Home Review Film Review Loveless แหลกสลาย ไม่มีหัวใจ จนไร้รัก

Loveless แหลกสลาย ไม่มีหัวใจ จนไร้รัก

Loveless แหลกสลาย ไม่มีหัวใจ จนไร้รัก

มนุษย์ที่ใช้ชีวิตอย่างไร้รัก จะสามารถมี ‘ชีวิต’ จริงๆ ได้ไหม

ใจกลางกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย สองผัวเมียที่ชีวิตคู่กำลังถึงกาลแตกดับ บอริส (อเล็คซี โรซิน) กับ เซนยา (มาร์ยานา สไปวัค) กำลังเดินเรื่องหย่าขาดออกจากกันเพื่อไปเริ่มชีวิตใหม่กับคนอื่น ด้วยการพยายามขายอพาร์ตเมนต์และย้ายออกอย่างถาวร ติดก็แต่ทั้งคู่ไม่อาจตกลงได้ว่าใครจะเป็นคนรับ อโลชา (มัตเวฟ โนวิคอฟ) ลูกชายวัยสิบสองปีไปเลี้ยงดู เพราะเซนยาไม่อยากมีลูกตั้งแต่แรก และบอริสเองก็กำลังจะมีลูกอีกคนกับเมียใหม่ นำมาสู่การทุ่มเถียงครั้งใหญ่ที่ดูกับจะยืดเยื้อไม่จบไม่สิ้น และการณ์กลับเลวร้ายลงกว่านั้นเมื่ออโลชา ผู้ไม่อาจทนกับความตึงเครียดและสงครามประสาทของพ่อกับแม่ได้อีกแล้ว ตัดสินใจหนีออกจากบ้านไปในท้ายที่สุด บอริสและเซนยาจึงจำเป็นต้องกัดฟันร่วมมือกันตามหาลูกชายอย่างเสียมิได้

เมื่อปีที่แล้ว เราอาจสั่นสะเทือนกับหนังหย่าร้างที่ชำแหละลงไปถึงหัวจิตหัวใจคนเคยรักกันอย่าง Marriage Story (2019) หรือแม้แต่ถอยหลังกลับไปสิบปีก่อนหน้าก็จะมี Blue Valentine (2010) ซึ่งล้วนแล้วแต่ยังให้รสชาติของความหวังที่อาจพังทลายลงในอนาคตของความรัก หรือหวนไปถึงอดีตอันหวานชื่นของชีวิตคู่ หากแต่สิ่งที่ Loveless ทำนั้นไม่ใช่การชำแหละหรือพินิจพิเคราะห์ความสัมพันธ์ในอดีตของตัวละคร หากแต่มันรุนแรงจนน่าจะเรียกได้ว่าเป็นระดับการทำลายล้างของชีวิตคู่ที่หวังให้อีกฝ่ายไปให้พ้นจากชีวิตตัวเองและไม่หวนกลับมาอีก หรือดีกว่านั้นคือไม่ต้องมีกันในชีวิตแต่แรก

Loveless นับเป็นผลงานการกำกับหนังเรื่องยาวลำดับที่ห้าของ อันเดรย์ ซเวียกินเซฟ คนทำหนังสัญชาติรัสเซีย ก่อนนี้งานของเขาล้วนพูดถึงความสัมพันธ์อันเปราะบางของคนในครอบครัวที่พร้อมโอบกอดและทิ่มทำลายกันตลอดเวลาผ่าน The Return (2003 -สองพี่น้องที่อยู่ดีๆ ก็พบว่าพ่อที่หายหน้าไปนาน 12 ปีกลับเข้ามาในชีวิตอีกครั้ง), The Banishment (2007 -เมื่อหญิงสาวตัดสินใจบอกสามีว่าเด็กในท้องไม่ใช่ลูกของเขา), Elena (2011 -แม่บ้านที่ต้องประคับประคองสามีที่ล้มป่วยหนักและรับมือกับลูกชายหัวรั้น) และ Leviathan (2014 -ชายที่พยายามปกป้องครอบครัวจากการคุกคามของนักการเมือง) ซึ่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาหนังพูดภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีนั้น และเช่นเดียวกับหนังเรื่องก่อนหน้าของซเวียกินเซฟ Loveless ยังคงหัวใจหลักของการเล่าเรื่องที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ภายใต้บรรยากาศอึมครึม หนาวเหน็บของรัสเซียที่ดูราวกับยาวนานตลอดกาล

“สำหรับผม สิ่งที่น่าสนใจของความเป็นครอบครัวคือการที่ทุกคนใกล้ชิดกันมากพอจะเปิดเผยตัวตน ถอดหน้ากากออกและเปลือยบาดแผล ความเจ็บปวดที่อยู่ลึกที่สุดในตัวพวกเขาให้คนอื่นๆ ได้เห็น” ซเวียกินเซฟบอก “ผมว่ามันเป็นประเด็นสำคัญที่ผมอยากสำรวจเอามากๆ”

แม้ว่าหนังจะว่าด้วยการหายตัวของอโลชาเป็นสำคัญ แต่หนังไม่ได้จับจ้องไปที่เขาเป็นพิเศษ กลับกันคือเด็กชายปรากฏตัวบนจอภาพยนตร์เพียงไม่กี่นาที จากนั้นจึงเป็นการจับจ้องไปยังภาวะเสียสติของบอริสและเซนยาที่ต่างก็ไปมีชีวิตในแบบของตัวเองกับคนรักคนใหม่ เซนยาซึ่งทำงานในร้านเสริมความงาม พบรักกับพ่อม่ายอายุมากกว่าทั้งยังฐานะร่ำรวยที่ดูจะหลงเธอหมดหัวใจ ขณะที่บอริสประคบประหงมเมียสาวตั้งท้องแก่ใกล้คลอดและสาละวนอยู่กับการปิดบังไม่ให้ที่ทำงานซึ่งเป็นองค์กรทางศาสนารู้ถึงสถานะง่อนแง่นของครอบครัวตัวเองเนื่องจากอาจจะโดนไล่ออกได้ กว่าทั้งสองจะรู้ว่าอโลชาหายตัวไปจากบ้านก็ล่วงเข้าวันที่สองเข้าไปแล้ว กับสภาพอากาศเลวร้ายสุดขีดของมอสโก

ตามปกติแล้วหนังของซเวียกินเซฟมักห่มคลุมด้วยบรรยากาศหนาวเหน็บและเวิ้งว้างของรัสเซียเป็นสำคัญ Loveless เองก็เช่นกัน อพาร์ตเมนต์ของสองผัวเมียตั้งอยู่ใกล้ๆ กับป่ากว้าง ที่ซึ่งต้นไม้คล้ายจะแห้งตายเป็นสีน้ำตาลเข้มตลอดทั้งปี ชื้นแฉะด้วยหิมะที่ละลายในยามเช้าและเยือกแข็งในยามค่ำ ตัดสลับกับเมฆสีทึมเทากับเม็ดฝนที่ตกกระทบบานหน้าต่างเกือบตลอดเวลา หรือแม้แต่ใน ‘ที่พัก’ ของพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ตเมนต์ของสองผัวเมีย, บ้านหรูหราของชายคนรักใหม่ของเซนยา และห้องพักหลังน้อยของหญิงสาวท้องแก่ ล้วนอาบคลุมไปด้วยแสงซีดจางและเย็นยะเยือก ห้องพักทั้งหมดที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ล้วนกรุด้วยกระจกบานใหญ่เป็นสำคัญ ร่างของพวกเขาจึงไล้ด้วยแสงซีดๆ จากภายนอก และหน้าต่างบานกระจกแบบนี้เองที่ทำให้เราเห็นว่าภายนอกโลกของพวกเขานั้นพายุกำลังพัดสาด หิมะกำลังโปรยตัวลงมา ดังนั้น ไม่ว่าจะอย่างไร อยู่ในห้องที่อบอุ่นแค่ไหน บรรยากาศหนาวเหน็บจึงตามตัวละครเหล่านี้ไปทุกที่ ทุกฝีเก้า

สิ่งที่น่าสนใจคือวิธีที่ซเวียกินเซฟจับจ้องไปยังความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่อง เซนยาและบอริสไม่เพียงแค่หมดรักต่อกันเท่านั้น แต่พวกเขายัง ‘ไร้รัก’ หรือแม้แต่หมดความสามารถในการจะสานสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นด้วย ฉากที่บอริสบอกปัดเพื่อนร่วมงานว่าเขาไม่มีเพื่อนสนิทในองค์กรนี้ (ทั้งที่เพิ่งจะฟังอีกฝ่ายแง้มความลับของใครอีกคนมา) หรือท่าทีเหินห่างเมื่อเขาเข้าใกล้ใครคนอื่น (ส่วนตัวคิดว่าการแสดงของอเล็คซี โรซินน่าจับตามาก โดยเฉพาะการที่เขามักจ้องมองสรรพสิ่งด้วยแววตาคล้ายคลื่นใต้น้ำกำลังก่อตัวขึ้นในความคิด) เช่นเดียวกันกับเซนยาซึ่งเห็นได้ชัดว่าเธออึดอัดที่จะต้องอยู่ใกล้กันกับอดีตสามีแม้จะเพียงร่วมห้อง (เช่น ขยับเก้าอี้ไปนั่งเยื้องอีกมุมหนึ่งโดยไม่มีความจำเป็น หรือแทบเสียสติเมื่อต้องอยู่ในรถยนต์คันเดียวกัน) และโหยหาความรักจากชายคนใหม่แต่ก็ไม่อาจเข้าใกล้ไปมากกว่านั้นได้ จนคล้ายว่าเธอชินชากับการเว้นระยะห่างกับคนทุกคนรอบตัว รวมทั้งแม่ตัวเองที่เราคงพอจะกล่าวได้ว่า ฉากการนั่งสนทนา (หรือจริงๆ ควรเรียกว่าการปะทะคารม) บนโต๊ะอาหารในบ้านแม่ของเซนยานั้นเหลือทนเอามากๆ จนช่วยไม่ได้เลยที่เธอแทบไม่มองหน้าแม่ของตัวเองที่ถากถางเธอและสามีอย่างออกรสออกชาติ ตัวละครเหล่านี้จึงโยงใยกันและกันด้วยความเกลียดชัง พร้อมจะผลักไสอีกฝ่ายให้ออกไปจากชีวิตอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนชวนให้ตั้งคำถามว่าพวกเขารู้จักความรักหรือไม่ เคยใยดีใครเป็นพิเศษสักครั้งบ้างไหม แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำให้เราเกลียดพวกเขาเลย ตรงกันข้ามคือบ่อยครั้งความแห้งแล้งมันมาพร้อมความเจ็บปวดของการดึงดันจะใช้ชีวิตด้วยซ้ำไป

ตัวละครเหล่านี้จึงโยงใยกันและกันด้วยความเกลียดชัง พร้อมจะผลักไสอีกฝ่ายให้ออกไปจากชีวิตอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนชวนให้ตั้งคำถามว่าพวกเขารู้จักความรักหรือไม่ เคยใยดีใครเป็นพิเศษสักครั้งบ้างไหม แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำให้เราเกลียดพวกเขาเลย ตรงกันข้ามคือบ่อยครั้งความแห้งแล้งมันมาพร้อมความเจ็บปวดของการดึงดันจะใช้ชีวิตด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ดี ซเวียกินเซฟยังใช้เสียงเล่าข่าวเป็นบรรยากาศห่อหุ้มหนังอีกชั้น ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่บอริสฟังในวิทยุขณะขับรถ หรือข่าวจากโทรทัศน์ที่เซนยาเปิดทิ้งไว้ไม่ให้บ้านเงียบจนเกินไปขณะที่ตาจ้องไปยังหน้าจอโทรศัพท์ ทั้งข่าวความตื่นตระหนกจากข่าวลือเรื่องโลกแตก อันย้อนแย้งกับความเชื่อแบบคริสต์ออร์โธดอกซ์รัสเซีย, การเรืองอำนาจของ วลาดีเมียร์ ปูติน ไล่เรื่อยไปจนเมื่อรัสเซียเดินหน้าเข้าสู่สงครามในช่วงท้ายเรื่อง ทั้งหมดนี้ล้วนดูเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นห่างไกลจากเหล่าตัวละคนในหนังเพราะพวกเขาดูแทบไม่ใส่ใจกับมันเลยด้วยซ้ำ แต่พร้อมกันนั้นมันกลับให้ความรู้สึกเหมือนอาบล้อมคนดูอยู่ตลอดเวลาเพราะมันอยู่ในข่าวสารที่พวกเขาเสพ หรือเพลงที่พวกเขาฟัง

ซเวียกินเซฟยังได้ผู้กำกับภาพคู่บุญที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่ The Return อย่าง มิคาอิล คริชแมน มากำกับภาพให้ ซึ่งคริชแมนได้มอบบรรยากาศยะเยือกและเลือดเย็นได้อย่างน่าประทับใจ ไม่เพียงเท่านั้น การทิ้งจังหวะ การแช่กล้องของหนังเรื่องนี้ยังชวนขนลุกมากๆ เมื่อหัวใจสำคัญคือการควานหาเด็กชายที่หายตัวไปแต่กล้องกลับอ้อยอิ่งอยู่ที่บานหน้าต่าง ฉากป่าไม้โล่งกว้างหรือแม้แต่ฉากขับรถไกลลิบ มันจึงเป็นภาวะที่ชวนอิหลักอิเหลื่อและชวนขัดใจอย่างยิ่ง

และด้วยการที่หนังมันเดินเรื่องด้วยความเยือกเย็นเป็นสำคัญนี้เอง ตลอดทั้งเรื่อง การทุ่มเถียงหรือแม้แต่ด่าทอของตัวละครจึงแทบไม่ปรากฏในลักษณะของการกรีดร้อง ตะโกนใส่กัน แต่เป็นการเชือดเฉือนและถากถางกันด้วยคำพูด แววตาอันหยามหมิ่น ดังนั้น เมื่อกล้องเลื้อยไล่ตามเซนยาซึ่งหัวเสียสุดขีดจากการทำสงครามประสาทกับบอริสเข้าไปยังห้องน้ำ ฟังเสียงเธอก่นด่าอีกฝ่ายในลำคอ แล้วเหวี่ยงประตูปิดตามหลังซึ่งเผยให้เห็นใบหน้าและแววตาที่แตกสลายสุดขีดของอโลชา จึงเป็นฉากที่ชวนให้ตกใจเอามากๆ ซึ่งฉากนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากว่าคนทำหนังไม่แม่นจังหวะ ส่วนตัวคิดว่ามันแทบจะเรียกได้ว่าเป็นฉาก jump-scare ของเรื่องเลยทีเดียว ผิดแต่ว่ามันไม่ได้ทำให้คนดูขวัญหนีดีฝ่อ แต่กลับชวนแตกสลายตามเด็กชายอโลชาในเวลานั้น

“คนเรามีชีวิตอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้หรอก ในสภาพไร้รักน่ะ” ตัวละครหนึ่งเอ่ยขึ้นมา และอาจจะเป็นจริงดังนั้นเมื่อการมีชีวิตนั้นอาจไม่ได้หมายถึงการที่ยังหายใจได้ แต่มันหมายถึงการรู้สึกรู้สา การประกอบขึ้นใหม่ภายหลังแตกสลายหรือแม้แต่ความหวัง ซึ่งไม่ปรากฏให้เห็นเลยในแววตาสุดท้ายของทั้งเซนยาและบอริส

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here