Home Interview ชีวิตหลังถูกถอดตำแหน่ง ส.ส. ของ กอล์ฟ ธัญญ์วาริน

ชีวิตหลังถูกถอดตำแหน่ง ส.ส. ของ กอล์ฟ ธัญญ์วาริน

ชีวิตหลังถูกถอดตำแหน่ง ส.ส. ของ กอล์ฟ ธัญญ์วาริน

12 ปี ของการใช้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551
10 ปี จากวันที่ Insects in the Backyard โดนแบน และสู้จนสุดกระบวนการที่ศาลปกครอง
เกือบ 1 เดือน นับจากวันที่ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ถูกตัดสิทธิการเป็น ส.ส.

ธัญญ์วารินมีส่วนร่วมขับเคลื่อนอย่างเต็มตัวในทุกรอยต่อทางกฏหมายของหนังไทย และในวันที่เธอเข้าร่วมม็อบนักเรียนเลว เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา เธอได้สรุปการเดินทางและความคิดต่อชีวิตในเส้นทางคนทำหนังเอาไว้ดังนี้

(ถอดความจากการเสวนาหลังฉายหนัง Insects in the Backyard ซึ่งดำเนินรายการโดย นคร โพธิ์ไพโรจน์)


กฏหมายภาพยนตร์มีผลแค่ไหนต่อการเติบโตของวงการหนังไทยในวันนี้

มีมากนะคะ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับปัจจุบันเป็นกฏหมายที่ถ่วงความเจริญ จะเห็นได้ว่าหนังอย่าง ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์’ ‘อาปัติ’ หรือแม้แต่ ‘นาคปรก’ และอีกหลายเรื่อง มันคือสิ่งที่รัฐคิดแทนประชาชน และทำตัวเหมือนมีความรู้ความสามารถในการคัดกรองหนังให้คนดู มันทำให้หนังไทยตายนะคะ นอกจากเป้าหมายของพ.ร.บ.ที่ควรจะส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้มีความหลากหลาย ให้การฉายไม่มีการผูกขาดทางการค้า สิ่งที่นายกฯ หรือรัฐมนตรีพูดอยู่เสมอคือเราต้องทำสินค้าทางวัฒนธรรมให้นำประเทศ ซึ่งพอเราได้เป็นนักการเมือง เข้าไปหารือที่กระทรวงวัฒนธรรม เข้าไปดูงบประมาณ พบว่าไม่มีส่วนไหนเลยที่จะบอกว่าส่งเสริมและสนับสนุนหนังไทยอย่างแท้จริง เพราะว่าเป้าหมายของพ.ร.บ.ฉบับนี้คือการจำกัดสิทธิและเสรีภาพคนทำหนังและคนดู เมื่อเป้าหมายเขาเป็นแบบนี้เขาจะทำตัวเหมือนตำรวจศีลธรรมคอยจับผิด จะบอกว่าทหารเลว ตำรวจเลว ครูเลว พระเลว ไม่ได้เลย กลายเป็นว่าคนเหล่านี้ยึดติดกับยูนิฟอร์มไม่ได้ยึดติดกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ มันทำให้คนทำหนังไม่กล้าที่จะคิด ไม่กล้าที่จะนำเสนอ ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งที่หน้าที่หลักของคนทำหนังคือวิพากษ์วิจารณ์ แทนที่คนดูจะได้ฉุกคิด ตระหนักถึงปัญหา แล้วมาร่วมด้วยช่วยกันหาทางออก

นอกจากเรื่องสิทธิและเสรีภาพซึ่งเป็นสิ่งที่ธัญญ์วารินพูดมาโดยตลอดหลังจากหนังโดนแบน ยังมีเรื่องความหลากหลายทางภาพยนตร์ด้วย

ปกติหนังแบบนี้ถ้าจะเข้าโรงมันไม่ได้มีทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงทุกคนได้ง่ายๆ ฉะนั้นกลุ่มคนดูก็จะแคบ แต่จะทำยังไงให้คนรู้จักมันมากขึ้น มันได้ไปเทศกาลหนังต่างประเทศมันก็ได้รับการยอมรับระดับหนึ่ง แน่นอนว่าเราต้อง educate คนดูอยู่แล้ว ว่าหนังไม่ได้มีแบบเดียว ความบันเทิงไม่ได้มีแบบเดียว สิ่งเหล่านี้ต้องให้พื้นที่และเวลากับมัน แต่พอมันเข้าฉายวันแรกถ้าเป็นโรงที่มีการผูดขาดทางการค้า วันต่อไปก็อาจจะไม่เหลือรอบแล้ว เพราะมันโดนตัดสินจากวันแรกที่เข้าฉายไปแล้วว่าไม่มีคนดู โรงหนังไม่เคยให้สิทธิคนดูได้เลือก จริงๆ แล้วเรามีกฏหมายโควต้าเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดทางการค้านะคะ แต่มันไม่เคยถูกเอามาใช้ สมมติมีหนังมาร์เวลเข้าแล้วเราเดินเข้าไปในโรงที่มีการผูกขาดทางการค้า เราจะมีหนังเรื่องอื่นให้เลือกดูแค่ไหน เมื่อโรงหนังไม่ได้เอื้อให้การมีอยู่ของหนังที่หลากหลาย ผู้สร้างตัวเล็กตัวน้อยที่จะทำให้เกิดความหลากหลายก็จะล้มหายตายจากไป

ตอนนี้เรามองตัวเองในฐานะคนทำหนังได้อีกครั้ง คิดว่าเราจะอยู่รอดได้อย่างไร

เมื่อคืนนี้เพิ่งได้คุยกับอดีตนายกสมาคมผู้กำกับฯ เพื่อจะเข้าไปคุยกับ นุชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมฯ คนใหม่ ว่าเราจะทำยังไงในยุคนี้ที่จะทำหนังในนิยามของภาพยนตร์ซึ่งเปลี่ยนไปแล้ว เราจะเอาสมาชิกที่เป็นผู้กำกับเข้ามาเพิ่มเติม ใครมีสิทธินั้นบ้าง ก็นั่งถามกันว่าถ้าทำหนังฉายออนไลน์ นับมั้ย จำเป็นหรือไม่ที่ต้องนับเฉพาะหนังฉายโรง แน่นอนในทุกช่วงเวลาของประวัติศาสตร์โลก มันมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และตอนนี้มันก็ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่หนังมันไม่จำเป็นต้องฉายโรงเท่านั้น การอยู่รอดมันก็คือต้องทำหนังในช่องทางที่มีคนดูนั่นแหละ เพราะงั้นมันก็ยังมีช่องทางทำมาหากินเลี้ยงชีพอยู่ อย่างดิฉันเองก็ยังทำหนัง ทำละคร ทำซีรีส์ ด้วย

ซึ่งก็เป็นเหตุให้โดนถอดจากการเป็น ส.ส.

ซึ่งอันนี้มันเป็นจุดเปลี่ยนของสมาคมผู้กำกับฯ เหมือนกันว่า เอ๊ะ! แล้วอย่างนี้คนทำอาชีพนี้ไม่สามารถเข้าไปเป็นส.ส.ได้เลยหรือ ทุกคนที่เป็นส.ส.ต่างมีอาชีพของตัวเอง และเข้าห้ามมีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐบาล แต่หลายคนก็เป็นผู้รับเหมาบ้าง มีบริษัททำนั่นทำนี่ได้? แล้วผู้กำกับให้ตั้งบริษัทอะไรเราถึงจะได้เป็นส.ส. เราก็ตั้งบริษัทรับจ้างผลิตคอนเทนต์ ขออธิบายนิดนึงว่าการจะเป็นสื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาตจดจัดตั้งจาก กสทช. และหอสมุดแห่งชาติ ในกรณีที่ทำสิ่งพิมพ์ แน่นอนการตีความคำว่าเป็นสื่อ ก็ต้องเป็นสื่อที่ทำความเข้าใจกับสังคม โน้มน้าวประชาชนได้ เช่น สำนักข่าวโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ แต่นี่รับจ้างผลิตคอนเทนต์ ใครจ้างอะไรก็ทำ บริษัทนึงร้างไปแล้ว คือ แอมไฟน์โปรดักชั่น กับอีกบริษัท เฮดอัพ โปรดักชั่น จำกัด เพิ่งรับมางานเดียวคือทำวิดีโอในคอนเสิร์ตนิวจิ๋ว เนี่ย คืองงานที่ทำให้โดนตัดสิทธิจากการเป็นส.ส.ค่ะ และการจะเป็นื่อต้องมีใบอนุญาตจากกสทช. ซึ่งดิฉันไม่มี และไม่เคยไปขอ และไม่คิดจะขอด้วย แต่ศาลรัฐธรรมนูญท่านบอกว่าเห็นเอกสารยืนยันจากกสทช.และหอสมุดแห่งชาติแล้ว ว่าคุณไม่ได้ไปขอจดจัดตั้งจริง แต่ในขณะที่เราทำอาชีพนี้ เราก็สามารถไปขออีกเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งก็ใช่ ใครๆ ก็ไปขอจดจัดตั้งได้หมดค่ะ เป็นการตัดสินอนาคตและยังย้อนไปตัดสินอดีตด้วยว่าที่ผ่านมาดิฉันไม่เคยเป็นส.ส.มาก่อนด้วย แต่เราจะวิจารณ์ศาลก็ไม่ได้เดี๋ยวโดนอีก เอาเป็นว่าเหล้านี้คือข้อเท็จจริง ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่ดิฉันได้รับเกียรตินี้อีกแล้ว ในชีวิตนี้จะได้รับเกียรติให้เป็นคนแรกได้สักกี่ครั้ง เราแอบรู้สึกน้อยใจตัวเองเหมือนกันนะว่า กูทำอะไรผิดนักหนากับประเทศนี้ คนทำผิดซึ่งหน้ามีมากมายทำไมเขาได้ดิบได้ดี เวรกรรมมันมีจริงหรือ แล้วฉันไปทำอะไรไว้แต่ชาติปางไหน

พอกลับมาทำหนังอีกครั้ง คิดว่าคนดูฉลาดขึ้นมั้ย หนังที่เราทำก่อนหน้านี้อาจไม่สื่อสารกับคนตอนนี้แล้วหรือเปล่า

ไม่ใช่แค่หนัง ละครกับซีรีส์ก็ด้วย มันเห็นชัดว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาดูแล้วมันไม่เมคเซนส์ เขาก็ไม่ดู ถ้ามีฉากไม่เหมาะสมเขาก็เอามาลงทวิตเตอร์ทันที ตอนนี้พวกฉากข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศเขาไม่ทำกันแล้วนะคะ ทัศนคติแบบนี้ต้องเอาออกไปได้แล้ว ไม่งั้นทัวร์ลงแน่นอน เพราะฉะนั้นความคิดเห็นของคนดูนี่แหละที่สะท้อนมาถึงคนทำโดยตรง ซึ่งเมื่อก่อนเราต้องเชื่อคนออกเงินที่จะอ้างว่าคนดูอยากดูอะไร เดี๋ยวนี้ไม่ต้องผ่านใครแล้ว คนดูบอกเอง ไม่ว่าจะเป็นหนังที่ดูถูกความคิดคนดูแล้วประสบความสำเร็จ เดี๋ยวนี้มันก็ไม่ประสบความสำเร็จ แล้วหนังที่ยากขึ้น ท้าทายขึ้น คนเขาก็ขวนขวายหามาดู คนทำหนังก็ต้องคิดให้มากขึ้นเพราะคนดูเปลี่ยนไปแล้ว

คนดูที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะวัยรุ่น ที่ถูกทำให้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของหนังไทยไปแล้ว

ใช่ค่ะ อย่างสำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน ก็พิมพ์กันไม่ทัน ทั้งที่เมื่อก่อนน้อยคนมากที่จะอ่านหนังสือหมวดการเมืองการปกครอง แต่ตอนนี้ต้องพิมพ์ใหม่เพราะวัยรุ่นหาความรู้ที่ไม่ได้มีอยู่ในตำรา การศึกษาไทยสอนให้คนโง่ ไม่ได้สอนให้คนฉลาด ไม่ได้สอนให้ใช้ความคิด เราถูกฆ่าตัดตอนทางจินตนาการมาตั้งแต่เกิด เราไม่เคยถูกสอนให้อธิบายในการเลือกสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือเรามีตัวเลือกอะไรบ้าง เราถูกสอนให้ท่องสิ อ่านสิ จากความรู้ของครูที่เรียนมาเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้เด็กเขามีทางเลือกของชุดความรู้อีกมากมาย พอโรงหนังคิดว่ากลุ่มคนดูคือวัยรุ่น แต่คอนเทนต์มันยังไม่วัยรุ่น แล้วจะดูทำไม เขาก็หาสิ่งที่เขาอยากดูมาดูสิ เพราะฉะนั้นคนทำหนังต้องรู้จักปรับตัว ถ้าไม่งั้นก็มีสิทธิล้มหายตายจากกันไป

แล้วต้องใช้เวลานานแค่ไหน เพราะยังต้องพึ่งพาเงินทุนจากแหล่งเก่า

ไม่นานค่ะ เรารู้ว่าคนทำธุรกิจต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนเขาจะทู่ซี้ทำหนังแล้วเจ๊งทุกเรื่องไปเพื่ออะไร เงินก็ไม่เข้าทั้งโรงและโปรดักชั่น ยังไงก็ต้องปรับตัว เราจะเห็นว่าหลายค่ายก็เริ่มไม่เอาผู้กำกับสูงอายุไปทำ อยากได้ผู้กำกับใหม่ๆ ที่น่าจะเข้าถึงคนดูได้

แสดงความการทำหนังมันมีอายุงานหรือ?

ไม่ค่ะ ความมีอายุมากขึ้นไม่ได้หมายความว่าเราจะถดถอยหรือไม่ทันสมัย แต่ต้องไม่หยุดหาความรู้ให้ตัวเอง การเป็นผู้กำกับคือเป็นผู้สังเกตการณ์ ถ้าคุณไม่สังเกตสิ่งรอบข้างแล้วไปยึดติดกับอดีตอันสวยงามตลอดเวลาก็เลิกทำไปเถอะ ถ้าจะทำหนังรักข้ามเวลาในยุคนี้เราตีความได้แบบไหนบ้าง สมมติเป็นท่านขุนอะไรไม่รู้ทะลุมากลางม็อบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะเกิดอะไรขึ้น เราก็ต้องเล่าในสิ่งที่คนดูรู้สึกและเข้าใจด้วย ไม่ใช่สิ่งที่มันเอาท์ไปแล้ว จะอยู่รอดหรือไม่ไม่เกี่ยวกับอายุค่ะ มันเกี่ยวกับตัวเราเอง ปรับตัวปรับความคิด สังเกตสิ่งรอบข้างในสังคมแล้วเอามาเล่าในหนังได้น่าสนใจต่างหาก

การได้เข้าไปทำงานในสภามาปีกว่า คิดว่าคนทำหนังไทยจะทำงานกับภาครัฐให้วงการมันดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง

เราก็พยายามนะ ถ้าการเมืองดี ถ้าเราแก้รัฐธรรมนูญได้ เราก็จะได้ดูหนังที่มันหลากหลายกว่านี้แน่นอน เราก็จะเห็นหนังที่กล้าพูดในสิ่งที่เรารอฟัง แต่ก็จะมีคนที่ไม่อยากฟัง ไม่อยากให้ความจริงปรากฏ ประวัติศาสตร์เขาก็เขียนขึ้นมาเอง พอเราโตขึ้นถึงรู้ว่าในความเป็นจริงยังมีประวัติศาสตร์ในแง่มุมอื่นที่ไม่ถูกเล่า จริงๆ ตั้งแต่ก่อนเข้าไปเราก็มีนโยบายของเราอยู่แล้วว่าถ้าจะให้หนังไทยมันรอด มันต้องแก้ตั้งแต่ราก การสร้างวัฒนธรรมคนดูมันแบ่งเป็นสี่มิติ คือ 1) คนดู เราพูดบ่อยมากว่าทุกวันนี้เด็กก็ยังเรียนศิลปะกันแบบเดิม คือวาดรูปธรรมชาติ วดรูปส้ม พระอาทิตย์ บ้าน ภูเขา ใครวาดเหมือนก็ได้คะแนนเต็ม วาดไม่เหมือนก็ 0 ไป โดยไม่มีโอกาสมาอธิบายว่าทำไมเขาถึงวาดออกมาแบบนั้น เราถูกสอนให้ก๊อปปี้งานศิลปะไม่ได้สอนให้ใช้จินตนาการในการเสพงานศิลปะ 2) คนทำหนงต้องถูก educate ต้องอัพเดตความรู้ความสามารถให้ทันโลก ต้องได้รับการสนับสนุนให้ทุนที่มาจากความเข้าใจจริงๆ ทั้งการพัฒนาความคิด การเขียนบท งานโปรดักชั่น การจัดจำหน่าย และการโร้ดโชว์ให้หนังเข้าถึงผู้คนจริงๆ ไม่ใช่การให้ทุนแบบที่เคยได้มา คือ เราขอ 70 ล้านบาท แต่เขาให้มา 1 ล้านบาท และต้องทำให้เสร็จ เสร็จแล้วแปะโลโก้ Content Thailand ของกระทรวงวัฒนธรรม ให้เห็นว่าเป็นงานของเขา 3) โรงหนังต้องเปิดพื้นที่และเวลาให้หนัไทยทุกรูปแบบ และต้องมีโควต้า สุดท้ายแล้วหนังดี เลว หรือไม่ถูกรสนิยมคนดู เขาก็ปฏิเสธไปเอง ไม่ใช่ว่าเห็นเป็นหนังไทยมาช่วยอุดหนุนหน่อย ทำไมต้องช่วยคะ? เขาต้องดูหนังที่เขาอยากดูสิ แต่หนังไทยก็ต้องได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างถูกต้องด้วย และ 4) ต้องให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งเราก็เข้าไปพูดกับท่าน รมต.กระทรวงวัฒนธรรม ว่าการที่คุณจะเอาสินค้าทางวัฒนธรรมมาผลักดันประเทศ แต่สิ่งที่คุณทำมันไม่เคยเกิดเลย มันจะเป็นไปได้มั้ยที่จะทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้า เกิดโรงหนังชุมชน ทุกมหาวิทยาลัยสามารถฉายหนังเก็บเงินได้ สร้างส่วนแบ่งรายได้ที่เป็นธรรม

พอเราออกมาแล้วมันจะเกิดขึ้นได้มั้น

เราก็ยังทำงานเหมือนเดิม หลายคนเรียกร้องให้เราทำงานเยอะมาก แต่เราเป็นฝ่ายค้าน หน้าที่หลักของเราคืออภิปราย ตรวจสอบรัฐบาล หน้าที่หลักของเราอีกอย่างคือเป็นนิติบัญญัติ เราทำการบ้านเยอะมาก หาข้อมูลเยอะมาก มีคณะกรรมการคัดเลือกผู้อภิปราย ส่องเนื้อหาก่อน ซ้อมอภิปรายให้ฟังก่อน แล้วจึงจะได้รับเลือกให้ไปอภิปรายในสภา ตอนนี้ออกมาข้างนอกแล้วก็ยังทำงานเหมือนเดิม เพราะเรายังติดต่อกับคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม เรายังได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งรองประธานอนุกรรมธิการฯ ยังทำงานเชื่อต่อกับรัฐสภาอยู่แล้ว ตัวเราเองก็ทำงานกับกระทรวงวัฒนธรรมอยู่แล้ว เขาจะทำหรือไม่ไม่รู้ แต่เราก็จะพยายามผลักดันให้มากที่สุด ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้ได้ แต่ถ้าเขาไม่ทำเราก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องรอให้ดิฉันเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมให้ได้ก่อน และดิฉันจะทำตามที่พูดแน่นอน

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here