นีนา ซีโมน ศิลปินผิวสีผู้มาก่อนวัฒนธรรม MV กับเพลง Mississippi Goddam ที่ไม่มีใครอยากให้อยู่ ‘เหนือกาลเวลา’

2020

ในโลกยุคปัจจุบันที่ ‘ดนตรี’ กับ ‘ภาพเคลื่อนไหว’ แทบจะกลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกันผ่านสื่อที่เปี่ยมทั้งเทคนิคและสีสันอย่าง มิวสิก วิดีโอ (Music Video หรือ MV) ผมเพิ่งมีโอกาสได้เปิดดูคลิปการแสดงสดในโทนขาว-ดำของเพลงเก่าเพลงหนึ่งใน YouTube ด้วยความรู้สึกท่วมท้นเต็มตื้น

เพลงดังกล่าวคือ Mississippi Goddam ของศิลปินหญิงผิวสีระดับตำนานอย่าง นีนา ซีโมน ที่ถูกหลายฝ่ายยกย่องให้เป็นผลงานที่อยู่ ‘เหนือกาลเวลา’ ไม่ว่าจะด้วยท่วงทำนอง ลีลาการร้อง หรือเนื้อหาที่ ‘จับใจ’ ทั้งคนดูและคนฟังอย่างที่ใครก็คงปฏิเสธไม่ได้

มันเป็นเพลงที่พูดถึง ‘ความทุกข์ทนของคนผิวสี’ ในสังคมอเมริกันยุค 60 ที่ถึงคราว ‘ต้องยุติ’ ลงเสียที

และมันก็ยังเป็นเพลงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้แต่ง/ผู้ขับร้องอย่างซีโมนไปตลอดกาลอีกด้วย


1963

You’re all gonna die and die like flies.

มันเป็นเดือนมิถุนายนที่ดำเนินไปท่ามกลางความรู้สึกเหน็บหนาวจับขั้วหัวใจสำหรับคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา เมื่อเพื่อนร่วมเชื้อชาติของพวกเขาต้อง ‘ล้มตาย’ จากการเข้าเข่นฆ่าโดยบรรดาผู้ที่เกลียดชัง – ล้มตายอย่างง่ายดายราวกับ ‘แมลงวัน’ ในบทเพลงที่กำลังจะถือกำเนิดขึ้นในอีกไม่ช้าของนีนา ซีโมน นักดนตรีสาวคนดังวัย 30 ปี

ในเดือนนั้น เธอได้เห็นข่าวการเสียชีวิตของ เม็ดการ์ เอเวอร์ส -นักกิจกรรมผู้เคลื่อนไหวด้านสิทธิการศึกษาของคนผิวสี- ที่ถูกยิงเข้าจากทางด้านหลังขณะก้าวลงจากรถตรงบริเวณหน้าบ้านของตัวเองในเมืองแจ็คสัน รัฐมิสซิสซิปปี รวมถึงข่าวการวางระเบิดโบสถ์ของคนผิวสีที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บถึง 22 คนและมี ‘เด็กหญิงผิวสี’ ต้องเสียชีวิตอีกถึง 4 คนด้วยสภาพ ‘ฉีกขาดราวตุ๊กตา’ ในเมืองเบอร์มิงแฮม รัฐแอละแบมา ในเดือนกันยายน-หรือก็คืออีกเพียง 3 เดือนถัดมา-ของปีเดียวกัน ซึ่งเบื้องหลังโศกนาฏกรรมทั้งหมดนั้นเป็นผลมาจาก ‘ความเกลียดชังที่มีต่อคนผิวสี’ ของกลุ่มคนผิวขาวผู้คลั่งความรุนแรงอย่าง White Citizens’ Councils และ Ku Klux Klan

ความรุนแรงอันถึงเลือดถึงเนื้อเหล่านี้เป็นเสมือน ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ที่ทำให้ซีโมน-ผู้เคยเห็นความอยุติธรรมที่คนผิวขาวปฏิบัติต่อคนผิวสีรอบข้างมาตั้งแต่เด็ก และเคยถูกปฏิเสธจากสถาบันดนตรีคลาสสิกชั้นนำในช่วงวัยรุ่น-รู้สึก ‘โกรธแค้น’ สังคมอเมริกันจนถึงขั้นอยาก ‘ออกไปยิงใครสักคนทิ้ง’ ให้รู้แล้วรู้รอด ก่อนที่ แอนดรูว์ สเตราด์ สามีและผู้จัดการของเธอจะเตือนสติว่า “นีนา, คุณจะเที่ยวออกไปฆ่าใครต่อใครไม่ได้หรอกนะ คุณเป็นนักดนตรี ทำสิ่งที่คุณถนัดเถอะ” เธอจึงได้สติ และร้อยเรียงความรู้สึกแค้นเคืองที่คุกรุ่นอยู่ภายในอกนั้นออกมาเป็น ‘บทเพลง’ ด้วยเวลาเพียงไม่ถึงชั่วโมง

เธอเลือกบ่นระบายถึง ‘ความทุกข์ยากในสังคมแห่งการแบ่งแยก’ ผ่านสิ่งที่เธอรักที่สุดอย่าง ‘ดนตรี’ และ “มันปะทุออกมาจากตัวฉันอย่างรวดเร็วรุนแรงเกินกว่าที่จะสามารถจดตามได้ทันด้วยซ้ำ”


1964

I think every day’s gonna be my last.

ซีโมนคร่ำครวญถึงอนาคตอันไม่แน่นอนของตนกับเพื่อนๆ ร่วมผิวสี-ที่อาจถูกทำร้ายหรือปลิดชีพเมื่อไหร่ก็ย่อมได้-ผ่านบทเพลงที่เธอแต่งขึ้น โดยหวังแค่ว่าคนผิวขาว-ผู้มีอำนาจทางสังคมเหนือกว่า-จะยอม ‘หยุดฟัง’ พวกเธอบ้าง

เพลงนี้ถูกเธอนำไปขับขานต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรกที่ไนต์คลับชื่อ Village Gate ในย่านกรีนิช วิลเลจของแมนแฮตตันเมื่อช่วงต้นปี คล้ายกับเป็นการเรียกร้องให้คนอเมริกันออกมา ‘เคลื่อนไหว’ กับแนวคิดการแบ่งแยกผิวสีใน 3 รัฐสำคัญอย่างแอละแบมา, เทนเนสซี และมิสซิสซิปปี – ซึ่งล้วนเป็นรัฐที่ความอยุติธรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงที่สุดในยุคนั้น

กระทั่งในเดือนมีนาคม ซีโมนก็ตัดสินใจร้องเพลงนี้ต่อหน้าผู้ชม-ที่ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว-อีกครั้ง ณ คาร์เนกี ฮอลล์ ในกรุงนิวยอร์ค โดยที่ไม่มีใครได้ทันตั้งตัว “ชื่อของเพลงนี้คือ Mississippi Goddam และฉันหมายความตามนั้นทุกถ้อยคำ” เธอกล่าวไว้ในช่วงต้นของการแสดงด้วยน้ำเสียงมึนตึง ซึ่งด้วยชื่อเพลงและเนื้อหาที่มี ‘คำหยาบ’ เป็นส่วนประกอบนี้ (Goddam, Goddamn หรือ God damn it ที่แปลแบบรวบรัดตัดตอนได้ว่า ‘ฉิบหาย!’) ก็ทำให้ผู้ชมผิวขาวพากันคิดว่ามันเป็นเพียงแค่ ‘มุกตลก’ ของซีโมน-ผู้มีนิสัยโผงผางเป็นทุนเดิม จนพวกเขาหลุด ‘หัวเราะ’ ออกมา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หญิงสาวผิวสีบนเวทีกำลังเล่นเพลงนี้-ที่มีท่วงทำนองอันเร่งเร้าและวิธีการร้องอันก้องกังวานราวบทสวด-ด้วยหัวอกที่ตรอมตรมขมไหม้

และเมื่อหลายบทเพลงที่ซีโมนแสดงสดในคาร์เนกี ฮอลล์ถูกนำมารวบรวมไว้ในอัลบั้ม Nina Simone in Concert ในปีนั้นเอง เพลง Mississippi Goddam ก็กลายมาเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ครั้งสำคัญในอาชีพศิลปินของเธออย่างเป็นทางการ เพราะนอกจากมันจะทำให้เธอหันมาสนใจโลกการเมืองมากขึ้นแล้ว มันก็ยังถือเป็นหนึ่งใน ‘เพลงปลุกใจ’ ระหว่างการเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองของคนผิวสีในอเมริกาอีกด้วย

แต่แน่นอนว่า ด้วยเนื้อหาอันเข้มข้นเดือดดาลของมันก็ทำให้เพลงนี้ถูกสั่ง ‘ห้ามเปิด’ ในหลายรัฐทางตอนใต้-ซึ่งเป็นพื้นถิ่นที่คนผิวขาวแสดงทีท่ารังเกียจคนผิวสีอย่างออกหน้าออกตา แถมแผ่นเสียงสำหรับโปรโมตเพลงก็ยังถูกส่งกลับมาในสภาพที่ ‘หักครึ่ง’ เสียอีก โดยสถานีวิทยุหลายแห่งอ้างว่า สาเหตุที่พวกเขาต้องทำเช่นนี้ก็เพราะเพลงมีการใช้คำหยาบคายที่พวกเขารับไม่ได้เท่านั้นเอง หาได้เกี่ยวพันกับการเหยียดสีผิวไม่

ฉะนั้น แม้มันจะเป็นเพลงที่ส่งอิทธิพลต่อผู้ฟังของเธอมากที่สุดเพลงหนึ่ง …แต่มันก็ยังเป็นผลงานที่ ‘ทำร้าย’ อาชีพศิลปินของเธอไปพร้อมๆ กันด้วย


1965

“ฉันไม่เคยชอบ ‘เพลงประท้วง’ เลย”

ซีโมนกล่าวไว้ใน I Put a Spell on You หนังสืออัตชีวประวัติที่จะถูกตีพิมพ์ตามออกมาในปี 1992 “เพราะหลายเพลงมันก็ช่างเรียบง่ายและไร้จินตนาการเสียเหลือเกิน มันปลดเปลื้องศักดิ์ศรีจากผู้คน (ที่ออกมาต่อสู้เรียกร้อง) แล้วก็พยายามที่จะเฉลิมฉลองมากไปหน่อย” แถมเธอยังบอกอีกด้วยว่า การสรุปรวบยอดชีวิตของ ‘ผู้เสียสละ’ เหล่านี้ลงในบทเพลงที่มีความยาวแค่ 3 นาทีครึ่งนั้น เป็นเรื่องที่ ‘มักง่าย’ เกินไป

Oh, but this whole country is full of lies.

ข้อเท็จจริงนี้ที่ซีโมนเคยร้องเอาไว้อาจช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดเดียดฉันท์ที่เธอมีต่อ ‘เพลงประท้วง’ ในเวลานั้นไปเสียฉิบ เพราะเมื่อไม่มีทางเลือกใดที่ดีกว่าการออกมาแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ เธอจึงจำต้องใช้ ‘เพลง’ เป็น ‘เครื่องมือ’ ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิพลเมืองที่เท่าเทียมให้แก่คนผิวสี โดยในเดือนมีนาคม ปี 1965 -อันเป็นเวลาครบรอบหนึ่งปีพอดีหลังจากการแสดงสดที่คาร์เนกี ฮอลล์- เธอเลือกร้องเพลงนี้ต่อหน้าผู้คนเรือนหมื่นในช่วงท้ายๆ ของการเดินขบวนประท้วงครั้งสำคัญของคนผิวสีในรัฐแอละแบมา ซึ่งเป็นการร่วมออกเดินเท้าจากเมืองเซลมาไปยังเมืองหลวงอย่างมอนต์โกเมอรี ภายใต้ระยะทางที่ยาวไกลถึง 87 กิโลเมตร โดยใช้เวลาทั้งหมด 18 วัน

ซีโมนยืนร้องเพลงนี้ไปตามเสียงกีตาร์หม่นเศร้าอยู่บน ‘โลงศพเปล่า’ ที่ถูกใช้เป็นเวทีชั่วคราว เพื่อเป็นการส่งสารถึงผู้คนในสังคมว่า คนผิวสีอย่างพวกเธอ ‘เหลืออด’ เพียงใดกับความสูญเสียที่ผ่านมาทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ Mississippi Goddam จึงขึ้นแท่นเป็น ‘เพลงสิทธิพลเมือง’ เพลงแรกของเธออย่างเต็มภาคภูมิ และหลังจากนั้น เธอก็ยังคงออกมาร้องเพลงอื่นๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิอีกหลายเพลง ไม่ว่าจะเป็น Four Women (1966) ที่ชี้ให้เห็นถึงชีวิตอันยากเข็ญของผู้หญิงผิวสี 4 นางจากหลากหลายบทบาท; Backlash Blues (1967) ที่ตอกย้ำถึงสถานะ ‘พลเมืองชั้นสอง’ ของคนผิวสี; Ain’t Got No, I Got Life (1968) ที่พยายามยืนยันว่า แม้จะถูกสังคมกีดกันจนแทบไม่เหลือคุณค่าอะไร แต่คนผิวสีก็ยังมีชีวิตและจิตวิญญาณอันเสรี; Why? (The King of Love Is Dead) (1968) ที่อุทิศให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ผู้ถูกลอบสังหารอย่าง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ หรือ Be Young, Gifted and Black (1969) ที่พร่ำบอกให้คนผิวสีรุ่นใหม่จงภาคภูมิใจในเชื้อชาติของตัวเอง

บัดนั้น, ซีโมนจึงกลายมาเป็นศิลปินที่มี ‘ภาพจำ’ ในฐานะของ ‘นักรณรงค์สิทธิคนผิวสี’ โดยสมบูรณ์


2020

I don’t belong here. I don’t belong there.

I’ve even stopped believing in prayer.

เกือบ 6 ทศวรรษถัดมา การร้องบรรเลงเพลงนี้ของซีโมนก็ยังคงฟังดู ‘ร่วมสมัย’ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อการเสียชีวิตของชายผิวสีที่ชื่อ จอร์จ ฟลอยด์ อันเป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่อันหละหลวมของตำรวจ-ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว-ในรัฐมินเนโซตานั้น ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวด้านสิทธิของคนผิวสีไปทั่วประเทศอเมริกาอีกครั้งอย่างใหญ่โตเกินคาด

‘ความรู้สึกท่วมท้น’ ที่ผมมีต่อความงดงามทางดนตรีจากการรับชม-รับฟังในครั้งแรกนั้น จึงค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปเป็น ‘ความรู้สึกหดหู่’ ที่มีต่อสารอันแสนจะร่วมสมัยของเนื้อหาแทน

ย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่การขับขาน Mississippi Goddam และเพลงประท้วงเพลงอื่นๆ แทบไม่ได้ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันอย่างเป็นรูปธรรมเลย ซีโมนผู้สิ้นหวังได้ตัดสินใจ ‘ลาขาด’ จากประเทศเกิดในปี 1970 โดยออกเดินทางรอนแรมเล่นดนตรีไปในหลายประเทศ ทั้งบาร์แบโดส, สวิตเซอร์แลนด์, ฝรั่งเศส และไลบีเรีย – ซึ่งก็เป็นประเทศสุดท้ายนี้เองที่เธอบอกว่า ‘อยู่แล้วมีความสุขที่สุด’ ราวกับเธอได้หวนคืนสู่รากเหง้าคนผิวสีของตน และได้ใช้ชีวิตในที่ทางที่เธอควรอยู่จริงๆ เสียที

อย่างไรก็ดี ในปี 2019 ที่ผ่านมา -หลังการจากไปของซีโมนในปี 2003 ด้วยวัย 70 ที่ฝรั่งเศส- เพลง Mississippi Goddam ที่เคยถูกคนผิวขาวหยามเหยียดนั้น เพิ่งจะได้รับเลือกจากหอสมุดรัฐสภาของอเมริกาให้เป็นบทเพลงที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ ทั้งในแง่ของวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์ ซึ่งมันอาจถือเป็น ‘ความยุติธรรม’ เพียงหนึ่งเดียวที่เธอเคยได้รับจากเพลงนี้ตลอดชั่วชีวิตของศิลปินผิวสีอย่างเธอ

และแม้ว่าเพลงนี้จะไม่ได้มี ‘งานภาพเคลื่อนไหวประกอบเพลง’ อย่างมิวสิก วิดีโอ -ซึ่งเพิ่งจะเข้ามามีบทบาทจนกลายเป็นวัฒนธรรมสำคัญประจำโลกดนตรีนับจากยุค 80- มาช่วยสร้าง ‘ภาพจำ’ ที่น่าสนใจให้กับตัวเพลงเหมือนศิลปินรุ่นหลังๆ แต่คลิปการแสดงสดเพลงนี้ที่ดูเก่าจนขึ้นหิ้งของซีโมน ก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่บ้างตาม YouTube ซึ่งหลายคลิปนั้นก็ออกมา ‘ทรงพลัง’ ได้โดยแทบไม่ต้องพึ่งพาเทคนิคอันน่าตื่นตาใดๆ ตามวิถีของมิวสิก วิดีโอในปัจจุบันเลย

คลิปที่ผมได้รับชมเป็นของยูสเซอร์นาม แอรอน โอเวอร์ฟิลด์ ที่ถูกอัพโหลดมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2013 โดยเจ้าของระบุว่า มันคือการแสดงสดที่อองทีบส์ ประเทศฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาคม ปี 1965 -หรือก็คืออีก 4 เดือนให้หลังจากเหตุการณ์เดินขบวนประท้วงในเมืองเซลมา- เราจึงได้เห็นซีโมนในชุดเดรสส์ยาวร่วมเล่นเปียโนด้วยท่าทีขึงขังกับเหล่าเพื่อนนักดนตรีของเธอบนเวที ซึ่งถึงการตัดต่อในคลิปจะดูฉึบฉับเข้ากับจังหวะเพลงที่เร่งเร้าจนเกือบเริงร่า แต่ผู้ชมหลายคนก็ยังคงสัมผัสได้ถึงสีหน้าแววตาที่ดู ‘มึนตึง’ ของซีโมนขณะถ่ายทอดเนื้อหาที่ว่าด้วยความทุกข์ของคนผิวสีอยู่ดี

จนถึงตอนนี้ คลิปเพลงดังกล่าวมียอดเข้าชมสูงถึง 2.3 ล้านวิวแล้ว (ยอดนี้เพิ่มขึ้นจากเมื่อปีกลายอยู่หลายแสน) ซึ่งเมื่อพิจารณาจากความคิดเห็นจำนวนมากที่มีทั้งโศกเศร้า โกรธเกรี้ยว และสิ้นหวัง ก็น่าจะพออนุมานได้ว่า เป็นเพราะโศกนาฏกรรมซ้ำซากของของคนผิวสีอย่างจอร์จ ฟลอยด์นี่เองที่ทำให้คลิปนี้ถูกเปิดดู-เปิดฟังกันอย่างไม่หยุดหย่อน

ดังนั้น หากแม้ในวันหนึ่งข้างหน้า คลิปการแสดงสดนี้จะต้องถูกลบออกจาก YouTube เนื่องด้วยปัญหาด้านลิขสิทธิ์ที่อาจเกิดขึ้น แต่ ‘สาร’ ของมันก็น่าจะยังฝังติดอยู่ในความทรงจำของผู้คนที่กดเข้ามารับชมไปอีกแสนนาน


20XX

“ชื่อของเพลงนี้คือ Mississippi Goddam และฉันหมายความตามนั้นทุกถ้อยคำ”

น้ำเสียง ‘มึนตึง’ ของซีโมนในคาร์เนกี ฮอลล์ที่ปรากฏในช่วงต้นของเพลงยังคงชัดเจนในหมู่ผู้ฟังเสมอมา แม้ว่ามันจะไม่ได้ถูกบันทึกเป็น ‘ภาพ’ เอาไว้ก็ตาม — เช่นเดียวกับเสียงหัวเราะของผู้ชมผิวขาวในเพลงเดียวกัน ที่ก็ยังคงดังก้องอยู่ไม่เคยเปลี่ยน

เสียงหัวเราะที่ทำให้การไขว่คว้าสิทธิความเท่าเทียมของประชาชนคนผิวสีอย่างเธอ ‘ยังคง’ เป็นเพียงแค่ ‘มุกตลก’ บนเวทีคอนเสิร์ต

พวกเขาจึง ‘ยังคง’ ต้องครวญบทเพลงเดิมอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า…

You don’t have to live next to me, just give me my equality.

…บทเพลงที่คงไม่มีมนุษย์คนไหนอยากให้ ‘สารอันแสนเศร้า’ ของมันอยู่ ‘เหนือกาลเวลา’ อีกต่อไป

ธีพิสิฐ มหานีรานนท์
นักเขียนอิสระ, อดีตบรรณาธิการนิตยสารหนัง BIOSCOPE, นักแสดง GAY OK BANGKOK และแฟนซีรีส์วาย

RELATED ARTICLES