Blog Page 10

ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใครและขี้ข้าใคร : 12 ภาพยนตร์ที่แสดงออกถึงเสรีภาพของศิลปะ

ศิลปะนอกจากจะเป็นสื่อบันเทิงที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป อีกหนึ่งหน้าที่ที่สำคัญคือการเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้ต่อต้านระบอบที่กดทับความเป็นคน เป็นสิ่งที่ส่งเสียงจากผู้ถูกกดขี่สู่ผู้มีอำนาจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและที่ได้เป็นประจักษ์พยานต่อการทำงานของรัฐ เราได้แต่เฝ้าถามว่า หน้าที่ของศิลปะที่พวกเขาอยากให้เป็นมันเป็นอย่างไรกันแน่ นับตั้งแต่ประโยคของ อ.ทัศนัย เศรษฐเสรี ที่ลุกขึ้นมาทวงถามถึงเสรีภาพในการแสดงออกของศิลปะ หลังจากที่มีบุคลากรในมหาลัยเข้ามารื้อผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปจนถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในหมู่บ้านทะลุฟ้า การจับกุมกลุ่มศิลปะปลดแอก นักการละคร ศิลปินผู้ที่ส่งเสียงต่อต้านอย่างสันติ รวมไปถึงวิธีการปฎิบัติต่อผู้ถูกจับกุมที่ดูแคลนความเป็นมนุษย์ของพวกเขาอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งที่เชื่อมโยงสำหรับสองเหตุการณ์ที่ทำให้เราตระหนัก คือศิลปะนั้นถูกครอบงำด้วยอำนาจของพวกเขามากเกินไปแล้ว และศิลปะใดที่ต่อต้านพวกเขาจะต้องถูกกำจัดทั้งหมดไม่มีข้อยกเว้น

คำตอบของคำถามที่ว่า “ศิลปะควรรับใช้ใคร” อาจมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสถานะและจุดยืนของแต่ละฝ่าย แต่หากเปลี่ยนคำถามในตอนนี้ว่า “ศิลปะในตอนนี้ต้องรับใช้ใคร” อาจได้คำตอบไปในทางเดียวกัน แต่ในหนทางการสื่อสารของศิลปะที่ตีบตันเล็กแคบลงทุกวัน ยังคงมีเสียงเพลงที่คอยกู่ก้องถึงความอยุติธรรมของสังคมที่ยังคงเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน ยังคงมีภาพวาดที่คอยแสดงถึงแนวคิดของที่เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ยังคงมีกวีที่เป็นตัวแทนของคนทุกชนชั้นคอยขับขาน ยังคงมีละครเวทีที่คอยขับเคลื่อนไปตามบทสนทนาและการเคลื่อนไหวของร่างกายเพื่อแสดงถึงความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัด ยังคงมีภาพถ่ายที่สะท้อนความจริงอันไร้การปรุงแต่ง และยังมีภาพยนตร์ที่คอยสะท้อนเรื่องราวถึงศิลปะที่มีหลากหลายหน้าที่ เป้าหมายของศาสตร์ศิลปะทุกแขนงนั้นมี คืออิสระในการแสดงออกโดยไร้ขอบเขตและไร้อำนาจควบคุม

แน่นอนว่าภาพยนตร์คือหนึ่งในศาสตร์ของศิลปะ แต่หนทางของการเป็นอิสระนั้นไม่เคยง่าย พวกเขาล้วนต่างต้องหาทางภายใต้สังคมเจ้าแห่งการตีกรอบ นี่คือ 12 ภาพยนตร์ที่แสดงแสงแห่งการดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งการบรรลุเป้าหมายแห่งศิลปะ การตั้งคำถาม ดิ้นรน และต่อต้านถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจของการสร้างศิลปะ และถ้าหากประเทศนี้ขาดศิลปะ สีสันของที่นี่คงถูกย้อมจนเหลือมีเพียงแค่สีเดียว


1. Before Night Falls (2000, Julian Schnabel)

หนังที่สร้างจากอัตชีวประวัติของกวีและนักเขียนนิยายของคิวบา Reinaldo Arenas ที่เล่าตั้งแต่เรื่องราวตอนเด็กจนในปี ค.ศ. 1964 เริ่มไปเข้ากลุ่มกับฟิเดล คาสโตร นักปฏิวัติและนักการเมืองที่ได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีในภายหลัง เพศสภาพที่เขาเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ และการเขียนของเขากลายเป็นภัยทำให้เขาถูกจับแต่ด้วยข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นความผิดที่เขาไม่ได้ก่อ หนังสือของเขาถูกแบนและทำให้เขาติดคุกสองปี Reinaldo ต้องอดทนกับการกดขี่ข่มเหงให้งดแสดงออกผ่านผลงานจากการเซ็นเซอร์ และความกดดันจากทางรัฐบาล เขายอมออกจากประเทศตัวเอง เพื่อไปเริ่มต้นชีวิตตัวเองที่อเมริกาอีกครั้ง ถึงกระนั้นเขายังคงต่อสู้เพื่อการแสดงออกทางการเมือง และเสียชีวิตในปี 1990


2. Burma Storybook (2017, Petr Lom)

ภาพยนตร์สารคดีที่ฉายภาพสังคมพม่าหลังช่วงเวลาอันยากลำบากแห่งยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ผ่านบทกวีมากความรู้สึก และมีครอบครัวของ Maung Aung Pwint เป็นผู้ดำเนินเรื่อง

Maung Aung Pwint คือกวี คือนักทำงานเคลื่อนไหว คืออดีตนักโทษการเมืองที่เคยถูกจองจำอยู่ในห้องขังแคบๆ มายาวนาน คือหนึ่งในผู้สะท้อนความรู้สึกอันเจ็บปวด ผ่านบทกวีที่งดงามมากมาย แต่ไม่ใช่เพียง Maung Aung Pwint และครอบครัวเท่านั้น ตัวหนังจะพาเราเดินทางไปสัมผัสถึงความเป็นกวีผ่านชีวิตของผู้คนชาวพม่า ซึ่งสอดแทรกเป็นหนึ่งเดียวไปตลอดเรื่อง


3. Seberg (2019, Benedict Andrews)

ภาพยนตร์ระทึกขวัญได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ของนักแสดงสาวชาวอเมริกัน Jean Seberg ผู้โด่งดังจากภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่อง ‘Breathless’ ของผู้กำกับยุค French New Wave อย่าง Jean-Luc Godard เธอตกเป็นเป้าของ FBI เนื่องจากเธอร่วมเคลื่อนไหวสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ความเท่าเทียมและต่อต้านการละเมิดสิทธิพลเมืองผิวสีที่เคียงข้างกับ Hakim Jamal ชายผิวสีผู้ถูกละเมิดสิทธิ์ซึ่งเธอได้บังเอิญพบเข้าขณะเดินทางกลับจากฝรั่งเศส เธอตัดสินใจลุกขึ้นต่อต้านการเหยียดผิวและทวงคืนความถูกต้องในสังคมอเมิกา แม้จะต้องเดิมพันด้วยชื่อเสียงและอาชีพนักแสดงที่เธอรักก็ตาม


4. Stefan Zweig: Farewell To Europe (2016, Maria Schrader)

หนังเล่าถึงชีวิตของ Stefan Zweig นักเขียนชาวยิวในออสเตรีย และช่วงชีวิตการลี้ภัยของเขาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1936-1942 Zweig เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น แต่ด้วยการเป็นปัญญาชนชาวยิวทำให้เขาต้องเผชิญกับความโหดร้ายของกองทัพนาซี จนเขาต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตที่อเมริกาใต้ ที่นั่นเขาถูกยกย่องเป็นนักเขียนคนสำคัญของโลก แต่มันก็ไม่อาจช่วยอะไรได้เมื่อยุโรปกำลังล่มสลาย และการที่เขารู้ว่าเพื่อนต้องเสียชีวิตจากน้ำมือของนาซีไปทีละคน หนังแสดงให้เห็นว่าชีวิตของการอยู่เป็นผู้ลี้ภ้ยนั้นเป็นอย่างไร และการตัดสินใจที่ยากที่สุดระหว่างการปิดปากเงียบหรือออกมาต่อสู้ เมื่อต้องเจอกับการปกครองแบบเผด็จการ


5. Unfinished Song (2001, Maziar Miri)

Farhad นักมานุษยดนตรีวิทยาหนุ่มผู้กลับมาที่ Khorasan บ้านเกิดของเขาในอิหร่าน เพื่อบันทึกและอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านดั้งเดิม แต่เมื่อเขาไปถึงก็พบว่าดินแดนที่เคยรุ่มรวยไปด้วยเสียงดนตรี กลับมีเพียงแค่เพลงกล่องและเพลงสวดเท่านั้นที่สามารถเล่นได้ เนื่องจากมีกฎที่ทำให้ผู้หญิงห้ามร้องเพลงในอิหร่านเอง จนเขาได้ไปเจอกับ Heyran ที่ถูกขังอยู่ในคุกด้วยเหตุผลบางอย่าง เขาพยายามตามหาและหวังให้เธอได้ร้องเพลงเพื่อบันทึกเพลงเหล่านั้นเก็บไว้ แต่การพบเจอระหว่างทั้งสองคนนั้นเปิดเผยถึงอีกความลับที่เชื่อมโยงระหว่างตัวเธอกับครอบครัวของเขา และเหตุผลที่ความรักในเสียงเพลงของเธอกลับทำให้ชีวิตของเธอถูกกดขี่และทำร้ายเธอมาจนถึงตอนนี้


6. Farewell My Concubine (1993, Chen Kaige)

Farewell My Concubine ครอบคลุมเรื่องราวตั้งแต่ทศวรรษ 1920 ยุคสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง การพ่ายแพ้ของกองทัพญี่ปุ่น การโค่นล้มพรรคก๊กมินตั๋งโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน จนถึงยุคหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม โดยบอกเล่าชีวิตและความสัมพันธ์อันยาวนานกว่า 50 ปีของสองนักแสดงในคณะงิ้วปักกิ่ง ผู้ถูกฝึกฝนเคี่ยวกรำตั้งแต่วัยเยาว์จนเติบใหญ่ และต้องเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงผันผวนของโลกใบนี้อย่างแสนรวดร้าว


7. Bamseom Pirates Seoul Inferno (2017, Jung Yoon-suk)

สารคดีเดือดพล่านเรื่องล่าสุดของ “ชองยุนซอก” ที่พาเราไปติดตามชีวิตโลดโผนของสองหนุ่มนักศึกษา มือกลองและมือเบสวง “Bamseom Pirates” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2010 และสร้างชื่อในฐานะ “วงอื้อฉาวที่สุดของเกาหลี” ด้วยการเป็นพังค์ ผสมแบล็คเมทัล, ฟรีแจสส์ และเพอร์ฟอร์มานซ์อาร์ต บวกกับอารมณ์ขันอันเสียดสี และความคลั่งแค้นอันร้ายกาจ ความเป็นพังค์ของพวกเขาคือการตั้งคำถามกับสิ่งที่อันตราย และเป็นเรื่องต้องห้ามในเกาหลีใต้ คือการพูดถึงและเชิดชูเกาหลีเหนือ ก่อนที่เส้นทางจะพลิกผันเมื่อโปรดิวเซอร์ของวงถูกจับข้อหา “ละเมิดกฎหมายความมั่นคง”


8. The Golden Era (2014, Ann Hui)

แอนน์ ฮุย ผู้กำกับชั้นเอกชาวฮ่องกงหยิบเอาชีวิตของ เซียวหง นักเขียนหญิงชาวจีนคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 มาทำหนังเป็นหนังอัตชีวประวัติ

ทังเหว่ย (Lust, Caution) รับบทเซียวหงตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นที่แข็งขืนหนีการคลุมถุงชนออกจากบ้านฐานะดีไปยังปักกิ่ง แต่ชีวิตรักกับลูกพี่ลูกน้องก็ล่มสลายลงหลังจากนั้นไม่นานนัก เช่นเดียวกับคู่หมั้นที่ภายหลังทิ้งให้เธออยู่อย่างยากจนพร้อมลูกในท้อง ณ เมืองห่างไกลอย่างฮาร์บิน ก่อนก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์หนักหน่วงยาวนานห้าปีกับ เสี่ยวจุน บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผู้เห็นจดหมายขอความช่วยเหลือของเธอลงในหนังสือพิมพ์ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวงการนักเขียนฝ่ายซ้ายของจีน กระทั่งฝ่ายชายตัดสินใจเข้าร่วมกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่น ส่วนเซียวหงแต่งงานใหม่และใช้ชีวิตยากลำบากเพื่อหาความสงบกับงานเขียนหนังสืออันเป็นอุดมคติของเธอ


9. This Is Not a Film (2011, Jafar Panahi)

หลังจากที่ผู้กำกับจาฟาร์ ปาร์นาฮีโดนโทษจำคุก 6 ปี และห้ามสร้างหนังเป็นเวลา 20 ปี ฐานต่อต้านรัฐบาล เขาถูกกักขังไว้ในบ้านส่วนตัวไม่ให้ออกไปไหน จึงทำให้เขาร่วมงานกับ Mojtaba Mirtahmasb ใช้กล้องดิจิตอลและไอโฟนถ่ายชีวิตประจำวันของตัวเอง สลับกับการจำลองซีนหนังที่เขากำลังวางแผนจะถ่ายทำแต่ต้องล้มเลิกไป ในขณะที่เวลาของภายนอกยังคงเดินไปเรื่อยๆ ปาร์นาฮียังตั้งคำถามเกี่ยวกับเส้นแบ่งของความเป็นจริงกับความเป็นภาพยนตร์ได้อย่างน่าทึ่ง และยังสร้าง statement ที่ท้าทายต่ออำนาจของรัฐในการปิดบังเสรีภาพในการแสดงออกเพราะเขาได้ส่งไฟล์หนังเรื่องนี้ไปให้เทศกาลหนังเมืองคานส์ ผ่านแฟลชไดรฟ์ใส่ลงไปในเค้กวันเกิดส่งไปที่ฝรั่งเศส แถมดันปรากฏว่าทันฉายซะด้วย


10. Afterimage (2016, Andrzej Wajda)

ช่วงปี 1956 ในประเทศโปแลนด์ถูกปกครองดว้ยระบอบของโจเซฟ สตาลิน Wladislaw Strzeminski จิตรกรแนว avant-garde และอาจารย์สอนเรื่องศิลปะในมหาวิทยาลัย ปฏิเสธหลักสูตรศิลปะจากรัฐบาลว่ามีเพียงแค่ศิลปะแนวสัจนิยมสังคม (Social Realism) เท่านั้นที่จะใช้สอนในโรงเรียนได้ ผลจากการปฏิเสธครั้งนั้นทำให้เขาถูกปลดจากการเป็นอาจารย์ ศิลปะของเขาที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ก็ถูกทำลายทิ้ง เพื่อปฏิเสธการมีตัวตนในฐานะศิลปินของเขา แต่ด้วยการสนับสนุนของเหล่าลูกศิษย์ ทำให้เขาเริ่มต่อสู้กับอำนาจของเบื้องบน และทำให้เขากลายเป็นสัญลักษณ์ของศิลปินที่จะปลดแอกการกดขี่ทางด้านศิลปะและวิชาการของรัฐบาล


11. The Puppetmaster (1993, Hou Hsiao-hsien)

หนังไต้หวันเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (และได้รางวัล Jury Prize ในปีนั้นกลับมา) เล่าเรื่องราวของ Li Tien-Lu นักเชิดหุ่นที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ที่อยู่ในช่วงความวุ่นวายในศตวรรษที่ 20 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และไต้หวันถูกยึดครองประเทศญี่ปุ่นในปีค.ศ. 1895 ยาวนานนับ 50 ปี หนังเล่าเรื่องตั้งแต่ชีวิตของ Li ตอนเด็กๆ จนถึงจบช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศนั้นสะบักสะบอมหลังจากผ่านสงครามมา นักเชิดหุ่นนั้นกลับกลายเป็นหุ่นที่ถูกเชิดเสียเอง เมื่อเขาต้องตกเป็นเชลยเพื่อสร้างสื่อโฆษณาชวนเชื่อให้กับญี่ปุ่น นี่คือหนึ่งในไตรภาคประวัติศาสตร์ของประเทศไต้หวัน ควบคู่ไปกับ A City of Sadness (1989) และ Good Men, Good Women (1995)


12. Matangi/Maya/M.I.A. (2018, Steve Loveridge)

MATANGI / MAYA / M.I.A บอกเล่าเรื่องราวการทางการเดินทางของอดีตเด็กสาวผู้ลี้ภัยผู้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งศิลปินผู้มีชื่อเสียงระดับโลก พบกับจุดเริ่มต้นของ Matangi ผู้มีเชื้อสายทมิฬและเป็นลูกสาวของผู้ก่อตั้งสมาคมต่อต้านความรุนแรงในประเทศศรีลังกา เมื่อต้องเธอตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของสงครามกลางเมืองจึงทำให้เธอต้องหลบหนีและซ่อนตัวจากรัฐบาลของเธอ ครอบครัวของเธอตัดสินใจอพยพไปยังกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ เธอได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในชื่อ Maya และเริ่มฉายแววศิลปินจนทำให้ทั้งโลกต้องตกตะลึงกับการแสดงของเธอและจดจำเธอในชื่อ M.I.A กับบทเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของเธอ ผสมผสานเข้ากับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ เชื้อชาติและการเมืองผ่านบทเพลงฮิปฮอป

เอหิปัสสิโก : เราจะดู เอหิปัสสิโก ในฐานะภาพยนตร์เรียงความ (essay film) อย่างไร?

เป็นที่รู้โดยทั่วไปว่า เอหิปัสสิโก หรือ Come and See เป็นหนังสารคดีที่ ‘เกี่ยวกับ’ ธรรมกาย พอเรามองหนังเป็นสารคดี แปลว่าเราคาดหวังหนังที่จะให้ข้อมูลกับเราอย่างตรงไปตรงมา ประหนึ่งว่าหนัง (หรือที่จริงคือคนทำหนัง) ไปเก็บเกี่ยวข้อมูลมาเต็มกระบุงและนำมาวางแผ่บนพื้นผิวของจอให้ผู้ชมได้ชมดู ได้เห็นสิ่งที่หนังรวบรวมมาตรงหน้าอย่างชัดๆ กระจะตา

ตรงข้ามกับการรวบรวมวัตถุดิบแบบสารคดี ภาพยนตร์เรียงความมีวิธีการนำเสนอเนื้อหาที่แตกต่างออกไป ภาพยนตร์แนวนี้ทำงานไม่เหมือนกับสารคดี ในขณะที่สารคดีมุ่งเน้นที่จะถ่ายทอดซับเจกต์ที่หนังเลือกอย่างหมดจดกระจ่างชัด essay film มุ่งหน้าหาทางจาระไนความคิดภายในของผู้สร้างให้ออกมาเป็นภาพ กล่าวคือถ้าสารคดีแบบทั่วไปสิ่งสำคัญคือตัวซับเจกต์เบื้องหน้ากล้อง พันธกิจของสารคดีต่อคนดูคือพาคนดูไปเข้าใจซับเจกต์ที่หนังเลือกมาอย่างชื่อตรงชัดแจ้งเป็นกลางอย่างภววิสัย ในขณะที่ essay film หรือเรียงความสนใจในความคิดเห็นของผู้สร้าง ว่าผู้สร้างจะใช้สื่อภาพยนตร์ ภาพเคลื่อนไหวถ่ายทอดความคิดข้างในตัวเองออกมาอย่างไร โดยมิต้องเลือกเอาขนบใดขนบหนึ่งของทั้งหนัง fiction และสารคดีมายึดในการนำเสนอ

โดยเบื้องต้นทั่วไป เอหิปัสสิโก ก็คือหนังสารคดี ‘เกี่ยวกับ’ ธรรมกายในช่วงที่รัฐบาล คสช. จะเข้าไปจับกุมเจ้าอาวาสธัมมชโยในคดียักยอกทรัพย์ แต่จากจุดเริ่มต้นจุดนี้ เอหิปัสสิโกพาคนดูไปสู่ข้อสังเกตถึงสังคมไทยที่อาจจะแหลมคมที่สุดเท่าที่หนังไทยขนาดยาวฉายโรงจะพาไปถึง

โดยโครงสร้างแล้วเราอาจจะแบ่งหนังหยาบๆ ออกเป็น 2 ก้อน ก้อนแรกพูดถึงธรรมกายในแง่มุมทั่วไป ก่อนที่ก้อนหลังจะค่อยไปโฟกัสกับข่าวการจับกุมเจ้าอาวาสธัมมชโย

โดยในก้อนแรกหนังดำเนินเรื่องไปด้วยลักษณะแบบวิภาษวิธี ซึ่งคือการที่หนังนำเสนอความเห็นด้านหนึ่ง (thesis) ก่อนจะตบด้วยความเห็นด้านตรงข้าม (antithesis) ก่อนจะมีการประสมประสานทั้ง 2 ฝั่งกลายเป็น synthesis ซึ่งทำให้อะไรที่เราคิดว่าเป็นขั้วตรงข้ามกันในคราแรกกลายมาเป็นเรื่องเดียวกันในท้ายที่สุด

โดยในจังหวะแรกนั้นหนังเหมือนวางคนดูไว้ในฐานะคนนอกที่มองเข้ามาในโลกของธรรมกาย หนังนำเสนอความเห็นของฝั่งที่ต่อต้าน ไม่ว่าจะจากทางรัฐ (ตัวแทนคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาสภาปฏิรูปแห่งชาติ) จากอดีตพระสงฆ์ในวัด อดีตสาวกที่เคยเข้าไปแล้วหมดศรัทธาออกมา แล้วหนังก็ขยับไปเสนอฝั่งที่สนับสนุนไม่ว่าจะสาวกปัจจุบัน หรือพระหัวหน้าประชาสัมพันธ์ของวัด หนังพยายามเกลี่ยความเห็น 2 ฝั่งให้ไม่ถ่วงไปด้านใดด้านหนึ่งตลอดในช่วงแรกของเรื่องก่อนที่หนังจะประสม 2 ด้านเข้าด้วยกันผ่านการสัมภาษณ์นักวิชาการที่ชี้ให้เห็นว่าปัญหาของธรรมกายไม่ได้เป็นปัญหาว่าตัววัดไม่ใช่พุทธแท้หรือเป็นพุทธที่ผิดเพี้ยนแบบที่ฝั่งต่อต้านว่าไว้ แต่เพราะธรรมกายเป็นตัวอย่างขั้นปรมัตถ์ของความเป็นพุทธไทย ซึ่งก็คือเป็นพุทธพาณิชย์เน้นการบูชาในแบบที่วัดอื่นๆ ในไทยก็เป็นเช่นกันเพียงแต่อาจไปไม่ถึง ธรรมกายจึงไม่ได้ผิดเพราะทำตัวเหมือนเด็กเกเรที่ไม่ทำตามเด็กคนอื่น แต่ผิดเพราะทำได้ดีมากจนเด็กคนอื่นมองด้วยสายตาขุ่นเคือง

แต่เพราะธรรมกายเป็นตัวอย่างขั้นปรมัตถ์ของความเป็นพุทธไทย ซึ่งก็คือเป็นพุทธพาณิชย์เน้นการบูชาในแบบที่วัดอื่นๆ ในไทยก็เป็นเช่นกันเพียงแต่อาจไปไม่ถึง ธรรมกายจึงไม่ได้ผิดเพราะทำตัวเหมือนเด็กเกเรที่ไม่ทำตามเด็กคนอื่น แต่ผิดเพราะทำได้ดีมากจนเด็กคนอื่นมองด้วยสายตาขุ่นเคือง

และในช่วงที่เสียงสัมภาษณ์ของนักวิชาการชี้ให้เห็นจุดร่วมมากกว่าจุดต่างนี้เอง ภาพของหนังก็หลุดลอยออกจากขอบเขตของวัดธรรมกายและไปเฝ้าสังเกตชีวิตนอกวัด ของคนเดินถนน คนสวดมนต์ประกอบพิธีกรรมในวัดอื่นๆ ที่มีมิติของความเชื่อที่ดู “ไม่เป็นวิทยาศาสตร์” และ “งมงาย” อยู่ด้วย และภาพที่สำคัญมากอันนึงคือร้านขายพระพุทธรูปที่เป็นภาพแทนที่ชัดที่สุดของมิติความเป็นสินค้าของพุทธ พระพุทธรูปที่ไม่ได้ไว้กราบไหว้แต่เป็นสินค้าวัตถุที่วางขายในร้านเป็นสิบๆ กินพื้นที่เกินล้นออกมาทางเท้า ถูกจับโยกย้ายขึ้นรถกระบะไปส่งตามที่หมายเหมือนสินค้าทั่วไป

และจุดนี้เองที่มิติของความเป็น essay film ของหนังพาเนื้อหาเกินเลยไปจากสารคดีเกี่ยวกับธรรมกาย ในช่วงนี้หนังใช้ภาษาการตัดต่อแบบมอนตาจที่เรียงร้อยภาพที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจนแต่มีกระบวนทัศน์เบื้องลึกบางอย่างร่วมกัน หนังช่วงนี้ไม่ได้ติดตามซับเจกต์คนใดคนนึง แต่เสนอภาพที่ผ่านการออกแบบของคนทำหนังเองที่มุ่งเน้นจะใช้ฟุตเตจในการตั้งคำถามต่อที่ทางของธรรมกายในสายตาคนนอกวัด จุดสำคัญอีกอันในช่วงนี้คือการพูดถึงความเป็นภัยของธรรมกายที่สร้างศรัทธาต่อคนจำนวนมากจนกลายเป็นความหวาดกลัวของรัฐไทย (อย่างที่ผู้ให้สัมภาษณ์คนนึงพูดว่า ธรรมกายสามารถยึดประเทศไทยได้) เพราะความศรัทธาที่ว่านั้นมันกระทบกับ ‘สถาบัน’ อื่นในสังคมไทย ณ ตรงนี้หนังได้สลายเส้นลากแบ่งที่กำหนดขอบเขตว่าปัญหาของธรรมกายเกิดขึ้นในกำแพงวัดเพียงถ่ายเดียว แต่ปัญหาของธรรมกายกลายเป็นปัญหาของสังคมไทยโดยรวมที่มีคนแบบธัมมชโยขึ้นมาเป็นศูนย์รวมศรัทธาของผู้คนมากมายอย่างชวนพรั่นพรึง ธัมมชโยไม่ได้เป็นบุคคลเดียวในสังคมที่ดำรงตำแหน่งนี้ได้ ยังมีคนอื่นๆ ที่สามารถทำได้ เพียงแต่เขาไม่ถูกตั้งคำถามในแบบเดียวกัน

เพราะความศรัทธาที่ว่านั้นมันกระทบกับ ‘สถาบัน’ อื่นในสังคมไทย ณ ตรงนี้หนังได้สลายเส้นลากแบ่งที่กำหนดขอบเขตว่าปัญหาของธรรมกายเกิดขึ้นในกำแพงวัดเพียงถ่ายเดียว แต่ปัญหาของธรรมกายกลายเป็นปัญหาของสังคมไทยโดยรวมที่มีคนแบบธัมมชโยขึ้นมาเป็นศูนย์รวมศรัทธาของผู้คนมากมายอย่างชวนพรั่นพรึง ธัมมชโยไม่ได้เป็นบุคคลเดียวในสังคมที่ดำรงตำแหน่งนี้ได้ ยังมีคนอื่นๆ ที่สามารถทำได้ เพียงแต่เขาไม่ถูกตั้งคำถามในแบบเดียวกัน

และหลังจากก้อนแรกของหนังพาคนดูไปเสาะสำรวจที่ทางของธรรมกายในสังคมไทยในระดับทั่วไป ในครึ่งหลังหนังก็ส่งไม้ผลัดไปสู่ภาพเจ้าหน้าที่รัฐพยายามจับกุมเจ้าอาวาสธัมมชโยโดยมีศิษยานุศิษย์พากันมาปกป้อง อันเหตุการณ์ที่ว่าสร้างความประพิมพ์ประพายกับเรื่องนอกจอในปัจจุบันขณะอย่างชวนฉงนฉงาย

เอหิปัสสิโก เริ่มถ่ายทำ 2017 ก่อนได้ไปฉายเวิลด์พรีเมียร์ที่เทศกาลภาพยนตร์ปูซาน เกาหลีใต้ปี 2019 และกว่าจะได้ฉายในไทยก็คือปีนี้ 2021 หนังกินเวลาตั้งแต่เริ่มเดินทางเป็นเวลาเกือบ 4 ปี แต่เมื่อตัวผู้เขียนได้ดูหนังใหม่อีกครั้ง ผู้เขียนก็เกิดคำถามว่าหรือการดูหนังเรื่องนี้ในปีนี้เป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว ?

ครึ่งหลังของเรื่องหนังไปเฝ้าสังเกตช่วงที่มีการจับกุมธัมมชโย รัฐไทยส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปที่วัดและเจอกับประดาศิษยานุศิษย์จำนวนมากออกมาต่อต้านการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ ภาพของประดาสาวกวัดออกมาปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐพ้องพานไปกับเหตุการณ์ประท้วงในปัจจุบันที่ประชาชนต้องปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐเหมือนกัน ถึงที่สุดทั้ง 2 เหตุการณ์มีความแตกต่างกันมากมาย แต่เราก็เห็นรูปแบบของฝั่งรัฐในการจัดการกับศัตรูของตัวเองอย่างชวนกังขาน่าตั้งคำถามอยู่เสมอ ในตอนหนึ่งที่ศิษย์ของวัดแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า เจ้าอาวาสจะยอมมอบตัวให้มีการสืบสวนก็ต่อเมื่อเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยเท่านั้นเป็นทั้งเรื่องชวนหัวและเรื่องน่าเศร้า มันตลกเพราะเราอาจจะคิดคำเสนอนั้นไม่ได้มาจากความจริงใจ แต่เป็นคำบอกปัดเพื่อยื้อการจับกุมก็ได้ แต่มันก็เศร้าเพราะในภาวะที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าประชาชนจะได้รับความยุติธรรมตามกระบวนการรัฐจริง? เมื่อรัฐผู้ซึ่งควรเป็นคนผดุงความยุติธรรมผ่านกฎหมายกลับบิดเบือนกฎหมายเพื่อผดุงผลประโยชน์ของตนอยู่ร่ำไป?

เอหิปัสสิโกจึงเป็นหนังที่ทำหน้าที่มากกว่าสิ่งที่มันตั้งใจจะทำในตอนแรก ไม่ว่าจะด้วยลีลาภาษาหนังที่ออกแบบมาเพื่อชี้ให้เห็นนัยซ่อนเร้น หรือทั้งวันกำหนดออกฉายที่ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทั้งสองอย่างประสมกันอย่างประหลาดลงตัวและทำให้หนังเป็นมากกว่าสารคดี “เฉพาะ” เรื่องธรรมกาย แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่าการขยับเขยื้อนของสังคมไทยตั้งแต่ในยุครัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. มาจนยุคเลือกตั้ง สว. 250 คน ระยะทางที่สังคมไทยเคลื่อนตัวนั้นไม่ได้ไปไกลกว่าจุดสตาร์ทเท่าไหร่เลย

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 1 เม.ย. 64

1 เม.ย. หนังเข้าใหม่ถึง 6 เรื่อง รวมหนังไทย ‘บอสฉันขยันเชือด’ ผลงานเรื่องแรกจาก Tai Major รวมถึงหนังล่ารางวัลทั้ง Minari, The Mauritanian และ The Nightingale แต่ทั้งหมดนั้นก็พ่ายให้อนิเมะ Detective Conan: The Scarlet Alibi

รายได้หนังประจำวันที่ 1 เม.ย. 64

  1. Godzilla vs. Kong – 6.13 (121.60) ล้านบาท
  2. Detective Conan: The Scarlet Alibi – 1.18 ล้านบาท
  3. บอสฉันขยันเชือด – 0.66 ล้านบาท
  4. Minari – 0.14 (0.35) ล้านบาท
  5. Doraemon: Stand by Me 2 – 0.11 ล้านบาท
  6. Raya and the Last Dragon – 0.10 (41.29) ล้านบาท
  7. The Mauritanian – 0.09 ล้านบาท
  8. เรื่องผีเล่า – 0.08 (7.02) ล้านบาท
  9. The Nightingale – 0.04 ล้านบาท
  10. Fate/Grand Order The Movie Divine Realm of the Round Table: Camelot Wandering: Agateram – 0.02 (0.67) ล้านบาท

Coreหนัง 11: Parallel – “หนังส่วนตัว” และ “การอุ้มหาย”

เมื่อวันเสาร์อาทิตย์ที่ 20 -21 มี.ค. ที่ผ่านมา มีกิจกรรมฉายภาพยนตร์ธีซิสของนักศึกษาภาพยนตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือที่รู้จักกันในชื่องาน ‘Coreหนัง’ ซึ่งครั้งนี้จัดมาเป็นครั้งที่ 11 และใช้ชื่อธีมว่า Parallel หากดูจากช่วงเวลาที่จัดจะพบว่าดูแปลกๆ ที่หนังธีซิสมาจัดฉายกันตอนที่กำลังก้ำกึ่งกำลังจะสอบปลายภาคเช่นนี้ แถมที่ผ่านมาก็มักเลือกฉายกันช่วงกลางปีเสียมากกว่า ความสงสัยนี้ติดอยู่ในใจตั้งแต่แรกเห็นทางเพจประกาศกิจกรรม

ผมเองติดตามงาน Coreหนัง มาตลอดหลายปี พอวันงานอดรนทนสงสัยไม่ได้ จึงได้สอบถามกับทางทีมงาน พบว่างานครั้งนี้เป็นงานของนักศึกษารุ่นที่จบไปแล้ว เป็นรุ่นที่ระหว่างพัฒนาตัวงานก็เจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสจนไม่สามารถออกกองถ่ายทำให้เสร็จลุล่วงได้ ในเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 24 จึงไม่มีภาพยนตร์ตัวธีซิสจบจากคณะวารสารฯ ธรรมศาสตร์เข้าร่วมฉายเลย แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย การเป็นเด็กเรียนภาพยนตร์ย่อมอยากให้ผลงานตัวเองส่งท้ายการจบการศึกษา น้องๆ รหัส 59 เหล่านี้ก็หยิบเอางานเหล่านี้มาพัฒนาถ่ายทำจนนำมาสู่งาน ‘Coreหนัง’ ครั้งนี้ 

ภาพรวมของหนังตัวจบของเด็กภาพยนตร์ วารสารฯ ธรรมศาสตร์มักจะมีความยาวมากเป็นพิเศษ บางปีมีความเฉลี่ยอยู่ที่ 50 นาที ในหลายๆ มหาวิทยาลัย การทำหนังที่มีความยาวเกิน 30 นาทีอาจจะมีสักเรื่องสองเรื่องในแต่ละปี แต่ที่นี่กลับกัน อย่างในปีล่าสุดนี้มีภาพยนตร์ทั้งสิ้น 6 เรื่อง โดยเป็นหนังที่มีความยาวไม่เกิน 30 นาที 2 เรื่อง ส่วนอีก 4 เรื่องนั้นแตะๆ หนึ่งชั่วโมงตลอด แถมหนึ่งในนั้นยังยาวถึง 90 นาที 

ทีนี้มาว่ากันรวมๆ ถึงหนังใน ‘Coreหนัง’ ปีนี้ 

พอจะแบ่งกลุ่มหนังทั้ง 6 เรื่องนี้ออกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกนั้นผู้กำกับเอาประสบการณ์ส่วนตัวในเรื่องครอบครัวและความรู้สึกภายในมาผสมกับตระกูลภาพยนตร์ (Genre) กลายออกมาเป็นหนังที่พูดเรื่องตัวเองในทีท่าที่มากกว่าหนังดราม่า ในขณะที่อีกกลุ่มเป็นหนังประเด็นการเมืองสังคมที่หลายเรื่องมี “ความเดือด” และร่วมสมัยเข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดในวันที่ฉายเมื่อวันเสาร์แบบเป๊ะๆ

หนังเรื่องแรกที่ผมได้ชมคือ โรงเรียนอลวน ชมรมอลเวง โดย จิรวัฒน์ โตสุวรรณ หนังมิวสิคัลว่าด้วยเด็กชายผู้เปลี่ยวเหงาและแปลกแยกได้มาเป็นเพื่อนกับผีทั้งสามในชมรมที่ 13 ในตำนาน หนังเพลงแบบนี้ดูเป็นความฝันของเด็กภาพยนตร์หลายคนที่อยากลองสร้างออกมา ก่อนหน้านี้หนังเพลงมักจะมีแต่นิสิตนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ที่สร้างกันปีละเรื่องสองเรื่อง มาปีหลังๆ ที่ซาๆ ไปบ้าง และ โรงเรียนอลวน ชมรมอลเวง เท่าที่ผมเคยได้ติดตามดู น่าจะเป็นหนังเพลงเรื่องแรกจากคณะวารสารฯ 

ตัวหนังเต็มไปเปี่ยมไปด้วยความทะเยอทะยาน เปิดฉากด้วยการถ่ายลองเทคในเห็นชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ที่มีชมรมต่างๆ มีทั้งการร้องการเต้นตามขนบของหนังมิวสิคัล แม้จะดูขลุกขลักและไม่เนี้ยบอยู่บ้างแต่ฉากเปิดนี้ก็ชวนจดจำไม่น้อย 

สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นจุดเด่นในงานมากกว่าการร้องเพลงคือการเอาผีมาผสมกับหนังเพลง ซึ่งปกติดูไม่ค่อยจะเข้ากันเท่าไหร่ แม้ว่าผีในหนังเรื่องนี้จะไม่ใช่ผีน่ากลัว แต่ผีทั้งสามก็พอเผยให้เห็นถึงการถูกกดทับของวัยรุ่นไทยได้ อาจจะน่าเสียดายไปหน่อยที่หนังยังถ่ายทำไม่ครบ ซึ่งสงสัยเหมือนกันว่าถ้าหนังครบจะยาวขนาดไหนเพราะฉบับนี้ก็ 90 นาทีแล้ว 

อีกเรื่องที่มีดนตรีเข้ามาเกี่ยวพันกับตัวละครคือ แฟนคลับอันดับหนึ่งของคุณ โดย รัญญ์ สุขณรงค์ หนังที่สร้างจากความรู้สึกภายในของการเป็นแฟนคลับแล้วอยากจะปลอบประโลมใจกลับไปให้กับศิลปินที่เขาหรือเธอชื่นชอบ (ชวนให้นึกถึงหนังธีซิสจากรั้วศิลปากร เรื่อง แด่เธอผู้เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ที่สร้างเมื่อสองปีที่แล้ว) รัญญ์ ผู้กำกับสร้างเรื่องให้ กอด หนึ่งในนักร้องวง Pastel Cloud เกิดเผชิญปัญหาร้องเพลงไม่ได้เพราะแม่ความจำเสื่อม แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็เกิดเจอผีสาวที่เป็นแฟนคลับผู้พยายามทำทุกอย่างให้เขากลับมาร้องเพลงตามเดิมได้ 

ผมเกิดสนใจในการคิดบิ๊กไอเดียไม่น้อย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มักคุยกันกับเพื่อนๆ ผู้สนใจภาพยนตร์สั้นว่า อะไรคือภาพยนตร์ได้บ้าง เนื่องจากแต่ละมหาวิทยาลัยอาจมีการสอนวิธีคิดจุดเริ่มต้นของเรื่องที่ต่างกันออกไป ส่งผลให้โจทย์เดียวกันนี้หากถูกสร้างจากรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ จะมีคาแรคเตอร์บางอย่างที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างจากคณะที่ผมสอน ประเด็นแฟนคลับนี้ถ้าเป็นเด็กภาพยนตร์ศิลปากรเล่า เดาได้ไม่ยากว่าหนังจะออกมาโทนดรามาเรียบง่ายแทนการเล่าแบบแฟนตาซี 

แฟนคลับอันดับหนึ่งของคุณ มีจุดเริ่มที่แข็งแรงและน่าสนใจ แต่ในเชิงบทอาจยังต้องเพิ่มเติมเสริมแต่งให้เพราะปมปัญหาชัดๆ ของตัวละคร “กอด” นั้นยังไม่ถูกแก้ไขตรงๆ แต่ตัวละครกลับคลี่คลายเริ่มพลอยทำให้คนดูสงสัยไม่น้อยว่าเขาจัดการปมดังกล่าวได้จากจุดไหนกันแน่ และหน้าที่ของตัวละคร “จอย” ผีสาวที่เป็นภาพแทนผู้กำกับก็ยังถูกใช้ไม่เต็มศักยภาพนัก ไม่ว่าจะเป็นปมของเธอเองที่ก็ไม่แน่ใจว่าถูกคลี่คลายไหม ไหนจะเบื้องหลังตัวละครที่ยังไม่ได้ถูกเล่ามานักเลยทำให้ไม่รู้ว่าเธอคิดอะไรลึกๆ กันแน่ และที่สำคัญกลวิธีที่เธอมาช่วยเยียวยาใจศิลปินที่เธอรักก็ดูถูกใช้มาเล่าน้อยไปนิด

วิธีคิดเรื่องแบบนี้ปรากฏให้เห็นอีกในเรื่อง Memories of A Grey House ของ ธีรพล กิตติศิริพรกุล หนังยาว 78 นาทีเรื่องนี้เล่าเรื่องของธัญย์และแทน เด็กวัยมัธยมต้นที่มีพ่อผู้ไปมีครอบครัวใหม่ มีลูกใหม่ ทั้งคู่เลยไปร้านเวทมนตร์ในบ้านร้างเพื่อขอให้ครอบครัวเธอกลับมารักกันอีกครั้ง ในช่วง Q&A ธีรพล ผู้กำกับได้เล่าให้ฟังว่าเรื่องเหล่านี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวในชีวิตของเขาผสมผสานเขากับเรื่องการ์ตูนที่เขาชื่นชอบ เลยกลายเป็นหนังดรามาที่ผสมแฟนตาซีกึ่งๆ ย้อนอดีต

ธีรพลเลือกเล่าหนังเรื่องนี้คล้ายๆ กับขนบของการเล่าซีรีย์ดังๆ หลายเรื่องในตอนนี้ คือการออกแบบโครงสร้างเรื่องให้ผู้ชมได้เห็นเหตุการณ์ในปัจจุบันซึ่งเป็นผลลัพธ์ของรอยแตกร้าว ก่อนจะย้อนสลับเวลาด้วยเวทมนตร์ไปยังช่วงเวลาต่างๆ รวมถึงช่วงตรงกลางที่กลายเป็นบทสรุปของเรื่อง ตัวบทได้ทำให้ผมเกิดข้อสงสัยในตัวปมปัญหาของเรื่องเป็นอย่างมากว่า มันใช่เหตุที่พ่อกับแม่ต้องเลิกรากันจริงหรือ แต่เมื่อหนังดำเนินมาถึงซีนไคลแมกซ์ปมปัญหาตัวละครที่เผยให้เห็นความสัมพันธ์ของตัวละครก็ถูกคลี่ออกมา เลยทำให้มุมในการมองตัวละครเปลี่ยนไป รวมถึงตัวเราที่เป็นคนดูก็เกิดเข้าใจความเป็นไปมากขึ้นโดยเฉพาะของตัวละครพ่อ 

หากจะเสียดายก็ตรงที่หนังมีบางมุมที่น่าสนใจ อาทิ การที่พ่อไปมีครอบครัวใหม่แต่ก็ยังกลับมาเป็นเพื่อนและยังรักแม่อยู่ มุมนี้ (และมุมฝั่งผู้ใหญ่) เป็นมุมที่หนังเลือกที่จะไม่เล่าให้คนดูได้รู้เลย จุดนี้ถ้าถูกเพิ่มเติมในบทอาจทำให้ตอนจบที่เป็นบทสรุปแข็งแรงได้กว่านี้ 

หนังอีกกลุ่ม ถ้าพูดอย่างหยาบๆ ก็คงพอเรียกได้ว่าเป็นกลุ่ม “หนังการเมือง” เอาจริงๆ จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ก็มาจากความรู้สึกภายในเช่นกันเพียงแต่เป็นประเด็นสังคมมิใช่ปัญหาภายในใจเชิงครอบครัว 

ช่วงปี พ.ศ. 2563 หนังสั้นประเด็นการเมืองของนิสิตนักศึกษาที่ฉายในเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 24 นั้นมีเงื่อนไขบางประการได้แก่ การปิดรับภาพยนตร์ในสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การประท้วงยังไม่ยกเพดานประเด็นที่พูด ส่งผลให้หนังสั้นนักศึกษาที่ถูกสร้างในช่วงเวลาก่อนหน้ายังมีท่าทีในการเล่าประเด็นที่ไม่แตะเพดานเท่าเวลาปัจจุบัน สิ่งที่ผมติดตามคือ นับแต่ที่ทนายอานนท์ นำภากล่าวปราศรัย ณ ราชดำเนินจนเพดานการอภิปรายในสาธารณะถูกขยับจนเราไม่เคยคิดฝัน แล้วหนังสั้นนักศึกษาไทยจะเป็นอย่างไรกันบ้าง

ทั้ง 3 Ways to Ged Rid of Mr. Tissue ของ กนกพล หรรษภิญโญ และ Colombe ของ จักรภัทร ทรงพลนภจร น่าจะเป็นหนังธีซิสนักศึกษาเรื่องแรกๆ ที่เป็นหมุดหมายของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สั้นไทยในแง่ทั้งการผลิตและการออกเผยแพร่ว่านี่คือหนังสั้นที่ถูกสร้างหลังจากคำปราศรัยของทนายอานนท์ 3 Ways to Ged Rid of Mr. Tissue เล่าเรื่องในลีลาเหนือจริงและแอบเสิร์ดว่าด้วยบริษัทหนึ่งที่มีประธานบริษัทเป็นกระดาษทิชชู่ พนักงานทั้งสี่ที่อาจจะพอแทนสมการได้ว่าใครเป็นภาพแทนของคนกลุ่มไหน ถกเถียงกันถึงความไม่เหมาะสมที่กระดาษทิชชู่จะทำหน้าที่นี้ผ่านกฎบริษัท ในแง่วิธีการเล่า 3 Ways to Ged Rid of Mr .Tissue ใช้วิธีการแบบหนังแก๊กเล่าไปทีละมุกตลก (หนังแบบเรื่องเป็นสี่ตอน) ซึ่งถูกใช้จนพรุนแล้ว เลยทำให้คนดูอาจไม่ว้าวเท่าไหร่ยามได้ชม รวมถึงสัญญะการแทนค่าต่างๆ ที่เอามาใช้ก็ชวนคิดไม่น้อยว่าเถียงกันผิดประเด็นหรือเปล่านะ

ในขณะที่ Colombe เลือกทางที่เล่าอย่างสมจริงด้วยท่าทีจริงจัง หนังผสมเอาเรื่องการเผยปัญหาในโรงเรียนที่คนเปิดโปงมันถูกต่อว่าเชิงทำชื่อเสียงโรงเรียนเสียหายเข้ากันกับประเด็นทางการเมืองร่วมสมัย ตัวเรื่องเริ่มเมื่อเด็กสมาชิกชมรม Colombe ได้เห็นการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของสารวัตรนักเรียนที่จัดการกับเด็กผู้หญิงที่โพสต์ต่อว่าโรงเรียน จนนำไปสู่การพยายามเชิญชวนให้นักเรียนทุกคนมาร่วมประท้วง 

ตัวหนังเลือกใช้โรงเรียนมาเป็นเวทีจำลองสถานการณ์การเมืองไทย โรงเรียนนั้นถูกใช้เป็นภาพจำลองปัญหาและเป็นอุปลักษณ์เล่าแทนภาพอำนาจที่อยู่เหนือสังคมไทย ก่อนหน้านี้เรามักพบหนังนักศึกษากลุ่ม “โรงเรียนเผด็จการ” แบบเดียวกันกับ Mary is Happy, Mary is Happy ของนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ โรงเรียนเหล่านั้นมักมีแต่งกายด้วยเครื่องแบบเฉพาะและมีกฎประหลาด อาทิ ต้องบูชาเห็ด ฯลฯ ให้นักเรียนต้องปฏิบัติตาม ตัวละครเอกมักเป็นนักเรียนใหม่ที่พึ่งย้ายเข้ามาแล้วตั้งคำถามรวมถึงท้าทายกฎที่ว่า แต่ใน Colombe แม้จะใช้โรงเรียนมาเป็นฉากหลักเช่นกันแต่ก็เลือกเล่าให้ท่าทีสมจริงและเลือกใช้สัญญะแทนกลุ่มคนที่เห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บ เช่น สารวัตรนักเรียนทั้งสามที่มี “ครู” หนุนหลังผู้ใช้กำลังจัดการกับนักเรียนที่ “ชังโรงเรียน” เป็นต้น ไม่ต้องตีความอะไรมากก็รู้ว่าพวกนี้เป็นภาพแทนใคร ทั้งกร่างทั้งหลงอำนาจเสียขนาดนั้น 

ผมเองเป็นอาจารย์ที่ได้แลกเปลี่ยนกับนักศึกษาบ่อยครั้ง จุดที่นักศึกษาของผมมักอินเป็นพิเศษในช่วงปีที่ผ่านมาคือกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายของนักกิจกรรมหลายคน โดยเฉพาะเคสของคุณวันเฉลิม เป็นประเด็นที่นักศึกษาของผมรู้สึกร่วมด้วยมากๆ ผมคิดว่าคุณจักรภัทร ผู้กำกับเรื่อง Colombe เองก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน (ในวันฉายรอบวันอาทิตย์ เขาพับนกกระดาษซึ่งเป็น motif ในหนังไปวางไว้ใต้เก้าอี้นั่งเพื่อมอบให้ผู้ชมด้วย) ซึ่งหนังของเขาเองก็มีการพูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งการบังคับบุคคลให้สูญหายนี้ก็เชื่อมมาสู่ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายคือ Bangkok Tradition ของ ฐามุยา ทัศนานุกูลกิจ

Bangkok Tradition เป็นหนังสุดเดือดและพบได้น้อยนักที่นิสิตนักศึกษาจะเล่าหนังประเด็นนี้ และด้วยวิธีที่สุดเดือดเช่นนี้ หนังย้อนไปในยุค พ.ศ. 2530 พนักงานพิมพ์เอกสารหญิงสามคนในหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง (ที่พูดจาเชือดเฉือนจิกกัดกันจนเราเข้าใจหัวอกตัวละครทั้งสาม) ที่หวังว่าสักวันจะได้เป็นนักข่าว โดยบังเอิญหนึ่งในนั้นได้พบแฟ้มข่าวที่เจ้าของเคสหายไปลึกลับและพบว่าข่าวดังกล่าวกำลังจะเปิดโปงคดีฆาตกรรมที่เกิดในผับแต่แอบแฝงขายตัวซึ่งเป็นหนึ่งในการแพร่เชื้อเอดส์ในยุคสมัยนั้น

ท่าสนใจไม่น้อยว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ผู้กำกับที่เกิดราวๆ ปี พ.ศ. 2540 เกิดสนใจประเด็นที่ก่อนตัวเองเกิดเกือบสิบปี แถมการรับรู้คนปัจจุบันต่อเชื้อ HIV และโรคเอดส์ก็เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนที่กลัวกันถึงระดับ “แตะแล้วตาย” กลายเป็นโรคที่ใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ได้น่ากลัวแบบภาพในอดีต

คุณฐามุยา ผู้กำกับกล่าวในช่วง Q&A ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าชวนให้คิดถึงความรู้สึกของผู้คนที่หวาดกลัวโรคเอดส์ในสมัยก่อน เธอจึงเริ่มค้นคว้าหาข้อมูลในเชิงข้อเท็จจริงและความรู้สึก (หนึ่งในฉากที่ถูกทำออกมาได้ดีมากๆ คือฉากชักเท้าหนีเลือดที่กำลังไหล) และหนึ่งในข้อมูลที่ได้พบคือมีผู้คนที่ถูกบังคับให้สูญหายเพราะไปเกี่ยวพันกับเรื่องพวกนี้ เธอรู้สึกว่าไม่ว่าเวลาผ่านไปนานขนาดไหนแต่ “อุ้มหาย” นี้ก็ยังคงมีอยู่ และกลายเป็นเหมือน “ธรรมเนียม” ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา จนนำมาสู่ชื่อเรื่อง ส่งผลให้หนังเรื่องนี้แม้จะเล่าเรื่องโรคเอดส์แต่ก็กลับร่วมสมัยไม่ว่าจะถ่ายทอดภาวะความหวาดกลัวของผู้คนต่อไวรัสที่มองไม่เห็นนี้รวมถึงการถูกอุ้มหายตลอดช่วงระยะเวลา 7 ปีมานี้ 

นี่คือหนังทั้งหกเรื่องที่ฉายในงาน ‘Coreหนัง’ ครั้งที่ 11 น่าติดตามกันต่อไปไม่น้อยว่าในงาน ‘Coreหนัง’ ครั้งที่ 12 ของนักศึกษารหัส 60 แว่วมาว่าน่าจะมีขึ้นในเดือนกันยายนปีนี้จะเป็นเช่นไร ความคุกรุ่นในจิตใจทั้งเรื่องส่วนตัว สังคมและการเมืองจะถูกนักศึกษาหยิบมาเล่าอย่างไรอีก ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปช่วงกลางปีนี้ครับ 

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 25 มี.ค. 64

และแล้วความคึกคักก็กลับคืนสู่โรงหนังได้ในที่สุด อันเนื่องมาจากหนังฟอร์มโต Godzilla vs. Kong ที่เปิดตัวสูงถึงเกือบ 20 ล้านบาท และมีความเป็นไปได้สูงว่าจะสามารถผ่านหลักร้อยล้านบาทแรกตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้เลย

รายได้หนังประจำวันที่ 25 มี.ค. 64

  1. Godzilla vs. Kong – 19.16 ล้านบาท
  2. Raya and the Last Dragon – 0.26 (37.05) ล้านบาท
  3. Fate/Grand Order The Movie Divine Realm of the Round Table: Camelot Wandering: Agateram – 0.12 ล้านบาท
  4. เรื่องผีเล่า – 0.11 (5.96) ล้านบาท
  5. ห้าวเป้งจ๋า อย่าแกงน้อง – 0.05 (2.58) ล้านบาท
  6. Minari – 0.04 ล้านบาท
  7. True Mothers – 0.03 ล้านบาท
  8. The Legend of Hei – 0.02 (0.87) ล้านบาท
  9. Chaos Walking – 0.009 (3.53) ล้านบาท
  10. Mumbai Saga – 0.005 ล้านบาท

I Care A Lot : ประกอบสร้างตัวตนตามฝันอเมริกันสีเทา

มีเส้นบางๆ ระหว่างการให้บทเรียนจากการกระทำของตัวละครที่ทำผิด กับการยกชูความเลวร้ายของตัวละครเหล่านั้น และนั่นทำให้ I Care A Lot (2021) หนังที่ส่งให้โรซามุนด์ ไพค์ ได้รางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงนำหญิง ถูกวิจารณ์ด้วยเสียงที่แตกออกเป็นสองฝั่ง ในแง่หนึ่ง หนังให้ความบันเทิงกับผู้ชมที่ทำฝันตัวเองให้เป็นจริงโดยการรู้สึกร่วมไปกับตัวละครที่ใช้เล่ห์เหลี่ยมไต่ระดับชั้นทางสังคม (ไพค์ได้สร้างตัวละครนี้ขึ้นอย่างซับซ้อน จนอดคิดไม่ได้ว่าบทนางสิงห์สาวนั้นเหมาะกับเธอจริงๆ) แต่ในอีกแง่ เราจะมองได้หรือไม่ว่าหนังกำลังทำให้ผู้ชมเห็นว่าการหลอกลวงผู้อื่นเพื่อเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองทีละหลายแสนนั้นเป็นสิ่งที่แสนโรแมนติกอย่างไม่ควรจะเป็น

I Care A Lot เล่าเรื่องของ มาร์ลา เกรย์สัน นักธุรกิจแสนไฮโซที่มีเบื้องหลังเป็นนักต้มตุ๋น ที่ใช้ช่องว่างทางกฎหมายหาเหยื่อเป็นคนแก่ที่ดูจะมีแนวโน้มดูแลตัวเองไม่ได้ เธอขอให้ศาลออกคำสั่งให้ย้ายคนแก่เหล่านั้นเข้าบ้านพักคนชรา และฮุบทรัพย์สินของพวกเขาขายทอดตลาด โดยอ้างว่าใช้เป็นทุนในการดูแลพวกเขา มาร์ลาทำธุรกิจนี้กับฟราน คนรักสาวและมือขวาคนสนิทของเธอ และมันก็ดูจะไปได้ด้วยดี จนวันหนึ่ง เธอได้พบกับเจนนิเฟอร์ ปีเตอร์สัน แหล่งเงินทุนมหาศาลที่มีประวัติขาวสะอาดและไม่มีทายาท ด้วยความโลภ มาร์ลาฮุบเหยื่อนี้ทันที โดยไม่ล่วงรู้ว่าเจนนิเฟอร์เป็นคนสนิทของมาเฟียรัสเซียสุดโหด นามโรมัน ลุนยอฟ (อีกบทที่แสนโดดเด่นของปีเตอร์ ดิงค์เลจ จาก Game of Thrones)

I Care A Lot อาจสามารถจัดเข้าประเภทหนัง Black Comedy -Thriller ได้ มันทำให้เราเห็นถึงการหักเหลี่ยมเฉือนคมของ “คนเลวที่ฉลาด” สองคน และทำให้เรารู้สึกขำไปกับความกระอักกระอ่วนเมื่อมาร์ลาพบว่าเหยื่อของเธอเป็นเคสสุดหิน และอาจนำอันตรายมาสู่ชีวิตเธอ จุดนี้เป็นจุดที่ทำให้คนดูรู้สึกแสบๆ คันๆ และบันเทิงไปกับความ “ซวย” ที่ตัวละครขุดหลุมฝังตัวเอง ในขณะเดียวกัน อีกจุดที่ทำให้มันเป็น Comedy ก็คือยุทธวิธีสุดแสบสันต์ที่มาร์ลาและฟรานใช้จัดการกับมาเฟียที่ดูจะไม่มีใครเข้าถึงได้อย่างโรมัน และนั่นทำให้การต่อสู้กันระหว่างเจ้าแม่และเจ้าพ่อคู่นี้เป็นความลุ้นที่หฤหรรษ์

สำหรับจุดที่เป็น Thriller เราอาจจะรู้สึกถึงความน่ากลัวในมุมมองของมาร์ลา และเอาใจช่วยเธอไม่ต่างจากตัวละครตกอับในหนัง Thriller อื่นๆ เพราะมาร์ลาและฟรานต้องถูกข่มขู่และไล่ล่าจากมาเฟียมืออาชีพ ซึ่งจุดที่หนังทำให้เราเห็นใจตัวละครสองตัวนี้นี่เอง ที่ทำให้มันทำงานบนพื้นที่สีเทา แต่มันก็ทำให้คนดูตั้งคำถามว่าเหตุใดพวกเขาจึงเห็นใจคนเลว แต่ไม่เห็นใจเหยื่อของพวกเธอซึ่งถูกทำร้ายไม่ต่างกัน หนังให้บทเหยื่อของมาร์ลาค่อนข้างน้อย และให้เขากลายมาเป็นตัวละครสำคัญในตอนท้ายของเรื่อง ซึ่งคนดูหลายคนอาจลืมเขาไปแล้ว

การลืมเลือนเหยื่อของตัวละครเอกไป อาจเป็นจุดที่ทำให้เราฉุกคิดว่า หากเรามีโอกาสทำอย่างมาร์ลา เราอาจจะเลือกทำแบบเธอ เพราะการประกอบสร้างตัวตนของตัวละครตัวนี้ไม่ได้อิงอยู่กับสายสัมพันธ์ระหว่างความดีงามและความเลว ดังที่พูดไปแล้วว่าหนังทำงานกับพื้นที่สีเทา – คนอย่างมาร์ลาก็ไม่ได้ “แคร์” เช่นกันว่าเธออยู่ตรงไหนในสเปกตรัมทางศีลธรรม เพราะทุกคนล้วนอยู่ในจุดที่เป็นกลางๆ ไม่ครั้งใดก็ครั้งหนึ่งในชีวิต เธอเพียงจับจุดที่อยู่ตรงกลางนั้นมาขยายและประกอบสร้างตัวตน ที่ชุดคุณค่าในตัวตนนั้นมีเพียง “คนที่แข็งแรง” และ “คนที่อ่อนแอ” อันเป็นภาพสะท้อนของสังคมทุนนิยมแบบอเมริกันที่คนอเมริกันอาจไม่ได้ชอบใจและไม่อยากจะยอมรับนัก หรือแม้กระทั่งการตีความทุนนิยมแบบดาร์วินนิสม์ (Darwinism) ขวาจัด ที่เห็นความสำคัญของการคัดเลือกตามธรรมชาติ ที่ “คนแข็งแกร่งเท่านั้นจะอยู่รอด (The fittest survives)”

อาวุธของมาร์ลามีเพียงความกล้าและกัดไม่ปล่อย ซึ่งดูแล้วมันไม่น่าจะเทียบอะไรได้กับอำนาจที่โรมันมี แต่ตัวละครของไพค์ทำให้เห็นว่า อำนาจของปัจเจกนิยม ที่จัดวางปัจเจกเข้าไว้เป็นคู่ตรงข้ามของโลก (Me VS The World/Others) นั่นน่าครั่นคร้ามและอาจทำให้คนอย่างโรมันขนลุกขึ้นมาได้เลย เพราะสำหรับสิ่งที่คนทั่วไปกลัว อย่างเช่น ความตาย หรือการที่คนในครอบครัวถูกปองร้าย ไม่ใช่สิ่งที่มาร์ลาเกรงกลัว โรมันอาจขู่มาร์ลาได้ แต่ในเมื่อเธอไม่กลัว เขาก็กลายเป็นคนที่ “ไม่มีอะไรจะเสีย” ดังที่มาร์ลาได้ทำนายเกี่ยวกับการขู่เข็ญของบุรุษเพศไว้ว่า เมื่อพวกเขาเริ่มขู่ นั่นแปลว่ามันเป็นสิ่งสุดท้ายที่พวกเขาเหลืออยู่

หากวิเคราะห์ตัวละครมาร์ลา จะพบว่าเป็นเป็นปัจเจกนิยมสุดขั้ว เพราะเธอ “สร้างตัวเอง” ด้วยเงื่อนไขที่เธอกำหนดเอง เป้าหมายของเธอคือความมั่งคั่งในระดับที่จะสามรถ “ใช้เงินเป็นอาวุธ” ได้ เพราะในโลกที่ทุกคนเป็นปัจเจกสุดๆ นั้น ทุกคนย่อมต้องคอยระแวดระวังไม่ให้ตนเองเสียผลประโยชน์ และอาวุธอาจเป็นทางออกของการควบคุมปัจจัยเหล่านี้ นอกจากนั้นเธอยังตัดขาดจากแม่ของเธอ และแหกกรอบทางสังคมในเรื่องตัวตนทางเพศ เพราะเธอเป็นเลสเบี้ยน

เธออาจน่ากลัวกว่าโรมันอีก เพราะโรมันยังมีสิ่งที่เขาหวงแหนและหวาดกลัว อำนาจเส้นสายที่เขามีนั้นเป็นเพียงปราการที่ขวางกั้นความอ่อนแอเปราะบางข้างใน มันถูกฉาบเคลือบไว้ด้วย “ความเป็นชาย” ที่ใหญ่คับฟ้า ที่มาร์ลามองทะลุไปได้ในเพียงปราดเดียว โรมันถูกครอบงำด้วยอารมณ์ได้ง่ายกว่ามาร์ลาเสียอีก ในขณะที่มาร์ลาสงบนิ่งแม้จะถูกจับตัวไปสอบปากคำ โรมันก็หัวเสียและงุ่นง่าน และใช้กำลังในการแก้ปัญหาแบบตรงๆ จนทำให้ลูกน้องต้องซวยตามกันไปหมด

เราอาจนิยามฝันของมาร์ลาว่าเป็นฝันแบบอเมริกันจ๋าก็ย่อมได้ เพราะเธอเป็นคนที่กระหายทั้งความสำเร็จและสถานะทางสังคม และเธอไม่ได้สนใจว่าเธอจะเหยียบหัวใครบ้างในการไต่ระดับครั้งนี้ หนึ่งในองค์ประกอบของฝันแบบอเมริกันก็คือ “โอกาส” และมาร์ลาก็เป็นนักฉวยโอกาส ที่ใช้ทั้งประโยชน์จากความเด็ดเดี่ยวของตัวเอง และกระบวนการทางกฎหมายที่มีช่องโหว่ในการสร้างความสำเร็จให้แก่ตนเอง เธอยืนอยู่ในขั้วของปัจเจกนิยม แต่เธอใช้กลไกรัฐที่มีความนิยมกลุ่ม (collectivism) ในการจัดการกับคนแก่ที่ไร้ทางสู้ น่าสนใจว่า ในการออกคำสั่งพาคนแก่เหล่านั้นไปอยู่ในบ้านพักของคนชรา รัฐกำลังมองตัวเองเป็น “ผู้จัดการควบคุมที่หวังดี” ที่ทำหน้าที่ “คิดแทน” คนแก่เหล่านั้น ด้วยเห็นว่าพวกเขาเป็นสมาชิกของสังคมที่ต้องถูกแทรกแซง มาร์ลาเข้าใจดีกลไกรัฐทำงานเช่นไร และเธอก้าวมาสู่พื้นที่ปลอดภัยขณะที่ปล่อยให้กลไกรัฐที่ไม่มีอะไรเหมือนกับเธอเลยจัดการกับเหยื่อ

ดูเหมือนเราในฐานะคนดูจะเคลิ้มไปกับความฝันแบบอเมริกันในพื้นที่สีเทาไปกับมาร์ลาอยู่เหมือนกัน ตอนท้ายเรื่องที่ทุกอย่างพลิกล็อคและดูน่าตื่นเต้นไปหมด เราก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าชีวิตของมาร์ลานั้นเจ๋งเอามากๆ และอดรู้สึกตลกตามไปไม่ได้กับการที่ชะตาชีวิตของมาร์ลาพลิกไปเกินกว่าที่เราคาดไว้ ในกระแสสำนึกหนึ่ง เรามีความเป็นอาชญากรและอยากเอาเปรียบคนอยู่ในตัว แต่กฎเกณฑ์ทางสังคมก็ห้ามเราไว้ไม่ให้ทำตามความอยากนั้น เราจึงปลดปล่อยไปกับหนังที่ตัวละครสามารถทำทุกอย่างได้ตามใจ และนั่นทำให้เส้นแบ่งระหว่าง “การหาบทเรียน” และ “การยกชู” พฤติกรรมอันร้ายกาจของตัวละคร อยู่ในพื้นที่ที่เป็นสีเทาเอามากๆ จนเรานึกสงสัยตัวเองได้อยู่เหมือนกัน


ดู I Care a Lot ได้ทาง Netflix

‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ การบันทึกภาวะจิตใจอันแตกสลาย ของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์

จากเหตุการณ์เก็บผลงานศิลปะนักศึกษาไปทิ้งของผู้บริหารในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จนเรื่องบานปลายไปถึงการตั้งคำถามถึงว่า “ศิลปะ คืออะไร?” ในห้วงเวลาเดียวกันนี้ เราก็เห็นการใช้งานศิลปะเพื่อแสดงจุดยืนหรือพูดถึงประเด็นทางการเมืองอย่างกว้างขวางในโลกโซเชียลมีเดีย นั่นทำให้เรายิ่งตระหนักว่า ศิลปะคือส่วนหนึ่งที่แนบติดไปกับชีวิตผู้คน ในการแสดงออกทางความคิดในเรื่องราวต่างๆ จนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

เช่นเดียวกัน ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ คนทำงานศิลปะแนววิดีโออาร์ต ผู้สะท้อนความโกรธเกรี้ยวที่มีต่อประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย ผ่านผลงานที่ผลิตมาต่อเนื่องกว่าทศวรรษ โดยเฉพาะ ‘ภูเขาไฟพิโรธ’ A Ripe Volcano (2011) นิทรรศการวิดีโอและเสียงจัดวาง (installation art) ที่แม้จะเป็นบันทึกความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์รัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 แต่ผ่านมาสิบปี งานชิ้นนี้ก็ยังคงถูกนำไปจัดแสดงในที่ต่างๆ ทั่วโลก

คำถามและความรู้สึกเหล่านั้นของไทกิ ถูกส่งต่อเนื่องมาถึงหนังยาวเรื่องแรกของเขาอย่าง ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ The Edge of Daybreak ที่เพิ่งเปิดตัวครั้งแรกในสายประกวดหลักของเทศกาลหนังนานาชาติร็อตเตอร์ดาม 2021 แล้วคว้ารางวัล FIPRESCI Award มาได้สำเร็จ

‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ คือหนังขาว-ดำที่เล่าเรื่องราวของครอบครัวหนึ่ง ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์ ไล่เรียงมาตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 จนมาถึงช่วงเหตุรัฐประหารปี 2549 ผ่านตัวละครหญิงสาว 3 รุ่น

กระนั้น นี่ไม่ใช่หนังการเมืองที่เล่ามันออกมาอย่างตรงไปตรงมา เพราะมันคือการร้อยเรียงบันทึกทางการเมืองจากหลากหลายแหล่งที่มา ที่ถูกเบลอทับไปด้วยบันทึกความรู้สึกส่วนตัว ที่ต้องเผชิญหน้ากับความเป็นความตายของสมาชิกหลายคนในครอบครัวของตัวไทกิเอง ที่ต่อเนื่องกินเวลายาวนานร่วมทศวรรษของเขา

ย้อนไปที่งาน installation art อย่าง ‘ภูเขาไฟพิโรธ’ ที่เผยแพร่มาตั้งแต่ 10 ปีก่อน และยังเป็นงานที่ได้รับความสนใจอยู่จนถึงปัจจุบัน อยากรู้ว่าคุณรู้สึกอย่างไร

จริงๆ นัยสำคัญที่ยังทำให้ตัวงานชิ้นนี้ มันยังถูกมาจัดแสดงเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน คือมันยังเกี่ยวข้องกับสภาวะปัจจุบัน ทั้งๆ ที่มันผ่านมาสิบปี ปัญหาก็ยังยืดเยื้อเรื้อรัง ผมว่า ‘ภูเขาไฟพิโรธ’ มันพูดถึงปัญหาที่มันเกิดขึ้นภายใน..ภายในอารมณ์ สภาพจิตใจ ที่มันสะท้อนถึงสังคม สภาวะทางด้านการเมือง คือให้มองไปอีกสิบปีข้างหน้า งานชิ้นนี้ก็ยังเมคเซ้นต์อยู่ ปัญหาอย่างที่ทุกคนรู้ ว่าทางการเมืองมันไม่เสถียร 

แต่ว่านั่นคือมุมมองของผมในฐานะคนทำนะ เพราะความรู้สึกของคนดูกับคนทำมันคนละแบบอยู่แล้ว คือผมดูมันมาไม่รู้กี่รอบ แต่ก็ยังดูได้อยู่นะ หรือแม้แต่ตอนที่ผมทำหนัง ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ เมื่อมองกลับไปที่ตัวงาน ‘ภูเขาไฟพิโรธ’ สิ่งที่เรายังรู้สึก​กับงานชิ้นนี้อยู่คือเรื่อง “เสียง” เพราะนี่คืองานชิ้นแรกที่ผมทำกับ ยาสุฮิโร โมริทากะ (Yasuhiro Morinaga ซาวด์เอนจิเนีย และนักออกแบบเสียงชาวญี่ปุ่น เป็น Music Director หรือผู้ทำดนตรีประกอบให้ ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’) คือเสียงที่เขาทำให้งานชิ้นนี้มันพิเศษมาก คือสิบปีผ่านไปมันยังสดใหม่อยู่เลย ผมยังค้นหาจากมันได้ คือในฐานะคนทำผมก็รู้สึกมีความสุขที่ทำงานชิ้นนี้กับเขา แล้วก็ได้ร่วมงานกันยาวนานมาก สิบปีก็ยังทำงานด้วยกันอยู่ การเดินทางแล้วก็ได้เจอผู้ร่วมงานที่การมีมิตรภาพมันสำคัญกับผมมากๆ

ในหนัง ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ ทำไมถึงเลือกสำรวจสภาวะทางจิตใจ ที่มีต่อเหตุการณ์ทางการเมือง ผ่านช่วงเวลายาวนานตั้งแตในอดีต 14 ตุลา 16 จนมาถึงช่วงเหตุรัฐประหารปี 2549

ผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องบันทึกความรู้สึก บันทึกทัศนคติ พยายามถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาด้วยสื่อภาพยนตร์หรือภาพเคลื่อนไหว สำหรับผมมันเป็นสิ่งที่ต้องทำ

ที่นี่พอสเกลการทำงานมันใหญ่ขึ้นมาสำหรับผม แล้วก็จะได้ร่วมงานกับคนที่เก่งมากๆ หลายคน ที่เขาจะมาช่วยเนรมิตสิ่งที่เขียนออกมาได้ และด้วยความยาวของมัน วิธีการที่ผม approach งาน มันก็คล้ายกับงานแบ็คกราวด์ในการทำงานที่ผมเคยทำ 

อย่าง “ธีม” ของงานชิ้นนี้ คือธีมสำหรับผมมันสำคัญมาก ยกตัวอย่าง ‘ภูเขาไฟพิโรธ’ ธีมของมันมาจากเพลงของ ริชชาร์ท วากเนอร์ (Richard Wagner) ที่ชื่อ “Tristan und Isolde” คือคอร์ดเริ่มต้นของโอเปร่าชิ้นนั้น ซึ่งภาษาทางดนตรีเขาเรียกคอร์ดชุดนั้น ว่า dissonant chord หรือมันไม่คลี่คลาย ก็คือมันอธิบายสถานการณ์ที่พระเอกกับนางเอก ก็คือตัว Tristan กับ Isolde ไม่สามารถลงรอยทางความสัมพันธ์ได้ สิ่งที่วากเนอร์ทำ เขาเลยคิดโมทีฟอันนี้ที่เรียกว่า harmonic suspension คือท่วงทำนองมันถูกกดทับ มันจะค่อยๆ crescendo (ไต่ระดับ) ขึ้นไป แต่ทุกครั้งที่พอจะถึงไคลเม็กซ์ มันจะลดลงทุกครั้งเลย ซึ่งในงาน ‘ภูเขาไฟพิโรธ’ มันก็ถูกคิดขึ้นบนความรู้สึกโดยยึดธีม harmonic suspension จนกลายเป็นหัวใจของตัวเนื้องานที่ออกมา

จนมาถึงหนัง ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ ผมก็ยังนิสัยเดิม คือธีมของมันคือ paralysis หรืออัมพาต ในการตีความของผมตอนเขียนบท แน่นอนว่าสภาวะอัมพาต ถ้าเป็นทางร่างกายมันคือการถูกจองจำ ร่างที่ขยับเขยื้อนไม่ได้ อย่างในหนังมันก็จะมีตัวละครที่มีสภาวะนี้อยู่ หรือแม้กระทั่งเสียงที่พยายามจะพูดออกมา แต่ไม่ว่าเปล่งออกมาเป็นเสียงไม่ได้ แล้วผมก็นึกถึงไปจนภาวะอัมพาตทางอารมณ์ ทางจิตใจ พอผมได้ธีมนี้ปุ๊บ มันก็สอดคล้องกับสิ่งที่ผมจะเล่า

ต่อมาผมก็มองไปถึงสิ่งที่ผมสนใจ คือผมสนใจในลักษณะของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น landscape ทางกายภาพ หรือ landscape ภายในจิตใจ มันเป็นอะไรที่ผมต้องสำรวจ คือพอธีมเหล่านี้มา ผมก็รู้เลยว่ามันจะเล่าเรื่องราวของครอบครัวครอบครัวหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์บางอย่างที่มันสำคัญมาก อย่างเหตุการณ์สำคัญที่มันเห็นได้ชัดเจนที่สุดในหนัง มันก็คือพลังของธรรมชาติ ในที่นี่มันก็คือสุริยุปราคา แต่ด้วยความที่เรามาจากสายทดลอง เราก็คิดว่าสุริยุปราคาในความสนใจของเรา มันไม่ใช่สุริยุปราคาที่มันมองเห็นด้วยตา แต่มันคือสุริยุปราคาที่เกิดขึ้นในใจ เป็นสภาวะทางอารมณ์ รู้สึกได้ มันก็เลยมีอำนาจบางอย่างที่มาควบคุมความเป็นอัมพาตของตัวละครในเรื่องด้วย

ผมได้อ่านจากบทสัมภาษณ์ของคุณจากงานนิทรรศการล่าสุด Until the Morning Comes เมื่อปีก่อน เลยทราบว่า ในช่วงที่ผ่านมาชีวิตส่วนตัวก็มีเรื่องราวของการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว มันมีผลกับการพัฒนาโปรเจ็กต์ ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ มากแค่ไหน?

แน่นอน อย่างหนึ่งคือ ไม่ว่าเราจะรีเสิร์ชข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ 6 ตุลา จนมาถึงรัฐประหารปี 2549 ซึ่งมันกินเวลา 30 ปี แล้วแรงบันดาลใจมันมาจากบทบทหนึ่งในหนังสือ ‘สันติปรีดี’ ของ อ.ชมัยภร แสงกระจ่าง ที่เขียนถึงครอบครัวของ อ.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งตอนที่ผมอ่านมันกระทบกับเรามาก มันเล่าถึงช่วงเวลาที่ทหารบุกมาที่บ้านของ อ.ปรีดี ช่วงกลางดึกแล้วท่านก็ตัดสินใจกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาหนีออกไป ซึ่งจังหวะนั้นทหารก็ยิงปืนเข้ามาในบ้าน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาของท่านก็ตะโกนออกไปว่า “หยุดยิง ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก”

คือผมสนใจในลักษณะที่ว่า เหตุการณ์ทางการเมืองมันทำให้ครอบครัว หน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมมันต้องแตกแยก การต้องลี้ภัยของ อ.ปรีดี หรือในแง่ความเป็นแม่ของท่านผู้หญิงพูนศุขที่ต้องการปกป้องครอบครัว มันเชื่อมโยงกับชีวิตส่วนตัวเราได้ อย่างตัวแม่ผมที่ต้องต่อสู้ทางกายภาพหลังจากการผ่าตัด ต่อสู้กับความเจ็บป่วย คือหนังเองมันมีความเป็นส่วนตัวมากนะ แต่ในลักษณะคนทำหนังอย่างผม เราก็จะบอกแค่เท่าที่เป็นไปได้ แต่จะไม่บอกชัดขนาดส่วนไหนของหนังบ้างที่เป็นเรื่องส่วนตัว หรือไม่ส่วนตัว สิ่งที่เราจะทำคือ การทำให้สิ่งที่เรารีเสิร์ชมาทั้งหมด กลายมาเป็น ‘หนังของผม’ ให้ได้ คือเราไม่ได้ทำหนัง biopic หรือหนังที่ว่าด้วยเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ตรงไปตรงมาขนาดนั้น ดังนั้นความเป็นส่วนตัวมันจึงสำคัญมาก มันคือเรื่องส่วนตัวที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งที่ใหญ่มากอีกที เราต้องทำให้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มัน relate กับคนที่เคยผ่านสภาวะที่แตกหักของคนในครอบครัวได้ เพราะสุดท้ายถ้าให้เราทำหนัง biopic แบบตรงไปตรงมา ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจจะทำอยู่ดี

จริงๆ มันมีความบังเอิญอย่างนึงคือ ด้วยความที่เราอ่านหนังสือหลายเล่มมากจนจำคนเขียนไม่ได้ แล้ว ทิพย์ (ทิพย์วรรณ นรินทร หนึ่งในผู้ก่อตั้ง SOITIP Casting หน่วยค้นหานักแสดงเจ้าประจำในหมู่คนทำหนังอิสระไทย) ก็ดันแคสติ้ง อ.ชมัยภร มาเป็นตัวละครหนึ่งในเรื่อง ซึ่งผมก็ไม่ได้บอกใครเรื่องหนังสือ ‘สันติปรีดี’ ด้วย จนตัวอาจารย์ได้อ่านบท เขาก็ไม่แน่ใจว่าจะรับแสดงไหมนะ คือเขามาออดิชั่น มาลองอ่านบท ซึ่งเราก็อยากได้คนนี้มาเล่น ก็เลยขอทิพย์ว่าอยากลองโทรคุยกับอาจารย์ ว่าทำไมผมถึงอยากได้เขามาแสดง อาจารย์ก็ถามว่าแรงบันดาลใจของผมคืออะไร เหมือนที่คุณถามเลย ก็เล่าไปแบบนี้เลย จนอาจารย์ถามว่า ใช่หนังสือ ‘สันติปรีดี’ หรือเปล่า? ใช่ครับ อาจารย์รู้ได้ไง อาจารย์ก็ตอบว่าฉันเป็นคนเขียนเอง ซึ่งอาจารย์เขาอยากลองเล่นนะ เพราะว่าไม่เคยแสดงมาก่อนเลย

สิ่งที่คุณอยากจะสื่อก็คือ สำหรับเราการเบลอเรื่องส่วนตัวของตัวเรากับเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ มันทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากเรื่องเล่ามันไปไกลกว่า การเล่ามันออกมาอย่างตรงไปตรงมาหรือเปล่า?

มันก็คือสิ่งที่เราทำมาตลอด 10 ปี เราพูดถึงประวัติศาสตร์มาโดยตลอด เพียงแต่มันไม่มีการบรรยายประกอบ หรือเสียงของผู้เล่าเรื่อง ไม่งั้นผมก็คงไปทำสารคดีดีกว่า มันคือการทำตามลักษณะและความถนัดของตัวคนทำอะครับ

พูดถึงการสำรวจ landscape ในหนัง ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ พื้นที่ทั้งสามพาร์ตหลักในหนังมีลักษณะร่วมกันบางอย่าง เช่นความรกร้าง ไม่เรียบร้อย หรือแม้แต่การใช้สถานที่อย่างโรงฆ่าสัตว์ เพราะอะไรหรือครับ?

พอหนังมันพูดถึงการล่มสลายในบริบทต่างๆ ทั้งในเชิงการล่มสลายของครอบครัว หรือการล่มสลายทางสภาวะจิตใจของนางเอก ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Mental breakdown พอธีมมันว่าด้วยสิ่งนี้ พื้นที่มันเลยมีความหมายมากกว่านั้น มันกลายเป็นพื้นที่ของประสาทรับรู้ละ ประสาทรับรู้ของตัวละครในเรื่องนี้มันสำคัญมาก พื้นที่เหล่านี้เลยถูกจำลองมาจากประสาทรับรู้ของตัวละคร เป็นภาพสะท้อนมาจากสภาวะจิตใจของตัวละครอีกที

นอกจากการจำลองสภาพจิตใจของตัวละครออกมาเป็นภาพแล้ว บรรดา Sound Design และดนตรีประกอบในเรื่อง ก็มีหน้าที่ในลักษณะเดียวกันด้วยหรือเปล่า?

ก็อาจจะตีความไปในลักษณะนั้นได้ แต่คืออย่างนี้ ผมว่าความเป็นตัวของตัวเองในการทำหนังมันสำคัญมาก แน่นอนว่าคนดูอาจจะคุ้นกับ (นิ่งคิด) ความเงียบ หรือ Sound Design ที่มันตอบรับตามความเป็นจริงไปหมด

มันอาจจะเป็นแบบนี้ คือหลังจากเราทำบทเสร็จ เตรียมจะถ่ายทำ เราก็ส่งบทไปให้ ยาสุฮิโร อ่าน อ่านเสร็จแล้วก็ได้ประชุมกัน คุยกัน ความชอบของผม ผมชอบหนังญี่ปุ่นของ ผกก.Hiroshi Teshigahara มาก เช่น Woman in the Dunes (1964) Pitfall (1962) Antonio Gaudi (1984) The Face of Another (1966) รวมถึงหนังที่เขาทำกับ Masaki Kobayashi อย่าง Kwaidan (1965) หรือเรื่อง Pale Flower (Masahiro Shinoda, 1964) ซึ่งหนังทั้งหมด คนที่ทำดนตรีประกอบคือชื่อ Tōru Takemitsu เป็นอาวองการ์ด คอมโพสเซอร์ ซึ่งผมกับยาสุฮิโร ชอบงานของเขามาก แล้วตอนเขียนบทก็รู้สึกว่าเสียง Sound Design แบบนั้นมันเหมาะมาก คือมันข้ามไปถึงสิ่งที่เรียกว่า Musique concrète (หมายถึงงานประพันธ์ดนตรีที่ใช้เสียงทั่วไป ไม่ได้ใช้เสียงดนตรี) หรือว่า Electroacoustic เสียงที่มันเป็น ambient แต่มันกลายเป็น Instrument แล้วมันสะท้อนถึงอารมณ์และจิตใจของตัวละครในนั้น

ซึ่งก็คงเหมือนกับสื่งที่คุณ (ผู้สัมภาษณ์) สังเกตเห็นผ่าน Landscape ของหนังเรื่องนี้ ว่ามันคือการสะท้อนภาวะข้างในตัวละครออกมาให้เห็นข้างนอก ซึ่งนั่นก็เป็นหนึ่งในหัวข้อที่เราคุยกับยาสุฮิโรในตอนนั้น แต่เขาจะทำอะไรมาให้ก็เป็นเรื่องของเขาละ ซึ่งแน่นอนด้วยความที่รู้จักและทำงานด้วยกันมานาน เขาเลยสามารถทำอะไรบ้าง ที่มันไปในทิศทางนั้นได้

แม้แต่กระทั่งตอนเรามิกซ์เสียงกับ ริศ – อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร (sound designer ของหนังเรื่องนี้ ที่คอหนังอิสระน่าจะคุ้นเคย เพราะได้เข้าชิงรางวัลทางภาพยนตร์ของไทยแทบทุกปี) อย่างนึงที่ผมรู้สึกก็คือ ตัวผมต้องตื่นเต้นกับมัน หมายถึงผมเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ว่าถ้าดูหนังเรื่องนี้ในโรง ต่อให้อีกกี่ครั้งก็ตาม จะสิบปียี่สิบปีข้างหน้า ผมต้องยังรู้สึกตื่นเต้นกับมันอยู่ คือมันต้องไปเลเวลนั้น แบบที่เราไม่นึกเสียดายเมื่อย้อนมาดูมันในอีกสิบปีข้างหน้าว่า ทำไมเราต้องประนีประนอมกับมัน เราไม่อยากรู้สึกแบบนั้น

ริศ – อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร

ทำไมเราถึงยึดมั่นกับความรู้สึก “ตื่นเต้น” ที่แม้จะไปดูหนังเรื่องนี้สักกี่ครั้งในอีกหลายปีข้างหน้าก็ตาม

คือนอกจากเราเป็นคนทำแล้ว เราเองก็มีฐานะเป็นคนดูด้วย ดังนั้นเราไม่อยากจะรู้สึกว่า เราไม่ได้ทำมันอย่างที่เราคิด จินตนาการออกมาจริงๆ หรือเราไป hold back มัน ประนีประนอมมันเพราะกลัวว่าคนดูจะหนวกหูไป หรือดูแล้วไม่เข้าใจมัน อะไรพวกนั้นเลย คือมันต้องเป็นไปแบบที่เราจินตนาการไว้ 100% แล้วพอเราเอามันกลับมาดู เราได้มีความสุขกับการดูงานเก่าๆ อยู่

ใน ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ ยังมีบริบทของการเล่าเรื่องผ่าน “อาหาร” ทั้งในรูปแบบของฉากการรับประทานกันในครอบครัว หรือแม้แต่การ “ฆ่า” เพื่อนำมาทำอาหาร ทำไมถึงมีฉากเหล่านี้ในหนัง

ผมนึกถึง 2 เหตุการณ์ที่เราจำได้ อันนึงคือ ตอนที่ ทักษิณ ชินวัตร กลับมาขึ้นศาลที่ไทย (ปี 2551) แล้วพักที่โรงแรมเพนนินซูล่า กลับมาถึงเขาก็สั่งก๋วยเตี๋ยวเนื้อร้านโปรดของเขามากิน อีกอันนึงก็คือตอนเราไปที่ อนุสรณ์สถาน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ลพบุรี มันก็มีห้องห้องนึง คือห้องอาหาร ในนั้นมันก็จะมีโมเดลอาหารปลอมที่จอมพล ป. ชอบกิน มีแกงมัสมั่น มีของหวานที่เขาชอบ คืออะไรที่เป็นเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้มันเป็นรายละเอียดที่ทำให้เป็นมนุษย์มากขึ้น การได้กินอาหารร่วมกับครอบครัวเป็นมื้อสุดท้ายก่อนที่จะไม่ได้เจอกันอีกกี่ปีไม่รู้ หรือก่อนที่อนาคตซึ่งไม่แน่นอนรออยู่ข้างหน้า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผมชอบให้มันอยู่ในงาน ไอ้ความเล็กน้อยเหล่านี้ มันกลับมีความหมายสำคัญมาก

หรืออย่างซีนเตรียมวัตถุดิบที่ว่ามีการฆ่าเหล่านั้น จริงๆ แล้วมันไม่ใช่อาหารสำหรับมนุษย์นะ มันคืออาหารสำหรับวิญญาณนะ คือมันมีทั้งอาหารที่คนกิน และอาหารที่เซ่นไหว้ภูติผีและก็บรรพบุรุษ ซึ่งในหนังก็มีซีนที่มีไดอะล็อคพูดถึงเรื่องนี้อยู่ด้วยซ้ำ คือจริงๆ มันก็มีความหมายมากกว่านั้น แต่ผมชอบการที่คนดูได้ดูและตีความมัน มันคือความสนุกนะ

เพราะอะไรงานที่ผ่านมาของ อ.ไทกิ ถึงสนใจในการสำรวจ สภาวะทางอารมณ์อันโกรธกริ้ว หรือเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและความตายอยู่บ่อยครั้ง

ผมว่ามันก็คือประสบการณ์ส่วนตัวที่เราประสบพบเจอมาตลอด มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะเอามาใส่ในงานของเรา ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับความตาย เรื่องของความมืด ความเศร้า การพลัดพรากลาจาก มันเป็นสิ่งที่ซึบซับเข้าไปในงาน ถึงไม่ตั้งใจก็เหมือนตั้งใจ คือเรารู้สึกยังไงก็ต้องถ่ายทอดออกมาอย่างนั้น

ในอนาคตถ้า ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ ได้ฉายในไทย เราคาดหวังกับฟีดแบ็กของหนังจากผู้ชมคนไทยอย่างไรบ้าง

ไม่ใช่แค่กับคนไทยนะ ตั้งแต่ตอนพรีเมียร์หรือแม้แต่ตอนที่ทำเสร็จ คือเราพยายามทำให้มันดีที่สุด คือความคาดหวังมันก็อาจจะมีบ้าง แต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญมากขนาดนั้น เพราะสิ่งที่อยู่ในหนังมันคือความหมกมุ่นส่วนตัวมากๆ เลยนะ ความที่เราถ่ายทอดอะไรที่มันส่วนตัวมากๆ ออกมา ถ้าคนดูเขาฟีดแบ็กมันกลับมาจาก ว่ามันกระทบหรือมีความรู้สึกกับสิ่งที่เราแชร์มันออกไป มันเป็นอะไรที่ดีมากๆ เลยนะ

แต่สิ่งนี้ แม้แต่สื่อต่างประเทศก็ถามเหมือน คือเขาอยากรู้ว่าคนดูชาวไทยจะรู้สึกยังไงกับหนังเรื่องนี้ จริงๆ ผมก็สนใจประเด็นนี้นะ เพราะตอนนี้เราก็สอนอยู่ที่ ICT ศิลปากร ปีที่สอง เด็กอายุประมาณ 19-20 ซึ่งในรุ่นล่าสุดซึ่งจริงๆ ก็สอนมาหลายปีมาก แต่รุ่นนี่เขามีทัศนคติบางอย่าง มีพลังบางอย่างที่ผมไม่เคยเจอ มันมีพลังที่ใหม่มาก มีความกล้า มีความบริสุทธิ์ มันดูมีความหวัง แล้วอันนี่เป็นสิ่งที่ผมตื่นเต้นว่า คนที่ดูหนัง โดยเฉพาะกับเยาวชนรุ่นปัจจุบันนี้ เขาจะรู้สึกอย่างไร มันจะท้าทายพลังของพวกเขาไหม คือพอเวลาที่มันมีหนังที่ไม่ได้เล่าตามขนบทั่วไป ซึ่งหนังเหล่านี้มีพื้นที่น้อยมากในไทย แต่ส่วนตัวผมจะไม่ชอบคาดหวังกับสิ่งที่มันควบคุมไม่ได้นะ

สุดท้ายผมอยากรู้ว่า อ.ไทกิ มีวิธี life balance ชีวิตในการทำทั้งงานประจำ และงานส่วนตัวอย่างงานศิลปะอย่างไรบ้าง

จริงๆ มันก็ไม่ต้องบาลานซ์จัดการอะไรนะ ก็คือทำไปเรื่อยๆ ซึ่งผมว่าการที่เราทำแบบนั้นได้มันคือความโชคดี หมายความว่ายังได้ทำสิ่งที่เรามีความสุขกับมัน ยังได้ทำสิ่งที่เราสนใจ มีอิสระในการทำ โดยที่ไม่มีใครมาบอกว่าสิ่งนี้ทำได้หรือไม่ได้

ความสุขอย่างหนึ่งของผมคือ ประสบการณ์ในการทำงานมันสำคัญมากๆ อย่างในขณะที่เราทำงานเชิงทดลอง เราก็สามารถออกไปทำมันคนเดียว ออกไปสำรวจสถานที่ที่ผมสนใจ ไปซึมซับอยู่กับพื้นที่ตรงนั้นเป็นเวลานาน แล้วใช้กล้องเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอด ได้คุยกับตัวเอง มันเป็นรู้สึกที่ดีในขณะนั้น

จนมันข้ามมาถึง วันนึงมีคน 50 คนมาช่วยเรา มันก็เป็นความสนุกที่เราได้ถ่ายทอดสิ่งที่เราคิดมา แล้วได้แชร์กับคนมากมาย แล้วพวกเขาก็ใช้ทักษะความสามารถของเขามาสนับสนุนความคิดของเรา คือการได้ร่วมงานกับคนเหล่านี้มันสนุกและทำให้เกิดงานชิ้นนี้มากได้

ทีเซอร์ ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’

Agnes V. & J. Demy. : ความรักของ Agnes Varda

เธอเป็นคนพูดเก่ง กว้างขวาง ชอบรู้จักคน เป็นสาวเบลเยียมเชื้อสายกรีกผมทรงเห็ดร่างเล็ก อดีตช่างภาพนิ่งผู้ผันตัวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก ‘La Pointe Courte’ (1955) ส่วนเขาเป็นคนขี้อาย ถ่อมตัว ไม่ชอบพูด เป็นชายหนุ่มร่างสูงผอมผู้ในวัยเด็กหลบเข้าไปในโลกของละครหุ่น แอนิเมชั่นวาดมือ ภาพยนตร์ 9.5 mm Pathé ที่ถ่ายกันกับเพื่อนๆ เพื่อหนีจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จนเกิดเป็นความรักในภาพยนตร์ชั่วชีวิต

ทั้งสองดูต่างกันราวฟ้ากับเหว แต่เมื่ออานเญส วาร์ดา (Agnes Varda) และ ฌาคส์ เดอมี (Jacques Demy) พบกันเป็นครั้งแรกที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นแห่งหนึ่งในเมืองตูร์ส (Tours) ในปี ค.ศ. 1958 ทั้งสองคนก็ชอบพอกันและย้ายมาอยู่ด้วยกันในปีถัดมา ราวกับว่าทั้งคู่ได้พบขั้วตรงข้ามของตัวเองที่มาเติมเต็มกันและกัน จนเกิดเป็นตำนานความรักแห่งวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศสที่อยู่ยงคงกระพันไม่แพ้ตำนานรักในวงการภาพยนตร์อื่นๆ

จากเรื่อง Agnes Varda Tells A Sad and Happy Story (2008)

ณ บ้านเลขที่ 15 ถนนดาแกร์ (Daguerre) กรุงปารีส นักทำภาพยนตร์ทั้งสองพบว่าตัวเองกลายเป็นสมาชิกของกลุ่มคลื่นลูกใหม่ French New Wave ที่เปลี่ยนวงการภาพยนตร์ในยุโรปและทั่วโลกไปตลอดกาล วาร์ดาเล่าไว้ในภาพยนตร์สารคดีของเธอเรื่อง Beaches of Agnes (2008) ว่าหลังภาพยนตร์เรื่อง Breathless (1960) ของฌอง-ลุค โกดาร์ด (Jean-Luc Godard) โด่งดังเป็นพลุแตก ฌอร์เฌส เดอ โบเรอการ์ด (Georges de Beauregard) โปรดิวเซอร์ของโกดาร์ดก็ถามเขาว่า “รู้จักเพื่อนคนไหนอยากทำหนังง่ายๆ ถูกๆ อีกบ้างไหม” โกดาร์ดเลยเสนอชื่อของเดอมีไป จนเดอมีได้ทำ Lola (1961) ภาพยนตร์ขนาดยาวผลงานแจ้งเกิดของเขา และก็เป็นโบเรอการ์ดเช่นเดิมที่ถามเดอมีว่า “มีใครแนะนำอีกไหม” เดอมีจึงเสนอชื่อของวาร์ดาไป จนเธอได้โอกาสทำภาพยนตร์เรื่อง Cleo from 5 to 7 (1962) และกลายเป็นสมาชิกหญิงคนเดียวของวงการ French New Wave ในที่สุด

ทั้งสองแต่งงานกันในปี 1962 และรับโรซาลี (Rosalie) ลูกติดจากความสัมพันธ์ก่อนหน้าของวาร์ดากับอองตวน บูร์เซย์เยอร์ (Antoine Bourseiller) นักแสดงในภาพยนตร์สั้นยุคแรกๆ ของเธอเป็นลูกบุญธรรม

ในขณะที่ความสัมพันธ์ส่วนตัวของทั้งสองแนบแน่น ทั้งสองกลับแยกงานออกจากชีวิตคู่ส่วนตัวอย่างน่าสนใจ ทั้งสองไม่เคยทำหนังร่วมกัน เดอมีเคยพูดไว้ในคลิปสัมภาษณ์ที่ปรากฏในสารคดี The World of Jacques Demy (1995) ว่า “(สำหรับผม) การทำงานสร้างสรรค์มันเป็นกิจกรรมส่วนตัวมากๆ พวกเราต้องไม่มาก้าวก่ายกันและกัน” ในขณะที่วาร์ดาเองก็เคยเล่าไว้ว่า “เวลาเขาออกกอง ฉันก็แค่แวะเวียนไปถ่ายรูปเบื้องหลังให้บ้างเป็นบางคราว ส่วนเวลาเขามาเยี่ยมกองถ่ายฉัน เขาก็แค่มายืนให้กำลังใจเงียบๆ แต่แค่นั้นก็พอแล้วสำหรับฉัน พวกเราไม่ยุ่งเรื่องงานของกันและกัน” 

ณ บ้านเลขที่ 5 ถนน Daguerre กรุงปารีส บ้านของทั้งสองแบ่งเป็นสองฝั่งด้วยตรอกเล็กๆ ระหว่างกลาง ที่ฝั่งหนึ่งเดอมี อาจจะกำลังแต่งเพลงกันกับมิเชล เลอกรองด์ (Michel Legrand) นักแต่งเพลงคู่ใจ ในขณะที่อีกฝั่งบ้าน วาร์ดาอาจจะกำลังถ่ายหนังสั้นในสตูดิโอของเธออยู่ แล้วเมื่อเวลาเย็นมาถึง ทั้งสองก็วางงานไว้ที่แต่ละฝั่งบ้าน แล้วกลับมาเจอกันที่ตรอกตรงกลางในฐานะคู่รักอีกครั้งกันสองคนอีกครั้ง หรือกับผองเพื่อน French New Wave ที่มักแวะเวียนมาหาทั้งสองเป็นประจำ

บ้านเลขที่ 5 ถนน Daguerre จากเรื่อง The Beaches of Agnès (2008)

ลักษณะภาพยนตร์ของทั้งสองเองก็แตกยอดกันไปคนละทาง ทั้งสองคนทำหนังเรื่องความสัมพันธ์กันทั้งคู่ แต่เดอมีเน้นการนำความทรงจำจากวัยเด็กมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ที่ยั่วล้อกับขนบภาพยนตร์ฮอลลีวูดกระแสหลัก จากหนังดราม่าชีวิตรักนักพนันอย่าง Bay of Angels (1963) สู่สองภาพยนตร์ musical สุดโรแมนติกในตำนานอย่าง The Umbrellas of Cherbourg (1964) ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างชาติยอดเยี่ยมและคว้าปาล์มทองจากเทศกาลภาพยนตร์เมือง Cannes ได้ในปีเดียวกัน และ The Young Girls of Rochefort (1967) ที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ตัวละครในภาพยนตร์แต่ละเรื่องของเขามักแวะเวียนไปโผล่ในเรื่องอื่นๆ จนเกิดเป็นจักรวาลหนังเดอมีที่เต็มไปด้วยตัวละครผู้โหยหาความรักจากเรื่องสู่เรื่อง ส่วนวาร์ดาเองมุ่งไปทางตรงกันข้ามด้วยการทำภาพยนตร์หลากหลายแนว ทั้งหนังสารคดี เช่น Salut les Cubains (1964) หนังดราม่าเล็กๆ แต่ร้าวลึกอย่าง Le Bonheur (1965) ที่เล่าความพังทลายของชีวิตคู่รักวัยรุ่น และหนังดราม่าทดลองกึ่งสารคดีอย่าง The Creatures (1966) บนเกาะนัวร์มูติเยร์ (Noirmoutier) ที่ทั้งสองซื้อโรงสีเก่าไว้เป็นบ้านพักตากอากาศของครอบครัว โดยทุกเรื่องมีจิตวิญญาณของความเป็นหนังทดลองกึ่งสารคดีอยู่ในตัว ในสไตล์ที่เธอเรียกว่า ‘ซิเนคริฌูร์’ (‘cinécriture’) ที่มาจากคำว่า cinéma และ écriture แปลได้ง่ายๆว่า ‘writing on film’

จากเรื่อง The Beaches of Agnès (2008)

ชะตาชีวิตของทั้งสองคนเปลี่ยนผันอีกครั้งเมื่อความสำเร็จของภาพยนตร์เพลงทั้งสองของเดอมีไปเตะตาสตูดิโอ Columbia Pictures ในฮอลลีวูด โคลัมเบียยื่นข้อเสนอให้เดอมีย้ายไปลอส แองเจลิส เพื่อทำภาพยนตร์อะไรก็ได้ให้กับสตูดิโอ ครอบครัวเดอมีเลยย้ายถิ่นฐานไปแอลเอในปี 1968 ไปอยู่ในคฤหาสน์หลังย่อมแห่งหนึ่งในเบเวอร์ลี่ ฮิลส์ (Beverly Hills) ที่ห้อมล้อมไปด้วยดาราและคนทำหนังทั้งวงการฮอลลีวูด 

และเช่นเคย ชะตาชีวิตของทั้งสองในอเมริกาต่างพุ่งไปกันคนละทาง 

ทั้งคู่มาถึงลอส แองเจลิสในปลายทศวรรษที่ 1960 ในช่วงที่กระแสต่อต้านทุนนิยมของบุปผาชน การเรียกร้องสิทธิของคนผิวสี และการต่อต้านสงครามเวียดนามแพร่สะพัดไปทั่วสหรัฐอเมริกา เดอมีพยายามฉีกภาพลักษณ์ของคนทำหนังสีลูกกวาด และสร้างหนังดราม่าจริงจังที่ถ่ายทอดอารมณ์ของความขัดแย้งและสิ้นหวังของสังคมอเมริกันผ่านภาคต่อของ Lola อย่าง Model Shop (1969) ที่เล่าเรื่องราวชีวิตตกอับของ Lola หลังย้ายมาอเมริกาจนต้องทำงานเป็นนางแบบถ่ายรูปโป๊เปลือยหลัง ‘ร้านโมเดล’ แต่เคราะห์ร้าย เดอมีที่ตั้งใจวางดาราหนุ่มหน้าใหม่คนหนึ่งที่ชื่อแฮร์ริสัน ฟอร์ดให้รับบทนำกลับถูกสตูดิโอบอกว่าฟอร์ด “ไม่มีอนาคตในวงการ” และบังคับให้เขาเลือกแกรี่ ล็อควูด (Gary Lockwood) นักแสดงที่เพิ่งเริ่มมีชื่อจากเรื่อง 2001: Space Odyssey (1968) เป็นพระเอก การแสดงแข็งโป๊กของล็อควูด บวกกับความคาดหวังของผู้ชมและนักวิจารณ์ที่ต้องการให้เขาทำภาพยนตร์โรแมนติกเหมือนสองเรื่องก่อนหน้า ทำให้ภาพยนตร์ดราม่าสุดดาร์คของเดอมีได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่ลบจากทุกสำนักและเจ๊งสนิท เป็นการดับอนาคตของเดอมีในฮอลลีวูดไปโดยปริยาย

ตรงกันข้ามกับสามีของเธอ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เธอได้เห็นที่แอลเอเป็นแรงบันดาลใจใหม่ให้วาร์ดาเปลี่ยนแนวทางการทำภาพยนตร์ของเธอจากภาพยนตร์ดราม่าธรรมดา ไปสู่ภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยประเด็นทางสังคม เธอร่วมสร้างภาพยนตร์รวมเรื่องสั้นการเมืองอย่าง Far from Vietnam (1967) สารคดีสั้นที่บันทึกการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวสีอย่าง Black Panthers (1968) และภาพยนตร์ขนาดยาวที่เน้นประเด็นความเสรีภาพทางเพศอย่าง Lions Love (… and Lies) (1969) ที่เป็นต้นแบบของผลงานที่เต็มไปด้วยประเด็นสังคมและความสัมพันธ์ที่กลายเป็นลายเซ็นของวาร์ดามาจนถึงปัจจุบัน 

ครอบครัวเดอมีกลับมาที่ฝรั่งเศส 2 ปีให้หลังในปี 1969 ทั้งสองพบว่า ระหว่างที่ทั้งคู่อยู่ในแอลเอ สังคมฝรั่งเศสเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ภาวะการประท้วงสงครามเวียดนามและระบบชนชั้นในฝรั่งเศสที่แพร่สะพัดไปทั่วประเทศในปี 1968 ที่ต่อมาคนฝรั่งเศสเรียกขานว่า ‘May 68’ ทำให้คนฝรั่งเศสหันมาตื่นตัวในประเด็นการเมืองกันอย่างเข้มข้น นักทำหนัง French New Wave หันไปทำหนังการเมืองกันเนืองแน่น เช่นโกดาร์ดที่ทำภาพยนตร์สนับสนุนระบอบคอมมิวนิสต์เหมาอย่าง La Chinoise (1967) หรือ Tout va bien (1972) ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ (François Truffaut) ที่ทำ Baisers Volés (1968) และคริส มาร์คเกอร์ (Chris Marker) ที่ทำ A bientot, j’espere (1968) ออกมา    

วาร์ดาเองก็เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม French New Wave ที่กระโดดเข้าร่วมกระแสทางการเมืองอย่างเต็มตัว การประท้วงในปี ‘68 ทำให้เกิดกระแสการเรียกร้องสิทธิสตรี (Mouvement de libération des femmes) ทั่วฝรั่งเศส วาร์ดาเป็นหนึ่งในผู้ลงนามใน ประกาศ ‘The Manifest of the 343’ (Le Manifeste des 343) ที่นักปรัชญาชื่อดังอย่างซิโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) ร่างขึ้นเพื่อประท้วงกฎหมายการทำแท้งในฝรั่งเศสในปี 1971 จนทางรัฐบาลยอมแก้กฎหมายในอีก 4 ปีให้หลัง การตื่นตัวในเรื่องสิทธิสตรีของวาร์ดาลามมาสู่ผลงานภาพยนตร์ของเธอ จนทำให้เกิดผลงานขึ้นหิ้งที่สนับสนุนสิทธิผู้หญิงอย่าง One Sings, the Other Doesn’t (1977) และการก่อตั้งบริษัทซิเน-ตามารีส์ (Ciné-Tamaris) ขึ้นเพื่อดูแลการผลิตผลงานภาพยนตร์ของเธออย่างครบวงจร 

ตรงกันข้าม เดอมีกลับหันหลังให้กับโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย แล้วหันไปดัดแปลงนิทานที่เขาเคยชอบในวัยเด็กให้เป็นภาพยนตร์ จนเกิดเป็นผลงานอย่าง Donkey Skin (1970) และ The Pied Piper (1972) และภาพยนตร์ดัดแปลงการ์ตูนมังงะจากญี่ปุ่นร่วมกับบริษัท Toho อย่าง Lady Oscar (1979) ที่แม้จะเป็นที่รักของเด็กๆ ในยุคนั้น แต่ในยุคที่คนฝรั่งเศสกำลังตื่นเต้นกับเรื่องราวสังคมรอบตัว ภาพยนตร์เพ้อฝันของเดอมีกลายเป็นผลงานที่มาผิดที่ผิดเวลา แม้ต่อมาเขาจะพยายามทำภาพยนตร์ที่พูดเรื่องสิทธิผู้หญิงผ่านภาพยนตร์ตลกเรื่องผู้ชายท้องอย่าง A Slightly Pregnant Man (1973) และสิทธิแรงงานใน A Room in Town (1982) แต่ก็สายไปเสียแล้ว เดอมีกลายเป็นคนทำหนังตกยุค และไม่มีผลงานที่ประสบความสำเร็จเท่าผลงานในยุครุ่งเรืองของเขาอีกเลย 

ถึงความก้าวหน้าทางการงานของทั้งสองคนจะแตกต่างกัน แต่ดูเหมือนว่าเรื่องราวความสัมพันธ์ในครอบครัวของทั้งสองจะยังคงแน่นแฟ้นตลอดไป วาร์ดามีลูกชายชื่อ มาธิเออ เดอมี (Mathieu Demy) กับสามีของเธอในปี 1972 ในขณะที่โรซาลี ลูกสาวรับหน้าที่ช่วยงานด้านคอสตูมในภาพยนตร์ของพ่อเธอหลายเรื่อง

มาธิเออ เดอมี และ โรซาลี วาร์ดา จากเรื่อง The Beaches of Agnès (2008)

แต่แล้วความสัมพันธ์อมตะของสองสองสมาชิก French New Wave ก็ถึงคราวสะดุดในปี 1979 เมื่อทั้งสองแยกทางกัน จบความสัมพันธ์ฉันท์คู่รักยาว 30 ปีท่ามกลางความตะลึงงันของคนในวงการ

สำหรับคนที่เล่าเรื่องชีวิตของตัวเองหลายครั้งจนแทบทุกส่วนของชีวิตเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป วาร์ดาเก็บความขัดแย้งในชีวิตคู่ของเธอเป็นความลับยิ่งยวดจนวันตาย เธอไม่เคยยืนยันเห็นหลักฐานว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ทั้งสองแยกทางกัน แต่ข้อมูลบางแหล่งเชื่อว่าทั้งสองแยกทางกันก็เพราะว่าเดอมีไปมีคนอื่น

เชื่อกันว่า มือที่สามคนนี้คือชายชาวอเมริกันนามเดวิด บอมบิค (David Bombyk) ที่เดอมีเจอเป็นครั้งแรกในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง Lady Oscar ในปี 1979 ในฐานะ story editor หนุ่มผู้กลายมาเป็นโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์ฮอลลีวูดขึ้นหิ้งหลายเรื่องเช่น Witness (1985) และ The Hitcher (1986) ในหลายปีให้หลัง

เดวิด บอมบิค Photo Credit

ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร วาร์ดาก็หอบเอามาธิเออลูกชายคนเล็กหนีไปพักใจที่ลอส แองเจลิสนานสองปี เธอบันทึกช่วงชีวิตนี้ไว้ในภาพยนตร์เรื่อง Documenteur (1981) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผกก.ภาพยนตร์หญิงชาวฝรั่งเศสที่หย่าขาดจากสามี ร่อนเร่ไปคนเดียวในลอส แองเจลิส   

วาร์ดากลับมาฝรั่งเศสสองปีให้หลังในปี 1981 เธอกลับมาที่บ้านเลขที่ 5 ถนน Daguerre แล้วก็ต้องแปลกใจเมื่อเธอพบว่าเดอมีอาศัยอยู่ในบ้านตรงข้ามกัน เช่นเดิม วาร์ดาไม่เคยออกมาพูดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของทั้งสองในช่วงนี้ แต่สิ่งที่แน่ชัดก็คือ ถึงแม้ทั้งสองจะแยกกันอยู่ วาร์ดาและเดอมีก็ไม่เคยหย่าขาดจากกันอย่างเป็นทางการ 

ทางด้านการงาน ช่วงนี้เป็นช่วงที่วาร์ดาผลิตผลงานชิ้นโบแดงที่คว้ารางวัลสิงโตทองจากเทศกาลภาพยนตร์เวนิซอย่าง Vagabond (1986) และภาพยนตร์ท้ากรอบศีลธรรมอย่าง Kung-Fu Master (1988) ที่เจน เบอร์กิน (Jane Birkin) รับบทหญิงวัยกลางคนที่ตกหลุมรักกับเด็กชายอายุ 14 ที่รับบทโดยมาธิเออลูกชายของเธอเอง ในขณะที่เดอมีถอยจากโลกนิทาน กลับไปสู่ภาพยนตร์มิวสิคัลที่เขาถนัด เช่นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงตำนานกรีกเรื่องออร์เฟอุส (Orpheus) เป็นมิวสิคัลเพลงร็อกอย่าง Parking (1985) (ที่ตัวเอกเป็นไบเซ็กชวล เป็นครั้งแรกในภาพยนตร์ของเดอมีที่มีตัวละคร LGBT ชัดเจน จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นครั้งแรกที่เดอมียอมรับเพศสภาพของตัวเองอย่างชัดเจนหลังแยกจากวาร์ดา) ภาพยนตร์ที่อุทิศให้ชีวิตของนักร้องชื่อดังแห่งยุคสมัยอย่าง อีฟ มองตอง (Yves Montand) อย่าง Three Seats for the 26th (1988) และหนังที่แอบย้อนอดีตกลับไปเล่าเรื่องราววัยเด็กของเดอมีผ่านตัวละครนักวาดการ์ตูนแอนิเมชั่นอย่าง Turning Table (1988) แต่ในโลกภาพยนตร์ฝรั่งเศสที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของนักทำหนังยุคใหม่ที่เน้นสไตล์เหนือเนื้อเรื่องอย่างลุค เบซง (Luc Besson) และ เลโอ คาราซ์ (Leos Carax) ภาพยนตร์สไตล์คลาสสิคทั้งสามของเดอมีเลยถูกมองข้ามและขาดทุนย่อยยับอย่างน่าเศร้า

เดอมีกลับมาสู้อ้อมอกของวาร์ดาอีกครั้งในปี 1989 หลังเดวิด บอมบิคเสียชีวิต เดอมีที่กลายเป็นผู้กำกับตกยุคในอายุ 58 และวาร์ดาที่กลายมาเป็น ‘หม่อมแม่’ ของกลุ่ม French New Wave ในอายุ 61 กลับมาเป็นคู่รักกันอีกครั้งหลัง 9 ปีให้หลัง ในรูปถ่ายจากช่วงนี้ ทั้งสองดูมีความสุขเต็มที่ ราวกับทั้งสองไม่เคยแยกจากกัน ราวกับทั้งคู่กลับไปเป็นคู่รักวัยหนุ่มสาวอีกครั้ง  

แต่แล้วช่วงเวลาดีๆ ของทั้งสองก็ถูกตัดสะบั้นเมื่อข่าวร้ายมาเยือน เดอมีป่วยหนักและมีเวลาเหลืออยู่อีกไม่มาก 

ในช่วงแรก ครอบครัวเดอมีพูดกับสื่อว่าเดอมีเสียชีวิตเพราะเนื้องอกในสมอง จนหลายปีให้หลัง วาร์ดาจึงออกมายืนยันว่า เดอมีเสียชีวิตเพราะโรคเอดส์ น่าสังเกตว่า เดวิด บอมบิคเองก็เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์เช่นกัน 

ใช้ห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิต เดอมีใช้เวลาในแต่ละวันวาดรูปบนสตูดิโอชั้นสองของบ้าน แต่ละรูปย้อนกลับไปยังช่วงชีวิตในอดีตที่เขาประทับใจ ภาพป้าย STOP จากเมืองลอง แองเจลิส และคนหาปลา ณ​ ชายหาตเกาะ Noirmoutier เรียงรายบนผนังห้อง เขาเขียนเรื่องราววัยเด็กของเขาเพื่อหวังพิมพ์เป็นหนังสือวันละสองสามหน้าและชวนวาร์ดามานั่งอ่านด้วยกันทุกเย็น 

จนวันหนึ่ง วาร์ดาก็ถามเขาว่า “ทำไมเราไม่ทำมันเป็นหนังล่ะ” 

เดอมี่ตอบเธอทันควัน “เธอทำสิ ฉันไม่มีแรงแล้ว”

จากเรื่อง The Beaches of Agnès (2008)

และแล้วในขวบปีสุดท้าย คู่รักที่แยกการงานออกจากชีวิตส่วนตัวกันมาตลอดชีวิตก็ยอมเป็นส่วนหนึ่งในงานของกันและกันในที่สุด ปี 1990 วาร์ดานำเรื่องราววัยเด็กของสามีมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง Jacquot de Nantes (1993) สองสามีภรรยากลับไปที่บ้านเก่าของเดอมีในเมืองนองต์ (Nantes) บ้านเกิด ถ่ายทำตามสถานที่ต่างๆ ที่สามีใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างมีความสุข วาร์ดาทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้สามีได้ใช้ชีวิตวัยเด็กผ่านผลงานของเธออีกครั้งก่อนเสียชีวิต จนออกมาเป็นภาพยนตร์ที่เล่าชีวิตวัยเด็กแสนสุขของเดอมี เด็กผู้ชายผู้หลบเข้าไปในโลกของละครหุ่น แอนิเมชั่นวาดมือ และภาพยนตร์เพื่อหนีจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัดสลับกับฉากต่างๆ จากภาพยนตร์ของเดอมี ที่สร้างจากความทรงจำวัยเด็กของเขา และภาพสุดท้ายของเดอมี ที่ผมหงอกเทา ผิวกายเต็มไปด้วยรอยแผลจากโรคเอดส์ และแววตาของเขาที่แม้จะฝ้าฟางแต่ยังคงเปี่ยมไปด้วยความขี้เล่นของเด็กชายคนนั้นเมื่อ 50 ปีก่อน และความรักที่เขายังมีให้กับภรรยาจวบจนวินาทีสุดท้าย  

ฌาคส์ เดอมีเสียชีวิตลงในวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1990 สิริอายุรวม 59 ปี หลังภาพยนตร์ถ่ายจบได้ 10 วัน

นับแต่นั้นมา Varda ไม่เคยรักใครอีก เธอยังคงสวมแหวนแต่งงานที่นิ้วนางข้างซ้าย และเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของเธอกับเดอมีผ่านภาพยนตร์ที่เธอทำหลายเรื่องนับแต่นั้นมา ตั้งแต่สารคดีที่เล่าเรื่องผลงานของสามีเธออย่าง The World of Jacques Demy (1995) และผลงานระลึกเรื่องราวชีวิตของเธอเองอย่าง The Beaches of Agnes (2008) พร้อมดูและเผยแพร่ผลงานของสามีด้วยกันกับโรซาลี ลูกสาวของเธอผ่านบริษัทภาพยนตร์ Ciné-Tamaris ของวาร์ดา

แต่แล้วในช่วงปีสุดท้ายของชีวิต เธอก็เลือกที่จะกำกับภาพยนตร์กับคนอื่นเป็นครั้งแรกในชีวิต กับศิลปินกราฟฟิติชายที่เด็กกว่าเธอกว่า 40 ปีอย่าง JR ในเรื่อง Faces Places (2017) 

จากเรื่อง Faces Places (2017)

เช่นเดิม เธอไม่เคยออกมาพูดว่าทำไมเธอถึงเลือกที่จะทำภาพยนตร์เรื่องนี้กับ JR อาจจะเป็นเรื่องของอายุ อาจจะเป็นเพราะเธออยากหาความท้าทายใหม่ๆ แต่ผู้เขียนสันนิษฐานว่า น่าจะมีอะไรบางอย่างในตัว JR ที่ทำให้เธอนึกถึงสามีของเธอ เด็กขี้เล่นจากเมือง Nantes คนนั้นที่ทำภาพยนตร์เพื่ออยากให้โลกใบนี้มีความสุขมากขึ้นอีกนิดผ่านผลงาน จนเธอเลือกที่จะทำภาพยนตร์เรื่องนี้คู่กับเขา  

อานเญส วาร์ดา เสียชีวิตในวันที่ 29 มีนาคม 2019 ด้วยโรคมะเร็ง อายุ 90 ปีถ้วน ศพของเธอฝังอยู่ที่สุสานมองต์ปาร์นาส (Montparnasse) ในกรุงปารีส ในหลุมเดียวกันกับสามีของเธอ ผู้ที่เธอรักตราบจนวินาทีสุดท้าย

“Tombe de Jacques Demy et Agnès Varda au cimetière du Montparnasse.” by Français from Wikimedia Commons

ปัจจุบันผลงานของทั้งเดอมีและวาร์ดาอยู่ภายใต้การดูแลของโรซาลี ผู้ก้าวขึ้นมาบริหารบริษัท Ciné-Tamaris เต็มตัว ในขณะที่มาธิเออเป็นนักแสดงและผู้กำกับที่ลอส แองเจลิสเต็มตัว และคอยแวะเวียนมาช่วยงานพี่สาวบ้างเป็นครั้งคราว 


ในตอนท้ายของ Jacquot de Nantes วาร์ดาค่อยๆ เดินเข้าไปหาเดอมีที่นั่งอยู่บนหาดทรายของเกาะ Noirmoutier เกาะที่เป็นแหล่งพักร้อนของทั้งสอง ระหว่างเดินเข้าไปหาสามี เธออ่านบทกวีของ ฌาคส์ เพรแวรต์ (Jacques Prévert) นักกวีที่สามีของเธอรักมาตั้งแต่วัยเด็ก บทกวีนั้นชื่อ ซาเบลอส์ มูวองต์ (Sables Mouvant) หรือ ‘ทรายดูด’ มีเนื้อความว่า

Démons et merveilles

Vents et marées

Au loin déjà la mer s’est retirée

Et toi

Comme une algue doucement caressée par le vent

Dans les sables du lit tu remues en rêvant

Démons et merveilles

Vents et marées

Au loin déjà la mer s’est retirée

Mais dans tes yeux entrouverts

Deux petites vagues sont restées

Démons et merveilles

Vents et marées

Deux petites vagues pour me noyer.

Devils and Wonders

Winds and tides

The sea has receded far from the shore

and you, 

like seaweed gently caressed by the wind. 

In the sands of your bed,

you drift as you dream.

Devils and Wonders

Winds and tides

The sea has receded far from the shore,

But in your half-open eyes

There are still two tiny waves,

Devils and Wonders

Winds and tides,

Two tiny tears

Two tiny waves,

To drown myself in

แล้วเธอก็หยุดกล้องที่ใบหน้าของสามีของเธอ ผู้มองกล้อง ก่อนเหลือบไปมองทะเลตรงหน้า

ภาพสุดท้ายของเดอมี จากเรื่อง Jacquot de Nantes (1991)

ตัดมาอีกที เขาก็หายไปแล้ว 

และในตอนนี้เธอผู้ถือกล้องในวันนั้นก็หายไปแล้วเช่นกัน

แต่ในฝากฝั่งทะเลที่ไหนซักแห่ง ณ หาดทรายที่เป็นแค่ของพวกเขาสองคน เธอผู้เป็นคนพูดเก่ง กว้างขวาง ชอบรู้จักคน และเขาเป็นที่คนขี้อาย ถ่อมตัว ไม่ชอบพูด ยังคงรักกันไปจนตราบชั่วนิรันดร์ ในความทรงจำของพวกเราผู้รักในงานของฌาคส์ เดอมี และอานเญส วาร์ดา

The Dig ถึงคุณที่อยู่ในตอนนี้และอีกหลายร้อยปีข้างหน้า

ถึงพวกคุณที่กำลังอ่านงานเขียนชิ้นนี้ในปี 2021 และอีกหลายร้อยปีนับจากนี้

โดยเฉพาะพวกคุณที่อยู่ในอนาคตอันห่างไกล ในวันที่พวกคุณเจอข้อเขียนชิ้นนี้ บนโลกยังมีคำถามอยู่หรือเปล่าว่าคนเราจะเรียนประวัติศาสตร์ไปทำไม นักศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดียังถูกถามอยู่ไหม ว่าเรียนจบไปแล้วต้องไปไล่ขุดดินหาของเก่าหรือเปล่า คงคงไม่ตลกเท่าไร หากมุกฝืดๆ แบบนี้มีอายุยืนยงอยู่ได้หลายร้อยปี แค่ในช่วงชีวิตผมมันก็เชยสุดๆ แล้ว

สิ่งที่ผมเขียนอยู่นี้ไม่ได้มีคุณค่าทางวรรณกรรมมากมายนัก ณ ขณะที่ผมมีชีวิตอยู่ แต่หากมันยังหลงเหลือไปถึงศตวรรษถัดไป มันอาจจะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งก็ได้ นี่คือการร่วมมือกันอย่างแปลกประหลาดของกาลเวลาและวิชาประวัติศาสตร์ สิ่งที่ดูเหมือนไม่มีความหมายในวันนี้กลับมีความหมายที่ต่างออกไปในอีกช่วงเวลาหนึ่ง

ในปี 1938 ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะปะทุขึ้น นักขุดซากโบราณคดีมือดีผู้ไม่มีใบปริญญารับรองนามว่าบาซิล บราวน์ เดินทางไปยังซัฟฟอล์ก ย่านชนบทเล็กๆ แห่งหนึ่งในอังกฤษตามคำชวนของเศรษฐีนีหม้าย อีดิธ พริตตี้ เพื่อขุดเนินดินรกร้างที่เธอและสามีซื้อเอาไว้นานแล้ว ตามคำกล่าวอ้างของคุณนายพริตตี้ เธอและสามีเชื่อว่ามีบางอย่างที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์หลับไหลอยู่ใต้ที่ดินแปลงนี้ บราวน์เองก็เชื่อตามนั้น แต่ความเชี่ยวชาญของเขาบอกว่าคงไม่เหลืออะไรมาก ด้วยเหตุผลใดไม่อาจทราบ บราวน์เชื่อมั่นในตัวเธอถึงขนาดยอมปฏิเสธงานขุดค้นซากอารยธรรมโรมันจากพิพิธภัณฑ์ใหญ่เพื่อรับงานของเธอ ก่อนที่เขาจะพบซากเรือที่บ่งชี้ได้ว่าเนินดินแห่งนี้เป็นสุสานของกษัตริย์ ไม่ใช่หลุมศพคนเถื่อนตามที่คาด ทว่าสงครามโลกใกล้เข้ามาทุกที ทีมนักวิจัยของพิพิธภัณฑ์บริติชจึงเข้ามาแทรกแซงการขุดค้นด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อสงครามเริ่มต้น การค้นคว้าวิจัยใดๆ จะถูกระงับลงทันที และสมบัติของชาติที่อยู่ใต้เนินดินอาจต้องหลับใหลต่อไปอีกหลายสิบปี

นี่คือเรื่องราวของ The Dig ภาพยนตร์ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของจอห์น เพรสตัน ที่ตีพิมพ์ในปี 2007 อิงจากเรื่องราวการค้นพบสุสานใต้เนินดินซัตตันฮู โบราณสถานที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในเกาะอังกฤษที่ถูกค้นพบเพียงไม่นานก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะเริ่มต้น คำถามใหญ่ในเรื่องราวนี้คือ อะไรกันที่ทำให้นักโบราณคดีอย่างคุณนายพริตตี้ บราวน์ และทีมขุดค้นจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติทุ่มเททั้งเวลาและทรัพยากรไปมากมาย ทั้งๆ ที่มันอาจไม่มีความหมายใดๆ เลยต่อชัยชนะของชาติในเวลานั้น

ดูเหมือน “ชัยชนะ” ของแต่ละคนจะต่างออกไปเมื่อพวกเขาตระหนักได้ว่าวาระสุดท้ายของชีวิตอาจมาถึงไวกว่าที่คาด ในสารคดีรวมบทสัมภาษณ์นายทหารอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งของปีเตอร์ แจ็กสัน เรื่อง They Shall Not Grow Old (2018) นายทหารหลายคนให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงท้ายๆ ของสงคราม ทหารที่ไปรบแนวหน้าทั้งสองฝ่ายแทบไม่สนใจแล้วว่าใครจะชนะ พวกเขาต้องการให้มันจบลงโดยเร็วที่สุด สิ่งที่มีความหมายในฐานะทหารของพวกเขาคือการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่พิสูจน์ว่าไม่มีสิ่งใดคุ้มค่าพอจะก่อสงคราม แต่ดูเหมือนว่าโลกคงยังไม่เข้าใจมันมากพอ ไม่กี่ปีหลังจากที่พวกเขากลับบ้าน สงครามโลกครั้งที่สองก็เกิดขึ้น

บราวน์ตระหนักได้ถึงความไม่แน่นอนของชีวิตได้เมื่อจู่ๆ เนินดินที่เขาขุดไว้ก็ถล่มลงมาทับเขาจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด ส่วนอาการป่วยจากโรคประจำตัวของคุณนายพริตตี้ก็ย่ำแย่ลงทุกขณะ รอรี่ ลูกพี่ลูกน้องของเธอที่อาจจะพอฝากให้ช่วยดูแลลูกชายได้ก็เพิ่งสมัครเข้ากองทัพอากาศ ยิ่งการขุดค้นดำเนินต่อไป หลักฐานที่ค้นพบก็ดูจะยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ คำถามที่อยู่ในใจของเธอก็ยิ่งเติบโต ทั้งหมดนี้จะมีความหมายอะไร ในเมื่อชีวิตของคนเราช่างแสนสั้น เธอเองอาจะไม่ได้มีชีวิตยืนยาวพอจะได้เห็นดอกผลของความพยายาม

ในฉากสำคัญของเรื่อง บราวน์ขุดพบเหรียญจากราชวงศ์เมโรแว็งเฌียง อันเป็นหลักฐานว่ากษัตริย์เจ้าของหลุมศพเป็นชาวแองโกล-แซ็กซอนผู้มีอารยธรรม ไม่ใช่คนเถื่อนตามที่คณะขุดค้นสันนิษฐานไว้ หลังจากที่ดีใจได้ไม่นาน คุณนายพริตตี้ก็ตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะยังไม่ยกสมบัติที่ขุดเจอในเนินดินให้กับใครเพื่อเป็นการประกาศต่อพิพิธภัณฑ์บริติชว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นของเธอและบราวน์มากเกินกว่าที่พวกเขาจะสามารถเคลมไปเป็นสมบัติของชาติตามใจชอบ

“ฉันทำถูกแล้วหรือเปล่านะ” คุณนายพริตตี้ถามบราวน์ แน่นอนว่าเธอเองก็รู้สึกว่าสมบัตินั้นไม่ใช่ของเธอ “มันมีเรื่องราวของตัวเองครับคุณนาย เราขุดขึ้นมาเพราะเราอยากรู้เรื่องพวกนั้นเท่านั้นเอง” บราวน์ผู้ต่ำต้อยในสายตานักวิชาการตอบเรียบๆ คำถามนี้ถูกนำกลับมาถามใหม่อีกครั้งหลังจากที่คุณนายพริตตี้ถูกพายุคำถามจากนักข่าวว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับบรรดาของที่ขุดขึ้นมาได้

“คุณนายครับ คนเราไม่ได้เกิดมาแล้วตายไปเฉยๆ อย่างที่พูดกัน เราเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่จะถูกเล่าขานต่อไปเสมอ” บราวน์บอกกับเธอเช่นนั้น

The Dig จึงไม่ใช่เรื่องราวความสำเร็จของนักโบราณคดีกลุ่มหนึ่งที่ต้องต่อสู้กับเวลาที่มีอย่างจำกัด แต่เป็นการฝากร่องรอยของมนุษย์ลงบนเส้นทางประวัติศาสตร์อันแสนยาวไกล ประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้หมายถึงอดีตแต่ยังกินความถึงอนาคตข้างหน้า ผ่านข้าวของ บันทึก ภาพถ่ายหรือแม้แต่ร่องรอยการขุดลงไปในดิน

ในฉากเล็กๆ ฉากหนึ่ง เพ็กกี้ นักโบราณคดีสาวเดินเข้ามาในครัวบ้านพริตตี้และพบภาพที่รอรี่จัดเรียงเอาไว้เพื่อแสดงในวันแถลงข่าว ภาพเหล่านั้นคือภาพที่ถูกบันทึกเอาไว้ตลอดการขุดค้น ในชั้นหนึ่งมันคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่จะดำรงอยู่ต่อไป เธอร้องไห้ออกมาแบบเกินจะกลั้น เพราะเห็นว่าในอีกชั้นหนึ่ง มันคือคำสารภาพว่าเขารู้สึกอย่างไรกับเธอ ผ่านดวงตาและเลนส์กล้องของเขา ประวัติศาสตร์คือเรื่องเล่าของสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วอย่างยาวนาน แต่ในขณะเดียวกัน มันก็มีความหมายในฐานะชั่วเวลาพริบตาเดียวที่เปี่ยมไปด้วยความหมาย

จอห์น เพรสตัน นักเขียนนิยายต้นฉบับเปิดเผยว่าเขาเพิ่งมารู้ไม่กี่ปีก่อนหน้าที่จะลงมือเขียน The Dig ว่าเขาเป็นหลานชายของนักโบราณคดีหญิงที่มีส่วนร่วมในการขุดค้นที่ซัตตันฮู เสี้ยวเล็กๆ เสี้ยวหนึ่งนั้นส่งผลให้เกิดนิยายเรื่องนี้ในเกือบร้อยปีถัดมา

แม้ว่าจะเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ที่สั่นสะเทือนแวดวงวิชาการประวัติศาสตร์อังกฤษ สมบัติแห่งซัตตันฮูก็เพิ่งจะถูกนำออกมาแสดงต่อสาธารณชนเก้าปีหลังจากการเสียชีวิตของอีดิธ พริตตี้ ส่วนบาซิล บราวน์ เพิ่งจะได้เครดิตในฐานะผู้ร่วมค้นพบขุมสมบัติเมื่อปี 2009 ชื่อของเขาปรากฏอยู่เคียงข้างชื่อของคุณนายพริตตี้ในห้องจัดแสดงถาวรที่พิพิธภัณฑ์บริติช

ทุกเรื่องราวอันแสนยิ่งใหญ่ประกอบได้ด้วยคนตัวเล็กๆ มากมาย

เมื่อมองย้อนกลับไปในเวลาไม่นานจากจุดที่ผมเขียนงานชิ้นนี้ มีการต่อสู้ใหญ่น้อยมากมายที่ควรจะถูกประทับไว้บนหน้าประวัติศาสตร์เกิดขึ้นแทบไม่เว้นสัปดาห์ หลายคนได้รับความเจ็บปวดทั้งกายใจ หลายคนถูกพรากอิสรภาพไป มีคนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราทำลงไปนี้จะมีความหมายอะไร ภาวะทุกข์ทนที่พวกเราเป็นอยู่นี้จะจะเปลี่ยนแปลงไปในชั่วชีวิตของเราหรือไม่

แม้จะยังไม่มีทีท่าว่ามันจะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แต่ก็อาจพูดได้ว่าการต่อสู้นี้มีความหมายมากพอแล้วในช่วงนี้

ถึงคุณที่อยู่ห่างออกไปอีกหลายสิบหลายร้อยปีจากนี้ ผมคงไม่อาจรู้ได้แน่ชัดว่ามันประสบความสำเร็จอย่างงดงามหรือไม่ ระหว่างทางนี้จะมีใครทนทุกข์หรือตกหล่นสูญหายไปอีกหรือเปล่า

ได้โปรดอย่าลืมพวกเรา

ขอให้สิ่งที่เราทำลงไปมีความหมายกับคุณ


The Dig มีให้รับชมได้แล้วบน Netflix

เข้าป่าหาขุมทรัพย์ภาพยนตร์ที่ “หนังสั้นมาราธอน 2020” (ตอนที่ 2)

(อ่านตอนที่ 1)

ติดถ้ำ | The Caved Life
(พัฒนะ จิรวงศ์, อุรุพงษ์ รักษาสัตย์, โสภาวรรณ บุญนิมิตร, พีรชัย เกิดสินธุ์, ญาณิน พงศ์สุวรรณ)

ภาพยนตร์สารคดีอำนวยการสร้างโดย Thai PBS ที่ใช้เหตุการณ์นักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าติดถ้ำหลวงเป็นสารตั้งต้น แล้วให้คนทำหนังตอบโจทย์ด้วย 4 สารคดีสั้นที่ต่อยอดจากประเด็นเกี่ยวเนื่องของข่าวใหญ่ระดับโลก เพื่อสะท้อนภาพปัญหาเรื้อรังติดถ้ำของสังคมไทย เซอร์ไพรส์ไม่ใช่เล่นเมื่อทั้งสี่เรื่องไปไกลกว่าที่คิด ทั้งการสำรวจประเด็นและภาษาหนัง (ด้วยศักยภาพที่มีอยู่ หลังเปิดตัวเล็กๆ ที่หนังสั้นมาราธอน หนังไปเปิดรอบพิเศษพร้อมเสวนาที่ House Samyan และเข้าโรง Lido Connect แต่ก็ได้ฉายแค่ 7 วันเท่านั้น – งงเหมือนกันว่าทำไม)

นักฟุตบอลหมายเลข 0 (พัฒนะ จิรวงศ์) เล่าชีวิตของอีกหนึ่งสมาชิกทีมหมูป่าที่ไม่ได้ไปถ้ำหลวงวันนั้น ตอนนี้เพื่อนในข่าวทยอยได้สัญชาติแล้ว แต่เขายังต้องใช้ฝีเท้าดิ้นรนหาลู่ทางเข้าถึงสัญชาติไทย หลังสปอนเซอร์ทีมหมูป่าประกาศยุติการสนับสนุนทีม หนังอาจ “เซ็ตอัพ” เพื่อยิงประเด็นในหลายฉากอย่างจงใจ แต่ก็พาเราเข้าถึงความยอกย้อนของปัญหาคนไร้สัญชาติได้หนักแน่น

น้ำวน (อุรุพงศ์ รักษาสัตย์) ขยับโฟกัสมาที่นาข้าวซึ่งเคยสละผลผลิตให้ทางการปล่อยน้ำในถ้ำหลวงเข้าท่วม หนังไม่ได้เล่าผลกระทบโดยตรงจากคราวนั้น แต่ใช้สายตาเดียวกับ สวรรค์บ้านนา (2009) และ เพลงของข้าว (2014) สอดส่องบันทึก “ถ้ำ” ที่ชาวนาไทยยังต้องติดอยู่ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ฝนฟ้าอากาศ สารเคมี – เพราะไม่ใช่แค่ถ้ำเท่านั้นที่ติดอยู่ แต่ปัญหาทุกอย่างยังเกิดซ้ำเป็นวัฏจักร อย่างระบบน้ำวนที่ชาวนาในเรื่องใช้เพื่อไม่ให้ข้าวฤดูนี้แห้งตายไปเสียก่อน

ปางหนองหล่ม (โสภาวรรณ บุญนิมิตร, พีรชัย เกิดสินธุ์) ขยับออกมาที่ตำนานนางนอนกับประวัติศาสตร์ชุมชนของพื้นที่ชุ่มน้ำที่อาจเกี่ยวพันกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อหลายศตวรรษก่อน และค่อยๆ เผยให้เห็นวิถีชีวิตของคนพื้นที่ ทั้งแบบดั้งเดิมและที่ปรับตัวให้เป็นสมัยใหม่รองรับการท่องเที่ยว รวมถึงวิธีคิดของรัฐต่อการจัดการท้องถิ่น

ใกล้แต่ไกล (ญาณิน พงศ์สุวรรณ) อาจจับประเด็นเบาสุดโดยเปรียบเทียบ แต่ก็เล่าชีวิตเด็กสาวชาวอาข่าที่อยู่ใกล้ถ้ำหลวงได้หลายมิติ ทั้งเรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงกับพื้นที่ และตอบโจทย์ด้วยการติดตามตัวละครซึ่งพาเรื่องกลับไปจบที่ถ้ำหลวงได้พอดิบพอดี

อาจผิดความคาดหวังของคนดูที่คิดว่าจะได้เห็นผลสืบเนื่องของเหตุการณ์ถ้ำหลวงโดยตรง หรือความตื่นเต้นแบบเดียวกับเมื่อครั้งเฝ้าตามข่าวรายวัน แต่ผมก็หวังลึกๆ ให้หนังได้มีบทบาทในเวทีรางวัลหนังไทยประจำปี 2020 บ้าง



Shadow and Act
(ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์)

หนังสั้นปี 2019 ของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ที่เพิ่งเดบิวต์หนังยาวด้วย พญาโศกพิโยคค่ำ หรือ The Edge of Daybreak ในสายประกวดหลักที่ร็อตเตอร์ดาม 2021 ยังคงลายเซ็นอันจัดเจนของเขาไว้ครบถ้วน ทั้งสายตาที่จับจ้องคว้านลึกเข้าไปในสถานที่ การลำดับภาพที่สะท้อนความหมายใต้ชั้นผิวของพื้นที่ และเสียงประกอบ (ผลงานของนักดนตรีคู่ใจ Morinaga Yasuhiro) ขับเน้นบรรยากาศลึกลับชวนเคลือบแคลง – อาจครบถ้วนไปนิดจนขาดความโดดเด่นถ้าเทียบกับหนังสั้นในอดีต (The Age of Anxiety, Time of the Last Persecution, Trouble in Paradise) แต่เรียกว่าคงเส้นคงวาเสมอต้นเสมอปลายก็ได้

ทั้งเรื่องย่อและถ้อยแถลงผู้กำกับจงใจระบุถึงเฉพาะสตูดิโอถ่ายภาพ ฉายาจิตรกร (1940-2012) ซึ่งได้บันทึกภาพเหตุการณ์และบุคคลสำคัญในสมัยสงครามเย็น (ตั้งแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปถึงสฤษดิ์ ธนะรัชต์, ถนอม กิตติขจร) ในฐานะช่างภาพที่ได้รับเลือกจากรัฐไทย ไทกิเรียกที่นี่ว่ากล่องแพนโดร่าที่รอวันถูกเปิดฝา แต่อีกกล่องที่เว้นไว้ให้เราเห็นเองคือสวนสัตว์เขาดิน ซึ่งถูกเล่าผ่านภาพของสัตว์นานาเชื่องช้าซึมเซาในกรงกระจก ไม่นานนักก่อนต้องถูกขนย้ายเมื่อสวนสัตว์ปิดตัวลงตอนสิ้นเดือนกันยายน 2019 – Shadow and Act ไม่ได้พยายามขีดเส้นใต้ให้สัญลักษณ์ความหมายที่ซ่อนอยู่ (ทั้งที่สามารถทำได้) แต่สถานะที่ถูกจับวางข้างเคียงกันของเหล่าสัตว์และภาพถ่ายเขรอะฝุ่น รวมถึงข้อเท็จจริงเบื้องหลังการสิ้นสุดลงของเขาดิน ก็คงเพียงพอแล้วสำหรับผู้ชมจำนวนหนึ่ง

🏆 เข้ารอบสุดท้ายรางวัลรัตน์ เปสตันยี (ภาพยนตร์สั้นระดับบุคคลทั่วไป) 🏆



Prelude of the Moving Zoo
(สรยศ ประภาพันธ์)

อาจกล่าวได้ว่าเส้นใต้ที่ Shadow and Act เลือกละไว้ในฐานที่(พอ)เข้าใจ ย้ายตัวเองมาขีดย้ำอยู่ใน Prelude of the Moving Zoo นี่เอง – หลังเลื่อนกำหนดการมาสักระยะ สวนสัตว์เขาดินก็ถึงคราวต้องปิดบริการเพื่อย้ายสถานที่ตามคำสั่งทางการ สรยศซึ่งเคยมาถ่ายหนังสั้นเรื่องหนึ่งที่นี่ (Death of a Sound Man) เลยถือกล้องไปบันทึกบรรยากาศวันสุดท้ายของเขาดินเหมือนกับอีกหลายๆ คนที่รู้สึกผูกพัน แต่ไม่ได้หวังผลเป็นความทรงจำหอมหวานนอสตัลเจีย เพราะบนจอคือข้อเท็จจริงและอาการแค่นหัวเราะของคนทำหนัง ต่อหน้าชุดเหตุผลที่ไม่มีใครสามารถพูดตรงๆ ได้ว่าทำไมต้องย้ายสวนสัตว์ที่เป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพฯ แห่งนี้ ทำไมวังที่เป็นทั้งโบราณสถานและสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ๆ กันถึงราพณาสูรไปแล้วโดยไม่มีใครออกมาช่วยอนุรักษ์

นกเพนกวินเขาดินโก่งคอรับทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีเวอร์ชั่นบันทึกเสียงครั้งแรกของโลกในสวนสัตว์ที่เยอรมนี เพื่อนคนทำหนังที่อยากถ่ายเขาดินก่อนปิดแต่พบว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนได้รับคำสั่งห้ามพูดกับสื่อหรือกล้องในทุกกรณี ข่าวปิดเขาดินในทีวีที่พูดเลี้ยวไปหลบมา และแผนที่ดาวเทียมพร้อมข้อมูลเขตแดนว่าตอนนี้ที่ดินของสวนสัตว์กับละแวกบริเวณใกล้เคียงกลายเป็นของใคร แล้วเจ้าของใหม่อยากได้ที่ดินตรงนี้ไปทำโปรเจกต์ไหนต่อ – เสียดายเล็กน้อยที่ว่าหนังถูกคิดและทำเสร็จตั้งแต่ก่อนจุดเปลี่ยนสำคัญของการชุมนุมการเมือง (เวิลด์พรีเมียร์ที่ร็อตเตอร์ดามต้นปี 2020) เสียงแค่นหัวเราะกับเส้นใต้ขีดย้ำคำตอบประเด็นหลักของเรื่องเลยดูยั้งมือหยั่งเชิงอยู่บ้าง



น้ำอมฤต | Elixir of Immortality
(วัชรพงษ์ ภูคำ)

หนังสั้นความยาวเพียง 9 นาทีครึ่งเรื่องนี้ เป็นผลงานของนักศึกษาภาพยนตร์ที่ทำขึ้นเพื่อส่งอาจารย์ในรายวิชา ตลอดทั้งเรื่องไม่มีอะไรมากไปกว่าภาพเคลื่อนไหวขาวดำที่บันทึกกระบวนการล้างอัดภาพถ่ายใบหนึ่งในห้องมืดตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ด้วยสายตาอย่างคนทำหนังที่แหลมคม วัชรพงษ์เห็นทะลุว่าพลังชนิดไหนที่ทำงานสอดคล้องเสริมพลังให้ภาพกับประเด็นที่เขาต้องการสื่อสาร ทั้งด้วยคำตอบอันคมคายที่ค่อยเฉลยตัวตนทีละน้อยอย่างมีจังหวะจะโคน และบรรยากาศคลุมเครือที่เชื้อเชิญให้นึกถึงหนังสั้นหลายเรื่องในอดีตของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์

น้ำอมฤต ซึ่งตำนานเล่าขานว่าสามารถมอบชีวิตอมตะ ความเยาว์วัย หรือฟื้นสร้างตัวตนใหม่ให้ชีวิตที่ประสบพบเจอกับความตาย ไม่ใช่เพียงเรื่องเล่าปรัมปรา หากปรากฏสำแดงฤทธิ์เดชชวนสะพรึงในคราบของเหลวประจำวิชาชีพ น้ำยาเคมีที่ถูกใช้ในกระบวนการผลิตซ้ำภาพถ่าย – ภาพถ่ายบุคคลในท่านั่ง ห่มจีวรสำรวม สวมแว่นสายตากันแดด ประทับใจคุ้นตาคนไทยมาช้านาน หนึ่งในไอค่อนของภาพพอร์เทรตสัญชาติไทยที่ยืนยงมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ภาพที่สัมพันธ์แน่นแฟ้นกับบริบทประวัติศาสตร์การเมืองที่ก่อเกิดตัวมันเอง ชวนเชื่ออย่างสุภาพแนบเนียน และกำลังถูกฟื้นสร้างผลิตซ้ำใหม่ในอ่างเหล็กนองน้ำอมฤต คืนสู่ความเป็นอมตะ (?) โดยไม่จำเป็นต้องมีลมหายใจ

หนังการเมืองเรื่องนี้กระชับ เรียบง่าย แต่ร้ายลึก

ดูได้ที่:



คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า | Rampage of Hunters
(อนันต์ เกษตรสินสมบัติ)

สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์เร่ร่อนคืออีกกลุ่มตัวละครยอดนิยมที่มักปรากฏตัวในหนังสั้นที่ถ่ายทำแบบง่ายๆ ไม่ว่าจะเพราะหมาแมวนกหนูของคนทำหนังนั้นแสนจะน่ารัก หรือเพราะบังเอิญเห็นตอนพวกมันทำอะไรตลกๆ เลยถ่ายเก็บไว้แล้วเอามาตัดเป็นหนัง – คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า ของ อนันต์ เกษตรสินสมบัติ (นักเขียนรองชนะเลิศรางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ ประจำปี 2015) ให้รสชาติที่ต่างออกไป

เข้าใจว่าอนันต์ถือกล้องออกไปถ่ายฝูงสุนัขที่เป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านอยู่แล้ว เข้าใจอีกเช่นกันว่าคงคุ้นเคยและรู้จักนิสัยเจ้าพวกนี้ค่อนข้างทะลุทีเดียว แทนที่หนังจะเป็นแค่อีกหนึ่งบันทึกสัตว์เลี้ยงที่ถ่ายแบบดิบๆ เรากลับได้เห็นการคิดเส้นเรื่องภายใต้ทรัพยากรและข้อจำกัดของบริเวณบ้านอย่างน่าสนใจ เพราะอนันต์ไม่ได้ใช้การฝึกหรือหลอกล่อให้หมาทำแอ็คชั่นตามสั่งต่อหน้ากล้อง (ประเภทวิ่งไปคาบของหรือเข้ามาอ้อน) แต่ใช้เงื่อนไขของสถานการณ์เล็กๆ อย่างการปิดประตูบ้าน บันทึกพฤติกรรมที่คาดเดาได้ของสุนัข (ขุดกำแพง, กัดนู่นนี่) แล้วนำมาสร้างเส้นเรื่องในโปรแกรมตัดต่อ จนได้หนังที่เล่าถึงสัญชาตญาณนักล่ากับการดิ้นรนหาทางออก ซึ่งเปิดช่องให้คนดูปะติดปะต่อเรื่องและการตีความ

ถือเป็นหนังบ้านๆ ที่เซอร์ไพรส์ใช้ได้เลย

ดูได้ที่:



หนังสั้นของ (?) สมเจตน์ มีเย็น

สมเจตน์ มีเย็น มีอาชีพหลักเป็นครู หนังสั้นเกือบทั้งหมดของเขาทำร่วมกับลูกศิษย์วัยมัธยม ขาประจำหนังสั้นมาราธอนเริ่มสังเกตชื่อเขาสมัยสอนประจำที่โรงเรียนดรุณาราชบุรี (ตอนนี้ย้ายโรงเรียนแล้ว) ด้วยจริตติดดินและมุขตลกห่ามๆ ที่ซัดคนดูหน้าหงาย ต่างจากหนังสั้นมัธยมในเทศกาลที่มักเป็นหนังล่ารางวัลแบบทางการ (และมีคาแรคเตอร์แบบเด็กดี พูดประเด็นต่างๆ สอดคล้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คณาจารย์ หรือโรงเรียน) หรือหนังจากโรงเรียนกรุงเทพฯ ที่มีทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ องค์ความรู้ด้านภาพยนตร์ และชีวิตวัยรุ่นที่ถูกยกย่องเป็นกระแสหลัก

บางทีก็ชวนสงสัยว่าหนังสั้นที่มีชื่อสมเจตน์เป็นผู้กำกับคือไอเดียของครูหรือนักเรียนกันแน่ (เป็นด้านกลับของข้อสงสัยต่อหนังสั้นมัธยมที่ดูเป็นผู้ใหญ่มากๆ ว่าทั้งหมดที่เห็นคือความคิดของนักเรียนหรือครู) เพราะแม้จะส่งเทศกาลด้วยชื่อครู เมื่ออัพหนังออนไลน์เขาก็ใช้ชื่อกลุ่มหรือชมรม รวมถึงมุขตลกที่เล่นก็อาจกวนใจคนดูบางกลุ่ม ถ้าคิดว่าครูเป็นคนบอกหรือเขียนบทให้นักเรียนเล่นมุขเหล่านี้ในหนัง ซึ่งระดับความถูกต้องทางการเมืองทั้งในประเด็นเยาวชนและทัศนคติเกี่ยวกับเพศหรือร่างกาย (ล้อเกย์ ล้อคนอ้วน หรือเล่นตลกเรื่องเซ็กซ์แบบเปิดเผยด้วยน้ำเสียงแบบผู้ชาย) ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเดียวกับละครหรือรายการทีวีไทย – บางครั้งก็รู้สึกผิดที่ขำ แต่เรื่องไหนที่ทำแล้วโดนเส้นจริงๆ ก็ขำชนิดน้ำหูน้ำตาไหล

ด้วยลักษณะแบบทำเอามัน ระดับความขำที่หนังจะไปถึงได้ อาจขึ้นกับว่าสมเจตน์จูนติดกับลูกศิษย์ที่เจอมากแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มนักแสดงที่พลิ้วจัดสมัยโรงเรียนดรุณาฯ (ช่วงปี 2011-2012) ต่างเรียนจบแยกย้ายกันไปหมดแล้ว การดูหนังของเขาบางทีเลยต้องเดิมพันว่ามุขนี้จะปังหรือแป้ก – หลังต้องเปลี่ยนกลุ่มลูกศิษย์หลายครั้ง ทั้งด้วยปีการศึกษาและที่ทำงาน หายห่างว่างเว้นหนังสั้นมาราธอนไปหลายปี สมเจตน์กลับมาอีกครั้งด้วยหนังสั้น 14 เรื่องในปี 2020 บางเรื่องก็แป้กหนัก แต่ในที่นี้ขอพูดถึง 3 เรื่องที่ปังจริง

ชีโต๊ส หนังแก๊กหักมุมว่าด้วยไอ้หนุ่มที่อยาก “ชีโต๊ส” แฟนตัวเอง แถมติดหนี้เพื่อนจนโดนแบล็คเมล์ให้ชีโต๊สแฟนมึงให้กูดูหน่อย นึกภาพตามแล้วสุดจะล่อแหลม (อย่าลืมว่าตัวละครเพิ่งอยู่ ม.ต้น) ตอนดูก็รู้สึกล่อแหลมพอๆ กับที่นึกภาพ แต่พอเฉลยเสร็จ คนดูนี่ไม่รู้จะเอาความหน้ามึนของหนังไปลงที่ใครเลย – อ้วนพ่อง กับวีรกรรมล้างแค้นของสาวอ้วนที่ผิดหวังในความรัก จากจุดเริ่มต้นที่ดูเฉิ่มเชยแบบหนังแนวตระหนักรู้คุณค่า (“ทุกคนสวยในแบบของตัวเอง”) หรือเชิดชูความตั้งมั่นในเป้าหมาย (“แค่ลดน้ำหนักถ้าตั้งใจก็ทำได้”) สุดท้ายเวลาผ่านไปไม่ถึง 5 นาที กลายเป็นละครไทยแนวนางร้ายที่เหนือจริงหลุดโลกเซอร์เรียลได้ไงก็ไม่รู้ และ เดี๋ยวกูทำให้มึงดู 2 ที่เริ่มภาคแรกด้วยแก๊งเด็กผู้ชาย (พระเอกเป็นเด็กอ้วน) ขิงกันเรื่องจีบสาว พอขึ้นภาคสองเรื่องจีบหญิงตกไป ตัวละครมานั่งเล่นมุขการเมืองกันแทน แถมเล่นไปเล่นมาก็แสบขึ้นเรื่อยๆ สุดขีดทวิตเตอร์ หัวใจจะวาย กล้ามากเลยนะเธอ

ไม่มีลิงก์ 3 เรื่องที่ปังจริง (โธ่!) แต่ลองดูเรื่องอื่นๆ ได้ที่: https://www.youtube.com/user/somghad/featured


มื้อวานกะคือมื้อนี้ | Yesterday’s Like Today
(วรปรัชญ์ ระบอบ)

กลุ่มสมอง (Samong Group) จากโรงเรียนเจริญศิลป์ศึกษา “โพธิ์คำอนุสรณ์” จังหวัดสกลนคร คืออีกหนึ่งชมรมหนังสั้นรุ่นมัธยมที่มีผลงานต่อเนื่องและเป็นที่จดจำของเหล่าขาประจำหนังสั้นมาราธอนมาหลายปี แม้สมาชิกจะเปลี่ยนรุ่นอยู่เรื่อยๆ ด้วยคาแรคเตอร์ที่โชว์ฝีมือประกวดระดับประเทศได้ แต่ก็มีอารมณ์ขันกับความเป็นธรรมชาติแบบหนังคัลต์อยู่ในตัว – ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มสมองบางส่วนได้ทุนการศึกษาหรือเลือกเรียนต่อด้านภาพยนตร์โดยตรงในระดับมหาวิทยาลัย

ปีนี้กลุ่มสมองไม่มีหนังสั้นร่วมฉายในมาราธอนก็จริง (เสียดายจัง) แต่สารคดีความยาวร่วม 41 นาทีเรื่องนี้ได้บันทึกชีวิตการทำหนังในโรงเรียนผ่านสายตาที่อายุไม่ห่างจากชมรมรุ่นปัจจุบันมากนัก – ต่างจากการสัมภาษณ์ตรงๆ หรือถ่ายทำแบบ behind the scenes อย่างฟีเจอร์เบื้องหลังหนังหรือซีรี่ส์ (ซึ่งถ้ามือไม่แม่น คำถามไม่ดี ก็ยากที่หนังจะสนุกลงตัว) วรปรัชญ์ ระบอบ กลับเลือกเล่าผ่านสายตาจับสังเกตห่างๆ แบบ fly-on-the-wall และทำได้ดีเหลือเชื่อ

วรปรัชญ์เผยมุมชีวิตคนทำหนังรุ่นเยาว์ที่คนนอกอาจไม่เคยรู้ และมักไม่ถูกนับรวมในชีวิตมัธยมกระแสหลัก โดยไม่ได้เน้นความรู้สึกเชิงบวกแบบพื้นๆ อย่างมิตรภาพความสนุกผูกพันหรือความสำเร็จเมื่อผลงานได้รับรางวัลใบประกาศ แต่ค่อยๆ เผยให้เห็นความจริงจังเมื่อหนังสั้นเป็นความหวังของโรงเรียน (สมาชิกชมรมบางส่วนขาดเรียนวิชาอื่นไปถ่ายหนังจนถูกครูยื่นคำขาดเพราะใกล้หมดสิทธิ์สอบ) การประชุมหลังเลิกเรียนหรือช่วงพักเที่ยง (โดดวิชาไหนได้บ้าง ทำเรื่องอะไรส่งโครงการไหน) บรรยากาศในกองถ่าย (เรื่องนี้ใครกำกับ ใครเล่น) และการเป็นลูกมือผลิตสื่อในกิจกรรมตามที่ผู้ใหญ่มอบหมาย (ในหนังเราเห็นพวกเขาตั้งกล้องถ่ายรูปทางการให้นักเรียนใหม่ สมาชิกชมรมหนังสั้นหลายโรงเรียนก็ต้องถ่ายวิดีโอกีฬาสีหรือคลิปโปรโมตโรงเรียนในทำนองเดียวกัน)



คำเป็น คำตาย | Grey Sin
(ภูบดินทร์ เสือคำราม)

ยังตกหล่นคุณสมบัติหนังดีหลายข้อแบบเต็มตา ตั้งแต่ภาพกระตุกสั่นไหวแบบไม่ได้เจตนาแฮนด์เฮลด์ การแสดงที่เล่นไปคนละทิศละทาง และพล็อตเรื่องที่เล่นใหญ่เลยเถิดจนเกือบจะเป็นละครแนวกรรมตามสนอง แต่สิ่งที่ทำให้ คำเป็น คำตาย สะดุดตาท่ามกลางเพื่อนๆ หนังสั้นมัธยม คือการกระโจนเข้าใส่ประเด็นร้อนอย่าง call-out culture (การเรียกร้องให้คนมีชื่อเสียงแสดงออกทางการเมืองอย่างชัดเจนและถูกต้อง) ซึ่งใกล้ชิดอย่างยิ่งกับการเมืองของนักเรียนไทยในช่วงปี 2020 ด้วยน้ำเสียงพร้อมถกแขนเสื้อท้าดีเบท

หนังเริ่มต้นที่สองสาวเพื่อนสนิท คนหนึ่งอินการเมืองกำลังหัวร้อนกับดาราดังที่ทวีตขอเป็นกลางทางการเมืองช่วงประท้วง อีกคนไม่สนใจเท่าไหร่เลยโดนจิกว่าเป็นอิกนอแรนต์ชีวิตดีมีคอนโดหรู พอกลัวถูกเคืองเลยยอมเอาใจเพื่อน ทวีตเมนชั่นว่าถ้าคิดได้แค่นี้ก็ไปตายดีกว่าค่ะ ผ่านไปไม่กี่วันดาราคนนั้นฆ่าตัวตายจริง ทวิตภพเลยเปลี่ยนจุดทัวร์มาลงน้องแถมยัยเพื่อนก็ตีตัวออกห่าง วันหนึ่งไปเมาหลับอยู่ร้านเหล้าเลยเจอที่พักใจเป็นนักศึกษาหนุ่มแว่น ก่อนหนังจะแฟลชแบ็คว่าพี่แว่นคือน้องชายดาราที่ตาย – นั่นคือก่อนที่น้องจะเล่าเวอร์ชั่นเต็มให้เขาฟังว่าตอนนี้ชีวิตกำลังเจออะไรอยู่ แล้วหนังก็เตลิดเปิดเปิงไปจนถึงขั้นมีฉากรุมโทรมในสลัม…

ดูจบแล้วไม่แน่ใจว่าภูบดินทร์มีทัศนคติต่อนักเรียนเลว เยาวชนปลดแอก หรือการชูสามนิ้วหน้าเสาธงไปทิศทางไหน แต่จุดยืนที่หนังประกาศได้เข้มแข็งชัดเจนคือการเสียดสีเหล่าคนดีอีกประเภทที่คิดว่าตัวเองถูกต้องก้าวหน้ากว่าคนดีแบบสลิ่มหรือพวกเป็นกลาง เพราะตัวละครที่ต้องรับเคราะห์หนักสุดในเรื่องคือคน “กลางๆ” ที่ถูกคนใกล้ตัวกดดันให้เลือกข้าง (นอกจากเพื่อนนางเอก เจ้าหนุ่มแว่นก็อินการเมืองจัด อยู่ฝ่ายด่าพี่สาวเหมือนชาวทวิต) แถมคนใกล้ชิดพวกนี้เมื่อถึงคราวได้เห็นว่าอีกฝ่ายต้องเจออะไรก็ไม่ได้โทษตัวเอง กลับเบี่ยงเบนความรู้สึกผิดไปลงโทษคนอื่นอีกต่อหนึ่ง – แต่ในขณะเดียวกัน คนกลางที่ถูกกดดันเข้าไปในกระแส ก็ใช่ว่าจะตระหนักรู้ถึงความเพิกเฉยที่ตนเคยมี

🏆 เข้ารอบสุดท้ายรางวัลช้างเผือกพิเศษ (ภาพยนตร์สั้นระดับนักเรียน) 🏆



_อันชอบธรรม | Deleted
(วรรณวิไล อินศรีทอง)

ปีนี้มีหนังสั้นการเมืองที่บันทึกความรู้สึกต่อสถานการณ์สังคมช่วงก่อนม็อบราษฎรเอาไว้ได้น่าสนใจ แต่เมื่อเพดานของประเด็นถูกพังลง บางส่วนที่เคยคมคายก็อาจคลายความเผ็ดร้อนร่วมสมัยไปด้วยบริบทที่เปลี่ยนแปลง เช่น Organic Citizen (พณิตชญช์ พงศ์รพีพร / ลิงก์) กับ Icarua (เจตณัฐ อนันทวณิชชยา / ลิงก์) ที่เสียดสีเผด็จการผ่านภาพแทนอย่างลัทธิชุดขาวกลางป่าและเกมฆ่าในคฤหาสน์ละครไทย, ชง (เปรมอนันต์ พนศิริชัยกิจ) ที่ให้ไอ้หนุ่มรถเข็นกาแฟโบราณตั้งตนเป็นฮีโร่ออกล่าเจ้าสัวขี้ฉ้อ, ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้ (ภวัต กันตวิรุฒ) กับชีวิตหลังออกจากป่าของนักศึกษารุ่นหกตุลา, Long Live… But Not Forever (สิทธิกร นครคำสิงห์) ที่กลับไปใช้กลุ่มคนเสื้อเหลืองเป็นภาพแทนแขนขาอำนาจมืด และ Sorry, We’re Closed (วสุพล สุวรรณจูฑะ) ที่เบลอไทม์ไลน์การชุมนุมเสื้อแดง นกหวีด และรัฐประหาร 2014 รวมกันในคืนเคอร์ฟิวของพนักงานมินิมาร์ตที่ต้องรับมือโจร

แต่เรื่องที่ลงตัวด้านภาพยนตร์มากที่สุด มีเค้าร่างไอเดียร่วมสมัยน่าสนใจที่สุด และจบประเด็นได้น่าเสียดายที่สุดก็คือ _อันชอบธรรม

วรรณวิไล อินศรีทอง ขับเคลื่อนหนังด้วยการสวมรอยสองรูปแบบที่ทับซ้อนความหมายกัน เมื่อพนักงานแบงค์สาวยอมปล่อยผ่านการตรวจสอบเอกสารเพื่อทำยอด จนมีคนบริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อขบวนการปลอมตัวเปิดบัญชีธนาคารเพื่อใช้ประกอบธุรกรรมใต้ดิน ก่อนที่ตัวเองจะตกเป็นเหยื่อขบวนการสวมสิทธิ์เลือกตั้ง แถมกลายเป็นไวรัลในฐานะจำเลยสังคมเพราะมีคนอัดคลิปตอนยืนเถียงกับ กกต. หน้าคูหาเลือกตั้ง เธอจึงออกสืบหาความจริงเมื่อจับความเชื่อมโยงบางอย่างเจอ กำลังเล่าเรื่องสนุกอยู่แท้ๆ แต่หนังกลับม้วนตัวจบแบบเพลย์เซฟหักหลบเข้าสูตร เมื่อตัวร้ายของเรื่องถูกนำเสนอแบบเก่าเชย จนพาความเป็นไปได้ทั้งหมดของหนังย้อนไปสู่ข้อถกเถียงตกยุค ทั้งที่ตัวบทน่าจะมองเห็นแต่ต้นว่าเดิมพันและเพดานของบทสนทนาในช่วงเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 นั้นเลยพ้นวาทกรรมนักการเมืองเลวไปไกลแค่ไหนแล้ว

ดูได้ที่:

🏆 _อันชอบธรรม (Deleted) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลช้างเผือก (ภาพยนตร์สั้นระดับนักศึกษา) 🏆
🏆 Sorry, We’re Closed เข้ารอบสุดท้ายรางวัลรัตน์ เปสตันยี (ภาพยนตร์สั้นระดับบุคคลทั่วไป) 🏆



ปฏิกุน
(ภูวดล เนาว์โสภา)

ชีวิตช่วงล็อคดาวน์เคอร์ฟิวระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน 2020 ส่งผลกระทบต่อคนทำหนังทุกระดับอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง การปิดโรงหนังและแบนกิจกรรมรวมตัวทำให้ธีสิสนักศึกษาหลายสถาบันต้องจัดออนไลน์ คำสั่งห้ามออกกองถ่ายบีบหลายมหาวิทยาลัยให้อนุญาตนักศึกษาส่งเฉพาะบทภาพยนตร์เป็นตัวจบ และหนังสั้นจำนวนมากที่สู้ข้อจำกัดมหาศาลจนถ่ายจบเรื่องก็เต็มไปด้วยบาดแผลด้านโปรดักชั่น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นวัตถุดิบให้คนทำหนังจำนวนหนึ่ง

ตั้งแต่หนังเล็กๆ ที่เขียนบทจากชีวิตติดบ้านอย่าง Lockdown (พิษณุ บุญเทียน – สองพี่น้องถูกห้ามขึ้นชั้นสองเพราะกลัวโควิดไปติดยาย) กับ Quarantine (วาริสา ธนกรวิทย์ – เรื่องประหลาดในบ้านช่วงกักตัว) หรือใหญ่ขึ้นหน่อยแบบ เรื่องตลก-ชนชั้นกลาง (กรภัทร ภวัครานนท์ – พระเอกรอดตายจากโควิดใช้ชีวิตเหงาลำพังในโลกอนาคต / ลิงก์) หรือคว้ากล้องมาบันทึกสถานการณ์ใกล้ตัว เช่น The Cupcake Project (สุพงศ์ จิตต์เมือง – พ่อถ่ายแม่กับลูกสาววัยอนุบาลที่ต้องทำโปรเจกต์ส่งครูผ่านการเรียนออนไลน์) โรคา / ศรัทธา (ขวัญศิริ โกมลวิรัช – สำรวจผลกระทบโควิดต่อวัดพุทธในไทย / ลิงก์) Bangkok Distancing (ณัฐนันท์ เทียมเมฆ – สารคดีจอคอมพ์รวมคลิปข่าวและสัมภาษณ์คนไทยช่วงกักตัวผ่านวิดีโอแชท / ลิงก์) และ บันทึกการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง (สรยศ ประภาพันธ์ – สรยศลงทะเบียนรับเงินเยียวยาแล้วมีเจ้าหน้าที่มาขอตรวจสอบถึงบ้าน เลยใช้กล้อง VR ถ่ายเก็บไว้ / ลิงก์)

ต่างจากหนังโควิดส่วนใหญ่ที่มักเล่ามุมส่วนตัวหรือบันทึกประสบการณ์และสภาพสังคมในกรุงเทพฯ (ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด) ปฏิกุน เล่าประเด็นผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังล็อคดาวน์ในจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน ผ่านตัวละครลูกจ้างฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ขับรถส่งของให้เขียงหมูในตัวจังหวัด ในจังหวะที่กำลังซื้อของลูกค้าเดินตลาดถดถอย ทั้งเขากับเจ้าของเขียงหมูเริ่มจับสังเกตเห็นร้านแฟรนไชส์เนื้อสัตว์ครบวงจรมาเปิดแข่งอยู่ใกล้ๆ และเมื่อไม่มีทีท่าว่าเศรษฐกิจท้องถิ่นจะกลับเป็นปกติได้ในเร็ววัน เถ้าแก่เนี้ยที่ขายหมูมาหลายทศวรรษก็ยังต้องยอมแพ้ให้ความเปลี่ยนแปลง ในขณะที่บรรษัทผูกขาดระดับชาติก็ส่งคนเข้ามากว้านซื้อดีลในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง กวาดต้อนผู้เล่นท้องถิ่นในตลาดเดิมออกไป ล้างไพ่ให้ตัวเองเข้าครอบครองพื้นที่ทางเศรษฐกิจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เนื้อหาของหนังอาจวางคู่ขัดแย้งไว้ตรงไปตรงมาอยู่สักหน่อย (จนบางช่วงคล้ายบทความจากสำนักข่าวที่ทำเรื่องภาคอีสานโดยเฉพาะ) แต่ภูวดลก็แจกแจงแรงสะเทือนจากโควิดในระดับมหภาคได้น่าชื่นชมและมีหัวจิตหัวใจ ซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อเรื่องราวเหล่านี้พร้อมถูกดึงให้จมหายในกระแสเรื่องเล่าโควิดด้านอื่นๆ ที่เข้าใจง่ายหรือโรแมนติกกว่า

🏆 เข้ารอบสุดท้ายรางวัลช้างเผือก (ภาพยนตร์สั้นระดับนักศึกษา) 🏆



เขาไม่เคยเป็นเธอ | He Was Never a She
(ณัฐกิตติ์ สุรทิณฑ์)

ณัฐกิตติ์ สุรทิณฑ์ เคยเล่าเรื่องนี้มาแล้วเมื่อสองปีก่อน – ตอนนั้นเรื่องเกิดขึ้นและจบลงในการซ้อมละครมหาวิทยาลัยฉากหนึ่ง นักแสดงที่รับบทพระเอกนางเอกเป็นเพื่อนสนิทกัน และฝ่ายชายเคยชอบฝ่ายหญิงจนเรื่องเคลียร์จบไปตั้งนานแล้ว แต่บทละครดูเหมือนจะไปกระตุ้นความรู้สึกเก่าของฝ่ายชาย แล้วเส้นแบ่งของความจริงกับการแสดงก็เริ่มเลือนจนไม่น่าไว้ใจ ฝ่ายหญิงเองก็ตั้งกำแพงทันทีหลังรู้สึกถึงสัญญาณแปลกๆ เพราะตอนนี้อีกฝ่ายไม่ใช่แค่เพื่อน แต่ควรจะต้องปลอดภัยกว่านั้นอีก เพราะเป็น “เพื่อนสาว”

เมื่อดัดแปลงเรื่องนี้เป็นหนังธีสิส ณัฐกิตติ์ตัดสินใจเพิ่มรายละเอียดให้ตัวละครในตอนต้นกับท้ายเรื่องอย่างมีนัยสำคัญ (และคงฉากซ้อมละครไว้เป็นองก์ 2) ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ เขาไม่เคยเป็นเธอ ไปไกลกว่าการพูดถึงแค่การเล่นตลกของความรู้สึก แต่เล่ามวลหนาหนักของความคับข้องใจในอัตลักษณ์ทางเพศและตัวตนของตัวละคร โดยเฉพาะเมื่อต้องตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่คำตอบก็ไม่ช่วยให้การต่อสู้กับตัวเองในใจสงบลง

หนังสามารถแตกรายละเอียดความรู้สึกที่ทับซ้อนของตัวละครได้อย่างมีน้ำหนัก ไม่ปัดความสับสนหรือคำถามไหนเป็นเรื่องรอง เพราะสำหรับฝ่ายชายแล้วตอนนี้ทุกอย่างล้วนสั่นสะเทือน – ทุกคนในชีวิตมหาวิทยาลัยรวมถึงฝ่ายหญิงรับรู้ตัวตนของเขาในฐานะเกย์ (บทที่เขาเล่นคือละครย้อนยุค เล่าเรื่องเกย์ที่ถูกครอบครัวจับคลุมถุงชน) แต่เขาก็ยังมีพ่อที่แซวเรียบๆ ว่านางเอกคนนี้ดูเข้ากับแกดี ความรู้สึกที่กลับคืนมาจึงทำให้เกิดคำถามจากทุกขั้วในสมการจิตใจ อาจเป็นเรื่องจริงฝังใจหรือแค่ชั่ววูบเพราะตัวบท อาจเป็นอัตลักษณ์ที่เพิ่งมองเห็นหรือแค่ข้อยกเว้นกับคนพิเศษ แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร แรงสะท้อนจากภายนอกที่ยังมาไม่ถึงก็ทำให้เขาเปราะบาง

ตัวตนและความรู้สึกของเขาขณะนี้อาจกลายเป็นความหวังผิดๆ ของคนหนึ่ง อาจทำให้ทุกสิ่งซึ่งเคยสอดคล้องกับตัวตนที่คนอื่นรับรู้มาตลอดกลายเป็นแค่ความเท็จ และอาจเป็นการทรยศหักหลังขั้นร้ายแรงสำหรับอีกคน ยิ่งยากจะคลี่คลายเมื่อทุกอย่างดำเนินอยู่บนนิยามที่ไม่เป็นไปตามครรลองปกติอยู่แล้วอีกขั้นหนึ่ง ในยุคสมัยที่คล้ายว่าจะมีคำนิยามลื่นไหลทลายสองขั้วเลือนเส้นแบ่งให้ทุกสิ่ง แต่ตอนนี้ ตรงนี้ คำไหนก็ดีไม่พอที่จะตอบคนที่เขาแคร์ หรือกระทั่งจะตอบตัวเอง

🏆 เข้ารอบสุดท้ายรางวัลช้างเผือก (ภาพยนตร์สั้นระดับนักศึกษา) 🏆

เหตุผลที่ Zack Snyder’s Justice League มีสัดส่วนภาพเท่าทีวีจอตู้

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ใครหลายคนรู้สึกขัดใจกับ Zack Snyder’s Justice League คือการที่มันมีสัดส่วนภาพอยู่ที่ 4:3 หรือเทียบเท่ากับทีวีจอตู้ ทั้งที่ในปัจจุบันสัดส่วนของจอทีวีโดยทั่วไปแทบไม่มีสัดส่วนดังว่าเท่าไหร่แล้ว ทำให้หนังฉายบนทีวีแบบ “ไม่เต็มจอ” แซ็ค สไนเดอร์ คิดอะไรอยู่ในเมื่อเวอร์ชั่นที่เขาอยากให้เป็นนี้มันฉายผ่านทุกช่องทางที่ไม่ใช่โรงหนัง

1. สไนเดอร์เป็นคนที่หมกมุ่นกับไอแม็กซ์มาก ตอน Batman v Superman หลายฉากเขาถ่ายด้วยกล้องไอแม็กซ์ด้วยซ้ำ และสัดส่วนภาพของไอแม็กซ์แบบเต็มจออยู่ที่ 1.43:1 ก็ยังกว้างกว่า 4:3 ที่เขาทำกับ Zack Snyder’s Justice League อีก อย่างไรก็ตามมันกำลังสะท้อนว่าเขานั้นบ้าคลั่งกับสัดส่วนภาพทรงจัตุรัสมากกว่าจอกว้าง

2. ตอนถ่าย Justice League ผกก.ภาพ แฟเบียน แวกเนอร์ ก็ไม่ได้ถ่ายออกมาเป็น 4:3 เขาถ่ายมาในสัดส่วน 1.85:1 ซึ่งกว้างกว่าสัดส่วนของไอแม็กซ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพวกเขาก็ “ถ่ายเผื่อ” แบบเต็มเฟรมเอาไว้ด้วย ในกรณีที่มันจะถูกครอปให้แคบลงแต่สูงขึ้นเพื่อไปฉายไอแม็กซ์ อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะ 1.85:1, 4:3 หรือ 1.43:1 ทั้งหมดก็ไม่ใช่สัดส่วนจอกว้าง 2.35:1 แบบที่หนังหลายเรื่องนิยมเพื่อแสดงความอลังการในแนวกว้าง โดยแวกเนอร์ให้เหตุผลว่าเขาและสไนเดอร์อยากให้ความสำคัญกับรายละเอียด “แนวตั้ง” มากกว่า “แนวนอน” โดยเฉพาะเมื่อซูเปอร์ฮีโร่ครึ่งโหลจะต้องปรากฏกายร่วมกันในเฟรมเดียว สไนเดอร์บอกว่า “หนังซูเปอร์ฮีโร่ทุกวันนี้ให้ความสำคัญกับภาพแนวกว้าง ซึ่งมันอาจจะได้น้ำได้เนื้อจริงกับฉากบางฉากเช่นซูเปอร์แมนบินอยู่บนฟ้า แต่กับฉากที่ซูเปอร์แมนยืน รายละเอียดในแนวตั้งจะทำงานได้ประสิทธิภาพกว่า”

3. สไนเดอร์มองว่าทุกวันนี้การทำหนังกลับไปยังสัดส่วนจัตุรัสกำลังจะกลับมา และส่วนหนึ่งที่เขาครอปภาพเป็น 4:3 นอกจากจะเป็นการให้ค่ากับแนวตั้งมากกว่าเดิมแล้ว มันก็ยังเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจส่วนตัวที่ได้ทำสัดส่วนดังกล่าวเช่นเดียวกันกับหนังอินดี้ปีกลายที่เขารักเหลือเกินอย่าง First Cows ของ เคลลี ไรชาร์ดต์

แอคเคาท์ทวิตเตอร์ @dcseifert ได้ทดลองดู Zack Snyder’s Justice League ในหลายๆ อุปกรณ์ ผลคืออุปกรณ์ที่สามารถดูหนังเรื่องนี้แล้วเต็มจอพอดีคือ IPad Pro หน้าจอ 13 นิ้วจ้า


อ้างอิง

https://www.polygon.com/movies/22336749/justice-league-4-3-square-box-look-on-tv

https://www.nytimes.com/2021/03/14/movies/zack-snyders-rough-and-tumble-ride-with-justice-league.html

Comrades Almost A Love Story : Almost A Political Story

0

“ตอนผมทำหนังเรื่องนี้ผมไม่คิดถึงการเมืองเลย แต่ไม่ว่าอย่างไรผมก็หนีจากการเมืองไม่พ้น” ปีเตอร์ ชาน ตอบคำถามหนึ่งของผู้ชมที่ถามเกี่ยวกับการเมืองในหนังเรื่องนี้ ระหว่าง Q&A ในวาระที่ House สามย่านเอาหนังเรื่องนี้กลับมาเข้าฉายอีกครั้งหลังผ่านไป 25 ปี

ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน เพิ่งมีภาพการนำตัวโจชัว หว่อง ที่ถูกสั่งจำคุก 13.5 เดือน ถูกนำตัวมาศาลเพื่อพิจารณาคดีนักกิจกรรมการเมืองประชาธิปไตยฮ่องกง 47 คนซึ่งถูกตั้งข้อหา “ฝ่าฝืนกฎหมายความมั่นคง” “สมคบคิดล้มล้างอำนาจรัฐ”https://www.facebook.com/standnewshk/photos/3948929285192662 และในเวลาใกล้ๆกันสภาประชาชนแห่งชาติจีนหรือเอ็นพีซี รับรองมติ “ชาตินิยมปกครองฮ่องกง”รายละเอียดตามญัตตินี้จะมีการปรับลดตัวแทนฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยลง และเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลจีนเข้ามาคัดกรองและเลือกผู้สมัครได้ https://www.bbc.com/thai/international-56360474 ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่ากฎหมายความมั่นคง และกฎหมายเลือกตั้งนี้คือจุดจบของฮ่องกงที่เราเคยรู้จัก

สองเรื่องนี้จึงวิ่งเข้าหากันพร้อมกับภาพเริ่มต้นและภาพจบของหนังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นภาพที่มีอยู่ในหัวของปีเตอร์ ชาน ภาพที่เป็นจุดตั้งต้นของหนัง ภาพของขบวนรถไฟที่เคลื่อนสู่ชานชาลา ชายหญิงแปลกหน้าสองคนเผลอหลับพิงศีรษะเข้าหากัน ขบวนรถไฟนั้นมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ คนผู้ชายคือเสี่ยวจิน เขามาจากทางเหนือพูดกวางตุ้งแทบไม่ได้ มาหางานทำเพื่อจะเก็บเงินไปแต่งเมีย คนผู้หญิงคือหลี่เฉียว เธอมาจากกวางโจว คล่องแคล่วและเต็มไปด้วยความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า พวกเขาไม่ได้รู้จักกัน ครั้นพอรถเคลื่อนมาถึงชานชาลา หลี่เฉียวก็ลุกไป ทำให้เสี่ยวจินละดุ้งตื่นไปด้วย ทั้งคู่ออกจากขบวนรถไฟ แยกออกไปคนละทาง ก่อนจะวนเวียนกลับมาพบกันครั้งแล้วครั้งเล่าบนเกาะเล็กๆ แห่งนี้ในช่วงเวลาที่ดีที่สุดของมัน

และนี่คือเรื่องที่เกือบจะเป็นเรื่องรักของเสี่ยวจิน หนุ่มหน้าซื่อที่มาอาศัยในห้องเช่าของป้าที่เป็นแฟลตของบรรดาหญิงงามเมืองจากหลากเชื้อชาติ ป้าผู้ซึ่งยังคงอาศัยอยู่ในวันชื่นคืนสุขเมื่อครั้งที่เธอได้เป็นคู่รักชั่วคราวของวิลเลียม โฮลเด้น ในตอนที่เขามาถ่ายหนังที่ฮ่องกง วันเวลาเหล่านั้นหล่อเลี้ยงจิตใจของเธอผู้ร่วงโรย เสี่ยวจินทำงานในร้านขายเนื้อเป็ดไก่ ทุกวันเชือดไก่จับใส่จักรยานไปส่งในที่ต่างๆ ตกค่ำเขียนจดหมายหาหญิงคนรักที่เมืองจีน เก็บเงินจะรับเธอมาแต่งอยู่กินกันที่นี่

หลี่เฉียวทำงานเป็นสาวร้านแมคโดนัลด์ ร้านอาหารที่เป็นที่สุดของความใฝ่ฝันของคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่สินค้าตะวันตกถูกแบน ที่นั่นเธอพบเสี่ยวจินที่เก็บเงินทั้งเดือนมากินแมค เธอหลอกล่อให้เขาไปลงเรียนภาษาอังกฤษเพื่อหักค่าหัวคิว ตัวเธอเองทำงานเป็นคนทำความสะอาดในสถาบันนั้น คอยเรียนแบบครูพักลักจำตอนที่มาเช็ดกระจกห้องเรียน เธอเอ็นดูความซื่อไร้เดียงสาของเขา และได้เขามาช่วยเหลืองานต่างๆ ส่วนเขาเองมีเธอเป็นเพื่อนคนเดียวในเมืองแปลกหน้านี้ ตรุษจีนปีนั้น สองคนลงขันซื้อเทปเพลงและโปสเตอร์ของเติ้งลี่จวินมาขาย ที่ไหนมีคนจีนที่นั่นมีเติ้งลี่จวิน แต่ตรุษจีนปีนั้นฝนตก คนฮ่องกงที่พูดกวางตุ้งก็มองว่าคนฟังเติ้งลี่จวินมีแต่พวกคนอพยพจากแผ่นดินใหญ่ การลงทุนล้มเหลว ท่ามกลางลมฝนและความปรารถนาของหนุ่มสาว คืนนั้นเป็นครั้งแรกที่พวกเขาใกล้ชิดกันอย่างถึงที่สุด

วันคืนเคลื่อนผ่าน เสี่ยวจินเปลี่ยนไปทำงานพ่อครัว หลี่เฉียวโดนพิษเศรษฐกิจจนต้องมาเป็นหมอนวด ทั้งคู่ไม่ใช่คนรักแต่มากกว่าเพื่อนความสัมพันธ์ก้ำกึ่งดำเนินไปเงียบๆ ท่ามกลางความผันแปรของเศรษฐกิจของเกาะฮ่องกง คนจีนอพยพไร้รากสองคนเคลื่อนที่เข้าหากัน พอถึงจุดนึง สภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตก็ผลักทั้งสองคนออกไปจากกัน

‘สหายเสี่ยวจิน คุณไม่ได้มาฮ่องกงเพื่อฉัน และฉันก็ไม่ได้มาฮ่องกงเพื่อคุณ’ หลี่เฉียวกล่าวกับเขาก่อนจะแยกไปขึ้นรถไฟ จากกันไปหลังจากนั้น

หลายปีต่อมาเสี่ยวจินก็แต่งงานกับเสี่ยวถิงหญิงคนรัก หลี่เฉียวคบกับพี่เป้า นักเลงหัวไม้ที่เป็นลูกค้าโรงนวดของเธอ พวกเขากลับมาพบกันอีกครั้งในงานแต่งของเสี่ยวจิน ท่ามกลางการระลึกถึงวันชื่นคืนสุขและการหักห้ามใจ จนในที่สุดในบ่ายวันหนึ่งที่ทั้งคู่บังเอิญพบกับเติ้งลี่จวินตัวจริงบนถนน และอีกครั้งค้นพบว่าตลอดเวลาที่ผ่านมามีแต่กันและกัน ตั้งใจว่าในที่สุดจะทำเพื่อตัวเอง

แต่โชคชะตาเล่นตลกเสมอ หลังจากบ่ายจวบจนค่ำคืนนั้นใครจะรู้ว่าทั้งคู่จะต้องพลัดพรากจากกันไปอีกหลายปี ต่างคนต่างพเนจรไปเอมริกา คลาดกันทั้งที่อยู่ร่วมเมือง พบเจอทุกข์สุขและความตายมากมาย ในเมืองนิวยอร์กที่พี่เป้าบอกว่ามาตั้งไกล ย่านคนจีนก็ไม่ได้ต่างอะไรจากฮ่องกง จนหลังจากการพลัดพรากซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งคู่กลับมาพบกันอีกครั้งในวันที่เติ้งลี่จวินตาย

มันเป็นหนังที่ผู้คนจดจำมาตลอดหลายปี หนังออกฉายครั้งแรกในปี 1996 หนึ่งปีก่อนเกาะฮ่องกงถูกกลับคืนสู่จีน มันถูกจดจำในฐานะหนังรักที่โรแมนติก รวดร้าวและทรงพลังที่สุดเรื่องหนึ่งของเอเซีย และถูกจดจำในระดับเดียวกันว่าเป็นหนังที่พูดถึงการเมืองในยุคเปลี่ยนผ่านของฮ่องกงได้อย่างทรงพลังที่สุด

ในการฉายอีกครั้งในไทย หลังจากผ่านไป 25 ปี ปีเตอร์ ชานเล่าว่า เขาไม่ได้คิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่แสดงถึงความคิดของคนฮ่องกงในช่วงคืนเกาะ มากไปกว่าการเป็นหนังที่ว่าด้วยเรื่องคนจีนอพยพ ตัวละครของเขาไม่ได้มีรกรากที่ฮ่องกง และคนฮ่องกงส่วนใหญ่เองก็ไม่ได้เป็นคนฮ่องกงโดยกำเนิด เกินครึ่งเป็นผู้คนที่อพยพมาจากจีน สำหรับปีเตอร์ ชานแล้วนั้น เขากำลังพูดเรื่องของคนพลัดถิ่น ที่ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่แค่คนจีนในฮ่องกง แต่ยังรวมถึงคนจีนในไต้หวัน หรือในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์นี้ ตัวละครมาจากเมืองจีนและตลอดเวลาบนจอไม่ได้กลับไป ไม่ได้มีความหวังที่จะกลับไป ฮ่องกงไม่ใช่บ้านและไม่มีที่ไหนเป็นบ้าน

ตลอดหลายสิบปีคนจีนที่อพยพจากรัฐกึ่งคอมมิวนิสต์กึ่งเผด็จการมาหางานทำ ถูกคนฮ่องกงที่มาจากรัฐอาณานิคมทุนนิยมประชาธิปไตยมองในฐานะของแรงงานชั้นล่าง คนไร้รสนิยม เป็นพวกยากจนที่มาก่ออาชญากรรม ความรู้สึกทำนองนี้ สามารถหาได้จากหนังอย่าง China Behind (1974, Tang Shu Shuen) หนังจากผู้กำกับหญิงคนแรกๆ ของฮ่องกง หนังสร้างปี 1974 แต่ถูกแบนจากฮ่องกงและไต้หวันอยู่สิบห้าปี จีนแผ่นดินใหญ่ไม่ต้องพูดถึง หนังเล่าเรื่องของเด็กหนุ่มสาวที่ไม่สามารถทนช่วงเวลาของการปฏิวัติวัฒนธรรมได้ พวกเขาเลยพากันหลบหนีจากจีนไปฮ่องกง เริ่มจากเตรียมการหาเส้นทาง เดินเท้าข้ามเมือง หลบหนีหูตาของรัฐวันแล้ววันเล่า ในป่าในเขา ข้ามไปจนเจอฝั่งทะเล แล้วว่ายน้ำข้ามไปฮ่องกง ที่เจ็บปวดคือพอข้ามมาฮ่องกงแล้วพวกเขาก็ไปเป็นคนระดับใต้ถุนสังคม หลังจากถูกบีบคั้นอย่างหนักจากสภาพยากจนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม โลกเสรีก็บีบคั้นพวกเขาไม่ต่างกันจนเป็นบ้าไป หรือใน Long Arm Of The Law (1984, Johnnie Mak) หนังว่าด้วยแกงค์อาชญากรจากเมืองจีนที่ได้รับการว่าจ้างให้มาปล้นทองในฮ่องกง ก่อนจะลงเอยกันอย่างวินาศสันตะโร ด้วยฉากที่เป็นที่จดจำตลอดกาล อย่างการไล่ล่าใน walled city ชุมชนแออัดของฮ่องกงที่เต็มไปด้วยตรอกเล็กตรอกน้อย บีบอัดคับแคบในสลัมที่หนาแน่นที่สุดที่หนึ่งของโลก และหนังที่สร้างในเวลาใกล้ๆ กันกับ Comrades: Almost A Love Story อย่าง Intruder (1997, Tsang Kaan Cheung) หนังเกรดสามที่นำแสดงโดย อู๋เชี่ยนเหลียน นางเอกผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ เธอรับบทของสาวจีนที่อยากมาฮ่องกงด้วยการยอมขายตัวเป็นเจ้าสาวให้พวกชายโสด แต่เมื่อมาถึงเธอจัดการฆ่าผู้ชายพวกนั้น เข้าสวมรอยให้สามีอาชญากรของเธอหนีคดีตามมา วิธีการฆ่าของเธอก็พิสดารโหดเหี้ยม หนังฉายภาพคนจีนแผ่นดินใหญ่ในฐานะผู้บุกรุกเกาะฮ่องกงอย่างไม่มีคำว่าประนีประนอมเลยแม้แต่น้อย และสะท้อนภาพความกลัวลึกๆ ในใจผู้คนในช่วงเวลาคืนเกาะ

มันจึงมีการเมืองโดยไม่ได้ตั้งใจอยู่ในหนังเรื่องนี้ ความเป็นการเมืองที่มาจากความละเอียดลออในการพูดถึงชีวิตตัวละครจริงๆ เพราะการเมืองแฝงฝังอยู่ในชีวิตแต่ละคนอยู่แล้ว เมื่อทำหนังที่พูดถึงชีวิตมันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดเรื่องการเมืองไม่ว่าจะอยากพูดหรือไม่ก็ตาม

สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นอย่างยิ่งในหนัง คือการที่หนังเลือกใช้เพลงของเติ้งลี่จวิน และเล่าเรื่องตัวละครล้อไปกับชีวิตของเติ้งลี่จวิน ปีเตอร์ ชานเล่าอย่างติดตลกว่าเขาเองไม่ได้เป็นแฟนเพลงของเติ้งลี่จวิน คนทำหนังที่เกิดในฮ่องกง โตในไทยแล้วไปเรียนทำหนังที่อเมริกาคนนี้บอกว่าในช่วงเวลาทองของเติ้งลี่จวินนั้นตัวเขาฟัง The Beatles เสียมากกว่า

เติ้งลี่จวินก็เช่นกัน เพลงรักอ่อนหวานของเธออาจปราศจากการเมืองโดยตัวเพลงแต่การฟังเพลงของเธอนั้นกลับเป็นการเมืองอย่างยิ่ง

เติ้งลี่จวินเป็นลูกสาวของทหารก๊กมินตั๋งที่อพยพไปไต้หวัน เธอร้องเพลงตั้งแต่เด็กเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวจนโด่งดัง ตลอดการปฏิวัติวัฒนธรรม การฟังเพลงรักเป็นเรื่องต้องห้าม เพลงของเธอถูกเรียกว่า ‘เพลงเสื่อม’ (decadent music/yellow music) จวบจนหลังแกงค์สี่คนล่มสลายโลกจึงเปิดออก การฟังเพลงของเติ้งลี่จวินในขณะนั้นมักลักลอบฟังกันในเวลากลางคืนจนมีสำนวนจีนที่ล้อกับแซ่งเติ้งของเธอว่า ‘เฒ่าเติ้ง (เติ้งเสี่ยวผิง) ครองทิวา เติ้งน้อย (เสี่ยวเติ้ง/ เติ้งลี่จวิน) ครองราตรี หรือการที่มีคนนิยามเพลงของเธอว่า เป็นเพลงที่มี น้ำตาลเจ็ดส่วนน้ำตาสามส่วน (seven parts sweetness, three parts tears) เพื่อล้อเลียนสำนวนของประธานเหมาที่บอกว่า คนเรามีเจ็ดส่วนดีสามส่วนเลว การฟังเพลงของเธอจึงมีนัยของการต่อต้านของคนหนุ่มสาวในจีนเพราะเธอร้องเพลงรัก มีเรื่องเล่าว่ามีนักแต่งเพลงรับใช้พรรคคนนึงบังเอิญได้ฟัง ‘แสงจันทร์แทนใจ’ ตามถนน แล้วเขาก็ร้องไห้ออกมา เพราะสงสัยว่าตัวเองทำอะไรมาตลอด ทำไมเขาไม่เขียนเพลงที่เพราะอย่างนี้ (ดูฉากที่พูดถึงการลักลอบฟังเพลงของเติ้งลี่จวินได้ใน Youth (2017, Feng Xiaogang) เพลงของเธอไม่ได้ฮิตแค่ในจีน แต่ยังลามไปทั่วภูมิภาครวมถึงเอเชียอาคเนย์ เพลงภาษาจีนกลางของเธอจึงไม่ได้เป็นแค่เพลงของชาตินิยมไต้หวัน แต่ยังเป็นเพลงของคนจีนพลัดถิ่นที่หวนคำนึงถึงบ้านเกิด บ้านเกิดแบบที่ไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์ปกครอง เป็นเพียงทัศนียภาพอันสวยงามและความรักอันหวานซึ้ง

เพลงของเธอไม่ได้ฮิตแค่ในจีน แต่ยังลามไปทั่วภูมิภาครวมถึงเอเชียอาคเนย์ เพลงภาษาจีนกลางของเธอจึงไม่ได้เป็นแค่เพลงของชาตินิยมไต้หวัน แต่ยังเป็นเพลงของคนจีนพลัดถิ่นที่หวนคำนึงถึงบ้านเกิด บ้านเกิดแบบที่ไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์ปกครอง เป็นเพียงทัศนียภาพอันสวยงามและความรักอันหวานซึ้ง

ตัวเติ้งลี่จวินเองก็มีความเป็นการเมืองไม่น้อย ตลอดชีวิตเธอไม่เคยไปเปิดการแสดงที่จีนเลย ในบทสัมภาษณ์ Liu Zhongde ที่เคยเป็นรมต.วัฒนธรรม สมัยที่จะเชิญเติ้งลี่จวินมาเมืองจีน เขาบอกว่าเขาชอบเพลงที่สวยงามของเธอ แม้เพลงของเธอจะเป็นเพลงที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (ของสังคมนิยม) แต่มันก็เป็นเพลงที่จะติดอยู่ในหัว เขาเล่าต่อว่า เติ้งลี่จวินเองก็วางแผนจะมาเปิดคอนเสิร์ตในจีน และมีการเตรียมการแล้ว แต่ไม่กี่วันหลังการอนุมัติ หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวว่าเธอเข้าร่วมกับองค์กรชาตินิยม ทางจีนจึงต้องสอบสวนเรื่องนี้เสียก่อนแต่กว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น เติ้งลี่จวินก็มาเสียชีวิตที่เชียงใหม่เสียก่อนแล้วhttp://www.zonaeuropa.com/culture/c20060805_1.htm

ไม่ใช่แค่เติ้งลี่จวิน ตัวหนัง Comrades: Almost A Love Story เองก็ ไม่ได้เข้าฉายในจีน มันถูกแบนและเพิ่งเข้าฉายเป็นครั้งแรกในปี 2015 และเข้าฉายโดยมีการคัฟเวอร์เพลงเดิมไม่ให้เป็นของเติ้งลี่จวินhttps://www.newyorker.com/culture/cultural-comment/the-melancholy-pop-idol-who-haunts-china

กลับมาที่หนังอีกครั้ง หนังจึงเป็นเช่นเดียวกับเพลงของเติ้งลี่จวิน โดยตัวมันเองทำหน้าที่เป็นเรื่องเล่าที่เกือบจะเป็นเรื่องรัก ของ ‘สหาย’ ชาวจีนที่เข้ามาแสวงโชคในฮ่องกง ความพลัดบ้านของคนจีนกลายเป็นอัตลักษณ์จำเป็นเพราะบ้านไม่มีให้กลับ ฮ่องกงที่ไม่มีอัตลักษณ์โดยตัวมันเอง เป็นเพียงบ้านชั่วคราวและในหนังเรื่องนี้ตัวละครก็ไม่ได้พบกันที่บ้านอีก พวกเขาไปพบกันอีกครั้งในที่อื่น แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อคนจีนอพยพไป พวกเขาก็สร้างชุมชนคนจีนขึ้น จนในที่สุดความไร้บ้านกลายเป็นบ้านที่ต่อให้เป็นนิวยอร์ก ไชน่าทาวน์ก็ดูเหมือนบางส่วนของฮ่องกงจนได้ ในความไร้บ้าน ทุกที่เป็นบ้านมากพอๆ กับไม่เป็นบ้าน ราวกับว่าฮ่องกง (หรือจีนที่ไม่ใช่จีนแบบคอมมิวนิสต์) ไม่ใช่สถานที่ แต่คือผู้คน

เมื่อต้นปี 2020 ผู้เขียนมีโอกาสไปเยือนฮ่องกง มันเป็นช่วงเวลาที่แสนประหลาด เพราะมันคือช่วงเวลาหลังการประท้วงใหญ่ที่จบลงอย่างเจ็บปวดจากเหตุการณ์ปิดล้อมวิทยาลัยโพลีเทคนิค และเป็นช่วงเวลาก่อนการแพร่ระบาดของ Covid-19 ในฮ่องกง พอกลับไปใคร่ครวญถึงช่วงเวลานั้น มันก็ทำให้นึกถึงหนังเรื่องนี้อีกครั้ง มิตรสหายหลายคนที่ได้พบปะต่างบอกว่าพวกเขาเป็นผู้ประท้วง ประท้วงจีนที่พยายามจะเข้ามาควบคุมฮ่องกงให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจีนผ่านการแก้ไขแบบเรียนประวัติศาสตร์ ผ่านการจัดการการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม และการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วง เราอาจกล่าวได้ว่า จีนในความรู้สึกของฮ่องกง ไม่ใช่คนยากจนสองคนพิงหลับกันบนขบวนรถไฟเพื่อมาหางานทำอีกแล้ว ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปอย่างสิ้นเชิง จีนกลายเป็นความชั่วร้ายยิ่งใหญ่ที่พวกเขาไม่อาจเอาชนะ ระหว่างการพูดคุยกับมิตรสหายเหล่านั้นผู้เขียนพบว่า แม้พวกเขาตั้งใจที่จะสู้ให้ถึงที่สุด แต่พวกเขาก็คิดเสมอถึงการไปจากฮ่องกง ลึกๆ ทุกคนรู้ว่านี่คือการต่อสู้ที่จะไม่มีทางชนะ พวกเขาคิดว่าเมื่อถึงเวลาพวกเขาก็ต้องพเนจรไปเสียจากที่นี่ พวกเขาเช่นเดียวกันกับ Nathan Law หรือ Edward Leung แกนนำการชุมนุมที่ต้องลี้ภัย อาจจะเป็นเพียงอีกรูปแบบหนึ่งของหลี่เฉียว และเสี่ยวจิน คนจีนพลัดถิ่นประจำศตววรษปัจจุบัน มีที่อื่นที่เป็นบ้าน แต่บ้านในฝันที่ผู้คนมีสิทธิเสรีภาพก็ดูจะเป็นเพียงที่ชั่วคราวที่แทบไม่มีจริงในโลกใบนี้อีกแล้ว


อ่านเพิ่มเติมเรื่องเติ้งลี่จวินที่
http://www.thairath.co.th/content/619357
http://chinese2u.blogspot.com/2015/12/2.html

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 18 มี.ค. 64

หนังไทยเปิดตัวเมื่อวานนี้คือ ‘ห้าวเป้งจ๋า อย่าแกงน้อง’ ที่ได้ผู้กำกับเป็น นฤบดี เวชกรรม (Low Season ‘สุขสันต์วันโสด’) ร่วมกับ นาคร ศิลาชัย ซึ่งหนังทำเงินไปวันแรกที่ 0.52 ล้านบาท

รายได้หนังประจำวันที่ 18 มี.ค. 64

  1. Raya and the Last Dragon – 0.64 (30.31) ล้านบาท
  2. ห้าวเป้งจ๋า อย่าแกงน้อง – 0.52 ล้านบาท
  3. เรื่องผีเล่า – 0.21 (3.80) ล้านบาท
  4. Chaos Walking – 0.13 (2.54) ล้านบาท
  5. Legend of Hei – 0.12 ล้านบาท
  6. Pharaoh’s War – 0.07 ล้านบาท
  7. Tom and Jerry – 0.03 (8.94) ล้านบาท
  8. The Marksman – 0.02 (2.43) ล้านบาท
  9. Boss Level – 0.02 (2.08) ล้านบาท
  10. Violet Evergarden – 0.01 (1.34) ล้านบาท

ชัยชนะของ Netflix และนานาสถิติของออสการ์ 2021

เพราะโควิดที่ทำให้หนังหนีไปลงสตรีมมิงเยอะขึ้น จนออสการ์ 2021 ต้องรื้อกติกาใหม่ ไล่เรียงกำหนดการบนปฏิทินใหม่ ส่งผลให้เวทีรางวัลที่ศรัทธาในวิทยาการภาพยนตร์ต้องเปิดรับหนังสตรีมมิงอย่างไม่อาจเลี่ยง ในขณะเดียวกัน ปีที่ผ่านมาอเมริกาและฮอลลีวูดก็เกิดการตื่นตัวเรื่องความหลากหลายจนมีการกำหนดกติกาล่วงหน้าไว้แล้วว่าออสการ์ในอนาคตจะต้องแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะเพศและสีผิวที่จะไม่ให้ชายเป็นใหญ่และ all white จนเกิดข้อครหาอีกต่อไป

ปรากฏการณ์ที่ว่ามาทั้งหมดได้ปรากฏให้เห็นในรายชื่อผู้เข้าชิงออสการ์ 2021 แล้ว

– ปีนี้สตูดิโอที่ประสบความสำเร็จบนเวทีออสการ์ที่สุดก็คือ Netflix ที่มีลุ้นถึง 35 รางวัล! และหนังที่เข้าชิงสูงสุดก็คือ Mank ที่ชิงถึง 10 รางวัล

– ไวโอลา เดวิส ที่เข้าชิงนำหญิงจาก Ma Rainey’s Black Buttom เป็นนักแสดงหญิงคนดำที่เข้าชิงออสการ์บ่อยที่สุด

– เป็นครั้งแรกที่ผู้เข้าชิงหนังยอดเยี่ยมมีชื่อโปรดิวเซอร์เป็น all black นั่นคือทีมผู้สร้าง Judas and the Black Messiah

– เป็นปีแรกที่มีผู้หญิง 2 คนเข้าชิงสาขาผู้กำกับ คือ โคลเอ้ จ้าว จาก Nomadland และ เอเมอรัลด์ เฟนเนลล์ จาก Promising Young Woman

– จ้าวยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่เข้าชิงถึง 4 รางวัลในปีเดียว คือ หนังยอดเยี่ยม, กำกับยอดเยี่ยม, ตัดต่อยอดเยี่ยม และ บทดัดแปลงยอดเยี่ยม

– นอกจาก Netflix แล้ว ปีนี้ยังทำสถิติเข้าชิงสูงสุดของ Amazon Prime ด้วย โดยเฉพาะจาก Sound of Metal ที่ชิงถึง 6 รางวัล รวม One Night in Miami และ Borat Subsequent Moviefilm เป็น 12 รางวัล- ปีนี้เป็นการเข้าชิงครั้งแรกของ Disney+ และ Apple+ ด้วย

– ปีนี้เป็นปีแรกที่สองหนุ่มเอเชียเข้าชิงสาขานักแสดงนำชายด้วยกัน คือ ริซ อาห์เหม็ด (ปากีสถาน-สหราชอาณาจักร) จาก Sound of Metal กับ สตีเฟน ยอน (เกาหลี-อเมริกัน) จาก Minari

– ปีนี้ยังรวบสาขา ตัดต่อเสียง (Sound Editong) กับ มิกซ์เสียง (Sound Mixing) เหลือแค่ เสียง (Sound) สาขาเดียว


หนังยอดเยี่ยม
“The Father” (Sony Pictures Classics)
“Judas and the Black Messiah” (Warner Bros.)
“Mank” (Netflix)
“Minari” (A24)
“Nomadland” (Searchlight Pictures)
“Promising Young Woman” (Focus Features)
“Sound of Metal” (Amazon Studios)
“The Trial of the Chicago 7” (Netflix)

ผู้กำกับยอดเยี่ยม
โธมัส วินเทอร์เบิร์ก (“Another Round”)
เดวิด ฟินเชอร์ (“Mank”)
ลี ไอแช็ค ชุง (“Minari”)
โคลเอ้ จ้าว (“Nomadland”)
เอเมอรัลด์ เฟนเนลล์ (“Promising Young Woman”)

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
ริซ อาห์เหม็ด (“Sound of Metal”)
แชดวิก โบสแมน (“Ma Rainey’s Black Bottom”)
แอนโธนี ฮอพกินส์ (“The Father”)
แกรี โอลด์แมน (“Mank”)
สตีเฟน ยอน (“Minari”)

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
ไวโอล่า เดวิส (“Ma Rainey’s Black Bottom”)
อันดรา เดย์ (“The United States v. Billie Holiday”)
วาเนสซา เคอร์บี (“Pieces of a Woman”)
ฟรานเชส แม็กดอร์มานด์ (“Nomadland”)
แครีย์ มุลลิแกน (“Promising Young Woman”)

นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
ซาชา บารอน โคเฮน (“The Trial of the Chicago 7”)
แดเนียล คาลูยา (“Judas and the Black Messiah”)
เลสลี โอดอม จูเนียร์ (“One Night in Miami”)
พอล ราซี (“Sound of Metal”)
ลาคีธ สแตนฟิลด์ (“Judas and the Black Messiah”)

นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม
มาเรีย บากาโลวา (‘Borat Subsequent Moviefilm”)
เกล็น โคลส (“Hillbilly Elegy”)
โอลิเวีย โคลแมน (“The Father”)
อแมนดา ซีย์ฟรีด (“Mank”)
ยูนยูจุง (“Minari”)

แอนิเมชั่นยอดเยี่ยม
“Onward” (Pixar)
“Over the Moon” (Netflix)
“A Shaun the Sheep Movie: Farmageddon” (Netflix)
“Soul” (Pixar)
“Wolfwalkers” (Apple TV Plus/GKIDS)

บทดัดแปลงยอดเยี่ยม
Borat Subsequent Moviefilm
The Father
Nomadland
One Night in Miami
The White Tiger

บทออริจินัลยอดเยี่ยม
Judas and the Black Messiah
Minari
Promising Young Woman
Sound of Metal
The Trial of the Chicago 7

เพลงประกอบยอดเยี่ยม
“Fight for You,” (“Judas and the Black Messiah”). Music by H.E.R. and Dernst Emile II; Lyric by H.E.R. and Tiara Thomas
“Hear My Voice,” (“The Trial of the Chicago 7”). Music by Daniel Pemberton; Lyric by Daniel Pemberton and Celeste Waite
“Húsavík,” (“Eurovision Song Contest”). Music and Lyric by Savan Kotecha, Fat Max Gsus and Rickard Göransson
“Io Si (Seen),” (“The Life Ahead”). Music by Diane Warren; Lyric by Diane Warren and Laura Pausini
“Speak Now,” (“One Night in Miami”). Music and Lyric by Leslie Odom, Jr. and Sam Ashworth

ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
Da 5 Bloods
Mank
Minari
News of the World
Soul

เสียงยอดเยี่ยม
Greyhound
Mank
News of the World
Soul
Sound of Metal

ออกแบบเครื่องแต่งกาย
Emma
Mank
Ma Rainey’s Black Bottom
Mulan
Pinocchio

แอนิเมชั่นสั้น
Burrow
Genius Loci
If Anything Happens I Love You
Opera
Yes-People

หนังสั้นคนแสดง
Feeling Through
The Letter Room
The Present
Two Distant Strangers
White Eye

กำกับภาพ
Judas and the Black Messiah
Mank
News of the World
Nomadland
The Trial of the Chicago 7

สารคดียอดเยี่ยม
“Collective” (Magnolia Pictures and Participant)
“Crip Camp” (Netflix)
“The Mole Agent” (Gravitas Ventures)
“My Octopus Teacher” (Netflix)
“Time” (Amazon Studios)

สารคดีสั้น
Colette
A Concerto Is a Conversation
Do Not Split
Hunger Ward
A Love Song for Latasha

ตัดต่อยอดเยี่ยม
The Father
Nomadland
Promising Young Woman
Sound of Metal
The Trial of the Chicago 7

หนังนานาชาติยอดเยี่ยม
“Another Round” (Denmark)
“Better Days” (Hong Kong)
“Collective” (Romania)
“The Man Who Sold His Skin” (Tunisia)
“Quo Vadis, Aida?”(Bosnia and Herzegovina)

แต่งหน้าทำผม
Emma
Hillbilly Elegy
Ma Rainey’s Black Bottom
Mank
Pinocchio

โปรดักชั่นดีไซน์
The Father
Ma Rainey’s Black Bottom
Mank
News of the World
Tenet

วิชวลเอฟเฟ็กต์
Love and Monsters
The Midnight Sky
Mulan
The One and Only Ivan
Tenet

Raya and the Last Dragon รายากับความจีนที่หายไป?

ในดินแดนคูมันตราดินแดนจินตนาการที่มีกลิ่นไอแบบอุษาคเนย์ยุคก่อนสมัยใหม่ มนุษย์กับมังกรอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขจนวันหนึ่งมีสัตว์ร้ายนามว่า ดรูน เข้ามาทำลายความสงบสุขนี้ เผ่าพันธ์มังกรเสียสละปกป้องแผ่นดินจนตนเองนั้นสูญหายไปจากโลก เหลือเพียงมณีพลังมังกรทีคอยสะกดอสูรร้ายไม่ให้กลับมา แต่มนุษย์ที่เหลืออยู่กลับแตกแยกออกมาเป็นคน 5 เผ่าตามอวัยวะของมังกร เผ่าหัวใจ เขี้ยว เล็บ สันหลัง และหาง ที่แก่งแย่งอำนาจกัน คูมันตราแตกเป็นก๊กเป็นเหล่าจนวันหนึ่งอสูรดรูนกลับมา เลยเป็นหน้าที่ของรายา ลูกสาวเจ้าเผ่าหัวใจ ทีต้องตามหามังกรตัวสุดท้ายเพื่อต่อสู้กับดรูนอีกรอบ

ในขณะที่เสียงตอบรับของคนไทยที่ไปดู Raya and the Last Dragon มักจะเต็มไปด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นกับความเป็นไทยบนจอ แต่ตัวผู้เขียนเองแอบจะติดขัดกับการเหมารวมไปว่าสิ่งที่อยู่บนจอคือความเป็นไทยและละเลยความเป็นภูมิภาคอุษาคเนย์ที่กินขอบเขตเกินกว่ารัฐ-ชาติใดๆ เป็นการเฉพาะ อีกหนึ่งกระแสการตีความอีกแบบคือการพยายามแทนค่าเผ่าต่างๆ ในจักรวาลของหนังให้เป็นประเทศต่างๆ ในปัจจุบันของอุษาคเนย์ (เผ่านี้มีหิมะด้วยคือที่ไหน เผ่านี้มีตลาดน้ำคือที่ไหน) ซึ่งผู้เขียนเองก็มองว่าการพยายามจะวางเผ่าต่างทาบเข้ากับประเทศต่างๆ ในปัจจุบันนั้นก็เป็นอาการที่ผิดฝาผิดตัว 

Qui Nguyen หนึ่งในผู้เขียนบท ให้สัมภาษณ์ว่า การแทนค่าให้แต่ละเผ่าแทนประเทศต่างๆ นั้น เป็นเรื่องง่ายที่จะคิด แต่การแทนค่าจะกลายเป็นดาบสองคมเพราะมันทำให้ต้องมีประเทศที่รับบทตัวร้าย “มันจะกลายเป็นอะไรที่เละเทะเลย โอ้ ประเทศนี้เลว ประเทศนี้ดี และตัวเอกเรามาจากเผ่านี้” วิธีการที่น่าจะดีกว่าคือปะปนองค์ประกอบทุกประเทศให้ไปอยู่ในทุกเผ่า ให้มันดูเป็นอะไรที่กลางๆ ไป Nguyen อธิบายว่าคูมันตราเหมือนเป็นดินแดนยุโรปในยุคกลางก่อนแบ่งเป็นชาติๆ คุมันตรา “เป็นเหมือนดินแดนกษัตริย์อาเธอร์ในตำนานของพวกเรา [ชาวอุษาคเนย์] เป็น Game of Thrones ของเรา เป็น Dungeons and Dragons ของเรา” ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับว่าเวลาเราดู Game of Thrones เราจำเป็นต้องแทนค่าอาณาจักรต่างๆ กับประเทศยุโรปในปัจจุบันหรือไม่ ? ก็อาจจะไม่จำเป็น

แต่ในบรรดาการตีความที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ต มีการตีความแบบหนึ่งที่น่าสนใจคือการมองว่าตัวร้ายของเรื่อง ตัวดรูนเป็นภาพแทนของการเมืองร่วมสมัย นั่นคือดรูนเป็นเหมือนจีนที่เข้ามาทำลายความสงบสุขของภูมิภาค โดยมีมังกรในจักรวาลของเรื่องที่มาเป็นตัวแทนแม่น้ำโขง เป็นดั่งอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู้กับความชั่วร้ายของดรูน

คำถามคือดรูนคือจีนจริงๆ หรือ? แล้วมังกรคือภูมิภาคอุษาคเนย์ใช่ไหม?

ก่อนอื่นผู้เขียนขอออกตัวว่า ไม่ค่อยซื้อการอ่านหนังเรื่องนี้เป็นการเมืองภูมิภาคแบบตรงไปตรงมาจริงๆ จังๆ การมองว่าเนื้อเรื่องในหนังเป็นภาพเปรียบเปรยของประเทศในภูมิภาคที่ทะเลาะกัน ผู้เขียนเชื่อว่าตัวหนังจริงๆ มันไม่ได้จะลึกซึ้งกับความเป็นภูมิภาคนี้มากไปกว่าเสื้อผ้า อาหาร สถาปัตย์ และชื่อตัวละคร หนังสามารถถอดเส้นเรื่องแล้วไปแปะกับภูมิภาคใดๆ ในโลกก็ได้ มันจะเป็นตะวันออกกลางที่เผ่า 5 เผ่าแตกออกมาก็ได้ เป็นยุโรปตะวันตก ยุโรปตะวันออกก็ได้ เป็นเอเชียไกลก็ได้ เป็นเนทีฟอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ก็ได้ เป็นแคริบเบียน หรือจะกลับไปหมู่เกาะแปซิฟิกแบบ Moana ก็ได้ แค่เปลี่ยนเสื้อผ้าและอาหารคุณก็ได้สูตรสำเร็จของหนังที่จะไปแปะลงบนภูมิภาคไหนก็ได้ และรู้สึกว่าเนื้อเรื่องจริงๆ ของหนังก็ไม่ได้ตั้งใจจะเฉพาะเจาะจงอะไรกับอุษาคเนย์ ซึ่งก็ใช่แหละ ตัวค่ายหนังก็ต้องตั้งใจจะขายหนังกับคนดูทั่วโลก กลิ่นไออุษาคเนย์กลายเป็นความ exotic ที่สร้างรสชาติใหม่เพื่อขายของก็เท่านั้น

สิ่งที่น่าตั้งคำถามตามมาคืออะไรคือความ exotic ที่น่าขายในภูมิภาคนี้ จริงๆ ว่ากันตามประวัติศาสตร์อย่างน้อยจากฝั่งอเมริกา อุษาคเนย์มักถูกนับรวมเข้ากับเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะจีน (นี่อาจมองไปที่ดราม่าของหนังอีกประเด็นที่ว่าแคสต์หลักนอกจากตัว Raya ที่นักแสดงเป็นอเมริกัน-เวียดนามแล้ว ที่เหลือเป็นคนเชื้อสายเอเชียไกลหมดเลย) หนังหรือแอนิเมชั่นในอดีตนั้นตัวละครที่เป็นคนอุษาคเนย์มักถูกออกแบบว่าตัวผิวเหลือง ตาตี่เหมือนคนจีน (หรือหลายครั้งก็แคสต์นักแสดงเชื้อสายจีนมาเล่น) และ/หรือตัวละครอุษาคเนย์ก็มักจะถูกวาดให้มีลักษณะแตกต่างจากคนเอเชียใต้ (อินเดีย ปากีสถาน ฯลฯ) ที่ผิวสีคล้ำ ดวงตาโต ความเป็นอุษาคเนย์มักถูกผสมเข้ากับความเป็นจีนอย่างแนบเนียนเช่นใน The Hangover 2 ที่เนื้อเรื่องเกิดในกรุงเทพฯ หนังก็สามารถมีซีนที่เกิดในวัดจีนได้โดยไม่เคอะเขิน หรือใน Crazy Rich Asians ที่เนื้อเรื่องอยู่ในสิงคโปร์แต่ก็เต็มไปด้วยภาพของวัฒนธรรมจีนเป็นหลัก

สิ่งที่น่าตั้งคำถามตามมาคืออะไรคือความ exotic ที่น่าขายในภูมิภาคนี้ จริงๆ ว่ากันตามประวัติศาสตร์อย่างน้อยจากฝั่งอเมริกา อุษาคเนย์มักถูกนับรวมเข้ากับเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะจีน

จริงๆ แล้วถ้าไล่ประวัติศาสตร์ในยุคอาณานิคม ดินแดนแถวนี้มักมีชื่อเล่น 2 อย่างว่า east india อินเดียตะวันออก หรือ indo-china อินโดจีน สำหรับฝรั่งที่แยกแยะอะไรไม่ค่อยเป็นภูมิภาคนี้คือดินแดนที่อยู่ระหว่างอินเดียกับจีน (พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม) มีชื่อว่าอินโดจีน หรือดินแดนที่ไม่มีเอกลักษณ์อะไรจนต้องตั้งชื่ออิงจากสองอาณาจักรที่ใหญ่กว่าข้างๆ เราสามารถเห็นหลักฐานเหล่านี้จากการตั้งชื่อประเทศแถวนี้ตอนเป็นอาณานิคม ตอนอังกฤษได้พม่าทีแรก อังกฤษผนวกพม่าเข้าไปเป็นจังหวัดหนึ่งของอินเดียก่อน พม่ากลายเป็น British India ก่อนที่อังกฤษจะแยกออกมาเป็น British Burma ในภายหลัง ส่วนฝรั่งเศสยึดครองลาว กัมพูชา กับเวียดนามไว้ด้วยชื่อ French Indochine อินโดจีนของฝรั่งเศส ส่วนอินโดนีเซียในยุคนั้นก็คือ Dutch East India อินเดียตะวันออกของดัตช์ เหมือนฟิลิปปินส์ที่ก็มีชื่อเล่นอีกชื่อว่า Spanish East India อินเดียตะวันออกของสเปน

แต่การเหมารวมภูมิภาคในฐานะติ่งของ 2 อาณาจักรใหญ่ของอินเดียกับจีนก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว เพราะโดยทั่วไปภูมิภาคนี้ในประวัติศาสตร์ก็มักจะได้รับอิทธิพลจากทั้งอินเดียและจีน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ววัฒนธรรมเชิงสายตาในหลายๆ ประเทศได้รับอิทธิพลจากอินเดีย เช่น เสื้อผ้า ศาสนา อาหาร ฯลฯ (มีประเทศเดียวที่อยู่ใน sphere ของจีนหนักๆ คือเวียดนาม-โดยเฉพาะเวียดนามภาคเหนือด้วย) แต่สิ่งที่น่าสนใจในหนังเรื่องนี้คือแม้ว่าเราจะเห็นความเป็นอุษาคเนย์สายอินเดียผ่านเสื้อผ้าอาภรณ์สถาปัตย์ ฯลฯ ความเป็นจีนกลับไม่ปรากฎในโลกคูมันตรา ซึ่งจุดนี้น่าสนใจเพราะปกติการจินตนาการถึงอุษาคเนย์ของตะวันตกฮอลลีวู้ดมักจะปนเปไปกับความเป็นจีน แต่สิ่งที่ปรากฎในหนังคือการตั้งใจจะสร้างอัตลักษณ์แบบอุษาคเนย์ชัดๆ โดยตัดแบ่งแยกความเป็นจีนออกไป ผิวกายตัวละครก็ถูกลงสีให้คล้ำออกน้ำตาล มีดวงตากลมโต มากกว่าเหลือง-ขาวและตาตี่แบบคนจีน

แปลว่าตัวหนัง Raya เป็นการพยายามเฉลิมฉลองความเป็นอุษาคเนย์ที่อดีตตกอยู่ในร่มเงาของจีนมาช้านานหรือไม่? โลกที่ปราศจากจีนและตัวร้ายเป็นจีน? จริงๆ โดยทั่วไปเราอาจจะเข้าใจหนังอย่างนั้นก็ได้ แต่ผู้เขียนขอเสนอการอ่านอีกแบบที่ย้อนแย้งประเด็นออกไป ในหนังมีสิ่งที่เป็นศูนย์รวมของทุกเผ่า 2 อย่าง 1. ศัตรูร่วมซึ่งคือตัวดรูน (ที่ถูกมองว่าเป็นจีน) และ 2. มังกรผู้พิทักษ์คืออะไร

ตัวมังกรในเรื่องมักถูกตีความว่าเป็นพญานาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งก็เป็นการตีความที่เป็นไปได้ แต่ก็จะมีคำถามว่าแล้วทำไมหนังจึงไม่ทำให้มันเป็นพญานาคไปเลย ทำไมต้องเป็นมังกรพันธ์ขนที่เหมือนหลุดออกมาจาก The Never Ending Story แทนที่จะเป็นพญางูผิวหนังเป็นเกล็ดตามคติคนแถวนี้ เหตุผลอาจจะเป็นเพราะคนดูฝรั่งมังค่าจะไม่รู้จัก แต่ส่วนตัวผู้เขียนก็คิดว่าไม่เกี่ยวขนาดนั้นเพราะตัวดรูนเองเป็นสิ่งมีชีวิตที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ไปเลย คนดูใดๆ ก็ยังเข้าใจ เหตุผลที่ในเรื่องสัตว์มหัศจรรย์กลายเป็นมังกรนั้นถ้าคิดเร็วๆ อาจมี 2 อย่าง 

1. พญานาคไม่ได้เป็นอัตลักษณ์ร่วมของภูมิภาคทั้งหมด พญานาคเป็นสิ่งมีชีวิตในตำนานพุทธของอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป แต่สำหรับฟากหมู่เกาะ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ติมอร์ตะวันออก น่าจะไม่มีหรือไม่คุ้นเคย (อันนี้เป็นการคาดเดาของผู้เขียน) 

2. พญานาคเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่จริงในวัฒนธรรมความเชื่อของคนในพื้นที่ มีความสุ่มเสี่ยงที่จะโดนดราม่าได้ถ้าเลือกนำเสนอแบบไม่ถูกใจคนโลคัล แบบมังกรมูซูใน Mulan เวอร์ชั่นแอนิเมชั่น (เลยต้องเปลี่ยนเป็นนกแทนในภาค live action) มังกรพันธ์ขนของ Raya เลยเป็นสัตว์อภินิหารกลางๆ ที่มาจากที่อื่น ที่ไม่อิงกับความเชื่อท้องถิ่นที่อ่อนไหว มาเพื่อเข้ากับทุกเผ่าทุกประเทศทั้งภูมิภาค มาเพื่อทำให้ทุกภูมิภาคมีจุดร่วมกัน พอมาถึงจุดนี้เราสามารถอ่านได้ไหมว่ามังกรในเรื่องคือคนจีน? เพราะถ้าต้องถามว่าอะไรที่อุษาคเนย์มีจุดร่วมกัน นั่นก็คือมีคนจีนทุกที่

พูดแบบนี้อาจดูตลกเพราะมันแย้งกับการอ่านอีกแบบที่มองว่าตัวดรูนเป็นจีนที่เข้ามาทำลายความสงบในภูมิภาค แต่เราอาจจะพูดต่อได้ว่าจริงๆ ในปัจจุบันความขัดแย้งของภูมิภาคเป็นเรื่องของชนชั้นนำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มักจะเป็นคนเชื้อสายจีนต่อสู้กับทุนจากจีนปัจจุบันได้ไหม คือถ้าเอาบริบทไทย ใครในไทยจะบ่นเรื่องการรุกตลาดไทยของคนจีนมากกว่านายทุนเชื้อสายจีนอีกล่ะ

แต่กระนั้นดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าผู้เขียนอาจจะไม่ค่อยซื้อว่าตัวหนังโดยรวมเป็นการเปรียบเปรยเรื่องการเมืองภูมิภาคที่ตรงไปตรงมา ความเป็นอุษาคเนย์ที่หนังหยิบฉวยมาใช้ได้กลายเป็นองค์ประกอบทางสายตาที่ประดับประดาเส้นเรื่อง องค์ประกอบแบบเสื้อผ้า อาหาร สถาปัตย์ ธีมหลักของหนังเรื่องความเชื่อใจก็เป็นเหมือนมังกร นั่นคือเป็นของภายนอกที่เอามาแปะลงบนฉากหลังอุษาคเนย์เพื่อให้มีเนื้อเรื่องจะเล่า แต่เรื่องที่มันเล่าก็ไม่ได้หมายถึงคนแถวนี้จริงๆ เท่าไหร่นัก


อ้างอิง

https://time.com/5944583/raya-and-the-last-dragon-southeast-asia/

คุกขังเขาได้ แต่หัวใจอย่าปรารถนา : 1+12 ภาพยนตร์ว่าด้วยการจองจำทางการเมืองและการต่อต้าน

วันที่ 19 กันยายน 2563 เป็นวันชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง และมีข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สร้างความหวังให้กับผู้คนที่ต้องการเห็นความเท่าเทียมเกิดขึ้นบนที่แห่งนี้ แต่การถูกจับกุม และการไม่ให้ประกันตัวของแกนนำทั้ง 3 คนในวันนั้นอย่าง ไผ่ – จตุภัทร บุญภัทรรักษา, ไมค์ – ภาณุพงศ์ จาดนอก และ รุ้ง – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และล่าสุดในวันที่ 12 มีนาคม เมื่อมีคำร้องขอการประกันตัวของทั้งสามคน รวมทั้ง โตโต้ – ปิยรัฐ จงเทพ ที่ถูกฝากขังไว้ ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งแต่อย่างใด โดยที่ไม่ได้มีการบอกสาเหตุอย่างชัดเจนจากศาล

เหตุการณ์ทั้งหมดนั้นได้สร้างความแค้นและหมดหวังต่อระบบความยุติธรรมที่มีต่อประเทศนี้สำหรับใครหลายคน ยังไม่รวมแกนนำคนอื่นที่ถูกจำคุกไปแล้วก่อนหน้า ในการต่อสู้กับกฎหมายที่เล่นงานกับผู้ที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับสิ่งที่อยู่บนหิ้งบนบ่า พวกเขาเข้าคุกและออกมาราวกับว่านั่นคือบ้านหลังใหม่ที่จองจำความคิดและความเป็นอิสระ ข้อความที่พวกเขาส่งมาถึงผู้ที่ชุมนุมอยู่ทุกครั้งนั้นบอกได้ว่าอย่าเพิ่งหมดหวัง นี่คือราคาที่พวกเขายอมจ่ายมากกว่าคนทั่วไป และพวกเขาจะยอมทนเพื่อให้เห็นปลายสายรุ้งที่ยังไม่รู้วันเวลาที่จะส่องแสง แต่พวกเขาไม่ใช่ใครเลย เป็นเพียงแค่มนุษย์ธรรมดาเฉกเช่นเรา นั่นหมายความว่าสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นกับเราได้ทุกคน และนั่นเป็นเหตุผลที่เพียงพอที่มีคนกลุ่มหนึ่งที่โกรธแค้นลุกขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติธรรม การลดทอนความเป็นมนุษย์เมื่อคิดเห็นต่างจากมายาคติเดิมที่เคยปลูกสร้างไว้มาหลายรุ่นหลายสมัย และมันต้องใช้เวลาอีกยาวนาน

ความโกรธแค้นของมนุษย์ผู้โหยหาอิสรภาพจะไม่ได้ถูกบันทึกแค่ไว้ในประวัติศาสตร์อย่างแข็งกระด้าง แต่มันยังถูกจารึกไว้ในภาพยนตร์ในฐานะเครื่องมือที่แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ และชัยชนะที่พวกเขาได้มา หรือภาพเหตุการณ์ของบาดแผลความเจ็บปวดของผู้ถูกกระทำที่ไม่อาจส่งเสียง จะถูกส่งต่อไปรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่มีวันลืม ภาพยนตร์จะแสดงให้เห็นถึงภาพของความโหดร้าย หรือความเลวร้ายของภาครัฐที่จะกระทำต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกได้อย่างไร้หัวจิตหัวใจที่สุด ถึงกระนั้นภาพยนตร์ยังคงเคลื่อนไปอย่างไม่รู้จบ ราวกับรอคอยจุดจบของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สิ้นสุด และเมื่อนั้นภาพยนตร์จะสรุปให้ทุกคนได้รับทราบ มันจะกลายเป็นเครื่องมือที่ไว้แซ่ซ้องความแข็งแกร่งของประชาชนคนธรรมดา หรือกลายเป็นเพียงแค่อำนาจของรัฐที่ใช้ควบคุมปิดบังแสงธรรมชาติไม่ให้เล็ดลอดกระทบกับคนอย่างเรา ไฟแห่งการต่อต้านของทุกคนนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์

และนี่คือ 1+12 ที่จะแสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ของความเย็นชาที่ผู้ปกครองจะกระทำต่อผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง และเมื่อประชาชนเพียงจำนวนหนึ่งเริ่มลุกฮือต่อต้าน สิ่งต่างๆ รอบตัวจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และนี่เป็นเพียงแค่จำนวนหนึ่งของหนังทั้งหมดทั่วโลกเท่านั้น


Hunger (2008, Steve McQueen)

สร้างจากเรื่องจริงจากการประท้วงของกลุ่มกองกำลังสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (IRA: Irish Republican Army) ที่ถูกจองจำในคุกเมื่อปี 1981 Bobby Sands หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม IRA ถูกจับกุมจากความขัดแย้งที่พวกเขามีต่อสหราชอาณาจักร เขาอยู่ในเรือนจำที่มีความเป็นอยู่ย่ำแย่ และมีการปราบปรามนักโทษด้วยความรุนแรง จนเขาและกลุ่มก่อการประท้วงภายในคุก เริ่มจากการไม่สวมชุดนักโทษ ไม่อาบน้ำ จนเริ่มทำให้ห้องขังสกปรกด้วยปัสสาวะ อุจจาระ และจนสุดท้ายพวกเขายอมอดอาหาร จนมีผู้ประท้วงเสียชีวิต

ผลงานเปิดตัวของผู้กำกับ Steve McQueen นำแสดงโดยนักแสดงที่กลายเป็นเพื่อนร่วมงานคู่บุญในเวลาถัดมาอย่าง Michael Fassbender ซึ่งเขายอมลงทุนลดน้ำหนักจนผ่ายผอมเพื่อให้ได้สภาพร่างกายและความกดดันที่สมจริง


A Twelve Year Night (2018, Álvaro Brechner)

หนังสร้างจากเรื่องจริงในปี 1973 ที่อุรุกวัยถูกปกครองโดยรัฐบาลทหาร สมาชิกกลุ่มกองโจรฝ่ายซ้ายทูปามาโรถูกจับเข้าคุกเพื่อทำการต่อรองไม่ให้กลุ่มกองโจรโจมตีรัฐบาล นำโดยสมาชิกหลักสามคน หนึ่งในนั้นคือ José Mujica ที่ต่อมาจะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 40 ของอุรุกวัย พวกเขาถูกขังในคุกเป็นเวลา 12 ปี ต้องฟันฝ่าความทรมาน การทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อกลับไปหาครอบครัวและใช้ชีวิตด้วยความคิดที่อิสระและเสรี

หนังเป็นตัวแทนของประเทศอุรุกวัยในการเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ซึ่งน่าเสียดายที่ไม่ได้ผ่านรอบเสนอชื่อ แต่สามารถหาดูได้ใน Netflix


Nasrin (2020, Jeff Kaufman)

สารคดีที่ติดตามชีวิตของ Nasrin Sotoudeh ทนายความและนักสิทธิมนุษยชนชาวอิหร่านที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรี เยาวชน ชาว LGBTQ+ ผู้นับถือศาสนาชนกลุ่มน้อย และศิลปินที่รัฐบาลกำลังตามตัวที่อาจได้รับโทษถึงการประหารชีวิต เธอถูกจับเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2018 ต้องรับโทษจำคุกทั้งหมด 38 ปี และถูกเฆี่ยนอีก 148 ครั้ง แต่ถึงแม้เธอจะอยู่ในคุก เธอก็ยังไม่หยุดต่อสู้เพื่อความถูกต้อง

หนังเรื่องนี้มีการถ่ายทำอย่างลับๆ จากคนในอิหร่านที่ยอมเสี่ยงถูกจับกุมเพื่อให้ได้หนังเรื่องนี้ บรรยายโดย Olivia Colman นักแสดงผู้ที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่อง The Favourite และเป็นที่รู้จักของใครหลายๆคนในปัจจุบันจากซีรี่ส์เรื่อง The Crown


The Company You Keep (2012, Robert Redford)

Ben Shepard นักข่าวท้องถิ่นที่เห็นข่าวหนึ่งในสมาชิกอดีตกลุ่ม Weather Underground กลุ่มกองกำลังฝ่ายซ้ายถูก FBI จับ จึงตามสืบเรื่องราวเพิ่มเติมเพื่อหาโอกาสในการไต่เต้าทางหน้าที่การงาน จนทำให้เขาได้ไปเจอกับ Jim Grant ทนายความในเมืองอัลบานี ของนิวยอร์ก ที่ใช้ชีวิตดูแลลูก สาววัย 11 ขวบ หลังจากภรรยาเสียชีวิต ก่อนจะพบว่าเขาคืออดีตหน่วย Weather Underground ที่สามารถหลบหนีการจับกุมของตำรวจมาได้อย่างยาวนานถึง 30 ปี จากการก่อเหตุปล้นแบงค์ แต่พอยิ่ง Ben สืบสาวเรื่องราวมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งพบกับความไม่ชอบมาพากลมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วน Jim นั้นต้องหลบหนีจากการตามล่าของ FBI หลังจากที่เขาถูกเปิดเผยตัว ไม่อย่างนั้นเขาจะถูกพรากจากลูกสาวที่รักของเขาไปตลอดกาล

สร้างจากนิยายในชื่อเดียวกันของ Neil Gordon และ Robert Redford รับหน้าที่กำกับและทำการแสดงเป็น Jim Grant เอง


National Security (2012, Ji-yeong Jeong)

หนังดัดแปลงมาจากชีวิตจริงของ Kim Geun-tae นักเคลื่อนไหวที่ได้กลายมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสวัสดิการและสาธารณสุขในปี 2004 และเสียชีวิตในปี 2011 ว่าด้วยในช่วงรัฐบาลของประธานาธิบดี Chun Doo-hwan ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งจากการยึดอำนาจจากประธานาธิบดีคนก่อนและสร้างรัฐบาลทหารที่กวาดล้างพวกที่คิดเห็นต่างจนเกิดเหตุการณ์ 18 พฤษภา 1980 ที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ในปี 1985 Kim Jong-tae นักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกลักพาตัวในย่าน Nam-yeong-dong ใจกลางกรุงโซล เขาถูกยัดเยียดให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ และฝักใฝ่ในประเทศเกาหลีเหนือ

หนังมุ่งเน้นไปที่ประสบการณ์และวิธีการทรมานนักโทษอย่างโหดเหี้ยม ตั้งแต่ทุบตี บังคับให้อดนอนอดอาหาร กดหัวให้จมน้ำ เทน้ำใส่ที่หน้าผ่านผ้ากั้นบางๆ เพื่อให้หายใจไม่ออก ไปจนถึงรัดคอและช็อตไฟฟ้า การถ่ายทอดมันอย่างสมจริงนั้นเลวร้ายจนผู้กำกับ Chung Ji-young ออกมาบอกว่านี่คือประสบการณ์การทำหนังที่ทรมานที่สุดในชีวิตการเป็นผู้กำกับของเขา


Super Citizen Ko (1994, Wan Jen)

หนังเล่าสลับเป็นสองช่วง ระหว่างช่วงปัจจุบัน ชายแก่คนหนึ่งที่เคยเป็นอดีตนักโทษทางการเมืองที่เคยถูกจองจำที่กรีนไอส์แลนด์เป็นเวลา 30 ปี ในช่วง White Terror ยุค 50’s ที่รัฐบาลก๊กมินตั๋งต่างกวาดล้างผู้ที่เห็นต่าง มีความคิดเอนเอียงไปในทางฝั่งซ้าย ด้วยการกักขังหรือสังหาร เป้าหมายที่เหลืออยู่ในชีวิตของเขาคือการตามหาหลุมศพของเพื่อนนักโทษการเมืองที่ถูกสังหารต่อหน้า ด้วยความกลัวและรู้สึกผิดต่อบาป และช่วงในยุค White Terror ที่เขาถูกกักขังในกรีนไอส์แลนด์ ความรู้สึกผิดและความทรมานทั้งร่างกายและจิตใจที่ส่งผลให้เขากลายเป็นคนแบบนี้ในปัจจุบัน จะปรากฏให้เห็นในส่วนนี้

กำกับโดยว่านเจิน หนึ่งในผู้กำกับที่สำคัญที่สุดของกลุ่ม New Wave Cinema ของไต้หวัน ควบคู่ไปกับ โหวเสี่ยวเฉียน และ เอ็ดเวิร์ด หยาง ส่วนใหญ่หนังของเขาจะมุ่งไปที่ประเด็นทางสังคมที่ถูกปิดบังความโหดร้ายไว้

หนังจะฉายในโปรแกรมของหอภาพยนตร์ ในวันที่ 8 และ 18 เมษายน 2564 ติดตามเพิ่มเติมที่ https://fapot.or.th/assets/upload/newsmail/[email protected]


ทุกคนที่บ้านสบายดี (2019, ธนกฤต ดวงมณีพร)

หนิง พา เก่ง ลูกชายวัยประถมไปเยี่ยมพ่อของเขา ในงานวันพบญาติประจำปีของเรือนจำ ในตอนแรกพ่อของเก่งจะได้ออกจากเรือนจำจากการอภัยโทษ แต่เมื่อเกิดเหตุรัฐประหารในปี 2557 จึงทำให้การพิจารณาโทษของเขาถูกเลื่อนออกไป ความหวังที่พวกเขาจะได้พบกันพร้อมหน้าพร้อมตาที่โลกภายนอกจึงถูกแยกห่างกันออกไปอีกครั้ง หนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ รางวัลช้างเผือก ในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 21 โดย หอภาพยนตร์ฯ


หมายเลขคดีแดง (2019, เสฏฐวุฒิ เมืองแก้ว, ณัฐพล ต. รุ่งเรือง, ปรินทร์ จริยาสิริสุข, พีรพัฒน์ รักงาม, วิศรุต ศรีพุธสมบูรณ์)

สารคดีสั้นที่สัมภาษณ์เพื่อนของคนทำซึ่งกำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย แม่ของเขานั้นเป็นนักโทษคดีมาตรา 112 แต่เขายังคงเล่าเรื่องชีวิตของเขาด้วยน้ำเสียงที่เฮฮา ผ่อนคลาย แต่ยังแฝงไปด้วยความเศร้าและความโกรธที่เจือปนอยู่ในนั้น สารคดีเรื่องนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในสาขาดุ๊ก (รางวัลภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้น) ของเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 23 ที่ทางหอภาพยนตร์ฯ จัดขึ้น


Mr. Zero (2016, นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์, ชวัลรัตน์ รุ้งแสงเจริญทิพย์)

บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ นักเขียนหนังแปลผู้ถูกจับกุมในมาตรา 112 ถึง 4 ครั้ง ได้รับการปล่อยตัว 2 ครั้งโดยเหตุผลว่าเขามีปัญหาทางจิต อีก 2 คดียังคงอยู่ในชั้นศาล สารคดีใช้วิธีการเล่าโดยนำงานเขียนของบัณฑิตในชื่อเดียวกับเรื่อง (คนหมายเลขศูนย์) เรื่องราวที่อ้างอิงมาจากเหตุการณ์ที่เดวิด แชปแมน สังหาร จอห์น เลนนอน มาเป็นตัวตั้งต้นในการผสมผสานเข้ากับเรื่องราวชีวิตของบัณฑิตเอง ปัจจุบันศาลได้ยกฟ้องคดี 112 ของบัณฑิตแล้วเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา สารคดีสั้นเรื่องนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขาดุ๊ก จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 20 สามารถดูได้ที่ Doc Club On Demand


Olympic Garage (1999, Marco Bechis)

ในยามปกติ Maria เป็นครูสอนอ่านและเขียนหนังสือให้กับเด็กๆ ย่านชานเมืองของ Buanos Aires เธออาศัยอยู่กับแม่เพียงแค่สองคน แต่อีกด้านหนึ่งเธอคือนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรัฐบาลทหารในอาร์เจนตินา วันหนึ่ง Maria ถูกทหารนอกเครื่องแบบจับตัวไปต่อหน้าแม่ของเธอ เธอถูกพาไปที่โรงรถ Olimpo ซึ่งจริงๆ แล้วที่นี่เป็นหนึ่งในสถานที่จับกุมตัวและทรมานนักโทษทางการเมือง Tigre หัวหน้าผู้คุมสถานที่แห่งนี้ส่ง Felix ซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่พักอาศัยห้องที่แม่ของเธอเป็นเจ้าของมาทรมานเธอ แต่ Felix คนนี้นั้นแอบชอบ Maria อยู่ และเขาเป็นความหวังหนึ่งเดียวที่จะทำให้เธอหนีรอดไปจากที่แห่งนี้

หนังเรื่องนี้อ้างอิงจากเหตุการณ์ Dirty War เริ่มขึ้นหลังการรัฐประหารในเดือนมีนาคม 1976 นำโดยพลตรี Jorge Rafael Videla ด้วยการอุ้มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกสงสัยว่าเป็นฝ่ายซ้าย หรือบังคับให้สูญหาย ระบุว่าในช่วงเวลาเพียง 3 ปี พวกเขานับจำนวนคนที่เสียชีวิตและสูญหายได้ถึง 22,000 คน หนังเรื่องนี้ได้เข้าร่วมเทศกาลมากมาย รวมกระทั่งเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต และเข้าใน section ของ Un Certain Regard ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีนั้นด้วย สามารถเช่าหรือซื้อได้ที่ vimeo


Sophie Scholl – The Final Days (2005, Marc Rothemund)

หนังเล่าเรื่องของ Sophie Scholl วัย 21 ปี และพี่ชายของเธอ Hans Scholl วัย 24 ปี ผู้ก่อตั้งกลุ่ม White Rose กลุ่มนักศึกษาเยอรมันที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเขาแสดงการต่อต้านด้วยการแจกจ่ายใบปลิวต่อต้านนาซีตามที่ต่างๆ เขียนข้อความบนกำแพงและผนังทั่วเมืองเบอร์ลิน พวกเขาถูกตำรวจเกสตาโปจับได้ระหว่างกำลังเอาใบปลิวไปโปรยในมหาวิทยาลัย เรื่องราวในหนังดำเนินไปตอนช่วงเวลาที่เธอถูกสอบสวนและดำเนินคดีในศาล ซึ่งใช้เวลารวบรัดเพียงแค่ 5 วัน สุดท้ายนั้นศาลตัดสินว่าเธอและพี่ชายก็โดนตัดสินประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยตินด้วยข้อหาทรยศชาติ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1943

และเรื่องราวอันกล้าหาญของเธอและกลุ่ม White Rose นั้นก็ได้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบ รวมถึงหนังเรื่องนี้ หนังเปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2005 และคว้ารางวัล Silver Bear สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม รวมทั้งเป็น 1 ใน 5 หนังชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม


The Woman Who Left (2016, Lav Diaz)

ในปี 1997 Horacia ถูกปล่อยตัวหลังจากจำคุกมานาน 30 ปี ด้วยความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อ หลังจากที่เพื่อนนักโทษหญิงของเธอยอมสารภาพว่าเป็นผู้ที่ก่อความผิดแล้วป้ายความผิดให้เธอ จากคนรักเก่าที่พรากทุกอย่างในชีวิตของเธอไป Horacia ออกเดินทางตามหาครอบครัวที่ยังเหลืออยู่ จนพบกับลูกสาว แต่เธอบอกว่าอย่าให้ใครรู้ว่าเธอออกมาจากคุกแล้ว เธอต้องตัดพันธะทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเธอ เพื่อเป้าหมายในชีวิตที่เหลือเพียงแค่สองอย่าง การตามหาลูกชายที่หายไป และการล้างแค้นที่ทำให้เธอต้องทุกข์ทรมาน

Lav Diaz ผู้กำกับที่ชึ้นชื่อของฟิลิปปินส์ในแง่การทำหนังที่ยาวมากกว่าสามชั่วโมง และการสร้างหนังจากเหตุการณ์อันเลวร้ายในประวัติศาสตร์ คราวนี้เขานำเอานิยาย God See the Truths, But Waits ของ Leo Tolstoy มาตีความในรูปแบบใหม่ให้เข้ากับสภาพสังคมของฟิลิปปินส์ ซึ่งเขาบอกว่าปี 1997 นั้นถือว่าเป็นปีที่ซับซ้อนและมืดหม่นมากของประวัติศาสตร์ ทั้งเหตุการณ์เลวร้ายในและนอกประเทศต่างกดทับและทับซ้อนกันเป็นโยงใยเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ได้รับรางวัลสิงโตทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซในปีนั้น


Lost in the Fumes (2017, Nora Lam)

สารคดีที่ติดตามชีวิตของ Edward Leung หนึ่งในแกนนำคนสำคัญที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง และสมาชิกพรรค Hong Kong Indigenous ที่มีการต่อต้านรัฐบาลจีนอย่างรุนแรง ผู้สร้างคติประจำใจ “ทวงคืนฮ่องกง – ถึงยามเราปฏิวัติ” ให้ม็อบที่ฮ่องกงใช้ขับเคลื่อน ตัว Leung นั้นอยู่ในกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ดำเนินแนวทางแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ภายหลังเมื่อปี 2016 เขาถูกตัดสิทธิจากการเล่นการเมือง และถูกจับในข้อหาก่อการจลาจลในมงก๊ก ซึ่งศาลกล่าวว่า การกระทำของ Edward Leung มีเจตนาในการสร้างความรุนแรง ซึ่งเป็นการกระทำที่ร้ายแรงและวุ่นวายเท่าที่เคยมีมา เขาต้องรับโทษด้วยการจำคุกเป็นเวลา 6 ปี

นอกจากจะตามชีวิตในด้านการเมืองของ Edward Leung สารคดียังเปิดเผยชีวิตในด้านอันอ่อนไหวของเขาที่ต้องต่อสู้กับโรคซึมเศร้าที่เขาต้องเผชิญอยู่ด้วย

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 11 มี.ค. 64

สัปดาห์นี้เป็นการเข้าฉายของหนังไทยเรื่องแรกของปี ‘เรื่องผีเล่า’ ที่เป็นหน่วยกล้าตาย เข้ามาเช็คความพร้อมของผู้ชม ซึ่งหนังเปิดตัววันแรกไป 0.54 ล้านบาท และหากเป็นแบบนี้ต่อไป หนังน่าจะปิดโปรแกรมที่ไม่ถึง 10 ล้านบาท (ในกรุงเทพฯ)

รายได้หนังประจำวันที่ 11 มี.ค. 64

  1. Raya and the Last Dragon – 1.20 (18.34) ล้านบาท
  2. เรื่องผีเล่า – 0.54 ล้านบาท
  3. Chaos Walking – 0.36 ล้านบาท
  4. The Marksman – 0.09 (1.80) ล้านบาท
  5. Boss Level – 0.07 (1.57) ล้านบาท
  6. Tom and Jerry – 0.06 (8.10) ล้านบาท
  7. Music – 0.02 ล้านบาท
  8. Violet Evergarden The Movie – 002 (2.29) ล้านบาท
  9. Roohi – 0.01 ล้านบาท
  10. Skylin3s – 0.005 (2.99) ล้านบาท

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 4 มี.ค. 64

Raya and the Last Dragon แอนิเมชั่นดิสนีย์ที่มีฉากหลังเป็นแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดตัวเป็นอันดับ 1 อย่างไร้คู่แข่ง แต่ด้วยรายได้เพียง 1.5 ล้านบาท

รายได้หนังประจำวันที่ 4 มี.ค. 64

  1. Raya and the Last Dragon – 1.50 ล้านบาท
  2. Ton and Jerry – 0.50 (5.69) ล้านบาท
  3. Boss Level – 0.46 ล้านบาท
  4. The Marksman – 0.23 ล้านบาท
  5. Skylin3s – 0.06 (2.48) ล้านบาท
  6. Violet Evergarden The Movie – 0.06 (1.71) ล้านบาท
  7. Willy’s Wonderland – 0.03 (1.13) ล้านบาท
  8. Howling Village – 0.02 (2.72) ล้านบาท
  9. Detective Chinatown 3 – 0.02 (2.72) ล้านบาท
  10. The Long Walk – 0.003 (0.27) ล้านบาท

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 25 ก.พ. – 3 มี.ค. 64

แม้จะยังเป็นช่วงซบเซาของโรงหนัง แต่ก็ควรบันทึกไว้ว่า มันทำให้หนังเล็กๆ ได้ขึ้นมาติดอันดับจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหนังเอเชียครึ่งหนึ่ง และเป็นญี่ปุ่นถึง 3 เรื่อง พรุ่งนี้มาดูผลลัพธ์ Raya จากดิสนีย์กันจ้า

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 25 ก.พ. – 3 มี.ค. 64

  1. Tom and Jerry – 5.19 ล้านบาท
  2. Skylin3s – 2.41 ล้านบาท
  3. Violet Evergarden The Movie – 1.64 ล้านบาท
  4. Howling Village – 1.18 (2.68) ล้านบาท
  5. Willy’s Wonderland – 1.10 ล้านบาท
  6. Detective Chinatown 3 – 0.85 (2.69) ล้านบาท
  7. Shadow in the Cloud – 0.09 (2.90) ล้านบาท
  8. The Cornered Mouse Dreams of Cheese – 0.09 (0.34) ล้านบาท
  9. Breaking News in Yuba County – 0.04 (0.28) ล้านบาท
  10. The Long Walk – 0.03 (0.26) ล้านบาท

Space Sweepers : โลกบริสุทธิ์อันเป็นพิษ

หากพูดถึงวงการหนังเกาหลี เราคงต้องยกนิ้วให้กับนวัตกรรมด้านพล็อต เทคนิคการนำเสนอใหม่ๆ และการใส่ลายเซ็นอันเป็นเอกลักษณ์ให้กับหนังแต่ละเรื่อง จนทำให้เกาหลีผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำด้านสื่อบันเทิงอย่างโดดเด่น และหากใครต้องการแสดงให้โลกเห็นว่า วงการหนังของตนเองไม่น้อยหน้าชาติใดในโลกแล้วล่ะก็ คงหนีไม่พ้นการทำหนังอวกาศโปรดักชั่นยักษ์ใหญ่ ที่การันตีด้วยซีจีแบบอลังการ แบบที่ Space Sweepers ทำให้ผู้ชมทึ่งไปเลยว่า “หน้าเกาหลีมันไปสุดขนาดนี้เลยหรอ!?”

Space Sweepers เล่าเรื่องราวโลกในอนาคตของภารโรงอวกาศ อันประกอบไปด้วยมนุษย์ 3 คน และหุ่นยนต์ 1 ตัว ที่ทำอาชีพล่าขยะที่ลอยอยู่กลางอวกาศจนอาจเป็นภัยต่อชุมชน และทำเงินจากขยะเหล่านั้น ทีมภารโรงอวกาศสุดกวนประกอบด้วย แทโฮ อดีตยามอวกาศผู้มีความหลังฝังใจและเป้าหมายเพื่อตามหาคนคนหนึ่ง กัปตันจาง อดีตสลัดอวกาศผู้มีความแค้นส่วนตัวกับเจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ ไทเกอร์ พาร์ค อดีตพ่อค้ายาที่หนีจากโลกหลังถูกพิพากษาประหารชีวิต และบับส์ หุ่นยนต์ที่เคยเป็นหน่วยรบมือฉมัง ทั้งสี่ดูเป็นเหมือนกลุ่มคนตกกระป๋องที่ทำงานเดือนชนเดือนเพื่อหาเงินมาเป็นค่าบำรุงยานและค่าอาหาร แต่แล้วชะตากรรมของพวกเขาก็เปลี่ยนไป เมื่อพวกเขาได้พบกับโดโรธี หุ่นแอนดรอยด์เด็กผู้หญิงที่เป็นอาวุธสังหารอันตราย ที่ถูกขอซื้อโดยกลุ่มสลัดอวกาศด้วยมูลค่านับล้าน

ดูจากพล็อตแล้ว Space Sweepers น่าจะเป็นแค่หนังเกี่ยวกับหนูตกถังข้าวสาร ที่ปูทางชีวิตตัวละครไปสู่ความวุ่นวายก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็นคนมั่งคั่ง แต่พล็อตย่อย (sub plot) ของหนังที่มีความซับซ้อนกลับทำให้หนังออกมามีมิติมากกว่านั้น โดยหนังวางพล็อตย่อยที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ เจมส์ ซัลลิแวน ชายที่มั่งคั่งที่สุดในโลก และเจ้าของบริษัท UTS ที่พัฒนานิคมบนอวกาศและดาวอังคารอันเป็นที่ที่คนมั่งคั่งอาศัยอยู่ ภายหลังจากที่ดาวโลกกลายเป็นแหล่งมลพิษอันแปดเปื้อนหลังยุคสงคราม โลกของ UTS เป็นโลกในอุดมคติที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวและอากาศบริสุทธิ์ ต่างจากโลกที่ตัวเอกต้องเผชิญซึ่งเต็มไปด้วยขยะ โดยนายซัลลิแวนผู้นี้มีอายุกว่าร้อยปีแล้วและมีแผนการบางอย่างที่เกิดจากปมในใจของเขา

ในมิติของความเป็นนานาชาติ นับได้ว่า Space Sweepers ทลายกำแพงด้านภาษาโดยให้ตัวละครแต่ละเชื้อชาติพูดภาษาของตนเอง ที่มีทั้ง เกาหลี อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส และอื่นๆ โดยปูเรื่องให้ตัวละครทุกตัวใส่เครื่องช่วยแปล นับเป็นมิติใหม่ของการดูหนัง ซึ่งหนังคงคาดการณ์อยู่แล้วว่าผู้ชมทาง Netflix จะต้องอ่านซับไตเติ้ล ทำให้หนังออกมามีเสน่ห์ของการกำจัดกรอบทางวัฒนธรรม และให้ความหมายของการเป็นพลเมืองโลก (global citizen) ของกลุ่มตัวเอกซึ่งเป็นชาวเกาหลี นับเป็นรสชาติใหม่ในการดูหนังและทำให้อินกับเรื่องได้มากขึ้น

พล็อตย่อยอีกพล็อตที่แทรกอยู่คือเรื่องราวของกลุ่ม Black Fox ซึ่งเป็นกลุ่มโจรสลัดที่ตามหาตัวโดโรธีอยู่เหมือนกัน โดยเบื้องหลังของกลุ่มมีความเป็นมาซับซ้อนกว่าที่ผู้ชมคาดไว้ตั้งแต่แรก และสะท้อนให้เห็นถึงการพยายามต่อรองคานอำนาจ ระหว่างคนกลุ่มเล็กๆ กับบริษัทหรือองค์กรภาครัฐยักษ์ใหญ่ที่มีปากมีเสียงมากกว่า ในพล็อตย่อยของ Black Fox นี้ถือว่าทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ และทำให้นึกถึงการรวมกลุ่มทางการเมืองในบ้านเราเพื่อสะท้อนเสียงของคนตัวเล็กๆ

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าหยิบฉวยที่สุดประเด็นหนึ่งของหนังก็คือ คอนเซ็ปต์เกี่ยวกับโลกอันบริสุทธิ์ ดังที่กล่าวไปแล้วว่า UTS มีลักษณะคล้ายกับยูโทเปีย ซึ่งโลกที่ซัลลิแวนสร้างขึ้นมานั้น เขาตั้งใจให้ไม่มีคนไม่ดีแม้แต่คนเดียวมาอาศัยอยู่ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์คัดเลือกคนที่ซื่อสัตย์เท่านั้นเข้ามาในนิคม ซัลลิแวนมีความคิดว่ามนุษย์นั้นสกปรกและน่าขยะแขยง อันเป็นปมที่เกิดจากในวัยเด็ก เขาเห็นพ่อแม่ถูกฆ่าตายต่อหน้าต่อตาในยุคสงคราม

วิทยาศาสตร์กับการคัดเลือกแค่ “คนดี” หรือพันธุกรรมที่ดี นำเรามาสู่ประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงอย่างแพร่หลายที่สุดทางปรัชญา นั่นคือ “มนุษย์มีเจตจำนงเสรี (free will) หรือไม่” หากเราเชื่อว่าซัลลิแวนคัดเลือกคนจากพันธุกรรมได้ นั่นย่อมหมายความว่า มนุษย์เลือกไม่ได้ว่าตนเองจะเป็นคนดีหรือไม่ดี เพราะพันธุกรรมเป็นตัวกำหนดทุกอย่างอยู่แล้ว คนทุกคนเกิดมาโดยถูกยีนส์กำหนดไว้แล้วว่าเขาจะกลายเป็นอะไร จะก่ออาชญากรรมหรือไม่ หรือจะเป็นคนชอบช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าเช่นนั้น โลกก็จะดำเนินไปด้วยกฎเกณฑ์แบบนิยัตินิยม (determinism) คือทุกคนไม่ได้ “เลือก” เองว่าจะทำอะไร และนั่นย่อมหมายความว่า การลงทัณฑ์และให้รางวัลย่อมไร้ความหมาย หากใครก่ออาชญากรรมขึ้น เขาก็ไม่ต้องติดคุก เพราะเขาไม่ได้เป็นคนเลือกกระทำสิ่งนั้น เช่นเดียวกับคนที่ทำดี ย่อมไม่ควรได้รับการสรรเสริญ เพราะเขาเกิดมาเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว

หากเราเชื่อว่าซัลลิแวนคัดเลือกคนจากพันธุกรรมได้ นั่นย่อมหมายความว่า มนุษย์เลือกไม่ได้ว่าตนเองจะเป็นคนดีหรือไม่ดี เพราะพันธุกรรมเป็นตัวกำหนดทุกอย่างอยู่แล้ว คนทุกคนเกิดมาโดยถูกยีนส์กำหนดไว้แล้วว่าเขาจะกลายเป็นอะไร จะก่ออาชญากรรมหรือไม่ หรือจะเป็นคนชอบช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าเช่นนั้น โลกก็จะดำเนินไปด้วยกฎเกณฑ์แบบนิยัตินิยม (determinism) คือทุกคนไม่ได้ “เลือก” เองว่าจะทำอะไร

ดูเหมือนโลกในอุดมคติของซัลลิแวนที่เขาตั้งใจสร้างขึ้นจะย้อนแย้งในตนเองเล็กน้อย มีฉากหนึ่ง เขากล่อมให้นักข่าวคนหนึ่งเหนี่ยวไกปืนฆ่าคนทรยศของ UTS โดยบอกว่าจะให้รางวัลตอบแทนด้วยการให้เขากลายเป็นพลเมืองของ UTS ถาวร หลังจากนักข่าวเหนี่ยวไก เขากลับเปิดโปงสัญชาตญาณดิบของนักข่าวผู้นั้น ว่าแท้จริงแล้วนักข่าวเองนั่นแหละที่มีมลทิน สมควรแก่การลงโทษ ดูเหมือนซัลลิแวนจะไม่เคลียร์กับตนเองในเรื่องการลงทัณฑ์และให้รางวัล เพราะเป็นเขาเองที่บอกว่าตัวเองเลือกคนที่ซื่อสัตย์ได้ การที่นักข่าวทำอะไรบางอย่างลงไป ย่อมหมายความว่าเขาไม่ได้เลือกเอง เพราะนั่นคือธรรมชาติของเขา หนังควรจะสำรวจประเด็นธรรมชาติของมนุษย์ให้ละเอียดขึ้นอีกนิด แต่แม้จะไม่ทำเช่นนั้นก็เข้าใจได้ เพราะด้วยพล็อตย่อยที่มีหลายพล็อตของหนัง กับเวลาแค่ 2 ชั่วโมงอาจไม่เพียงพอให้เล่าในประเด็นนี้

ประเด็นอื่นที่หนังนำเสนอเป็นแกนกลาง มีทั้งประเด็นที่เห็นได้ดาษดื่นในหนังเกาหลี และประเด็นที่แปลกใหม่ โดยจะขอพูดในประเด็นที่เห็นได้บ่อยก่อน นั่นคือประเด็นเรื่องครอบครัว พระเอกของเรื่องคือแทโฮ และโดโรธี มีส่วนที่คล้ายคลึงกัน คือพวกเขาถูกทำให้พลัดพรากจากครอบครัว ในสภาพแวดล้อมที่วุ่นวายไปด้วยคนทุกชาติพันธุ์ปะปนกันอยู่ในอวกาศ สภาพแวดล้อมแบบที่มีความเป็น cyberpunk ซึ่งเป็นยุค post-apocalypse แบบหนึ่ง สื่อถึงความเสื่อมโทรมของสังคมมนุษย์หลังจากยุคสงคราม ซึ่งทำให้สายใยของผู้คนที่อยู่ใกล้ตัวมีความเปราะบางสูง การพลัดพรากจากกันในอวกาศเป็นเรื่องน่ากลัวมาก เพราะนั่นอาจหมายถึงการ “หลุดออกนอกวงโคจร” และหากันไม่เจออีกเลย ในสภาพของความเป็นพหุวัฒนธรรมที่ยุ่งวุ่นวายของสังคมยุคหลังสงครามนี้ ยิ่งขับเน้นความโหยหาถึงสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่หาได้ยากยิ่ง ซึ่งหนังก็ได้ขยี้อารมณ์ของการพรากจากกันของครอบครัว ว่ามันน่าเจ็บปวดและน่าเศร้าเพียงใด มันอาจดูเหมือนการสูญเสียที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจที่ทำให้เรายังเป็นมนุษย์และไม่กลายเป็นจักรกลไปเสียก่อน ยิ่งกับแทโฮเองที่ถูกขับออกจากชนชั้นสูง และไม่มีเงินมากพอใช้บริการตามหาสมาชิกในครอบครัวแสนแพง ที่การันตีผลภายในไม่กี่นาที ยิ่งเป็นภาพสะท้อนของกลุ่มคนที่ถูกละเลย ไร้ทางสู้ ไร้อำนาจ ที่ถูกทำให้สิ้นหวังลงไปทุกวัน ตัวละครเช่นนี้ทำให้ประเด็นเรื่องครอบครัวของหนังมีความเป็นดราม่ามากขึ้นไปอีก ซึ่งในประเด็นเรื่องครอบครัวนี้ วงการหนังเกาหลีทำให้กลายเป็นลายเซ็นของหนังอยู่หลายเรื่อง

ยิ่งกับแทโฮเองที่ถูกขับออกจากชนชั้นสูง และไม่มีเงินมากพอใช้บริการตามหาสมาชิกในครอบครัวแสนแพง ที่การันตีผลภายในไม่กี่นาที ยิ่งเป็นภาพสะท้อนของกลุ่มคนที่ถูกละเลย ไร้ทางสู้ ไร้อำนาจ ที่ถูกทำให้สิ้นหวังลงไปทุกวัน

แม้ประเด็นเรื่องครอบครัวจะถูกทำให้เป็นประเด็นดาษดื่นในหนังเกาหลี แต่มันก็ถูกเล่าใหม่ด้วยเช่นกัน โดยการนิยามคำว่า “ครอบครัว” ให้ต่างออกไปจากเดิมด้วย ครอบครัว อาจเป็นกลุ่มคนที่มาทำงานด้วยกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน ตั้งวงไพ่และหาเงินมาใช้หมุนในทีมด้วยกัน โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังที่อาจมีบาดแผลมาก่อนของแต่ละคน เคมีของตัวละครและพล็อตย่อยของหนังได้เสริมความแข็งแกร่งให้กับจุดนี้ได้อย่างดี โดยทำให้เราเชื่อจริงๆ ว่าทั้ง 4 คน (ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นหุ่นยนต์) เป็นมากกว่าแค่เพื่อนร่วมงาน แต่เป็นทีมที่มีความเป็นครอบครัวอย่างแท้จริง แทโฮ กัปตันจาง ไทเกอร์ พาร์ค และหุ่นยนต์บับส์ เป็นเพียงเดนตายสังคมที่มารวมตัวกันด้วยจุดประสงค์ร่วมกันคือสร้างความมั่งคั่งให้ตนเอง และถีบตนเองให้พ้นกับดักความจนเสียที แต่พวกเขาก็พบว่าพวกเขามีส่วนที่คล้ายกันมากกว่าที่คิด ยิ่งในเรื่องสำคัญที่ต้องตัดสินใจ เช่น การจะช่วยโดโรธีไว้หรือส่งเธอให้ตำรวจ พวกเขาสามารถตัดสินใจไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีความเป็นทีมได้อย่างดี อาจกล่าวได้ว่าทั้งสี่ไม่ได้คาดคิดว่าตนเองจะได้พบครอบครัวอีกครอบครัวในอวกาศอันเคว้งคว้างแห่งนี้ แต่พวกเขา “กลายเป็น” ครอบครัวจากการค่อยๆ ผสานตัวตนให้สอดรับกันและกัน

สำหรับประเด็นที่แปลกใหม่อีกประเด็นหนึ่ง ที่เราเห็นได้ไม่บ่อยในหนังเกาหลี ก็คือประเด็นเรื่องเพศ โดยหนังกำหนดให้ตัวละครหนึ่งใน 4 คนนี้เป็น LGBT ซึ่งนับว่าเป็นมิติใหม่ของหนัง ที่สะกิดใจให้คนดูตั้งคำถามกับตัวเองได้อย่างชะงัดว่า “เพศมีความหมายว่าอะไรกันแน่” โดยตัวละครที่เป็น LGBT นี้ได้ตามหาอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองอย่างเข้มข้น และรวบรวมทรัพยากรทุกอย่างที่มีเพื่อทำให้ตนเองมีเพศตรงกับที่ต้องการ การเลือกให้ตัวละครนี้มีอัตลักษณ์ทางเพศแบบ LGBT เป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาด เพราะเขาหรือเธอไม่ได้มีพื้นเพแบบมนุษย์ทั่วไป และทลายเส้นแบ่งของการบอกว่า “เพศถูกกำหนดมาตั้งแต่เกิด” แต่เป็นสิ่งที่ตัวละคร “เลือกเอง” หลังจากได้รับการฟูมฟักจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวและการตัดสินใจ (judgement) หลายต่อหลายครั้ง บทความนี้จะไม่บอกว่าเขาหรือเธอคนนั้นคือตัวละครไหน แต่ไม่บ่อยนักที่หนังเกาหลีจะมีตัวละครที่เป็น LGBT เป็นตัวเอกที่โดดเด่นออกมาเช่นนี้ จึงนับเป็นความแปลกใหม่ที่น่าจับตามอง

ในภาพรวม Space Sweepers เป็นหนังที่มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้เป็นหนังดีเรื่องหนึ่ง ในเรื่องของ CGI คงไม่ต้องพูดถึง เพราะทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม เทียบชั้นได้กับหนับฮอลลีวูด แต่ความโดดเด่นของหนังอยู่ที่การจับพล็อตย่อยหลายๆ พล็อต อันเกิดจากภูมิหลังของตัวละครหลายๆ ตัวมายึดโยงกัน จนทำให้เราสามารถตั้งคำถามเชิงสังคม วัฒนธรรม และปรัชญาได้ จากการปูเรื่องของหนังในตอนท้าย คาดว่าหนังจะมีภาคต่อให้ได้รับชมกันในอีกไม่นาน


ดู Space Sweepers ได้ที่ Netflix

Pieces of a Woman : เศษซากของ ‘ผู้หญิง’ กับเศษเสี้ยวของ ‘แอปเปิล’ …มนุษย์เพศแม่ที่ยังคงงอกงาม แม้บนความเจ็บปวด

* บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาตอนจบของภาพยนตร์

“เธอมีกลิ่นเหมือนแอปเปิล”

หญิงสาวผู้มีแววตาเลื่อนลอยกล่าวถึงรายละเอียดเพียงหนึ่งเดียวที่เธอจดจำได้จากลูกสาวแรกเกิดในอ้อมกอดเมื่อครึ่งปีที่แล้ว ก่อนที่ทารกน้อยเนื้อตัวเปียกน้ำคร่ำจะสิ้นลมหายใจถัดจากการเปล่งเสียงร้องเพียงในนาทีแรก-และนาทีเดียว-ของชีวิต

เจ้าของคำพูดข้างต้นกำลังยืนอยู่ต่อหน้าศาลระหว่างให้การฟ้องร้องพยาบาลผดุงครรภ์ที่มีส่วนในโศกนาฏกรรมครั้งนี้ของเธอและลูก โดยพวกเธอทั้งหมดคือตัวละครจาก Pieces of a Woman (2020, กอร์เนล มุนดรักโซ) หนังดราม่าสะเทือนอารมณ์ที่พูดถึงชีวิตที่พลิกคว่ำคะมำหงายของ มาร์ธา (รับบทโดย วาเนสซา เคอร์บี้) เมื่อต้องสูญเสียลูกสาวของตนไปเพียงไม่ถึงนาทีหลังการคลอดภายในบ้าน ซึ่งถือเป็นฉาก ‘คลอดลูก’ ที่สามารถเรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชมได้ผ่านการถ่ายทำแบบต่อเนื่องในเทคเดียว (Long Take) ยาวนานถึงยี่สิบกว่านาที!

กลิ่นของทารกผู้ล่วงลับที่มาร์ธาจดจำได้จากฉากนี้ช่วยตอกย้ำการถ่ายทอดภาพ ‘การรับมือกับความทุกข์จากการสูญเสีย’ ของมนุษย์-โดยเฉพาะเพศแม่-ผ่านการใช้ ‘แอปเปิล’ เป็นสัญญะเปรียบเทียบได้อย่างเรียบง่าย แต่ก็ยังน่าเศร้าสะพรึงใจ


1

กลิ่นที่เหมือนกับ ‘แอปเปิล’ คือสิ่งที่มาร์ธาใช้อธิบายลักษณะของอดีตลูกน้อยต่อหน้าศาล ซึ่งทำให้ผู้ชมอย่างเราหวนรำลึกนึกไปถึงเหตุการณ์อันน่าสะเทือนใจนี้ของเธอเมื่อหลายเดือนก่อน

ตอนนั้น ว่าที่คุณแม่มือใหม่ตั้งใจจะคลอดลูกสาวด้วยวิธีการตามธรรมชาติที่บ้านของเธอเอง แต่เนื่องจากคนทำคลอดที่มาร์ธาไว้ใจเดินทางมาไม่ทันเพราะติดภารกิจเร่งด่วน พยาบาลผดุงครรภ์อีกคนอย่าง อีวา (มอลลี พาร์คเกอร์) จึงต้องมารับหน้าที่แทน และเมื่อแผนที่วางไว้ไม่เป็นไปดั่งใจ อีกทั้งลูกที่คลอดออกมาก็ไม่แข็งแรงพอจะมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากการยื้อยุดของแพทย์-ที่ลูกอาจได้รับหากหญิงสาวเลือกการคลอดในโรงพยาบาลตั้งแต่แรก

ด้วยเหตุนี้ ทารกน้อยจึงต้องลาโลกไปต่อหน้าต่อตาในอ้อมกอดของมาร์ธาเอง

หญิงสาวรับมือกับเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างเงียบงันด้วยการพยายามใช้ชีวิตปกติตามเดิม เธอพยายามมีเซ็กซ์กับสามี กลับไปทำงานที่ออฟฟิศ หรือแม้แต่ตัดสินใจเซ็นมอบร่างกายของลูกสาวเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ขณะที่คนรอบข้างของเธอกลับแสดงความโศกเศร้าออกมา ‘มากกว่า’ อย่างเห็นได้ชัด ทั้งสามี (ไชอา ลาบัฟ) ที่เริ่มทำตัวไม่อยู่กับร่องกับรอยและหันกลับไปพึ่งยาเสพติด-ซึ่งเขาเลิกมาได้แล้วหลายปี-เพื่อให้ลืมการสูญเสียแค่ชั่วคราวก็ยังดี และแม่ (เอลเลน เบอร์สตีน) ที่ต้องการผลักดันให้ลูกสาวลุกขึ้น ‘สู้’ ทุกวิถีทาง โดยเฉพาะกับการฟ้องร้องเอาผิดคนทำคลอดที่เธอมองว่าควรมีส่วนรับผิดชอบในความผิดพลาดนี้

ท่ามกลางความเสียใจอันท่วมท้นของผู้คนในครอบครัว มาร์ธาจึงถูกมองว่า ‘เย็นชาเกินไป’ กับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ทั้งที่ภายในใจของผู้หญิง-ที่เกือบจะได้เป็น ‘แม่’ โดยสมบูรณ์-อย่างเธอนั้นก็ย่อยยับเพราะความเจ็บปวดทรมานไม่ต่างจากคนอื่น จนเธอเริ่มไม่แน่ใจว่าตัวเองต้องทำเช่นไรเพื่อให้สมกับการสูญเสียลูกไป และถึงขั้นยอมตามน้ำเข้าร่วมกระบวนการฟ้องร้องพยาบาลผดุงครรภ์นางนั้นในที่สุด

แต่ไม่ว่าคนในครอบครัว-รวมถึงมาร์ธาเอง-จะรู้ตัวหรือไม่, ถ้อยคำที่หญิงสาวเอื้อนเอ่ยออกมาในชั้นศาลว่าลูกสาวผู้ล่วงลับมี ‘กลิ่นเหมือนแอปเปิล’ นั้น ได้ส่งอิทธิพลกับชีวิตประจำวันของเธอมาเนิ่นนานแล้วนับจากการสูญเสีย…


2

‘แอปเปิล’ กับ ‘มนุษย์เพศหญิง’ ดูจะมีความเกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้นในโลกของเรื่องเล่าและศิลปะ นับจากเรื่องราวความเชื่อทางฝั่งคริสต์ศาสนาที่ อีฟ -มนุษย์เพศหญิงคนแรก- ฝ่าฝืนคำสั่งพระเจ้าและลิ้มลองแอปเปิลหรือ ‘ผลไม้ต้องห้าม’ ในสวนเอเดน จนต้องถูกขับไล่จากสรวงสวรรค์ ซึ่งข้อมูลบางแหล่งกล่าวอ้างว่า อีฟนี่เองที่เป็นตัวการชักชวนให้มนุษย์เพศชายคนแรกอย่าง อดัม ต้องทำตามเจ้าหล่อน — แอปเปิลจึงกลายมาเป็นภาพแทนของ ‘บาป’ อันเลวร้ายที่มนุษย์ต้องชดใช้ และเป็นสัญญะทางเพศที่เชื่อมโยงกับสรีระของ ‘อวัยวะเพศหญิง’ -หรือชี้ให้ชัดก็คือ ‘ช่องคลอด’- ที่ดูคล้ายกับแอปเปิลผ่าซีกไปโดยปริยายนับแต่นั้น ซึ่งเหล่าศิลปินมักนำมาใช้ถ่ายทอดถึง ‘แรงปรารถนา’ ของสตรีเพศผ่านงานศิลปะที่หลากหลาย จากภาพจิตรกรรมในอดีต มาจนถึงภาพยนตร์ในปัจจุบัน

หากแต่ใน Pieces of a Woman แอปเปิลมิได้หมายถึงแรงปรารถนาทางเพศ ทว่ามันอาจกำลังสื่อถึง ‘การเจริญพันธุ์ของมนุษย์ที่นำไปสู่การชดใช้บาป’ ผ่านการเปรียบให้ ‘ทารกหญิง’ ที่ถือกำเนิดออกมาจากช่องคลอดของมาร์ธาเป็นเสมือนผลไม้ต้องห้ามอย่าง ‘แอปเปิล’ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากชื่อของทารก (อีเวตต์) และคนทำคลอดอย่าง (อีวา) ที่ชวนให้นึกไปถึงชื่อของอีฟ-มนุษย์เพศหญิงที่เข้าไปพัวพันกับผลไม้นั้น

ฉะนี้แล้ว การฝืนเด็ดแอปเปิลมากัดกินของอีฟจนถูกพระเจ้าขับไล่ จึงอาจเทียบเคียงได้กับการฝืนคลอดทารก-ผู้มีกลิ่นเหมือนแอปเปิล-ของมาร์ธาที่บ้านซึ่งจบลงด้วยความผิดพลาด และมันก็นำพาให้ ‘ผู้หญิง’ ที่เกี่ยวข้องทุกนางก้าวสู่หายนะครั้งใหญ่ในชีวิต

ข้อสันนิษฐานนี้ดูจะกระจ่างชัดยิ่งขึ้น เมื่อผู้ชมเคยได้มีโอกาสเห็นภาพชีวิตประจำวันของมาร์ธาก่อนการไต่สวนว่า หลังการจากไปของลูกสาว เธอที่กำลังหม่นเศร้าดูจะหมกมุ่นกับ ‘แอปเปิล’ อยู่ไม่น้อย ทั้งหยุดดมกลิ่นมันที่ร้านค้า, กัดกินมันระหว่างกำลังโต้เถียงกับแม่เรื่องการเซ็นบริจาคร่างกายลูกสาว หรือกำลังจ้องมองเด็กๆ ผู้เริงร่ากับพ่อแม่ของพวกเขาบนรถสาธารณะ ก่อนถ่มเมล็ดออกมาวางบนนิ้วมืออย่างครุ่นคิด และถึงขั้นออกไปหาซื้อหนังสือสอนวิธีการเพาะพันธุ์ นั่งแงะเมล็ดจนเกลื่อนโต๊ะ แล้วนำมาห่อแผ่นลำลีหมาดน้ำเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อรอดูความเปลี่ยนแปลง

การเฝ้าหมกมุ่นกับแอปเปิลจึงอาจแทนค่าได้กับ ‘ความทุกข์จากการสูญเสียลูก’ ที่ยังคงวนเวียนอยู่ภายในจิตใจของมาร์ธา ซึ่งการถือแอปเปิลขึ้นมาลิ้มรสอยู่เสมอก็ดูคล้ายกับเป็นการเก็บงำทุกข์นั้นเอาไว้กับตัวเรื่อยมา

แต่กระนั้น ความพยายามที่จะเพาะเมล็ดแอปเปิลของเธอก็สะท้อนถึงความจริงในอีกมุมหนึ่งด้วยว่า หญิงสาวคงยังต้องการที่จะกลับมามี ‘ความหวัง’ กับชีวิตให้ได้อีกครั้ง แม้ความทุกข์จากประสบการณ์การคลอดที่ล้มเหลวจะเจ็บปวดฝังลึกสักเพียงใด

เธอคงหวังแค่ว่า ทุกข์ที่ตนถือครองไว้และกัดกินมันเข้าไปทุกเมื่อเชื่อวัน-เหมือนผลแอปเปิลในมือ-จะถึงเวลาที่ต้องถูก ‘วาง’ ลงเสียที


3

“ถ้าแกทำตามวิธีที่แม่บอก ป่านนี้แกคงได้อุ้มลูกไปแล้ว”

แม่บอกกับมาร์ธาเช่นนั้น ในวันที่เธอเผยออกมาว่ารู้สึกอับอายที่ลูกสาวล้มเหลวกับการเลือกคลอดหลานที่บ้าน และพยายามให้ลูกสาวฟ้องร้องพยาบาลผดุงครรภ์อย่างอีวาเพื่อทวงคืนความยุติธรรมกลับมาให้ครอบครัว ซึ่งทั้งคำพูดและท่าทีเหล่านี้ก็ทำให้หญิงสาวรู้สึกเหลือทนกับความจุ้นจ้านไม่รู้จบของคนในครอบครัวจนต้องระเบิดอารมณ์ออกมา และทำให้มื้ออาหารรวมญาติที่ฝ่ายแม่ตระเตรียมไว้ต้องพังลงอย่างไม่เป็นท่า

แม่อาจไม่รู้ว่า มาร์ธาเองก็รู้สึกเจ็บปวดทรมานที่ต้องสูญเสียลูกไปจากหนทางที่เธอเลือก

แม่อาจไม่รู้ว่า เธอพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดนี้ในแบบของตน

และแม่อาจไม่รู้ว่า วิธีใช้ชีวิตสำหรับใครคนหนึ่งอาจไม่ใช่วิธีที่ ‘ได้ผล’ สำหรับใครอีกคนหนึ่ง

อย่างไรก็ดี การฟ้องร้องที่เธอยอมเข้าร่วมก็ถึงคราวสิ้นสุดลง เมื่อสุดท้าย เจ้าตัวก็ค้นพบวิธีการรับมือกับความทุกข์ครั้งนี้ในแบบของตน — เธอตัดสินใจบอกกับศาลอย่างแน่วแน่ว่าไม่ต้องการเอาผิดอีวา เพราะการทำเช่นนั้นไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงความตายของลูกสาวหรือความโศกเศร้าของเธอ แต่คนที่ต้องยอมรับและจัดการกับความสูญเสียครั้งนี้-อันเกิดจากวิถีทางที่ตนเลือก-ให้ได้ ก็คือ ‘ตัวเธอเอง’

ในเวลาต่อมา ‘สัญญะแห่งการถือกำเนิดใหม่’ ของมาร์ธาจึงปรากฏขึ้นในรูปของ ‘ต้นแอปเปิล’ ที่งอกเป็นใบอ่อนเล็กๆ ออกมาจากเมล็ดที่ถูกเธอเพาะเก็บไว้ในตู้เย็น ก่อนที่ในฉากสุดท้าย-อันเป็นเวลาอีกหลายปีถัดจากนั้น ผู้ชมจะได้เห็นต้นแอปเปิลที่เติบโตสูงใหญ่และแผ่กิ่งก้านสาขาออกไปทั่วอาณาบริเวณ อันเป็นที่ซึ่งเด็กหญิงผมบลอนด์หน้าตาน่ารักน่าชังคนหนึ่งกำลังป่ายปืนอยู่อย่างรื่นรมย์

โดยมีมาร์ธาเดินออกมาเรียกเด็กหญิง-ที่น่าจะเป็น ‘ลูกสาวคนใหม่’ พยุงเธอลงจากต้นไม้ แล้วพากันจูงมือกลับเข้าบ้านไป

การ ‘เกิดใหม่’ ของมาร์ธาถูกถ่ายทอดผ่านภาพการงอกเงยอย่างงดงามของต้นแอปเปิลหน้าบ้าน และมันก็เป็นหลักฐานชั้นดีถึงการก้าวข้ามความทุกข์ตรมในอดีตและเติบโตมาสู่ปัจจุบันขณะได้อย่างสง่างามในฐานะ ‘แม่’ ที่เธอเคยสูญเสียไปแล้วครั้งหนึ่ง

‘เศษซาก’ ของผู้หญิงคนหนึ่งสามารถฟื้นคืนมาได้ด้วย ‘เศษเสี้ยว’ ของแอปเปิลลูกแล้วลูกเล่าที่เธอเคยต้องกัดกินด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัส ก่อนจะค้นพบเมล็ดและประคบประหงมให้มันแตกยอดขึ้นมาใหม่อีกครั้งด้วยความหวัง-ที่แม้จะดูริบหรี่เลือนราง

ด้วยเหตุนี้, ในตอนจบ แอปเปิลจึงไม่ใช่ภาพแทนของ ‘บาป’, ‘หายนะ’ หรือ ‘ความทุกข์’ สำหรับมาร์ธาอีกต่อไป

และก็ไม่ใช่เฉพาะเพศแม่อย่างเธอที่สามารถ ‘เกิดใหม่’ ได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นใครหรือเพศไหน หากมนุษย์คนนั้นค้นพบวิธีการที่จะรับมือกับความทุกข์ตรงหน้าได้ในแบบของตน เขาก็สามารถกลับมามีชีวิตที่งอกงาม-เหมือนมาร์ธาและเมล็ดแอปเปิลของเธอ-ได้เสมอ


ชม Pieces of a Woman ได้ที่ Netflix

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 25 ก.พ. 64

หนัง 4 เรื่องที่เข้าฉายใหม่ในโรงกระแสหลัก ตบเท้าเข้าจับจองพื้นที่ใน 4 อันดับแรกบนบ็อกซ์ออฟฟิศ โดยที่ทำเงินสูงที่สุดคือ Tom and Jerry แอนิเมชั่นผสมคนแสดงของค่ายวอร์เนอร์ ที่ทำเงินไป 7 แสนบาท

รายได้หนังประจำวันที่ 25 ก.พ. 64

  1. Tom and Jerry – 0.71 ล้านบาท
  2. Skylin3s – 0.30 ล้านบาท
  3. Violet Evergarden The Movie – 0.30 ล้านบาท
  4. Willy’s Wonderland – 0.14 ล้านบาท
  5. Howling Village – 0.07 (1.57) ล้านบาท
  6. Detective Chinatown 3 – 0.07 (1.91) ล้านบาท
  7. The Cornered Mouse Dreams of Cheese – 0.01 (0.26) ล้านบาท
  8. Shadow in the Cloud – 0.008 (2.82) ล้านบาท
  9. Breaking News in Yuba County – 0.007 (0.25) ล้านบาท
  10. The Long Walk – 0.004 (0.23) ล้านบาท

The Long Walk : วัฏสงสาร A.K.A. การมูฟออนเป็นวงกลม

0

ในอีกห้าสิบปีต่อมา สิ่งที่พัฒนาไปมีเพียงจรวดเคลื่อนที่เร็วบนฟากฟ้าที่ส่งเสียงเสียดหูผู้คนยามเคลื่อนผ่าน และการบังคับโยกย้ายเทคโนโลยีจากโทรศัพท์มือถือลงสู่ชิปที่ฝังเข้าไปในร่าง ท้องแขนของผู้คนกลายเป็นหน้าจอ จำต้องทำเพราะดูเหมือนเงินสดลดความสำคัญเมื่อผู้คนต้องการเงินโอนผ่านท้องแขน รุ่นใหม่ๆ นั้นท้องแขนกลายเป็นหน้าจอเล่นดนตรีโดยส่งสัญญาณตรงไปยังหูได้ด้วยซ้ำ

หากมีเพียงเท่านั้นเองที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนั้นทัศนียภาพของเมืองยังคงเป็นป่าทึบและถนนลูกรัง ที่อยู่อาศัยกระต๊อบไม้ยกพื้นสูงระเกะระกะกลางทุ่ง ยังมีคนตายเปื่อยสลายอยู่ในป่า มีภูติผีเร่ร่อนไป ติดอยู่กับที่ที่ร่างโดนฝังเอาไว้ สำหรับโลกใบนี้ อนาคตคือปัจจุบันที่เก่าลง ชำรุดทรุดโทรมและเสื่อมสลาย

เริ่มต้นจากเรื่องของชายเฒ่าในป่า ถอดรื้อสายไฟออกจากมอเตอร์ไซค์เก่าๆ คันหนึ่ง ที่ถูกซ่อนอยู่หลังพุ่มไม้ ไม่ไกลกันนั้น มีหัวกะโหลกเปื่อยผุวางอยู่บนดิน มีเศษกระดูกเรียงรายคล้ายศพที่เปื่อยสลายอยู่ตรงนั้นตั้งแต่แรกโดยไม่เคยถูกเคลื่อนย้าย

เด็กชายคนหนึ่งยืนอยู่ปากทางจ้องมองเข้าไปในป่าตรงนั้นหลายปีก่อนหน้านี้ ที่ตรงนั้นมีผู้หญิงนอนอยู่ในป่า สภาพใกล้ตายเต็มที เด็กชายค้นเจอกระเป๋าใส่เงินที่เธอพกติดตัวมา เธอกำลังตาย เด็กจับมือเธอไว้ตอนที่เธอสิ้นลม เธอจึงติดอยู่กับเขา เธอเริ่มเดินตามเด็กชายไปไหนต่อไหน ว่ากันว่าศพถ้าไม่ถูกเผาตามพิธีทางศาสนาวิญญาณจะไม่ไปเกิด หลายปีต่อมา เธอยังคงเดินตามชายเฒ่าคนนั้น มีแต่ชายเฒ่าและเด็กที่มองเห็นเธอ เดินบนทางดินแดงเสมอมาและตลอดไป ในแต่ละวันเธอจะมาหยุดยืนอยู่หน้ารั้วบ้านหลังเดียวกันทั้งในอดีตและอนาคต เธอคือผีที่สามารถข้ามผ่านกาลเวลาเพราะกาลเวลาของเธอจบสิ้นไปแล้ว 

ในโลกฟากหนึ่ง มีผู้หญิงเสียสติขายก๋วยเตี๋ยวคนหนึ่งหายตัวไป ตำรวจออกตามก็ไม่พบ พวกเขามาหาชายเฒ่าเพราะรู้มาว่าชายเฒ่าเป็นคนเห็นผี อาจจะพอตามหาร่างของหญิงที่ถูกเชื่อว่าตายไปแล้วได้ จะได้เอาศพมาประกอบพิธี ลูกสาวคนหายก็กลับมาจากเวียงจันทน์เพื่อตามหาแม่ และขอให้ชายเฒ่าช่วยเหลือแม่ของเธอ เธอย้ายมาอยู่บ้านเขา สังเกตเห็นคราบบนพื้นเรือนและตะปูที่เหมือนมีเศษเนื้อติดอยู่ มันอาจจะหรืออาจะไม่ใช่ร่องรอยของแม่ก็ได้ เธอเจอกระดูกข้อนิ้วห่อผ้าขาวในตู้ เธอเชื่อว่าเขาจะช่วยเธอได้ เพราะเห็นเขาพูดคนเดียวอยู่เรื่อย เขาชงชาดอกไม้แห้งจากในป่าให้ดื่ม และเธอมักหลับใหล

ในโลกอีกฟากหนึ่ง แม่ของเด็กชาย กำลังป่วยหนัก ครอบครัวยากไร้ปลูกผักขาย คนพ่ออารมณ์ร้อนและเมาหัวราน้ำตลอดเวลา เด็กชายวิ่งไปกลับระหว่างบ้านของพ่อกับแผงผักของแม่ มีฝรั่งมาจากที่ไกลๆ บอกจะมาพัฒนาบ้าน พ่ออยากได้รถไถจะได้ปลูกผัก แต่สิ่งที่ได้มาคือโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าที่ไม่รู้จะใช้ไปทำไม เด็กเดินไปกับผีสาวมองดูแม่กำลังตายและพ่อที่กำลังหนี ชายเฒ่าลึกลับโผล่มาหาบอกให้เด็กเอาเงินจากในป่าไปให้แม่แล้วซ่อนไว้ให้ดี ไม่คาดคิดว่าคำแนะนำจะเปลี่ยนชะตาของเด็กและของตัวเอง 

หญิงสาวคือผี ผีที่ไม่มีเวลาหากมีคุณสมบัติในการข้ามผ่านกาลเวลา เพราะผีติดอยู่ตลอดไป หญิงสาวที่สาวตลอดกาลนำพาชายเฒ่าข้ามเข้าไปในโลกของเด็กชาย เขาเข้าไปแก้ไขอดีตทีละเล็กน้อยทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งที่ควบคุมได้และไม่ได้ ก่อนจะพบว่ายิ่งเขาแก้ ทุกอย่างก็ยิ่งแย่ลงในปัจจุบันทั้งกับตัวเขาเอง แม่ของเด็กชาย และหญิงสาวจากเวียงจันทน์

เราอาจบอกได้ว่า The Long Walk ของ Mattie Do อาจชวนให้คิดถึงหนังอีกสองเรื่องที่ออกฉายไล่เลี่ยกัน หนึ่งคือ Tenet ที่ว่าด้วยการย้อนเวลาเพื่อไปยับยั้งอาชญากรรมด้วยประตูปิดเปิด ที่ทำให้ตัวละครเข้าไปในอดีต ผ่านเวลาที่กลับหลังเพื่อปกป้องอนาคต แต่อนาคตไม่อาจปกป้องได้ เพราะอีกฝั่งที่ต้องต่อสู้ด้วยก็รู้เรื่องนี้เหมือนกัน อีกเรื่องคือ The Call ที่ว่าด้วยตัวละครในปัจจุบันได้รับโทรศัพท์จากอดีต และโดยบังเอิญเธอขอให้คนทางอดีตช่วยแก้ไขบางอย่าง และนั่นทำให้อนาคตของเธอเปลี่ยนแปลง แต่เธอต้องตอบแทนปลายสายในอดีตด้วยการให้ข้อมูลอนาคตของฝั่งอดีตนั้น โดยไม่อาจรู้ว่าอดีตที่เธอช่วยเหลือจะกลับมาควบคุมอนาคตของเธอ ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงเช่นการสามารถห้ามการตายของพ่อเป็นเพียงช่วงพักบนชานชาลาของขบวนรถไฟสายเดิม กับสายใหม่ที่พ่อจะต้องตายในอีกแบบหนึ่ง

ถ้าเราเชื่อว่าสายธารของเวลาเป็นเรื่องของพรหมลิขิต สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วย่อมต้องเกิดขึ้น การแก้ไขอดีตก็จะไม่มีความหมาย เพราะมันเป็นเหมือนกับการใช้ทางเบี่ยงที่เมื่อเส้นทางเดิมถูกปิด เหตุการณ์ก็จะไหลไปสู่เส้นทางเลือกอื่นๆ ที่ในที่สุดจะกลับมาบรรจบกับเส้นทางเก่า ทางเบี่ยงจะพาเรามุ่งสู่ปลายทางเดิมไม่ใช่ปลายทางใหม่ ทั้ง The Call และ Tenet ไล่เรื่อยไปจนถึง Back to The Future ต่างอธิบายเวลาในทำนองนี้ การเปลี่ยนอดีตไม่ได้เปลี่ยนอนาคตไปตลอดกาล เพราะมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบลูกโซ่ที่จะย้อนไปสู่ปลายทางเดิม ในขณะที่หนังอย่าง Avengers : Endgame บอกเราว่าเวลาไม่ใช่ทางที่เป็นเส้นตรงแต่เป็นเหมือนแขนงของสายน้ำ ราวกับว่ามีมิติคู่ขนานและความเป็นไปได้ของเหตุการณ์เต็มไปหมด ถ้าเราแก้ไขอดีตที่จุดหนึ่งเท่ากับเราเลี้ยวเข้าไปในความเป็นไปได้อื่นๆ และมันจะพาเราไปสู่กระแสอื่นของเวลา เรื่องเล่าแบบอื่นๆ กล่าวให้ง่ายคือเราสามารถเปลี่ยนอนาคตได้ เพราะอนาคตคือความเป็นไปได้ที่มีหลายมิติคู่ขนาน และ Tenet เองก็บอกไว้เช่นนี้ด้วยการบอกว่า การเปลี่ยนอนาคตไม่ใช่การแก้ไขอดีตแบบโต้งๆ แต่คือการเปลี่ยนความคิดผู้คนคนอื่นๆ ที่มีต่อปัจจุบัน ถ้าเราอยากเปลี่ยนอนาคตเราต้องเปลี่ยนความเชื่อของคนอื่นๆ และคนที่เปลี่ยนจากภายในจะเป็นบั๊กของกระแสธารเวลาและเปลี่ยนอนาคตจากปัจจุบันไม่ใช่จากอนาคต 

ถ้าทั้งหมดชวนให้สับสน เราอาจสรุปง่ายๆ คือมีแนวคิดสองแบบว่า อนาคตเปลี่ยนแปลงได้ และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แบบแรกชวนให้หดหู่ใจในเส้นทางที่พระพรหมเลือกไว้ให้แล้ว แต่ก็สั่งสอนเราว่าให้ทำปัจจุบันให้ดีเพราะไม่มีอะไรแก้ไขได้ ทางเลือกที่สองบอกว่าอนาคตแก้ไขได้ เราไม่รู้หรอกว่าเราจะไปสู่อนาคตแบบใด แต่การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงปัจจุบันจะทำให้อนาคตเปลี่ยน ถึงที่สุดทั้งสองแบบคือการอยู่กับปัจจุบันเพื่อพุ่งไปข้างหน้า

หากเวลาใน The Long Walk กลับไม่เป็นเช่นนั้นเมื่อมองจากฐานคิดแบบพุทธศาสนาที่มองเส้นทางเวลาว่าเป็นการ ‘มูฟออนเป็นวงกลม’ ในนามของวัฏสงสาร เกิดแก่เจ็บตายเกิดใหม่

ตลอดทั้งเรื่องเราจึงมองเห็นความพยายามแก้ไขอดีตของตัวเอง (อดีตของเด็กน้อย) โดยชายเฒ่า เพื่อที่จะพบว่าเมื่อเขาเข้าไปแก้อดีตเรื่องหนึ่งอนาคตของเขาก็เปลี่ยนไปด้วย จากชายเฒ่าเห็นผีที่คอยช่วยเหลือผู้คนด้วยการุณยฆาต ถึงที่สุดกลายเป็นฆาตกรฆ่าต่อเนื่องเพราะความสะเทือนใจจากการเสียแม่ในอดีต เวลาแบบที่หนึ่ง (แม่ตาย พ่อไปเวียงจันทน์ เติบโตอย่างโดดเดี่ยวกับผีสาวเงียบใบ้ กลายเป็นคนเฒ่าเห็นผีประจำหมู่บ้าน และเข้าใจไปเองว่าคอยช่วยเหลือคนอย่างลับๆ ด้วยการทำให้ตาย) กับเวลาแบบที่สอง (แม่ตายต่อหน้า พ่อขโมยเงินหนีไป เติบโตและกลายเป็นไอ้โรคจิตจับคนมาขังแล้วฆ่า) เป็นเพียงความพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่จะวนกลับมาจุดเดิม แต่จุดเดิมไม่ใช่ ‘ปลายทาง’ จุดเดิมคือ ‘จุดเริ่มต้น’ ที่จะวนในวงเวียนชีวิตใหม่ ในทรรศนะแบบนี้ วัฏสงสารจึงยิ่งหดหู่มากยิ่งขึ้นเพราะการดิ้นรนไม่ได้นำพาไปสู่สิ่งใด นอกจากวนกลับที่เดิม เราทั้งหมดเป็นเพียงการตายอย่างโดดเดี่ยวแล้วเกิดใหม่อย่างทุกข์ทรมานวนไปหลายร้อยหลายพันครั้ง ในฐานคิดแบบนี้จึงมีนิพพานเป็นปลายทาง การไม่กลับมาวนอีก การหลุดพ้นไปโดยตัวเองผู้เดียว ในแง่นี้ ‘นิพพาน’ ได้กลายเป็นทั้งปัญญาและปัญหาที่เราจะไม่หยิบยกมาพูดถึงในที่นี้ 

ในทรรศนะแบบนี้ วัฏสงสารจึงยิ่งหดหู่มากยิ่งขึ้นเพราะการดิ้นรนไม่ได้นำพาไปสู่สิ่งใด นอกจากวนกลับที่เดิม เราทั้งหมดเป็นเพียงการตายอย่างโดดเดี่ยวแล้วเกิดใหม่อย่างทุกข์ทรมานวนไปหลายร้อยหลายพันครั้ง ในฐานคิดแบบนี้จึงมีนิพพานเป็นปลายทาง การไม่กลับมาวนอีก การหลุดพ้นไปโดยตัวเองผู้เดียว ในแง่นี้ ‘นิพพาน’ ได้กลายเป็นทั้งปัญญาและปัญหา

กลับมาพิจารณาวัฏสงสารกันอีกครั้ง เราอาจบอกได้ว่าในทางหนึ่ง วัฏสงสารคือ ‘การเดินเท้าทางไกล’ (The Long Walk) ที่แท้ แถมยังเป็นการเดินทางที่ไม่ไปไหน เพราะเดินอยู่ในวงกลมเดิม แต่วัฏสงสารในเรื่องไม่ใช่เพียงภาพจำลองเฉพาะคนของการตายแล้วเกิดใหม่ แต่ยังเป็นภาพเปรียบเปรยชวนขนหัวลุกเกี่ยวกับรัฐด้วย 

เราอาจบอกได้ว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยตลอดห้าสิบปีนอกจากความแก่เฒ่าลงของตัวละครหลัก หนังฉายภาพการพัฒนาที่แยกขาดออกจากชีวิตอย่างรุนแรง เริ่มจากภาพในอดีตของเด็กชาย การเข้ามาพัฒนาในสิ่งที่คนอื่น (คนนอก คนต่างชาติ นักพัฒนา ชนชั้นกลางในเมือง รัฐ อะไรก็ได้แทนชื่อเข้าไป) เห็นว่าเป็นประโยชน์โดยไม่ได้สนใจความต้องการพื้นฐานที่แท้ มาในรูปของโซลาร์เซลล์ที่จะมอบไฟฟ้าให้กับบ้านที่ยังทำการเกษตรหาเลี้ยงปากท้องด้วยสองมือสองตีน ฉากที่เจ็บปวดคือฉากที่พ่อเอ่ยปากขอรถไถแล้วโดนตอกกลับมาว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่เราสนใจ ให้ไฟฟ้าใช้ก็ควรดีใจไม่ใช่หรือ แต่มีฉากที่เจ็บปวดกว่านั้นเมื่อพ่อเปรยว่าจะเอาไฟฟ้าไปทำไมไม่มีตังค์เสียค่าไฟสักหน่อย แต่สิ่งที่พ่อทำไม่ใช่ความเกรี้ยวกราดที่ถูกหลอกใช้ หากคือคำสั่งให้รักษาแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ให้ดีที่สุดราวกับว่ามันเป็นบุญคุณที่ได้รับมาแม้ว่าไม่ต้องการ และในห้าสิบปีต่อมาแผงโซลาร์เซลล์ก็ยังอยู่

หนังฉายภาพการพัฒนาที่แยกขาดออกจากชีวิตอย่างรุนแรง เริ่มจากภาพในอดีตของเด็กชาย การเข้ามาพัฒนาในสิ่งที่คนอื่น (คนนอก คนต่างชาติ นักพัฒนา ชนชั้นกลางในเมือง รัฐ อะไรก็ได้แทนชื่อเข้าไป) เห็นว่าเป็นประโยชน์โดยไม่ได้สนใจความต้องการพื้นฐานที่แท้

เราอาจขยายภาพการพัฒนาที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับชาวประชาหน้าดำในชนบทนี้ได้อีกเมื่อเราเห็นภาพจรวดบินตัดขอบฟ้าที่ไม่ได้ให้อะไรนอกจากเสียงเสียดแก้วหู กับระบบโอนเงินแบบเก่าที่ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้างจนต้องร้องหาเงินสดกันไปเรื่อย ชิปที่มีไว้เพื่อติดตามตัวเอาเข้าจริงก็สามารถถอดทิ้งไปได้จนตำรวจต้องพึ่งคนเห็นผีแทนเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว จนอาจบอกได้ว่าสิ่งที่รัฐมอบให้คือการพัฒนาตามมีตามเกิดที่ไม่ตอบสนองชีวิตตรงหน้า การหยิบยื่นที่เกือบยัดเยียดเพื่อไว้มาทวงบุญคุณทีหลัง ภาพของโลกดินแดง รองเท้าแตะ และความยากจนใน The Long Walk จึงชวนให้นึกถึงภาพเมื่อเร็วๆ นี้ที่หน้าธนาคารแห่งหนึ่งทั่วประเทศไทยที่เหล่าคนทุกข์ยากเข้าไม่ถึงสมาร์ตโฟน ต้อง ‘เดินทางไกล’ (the long walk?) มาเข้าแถวยาวเหยียดหน้าธนาคารเพื่อรอเงินเยียวยาจากรัฐที่เลือกวิธีที่ง่ายจนเกือบมักง่ายให้คนต้องร้องขอ ภาพนี้ซ้อนเข้ากับการเดินยาวนานไปตามทางลูกรังของเด็ก ชายเฒ่าและผีที่ก้มหน้าอย่างไร้ฤทธิ์เดชจะแผลงใส่ใคร

วัฏสงสารของชาวบ้านร้านถิ่น จึงเป็นการ เกิด แก่ เจ็บ และตายไปเองตามมีตามเกิดที่รัฐไม่ได้ทำหน้าที่ผลักกงล้อนี้ให้ไปสู่การเกิดแก่เจ็บตายที่สบายขึ้น เพื่อให้ไปถึงนิพพานได้สะดวกดายขึ้น หากเป็นเพียงปล่อยให้มันเสื่อมถอยไปตามธรรมชาติและบอกว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ไปหานิพพานกันเอาเอง 

ชายเฒ่าผู้ข้ามเวลาจึงต้องออกหาหนทางเยียวยาจัดการตนเองด้วยการปฏิเสธวัฏสงสาร ด้วยการปฏิเสธการเผาเพื่อปลดปล่อยตามความเชื่อแบบพุทธ หากฝังร่างของผู้คนไว้ในป่าลึกลับ กักเก็บไว้เป็นภูติผีเพื่อให้ ‘อยู่ด้วยกันอย่างสงบสบาย’ ในโลกที่การตายสบายกว่าการอยู่ เขาเชื่อของเขาแบบนี้ จากประสบการณ์แร้นแค้นในชีวิตที่เคยพานพบ

และการเดินทางข้ามเวลากลับไปแก้ไขอดีตของเขา ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการกลับไปเพื่อหาทางพาแม่กลับมาอยู่ในสุสานส่วนตัวนี้อีกคน ความพยายามในการหลอกใช้ตัวเอง พูดคุยกับเด็กชายเป็นไปเพื่อให้จบสิ้นวัฏสงสารของมารดา โดยการทำให้แม่กลับมาอยู่กับเขาเช่นเดียวกับผีของหญิงสาวและผีตนอื่นๆ ถึงที่สุดการต่อสู้ของเขาก็เป็นรูปแบบของความเห็นแก่ตัวมากกว่าการต่อต้าน

ผีในเรื่องดูไร้ฤทธิ์เดชอะไร เป็นเพียงวิญญาณไร้ปากเสียงแบบเดียวกับมวลชนที่ถูกทำให้เชื่องเซื่องและไร้วิญญาณ ดูเหมือนผีเป็นเพียงเครื่องมือของคนเป็นในการข้ามเวลา ในการมีแต้มต่อของการมองเห็น ในแง่นี้ชายเฒ่าเห็นผี จึงเป็นคล้ายคนที่มองเห็นทุกข์ยากและอาศัยสิ่งนั้นเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อเปลื้องทุกข์ของตนจากการขาดแม่ 

มันจึงไม่น่าแปลกใจที่การดิ้นรนของเขาจึงไม่ได้ทำให้ทุกอย่างง่ายลงแต่ทำให้ทุกอย่างยากขึ้น ในทุกการข้ามเวลากลายเป็นการปอกลอกให้เห็นว่า การุณยฆาตมีนามแท้จริงว่าการฆ่าต่อเนื่อง และเมื่อมันไม่เป็นไปตามแผน ผีจะให้โอกาสเขากลับมาเริ่มใหม่ ทรมานใหม่และเจ็บปวดใหม่ แต่การเริ่มต้นใหม่มีความหมายสองแบบคือเป็นโอกาสและเป็นการลงโทษให้ต้องติดอยู่กับสิ่งนี้ไปไม่จบสิ้น 

เราจึงอาจบอกได้ว่าผีกลายเป็นส่วนล่างที่สุดของสังคม คนไร้ปากเสียงที่อยู่ก็เจ็บปวด ตายก็ไม่จบสิ้น (เราอาจเจอผีแบบเดียวกันนี้ได้ในนิยายยอดเยี่ยมเรื่อง เนรเทศ ของ ภู กระดาษ ที่ว่าด้วยการ ‘เดินทางไกล’ เช่นเดียวกัน) ในขณะที่คนอย่างชายเฒ่าก็ดิ้นรนเอาตัวรอดไปเรื่อยกลางสมรภูมิของวงจรความยากจนและผลักให้ชุดคิดศีลธรรมของตนไปสู่จุดสุดโต่งมากขึ้นเรื่อยๆ อาการมึนงงของการไม่อาจควบคุมเวลา เหตุการณ์ หรือชีวิต และแผนการณ์ทวงคืนแม่ของเขายิ่งทำให้ทุกอย่างกลายเป็นวงจรที่เลวร้ายกว่าเดิม ในขณะที่เราก็บอกได้อีกว่าเขาเองก็เป็นเพียงผลพวงของ ‘รัฐไม่ยอมเปลี่ยนแปลง’ ที่มองพวกเขาเป็นเพียงผีไร้การพัฒนา 

การณ์กลายเป็นว่าการ ‘บ่มีวันจาก’ จึงไม่ได้เป็นชื่อหนังที่แสนจะโรแมนติกอย่างที่เราคาดไว้ การไม่มีวันจาก แปลความไปได้ว่า ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่มีวันจบลง เกิดอย่างยากจน ตายอย่างยากจน เป็นผีที่ไร้เสียง หรือไม่ก็ไปเกิดใหม่อย่างยากจนอีกครั้ง และอีกครั้ง

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 18-24 ก.พ. 64

เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างสองหนังเอเชีย คือ Detective Chinatown กับ Howling Village ซึ่งผลัดกันเป็นที่หนึ่งจนเมื่อสรุปทั้งสัปดาห์แล้ว Detective Chinatown 3 ครองแชมป์โดยเฉือนชนะไปนิดเดียว

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 18-24 ก.พ. 64

  1. Detective Chinatown 3 – 1.84 ล้านบาท
  2. Howling Village – 1.50 ล้านบาท
  3. Shadow in the Cloud – 0.66 (2.81) ล้านบาท
  4. The Cursed Lesson – 0.27 (1.38) ล้านบาท
  5. The Cornered Mouse Dreams of Cheese – 0.25 ล้านบาท
  6. Breaking News in Yuba County – 0.24 ล้านบาท
  7. Jiu Jitsu – 0.19 (2.66) ล้านบาท
  8. วอน (เธอ) Director’s Cut – 0.19 (0.80) ล้านบาท
  9. อีเรียมซิ่ง – 0.18 (76.57) ล้านบาท
  10. Demon Slayer: Kimetsu No Yaiba – 0.17 (74.33) ล้านบาท

“หนังดูที่ไหนก็ได้” 4 พื้นที่ดูหนังที่ได้มากกว่าการดูหนัง

“หนังดูที่ไหนก็ได้”

คุณอาจเคยได้ยินประโยคนี้มาบ้าง การดูหนังที่ไหนก็ได้อาจเพิ่มประสบการณ์พิเศษใหม่ๆ การได้ออกไปดูหนังตามร้านกาแฟ ห้องสมุด สวนสาธารณะ ร้านอาหาร นอกจากจะเพลิดเพลินไปกับหนังที่น่าสนใจ คุณอาจยังได้พบคนอื่นๆ ที่สนใจประเด็นเดียวกับเรา หรือร้านที่ฉายวันนี้อาจมีเมล็ดกาแฟดีๆ ให้ลองชิม ระหว่างทางไปที่ฉายก็มีร้านเนื้อย่างอร่อยๆ หรือมีงานน่าสนใจอยู่ในแกลลอรี่เล็กๆ ใกล้ที่ฉายหนัง นี่คงเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่คุณจะได้สำหรับการไปดูหนังสักเรื่อง เราไปทำความรู้จักกับสถานที่ฉายหนังเหล่านี้ที่เหมาะกับประโยค “หนังดูที่ไหนก็ได้” กัน


บ้านศิลปะครูจูน : จ.พิษณุโลก 

คุณจิตรลดา วิริยะประสิทธิ์

ครูเป็นคนชอบดูหนังทางเลือกมานานแล้ว แต่ที่บ้านคือพิษณุโลกไม่ค่อยมีหนังทางเลือกให้ดูมากเท่าไร ถ้าเรื่องไหนที่เราอยากดูมากๆ ก็จะขึ้นเครื่องมาดูที่กรุงเทพ ช่วงต่อมางานเราเยอะขึ้นบวกกับครูรู้สึกว่าไหนๆ เราก็เปิดโรงเรียนสอนศิลปะในจังหวัดพิษณุโลก เรามีพื้นที่มีอุปกรณ์ในการฉายเลยอยากลองเป็นคนจัดฉายบ้าง เลยถามไปทางค่ายหนังว่าถ้าเราอยากเป็นคนฉายหนังบ้างทำได้ไหม ทางค่ายหนังก็บอกว่าทำได้เราก็จัดเลย ผู้ชมกลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มผู้ปกครองเด็กๆ เพราะหนังเรื่องแรกที่นำมาฉายคือ Childhood ผู้สนใจเยอะมาก เพราะเรามีกิจกรรมทางศิลปะร่วมด้วย ประมาณพ่อแม่ดูหนังเรามีทีมดูแลลูกให้จำได้ว่าวันนั้นสนุกมาก

หลังจากนั้นเราก็เริ่มโครงการ movie on demand เราก็ได้ผู้ชมที่หลากหลายมากขึ้น เพราะเราเอาหนังมาหลากหลายแนว บางเรื่องก็มีคนดูบางวันก็ไม่มีผู้ชมเลยก็แอบท้อใจบ้าง น่าจะเป็นเพราะตัวภาพยนตร์ที่เรานำมาที่มีประเด็นที่หลากหลายขึ้นนอกจากเรื่องศิลปะ เช่นเรื่อง Heartbound หรือ Burning ทำให้คนที่ไม่คุ้นเคยกับหนังแนวนี้หายไป แล้วเราหยุดฉายภาพยนตร์ไปเกือบปีเพราะโควิด มาเริ่มฉายอีกครั้งตอนเรื่อง The Kingmaker ซึ่งระหว่างนั้นมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างคึกคัก แต่ก็มีคนมาเตือนว่าจะฉายเรื่องนี้จริงๆ ใช่ไหม เราก็บอกฉายสิหนังไม่ได้เกี่ยวกับ king นะมันเป็นเรื่องของเผด็จการในฟิลิปปินส์ สุดท้ายหลังจากขอคำแนะนำจากผู้ชมที่เป็นแฟนคลับก็เลยตัดสินใจฉายแบบไพรเวทให้รู้ในกลุ่มผู้ชมวงเล็กๆ

แต่สิ่งที่เป็นกำลังใจให้เราคือมีกลุ่มน้องๆ คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ที่เขาสนใจในหนังนอกกระแส เข้ามาดูอยู่เรื่อยๆ ที่นี่จะมีแฟนประจำอยู่ 3-5 คนที่เราฉายเรื่องอะไรพวกเขาก็มาดูตลอด แม้มันจะเป็นการฉายหนังในพื้นที่เล็กๆ คนมาดูไม่เยอะนักแต่รู้สึกว่าพื้นที่ของเรามีประโยชน์สำหรับคนที่สนใจ บางครั้งก็เกรงใจค่ายหนังมากคะ เพราะส่วนแบ่งน้อยมาก เพราะเราไม่ได้เก็บค่าตั๋วแพงและคนน้อย ทางค่ายเขาบอกว่าไม่เป็นไร ทางครูก็คงจัดต่อ เดี๋ยวรอโควิดหมดก่อนนะคะ 


ร้านหนัง (สือ) 2521 : จ.ภูเก็ต 

คุณสาวิส เครือเสน่ห์ (ป๊อป)

คุณเพ็ชรธนา เพ็ชรย้อย (แพรว)

คุณมารุต เหล็กเพชร (นิล)

แรงบันดาลใจแรกสุดคืออยากดูหนังนอกกระแสบ้างครับ แต่ต่างจังหวัดนั้นหาดูยากมาก ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยได้แรงบันดาลใจมาจากเพื่อนครับ ตอนนั้นเรียนที่มช.(มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) เพื่อนทำเพจ ‘ชาวเชียงใหม่ต้องการดูหนังเรื่องนี้’ แล้วมันเวิร์ค ทำให้เกิดพื้นที่ของหนังนอกกระแสขยายตัวไปเรื่อยๆ พอเรียนจบก็กลับบ้านที่ภูเก็ตเราก็เลยคุยกับเพื่อนว่าภูเก็ตน่าจะทำได้บ้าง บวกกับความน้อยเนื้อต่ำใจว่าทำไมหนังที่เราอยากดูมันถึงเข้าแต่กทม. เวลาเห็นข่าวหนังที่น่าสนใจแล้วมาเช็ครอบหนังภูเก็ตไม่มีเลย นี่คงเป็นส่วนนึงที่ทำให้เราอยากนำหนังมาฉายครับ แล้วเพื่อนคนนั้นก็รู้จักกับพี่นิล ร้านหนังสือ ซึ่งพี่เค้าก็สนับสนุนการฉายหนังอิสระมาตลอดอยู่แล้ว เลยได้มีโอกาสเข้ามาคุยและช่วยพี่นิลเค้าทำครับ

ส่วนวิธีฉายก็เรียบง่ายครับ ร้านหนัง(สือ)2521 มี 2 ชั้น ชั้นล่างก็จะทำเป็นร้านกาแฟ เราก็ใช้ชั้น 2 ในการฉายครับ ส่วนการเลือกหนังมาจากความอยากดูของพวกเราก่อน และก็จะดูว่าช่วงนั้นมีหนังเรื่องไหนน่าสนใจ มีเลือกตามสถานการณ์บ้านเมืองบ้าง หรือบางครั้งก็ตามรีเควสของผู้ชมที่สอบถามเพจของทางร้านครับ ซึ่งผู้ชมให้การตอบรับดีนะครับ ถ้าพูดถึงว่าเราเพิ่งจัด แล้วยังไม่เป็นที่รู้จัก ส่วนผู้ชมก็มีหลากหลายวัยคละกันไป ส่วนมากจะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย วัยแรกเริ่มทำงาน แต่ก็มีเด็กมัธยมกับวัยกลางคนมาเสมอครับ ปัญหาในการจัดไม่ค่อยมีครับ ถ้าจะมีก็คงมีด้านเทคนิค เสียงหรือภาพบ้าง นานๆ ทีครับ แต่โดยรวมโอเคครับ

สิ่งที่ได้คือเหมือนเราได้สร้างคอมมูนิตี้เล็กๆ ที่รวมคนชอบดูหนัง คนที่สนใจหนังแนวอื่นนอกจากกระแสหลัก มารวมตัวแลกเปลี่ยนความคิดกันได้ และยังได้เพื่อนใหม่ๆ มากมายเลยครับ 555 ก็หวังว่าต่อไปคอมมูนี้จะแข็งแกร่งขึ้นเผื่อว่าจะได้ดูหนังแนวอื่นในโรงหนังหลักบ้างครับ 


RCB Film Club : กรุงเทพมหานคร

River City Bangkok

ที่ริเวอร์ซิตี้นี้เป็นห้างสรรพสินค้าที่มีงานศิลปะจำหน่ายเสียเป็นส่วนใหญ่ ทางเราจึงจัดนิทรรศการของศิลปินหลากหลายแนวมาตลอด เพื่อเป็นการสร้างความน่าสนใจให้กับลูกค้าที่ชื่นชอบงานศิลปะ ได้มาชมงานของศิลปินที่เขาชื่นชอบ แต่ผู้ชมส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ ชาวไทยยังมีแต่คนที่สนใจศิลปะจริงๆ เราเลยมาคิดต่อไปว่า ถ้ามีภาพยนตร์เข้ามาเสริมก็น่าจะทำให้นิทรรศการที่กำลังจัดแสดงอยู่นั้นน่าสนใจมากขึ้น เพราะภาพยนตร์น่าจะช่วยให้คนดูเข้าใจศิลปะได้น่าสนใจมากขึ้น เราก็เลยเริ่มจากทำห้องฉายหนังเล็กๆ ปรากฏว่ามีคนให้การตอบรับที่ดีมีคนมาดูทุกครั้งที่เราจัด ตอนแรกนั้นยังเป็นการจัดตามรายสะดวกซึ่งก็มีผู้ชมมาดูตลอดเราก็เลยจัดมาอย่างต่อเนื่อง จนมีครั้งนึงเราขึ้นไปฉายหนังกลางแปลงบนดาดฟ้าของริเวอร์ซิตี้ ฉายหนัง 2 เรื่องและมีการออกร้านอาหาร ขนม เครื่องดื่มแบบเป็นกันเอง ปรากฏว่าได้รับการต้อนรับที่ดีมาก มีคนมาร่วมงานราวๆ 200 คน ซึ่งเป็นบรรยากาศที่สนุกและน่าประทับใจมาก

เมื่อเราเห็นว่ามีกลุ่มคนที่สนใจภาพยนตร์เกี่ยวกับศิลปะอยู่เราก็เริ่มทำ RCB Film Club แบบจริงจัง โดยเราทำโรงหนังเล็กๆ ประมาณ 100 ที่นั่ง และจัดฉายหนังที่คู่ไปกับงานนิทรรศการที่ทางเราจัด ซึ่งทำให้งานสมบูรณ์แบบมากขึ้น คนดูที่ชอบงานศิลปินท่านนั้นนอกจากได้ชมงานที่เราเอามาจัดแสดงเขาก็ได้ชมสารคดีที่เกี่ยวกับศิลปินที่เขาชอบด้วย และอีกสิ่งที่เราได้เพิ่มขึ้นมาอีกก็คือเราได้กลุ่มคนที่สนใจภาพยนตร์แต่อาจจะไม่ได้เป็นแฟนศิลปิน ทำให้เวลาที่เขาดูหนังจบเขาก็เดินไปดูภาพของศิลปินที่เขาเพิ่มชมไปเมื่อสักครู่ต่อได้เลย ถือว่าเป็นการขยายกลุ่มคนที่ชื่นชอบศิลปะที่กว้างมากขึ้นไปอีก 


ร้าน Lorem Ipsum : หาดใหญ่

เพจ : เรื่องนี้ฉายเถอะ คนหาดใหญ่อยากดู

ผมเป็นชาวหาดใหญ่แต่เคยไปเรียนและทำงานอยู่กรุงเทพครับ และที่กรุงเทพก็มีหนังหลากหลายให้เลือกดู ช่วงนั้นผมดูหนังเยอะมากทั้งหนังในโรง ทั้งหนังสั้นที่จัดฉายในพื้นที่ต่างๆ TK Park ร้านกาแฟ ห้องสมุด ผมไปดูมาหมดเลย พอต้องกลับมาอยู่บ้านที่หาดใหญ่ ที่นี่ก็มีแต่โรงหนังของเครือใหญ่ซึ่งเขาไม่ฉายหนังที่เราอยากดู ผมเลยคิดว่าอยากฉายหนังแบบที่เราอยากดูบ้าง ผมก็เริ่มจากทำเพจ “เรื่องนี้ฉายเถอะ คนหาดใหญ่อยากดู” โดยผมติดต่อค่ายหนังเอาหนังมาเข้าโรงเอง คุยกับทางโรงหนังเพื่อขอเช่าโรง ขายบัตรเอง ประชาสัมพันธ์เอง ซึ่งได้การตอบรับที่ดี แต่พอทำไปเรื่อยปัญหามันเกิดตรงที่ว่าผู้จัดการโรงภาพยนตร์เปลี่ยนคนตลอด ราคาที่เคยคุยไว้ก็ต้องมาคุยใหม่ เราเลยคิดว่าไม่ไหวเลยมองหาพื้นที่อื่นๆ ที่เราควบคุมเองได้ดีกว่า เลยไปหาพื้นที่เช่าข้างนอกแรกๆ ก็จะเป็น Co-working Space ต่างๆ ในหาดใหญ่ แต่พื้นที่เหล่านั้นเขาก็ไม่ได้ทำมาเพื่อฉายหนัง บางแห่งเราก็ต้องหาเครื่องเสียงมาเอง ทำไปสักพักก็เริ่มคิดถึงพื้นที่ของตัวเอง เพราะกลุ่มคนดูสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ นี่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อกลางปีที่แล้ว จากวันแรกถึงวันนี้ก็เกือบ 5 ปีแล้วครับ

สิ่งที่ทำให้คนดูเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คงเป็นเพราะเวลาผมฉายหนังจบผมจะชวนคนดูคุย เริ่มตอนที่ฉายตาม Space ต่างๆ เรื่องแรกผมเล่นใหญ่มากจำได้ว่าเรื่อง Cartel Land ผมเชิญวิทยากรที่ทำงานด้านพื้นที่สามชายแดนใต้มาคุยให้คนดูฟังเป็นอะไรที่คนดูชอบมากคุยกันเป็นชั่วโมง หลังจากนั้นผมก็ทำมาเรื่อยๆ แต่หลังๆ วิทยากรหายากเพราะพื้นที่ผมอยู่ไกลด้วย เลยทำให้การจัดแบบที่มีวิทยากรมาชวนคุยไม่ได้ ผมก็เลยเปลี่ยนเป็นว่าผมชวนคนดูคุยแทนซึ่งคนดูที่มาดูส่วนใหญ่เขาสนใจประเด็นในหนังอยู่แล้ว และเขาจะมีข้อมูลมาประมาณนึง ผมก็มีหน้าที่เชื่อมให้พวกเขาเอาข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน ช่วงแรกๆ ก็มีคนเดินออกบ้าง แต่หลังๆ คุยกัน 2-3 ชั่วโมงก็เคยมีครับ 

ผมทำการฉายหนังในหาดใหญ่มา 4-5 ปีแล้ว ผมเห็นการเติบโตของกลุ่มคนที่มีความสนใจคล้ายๆ กันมากขึ้น ผมอยากให้มีพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนและพูดคุยในบ้านเกิดของผม ผมเชื่อว่าการคุยกันเป็นสิ่งที่นำไปสู่การพัฒนา และในหาดใหญ่มีพื้นที่แบบนี้น้อยมาก เพราะหาดใหญ่เป็นเมืองท่าค้าขายของ ซึ่งคนที่มาส่วนใหญ่มาเป็นจุดพักก่อนไปเที่ยวจังหวัดอื่น หาดใหญ่ไม่มีที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เด่นๆ คนผ่านมาและก็ผ่านไป ผมอยากให้บ้านผมมีพื้นที่ให้คนในจังหวัดได้แสดงความคิด ศิลปะ ส่วนจะพัฒนาไปได้ขนาดไหนคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไปครับ

เหตุผลที่โรงหนังอาจเป็นหนทางของความอยู่รอดของธุรกิจสตรีมมิ่งในอนาคต

ถึงเวลานี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า พระเอกตัวจริงของอุตสาหกรรมบันเทิง (Entertainment industry) ในช่วงปีแห่งวิบัติโรค คงเป็นใครไม่ได้นอกจากผู้ประกอบการสตรีมมิ่งเจ้าต่างๆ ที่ล้วนแต่ช่วงชิงโอกาสจากการที่โรงหนังเกือบทั่วโลกต้องปิดตัวลง เพิ่มยอดสมาชิกเป็นเท่าทวี จนทำให้ผลประกอบการประจำปีสดใสอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนhttps://www.usatoday.com/story/tech/2021/02/16/netflix-amazon-streaming-video-disney-hulu-hbo-max-peacock/6759020002/ เท่านั้นยังไม่พอ ความร้อนแรงของธุรกิจสตรีมมิ่ง ยังส่งผลให้เหล่าสตูดิโอยักษ์ใหญ่ระดับโลก อย่าง Disney และ Warner Brothers ที่แต่เดิมไม่เคยเห็นค่าของสตรีมมิ่งมากไปกว่าช่องทางฉายหนังที่ออกจากโรงแล้วหรือหนังขนาดเล็ก ยังต้องปรับตัวเข้ากับแนวทางใหม่ ด้วยการจัดจำหน่ายหนังของตัวเองด้วยรูปแบบสตรีมมิ่งไปพร้อมกับการฉายแบบปกติhttps://time.com/5917626/warner-bros-hbomax-movies/

สถานการณ์ข้างต้น ช่างตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผู้ประกอบการโรงหนังต้องเผชิญ นับตั้งแต่โรงหนังต้องปิดตัวลงตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ผู้ประกอบการโรงหนังขนาดใหญ่และขนาดเล็กต่างประสบภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่อง จนทำให้เป็นที่วิตกกังวลว่า หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อต่อไป โอกาสที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องประสบกับภาวะล้มละลายย่อมมีสูง

หลายเสียงเริ่มพูดถึงจุดจบของโครงสร้างธุรกิจแบบเดิม ที่โรงหนังคือจุดเริ่มต้นของกระบวนการจัดจำหน่าย โดยมีช่องทางสตรีมมิ่งที่จะขยับตัวกลายเป็นช่องทางหลักแทน หรือ หากแม้ว่าโรงหนังยังคงอยู่ ความสำคัญของมันคงไม่มีมากไปกว่าพื้นที่ที่คอยย้ำเตือนถึงสิ่งที่เรียกว่า “ประสบการณ์การดูหนัง” หรือ cinematic experience

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความคลุมเครือของการอยู่ยงของโรงหนัง และความสดใสของธุรกิจสตรีมมิ่งที่ดูเหมือนจะหาจุดสิ้นสุดไม่เจอ ผู้เขียนกลับเชื่อว่า ไม่ว่าจะอย่างไร โรงหนังจะยังคงอยู่ต่อไป และจะมีความสำคัญถึงขนาดเป็นหนทางความอยู่รอดของธุรกิจสตรีมมิ่งในอนาคตเสียด้วยซ้ำ เพราะเหตุใด


ผู้เขียนขอสรุปความเห็นดังนี้

แม้ว่าปัจจุบัน ผู้ประกอบการสตรีมมิ่งเจ้าต่างๆ จะประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า ตัวเลขของสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตลอดปี 2020 ไม่ว่าจะเป็น Netflix ที่มียอดสมัครสมาชิกเพิ่มขึ้น 37 ล้านคน ทำให้ยอดสมาชิกทั่วโลกในปัจจุบันมีจำนวน 200 ล้านคน ซึ่งหาก Disney Plus ซึ่งมียอดผู้สมัครสมาชิกทั่วโลกมากกว่า 86.8 ล้านคน ภายหลังจาก ดิสนีย์บริษัทแม่ ตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการจัดจำหน่ายจากโรงหนังมาเป็นสตรีมมิ่ง หรือ Amazon Prime Video และ HBO ที่มีสมาชิกทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้านคน และ 57 ล้านคนตามลำดับhttps://www.usatoday.com/story/tech/2021/02/16/netflix-amazon-streaming-video-disney-hulu-hbo-max-peacock/6759020002/

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางตัวเลขที่ดูดี ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวแปรที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ คือ คอนเทนต์คุณภาพสูงที่บริษัทต่างๆ ต้องลงทุนเป็นจำนวนมาก เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้จงรักภักดีกับแบรนด์ให้ยาวนานที่สุด และแน่นอนว่า จำนวนคอนเทนต์ที่มากขึ้นย่อมหมายถึง ทุนการผลิตที่ต้องมากขึ้นด้วย โดยโมเดลทางธุรกิจของผู้ประกอบการสตรีมมิ่งในปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ผู้ประกอบการผลิตคอนเทนต์ของตัวเองแล้วเผยแพร่ทางช่องทางของตัวเองเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างผู้ประกอบการประเภทนี้ได้แก่ Netflix และ Amazon Prime Video และ 2) ผู้ประกอบการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสตูดิโอขนาดใหญ่ ผลิตคอนเทนต์ของตัวเอง และรับเอาหนังของสตูดิโอที่ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งมาเผยแพร่โดยสตูดิโอขนาดใหญ่สามารถกำหนดรูปแบบการฉายหนังของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็น การฉายพร้อมกันกับช่องทางสตรีมมิ่ง อย่างกรณีของบริษัท Disney ที่เลือกฉายหนังบนแพลตฟอร์ม สตรีมมิ่ง Disney Plus ในบางประเทศ และฉายทางโรงภาพยนตร์ในต่างประเทศหรือ Warner Brothers ที่มีนโยบายฉายหนังในโรงและบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง HBO Max พร้อมกันในอเมริกา

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาถึงทุนในการผลิตคอนเทนต์ ผู้ประกอบการที่เน้นเผยแพร่ผลงานทางช่องทางสตรีมมิ่งเพียงอย่างเดียว โดยคาดหวังรายได้จากยอดสมาชิกเพียงอย่างเดียว อย่าง Netflix และ Amazon Prime จึงมีความเสี่ยงกว่า เพราะต้องคาดหวังกับยอดสมาชิกที่ต้องเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สตูดิโอที่สามารถกำหนดรูปแบบการฉายได้ สามารถเฉลี่ยรายได้จากหลายๆ ทางได้ ทั้งจากโรง จากค่าสมัครสมาชิก และยอดการสตรีมแบบจำกัดเวลา หรือที่เรียกว่า Premium Video on Demand จึงทำให้ลดความเสี่ยงจากการขาดทุนลงได้เยอะ

ในบทความที่เขียนโดย Edmund Lee ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ เมือกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่าหนี้ผูกพันที่ Netflix ก่อไว้สำหรับการดำเนินธุรกิจมีจำนวนถึงหนึ่งหมื่นห้าพันล้านเหรียญ และแม้ว่าสถานการณ์โควิดจะช่วยลดภาระหนี้ได้บ้างจากยอดผู้สมัครสมาชิกที่เพิ่มขึ้น จนทำให้ผู้บริหารมีความมั่นใจว่า ในอนาคตบริษัทอาจไม่มีความจำเป็นที่ต้องกู้เงินอีกต่อไป (หรือกล่าวง่ายๆ ว่าตอนนี้กระแสเงินสดมีมากพอที่จะใช้หนี้ได้แล้ว)https://www.nytimes.com/by/edmund-lee

แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าสถานะทางการเงินของ Netflix (หรืออาจรวมถึงสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่เจ้าอื่นๆ ที่เน้นการฉายบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพียงอย่างเดียว) จะมีความมั่นคงได้ตลอดไป เพราะตราบใดที่ยังไม่สามารถเจาะตลาดสำคัญอย่าง จีน ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก แต่รัฐบาลไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการสตรีมมิ่งต่างชาติไปดำเนินธุรกิจได้ โอกาสที่จะขยายเพดานจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ ขณะที่ อินเดีย ที่แม้ว่าธุรกิจสตรีมมิ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ก็มีสูง จึงทำให้ต้องเฉลี่ยส่วนแบ่งทางการตลาดกันไป โดยเว็บไซต์ Quatz Indiahttps://qz.com/india/1897888/netflix-amazon-beat-disney-hotstar-amid-india-covid-19-lockdown/ ระบุว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 Netflix และ Amazon Prime มีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 20 เท่ากัน ขณะที่ Disney + Hostar ตามมาเป็นลำดับ 3 โดยมีส่วนแบ่งร้อยละ 17 ทั้งนี้ไม่นับรวมผู้ประกอบการท้องถิ่นอย่าง Zee 5 หรือ Jio Cinema ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามมาห่างๆ 

รูปการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ต่อให้ผู้ประกอบการสตรีมมิ่งมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นมากแค่ไหนก็ตาม ค่าใช้จ่ายก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะในการดึงความสนใจลูกค้าให้อยู่กับตัวให้นานที่สุด ผู้ประกอบการก็ต้องผลิตคอนเทนต์ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นก็หมายถึงเม็ดเงินลงทุนมหาศาลที่ต้องอัดเข้าไปในกระบวนการผลิตอย่างไม่จบสิ้น และถ้าไม่มีผู้ประกอบการรายใดครองตลาดอย่างเด็ดขาด โอกาสที่จะมีรายได้กลับมาในระยะสั้นและกลางจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย

แล้วทีนี้ จะมีหนทางใดที่จะทำให้ผู้ประกอบการสตรีมมิ่งสามารถแสวงหารายได้เพื่อนำมาเติมกระแสเงินสด หนทางที่ดูเป็นรูปธรรมมากที่สุด ได้แก่ โรงภาพยนตร์ ก่อนที่วิกฤติโควิดจะเกิดในตอนต้นปี 2020 สัดส่วนรายได้ที่หนังเรื่องหนึ่งจะได้รับมาจากโรงภาพยนตร์เป็นลำดับแรก ก่อนตามมาด้วยรายได้จากสตรีมมิ่ง รายได้จากการจัดจำหน่ายดีวีดี/บลูเรย์ และรายได้จากโทรทัศน์ ตามลำดับhttps://www2.deloitte.com/us/en/insights/industry/technology/future-of-the-movie-industry.html สถานการณ์ดังกล่าวน่าจะกลับมาอีกครั้งเมื่อโรงหนังกลับมาดำเนินกิจการตามปกติหลังวิกฤติโควิดคลี่คลาย ดังนั้นหาก ผู้ประกอบการสตรีมมิ่งลองปรับเปลี่ยนรูปแบบการเผยแพร่คอนเทนต์ จากเดิมที่ยึดช่องทางสตรีมมิ่งเป็นช่องทางหลักและช่องทางเดียว มาเป็น การเปิดตัวคอนเทนต์ในโรงหนังก่อนสักช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นถึงค่อยนำเสนอในช่องทางสตรีมมิ่ง หรือ เปิดตัวคอนเทนต์ในสองช่องทางพร้อมกัน โดยให้โอกาสผู้ชมที่ต้องการได้รับประสบการณ์ทางด้านภาพยนตร์ (cinematic experience) ได้ดูหนัง หรือ แม้แต่ซีรีส์ที่ผลิตอย่างประณีตแบบหนังในโรงหนัง โอกาสที่จะได้รายได้กลับคืนมาน่าจะมีจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะหากหนังเรื่องนั้นมีศักยภาพทางการตลาดสูง ลองคิดถึงหนังอย่าง Bird Box หรือซีรีส์อย่าง The Crown หรือ Game of Throne ได้มีโอกาสฉายในโรงหนังเป็นวงกว้าง ก็น่าจะได้รับการตอบรับในระดับที่ดีไม่แพ้กัน ซึ่งหมายถึงได้รายอีกจำนวนหนึ่งที่ผู้ประกอบการจะได้รับนอกเหนือจากค่าสมาชิกรายเดือนที่รับเป็นประจำอยู่แล้ว

อนึ่ง การฉายหนังข้ามแพลตฟอร์มของผู้ประกอบการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยได้ทำการทดลองมาแล้ว กับหนังคุณภาพอย่าง Roma ในปี 2018 ซึ่งเข้าฉายอย่างจำกัดในอเมริกาและทั่วโลก เนื่องจากถูกปฏิเสธจากโรงหนังเครือใหญ่ในทุกประเทศ เพราะ Netflix ไม่ยอมให้ฉายหนังก่อนที่จะเปิดตัวในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งhttps://en.wikipedia.org/wiki/Roma_(2018_film) และ The Irishman ซึ่งเข้าฉายอย่างจำกัดโรงด้วยเหตุผลเดียวกัน แม้ว่าไม่มีตัวเลขยืนยันอย่างเป็นทางการ Roma ทำรายได้จากการฉายโรงทั้งในอเมริกาและต่างประเทศรวมแล้วประมาณ 4 ล้านเหรียญhttps://www.boxofficemojo.com/releasegroup/gr1591366149https://en.wikipedia.org/wiki/Roma_(2018_film) ขณะที่ The Irishman ทำรายได้ไปประมาณ 8 ล้านเหรียญhttps://en.wikipedia.org/wiki/The_Irishman ดังนั้นในสภาวะที่โรงหนังเองก็ต้องเอาตัวรอดจากสภาวะล้มละลายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฟื้นฟูหลังโควิด ส่วนผู้ประกอบการสตรีมมิ่งเอง ก็ต้องการรายได้ที่มาจากทางอื่นนอกเหนือจากค่าสมาชิก บางทีนี่อาจเป็นโอกาสที่ทั้งโรงหนังและผู้ประกอบการสตรีมมิ่งอาจร่วมค้นหาทางออกเพื่อนำมาสู่รูปแบบการฉายหนังแบบใหม่ก็เป็นได้

Gentefied แค่ปรับตัวก็ไม่ตายเหรอ

ผมระคายหูทุกครั้งที่ได้ยินว่า “ถ้าไม่ปรับตัวก็ตาย” ผมไม่เถียงหรอกว่ามันไม่จริง การปรับตัวจำเป็นมากสำหรับการใช้ชีวิต โดยเฉพาะในประเทศที่คณะบริหารโยนภาระการปรับตัวให้กับประชาชนไปเลยเต็มๆ จนหลายคนต้องสะกดจิตตัวเองว่า “ทุกอย่างแก้ไขได้ที่ตัวเรา” สิ่งหนึ่งที่นักแก้ไขด้วยตัวเองมักลืมไปก็คือ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าครองชีพ ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่าเช่าพื้นที่สำหรับทำมาหากินและราคาของโอกาสในการมีชีวิตที่ดีขึ้นนั้นอยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของตัวเองไปไกล การที่คำว่า Gentrification กลายเป็นหนึ่งในคำที่แพร่หลายที่สุดในช่วงปลายทศวรรษที่ผ่านมา เป็นข้อพิสูจน์เรื่องนี้ได้อย่างดี

ความหมายของ Gentrification คือการที่พื้นที่ชุมชนใดๆ มีราคาที่ดินและค่าเช่าพุ่งสูงขึ้นจากแผนพัฒนาที่ดินและย่านธุรกิจ ไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐกิจหรือวัฒนธรรม จนเบียดขับผู้อยู่อาศัยเดิมออกไปเพราะพวกเขาไม่สามารถสู้ค่าครองชีพใหม่ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จนเป็นที่กังวลไปทั่วโลกในฐานะเครื่องมือสร้างความเหลื่อมล้ำของเจ้าที่ดินที่ใช้รุกรานวิถีชีวิตชุมชนของโลกยุคใหม่

ชื่อซีรีส์เรื่อง Gentefied มาจากการล้อคำว่า Gentrified ด้วยการเปลี่ยนส่วนหน้าเป็นคำว่า Gente ซึ่งในภาษาสเปนมีความหมายว่า “ผู้คน” ดูเป็นการเล่นคำที่ชาญฉลาดไม่น้อย เพราะมันคือเรื่องที่ว่าด้วยผู้คนในย่านบอยล์ไฮตส์ ชุมชนฮิสแปนิก (กลุ่มเชื้อชาติที่ใช้ภาษาสเปนเป็นหลัก) ที่กำลังจะถูกนายทุนขับไล่และกลืนชุมชนด้วยการดัดแปลงให้เป็นย่านการค้าเม็กซิกัน เพื่อหลอกขายฮิปสเตอร์คนขาวอีกที

ศูนย์กลางของ Gentefied คือครอบครัวโมเรเลส เจ้าของร้านทาโก้ต้นตำหรับขวัญใจชุมชนที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ครอบครัวนี้ประกอบไปด้วยคุณปู่กาซิมิโร่ ‘ป๊อป’ ผู้ก่อตั้งร้านร่วมกับภรรยาตั้งแต่อพยพมาถึง, เอริก หลานชายคนโต นักเลงกลับใจที่ช่วยงานที่ร้านมายาวนาน, คริส ‘เจ้าคนขาว’ หลานชายการศึกษาดีที่อยากเรียนต่อเป็นเชฟ และอานา หลานสาวศิลปินเลสเบี้ยนที่พยายามหาที่ทางสำหรับสร้างตัวในวงการศิลปะ เป็นที่น่าสังเกตว่าสมาชิกครอบครัวนี้ปรากฏตัวในเรื่องแค่คนรุ่นปู่กับคนรุ่นหลานเท่านั้น ชวนให้คิดต่อว่าทำไมคนรุ่นพ่อแม่ของหลานๆ พวกนี้จึงหนีหายไปเสียจากบ้าน

ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าพวกเขาหนีหายไปจากบอยล์ไฮตส์ เพราะไม่อยากรับช่วงต่อจากป๊อป หรือเพราะพวกเขาต้องการไปจากความเป็นเม็กซิกันไปมีความฝันอเมริกันในดินแดนเสรีแห่งนี้

ทุกตอนในซีรีส์ตลกความยาว 10 ตอนเรื่องนี้พาเราไปสำรวจความรู้สึกนึกคิดของผู้คนแต่ละแบบในชุมชนบอยล์ไฮตส์โดยมีเส้นเรื่องหลักอยู่ที่การพยายามเพิ่มรายได้ให้กับร้านทาโก้ ‘มาม่าฟีน่า’ เพื่อให้พอจ่ายค่าเช่า ที่อยู่ๆ ก็เพิ่มขึ้นสูงอย่างกะทันหัน แต่ละตอนจะใช้ตัวละครหลักที่แตกต่างกันเพื่อนำเสนอ ‘เฉด’ ทางความคิดของชาวฮิสแปนิกที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

ยกตัวอย่างตอนที่ชื่อว่า “The Mural” อานา ศิลปินวัยกำลังสร้างตัวมีปัญหากับแม่ของเธอ เนื่องจาก “งานศิลปะ” ที่เธอทำอยู่ไม่สร้างรายได้มากพอจะบรรเทาภาระค่าเช่าบ้าน อานาได้รับข้อเสนอจากลูกค้าคนขาวให้ไปวาดจิตรกรรมฝาผนังที่ตึกแห่งหนึ่งของเขากลางย่านชุมชน เธอตัดสินใจวาดภาพนักมวยปล้ำลูชาดอร์จุมพิตกันอย่างดูดดื่มเพื่อเฉลิมฉลองให้แก่ชุมชนเพศทางเลือก ผลที่ได้คือลูกค้าประทับใจมาก แต่คุณป้าเจ้าของร้านชำที่อยู่ในตึกกลับเกลียดมันเข้าไส้ ผลของการเปลี่ยนแปลงนี้ลุกลามใหญ่โตในชั่วข้ามคืนเมื่อมันกลายเป็นจุดดึงดูดคนขาวให้มาเยี่ยมชม แต่กลับสร้างความอึดอัดให้ผู้คนในชุมชนอย่างเหลือเชื่อ

ที่ชวนฉงนกว่านั้นคือ แม้ว่าคุณป้าจะขายของได้มากขึ้นและหมดเร็วขึ้นแต่เธอกลับไม่ปลื้มเลยแม้แต่น้อยเมื่อก๊วนลูกค้าประจำพากันหลบลี้หนีหน้าไปพึ่งพาร้านอื่น วิธีใดๆ ที่อานาคิดใช้แก้ปัญหาไม่เคยได้ผลแม้ว่ามันจะชาญฉลาด มี “Insight” แบบคนรุ่นใหม่แค่ไหนก็ตาม เรื่องราวนี้จบลงโดยที่ผู้ชมอย่างเราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าคุณป้าไม่พอใจภาพบนผนังนั้นด้วยเหตุผลใด เพราะมันเกย์เกินไป เพราะมันก่อความวุ่นวาย หรือเพราะเธอแค่ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง

ตอน “The Grapevine” เล่าถึงฮาเวียร์ นักดนตรีมาริอาชี่ที่ดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อจะหาเงินเช่าบ้านอยู่ในบอยล์ไฮตส์กับลูกชาย เพราะสภาพแวดล้อมในชุมชนดีและปลอดภัยต่อการเติบโตของลูก แต่โชคไม่เข้าข้าง นอกจากราคาค่าเช่าบ้านจะสูงขึ้นแล้ว ดนตรีสไตล์มาริอาชี่แบบดั้งเดิมของเขาก็ไม่ได้รับความนิยมในย่านนี้เสียแล้ว ลูกค้าฮิปสเตอร์ดูจะหลงใหลได้ปลื้มกับการที่วงมาริอาชี่มาเล่นคัฟเวอร์เพลงป๊อปอมตะเสียมากกว่า ฮาเวียร์จึงต้องเลือกระหว่างการปล่อยให้วิญญาณมาริอาชี่เฉาตายไปแล้วกัดฟันทนเก็บเงินหาบ้านเช่าแพงๆ หรือยอมแพ้แล้วไปเสี่ยงตายทำงานในโรงงาน เขาต้องตัดสินใจภายใต้ความกดดันที่ว่าภรรยาของเขาที่ทำงานอยู่อีกที่หนึ่งอาจจะทิ้งเขาไปก็ได้หากไม่เลือกให้ดี หรือแท้ที่จริงแล้ว มันไม่มีทางเลือกที่ถูกต้องอยู่ในสถานการณ์นี้เลย

ตัวอย่างสุดท้ายคือตอนที่ชื่อว่า “Women’s Work” เล่าเรื่องของเบียทริซ คุณแม่หน้างอของอานาที่มักจะปรากฏตัวขึ้นเพื่อทำร้ายจิตใจกันตลอดทั้งเรื่อง เบียทริซคือภาพจำของแม่ต่างด้าวในอเมริกาที่มักจะเข้มงวดกับลูกด้วยวิธีการอันร้ายกาจ เบื้องหลังความร้ายนี้มาจากภาวะความเครียดในการพยายามหาเลี้ยงครอบครัวของแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอเป็นช่างตัดเย็บฝีมือดีในโรงงานเสื้อผ้าที่มีเจ้านายจอมกดขี่ เบียทริซทำตามที่เขาสั่งโดยไม่ตั้งคำถาม หอบงานกลับมาทำที่บ้านโดยไม่ปริปากบ่น ไม่ใช่ว่าเธอไม่จะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม แต่หากถูกจับได้ว่าเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานเพื่อประท้วง เธออาจจะตกงานจนทำให้ลูกๆ ไม่มีที่ซุกหัวนอน จนกระทั่งลูกสาวคนโตต้องออกปากพูดกับเธอว่า “ที่แม่ต้องหนีมาอยู่ที่นี่ เพราะแม่อยากได้ชีวิตที่ดีกว่าเดิมไม่ใช่เหรอ สภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้มันต่างอะไรกับการทำงานจนหลังหักที่บ้านเกิด”

Gentefied รวบรวมเอามุมมองของชาวฮิสแปนิก-อเมริกันในอเมริกาหลายแบบเข้าไว้ด้วยกันอย่างมีมิติและชาญฉลาดโดยกลุ่มมือเขียนบทลูกหลานผู้อพยพ ไม่เพียงแต่เป็นปากเสียงให้กับชาวเม็กซิกันในอเมริกา แต่มันยังเป็นตัวแทนความคิดความรู้สึกของผู้คนเชื้อชาติอื่นๆ บนดินแดนที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงลิบอีกด้วย ภาวะการกลืนชุมชมด้วยทุนเป็นเครื่องมือล่าอาณาเขตของกลุ่มทุนสมัยใหม่ ไม่เพียงขับไล่ผู้คนออกจากถิ่นของพวกเขา แต่มันยังลดทอนคุณค่าของวัฒนธรรมชุมชนให้ลงไปอยู่ในรูปเปลือกสีสันแปลกตาสำหรับจอมขูดรีดหน้าเดิมที่ยังคงคิดวิธี “ปรับตัว” ใหม่มาเอาเปรียบคุณได้เสมอ

“นายใช้ชีวิตทั้งหมดสร้างธุรกิจขึ้นมาเพื่อให้ไอ้โง่ที่ไหนไม่รู้มาเอาไป นายสร้างมรดกเอาไว้ แต่สุดท้ายก็รู้ว่ามันไม่พอ… ไม่พอจะให้พวกเขามีอนาคตที่มั่นคง ไม่พอจะให้เขาก้าวไปข้างหน้า ไม่พอให้พวกเขาได้ทำตามความฝันที่เราไม่นึกฝันให้ตัวเอง แล้ววันหนึ่งมันก็จะโดนไถทิ้งไป เหมือนเราไม่มีค่าอะไรเลย…” ป๊อปกาซิมิโรกล่าวออกมา ก่อนปัสสาวะรดป้าย ‘กำลังปรับปรุงพื้นที่’ หน้าตึกแห่งหนึ่งด้วยความเมามาย

“ใครจะไปตายห่าที่ไหนก็ช่าง ฉันจะอยู่ที่นี่ ให้ฉันตายที่นี่เถอะ”

ใครบอกแค่เริ่มที่ตัวเองก็รอด แค่ปรับตัวก็อยู่ได้สบาย

จะโดนปู่เยี่ยวใส่ก็สมควรแล้ว


Gentefied มีให้รับชมได้แล้วบน Netflix

22 กุมภาพันธ์ …วันนี้เมื่อ 78 ปีที่แล้ว วันประหาร “โซฟี โชล”

เด็กสาววัย 21 ปี หนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของ “ขบวนการกุหลาบขาว” หรือกลุ่มนักศึกษาที่ปฏิบัติการต่อต้าน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพลพรรคนาซีอย่างแข็งขัน เธอกับ ฮันส์ โชล พี่ชาย ถูกจับกุมในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1943 และ 4 วันต่อมาก็ถูกศาลประชาชนแห่งมิวนิกพิพากษาในข้อหาทรยศชาติ ก่อนดำเนินการประหารชีวิตด้วยกิโยตินภายในวันเดียวกัน

มีหลักฐานบันทึกว่า ในวินาทีสุดท้ายของชีวิต โซฟีเดินเข้าสู่แท่นประหารอย่างทระนง ส่วนพี่ชายวัย 24 ปีของเธอเปล่งเสียงร้องเป็นคำสุดท้ายว่า “เสรีภาพจงเจริญ”

แม้จะจบลงด้วยความตาย แต่ความกล้าหาญและจิตวิญญาณการต่อสู้อันบริสุทธิ์ของฮันส์กับโซฟีกลับได้รับการเล่าขาน คู่เคียงกับประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเยอรมนี ในปี 2003 ทั้งสองได้รับการยกย่องจากประชาชนให้เป็น “พลเมืองเยอรมันดีเด่นที่สุดตลอดกาล” และความใฝ่หาอิสรภาพอันแท้จริงของทั้งสองยังกลายมาเป็นแรงบันดาลใจของคนทั่วโลก

เรื่องราวของโซฟี โชลถูกถ่ายทอดเป็นสื่อหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ Sophie Scholl – The Final Days หนังเยอรมันกำกับโดย มาร์ก โรเทอมุนด์ ซึ่งถ่ายทอดชีวิตช่วงท้ายของเธอ หนังเปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2005 และคว้ารางวัล Silver Bear สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม + นักแสดงหญิงยอดเยี่ยม (จูเลีย เยนตช์) มาได้ รวมทั้งได้เป็น 1 ใน 5 หนังชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 18 ก.พ. 64

Detective Chinatown 3 ที่ทำเงินถล่มทลายในจีนช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ก็สามารถขึ้นอันดับ 1 เมืองไทยได้ด้วยเช่นกัน จากรายได้เพียง 3 แสนบาท

รายได้หนังประจำวันที่ 18 ก.พ. 64

  1. Detective Chinatown 3 – 0.30 ล้านบาท
  2. Howling Village – 0.14 ล้านบาท
  3. Shadow in the Cloud – 0.07 (2.22) ล้านบาท
  4. The Cornered Mouse Dreams of Cheese – 0.04 ล้านบาท
  5. Breaking News in Yuba County – 0.03 ล้านบาท
  6. The Cursed Lesson – 0.02 (1.13) ล้านบาท
  7. Monster Hunter – 0.02 (24.79) ล้านบาท
  8. I Remember – 0.02 (0.68) ล้านบาท
  9. Jiu Jitsu – 0.01 (2.48) ล้านบาท
  10. Demon Slayer: Kimetsu No Yaiba – 0.01 (74.17) ล้านบาท

Box Office Report : รายได้หนังประจำวันที่ 11-17 ก.พ. 64

โรงหนังยังคงเงียบเหงาต่อเนื่อง โดยหนังทำเงินอันดับ 1 คือ Shadow in the Cloud และตามมาด้วยหนังเกาหลีติดเรต The Cursed Lesson หรือ ‘ผีโยคะ’ และเมื่อรวมทั้ง 10 อันดับ ทั้งสัปดาห์ในกรุงเทพฯ รายได้ยังไม่ถึง 10 ล้านบาทด้วยซ้ำ

รายได้หนังประจำสัปดาห์ 11-17 ก.พ. 64

  1. Shadow in the Cloud – 2.15 ล้านบาท
  2. The Cursed Lesson – 1.11 ล้านบาท
  3. Jiu Jitsu – 0.78 (2.47) ล้านบาท
  4. I Remember – 0.66 ล้านบาท
  5. Monster Hunter – 0.58 (24.77) ล้านบาท
  6. Endings Beginnings – 0.26 ล้านบาท
  7. Happiest Season – 0.24 (0.71) ล้านบาท
  8. Demon Slayer: Kimetsu No Yaiba – 0.23 (74.16) ล้านบาท
  9. วอน (เธอ) Director’s Cut – 0.23 (0.61) ล้านบาท
  10. The Long Walk – 0.18 ล้านบาท