Blog Page 13

เมื่อคนกลับมาดูอนิเมะกันมากขึ้นเพราะธุรกิจวิดีโอสตรีมมิ่ง

จากการที่ “ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่ ศึกรถไฟสู่นิรันดร์” ทำรายได้มหาศาลใน box office ไทยตอนนี้ สิ่งหนึ่งที่สามารถกล่าวได้ทันทีนั้นคือ ภาพยนตร์อนิเมะก็สามารถทำเงินระดับหนังบล็อกบัสเตอร์ได้เช่นกัน

ถ้าให้มองไปก่อนหน้านี้ ปี พ.ศ. 2559 ที่ภาพยนตร์อนิเมะอย่าง Your Name ก็เคยสร้างปรากฏการณ์ทำรายได้ 43 ล้านบาท หลังจากนั้นก็มีการซื้อภาพยนตร์อนิเมะมาฉายในโรงไทยอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้เท่า Your Name แต่ก็สามารถบอกได้ว่ามีกลุ่มคนดูที่พร้อมจะเสียเงินเข้าไปดูอนิเมะในโรงเหมือนกัน

จนกระทั่งมาถึงปรากฏการณ์สะเทือน Box office ไทยของดาบพิฆาตอสูร จึงเกิดคำถามขึ้นมากมายว่าเพราะอะไร ภาพยนตร์อนิเมะเรื่องหนึ่งถึงมีคนเข้าไปชมเยอะแยะขนาดนี้ อนิเมะไม่ได้มีไว้สำหรับเด็กดูหรือ? ทำไมวัยรุ่นและคนวัยทำงานถึงแห่กันไปดูมากมาย?


จาก Pop Culture สู่ Sub Culture

ต้องมองย้อนกลับไปว่าประเทศไทยนั้นได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นมายาวนาน ผ่านทั้งมังงะ อนิเมะ ละคร และภาพยนตร์ต่างๆ โดยเฉพาะคน Gen X และ Gen Y ที่วัยเด็กนั้นโตมากับวัฒนธรรมเหล่านี้จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งใน Pop Culture ของพวกเขา มาจนถึงยุคปลาย 80 ถึงกลาง 90 ที่เป็นยุคทองของอนิเมะบนฟรีทีวี ไม่ใช่แค่ช่อง 9 แต่ช่อง 3 และ 7 ต่างก็มีช่วงฉายอนิเมะของตัวเอง มีการเอาหนังอนิเมะดังๆ มาฉายในวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ใช่ครับ Akira เคยฉายบนฟรีทีวีมาแล้วหลายครั้ง) เป็นยุครุ่งโรจน์ของวงการหนังสือการ์ตูนไพเรต (ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์) และวิดีโออนิเมะเถื่อน (ที่สมัยนั้นเรามักเข้าใจว่าถูกลิขสิทธิ์) ที่ราคาถูกและหาได้ง่ายตามร้านเช่าวิดีโอทั่วไป

แต่หลังจากนั้นพื้นที่ทางวัฒนธรรมของสื่ออนิเมะจากญี่ปุ่นก็ลดลง อนิเมะตามฟรีทีวีลดลงแม้แต่ตัวช่อง 9 การ์ตูน มังงะและวิดีโออนิเมะเข้าสู่ระบบลิขสิทธิ์ ราคาสูงขึ้น เข้าถึงยากขึ้น ประกอบกับโลกเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตที่วัฒนธรรมอื่นๆ เริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับวัยรุ่นมากขึ้น ทำให้เหล่า Gen X ที่ย่างเข้าสู่วัยทำงานกับ Gen Y ที่เป็นวัยรุ่นเต็มตัวค่อยๆ ถอยห่างจากอนิเมะและมังงะไป จนวัฒนธรรมอนิเมะและมังงะของญี่ปุ่นค่อยๆ ลดบทบาทลงจนกลายเป็น Sub Culture ใครที่โตแล้วและยังดูหรือตามอยู่ก็จะถูกมองว่าเป็นพวกที่คลั่งไคล้หมกมุ่นหรือ “โอตาคุ”


การมาถึงของยุควิดีโอสตรีมมิ่ง

ก่อนหน้าที่จะมาถึงยุคที่มีการให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง ผู้ที่ชื่นชอบอนิเมะต้องหาช่องทางผิดลิขสิทธิ์เพื่อดูอนิเมะทางอินเทอร์เน็ต (จากการมาของเทคโนโลยี ADSL และ Bittorrent) ซึ่งมีคนนำอนิเมะที่ฉายในญี่ปุ่นมาแปลและใส่ซับไตเติลหรือที่เรียกกันว่า แฟนซับ (Fan sub) มีการรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนเพื่อแบ่งปันกันดู ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะเข้าถึงง่ายทุกคน บริษัทที่นำเข้า วีซีดี ดีวีดี แบบถูกลิขสิทธิ์ก็มี แต่ราคาและค่าครองชีพทำให้จำนวนคนซื้อมีไม่เยอะ และจำนวนเรื่องที่ซื้อลิขสิทธิ์มาก็ไม่ได้ครอบคลุมต่อความต้องการของคนที่อยากดู วงการอนิเมะในบ้านเราจึงอยู่ในอินเทอร์เน็ตแบบผิดลิขสิทธิ์มานานหลายปี จนเริ่มมีบริการวิดีโอสตรีมมิ่งมาทำตลาดในไทย ซึ่งใช้เวลาหลายปีในการเติบโต ทั้งแบบฟรีแต่มีโฆษณา (Line TV, TrueID) แบบฟรีบางส่วนเพราะมีบางคอนเทนต์ต้องเสียเงินสมัครสมาชิก VIP เพื่อรับชม (We TV, IQIYI) และแบบที่เก็บค่าสมาชิกรายเดือน (Netflix) จนมาถึงปัจจุบันนี้ จะเห็นว่าแทบทุกเจ้าต่างก็มี category “Anime” ของตนเอง และต่างก็แข่งขันที่จะมี Content ที่เป็นอนิเมะเรื่องเด็ดๆ ไว้ดึงดูดลูกค้าของตน หรือมีแม้กระทั่งเจ้าที่เป็น Anime Streaming โดยเฉพาะอย่าง Flixer และ Bilibili


การกลับมาดูอนิเมะของวัยรุ่นและคนวัยทำงาน

ความเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่ต้องขวนขวายมากคือปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนหันกลับมาดูอนิเมะ เพราะปัจจุบันทุกคนต่างก็ใช้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งอยู่แล้ว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่ผ่านมาเพราะ Covid-19) แถมอนิเมะนั้นเป็นสื่อที่ดูง่าย ตอนหนึ่งก็ใช้เวลาเพียง 24 นาที และมีหลากหลายแนวให้เลือก แนวที่เมนสตรีมที่สุดก็คงไม่พ้นแนวแอคชันสไตล์โชเน็น (เด็กผู้ชาย) อย่าง Kimetsu no Yaiba (ดาบพิฆาตอสูร), My Hero Academia ที่กลุ่มเป้าหมายกว้างตั้งแต่เด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิง ไปถึงวัยรุ่นและวัยทำงาน (ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของเรื่อง) หรือแนวเซย์เน็น (เด็กโต) ที่มีเนื้อหาที่ซับซ้อนดูผู้ใหญ่ขึ้น อย่างเช่น Gantz. Attack on Titan ก็เป็นตัวเลือกที่ทำให้การดูอนิเมะนั้นไม่จำกัดเนื้อหาเฉพาะเด็กอีกต่อไป

อีกหนึ่งปัจจัยที่เสริมให้คนเลือกดูอนิเมะก็เพราะคอนเทนต์ต่างๆ เกี่ยวกับอนิเมะในโซเชียล ทั้งยูทูปเบอร์และอีกหลายช่องทางมากมาย จนเกิดเป็นกระแส หรือแม้กระทั่ง meme ที่ฮิตในอินเทอร์เน็ตหลายอันก็มาจากอนิเมะ อย่างเช่นกรณีของ Jojo Bizarre Adventure (โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ) ที่ถึงจะเป็นอนิเมะเก่าแต่ด้วยความดังของ meme ก็ทำให้คนหามาดูกันก็มากเพื่อไม่ให้ตัวเองนั้นตกเทรนด์ ซึ่งสรุปได้ว่าอนิเมะเรื่องไหนที่เป็นที่ถูกกล่าวถึงในโซเชียลและหาดูง่าย ก็สามารถดึงคนดูทั่วไปที่ปกติไม่ได้ดูอนิเมะให้มาดูได้นั่นเอง


ความนิยมของอนิเมะทั้งบนสตรีมมิ่งและในโรงภาพยนตร์

กลุ่มเป้าหมายของวิดีโอสตรีมมิ่งที่ดูฟรีนั้น มักจะเป็นเด็กประถม มัธยม ไปจนถึงมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว จึงไม่ยากที่อนิเมะจะเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ยอดนิยม อย่างเช่น “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” ก็ติดอยู่ในทำเนียบร้อยล้านวิวของทาง Line TV ที่น่าสนใจคือสตรีมมิ่งที่กลุ่มเป้าหมายเป็นวัยทำงานอย่าง Netflix ก็จะมีอนิเมะติดอันดับใน Top 10 in Thailand ประจำวันอยู่เสมอ ซึ่งในหมวด Top TV Show in Thailand ของปี 2020 จากการติดตามวัดผลอันดับของเว็บ https://flixpatrol.com อนิเมะเรื่อง Kimetsu no Yaiba ก็ติดอยู่ที่อันดับ 11 ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงมากเมื่อต้องแข่งกับซีรีส์ชื่อดังทั้งเกาหลี ฝรั่งและไทย อันดับที่น่าสนใจต่อๆ มาก็ได้แก่ Dr.Stone อันดับ 27 My Hero Academia อันดับ 40 และอีกหลายเรื่องที่ติดอันดับจากซีรีส์นับพันที่มีอยู่ในแพลตฟอร์ม ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่ฐานคนดูอนิเมะนั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องฮิตอย่าง Kimetsu no Yaiba (ดาบพิฆาตอสูร) ที่มีแฟนคลับเป็นจำนวนมาก และมีให้ดูในวิดีโอสตรีมมิ่งเกือบทุกเจ้า จึงไม่ต้องแปลกใจที่จะเข้าโรงไปดูแล้วเห็นว่าคนวัยทำงานมาดูกันมากมายไม่แพ้วัยรุ่นและเด็ก (และคนวัยทำงานนี่แหละที่มีกำลังซื้อดูในโรงพิเศษอย่าง IMAX)

ส่วนในโรงภาพยนตร์นั้นหลังจาก Your Name บ้านเราก็มีโอกาสได้ดูภาพยนตร์อนิเมะในโรงอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้จะส่วนใหญ่จะฉายแบบจำกัดโรงก็ตาม แต่ในปีนี้ก็มีสถิติที่น่าสนใจ อย่างการที่ My Hero Academia : Heroes กวาดรายได้อันดับหนึ่งของบ็อกซ์ออฟฟิศไทยในวันที่ 2 กรกฎาคม ทำเงินไป 0.72 ล้านบาทและทำรายได้อันดับหนึ่งต่อเนื่องถึง 2 สัปดาห์ ก่อนที่ภาพยนตร์อนิเมะเช่นเดียวกันจะมาโค่นแชมป์ก็คือ Digimon Adventure Last Evolution Kizuna ที่ทำรายได้เปิดตัวอันดับหนึ่งไป 0.62 ล้านบาท ถึงแม้ว่าตัวเลขจะดูไม่มากนักเพราะเป็นช่วงที่โรงหนังเพิ่งจะกลับมาฉายอีกครั้งได้ไม่นาน แต่ภาพยนตร์อนิเมะทั้งสองเรื่องก็กวาดรายได้อันดับหนึ่งในช่วงนั้นและกวาดรายได้รวมไปไม่น้อยเลยทีเดียว

ถึงจาก sub culture จะกลับมาเป็น pop culture ได้ แต่อย่างไรก็ตามการที่คนหันมาดูอนิเมะมากขึ้นเพราะธุรกิจวิดีโอสตรีมมิ่งก็ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับรายได้สะเทือนโรงของ “ดาบพิฆาตอสูรเดอะมูฟวี่ ศึกรถไฟสู่นิรันดร์” เพราะยังไงสาเหตุหลักของความสำเร็จนั้นย่อมมาจากการที่เวอร์ชั่นซีรีส์สามารถสร้างฐานแฟนคลับไว้จำนวนมากและคุณภาพของตัวภาพยนตร์ที่ทำให้คนพูดถึงปากต่อปากหรือสนุกจนอยากมาดูซ้ำนั่นเอง

ใครเป็นใคร+อะไรที่น่ารู้…ก่อนดู Mank ให้สนุก

หนังทะเยอทะยานเรื่องล่าสุดนี้จากฝีมือ เดวิด ฟินเชอร์ ลงสตรีมมิ่งแล้วทาง Netflix ท่ามกลางบทวิจารณ์ชื่นชมเซ็งแซ่ว่ามีสิทธิลุ้นรางวัลสำคัญบนเวทีออสการ์ครั้งต่อไปแน่นอน หนังสร้างจากบทที่เขียนโดย แจ็ค ฟินเชอร์ พ่อผู้ล่วงลับของเดวิดเอง ว่าด้วย เฮอร์แมน เจ แมงคีวิกซ์ หรือ “แมงค์” นักเขียนบทมือทองของฮอลลีวูดขณะพยายามให้กำเนิดบท Citizen Kane โดย Mank เล่าสองเส้นเรื่องสลับกัน หนึ่งคือ เรื่องแฟลชแบ็คไปยังช่วงทศวรรษ 1930 ตั้งแต่วันที่แมงค์ยังรุ่งเรือง เริ่มตกต่ำ และได้พบเหตุการณ์บ้าๆ ทั้งหลายซึ่งกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เขาคิดบท Kane และสองคือ เรื่องช่วงปลายทศวรรษ 1930 – ต้น 1940 ที่แมงค์นอนเข้าเฝือกพักฟื้นอาการบาดเจ็บ พร้อมๆ กับกัดฟันลงมือเขียน Kane ไปด้วย

ด้วยพล็อตที่ว่านี้ Mank จึงเต็มไปด้วยการอ้างอิงพาดพิงบุคคลสำคัญที่มีตัวจริงและเหตุการณ์เด่นๆ ในฮอลลีวูดยุคนั้น ได้แก่

เฮอร์แมน เจ แมงคีวิกซ์ (รับบทโดย แกรี โอลด์แมน)

แมงค์เกิดในครอบครัวเยอรมัน-ยิว เริ่มต้นอาชีพจากการเป็นนักข่าว นักวิจารณ์ละคร นักเขียนบทละครวิทยุ ละครเวที แล้วกลายมาเป็นคนเขียนบทหนังตั้งแต่ปี 1926 ด้วยการร่วมงานกับค่ายพาราเมาท์และเอ็มจีเอ็มในหนังทำเงินอย่าง Man of the World, Dinner at Eight และ The Wizard of Oz ซึ่งทำให้เขาก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในมือเขียนบทผู้ปราดเปรื่องที่ได้ค่าจ้างแพงที่สุดในฮอลลีวูดต้นยุค 30 ก่อนที่นิสัยขี้เมา ติดพนัน และความนอกคอกจะทำให้เขากลายเป็นที่เข็ดขยาดและตกงานในไม่กี่ปีต่อมา กระทั่งได้รับข้อเสนอจากคนทำหนังหน้าใหม่วัย 24 ปีนาม “ออร์สัน เวลส์” ให้มาเขียนบทหนังชื่อ “Citizen Kane”

ครอบครัวแมงคีวิกซ์ถือว่ามีบทบาทในฮอลลีวูดมากๆ เพราะนอกจากแมงค์แล้ว โจเซฟ แอล แมงคีวิกซ์ น้องชายของเขา (ใน Mank รับบทโดย ทอม เพลฟรีย์) ก็ประสบความสำเร็จสุดๆ ทั้งในฐานะคนเขียนบทและผู้กำกับ (เขาคว้าออสการ์ 2 ปีติดกันจาก A Letter to Three Wives ปี 1949 และ All About Eve ปี 1950), ดอน ลูกชายของเขาก็เป็นคนเขียนบทหนังระดับชิงออสการ์ (I Want to Live! ปี 1958), ทอม หลานชายเขาเป็นคนเขียนบทหนัง เจมส์ บอนด์ หลายภาค, เบน หลานปู่ของเขาเป็นพิธีกรช่องหนังคลาสสิก Turner Classic Movies นอกจากนั้น แฟรงค์ ลูกชายอีกคนของเขาก็ยังเคยเป็นผู้ช่วยวุฒิสมาชิก โรเบิร์ต เคนเนดี และเป็นประธาน National Public Radio ด้วย

*ใน Mank มีฉากหนึ่งเล่าถึงวีรกรรมน่าทึ่งของแมงค์ที่เคยควักเงินส่วนตัวช่วยคนยิวหลายร้อยคนในเยอรมนีให้อพยพหนีนาซีมายังอเมริกา ซึ่งนี่เป็นเรื่องจริง แม้ว่าเขาจะไม่ได้ช่วย “ทั้งหมู่บ้าน” อย่างที่ได้ยินในหนังก็ตาม และความเจ๋งของแมงค์ไม่ได้จบแค่นั้น ในปี 1933 เขาเขียนบทและพยายามจะสร้างหนังต่อต้านนาซีชื่อ The Mad Dog of Europe ซึ่งมีตัวร้ายชื่อ “อดอล์ฟ มิตเลอร์” ด้วย ความพยายามนี้ของเขามีส่วนสำคัญในการทำให้สังคมอเมริกันเริ่มตระหนักถึงความน่าหวาดกลัวของนาซี และส่งผลให้ โยเซฟ เกิบเบิลส์ รัฐมนตรีวัฒนธรรมของนาซีสั่งแบนไม่ให้ผลงานทุกชิ้นที่มีชื่อแมงค์ได้ฉายในเยอรมนี

ออร์สัน เวลส์ (รับบทโดย ทอม เบิร์ก)

แม้จะโผล่มาใน Mank ไม่กี่ฉาก แต่มีอิทธิพลต่อทั้งเรื่อง …ในปี 1938 “เด็กอัจฉริยะ” ผู้กำลังดังจากงานละครวิทยุ The War of the Worlds(ดัดแปลงจากนิยายไซไฟของ เอช จี เวลส์) คนนี้ได้รับดีลพิเศษจากค่าย RKO ให้ทำหนังยาวเรื่องแรกในชีวิตโดยเป็นหนังอะไรก็ได้ แต่เนื่องจากคนในฮอลลีวูดหลายคนเกลียดขี้หน้าเวลส์ เขาจึงหันไปชวนมือดีที่กำลังตกอับอย่างแมงค์ (ซึ่งเคยช่วยเขาเขียนบทละครวิทยุมาก่อน) มาร่วมงาน ภายใต้เงื่อนไขแรกว่าแมงค์จะได้ค่าจ้างอย่างงาม แต่จะไม่ได้เครดิตเป็นผู้เขียนบท

แรกสุด เวลส์กับแมงค์คิดจะเขียนหนังชีวประวัติ อเล็กซองดร์ ดูมาส์ (ผู้แต่งนิยาย The Three Musketeers) ก่อนที่แมงค์จะเสนอให้เปลี่ยนมาเป็นเรื่องของ วิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์สต์ เจ้าพ่อหนังสือพิมพ์ผู้ทรงอิทธิพลซึ่งเป็นเรื่องที่เขาอยากทำเป็นละครเวทีมา 15 ปีแล้ว แต่หลังจากเวลส์ได้รับบทของแมงค์ที่หนาถึง 325 หน้า เขาก็จัดการตัดบางส่วนทิ้งและแก้ไขหลายฉากบนความเชื่อว่ามันจะต้องเป็นงานแจ้งเกิดของเขาคนเดียว นี่น่าจะเป็นเหตุผลที่เมื่อแมงค์เรียกร้องขอเครดิตในเวลาต่อมา เขาจึงใส่ชื่อแมงค์กับตัวเขาเป็นผู้ร่วมเขียนบท (ทั้งคู่ชนะออสการ์สาขานี้ แต่ไม่ไปรับรางวัล)

วิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์สต์ (รับบทโดย ชาร์ลส์ แดนซ์)

เจ้าของหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันผู้สุดร่ำรวยและทรงอิทธิพลทั้งในวงการธุรกิจและการเมือง เคยชนะเลือกตั้งได้เข้าสภาสองสมัยในนามพรรคเดโมแครต ก่อนจะพ่ายแพ้ในสนามนายกเทศมนตรีนิวยอร์กซิตี, ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก และประธานาธิบดี หลังจากนั้นเขาก็เปลี่ยนจุดยืนมาเป็นฝ่ายขวาและใช้อิทธิพลหนุนหลัง แฟรงค์ เมอร์เรียม ตัวแทนจากพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียปี 1934 อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู (หนังสือพิมพ์ของเขายังเคยสัมภาษณ์อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในปีเดียวกันนี้และตีพิมพ์คอลัมน์ของนาซีด้วย)

ความยิ่งใหญ่ของเฮิร์สต์และความสัมพันธ์ของเขากับดาราสาว แมเรียน เดวีส์ ถูกแมงค์ใช้เป็นต้นแบบของตัวละคร “ชาร์ลส์ ฟอสเตอร์ เคน” ใน Citizen Kane

แมเรียน เดวีส์ (รับบทโดย อแมนดา ซีย์ฟรีด)

จากคอรัสสาวบนเวทีกลายมาเป็นนางเอกแถวหน้าด้วยการผลักดันของ วิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์สต์ ซึ่งเป็นชู้รักกับเธอ (เขาแต่งงานแล้ว) เขาใช้ทั้งเงินและหนังสือพิมพ์ของตนเชียร์สุดขีดจนเธอได้เล่นหนังถึง 46 เรื่องตั้งแต่ยุคหนังเงียบมาจนถึงหนังเสียง แต่ขณะเดียวกันการบงการจุ้นจ้านของเฮิร์สต์ก็ทำให้ค่ายหนังไม่ค่อยปลื้มเธอเท่าไหร่นัก

แมงค์ใช้เดวีส์เป็นแรงบันดาลใจของตัวละคร “ซูซาน” ดาราและชู้รักสาวสวยไร้สมองของชาร์ลส์ ฟอสเตอร์ เคนใน Citizen Kane แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า แมงค์สนิทสนมกับแมเรียนในชีวิตจริงมากและมักพูดว่าแมเรียนเป็นคนฉลาดกว่าที่คนอื่นๆ คิด ส่วนซูซานเป็นแค่ “ภาพลักษณ์ที่ถูกสังคมจดจำ” ของเธอเท่านั้น

อัพตัน ซินแคลร์ (รับบทโดย บิลล์ นาย พิธีกรรายการวิทยาศาสตร์ชื่อดัง)

นักเขียนและนักปฏิรูปหัวก้าวหน้าจากพรรคเดโมแครตที่ลงสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 1934 แต่ถูกคว่ำด้วยกลโกงของเฮิร์สต์ที่จับมือกับ เออร์วิง ธัลเบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งค่ายเอ็มจีเอ็ม ทำ “ข่าวปลอม” (ด้วยการใช้นักแสดงกลุ่มหนึ่งมาเล่นเป็นชนชั้นกลางที่สนับสนุนเมอร์เรียม อีกกลุ่มหนึ่งเป็นคนยากจนที่สนับสนุนซินแคลร์เพื่อสร้างภาพว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์) และเฮิร์สต์ยังปล่อยข่าวลือลงหนังสือพิมพ์ตัวเองอีกด้วยว่า ถ้าซินแคลร์ชนะ อุตสาหกรรมหนังจะย้ายออกจากแคลิฟอร์เนียไปอยู่ฟลอริดาแทน

เรื่องราวที่ว่าข้างต้นนั้นเป็นเรื่องจริง แต่ใน Mank ยังจินตนาการเหตุการณ์เกี่ยวกับซินแคลร์เพิ่มเองอีก 3 จุดเพื่อผลทางดราม่า ได้แก่
1. “แมงค์เป็นคนจุดประกายให้ธัลเบิร์กเกิดไอเดียทำข่าวปลอมใส่ร้ายซินแคลร์” > ไม่มีหลักฐานว่าแมงค์ทำแบบนั้น
2. “ผู้กำกับ เชลลี เมตคาล์ฟ ซึ่งเป็นเพื่อนของแมงค์ เป็นคนกำกับข่าวปลอมดังกล่าว” > เมตคาล์ฟไม่มีตัวตนจริง บท Mank น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากอีกคนหนึ่งคือ เฟลิกซ์ อี ฟีสต์ ผู้กำกับเทสต์ช็อตวัย 24 ปีของเอ็มจีเอ็มซึ่งเกี่ยวข้องกับการถ่ายทำข่าวปลอม ทว่าเขาไม่ได้ลงเอยแบบเมตคาล์ฟในหนัง เขามีชีวิตการทำหนังรุ่งเรืองต่อมาหลายสิบปี
3. “แมงค์โกรธกรณีข่าวปลอมมากจึงตัดสินใจเขียนบท Citizen Kane เพื่อประจานเฮิร์สต์” > ไม่เคยมีหลักฐานชี้ว่าแมงคีวิกซ์ขัดแย้งกับเฮิร์สต์เพราะเรื่องนี้ และอันที่จริงเขาไม่ได้ฝักใฝ่แนวคิดฝ่ายซ้ายของซินแคลร์เลย เขามีแนวโน้มเป็นอนุรักษ์นิยม ปฏิเสธการมีสหภาพแรงงานและน่าจะไม่ได้เลือกซินแคลร์หรือมีบทบาทเกี่ยวข้องใดๆ กับการเลือกตั้งคราวนั้นด้วยซ้ำ คนที่มีบทบาทจริงๆ คือโจเซฟน้องชายของเขาซึ่งเขียนบทละครวิทยุต่อต้านซินแคลร์)

เออร์วิง จี ธัลเบิร์ก (รับบทโดย เฟอร์ดินันด์ คิงสลีย์)

ผู้ร่วมก่อตั้งค่ายเอ็มจีเอ็มและโปรดิวเซอร์มือฉมังเจ้าของฉายา “เด็กมหัศจรรย์แห่งฮอลลีวูด” เขาเริ่มทำงานนี้ในปี 1925 ขณะอายุแค่ 26 ปี (และเสียชีวิตด้วยโรคปอดอักเสบในปี 1936 ขณะอายุเพียง 37 ปี) โดยเป็นผู้ดูแลทุกแง่มุมทั้งด้านศิลปะและธุรกิจของหนังกว่า 400 เรื่อง มีผลงานโด่งดังทำเงินอย่าง Ben-Hur, Mutnity on the Bounty, Grand Hotel, The Good Earth

แต่นอกจากด้านบวก ธัลเบิร์กก็ยังถูกหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ประทับตราเป็น “บิดาแห่งโฆษณาโจมตี” (“Father of the Attack Ad”) ในปี 1992 ด้วย จากผลงานปี 1934 ที่เขาร่วมมือกับเฮิร์สต์และ ลูอิส บี เมเยอร์ เจ้าของค่ายเอ็มจีเอ็ม ทำข่าวปลอมใส่ร้ายอัพตัน ซินแคลร์ จนพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง

ลูอิส บี เมเยอร์ (รับบทโดย อาร์ลิสส์ เฮาเวิร์ด)

ผู้ร่วมก่อตั้งเมโทร-โกลด์วิน-เมเยอร์หรือเอ็มจีเอ็ม สตูดิโอยักษ์ใหญ่แห่งฮอลลีวูดยุคทอง เป็นผู้บริหารที่ทำเงินมากที่สุดคนหนึ่งของวงการหนัง แต่เมื่อสหรัฐฯ ประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำช่วง Great Depression เมเยอร์ก็ทำแบบที่เราเห็นใน Mank คือบีบน้ำตาขอร้องให้ลูกน้องทุกคนยอมถูกตัดเงินเดือน 50% โดยสัญญาว่าธนาคารกลับสู่ภาวะปกติเมื่อไหร่จะชดเชยเงินคืนให้ (แต่เขาไม่เคยทำ) นอกจากนั้น ด้วยความที่เป็นประธานพรรครีพับลิกันในแคลิฟอร์เนีย เมเยอร์ยังเรียกร้องให้ลูกน้องบริจาคเงินช่วยแคมเปญหาเสียงของแฟรงค์ เมอร์เรียม กับยังร่วมมือผลิตข่าวปลอมใส่ร้ายคู่แข่งด้วย

นอกจากด้านผลงานหนังอันโดดเด่นและบทบาททางการเมือง เมเยอร์ยังถูกจดจำในด้านร้ายจากพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศนักแสดงหญิงมากมาย เช่นกรณีของ จูดี้ การ์แลนด์ นางเอก The Wizard of Oz (1939) ซึ่งถูกบังคับให้ใช้ยาเสพติดขณะอยู่ในกองถ่ายและถูกเมเยอร์ละเมิดต่อเนื่องนานหลายปี


ชม Mank ได้ที่ Netflix

The Forty-Years-Old Version แร็ปเถิดอรชร

ราด้า แบลงค์ เป็นผู้หญิง เป็นคนดำ เป็นมือเขียนบทละครเวทีดาวรุ่งผู้ดับแสงไปแล้ว ปัจจุบันเธออายุสี่สิบปี นอกจากประกอบอาชีพครูสอนวิชาการเขียนในโรงเรียนมัธยมของรัฐแล้ว งานอีกอย่างของเธอคือปล่อยให้ตัวเองเฉาตายลงไปเฉยๆ ในห้องเช่าขนาดรูหนู

แน่นอนว่าเธอรู้ตัวดีว่าการเปื่อยสลายลงไปตอนนี้ไม่ใช่เรื่องดีนัก เธอยังคงต่อสู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการได้มีละครแสดงที่บรอดเวย์สมดังฝัน แต่เป้าหมายก็ดูจะเลือนรางห่างไกลนัก หากไม่ยอมอ่อนข้อลงให้กับพวกคนขาวจอมโอหังที่เป็นใหญ่อยู่ในวงการ

ราวกับพระเจ้ายื่นมือเข้าช่วยเหลือด้วยวิธีการสุดประหลาด เธอแต่งเพลงแร็ปได้จากสังเกตเห็นก้นงอนๆ ของพวกผู้ชายคนขาวที่เดินผ่านไปมา ราด้าตัดสินใจแล้ว เธอจะเป็นแร็ปเปอร์!

The Forty-Year-Old Version เป็นผลงานการกำกับและการแสดงของราด้า แบลงค์ ภาพยนตร์ขาวดำเรื่องนี้เปิดตัวครั้งแรกที่เทศกาลซันแดนซ์ปี 2020 และคว้ารางวัลการกำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย U.S. Dramatic เมื่อมองในชั้นผิวเผิน มันก็เป็นหนังตลกฟอร์มเล็กล้อโครงสร้างหนังสู้เพื่อฝันทั่วไป แต่เมื่อมองอีกระดับหนึ่ง มันก็แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้หลายระดับของผู้ใหญ่ไม่รู้จักโตในยุคนี้ได้ดุเดือดเหลือเชื่อ

แนวปะทะที่หนึ่ง

ราด้าแก่เกินไปแล้วที่จะเข้าใจว่าเด็กสมัยนี้มันฟังเพลงอะไรกัน เธอโตมากับเพลงแร็ปที่เป็นเครื่องมือระบายความคับแค้นใจ “ราดามัสไพรม์” ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวเพื่อให้ได้ลองอัดเพลงเพราะไม่มีใครเห็นดีเห็นงามกับการริอ่านจะแร็ปครั้งนี้ แม้กระทั่งอาร์ชี่เพื่อนสนิทผู้ควบตำแหน่งเอเยนต์จัดหางานเขียนละครเวทีของเธอก็ไม่เอาด้วย “แร็ปอะไรนะ หล่อนจะแร็ปไปทำไมวะนั่น” ราด้าไม่อาจให้คำอธิบายง่ายๆ ได้ รู้เพียงแค่ว่านี่อาจเป็นวิธีเดียวที่จะหยุดยั้งไม่ให้วิญญาณของตัวเองเฉาลงไป

คนเดียวที่ยอมเอาด้วยกับเหตุก่อการแร็ปของราด้าเห็นจะเป็น “ดี” นักทำบีทดนตรีฮิปฮอปมือฉมัง ฉากที่ดีวิจารณ์เพลงฮิปฮอปท้าต่อยท้าตีไปเรื่อยของแร็ปเปอร์สมัยนี้ว่าไม่เหลือวิญญาณใดๆ แล้ว คือหมัดตรงของราด้าที่ส่งผ่านเขามาอย่างไม่ต้องสงสัย แร็ปช่องทางปล่อยแรงเค้นเครียดของเธอในฐานะผู้หญิง ในฐานะคนดำ ในฐานะคนอายุสี่สิบที่ยังไม่เป็นโล้เป็นพาย

แนวปะทะที่สอง

เช่นเดียวกับผู้ประสบภัยวัยกลางคนอื่นๆ ราด้าตระหนักได้แล้วว่าตัวเองกำลังเก่า ทักษะใดๆ ที่เคยมีในยุครุ่งเรืองคือเครื่องยึดเหนี่ยวคุณค่าของเธอเอาไว้ แน่นอนว่าเธอยังฝันถึงการจะได้มีบทละครดีๆ ให้ได้ถูกสร้างและกอบกู้ชื่อเสียงของเธอกลับมาจากการเป็นดาวร่วง เธอทุ่มแรงเขียนบท “ฮาร์เล็ม เอฟ” ละครอันว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของคู่ผัวเมียเจ้าของร้านของชำในย่านฮาร์เล็มที่ถูกสั่นคลอนเมื่อกระบวนการไล่รื้อชุมชนเมือง (Gentrification) ลุกลามมาถึง ฮาร์เล็มจะไม่ใช่ที่ของคนจนอีกต่อไป มือที่มองไม่เห็นของคนขาวฐานะร่ำรวยจะบีบให้พวกเขาจำต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น ฮาร์เล็มเอฟถูกปัดตกทันทีที่ถูกเสนอต่อผู้จัดละครเวทีด้วยเหตุที่ว่า มันดำไม่พอถ้าไม่มีฮิปสเตอร์คนขาวปรากฏตัวออกมาเพื่อขับเน้นสิ่งนี้ แน่นอนว่าคนพูดก็เป็นผู้ชายคนขาวรวยๆ พวกนั้นนั่นแหละ

“ถ้าอยากจะก้าวหน้าดูสักหน กูคงต้องช่วยพวกมันชักว่าวกับความจน” เรื่องราวของคนดำจะเป็นที่สนใจของคนขาวก็ต่อเมื่อมันย่อยยับเกินพอดี การรอมชอมให้คนขาวของราด้าจบลงด้วยความเจ็บช้ำแทบทุกครั้ง เป็นเรื่องยากไม่น้อยหากจะต้องตัดสินใจเลือกเอาระหว่างยอมกล้ำกลืนความเจ็บนี้เพื่อกอบกู้เอาความภาคภูมิในฐานะนักเขียนกลับคืน หรือจะยอมรักษาจุดยืนเอาไว้แล้วยอมให้เด็กๆ ในชั้นเรียนจดจำเธอในฐานะนักเขียนไฟมอดตกกระป๋อง (ที่ดันพยายามจะเป็นแร็ปเปอร์เสียด้วย)

เธอมีทางเลือกไม่มาก ถ้าการตัดสินใจครั้งนี้ผิดพลาดราคาที่ต้องจ่ายก็มีมากโข

แนวปะทะสุดท้าย

ราด้าไม่รับโทรศัพท์ของพี่ชายเลยหลังจากแม่ของเธอเสียไป เขาโทรมาขอให้เธอช่วยกันเคลียร์สมบัติของแม่ที่ทิ้งไว้ สมบัติอันอาจจะหมายถึงทั้งภาพวาดจำนวนมหาศาลที่แม่ผู้ศิลปินภาพเขียนระดับแนวหน้าทิ้งเอาไว้ และสมบัติอันหมายถึงความภาคภูมิใจในฐานะศิลปินที่เธออาศัยร่มเงาเพื่อเติบโต เธอรู้ตัวว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดในฐานะคนทำงานศิลปะของเธออาจผ่านไปแล้ว และมีเวลาไม่มากที่เธอจะกอบกู้ตัวเองขึ้นมาจากหล่มที่ติดอยู่

หล่มของราด้าไม่ต่างอะไรกับหล่มของพวกเราในวัยกลางคน มันคือการตั้งคำถามกับตัวเองว่าอะไรคือความสำเร็จ เรารู้สึกกระจอกเมื่อเทียบตัวเองกับผู้คนวัยเดียวกันที่อยู่รายล้อม ขณะที่บางคนก็รู้สึกกระจอกไม่แพ้กันเมื่อมองกลับมาหาเรา ไม่มีบ้าน ไม่มีรถ ไม่แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา หรือจะมีทุกอย่างทั้งหมดที่ว่ามานั้นเราก็ยังไม่อาจเคารพตัวเองในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งได้เสียที ฉากที่ประทับใจผู้เขียนมากเป็นพิเศษคือฉากที่การตะกุยตะกายขึ้นจากหล่มของเธอสิ้นสุดลง เมื่อราด้ายื่นไมตรีในรูปอาหารให้แก่คนไร้บ้านจอมโวยวายที่อยู่ถนนฝั่งตรงข้ามอพาร์ตเมนต์

ไม่… เธอไม่ได้หนทางสว่างจากเฒ่าวิเศษลึกลับแบบที่เราจะหาได้จากหนังเสริมกำลังใจทั่วไป “ฉันไม่ใช่ผู้วิเศษที่นอนขี้รดกางเกงอย่างที่เธอหวังหรอกโว้ย” ถูกต้องแล้ว เธอเองนั้นแหละที่เป็นผู้กำหนดว่าอะไรคือความสำเร็จ มันจะมาเมื่อไร เธอจะภาคภูมิใจกับตัวเองได้มากแค่ไหน มันก็เป็นเรื่องของเธอ

หลังการแสดงรอบปฐมทัศน์จบลง ฮาร์เลมเอฟไม่ใช่ของของเธออีกต่อไป ราด้าโยนไมค์ทิ้ง เธอไม่เหลืออะไรจะเสียอีกต่อไป ไม่สิ… เธอเสียมามาพอแล้วต่างหาก ภาพบนจอหนังขาวดำค่อยเปลี่ยนมามีสีสัน ราด้าในหนังกับราด้าตัวจริงหลอมรวมเข้าหากันอย่างสมบูรณ์ เธอหยอกล้อกับผู้ชายอายุน้อยกว่า พลางกินขนมขบเคี้ยวราคาถูกอย่างเปี่ยมชีวา

ราด้า แบลงค์เป็นผู้หญิง เป็นคนดำ เป็นมนุษย์วัยกลางคนผู้มีความภาคภูมิใจในตัวเอง


คุณสามารถรับชม The Forty-Years-Old Version ได้แล้วที่ Netflix 

Borat : เสียดเย้ยอเมริกันชนจนหน้าหงาย

ในวาระการกลับคืนสู่จอเงินของหนังแฟรนไชส์ Borat เรื่องราวของนักข่าวชาวคาซัคสถานที่พกความต่ำตมสุดขีดไปกับตัวเมื่อออกเดินทางไปทำสกู๊ปต่างแดนที่อเมริกา บทความนี้จึงจะมาพูดถึง Borat ภาคแรกที่ออกฉายเมื่อปี 2006 จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ฮือฮา ได้รับคำวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้น

ชื่อเต็มๆ ของหนังเรื่องนี้ คือ Borat: Cultural Learnings of America for Make Benefit Glorious Nation of Kazakhstan ความไม่ธรรมดาของหนังเรื่องนี้คือมันจิกกัดวัฒนธรรมอเมริกันได้อย่างแสบสัน จน The Boston Globe ยกย่องว่าเป็น “หนังที่ตลกที่สุดในรอบปี” หรือแม้กระทั่ง The Atlantic เองก็ยกให้เป็น “หนังที่ตลกที่สุดในรอบทศวรรษ” นอกจากนั้น หนังยังไปไกลถึงขั้นได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขา Best Adapted Screenplay ในปีนั้นอีกด้วย แต่พ่ายให้กับ The Departed

Borat เล่าเรื่องราวของนักข่าวหนุ่มชาวคาซัคสถาน นามว่าโบรัต ซักดิเยฟ (ซาชา บารอน โคเฮน) ซึ่งเป็นทั้งคนเกลียดยิว เหยียดเพศ และเกลียดเกย์ เขาได้รับมอบหมายจากรัฐบาลคาซัคสถานให้เดินทางไปทำสารคดีที่อเมริกา เพื่อนำความเจริญของอเมริกามาปรับใช้กับประเทศตนเอง โบรัตเดินทางไปพร้อมกับโปรดิวเซอร์หุ่นตุ้ยนุ้ยอีกคน นามว่า อาซามัต บากาตอฟ (เคน ดาวิเทียน) และระหว่างทาง เขาตกหลุมรักพาเมลา แอนเดอร์สัน ดาราสาวจากหนัง Baywatch จนทำให้เปลี่ยนแผนมุ่งหน้าสู่แคลิฟอร์เนียเพื่อไปขอแต่งงานกับเธอ

ความเป็น Mockumentary หรือสารคดีเชิงเสียดเย้ยของ Borat อยู่ตรงที่ คนบางคนในเรื่องไม่ใช่นักแสดงแต่เป็นคนจริงๆ การเสียดเย้ยเกิดขึ้นทันทีที่เท้าของโบรัตแตะแผ่นดินอเมริกัน เขาพยายามจะหอมแก้มทักทายคนที่นั่นแต่โดนขู่ด้วยหมัดโดยชายกล้ามโต เขาทำอนาจารในที่สาธารณะกับหุ่นโชว์ของร้านค้า และคนแรกที่เขาไปพบก็คือที่ปรึกษาด้านมุกตลกแบบอเมริกัน ที่เอือมระอากับความไม่รู้เดียงสาของเขาที่เห็นว่าการเล่นมุกทางเพศ มุกเหยียดเชื้อชาติและคนพิการเป็นเรื่องปกติ

ความไม่รู้เดียงสาตรงนี้เองที่ทำให้ผู้ชมอดเข้าข้างโบรัตไม่ได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นความไม่อยากจะเอาอะไรมากกับคนแบบนี้ แต่อีกส่วนคือความขบขันอันเกิดจากการที่เขาเปิดเผยค่านิยมที่อยู่เบื้องหลังความถูกต้องทางการเมือง (political correct) ของอเมริกันชน ความจริงที่ว่า มีคนอเมริกันจำนวนมากหัวเราะกับมุกตลกแบบไม่ถูกต้องทางการเมือง (non-pc) เช่นการไปยั่วโมโหเฟมินิสต์ด้วยการบอกว่าสมองผู้หญิงเล็กกว่าผู้ชาย การเชียร์ให้บุชทำสงครามนองเลือดในตะวันออกกลาง หรือการเชิญโสเภณีผิวดำมาในงานเลี้ยงอาหารค่ำแบบเป็นทางการนั้น สะท้อนถึงภาวะที่ความเกลียดชังและแบ่งฝักแบ่งฝ่ายถูกกดทับอยู่ใต้น้ำตาลฉาบเคลือบที่เรียกว่ามารยาท ความสุภาพ ความเป็นสากลแบบอเมริกันชน

“ผมดูเกือบทุกส่วนของหนังโดยมีมือปิดหน้าด้วยความไม่เชื่อสายตา”

– Matthew Lucas จาก The Dispatch

ในทฤษฎีเกี่ยวกับมุกตลก ความขบขันอาจเกิดขึ้นได้จากสองกรณี กรณีแรก คือความขบขันที่เกิดจากความไม่เข้ากัน เช่นการที่เราขำเมื่อเห็นคนใส่ชุดตลกเดินเข้าไปในปาร์ตี้สุดหรู ซึ่งมุกของ Borat ส่วนใหญ่เล่นกับความขบขันในลักษณะนี้ มุกอย่างเช่นการให้โบรัตกับอาซามัตวิ่งเปลือยไล่จับกันเข้าไปในงานกาล่าดินเนอร์ หรือการให้โบรัตพกแม่ไก่ขึ้นไปบนรถไฟใต้ดิน เป็นมุกในลักษณะนี้

แต่กรณีที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ความขบขันอาจเกิดเมื่อเรามีความรู้สึก “เหนือกว่า” ใครสักคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้มีอำนาจในสังคม มุกตลกที่เล่นกับความขบขันแบบนี้ก็เช่นมุกทำให้ตำรวจเจ็บตัว หรือทำอะไรเซ่อซ่าจนเสียการงาน มุกแบบนี้ซ่อนเอาความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างคนขำและคนถูกขำเอาไว้

หลังจากอกหักจากพาเมลา แอนเดอร์สัน โบรัตนอนค้างคืนหน้าสถานที่จัดอีเวนท์รวมตัวของชาวคริสต์ ที่ซึ่งพวกเขามารวมตัวกันร้องเพลง เต้นรำ สวดภาวนา และแสดงให้เห็นถึงพลานุภาพของพระเจ้า โบรัตหลงทางเข้าไปในงานรวมตัวนั้น และเขาก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากคนที่นั่น เขาร้องขอให้คนในนั้นช่วยเหลือเขาจากอาการอกหัก และผู้นำกลุ่มก็ตอบสนองด้วยกระบวนการทางจิตวิทยาที่ดูพิลึกพิลั่น พร้อมทั้งให้เขาท่องบทสวดที่ไม่เป็นคำจนดูน่าขำ การทำให้ผู้นำกลุ่มคริสเตียนดูเป็นตัวตลกเช่นนี้ เป็นการทำให้ผู้ชมรู้สึกเหนือกว่าผู้มีอำนาจทางศาสนา และในทางเดียวกัน เป็นการตีแผ่การถูกกดทับอำนาจของชาวอเมริกันโดยสถาบันทางศาสนา เสียงหัวเราะเป็นเสมือนการปลดปล่อยอำนาจที่ถูกกดทับออกมา และทำให้พวกเขาต่อรองในเชิงตัวตนกับผู้มีอำนาจระดับต่างๆ ในสังคม ในพื้นที่ของเรื่องตลก ซึ่งทำให้โครงสร้างเชิงอำนาจสูญเสียไปแบบไม่เป็นทางการ

“นี่เป็นหนังเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติ ไม่ใช่หนังเหยียดเชื้อชาติ”

– Tom Charity จาก CNN

ในระหว่างการเดินทาง โบรัตได้เจอกับชาวอเมริกันที่อาจใจแคบกว่าเขาเสียอีก ในงานแข่งโรดีโอ เขาเจอชายคนหนึ่งซึ่งบอกว่าคนอเมริกันอาจเหยียดเขาเพราะเขาดูเหมือนคนมุสลิม นอกจากนั้นยังเสนอให้แขวนคอพวกผู้ก่อการร้ายและเกย์ให้หมด ซาช่า บารอน โคเฮน ได้ทำการแสดงที่บ้าและท้าทายมาก เมื่อเขาร้องเพลงชาติอเมริกันด้วยเนื้อร้องใหม่ที่เหยียดหยามว่าประเทศอื่นนอกจากคาซัคสถานนั้น “ล้วนถูกปกครองด้วยเด็กหญิงที่ไม่รู้อะไร”

ความตลกขบขันจาก Borat นั่นแฝงไปด้วยความกระอักกระอ่วน สื่อบางเจ้าบอกว่าโคเฮนนั้นเป็น “ราชาแห่งมุกตลกแบบช็อค” ซึ่งผู้ชมที่นั่งอยู่บนเก้าอี้อาจสั่นเทิ้มได้ทีเดียวเมื่อเจอกับบางมุก สื่อใหญ่อย่าง CNN บอกว่า “Borat ทำให้มารยาททรามๆ กลายมาเป็นศิลปะ” มันทั้งปลดปล่อยและสั่นคลอนคุณค่าของชาวอเมริกันไปพร้อมๆ กัน และเลาะเปลือกแห่งความศิวิไลซ์ที่ฮอลลีวูดสร้างภาพให้อเมริกันเป็นมายาวนานออกไปทีละชั้น

ในฐานะคนนอกที่ไม่ได้อยู่ในสังคมอเมริกัน อาจบอกได้เลยว่าความขบขันส่วนใหญ่มาจากความรู้สึกเหนือกว่า เราได้เห็นว่าชนชาติที่แสนจะภูมิใจกับความถูกต้องทางการเมืองของตนเองอย่างอเมริกันชนนั้นถึงกับไปไม่เป็น และถูกตอกจนหน้าหงายเมื่อเจอกับ “ช่องว่างทางวัฒนธรรมขนาดใหญ่” (คำบัญญัติที่ดูดีสำหรับคำว่า “ความกักขฬะ”) ที่เกิดจากตัวโบรัตเอง ความไม่ถูกต้องทางการเมืองของเขาแพร่ไปในแทบจะทุกเรื่อง ทั้งการแต่งตัว การกิน การพูด หรือการปฏิบัติต่อผู้หญิง เราไม่อาจเจอใครที่แสดงตลกได้อย่างอัจฉริยะเทียบเท่าบารอน โคเฮน ได้ง่ายนัก

ที่น่าสนใจคือเขาใส่ความเกลียดยิวลงไปในเรื่องด้วย ทั้งที่ครอบครัวของบารอน โคเฮนเป็นคนยิว เขาบอกว่าในคาซัคสถานมีงานวิ่งไล่ยิว และกลัวจนลนลานเมื่อพบว่าตัวเองพักอาศัยในบ้านของคู่สามีภรรยาชาวยิวคู่หนึ่ง จนต้องแอบวิ่งหนีไปกลางดึก เขาเดินเข้าไปในร้านขายปืนเพื่อถามหาปืนที่ใช้ฆ่ายิวได้ดีที่สุด น่าแปลกใจที่เจ้าของร้านเสนอตัวเลือกออกมาทันทีโดยไม่ได้กล่าวถึงความเหยียดเชื้อชาติของเขา

ผลตอบรับจากคาซัคสถานต่อหนังเรื่อง Borat ออกมาค่อนข้างหลากหลาย ในช่วงแรกรัฐบาลของคาซัคสถานต่อต้านหนังเรื่องนี้ และขู่จะฟ้องบารอน โคเฮน พร้อมทั้งสั่งปิดเว็บไซต์ปลอมๆ ของเขาเกี่ยวกับคาซัคสถาน คือ www.borat.kz นอกจากนั้นรัฐบาลคาซัคสถานยังออกโครงการหลักล้านชื่อ “Heart of Eurasia” เพื่อสู้กับภาพลักษณ์แบบผิดๆ ต่อประเทศตนเองที่ปรากฏในหนัง อย่างไรก็ตาม Erlan Idrissov เอกอัคราชทูตคาซัคสถานประจำอังกฤษกลับเห็นว่าหนังเรื่องนี้ตลกดี และเขียนว่าหนังเรื่องนี้ “ทำให้คาซัคสถานปรากฏบนแผนที่โลก” นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคาซัคสถาน Yerzhan Kazykhanov ยังกล่าวขอบคุณหนังเรื่องนี้ที่ทำให้มีคนมาท่องเที่ยวคาซัคสถานเพิ่มมากขึ้น

ในหนังภาคต่อของ Borat ที่มีชื่อว่า Borat Subsequent Moviefilm: Delivery of Prodigious Bribe to American Regime for Make Benefit Once Glorious Nation of Kazakhstan โบรัตทำแสบอีกด้วยการเล่นกับประเด็นทางการเมือง เพื่อล้อเลียนโดนัลด์ ทรัมป์ และรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ โบรัตยังคงทำพฤติกรรมต่ำตมต่อไป และบารอน โคเฮน ถึงขั้นต้องปลอมตัวเพื่อเข้าถึงตัวรองประธานาธิบดี หนังออกฉายวันที่ 23 ตุลาคม ทาง Prime Video ส่วน Borat ภาคแรก สามารถชมได้ทาง Netflix


สามารถติดตามข่าวของ Borat ภาค 2 ได้ในบทความ “อเมริกาจ๋า… โบรัตกลับมาเพื่อตัดคะแนน โดนัลด์ ทรัมป์”


อ้างอิง

https://edition.cnn.com/2006/SHOWBIZ/Movies/11/02/review.borat/index.html

https://www.bgdailynews.com/community/borat-delivers-side-splitting-satire/article_9e720eb8-2573-57a2-be70-ee507fdeea79.html

https://www.the-dispatch.com/news/20061109/borat-makes-you-laugh-squirm

Richard Jewell : เขาหาว่าผมเป็นพวกหิวแสง

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1996 จัดขึ้นที่เมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา มีการจัดคอนเสิร์ตเฉลิมฉลอง ณ สวนเซนเทเนียล ปาร์ค ในคืนวันที่ 27 กรกฎาคม ขณะที่ผู้คนมหาศาลกำลังสนุกสนานกับคอนเสิร์ตอยู่นั้น ริชาร์ด จวูลล์ (Richard Jewell) การ์ดรักษาความปลอดภัย พบกระเป๋าเป้ปริศนาใบหนึ่งถูกวางทิ้งไว้ใกล้ๆ ลานคอนเสิร์ต ด้วยสัญชาตญาณจากทักษะที่ได้เรียนรู้มา เขาสงสัยว่ามันอาจจะเป็นระเบิด จึงรีบแจ้งให้หน่วยเก็บกู้ระเบิดเข้ามาตรวจสอบทันที

ระหว่างที่ริชาร์ดกำลังวิ่งวุ่นกับการแจ้งหน่วยเก็บกู้ระเบิดอยู่นั้น ในช่วงเวลาเดียวกันก็มีสายโทรศัพท์ปริศนาโทรเข้าไปแจ้งตำรวจว่ามีระเบิดที่งานคอนเสิร์ต เมื่อหน่วยเก็บกู้ระเบิดมาตรวจสอบก็เป็นไปตามคาด กระเป๋าใบนั้นบรรจุระเบิดไว้จริงๆ ริชาร์ดและการ์ดรักษาความปลอดภัยอีกหลายคนจึงรีบช่วยกันผู้คนให้ห่างจากรัศมีของระเบิด ทว่าต่อมาอีกไม่นานก็เกิดระเบิดขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนับร้อยคน

ริชาร์ดรอดตายมาได้ และถูกสื่อมวลชนยกย่องให้เป็น “ฮีโร่” จากการเป็นผู้แจ้งเบาะแสระเบิด เขากลายเป็นคนดังในชั่วข้ามคืน มีผู้คนแห่แหนห้อมล้อมมากมาย เนื้อหอมถึงขั้นมีสำนักพิมพ์ติดต่อเข้ามาเพื่อจะตีพิมพ์เรื่องราวชีวิตของเขา

แต่แล้วภาพฝันอันหอมหวานก็พังทลายลงในชั่วข้ามคืนเช่นกัน เมื่ออีกไม่กี่วันต่อมา FBI ได้รับแจ้งเกี่ยวกับประวัติอันน่าสงสัยของริชาร์ดจากที่ทำงานเก่าว่า เขามักมีพฤติกรรมแปลกๆ ล้นเกินหลายอย่างแบบคนที่มีปมใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจแต่ไม่ได้เป็น เป็นต้นว่าเคยทำงานเป็น รปภ. แต่มักทำรุนแรงเกินหน้าที่ ผดุงความถูกต้องอย่างเถรตรงไม่ลดราวาศอกประหนึ่งว่าตัวเองเป็นตำรวจ และถึงขั้นเคยถูกจับเพราะแต่งตัวเลียนแบบตำรวจด้วย

หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็พลิกกลับตาลปัตร ริชาร์ดกลายเป็นผู้ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นมือวางระเบิดเสียเอง ด้วยแรงจูงใจว่าอยากเห็นตัวเองเป็นฮีโร่ เมื่อข้อมูลนี้หลุดลอดไปถึงหูสื่อมวลชนที่กำลังหิวข่าวพอดี ริชาร์ดก็ตกเป็นจำเลยของสังคมในทันที ด้วยพลังของการขุดคุ้ยและโจมตีในระดับที่ทำให้ชีวิตของผู้ชายคนหนึ่งแทบจะพังพินาศลง

Richard Jewell (2019) สร้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปี 1996 จากฝีมือการกำกับของ คลินต์ อีสท์วู้ด (Clint Eastwood) ยอดนักแสดงและผู้กำกับลายครามวัย 90 ผู้เคยฝากผลงานระดับขึ้นหิ้งไว้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น The Bridges of Madison County (1995) Mystic River (2003) Gran Torino (2008) ฯลฯ

ก่อนจะไปถึงเหตุการณ์ระเบิดในปี 1996 อันเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง หนังพาเราย้อนกลับไปสำรวจเส้นทางชีวิตของริชาร์ดตั้งแต่ปี 1986 เมื่อครั้งที่เขายังทำงานเป็นเสมียนในสำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง และได้รู้จักกับ วัตสัน ไบรอัน (Watson Bryant) ทนายความฝีมือดี ซึ่งสนิทสนมและถูกชะตากับริชาร์ดมานับแต่นั้น ผู้ซึ่งในอีกสิบปีต่อมาจะได้เป็นทนายความต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับริชาร์ด

ริชาร์ดเป็นชายหนุ่มอ้วนฉุ ซื่อๆ เซ่อๆ อ่อนต่อโลกจนเกือบจะไม่ทันคน มีความเป็นโอตาคุและหลงใหลใฝ่ฝันในอาชีพตำรวจอย่างแรงกล้า พยายามฝึกฝนทักษะทุกอย่างด้วยตัวเองตั้งแต่การยิงปืน ทักษะการรับมือกับเหตุด่วนเหตุร้าย (นั่นทำให้เขาเห็นถึงความผิดสังเกตของกระเป๋าปริศนาที่บรรจุระเบิด) ท่องจำข้อกฎหมายและหลักปฏิบัติต่างๆ ของตำรวจได้ขึ้นใจ ถึงขั้นสะสมปืนและอาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ ไว้เต็มบ้าน พยายามทำงานทุกอย่างที่ใกล้เคียงกับความเป็นตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นเสมียนในสำนักงานทนายความ เจ้าหน้าที่ รปภ. ในวิทยาลัย (ซึ่งถูกไล่ออกเพราะทำเกินกว่าเหตุ) จนกระทั่งจะมารับงานชั่วคราวเป็นการ์ดรักษาความปลอดภัยในงานคอนเสิร์ตดังกล่าว

หนังฉายภาพไปที่ตัวตนของริชาร์ดและความสัมพันธ์ระหว่างเขากับแม่ ความชื่นชมและความภาคภูมิใจในตัวลูกชายเพียงคนเดียวจนเกือบจะล้นเกินของผู้เป็นแม่ การเลี้ยงลูกแบบไข่ในหินที่ทำให้ริชาร์ดกลายเป็นชายหนุ่มที่โตแต่ตัว แต่ไม่เข้าใจความซับซ้อนของโลก ความคิดและทัศนคติที่หล่อหลอมให้เขาเป็นคนเถรตรง ยึดมั่นในความถูกต้อง พร้อมจะช่วยเหลือและปกป้องผู้คน ก็ทำให้ริชาร์ดกึ่งๆ จะหลุดเข้าไปอยู่ในโลกแห่งจินตนาการที่เห็นตัวเองเป็นฮีโร่ มองเห็นตัวเองเป็น “คนดี” ที่กำลังไล่บี้ “คนเลว” เพื่อปกป้องโลก หรือถ้าจะเรียกด้วยคำศัพท์ยอดฮิต ก็อาจพูดได้ว่าริชาร์ดมีพฤติกรรมแบบพวก “จูนิเบียว” หรือ “เบียว” นั่นเอง

พฤติกรรมดังกล่าวของริชาร์ดกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับหน่วยงาน FBI ที่กำลังถูกกดดันอย่างหนักในการควานหาตัวมือวางระเบิด นั่นเพราะมันสามารถเข้ากันได้พอดิบพอดีกับ “ทฤษฎีสมคบคิด” ว่าด้วยมือระเบิดที่จงใจสร้างสถานการณ์เพื่อให้ตัวเองเป็นฮีโร่ (ประกอบกับเคยมีคดีลักษณะนี้ที่เกิดขึ้นจริงแล้วในอดีต) FBI จึงเริ่มจับตาสืบสวนและหาทางวางกับดักต่างๆ เพื่อล่อให้ริชาร์ดเผยพิรุธออกมา

ในท่ามกลางโยงใยของทฤษฎีสมคบคิดที่สร้างขึ้น หนังทิ้งข้อสังเกตสำคัญไว้ให้เราอย่างน้อย 3 ประการคือ ประการแรก เราจะได้รับรู้ตั้งแต่ต้นว่าริชาร์ดไม่ได้ “หิวแสง” อย่างที่ FBI และสื่อมวลชนพยายามจะปั้นเรื่อง เพราะในช่วงหลังเกิดระเบิดใหม่ๆ ที่มีนักข่าวรุมล้อมริชาร์ดและพยายามตั้งคำถามในเชิงชี้นำให้เขาเอาดีเข้าตัวแต่เพียงคนเดียว แต่ริชาร์ดบ่ายเบี่ยงไปตั้งแต่ครั้งแรกแล้วว่าเขาไม่ได้เป็นคนเดียวที่เป็นฮีโร่ของเหตุการณ์นี้ และยกความดีความชอบให้กับเจ้าหน้าที่อีกหลายคนที่เข้ามาช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ

ประการที่สอง ผู้ชมอย่างเราที่ได้เห็นพื้นเพภูมิหลังชีวิตของเขามาแล้ว ย่อมมองเห็นว่าชายหนุ่มอ้วนๆ ซื่อๆ คนนี้แทบจะไม่รู้จักโลกของเล่ห์เหลี่ยมกลโกงอะไรเลย เขามองโลกอย่างเถรตรงเหมือนไม้บรรทัด แทบจะไม่รู้วิธีโกหกเพื่อเอาตัวรอดด้วยซ้ำ เขาอาจมีพฤติกรรม “เบียวๆ” แบบมองเห็นตัวเองเป็นฮีโร่ในโลกจินตนาการก็จริง แต่ไม่ได้มีความคิดซับซ้อนและเหลี่ยมจัดพอจะสร้างสถานการณ์เพื่อเรียกร้องความสนใจให้ตัวเองได้ เขาเพียงทำตามความเชื่อของตัวเองที่ว่า “แค่อยู่ถูกที่ ถูกเวลา และทำสิ่งที่ถูกต้อง” เท่านั้น

เขามองโลกอย่างเถรตรงเหมือนไม้บรรทัด แทบจะไม่รู้วิธีโกหกเพื่อเอาตัวรอดด้วยซ้ำ เขาอาจมีพฤติกรรม “เบียวๆ” แบบมองเห็นตัวเองเป็นฮีโร่ในโลกจินตนาการก็จริง แต่ไม่ได้มีความคิดซับซ้อนและเหลี่ยมจัดพอจะสร้างสถานการณ์เพื่อเรียกร้องความสนใจให้ตัวเองได้

ประการที่สาม คือข้อเท็จจริงที่ว่า FBI ไม่มี “หลักฐาน” อะไรที่จะเอาผิดริชาร์ดได้ นอกเสียจากทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าวและข้อสันนิษฐานลอยๆ เท่านั้น การสืบสวนจึงไม่ใช่การสืบสวน แต่คือการหาทางไล่ต้อนให้ริชาร์ดเข้ามาติดกับดักที่วางเอาไว้ ทั้งการใช้เล่ห์เพทุบายในการสอบปากคำ การหลอกให้เซ็นเอกสาร การตรวจค้นบ้านและยึดอาวุธปืนที่เป็นของสะสมของริชาร์ดไป แม้กระทั่งการปั้นน้ำเป็นตัวว่าเขาเป็นเกย์และมีคู่เกย์เป็นพวกหัวรุนแรงช่วยกันวางระเบิด

ด้วยความศรัทธาในอาชีพตำรวจอย่างแรงกล้า และความไร้เดียงสาไม่ทันคน กลายเป็นจุดอ่อนที่ FBI เล็งเห็นตั้งแต่ต้นและใช้มันทิ่มแทงริชาร์ดอย่างไร้ปรานี ริชาร์ดอาจถูกจับเข้าตะแลงแกงไปแล้วหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทนายความวัตสัน ไบรอัน เขาสอนให้ริชาร์ดรู้จักรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เมื่อถูกตรวจค้นบ้านและถูกสอบปากคำ สอนให้รู้จักระวังคำพูดที่จะส่งผลเสียต่อรูปคดี หนังมีฉากชวนลุ้นระทึกอยู่หลายฉากเมื่อริชาร์ดไม่อาจสงบปากสงบคำตามที่วัตสันบอก จนเกือบจะเผลอพูดในสิ่งที่ FBI วางกับดักเอาไว้ เป็นฉากที่ทั้งชวนให้รู้สึกขบขัน หงุดหงิด และสะเทือนใจกับความไร้เดียงสาของริชาร์ดไปพร้อมกัน

อีกฉากหนึ่งที่สะท้อนประเด็นสำคัญของเรื่องได้ดีคือ ฉากที่ริชาร์ดถูก FBI สอบปากคำว่าเขาเคยอ่านตำราของพวกอนาธิปไตยหรือเคยคบหากับเพื่อนที่เป็นพวก “นอกกฎหมาย” หรือ “ต่อต้านรัฐ” หรือไม่ เพราะในมุมมองของรัฐมักจะมีสมมติฐานว่าคนที่ก่อการร้ายเช่นนี้ (ใช่! ถึงตรงนี้ริชาร์ดถูกกล่าวหาถึงขั้นเป็นผู้ก่อการร้ายแล้ว!) มักจะมีแรงจูงใจจากการเป็นพวกต่อต้านรัฐ ความตลกร้ายของฉากนี้จึงอยู่ตรงที่ว่านอกจากริชาร์ดจะไม่ใกล้เคียงกับการเป็นพวกต่อต้านรัฐแล้ว กลับเป็นเขาเองที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐเสมอมา ดังที่เขามักจะพูดกับเจ้าหน้าที่ว่า “ผมเองก็เป็นผู้รักษากฎหมาย”

ริชาร์ดคือตัวแทนของคนที่ศรัทธาในระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างแรงกล้า แต่กลับตกเป็นเหยื่อความฉ้อฉลของมันเสียเอง เขาพยายามจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองด้วยการให้ความร่วมมือกับ FBI ทุกอย่าง อดทนยอมรับชะตากรรม แก้ต่างให้ความอยุติธรรมทุกอย่างที่คนเหล่านั้นกระทำต่อตนเอง ส่วนหนึ่งเพราะเขามองว่าตัวเองก็เป็น “พวกเดียวกัน” กับคนเหล่านั้น (แม้เขาจะรู้สึกอยู่ลึกๆ ว่าคนเหล่านั้นมองเห็นเขาเป็นแค่ตัวตลกก็ตาม) จนกระทั่งมีฉากหนึ่งที่ผู้เป็นแม่ต้องระเบิดอารมณ์เพื่อเตือนสติว่า เมื่อไหร่ลูกจะเลิกแก้ต่างให้พวกเขาเสียที

ริชาร์ดคือตัวแทนของคนที่ศรัทธาในระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างแรงกล้า แต่กลับตกเป็นเหยื่อความฉ้อฉลของมันเสียเอง

เรื่องราวที่เกิดขึ้นกลายเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับริชาร์ด ที่ทำให้เขา “ตาสว่าง” มองเห็นด้านมืดและแง่มุมฉ้อฉลของระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น นอกจากเขาจะไม่ได้เป็น “ส่วนหนึ่ง” ของมันแล้ว เขายังเป็น “สิ่งแปลกปลอม” สำหรับมันอีกด้วย บทเรียนดังกล่าวตกผลึกในการให้ปากคำครั้งสำคัญในตอนท้ายเรื่องว่า หากคนแบบเขาถูกดำเนินคดี ต่อไปก็จะไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนไหนกล้าทำสิ่งที่ถูกต้องเช่นนั้นอีก เพราะกลัวว่าจะต้องลงเอยแบบริชาร์ด จวูลล์

คำพูดดังกล่าวสะท้อนว่าแม้เขาเองจะตกเป็นเหยื่อของกฎหมาย แต่เขาก็ยังเชื่อมั่นศรัทธาในตัวมันอยู่อย่างเต็มเปี่ยม คำพูดดังกล่าวคือการเตือนสติเจ้าหน้าที่ว่าหากกระบวนการยุติธรรมไร้ความเที่ยงธรรม ท้ายที่สุดแล้วก็จะไม่มีใครเชื่อมั่นในตัวมันอีก แม้กระทั่งคนซื่อๆ เซ่อๆ อย่างริชาร์ด จวูลล์

เข้าป่าหาขุมทรัพย์ภาพยนตร์ที่ “หนังสั้นมาราธอน 2020” (ตอนที่ 1)

“หนังสั้นมาราธอน” (Marathon Short) คือกิจกรรมเบิกโรงที่กลายเป็นประเพณีของ “เทศกาลภาพยนตร์สั้น” (Thai Short Film and Video Festival) เทศกาลหนังที่ถือเป็นก้าวสำคัญของคนทำหนังกับบุคลากรในวงการภาพยนตร์ไทยรุ่นปัจจุบันจำนวนมาก ซึ่งจัดต่อเนื่องอายุยืนผ่านทุกความท้าทายมาถึงปีที่ 24 แล้ว – อายุยืนกว่าเทศกาลภาพยนตร์ใดๆ ก็ตามที่เคยจัดขึ้นในประเทศไทย

จริงอยู่ที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นได้เปิดพื้นที่และมอบรางวัลให้หนังสั้นไทยอย่างครอบคลุม ทั้งหนังสั้นของบุคคลทั่วไป นักเรียน นักศึกษา แอนิเมชั่น สารคดี ไปจนถึงหนังขนาดกลางและหนังยาว แต่ในเมื่อทุกรางวัลย่อมต้องผ่านกระบวนการคัดกรอง ทั้งเลือกผู้เข้าชิงและเลือกผู้ชนะ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่หนังอีกหลายร้อยเรื่องต้องจบเส้นทางลงก่อนใครเพื่อน อาจสูญหายไปจากการรับรู้ หรือหลุดรอดการบันทึกจดจำไป

หนังสั้นมาราธอนจึงถือเป็นพื้นที่ของประสบการณ์พิเศษ เมื่อหนังไทยทุกเรื่องที่ลงทะเบียนเข้าประกวดจะได้รับการจัดฉายสู่สาธารณะ ก่อนประกาศผลคัดเลือกผู้เข้าชิงประจำปีในแต่ละสาขา

หลายคนอาจสงสัยว่าเราจะดูหนังตกรอบไปเพื่ออะไร คำตอบก็คือโลกของภาพยนตร์ไม่ได้ดำรงอยู่แค่เพราะผลงานที่ผ่านการคัดเลือกหรือเป็นผู้ชนะ รสนิยมของคนดูไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับกรรมการผู้คัดเลือกตัดสินลงคะแนน พื้นที่อย่างหนังสั้นมาราธอนที่ไม่ถูกจำกัดด้วยมาตรวัดด้านศิลปะภาพยนตร์ หรือกระทั่งการจำแนกจัดชุดแบ่งโปรแกรม คือพื้นที่ของความหลากหลาย ความเป็นไปได้ และความท้าทายที่กระตุ้นให้เราเปิดรับหรือมองเห็น

การฉายโดยเรียงตามลำดับตัวอักษร เปิดโอกาสให้หนังที่นักเรียนมัธยมทำเพื่อส่งครูหรือเล่นสนุกได้ฉายวันเดียวกับหนังที่ไปเฉิดฉายในเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก หนังบ้าเลือดหลุดโลกจากอำเภอห่างไกลได้ฉายถัดจากหนังนักศึกษาที่ใครๆ ต่างลงมติให้เป็นอนาคตของวงการ หนังรณรงค์สร้างคนไทยคนดีฉายชั่วโมงเดียวกับหนังที่ถ้าส่งเซ็นเซอร์คงถูกแบนตั้งแต่วินาทีแรก ได้ดูหนังหรือสารคดีขนาดยาวที่คงไม่มีโรงหนังกระแสหลักยอมฉาย และหลายครั้งเราได้ค้นพบเสียงหรือเรื่องราวใหม่จากผลงานของคนทำหนังชาติพันธุ์ที่ไม่พูดภาษาไทย สุนทรียะทดลองท้าทายสุดขั้วของคนทำหนังบ้านๆ ที่แม้แต่แกลเลอรี่ศิลปะยังลังเล หนังที่ไม่มีหน้าที่อะไรเลยนอกจากตอบสนองความชอบหรือบำบัดจิตใจผู้สร้าง หรือภาพจากกล้องราคาถูกที่ผิดทุกตำราแต่กลับสนทนากับสังคมหรือแสดงศักยภาพได้น่าทึ่ง

นี่คือสิ่งที่อัลกอริธึมของ YouTube, Facebook หรือ Vimeo ก็ให้ไม่ได้ เพราะมันพยายามเรียนรู้ เอาใจ และพะเน้าพะนอเรามากเกินไป

แน่นอนที่สุดว่าบทความชุดนี้ไม่สามารถกล่าวถึงหนังทุกเรื่องที่ฉายได้ จึงขอหยิบยกเฉพาะผลงานที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะในด้านคุณภาพ ประเด็นเนื้อหา ความท้าทายหลุดโลก หรือภาษาหนัง มานำเสนอต่อผู้อ่านให้ครอบคลุมมากที่สุด (รวมถึงชี้ช่องทางรับชมออนไลน์ ในกรณีที่เผยแพร่แบบสาธารณะอยู่แล้ว หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงาน) – ต้องขออภัยล่วงหน้าหากคลาดสายตาหรือตกหล่นผลงานบางส่วนไปบ้าง เนื่องจากตารางฉายที่ไม่สอดคล้องกับตารางชีวิตของผู้เขียน แต่หากมีโอกาสได้รับชมย้อนหลังผ่านช่องทางอื่น ย่อมถือเป็นเรื่องน่ายินดี


2020
(กฤษดา นาคะเกตุ)

ด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่เปลี่ยนชีวิตผู้คนรุนแรงลึกซึ้งและยืดเยื้อ หนังสั้นมาราธอนประจำปี 2020 จึงได้มีโอกาสฉาย “หนังสั้นโควิด” จำนวนมาก ที่เป็นทั้งปฏิกิริยาฉับพลันและบันทึกประวัติศาสตร์ผลกระทบของมาตรการกักตัวล็อคดาวน์เคอร์ฟิว (+ พรก.ฉุกเฉิน ที่ไม่ได้ใช้ควบคุมโรค) นอกเหนือจากโปรเจ็คต์ทางการอย่าง กักตัว Stories และ Thailand Covid Film Festival

ในกลุ่มหนังปฏิกิริยาฉับพลัน (ถ่ายหรือทำเสร็จในช่วงล็อคดาวน์) ซึ่งส่วนใหญ่คนทำคว้ากล้องออกไปเก็บภาพหรือแสดงความรู้สึกในขณะนั้นทันที สารคดีสั้นเรื่อง 2020 ของผู้กำกับภาพดาวรุ่ง กฤษดา นาคะเกตุ อาจถือเป็นหนึ่งในผลงานโดดเด่นที่สุด เพราะหนังที่มองผิวเผินคล้ายสไลด์โชว์ภาพกรุงเทพฯ ยามราตรีที่สงบเงียบเรื่องนี้ ได้บันทึกภาพของเมืองหลวงที่หยุดนิ่ง สายตาแหลมคมของกฤษดาจ้องลึกลงไปในรายละเอียด ผ่านความสวยงามของการดีไซน์เฟรมภาพไปถึงประตูบานเฟี้ยมของร้านค้าที่ปิดสนิท และชีวิตผู้คนที่แทบไม่ปรากฏความเคลื่อนไหว รวมถึงองค์ประกอบซ่อนนัยในภาพที่ทำให้คีย์เวิร์ดสำคัญในเรื่องย่ออย่าง “มลพิษฝุ่นควัน” ไม่ได้หมายถึงแค่โคโรน่าไวรัสหรือฝุ่น PM 2.5

ดูได้ที่:



After a Long Walk, He Stands Still
(กันตาภัทร พุทธสุวรรณ)

หากไม่นับหนังสงครามที่มุ่งขายฉากรบอลังการกับหนังประกวดโครงการคนดีที่ต้องเทิดทูนทุกสถาบันจารีต น้ำเสียงหลักของหนังสั้นไทยที่เล่าเรื่องทหาร (แบบตรงๆ) ในช่วงไม่กี่ปีหลังคือการเสียดสีประชดแดกดัน – After a Long Walk, He Stands Still จึงโดดเด่นเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมกลุ่ม เพราะหนังเล่าเรื่องทหารเกณฑ์สัญชาติไทยด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่งจริงจัง และต่อยหนักผ่านภาพคลีนๆ คมๆ ที่ชวนให้นึกถึงวิธีการของ ดินไร้แดน (นนทวัฒน์ นำเบญจพล, 2019)

ธงกับต้อมเป็นวัยรุ่นชนบท ทหารเกณฑ์ผลัดใหม่ล่าสุด และคู่เพื่อนสนิท แต่ความสัมพันธ์เริ่มมองหน้ากันไม่ติด เมื่อวันหนึ่งฝ่ายหลังตัดสินใจหนีออกจากค่ายทหาร การลงโทษแบบรวมหมู่ที่ไม่เคยมีเหตุผลรองรับของครูฝึกบีบให้ธงต้องยอมพูดความจริง คืนนั้นต้อมถูกลากกลับมาซ่อมที่ค่าย กลายเป็นแกะดำประจำหมู่ ส่วนธงเริ่มถูกทหารรุ่นพี่ตีสนิทดึงเข้ากลุ่ม แล้วเตรียมปั้นให้ได้อวยยศ(ในทางปฏิบัติ)เป็นทหารรับใช้บ้านนายพล – หนังร้อยเรียงประเด็นที่ล้วนสืบสาวราวเรื่องกลับไปถึงข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพ ทั้งอำนาจนิยมเผด็จการ ลำดับชั้นต่ำสูง ความรุนแรง และสภาวะลอยตัวเหนือการตรวจสอบ ไม่จำเป็นต้องใช้ภาพเสียดแทงใจให้คนดูต้องเบือนหน้าหนีอย่างข่าวทหารตายปริศนา เพราะการที่เรายังจ้องตาเด็กหนุ่มบ้านจนซึ่งกำลังถูกอำนาจและเงื่อนไขบิดผันให้เขาต้องจำใจอ่อนข้อ มันเสียดแทงยิ่งกว่า

ดูได้ที่:

🏆 เข้ารอบสุดท้ายรางวัลช้างเผือก (ภาพยนตร์สั้นระดับนักศึกษา) 🏆



Beside the Railway Track
(วัชรพงษ์ ภูคำ)

Beside the Railway Track แบ่งเรื่องเล่าของตัวเองเป็นสองภาค กินเวลารวมกันเพียงไม่ถึง 15 นาที จับโฟกัสเรื่องราวเพียงสองตำแหน่งสั้นๆ หากทำให้ผู้ชมมองเห็นชีวิตของครอบครัวในชุมชนริมทางรถไฟได้หนักแน่น ด้วยวิธีการทางภาพยนตร์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมอย่างได้ผล – ชีวิตหยุดนิ่งของลูกชายพิการบนรถเข็นที่ต้องพึ่งเครื่องมือทางการแพทย์ แย้งตัดรุนแรงกับภาพเคลื่อนไหวที่แม่นั่งมอเตอร์ไซค์แล้วถ่ายมาให้เขาดู โดยเฉพาะเมื่อภาพที่คนดูได้เห็นคือริ้วรอยดิจิตอลแตกพร่าของวิดีโอไฟล์ .3gp ที่ถูกขยายใหญ่ขึ้นจอฉายแบบ HD นั่นคือความนิ่งงันแห่งชีวิตของครึ่งแรก ในขณะที่ครึ่งหลังเป็นภาพวัตถุในบ้านของชายที่ถูกจับชีวิตไปหยุดนิ่งอยู่ในห้องขัง เสียงเล่าเรื่องของคนในบ้านและรอบบ้านที่ยังอยู่ในชุมชนเล่าเรื่องเขาปะปนไปกับชีวิตประจำวัน คนรุ่นแม่ทอดปลากับเตาน้อย เด็กๆ วิ่งขึ้นลงชานบันได ตัดสลับกับข้าวของเครื่องใช้และบรรดาเอกสารราชทัณฑ์

หนังสั้นไทยที่บันทึกภาพชุมชนแออัดมีไม่น้อย ที่เล่าเรื่องความยากจนก็มีให้เห็นอยู่ต่อเนื่อง แต่น้อยเรื่องจะเลือกเล่าด้วยวิธีการนี้ได้อย่างทรงพลัง หลุดพ้นจากทั้งกับดักของความแค้นเศร้ากลัดหนองที่ขับเน้นความยากไร้ และสุนทรียะอย่างวิจิตรภาพยนตร์ที่บางครั้งก็เผลอไผลไปรีดเค้นความงามเอาจากความขัดสนของคนอื่น  

ดูได้ที่:

🏆 เข้ารอบสุดท้ายรางวัลดุ๊ก (ภาพยนตร์สารคดี) 🏆



Digital Funeral: Beta Version
(สรยศ ประภาพันธ์)

สารคดีส่วนตัวขนาดสั้นกรุบ (5 นาทีครึ่ง) กับการตั้งกล้องถ่ายตัวเองของคนทำหนังที่คงทำให้คนดูเสียงแตกไม่ใช่เล่น บางส่วนอาจบริภาษว่าช่างเป็นความหมกมุ่นหลงตนอย่างศิลปินอินดี้ที่ไปไม่ถึงไหน เพราะการครุ่นคิดถึงตัวเองกับความตายนั้นมักถูกศิลปินหยิบมาสร้างเป็นผลงานอยู่เนืองๆ แถมหลายคนในสาขาอื่นก็ช่างคิดช่างทำได้สุดแสนอลังการ แต่อีกส่วนก็คงชื่นชอบความเศร้าลึกๆ ของงานศพฉบับดิจิตอลเวอร์ชั่นทดลองของ สรยศ ประภาพันธ์ เพราะมันกำลังบอกว่าท้ายที่สุดแล้ว ไฟล์ในคอมพ์กับข้าวของในห้องส่วนตัวอาจพูดถึงหรือบอกตัวตนศิลปินได้ดีกว่าผลงานของศิลปินเอง

ด้วยเป็นหนังสั้นกรุบที่ออกเดินสาย ผมเลยมีโอกาสได้ร่วมงานศพสรยศหลายรอบหน่อย (หนังฉายออนไลน์เวิลด์พรีเมียร์ที่โลการ์โน และเข้าประกวดที่เทศกาลหนังอาเซียนกรุงเทพฯ) ดูจบแต่ละครั้งก็ชอบน้อยลงเรื่อยๆ เพราะหนังยังไม่ได้ให้เราได้สัมผัสการเข้าร่วม “นิทรรศการ” ของจริงมากนัก น่าสนใจว่าสรยศจะทำแบบไหนและคนดูจะรู้สึกอย่างไรกับงานศพเวอร์ชั่นที่พ้นจากคำว่า beta – หรือเราจะรู้สึกอะไรถ้าได้ลองร่วมงานศพผ่านแว่น VR จริงๆ (เพราะหนังถ่ายทำด้วยกล้อง VR) ไม่ใช่การตัดเลือกมุมหนึ่งจาก 360 องศามาเพื่อเล่าแบบหนังสองมิติจอเดียว

🏆 เข้ารอบสุดท้ายรางวัลรัตน์ เปสตันยี (ภาพยนตร์สั้นระดับบุคคลทั่วไป) 🏆



Blooms
(ศุภามาศ บุญนิล)

หนังสั้นเรื่องใหม่ของผู้กำกับ พญาวัน (2019, ชนะเลิศรางวัลช้างเผือก เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 23 / เข้าชิงหนังสั้นยอดเยี่ยมระดับนักเรียน-นักศึกษา ชมรมวิจารณ์บันเทิง) คว้ารางวัลที่หนึ่งจากโครงการ Lo Fi Short Film (หนังติดบ้านแบบโก๋ๆ) ที่จัดชึ้นในช่วงล็อคดาวน์ได้อย่างสมราคา เพราะ ศุภามาศ บุญนิล ใช้เวลาเพียง 10 นาที บันทึกช่วงเวลาติดบ้านไว้ได้อย่างนุ่มนวล ทั้งในมุมส่วนตัวและสะท้อนสังคม

Blooms ละเลียดเล่าหนึ่งบ่ายของพี่สาว content creator กับน้องชายคนสนิท (ที่เธอดึงมาเป็นลูกมือถือกล้อง) บนรถยนต์ที่ต้นไม้เพื่อการเยียวยาชีวิตติดบ้านแน่นเต็มเบาะหลัง เธอมีคิวสัมภาษณ์ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการล็อคดาวน์เคอร์ฟิว เมื่อเลยเวลานัดแล้วตามตัวซับเจ็คต์ไม่พบ เสี้ยวส่วนของบางความรู้สึกจึงค่อยๆ แย้มกลีบแสดงตน ด้วยน้ำหนักมือที่เหมาะสมของคนทำหนัง แม้ความสิ้นหวังยากแค้นของบางชีวิตจะกดทับบางเสียงจนเงียบสนิท หนังกลับทำให้รู้สึกถึงประกายจากอนาคตไกลๆ หลังวิกฤติ โดยไม่ใช่ความรู้สึกโลกสวยไม่แยแส แต่เป็นความหวังที่แฝงอยู่ในเสียงเพลงของคนยากในสารคดีกัมพูชาที่เธอเคยดู และวันที่เธอจะตอบรับคำชวนของเขาเมื่อโรงหนังกลับมาเปิดอีกครั้งหนึ่ง มันเบาบาง แต่ก็เป็นความหวังจริงๆ แบบนั้นเอง

ดูได้ที่นี่



Blur Happy, Blur Sad
(วีระ รักบ้านเกิด)

วีระ รักบ้านเกิด คือผู้กำกับ auteur ประเภทที่คุณจะพบได้ในหนังสั้นมาราธอนเท่านั้น – เขาทำหนังส่งเทศกาลภาพยนตร์สั้นปีละเรื่อง ต่อเนื่องติดต่อกันมาแล้วเกินสิบปี หนังทุกเรื่องถ่ายแบบง่ายๆ ในบ้าน ใช้กล้องเก่าตัวเดิมจากสมัยที่โลกยังไม่รู้จัก 1080p เริ่มต้นที่ห้องนอนเดินคร่ำครวญไปรอบบ้านแล้วกลับไปจบที่เตียง ตัดแบบง่ายๆ ชนิดที่ต่อให้มีลายน้ำโปรแกรมโหลดฟรีติดมาก็ช่างมัน ว่ากันว่าวีระทำหนังเรื่องแรกๆ เพราะอกหัก และก็ว่ากันว่าช่วงหลังเขาแกงตัวเองเป็นพิธีกรรมประจำปีมากกว่าอกหัก สิ่งที่ทำให้แฟนหนังสั้นจำนวนหนึ่งเฝ้ารอคือมุขคลั่งรักแบบที่ไม่มีใครกล้าเล่น และเมื่อเล่นได้ถูกคีย์ด้วยจังหวะเฉพาะตัว สิบไดโนเศร้าก็ต้องพ่าย

หนังของเขาล้อสูตรอินดี้มาตั้งแต่คนดูหว่องกาไวแบบเถื่อน ตั้งแต่ยังไม่มีใครแซะมุราคามิ ล้อคำคมความรักมาตั้งแต่โลกยังไม่มีเฟซบุ๊ก ล้อไลฟ์โค้ชมาตั้งแต่โค้ชเงินล้านคนแรกน่าจะมีเงินไม่ถึงหมื่น ล้ออาการจมปลักตั้งแต่การมูฟออนยังไม่เป็นวงกลม – เหยื่ออันโอชะของ Blur Happy, Blur Sad คือ Tenet (คริสโตเฟอร์ โนแลน, 2020) เมื่อวีระพยายามบอกตัวเองในอดีตว่าอย่าไปอ่านนิตยสาร Bioscope (ซึ่งปิดตัวไปแล้ว แต่เขายังอยู่) เพราะมันจะเกิด passion ฝังลึกจนต้องทำหนังปีละเรื่องหยุดไม่ได้ ยืดเยื้อยาวนานมาถึงปีที่ต้องใส่หน้ากากกันโควิดให้โปสเตอร์น้องๆ BNK48 เนี่ย!



Capital of Mae La
(นวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา)

Capital of Mae La คือชื่อเรื่องดั้งเดิมของ Space of Refuge หนึ่งในผู้เข้าชิงชมรมวิจารณ์บันเทิง สาขาภาพยนตร์สารคดีสั้นยอดเยี่ยม หนังถือกล้องเข้าแดนสนธยาที่เปรียบเสมือนนครหลวงของเครือข่ายค่ายผู้อพยพที่ตั้งอยู่ชายแดนไทยพม่ามาร่วมชั่วอายุคน ถ่ายทอดชีวิตร่วมสมัยของผู้อพยพกับผู้ลี้ภัยในค่ายแม่หละ เจาะประเด็นซับซ้อนได้เปี่ยมชีวิตชีวา (พฤติการณ์ของทางการไทย -สร้างความกลัวให้คนในค่ายฯ หลังรับรู้การมีอยู่ของหนังเรื่องนี้- คือเหตุที่ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อลดแรงต้านไประยะหนึ่ง ก่อนกลับมาใช้ชื่อเดิม)

หนังช่วยเปิดโลกให้ผู้ชมที่อาจยังเผลอจำภาพผู้อพยพจากหลายทศวรรษก่อน แน่นอนว่าหนังยังพูดถึงปัญหาสัญชาติกับการรอสถานะผู้ลี้ภัยจากประเทศที่สาม สิทธิในการเดินทาง และการศึกษาหรือรักษาพยาบาลที่ขาดแคลน แต่บริบทโลกปัจจุบันก็ทำให้ความซับซ้อนของปัญหาเหล่านี้เปลี่ยนไปมาก เราได้พบครอบครัวชาวกะเหรี่ยงที่ปฏิเสธเสียงแข็งถึงข้อเสนอให้กลับเมียนมาร์ เด็กสาวมีฝันที่ผลักดันตัวเองจนได้เรียนเซนต์โยเซฟ ล่ามของผู้กำกับที่ฝึกใช้กล้องจากหนังสือกับเน็ต กลุ่มแร็ปเปอร์กะเหรี่ยงที่ทำเพลงกับเอ็มวีลง YouTube พร้อมเชื่อมต่อเครือข่ายแวดวงชาวกะเหรี่ยงที่ทำเพลงเหมือนกันในแดนอื่น และศาสตราจารย์นิวเคลียร์ฟิสิกส์ที่ติดรูปนักปฏิวัติฝ่ายซ้ายไว้เต็มบ้าน – ชีวิตและเรื่องราวของพวกเขาคือเครื่องยืนยันว่าองค์ความรู้เก่าเดิมนั้นแข็งทื่อล้าสมัยเพียงใดในการรับมือหรือคลี่คลายปัญหาซับซ้อนของพื้นที่แห่งนี้



Dead_Pixel
(อุกฤษฎ์ มาลัย)

หากย้อนเทียบกับสมัยที่หนังสั้นไทยยังต่อต้านการฆ่าตัวตายแบบบ้องตื้น (รักพ่อแม่สิ, มีเพื่อนนะ, ธรรมะสวัสดี ฯลฯ) ก็ต้องถือว่าความตระหนักรู้องค์รวมเรื่องนี้ได้ก้าวหน้ามาไกล แต่เมื่อตัวประเด็น -โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับโรคซึมเศร้า- ถูกหยิบยกมาเล่าบ่อยจนกลายเป็นธีมร่วมหรือ “เทรนด์” ที่ดูทันสมัย หลายครั้งจึงพบว่าหนังจำนวนมากในกลุ่มนี้ขาดความจริงใจแม้จะทำด้วยเจตนาดี – น่ายินดีที่ Dead_Pixel ไม่ติดกับดักนั้น

อุกฤษฎ์ มาลัย คลี่คลายความรู้สึกที่หนังต้องการสำรวจได้อย่างมีมิติ (เขาอุทิศหนังเรื่องนี้ให้เพื่อนที่เสียชีวิต) ผ่านการเล่าเรื่องโดยใช้นักแสดงและ pixel animation ตัวละครเอกของเรื่องเพิ่งทราบข่าวการฆ่าตัวตายของรุ่นน้อง ในขณะที่ตัวเองกำลังสับสน หนังฉลาดใช้ทั้งสองส่วนสะท้อนกระบวนการคิดเพื่อหาคำตอบ และซื่อสัตย์พอที่จะไม่ปิดบังว่าตัวละครจมดิ่งลงไปได้มากแค่ไหน อะไรทำให้เธออยากตาย อะไรทำให้ตัวตนของเธอกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญต่อโลก – ปลายทางหรือความสำเร็จของหนังไม่ใช่คำตอบตายตัวที่รอวันถูกค้นพบ แต่คือการก้าวเข้าไปสำรวจความบุบสลายของมนุษย์ ทั้งของคนที่จากไปแล้วหรือยังอยู่เพื่อเผชิญคำถาม อย่างเคารพให้เกียรติทั้งต่อตัวตนและการตัดสินใจของพวกเขา

🏆 เข้ารอบสุดท้ายรางวัลรัตน์ เปสตันยี (ภาพยนตร์สั้นระดับบุคคลทั่วไป) 🏆



Junk Food Fable
(ธีรภาส ว่องไพศาลกิจ)

ด้วยการใช้เสียงทดลองที่ท้าทาย หนังสั้นทุกเรื่องของ ธีรภาส ว่องไพศาลกิจ หรือ Beam Wong มีลายเซ็นชัดเจนเป็นเอกลักษณ์มาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ซึ่งทำให้เพื่อนในแวดวงกับคนทำหนังสั้นรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งไว้ใจดนตรีประกอบฝีมือเขา – เลยค่อนข้างแปลกใจเมื่อพบว่า เกือบตลอดระยะเวลา 63 นาทีในหนังยาวเรื่องแรกอย่าง Junk Food Fable (รวมถึง MGB: Softwhere (2018) หนังสั้นที่เป็นปฐมบทของเรื่องนี้) ถูกยึดครองด้วยเสียงเงียบ

“นิทานอาหารขยะ” แย้มตัวตนว่าเล่าถึงค่ำคืนที่กาลเวลาบิดผัน เมื่อนาทีของชั่วโมงยังคงเดินหน้าทว่าไม่ยอมเข้าสู่เที่ยงคืนของวันใหม่ เป็นเรื่องย่อของหนังสั้นที่ซ้อนอยู่ในเรื่อง แต่เมื่อหนังสั้นเรื่องนั้นจบลง ชีวิตของตัวละครก็ยังคงค้างอยู่วันเก่า ไม่เพียงถูกกลืนกินด้วยรัตติกาลที่เอ่อล้นล้ำล่วงเรื่องจริง (ภายใต้ชื่อตัวละครที่ใช้ชื่อจริงของนักแสดง) ตัวตนใบหน้าของพวกเขายังแตกกลายเป็นอื่นอย่างช้าๆ จากตัวละครที่กินอาหารขยะพร้อมสูดดมฝุ่นพิษ สู่ผู้กำกับหนังอาร์ตกับเพื่อนนักแสดงที่เธอเจอในร้านกาแฟ สู่สามสาวไอดอล (ที่ดูเย็นยะเยือกมากกว่าสดใส เป็นดิจิตอลมากกว่าคน) ในโลกที่ทุกคนต่างโง่ น่ารำคาญ ไร้แก่นสาร และพร้อมฉวยชิงคำอธิบายตัวตนทั้งเก่าใหม่ของเราไป

ในโลกประหลาดที่ทุกสิ่งเดินหน้าแต่ไม่ไปไหน ไม่มีปลายทางที่ใกล้ใจเท่าเรื่องชวนฝันอย่างวันที่ฝนตกลงมาเป็นแสง เราต่างพยายามหรือกลายเป็นคนอื่น และคนอื่นเหมือนจะเป็นเราได้ง่ายดาย บ้างได้ความฝันเราไปทั้งที่ไม่เคยฝันถึง เลื่อนเปลี่ยนเวียนสถานะจนกลายเป็นสิ่งไล่เลี่ยกัน อย่างเฟรนช์ฟรายส์หรือหอมทอดจิ้มซอสมะเขือเทศ

ดูได้ที่: (ราคา $1.99)

https://vimeo.com/ondemand/junkfoodfable

              🏆 เข้ารอบสุดท้ายรางวัล Digital Forum (ภาพยนตร์ที่มีความยาวเกิน 30 นาที) 🏆



Based on My Mind Story | เมื่อเข็มนาฬิกาชี้เลขสิบสาม
(กรภัทร์ จีระดิษฐ์)

ปกติแล้ว ผลงานระดับมัธยมที่ได้ฉายในหนังสั้นมาราธอน ถ้าไม่ใช่หนังประกวดชิงรางวัลที่มีครูหรือโรงเรียนสนับสนุน ก็จะเป็นหนังทำเพื่อพรีเซนต์ในวิชาเรียน หนังทำเอาฮา หนังรักใสๆ ที่ยังอินโนเซนต์ หรือหนังคัลต์แอ็คชั่นแบบทำเอามัน (อาจยกเว้นบางชื่อที่แตกต่าง เช่น จุฬญาณนนท์ ศิริผล, ธีรัช หวังวิศาล, ธีรพัฒน์ งาทอง) – หนังยาว 64 นาทีและเล่าเรื่องไม่ลำดับเวลาอย่าง Based on My Mind Story จึงไม่ใช่จะพบกันได้บ่อยๆ

ตัวหนังยังไม่ถึงขั้นสมบูรณ์เพียบพร้อม (ยังมีฉากเชยๆ ประเภท “เขียนบทหนังไปเสนอนายทุน” หรือฉากยิงกันอุตลุดแบบมัธยมอยู่) แต่เป็นหลักฐานของความทะเยอทะยานด้านบวกและการเสพภาพยนตร์อันหลากหลาย ซึ่งอาจสะท้อนเทรนด์หนังที่คนรุ่นเดียวกันสนใจหรือยกย่องเชิดชู ทั้งการเล่าเรื่องไม่ลำดับเวลา เหลื่อมซ้อนโลกจริง บทภาพยนตร์ ความฝัน จินตนาการ (ชื่อหนังภาษาอังกฤษตั้งใจล้อกับ Based on True Story – เมื่อพระเอกของเรื่องเขียนบทหนังจากชีวิตรักของตัวเอง หนังจึงเล่าซ้อนกันไปทั้งเรื่องจริง เรื่องในบท และเรื่องในใจที่ยังไม่ได้เขียนออกมาเป็นบทภาพยนตร์) ซึ่งเป็นส่วนผสมที่หยิบจับมาจากของความอหังการ์อย่าง Christopher Nolan ความซับซ้อนเจ็บๆ ของ Charlie Kaufman หรือความหวานเหวอๆ แบบ Michel Gondry มาผสมผสานเข้ากับวิธีคิดตัวละครแบบหนังรักนักเรียนมัธยมไทย



Ghosts
(อนันตา ฐิตานัตต์)

น่าเสียดายที่หนังการเมืองในมาราธอนปีนี้คงไม่ร้อนแรงเท่าวิวาทะออนไลน์หรือการปราศรัยในพื้นที่ชุมนุม เพราะเทศกาลฯ หมดเขตรับสมัครเมื่อช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม เพียงสามอาทิตย์หลังประกาศ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ธรรมศาสตร์ สองสัปดาห์เศษก่อนปักหมุดคณะราษฎร 2563 ที่สนามหลวง เดือนครึ่งก่อนกรณีขบวนเสด็จกับการสลายชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและแยกปทุมวัน ประเด็นกับน้ำเสียงในภาพรวมจึงคาบเส้นอยู่ระหว่างช่วงเวลาฝ้าต่ำกับวันที่ไม่เหลือเพดานอีกต่อไป – ความน่าตื่นเต้นของจริงอาจคือปีหน้า ถ้าเราได้ดูผลงานจากคนทำหนังที่ฝังตัวอยู่ในม็อบ รวมถึงเสียงที่อาจเปลี่ยนไปของหนังเยาวชน หลังการประท้วงแสนแสบของกลุ่ม “นักเรียนเลว”

Ghosts บันทึกช่วงเวลาหนึ่งของวันที่ 16 สิงหาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (การชุมนุมใหญ่ครั้งแรกหลังปรากฏข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์) ผู้กำกับติดตามสมาชิกของคณะละคร B-Floor Theatre ตั้งแต่ก่อนการชุมนุม บันทึกภาพขณะพวกเขาเริ่มลงมือทำเสื้อผ้า อุปกรณ์ประกอบฉาก จำบท และฝึกซ้อมการแสดงละครหน้ากากเรื่อง “ปีศาจ” ไปจนถึงวันที่พวกเขากลายร่างเป็นตัวละคร เหล่าปีศาจจากตัวอักษรของ เสนีย์ เสาวพงศ์ และขึ้นแสดงบนเวทีใหญ่ต่อหน้าปีศาจแห่งกาลเวลาเรือนหมื่นที่ถนนราชดำเนินในวันนั้น (และที่ดูไลฟ์จากสำนักข่าวอยู่ทางบ้าน)



Give Us a Little More Time
(จุฬญาณนนท์ ศิริผล)

ผลงานจากนิทรรศการศิลปะชื่อเดียวกันของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล (คงไม่ต้องบอกว่าเอาชื่องานนี้มาจากคำสัญญามดเท็จของใคร) ซึ่งจัดแสดงที่ Bangkok CityCity Gallery ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2020 – จุฬญาณนนท์เริ่มต้นด้วยการตัดปะภาพจากหนังสือพิมพ์รายวัน ตั้งเป้าว่าจะผลิตภาพคอลลาจวันละหนึ่งชิ้น นับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2014 ไปสิ้นสุดในวันที่ประเทศไทยจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ แล้วจึงหยิบบางส่วนจากภาพคอลลาจทั้งหมด 1,768 ชิ้น (!!!) มาสร้างบรรดาตัวละครพิสดารกับมวลมหาวาทกรรมในอนิเมชั่นความยาว 12 นาทีเรื่องนี้

ชิ้นส่วนของ “สื่อหลัก” แห่ง “โลกเก่า” ที่ถูกควบคุมเบ็ดเสร็จภายใต้อำนาจเผด็จการทหาร ถูกตัดสลับเปลี่ยนบริบท สร้างความหมายใหม่เพื่อยั่วล้อ และยิ่งหนักข้อขึ้นเมื่อกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวดิจิตอล ถ้อยคำในพาดหัวข่าว คำพูดและใบหน้าของตัวละครทางการเมือง ถูกจับโยนรวมกับทุกสิ่งตั้งแต่ข้าวของในวงการไสยศาสตร์ไปถึงน้อนๆ ที่ชื่อถูกใช้เป็นคำหยาบ ในระดับอาจกล่าวได้ว่าเป็นการต่อสู้ของผู้คนแห่ง “สื่อใหม่” ใน “โลกดิจิตอล” หรืออำนาจของ “มีม” ที่เล่นสนุกด้วยการทุบทำลายระเบียบชนชั้นทางการของภาษากับความจริง ซึ่งหมดสิ้นหนทางต่อสู้กับการควบคุมไปแล้วในการต่อสู้ทางการเมืองแบบโลกเก่า – จะเชื่อเป็นจริงเป็นจังตาม Artist’s Statement ก็เข้าท่า จะดูให้เป็นแค่มีมชั่วๆ ของคนทำหนังบ้าๆ ก็แสบสันต์เข้าที เชื่อฝีปากผู้กำกับที่เคยทำ Ten Years Thailand (2018) เถอะ

(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการศิลปะนี้ได้ที่นี่)


(อ่านต่อตอนที่ 2)



ด้วยสถานการณ์ Covid-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการออกกอง ทำให้ปีนี้เหลือหนังไทยที่ถ่ายทำเสร็จสิ้นส่งเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์สั้นเพียง 347 เรื่องเท่านั้น (จากตัวเลขเฉลี่ยช่วงสิบปีหลังที่ราว 500-600 เรื่อง)

โปรแกรมหนังสั้นมาราธอนประจำปี 2020 จัดฉายที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคม สามารถตรวจสอบโปรแกรมฉายทั้งหมดได้ที่ เว็บของหอภาพยนตร์ฯ หรือที่เฟซบุ๊ก

นอกจากนี้ยังสามารถเข้ารับชมย้อนหลังผ่านระบบ Video on Demand ภายใต้ชื่อ Short Film Universe ได้ระหว่างวันที่ 1-30 ธันวาคม (เฉพาะวันจันทร์ถึงศุกร์ เว้นวันหยุดราชการ เวลา 9.00-17.00 น.) ได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี หอภาพยนตร์ฯ โดยลงทะเบียนนัดหมายล่วงหน้าที่นี่

ส่วนเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 24 ซึ่งฉายและมอบรางวัลให้ผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย รวมถึงภาพยนตร์คัดสรรจากทั่วโลก จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-27 ธันวาคมนี้ ตรวจสอบโปรแกรมฉายได้ที่นี่

ให้มันจบที่รุ่นเรา : การเมือง ประชาธิปไตย และคนรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย (ตอนที่ 1)

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองอันร้อนระอุในเวลานี้ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่มีข่าวชุมนุมประท้วงรัฐบาลเราเห็นคนหนุ่มสาวจำนวนมากออกมาอยู่บนท้องถนน นักวิชาการรัฐศาสตร์อย่าง ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล เคยกล่าวเปรียบเปรยเด็กเหล่านี้ว่าพวกเขาเป็น Angry Generation”

3 ทุ่มตรงคืนหนึ่งของคืนวันอาทิตย์ เป็นค่ำคืนอันเงียบงันสุดแสนจะธรรมดา พวกเราทั้งสี่คนนัดคุยกันผ่านโปรแกรมวิดีโอคอลตามชื่อหัวข้อบทความนี้

แคปเปอร์ (บุญฤทธิ์ เวียงนนท์) เกม (ธฤษณุ มงคลศิริ) และ เบ็นโล (นนทชัย วิญญูศุภรชัย) พวกเขาเป็นนักศึกษาภาพยนตร์ที่รู้จักกันมาก่อนแล้ว ทั้งสามดูเป็นคนธรรมดาทั่วไปไม่ผิดแผกอะไรไปจากคนหนุ่มสาวทั้งหลายที่เราเห็นตามท้องถนน บนรถเมล์ หรือรถไฟฟ้าที่คลาคล่ำด้วยผู้คนเบียดเสียดกันอยู่ทุกวัน ในส่วนถัดไปของเรื่องผู้เขียนจะขอเรียกแทนทั้งสามด้วยชื่อเล่นตลอดการสนทนา

เกม (ซ้าย) และ เบนโล (ขวา)

เกม และ เบ็นโล เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน หลังจากเรียนจบพวกเขาตัดสินใจทำรายการพอดแคสต์ขึ้นมา และด้วยอุปนิสัยที่สนใจการเมืองกับสังคมเป็นพิเศษ ทั้งคู่จึงชวนบุคลากรในวงการหนังที่มีความสนใจคล้ายๆ กันมาเป็นแขกรับเชิญร่วมพูดคุยกันในเรื่องต่างๆ ที่พวกเขาสนใจพร้อมอัดเสียงแล้วเผยแพร่ออกมาเป็นพอดแคสต์ที่มีชื่อว่า ‘รายการ Filmtalk ถอกหนัง’

แคปเปอร์ คือคนที่สี่จากซ้ายในภาพแรก

ส่วน แคปเปอร์ เป็นรุ่นพี่ของเกมกับเบ็นโล เมื่อเรียนจบเขาก้าวเท้าเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ตอนนี้แคปเปอร์เป็นทั้งนักทำหนังและนักแสดงภาพยนตร์ ผลงานที่เขาเคยแสดงมีทั้งหนังสั้นเรื่อง Sunset ในโปรเจกต์ Ten Years Thailand (เขาเคยไปเดินพรมแดงในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2018 ในฐานะนักแสดงด้วย!) และหนังยาวอย่าง หน่าฮ่าน แคปเปอร์เล่าให้เราฟังว่าเขาอยากจะนำเสนอรายการให้คนดูได้รู้ว่าคนทำหนังไทยนั้นมีศักยภาพและกำลังพยายามสร้างสรรค์งานอยู่เสมอ เขาขอทุนก้อนแรกจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นำมาผลิตเป็นรายการคุยกับคนทำหนังออนไลน์บนยูทูบและเพจเฟซบุ๊ก ‘วันวันดู’ ชื่อรายการ ‘วันวันฟิล์มทอล์ก’


เราเริ่มต้นคุยกันด้วยคำถามง่ายๆ ว่าทั้งสองรายการมีที่มาที่ไปยังไง

เกม : รายการถอกหนังมันมาจากตอนนั้นเรารู้สึกมันไม่ค่อยมีรายการที่คุยเชิงลึกถึงหนัง ส่วนใหญ่รายการพอดแคสต์มันคือการคุยรีวิวหนังซะมากกว่า แต่ว่าประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับคนทำหรือวงการภาพยนตร์ไทยไม่มีใครคุยถึงประเด็นแบบนั้นจริงๆ อย่างถ้าเป็นคลิปมันก็จะเป็นรีวิวหนังกับสปอยล์หนังไปเลย ถ้าต่างประเทศของฝรั่งก็จะมีทำวิดีโอ Essay ที่มันวิเคราะห์ถึงหนังถึงประวัติอะไรต่างๆ แต่รู้สึกว่าในเชิงนั้นในไทยไม่ค่อยมี แล้วหนังมันดูเป็นศาสตร์ที่คนไม่มามันก็จะไม่รู้ข้างในเขาทำอะไรกัน วงการหนังไทยจริงๆ เป็นยังไงบ้าง เราก็เลยคิดว่ามันไม่ค่อยมีคนทำแล้วเราก็อยากฟังกันเองด้วยว่าที่จริงมันเป็นยังไง เราก็เลยคิดว่ามันดีที่จะมีรายการแบบนั้นอยู่ เราก็เลยทำมันขึ้นมาครับ

เบ็นโล : อย่างที่เกมบอกว่าเราทำเพราะเราอยากฟัง หมายถึงว่าเราอยากฟังอะไรแล้วก็ทำอันนั้น แต่ว่าเราแค่อัดเทปมาเผื่อคนอื่น เผื่อมีคนอื่นอยากฟังด้วย (เกม : เออ เริ่มมันคือง่ายๆ ฉันอยากฟังคนนี้พูดถึงเรื่องนี้จังอะไรอย่างนี้) แล้วเราก็เลยรู้สึกว่าพอมานั่งคุย เราฟังเอง คนอื่นได้ฟังด้วย มีฟีดแบ็คกลับมา มันก็เป็นการขยายหรือส่งต่อทำให้องค์ความรู้มันดำรงอยู่ตรงนั้นเผื่อมีคนเข้ามาฟังมันจะกระจายออกไปได้ มันไม่ได้ลึกสำหรับคนที่ทำอยู่ในวงการแต่มันอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ลึกมากๆ สำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานอยู่ในวงการ คนที่เป็นคนดูหนังในโรงหนังทั่วๆ ไปที่เขาไม่ได้เรียนฟิล์มมา เป็นเรื่องที่โอ้โห ดูอินไซต์สำหรับเขา

แคปเปอร์ (กลาง) และแขกรับเชิญรายการ

แคปเปอร์ : เราก็เหตุผลแรกเริ่มต้นที่ทำก็คล้ายที่เกมกับเบ็นโลบอกคือมันไม่ค่อยมีรายการอะไรพวกนี้ เราก็เลยอยากทำ แต่คอนเซ็ปต์ของวันวันฟิล์มทอล์กเหมือนเป็น introduction ให้คนได้รู้จักวงการหนังแบบองค์รวม มันก็จะเป็นการชวนแขกรับเชิญที่หลากหลาย เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องต่างวัย มีทั้งเป็นนักศึกษาอยู่ ทั้งคนทำหนังรุ่นใหม่ที่เข้ามาคุยให้เห็นภาพรวม เห็นความอ่า… (ทำหน้าคิด) ความเป็นหนึ่งเดียวเหรอ (หัวเราะ) เออ ราวๆ นั้นแหละว่าพวกคนทำหนังเขาทำอะไรอยู่ เขาคิดอะไรกับประเด็นต่างๆ ที่คนในสังคมกำลังตั้งคำถามอยู่


ปัญหาการเมืองที่เป็นอยู่สร้างอุปสรรคอะไรบ้างต่อรายการที่คุณทำ?

เบ็นโล : จริงๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย ทุกวันนี้ถอกหนังไม่มีแล้ว (เกม: ไม่ได้ไม่มีแล้ว คือพักยาว) มันพักยาวแล้วไม่รู้จะกลับมาได้เมื่อไหร่เหตุผลเพราะว่าทุกคนต้องไปทำมาหากินอ่ะ

เนี่ยคือปัญหาที่เผชิญ ด้วยระบบเศรษฐกิจที่มันแย่แล้วระบบก็สร้างคนเพื่อมาเป็นแรงงานในทุนนิยม ตัวระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครองมันเชฟชีวิตเราทำให้เราต้องทำงานงกๆๆๆ เพื่อฟีดค่าใช้จ่ายหลักๆ ในชีวิตจนไม่มีทรัพยากรด้านเวลา ด้านเงิน มาทำอะไรที่เป็นโปรเจกต์ของตัวเอง มันไม่มีน่ะ แล้วอีแค่พอดแคสต์มานั่งอัดเดือนละครั้งยังไม่มีปัญญาทำ นับประสาอะไรจะทำโปรเจกต์หนังซักเรื่องหนึ่ง นึกออกป่ะ?

ลองจินตนาการแล้วเรานึกไม่ออกจริงๆ ว่าเราจะได้ทำหนังของตัวเองเมื่อไหร่ ทำหนังอะไร ทำได้ยังไง แล้วลู่ทางของมันต้องยังไงนะ หรือว่าเราต้องไปเรียนต่อหรอ ซึ่งแบบ…ถ้าเรียนต่ออีก ต่อป.โทเนี่ยนับเวลานับเม็ดเงินที่เราเสียไปกับการศึกษาเพื่อที่เราจะได้จบมาเป็นคนทำหนังซักคนหนึ่ง เห้ย ราคามันสูงมากเลยนะ เนี่ยคือปัญหาที่เราเจอจริงๆ

เกม : ของเกมก็คล้ายๆ กันครับ เป็นอย่างที่เบ็นโลพูดคือถอกหนังเราพูดแค่ในมุมงานอดิเรกนะ ในมุมแคบคือเรายังทำมันเป็นจริงเป็นจังไม่ได้ อย่าคิดถึงขนาดจะเป็นจริงเป็นจังขนาดนั้นเพราะหาทุนยาก แล้วอย่างแรกคือถ้าเราทำสิ่งนี้เป็นรายได้เป็นอาชีพน่ะไม่มีคน… แบบจะเอาเงินมาจากไหนวะ

แคปเปอร์ : แล้วถอกหนังได้ไปขอทุนที่ไหนมาบ้างไหม บอกว่าขอทุนยาก

เกม : โนๆ ไม่ได้ขอทุน ทำเอง ไม่ได้หมายความว่าหาทุนยาก แต่เราบอกว่ามันนิช (เฉพาะกลุ่ม) มันทำเป็นงานอดิเรก หมายถึงพี่ต้องหาทุน (ค่าใช้จ่าย) ด้วยนะ หาทุนหมายถึงว่ามีต้นทุนมาทำโน่นนี่นั่น แต่เรารู้สึกว่าถ้าทุนแบบสายแมสที่มันขายได้ด้วยตัวเองโดยไม่ใช่ได้ทุนจากรัฐหรืออะไรอย่างนี้มันอยู่เองยาก สปอนเซอร์ที่ไหนจะมาเข้าวะ เก็ตไหม รายการมันโคตรนิชเลย เราก็เลยบอกเนี่ยขนาดเป็นแค่งานอดิเรกเรายังทำกันยากมากเลย ทำกันในเวลาว่างแล้วก็ออกเงินส่วนตัว

แล้วที่เล่าคือถอกหนังเนี่ยไม่ได้จ่ายเงินให้แขก (หัวเราะ) บางทีแขกก็จ่ายเงินให้เราด้วย (เบ็นโล : ก็คือเลี้ยงข้าว เลี้ยงกาแฟ เพราะว่าสงสาร) พี่ดาแบบเนี้ย (ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ – ผู้ก่อตั้ง Documentary Club) พี่ดาก็ดูดีใจมากมีน้องๆ ทำสิ่งนี้ขึ้นมา แล้วพี่ดาก็เลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำ เราก็แบบ… ไอ้เหี้ย กูแม่งไม่มีเงินให้เขาๆ ยังต้องมาเลี้ยงพวกกูอีก

เราอยากรู้ความเห็นของปัญหาเรื่องทุนหน่อย

เบ็นโล : คือเราอยู่กันในระบบ… ไม่ใช่ระบบทุนนิยมนะ เราเป็นระบบนายทุนนิยม ส่วนอีพวกหนังที่นายทุนไม่เอาก็ต้องไปขอทุนต่างประเทศก็ไปผูกกับนายทุนต่างประเทศแทน แล้วก็ไปเกิดปัญหาทับซ้อนมากมาย

มันไม่ดียังไงเหรอ?

เบ็นโล : พอมันมีนายทุนเข้ามาเกี่ยวข้องในงานมันจะตามมาด้วยเงื่อนไขอะไรต่างๆ เสมอ ถ้าเป็นทุนจากรัฐไทยอย่างนี้ชัดเจนว่าคุณจะโดนอะไรบ้าง จะโดนเซ็นเซอร์ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ไม่ได้จะมีกรอบศีลธรรมโน่นนั่นนี่ มีเรื่องระบบการจ่ายเงิน ระบบรัฐราชการที่มันล้าหลังเหี้ยๆ ไม่ค่อยมีวิสัยทัศน์ คือส่วนตัวแต่ละคนอาจจะมีคนที่มีวิสัยทัศน์แล้วก็แอบทำอะไรบางอย่าง แต่ว่าโดยองค์รวมที่ออกมาแล้วมันดูไม่มีวิสัยทัศน์สิ้นเชิง ในแง่ของการบริหารการดูแลโดยภาพรวม แต่เหตุผลที่เราต้องพูดถึงทุนจากรัฐบาลกันเยอะเพราะว่าเงินในระบบไม่เอื้อให้เราตั้งต้นอะไรด้วยตนเอง หมายถึงว่าจะต้องพึ่งพิงกับทุนของข้างนอกตลอดเวลาทั้งทุนจากรัฐ ทุนจากเอกชน ทุนจากต่างประเทศต่างๆ

หรือว่าคุณไปขอทุนเอกชน คุณก็จะมีเงื่อนไขอีกแบบหนึ่งเพราะมันต้องทำเงินให้เขา คือทุนจากรัฐอาจจะไม่ได้ต้องการกำไรจากคุณแต่ต้องการอย่างอื่น แต่ว่าพอคุณไปขอทุนเอกชน คุณก็จะต้องบอกว่างานนี้มันทำเงินอะไรให้เขาได้บ้างเพราะเขาต้องการกำไร ต้องการผลประโยชน์

หรือถ้าขอทุนรัฐบาลต่างประเทศ โอเคถ้าเป็นรัฐบาลต่างประเทศเขาอาจจะไม่ต้องการเงินไม่ต้องการอะไรอย่างนี้ แต่มันก็จะมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นมาเช่นคุณต้องทำหนังทำโปรเจกต์ที่มัน international ให้คนต่างประเทศนอกจากคนประเทศคุณจะดูรู้เรื่องน่ะ มันก็จะเกิดเงื่อนไขอย่างนี้ขึ้นมาทำให้เรามองกลับมาว่าพวกเราทุกคนกำลังถูกผลักให้ต้องพึ่งพากับแหล่งทุนหนึ่งๆ อยู่ตลอดเวลา เราไม่สามารถเป็นเจ้าของโปรเจกต์ด้วยเงินของตัวเอง แล้วทำโปรเจกต์ด้วย underground ที่มันรุ่มรวย ทำ personal project ที่มันพาไปขายได้ด้วยลำแข้งเราเอง คือระบบทั้งหมดมันบังคับให้เราต้องไปเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา อันนี้ในมุมมองเรามันอาจจะมองลบไปนิดนึงนะ ว่าทำไมเราไม่สามารถมีทุนที่ไม่เผชิญทุกเงื่อนไขบ้าบอคอแตกอะไรอย่างนี้ได้บ้างวะ


คุณไม่เคยเจอคนทำหนังรุ่นใหม่ที่สามารถหาแหล่งทุนแบบไม่ผูกมัดมาทำหนังแล้วผลลัพธ์ที่คุ้มทุน?

เบ็นโล : มันก็มีคนพยายามจะทำนะ อย่างพี่เม้ง (ธีรภาส ว่องไพศาลกิจนักทำหนังรุ่นใหม่ที่สนใจด้านเสียงทดลองและพยายามนำสิ่งเกี่ยวเนื่องจากหนังที่ตนทำมาก่อรายได้เป็นเงินทุน – ดู Junk Food Fable หนังของเขา) ซึ่งมันก็เป็นโมเดลที่ก็ดีแต่มันก็เหนื่อยเหี้ยๆ เราเคยทำถอกหนังกับเขานั่นแหละแล้วก็คุยกันถึงเรื่องนี้ ที่มาที่ไปกระบวนการของโปรเจกต์นี้ว่าเขาต้องการทำอะไร เส้นทางเป็นยังไง เขาก็ยอมรับเลยว่ามันเหนื่อยแล้วเราต้องถูกบังคับให้เผชิญกับสิ่งเหล่านี้ ไปทางไหนก็แย่เหมือนหนีเสือปะจระเข้อยู่ตลอดเวลาในการที่จะได้เงินมาสร้าง มันขึ้นอยู่กับว่าคุณดีลกับอะไรได้มากกว่าแต่มันไม่มีชอยส์ที่ดีที่สุดในสถานการณ์นี้

ไปเรื่องปัญหาการส่งเสริมจากภาครัฐกันหน่อย
มันไม่เคยมีอะไรดีๆ เลยเหรอ?

แคปเปอร์ : บ้านเรามันเคยมี Bangkok International Film Festival นะ แล้วก็เกิดการทุจริตติดสินบนจำคุกกันไป มันเกิดจากคนในองค์กรรัฐทำเหี้ยไรกันก็ไม่รู้ แทนที่มันจะต่อยอดเป็นองค์กรเป็นอะไรต่อไป รัฐบาลจะยิ่งได้หน้าได้ตามีดาราฮอลลีวูดมาเดินพรมแดง มีคนระดับโลกระดับเอเชียมามากหน้าหลายตาคนยิ่งชอบ แต่ตรงนี้มันหายไปแล้วกลายเป็นตราบาปวงการหนังไปเลย

บ้านเรามันเคยมี Bangkok International Film Festival นะแล้วก็เกิดการทุจริตติดสินบนจำคุกกันไป มันเกิดจากคนในองค์กรรัฐทำเหี้ยไรกันก็ไม่รู้ แทนที่มันจะต่อยอดเป็นองค์กรเป็นอะไรต่อไป แต่ตรงนี้มันหายไปแล้วกลายเป็นตราบาปวงการหนังไปเลย

เบ็นโล : จริงๆ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าการแยกองค์กรออกมามันจะช่วยอะไรถ้าสุดท้ายมันยังกลับไปสู่สิ่งเดิมๆ ระบบเดิมๆ

เกม : ถ้าสรุปการเมืองมีผลอะไรไหม ก็ตั้งแต่ระบบราชการเลย (หัวเราะเบาๆ) เรารู้สึกว่าอย่างแรกการทำงานกับระบบราชการ กับกระทรวงต่างๆ ที่เราขอทุนมา แล้ววิธีการคิดของเขาแบบลงมาจากกระทรวงทำให้เรารู้สึกว่ามันติดขั้นติดตอนอะไรไปหมดเลย ถ้าการเมืองดีเราก็อยากได้คนที่รู้เรื่องหรือมีความรู้ความสามารถมาทำงานจริงๆ เรารู้สึกมันก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติเขาด้วย เราอยากมีระบบที่มันดีน่ะ ถ้าคนมีความรู้ความสามารถมาทำงานในกระทรวงที่ถูกต้องหลายๆ อย่างมันจะเดินหน้าได้ดีกว่านี้ ซึ่งตอนนี้การเมืองไม่ดีแล้วคนที่มานั่งรัฐมนตรีคือใครไม่รู้ แบบแล้วมึงเป็นใครวะ (หัวเราะเบาๆ) เรารู้สึกว่ามันทำให้ทุกอย่างที่ลงมาข้างล่างมันยิ่งเดินยากเข้าไปใหญ่ ถึงคนข้างในกระทรวงจะมีคนอยากช่วยอยากอะไรขนาดไหนแต่มันยังติดทัศนคติคนข้างบน

คิดว่าอุปสรรคการพัฒนาอุตสาหกรรมหนังมันเป็นปัญหาเรื้อรังขนาดนี้เพราะความคอนเซอร์เวทีฟในระบบราชการรึเปล่า

แคปเปอร์ : พี่เชื่อว่าทุกที่ เราอาจจะมองว่ามันดูคอนเซอร์เวทีฟชิบหาย ขวาจัด แล้วก็ไม่ยอมปล่อยอะไรเลยที่มันสร้างสรรค์ จริงๆ ข้างในมีคนที่พยายามทำอยู่ แล้วก็แอบบอกเราหลังไมค์บ้าง มันก็มีแต่มันก็โดนกดทับเหมือนเราที่ก็โดนเหมือนกัน จะให้พูดอะไรบางอย่างก็ยาก

เบ็นโล : มันก็มีมุกการดูแลวัฒนธรรมอยู่นะ อันนี้เป็นมุกที่พูดเล่นๆ กันตลอดว่า จริงๆ รัฐไทยไม่ใช่ไม่สนใจศิลปะหรอกแต่เขาแค่ไม่สนใจพวกเรา หมายถึงคนทำศิลปะที่ไม่ได้อยู่เป็นพวกเดียวกับเขาอ่ะเขาไม่สนใจ

ไม่สนใจคือยังไง?

เบ็นโล : เรามองเห็นอย่างหนึ่งจากนาฏศิลป์ไทย ศิลปะแบบโคตรไทย มันถูกยกไว้บนหิ้งจนไม่มีใครแตะได้เลยทุกคนก็เลยลืม เรารู้สึกว่าวัฒนธรรมแบบโคตรไทยกับวัฒนธรรมแบบภาพยนตร์มันอยู่ขั้วกลับกันแบบสิ้นเชิง อยู่คนละข้างกันของสเปกตรัม วัฒนธรรมแบบ Thainess มันถูกแช่แข็ง ถูกให้คุณค่าอย่างสูงยิ่งในเชิงคุณค่าทางวัฒนธรรมแม้ว่ามันจะไม่สร้างกำไรเราก็ยังต้องคงสิ่งเหล่านี้ต่อไปมากๆ จนมันกลายปัญหาไปในด้านหนึ่ง

ส่วนภาพยนตร์เนี่ย จริงๆ เราติดใจตั้งแต่แรกแล้วเว้ยว่าทำไมเวลาทำคอนเทนต์เกี่ยวกับภาพยนตร์คนถึงเข้าใจว่ามันไม่แมสวะ ทั้งที่ทุกคนอยู่กับมันตลอดเวลา โอเค อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่เข้าโรงไปดูหนัง แต่ทุกคนต้องดูละคร ละครทีวี soap opera (ละครน้ำเน่า) ละครดราม่า ละครหลังข่าว ทุกคนต้องดูหนังโฆษณา ดูอะไรที่มันเป็นสื่อที่มีรากมาจากภาพยนตร์น่ะ คุณอยู่กับมันทุกวันแต่ไม่มีใครเห็นคุณค่าในมิติอื่นๆ ในเชิงของศิลปะ ในเชิงของการเก็บบำรุงดูแลรักษา

เราก็แบบเกิดคำถามจากบทสนทนานี้เหมือนกันนะว่าแล้วทำไมพอเราทำเรื่องเกี่ยวกับภาพยนตร์มันถึงเป็นเรื่อง เฉพาะกลุ่มวะทั้งที่คนอยู่กับมันตลอดเวลา ปัญหาของภาพยนตร์มันไปอีกด้านหนึ่งเลยเว้ย มันถูกทำให้เป็นสินค้าไปเลย คือมีค่าในเชิงระบบเชิงตลาด ดูไม่มีคุณค่าในเชิงอาร์ตศิลปะหรือในมิติอื่น มันมีปัญหามากๆ ทั้งคู่ที่อยู่คนละข้างของสเปกตรัมซึ่งเป็นขั้วกลับกันแบบสิ้นเชิง

เกม : หนังบางเรื่องที่คนรู้สึกนิดๆ มันจะดูเป็นการเมือง อาจจะเป็นการเมืองหรือไม่การเมืองก็ได้ บางพื้นที่เขายังไม่กล้าฉายเลย เราก็เลยรู้สึกว่ารัฐไม่ได้ไม่สนับสนุนศิลปะแต่รัฐไม่สนับสนุนการพูดอย่างมีเสรีภาพมากกว่าเพราะรัฐรู้สึกมันคือภัยความมั่นคงของเขา

หนังบางเรื่องที่คนรู้สึกนิดๆ มันจะดูเป็นการเมือง อาจจะเป็นการเมืองหรือไม่การเมืองก็ได้ บางพื้นที่เขายังไม่กล้าฉายเลย เราก็เลยรู้สึกว่ารัฐไม่ได้ไม่สนับสนุนศิลปะแต่รัฐไม่สนับสนุนการพูดอย่างมีเสรีภาพมากกว่าเพราะรัฐรู้สึกมันคือภัยความมั่นคงของเขา

แต่สมมติมีเงินอยู่ 200 จะเอาไปทำอะไรบ้างที่จะซื้อสิ่งบันเทิงให้ตัวเอง มันก็มีมากมายหลายอย่าง ภาพยนตร์ก็แค่เป็นสับเซตหนึ่งในนี้ แล้วภาพยนตร์ไทยก็ยิ่งเป็นสับของสับเซตนี้เข้าไปใหญ่เลย เอาจริงพอเราไม่มีเงินเหลือ เรารู้สึกว่ามันก็เป็นเงินที่ค่อนข้างสิ้นเปลือง (แคปเปอร์ : ก็ใช่ไงมันเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย) ฉันเก็บเงินไปกินข้าวโน่นนี่นั่นดีกว่า

แคปเปอร์ : เรารู้สึกถึงไอ้สิ่งที่เกมพูดว่าหนังมันจำเป็นกับชีวิตคนขนาดที่คนต้องเอาเงินไปจ่ายเพื่อมันไหม ตอนช่วงโควิดเงินเก็บเราก็ไม่ได้มากเราก็ใช้ไปเรื่อยๆ มันก็ลดลง แล้วงานในวงการมันก็น้อยก็ไม่มีงานกัน ส่วนตัวเราก็ตังค์เหลือน้อยงี้ เราก็คิดอยู่นะ ขนาดกูเป็นคนทำหนังเองเรียกได้ว่าชอบหนังรักหนังมาก กูยังเลือกจะเอาเงินไปซื้อข้าวกินไปซื้ออะไรจำเป็นมากกว่าเอาเงินไปดูหนัง แล้วคนทั่วไปเขาจะเอาเงินเอากำลังที่ไหนมาจ่ายเงินค่ารถการคมนาคมที่มันแย่ๆ หลายต่อเพื่อเข้าไปดูหนัง ขนาดเรายังตัดใจที่จะไปดูหนังดีๆ ในโรงตอนนั้น อยากจะซัพพอร์ตมันมากๆ แต่ต้องตัดชอยส์ออกไปว่าจะเดินเข้าโรงหนัง และในการจ่ายเงินดูหนังมันเสี่ยงนะ เขาก็ไม่อยากจะเสี่ยงที่จะเข้าโรงไปดูแล้ว… เห้ย หนังอะไรวะ เขาก็ไม่ได้ตั้งใจอยากมาดูอะไรก็ไม่รู้แบบนี้

เกม : แต่ผมรู้สึกว่าเสี่ยงได้ ถ้าเงินในกระเป๋าเขามีพอ (หัวเราะ) แต่ปัญหาคือเงินในกระเป๋าเราไม่ได้มีเหลือพอขนาดนั้น มันเป็นเรื่องเงินในกระเป๋า แม่งก็เลย… อืม กูก็มักง่ายดูอย่างนั้นไป movie2free เว็บหนัง Pirate ต่างๆ (หัวเราะ) คนก็รู้สึกว่ากูดูในนี้ก็ได้ ไม่ได้คิดถึงเรื่องลิขสิทธิ์หรือเรื่องอะไรที่คนเขาทำมา

แคปเปอร์ : แต่จริงๆ คนยังอยากดูหนังอยู่ หน่าฮ่านเนี่ยลงออนไลน์แม่งคนดูกันวิวเป็น 10 ล้าน แต่ลงโรงฉายได้ตังค์ไม่ถึง 2 แสนมั้งทั่วประเทศ

เบ็นโล : หรือว่าเราควรไปขอสถิติหลังบ้านจากเว็บพวกนี้บ้างวะ จะได้รู้ว่าสถิติคนดูหนังจริงๆ คือเท่าไหร่

เบ็นโล : แต่เราทั้งสามคนเราเชื่อว่าการเรียนหนังจบมาเป็นคนทำหนังได้น่ะ ครึ่งหนึ่งต้องทำพานไหว้ครูไปไหว้ BitTorrent Pirate Bay ขนาดเราสามคนที่ก็ถือว่าเป็นชนชั้นกลางมีทุนระดับหนึ่งนะอย่างน้อยมึงก็มีทุนมาเรียนหนังได้ แต่มันก็ไม่ได้มีทุนมากๆ ขนาดนั้นที่เข้าถึงหนังทุกเรื่องที่มึงต้องดูอย่างถูกลิขสิทธิ์ แล้วลองคิดในสเกลถอยหลังกลับไปนิดนึงนะว่ามันมีคนอยู่ในประเทศนี้จริงนะเว้ยที่เงินค่าแรงรายวัน 300-500 ไม่มีพอจะไปซื้อตั๋วหนัง แล้วเราไม่เชื่อจริงๆ นะว่าคนไม่รู้ว่าการละเมิดลิขสิทธิ์มันมี เรารู้ว่าทุกคนรู้เว้ยแต่ก็มันฟรีอ่ะ

‘แต่’ บางพื้นที่โรงหนังมันไกลจริงๆ ต้องโหนรถเข้าเมือง อันนั้นก็ถือเป็นต้นทุนทางเวลาเหมือนกันนะ บางคนนั่งรถ 3 – 4 ชั่วโมง 6-7 ชั่วโมง ขับรถข้ามเขาไปดูหนัง บางคนไม่มีรถจะดูยังไง บ้านกูมีสมาร์ทโฟนที่เข้าถึง movie2free ได้งี้ คือ… การดูหนังของประเทศเรามันไม่ถูกทำให้ง่าย มันไม่ถูกทำให้ใช้ทุนน้อยเพื่อเข้าถึงภาพยนตร์ดีๆ ถูกลิขสิทธิ์โดยที่มันแฟร์กับทั้งคนทำหนังทั้งคนดูหนัง เรารู้สึกวงการมันไม่แฟร์กับใครเลย กับคนทำหนังก็ไม่แฟร์ทำให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์โน่นนี่ แต่กับคนดูหนังวงการก็ไม่ได้แฟร์ด้วยเหมือนกัน

การดูหนังของประเทศเรามันไม่ถูกทำให้ง่าย มันไม่ถูกทำให้ใช้ทุนน้อยเพื่อเข้าถึงภาพยนตร์ดีๆ ถูกลิขสิทธิ์โดยที่มันแฟร์กับทั้งคนทำหนังทั้งคนดูหนัง

หลายๆ คนชอบพูดว่าหนังอินดี้ทำมาดูยาก หนังอาร์ตทำดูยากคนมันก็เลยไม่ดู คนน่ะไม่ได้เลือกจะดูหนังแบบนี้หรอกซึ่งอย่างที่บอกไปว่าเขาเลือกไม่ดูเพราะเขาไม่มีตัวเลือก หมายถึงว่าไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จักด้วยซ้ำ ไม่มีโอกาสเห็นหน้าหนัง ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่ามีหนังอย่างนี้อยู่บนโลก แล้วพอเจอจริงๆ เขาจะเสี่ยงไหม ยิ่งคนที่มีเงินในกระเป๋าน้อยเขาจะเสี่ยงกับหนังที่มีแนวโน้มว่าจะไม่ชอบเหรอ

ถ้าเราไม่มีการผูกขาดโดยค่ายหนัง โดยโรงหนังขนาดนี้ ผูกขาดรสนิยมอยู่แค่ในกรุงเทพฯ ผูกขาดด้านทุนที่อยู่แต่ในกรุงเทพฯ ทำให้ความเจริญไม่กระจาย เงินไม่กระจายเข้ากระเป๋าคนดู เงินไม่กระจายเข้ากระเป๋าคนทำ ไทบ้านจะทำหนังทีก็ต้องรอคอยนายทุนที่มีวิสัยทัศน์ซักคนซึ่งก็รอมานแค่ไหนแล้วก็ไม่รู้ สิ่งที่ไม่มีคือระบบที่กระจายอำนาจออกไป กระจายเงินออกไป กระจายความเจริญออกไปแล้วให้คนในท้องถิ่นเลือกสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ

แคปเปอร์ : นอกจากไปคานส์เราก็เคยไปดู Fever Room ของพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล – ผู้กำกับ) ที่ไต้หวัน เราเคยไปเทศกาลหนังสั้นที่สวิสเซอร์แลนด์ เราเห็นความแตกต่างมากกับประเทศเหล่านี้ที่มันซัพพอร์ตหนัง ซัพพอร์ตศิลปะ มีโรงหนังกระจายอยู่ทั่วทั้งเมือง ไม่ว่าจะเป็นคานส์ ที่ไต้หวัน พอมองย้อนกลับมาที่ไทยมันไม่มีแบบนั้นให้เรา ไม่มีพื้นที่ให้คนไปแสดงออก ไม่มีพื้นที่ให้คนได้เดินชมได้เดินดูอย่างหลากหลาย แต่ประเทศเหล่านี้มันกระจายอยู่ทั่วไปแล้วก็ทั่วถึงคนทั้งประเทศ มันจะมีที่ที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นจุดรวมให้คนไปเสพงาน ของเรามันไม่มี จริงๆ อย่างล่าสุดมันก็มีหอภาพยนตร์ที่เขาสร้างขึ้นมาใหม่ มันก็อยู่ไกลแล้วการเดินทางขนส่งมวลชนมันก็ไม่ได้สะดวกที่คนทั่วไปจะพากันไปดูไปชมขนาดนั้น มันก็กลายเป็นเฉพาะกลุ่มกันไป


เหตุการณ์ไหนที่คุณรู้สึกแย่มากในฐานะคนดู?

เบ็นโล : มีอยู่ช่วงนึงที่เมเจอร์ออกประกาศเป็นใบประกาศมาว่าทุกคนต้องยืนเพลงสรรเสริญในโรงหนัง เป็นช่วงที่พนักงานสะกิด ทุกคนก็แบบเราจะแบนเมเจอร์กัน เราจะไม่ไปดูหนังเมเจอร์ แล้วทุกคนก็พึงระลึกได้ว่าถ้ากูไม่ไปดูเมเจอร์กูจะไปดูโรงไหนวะ อย่างเซเว่นมันชัดว่ามันโดนผูกขาด แต่โรงเมเจอร์มันผูกขาดมานานมากแล้วในวันที่มึงไม่สามารถดูโรงหนังอื่นๆ ที่ไม่บังคับมึงขนาดนั้นได้อีกแล้ว อันนี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าปัญหาการเมืองมันกระทบกับชีวิตของคนทำหนังคนดูหนัง แม้แต่คนดูหนังทั่วๆ ไปด้วยนะไม่ต้องคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมก็ได้เขายังโดนกระทบเลย


(อ่านต่อตอนที่ 2)

ด่วน! คิมคีด็อก ผู้กำกับเกาหลีชื่อดัง เสียชีวิตแล้วด้วยโรคโควิด-19!

ข่าวจากหลายแหล่งในรัสเซียยืนยันว่า คิมคีด็อกติดโควิด-19 ขณะพักอยู่ในลัตเวียและเสียชีวิตแล้ววันนี้ที่โรงพยาบาล ก่อนหน้าวันเกิดครบรอบปีที่ 60 ของเขาเพียง 9 วัน

คิมคีด็อก เป็นผู้กำกับหนังชาวเกาหลีใต้ที่สร้างชื่อจากผลงานอื้อฉาวหลายเรื่องที่คละเคล้าการวิพากษ์สังคมเข้ากับเซ็กซ์และความรุนแรง เขาคว้ารางวัลสิงโตทองคำภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเทศกาลหนังเวนิซจาก Pieta (2012), รางวัลสิงโตเงินผู้กำกับยอดเยี่ยม เทศกาลหนังเวนิซเช่นกัน จาก 3-Iron (2004), รางวัลหมีเงินผู้กำกับยอดเยี่ยม เทศกาลหนังเบอร์ลิน จาก Samaria และรางวัล Un Certain Regard เทศกาลหนังเมืองคานส์ จาก Arirang (2011) ซึ่งทำให้เขาเป็นผู้กำกับเกาหลีใต้เพียงคนเดียวนับถึงปัจจุบันที่สามารถชนะรางวัลใหญ่จากเทศกาลหนังสำคัญสามแห่งของยุโรปได้สำเร็จ

ส่วนหนังที่ทำให้เขาโด่งดังในหมู่ผู้ชมหนังนอกกระแสชาวไทยมากๆ ก็คือ The Isle (2000) และ Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003)

Film Club ขอร่วมไว้อาลัยแก่การจากไปครั้งนี้ …RIP

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 10 ธ.ค. 63

สถิติใหม่เกิดขึ้นแล้ว!

เมื่อวานนี้ (10 ธ.ค.) Demon Slayer สามารถทำเงินได้ถึง 10.84 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการทำรายได้ต่อวันสูงที่สุด นับตั้งแต่เกิดโควิดเป็นต้นมา ซึ่งน่าติดตามต่อไปว่า หนังยังฉายต่อในช่วงหยุดยาว น่าจะสร้างสถิติใหม่ได้อีก จนมีโอกาสสูงมากที่จะกลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดประจำปีนี้

รายได้หนังประจำวันที่ 10 ธ.ค. 63

  1. Demon Slayer: Kimetsu No Yaiba – 10.84 (30.24) ล้านบาท
  2. อ้าย..คนหล่อลวง – 3.84 (32.52) ล้านบาท
  3. อีเรียมซิ่ง – 1.08 (70.39) ล้านบาท
  4. Ghosts of War – 0.42 ล้านบาท
  5. สีดา ตำนานรักโลงคู่ – 0.20 ล้านบาท
  6. The Croods: A New Age – 0.18 (5.68) ล้านบาท
  7. Doraemon: Nobita’s New Dinosaur – 0.16 (16.06) ล้านบาท
  8. Office Uprising – 0.15 ล้านบาท
  9. อีหล่าเอ๋ย – 0.06 (4.13) ล้านบาท
  10. 2046 – 0.05 ล้านบาท

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 3 – 9 ธ.ค. 63

ถึงแม้รายได้รวมทั้งสัปดาห์ Demon Slayer จะทำงานตามหลัง ‘อ้าย..คนหล่อลวง’ แต่ถ้าวัดกันเฉพาะเมื่อวานนี้ (9 ธ.ค.) ซึ่งเป็นวันแรกที่ Demon Slayer ฉายจริง อนิเมะเรื่องดังทำเงินชนะหนังไทย GDH แบบไม่เห็นฝุ่น โดย Demon Slayer ทำเงินไป 7.68 (19.41) ล้านบาท ส่วน ‘อ้าย.คนหล่อลวง’ ได้ไป 3.33 (28.68) ล้านบาท

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 3-9 ธ.ค. 63

  1. อ้าย..คนหล่อลวง –28.65 (28.68) ล้านบาท
  2. Demon Slayer: Kimetsu No Yaiba – 19.41 ล้านบาท
  3. อีเรียมซิ่ง – 9.48 (69.31) ล้านบาท
  4. The Croods: A New Age – 1.51 (5.50) ล้านบาท
  5. Doraemon: Nobita’s New Dinosaur – 1.30 (15.89) ล้านบาท
  6. Attraction 2: Invasion – 0.48 1.14 (3.96) ล้านบาท
  7. อีหล่าเอ๋ย – 0.93 (4.08) ล้านบาท
  8. Run – 0.75 (2.80) ล้านบาท
  9. Come Away – 0.65 (2.6) ล้านบาท
  10. A Mermaid n Paris – 0.47 ล้านบาท

School Town King ก่อนเยาวชนคลองเตยจะปลดแอก

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. มีความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับผลการจัดเรตหนัง School Town King ‘แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ โดยเฉพาะข้อความที่บอกว่า “17 ธันวาคมนี้ (ถ้าได้ฉาย) ในโรงภาพยนตร์” โดยในเพจระบุว่าผลการจัดเรตจะออกในวันพุธที่ 1 ธ.ค. และผลคือหนังได้เรต น13+ แบบเหนือความคาดหมายของทีมงานทั้งหมด ซึ่ง วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ผู้กำกับหนังเรื่องนี้เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องลุ้นกับผลการจัดเรต เพราะว่าหนังได้รับการพิจารณา ‘รอบแรก’ ไปแล้ว และคณะกรรมการไม่ตัดสิน จึงมีการโยกย้ายหนังให้คณะกรรมการอีกชุดพิจารณาในสัปดาห์ถัดมา และผลก็เป็นไปตามที่กล่าวไว้

School Town King เป็นสารคดีติดตามชีวิตของเด็กชุมชนคลองเตย ที่ใช้การแร็ปบอกเล่าชีวิตของเด็กสลัมอย่างพวกเขา ซึ่งหากใครมีโอกาสได้ชม My Echo, My Shadow and Me ที่เข้าชิงรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิงสารคดีสั้นยอดเยี่ยม ปีล่าสุด คงจะพอเห็นความเชื่อมโยงระหว่างหนังทั้งสองเรื่องได้ เพราะมันต่างเล่าความฝันของวัยรุ่นในชุมชนแออัดด้วยกันทั้งคู่ แต่จริงๆ แล้ว หนังเรื่องนั้นคือส่วนหนึ่งของการทำรีเสิร์ชกับชุมชน เป้าหมายที่แท้จริงของ School Town King คือการพุ่งเป้าไปที่การศึกษาต่างหาก

“หลัง ‘นิรันดร์ราตรี’ ผมก็อยากทำประเด็นการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่อยากทำมา 4-5 ปีแล้ว เหตุเพราะในวัยเด็กผมมีประสบการณ์ที่แย่มากในระบบการศึกษา ทั้งเรื่องหลักสูตรและกฏระเบียบต่างๆ ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะทำมุมไหนดี จนได้ไปเวิร์คช็อปกับเด็กคลองเตยด้านการสร้างสรรค์ออกแบบ แล้วรู้สึกน่าสนใจมากเลย อาจเพราะเราถูกจริตกับเด็กซนๆ อยู่แล้วด้วย ตอนนั้นเลยเกิดเป็นโปรเจกต์ ‘Connext Klongtoey’ (นิทรรศการศิลปะที่เล่าเรื่องราวของชุมชนคลองเตยผ่านการบอกเล่าของเด็กในพื้นที่เอง) และจากงานนั้นถึงได้รู้จักกับ School Town King”

วรรจธนภูมิเป็นชายหนุ่มที่ชื่นชอบกีฬาเอ็กซ์ตรีม ที่ผูกพันกับวัฒนธรรมแร็ป หนัง 8 Mile เพลงของ 50 Cent กับ Thaitanium ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมในวัยเด็กของเขา แต่นอกเหนือจากรสนิยมที่เชื่อมโยงกับกลุ่มแร็ปเปอร์แล้ว สิ่งสำคัญก็คือความเป็น underdog ในระบบการศึกษาของทั้งวรรจธนภูมิกับกลุ่ม School Town King “พวกเขามีเครื่องมือในการพูดคือการแร็ป เพลงของเขา เนื้อหา และโน้ตต่างๆ มันสะท้อนปัญหาสังคมเยอะมากเลย ถ้าหนังมี voice ของเขาคงน่าสนใจ พวกเขามีความเป็นนักเล่าเรื่องเหมือนผม และยิ่งเมื่อได้ใกล้ชิดน้องๆ แล้วพบว่าประเด็นเรื่องการศึกษา ความเหลื่อมล้ำในสังคม มันอยู่ในนั้นเยอะมาก เราใช้เครื่องมือของภาพยนตร์ให้คนรับรู้ความรู้สึกเกี่ยวกับประเด็นนี้ และเราอยากให้หนังเข้าถึงวงกว้าง ซึ่งแร็ปมันมีความสนุกของมัน และเรื่องเด็กสลัมก็ยังไม่เคยมีใครเล่ามาก่อน”

บุ๊ค-ธนายุทธ ณ อยุธยา กับ นนท์-นนทวัฒน์ โตมา คือสองตัวละครหลักที่วรรจธนภูมิเลือกติดตาม หลังจากใช้ชีวิตร่วมกับเด็กในชุมชมแออัดในขณะทำโครงการ Connext Klongtoey อยู่แรมเดือน “เด็กเหล่านี้มีความซับซ้อนในวัยของเขา เพราะฉะนั้นอาจจะไม่ได้เปิดใจกับเราทุกคน ก่อนจะทำหนังเราต้องเป็นเพื่อนกับเขาให้ได้ก่อน ซึ่งพอเราอยู่กับน้องๆ กลุ่มนี้ก็สนุกดี (หัวเราะ) บทบาทของเราคือการเป็นผู้ฟังที่ดี ตอนทำ Connext Klongtoey หรือ School Town King เด็กๆ ไม่ค่อยมีใครที่เขาจะไว้ใจเล่าความคิดของเขาได้ หนังเรื่องนี้มันเป็นจุดที่ทำให้เราเชื่อมโยงกันได้ มันเป็นกระบวนการที่ไม่แน่ใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำหนังหรือการสร้างความสัมพันธ์ของเรา อย่างบุ๊คเขาก็เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมาเยอะแล้ว เพราะฉะนั้นเขาก็จะมีวิธีนำเสนอตัวตนของเขา มีวิธีพูดกับสื่อ ของเรามันจึงต้องลึกกว่าที่เขาเคยพูดที่อื่นมา ส่วนนนท์ก็ตลกๆ ซื่อๆ เลย”

School Town King ถ่ายทำเมื่อปี 2018 ระหว่างนั้นเกิดเรื่องราวขึ้นมากมาย วรรจธนภูมิกับกลุ่ม Eyedropper Fill ได้ทำโปรเจกต์ยิงเลเซอร์ “ตามหาความจริง” ตามสิ่งปลูกสร้างในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 63 ขณะที่บุ๊คก็โดนหมายจับ ม.116 (ยุยงปลุกปั่น) จากการขึ้นไปแร็ปบนเวทีชุมนุม เยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค.63 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สอดคล้องไปกับที่ความตื่นตัวเรื่อง “การศึกษา” และ “ความเหลื่อมล้ำ” ดังที่วรรจธนภูมิต้องการสื่อสารผ่าน School Town King วิวัฒน์ไปไกลจากวันนั้นมาไกลนัก

“ผมทำเรื่องนี้เพราะอยากให้เกิดการถกเถียงในกลุ่มคนไทยมากเลย ในวันที่ทำหนังเรื่องนี้ เด็กๆ ยังไม่ออกมาแสดงจุดยืนกันเยอะเท่าตอนนี้ ถ้าหนังมาทำตอนนี้มันก็คงจะแรงกว่าที่ตัวหนังเป็นเยอะมาก แต่มันก็จะเป็นหลักฐานให้เราได้เห็นว่าอะไรที่กดทับพวกเขาอยู่ เด็กๆ ต้องเผชิญกับอะไรมาบ้าง จนทำให้เกิดการลุกขึ้นของเยาวชนในวันนี้”

ดาบพิฆาตอสูร ศึกรถไฟสู่นิรันดร์ (Kimetsu no Yaiba The Movie : Mugen Train) คมดาบที่พิฆาตฝันร้ายของยุคสมัย

จากความสำเร็จอย่างมหาศาลเมื่อปีที่แล้ว ทางสตูดิโอ Ufotable จึงตัดสินใจที่จะพาบทต่อไปของเหล่ามือพิฆาตอสูรสู่รูปแบบจอเงินทันที ซึ่งการตัดสินใจเช่นนั้นก็เพราะความฮิตถล่มทลายของเวอร์ชั่นซีรีส์และมังงะที่น่าจะพาเรื่องนี้ไปสู่โปรดัคชั่นสเกลใหญ่ขึ้นอย่างหนังโรงได้ ซึ่ง ณ ตอนนี้ หนังทำรายได้ในบ็อกซ์ออฟฟิศญี่ปุ่นเกินกว่าหมื่นล้านเยนไปแล้ว แม้ว่าตอนฉายโรงภาพยนตร์ในญี่ปุ่นจะยังคงมีมาตรการป้องกันการติดต่อของ covid-19 โดยเว้นตำแหน่งที่นั่งจนเหลือครึ่งนึงก็ตาม โดยทาง JAM หรือ Japan Anime Movie Thailand ผู้คอยจัดจำหน่ายหนังภาพยนตร์อนิเมะเข้าโรงบ้านเราก็ได้นำมาฉายไทยแบบแทบจะต่อจากญี่ปุ่นไม่ถึง 2 เดือนและเป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะทำให้บ็อกซ์ออฟฟิศของไทยกลับมาคึกคักในช่วงท้ายปี

เนื่องจากที่ผ่านมาทาง JAM ได้พิสูจน์แล้วว่าตลาดคนดูอนิเมะฉบับหนังโรงที่ไทยนั้นมีอยู่จำนวนไม่น้อย ประกอบกับที่ตอนนี้ธุรกิจสตรีมมิ่งทำให้คนสามารถเข้าถึงอนิเมะแบบถูกลิขสิทธิ์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งอย่างดาบพิฆาตอสูรนั้นสามารถเลือกดูได้ทั้งแบบฟรีและเสียเงิน ทำให้แฟนของอนิเมะและมังงะเรื่องนี้ในไทยนั้นมีจำนวนมากทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยทำงานที่ต่างรอคอยชมภาพยนตร์เรื่องนี้มาตลอดปีที่ผ่านมา

ดาบพิฆาตอสูร ศึกรถไฟสู่นิรันดร์ ดำเนินเรื่องต่อจากตอนจบของซีรีส์ซีซั่น 1 ทันที ซึ่งเริ่มจากภารกิจใหม่ที่คามาโดะ ทันจิโร่ และเพื่อน ได้รับจากองค์กรนักล่าอสูร คือไปตรวจสอบ ขบวนรถไฟสายนิรันดร์ ที่มีผู้โดยสารหายไปอย่างลึกลับจำนวนมาก ทางองค์กรจึงคาดว่าเป็นฝีมือของอสูร ซึ่งครั้งนี้มี เสาหลักไฟ เร็นโงคุ เคียวจูโร่ เป็นคนนำทีมเหล่านักล่าอสูรรุ่นน้องในการปราบอสูรร้ายที่รอพวกเขาอยู่บนรถไฟ ซึ่งก็ตามสูตรของอนิเมะแนวโชเน็น (เด็กผู้ชาย) ในตลอด 117 นาทีของหนังเรื่องนี้ สิ่งที่ผู้ชมคาดหวังจะได้รับคือการต่อสู้อันดุเดือดระหว่างฝั่งพระเอกและผู้ร้าย และผลก็ออกมาว่าไม่ผิดหวังแต่อย่างใด

ในแง่ด้านภาพ โดยปกติแล้วอนิเมะภาคหนังโรงนั้นมีเวลาและทุนสร้างในการผลิตมากกว่าแบบฉายเป็นตอนๆ ทางทีวี ทำให้ภาพนั้นสวยงามปราศจากการเผา การเคลื่อนไหวไหลลื่นทุกเฟรม ฉากแอคชั่นก็จัดเต็มทั้งมุมกล้องและไดนามิกของฉากต่อสู้ที่เป็นจุดขายของสตูดิโอ Ufotable มาช้านาน ซึ่งในเรื่องนี้ก็ถือว่ายกระดับไปอีกขั้นเลยก็ว่าได้ อาจพูดได้เต็มปากว่าน่าจะเป็นภาพยนตร์อนิเมะแนวแอคชั่นสไตล์โชเน็นที่คุณภาพงานสร้างสูงสุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งมันแสดงให้เห็นถึงความทุ่นทุน ทุ่มเท ละเอียดพิถีพิถันสมกับเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในด้านนี้ของญี่ปุ่น

ในด้านเนื้อเรื่องก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่หรือชวนเซอร์ไพรซ์ เพราะมันเป็นการดำเนิน Arc หนึ่งหรือบทหนึ่งของเรื่องราวใหญ่ทั้งหมด ซึ่งในขนบสายโชเน็นในหนึ่ง Arc ก็ไม่พ้นโครงสร้างอย่าง การนำตัวเอกไปสู่เซ็ตติ้งใหม่ เจอตัวละครใหม่ ศัตรูใหม่ สู้กับศัตรูอย่างลำบากและเอาชนะได้ในที่สุด อาจจะมีจุดพลิกผันบางอย่างในท้าย Arc เพื่อจะส่งต่อปมไปยัง Arc ต่อไป ทุกอย่างเป็นไปตามสูตรและคาดเดาได้ แต่จุดขายของดาบพิฆาตอสูรนั้นอยู่ที่ความแข็งแรงของการสร้างตัวละคร ตั้งแต่ทันจิโร่ เซ็นอิทสึ อิโนสุเกะ กลุ่มตัวละครเอกที่เรารู้จักดีมาตั้งแต่ภาคทีวีซีซั่นแรกก็ส่วนที่ถูกขยายให้ชัดขึ้น นำแก่นของตัวละครมาใช้ประโยชน์กับเรื่องได้ดี และที่โดดเด่นสุดคงไม่พ้นตัวละครประจำภาคอย่าง เสาหลักไฟ เร็นโงคุ เคียวจูโร่ ที่คนดูมีเวลาไม่มากในการรู้จักเขานักแต่ก็อาศัยการวางหมาก จังหวะเรื่องที่คิดมาอย่างดี บวกกับช่วงดราม่าที่ทางผู้กำกับสามารถขยี้ออกมาได้สุดแบบเอาตาย ทำให้คนดูรู้สึกผูกพัน มีอารมณ์ร่วมกับตัวละครอย่างมาก

ด้วยความที่มังงะต้นฉบับนั้นไม่ได้โดดเด่นด้านงานภาพนัก เลยทำให้ทางสตูดิโอและผู้กำกับมีพื้นที่ในการสร้างสรรค์งานวิช่วลได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากตัวเรื่องและตัวละครจากมังงะนั้นเป็นวัตถุดิบชั้นยอดอยู่แล้ว สิ่งที่ผู้กำกับทำ คือการรีดศักยภาพของทีมสร้างทุกแผนก ทั้งอนิเมเตอร์ CG นักพากย์ คนทำสกอร์ และฝ่ายอื่นๆ ออกมาให้ถึงที่สุด และในเชิงภาษาการเล่าเรื่องก็ต้องขยี้ทุกอย่างที่ควรจะเป็นในอนิเมะ Genre นี้ไปให้ถึงขีดสุดเท่าที่ไปได้ โดยสรุป ดาบพิฆาตอสูร ศึกรถไฟสู่นิรันดร์ อาจไม่ใช่งานที่พิเศษ โดดเด่น แปลกใหม่กว่าหนังอนิเมะทั่วไป แต่มันเป็นมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อนิเมะทั้งความบันเทิงและคุณภาพงานสร้าง

ความเป็นอนิเมะสายโชเน็นนั้น การสื่อสารธีมมักจะชัดเจน จับต้องได้ง่าย จะเห็นได้ว่าธีมหลักของภาคนี้ชัดเจนตั้งแต่ชื่อภาค Mugen Train หรือขบวนรถไฟนิรันดร์ แต่เนื้อหาภายในเรื่องนั้นเล่นกับความไม่จีรังของทุกสรรพสิ่ง ซึ่งหากมองไปตั้งแต่เซ็ตติ้งของเรื่องคือญี่ปุ่นสมัยไทโช ที่เทคโนโลยีและธรรมเนียมตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลกับสังคมญี่ปุ่นอย่างมาก การมาของสิ่งใหม่ที่ทำให้สิ่งเก่าจากไป อสูรเปรียบเหมือนฝันร้ายของยุคสมัย บางคนที่หวงแหนอดีตอันสวยงามก็เลือกที่จะยอมจำนนกับอำนาจของอสูรที่จะทำให้อยู่กับความฝันอันสวยงามจนไม่ยอมตื่นมาสู้กับอนาคต หรือแม้แต่อสูรเองก็ต้องดิ้นรนต่อสู้กับกระแสของเวลา ถึงจะเป็นอมตะและมีอำนาจมหาศาลแต่ก็ถูกสังหารได้ ถึงจะสังหารเหล่านักล่าอสูรไปมากเท่าไหร่ ก็จะมีนักล่าอสูรรุ่นใหม่ตามมาทำลายตนอยู่ตลอด

สาระสำคัญของภาคนั้นจะออกมาชัดเจนสุดก็ตอนการสู้กันระหว่างสองตัวละครเด่นในตอนท้าย ที่ต่อสู้ด้วยอาวุธและวิชาไปพร้อมๆ กับการต่อสู้ทางความคิด ตัวร้ายฝั่งอสูรนั้นพยายามโน้มน้าวให้นักล่าอสูรทิ้งความเป็นมนุษย์ซะ เพราะมนุษย์นั้นต่อให้เก่งซักแค่ไหน มีพรสวรรค์เพียงใด ก็มีวันที่สังขารโรยรา ขณะที่อสูรนั้นเป็นอมตะอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งทางด้านตัวละครฝั่งมนุษย์ก็ยังที่จะยืนยันในวิถีความเป็นมนุษย์ของตนและฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ ว่าจะทำภารกิจของนักล่าอสูรรุ่นพี่ให้สำเร็จลุล่วงในซักวัน

แม้แต่ขบวนรถไฟสายนิรันดร์นั้นยังมีวันที่หยุดวิ่ง ไม่มีสิ่งใดที่ค้ำฟ้าเหนือกาลเวลา ปลายดาบของคนรุ่นใหม่จะมาบั่นคออสูรที่เป็นฝันร้ายของยุคสมัยให้ขาดสะบั้นในซักวัน

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 3 ธ.ค. 63

‘อ้าย..คนหล่อลวง’ ความหวังแห่งปีจากค่าย GDH เปิดตัววันแรกที่ 3.68 ล้านบาท ซึ่งเฉือนชนะรายได้เปิดตัว ‘อีเรียมซิ่ง’ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ไปเพียงหลักหมื่นเท่านั้น (‘อีเรียมซิ่ง’ ได้ไป 3.64 ล้านบาท) แต่ความเซอร์ไพรซ์อยู่ที่หนังอนิเมะ Demon Slayer ที่เปิดตัวในระบบ IMAX ก็ทำเงินได้ถึง 2 ล้านบาทเลยทีเดียว

รายได้หนังประจำวันที่ 3 ธ.ค. 63

1. อ้าย..คนหล่อลวง – 3.68 (3.71) ล้านบาท
2. Demon Slayer: Kimetsu No Yaiba – 2.02 ล้านบาท
3. อีเรียมซิ่ง – 1.06 (60.89) ล้านบาท
4. Attraction 2: Invasion – 0.12 (2.94) ล้านบาท
5. The Croods: A New Age – 0.11 (4.10) ล้านบาท
6. Doraemon: Nobita’s New Dinosaur – 0.10 (14.69) ล้านบาท
7. อีหล่าเอ๋ย – 0.09 (3.24) ล้านบาท
8. Run – 0.08 (2.13) ล้านบาท
9. Come Away – 0.06 (2.18) ล้านบาท
10. A Mermaid in Paris – 0.06 ล้านบาท

วงการสะเทือนอย่างไร เมื่อวอร์เนอร์ฯ ประกาศฟ้าผ่า “หนังทุกเรื่องปีหน้าเข้าโรงพร้อมลงออนไลน์”!

อีกหนึ่งคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงถาโถมหลังวอร์เนอร์บราเทอร์สประกาศฟ้าผ่า”หนังทุกเรื่องปีหน้าเข้าโรงพร้อมลงออนไลน์”!

ข่าวไม่สู้ดีสำหรับธุรกิจโรงหนังหลังโควิดยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคือการประกาศของค่ายวอร์เนอร์บราเทอร์สที่ว่า หนังใหม่ทั้งหมดของทางค่ายในปีหน้าจะไม่เปิดฉายในโรงก่อนแบบที่เคยเป็นมาอีกต่อไป แต่จะฉายทาง HBO Max ไปด้วยเลยพร้อมกัน! ซึ่งรวมถึงหนังที่เป็นความหวังของบรรดาโรงอย่าง Matrix 4, Dune และหนังหวังรางวัลอย่าง Judas and the Black Messiah ด้วย

ข่าวนี้จะส่งผลสะเทือนแค่ไหนต่อวงการหนัง “วาไรตี้” วิเคราะห์ไว้น่าสนใจ ซึ่งเราขอสรุปมาแบบสังเขปดังนี้


1) จะส่งผลยังไงกับโรงหนัง

แม้วอร์เนอร์ฯ จะบอกว่าขอใช้กลยุทธ์นี้ชั่วคราวแค่ช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ แต่เมื่อคนดูคุ้นกับการได้ดูหนังฟอร์มยักษ์ชนโรงที่บ้านอย่างสะดวกเสียแล้ว ต่อไปถ้าค่ายกลับไปใช้วิธีฉายในโรงก่อนแล้วรอสามเดือนจึงลงออนไลน์ คนดูก็อาจไม่ยินดีจะแห่กันไปโรงอย่างเร่งรีบเหมือนเคยแล้วก็ได้ เพราะอันที่จริงก่อนโควิดระบาด ความนิยมต่อโรงหนังก็เริ่มเสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัด โรงขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ เริ่มมีปัญหาหนี้สิน ยิ่งค่ายหนังมีท่าทีถอยตัวห่างจากโรงเช่นนี้ โอกาสที่นักลงทุนและธนาคารจะยินดีให้โรงกู้เงินไปหมุนในธุรกิจหลังโควิดก็น่าจะยิ่งน้อยลง จึงน่าจับตามากว่าธุรกิจโรงจะรอดหรือไม่ในปี 2021


2) HBO Max จะเป็นยังไง

ไลน์อัพหนังในแพลตฟอร์มนี้จะร้อนแรงขึ้นทันตาเห็นด้วยหนังอย่าง The Matrix 4, Dune, In the Heights รีเมค, The Many Saints of Newark ภาคพรีเควลของซีรี่ส์ The Sopranos, The Suicide Squad, Godzilla vs. Kong, Conjuring ภาคใหม่, ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้คู่แข่งอย่าง Netflix กับ Amazon Prime เริ่มหนาว, อาจกดดันให้ Disney Plus ต้องรีบโชว์ลิสต์หนังในมือออกมาอวด รวมทั้งอาจต้องทบทวนการฉายของ Black Widow ให้ลงออนไลน์พร้อมๆ กับเข้าโรงบ้าง


3) มีอะไรเปลี่ยนแปลงสำหรับค่ายวอร์เนอร์เอง

ค่ายนี้ปรับเปลี่ยนจาก Time Warner มาเป็น WarnerMedia ต้อนรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งหมายถึงการที่พวกเขาจะระดมผลิตคอนเทนต์และเผยแพร่มันผ่านช่องทางใหม่ๆ อย่างจริงจัง แน่นอนว่าสำหรับสายหนัง ทีวี และซีรี่ส์แล้ว ปลายทางที่พวกเขากำลังมองว่าเป็นอนาคตก็คือ HBO Max หาใช่โรงหนังไม่


4) สตูดิโออื่นจะได้รับผลกระทบยังไง

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เกิดรูปแบบการจัดจำหน่ายใหม่ที่เปลี่ยนโฉมหน้าการฉายหนังถึง 2 แบบ แบบแรกคือกรณีวอร์เนอร์ฯ กับ HBO Max ดังที่ว่าไป อีกแบบคือกรณีค่ายยูนิเวอร์แซลที่ทำข้อตกลงกับโรงเครือใหญ่ว่า จะปล่อยหนังใหม่ไปเข้าโรงก่อน 17 วันแล้วลงแพลตฟอร์มวิดีโอออนดีมานด์แบบพรีเมียมต่อทันที ซึ่งแน่นอนว่าแบบหลังนี้ถูกใจโรงหนังมากกว่า แต่แบบแรกอาจจะถูกใจคนดูเพราะเสียเงินน้อยกว่าเยอะ (คือเสียเป็นรายเดือนให้ HBO Max ไปเลย ไม่ต้องมาเช่าดูเป็นเรื่องๆ เรื่องละเกือบ 20 เหรียญแบบที่ยูนิเวอร์แซลทำ) ปีหน้าจึงน่าจับตาว่ายูนิเวอร์แซลจะเปลี่ยนกลยุทธ์หรือไม่หากพบว่าวอร์เนอร์ฯ ประสบความสำเร็จกว่า

และที่แน่ๆ เราคนดูจะได้รับการป้อนคอนเทนต์มหาศาลมาถึงตัวมากขึ้นและเร็วขึ้นทุกที มหกรรมการรอคอยหนังเข้าโรงจะมีความหมายลดลง ซึ่งนั่นอาจเป็นได้ทั้งความเปลี่ยนแปลงด้านร้ายและด้านดี มันชวนให้เราต้องขบคิดกันใหม่อีกครั้งว่า อะไรกันแน่คือความหมายของการดูหนัง และการไปโรงหนัง?

เมื่อการจัดจำหน่ายแบบลูกผสม (hybrid distribution) กำลังจะกลายเป็นความปกติใหม่สำหรับธุรกิจหนังหลังวิกฤตโควิด

อย่างที่รู้กันว่าท่ามกลางวิกฤตของโรคร้ายที่คุกคามอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลก จนทำให้เกิดคำถามว่าธุรกิจภาพยนตร์กำลังเข้าสู่ภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์หรือไม่ ได้มีความพยายามของสองค่ายสตูดิโอยักษ์ใหญ่ของฮอลลีวูดซึ่งในแก่ค่ายวอร์เนอร์ และ ค่ายดิสนีย์ที่จะท้าทายสภาวะดังกล่าวด้วยการเข็นหนังที่ถือเป็นความหวังของค่ายเข้าฉายในช่วงเวลาที่ค่ายยักษ์ใหญ่อื่นๆ เลือกที่จะเลื่อนหนังฟอร์มยักษ์ออกไป โดยค่ายวอร์เนอร์เลือกที่จะนำ Tenet หนังทุน 200 ล้านของผู้กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลน เข้าฉายในรูปแบบปกติในโรงภาพยนตร์ ในต้นเดือนกันยายน ขณะที่ ค่ายดิสนีย์ เลือกเปิดตัว Mulan ในเวลาไล่เลี่ยกันบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเองที่ชื่อ Disney Plus โดยผู้ชมต้องชำระค่าเข้าชม 29.99เหรียญ (กว่า 900 บาท) ก่อนที่จะชมภาพยนตร์ได้ในเวลาจำกัด นอกจากนี้ในประเทศที่ Disney Plus ยังไม่เปิดบริการ หนังเข้าฉายโรงปกติ ในวันเดียวกับที่หนังออกฉายทางช่องทางสตรีมมิ่ง

แม้ผลลัพธ์ที่ออกมา ค่ายวอร์เนอร์กลายเป็นผู้แพ้แบบหมดรูป เนื่องจาก Tenet ทำเงินจากการฉายโรงอย่างเดียวเพียงแค่ 357 ล้านเหรียญ โดยเป็นรายได้ในอเมริกาเพียงแค่ 57 ล้านเหรียญเท่านั้น หลังจากแบ่งรายได้กับโรง และหักลบค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์จำนวนมหาศาล สตูดิโอคงหนีไม่พ้นสภาวะความหายนะเมื่อต้องเคลียร์บัญชีในช่วงปลายปีhttps://newsabc.net/tenet-is-heading-for-the-flop-and-that-is-bad-news-for-james-bond/ ส่วนค่ายดิสนีย์ แม้โดยรวมดูเหมือนว่าจะเป็นผู้ชนะ เนื่องจากรายได้จากค่าสตรีมจากการคาดการณ์ของผู้สันทัดกรณีหลายฝ่าย อาจสูงถึง 270 ล้านเหรียญhttps://www.mediaplaynews.com/report-disney-generated-270-million-in-mulan-pvod-sales/ ซึ่งถ้าเป็นไปตามนั้น หนังพ้นสถานะจากกการขาดทุนอย่างไม่มีปัญหา เนื่องจากดิสนีย์ไม่ต้องแบ่งรายได้กับใคร แต่กระนั้น ผลจากการที่โรงถูกบังคับให้ต้องฉายหนังเวลาเดียวกับช่องทางสตรีมมิ่ง จนทำให้ภายในเวลาไม่ถึงวัน ลิงก์หนังเถื่อนที่มีความคมชัดระดับสูงถูกแพร่กระจายไปทั่วโลก (รวมถึงเมืองไทย) ประกอบกับความไม่พร้อมของผู้ชมที่จะออกมาดูหนังในโรง และการเปิดตัวในจีนที่น่าผิดหวังทำให้รายได้รวมจากการฉายทั่วโลกทำได้เพียงแค่ 66 ล้านเหรียญเท่านั้นhttps://www.boxofficemojo.com/title/tt4566758https://www.scmp.com/abacus/culture/article/3101525/piracy-hurt-disneys-mulan-china-1999-and-it-appears-be-happening ซึ่งถ้าเป็นไปตามนั้น หลังจากหักลบต้นทุนการผลิตจำนวน 200 ล้านเหรียญ บวกกับรายได้จากค่าฉายที่ต้องแบ่งกับโรงในประเทศต่างๆ และหักลบค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ต้องจ่ายไปก่อนหน้านี้ ดิสนีย์น่าจะได้กำไรติดมือกลับมาไม่กี่มากน้อย แล้วก็อาจเป็นเพราะผลลัพธ์ข้างต้นนี้เองที่ทำให้ทุกภาคส่วนของธุรกิจภาพยนตร์อเมริกันต้องหันมาขบคิดว่าจะดำรงอยู่ในในภาวะของวิถีใหม่อย่างไร ในเมื่อโรงภาพยนตร์อาจไม่ใช่แหล่งรายได้หลักต่อไป และ สตรีมมิ่งก็ยังไม่พร้อมที่จะเป็นแหล่งรายได้ทดแทนที่นำมาด้วยผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ จนกระทั่งต่อมาได้เกิดความเคลื่อนไหวสำคัญสองเหตุการณ์ที่สร้างเสียงฮือฮาให้กับโลกภาพยนตร์ไม่น้อย จนนำมาสู่ความหวังต่อทิศทางธุรกิจภาพยนตร์ในช่วงเวลาที่เหลือของปี ความเคลื่อนไหวทั้งสองเหตุการณ์ประกอบด้วย

1. การที่โรงหนังเครือใหญ่อย่าง AMC และ Cinemark บรรลุข้อตกลงกับค่าย Universal (หลังจากมึนตึงไปช่วงหนึ่งหลังจากที่ค่ายแอบเอาหนังเรื่อง Troll World Tour ไปฉายช่องทางสตรีมมิ่ง) ในการลดช่วงเวลาการฉายภาพยนตร์ของค่าย (หรือเรียกว่า Window) จากที่เคยกำหนดระหว่าง 75-90 วัน เหลือเพียง 17 วันสำหรับโรงเครือ AMChttps://variety.com/2020/film/news/universal-amc-deal-theaters-pandemic-1234801134/ ขณะที่โรงเครือ Cinemark ขอสงวนไว้ 2 ทางเลือก โดยภาพยนตร์ที่ทำรายได้มากกว่า 50 ล้านเหรียญ ช่วงเวลาการฉายคือ 30 วัน แต่สำหรับภาพยนตร์ที่ถ้ารายได้ไม่เกิน 50 ล้านจะมีช่วงเวลาการฉาย 17 วัน โดยหลังจากพ้นช่วงเวลาการฉายที่กำหนดแล้ว ภาพยนตร์ของค่าย Universal สามารถเข้าฉายช่องทางสตรีมมิ่งโดยทันทีhttps://variety.com/2020/film/news/cinemark-universal-theatrical-window-shortened-pvod-1234833162/ ขณะเดียวกันโรงภาพยนตร์ทั้งสองเครือจะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากยอดสตรีมหนังเป็นการชดเชยรายได้ที่หายไป (ว่ากันว่าประมาณ 15-17%)https://deadline.com/2020/11/universal-cinemark-ink-shortened-theatrical-window-pvod-share-pact-in-wake-of-amc-deal-1234616550/

แน่นอนว่าโมเดลในลักษณะนี้ เราอาจจะไม่เห็นหนังจากค่าย Universal สร้างสถิติบ็อกซ์ออฟฟิศประเภทรายได้เกิน 300 ล้านเหรียญอีกต่อไป เพราะช่วงเวลาเพียงแค่หนึ่งเดือนคงไม่เอื้อให้หนังทำรายได้เยอะถึงขนาดนั้น แต่ในแง่ความสดและใหม่ของหนัง เมื่อเข้าสู่ช่องทางสตรีมมิ่งอย่าง Netflix น่าจะทำรายได้จากการขายลิขสิทธิ์สตรีมมิ่งให้แก่ค่าย Universal อยู่ไม่น้อย ส่วนโรงก็น่าจะพอใจกับส่วนแบ่งจากยอดสตรีมที่ค่ายแบ่งให้ และถ้าหากโมเดลนี้ประสบความสำเร็จขึ้นมา จนทำให้โรงภาพยนตร์เครืออื่น และค่ายหนังยักษ์ใหญ่ค่ายอื่นๆ หันมาใช้นโยบายแบบนี้กัน ผู้ที่จะเดือดร้อนที่สุดก็คือ บริษัทผลิตหนังขนาดกลางและเล็ก เพราะลำพังอำนาจการต่อรองกับโรงก็ต่ำอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอนโยบายบีบวันฉายให้น้อยลงเท่ากับว่า โอกาสที่หนังจะประสบความสำเร็จจากการฉายโรงก็น้อยลงไปด้วย

2. Wonder Woman 1984 โมเดล ซึ่งเป็นแผนการจัดจำหน่ายของค่ายวอร์เนอร์ที่อาศัยการเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากกรณีการฉาย Tenet ด้วยการเลือกฉายหนัง 2 รูปแบบทั้งโรงภาพยนตร์และช่องทางสตรีมมิ่งผ่านแพลตฟอร์ม HBO Max ฟังเผินๆ แล้วไม่ต่างอะไรกับ Mulan โมเดลที่ค่ายดิสนีย์ได้ทำไปแล้ว แต่หากพิจารณารายละเอียดการจัดจำหน่ายจะพบว่ามีความแตกต่างพอสมควร ประการแรก หนังจะเปิดตัวทางโรงหนังทั่วโลกก่อนในวันที่ 16 ธันวาคม จากนั้นหนึ่งอาทิตย์ต่อมาซึ่งจะตรงกับช่วงคริสต์มาส หนังก็จะเปิดตัวในอเมริกาทางช่องทางสตรีมมิ่งของ HBO Max และในโรงภาพยนตร์เป็นเวลาหนึ่งเดือน จากนั้นก็จะหยุดบริการแล้วเปิดโอกาสผู้บริโภคดาวน์โหลดแบบต้องชำระค่าบริการเพื่อเก็บหนังไว้ชมในเครื่องรับ (ยกตัวอย่างเช่น iTunes) ก่อนกลับมาฉายที่ HBO Max แบบสตรีมมิ่งอีกครั้ง ขณะที่ Mulan เปิดตัวพร้อมกันทุกข่องทางทั้งโรงและสตรีมมิ่ง ประการที่สอง ค่ายวอร์เนอร์ไม่คิดค่าบริการในการชมภาพยนตร์เรื่อง Wonder Woman 1984 ทางช่อง HBO Max เพียงแต่ว่าผู้ที่จะชมได้ต้องสมัครสมาชิกรายเดือน HBO Max เสียก่อน ซึ่งคิดราคาแค่ 14.99 เหรียญต่อเดือนเท่านั้น ขณะที่เงื่อนไขในการชม Mulan ผู้ชมต้องสมัครสมาชิก Disney Plus เป็นจำนวน 6.99 เหรียญ ก่อนจากนั้นต้องจ่ายค่าชม Mulan อีก 29.99 เหรียญhttps://www.theverge.com/2020/11/18/21504152/wonder-woman-1984-release-delay-new-date-warner-bros-disney-black-widow-dune-tenet

แม้ว่าโมเดลในการการจัดจำหน่าย Wonder Woman 1984 ดูเหมือนจะมีความซับซ้อน แต่หากพิเคราะห์ในรายละเอียดจะพบว่านี่คือการกระจายความเสี่ยงอย่างเป็นระบบและน่าสนใจ แน่นอนว่าการเว้นระยะปลอดภัยให้กับการฉาย นอกอเมริกาถึงหนึ่งอาทิตย์โดยไม่ต้องกังวลว่าจะพบลิงก์หนังผิดกฎหมายจากที่ไหน น่าจะทำให้หนังเก็บรายได้จากการฉายในหลายประเทศได้บ้าง โดยเฉพาะรายได้จากประเทศจีนhttps://variety.com/2020/film/box-office/wonder-woman-release-dates-1234839350/ ส่วนในอเมริกา หากไม่นับยอดขายตั๋วที่อาจไม่ดีนัก เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวภาวะโควิดน่าจะยังไม่คลี่คลาย การที่หนังเปิดตัวทางช่องทาง HBO Max โดยที่ไม่คิดค่าชมเพิ่ม น่าจะทำให้ยอดสมาชิกของ HBO Max เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณแน่นอน โดยเฉพาะช่วงคริสมาสที่หลายครอบครัวเลือกพักผ่อนที่บ้าน ซึ่งหากเป็นไปตามที่ผู้บริหารวอร์เนอร์คาดคิด Wonder Woman 1984 น่าจะเป็นหนังสตูดิโอเรื่องที่ทำรายได้อย่างงดงามจากการฉายในโรง และจากยอดสมัครสมาชิก

หากพิจารณาสองความเคลื่อนไหวข้างต้นให้ดีจะพบว่า รูปแบบการจัดจำหน่ายภาพยนตร์จะไม่ยึดแนวทางใดแนวทางหนึ่งอีกต่อไป แต่จะเป็นการผสมผสานข้ามรูปแบบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จะเรียกว่าเป็น hybrid distribution ก็ไม่ผิดนัก ไม่มีใครบอกได้เมื่อถึงเวลาจริงที่สถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว โมเดลทั้งสองแบบจะไปต่อหรือหยุดลงแค่นี้ แต่ที่แน่นอนก็คือทุกอย่างไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบุคลากรทุกฝ่ายในธุรกิจภาพยนตร์คือการยอมรับความจริงแล้วพร้อมปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นตลอดเวลา

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 26 พ.ย. – 2 ธ.ค. 63

‘อีเรียมซิ่ง’ ครองแชมป์เป็นสัปดาห์ที่ 2 ด้วยรายได้ที่ทิ้งห่างจากทุกเรื่องที่เข้าฉายในสัปดาห์เดียวกัน ขนาดว่ารวมรายได้ทั้งสัปดาห์ตั้งแต่อันดับ 2-10 ยังไม่เท่า 25.54 ล้านบาทที่ ‘อีเรียมซิ่ง’ ได้ไป

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 26 พ.ย. – 2 ธ.ค. 63

1. อีเรียมซิ่ง – 25.54 (59.83) ล้านบาท
2. The Croods: A New Age – 3.99 ล้านบาท
3. Doraemon: Nobita”s New Dinosaur – 3.64 (14.59) ล้านบาท
4. อีหล่าเอ๋ย – 3.15 ล้านบาท
5. Attraction 2: Invasion – 2.82 ล้านบาท
6. Come Away – 2.12 ล้านบาท
7. Run – 2.05 ล้านบาท
8. The Witches – 0.36 (15.90) ล้านบาท
9. Fallen Angels – 0.31 ล้านบาท
10. คนทรงผี – 0.27 (2.14) ล้านบาท 

Three Identical Strangers คนแปลกหน้าที่รู้จักกันดี

หลายครั้งที่ผมเริ่มทำความรู้จักผู้คนใหม่ๆ พวกเขาจะคุยกันเองว่าผมมีลักษณะบางอย่างที่เหมือนกับคนรู้จักอีกคนหนึ่ง ผมไม่แน่ใจนักว่าเป็นเพราะลักษณะทางกายภาพแบบลูกคนจีนที่มีอยู่เยอะแยะทั่วไปในบ้านเมืองนี้ บุคลิกท่าทางที่อาจจะไปลอกแบบใครๆ มาโดยไม่รู้ตัว หรือเพราะคู่แฝดที่ผมไม่เคยเห็นตัวนี้มันมีอยู่จริงกันแน่

คุณจะรู้สึกอย่างไรถ้าวันหนึ่งเดินไปเจอคนที่มีรูปร่างท่าทางเหมือนตัวเองเป๊ะๆ ราวกับเห็นภาพสะท้อนในกระจก เรื่องเหลือเชื่อพรรค์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วบนโลก และไม่ได้เกิดกับคนหน้าเหมือนแค่สองคนเท่านั้น แต่เป็นสามเลยต่างหาก นี่คือเรื่องราวของสารคดีที่มีชื่อว่า Three Identical Strangers

สารคดีเรื่องนี้ฉายครั้งแรกในเทศกาลซันแดนซ์ปี 2018 เล่าเรื่องราวประหลาดที่บ๊อบบี้ ชาฟราน ประสบพบเจอในปี 1980 วันที่เขาเข้าเรียนวันแรกในวิทยาลัยชุมชนซัลลิแวนเคาน์ตี้ ตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินลงจากรถ แทบทุกคนที่มาถึงก่อนหน้าก็แสดงท่าทีราวกับว่ารู้จักเขามาก่อน ผู้คนเดินเข้ามาทักทายอย่างสนิทสนม ตบหลังตบไหล่ หญิงสาวคนหนึ่งปรี่เข้ามาจูบเขาและบอกว่า “ฉันดีใจที่เธอกลับมานะเอ็ดดี้”

ปัญหาก็คือ เขาไม่เคยมาที่นี่

และเอ็ดดี้คนนี้คือใครกัน (วะ)

หลังจากติดต่อกันผ่านเพื่อนสนิทของเอ๊ดดี้ บ๊อบบี้ค้นพบทันทีว่าตัวเองมีแฝด พวกเขายืนยันได้จากข้อมูลวันเกิดและสถานเลี้ยงเด็กที่ตัวเองจากมา บ่ายวันนั้นบ๊อบบี้ขับรถตรงดิ่งไปหาเอ๊ดดี้ที่บ้าน เรื่องราวของพี่น้องผู้พลัดพรากกลายเป็นข่าวดังใหญ่โตทั่วประเทศ และยิ่งฮือฮาขึ้นอีกเมื่อแฝดคนที่สาม ‘เดวิด’ ปรากฏตัว เวทมนตร์ของเรื่องราวการพบพานนี้ทำให้แฝดสามดังระเบิด ทั้งสามหน้าตาเหมือนกัน บุคลิกเหมือนกัน มีรสนิยมความชอบแบบเดียวกัน ทั้งที่เติบโตมาจากสามครอบครัวที่มีฐานะและการเลี้ยงดูแตกต่างกันเหลือเกิน

เรื่องเหลือเชื่อแบบนี้นี้เป็นไปได้จริงไหม

เราเป็นเราเช่นทุกวันนี้ได้เพราะผลจากกรรมพันธุ์เท่านั้นเลยหรือ

ผมเกือบรู้สึกว่าหนังใช้เวลากับการเล่าถึงความสวยงามแห่งการพบพานของแฝดทั้งสามนานเกินไปแล้ว ก่อนที่มันจะโยนข้อสงสัยในเหตุบังเอิญที่ว่านี้มาเพื่อขับเคลื่อนเรื่องในองก์ต่อไป ปิศาจร้ายในรายละเอียดนี้เผยตัวออกมาเล็กน้อยเมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งแสดงความสงสัยอย่างโจ่งแจ้งต่อสถานดูแลเด็กอ่อนหลุยส์ไวส์เซอร์วิสเซส (Louise Wise Services) สถานสงเคราะห์ดำเนินการโดยชาวยิวที่รับแฝดสามมาดูแลก่อนจะส่งต่อให้พ่อแม่อุปถัมภ์ ใช่แล้ว…กลุ่มคนที่ไม่พอใจพวกนั้นคือพ่อแม่อุปถัมภ์ของเด็กทั้งสามคนนั้น กฎการเปิดเผยข้อมูลภูมิหลังทั้งหมดของเด็กให้แก่ผู้อุปถัมภ์ถูกละเมิด โดยคณะกรรมการให้เหตุผลว่า ทำไปเพื่อให้มีคนรับอุปการะเด็กง่ายขึ้น ไม่มีใครหรอกที่จะอยากมีลูกพร้อมกันคราวละสามคน

และชิ้นส่วนสุดท้ายของปริศนานี้ก็เข้าสู่ที่ทางของมัน เมื่อลอว์เรนซ์ ไรท์ นักข่าวและนักเขียนแห่งนิวยอร์กเกอร์เข้าถึงข้อมูลที่ว่ามีการทดลองทางจิตวิทยาเกิดขึ้นอย่างลับๆ โดยใช้เด็กแฝดเป็นตัวแปรควบคุมเพื่อหาว่าระหว่างการเลี้ยงดูและพันธุกรรม อะไรมีผลต่อการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์มากกว่ากัน ทิศทางของสารคดีหักเลี้ยวจากมหัศจรรย์แห่งชีวิต สู่หลุมมืดของการศึกษาทดลองทางจิตวิทยาทันที

ครอบครัวทั้งสามมีลักษณะร่วมกันอย่างไม่น่าเชื่อ พวกเขาเคยอุปการะเด็กหญิงมาก่อน อยู่ห่างจากหลุยส์ไวส์เซอร์วิสเซสในรัศมีหนึ่งร้อยไมล์ ต่างกันเพียงฐานะทางการเงินและการศึกษา ยังมีข้อมูลอีกว่าแฝดสามกลุ่มนี้ไม่ใช่แฝดกลุ่มเดียวที่ถูกจับแยกกัน มีแฝดอีกหลายคู่หลายกลุ่มถูกแยกกัน แฝดทุกกลุ่ม ถือกำเนิดขึ้นมาจากแม่ที่มีประวัติการเข้ารักษาอาการทางจิตและได้รับการช่วยเหลือจากหลุยส์ไวส์ รวมกับการที่มีคนมาสำรวจพัฒนาการของเด็กๆ อย่างต่อเนื่องหลายปี นี่คือการทดลองลับที่ว่านั้นอย่างไม่ต้องสงสัย

Three Identical Strangers รอดพ้นจากการเป็นบันเทิงคดีทั่วไปและกลายร่างเป็นหนังที่ตั้งคำถามกับศีลธรรมการศึกษาทดลองได้อย่างแหลมคมเหลือเชื่อ คำถามสำคัญชวนคิดต่อก็คือ ในนามของการศึกษาอันเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ ผู้ทดลองมีความชอบธรรมแค่ไหนในการเลือกทำร้ายมนุษย์บางคนเพื่อหาคำตอบ 

“แน่นอนแหละว่าถ้าเอามาพูดกันตอนนี้มันก็โหดร้าย แต่คุณใช้ศีลธรรมชุดเดียวกันนี้ตัดสินคนเมื่อซัก 50-60 ปีไม่ได้นะ สมัยนั้นคนแทบไม่กระดิกกับคำว่าจิตวิทยาเลยด้วยซ้ำ” เลขาของปีเตอร์ นอยเบาเออร์ นักจิตวิทยาเด็กแห่งเยล หัวหน้าทีมทดลองโปรเจกต์ลับนี้กล่าวด้วยท่าทางจริงจัง 

ทว่าความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้วอย่างถาวร ตั้งแต่อาการวิตกกังวลของเด็กแฝดทุกคนที่ถูกจับแยกกันตั้งแต่ยังเล็ก โรคภัยอาการทางจิตที่พวกเขาทุกคนประสบในตอนวัยรุ่น ลุกลามไปถึงความเสียหายต่อพฤติกรรมของพวกเขาตลอดชีวิต ข้อเท็จจริงที่น่าเศร้าอีกประการของการทดลองครั้งนี้ก็คือ มันจบลงกลางคันและไม่ให้ดอกผลอะไรที่มีประโยชน์ต่อการสรุปว่าการเลี้ยงดูหรือกรรมพันธุ์ส่งผลต่อพฤติกรรมชั่วชีวิตของมนุษย์มากกว่ากัน หมายความว่า ชีวิตบางส่วนของพวกเขาและแฝดกลุ่มอื่นๆ ถูกทุบทำลายลงไปโดยไม่เกิดผลใดๆ ต่อการศึกษาเลย

นักวิทยาศาสตร์ยุคต่อมาไม่ได้ค้นพบอะไรเพิ่มเติมมากนักว่าสิ่งใดมีผลมากกว่ากัน สารคดี Sex, Explained ตอน Attraction มีข้อเท็จจริงน่าสนใจ (ซึ่งได้มาจากการออกแบบสำรวจ ดูทารุณน้อยกว่าการแยกทารกแฝดออกจากกันแต่เล็กทีเดียว) มันพูดถึงอิทธิพลภายนอกอย่างการเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อมว่ามีผลต่อรสนิยมทางเพศของบุคคลใดๆ คำตอบคือ มันมีผลมากเท่ากับที่ปัจจัยภายในอย่างสภาพทารกในครรภ์และพันธุกรรมมีผลต่อพฤติกรรมของคนคนนั้นใน กล่าวคือการที่เราเป็นเรา มีปัจจัยมากมายเกินกว่าจะฟันธงว่าเราถูกหล่อหลอมให้โตมาเป็นคนเช่นนี้ หรือมีบางอย่างกำหนดความเป็น “ตัวเรา” มาตั้งแต่แรก (ซึ่งคลาดเคลื่อนไปจากความเข้าใจว่าการเลี้ยงดูมีผลต่อพฤติกรรมมากกว่า อันเป็นแนวคิดกระแสหลักอยู่พอสมควร) ข้อเท็จจริงชุดนี้ยิ่งขับความเหมือนและต่างในขณะเดียวกันของแฝดสามออกมาให้เห็นเด่นชัด ความเหมือนกันอย่างน่าอัศจรรย์เป็นเพียงสิ่งที่ฉาบเคลือบความรู้สึกแตกต่างกันที่ซ่อนตัวอยู่ในส่วนลึกของพวกเขาอย่างไม่ต้องสงสัย

กล่าวคือการที่เราเป็นเรา มีปัจจัยมากมายเกินกว่าจะฟันธงว่าเราถูกหล่อหลอมให้โตมาเป็นคนเช่นนี้ หรือมีบางอย่างกำหนดความเป็น “ตัวเรา” มาตั้งแต่แรก

แม้จะไม่อาจบอกได้ว่าการพบพานของบ๊อบบี้ เอ๊ดดี้ และเดวิดเป็นผลงานของโชคชะตาล้วนๆ แต่ก็ใช่ว่ามันจะหมดสิ้นมนต์เสน่ห์ลงไป เรื่องราวของคนแปลกหน้าที่รู้กจักกันดีตั้งแต่แรกเห็นนี้ทิ้งคำถามสำคัญเอาไว้หลังเครดิตว่า เราต้องไปให้ไกลแค่เพื่อให้พบกับความจริง เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ หรือเราแค่ต้องยอมรับว่าพวกเราต่างกัน การวางข้อสงสัยนั้นลงและปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็นก็ถือเป็นความเมตตาที่เพียงพอแล้ว ข้อมูลในตอนท้ายเปิดเผยว่ายังมีแฝดอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองมีพี่น้องที่ถูกพรากจากกันตั้งแต่เกิด ไม่มีใครล่วงรู้ได้เลยว่าข้อมูลปกปิดของโครงการนี้จะสร้างความปิติยินดีหรือสร้างแผลใจให้กับผู้ร่วมทดลองโดยไม่สมัครใจมากกว่ากัน เป็นไปได้ว่าสักวันหนึ่งพวกเขาอาจจะเดินมาเจอกันที่มุมถนนสักที่ก็ได้

คุณจะรู้สึกอย่างไรหากได้เจอกันแฝดของตัวเองในวันหนึ่ง?

ช่างเป็นคำถามที่ชวนขนลุกขนพองอยู่ไม่น้อยทีเดียว


Three Identical Strangers มีให้รับชมแล้วทาง Netflix

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 26 พ.ย. 63

เมื่อวานมีหนังใหม่เข้ามากถึง 7 เรื่อง แต่เข้า top 10 มาได้ 5 เรื่อง ซึ่งหนังที่เปิดตัวสูงสุดคือ ‘อีหล่าเอ๋ย’ ที่ทำไปเกือบ 1 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถโค่น ‘อีเรียมซิ่ง’ ลงได้ ทั้งนี้เมื่อวานมีโปรโมชั่น 26 บาทในเครือ เมเจอร์ฯ ด้วย

รายได้หนังประจำวันที่ 26 พ.ย. 63

1. อีเรียมซิ่ง –2.47 (36.77) ล้านบาท
2. อีหล่าเอ๋ย – 0.98 ล้านบาท
3. The Croods: A New Age – 0.49 ล้านบาท
4. Doraemon: Nobita’s New Dinosaur – 0.48 (11.43) ล้านบาท
5. Come Away – 0.37 ล้านบาท
6. Attraction 2: Invasion – 0.36 ล้านบาท
7. Run – 0.20 ล้านบาท
8. คนทรงผี – 0.19 (2.06) ล้านบาท
9. The Witches – 0.15 (15.69) ล้านบาท
10. Malevolent – 0.06 (1.23) ล้านบาท

ไม่ใช่แค่ “ภรรยาจอร์จ คลูนีย์” …เธอคือ “อามัล”

เธอกลายเป็นข่าวดังในประเทศไทยไม่กี่วันก่อน หลังออกแถลงการณ์ในนามมูลนิธิคลูนีย์เพื่อความยุติธรรม (Clooney Foundation for Justice) วิจารณ์รัฐบาลไทยเรื่องการใช้ม.112 กับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม หลายคนรู้จักเธอในฐานะภรรยาสาวคนงามของนักแสดงหนุ่มใหญ่จอร์จ คลูนีย์ แต่แท้จริงแล้วเธอผู้นี้เป็นอะไรมากกว่านั้น

อามัล คลูนีย์ หรือนามสกุลเดิม อลามูดดิน เป็นนักเคลื่อนไหวและนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนชาวอังกฤษเชื้อสายเลบานอนที่มีบทบาทร่วมในคดีและกรณีสำคัญหลายต่อหลายครั้ง เมื่อปี 2019 เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ถึงกับก่อตั้งรางวัล “Amal Clooney Award” เพื่อมอบให้แก่เหล่าสตรีที่น่าทึ่ง, ปีนี้เธอกับจอร์จได้รางวัลด้านมนุษยธรรมจาก Simon Wiesenthal Center และเมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง เธอเพิ่งได้รางวัล Gwen Ifill Press Freedom Award ซึ่งมอบแก่บุคคลที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อมวลชน

ต่อไปนี้คือผลงานด้านกฎหมายบางส่วนของเธอ

รณรงค์ยุติความรุนแรงทางเพศในเขตสงคราม

ปี 2014 วิลเลียม เฮก อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ขอให้อามัลเข้าร่วมกลุ่มที่ปรึกษา เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศ (ซึ่งถูกใช้เป็นวิธีทำลายฝ่ายตรงข้ามในเขตพื้นที่สงคราม) และเธอยังเข้าร่วมกับ แองเจลินา โจลี ในการประชุมที่ลอนดอนเพื่อรณรงค์ประเด็นนี้ด้วย

คดีคุมขังอดีตปธน.มัลดีฟส์

ปี 2015 โมฮาเหม็ด นาชีด อดีตประธานาธิบดีที่ได้รับการแต่งตั้งตามระบอบประชาธิปไตยคนแรกของมัลดีฟส์ ถูกจำคุก 13 ปีในข้อหาก่อการร้าย อามัลเข้าร่วมทีมกฎหมายเรียกร้องให้ประชาคมโลกกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อมัลดีฟส์ เพื่อกดดันให้รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ถูกกล่าวหาหลายร้อยคน และเธอยังสนับสนุนให้ เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้นออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในมัลดีฟส์ รวมทั้งผลักดันให้องค์การสหประชาชาติประกาศไม่ยอมรับการคุมขังดังกล่าว เพราะ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” และ “มีแรงจูงใจทางการเมือง”

คดีคุมขังอดีตปธน.ฟิลิปปินส์

ปี 2015 อามัลยื่นฟ้องรัฐบาลสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ต่อคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ) กรณีการควบคุมตัวอดีตปธน. กลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย และคณะทำงานฯ ได้ออกความเห็นในเวลาต่อมาว่า การควบคุมตัวนี้ “ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ”

คดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์มีเนีย

มกราคม 2015 อามัลและสำนักงานกฎหมาย Doughty Street Chambers เป็นตัวแทนของอาร์มีเนียในการต่อสู้ให้ประชาคมโลกให้การรับรองว่า เหตุการณ์สังหารชาวอาร์มีเนียโดยจักรวรรดิออตโตมันเติร์กสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น เป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลตุรกีปฏิเสธมาตลอด) และเธอยังประณามพฤติกรรมของรัฐบาลตุรกีที่คุกคามเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนต่อประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง

คดี “ปฏิบัติการดีมีทริอุส”

ปี 2015 อามัลกับ ชาร์ลส์ ฟลานาแกน รมต.ต่างประเทศไอร์แลนด์ รื้อคดี “ชายสวมฮู้ด” ขึ้นฟ้องรัฐบาลอังกฤษต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป เนื้อคดีกล่าวถึงนโยบายปราบไอร์แลนด์ในยุคนายกฯ เอ็ดเวิร์ด ฮีธ (1970-74) ที่มีการใช้ “ปฏิบัติการดีมีทริอุส” จับกุมชาวไอร์แลนด์จำนวนมากและสอบสวน-ลงโทษอย่างผิดกฎหมายด้วย 5 วิธีการ (หนึ่งในนั้นคือการบังคับสวมฮู้ดแล้วซ้อมทรมาน หรือผลักตกลงจากเฮลิคอปเตอร์)

คดีไอซิสก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ปี 2017 อามัลจับมือกับ นาเดีย มูราด ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (เธอรอดชีวิตจากการถูกลักพาตัว ถูกจับเป็นทาส และถูกสมาชิกกลุ่มไอซิสข่มขืน หลังจากพวกเขาบุกเข้าไปในหมู่บ้านทางตอนเหนือของอิรัก) เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยทั้งคู่แถลงต่อองค์การสหประชาชาติ จนสภาสหประชาชาติมีมติให้สอบสวนไอซิสและรวบรวมหลักฐานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การก่ออาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

คดีนักข่าวรอยเตอร์ในเมียนมา

ปี 2018 วะลง กับ จ่อโซอู สองนักข่าวเมียนมาซึ่งรายงานข่าวให้รอยเตอร์ ถูกจับขณะรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติของรัฐต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา อามัลเข้าร่วมทีมทนายซึ่งสู้คดีจนทั้งสองได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกคุมขังอยู่กว่า 500 วัน (และในปี 2020 นี้ อามัลยังเป็นตัวแทนของมัลดีฟส์ในการเรียกร้องความยุติธรรมสำหรับชาวโรฮิงญาที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของสหประชาชาติด้วย)

คดีนักข่าวฟิลิปปินส์ถูกคุกคาม

ปี 2019 อามัลเป็นที่ปรึกษาร่วมและผู้นำทีมกฎหมายระหว่างประเทศให้กับ มาเรีย เรสซา นักข่าวชาวฟิลิปปินส์เจ้าของเว็บไซต์ Rappler ที่ถูกรัฐบาลของปธน. โรดริโก ดูแตร์เต ตั้งข้อกล่าวหา ซึ่งเรสซาบอกว่าเป็นความพยายามที่จะ “ปิดปากสื่อ” โดยอามัลกล่าวในแถลงการณ์ว่า “เรสซาเป็นนักข่าวผู้กล้าหาญที่ถูกข่มเหงเนื่องจากรายงานข่าวและยืนหยัดต่อสู้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราจะดำเนินการทุกขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อพิสูจน์สิทธิของเธอ และปกป้องเสรีภาพสื่อมวลชนในฟิลิปปินส์”

วิจารณ์พฤติกรรมคุกคามสื่อของปธน. โดนัลด์ ทรัมป์

ในฐานะผู้แทนพิเศษด้านเสรีภาพสื่อของกระทรวงการต่างประเทศและเครือจักรภพ (Foreign and Commonwealth Office) แห่งรัฐบาลสหราชอาณาจักร อามัลกล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมโลกเพื่อเสรีภาพสื่อเมื่อปี 2019 โดยวิจารณ์ปธน.สหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า “ประเทศของ เจมส์ เมดิสัน (อดีตปธน. และบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ) มีผู้นำในปัจจุบันที่คอยให้ร้ายทำลายสื่อ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่จะส่งผลให้นักข่าวผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาทั่วโลกต้องเสี่ยงต่อการถูกคุกคามมากขึ้น”

และในสุนทรพจน์เดียวกันนี้ เธอยังวิจารณ์เหล่าผู้นำโลกที่ไม่เคยแสดงจุดยืนอย่างกล้าหาญเปิดเผยต่อกรณี จามาล คาชอกกี นักข่าวชาวซาอุดีอาระเบียถูกฆาตกรรมอย่างเหี้ยมโหดด้วย

คดีจูเลียน อัสซานจ์

อามัลเป็นผู้แนะนำให้ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Wikileaks ผู้นี้ขอลี้ภัยไปอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ตั้งแต่ปี 2012 หลังจากถูกรัฐบาลอังกฤษและอเมริกาสอบสวน (ก่อนที่เขาจะถูกจับกุมใน 7 ปีต่อมา) และในงานประชุมเสรีภาพสื่อที่ลอนดอนปี 2019 อามัลขึ้นกล่าวบนเวทีว่า “นักข่าวที่เปิดโปงการล่วงละเมิดต้องถูกจับกุม ขณะที่คนล่วงละเมิดกลับลอยนวล ปัญหานี้เกิดขึ้นเสมอทั่วโลก …การฟ้องร้องจูเลียน อัสซานจ์เป็นสิ่งที่ทำให้นักข่าวทั่วโลกต้องตื่นตระหนก”

การกล่าวครั้งนี้ของเธอถือเป็นการฉีกหน้า เจเรมี ฮันท์ รมต.ต่างประเทศสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นคนจัดงานประชุมวันนั้น (และก็เป็นหัวหน้าตรงของเธอในงานผู้แทนพิเศษด้านเสรีภาพสื่อของกระทรวงการต่างประเทศและเครือจักรภพนี่แหละ) อย่างแรง เพราะฮันท์เป็นคนที่ให้ความร่วมมือกับทางเอกวาดอร์ในการปล่อยตัวอัสซานจ์ออกมาจนเขาโดนจับกุมในที่สุด

รู้จัก ‘ภาพยนตร์ปลดแอก’ #filmocracy

ในการชุมนุมของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 63 หน้า ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ได้เกิดการรวมตัวกันขึ้นของคนกลุ่มเล็กๆ ในนาม ‘ภาพยนตร์ปลดแอก’ หรือ Filmocracy ว่าแต่พวกเขาคือใคร และพยายามทำอะไรเกี่ยวกับวงการหนัง เราไปทำความรู้จักพวกเขากัน

Filmocracy คือการรวมตัวของกลุ่มนักเรียนหนังที่เพิ่งเรียนจบกลุ่มหนึ่ง พวกเขามาจากต่างสถาบันแต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยใช้ภาพยนตร์ ขณะที่ยังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการหนังไทยจากกลุ่มคนที่เรียนภาพยนตร์มาโดยตรง แต่วงการหนังไทยในปัจจุบันไม่สามารถรองรับหรือเลี้ยงดูบุคลากรรุ่นใหม่ให้อยู่รอดได้จริง

ณัฐวร สุริยสาร หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มเล่าว่า “มันเริ่มจาก จัมป์ (พรหมกร กุลชนะบรม) ซึ่งเรียนอยู่ ม.กรุงเทพ ทักมาหาเราและเพื่อนอีกหลายๆ คน ว่าอยากทำหนังยาวที่สะท้อนมุมมองประชาธิปไตยจากคนทำหนัง เริ่มแรกเรามองโมเดลการระดมทุนแบบพี่ต้อม ยุทธเลิศ สิปปภาค แต่จะทำให้มันถูกต้อง หลังจากนั้นจัมป์ก็ไประดมคนมาจนได้ 13-14 คน สุดท้ายเราก็มาได้ข้อสรุปของกลุ่มว่าพวกเราก็ยังอยากทำหนังที่สะท้อนภาพการเมืองไทยอยู่ แต่มันก็ต้องได้รับสิทธิเสรีภาพของการทำหนัง และตั้งใจจะเรียกร้องเพื่อให้ได้ความเป็นธรรมของแรงงานในวงการภาพยนตร์ด้วย”

กลุ่ม Filmocracy ทำคลิปแนะนำตัวความยาว 1 นาที ปล่อยเมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมการเปิดตัวกลุ่มกลางม็อบหน้า ธ.ไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ และหลังจากนี้พวกเขาจะรวบรวมสมาชิกเพิ่มเติม พร้อมทั้งจัดกระบวนการเคลื่อนไหวต่อไป เพื่อให้ข้อเรียกร้องทั้งหลายสามารถเกิดขึ้นได้จริง


ชมคลิปแถลงการณ์จากกลุ่ม Filmocracy

The Queen’s Gambit: หญิงแกร่งในโลกโดดเดี่ยว (แต่ก็ไม่มากเกินไปนัก)

หากผู้หญิงต้องมีห้องส่วนตัวเพื่อเขียนนิยายของตัวเอง ดังที่เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เสนอไว้ใน A Room of One’s Own เบธ ฮาร์มอน ก็มีพื้นที่ส่วนตัวที่สร้างขึ้นในหัวของเธอเอง ที่ที่เป็นเอกเทศจากปัจจัยภายนอกทุกอย่าง และเป็นโลกที่เธอมีเสรี

“กระดานหมากคือโลกทั้งใบที่ถูกย่อส่วนให้เหลือ 64 ช่อง โลกที่ฉันควบคุมมันได้ ปกครองมันได้ และเดาทางได้”

The Queen’s Gambit เป็นมินิซีรีส์ความยาว 7 ตอนทาง Netflix เล่าเรื่องราวของ เบธ ฮาร์มอน (ผลงานการแสดงล้ำลึกของอิสลา จอห์นสัน และอันยา เทย์เลอร์-จอย) เด็กกำพร้าจากอุบัติเหตุรถยนต์ในรัฐเคนทักกี้ ผู้ได้เรียนรู้ศาสตร์หมากรุกจากห้องใต้ดินของบ้านเด็กกำพร้า โดยมีมิสเตอร์ไชเบล-ภารโรงผู้เก็บตัว เป็นผู้สอน เบธได้รับอุปการะตอนเธออายุ 16 ปี และเริ่มเส้นทางอาชีพการเป็นอัจฉริยะหมากรุกของเธอ โดยมีอัลมา-แม่เลี้ยงของเบธ เป็นผู้สนับสนุน ระหว่างทาง เธอต้องต่อสู้กับการติดยากล่อมประสาทและการติดเหล้าของตัวเอง ซึ่งทำให้ชีวิตเธออยู่บนขอบผาหลายครั้ง เบธสานมิตรภาพกับเพื่อนชายหลายคนในวงการหมากรุก ไม่ว่าจะเป็น แฮร์รี่ เบลติก (แฮร์รี่ เมลลิง) คู่แข่งหมากรุกระดับรัฐ หรือเบนนี วัตส์ (โทมัส โบรดี-แซงสเตอร์) แชมป์อเมริกา ผู้คอยเป็นกำลังใจและช่วยเหลือเธอให้รอดจากอุปสรรคต่างๆ มาตลอด

ด้วยพล็อตเรื่องที่ดำเนินอยู่ในยุค 60 ธีมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือประเด็นความเท่าเทียมระหว่างหญิงชายในยุคนั้น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่เบธต้องเจอ หมากรุกเป็นวงการของผู้ชาย และเบ็ธก็ถูกประเมินฝีมือไว้ต่ำเมื่อเธอลงแข่งครั้งแรก เธอได้จับคู่กับผู้หญิงด้วยกัน ที่ฝีมืออ่อนกว่าเธอมาก ทั้งที่เธอเรียกร้องจะเล่นกับคนที่เก่งที่สุด เมื่อเธอเริ่มกลายเป็นดาววงการ หนังสือพิมพ์ก็ต่างลงข่าวโดยมุ่งความสนใจไปที่เพศของเธอ พวกเขายกให้เธอเป็น “อัจฉริยะนักหมากรุกหญิง” แทนที่จะเป็นนักหมากรุกธรรมดา และนั่นก็กวนใจเธอมาก

ความสันโดษของเบธเป็นสิ่งหนึ่งที่มีค่า เพราะมันทำให้เธอมีพลังและไม่ละสายตาไปจากเป้าหมาย แต่ในขณะเดียวกันมันก็เกือบทำลายชีวิตเธออยู่หลายครั้ง เบธเกือบเอาชีวิตตัวเองไปทิ้งเมื่อเธอสูญเสียแม่ไปอีกหนหนึ่งและขลุกอยู่กับการกินเหล้าเมายาไปวันๆ ในเรื่องความสันโดษนี้ เป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมากว่าหนังสร้างให้คนรอบตัวเบธหัวก้าวหน้ากว่าที่คิด เพราะพวกเขาไม่เคยผลักดันหรือบังคับให้เธอหาสามีและแต่งงาน แต่กลับปล่อยเธอให้ทำตามเป้าหมาย ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่คุณค่าของผู้หญิงสำหรับยุคนั้น เบธโชคดีมากที่เธอได้มีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับใช้ความคิด อันเป็นอภิสิทธิ์ของผู้ชายมาโดยตลอด – อย่างที่วูล์ฟกล่าวไว้ใน A Room of One’s Own ว่าผู้หญิงต้องการพื้นที่ส่วนตัวเพื่อทำงานสร้างสรรค์ หมากรุกก็เป็นงานสร้างสรรค์สำหรับเบธ เป็นการเผยแสดง (manifestation) ของอัจฉริยภาพและตรรกะชั้นสูง ซึ่งมักถูกยกให้เป็นเรื่องของผู้ชาย เบธโยงใยกับหมากรุกเหมือนกับที่เพื่อนชายทั้งหลายใฝ่หากิจกรรมทางปัญญา ในยุคที่ผู้หญิงถูกคาดหวังให้เป็นแม่บ้าน ดูแลลูกและสามี

“คนที่แข็งแกร่งที่สุดคือคนที่ไม่กลัวการอยู่คนเดียว” – อลิซ ฮาร์มอน แม่แท้ๆ ของเบธเคยกล่าวไว้ในตอนที่ยังมีชีวิต และคุณสมบัติของความโดดเดี่ยวนี้ก็ดูจะเป็นลักษณะร่วมของตัวละครในนวนิยายของวอลเทอร์ เทวิส ผู้เขียนนวนิยาย The Queen’s Gambit (แม้เราจะอยากให้เบธมีตัวตนอยู่จริง แต่หนังเรื่องนี้สร้างจากนิยาย) เทวิสเองก็เป็นเซียนหมากรุก และเผชิญความเจ็บปวดในวัยเด็กมาหลายอย่าง จนนำเรื่องราวในชีวิตจริงมาสร้างเป็นตัวละครเบธ อีกกระแสหนึ่ง มีคนบอกว่าเขาได้ไอเดียเกี่ยวกับเบธมาจากบ็อบบี ฟิชเชอร์ แชมป์หมากรุกสหรัฐปี 1957 ซึ่งมีอาการติดยาและของมึนเมาเหมือนกัน อีกทั้งยังเป็นคนขวางโลกและอมทุกข์ ที่น่าแปลกใจก็คือ ไม่เพียงเท่านั้นเขายังเหยียดผู้หญิงอีกต่างหาก

อีกธีมหนึ่งที่อาจเสาะหาได้จากหนังก็คือความหมายของคำว่า “ครอบครัว” ฉากหนึ่งที่อาจเรียกน้ำตาจากหลายๆ คนได้ก็คือฉากที่เบธไปงานศพมิสเตอร์ไชเบล และเธอได้กลับไปยังห้องใต้ดินของสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าอีกครั้ง เธอพบว่ามิสเตอร์ไชเบลตามข่าวในวงการของเธอมาตลอด และได้หยิบรูปถ่ายที่เคยถ่ายคู่กับมิสเตอร์ไชเบลตอนเธอยังเด็กติดมือกลับมาด้วย (บิล แคมป์ แสดงบทบาทของมิสเตอร์ไชเบลผู้เงียบขรึมได้อย่างโดดเด่น) มิสเตอร์ไชเบลเหมือนเป็นอีกร่างของเธอเลยก็ว่าได้ เขาแปลกแยกโดดเดี่ยว และตัดขาดจากสังคมเหมือนกับเธอ โลกของเขามีเพียงห้องใต้ดินและกระดานหมากรุก 64 ช่อง และแม้เขาจะรู้สึกรักหรือผูกพันกับเบธ เขาก็ไม่เคยแสดงออก สิ่งเดียวที่แทนความปรารถนาดีของเขา ก็คือเงิน 10 ดอลล่าร์ที่ส่งมาให้เบธโดยไม่แนบข้อความใดๆ ในวันที่เธอต้องการเงินไปลงแข่งหมากรุกครั้งแรก

ในเรื่องความสัมพันธ์กับแม่นั้น เบธไม่ได้มีความทรงจำที่ดีกับอลิซ ฮาร์มอน แม่ของเธอมากนัก แต่คนที่เป็นเหมือนลมใต้ปีกให้เธออย่างแท้จริงกลับเป็นอัลมา แม่บุญธรรม ซึ่งปวารณาตัวโทรไปลาเรียนให้ในวันที่เธอมีแข่งหมากรุก อัลมาเดินทางไปกับเบธทุกที่และคอยรับฟังความคิดของเธอเกี่ยวกับหมากแต่ละตา แม้ว่าเธอเองจะไม่ได้รู้เรื่องหมากรุกมากนักก็ตาม

“แม่อาจจะไม่รู้อะไรมาก แต่แม่เห็นว่าหมากตาที่คนปรบมือให้ลูกมากที่สุดคือตาที่ลูกเดินอย่างรวดเร็ว”

อัลมามีส่วนทำให้เบธรู้ว่าเธอเป็นนักเดินหมากแบบใช้สัญชาตญาณ และทำให้เบธเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น เธอคอยสนับสนุนเบธอยู่ห่างๆ ทั้งเรื่องหมากรุก และเรื่องอื่นๆ อย่างเช่นความสัมพันธ์กับหนุ่มๆ เธอเป็นตัวอย่างของแม่ที่ดี แม้ชีวิตเธอจะไม่ได้ราบเรียบ และเธอจะมีปัญหาสุขภาพจิตรุมเร้าก็ตาม อัลมาอาจเป็นด่านแรกที่ทำให้เบธเรียนรู้ที่จะไว้ใจโลกและผู้คนรอบตัวมากขึ้น เป็นสะพานที่ทำให้เธอรู้จักกับความอบอุ่นในครอบครัวที่เธอโหยหามาตลอด

มิตรภาพที่แนบแน่นของเบธ กับแฮร์รี และเบนนี นักแข่งหมากรุกชาย ก็อาจเข้าใกล้คำว่าครอบครัวมากเช่นกัน เพราะมันมีทั้งส่วนผสมของความเป็นเพื่อน ความโรแมนติก และความเป็นผู้ชี้แนะ ซึ่งอย่างหลังสุดเป็นสิ่งที่เบธขาดมาตลอดเพราะเธอชอบทำอะไรคนเดียว ตัวละครแฮร์รีและเบนนี เป็นตัวละครชายที่ไม่มีความเป็นผู้ล่า อย่างที่ชะตากรรมของตัวละครหญิงในหนังดราม่าหลายเรื่องมักประสบ ในทางกลับกัน เบธกลับเป็นฝ่ายควบคุมความสัมพันธ์และตัดสินใจเองว่าเมื่อไหร่ที่เธอต้องการพวกเขา ในจุดนี้อาจนับได้ว่าผู้สร้างได้สร้างให้ตัวละครหญิงอย่างเบธเป็นผู้ที่กำหนดชะตาชีวิตและอะไรหลายอย่างด้วยตนเองได้มาก ซึ่งบทบาทเช่นนี้มักตกเป็นของตัวละครเอกที่เป็นชายในหนังหลายๆ เรื่องที่มีธีมของการเสพติดบางสิ่ง

อีกคนหนึ่งที่ช่วยเบธจากปากเหวไว้พอดีก็คือโจลีน (มอเสส อิงแกรม) เพื่อนที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าของเบธ ซึ่งภายหลังได้ออกมาทำงานเป็นผู้ช่วยทนายความและเรียนต่อมหาวิทยาลัย เธอมาพบเบธในวันที่เบธทำลายชีวิตตัวเองไปเยอะแล้ว โดยทั้งแฮร์รีและเบนนีก็ช่วยไว้ไม่ได้ และได้ช่วยให้เบธกลับมาเป็นผู้เป็นคนอีกครั้งหนึ่ง

“เธอทำสิ่งที่ถนัดได้ดีที่สุดมาเป็นเวลานาน จนไม่รู้ว่าเราที่เหลือเป็นยังไง” – โจลีนกล่าวกับเบธในวันที่พวกเธอเจอกันอีกครั้ง และโจลีนก็ทำให้เบธได้เห็นภาพรวมของชีวิต และยึดโยงกับความเป็นจริงมากขึ้น

“ฉันไม่ใช่นางฟ้าแม่ทูนหัวของเธอ ฉันไม่ได้มาช่วยเธอ ให้ตายสิ ฉันยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ด้วยซ้ำ”

แม้โจลีนจะพูดเช่นนั้น แต่เธอได้ทำให้ความหมายของครอบครัวชัดเจนขึ้นสำหรับเบธ ครอบครัวคือคนที่อยู่เคียงข้างกันเสมอในยามที่อีกฝ่ายต้องการ ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายแค่ไหน และนั่นทำให้โลกของเบธเป็นโลกที่ไม่โดดเดี่ยวเกินไปนัก และเป็นโลกที่ความโดดเดี่ยวมีสมดุลในตัวมันเอง เป็นความโดดเดี่ยวที่ทำให้เบธได้คิดถึงหมากตาถัดไป โดยเธอรู้อยู่ในใจว่ายังมีคนเอาใจช่วยอยู่ข้างหลัง

The Queen’s Gambit ได้ทำสถิติได้คะแนน 100% จาก Rotten Tomatoes ซึ่งเป็นกรณีที่หาได้ยาก เหล่านักวิจารณ์ต่างออกปากชมถึงความเป็นดราม่าและความละเอียดลออของฉากและตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากโรงแรมต่างๆ ในยุค 60 ที่ทำให้รับรู้ถึงกลิ่นอายของอดีต จนแทบอยากย้อนเวลากลับไปอยู่ในสถานที่เดียวกันกับเบธ และชมการแข่งหมากรุกของเธอสักเกมเลยทีเดียว

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 19-25 พ.ย. 63

หนังไทยจากทีม ‘รฤก’ โดยผู้กำกับ พฤกษ์ เอมะรุจิ แห่ง ‘ไบค์แมน’ และการแสดงตลกแบบไม่ห่วงสวยของนางเอก เบลล่า ราณี องค์ประกอบครบถ้วนของการเป็นหนังทำเงิน ส่งให้ ‘อีเรียมซิ่ง’ เปิดตัวสัปดาห์แรกเป็นอันดับ 1 ด้วยรายได้ 34.29 ล้านบาท ขณะที่ Doraemon: Nobita’s New Dinosaur ก็ทำเงินไปไม่น้อย ตามมาที่อันดับ 2 ด้วยรายได้ถึง 10.95 ล้านบาท

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 19-25 พ.ย. 63

1. อีเรียมซิ่ง – 34.29 ล้านบาท
2. Doraemon: Nobita’s New Dinosaur – 10.95 ล้านบาท
3. The Witches – 2.10 (15.54) ล้านบาท
4. คนทรงผี – 1.65 (1.87) ล้านบาท
5. Freaky – 1.19 ล้านบาท
6. Malevolent – 1.17 ล้านบาท
7. รักหนูมั้ย – 0.60 (5.91) ล้านบาท
8. The Outpost – 0.26 (4.41) ล้านบาท
9. The Empty Man – 0.25 (1.73) ล้านบาท
10. Mad Max: Fury Road – 0.24 ล้านบาท

ชีวิตหลังถูกถอดตำแหน่ง ส.ส. ของ กอล์ฟ ธัญญ์วาริน

12 ปี ของการใช้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551
10 ปี จากวันที่ Insects in the Backyard โดนแบน และสู้จนสุดกระบวนการที่ศาลปกครอง
เกือบ 1 เดือน นับจากวันที่ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ถูกตัดสิทธิการเป็น ส.ส.

ธัญญ์วารินมีส่วนร่วมขับเคลื่อนอย่างเต็มตัวในทุกรอยต่อทางกฏหมายของหนังไทย และในวันที่เธอเข้าร่วมม็อบนักเรียนเลว เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา เธอได้สรุปการเดินทางและความคิดต่อชีวิตในเส้นทางคนทำหนังเอาไว้ดังนี้

(ถอดความจากการเสวนาหลังฉายหนัง Insects in the Backyard ซึ่งดำเนินรายการโดย นคร โพธิ์ไพโรจน์)


กฏหมายภาพยนตร์มีผลแค่ไหนต่อการเติบโตของวงการหนังไทยในวันนี้

มีมากนะคะ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับปัจจุบันเป็นกฏหมายที่ถ่วงความเจริญ จะเห็นได้ว่าหนังอย่าง ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์’ ‘อาปัติ’ หรือแม้แต่ ‘นาคปรก’ และอีกหลายเรื่อง มันคือสิ่งที่รัฐคิดแทนประชาชน และทำตัวเหมือนมีความรู้ความสามารถในการคัดกรองหนังให้คนดู มันทำให้หนังไทยตายนะคะ นอกจากเป้าหมายของพ.ร.บ.ที่ควรจะส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้มีความหลากหลาย ให้การฉายไม่มีการผูกขาดทางการค้า สิ่งที่นายกฯ หรือรัฐมนตรีพูดอยู่เสมอคือเราต้องทำสินค้าทางวัฒนธรรมให้นำประเทศ ซึ่งพอเราได้เป็นนักการเมือง เข้าไปหารือที่กระทรวงวัฒนธรรม เข้าไปดูงบประมาณ พบว่าไม่มีส่วนไหนเลยที่จะบอกว่าส่งเสริมและสนับสนุนหนังไทยอย่างแท้จริง เพราะว่าเป้าหมายของพ.ร.บ.ฉบับนี้คือการจำกัดสิทธิและเสรีภาพคนทำหนังและคนดู เมื่อเป้าหมายเขาเป็นแบบนี้เขาจะทำตัวเหมือนตำรวจศีลธรรมคอยจับผิด จะบอกว่าทหารเลว ตำรวจเลว ครูเลว พระเลว ไม่ได้เลย กลายเป็นว่าคนเหล่านี้ยึดติดกับยูนิฟอร์มไม่ได้ยึดติดกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ มันทำให้คนทำหนังไม่กล้าที่จะคิด ไม่กล้าที่จะนำเสนอ ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งที่หน้าที่หลักของคนทำหนังคือวิพากษ์วิจารณ์ แทนที่คนดูจะได้ฉุกคิด ตระหนักถึงปัญหา แล้วมาร่วมด้วยช่วยกันหาทางออก

นอกจากเรื่องสิทธิและเสรีภาพซึ่งเป็นสิ่งที่ธัญญ์วารินพูดมาโดยตลอดหลังจากหนังโดนแบน ยังมีเรื่องความหลากหลายทางภาพยนตร์ด้วย

ปกติหนังแบบนี้ถ้าจะเข้าโรงมันไม่ได้มีทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงทุกคนได้ง่ายๆ ฉะนั้นกลุ่มคนดูก็จะแคบ แต่จะทำยังไงให้คนรู้จักมันมากขึ้น มันได้ไปเทศกาลหนังต่างประเทศมันก็ได้รับการยอมรับระดับหนึ่ง แน่นอนว่าเราต้อง educate คนดูอยู่แล้ว ว่าหนังไม่ได้มีแบบเดียว ความบันเทิงไม่ได้มีแบบเดียว สิ่งเหล่านี้ต้องให้พื้นที่และเวลากับมัน แต่พอมันเข้าฉายวันแรกถ้าเป็นโรงที่มีการผูดขาดทางการค้า วันต่อไปก็อาจจะไม่เหลือรอบแล้ว เพราะมันโดนตัดสินจากวันแรกที่เข้าฉายไปแล้วว่าไม่มีคนดู โรงหนังไม่เคยให้สิทธิคนดูได้เลือก จริงๆ แล้วเรามีกฏหมายโควต้าเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดทางการค้านะคะ แต่มันไม่เคยถูกเอามาใช้ สมมติมีหนังมาร์เวลเข้าแล้วเราเดินเข้าไปในโรงที่มีการผูกขาดทางการค้า เราจะมีหนังเรื่องอื่นให้เลือกดูแค่ไหน เมื่อโรงหนังไม่ได้เอื้อให้การมีอยู่ของหนังที่หลากหลาย ผู้สร้างตัวเล็กตัวน้อยที่จะทำให้เกิดความหลากหลายก็จะล้มหายตายจากไป

ตอนนี้เรามองตัวเองในฐานะคนทำหนังได้อีกครั้ง คิดว่าเราจะอยู่รอดได้อย่างไร

เมื่อคืนนี้เพิ่งได้คุยกับอดีตนายกสมาคมผู้กำกับฯ เพื่อจะเข้าไปคุยกับ นุชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมฯ คนใหม่ ว่าเราจะทำยังไงในยุคนี้ที่จะทำหนังในนิยามของภาพยนตร์ซึ่งเปลี่ยนไปแล้ว เราจะเอาสมาชิกที่เป็นผู้กำกับเข้ามาเพิ่มเติม ใครมีสิทธินั้นบ้าง ก็นั่งถามกันว่าถ้าทำหนังฉายออนไลน์ นับมั้ย จำเป็นหรือไม่ที่ต้องนับเฉพาะหนังฉายโรง แน่นอนในทุกช่วงเวลาของประวัติศาสตร์โลก มันมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และตอนนี้มันก็ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่หนังมันไม่จำเป็นต้องฉายโรงเท่านั้น การอยู่รอดมันก็คือต้องทำหนังในช่องทางที่มีคนดูนั่นแหละ เพราะงั้นมันก็ยังมีช่องทางทำมาหากินเลี้ยงชีพอยู่ อย่างดิฉันเองก็ยังทำหนัง ทำละคร ทำซีรีส์ ด้วย

ซึ่งก็เป็นเหตุให้โดนถอดจากการเป็น ส.ส.

ซึ่งอันนี้มันเป็นจุดเปลี่ยนของสมาคมผู้กำกับฯ เหมือนกันว่า เอ๊ะ! แล้วอย่างนี้คนทำอาชีพนี้ไม่สามารถเข้าไปเป็นส.ส.ได้เลยหรือ ทุกคนที่เป็นส.ส.ต่างมีอาชีพของตัวเอง และเข้าห้ามมีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐบาล แต่หลายคนก็เป็นผู้รับเหมาบ้าง มีบริษัททำนั่นทำนี่ได้? แล้วผู้กำกับให้ตั้งบริษัทอะไรเราถึงจะได้เป็นส.ส. เราก็ตั้งบริษัทรับจ้างผลิตคอนเทนต์ ขออธิบายนิดนึงว่าการจะเป็นสื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาตจดจัดตั้งจาก กสทช. และหอสมุดแห่งชาติ ในกรณีที่ทำสิ่งพิมพ์ แน่นอนการตีความคำว่าเป็นสื่อ ก็ต้องเป็นสื่อที่ทำความเข้าใจกับสังคม โน้มน้าวประชาชนได้ เช่น สำนักข่าวโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ แต่นี่รับจ้างผลิตคอนเทนต์ ใครจ้างอะไรก็ทำ บริษัทนึงร้างไปแล้ว คือ แอมไฟน์โปรดักชั่น กับอีกบริษัท เฮดอัพ โปรดักชั่น จำกัด เพิ่งรับมางานเดียวคือทำวิดีโอในคอนเสิร์ตนิวจิ๋ว เนี่ย คืองงานที่ทำให้โดนตัดสิทธิจากการเป็นส.ส.ค่ะ และการจะเป็นื่อต้องมีใบอนุญาตจากกสทช. ซึ่งดิฉันไม่มี และไม่เคยไปขอ และไม่คิดจะขอด้วย แต่ศาลรัฐธรรมนูญท่านบอกว่าเห็นเอกสารยืนยันจากกสทช.และหอสมุดแห่งชาติแล้ว ว่าคุณไม่ได้ไปขอจดจัดตั้งจริง แต่ในขณะที่เราทำอาชีพนี้ เราก็สามารถไปขออีกเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งก็ใช่ ใครๆ ก็ไปขอจดจัดตั้งได้หมดค่ะ เป็นการตัดสินอนาคตและยังย้อนไปตัดสินอดีตด้วยว่าที่ผ่านมาดิฉันไม่เคยเป็นส.ส.มาก่อนด้วย แต่เราจะวิจารณ์ศาลก็ไม่ได้เดี๋ยวโดนอีก เอาเป็นว่าเหล้านี้คือข้อเท็จจริง ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่ดิฉันได้รับเกียรตินี้อีกแล้ว ในชีวิตนี้จะได้รับเกียรติให้เป็นคนแรกได้สักกี่ครั้ง เราแอบรู้สึกน้อยใจตัวเองเหมือนกันนะว่า กูทำอะไรผิดนักหนากับประเทศนี้ คนทำผิดซึ่งหน้ามีมากมายทำไมเขาได้ดิบได้ดี เวรกรรมมันมีจริงหรือ แล้วฉันไปทำอะไรไว้แต่ชาติปางไหน

พอกลับมาทำหนังอีกครั้ง คิดว่าคนดูฉลาดขึ้นมั้ย หนังที่เราทำก่อนหน้านี้อาจไม่สื่อสารกับคนตอนนี้แล้วหรือเปล่า

ไม่ใช่แค่หนัง ละครกับซีรีส์ก็ด้วย มันเห็นชัดว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาดูแล้วมันไม่เมคเซนส์ เขาก็ไม่ดู ถ้ามีฉากไม่เหมาะสมเขาก็เอามาลงทวิตเตอร์ทันที ตอนนี้พวกฉากข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศเขาไม่ทำกันแล้วนะคะ ทัศนคติแบบนี้ต้องเอาออกไปได้แล้ว ไม่งั้นทัวร์ลงแน่นอน เพราะฉะนั้นความคิดเห็นของคนดูนี่แหละที่สะท้อนมาถึงคนทำโดยตรง ซึ่งเมื่อก่อนเราต้องเชื่อคนออกเงินที่จะอ้างว่าคนดูอยากดูอะไร เดี๋ยวนี้ไม่ต้องผ่านใครแล้ว คนดูบอกเอง ไม่ว่าจะเป็นหนังที่ดูถูกความคิดคนดูแล้วประสบความสำเร็จ เดี๋ยวนี้มันก็ไม่ประสบความสำเร็จ แล้วหนังที่ยากขึ้น ท้าทายขึ้น คนเขาก็ขวนขวายหามาดู คนทำหนังก็ต้องคิดให้มากขึ้นเพราะคนดูเปลี่ยนไปแล้ว

คนดูที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะวัยรุ่น ที่ถูกทำให้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของหนังไทยไปแล้ว

ใช่ค่ะ อย่างสำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน ก็พิมพ์กันไม่ทัน ทั้งที่เมื่อก่อนน้อยคนมากที่จะอ่านหนังสือหมวดการเมืองการปกครอง แต่ตอนนี้ต้องพิมพ์ใหม่เพราะวัยรุ่นหาความรู้ที่ไม่ได้มีอยู่ในตำรา การศึกษาไทยสอนให้คนโง่ ไม่ได้สอนให้คนฉลาด ไม่ได้สอนให้ใช้ความคิด เราถูกฆ่าตัดตอนทางจินตนาการมาตั้งแต่เกิด เราไม่เคยถูกสอนให้อธิบายในการเลือกสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือเรามีตัวเลือกอะไรบ้าง เราถูกสอนให้ท่องสิ อ่านสิ จากความรู้ของครูที่เรียนมาเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้เด็กเขามีทางเลือกของชุดความรู้อีกมากมาย พอโรงหนังคิดว่ากลุ่มคนดูคือวัยรุ่น แต่คอนเทนต์มันยังไม่วัยรุ่น แล้วจะดูทำไม เขาก็หาสิ่งที่เขาอยากดูมาดูสิ เพราะฉะนั้นคนทำหนังต้องรู้จักปรับตัว ถ้าไม่งั้นก็มีสิทธิล้มหายตายจากกันไป

แล้วต้องใช้เวลานานแค่ไหน เพราะยังต้องพึ่งพาเงินทุนจากแหล่งเก่า

ไม่นานค่ะ เรารู้ว่าคนทำธุรกิจต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนเขาจะทู่ซี้ทำหนังแล้วเจ๊งทุกเรื่องไปเพื่ออะไร เงินก็ไม่เข้าทั้งโรงและโปรดักชั่น ยังไงก็ต้องปรับตัว เราจะเห็นว่าหลายค่ายก็เริ่มไม่เอาผู้กำกับสูงอายุไปทำ อยากได้ผู้กำกับใหม่ๆ ที่น่าจะเข้าถึงคนดูได้

แสดงความการทำหนังมันมีอายุงานหรือ?

ไม่ค่ะ ความมีอายุมากขึ้นไม่ได้หมายความว่าเราจะถดถอยหรือไม่ทันสมัย แต่ต้องไม่หยุดหาความรู้ให้ตัวเอง การเป็นผู้กำกับคือเป็นผู้สังเกตการณ์ ถ้าคุณไม่สังเกตสิ่งรอบข้างแล้วไปยึดติดกับอดีตอันสวยงามตลอดเวลาก็เลิกทำไปเถอะ ถ้าจะทำหนังรักข้ามเวลาในยุคนี้เราตีความได้แบบไหนบ้าง สมมติเป็นท่านขุนอะไรไม่รู้ทะลุมากลางม็อบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะเกิดอะไรขึ้น เราก็ต้องเล่าในสิ่งที่คนดูรู้สึกและเข้าใจด้วย ไม่ใช่สิ่งที่มันเอาท์ไปแล้ว จะอยู่รอดหรือไม่ไม่เกี่ยวกับอายุค่ะ มันเกี่ยวกับตัวเราเอง ปรับตัวปรับความคิด สังเกตสิ่งรอบข้างในสังคมแล้วเอามาเล่าในหนังได้น่าสนใจต่างหาก

การได้เข้าไปทำงานในสภามาปีกว่า คิดว่าคนทำหนังไทยจะทำงานกับภาครัฐให้วงการมันดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง

เราก็พยายามนะ ถ้าการเมืองดี ถ้าเราแก้รัฐธรรมนูญได้ เราก็จะได้ดูหนังที่มันหลากหลายกว่านี้แน่นอน เราก็จะเห็นหนังที่กล้าพูดในสิ่งที่เรารอฟัง แต่ก็จะมีคนที่ไม่อยากฟัง ไม่อยากให้ความจริงปรากฏ ประวัติศาสตร์เขาก็เขียนขึ้นมาเอง พอเราโตขึ้นถึงรู้ว่าในความเป็นจริงยังมีประวัติศาสตร์ในแง่มุมอื่นที่ไม่ถูกเล่า จริงๆ ตั้งแต่ก่อนเข้าไปเราก็มีนโยบายของเราอยู่แล้วว่าถ้าจะให้หนังไทยมันรอด มันต้องแก้ตั้งแต่ราก การสร้างวัฒนธรรมคนดูมันแบ่งเป็นสี่มิติ คือ 1) คนดู เราพูดบ่อยมากว่าทุกวันนี้เด็กก็ยังเรียนศิลปะกันแบบเดิม คือวาดรูปธรรมชาติ วดรูปส้ม พระอาทิตย์ บ้าน ภูเขา ใครวาดเหมือนก็ได้คะแนนเต็ม วาดไม่เหมือนก็ 0 ไป โดยไม่มีโอกาสมาอธิบายว่าทำไมเขาถึงวาดออกมาแบบนั้น เราถูกสอนให้ก๊อปปี้งานศิลปะไม่ได้สอนให้ใช้จินตนาการในการเสพงานศิลปะ 2) คนทำหนงต้องถูก educate ต้องอัพเดตความรู้ความสามารถให้ทันโลก ต้องได้รับการสนับสนุนให้ทุนที่มาจากความเข้าใจจริงๆ ทั้งการพัฒนาความคิด การเขียนบท งานโปรดักชั่น การจัดจำหน่าย และการโร้ดโชว์ให้หนังเข้าถึงผู้คนจริงๆ ไม่ใช่การให้ทุนแบบที่เคยได้มา คือ เราขอ 70 ล้านบาท แต่เขาให้มา 1 ล้านบาท และต้องทำให้เสร็จ เสร็จแล้วแปะโลโก้ Content Thailand ของกระทรวงวัฒนธรรม ให้เห็นว่าเป็นงานของเขา 3) โรงหนังต้องเปิดพื้นที่และเวลาให้หนัไทยทุกรูปแบบ และต้องมีโควต้า สุดท้ายแล้วหนังดี เลว หรือไม่ถูกรสนิยมคนดู เขาก็ปฏิเสธไปเอง ไม่ใช่ว่าเห็นเป็นหนังไทยมาช่วยอุดหนุนหน่อย ทำไมต้องช่วยคะ? เขาต้องดูหนังที่เขาอยากดูสิ แต่หนังไทยก็ต้องได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างถูกต้องด้วย และ 4) ต้องให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งเราก็เข้าไปพูดกับท่าน รมต.กระทรวงวัฒนธรรม ว่าการที่คุณจะเอาสินค้าทางวัฒนธรรมมาผลักดันประเทศ แต่สิ่งที่คุณทำมันไม่เคยเกิดเลย มันจะเป็นไปได้มั้ยที่จะทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้า เกิดโรงหนังชุมชน ทุกมหาวิทยาลัยสามารถฉายหนังเก็บเงินได้ สร้างส่วนแบ่งรายได้ที่เป็นธรรม

พอเราออกมาแล้วมันจะเกิดขึ้นได้มั้น

เราก็ยังทำงานเหมือนเดิม หลายคนเรียกร้องให้เราทำงานเยอะมาก แต่เราเป็นฝ่ายค้าน หน้าที่หลักของเราคืออภิปราย ตรวจสอบรัฐบาล หน้าที่หลักของเราอีกอย่างคือเป็นนิติบัญญัติ เราทำการบ้านเยอะมาก หาข้อมูลเยอะมาก มีคณะกรรมการคัดเลือกผู้อภิปราย ส่องเนื้อหาก่อน ซ้อมอภิปรายให้ฟังก่อน แล้วจึงจะได้รับเลือกให้ไปอภิปรายในสภา ตอนนี้ออกมาข้างนอกแล้วก็ยังทำงานเหมือนเดิม เพราะเรายังติดต่อกับคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม เรายังได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งรองประธานอนุกรรมธิการฯ ยังทำงานเชื่อต่อกับรัฐสภาอยู่แล้ว ตัวเราเองก็ทำงานกับกระทรวงวัฒนธรรมอยู่แล้ว เขาจะทำหรือไม่ไม่รู้ แต่เราก็จะพยายามผลักดันให้มากที่สุด ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้ได้ แต่ถ้าเขาไม่ทำเราก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องรอให้ดิฉันเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมให้ได้ก่อน และดิฉันจะทำตามที่พูดแน่นอน

ถ้าหนังไทยดี… หนังเราควรตกยุคไปสักวัน

กลุ่มคนทำหนังไทยรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าฉายเป็นโปรแกรมพิเศษที่ Lido Connect เปิดใจหลังหนังฉายจบถึงอนาคตในวงการหนังไทยในอุดมคติ ว่ากระแสหนังสั้นช่วงนี้ที่มักพูดถึงความแปลกแยกกับครอบครัวและเรื่องการเมือง จะเป็นเรื่องตกยุคในอนาคต

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ย. 2563 ที่ Lido Connect ฉายหนังสั้นไทย 3 เรื่องในโปรแกรม LIDO Sho(R)t อันประกอบไปด้วย Now here, Nowhere โดย ธนรัมน์ เปรมบุญ (คนซ้ายจากรูป) ‘พญาวัน’ โดย ศุภมาส บุญนิล (คนกลาง) และ ‘ไกลบ้าน’ โดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ (คนขวา) โดยสองเรื่องแรกพูดถึงการ ‘กลับบ้าน’ เพื่อไปเผชิญหน้ากับครอบครัวที่ทำให้พวกเธอรู้สึกแปลกแยกกับวิธีคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมเฉพาะตัว ส่วน ‘ไกลบ้าน’ เป็นสารคดีที่ติดตามชีวิตและครอบครัวของ วัฒน์ วรรลยางกูร ผู้ลี้ภัยทางการเมือง

หนังสั้นทั้งสามเรื่องสามารถบอกยุคสมัยได้อย่างดี โดยเฉพาะในกลุ่มหนังจบการศึกษาของหลายสถาบันในช่วงนี้ ที่มักเล่าเรื่องถึงวัยรุ่นกับการตั้งคำถามต่อคนในครอบครัว สภาวะแปลกแยกกับสิ่งรอบข้าง รวมถึงเรื่องการเมืองที่เล่าอย่างตรงไปตรงมา Now here, Nowhere กับ ‘พญาวัน’ เป็นหนังจบการศึกษาทั้งคู่ซึ่งต่างก็เล่าว่ามาจากเรื่องราวส่วนตัวของธนรัมน์กับศุภมาส ส่วน ‘ไกลบ้าน’ ก็มาจากความอึดอัดคับข้องใจของสถานการณ์การเมืองในปี 2018 ที่ทำให้ธีรพันธ์เริ่มทำหนัง

ทั้งสามคนเป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มต้นในสถานะคนทำหนังในปีที่วงการหนังกำลังซบเซาด้วยปัจจัยรุมเร้ารอบด้านพอดี เมื่อตั้งคำถามถึงอนาคตการทำหนังท่ามกลางสภาวะเช่นนี้ พวกเขาเผยความในใจไว้ว่า


ธนรัมน์ – “ผมว่าช่วงเวลานี้น่าจะมีหนังออกมาเยอะๆ ด้วยซ้ำ มันควรจะมีคนออกมาพูดในสิ่งที่ตัวเองตั้งคำถาม ทั้งเรื่องการเมือง เรื่องสังคม ผมอยากให้เราพูดทุกอย่างได้ ตอนนี้เราโดนห้ามพูดอยู่ ทั้งที่มันเป็นช่วงเวลาสำคัญทางการเมือง สมมติในอีก 20 ปีข้างหน้าเราสามารถพูดอะไรก็ได้แล้ว แต่เราเก็บเอาไปพูดในตอนนั้นมันจะได้อะไรขึ้นมา ทุกวันนี้ผมได้เขียนบทในหนังไทยสตูดิโอ ผมรู้ว่ามันก็ยังไม่สามารถพูดได้อยู่ดี แต่ผมก็พยายามที่สุดเท่าที่ทำได้ที่จะใส่บทพูดหรือหมัดฮุคเพื่อสื่อสารกับคนในยุคนี้บ้าง”

ศุภมาส – “อนาคตของหนังไทยสำหรับหนู ไม่อยากให้มีหนังที่มีฉากพ่อแม่นั่งถามลูกว่าอยากเรียนหรือจบแล้วอยากทำอะไร พอบอกว่าอยากเป็นคนทำหนังพ่อแม่ก็ไม่เห็นด้วย อะไรพวกนี้อยากให้มันหมดไปได้แล้ว แต่ทุกวันนี้มันยังอยู่ก็เพราะปัญหามันยังอยู่ วงการหนังมันยังไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีพอ มันไม่ได้รับค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อกับที่ลงแรงไป คนทำหนังบ้านเรามีศักยภาพ แต่การให้คุณค่ากับงานศิลปะยังไม่ดี …อยากให้ในอนาคตเรามองย้อนกลับมาแล้วสิ่งที่มันเป็นปัญหาต่างๆ ที่เราทำในหนังสั้นกันอยู่ทุกวันนี้ มันหลุดพ้นไปได้แล้ว”

ธีรพันธ์ – “คนทำหนังไทยมีวิบากกรรมเยอะมาก ในการทำหนังหนึ่งเรื่องเราต้องแลกกับอะไรเยอะมาก ถ้าอนาคตการเป็นคนทำหนังของตัวเองก็อยากทำหนังฟิกชั่น เรายังคิดถึงการทำงานกับนักแสดง ผมทำสารคดีจนเริ่มคิดแบบหนังฟิกชั่นไม่เป็นแล้ว แต่ถ้าให้มองเป็นภาพรวม ผมอยากให้การทำหนังมันเป็นอาชีพได้จริง อย่างน้อยมีเงินทำงานที่เมคเซนส์ มีเงินเลี้ยงชีพได้จริง อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ทุกวันนี้มันเหมือนว่ามีเราหรือไม่มีเราอยู่ก็ได้ ขาดไปก็ไม่มีผลอะไร คุณค่าเราก็ไม่มี ถ้าถามถึงอนาคตในหนังไทยเราก็อยากให้การทำหนังมันอยู่รอดได้จริง”

The Price of Democracy : รุ่งโรจน์และแตกดับในความฝันที่ยังไม่สลาย

ในบรรดาภาพยนตร์หลายสิบเรื่องที่ฉายในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันในไทยช่วงหลายปีมานี้ มีหลายเรื่องที่เข้าข่ายข้องเกี่ยวกับการเมืองไต้หวันและการเมืองโลก ไม่นับเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ว่าจะเกี่ยวกับอะไร ก็ส่องสะท้อนถึงความเป็นการเมืองในเรื่องนั้นเสียหมดสิ้น ส่วน The Price of Democracy (2019, LIAO Jian-hua) อาศัยอยู่ในทั้งสองวงโคจรนั้น

หนังสารคดีเรื่องนี้พูดถึงสถานการณ์ทางการเมืองไต้หวันตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์ไต้หวันสิ้นอายุขัยและเจียงไคเช็คหมดอำนาจในปี ค.ศ. 1975 จนถึงยุคที่ไช่อิงเหวินก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2016 มันไม่ได้ขมวดทุกปมปัญหาในประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของไต้หวันเข้ามาไว้ในหนึ่งชั่วโมงครึ่ง แต่มันใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งคลายปมปัญหาในชีวิตของนักเคลื่อนไหวสองคนที่ทำงานการเมืองมาตั้งแต่ยุค ’80 ให้แผ่ออกมาอย่างเรียบง่ายแต่ทรงพลัง และสิ่งที่เราเห็นคือการเดิมพันด้วยทุกอย่างเพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยและความเท่าเทียมในสังคม อุดมการณ์ที่เราก็ยังไม่แน่ใจว่ามันกินได้ไหม แต่เธอและเขาแน่ใจ กินไม่ได้ก็ช่างปะไร ขอแค่ได้ทำอะไรเพื่อมัน

เธอกำเนิดเกิดจากวรรณกรรมเพื่อชีวิตและเติบโตท่ามกลางมวลชน เขากำเนิดเกิดขึ้นบนท้องถนนและคลี่คลายตัวเองในสายหนังสือพิมพ์ นักเคลื่อนไหวทั้งสองเดินทางมาถึงจุดตัดผ่านการตั้งพรรคการเมืองและลงเลือกตั้ง ก่อนที่ผลการเลือกตั้งจะทำให้พวกเขารู้สึกว่าความพยายามอาจเทียบได้กับความล้มเหลว ทั้งสองพรรคไม่ได้มีประชาชนหนุนหลังมากเท่าที่จินตนาการไว้ และชีวิตในสภาก็ได้จบลงตั้งแต่ยังไม่เริ่ม แต่นั่นไม่ได้ทำให้พวกเขาคิดว่าการเคลื่อนไหวตลอดหลายสิบปีนั้นไร้ความหมาย พวกเขาไม่เคยเสียดาย ไฟที่จุดไว้ พวกเขาเชื่อว่าจะไม่มีวันดับ แม้หัวใจจะดับสลายไปนานแล้ว

สิ่งใดกันที่จะทำให้หัวใจของคนหนึ่งคนดับสลาย? ความตายของคนสำคัญ ความผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ หรือความช้ำใจจากการถูกลืม? เราอาจคิดว่าความคุกรุ่นรุนแรงของสถานการณ์การเมืองลิขิตให้ชีวิตพวกเขาต้องทำสิ่งเหล่านี้และรับผลเช่นนี้ แต่ผิดขนัด พวกเขาเป็นคนลิขิตชีวิตทางการเมืองของตัวเอง และยอมรับการเสื่อมสลายตายลงของหัวใจเพราะการตัดสินใจที่ว่า

เธอตัดสินใจเดินลงถนนในวัยสามสิบเพราะรู้สึกว่าการต่อสู้ผ่านวรรณกรรมเห็นผลช้าเกินไป เธอกลายเป็นผู้กล่าวปราศรัยที่ขึ้นชื่อว่าก้าวร้าว หัวรุนแรง และไม่โอนอ่อนผ่อนตามที่สุดคนหนึ่ง เธอเชื่อเรื่องความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรและสวัสดิการของรัฐ และต่อสู้เพื่อสิทธิของคนรากหญ้าในทุกกลุ่มสังคม เธอมีครอบครัวเหมือนคนทั่วไป แต่ไม่มีใครมองเธอในแง่ดีรวมถึงแม่สามี ลงเอยที่ครอบครัวของเธอถูกพรากไปอีกฟากโลก ความทรงจำสุดท้ายของเธอเกี่ยวกับลูกสาวกลับกลายเป็นเพียงความฝัน เพราะความเป็นจริงนั้นช่างบอบบางจางหาย เหมือนภาพวาดสีไม้ซีดๆ ที่เธอวาดใส่กรอบติดไว้ที่ผนังห้องนอน 

ยังไม่นับการจากไปของคนสำคัญในชีวิต ซึ่งหนึ่งในนั้นตายจากอย่างสลดหดหู่ด้วยการราดน้ำมันจุดไฟเผาตัวเองในการประท้วงใหญ่ และเบื้องหลังของการตายก็ทำให้เธอเจ็บปวดถึงขีดสุด เธอตั้งใจเขียนหนังสือเพื่อเขาคนนั้น และวางแผนเดินทางลงใต้เพื่อหาข้อมูลเป็นเวลาราวห้าวัน แต่สุดท้ายกลับลงเอยที่ห้าปี หนังไม่ได้เล่าว่าระหว่างนั้นเธอทำอะไร แต่เรารู้แน่ชัดว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิม เธอใจสลายเหมือนกับก่อนหน้า แต่ก็ยังสู้เพื่ออุดมการณ์ ราวกับเป็นสิ่งเดียวที่หลงเหลือตกค้างอยู่ในครึ่งหลังของชีวิต

ส่วนเขาเป็นฝ่ายซ้ายวัยสามสิบที่ซื่อสัตย์กับแนวทาง ประโยคหนึ่งที่เขาใช้อธิบายการเคลื่อนไหวของตัวเองบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของเขา นั่นคือเขาหาเงินเพื่อพอใช้จ่ายรายวัน “ไม่จำเป็นต้องหาให้ได้มาก เอาเวลาที่ทำงานหาเงินมาทำงานเคลื่อนไหว มันมีค่ายิ่งกว่าอะไรดี” เขาเชื่อเช่นนั้นและใช้ชีวิตเยี่ยงมีมันเป็นหลักค้ำยันเวลาล้ม

เขาใช้ชีวิตในวัยกว่าหกสิบในห้องเช่าเล็กๆ ที่แบ่งกันอยู่กับเพื่อนวัยเดียวกันอีก 3-4 คน เขาแบกค่าใช้จ่ายบางส่วนแทนเพื่อนๆ เพราะไม่อยากให้พวกเขาลำบาก เขามีครอบครัว แต่เป็นครอบครัวที่เขาทอดทิ้ง เขาเห็นการเคลื่อนไหวสำคัญกว่า เพราะขณะที่ไม่มีอะไรทำให้เขารู้สึกเข้าใกล้ความสำเร็จ การขึ้นเวทีปราศรัยและต่อสู้เรียกร้องเพื่อคนรากหญ้าทำให้เขารู้สึกถึงมัน

พวกเขาเป็นเพียงคนธรรมดาสองคนในอีกเป็นร้อยเป็นพันคนที่มีเรื่องราวชีวิตคาบเกี่ยวและพันผูกกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไต้หวันตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เป็นคนที่ถูกหลงลืมโดยผู้คน กาลเวลา และการต่อสู้ทางการเมืองที่พวกเขาทุ่มเททุกอย่างให้ คนธรรมดาเหล่านี้ตกอยู่ในหล่มของประวัติศาสตร์และเรื่องเล่ากระแสหลัก เป็นฟันเฟืองที่ทำให้ประชาธิปไตยเคลื่อนไปข้างหน้า แต่คนทั่วไปมองเห็นแค่ผลผลิตที่ออกมาจากเครื่องจักรนั้น

สารคดีเรื่องนี้หยิบเอาฟันเฟืองสองชิ้นนี้ออกมาปัดฝุ่นให้เห็นร่องรอยการใช้งานและขัดมันจนขึ้นเงา เป็นเงาที่สะท้อนให้เห็นฟันเฟืองชิ้นอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในเส้นเรื่องเดียวกัน ตั้งแต่เพื่อนที่ร่วมหัวจมท้ายช่วยกันก่อตั้งพรรคและวางแผนหาเสียง รุ่นพี่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของเกษตรกรรากหญ้า สหายนักเคลื่อนไหวที่จุดไฟเผาตัวเองตายกลางม็อบ และตัวคนดูที่ยืนกระต่ายขาเดียวอยู่บนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ดำเนินไปได้แบบครึ่งๆ กลางๆ

นั่นหมายความว่า สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอแค่เรื่องราวของเขาและเธอ แต่ยังเล่าถึงคนรอบๆ และตัวคนดูเอง ในฐานะจุดที่เชื่อมต่อกันจนเผยภาพใหญ่ ที่บอกว่าไม่มีการเคลื่อนไหวใดจะสร้างแรงกระเพื่อมได้ด้วยคนเพียงหยิบมือ ผู้สร้างเชิดชูและสรรเสริญคนตัวเล็กจ้อยเหล่านี้ รู้ดีว่าพวกเขามีหัวใจที่อ่อนโยนเปราะบาง และนำเสนอความละเอียดอ่อนที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีได้ออกมา ผ่านบทบันทึกการเดินทางของพวกเขาไปยังสถานที่ต่างๆ

—การเดินทางไปงานศพของเธอนำไปสู่การเกิดใหม่ของผู้ตายในนามรัฐบุรุษเมื่อไช่อิงเหวินมานำคำนับศพ การเดินทางไปโรงพยาบาลของเขาในตอนท้ายสร้างความหมายใหม่เมื่อเรารู้ว่าเหตุใดเขาจึงต้องไปที่นั่น และการเดินทางไปม็อบเล็กๆ ครั้งหนึ่งในช่วงเวลาปัจจุบันนั้นสร้างแรงสั่นสะเทือนในหัวใจ เมื่อรู้ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเครื่องจักรอีกต่อไป หากแต่สิ่งที่พอจะทำได้คือการจ้องมองอยู่ห่างๆ อ้าปากตะโกนตามคำกล่าวของเหล่าลูกหลาน และสนับสนุนพวกเขาด้วยอุดมการณ์ที่ไม่เคยตาย

สารคดีเรื่องนี้มีชีวิตอย่างยิ่ง เพราะผู้สร้างไม่ชี้นำให้เราต้องรู้สึกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือได้ข้อสรุปเดียวแบบเสียงไม่แตกว่า ช่างเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนเหล่านี้ถูกหลงลืมและสุดท้ายมีแต่แกนนำที่ถูกจดจำ เพราะเรื่องน่าเศร้าไม่ใช่ว่าพวกเขาได้เป็นดาวเด่นค้างฟ้าหรือไม่ หรือชีวิตพังพินาศเพียงใดหลังประเคนลมหายใจให้การต่อสู้ แต่เรื่องเศร้าคือการที่ประชาชนคนธรรมดาต้องออกมาเรียกร้องสวัสดิการของชนชั้นแรงงาน ความเป็นอยู่ที่ดีโดยถ้วนหน้า และเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาควรจะได้มาตั้งแต่แรกโดยไม่ต้องยื้อแย่งเอาจากรัฐ

เหนือไปกว่านั้น ผู้สร้างไม่ได้นำเสนอแค่ช่วงเวลาที่พวกเขารุ่งโรจน์หรือแตกดับเพียงอย่างเดียว แต่ขับเน้นทั้งสองอย่างขนานกันไป จนสองเส้นนั้นละลายเคลื่อนย้ายเข้าหากันเป็นเส้นเดียว มันคือเส้นเรื่องที่เรียกว่าชีวิต ชีวิตของคนธรรมดาที่มีความทุกข์ได้ในช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ และมีความสุขได้ในช่วงเวลาที่กำลังจะแตกดับ เราเห็นว่าดาวปราศรัยในวัยสามสิบทั้งสองทุกข์ใจเป็นล้นพ้นกับเหตุการณ์ใด และในวัยกว่าหกสิบที่ไม่เหลือใครในชีวิต พวกเขายิ้มทั้งน้ำตาได้เพราะอะไร

นี่คือความซับซ้อนทางอารมณ์ของเธอและเขาผู้ไม่เคยอยู่และไม่ได้อยากอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์กระแสหลัก เป็นความซับซ้อนที่ผู้สร้างมองเห็น บันทึกไว้ และทำให้เราเข้าใจว่า นี่เองก็คือการขีดเขียนประวัติศาสตร์อีกรูปแบบหนึ่ง ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีพระเอกหรือนางเอก ไม่มีศัตรูหรือผู้ชนะ มีแต่คนตัวเล็กตัวน้อยที่พ่ายแพ้เพราะถูกชีวิตกระทำอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า แต่การถูกกระทำโดยชีวิตนั้นควรและจำเป็นจะต้องถูกบอกเล่าสู่ผู้คนในวงกว้าง เพื่อเน้นย้ำว่า ในสังคมที่ไร้ความยุติธรรม ไม่ว่าจะตัดสินใจต่อสู้หรือไม่ทำอะไรเลย เราทั้งมวลต่างเป็นผู้แพ้ให้กับชีวิตด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

นี่เองก็คือการขีดเขียนประวัติศาสตร์อีกรูปแบบหนึ่ง ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีพระเอกหรือนางเอก ไม่มีศัตรูหรือผู้ชนะ มีแต่คนตัวเล็กตัวน้อยที่พ่ายแพ้เพราะถูกชีวิตกระทำอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า แต่การถูกกระทำโดยชีวิตนั้นควรและจำเป็นจะต้องถูกบอกเล่าสู่ผู้คนในวงกว้าง เพื่อเน้นย้ำว่า ในสังคมที่ไร้ความยุติธรรม ไม่ว่าจะตัดสินใจต่อสู้หรือไม่ทำอะไรเลย เราทั้งมวลต่างเป็นผู้แพ้ให้กับชีวิตด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

จริงอยู่ หากการเมืองดี สังคมคงมีความเสมอภาค ไม่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างนายทุนกับคนรากหญ้า ไม่มีใครถูกเอารัดเอาเปรียบ และพวกเขาก็คงไม่ต้องลงถนนหรือจ่ายราคาค่างวดใดๆ แต่ในเมื่อความจริงคือสิ่งตรงกันข้าม และมนุษย์ล้วนมีอำนาจตัดสินใจ เราจะกล้าทุบความหวังและความฝันให้แตกสลายไหม เราพร้อมจะรุ่งโรจน์และแตกดับไปพร้อมกับมันหรือเปล่า นี่อาจเป็นสิ่งที่คนดูต้องถามตัวเอง

แต่สำหรับนักเคลื่อนไหวทุกคนที่ปรากฏตัวในสารคดีเรื่องนี้ คำตอบของพวกเขานั้นชัดเจนยิ่งแล้ว


หมายเหตุ : เช่า The Price of Democracy พร้อมกับหนังในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันเรื่องอื่นได้ที่ Doc Club on Demand (เปิดให้เช่าถึงวันที่ 10 ธ.ค. และมีระยะเวลาในการดู 1 สัปดาห์นับตั้งแต่วันเช่า)

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 19 พ.ย. 63

โรงหนังกลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อ ‘อีเรียมซิ่ง’ เปิดตัวเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไป 3.64 ล้านบาท ในขณะที่ Doraemon: Nobita’s New Dinosaur ก็ถล่มทลายด้วยเช่นกัน โดยทำเงินไปถึง 2.60 ล้านบาท

รายได้หนังประจำวันที่ 19 พ.ย. 63

1. อีเรียมซิ่ง – 3.64 ล้านบาท
2. Doraemon: Nobita’s New Dinosaur – 2.60 ล้านบาท
3. The Witches – 0.45 (13.89) ล้านบาท
4. คนทรงผี – 0.37 (0.59) ล้านบาท
5. Malevolent – 0.24 ล้านบาท
6. Freaky – 0.19 ล้านบาท
7. รักหนูมั้ย – 0.11 (5.42) ล้านบาท
8. The Empty Man – 0.05 (1.53) ล้านบาท
9. The Outpost – 0.04 (4.18) ล้านบาท
10. Mad Max: Fury Road – 0.04 ล้านบาท

Better Days : แด่หนุ่มสาวผู้ร้าวราน

เฉินเหนียน เป็นนักเรียนที่ไม่ได้โดดเด่นนัก แต่ความทุ่มเทขยันขันแข็งก็ทำให้ผลการเรียนของเธอออกมาเป็นที่น่าพอใจ เด็กสาวอาศัยอยู่กับแม่สองคนในแฟลตโทรมๆ เธอกับแม่ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ จากเจ้าหนี้ที่ตามมาทวงหนี้กับแม่เธออยู่เป็นประจำ มิหนำซ้ำด้วยเงื่อนไขชีวิตที่ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก ผลักให้แม่ของเธอต้องเลือกเส้นทางมิจฉาชีพและจากบ้านไป ‘ทำงาน’ ที่อื่นคราวละหลายๆ วัน

แม้ผลการเรียนจะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ทว่าชีวิตในห้องเรียนของเฉินเหนียนก็ไม่ได้ราบรื่น เธอเป็นเด็กเงียบๆ แปลกแยก และแทบจะไร้เพื่อน มีเพียง เสี่ยวตี้ เด็กสาวอีกคนที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนของเธอ แต่เสี่ยวตี้ก็ตกเป็นเป้าของการกลั่นแกล้งรังแก (bully) จากกลุ่มนักเรียนหญิงอันธพาลประจำห้องที่มี เว่ยไหล เด็กสาวหน้าตาสะสวยและฐานะดีเป็นหัวโจก

และแล้วในช่วงเวลาที่นักเรียนทุกคนกำลังคร่ำเคร่งอยู่กับการเตรียมตัวสอบ ‘เกาเข่า’ (Gaokao – ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยสุดโหดหินของประเทศจีน) ที่กำลังใกล้เข้ามาทุกที ทั้งโรงเรียนก็ต้องช็อคกับเหตุการณ์ที่เด็กสาวคนหนึ่งตัดสินใจกระโดดตึกฆ่าตัวตายในโรงเรียน เธอคือเสี่ยวตี้ เพื่อนเพียงคนเดียวของเฉินเหนียนนั่นเอง

Better Days (ซึ่งดัดแปลงจากนวนิยายเรื่อง In His Youth, In Her Beauty ของ Jiu Yuexi) เลือกใช้ประเด็นเรื่องการกลั่นแกล้งรังแก (bully) กันในโรงเรียน และความเคร่งเครียดกดดันจากระบบการสอบเกาเข่า มาเป็นแว่นส่องสำรวจและวิพากษ์ระบบการศึกษาของประเทศจีน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการ bully ซึ่งเป็นประเด็นร่วมสมัยที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และนับวันก็ยิ่งทวีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น

กล่าวกันว่า ‘โรงเรียน’ คือแบบจำลองย่อส่วนของสังคม ความบิดเบี้ยวในโรงเรียนคือภาพสะท้อนความอัปลักษณ์ของระบบสังคมนั้นๆ สังคมขนาดเล็กในโรงเรียนคือพิมพ์เขียวของการขัดเกลาคนเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบสังคมขนาดใหญ่ผ่านกฎเกณฑ์ กติกา ค่านิยม และอุดมการณ์ต่างๆ ที่สังคมนั้นๆ ต้องการเพื่อพยุงมันเอาไว้ ความบิดเบี้ยวในโรงเรียนจึงลอกแบบมาจากความอัปลักษณ์ของสังคมโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในแง่นี้การที่เด็กคนหนึ่งๆ รู้สึกแปลกแยกและเข้ากับสังคมในโรงเรียนไม่ได้ จึงอาจไม่ใช่เพียงสถานการณ์ชั่วคราวที่เมื่อเติบโตขึ้นแล้วก็จะพ้นไปจากมันได้ง่ายดาย แต่คือคำพยากรณ์ถึงชีวิตที่ทอดยาวอยู่เบื้องหน้าและเป็นเสียงที่คอยกระซิบซ้ำๆ ว่าตัวตนของฉันไม่เป็นที่ต้อนรับของโลกใบนี้

การฆ่าตัวตายของเสี่ยวตี้กระทบจิตใจเฉินเหนียนอย่างรุนแรง เธอกลายเป็นพยานเพียงคนเดียวที่รู้ว่าเสี่ยวตี้ต้องทนอยู่กับอะไรและรู้ว่าอะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้เสี่ยวตี้ต้องตัดสินใจเช่นนั้น แม้เฉินเหนียนจะเป็นเพื่อนกับเสี่ยวตี้ แต่ที่ผ่านมาเธอและเพื่อนคนอื่นๆ ในห้องก็นิ่งดูดายต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ไม่มีใครอยากยุ่ง เพราะไม่มีใครอยากตกเป็นเป้าของการ bully เป็นรายต่อไป ทุกคนจึงเพิกเฉยราวกับว่าเมื่อหลับตาหรือเบือนหน้าหนีแล้วมันก็จะหายไปได้เอง

การ bully คือการกลั่นแกล้งรังแกที่คนกลุ่มใหญ่ (majority) ซึ่งมีกำลังและอำนาจมากกว่า กระทำต่อคนกลุ่มเล็ก (minority) หรือกระทำต่อคนใดคนหนึ่งที่ด้อยอำนาจกว่า กระทำซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องทั้งทางร่างกายและจิตใจ (เหยียดหยาม ดูแคลน ล้อเลียน กดข่มให้รู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจ) โดยที่ฝ่ายถูกกระทำไม่สามารถต่อกรหรือป้องกันตัวเองได้ ด้วยลักษณะเฉพาะเช่นนี้ จึงยากที่จะมีใครกล้าลุกขึ้นมาห้ามปรามหรือต่อกรกับมันแม้ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนที่เข้มแข็งก็ตาม

ตรรกะของการ bully คือ ถ้าคุณอ่อนแอ คุณจะถูก bully เพราะความอ่อนแอของคุณ แต่ถ้าคุณเข้มแข็งและลุกขึ้นมาต่อต้านมัน เป้าหมายของการ bully จะกลายเป็นการทำลายความเข้มแข็งของคนคนนั้นลง ความเข้มแข็งอาจช่วยให้ทานทนได้มากขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยให้ไม่ถูก bully การ bully คือการตอแย ระราน สร้างความอึดอัดรำคาญ อำนาจของมันคือการทำให้เหยื่อต้อง ‘แปดเปื้อน’ จนไม่มีใครกล้าช่วยเหลือหรือคบค้าสมาคมด้วยเพราะกลัวว่าตัวเองจะพลอยถูกเล่นงานไปด้วย

เฉินเหนียนได้รู้ซึ้งถึงบทเรียนนี้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อเธอตัดสินใจลุกขึ้นสู้และทวงความยุติธรรมให้กับเสี่ยวตี้ เธอก็ตกเป็นเป้าของการ bully แทน แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง เฉินเหนียนบังเอิญได้รู้จักกับ เสี่ยวเป่ย เด็กหนุ่มนักเลงหัวไม้ที่เธอมีโอกาสได้ช่วยชีวิตเขาตอนที่เขาถูกนักเลงกลุ่มหนึ่งรุมทำร้าย เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นความผูกพันลึกซึ้งที่ทำให้คนสิ้นหวังทั้งสองคนได้ประคับประคองชีวิตกันไป

เสี่ยวเป่ยเป็นเด็กกำพร้าและไร้อนาคต เขาหลุดออกจากระบบการศึกษา ใช้ชีวิตตัวคนเดียวในบ้านโกโรโกโส ยังชีพด้วยธุรกิจสีเทาและตีรันฟันแทงไปวันๆ การได้พบกับเฉินเหนียนทำให้ทั้งคู่ต่างค้นพบที่ทางในชีวิตและตัวตนของกันและกัน เขาให้คำมั่นสัญญากับเธอว่าเขาจะปกป้องคุ้มครองเธอไปตลอดชีวิต “เธอปกป้องโลกไป ฉันจะปกป้องเธอเอง” และเขาก็ทำอย่างที่สัญญาไว้ด้วยการทำตัวเป็นบอร์ดี้การ์ดคอยเดินตามหลังเฉินเหนียนไปทุกที่ ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนราวกับเป็นเงาตามตัว

หนังค่อยๆ ปอกเปลือกให้เราเห็นว่ากลไกที่สามารถต่อกรกับอำนาจของการ bully ได้ ไม่ใช่แค่ความเข้มแข็งของปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่คือการ ‘แสดง’ ให้อีกฝ่ายเห็นว่าเราเองก็มี ‘อำนาจ’ มากพอจะข่มขวัญให้อีกฝ่ายหวาดกลัวเราได้เช่นกัน นั่นเพราะการ bully ไม่ใช่แค่การ ‘มีอำนาจ’ เหนือกว่าเหยื่อเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่กลไกสำคัญของมันคือการ ‘แสดงอำนาจ’ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น ‘นาฏกรรมแห่งอำนาจ’ เพื่อให้เหยื่อได้รับรู้ว่าตัวเองกำลังตกอยู่ใต้อำนาจของผู้กระทำ ไม่ว่าอำนาจนั้นจะแสดงออกอย่างโจ่งแจ้ง (ทำให้รู้สึกอับอายขายหน้าต่อสาธารณชน) หรือหลบเร้นอยู่ในเงามืด (ทำให้รู้สึกหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา) ดังนั้น ฉากที่เสี่ยวเป่ยแอบไล่ตามเว่ยไหลระหว่างทาง และข่มขู่จนเธอไม่กล้ามาตอแยกับเฉินเหนียนอีก จึงเป็นการโต้กลับด้วยนาฏกรรมแห่งอำนาจแบบเดียวกัน

เพราะการ bully ไม่ใช่แค่การ ‘มีอำนาจ’ เหนือกว่าเหยื่อเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่กลไกสำคัญของมันคือการ ‘แสดงอำนาจ’ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น ‘นาฏกรรมแห่งอำนาจ’ เพื่อให้เหยื่อได้รับรู้ว่าตัวเองกำลังตกอยู่ใต้อำนาจของผู้กระทำ

หนังไม่ได้วิพากษ์เรื่องการ bully แค่ในมุมของระบบการศึกษาเท่านั้น แต่ยังสำรวจไปถึงกระบวนการยุติธรรมผ่านระบบการทำงานของตำรวจที่เข้ามาสืบคดีการฆ่าตัวตายของเสี่ยวตี้ด้วย ความไร้น้ำยาของกระบวนการยุติธรรมที่เกือบจะเป็นส่วนหนึ่งของผู้กระทำเสียเอง เป็นแต่เพียงผู้ที่ทำได้แค่ยื่นมือเข้ามาช่วย แต่ไม่เคยยืนเคียงข้างผู้ถูกกระทำอย่างแท้จริง เพ่งมองและตัดสินการกระทำจากสายตาอันเย็นชาของผู้ที่วางตัว (หรือลอยตัว ?) อยู่เหนือปัญหา

อย่างไรก็ดี หนังช่วยขยายประเด็นให้เราได้เห็นว่าช่องโหว่ในกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่แค่เพียงช่องโหว่ในวิธีคิดเชิงสถาบันของตัวกระบวนการยุติธรรมเองเท่านั้น แต่มันคือช่องโหว่ของระบบสังคมโดยรวม ดังเช่นที่ตำรวจนายหนึ่งยอมรับกับตัวเองว่าอุปสรรคของการทำคดีเรื่องการ bully กันในโรงเรียนคือการโบ้ยความผิดให้กันเป็นทอดๆ ถ้าโทษครูใหญ่ ครูใหญ่ก็จะชี้ไปที่ครูเล็ก ถ้าชี้ไปที่ครูเล็ก ครูเล็กก็จะชี้ไปที่พ่อแม่ ถ้าโทษพ่อแม่ พ่อแม่ก็จะโทษเงื่อนไขชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน ห่วงโซ่ของการรับผิดชอบร่วมกันจึงกลายเป็นห่วงโซ่ของการโยนความผิดให้กันไปมา

นอกจากนี้ ในมุมของผู้กระทำเอง หนังได้แจกแจงให้เราเห็นว่าเด็กสาวหน้าตาดีและฐานะดีอย่างเว่ยไหลที่กลายมาเป็นหัวโจกของการ bully นั้น ตัวเธอเองก็ถูกกดดันอย่างหนักจากความคาดหวังของพ่อแม่เช่นกัน การต้องเรียนซ้ำชั้นผลักให้เธอกลายเป็นผู้พ่ายแพ้ในระบบการศึกษา พ่อไม่คุยกับเธอเพราะไม่สามารถยอมรับความล้มเหลวของเธอได้ ดังนั้นในแง่นี้ ก่อนที่เธอจะกลายมาเป็นผู้กระทำ เธอเองก็อาจนับได้ว่าเป็นเหยื่อของสังคมที่ถูกออกแบบมาไม่ให้มีที่ยืนสำหรับคนที่หลุดจากระบบการแข่งขัน จึงแสวงหาอำนาจที่จะมาเติมเต็มตัวเองด้วยการข่มเหงรังแกคนอื่น

แต่ในอีกทางหนึ่ง หนังไม่ได้นำเสนอแค่ว่าคนที่เป็นเหยื่อของระบบจะต้องลงเอยด้วยการเป็นแบบเว่ยไหลเสมอไป หากจะว่าไปแล้วเสี่ยวเป่ยเองก็เป็นเหยื่อของระบบเช่นกัน แต่เหตุใดเขากลับเลือกที่จะแสวงหาสิ่งเติมเต็มตัวเองด้วยการปกป้องคนอื่น ?

อย่างไรก็ดี ภายใต้ภาพโรแมนติกของคำสัญญาที่เสี่ยวเป่ยสัญญาว่าจะปกป้องเฉินเหนียน หนังได้ซ่อนคมมีดแห่งการวิพากษ์เอาไว้อย่างชาญฉลาด ภาพที่เสี่ยวเป่ยเดินตามเฉินเหนียนต้อยๆ ไปทุกๆ ที่เพื่อคอยระวังหลังให้ ไม่เพียงแต่เสียดเย้ยความจริงที่ว่าทั้งคู่อยู่ในระบบสังคมที่ออกแบบมาให้ ‘ผู้มีการศึกษา’ เดินนำหน้าเท่านั้น แต่คนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างเสี่ยวเป่ยซึ่งไม่มีใบเบิกทางสำหรับไต่บันไดทางชนชั้น ในสายตาของคนอื่นที่ไม่ใช่เฉินเหนียน ตัวตนของเขาเป็นเพียงเงาวูบไหวแปลกปลอม คำพูดที่เขาบอกเฉินเหนียนว่า “เธอปกป้องโลกไป ฉันจะปกป้องเธอเอง” จึงสะท้อนความจริงอันเจ็บปวดว่าคนแบบเขาไม่มี/ไม่สามารถมี ‘ความฝัน’ ของตัวเองได้ เขาทำได้เพียงปกป้องความฝันของคนอื่น เสี่ยวเป่ยไม่อาจปกป้องโลกได้ เพราะโลกโหดร้ายกับเขา เขาจึงทำได้เพียงปกป้องเฉินเหนียนจากความโหดร้ายของโลก

The Painted Bird นรกบนดิน

เด็กชายวิ่งกระหืดกระหอบอยู่กลางป่า กอดตัวเฟอเรตตัวน้อยที่เป็นเสมือนเพื่อนเพียงคนเดียวของเขาไว้แนบอก ก่อนจะถูกเด็กอีกคนชกจนเลือดกบปาก คนที่เหลือคว้าตัวเฟอเรตไว้ เอาน้ำมันราดแล้วจุดไฟเผาทั้งเป็น เขามองดูมันดีดดิ้นทุรนทุรายเป็นวงกลม ก่อนจะขาดใจตายกลายเป็นเถ้าถ่านเล็กจ้อยไหม้เกรียม มันไม่มีเหตุผลอะไร มันแค่เป็นตัวเฟอเรต แต่นั่นก็เป็นครั้งแรกที่เขารู้ว่ามนุษย์ช่างไร้เหตุผลและแสนจะอำมหิต เช่นเดียวกับเหตุการณ์คู่ขนานที่เกิดขึ้น ห่างไกลจากป่าแห่งนั้นไปหลายเมือง เมื่อนาซีจับชาวยิวโยนเข้าค่ายกักกัน และไม่ปล่อยให้คนกลุ่มนั้นได้ออกมามีชีวิตอีกเลย

The Painted Bird (2019) คืองานกำกับของ วาสลัฟ มาร์โฮล คนทำหนังชาวเชโกสโลวาเกียที่เคยแจ้งเกิดจาก Tobruk (2008) ซึ่งว่าด้วยนายทหารชาวเช็กในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และ The Painted Bird คือหนังร่วมทุนสร้างสามสัญชาติ (สาธารณรัฐเช็ก-สโลวาเกีย-ยูเครน) ลำดับที่สามในชีวิตของเขาซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงามทั้งในแง่คำวิจารณ์และรายได้ ด้วยการกวาดรางวัลในเวทีบ้านเกิดและส่งเขาเข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำของเทศกาลหนังนานาชาติเวนิซ และสิ่งที่ทำให้หนังขาวดำความยาวร่วมสามชั่วโมงนี้น่าจับตาไม่ได้อยู่แค่ความละเมียดในงานสร้าง หากแต่มันหมายรวมถึงการสะท้อนภาวะข้างเคียงอันโหดร้ายของสงคราม ที่แม้จะหนีไปจนสุดขอบโลก ก็จะยังต้องพบกับความอัปลักษณ์ที่เป็นผลพวงของสงครามไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ

หนังเปิดเรื่องด้วยการที่เด็กชายชาวยิวไร้ชื่อ (รับบทโดย ปีเตอร์ โคต์ลาร์ เด็กชายที่เพิ่งประเดิมงานแสดงนี้เป็นครั้งแรกและทำได้ดีอย่างน่าขนลุก) จ้องมองไปยังตัวเฟอเรตที่ถูกเด็กวัยเดียวกันเผาเป็นจุลอย่างไร้เหตุผล ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงที่นาซีเรืองอำนาจ เขาถูกพ่อกับแม่ส่งให้มาอยู่กับป้าเพื่อความปลอดภัยแต่ก็พบว่าตัวเองแปลกแยกจากเด็กคนอื่นๆ ป้าก็มักเงียบเชียบและเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่เสมอ และหากว่าการตายของตัวเฟอเรตนั้นคือปฐมบทของนรกที่เด็กชายต้องเจอ ถัดจากนั้นมาชีวิตของเขาก็เกี่ยวโยงกับความตายแนบเป็นเนื้อเดียวกันอย่างแยกไม่ขาด มากไปกว่านั้น พิษของสงครามที่กัดกินผู้คนไปทั่วทั้งเมืองยังเผยให้เห็นความอัปลักษณ์สุดขีดของหัวใจมนุษย์ จนท้ายที่สุด ด้วยพิษรูปแบบเดียวกัน มันค่อยๆ ทำลายความไร้เดียงสาและสามัญสำนึกดั้งเดิมของเขา ไปสู่ความเป็นอื่นที่แม้แต่เขาเองก็ไม่อาจจินตนาการถึง

หากว่าหนังสกุลอื่นๆ ที่ว่าด้วยกระบวนการฆ่าล้างเผาพันธุ์ชาวยิวช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จับจ้องไปยังตัวผู้กระทำคือนาซีและเหยื่อหรือชาวยิวอย่าง Schindler’s List (1993), The Pianist (2002) หรือ Phoenix (2015) ซึ่งล้วนแล้วแต่ว่าด้วยเหตุการณ์ขณะสงครามและผลกระทบหลังโศกนาฏกรรมเหล่านั้น The Painted Bird กลับพาคนดูเลาะไปรอบๆ โดยแทบไม่มีฉากการปรากฏตัวของทหารเลยในครึ่งแรก หากแต่มันชำแหละความบิดเบี้ยว ตึงเครียดของสังคมภายใต้สงครามอันเครียดเขม็ง และชวนตั้งคำถามไปถึงว่า นาซีนั้นเลวร้ายเพราะเป็นนาซี หรือโดยเนื้อแท้แล้วมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่โหดร้ายอยู่แต่เดิมแล้วกันแน่ เพราะทั้งเรื่องนั้นเต็มไปด้วยความอำมหิตผิดสามัญสำนึก -จะเรียกว่าผิดมนุษย์ก็ไม่ได้เต็มปาก เพราะความอำมหิตเหล่านี้ล้วนมาจากมนุษย์ทั้งสิ้น- จนกระทั่งการปรากฏตัวของนาซีแทบไม่สร้างผลกระทบใดๆ ให้หัวใจของเด็กชาย หรือแม้แต่คนดูอีกต่อไปแล้ว

หนังดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกันของ เยอร์ซี กอร์ซินสกี นักเขียนชาวโปแลนด์ที่เป็นหนึ่งในเหยื่อของสงครามโลกครั้งที่สอง เนื้อหาที่รุนแรงของตัวหนังสือส่งให้มันถูกพูดถึงอย่างหนาหูแทบจะในทันทีที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1965 และยิ่งหนักขึ้นเมื่อตัวกอร์ซินสกีเผยว่า เหตุการณ์ที่ยิ่งกว่านรกซึ่งปรากฏในหนังสือนั้น ล้วนมาจากชีวิตจริงของเขาในช่วงหนีตายระหว่างสงคราม หลังจากถูกพรากพ่อพรากแม่ตั้งแต่วัยเพียงหกขวบและต้องออกเดินทางเพียงลำพัง เลาะรอบริมขอบชานเมืองและได้เป็นพยานรู้เห็นการข่มขืน การฆาตกรรม หรืออาชญากรรมรุนแรงหลายอย่างจนมันกลายเป็นแผลใหญ่ในชีวิต ตัวเขาเองถูกความทรงจำเหล่านี้หลอกหลอนจนกระทั่งเมื่อฆ่าตัวตายในวัย 57 ปี ทิ้งข้อความไว้เพียงว่า “ผมขอนอนหลับให้นานกว่าที่เคย จงเรียกมันว่าการนอนชั่วนิรันดร์เถอะ”

ตลอดระยะเวลาเกือบสามชั่วโมง เราล้วนออกเดินทางไปพร้อมกับเด็กชายที่ระหกระเหินพบเจอผู้คนมากมายตลอดทั้งทาง ล้วนแล้วแต่มีสัตว์เชื่อมโยงด้วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ นับตั้งแต่เขาถูกหมอผี -ที่บอกว่าเขาเป็นปีศาจ- ซื้อตัวไปเป็นผู้ช่วยและล้มป่วยหนักจนถูกจับไปทำพิธีฝังดินทั้งเป็นให้ฝูงกาทึ้งหนังหัวจนเลือดอาบ, ถูกอุปการะโดยหญิงนางหนึ่งผู้มีผัวแก่อารมณ์ร้ายและขี้หึงจนคิดว่าหล่อนไปแอบเป็นชู้กับคนงานหนุ่ม ชายแก่มีแมวอ้วนคลอเคลียอยู่ไม่ห่าง ก่อนที่เขาจะเอาแมวตัวผู้จากถิ่นอื่นมา ‘ทับ’ แมวบ้านตัวนั้นต่อหน้าเด็กชายและต่อหน้าเมีย เรื่อยไปจนเมื่อเขาไปขอพักอยู่กับชายเลี้ยงนก ที่สอนเขาว่านกเลี้ยงนั้นจะถูกนกป่าคิดว่าเป็นอื่นเสมอ แม้จะรูปร่างหน้าตาเหมือนกันก็ตาม

ชายเลี้ยงนกทำสัญลักษณ์นกในสังกัดของตัวเองไว้ด้วยการเอาสีป้ายที่ปีกของนก ก่อนจะปล่อยมันบินกลับฝูง เฝ้ามองมันบินล้อมหน้าล้อมหลังนกป่าตัวอื่นก่อนจะค่อยๆ ถูกฝูงนกรุมทำร้าย ฉีกทึ้งและจิกร่างจนมันขาดใจตายกลางอากาศ ด้านหนึ่ง นี่จึงเป็นฉากที่ชวนขนหัวลุกมากที่สุดฉากหนึ่งของเรื่อง เพราะมันเผยให้เด็กชายเห็นว่านอกเหนือไปจากมนุษย์แล้ว ธรรมชาติก็โหดร้ายด้วยเช่นกัน ทั้งมันยังไร้เหตุผลและเลือดเย็นเท่าๆ กันกับมนุษย์คนอื่นที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเขา จนสีหน้าแตกสลายเมื่อเขาก้มลงหยิบซากนกตัวนั้นขึ้นมากอด แทบจะกลายเป็นสีหน้าสุดท้ายที่เขาได้แสดงออกถึงความเปราะบางในแบบของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม หนังค่อยๆ พาคนดูสำรวจความเลือดเย็นและโหดเหี้ยมของมนุษย์ในหลายๆ แง่มุม หากว่าช่วงแรก ความรุนแรงจากมนุษย์จะหมายถึงการควักลูกตา การข่มขืนอย่างทารุณ หรือการทำร้ายร่างกายปางตาย ในอีกช่วงหนึ่งมันก็ค่อยๆ เผยให้เห็นความดำมืดในอีกรูปแบบที่มาพร้อมความนิ่งเงียบและสุภาพ ทั้งในฐานะคนทั่วไปหรือในฐานะคนที่ปกป้องตัวเองไว้ในนามของศาสนาคริสต์ ครั้งหนึ่งเด็กชายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปีศาจและจะนำความฉิบหายมายังหมู่บ้านจนต้องจำยอมกลายเป็นลูกมือหมอผี กลายเป็นเด็กเฝ้าโบสถ์ซึ่งเขาก็พบว่า ที่สุดแล้วแม้แต่ศาสนาก็ยังนำพาความเลวร้ายอันวิปริตมาให้ชีวิตเขา นำไปสู่การเดินทางบทใหม่ที่ออกห่างจากพระเจ้าและผู้คนเมื่อเขาถูกรับตัวไปโดยนายทหารโซเวียต -ซึ่งแน่นอนว่าอยู่คนละฝั่งกับนาซีและหนังก็ไม่ได้ทรีตว่าเป็นฝั่งธรรมะหรือฝ่ายคนดีใดๆ- ฉากที่น่าตระหนกมากๆ คือฉากที่นายทหารพาเด็กชาย ‘ออกล่า’ ชาวบ้านด้วยปืนสไนเปอร์ หนึ่งในเหยื่อจากการยิงทิ้งคือเด็กชายคนหนึ่งที่นายทหารตั้งใจเล็งแล้วยิงทิ้ง มันจึงเป็นความเลือดเย็นแบบที่แม้ไม่ได้โหดขนาดแลกเนื้อเถือหนัง แต่มันคือการทำลายล้างความเป็นมนุษย์ในระดับสามัญสำนึกของทั้งตัวเขาเองและเด็กชาย

เช่นเดียวกันกับตอนที่เขาไปเจอหญิงสาว และลงเอยด้วยความอนาจารอันชวนสยอง หนังเล่าฉากนี้โดยปราศจากบทพูดเมื่อเด็กชาย -ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกกล่าหาว่าเป็นปีศาจ เคยพยายามทำดีเอาใจพระเจ้าเพื่อหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น- ตัดตัวเองออกห่างจากความดีงามทั้งปวงด้วยการสังหารแพะด้วยตัวคนเดียว ภาพที่เขายืนถือหัวแพะพร้อมเลือดโชกกลายเป็นสัญลักษณ์อันรุนแรงที่สื่อว่าเขากลายเป็นอื่นที่ไม่ใช่เด็กคนเดิมที่เคยสะเทือนใจตอนเห็นตัวเฟอเรตตายอีกต่อไปแล้ว

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่ตระหนักได้หลังดูหนังจบ มันคือความอำมหิตอันไร้ที่สิ้นสุดของหัวใจมนุษย์ ที่ทำให้ทุกการเดินทางกลายเป็นนรกบนดิน และมากกว่านั้น ความอำมหิตเหล่านั้นมันยังทำลายล้างจนเปลี่ยนใครคนหนึ่งให้กลายเป็นใครอีกคนหนึ่ง -ที่แม้แต่เจ้าตัวก็ไม่อาจคำนึงถึง- ไปตลอดกาลอีกด้วย


  • หมายเหตุ : The Painted Bird ฉายในงาน Screening of The Painted Bird โดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันกับ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็ก เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

Box Office Report : รายได้หนังประจำสัปดาห์ 12-18 พ.ย. 63

สัปดาห์นี้มีหนังไทยฉายอยู่ในโปรแกรมถึง 4 เรื่อง แต่ก็ไม่มีเรื่องไหนที่สร้างความคึกคักให้กับโรงหนังได้เลย จากทั้งหมดที่ว่ามา ‘หลวงพี่กะอีปอบ’ ทำรายได้รวมสูดสุด ทะลุ 10 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย

รายได้หนังประจำวันที่ 12-18 พ.ย.63

1. The Witches – 4.94 (13.44) ล้านบาท
2. รักหนูมั้ย – 1.90 (5.31) ล้านบาท
3. The Empty Man – 1.48 ล้านบาท
4. The Outpost – 1.36 (4.14) ล้านบาท
5. Z – 0.72 (1.97) ล้านบาท
6. My Rhythm – 0.67 ล้านบาท
7. หลวงพี่กะอีปอบ – 0.62 (10.52) ล้านบาท
8. The Broken Hearts Gallery – 0.53 ล้านบาท
9. Happy Together – 0.40 ล้านบาท
10. คนทรงผี – 0.22 ล้านบาท

Dick Johnson is Dead ขยิบตาให้ความตาย

พ่อของผมตัวหดเล็กลงทุกครั้งที่ได้พบกัน

พวกเราเจอกันแค่ปีละไม่กี่ครั้ง บางคราวก็เจอกันเพียงครั้งเดียวในรอบสองสามปี

ทุกครั้งที่พบกัน ผมสังเกตเห็นว่าพ่อหดเล็กลงกว่าคราวก่อน

กล่าวกันว่า มนุษย์เรานั้นตายได้สองครั้ง ครั้งแรกคือเมื่อสิ้นลมหายใจ ส่วนอีกครั้งคือเมื่อไม่มีใครจดจำเขาหรือเธอคนนั้นได้อีกแล้ว

ชีวิตของเราจบลงได้สองครั้งจริงหรือ 

Dick Johnson is Dead ผลงานสารคดีเรื่องใหม่ของเคียร์สเตน จอห์นสัน (ผู้สร้างชื่อจาก Cameraperson) ท้าทายกับความตายทั้งสองครั้งที่ว่า ด้วยการจับเอาดิค จอห์นสัน คุณพ่อผู้กำลังเข้าสู่ภาวะความจำเสื่อมถอยจากโรคอัลไซเมอร์ มาถ่ายจำลองฉากการตายหลากหลายรูปแบบเก็บไว้ ในทางหนึ่งแล้วการกระทำเช่นนี้กวนตีนอย่างเหลือเชื่อ ในอีกทางหนึ่งมันก็ตั้งคำถามชวนคิดขึ้นมาอีกว่า เมื่อวันที่เขาไม่อาจจดจำอะไรได้มาถึง เราจะเรียกว่านี่คือความตายของดิค จอห์นสันได้หรือไม่ 

ผมไม่ทันสังเกตว่าพ่อเริ่มหดตัวลงเมื่อไร

ไม่มีสัญญาณชัดเจน บางคราวพ่อดูโมโหร้ายเหลือเชื่อ บางคราวแกก็อ่อนไหวจนร้องไห้ออกมาง่ายๆ เราเข้าใจกันไปเองว่าอาจเป็นเพราะสังขารที่เริ่มไม่สะดวกสบาย คนแข็งแรงอย่างพ่อคงไม่ชอบใจ

พ่อรถล้มขาหักเมื่อปีก่อน ทั้งๆ ที่รถคันนั้นจอดอยู่เฉยๆ 

ดิค จอห์นสัน ดูสงบและอารมณ์ดีเหลือเชื่อเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุหลงๆ ลืมๆ ทั่วไป เขายินยอมขายบ้าน เซ้งออฟฟิศ สละรถยนต์คันเดียวที่ใช้มานานเพื่อย้ายเข้าไปอยู่กับลูกสาวที่นิวยอร์คในฐานะ ‘น้องชายคนเล็ก’ หนังฉายให้เห็นว่าแม้จะเข้าอกเข้าใจเพียงไร จิตแพทย์เกษียณคนนี้ก็ยังอดไม่ได้ที่จะหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความเศร้า “เราต้องขายรถจริงๆ ใช่ไหม พ่อคงไม่ได้ขับรถอีกแล้วใช่ไหม” ตัวตนของเขาหดเล็กลง อิสรภาพบางส่วนหายไปอย่างช่วยไม่ได้ เพื่อแลกกับการประกันว่าจะไม่ก่ออุบัติเหตุทางรถยนต์ด้วยตัวเอง เขายิ่งหดลงเรื่อยๆ ตลอดความยาวของภาพยนตร์

ไม่ใช่ครั้งแรกที่เคียร์สเตนได้ประจักษ์การต่อการหดเล็กลงของบุคคลอันเป็นที่รัก ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ แม่ของเธอ แคทเธอรีน จอย จอห์นสัน จากไปด้วยโรคเดียวกันกับที่พ่อกำลังประสบ สิ่งที่ทำให้เธอเสียใจที่สุดคือเธอบันทึกภาพช่วงปลายชีวิตของแม่เอาไว้น้อยมาก หนังเรื่องนี้จึงเป็นความพยายามกอบกู้ความรู้สึกเศร้าหมองนี้เอาไว้ ทั้งในฐานะนักทำสารคดีและในฐานะลูกผู้ประสงค์จะบันทึกช่วงเวลาสำคัญของผู้เป็นที่รักเอาไว้

“สิ่งที่ผมไม่ชอบที่สุดในอาการหลงลืมนี้คือ ผมทำให้บรรดาคนรอบตัวเสียใจ” เพื่อนของดิคหลายคนปรากฏตัวในฉากงานศพที่ถูกจำลองขึ้นมาเป็นฉากหนึ่งในหนัง พวกเขาหัวเราะเฮฮาไปกับความเพี้ยนพิลึกช่วงก่อนเข้าพิธีและร้องไห้ออกมาราวกับว่าความตายของมิตรสหายมาถึงแล้วจริงๆ ระหว่างพิธีหลอกดำเนินไป สถานการณ์ประหลาดนี้ชวนให้นึกถึงข้อความส่วนหนึ่งจากหนังสือ ตาย-เป็น (Being Mortal: Medicine and What matters in the end พิมพ์ในฉบับภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ Openbooks) ของนายแพทย์อาทูล กาวานดี ข้อความนั้นกล่าวว่า “คนที่มีอายุมากบอกผมว่าพวกเขาไม่ได้กลัวความตาย แต่พวกเขากลัวสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่จะตาย ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียการได้ยิน ความจำเสื่อม การเสียเพื่อนที่ดีที่สุด รวมทั้งสูญเสียวิถีดำเนินชีวิตของพวกเขา” การซ้อมตายสารพัดวิธีของผู้เฒ่าดิ๊กยิ่งขับสารนี้ออกมาอย่างชัดเจน 

สิ่งสำคัญที่ช่วยไม่ให้การสบตากับความตายครั้งนี้ไม่หดหู่จนเกินไปนักคือการที่ผู้กำกับเลือกที่จะขยิบตาให้มันเสียหน่อยด้วยอารมณ์ขันร้ายกาจ เหล่าผู้คนที่ปรากฏตัวในหนังเรื่องนี้มีปริมาณความตลกเจือปนอยู่สูงอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอเลือกพิจารณาความตายด้วยวิธีน่าจะมาจากการที่เธอได้รับอิทธิพลความเชื่อทางศาสนามาจากพ่อผู้ศรัทธาในนิกาย Seven Days Adventist ความเชื่อที่ว่าความตายไม่ใช่ปลายทางของชีวิต เป็นเพียงจุดพักผ่อนสำหรับรอขึ้นสวรรค์ในวันพิพากษา 

ฉากที่ผู้เขียนประทับใจที่สุดคือฉากจำลอง “สวรรค์ของพ่อ” ความตายในจินตนาการมอบนิ้วเท้าที่สมบูรณ์ให้ดิคผู้มีนิ้วเท้าผิดรูปแต่กำเนิด ปลดเปลื้องความทุกข์ใจตลอดชีวิตของเขา เขาอนุญาตให้ตัวเองได้เดินเท้าเปล่าอย่างสบายใจ และร้องรำทำเพลงกับเหล่าผู้ล่วงลับที่เขาปรารถนาจะได้พบมานาน อาทิ บัสเตอร์ คีตัน, ฟาราห์ ฟอว์เซต, ฟรีดา คาห์โล, ซิกมุนด์ ฟรอยด์ และที่สำคัญ เขายังได้เต้นรำสุดเหวี่ยงกับภรรยา (นิกายแอดเวนทิสต์ถือว่าการเต้นรำจะทำให้พวกเขาไม่ได้ไปสวรรค์) ภาพความงามตื่นตาตื่นใจในฉากนี้เป็นการสังสรรค์ที่น่าสนใจระหว่างลีลาทางภาพของผู้กำกับและมุมมองต่อศาสนาและความตายที่เธอมี

พ่อของผมหดลงอีกแล้ว

แกผอมลงไปมาก ลืมวิธีดำเนินชีวิตปกติไปหลายอย่าง

คงลืมวิธีสื่อสารไปแล้วด้วย ทุกคนยอมรับกันอย่างเงียบๆ วันนั้นน่าจะมาถึงในไม่ช้า

ไม่มีใครพูดออกมาตรงๆ 

“พ่อมีความสุขแล้วที่เราได้มาอยู่ด้วยกันอย่างนี้” ดิคพูดกับเคียร์สเตน เขาอยู่กับปัจจุบันได้เก่งกาจทีเดียว “อยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็ไม่เลว พ่อโอเคนะกับการุณยฆาต ลูกตัดสินใจได้เต็มที่เลย แต่รับปากหน่อยได้ไหม ว่าถ้าวันนั้นมาถึง เราจะมาคุยกันก่อน”

“วันนั้นที่ว่ามันวันไหนล่ะพ่อ หนูจะไปรู้ได้ยังไง” เธอตอบ พ่อของเธอเงียบไป แม้แต่คนที่ดูเข้าอกเข้าใจที่สุดก็ยังตอบไม่ได้ว่าจุดที่เหมาะสมในการตายอยู่ตรงไหน

ในหนังสือ Being Mortal ยังมีอีกข้อความหนึ่งที่เข้ากับเรื่องราวในสารคดีเรื่องนี้อย่างดี

“ไม่ว่าเราต้องเผชิญกับอะไร เราต้องการรักษาความเป็นอิสระหรือเสรีภาพที่จะเป็นผู้ประพันธ์

ชีวิตของเราเอง นี่คือแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์” สารคดี Dick Johnson is Dead บรรลุถึงแก่นแท้ที่ว่าเอาไว้ได้อย่างงดงาม 

เคียร์สเตนบันทึกเสียงบรรยายสารคดีทั้งเรื่องนี้ด้วยโทรศัพท์ “วันนั้น (วันที่ถ่ายทำฉากงานศพ) เรามีความสุขกันมาก เราคิดว่าบางทีเราอาจจะหยุดสิ่งที่กำลังจะมาถึงได้ ว่าเราค้นพบวิธีที่จะรักษาสิ่งที่เป็นอยู่เอาไว้ หรือเกือบๆ จะพบวิธีทำอย่างนั้น”

“เราจะพูดอะไรได้เมื่อเราต้องสูญเสียเพื่อนคนสำคัญในชีวิตไป

เท่าที่ฉันรู้คือดิค จอห์นสันตายแล้ว…” เธอพูดซ้ำๆ ในตู้เสื่อผ้าที่ทำการอัดเสียง

“และสิ่งที่ฉันอยากพูดก็คือ ขอให้ดิค จอห์นสันจงมีอายุยืนยาว”

ตายนับครั้งไม่ถ้วนของพ่อเฒ่าดิค จอห์นสัน มอบชีวิตที่ยืนยาวให้เขาในรูปแบบภาพยนตร์

พ่อของผมหดเล็กลงเรื่อยๆ

ผมสงสัยเหลือเกินว่าครั้งหน้าจะหดลงไปเหลือแค่ไหน

ผมจะยังมองเห็นพ่อด้วยตาได้หรือเปล่า


Dick Johnson is Dead มีให้รับชมแล้วบน Netflix