INTERVIEW

ให้มันจบที่รุ่นเรา : การเมือง ประชาธิปไตย และคนรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย (ตอนที่ 1)

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองอันร้อนระอุในเวลานี้ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่มีข่าวชุมนุมประท้วงรัฐบาลเราเห็นคนหนุ่มสาวจำนวนมากออกมาอยู่บนท้องถนน นักวิชาการรัฐศาสตร์อย่าง ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล เคยกล่าวเปรียบเปรยเด็กเหล่านี้ว่าพวกเขาเป็น Angry Generation”

3 ทุ่มตรงคืนหนึ่งของคืนวันอาทิตย์ เป็นค่ำคืนอันเงียบงันสุดแสนจะธรรมดา พวกเราทั้งสี่คนนัดคุยกันผ่านโปรแกรมวิดีโอคอลตามชื่อหัวข้อบทความนี้

แคปเปอร์ (บุญฤทธิ์ เวียงนนท์) เกม (ธฤษณุ มงคลศิริ) และ เบ็นโล (นนทชัย วิญญูศุภรชัย) พวกเขาเป็นนักศึกษาภาพยนตร์ที่รู้จักกันมาก่อนแล้ว ทั้งสามดูเป็นคนธรรมดาทั่วไปไม่ผิดแผกอะไรไปจากคนหนุ่มสาวทั้งหลายที่เราเห็นตามท้องถนน บนรถเมล์ หรือรถไฟฟ้าที่คลาคล่ำด้วยผู้คนเบียดเสียดกันอยู่ทุกวัน ในส่วนถัดไปของเรื่องผู้เขียนจะขอเรียกแทนทั้งสามด้วยชื่อเล่นตลอดการสนทนา

เกม (ซ้าย) และ เบนโล (ขวา)

เกม และ เบ็นโล เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน หลังจากเรียนจบพวกเขาตัดสินใจทำรายการพอดแคสต์ขึ้นมา และด้วยอุปนิสัยที่สนใจการเมืองกับสังคมเป็นพิเศษ ทั้งคู่จึงชวนบุคลากรในวงการหนังที่มีความสนใจคล้ายๆ กันมาเป็นแขกรับเชิญร่วมพูดคุยกันในเรื่องต่างๆ ที่พวกเขาสนใจพร้อมอัดเสียงแล้วเผยแพร่ออกมาเป็นพอดแคสต์ที่มีชื่อว่า ‘รายการ Filmtalk ถอกหนัง’

แคปเปอร์ คือคนที่สี่จากซ้ายในภาพแรก

ส่วน แคปเปอร์ เป็นรุ่นพี่ของเกมกับเบ็นโล เมื่อเรียนจบเขาก้าวเท้าเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ตอนนี้แคปเปอร์เป็นทั้งนักทำหนังและนักแสดงภาพยนตร์ ผลงานที่เขาเคยแสดงมีทั้งหนังสั้นเรื่อง Sunset ในโปรเจกต์ Ten Years Thailand (เขาเคยไปเดินพรมแดงในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2018 ในฐานะนักแสดงด้วย!) และหนังยาวอย่าง หน่าฮ่าน แคปเปอร์เล่าให้เราฟังว่าเขาอยากจะนำเสนอรายการให้คนดูได้รู้ว่าคนทำหนังไทยนั้นมีศักยภาพและกำลังพยายามสร้างสรรค์งานอยู่เสมอ เขาขอทุนก้อนแรกจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นำมาผลิตเป็นรายการคุยกับคนทำหนังออนไลน์บนยูทูบและเพจเฟซบุ๊ก ‘วันวันดู’ ชื่อรายการ ‘วันวันฟิล์มทอล์ก’


เราเริ่มต้นคุยกันด้วยคำถามง่ายๆ ว่าทั้งสองรายการมีที่มาที่ไปยังไง

เกม : รายการถอกหนังมันมาจากตอนนั้นเรารู้สึกมันไม่ค่อยมีรายการที่คุยเชิงลึกถึงหนัง ส่วนใหญ่รายการพอดแคสต์มันคือการคุยรีวิวหนังซะมากกว่า แต่ว่าประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับคนทำหรือวงการภาพยนตร์ไทยไม่มีใครคุยถึงประเด็นแบบนั้นจริงๆ อย่างถ้าเป็นคลิปมันก็จะเป็นรีวิวหนังกับสปอยล์หนังไปเลย ถ้าต่างประเทศของฝรั่งก็จะมีทำวิดีโอ Essay ที่มันวิเคราะห์ถึงหนังถึงประวัติอะไรต่างๆ แต่รู้สึกว่าในเชิงนั้นในไทยไม่ค่อยมี แล้วหนังมันดูเป็นศาสตร์ที่คนไม่มามันก็จะไม่รู้ข้างในเขาทำอะไรกัน วงการหนังไทยจริงๆ เป็นยังไงบ้าง เราก็เลยคิดว่ามันไม่ค่อยมีคนทำแล้วเราก็อยากฟังกันเองด้วยว่าที่จริงมันเป็นยังไง เราก็เลยคิดว่ามันดีที่จะมีรายการแบบนั้นอยู่ เราก็เลยทำมันขึ้นมาครับ

เบ็นโล : อย่างที่เกมบอกว่าเราทำเพราะเราอยากฟัง หมายถึงว่าเราอยากฟังอะไรแล้วก็ทำอันนั้น แต่ว่าเราแค่อัดเทปมาเผื่อคนอื่น เผื่อมีคนอื่นอยากฟังด้วย (เกม : เออ เริ่มมันคือง่ายๆ ฉันอยากฟังคนนี้พูดถึงเรื่องนี้จังอะไรอย่างนี้) แล้วเราก็เลยรู้สึกว่าพอมานั่งคุย เราฟังเอง คนอื่นได้ฟังด้วย มีฟีดแบ็คกลับมา มันก็เป็นการขยายหรือส่งต่อทำให้องค์ความรู้มันดำรงอยู่ตรงนั้นเผื่อมีคนเข้ามาฟังมันจะกระจายออกไปได้ มันไม่ได้ลึกสำหรับคนที่ทำอยู่ในวงการแต่มันอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ลึกมากๆ สำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานอยู่ในวงการ คนที่เป็นคนดูหนังในโรงหนังทั่วๆ ไปที่เขาไม่ได้เรียนฟิล์มมา เป็นเรื่องที่โอ้โห ดูอินไซต์สำหรับเขา

แคปเปอร์ (กลาง) และแขกรับเชิญรายการ

แคปเปอร์ : เราก็เหตุผลแรกเริ่มต้นที่ทำก็คล้ายที่เกมกับเบ็นโลบอกคือมันไม่ค่อยมีรายการอะไรพวกนี้ เราก็เลยอยากทำ แต่คอนเซ็ปต์ของวันวันฟิล์มทอล์กเหมือนเป็น introduction ให้คนได้รู้จักวงการหนังแบบองค์รวม มันก็จะเป็นการชวนแขกรับเชิญที่หลากหลาย เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องต่างวัย มีทั้งเป็นนักศึกษาอยู่ ทั้งคนทำหนังรุ่นใหม่ที่เข้ามาคุยให้เห็นภาพรวม เห็นความอ่า… (ทำหน้าคิด) ความเป็นหนึ่งเดียวเหรอ (หัวเราะ) เออ ราวๆ นั้นแหละว่าพวกคนทำหนังเขาทำอะไรอยู่ เขาคิดอะไรกับประเด็นต่างๆ ที่คนในสังคมกำลังตั้งคำถามอยู่


ปัญหาการเมืองที่เป็นอยู่สร้างอุปสรรคอะไรบ้างต่อรายการที่คุณทำ?

เบ็นโล : จริงๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย ทุกวันนี้ถอกหนังไม่มีแล้ว (เกม: ไม่ได้ไม่มีแล้ว คือพักยาว) มันพักยาวแล้วไม่รู้จะกลับมาได้เมื่อไหร่เหตุผลเพราะว่าทุกคนต้องไปทำมาหากินอ่ะ

เนี่ยคือปัญหาที่เผชิญ ด้วยระบบเศรษฐกิจที่มันแย่แล้วระบบก็สร้างคนเพื่อมาเป็นแรงงานในทุนนิยม ตัวระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครองมันเชฟชีวิตเราทำให้เราต้องทำงานงกๆๆๆ เพื่อฟีดค่าใช้จ่ายหลักๆ ในชีวิตจนไม่มีทรัพยากรด้านเวลา ด้านเงิน มาทำอะไรที่เป็นโปรเจกต์ของตัวเอง มันไม่มีน่ะ แล้วอีแค่พอดแคสต์มานั่งอัดเดือนละครั้งยังไม่มีปัญญาทำ นับประสาอะไรจะทำโปรเจกต์หนังซักเรื่องหนึ่ง นึกออกป่ะ?

ลองจินตนาการแล้วเรานึกไม่ออกจริงๆ ว่าเราจะได้ทำหนังของตัวเองเมื่อไหร่ ทำหนังอะไร ทำได้ยังไง แล้วลู่ทางของมันต้องยังไงนะ หรือว่าเราต้องไปเรียนต่อหรอ ซึ่งแบบ…ถ้าเรียนต่ออีก ต่อป.โทเนี่ยนับเวลานับเม็ดเงินที่เราเสียไปกับการศึกษาเพื่อที่เราจะได้จบมาเป็นคนทำหนังซักคนหนึ่ง เห้ย ราคามันสูงมากเลยนะ เนี่ยคือปัญหาที่เราเจอจริงๆ

เกม : ของเกมก็คล้ายๆ กันครับ เป็นอย่างที่เบ็นโลพูดคือถอกหนังเราพูดแค่ในมุมงานอดิเรกนะ ในมุมแคบคือเรายังทำมันเป็นจริงเป็นจังไม่ได้ อย่าคิดถึงขนาดจะเป็นจริงเป็นจังขนาดนั้นเพราะหาทุนยาก แล้วอย่างแรกคือถ้าเราทำสิ่งนี้เป็นรายได้เป็นอาชีพน่ะไม่มีคน… แบบจะเอาเงินมาจากไหนวะ

แคปเปอร์ : แล้วถอกหนังได้ไปขอทุนที่ไหนมาบ้างไหม บอกว่าขอทุนยาก

เกม : โนๆ ไม่ได้ขอทุน ทำเอง ไม่ได้หมายความว่าหาทุนยาก แต่เราบอกว่ามันนิช (เฉพาะกลุ่ม) มันทำเป็นงานอดิเรก หมายถึงพี่ต้องหาทุน (ค่าใช้จ่าย) ด้วยนะ หาทุนหมายถึงว่ามีต้นทุนมาทำโน่นนี่นั่น แต่เรารู้สึกว่าถ้าทุนแบบสายแมสที่มันขายได้ด้วยตัวเองโดยไม่ใช่ได้ทุนจากรัฐหรืออะไรอย่างนี้มันอยู่เองยาก สปอนเซอร์ที่ไหนจะมาเข้าวะ เก็ตไหม รายการมันโคตรนิชเลย เราก็เลยบอกเนี่ยขนาดเป็นแค่งานอดิเรกเรายังทำกันยากมากเลย ทำกันในเวลาว่างแล้วก็ออกเงินส่วนตัว

แล้วที่เล่าคือถอกหนังเนี่ยไม่ได้จ่ายเงินให้แขก (หัวเราะ) บางทีแขกก็จ่ายเงินให้เราด้วย (เบ็นโล : ก็คือเลี้ยงข้าว เลี้ยงกาแฟ เพราะว่าสงสาร) พี่ดาแบบเนี้ย (ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ – ผู้ก่อตั้ง Documentary Club) พี่ดาก็ดูดีใจมากมีน้องๆ ทำสิ่งนี้ขึ้นมา แล้วพี่ดาก็เลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำ เราก็แบบ… ไอ้เหี้ย กูแม่งไม่มีเงินให้เขาๆ ยังต้องมาเลี้ยงพวกกูอีก

เราอยากรู้ความเห็นของปัญหาเรื่องทุนหน่อย

เบ็นโล : คือเราอยู่กันในระบบ… ไม่ใช่ระบบทุนนิยมนะ เราเป็นระบบนายทุนนิยม ส่วนอีพวกหนังที่นายทุนไม่เอาก็ต้องไปขอทุนต่างประเทศก็ไปผูกกับนายทุนต่างประเทศแทน แล้วก็ไปเกิดปัญหาทับซ้อนมากมาย

มันไม่ดียังไงเหรอ?

เบ็นโล : พอมันมีนายทุนเข้ามาเกี่ยวข้องในงานมันจะตามมาด้วยเงื่อนไขอะไรต่างๆ เสมอ ถ้าเป็นทุนจากรัฐไทยอย่างนี้ชัดเจนว่าคุณจะโดนอะไรบ้าง จะโดนเซ็นเซอร์ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ไม่ได้จะมีกรอบศีลธรรมโน่นนั่นนี่ มีเรื่องระบบการจ่ายเงิน ระบบรัฐราชการที่มันล้าหลังเหี้ยๆ ไม่ค่อยมีวิสัยทัศน์ คือส่วนตัวแต่ละคนอาจจะมีคนที่มีวิสัยทัศน์แล้วก็แอบทำอะไรบางอย่าง แต่ว่าโดยองค์รวมที่ออกมาแล้วมันดูไม่มีวิสัยทัศน์สิ้นเชิง ในแง่ของการบริหารการดูแลโดยภาพรวม แต่เหตุผลที่เราต้องพูดถึงทุนจากรัฐบาลกันเยอะเพราะว่าเงินในระบบไม่เอื้อให้เราตั้งต้นอะไรด้วยตนเอง หมายถึงว่าจะต้องพึ่งพิงกับทุนของข้างนอกตลอดเวลาทั้งทุนจากรัฐ ทุนจากเอกชน ทุนจากต่างประเทศต่างๆ

หรือว่าคุณไปขอทุนเอกชน คุณก็จะมีเงื่อนไขอีกแบบหนึ่งเพราะมันต้องทำเงินให้เขา คือทุนจากรัฐอาจจะไม่ได้ต้องการกำไรจากคุณแต่ต้องการอย่างอื่น แต่ว่าพอคุณไปขอทุนเอกชน คุณก็จะต้องบอกว่างานนี้มันทำเงินอะไรให้เขาได้บ้างเพราะเขาต้องการกำไร ต้องการผลประโยชน์

หรือถ้าขอทุนรัฐบาลต่างประเทศ โอเคถ้าเป็นรัฐบาลต่างประเทศเขาอาจจะไม่ต้องการเงินไม่ต้องการอะไรอย่างนี้ แต่มันก็จะมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นมาเช่นคุณต้องทำหนังทำโปรเจกต์ที่มัน international ให้คนต่างประเทศนอกจากคนประเทศคุณจะดูรู้เรื่องน่ะ มันก็จะเกิดเงื่อนไขอย่างนี้ขึ้นมาทำให้เรามองกลับมาว่าพวกเราทุกคนกำลังถูกผลักให้ต้องพึ่งพากับแหล่งทุนหนึ่งๆ อยู่ตลอดเวลา เราไม่สามารถเป็นเจ้าของโปรเจกต์ด้วยเงินของตัวเอง แล้วทำโปรเจกต์ด้วย underground ที่มันรุ่มรวย ทำ personal project ที่มันพาไปขายได้ด้วยลำแข้งเราเอง คือระบบทั้งหมดมันบังคับให้เราต้องไปเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา อันนี้ในมุมมองเรามันอาจจะมองลบไปนิดนึงนะ ว่าทำไมเราไม่สามารถมีทุนที่ไม่เผชิญทุกเงื่อนไขบ้าบอคอแตกอะไรอย่างนี้ได้บ้างวะ


คุณไม่เคยเจอคนทำหนังรุ่นใหม่ที่สามารถหาแหล่งทุนแบบไม่ผูกมัดมาทำหนังแล้วผลลัพธ์ที่คุ้มทุน?

เบ็นโล : มันก็มีคนพยายามจะทำนะ อย่างพี่เม้ง (ธีรภาส ว่องไพศาลกิจ1นักทำหนังรุ่นใหม่ที่สนใจด้านเสียงทดลองและพยายามนำสิ่งเกี่ยวเนื่องจากหนังที่ตนทำมาก่อรายได้เป็นเงินทุน – ดู Junk Food Fable หนังของเขา) ซึ่งมันก็เป็นโมเดลที่ก็ดีแต่มันก็เหนื่อยเหี้ยๆ เราเคยทำถอกหนังกับเขานั่นแหละแล้วก็คุยกันถึงเรื่องนี้ ที่มาที่ไปกระบวนการของโปรเจกต์นี้ว่าเขาต้องการทำอะไร เส้นทางเป็นยังไง เขาก็ยอมรับเลยว่ามันเหนื่อยแล้วเราต้องถูกบังคับให้เผชิญกับสิ่งเหล่านี้ ไปทางไหนก็แย่เหมือนหนีเสือปะจระเข้อยู่ตลอดเวลาในการที่จะได้เงินมาสร้าง มันขึ้นอยู่กับว่าคุณดีลกับอะไรได้มากกว่าแต่มันไม่มีชอยส์ที่ดีที่สุดในสถานการณ์นี้

ไปเรื่องปัญหาการส่งเสริมจากภาครัฐกันหน่อย
มันไม่เคยมีอะไรดีๆ เลยเหรอ?

แคปเปอร์ : บ้านเรามันเคยมี Bangkok International Film Festival นะ แล้วก็เกิดการทุจริตติดสินบนจำคุกกันไป มันเกิดจากคนในองค์กรรัฐทำเหี้ยไรกันก็ไม่รู้ แทนที่มันจะต่อยอดเป็นองค์กรเป็นอะไรต่อไป รัฐบาลจะยิ่งได้หน้าได้ตามีดาราฮอลลีวูดมาเดินพรมแดง มีคนระดับโลกระดับเอเชียมามากหน้าหลายตาคนยิ่งชอบ แต่ตรงนี้มันหายไปแล้วกลายเป็นตราบาปวงการหนังไปเลย

บ้านเรามันเคยมี Bangkok International Film Festival นะแล้วก็เกิดการทุจริตติดสินบนจำคุกกันไป มันเกิดจากคนในองค์กรรัฐทำเหี้ยไรกันก็ไม่รู้ แทนที่มันจะต่อยอดเป็นองค์กรเป็นอะไรต่อไป แต่ตรงนี้มันหายไปแล้วกลายเป็นตราบาปวงการหนังไปเลย

เบ็นโล : จริงๆ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าการแยกองค์กรออกมามันจะช่วยอะไรถ้าสุดท้ายมันยังกลับไปสู่สิ่งเดิมๆ ระบบเดิมๆ

เกม : ถ้าสรุปการเมืองมีผลอะไรไหม ก็ตั้งแต่ระบบราชการเลย (หัวเราะเบาๆ) เรารู้สึกว่าอย่างแรกการทำงานกับระบบราชการ กับกระทรวงต่างๆ ที่เราขอทุนมา แล้ววิธีการคิดของเขาแบบลงมาจากกระทรวงทำให้เรารู้สึกว่ามันติดขั้นติดตอนอะไรไปหมดเลย ถ้าการเมืองดีเราก็อยากได้คนที่รู้เรื่องหรือมีความรู้ความสามารถมาทำงานจริงๆ เรารู้สึกมันก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติเขาด้วย เราอยากมีระบบที่มันดีน่ะ ถ้าคนมีความรู้ความสามารถมาทำงานในกระทรวงที่ถูกต้องหลายๆ อย่างมันจะเดินหน้าได้ดีกว่านี้ ซึ่งตอนนี้การเมืองไม่ดีแล้วคนที่มานั่งรัฐมนตรีคือใครไม่รู้ แบบแล้วมึงเป็นใครวะ (หัวเราะเบาๆ) เรารู้สึกว่ามันทำให้ทุกอย่างที่ลงมาข้างล่างมันยิ่งเดินยากเข้าไปใหญ่ ถึงคนข้างในกระทรวงจะมีคนอยากช่วยอยากอะไรขนาดไหนแต่มันยังติดทัศนคติคนข้างบน

คิดว่าอุปสรรคการพัฒนาอุตสาหกรรมหนังมันเป็นปัญหาเรื้อรังขนาดนี้เพราะความคอนเซอร์เวทีฟในระบบราชการรึเปล่า

แคปเปอร์ : พี่เชื่อว่าทุกที่ เราอาจจะมองว่ามันดูคอนเซอร์เวทีฟชิบหาย ขวาจัด แล้วก็ไม่ยอมปล่อยอะไรเลยที่มันสร้างสรรค์ จริงๆ ข้างในมีคนที่พยายามทำอยู่ แล้วก็แอบบอกเราหลังไมค์บ้าง มันก็มีแต่มันก็โดนกดทับเหมือนเราที่ก็โดนเหมือนกัน จะให้พูดอะไรบางอย่างก็ยาก

เบ็นโล : มันก็มีมุกการดูแลวัฒนธรรมอยู่นะ อันนี้เป็นมุกที่พูดเล่นๆ กันตลอดว่า จริงๆ รัฐไทยไม่ใช่ไม่สนใจศิลปะหรอกแต่เขาแค่ไม่สนใจพวกเรา หมายถึงคนทำศิลปะที่ไม่ได้อยู่เป็นพวกเดียวกับเขาอ่ะเขาไม่สนใจ

ไม่สนใจคือยังไง?

เบ็นโล : เรามองเห็นอย่างหนึ่งจากนาฏศิลป์ไทย ศิลปะแบบโคตรไทย มันถูกยกไว้บนหิ้งจนไม่มีใครแตะได้เลยทุกคนก็เลยลืม เรารู้สึกว่าวัฒนธรรมแบบโคตรไทยกับวัฒนธรรมแบบภาพยนตร์มันอยู่ขั้วกลับกันแบบสิ้นเชิง อยู่คนละข้างกันของสเปกตรัม วัฒนธรรมแบบ Thainess มันถูกแช่แข็ง ถูกให้คุณค่าอย่างสูงยิ่งในเชิงคุณค่าทางวัฒนธรรมแม้ว่ามันจะไม่สร้างกำไรเราก็ยังต้องคงสิ่งเหล่านี้ต่อไปมากๆ จนมันกลายปัญหาไปในด้านหนึ่ง

ส่วนภาพยนตร์เนี่ย จริงๆ เราติดใจตั้งแต่แรกแล้วเว้ยว่าทำไมเวลาทำคอนเทนต์เกี่ยวกับภาพยนตร์คนถึงเข้าใจว่ามันไม่แมสวะ ทั้งที่ทุกคนอยู่กับมันตลอดเวลา โอเค อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่เข้าโรงไปดูหนัง แต่ทุกคนต้องดูละคร ละครทีวี soap opera (ละครน้ำเน่า) ละครดราม่า ละครหลังข่าว ทุกคนต้องดูหนังโฆษณา ดูอะไรที่มันเป็นสื่อที่มีรากมาจากภาพยนตร์น่ะ คุณอยู่กับมันทุกวันแต่ไม่มีใครเห็นคุณค่าในมิติอื่นๆ ในเชิงของศิลปะ ในเชิงของการเก็บบำรุงดูแลรักษา

เราก็แบบเกิดคำถามจากบทสนทนานี้เหมือนกันนะว่าแล้วทำไมพอเราทำเรื่องเกี่ยวกับภาพยนตร์มันถึงเป็นเรื่อง เฉพาะกลุ่มวะทั้งที่คนอยู่กับมันตลอดเวลา ปัญหาของภาพยนตร์มันไปอีกด้านหนึ่งเลยเว้ย มันถูกทำให้เป็นสินค้าไปเลย คือมีค่าในเชิงระบบเชิงตลาด ดูไม่มีคุณค่าในเชิงอาร์ตศิลปะหรือในมิติอื่น มันมีปัญหามากๆ ทั้งคู่ที่อยู่คนละข้างของสเปกตรัมซึ่งเป็นขั้วกลับกันแบบสิ้นเชิง

เกม : หนังบางเรื่องที่คนรู้สึกนิดๆ มันจะดูเป็นการเมือง อาจจะเป็นการเมืองหรือไม่การเมืองก็ได้ บางพื้นที่เขายังไม่กล้าฉายเลย เราก็เลยรู้สึกว่ารัฐไม่ได้ไม่สนับสนุนศิลปะแต่รัฐไม่สนับสนุนการพูดอย่างมีเสรีภาพมากกว่าเพราะรัฐรู้สึกมันคือภัยความมั่นคงของเขา

หนังบางเรื่องที่คนรู้สึกนิดๆ มันจะดูเป็นการเมือง อาจจะเป็นการเมืองหรือไม่การเมืองก็ได้ บางพื้นที่เขายังไม่กล้าฉายเลย เราก็เลยรู้สึกว่ารัฐไม่ได้ไม่สนับสนุนศิลปะแต่รัฐไม่สนับสนุนการพูดอย่างมีเสรีภาพมากกว่าเพราะรัฐรู้สึกมันคือภัยความมั่นคงของเขา

แต่สมมติมีเงินอยู่ 200 จะเอาไปทำอะไรบ้างที่จะซื้อสิ่งบันเทิงให้ตัวเอง มันก็มีมากมายหลายอย่าง ภาพยนตร์ก็แค่เป็นสับเซตหนึ่งในนี้ แล้วภาพยนตร์ไทยก็ยิ่งเป็นสับของสับเซตนี้เข้าไปใหญ่เลย เอาจริงพอเราไม่มีเงินเหลือ เรารู้สึกว่ามันก็เป็นเงินที่ค่อนข้างสิ้นเปลือง (แคปเปอร์ : ก็ใช่ไงมันเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย) ฉันเก็บเงินไปกินข้าวโน่นนี่นั่นดีกว่า

แคปเปอร์ : เรารู้สึกถึงไอ้สิ่งที่เกมพูดว่าหนังมันจำเป็นกับชีวิตคนขนาดที่คนต้องเอาเงินไปจ่ายเพื่อมันไหม ตอนช่วงโควิดเงินเก็บเราก็ไม่ได้มากเราก็ใช้ไปเรื่อยๆ มันก็ลดลง แล้วงานในวงการมันก็น้อยก็ไม่มีงานกัน ส่วนตัวเราก็ตังค์เหลือน้อยงี้ เราก็คิดอยู่นะ ขนาดกูเป็นคนทำหนังเองเรียกได้ว่าชอบหนังรักหนังมาก กูยังเลือกจะเอาเงินไปซื้อข้าวกินไปซื้ออะไรจำเป็นมากกว่าเอาเงินไปดูหนัง แล้วคนทั่วไปเขาจะเอาเงินเอากำลังที่ไหนมาจ่ายเงินค่ารถการคมนาคมที่มันแย่ๆ หลายต่อเพื่อเข้าไปดูหนัง ขนาดเรายังตัดใจที่จะไปดูหนังดีๆ ในโรงตอนนั้น อยากจะซัพพอร์ตมันมากๆ แต่ต้องตัดชอยส์ออกไปว่าจะเดินเข้าโรงหนัง และในการจ่ายเงินดูหนังมันเสี่ยงนะ เขาก็ไม่อยากจะเสี่ยงที่จะเข้าโรงไปดูแล้ว… เห้ย หนังอะไรวะ เขาก็ไม่ได้ตั้งใจอยากมาดูอะไรก็ไม่รู้แบบนี้

เกม : แต่ผมรู้สึกว่าเสี่ยงได้ ถ้าเงินในกระเป๋าเขามีพอ (หัวเราะ) แต่ปัญหาคือเงินในกระเป๋าเราไม่ได้มีเหลือพอขนาดนั้น มันเป็นเรื่องเงินในกระเป๋า แม่งก็เลย… อืม กูก็มักง่ายดูอย่างนั้นไป movie2free เว็บหนัง Pirate ต่างๆ (หัวเราะ) คนก็รู้สึกว่ากูดูในนี้ก็ได้ ไม่ได้คิดถึงเรื่องลิขสิทธิ์หรือเรื่องอะไรที่คนเขาทำมา

แคปเปอร์ : แต่จริงๆ คนยังอยากดูหนังอยู่ หน่าฮ่านเนี่ยลงออนไลน์แม่งคนดูกันวิวเป็น 10 ล้าน แต่ลงโรงฉายได้ตังค์ไม่ถึง 2 แสนมั้งทั่วประเทศ

เบ็นโล : หรือว่าเราควรไปขอสถิติหลังบ้านจากเว็บพวกนี้บ้างวะ จะได้รู้ว่าสถิติคนดูหนังจริงๆ คือเท่าไหร่

เบ็นโล : แต่เราทั้งสามคนเราเชื่อว่าการเรียนหนังจบมาเป็นคนทำหนังได้น่ะ ครึ่งหนึ่งต้องทำพานไหว้ครูไปไหว้ BitTorrent Pirate Bay ขนาดเราสามคนที่ก็ถือว่าเป็นชนชั้นกลางมีทุนระดับหนึ่งนะอย่างน้อยมึงก็มีทุนมาเรียนหนังได้ แต่มันก็ไม่ได้มีทุนมากๆ ขนาดนั้นที่เข้าถึงหนังทุกเรื่องที่มึงต้องดูอย่างถูกลิขสิทธิ์ แล้วลองคิดในสเกลถอยหลังกลับไปนิดนึงนะว่ามันมีคนอยู่ในประเทศนี้จริงนะเว้ยที่เงินค่าแรงรายวัน 300-500 ไม่มีพอจะไปซื้อตั๋วหนัง แล้วเราไม่เชื่อจริงๆ นะว่าคนไม่รู้ว่าการละเมิดลิขสิทธิ์มันมี เรารู้ว่าทุกคนรู้เว้ยแต่ก็มันฟรีอ่ะ

‘แต่’ บางพื้นที่โรงหนังมันไกลจริงๆ ต้องโหนรถเข้าเมือง อันนั้นก็ถือเป็นต้นทุนทางเวลาเหมือนกันนะ บางคนนั่งรถ 3 – 4 ชั่วโมง 6-7 ชั่วโมง ขับรถข้ามเขาไปดูหนัง บางคนไม่มีรถจะดูยังไง บ้านกูมีสมาร์ทโฟนที่เข้าถึง movie2free ได้งี้ คือ… การดูหนังของประเทศเรามันไม่ถูกทำให้ง่าย มันไม่ถูกทำให้ใช้ทุนน้อยเพื่อเข้าถึงภาพยนตร์ดีๆ ถูกลิขสิทธิ์โดยที่มันแฟร์กับทั้งคนทำหนังทั้งคนดูหนัง เรารู้สึกวงการมันไม่แฟร์กับใครเลย กับคนทำหนังก็ไม่แฟร์ทำให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์โน่นนี่ แต่กับคนดูหนังวงการก็ไม่ได้แฟร์ด้วยเหมือนกัน

การดูหนังของประเทศเรามันไม่ถูกทำให้ง่าย มันไม่ถูกทำให้ใช้ทุนน้อยเพื่อเข้าถึงภาพยนตร์ดีๆ ถูกลิขสิทธิ์โดยที่มันแฟร์กับทั้งคนทำหนังทั้งคนดูหนัง

หลายๆ คนชอบพูดว่าหนังอินดี้ทำมาดูยาก หนังอาร์ตทำดูยากคนมันก็เลยไม่ดู คนน่ะไม่ได้เลือกจะดูหนังแบบนี้หรอกซึ่งอย่างที่บอกไปว่าเขาเลือกไม่ดูเพราะเขาไม่มีตัวเลือก หมายถึงว่าไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จักด้วยซ้ำ ไม่มีโอกาสเห็นหน้าหนัง ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่ามีหนังอย่างนี้อยู่บนโลก แล้วพอเจอจริงๆ เขาจะเสี่ยงไหม ยิ่งคนที่มีเงินในกระเป๋าน้อยเขาจะเสี่ยงกับหนังที่มีแนวโน้มว่าจะไม่ชอบเหรอ

ถ้าเราไม่มีการผูกขาดโดยค่ายหนัง โดยโรงหนังขนาดนี้ ผูกขาดรสนิยมอยู่แค่ในกรุงเทพฯ ผูกขาดด้านทุนที่อยู่แต่ในกรุงเทพฯ ทำให้ความเจริญไม่กระจาย เงินไม่กระจายเข้ากระเป๋าคนดู เงินไม่กระจายเข้ากระเป๋าคนทำ ไทบ้านจะทำหนังทีก็ต้องรอคอยนายทุนที่มีวิสัยทัศน์ซักคนซึ่งก็รอมานแค่ไหนแล้วก็ไม่รู้ สิ่งที่ไม่มีคือระบบที่กระจายอำนาจออกไป กระจายเงินออกไป กระจายความเจริญออกไปแล้วให้คนในท้องถิ่นเลือกสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ

แคปเปอร์ : นอกจากไปคานส์เราก็เคยไปดู Fever Room ของพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล – ผู้กำกับ) ที่ไต้หวัน เราเคยไปเทศกาลหนังสั้นที่สวิสเซอร์แลนด์ เราเห็นความแตกต่างมากกับประเทศเหล่านี้ที่มันซัพพอร์ตหนัง ซัพพอร์ตศิลปะ มีโรงหนังกระจายอยู่ทั่วทั้งเมือง ไม่ว่าจะเป็นคานส์ ที่ไต้หวัน พอมองย้อนกลับมาที่ไทยมันไม่มีแบบนั้นให้เรา ไม่มีพื้นที่ให้คนไปแสดงออก ไม่มีพื้นที่ให้คนได้เดินชมได้เดินดูอย่างหลากหลาย แต่ประเทศเหล่านี้มันกระจายอยู่ทั่วไปแล้วก็ทั่วถึงคนทั้งประเทศ มันจะมีที่ที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นจุดรวมให้คนไปเสพงาน ของเรามันไม่มี จริงๆ อย่างล่าสุดมันก็มีหอภาพยนตร์ที่เขาสร้างขึ้นมาใหม่ มันก็อยู่ไกลแล้วการเดินทางขนส่งมวลชนมันก็ไม่ได้สะดวกที่คนทั่วไปจะพากันไปดูไปชมขนาดนั้น มันก็กลายเป็นเฉพาะกลุ่มกันไป


เหตุการณ์ไหนที่คุณรู้สึกแย่มากในฐานะคนดู?

เบ็นโล : มีอยู่ช่วงนึงที่เมเจอร์ออกประกาศเป็นใบประกาศมาว่าทุกคนต้องยืนเพลงสรรเสริญในโรงหนัง เป็นช่วงที่พนักงานสะกิด ทุกคนก็แบบเราจะแบนเมเจอร์กัน เราจะไม่ไปดูหนังเมเจอร์ แล้วทุกคนก็พึงระลึกได้ว่าถ้ากูไม่ไปดูเมเจอร์กูจะไปดูโรงไหนวะ อย่างเซเว่นมันชัดว่ามันโดนผูกขาด แต่โรงเมเจอร์มันผูกขาดมานานมากแล้วในวันที่มึงไม่สามารถดูโรงหนังอื่นๆ ที่ไม่บังคับมึงขนาดนั้นได้อีกแล้ว อันนี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าปัญหาการเมืองมันกระทบกับชีวิตของคนทำหนังคนดูหนัง แม้แต่คนดูหนังทั่วๆ ไปด้วยนะไม่ต้องคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมก็ได้เขายังโดนกระทบเลย


(อ่านต่อตอนที่ 2)

LATEST