สัมพันธ์จีน – อินเดียในมิติธุรกิจภาพยนตร์

เช้าของวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักข่าวทั่วโลกต่างรายงานข่าวการปะทะแบบไร้อาวุธของทหารจีนและอินเดีย ที่พรมแดนบริเวณเทือกเขาหิมาลัย ผลจากการปะทะกันทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิต 3 คน ก่อนที่ต่อมาจำนวนยอดผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 คน ส่วนทหารจีน แม้ว่าจะไม่มีรายงานออกอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีรายงานที่ไม่ได้การยืนยันว่า ทหารจีนเสียชีวิตประมาณ 40 คน ข่าวดังกล่าวสร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก เพราะแม้ว่าจีนและอินเดีย จะมีข้อพิพาทเรื่องหุบเขากัลวาน (Gallwan Valley) จนถึงขั้นทำสงครามกันในปี 1962 แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทั้งสองชาติก็ใช้การทูตเป็นเครื่องมือในการลดระดับความตึงเครียด จนทำให้ตลอดมาไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใหญ่ๆ เกิดขึ้นอีกเลยจนกระทั่งเช้าตรู่ของวันที่ 16 มิถุนายน1https://www.aljazeera.com/news/2020/06/china-india-agree-reduce-border-tensions-deadly-clash-200623082203724.html

ผลจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าความขัดแย้งครั้งนี้อาจขยายวงไปสู่มิติอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองชาติมีความผูกพันอย่างแนบแน่นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายหลังจากที่ประธานาธิบดีสี่จิ้นผิงได้ทำข้อตกลงการค้าหลายฉบับกับนายกรัฐมนตรีนเรนทะระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดียในปี 2014 กับมิติทางด้านวัฒนธรรมที่มีภาพยนตร์เป็นตัวแปรสำคัญ

ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนขอให้ความสำคัญกับธุรกิจภาพยนตร์เป็นพิเศษ เนื่องจากมีบทบาทเด่นตลอดช่วงระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา และเป็นตัวแปรที่ชี้วัดความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในระดับประชาชนได้เป็นอย่างดี


เมื่อหนังอินเดียตีตลาดจีน

แม้ว่าโดยภาพรวมของความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ประเทศจีนจะได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศอินเดียเกือบสี่เท่า (โดยเฉพาะในปี 2019 จีนได้เปรียบดุลการค้าถึง 51.68 พันล้านเหรียญ)2https://www.eoibeijing.gov.in/economic-and-trade-relation.php แต่สำหรับธุรกิจภาพยนตร์แล้ว อินเดียได้เปรียบจีนอยู่หลายช่วงตัว เนื่องจากในช่วงตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา หนังอินเดียได้รับความนิยมในประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง บางเรื่องประสบความสำเร็จเทียบเท่ากับหนังจากฮอลลีวูด เช่น หนังเรื่อง Dangal ซึ่งเกี่ยวกับชีวประวัตินักมวยปล้ำในอินเดียที่นำแสดงโดย อเมียร์ ข่าน ออกฉายในจีนในเดือน พฤษภาคม ปี 2017 ทำรายได้จากการฉายถึง 183 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ อเมียร์ ข่านยังเป็นขวัญใจของผู้ชมชาวจีน ถึงขนาดตั้งสมญานามให้เขาว่า Mishu ซึ่งมีความหมายว่า คุณอา (uncle) ในภาษาจีน แถมแฟนเพจของเขาในเว็บไซต์ Sina Weibo ยังมีผู้ติดตามถึง 1.2 ล้านคน3https://www.globaltimes.cn/content/1166842.shtml

ปราสาท เชทตี ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์อินเดียเคยให้ความเห็นกับนิตยสาร Hollywood Reporter ถึงเหตุผลที่หนังอินเดียได้รับความนิยมในประเทศจีนไว้ว่า “ทั้งสองประเทศต่างมีค่านิยมที่คล้ายกัน เช่น การให้ความสำคัญกับครอบครัว การศึกษา และหน้าที่การงาน นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังมีประวัติศาสตร์ทางด้านวัฒนธรรมที่ฝังลึกยาวนาน”4https://www.hollywoodreporter.com/news/how-bollywood-became-a-force-china-1111394

อย่างไรก็ตาม ในมุมกลับ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับหนังอินเดีย กลับไม่เกิดขึ้นกับหนังจีนในประเทศอินเดีย เหตุผลสำคัญมาจากการที่ผู้ชมอินเดียยังให้นิยมดูหนังที่ผลิตในประเทศอยู่ แม้ขนาดหนังฟอร์มใหญ่ของฮอลลีวูดอย่างค่ายมาร์เวล ก็ยังไม่ติดอันดับหนึ่งในห้าหนังทำเงินในประเทศอินเดีย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่หนังจากประเทศจีนจึงได้รับความนิยมในระดับหนึ่งเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นหนังแนวการต่อสู้ที่นำแสดงโดยดาราชื่อดังอย่างแจ็คกี้ ชาน


Awara และ Caravan สองหนังอินเดียที่สานสัมพันธ์

Awara (1951) และ Caravan (1971)

แม้ว่า Dangal จะได้รับการบันทึกว่าเป็นหนังอินเดียที่ทำรายได้มากที่สุดในประเทศจีน แต่ความนิยมในหนังอินเดียของชาวจีนไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ หากแต่ย้อนกลับไปในปี 1955 อันเป็นปี 7 หลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีนก่อตั้งขึ้นเลยทีเดียว โดยในปีนั้นภาพยนตร์เรื่อง Awara ซึ่งกำกับโดยผู้กำกับชื่อดังราช กาปูร์ ได้ถูกนำเข้ามาฉายในประเทศจีน และสามารถดึงผู้ชมเข้าโรงภาพยนตร์ได้กว่า 4 ล้านคน ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกนำกลับมาฉายใหม่อีกครั้งหลังการปฏิวัติวัฒนธรรมในปี 1978 และสร้างสถิติด้วยจำนวนผู้ชมที่ซื้อตั๋วเข้าชมกว่า 40 ล้านคน Awara ไม่เป็นเพียงภาพยนตร์อินเดียที่อยู่ในใจชาวจีนจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพยนตร์ที่เหมาเจ๋อตุงชื่นชอบเรื่องหนึ่ง5https://en.wikipedia.org/wiki/Awaara

แต่สถิติดังกล่าวได้ถูกทำลายลงในปีถัดมา เมื่อบริษัท Shanghai Film Dubbing Studio ซึ่งเป็นบริษัทภาพยนตร์ของรัฐบาลได้นำภาพยนตร์เรื่อง Caravan หนังเก่าในปี 1971 ว่าด้วยเรื่องราวของหญิงสาวจากครอบครัวเศรษฐีที่ออกตามล่าล้างแค้นคนที่ฆ่าพ่อและสามีของเธอ ออกตระเวนฉายทั่วประเทศ ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ว่ากันว่ามีผู้ชมซื้อบัตรเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้กว่า 300 ล้านใบ และเพลงหลายเพลงในหนังได้รับความนิยมจากผู้ชมชาวจีน และยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนจนถึงปัจจุบัน6https://www.globaltimes.cn/content/1166842.shtml

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นความนิยมในภาพยนตร์อินเดียในประเทศจีนค่อยๆ ลดลง ประกอบกับนโยบายการจำกัดการนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศ หรือ ระบบโควตาที่ประกาศใช้กลางทศวรรษที่ 1990 ที่กำหนดให้มีการนำเข้าหนังต่างประเทศได้ปีละ 10 ยิ่งทำให้โอกาสที่หนังอินเดียจะสอดแทรกเข้ามาเป็นหนึ่งในโควตาเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่ต้นทศวรรษที่ 2010 เมื่อภาพยนตร์เรื่อง 3 idiots (2009) ได้สร้างปรากฏการณ์ “อเมียร์ ข่าน” ขึ้น ด้วยการทำรายได้มากกว่า 3 ล้านเหรียญ ทั้งที่หนังออกฉายมาแล้วเป็นเวลา 2 ปี และแผ่นดีวีดีเถื่อนสามารถหาได้ทั่วไปตามท้องตลาด หลังจากนั้น หนังอินเดียก็ผ่านโควตาได้รับเลือกเข้ามาฉายมากขึ้น และได้รับการตอบรับจากผู้ชมมากขึ้น อนึ่งนอกจากอเมียร์ ข่านแล้ว ชารุค ข่านก็เป็นดาราอินเดียอีกคน ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากผู้ชมชาวจีน


ข้อตกลงความร่วมมือในด้านการผลิตภาพยนตร์ปี 2014

ปี 2014 ผลจากความสำเร็จของการจัดจำหน่ายภาพยนตร์อินเดียในประเทศจีน ได้ทำให้ทั้งรัฐบาลจีนและอินเดียเล็งเห็นช่องทางการกระชับความสัมพันธ์ทั้งในเชิงการทูตและธุรกิจ จึงได้จัดให้ ภาพยนตร์” ถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงทวิภาคีทางการค้าหลายๆ ข้อที่รัฐบาลทั้งสองประเทศได้เซ็นร่วมกัน ระหว่างที่ประธานาธิบดีสี่จิ้นผิงเดินทางมาเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน ปี 2014 ในส่วนข้อตกลงความร่วมมือด้านธุรกิจภาพยนตร์ รัฐบาลทั้งสองประเทศ ตกลงกันว่าจะร่วมผลิตภาพยนตร์ด้วยกัน7https://economictimes.indiatimes.com/news/economy/foreign-trade/india-china-to-ink-film-production-pact-during-xi-jinpings-visit/articleshow/42188070.cms

Zhang Hongsen ผู้อำนวยการของสำนักภาพยนตร์ (Film Bureau of China) ได้กล่าวถึงความคาดหวังต่อการร่วมมือกันของภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศไว้ว่า “ประเทศทั้งสองต่างมีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมของประเทศทั้งสองกำลังเชื่อมต่อกันภายหลังจากข้อตกลงฉบับนี้มีผล”

ในขณะที่ อาจิตต์ ฐากูร (Ajit Thakor) ซีอีโอของ บริษัท Eros Production มองว่าเป้าหมายสำคัญของการร่วมมือกันของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกสองประเทศแรกคือ การพาหนังเข้าถึงตลาดที่มีผู้ชมรวมกัน สองพันห้าร้อยล้านคนเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงค่อยพุ่งเป้าไปที่ตลาดตะวันตก “ถ้าหนังร่วมทุนเหล่านี้ประสบความสำเร็จในทั้งอินเดีย และจีน มันก็ควรจะไปฉายในที่ต่างๆ ทั่วโลกพร้อมกับซับไตเติ้ล หรือไม่ก็ฉบับพากย์ภาษาอังกฤษ”8https://www.screendaily.com/production/china-india-co-productions-a-golden-opportunity/5109969.article

ผลพวงจากข้อตกลงดังกล่าว ทำให้มีการร่วมผลิตภาพยนตร์ระหว่างกันของประเทศทั้งสอง ตามมาหลายเรื่อง อาทิ Monk Xuan Zang (2015)9https://www.hollywoodreporter.com/news/india-china-coproduction-monk-xuan-795829 ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระจีนในศตวรรษที่ 7 ที่เดินทางจาริกไปยังอินเดีย เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท China Film Group และ Eros Production นำแสดงโดยหวังเสี่ยวหมิง และ Kungfu Yoga (2017) หนังแอ็กชันโดยผู้กำกับสแตน ตงที่ผสมผสานระหว่างกังฟูซึ่งเป็นตัวแทนวัฒนธรรมจีน และโยคะซึ่งแทนวัฒนธรรมอินเดีย นำแสดงโดย แจ็คกี้ ชาน (เดิมทีเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท Taihe Entertainment ของจีน กับ Viacom 18 ของอินเดีย แต่ต่อมาบริษัทอินเดียถอนตัว เพราะหนังนำเสนอมุมจีนมากเกินไป)10http://chinafilminsider.com/film-review-kung-fu-yoga-jackie-chans-chinese-new-year-gift/ รวมถึง โปรเจกต์ The Jewel Thief หนังแอ็กชัน โดยผู้กำกับอินเดีย สิทธารถ อนันด์ (Siddharth Anand) และ The Zookeeper หนังทุน 25 ล้านเหรียญ ที่ว่าด้วยเรื่องราวของเจ้าหน้าที่ดูแลสวนสัตว์ของอินเดียที่ต้องเดินทางมาตามหาหมีแพนด้าในเมืองจีน กำกับโดย กาบิร ข่าน (Kabir Khan) ที่เดิมมีกำหนดจะสร้างตั้งแต่ปี 2018 แต่จนถึงปัจจุบันยังอยู่ในขั้นพัฒนาอยู่11http://m.china.org.cn/orgdoc/doc_1_29302_1245467.html

Kungfu Yoga (2017)

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ที่ราบรื่นระหว่างจีนและอินเดียในมิติของธุรกิจภาพยนตร์ต้องมีอันสะดุดเมื่อเข้าสู่ปี 2020 เริ่มตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โควิด 19 ในช่วงเดือนมกราคม ที่ทำให้ธุรกิจบันเทิงในจีนทุกภาคส่วนต้องหยุดชะงักลง หนังอินเดียบางเรื่องที่ถูกวางคิวฉายในประเทศจีนต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เช่น หนังเรื่อง Super 30 โดย ฤติก โรศัน (Hrithik Roshan) ซึ่งเดิมมีกำหนดว่าจะฉายช่วงหลังวิกฤตโควิด 19 แต่ก็ยังไม่มีกำหนดที่แน่นอน เพราะโรงหนังในจีนยังคงเลื่อนเปิดอย่างไม่มีกำหนด12https://www.theweek.in/news/entertainment/2020/04/13/hrithiks-super-30-to-be-1st-bollywood-film-released-in-china-post-covid-19-crisis.html และเมื่อเสริมกับเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างทหารอินเดียและจีนที่หุบเขากัลวาน ยิ่งทำให้ความกังวลว่าความสัมพันธ์ในมิติภาพยนตร์อาจได้รับผลกระทบไปด้วย “เนื่องจากภาวะโควิด 19 ตลาดหนังทุกประเทศรวมทั้งจีนประสบภาวะชะงักงัน ผู้กำกับภาพยนตร์รายหนึ่งที่ไม่ยอมเปิดเผยชื่อกล่าว “ผมไม่คิดว่ามีบริษัทสร้างภาพยนตร์รายไหนคิดถึงการฉายหนังที่นั่นจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น อีกทั้ง ยิ่งกับสถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้ด้วย ผมว่าโปรดิวเซอร์หลายรายน่าจะพยายามเลี่ยงการจัดฉายหนังที่จีนนะ”13https://www.livemint.com/news/india/bollywood-may-shun-chinese-market-for-now-11592713057715.html

ถึงตอนนี้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศอินเดียกับจีนยังไม่ดีขึ้น แม้ว่าจะมีความพยายามเจรจาทางการทูตก็ตาม ล่าสุดชาวอินเดียจำนวนมากประกาศบอยคอตสินค้าจีน14https://www.theguardian.com/world/2020/jun/18/indians-call-for-boycott-of-chinese-goods-after-fatal-border-clashes ขณะที่รัฐบาลอินเดียได้สั่งแบนแอพพลิเคชันบนมือถือของจีนกว่า 60 รายซึ่งรวมถึงแอพ Tik Tok และ WeChat15https://www.nytimes.com/2020/06/29/world/asia/tik-tok-banned-india-china.html แม้ว่าถึงตอนนี้ ยังไม่มีท่าทีตอบโต้จากภาคประชาชนและรัฐบาลจีนอย่างเด่นชัดเท่าไรนัก แต่เมื่อนับผลประโยชน์ที่อินเดียได้รับจากจีน คงไม่มีอะไรที่เปราะบางเท่ากับธุรกิจภาพยนตร์อีกแล้ว คำถามสำคัญที่อาจสร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนภาพยนตร์ของทั้งสองชาติ ก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นหากภาพยนตร์อินเดียต้องถูกห้ามฉายในประเทศจีนต่อไป และจะเกิดอะไรขึ้นกับโปรเจกต์ที่เป็นผลพวงจากข้อตกลงร่วมสร้างภาพยนตร์ของจีนและอินเดียที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2014 คำตอบของทุกคำถามล้วนแต่อยู่ในสายลม

Related NEWS

LATEST NEWS