Business Update : ควันหลง Cannes Virtual Market

แล้วตลาดหนังเสมือนของคานส์ หรือ Cannes Virtual Film Market ก็รูดม่านปิดฉากลงอย่างเงียบๆ เมื่อปลายอาทิตย์ของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมกับประสบการณ์ที่หลากหลายของผู้ซื้อและผู้ขาย อย่างไรก็ตามผู้จัดตลาดหนังเมืองคานส์ (Marche du Film) ก็ยืนยันว่างานประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยตลอดระยะเวลาหนึ่งอาทิตย์ของการจัดงาน (งานเริ่มวันที่ 22 และจบลงวันที่ 28 มิถุนายน) มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมากกว่าหนึ่งหมื่นคน (เทียบกับปีที่แล้วจำนวน 12,527 คน) โดยในจำนวนนี้มาจากภาคพื้นยุโรป 5,900 คน และอีก 1,500 คนมาจากอเมริกา นอกจากนี้ ตลอดทั้งงาน มีการฉายหนังออนไลน์แบบปิดเฉพาะให้ผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 1,235 ครั้ง ซึ่งถือว่าไม่เลวเมื่อเทียบกับงานในปีที่แล้วที่มีการฉายในหนังโรงให้กับผู้ซื้อดูทั้งหมด 1,464 ครั้ง1https://www.hollywoodreporter.com/news/cannes-declares-virtual-market-a-qualified-success-1301527

สำหรับผู้เขียน (ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกนับตั้งแต่ทำงานมาที่ไม่ได้เดินทางไปร่วมตลาดภาพยนตร์ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในโลกแห่งนี้) ได้มีโอกาสเข้าร่วมตลาดภาพยนตร์เสมือนจริงกับเขาด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ว่าไม่ได้เป็นแบบทางการ ที่เขียนว่าเป็นการเข้าร่วมงานแบบไม่เป็นทางการ ก็เนื่องจากว่า ผู้เขียนไม่ได้ลงทะเบียนจ่ายเงิน เพราะเล็งเห็นว่าในสภาพธุรกิจที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร การเลือกติดต่อกับผู้ขายที่คุ้นเคย และเชื่อใจได้ รวมถึงการใช้เวลาไปกับการหาบริษัทขายหนังที่มีสินค้าที่น่าสนใจจริงๆ น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า

และจากการที่ได้ร่วมงานตลาดหนังเสมือน (อย่างไม่เป็นทางการ) ของคานส์ในปีนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ รวมถึงได้มีโอกาสสำรวจความเป็นไปของธุรกิจภาพยนตร์ จนอดไม่ได้ที่จะนำมาแบ่งปันให้ผู้อ่าน (ที่สนใจแวดวงธุรกิจภาพยนตร์โลก) ดังนี้


1. ตลาดหนังเสมือน (Virtual market) ความจำเป็นชั่วคราวที่ยังไม่สามารถทดแทนตลาดจริง (Physical market) ได้

โดยคอนเซปต์หลักของตลาดหนังเสมือนคือ การนัดพบพูดคุยซื้อขายภาพยนตร์ผ่านระบบออนไลน์ โดยรูปแบบที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือการประชุมพูดคุยผ่าน zoom ปัญหาที่ผู้เขียนประสบได้แก่ ความแตกต่างกันของโซนเวลา โดยเฉพาะผู้ขายที่อยู่ในโซนยุโรปและอเมริกาที่มีเวลาห่างกัน 5-14 ชั่วโมง ทำให้บางครั้งการอาจเกิดความสับสนจนลืมเวลานัดได้ นอกจากนี้ความไม่เสถียรของระบบอินเทอร์เน็ตส่งผลให้การประชุมบางครั้งเกิดความไม่ราบรื่น อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับคุณูปการในภาพรวม ก็ต้องถือว่าปัญหาเหล่านี้เป็นเพียงปัญหาหยุมหยิมที่ไม่ส่งผลต่อการเจรจาทางธุรกิจเท่าใดนัก สิ่งที่ถือว่าเป็นข้อดีของตลาดเสมือนอย่างเห็นได้ชัดคือ ค่าใช้จ่ายที่ถูกลงอย่างมากมายเมื่อเทียบกับตลาดจริง โดยเฉพาะค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเช่าบูธ ค่าลงทะเบียนเข้าตลาด ฯลฯ ที่ไม่ต้องเสีย ขณะที่การเจรจาในตลาดเสมือน ค่าใช้จ่ายเพียงอย่างเดียวที่อาจต้องเสียคือค่าสัญญาณอินเทอร์เน็ต

แต่ถึงอย่างไร ในมุมมองของผู้เขียน ตลาดจริงยังคงมีความสำคัญในแง่ของการเป็นพื้นที่ในการพบปะเจรจาที่มีความสะดวกและมีความเป็นระบบ ผู้ซื้อผู้ขายไม่ต้องมากังวลเรื่องความแตกต่างของโซนเวลา เพียงแค่นัดเวลาตามที่ต้องการเท่านั้น และที่สำคัญ ตลาดจริงยังกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายภาพยนตร์ใหม่ๆ ที่มีศักยภาพทางธุรกิจในอนาคต กล่าวคือสำหรับผู้ขาย ตลาดจริง โดยเฉพาะตลาดใหญ่ๆ อย่างคานส์ จะกระตุ้นให้พวกเขาต้องพยายามเข็นโปรเจกต์หนังที่ดีที่สุดออกมาขาย ยิ่งหนังสร้างกระแสความฮือฮา (buzz) ในตลาดมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะขายทำกำไรก็มีสูง ขณะที่ตลาดเสมือนไม่สามารถกระตุ้นให้พวกเขาทำอย่างนั้นได้ หลายบริษัทจึงเลือกที่จะรอเปิดตัวโปรเจกต์ใหม่ๆ ในตลาดจริงถัดไป (ซึ่งหวังว่าจะเกิดขึ้น)

ส่วนผู้ซื้อ ตลาดจริงจะช่วยให้พวกเขาได้เห็นสินค้าในสภาพต่างๆ ตั้งแต่ยังอยู่ในขั้นพัฒนา ไปจนถึงหนังที่เสร็จแล้ว บางบริษัทจะเชิญผู้สร้าง ผู้กำกับมาให้ข้อมูลหนังที่กำลังจะสร้าง หรือกำลังอยู่ในขั้นตอนการสร้าง การที่ผู้ซื้อได้เข้าร่วม event ประเภทนี้จะช่วยทำให้เข้าใจสินค้ามากขึ้น และหากมีคำถามใดๆ เกี่ยวกับหนังก็สามารถถามผู้สร้างได้เลย ส่วนหนังที่เสร็จแล้ว การที่ผู้ซื้อได้มีโอกาสชมในโรงภาพยนตร์ที่ผู้ขายจัดไว้ ก็จะช่วยทำให้การตัดสินใจใดๆ มีประสิทธิภาพมากกว่าการดูผ่านช่องทางออนไลน์


2. ภาวะหนังพร้อมฉายล้นสต๊อก

จากการได้มีโอกาสพบปะบริษัทขายหนังหลายบริษัท ผู้เขียนพบว่า สิ่งที่เกือบทุกบริษัทมีเหมือนกัน คือหนังที่เสร็จพร้อมฉายค้างสต็อกเป็นจำนวนมาก หลายบริษัทเลือกขายแบบลดราคากระหน่ำซัมเมอร์เซลส์ แต่ปัญหาที่ผู้เขียน และผู้ซื้อรายอื่นๆ ต้องเจอคือ หนังเหล่านี้มีขนาดเล็กเกินไป ธรรมดาเกินไป และที่สำคัญ ยังไม่มีอนาคตว่าจะได้ฉายเมื่อไหร่ เพราะหนังส่วนใหญ่ก็ผลิตในประเทศที่สถานการณ์ของโรคโควิด 19 ยังไม่คลี่คลาย โรงภาพยนตร์ยังไม่มีกำหนดเปิด และถ้าโปรดิวเซอร์เลือกที่จะจัดฉายหนังเรื่องนี้ในช่องทาง Video on Demand มันก็เปล่าประโยชน์ที่ผู้ซื้อจะซื้อมาจัดจำหน่ายในโรงภาพยนตร์ เพราะไม่นานหลังจากที่หนังเหล่านี้ออกฉายในประเทศต้นทาง ลิงค์หนังแบบละเมิดลิขสิทธิ์ก็จะหาพบได้ทั่วไป ส่งผลให้มูลค่าทางการตลาดลดลง แม้ว่าจะสามารถผลักดันให้หนังฉายโรงได้ ก็แทบไม่คุ้มอยู่ดี ครั้นจะซื้อหนังเหล่านี้มาก่อน แล้วขายสิทธิต่อให้ช่องทางอื่นๆ เช่น โทรทัศน์ หรือ วิดีโอออนดีมานด์อื่นๆ แต่ช่องทางเหล่านี้ก็สร้างรายได้ไม่เท่ากับการจัดจำหน่ายทางโรงภาพยนตร์อยู่ดี และที่สำคัญไม่ใช่หนังทุกเรื่องที่ช่องทางเหล่านี้จะรับซื้อ


3. อนาคตที่ยังมองไม่เห็นของ presale projects

โปรเจกต์ประเภทนี้คือ โปรเจกต์ที่ยังไม่ได้เริ่มสร้าง แต่ผู้ขายเสนอขายสิทธิล่วงหน้าไปก่อน ในอดีต โปรเจกต์ที่มีขนาดใหญ่ มีทุนสร้างสูง มีดารานำขายได้ มักเป็นพระเอกและนางเอกของตลาดจริงอยู่เสมอ เพราะเป็นที่จับจ้องของผู้ซื้อก่อนที่ตลาดจะเริ่มเสียอีก ยิ่งโปรเจกต์มีศักยภาพมากเท่าใด การแข่งขันก็จะเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น แต่กับตลาดเสมือนในปีนี้ ดูเหมือนผู้ซื้อและผู้ขายต่างระมัดระวังตัวกันมาก เพราะผู้ขายเองก็ไม่รู้ว่า โปรเจกต์นี้จะได้สร้างเมื่อไหร่ โดยเฉพาะหนังอเมริกันที่เป็นที่ต้องการตลอดมา และในสภาวะที่ยังหาจุดคลี่คลายของวิกฤตโควิด 19 ไม่เจอแบบนี้ ไม่มีผู้ขายคนไหนสามารถตอบคำถามสำคัญได้ว่า หนังจะสร้างเสร็จเมื่อไหร่ และจะออกฉายตอนไหน การมุ่งจะขายโดยที่ยังไม่รู้ว่าอนาคตของหนังจะเป็นอย่างไร สุดท้ายอาจกลายเป็นผลเสีย หรือ backfire ของบริษัทขายในอนาคตก็ได้ เพราะถ้าหนังเกิดไม่ได้สร้างขึ้นมา ก็ต้องเสียเครดิตอย่างรุนแรง ส่วนผู้ซื้อก็ต้องระมัดตัวในการจับจ่ายมากเป็นพิเศษ กับสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ การซื้อโปรเจกต์ที่ยังไม่มีอนาคตมาอาจสร้างปัญหาได้ เพราะถ้าสุดท้ายหนังไม่ได้สร้าง ก็ต้องปวดหัวกับการยกเลิกสัญญา และต้องหาทางเรียกคืนเงินมัดจำให้วุ่นวาย (ในกรณีที่ต้องจ่ายมัดจำทันทีที่เซ็นสัญญา)


4. หนังอาร์ทต้องรอก่อน

เห็นได้ชัดเลยว่า การขาด event ในส่วนการประกวดภาพยนตร์ของคานส์ ทำให้ความน่าสนใจของหนังอาร์ทเฮ้าส์ (สำหรับผู้ซื้อภาพยนตร์หลายราย) ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะในอดีต การที่หนังในสายประกวดถูกพูดถึงในแง่บวกจากนักวิจารณ์และคนดู ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่หนังโดยอัตโนมัติ หนังในสายประกวดบางเรื่อง เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อถึงขนาดต้องมีการเสนอราคาแข่งขันเพื่อปิดดีลก่อนที่ผลประกาศรางวัลจะออกมาเสียอีก แต่มาปีนี้ สิ่งที่พิสูจน์ได้อย่างหนึ่งคือ ต่อให้หนังมีโลโก้คานส์ประทับอยู่ ก็หาได้สร้างความศักดิ์สิทธิ์ไม่ หากหนังเรื่องนั้นไม่ได้ถูกฉายในรอบการประกวด และถูกพูดถึงจากทั้งนักวิจารณ์และผู้ชม จริงอยู่แม้ว่าในลิสต์ของหนังที่ได้รับเลือกจากคานส์ปีนี้อาจมีหนังที่มีคุณค่าอยู่บ้าง แล้วก็ดูไม่แฟร์ที่ตัดสินคุณภาพหนังจากกระแส แต่นี่คือความจริงของธุรกิจหนังประเภทนี้ที่ทุกคนอาจต้องยอมรับ

อนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจเป็นการส่วนตัวของผู้เขียน จากการได้มีโอกาสพบปะกับผู้ขายในตลาดหนังเสมือนจริงครั้งนี้ ก็คือ รูปแบบการพูดคุยที่เหมือนกันแบบเป๊ะๆ เริ่มจากการไต่ถามถึงสารทุกข์สุขดิบของแต่ละฝ่าย ไล่ไปสถานการณ์ของธุรกิจภาพยนตร์ที่กำลังเผชิญอยู่ ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นหลักคือการนำเสนอสินค้า แล้วจบลงด้วยการให้กำลังใจซึ่งกันและกันว่าเราจะผ่านปีแย่ๆ ไปด้วยกัน รูปแบบของการพูดคุยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าปีนี้เป็นปีที่ท้าทายมากๆ ของธุรกิจภาพยนตร์ แต่เหนือสิ่งอื่นใด พวกเราต่างคาดหวังว่าในภาวะที่ New Normal กำลังเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่างในโลกใบนี้ ยังไงก็ขอให้รูปแบบเดิมๆ ของธุรกิจภาพยนตร์ยังคงอยู่บ้าง โดยเฉพาะการดำรงอยู่ของตลาดภาพยนตร์แบบจริง (Physical film markets)

Related NEWS

LATEST NEWS