกอบกู้ไร่ของเธอ โดยที่ลึกๆ ในใจ เธอก็ยังคงตั้งแง่รังเกียจและเลือกปฏิบัติกับคนเหล่านี้เหมือนเคย

และก็ยิ่งน่าสะเทือนใจขึ้นไปอีก, ที่เด็กหญิงผู้ถูกฟูมฟักจากครอบครัวคนผิวขาวอย่างฟร็องซ์ใน Chocolate อาจไม่เคยตระหนักรู้เลยว่า เด็กผิวสีรุ่นราวคราวเดียวกันในแคเมอรูนที่เธอพำนักอยู่นั้น จะมีชีวิตที่ ‘แตกต่าง’ จากเธอแบบ ‘หน้ามือเป็นหลังเท้า’


3

‘แรงงานเด็กผิวสี’ ในไร่โกโก้ คือปัญหาที่ถูกส่งต่อกันมาในทวีปแอฟริกา-รวมถึงประเทศแคเมอรูน-เป็นเวลายาวนานนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อราคาในตลาดโลกของโกโก้ค่อยๆ ตกต่ำลง จนเจ้าของไร่จำนวนไม่น้อยต้องเริ่มหาทางออกด้วยการจัดจ้างแรงงานราคาถูก

ในปี 1960 หลังจากที่แคเมอรูนได้รับเอกราชอย่างเต็มตัวจากฝรั่งเศส คนผิวสีอาจไม่ต้องตกเป็น ‘แรงงานใต้กฎอาณานิคม’ ของคนผิวขาวอีกต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขายังคงต้องมีสภาพเป็น ‘แรงงานใต้ระบบทุนนิยม’ ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในโลกสมัยใหม่อยู่ดี ซึ่งนั่นก็หมายรวมถึง ‘แรงงานเด็ก’ ในธุรกิจไร่โกโก้ ที่ส่วนใหญ่เกิดมาในครอบครัวยากจน และไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องช่วยพ่อแม่หารายได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ทั้งจากการช่วยกิจการภายในบ้าน หรือแม้แต่การถูกพ่อ-แม่ส่งไป ‘ขาย’ ให้เจ้าของไร่ด้วยตัวเอง โดยตามสถิติในแอฟริกาตะวันตก แรงงานเด็กผิวสีเหล่านี้ที่มีอายุเพียง 12-16 ปี (อายุน้อยที่สุดที่เคยพบคือ 5 ขวบ!) ต้องทำงานในไร่สัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 80-100 ชั่วโมงเพื่อแลกกับรายได้อันน้อยนิด แถมยังต้องทนทุกข์กับสวัสดิการอันต่ำเตี้ยและการถูกนายจ้างทุบตีอีกต่างหาก

นอกจากนี้ เป็นที่รู้กันว่าการปลูก ‘พืชเอาใจยาก’ อย่างโกโก้ (เพราะถึงมันจะชอบอุณหภูมิในประเทศเขตร้อนชื้น แต่ก็ยังต้องการแสงแดดที่ต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย ต้องการดินที่อุดมสมบูรณ์เพียงพอ และต้องการน้ำที่มีปริมาณสม่ำเสมอ) ในระบบธุรกิจนั้น จำเป็นต้องใช้ ‘สารเคมี’ ในการเร่งผลผลิตเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละหลายๆ ครั้ง มันจึงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแรงงานเด็กอย่างเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงการต้องทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่เต็มเวลานั้น ก็แน่นอนว่าจะทำให้พวกเขาต้องสูญเสียโอกาสทางการศึกษาไปอย่างน่าเสียดาย

จนถึงปัจจุบันนี้ ประเด็นปัญหาดังกล่าวก็ยังเป็นเรื่องที่แก้ไม่ตก เพราะมีเด็กผิวสีที่ถูกผู้ใหญ่บีบบังคับให้ใช้แรงงานอยู่ในธุรกิจไร่โกโก้ที่แอฟริกาตะวันตกมากถึง 2.1 ล้านคน — ที่สำคัญ, ยังมีรายงานด้วยว่า เด็กผิวสีหลากสัญชาติจำนวนหลายหมื่นคนเคยถูก ‘ลักพาตัว’ เพื่อนำไปขายเป็นแรงงานทาสในตลาดมืดของที่นั่นมาแล้ว

และแม้ว่าหลายฝ่ายจะพยายามออกมาต่อต้านการใช้แรงงานเด็กผิวสีในไร่โกโก้ ด้วยการเลิกซื้อสินค้าและการผลักดันกฎหมายเพื่อบอยค็อตต์ (Boycott) จนบริษัทผลิตช็อกโกแลตระดับโลกหลายเจ้าต้องออกมาประกาศในช่วงต้นสหัสวรรษใหม่ว่า พวกเขาจะเลิกรับซื้อผลผลิตจากไร่ที่ใช้แรงงานเด็กในแอฟริกาตะวันตก และจะร่วมกันหาหนทางยุติการกระทำอันโหดร้ายนี้ลงให้จงได้ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปจนกรณีพิพาทเงียบหาย การค้าแรงงานเด็กผิวสีก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง อาจเพราะเม็ดเงินหมุนเวียนหลายพันล้านในธุรกิจช็อกโกแลตนั้นมันช่างน่าเย้ายวนใจเกินกว่าที่บริษัทยักษ์ใหญ่จะเสียเวลาไปตรวจสอบต้นทางของเมล็ดโกโก้ให้วุ่นวาย เช่นเดียวกับที่ปัญหาความยากจนของครอบครัวคนผิวสีในแอฟริกาก็ยังไม่เคยได้รับการดูแลแก้ไขที่ตรงจุดจากผู้มีอำนาจเสียที

ความไม่เท่าเทียมในชีวิตของคนผิวสีกลางไร่โกโก้ในแอฟริกาจึงยังคงดำเนินต่อไป…


4

หลังจาก Chocolate ออกฉายพร้อมชิงรางวัลปาล์มทองที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ในปี 1988 และได้รับคำชื่นชมล้นหลาม เดอนีส์ก็เฝ้าสำรวจปัญหาชีวิตของผู้คน ‘ชายขอบ’ -รวมถึงคนผิวสี- ที่แตกต่างหลากหลายในโลกเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นนักพนันชนไก่ใน No Fear, No Die (1990), ผู้ลี้ภัยใน I Can’t Sleep (1993), พลทหารใน Good Work (1999), พนักงานขับรถไฟใน 35 Shots of Rum (2008) หรือคนงานไร่กาแฟใน White Material — แต่กระนั้น ก็ดูเหมือนว่า ‘การแบ่งแยกทางเชื้อชาติ/ชนชั้น’ ระหว่างมนุษย์จะยังปรากฏให้เห็นในโลกความจริงนอกจอหนังอยู่เสมอ

ประวัติศาสตร์หลายร้อยปีของการค้าแรงงานทาสอันโหดร้ายและน่าเศร้าสลดที่ล่วงผ่าน ดูจะไม่สามารถส่งมอบ ‘บทเรียน’ ให้มนุษย์เราได้เลย เพราะถึงที่สุดแล้ว คนผิวสีก็ยังมีสถานะเป็นเพียง ‘ช็อกโกแลต’ ที่ถูกเอาเปรียบและไร้ตัวตนสำหรับผู้คนที่ดูแคลนพวกเขาอยู่วันยังค่ำ พวกเขายังเป็นแค่ ‘สมบัติของคนผิวขาว’ ที่จะถูกเรียกใช้ทำประโยชน์หรือทิ้งขว้างอย่างไรก็ย่อมได้

— คล้ายกับว่ามนุษย์เรายังคงถูกจองจำอยู่ใน ‘อาณานิคมแห่งอคติ’ ที่ไม่เคยล่มสลายหายไปไหน เป็นอาณานิคมที่ถูกก่อเป็น ‘กำแพง’ ขึ้นมาชั้นแล้วชั้นเล่าภายในจิตใจของเรานี่เอง

กำแพงอันคับแคบหนาหนักของอาณานิคมแห่งอคติที่ว่านี้ ไม่เพียงบีบเค้นให้ ‘ทาสอาณานิคม’ ค่อยๆ ขาดอากาศหายใจจนตายเท่านั้น หากแต่มันยังสามารถกลายเป็นสถานที่คุมขังหรือแม้แต่พังทลายลงมาถมทับ ‘เจ้าอาณานิคม’ -ที่สร้างมันขึ้นมา- ได้ด้วย ดังเช่นใน Chocolate ที่ตัวละครแม่ของฟร็องซ์ต้องปวดหัวกับการสั่งให้คนครัว ‘ทำ’ หรือ ‘ไม่ทำ’ อาหารสัญชาติไหน ตามความต้องการของแขกผิวขาว-ผู้มีอำนาจมากกว่าสามีของเธอ-ที่มาเยี่ยมเยือน หรือใน White Material ที่หญิงผิวขาวผู้ดูแลไร่กาแฟเชื่อมั่นแบบผิดๆ เสมอมาว่า สถานะการเป็นคนผิวขาวของเธอจะทำให้ตนมีอภิสิทธิ์เหนือคนผิวสีพื้นเมืองและรอดพ้นจากภัยสงครามอันเลวร้ายไปได้

ก่อนที่พวกเธอทั้งคู่จะพบว่า ‘สถานะทางสังคม’ อันสูงส่งนั้น ไม่อาจช่วยให้มนุษย์เราหลุดพ้นจาก ‘ความทุกข์ยาก’ ได้เสมอไป

และมันก็เป็น ‘ความขมขื่น’ ของชีวิตที่ไม่ว่าใครหน้าไหนก็คงไม่อยากลิ้มรสด้วยกันทั้งนั้น


หมายเหตุ :

ถึงแม้ Chocolat จะยังไม่มีให้ชมทั่วไปในตอนนี้ แต่หากอยากชมงานของ Claire Denis ทุกท่านสามารถไปชม I Can’t Sleep ภาพยนตร์อีกเรื่องของเธอในงาน Wildtype VS AF ในวันที่ 8 กค. นี้ รายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่

หนังเลื่อนฉายที่อเมริกา สะเทือนถึงอีสาน

“เราคุยกันในกลุ่มอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์โลก ที่เขาเชื่อว่าอเมริกาจะเริ่มเปิดโรงหนังในเดือนกรกฎานี้ ในยุโรปหลายประเทศก็เปิดโรงหนังแล้ว ส่วนในเอเชียที่วันนี้เปิดแล้วคือ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ปลายมิถุนายน มาเลเซีย สิงคโปร์ก็ทยอยเปิด ดังนั้นอุตสาหกรรมโรงหนังจะเริ่มเข้าลูปในเดือนกรกฎาคมนี้แน่นอน” วิชา พูลวรลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ไว้กับ marketeeronline.co ด้วยความมั่นใจว่าโรงหนังจะกลับมาเต็มรูปแบบในเดือน ก.ค. หลังจากอยู่ภายใต้ความเงียบเหงาทั่วกันทั้งโลกมาตลอดช่วงโควิด…แต่นั่นเป็นการคาดการณ์บนข้อมูลที่ว่า Mulan และ Tenet สองหนังยักษ์ใหญ่จะลงสนามพร้อมกันทั้งโลก ซึ่ง ณ ตอนนี้ ทั้งสองเรื่องตัดสินใจเลื่อนฉายไปเดือนสิงหาคมแล้วเรียบร้อย 

การขยับของหนังทั้งสองเรื่องสะเทือนไปทั่วโลกอย่างไม่ต้องสงสัย แม้แต่โรงหนังโลคัลภาคอีสานอย่าง MVP ที่มีอยู่ 4 สาขาในจังหวัด บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, เลย และกาฬสินธุ์ ซึ่ง คมกฤช พิพัฒน์ภานุกูล กรรมการผู้จัดการ บ.มูฟวี่ พาร์ทเนอร์ จำกัด บอกว่าหลังจากเปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน ยังไม่มีวันไหนเลยที่โรงหนังจะคึกคักเหมือนเช่นทุกวันก่อนจะเกิดโควิด ถึงขนาดบางวันมีรายได้รวมกันทั้งสี่สาขาแค่ราว 1 หมื่นบาทก็มี 

แล้วการเลื่อนฉายของ Mulan กับ Tenet มันส่งผลสะเทือนถึงโรงหนังโลคัลอย่างไร? 

“ตั๋วหนังที่ขายทั้งหมดในประเทศไทย มาจากหนังฮอลลีวูด 80%” คมกฤชเท้าความ “นั่นหมายความว่าตลาดหนังเมืองไทยไม่ได้พึ่งพาหนังโลคัลเท่าไหร่เลย ฉะนั้นการกลับมาเปิดโรงหนังรอบนี้ก็จะครบเดือนแล้ว มันย่ำแย่มาตลอด อย่างไตรมาสที่ 2 ปกติเป็นคิวทองของโรงหนังเลย ถ้าไม่มีโควิดป่านนี้ก็จะมี Wonder Woman 1984 มี Black Widow แต่ปรากฏโควิดมันมาไตรมาส 2 เลย โอ้โห ที่สุดของแจ้ (หัวเราะ)”  

ดังนั้นหลังจาก ศบค. ปลดล็อคโรงหนังเมื่อ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา โรงหนังทั้งประเทศก็กลับมาให้บริการอีกครั้งแบบไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่นบางโลเคชั่นมี 15 จอ อาจจะเปิดฉายแค่ 10 จอ เป็นต้น “จริงๆ ผมไม่อยากเปิดด้วยซ้ำ ผมกลับมาเปิดวันที่ 6 นู่น ผมมองว่า ‘พจมาน สว่างคาตา’ ที่ฉายเป็นโปรแกรมแรกหลังโควิด มันน่าจะพอได้ และถ้าเปิดมาอย่างมากก็แค่แย่ไปสักสามอาทิตย์ รอ Mulan เดือนกรกฎาคม อย่างน้อยก็ให้ลูกน้องได้ทำงาน ซึ่งเอาจริงๆ ถ้าผมเป็นเจ้าของ Mulan ผมก็เลื่อนออกไปอีกนะ เพราะมาเปิดตอนนี้ต่อให้คนดูเต็มยังไง ก็ได้แค่ 25% ของ capacity เดิมเท่านั้น ตามมาตรการ social distancing ที่มีเหมือนกันเกือบทั้งโลก” 

ปัจจัยที่จะทำให้คนกลับมาดูหนังในโรงอีกครั้งคืออะไร? 

“ผมเชื่อว่าคนพร้อมนะ” คมกฤชกล่าว “แต่ว่าตอนนี้กติกาไม่พร้อม และหนังก็ไม่พร้อม กติกาคือตอนนี้เรายังต้องเว้นระยะห่างในโรงกันอยู่ ขณะที่คอนเทนต์ก็ยังไม่มีอะไรดึงดูด เพราะต้องยอมรับว่าเรายังต้องพึ่งพาฮอลลีวูดอยู่เยอะ แล้วลองดูต่างประเทศสิ โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ อย่างอเมริกากับจีน โรงเบอร์หนึ่งอย่าง AMC นี่เผลอๆ อาจจะไม่ได้กลับมาครบเหมือนเดิมด้วยซ้ำ จีนที่เหมือนจะดีๆ ก็กลับมาระบาดที่ปักกิ่ง ถ้าคุณเป็นเจ้าของหนังฮอลลีวูดคุณจะเอาหนังเข้าฉายช่วงนี้มั้ยล่ะ ถ้าไม่ได้ฉายที่จีนกับอเมริกา เพราะถ้านับรายได้ทั่วโลก รายได้จากสองประเทศนี้รวมกันมันวัดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ล่ะ Mulan เนี่ยชัดสุด คิดว่ารายได้หลักจากทั่วโลกจะมาจากไหนถ้าไม่ใช่สองประเทศนี้ แล้วถ้าอเมริกากับจีนยังไม่พร้อม หนังก็ต้องขยับไปอีก เราก็ต้องอยู่กันอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ เมืองไทยผมว่ากลางกรกฎาคมก็คงปลอดภัยสุดๆ แล้วแหละ เหลือแค่อเมริกากับจีน ถ้าตอนนั้นฮอลลีวูดยังไม่มา แต่คนดูพร้อมแล้ว กติกาพร้อมแล้ว ตอนนั้นก็อาจเป็นโอกาสของหนังโลคัล ตอนนี้ทุกค่ายก็มีโปรดักต์อยู่ในมือ ผมก็มี ‘รักหนูมั้ย’ ของทีม ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์’ สหมงคลฟิล์มเขาก็มี แต่ถ้ากติกายังไม่พร้อมก็คงยังไม่กล้าปล่อยหนังออกไปหรอก”

อีกนานไหมกว่าโรงหนังจะกลับมาเหมือนเดิม? 

แม้ว่าทั้ง Mulan และ Tenet โปรแกรมใหญ่ฮอลลีวูดจะจิ้มกำหนดฉาย (ในตอนนี้) เอาไว้แล้วที่เดือนสิงหาคม และยังมีหนังฟอร์มโตอีกหลายเรื่องที่อั้นเอาไว้ช่วงปลายปี แต่ก็ต้องดูสถานการณ์ในอเมริกาอีกทีว่ากติกาการดูหนังจะเอื้อให้หนังทุนสูงเหล่านี้สามารถสร้างรายได้ในระดับที่คุ้มทุนสร้างมหาศาลได้หรือยัง ถ้าถึงตอนนั้นยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ คงไม่แคล้วต้องมีการเลื่อนฉายหนังออกไปอีก และโรงหนังรายย่อยในประเทศต่างๆ ก็ต้องประคับประคองสถานการณ์เช่นนี้กันต่อไป 

“ผมว่าอีกพักใหญ่ๆ เลยแหละ ใครบอกว่าอีกไม่นาน ผมไม่เชื่อ” คมกฤชกล่าว  

Rat Film – ว่าด้วยหนู และคนดำแห่งเมืองบัลติมอร์

ทุกอย่างเริ่มต้นจากหนูตัวหนึ่งในถังขยะ ติดแหง็กโดยที่แม้จะพยายามกระโดดอย่างสุดแรง แต่เพราะถังขยะในบัลติมอร์มีความสูงอยู่ที่ 34 นิ้ว หนูที่โดยปกติจะกระโดดได้สูง 32 นิ้วจึงได้แค่กระโดดเฉียดปากถังขยะ

Rat Film คือสารคดีความยาว 80 นาที ของ Theo Anthony ผู้กำกับภาพยนตร์อายุ 31 ปี ที่อาศัยอยู่ในบัลติมอร์ สหรัฐอเมริกา “คืนหนึ่งพอผมกลับมาบ้าน ผมได้ยินเสียงดังมาจากถังขยะ ผมเลยหยิบโทรศัพท์ออกมา และเริ่มต้นถ่ายสารคดีเรื่องนี้” Anthony เล่าถึงจุดตั้งต้นของ Rat Film

ในเมืองบัลติมอร์ หนูคือสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้คนในเมืองราวกับเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ภายใต้นิยามของ ‘ความปกติ’ ก็ไม่ได้แปลว่า ความสัมพันธ์ระหว่างหนูกับชาวเมืองบัลติมอร์จะดำเนินไปอย่างราบรื่นแต่อย่างใด กล่าวคือ พวกเขาเพียงแค่ชินชากับชีวิตประจำวันที่ต้องพบเจอกับหนูอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นหนูที่วิ่งตัดหน้าบนท้องถนน หรือหนูที่ลอบเข้ามาคุ้ยถังขยะ การปรากฏตัวอยู่เรื่อยๆ ของสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ นี้ ไม่เพียงแต่จะสร้างความรำคาญ แต่พร้อมๆ กัน ชาวเมืองก็ค่อยๆ ปรับตัว และพัฒนาวิธีการที่พวกเขาจะกำจัดหนูอย่างที่อาจเรียกได้ว่า ประหลาด และพิสดารยิ่งขึ้น

ชาวเมืองคนหนึ่งให้ Anthony ดูปืนลูกดอกที่เขาพัฒนาขึ้นเพื่อกำจัดหนูที่มักจะแอบเข้ามาในสวนหลังบ้านโดยเฉพาะ ในขณะที่วัยรุ่นอีกคู่หนึ่งก็ชวน Anthony ไปดูกิจกรรมโปรดในยามดึกของพวกเขานั่นคือ ‘การตกหนู’ โดยที่วัยรุ่นคนหนึ่งจะเกี่ยวเศษเนื้อสัตว์กับเบ็ดตกปลา เหวี่ยงออกไปในกองขยะ นั่งรอเวลาที่หนูจะวิ่งมางับเหยื่อ ส่วนวัยรุ่นอีกคนจะถือไม้เบสบอลเพื่อเตรียมที่จะวิ่งเข้าไปหวดหนูเคราะห์ร้ายตัวนั้นสุดแรง กิจกรรมในลักษณะนี้ดำเนินไปอย่างเป็นปกติไม่ต่างอะไรกับการตกปลา นั่นเพราะจำนวนของประชากรหนูในเมืองแห่งนี้มีมากมายมหาศาลไม่ต่างอะไรกับปลาในมหาสมุทร

ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า แม้เรื่องราวของ Rat Film จะเริ่มต้นด้วยหนู แต่ Anthony กลับพาคนดูไปไกลเกินกว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในเมือง กับสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ โดยเชื่อมโยงให้เห็นประเด็นทางการเมืองที่หลบซ่อนอยู่ในฉากหลังของเมืองบัลติมอร์

“บัลติมอร์น่ะไม่เคยมีปัญหาเรื่องหนูหรอก เรามีแต่ปัญหาเรื่องคน” Edmund ชายผิวดำผู้คอยกำจัดหนูในบัลติมอร์กล่าว ย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 บัลติมอร์เป็นเมืองแรกของสหรัฐอเมริกาที่ได้มีการผ่าน ‘กฎหมายการแยกที่อยู่อาศัย’ (residential segregation law) นายกเทศมนตรีเมืองบัลติมอร์ในขณะนั้นถึงกับกล่าวว่า “คนดำควรจะถูกแยกให้อยู่แค่ในสลัมเพื่อที่จะช่วยลดอัตราการเกิดความไม่สงบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อไปยังชุมชนคนขาวข้างเคียง และเพื่อปกป้องทรัพย์สินของคนขาวซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่”https://www.epi.org/blog/from-ferguson-to-baltimore-the-fruits-of-government-sponsored-segregation/ และแม้ว่าไม่กี่ปีต่อมา ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาจะให้การตัดสินว่า การแยกที่อยู่อาศัยในลักษณะนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทว่าปฏิบัติการแยกขาดที่อยู่อาศัยระหว่างคนดำกับคนขาวก็ได้โยกย้ายไปสู่ภาคเอกชน เกิดเป็นข้อตกลงภายในชุมชนของคนขาวที่จะคอยกีดกันสิทธิของคนดำต่อการเป็นเจ้าของบ้านในชุมชนต่างๆ 

ต่อมาในปี 1933 ช่วงภาวะเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (The Great Depression) ก็ได้มีการก่อตั้ง the Home Oners’ Loan Corporation (HOLC) ขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่สูญเสียบ้านจากภาระหนี้สิน เช่นเดียวกับชื่อบริษัท หน้าที่ของ HOLC คือการให้ประชาชนกู้ยืมเงินในการซื้อบ้าน โดยที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทจะลงสำรวจพื้นที่ ประเมิน และวาดแผนที่ที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของพื้นที่หนึ่งๆ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับความเป็นไปได้ในการจะอนุมัติเงินกู้ยืมให้กับประชาชนในพื้นที่อีกที แผนที่ที่ถูกวาดขึ้นนี้จึงปรากฏสีที่สะท้อนให้เห็นคุณภาพของพื้นที่หนึ่งๆ ภายใต้การประเมินของเจ้าหน้าที่จาก HOLC (ที่ล้วนแล้วแต่เป็นคนขาว) ในกรณีของบัลติมอร์ พื้นที่ซึ่งถูกประเมินด้วย ‘สีเขียว’ ว่าเป็นพื้นที่คุณภาพล้วนแล้วแต่เป็นชุมชนซึ่งคนขาวอาศัยอยู่ ในขณะที่พื้นที่ซึ่งถูกถมทับด้วย ‘สีแดง’ ว่าเป็นพื้นที่ไร้คุณภาพล้วนแล้วแต่เป็นสลัมของคนดำ ปฏิบัติการเช่นนี้รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘การขีดเส้นแดง’ (redlining) ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นสาเหตุให้คนดำไม่ได้รับอนุมัติการขอกู้ยืมเงินจาก HOLC และจำต้องทนอยู่ในสลัมต่อไป หากการขีดเส้นแดงยังผลิตซ้ำภาพจำต่อชุมชนคนผิวดำว่าเป็นพื้นที่สกปรก ไร้คุณภาพ และอันตรายThe Color of the Law, A Forgotten History of How Our Government Segregated America – Richard Rothstein

ในปี 1942 ท่ามกลางเปลวเพลิงแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาที่กังวลว่าเชื้อโรคอาจกลายเป็นอาวุธสำคัญของฝ่ายศัตรู และหนูอาจกลายเป็นอาวุธสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อโรคจึงได้พยายามที่จะผลิตสารพิษกำจัดหนูขึ้นมา โดยที่บัลติมอร์ก็ได้กลายเป็นห้องทดลองสำหรับสารพิษนี้ Dr. Curt P. Richter นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัย John Hopkins ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ และทดลองสารพิษกำจัดหนูที่เขาคิดค้นขึ้นกับประชากรหนูในเมืองๆ นี้ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยเมื่อ Rat Film เปิดเผยกับเราว่า สลัมคนดำได้กลายเป็นพื้นที่สำหรับทดลองสารพิษชนิดนี้ไป นั่นเพราะด้วยสภาพแวดล้อมของชุมชนที่ชำรุดผุพังเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของหนู ในแง่นี้ สลัมคนดำจึงกลายเป็นห้องทดลองที่เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาสารพิษสำหรับกำจัดหนู ขณะเดียวกัน เมื่อหนูคือสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมต่อการทดลองวิชาแพทย์สมัยใหม่ สลัมคนดำในบัลติมอร์จึงไม่เพียงแต่จะถูกรับรู้ในฐานะห้องทดลองสำหรับการพัฒนาสารพิษอีกต่อไป หากยังเป็นพื้นที่สำหรับการทดลองทางการแพทย์อื่นๆ กล่าวได้ว่า สาเหตุที่สลัมคนดำในบัลติมอร์ไม่ได้ถูกพัฒนาจึงประกอบด้วยหลายเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นการกีดกันทางเชื้อชาติที่ผูกพันอยู่กับการปฏิเสธโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนกู้ยืม และการที่พื้นที่แห่งนี้มีสภาพแวดล้อมอันเหมาะสมต่อการทดลองทางการแพทย์ในประชากรหนู

Anthony ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ เคยกล่าวไว้กับบทสัมภาษณ์หนึ่งว่า “แม้ว่าผมจะเริ่มทำหนังเรื่องนี้จากความสนใจเล็กๆ แต่สิ่งที่ขับเคลื่อนผมจริงๆ คือความพยายามที่จะเข้าใจว่าเมืองบัลติมอร์ในความเป็นจริงเป็นอย่างไร ในฝั่งหนึ่งของถนน เรามีบ้านราคาหลายล้าน แต่บนถนนอีกฟากกลับมีห้องแถวเก่าๆ เรียงติดกัน มันเป็นภาพที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงมากๆ เพราะสองฝั่งฟากถนนคือประชากรผู้มีรายได้ และระดับการศึกษาที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เมื่อคุณเป็นคนขาว และมีอภิสิทธิ์ มันมีพื้นที่บางแห่งในบัลติมอร์ที่คุณไม่ควรไป คุณจะมีเส้นทางที่สร้างไว้สำหรับคุณอยู่แล้ว เพียงแต่เส้นทางนี้กลับไม่เคยถูกพูดถึง แต่เมื่อคุณลองมองให้ดีๆ ว่า ทำไมเส้นแบ่งเหล่านี้ถึงดำรงอยู่ คุณจะพบว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากความตั้งใจ เป็นแผนผังที่วางไว้อย่างละเอียด และถูกบังคับใช้อย่างเชี่ยวชาญในทุกๆ ระดับของการปกครอง”

เมื่อคุณเป็นคนขาว และมีอภิสิทธิ์ มันมีพื้นที่บางแห่งในบัลติมอร์ที่คุณไม่ควรไป คุณจะมีเส้นทางที่สร้างไว้สำหรับคุณอยู่แล้ว เพียงแต่เส้นทางนี้กลับไม่เคยถูกพูดถึง แต่เมื่อคุณลองมองให้ดีๆ ว่า ทำไมเส้นแบ่งเหล่านี้ถึงดำรงอยู่ คุณจะพบว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากความตั้งใจ เป็นแผนผังที่วางไว้อย่างละเอียด และถูกบังคับใช้อย่างเชี่ยวชาญในทุกๆ ระดับของการปกครอง

Rat Film คือสารคดีที่เริ่มต้นเรื่องราวจากจุดเล็กๆ นั่นคือหนูในถังขยะ ทว่าภายใต้ความพยายามของหนูตัวเล็กๆ ต่อการจะกระโดดให้พ้นจากถังขยะกลับคือความสิ้นหวัง นั่นเพราะถังขยะถูกสร้างขึ้นด้วยความสูงที่คำนวนไว้แล้วอย่างละเอียดว่า หากหนูตกลงไป มันจะไม่มีวันกระโดดหนีจากถังขยะใบนี้ได้ หากหนูคือคนดำในเมืองบัลติมอร์ที่พยายามตะเกียกตะกาย ถังขยะก็ไม่ต่างอะไรกับผังเมืองบัลติมอร์ที่ขีดเส้นแบ่งที่อยู่อาศัยไว้อย่างแม่นยำ ต่อให้ดิ้นรนสักเพียงใด แต่ภายใต้โครงสร้างทางการเมืองคอยกดขี่ และกีดกันทางเชื้อชาติอย่างต่อเนื่อง และแนบเนียน หนูที่ร่วงหล่นลงไปในถังขยะจึงทำได้แต่เพียงหล่อเลี้ยงความหวังไปเรื่อยๆ ผ่านการกระโดดซ้ำๆ อย่างหวังๆ ว่าสักวันหนึ่งมันจะหลบหนีออกไปได้

หลบหนีออกไปเพียงเพื่อจะได้พบกับถังขยะอีกใบที่สูงใหญ่ยิ่งกว่าถังขยะใบเดิมที่มันหลุดพ้นออกมา


ดู Rat Film ได้ใน MUBI

นีนา ซีโมน ศิลปินผิวสีผู้มาก่อนวัฒนธรรม MV กับเพลง Mississippi Goddam ที่ไม่มีใครอยากให้อยู่ ‘เหนือกาลเวลา’

2020

ในโลกยุคปัจจุบันที่ ‘ดนตรี’ กับ ‘ภาพเคลื่อนไหว’ แทบจะกลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกันผ่านสื่อที่เปี่ยมทั้งเทคนิคและสีสันอย่าง มิวสิก วิดีโอ (Music Video หรือ MV) ผมเพิ่งมีโอกาสได้เปิดดูคลิปการแสดงสดในโทนขาว-ดำของเพลงเก่าเพลงหนึ่งใน YouTube ด้วยความรู้สึกท่วมท้นเต็มตื้น

เพลงดังกล่าวคือ Mississippi Goddam ของศิลปินหญิงผิวสีระดับตำนานอย่าง นีนา ซีโมน ที่ถูกหลายฝ่ายยกย่องให้เป็นผลงานที่อยู่ ‘เหนือกาลเวลา’ ไม่ว่าจะด้วยท่วงทำนอง ลีลาการร้อง หรือเนื้อหาที่ ‘จับใจ’ ทั้งคนดูและคนฟังอย่างที่ใครก็คงปฏิเสธไม่ได้

มันเป็นเพลงที่พูดถึง ‘ความทุกข์ทนของคนผิวสี’ ในสังคมอเมริกันยุค 60 ที่ถึงคราว ‘ต้องยุติ’ ลงเสียที

และมันก็ยังเป็นเพลงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้แต่ง/ผู้ขับร้องอย่างซีโมนไปตลอดกาลอีกด้วย


1963

You’re all gonna die and die like flies.

มันเป็นเดือนมิถุนายนที่ดำเนินไปท่ามกลางความรู้สึกเหน็บหนาวจับขั้วหัวใจสำหรับคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา เมื่อเพื่อนร่วมเชื้อชาติของพวกเขาต้อง ‘ล้มตาย’ จากการเข้าเข่นฆ่าโดยบรรดาผู้ที่เกลียดชัง – ล้มตายอย่างง่ายดายราวกับ ‘แมลงวัน’ ในบทเพลงที่กำลังจะถือกำเนิดขึ้นในอีกไม่ช้าของนีนา ซีโมน นักดนตรีสาวคนดังวัย 30 ปี

ในเดือนนั้น เธอได้เห็นข่าวการเสียชีวิตของ เม็ดการ์ เอเวอร์ส -นักกิจกรรมผู้เคลื่อนไหวด้านสิทธิการศึกษาของคนผิวสี- ที่ถูกยิงเข้าจากทางด้านหลังขณะก้าวลงจากรถตรงบริเวณหน้าบ้านของตัวเองในเมืองแจ็คสัน รัฐมิสซิสซิปปี รวมถึงข่าวการวางระเบิดโบสถ์ของคนผิวสีที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บถึง 22 คนและมี ‘เด็กหญิงผิวสี’ ต้องเสียชีวิตอีกถึง 4 คนด้วยสภาพ ‘ฉีกขาดราวตุ๊กตา’ ในเมืองเบอร์มิงแฮม รัฐแอละแบมา ในเดือนกันยายน-หรือก็คืออีกเพียง 3 เดือนถัดมา-ของปีเดียวกัน ซึ่งเบื้องหลังโศกนาฏกรรมทั้งหมดนั้นเป็นผลมาจาก ‘ความเกลียดชังที่มีต่อคนผิวสี’ ของกลุ่มคนผิวขาวผู้คลั่งความรุนแรงอย่าง White Citizens’ Councils และ Ku Klux Klan

ความรุนแรงอันถึงเลือดถึงเนื้อเหล่านี้เป็นเสมือน ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ที่ทำให้ซีโมน-ผู้เคยเห็นความอยุติธรรมที่คนผิวขาวปฏิบัติต่อคนผิวสีรอบข้างมาตั้งแต่เด็ก และเคยถูกปฏิเสธจากสถาบันดนตรีคลาสสิกชั้นนำในช่วงวัยรุ่น-รู้สึก ‘โกรธแค้น’ สังคมอเมริกันจนถึงขั้นอยาก ‘ออกไปยิงใครสักคนทิ้ง’ ให้รู้แล้วรู้รอด ก่อนที่ แอนดรูว์ สเตราด์ สามีและผู้จัดการของเธอจะเตือนสติว่า “นีนา, คุณจะเที่ยวออกไปฆ่าใครต่อใครไม่ได้หรอกนะ คุณเป็นนักดนตรี ทำสิ่งที่คุณถนัดเถอะ” เธอจึงได้สติ และร้อยเรียงความรู้สึกแค้นเคืองที่คุกรุ่นอยู่ภายในอกนั้นออกมาเป็น ‘บทเพลง’ ด้วยเวลาเพียงไม่ถึงชั่วโมง

เธอเลือกบ่นระบายถึง ‘ความทุกข์ยากในสังคมแห่งการแบ่งแยก’ ผ่านสิ่งที่เธอรักที่สุดอย่าง ‘ดนตรี’ และ “มันปะทุออกมาจากตัวฉันอย่างรวดเร็วรุนแรงเกินกว่าที่จะสามารถจดตามได้ทันด้วยซ้ำ”


1964

I think every day’s gonna be my last.

ซีโมนคร่ำครวญถึงอนาคตอันไม่แน่นอนของตนกับเพื่อนๆ ร่วมผิวสี-ที่อาจถูกทำร้ายหรือปลิดชีพเมื่อไหร่ก็ย่อมได้-ผ่านบทเพลงที่เธอแต่งขึ้น โดยหวังแค่ว่าคนผิวขาว-ผู้มีอำนาจทางสังคมเหนือกว่า-จะยอม ‘หยุดฟัง’ พวกเธอบ้าง

เพลงนี้ถูกเธอนำไปขับขานต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรกที่ไนต์คลับชื่อ Village Gate ในย่านกรีนิช วิลเลจของแมนแฮตตันเมื่อช่วงต้นปี คล้ายกับเป็นการเรียกร้องให้คนอเมริกันออกมา ‘เคลื่อนไหว’ กับแนวคิดการแบ่งแยกผิวสีใน 3 รัฐสำคัญอย่างแอละแบมา, เทนเนสซี และมิสซิสซิปปี – ซึ่งล้วนเป็นรัฐที่ความอยุติธรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงที่สุดในยุคนั้น

กระทั่งในเดือนมีนาคม ซีโมนก็ตัดสินใจร้องเพลงนี้ต่อหน้าผู้ชม-ที่ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว-อีกครั้ง ณ คาร์เนกี ฮอลล์ ในกรุงนิวยอร์ค โดยที่ไม่มีใครได้ทันตั้งตัว “ชื่อของเพลงนี้คือ Mississippi Goddam และฉันหมายความตามนั้นทุกถ้อยคำ” เธอกล่าวไว้ในช่วงต้นของการแสดงด้วยน้ำเสียงมึนตึง ซึ่งด้วยชื่อเพลงและเนื้อหาที่มี ‘คำหยาบ’ เป็นส่วนประกอบนี้ (Goddam, Goddamn หรือ God damn it ที่แปลแบบรวบรัดตัดตอนได้ว่า ‘ฉิบหาย!’) ก็ทำให้ผู้ชมผิวขาวพากันคิดว่ามันเป็นเพียงแค่ ‘มุกตลก’ ของซีโมน-ผู้มีนิสัยโผงผางเป็นทุนเดิม จนพวกเขาหลุด ‘หัวเราะ’ ออกมา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หญิงสาวผิวสีบนเวทีกำลังเล่นเพลงนี้-ที่มีท่วงทำนองอันเร่งเร้าและวิธีการร้องอันก้องกังวานราวบทสวด-ด้วยหัวอกที่ตรอมตรมขมไหม้

และเมื่อหลายบทเพลงที่ซีโมนแสดงสดในคาร์เนกี ฮอลล์ถูกนำมารวบรวมไว้ในอัลบั้ม Nina Simone in Concert ในปีนั้นเอง เพลง Mississippi Goddam ก็กลายมาเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ครั้งสำคัญในอาชีพศิลปินของเธออย่างเป็นทางการ เพราะนอกจากมันจะทำให้เธอหันมาสนใจโลกการเมืองมากขึ้นแล้ว มันก็ยังถือเป็นหนึ่งใน ‘เพลงปลุกใจ’ ระหว่างการเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองของคนผิวสีในอเมริกาอีกด้วย

แต่แน่นอนว่า ด้วยเนื้อหาอันเข้มข้นเดือดดาลของมันก็ทำให้เพลงนี้ถูกสั่ง ‘ห้ามเปิด’ ในหลายรัฐทางตอนใต้-ซึ่งเป็นพื้นถิ่นที่คนผิวขาวแสดงทีท่ารังเกียจคนผิวสีอย่างออกหน้าออกตา แถมแผ่นเสียงสำหรับโปรโมตเพลงก็ยังถูกส่งกลับมาในสภาพที่ ‘หักครึ่ง’ เสียอีก โดยสถานีวิทยุหลายแห่งอ้างว่า สาเหตุที่พวกเขาต้องทำเช่นนี้ก็เพราะเพลงมีการใช้คำหยาบคายที่พวกเขารับไม่ได้เท่านั้นเอง หาได้เกี่ยวพันกับการเหยียดสีผิวไม่

ฉะนั้น แม้มันจะเป็นเพลงที่ส่งอิทธิพลต่อผู้ฟังของเธอมากที่สุดเพลงหนึ่ง …แต่มันก็ยังเป็นผลงานที่ ‘ทำร้าย’ อาชีพศิลปินของเธอไปพร้อมๆ กันด้วย


1965

“ฉันไม่เคยชอบ ‘เพลงประท้วง’ เลย”

ซีโมนกล่าวไว้ใน I Put a Spell on You หนังสืออัตชีวประวัติที่จะถูกตีพิมพ์ตามออกมาในปี 1992 “เพราะหลายเพลงมันก็ช่างเรียบง่ายและไร้จินตนาการเสียเหลือเกิน มันปลดเปลื้องศักดิ์ศรีจากผู้คน (ที่ออกมาต่อสู้เรียกร้อง) แล้วก็พยายามที่จะเฉลิมฉลองมากไปหน่อย” แถมเธอยังบอกอีกด้วยว่า การสรุปรวบยอดชีวิตของ ‘ผู้เสียสละ’ เหล่านี้ลงในบทเพลงที่มีความยาวแค่ 3 นาทีครึ่งนั้น เป็นเรื่องที่ ‘มักง่าย’ เกินไป

Oh, but this whole country is full of lies.

ข้อเท็จจริงนี้ที่ซีโมนเคยร้องเอาไว้อาจช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดเดียดฉันท์ที่เธอมีต่อ ‘เพลงประท้วง’ ในเวลานั้นไปเสียฉิบ เพราะเมื่อไม่มีทางเลือกใดที่ดีกว่าการออกมาแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ เธอจึงจำต้องใช้ ‘เพลง’ เป็น ‘เครื่องมือ’ ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิพลเมืองที่เท่าเทียมให้แก่คนผิวสี โดยในเดือนมีนาคม ปี 1965 -อันเป็นเวลาครบรอบหนึ่งปีพอดีหลังจากการแสดงสดที่คาร์เนกี ฮอลล์- เธอเลือกร้องเพลงนี้ต่อหน้าผู้คนเรือนหมื่นในช่วงท้ายๆ ของการเดินขบวนประท้วงครั้งสำคัญของคนผิวสีในรัฐแอละแบมา ซึ่งเป็นการร่วมออกเดินเท้าจากเมืองเซลมาไปยังเมืองหลวงอย่างมอนต์โกเมอรี ภายใต้ระยะทางที่ยาวไกลถึง 87 กิโลเมตร โดยใช้เวลาทั้งหมด 18 วัน

ซีโมนยืนร้องเพลงนี้ไปตามเสียงกีตาร์หม่นเศร้าอยู่บน ‘โลงศพเปล่า’ ที่ถูกใช้เป็นเวทีชั่วคราว เพื่อเป็นการส่งสารถึงผู้คนในสังคมว่า คนผิวสีอย่างพวกเธอ ‘เหลืออด’ เพียงใดกับความสูญเสียที่ผ่านมาทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ Mississippi Goddam จึงขึ้นแท่นเป็น ‘เพลงสิทธิพลเมือง’ เพลงแรกของเธออย่างเต็มภาคภูมิ และหลังจากนั้น เธอก็ยังคงออกมาร้องเพลงอื่นๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิอีกหลายเพลง ไม่ว่าจะเป็น Four Women (1966) ที่ชี้ให้เห็นถึงชีวิตอันยากเข็ญของผู้หญิงผิวสี 4 นางจากหลากหลายบทบาท; Backlash Blues (1967) ที่ตอกย้ำถึงสถานะ ‘พลเมืองชั้นสอง’ ของคนผิวสี; Ain’t Got No, I Got Life (1968) ที่พยายามยืนยันว่า แม้จะถูกสังคมกีดกันจนแทบไม่เหลือคุณค่าอะไร แต่คนผิวสีก็ยังมีชีวิตและจิตวิญญาณอันเสรี; Why? (The King of Love Is Dead) (1968) ที่อุทิศให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ผู้ถูกลอบสังหารอย่าง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ หรือ Be Young, Gifted and Black (1969) ที่พร่ำบอกให้คนผิวสีรุ่นใหม่จงภาคภูมิใจในเชื้อชาติของตัวเอง

บัดนั้น, ซีโมนจึงกลายมาเป็นศิลปินที่มี ‘ภาพจำ’ ในฐานะของ ‘นักรณรงค์สิทธิคนผิวสี’ โดยสมบูรณ์


2020

I don’t belong here. I don’t belong there.

I’ve even stopped believing in prayer.

เกือบ 6 ทศวรรษถัดมา การร้องบรรเลงเพลงนี้ของซีโมนก็ยังคงฟังดู ‘ร่วมสมัย’ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อการเสียชีวิตของชายผิวสีที่ชื่อ จอร์จ ฟลอยด์ อันเป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่อันหละหลวมของตำรวจ-ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว-ในรัฐมินเนโซตานั้น ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวด้านสิทธิของคนผิวสีไปทั่วประเทศอเมริกาอีกครั้งอย่างใหญ่โตเกินคาด

‘ความรู้สึกท่วมท้น’ ที่ผมมีต่อความงดงามทางดนตรีจากการรับชม-รับฟังในครั้งแรกนั้น จึงค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปเป็น ‘ความรู้สึกหดหู่’ ที่มีต่อสารอันแสนจะร่วมสมัยของเนื้อหาแทน

ย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่การขับขาน Mississippi Goddam และเพลงประท้วงเพลงอื่นๆ แทบไม่ได้ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันอย่างเป็นรูปธรรมเลย ซีโมนผู้สิ้นหวังได้ตัดสินใจ ‘ลาขาด’ จากประเทศเกิดในปี 1970 โดยออกเดินทางรอนแรมเล่นดนตรีไปในหลายประเทศ ทั้งบาร์แบโดส, สวิตเซอร์แลนด์, ฝรั่งเศส และไลบีเรีย – ซึ่งก็เป็นประเทศสุดท้ายนี้เองที่เธอบอกว่า ‘อยู่แล้วมีความสุขที่สุด’ ราวกับเธอได้หวนคืนสู่รากเหง้าคนผิวสีของตน และได้ใช้ชีวิตในที่ทางที่เธอควรอยู่จริงๆ เสียที

อย่างไรก็ดี ในปี 2019 ที่ผ่านมา -หลังการจากไปของซีโมนในปี 2003 ด้วยวัย 70 ที่ฝรั่งเศส- เพลง Mississippi Goddam ที่เคยถูกคนผิวขาวหยามเหยียดนั้น เพิ่งจะได้รับเลือกจากหอสมุดรัฐสภาของอเมริกาให้เป็นบทเพลงที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ ทั้งในแง่ของวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์ ซึ่งมันอาจถือเป็น ‘ความยุติธรรม’ เพียงหนึ่งเดียวที่เธอเคยได้รับจากเพลงนี้ตลอดชั่วชีวิตของศิลปินผิวสีอย่างเธอ

และแม้ว่าเพลงนี้จะไม่ได้มี ‘งานภาพเคลื่อนไหวประกอบเพลง’ อย่างมิวสิก วิดีโอ -ซึ่งเพิ่งจะเข้ามามีบทบาทจนกลายเป็นวัฒนธรรมสำคัญประจำโลกดนตรีนับจากยุค 80- มาช่วยสร้าง ‘ภาพจำ’ ที่น่าสนใจให้กับตัวเพลงเหมือนศิลปินรุ่นหลังๆ แต่คลิปการแสดงสดเพลงนี้ที่ดูเก่าจนขึ้นหิ้งของซีโมน ก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่บ้างตาม YouTube ซึ่งหลายคลิปนั้นก็ออกมา ‘ทรงพลัง’ ได้โดยแทบไม่ต้องพึ่งพาเทคนิคอันน่าตื่นตาใดๆ ตามวิถีของมิวสิก วิดีโอในปัจจุบันเลย

คลิปที่ผมได้รับชมเป็นของยูสเซอร์นาม แอรอน โอเวอร์ฟิลด์ ที่ถูกอัพโหลดมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2013 โดยเจ้าของระบุว่า มันคือการแสดงสดที่อองทีบส์ ประเทศฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาคม ปี 1965 -หรือก็คืออีก 4 เดือนให้หลังจากเหตุการณ์เดินขบวนประท้วงในเมืองเซลมา- เราจึงได้เห็นซีโมนในชุดเดรสส์ยาวร่วมเล่นเปียโนด้วยท่าทีขึงขังกับเหล่าเพื่อนนักดนตรีของเธอบนเวที ซึ่งถึงการตัดต่อในคลิปจะดูฉึบฉับเข้ากับจังหวะเพลงที่เร่งเร้าจนเกือบเริงร่า แต่ผู้ชมหลายคนก็ยังคงสัมผัสได้ถึงสีหน้าแววตาที่ดู ‘มึนตึง’ ของซีโมนขณะถ่ายทอดเนื้อหาที่ว่าด้วยความทุกข์ของคนผิวสีอยู่ดี

จนถึงตอนนี้ คลิปเพลงดังกล่าวมียอดเข้าชมสูงถึง 2.3 ล้านวิวแล้ว (ยอดนี้เพิ่มขึ้นจากเมื่อปีกลายอยู่หลายแสน) ซึ่งเมื่อพิจารณาจากความคิดเห็นจำนวนมากที่มีทั้งโศกเศร้า โกรธเกรี้ยว และสิ้นหวัง ก็น่าจะพออนุมานได้ว่า เป็นเพราะโศกนาฏกรรมซ้ำซากของของคนผิวสีอย่างจอร์จ ฟลอยด์นี่เองที่ทำให้คลิปนี้ถูกเปิดดู-เปิดฟังกันอย่างไม่หยุดหย่อน

ดังนั้น หากแม้ในวันหนึ่งข้างหน้า คลิปการแสดงสดนี้จะต้องถูกลบออกจาก YouTube เนื่องด้วยปัญหาด้านลิขสิทธิ์ที่อาจเกิดขึ้น แต่ ‘สาร’ ของมันก็น่าจะยังฝังติดอยู่ในความทรงจำของผู้คนที่กดเข้ามารับชมไปอีกแสนนาน


20XX

“ชื่อของเพลงนี้คือ Mississippi Goddam และฉันหมายความตามนั้นทุกถ้อยคำ”

น้ำเสียง ‘มึนตึง’ ของซีโมนในคาร์เนกี ฮอลล์ที่ปรากฏในช่วงต้นของเพลงยังคงชัดเจนในหมู่ผู้ฟังเสมอมา แม้ว่ามันจะไม่ได้ถูกบันทึกเป็น ‘ภาพ’ เอาไว้ก็ตาม — เช่นเดียวกับเสียงหัวเราะของผู้ชมผิวขาวในเพลงเดียวกัน ที่ก็ยังคงดังก้องอยู่ไม่เคยเปลี่ยน

เสียงหัวเราะที่ทำให้การไขว่คว้าสิทธิความเท่าเทียมของประชาชนคนผิวสีอย่างเธอ ‘ยังคง’ เป็นเพียงแค่ ‘มุกตลก’ บนเวทีคอนเสิร์ต

พวกเขาจึง ‘ยังคง’ ต้องครวญบทเพลงเดิมอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า…

You don’t have to live next to me, just give me my equality.

…บทเพลงที่คงไม่มีมนุษย์คนไหนอยากให้ ‘สารอันแสนเศร้า’ ของมันอยู่ ‘เหนือกาลเวลา’ อีกต่อไป

10 ตัวละครผิวดำที่น่าจดจำในอนิเมะ

เรามักเจอตัวละครผิวดำได้ในอนิเมะและมังงะของญี่ปุ่นบ่อยๆ เนื่องจากอนิเมะญี่ปุ่นนั้นมักมีพื้นที่ให้กับความหลากหลายทางวัฒนธรรม/เชื้อชาติเสมอตั้งแต่ยุค 80s เป็นต้นมา เราสามารถจำแนกได้ตั้งแต่ตัวละครเชื้อชาติที่มีผิวสีเข้มหรือสีดำ ไม่ว่าจะแอฟริกัน อินเดียน อาหรับ กับตัวละครผิวสีดำที่ไม่มีการระบุสัญชาติ/เชื้อชาติ เนื่องจากบ่อยครั้งการออกแบบคาแรคเตอร์ในอนิเมะมิได้อิงความเป็นจริงทางชาติพันธุ์ ตัวอย่างเช่น สีผม ซึ่งสังเกตเห็นได้ชัดว่าตัวละครในอนิเมะจะมีหัวสีอะไรก็ได้ สีผิวก็เช่นกัน ยิ่งในอนิเมะที่เซ็ตติ้งนั้นไม่ได้อิงโลกจริง เป็นโลกคู่ขนานหรือโลกแฟนตาซี ตัวละครจะมีลักษณะทางกายภาพอย่างไรก็ได้ไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติ ดังนั้นตัวละครผิวสีในอนิเมะ มังงะก็ใช่ว่าจะเป็นคนที่มีเชื้อสายแอฟริกัน และแบบสุดท้ายคือตัวละครที่แสดงลักษณะทางวัฒนธรรมบางอย่างของคนผิวสีในโลกจริง (โดยมากจะเป็นวัฒนธรรมแบบแอฟริกัน-อเมริกัน) อย่างเช่น อาคางิ กัปตันทีมบาสโชโฮคุใน Slam Dunk ที่ถึงจะเป็นคนญี่ปุ่นแต่ก็มีลักษณะแบบนักกีฬาบาสผิวดำ ทั้งตัวสูง ผิวสีเข้ม ร่างกายบึกบึนกำยำ เก่งบาส หรือตัวละครอย่าง เจ็ท แบล็ค ในเรื่อง Cowboy Bebop ก็มีคุณลักษณะหลายอย่างที่ใกล้เคียงกับคนดำอย่างมาก ทั้งวิธีการพูด รสนิยมในการฟังเพลงแจ๊สและโซล ถึงจะไม่มีผิวสีดำแต่ก็มักจะถูกผู้ชมมองว่าเป็นคนดำในเรื่อง

ตัวละครผิวสีในอนิเมะนั้นมักเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมผิวสีที่คนญี่ปุ่นรับมาใช้ ไม่ว่าจะดนตรี ศิลปะการต่อสู้ (คาโปเอร่า) ไลฟ์สไตล์แบบฮิปฮอป กีฬา ซึ่งมักจะถูกแสดงออกมาด้วยความเคารพและนิยมชมชอบในสิ่งเหล่านั้นของผู้สร้างชาวญี่ปุ่นเอง การที่อนิเมะญี่ปุ่นถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกก็ถือเป็นการให้คนดูระดับนานาชาติได้เข้าใจในตัวตนและวัฒนธรรมของคนผิวดำ ขณะที่คนผิวดำเองก็จะได้ภูมิใจที่พวกเขามีตัวตนผ่านการเล่าเรื่องในอนิเมะ


1. Claudia LaSalle จาก Super Dimension Fortress Macross

คลอเดียเป็นเจ้าหน้าที่สื่อสารประจำยานมาครอส เธอเป็นคนผิวดำแบบแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกๆ ในโลกอนิเมะ ตามท้องเรื่องของมาครอส มนุษยชาติได้ประสบปัญหาในการใกล้สูญพันธุ์และต้องต่อสู้กับต่างดาวอย่างชาวเซนทราดี มนุษย์ต้องร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อฝ่าวิกฤติไปให้ได้ จึงทำให้ภายในยานมาครอสที่เหมือนเป็นป้อมปราการสุดท้ายของมนุษยชาตินั้นเต็มไปด้วยคนหลายเชื้อชาติไม่ว่าจะ ตัวเอก อิจิโจ ฮิคารุ ที่เป็นคนญี่ปุ่น ลิน มินเมย์ที่เป็นคนจีน รอย ฟอกเกอร์ที่เป็น ดัทช์-อเมริกัน และ กัปตันโกลบอลที่เป็นคนอิตาลี ถือเป็นอนิเมะเรื่องแรกๆ ที่ตัวละครหลากหลายเชื้อชาติมาอยู่ร่วมในฝ่ายเดียวกัน

บทบาทของคลอเดียนั้นถึงจะไม่ได้เป็นตัวหลักแต่ก็เป็นตัวละครสมทบที่น่าจดจำ เธอเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสะพานเดินเรือของยานมาครอส เป็นเพื่อนสนิทของนางเอก มิสะ ฮายาเสะและเป็นคนรักของยอดนักบินฝั่งมนุษย์อย่าง รอย ฟอกเกอร์ เธอเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง มีความรับผิดชอบสูง มีสติอยู่เสมอในทุกสถานการณ์ คอยให้คำปรึกษาแก่มิสะอยู่เสมอในเรื่องความรัก ในตอนที่ 33 “Rainy Night” ก็แทบจะเป็นตอนที่เล่าเรื่องราวของเธอเต็มๆ 

Macross ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายในอเมริกาในชื่อ Robo Tech ตัวละคร Claudia LaSalle ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Claudia Grant เพื่อให้มีความอเมริกันขึ้น และถือเป็นครั้งแรกสำหรับชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ที่ได้เห็นตัวละครที่เป็นตัวแทนของพวกเขามีบทบาทสำคัญในงานอนิเมชั่นของญี่ปุ่น


2. นาเดีย จาก Nadia : The Secret of Blue Water

เธอเป็นนางเอกของเรื่อง Nadia : The Secret of Blue Water ผลงานปี 1990 ของ ผู้กำกับ ฮิเดอากิ อันโนะ แห่งสตูดิโอ Gainax เป็นผลงานก่อนหน้าที่จะสร้างงานระดับตำนานอย่าง Neon Genesis Evangelion แต่ผลงานเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในอนิเมะที่คนญี่ปุ่นรักและจดจำมากเรื่องหนึ่ง ส่วนหนึ่งคงเพราะมันมี Mood and Tone แบบหนังของ มิยาซากิ ฮายาโอะ เนื่องจากฮิเดอากิ อันโนะเองก็เคยเป็นลูกหม้อของ Studio Ghibli มาก่อน อีกอย่าง โปรเจกต์นาเดียแต่เดิมในช่วง 70’s ทางสถานีโตโฮตั้งใจจะมอบหมายให้ฮายาโอะมาเขียนบทและวางตัวกำกับ แต่โปรเจกต์ก็ถูกระงับไปจนกระทั่งตกมาถึงมือ Gainax

Nadia : The Secret of Blue Water เป็นเรื่องของการผจญภัยของนาเดีย หญิงสาวปริศนาผู้มีอัญมณีปริศนา ”Blue Water” เธอถูกองค์กรปริศนาที่ต้องการแย่งชิงอัญมณีชิ้นนี้ตามล่า โดยมี ฌอง หนุ่มน้อยนักประดิษฐ์คอยช่วยเหลือเธอ และการผจญภัยครั้งนี้นำไปสู่ปริศนาของนครแอตแลนติสที่สูญหาย รูปลักษณ์ภายนอกและการแต่งกายของนาเดียมีลักษณะเหมือนชนพื้นเมืองแอฟริกา เพราะจากข้อสันนิษฐานของนักวิชาการ เมืองแอตแลนติสที่สูญหายนั้นน่าจะอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก ติดกับประเทศโมร็อคโคที่อยู่ทวีปแอฟริกา ดังนั้นทางผู้สร้างจึงดีไซน์ให้นาเดียและชาวแอตแลนติสเป็นคนผิวดำ ซึ่งตรงพ้องกับอนิเมชั่น Atlantis : The Lost Empire ของค่าย Disney ที่ออกมาในปี 2001 ที่ให้นางเอกชาวแอตแลนติสเป็นคนผิวดำเช่นกัน เนื้อเรื่องและองค์ประกอบต่างๆ ของ Atlantis มีความคล้ายคลึงกับเรื่อง Nadia อย่างมากจนมีการตั้งข้อสงสัยว่างานชิ้นนี้ของดิสนีย์ได้รับอิทธิพลมาจากเรื่อง Nadia แต่ทางดิสนีย์ก็ปฏิเสธและบอกว่าเป็นเพียงความบังเอิญเท่านั้น

นาเดียเป็นตัวละครเอกหญิงคนแรกของวงการอนิเมะที่มีผิวดำ ซึ่งถือเป็นสิ่งใหม่มาก ในช่วงแรกที่ออกฉายก็มีเสียงตอบรับไม่ดีนักกับการที่เป็นคนผิวสี แต่ภายหลังคนดูก็เริ่มเปิดใจให้เธอมากขึ้น จนในที่สุดนาเดียก็ถูกโหวตให้เป็นนางเอกแห่งปีจาก Anime Grand Prix 1991 จัดโดยนิตยสาร Animage ถือเป็นนางเอกผิวดำคนแรกที่ได้รับกการโหวตเป็นอันดับหนึ่งของรางวัลนี้และสามารถล้มแชมป์ตลอดกาลของรายการนี้อย่าง นาอุชิกะ จาก Nausicaa of the valley of the wind ที่เป็นผลงานของฮายาโอะลงได้


3. Afro จาก Afro Samurai

ใช่ครับตัวละครเอกเรื่องนี้ชื่อ แอฟโฟร่ ตามทรงผมของเขา Afro Samurai สร้างจากมังงะของอาจารย์ทากาชิ โอกาซากิ เป็นเรื่องราวในเซ็ตติ้งแบบญี่ปุ่นโบราณที่มีส่วนผสมของความไซไฟแฟนตาซี แอฟโฟร่ ตัวเอกของเรื่องเป็นลูกชายของ นัมเบอร์วัน หรือนักดาบอันดับหนึ่ง แต่นัมเบอร์วันก็ถูกสังหารโดย นัมเบอร์ทู นักดาบอันดับสอง ที่ต้องการจะขึ้นเป็นอันดับหนึ่งแทนที่ เพื่อแก้แค้นให้พ่อ แอฟโฟร่ต้องก้าวสู่วิถีนักดาบแล้วไต่เต้าอันดับจนได้กลายเป็นนัมเบอร์ทูคนใหม่ เพราะมีเพียงนัมเบอร์ทูเท่านั้นที่จะสามารถขอท้าดวลกับนัมเบอร์วันได้ ขณะที่ไม่ว่าใครก็สามารถท้าดวลกับนัมเบอร์ทูได้ ทำให้แอฟโฟร่ต้องคอยรับมือเหล่านักฆ่าจากทุกสารทิศที่มุ่งหวังจะแย่งชิงตำแหน่งนัมเบอร์ทู

ซึ่งเรื่องนี้จะไม่มีการอ้างอิงความสมจริงทางประวัติศาสตร์ใดๆ ทั้งสิ้น ทำไมคนดำถึงเป็นซามูไรได้? นี่มันยุคสมัยไหนกันแน่? ทำไมมีมือถือและปืนเลเซอร์? ตั้งคำถามไปก็เท่านั้นเพราะ Afro Samurai คืองานที่สร้างมาเพื่อเชิดชูวัฒนธรรม African-American ดนตรีแบบโซลและฮิปฮอปแล้วนำมาผสานให้เข้ากับวัฒนธรรมและฉากหลังที่เป็นญี่ปุ่น จึงทำให้สไตล์การนำเสนอของเรื่องนี้นั้นอยู่เนื้อเรื่องที่ค่อนข้างจะเรียบง่ายและเป็นเส้นตรง เน้นวิช่วลและสไตล์ภาพ ฉากแอ็คชั่นที่โหดเลือดสาด และดนตรีประกอบที่รวมเหล่าศิลปินฮิปฮอปไว้มากมาย นำทีมโดย RZA ตามด้วย guest อย่าง Q-Tip, Talib Kweli, Slick Rick, Big Daddy Kane และ the Wu-Tang Clan

Afro Samurai เป็นงานอนิเมะของสตูดิโอ Gonzo ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อฉายในอเมริกาเป็นประเทศแรก แทนที่จะเป็นญี่ปุ่น เพื่อเจาะตลาดฝั่งคนดูอเมริกาโดยเฉพาะ นอกจากจะได้ RZA มาทำเพลงประกอบให้แล้วยังได้ดาราผิวดำระดับ iconic อย่าง Samuel L. Jackson มาเป็น Executive Producer ควบกับการพากย์บทตัวนำอย่าง แอฟโฟร่ และ นินจานินจา ด้วย และอนิเมะเรื่องนี้จะมีเพียงพากษ์ภาษาอังกฤษเท่านั้น ซึ่งเป็นการตลาดที่แปลกประหลาดมากๆ แต่ก็ได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้ชมอเมริกา

ดู Afro Samurai ได้ทาง Netflix


4. Carole Stanley จาก Carole and Tuesday

เรื่องเกิดในโลกอนาคตที่คนเริ่มไปอาศัยกันที่ดาวอังคาร คาโรล เป็นเด็กกำพร้าที่มีความฝันเป็นนักดนตรี วันหนึ่งระหว่างเล่นดนตรีอยู่ข้างถนน เธอก็ได้เจอกับ ทิวส์เดย์ หญิงสาวผู้มากับกีตาร์หนึ่งตัวและขอร่วมเล่นกับเธอ ทั้งสองถูกชะตากันและตั้งใจที่จะตั้งวงดูโอเพื่อเดบิวเป็นศิลปินด้วยกัน ในโลกที่ค่ายเพลงเริ่มใช้ AI แต่งเพลงที่คิดว่าจะสามารถติดหูคนฟังได้ แต่คาโรลและทิวส์เดย์ยังใช้วิธีดั้งเดิมในการแต่งเพลง นั่นคืออารมณ์และสัญชาตญาณของมนุษย์

ตัวละครของคาโรลนั้นสะท้อนชีวิตของคนผิวสีในอเมริกาที่เป็นคนจนและต้องดิ้นรนอย่างมากเพื่ออยู่รอดในสังคม เธอมีความฝัน ต้องการตะเกียกตะกายแต่ก็ต้องทำงานพิเศษเพื่อหาเลี้ยงชีวิต ขณะที่คนขาวอย่างทิวส์เดย์นั้นเป็นคนรวย ลูกคุณหนู จึงทำให้การที่ได้เห็นทั้งคู่มาอยู่ด้วยกัน เป็นเพื่อนที่รักและเข้าใจกัน คอยช่วยเหลือกัน ทำตามความฝันร่วมกันจึงเป็นภาพที่งดงามมากๆ

Carole and Tuesday เป็นอนิเมะที่ทำฉลองครบรอบ 20 ปีของสตูดิโอ Bones ที่ฝากผลงานดีๆประดับวงการไว้มากมายอย่าง Full Metal Alchemist และ Eureka7 กำกับโดย Shinichiro Watanabe ผู้ซึ่งโด่งดังจากการสร้างอนิเมะที่มีสไตล์แบบอเมริกันอย่าง Cowboy Bebop งานอนิเมชั่นจึงเนี้ยบสวยงาม และมีความอเมริกันมากๆ และที่สำคัญที่สุดคือเพลงในเรื่องเพราะมากๆ

รับชม Carole and Tuesday ได้ทาง Netflix


5. Dutch จาก Black Lagoon

เขาเป็นเจ้าของเรือ Black Lagoon และเป็นหัวหน้าของทีมขนส่งของเถื่อน The Lagoon ในอดีตเขาเคยเป็นนาวิกโยธินของสหรัฐอเมริกาที่เข้าร่วมสงครามเวียดนาม ก่อนจะหลบหนีมายังประเทศไทยโดยทำงานเป็นทหารรับจ้าง และนักขนส่งของเถื่อนในนามบริษัท The Lagoon

Black Lagoon นั้นเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ณ เกาะสมมติที่ชื่อว่า “รอนาปลา” ที่ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษเต็มไปด้วยเหล่าทรชน คนนอกกฎหมาย แก๊งค์มาเฟียจากหลายประเทศ มารวมตัวกัน จึงทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายไม่เว้นแต่ละวัน ที่ดูยังไงก็น่าจะได้แรงบันดาลใจจากพัทยา โดยบริษัท The Lagoon นั้นเป็นเหมือนทหารรับจ้างที่คอยส่งของให้กับธุรกิจโลกมืด และมักไปพัวพันกับการปะทะกันของเหล่าอาชญากรหรือแม้แต่ CIA FBI โดยในทีม The Lagoon มี เลวี่ (นางเอก)สาวสุดระห่ำที่เป็นมือปืน ร็อค อดีตมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นที่ผันตัวมาเป็นอาชญากร คอยเจรจาและคิดแผน เบนนี่ แฮ็กเกอร์ผู้มีหน้าที่หาข้อมูล และ ดัทช์ หัวหน้าทีมที่คอยรับงานและปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วง 

ดัทช์เป็นชายแอฟริกัน-อเมริกันที่รูปร่างบึกบึน ถนัดการขับเรือและเชี่ยวชาญการใช้อาวุธ ใจเย็น สุขุม เขาเป็นหัวหน้าที่ลูกน้องพึ่งพาได้ เขามักจะเลือกใช้การเจรจาต่อรองก่อนจะใช้กำลัง แต่ก็ต่อสู้ได้ดีเมื่อถึงคราวจำเป็น มีความรอบคอบในการทำภารกิจ มักไม่เอาทีมไปอยู่จุดที่เสี่ยงเกินไป เป็นตัวละครคนดำที่ทั้งคูลและเท่มากๆ

ชม Black Lagoon ทั้ง 3 ซีซั่นได้ที่ Netflix


6. Loran Cehack จาก Turn A Gundam

โลรันเป็นพระเอกกันดั้มคนแรก (และคนเดียว) ที่เป็นคนผิวดำ เทิร์นเอกันดั้มเล่าถึงโลกยุคที่อารยธรรมดั้งเดิมได้ล่มสลายไปแล้ว และมนุษย์ก็พัฒนาความรู้และเทคโนโลยีขึ้นมาใหม่ จนในที่สุดก็มาถึงยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมได้อีกครั้ง แต่จู่ๆ โลกก็ถูกรุกรานโดยชาวดวงจันทร์ที่มีเทคโนโลยีที่เหนือกว่าหลายเท่า โลรัน เด็กหนุ่มคนรับใช้ของบ้านตระกูลเฮลม์ได้ไปเจอกับ เทิร์นเอกันดั้ม หุ่นยนต์ที่หลงเหลือจากเทคโนโลยีในโลกยุคเก่าหรือที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์มืด” เขาขึ้นขับกันดั้มและพยายามที่จะยุติความขัดแย้งระหว่างชาวโลกและชาวดวงจันทร์ ซึ่งแท้จริงแล้ว โลรันเป็นสปายของชาวดวงจันทร์ที่ลงมายังโลกและแฝงตัวเข้ากับสังคมบนโลก แต่เขารับไม่ได้ที่ชาวโลกและชาวดวงจันทร์จะต้องมาทำสงครามกัน

ถึงแม้ว่าเทิร์นเอกันดั้มจะเป็นภาคที่ไม่ประสบความสำเร็จนัก เนื่องจากทั้งดีไซน์ตัวละครและหุ่นยนต์นั้นมีความแปลกแหวกแนวจนไม่ได้ถูกใจคนหมู่มาก แต่จริงๆ แล้วเป็นภาคที่มีความลุ่มลึกทางเนื้อหา และไอเดียที่ตัวผู้กำกับโทมิโนะ โทชิยูกิพยายามจะทำบทสรุปรวมของกันดั้มทุกภาคเข้าไว้ด้วยกัน โดยโลรันเป็นคนที่สุภาพ นอบน้อม ถ่อมตัว ประนีประนอม จงรักภักดี จึงถือเป็นภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างแปลกถ้าเทียบกับตัวเอกกันดั้มทั่วไป ซึ่งหลายครั้งการแก้ปัญหาของโลรันจึงเป็นการยับยั้งไม่ให้มีการนองเลือดมากกว่า

การที่ผู้กำกับโทมิโนะให้โลรันเป็นคนผิวดำนั้น คนดูมักจะวิเคราะห์ว่าเป็นการที่เขาอยากพูดเรื่องการล่าอาณานิคม การที่ชาวดวงจันทร์รุนรานชาวโลกที่เทคโนโลยีด้อยกว่าก็เหมือนประเทศเจ้าอาณานิคมในประวัติศาสตร์ และการที่ตัวเอกเป็นคนรับใช้ผิวดำในตระกูลคนขาวที่ร่ำรวย ก็มีความคล้ายคลึงกับความเป็นทาสของคนผิวดำในยุคก่อน ดังนั้นการให้ตัวเอกอย่างโลรันเป็นคนผิวดำและพยายามหยุดยั้งการล่าอาณานิคมที่เกิดจากประเทศแม่ของเขาจึงดูน่าสนใจไม่น้อย

แต่เดิมนั้นผู้กำกับโทมิโนะตั้งใจจะให้ตัวเอกของกันดั้มภาคนี้เป็นผู้หญิงผิวดำแล้วใช้ชื่อว่า ลอร่า แต่ทางสตูดิโอซันไรส์ผู้ผลิตอนิเมะเรื่องนี้ไม่อนุญาต เพราะเสี่ยงต่อการที่คนจะชอบ จากลอร่าก็เลยกลายเป็นโลรันที่เป็นผู้ชายไป แต่ผู้กำกับโทมิโนะก็ยังคงเอาคืนสตูดิโอโดยการให้มีฉากที่โลรันปลอมตัวเป็นผู้หญิงแล้วใช้นามแฝงว่า ลอร่า ซึ่งปรากฏว่าตัว ลอร่า กลับกลายเป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆ เป็นอย่างมาก


7. Casca จาก Berserk

แคสก้าเป็นตัวเอกหญิงจากเรื่อง Berserk มังงะที่เขียนโดยอาจารย์ มิอุระ เคนทาโร่ ถูกนำมาสร้างเป็นอนิเมะแล้ว 2 ครั้งด้วยกัน โดยเบอร์เซิร์กนั้นเป็นมังงะแนวดาร์คแฟนตาซีที่มีการเขียนมายาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ 1989 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันก็ยังคงไม่จบ ซึ่งอนิเมะนั้นสร้างถึงเพียงจบภาคหอคอยแห่งการพิพากษาเท่านั้น

แคสก้าเป็นนายกองของกองพันเหยี่ยว กองพันทหารรับจ้างที่นำโดยเหยี่ยวขาวกรีฟีส ในตอนเด็ก เธออาศัยในหมู่บ้านที่ยากจน จนพ่อแม่ขายเธอให้เป็นคนรับใช้ของขุนนาง แต่ระหว่างกำลังนั่งรถม้าไปยังจุดหมาย เหล่าขุนนางก็ทนไม่ไหวและจะข่มขืนเธอ แต่กรีฟิสและกองพันเหยี่ยวก็ผ่านมาพอดีและช่วยไว้ทัน แคสก้าจึงตัดสินใจที่จะแข็งแกร่งอย่างกรีฟีสเพราะไม่อยากเป็นคนอ่อนแอที่ถูกย่ำยีอีกต่อไป หลังจากนั้นเธอก็ได้ฝึกฝนดาบและกลายเป็นยอดฝีมือของกองพันเหยี่ยวรองจากกรีฟีส เธอนั้นทั้งรักและเทิดทูนกรีฟีสมาตลอด จนกระทั่งกัทส์ที่เป็นตัวเอกของเรื่องเข้ามาในกองพันเหยี่ยว เธอก็ไม่ชอบกัทส์ที่ได้รับความสนใจจากกรีฟิสไป แต่ภายหลังจากผ่านเรื่องราวมามากมาย เธอกับกัทส์ก็พัฒนากลายมาเป็นคนรักกัน

ภาพลักษณ์ของแคสก้านั้นเป็นอัศวินหญิงผิวดำ แข็งแกร่งกล้าหาญ ได้รับความเชื่อถือจากลูกน้อง ด้วยความที่เธอต้องเป็นทหารรับจ้างทำให้ภาพลักษณ์ความเป็นผู้หญิงของเธอนั้นถูกบดบังไป ยกเว้นความรู้สึกที่เธอมีให้ต่อกรีฟีสที่ยังบ่งบอกความเป็นผู้หญิงของเธอ และยิ่งเมื่อเธอได้รู้จักกับกัทส์ ความเป็นหญิงของเธอยิ่งค่อยๆ เผยออกมาชัดเจนขึ้น ฉากที่ชอบคือตอนที่แคสก้ามีประจำเดือน ทำให้เธอไม่สามารถออกรบได้เต็มที่เหมือนเคย และไม่สามารถบอกใครได้ มีเพียงกัทส์คนเดียวที่รู้และเห็นใจเธอ

เรื่องที่ว่าแคสก้าเป็นคนดำแอฟริกันหรือเปล่านั้นมักเป็นที่ถกเถียงของแฟนๆ เพราะโลกเบอร์เซิร์กนั้นอ้างอิงจากยุโรปยุคกลาง และยุโรปช่วงนั้นไม่น่าจะมีคนผิวดำแอฟริกัน แฟนๆ จึงมองว่าแคสก้าน่าจะเป็นชาวคูชาน ที่อ้างอิงจากจักรวรรดิคูชานในประวัติศาสตร์จริงที่มีถิ่นที่ตั้งอยู่ตะวันออกกลางยาวไปถึงตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งชาติกำเนิดของแคสก้านั้นไม่เคยมีการเปิดเผยในเรื่อง และโลกในเบอร์เซิร์กก็เป็นเพียงจักรวาลสมมุติ แต่จากบทสัมภาษณ์ของอาจารย์มิอุระ ก็เคยให้คำตอบเรื่องสีผิวของแคสก้าไว้ว่าที่แคสก้าเป็นคนผิวดำ เพราะแกรู้สึกว่าผู้หญิงผิวดำนั้นดูเซ็กซี่น่าหลงใหล


8. Muhammad Avdol จาก Jojo’s Bizare Adventure Part 3 : Stardust Crusader

อับดุลเป็นตัวละครสำคัญของ โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ภาค 3 ที่ชื่อไทยลิเกๆ หน่อยว่า นักรบประกายดาว ซึ่งจัดว่าเป็นภาคที่ประสบความสำเร็จที่สุด เข้าถึงคนกลุ่มหมู่มากที่สุด เพราะเนื้อเรื่องที่เป็นเส้นตรงเข้าใจง่าย ตัวละครเป็นที่จดจำ และเป็นภาคแรกที่มีพลัง “แสตนด์” เข้ามา

อับดุล เป็นผู้ใช้แสตนด์ชาวอียิปต์ เขาเป็นหนึ่งในคณะเดินทางของโจสตาร์เพื่อปราบดิโอ แสตนด์ของเขานั้นคือ ไพ่เมจิคเชียนเรด เป็นแสตนด์นกไฟที่สามารถปล่อยไฟออกมาเผาผลาญศัตรูได้ นอกจากนี้เขายังเป็นหมอดูไพ่ทาโร่ต์ ที่เป็นคนตั้งชื่อแสตนด์ตามไพ่ต่างๆ เขาเป็นนักเดินทางที่มีความรอบรู้ในวัฒนธรรมหลายประเทศและมีความสนิทชิดเชื้อกับโจเซฟ โจสตาร์ เป็นผู้แสดงให้โจทาโร่เข้าใจถึงความสามารถที่เรียกว่าแสตนด์

โจโจ ล่าข้ามศตวรรษภาค 3 ว่าด้วยการเดินทางข้ามทวีปจากญี่ปุ่นไปอียิปต์เพื่อไปปราบตัวร้าย “ดิโอ” ศัตรูคู่อาฆาตของตระกูลโจสตาร์ คณะเดินทางของโจสตาร์จึงมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ตั้งแต่โจเซฟ โจสตาร์ที่เป็นชาวอังกฤษ คูโจ โจทาโร่ และ คะเคียวอิน โนริมากิ ที่เป็นชาวญี่ปุ่น ฌอง ปิแอร์ โปลนาเรฟ ชาวฝรั่งเศส อิกกี้ สุนัขพันธ์ บอสตัน เทอร์เรียร์ และ อับดุล ที่เป็นชาวอียิปต์ ในทีมนั้นอับดุลเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง เขารู้สึกอับอายที่เคยเผชิญหน้ากับดิโอแล้วตัดสินใจหนีอย่างไม่คิดชีวิต ทำให้เขามุ่งมั่นที่จะเผชิญหน้ากับดิโออีกครั้ง และเอาชนะความกลัวนี้ให้ได้ เทียบกับคนอื่นๆ ในทีมแล้ว อับดุลค่อนข้างมีความสุขุมรอบคอบ วางแผน และอ่านเกมได้ค่อนข้างดี แต่หลายครั้งเขาก็พาตัวเองไปสู่อันตรายเพราะความเสียสละของเขาที่ต้องการช่วยเพื่อนร่วมทีม ปกติเขามักจะเป็นคนซีเรียสจริงจังแต่บางครั้งเขาก็หลุดรั่วออกมาสุดๆ ได้เหมือนกัน ฉากที่น่าจดจำของอับดุลได้แก่ ตอนสู้กับโปลนาเรฟ และ ตอนสู้กับแสตนด์จัดด์เมนต์

ดูโจโจ ล่าข้ามศตวรรษ ภาค 3 ฟรีได้ที่นี่ และมีใน Netflix ด้วยเช่นกัน


9. Lalah Sune จาก Mobile Suit Gundam

ลาล่า ซูน ตัวละครสำคัญจาก Mobile Suit Gundam ภาคแรก เธอเป็นตัวละครที่โผล่มาช่วงครึ่งหลังของเรื่องก็จริงแต่มีผลกับตัวละครหลักอย่างอามุโร่และชาร์มากๆ เธอเป็นคนรักของชาร์ อัสนาเบิล คู่ปรับตลอดกาลของอามุโร่ และเป็นหญิงสาวที่อามุโร่ตกหลุมรักตั้งแต่เจอกันครั้งแรก เนื่องจากทั้งคู่เป็นนิวไทป์หรือมนุษย์พันธุ์ใหม่เหมือนกันจึงสามารถสื่อสารกันผ่านทางโทรจิตได้ ลาล่าเองก็มีความสนใจในตัวอามุโร่เพราะเขามีพลังเช่นเดียวกับเธอ แต่เธอก็เลือกที่จะเข้าข้างชาร์และต่อสู้กับอามุโร่ เนื่องจากชาร์เป็นผู้ช่วยเธอให้พ้นจากชีวิตที่ต้องเป็นเครื่องมือให้กับนักพนันที่บราซิล (อ้างอิงจากภาค The Origin ที่เล่าการพบกันครั้งแรกของลาล่าและชาร์) และนั่นนำไปสู่โศกนาฎกรรมระหว่างอามุโร่ ชาร์ และลาล่า

ลาล่า เป็นนิวไทป์ที่พลังตื่นขึ้นเองโดยธรรมชาติและเป็นนิวไทป์คนแรกๆ ในจักรวาลกันดั้ม มีสัมผัสพิเศษและมีญาณหยั่งรู้สิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับความที่เธอนั้นเป็นคนอินเดียโดยกำเนิด และความเป็นอินเดียนั้นดูเชื่อมโยงกับความหยั่งรู้ตื่นตัวทางจิตวิญญาณ ถึงแม้ว่าเธอจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่บทบาทของเธอยังส่งผลต่อชาร์และอามุโร่ในภาคต่อๆ มา และรวมถึงภาค Unicorn ด้วย

สำหรับอนิเมะที่ออกฉายในปี 1979 Mobile Suit Gundam ถือว่าเป็นอนิเมะที่มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ใหม่มากๆ ในวงการอนิเมะยุคนั้น อย่างการที่ตัวละครเป็นชาวอินเดียผิวดำและยังเป็นผู้หญิงที่ทำให้เกิดรักสามเส้าระหว่างเธอ พระเอกและตัวร้ายก็ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่แปลกใหม่มากๆ และเมื่อพูดถึงนิวไทป์ ตัวละครตัวแรกๆ ที่แฟนๆ กันดั้มนึกถึงก็มักจะเป็นลาล่า ซูน

สามารถชม Mobile Suit Gundam ภาคแรกและภาค Origin ได้ที่ แอพ Flixer


10. Killer B จาก Naruto Shippuden

Killer B เป็นนินจาจากแคว้นคุโมะงาคุเระ ซึ่งโดยลักษณะของคนแคว้นนี้จะมีผิวสีเข้มแบบช็อกโกแลต เขาเป็นน้องชายของไรคาเงะ ประมุขของหมู่บ้าน และเป็นร่างสถิตของสัตว์หางเช่นเดียวกับนารุโตะ จุดเด่นที่แสดงถึงความเป็นคนดำชัดๆ ของเขานั่นก็คือการที่เขาจะทำการแร็ปอยู่ตลอดเวลาแม้แต่เวลาต่อสู้ โดยจะมีสมุดจดคำสัมผัสในสัมผัสนอกเจ๋งๆ ไว้ใช้ในการแต่งท่อนแร็ปอยู่ตลอด

นอกจากนี้เขายังถือเป็นอาจารย์คนที่สี่ของตัวเอกอย่างนารุโตะ เขาเป็นคนสอนนารุโตะให้ใช้จักระของสัตว์หางได้โดยที่ยังคงคุมสติความเป็นมนุษย์ไว้ได้ เขาเป็นร่างสถิตของสัตว์หางที่แปลกกว่าใครเพื่อนตรงที่เขากับแปดหางนั้นมีความสัมพันธ์แบบเพื่อนที่แนบแน่น ด้วยความที่เขาเป็นคนง่ายๆ สบายๆ เข้าอกเข้าใจคนอื่นนั้นทำให้เขาสามารถเป็นเพื่อนกับสัตว์หางและกลายเป็นคู่หูกันได้ไม่ยาก ซึ่งนั่นก็ทำให้นารุโตะเริ่มเกิดมุมมองใหม่ เขาเลยเข้าหาเก้าหางด้วยความที่อยากจะผูกมิตรด้วยแทน

คิลเลอร์ บี นั้นเป็นตัวละครที่เรียกได้ว่า Bad ass สุดๆ ถึงจะดูเพี้ยนๆ บ้าๆ บอๆ แต่เวลาต่อสู้นั้นถือว่าเก่งชนิดหาตัวจับยากในเรื่อง ฉากที่แฟนๆ จำได้ดีคือฉากที่ทีมของซาสุเกะบุกไปหวังจะจับตัวคิลเลอร์บีด้วยความมั่นใจอันเต็มเปี่ยม แต่ซาสึเกะและพรรคพวกกลับโดนอัดซะปางตาย เป็นฉากตบเกรียนที่แฟนๆ สะใจกันมากที่สุดฉากนึง

Standup Comedy Review : Hannah Gadsby Nanette (2018) “ฉันโชคดีที่มีอารมณ์ขัน”

เสน่ห์ประการหนึ่งของตลกเดี่ยวไมโครโฟนคือ การที่มันสะท้อนเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคมผ่านมุกตลกหลายรูปแบบ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระ Pride Month เราจึงขอแนะนำการแสดงของตลกที่ได้รับการกล่าวขวัญว่าพูดถึงเรื่องราวของ LGBTQ และความเลวร้ายของโลกที่ชายเป็นใหญ่ได้เข้มข้นที่สุดคนหนึ่ง

เธอคนนั้นชื่อ ฮันนาห์ แกดสบี้

“หลังจากทบทวนจุดยืนของตัวเองหลังจากเล่นตลกมาสิบปี มุกตลกแนวจิกกัดตัวเอง (ในความเป็นเกย์) คือวิถีทางที่ฉันใช้สร้างอาชีพนี้ขึ้นมา ฉันไม่อยากทำแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว คุณรู้ไหมว่ามันมีความหมายยังไงเวลามุกแบบนี้มันออกมาจากปากคนที่เป็นชนกลุ่มน้อยอยู่แล้ว มันไม่ใช่การยอมเอาเรื่องน่าอายมาขายขำหรอก มันคือการทำให้ตัวเองขายหน้าต่างหาก ฉันกดตัวเองให้ต่ำลงเพื่อที่จะได้พูด เพื่อให้สังคมอนุญาตให้ฉันพูด ฉันไม่ทำแบบนั้นอีกแล้ว ไม่ว่าจะทำกับตัวเอง หรือคนที่แสดงตนออกมาเหมือนกันกับฉัน

….และถ้าการเลิกทำแบบนั้นจะทำให้อาชีพของฉันจบลง ก็ให้แม่งจบไปเลย”

นักแสดงตลกชาวออสเตรเลียประกาศกร้าวใน ‘Nanette’ (2018) โชว์นั้นกลายเป็นที่พูดถึงในหมู่ผู้ชมเป็นวงกว้างทันทีที่มันลงสู่บริการสตรีมมิ่งในฐานะโชว์ที่ ‘ไม่ควรพลาด’ เพราะมันพูดถึงปัญหาที่สังคมชายเป็นใหญ่กระทำต่อความเป็นอื่นทั้งผู้หญิงและเกย์ ได้ถึงลูกถึงคนที่สุด

เธอเริ่มต้นการแสดงด้วยการเล่าเหตุการณ์เข้าใจผิดที่วัยรุ่นชายคนหนึ่งเข้ามาหาเรื่องที่ป้ายรถบัสเพราะคิดว่าเธอเป็นผู้ชายที่กำลังเข้าไปจีบแฟนสาวของเขา ก่อนจะขอโทษยกใหญ่เมื่อพบว่าจริงๆ แล้วเธอเป็นผู้หญิง เรื่องตลกแบบนี้ทิ้งคำถามเอาไว้หลังเสียงหัวเราะว่า ถ้าเธอแสดงตัวว่าไม่ใช่ทั้งผู้ชายหรือผู้หญิงเลย ผลลัพธ์ของมันจะออกมาเป็นอย่างไร ก่อนจะยกระดับความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเธอเริ่มหยิบเอาท่าทีของ ‘ผู้ชาย’ ที่ต่อต้านการบำบัดอาการป่วยไข้ทางจิตใจด้วยยา มาต่อยอดให้เป็นเล็กเชอร์วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ว่าด้วยการมองเห็นสีเหลืองของฟินเซนต์ ฟาน โคค และความน่ารังเกียจของปาโบล ปีกัสโซ

แกดส์บี้เลือกวิธีการที่บ้าบิ่นมากๆ สำหรับการแสดงตลกสแตนด์อัพ นั่นคือการไล่ระดับความรุนแรงไปเรื่อยๆ จนเมื่อถึงจุดหนึ่งมันกลายเป็นการระเบิดความอัดอั้นที่สะสมไว้นานนับสิบปีออกมาเป็นการประท้วงต่ออำนาจ ส่วนบาดหัวใจมากที่สุดคือการที่เธอเฉลยว่า เรื่องเข้าใจผิดที่ป้ายรถบัสในตอนต้น จบลงด้วยการที่เธอถูกวัยรุ่นคนนั้นซ้อมจนยับเมื่อเห็นว่าเธอ ‘เป็นทอม’ เธอไม่กล้าแม้กระทั่งจะไปแจ้งความและไปโรงพยาบาล เพราะคิดว่าลึกๆ แล้วเธอสมควรโดน นั่นยังไม่รวมถึงประสบการณ์ที่ผู้ชายทั้งหลายถือเอาอำนาจมาข่มเหงล่วงละเมิดเธอตลอดชีวิตที่ผ่านมา นี่คือการล้วงเข้าไปในแก่นกลางของความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ที่สังคมบ่มเพาะความเกลียดชังลงไปแม้กระทั่งในใจตัวเธอเองด้วยการกดคุณค่าบางอย่างลงไปให้เป็นความผิดปกติและอนุญาตให้คนอื่นๆ แสดงความเกลียดชังต่อความผิดปกตินี้

“ตลอดชีวิตที่ผ่านมามีแต่คนบอกว่าฉันเป็นพวกเกลียดผู้ชาย ไม่เลย…ฉันไม่ได้เกลียด ฉันไม่เชื่อด้วยว่าผู้หญิงจะดีกว่าผู้ชาย เพราะพวกเธอเองก็หลงในอำนาจได้เหมือนกันนั่นแหละ แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าจนถึงบัดนี้ ‘อำนาจ’ มันอยู่ในมือของพวกคุณจริงๆ และถ้าคุณยอมรับคำวิจารณ์ไม่ได้ คุณถูกล้อเลียนไม่ได้ คุณจัดการกับความตึงเครียดของตัวเองโดยปราศจากความรุนแรงไม่ได้ ก็จงพิจารณาตัวเองให้ดีเถอะว่าตัวเองเหมาะจะถือครองอำนาจแบบนั้นไว้จริงๆ หรือเปล่า”

“…ปัญหามันอยู่ที่ว่าจนถึงบัดนี้ ‘อำนาจ’ มันอยู่ในมือของพวกคุณจริงๆ และถ้าคุณยอมรับคำวิจารณ์ไม่ได้ คุณถูกล้อเลียนไม่ได้ คุณจัดการกับความตึงเครียดของตัวเองโดยปราศจากความรุนแรงไม่ได้ ก็จงพิจารณาตัวเองให้ดีเถอะว่าตัวเองเหมาะจะถือครองอำนาจแบบนั้นไว้จริงๆ หรือเปล่า”

เสียงตอบรับต่อการแสดงครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน ฝั่งหนึ่งเห็นว่าการแสดงของแกดส์บี้ครั้งนี้จงใจละเลยมิติของความเท่าเทียมกันอย่างชัดเจน ใช้ประโยชน์จากเวทีตลกให้กลายเป็นเครื่องมือกระจายโฆษณาชวนเชื่อ และทิ้งส่วนที่สำคัญที่สุดของการแสดงตลกอย่างอารมณ์ขัน โชว์ครั้งนี้จึงไม่ต่างอะไรกับ ‘Ted Talk ขนาดยาวของคนที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์’ ในขณะที่อีกฝั่งก็ยอมรับนับถือในความกล้าหาญของแกดส์บี้ที่ใช้พื้นที่การแสดงพูดถึงปัญหาการกดขี่อย่างครบถ้วนชัดเจน เต็มไปด้วยอารมณ์ และโครงสร้างการเขียนบทที่ชาญฉลาด

ไม่ว่าจะชอบหรือชัง ‘Nanette’ ก็มักจะเป็นโชว์ ‘ห้ามพลาด’ ที่หลายสำนักพูดถึงในฐานะโชว์ Anti-comedy ที่ก่อให้เกิดบทสนทนามากมายเกี่ยวกับอำนาจการกดขี่ในสังคมชายเป็นใหญ่ หากว่าแกดส์บี้ตั้งใจจะกระตุ้นเตือนให้ผู้คนทบทวนถึงอำนาจในมือของตนเองก็อาจะเรียกได้ว่ามันประสบความสำเร็จอย่างงดงาม


Hannah Gadsby: Nanette มีให้รับชมแล้วทาง Netflix

และหากคุณไม่หนำใจมีการแสดงอีกชิ้นที่ชื่อว่า Hannah Gadsby: Douglas ผลงานคืนเวทีปี 2020 ของแกดส์บี้ มีทั้งเลคเชอร์ประวัติศาสตร์ศิลป์สุดมันส์ และชุดมุกตลกที่ว่าด้วยความขี้ตู่ของมนุษย์เพศชาย ถือได้ว่าเป็นภาคต่อชั้นเยี่ยมของ Nanette ที่แสบไม่แพ้กัน 

Box Office Report : ‘มนต์รักดอกผักบุ้งฯ’ เปิดตัวสูงสุด และการกลับมาของโนแลน

ผลงานล่าสุดของ เอกชัย ศรีวิชัย ที่นำแสดงโดยศิลปินขวัญใจวัยรุ่นใต้และอีสาน เจนนี่-ลิลลี่ กับ เต้ย อภิวัฒน์ เปิดตัวสูงสุดของเมื่อวานด้วยรายได้กว่า 5 แสนบาท ส่วน Trolls World Tour ที่ยูนิเวอร์แซลชิงเปิดตัวใน VOD ไปก่อนแล้ว เข้ามาในอันดับ 2 ขณะที่การกลับมาของไตรภาคแบทแมนโดย คริสโตเฟอร์ โนแลน ทั้งในระบบปกติและไอแมกซ์ เปิดตัวที่ไม่ถึงแสนบาท จากการเข้าฉายภาคละ 1 รอบต่อ 1 โลเคชั่น

รายได้หนังประจำวันที่ 25 มิถุนายน 2563

1. มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ – 0.54 (0.55) ล้านบาท
2. Trolls World Tour – 0.26 ล้านบาท
3. 32 Malasana Street – 0.18 ล้านบาท
4. Vivarium – 0.14 ล้านบาท
5. Fantasy Island – 0.07 (1.89) ล้านบาท
6. The Dark Knight – 0.05 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายเท่านั้น
7. Guns Akimbo – 0.04 (1.21) ล้านบาท
8. Batman Begins – 0.03 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายเท่านั้น
9. Emma – 0.02 (0.46) ล้านบาท
10. The Dark Knight Rises – 0.02 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายเท่านั้น

Box Office Report : A Hidden Life ฉายโรงเดียว วันละไม่กี่รอบ แต่ทำเงินไปกว่า 7 หมื่นบาท

Fantasy Island ขึ้นอันดับ 1 หนังทำเงินประจำสัปดาห์ด้วยรายได้เพียง 1.8 ล้านบาทเท่านั้น ที่น่าจะพอบอกได้ว่า ผู้ชมยังไม่พร้อมกลับมาดูหนังในโรงได้เหมือนในช่วงก่อน โควิด-19 ในขณะที่อันดับ 2 คือ Guns Akimbo ที่ทำเงินไปราว 1.1 ล้านบาท ซึ่งในขณะที่หนังในโรงทั่วไปต่างทำเงินไปเรื่องละเล็กละน้อย กลับมีตัวเลขที่น่าสนใจคือ A Hidden Life ที่แม้ไม่เข้ามาใน 10 อันดับหนังทำเงิน แต่การเข้าฉายเฉพาะ House Samyan วันละไม่กี่รอบ แล้วทำเงินไป 74,600 บาท ก็ถือว่าเป็นรายได้ที่น่าตื่นเต้นไม่น้อย

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 18-24 มิถุนายน 2563

1. Fantasy Island – 1.81 ล้านบาท
2. Guns Akimbo – 1.17 ล้านบาท
3. พจมาน สว่างคาตา – 0.77 (6.64) ล้านบาท
4. Baba Yaga – 0.44 ล้านบาท
5. Emma – 0.43 ล้านบาท
6. I Still Believe – 0.29 ล้านบาท
7. Your Name – 0.14 (0.48) ล้านบาท *นับเฉพาะการกลับมาฉายใหม่เท่านั้น
8. A Beautiful Day in the Neighborhood – 0.13 (0.32) ล้านบาท *นับเฉพาะการกลับมาฉายใหม่เท่านั้น
9. Weathering with You – 0.11 (0.39) ล้านบาท *นับเฉพาะการกลับมาฉายใหม่เท่านั้น
10. Begin Again – 0.09 (0.35) ล้านบาท *นับเฉพาะการกลับมาฉายใหม่เท่านั้น

จาก ‘คิง’ ถึง ‘เติม’ : คนเขียนบทจากไป แต่หัวใจของบทยังคงอยู่

23 มิ.ย. เวลา 13.00 น.

“เดี๋ยวลองโทรมาใหม่ตอนบ่ายสองได้มั้ย เพราะพี่กำลังไปเชิญวิญญาณพี่เติมอยู่” 

คิง-สมจริง ศรีสุภาพ บอกกับเราผ่านโทรศัพท์หลังจากหนึ่งวันที่ เติม-ชนินทร ประเสริฐประศาสน์ เสียชีวิตด้วยการกระทำอัตวิบากกรรมบนเก้าอี้วีลแชร์ของตัวเอง การที่คิงเข้าร่วมพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณของผู้วายชนม์และเป็นผู้รับหน้าจัดการรายละเอียดต่างๆ กระทั่งของว่างที่แจกในพิธีสวดอภิธรรม คงพอจะบอกได้ว่าทั้งคู่สนิทสนมกันขนาดไหน 

ตลอดชีวิตการทำหนังของคิง เขาสร้างผลงานที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้อยู่หลายเรื่อง และ 3 เรื่องในนั้นเขียนบทโดย เติม-ชนินทร ซึ่งตลอดชีวิตของเติม เขามีเครดิตเขียนบทหนังเอาไว้แค่ 5 เรื่องเท่านั้น นั่นหมายความว่าเกินครึ่งหนึ่งเป็นการเขียนบทให้น้องรัก คิง-สมจริง 

หนังทั้ง 3 เรื่องที่ ‘เติม’ เขียนบทให้ ‘คิง’ ได้แก่ ‘รักแรกอุ้ม’ (2531), ‘พริกขี้หนูกับหมูแฮม’ (2532) และ ‘กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้’ (2534) อีกสองเรื่องที่เติมเขียนบทคือ ‘ต้องปล้น’ (2533) ของ ชูชัย องอาจชัย กับ ‘กาลครั้งหนึ่ง เมื่อเช้านี้’ (2537) ของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล…แม้จะเป็นเพียงหนังแค่ 5 เรื่อง ตลอดชีวิต 59 ปีของเติม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกเรื่องต่างได้รับการยกย่องจนผ่านกาลเวลามาจนปัจจุบัน 

คิงปลีกตัวจากการส่งแขกในงานสวดอภิธรรมของเติมที่ล้นศาลา 2 วัดอุทัยธารามเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เพื่อมาคุยกับเรา แต่มันกลับเต็มไปด้วยความรักที่คิงมีมอบให้รุ่นพี่สุดที่รักของเขา จนบางช่วงก็ไม่อาจสะกดน้ำตาเอาไว้ได้ 

จุดเริ่มต้นของการร่วมงานกับพี่เติมอยู่ตรงไหน? 

พี่เติมเป็นรุ่นพี่ที่นิเทศฯ จุฬาฯ แล้วเราสนิทกันตั้งแต่สมัยเรียน พอจบมาก็คุยกันตลอดจนกระทั่งวันหนึ่งได้ทำหนังที่ ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ แกก็ให้โอกาส ถามว่ามีเรื่องที่อยากทำมั้ย ก็เลยไปปรึกษาพี่เติม สุดท้ายก็มาลงเอยที่ ‘รักแรกอุ้ม’ เนื่องจากว่ามันเป็นนิยายของอุ๋มอิ๋ม วดีลดา เพียงศิริ เรื่อง ‘ถึงเจ้าวายร้ายตัวน้อย’ กับ ‘เรื่องของอะตอม’ ก็เลยเอามารวมกันเป็น ‘รักแรกอุ้ม’ 

เล็งเห็นอะไรถึงได้ชวนพี่เติมมาร่วมงาน? 

มันไม่ใช่การชวนเลยนะ พวกเราเขียนบทด้วยกันตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือ ตอนนั้นพี่เติมน่าจะเขียนบทให้ช่อง 3 แล้วด้วยซ้ำ เขามีงานแล้ว ส่วนผมเขียนหนังสือให้นิตยสาร ‘เรา’ เป็นนักเขียน เขียนคอลัมน์ เรื่องสั้น เขียนนั่นนี่ พวกเราทำงานเขียนกันมาตลอด ฉะนั้นเราก็คุยกันตลอดเวลา แล้วตอนเขาเป็นพี่ที่คณะลงมาก็เจอกัน คุยกัน ไปดูหนังด้วยกันตอนเย็น อัดกันไปบนรถสามล้อ ยังแซวกันอยู่เลยว่าหน้ารถเขาจะกระดกเอา (หัวเราะ) 

คิง-สมจริง ศรีสุภาพ

แนวทางการเขียนบทของพี่เติมเป็นอย่างไร? 

เขาเป็นคนชัดเจนเรื่องคาแรกเตอร์นะ ฉะนั้นตัวเอกในแต่ละเรื่องจะคาแรกเตอร์ชัดมาก เช่น ‘พริกขี้หนูกับหมูแฮม’ คาแรกเตอร์ของ จันทร์จิรา จูแจ้ง ทุกวันนี้คนก็ยังจำได้อยู่เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้’ ตัวละครหลัก 5 ตัว คนก็จำได้หมดนะ เพราะเขาแม่นในเรื่องนี้มาก ซึ่งผมว่าคนที่เข้าใจเรื่องคาแรกเตอร์จะไปต่อได้ในการคิดเรื่อง บางทีเราได้อ่านบทเรื่องนึง คาแรกเตอร์ไม่ชัด เราไปไหนต่อไม่ได้เลยนะ พอเราเข้าใจเรื่องคาแรกเตอร์แล้วสถานการณ์อื่นๆ มันจะตามมา เพราะพอเรารู้ว่าคาแรกเตอร์เป็นยังไง เราก็หากิจกรรมให้เขาทำได้ไง สมมติเรารู้ว่าตัวละครชอบถ่ายรูปหรือชอบเซลฟี หูยกิจกรรมมันตามมาเยอะเลยนะ ถ้าเราตีคาแรกเตอร์ได้มันแตกสถานการณ์ไปได้อีกมหาศาลเลย

เวลาเริ่มแต่ละโปรเจกต์มีการคิดเรื่องคาแรกเตอร์นานขนาดไหน? 

เราคิดสตอรี่ก่อนค่อยไปเห็นคาแรกเตอร์ แล้วคาแรกเตอร์มันจะขับเคลื่อนสตอรี่อีกที มันต้องมีโครงใหญ่ๆ ออกมาก่อน ค่อยลงรายละเอียดของมัน

ถ้าให้ยกตัวอย่าง ‘พริกขี้หนูกับหมูแฮม’ อะไรในนั้นที่แสดงความเป็นพี่เติมได้ชัดที่สุด

ไดอะล็อก ความคมคาย และความตลก ทั้งหมดมันไปด้วยกันได้ดีกับคาแรกเตอร์ เหมือนพอพี่เติมเขามั่นใจในคาแรกเตอร์ตัวละครของเขาแล้วมันสนุกไปถึงระดับไดอะล็อกเลย ตอนนั้นเราโดนด่าเหมือนกันนะว่าสถานการณ์ที่ตัวละครจอห์น (ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย) ฆ่าตัวตาย มันไม่น่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ซึ่งจริงๆ แล้วบางทีคนเรามันอาจจะมีแค่วูบเดียวเท่านั้นแหละ อะไรมันก็เกิดขึ้นได้ มนุษย์นี่เนอะ แต่เราเล่าออกมาให้ตลกไง เราไม่ได้เร้าอารมณ์ดราม่า อย่างในเรื่องเขาผูกคอตายเราก็เห็นเป็นควิกคัต เชือกแขวน เก้าอี้เสือกเข้ามาในเฟรม ทุกอย่างมันถูกเล่าเป็นคอมิดี ซึ่งเราก็ไม่ได้ติดใจว่าทำไมจอห์นถึงจะฆ่าตัวตายไม่ได้ คนผิดหวังจากความรักมาต้องมีสติตลอดเวลาเลยเหรอ ไม่จำเป็น 

หนังทั้งสามเรื่องประสบความสำเร็จมากมาย พี่เติมมีส่วนเกี่ยวข้องแค่ไหน? 

มีสิ เยอะด้วย เพราะบทเป็นหัวใจของหนัง บทที่ดีก็จะทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วมคล้อยตามได้จนถึงไคลแม็กซ์ สามเรื่องที่พี่เติมเขียนตอบตรงนี้หมด ตอน ‘กลิ้งไว้ก่อน พ่อสอนไว้’ มีเด็กคนหนึ่งเขียนจดหมายมาหาเราว่าหนังมันทำให้เขารู้สึกว่าเขาอยากจะเป็นอะไร เพราะตัวละครในเรื่องมันเป็น loser หมด ไม่มีใครมีจุดหมายในชีวิต อะไรพัดมาก็พร้อมโซซัดโซเซไปทางนั้นทางนี้ จนกระทั่งวันสุดท้ายที่สำเร็จการศึกษา พวกเขารู้แล้วว่าจะทำอะไรต่อไป มันเติบโตมาจากการตายของเพื่อนในกลุ่มที่เป็นน้องเล็กสุด ที่จู่ๆ ก็โดนตีหัว จู่ๆ ก็ต้องไปโรงพยาบาลกัน จู่ๆ ก็ต้องมาลุ้นว่าเพื่อนจะตายมั้ย มันทำให้เด็กกลุ่มนี้จุดประกายขึ้นมาว่าชีวิตเราก็มีแค่นี้เอง วันนี้เราอยากทำอะไร เราอยากเป็นอะไร ก็ (เสียงสั่นเครือ) น่าจะเดินไปตามเป้าหมายในชีวิต แต่ระหว่างทางที่เติบโตเราอาจจะเจอนั่นเจอนี่จนเบี่ยงเบนไปบ้าง อย่างน้อยในช่วงวัยหนึ่งของเขา เขาก็ได้รู้ว่าอยากเป็นอะไร อยากจะไปตรงไหน อยากออกไปหยิบความฝันของเขา ตรงนี้คือสิ่งที่ ‘กลิ้งไว้ก่อนฯ’ ชัดเจนมากๆ ที่สำคัญคนดูก็จะช็อคเพราะมันไม่มีลางบอกเหตุอะไร มันเป็นแพทเทิร์นแบบใหม่ๆ 

บทหนังของพี่เติมก็ไม่ต่างจากการตัดสินใจของเขาเลยนะครับ

มันเหมือนกันเลยแหละ มันเป็นวินาทีนั้น ถ้าเรามีสติเราก็จะรู้ตัวได้เร็ว แต่เราก็ให้เกียรติการตัดสินใจของเขานะ เพราะมันคงมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่เราก็คงไม่รู้ ทางนี้อาจจะเป็นทางที่…(นิ่งคิด) ไม่รู้สิ การที่เรามีชีวิตอยู่ พรุ่งนี้เรายังไม่รู้ว่าจะเจออะไร การที่เขาเลือกไปอีกทางมันก็คือเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะเจออะไรเหมือนกัน ทั้งสองทางที่ว่าไม่มีใครรู้ทั้งนั้นว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นถ้าเลือกเองได้เขาก็อาจจะอยากไปทางนั้น ซึ่งเราจะไปว่าเขาไม่ได้จริงมั้ย?