The Queen’s Gambit: หญิงแกร่งในโลกโดดเดี่ยว (แต่ก็ไม่มากเกินไปนัก)

(2020, Scott Frank, Allan Scott)

หากผู้หญิงต้องมีห้องส่วนตัวเพื่อเขียนนิยายของตัวเอง ดังที่เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เสนอไว้ใน A Room of One’s Own เบธ ฮาร์มอน ก็มีพื้นที่ส่วนตัวที่สร้างขึ้นในหัวของเธอเอง ที่ที่เป็นเอกเทศจากปัจจัยภายนอกทุกอย่าง และเป็นโลกที่เธอมีเสรี

“กระดานหมากคือโลกทั้งใบที่ถูกย่อส่วนให้เหลือ 64 ช่อง โลกที่ฉันควบคุมมันได้ ปกครองมันได้ และเดาทางได้”

The Queen’s Gambit เป็นมินิซีรีส์ความยาว 7 ตอนทาง Netflix เล่าเรื่องราวของ เบธ ฮาร์มอน (ผลงานการแสดงล้ำลึกของอิสลา จอห์นสัน และอันยา เทย์เลอร์-จอย) เด็กกำพร้าจากอุบัติเหตุรถยนต์ในรัฐเคนทักกี้ ผู้ได้เรียนรู้ศาสตร์หมากรุกจากห้องใต้ดินของบ้านเด็กกำพร้า โดยมีมิสเตอร์ไชเบล-ภารโรงผู้เก็บตัว เป็นผู้สอน เบธได้รับอุปการะตอนเธออายุ 16 ปี และเริ่มเส้นทางอาชีพการเป็นอัจฉริยะหมากรุกของเธอ โดยมีอัลมา-แม่เลี้ยงของเบธ เป็นผู้สนับสนุน ระหว่างทาง เธอต้องต่อสู้กับการติดยากล่อมประสาทและการติดเหล้าของตัวเอง ซึ่งทำให้ชีวิตเธออยู่บนขอบผาหลายครั้ง เบธสานมิตรภาพกับเพื่อนชายหลายคนในวงการหมากรุก ไม่ว่าจะเป็น แฮร์รี่ เบลติก (แฮร์รี่ เมลลิง) คู่แข่งหมากรุกระดับรัฐ หรือเบนนี วัตส์ (โทมัส โบรดี-แซงสเตอร์) แชมป์อเมริกา ผู้คอยเป็นกำลังใจและช่วยเหลือเธอให้รอดจากอุปสรรคต่างๆ มาตลอด

ด้วยพล็อตเรื่องที่ดำเนินอยู่ในยุค 60 ธีมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือประเด็นความเท่าเทียมระหว่างหญิงชายในยุคนั้น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่เบธต้องเจอ หมากรุกเป็นวงการของผู้ชาย และเบ็ธก็ถูกประเมินฝีมือไว้ต่ำเมื่อเธอลงแข่งครั้งแรก เธอได้จับคู่กับผู้หญิงด้วยกัน ที่ฝีมืออ่อนกว่าเธอมาก ทั้งที่เธอเรียกร้องจะเล่นกับคนที่เก่งที่สุด เมื่อเธอเริ่มกลายเป็นดาววงการ หนังสือพิมพ์ก็ต่างลงข่าวโดยมุ่งความสนใจไปที่เพศของเธอ พวกเขายกให้เธอเป็น “อัจฉริยะนักหมากรุกหญิง” แทนที่จะเป็นนักหมากรุกธรรมดา และนั่นก็กวนใจเธอมาก

ความสันโดษของเบธเป็นสิ่งหนึ่งที่มีค่า เพราะมันทำให้เธอมีพลังและไม่ละสายตาไปจากเป้าหมาย แต่ในขณะเดียวกันมันก็เกือบทำลายชีวิตเธออยู่หลายครั้ง เบธเกือบเอาชีวิตตัวเองไปทิ้งเมื่อเธอสูญเสียแม่ไปอีกหนหนึ่งและขลุกอยู่กับการกินเหล้าเมายาไปวันๆ ในเรื่องความสันโดษนี้ เป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมากว่าหนังสร้างให้คนรอบตัวเบธหัวก้าวหน้ากว่าที่คิด เพราะพวกเขาไม่เคยผลักดันหรือบังคับให้เธอหาสามีและแต่งงาน แต่กลับปล่อยเธอให้ทำตามเป้าหมาย ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่คุณค่าของผู้หญิงสำหรับยุคนั้น เบธโชคดีมากที่เธอได้มีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับใช้ความคิด อันเป็นอภิสิทธิ์ของผู้ชายมาโดยตลอด – อย่างที่วูล์ฟกล่าวไว้ใน A Room of One’s Own ว่าผู้หญิงต้องการพื้นที่ส่วนตัวเพื่อทำงานสร้างสรรค์ หมากรุกก็เป็นงานสร้างสรรค์สำหรับเบธ เป็นการเผยแสดง (manifestation) ของอัจฉริยภาพและตรรกะชั้นสูง ซึ่งมักถูกยกให้เป็นเรื่องของผู้ชาย เบธโยงใยกับหมากรุกเหมือนกับที่เพื่อนชายทั้งหลายใฝ่หากิจกรรมทางปัญญา ในยุคที่ผู้หญิงถูกคาดหวังให้เป็นแม่บ้าน ดูแลลูกและสามี

“คนที่แข็งแกร่งที่สุดคือคนที่ไม่กลัวการอยู่คนเดียว” – อลิซ ฮาร์มอน แม่แท้ๆ ของเบธเคยกล่าวไว้ในตอนที่ยังมีชีวิต และคุณสมบัติของความโดดเดี่ยวนี้ก็ดูจะเป็นลักษณะร่วมของตัวละครในนวนิยายของวอลเทอร์ เทวิส ผู้เขียนนวนิยาย The Queen’s Gambit (แม้เราจะอยากให้เบธมีตัวตนอยู่จริง แต่หนังเรื่องนี้สร้างจากนิยาย) เทวิสเองก็เป็นเซียนหมากรุก และเผชิญความเจ็บปวดในวัยเด็กมาหลายอย่าง จนนำเรื่องราวในชีวิตจริงมาสร้างเป็นตัวละครเบธ อีกกระแสหนึ่ง มีคนบอกว่าเขาได้ไอเดียเกี่ยวกับเบธมาจากบ็อบบี ฟิชเชอร์ แชมป์หมากรุกสหรัฐปี 1957 ซึ่งมีอาการติดยาและของมึนเมาเหมือนกัน อีกทั้งยังเป็นคนขวางโลกและอมทุกข์ ที่น่าแปลกใจก็คือ ไม่เพียงเท่านั้นเขายังเหยียดผู้หญิงอีกต่างหาก

อีกธีมหนึ่งที่อาจเสาะหาได้จากหนังก็คือความหมายของคำว่า “ครอบครัว” ฉากหนึ่งที่อาจเรียกน้ำตาจากหลายๆ คนได้ก็คือฉากที่เบธไปงานศพมิสเตอร์ไชเบล และเธอได้กลับไปยังห้องใต้ดินของสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าอีกครั้ง เธอพบว่ามิสเตอร์ไชเบลตามข่าวในวงการของเธอมาตลอด และได้หยิบรูปถ่ายที่เคยถ่ายคู่กับมิสเตอร์ไชเบลตอนเธอยังเด็กติดมือกลับมาด้วย (บิล แคมป์ แสดงบทบาทของมิสเตอร์ไชเบลผู้เงียบขรึมได้อย่างโดดเด่น) มิสเตอร์ไชเบลเหมือนเป็นอีกร่างของเธอเลยก็ว่าได้ เขาแปลกแยกโดดเดี่ยว และตัดขาดจากสังคมเหมือนกับเธอ โลกของเขามีเพียงห้องใต้ดินและกระดานหมากรุก 64 ช่อง และแม้เขาจะรู้สึกรักหรือผูกพันกับเบธ เขาก็ไม่เคยแสดงออก สิ่งเดียวที่แทนความปรารถนาดีของเขา ก็คือเงิน 10 ดอลล่าร์ที่ส่งมาให้เบธโดยไม่แนบข้อความใดๆ ในวันที่เธอต้องการเงินไปลงแข่งหมากรุกครั้งแรก

ในเรื่องความสัมพันธ์กับแม่นั้น เบธไม่ได้มีความทรงจำที่ดีกับอลิซ ฮาร์มอน แม่ของเธอมากนัก แต่คนที่เป็นเหมือนลมใต้ปีกให้เธออย่างแท้จริงกลับเป็นอัลมา แม่บุญธรรม ซึ่งปวารณาตัวโทรไปลาเรียนให้ในวันที่เธอมีแข่งหมากรุก อัลมาเดินทางไปกับเบธทุกที่และคอยรับฟังความคิดของเธอเกี่ยวกับหมากแต่ละตา แม้ว่าเธอเองจะไม่ได้รู้เรื่องหมากรุกมากนักก็ตาม

“แม่อาจจะไม่รู้อะไรมาก แต่แม่เห็นว่าหมากตาที่คนปรบมือให้ลูกมากที่สุดคือตาที่ลูกเดินอย่างรวดเร็ว”

อัลมามีส่วนทำให้เบธรู้ว่าเธอเป็นนักเดินหมากแบบใช้สัญชาตญาณ และทำให้เบธเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น เธอคอยสนับสนุนเบธอยู่ห่างๆ ทั้งเรื่องหมากรุก และเรื่องอื่นๆ อย่างเช่นความสัมพันธ์กับหนุ่มๆ เธอเป็นตัวอย่างของแม่ที่ดี แม้ชีวิตเธอจะไม่ได้ราบเรียบ และเธอจะมีปัญหาสุขภาพจิตรุมเร้าก็ตาม อัลมาอาจเป็นด่านแรกที่ทำให้เบธเรียนรู้ที่จะไว้ใจโลกและผู้คนรอบตัวมากขึ้น เป็นสะพานที่ทำให้เธอรู้จักกับความอบอุ่นในครอบครัวที่เธอโหยหามาตลอด

มิตรภาพที่แนบแน่นของเบธ กับแฮร์รี และเบนนี นักแข่งหมากรุกชาย ก็อาจเข้าใกล้คำว่าครอบครัวมากเช่นกัน เพราะมันมีทั้งส่วนผสมของความเป็นเพื่อน ความโรแมนติก และความเป็นผู้ชี้แนะ ซึ่งอย่างหลังสุดเป็นสิ่งที่เบธขาดมาตลอดเพราะเธอชอบทำอะไรคนเดียว ตัวละครแฮร์รีและเบนนี เป็นตัวละครชายที่ไม่มีความเป็นผู้ล่า อย่างที่ชะตากรรมของตัวละครหญิงในหนังดราม่าหลายเรื่องมักประสบ ในทางกลับกัน เบธกลับเป็นฝ่ายควบคุมความสัมพันธ์และตัดสินใจเองว่าเมื่อไหร่ที่เธอต้องการพวกเขา ในจุดนี้อาจนับได้ว่าผู้สร้างได้สร้างให้ตัวละครหญิงอย่างเบธเป็นผู้ที่กำหนดชะตาชีวิตและอะไรหลายอย่างด้วยตนเองได้มาก ซึ่งบทบาทเช่นนี้มักตกเป็นของตัวละครเอกที่เป็นชายในหนังหลายๆ เรื่องที่มีธีมของการเสพติดบางสิ่ง

อีกคนหนึ่งที่ช่วยเบธจากปากเหวไว้พอดีก็คือโจลีน (มอเสส อิงแกรม) เพื่อนที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าของเบธ ซึ่งภายหลังได้ออกมาทำงานเป็นผู้ช่วยทนายความและเรียนต่อมหาวิทยาลัย เธอมาพบเบธในวันที่เบธทำลายชีวิตตัวเองไปเยอะแล้ว โดยทั้งแฮร์รีและเบนนีก็ช่วยไว้ไม่ได้ และได้ช่วยให้เบธกลับมาเป็นผู้เป็นคนอีกครั้งหนึ่ง

“เธอทำสิ่งที่ถนัดได้ดีที่สุดมาเป็นเวลานาน จนไม่รู้ว่าเราที่เหลือเป็นยังไง” – โจลีนกล่าวกับเบธในวันที่พวกเธอเจอกันอีกครั้ง และโจลีนก็ทำให้เบธได้เห็นภาพรวมของชีวิต และยึดโยงกับความเป็นจริงมากขึ้น

“ฉันไม่ใช่นางฟ้าแม่ทูนหัวของเธอ ฉันไม่ได้มาช่วยเธอ ให้ตายสิ ฉันยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ด้วยซ้ำ”

แม้โจลีนจะพูดเช่นนั้น แต่เธอได้ทำให้ความหมายของครอบครัวชัดเจนขึ้นสำหรับเบธ ครอบครัวคือคนที่อยู่เคียงข้างกันเสมอในยามที่อีกฝ่ายต้องการ ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายแค่ไหน และนั่นทำให้โลกของเบธเป็นโลกที่ไม่โดดเดี่ยวเกินไปนัก และเป็นโลกที่ความโดดเดี่ยวมีสมดุลในตัวมันเอง เป็นความโดดเดี่ยวที่ทำให้เบธได้คิดถึงหมากตาถัดไป โดยเธอรู้อยู่ในใจว่ายังมีคนเอาใจช่วยอยู่ข้างหลัง

The Queen’s Gambit ได้ทำสถิติได้คะแนน 100% จาก Rotten Tomatoes ซึ่งเป็นกรณีที่หาได้ยาก เหล่านักวิจารณ์ต่างออกปากชมถึงความเป็นดราม่าและความละเอียดลออของฉากและตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากโรงแรมต่างๆ ในยุค 60 ที่ทำให้รับรู้ถึงกลิ่นอายของอดีต จนแทบอยากย้อนเวลากลับไปอยู่ในสถานที่เดียวกันกับเบธ และชมการแข่งหมากรุกของเธอสักเกมเลยทีเดียว

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS