Borat : เสียดเย้ยอเมริกันชนจนหน้าหงาย

(2006, Larry Charles)

ในวาระการกลับคืนสู่จอเงินของหนังแฟรนไชส์ Borat เรื่องราวของนักข่าวชาวคาซัคสถานที่พกความต่ำตมสุดขีดไปกับตัวเมื่อออกเดินทางไปทำสกู๊ปต่างแดนที่อเมริกา บทความนี้จึงจะมาพูดถึง Borat ภาคแรกที่ออกฉายเมื่อปี 2006 จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ฮือฮา ได้รับคำวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้น

ชื่อเต็มๆ ของหนังเรื่องนี้ คือ Borat: Cultural Learnings of America for Make Benefit Glorious Nation of Kazakhstan ความไม่ธรรมดาของหนังเรื่องนี้คือมันจิกกัดวัฒนธรรมอเมริกันได้อย่างแสบสัน จน The Boston Globe ยกย่องว่าเป็น “หนังที่ตลกที่สุดในรอบปี” หรือแม้กระทั่ง The Atlantic เองก็ยกให้เป็น “หนังที่ตลกที่สุดในรอบทศวรรษ” นอกจากนั้น หนังยังไปไกลถึงขั้นได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขา Best Adapted Screenplay ในปีนั้นอีกด้วย แต่พ่ายให้กับ The Departed

Borat เล่าเรื่องราวของนักข่าวหนุ่มชาวคาซัคสถาน นามว่าโบรัต ซักดิเยฟ (ซาชา บารอน โคเฮน) ซึ่งเป็นทั้งคนเกลียดยิว เหยียดเพศ และเกลียดเกย์ เขาได้รับมอบหมายจากรัฐบาลคาซัคสถานให้เดินทางไปทำสารคดีที่อเมริกา เพื่อนำความเจริญของอเมริกามาปรับใช้กับประเทศตนเอง โบรัตเดินทางไปพร้อมกับโปรดิวเซอร์หุ่นตุ้ยนุ้ยอีกคน นามว่า อาซามัต บากาตอฟ (เคน ดาวิเทียน) และระหว่างทาง เขาตกหลุมรักพาเมลา แอนเดอร์สัน ดาราสาวจากหนัง Baywatch จนทำให้เปลี่ยนแผนมุ่งหน้าสู่แคลิฟอร์เนียเพื่อไปขอแต่งงานกับเธอ

ความเป็น Mockumentary หรือสารคดีเชิงเสียดเย้ยของ Borat อยู่ตรงที่ คนบางคนในเรื่องไม่ใช่นักแสดงแต่เป็นคนจริงๆ การเสียดเย้ยเกิดขึ้นทันทีที่เท้าของโบรัตแตะแผ่นดินอเมริกัน เขาพยายามจะหอมแก้มทักทายคนที่นั่นแต่โดนขู่ด้วยหมัดโดยชายกล้ามโต เขาทำอนาจารในที่สาธารณะกับหุ่นโชว์ของร้านค้า และคนแรกที่เขาไปพบก็คือที่ปรึกษาด้านมุกตลกแบบอเมริกัน ที่เอือมระอากับความไม่รู้เดียงสาของเขาที่เห็นว่าการเล่นมุกทางเพศ มุกเหยียดเชื้อชาติและคนพิการเป็นเรื่องปกติ

ความไม่รู้เดียงสาตรงนี้เองที่ทำให้ผู้ชมอดเข้าข้างโบรัตไม่ได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นความไม่อยากจะเอาอะไรมากกับคนแบบนี้ แต่อีกส่วนคือความขบขันอันเกิดจากการที่เขาเปิดเผยค่านิยมที่อยู่เบื้องหลังความถูกต้องทางการเมือง (political correct) ของอเมริกันชน ความจริงที่ว่า มีคนอเมริกันจำนวนมากหัวเราะกับมุกตลกแบบไม่ถูกต้องทางการเมือง (non-pc) เช่นการไปยั่วโมโหเฟมินิสต์ด้วยการบอกว่าสมองผู้หญิงเล็กกว่าผู้ชาย การเชียร์ให้บุชทำสงครามนองเลือดในตะวันออกกลาง หรือการเชิญโสเภณีผิวดำมาในงานเลี้ยงอาหารค่ำแบบเป็นทางการนั้น สะท้อนถึงภาวะที่ความเกลียดชังและแบ่งฝักแบ่งฝ่ายถูกกดทับอยู่ใต้น้ำตาลฉาบเคลือบที่เรียกว่ามารยาท ความสุภาพ ความเป็นสากลแบบอเมริกันชน

“ผมดูเกือบทุกส่วนของหนังโดยมีมือปิดหน้าด้วยความไม่เชื่อสายตา”

– Matthew Lucas จาก The Dispatch

ในทฤษฎีเกี่ยวกับมุกตลก ความขบขันอาจเกิดขึ้นได้จากสองกรณี กรณีแรก คือความขบขันที่เกิดจากความไม่เข้ากัน เช่นการที่เราขำเมื่อเห็นคนใส่ชุดตลกเดินเข้าไปในปาร์ตี้สุดหรู ซึ่งมุกของ Borat ส่วนใหญ่เล่นกับความขบขันในลักษณะนี้ มุกอย่างเช่นการให้โบรัตกับอาซามัตวิ่งเปลือยไล่จับกันเข้าไปในงานกาล่าดินเนอร์ หรือการให้โบรัตพกแม่ไก่ขึ้นไปบนรถไฟใต้ดิน เป็นมุกในลักษณะนี้

แต่กรณีที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ความขบขันอาจเกิดเมื่อเรามีความรู้สึก “เหนือกว่า” ใครสักคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้มีอำนาจในสังคม มุกตลกที่เล่นกับความขบขันแบบนี้ก็เช่นมุกทำให้ตำรวจเจ็บตัว หรือทำอะไรเซ่อซ่าจนเสียการงาน มุกแบบนี้ซ่อนเอาความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างคนขำและคนถูกขำเอาไว้

หลังจากอกหักจากพาเมลา แอนเดอร์สัน โบรัตนอนค้างคืนหน้าสถานที่จัดอีเวนท์รวมตัวของชาวคริสต์ ที่ซึ่งพวกเขามารวมตัวกันร้องเพลง เต้นรำ สวดภาวนา และแสดงให้เห็นถึงพลานุภาพของพระเจ้า โบรัตหลงทางเข้าไปในงานรวมตัวนั้น และเขาก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากคนที่นั่น เขาร้องขอให้คนในนั้นช่วยเหลือเขาจากอาการอกหัก และผู้นำกลุ่มก็ตอบสนองด้วยกระบวนการทางจิตวิทยาที่ดูพิลึกพิลั่น พร้อมทั้งให้เขาท่องบทสวดที่ไม่เป็นคำจนดูน่าขำ การทำให้ผู้นำกลุ่มคริสเตียนดูเป็นตัวตลกเช่นนี้ เป็นการทำให้ผู้ชมรู้สึกเหนือกว่าผู้มีอำนาจทางศาสนา และในทางเดียวกัน เป็นการตีแผ่การถูกกดทับอำนาจของชาวอเมริกันโดยสถาบันทางศาสนา เสียงหัวเราะเป็นเสมือนการปลดปล่อยอำนาจที่ถูกกดทับออกมา และทำให้พวกเขาต่อรองในเชิงตัวตนกับผู้มีอำนาจระดับต่างๆ ในสังคม ในพื้นที่ของเรื่องตลก ซึ่งทำให้โครงสร้างเชิงอำนาจสูญเสียไปแบบไม่เป็นทางการ

“นี่เป็นหนังเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติ ไม่ใช่หนังเหยียดเชื้อชาติ”

– Tom Charity จาก CNN

ในระหว่างการเดินทาง โบรัตได้เจอกับชาวอเมริกันที่อาจใจแคบกว่าเขาเสียอีก ในงานแข่งโรดีโอ เขาเจอชายคนหนึ่งซึ่งบอกว่าคนอเมริกันอาจเหยียดเขาเพราะเขาดูเหมือนคนมุสลิม นอกจากนั้นยังเสนอให้แขวนคอพวกผู้ก่อการร้ายและเกย์ให้หมด ซาช่า บารอน โคเฮน ได้ทำการแสดงที่บ้าและท้าทายมาก เมื่อเขาร้องเพลงชาติอเมริกันด้วยเนื้อร้องใหม่ที่เหยียดหยามว่าประเทศอื่นนอกจากคาซัคสถานนั้น “ล้วนถูกปกครองด้วยเด็กหญิงที่ไม่รู้อะไร”

ความตลกขบขันจาก Borat นั่นแฝงไปด้วยความกระอักกระอ่วน สื่อบางเจ้าบอกว่าโคเฮนนั้นเป็น “ราชาแห่งมุกตลกแบบช็อค” ซึ่งผู้ชมที่นั่งอยู่บนเก้าอี้อาจสั่นเทิ้มได้ทีเดียวเมื่อเจอกับบางมุก สื่อใหญ่อย่าง CNN บอกว่า “Borat ทำให้มารยาททรามๆ กลายมาเป็นศิลปะ” มันทั้งปลดปล่อยและสั่นคลอนคุณค่าของชาวอเมริกันไปพร้อมๆ กัน และเลาะเปลือกแห่งความศิวิไลซ์ที่ฮอลลีวูดสร้างภาพให้อเมริกันเป็นมายาวนานออกไปทีละชั้น

ในฐานะคนนอกที่ไม่ได้อยู่ในสังคมอเมริกัน อาจบอกได้เลยว่าความขบขันส่วนใหญ่มาจากความรู้สึกเหนือกว่า เราได้เห็นว่าชนชาติที่แสนจะภูมิใจกับความถูกต้องทางการเมืองของตนเองอย่างอเมริกันชนนั้นถึงกับไปไม่เป็น และถูกตอกจนหน้าหงายเมื่อเจอกับ “ช่องว่างทางวัฒนธรรมขนาดใหญ่” (คำบัญญัติที่ดูดีสำหรับคำว่า “ความกักขฬะ”) ที่เกิดจากตัวโบรัตเอง ความไม่ถูกต้องทางการเมืองของเขาแพร่ไปในแทบจะทุกเรื่อง ทั้งการแต่งตัว การกิน การพูด หรือการปฏิบัติต่อผู้หญิง เราไม่อาจเจอใครที่แสดงตลกได้อย่างอัจฉริยะเทียบเท่าบารอน โคเฮน ได้ง่ายนัก

ที่น่าสนใจคือเขาใส่ความเกลียดยิวลงไปในเรื่องด้วย ทั้งที่ครอบครัวของบารอน โคเฮนเป็นคนยิว เขาบอกว่าในคาซัคสถานมีงานวิ่งไล่ยิว และกลัวจนลนลานเมื่อพบว่าตัวเองพักอาศัยในบ้านของคู่สามีภรรยาชาวยิวคู่หนึ่ง จนต้องแอบวิ่งหนีไปกลางดึก เขาเดินเข้าไปในร้านขายปืนเพื่อถามหาปืนที่ใช้ฆ่ายิวได้ดีที่สุด น่าแปลกใจที่เจ้าของร้านเสนอตัวเลือกออกมาทันทีโดยไม่ได้กล่าวถึงความเหยียดเชื้อชาติของเขา

ผลตอบรับจากคาซัคสถานต่อหนังเรื่อง Borat ออกมาค่อนข้างหลากหลาย ในช่วงแรกรัฐบาลของคาซัคสถานต่อต้านหนังเรื่องนี้ และขู่จะฟ้องบารอน โคเฮน พร้อมทั้งสั่งปิดเว็บไซต์ปลอมๆ ของเขาเกี่ยวกับคาซัคสถาน คือ www.borat.kz นอกจากนั้นรัฐบาลคาซัคสถานยังออกโครงการหลักล้านชื่อ “Heart of Eurasia” เพื่อสู้กับภาพลักษณ์แบบผิดๆ ต่อประเทศตนเองที่ปรากฏในหนัง อย่างไรก็ตาม Erlan Idrissov เอกอัคราชทูตคาซัคสถานประจำอังกฤษกลับเห็นว่าหนังเรื่องนี้ตลกดี และเขียนว่าหนังเรื่องนี้ “ทำให้คาซัคสถานปรากฏบนแผนที่โลก” นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคาซัคสถาน Yerzhan Kazykhanov ยังกล่าวขอบคุณหนังเรื่องนี้ที่ทำให้มีคนมาท่องเที่ยวคาซัคสถานเพิ่มมากขึ้น

ในหนังภาคต่อของ Borat ที่มีชื่อว่า Borat Subsequent Moviefilm: Delivery of Prodigious Bribe to American Regime for Make Benefit Once Glorious Nation of Kazakhstan โบรัตทำแสบอีกด้วยการเล่นกับประเด็นทางการเมือง เพื่อล้อเลียนโดนัลด์ ทรัมป์ และรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ โบรัตยังคงทำพฤติกรรมต่ำตมต่อไป และบารอน โคเฮน ถึงขั้นต้องปลอมตัวเพื่อเข้าถึงตัวรองประธานาธิบดี หนังออกฉายวันที่ 23 ตุลาคม ทาง Prime Video ส่วน Borat ภาคแรก สามารถชมได้ทาง Netflix


สามารถติดตามข่าวของ Borat ภาค 2 ได้ในบทความ “อเมริกาจ๋า… โบรัตกลับมาเพื่อตัดคะแนน โดนัลด์ ทรัมป์”


อ้างอิง

https://edition.cnn.com/2006/SHOWBIZ/Movies/11/02/review.borat/index.html

https://www.bgdailynews.com/community/borat-delivers-side-splitting-satire/article_9e720eb8-2573-57a2-be70-ee507fdeea79.html

https://www.the-dispatch.com/news/20061109/borat-makes-you-laugh-squirm

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS