เข้าป่าหาขุมทรัพย์ภาพยนตร์ที่ “หนังสั้นมาราธอน 2020” (ตอนที่ 1)

“หนังสั้นมาราธอน” (Marathon Short) คือกิจกรรมเบิกโรงที่กลายเป็นประเพณีของ “เทศกาลภาพยนตร์สั้น” (Thai Short Film and Video Festival) เทศกาลหนังที่ถือเป็นก้าวสำคัญของคนทำหนังกับบุคลากรในวงการภาพยนตร์ไทยรุ่นปัจจุบันจำนวนมาก ซึ่งจัดต่อเนื่องอายุยืนผ่านทุกความท้าทายมาถึงปีที่ 24 แล้ว – อายุยืนกว่าเทศกาลภาพยนตร์ใดๆ ก็ตามที่เคยจัดขึ้นในประเทศไทย

จริงอยู่ที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นได้เปิดพื้นที่และมอบรางวัลให้หนังสั้นไทยอย่างครอบคลุม ทั้งหนังสั้นของบุคคลทั่วไป นักเรียน นักศึกษา แอนิเมชั่น สารคดี ไปจนถึงหนังขนาดกลางและหนังยาว แต่ในเมื่อทุกรางวัลย่อมต้องผ่านกระบวนการคัดกรอง ทั้งเลือกผู้เข้าชิงและเลือกผู้ชนะ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่หนังอีกหลายร้อยเรื่องต้องจบเส้นทางลงก่อนใครเพื่อน อาจสูญหายไปจากการรับรู้ หรือหลุดรอดการบันทึกจดจำไป

หนังสั้นมาราธอนจึงถือเป็นพื้นที่ของประสบการณ์พิเศษ เมื่อหนังไทยทุกเรื่องที่ลงทะเบียนเข้าประกวดจะได้รับการจัดฉายสู่สาธารณะ ก่อนประกาศผลคัดเลือกผู้เข้าชิงประจำปีในแต่ละสาขา

หลายคนอาจสงสัยว่าเราจะดูหนังตกรอบไปเพื่ออะไร คำตอบก็คือโลกของภาพยนตร์ไม่ได้ดำรงอยู่แค่เพราะผลงานที่ผ่านการคัดเลือกหรือเป็นผู้ชนะ รสนิยมของคนดูไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับกรรมการผู้คัดเลือกตัดสินลงคะแนน พื้นที่อย่างหนังสั้นมาราธอนที่ไม่ถูกจำกัดด้วยมาตรวัดด้านศิลปะภาพยนตร์ หรือกระทั่งการจำแนกจัดชุดแบ่งโปรแกรม คือพื้นที่ของความหลากหลาย ความเป็นไปได้ และความท้าทายที่กระตุ้นให้เราเปิดรับหรือมองเห็น

การฉายโดยเรียงตามลำดับตัวอักษร เปิดโอกาสให้หนังที่นักเรียนมัธยมทำเพื่อส่งครูหรือเล่นสนุกได้ฉายวันเดียวกับหนังที่ไปเฉิดฉายในเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก หนังบ้าเลือดหลุดโลกจากอำเภอห่างไกลได้ฉายถัดจากหนังนักศึกษาที่ใครๆ ต่างลงมติให้เป็นอนาคตของวงการ หนังรณรงค์สร้างคนไทยคนดีฉายชั่วโมงเดียวกับหนังที่ถ้าส่งเซ็นเซอร์คงถูกแบนตั้งแต่วินาทีแรก ได้ดูหนังหรือสารคดีขนาดยาวที่คงไม่มีโรงหนังกระแสหลักยอมฉาย และหลายครั้งเราได้ค้นพบเสียงหรือเรื่องราวใหม่จากผลงานของคนทำหนังชาติพันธุ์ที่ไม่พูดภาษาไทย สุนทรียะทดลองท้าทายสุดขั้วของคนทำหนังบ้านๆ ที่แม้แต่แกลเลอรี่ศิลปะยังลังเล หนังที่ไม่มีหน้าที่อะไรเลยนอกจากตอบสนองความชอบหรือบำบัดจิตใจผู้สร้าง หรือภาพจากกล้องราคาถูกที่ผิดทุกตำราแต่กลับสนทนากับสังคมหรือแสดงศักยภาพได้น่าทึ่ง

นี่คือสิ่งที่อัลกอริธึมของ YouTube, Facebook หรือ Vimeo ก็ให้ไม่ได้ เพราะมันพยายามเรียนรู้ เอาใจ และพะเน้าพะนอเรามากเกินไป

แน่นอนที่สุดว่าบทความชุดนี้ไม่สามารถกล่าวถึงหนังทุกเรื่องที่ฉายได้ จึงขอหยิบยกเฉพาะผลงานที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะในด้านคุณภาพ ประเด็นเนื้อหา ความท้าทายหลุดโลก หรือภาษาหนัง มานำเสนอต่อผู้อ่านให้ครอบคลุมมากที่สุด (รวมถึงชี้ช่องทางรับชมออนไลน์ ในกรณีที่เผยแพร่แบบสาธารณะอยู่แล้ว หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงาน) – ต้องขออภัยล่วงหน้าหากคลาดสายตาหรือตกหล่นผลงานบางส่วนไปบ้าง เนื่องจากตารางฉายที่ไม่สอดคล้องกับตารางชีวิตของผู้เขียน แต่หากมีโอกาสได้รับชมย้อนหลังผ่านช่องทางอื่น ย่อมถือเป็นเรื่องน่ายินดี


2020
(กฤษดา นาคะเกตุ)

ด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่เปลี่ยนชีวิตผู้คนรุนแรงลึกซึ้งและยืดเยื้อ หนังสั้นมาราธอนประจำปี 2020 จึงได้มีโอกาสฉาย “หนังสั้นโควิด” จำนวนมาก ที่เป็นทั้งปฏิกิริยาฉับพลันและบันทึกประวัติศาสตร์ผลกระทบของมาตรการกักตัวล็อคดาวน์เคอร์ฟิว (+ พรก.ฉุกเฉิน ที่ไม่ได้ใช้ควบคุมโรค) นอกเหนือจากโปรเจ็คต์ทางการอย่าง กักตัว Stories และ Thailand Covid Film Festival

ในกลุ่มหนังปฏิกิริยาฉับพลัน (ถ่ายหรือทำเสร็จในช่วงล็อคดาวน์) ซึ่งส่วนใหญ่คนทำคว้ากล้องออกไปเก็บภาพหรือแสดงความรู้สึกในขณะนั้นทันที สารคดีสั้นเรื่อง 2020 ของผู้กำกับภาพดาวรุ่ง กฤษดา นาคะเกตุ อาจถือเป็นหนึ่งในผลงานโดดเด่นที่สุด เพราะหนังที่มองผิวเผินคล้ายสไลด์โชว์ภาพกรุงเทพฯ ยามราตรีที่สงบเงียบเรื่องนี้ ได้บันทึกภาพของเมืองหลวงที่หยุดนิ่ง สายตาแหลมคมของกฤษดาจ้องลึกลงไปในรายละเอียด ผ่านความสวยงามของการดีไซน์เฟรมภาพไปถึงประตูบานเฟี้ยมของร้านค้าที่ปิดสนิท และชีวิตผู้คนที่แทบไม่ปรากฏความเคลื่อนไหว รวมถึงองค์ประกอบซ่อนนัยในภาพที่ทำให้คีย์เวิร์ดสำคัญในเรื่องย่ออย่าง “มลพิษฝุ่นควัน” ไม่ได้หมายถึงแค่โคโรน่าไวรัสหรือฝุ่น PM 2.5

ดูได้ที่:



After a Long Walk, He Stands Still
(กันตาภัทร พุทธสุวรรณ)

หากไม่นับหนังสงครามที่มุ่งขายฉากรบอลังการกับหนังประกวดโครงการคนดีที่ต้องเทิดทูนทุกสถาบันจารีต น้ำเสียงหลักของหนังสั้นไทยที่เล่าเรื่องทหาร (แบบตรงๆ) ในช่วงไม่กี่ปีหลังคือการเสียดสีประชดแดกดัน – After a Long Walk, He Stands Still จึงโดดเด่นเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมกลุ่ม เพราะหนังเล่าเรื่องทหารเกณฑ์สัญชาติไทยด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่งจริงจัง และต่อยหนักผ่านภาพคลีนๆ คมๆ ที่ชวนให้นึกถึงวิธีการของ ดินไร้แดน (นนทวัฒน์ นำเบญจพล, 2019)

ธงกับต้อมเป็นวัยรุ่นชนบท ทหารเกณฑ์ผลัดใหม่ล่าสุด และคู่เพื่อนสนิท แต่ความสัมพันธ์เริ่มมองหน้ากันไม่ติด เมื่อวันหนึ่งฝ่ายหลังตัดสินใจหนีออกจากค่ายทหาร การลงโทษแบบรวมหมู่ที่ไม่เคยมีเหตุผลรองรับของครูฝึกบีบให้ธงต้องยอมพูดความจริง คืนนั้นต้อมถูกลากกลับมาซ่อมที่ค่าย กลายเป็นแกะดำประจำหมู่ ส่วนธงเริ่มถูกทหารรุ่นพี่ตีสนิทดึงเข้ากลุ่ม แล้วเตรียมปั้นให้ได้อวยยศ(ในทางปฏิบัติ)เป็นทหารรับใช้บ้านนายพล – หนังร้อยเรียงประเด็นที่ล้วนสืบสาวราวเรื่องกลับไปถึงข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพ ทั้งอำนาจนิยมเผด็จการ ลำดับชั้นต่ำสูง ความรุนแรง และสภาวะลอยตัวเหนือการตรวจสอบ ไม่จำเป็นต้องใช้ภาพเสียดแทงใจให้คนดูต้องเบือนหน้าหนีอย่างข่าวทหารตายปริศนา เพราะการที่เรายังจ้องตาเด็กหนุ่มบ้านจนซึ่งกำลังถูกอำนาจและเงื่อนไขบิดผันให้เขาต้องจำใจอ่อนข้อ มันเสียดแทงยิ่งกว่า

ดูได้ที่:

🏆 เข้ารอบสุดท้ายรางวัลช้างเผือก (ภาพยนตร์สั้นระดับนักศึกษา) 🏆



Beside the Railway Track
(วัชรพงษ์ ภูคำ)

Beside the Railway Track แบ่งเรื่องเล่าของตัวเองเป็นสองภาค กินเวลารวมกันเพียงไม่ถึง 15 นาที จับโฟกัสเรื่องราวเพียงสองตำแหน่งสั้นๆ หากทำให้ผู้ชมมองเห็นชีวิตของครอบครัวในชุมชนริมทางรถไฟได้หนักแน่น ด้วยวิธีการทางภาพยนตร์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมอย่างได้ผล – ชีวิตหยุดนิ่งของลูกชายพิการบนรถเข็นที่ต้องพึ่งเครื่องมือทางการแพทย์ แย้งตัดรุนแรงกับภาพเคลื่อนไหวที่แม่นั่งมอเตอร์ไซค์แล้วถ่ายมาให้เขาดู โดยเฉพาะเมื่อภาพที่คนดูได้เห็นคือริ้วรอยดิจิตอลแตกพร่าของวิดีโอไฟล์ .3gp ที่ถูกขยายใหญ่ขึ้นจอฉายแบบ HD นั่นคือความนิ่งงันแห่งชีวิตของครึ่งแรก ในขณะที่ครึ่งหลังเป็นภาพวัตถุในบ้านของชายที่ถูกจับชีวิตไปหยุดนิ่งอยู่ในห้องขัง เสียงเล่าเรื่องของคนในบ้านและรอบบ้านที่ยังอยู่ในชุมชนเล่าเรื่องเขาปะปนไปกับชีวิตประจำวัน คนรุ่นแม่ทอดปลากับเตาน้อย เด็กๆ วิ่งขึ้นลงชานบันได ตัดสลับกับข้าวของเครื่องใช้และบรรดาเอกสารราชทัณฑ์

หนังสั้นไทยที่บันทึกภาพชุมชนแออัดมีไม่น้อย ที่เล่าเรื่องความยากจนก็มีให้เห็นอยู่ต่อเนื่อง แต่น้อยเรื่องจะเลือกเล่าด้วยวิธีการนี้ได้อย่างทรงพลัง หลุดพ้นจากทั้งกับดักของความแค้นเศร้ากลัดหนองที่ขับเน้นความยากไร้ และสุนทรียะอย่างวิจิตรภาพยนตร์ที่บางครั้งก็เผลอไผลไปรีดเค้นความงามเอาจากความขัดสนของคนอื่น  

ดูได้ที่:

🏆 เข้ารอบสุดท้ายรางวัลดุ๊ก (ภาพยนตร์สารคดี) 🏆



Digital Funeral: Beta Version
(สรยศ ประภาพันธ์)

สารคดีส่วนตัวขนาดสั้นกรุบ (5 นาทีครึ่ง) กับการตั้งกล้องถ่ายตัวเองของคนทำหนังที่คงทำให้คนดูเสียงแตกไม่ใช่เล่น บางส่วนอาจบริภาษว่าช่างเป็นความหมกมุ่นหลงตนอย่างศิลปินอินดี้ที่ไปไม่ถึงไหน เพราะการครุ่นคิดถึงตัวเองกับความตายนั้นมักถูกศิลปินหยิบมาสร้างเป็นผลงานอยู่เนืองๆ แถมหลายคนในสาขาอื่นก็ช่างคิดช่างทำได้สุดแสนอลังการ แต่อีกส่วนก็คงชื่นชอบความเศร้าลึกๆ ของงานศพฉบับดิจิตอลเวอร์ชั่นทดลองของ สรยศ ประภาพันธ์ เพราะมันกำลังบอกว่าท้ายที่สุดแล้ว ไฟล์ในคอมพ์กับข้าวของในห้องส่วนตัวอาจพูดถึงหรือบอกตัวตนศิลปินได้ดีกว่าผลงานของศิลปินเอง

ด้วยเป็นหนังสั้นกรุบที่ออกเดินสาย ผมเลยมีโอกาสได้ร่วมงานศพสรยศหลายรอบหน่อย (หนังฉายออนไลน์เวิลด์พรีเมียร์ที่โลการ์โน และเข้าประกวดที่เทศกาลหนังอาเซียนกรุงเทพฯ) ดูจบแต่ละครั้งก็ชอบน้อยลงเรื่อยๆ เพราะหนังยังไม่ได้ให้เราได้สัมผัสการเข้าร่วม “นิทรรศการ” ของจริงมากนัก น่าสนใจว่าสรยศจะทำแบบไหนและคนดูจะรู้สึกอย่างไรกับงานศพเวอร์ชั่นที่พ้นจากคำว่า beta – หรือเราจะรู้สึกอะไรถ้าได้ลองร่วมงานศพผ่านแว่น VR จริงๆ (เพราะหนังถ่ายทำด้วยกล้อง VR) ไม่ใช่การตัดเลือกมุมหนึ่งจาก 360 องศามาเพื่อเล่าแบบหนังสองมิติจอเดียว

🏆 เข้ารอบสุดท้ายรางวัลรัตน์ เปสตันยี (ภาพยนตร์สั้นระดับบุคคลทั่วไป) 🏆



Blooms
(ศุภามาศ บุญนิล)

หนังสั้นเรื่องใหม่ของผู้กำกับ พญาวัน (2019, ชนะเลิศรางวัลช้างเผือก เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 23 / เข้าชิงหนังสั้นยอดเยี่ยมระดับนักเรียน-นักศึกษา ชมรมวิจารณ์บันเทิง) คว้ารางวัลที่หนึ่งจากโครงการ Lo Fi Short Film (หนังติดบ้านแบบโก๋ๆ) ที่จัดชึ้นในช่วงล็อคดาวน์ได้อย่างสมราคา เพราะ ศุภามาศ บุญนิล ใช้เวลาเพียง 10 นาที บันทึกช่วงเวลาติดบ้านไว้ได้อย่างนุ่มนวล ทั้งในมุมส่วนตัวและสะท้อนสังคม

Blooms ละเลียดเล่าหนึ่งบ่ายของพี่สาว content creator กับน้องชายคนสนิท (ที่เธอดึงมาเป็นลูกมือถือกล้อง) บนรถยนต์ที่ต้นไม้เพื่อการเยียวยาชีวิตติดบ้านแน่นเต็มเบาะหลัง เธอมีคิวสัมภาษณ์ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการล็อคดาวน์เคอร์ฟิว เมื่อเลยเวลานัดแล้วตามตัวซับเจ็คต์ไม่พบ เสี้ยวส่วนของบางความรู้สึกจึงค่อยๆ แย้มกลีบแสดงตน ด้วยน้ำหนักมือที่เหมาะสมของคนทำหนัง แม้ความสิ้นหวังยากแค้นของบางชีวิตจะกดทับบางเสียงจนเงียบสนิท หนังกลับทำให้รู้สึกถึงประกายจากอนาคตไกลๆ หลังวิกฤติ โดยไม่ใช่ความรู้สึกโลกสวยไม่แยแส แต่เป็นความหวังที่แฝงอยู่ในเสียงเพลงของคนยากในสารคดีกัมพูชาที่เธอเคยดู และวันที่เธอจะตอบรับคำชวนของเขาเมื่อโรงหนังกลับมาเปิดอีกครั้งหนึ่ง มันเบาบาง แต่ก็เป็นความหวังจริงๆ แบบนั้นเอง

ดูได้ที่นี่



Blur Happy, Blur Sad
(วีระ รักบ้านเกิด)

วีระ รักบ้านเกิด คือผู้กำกับ auteur ประเภทที่คุณจะพบได้ในหนังสั้นมาราธอนเท่านั้น – เขาทำหนังส่งเทศกาลภาพยนตร์สั้นปีละเรื่อง ต่อเนื่องติดต่อกันมาแล้วเกินสิบปี หนังทุกเรื่องถ่ายแบบง่ายๆ ในบ้าน ใช้กล้องเก่าตัวเดิมจากสมัยที่โลกยังไม่รู้จัก 1080p เริ่มต้นที่ห้องนอนเดินคร่ำครวญไปรอบบ้านแล้วกลับไปจบที่เตียง ตัดแบบง่ายๆ ชนิดที่ต่อให้มีลายน้ำโปรแกรมโหลดฟรีติดมาก็ช่างมัน ว่ากันว่าวีระทำหนังเรื่องแรกๆ เพราะอกหัก และก็ว่ากันว่าช่วงหลังเขาแกงตัวเองเป็นพิธีกรรมประจำปีมากกว่าอกหัก สิ่งที่ทำให้แฟนหนังสั้นจำนวนหนึ่งเฝ้ารอคือมุขคลั่งรักแบบที่ไม่มีใครกล้าเล่น และเมื่อเล่นได้ถูกคีย์ด้วยจังหวะเฉพาะตัว สิบไดโนเศร้าก็ต้องพ่าย

หนังของเขาล้อสูตรอินดี้มาตั้งแต่คนดูหว่องกาไวแบบเถื่อน ตั้งแต่ยังไม่มีใครแซะมุราคามิ ล้อคำคมความรักมาตั้งแต่โลกยังไม่มีเฟซบุ๊ก ล้อไลฟ์โค้ชมาตั้งแต่โค้ชเงินล้านคนแรกน่าจะมีเงินไม่ถึงหมื่น ล้ออาการจมปลักตั้งแต่การมูฟออนยังไม่เป็นวงกลม – เหยื่ออันโอชะของ Blur Happy, Blur Sad คือ Tenet (คริสโตเฟอร์ โนแลน, 2020) เมื่อวีระพยายามบอกตัวเองในอดีตว่าอย่าไปอ่านนิตยสาร Bioscope (ซึ่งปิดตัวไปแล้ว แต่เขายังอยู่) เพราะมันจะเกิด passion ฝังลึกจนต้องทำหนังปีละเรื่องหยุดไม่ได้ ยืดเยื้อยาวนานมาถึงปีที่ต้องใส่หน้ากากกันโควิดให้โปสเตอร์น้องๆ BNK48 เนี่ย!



Capital of Mae La
(นวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา)

Capital of Mae La คือชื่อเรื่องดั้งเดิมของ Space of Refuge หนึ่งในผู้เข้าชิงชมรมวิจารณ์บันเทิง สาขาภาพยนตร์สารคดีสั้นยอดเยี่ยม หนังถือกล้องเข้าแดนสนธยาที่เปรียบเสมือนนครหลวงของเครือข่ายค่ายผู้อพยพที่ตั้งอยู่ชายแดนไทยพม่ามาร่วมชั่วอายุคน ถ่ายทอดชีวิตร่วมสมัยของผู้อพยพกับผู้ลี้ภัยในค่ายแม่หละ เจาะประเด็นซับซ้อนได้เปี่ยมชีวิตชีวา (พฤติการณ์ของทางการไทย -สร้างความกลัวให้คนในค่ายฯ หลังรับรู้การมีอยู่ของหนังเรื่องนี้- คือเหตุที่ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อลดแรงต้านไประยะหนึ่ง ก่อนกลับมาใช้ชื่อเดิม)

หนังช่วยเปิดโลกให้ผู้ชมที่อาจยังเผลอจำภาพผู้อพยพจากหลายทศวรรษก่อน แน่นอนว่าหนังยังพูดถึงปัญหาสัญชาติกับการรอสถานะผู้ลี้ภัยจากประเทศที่สาม สิทธิในการเดินทาง และการศึกษาหรือรักษาพยาบาลที่ขาดแคลน แต่บริบทโลกปัจจุบันก็ทำให้ความซับซ้อนของปัญหาเหล่านี้เปลี่ยนไปมาก เราได้พบครอบครัวชาวกะเหรี่ยงที่ปฏิเสธเสียงแข็งถึงข้อเสนอให้กลับเมียนมาร์ เด็กสาวมีฝันที่ผลักดันตัวเองจนได้เรียนเซนต์โยเซฟ ล่ามของผู้กำกับที่ฝึกใช้กล้องจากหนังสือกับเน็ต กลุ่มแร็ปเปอร์กะเหรี่ยงที่ทำเพลงกับเอ็มวีลง YouTube พร้อมเชื่อมต่อเครือข่ายแวดวงชาวกะเหรี่ยงที่ทำเพลงเหมือนกันในแดนอื่น และศาสตราจารย์นิวเคลียร์ฟิสิกส์ที่ติดรูปนักปฏิวัติฝ่ายซ้ายไว้เต็มบ้าน – ชีวิตและเรื่องราวของพวกเขาคือเครื่องยืนยันว่าองค์ความรู้เก่าเดิมนั้นแข็งทื่อล้าสมัยเพียงใดในการรับมือหรือคลี่คลายปัญหาซับซ้อนของพื้นที่แห่งนี้



Dead_Pixel
(อุกฤษฎ์ มาลัย)

หากย้อนเทียบกับสมัยที่หนังสั้นไทยยังต่อต้านการฆ่าตัวตายแบบบ้องตื้น (รักพ่อแม่สิ, มีเพื่อนนะ, ธรรมะสวัสดี ฯลฯ) ก็ต้องถือว่าความตระหนักรู้องค์รวมเรื่องนี้ได้ก้าวหน้ามาไกล แต่เมื่อตัวประเด็น -โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับโรคซึมเศร้า- ถูกหยิบยกมาเล่าบ่อยจนกลายเป็นธีมร่วมหรือ “เทรนด์” ที่ดูทันสมัย หลายครั้งจึงพบว่าหนังจำนวนมากในกลุ่มนี้ขาดความจริงใจแม้จะทำด้วยเจตนาดี – น่ายินดีที่ Dead_Pixel ไม่ติดกับดักนั้น

อุกฤษฎ์ มาลัย คลี่คลายความรู้สึกที่หนังต้องการสำรวจได้อย่างมีมิติ (เขาอุทิศหนังเรื่องนี้ให้เพื่อนที่เสียชีวิต) ผ่านการเล่าเรื่องโดยใช้นักแสดงและ pixel animation ตัวละครเอกของเรื่องเพิ่งทราบข่าวการฆ่าตัวตายของรุ่นน้อง ในขณะที่ตัวเองกำลังสับสน หนังฉลาดใช้ทั้งสองส่วนสะท้อนกระบวนการคิดเพื่อหาคำตอบ และซื่อสัตย์พอที่จะไม่ปิดบังว่าตัวละครจมดิ่งลงไปได้มากแค่ไหน อะไรทำให้เธออยากตาย อะไรทำให้ตัวตนของเธอกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญต่อโลก – ปลายทางหรือความสำเร็จของหนังไม่ใช่คำตอบตายตัวที่รอวันถูกค้นพบ แต่คือการก้าวเข้าไปสำรวจความบุบสลายของมนุษย์ ทั้งของคนที่จากไปแล้วหรือยังอยู่เพื่อเผชิญคำถาม อย่างเคารพให้เกียรติทั้งต่อตัวตนและการตัดสินใจของพวกเขา

🏆 เข้ารอบสุดท้ายรางวัลรัตน์ เปสตันยี (ภาพยนตร์สั้นระดับบุคคลทั่วไป) 🏆



Junk Food Fable
(ธีรภาส ว่องไพศาลกิจ)

ด้วยการใช้เสียงทดลองที่ท้าทาย หนังสั้นทุกเรื่องของ ธีรภาส ว่องไพศาลกิจ หรือ Beam Wong มีลายเซ็นชัดเจนเป็นเอกลักษณ์มาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ซึ่งทำให้เพื่อนในแวดวงกับคนทำหนังสั้นรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งไว้ใจดนตรีประกอบฝีมือเขา – เลยค่อนข้างแปลกใจเมื่อพบว่า เกือบตลอดระยะเวลา 63 นาทีในหนังยาวเรื่องแรกอย่าง Junk Food Fable (รวมถึง MGB: Softwhere (2018) หนังสั้นที่เป็นปฐมบทของเรื่องนี้) ถูกยึดครองด้วยเสียงเงียบ

“นิทานอาหารขยะ” แย้มตัวตนว่าเล่าถึงค่ำคืนที่กาลเวลาบิดผัน เมื่อนาทีของชั่วโมงยังคงเดินหน้าทว่าไม่ยอมเข้าสู่เที่ยงคืนของวันใหม่ เป็นเรื่องย่อของหนังสั้นที่ซ้อนอยู่ในเรื่อง แต่เมื่อหนังสั้นเรื่องนั้นจบลง ชีวิตของตัวละครก็ยังคงค้างอยู่วันเก่า ไม่เพียงถูกกลืนกินด้วยรัตติกาลที่เอ่อล้นล้ำล่วงเรื่องจริง (ภายใต้ชื่อตัวละครที่ใช้ชื่อจริงของนักแสดง) ตัวตนใบหน้าของพวกเขายังแตกกลายเป็นอื่นอย่างช้าๆ จากตัวละครที่กินอาหารขยะพร้อมสูดดมฝุ่นพิษ สู่ผู้กำกับหนังอาร์ตกับเพื่อนนักแสดงที่เธอเจอในร้านกาแฟ สู่สามสาวไอดอล (ที่ดูเย็นยะเยือกมากกว่าสดใส เป็นดิจิตอลมากกว่าคน) ในโลกที่ทุกคนต่างโง่ น่ารำคาญ ไร้แก่นสาร และพร้อมฉวยชิงคำอธิบายตัวตนทั้งเก่าใหม่ของเราไป

ในโลกประหลาดที่ทุกสิ่งเดินหน้าแต่ไม่ไปไหน ไม่มีปลายทางที่ใกล้ใจเท่าเรื่องชวนฝันอย่างวันที่ฝนตกลงมาเป็นแสง เราต่างพยายามหรือกลายเป็นคนอื่น และคนอื่นเหมือนจะเป็นเราได้ง่ายดาย บ้างได้ความฝันเราไปทั้งที่ไม่เคยฝันถึง เลื่อนเปลี่ยนเวียนสถานะจนกลายเป็นสิ่งไล่เลี่ยกัน อย่างเฟรนช์ฟรายส์หรือหอมทอดจิ้มซอสมะเขือเทศ

ดูได้ที่: (ราคา $1.99)

https://vimeo.com/ondemand/junkfoodfable

              🏆 เข้ารอบสุดท้ายรางวัล Digital Forum (ภาพยนตร์ที่มีความยาวเกิน 30 นาที) 🏆



Based on My Mind Story | เมื่อเข็มนาฬิกาชี้เลขสิบสาม
(กรภัทร์ จีระดิษฐ์)

ปกติแล้ว ผลงานระดับมัธยมที่ได้ฉายในหนังสั้นมาราธอน ถ้าไม่ใช่หนังประกวดชิงรางวัลที่มีครูหรือโรงเรียนสนับสนุน ก็จะเป็นหนังทำเพื่อพรีเซนต์ในวิชาเรียน หนังทำเอาฮา หนังรักใสๆ ที่ยังอินโนเซนต์ หรือหนังคัลต์แอ็คชั่นแบบทำเอามัน (อาจยกเว้นบางชื่อที่แตกต่าง เช่น จุฬญาณนนท์ ศิริผล, ธีรัช หวังวิศาล, ธีรพัฒน์ งาทอง) – หนังยาว 64 นาทีและเล่าเรื่องไม่ลำดับเวลาอย่าง Based on My Mind Story จึงไม่ใช่จะพบกันได้บ่อยๆ

ตัวหนังยังไม่ถึงขั้นสมบูรณ์เพียบพร้อม (ยังมีฉากเชยๆ ประเภท “เขียนบทหนังไปเสนอนายทุน” หรือฉากยิงกันอุตลุดแบบมัธยมอยู่) แต่เป็นหลักฐานของความทะเยอทะยานด้านบวกและการเสพภาพยนตร์อันหลากหลาย ซึ่งอาจสะท้อนเทรนด์หนังที่คนรุ่นเดียวกันสนใจหรือยกย่องเชิดชู ทั้งการเล่าเรื่องไม่ลำดับเวลา เหลื่อมซ้อนโลกจริง บทภาพยนตร์ ความฝัน จินตนาการ (ชื่อหนังภาษาอังกฤษตั้งใจล้อกับ Based on True Story – เมื่อพระเอกของเรื่องเขียนบทหนังจากชีวิตรักของตัวเอง หนังจึงเล่าซ้อนกันไปทั้งเรื่องจริง เรื่องในบท และเรื่องในใจที่ยังไม่ได้เขียนออกมาเป็นบทภาพยนตร์) ซึ่งเป็นส่วนผสมที่หยิบจับมาจากของความอหังการ์อย่าง Christopher Nolan ความซับซ้อนเจ็บๆ ของ Charlie Kaufman หรือความหวานเหวอๆ แบบ Michel Gondry มาผสมผสานเข้ากับวิธีคิดตัวละครแบบหนังรักนักเรียนมัธยมไทย



Ghosts
(อนันตา ฐิตานัตต์)

น่าเสียดายที่หนังการเมืองในมาราธอนปีนี้คงไม่ร้อนแรงเท่าวิวาทะออนไลน์หรือการปราศรัยในพื้นที่ชุมนุม เพราะเทศกาลฯ หมดเขตรับสมัครเมื่อช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม เพียงสามอาทิตย์หลังประกาศ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ธรรมศาสตร์ สองสัปดาห์เศษก่อนปักหมุดคณะราษฎร 2563 ที่สนามหลวง เดือนครึ่งก่อนกรณีขบวนเสด็จกับการสลายชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและแยกปทุมวัน ประเด็นกับน้ำเสียงในภาพรวมจึงคาบเส้นอยู่ระหว่างช่วงเวลาฝ้าต่ำกับวันที่ไม่เหลือเพดานอีกต่อไป – ความน่าตื่นเต้นของจริงอาจคือปีหน้า ถ้าเราได้ดูผลงานจากคนทำหนังที่ฝังตัวอยู่ในม็อบ รวมถึงเสียงที่อาจเปลี่ยนไปของหนังเยาวชน หลังการประท้วงแสนแสบของกลุ่ม “นักเรียนเลว”

Ghosts บันทึกช่วงเวลาหนึ่งของวันที่ 16 สิงหาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (การชุมนุมใหญ่ครั้งแรกหลังปรากฏข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์) ผู้กำกับติดตามสมาชิกของคณะละคร B-Floor Theatre ตั้งแต่ก่อนการชุมนุม บันทึกภาพขณะพวกเขาเริ่มลงมือทำเสื้อผ้า อุปกรณ์ประกอบฉาก จำบท และฝึกซ้อมการแสดงละครหน้ากากเรื่อง “ปีศาจ” ไปจนถึงวันที่พวกเขากลายร่างเป็นตัวละคร เหล่าปีศาจจากตัวอักษรของ เสนีย์ เสาวพงศ์ และขึ้นแสดงบนเวทีใหญ่ต่อหน้าปีศาจแห่งกาลเวลาเรือนหมื่นที่ถนนราชดำเนินในวันนั้น (และที่ดูไลฟ์จากสำนักข่าวอยู่ทางบ้าน)



Give Us a Little More Time
(จุฬญาณนนท์ ศิริผล)

ผลงานจากนิทรรศการศิลปะชื่อเดียวกันของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล (คงไม่ต้องบอกว่าเอาชื่องานนี้มาจากคำสัญญามดเท็จของใคร) ซึ่งจัดแสดงที่ Bangkok CityCity Gallery ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2020 – จุฬญาณนนท์เริ่มต้นด้วยการตัดปะภาพจากหนังสือพิมพ์รายวัน ตั้งเป้าว่าจะผลิตภาพคอลลาจวันละหนึ่งชิ้น นับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2014 ไปสิ้นสุดในวันที่ประเทศไทยจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ แล้วจึงหยิบบางส่วนจากภาพคอลลาจทั้งหมด 1,768 ชิ้น (!!!) มาสร้างบรรดาตัวละครพิสดารกับมวลมหาวาทกรรมในอนิเมชั่นความยาว 12 นาทีเรื่องนี้

ชิ้นส่วนของ “สื่อหลัก” แห่ง “โลกเก่า” ที่ถูกควบคุมเบ็ดเสร็จภายใต้อำนาจเผด็จการทหาร ถูกตัดสลับเปลี่ยนบริบท สร้างความหมายใหม่เพื่อยั่วล้อ และยิ่งหนักข้อขึ้นเมื่อกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวดิจิตอล ถ้อยคำในพาดหัวข่าว คำพูดและใบหน้าของตัวละครทางการเมือง ถูกจับโยนรวมกับทุกสิ่งตั้งแต่ข้าวของในวงการไสยศาสตร์ไปถึงน้อนๆ ที่ชื่อถูกใช้เป็นคำหยาบ ในระดับอาจกล่าวได้ว่าเป็นการต่อสู้ของผู้คนแห่ง “สื่อใหม่” ใน “โลกดิจิตอล” หรืออำนาจของ “มีม” ที่เล่นสนุกด้วยการทุบทำลายระเบียบชนชั้นทางการของภาษากับความจริง ซึ่งหมดสิ้นหนทางต่อสู้กับการควบคุมไปแล้วในการต่อสู้ทางการเมืองแบบโลกเก่า – จะเชื่อเป็นจริงเป็นจังตาม Artist’s Statement ก็เข้าท่า จะดูให้เป็นแค่มีมชั่วๆ ของคนทำหนังบ้าๆ ก็แสบสันต์เข้าที เชื่อฝีปากผู้กำกับที่เคยทำ Ten Years Thailand (2018) เถอะ

(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการศิลปะนี้ได้ที่นี่)


(อ่านต่อตอนที่ 2)



ด้วยสถานการณ์ Covid-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการออกกอง ทำให้ปีนี้เหลือหนังไทยที่ถ่ายทำเสร็จสิ้นส่งเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์สั้นเพียง 347 เรื่องเท่านั้น (จากตัวเลขเฉลี่ยช่วงสิบปีหลังที่ราว 500-600 เรื่อง)

โปรแกรมหนังสั้นมาราธอนประจำปี 2020 จัดฉายที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคม สามารถตรวจสอบโปรแกรมฉายทั้งหมดได้ที่ เว็บของหอภาพยนตร์ฯ หรือที่เฟซบุ๊ก

นอกจากนี้ยังสามารถเข้ารับชมย้อนหลังผ่านระบบ Video on Demand ภายใต้ชื่อ Short Film Universe ได้ระหว่างวันที่ 1-30 ธันวาคม (เฉพาะวันจันทร์ถึงศุกร์ เว้นวันหยุดราชการ เวลา 9.00-17.00 น.) ได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี หอภาพยนตร์ฯ โดยลงทะเบียนนัดหมายล่วงหน้าที่นี่

ส่วนเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 24 ซึ่งฉายและมอบรางวัลให้ผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย รวมถึงภาพยนตร์คัดสรรจากทั่วโลก จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-27 ธันวาคมนี้ ตรวจสอบโปรแกรมฉายได้ที่นี่

ชญานิน เตียงพิทยากร
เขียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ Starpics, Bioscope (อดีต), The Momentum, a day, Film Club และแหล่งอื่นตามแต่จังหวะโอกาส / รางวัลชมเชยกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือฯ ประจำปี 2018 และ 2020 / สภาพ: ไล่ดูหนังใกล้หมดอายุใน Netflix และ MUBI

RELATED ARTICLES