Blog Page 17

หนทางสู่บ้านของต๊ะ : การกลับไปหาเครือข่ายที่โยงใยระหว่างมนุษย์และนอกเหนือจากมนุษย์

สีเขียวดูจะเป็นองค์ประกอบหลักในนิทรรศการศิลปะจัดวาง The Longest Way Round is the Shortest Way Home โดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล ซึ่งมีภัณฑารักษ์คือ Loredana Pazzini-Paracciani จัดแสดงที่ Gallery VER ระหว่างวันที่ 11 กรกฎาคม – 22 สิงหาคม 2020

ภาพจาก Gallery VER

ฉากสีเขียว (green screen) ที่เป็นทั้งจุดเริ่มต้นและจุดจบของวิดีโอจัดวางฉายภาพชีวิตชายชาวไทใหญ่ที่นนทวัฒน์อาสาพาเขากลับบ้านที่รัฐฉาน หลังจากเขาไม่ได้กลับไปพบครอบครัวและเพื่อนฝูงกว่า 6 ปี ลำแสงสีเขียวจากเครื่องโปรเจ็กเตอร์ตกลงบนจอรับภาพสีขาว ก่อนจะสะท้อนลำแสงกระจายทั่วทั้งห้องปกคลุมและสร้างบรรยากาศแปลกประหลาด

สีเขียวเดียวกันนี้ยังใช้เป็นองค์ประกอบหลักของงานแสดงวิดีโอเรื่องเล่าจากชาวไทใหญ่ ที่ประกอบอาชีพหลากหลายตั้งแต่ธุรกิจสีเทาไปจนถึงขายเครื่องสำอาง นนทวัฒน์สัมภาษณ์และบันทึกเสียงไว้ แต่ปกปิดใบหน้าพวกเขา ตามคำประกาศด้านหน้าห้องแสดงผลงาน แม้เขาจะบอกว่านี่เป็นการแสดงถึงสภาะวะการไม่มีตัวตน (invisibility) ของแรงงานไทใหญ่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง นนทวัฒน์ก็ให้สัมภาษณ์ว่ากังวลถึงความเป็นส่วนตัวและประเด็นที่อ่อนไหว

Vertigo, Alfred Hitchcock, 1958

แสงสีเขียวทำให้ผู้เขียนนึกถึงสีที่ใช้เป็นองค์ประกอบหลักทั้งเสื้อผ้า ไปจนถึงอุปกรณ์ประกอบฉากใน Vertigo (1958) ของ Alfred Hitchcock โดยมี Kim Novak ผู้รับบทเป็นทั้ง Judy Barton สาวบ้านนาล่าฝัน และ Madeleine Elster สาวสูงศักดิ์ผู้โดดเดี่ยวเศร้าสร้อย ในทางหนึ่ง Vertigo ก็แสดงให้เห็นสภาวะอ่อนเปลี้ยเสียขาของระบบความยุติธรรมและสังคมชายเป็นใหญ่ผ่านนายตำรวจรัฐแคลิฟอร์เนีย Scottie ผู้ตกหลุมรักหญิงสาวต่างวัย แต่ไม่สามารถรักษาชีวิตของเธอไว้ได้ พร้อมๆ กัน ภาพยนตร์ย้ำเตือนถึงภัยคุกคามของรัฐปิตาธิปไตยและทุนนิยมผ่านตัวละครอย่างนักธุรกิจ Gavin Elster ผู้วางแผนฆาตกรรมภรรยาตนเอง โดยใช้ตำรวจ Scottie ซึ่งคือเพื่อนของตัวเองมาร่วมปกปิดหลักฐานโดยที่ Scottie ก็ไม่รู้ตัว

สีเขียวใน Vertigo มิใช่เป็นเพียงสื่อกลาง (media) ที่สร้างบรรยากาศชวนกระอักกระอ่วน แต่ยังเป็นผู้กระทำ (agency) ที่สำคัญในการทลายโลกทัศน์สมัยใหม่ที่มีวัฒนธรรมตะวันตกเป็นศูนย์กลาง ผ่านเรื่องจิตวิญญาณหรือผี (spiritual) โลกสมัยใหม่ที่ยึดมั่นในวิทยาศาสตร์และการสร้างองค์ความรู้ แม้แต่ศาสนาและความเชื่อก็ถูกแปรสภาพจัดให้เป็นศาสตร์นั่นคือเทววิทยา แต่สำหรับสีเขียวใน Vertigo ยังสร้างสภาวะที่ทั้งหลอกและเล่าข้อเท็จจริงแก่ผู้ชม ชวนให้ตั้งคำถามว่ามีผี Carlotta Valdes หรือไม่ หรือ Madeleine เสียชีวิตแล้วหรือยัง 

สีเขียวใน Vertigo มิใช่เป็นเพียงสื่อกลาง (media) ที่สร้างบรรยากาศชวนกระอักกระอ่วน แต่ยังเป็นผู้กระทำ (agency) ที่สำคัญในการทลายโลกทัศน์สมัยใหม่ที่มีวัฒนธรรมตะวันตกเป็นศูนย์กลาง ผ่านเรื่องจิตวิญญาณหรือผี (spiritual)

Courtesy of Loredana Pazzini-Paracciani

โถงทางเดินเข้าห้องชมวิดีโอจัดวางมีภาพสานด้วยไม้ไผ่ ภาพของ “ต๊ะ” หนุ่มไทใหญ่ที่เข้ามาทำมาหากินที่เชียงใหม่ ภาพของเขาขณะผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองไม่กี่เดือนก่อนการระบาดของโรคโควิด 19 เมื่อเดินผ่านม่านกันแสงที่ทำจากถุงกระสอบข้าวไทย (สังเกตได้จากลายสีเขียว เพราะจากคำบอกเล่าของนนทวัตน์ ถุงกระสอบข้าวของบ้านต๊ะจะไม่มีลายแถบเขียว) และเมื่อเดินเข้าไปจะพบจอภาพยนตร์สี่จอ สามจอตั้งอยู่ในห้องหลัก และอีกหนึ่งจอตั้งอยู่ในห้องด้านในสุด ที่พื้นมีเบาะนั่งที่ทำจากต้นกกสานขึ้นรูปร่างคล้ายกระสอบข้าว

สีเขียวจากกระสอบข้าวที่บ่งบอกถึงแหล่งที่มาของกระสอบว่า มาจากฝั่งรัฐไท และสีเขียวนี้เองของธรรมชาติจากป่าไม้และทุ่งนาที่ค่อยๆ เข้าแทนที่องค์ประกอบภาพอื่นๆ นับตั้งแต่การเดินทางของต๊ะจากเครื่องบิน รถทัวร์ รถเครื่อง ไปจนถึงเท้าเปล่าในนาข้าว การเดินทางกลับบ้านของต๊ะด้วยการโดยสารเครื่องบิน (ซึ่งนนทวัฒน์เล่าให้ฟังว่าเป็นสิ่งที่ยากมากๆ สำหรับแรงงานต่างชาติ) ต๊ะผู้ได้ทุนมาจาก “เจ้านาย” เรารับรู้สถานะของนนทวัฒน์ในฐานะคนนอกของชาวไทใหญ่ในหมู่บ้านอันห่างไกลในรัฐฉาน เมื่อพ่อของต๊ะถามขึ้นกับต๊ะว่า “ชายคนนี้ (นนทวัฒน์) เป็นเพื่อนหรือเจ้านาย” ต๊ะตอบกลับไปว่า “เจ้านาย”

สีเขียวจากกระสอบข้าวที่บ่งบอกถึงแหล่งที่มาของกระสอบว่า มาจากฝั่งรัฐไท และสีเขียวนี้เองของธรรมชาติจากป่าไม้และทุ่งนาที่ค่อยๆ เข้าแทนที่องค์ประกอบภาพอื่นๆ นับตั้งแต่การเดินทางของต๊ะจากเครื่องบิน รถทัวร์ รถเครื่อง ไปจนถึงเท้าเปล่าในนาข้าว

“Think you’re escaping and run into yourself. Longest way round is the shortest way home.” – James Joyce, Ulysses

ชื่อนิทรรศการ The Longest Way Round is the Shortest Way Home นั้นนนทวัฒน์บอกว่าเป็นสำนวนภาษาอังกฤษแปลว่าว่า “ถ้ากระบวนการมันดี มันจะจบงานง่าย” แต่คำเดียวกันนี้ก็มาจากนิยายของ James Joyce เรื่อง Ulysses (1922) ชื่อนวนิยายพ้องและเป็นนัยถึง Odysseus (ภาษาละตินของคำว่า “Ulysses”) ผู้เป็นตัวเอกในมหากาพย์ “Odyssey” โดยโฮเมอร์ เล่าเรื่องของ Odysseus ผู้ใช้เวลาเดินทางกลับบ้านนานถึง 10 ปี หลังจากที่ใช้เวลาไปในศึกเมืองทรอยแล้วถึง 10 ปี

2001: A Space Odyssey, Stanley Kubrick, 1968

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึง Odyssey ทำให้ผู้เขียนพลันนึกไปถึง 2001: A Space Odyssey (1968) ของ Stanley Kubrick เล่าเรื่องการเดินทางมนุษยชาตินับตั้งแต่บรรพบุรุษวานรไปจนถึงการแข่งขันบนพื้นที่อวกาศ ในช่วงท้ายของเรื่องพาผู้ชมย้อนกลับไปมองในตัวตนของตนเอง หลังจากที่ David Bowman ออกจากยาน Discovery One ทะลุมิติเข้ามาในห้องตกแต่งสไตล์นีโอคลาสสิกซึ่งเฟื่องฟูอย่างมากเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 อันแสดงให้เห็นถึงจุดกำเนิดของวิทยาการของโลกตะวันตก การเดินทางของนักบินอวกาศ Bowman ชี้ชวนให้เราตั้งคำถามถึงวิวัฒนาการมนุษย์ที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลที่สืบสาวราวเรื่อง นับตั้งแต่สงครามเย็นระหว่างค่ายประชาธิปไตยเสรีนิยมและคอมมิวนิสต์ ยุคภูมิธรรมในยุโรป ไปจนถึงอดีตอันไกลโพ้นของมนุษย์ในอดีต

การเดินทางกลับบ้านของต๊ะที่ได้การอำนวยความสะดวกจากศิลปินผู้เป็นคนนอกของชุมชน ชวนให้ตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์บรรพกาลและการก่อตัวของอำนาจรัฐ คล้ายกับระหว่างที่ผู้เขียนชม 2001: A Space Odyssey นั่นเพราะนนทวัฒน์พาผู้ชมกลับไปมองถึงโลกพรมแดนไร้รัฐ หรือที่ David Brenner เรียกว่า Nonstate Borderworlds พื้นที่ของรัฐฉานในปัจจุบันที่ถูกอำนาจของวิทยาการการสร้างแผนที่ (cartography) ของจักรวรรดิอังกฤษขีดเส้น ทั้งที่เดิมทีพรมแดนกลับเป็นสิ่งที่เลื่อนไหล ประวัติศาสตร์ของดินแดนไร้รัฐ (nonstate) บนเทือกเขาสลับซับซ้อนที่กั้นประเทศเมียนม่ากับอินเดีย จีน ลาว และไทยมีมาอย่างยาวนาน อาจกล่าวได้ว่ารัฐฉานในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาบริเวณที่เรียกว่า Zomia ซึ่งกินพื้นที่กว่า 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร Willem van Schendel เสนอว่าพัฒนาการของชุมชนของชนเผ่าบนที่ราบสูง (hill tribes) แตกต่างจากชุมชนบนที่ราบ

การเดินทางกลับบ้านของต๊ะที่ได้การอำนวยความสะดวกจากศิลปินผู้เป็นคนนอกของชุมชน ชวนให้ตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์บรรพกาลและการก่อตัวของอำนาจรัฐ คล้ายกับระหว่างที่ผู้เขียนชม 2001: A Space Odyssey นั่นเพราะนนทวัฒน์พาผู้ชมกลับไปมองถึงโลกพรมแดนไร้รัฐ

Edmund Leach เสนอว่า การก่อตัวของรัฐทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างชุมชนบนที่สูงและพื้นที่ราบ อันเนื่องมาจากขั้นตอนการทำการเกษตรที่แตกต่างกัน ชนเผ่าบนภูเขามีสังคมที่เน้นความเสมอภาค ทำการเกษตรแบบหมุนเวียนบนเขาที่คนอาศัยไม่หนาแน่น (egalitarian) มากกว่าชุมชนบนพื้นราบที่ปลูกข้าวบนผืนนาขนาดใหญ่กว้างและมีคนอาศัยจำนวนมากซึ่งนำไปสู่การสร้างลำดับชนชั้นและอำนาจรวมศูนย์ ยกตัวเช่น Kachin ซึ่งต้องการการปกครองด้วยตนเองและย้ายถิ่นฐานไปมาเพื่อหาแหล่งทำกินที่อุดมสมบูรณ์มากกว่าจะสนใจผลประโยชน์ทางธุรกิจ

ระบบสังคมแบบต่อต้านอำนาจรัฐบนภูเขา (anarchistic highlands) ถูกเน้นย้ำผ่านงาน The Art of Not Being Governed: An Anarchist History of Upland Southeast Asia ของ James Scott ซึ่งพยายามอธิบายสาเหตุที่อาณาบริเวณ Zomia กลายเป็นแหล่งซ่องสุมของกองกำลังต่อต้านอำนาจรัฐจากส่วนกลาง Scott ปฏิเสธการมองคนบนภูเขาว่าป่าเถื่อนล้าหลังและพัฒนาการสังคมแยกออกจากสังคมบนพื้นราบโดยสมบูรณ์

ในทางตรงกันข้าม การทำไร่เลื่อนลอยหรือชุมชนที่ไม่รวมศูนย์อำนาจแสดงถึงการที่พวกเขาตระหนักถึงการตอบโต้ต่ออำนาจรัฐจากที่ราบ อีกทั้งยังเป็นแหล่งลี้ภัยจากการควบคุม การค้าทาส และการเรียกเก็บภาษี ซึ่ง Scott ยังมองว่าความสัมพันธ์นี้ไม่ได้ใช้อธิบายแค่ปัญหาในเมียนม่าปัจจุบัน แต่ยังรวมไปถึงการบุกรุกของอำนาจรัฐจากสยาม ขอม และจีนฮั่น Zomia จึงกลายเป็นพื้นที่แหล่งหลบภัย หรือโซนแห่งการปริแตก (shatter zone)

นี่เองจึงเป็นความพยายามในการอธิบายการก่อตัวของ ขบวนการชาตินิยมแบบทหาร (militarized ethnonationalists) ในหลายพื้นที่ของเมียนม่าเพื่อต่อต้านอำนาจจากส่วนกลาง แม้รัฐบาลจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี (ที่ถูกควบคุมด้วยกองทัพ) พยายามจะปรึกษาหารือแต่ก็ไม่เป็นผล นั่นเพราะการเจรจาก็เป็นเพียงการ (redraw) แผนที่อันเป็นมรดกอำนาจของเจ้าอาณานิคม การเจรจาจากรัฐบาลกลางเป็นเพียงอีกรูปแบบหนึ่งของการสร้างอาณานิคมภายในเท่านั้นเอง (internal colonization)

หลังจากสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 3 สิ้นสุดลงในปี 1885 จักรวรรดิอังกฤษก็สามารถรวบดินแดนของเมียนม่าได้ พื้นที่บนเทือกเขาไม่ได้เป็นที่สนใจของเจ้าอาณานิคมมากนัก เพราะที่ราบสร้างผลผลิต เช่น ไม้ น้ำมัน และข้าวได้อย่างมหาศาล อังกฤษปล่อยให้รัฐบนเทือกเขา (Frontier Area) จัดการปกครองผ่านเจ้าฟ้า (sawbas) กันเองโดยแทบไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว การสร้างแผนที่ของเจ้าอาณานิคมเท่ากับเป็นการไปสร้างมาตรฐานของการปกครอง (administrative standardization) ทำให้ความแตกต่างหลากหลายของชาติพันธุ์และดินแดนที่ลื่นไหลไม่หยุดนิ่งถูกผนวกรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน (homogenization) ภายใต้อำนาจรัฐ และนี่ยังนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์

การสร้างแผนที่ของเจ้าอาณานิคมเท่ากับเป็นการไปสร้างมาตรฐานของการปกครอง (administrative standardization) ทำให้ความแตกต่างหลากหลายของชาติพันธุ์และดินแดนที่ลื่นไหลไม่หยุดนิ่งถูกผนวกรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน (homogenization) ภายใต้อำนาจรัฐ และนี่ยังนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์

แม้ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1948 เรื่อยมาจนการปกครองภายใต้รัฐบาลทหารผ่านการรัฐประหารของนายพลเนวินในปี 1962 ที่มาพร้อมเหตุการณ์ที่ ลลิตา หาญวงษ์ เรียกว่า การฉีกสนธิสัญญาปางโหลง (ซึ่งเป็นการตกลงกันไม่กี่กลุ่มชนเผ่ากับนายพลออง ซาน) จนถึง การสร้างแม่แห่งชาติ (mother of the nation) อย่างอองซานซูจี ผ่านการประท้วงของนักศึกษาในปี 1988 ประวัติศาสตร์ของเมียนม่าก็เคลื่อนตัวอยู่ไม่พ้นจากศูนย์กลางของเมืองหลวงที่พรมแดนรัฐชาติขยับขยายไปทุกพื้นที่รวมถึงบนเทือกเขา จวบจนถึงปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนบนพื้นที่สีเขียวของเทืองเขากับพื้นราบ (รวมถึงความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์) การเข้ามาของทุนต่างชาติ ยาเสพติด และมลภาวะต่อพื้นที่สีเขียว การแตกกระจายของสำนึกของชาติพันธุ์ที่มาพร้อมกับการเข้ามาของรัฐประชาชาติและทุนนิยม นี่ยิ่งทวีความซับซ้อนของพรมแดนไร้รัฐมากมากขึ้นอีกหลายเท่า

ต๊ะเล่าว่าเขาอยากได้หนังสือเดินทางที่เขาไปได้มากกว่าประเทศไทย (หนังสือเดินทางมาทำงานที่ไทยมีสีเขียว) เขาฝันว่าจะไปชีวิตอยู่ประเทศจีนเพราะมีคนบอกเขามาว่ารายได้มากกว่าไทย บัตรประชาชนเมียนม่าของต๊ะหายไปหลังจากที่มาเป็นแรงงานที่ไทย เขากลับบ้านไปรอบนี้ก็เพื่อทำบัตรประชาชนพม่า การทำบัตรประชาชนนี่เองก็เป็นเทคโนโลยีที่รัฐใช้ในการสอดส่อง (dataveillance)

ประเด็นเรื่องการสอดส่องจ้องมองดูจะเป็นสิ่งที่นนทวัฒน์ให้ความสนใจผ่านการทำสารคดีแบบสังเกตการณ์ (obervational documentary) ที่ผู้ถูกถ่ายรู้ตัวและไม่รู้ตัว วิดีโอฉายบนสามจอด้านหน้าใกล้กับผู้ชม และสารคดีแบบการเล่าเรื่องด้วยการสัมภาษณ์ (Talking Head) ซึ่งฉายอยู่ที่จอเล็กและไกลที่สุด ในทางหนึ่งนนทวัฒน์ดูจะตระหนักถึงช่องว่างระหว่างตัวเขาในฐานะคนนอกกับต๊ะและคนในชุมชนไทใหญ่

สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการถ่ายแบบ Talking Head คือทำให้ผู้ถูกถ่ายแสดงออกอย่างไม่เป็นธรรมชาติเมื่อมีกล้องอยู่ต่อหน้า ผิดกับภาพที่เราเห็นต๊ะและเพื่อนฝูงครอบครับครัวของเขาใช้จ่ายโมงยามอันธรรมดาสามัญผ่านอีกสามจอที่ถ่ายแบบสังเกตการณ์ที่ในหลายๆ ครั้งผู้ถูกถ่ายอาจไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของกล้อง

แต่นนทวัฒน์เลือกนำเสนอวิดีโอแบบสังเกตการณ์ที่ถ่ายคนละมุม เวลา และสถานที่พร้อมๆ กันสามหรือสี่จอ ได้สร้างสถานการณ์ของความล้นเกินของภาพ (overproduction of images) ที่ผู้ชมไม่สามารถจะดูได้พร้อมกันทั้งสี่จอ เพราะสายตาเราเลือกดูได้เพียงแค่ 1 หรืออย่างมากก็ 2 จอเท่านั้น นนทวัฒน์บอกว่าเขาตั้งใจจัดวางวิดีโอให้คล้ายกับการใส่กล้อง VR ที่ “ทำให้เรามีอารมณ์ร่วมกับพื้นที่ตรงนั้น” อย่างที่ได้กล่าวไป สำหรับผู้เขียนการจัดวางวิดีโอเช่นนี้จึงเป็นสร้างอารมณ์ทำให้เราเห็นมิติชีวิตของต๊ะมากขึ้น (มากกว่าแบบ Talking Head) แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการย้ำเตือนถึงช่องว่างที่ผู้ชม (ชนชั้นกลาง คนกรุงเทพฯ) รวมถึงนนทวัฒน์เองมีต่อต๊ะและชาวไทใหญ่เช่นกัน (เพราะเราไม่สามารถดูภาพของต๊ะได้ทั้งหมดพร้อม ๆกัน)

Courtesy of Loredana Pazzini-Paracciani

“จริงๆ มีหลายอย่างที่เราอยาก criticize (วิจารณ์) มากกว่านี้ โดยส่วนตัวเราไม่ชอบการปกครองโดยทหาร เพราะมันกระทบกับความเป็นปัจเจก แต่เราก็ใส่ไปแบบเป็นแค่ hint (พูดเป็นนัย) เพราะทุกคนที่เราถ่ายก็น่ารักกับเรา เขาก็มีชีวิตในแบบของเขา เราคํานึงถึงว่าถ้าหนังออกมามันจะมีผลกระทบต่อเขา”
– นนทวัฒน์ นําเบญจพล, in process of time, 2020

นนทวัฒน์ให้สัมภาษณ์ว่า เขากังวลกับการสร้างถ่ายทำสารคดีครั้งนี้และครั้งอื่นๆ นั่นเพราะการสร้างภาพ (image) ขึ้นมาก็เป็นการทำให้เกิดการมองเห็นได้ (invisiblity) นี่เองจึงทำให้ภาพที่นนทวัฒน์สร้างขึ้นไม่ได้มีฐานะเป็นเพียงภาพแทน (representation) ของความจริง (reality) หากแต่ยังเข้าก่อกวนความจริงอีกด้วย 

อย่างไรก็ดี ต๊ะและประชาชนคนอื่นๆ ไม่เพียงแต่ชาวไทใหญ่แต่ยังรวมถึงพลเมืองภายใต้รัฐประชาชาติ เราต่างถูกสอดส่องจ้องมองและถูกสร้างขึ้นเป็นภาพตลอดเวลาทั้งจากตัวเราเองและรัฐเป็นผู้กระทำ จอสีเขียว (green screen) และการใช้สีเขียวทำให้ผู้เขียวไพล่ไปนึกถึงวิดีโอ How Not to be Seen. A Fucking Didactic Educational .MOV File (2013) ของ Hito Steyerl

“สถานการณ์ปัจจุบันที่เราทุกคนต่างเผชิญอยู่ นั่นคือเราอยู่ในสถานะที่ ‘มองเห็นได้ (visible)’ ตลอดเวลาผ่านเครื่องมือวิธีการต่างๆ ในการจ้องมอง ซึ่งมันเป็นความโชคไม่ดีเพราะบางครั้งเราก็อยากหลบหนีจากการถูกจ้องมองอยู่ตลอดแบบนี้ แต่ในทางตรงกันข้าม การไม่อยู่ในสถานะที่มองเห็นได้ (invisible) ก็เป็นอันตราย (ถึงแก่ชีวิต) อย่างมากไม่แพ้กัน
– Hito Steyerl, ‘Being Invisible Can Be Deadly’, 2016

How Not to be Seen. A Fucking Didactic Educational .MOV File, Hito Steyerl, 2013

วิดีโอ How Not to be Seen. A Fucking Didactic Educational .MOV File เป็นการสร้างบทสนทนาที่ประชดประชันและตั้งคำถามว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ถูกมองเห็นโดยรัฐที่ต้องการสอดส่องพลเมือง มีฉากหลังเป็นเป้าปรับความคมชัด (resolution target) กลางทะเลทรายแคลิฟอร์เนีย ที่กองทัพสหรัฐฯ ใช้ในการสร้างแผนที่ทั่วโลกทิ้งระเบิด เป้าดังกล่าวถูกใช้จนถึงต้นศตวรรษที่ 21 ก่อนจะถูกปรับมาใช้อีกเป้าที่ความคมชัดมากขึ้น มีความละเอียดสูงสุดคือ 1 พิกเซล แล้วเราจะหายไป (disappear) [ทั้งในความหมายว่า ไม่ต้องถูกรัฐจับตามอง และถูกทำให้หายไปโดยรัฐ] ได้อย่างไรบ้าง Steyerl เสนออย่างเยาะเย้ยหลายวิธีตั้งแต่อาศัยในหมู่บ้านหรูราคาแพงมีรั้วกั้น (gated community) ซึ่งเต็มไปด้วยวิญญาณของผู้ที่ถูกทำให้สูญหายโดยรัฐ หายไปในค่ายทหาร พิพิธภัณฑ์ โรงงาน สนามบิน เป็นซูเปอร์ฮีโร่ เป็นผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี เป็นสัญญาณไวไฟ ไปจนถึงกระทั่งเป็นศัตรูของรัฐ

สำหรับ Steyerl พลเมืองในปัจจุบันจึงถูกทำให้กลายเป็นภาพและภาพกลายเป็นมนุษย์ (ในวิดีโอ Steyerl ทำให้ตนเองหายไปเข้าในจอเขียว green screen)  โดยเฉพาะอย่างภาพกาก (poor image) [แปลโดยเก่งกิจ กิติเรียงลาภ] ที่ถูกบีบอัด ตัดต่อ ทำซ้ำ ดาวน์โหลด และไหลเวียนไปในเครือข่ายของภาพมหาศาลรอคอยการทำลายทิ้ง ภาพกากจึงอยู่ระหว่างภายในและภายนอก ทั้งถูกจ้องมองและไม่สนใจใยดี ภาพกากจึงพร้อมจะหายไปทั้งๆที่ถูกมองเห็น (over-visibility)

Steyerl เคยให้สัมภาษณ์ว่าวิดีโอชิ้นนี้เธอได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อนของเธอชื่อ Andrea Wolf ในฐานะสมาชิก PKK (Parti Karkerani Kurdistan) ซึ่งเป็นกองกำลังทหารที่ต่อต้านอำนาจรัฐบาลตุรกี เพื่อนของเธอหายตัวอย่างไร้ร่องไปเมื่อปี 1998 ไม่ถูกค้นพบและไม่มีความพยายามจากทางการในการค้นหาเธอ และยังมีคนอีกหลายพันที่หายตัวไป Steyerl เรียกสิ่งนี้ว่า สภาวะแห่งความเป็นไม่ได้ที่จะถูกค้นพบ (state of zero probability) สภาวะเช่นนี้มีโอกาสจะเกิดที่ไหนก็ได้ ทั้งในสนามรบระหว่างผู้ต่อต้านรัฐกับอำนาจจากทางการ หรือจะเป็นร้านค้าของพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ มันจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ที่มีคนตั้งคำถาม

Steyerl บอกว่า “การมองเห็นได้ (visiblity) ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีหรือแย่เสมอไป บางครั้งการมองเห็นได้ก็สำคัญกับชีวิต บางครั้งการหายตัวไปก็ช่วยชีวิตคุณได้ บางครั้งการหายไปก็เป็นผลจากคุณสูญเสียชีวิตหรือถูกฆ่า มันไม่สามารถสร้างคู่มือว่าควรหรือไม่ควรจะถูกมองเห็น แต่สิ่งฉันคิดว่าสำคัญก็คือ การสร้างบทสนทนาถกเถียงและการมีส่วนร่วม (participation)” สร้างพื้นที่ของประสบการณ์ ความรู้สึกจะเกิดขึ้นจากตัวบท (text) ก็ต่อเมื่อเกิดการถกเถียง ศิลปะในช่วงเวลาที่สำคัญเช่นนี้ (Art in times of emergency) กระบวนการเคลื่อนโคจรของภาพ (circulationsim) ที่ไปพร้อมกับคำถามที่กระตุ้นและสร้างพลังในพื้นที่ต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญ ภาพ (images) จะมีบทบาทเพียงลำพังไม่ได้

วิดีโอของต๊ะ ภาพที่ถูกถ่ายโดยนนทวัฒน์อาจเป็นการสร้างภาพที่นำพาทั้งตนเองและผู้ถูกถ่ายไปอยู่ในสภาวะความเสี่ยง แต่ในอีกทางก็เป็นการเน้นย้ำการมีอยู่ของทั้งผู้ถูกถ่ายและผู้ถ่ายภาพ สำหรับ Steyerl การประท้วงต่อต้านอำนาจรัฐไม่อาจถูกจำแนกแยกแยะว่าอยู่ในโลกออฟไลน์หรือออนไลน์ได้อีกต่อไป เราต่างเป็นสิ่งมีชีวิตดิจิตัล (digital creatures) อย่างเต็มตัว แต่ก็ใช้พื้นที่สามมิติออฟไลน์ด้วยเช่นกัน ในยุคสมัยที่ทั้งภาพ (images) และข้อความ (text) หรือตัวบทถูกยุบสลายให้กลายเป็นข้อมูลข่าวสาร

วิดีโอของต๊ะ ภาพที่ถูกถ่ายโดยนนทวัฒน์อาจเป็นการสร้างภาพที่นำพาทั้งตนเองและผู้ถูกถ่ายไปอยู่ในสภาวะความเสี่ยง แต่ในอีกทางก็เป็นการเน้นย้ำการมีอยู่ของทั้งผู้ถูกถ่ายและผู้ถ่ายภาพ สำหรับ Steyerl การประท้วงต่อต้านอำนาจรัฐไม่อาจถูกจำแนกแยกแยะว่าอยู่ในโลกออฟไลน์หรือออนไลน์ได้อีกต่อไป เราต่างเป็นสิ่งมีชีวิตดิจิตัล (digital creatures) อย่างเต็มตัว แต่ก็ใช้พื้นที่สามมิติออฟไลน์ด้วยเช่นกัน ในยุคสมัยที่ทั้งภาพ (images) และข้อความ (text) หรือตัวบทถูกยุบสลายให้กลายเป็นข้อมูลข่าวสาร

การเดินทางกลับบ้านของต๊ะจึงฉายให้เราเห็นภาพของการเดินทางของมนุษย์นับตั้งแต่ชุมชนบรรพชนที่อยู่อาศัยบนความสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์ สัตว์ ธรรมชาติ ความเชื่อ และวิญญาณในระนาบเดียว หรือที่ Gilles Deleuze and Félix Guattari เรียกว่า รูปแบบคล้ายรากไม้หรือ rhizome ซึ่งขัดขืนต่อต้านการปกครองแบบมีชนชั้น สังคมโบราณที่มีความเชื่อแบบวิญญาณนิยม (animism) บริเวณ Zomia ทำให้เราเห็นถึงการไม่ได้ยึดกับสิ่งที่อยู่นอกโลก (plane of immance) และปฏิเสธลำดับชั้น (hierarchy) ในหมู่บ้านของต๊ะ แม้จะมีสมาชิกบางส่วนนับถือศาสนาพุทธ แต่มรดก (legacy) ของสังคมวิญญาณนิยมก็ยังมีให้พบเห็นเช่น สำนึกของชุมชนนิยม (collective) การใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ ต้นกก หรือฉากฆ่าหมู ผู้ลงมีดกรีดอย่างนุ่มนวลเสมือนว่าหมูมีตัวตนมากกว่าเป็นวัตถุ

สำนึกของสังคมวิญญาณนิยมได้ถูกทำลายลงนับตั้งแต่ช่วงหินใหม่ (Neolithic Revolution) พร้อมๆ กับการกำเนิดของอำนาจรัฐที่ชักจูงผู้คนให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งภายใต้รัฐด้วยการเสนอ “ชีวิตที่ดี (good life)” แลกกับการเสียภาษีและการเกณฑ์ทหาร และแน่นอนว่าก็เป็นจุดเริ่มต้นของระบบทุนนิยมที่เข้าไปแตกสลายสำนึกของความเป็นชุมชน ต๊ะจึงต้องจากบ้านไปทำมาหากินต่างแดน หรือ จาย แสงลอด ใน ‘ดินไร้แดน’ (Soil Without Land) ผู้ต้องล้มเลิกการทำมาหากินในรัฐไทย เลือกที่จะกลับบ้านไปเป็นทหารในกองกำลังรัฐฉานต่อสู้กับรัฐบาลเมียนม่า

ดินไร้แดน

ทำไมต๊ะถึงอยากไปอยู่เมืองจีนมากกว่าจะอยู่ที่ในหมู่บ้านอันสงบสุข? (ภายใต้การดูแลโดยกองกำลังทหารรัฐฉาน) ทำไมจายถึงตอบคำถามนนทวัฒน์ในตอนท้ายว่า เขาชอบที่มีกองทัพหรืออำนาจรัฐ ทั้งที่การเป็นทหารเป็นสิ่งคนวัยหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกันกับเขาทั้งหลายพยายามจะหลบหนี เขาให้คำตอบว่าเพราะเขาจำภาพในวัยเด็กผู้คนต้องหนีเอาชีวิตรอดจากทหารพม่า เขาไม่อยากเห็นภาพนั้นอีก เขาจึงยอมอยู่ในสังคมแห่งการควบคุม (society of control)

หลังจากการแตกสลายของความเป็นชุมชนนิยม รัฐสถาปนาอำนาจแบบมีลำดับชั้น แต่สิ่งที่ทุนนิยมหลังปี 1977 สร้างขึ้นคือเครือข่ายในแนวระนาบไร้ศูนย์กลางที่กลุ่มนักกิจกรรมออนไลน์ Critical Art Ensemble (CAE) สังเกตว่าอินเทอร์เน็ตมีลักษณ์โครงข่ายโยงใยกัน (network) เช่น world wide web เพื่อทำให้อำนาจของบริษัททุนข้ามชาติแข็งแรงมากขึ้น และบริษัทเหล่านี้ก็มีพฤติกรรมร่อนเร่ไม่หยุดนิ่งไม่ต่างจากชนเผ่าทำไร่เลื่อนลอยในอดีต (nomadic) นี่จึงสร้างสิ่งที่ Franco ‘Bifo’ Berardi (เพื่อนสนิทของ Hito Steyerl) เรียกว่า อาการวิตกกังวล (anxiety) ในหมู่แรงงานความรับรู้ (cognitive labour) ภายใต้ทุนนิยมของการรับรู้ (cognitive capitalism)

ต๊ะกลายเป็นแรงงานความรับรู้ด้วยการอาศัยความเชี่ยวชาญในการทำงาน ขับเคลื่อนด้วยเงินและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหล่ นนทวัฒน์เล่าว่า ต๊ะอยากมีชีวิตที่เป็นมากกว่าชีวิตที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนั้นเมื่อ “ครั้งแรกที่เขาได้ดูทีวี เขาถึงได้รู้ว่ามันมีประเทศไทย แล้วก็มีโลกใบนี้อยู่นอกเหนือจากพื้นที่ที่เขาอยู่” โทรทัศน์และจอภาพต่างๆ กลายเป็นแหล่งส่งออกข้อมูลมหาศาลที่สร้างการสื่อสารตลอดเวลา ประกอบกับความปรารถนา (desire) ต่อสิ่งที่ไม่เคยมี

Paolo Magagnoli มองว่า ด้วยความแม่นยำของเศรษฐศาสตร์ซึ่งได้ปกปิดอาการป่วยไข้ไว้ด้วยข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก นักคิดสำนักวีเบอเรี่ยนมักมองว่าความเป็นสมัยใหม่จะนำไปสู่การสลายของ “การต้องมนต์ขลัง” (Enchantment) แต่ Deleuze กับ Guattari กลับมองในทางตรงกันข้ามว่า ทุนนิยมในปัจจุบันกลับถูกขับเคลื่อนด้วยแรงปรารถนาอันไร้เหตุผลและจิตไร้สำนึก ดังคำกล่าวว่า “ประวัติศาสตร์ที่แท้จริง ก็คือประวัติศาสตร์แห่งความปรารถนา” ทุนนิยมได้ล้มล้างความปรารถนาในสังคมแบบเดิมๆ ที่พวกเขาเชื่อและยึดถือ Deleuze กับ Guattari จึงได้เสนอหนทางของการหลุดออกจากระบบทุนนิยมนั่นคือ การปลดปล่อยแบบจิตเภท (schizophrenic logic)

Bifo หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Neo-Marxist ชาวอิตาเลี่ยนชื่อ Autonomia ผู้นำเอาแนวคิดของ Deleuze กับ Guattari มาใช้วิเคราะห์ระบบทุนนิยมร่วมสมัยมองว่า ทางออกจึงไม่ใช่การสลายตนเองเข้าไปในระบบของเครือข่ายสัญญะและการสื่อสาร หากแต่เป็นสิ่งที่คล้ายกับ Steyerl เสนอไว้คือถอยห่างออกจากระบบทุน (estrangement) เพื่อสร้างความใกล้ชิด (proximity) และความต่อเนื่อง (continuity) เพื่อให้มนุษย์ (ซึ่งในความหมายในที่นี้ไม่ใช่เพียงสิ่งที่เรียกว่า human) มีเวลาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และพัฒนากฎระเบียบของชุมชนที่สร้างขึ้นจากความใกล้ชิด เพื่อรักษาไว้ซึ่งความอิสระ (autonomy) ที่ไม่ใช่องค์รวม (totality)

ในภาษาของ Bifo นี่จึงเป็นการสร้างพื้นที่ของความเสถียร (plane of consistency) ของความเป็นอนันต์ที่เข้าใจความโกลาหลซึ่งระบบทุนนิยมสัญญะได้สร้างขึ้น ท้ายที่สุดนิทรรศการ The Longest Way Round is the Shortest Way Home จึงเป็นการเดินทางกลับบ้าน แม้จะเป็นไปอย่างโซซัดโซเซและวิตกกังวล แต่ก็เป็นไปเพื่อการกลับไปมองยังจุดเริ่มต้น กลับไปยังถิ่นบรรพชน เพื่อสร้างเครือข่ายสังคมขึ้นอีกครั้ง ทั้งของต๊ะ นนทวัฒน์ และตัวเราเอง เพื่อท้าทาย ต่อต้าน ขัดขืน ทุนนิยม การสอดส่อง และอำนาจรัฐที่ถาโถมหลั่งไหลอย่างไม่หยุดยั้ง


นิทรรศการ The Longest Way Round is the Shortest Way Home โดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล จัดแสดงที่ Gallery VER ระหว่างวันที่ 11 กรกฎาคม – 22 สิงหาคม 2020 ติดตามรายได้ที่ facebook page


อ้างอิง :

The Kingmaker : การเมืองเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมและความเป็นแม่ของอีเมลดา มาร์กอส

ไม่ว่าใครที่ได้พบ อีเมลดา มาร์กอส ก็ต้องยอมรับกันทั้งนั้นว่าเธอมีสไตล์จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่ใส่ คอลเล็กชันงานศิลปะระดับโลกที่สะสม หรือเรื่องกล่าวขานเกี่ยวกับรองเท้า 3,000 คู่ของเธอที่เก็บไว้ในทำเนียบประธานาธิบดี

เธอยังกล่าวเสมอว่า เธอต้องการเป็นแม่ของคนทั้งโลก และการแต่งตัวงดงามของเธอก็เป็นเสมือนดาวประกายพฤกษ์ในค่ำคืนที่มืดมิดของคนยากไร้ เธอปกครองด้วย “ความรัก” และให้เหตุผลถึงการใช้จ่ายอย่างฟุ้งเฟ้อของตัวเองว่าเป็นเพราะ “ความรักมันวัดประเมินค่าไม่ได้”

ยังไม่รวมอีกสารพันสิ่งที่เธอเล่นบทเหยื่อของขบวนการยุติธรรมฟิลิปปินส์ที่ต้องการยึดทรัพย์และดำเนินคดีกับเธอเป็นร้อยคดี อาจกล่าวได้ว่า อีเมลดาเป็นคนหนึ่งที่ใช้ “ความเป็นหญิง” ของตัวเองได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา จนเธอสามารถผลักดัน บองบอง มาร์กอส ลูกชายของเธอให้มาได้ไกลอย่างทุกวันนี้ ทั้งที่เคยถูกฝูงชนขับไล่ออกนอกประเทศไปแล้วครั้งหนึ่ง!

อาจกล่าวได้ว่า อีเมลดาเป็นคนหนึ่งที่ใช้ “ความเป็นหญิง” ของตัวเองได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา จนเธอสามารถผลักดัน บองบอง มาร์กอส ลูกชายของเธอให้มาได้ไกลอย่างทุกวันนี้ ทั้งที่เคยถูกฝูงชนขับไล่ออกนอกประเทศไปแล้วครั้งหนึ่ง!

เจน ลาซาร์ นักเขียนและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี ได้กล่าวไว้ในบทบรรยายของเธอที่บาร์เซโลนาในปี 2018 https://publicseminar.org/2018/12/the-politics-of-motherhood/ ไว้ว่า “สิ่งที่เราอ่านเกี่ยวกับความเป็นแม่ส่วนใหญ่ เป็นการบรรยายจากมุมมองของเด็ก – เด็กที่โตแล้วที่ตอนนี้กลายเป็นนักเขียน, นักจิตวิทยา, นักการอาชีพต่างๆ แต่โดยแก่นสารของพวกเขาที่อยู่ในความสัมพันธ์กับคนที่เขาบรรยายนั้น พวกเขาก็ยังเป็นเด็ก”

อาจกล่าวได้ว่า อีเมลดาได้สร้างเรื่องเล่าของเธอผ่านลูกชายได้อย่างดีจริงๆ บองบอง มาร์กอสได้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ปี 2022 เรียบร้อยแล้ว โดยเขามักให้เครดิตอยู่เสมอว่าแม่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเขา อันที่จริง ไม่มีใครรู้ว่าบองบองอยากเป็นประธานาธิบดีจริงหรือไม่ จากเรื่องเล่าของลูกชายของบองบอง เขาเป็นเพียงหนุ่มเนิร์ดคนหนึ่งที่อยากทำงานกับฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ แต่เฟอร์ดินาน มาร์กอส ผู้พ่อ ผลักดันเขาให้เล่นการเมืองเพราะทำเงินได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม บองบองได้กลายเป็นกระบอกเสียงของอีเมลดา เป็นผู้สืบทอดตำนานของความเป็นสตรีหมายเลขหนึ่ง ซึ่งคนจะยังจดจำได้เสมอทุกครั้งที่เห็นบองบอง

ในพื้นที่ทางการเมือง เมื่อผู้หญิงออกมาทำอะไรมักจะถูกครหาได้ง่ายเสมอ หากผู้หญิงทำตัวมีอำนาจ ตัดสินใจเด็ดขาด ใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ พวกเธอมักจะถูกมองว่าแข็งกร้าว แต่เมื่อพวกเธอร้องไห้ พวกเธอก็จะถูกหาว่าอ่อนแอ และไล่ให้กลับไปอยู่บ้าน

บทบาทหนึ่งที่สลักสำคัญและเป็นบทบาทเดียวที่ผู้หญิงจะใช้เล่นการเมืองได้ก็คือบทบาท “แม่” อันที่จริงแม่สำคัญกว่าบทบาทเมียเสียด้วยซ้ำ เพราะความเป็นแม่มีความเป็นการเมืองพร้อมๆ กับที่เป็นเรื่องส่วนตัว ในขณะที่แม่ต้อง ‘จัดหา (provide)’ ทุกสิ่งให้กับคนในบ้านนั้น แม่ก็ provide ความปลอดภัยด้านประชากรและความมั่งคั่งให้แก่ชาติด้วย ด้วยเหตุนี้ สตรีในสมัยก่อนที่ไม่สามารถมีบุตรได้จึงถูกครหาอย่างรุนแรงว่านำความเสื่อมเสียมาให้วงศ์ตระกูล ทั้งที่จริงภาวะเจริญพันธุ์ขึ้นอยู่กับผู้ชายด้วย

บทบาทหนึ่งที่สลักสำคัญและเป็นบทบาทเดียวที่ผู้หญิงจะใช้เล่นการเมืองได้ก็คือบทบาท “แม่” อันที่จริงแม่สำคัญกว่าบทบาทเมียเสียด้วยซ้ำ เพราะความเป็นแม่มีความเป็นการเมืองพร้อมๆ กับที่เป็นเรื่องส่วนตัว ในขณะที่แม่ต้อง ‘จัดหา (provide)’ ทุกสิ่งให้กับคนในบ้านนั้น แม่ก็ provide ความปลอดภัยด้านประชากรและความมั่งคั่งให้แก่ชาติ

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องที่ชาญฉลาดอย่างมากที่อีเมลดานำบทบาทแม่ของตนเองมาใช้ทางการเมือง และมันก็ประสบความสำเร็จอีกด้วย บทบาทแม่ยังมีความหมายโดยนัยที่ซ่อนอยู่นั่นคือคนที่ทำเพื่อคนอื่นอย่างแท้จริง ไม่เห็นแก่ตัว เห็นแก่สวัสดิภาพของลูก (หรือประชาชน) มาก่อน และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่เธอเลือกทำงานกับโรงพยาบาลและเด็กๆ เพื่อสร้างภาพเหล่านี้ขึ้นมา

อีกบทบาทหนึ่งที่อยู่ในความเป็นแม่ ก็คือผู้ประสานความขัดแย้ง แม่จะต้องโอบอุ้มทุกคนด้วยความรักความเมตตา เธอจึงมักยกเรื่องราวของเธอที่ไปพบกับประธานาธิบดีและคนสำคัญต่างๆ ในต่างประเทศมาพูดถึงเสมอ เช่นที่เธอกล่าวว่า เหมาเจ๋อตงบอกว่าเธอทำให้สงครามเย็นจบลงได้ เธอกำลังสร้างภาพของสันติภาพที่สอดรับกับความเป็นแม่ และความเป็นผู้หญิงของเธอ เพื่อสร้างภาพจำให้แก่ฟิลิปปินส์

“ในการเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยบุคลิกภาพ ความเป็นแม่ทำให้มีทางลัดเกิดขึ้น มันช่วยทำให้นักการเมืองดูเป็นคน มันสามารถถูกใช้เพื่อสร้างภาพความอบอุ่นทางความรู้สึกและความเห็นอกเห็นในในยุคที่ผู้นำถูกคาดหวังให้ “เข้าใจ”ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง” https://www.theguardian.com/theguardian/2007/apr/13/guardianweekly.guardianweekly1

เมื่อประชาชนทลายเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดี สิ่งที่พวกเขาเห็นจึงน่าตกใจ เพราะมันแสดงให้เห็นว่าอีเมลดาสะสมเพียงความมั่งคั่งเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ตำนานรองเท้า 3,000 คู่ได้ทำลายภาพของแม่ที่ไม่เห็นแก่ตัวและเห็นแก่ส่วนรวมลง นั่นทำให้มันเป็นที่กล่าวขานเพราะมันขัดกับภาพลักษณ์ที่เธอใช้เวลาบ่มเพาะมานานนับสิบปี กลับกลายเป็นว่าเธอประสบความสำเร็จในการพูดให้คนเชื่อ แต่ล้มเหลวในการทำให้คนเชื่อเกี่ยวกับความเป็นแม่ของตัวเอง

แต่การแต่งตัวและออกงานสังคมก็ไม่ใช่ข้อเลวร้ายเสมอไป มีคนกล่าวไว้ว่า อีเมลดากับทรัมป์มีสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือพวกเขา “ถูกประเมินไว้ต่ำเกินไป” https://www.irishtimes.com/culture/film/sole-survivor-how-imelda-marcos-strutted-back-to-power-in-the-philippines-1.4103547 หลังการล่มสลายของตระกูลมาร์กอส สิ่งหนึ่งที่ขาดคือคนกลางที่มาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและเขียนประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้ง ต่างจากในเยอรมนีที่ทุกคนคิดว่าเด็กๆ ต้องรู้เกี่ยวกับการล้างเผ่าพันธุ์ คนฟิลิปปินส์เลือกที่จะ “ไปต่อ (move on)” และภาพจำของอีเมลดาในแง่นางงามและทูตสันถวไมตรีที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ หรือในฐานะไอคอนของยุค 80 https://www.townandcountrymag.com/society/money-and-power/a29610659/imelda-marcos-kingmaker-documentary/ ก็ยังคงอยู่ต่อไป

อีเมลดาใช้ความพยายามและงบประมาณจำนวนมากไปกับการเข้าร่วมงานสังคมเพื่อสร้างภาพการเป็นคนสนิทกับดาราดัง ผู้นำประเทศ หรือแม้กระทั่งพระสันตะปาปา ดูเหมือนอะไรบางอย่างในตัวเธอทำให้การสนิทกับเหล่าคนดังเป็นไปอย่างง่ายดาย แอนดี้ วอร์ฮอล์ ศิลปินคนดังเคยถึงกับเล่าเกี่ยวกับเธอว่า เมื่อเธอไปปาร์ตี้จะไม่มีอะไรหยุดเธอได้และเธอจะเป็นคนสุดท้ายที่กลับเสมอ เธอถึงกับ “เชิญตัวเอง” ไปในงานรับตำแหน่งของประธานาธิบดีนิกสันและพยายามเข้าไปสนิทกับพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ในงานเลี้ยงครั้งหนึ่งที่ Opera House บางครั้งคนก็เปรียบเทียบเธอเข้ากับสตรีหมายเลขหนึ่งของอาร์เจนตินา คือ เอวา เปรอน ซึ่งเป็นหน้าเป็นตาให้แก่รัฐเผด็จการของสามีเธอ แต่อีเมลดาไม่ชอบใจนักที่ถูกเปรียบเทียบเข้ากับเอวา

อย่างไรก็ตาม เราสามารถเชื่อได้ว่า การที่อีเมลดาพยายามเข้าไปสนิทกับคนดังและออกงานสังคมอยู่บ่อยๆ นั้นมีจุดประสงค์แอบแฝงอยู่ นั่นคือการทำให้ตัวเองเป็นไอคอนของยุค อย่างที่เธอประสบความสำเร็จในการสร้างภาพจำดังกล่าวขึ้นมานั่นเอง

“สติสัมปชัญญะของฉันสมบูรณ์ดี” อีเมลดาบอกผู้สัมภาษณ์ “ถ้าหากฉันคดโกง มันก็จะต้องแสดงออกมาผ่านสีหน้าของฉันแล้วสิ”

เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 2 : ฝรั่งเศส)

อ่านตอน 1 : “เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 1 : เกาหลีใต้)”

หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฝรั่งเศสมีชื่อว่า ศูนย์ภาพยนตร์และภาพเคลื่อนไหวแห่งชาติ (Centre national du cinéma et de l’image animée) หรือเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อย่อ CNC เป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศส ก่อตั้งขึ้นในปี 1946 มีหน้าที่ดูแลกิจการทั้งหมดที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ฝรั่งเศส การจัดสรรทุนที่ได้จากการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางด้านภาพและเสียง (ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการขายตั๋วหนัง รายได้จากการขายแผ่นดีวีดี รายได้จากสื่อโฆษณาหนังทางออนไลน์) จากนั้นนำมาตั้งเป็นกองทุนในการบริหารจัดการองค์กร และส่วนหนึ่งของเงินทุนจะถูกจัดสรรไปสนับสนุนโปรเจ็กต์หนังที่ทาง CNC เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้ส่งมาให้พิจารณา

การสนับสนุนที่ว่านี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. การสนับสนุนทางการเงิน โดยผู้ผลิตที่โปรเจ็กต์ผ่านการคัดเลือกจะต้องเสนองบประมาณสร้างเพื่อให้ทาง CNC พิจารณาอนุมัติวงเงิน และการสนับสนุนผ่านการลดภาษีการผลิตหนัง ซึ่งผู้สร้างหนังที่เลือกขอการสนับสนุนประเภทนี้จะได้รับโอกาสการคืนภาษี (tax rebate) 20-30% แต่ต้องไม่เกินจำนวนงบการสร้าง 30 ล้านยูโร https://www.cnc.fr/web/en/publications/results-2017_557488

นอกจากสนับสนุนหนังภายในประเทศแล้ว CNC ยังร่วมกับ สถาบันฝรั่งเศส (Institut Francaise) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ จัดตั้งกองทุน World Cinema Support เปิดโอกาสให้ผู้สร้างจากต่างประเทศขอทุนสนับสนุนได้ด้วย ภายใต้เงื่อนไขว่า จะต้องเป็นการร่วมทุนระหว่างประเทศเจ้าของโปรเจ็กต์กับบริษัทผลิตหนังในฝรั่งเศส และงบ 50-75% จะต้องถูกใช้โดยบริษัทผลิตหนังที่ตั้งอยู่ในฝรั่งเศส https://www.cnc.fr/web/en/news/world-cinema-support_113775

2) การส่งเสริมภาพยนตร์

นอกจาก CNC จะเน้นการโปรโมทหนังฝรั่งเศสภายในประเทศแล้ว ยังจัดตั้งหน่วยงานที่เผยแพร่หนังฝรั่งเศสในต่างประเทศอีกด้วย หน่วยงานนี้มีชื่อว่า Unifrance ทำหน้าที่สร้างช่องทางเพื่อเผยแพร่หนังฝรั่งเศสในตลาดนานาชาติ ไม่ว่าจะโดยการ…

– ให้บริษัทจัดจำหน่ายหนังฝรั่งเศสที่เป็นสมาชิกของ Unifrance ได้เข้าร่วมงานพบปะกับผู้จัดจำหน่ายในต่างประเทศโดยตรง
– ให้ทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ แก่บริษัทจัดจำหน่ายหนังในต่างประเทศที่ซื้อลิขสิทธิ์หนังฝรั่งเศสไปฉาย
– จัดกิจกรรมส่งเสริมหนังฝรั่งเศสในประเทศต่างๆ ในรูปของ “เทศกาลหนังฝรั่งเศส” หรือ “สัปดาห์หนังฝรั่งเศส”
– จัดทำฐานข้อมูลหนังฝรั่งเศสในรูปของเว็บไซต์เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าถึง https://www.efp-online.com/en/members/210/France/UniFrance


(ตอนต่อไป ติดตามนโยบายการสนับสนุนภาพยนตร์ของสหราชอาณาจักร)

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 7 ส.ค. 63

เมื่อวานนี้มีหนังใหม่เปิดตัว แต่ก็ไม่ได้สร้างความคึกคักให้ภาพรวมของสถานการณ์โรงหนังเท่าไหร่นัก โดยหนังใหม่ที่เปิดตัวสูงสุดของเมื่อวานกลับเป็นหนังเก่าที่กลับมาฉายใหม่ Interstellar ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน โดยทำเงินเปิดตัวที่ 0.22 ล้านบาท

รายได้หนังประจำวันที่ 6 ส.ค. 2563

1. Peninsula – 0.63 (43.90) ล้านบาท
2. Interstellar – 0.22 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายใหม่
3. White Snake – 0.13 ล้านบาท
4. Ava – 0.07 ล้านบาท
5. Wet Season – 0.03 ล้านบาท
6. The Truth – 0.03 ล้านบาท
7. ฮักเถิดเทิง – 0.03 (3.11) ล้านบาท
8. A Hidden Life – 0.02 (0.18) ล้านบาท
9. รักนะ ซุป ซุป – 0.007 (0.31) ล้านบาท
10. Still Human – 0.006 (0.11) ล้านบาท

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 30 ก.ค. – 5 ส.ค. 63

Peninsula ยังสานต่อความสำเร็จด้วยการครองอันดับ 1 เป็นสัปดาห์ที่ 2 ทิ้งห่างหนังเรื่องอื่นๆ แบบไม่เห็นฝุ่น ตอนนี้หนังทำเงินเข้าใกล้ 50 ล้านบาทแล้ว ขณะที่ The Kingmaker ฉายมา 5 สัปดาห์ยังคงเก็บเล็กผสมน้อยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดรายได้ถึง 0.65 ล้านบาท แม้รายได้ทั้งสัปดาห์จะเบียดเข้ามาอยู่ใน Top 10 ไม่ได้ก็ตาม

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 30 ก.ค. – 5 ส.ค. 2563

1. Peninsula – 11.67 (43.26) ล้านบาท
2. Ava – 2.01 (2.39) ล้านบาท
3. ฮักเถิดเทิง – 0.52 (3.29) ล้านบาท
4. Eyes on Me: The Movie – 0.45 (1.50) ล้านบาท
5. Digimon Adventure: Last Evolution Kazuna – 0.39 (4.90) ล้านบาท
6. รักนะ ซุป ซุป – 0.30 ล้านบาท
7. Sumikko Gurachi: The Movie – 0.14 ล้านบาท
8. Still Human – 0.11 ล้านบาท
9. เกมเซ่นผี – 0.11 (2.57) ล้านบาท
10. Suk Suk – 0.07 (0.24) ล้านบาท

รักนะซุปซุป : ซุปเนื้อที่ไม่ชวนให้หิวนัก กับความรักที่ชวนให้เหน็ดหน่าย

หลายร้อยปีก่อน ปู่ทวดของ ‘มินนี่’ (ซัซนี วิระฉัตร) คือพ่อครัวใหญ่แห่งอาณาจักรฟาฏอนี อาณาจักรที่ครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ฝีมือการปรุงอาหารของปู่ทวดมินนี่จะเป็นที่โจษจัน หากเขายังเป็นผู้คิดค้นเมนูที่เรียกได้ว่าเป็นตำนานแห่งอาหารมลายู อาหารจานที่ว่าคือ ‘ซุปเนื้อวัวหลังวัง’ สูตรลับของซุปเนื้อวัวหลังวังได้ถูกส่งผ่านจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่น จนตกทอดมาถึงมินนี่ในปัจจุบัน และแม้ว่าต้นตระกูลของเธอจะคือสุดยอดพ่อครัวในอดีตผู้โด่งดัง แต่ปัญหาคือ นอกจากมินนี่จะจดจำสูตรซุปเนื้อวัวหลังวังไม่ได้แล้ว ฝีมือการทำอาหารของเธอยังไม่ค่อยจะได้เรื่องได้ราวอีกด้วย

‘รักนะซุปซุป’ เล่าเรื่องราวของมินนี่ หญิงสาวที่แม้ทักษะการเข้าครัวจะเป็นศูนย์ แต่ด้วยความที่เป็นลูกหลานของพ่อครัวใหญ่ เธอจึงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่เพื่อจะเจริญรอยตามคุณปู่ทวดและก้าวขึ้นเป็นสุดยอดเชฟในสักวัน อยู่มาวันหนึ่ง มินนี่ก็ได้มีโอกาสรู้จักกับ ‘มาคัส’ (ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์) หัวหน้าเชฟแห่ง ‘ฮันซัรเรสเตอรองท์’ ร้านอาหารมลายูอันดับหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่การันตีด้วย ‘มุสลิมสตาร์’ รางวัลที่เปรียบเสมือนดาวมิชลินแห่งวงการอาหารมุสลิม แน่นอนว่ามาคัสไม่อาจยอมรับฝีมือการทำอาหารของมินนี่ได้ แต่เพราะคำกล่าวอ้างของหญิงสาวที่ยืนยันว่า ปู่ทวดของเธอคือพ่อครัวใหญ่เจ้าของสูตรลับซุปเนื้อวัวหลังวัง มาคัสจึงยินยอมให้มินนี่มาเป็นเด็กฝึกงานในครัวของเขา เป็นที่นั่นเองที่มินนี่ได้พบกับ ‘ฮันซัร’ (หัสวีร์ ภัคพงษ์ไพศาล) เจ้าของร้านฮันซัรเรสเตอรองท์ผู้ตกหลุมรักเธอในทันที

มินนี่คือเด็กสาวจากต่างจังหวัด บ้านเกิดของเธอคือจังหวัดนราธิวาส และก็เป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่มองว่า การจะแสวงหาความฝัน และโอกาสของชีวิต ควรเริ่มต้นจากพื้นที่ศูนย์กลางก่อนเสมอ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้มินนี่เดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อมองหาวิถีทางที่จะช่วยยกระดับฝีมือการทำอาหารของตัวเองได้ มินนี่หวังว่าสักวันจะเก่งกาจเหมือนปู่ทวด แต่แทนที่จะเลือกฝึกฝนฝีมืออยู่ในพื้นที่ของวัฒนธรรมมลายู ‘รักนะซุปซุป’ กลับเลือกที่จะพามินนี่มาสู่พื้นที่ของวัฒนธรรมอื่น แล้วจึงเปิดโอกาสให้เธอได้ฝึกฝนทักษะการทำอาหารมลายูจาก ‘คนนอก’ ที่ไม่ได้ถูกหล่อหลอมจากวัฒนธรรมมลายูแต่อย่างใด มาคัสไม่ได้มาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาเป็นเพียงพ่อครัวที่เก่งกาจและสนใจในอาหารมลายู แต่นั่นคือความผูกพันทั้งหมดระหว่างตัวเขากับวัฒนธรรมมลายูที่หนังแสดงให้เห็น ในขณะเดียวกัน ฮันซัรเองก็ไม่ได้ให้คุณค่ากับอาหารมลายูในแง่มุมอื่นๆ ที่มากไปกว่ารสชาติและหน้าตา สำหรับเขา อาหารที่ดีคืออาหารที่ขายได้ และมีโล่รางวัลยืนยัน

แน่นอนว่านั่นย่อมจะไม่ใช่เรื่องผิด การที่ตัวละครในเรื่องจะไม่ผูกพันกับวัฒนธรรมและอาหารมลายูย่อมจะเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่ในกรณีของ ‘รักนะซุปซุป’ วัตถุประสงค์ของหนังเรื่องนี้คือ การพยายามสื่อสารให้คนนอกพื้นที่เข้าใจถึงคุณค่าของวัฒนธรรมมลายู ในแง่นี้ การที่หนังปราศจากตัวละครที่ผูกพันและพอจะเป็นปากเสียงให้กับวัฒนธรรมมลายูกลับยิ่งจะลดทอนโอกาสที่คนนอกพื้นที่จะเข้าใจว่า คุณค่าของวัฒนธรรมมลายูคืออะไร และความโดดเด่นของอาหารมลายูคืออะไร

แน่นอนว่านั่นย่อมจะไม่ใช่เรื่องผิด การที่ตัวละครในเรื่องจะไม่ผูกพันกับวัฒนธรรมและอาหารมลายูย่อมจะเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่ในกรณีของ ‘รักนะซุปซุป’ วัตถุประสงค์ของหนังเรื่องนี้คือ การพยายามสื่อสารให้คนนอกพื้นที่เข้าใจถึงคุณค่าของวัฒนธรรมมลายู ในแง่นี้ การที่หนังปราศจากตัวละครที่ผูกพันและพอจะเป็นปากเสียงให้กับวัฒนธรรมมลายูกลับยิ่งจะลดทอนโอกาสที่คนนอกพื้นที่จะเข้าใจว่า คุณค่าของวัฒนธรรมมลายูคืออะไร และความโดดเด่นของอาหารมลายูคืออะไร

อาหารมลายูในหนังถูกนำเสนออย่างกว้างๆ แค่เพียงเอ่ยชื่อแค่ผ่านๆ โดยที่คนดูไม่มีเวลาทำความเข้าใจกับความพิเศษของอาหารสไตล์นี้ เราได้ยินชื่อ ‘นาซิดาแก’ ‘ตูปะซูตง’ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นชื่อที่ไม่คุ้นหู ทว่าสิ่งที่หนังบอกกับคนดูกลับเป็นเพียงคำอธิบายคร่าวๆ เช่น นาซิดาแกเป็นอาหารของชาวบ้าน และตูปะซูตงเป็นของหวาน เราไม่ได้รับทราบรายละเอียดมากไปกว่านั้น และแม้ว่า ‘รักนะซุปซุป’ จะเป็นหนังที่เชิดชูอาหาร ทว่าเมื่อหนังสิ้นสุดลง หนังกลับไม่สามารถทำให้เราอยากไปลิ้มลองอาหารมลายูมากนัก มันคงจะน่าสนใจกว่านี้หากหนังเลือกจะเทน้ำหนักให้อาหารมลายูและนำเสนอเป็นสาระสำคัญ แต่แทนที่หนังจะเลือกเส้นทางนี้ ‘รักนะซุปซุป’ กลับเฉือนเวลากว่าครึ่งหนึ่งไปกับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมินนี่ มาคัส และฮันซัร ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของหนังเรื่องนี้

ว่ากันตรงๆ ‘รักนะซุปซุป’ ไม่อาจทำให้คนดูเชื่อได้ว่า มินนี่กับฮันซัรชอบพอกันได้อย่างไร แน่ล่ะว่า ในกรณีของฮันซัร การตกหลุมรักมินนี่ตั้งแต่แรกเห็นยังพอจะเป็นเหตุผลที่เข้าใจได้ แต่กับมินนี่ที่กว่าครึ่งหนึ่งของหนังใช้เวลาอยู่กับมาคัสตลอด การที่อยู่ๆ หนังก็เดินเรื่องให้มินนี่หลงรักฮันซัรจึงไม่น่าเชื่อ ฝืน และออกจะยัดเยียด ประหนึ่งว่า หนังเพิ่งจะมาเปลี่ยนใจเอาทีหลังว่ามินนี่ควรจะคู่กับฮันซัรมากกว่ามาคัส ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ หนังพยายามโน้มน้าวให้เราเข้าใจอยู่ตลอดว่า มาคัสเองก็ชอบพอมินนี่อยู่ลึกๆ หนังผูกปมความสัมพันธ์ขึ้นอย่างทื่อๆ เพียงเพื่อที่หนังจะทิ้งประเด็นนี้ไปอย่างดื้อๆ ราวกับความรู้สึกระหว่างมาคัสและมินนี่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เป็นเรื่องน่าเสียดายว่า แม้นักแสดงในเรื่อง (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์) จะพยายามอย่างเต็มที่ในการสร้างมิติให้กับตัวละคร แต่เพราะตัวละครเหล่านี้ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นอย่างมีเลือดเนื้อ และชีวิตจิตใจตั้งแต่แรก ความพยายามของนักแสดงจึงเหลือเพียงความสูญเปล่าอย่างน่าเศร้า

ประเด็นหนึ่งที่ชวนให้ขบคิดคือ เรื่องราวของ ‘รักนะซุปซุป’ ดำเนินอยู่ระหว่างสองจังหวัด นั่นคือ กรุงเทพฯ และนราธิวาส แต่หนังกลับไม่ได้ให้ความรู้สึกว่า จังหวัดทั้งสองห่างไกลกันจริงๆ ในระดับกายภาพ การที่หนังเลือกจะพร่าเลือนระยะทางระหว่างสองจังหวัดในลักษณะนี้สะท้อนแง่มุมที่น่าสนใจต่อการเคลื่อนย้ายพื้นที่ของตัวละครในเรื่องที่ไม่ได้ถูกจำกัดให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของระยะทาง กล่าวคือ ตัวละครในเรื่องที่เป็นชาวมลายูต่างปรากฏตัวในกรุงเทพฯ อย่างเป็นอิสระ พวกเขาไม่ได้รู้สึกว่ากรุงเทพฯ เป็นพื้นที่แปลกปลอม และเคลื่อนที่อยู่ในเมืองแห่งนี้โดยไม่รู้สึกว่า อัตลักษณ์ของพวกเขาแปลกแยกไปจากอัตลักษณ์ของเมืองหลวงแต่อย่างใด น่าผิดหวังอยู่สักหน่อยที่หนังไม่ได้คิดจะขยายประเด็นนี้ เพราะสุดท้ายแล้วหนังก็วกกลับมาสู่ประเด็นรักๆ ใคร่ๆ ระหว่างมินนี่กับฮันซัรที่แสนจะจืดชืด และเหน็ดเหนื่อย

ตัวละครในเรื่องที่เป็นชาวมลายูต่างปรากฏตัวในกรุงเทพฯ อย่างเป็นอิสระ พวกเขาไม่ได้รู้สึกว่ากรุงเทพฯ เป็นพื้นที่แปลกปลอม และเคลื่อนที่อยู่ในเมืองแห่งนี้โดยไม่รู้สึกว่า อัตลักษณ์ของพวกเขาแปลกแยกไปจากอัตลักษณ์ของเมืองหลวงแต่อย่างใด น่าผิดหวังอยู่สักหน่อยที่หนังไม่ได้คิดจะขยายประเด็นนี้ เพราะสุดท้ายแล้วหนังก็วกกลับมาสู่ประเด็นรักๆ ใคร่ๆ ระหว่างมินนี่กับฮันซัรที่แสนจะจืดชืด และเหน็ดเหนื่อย

เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะแม้เราจะเห็นถึงความตั้งใจของทีมงานและนักแสดง แต่ ‘รักนะซุปซุป’ กลับเป็นหนังที่เต็มไปด้วยบาดแผลจนยากที่จะชื่นชมได้อย่างเต็มปาก ภายใต้บทหนังไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรัดกุม มันจึงกลายเป็นประสบการณ์หนึ่งชั่วโมงครึ่งที่น่าเบื่อหน่าย ฃอาจมีบางจังหวะที่กระตุกยิ้มหรือหัวเราะบ้าง แต่เหล่านั้นไม่ได้เกิดจากมุกตลกหรือเสน่ห์ของหนัง แต่จากความผิดพลาดที่ชวนให้ยิ้มหน่าย เราไม่ได้ตกหลุมรักมินนี่ เราไม่ได้ชื่นชมฮันซัร และเราไม่ได้รู้สึกอยากลองซุปเนื้อวัวหลังวังเลย

แน่นอนล่ะว่าเราอยากไปเที่ยวนราธิวาส หากนั่นก็เป็นเพราะคอนเทนต์ท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาสที่ได้อ่านบนเฟซบุ๊ก ไม่ใช่เพราะหนังเรื่องนี้แต่อย่างใด


หมายเหตุ : ฮันซัร สะกดตามการสะกดภาษาไทยจากภาษาอารบิก อ่านออกเสียงว่า ฮัน-ซัด

SUK SUK ชีวิตคือความไม่สมหวัง

0

มันราวกับว่าคุณขับแท็กซี่มาตลอดชีวิต เช้าวันนั้นคุณเปิดฝากระโปรงรถ หยิบผ้าขี้ริ้ว และน้ำยาทำความสะอาดมาเช็ดรถ กระจกต้องเช็ดด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ตรงขอบยางต้องขัดถู รถสีแดงขาวของคุณสะอาดเอี่ยมเหมือนกับชีวิตเรียบง่ายของคุณ ภรรยาที่แก่เฒ่าไปพร้อมกัน ลูกชายคนโตที่แต่งงานมีหลานไปแล้ว และลูกสาวคนเล็กก็กำลังจะแต่งงานแม้ว่าไอ้หนุ่มลูกเขยดูจะไม่เป็นโล้เป็นพายเท่าไร มันอาจไม่ใช่ชีวิตที่หรูหราแต่ก็ถือว่าที่ผ่านมาคุณทำได้ไม่เลวนัก เพียงแต่ว่าในยามว่างคุณมักแวะไปตามห้องน้ำชาย เข้าไปยืนฉี่ข้างๆ คนหนุ่มแปลกหน้า ส่งสายตาให้เขา หากถูกปฏิเสธ คุณก็อาจจะวนเวียนอยู่แถวนั้น อ้อยอิ่งสักเล็กน้อยก่อนกลับบ้านไปอ่านหนังสือพิมพ์ระหว่างรอข้าวเย็น

คุณเกษียณแล้ว ภรรยาก็เลิกรากันไปเนิ่นนาน คุณเลี้ยงลูกชายของคุณมาได้โดยลำพัง ถึงตอนนี้คุณก็อาศัยอยู่กับเขาที่กลายเป็นคริสเตียน แต่งงานและมีลูกสาวของตัวเอง คุณเป็นคุณเป็นคุณปู่ที่ใจดีเกินไปกับหลานสาว ในยามว่างคุณเข้ารวมกับกลุ่มเพื่อนเกย์ชรา เพื่อรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐจัดสร้างบ้านพักคนชราสำหรับคนรักร่วมเพศผู้อึดอัดใจที่เมื่อแก่ตัวลงอาจจะต้องไปอยู่บ้านพักคนชราร่วมกับคนรักต่างเพศ บางทีคุณก็คอยดูแลเพื่อนเกย์ของคุณที่แก่ตัวและป่วยไข้ไปโดยลำพัง แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ลูกชายของคุณไม่รู้เรื่อง

พวกคุณพบกันในบ่ายวันหนึ่ง คุณแกร่วอยู่แถวห้องน้ำชายในสวนสาธารณะ คุณนั่งอยู่บนม้านั่ง พวกคุณทักทายกัน คุณถามคุณว่าเข้าไปในนั้นกันไหม และคุณตอบว่าเราเป็นเพื่อนกันก่อนดีกว่า ไม่นานจากนั้นพวกคุณก็เป็นเพื่อนกัน ใช้จ่ายเวลาไปด้วยกันชั่วครั้งชั่วคราวในห้องคับแคบที่ฟูกนอนปูกับพื้น หากมีแต่ภายในห้องสกปรกปิดทึบที่แสงแดดแทบส่องไม่ถึง ที่ที่คุณต้องจ่ายค่าเช่าช่วงเวลาที่รอดพ้นจากการถูกมองเห็น มีแต่สถานที่ลับตาเช่นนั้นเท่านั้นที่คุณและคุณและคนอื่นๆ ที่เหมือนคุณจะได้เป็นตัวเองบ้าง

มองผ่านๆ เราอาจบอกว่า Suk Suk เป็นหนังที่เล่าเรื่องรักของเกย์วัยดึกสองคนที่พบกันในวันที่สายเกินไป เราอาจคาดเดาถึงเรื่องรักหัวใจสลาย การค้นพบตัวเองและการแตกหักกับครอบครัว หรือการพลัดพรากจากกันที่เจ็บปวด แต่สำหรับ Suk Suk ดูเหมือนสิ่งที่ทำให้ใจสลายไม่ใช่การพลัดพรากจากคนรักเพราะสังคม แต่คือมวลทั้งหมดของชีวิตต่างหาก

มองผ่านๆ เราอาจบอกว่า Suk Suk เป็นหนังที่เล่าเรื่องรักของเกย์วัยดึกสองคนที่พบกันในวันที่สายเกินไป เราอาจคาดเดาถึงเรื่องรักหัวใจสลาย การค้นพบตัวเองและการแตกหักกับครอบครัว หรือการพลัดพรากจากกันที่เจ็บปวด แต่สำหรับ Suk Suk ดูเหมือนสิ่งที่ทำให้ใจสลายไม่ใช่การพลัดพรากจากคนรักเพราะสังคม แต่คือมวลทั้งหมดของชีวิตต่างหาก

หนังเล่าเรื่องเรียบง่าย ลดทอนโอกาสที่จะสร้างฉากดราม่าสะเทือนใจ หนังตัดเอาอารมณ์ฉาบฉวยล้นเกินทั้งความรัก ความกลัว ความสูญเสียหรือแม้แต่น้ำตาออกไปจนหมด มันคือความสัมพันธ์ของผู้ใหญ่สองคนที่ต่างเข้าใจถึงที่ทางของตัวเองในโลก

ปักและฮอยเป็นเพียงชายเฒ่าสองคนที่ผ่านพบ ผูกพันและพลัดพรากกันไปอย่างเงียบเชียบ จนดูเหมือนความเงียบคือการเปล่งเสียงของชีวิตอันไม่สมประสงค์

หนังไม่ได้พูดเรื่องการเพิ่งตื่นรู้ว่าตัวเองไม่ได้เป็นอย่างที่สังคมอยากให้เป็นแบบใน Call Me By Your Name ซ้ำยังไม่ได้พูดเรื่องโศกนาฏกรรมจากการต้องหลบซ่อนชีวิตอีกด้าน ตีสองหน้าใส่สังคม และหวาดผวาว่าชีวิตจะถูกเปิดเผยแบบใน Brokeback Mountain หากนี่คือชีวิตที่ผ่านทุกอย่างที่ว่าไปแล้ว การมาเจอกันของพวกเขาเป็นสิ่งที่รู้กันอยู่แก่ใจ ว่ามีขอบเขตอยู่ตรงไหน และไม่มีใครพร้อมจะเสี่ยงทั้งนั้น

หนังไม่ได้พูดเรื่องการเพิ่งตื่นรู้ว่าตัวเองไม่ได้เป็นอย่างที่สังคมอยากให้เป็นแบบใน Call Me By Your Name ซ้ำยังไม่ได้พูดเรื่องโศกนาฏกรรมจากการต้องหลบซ่อนชีวิตอีกด้าน ตีสองหน้าใส่สังคม และหวาดผวาว่าชีวิตจะถูกเปิดเผยแบบใน Brokeback Mountain หากนี่คือชีวิตที่ผ่านทุกอย่างที่ว่าไปแล้ว การมาเจอกันของพวกเขาเป็นสิ่งที่รู้กันอยู่แก่ใจ ว่ามีขอบเขตอยู่ตรงไหน และไม่มีใครพร้อมจะเสี่ยงทั้งนั้น

จุดสูงสุดของความเสี่ยงจึงคือ การที่ฮอยเชื้อเชิญปักมาที่บ้านในสุดสัปดาห์ที่ลูกชายไม่อยู่บ้าน ปักบอกภรรยาว่าเขาจะไปเสิ่นเจิ้น ทั้งคู่ใช้จ่ายโมงยามร่วมกันด้วยการไปตลาด ทำครัว กินข้าว และนั่งดูทีวี ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตเรียบง่ายเพียงเท่านั้น ในขณะที่ชีวิตจริง ปักไม่ได้ชอบอาหารที่ภรรยาหรือลูกทำ ฮอยก็ถูกลูกชายบังคับให้กินอาหารเพื่อสุขภาพ ชีวิตของพวกเขาผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยไม่ได้ใช้ชีวิต

ชีวิตของปักและฮอย ตัวเอกในหนังเรื่องนี้ เป็นภาพแทนของคนหนุ่มจำนวนมากในฮ่องกงและในเอเชีย คนรุ่นที่เติบโตมาในยุคที่การเป็นรักร่วมเพศเป็นเรื่องผิดบาป ถูกกดทับด้วยระบบคิดแบบขงจื๊อที่เชื่อมั่นในหน่วยย่อยที่สุดอย่างครอบครัว บีบคั้นให้ผู้ชายต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงต้องเป็นผู้หญิง ผู้ชายคู่กับผู้หญิง และจงเร่งสืบพันธุ์สร้างบุตรหลานไวๆ จะให้ดีต้องเป็นลูกชายจะได้สืบทอดสายเลือดต่อไป พวกเขาบางคนอาจว่ายน้ำหนีปฏิวัติวัฒนธรรมมาจากแผ่นดินใหญ่ มาเผชิญโชคในฮ่องกง สังคมทุนนิยมที่ระบบคิดขงจื๊อยังคงแผ่ลาม ในตอนที่ยังหนุ่มพวกเขาถูกบังคับให้ต้องสร้างเนื้อสร้างตัว ‘สร้างครอบครัว’ พวกเขาคือผู้คนรุ่นที่ไม่ได้มีชีวิตเพื่อตัวของพวกเขาเอง แต่เพื่อธำรงไว้ซึ่งสายตระกูล สังคมที่ตนสังกัด ชีวิตเป็นของทุกคนไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งผู้เป็นเจ้าของชีวิต

พวกเขาจึงแต่งงานกับคนที่เหมาะสมไม่ใช่คนที่รัก ทำงานหนักเพื่อให้ครอบครัวมั่นคง วางความฝันของตนลง เขาเติบโตแก่เฒ่าและลงมือเคี่ยวเข็ญบุตรหลานของตนให้ดำเนินชีวิตไปในแบบเดียวกัน

จนเมื่อพวกลูกๆ ของพวกเขาเติบโต มีครอบครัว ไปจากบ้าน จนเมื่อพวกเขาแก่เฒ่าเกษียณอายุ จนเมื่อพวกเขาเป็นเพียงอากงอาม่าที่ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เดินไปข้างหน้าอีก การเกษียณโดยเฉพาะกับปักคือหมุดหมายของความหมดประโยชน์ต่อสังคม เป็นพ่อแม่แก่เฒ่าที่ลูกหลานต้องดูแล

ในฉากเล็กๆ ฉากหนึ่ง เมื่อรู้ว่าพ่อตัดสินใจเลิกขับแท็กซี่ (ไม่ใช่ด้วยความเต็มใจ แต่เพื่อแก้ไขปัญหาบางอย่าง) ลูกชายของเขาเอาเงินใส่ซองฝากแม่ไว้ให้ เขาโทรกลับไปหาลูกชาย โกรธเล็กน้อยที่ลูกทำแบบนี้ การรับเงินจากลูกเป็นเครื่องหมายฉายชัดว่าหลังจากนี้เขาไม่ได้เป็นตัวเขาเองอีกแล้ว เขาถูกไล่ออกนอกสนาม ไม่ได้เป็นทีมเดียวกับลูกๆ  ถูกกีดกันจากสังคมที่เขาอุทิศตัวให้ กลายเป็นแค่ชายชราไร้ค่าที่อยู่ไปวันๆ เพื่อรอให้ความฝันใดๆ จืดจางลง รอให้ชีวิตจืดจางลง และตายจากไปในรูปแบบของการหมดทุกข์หมดโศกกันเสียที

การเกษียณอายุถูกล่อลวงด้วยคำจำพวก “การออกจากงานอันน่าเหนื่อยหน่ายไปทำสิ่งที่ตัวเองรักชอบ” แต่พอถึงจุดนั้นก็ไม่เหลือสิ่งที่รักชอบใดให้ทำอีกแล้ว ร่างกายอ่อนล้า ไฟฝันมอดดับ ซ้ำการทำเพื่อตัวเองก็ยังมีข้อแม้เล็กๆ น้อยๆ ว่ามันต้องไม่ขัดแย้งกับสถานะทางสังคมของลูกๆ พวกเขาเสียสละตัวเองเพื่อลูกในตอนที่ยังเป็นเจ้าชีวิตของลูก เมื่อลูกๆ มีลูกเป็นของตัวเอง พวกเขายังคงต้องเสียสละตัวเพื่อให้ลูกๆ ได้คงสถานะที่พวกเขาคงอยู่สืบมา ทั้งหมดจึงเป็นเพียงคำลวงโกหก ชีวิตไม่ใช่และไม่เคยเป็นความสมหวัง หนังจึงไม่ได้พูดเพียงเรื่องของเกย์แก่ หรือความเป็นเกย์ในสังคมปฏิเสธเกย์ แต่ยังพูดถึงความแก่โดยตัวของมันเอง เราอาจเปลี่ยนเรื่องเป็นพ่อหรือแม่ที่นึกอยากแต่งงานใหม่ในวัยเกษียณและถูกลูกหลานขัดขวางก็ย่อมได้ 

ทั้งหมดจึงเป็นเพียงคำลวงโกหก ชีวิตไม่ใช่และไม่เคยเป็นความสมหวัง หนังจึงไม่ได้พูดเพียงเรื่องของเกย์แก่ หรือความเป็นเกย์ในสังคมปฏิเสธเกย์ แต่ยังพูดถึงความแก่โดยตัวของมันเอง

หนังเล่าลามไปยังเรื่องของเกย์แก่ที่ต้องอยู่อาศัยเพียงลำพัง ป่วยไข้ ร่างกายถดถอย ประเด็นหนึ่งที่หนังยกขึ้นมาคือการสร้างบ้านพักคนชราสำหรับคนแก่ เมื่อคุณยังเป็นหนุ่มคุณแปลกแยกนั่นอาจเป็นปัญหา แต่คุณจัดการได้ไม่ยากนัก แต่เมื่อคุณแก่แล้วคุณก็ยังแปลกแยก เมื่อสิ่งที่คุณควบคุมไม่ได้ไม่ใช่แค่เพียงขี้ปากชาวบ้าน แต่ยังรวมถึงร่างกายของคุณเองด้วยนั้นชีวิตย่อมไม่ง่ายนัก หนังพูดถึงการสร้างบ้านพักคนชราสำหรับรักร่วมเพศในฐานะความช่วยเหลือที่รัฐควรมอบให้อย่างเท่าเทียม เพราะมันดูจะเป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับผู้คนที่ปกปิดตัวเองมาทั้งชีวิต “จนกระทั่งภรรยาก็ตายจากไป พ่อแม่ของเราก็ตายจากไป เราเหลืออยู่เพียงผู้เดียว ก็ขอให้เราได้เป็นตัวของตัวเองด้วยเถอะ”

การเป็นตัวเองของปัก ฮอยและเกย์คนอื่นๆ ถูกเล่าออกมาอย่างดงามมากๆ ในฉากเล็กๆ ในซาวน่าที่ปักและฮอยใช้เป็นหลุมหลบภัยชั่วคราว หลังจากอยู่ด้วยกันในห้อง พวกเขาออกไปกินข้าวกับคนอื่นๆ ในสถานบริการที่มืด แคบ สกปรกและผิดกฎหมาย กลายเป็นสถานที่เรื่อเรืองสว่างไสวบนโต๊ะกินข้าวรวม ที่ผู้คนเปลือยท่อนบนกินข้าวร่วมกัน ถามไถ่ทุกข์สุขพูดคุยหาเพื่อน หยอกล้อเล่นกัน มองหาสัตว์โลกที่เหมือนกันกับตน ที่ซึ่งข้างนอกไม่ใช่ที่ปลอดภัยที่จะเปิดเผยตัว

หากการเปิดเผยตัวเองไม่ใช่ประเด็นของหนังอีกต่อไป หนังมีฉากชวนเจ็บปวดมากมายว่า อันที่จริงบรรดาครอบครัวของคนทั้งคู่ก็ต่างรู้กันอยู่แล้วว่าเขาเป็นใคร แต่ตราบใดที่ไม่มีการประกาศออกมา ตราบใดก็ตามที่พวกเขาไม่ล้ำเส้น ก็จะไม่มีใครทำอะไรทั้งสิ้น สังคมดำเนินไปได้ด้วยการไม่ยอมรับ การหลบซ่อน และการหลับตาข้างหนึ่ง เพื่อธำรงสิ่งลวงตาอย่างครอบครัวเอาไว้ การเสียสละตนจึงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่ในตัวของพวกเขา หากยังรวมไปจนถึงเมียและลูกของพวกเขาด้วย มันคือสิ่งที่เจือส่วนหนึ่งด้วยความทุกข์ระทม ส่วนหนึ่งของความเห็นแก่ตัวเห็นแก่สถานะทางสังคมของตน และอีกส่วนหนึ่งคือความเห็นอกเห็นใจในกันและกัน

ในฉากหนึ่ง ปักชวนฮอยมางานแต่งของลูกสาว ทุกครั้งที่กล้องจับไปยังสีหน้าของภรรยาของปัก หนังได้บอกเป็นนัยๆ แล้วว่าเธอรู้อยู่เต็มอกว่าสามีของเธอเป็นคนอย่างไร และเพื่อนเก่าของเขาคนนี้มีความพิเศษอย่างไร น่าเสียดายที่ดูเหมือนหนังวางเธอในสถานะตัวละครที่ถูกปิดกั้นที่สุด ผู้ชมได้ ‘มองดู’ ความทุกข์ของเธอผ่านทางอากัปกิริยา การแสดงสีหน้าเพียงเล็กน้อย แต่เราไม่อาจเข้าถึงเธอ เราไม่อาจรู้ว่าเธอเป็นใคร มาจากไหน ไฝ่ฝันและเสียสละอะไรบ้างเพื่อธำรงไว้ซึ่งครอบครัวแสนสุขสามัญครอบครัวหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หนังฉายให้เห็นว่าปักรักเธอมาก และเขาแทบจะเป็นเพื่อนชีวิตคนเดียวที่เธอมี ถ้าต้องเลือกเขาก็คงเลือกภรรยา มันเป็นความสัมพันธ์ที่ฮอยได้เห็นด้วยตาตนเอง ตระหนักรู้ว่าถึงอย่างไรชาตินี้เขาก็คงเข้าไปแทนที่ไม่ได้ เขาจึงพยายามมอบไม้กางเขนให้ปักในฐานะตัวแทนของการขอโอกาสพบกันอีกครั้งในโลกหลังความตาย

น่าเสียดายที่ดูเหมือนหนังวางเธอในสถานะตัวละครที่ถูกปิดกั้นที่สุด ผู้ชมได้ ‘มองดู’ ความทุกข์ของเธอผ่านทางอากัปกิริยา การแสดงสีหน้าเพียงเล็กน้อย แต่เราไม่อาจเข้าถึงเธอ เราไม่อาจรู้ว่าเธอเป็นใคร มาจากไหน ไฝ่ฝันและเสียสละอะไรบ้างเพื่อธำรงไว้ซึ่งครอบครัวแสนสุขสามัญครอบครัวหนึ่ง

สำหรับฮอยก็เช่นกัน แม้จะร่วมต่อสู้มา แต่สุดท้ายเขาปฏิเสธการไปบ้านพักคนชราเช่นนั้นหากว่ามันเกิดขึ้นจริง เพราะเขาไม่ต้องการให้กระทบถึงลูกชาย เขาเอารูปเก่าของเพื่อนชายที่เก็บไว้กับตัวมานานแสนนานไปทิ้ง ลบเลือนทุกอย่างเผื่อว่าตายไปจะได้ไม่มีใครรู้ ฝังความทรงจำไว้แต่เพียงกับตัวเอง ในช่วงท้ายของหนังที่ฮอยแอบฟังสปีชของเพื่อนที่ยอมก้าวออกไปพูดเรื่องความทุกข์ยากของเกย์ในฮ่องกง หนังฉายให้เห็นภาพของลูกชายที่อาจจะรู้เรื่องพ่อของตนอยู่ก่อนแล้ว หากเขาไม่ต้องการยอมรับ ไม่อยากได้ยิน ไม่อยากให้พ่อพูดมันออกมา เขาจึงบอกให้พ่อเบาเสียงมันลงแทนที่จะถามไถ่อื่นใด

Suk Suk จึงเป็นหนังปิดเผยภาพความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ซับซ้อนจนไม่สามารถอธิบายได้แค่ว่านี่เป็นเรื่องของเกย์เฒ่าที่แอบคบชู้นอกใจเมีย แต่คือความสัมพันธ์อันซับซ้อนและไม่อาจอธิบาย กำหนด บังคับบีบคั้น หรือจัดกลุ่มได้ง่าย มนุษย์ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มคำ แต่เป็นความหลากหลายที่การพยายามนิยามตายตัวก็เป็นได้เพียงการกำเม็ดทรายไว้ในมือเท่านั้น

ดีลลับลวงพรางของค่ายหนัง Universal และโรงหนัง AMC ที่จะสั่นสะเทือนอุตสาหกรรมหนังโลก

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ที่สร้างความฮือฮาให้แก่โลกหนังอยู่สองข่าว ข่าวแรกคือ การประกาศวันฉายของหนังแห่งความหวังของฮอลลีวูดเรื่อง Tenet ซึ่งมีกำหนด 26 สิงหาคมนี้ โดยจะเปิดตัวในหลายประเทศก่อนที่จะเข้าฉายในอเมริกาบางเมืองซึ่งปลอดภัยจากโรคโควิดในวันที่ 3 กันยายน ส่วนอีกข่าวหนึ่ง เป็นรายงานเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างโรงหนังเครือใหญ่เบอร์หนึ่งของอเมริกาคือ AMC  กับค่ายหนังสตูดิโอ Universal ที่ AMC ยินยอมให้หนังจาก Universal เข้าฉายช่องทางสตรีมมิ่งแบบเก็บเงิน (Premium Video on Demand) ได้ หลังจากเข้าโรงเครือ AMC เป็นเวลาอย่างน้อยที่สุด 17 วัน https://www.indiewire.com/2020/07/17-day-window-universal-amc-change-film-distribution-1234576789/

แม้น้ำหนักการถูกพูดถึงจะเทไปที่ข่าววันฉายของ Tenet มากกว่า แต่ถ้าถามว่า ข่าวไหนสร้างความฮือฮาให้แก่ผู้คนในแวดวงธุรกิจหนังมากกว่ากัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวดีลลับลวงพรางระหว่างโรงหนังเครือใหญ่กับสตูดิโอยักษ์ใหญ่นั้นสร้างความมึนงง ตื่นเต้น และน่าวิตกกังวลมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

สาเหตุที่ทำให้ข่าวนี้สร้างความฮือฮาแก่วงการหนังอย่างมากก็เพราะ

1) เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โรงหนัง AMC เพิ่งประกาศตัดสัมพันธ์ชนิดไม่เผาผีกับค่าย Universal เนื่องจาก ช่วงที่วิกฤตโควิด-19 กำลังเพิ่มระดับความรุนแรง Universal ตัดสินใจนำหนังแอนิเมชั่นต้นทุน 100 ล้านเหรียญเรื่อง Troll World Tour เข้าฉายทางช่องทางสตรีมมิ่งออนไลน์ที่เรียกว่า Premium Video on Demand (ซึ่งเก็บค่าชมจากผู้ชมต่อครั้ง) สร้างความผิดหวังและโกรธเกรี้ยวแก่โรงหนังเครือใหญ่เป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วงเวลานั้นโรงหนังต้องปิดตัวทำให้ขาดรายได้ ซ้ำค่ายหนังยังเลือกช่องทางการฉายที่ถือเป็นปฏิปักษ์ต่อการฉายในโรงเพื่อเอาตัวรอดเสียอีก ผู้บริหาร AMC จึงประกาศกร้าวว่าจะไม่ฉายหนังจาก Universal อีกต่อไป ซึ่งรวมถึง No Time to Die และ Fast and Furious 9 ด้วย https://screenrant.com/universal-vs-amc-controversy-trolls-world-tour-explained/

อย่างไรก็ตาม คล้อยหลังไม่ถึงสองเดือน สองยักษ์ใหญ่ก็หันกลับมาคืนดีพร้อมกับการเกิดขึ้นดีลอันลือลั่น ซึ่งว่ากันว่า สมประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ โดยโรงหนังจะยังเก็บรายได้ของหนังฟอร์มยักษ์ได้จากการฉายโรง แถมยังได้ส่วนแบ่ง 10% จากยอดฉายทางช่องทางสตรีมมิ่งของ Universal อีกต่างหาก ส่วนตัวค่ายหนังก็สามารถเก็บรายได้เต็ม ๆ จากทั้งโรงและสตรีมมิ่ง https://www.indiewire.com/2020/07/17-day-window-universal-amc-change-film-distribution-1234576789/

2) หากดีลนี้เริ่มมีผลในทางปฏิบัติ แล้วโรงหนังเครือใหญ่อื่น ๆ และสตูดิโอต่าง ๆ เลียนแบบบ้าง อาจก่อเกิดสิ่งที่เรียกว่า สึนามิแห่งช่องทางการเผยแพร่หนัง (หรือเรียกว่า Window) ขึ้นมา จนส่งผลให้ธุรกิจหนังไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะวิเคราะห์เจาะลึกถึงผลกระทบของดีลระหว่าง AMC กับค่าย Universal เราควรมาทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “Window ของการจัดจำหน่าย” เสียก่อนว่าเป็นอย่างไร และมีช่องทางอะไรบ้าง

ในปัจจุบัน ช่องทางการเผยแพร่หนัง (Window) โดยทั่วไปแบ่งออกได้ 4 ช่องทาง ประกอบด้วย โรงหนัง, ดีวีดี/บลูเรย์, วิดีโอออนดีมานด์ (ซึ่งมีทั้งแบบชำระค่าชมต่อครั้ง และแบบบอกรับสมาชิก) และ ช่องทางโทรทัศน์ (แบบที่ต้องจ่ายค่าสมาชิก และแบบฟรี) แต่ละ Window จะมีระยะเวลาของการเริ่มต้นการเผยแพร่หนังแตกต่างกันไป  โดยปกติจะถือว่าโรงหนังเป็นช่องทางการเผยแพร่ช่องทางแรก ตามมาด้วยดีวีดีและบลูเรย์ ซึ่งจะเริ่มออกวางจำหน่ายและให้เช่าหลังจากหนังฉายโรงแล้วประมาณ 3 เดือน เช่นเดียวกันกับช่องทางวิดีโอออนดีมานด์ ซึ่งจะคล้อยหลังจากโรงหนังประมาณ 3 เดือนเช่นกัน และหลังจากหนังเริ่มฉายในโรงหนัง 6- 8 เดือนก็จะถูกนำมาเผยแพร่ทางโทรทัศน์แบบเก็บค่าสมาชิก (pay TV) ก่อนที่จะออกอากาศในช่องทางโทรทัศน์แบบไม่ต้องเสียค่าชม (free tv ) เป็นช่องทางสุดท้าย (ส่วนใหญ่จะห่างราว 15 -24 เดือน หลังจากหนังฉายในโรง) https://en.wikipedia.org/wiki/Film_distribution#:~:text=The%20standard%20release%20routine%20for,model%20called%20%22release%20windows%22.&text=In%20the%20standard%20process%2C%20a,(entering%20its%20video%20window).

หากดีลนี้เริ่มมีผลในทางปฏิบัติ แล้วโรงหนังเครือใหญ่อื่น ๆ และสตูดิโอต่าง ๆ เลียนแบบบ้าง อาจก่อเกิดสิ่งที่เรียกว่า สึนามิแห่งช่องทางการเผยแพร่หนัง (หรือเรียกว่า Window) ขึ้นมา จนส่งผลให้ธุรกิจหนังไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ผลกระทบของดีลที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจหนัง

แน่นอนว่า เมื่อค่ายใหญ่กับโรงใหญ่ตกลงทำดีลกันให้หนังมีระยะเวลาการฉายโรงที่สั้นลง และการเริ่มต้นสิทธิ์สตรีมมิ่งที่เร็วขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อช่องทางการเผยแพร่หนังโดยรวมอย่างยิ่ง ซึ่งในมุมมองของผู้เขียน สิ่งที่จะเกิดขึ้นเท่าที่คิดได้ในตอนนี้ประกอบด้วย

1. หนังขนาดกลางและเล็กจากค่ายอิสระ อาจหมดโอกาสฉายในโรงหนังเครือใหญ่ เนื่องจากหนังจะมีระยะเวลาฉายอยู่ในโรงสั้นลง ดังนั้นโรงหนังย่อมยินดีจะเทจำนวนรอบให้แก่หนังฟอร์มใหญ่จากสตูดิโอใหญ่เป็นหลักเพื่อจะได้ทำรายได้ให้มากที่สุด โอกาสที่หนังขนาดกลางและเล็กจะแทรกตัวเข้าไปฉายในช่วงเวลาเดียวกับหนังฟอร์มใหญ่จึงแทบเป็นไปไม่ได้ ต้องรอจังหวะที่ปลอดหนังฟอร์มใหญ่เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในช่วงเวลาที่หนังฟอร์มใหญ่แทบจะเปิดตัวทุกเดือน

ทางรอดเดียวของหนังกลางและเล็กก็คือการฉายในโรงหนังทางเลือก (ที่ไม่ได้ตกลงดีลลักษณะนี้กับค่ายหนังใหญ่) แต่ถ้าตัวหนังไม่พิเศษจริงก็ไม่ง่ายอีกเช่นกันที่ผู้ชมจะให้ความสนใจ นอกจากนั้นก็ต้องไปฉายในช่องทางอื่น เช่น ช่องทางสตรีมมิ่ง เป็นต้น

2. การล่มสลายของบาง window เหยื่อรายแรกที่จะต้องสังเวยให้แก่โมเดลทางการจัดจำหน่ายแบบใหม่นี้ก็คือ ดีวีดีและบลูเรย์ ซึ่งปัจจุบันกำลังเผชิญภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่แล้วจากการเติบโตของช่องทางสตรีมมิ่ง และการคุกคามอย่างต่อเนื่องของแผ่นดีวีดีและบลูเรย์ผิดกฎหมาย เมื่อ window แบบสตรีมมิ่งถูกทำให้สั้นลง ความต้องการซื้อแผ่นดีวีดีหรือบลูเรย์ก็จะลดลงตามไปด้วยเพราะผู้ชมจะได้ชมหนังทางสตรีมมิ่งเร็วกว่าเดิมแล้ว นอกจากนี้ การที่หนังออกฉายในช่องทางสตรีมมิ่งเร็วขึ้น โอกาสที่ลิงค์หนังผิดกฎหมายจะถูกเผยแพร่ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดดีวีดีและบลูเรย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

3. พฤติกรรมการดูหนังของผู้ชม เมื่อ window ของการฉายหนังในโรงหนังถูกทำให้สั้นลง คาดว่าพฤติกรรมการดูหนังของผู้ชมก็จะชัดเจนขึ้น กล่าวคือ ผู้ชมอาจแบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่ 1) ผู้ชมที่ยังถือว่าโรงหนังเป็นแหล่งเผยแพร่หนังที่สมบูรณ์แบบ เมื่อมีหนังมาเปิดตัวก็จะซื้อตั๋วเข้าชมตั้งแต่วันแรก ๆ เพื่อให้ทันช่วงเวลาที่หนังจะมีชีวิตอยู่ในโรงหนัง และ 2) ผู้ชมที่รอชมผ่านช่องทางสตรีมมิ่ง เพราะเห็นว่ารอเพียงไม่นานก็จะได้ชมแล้ว ไม่จำเป็นต้องรีบซื้อตั๋วเข้าโรง แถมสตรีมมิ่งยังเป็นทางเลือกที่คุ้มค่า เพราะแม้ค่าบริการจะสูงกว่าตั๋วหนัง (กรณี Troll  World Tour ค่าชมต่อการสตรีมหนึ่งครั้งสูงถึง 19 เหรียญ https://deadline.com/2020/04/trolls-world-tour-vod-revenue-universal-coronavirus-1202919723/#:~:text=Universal’s%20decision%20to%20take,the%20title’s%20first%2019%20days. ขณะที่ราคาตั๋วหนังทั่วไปอยู่ที่ 9 เหรียญ) แต่ถ้าผู้บริโภคมีสมาร์ททีวีก็สามารถจ่ายค่าชมราคาเดียวแล้วดูได้ทั้งครอบครัว

แม้ขณะนี้ ดีลลับลวงพรางระหว่าง AMC และ UNIVERSAL จะยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ แถมรายละเอียดหลายอย่างของข้อตกลงยังไม่ถูกเปิดเผยออกมา นอกจากคอนเซ็ปต์หลักที่ว่าด้วยระยะเวลาการฉายหนังในโรงที่สั้นลงและการฉายผ่านช่องทางสตรีมมิ่งที่เร็วขึ้นเท่านั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นการเคลื่อนไหวสำคัญที่อาจเปลี่ยนรูปโฉมของธุรกิจหนังอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้

Loveless แหลกสลาย ไม่มีหัวใจ จนไร้รัก

มนุษย์ที่ใช้ชีวิตอย่างไร้รัก จะสามารถมี ‘ชีวิต’ จริงๆ ได้ไหม

ใจกลางกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย สองผัวเมียที่ชีวิตคู่กำลังถึงกาลแตกดับ บอริส (อเล็คซี โรซิน) กับ เซนยา (มาร์ยานา สไปวัค) กำลังเดินเรื่องหย่าขาดออกจากกันเพื่อไปเริ่มชีวิตใหม่กับคนอื่น ด้วยการพยายามขายอพาร์ตเมนต์และย้ายออกอย่างถาวร ติดก็แต่ทั้งคู่ไม่อาจตกลงได้ว่าใครจะเป็นคนรับ อโลชา (มัตเวฟ โนวิคอฟ) ลูกชายวัยสิบสองปีไปเลี้ยงดู เพราะเซนยาไม่อยากมีลูกตั้งแต่แรก และบอริสเองก็กำลังจะมีลูกอีกคนกับเมียใหม่ นำมาสู่การทุ่มเถียงครั้งใหญ่ที่ดูกับจะยืดเยื้อไม่จบไม่สิ้น และการณ์กลับเลวร้ายลงกว่านั้นเมื่ออโลชา ผู้ไม่อาจทนกับความตึงเครียดและสงครามประสาทของพ่อกับแม่ได้อีกแล้ว ตัดสินใจหนีออกจากบ้านไปในท้ายที่สุด บอริสและเซนยาจึงจำเป็นต้องกัดฟันร่วมมือกันตามหาลูกชายอย่างเสียมิได้

เมื่อปีที่แล้ว เราอาจสั่นสะเทือนกับหนังหย่าร้างที่ชำแหละลงไปถึงหัวจิตหัวใจคนเคยรักกันอย่าง Marriage Story (2019) หรือแม้แต่ถอยหลังกลับไปสิบปีก่อนหน้าก็จะมี Blue Valentine (2010) ซึ่งล้วนแล้วแต่ยังให้รสชาติของความหวังที่อาจพังทลายลงในอนาคตของความรัก หรือหวนไปถึงอดีตอันหวานชื่นของชีวิตคู่ หากแต่สิ่งที่ Loveless ทำนั้นไม่ใช่การชำแหละหรือพินิจพิเคราะห์ความสัมพันธ์ในอดีตของตัวละคร หากแต่มันรุนแรงจนน่าจะเรียกได้ว่าเป็นระดับการทำลายล้างของชีวิตคู่ที่หวังให้อีกฝ่ายไปให้พ้นจากชีวิตตัวเองและไม่หวนกลับมาอีก หรือดีกว่านั้นคือไม่ต้องมีกันในชีวิตแต่แรก

Loveless นับเป็นผลงานการกำกับหนังเรื่องยาวลำดับที่ห้าของ อันเดรย์ ซเวียกินเซฟ คนทำหนังสัญชาติรัสเซีย ก่อนนี้งานของเขาล้วนพูดถึงความสัมพันธ์อันเปราะบางของคนในครอบครัวที่พร้อมโอบกอดและทิ่มทำลายกันตลอดเวลาผ่าน The Return (2003 -สองพี่น้องที่อยู่ดีๆ ก็พบว่าพ่อที่หายหน้าไปนาน 12 ปีกลับเข้ามาในชีวิตอีกครั้ง), The Banishment (2007 -เมื่อหญิงสาวตัดสินใจบอกสามีว่าเด็กในท้องไม่ใช่ลูกของเขา), Elena (2011 -แม่บ้านที่ต้องประคับประคองสามีที่ล้มป่วยหนักและรับมือกับลูกชายหัวรั้น) และ Leviathan (2014 -ชายที่พยายามปกป้องครอบครัวจากการคุกคามของนักการเมือง) ซึ่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาหนังพูดภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีนั้น และเช่นเดียวกับหนังเรื่องก่อนหน้าของซเวียกินเซฟ Loveless ยังคงหัวใจหลักของการเล่าเรื่องที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ภายใต้บรรยากาศอึมครึม หนาวเหน็บของรัสเซียที่ดูราวกับยาวนานตลอดกาล

“สำหรับผม สิ่งที่น่าสนใจของความเป็นครอบครัวคือการที่ทุกคนใกล้ชิดกันมากพอจะเปิดเผยตัวตน ถอดหน้ากากออกและเปลือยบาดแผล ความเจ็บปวดที่อยู่ลึกที่สุดในตัวพวกเขาให้คนอื่นๆ ได้เห็น” ซเวียกินเซฟบอก “ผมว่ามันเป็นประเด็นสำคัญที่ผมอยากสำรวจเอามากๆ”

แม้ว่าหนังจะว่าด้วยการหายตัวของอโลชาเป็นสำคัญ แต่หนังไม่ได้จับจ้องไปที่เขาเป็นพิเศษ กลับกันคือเด็กชายปรากฏตัวบนจอภาพยนตร์เพียงไม่กี่นาที จากนั้นจึงเป็นการจับจ้องไปยังภาวะเสียสติของบอริสและเซนยาที่ต่างก็ไปมีชีวิตในแบบของตัวเองกับคนรักคนใหม่ เซนยาซึ่งทำงานในร้านเสริมความงาม พบรักกับพ่อม่ายอายุมากกว่าทั้งยังฐานะร่ำรวยที่ดูจะหลงเธอหมดหัวใจ ขณะที่บอริสประคบประหงมเมียสาวตั้งท้องแก่ใกล้คลอดและสาละวนอยู่กับการปิดบังไม่ให้ที่ทำงานซึ่งเป็นองค์กรทางศาสนารู้ถึงสถานะง่อนแง่นของครอบครัวตัวเองเนื่องจากอาจจะโดนไล่ออกได้ กว่าทั้งสองจะรู้ว่าอโลชาหายตัวไปจากบ้านก็ล่วงเข้าวันที่สองเข้าไปแล้ว กับสภาพอากาศเลวร้ายสุดขีดของมอสโก

ตามปกติแล้วหนังของซเวียกินเซฟมักห่มคลุมด้วยบรรยากาศหนาวเหน็บและเวิ้งว้างของรัสเซียเป็นสำคัญ Loveless เองก็เช่นกัน อพาร์ตเมนต์ของสองผัวเมียตั้งอยู่ใกล้ๆ กับป่ากว้าง ที่ซึ่งต้นไม้คล้ายจะแห้งตายเป็นสีน้ำตาลเข้มตลอดทั้งปี ชื้นแฉะด้วยหิมะที่ละลายในยามเช้าและเยือกแข็งในยามค่ำ ตัดสลับกับเมฆสีทึมเทากับเม็ดฝนที่ตกกระทบบานหน้าต่างเกือบตลอดเวลา หรือแม้แต่ใน ‘ที่พัก’ ของพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ตเมนต์ของสองผัวเมีย, บ้านหรูหราของชายคนรักใหม่ของเซนยา และห้องพักหลังน้อยของหญิงสาวท้องแก่ ล้วนอาบคลุมไปด้วยแสงซีดจางและเย็นยะเยือก ห้องพักทั้งหมดที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ล้วนกรุด้วยกระจกบานใหญ่เป็นสำคัญ ร่างของพวกเขาจึงไล้ด้วยแสงซีดๆ จากภายนอก และหน้าต่างบานกระจกแบบนี้เองที่ทำให้เราเห็นว่าภายนอกโลกของพวกเขานั้นพายุกำลังพัดสาด หิมะกำลังโปรยตัวลงมา ดังนั้น ไม่ว่าจะอย่างไร อยู่ในห้องที่อบอุ่นแค่ไหน บรรยากาศหนาวเหน็บจึงตามตัวละครเหล่านี้ไปทุกที่ ทุกฝีเก้า

สิ่งที่น่าสนใจคือวิธีที่ซเวียกินเซฟจับจ้องไปยังความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่อง เซนยาและบอริสไม่เพียงแค่หมดรักต่อกันเท่านั้น แต่พวกเขายัง ‘ไร้รัก’ หรือแม้แต่หมดความสามารถในการจะสานสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นด้วย ฉากที่บอริสบอกปัดเพื่อนร่วมงานว่าเขาไม่มีเพื่อนสนิทในองค์กรนี้ (ทั้งที่เพิ่งจะฟังอีกฝ่ายแง้มความลับของใครอีกคนมา) หรือท่าทีเหินห่างเมื่อเขาเข้าใกล้ใครคนอื่น (ส่วนตัวคิดว่าการแสดงของอเล็คซี โรซินน่าจับตามาก โดยเฉพาะการที่เขามักจ้องมองสรรพสิ่งด้วยแววตาคล้ายคลื่นใต้น้ำกำลังก่อตัวขึ้นในความคิด) เช่นเดียวกันกับเซนยาซึ่งเห็นได้ชัดว่าเธออึดอัดที่จะต้องอยู่ใกล้กันกับอดีตสามีแม้จะเพียงร่วมห้อง (เช่น ขยับเก้าอี้ไปนั่งเยื้องอีกมุมหนึ่งโดยไม่มีความจำเป็น หรือแทบเสียสติเมื่อต้องอยู่ในรถยนต์คันเดียวกัน) และโหยหาความรักจากชายคนใหม่แต่ก็ไม่อาจเข้าใกล้ไปมากกว่านั้นได้ จนคล้ายว่าเธอชินชากับการเว้นระยะห่างกับคนทุกคนรอบตัว รวมทั้งแม่ตัวเองที่เราคงพอจะกล่าวได้ว่า ฉากการนั่งสนทนา (หรือจริงๆ ควรเรียกว่าการปะทะคารม) บนโต๊ะอาหารในบ้านแม่ของเซนยานั้นเหลือทนเอามากๆ จนช่วยไม่ได้เลยที่เธอแทบไม่มองหน้าแม่ของตัวเองที่ถากถางเธอและสามีอย่างออกรสออกชาติ ตัวละครเหล่านี้จึงโยงใยกันและกันด้วยความเกลียดชัง พร้อมจะผลักไสอีกฝ่ายให้ออกไปจากชีวิตอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนชวนให้ตั้งคำถามว่าพวกเขารู้จักความรักหรือไม่ เคยใยดีใครเป็นพิเศษสักครั้งบ้างไหม แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำให้เราเกลียดพวกเขาเลย ตรงกันข้ามคือบ่อยครั้งความแห้งแล้งมันมาพร้อมความเจ็บปวดของการดึงดันจะใช้ชีวิตด้วยซ้ำไป

ตัวละครเหล่านี้จึงโยงใยกันและกันด้วยความเกลียดชัง พร้อมจะผลักไสอีกฝ่ายให้ออกไปจากชีวิตอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนชวนให้ตั้งคำถามว่าพวกเขารู้จักความรักหรือไม่ เคยใยดีใครเป็นพิเศษสักครั้งบ้างไหม แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำให้เราเกลียดพวกเขาเลย ตรงกันข้ามคือบ่อยครั้งความแห้งแล้งมันมาพร้อมความเจ็บปวดของการดึงดันจะใช้ชีวิตด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ดี ซเวียกินเซฟยังใช้เสียงเล่าข่าวเป็นบรรยากาศห่อหุ้มหนังอีกชั้น ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่บอริสฟังในวิทยุขณะขับรถ หรือข่าวจากโทรทัศน์ที่เซนยาเปิดทิ้งไว้ไม่ให้บ้านเงียบจนเกินไปขณะที่ตาจ้องไปยังหน้าจอโทรศัพท์ ทั้งข่าวความตื่นตระหนกจากข่าวลือเรื่องโลกแตก อันย้อนแย้งกับความเชื่อแบบคริสต์ออร์โธดอกซ์รัสเซีย, การเรืองอำนาจของ วลาดีเมียร์ ปูติน ไล่เรื่อยไปจนเมื่อรัสเซียเดินหน้าเข้าสู่สงครามในช่วงท้ายเรื่อง ทั้งหมดนี้ล้วนดูเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นห่างไกลจากเหล่าตัวละคนในหนังเพราะพวกเขาดูแทบไม่ใส่ใจกับมันเลยด้วยซ้ำ แต่พร้อมกันนั้นมันกลับให้ความรู้สึกเหมือนอาบล้อมคนดูอยู่ตลอดเวลาเพราะมันอยู่ในข่าวสารที่พวกเขาเสพ หรือเพลงที่พวกเขาฟัง

ซเวียกินเซฟยังได้ผู้กำกับภาพคู่บุญที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่ The Return อย่าง มิคาอิล คริชแมน มากำกับภาพให้ ซึ่งคริชแมนได้มอบบรรยากาศยะเยือกและเลือดเย็นได้อย่างน่าประทับใจ ไม่เพียงเท่านั้น การทิ้งจังหวะ การแช่กล้องของหนังเรื่องนี้ยังชวนขนลุกมากๆ เมื่อหัวใจสำคัญคือการควานหาเด็กชายที่หายตัวไปแต่กล้องกลับอ้อยอิ่งอยู่ที่บานหน้าต่าง ฉากป่าไม้โล่งกว้างหรือแม้แต่ฉากขับรถไกลลิบ มันจึงเป็นภาวะที่ชวนอิหลักอิเหลื่อและชวนขัดใจอย่างยิ่ง

และด้วยการที่หนังมันเดินเรื่องด้วยความเยือกเย็นเป็นสำคัญนี้เอง ตลอดทั้งเรื่อง การทุ่มเถียงหรือแม้แต่ด่าทอของตัวละครจึงแทบไม่ปรากฏในลักษณะของการกรีดร้อง ตะโกนใส่กัน แต่เป็นการเชือดเฉือนและถากถางกันด้วยคำพูด แววตาอันหยามหมิ่น ดังนั้น เมื่อกล้องเลื้อยไล่ตามเซนยาซึ่งหัวเสียสุดขีดจากการทำสงครามประสาทกับบอริสเข้าไปยังห้องน้ำ ฟังเสียงเธอก่นด่าอีกฝ่ายในลำคอ แล้วเหวี่ยงประตูปิดตามหลังซึ่งเผยให้เห็นใบหน้าและแววตาที่แตกสลายสุดขีดของอโลชา จึงเป็นฉากที่ชวนให้ตกใจเอามากๆ ซึ่งฉากนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากว่าคนทำหนังไม่แม่นจังหวะ ส่วนตัวคิดว่ามันแทบจะเรียกได้ว่าเป็นฉาก jump-scare ของเรื่องเลยทีเดียว ผิดแต่ว่ามันไม่ได้ทำให้คนดูขวัญหนีดีฝ่อ แต่กลับชวนแตกสลายตามเด็กชายอโลชาในเวลานั้น

“คนเรามีชีวิตอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้หรอก ในสภาพไร้รักน่ะ” ตัวละครหนึ่งเอ่ยขึ้นมา และอาจจะเป็นจริงดังนั้นเมื่อการมีชีวิตนั้นอาจไม่ได้หมายถึงการที่ยังหายใจได้ แต่มันหมายถึงการรู้สึกรู้สา การประกอบขึ้นใหม่ภายหลังแตกสลายหรือแม้แต่ความหวัง ซึ่งไม่ปรากฏให้เห็นเลยในแววตาสุดท้ายของทั้งเซนยาและบอริส

เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 1 : เกาหลีใต้)

แม้เมื่อตอนที่ภาพยนตร์ถือกำเนิดใหม่ ๆ ช่วงปลายทศวรรษที่ 1890 หลายคนปรามาสว่าจะมีช่วงชีวิตที่ไม่ยืนยาวเหมือนกับสิ่งประดิษฐ์หลายชิ้นที่ถูกคิดค้นในช่วงก่อนหน้านี้ แต่คล้อยหลังไม่กี่ทศวรรษ ธุรกิจภาพยนตร์ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีขนาดใหญ่ พัฒนากลายเป็นอุตสาหกรรมในยุโรป รัสเซีย และสแกนดิเนเวียช่วงต้นทศวรรษที่ 1910 ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาทศวรรษถัดมา ก่อนจะขยายไปในหลายประเทศอย่างรวดเร็ว https://www.scienceandmediamuseum.org.uk/objects-and-stories/very-short-history-of-cinema

ด้วยความที่หนังเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตของผู้คน ทำให้รัฐบาลหลายประเทศเล็งเห็นความสำคัญของมันในฐานะสื่อที่ให้ทั้งคุณและโทษ จึงได้ออกนโยบายสองแนวทาง ได้แก่ แนวทางการควบคุม ผ่านการออกกฎหมายควบคุมเนื้อหาหนังต่าง ๆ และ แนวทางการสนับสนุน ด้วยนโนบายส่งเสริมและปกป้องอุตสาหกรรมหนังภายในประเทศ

ปัจจุบัน ในประเทศที่อุตสาหกรรมหนังแข็งแรงมั่นคง รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นได้ผ่อนปรนนโยบายควบคุมลง ด้วยตระหนักว่าการควบคุมอย่างเข้มงวดส่งผลให้ศักยภาพในการสร้างสรรค์ลดลงตาม ขณะเดียวกันก็วางโครงสร้างการส่งเสริมที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรม

ในบทความชุดนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอรูปแบบการสนับสนุนของประเทศที่มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์แข็งแรงที่สุด 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส  สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ว่ามีลักษณะอย่างไรและประเทศไทยควรมีทิศทางการดำเนินการแบบใด

ปัจจุบัน ในประเทศที่อุตสาหกรรมหนังแข็งแรงมั่นคง รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นได้ผ่อนปรนนโยบายควบคุมลง ด้วยตระหนักว่าการควบคุมอย่างเข้มงวดส่งผลให้ศักยภาพในการสร้างสรรค์ลดลงตาม ขณะเดียวกันก็วางโครงสร้างการส่งเสริมที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรม

เกาหลีใต้

สำหรับประเทศเกาหลีใต้ หน่วยงานที่ดูแลการสนับสนุนหนังคือ สภาการภาพยนตร์เกาหลี (Korean Film Council / KOFIC) http://www.koreanfilm.or.kr/eng/kofic/intro.jsp ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1973 เดิมมีชื่อว่า สมาคมส่งเสริมภาพยนตร์เกาหลี (Korean Motion Picture Promotion Corporation / KMPPC) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อในปี 1999 โดยเป็นหน่วยงานที่บริหารงานอย่างเป็นอิสระภายใต้การสนับสนุนของ กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว

คณะกรรมการของสภาการภาพยนตร์เกาหลีประกอบด้วย ประธานที่ได้รับเลือกจากบอร์ดบริหาร และคณะกรรมการอีก 8 คนที่ได้รับการคัดสรรจากกระทรวง ฯ ทำหน้าที่พิจารณาและตัดสินใจด้านนโยบายที่สำคัญเกี่ยวกับหนังเกาหลี โดยเงินทุนนั้นส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาล อีกส่วนมาจากส่วนแบ่งค่าตั๋วหนัง และกองทุนทางด้านภาพยนตร์

บทบาทหลักของสภาการภาพยนตร์เกาหลีคือ ส่งเสริมและสนับสนุนหนังเกาหลีทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสำหรับ ในประเทศ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนได้แก่

1. สนับสนุนด้านการวางแผนและการพัฒนาโปรเจ็กต์ โดยทางสภาการภาพยนตร์จะช่วยจัดสรรทุนให้แก่ นักเขียนบท ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้างและบริษัทผลิตหนัง ในการขยายโอกาสในการพัฒนาโปรเจ็กต์ที่ไม่จำกัดประเภทและรูปแบบ

2. สนับสนุนเงินทุนแก่โปรเจ็กต์ประเภทหนังทดลองและหนังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อเป็นการค้นหาผู้กำกับหน้าใหม่มาเป็นกำลังสำคัญของวงการหนังในอนาคต

3. สนับสนุนด้านการจัดจำหน่าย เน้นการจัดจำหน่ายหนังที่ไม่ค่อยได้รับโอกาสเผยแพร่ โดยเฉพาะหนังอิสระ หนังศิลปะ รวมถึงให้การสนับสนุนการจัดเทศกาลหนัง http://www.koreanfilm.or.kr/eng/kofic/intro.jsp

ส่วนการสนับสนุนหนังเกาหลีใน ต่างประเทศ นั้น สภาการภาพยนตร์จะทำหน้าที่สร้างโอกาสให้หนังเกาหลีได้เข้าร่วมเทศกาลหนังประเทศต่างๆ รวมทั้งเป็นตัวกลางในการพบปะทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการในเกาหลีและผู้จัดจำหน่ายนานาชาติ ตามเทศกาลหนังและตลาดหนังสำคัญทั่วโลก (เพื่อให้เกิดการจัดซื้อหนังเกาหลีไปฉายในประเทศอื่นๆ)

นอกจากนี้ สภาการภาพยนตร์ยังจัดทำฐานข้อมูลในเว็บไซต์ KoBiz (Korean Film Biz Zone) http://www.koreanfilm.or.kr/eng/kofic/kobiz.jsp นำเสนอข้อมูลหนังเกาหลีทุกมิติ ตั้งแต่รายชื่อหนังที่เข้าฉาย  รายชื่อบริษัทผลิตหนังเกาหลี บุคลากรในด้านการผลิต รายงานข่าวเชิงลึก รวมถึงบทความและบทวิเคราะห์หนังร์เกาหลี เพื่อให้ผู้สนใจทั้งในและนอกประเทศได้ศึกษาค้นคว้า

อนึ่ง นอกจากสภาการภาพยนตร์ (KOFIC) ที่เป็นศูนย์กลางการสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์แล้ว ในเกาหลีใต้ยังมี คณะกรรมาธิการภาพยนตร์ภูมิภาค (Regional Film Commission) http://www.koreanfilm.or.kr/eng/locKorea/filmOrg.jsp ซึ่งตั้งอยู่ตามเมืองสำคัญ เช่น โซล ช็องจู อินชอน และปูซาน ทำหน้าที่ส่งเสริมให้มีการถ่ายทำภาพยนตร์ในเมืองนั้น ด้วยการอำนวยความสะดวกด้านการถ่ายทำแก่ผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งในเกาหลีใต้และจากต่างประเทศ ตั้งแต่การจัดหาทีมงาน จัดหาสถานที่ถ่ายทำ ไปจนถึงจัดเตรียมอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์เลยทีเดียว

โปสเตอร์แคมเปญ Save Our Cinema ที่เกิดจากความร่วมมือของโรงหนังอาร์ตเฮ้าส์ 22 โรงในนาม Korean Arthouse Cinema Association เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมช่วยกันสนับสนุนโรงหนังขนาดเล็กและหนังอิสระ เมื่อโรงกลับมาเปิดดำเนินการในวันที่ 1 กรกฎาคม หลังช่วงโควิด-19

(ตอนต่อไป ติดตามนโยบายการสนับสนุนภาพยนตร์ของประเทศฝรั่งเศส)

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 30 ก.ค. 63

Peninsula ยังทำเงินสูงสุดเป็นสัปดาห์ที่สอง ส่วนหนังใหม่ที่เปิดตัวสูงสุดคือ Ava หนังทริลเลอร์ผลงานของ เทต เทย์เลอร์ ที่ทำเงินไป 3 แสนบาท

รายได้หนังประจำวันที่ 30 ก.ค. 2563

1. Peninsula – 1.40 (33.00) ล้านบาท
2. Ava – 0.32 (0.70) ล้านบาท
3. Eyes on Me: The Movie – 0.08 (1.12) ล้านบาท
4. ฮักเถิดเทิง – 0.05 (2.61) ล้านบาท
5. Digimon Adventure : Last Evolution Kizuna – 0.04 (4.55) ล้านบาท
6. รักนะ ซุปซุป – 0.04 ล้านบาท
7. Sumikko Gurachi : The Movie – 0.02 ล้านบาท
8. Still Human – 0.01 ล้านบาท
9. มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ – 0.01 ล้านบาท
10. The Kingmaker – 0.01 (0.57) ล้านบาท

A Story of Yonosuke : ‘แตงโม’ ของนาย มิตรภาพของเรา …พื้นที่หม่นมืดของ ‘เควียร์’ ในหลืบเร้นที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา

ในโลกของภาพยนตร์ญี่ปุ่น ‘แตงโม’ ถือเป็นผลไม้ยอดนิยมที่มักถูกนำมาใช้ ‘แทนค่า’ กับความสดใสหรือความชื่นอกชื่นใจระหว่างสมาชิกภายในครอบครัวหรือกลุ่มมิตรสหาย ที่มีโอกาสได้อยู่ร่วมกันพร้อมหน้าท่ามกลางบรรยากาศของฤดูร้อนอุ่นอ้าวที่ส่องสว่างเจิดจ้า

ทว่าแตงโมใน A Story of Yonosuke (2013, ชูอิจิ โอคิตะ) -หนังความยาว 160 นาทีอันว่าด้วยภาพชีวิตของชายหนุ่มคนหนึ่งที่ยังคงติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้คนที่เขาเคยพบพาน- กลับถูกแทนค่าความหมายที่คล้ายคลึงกันนี้ภายใต้ ‘บริบท’ ที่น่าสนใจกว่านั้น

เพราะผลไม้รสหวานฉ่ำน้ำชนิดดังกล่าวถูกเปรียบได้กับ ‘มิตรภาพ’ ระหว่างเพื่อนชายสองคนในสวนสาธารณะยามค่ำคืนที่ถือเป็น ‘พื้นที่ทางเพศอันเร้นลับหม่นมืด’ ของสังคม …พื้นที่ซึ่งหากไม่เพ่งพินิจให้ถ้วนถี่ดีพอ เราก็อาจไม่มีวัน ‘มองเห็น’ หรือ ‘ทำความเข้าใจ’ มันได้เลย

ไม่ต่างจากสถานะการเป็น ‘เควียร์’ (Queer) หรือ ‘ผู้มีเพศวิถีที่แตกต่างหลากหลาย’ ของหนึ่งในสองตัวละครนี้ ที่บีบบังคับให้เขาต้องมีชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ – ซึ่งประเด็นทั้งหมดปรากฏชัดอยู่ในซีเควนซ์หนึ่งของหนังซึ่งแม้จะดูเรียบง่าย แต่ก็ช่างน่าประทับใจ

1

โยโนสุเกะ (รับบทโดย เคนโกะ โคระ) คือเด็กหนุ่มหัวฟูวัย 18 จากเมืองเล็กๆ ริมทะเลที่ต้องเดินทางเข้ามาเรียนต่อมหาวิทยาลัยในกรุงโตเกียวปี 1987 ซึ่งด้วยรอยยิ้มเริงร่ากับทัศนคติต่อชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยพลังงานด้านบวกของเขานี่เอง ก็ทำให้เจ้าตัวเริ่มมี ‘เพื่อน’ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากในและนอกรั้วสถานศึกษา

หนึ่งในนั้นคือ คาโตะ (โก อายาโนะ) นักศึกษาหนุ่มร่วมรุ่นมาดเท่ที่จับพลัดจับผลูมาเป็นเพื่อนกับโยโนสุเกะ เมื่อฝ่ายหลังดันเข้าใจผิดคิดว่าฝ่ายแรกเป็นคนรู้จักและเดินเข้ามาทักทายด้วยความสนิทสนม ก่อนที่ทั้งคู่จะสานสัมพันธ์ต่ออย่างงุนงง ผ่านการชักชวนกันไปกินข้าวในเที่ยงวันนั้นเอง รวมถึงการพากันไปเรียนขับรถและการออกเดตคู่กับเด็กสาวอีกสองคนที่ร้านแฮมเบอร์เกอร์ในวันถัดๆ มา

วันหนึ่งที่ห้องพักของคาโตะในฤดูร้อนอันแสนอบอ้าว หนุ่มเจ้าของห้องหอบหิ้วแตงโมลูกโตมาผ่าแบ่งให้เพื่อนหัวฟูได้กิน พร้อมเปิดเครื่องปรับอากาศ-ที่ห้องพักของอีกฝ่ายไม่มี-เพื่อต้อนรับ โยโนสุเกะนั่งกดรีโมตดูวิดีโอเทปบันทึกภาพพาเหรดของชมรมแซมบา (Samba) -ที่ตนในชุดนักเต้นสีแดงเพลิงกำลังเป็นลมล้มพับอยู่กลางทาง แต่ก็ยังตะโกนบอกเพื่อนๆ ให้ “ไม่ต้องสนใจฉัน ล่วงหน้ากันไปก่อนเลย”- ด้วยแววตาตื่นเต้นภูมิใจกับสิ่งที่ตนทำ คล้ายกับ ‘เด็กน้อย’ ที่มองเห็นทุกอย่างในชีวิตเป็นเรื่องน่าตื่นตาไปเสียหมด

“หลังกินเสร็จ ฉันจะออกไปข้างนอกนะ …ไปเดินเล่น” เจ้าของห้องเปรย

“ฉันจะไปกับนายด้วย” เพื่อนหัวฟูพูดขณะกัดเนื้อผลไม้สีแดงเข้าปากกร้วมๆ ก่อนที่คำยืนกรานซ้ำอีกหนจะทำให้คาโตะต้องยอมจำนน

คืนนั้น, โยโนสุเกะถือแตงโมซีกใหญ่ติดมือออกมาด้วย

2

ในประเทศญี่ปุ่น แตงโมมีศักดิ์เป็นถึง ‘ราชาผลไม้แห่งฤดูร้อน’ เพราะ 90 เปอร์เซ็นต์ของผลแตงชนิดนี้มีส่วนประกอบของ ‘น้ำ’ (ตรงตัวตามคำว่า Watermelon ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งช่วยดับกระหายคลายร้อนได้ดี รวมถึงอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่ช่วยบำรุงร่างกาย — ชาวญี่ปุ่นภูมิใจกับผลไม้ชนิดนี้มากเสียจนมีคนออกมากล่าวว่า “อย่าบอกว่าคุณรักแตงโม จนกว่าจะได้ลิ้มรสแตงโมจากญี่ปุ่น” กันเลยทีเดียว

นั่นก็เพราะ ‘แตงโมญี่ปุ่น’ ที่มีจุดเด่นคือเปลือกบาง เนื้อเยอะ และรสชาติหวานอร่อยนี้ เปรียบเสมือนกับเป็น ‘สมบัติล้ำค่า’ ที่เหล่าชาวสวนตั้งใจปลูกขึ้นมาด้วยความรักใคร่ทะนุถนอมภายใต้สภาวะเงื่อนไขที่ดีที่สุด ซึ่งนอกจากรูปทรงกลมตามธรรมชาติแล้ว แตงโมญี่ปุ่นยังถูก ‘ปรับปรุง’ ให้มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ทรงพีระมิด หรือแม้แต่ทรงหัวใจ อีกทั้งยังสามารถรับประทานได้ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป ทั้งการกินไล่ตามระดับความหวานที่ถูกคัดแยกไว้เป็นเลขลำดับ การกินโดยโรย ‘เกลือ’ เล็กน้อยตามแบบฉบับของคนญี่ปุ่นเพื่อที่ประสาทสัมผัสบนลิ้นจะสามารถแยกแยะรสหวานออกมาได้เด่นชัดขึ้น หรือการกินโดยนำไปพลิกแพลงเป็นส่วนประกอบหนึ่งในเมนูอาหารคาว-หวานต่างๆ

นอกจากนี้ แตงโมญี่ปุ่นยังถูกนำมาใช้เป็น ‘ตัวช่วย’ ในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในช่วงฤดูร้อนอีกด้วย ผ่านการละเล่นกลางแจ้งที่เรียกว่า สุอิคะวาริ (Suikawari) หรือเกม ‘ปิดตาตีแตงโม’ ที่ผู้เล่นต้องผูกผ้าปิดตาไว้ หมุนตัวหลายๆ รอบ แล้วค่อยใช้ไม้สุ่มตีลูกแตงโมที่วางอยู่บนกระดาษลัง/ผ้าปูรองให้แตก ตามคำตะโกนบอกของคนรอบข้างภายในเวลาที่กำหนด โดยคนแรกที่สามารถทำได้จะถือเป็นผู้ชนะ และหลังจากการแข่งขันจบลง แตงโมลูกนั้นก็จะถูกแจกจ่ายให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม — ซึ่งเกมนี้ถือเป็นกุศโลบายต้านวิกฤตเศรษฐกิจหลังยุคฟองสบู่ของกลุ่มเกษตรกรชาวญี่ปุ่นในปี 1991 ที่พยายามหาหนทางเพิ่มปริมาณการบริโภคแตงโมในท้องตลาดจนกลายเป็นกิจกรรมที่แพร่หลายไปทั่ว มันจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือการ์ตูนหลายเรื่องของญี่ปุ่นจะหยิบเอาผลไม้ขึ้นชื่อดังกล่าวมานำเสนอถึงช่วงเวลาแห่งความสุขหรือมิตรภาพอันชื่นมื่นของผู้คน

ด้วยคุณสมบัติและเรื่องเล่าเฉพาะตัวเหล่านี้เองทำให้แตงโมญี่ปุ่นมัก ‘มีราคาสูง’ จนเหมาะแก่การซื้อหาให้กันในโอกาสสำคัญหรือส่งมอบให้แก่คนพิเศษจริงๆ เท่านั้น ดังนั้น การที่คาโตะซื้อแตงโมมาแบ่งปันให้โยโนสุเกะได้กินในวันที่อากาศร้อนจัด จึงอาจหมายถึงการที่เขาให้ความสำคัญอย่างมากกับเพื่อนคนนี้ – เพื่อนคนที่เขาตัดสินใจแบ่งปันบาง ‘ความลับ’ ในหลืบเร้นของ ‘สวนสาธารณะ’ กลางกรุงที่พวกเขาร่วมออกเดินไปด้วยกันในคืนนั้นเอง

3

“ฉันได้ยินมาว่าสวนสาธารณะตอนกลางคืนมันมีทั้งโจรทั้งเรื่องเสี่ยงอันตรายเลยนะ” โยโนสุเกะมองไปรอบข้างอย่างลุกลี้ลุกลน ขณะเดินถือแตงโมซีกใหญ่อยู่ในมือ

“จำได้ไหมที่ฉันเคยบอกว่าไม่ค่อยสนใจ ‘ผู้หญิง’ น่ะ” คาโตะตัดสินใจปริปากอย่างเสียไม่ได้ เมื่อไล่เท่าไหร่เพื่อนตัวดีก็ไม่ยอมกลับไปรอที่ห้องเสียที “…มันเป็นเพราะฉันชอบ ‘ผู้ชาย’ ไงล่ะ”

หนุ่มหัวฟูชะงักงัน หันมองเงาตะคุ่มของผู้ชายสองสามคนที่กำลังนั่ง ‘พลอดรัก’ กันอยู่ใต้เงาไม้ แล้วจึงมองหน้าเพื่อนหนุ่มโดยที่แตงโมยังคงเต็มปาก “นายกำลังจะบอกว่า …นายชอบฉันงั้นเหรอ?”


จริงอยู่ที่ยุค 70-80 เป็นห้วงยามที่ภาคเศรษฐกิจ-โดยเฉพาะในแวดวงอสังหาริมทรัพย์-ของญี่ปุ่นกำลังเฟื่องฟูถึงขีดสุด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะ ‘ก้าวหน้า’ ตามภาพลักษณ์อันแสนอู้ฟู่หรูหราของประเทศไปด้วย เพราะชาว ‘เควียร์’ (ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมักใช้กล่าวรวบยอดถึง ‘ผู้มีเพศวิถีที่แตกต่างหลากหลาย’ อย่างเลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานส์เจนเดอร์ และคนเพศแปลกต่างอื่นๆ) ในสังคมนี้ยังคงต้องใช้ชีวิตแบบ ‘ล่องหน’ อยู่ดี

คนที่มีเพศวิถีแบบเควียร์ไม่สามารถ ‘เปิดตัว’ ต่อสาธารณชนได้ แม้ตัวตนของเควียร์จะปรากฏให้เห็นผ่านสื่อศิลปะต่างๆ มาอย่างยาวนาน (โดยเฉพาะในแนวทางอันโด่งดังอย่าง Yaoi หรือ ‘เรื่องรักชาย-ชาย’ ที่ยังคงนำเสนอออกมาถูกบ้างผิดบ้าง) และสถานะของเควียร์จะกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 1880 โน่นแล้ว (ซึ่งในปัจจุบันก็ยังทำได้เพียงร้องขอ ‘ใบรับรองทะเบียนคู่ชีวิต’ จากบริษัทภาคเอกชนที่ตนสังกัดอยู่เพื่อรับสิทธิประโยชน์บางอย่างเท่านั้น) คนเหล่านี้ต้องแอบซ่อนอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอาไว้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะไม่อยากทำตัว ‘แตกต่าง’ ไปจากวิถีทางของคนส่วนใหญ่ และเลือกที่จะปลดปล่อยความรู้สึกอัดอั้นนี้ใน ‘พื้นที่เฉพาะ’ แทน ทั้งในผับเกย์ที่ค่อยๆ ผุดโผล่ขึ้นมาราวกับดอกเห็ดนับจากยุค 50 หรือแม้แต่ในสวนสาธารณะยามค่ำคืนที่เกย์-อย่างตัวละครคาโตะ-ต้องออกไป ‘หาเพื่อน’ ที่มีรสนิยมทางเพศสอดคล้องต้องกัน

ช่างภาพอย่าง โคเฮ โยชิยูกิ เคยบันทึกภาพ ‘คู่ขา/คู่รัก’ ตัวจริงทั้งชาย-ชายและชาย-หญิงที่มา ‘ประกอบกิจกรรมทางเพศกลางสวนสาธารณะในเวลากลางคืนของกรุงโตเกียว’ เอาไว้ด้วยฟิล์มอินฟราเรดตลอดทศวรรษที่ 70 โดยนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ The Park (1980) และลักลอบจัดจำหน่ายจนหมดเกลี้ยงเป็นจำนวนหนึ่งแสนเล่มภายในระยะเวลาอันสั้น ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นที่ฮือฮาในหมู่ผู้นิยมงานศิลป์ใต้ดินและถูกวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา (ในญี่ปุ่นยุคนั้น เซ็กซ์กลางแจ้ง ‘เคย’ ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย-เช่นเดียวกับการบันทึกภาพกิจกรรมดังกล่าว) ซึ่งเคยมีคนให้คำอธิบายถึงบริบททางสังคมที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมดังกล่าวเอาไว้ว่า แท้จริงแล้ว กลุ่มบุคคลนิรนามในภาพชุดสุดอื้อฉาวเหล่านี้ ก็คือคนหนุ่มสาวในยุคสมัยที่ ‘บ้าน’ สักหลังเริ่มกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาสูงลิบจนเกินเอื้อมคว้า หลายคนยังคงต้องอาศัยอยู่ร่วมบ้านกับพ่อแม่จนทำให้ไม่สามารถพาใครคนอื่นมาหลับนอนด้วยได้ง่ายๆ พวกเขาจึงต้องออกไปมองหา ‘พื้นที่เฉพาะ’ นอกบ้านเพื่อปลดปล่อยแรงปรารถนาที่คุกรุ่นอยู่ภายในกาย

ฉะนั้น จึงไม่ใช่แค่คนเพศเควียร์เท่านั้นที่ต้องลักลอบใช้ ‘ชีวิตอีกด้าน’ ด้วยวิถีทางเช่นนี้ แต่ชาย-หญิงที่มีเพศวิถีตามเพศกำเนิดผู้ไม่มีทุนรอนมากพอสำหรับการแต่งงานหรือการครอบครองบ้านสักหลัง ก็ยังเลือกเอา ‘หลืบเร้นของพื้นที่สาธารณะ’ มาใช้เป็นสถานที่แสวงหาความสุขชั่วคราวเพื่อหลบลี้จากสภาวะตึงเครียดกดดันของชีวิตไม่ต่างกัน จนต้องถูก ‘ผู้คนนอกสวน’ ตัดสินโบยตีว่า ‘วิปริตผิดเพี้ยน’ โดยเฉพาะในสังคมที่ทุกคนต้องพยายามทำตัวให้กลมกลืนกับบรรทัดฐานที่ถูกตีกรอบไว้ให้ได้ และต้องไม่เปิดเผยด้านที่แตกต่างออกมาให้เห็น

มันจึงถือเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เราทุกคน-ไม่ว่าจะมีเพศวิถีแบบใด-ที่ต้องสยบยอมอยู่ภายใต้กรอบคิดอันคับแคบตื้นเขินของสังคมกระแสหลักนี้ ล้วนมีโอกาสถูกยัดเยียดสถานะความเป็น ‘เควียร์’ (Queer – ที่แปลว่า ‘แปลกต่าง’ ตามความหมายตั้งต้นของตัวศัพท์) ได้เสมอ


“นายกำลังจะบอกว่า …นายชอบฉันงั้นเหรอ?”

“ไม่ใช่โว้ย! นายไม่ใช่ผู้ชายแบบที่ฉันชอบ!” คาโตะโวยวายใส่เจ้าของคำถามแทบจะในทันที

โยโนสุเกะนิ่งค้าง แล้วก้มหน้ากินแตงโมต่อไปอย่างเพลิดเพลิน โดยที่ถึงผู้ชมจะมองไม่เห็นสีหน้าของเขา ทว่าด้วยภาษากายจากด้านหลังที่ดูผ่อนคลายก็ทำให้รู้ว่า เจ้าตัวไม่ได้ ‘จริงจัง’ กับคำถาม-คำตอบเหล่านั้นสักเท่าไหร่

“แต่ถ้ามันทำให้นายไม่สบายใจ นายไม่ต้องมาเจอฉันแล้วก็ได้นะ” คาโตะแสดงความกังวล

“อ้าว ฉันมานอนค้างด้วยไม่ได้แล้วเหรอ!?” คราวนี้โยโนสุเกะส่งเสียงดังโวยวายเหมือนเด็ก

“ไม่ได้พูดแบบนั้นสักหน่อย! …ว่าแต่ทำไมนายดูไม่ตกใจเลยล่ะ?”

ใช่, หนุ่มหัวฟูไม่ได้แสดงอาการตกใจ เมื่อรู้ว่าเพื่อนหนุ่มคนนี้ ‘ชอบผู้ชาย’ และมาเดินเล่นที่สวนสาธารณะเพื่อ ‘หาเพื่อน’ คนอื่นๆ ที่มีรสนิยมแบบเดียวกัน แต่กลับดูจะสบายใจเสียด้วยซ้ำที่เขายังสามารถไปนอนตากอากาศเย็นสบายที่ห้องของเพื่อนได้เหมือนเดิม แถมยังยืนยันว่าจะนั่งรอเพื่อนโดยไม่เข้าไปก้าวก่าย พร้อมกับแบ่งแตงโมออกเป็นสองซีกด้วยมือเปล่าให้เพื่อนได้กินในสวนแห่งนั้นด้วย

ทั้งคู่ส่งมอบรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้แก่กัน เมื่อแตงโมสองซีกที่ถูกแบ่งครึ่งนั้นย้อยหล่นจนเลอะเทอะเปรอะมือไปหมด – คล้ายกับพวกเขาเป็นเพียงเด็กชายตัวเล็กๆ สองคนที่กำลังมีช่วงเวลาแห่งความสุขร่วมกัน

4

“การได้รู้จัก ‘เขา’ ทำให้ฉันรู้สึกว่าตัวเอง ‘โชคดี’ กว่านายยังไงก็ไม่รู้แฮะ”

คาโตะกล่าวถึง ‘การได้รู้จักโยโนสุเกะ’ กับเพื่อนชายคนสนิทตรงริมระเบียงห้องพักบนตึกสูงในค่ำคืนหนึ่งของช่วงชีวิตถัดมา-อันเป็นวัยวันที่เขาเกือบหลงลืมเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยคนนี้ไปแล้ว ก่อนที่การได้เห็น ‘ชายหนุ่มเหงื่อท่วม’ คนหนึ่งในปัจจุบัน-ซึ่งไม่ต่างจากภาพของโยโนสุเกะในอดีต-จะทำให้ความทรงจำของเขาค่อยๆ กระจ่างชัดขึ้น

ในยามนั้น เขาเคยหยิบยื่นมิตรภาพให้คนที่ดู ‘แปลกต่าง’ อย่างโยโนสุเกะ โดยยอมให้เพื่อนคนนี้ตามติดไปไหนมาไหนด้วยเสมอทั้งที่ตนเป็นคนรักสันโดษ ยอมให้เพื่อนคนนี้เอาเนื้อตัวเปียกเหงื่อ-ที่เขาเคยบอกว่าไม่ชอบ-มาสัมผัสเขาได้ และยอมให้เพื่อนคนนี้มานั่งๆ นอนๆ ในห้องพักติดเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำของเขา — ยิ่งไปกว่านั้น, เขายังชักพาให้โยโนสุเกะได้รู้จักกับ โชโกะ (ยูริโกะ โยชิทากะ) ลูกคุณหนูผู้เริงร่าไร้เดียงสาจากการออกเดตคู่ก่อนหน้า ที่ต่อมาได้กลายเป็น ‘ความรักอันแสนล้ำค่าที่น่าจดจำ’ ในชีวิตของเพื่อนหนุ่มหัวฟูอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ทัศนคติที่ไม่เหมือนใครของโยโนสุเกะก็เคยทำให้คาโตะได้มีช่วงเวลาแห่งความสุขเล็กๆ ในมหาวิทยาลัย มันทำให้เขาได้รู้สึกเต็มตื้นขึ้นมาว่า อย่างน้อยๆ ในชีวิตนี้ ก็เคยมีเพื่อนคนหนึ่งที่แม้จะได้เห็น ‘ชีวิตอีกด้าน’ ในหลืบเร้นหม่นมืดของเขา แต่ก็ไม่ได้ติดใจสงสัยหรือตัดสินเขาเหมือนใครคนอื่น แถมยังส่งมอบมิตรภาพกลับมาให้เหมือนเคยโดยปราศจากท่าทีรังเกียจรังงอน – ทำให้เห็นว่าแม้จะ ‘แปลกต่าง’ แต่เราก็ยังเป็น ‘เพื่อน’ กันได้

เราอาจเป็นคนที่มีเพศสภาวะ ‘แปลกต่าง’ แบบคาโตะ เราอาจเป็นคนที่มีทัศนคติ ‘แปลกต่าง’ แบบโยโนสุเกะ — เราอาจเป็นคนเหล่านี้ที่สังคมกระแสหลักมองไม่เห็น ไม่เข้าใจ หลงลืมไป หรือถึงขั้นลงโทษโบยตีเพราะความ ‘แปลกต่าง’ ที่ขัดหูขัดตานั้น

แต่ในท่ามกลางสายตาช่างตัดสินของสังคมที่มองเหยียดลงมา สิ่งสำคัญที่สุดที่อาจช่วยกอบกู้ฟื้นฟูให้เราสามารถมีเรี่ยวแรงขับเคลื่อนชีวิตต่อไปได้ ก็คือรสชาติของ ‘มิตรภาพ’ ที่เราส่งมอบให้แก่คนรอบข้างในคืนวันที่รุ่มร้อนหรือมืดมิด-แบบเดียวกับที่คาโตะกับโยโนสุเกะแบ่งปันสุขทุกข์ร่วมกันผ่านแตงโมลูกนั้น-ต่างหาก

และมิตรภาพจะ ‘หอมหวานฉ่ำชื่น’ ขึ้นมาได้ ก็ต่อเมื่อเราพร้อมที่จะ ‘มองเห็น’ และ ‘ทำความเข้าใจ’ พื้นที่หลืบเร้นหม่นมืดที่เราอาจไม่เคยแยแสในชีวิตของใครคนอื่นเสียบ้าง

เหมือนกับที่เราเองก็คงอยากให้คนอื่น ‘มองเห็น’ และ ‘ทำความเข้าใจ’ พื้นที่เหล่านั้นของเราด้วยเช่นกัน


ชม The Story of Yonosuke ได้ที่ HBO GO

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 23-29 ก.ค. 63

สัปดาห์ที่น่าตื่นเต้น
– Peninsula ฉายสัปดาห์เดียวทำเงินไปถึง 31.60 ล้านบาท มากที่สุดตั้งแต่โรงหนังปลดล็อกและยังอยู่ในมาตรการ Social Distancing
– Eyes on Me : The Movie เข้าฉายแค่ไม่กี่จอ แต่ก็ทำเงินไปถึง 1.04 ล้านบาท
– The Kingmaker ฉายมาครอบเดือน แต่ในสัปดาห์ที่ 4 นี้ทำเงินไปถึง 0.16 ล้านบาท ตอนนี้ทำรายได้รวมอยู่ที่ 0.57 ล้านบาท
– Ava เข้าฉายวันเดียวคือ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมาพร้อมโปรลดแลกแจกแถมมากมาย แต่ก็ทำเงินเฉพาะวันนั้นได้ 0.38 ล้านบาท

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 23-29 ก.ค. 2563

1. Peninsula – 31.60 ล้านบาท
2. ฮักเถิดเทิง – 2.57 ล้านบาท
3. Eyes on Me: The Movie – 1.04 ล้านบาท
4. Digimon Adventure: Last Evolution Kizuna – 1.04 (4.51) ล้านบาท
5. Crayon Shin-Chan: Hoenymoon Hurricane – 0.43 ล้านบาท
6. เกมเซ่นผี – 0.41 (2.47) ล้านบาท
7. Ava – 0.38 ล้านบาท
8. มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ – 0.24 (6.71) ล้านบาท
9. The Bridge Curse – 0.20 (1.61) ล้านบาท
10. Suk Suk – 0.17 ล้านบาท

Oasis: Supersonic …สภาวะ “เด็กชาย” นิรันดร์ กับวัฒนธรรมแบบร็อกๆ

ต้องยอมรับจริงๆว่า Oasic: Supersonic เป็นสารคดีที่ตีแผ่ชีวิตใต้ดินของสองพี่น้องกัลลาเกอร์แห่งวง Oasis ได้อย่างถึงพริกถึงขิง โดยเฉพาะพฤติกรรมห่ามๆ อย่างการทำให้คนทั้งวงการเหม็นขี้หน้าในการประกาศรางวัล Brit Awards การมีเรื่องวิวาทชกต่อยกันเองหรือกับคนอื่น หรือการยกย่องวัฒนธรรมยาเสพติดจนทำให้มีกระแสออกมาต่อต้านอย่างรุนแรงจากชาวอังกฤษ ยังไม่นับว่าสมาชิกวงบางคนทนพวกเขาไม่ได้จนต้องลาออกไปอีกนะ!

หากจะมีพฤติกรรมไหนที่แสดงให้เห็นความเป็น “อภิสิทธิ์” ของชายผิวขาว คงจะต้องยกให้การมีกิ๊กไม่ซ้ำหน้า แถมยังเป็นผลดีกับอาชีพของพวกเขาอีกด้วย ครั้งหนึ่ง โนล กัลลาเกอร์ ผู้พี่ สติแตกหลังคอนเสิร์ตที่เละไม่เป็นท่า เขาจึงจับเครื่องบินบินไปยังรัฐหนึ่งเพื่อไปหากิ๊ก ผลที่ได้กลับมาก็คือ เขาแต่งเพลงดังชื่อ “Talk Tonight” หากอยากรู้ว่าแสบแค่ไหนลองดูจากเนื้อเพลง

Sleepin’ on a plane, you know you can’t complain
(หลับใหลไปบนเครื่องบิน เธอรู้ว่าเธอเรียกร้องอะไรไม่ได้)

You took your last chance once again
(เธอขอโอกาสสุดท้ายอีกครั้ง)

I landed, stranded
(ฉันลงจากเครื่อง ไม่มีที่ไป)

Hardly even knew your name
(ไม่รู้จักแม้กระทั่งชื่อของเธอ)

I wanna talk tonight
(ฉันอยากพูดกับเธอคืนนี้)

Until the mornin’ light
(จนกว่าจะรุ่งสาง)

‘Bout how you saved my life
(เกี่ยวกับการที่เธอช่วยชีวิตฉันไว้)

You and me see how we are
(เธอและฉันรู้ดีว่าระหว่างเราเป็นอย่างไร)

และแน่นอนว่า โนลไม่เคยกลับไปเจอผู้หญิงที่ “ไม่รู้แม้กระทั่งชื่อของเธอ” อีกเลยหลังจากนั้น ทั้งๆ ที่เธอ “ช่วยชีวิต” เขาเอาไว้แท้ๆ หากเรื่องเป็นไปอีกทาง โดยให้โนลกลายเป็นผู้หญิงแทนและยุ่งกับเรื่องวิวาท ยาเสพติด หรือคบกับผู้ชายไม่เลือกหน้า เขาคงไม่สามารถอยู่ในวงการได้นาน แถมเพลงที่แต่งจากการไปหากิ๊กแค่คืนเดียวนั้นยังอาจจะกลายเป็นเพลงสุดอื้อฉาวอีกด้วย

สภาวะที่ผู้ชายได้รับการสนับสนุนจากผู้หญิง โดยไม่แม้กระทั่ง “เอ่ยชื่อ” ของเธอออกมานี้ ดูคล้ายกับการแช่แข็งสภาพที่ผู้ชายเป็น “เด็กชาย” อยู่ตลอดไป หรือผู้เขียนขอให้นิยามว่า “สภาวะเด็กชายนิรันดร์” อันที่จริงแล้วเหมือนเป็นตลกร้าย เพราะในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ มักจะเป็นผู้หญิงต่างหากที่ถูกแช่แข็งไว้ในสภาวะ “เด็กหญิง” นิรันดร์ นั่นคือ การผลักให้ผู้หญิงอยู่ในขั้วของความอ่อนแอ อ่อนต่อโลก ใช้อารมณ์นำเหตุผล ไม่มีวุฒิภาวะ ตรงข้ามกับขั้วของเพศชายที่ต้องแข็งแกร่ง ทันโลก ใช้เหตุผลนำ และเป็นผู้ใหญ่ ข้ออ้างความเป็น “เด็กหญิง” นิรันดร์นี้เองนำมาซึ่งการให้ผู้ชายเป็นผู้ปกครอง หรือผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สมบัติของผู้หญิงในสมัยก่อน

สภาวะที่ผู้ชายได้รับการสนับสนุนจากผู้หญิง โดยไม่แม้กระทั่ง “เอ่ยชื่อ” ของเธอออกมานี้ ดูคล้ายกับการแช่แข็งสภาพที่ผู้ชายเป็น “เด็กชาย” อยู่ตลอดไป หรือผู้เขียนขอให้นิยามว่า “สภาวะเด็กชายนิรันดร์” อันที่จริงแล้วเหมือนเป็นตลกร้าย เพราะในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ มักจะเป็นผู้หญิงต่างหากที่ถูกแช่แข็งไว้ในสภาวะ “เด็กหญิง” นิรันดร์ นั่นคือ การผลักให้ผู้หญิงอยู่ในขั้วของความอ่อนแอ อ่อนต่อโลก ใช้อารมณ์นำเหตุผล ไม่มีวุฒิภาวะ ตรงข้ามกับขั้วของเพศชายที่ต้องแข็งแกร่ง ทันโลก ใช้เหตุผลนำ และเป็นผู้ใหญ่ ข้ออ้างความเป็น “เด็กหญิง” นิรันดร์นี้เองนำมาซึ่งการให้ผู้ชายเป็นผู้ปกครอง หรือผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สมบัติของผู้หญิงในสมัยก่อน

เอ๊ะ! แล้วทำไมสภาวะ “เด็กชายนิรันดร์” ถึงชอบธรรมได้เมื่อมันเกิดขึ้น โดยเฉพาะในวัฒนธรรมแบบร็อกๆ ที่ผู้ชายจะห่ามแค่ไหนก็ไม่มีใครว่า?

ในจุดนี้จะขอยกตัวอย่างหนึ่งซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชายหญิงชัดขึ้น เราคงได้เห็นมาบ้างว่า ผู้นำชายหลายคน เมื่อแสดงความแข็งกร้าวแบบผู้ชายก็มักจะได้รับความชื่นชมว่าพวกเขาสมชายชาตรี แต่เมื่อพวกเขาแสดงความอ่อนแอ อย่างเช่น การร้องไห้ ก็จะมีคนสร้างวาทกรรม “น้ำตาลูกผู้ชาย” ขึ้นมา เพื่อจุดประเด็นว่าผู้นำชายมีความอ่อนไหว น่าให้การสนับสนุน ในอีกฟาก ผู้นำหญิงคนหนึ่งแสดงความแข็งกร้าวแบบผู้ชาย แต่ถูกคนประณามว่าไม่มีความเป็นแม่และทำตัวแข็งกระด้างเกินไป แต่เมื่อเธอแสดงด้านที่เปราะบาง คนกลับหาว่าเธอควรกลับไปอยู่ในครัวและไม่ควรออกมาในพื้นที่สาธารณะที่เป็นของผู้ชาย เพราะเธอ “อ่อนแอ เจ้าน้ำตา และมีมารยา” เกินกว่าจะทำหน้าที่ผู้นำ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

สิ่งที่อยู่เบื้องหลังท่าทีของสังคมที่ไม่เท่าเทียมนี้ก็คือ ผู้ชายที่แสดงความอ่อนแอและต้องการการสนับสนุน ลักษณะนี้ไม่ต่างจากนายทาสที่ลดตัวลงมาแสดงสถานะเดียวกับทาส และได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลผู้อ่อนน้อม และกดขี่ทาสน้อยกว่าคนอื่นๆ ในขณะเดียวกัน ผู้หญิงนั้นอยู่ในชนชั้นของทาสอยู่แล้ว เมื่อเธอแสดงความแข็งกร้าวนั่นย่อมหมายความว่าเธอริอาจเทียบรัศมีกับนายทาส และเมื่อเธอแสดงลักษณะที่ถูกโยนให้เข้ากับความเป็นหญิง เช่น การร้องไห้ เธอก็ย่อมถูกประนามว่านำสันดานทาสออกมาแสดงอยู่นั่นเอง การที่ผู้ชายจะแสดงลักษณะของผู้หญิงจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ และหลายครั้งคนกลับชอบด้วยซ้ำ เพราะเขา “อุตส่าห์ลดตัวลงมา” แสดงความอ่อนแอให้เห็นเชียวนะ

โอเอซิสกับการรับรางวัลในงาน Brit Awards ปี 1996

พฤติกรรมแบบเลียมและโนลซึ่งเป็นการแหกกรอบของสังคม จึงถูกมองว่า “ให้อภัยได้” “เป็นอารมณ์ชั่ววูบ” “เป็นความพลั้งเผลอชั่วครั้งชั่วคราว” หรือ “ให้พวกเขาได้สนุกบ้างเถอะน่า” ซึ่งเป็นการให้อภิสิทธิ์แก่ความเป็นผู้ชาย ว่าพวกเขานั้นเป็นผู้ใหญ่ที่ “แค่ทำตัวเด็ก” เพื่อปลดปล่อยอารมณ์หรือความตึงเครียดที่คนเป็นผู้ใหญ่ต้องเผชิญจากการใช้เหตุผลและความคิดในสังคมสาธารณะอย่างหนักหน่วง

ไม่เพียงเท่านั้น การที่โนลได้รับการสนับสนุนจากผู้หญิง โดยไม่แม้แต่จะจำหรือเอ่ยชื่อเธอออกมา ยังสะท้อน “การทำให้เป็นฉากหลัง (background)” ซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมแบบทวินิยม (dualism) ที่แบ่งแยกคนออกเป็นสองฝ่ายขาดจากกัน นั่นคือด้านที่มีความเป็นชายเหนือกว่าความเป็นหญิง ความมีอารยะเหนือกว่าความป่าเถื่อน และเหตุผลเหนืออารมณ์ กระบวนการทำให้เป็นฉากหลังก็คือการไม่ให้ค่ากับประโยชน์ที่ฝ่ายที่ด้อยกว่า (ผู้หญิง) ทำ โดยทำให้ดูเป็นเหมือนสิ่งเล็กน้อยหรืองานชั้นต่ำ ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ การให้ค่างานบ้านที่ผู้หญิงทำเป็นเสมือนงานให้เปล่า โดยไม่คิดว่างานบ้านเป็นส่วนสนับสนุนให้ผู้ชายทำงานนอกบ้านได้อย่างราบรื่น

การที่โนลได้รับการสนับสนุนจากผู้หญิง โดยไม่แม้แต่จะจำหรือเอ่ยชื่อเธอออกมา ยังสะท้อน “การทำให้เป็นฉากหลัง (background)” ซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมแบบทวินิยม (dualism) ที่แบ่งแยกคนออกเป็นสองฝ่ายขาดจากกัน นั่นคือด้านที่มีความเป็นชายเหนือกว่าความเป็นหญิง ความมีอารยะเหนือกว่าความป่าเถื่อน และเหตุผลเหนืออารมณ์

“ผู้หญิงที่ผมจำชื่อไม่ได้” จึงถูกทำให้เป็นฉากหลังโดยไม่มีใครคิดจะไปสืบค้นว่าเธอเป็นใคร และหน้าที่ของเธอก็เพียงให้การสนับสนุนเล็กๆน้อยๆแก่อัจฉริยภาพของโนล โดยไม่มีใครเห็นว่าเป็นสิ่งสลักสำคัญ สิ่งที่น่าคิดอย่างหนึ่งก็คือ ในระหว่างที่สารคดีเรื่องนี้ติดตามเส้นทางอาชีพของเลียมและโนล เราจะเห็นผู้หญิงที่ไม่มีชื่อปรากฏอยู่จำนวนมาก เป็นเสมือน “ฉากหลัง” ในความหมายที่ตรงกับตัวอักษรจริงๆ

หากจะมีวัฒนธรรมไหนที่ต้องถูกตั้งคำถาม ก็คงจะเป็นวัฒนธรรมแบบร็อกๆ ที่ให้ผู้ชายมีอิสระทำอะไรก็ได้อย่างเต็มที่ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากชีวิตแบบแหกขนบมาสร้างสรรค์ผลงาน ในขณะที่ผู้หญิงมีพื้นที่ให้ค้นหาตัวเองได้อย่างจำกัด และต้องทำตัวตามขนบจารีตเพื่อให้ตัวเองยังคงความเป็น “ผู้หญิงที่ดี” ที่จะไม่โดนประณามจากสังคมอยู่นั่นเอง ในแง่หนึ่ง มันยอมให้ผู้ชายโตขึ้นไปเป็น “เด็กชาย (Boy) ในร่างของชายหนุ่ม (Man)” ในขณะที่ผู้หญิงก็เป็นได้เพียงเพศที่สอง (the second sex) ที่ต้องสนับสนุนผู้ชายและถูกกดขี่ไม่ให้แสดงออกอย่างเต็มที่


*ชมสารคดี Oasis: Supersonic ได้ที่ Doc Club on Demand

“หนูด่าตุ๊กตา” เบื้องหลังวรรคทองในหนัง พชร์ อานนท์

“เธอจะถามเรื่องที่กระเทยเอาบทพูดในหนังของเราไปใช้ประท้วงใช่มั้ย? ช่วยเขียนไปเลยว่าถ้าเรื่องการเมืองเราไม่ยุ่ง แต่ส่วนใครจะเอาไปใช้ทำอะไรมันก็สิทธิของเขา”

ยังไม่ทันจะเข้าเรื่อง พชร์ อานนท์ ก็ดักคอเสียแล้ว ทั้งที่เราเปิดประเด็นไว้แค่ว่าเบื้องหลัง “วรรคทอง” ในหนังของเขาเป็นอย่างไร ซึ่งก็จริงเพราะในช่วงการชุมนุมของ “ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล” ไดอะล็อกในหนัง ‘หอแต๋วแตก แหวกชิมิ’ (2554) ถูกนำมาต่อบทกันเพื่อเป็นนัยยะทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น “หนูด่าตุ๊กตา” และ “นี่บ้านมึงเหรอ?”

แต่ถ้ามองไปไกลกว่าเรื่องการเมือง บทพูดในหนังของพชร์ โดยเฉพาะในซีรีส์ ‘หอแต๋วแตก’ ก็ถูกนำมาเล่นจนเป็นวรรคทองเสมอมา ไม่ว่าจะเป็น “อีช็อกการี” ในหนังภาคเดียวกัน และ “ใครฆ่าอารียา… พยูน ไม่ได้ฆ่า” จาก ‘หอแต๋วแตก แหกกระเจิง’ (2552)

ประโยค “หนูด่าตุ๊กตา” อยู่ในฉากที่ แพนเค้ก (โก๊ะตี๋ – เจริญพร อ่อนละม้าย) มาทวงตุ๊กตาไบลธ์ที่ เจ๊แต๋ว (จาตุรงค์ พลบูรณ์) สัญญาว่าจะซื้อให้ แต่กลับได้ตุ๊กตาราคาถูกมาแทน ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าหนังของพชร์มักช่วงชิงสิ่งที่กำลังเป็นกระแสในขณะนั้นมาใส่ในหนังอย่างทันท่วงที และมุกนี้ก็เป็นบทบันทึกว่าครั้งหนึ่งมีสิ่งที่เรียกว่า “ตุ๊กตาไบลธ์” เคยได้รับความนิยมจนมีราคาในท้องตลาดสูงลิบ พอที่จะเป็นมุกจิกกัดในหนังพชร์ได้

“ถ้าเคยติดตามวิธีการทำงานของเรามาจะรู้ว่าทุกอย่างเกิดจากการคิดหน้ากอง และถ่ายเดี๋ยวนั้น อย่างอันนี้คือเราได้อีตุ๊กตามาในเรื่องแล้ว เราก็คุยกันกับโก๊ะตี๋และพี่รงค์ว่าจะเล่นอะไรกับมันดี แล้วมันก็ออกมาแบบนี้ รวมไปถึงมุกอื่นๆ อย่าง ‘อีช็อกการี’ หรือ ‘มึงออกจากบ้านกูไปเดี๋ยวนี้นะ’ มันก็มาจากการทำงานแบบนี้ทั้งนั้น”

สิ่งที่น่าทึ่งคือ การทำงานแบบด้นสดของพชร์กลับสามารถสร้างวรรคทองให้คนเอาไปเล่นต่อได้เรื่อยมา จนราวกับว่าเขาเขียนขึ้นเพื่อสร้างการจดจำ “เราเป็นคนพูดจาแบบนี้อยู่แล้วไง ถ้าเคยดูรายการที่เราเป็นพิธีกรก็จะชอบเอาคำที่คนอื่นเขาไม่พูดกันมาใช้ โดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว เพราะเป็นคนชอบประชดประชันแบบขำๆ ไม่ได้คิดอะไร แล้วพอเป็นแบบนี้กับการที่เราได้ร่วมงานกับโก๊ะตี๋และพี่รงค์ซึ่งเขาดันเข้าใจดีว่าเราเป็นคนยังไง มันเลยเข้าขากัน ก่อนถ่ายเราก็เล่าให้เขาฟังว่าฉากนี้จะทำอะไร เขาก็ไปช่วยกันคิดแล้วเอามาขาย บางอันถ้าชอบเราก็ซื้อ อันไหนไม่ชอบเราก็ไม่ซื้อ ไม่ใช่ว่าเอาหมด มันเหมือนเราได้คู่ขามาซึ่งทั้งคู่ช่วยเราได้เยอะมาก”

และเมื่อย้อนกลับมาที่ปรากฏการณ์ทางการเมือง เมื่อบทพูดในจักรวาล ‘หอแต๋วแตก’ กลายเป็นสื่อกลาง พชร์ก็ยังยืนยันเช่นเดิมว่า “ถ้าเรื่องการเมืองเราจะไม่ยุ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากคนที่ไปประท้วงวันนั้นส่วนใหญ่เป็นเกย์และกระเทยซึ่งเขาเป็นแฟนหนังของเรามาเป็นสิบๆ ปีแล้ว และก็ถูกเอามาเล่นในโซเชียล ใน TikTok ในลิปซิงค์ จนมาถึงการชุมนุม พี่ก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ มันเป็นมุกที่ติดปากอยู่แล้ว จะให้เราไปห้ามเขาเหรอ? มันไม่ได้”

โลเคชั่นข้างบ้าน : อุโมงค์เชื่อมกาลเวลา

เคยได้ยินจากใครสักคนบอกเอาไว้ว่า โลเคชั่น (Location) คือตัวละครหนึ่งของภาพยนตร์ที่ไม่ต้องใช้คำพูด โลเคชั่นสามารถบอกเล่าความรู้สึกของแม่นางเอก นิสัยใจคอของนางอิจฉา ความเป็นมาของตัวร้าย ฯลฯ เพียงแค่วางให้อยู่ในจังหวะที่เหมาะสมในการเล่าเรื่องของผู้กำกับ

คอลัมน์นี้จึงเกิดขึ้นเพื่อแนะนำโลเคชั่นที่น่าสนใจ เป็นทางเลือกของเพื่อนๆ ที่จะนำไปอยู่ในผลงานภาพยนตร์หรือภาพเคลื่อนไหวอื่นๆ เพื่อช่วยเสริมผลงานได้ตรงใจขึ้น สมบูรณ์แบบมากขึ้น ถ้าใครมีพื้นที่น่าสนใจก็สามารถนำมาแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ ^^

ช่วงที่ผ่านมามีการพูดถึงซีรี่ส์ DARK ซีซัน 3 ที่ซับซ้อนย้อนแย้งจนปวดขมับ ตัวละครย้อนเวลากันไปมาวุ่นวายสุดๆ โดยตัวละครหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ “อุโมงค์เชื่อมกาลเวลา” ที่อยู่ในถ้ำใต้เตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์และคอยพาทุกตัวละครที่ไม่ได้ใช้ไทม์แมชชีนให้ได้ข้ามกาลเวลากัน แม้วันนี้เราจะไม่มีอุโมงค์ในถ้ำมานำเสนอ แต่เรามี 4 อุโมงค์ทางเดินใต้ดินที่น่าสนใจรอบๆ กรุงเทพฯ มาแนะนำครับ

อุโมงค์สามย่านมิตรทาวน์

สถานที่ : สามย่านมิตรทาวน์

ติดต่อ : ฝ่ายการตลาดสามย่านมิตรทาวน์ โทร.  02 033 8900 #8736

อุโมงค์นี้เชื่อมระหว่างอาคารจามจุรีสแควร์กับอาคารสามย่านมิตรทาวน์ ด้วยดีไซน์ดิบๆ โดยการจำลองอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินมาให้คนได้เดินลอดกัน ซึ่งความเท่และล้ำมากจึงทำให้มีคนมาถ่ายรูปกันล้นตลอดเวลา แต่ตอนไม่มีคนมันจะเหมือนฉากในหนังไซ-ไฟ หลอนเหมือนพร้อมจะเจอเอเลี่ยนโดดขย้ำได้ตลอดทาง ส่วนใครอยากจะมาถ่ายทำที่นี่มีค่าใช้จ่ายอยู่บ้างแล้วแต่รูปแบบการใช้งาน แต่ถ้าเป็นงานของนักศึกษา ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าสามย่านมิตรทาวน์พร้อมสนับสนุนเต็มที่ โดยทำจดหมายขออนุญาตใช้พื้นที่พร้อมบทคร่าวๆ ส่งถึง ผู้จัดการทั่วไปของศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ได้ที่ [email protected] หรือ [email protected] ครับ   


อุโมงค์ทางเดินลอดถนนพญาไท

สถานที่  : ติดกับคณะนิเทศศาสตร์จุฬา ถนนพญาไท

ติดต่อ :  สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 02 218 0101

ที่นี่เป็นอุโมงค์ทางเดินใต้ดินแรกของเมืองไทยเลย เปิดให้ใช้มาตั้งแต่ปี 2517 อยู่ลึกจากพื้นดินลงไป 2 เมตรโดยลอดใต้ถนนพญาไทที่เชื่อมระหว่างคณะนิเทศศาสตร์กับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ใครเคยไปอุโมงค์นี้เมื่อนานมาแล้วอาจจะมีภาพในความทรงจำว่ามันปูกระเบื้องเล็กๆ แสงสลัวๆ เหมาะกับหนังทริลเลอร์มาก แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้วจ้า เพราะมีการปรับปรุงใหม่โดยกลุ่ม CU Tunnel Co-create ทำให้อุโมงค์นี้กลายเป็นสีฟ้า-เขียว-เหลือง-ชมพู ร่าเริงสดใสและดูรักสุขภาพสุดๆ ด้วยดีไซน์คล้ายลู่วิ่ง ที่ขั้นบันไดมีนับแคลด้วย

ใครอยากเข้าไปถ่ายที่อุโมงค์นี้สามารถทำจดหมายถึง ผู้อำนวยการสำนักบริหารระบบกายภาพ พร้อมแนบบทภาพยนตร์มาด้วย (เพราะเจ้าหน้าที่แจ้งว่าที่นี่เป็นสถานการศึกษาเลยต้องขอพิจารณาเนื้อหาหนังสักหน่อย) แล้วยื่นจดหมายได้ที่ตึกจามจุรี 5  ชั้น 4 (ตึกนี้อยู่ติดถนนพญาไทใกล้ๆ อุโมงค์นั่นล่ะคร้าบ)


อุโมงค์พระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

สถานที่ : วงเวียนใหญ่

ติดต่อ :  เขตธนบุรี  02 465 6413

อุโมงค์ที่นี่สั้นและกว้างกว่าทุกอุโมงค์ที่แนะนำมา แต่มีความโดดเด่นคือเป็นอุโมงค์ที่พาเราผ่านความวุ่นวายในถนนวงเวียนใหญ่ที่รถมากมายมหาศาล ไปสู่ความสงบในสวนสาธารณะบรรยากาศแปลกดี พอเข้าไปสู่สวนสาธารณะแทบจะไม่ค่อยได้ยินเสียงรถ เหมือนเป็นอุโมงค์ที่เชื่อมระหว่างความวุ่นวายไปสู่ดินแดนแห่งใหม่ แต่ถ้าไปช่วงเย็นอาจจะเจอกลุ่มคนรักสุภาพมาออกกำลังกายกัน ก็เลยอาจจะไม่สะดวกในการทำงานนักเพราะนี่เป็นทางเชื่อมเดียวในการไปสู่สวนสาธารณะกลางวงเวียนใหญ่ และอาจจะลำบากเรื่องการขนอุปกรณ์กองถ่ายนะเพราะไม่มีที่จอดรถ

ใครสนใจอยากใช้บริการสามารถติดต่อที่ สำนักงานเขตธนบุรี โดยทำจดหมายถึง ผู้อำนวยการเขตธนบุรี ส่งที่ฝ่ายปกครองชั้น 2 จ้า


อุโมงค์ทางเดินลอดสถานีรถไฟบางบำหรุ

สถานที่ : สถานีรถไฟบางบำหรุ

ติอต่อ : กองโฆษณาการรถไฟแห่งประเทศไทย 02 220 4274

ความน่าสนใจของอุโมงค์นี้คือ ขนาดไม่กว้าง แต่ยาวและขาวมาก บรรยากาศดูไซไฟเป็นพิเศษ ตอนที่เราไปเก็บภาพนี้ยังอยู่ในช่วงตกแต่งเพิ่มเติมน่าจะเสร็จปลายปีนี้ แต่ตัวอุโมงค์น่าจะเก็บงานเสร็จก่อนเพราะดูแล้วมันมินิมอลมากครับ พื้นหินอ่อนโทนสว่าง ส่วนเพดานและกำแพงนั้นสีขาวทั้งหมด ใครอยากได้อุโมงค์ดูล้ำๆ ไม่ควรมองข้ามที่นี่ แต่ต้องรีบนิดนึงนะเพราะผนังดูมีพลังในการเรียกชาวกราฟิตี้มากๆ

ใครอยากเข้าไปใช้พื้นที่สามารถติดต่อ กองโฆษณาการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยยื่นจดหมายถึง ผู้อำนวยการประชาสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย ส่งจดหมายที่ตึกกองบัญชาการรถไฟ อยู่ใกล้ๆหัวลำโพง มีค่าบริการซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งเราว่าต้องมาคุยกันก่อนครับถึงจะบอกได้ว่ามีค่าบริการเท่าไร

อย่าปล่อยให้ความว่างกัดกิน เรามาทำหนังกันเถอะ

ไม่ต่ำกว่าสามเดือนแล้วที่เราอยู่ในโลกแห่งการกักกันโรค ทุกย่างก้าวของการใช้ชีวิตจะถูกตามติดด้วยมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ จนกระทบกับบางอาชีพที่จำเป็นต้องทำงานกับคนเยอะๆ อย่างการทำหนังและธุรกิจโรงหนัง จนเรียกได้ว่าช่วงที่ผ่านมาวงการหนังโลกแทบหยุดหายใจ แต่สำหรับคนทำหนังบางคน มันเป็นโจทย์ที่ชวนตีให้แตก และสุดท้ายมันก็กลายเป็นหนังเรื่องใหม่จนได้

Isolation เป็นหนังที่เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคม ในวันที่โลกเริ่มรู้ตัวแล้วว่าจะต้องล็อกดาวน์ นาธาน ครูเกอร์ โปรดิวเซอร์ของโปรเจกต์ก็เกิดไอเดียทันที “ตอนที่เริ่มมีการกักกันโรค หนังของเราก็พรีโปรดักชั่นทันที” ครูเกอร์กล่าว “ผมรู้ว่าคนทำหนังหลายคนก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกันนี้ แต่เรายังคงพลุ่งพล่านที่จะทำหนังแม้จะล็อกดาวน์ ในฐานะคนทำหนัง ผมเห็นประวัติศาสตร์แห่งการสร้างสรรค์ โดยสู้กับข้อจำกัดที่มี จนเกิดสังคมแห่งการสร้างสรรค์ที่แข็งแรงขึ้นมา เป็นความสดใหม่ กระตุ้นให้เราได้ใช้สมองมากขึ้น คนทำหนังตีโจทย์จากสังคมที่อยู่รอบข้างเขาในขณะนั้น Isolation จึงไม่ใช่หนังเขย่าขวัญที่ตั้งหน้าตั้งตาสร้างความน่ากลัวแต่เป็นไทม์แคปซูลสำหรับคนรุ่นถัดไป ความน่าตื่นเต้นสำหรับผมไม่ใช่เพียงแค่การแก้โจทย์ที่ผมวางกติกาไว้ให้เหล่าคนทำหนังเท่านั้น แต่มันคือการก้าวไปสู่สิ่งที่ผมคาดไม่ถึงว่าพวกเขาจะมอบให้ได้”

เรามารู้จัก Isolation เพิ่มอีกนิด…มันเป็นหนังที่พาเราเดินไปสู่อนาคตอันใกล้ เมื่อโลกอยู่ภายใต้หายนะของโรคระบาด โดยอ้างอิงจากสถานการณ์โควิดปัจจุบัน แนวคิดทั้งหมดร้อยเอาไว้ด้วยหนังสั้น 9 เรื่อง จาก 11 คนทำหนัง ได้แก่ เดนนี กอร์ดอน (Jack Ryan), ลาร์รี เฟสเซนเดน (The Last Winter), บ็อบบี โร (The House October Built) แอนดรูว์ คาสช์ (Tales of Halloween) แซ็ค ปาสเซโร (Wicked Lake) คริสเตียน ปาสการิเอลโล (Alien Invasion: S.U.M. 1) อเล็กซานดรา นีรี (The Innocent) อลิกซ์ ออสติน กับ คีร์ ซีเวิร์ท (Retch) และ ไคล์ ไอ เคลลี กับ อดัม บราวน์ (The Music Lesson)

โจทย์ที่ครูเกอร์ส่งให้คนทำหนังทั้ง 11 คือ พวกเขาต้องทำทั้งหมดโดยห้ามใช้โปรแกรมวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เด็ดขาด และถ่ายทำภายใต้มาตรการกักกันโรคอย่างเคร่งครัด แม้แต่การคัดเลือกนักแสดงและการถ่ายทำ

“มันเป็นหนังที่สำรวจความเป็นมนุษย์ผ่านมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน” ครูเกอร์กล่าว “หนังอยู่ภายใต้ร่มคันเดียวกันนั่นคือความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น การเอาตัวรอด ความหวาดกลัว ความหวัง ความรัก การหลบหนี ความไม่รู้ การถูกทอดทิ้ง และการฉวยโอกาส …ราวกับว่าหนังเขย่าขวัญที่ดีนั้น ธีมควรจะอยู่เหนือประเภทของหนัง”

Isolation ถ่ายทำเสร็จแล้ว และ Ghost Gang บริษัทที่ดูแลการผลิตกำลังเจรจาเรื่องการจัดจำหน่าย ซึ่งมันไม่ใช่หนังเรื่องเดียวที่ถ่ายทำบนข้อจำกัดช่วงกักกันโรค ยังมี Unsubscribe ที่ เอริก ทาแบค และ คริสเตียน นิลส์สัน รีบทำรีบฉาย เพื่อจะเข็นมันขึ้นอันดับ 1 บ็อกซ์ออฟฟิศช่วงโควิดให้ได้, Host ของ ร็อบ ซาเวจ (Dawn of the Deaf) หนังสยองของ Shudder ที่เล่าเรื่องการพบความสยองที่พบในโปรแกรม Zoom ซึ่งนักแสดงถ่ายตัวเองทั้งหมด รวมถึง ‘กักตัว Stories’ ซีรีส์ 10 เรื่องจาก นาดาวบางกอก ด้วย


ที่มา : https://ew.com/movies/isolation-horror-movie-quarantine

อุตสาหกรรมหนังฮ่องกงกับจุดเปลี่ยนที่ท้าทาย หลังจากกฎหมายความมั่นคงมีผลบังคับใช้

หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ฮ่องกงที่ดำเนินมากกว่าหนึ่งศตวรรษ อุตสาหกรรมหนังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญมาหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมหนังที่พูดภาษาจีนแทนเซี่ยงไฮ้ (ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางในทศวรรษ 1930) ผลิตหนังพูดภาษาจีนกลางและกวางตุ้งออกฉายในประเทศและส่งออกไปยังภูมิภาคใกล้เคียงอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก https://www.scmp.com/magazines/style/celebrity/article/3081457/how-did-hong-kong-film-industry-get-so-big-and-why-did-it

จนมาถึงทศวรรษ 1970 ที่อุตสาหกรรมหนังฮ่องกงเติบโตมากขึ้น ผลิตหนังแนวศิลปะป้องกันตัวอันกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ได้รับความนิยมไม่เพียงเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทั่วโลกด้วยชื่อของ บรู๊ซ ลี และ เฉินหลง จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของหนังกังฟูจากฮ่องกงที่หลายคนคุ้นเคยดี

ก้าวสู่ทศวรรษ 1980 หนังฮ่องกงยกระดับตัวเองกลายเป็นอุตสาหกรรมหนังใหญ่อันดับสามของโลก รองจากฮอลลีวูดและอินเดีย จากจำนวนหนังที่ผลิตกว่า 200 เรื่องต่อปี (โดยเฉพาะช่วงต้น 1990 มีจำนวนสูงถึง 400 เรื่องต่อปี!!)  ความหลากหลายของเนื้อหา และศักยภาพในการครองส่วนแบ่งทางการตลาดในหลายประเทศ https://www.scmp.com/business/article/2104540/its-fade-out-hong-kongs-film-industry-china-moves-spotlight

จนกระทั่งถึงกลางทศวรรษ 1990 อุตสาหกรรมหนังฮ่องกงก็เข้าสู่ภาวะถดถอยจากการเข้ามายึดครองตลาดของฮอลลีวูด ความเสื่อมความนิยมของผู้ชม วิกฤตทางการเงินในช่วงปลายทศวรรษ และความกังวลต่อการกลับคืนสู่ประเทศจีนในปี 1997 ก่อนจะก็กลับมาตั้งหลักได้ในทศวรรษ 2000 พร้อมกับสูตรใหม่ทางธุรกิจ นั่นคือการร่วมทุนกับแหล่งทุนในประเทศจีนแล้วสร้างหนังที่ตอบสนองตลาดทั้งฮ่องกงและจีน ขณะที่หนังอิสระซึ่งเน้นกลุ่มผู้ชมฮ่องกงโดยเฉพาะก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ชมท้องถิ่น https://www.scmp.com/magazines/post-magazine/arts-music/article/3024826/hong-kong-cinema-not-dead-recent-chinese-box

อย่างไรก็ตาม มาถึงปี 2020 อุตสาหกรรมหนังฮ่องกงก็กำลังจะพบกับจุดเปลี่ยนครั้งใหม่ ซึ่งเกิดจากแรงกระเพื่อมทางการเมืองที่ดำเนินมากว่าหนึ่งปี เมื่อรัฐบาลจีนประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อันมีเนื้อหาระบุว่า ความผิดที่เข้าข่าย “การคุกคามความมั่นคงของฮ่องกง” (ซึ่งเป็นของจีน) นั้นประกอบด้วย การแบ่งแยกดินแดน การล้มล้างอำนาจของรัฐบาลกลาง การก่อการร้าย และการสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติ หรือกองกำลังจากภายนอก https://www.bbc.com/thai/international-53223146

ผลจากการการประกาศใช้กฎหมายที่มีบทรุนแรงถึงขั้นจำคุก 5-10 ปีนี้ สร้างความกังวลใจแก่ประชาชนฮ่องกงทุกภาคส่วนมาก โดยเฉพาะต่อเรื่องสิทธิในการแสดงออกซึ่งเป็นสิ่งที่คนฮ่องกงเชิดชูตลอดมา

มาถึงปี 2020 อุตสาหกรรมหนังฮ่องกงกำลังจะพบกับจุดเปลี่ยนครั้งใหม่อันเกิดจากแรงกระเพื่อมทางการเมืองที่ดำเนินมากว่าหนึ่งปี เมื่อรัฐบาลจีนประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงซึ่งสร้างความกังวลใจแก่ประชาชนมาก โดยเฉพาะต่อเรื่องสิทธิในการแสดงออกซึ่งเป็นสิ่งที่คนฮ่องกงเชิดชูตลอดมา

ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยสอบถามมิตรสหายที่อยู่ในอุตสาหกรรมหนังฮ่องกง ถึงความเห็นต่อความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่าส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะแสดงทัศนะ เนื่องจากมองว่ากฎหมายดังกล่าวเพิ่งประกาศใช้ และเกรงว่าการให้ความเห็นอาจส่งผลต่อสวัสดิภาพของตนเอง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้รับความร่วมมือจากคนในวงการ 3 คน ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องไม่เปิดเผยชื่อของพวกเขา ด้วยเหตุนี้จึงขอแทนชื่อบุคคลเหล่านี้ว่า A B และ C

A เป็นผู้สร้างและผู้จัดจำหน่ายอิสระ, B เป็นผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่ และ C เป็นผู้สร้างและจัดจำหน่ายหนังที่มีสายสัมพันธ์ทดีกับแหล่งทุนในประเทศจีน โดยผู้เขียนขอสรุปความเห็นของพวกเขาดังต่อไปนี้

ผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อ “เสรีภาพในการแสดงออก”

เมื่อถามถึงความรู้สึกที่มีต่อกฎหมายฉบับนี้ ทั้ง A B และ C มีความเห็นเหมือนกันว่า กฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮ่องกงอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดย A ซึ่งเป็นผู้สร้างและผู้จัดจำหน่ายหนังอิสระกล่าวว่า “กฎหมายความมั่นคงจะทำให้เนื้อหาของหนังที่วิพากษ์รัฐบาลไม่ว่าจะทางตรงและทางอ้อม หรือแม้แต่แค่แตะเพียงผิวเผินไม่สามารถถูกสร้างได้ เพราะเสี่ยงต่อการถูกลงโทษและถูกแบน” สอดคล้องกับความเห็นของ B ผู้กำกับหนังอิสระที่มองว่า กฎหมายดังกล่าวจะจำกัดความคิดสร้างสรรค์ด้วยการบีบให้ผู้สร้างหนังต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการปัญหากับรัฐบาล ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อวัฒนธรรมภาพยนตร์ของฮ่องกง

ขณะที่ C ให้ความเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวส่งผลกระทบเฉพาะแค่กลุ่มผู้สร้างหนังอิสระที่มักจะสร้างผลงานวิพากษ์สังคมและการเมืองเท่านั้น ความเข้มงวดของกฎหมายจะทำให้พวกเขาต้องระมัดระวังประเด็นในการนำเสนอมากขึ้น แต่สำหรับผู้สร้างหนังในกระแสหลักซึ่งต้องมีปฏิสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่ กฎหมายความมั่นคงอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิต แต่ไม่น่ามีผลต่อการทำงานเพราะพวกเขาต้องระมัดระวังการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ขัดต่อกฎหมายเซ็นเซอร์ในประเทศจีนอยู่แล้ว

C ให้ความเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวส่งผลกระทบเฉพาะแค่กลุ่มผู้สร้างหนังอิสระที่มักจะสร้างผลงานวิพากษ์สังคมและการเมืองเท่านั้น ความเข้มงวดของกฎหมายจะทำให้พวกเขาต้องระมัดระวังประเด็นในการนำเสนอมากขึ้น แต่สำหรับผู้สร้างหนังในกระแสหลักซึ่งต้องมีปฏิสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่ กฎหมายความมั่นคงอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิต แต่ไม่น่ามีผลต่อการทำงานเพราะพวกเขาต้องระมัดระวังการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ขัดต่อกฎหมายเซ็นเซอร์ในประเทศจีนอยู่แล้ว

การปรับตัว และอนาคตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮ่องกง

ในส่วนคำถามที่ว่า พวกเขาจะต้องปรับตัวกับกฎหมายฉบับใหม่อย่างไร A กล่าวว่า สำหรับระยะแรก เขายังคงเดินหน้าจัดจำหน่ายหนังที่พร้อมฉายแล้วต่อไป แต่ในระยะยาว เขาเชื่อว่ากฎหมายดังกล่าวจะต้องส่งผลกระทบต่อโปรเจ็กต์ที่ยังไม่เข้าฉาย รวมถึงโปรเจ็กต์ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา และอาจจะต้องนำไปสู่การปรับกระบวนการคิดใหม่ อย่างไรก็ตาม A เสริมว่า แม้ในอนาคต การสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ อาจทำได้ยากขึ้น  แต่การปิดกั้นทางความคิดก็อาจก่อให้เกิดคลื่นลูกใหม่แห่งการสร้างสรรค์ (new wave of creativity) ก็เป็นได้

ขณะที่ B เชื่อว่า วิธีที่ดีที่สุดในการปรับตัวเข้ากับกฎหมายความมั่นคงก็คือการไม่ปรับตัวใด ๆ เธอเชื่อว่าเมื่อนักทำหนังถูกบีบคั้นมาก ๆ พวกเขาก็จะลุกขึ้นตอบโต้ ด้วยการหันไปพึ่งพาแหล่งเงินทุนอื่นที่ไม่ใช่ทุนจากแผ่นดินใหญ่ แล้วผลิตผลงานที่เปี่ยมไปด้วยเสรีภาพแห่งการสร้างสรรค์

A เสริมว่า แม้ในอนาคต การสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ อาจทำได้ยากขึ้น แต่การปิดกั้นทางความคิดก็อาจก่อให้เกิดคลื่นลูกใหม่แห่งการสร้างสรรค์ (new wave of creativity) ก็เป็นได้

ส่วน C มองว่า อุตสาหกรรมหนังคงไม่ต้องปรับตัวอะไรหากรู้ว่าอะไรที่ควรทำ อะไรไม่ควรทำ ส่วนอนาคตของหนังฮ่องกงนั้น C มองว่าคงจะมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ เพราะบุคลากรจำนวนไม่น้อยได้ย้ายเข้าไปทำงานบนแผ่นดินใหญ่อย่างต่อเนื่อง เหลือไว้แต่คนทำหนังที่ผลิตผลงานเพื่อตอบสนองผู้ชมฮ่องกงจริง ๆ

เมื่อพิจารณาจากความเห็นของทั้งสามคน แม้คำตอบจะเหมือนและแตกต่างกันในบางประเด็น  แต่โดยรวมแล้วทุกคนคงรู้สึกไม่ต่างกันว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เคยยิ่งใหญ่กำลังเผชิญกับความท้าทายที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในไม่ช้า

ล้านหยวนเรื่องแรกของจีนหลังโควิด คือหนังเด็กอุยกูร์

179 วันที่โควิดทำให้ต้องปิดโรงหนังในจีน จนประเทศที่ทำรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศมากเป็นอันดับ 2 ของโลกสั่นสะเทือนวงการหนังไปทั่วโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม จนเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา โรงหนังจีนกลับมาเปิดอีกครั้งในพื้นที่ที่ความเสี่ยงต่ำ และหนังใหม่ที่ทำรายได้ดีที่สุดก็คือ A First Farewell หนังน่ารักๆ ซึ่งเล่าเรื่องการจากลาของเด็กชาวอุยกูร์ ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

A First Farewell ขายคูปองส่วนลดหมดตั้งแต่คืนวันที่ 19 ก.ค. ก่อนโรงหนังจะเปิดให้บริการเสียอีก และทำเงินวันแรกไปถึง 1.5 ล้านหยวนเลยทีเดียว ซึ่งด้วยตัวละครชาวอุยกูร์ที่มีภาพลักษณ์แตกต่างจากพระนางในหนังจีนโดยทั่วไปจึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่มันสามารถทำเงินเปิดศักราชใหม่ให้โรงหนังจีนได้เช่นนี้

หนังกำกับโดย ลินา หวัง ซึ่งเธอเกิดและเติบโตในซินเจียง เธอจึงรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับชาวอุยกูร์อยู่แล้ว นี่จึงเป็นสาเหตุที่ A First Farewell ปฏิบัติกับตัวละครอุยกูร์อย่างเป็นปกติมนุษย์จนคว้ารางวัล Crystal Bear จาก KPlus Generation of the Berlinare และ Future of Asia จาก Tokyo Festival มาแล้ว

หนังเล่าเรื่องของ อิซา เด็กจากครอบครัวเลี้ยงแพะในเขตปกครองพิเศษซินเจียงอุยกูร์ ที่เขาต้องอยู่ในช่วงเวลาแห่งการลาจากกับคุณแม่หูหนวกซึ่งกำลังจะถูกส่งไปอยู่ในที่ที่ดูแลเธอได้ดีกว่า และเพื่อนรักอย่าง กัลบินูร์ ผู้ที่ผลการเรียนย่ำแย่จนต้องถูกส่งไปยังโรงเรียนซึ่งห่างไกลออกไป โดยผกก.หวังหยิบเรื่องราวมาจากชีวิตจริงของ อิซา ยาซัน หนูน้อยผู้รับบทอิซาที่เธอไปเจอโดยบังเอิญ

เขตปกครองพิเศษซินเจียงอุยกูร์ เป็นดินแดนที่สวยงามด้วยพืชพรรณธรรมชาติและความเวิ้งว้างสุดลูกหูลูกตาของทะเลทรายโกบี นั่นทำให้วัยเยาว์ของหวังได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติไม่ต่างจากเด็กซินเจียงคนอื่น การที่เธอได้พบกับอิซามันทำให้ความทรงจำทั้งหลายได้กลับมามีลมหายใจอีกครั้งหนึ่ง “เราชาวซินเจียงจะมีประสบการณ์ร่วมกัน เราได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้มีเพื่อนเล่นที่สนิทกัน จากนั้นเราก็ต้องจากลาเพื่อเติบโตไปอีกขั้น หนังเรื่องนี้คือความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้สึกแสนงดงามในช่วงนั้น”

ความเซอร์ไพรซ์คือ A First Farewell เป็นหนังที่เรียบง่ายงดงาม ไม่ได้หวือหวาเร้าใจ เหมือนหนังฮิตในจีนอีกมากมาย ซึ่งหวังมองว่านี่เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับโลกหลังโควิด

“ปีนี้พิเศษสำหรับทุกคนบนโลกใบนี้ ฉันเห็นผู้คนถูกแยกออกจากสังคมมามากมาย ฉันหวังว่าหนังเรื่องนี้จะมอบความอบอุ่นใจให้ใครหลายคน

“ฉันเชื่อว่าหนังดีจะช่วยเยียวยาจิตวิญญาณของเรา ตราบใดที่เรื่องมันสัมผัสหัวใจ ฉันก็ยังยืนยันจะทำหนังของพลเมืองชั้นสองในประเทศจีนต่อไป”

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 23 ก.ค. 63

ในที่สุดเราก็มีหนังที่ทำให้โรงกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง นั่นคือ Peninsula ภาคต่อจากหนังเกาหลีเรื่องฮิต Train to Busan โดยเมื่อวานทำเงินไปถึง 4.44 ล้านบาท สูงที่สุดของหนังที่เปิดตัวหลังปลดล็อกโรงหนังช่วงโควิด

รายได้หนังประจำวันที่ 23 ก.ค. 2563

1. Peninsula – 4.44 ล้านบาท
2. ฮักเถิดเทิง – 0.27 ล้านบาท
3. Digimon Adventure : Last Evolution Kizuna – 0.10 (3.57) ล้านบาท
4. Crayon Shin-Chan: Honeymoon Hurricane – 0.04 ล้านบาท
5. The Bridge Curse – 0.03 (1.44) ล้านบาท
6. Suk Suk – 0.02 ล้านบาท
7. เกมเซ่นผี – 0.008 (2.07) ล้านบาท
8. The Kingmaker – 0.007 (0.41) ล้านบาท
9. My Hero Academia : Heroes Rising – 0.007 (7.39) ล้านบาท
10. มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ – 0.006 (6.48) ล้านบาท

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 16-22 ก.ค. 63

Digimon Adventure : Last Evolution Kizuna เข้ามาถึงอันดับ 1 ส่วน Burden ที่ฉายมาเป็นสัปดาห์ที่ 4 แล้ว แต่เพิ่งเข้า Top 10 เพราะเป็นสัปดาห์แรกที่หนังฉายในวงกว้างขึ้น หลังจากฉายเฮาส์ที่เดียวมาเกือบเดือน

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 16-22 ก.ค. 2563

1. Digimon Adventure : Last Evolution Kizuna – 3.47 ล้านบาท
2. The Bridge Curse – 1.41 ล้านบาท
3. Train to Busan – 0.69 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายใหม่
4. My Hero Academia : Heroes Rising – 0.67 (7.39) ล้านบาท
5. มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ – 0.53 (6.47) ล้านบาท
6. เกมเซ่นผี – 0.42 (2.06) ล้านบาท
7. รักข้ามคาน – 0.22 ล้านบาท
8. John Wick: Chapter 3 – Parabellum – 0.22 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายใหม่
9. The Lost Prince – 0.19 ล้านบาท
10. Burden – 0.18 (0.21) ล้านบาท

Digimon Adventure : Last Evolution – Kizuna …บางสิ่งที่ตายจากเราไป เมื่อเราโตขึ้น

ตอนที่ Digimon Adventure ภาคแรกฉายช่อง 9 การ์ตูนเมื่อปี พ.ศ. 2544 ผมอยู่มัธยมปลายซึ่งเป็นวัยที่เด็กเริ่มเป็นวัยรุ่นอย่างแท้จริง ไลฟ์สไตล์เปลี่ยน ความสนใจเปลี่ยน และเริ่มเลิกดูการ์ตูนที่ฉายทีวี

ตั้งแต่ประถมถึงมัธยมต้นในยุคที่อินเทอร์เน็ต 36k และยังไม่มีสมาร์ทโฟนนั้น เด็กมีสิ่งให้สนใจไม่กี่อย่าง และการตื่นเช้ามาในวันเสาร์อาทิตย์เพื่อดู “ช่อง 9 การ์ตูน” ก็เป็นสิ่งที่เด็กจำนวนมากในยุคนั้นทำกัน ไม่งั้นคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง แต่พอขึ้นม.ปลายปุ๊บก็เหมือนเป็นทางเลือกว่า ถ้ายังดูอยู่จะถือว่าเป็นคนที่บ้าการ์ตูน (สมัยนั้นคำว่าโอตาคุยังไม่แพร่หลาย) สำหรับผมก็เลือกดูเฉพาะเรื่องที่อยากดู และด้วยความที่ไลฟ์สไตล์เปลี่ยน สุดสัปดาห์เรานอนดึกขึ้น ตื่นมาดูไม่ไหวแล้ว Digimon Adventure จึงเป็นช่อง 9 การ์ตูนเรื่องสุดท้ายที่ผมติดตามดู

ที่มาของ Digimon หรือ Digital Monster นั้นเป็นของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ที่ต่อยอดมาจาก Tamagotchi โดยผสมผสานไอเดียการเลี้ยงสัตว์บวกกับการฝึกสัตว์เพื่อเอามาต่อสู้กับเพื่อนแบบ Pokemon ก็เลยเกิดเป็นของเล่นที่ชื่อ Digimon ขึ้นมา และตามปกติแล้วการที่จะกระตุ้นยอดขายของเล่นจำเป็นต้องมีอนิเมะมาประกอบควบคู่เพื่อให้เป็นแฟรนไชส์ที่แข็งแรง ไม่ต่างกับเจ้าหนูนักซิ่งสายฟ้า Let’s Go ที่มาเพื่อขายรถ mini4wd ของทามิย่า ของเล่นกับอนิเมะเป็นของคู่กันตั้งแต่ต้น เงินทุนหลักของการสร้างอนิเมะก็มักมาจากบริษัทของเล่น อนิเมะที่ทำยอดขายของเล่นได้ไม่เข้าเป้าก็มักโดนตัดงบและตัดจบกลางคันก็มีมากมาย

เรื่องราวของอนิเมะ Digimon Adventure ก็เรียบง่าย เมื่อเหล่าตัวเอกต้องกลายเป็น ”เด็กผู้ถูกเลือก” ให้เป็นคู่หูของเหล่าดิจิมอน (ฝ่ายดี) และถูกส่งไปยัง Digital World (ใช่แล้ว มันเป็นแนว Isekai) เพื่อเอาชนะเหล่าดิจิมอนที่ชั่วร้ายและกอบกู้โลก เอาจริงๆ ผมก็ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ดิจิมอน จำรายละเอียดของเรื่องไม่ได้มากมาย จำได้แค่พล็อตคร่าวๆ และตัวละครหลัก แต่สิ่งที่เป็นเหมือนหมุดหมายสำหรับเด็กยุคนั้นที่ดูช่อง 9 การ์ตูนก็คือ เพลงในเรื่องที่มีการนำมาทำเป็นเวอร์ชั่นภาษาไทย ซึ่งตอนนั้นหลายๆ ก็รู้สึกตลกกับความพยายามในการแปลงเนื้อและให้พิธีกร 2 คนออกมาร้องมาเต้น แต่ทุกคนก็ต้องยอมรับว่า “ติดหูฉิบหายเลยว่ะ” (เพลงเวอร์ชั่นญี่ปุ่นที่ดังๆ มี 2 เพลงคือ Butterfly และ Braveheart ซึ่งแต่งมาได้ดีมีทำนองติดหูมากอยู่แล้ว พอมาเป็นภาษาไทยที่มันมีความ Cringe นิดๆ อย่าง “ปีกกางเหินไปไม่มีวันแผ่วปลาย” มันเลยติดหูและฝังอยู่ในความทรงจำมากๆ)

ผมเลือกจะไปดู Digimon Adventure : Last Evolution – Kizuna โดยไม่ได้หาข้อมูลเกี่ยวกับดิจิมอนทบทวนมาก่อน ซึ่งเอาเข้าจริงสำหรับการดูภาค Movie นี้แค่จำได้คร่าวๆ ก็เพียงพอแล้ว และผมพบว่า ตัวหนังก็ทำมาเพื่อให้คนทั่วไปวัย 25-30 อัพที่เคยดู Digimon ในวัยเด็กได้กลับมาหาเพื่อนคนนี้อีกครั้ง (แฟนพันธุ์แท้น่าจะอินในทุกรายละเอียดที่ใส่มา) ต้องบอกว่าคนเขียนบทฉลาดที่โฟกัสเฉพาะ 2 ตัวเอกที่เราคุ้นเคยอย่าง “ไทจิ” และ “ยามาโตะ” กับดิจิมอนคู่หูของพวกเขาอย่าง “อากูมอน” และ “กาบูมอน” ขณะที่ตัวละครตัวอื่นๆ ที่เราอาจต้องระลึกชาตินิดนึงว่าคือใครหว่า ก็ไม่ได้ถูกเล่าเยอะ เช่น พวกตัวเอกรุ่นสองในทีวีซีรีส์ภาคต่อ Digimon Adventure 02 ที่โผล่มาเป็นน้ำจิ้มเฉยๆ และตัวละครสำคัญในหนังที่เหลืออย่างตัวร้ายก็เป็นตัวละครใหม่ที่สร้างขึ้นมาในภาคนี้เท่านั้น จึงไม่ต้องกลัวเลยว่าจะดูแล้วงง

การที่ไทจิและยามาโตะโตเป็นหนุ่มและกำลังจะก้าวไปเป็นผู้ใหญ่นั้น ทำให้คนที่ดูภาคแรกในยุคที่มันฉายมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองได้สุดๆ เพราะต่างก็ผ่านช่วงเวลานั้นกันมาแล้ว ไทจิและยามาโตะกำลังอยู่ในมหา’ลัยปีสุดท้าย พวกเขาต่างอยู่ในความสับสนกับทางเลือกในชีวิต ไทจิที่ยังเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ไม่ได้ หาที่ฝึกงานไม่ได้ ไม่รู้ว่าตัวเองจะทำงานอะไรดี ขณะที่ยามาโตะที่อาจจะพร้อมกว่าแต่ก็ยังไม่มั่นใจในตัวเองว่าจะเดินไปทางไหน คนรอบข้างก็ยังมองว่าเขาเป็น “เด็กที่ถูกเลือก” ผู้กอบกู้โลกไว้หลายครั้ง ไม่ใช่ยามาโตะที่เป็นผู้ใหญ่แล้วและต้องใช้ชีวิตแบบคนปกติ ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ต้องไปเรียน ไปทำงานพาร์ตไทม์ เข้าสังคมมหา’ลัย ทำให้ทั้งคู่ไม่มีเวลาให้ดิจิมอนคู่หูของตัวเองนัก มาถึงตรงนี้คงจะเห็นความคล้ายกันกับสิ่งที่ผมเขียนไปในย่อหน้าแรก  เพียงแค่ช่วง 10 กว่านาทีแรกของหนังที่เล่าชีวิตของไทจิและยามาโตะก็ชัดมากๆ แล้วว่า หนังในภาคนี้ต้องการสื่อสารสิ่งใดกับคนดู

ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ต้องไปเรียน ไปทำงานพาร์ตไทม์ เข้าสังคมมหา’ลัย ทำให้ทั้งคู่ไม่มีเวลาให้ดิจิมอนคู่หูของตัวเองนัก มาถึงตรงนี้คงจะเห็นความคล้ายกันกับสิ่งที่ผมเขียนไปในย่อหน้าแรก เพียงแค่ช่วง 10 กว่านาทีแรกของหนังที่เล่าชีวิตของไทจิและยามาโตะก็ชัดมากๆ แล้วว่า หนังในภาคนี้ต้องการสื่อสารสิ่งใดกับคนดู

ในภาคนี้ก็ยังคงใช้พล็อตหลักตามสูตรของอนิเมะดิจิมอน เริ่มจากมีดิจิมอนตัวร้ายออกอาละวาดแล้วทำให้เด็กผู้ถูกเลือกที่มีอยู่มากมายทั่วโลกนั้นถูกชิงสติสัมปชัญญะจนหมดสติอยู่ในอาการโคม่า ไทจิและเพื่อนๆ จึงต้องต่อสู้เพื่อแก้ไขวิกฤติอีกครั้ง แต่เงื่อนไขที่สำคัญมากของภาคนี้คือ ยิ่งไทจิและยามาโตะทำการวิวัฒนาการดิจิมอนของพวกเขาเพื่อต่อสู้มากเท่าไหร่ เวลานับถอยหลังในการจากลาระหว่างดิจิมอนและพวกเขาก็ยิ่งจะเร็วขึ้น และเมื่อเวลาหมด ดิจิมอนคู่หูของเขาจะหายไปตลอดกาล โดยตัวหนังให้เหตุผลไว้ว่า การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของเด็กผู้ถูกเลือกนั้นพอยิ่งเจอกับกำแพงที่เรียกว่าความเป็นจริง ซึ่งทางเลือกในชีวิตไม่ได้มีมากหรือกระทั่งเลือกไม่ได้ (ต่างกับตอนยังเด็กที่ความเป็นไปได้และทางเลือกนั้นยังไร้ขีดจำกัดอยู่) ก็จะทำให้สายสัมพันธ์ที่มีกับดิจิมอนคู่หูค่อยๆ หายไป และเมื่อใดที่มันขาดสะบั้น ก็จะทำให้ตัวตนของดิจิมอนหายไป (Kizuna ที่เป็นคำท้ายชื่อภาคนั้นหมายความว่า สายสัมพันธ์) มันเป็นเงื่อนไขที่โหดร้ายสำหรับไทจิและยามาโตะว่าพวกเขาจะสู้ต่อหรือไม่ เพราะยิ่งสู้ก็จะยิ่งร่นเวลาการจากลามาเร็วขึ้นเรื่อยๆ ไทจิกับยามาโตะก็เลยตั้งคำถามกับความจริงอันโหดร้ายว่า “ถ้าอย่างนั้นเขาจะโตไปทำไม?”

และเป็นตัวร้ายของภาคที่ได้ให้คำตอบนี้กับตัวเองว่า “งั้นก็ไม่ต้องโตสิ จะได้ไม่ต้องจากลาและอยู่ด้วยกันตลอดไป” (มีการอ้างอิงถึง “เนเวอร์แลนด์” จากเรื่อง Peter Pan ซึ่งเป็นดินแดนที่เด็กไม่มีวันโตเป็นผู้ใหญ่) เป็น dilemma ที่ไทจิ ยามาโตะ รวมถึงคนดูต้องคิดใคร่ครวญ ซึ่งไทจิและยามาโตะได้คำตอบอย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องที่เดายากนัก เอาเข้าจริงเหตุผลของตัวร้ายก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะทุกทางเลือกในการเติบโตของเรามันทิ้งบางอย่างไว้ข้างหลังจริงๆ (อย่างผมที่ทิ้งช่อง 9 การ์ตูนไป) หรือถ้าเทียบความสัมพันธ์ของเด็กและดิจิมอนก็นึกเชื่อมโยงง่ายๆ กับการมีสัตว์เลี้ยงก็ได้ ตอนผมเรียนมหาวิทยาลัยผมก็ตัดสินใจไปอยู่หอแทบไม่กลับบ้าน รู้ตัวอีกทีหมาที่รักมากซึ่งผมเลี้ยงดูแลโตมากับมือก็ป่วยและตายจากไปโดยที่ผมไม่ได้อยู่ดูใจมันด้วยซ้ำ ผมเองยังอดนึกเสียใจไม่ได้เลยว่า ทำไมไม่ใช้เวลาอยู่กับมันและดูแลมันมากกว่านี้ แต่เรื่องที่เราตัดสินใจไปแล้วย่อมย้อนกลับมาไม่ได้  การตัดสินใจครั้งสุดท้ายของไทจิและยามาโตะก็เช่นกัน ต้องขอบคุณผู้สร้างที่ซื่อสัตย์ในสิ่งที่ตัวเองจะสื่อสาร ไม่เอาใจคนดูจนเกินไป   

ผมเองเพิ่งมารู้มาเมื่อไม่กี่ปีก่อนถึงความหมายของเพลงเปิดในตำนานอย่าง Butterfly ผมเคยเอะใจว่าทำไมถึงเป็นผีเสื้อ เนื่องจากตัวเนื้อเพลงว่าด้วยการกางปีกบินไปสู่ความฝันนั้นจะเป็นนกหรือสัตว์มีปีกอะไรก็ได้ ทำไมต้องเป็นผีเสื้อ? จนกระทั่งเมื่อ 4 ปีก่อน คุณ Koji Wada ผู้ขับร้องเพลงนี้ได้เสียชีวิตลงเพราะโรคมะเร็ง เพลงนี้ก็ถูกนำมาฟังและพูดถึงอีกครั้งและมีคนนำเกร็ดมาบอกว่า ที่เขาเลือกใช้ผีเสื้อก็เพราะมันตอบกับธีมหลักของอนิเมะเรื่องนี้ที่ว่าด้วยการเติบโตและวิวัฒนาการ

สายสัมพันธ์ของเด็กผู้ถูกเลือกและดิจิมอนคู่หูนั้น เมื่อเด็กเติบโตขึ้น ดิจิมอนของเขาจะวิวัฒนาการกลายเป็นร่างใหม่ที่แข็งแกร่งขึ้น สง่างามขึ้น เหมือนกับผีเสื้อที่เปลี่ยนจากหนอนสู่ดักแด้และกลายเป็นผีเสื้อกางปีกออกโบยบินไปในท้องฟ้าในที่สุด  ตัวหนังภาคนี้ก็ยังคงใส่สัญลักษณ์ผีเสื้อมาไว้ตลอดเพื่อตอกย้ำธีมของเรื่องครั้งสุดท้ายกับคนดูที่โตขึ้นมาแล้ว การเติบโตและวิวัฒนาการครั้งสุดท้ายของไทจิ ยามาโตะ อากูม่อน และ กาบูม่อน จึงงดงามมากๆ

ฉากสุดท้ายของเรื่องเป็นการบอกลาแฟรนไชส์นี้กับคนดูอย่างสวยงามหมดจด คำพูดของอากูมอนที่ว่า “ไทจิโตขึ้นแล้วนะ” ก็เป็นการที่ Digimon Adventure บอกความในใจและปลอบโยนคนดู การเติบโตทำให้บางสิ่งบางอย่างหายไปก็จริง แต่ทำให้เราแกร่งขึ้นและแบกรับการจากลาเพื่อก้าวต่อไปได้  เพราะไม่มีอะไรที่ตายจากเราไปจริงๆ หรอก มันจะอยู่ในตัวเราและเป็นส่วนหนึ่งของเราตลอดไป เช่นเดียวกับอนิเมะเรื่องนี้ที่นึกถึงเมื่อไร ท่อน Intro ของเพลง Butterfly ก็จะดังขึ้นในใจเสมอ

“พลังที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง” ของเหล่า Avengers!

พวกเขาอาจจะเป็นนักแสดงธรรมดาๆ หากไม่ได้มาอยู่ในจักรวาลมาร์เวลและเป็นสมาชิก The Avengers ที่ทำเงินมหาศาลจนแทบจะหยุดโลกทันทีที่เข้าโรงฉาย พลังดาราของพวกเขาจึงส่องประกายและกลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมบนโลกแห่งความเป็นจริง

“พลังที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง” จึงไม่ใช่เพียงประโยคเท่ๆ ใน Spider-Man แต่ราวกับว่าเหล่านักแสดง The Avengers เองก็พยายามแสดงความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ต่อผู้อื่นและส่วนรวมอยู่เช่นกัน…

โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์

เพราะเขาคือ โทนี สตาร์ค มหาเศรษฐีที่สร้างนวัตกรรมกู้โลกน่าตื่นเต้น ทั้งยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของเหล่าอเวนเจอร์สในนามไอร์ออนแมน …ดาวนีย์ จูเนียร์เลยให้ความเป็นสตาร์คนำทางเพื่ออุทิศตัวกับสังคม เช่น

อารอน ฮันเตอร์ เด็กที่ป่วยด้วยโรคหายาก ROHHAD ซึ่งยังไม่มีทางรักษาและต้องการการวิจัยเพิ่มเติม หนูน้อยมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนต้องหมั่นสวมเครื่องช่วยหายใจและบอกตัวเองว่านั่นคือหน้ากากไอร์ออนแมนเพื่อเป็นแรงขับดันให้เขาสู้ต่อไป ฮันเตอร์ตัดสินใจอัดคลิปเพื่อสื่อสารกับโลกว่าการต้องต่อสู้กับโรคนี้ยากเย็นแค่ไหน ด้วยอาการที่หนักขึ้นฮันเตอร์เลยอยากขอความช่วยเหลือจากไอร์ออนแมนสักครั้ง คลิปนี้เดินทางไปถึงดาวนีย์ จูเนียร์ เขาเลยให้ Random Act Funding องค์กรที่เขาจัดตั้งเพื่อสาธารณประโยชน์ระดมทุนเพื่องานวิจัยโรค ROHHAD และสร้างความเข้าใจต่อโรคดังกล่าวกับสังคม

อัลเบิร์ต โมเนโร เป็นนักศึกษาที่ผลิตแขนขาเทียมบริจาคให้เด็กที่ต้องการใช้มัน ดาวนีย์ จูเนียร์ ได้ยินเรื่องของ อเล็กซ์ เด็ก 7 ขวบที่ไม่มีแขนขวาแต่กำเนิด และเป็นแฟนไอร์ออนแมนตัวยง ดาวนีย์ จูเนียร์ เลยมอบแขนขวาไอร์ออนแมนแบบที่ใช้งานได้จริงให้น้องอเล็กซ์ผ่านโครงการของโมเนโร และครั้งแรกที่อเล็กซ์ได้ใช้แขนขวาของตัวเองในชีวิตประจำวันคือการใช้มันแตะมือกับไอร์ออนแมนตัวจริง

ดาวนีย์ จูเนียร์ ยังเป็นผู้ก่อตั้งองค์กร The Footprint Coalition เพื่อคิดค้นเทคโนโลยีลดมลพิษ, เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนมากกว่า 15 องค์กรเพื่อส่วนรวม ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและผู้ยากไร้อีกด้วย

คริส อีแวนส์

อีแวนส์ใช้สถานะกัปตันอเมริกาเข้ากอบกู้กิจการโรงละคร Concord Youth Theatre โดยหาที่ใหม่ให้ซึ่งจากเดิมรองรับผู้ชมได้แค่ 80 ที่นั่ง ขยายเป็น 210 ที่นั่ง ด้วยเหตุผลว่าที่แห่งนี้ชุบชูเขาจนเป็นนักแสดงจนโด่งดังอย่างทุกวันนี้ และสามารถสร้างนักแสดงรุ่นใหม่ได้อีกมากมาย

นอกจากภารกิจช่วยเหลือแบบออกหน้าตามสื่อต่างๆ อีแวนส์ยังมักใช้เวลาว่างอยู่กับผู้ป่วยเด็กตามโรงพยาบาลเป็นวันๆ เพื่อให้กำลังใจหนูน้อยที่มีกัปตันอเมริกาเป็นไอดอล และเขายังเป็นผู้สนับสนุนองค์กรการกุศล Christopher’s Haven เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ป่วยเป็นมะเร็ง (บางครั้งเขาไปกับ คริส แพร็ตต์ เจ้าของบท สตาร์ลอร์ด)

เมื่อช่วงโควิด อีแวนส์ยังเป็นโต้โผเล่นบอร์ดเกมผ่านการปาร์ตี้เสมือนกับเพื่อนนักแสดง The Avengers ทั้งดาวนีย์ จูเนียร์, สการ์เล็ตต์ โจแฮนสัน, คริส เฮมส์เวิร์ธ และ เจเรอมี เรนเนอร์ เพื่อหาเงินมาสมทบทุนผู้ยากไร้จากสถานการณ์โควิดอีกด้วย

คริส เฮมส์เวิร์ธ

ในฐานะนักแสดงชาวออสเตรเลีย เฮมส์เวิร์ธอัดฉีดเงิน 1 ล้านเหรียญฯ เพื่อช่วยชีวิตสัตว์ป่าในเหตุการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ที่ออสเตรเลีย

เขายังเคยรับนักโบกรถชื่อ สกอตต์ และร่วมเดินทางไปด้วยกันอย่างสนุกสนาน ก่อนจะจบทริปด้วยการพาสกอตต์ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ โดยในขณะนั้นเขายังไม่ทันได้สังเกตด้วยซ้ำว่ากำลังนั่งรถของธอร์

ทอม ฮอลแลนด์

น้องเล็กของทีม The Avengers ร่วมมือกับพี่ชายแท้ๆ อีกสามคนจัดตั้ง The Brothers Trust เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับองค์กรหรือมูลนิธิใดๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยฮอลแลนด์ตระหนักดีว่าชื่อเสียงของเขามันมีอิทธิพลมากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งผลงานของ The Brothers Trust ออกมาถี่ยิบ เช่น ช่วงโควิดก็จัดควิซระดมทุนผ่านอินสตาแกรม และหากเข้าไปในเว็บไซต์ thebrothertrust.org จะพบ 12 องค์กรเพื่อสังคมที่ได้รับการสนับสนุนจากพวกเขา ซึ่งครอบคลุมทั้งมะเร็งในเด็ก, ช่วยเป็นคนกลางในการบันทึกเสียงพ่อแม่เล่านิทานจากเรือนจำ ส่งไปถึงลูกน้อยพวกเขา มี่อยู่ข้างนอก และเยาวชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบ เป็นต้น

ด้วยความที่เพิ่งผ่านวัยเด็กมาหมาดๆ เขาย่อมรู้ดีว่าเด็กต้องการอะไร ฮอลแลนด์เปย์ 1 ล้านเหรียญฯ ซื้อของเล่นมาแจกจ่ายเด็กๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนนักแสดงในจักรวาลมาร์เวลมาเพียบ

จากข่าวหนูน้อยวัย 6 ขวบที่เอาตัวเองเข้าปกป้องน้องสาวจากการโดนหมากัดแบบยอมตายจนกลายเป็นไวรัล หนูน้อยมีแรงบันดาลใจคือทีม Avengers โดยเฉพาะสไปเดอร์แมน แน่นอนว่าทั้งอีแวนส์, เฮมส์เวิร์ธ และฮอลแลนด์ ได้ส่งข้อความให้กำลังใจหนูน้อยคนดังกล่าวด้วย

บรี ลาร์สัน

นอกจากบทบาทนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีที่เธอเรียกร้องมาตั้งแต่ก่อนเป็นกัปตันมาร์เวล เธอก็มักสร้างโมเมนต์ฮีโร่อยู่บ่อยๆ เช่น เมื่อครั้งที่เธอคว้ารางวัลฉากต่อสู้ยอดเยี่ยมจาก Captain Marvel สิ่งที่เธอทำคือขึ้นไปขอบคุณและเปิดทางให้สตันท์ของเธอ ทั้ง โจอานนา เบนเนตต์ และ เรอเน มันนีเมคเกอร์ ขึ้นรับรางวัลแทน

มาร์ค รัฟฟาโล

เดอะฮัลค์ของเราเคยใช้ชื่อเสียงเงินทองคัดค้านการขุดก๊าซธรรมชาติด้วยวิธี fracking หรือการขุดไปถึงชั้นหินแล้วฉีดน้ำผสมเข้าไปให้น้ำดันก๊าซธรรมชาติออกมา โดยเหตุที่รัฟฟาโลคัดค้านก็เพราะมันจะทำให้น้ำปนเปื้อนสารเคมี ไหลสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้นั่นเอง

แชดวิก โบสแมน

วันแรกของการฉาย Black Panther ฝ่าบาท แบล็คแพนเตอร์ เหมาโรงในบ้านเกิดเปิดให้เด็กด้อยโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้พร้อมกับคนอื่นๆ ทั้งโลก

สการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน

แบล็ควิโดว์ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Oxfam องค์กรที่ทำงานเพื่อขจัดความยากจนทั่วโลก ซึ่งเธอทำงานหยักด้วยการลงพื้นที่ทั้ง ศรีลังกา, เคนยา, อินเดีย และรวันดา รวมทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของโครงการ Soles4Souls โดยเธอบริจาครองเท้าร่วม 2,000 คู่ ให้กับใครก็ตามที่ต้องการมันทั่วโลก

ปาดเหงื่อ! “Tenet” ความหวังของหมู่บ้าน…ต้องโกย 800 ล้านถึงจะคุ้มทุน!

เป็นเสด็จพ่อโนแลนมันช่างน่าเห็นใจเหลือเกิน นอกจากหนังสายลับลี้ลับระทึกขวัญเรื่องล่าสุดของเขาคือ Tenet จะต้องแบกความกดดันมหาศาล เพราะถูกคาดหวังว่าจะเป็น “หนังใหญ่เรื่องแรกที่ดึงชาวโลกกลับเข้าโรงหนังได้สำเร็จอย่างแท้จริง” แล้ว วันนี้ยังมีตัวเลขเปิดเผยออกมาอีกด้วยว่า เนื่องจากหนังลงทุนทั้งค่าผลิตและค่าการตลาดไปถึง 400 ล้านเหรียญ แปลว่ามันต้องทำเงินทั่วโลกอย่างน้อย 800 ล้านเหรียญ…จึงจะคุ้มทุน!

หลายคนได้ยินแล้วต้องอุทานว่า คุณพระ มันจะเป็นจริงไปได้อย่างไร เพราะค่ายวอร์เนอร์บราเทอร์สวางกำหนดฉายไว้เดิมคือ 12 สิงหาคมนี้แล้ว ซึ่งในช่วงเวลาแบบนี้ ผู้คนจะพร้อมแห่กันกลับเข้าโรงอย่างแน่นขนัดจนทำเงินได้ระดับนั้นจริงหรือ?

ความน่าปวดหัวไม่จบแค่นั้น ข่าวรายงานด้วยว่า แม้ คริสโตเฟอร์ โนแลน กับค่ายวอร์เนอร์ฯ จะเห็นพ้องกันว่าอยากให้หนังเข้าโรงจะแย่แล้ว แต่ก็ยังมีความขัดแย้งกันในประเด็นสำคัญมากๆ นั่นคือ ค่ายเห็นควรให้หนังเปิดตัวโกยเงินในตลาดโลกก่อนอเมริกาไปเลย (เพราะสถานการณ์โรคระบาดในอเมริกายังน่าห่วงอยู่มาก) แต่โนแลนกลับยืนกรานว่าต้องเปิดพร้อมกัน เพราะเขาต้องการสนับสนุนโรงหนังในอเมริกาให้รอด และเขาก็ไม่อยากเสี่ยงกับการที่หนังซึ่งเต็มไปด้วยความลับเรื่องนี้จะถูกคนที่ได้ดูก่อนนำมาสปอยล์ด้วย

จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครรู้อะไรเกี่ยวกับ Tenet มากนัก รู้แค่ว่าเป็นหนังเกี่ยวกับ “ตัวเอกผู้เดินทางผ่านโลกสนธยาพร้อมภารกิจสายลับข้ามชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับอะไรบางอย่างที่เหนือพ้นไปจากเส้นเวลาจริง” (เกาหัว), หนังยาว 149 นาที 59 วินาที (นับว่าเป็นหนึ่งในหนังสั้นที่สุดของโนแลน ><) และตัวโนแลนก็ยั่วๆ ด้วยการบอกว่า “นี่คือหนังที่ทั้งภาพและเสียงถูกทำมาเพื่อให้คุณดูบนจอใหญ่ในโรงเท่านั้น เราเคยทำหนังใหญ่กันมาหลายเรื่องก็จริง แต่นี่คือหนังใหญ่ระดับโลกและมีแอ็กชั่นแบบที่เราไม่เคยกล้าทำมาก่อนเลย”

อนึ่ง ตอนนี้ยังไม่รู้ชัดว่าตกลงหนังจะเข้าวันไหนแน่จ้ะ

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 16 ก.ค. 63

My Hero Academia : Heroes Rising หลุดจากแชมป์แล้วหลังจากครองมาสองสัปดาห์ และหนังที่ขึ้นอันดับ 1 แทน ก็คืออนิเมะเรื่องใหม่ Digimon Adventure : Last Evolution Kizuna ส่วน The Kingmaker ฉายมา 2 สัปดาห์ เพิ่งเข้า Top 10 เป็นวันแรก และเข้ามาถึงอันดับ 8

รายได้หนังประจำวันที่ 16 ก.ค. 2563

1. Digimon Adventure : Last Evolution Kizuna – 0.62 ล้านบาท
2. The Bridge Curse – 0.19 ล้านบาท
3. Train to Busan – 0.10 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายใหม่
4. My Hero Academia : Heroes Rising – 0.06 (6.77) ล้านบาท
5. รักข้ามคาน – 0.05 ล้านบาท
6. มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ – 0.03 (5.96) ล้านบาท
7. John Wick: Chapter 3 – Parabellum – 0.03 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการนำกลับมาฉายใหม่
8. The Kingmaker – 0.02 (0.26) ล้านบาท
9. The Lost Prince – 0.02 ล้านบาท
10. Blood Quantum – 0.02 (0.94) ล้านบาท

ฮายาโอะ มิยาซากิ แนะนำ “25 หนังสือดีที่ควรอ่านให้เด็กๆ ฟัง”

“ความเป็นจริง มีไว้สำหรับคนที่ไร้จินตนาการ” ฮายาโอะ มิยาซากิ เคยกล่าวไว้ และแหล่งกำเนิดจินตนาการชั้นดีสำหรับผู้สร้างอนิเมะครองใจชาวโลกผู้นี้ก็ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจาก “หนังสือ”

ย้อนไปในวัยเด็ก มิยาซากิต้องเผชิญกับสภาพความจริงอันโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่สองในญี่ปุ่น และหนังสือคือเพื่อนคู่ใจที่เขาบอกว่าช่วยนำพาเขาหลบลี้จากมันแล้วผ่านคืนวันเหล่านั้นมาได้ เขาอ่านหนังสือมากมายโดยไม่สนใจว่ามันจะถูกประทับตราเป็น “นิทานสำหรับเด็กผู้ชาย” หรือ “นิทานสำหรับเด็กผู้หญิง” และที่น่าทึ่งคือ หลายสิ่งในจำนวนนั้นก็กลายเป็นแรงบันดาลใจหรือจุดกำเนิดของผลงานดีๆ หลายเรื่องที่เขาสร้างในนามสตูดิโอจิบลิที่เรารู้จักกันดี

ในช่วงที่เด็กๆ อาจยังต้องใช้เวลามากมายอยู่ในบ้านแบบนี้ เราจึงขอย้อนนำรายชื่อหนังสือเด็ก 50 เล่มที่มิยาซากิเคยสนับสนุนให้เด็กๆ อ่าน หรือพ่อแม่อ่านให้ลูกๆ ฟัง กลับมาฝากอีกครั้ง (หลายเล่มมีแปลไทยแล้วจ้า) :

1. The Borrowers (คนตัวจิ๋ว / จิ๋วลูกทุ่ง)
2. The Little Prince (เจ้าชายน้อย)
3. Children of Noisy Village (เด็กๆ แห่งหมู่บ้านอลวน)
4. When Marnie Was There (วันที่มาร์นีไม่อยู่)
5. Swallows and Amazons
6. The Flying Classroom
7. There Were Five of Us
8. What the Neighbours Did, and Other Stories
9. Hans Brinker, or The Silver Skates (ฮันส์ บรินเกอร์ และสเกตเงิน)
10. The Secret Garden (สวนปริศนา / ในสวนลับ)
11. Eagle of The Ninth
12. The Treasure of the Nibelungs
13. The Three Musketeers (สามทหารเสือ)
14. A Wizard of Earthsea (พ่อมดแห่งเอิร์ธซี)
15. Les Princes du Vent
16. The Flambards Series
17. Souvenirs entomologiques
18. The Long Winter (ฤดูหนาวอันแสนนาน – ชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่)
19. A Norwegian Farm
20. Heidi (ไฮดี้)
21. The Adventures of Tom Sawyer (ทอม ซอว์เยอร์ผจญภัย / การผจญภัยของทอม ซอว์เยอร์)
22. Little Lord Fauntleroy (ลอร์ดน้อยฟอนเติ้ลรอย / เจ้าน้อยฟอนเติลรอย)
23. Tistou of the Green Thumbs (ติสตู นักปลูกต้นไม้ / ติสตู เจ้าหนูนิ้วโป้งเขียว)
24. The Adventures of Sherlock Holmes (เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ชุดการผจญภัย)
25. From the Mixed-Up Files of Mrs. Basil E. Frankweiler (สองคนอลเวง / ผจญภัยในพิพิธภัณฑ์บันลือโลก)
26. The Otterbury Incident (ยุทธภูมิของผม / หน้าต่างบานเดียว)
27. Alice’s Adventures in Wonderland (อลิสในแดนมหัศจรรย์)
28. The Little Bookroom (จินตนาการแห่งชีวิต)
29. The Forest is Alive or Twelve Months
30. The Restaurant of Many Orders
31. Winnie-the-Pooh (วินนี่-เดอะ-พูห์)
32. Nihon Ryōiki
33. Strange Stories from a Chinese Studio
34. Nine Fairy Tales: And One More Thrown in For Good Measure
35. The Man Who Has Planted Welsh Onions
36. Robinson Crusoe (โรบินสัน ครูโซ)
37. The Hobbit (ฮอบบิท)
38. Journey to the West (ไซอิ๋ว)
39. Twenty Thousand Leagues Under the Sea (ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์)
40. The Adventures of the Little Onion
41. Treasure Island (ล่าขุมทรัพย์เกาะมหาสมบัติ / เกาะมหาสมบัติ)
42. The Ship that Flew
43. The Wind in the Willows (สายลมในพงหลิว)
44. The Little Humpbacked Horse
45. The Little White Horse (ม้าน้อยสีขาว)
46. The Rose and the Ring
47. The Radium Woman
48. City Neighbor, The Story of Jane Addams
49. Ivan the Fool
50. The Voyages of Doctor Dolittle (การผจญภัยของ ด็อกเตอร์ดูลิตเติ้ล)

Pornhub ที่แสนดี…พี่มีแต่ให้! เปิดตัวโครงการช่วยธุรกิจเล็กสู้ภัยโควิด-19

ในยามยากลำบากเพราะโรคระบาดเช่นนี้ ใครเล่าจะมีน้ำใจแก่ชาวโลกมากไปกว่า “พอร์นฮับ” เว็บไซต์รวมคลิปโป๊ผู้ยิ่งใหญ่ที่สวมบทพ่อพระแม่พระมาตลอด นอกจากจะสร้างและจัดจำหน่ายหนังอินดี้บนเว็บอย่างเป็นทางการแล้ว ยังออกแคมเปญมากมายเพื่อรณรงค์ให้เหล่ายูสเซอร์ขยันรักษาความสะอาด, เปิดเซ็กชั่นพรีเมี่ยมให้ดูกันฟรีๆ ทั่วโลก, เสนอพื้นที่ออนไลน์ให้บรรดาเทศกาลหนังอิสระ (ที่ต้องยกเลิกการฉายในโรงไป) มาสตรีมมิ่งได้อย่างสะดวก

และล่าสุด พอร์นฮับยังเปิดตัวโปรเจ็กต์สุดเก๋อย่าง “Big Package” เพื่อช่วยเหลือธุรกิจรายเล็กทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกด้วย! โดยบริษัทที่มีพนักงานไม่ถึง 100 คนสามารถสมัครส่งข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจของตนเข้าไป แล้วทางพอร์นฮับจะคัดเลือก 100 กิจการเพื่อมาผลิตคลิปโฆษณาและเผยแพร่ให้ฟรีบนเว็บไซต์ พร้อมรับประกันว่าคลิปเหล่านั้นจะได้รับ 1 พันล้านอิมเพรสชั่น จากฐานผู้ใช้งานวันละ 120 ล้านคนที่ทางเว็บมีอยู่!

โครีย์ ไพรซ์ รองประธานพอร์นฮับให้สัมภาษณ์ว่า ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบหนักหนาที่สุดในภาวะเช่นนี้ก็คือเหล่าธุรกิจขนาดเล็ก และเนื่องจากพอร์นฮับมีกลุ่มผู้ชมหลากหลาย การเสนอตัวเป็นช่องทางช่วยเหลือผู้ประกอบการจึงน่าจะเป็นสิ่งที่พวกเขาทำได้ดีมากๆ

สโลแกนของโครงการนี้คือ “ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ถ้าคุณเล็กและอยากให้เราช่วยกระตุ้น โปรดไว้ใจเรา เราคือผู้เชี่ยวชาญ!” และ “นับจากนี้ คุณจะเปล่งเสียงได้ด้วยความภูมิใจว่า ฉันก็อยู่บนเว็บไซต์พอร์นฮับ!” ตอนนี้โครงการทำคลิปโปรโมทออกมาให้ดูเป็นน้ำจิ้มแล้วด้วย โดยมีการโยงประโยคเด็ดๆ ที่โคตรจะบ่งบอกความเป็นพอร์นฮับมาใช้อย่างน่ารักน่าเอ็นดู เช่น “คุณจะต้องกลืนเราจนหยาดหยดสุดท้าย” (โฆษณาร้านกาแฟ), “คุณชอบแบบดกๆ เป็นพุ่มๆ ใช่ไหม” (โฆษณาร้านขายดอกไม้), “เราจะโกนคุณให้เกลี้ยง” (โฆษณาร้านตัดผม)


ใครสนใจอย่าช้า สมัครไปเลยจ้าที่ https://www.pornhub.com/bigpackage

Where We Belong : ฉันควบคุมชีวิตตัวเองได้จริงๆ หรือเปล่า

เนื่องในโอกาสที่ Where We Belong เพิ่งได้รับรางวัลไปถึง 6 สาขาจากชมรมวิจารณ์บันเทิง ซึ่งรวมถึงรางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม วันนี้จึงอยากชวนคุยถึงหนังเรื่องนี้ในฐานะหมุดหมายสำคัญที่ทำให้การค้นหาตัวเองของวัยรุ่นมีความหมาย

หนังเรื่องนี้เล่าถึงชีวิตของ ซู (รับบทโดยเจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ) เด็กหญิงวัยมัธยมที่อาศัยอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี เธอได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศฟินแลนด์ ดินแดนที่เธอไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย และเธอก็ไม่ได้บอกครอบครัวอีกด้วย เพื่อนสนิทของซูที่รู้เรื่องนี้คือ เบล (รับบทโดยแพรวา สุธรรมพงษ์) ผู้ซึ่งใจหนึ่งก็ไม่อยากให้ซูไป เพราะรู้สึกว่าเธออาจสูญเสียอะไรไปบางอย่าง ภายใต้ความต้องการของซูที่จะหนีไปให้ไกลจากพื้นที่เล็กๆ ที่ไม่มีอะไรให้เธอค้นหาในต่างจังหวัดนี้ มีเรื่องราวย่อยๆ ที่เธอต้องแบกรับไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแม่ผู้ล่วงลับและทิ้งให้เธอว้าเหว่ พ่อที่อยากให้เธอสืบทอดกิจการ น้องชายที่แชร์ความลับกับเธอบางอย่าง หรือเพื่อนเคยสนิทที่มองหน้ากันไม่ติด สิ่งเหล่านี้ล้วนถักทอกันเป็นธีมเรื่องที่แสดงให้เห็นการตามหาความหมายและตัวตนในชีวิตวัยรุ่น ที่องค์ประกอบต่างๆในชีวิตพร้อมจะฉุดเขาหรือเธอไปทางนั้นทีทางนี้ที โดยที่พวกเขาล้วนต้องดิ้นรนเพื่อที่จะ “เลือก” เส้นทางที่ถูกต้องให้กับตัวเอง

“จำเป็นไหมที่ฉันจะต้องทำตามความคาดหวังของคนอื่น” นี่อาจเป็นคำถามที่ซูถามกับตัวเองหลายต่อหลายครั้ง  ในมุมหนึ่ง ดูเหมือนว่าเธอจะเด็ดเดี่ยวและตัดสินใจเลือกที่จะจากไปด้วยตนเอง แต่สุดท้ายก็ไม่วายถูกฉุดรั้งไว้ด้วยอดีต ถ้าเช่นนั้นแปลว่าเธอมีทางเลือกจริงๆ หรือไม่ คำถามที่ซูถามตนเองนี้ เป็นคำถามเดียวกันกับที่ชาวฝรั่งเศสถามตัวเองหลังผ่านความเลวร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนักปรัชญาชื่อดังอย่าง ฌ็อง ปอล ซาร์ต อาสามาตอบให้ว่า “ทุกคนมีทางเลือก” และไม่เพียงเท่านั้น ยัง “ถูกสาปให้ต้องเลือก” อีกด้วย แนวคิดของซาร์ตคือแนวคิดที่เรียกว่า “อัตถิภาวนิยม (Existentialism)” ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมเสรีภาพ

“จำเป็นไหมที่ฉันจะต้องทำตามความคาดหวังของคนอื่น” นี่อาจเป็นคำถามที่ซูถามกับตัวเองหลายต่อหลายครั้ง  ในมุมหนึ่ง ดูเหมือนว่าเธอจะเด็ดเดี่ยวและตัดสินใจเลือกที่จะจากไปด้วยตนเอง แต่สุดท้ายก็ไม่วายถูกฉุดรั้งไว้ด้วยอดีต ถ้าเช่นนั้นแปลว่าเธอมีทางเลือกจริงๆหรือไม่ คำถามที่ซูถามตนเองนี้ เป็นคำถามเดียวกันกับที่ชาวฝรั่งเศสถามตัวเองหลังผ่านความเลวร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนักปรัชญาชื่อดังอย่าง ฌ็อง ปอล ซาร์ต อาสามาตอบให้ว่า “ทุกคนมีทางเลือก” และไม่เพียงเท่านั้น ยัง “ถูกสาปให้ต้องเลือก” อีกด้วย แนวคิดของซาร์ตคือแนวคิดที่เรียกว่า “อัตถิภาวนิยม (Existentialism)” ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมเสรีภาพ

สมมติว่า เราถูกคนเอาปืนจี้แล้วบังคับให้ทำอะไรบางอย่าง แม้กระนั้น เราก็ยังเป็นผู้ “เลือก” อยู่นั่นเองว่าเราจะทำตามที่ถูกบอกหรือไม่ เราอาจจะเลือกไม่ทำและยอมตายเลยก็ได้ หรือแม้กระทั่งเวลาที่เรารู้สึกเศร้าหมอง เราเองก็เป็นคนเลือกว่าเราจะรู้สึกเช่นนั้น ในนิยามของซาร์ตแล้วการบอกว่าตัวเองไม่ได้เลือกถือเป็นการหลอกตัวเองอย่างหนึ่ง และทำให้เราสูญเสียคุณค่าความเป็นมนุษย์ไป ความรันทดอย่างหนึ่งของการเกิดเป็นมนุษย์ก็คือ เราจะต้องรับผิดชอบต่อการเลือกของเราทุกอย่างโดยไม่อาจปฏิเสธได้ นี่เองเป็นที่มาของคำว่า “ถูกสาป (ให้มีเสรีภาพ)”

แล้วคนอย่างซูมีทางเลือกจริงๆหรือเปล่า ถ้านำแนวคิดแบบอัตถิภาวนิยมมาอธิบาย ย่อมบอกได้ว่าเธอมีทางเลือก ซึ่งถ้าเธอเชื่อเช่นนั้น เธอจะไม่มีใครหรืออะไรให้โทษได้เลย 

แนวคิดแบบนี้ดูจะขัดแย้งกับบริบทของวัยรุ่นในสังคมไทยมากอยู่ เพราะในสังคมไทยนั้นเราเคยชินกับอำนาจที่มองไม่เห็นหลากหลายรูปแบบที่ไหลเวียนอยู่ในโครงสร้างทางสังคม และคอยบงการชีวิตของผู้คนจำนวนมาก โดยที่พวกเราระบุไม่ได้ว่าอำนาจนั้นคืออะไร อำนาจนั้นแสดงออกผ่านสัญลักษณ์เรื่องการทรงเจ้าเข้าผีในหนัง การแกว่งไกวของเครื่องเล่นที่พร้อมจะเหวี่ยงซูให้หมุนไปตามนั้นโดยไร้การควบคุม หรือเรื่องเล่าย่อยเกี่ยวกับยายที่ยังยึดติดอยู่กับความรักในอดีตที่เธอเสียดายแต่ไม่อาจแก้ไขอะไรได้ ยิ่งพูดถึงการ “เลือก” ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะดูเหมือนวัยรุ่นชาวไทยมีอำนาจในการเลือกที่ค่อนข้างจำกัด ในทางตรงข้าม การเลือกอะไรต่างๆ ด้วยตัวเองดูจะถูกมองว่าเป็นการก้าวร้าวและไม่สยบยอมต่อขนบเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม หากมองผ่านมุมมองของซาร์ต แม้การเลือกนั้นจะโดนบงการมากแค่ไหน ก็ยังถือว่าเป็นการเลือกด้วยเสรีภาพทั้งหมดที่มีของเราอยู่นั่นเอง คำถามที่สำคัญต่อมาก็คือ แล้วเราพร้อมแค่ไหนที่จะรับผิดชอบการเลือกของตัวเอง ซูนั้นได้เรียนรู้อยู่อย่างหนึ่งในเรื่องนี้ และทำใจได้ว่าเธอจะยอมรับผลในการเลือกของตัวเอง ซึ่งเป็นก้าวหนึ่งของการโตเป็นผู้ใหญ่ องค์ประกอบดังกล่าวทำให้หนังเรื่องนี้มีธีมของการ Coming of Age ด้วย

อีกประเด็นที่น่าสนใจ อัตถิภาวนิยมยังมีแนวคิดหลักอีกแนวคิดหนึ่ง คือ ความ “ไร้ความหมาย ไร้เหตุผล (Absurd)” ของชีวิต โดยประเด็นนี้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับเรื่องเล่าของซิซิฟัส  ซิซิฟัสถูกเทพสาปให้ต้องเข็นก้อนหินขึ้นภูเขาไปเรื่อยๆ และเมื่อเขาเข็นมันขึ้นไปถึงยอดเขา ก้อนหินก็จะตกลงมา ทำให้ซิซิฟัสต้องไปเข็นมันขึ้นมาใหม่อย่างไม่จบสิ้น การกระทำของซิซิฟัสนั้น ‘ไร้ความหมาย’ หาแก่นสารอะไรไม่ได้ ไม่ต่างจากการเลือกสิ่งต่างๆ ในชีวิตมนุษย์ทุกคน เพราะอันที่จริงแล้ว ชีวิตไม่ได้มีความหมายอะไรให้บรรลุ ไม่มีคำอธิบายถึงเหตุผลการกระทำใดๆ เราทุกคนล้วนสุ่มเลือกการกระทำต่างๆเพื่อเติมชีวิตที่ว่างเปล่า กระนั้นซาร์ตก็ยังอธิบายว่า มนุษย์ก็ไม่ควรฆ่าตัวตาย เพราะการทำสิ่งต่างๆที่ไร้ความหมายเหล่านี้จริงๆ แล้วเป็นความสุข! 

อันที่จริงแล้ว ชีวิตไม่ได้มีความหมายอะไรให้บรรลุ ไม่มีคำอธิบายถึงเหตุผลการกระทำใดๆ เราทุกคนล้วนสุ่มเลือกการกระทำต่างๆเพื่อเติมชีวิตที่ว่างเปล่า กระนั้นซาร์ตก็ยังอธิบายว่า มนุษย์ก็ไม่ควรฆ่าตัวตาย เพราะการทำสิ่งต่างๆที่ไร้ความหมายเหล่านี้จริงๆ แล้วเป็นความสุข!

ภาพของชีวิตที่ไร้ความหมายสะท้อนอยู่ในชื่อวงสตราโตสเฟียร์ วงดนตรีของเบลกับซูที่มีความหมายถึงชั้นบรรยากาศที่บางเบา จับต้องไม่ได้ และยังอยู่ในการ ‘รอคอย’ ของซู ไม่ว่าจะเป็นการรอคอยที่จะได้จากไปจากบ้านเกิด หรือรอคอยที่จะได้พบกับสิ่งที่เป็นตัวแทนแม่ของเธออีกครั้ง การคอยของซูนั้นเกิดขึ้นโดยไม่มีจุดหมาย เธอเองก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าเธอคอยอะไร เพราะแม้กระทั่งฟินแลนด์ ดินแดนที่เธอจะไปเรียนต่อนั้น เธอยังไม่มีกะจิตกะใจจะเรียนรู้เกี่ยวกับมัน เธอเพียงคอยเพื่อที่จะได้ “เคลื่อนไปข้างหน้า” แต่เคลื่อนไปสู่อะไรนั้น ตัวเธอก็ไม่รู้ เหมือนกับที่เธอคิดว่าจะต้องเรียกวงดนตรีมารวมตัวกันอีก หรือต้องไปคืนดีกับอดีตเพื่อนสนิท แต่เธอก็ไม่รู้ว่ามันจะทำให้ตำแหน่งแห่งที่ในตัวตนของเธอมั่นคงขึ้นมาอีกได้อย่างไร 

อันที่จริงตัวตนของวัยรุ่นก็เป็นเช่นนี้ มันสะท้อนอัตถิภาวนิยมได้ชัดเจนยิ่งกว่าผู้ใหญ่ เพราะมันเต็มไปด้วยการกระทำแบบสุ่ม ในขณะที่ผู้ใหญ่ต่างเชื่อว่าการกระทำของตนเองมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองอะไรบางอย่างที่ใหญ่กว่านั้น (ซึ่งซาร์ตอาจตอบว่าเป้าประสงค์ที่ใหญ่กว่านั้นไม่มี) 

ในภาพรวม Where We Belong ทำได้ดีในแง่ของการนำเสนอชีวิตที่ไม่มั่นคง รวมทั้งด้านที่เชื่อว่าตัวเองไม่มีทางเลือกของวัยรุ่นไทย และก็ยังนำเสนอวิธีการก้าวข้ามผ่านจุดนั้นมาได้ แม้จะมีแผลถลอกปอกเปิก แต่ชีวิตของวัยรุ่นหมายถึงชีวิตที่มีอะไรให้มองหาต่อไปในภายภาคหน้า และนี่คือความสวยงามของวัยหนุ่มสาว ผู้ที่จะต้อง “เลือก” อีกนับพันครั้ง (หรือมากกว่า) จนกว่าชีวิตจะหาไม่

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 9-15 ก.ค. 63

My Hero Academia: Heroes Rising สามารถครองอันดับ 1 ได้เป็นสัปดาห์ที่ 2 โดยขณะนี้ทำรายได้รวมไปแล้ว 6.71 ล้านบาท ขณะที่ “มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ” ตอนนี้ทำรายได้รวมในกรุงเทพฯ ไปเกือบ 6 ล้านบาท แต่สำหรับในภาคใต้ กลับคึกคักสวนทางกันจนคาดการณ์ว่าน่าจะทำรายได้มากกว่ากรุงเทพฯ ไปมากกว่าสองเท่าตัว

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 9-15 ก.ค. 2563

1. My Hero Academia: Heroes Rising – 1.82 (6.71) ล้านบาท
2. มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งออำเภอ – 0.97 (5.94) ล้านบาท
3. Blood Quantum – 0.93 ล้านบาท
4. เกมเซ่นผี – 0.42 (1.64) ล้านบาท
5. Kamen Rider Reiwa : The First Generation – 0.40 ล้านบาท
6. Our 30 Minute Sessions – 0.37 ล้านบาท
7. Onward – 0.37 ล้านบาท *นับเฉพาะรายได้จากการกลับมาฉายใหม่
8. Mr.Joneses – 0.30 (1.08) ล้านบาท
9. พจมาน สว่างคาตา – 0.27 (7.19) ล้านบาท
10. 32 Malasana Street – 0.27 (2.58) ล้านบาท

หว่องกาไว เร่งหาเงิน 33 ล้านเหรียญฯ เยียวยาวงการหนังฮ่องกง

จริงอยู่ที่ตอนนี้วงการหนังทั้งโลกกำลังระส่ำเพราะผลกระทบจากโควิด แต่ที่ดูจะสาหัสสุดน่าจะเป็นชาวหนังฮ่องกง เพราะไล่มาตั้งแต่การชุมนุมเมื่อปลายปี 2019 จนกระทั่งโรคระบาดในตอนนี้ ‘หนังฮ่องกง’ ก็ยังไม่สามารถกลับสู่สภาวะปกติได้อีกเลย

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้คนในวงการหนังฮ่องกงที่เคยยิ่งใหญ่ในตัวเอง ต้องช่วยเหลือกันและกัน โดย หว่องกาไว เป็นแกนนำในการระดมทุนช่วยเหลือเพื่อนในอุตสาหกรรมหนังฮ่องกง ตั้งเป้าเอาไว้ที่ 33.5 ล้านเหรียญฯ และมีเพื่อนคนทำหนังอย่าง เดเร็ก ยี และ ปีเตอร์ ชาน ช่วยขับเคลื่อน

หนึ่งในโครงการช่วยเหลือคือ Directors’ Succession Scheme ที่เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนพัฒนาวงการหนังฮ่องกง โดยการให้ผู้กำกับรุ่นเก๋าจับมือกับคนทำหนังรุ่นใหม่ ร่วมผลิตหนังมาคนละเรื่อง ตั้งเป้าเอาไว้ที่ 10-12 โครงการ

เงินราว 1.05 ล้านเหรียญฯ จะลงไปกับโครงการพัฒนาการเขียนบท และเปิดให้คนทำหนังได้เจอกับนักลงทุนด้วย