INTERVIEW

เอกชัย ศรีวิชัย ในวันที่ภาษาถิ่นไม่มีอยู่จริง

ตอนที่รู้ว่า เอกชัย ศรีวิชัย จะกำกับ เจนนี่-ลิลลี่ ได้หมดถ้าสดชื่น และ ครูเต้ย อภิวัฒน์ ศิลปินไอดอลวัยรุ่นที่สร้างชื่อเสียงกัมปนาทบนโลกออนไลน์ ในหนัง ‘มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ’ ผมยังแอบตั้งคำถามอยู่ลึกๆ ว่าเอกชัยที่มีสถานะเป็นซูเปอร์สตาร์แดนใต้รุ่นใหญ่ จะสามารถทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมสมัยใหม่ด้วยความเต็มใจแค่ไหนกัน โดยเฉพาะเมื่อเราเทียบกับงานกำกับเรื่องก่อนหน้าของเขาทั้ง ‘เทริด’ และ ‘โนราห์’ ที่ล้วนพูดถึงการต่อสู้ของวัฒนธรรมพื้นบ้านเก่าแก่ ในโลกซึ่งหมุนไปตามความเร็วของไฮสปีดอินเทอร์เน็ต 

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ไม่เพียงทำให้เราได้รู้ว่านอกจากเอกชัยจะเปิดใจรับวัฒนธรรมสมัยใหม่แล้ว บางเศษเสี้ยวของความคิด ผมยังเห็นว่ามุมมองของเขาที่มีต่อโลกนั้นก้าวทันและอาจจะล้ำหน้าอย่างน่าประหลาดเสียด้วยซ้ำไป

โอกาสทำหนังและโจทย์ใหญ่ เปิดทางให้เด็กรุ่นใหม่เฉิดฉาย

“ผมทำหนังมาสองเรื่อง และที่ประสบความสำเร็จคือ ‘เทริด’ ซึ่งเป็นหนังใต้แท้ๆ พอเราดึงขึ้นมาแมส อย่าง ‘โนราห์’ มันกลับไม่ประสบความสำเร็จในวงกว้าง แต่มันยังคงไปประสบความสำเร็จในใต้อีก เท่ากับว่าเราประสบความสำเร็จในใต้เบิ้ลกันสองรอบแล้ว ก็เลยคิดว่าเมื่อมีคนดูหนังที่อยู่ต่างจังหวัด ต่างอำเภอ เราก็ควรจะทำงานที่ใกล้ตัวเขา อย่างทุกวันนี้ หนังที่ขายกลุ่มคนภาคกลางอาจจะเป็นเรื่องไกลตัวคนดูอำเภอสิชล นครศรีธรรมราช เราพยายามจะบอกให้คนไทยได้รู้ว่ามีหนังไทยทำกันเยอะแยะมากมาย ทุกกลุ่มช่วยกัน ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องมามองหนังไทยของเราว่าจะต้องมาวางเอาไว้ตรงไหน ถ้างั้นผมอยู่ถูกที่ถูกทางของผมดีกว่า คือภาคใต้”

เอกชัยได้โอกาสทำหนังอีกครั้งจากค่าย M39 ทว่าความท้าทายใหม่ของเขาคือโจทย์จากสตูดิโอให้ลองร่วมงานกับศิลปินแดนใต้ที่กำลังมาแรงเจ้าของเพลง ‘เลิกคุยทั้งอำเภอ เพื่อเธอคนเดียว’ 

แม้ว่าจะเป็นศิลปินภาคใต้เหมือนกัน แต่คนที่บ่มเพาะชื่อเสียงมาหลายสิบปี จะไปกันด้วยดีกับศิลปินที่การันตียอดวิวบนยูทูบ 300 ล้านวิวได้แค่ไหนกัน

“พอได้โจทย์มาก็คิดเลยว่าผมจะเอาเด็กสองคนนี้ไปวางไว้ตรงไหน เราจะส่งเด็กรุ่นใหม่ออกไปเดินข้างหน้า ผ่านวิธีคิดและการจัดการแบบเรา ทีนี้พอเราได้ เจนนี่ ลิลลี่ มาแล้ว ก็ไปหาต่อว่ามีใครอีก ชวนมาให้หมด ไหนๆ เราก็มาทางนี้แล้วต้องไปให้สุดเลย มันอาจจะง่ายหน่อยคือเด็กศิลปินทางภาคใต้จะคิดกับพี่เอกเหมือนพ่อคนหนึ่ง และเราก็เหมือนเป็นไอดอลของพวกเขาอยู่แล้ว เมื่อเราติดต่อไปก็ไม่มีใครดื้อกับพี่เอกเลย ถ้าจะไล่ลำดับคือถัดจากรุ่นพี่เอก ก็จะเป็นหลวงไก่ บ่าววี ถัดจากหลวงไก่ บ่าววี ก็จะเป็นเด็กรุ่นนี้” 

เมื่อได้นักแสดงนำที่เป็นขวัญใจวัยรุ่นอยู่ในมือแล้ว แน่นอนว่าหนังที่เอกชัยต้องทำก็คือหนังวัยรุ่น มันจึงย้อนกลับมาสำรวจท่าทีของเอกชัยอีกรอบว่าสิ่งที่เขาจะสื่อสารกับวัยรุ่นควรเป็นอย่างไร

“จุดเริ่มต้นมันอยู่ที่ว่า เราจะสะท้อนตัวตนของเด็กออกมา หรือเราจะเอาเด็กมาเปลี่ยน ผมคิดแว้บแรกเลย เราจะไม่เปลี่ยนเด็ก คาแรกเตอร์เป็นแบบไหน ใส่ตามนั้นเลย ผมเลือกให้นางเอกเป็นแบบที่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เป็น คนไปดูหนังก็จะรู้สึกว่าเหมือนเราเลย ก็เลยใส่คาแรกเตอร์ไปให้นั่งฉีกแข้งฉีกขา ผู้หญิงก็จีบผู้ชายเลย ไม่รู้ว่าสังคมจะรับหรือเปล่า แต่คนดูส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น มาแอ๊บนั่งพับเพียบเยี่ยวมันไม่มีหรอก ถ้าเมื่อก่อนนักร้องผู้หญิงร้องว่าอยากมีสามีนี่คนด่าตายเลยนะ ซึ่งเพลงมันก็สะท้อนสังคมน่ะแหละ คนบริโภคแบบนี้ แล้วอีกอย่างคือตอนผมถ่ายหนังแล้วมีเด็กมาเต้นอยู่ข้างๆ เวที ผมชี้ให้ทุกคนดูว่าทำไมนางเอกผมถึงแก่นขนาดนี้ เด็กสามขวบเต้นกระเด้าๆ นี่คือความจริง

“เราอย่าไปสร้างบรรทัดฐานว่าอันนั้นดีหรือไม่ดีแล้วไปใส่กรอบเด็ก ขอโทษครับ มือถืออยู่ในมือเด็ก แค่พิมพ์เข้าไปว่าท่าหมาโก้งโค้ง มันขึ้นมาหมดเลยครับ ทีนี้เราจะบอกว่าสังคมแบบนี้มันฟอนเฟะก็ไม่ได้อีก มันเป็นภาพจริง

“ในความเป็นคนทำหนังมันก็ย่อมมีการชี้ผิดชี้ถูกตามความคิดของเรา แต่เราก็มีหน้าที่แค่บอกว่าอันนี้เผ็ด อันนี้จืด อันนี้ขม เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปบอกให้เขากินแบบไหน เด็กต้องเลือกเอาเอง ถ้าเมื่อไหร่ที่เราต้องเลือกว่าต้องกินเผ็ดหรือต้องกินจืดตลอดเวลา สมองก็จืดตาม แล้วก็จืดทุกอย่าง นำหน้าใครไม่ได้ ต่างประเทศที่เขาไปไกลกว่าเราก็เพราะว่าเขาไม่กำหนดตรงนี้ไง ใครจะกินเผ็ด กินขม กินเหลือง กินขาว กินดำ กินแดง เรื่องของคุณ แต่มันก็ต้องมีบริบทที่จะบอกว่าอันนี้มันก้าวล่วงคนอื่นนะ ทำอยู่ในกรอบของตัวเองแล้วทำให้สุดโต่ง ในหนังเรื่องนี้สอนไว้หมด อาจจะผ่านตัวผม ผ่านคนรอบข้าง ถามว่ามันผิดหรือถูกผมไม่รู้ ผมแค่ทำหน้าที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมปัจจุบันเขาอยู่กันอย่างนี้

“สิ่งที่พี่อยากเห็นคือทุกคนยืนมองกระจก เราเป็นสิวเราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าหน้าเราเป็นสิว วันนี้เราแก่ไปมากเราก็ปฏิเสธไม่ได้เพราะกระจกมันบอกเราหมดเลย หนังเรื่องนี้ก็เหมือนกัน ผมกำลังสะท้อนให้คุณเห็นผ่านกระจกว่าหน้าคุณเป็นสิว แล้วคุณจะแก้มันยังไง”

หนังขวัญใจชาวใต้ แต่ตั้งใจสลายพรมแดน 

หนึ่งในปัจจัยที่เรามองว่าเป็นส่วนผสมที่น่าสนใจ คือการเลือก ครูเต้ย อภิวัฒน์ ซึ่งเป็นศิลปินไอดอลอีสานมาเล่นหนังใต้ จุดเริ่มต้นมาจากการที่วันหนึ่งเอกชัยเห็นคนมารอดูการแสดงของครูเต้ยที่โรงเหล้าแห่งหนึ่งจนเกิดการจลาจลย่อมๆ เขาเลยเล็งเห็นพลังดาราจากศิลปินคนนี้ ทุกอย่างผ่านกระบวนความคิดที่ไม่ซับซ้อน แต่การตีความบทบาทและหน้าที่ของครูเต้ยในหนังเรื่องนี้ต่างหากที่ชวนคิดต่อ

“ตั้งแต่มีโซเชียลมีเดีย มันตัดขาดพรมแดนเรื่องภาษาไปนานแล้ว เมื่อก่อนเพลงใต้ก็อยู่ใต้ เพลงอีสานก็อยู่อีสาน เพลงเหนือก็อยู่เหนือ เพราะมันยังไม่มีโซเชียล แต่ตอนนี้เราดูหนังอเมริกาพร้อมกันทั้งโลก คนที่เชียงใหม่ไปเที่ยวน้ำตก ณ เวลานี้ คนปัตตานีก็เห็น เพราะฉะนั้นเลยรู้สึกว่าโซเชียลมันทำลายอาณาเขตของภาษา ผมกำลังจะสื่อสารว่าคนอีสานก็สามารถทำมาหากินกับคนใต้ได้ ก็เอาครูเต้ยไปอยู่บ้านคณะรำวงของทางใต้ แต่ในขณะเดียวกันผมที่เป็นผู้นำทางวัฒนธรรมที่ก็รู้ภาษาอีสานแบบครูเต้ย ครูเต้ยก็พูดอีสานในภาพยนตร์ นางเอกก็พูดกลางสำเนียงทองแดง คือพยายามให้เห็นว่าความหลากหลายของภาษามันไม่มีพรมแดน

“ผมอาจจะโดนด่าเรื่องภาษาพูด เพราะผมไม่ได้ใช้ภาษาใต้ แต่ใช้ภาษากลางสำเนียงใต้ ซึ่งเด็กวัยรุ่นเดี๋ยวนี้จะภาคไหนๆ เขาก็พูดภาษากลางสำเนียงท้องถิ่นทั้งนั้น ต้องทำความเข้าใจนะว่าทุกวันนี้เด็กกรุงเทพฯ กับเด็กที่อำเภอกงหรา (จ.พัทลุง สถานที่ถ่ายทำหนัง) เขาเห็นและเข้าใจพร้อมกัน แต่รับความรู้สึกแตกต่างกัน เพราะเด็กที่กงหราก็รู้จักชาบูเหมือนกับเด็กที่กรุงเทพฯ แต่อาจยังไม่เคยเห็นของจริง พารากอนเขาก็รู้จักแต่เขาไม่เคยมา ในขณะเดียวกันเด็กในพารากอนก็รู้จักกงหราได้ไม่ยาก แต่ไม่เคยไปไง รู้เห็นพร้อมกันแต่ประสบการณ์ต่างกัน 

“เทคโนโลยีมันเข้าถึงเหมือนกันหมด ไวไฟ สี่จี มีเหมือนกัน เด็กใต้ดูหนังต่างประเทศได้พร้อมเด็กกรุงเทพฯ นี่แหละคือสิ่งที่อยากนำเสนอในหนัง”

LATEST